ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
ครั้งที่ 23 วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 10.31 - 18.15 นาฬิกา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านสมาชิกครับ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมผมจะอนุญาตให้สมาชิก ได้ปรึกษาหารือตามข้อบังคับ ข้อ ๒๔ เชิญท่านแรก ท่านเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมมีเรื่องที่จะ หารือต่อท่านประธานอยู่ ๓ เรื่องครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบ้านโป่ง ตำบลนาแขม อำเภอเมือง จังหวัดเลย แล้วก็เป็นเรื่องที่ผมได้นำเสนอต่อท่านประธานสภาในสมัยที่แล้ว ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ใหญ่รังสรรค์ ผู้ใหญ่บ้านโป่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลนาแขม ได้ร้องเรียนเรื่องของตลิ่งแม่น้ำเลยพังทลายซึ่งเป็นระยะทาง ๒๐๐ เมตร ถัดจากตลิ่งเดิม ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้ไปสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งไว้แล้ว เพราะฉะนั้นมันเสี่ยงที่จะทำให้บ้านเรือน พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย จึงขอความกรุณาท่านประธานได้ทำหนังสือถึง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรงบประมาณในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำเลย พังทลายที่บ้านโป่ง หมู่ที่ ๕ ระยะทาง ๒๐๐ เมตรครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องบ้านกกชุมแสง แล้วก็บ้านป่าข้าวหลาม ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย สืบเนื่องจากไฟฟ้าดับบ่อยมาก ทุกครั้งที่มีฝนตก ไฟฟ้าจะดับ เนื่องจากสายส่งสัญญาณไปพาดกับต้นไม้ ก็ขอความกรุณาท่านประธาน ทำหนังสือถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดสรรงบประมาณให้การไฟฟ้าจังหวัดเลยได้ดำเนินการ ในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยครับ
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เลย ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย เป็นอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในถนนสายเลย-เชียงคาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางบ้านปากหมาก แล้วก็บ้านนาโคก ตำบลศรีสองรัก พื้นที่ตรงนี้ จะเกิดอุบัติเหตุเป็นความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทั้ง ๒ หมู่บ้าน รวมถึงผู้ใช้ทาง จึงขอความกรุณาท่านประธานได้ทำหนังสือถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาขอไฟส่องสว่างสัญญาณเตือน แล้วก็แนวทางที่จะทำให้ปัญหานี้แก้ไขได้ ก็ฝากท่านประธาน ๓ เรื่อง กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภัณฑิล น่วมเจิม ครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ภัณฑิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตวัฒนา เขตคลองเตย ขอปรึกษาหารือผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัญหาเหล่านี้ครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรก รถแท็กซี่ รวมถึง รถขนส่งสาธารณะพวกป้ายดำอื่น ๆ ก็มีจอดในที่ห้ามจอดตลอดแนวถนนสุขุมวิท ในเขตวัฒนา ตั้งแต่ซอยนานา คือสุขุมวิทซอย ๓ ไล่ไปจนถึงซอย ๑๕ จนถึง Terminal 21 ขอให้ สน. ลุมพินี เข้าไปกวดขันด้วยครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอทานต่างด้าวนำเด็ก ละเมิดสิทธิเด็กจำนวนเยอะมาก อยากให้ ตม. กับ พม. เข้าไปกวดขัน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กชัดเจน เป็นต่างด้าวทั้งหมดเลย ทำกันเป็นกระบวนการ รวมถึงทางเท้าแล้วก็พื้นผิวจราจรมีการขายของผิดกฎหมาย โดยต่างด้าวทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นกัญชา เป็นแผงลอย ผมก็อภิปรายไปทีหนึ่งแล้ว ยังไม่แก้ไข เลวร้ายไปกว่านั้นมีคนผิวสีขายยาเสพติดอย่างเป็นกิจจะลักษณะเลยนะครับ รบกวนเข้าไปตรวจสอบดูแลด้วย
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องถัดไป ต้นไม้ใหญ่ ต้องรอให้ล้มมาก่อนนะครับ มีพายุพัดผ่าน เวลาขอตัดดี ๆ ไม่มา ต้องรอให้ต้นไม้ล้มมา สุดท้ายก็ต้องเข้าไปตัดยู่ดี และต้องเสีย ค่าชดเชยให้สาธารณภัยเข้าไปชดเชยด้วย ป้องกันไว้ดีกว่านะครับ ชุมชนคลองเป้ง เอกมัย ๑๙ แล้วก็บ้านริมคลองแถวซอยแจ่มจันทร์ เอกมัย ๒๑
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ปัญหาเส้นอาจณรงค์ ก็อภิปรายไปคราวที่แล้วเรื่องไฟส่องสว่างก็มีการแก้ไข เป็นบางจุด แต่ก็ยังมีอีกที่พื้นผิวจราจร ป้ายสัญญาณต่าง ๆ ยังไม่ครบถ้วน ก็ขอไปทางสำนัก การจราจรและขนส่ง กทม. รวมถึงฝ่ายโยธา สำนักงานเขตคลองเตยด้วย
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
รวมถึงปัญหาเรื่องป้ายรถเมล์บริเวณหน้าแฟลต ๑-๑๐ ชุมชนแฟลต ๑-๑๐ คลองเตย ก็รั่วมาก ไปสอบถามมาแล้วปรากฏเป็นชั่วคราว จะชั่วคราวมาเป็นสิบปีแล้วครับ ขอเรียกร้องให้สำนักการจราจรและขนส่งไปทำแบบถาวร ตรงนี้คนอยู่กันหลายพันคน นะครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ก็คือจะเป็นเรื่องของการดูแลสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ท่าเรือ กรุงเทพ ปัจจุบันเสื่อมโทรมมาก ขอให้ทางท่าเรือกรุงเทพเข้าไปซ่อมแซมพื้นผิวจราจร ในพื้นที่ของตัวเองนะครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
แล้วก็ไฟส่องสว่างบริเวณจุดตัดทางด่วนกับถนนอาจณรงค์ ถนนทางรถไฟ สายเก่า แล้วก็เส้นสุขุมวิท ๕๐ ขอให้ทางเขตและการไฟฟ้านครหลวง ขออนุญาตทาง การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเข้าไปซ่อมบำรุงไฟด้วย ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนิกร โสมกลาง ครับ
นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นิกร โสมกลาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องอำเภอชุมพวงและอำเภอพิมาย ๓ เรื่องครับ
นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ในเขตพื้นที่อำเภอพิมายและอำเภอชุมพวง มีหลายหมู่บ้านที่นำน้ำ มาผลิตน้ำประปาใช้ในหมู่บ้านแต่ไม่เพียงพอกับการใช้ครับ เพราะว่าสระน้ำที่ใช้เก็บน้ำ มีขนาดเล็กขยายก็ไม่ได้ ต้องสูบน้ำจากแหล่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียงมาเติมอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มี ค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำมากครับ ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังอธิบดี กรมทรัพยากรน้ำช่วยหาวิธีการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วย ประหยัดให้พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ที่อำเภอชุมพวงต้องมีการสูบน้ำ จากลำน้ำมาศไปเติมที่สระน้ำบ้านโคกพะงาด บ้านหนองตะคลอง เพื่อผลิตน้ำประปา หรืออย่างเช่นที่อำเภอพิมาย พี่น้องตำบลโบสถ์ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๑๓ หมู่ที่ ๒๒ หมู่ที่ ๒๕ ต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองแร้งเฒ่า ไปเติมบ่อน้ำที่บ้านหนองปรือเพื่อผลิตน้ำประปาครับ
นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมอยากจะขอฝากหารือไปยังกระทรวงการคลังและกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ตามที่กระทรวงได้มีนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งเป็น เรื่องที่ดีมากครับ และเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องได้โดยตรงและทันที แต่ยังมีพี่น้องเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งสอบถามผมมาว่าจะมีโอกาสไหมที่จะมีการพิจารณา การพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรที่อยู่กับสหกรณ์การเกษตรครับ
นายนิกร โสมกลาง นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ ผมขออนุญาตติดตามเรื่องการหารือครั้งที่แล้ว เรื่องการปรับปรุงฝายหินทิ้งที่บ้านจารย์ตำรา ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย จากวันนั้นถึงวันนี้ กรมชลประทานยังไม่ได้มีการตอบกลับว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ หรือถ้าหากว่าสามารถ ทำได้จะทำได้เมื่อไร รบกวน ๓ เรื่องครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านพิชัย ชมภูพล ครับ
นายพิชัย ชมภูพล สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม พิชัย ชมภูพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๖ อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ และอำเภอวิภาวดี พรรคภูมิใจไทย ผมขอหารือท่านประธาน เรื่องพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. ในท้องที่อำเภอท่าฉาง อำเภอท่าชนะ และอำเภอไชยา มีตำบลโมถ่าย ตำบลป่าเว ตำบลปากหมาก และตำบลเวียง
นายพิชัย ชมภูพล สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
เนื่องจากผมได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้อง ประชาชนในอำเภอดังกล่าว พี่น้องประชาชนที่อาศัยทำกินในที่ดินอยู่นอกเขตพื้นที่ปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. และอยู่นอกเขตที่ดินของรัฐได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผู้ที่อาศัยที่ทำกินในเขตพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถขอสำรวจที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องมาจากมีประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขต ปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าฉาง อำเภอท่าชนะ และในตำบลป่าเว ตำบลปากหมาก ตำบลโมถ่าย ตำบลเวียง ของอำเภอไชยา ไม่ได้มีการรังวัดแนวเขต แต่อย่างใด ทั้งที่ที่ดินของพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตที่ดินของรัฐ ดังนั้น ควรที่จะดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเรียนท่านประธานขอให้ ส.ป.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบสั่งการให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการรับรองแนวเขตโดยเร่งด่วนเพื่อที่จะได้นำข้อมูล ไปใช้ประกอบในการแก้ไขพระราชฎีกาต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านวิทวัส ติชะวาณิชย์ ครับ
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๑๕ วันนี้ผมมีเรื่องอยากปรึกษาหารือท่านประธาน ๔ หัวข้อด้วยกัน
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องแรกครับ ปัญหา ผักตบชวา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำจัดผักตบชวาให้เรียบร้อย ดังต่อไปนี้ ๑. คลองจรเข้บัว ๒. คลองลำบึงกุ่ม ๓. คลองคอตัน ภาพที่ท่านเห็นด้านขวามือคือ ซากผักตบชวาที่เจ้าหน้าที่แจ้งผมกลับมาว่าไม่รู้จะนำไปทิ้งที่ไหน เพราะฉะนั้นผมขอฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอำนวยความสะดวกหาสถานที่ในการกำจัดผักตบชวาด้วยครับ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เน่าเสียอีกครั้ง
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในที่เอกชนที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน สืบเนื่องจากที่ผมหารือไปเมื่อครั้งก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เขต ๑๕ นั้น เป็นพื้นที่เอกชนถูกทิ้งร้าง ไม่ได้รับการปรับปรุงมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ปัญหาของประชาชน ในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข ผมขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ให้ประชาชนได้ก่อนหรือไม่ ช่วยออกนโยบายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในอนาคตด้วยครับ เพื่อน ๆ สมาชิกจะได้ไม่ต้องนำเข้าวาระหารือบ่อย ๆ และนี่คือภาพตัวอย่างปัญหาของ ซอยรามอินทรา ๖๒ ซอยรามอินทรา ๙๓ และนวมินทร์ ๗๐
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ คือเรื่องการเก็บค่าไฟย้อนหลัง เป็นข่าวล่าสุดที่สวนสยามถูกเก็บ ค่าไฟย้อนหลังมากกว่า ๑๑ ล้านบาท และมีชาวบ้านอีกหลายหลังคาเรือนได้ประสบปัญหานี้ เช่นกัน เขาฝากผมมาถามว่ารอบ Bill ค่าไฟครั้งหน้าต้องสำรองเงินเผื่อการเรียกเก็บย้อนหลัง ไว้ใช่หรือไม่ ผมขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล Case นี้ และหาวิธีการจัดการ อย่างเป็นธรรมให้ลูกบ้านผมด้วยครับ
นายวิทวัส ติชะวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ คือการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ในระหว่างการรอดำเนินการ ตามสถานที่ต่าง ๆ สามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดระเบียบสายสื่อสารได้ก่อน หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ลดอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยงกรณีเพลิงไหม้ สายสื่อสาร ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ครับ
นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขตเทศบาลนครรังสิต เทศบาลคลองหลวง อบต. สวนพริกไทย พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอปรึกษาหารือท่านประธาน ทั้งหมด ๒ เรื่อง
นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เนื่องจากมีประชาชนผู้ใช้บริการมักพบเจอผู้ให้บริการแท็กซี่ ในย่านรังสิตปฏิเสธการให้บริการ เรียกเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่าย จงใจไม่กดมิเตอร์ โดยมักกระทำการกับพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดด้วยรถบัส พอลงรถบัสแล้ว ก็ต้องใช้บริการอย่างไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่จึงมักถูกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ จึงขอฝากท่านประธานไปยังขนส่งจังหวัดปทุมธานีและเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ในการกวดขันบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับ การบริการในราคาที่เป็นธรรม
นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ในจังหวัดปทุมธานีมีปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ปัญหาที่ได้รับร้องเรียน มักเป็นเรื่องของฝูงสุนัขสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ส่งเสียงดังเห่าหอนตอนกลางคืน บางครั้ง ดุร้ายถึงขั้นทำร้ายไล่กัดคนสัญจรไปมา และยังมีกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใจบุญที่นำอาหาร มาเลี้ยงสัตว์เหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของ เมื่อเกิดเหตุทำร้ายคนเข้าก็หาผู้รับผิดชอบไม่ได้ จาก Case นี้เคยหารือกับทางเทศบาลมักพบอุปสรรค เช่น ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ ขาดงบประมาณ ยังไม่มีพื้นที่สำหรับศูนย์พักพิงสัตว์จรจัด หรือเมื่อจะไปจับ คนก็เอาหลบ เข้าบ้านตัวเอง พอเจ้าหน้าที่ไปก็ปล่อยออกมา เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรควบคุมประชากรหมา แมวจรจัด หรือมีผู้จัดการดูแลอย่างถูกต้อง จึงขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ผลักดันโครงการผ่าตัดทำหมันหมา แมว โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับเทศบาล รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการ เช่น การมีหน่วยงานสวัสดิภาพ สัตว์เลี้ยงประจำเทศบาล การมีสัตวแพทย์ให้คำปรึกษาบริการ การจัดทำบัญชีหมา แมวจรจัด ไปจนถึงการมีศูนย์พักพิงในพื้นที่จำเป็นเพื่อรองรับประชากรหมา แมวจรจัด ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม บัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย ผมขออนุญาตหารือสัก ๒-๓ เรื่อง เป็นเรื่องด่วนของพี่น้องเกษตรกรที่ทำนา ซึ่งประสบปัญหาตอนนี้ราคาสินค้าเมื่อสัก ๒ สัปดาห์ที่แล้วข้าวนาปรังหรือข้าวเหนียว พันธุ์ทั่ว ๆ ไปยังราคา ๑๒,๐๐๐ บาทอยู่เลย ปัจจุบันเมื่อวานนี้เหลือ ๑๐,๒๐๐ บาทแล้ว พี่น้องภาคเหนือที่ทำข้าวเหนียวกันนะครับ วิธีแก้ไขปัญหานี้ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เคยประกาศไว้ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรไม่มี จำนำไม่มี ประกันรายได้ไม่มี ผมก็นึกออกอย่างเดียวว่ามีเหลืออยู่โครงการเดียวที่จะผ่าน ครม. เรื่องโครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างคุณค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร ปีการผลิต ๒๕๖๖ และปี ๒๕๖๗ โดยผ่าน ครม. แต่ผลผลิตในข้าวของทุก ๆ ภาค ภาคเหนือ ภาคอีสาน กำลังจะเริ่มออกในข้าวหอมมะลิ แล้วก็ข้าวพันธุ์ทั่ว ๆ ไปในฤดูนาปี ในวันที่ ๑ พฤศจิกายนนี้ วันนี้วันที่ ๑๘ แล้วนะครับ ขอฝากผ่านท่านประธานถึงนายกรัฐมนตรี ถึงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ดำเนินการขายข้าวได้ทันราคาที่ต้องเกี่ยวออกมา เพราะว่าเป็น ข้าวสดเกี่ยวมาแล้วเก็บไว้ไม่ได้ ผ่านท่านประธานถึงนายกรัฐมนตรีด้วยนะครับ แล้วก็ถ้าเกิด ใน ครม. มีโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาชาวไร่เขาก็ขอด้วยนะครับ เพราะว่าเขาก็คือเกษตรกรเหมือนกัน ฝากทางรัฐบาลด้วยครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องหมูเถื่อน เนื้อเถื่อนที่เข้ามาเป็นข่าวกันทุกวันนี้ยังมีอยู่นะครับ พี่น้องทางสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เขาร้องเรียนผ่านมาโดยกองทัพมด มาในส่วนของเรือประมงยังมีกันมาเรื่อย ๆ พวกนี้ไม่น่าจะให้มีนะครับ กรมปศุสัตว์ของเรา น่าจะรู้ดีกว่าประชาชน แต่ประชาชนก็ค่อนข้างจะรู้ดี ฝากท่านประธานดำเนินการเรื่องนี้ ผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวิรัช พิมพะนิตย์ ครับ
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิก กระผม วิรัช พิมพะนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ตอนนี้ที่กาฬสินธุ์น้ำท่วมแล้วก็ยังท่วมต่อไป พอดีผมได้รับการร้องขอจากท่านนายกไก่ทอง ไกลมงคล นายกเทศบาลตำบลหลุบ กับท่านนายกสุนทร เจริญพันธ์ นายกเทศบาล ตำบลห้วยโพธิ์ ระหว่างบ้านดอนฉนวนของตำบลหลุบมาถึงบ้านใหม่คำของตำบลห้วยโพธิ์ ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตรกว่า ๆ มันจะมีพนังกั้นน้ำที่ตอนนี้น้ำมันล้นจากพนังกั้นน้ำ ผมจึงกราบฝากท่านประธานถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่าช่วยยกพนังกั้นน้ำขึ้นให้หน่อย มันจะได้เป็นถาวร คือปัจจุบันนี้มันท่วมและมันมากินพื้นที่เกษตรกรไปตั้งเกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ เพราะตำบลหลุบ กับตำบลห้วยโพธิ์เป็นตำบลใหญ่ของอำเภอเมือง ประชากรเป็นหมื่นของทุกตำบล ฝากท่านประธานไว้ด้วยให้ประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องที่ ๒ ผมจะหารือเรื่องหารือนี่เพราะอะไรรู้ไหมครับท่านประธาน ผมก็เห็นเพื่อน สส. หารือกันไปอยู่ ผมก็เคยหารือ แต่ที่หารือแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นเลยครับ ผมจึงกราบเรียนว่าระบบของพวกเราทำกันอย่างไร หารือเสร็จแล้วก็ได้ขึ้นออก TV แล้วก็ ได้ขึ้นพูดแล้วก็หายไปเลยหรือครับ เพราะฉะนั้นฝากท่านประธานตามเรื่องนี้ให้ด้วย
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผมเคยเป็น สว. เลือกตั้ง แล้วก็เคยอยู่สภาพอสมควร เคยมาโดนมาตรา ๑๐๙ ด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเห็นเจ้าหน้าที่เขาเรียกตำรวจสภา วันนี้เขาแต่งตัวผมดูแล้วมันไม่เหมาะสม แต่ก่อนผมภูมิใจที่ตำรวจสภาแต่งตัวเป็นชุดตำรวจ แล้วก็เวลามีแขกบ้านแขกเมืองมา หรือผู้นำมา เขาควบคุมดูแลก็คืนเกียรติตัวนั้น ให้เขาหน่อยเถอะครับ เพราะว่าจริง ๆ ตำรวจสภาก็อยู่เป็นตำรวจสภานี่ละครับ ไม่ได้ออกไป ข้างนอกเท่าไร ขอฝากท่านประธานคืนสิทธิและเครื่องแบบเขาให้ตำรวจสภาได้ทำหน้าที่ โดยถูกต้องด้วยครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม พิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต ๓ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมได้นำปัญหาในพื้นที่ ๒ เรื่องหลัก ๆ มาปรึกษาหารือกับท่านประธาน เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวครับ
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
ปัญหาแรก คือปัญหาน้ำท่วม ถนนศรีนครินทร์ ตั้งแต่แยกลาซาลไปจนถึงสี่แยกศรีเทพา เมื่อมีฝนตกน้ำบริเวณดังกล่าว จะมีน้ำท่วมสูงหนักมากถึงขั้นผู้ที่สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวรถต้องมาดับกลางทาง จากที่ผม ได้ลงพื้นที่ดังกล่าวพบว่าน้ำจากบริเวณดังกล่าวจะระบายผ่าน ๒ คลองก็คือ คลองสำโรง และคลองบางนา ผมฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไข ปัญหาให้น้ำระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยครับ
นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ สมุทรปราการ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาต่อมาฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการคืนพื้นที่ถนนศรีนครินทร์ แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตั้งแต่แยกศรีเทพาจนถึง แยกลาซาลนี่ก็ผ่านมา ๑ เดือนกว่า แล้วที่ผมได้พูดในสภาแห่งนี้จนถึงตอนนี้ผมยังไม่ทราบ ความคืบหน้าของการคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่ดังกล่าว ผมฝากท่านประธานผ่านไปถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ คือ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด และแขวงการทาง ให้เร่งปรับปรุงซ่อมแซมพื้นที่ถนน และเร่งดำเนินการคืนพื้นผิวจราจรให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ไข ปัญหารถติดในช่วงเวลาเร่งด่วน คืนความปกติให้กับการจราจรบนถนนศรีนครินทร์ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้รถใช้ถนนศรีนครินทร์ด้วย ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุวรรณา กุมภิโร ครับ
นายสุวรรณา กุมภิโร บึงกาฬ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายสุวรรณา กุมภิโร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบึงกาฬ เขต ๒ พรรคภูมิใจไทย ขอหารือท่านประธาน ๒ ประเด็นหลักนะครับ
นายสุวรรณา กุมภิโร บึงกาฬ ต้นฉบับ
ผมได้รับการร้องเรียนจากท่าน สจ. ไพศาล ข่าทิพย์พาที และนางปราณี ศรีโสดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเซกา ตอนนี้พี่น้อง อำเภอเซกาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยบึงขนาดใหญ่กุดตากล้าที่มีเนื้อที่ ๙๐ ไร่ เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาให้กับพี่น้องที่มีประชาชนหนาแน่นเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน มีวัชพืชขึ้นปกคลุมตลอดทั่วหนองน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ทำให้ ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ไม่มีน้ำสะอาดในการอุปโภคและ บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน กระผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยการขุดลอกบึงกุดตากล้าเชื่อมบึงกุดสามขาที่มีขนาดใหญ่ เนื้อที่ ประมาณ ๓๖๖ ไร่ เชื่อมต่อให้เป็นพื้นที่เดียวกันจะได้พื้นที่ขนาด ๔๕๖ ไร่ ทำให้ มีน้ำเพียงพอในการผลิตน้ำประปา พร้อมทำคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำปิดเปิดเชื่อมห้วยฮี้ ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี เพื่อให้น้ำหมุนเวียนเข้าออก น้ำจะได้ไม่นิ่ง วัชพืชจะได้ไม่เกิด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
นายสุวรรณา กุมภิโร บึงกาฬ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ พี่น้องจังหวัดบึงกาฬของผมได้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา ยาเสพติดว่าตอนนี้มีการระบาดมาก ตามสถิติการจับกุมของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สูงขึ้นเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬเองเป็นจังหวัดตะเข็บชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับ ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เป็นช่องทางทะลักเข้าของยาเสพติด และเป็นต้นทางลำเลียงไปยัง จังหวัดอื่น ๆ ของประเทศ เดือนตุลาคมที่ผ่านมาจับได้ ๓ ล้านเม็ด เดือนกรกฎาคมจับได้ ๔ ล้านเม็ด ทำให้มีผลกระทบพี่น้องจังหวัดบึงกาฬเป็นอย่างมาก กระผมขอฝากเรียน ท่านประธานไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดใช้จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดนำร่องในการปราบปรามกระบวนการยาเสพติดอย่างเข้มข้น เพื่อสกัด การแพร่ระบาด ลักษณะการแพร่ระบาดยาเสพติดนอกจากระบาดในกลุ่มวัยรุ่น ยังกระจาย ไปยังผู้ใหญ่วัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ และที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มเยาวชนอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ขอให้เร่งดำเนินการก่อนที่จะสายเกินไป กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านองค์การ ชัยบุตร ครับ
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม องค์การ ชัยบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ขออนุญาตหารือท่านประธานดังต่อไปนี้ครับ
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กระผมได้รับข้อร้องเรียนจากนายสมภาร ศักดิ์เวทิน ตัวแทนชาวบ้าน หมู่ที่ ๑๐ ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี กรณีถนนในพื้นที่หลายเส้นทาง เป็นหลุมเป็นบ่อ สัญจรลำบากครับ
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ได้รับข้อร้องเรียนจากนางหยดย้อย เหล่าแก้ว ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี กรณีถนนภายในพื้นที่และหมู่บ้าน สัญจรลำบาก ผลผลิตทางการเกษตรก็ลำบากมากเพราะว่าหน้าฝนกำลังจะผ่านไป
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ได้รับข้อร้องเรียนจากนางสาวนันทณา พูลงาม สมาชิกเทศบาลตำบลบุญทัน เขต ๒ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และชาวบ้านร้องเรียนมาว่าขอให้ยกเลิก ป่าสงวนแห่งชาติเก่ากลอยนากลาง แล้วก็ขอให้ยุติการจับกุม เพราะชาวบ้านอ้างว่า มาอยู่ก่อนที่ป่าสงวนจะประกาศ
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ได้รับการประสานงานจากนายระนาด ศรีสร้อย นายกเทศบาลตำบลดงมอน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร กรณีขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ดอนห้วยคำเฒ่า เพื่อใช้เป็น พื้นที่ก่อสร้างสำนักงานเทศบาลแห่งใหม่จากกรมที่ดิน ไม่ทราบว่าตอนนี้ไปถึงไหน อย่างไร ก็เดือดร้อนทั้งหมดที่ผมได้เล่ามา ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดจัดสรร และดำเนินการเป็นการใหญ่ด้วย ขออนุญาตส่งเอกสารประกอบการหารือด้วยครับ ขอบคุณ มากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านจำลอง ภูนวนทา ครับ
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จำลอง ภูนวนทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต ๓ ห้วยเม็ก หนองกุงศรี ท่าคันโท ลูกน้ำปาวนะครับ
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เรื่องหารือท่านประธานในวันนี้สืบเนื่องมาจากราษฎรที่เช่าที่ราชพัสดุ ประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชและเลี้ยงกุ้ง ในเขตของผมมีการเลี้ยงกุ้งด้วย ได้รับ คำร้องเรียนจากนายกโก้ นายกอัครนันท์ ปัญญาเจริญโรจน์ นายก อบต. หัวหินบอกว่า พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่งใหญ่ ต้องการให้รัฐเยียวยาเรื่องที่ทำให้เกิด ความเสียหายอันเกิดจากการเลี้ยงกุ้ง แล้วก็เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและปลูกอ้อย ที่น้ำท่วม อันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำไม่ดีพอของกรมชลประทาน
นายจำลอง ภูนวนทา กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ อยากทวงถามเรื่องหารือที่ผ่านมาที่ผมเคยหารือไว้เรื่องการก่อสร้าง ถนนสายตำบลโคกเครือเชื่อมกับตำบลดงมูล ช่วงบ้านนางามกับบ้านคำขาม แล้วก็ ถนนสายบ้านหนองบัว ตำบลหนองบัวเชื่อมตำบลหนองสรวง เทศบาลหนองบัว เชื่อมเทศบาลหนองสรวง ระหว่างบ้านหนองบัวกับบ้านนาบง หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๔ แล้วก็ตำบลหนองบัว หมู่ที่ ๒ บ้านพรหมบุรีเชื่อมตำบลหนองสรวง ซึ่งถนนทรุดโทรมอย่างมาก และผมเคยหารือกับท่านประธาน และเคยฝากท่านประธานแล้ว ผมมาทวงถามท่านประธาน คืออยากจะทราบว่าหารือแล้วก็เงียบไปเลยหรืออย่างไร ตอนนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้มาพูดคุยกับผมว่าฝากท่านหารือฝากไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหน่อย เพราะว่า เขาได้ของบประมาณไปตั้งหลายปีแล้ว แต่ว่าเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ ฉะนั้นผม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงขอฝากท่านประธานไปยังผู้มีอำนาจรับผิดชอบด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุรวาท ทองบุ ครับ
นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอปรึกษาหารือ ผ่านท่านประธานไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ขอให้สนับสนุนการยกเลิกคำสั่ง คสช. เพื่อเป็นการคืนสภาวิชาชีพ หรือที่เรียกว่า คุรุสภา รวมทั้งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิภาพสวัสดิการครู กรรมการองค์การค้า และคณะกรรมการข้าราชการครู ให้แก่ครู และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ให้อยู่ในองค์ประกอบของสภาและคณะกรรมการเหล่านั้นด้วย
นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอให้มีการปลดล็อกการย้ายครูกลับภูมิลำเนา โดยการยกเลิก การกำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่นั้นทั้งระบบ และมีการเรียกบรรจุจากบัญชีเพื่อทดแทนอัตรา เกษียณให้ครู ผู้บริหาร ธุรการ ภารโรง ให้มีครบทุกโรงเรียน ให้เป็นไปตามเกณฑ์อัตรากำลัง ที่กำหนดขึ้น
นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ขอให้มีระบบความก้าวหน้ามั่นคงในชีวิตการทำงาน แก่พนักงานราชการ ลูกจ้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครู ธุรการ ภารโรง ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ให้มีระบบการขึ้นเงินเดือน ออกเงินเดือนให้ตรงเวลา ทำสัญญาเป็นปีได้ไหม บางคน ได้เงินเดือน ๙,๐๐๐ บาทต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ บางคนได้ ๑๕,๐๐๐ บาททำงานเดียวกัน บางคนต้องปฏิบัติหน้าที่ ๒-๓ โรงเรียน ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำลักลั่นกันมาก
นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ขอให้ปรับระบบการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการครูที่เป็นระบบ เปอร์เซ็นต์ มีความเหลื่อมล้ำลักลั่น ครูที่บรรจุพร้อมกันหากไปอยู่ในโรงเรียนที่เป็นโรงเรียน ขนาดใหญ่ ครูเงินเดือนมากก็จะได้ขึ้นเงินเดือนมาก ถ้าไปอยู่โรงเรียนขนาดเล็กก็ได้น้อย
นายสุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ ขอให้เยียวยาเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้แก่อาจารย์และบุคลากรที่มีเงินเดือนต่ำกว่าข้าราชการครูถึง ๘ เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ ปี ๒๕๕๔ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องหารือ ๓ เรื่องนะครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
ผมได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหนองจั่น นางสาวจุฑามาศ เวชยานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลหนองนกแก้ว อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ว่าเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ เกิดเหตุเพลิงไหม้ ขอ Slide ด้วยครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
ที่โรงเรียนบ้านหนองจั่น เป็นอาคาร ไม้ชั้นเดียววอดทั้งหลังครับ ปัจจุบันนี้เด็กนักเรียนชั้น ป.๑-ป.๓ ที่อาศัยเรียนอยู่ในอาคาร หลังนี้ไม่มีสถานที่เรียนต้องไปอาศัยศาลาวัดเรียน ฝากท่านประธานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยจัดอาคารหลังใหม่ หรือสถานที่เรียนให้กับนักเรียนด้วยครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในอดีตหรือเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนทั่วไป แต่ปัจจุบันเสื่อมโทรมไม่มีผู้ดูแลก็ฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สวยงาม และเป็นที่ท่องเที่ยว ของประชาชนโดยทั่วไปด้วยนะครับ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ กาญจนบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ จังหวัดกาญจนบุรีจะมีเขื่อนใหญ่ ๆ อยู่ ๒ เขื่อนคือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่ง ๒ เขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำปีหนึ่งสามารถจะเก็บน้ำ ได้เต็มครับ หมายความว่ามีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากรับน้ำฝนจากมรสุมมาทางด้านทะเล อันดามัน ปีหนึ่งสามารถเก็บน้ำแล้วก็เอามาให้ประชาชนในรอบ ๆ กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพฯ เพื่อผลิตน้ำประปา แต่วันนี้จังหวัดกาญจนบุรีมีอยู่ ๓ อำเภอคือ อำเภอเลาขวัญ อำเภอห้วยกระเจา อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ เป็นอำเภอที่ชาวบ้านขนานนามว่าอีสานภาคกลาง ขาดแคลนน้ำ เหลือเกิน แต่ส่งน้ำมาให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภค วันนี้อยากจะ เรียกร้องว่า ๓-๔ อำเภอนี้ทำอย่างไรถึงจะมีน้ำใช้อย่างคนกรุงเทพฯ เพราะว่าคนกาญจนบุรี มีเขื่อนแต่ไม่ได้ใช้น้ำอยู่ ๒-๓ อำเภอที่เราเรียกว่าอีสานภาคกลาง ก็อยากฝากไปยัง กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปให้คนกาญจนบุรี ที่อยู่ในเขตอำเภอเลาขวัญ อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอหนองปรือได้ใช้ประโยชน์ด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเฉลิมพงศ์ แสงดี ครับ
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๒ พรรคก้าวไกล ผมนำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนมาหารือต่อสภา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ๓ เรื่องดังต่อไปนี้
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้ลงพื้นที่ชุมชนอ่าวยน ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ประชาชนต้องการต่อไฟใช้กันเองจึงมีอัตราค่าไฟที่แพงและไม่มีไฟทางริมถนน กลางคืน อันตราย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลองพิจารณาข้อเสนอของประชาชนที่ต้องการไฟฟ้า และไฟทางเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟแบบปกติ นอกจากนี้ยังมีปัญหาไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำปัญหาไปพิจารณา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีที่ดินทำกิน เป็นของตัวเองด้วยครับ
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนหมู่ที่ ๑๐ ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงการตั้งสถานีบรรจุแก๊สหุงต้มในพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเรือน ของประชาชน ในบริเวณนั้นมีชุมชนขนาดใหญ่ประชาชนอาศัยจำนวนมาก ผมได้พูดคุยกับ ประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้นทราบว่าเคยมีหน่วยงานรัฐเข้าไปขอข้อมูล แต่จนขณะนี้ยังไม่ได้ ตอบกลับแต่อย่างใด จึงฝากหารือท่านประธานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ การขออนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบการ เพื่อให้ประชาชนได้คลายความสงสัย ด้วยนะครับ
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เนื่องด้วยถนนสายกะทู้-ป่าตอง เป็นถนนเศรษฐกิจ เป็นเส้นทางหลัก เข้าเมืองป่าตอง แต่มีความลาดชันและมีผู้คนสัญจรจำนวนมาก ทำให้น้ำมันหกจากรถบรรทุก เกิดการรั่วซึมลงสู่พื้นผิวถนน ทำให้ประชาชนที่สัญจรใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ประสบ ความอันตรายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุสูง ผมจึงขอฝากหารือ ท่านประธานไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต เพิ่มความเข้มงวดกวดขัน ตรวจสภาพ รถบรรทุกทุกคันเพื่อลดอุบัติเหตุการสูญเสียด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล ซึ่งต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลนำโดยท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน คณะรัฐมนตรี กระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ ซึ่งได้นำพี่น้องแรงงานกลับสู่ประเทศไทยและได้รับ การดูแลช่วยเหลือจากภาคเอกชน เช่น โรงแรม เอสซี ปาร์ค นกแอร์ แอร์เอเชีย ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องแรงงาน แต่ยังมีผู้ติดค้างอยู่ที่อิสราเอลในเขตอันตรายอยู่ ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเข้าไปดูแลแก้ไข เนื่องจากว่าตอนนี้เรามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว ๒๙ คน เป็นตัวประกัน ๑๘ คน จากแรงงาน ๓๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วก็ที่ภาคอีสาน ๑๙,๐๐๐ คน ที่อุดรธานี ๔,๐๔๒ คน นี่คือเรื่องที่เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อที่จะนำคนไทยกลับสู่มาตุภูมิ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดแล้วก็ต้องดูแลเขาเมื่อกลับเข้ามา ฝากรัฐบาลไว้นะครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ การก่อสร้างถนน การซ่อมแซมถนน ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกล่าม ตำบลบุ่งแก้วไปตำบลทมนางามซึ่งชำรุดเสียหาย ได้ร้องมาขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้ไปแก้ไข ให้ด้วยครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ถนนขึ้นวัดผาสิงห์ที่ อบต. หมากหญ้า ท่าน สจ. พนมพร ฝ้ายสีงาม ร้องมาให้แก้ไขซ่อมแซมถนนขึ้นวัด เพื่อที่จะให้พี่น้องพุทธศาสนิกชนไปทำบุญ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
นอกจากนั้นก็มีการให้สร้างทางคู่ขนาน ทล.๒๑๐ จากอุดรธานีไป หนองบัวลำภู สร้างถนน ทล.๒๓๑๔ จากหนองแวงยาวไปลำห้วยหลวง แล้วก็ ทล.๒๓๑๕ จากแยกอำเภอหนองวัวซอไปตำบลอูบมุง
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ มีเรื่องที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องก็คือกระเป๋าเงิน Digital Wallet ๑๐,๐๐๐ บาท ทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคอื่น ๆ ๔๐ กว่าล้านคนผู้มีสิทธิได้รับเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท เรียกร้องมายังรัฐบาล เมื่อไรจะได้ เมื่อไรจะดำเนินการให้ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลแจ้งไปแล้วว่า ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้รับแน่นอน แต่ก็ฝากทางรัฐบาลไว้ว่าน่าจะใช้เงินภายในจังหวัดไม่จำกัด ๔ กิโลเมตร ก็ฝากทางรัฐบาลช่วยดูแลพี่น้องประชาชนผู้กำลังต้องการเงิน Digital Wallet ๑๐,๐๐๐ บาท มากทั่วประเทศ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตบางแคและเขตภาษีเจริญ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้มีเรื่องขอหารือ ท่านประธาน จำนวน ๗ เรื่อง ดังนี้
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ถนนเทอดไทบริเวณวัดรางบัวถึงวัดอ่างแก้ว เขตภาษีเจริญ ที่ผมได้ประสานงานพื้นผิวจราจรชำรุด ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงผิวถนนใหม่แล้วครับ แต่ยังตีเส้นจราจรไม่เรียบร้อย ขอให้เร่งดำเนินการนะครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าส่องสว่างดับบริเวณถนนกัลปพฤกษ์เชื่อมต่อถนนกาญจนาภิเษก ตั้งแต่การหารือครั้งที่แล้ว ฝากกรมทางหลวงพิจารณาแก้ไขโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ การดูแลตัดแต่งกิ่งไม้ในกรุงเทพมหานคร ส่วนที่ขึ้นไปโดน สายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ยังมีความไม่คล่องตัวระหว่างกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้า และเอกชนผู้รับจ้างตัด เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ขอให้วาง แนวทางการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนและมีมาตรการคาดโทษหรือปรับผู้รับจ้างที่เก็บงาน ไม่เรียบร้อยครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ อัตราค่าบริการต้นไม้ในที่เอกชนของ กทม. ซึ่งเป็นอัตราที่รัฐตัด มีการปรับราคาขึ้น ในทางปฏิบัติมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่มาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก อาจเกิดช่องโหว่ในการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสได้ ขอให้กรุงเทพมหานครออกหนังสือ แจ้งเกณฑ์ราคาที่ชัดเจนครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๕ ปัญหาผู้มีภาวะทางจิตที่อันตรายต่อบุคคลรอบข้าง ยังมีพบเห็น ในที่สาธารณะ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ พม. และผู้เกี่ยวข้องจริงจังกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. สุขภาพจิต เมื่อ ๒ วันนี้เกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยถือมีดวิ่งไล่ฟันต้นไม้ริมถนนเพชรเกษม บริเวณปากซอยเกษม ๖๗/๑ ประชาชนต้องวิ่งหนี ทราบว่ายังไม่ได้เข้ารับการรักษานะครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๖ สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza ยังคง น่าเป็นห่วง ยาโอเซลทามิเวียร์ก็ขาดแคลน วัคซีนไม่เพียงพอ ฉีดก็ไม่ทั่วถึง แม้แต่โรงพยาบาล ของรัฐหลายแห่งในขณะนี้ก็ยังต้องคิดค่าบริการฉีด หลายแห่งถึงเราจะจ่ายเงินก็ไม่มี ให้ฉีดแล้วครับ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการแก้ไขนะครับ
นายธัญธร ธนินวัฒนาธร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย ฝุ่น PM2.5 กลับมาในระดับที่มีอันตรายต่อสุขภาพอีกแล้วครับ เมื่อเช้านี้อยู่ที่ ๒๕๕ AQI ฝุ่นหนามากครับ ผมเดินทางมาจากทางสะพานกรุงธนมองไม่เห็น รัฐสภาแล้ว ปัญหานี้เรื้อรังนะครับ ฝากรัฐบาลเร่งแก้ไขดำเนินการด้วย ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศาสตรา ศรีปาน ครับ
นายศาสตรา ศรีปาน สงขลา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ ผม ศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เด็กหาดใหญ่ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้มีเรื่องมาหารือกับท่านประธานทั้งสิ้น ๓ เรื่องครับ
นายศาสตรา ศรีปาน สงขลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ที่จังหวัดสงขลาได้มีการทำประชาพิจารณ์ นำโดยท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน แล้วก็ตัวผมเอง ตลอดจน สส. ต่างพรรค ท่านสมยศ พลายด้วง ท่านชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว ท่านสุรินทร์ ปาลาเร่ ก็ทำประชาพิจารณ์เรื่องปลดล็อกนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง
นายศาสตรา ศรีปาน สงขลา ต้นฉบับ
ต้องเรียนแบบครับนี้ว่าเมื่อก่อนเรา ไม่สามารถเพาะพันธุ์เองได้ ต้องไปจับนกมาจากในป่าครับ แต่วันนี้นกกรงหัวจุกนี่ชาวบ้าน เลี้ยงกันทั่วประเทศไทย และวันนี้มากันเป็นพันคนที่รัฐสภาแห่งนี้ครับ วันนี้คนไทยเก่ง คนไทยเพาะนกเองได้ ส่งออกนก มีรายได้เข้าประเทศหลักพันล้านบาทต่อปี แต่ทราบไหมว่า ทำไมวันนี้ชาวนกกรงหัวจุกจึงมารวมตัวกันที่นี่ เพราะเขาโดนกดขี่ในเรื่องของกฎหมาย กฎหมายล้าหลังครับ จะไปจดทะเบียนนกต้องมีที่ดินนี่ผมยกตัวอย่างนะครับ ตัดกลุ่มผู้เลี้ยง ไปตั้งเยอะแล้วแค่มีที่ดิน เพราะคนเลี้ยงตั้งแต่รากหญ้าไป แล้วก็ยังมีในเรื่องของ พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบ กฎหมายก็เป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหาผลประโยชน์ครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ในรอบ ๓๐ ปีจะเป็นวันที่เรามารวมตัวกันและปลดล็อกนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีรายชื่อเหมือนนกเขา ถ้า สส. ท่านใดสนใจ ชั้น B1 วันนี้ ๑๑.๐๐ นาฬิกา ไปร่วมกันช่วยชาวบ้านปลดล็อกนกครับ
นายศาสตรา ศรีปาน สงขลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ สถานบันเทิงปิดตีสี่ เห็นท่านนายกก็พูดถึงเรื่องนี้บ่อยมาก แต่ลืมไป หรือเปล่าครับว่าหาดใหญ่บ้านผมก็เป็นเมืองท่องเที่ยวบันเทิงเหมือนกัน มีนักท่องเที่ยว มาเลเซียมาทุกปี เพราะฉะนั้นอย่าลืมหาดใหญ่ เทศบาลนคร ชมรมธุรกิจบันเทิง จังหวัดสงขลามาร้องเรียนบอกว่าเราหนุนให้ปิดตีสี่ แต่ขอเป็นพื้นที่ของเราด้วยนั่นก็คือ หาดใหญ่ แล้วก็นั่งข้าง ๆ เกาะสมุย ก็อย่าลืมเกาะพะงัน Full Moon Party อันดับ ๒ ของโลก ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุรพันธ์ ไวยากรณ์ ครับ
นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนชาวอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดังนี้
นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นปัญหาของถนน ในซอยสามัคคี ตั้งแต่แยกติวานนท์จนถึงตลาดสมบูรณ์ทรัพย์ ระยะทางกว่า ๒.๗ กิโลเมตร มีรถสัญจรไปมาหลายพันคันต่อวัน แต่ปัญหาก็คือว่าถนนเส้นนี้มีสภาพชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ฝนตกก็มีน้ำท่วม ประชาชนร้องเรียนถึงปัญหาถนนเส้นนี้มากว่า ๑๐ ปี แต่ก็ยังไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างจริงจัง ผมฝากไปถึงเทศบาลนครนนทบุรีถึงแผนในการทำถนนเส้นนี้ใหม่ ประชาชนอยากให้ทำถนนเส้นนี้ใหม่ ไม่ใช่ทำซ่อมแซมแบบชั่วคราว
นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของการจัดระเบียบบริเวณหน้าโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อันนี้เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะรถฉุกเฉินที่จะต้องเข้าออก โรงพยาบาล เพราะว่าทางผู้ป่วยแจ้งกับทางโรงพยาบาลซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานนะครับ อยากให้ทางสถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์และเทศบาลนครนนทบุรีจัดการปัญหาเรื่องของ ระเบียบร้านค้าและรถที่จอดบริเวณริมหน้าโรงพยาบาลด้วยนะครับ
นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องขยะที่มากับน้ำ บริเวณเขื่อนชุมชนศาลเจ้า ซอยนนทบุรี ๙/๑ ปัญหาของขยะที่เข้ามาในชุมชน เพราะชุมชนนี้ไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอย่างถาวร โดยชุมชนนี้จะอยู่ระหว่างโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ากับโรงสีข้าว ซึ่งมีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม อย่างดี แต่ชุมชนนี้ระยะทางประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ เมตร ถูกเว้นระยะไว้ไม่ได้สร้างเขื่อน ป้องกันน้ำท่วม ทำให้ทั้งผักตบชวาและขยะลอยเข้ามาในชุมชนเป็นอย่างมาก ทางจังหวัดเอง ก็มีแผนที่จะสร้างเขื่อนแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ผมไปสอบถามก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงเรียน ฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า เทศบาลนครนนทบุรี ถึงแผนในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับประชาชนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ ครับ
นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต ๗ อำเภอปราสาท อำเภอลำดวน พรรคภูมิใจไทยครับ วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือ ท่านประธานอยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน
นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เรื่องเกี่ยวกับน้ำประปา ได้รับการร้องเรียนจากนายชัยธัช หวังสม นายกเทศมนตรีตำบลลำดวนสุรพินท์ ในเรื่องชาวบ้านไม่มีน้ำประปาใช้ โดยปัญหามีอยู่ที่ พื้นที่ ๑๔ จุด ทำให้ชาวบ้านกว่า ๑๓๐ หลังคาเรือน ประชาชนกว่า ๖๐๐ คน ได้รับ ความเดือดร้อน ทั้งที่ในพื้นที่ดังกล่าวมีสำนักงานประปาส่วนภูมิภาค สาขาย่อย อำเภอลำดวน ปรากฏว่าน้ำประปาไม่มีใช้ จึงได้ทำหนังสือเรียนไปถึงการประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดสุรินทร์ เพื่อขอขยายเขตให้ทั่วถึงและครอบคลุม ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ถึงบัดนี้ ยังไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลยครับ
นายเรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมได้รับการร้องเรียนจากนายบัณฑิต ปานะโปย ถึงเรื่องสะพาน สมเด็จย่า ๙๐ พรรษา อยู่ที่บ้านกำไสจาน ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ สะพานแห่งนี้ใช้การสัญจรข้ามเพื่อไปยังลำน้ำชี ข้ามไปทางฝั่งบุรีรัมย์ สะพานแห่งนี้ สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๓ จนมาถึงบัดนี้อายุก็ล่วงเลยไปกว่า ๓๓ ปีแล้วครับ ประกอบกับ ปลายปี ๒๕๖๕ เกิดพายุโนรูทำให้สะพานทรุดตัวลง เลยได้มาสร้างเป็นสะพานเหล็ก เสริมอยู่ข้างบนเพื่อให้พี่น้องสัญจรไปมา ขนย้ายพืชผลทางเกษตร ผมฝากถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องถึงเรื่องความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในเขตบ้านผมได้รับการช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านอรพรรณ จันตาเรือง ครับ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน อรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๖ คนอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ วันนี้ดิฉันมีเรื่อง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาหารือท่านประธาน ขอ Slide ด้วยค่ะ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือ เรื่องกล้องวงจรปิดแยก Bypass ถนน ๑๐๗ ทางเข้าอำเภอเชียงดาว แยกที่ ๒ แยก Bypass ถนน ๑๐๗ ทางเข้าถ้ำเชียงดาว แยกที่ ๓ ถนน ๑๐๗ ปากทางเมืองงาย ก็คือ ๓ เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไม่ว่าจะไปอำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย เชื่อมไปถึงจังหวัดเชียงรายด้วยนะคะ ทั้ง ๓ จุดนี้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยมาก เกิดการเสียชีวิตหลายครั้งแต่ไม่สามารถย้อนดูเหตุการณ์ได้ เนื่องจากจุดนี้ทั้งหมด ไม่มีกล้องวงจรปิด หลายรายที่จะต้องเสียชีวิตฟรี พี่น้องประชาชนก็แจ้งไปหน่วยงานนั้น ก็ให้ไปหน่วยงานนี้ หน่วยงานนี้ก็ให้ไปหน่วยงานนั้น วันนี้ดิฉันจึงอยากจะขอใช้พื้นที่สภา แห่งนี้เรียนท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดสรรงบประมาณในการติดตั้ง กล้องวงจรเปิดที่ไม่ปิดค่ะ คือที่สามารถใช้งานได้จริงเพื่อลดปัญหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการสูญเสียของพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เรื่องถนนทางหลวงชนบท ๓๐๔๗ ทางไปโรงเรียนบ้านปางแดง เส้นทางนี้ทุลักทุเลมากค่ะ หน้าร้อนฝุ่นตลบอบอวล หน้าฝนก็จะเละประมาณนี้ค่ะ คือว่าพื้นที่การศึกษาห่างไกลแล้วจะต้องมาเจอชีวิตที่ย่ำแย่แบบนี้มันยิ่งไปกันใหญ่ เบื้องต้น ประสานหน่วยงานท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นโครงการที่เกินศักยภาพของท้องถิ่น วันนี้ จึงอยากจะเรียนท่านประธานฝากไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ช่วยสนับสนุน งบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหารูปแบบเดียวกันแบบนี้ค่ะ เพื่อให้ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่งนะคะ เส้นทางจากดอยม่อนล้าน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมไปยังอำเภอเวียงป่าเป้า เชื่อมอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางดิน ตามรูปภาพนี้เลย ตามเส้นทางนี้เลยนะคะ หลายครั้งพี่น้องประชาชนเดินทางไปโรงพยาบาล จะต้องมีการสุ่มเสี่ยงในระหว่างทางเพราะเดินทางไปไม่ถึงโรงพยาบาลค่ะ วันนี้ดิฉัน จึงอยากจะเรียนท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างถนนเส้นนี้เป็นถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดด้วยค่ะ ดังสุภาษิตโบราณล้านนา ได้กล่าวไว้ว่า จิ้นบ่เน่าหนอนตึงบ่จี กำบ่มีเปิ้ลตึงบ่ว่านะเจ้า ถ้าหากถนนหนทางหรือว่า โครงสร้างดีพี่น้องประชาชนก็คงไม่เดือดร้อน ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ช่วยแก้ไขเรื่องสัญญาณไฟโดยด่วนนะครับ เพราะว่าเราซ้อม หนีไฟไปแล้ว เดี๋ยวตอนนี้จะเกิดความสับสน แล้วก็รบกวนการประชุมของท่านสมาชิก เชิญท่านอลงกต มณีกาศ ครับ
นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายแพทย์อลงกต มณีกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๓ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอน การขึ้นทะเบียนขอเป็นมรดกโลก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พี่น้องชาวอำเภอธาตุพนมได้เรียกร้อง มาโดยตลอดก็คือการปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณรอบ ๆ วัดครับ
นายอลงกต มณีกาศ นครพนม ต้นฉบับ
ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ. นครพนม ร่วมกับท่านชูกัน กุลวงษา ก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดนครพนม ตอนนั้นได้ขอให้ทางสำนักงานโยธาธิการ และผังเมืองได้ออกแบบในพื้นที่ที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงอำเภอเรณูนครด้วยนะครับ ในโครงการเรณูนครเมืองเก่า ซึ่งได้รับความกรุณาจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดนครพนมเป็นอย่างดี ตอนนี้การออกแบบแล้วเสร็จแล้ว ๒ โครงการ โครงการแรก เป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนศรีโคตรบูร อำเภอธาตุพนม ซึ่งใช้งบประมาณประมาณ ๑๘๙ ล้านบาท ส่วนโครงการที่ ๒ นั้นเป็นโครงการลานวัฒนธรรมริมโขง ทั้ง ๒ โครงการนี้ จะช่วยทำให้พื้นที่อำเภอธาตุพนมได้รองรับการที่พี่น้องประชาชนจากทั่วประเทศ รวมถึง พี่น้อง สปป. ลาว มาเที่ยว นมัสการอยู่ที่วัดพระธาตุพนมด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นการเชื่อม พื้นที่การค้าชายแดนไทย-ลาวด้วย นอกจากนั้นแล้วพี่น้องประชาชนในพื้นที่หรือชุมชน ก็ยังได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี เรื่องของออกกำลังกาย เรื่องของสุขบำบัดต่าง ๆ โดยรวมแล้ว ทั้ง ๒ โครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัดนครพนม เพราะว่าจะเป็น แหล่ง Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดนครพนม จึงขอกราบเรียนท่านประธานไปยัง ท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ช่วยกรุณาเอา ๒ โครงการนี้เข้าสู่งบประมาณ ของกรมด้วย ขณะเดียวกันก็ฝากท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองช่วยเร่งรัด การออกแบบโครงการเรณูนครเมืองเก่าให้แล้วเสร็จด้วย กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สมาชิกครับ ตอนนี้เรายินดีต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาจาก คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปเป็นท่านวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ครับ
นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ลำพูน ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน เขต ๑ อำเภอเมือง อำเภอแม่ทา และอำเภอบ้านธิ สังกัดพรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมี ๑ เรื่องที่จะมา ปรึกษาหารือท่านประธาน ก็คือโครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการนี้เป็นโครงการที่รับผิดชอบโดย กอ.รมน. เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึง ปี ๒๕๖๐ ในยุคที่ คสช. กำลังเรืองอำนาจ งบประมาณทั้งสิ้นในการก่อสร้างนะครับ ๓๕,๐๔๑,๐๐๐ บาท บนพื้นที่ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ชาวบ้านได้มา ร้องเรียนกับผมว่าตั้งแต่โครงการนี้ก่อสร้างเสร็จจนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการที่จะสูบน้ำ จากแม่น้ำแม่ทาเข้าไปอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้านในพื้นที่กว่า ๘ ไร่ ตั้งแต่โครงการนี้ก่อสร้างเสร็จ อ่างเก็บน้ำดังกล่าวยังไม่เคยได้รับน้ำแม้แต่หยดเดียวจากโครงการดังกล่าวเลยครับ ทางเทศบาลเองก็ไม่สามารถเซ็นรับมอบโครงการได้เพราะว่าโครงการนี้ยังไม่สามารถบรรลุ ตามวัตถุประสงค์ได้ ผมจึงเกิดคำถามว่าโครงการถึง ๓๕ ล้านบาท ทำไมถึงไม่สามารถที่จะ สูบน้ำเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรบ้านผมได้ จึงเข้าไปดูในโครงการครับ ในโครงการ ก็จะพบกับป้ายมูลค่าของโครงการ ๓๕,๐๔๑,๐๐๐ บาท และแผง Solar Cell ที่ถูกทิ้งร้างถึง ๔๐๐ แผง และเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จำนวน ๒ ตัว แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไม ถึงไม่สามารถที่จะสูบน้ำเข้าไปอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้านได้ ดังนั้นผมจึงอยากจะฝากไปทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบความคุ้มค่า คุ้มทุนของโครงการ หรือแม้กระทั่งทาง กอ.รมน. เอง ท่านทราบปัญหาดีว่าโครงการนี้เกิดอะไรขึ้น แต่ก็อยากจะ ให้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านให้สามารถใช้น้ำได้ เพราะชาวบ้านได้มาแจ้งกับผม เขาต้องการน้ำเพื่อการเกษตรจากโครงการนี้เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเกษตร ชาวบ้าน ไม่ต้องการอนุสาวรีย์ที่เกิดจากความสูญเปล่าของภาษีประชาชน โดยผ่านโครงการของ กอ.รมน. ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสงคราม มาปรึกษาหารือกับท่านประธานจำนวน ๓ เรื่องดังต่อไปนี้
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
เรื่องแรก คือเรื่องปัญหา กระแสไฟฟ้าตกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงครามอยู่ห่างจาก กรุงเทพมหานครเพียง ๖๐ กว่ากิโลเมตร แต่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน กลับมีปัญหาในหลายพื้นที่ จาก ๒๒๐ Volt วัดแรงดันได้เพียง ๑๘๐-๑๙๐ Volt บางพื้นที่ วัดได้แค่ ๑๒๐ Volt ซึ่งแม้แต่พัดลมยังไม่หมุนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ชำรุดเสียหาย พื้นที่ที่มีปัญหาคือซอยประปาและซอยเอกชัย ๑๐ ตำบลแม่กลอง หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๗ ตำบลนางตะเคียน หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลยี่สาร หมู่ที่ ๑ ตำบลแควอ้อม หมู่ที่ ๓ ตำบล แหลมใหญ่ ตำบลอัมพวา บริเวณหลังโรงเจ ซอยคลองเขิน ๑๔ ตำบลคลองเขิน หมู่ที่ ๑ ตำบลบางยี่รงค์ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกะบือ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลสวนหลวง หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๖ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางขันแตก บ้านเอื้ออาทร หมู่ที่ ๘ ตำบลบางแก้ว หมู่ที่ ๖ ตำบล ปลายโพงพาง และหมู่ที่ ๑ ตำบลยายแพง นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งนะครับ ผมจึงขอฝาก ท่านประธานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้จัดการปัญหานี้ให้กับชาวสมุทรสงครามด้วยครับ
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาสุนัขและแมวจรจัด โดยผมได้รับแจ้งจากนายสุพล นาคสิงห์ จิตอาสาช่วยเหลือสุนัขและแมว ว่ามีสุนัขและแมวจรจัดที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะเขตอำเภอเมือง เช่น บริเวณหน้าโรงเรียนล้อมรัก บริเวณใต้สะพาน รถพวงมาลัย และจุดอื่น ๆ อีกหลายที่ ผมจึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมปศุสัตว์จังหวัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ประสานงานกับคุณสุพล นาคสิงห์ ทำหมันสุนัข และแมวเหล่านี้ เพื่อควบคุมจำนวนและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะเป็นการสร้าง ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในอนาคตต่อไป
นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมุทรสงคราม ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้าย โรงเรียนประถมในจังหวัดสมุทรสงคราม ขอจัดสรรงบประมาณ ในการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าแต่ไม่ได้รับการพิจารณามา ๒ ปีแล้ว ทั้งปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ ซึ่งระบบไฟฟ้าที่ชำรุดอาจเกิดอันตรายต่อนักเรียน อาคารเรียน วัสดุอุปกรณ์ของโรงเรียน ผมจึงขอให้ท่านประธานแจ้งไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้จัดสรรงบประมาณดังกล่าว เพื่อให้ ตรงกับนโยบายสถานศึกษาปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านชูกัน กุลวงษา ครับ
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชูกัน กุลวงษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๔ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอปรึกษา ๒ เรื่อง
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ คือ ชรบ. ท่านประธานคงรู้จัก ชรบ. นะครับ ชรบ. คือชุดรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้อง ประชาชนในหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านของประเทศไทยก็จะต้องมีชุด ชรบ. แต่ชุด ชรบ. เหล่านี้ จะเห็นได้ว่าทำงานแบบปิดทองหลังพระ ไม่ได้เรียกร้องสิทธิอะไรมายาวนาน ฉะนั้นเห็น ชุดอื่น ๆ ได้งบประมาณในการจัดสรรค่าตอบแทน คราวนี้ ชรบ. ของประเทศไทยทั้งหมด ก็อยากให้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทนให้กับชุด ชรบ. เพราะชุด ชรบ. นั้น ไม่ใช่ว่าทำงานเฉพาะรักษาความสงบ ความปลอดภัย หาข่าวหรืออะไร ทำทั้งหมดที่มีงาน ภายในหมู่บ้าน ฉะนั้นก็ขอกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลได้พิจารณางบประมาณเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจให้กับชุดรักษาความสงบและปลอดภัยภายในหมู่บ้าน ตลอดจน อปพร. และ อสม. ด้วยครับท่านประธาน
นายชูกัน กุลวงษา นครพนม ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับโรงพยาบาลอำเภอนาแกนั้นได้ตั้งมาเป็นเวลา ยาวนานเกือบ ๔๐ ปีแล้ว โรงพยาบาลนาแกเป็นชุมชนที่ใหญ่ มีราษฎรของอำเภอนาแก ประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าคน มาใช้บริการวันหนึ่ง ๔๐๐-๕๐๐ คน ทำให้การใช้บริการนั้น แออัด ทำให้ผู้ป่วยนั้นอาจเสี่ยงต่อการติดโรคเพราะว่าอาการอยู่ใกล้กัน การอยู่ชิดกันอะไร ฉะนั้นจึงขอความกรุณาท่านประธานไปยังรัฐบาลได้ดูแลงบประมาณในการจัดสร้างตึก จัดสร้างอาคารให้กับโรงพยาบาลนาแก อำเภอนาแก ที่ทางโรงพยาบาลและพี่น้องชาวนาแก เรียกร้องในขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนในการไปใช้บริการโรงพยาบาล เพราะสถานที่ ไม่เพียงพอ จึงกราบขอบพระคุณและนำเรียนท่านประธาน ๒ เรื่องเพียงเท่านี้ครับ กราบขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุภาพร สลับศรี ครับ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาและสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ดิฉัน สุภาพร สลับศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต ๑ เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ พรรคไทยสร้างไทย
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
วันนี้ขอหารือต่อท่านประธานสภาไปถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ ประเด็นดังนี้
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ก็คือเรื่องแรงงานไทยในอิสราเอลที่ต้องการกลับบ้าน เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคมที่ผ่านมา ขออนุญาตเอ่ยนาม ดิฉันแล้วก็คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้า พรรคไทยสร้างไทย ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพี่น้องชาวจังหวัดยโสธร ได้พูดคุยกับแรงงานไทย และพ่อแม่ ครอบครัวของผู้ใช้แรงงานไทย ทำให้ทราบปัญหาความเป็นห่วงลูกหลาน แรงงานไทย ดิฉันเข้าใจหัวอกนั้นดีเพราะดิฉันก็เป็นแม่ของลูก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นอย่างไร ภาษาอีสานก็คือ อุกอั่งเอ้า ทุกครอบครัวอยากให้ลูกหลานแรงงานไทยกลับบ้าน อย่างปลอดภัยและเร็วขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งก็คือปัญหากู้ยืมเงิน ทำให้แรงงานไทยบางราย ไม่อยากกลับบ้านเพราะหนี้สินที่ต้องกู้ก่อนไปและภาระใช้จ่ายในครอบครัวที่ตนเองเป็น เสาหลัก จึงอยากจะวอนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเพิ่มเที่ยวบินให้คนไทย เพื่อรับแรงงานไทยที่อยากกลับให้ได้กลับมากที่สุดและเร็วขึ้น อันที่ ๒ สร้างความมั่นใจ ให้แรงงานไทยว่าถ้าเหตุการณ์สงบ รัฐบาลจะช่วยพาเขากลับไปทำงานได้และช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายใบอนุญาตเข้าเมืองให้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดิฉันขอเป็นกำลังใจ ให้แรงงานไทย รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการทำงานอย่างเต็มที่นะคะ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ คือปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ตำบลขุมเงิน ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร คือพื้นที่สุดท้ายที่รับน้ำจากลุ่มน้ำลำทวนซึ่งไหลลงแม่น้ำลำชี ณ บ้านคุยตับเต่า ในภาพ Slide ที่ ๒ ท่านจะเห็นวงกลมเล็กสีแดงคือบ้านคุยตับเต่า ส่วนเส้นสีฟ้ามีเส้นสีดำอยู่ตรงกลางคือแม่น้ำชี ปากน้ำที่ลำน้ำทวนไหลลงแม่น้ำชี จุดนี้เป็น สะพานธรรมดาทั่วไปยาวประมาณ ๑๒ เมตร น้ำไหลออกแบบน้ำขึ้นน้ำลง ไม่มีฝาย ไม่มีประตูปิดกั้นน้ำ กันน้ำแต่อย่างใด ดังนั้นหน้าน้ำน้ำชีไหลเข้าน้ำจะท่วมมหาศาล แต่หน้าแล้งน้ำสาขาจะไหลออกแม่น้ำชีจะแล้งเนิ่นนาน จึงขอวอนรัฐบาลให้ช่วยแก้ไขปัญหา ของตำบลขุมเงิน ๓ เรื่องด้วยกัน
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
เรื่องด่วนก็คือเรื่องน้ำระบายออกจากเขื่อนลำปาว ลำน้ำพองท่วมชายขอบตลิ่ง วัดเมรุน้ำท่วมมาก จึงอยากจะวิงวอนหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยแก้ไข
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
แล้วก็เรื่องที่ ๒ ถนนหลายสายในตำบลขุมเงินชำรุดเพราะน้ำท่วม วอนรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณให้แก่ อบต. ขุมเงินด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านต้องสรุปแล้วครับ หมดเวลาแล้วครับ
นางสุภาพร สลับศรี ยโสธร ต้นฉบับ
แล้วก็เรื่องสุดท้ายก็คือโครงการระยะยาว ของบแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ขอบคุณท่านประธานมากค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านกรวีร์ สาราคำ ครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายกรวีร์ สาราคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี เขต ๕ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ขุดลอกห้วยเก็บน้ำบ้านไทย หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนกลอย อำเภอ พิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้เป็นพื้นที่แก้มลิงในการลดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากห้วยเก็บน้ำบ้านไทยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ใช้ประโยชน์ในการเกษตรและประมงน้ำจืด แต่ปัจจุบันห้วยเก็บน้ำบ้านไทยมีลักษณะตื้นเขิน น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในหน้าแล้งและมีน้ำท่วมในหน้าฝน ผมจึงอยากฝากไปถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้พี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายจรูญ เดชโยธา นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลดอนกลอย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากพี่น้องประชาชน ได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรไปมาบนถนนสายบ้านดอนกลอย หมู่ที่ ๑ ไปบ้านโนนตาล หมู่ที่ ๙ เนื่องจากสภาพถนนส่วนมากเป็นหลุมเป็นบ่อ ยิ่งในช่วงฤดูฝนการสัญจรไปมา ยิ่งประสบปัญหาและเป็นอันตรายแก่ผู้สัญจร ถนนสายนี้เป็นถนนเชื่อมไปยังตำบลอื่น ๆ และมีการคมนาคมขนส่งผลผลิตสินค้าทางการเกษตร สามารถช่วยให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ใช้สัญจรส่งสินค้าทางการเกษตรได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าถนนเส้นนี้จะได้รับ การสนับสนุนในการปรับปรุงจากหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือทางหลวงชนบท แต่ก็เป็นเพียงการซ่อมแซมได้ในบางส่วน ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน ในการสัญจรได้ตามที่ต้องการ ผมจึงอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ไขปัญหา เหล่านี้ให้พี่น้องประชาชนด้วยครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอภิชาติ พาราศรี นายกเทศบาล ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถึงความชำรุดทรุดโทรมของถนน สายบ้านไผ่น้อยถึงอุ่มจาน ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เกิดความชำรุดเสียหาย เป็นจำนวนมาก ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา ตลอดจน สภาพถนนดังกล่าวเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ผมจึงอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนงบประมาณลงมาซ่อมแซม ถนนแห่งนี้ให้พี่น้องชาวตำบลหนองไผ่ด้วยครับ เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลัก ที่เดินทางเข้าสู่ตัวอำเภอและสู่ตัวจังหวัดครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสุพัชรี ธรรมเพชร ครับ
นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน สุพัชรี ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ดิฉัน ขออนุญาตหารือเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ๒ เรื่อง
นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
ดิฉันได้รับหนังสือจากท่านนายกสมปอง ช่วยเนียม นายกเทศมนตรีตำบลตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และพี่น้องประชาชน ในตำบลตำนานทั้งหมด เพราะว่าสืบเนื่องมาจากถนนสายโคกคีรี-ควนปอม อยู่ตำบลตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ได้มีการขยายไหล่ทางเรียบร้อยแล้วในช่วงที่ ๑ ได้งบประมาณ ในการขยายถนน แต่ไม่มีงบประมาณการสร้างสะพานในถนนเส้นนั้นก็คือสะพานบ้านป่าใส ซึ่งสะพานนี้เป็นสะพานที่ชำรุดทรุดโทรมมาก แล้วก็เป็นสะพานที่แคบ ทำให้พี่น้องสัญจร ไปมาไม่สะดวก และที่สำคัญเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนทำให้มีพี่น้องเสียชีวิตไปแล้วด้วย ๑ ท่าน ถ้าเราดูภาพจากสะพาน สะพานนี้เป็นสะพานที่มีความกว้างของถนน เราขยายแล้ว แต่สะพานยังแคบอยู่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงอยากให้ทางท่านประธานทำหนังสือถึง กรมทางหลวงชนบทผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมช่วยดำเนินการหางบประมาณสร้างสะพาน หัวป่าใสนี้ด้วย
นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ถนนเส้นเดียวกันก็คือ ถนนสายโคกคีรี-ควนปอม วันนี้ช่วงที่ ๑ เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังขาดงบประมาณในช่วงที่ ๒ อยู่ ก็คือมีระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร ถนนเส้นนี้มีความสำคัญก็คือเป็นถนนที่มีความเชื่อมระหว่างอำเภอเมือง กับอำเภอเขาชัยสน พี่น้องสัญจรไปมามาก จึงอยากจะกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คือกรมทางหลวงชนบทช่วยหางบประมาณช่วงที่ ๒ ในการก่อสร้าง ถนนเส้นนี้ให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านอนุชา บูรพชัยศรี ครับ
นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ จากกรุงเทพมหานคร วันนี้ผมขออนุญาตที่จะเรียนท่านประธานเกี่ยวกับเรื่องของโครงการ Landbridge ซึ่งก็เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลโดยการนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเรียนท่านประธานก็คือว่าโครงการนี้ ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของกระทรวงคมนาคม หรือว่าเป็นเรื่องของการคมนาคมขนส่งเท่านั้น แต่ว่าการที่จะเสนอการก่อสร้างท่าเรือทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน การที่จะสร้างถนน Motorway เชื่อม รางรถไฟเชื่อม คงยากที่จะหาใครมาลงทุนในโครงการนี้ ผมจึงอยากที่จะ ให้ท่านประธานได้นำเสนอไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลว่าควรที่จะต้องนำเสนอ ภาพใหญ่ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคใต้ที่เราเรียกกันว่า Southern Economic Corridor ซึ่งนอกจากชุมพร นอกจากระนองแล้ว ในอนาคตจะต้องมีอีก ๒ จังหวัดก็คือ สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้นมีกระทรวงอื่น ๆ อีก มากมายเลยที่ต้องดำเนินการเข้ามาบูรณาการกัน คล้าย ๆ กับทางด้าน EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก ซึ่งมีกระทรวงมากมายเลยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ BOI สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย อันนี้เป็นองค์ประกอบในส่วนของ EEC อยากให้มาเป็นอย่างนี้ ในโครงการ Landbridge จะได้เป็น SEC ที่สมบูรณ์แบบ และปัจจุบันอยู่ในช่วงของ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงขอให้รัฐบาลได้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งในพื้นที่กับคนไทยทั้งประเทศ แล้วก็นำเสนอแนวคิดในลักษณะภาพรวม SEC ให้กับ นักลงทุนต่างชาติด้วย
นายอนุชา บูรพชัยศรี แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายขอให้ทางสภาแล้วก็กองประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีได้นำข้อเสนอของผมไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบ แล้วก็เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องในการพิจารณาสั่งการต่าง ๆ จากนี้ไปด้วยครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านรังสรรค์ มณีรัตน์ ครับ
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายรังสรรค์ มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ถึงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา จังหวัดลำพูนบ้านผม โดยเฉพาะอำเภอแม่ทา อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเวียงหนองล่อง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากฝนตกหนัก และน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่บ้านสบล้อง ตำบลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากไปเอาเศษไม้ ซึ่งขวางทางน้ำแล้วก็เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ผู้เสียชีวิตชื่อนายหาญณรงค์ มีลูกตัวเล็ก ๆ อายุ ๒ ขวบ
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ ลำพูน ต้นฉบับ
อีกกรณีที่อำเภอแม่ทา นายหล้าได้พลัดตกน้ำห้วยขุนก๋อง ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เสียชีวิต ซึ่งไปพบศพอีกทีก็อยู่ไกลจากสถานที่เกิดเหตุถึง ๗ กิโลเมตร หลังน้ำลด ผมได้ไปเยี่ยมที่บ้านแม่หาด อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ปรากฏว่า ไปพบบ้านพังทลายอยู่ ๒ หลัง ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือนายผัด เมืองคำ และนายสมพล เมืองคำ บ้านทั้ง ๒ หลังพังทลายทั้งหมดเลยนะครับ เสียหายทั้งหมด ต่อมาผมได้ไป ตรวจสอบว่ารัฐบาลมีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี กรณี เสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยถึง ๕๐,๐๐๐ บาท เงินทุนเลี้ยงชีพครอบครัวละ ๓๐,๐๐๐ บาท เงินทุนเลี้ยงชีพบุตรที่อายุไม่เกิน ๒๕ ปีอีก ๕๐,๐๐๐ บาท และกรณีบ้านเสียหายพังทลาย เสียหาย ๗๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปรับ ๒๒๐,๐๐๐ บาท กรณีเสียหาย ๓๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ รับ ๗๐,๐๐๐ บาท ดังนั้นผมจึงขอให้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน ช่วยทำเรื่องไปยังคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาช่วยเหลือทั้ง ๔ กรณีนี้อย่างเร่งด่วนด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข ครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ กระผมมีเรื่องหารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน นะครับ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมาท่าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงปฏิบัติราชการเยี่ยมเยือนให้กำลังใจพี่น้องชาวจังหวัดตาก ท่านได้ไปที่อำเภอสามเงาและอำเภอบ้านตาก ไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกร ที่ประสบภัยในเรื่องภัยธรรมชาติ อุทกภัยที่ผ่านมา น้ำท่วม น้ำป่าพัดไหลหลาก น้ำท่วมซ้ำซ้อน น้ำแล้งซ้ำซาก ท่านได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ กรมชลประทานดำเนินการหาช่องทาง ออกแนวทางแก้ไข ออกแบบสำรวจการสร้างอ่างเก็บน้ำ การสร้างอาคารพักน้ำแม่น้ำวัง จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ กรมชลประทานเร่งรัดเรื่องนี้ด้วยนะครับ และท่านได้ไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งติดประเทศเมียนมาเป็นอำเภอชายแดน ที่นั่นมีปัญหาในเรื่องการนำเข้าโค กระบือ จากประเทศด้านเมียนมา ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้สั่งห้ามการนำเข้าเป็นเวลา ๗ เดือนแล้ว สาเหตุที่เขาอ้างว่าต้องห้ามนำเข้าเนื่องจากมีโรค แล้วราคาพืชผลโคตกต่ำ ๗ เดือนแล้วครับ ยังไม่เห็นราคามันจะขึ้นเลย แล้วก็โรคต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงไปแล้ว ฉะนั้นจึงอยากฝากทาง กรมปศุสัตว์ ผมทราบว่าหลังจากที่ท่านรัฐมนตรีสั่งการให้ไปศึกษามีผู้คัดค้านเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มแพะ แกะ หรือกลุ่มต่าง ๆ ยื่นหนังสือไปยังกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย การนำเข้าก็มีข้อดี การเลี้ยงโคก็มีข้อดี ๗ เดือน ที่ผ่านมาทางท่านได้ทำลายการดำรงชีวิตของพี่น้องเกษตรกรในชายแดนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้เลี้ยงโค ไม่ว่าเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ พวกเขาเหล่านี้เดือดร้อนมาก ขอให้ทางกรมปศุสัตว์ ได้เป็นคนกลางนัดแนะระหว่างผู้นำโคเข้าจากชายแดน รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ มาเจรจากันหาทางออกให้ดีที่สุด ทุกอย่างมีทางออก ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ครับ
นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ พังงา ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ มีเรื่องหารือต่อจากคราวที่แล้ว ถนนหมายเลข ๔ ถนนเพชรเกษม ช่วงเขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นถนนเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพังงา อำเภอตะกั่วป่า เป็นที่ตั้งของโรงแรมจดทะเบียนถึง ๑๘๓ โรงแรม มีห้องพักรวมกันประมาณ ๙,๗๐๐ ห้อง จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับถนนสายนี้ แต่ท่านประธานลองดู จากภาพที่นำมาประกอบ
นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ พังงา ต้นฉบับ
นักท่องเที่ยวต้องมาประสบกับสภาพถนน ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ บางช่วงถนนไม่มีไฟแสงสว่าง ช่วงที่มีไฟแสงสว่างก็มาเสียเป็นเวลา แรมเดือนแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขซ่อมแซม ขอฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง ส่วนหนึ่งที่ล่าช้าเนื่องจากสายทางดังกล่าวอยู่ในการกำกับดูแลของแขวงทางหลวงภูเก็ต ซึ่งมีภาระหนักอยู่แล้ว มีงบประมาณมาก็ต้องเร่งดำเนินการในส่วนของจังหวัดภูเก็ตก่อน ผมอยากฝากท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวง ขอให้มอบให้ แขวงการทาง กรมทางหลวงพังงา เป็นผู้รับผิดชอบถนนสายนี้จะเหมาะสมกว่า ท่านจะเห็นได้ว่า แม้แต่วัชพืชที่ขึ้นเกาะกลางถนนก็ไม่ได้รับการตัดแต่งให้สวยงาม ทั้งที่เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว ขอให้รีบดำเนินการสมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดพังงา และขอให้ปรับปรุงเพิ่ม จุดกลับรถให้เหมาะสม เพราะพี่น้องประชาชนร้องเรียนมาเรื่องจุดกลับรถน้อย และไกล เกินไป ขอขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านซูการ์โน มะทา ครับ
นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต ๒ พรรคประชาชาติ ผมขอปรึกษาหารือ ผ่านท่านประธานถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีเรื่องร้องเรียนจากพี่น้อง ประชาชนอยู่ ๔ เรื่อง
นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับการร้องเรียน นายมูฮัมหมัด ปูตะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ปัญหาความเดือดร้อนของน้ำริมแม่น้ำสายบุรี กัดเซาะตลิ่งพังเสียหาย พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงขอสนับสนุนเขื่อนป้องกันตลิ่งที่บ้านพรุ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๗ ของชุมชนบ้านพรุและชุมชน บ้านเจาะกาแต มี ๒ ตอน ตอนที่ ๑ มีความยาว ๑,๒๐๐ เมตร ตอนที่ ๒ มีความยาว ๗๔๐ เมตร
นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำบริโภค เนื่องจากองค์การ บริหารส่วนตำบลกาลูปัง องค์การบริหารส่วนตำบลเปาะเส้ง องค์การบริหารส่วนตำบลละแอ จังหวัดยะลา ได้ร้องเรียนปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ของพี่น้องประชาชน จึงขอให้ ท่านประธานผ่านถึงการประปาส่วนภูมิภาค ขอให้การขยายการประปาเขตสาขารามัน ที่ตำบลกาลูปัง และขอให้ขยายเขตสาขาอำเภอยะหา ตำบลละแอ ตำบลเปาะเส้ง ให้พี่น้อง ประชาชนได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ในยามหน้าแล้ง
นายซูการ์โน มะทา ยะลา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ และเรื่องที่ ๔ ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตำบลกาบัง ที่บ้านสองแยก บ้านปาโต๊ะ เรื่องขอขยายเขตไฟฟ้าส่วนสู่ครัวเรือน ด้วยพี่น้อง ประชาชนอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านสองแยก บ้านปาโต๊ะมาเกือบ ๔๐ ปี ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความรู้สึกได้รับความเหลื่อมล้ำ มีความรู้สึกว่าไม่มีความเท่าทัน กับพี่น้องที่อื่น ก็อยากเรียนฝากท่านประธานไปถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแล ของกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าสู่ครัวเรือนในบ้านบ้านป่าโตะ แล้วก็ บ้านสองแยก หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลาด้วย ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ครับ
นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครสวรรค์ เขต ๒ พรรคเพื่อไทย
นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ขอหารือกับท่านประธานสภา เรื่องการขอให้ยกเลิกคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ งดให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ เจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยสำนักงานกรมชลประทาน มีหนังสือถึงอำเภอพยุหะคีรีและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ บริเวณที่มีพื้นที่ ติดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น กระผมเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวควรยกเลิก รายละเอียดในเอกสาร คาดการณ์ว่าปี ๒๕๖๖ มีปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ โดยทางการได้เห็น ว่าปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ให้ใช้อุปโภคบริโภค แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณภาคเหนือมีปริมาณมาก โดยผมเห็นว่าถ้าสามารถบริหาร จัดการน้ำที่ไหลลงมาจากภาคเหนือ จะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอสามารถ ทำนาได้ต่อเนื่องทั้งนาปีถึงปรัง คำสั่งดังกล่าวควรยกเลิกครับ กราบขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องพวกเรา ชาวนครสวรรค์
นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นครสวรรค์ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ โรงเรียนวัดศรีอุทุมพร หมู่ที่ ๙ ตำบลหนองกรด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ยื่นหนังสือถึงผม เรื่องขอรับการสนับสนุน อาหารกลางวันนักเรียนมัธยมศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ด้วยโรงเรียน ขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งในจังหวัด นครสวรรค์มีโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาจำนวน ๑๑๐ โรงเรียน งบประมาณ อาหารกลางวันจากรัฐบาลนั้นจะสนับสนุนเฉพาะเด็กอนุบาลและนักเรียนประถมศึกษา เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้จัดสรรงบประมาณให้เด็ก ม. ๑ ถึง ม. ๓ อย่าให้ต้องเป็นภาระครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ที่ต้องทอดผ้าป่าเพื่อหาทุนอาหารกลางวันให้เด็ก ๆ เลยครับ ลูกหลานของเราที่จะเป็น อนาคตของชาติ เราควรช่วยพัฒนาเด็กตั้งแต่วันนี้ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาและอาหารที่ดี ถูกสุขหลักอนามัย จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติอย่างมากในอนาคต กราบขอบพระคุณ ท่านประธานสภาที่เคารพครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพิพิธ รัตนรักษ์ ครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพิพิธ รัตนรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๒ พรรครวมไทยสร้างชาติ กระผมขออนุญาตหารือท่านประธานสัก ๑ เรื่องครับ
นายพิพิธ รัตนรักษ์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
เรื่องปัญหาความเดือดร้อนการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำที่ใช้ในการอุปโภค และบริโภค ในเขตพื้นที่ ๒ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วยอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน ตำบลเกาะเต่า อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ ปัญหาคือพี่น้อง ประชาชนต้องซื้อน้ำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภค น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำถือว่าเป็นปัจจัยหลัก ในการดำเนินชีวิต ในการประกอบอาชีพ เกาะสมุยมีความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำ ไม่เพียงพอ กับความต้องการ พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำมาใช้ในการบริโภค และทำธุรกิจ ส่วนอำเภอเกาะพะงันมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำเหมือนกันครับ เหมือนอำเภอ เกาะสมุยเช่นกัน พี่น้องประชาชนต้องซื้อน้ำมาบริโภค มากินมาใช้ ส่วนพื้นที่เกาะเต่านั้น เป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองหนึ่งที่สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีเหมือนกับ เกาะสมุย เกาะพะงัน พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการในตำบลเกาะเต่านั้นต้องซื้อน้ำมาจาก จังหวัดชุมพร ต้องซื้อน้ำมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือว่าเป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน กระผมในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงไปในพื้นที่ ได้เห็นความเดือดร้อน ความลำบาก กระผมขอฝากท่านประธานสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย การประปาส่วนภูมิภาค ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดที่ดูแลเกาะสมุย ดูแลเกาะพะงัน ตลอดจน การบริหารการจัดการน้ำที่ดูแลตำบลเกาะเต่า อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ ช่วยดำเนินการจัดสรรงบประมาณหรือออกแบบเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ ออกแบบระยะสั้น ระยะกลางให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ ผมเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวเป็นนโยบาย สาธารณะที่ลงทุนไปแล้วสามารถคุ้มค่าคุ้มทุน สามารถสำเร็จตามเป้าหมายที่พี่น้องประชาชน มีความต้องการ เพื่อประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับ มาตรฐานการท่องเที่ยวที่จะรองรับในเหตุการณ์ข้างหน้า ในช่วงปีใหม่นี้นักท่องเที่ยว ได้มีความประสงค์จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากมาย เพราะฉะนั้นหน่วยงานของราชการ มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับการท่องเที่ยว ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยความเคารพครับ สุดท้ายนี้กระผมขอฝากอ่าวไทยไว้ในอ้อมใจของพี่น้องชาวไทยด้วย ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ครับ
นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ลพบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้กระผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับเรื่องถนนทางหลวงชนบท ที่มีปัญหาชำรุดทรุดโทรมหลายสายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง และเกิดความไม่สะดวกในการสัญจรไปมาของประชาชน โดยมีถนนทั้งหมด ๔ เส้นทาง ดังต่อไปนี้
นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ลพบุรี ต้นฉบับ
๑. ถนนสาย ลบ.๓๐๖๓ แยกทางหลวงหมายเลข ๓๖๖ บ้านโพธิ์ผีให้ ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่ช่วงกิโลเมตรที่ ๑ ถึงกิโลเมตรที่ ๔
นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ลพบุรี ต้นฉบับ
๒. ถนนสาย ลบ.๔๑๒๘ แยกทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๖ บ้านบางลี่ ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๓ ถึงกิโลเมตรที่ ๙
นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ลพบุรี ต้นฉบับ
๓. ถนนสาย ลบ.๕๑๓๓ แยกทางหลวงชนบท ลบ.๔๑๓๒ บ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๐ ถึงกิโลเมตรที่ ๖
นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ลพบุรี ต้นฉบับ
๔. ถนนสาย ลบ.๔๐๔๗ แยกทางหลวงหมายเลข ๓๐๑๖ บ้านท่าลาน (ตอนลพบุรี) ตำบลกกโก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๑ ถึงกิโลเมตรที่ ๓
นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข ลพบุรี ต้นฉบับ
กระผมจึงกราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้รีบเข้ามาดำเนินงานแก้ไขโดยด่วนด้วย กราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตอนนี้เรามีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต คณะหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มาเยี่ยมสภา นมัสการ และยินดีต้อนรับทุกท่านครับ สมาชิกท่านสุดท้ายที่จะหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขออนุญาต นำปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือ ดังต่อไปนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อนุญาตให้รถบัสนำเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่เข้าสู่จังหวัดสงขลาให้สามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ครับ โดยปัจจุบัน มีกฎระเบียบและประกาศของจังหวัดสงขลาที่จำกัดให้รถบัสเข้ามาได้เฉพาะในจังหวัดสงขลา เท่านั้น ซึ่งหากมีการแก้ไขกฎระเบียบนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียเข้ามาและสร้างรายได้ให้พี่น้องในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่น ๆ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลพิจารณาเปิดให้มี Visa สำหรับ ชาวต่างชาติที่เที่ยวไปด้วยและทำงานไปด้วย เพื่อดึงดูดกลุ่มที่เรียกว่า Digital Nomad หรือ Workation โดยอาจจะเป็น Visa แบบ ๑ ปี หรือ ๒ ปี และผ่อนปรนหรือลดเงื่อนไข ด้านรายได้ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบ จากบ้านท่าเนียน ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ไปบ้านปากจ่า ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และสะพาน ข้ามทะเลสาบจากบ้านเกาะโคบ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ไปบ้านศรีไชย ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยโครงการสะพานทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อ ลดระยะเวลาการเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยว ของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. ขอให้กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสร้างศูนย์กระจายสินค้าหรือตลาดศูนย์กลางทางการเกษตรแบบครบวงจร ในจังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ผลไม้ สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ เพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๕. ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลพิจารณา ให้ค่าตอบแทนกรรมการมัสยิด ครูสอนศาสนา และสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียน สอนศาสนาและโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศ ที่มักเผชิญปัญหาขาดแคลน และขอให้พิจารณาให้วันฮารีรายอเป็นวันหยุดราชการของ พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๖ คน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตอนนี้ มีสมาชิกที่เข้าชื่อเป็นองค์ประชุมทั้งหมด ๓๔๕ ท่าน ครบองค์ประชุมนะครับ ผมขอเข้าสู่ ระเบียบวาระการประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑. รับทราบเรื่อง ความคืบหน้าร่างกฎหมายของสมาชิกตอนนี้ที่ผ่านอยู่ใน กระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว เรียนให้สมาชิกทราบว่าตอนนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ทั้งหมด ๔๗ ฉบับ แบ่งเป็นร่างที่เสนอโดย สส. ๔๖ ฉบับ แล้วก็ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑ ฉบับ จริง ๆ แล้วมีร่าง ของประชาชนเสริมเข้ามาจำนวนมากแต่ว่ายังอยู่ในกระบวนการเข้าชื่ออยู่ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒. รับทราบเรื่อง การวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ๒๒ ฉบับ และไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ๒๕ ฉบับ มีผู้เสนอขอถอนร่างพระราชบัญญัติ ๒ ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของท่านเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร และร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ของท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ทำให้ตอนนี้ การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างการจัดให้มี การรับฟังความเห็นทั้งหมด ๔๕ ฉบับ อันนี้เป็นภาพรวมนะครับ แล้วก็ขอความร่วมมือทาง Whip ทั้ง ๒ ฝ่ายลองพิจารณาว่ากฎหมายที่ผ่านการรับฟัง แล้วก็บรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว จะมีการนำเข้าพิจารณาในสภาว่ามีความพร้อมในสัปดาห์ใดนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓. รับทราบเรื่อง ทางสภาของเราได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นด้วยวิธีการอื่น นอกจาก Website ก็คือร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมือง เสนอโดยท่าน สส. เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล และคณะ จะจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็น โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาสัมมนาที่รัฐสภาและถ่ายทอดสดผ่านระบบ Video Conference ในวันอังคารที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ อันนี้จะเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ที่เรามีการถ่ายทอดสดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ ส่วนวันเวลา แล้วก็ห้องประชุมสัมมนาจะส่งให้กับทางสมาชิกทราบทางระบบ SMS ต่อไป เชิญท่านมีอะไรครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ วาระต่อไป ผมอยากปรึกษาท่านประธานเล็กน้อยครับ สืบเนื่องจากประชาชนได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. ด้านชาติพันธุ์โดยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ทีนี้สิ่งที่ผมคิดว่าตอนนี้มันมีร่างที่เกี่ยวข้องลักษณะแบบนี้มีอยู่หลายร่าง ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของภาคประชาชนอีกฉบับหนึ่ง ก็คือร่างของทางเครือข่าย P-Move แล้วยังมีร่างที่เคยถูก นำเสนอ ดำเนินการโดยหน่วยงานราชการคือ ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องหมดเลย ทีนี้ผมได้ติดตามเรื่องนี้ยังไม่มีสัญญาณจากทางรัฐบาล หรือ ครม. ว่า ทางรัฐบาล และ ครม. จะนำร่างที่เกี่ยวข้องลักษณะอย่างนี้เข้ามาประกบร่วมกันดีไหม เนื่องจากว่าเป็นร่างที่มีความเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด สิ่งที่ผมอยากจะเรียนท่านประธาน ก็คือว่าขอให้ท่านประธานได้ประสานไปยังทาง ครม. ฝ่ายรัฐบาลว่าเรื่องนี้จะออกแบบ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาในสภาร่วมกันได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านมานพนะครับ ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองที่เสนอ โดยประชาชน ท่านศักดา แสนมี และผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๑๒,๘๘๘ ท่าน ก็ได้ผ่าน การรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อย แล้วก็บรรจุแล้วในลำดับที่ ๕.๒.๑ แล้วก็เรื่องนี้เดี๋ยวฝาก ทาง Whip รัฐบาล แล้วก็ Whip ฝ่ายค้านลองหารือกันนะครับว่าเราจะสามารถนำเข้ามา พิจารณาได้เร็วที่สุดเมื่อไร แล้วก็ถ้าเราพิจารณาไปตอนที่เราตกลงกันเรื่องวันเวลาประชุม เมื่อเราเพิ่มเวลาประชุมเป็น ๓ วัน วันที่เราจะให้ความสำคัญก็คือ พ.ร.บ. ที่เสนอโดย สส. แล้วก็ พ.ร.บ. ที่เสนอโดยภาคประชาชน ขอบคุณท่านมานพนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือร่างข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เสร็จแล้ว ขอเชิญคณะกรรมาธิการเข้าประจำที่ครับ ถ้าทางกรรมาธิการเข้าประจำที่ครบแล้ว ขอเชิญประธานคณะกรรมาธิการแถลงครับ
นายอรรถกร ศิริลัทยากร ประธานคณะกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และกรรมาธิการอีก ๑๙ ท่าน ขอเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการต่อที่ประชุมดังนี้ ตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๐ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นผู้เสนอ และร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และตั้งกรรมาธิการจำนวน ๒๐ คน เพื่อพิจารณากำหนดการแปรญัตติภายใน ๓ วัน โดยร่างข้อบังคับฉบับนี้ไม่มีผู้เสนอคำแปรญัตติ และที่ประชุมได้กำหนดการพิจารณา ให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วัน โดยให้ถือเอาร่างข้อบังคับของผมเป็นหลักในการพิจารณานั้น บัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างข้อบังคับดังกล่าวเสร็จแล้ว ปรากฏผลตามรายงานของ คณะกรรมาธิการตามที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ จึงเรียนมาเพื่อที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อไป ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ด้วยข้อบังคับข้อที่ ๑๘๖ วรรคสอง กำหนดให้การขอแก้ไขเพิ่มเติม ข้อบังคับ ให้นำข้อบังคับว่าด้วยการเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาใช้บังคับ โดยอนุโลม ดังนั้นการพิจารณาในวาระ ๒ จะเป็นการพิจารณาเรียงลำดับข้อ โดยพิจารณาตั้งแต่ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับข้อจนแล้วเสร็จ โดยสมาชิกจะอภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำ หรือข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น เมื่อคณะกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงจบแล้วก็จะเป็น การลงมติในข้อนั้น ๆ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๓๑ ขอเชิญเลขาธิการดำเนินการอ่านตั้งแต่ชื่อ ร่างข้อบังคับครับ
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ชื่อร่างข้อบังคับ ไม่มีการแก้ไข คำปรารภ ไม่มีการแก้ไข ข้อ ๑ ไม่มีการแก้ไข ข้อ ๒ ไม่มีการแก้ไข ข้อ ๓ มีการแก้ไข
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกสามารถใช้สิทธิอภิปรายได้นะครับ เนื่องจากคณะกรรมาธิการมีการแก้ไข จำเป็น ที่จะต้องขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการหรือไม่ ขอตาม ท่านสมาชิกเข้ามาเพื่อจะมีการลงมตินะครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิแสดงตน โปรดเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนครับ
นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ประดิษฐ์ ๒๐๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๐๖ แสดงตนครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๑๕๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตอนนี้ผมเข้าใจว่าจะเป็นสัปดาห์ที่เริ่มมีการประชุมคณะกรรมาธิการ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเรา จะรอองค์ประชุมสักครู่นะครับ แล้วก็เรามีลงมติเยอะเลย อย่างไรอยากให้ใช้บัตรจะได้ไม่ต้อง เสียเวลาในการขานชื่อ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๔๗๘ อรพรรณ จันตาเรือง แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๗๘ ครับ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๗๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๗๖ ครับ
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๔๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๔๖ แสดงตนครับ
พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๔๔๘ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๔๘ ครับ สมาชิกครับ ผมลองไปจับเวลาแล้วจากห้องกรรมาธิการมาจะใช้เวลาประมาณ ไม่เกิน ๑๐ นาที เพราะฉะนั้นผมจะรออยู่ที่ช่วง ๑๐-๑๕ นาที ไม่เกินนะครับ เชิญครับ
นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน สุพัชรี ธรรมเพชร ๔๓๔ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๓๔ แสดงตนครับ
นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน หทัยรัตน์ เพชรพนมพร ๔๕๕ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๕๕ แสดงตนครับ
นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน กาญจนบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ๒๘๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๘๙ แสดงตนครับ
นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ ๐๐๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๐๖ แสดงตนครับ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน เทียบจุฑา ขาวขำ ๑๕๖ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๖ แสดงตนครับ
นางอวยพรศรี เชาวลิต นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๔๘๓ อวยพรศรี เชาวลิต แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๘๓ แสดงตนครับ
นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ๒๒๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๒๖ ครับ
นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ๑๙๑ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๙๑ ครับ ท่านสมาชิกค่อย ๆ เดินมา ถ้าท่านใดมีบัตร ผมไม่ได้รีบปิดนะครับ เข้ามา ประจำที่ก่อนได้ครับ
นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ๐๒๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๒๙ แสดงตนครับ
นางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ ลำปาง ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ รภัสสรณ์ ๒๙๔ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๙๔ แสดงตนครับ
นายบุญแก้ว สมวงศ์ ยโสธร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๑๙๕ บุญแก้ว สมวงศ์ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๙๕ ครับ
นายสุทธิชัย จรูญเนตร อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๒๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๒๙ ครับ
นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ตาก ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๐๒ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๐๒ ครับ
นายชวาล พลเมืองดี ชลบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๘๐ ชวาล พลเมืองดี แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๘๐ ครับ
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ๔๔๐ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๔๐ ครับ
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล บัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ๓๒๐ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๒๐ ครับ
นายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล นครปฐม ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๙๔ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๙๔ ครับ
นายธเนศ เครือรัตน์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ธเนศ เครือรัตน์ ๑๖๓ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๖๓ ครับ
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ รชตะ ด่านกุล ๒๙๓ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๙๓ ครับ
นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ วิลดา อินฉัตร ๓๔๘ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๔๘ ครับ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ๔๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๘๗ ครับ
นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ปิยะนุช ยินดีสุข ๒๒๙ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๒๙ ครับ
นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ๑๘๘ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๘๘ ครับ
นายพรเทพ ศิริโรจนกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ พรเทพ ศิริโรจนกุล ๒๔๐ แสดงตนครับ
นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ เลย ต้นฉบับ
สมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ ๓๘๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีพูดซ้ำกัน ๒ ท่าน ขอ ๒๔๐ แสดงตนก่อนนะครับ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๐๙๖ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๙๖ ครับ
นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๓๐ เกษม อุประ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๓๐ ครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๑๗ ประเสริฐ บุญเรือง แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๑๗ ครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ทรงยศ รามสูต ๑๔๓ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๔๓ ครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ธีระชัย แสนแก้ว ๑๗๒ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๗๒ ครับ
นายสุรทิน พิจารณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๔๒ ผม สุรทิน พิจารณ์ ขอแสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๔๒ ครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๗๗ ศุภโชติ ไชยสัจ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๗๗ ครับ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๙๑ ชาดา ไทยเศรษฐ์ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านชาดาแสดงตนนะครับ
นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ นนทบุรี ต้นฉบับ
๑๗๕ แสดงตนครับ
นายฉลาด ขามช่วง ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ฉลาด ขามช่วง ๖๕ มาครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๖๕ ครับ
นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๔๓ สุรพจน์ เตาะเจริญสุข แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครับผม
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๑๔๑ ถนอมพงศ์ หลีกภัย แสดงตนครับ
นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ขออนุญาตค่ะท่านประธาน ดิฉันขอเสนอให้ท่านประธานล้างใหม่เลยได้ไหมคะ เพราะไม่อย่างนั้นจะงงค่ะ เพราะว่า หลายท่านทั้งกดบัตร แล้วก็ทั้งยืนพูดแสดงตนด้วยค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกครับ ผมเห็นด้วยนะครับ อันนี้เป็นการลงมติครั้งแรก จากการที่เรามีคณะกรรมาธิการ ทุกท่านใจเย็น ๆ เข้ามาห้องประชุมแล้วก็ไปรับบัตร เดี๋ยวเราลงกันอีกหลายมติ เดี๋ยวผม ขอล้างนะครับ แล้วก็จะให้มีการ Check องค์ประชุมใหม่ ทุกท่านเข้ามาแล้วก็รักษาความสงบ ด้วย แล้วก็ไปรับบัตรที่ทางเจ้าหน้าที่ได้นะครับ ยังไม่อนุญาตให้แสดงตนด้วย Microphone ตอนนี้ ผมคิดว่าส่วนใหญ่พร้อมแล้วนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมขอตรวจสอบองค์ประชุมอีกครั้งหนึ่งครับ โปรดใช้สิทธิแสดงตน โปรดเสียบบัตร และกดปุ่มแสดงตนครับ ขอเป็นการกดบัตรเท่านั้นก่อน ยังไม่ขานชื่อนะครับ จนกว่าจะมี ปัญหาเรื่องการใช้บัตรหรือว่าท่านทำบัตรสูญหายนะครับ แต่ตอนนี้ขอให้ทุกท่านไปรับบัตร แล้วก็กดแสดงตนครับ
นายธนะพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
๑๕๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๙ นะครับ
นายกิตติ สมทรัพย์ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
๐๒๑ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านช่วยไปรับบัตรด้วย เดี๋ยวเราโหวตอีกหลายมติเลยนะครับ ๐๒๑ ครับ ถ้าไม่มีท่านใด ยังไม่ได้ใช้สิทธิ ผมขอปิดการแสดงตนครับ เจ้าหน้าที่แสดงผล ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ๓๐๘ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ เป็น ๓๐๘ บวกที่ขานชื่อ อีก ๒ ท่าน เป็นองค์ประชุมทั้งหมด ๓๑๐ ท่าน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการให้คงไว้ตามร่างเดิม โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญออกเสียงลงคะแนนครับ
นายกิตติ สมทรัพย์ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ๐๒๑ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๒๑ เห็นด้วยครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
๑๕๙ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๙ เห็นด้วยครับ มีสมาชิกท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนไหมครับ
นายพรเทพ พูนศรีธนากูล สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๓๙ เห็นด้วย
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๓๙ เห็นด้วยครับ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๒๖๐ เห็นด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๖๐ เห็นด้วยครับ
นายวิทยา แก้วภราดัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๓๙ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๓๙ เห็นด้วยครับ คิดว่าลงครบถ้วนแล้วนะครับ ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่แสดงผล จำนวนผู้ลงมติ ๓๗๔ คน เห็นด้วย ๓๗๓ คน ไม่เห็นด้วย ๐ คน งดออกเสียง ๐ คน และไม่ลงคะแนนเสียง ๑ คน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ ท่านใดที่ยังใช้การขานชื่ออยู่ กรุณาไปรับบัตรด้วยนะครับ หรือถ้าขัดข้องประการใดให้เจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก ขอเชิญเลขาธิการครับ
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ข้อ ๓/๑ คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องจากข้อนี้คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ ดังนั้นผมจะถามมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วย กับคณะกรรมาธิการหรือไม่ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายกิตติ สมทรัพย์ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๒๑ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๒๑ ครับ มีท่านใดยังไม่แสดงตนครับ
นายธนพัฒน์ ศรีชนะ ยโสธร ต้นฉบับ
๑๕๙ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๙ นะครับ แสดงตนครบถ้วนแล้ว ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ๓๕๕ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนครับ ผู้ใดเห็นด้วยกับการเพิ่มข้อใหม่ ของคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง เชิญลงคะแนนครับ
นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม นิติศักดิ์ ธรรมเพชร พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดพัทลุง ขอเพิ่มเสียงหน่อยครับ ด้านหลัง ไม่ได้ยินเลยว่าท่านประธานพูดอะไร แล้วก็รบกวนพูดใหม่อีกสักครั้ง ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
อีกครั้งหนึ่งนะครับ เดี๋ยวฝ่ายโสตช่วยดูเสียงด้านหลังด้วย ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิ ออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการที่เพิ่มข้อขึ้นใหม่ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง สมาชิกด้านหลังได้ยินชัดเจนไหมครับ ชัดเจนนะครับ
นายกิตติ สมทรัพย์ ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๒๑ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๒๑ เห็นด้วย ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ไม่มี ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๗๓ คน เห็นด้วย ๓๗๑ คน ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ ไม่ลงคะแนนเสียง ๒ คนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการครับ เชิญเลขาธิการอ่านข้อต่อไปครับ
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ข้อ ๔ มีการแก้ไข
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องจากข้อนี้คณะกรรมาธิการมีการแก้ไข และมีสมาชิกต้องการอภิปราย ๑ ท่าน คือท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เรียนเชิญครับ
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กรณีที่ คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขในข้อบังคับ ข้อ ๙๐ (๒๙) จากการได้อ่านรายละเอียดแล้ว กระผมเห็นด้วยที่มีการแก้ไขชื่อของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพราะว่าในภาวะที่สภาพ ภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขนาดนี้ เรื่องน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขภารกิจและชื่อของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม มาเป็น คณะกรรมาธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
อย่างไรก็ตามท่านประธานที่เคารพครับ ภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ชุดเดิม ชุดที่เป็นคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ถามว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกันครับ ท่านประธานจะสังเกตเห็นว่าเมื่อมีการเปิดประชุมครั้งแรก ในสมัยใดก็ตาม บรรดาท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติก็จะหยิบยกญัตติ เรื่องการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันครับ มากกว่า ๑๐ ญัตติ ถามว่าภารกิจนี้หายไปไหน การร่างข้อบังคับเมื่อปี ๒๕๖๒ คณะกรรมาธิการเวลาร่างนี่เขาดูภาพรวมคณะกรรมาธิการทั้ง ๓๕ คณะ แล้วกำหนดอำนาจหน้าที่ ภารกิจลงไป เพราะฉะนั้นเขาจะแยกออกไปแต่ละคณะ ๆ เพื่อให้มีการซ้ำซ้อนกันน้อยที่สุด ผมไปตรวจสอบดูแล้ว เรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำไปอยู่ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ไหม ไม่มีครับ เรื่องราคาผลิตผลเกษตรตกต่ำไปอยู่คณะกรรมาธิการการเกษตรไหม ไม่มีครับ มีแต่คำว่า การตลาด เฉย ๆ การผลิตและการตลาด ดังนั้นคำนี้จึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่คณะกรรมาธิการน่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมลงไป ไม่ว่าจะไปอยู่ในส่วนของคณะกรรมาธิการ การเกษตร หรือจะไปอยู่ในส่วนของกรรมาธิการการพาณิชย์ก็ตาม เหมือนกับคณะกรรมาธิการ ได้แก้ไขข้อบังคับ ข้อ ๙๐ (๒๘) โดยเติมคำว่า อุดมศึกษา เข้าไป ชื่อนะครับ ถามว่า ตอนผู้เสนอแก้ไขข้อบังคับ มีการแก้ไขข้อ ๙๐ (๒๘) หรือไม่ ไม่มีครับ เมื่อไม่มี กรรมาธิการ ทำอย่างไรครับ ที่เพิ่มเติมนี่เพิ่มเติมคำว่า อุดมศึกษา กรรมาธิการใช้วิธีไปเพิ่มไว้ในข้อสังเกต ให้สามารถเติมคำว่า อุดมศึกษา เข้าไปใน (๒๘) ได้ ดังนั้นผมเชื่อว่ากรรมาธิการก็จะสามารถ แก้ไขข้อบังคับในส่วนของคณธกรรมาธิการการพาณิชย์ หรือคณะกรรมาธิการการเกษตรได้ โดยเพิ่มไว้ในข้อสังเกตเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นประเด็นที่ผมขออนุญาตเรียนถามไปยัง คณะกรรมาธิการครับว่า ถ้าขาดคำว่า ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น แล้วจะพบอยู่เสมอ ๆ จะทำอย่างไร
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ เมื่อกรรมาธิการมีการแก้ไขชื่อคณะกรรมาธิการเป็น คณะกรรมาธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว มีการเพิ่มเติมข้อความไว้ดังนี้ ในข้อ ๔ ๒ บรรทัดสุดท้ายว่า ตลอดจนการจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและการเกษตร ผมถามคำถามอีก ๒ คำถามไปยังคณะกรรมาธิการ อันนี้ไม่ต้องการคำตอบอะไรนะครับ แต่ต้องการให้คณะกรรมาธิการได้ยืนยันเจตนาไว้ในที่ประชุมแห่งนี้เมื่อมีปัญหาเวลาพิจารณา เรื่องข้อบังคับจะได้อ้างอิงได้ถูก คณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาคำอื่นไหม ยกตัวอย่าง เช่นคำว่า อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม คณะกรรมาธิการทำไมใช้คำว่า การเกษตร
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ส่วนที่ ๒ ก็คือคำว่า การสร้างความมั่นคงของน้ำ การสร้างความมั่นคงของน้ำ คืออะไรครับ อ่านแล้วก็ยังเกิดคำถามว่าการสร้างความมั่นคงของน้ำหมายถึงว่าบริหารน้ำ ไม่ให้เกิดอุทกภัยและไม่ให้เกิดภัยแล้งอย่างนี้เป็นความมั่นคงไหม หรือการให้มีน้ำสม่ำเสมอ ให้มีความเสถียร สมดุล เกษตรกรสามารถที่จะใช้น้ำได้ตลอดเวลาทั้งปีเพื่อประกอบอาชีพ อย่างนี้ใช่ไหม อยากจะเรียนถามความหมายของคำนี้ ประโยคนี้ว่าความมั่นคงของน้ำ คืออะไร ขออนุญาตเรียนถามท่านประธานไปยังท่านคณะกรรมาธิการด้วยครับ และขอชื่นชมนะครับ ทำงานเพียง ๒ สัปดาห์เสร็จเลย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ มีสมาชิกอีก ๑ ท่านแสดงความประสงค์จะอภิปราย เชิญท่านนิคม บุญวิเศษ ครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายนิคม บุญวิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ ผมได้อ่านข้อความ ผมมีความกังวลใจนิดหนึ่ง อยากจะให้ ที่ประชุมนั้นช่วยกันพิจารณารองบรรทัดสุดท้ายก็คือที่บอกว่า การจัดการ ๆ น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตร ผมอยากจะให้เปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนได้นะครับ ควรจะเป็น ลักษณะว่า การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทำไมถึงบอก ว่าเพื่อเกษตรกรรมครับ เพราะเกษตรกรรมต้องมาก่อนว่าคำว่า อุตสาหกรรม คำว่า เกษตรกรรมมันครอบคลุมมากกว่าคำว่า การเกษตร เกษตรกรรมหมายถึงว่าทั้งพืช ทั้งสัตว์ ผมก็เลยคิดว่าถ้าเป็นไปได้ ถ้าสามารถเปลี่ยนได้ อยากให้เปลี่ยนคำว่า เพื่ออุปโภคบริโภค เพื่ออุตสาหกรรมและการเกษตร เปลี่ยนเป็น เพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ขอเชิญคณะกรรมาธิการตอบคำถามครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ ก่อนอื่น ต้องขอบพระคุณในความเห็นของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๒ ท่าน ท่านนิคม บุญวิเศษ และที่สำคัญ ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ผมต้องเรียนท่านสมาชิกอย่างนี้ครับว่าจากการติดตาม การทำงานของคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่แล้วคือสมัยที่ ๒๕ ผมเป็น แฟนคลับท่านณัฐวุฒิครับ เพราะท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ได้ทำหน้าที่ดำรงตำแหน่ง เป็นประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรกรรมตกต่ำ จึงไม่ใช่เรื่องที่ ผมแปลกใจที่ท่านจะเป็นห่วงว่าภารกิจในการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาเกษตรตกต่ำนั้น จะไปอยู่ที่ใด แต่ผมเรียนผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกอย่างนี้ครับว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ คณะกรรมาธิการได้ใช้เวลาในการถกเถียงพอสมควร เพราะเราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาสินค้า เกษตรกรรมตกต่ำก็เป็นอีก ๑ ภารกิจที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้มิอาจละเลยได้ แต่อย่างไรก็ดี เราไปดูข้อบังคับข้ออื่น ผมเรียนว่าในส่วนของคณะกรรมาธิการการเกษตรสามารถ และมีอำนาจในการพิจารณาศึกษาและแก้ไขในเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาสินค้า เกษตรกรรมตกต่ำเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เขียนชัดเท่ากับร่างก่อนที่ผมจะเสนอแก้ไขก็ตาม นอกจากนี้ด้วยความเคารพครับ เมื่อสักครู่นี้ขออนุญาตเอ่ยนามท่านอีกสักครั้งหนึ่ง ท่านประธานคณะกรรมาธิการ ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ท่านได้บอกแล้วครับว่าทุกสมัย ของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้พอเปิดสมัยมา เรื่องน้ำและเรื่องสินค้าเกษตรตกต่ำก็จะถูกเสนอ เป็นญัตติ ถ้าเรามาลองไล่เรียงรายชื่อและภารกิจของคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓๕ คณะ ไม่มีเรื่องไหนเลยที่ระบุถึงชื่อภารกิจและอำนาจที่เกี่ยวกับ การบริหารจัดการหรือว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ เรื่องใหญ่ เรื่องหนึ่งที่เราไม่มีครับ ถ้าให้ผมเปรียบก็คือเหมือนห้องทำงานย่อยห้องหนึ่งของสภา ผู้แทนราษฎรนี้ เราไม่มีห้องทำงานสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำ เรามีห้องทำงานที่เกี่ยวกับ เกษตร ซึ่งเราเห็นว่าการแก้ไขราคาสินค้าเกษตรกรรมตกต่ำยังสามารถเข้าไปให้ คณะกรรมาธิการการเกษตรพิจารณาศึกษาและแก้ไขได้ นั่นคือประเด็นที่ ๑ ทำไม คณะกรรมาธิการถึงตัดสินใจแบบนี้
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
ส่วนเหตุผลที่ ๒ ผมเรียนผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกครับ ผมได้รับ ภารกิจในการแก้ไขชื่อ ในการแก้ไขภารกิจ ในการแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการ ผมได้เสนอในร่างของผม เสนอโดยนายอรรถกรนี่ละครับ และเพื่อนสมาชิกอีก ๒๐ กว่าท่าน ผมได้รับฉันทานุมัติจากสภาว่าผมจะแก้ ๒ ข้อ แล้วก็ยังมีท่านพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่เสนอแก้ไข ในเรื่องของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ โดยท่านนั้นได้เพิ่มในเรื่องของคำว่า อุดมศึกษา เข้ามา การแก้ไขรายละเอียดในแต่ละคณะกรรมาธิการไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยสะดวกสบาย ต้องเรียนตามตรงเพราะว่าการที่เราจะเพิ่มหรือการที่เราจะลด เราต้องคำนึงถึงว่าสิ่งที่เรา จะเพิ่มนั้นจะไปกระทบกับภารกิจของคณะกรรมาธิการอื่น ๆ อีก ๓๔ คณะหรือไม่ ดังนั้นเอง ผมเชื่อว่าการที่ผมยังไม่เพิ่มในเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรรมตกต่ำ เพราะผมไม่สามารถไปทำในสิ่งที่ผมไม่ได้รับมอบหมายจากสภาได้ แต่อย่างไรก็ดีมันไม่ใช่ว่า มันจะไม่สามารถทำได้เลย ผมต้องขออนุญาตกราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังที่ประชุม ผมทราบมาว่าขณะนี้มีเพื่อนสมาชิกได้เสนอยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฉบับ ผมก็ต้องขอฝากบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างทั้งฉบับ ขณะนั้น ผมเชื่อว่าถ้าสมมุติสภาของเรารับหลักการในวาระที่ ๑ ท่านก็จะมีอำนาจเต็มในการแก้ไข ดังนั้นผมก็ฝากด้วยครับ เพราะผมและคณะกรรมาธิการทั้งหมด รวมทั้งหมดแล้ว ๒๐ ท่าน เรายังยืนยันครับว่าการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาเกษตรกรรมตกต่ำเป็นสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถละเลยได้ และเจตนารมณ์ของพวกเราเป็นเจตนารมณ์เดียวกับท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
กรรมาธิการอีก ๑ ท่านขอชี้แจงนะครับ เชิญครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จักรัตน์ พั้วช่วย ในฐานะกรรมาธิการ ก่อนอื่นต้องขอบคุณทั้ง ๒ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ท่านนิคม บุญวิเศษ ที่ได้ตั้งข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์สำหรับ การทำหน้าที่ของกรรมาธิการ เมื่อสักครู่ทางท่านอรรถกรได้พูดถึงในหลาย ๆ ประเด็นของท่านณัฐวุฒิ แต่มีอีก ๑ ประเด็น ที่ท่านได้ถามไว้ในเรื่องความมั่นคงของน้ำทางภาคการเกษตร ความหมายคืออะไร จริง ๆ แล้วคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เราได้ยึดแผนแม่บทของ การจัดการทรัพยากรน้ำ ๒๐ ปี คือมีทั้งหมด ๖ ด้าน ด้านที่ ๑ ด้านการบริหารจัดการน้ำ อุปโภคบริโภค ด้านที่ ๒ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร ภาคการผลิต ด้านที่ ๓ คือการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านที่ ๔ การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้านที่ ๕ ก็คือการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และด้านที่ ๖ คือการบริหารจัดการ จริง ๆ แล้วมี ๖ ด้าน แต่คณะกรรมาธิการเราดูว่า ด้านที่ ๓ คือการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย อาจจะไปซ้ำซ้อนอยู่กับคณะกรรมาธิการ การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เราก็เลยตัดด้านที่ ๓ ออก เราก็เลยใส่ไปทั้งหมด สรุปแล้ว ก็คือทั้ง ๕ ด้าน ส่วนด้านความมั่นคงของน้ำที่ท่านณัฐวุฒิสนใจ ความหมายสั้น ๆ ก็คือ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำและระบบส่งน้ำใหม่ให้เกิดศักยภาพ พร้อมทั้งการจัดการน้ำในพื้นที่ เกษตร น้ำฝน เพื่อขยายโอกาสจากศักยภาพโครงการขนาดเล็ก และลดความเสี่ยงในพื้นที่ ที่ไม่มีศักยภาพ ลดความเสี่ยงและความเสียหายลงร้อยละ ๕๐ รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพ และปรับโครงสร้างการใช้น้ำ โดยดำเนินการร่วมกับยุทธศาสตร์ของชาติด้านการสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อยกระดับผลิตภาพด้านน้ำทั้งระบบ อันนี้คือความหมายของด้านความมั่นคงของน้ำ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ส่วนท่านนิคม ที่ท่านบอกว่าคำว่า อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ควรที่จะ เอาเกษตรกรรมขึ้นก่อน จริง ๆ แล้วในความรู้สึกของกรรมาธิการก็มีการถกเถียงกันเรื่องนี้ เช่นเดียวกัน แต่ความหมายมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปก็เลยขอยืนยันตามนี้ ขอบคุณครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ขอเพิ่มเติม ได้ไหมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอโดยกระชับนะครับท่านนิคม เชิญครับ
นายนิคม บุญวิเศษ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นิคม บุญวิเศษ ถ้าความเห็นของกรรมาธิการ เป็นอย่างไร ผมไม่มีปัญหา แต่อยากให้บันทึกไว้ ผมได้มีการทักท้วงแล้ว คำว่า อุตสาหกรรม และการเกษตร ผมอยากให้เปลี่ยนเป็นคำว่า เกษตรกรรม เพราะคำว่า การเกษตร มันแคบ เกษตรกรรมคือมันครอบคลุมทุกอย่างทางด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่ถ้า เป็นไปได้ขอเอาคำว่า เกษตรกรรม ขึ้นก่อนคำว่า อุตสาหกรรม ท่านลองอ่านดี ๆ นะครับ อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและการเกษตร ทำไมท่านไม่ใช้คำว่า เกษตรกรรม ละครับ ทำไมต้องใช้คำว่า การเกษตร ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
อันนี้คิดว่าคงไม่ต้องตอบแล้วนะครับ เป็นบันทึกไว้ในเจตนารมณ์ของท่านนิคม กรรมาธิการ จะตอบนะครับ เชิญครับ
นายปรเมษฐ์ จินา กรรมาธิการ ต้นฉบับ
ขออนุญาตเพิ่มเติม ปรเมษฐ์ จินา กรรมาธิการ ขออนุญาตขยายความในเรื่องของความมั่นคงของน้ำ เนื่องจากว่ามันเป็นภาพ เป้าหมายสุดท้ายของการที่เราอยากจะเห็นนั่นก็คือ Ultimate Outcome ซึ่งก็หมายถึง การเข้าถึง หมายถึงความเพียงพอ แล้วก็ในเรื่องของความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ความมั่นคงในครัวเรือน ความมั่นคงในชุมชน ความมั่นคงทางลุ่มน้ำ ความมั่นคง ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะรวมถึงธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วก็ในเรื่องของความมั่นคงทาง ระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร แล้วก็สุดท้ายก็คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็หมายถึงว่า น้ำคือชีวิต น้ำคือหัวใจการผลิต น้ำคือรายได้ ก็ทำนองนั้นในเรื่องความมั่นคงของน้ำ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมขอปิดการอภิปรายแล้วนะครับ เนื่องจากข้อนี้คณะกรรมาธิการมีการแก้ไข ผมต้องขอมติ จากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการหรือไม่ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบ องค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิแสดงตน โปรดเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกได้ใช้สิทธิแสดงตนครบแล้ว ผมขอปิดการแสดงตน เชิญแสดงผลองค์ประชุมครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ วรสิทธิ์ ๓๒๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขออนุญาตด้วยครับ ผมปิดการแสดงตนแล้วครับ
นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ศรีโสภา โกฏคำลือ ๓๖๐ แสดงตนค่ะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
๓๒๕ แสดงตนครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ปิดการแสดงตนแล้วนะครับ องค์ประชุมทั้งหมดมี ๓๒๔ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนครับ ผู้ใดเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการคือให้คงไว้ร่างเดิม โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญออกเสียงลงคะแนน ครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
๓๒๗ วรสิทธิ์ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๒๗ เห็นด้วยครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๖๕ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๖๕ เห็นด้วยครับ สมาชิกท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๖๓ เห็นด้วย ๓๖๓ ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ และไม่ลงคะแนนเสียง ๐
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ ขอเชิญเลขาธิการต่อครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ข้อ ๔/๑ คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญประธานกรรมาธิการครับ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ประธานกรรมาธิการ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม อรรถกร ศิริลัทธยากร ในฐานะประธาน กรรมาธิการ ผมต้องขออนุญาตนำเรียนท่านประธานและเพื่อนสมาชิกอย่างนี้ครับว่า ในส่วนของการเสนอแก้ไขข้อบังคับ ข้อ ๔/๑ ข้อ ๔/๒ ข้อ ๔/๓ เป็นข้อที่คณะกรรมาธิการ เสนอขึ้นมาใหม่ ถ้าเปรียบเทียบ ๓ ข้อที่ผมนำเรียนไปก็คงจะมีหน้าที่คล้าย ๆ กึ่ง ๆ กับบทเฉพาะกาล โดยบทเฉพาะกาลนี้ก็จะมีหน้าที่เอาไว้บอกว่าในช่วงระหว่างการเปลี่ยนถ่าย จากคณะกรรมาธิการชุดเดิมทั้ง ๓ คณะ ไม่ว่าจะเป็น ชุดที่ ๙๐ (๖) ชุดที่ ๙๐ (๒๘) ชุดที่ ๙๐ (๒๙) ช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากนี้ ถ้าสมมุติว่าสภาผู้แทนราษฎรมีมติในการเห็นชอบ ร่างแก้ไขของผมและคุณพริษฐ์ในวันนี้ ระหว่างนั้นก็จะมีคล้าย ๆ กับบทเฉพาะกาลในการกำกับ แต่อย่างไรก็ดีผมเรียนว่าในเรื่องนี้การเพิ่มขึ้นมาใหม่ กรรมาธิการทั้งหมด ๒๐ ท่าน เราให้ความเป็นห่วง เราค่อย ๆ ร่างขึ้นมาเพื่อให้มันสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และผมยืนยันว่าสิ่งที่ทางกรรมาธิการทั้งหมด ๒๐ ท่านได้นำเสนอต่อทางที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร เนื้อหาใจความครบถ้วนถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีด้วยความเคารพ ผมต้องเรียนผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิก ได้รับคำแนะนำและห่วงใยจากสำนักงาน กฤษฎีกาที่เขามาเห็นร่างที่พวกเรากรรมาธิการ ๒๐ ท่านได้ยื่นต่อสภาเพื่อที่จะแก้ไข ทางสำนักงานกฤษฎีกาก็ได้แนะนำว่า มีถ้อยคำบางถ้อยคำที่อาจจะไม่ตรงกับวิธีร่าง เรียกง่าย ๆ ว่าอาจจะไม่ค่อยถูกกับ Format เดิม ๆ ของกฤษฎีกา ก็เลยแนะนำพวกเรามาว่า ถ้าพวกเราจะขอเปลี่ยนข้อความในข้อ ๔/๑ ข้อ ๔/๒ ข้อ ๔/๓ เพื่อความสบายใจจะได้ หรือไม่ แต่ผมยังยืนยันว่าสิ่งที่กรรมาธิการทั้งหมด ๒๐ ท่านร่างขึ้นมา หรือสิ่งที่กฤษฎีกา ได้เสนอผ่านผมมามันคือสิ่งเดียวกัน ข้อความเนื้อหาตรงกัน ดังนั้นเองเพื่อความสบายใจ ของทุกฝ่าย เพราะว่ากรรมาธิการเรายึดถือว่าเอาภารกิจ เอาผลประโยชน์ของสภา และผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ถ้าท่านประธานและที่ประชุมจะกรุณาพักประชุมให้ผม สัก ๑๐ นาที ๑๕ นาที ผมจะเร่งไปแก้ไขตรงนี้ตามที่กฤษฎีกาเขาแนะนำมา แล้วจะทำ เป็นเอกสาร เป็นใบแทรกมานำเรียนต่อท่านประธานและที่ประชุมไม่เกิน ๑๕ นาที ขอความกรุณาด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องจากคณะกรรมาธิการมีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขนะครับ แล้วก็นำเสนอให้กับ ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จึงขอพักการประชุม ท่านใดติดใจไหมครับ ถ้าอย่างนั้น ผมให้มีการพักการประชุม ๑๕ นาทีครับ เรากลับมาเริ่มประชุมตรงเวลา ๑๑.๓๕ นาฬิกา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
พักประชุม ๑๑.๒๑ นาฬิกา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เริ่มประชุมต่อเวลา ๑๑.๓๖ นาฬิกา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตอนนี้ถึงเวลาพักครบ ๑๕ นาทีแล้วนะครับ ขอทางคณะกรรมาธิการมีความพร้อม ในการนำเสนอเอกสารไหมครับ เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กรรมาธิการ ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมจะขออนุญาตชี้แจงเรื่องของการพักการประชุม แล้วก็การแก้ไขของคณะกรรมาธิการ ผมจะขออนุญาตท่านประธานแจกใบแทรกแก้ไข เพิ่มเติมรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน ๑ หน้า ท่านประธานกรุณาอนุญาตไหมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
อนุญาต เชิญครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ รบกวน เจ้าหน้าที่ทางสภาได้กรุณาแจกใบแทรกให้กับท่านสมาชิกทั้ง ๕๐๐ ท่านด้วยนะครับ ท่านประธานครับ ก่อนที่จะพักการประชุมทางท่านประธานกรรมาธิการ ท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร ท่านได้อธิบายให้เห็นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีการขอแก้ไขร่างข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเราแบ่ง Part ใหญ่ ๆ ออกเป็น ๒ Part ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ช่วงแรกนั้น ๓ ข้อที่ท่านสมาชิกได้ลงคะแนนไป และท่านสมาชิกให้ความ เห็นชอบนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของกรรมาธิการที่มีการแก้ไข แต่อีก ๓ ข้อที่ทาง กรรมาธิการได้เพิ่มเติมไปนั้นเป็นเรื่องที่เสมือนเป็นบทเฉพาะกาล เพียงแต่ว่าเราไม่ได้แยก ออกมาเป็นคำว่า บทเฉพาะกาล เนื่องจากว่าเป็นการไล่เรียงข้อ ผมขออนุญาตท่านประธาน นำเรียนสั้น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของท่านสมาชิกว่าในกรณีของการเพิ่มเติมข้อบังคับ ๓ ข้อ ก็คือข้อ ๔/๑ ข้อ ๔/๒ และข้อ ๔/๓ นั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในรายงานของ คณะกรรมาธิการที่ปรากฏต่อหน้าท่าน และใบแทรกที่มีการเพิ่มเติม ๓ จุดด้วยกันดังนี้ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ในกรณีของข้อ ๔/๑ ในร่างของกรรมาธิการที่มีการเพิ่มเติมเข้าไปอยู่ใน รายงานนั้นไม่มีคำว่า หรืออ้างอิงว่ามาจากข้อบังคับที่มีการแก้ไขตามข้อใด วงเล็บใด แต่ว่าเมื่อมีการตรวจสอบ แล้วก็ย้อนกลับไปดูในกรณีของการที่เราแก้ไขข้อบังคับในข้อ ๓ ในข้อ ๓/๑ และในข้อ ๔ นั้น ได้มีการพูดถึงกรณีของข้อบังคับและอนุมาตราหรือวงเล็บ ของข้อบังคับต่าง ๆ เช่น กรณีของการแก้ไขคณะกรรมาธิการหนี้สินแห่งชาติ เป็น คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ต่อไปนั้นเราก็เป็น การพูดถึงกรณีของข้อ ๙๐ (๖) และอีก ๒ ข้อนั้นก็เป็นการพูดถึงข้อบังคับ เช่น ข้อ ๙๐ (๒๘) และข้อ ๙๐ (๒๙) ฉะนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของเอกสาร ตามคำแนะนำของทางกฤษฎีกา ซึ่งเราเองก็ตระหนักแล้วก็ให้ความสำคัญ แล้วก็อ้างอิงให้มันสอดคล้องต้องกัน ตรงกับกรณีที่ ทางเพื่อนสมาชิกได้ให้ความเห็นผ่านที่ประชุมไปแล้วนะครับ ทางข้อ ๔/๑ นั้นเราจึงขอ เพิ่มเติมคำว่า ตามข้อ ๖ ของข้อ ๙๐ แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๕๖๒ เข้าไปในวรรคหนึ่ง เพิ่มคำว่า ตาม (๒๘) ของข้อ ๙๐ แห่งข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ เข้าไปในวรรคสอง และเพิ่ม ตาม (๒๙) ของข้อ ๙๐ แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ เข้าไปในวรรคสามครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กรณีของข้อ ๔/๒ อันนี้ต้องขอบพระคุณครับ ทางคณะกรรมาธิการเราเอง ตกหล่นจริง ๆ ครับ คือในรายงานของคณะกรรมาธิการนั้น ในตอนท้ายใช้คำว่า ซึ่งได้กระทำ ไปแล้วในวันก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับเป็นอันใช้ได้ ทีนี้คำว่า ในวันก่อน พอไปอ่านกัน ดูดี ๆ แล้วมันตีความได้ ๒ แบบ แบบหนึ่งก็คือทุกวันก่อนที่ข้อบังคับนี้จะมีการบังคับใช้ได้นั้น ถือว่าเป็นวันก่อนหน้าทั้งหมด กับมันมีการตีความในอีกลักษณะครับว่าในวันก่อนนั้นหมายถึง แค่ ๑ วันเท่านั้นก่อนที่ข้อบังคับจะมีการใช้ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ทางคณะกรรมาธิการ มีการพิจารณาครับ ฉะนั้นเพื่อตัดคำครับ แล้วก็ทำให้ข้อความนี้ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องตีความใด ๆ ทางคณะกรรมาธิการจึงขอแก้ไขในข้อ ๔/๒ ตอนท้าย เปลี่ยนจากคำว่า ซึ่งได้กระทำไปแล้ว ในวันก่อน เป็นคำว่า ซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับเป็นอันใช้ได้ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนกรณีของข้อที่ ๔/๓ เป็นกรณีของการเปลี่ยนผ่านในประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งได้มีการอ้างอิงถึง อำนาจหน้าที่ หรือหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการทั้ง ๓ ชุดที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางกรรมาธิการได้ประชุมกันเมื่อสักครู่เห็นว่าเพื่อให้คำนั้นสอดคล้องต้องตรงกันและเป็นคำ ที่ถูกต้อง จะขอแก้ไขความในข้อที่ ๔/๓ ในบรรทัดที่ ๓ และบรรทัดที่ ๔ ซึ่งใช้คำว่า ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ เป็น ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำเรามา และทางกรรมาธิการเองก็เห็นชอบด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของการเปลี่ยนผ่านหน้าที่และอำนาจของทั้ง ๓ คณะกรรมาธิการ และเพื่อให้เพื่อนสมาชิกเราในคณะกรรมาธิการที่มีอยู่ก่อนแล้ว และที่จะเป็นต่อไปในอนาคตได้ทำงานอย่างสมศักดิ์ศรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินการทางธุรการของทางสภา ต่อไป ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ จากการที่คณะกรรมาธิการได้ชี้แจงและมีการเพิ่มเติม สมาชิกท่านใด มีข้อซักถามหรือยังติดใจประเด็นไหนไหมครับ ถ้าไม่มีผมขอถามมติจากที่ประชุม โดยจะลงมติไปทีละมาตรานะครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิแสดงตน โปรดเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ ๑๕๔ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๔ ครับ สมาชิกท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิแสดงตนไหมครับ ไม่มีแล้วนะครับ ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ๒๖๕ เป็นอันว่าครบองค์ประชุมครับ เชิญท่านสมาชิกเข้าห้องด้วยนะครับ เพราะเดี๋ยวเราจะลงมติกันอีกหลายมาตราเลยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไป จะเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนครับ ผู้ใดเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการที่ให้มีการเพิ่มข้อ ขึ้นใหม่โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญสมาชิกลงคะแนนเสียงครับ
นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ เชียงราย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม เทอดชาติ ชัยพงษ์ ๑๕๔ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๔ เห็นด้วยครับ ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนครับ
นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ๓๐๗ เห็นด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๐๗ เห็นด้วยครับ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๑๕๕ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๕๕ เห็นด้วยครับ
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๒๔ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๒๔ เห็นด้วยครับ ใช้สิทธิลงคะแนนครบถ้วนแล้วนะครับ ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๒๙๖ คน เห็นด้วย ๒๙๒ คน ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ และไม่ลงคะแนนเสียง ๔ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการ เชิญท่านเลขาธิการครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ข้อ ๔/๒ คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
อันนี้คิดว่าไม่ต้องอภิปรายแล้วนะครับ อภิปรายครบถ้วนแล้วนะครับกรรมาธิการ เนื่องจากข้อนี้ คณะกรรมาธิการมีการเพิ่มขึ้นใหม่ จะขอถามมติจากที่ประชุม ขอเชิญใช้สิทธิแสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิแสดงตนไหมครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี รหัส ๓๕๖ ขอแสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถ้าไม่มี ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๓๑๐ คน ถือว่าครบองค์ประชุมนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการออกเสียงใช้สิทธิลงคะแนนครับ ผู้ใดเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการให้มีการเพิ่ม ข้อขึ้นใหม่โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญลงคะแนนครับ
นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ปราจีนบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปราจีนบุรี วุฒิพงศ์ ทองเหลา ขอลงมติเห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เห็นด้วยครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๑๔ คน เห็นด้วย ๓๑๐ คน ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ และไม่ลงคะแนนเสียง ๔ คน เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการครับ เชิญฝ่ายเลขาครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ข้อ ๔/๓ คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องด้วยข้อนี้กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่นะครับ จะถามมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับ คณะกรรมาธิการหรือไม่ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนโปรดเสียบบัตรและแสดงตน ท่านใดยังไม่แสดงตนไหมครับ ยังไม่ได้ใช้สิทธิ ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๓๒๑ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการออกเสียงนะครับ ผู้ใดเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการที่มีการเพิ่มข้อขึ้นใหม่ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่า ควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญลงคะแนนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนไหมครับ ครบถ้วนนะครับ ผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ ผลการลงคะแนนเป็นดังนี้ จำนวนผู้ลงมติ ๓๒๔ เห็นชอบ ๓๒๒ ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ ไม่ลงคะแนนเสียง ๒ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับ คณะกรรมาธิการครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญฝ่ายเลขาดำเนินการต่อไปครับ
นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ข้อ ๕ ไม่มีการแก้ไข
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตอนนี้เราจบการพิจารณาเรียงลำดับข้อแล้วครับ ต่อไปจะเป็นการพิจารณาทั้งร่าง เป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่งตามข้อบังคับ ข้อ ๑๘๖ วรรคสอง ประกอบข้อ ๑๓๒ นะครับ มีสมาชิกท่านใดจะขอแก้ไขถ้อยคำหรือไม่ครับ ถ้าไม่มีก็จบการพิจารณาในวาระที่ ๒
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการพิจารณาในวาระที่ ๓ เพื่อให้สภาลงมติว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็น โดยไม่มีการอภิปราย ดังนั้นผมขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบ กับร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... หรือไม่ ก่อนลงมติ ผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ครบถ้วนนะครับ ขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๓๓๕ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ ๓ ครับ ผู้ใดเห็นชอบโปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นชอบโปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญใช้สิทธิลงคะแนนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกใช้สิทธิครบถ้วนหรือยังครับ ครบแล้ว ผมขอปิดการออกเสียงลงคะแนน เจ้าหน้าที่ แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๓๗ เห็นด้วย ๓๓๕ ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ และไม่ลงคะแนนเสียง ๒ ครับ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างข้อบังคับของ คณะกรรมาธิการครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ตามที่คณะกรรมาธิการได้เสนอข้อสังเกตไว้ในรายงาน ต่อไปจะเป็นการเสนอให้ทางสภา พิจารณาว่าเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการหรือไม่ โดยไม่มีการอภิปรายครับ จะขอมติจากที่ประชุม ขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการหรือไม่ ขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านใดยังไม่ใช้สิทธิไหมครับ ถ้าไม่มี ผมขอปิดการลงมติ เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวน ผู้เข้าประชุม ๓๔๕ ท่าน ถือว่าครบองค์ประชุมนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนครับ ผู้ใดเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการโปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญ ออกเสียงลงคะแนนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีท่านใดยังไม่ได้ลงคะแนนเสียงไหมครับ เมื่อไม่มีแล้วผมขอปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ ส่งผลครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๑๗ ประเสริฐ บุญเรือง เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
อันนี้บันทึกไว้นะครับ ผมปิดการลงคะแนนแล้วครับ จำนวนผู้ลงมติ ๓๕๐ เห็นด้วย ๓๕๐ ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ และไม่ลงคะแนนเสียง ๐ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ขอบคุณมากนะครับ เราเสร็จในระเบียบวาระที่ ๔ แล้วครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๕.๑ ญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือสัญชาติไทย ซึ่งคุณปารมี ไวจงเจริญ เป็นผู้เสนอ จากการประชุมครั้งที่ผ่านมามีผู้เสนอแถลงเหตุผล และมีสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก เมื่อสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ประธานจึงสั่งปิดการประชุมเพื่อให้ดำเนินการประชุมต่อในวันนี้ ผมจึงอยากจะขอให้ ท่านสมาชิกที่มีความประสงค์จะอภิปรายในวาระที่ ๕.๑ นี้ต่อเชิญได้เลยครับ ขณะนี้ มีผู้มาลงชื่อเพื่ออภิปรายจำนวน ๑๐ ท่าน ผมขอเชิญท่านแรกจากพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน แล้วจะมาที่พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ท่านแรกคือ คุณประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ เชิญครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๗ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอหนองเสือ วันนี้เสียงไม่ค่อยมีผมขอสั้น ๆ นะครับ ปทุมธานีของเรา มีแรงงานชาวต่างด้าวอยู่เยอะพอสมควร จากที่ผมได้ลงพื้นที่ก็ไปพบลูกหลานของคนต่างด้าว วิธีการเลี้ยงของพวกเขาก็คือจ้างคนชราที่ไม่มีงานทำเลี้ยงอยู่ที่บ้าน วันหนึ่งก็แล้วแต่นะครับ บางที่ก็ ๘๐ บาท ถึง ๑๐๐ บาทต่อวัน บางครั้งมี Promotion ให้ด้วย ๒ คนลดเหลือ ๑๕๐ บาท และท่านคิดว่าการที่เลี้ยงลูกหลานมาในลักษณะที่วันละ ๘๐ บาทนี่ลูกหลานเขา จะเติบโตมาอย่างไร อยู่กับคนชราที่บ้านแคบ ๆ มีเปลอยู่ ๒ หลังในการเลี้ยงเด็ก อันนี้เป็นลักษณะของเศรษฐกิจที่เรียกว่า Pico Finance มาก ๆ เลยนะครับ ระดับเล็กมาก ๆ แล้วก็เป็นการกระจายรายได้ให้กับคนชรา แต่ประเด็นก็คือว่าเด็กเหล่านี้ตั้งแต่เกิด เขาก็ด้อยโอกาสอยู่แล้ว เป็นลูกหลานแรงงานไม่พอ ยังเป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งไปดูสภาพแล้วก็นึกสภาพไม่ออกเลยว่าโตขึ้นมาเขาจะมีโอกาสมากแค่ไหน ทีนี้เรื่องของ เด็กที่มีรหัส G ก็ต้องใช้เอกสารในการที่จะยื่นขอ ใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่เราจะได้รหัส G มา หรือบางคนบอกว่าไม่มีเอกสารก็สมัครได้ แล้วแต่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่ดุลพินิจคือปัญหา มาก ๆ เลย หลายคนยังไม่ได้รับรหัส G อันนี้เป็นเรื่องประเด็นของเด็กเหล่านี้ ผมจะมอง ในแง่ของ ๒ ประเด็นของเด็กรหัส G วันนี้เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน การมองในแง่ ของสิทธิมนุษยชน เด็กเหล่านี้ควรจะได้รับการศึกษาเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป เหมือนกับเด็กไทย
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ส่วนเรื่องที่ ๒ ในแง่ของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็คือว่าแรงงานเด็ก ๆ เหล่านี้ ถ้าเกิดเขาได้รับการศึกษาที่ดีเหมือนกับเด็กไทย ได้รับการศึกษาสูงสุดจนสามารถที่จะทำงานได้ ตรงนี้ก็จะมาเป็นแรงงานให้กับประเทศไทยของเราด้วย ตอนนี้เราก็ขาดแคลนแรงงาน อัตราการเกิดก็น้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต เราไม่ได้มองคนว่าเป็นเศรษฐกิจ แต่เรามอง ในแง่ของภาพรวมทั่ว ๆ ไปไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือว่าคนพม่า หรือว่าคนสัญชาติลาว ถ้าเกิดเขาได้มาร่วมงานกับเรา ได้มาทำงานให้กับประเทศชาติของเราก็เป็นการผลักดัน ทางด้านธุรกิจอีกด้านหนึ่งในแง่ของเศรษฐกิจ ขอฝากท่านประธานพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ให้ อย่างน้อยการศึกษาควรจะเท่าเทียมกัน อย่างน้อย ๆ ผมคิดว่าอาจจะมีการให้การศึกษา ถึงปริญญาตรี แล้วก็ให้เขาสามารถที่จะได้ออก Work Permit ให้ทำงานในประเทศไทยได้ อย่างต่ำ ๆ นะครับ เพราะว่าเด็กรหัส G หลายคนพอจบ ม. ๓ แล้ว เขาก็ต้องไปเรียนต่อ กศน. ไม่สามารถเรียนต่อปกติได้เนื่องจากการเดินทางลำบาก เวลาจะเดินทางออกนอกพื้นที่ ต้องขออนุญาตทุกครั้ง ทุกคนมีความฝันที่อยากจะทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่สุดท้าย เขาทำอะไรไม่ได้ ต้องไปเรียน กศน. ต้องไปเป็นช่างซ่อมรถ ต้องไปเป็นแรงงาน ต้องไป รับแจ้งแบบผิดกฎหมาย อย่างไรก็ฝากตรงนี้ด้วยนะครับ อยากให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดนี้จริง ๆ เพื่อจะได้มาศึกษาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แล้วก็ทำงานกันอย่างจริงจัง เราจะได้ แรงงานที่มีฝีมือขึ้นมาพัฒนาประเทศไทยของเราด้วย ขอบคุณครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานสักครู่หนึ่งครับ ผมไม่ค่อยได้ยินเสียงเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเลยนะครับ อย่างไรเพิ่มเสียง Microphone หน่อยครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวทางฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเรื่องเสียงเมื่อสักครู่ก็ไม่ชัดเจน แล้วก็จอที่บัลลังก์ประธานก็รู้สึกจะไม่แสดงภาพ ออกมา อยากให้เจ้าหน้าที่โสตฯ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขจอบนบัลลังก์นี้ด้วย แล้วก็เสียงของท่านสมาชิกด้วยนะครับ ต่อไปขอเชิญคุณธนาธร โล่ห์สุนทร เวลา ๗ นาทีครับ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ผม ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในหัวข้อการศึกษาของเด็กที่ไม่มีสัญชาติ ผมขอยืนยัน ในหลักการก่อนนะครับว่าเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยนั้นควรได้รับการศึกษาอย่าง เท่าเทียมกันทุกคน การศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างไร คือสิ่งที่ให้ความรู้ และความรู้ก็คือ เครื่องมือในการที่เขาเหล่านั้นจะดำรงชีวิต ถ้าท่านไม่ให้การศึกษากับพวกเขาเหล่านั้น แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะใช้ชีวิตได้อย่างไร ประเทศเรามีมติ ครม. มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ แล้วว่า ให้มีการจัดการศึกษาให้กับผู้ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย แต่ผ่านมา ๑๘ ปีก็ยังคงมีเด็กไร้สัญชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงและถูกกีดกัน โดยปัญหาหลัก ๆ ก็คือมาจาก หน่วยงานภาครัฐที่ทำตัวเป็นอุปสรรค ทำเหมือนพวกเขาไม่มีสิทธิ ไม่มีตัวตน ซึ่งหลาย ๆ คน อย่าว่าแต่คนที่ไม่มีสิทธิเลยครับ ขนาดคนที่มีสิทธิก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ ผมอยากจะ พูดต่อนะครับว่าในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหา ในหลาย ๆ พื้นที่ก็ยังหวังพึ่งผู้ที่เป็นจิตอาสา ให้ขึ้นไปสอนหนังสือพวกเขา หลาย ๆ พื้นที่ยังคงต้องดิ้นรนโดยการทำวิธีต่าง ๆ เพื่อเข้าถึง การศึกษา อย่างเช่นกรณีที่เป็นประเด็นก็คือโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ผมอยากจะใช้คำว่า ดิ้นรนทั้งผู้เรียน และผู้สอน ซึ่งจากเพื่อน ๆ จากที่ผมฟังมาในสัปดาห์ก่อน ๆ หลายท่านก็ได้พูดถึงปัญหา และต้นตอของปัญหา ผมอยากจะเสริมว่านอกจากเราจะจัดการศึกษาให้พวกเขาแล้ว เราต้องจัดการแบบมีประสิทธิภาพอย่าทำแบบส่ง ๆ ไป เราต้องทำการศึกษาให้มีคุณภาพ ให้พวกเขาสามารถเอาวิชาติดตัวไปใช้ได้ในการดำรงชีวิต แล้วก็ให้เขาสามารถที่จะตอบแทน ที่ ๆ เขาอยู่ได้ สามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศเรานี้สามารถที่จะ พัฒนาไปได้โดยการศึกษา
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝาก ที่อยากจะทำไปด้วยก็คือการทำความเข้าใจ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าประชาชนในพื้นที่ให้ยอมรับการอยู่ของพวกเขา ปฏิบัติกับพวกเขา เฉกเช่นเป็นเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ผมมีความเห็นว่าไม่เห็นด้วยในการที่จะตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่ควรที่จะส่งต่อให้กับคณะกรรมาธิการการศึกษาในการที่จะ ศึกษาปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ผมมีข้อเสนอแนะในบางเรื่องบางอย่างที่อยากจะฝาก ไปถึงคณะกรรมาธิการการศึกษา รวมถึงระดับนโยบายในการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับเด็ก ที่ไม่มีสัญชาติ คือเราควรที่จะให้มีการกระจายงบประมาณ โดยมีการรับรองว่างบประมาณ การศึกษาของชาติต้องได้รับการจัดสรรบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและครอบคลุมเด็ก ทุก ๆ คน ไม่ว่าเขานั้นจะมีสัญชาติและสถานะใด และตัวกระทรวงศึกษาธิการควรที่จะ พิจารณาเกณฑ์การลงทะเบียนให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิมในการกำกับดูแล ศูนย์การเรียนรู้ สำหรับเด็กข้ามชาติต่าง ๆ และขยายความร่วมมือ รวมถึงเพิ่มสถาบันการศึกษาให้มีมากกว่า สถานศึกษาของรัฐและของภาคเอกชน และผมอยากจะฝากท่านประธานไปถึงรัฐบาล ควรที่จะสานต่อความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการโอน หน่วยกิตของเด็กข้ามชาติที่เรียนในประเทศ และเริ่มความร่วมมือกับประเทศต้นทางประเทศ อื่น ๆ ด้วย
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
สิ่งที่ผมอยากจะฝากต่อไปก็คือในเรื่องของข้อมูล ควรมีการจัดเก็บและใช้ข้อมูล เกี่ยวกับเด็กข้ามชาติในประเทศไทยให้ถูกต้องและเป็นจริงในการแจ้งปัญหา ควรต้องมีการศึกษา เก็บข้อมูลเหล่านี้นำมาประมวลที่จะทำนโยบายให้ดีต่อไป แล้วก็เราควรที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ เหล่านี้ที่อาจจะมีกรณีย้ายที่อยู่บ่อย ๆ ในระบบการศึกษานี่ให้เขาลดการลาออกจากโรงเรียน โดยควรมีการโอนหน่วยกิตข้ามการศึกษารูปแบบต่าง ๆ และควรโอนข้ามจังหวัดได้ และควร ให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่เด็กข้ามชาติที่ย้ายที่พักบ่อย ๆ
นายธนาธร โล่ห์สุนทร ลำปาง ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าข้อเสนอแนะของเพื่อนสมาชิก รวมถึงตัวผมที่ฝาก ท่านประธานไปสามารถที่จะส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ในการที่จะดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อที่จะให้เด็กเหล่านี้สามารถที่จะมีการศึกษา ที่มีความเท่าเทียมกันได้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวิภาณี ภูคำวงศ์ ครับ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๘ พรรคเพื่อไทย ญัตติที่ดิฉันกำลังจะอภิปรายต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐสภาอันทรงเกียรติ แห่งนี้ ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากแค่ไหน และเห็นถึงความสำคัญในความเท่าเทียม ทางการศึกษาของเด็กที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรไทยอย่างไร เพราะปัญหาสถานะทางกฎหมาย ของบุคคลในประเทศไทยเป็นอีกปัญหาที่เรื้อรังมานาน เนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านที่ทำให้มีบุคคลสัญชาติอื่นเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ต่างมีความเชื่อมโยงกัน ทำให้ปัญหาทางสถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น และส่งผล กระทบโดยตรงต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งสิทธิในกระบวนการ ยุติธรรม สาเหตุหลัก ๆ ปัจจุบันตามข้อกฎหมายที่ประเทศไทยได้กำหนดที่ทำให้เด็กที่เกิดมา ในประเทศไทยไม่ได้รับสัญชาติไทยมีอยู่ ๒ ประการหลักค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
๑. เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีสัญชาติไทย ซึ่งตามหลักแล้วจะได้สัญชาติไทย ตามพ่อแม่ทันที แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด แจ้งเกิดไม่สมบูรณ์ หรือแจ้งเกิดช้าไป กำเนิดโดย ไม่มีหลักฐานยืนยันความเป็นลูกกับพ่อแม่ที่มีสัญชาติไทย
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
๒. เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ต่างด้าว พ่อแม่ที่เข้าเมืองชั่วคราว หรือเข้าเมือง โดยไม่ถูกกฎหมาย แม้จะเกิดในประเทศไทยแต่มีปัญหาในการแจ้งเกิดของสถานะของพ่อแม่ ทำให้เด็กที่เกิดมาไม่มีสัญชาติ หรืออาจไม่มีหลักฐานการมีตัวตนอยู่ในระบบทะเบียน ประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานของผู้มีสัญชาติไทย หรือมีความยากลำบาก ในการใช้ชีวิต โดยจะเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ไม่มีใครอยากเป็นเด็กไร้สัญชาติ มีชีวิตอยู่โดยไร้ตัวตนในดินแดนที่ตัวเองเกิด และในโลกนี้ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่ง ที่ถูกกำหนดให้ต้องไร้สัญชาติ เนื่องจากพวกเขาไม่ถูกยอมรับให้เป็นพลเมือง ยังมีเด็กนักเรียน ส่วนหนึ่งที่ยังถูกหลงลืมจากสังคมไทย พวกเขายังไม่สามารถกลับมาเรียนในห้องเรียน พร้อมกับเพื่อน ๆ ได้ซึ่งก็คือเด็กนักเรียนกลุ่ม G ซึ่งเป็นชื่อเรียกอีกชื่อเรียกหนึ่งที่ลูกหลาน ของแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเติบโตและใช้ชีวิตในประเทศไทย เพียงแต่ ไม่มีบัตรประชาชน ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ดิฉันมีข้อเสนอค่ะ โดยปกติแล้วขอใบถิ่นที่อยู่ถาวรต้องอาศัยในประเทศ ถึง ๑๕ ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานในการอาศัยในประเทศไทย แต่ความยากในการ แปลงสัญชาติไทยสำหรับบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ นั่นมีเงื่อนไขต้องมีรายได้ ๔๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไปต่อเดือนซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่สูงมาก ควรที่จะมีการพิจารณาปรับลดเกณฑ์รายได้ลง แม้รัฐบาลไทยจะสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรีตามการศึกษาภาคบังคับถึงอายุ ๑๕ ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แต่บางครอบครัวไม่สามารถที่จะส่งลูกเรียน จนจบได้ เลยมีเด็กจำนวนมากที่ต้องออกจากระบบการศึกษา แม้จะมีการศึกษาทางเลือก อย่างเช่น กศน. ที่รองรับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แฝงเข้ามาด้วย บางค่าใช้จ่ายรัฐบาลไม่ได้ช่วยอุดหนุน ดิฉันอยากเสนอให้มีการสำรวจเด็กไร้สัญชาติที่ยากจน เพื่อขยายโอกาสได้รับทุนจากกองทุนต่าง ๆ ค่ะ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
ต่อมาประเด็นเรื่องกำแพงภาษาคืออุปสรรคสำคัญในการเรียนในโรงเรียนไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะเข้าใจ อ่านออก เขียนได้ เพราะการเรียนการสอน การสื่อสารทั้งครูและเพื่อนร่วมชั้นใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก แต่ก็มีบางโรงเรียนตามตะเข็บ ชายแดนที่เด็กส่วนใหญ่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นนักเรียนจากเพื่อนบ้าน จึงสื่อสารในห้องเรียน เป็นภาษาต่างประเทศอย่างเดียว เลยทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยเป็นไปอย่างช้า ดิฉันอยาก เสนอให้มีการสื่อสารครอบคลุมทั้ง ๔ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ ซึ่งจะทำให้คุณครูและเด็กกลุ่มเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภาษา เช่นเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้มีความฝันเหมือนเด็กคนอื่น ๆ อยากไปโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ สูง ๆ เพื่ออนาคตของตนเอง แต่เขาก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย เมื่อยังติดขัดที่เขาได้เป็นนักเรียน กลุ่ม G มันคงจะดีถ้าพวกเขามีตัวตนในสังคม มีสถานะอย่างถูกต้องในประเทศ ได้แสดง ศักยภาพอย่างเต็มที่ ได้ไปถึงฝั่งฝันในอนาคตที่ตัวเองได้วาดฝันเอาไว้ เพราะการเป็นเด็ก เป็นได้แค่ครั้งเดียว เด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การสนับสนุนให้กลุ่ม เด็กเปราะบางได้เลือกเส้นทางเดินในชีวิตที่มีคุณค่าของพวกเขาตั้งแต่ตอนนี้ นอกจากจะช่วย ให้เด็กมีอนาคตที่ดีแล้ว สังคมก็จะดีขึ้นด้วย ในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ ขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาว คงจะดีกว่าถ้าหากเราสนับสนุนให้เด็กกลุ่มเหล่านี้ ได้มีสัญชาติไทย ได้รับการศึกษา ได้รับสวัสดิการจากรัฐ เพราะเด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตไป พวกเขาจะกลายเป็นคนขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าค่ะ และเด็กเหล่านี้มีความเก่ง ไม่แพ้เด็กไทย รัฐบาลไทยจึงไม่ควรทอดทิ้งพวกเขา และช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นอย่างน้อย ในฐานะมนุษย์ที่พึงจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน หากเรายอมรับว่ามนุษย์เมื่อแรกเกิดทุกคน เท่าเทียมกัน การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เกิดกับเด็กไร้สัญชาติโดยไร้ข้อจำกัด และคำนึงถึงโอกาสในการพัฒนา โดยยึดหลักของทรัพยากรมนุษย์เป็นมิติหลัก เป็นสิ่งที่รัฐ ไม่ควรละเลย ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณมานพ คีรีภูวดล ครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อที่จะสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ไขปัญหากรณีเด็กหัว G อันนี้ผมยืนยันนะครับ เรื่องนี้มีความสำคัญ สภาจะต้องเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ทุกส่วนเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่าเด็กหัว G หรือเด็กไม่มีสถานะ ทางทะเบียนใด ๆ เลยจะต้องแยกออกจากเรื่องของสัญชาติ ไม่เกี่ยวข้องกันเลยนะครับเรื่องนี้ ถ้าเอามาผสมกันมันจะทำให้การทำงานมีปัญหา เด็กหัว G ก็คือเด็กที่ไม่ปรากฏสถานะ ทางทะเบียนใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นบัตรหัว ๐ ไม่ว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน คือเป็นพลโลกแต่ว่าอยู่ที่นี่ แต่ว่าไม่มีสถานะอะไรเลย มันมีเงื่อนไขทั้งระดับสากลแล้วก็ กฎหมายของประเทศไทย เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการบอกว่านักเรียนที่ไม่พบสถานะ ใด ๆ เลยให้ขึ้นทะเบียนรหัสด้วยตัว G คือ Generate ใหม่ คนเหล่านี้จะได้มีสถานะเพื่อที่จะ เข้าถึงการศึกษา อันนี้เป็นหลักข้อตกลงระหว่างสากลนานาชาติว่าสิทธิการศึกษาของเด็ก ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหนจะต้องได้รับการศึกษา ผมอยากให้ท่านประธานฝากไปยัง คณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นว่าเรื่องเด็กหัว G ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสถานะสัญชาติ แต่ว่าเด็กหัว G มีสิทธิที่จะพัฒนาสัญชาติไหม ก็ต้องไปดูว่าเด็กหัว G แต่ละคนเข้าเงื่อนไข เกี่ยวกับกระบวนการได้รับมาซึ่งสัญชาติหรือไม่ ซึ่งมี พ.ร.บ. มีระเบียบ มีคำสั่งต่าง ๆ อยู่แล้ว ผมคิดว่าเอาเรื่องนี้ให้ชัดนะครับ เด็กหัว G ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของสัญชาติ เป็นการรับรอง สถานะของนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาตามสิทธิการศึกษาของข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องให้เด็กเหล่านี้มีสิทธิ และเด็กเหล่านี้จะต้องมีรหัสทางทะเบียน ที่ขึ้นต้นด้วย G ผมคิดว่าอันนี้ประเด็นที่ ๑
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน เรื่องนี้เป็นเรื่องความจำเป็นและสำคัญ ที่จะต้องให้สภาแห่งนี้พิจารณา ผมคิดว่าระบบการศึกษาเป็นพื้นที่แห่งเดียวของมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นเผ่าพันธุ์ชนชาติไหน คุณจะอาศัยอยู่ในประเทศอะไร แม้แต่คนไทยที่ไปอยู่ ในต่างแดน การศึกษาคือพื้นฐานที่จะพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ในทักษะ ต่าง ๆ การศึกษาเป็นพื้นฐานอันเดียวที่จะนำไปสู่เรื่องของการที่จะให้พลเมืองประเทศนั้น ๆ มีคุณภาพในการพัฒนา ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือทรัพยากรมนุษย์ ผมอยากจะพูดอย่างนี้ครับว่ากรณีเด็กหัว G หรือว่าเด็กตัว G ในประเทศไทยตัวเลขมันเหลือไม่เยอะแล้วครับท่านประธาน ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิน ๒๐๐,๐๐๐ คน ๒๐๐,๐๐๐ คนเหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นในกระบวนการทำงาน ของหน่วยงาน ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว หลายพื้นที่ ก็ดำเนินการว่านักเรียนคนไหนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา ไปถึงระดับ มหาวิทยาลัย ถ้าพบว่าไม่มีการปรากฏสถานะใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นสถานะคนต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นสถานะคนไร้รัฐ หรือเลขต่าง ๆ ที่กรมการปกครองเขาออกไว้ ถ้าไม่มีใด ๆ เลย ก็คือให้ออกเป็นตัว G อันนี้มีกฎหมายอยู่เรียบร้อยครับ และที่สำคัญก็คือว่ามันไปเกี่ยวข้อง กับกรมการปกครอง เด็กหัว G ที่ทางโรงเรียนส่งชื่อมาจะต้องแจ้งไปที่อำเภอ ที่กรมการปกครอง เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนว่ามีจำนวนนักเรียนเหล่านี้ที่ยังไม่พบสถานะใด ๆ ที่ขึ้นหัว G จำนวนเท่าไร ทางอำเภอจะได้ออกบัตรไว้ ปัญหาทั้งหมดมันอยู่ตรงที่ว่าหน่วยงาน ที่ทำงาน ที่ว่าในระดับนโยบายไม่มีนโยบายสั่งการที่ชัดเจนว่าจะต้องทำงานความร่วมมือ ถึงแม้อาจจะสั่งการแบบหลวม ๆ แต่สำคัญที่สุดคือว่ามันไม่มีงบประมาณและเครื่องมือ ทำงาน ผมไปเจอหลายอำเภอครับ อำเภอที่ดำเนินการได้ ผมยกตัวอย่าง ผมไปที่เชียงดาว ท่านนายอำเภอ แล้วก็ท่านปลัดอำเภอแก้ปัญหากรณีเด็กตัว G ได้เยอะ เพราะความร่วมมือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ผมต้องขอชม ผมขอเอ่ยนามคือ องค์กร Plan ออกทั้งงบประมาณ จัดเวที สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตั้งคณะทำงาน อบรมต่าง ๆ จนได้ บุคลากรเหล่านี้ ปัญหาที่เราเจอ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๑. คือการประสานงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกรมการปกครอง ผมคิดว่าถ้านโยบายไม่ชัดเจนจะมีปัญหาในแง่การดำเนินการ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๒. คือการสนับสนุนบุคลากรที่เป็นการเฉพาะ และงบประมาณ เป็นการเฉพาะ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ วันนี้บุคลากรที่อำเภอเราจะใช้ นายอำเภอฝ่ายทะเบียน ซึ่งต้องทำเรื่องแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งหย่า หรืองานปกติของเขา แต่ต้องมีภารกิจเพิ่มเติมกรณีเด็กหัว G เด็กตัว G ที่กระทรวงศึกษาธิการส่งให้ และไม่มี งบประมาณอีก ต้องหาเงิน ต้องหางบประมาณ ต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือในการเดินทาง ไปมาเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ อันนี้ฝ่ายนโยบายก็สามารถที่จะสั่งการได้
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๓. คือเรื่องกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผลพลอยได้ ที่จะต้องไปรับรอง โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ผมอภิปรายมันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเด็กที่ไม่มีสถานะใด ๆ เลย หรือมีสถานะแล้วรอการพัฒนาสถานะทางบุคคล ไม่ว่าจะเป็นลูกของแรงงานก็ดี หรือนำไปสู่ การพัฒนาสัญชาติ ซึ่งสัญชาติก็ได้มาแค่ ๒ ทางเท่านั้นครับ หลักแห่งการเกิด แล้วก็ หลักแห่งสายเลือด มันมีแค่ ๒ หลักการนี้ในการออกสัญชาติ ซึ่งมันมีรายละเอียดข้อกฎหมาย ต่าง ๆ หมดแล้ว ผมยกตัวอย่างกรณี สสป. ที่อยู่ข้าง ๆ ผม เด็กนักเรียนที่อุ้มผางจบแล้ว สอบชิงทุนได้ที่ ๒ แพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พอกระบวนการทางสถานะ ทางทะเบียน พ่อแม่ไม่มีสัญชาติก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ แล้วบุคลากรเหล่านี้เขาเสียโอกาสขนาดไหน บุคลากรเหล่านี้เขาจะสูญเสียศักยภาพที่เขามีอยู่และมีผลต่อประเทศอย่างไร
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากเรื่องนี้นะครับ กรณีเด็กหัว G ผมคิดว่า จำนวนมีไม่ค่อยเยอะ ถ้าหากว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญตั้งขึ้นมา มีข้อสรุปและเสนอไปที่ รัฐบาล ผมคิดว่าใช้เวลาประมาณปีถึง ๒ ปีก็จะจบ บางทีอาจจะไม่ถึงปีก็ได้ เพราะสถานะ ทางทะเบียนของโรงเรียนอาจจะมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเชื่อมระหว่างปกครองนี่อาจจะมี ข้อจำกัด คล้าย ๆ กับเรื่องของผมเคยอภิปรายเรื่องนี้ เรื่องสถานะบุคคลไร้สัญชาติครับ ปัญหาทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเลยนะครับ ปัญหาทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาเรื่อง ระเบียบ มติ ครม. หรือข้อสั่งการเลย แต่ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ระบบบริหารและกลไก การสั่งการที่เอางานพิเศษ เอางานที่มีความพิเศษกว่าอื่นใดไปอยู่ในกลไกปกติ ซึ่งกลไกปกติ เขามีงานที่ล้นมืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหัว G สถานะบุคคลและสัญชาติ ดำเนินการให้มีหน่วยบริหารจัดการที่เป็นการเฉพาะและมีกรอบระยะเวลา มีงบประมาณ สนับสนุน มีบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งเหล่านี้จะจบภายใน ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ครับ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันจะมาขออภิปรายในญัตติที่มีเพื่อนสมาชิกได้นำเสนอเข้าสู่สภา แห่งนี้ แล้วก็รู้สึกดีใจที่มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เด็กไร้สัญชาติ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษย์ที่คงเป็นปัญหาใหญ่ในโลกของเรา มีการพูดถึงแล้วก็ เรียกร้องให้แก้ไขกันตลอดเวลา จากการที่เด็ก ๆ เกิดมาในสถานการณ์ที่ทำให้เรียกว่า พวกเขาไม่มี และตราบใดที่พวกเขาไม่มีสัญชาติก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิที่เขาควรได้รับ แล้วก็การบริการต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตลอดช่วงชีวิตของเขา ซึ่งการศึกษาก็เป็นหนึ่งในสิทธินั้น ที่พวกเขาควรได้รับ แต่ปัจจุบันเราแทบจะไม่มีช่องทางใด ๆ เลยที่จะให้เด็ก ๆ เหล่านี้ หรือแม้ถ้ามีช่องทางแต่ว่ามันก็มีข้อจำกัดบางอย่าง แล้วก็บางอย่างมันก็ไม่เอื้ออำนวย อย่างเต็มที่ จึงเป็นปัญหาให้ต่อทั้งนักเรียน แล้วก็ผู้ที่ให้การศึกษาให้กับพวกเขาเองด้วย แม้ในช่วงก่อนจะมีมติ ครม. จากรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย จะมีการจัดการศึกษาให้แก่ บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ตาม แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็อย่างที่บอก มันยังมีข้อจำกัด อย่างเช่นกรณีที่เกิดมาไม่นานนี้เองในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง รับเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนเพื่อให้การศึกษา แต่เมื่อถูก ตรวจสอบเป็นอย่างไรคะ เด็กเหล่านั้นถูกส่งกลับคืนสู่พื้นที่ของเขา ทำให้ถูกตัดขาดการศึกษา อีกครั้งหนึ่ง ดิฉันต้องขอชื่นชมครู อาจารย์ แล้วก็โรงเรียนเหล่านั้นที่ตั้งใจเป็นผู้สอน และเป็นผู้ให้ แต่ถ้าวันนี้เรามาร่วมกันศึกษาอย่างแท้จริงแล้วหาทางออกร่วมกัน ดิฉันเชื่อว่า ทั้งเด็กนักเรียนแล้วก็ครูผู้เป็นผู้ให้ก็จะสามารถเดินหน้าได้อย่างถูกต้อง
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
จากข้อมูลของ UNHCR ปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติราว ๆ กว่า ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคน เด็กเหล่านี้ไม่ได้กระทำความผิดอะไรเลย ผิดเพียงแต่ว่าเขาไม่สามารถเลือกเกิดได้ แล้วก็ แค่โชคร้ายที่พวกเขาเกิดมานี่เกิดมาข้ามเส้นพรมแดนสมมุติไป แต่นั่นมันไม่ใช่เหตุผล ที่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาไม่ได้เข้าถึงการศึกษา ถ้าท่านลองไปถามเด็ก ๆ เหล่านั้นว่า เขาอยากได้รับการศึกษาไหม อยากเรียนหนังสือไหม ดิฉันเชื่อว่าทุกคนต้องบอกเป็นเสียง เดียวกันว่าพวกเขาอยากเรียน การแก้ปัญหาของเด็กไร้สัญชาติเป็นประเด็นสำคัญที่ต้อง ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กไร้สัญชาติได้สามารถเข้ารับการศึกษาและมีการพัฒนา ตนเองเหมือนเด็กที่มีสัญชาติ ดิฉันจึงอยากจะขอเสนอนะคะ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
๑. คือสร้างโอกาสให้พวกเขาได้เข้าระบบการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ การให้โอกาสนี้จะต้องไม่ผลักดันพวกเขาให้เป็นบุคคลชั้น ๒ หรือเป็นการด้อยค่า เพื่อให้ภาพของคนทั่วไปนี้ดูดีกว่าพวกเขา
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
๒. การสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะ มันจำเป็นต่อการใช้ชีวิต ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และได้พัฒนาทักษะของพวกเขาเอง เพื่อใช้ชีวิตในสังคมและเพื่อมี อนาคตต่อไป
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
๓. การสร้างความรับรู้ อันนี้สำคัญมาก ๆ สังคมเราต้องมีการสร้างความรับรู้ ว่ามันมีกลุ่มเด็กไร้สัญชาติเกิดขึ้นมีปัญหาอยู่ ไม่ปฏิเสธการมีตัวตนของพวกเขา ไม่ด้อยค่า กลุ่มของพวกเขา เพิ่มความเข้าใจและความตั้งใจในการแก้ปัญหานี้ในสังคมเรา ไม่ว่าจะเป็น ในระบบชุมชนไปจนถึงระบบสากล
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
๔. การสร้างการตรวจสอบทำให้การทิ้งผู้คนไว้ข้างหลังสิ้นสุดลง รัฐบาล และสังคมไทยราต้องช่วยกันในการตรวจสอบสถานะของกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ จัดให้มี กระบวนการต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้พวกเขาต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
สิ่งที่ดิฉันพูดมาทั้งหมด ดิฉันให้ความสำคัญที่สุดการศึกษาเพราะมันคือ รากฐาน มันคือความเจริญงอกงามของชีวิต ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีแต่ได้ หากซึ่งไร้รากฐานแล้ว พวกเราก็จะสามารถประคองตัวเองอยู่ในสังคมค่อนข้างยาก การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าใคร ไม่ว่ากลุ่มใด เพศใด และไม่ว่าแม้แต่เด็กที่ไร้สัญชาติ หากเราให้การศึกษากับเด็กไร้สัญชาติแล้ว ให้การศึกษากับเด็กที่อยู่ตามแนวขอบชายแดนแล้ว ทำให้เขามีความรู้ติดตัวไว้ดำรงชีวิตและสามารถกลับไปพัฒนาตามแนวขอบชายแดน ให้เขานำวัฒนธรรมต่าง ๆ ประสบการณ์ของเขาต่าง ๆ มาผสมผสานกับความรู้ที่เขามี ดิฉันเชื่อว่าประเทศเราจะได้รับกลับมา และมันคุ้มค่าที่เราเลือกที่จะให้ในเรื่องนี้กับเขา ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ครับ
นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ ปทุมธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ๑ ปีที่แล้วผมเคยลงพื้นที่แล้วก็ได้พบกับบุคคลไร้สัญชาติในพื้นที่ของผมว่าเขาประสบปัญหา อะไรมาบ้าง จึงขอนำมาเป็นตัวอย่างอภิปรายให้ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกได้เห็นว่า หากเราไม่ปรับปรุงอะไรเลย อนาคตของเด็กไร้สัญชาติที่โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่จะเจอกับ อะไรบ้าง บุคคลไร้สัญชาติท่านนั้นเกิดมาก็จำความได้ว่าอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแล้ว ไม่ทราบว่าคุณพ่อคุณแม่คือใคร แล้วก็มีการส่งตัวระหว่างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า มีการส่งเข้าเรียนไปในโรงเรียน แต่ก็มี อุบัติเหตุบางอย่างที่ทำให้เขาต้องออกจากสถานศึกษา และไม่ได้รับสถานะใด ๆ ทางสัญชาติ เพราะว่าไม่ทันอยู่ที่โรงเรียนจะออกใบรับรองอะไรให้ ปัจจุบันก็เลยไม่มีบัตรประชาชนครับ ผลของการไม่มีบัตรประชาชนทำให้ทุกวันนี้เขาขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ในปีที่ผ่านมาที่มีโรคระบาด Corona Virus เขาก็ไม่ได้รับวัคซีนใด ๆ แล้วก็ไม่สามารถเข้ารับ การรักษาในโรงพยาบาลได้ด้วย ต้องอาศัยพักฟื้นอยู่ที่บ้านจนหายเป็นปกติไปเอง ผมเคยลอง พาเขาไปติดต่อเทศบาลเพื่อขอบัตรประชาชนให้ปรากฏว่ายุ่งยากมากครับ เริ่มจากต้องไป สืบต้นตอก่อนว่าที่เขาเคยอาศัยอยู่ เช่น สถานเลี้ยงเด็กต่าง ๆ มีพยานใด ๆ ที่ยืนยันว่า เขาเคยมาอยู่ที่นี่จริง ปรากฏว่าพ่อเลี้ยงที่เขาจำได้ก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนเพื่อนร่วมชั้น ก็แยกย้ายกันไปหมดแล้วติดต่อไม่ได้ ทางสถานเลี้ยงเด็กเองก็ไม่เก็บข้อมูลไว้แล้ว เนื่องจาก เก่ามาก หรือไม่ก็เอกสารถูกทำลายไปในเหตุการณ์น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ก็เลยแนะนำให้ไปติดต่อสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก่อนหน้าไปเรื่อย ๆ ก็ยังพบปัญหาขาดแคลน ข้อมูล และอันแรกสุดที่เขาจำได้ก็คือมาจากเชียงใหม่ซึ่งเราก็เดินทางไปกันไม่ไหว สุดท้าย สถานเลี้ยงเด็กก็เลยแนะนำให้ไปหา พม. จังหวัด พอเราได้คุยกับ พม. จังหวัด พม. จังหวัด เสนอว่าต้องออกเอกสารคนไร้รากเหง้าก่อน โดยผู้ออกให้คือเทศบาล สรุปแล้ววันทั้งวัน เราวนเป็นวงกลมไม่ได้อะไรเลยครับ ทุกวันนี้เขาเองก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ ทำมือถือก็ทำไม่ได้ เปิดบัญชีธนาคารก็ทำไม่ได้ ต้องพึ่งพาภรรยาคนไทยที่แต่งงานด้วย ในการดำรงชีวิตทุกอย่าง ในอนาคตหากถึงวัยเกษียณแล้ว ผมเชื่อว่าเขาก็ไม่มีโอกาสได้รับ รัฐสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุเช่นกัน ต้องใช้ชีวิตแบบเข้าไม่ถึงสิทธิไปจนวันสุดท้ายของชีวิต ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ในประเทศไทยและไม่เคยไปอยู่ในประเทศอื่นมาก่อนเลย และยิ่งนานวันไป หลักฐานหรือพยานที่มีก็จะเริ่มล้มหายตายจากไป ถ้าไม่รีบทำให้เด็กกำพร้าในวันนั้นมีสถานะ สัญชาติแล้วยิ่งโตไปก็จะยิ่งทำได้ยากขึ้น จึงอยากขอฝากผ่านท่านประธานว่าการแก้ปัญหา เด็กรวมไปถึงผู้ใหญ่ที่ไร้สัญชาติหรือไร้รากเหง้านั้นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนครับ ผมขอแสดงความเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการในการแก้ไขปัญหาการศึกษาของเด็ก ไร้สัญชาติ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณรวี เล็กอุทัย ครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายรวี เล็กอุทัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต ๓ พรรคเพื่อไทย ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มี สัญชาติไทย โดยขอแบ่งกรอบการอภิปรายออกเป็น ๒ ประเด็น ขอ Slide ขึ้นด้วยครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
โดยในประเด็นแรกเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาส ในการศึกษาและเงินสนับสนุนรายหัวนักเรียน รวมถึงการศึกษาต่อเนื่อง ๒. ความสำคัญ ของการศึกษาในบริบทของการของทรัพยากรมนุษย์ ก่อนที่จะลงลึกไปยังทั้ง ๒ ประเด็น ดังกล่าว โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยและขอสนับสนุนว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสัญชาติไทย ที่อยู่ในเขตแดนในประเทศของเรา พวกเขาควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
ในประเด็นแรก ผมจะขอพูดถึงจุดเริ่มต้นของโอกาสในการศึกษา และเงินสนับสนุนรายหัวนักเรียน รวมถึงการศึกษาต่อเนื่อง โดยเมื่อเราเริ่มพิจารณาจาก การที่ประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ ประเด็นที่สำคัญคือเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่กำหนดว่าเป็นสัญชาติหรือเป็นพลเมืองของรัฐหรือไม่ เด็กต้องได้รับโอกาส ในการพัฒนาซึ่งหมายรวมถึงการศึกษาทุกประเภท และหลักการนี้ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายไทย ทั้งในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ในมาตรา ๔ และมาตรา ๕๔ รวมถึงในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ในมาตรา ๑๐ ซึ่งผมก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการตีความของกฎหมายว่าจะหมายถึงเพียงแค่ เด็กที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามผลที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้เด็ก ได้รับการศึกษาโดยตรงนั่นก็คือเงินสนับสนุนรายหัวที่รัฐได้อนุมัติไว้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงเรียนภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความครอบคลุม อยู่แล้วตั้งแต่ระดับชั้นก่อนอนุบาล ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับ มัธยมศึกษา โดยกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งก็เป็นคำถามว่าเงินสนับสนุนรายหัวดังกล่าวนี้ มีให้เฉพาะเพียงเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ และเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร จะสามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนภายใต้สังกัดของ สพฐ. ได้จริง ๆ หรือไม่ครับ
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
Slide ถัดไปครับ ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากกรอบของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สถานะทางทะเบียนราษฎรซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างเลี่ยงไม่ได้กับตัวเด็กที่จะเอาไว้เป็น หลักฐานในการสมัครเข้าเรียนหนังสือ หรือถึงแม้ว่าจะมีบางโรงเรียนที่ใจดีให้การสนับสนุน ทางการศึกษา เช่น ในโรงเรียน ตชด. ตามเขตแนวชายแดนที่รับเด็กทุกคนเข้าเรียนหนังสือ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของระดับการสอนอยู่ดี ที่มีถึงเพียงแค่ระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยของเราสถานะความเป็นพลเมืองไทยที่มีสัญชาติไทย ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษา แต่หากเป็นเด็กที่ไร้สัญชาตินั้น การจะผลักดันให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษาช่างเป็นสิ่งที่ยากมากเสียเหลือเกิน และยิ่งไปกว่านั้น คือการได้รับการศึกษาที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยเช่นเดียวกัน
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
Slide ถัดไปครับ และนั่นจึงเชื่อมโยงไปถึงในประเด็นที่ ๒ ที่ผมต้องการ กล่าวถึง นั่นก็คือความสำคัญของการศึกษาในบริบทการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพราะในประเด็นนี้เราต้องลองพิจารณาว่าในกรณีที่เกิดขึ้นจริงและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน เรามีเด็ก ไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศไทย และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็หนีไม่พ้นที่รัฐจะต้องหาคำตอบว่าจะดำเนินการกับเด็กเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากมองในมิติ ของความมั่นคงเราอาจได้คำตอบแบบหนึ่ง แต่สำหรับผมมองว่ากลุ่มเด็กเหล่านี้ที่ใช้ชีวิต อยู่ในประเทศไทยและคงจะไม่เดินทางไปยังประเทศใดต่อ เพราะข้อติดขัดของกฎหมาย ควรที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องในระดับชั้นต่อ ๆ ไปได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดนี่เป็นหนทางที่ทำให้รัฐจะสามารถลดความเสี่ยงในการเผชิญกับ ภัยความมั่นคงที่เราไม่สามารถจินตนาการออกได้เลยว่า หากเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้รับ การศึกษาและขาดการอบรมสั่งสอน หรือปลูกฝังความเป็นพลเมือง และไร้การชี้แนะ ถึงเป้าหมายของชีวิต เด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมไทย ได้อย่างไร และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นตามมาอีกได้บ้าง
นายรวี เล็กอุทัย อุตรดิตถ์ ต้นฉบับ
ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทั้งตัวเด็กและรัฐไทยไปในเวลาเดียวกัน การทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีและเท่าเทียม จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพ รวมไปถึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณค่าที่จะมาช่วย พัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป ผมคิดว่าการศึกษาเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยหา แนวทางพัฒนาให้เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยสามารถ กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในตัวเองและสังคม รวมถึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ศักยภาพในภาพรวมของประเทศไทยเราได้ด้วยเช่นเดียวกัน ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ครับ
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาและประชาชนผู้ทรงอำนาจของประเทศทุกท่านที่กำลังรับชม การทำงานของพวกเราในขณะนี้ ดิฉัน พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ผู้แทนประชาชน จังหวัดกรุงเทพมหานคร จากเขตคลองสามวา พรรคก้าวไกลค่ะ
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ดิฉันขออภิปรายเพื่อสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจาก ปัญหานี้ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยคณะกรรมาธิการสามัญในด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว เท่านั้น ยังต้องอาศัยความร่วมมือของหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน หรือแม้กระทั่งที่คุณสกล สส. ของพรรคก้าวไกล เพิ่งอธิบายไปถึงปัญหา ของเรื่องสาธารณสุขที่เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ดิฉันขอย้ำถึงประเด็น ที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปตั้งแต่การประชุมครั้งที่ผ่านมาว่าเด็กรหัส G นี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการของระบบราชการที่ยังคงพึ่งพา ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานมากจนเกินไป และหลายครั้งดุลพินิจเหล่านี้เอง ที่กลายเป็นปัญหาผลักให้ประชาชนต้องตกเป็นคนชายขอบ ตกหล่นจากการได้รับสิทธิ และสวัสดิการต่าง ๆ โดยสิ้นเชิง ความเทอะทะทางอำนาจที่ขาดการบูรณาการย่อมจะหวังถึง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอะไรไม่ได้มากนัก แล้วมันก็สะท้อนออกมาผ่านการที่กระทั่งรัฐเอง ก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนพอที่จะบอกได้ว่าปัจจุบันเรามีเด็กรหัส G อยู่ในประเทศจำนวนกี่คน กันแน่ ข้อมูลที่เรามีกันอยู่ในทุกวันนี้มักจะมาจากการที่องค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้าน สิทธิมนุษยชนเข้าไปทำงาน ช่วยกันรวบรวมตามแต่โอกาสที่จะเข้าถึง ยกตัวอย่างข้อมูล ที่ดิฉันจะยกมา รวบรวมมาโดยคณะทำงานขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ที่ไม่มี สัญชาติไทย ซึ่งให้ข้อมูลว่าเด็กรหัส G ที่พวกเขาได้เข้าถึงและเก็บรวบรวมข้อมูลมานี้มีอยู่ที่ จำนวนประมาณ ๗๔,๕๑๑ คน ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง และน้อยจาก ความเป็นจริงอย่างแน่นอน นี่อาจจะเป็นเพียงตัวเลขแค่หนึ่งในสามเท่านั้นจากจำนวนลูกหลาน แรงงานข้ามชาติทั้งหมดที่มีประมาณการกันไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ ๒๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ คน ด้วยกัน และจำนวนเด็กรหัส G เหล่านี้ก็จะมีเพียงแค่ ๕๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึง ระบบการศึกษา ยังไม่ต้องพูดถึงว่าการศึกษาที่พวกเขาเข้าถึงได้นั้นเป็นการศึกษาที่เรา สามารถพูดได้เต็มปากหรือเปล่าว่ามันมีคุณภาพมากพอที่จะเป็นแต้มต่อและสร้างความ มั่นคงให้กับชีวิตของพวกเขาในอนาคต เพราะเมื่อเด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงนิดเดียว สถานะเด็ก G ของเขาก็จะหลุดลอยไป
นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ดิฉันขอกลับไปที่ประเด็นของตัวเลขที่ไม่ตรงกันอีกครั้งนะคะ เพราะตัวเลข เหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้มองเด็กเหล่านี้เป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ได้มอง ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ทำให้ไม่มีความพยายามกระทั่งจะจัดเก็บรวบรวมข้อมูล เหล่านี้ให้เป็นระบบด้วยซ้ำไป แม้เราพยายามที่จะออกกฎหมายที่จะบรรเทาปัญหาขึ้นมา หลายต่อหลายฉบับ ซึ่งเพื่อนสมาชิกหลายท่านไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ได้ยกตัวอย่างพวก พ.ร.บ. สัญชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๑ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๒ และ พ.ร.บ. ฉบับอื่น ๆ แต่เชื่อหรือไม่คะว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ เด็ก ๆ กลุ่มนี้เข้าถึงโอกาสที่ควรจะมีได้เลย ขอให้ทุกท่านสมมุติว่าตนเองเป็นเด็กที่เกิดมา ห้อมล้อมด้วยคนไทย พูดภาษาไทย เรียนโรงเรียนไทย แต่ท่านกลับได้สถานะ ติดสถานะ พิเศษไม่เหมือนคนอื่น เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ไม่มีสถานะ ทางบุคคลและสัญชาติที่แน่นอน ท่านคิดว่าชีวิตที่ท่านจะมีจะเป็นชีวิตที่เข้าถึงโอกาส ในการเลือกเรียนสิ่งที่รัก ได้ทำงานที่อยากทำ ได้ทำตามความฝัน ได้แสดงศักยภาพ และความสามารถที่ตัวเองมีให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมได้สักแค่ไหนกัน ท่านคิดว่าท่านจะ ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ได้รับสิทธิทางกฎหมาย มีชีวิตที่ปลอดภัยจากความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบ การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การเลือกปฏิบัติ และการค้ามนุษย์ สักแค่ไหน คำตอบคือท่านแทบจะไม่มีสิทธิเหล่านี้ในชีวิตเลยค่ะ และการที่จะเปลี่ยนสถานะ ทางทะเบียนราษฎร์ การจะขอสัญชาติไทย สิ่งที่ตั้งด่านรอท่านอยู่แล้วคืออุปสรรค นานาประการ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการขอที่ซับซ้อนและไม่สมเหตุสมผล ไม่เหมาะสมกับ ยุคสมัย ไม่สนใจบริบทสังคม เพื่อนสมาชิกของดิฉันหลายท่าน เช่น คุณธิษะณา ชุณหะวัณ คุณณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล คุณมานพ คีรีภูวดล ได้อภิปรายเหตุผลไปแล้วอย่างชัดเจน ดิฉันจะไม่พูดซ้ำและอยากให้ทุกท่านที่สนใจในประเด็นนี้ห่วงใยในอนาคตเด็กของพวกเรา ย้อนกลับไปรับฟังการอภิปรายเหล่านั้นด้วย ความพิลึกพิลั่นหลายอย่างที่ท่านจะได้พบเจอ ในเส้นทางการขอสัญชาติไทยนั้นเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ท่านนึกไม่ถึงเลยค่ะว่าจะเกิดขึ้น ในกรณีที่เป็นเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว แต่หลักฐานการเกิดอยู่ในไทย ท่านต้องไปยื่น คำร้องขอสัญชาติที่ทำการอำเภอ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น สำนักบริหารงานทะเบียน แต่หากท่านเติบโตขึ้นแล้วขอเปลี่ยนสัญชาติตามคู่สมรส หรือขอเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย ท่านจะต้องยื่นคำร้องต่อตำรวจภูธรจังหวัดหรือตำรวจสันติบาล ขั้นตอนการแยกแบบนี้ ทำให้เกิดความลำบากต่อคนที่เขาต้องการได้สัญชาติมากขึ้นไปอีก นี่ยังไม่นับว่าอุปสรรค ที่ใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องของหลักฐานในการขอสัญชาติต่าง ๆ มันต้องมีหนังสือรับรองเงินเดือน ว่ามีเงินเดือน ๔๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ในกรณีที่ผู้ขอมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนไทย และต้องมี เงินเดือน ๘๐,๐๐๐ บาทในกรณีที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนไทย ทุกท่านคะ ทุกวันนี้ ผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับเงินเดือนเริ่มต้นที่ ๑๕,๐๐๐ บาท ยังไม่หักภาษี ในภาคเอกชนหลายคนทำงานมาเป็นสิบปี ฐานเงินเดือนยังไปไม่ถึง ๔๐,๐๐๐ บาทก็มี และค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศของเราทุกวันนี้อยู่ที่ ๗,๐๐๐ บาทต่อเดือน และด้วยอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้เอง อุปสรรคต่าง ๆ นานาในการเข้าถึงโอกาสของเด็กรหัส G เหล่านี้ ดิฉันนึกภาพไม่ออกเลยว่าเมื่อเขาเติบโตขึ้นมา ใครบ้างจะเดินไปถึงจุดที่จะได้รับ สัญชาติอย่างถูกต้องได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการที่จะปรากฏอยู่ในสื่อบ่อย ๆ ครั้ง ในเรื่องของการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อมาสวมสิทธิคนตาย หรือกระทั่งสวมสิทธิคนเป็น ซึ่งเจ้าตัวคนที่ถูกสวมสิทธินั้นก็ไม่ได้รับรู้ เราต้องยอมรับความจริงกันว่าประเทศชาติอันเป็น ที่รักยิ่งของเรานั้น กำลังคืบคลานเข้าสู่สภาวะที่ขาดแคลนแรงงานและเป็นสังคมของผู้สูงวัย เรามีเด็กเกิดใหม่เพียงปีละ ๕๐๐,๐๐๐ คนเท่านั้น สถิติปี ๒๕๖๕ เก็บโดยสถาบันวิจัย ประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าปีที่ผ่านมาเรามีเด็กเกิดใหม่แค่ ๕๒๑,๑๐๗ คน เท่านั้นเอง และแน่นอนกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์นี้เกิดในครอบครัวที่ยากจน หากรัฐเร่งจัดการ ระบบสวัสดิการด้านการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม หาแนวทางแก้ไข ปัญหาเด็กติด G เพื่อให้พวกเขาได้รับการอำนวยความสะดวกในด้านการศึกษา ได้รับ สวัสดิการขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล การทำงาน การทำธุรกรรมต่าง ๆ พวกเขา จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่เป็นกำลังสำคัญ สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ สร้างหลักประกัน ทางเศรษฐกิจที่ดี กลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราได้ และการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาแนวทางในการจัดการศึกษาให้เด็กไม่มีทะเบียนราษฎร์เหล่านี้ จะเป็นก้าว สำคัญในการคืนคนที่มีศักยภาพให้กลับเข้าสู่ระบบแรงงานของประเทศไทย ขอให้ทุกท่าน พิจารณารับรองญัตตินี้มอบสิทธิคืนให้เด็ก ๆ ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญ ร่วมกันหาแนวทางยุติภาวะไร้สัญชาติให้พวกเขา เพื่ออนาคตของพวกเราทุกคนค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ครับ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอภิปรายญัตติ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษา สำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย สืบเนื่องจากพี่น้องแรงงาน จากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาเหล่านั้น เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบ้านเรา แต่พวกเขากลับขาดโอกาส หลายอย่างในการดำเนินชีวิตในบ้านเราเพียงเพราะพวกเขาเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ แม้กระทั่ง บางคนเกิดและเติบโตในประเทศไทยก็ไม่ได้รับสัญชาติและไม่มีบัตรประชาชน และเมื่อเขา มีลูก เด็กเหล่านั้นก็มีชีวิตไม่ได้แตกต่างจากผู้เป็นพ่อและเป็นแม่ ยังได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เขาเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างจากคนไทยหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การแจ้งเกิด ก็จะถูกกำหนดเลข ๐ นำหน้าที่แสดงถึงผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือถ้าได้รับ การเข้าโรงเรียนไทย พวกเขาก็จะถูกกำหนดเลขประจำตัวโดยการขึ้นต้นด้วยตัว G เพื่อใช้ เป็นรหัสชั่วคราว ซึ่งรหัส G จะใช้สำหรับแค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น มีผลแค่ในโรงเรียนเท่านั้น มีอายุใช้งานเพียงแค่ ๖ ปี ไม่ได้รับสิทธิทางด้านสาธารณสุขต่าง ๆ เช่นถ้าหากเกิดอุบัติเหตุ นอกโรงเรียน ผู้ปกครองต้องรับภาระในการใช้จ่ายทั้งหมด อำเภอโขงเจียม จังหวัด อุบลราชธานี เป็นเขตพื้นที่ของดิฉัน มีกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่เป็นลูกหลานชาวลาวอพยพกว่า ๑๐๐ ชีวิตหรือมากกว่านั้น เป็นเด็กที่เกิดกับคนไร้สัญชาติที่ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะคนไทย ซึ่งเป็นปัญหา การอนุมัติสัญชาติ ส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เนื่องจากระบบการจัดเก็บข้อมูล ในบ้านเราเพิ่งย้ายฐานข้อมูลจากกระดาษมาเป็น Digital ไม่นานนัก อาจจะมีบางส่วนที่ทำให้ ตกหล่นไปบ้าง ปัญหาในจุดนี้ปรับเปลี่ยนได้โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ชำนาญเรื่องคนในพื้นที่ สามารถขอความ ร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้เพื่อสามารถ Update ข้อมูลได้ค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ดิฉันเป็นผู้แทนที่มีเขตพื้นที่อยู่ติดชายแดนมีบุคคลไร้รัฐอยู่ ไร้สัญชาติอยู่ เป็นจำนวนมากพอสมควร ได้รับฟังปัญหาจากปากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของเด็ก ๆ อยู่บ่อยครั้ง ก็อดเห็นใจไม่ได้ บางคนมากอด บางคนร้องไห้ บางคนอ้อนวอน ขอให้ดิฉันช่วยผลักดัน ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ อยากให้ลูกได้รับสิทธิ ทางการรักษาพยาบาล มีอิสระในการใช้ชีวิต มีชีวิตเหมือนคนไทยคนอื่น ๆ เพราะพวกเขา ก็ได้เสียภาษีเหมือนคนไทย ทำไมวันนี้ถึงไม่มีสิทธิและไม่ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับคนไทย แถมยังต้องติดปัญหากับกระบวนการหน่วยงานของภาครัฐซึ่งเป็นกับดักขวางทาง ขวางโอกาส ของเด็ก ถ้ารัฐหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สุดท้ายชะตากรรม ของเด็กเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นการเป็นแรงงาน มีชีวิตที่ลำบากไม่แตกต่างจากผู้เป็นพ่อและแม่ค่ะ เพราะการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ รัฐควรมอบโอกาส และปกป้องสิทธิของพวกเขา เพราะเมื่อเด็กขาดการศึกษาเล่าเรียน เขาจะพัฒนาตัวเอง ไปสู่อนาคตที่ดีได้อย่างไร ดิฉันจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่น ๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลชุดนี้จากพรรคเพื่อไทย ภายใต้การบริหารงานของ ท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ดิฉันเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแน่นอนค่ะ
นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
สุดท้ายที่อยากจะขอฝากค่ะ การศึกษาทำให้เด็กหลุดพ้นจากความทุกข์ ความลำบาก และสามารถตัวเองก้าวข้ามความฝัน ความหวัง และไปสู่ความสำเร็จได้ ในอนาคต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวได้ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอนค่ะ ผู้แทนคนนี้จะขอเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ ทุกคน ขอให้ฝันเป็นจริง ขอให้ได้สัญชาติไทยในเร็ววัน ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปเชิญ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ครับ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พอเราพูดถึงเด็กรหัส G ผมก็ต้องให้ข้อมูลกับท่านประธานเอาไว้อย่างนี้ว่าปัจจุบันเด็กที่ไม่มี หลักฐานทางทะเบียนราษฎรมีอยู่ราว ๆ ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน มีเพียง ๑๐๐,๐๐๐ คน เท่านั้นที่ได้รหัส G แล้วก็เข้าสู่ระบบการศึกษา นั่นหมายความว่ามีเด็กอีก ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่อยู่ในประเทศไทยและตกหล่นจากระบบการศึกษา ถามว่าเรื่องนี้บางคนบอกว่ามีมายาคติ ในเชิงลบอย่างมากบอกว่าเขาไม่ใช่เด็กไทยจะไปสนใจทำไม แต่ผมเรียนอย่างนี้ครับว่า เด็กทุกคนเวลาผ่านไป ๒๔ ชั่วโมง เขาล้วนแต่โตขึ้น ๑ วัน ผ่านไป ๑ ปีก็โตขึ้น ๑ ปี สักพักเขาก็จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเราปล่อยให้เด็กเหล่านี้เติบโตโดยที่ไม่ได้รับสวัสดิการ ไม่ได้รับการศึกษาได้อย่างไร ซ้ำร้ายมีการสำรวจโดยกลุ่มสังคมสงเคราะห์ กลุ่มงานวิจัย ต่าง ๆ มากมาย สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ มากมาย เด็กเหล่านี้เกิดในประเทศไทย เขาไม่เคยรู้ว่าเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่เขา หน้าตาเป็นอย่างไร แต่เขารู้ครับว่าจังหวัดที่เขาอยู่อาศัย ถนนหนทางอยู่ตรงไหน เขาพูด ภาษาไทย ดูการ์ตูนภาษาไทย อ่านหนังสือไทย มีเพื่อนเป็นคนไทย แล้วถ้าเกิดเขาโตขึ้นมา โดยที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย ไม่ได้รับการพัฒนาเลย ไม่ได้รับการบ่มเพาะให้รู้ถึงคุณค่า ของสังคมที่เขาอยู่ แล้วเขาจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อย่างไร ประเด็นต่อมาผมยืนยันครับว่าการที่เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับรหัส G แล้วก็ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ ศึกษา เป็นการกระทำผิดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่วันนั้นเป็นมติ คณะรัฐมนตรีที่ดีมาก ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย รวมทั้งบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยด้วย เพราะการศึกษา เป็นการศึกษาของทุกคนครับ สหประชาชาติก็บอกว่า Education for all คือการศึกษา มีไว้สำหรับทุกคน และเด็กทุกคนต้องเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ แล้วเมื่อไรก็ตามที่ผู้ใหญ่คนนั้น ไม่ได้รับการศึกษาจากรัฐที่เขาอยู่ แล้วเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดศักยภาพ ผู้ที่รับผิดชอบ คือรัฐ ไม่ใช่เด็กคนนั้น เอาอย่างนี้ครับ ผมมองหน้าเพื่อนสมาชิกที่สวนกันไปสวนกันมา หรือข้าราชการที่ผมสวนกันไปสวนกันมาที่ทำงานด้วย หลายคนก็มองออกว่ามีบรรพบุรุษ เป็นคนเชื้อสายจีน คนเชื้อสายจีนหลายคนตอนที่เขาอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในประเทศไทย เขาไม่ได้กะว่าเขาจะอยู่ประเทศไทยนาน ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์ของคนจีน ก็จะรู้ดีว่าถ้าเขาต้องการจะย้ายถิ่นฐาน เขาต้องเอากระถางธูปของบรรพบุรุษเขามาด้วย แต่คนไทยเชื้อสายจีนลองดูครับว่าหลายตระกูล หลายแซ่ ไม่ได้เอากระถางธูปมาด้วย แต่สุดท้ายเพราะ พ.ร.บ. สัญชาติ ปี ๒๕๐๘ มาตรา ๒๓ ถ้าผมจำไม่ผิด ถ้าตกหล่นขออภัย เขาทำให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยโดยพ่อแม่เป็นชาวต่างชาติ ที่เกิดในช่วงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด และหลานของคนต่างชาติ หรือเรียกว่า คนต่างด้าว ที่เกิดก่อน ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ก็ได้รับสัญชาติไทย ปรากฏว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญแบบนี้ หลายคนที่วันนี้กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ วันนี้ไม่รู้ว่าจะต้องดำดินอยู่ตรงไหนแล้วครับ ต้องไปเป็นมือเป็นไม้ของ Mafia ข้ามชาติ หรือต้องไปประกอบกิจการอาชญากรรมต่าง ๆ อีกหรือเปล่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่อง ที่สำคัญมาก ๆ ที่เราต้องให้การศึกษากับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ และเลิกอคติเสียทีครับ ว่านี่ไม่ใช่เด็กไทยนะ เราจะไปสนใจทำไม เด็กโตขึ้นทุกวันครับ แล้วถ้าเกิดเรายังมีอคติเชิงลบ แบบนี้ สุดท้ายถ้าเกิดเขาโตขึ้นมาแล้วปรากฏว่าขาดศักยภาพ ในขณะที่ประเทศไทยเรา ต้องการแรงงานที่มีศักยภาพ เกิดปัญหาต่าง ๆ ของการที่เขาตกหล่นจากการศึกษาในวัยเด็ก เราโทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวเอง โทษพวกเราเองในวันนี้ ในเวลาที่เหลือผมขออนุญาต อุทิศเวลาให้กับคนไทยพลัดถิ่น ทำไมผมพูดถึงคนไทยพลัดถิ่นโดยเฉพาะที่จังหวัดระนอง คนเหล่านี้เป็นพี่น้องคนไทยเหมือนกัน แต่ด้วยปัญหาข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ ซึ่งผม ขออนุญาตไม่พูดนะครับว่ามันเกิดจากต้นสายปลายเหตุอะไร แต่อะไรก็แล้วแต่เมื่อปี ๒๔๑๑ มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียดินแดนมะริด ทะวาย ตะนาวศรี ให้กับประเทศ อังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของประเทศพม่าในขณะนั้น จนกระทั่งต่อมา ปี ๒๔๙๑ พม่าก็ได้รับอิสรภาพคืนจากประเทศอังกฤษ คนไทยแท้ ๆ แต่พอเสียดินแดน ตรวจพิสูจน์ สาแหรกก็เป็นคนไทยแท้ ๆ ญาติอยู่ในฝั่งไทยเป็นคนไทย ส่วนพวกเขาไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้สัญชาติไทย ทุกวันนี้เขาอยู่ที่จังหวัดระนอง ผมเคยไปพบปะพูดคุยกับพวกเขา เป็นคนไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานเชื่อผมไหมครับ รหัส G บางทีก็ไม่ได้ แล้วเขาก็ไป ตรวจ DNA ใช้เงินเป็นหลายหมื่นบาท ต้องทำผังสาแหรก ผังเครือญาติ ไปเสนอกับหน่วยงาน ราชการฝ่ายปกครอง ท่านประธานรู้ไหมครับว่าเขาเจออะไร เขาเจอการเรียกรับผลประโยชน์ เขาเจอเรียกรับส่วย แล้วแต่ละคนรายได้ก็ไม่ใช่ว่ามาก ได้รายได้เป็นรายวันหลักร้อย แต่ต้องมาจ่ายส่วย ๓๐,๐๐๐ บาท ๔๐,๐๐๐ บาทกว่าที่จะได้รับบัตรประชาชน วันนั้นเขาขอดูบัตรประชาชนผม เขาบอกผมว่าเก็บไว้ดี ๆ นะครับคุณวิโรจน์ ผมบอกว่า ทำไมหรือครับ แต่ที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ถ้าหายก็อาจจะเสียเวลาไปทำใหม่ เขาบอกกับผม ด้วยสายตาที่เศร้าสร้อย แต่สำหรับคนไทยพลัดถิ่นบัตรใบนี้ทั้ง ๆ ที่ DNA เป็นคนไทยแท้ ๆ แต่เขาต้องเสียเงินถึง ๓๐,๐๐๐ บาท ๔๐,๐๐๐ บาทกว่าจะได้ความเป็นคนไทยกลับคืนมา ดังนั้นผมคิดว่าในเรื่องของเด็กรหัส G ทำไมผมถึงบอกว่าต้องควรที่จะตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญ เพราะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวงมาก ไม่ใช่เฉพาะแค่กระทรวงศึกษาธิการ แต่เกี่ยวพันโยงใยโดยตรงกับกระทรวงมหาดไทย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย ผมจึงขอสนับสนุนกำลังแรง กำลังใจ จากเพื่อนสมาชิกทุกคนที่เมื่อสักครู่ทุกท่านก็อภิปรายสนับสนุนให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ทุกท่าน สนับสนุนยกมือให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ให้ครบทุกกระทรวง ทบวง กรม ขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสุรวาท ทองบุ ถัดมาก็จะเป็น ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชิญคุณสุรวาทครับ
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในเรื่องนี้นะครับ จากที่รับฟังเพื่อนสมาชิกทุกท่านก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เด็กกลุ่มนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการศึกษา และเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะมีความรัก ความผูกพัน และจะอยู่กับประเทศไทยนี้ไปนานอย่างแน่นอน โอกาสที่จะกลับนี้ยากมาก เรื่องนี้มันมี ความซับซ้อนมาก มันเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เราจะต้องศึกษาทั้งที่มาของเด็กเหล่านี้ กับการคงอยู่ การได้รับบริการสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุขหรือการศึกษา หรือเรื่องอื่น ๆ แล้วตรงนี้เราควรที่จะต้องศึกษาผลกระทบในทางบวก หลาย ๆ ท่าน อภิปรายไปมาก แต่เราก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของทางลบ เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องภาระของรัฐ ที่จะต้องรับผิดชอบ ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐไทยไม่ควรไปรับภาระนะครับ หมายความว่า เราจะเตรียมการอย่างไรกับเรื่องนี้ ผู้เรียนเหล่านี้เมื่อเขาเข้ามาเรียน เขาจะไปต่ออย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง การจัดการศึกษาก็จัดโดยหลายกระทรวง ในวันนี้ แม้แต่ตำรวจ หรือกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่เอกชน ซึ่งต้องมีรายละเอียดเฉพาะเจาะจง และมีหลายเรื่องที่เราควรจะดูในเรื่องของภาระ งบประมาณ เรื่องการบริหารจัดการ วันนี้มีหลักเกณฑ์มีอะไรหลาย ๆ อย่าง ประกอบกับ ประเทศไทยมีผู้เกิดน้อย และปัญหาคือประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายมีความต้องการเข้ามาใน ประเทศไทยมากขึ้น ๆ ทุกวัน ในขณะที่โรงเรียนถ้าจะรับผู้เรียนเฉพาะที่เป็นนักเรียนคนไทย หลายโรงเรียนอาจจะอยู่ไม่ได้ แต่ว่าก็มีมิติที่เราจะมองว่าด้วยเหตุนี้จะเป็นเหตุจูงใจ ให้มีการนำพา ให้มีการจัดหาที่พักนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ ผมคิดว่าคณะกรรมาธิการ ที่เราจะตั้งขึ้นจะต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ด้วย แม้แต่เรื่องของเด็กเหล่านี้มาเติบโตในประเทศไทย พอหรือไม่ในการที่จะเล่าเรียนเพียงเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าเขาอยู่อย่างนั้นจะเป็นภาระ กับประเทศไหม ถ้าเขาไม่ได้เรียนก็จะเป็นผลกระทบในทางลบ เป็นพลเมืองที่ไม่มีสัญชาติ แต่ต้องดำรงอยู่ที่นี่ก็จะทำให้เป็นปัญหาต่อมา อันนี้ผมจึงสนับสนุนว่าเราไม่ควรนำเรื่องนี้ เข้าไปพิจารณาเพียงคณะกรรมาธิการสามัญ ผมเรียนว่าปัญหาการศึกษาของประเทศมันมาก จริง ๆ เยอะจริง ๆ จับตรงไหนเป็นปัญหาตรงนั้น ถ้าเอาเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการ การศึกษาที่เป็นคณะกรรมาธิการสามัญคงไม่ต้องพิจารณาเรื่องอื่น เพราะเรื่องนี้ มีความสำคัญแล้วก็ซับซ้อน และมีหลายมิติ หลายประเด็นที่จะต้องพิจารณา เพราะฉะนั้น ผมจึงขอสนับสนุน แล้วก็เรียนเพื่อนสมาชิกทุกพรรคว่าขอได้โปรดสนับสนุนให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที แล้วก็ครอบคลุมทุกมิติของปัญหา เรื่องนี้ ขอบพระคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง ครับ
ว่าที่ร้อยตรีหญิง อรพรรณ จันตาเรือง เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน อรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๖ คนอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ วันนี้ในฐานะตัวแทน ของพี่น้องประชาชนที่อยู่ชายแดน อยู่ชายขอบ วันนี้ขอร่วมอภิปรายญัตติพิจารณา แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือไม่มีสัญชาติไทย คำว่า เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ยังไม่พอค่ะ ชีวิตยังไร้หลักประกันอีกนะคะ คำว่า เด็กตัว G คือเป็นเด็กที่ไร้สถานะทางทะเบียน เป็นการขึ้นทะเบียนให้กับโรงเรียนเพื่อที่จะมาเบิก ในเรื่องของค่าอาหารเสริมนมและอาหารกลางวัน ซึ่งเด็กทั้งหมดไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่เกี่ยวกับการปกครอง ไม่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใดเลย เด็กทุกคนที่มาอยู่ใน ประเทศไทยที่มาเรียนหนังสือ บางรายได้เรียนหนังสือ ได้รหัสตัว G ก็จริง พื้นที่ของดิฉัน อยู่ชายแดน เด็กตัว G ที่ไร้สัญชาติกับเด็กสัญชาติไทย เราเรียนโรงเรียนด้วยกันค่ะ ดิฉันมีเพื่อนที่เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกัน ทำงานร่วมกัน แล้วเด็กพวกนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเราเรียนกับเด็กสัญชาติไทยทั้งหมดเลย แต่ปัญหา อยู่ที่ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น ปัญหาหลักอีกด้านหนึ่งก็คือในเรื่องของสิทธิ ในการรักษาพยาบาลหรือเข้าถึงระบบสาธารณสุข เด็ก ๑ คนอาจจะเป็นเด็กที่ข้ามไปข้ามมา ระหว่างรัฐไทยแล้วก็อีกรัฐหนึ่งที่อยู่ติดกับชายแดน แต่ถ้าเด็กทั้งหมดไม่ได้รับการรักษาพยาบาล หรือได้รับวัคซีน แต่เด็กอยู่ร่วมกับเด็กไทยค่ะ การเกิดการแพร่ระบาด แม้กระทั่งเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาโรคบางโรค โรคติดต่อที่เคยหายไปจากประเทศไทยแต่กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นโรคมือเท้าปาก ที่พื้นที่ของดิฉันเด็กนักเรียนเป็นเยอะมาก แล้วก็ติดต่อระบาด ไปทั่วทั้งจังหวัด เหตุผลอีกอันหนึ่งก็คือเด็กตัว G ไม่สามารถได้รับวัคซีนอันนี้ก็คือปัญหา มันเกิดการระบาดพื้นที่หนึ่งปุ๊บ ในส่วนตัวของดิฉันอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เหมือนกัน ถ้าหาก เด็กคนหนึ่งได้รับโรคระบาดมาเอาไปแพร่ในจังหวัดเชียงใหม่ ดิฉันเดินทางมาในสภาแห่งนี้ วันนี้ดิฉันก็เป็นพาหะนำมาให้กับสภาเช่นเดียวกัน มันคือการแก้ไขปัญหา ถ้าหากวันนี้ รัฐยังไม่ให้การสนับสนุนกับเด็กทุกคนได้เข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลหรือวัคซีนให้ทั่วถึง การแก้ไขในเรื่องพวกนี้มันจะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ การป้องกันมันใช้งบประมาณน้อยกว่า การที่เราจะมารักษาและเยียวยา ดิฉันจะให้มองเห็นอีกมิติหนึ่งเด็กตัว G คือจะถูกกำหนด ตั้งแต่เข้าโรงเรียน แต่หลังจากที่เด็กหมดไปจากโรงเรียน หรือเรียนถึงแค่ ป. ๖ รหัสตัว G นี้ ก็จะหายไปแล้ว และเด็กกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปในส่วนของแรงงานแต่ก็ไม่สามารถทำงานได้ ต้องไปถูกตำรวจหรือหลาย ๆ ทาง ทางแรงงานหรือตำรวจที่ผิดกฎหมายเข้ามาในเรื่องของ การรีดไถในการทำงานในประเทศไทยอีกต่อไปนี่ก็จะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง แล้วยังไม่พอ ระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมามติของรัฐมนตรีในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ในเรื่องของการคืนสิทธิ ขั้นพื้นฐานในระบบสาธารณสุขแก่กลุ่มผู้ที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ และยังมีมติ คณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ ให้คืนสิทธิเฉพาะกลุ่มแต่ไม่ควบคุมกับเด็กตัว G ตอนนี้ผ่านไปแล้ว ๑๐ กว่าปีแล้วยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เลยค่ะ วันนี้ยังไม่พอยังส่งผลถึง โรงพยาบาลที่อยู่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตากที่ติดขอบชายแดนทั้งหมด เรื่องของโรงพยาบาลที่อยู่ชายแดนจะต้องแบกรับภาระ ไม่ใช่แค่คนที่มีสถานะทางทะเบียน แต่วันนี้โรงพยาบาลจะต้องดูแลทั้งมีทะเบียนและไม่มี ทะเบียน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ แต่พอเวลารัฐอุดหนุนงบประมาณ จะคิดในอัตราแค่คนที่มีสถานะทางทะเบียน แต่ในสภาพของความเป็นจริงแล้วบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนโรงพยาบาลก็จะต้อง ทำการรักษาค่ะ อันนี้ก็จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ดิฉันฝากท่านประธานไปยังกระทรวง สาธารณสุขช่วยสนับสนุนงบประมาณกับโรงพยาบาลที่อยู่ชายแดน ชายขอบ ในเรื่องของ การดูแลบุคลากรแฝง บุคลากรซ้อน บุคลากรที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติด้วยนะคะ ถ้าหากเด็กที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติได้รับการรักษา ได้รับการดูแล แม้กระทั่งในเรื่องของการเรียน การรักษาพยาบาล การแรงงาน ทั้งหมดปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันจะจบ แล้วแรงงานที่เกิดขึ้น เด็ก ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่หลุดออกจากการเรียนแล้ว เขาจะได้ไม่สร้างปัญหาให้กับเราอีกเหมือนทุกวันนี้ น้อง ๆ ที่จบจากโรงเรียนแล้วไม่ได้เรียนต่อจะต้องข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งเพื่อไปทำงานเป็น Call Center ที่มาเป็นปัญหาของเราทุกวันนี้ รัฐก็จะต้องใช้งบประมาณในการตรวจสอบ ในการหา มันเป็นปัญหาใหญ่ค่ะท่านประธาน แต่ถ้าวันนี้การป้องกันมันดีกว่าการรักษา พี่น้องไทยใหญ่ในโซนบ้านของดิฉันฝากมาบอกว่า จะเฮ็ดสัง เฮ็ดแต้ ๆ จะเฮ็ดจ้อแจ้ เฮ็ดอิหยัง ก็เหมือนประมาณว่าการแก้ไขปัญหา ถ้าหากจะแก้ไขแบบจริงจัง ปัญหามันจบแน่นอนค่ะ ดิฉันจึงขอเห็นร่วมและสนับสนุนกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจังด้วย ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง และท่านสุดท้ายจะเป็นคุณกัณวีร์ สืบแสง เชิญคุณจาตุรนต์ครับ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากว่าพรรคเพื่อไทยใช้วิธีฝากข้อมูลกันและมีผู้อภิปรายน้อย ผมอยากจะขออนุญาต ท่านประธานพูดเกินเวลา ๗ นาทีไปสักเล็กน้อยเนื่องจากมีประเด็นที่จำเป็น
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ การเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาแก่เด็กที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นการตั้งประเด็นไว้เฉพาะเจาะจงไปที่การศึกษา แต่ว่าท่านสมาชิกหลายท่านก็ได้พูด ครอบคลุมไปถึงการที่เด็กไม่มีสัญชาติ เด็กไร้รัฐ เด็กไร้บัตร ควรจะได้รับการคุ้มครอง ในด้านอื่น ๆ ด้วย ผมก็เห็นด้วยว่าควรจะได้รับการคุ้มครองในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่อง การสาธารณสุข สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ว่าจะขอเน้นเรื่องการศึกษาตามญัตติที่เสนอ สมาชิกหลายท่านได้พูดถึงปัญหาของเด็กไม่มีสัญชาติ แล้วก็พูดให้เห็นว่าการที่เด็ก ไม่มีสัญชาตินั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับโอกาสต่าง ๆ แล้วก็ ไปเน้นว่าทำอย่างไรจะให้เด็กได้รับสัญชาติ รวมถึงได้พูดว่าการได้รับสัญชาติเป็นเรื่องยาก ขอสัญชาติก็ยาก กว่าจะได้สัญชาติก็ยาก ต้องมีการวิ่งเต้นอะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ว่าตัวเลข ที่มีการพูดถึงเด็ก ๓๐๐,๐๐๐ คน ๕๐๐,๐๐๐ คน หรือความจริงอาจจะมากกว่านั้น โดยเฉพาะ ในภาวะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังมีปัญหา และมีเด็กต้องข้ามแดนมาในประเทศไทยจำนวน มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาสัญชาติก่อนคงไม่ได้ แต่ปัญหาก็คือว่าที่หลายท่านได้พูดข้อมูล ที่เราหาได้ เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่นานมานี้ เร็ว ๆ นี้ก็มีการไปกวาดต้อนเอาเด็ก ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคกลางส่งกลับไปชายแดน และส่งกลับไปประเทศเพื่อนบ้านเลย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเป็นที่สนใจไปทั่ว เรียกว่าองค์กรระหว่างประเทศสนใจกันมาก ซึ่งก็เป็น ปัญหา เมื่อรวมกับสิ่งที่ท่านสมาชิกได้พูดกันมาว่ามีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ในเรื่องการที่เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือไร้บัตร ไม่มีบัตรอะไรสักอย่างก็ตาม ไม่มีโอกาสได้รับ การศึกษา แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งกระทรวงอื่น รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง เกี่ยวกับ การดำเนินคดี จะเป็นตำรวจ เป็นอัยการก็ตาม ยังขาดความเข้าใจต่อเรื่องนี้อย่างน่าเป็นห่วง เรื่องเด็กในประเทศไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการศึกษา เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับข้อตกลง ระหว่างประเทศและระบบกฎหมายของประเทศไทยเอง ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เริ่มจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี ๒๔๙๑ มาแล้ว ปี ๒๕๐๙ มีกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR ปี ๒๕๓๒ อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก CRC ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มีปฏิญญาจอมเทียน ปี ๒๕๔๒ มีกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๕ ปี ๒๕๖๒ มีปฏิญญา อาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเข้าไปรับรอง เข้าเป็นภาคี ต้องปฏิบัติตามทั้งนั้น ในข้อตกลงระหว่างประเทศเหล่านี้บอกว่าประเทศต่าง ๆ จะต้อง คุ้มครองเด็ก ไม่ว่าเด็กนั้นจะมีสัญชาติ ไม่มีสัญชาติ มีรัฐ หรือไม่มีรัฐ เข้าประเทศนั้น ๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องก็ตามต้องได้รับการคุ้มครอง กฎหมายประเทศไทย มีอีกเยอะเลยครับ กฎหมายของไทยเราเองตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ พ.ร.บ. ไล่มาจากรัฐธรรมนูญ ไล่มา พ.ร.บ. การศึกษา และที่สำคัญต่อมามี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๔๘ มีมติ ครม. ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่ง ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ มติ ครม. เหล่านี้ เชื่อมโยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศ เชื่อมโยงกับกฎหมายของประเทศไทยเอง และมีความหมายว่าเด็กที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ ไม่ว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ ไม่ว่าจะพิสูจน์แสดงให้เห็นว่าเป็นคนรัฐไหนได้หรือไม่ ต้องได้รับ การศึกษา อันนี้คือกฎที่ประเทศไทยมีเองครับ แล้วก็ยังมีด้วยว่ามีสิทธิเรียนฟรี ๑๕ ปี โดยรัฐบาล ค่าใช้จ่ายรายหัวอัตราเดียวกับเด็กไทย รับวุฒิบัตรเช่นเดียวกันกับเด็กไทย มติเหล่านี้เนื่องจากผมมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่สมัยนั้น มาสอบถามดูก็ได้ความว่ามีวิวัฒนาการ ไปเป็นระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจน แต่กลายเป็นว่ามติที่ไม่ได้มีการยกเลิกแก้ไขนี้ไม่ได้รับ การปฏิบัติ ขาดความเข้าใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ท่านสมาชิก ได้กล่าวกันมา ได้ให้ข้อมูลต่อท่านประธานในวันนี้ เพราะฉะนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการ หรือไม่ ผมก็มีความเห็นใจว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พม. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวข้องกับ ตำรวจ อัยการ กรรมการสิทธิมนุษยชน อีกหลาย ๆ ฝ่ายที่จะต้องมาดูปัญหานี้กัน คณะกรรมาธิการการศึกษาจะดูแลได้ดีแค่ไหน ถ้าหากว่าคณะกรรมาธิการการศึกษา รับเรื่องนี้ไปก็คงต้องฝากว่าต้องไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กว้างกว่าหน่วยงานทางด้าน การศึกษาเท่านั้น การที่เราปล่อยให้ปัญหานี้มีอยู่มากมายใหญ่โตเป็นความเสียหาย เสียหาย ทั้งในแง่ภาพพจน์ของประเทศ ที่สำคัญเสียหายที่เราไม่ได้คุ้มครองเด็กที่อยู่ในประเทศไทย เด็กเขาจะเข้ามาถูกหรือผิดก็ตาม เมื่อเข้ามาแล้วหลักมันมีอยู่ว่าเขาต้องได้รับการศึกษา ในสังคมหนึ่ง ๆ ถ้ามีเด็กเยาวชนอยู่ใน สังคมนั้น อยู่ในประเทศนั้น การให้เขาได้รับการศึกษาย่อมจะดีกว่า ดีสำหรับเด็กเหล่านั้น และดีสำหรับสังคมนั้น สำหรับประเทศนั้น มากกว่าที่จะปล่อยให้เขาไม่ได้รับการศึกษา ถ้าจะต้องลงทุนไปบ้างก็เป็นเรื่องคุ้มค่าครับ เด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่พ่อแม่ เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือว่าอาจจะไม่เกี่ยวกันเลยก็ตาม เรามีแรงงานข้ามชาติ อยู่ในประเทศไทยเป็นล้าน ๆ คน ทำไมเราไม่คิดส่งเสริมว่าให้เด็กในประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี พอมาถึงตรงนี้ก็เป็นประเด็นทางนโยบายว่าเมื่อเด็กเข้ามาแล้ว ต้องได้รับการศึกษา แต่จะให้เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศมากหรือน้อย ตรงนี้ต้องไปพิจารณากันในเชิงนโยบาย แต่ไม่ใช่เอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ไปเที่ยวจับ ไปเที่ยวกวาดเด็กส่งกลับประเทศ จับผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือเด็กที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายไปดำเนินคดี อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเร่งด่วน แล้วก็เป็นเรื่องที่ถ้าเราทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศได้ดี ระบบกฎหมาย ของประเทศเราได้ดี เราจะแก้ปัญหา เราจะทำให้เด็กในประเทศไทยไม่ว่ามีสัญชาติไทย หรือไม่ ได้รับการศึกษา ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อสังคมไทยเอง เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเอง และที่สำคัญเราจะได้คุยกับนานาประเทศ เขาได้ ไม่อายเขาว่าเราไม่เข้าใจข้อตกลง หลักการสำคัญ ๆ ที่เราไปรับเป็นภาคี หรือไปเป็น สมาชิก ไปรับรองเขา และไปยืนยันกับเขามาแล้วว่าจะต้องปฏิบัติตามนั้น ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกัณวีร์ สืบแสง ครับ
นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม วันนี้ผมขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนญัตติการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีฐานทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย หรือ G-code จริง ๆ แล้วผมอยากจะพูดอภิปรายใช้เวลานาน เพียงแต่ว่าเพื่อนสมาชิก ได้พูดไปค่อนข้างจะครอบคลุม โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และทางด้าน งานมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก G-Code ตรงนี้ผมจะใช้เวลาอันน้อยนิดในการที่จะ อภิปรายสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตัวนี้ เรามีความคิดเห็นในการที่จะให้ คณะกรรมาธิการสามัญในด้านการศึกษาพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับเด็ก G-Code จริง ๆ แล้ว เรื่องเด็ก G-Code การศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องให้การศึกษาเท่านั้น ตามที่เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้พูดไป จริง ๆ แล้วการพิจารณาในเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับงานหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ ในชีวิตของเขา การสาธารณสุข ผมเคยทำงานอยู่ที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เราเคยพิจารณาในเรื่องกลุ่มคนว่าถ้ามีปัญหากลุ่มนี้ เรื่องผู้หนีภัยการสู้รบ เราก็แค่พิจารณาเรื่องผู้หนีภัยการสู้รบ เรามีมีปัญหาเรื่องแรงงาน ต่างด้าว เราพิจารณาแค่เรื่องแรงงานต่างด้าว แต่จริง ๆ แล้ว ๒ เรื่องนี้มันสอดคล้องกัน เพียงแต่ว่าเราพิจารณาแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะจับทุกคนมาอยู่ในกลุ่ม เดียวกันได้ เด็กที่มี G-Code เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ที่ทำให้ในอนาคต ของพวกเขาไม่สามารถที่จะเดินต่อไปได้ ประเทศไทยเรามีนโยบายที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษาถ้วนหน้า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจดทะเบียนเกิดถ้วนหน้า สุดท้ายสิ่งที่ สำคัญที่สุดที่ประเทศไทยเรามีและดีที่สุดคือเป้าหมายในการกำจัดการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้หมดจากประเทศไทย เป้าหมายเราดี นโยบายเราดี แต่การกระทำของพวกเรา ๆ จะทำ อย่างไร แบ่งแยกและพิจารณา เพราะฉะนั้นปัญหาเรายังเกิดขึ้น
นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
วันนี้ที่ผมอยากจะมาเรียนผ่านท่านประธานไปถึงเพื่อนสมาชิกทุกท่าน มีน้องคนหนึ่งชื่อมะเส่งพิว เป็นเด็กที่มี G-Code เป็นเด็กที่ประสบกับปัญหาต่าง ๆ เขาบอกผมว่าตอนเด็ก ๆ มีคนถามเขาว่าความฝันในอนาคตอยากเป็นอะไร เขาบอก เขาไม่อยากมีหรอก ความฝันในอนาคตว่าเขาอยากเป็นอะไร เขาอยากเป็นแค่อยากมีตัวตน ในประเทศไทย การมีตัวตน การมีรหัส G-Code กับการมีตัวตนมันแตกต่างกัน G-Code เป็นแค่รหัสบางอย่างที่ทำให้เขาได้รับการศึกษา เป็นสิ่งที่เขาสามารถจะได้รับ ๑๓ หลัก และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสามารถเดินต่อไปในสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขได้ แต่ตัวตนเขา ยังไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เหล่านี้มะเส่งพิวบอกผมว่าช่วยบอกเถอะ ในสภา อันทรงเกียรติแห่งนี้ช่วยพิจารณาให้กลุ่มคนพวกเขามีโอกาสได้รับการพิจารณาให้สามารถ ได้รับสิทธิต่าง ๆ รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย ถ้าเราเปรียบเทียบในเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย มีครับ ชาวลาวม้งเราก็เห็นอยู่ที่ไปลี้ภัยในประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เป็นถึงสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา เห็นความแตกต่างระหว่างมะเส่งพิวกับชาวลาวม้ง ที่ได้ไปลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สิ่งนี้ละครับเป็นสิ่งที่อยากจะนำเรียนท่านประธาน เรียนเพื่อน ๆ ทุกท่านนะครับว่าเราจำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตัวนี้
นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอสรุปอย่างนี้ครับ อยากจะให้อำนาจในมือของทุกท่านในที่นี้ อย่าทำให้ชีวิต ของเด็กเหล่านี้ตกอยู่ในชีวิตที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิและการแสวงประโยชน์ ให้เด็ก เขาเข้าถึง G-Code พัฒนาให้เด็กมี G-Code ในปัจจุบัน มีตัวตน มีสถานะตามกฎหมาย ทะเบียนราษฎร์ และกระทรวงศึกษาธิการควรต้องทำงานร่วมกับสำนักงานทะเบียน เพื่อจัดทำประวัติ ออกเอกสารประจำตัว รวมทั้งเลข ๑๓ หลัก หลังจากนั้นเขาจะสามารถ เดินหน้าต่อไปได้ อย่าให้เด็กกลุ่มเหล่านี้เป็นเพียงแค่รหัสครับ ปฏิบัติกับเขาเหมือนเด็ก คนหนึ่งที่มีสิทธิพึงจะได้รับในฐานะมนุษย์ไม่สนว่าเป็นลูกใคร ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณภัสริน รามวงศ์ ครับ
นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน ภัสริน รามวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขตบางซื่อ เขตดุสิต ขอเป็นตัวแทน เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แล้วก็สร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มเด็กรหัส G
นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ เด็กนักเรียนแล้วก็นักศึกษาจำนวนเป็นแสนคนไม่ได้รับรอง สถานภาพทางกฎหมาย ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ หรือตัวอย่างล่าสุด จาก Thai PBS ยังระบุว่ามีเณรไร้รัฐ ไร้สัญชาติกว่า ๑๐๐ คนในจังหวัดเชียงใหม่ไม่สามารถ เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาได้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนกว่า ๖๐๔,๕๕๔ คน ไม่สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ผลจากการถูกผลัก ไปสู่ชายขอบส่งผลซ้ำเติมให้กับกลุ่มคนเปราะบางพิเศษอย่างเด็กผู้หญิงรหัส G เด็กผู้หญิง เหล่านี้เมื่อไม่ได้รับการศึกษาที่สมควรแก่วัย ไม่มีองค์ความรู้ในด้านสิทธิของตน เมื่อเข้าสู่ช่วง วัยรุ่นตอนต้น ครอบครัวผลักภาระให้ไปแต่งงาน ทั้งเพื่อลดภาระภายในครอบครัว หรือครอบครัวขายเด็กหญิงเหล่านั้นให้กลายเป็นเมียตั้งแต่เด็ก ด้วยความมุ่งหวังว่า การแต่งงานจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น แล้วก็รวมถึงการถูกเนื้อต้องตัวชาย เมื่อเด็กหญิงถูกบังคับให้แต่งงานอาจจะไม่ได้อยากแต่งงาน ทางเลือกที่พอจะทำได้ก็คือ ย้ายถิ่น ทำงานไร้ทักษะในเมืองหรือว่าในพื้นที่อื่น ๆ จากข้อมูลของ Plan International ได้ทำการวิจัยขึ้นในปี ๒๕๖๑ พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า ๓๕๐ คนในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย มีเพียง ๒๒๓ คนเท่านั้นที่เข้ารับการศึกษา เด็กเหล่านี้ควรได้รับการศึกษา ทั้งหมด นอกจากนี้การศึกษาสูงสุดส่วนใหญ่จะหยุดอยู่ที่ประถมศึกษาตอนต้น สาเหตุที่ทำให้ เด็กเหล่านี้ต้องหยุดเรียน หลุดออกจากระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาภายในครอบครัว แล้วก็อีกปัญหาสำคัญที่ดิฉันกล่าวขึ้นต้นก่อนหน้านี้ คือการแต่งงานก่อนวัยอันควร การท้องในวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญคิดรวมแล้วกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเด็กหญิงที่อายุน้อยที่สุดในการแต่งงานนี้คือ ๑๑ ขวบเท่านั้นค่ะ ๙๑ เปอร์เซ็นต์ของการแต่งงานนั้นมีเหตุผลมาจากความเชื่อ จารีตประเพณีและวัฒนธรรม แต่ว่าก็มีเหตุผลนะคะ ต่อมาพบว่า ๘๓ เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างแต่งงานถูกบังคับ ให้เกิดการแต่งงานเกิดขึ้น สืบสาเหตุมาจากการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ไม่ได้มีความรู้ อย่างเพียงพอภายในเรื่องเพศและสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ ทำให้มีแนวโน้มในการถูก ล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วยค่ะ การแต่งงานโดยไม่สมยอม เด็กสาวเหล่านี้ไม่มีสิทธิในการเลือก คู่ครอง และทำให้หลายคนตั้งท้องโดยไม่สมัครใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้โยงใยไปถึง การขาดการศึกษา และยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือไม่กี่อย่างที่เด็กเหล่านี้จะสามารถผลักตัวเอง ออกจากวังวนได้ จากการถูกกดขี่ก็คือการศึกษาค่ะ แต่ระบบราชการก็ยังพรากอาวุธเดียวที่มีจากเด็กผู้หญิงเหล่านี้ไปอีกด้วย เรามาลองดูกันค่ะ ว่าผลกระทบจากการแต่งงานก่อนวัยอันควร อันดับแรกเลยก็คือเป็นปัญหาสังคมที่เรา พยายามรณรงค์กันมาตลอดก็คืออย่างคุณแม่วัยใส เมื่อเด็กผู้หญิงเหล่านี้ตั้งครรภ์ก่อนวัย อันควร ตามมาพร้อมฐานะแบกรับความเป็นแม่และความเป็นเมีย แล้วก็ถ้าหากเพื่อนสมาชิก ลองคิดย้อนดูนะคะว่าตอนที่เราอายุ ๑๑ ปี ๑๕ ปี เราทำอะไรกันอยู่ หลายคนคงอาจจะเริ่ม เรียนกวดวิชา หลายคนเล่นเกมกันอย่างสนุกสนาน แต่ว่าเด็กผู้หญิงเหล่านี้กลับต้องทำหน้าที่ เป็นแม่ดูแลบุตร แล้วก็ต้องทำหน้าที่เป็นภรรยาในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในครอบครัว นอกจากนี้การตัดสินใจแต่งงานยังเกิดจากความต้องการจากบิดามารดา ไม่ใช่ความต้องการ ของตัวเด็กเอง รวมถึงระยะการศึกษาดูใจที่บางคนเจอกันไม่กี่ครั้งก็ถูกจับให้แต่งงาน ผนวกกับเป็นเรื่องที่เกิดความรุนแรงขึ้นภายในสังคม ซ้ำร้ายเหล่านี้เด็กไม่กล้าที่จะปกป้อง สิทธิภายในร่างกายของตนเองเพียงเพราะกลัวผู้เป็นสามีในฐานะหัวหน้าครอบครัว
นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายค่ะ ปัญหาจากการแต่งงานก่อนวัยอันควร ตามมาด้วยการดูแล ช่วงระหว่างตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสม การทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย อาจจะซื้อยามากินเอง เด็กหลายคนเมื่อเลิกรากับสามีก็ต้องไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองเพื่อหาเงินมาจุนเจือให้กับ ครอบครัว และการแต่งงานก่อนวัยอันควร เด็กเหล่านี้ขาดอิสระทางความคิดและโอกาส ในชีวิต อาทิ โอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงานที่ตนเองต้องการ ถูกจำกัด การทำงานอยู่ภายในบ้าน คอยเลี้ยงดูให้กับครอบครัว และเมื่อหน้าที่สถานะทางสังคม เปลี่ยนไปกลับเข้าไปสู่โอกาสทางการศึกษา โอกาสอื่น ๆ ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย ดิฉันอยากจะขอสอบถามถึงหน่วยงานด้วย แล้วก็ร่วมกับภาครัฐ กับเด็กไร้รัฐที่ทำงาน ที่ผ่านมา ทุกอย่างในความคิดของเด็กก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย เปลี่ยนแปลงไป ตามกาลเวลา พวกเธอไม่ได้อยากถูกจำกัดอยู่ในกรอบจารีตประเพณีอย่างที่เธอไม่ได้เลือกมา อีกต่อไป ไม่มีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง พวกเธอมองเห็นความเท่าเทียม ทางเพศมากขึ้น แล้วก็ต้องการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาและสวัสดิการต่าง ๆ ที่พึงมีเฉกเช่น พวกเราทุกคน ดิฉันในฐานะผู้แทนราษฎรจึงอยากขอให้การอภิปรายในการประชุมสภาครั้งนี้ เป็นพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสให้น้อง ๆ เด็ก ๆ รหัส G เหล่านี้ได้มีโอกาส ให้เท่าเทียมกับเด็กกลุ่มอื่น ๆ ไม่นำหมวกที่ขึ้นต้นด้วยรหัส G มาใช้เป็นอุปสรรค ในการขัดขวางสิทธิอันพึงมีของพวกเขา ทำให้เด็กเหล่านี้หลุดการศึกษาออกไป ให้เด็กเหล่านี้ มีสิทธิในการเข้าถึงร่ายกายของตนเองเป็นสิทธิอันพึงมี รวมไปถึงขยายโอกาสทางด้าน สาธารณสุข และเป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่ควรจำกัดเพียงแค่สัญชาติ ไม่ใช่แค่เพียงปัจเจกบุคคล ครอบครัวหรือสังคม แต่จะต้องเป็นบทบาทของรัฐบาลและผู้แทนราษฎรของเราทุกคนด้วย ที่ต้องเป็นไม้ เป็นมือ เป็นหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ สุดท้ายนี้ดิฉันอยากจะขอฝากไว้ว่า เด็กไม่ว่าจะเป็นรหัส G นำหน้าหรือไม่ สุดท้ายพวกเขาคือเด็กค่ะ เป็นผู้ที่มีสิทธิเฉกเช่น กับเราทุกคน ขอบพระคุณค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ยังเหลือผู้ที่จะขอ อภิปราย ๓ ท่าน ผมขอปิดการลงชื่อแล้วนะครับ เพราะได้อภิปรายกันมาพอสมควรแล้ว ต่อไปขอเชิญคุณสุเทพ อู่อ้น ครับ
นายสุเทพ อู่อ้น แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เครือข่าย แรงงาน ขออนุญาตท่านประธานเพื่อมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐาน และทะเบียน ในรากเหง้าของแรงงานตั้งแต่โพ้นทะเลก็จะมีพี่น้องแรงงานที่มาทำงาน ในประเทศไทยที่เราเรียกว่า กุลี อันนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ได้มีการเขียนไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แรงงานไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาของการขึ้นทะเบียนสำหรับลูกของแรงงานมีปัญหาและอุปสรรค มาโดยตลอดเป็นร้อย ๆ ปี ดังนั้นคำถามว่าในครั้งนี้ ณ ปัจจุบันนี้ปี ๒๕๖๖ ระบบได้มี การพัฒนาการขึ้นทะเบียนราษฎรเพื่อที่จะให้บุคลากรประชาชนหรือเด็กเหล่านั้นได้รับ การขึ้นทะเบียนที่ครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ เห็นได้ชัดเจนว่าเราต้องมีความจำเป็น เมื่อตั้งแต่ ๑๐๐ ปีที่แล้วแรงงานกุลี มาปัจจุบันนี้เป็นแรงงานที่เราเรียกเขาตามกฎหมาย ปัจจุบันว่า แรงงานต่างด้าวหรือพี่น้องแรงงาน เขาเรียกแรงงานต่างชาติซึ่งเขาอยากจะให้ เรียกเป็นอย่างนั้นมากกว่า โดยเฉพาะ ๔ ประเทศ มีเมียนมา กัมพูชา ลาว แล้วก็เวียดนาม ซึ่งต้องถามดัง ๆ อีกครั้งหนึ่งว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานเหล่านี้เพื่อมาทำงาน เสริมสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยหรือไม่ ระบบที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติที่เขาอยากให้เรียกนั้น เราได้มีการดำเนินการจัดระบบการขึ้นทะเบียน ที่ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ เมื่อมีการเรียกรับผลประโยชน์นั่นหมายถึงก็จะมีการที่จะ ทำให้เกิดการฉ้อฉลกลโกง ทำให้แรงงานเหล่านั้นตกจากการเป็นแรงงานที่ถูกต้อง แม้กระทั่ง เกิดวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ยังไม่มีระบบการขึ้นทะเบียนที่เรียกว่า ถูกต้องและตามเงื่อนไข ยังเป็นเรื่องของการขึ้นทะเบียนที่เป็นมติ ครม. ๑๒ ๑๓ และมาถึง รัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่จะบริหารจัดการเรื่องการขึ้นทะเบียนเช่นกันครับ ดังนั้น เมื่อการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่กฎหมายกำหนดยังไม่ได้มีการดำเนินการที่ถูกต้อง ก็จะมีผลต่อเนื่องกับเรื่องของเด็กที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กมาจากพี่น้องแรงงานที่อยู่ใน ข้ามชาติต่าง ๆ เพราะเหล่านั้นมันจะเป็นการพัวพันในเรื่องข้อมูลต่าง ๆ ถามว่าในอนาคต ถ้าเป็นอย่างนี้เราเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการรับเรื่องของแรงงานอย่างไร วันนี้ประเทศไทย เราเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เมื่อเต็มรูปแบบ วัยทำงานเราเตรียมไว้ขนาดไหน เจาะลึก เข้าไปในเรื่องของเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะนี้ชัดเจนว่าประเทศไทยคนเกิดน้อยลง วัยแรงงาน น้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น และระบบที่จะให้มีการศึกษานั่นหมายความว่าเราจะต้องไปศึกษา เพื่อเพิ่มเติมให้เป็นข้อมูลสำหรับคณะนี้ จะได้มีการศึกษาเพื่อนำข้อมูลมานำเสนอรัฐบาลว่า ขณะนี้มีปัญหาเหล่านี้ที่ทำให้ต่อไปในอนาคตถ้าคนเหล่านี้ตกการขึ้นทะเบียนมาก ๆ ไม่ได้รับ การศึกษาที่ดีพอ เมื่อเข้าในเรื่องของการทำงาน คุณภาพของเด็กก็จะด้อยลงไปและเข้าไม่ถึง สิทธิต่าง ๆ ที่หลายท่านพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลคุ้มครอง ในด้านกฎหมาย นี่เป็นจุดหนึ่งที่มีความจำเป็น ผมในฐานะที่เป็นคนใช้แรงงานและอยู่กับ แรงงาน จึงอยากมานำเสนอกับท่านประธานและกับท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีการตั้งคณะเพื่อมาศึกษาให้เกิดการเจาะลึกและแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ๑๐๐ ปีผ่านไปกุลีมาถึงแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้มีระบบรองรับ และจะปล่อยปัญหาเหล่านี้กดทับและสร้างเงื่อนไขให้มีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อที่จะ รีดเค้นคนใช้แรงงานกันอีกต่อไปหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สภาผู้แทนราษฎรจะได้สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้เรามีการนำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้างเข้าสู่สภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการร่วมตัดสินใจมีมติเพื่อที่จะศึกษา หวังว่าวันนี้การนำเสนอครั้งนี้คงเป็นประโยชน์กับ สภาผู้แทนราษฎรในการที่จะมีมติเพื่อส่งเสริมและศึกษา และนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็น ระบบต่อไป ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อ. เอท กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง พรรคก้าวไกล วันนี้ขออภิปรายเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ แล้วก็ไม่มีสัญชาติไทยนะครับ Model ที่จะขอนำเสนอในวันนี้ก็คือ Model School School ตัว S ตัวแรกก็คือคำว่า Stronger AEC แปลว่า AEC ต้องแข็งแรงกว่าเดิม เราอยู่ในประชาคม ASEAN ๑๑ ประเทศ ถ้าเรายังคงไม่เน้นเรื่องของการศึกษา แล้วเราจะเป็นผู้นำ AEC ที่จะไปแข่งขันกับประเทศ อื่น ๆ ได้อย่างไร ตัว S ตัวแรกคือ Stronger AEC Stronger Thailand ตัวที่ ๒ คือตัว C C ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า Cost หรือแปลว่ารายจ่าย C ในที่นี้คือคำว่า Create คำว่า Create คืออะไร คือการสร้างโอกาส เป็นการสร้างให้เด็ก ให้คนที่ใช้แรงงานที่อยู่กับเราเข้ามา มีส่วนร่วมในการที่จะพัฒนาประเทศของเรา เป็นการสร้างไม่ใช่ต้นทุน ไม่ใช่รายจ่าย Create คือการสร้าง ต่อมาคือตัว H H ตัวนี้คือคือคำว่า Home Home แปลว่าอะไร Home แปลว่า บ้าน บ้านของทุกคน Thailand is the home of all country ประเทศของเรา คือบ้านของทุกคน ใครที่อยากจะเข้ามาอยู่ในบ้านเรา เราต้องต้อนรับครับ และการศึกษา จะทำให้บ้านแห่งนี้ บ้านหลังนี้เป็นที่ที่มีประโยชน์และสร้างความสุขให้กับทุก ๆ คน เพราะฉะนั้น Home คือ Home ของ Labor Home ของคนที่ใช้แรงงาน ของพี่น้องทุกคน ต่อมาตัว O ครับ O คือ Open Arm เพื่อน อ. เอท หลายท่านพูดไปแล้ว Open Arm คือการเปิด เปิดในที่นี้คือเปิดแขนต้อนรับอะไร ต้อนรับยุคเมื่อครู่นี้พูดไปแล้วครับ ยุคของ สังคมผู้สูงอายุ ตอนนี้เด็กเกิดใหม่น้อยมากคงไม่ต้องพูดถึงสถิติแล้ว เพราะฉะนั้นแรงงาน ต่างด้าวหรือแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะลูกหลานของเขาจากสถิติตอนนี้ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนที่เกิดหรือใช้ชีวิต เด็กที่เป็นเด็ก ๆ ต่างชาติอยู่ในประเทศเรา เราจะทำอย่างไร เราก็จะผลักเขาหรือครับ มันคงไม่ใช่แบบนั้นถูกไหมครับ เราต้องหาวิธีที่จะสนับสนุนเขา เราจะสนับสนุนเขาอย่างไร เรามาช่วยหาวิธีกันครับ ตัวต่อไปก็คือตัว O อีกอันหนึ่ง เมื่อสักครู่นี้ อ. เอท บอก Open Arm เปิดรับสังคมสูงวัย อีกตัวหนึ่งก็คือ Opportunity อันนี้สำคัญจริง ๆ Opportunity แปลว่า โอกาส การศึกษามันย่อมสร้างโอกาสอย่างแท้จริง แล้วไม่ใช่โอกาสทั่วไป มันคือโอกาสของการพัฒนาเยาวชนไม่ใช่แค่ลูกหลานของเรา ทุกคน คือลูกหลานเราเมื่อมาอยู่ในเมืองไทย ทุกคนเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยเราต้องการแรงงานเหล่านั้น เราต้องการพี่น้อง เราต้องการเด็ก ๆ ที่จะมาช่วยกันพัฒนาประเทศไทย เพราะเรากำลัง พัฒนามากว่า ๓๐ ปีแล้ว เราต้องไปให้ไกลกว่าเดิม นี่คือตัว O ก็คือการสร้างโอกาส แล้วก็ สร้าง Opportunity ตัวสุดท้าย Model สุดท้ายคือตัว L L ในทีนี้เมื่อคราวที่แล้วตำรวจ อ. เอท บอกว่า Lack of opportunity แต่ L ในที่นี้ก็คือ Labor แล้ว Labor ทุกคนครับ อ. เอท เป็นอาจารย์ เราก็ขายแรงงาน คุณหมอก็ขายแรงงาน ทุกคนขายแรงงานหมด เพราะฉะนั้นแรงงานที่เป็นแรงงานต่างด้าว แรงงานที่อยู่ชายขอบเขาก็ควรที่จะได้รับสิทธิ เราไม่ต้องการที่จะมีคำว่า Dis-Priority หรือความเหลื่อมล้ำมันควรจะหมดจากประเทศไทย ระบบอุปถัมภ์ควรจะหมดไปได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราควรจะดูแลพี่น้องที่มาใช้แรงงานแล้วเป็น ลูกหลานที่เกิดจากพวกเขา เราก็ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราจะต้องหาวิธีการ มาสนับสนุนพวกเขาอย่างไรให้เขามีความสุข เป็นแรงงาน เป็นพลัง เป็นฐานที่ยิ่งใหญ่ ในการที่จะพัฒนาประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิมอีกต่อไป อันนี้คือ Model SCHOOL ทั้งหมด สุดท้าย อ. เอท อยากที่จะเห็นการศึกษาที่ไม่ใช่ภาระ แต่มันคือโอกาสในการที่จะพัฒนา ประเทศไม่ให้เหมือนเดิม ขอบพระคุณครับท่านประธาน Respect
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสุดท้าย ท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ผมขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐาน ทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทยที่เสนอโดยท่านปารมี ไวจงเจริญ ในญัตตินี้ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่แล้วก็มีความจำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อจัดการศึกษา แล้วก็เสนอแนะแนวทาง ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบทั้งหมด ผมขอเรียนอย่างนี้ว่าปัญหาเหล่านี้มันไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะมันเกี่ยวข้องอย่างน้อยที่สุด ๗-๘ กระทรวง องค์กรด้วยกัน อย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกระทรวงกลาโหมด้วย เพราะว่ามันยังมีประเด็นเรื่องของ ความมั่นคงเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ถ้าให้ระบุ เฉพาะเจาะจงก็คือกลุ่มที่ยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์เลย ที่เป็นเด็กแล้วก็ยังไม่มี โอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบได้ ตอนนี้จากตัวเลขมีกลุ่มเด็กกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย แล้วก็ มีรหัสตัว G แล้วไม่มีตรงนี้รวมกันประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน สามารถเข้าสู่ระบบ การศึกษาได้ และรัฐสามารถที่จะจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนช่วยเหลือได้ประมาณ ไม่เกิน ๙๐๐,๐๐๐ คน เหลืออีกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ คนเหล่านี้ เด็ก ๆ เหล่านี้มาจากที่ไหนบ้าง เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมี สงครามอยู่ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเขาจำเป็นต้องเข้ามา เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนบ้านยังมีปัญหาอยู่ ทำให้พวกเขาต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า แล้วสิ่งที่สำคัญ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าในสังคมไทยเรายังต้องการแรงงานข้ามชาติที่เขาเข้ามาอยู่ใน สังคมไทย ถ้าในสังคมไทยไม่มีแรงงานข้ามชาติระบบเศรษฐกิจบางอย่างก็จะหยุดไปต่อไม่ได้ อันนี้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริง เด็กเหล่านี้ก็คือลูกหลานของคนเหล่านั้น ลูกหลานของคนที่ หลบหนีภัยสงครามมา ลูกหลานของคนที่เข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ลูกหลานของคนที่เข้ามาเป็นแรงงานที่สังคมไทยเรามีความจำเป็น ผมคิดว่ามันมีความจำเป็น ที่สังคมไทยเราต้องเปิดใจแล้วก็โอบรับคนเหล่านี้ ถามว่าทำไมเราต้องโอบรับคนเหล่านี้ ในขณะที่เรากำลังพูดถึงการใช้ Soft Power ในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างสังคมไทย ยกระดับ สังคมไทย ผมคิดว่ามันเป็นโอกาส เราใช้จังหวะนี้ให้เป็นโอกาสในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย แล้วก็อย่าลืมนะครับว่าในยุคสมัยปัจจุบันชายแดนมันไม่ได้ปิด เหมือนในอดีตแล้ว ทุกคนข้ามไปมาหาสู่ด้วยกันได้ คนที่อยู่ตามแนวชายแดนก็เข้ามา อยู่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเราสามารถที่จะทำให้คนที่อยู่รอบชายแดนไทย เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยผ่านระบบการศึกษา ผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแล้วก็เป็น ประโยชน์ ถ้าเราทำให้คนเหล่านี้เขาซึมซับภาษาไทย เขาซึมซับสังคม วัฒนธรรมความเป็นไทย เขาซึมซับเอาคุณูปการที่รัฐไทยมอบให้ คนเหล่านี้เขาจะตอบแทนกลับคืนสู่สังคมไทย ไม่ว่าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น แล้วก็เศรษฐกิจ พวกเขานอกจากจะเป็นแรงงาน พวกเขาจะเป็นผู้บริโภค รวมทั้งจะเป็นผู้เสียภาษีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนที่จะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยด้วยกันทั้งสิ้น การจัดการศึกษา ให้แก่คนเหล่านี้ถามว่าเป็นภาระต่อสังคมไทยไหม ผมลองดูตัวเลขเฉลี่ยแล้วจะอยู่ประมาณสัก ๓๐๐-๕๐๐ ล้านบาทต่อปี ถ้าดูแล้วก็จะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เกินกว่าศักยภาพของรัฐไทย ที่จะดูแลคนเหล่านี้ได้ อันนี้ยังไม่นับว่าถ้าหากรัฐไทยมีระบบการบริหารจัดการในการดูแลคนเหล่านี้ที่ดีพอ ยังมีโอกาสที่จะขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรม องค์กรด้าน สิทธิมนุษยชนต่างชาติที่เขาพร้อมจะให้การสนับสนุนสำหรับรัฐหรือองค์กรที่จะให้ ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่คนเหล่านี้อยู่แล้วนะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะ ขอวิงวอนสภาแห่งนี้ช่วยกันทำให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อที่จะจัดการ ให้มีการแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งก็เป็นจำนวนที่เยอะ พอสมควร ญัตตินี้ยังไม่ได้พูดครอบคลุมไปถึงการพิจารณาให้สัญชาติเป็นคนละเรื่องกัน การให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน อันนี้เป็นภาระหน้าที่ของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีระเบียบกฎหมายที่ควบคุมแล้วก็เป็นกระบวนการ ขั้นตอนในการดำเนินการอยู่แล้ว สำหรับญัตตินี้สิ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือการหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา การจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ที่ถูกละเลยไป ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
คุณมานพ คีรีภูวดล จะขอพูดเพิ่มเติมเพียง ๑ นาที เชิญครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมือง ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานเพื่อที่จะย้ำไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ผมทราบว่าทาง Whip มีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องนี้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือไม่ ผมฟังจากเพื่อนสมาชิกได้อภิปราย รวมถึงที่ผมได้อภิปรายว่าเรื่องนี้มันมีความจำเป็น จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และ พม. เพราะฉะนั้นก็คือว่าการที่เพื่อนสมาชิก ที่เป็น Whip ฝ่ายรัฐบาลมองว่าให้เข้าให้เข้าสู่คณะกรรมาธิการการศึกษาเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่ามันจะแก้ปัญหาไม่จบ เพราะฉะนั้นผมยังยืนยัน แล้วก็ขอความร่วมมือจาก เพื่อนสมาชิกในทุก ๆ พรรคว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้มันไม่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นปีครับ ผมคิดว่าใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณสักไม่เกิน ๙๐ วันก็น่าจะจบ ขออนุญาต ย้ำอีกรอบต่อท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ เมื่อได้อภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เสนอญัตติมีสิทธิจะสรุปอีกครั้งหนึ่ง ขอเชิญคุณณัฐวุฒิครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ก่อนที่จะสรุป ผมอยากขอแจ้งท่านประธานว่าจะใช้เวลาในการสรุปสักประมาณ ๑๐ นาที เพื่อทาง เพื่อนสมาชิกซึ่งประชุมอยู่ในที่ต่าง ๆ จะได้เตรียมตัวในการลงมตินะครับ ท่านประธาน ที่เคารพ ผม ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนจังหวัดอ่างทอง ผมได้รับมอบหมายจากคุณปารมี ไวจงเจริญ และเพื่อนสมาชิก อีกหลายท่านจากพรรคก้าวไกล ให้เป็นผู้สรุปญัตติในประเด็นเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐาน ทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานเป็นเบื้องต้นว่า ผมในนามของเด็กทุกคนในประเทศแห่งนี้ ไม่ว่าเขาจะมีสถานะ มีสัญชาติ มีเลข ๑๓ หลัก นับถือศาสนา ความเชื่อหรือความแตกต่างกันแบบใด อย่างไรก็แล้วแต่ แต่เสียงของพวกเขา ที่ได้ฟังได้ยินเพื่อนสมาชิกของเราทั้ง ๒๔ คน ผมคิดว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มีความมั่นใจ มีความไว้ใจ และมีความคาดหวังว่าสภาแห่งนี้กำลังจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณาเรื่องของ พวกเขา และจะไม่มีเด็กคนใดที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในประเทศแห่งนี้อีก ผมเชื่อมั่น ว่าในเพื่อนสมาชิกของเรากว่า ๕๐๐ คน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ในสภา ท่านเคยอ่านหนังสือเรื่อง เจ้าชายน้อยแน่นอนครับ และเวลาที่เราอ่านหนังสือเจ้าชายน้อย ซึ่งผู้เขียนชื่ออ่านยากมาก Antoine de Saint-Exupéry อะไรนี้นะครับ ประโยคที่สำคัญที่สุดในหนังสือเจ้าชายน้อยก็คือประโยคที่บอกว่าเวลาที่เราจะทำงาน เรื่องเด็กนั้น ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะใช้หัวใจหรือสายตาในการมอง ฉะนั้นวันนี้การลงมติในญัตตินี้ จึงสำคัญยิ่งครับว่าท่านกำลังจะใช้สายตาซึ่งสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งมีกรอบ มีมุมมอง มีวิธีคิด มีความเป็นพรรคการเมือง มีความเป็นพรรค มีกรรมาธิการคณะสามัญต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด หรือจะใช้หัวใจของท่านในการตัดสินใจว่าทุกคนที่เป็นเด็กในประเทศแห่งนี้เขาคือ ลูกหลานของเราหรือไม่ ผมหันซ้ายตลอดนะครับ วันนี้ไม่มีการหันขวามาทางพรรคฝ่ายค้าน แน่นอน ผมมีความชอบธรรมอยู่ ๓ ประการที่จำเป็นจะต้องเป็นผู้สรุปญัตติครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ในมือของผมคือเอกสารของนักเรียนจำนวน ๑๒๖ คนที่ศึกษา หรือเคยศึกษาอยู่ในจังหวัดอ่างทองบ้านของผม แล้วเขาไม่สามารถศึกษาต่อใน จังหวัดอ่างทองได้ ความจริงในวันนั้นถ้าผมไม่ใช่เป็นคนยกหูหานายอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ท่านประธานทราบไหมครับว่าเด็กเหล่านี้ ๒๖ คนกำลังจะถูกส่งขึ้นรถไปส่งที่ ชายแดนอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยยังไม่มีการสอบสวน โดยยัง ไม่มีการสอบข้อเท็จจริง โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร อย่างไร พ่อแม่เขาอยู่ที่ไหน แล้วเพราะเหตุใดประเทศสยามซึ่งเป็นประเทศสยามที่เคยโอบอุ้มทุกพี่น้องชาติพันธุ์ ถึงไม่สามารถให้เขาอยู่ในประเทศแห่งนี้ได้ ผมมีความชอบธรรม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภรรยาผม ต้องไปนอนเฝ้าเด็กเหล่านี้หลังจากวันที่ผมเป็นคน Brake ว่าอย่าเพิ่งเอากลับไปในฐานะ เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งแน่นอนครับ มันก็มี ความหนักเบาในการแก้ไขปัญหา
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ความชอบธรรมประการที่ ๒ ที่จำเป็นต้องอภิปรายครับ เพราะว่าเมื่อฟังจาก ญัตติที่คุณปารมีเสนอ และพวกเราเองจำเป็นต้องใช้งบประมาณของสภา ต้องขอบพระคุณ หลายสายการบินที่อำนวยการให้พวกผม สส. ปารมี ไวจงเจริญ คุณธิษะณา ชุณหะวัณ คุณณัฐพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล คุณมานพ คีรีภูวดล คุณอรพรรณ จันตาเรือง ลงพื้นที่ทั้งอำเภอเมือง อำเภอเชียงดาว นั่งฟังเด็ก ๆ จากอำเภอฝาง จากอำเภอแม่อาย มาบอกเล่า นั่งฟังสามเณรจากประเทศเพื่อนบ้านของเรามาบอกเล่าว่าเขาไม่สามารถเรียนได้ เพราะเหตุใด แล้วกรณีของสารเณรนี่ครับ เรียนอย่างตรงไปตรงมาว่ามันอยู่ในขอบเขตของ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งก็ไปไกลกว่าคณะกรรมาธิการการศึกษาที่จะดูประเด็นเหล่านี้ได้ นั่นคือความชอบธรรมประการที่ ๒ ที่ผมคิดว่ามีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้สรุปครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ความชอบธรรมประการที่ ๓ ก็คือ หากท่านจะบอกว่านี่คือการต้องส่ง คณะกรรมาธิการการศึกษาของท่านประธานโสภณ ซารัมย์ ที่ผมให้ความเคารพ ผมไม่ติดใจ ใด ๆ เลยครับว่ากรรมาธิการนั้นจะพิจารณาได้หรือไม่ แต่เรากำลังทำเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม อย่างยิ่งจากนานาอารยประเทศ ท่านทราบไหมครับ ผู้แทนในเรื่องสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ที่เรียกว่า CRC ประเด็นเรื่องของการส่งเด็ก ๑๒๖ คน กลับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องถูกตั้ง คำถามอย่างรุนแรงในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่ไทยกำลังจะทำ รายงานในฉบับที่ ๓ และฉบับที่ ๔ ปลายปีนี้ จะต้องถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงในที่ประชุม ที่เรียกว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกลไกที่เรียกว่า UPR ที่ไทยกำลัง จะต้องทำรายงาน แล้วคณะกรรมาธิการการศึกษาท่านรับผิดชอบไหวไหมครับว่าเรื่องที่ท่าน กำลังจะขอรับไปโดย ไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นท่านสามารถเป็นตัวแทนตอบคำถาม เหล่านี้แทนพี่น้องประชาชนชาวไทยกอบกู้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กที่พูดกันอย่างปากเปียก ปากแฉะ ไม่เอาบัญญัติ ๑๐ ประการ ไม่เอาค่านิยม ๑๒ ประการ เอาคำเดียวง่าย ๆ ที่เรียกว่า The Best Interest of the Child หรือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทำไมไม่ส่งให้ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มี ความหลากหลายทางเพศล่ะครับถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่ส่งให้คณะกรรมาธิการกิจการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติถ้าอย่างนั้น หรือเพราะเหตุใด หรือทำไมสภาแห่งนี้ตั้งใช้งบประมาณกันเยอะแยะมากมายถึงจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ อีกคณะหนึ่งเพื่อมาศึกษาไม่ได้ นั่นคือความชอบธรรมประการที่ ๓ ที่ผมคิดว่าจำเป็นต้อง บอกกับเพื่อนสมาชิกก่อนครับ และด้วยเหตุดังกล่าวเพื่อนสมาชิกของพรรคก้าวไกล จำนวน ๑๕ ท่าน บวกกับคุณกัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม อีก ๑ ท่าน เป็น ๑๖ ท่าน ถึงต้องอภิปรายและชี้ให้เห็นอยู่ ๔ ประการสำคัญด้วยกันครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ก็คือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องที่อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องที่อยู่ในเขตพื้นที่ของ สส. รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ที่อยู่ที่จังหวัดตาก สส. พรรคก้าวไกลรอบนี้ ๑๕๐ ครับ ยังจำได้หมด รอบหน้า ๓๐๐ ยิ่งแล้วกันใหญ่ แต่เรียนต่อไปครับว่าแม้กระทั่งในเขตเมืองของ สส. รักชนก ศรีนอก เราก็มีปัญหาแบบนี้ และ กทม. ยังตอบเราไม่ได้เลย ณ นาทีนี้ว่าคุณมี เด็กที่กำลังรอจะขึ้นเลขทะเบียนตัว G ลงรหัส Generate Code ตัว G อยู่เท่าไร เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ลูกหลานแรงงาน ข้ามชาติอย่างเดียวครับ แม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในประเทศไทย ท่านไม่เคยดูรายการวงเวียนชีวิต หรือครับ ที่เขาตามหาพ่อแม่กันวันเสาร์ วันอาทิตย์นะครับ ก็แบบนั้นเขาก็มีลูกที่ไม่มีสถานะ บุคคล ไม่มีเลข ๑๓ หลักเหมือนกัน แล้วเขาเข้าเรียนไม่ได้ ฉะนั้นกรณีที่เรากำลังจะบอกว่าตัวเลข ๓๐๐,๐๐๐ คน ที่กำลังจะเข้าเรียนนั้นมันจึงเป็นตัวเลขเสมือนจริงแต่ไม่ใช่ตัวเลขจริงครับ ตัวเลขจริงที่คุณเลาฟั้งกำลังพูด ตัวเลขจริงที่คุณมานพประสบ ตัวเลขจริงที่ผมเจอ อย่างน้อยเรากำลังพูดถึงเด็ก ๖๐๐,๐๐๐ คน คณะกรรมาธิการการศึกษาบอกผมได้ไหมครับ ว่าอีก ๓๐๐,๐๐๐ คน ที่ไม่อยู่ตรงนี้ท่านจะไปหาเขาที่ไหน แล้วจะเอาเขาเข้าเรียนได้อย่างไร ท่านเห็นไหมครับว่ามันถึงมีความจำเป็น ผมจะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งต่อ ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง เสียดายครับท่านกำลังขึ้นไปนั่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาชายแดนใต้ เพราะสิ่งที่ท่านเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มีมติ ครม. มาต่าง ๆ นั้น มันยังไม่ สิ้นสุดทางครับ ฉะนั้นท่านจาตุรนต์ จะต้องบอกกับพวกเราว่าถ้าเราช่วยให้เรื่องนี้มันจบใน รุ่นเรา เราก็ควรที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อ ผมนั่งดูท่านจาตุรนต์ไปให้ การที่ สภ. ป่าโมก ไปกับอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ของผม ไปกับ คุณศิวนุช สร้อยทอง มูลนิธิกระจกเงา ท่านทราบไหมครับตำรวจเขาไม่เข้าใจที่ท่านบอก เขาไม่เข้าใจเพราะเขาบอกว่ากฎหมายก็คือกฎหมาย แต่สิทธิของความเป็นมนุษย์มันสำคัญ กว่ากฎหมายครับ แล้วมันมีเหตุอะไรครับที่พวกเราจะไม่พิจารณา นั่นคือประเด็นที่ ๑ ที่ท่าน ต้องตอบว่าเด็กอย่างน้อย ๖๐๐,๐๐๐ คนที่เข้าสู่ระบบ ๓๐๐,๐๐๐ คน อีก ๓๐๐,๐๐๐ คน ถ้าไม่มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ เขาจะเข้ามาสู่ระบบการศึกษาในประเทศไทยได้อย่างไร นั่นคือประเด็นที่ ๑ ที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องพิจารณาในการตั้งครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ที่จำเป็นต้องพิจารณาในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญครับ ตัวเลขเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๖ ที่บอกว่ามีเด็กนักเรียนในโรงเรียน ๓๐๐,๐๐๐ คน แต่ท่านทราบไหมครับว่ามีการลงรหัส Generate Code หรือตัว G เพื่อยืนยันว่าเขามีตัวตน เขามีตัวตนเป็น ๆ แค่ ๑๑๒,๘๔๑ คน เอา ๓๐๐,๐๐๐ คน ลบสิครับ เอา ๖๐๐,๐๐๐ คนลบ ๓๐๐,๐๐๐ คนก่อนครับ เอา ๓๐๐,๐๐๐ คน ลบ ๑๑๒,๘๔๑ คน เกือบ ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่ลง รหัส G ไม่ได้ มันหายไปไหนละครับ กระทรวงศึกษาธิการตอบเองทั้งหมดได้หรือไม่ ก็ตอบไม่ได้หรอกครับ แต่เรากำลังจะพูดถึงระบบการคัดกรองคุ้มครองเด็ก รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แถลงนโยบายล่าสุดบอกประเทศไทย ต้องมีระบบคุ้มครองเด็ก ก็นี่อย่างไรครับ ผมกำลังจะจี้บอกว่าจำเป็นที่ต้องมีเพราะมันไม่มี ระบบคุ้มครองเด็กที่จะไปติดตามในชุมชน หมู่บ้าน สส. ตามได้ไม่หมดหรอกครับ แต่ทำไม ต้องให้ สส. รายคนเมื่อเช้าคุณภัณฑิล น่วมเจิม มาคุยกับผมตรงนี้ ว่าคืนนี้กำลังมีเด็ก ขอทานอยู่ที่อโศกคืนนี้กำลังมีเด็กขอทานอยู่ที่นานา ผมไม่รู้เขามาจากที่ไหน แล้วผมไม่รู้ ว่าเขาเข้าเรียนหรือไม่ มาคุยกับผมตรงนี้เเมื่อเช้านี้ครับท่านประธาน นั่นคือเหตุผล ความจำเป็นประการที่ ๒ ที่มันหายไป ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคนครับ แล้วการหายไป ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคนนี่ กำลังผลักเขาเข้าไปอยู่ตรงไหน ไม่รู้เลยว่าเขาไปทำอะไร อย่างไร มีตัวตนอยู่ที่ไหน แบบใด นั่นเป็นเหตุผลของการจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาเรื่องนี้ และแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเป็นประการที่ ๒
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ท่านประธานที่มันตลกก็คือว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน ลบ ๓๐๐,๐๐๐ คน ลบ ๑๑๒,๐๐๐ คนมาแล้วนะครับ ปรากฏว่ามันนำไปสู่รายการสถานะบุคคล ไปลงเลข ๑๓ หลักครับ สมมุติว่าผมมีบัตรประชาชนใครเกิดก่อนปี ๒๕๒๗ เพื่อนสมาชิกเราเกิดก่อน ปี ๒๕๒๗ ทุกคน ต้องขึ้นด้วยเลข ๓ ใครเกิดหลังปี ๒๕๒๗ สส. ก้าวไกลจำนวนมากอายุเฉลี่ย ๓๐ กว่า ๆ ต้องขึ้นด้วยเลข ๑ คนเกิดช้าขึ้นด้วยเลข ๒ พี่น้องที่แปลงสัญชาติมา มีพ่อแม่เป็น คนต่างด้าว ท้าวต่างแดนในอดีตขึ้นด้วยเลข ๕ นี่ผมยกตัวอย่างให้ฟังนะครับ เลข ๑๓ หลัก ซึ่งมันสำคัญต่อชีวิตของพี่น้อง ชีวิตมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่ง ท่านทราบไหม ๑๑๒,๘๑๑ คน นำไปสู่การลงรายการเลข ๑๓ หลักได้แค่ ๘๐,๙๒๒ คน อีก ๔๐,๐๐๐ คนหายไปไหนครับ อีก ๔๐,๐๐๐ คนนี้ไม่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการแล้วนะครับ เพื่อนสมาชิกเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีการทำบันทึกส่งไปที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยต้องรวบรวมประวัติ ข้อมูล ลงรหัสรายการทะเบียนราษฎร พี่น้องคนไหนไม่มีสถานะแต่เชื่อว่าเกิดในประเทศไทย มีข้อมูลเชื่อมโยงลงด้วยเลข ๐ พี่น้องคนไหนเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติเราเคารพสัญชาติเขา เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องสัญชาติ แต่คือการระบุตัวตนเขาเรียกว่ากลุ่ม ๐๐ แต่เด็กจำนวนมาก ที่กำลังอยู่ในระหว่างการสอบประวัติ อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอว่าคุณต้องเพิ่มงบประมาณ ในการตรวจ DNA เปรียบเทียบเพื่อนำไปสู่การลงสถานะ ถ้าสามารถลงสัญชาติได้ ก็ต้องนำไปสู่การลงสถานะหรือสัญชาติ ท่านเห็นไหมครับว่าข้อมูลตัวเลขมันหายไปอย่างมี นัยสำคัญอย่างยิ่ง และมันไม่อยู่ในขอบเขตของคณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งที่จะศึกษา ได้ต้องตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ความจริงผมอยากจะเสนอด้วยซ้ำว่าท่านสมาชิก ที่อภิปรายทั้ง ๒๔ ท่าน ท่านนั่นละที่ไปเป็นกรรมาธิการ ผมก็ยินดีไม่ต้องเอาพรรคมาพูด มาเป็นโควตาก็ได้ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๔ เป็นประการสุดท้าย ก็คือว่าเหตุผลและความจำเป็นของการ จัดตั้งคณะกรรมาธิการ เพราะเรื่องของสิทธิเด็กนั้นมันคลุมอยู่ทั้งหมด ๔ มิติด้วยกันครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มิติแรก ก็คือมิติทางการศึกษา หากไม่เริ่มจากการศึกษามันจะไม่นำไปสู่ ในประเด็นเรื่องของสุขภาพ หากไม่เริ่มจากการศึกษามันจะไม่นำไปสู่ในประเด็นเรื่องของ แรงงาน หากไม่เริ่มจากการศึกษามันจะไม่นำไปสู่ในประเด็นเรื่องของสิทธิความเป็นพลเมือง หรือสิทธิความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดผมอยากจะย้ำแบบนี้ว่าเวลาที่เราพูดถึงสิทธิเด็ก เขาพูดด้วยตัวเขาเองไม่ได้ครับ เขาพูดด้วยตัวเขาเองเขาไม่สามารถมายืนพูดในสภาแห่งนี้ ด้วยข้อจำกัดใด ๆ ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นสภาแห่งนี้ที่เป็นตัวแทนของอำนาจต้องเป็นศูนย์กลาง ในการยืนยันครับ แล้วผมอยากจะย้ำเป็นประการสุดท้ายสำหรับเพื่อนที่เดินเข้ามาแล้วไม่รู้ว่า เขาอ่านหนังสือเจ้าชายน้อยกันอยู่นะครับ อีกสักรอบหนึ่งว่าผมขอวิงวอนแบบนี้ต่อ ท่านประธานครับ เรามีคณะกรรมาธิการในอดีตมามากมายไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคณะ บางคณะ หนังสือตั้งสูงแบบนี้ผมก็ยังเก็บไว้ แล้วผมก็สงสัยว่าทำไมปีนี้สภาชุดที่ ๒๖ ตั้งอีกแล้ว คณะกรรมาธิการชื่อแบบนี้ตั้งอีกแล้ว แต่ที่กำลังพูดถึงเด็กหลายแสนคนในประเทศไทย ที่ยังไม่มีแม้แต่โอกาสจะเดินเข้าโรงเรียน แล้วจะเอาความเป็นมนุษย์ของเขามาจากไหนครับ ฉะนั้นผมอยากจะวิงวอนเชิญชวนให้ท่านอ่านเจ้าชายน้อย และท่านใช้วิจารณญาณในการ ตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของท่านว่าสิ่งที่เรากำลังจะลงมติในวันนี้นั้นสำคัญยิ่งคือท่านกล้าที่จะ ใช้หัวใจของท่านในการลงมติแทนการใช้สายตาแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ และผมไม่เห็นมี เหตุผลอื่นใดประการใดที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดคณะหนึ่งครับ ผมในนามของ คุณปารมี ไวจงเจริญ ผู้เสนอญัตติจึงขอสรุปว่าพรรคก้าวไกลขอยืนยันให้สภาแห่งนี้ลงมติ สนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ไม่ใช่เพื่อพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพื่อ ฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพื่อสภาแห่งนี้ แต่เป็นเพื่อเด็ก ๆ ทุกคนที่ท่านเคยพูดถึงอยู่เสมอในประเทศ แห่งนี้ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ
นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมขอใช้สิทธิ พาดพิงนิดเดียวครับท่านประธาน ผม โสภณ ซารัมย์ ครับ ท่านประธานจะอนุญาตไหมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เชิญครับ สั้น ๆ นะครับ
นายโสภณ ซารัมย์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม โสภณ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสักครู่นี้ท่านสมาชิก ได้เอ่ยชื่อตัวกระผมในเรื่องที่ทำงานที่ทราบว่าจะมีการส่งญัตตินี้ไปที่คณะกรรมาธิการ ผมขอเรียนอย่างนี้แต่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่เป็นสิทธิของสมาชิกแห่งสภานี้ ว่าจะตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะส่งไปที่คณะกรรมาธิการของกระผม แต่ผมขอกราบเรียน ยืนยันต่อท่านประธานว่าคณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร มีผมเป็นประธาน และมีกรรมาธิการอีก ๑๕ ท่านมีความสามารถ แล้วก็สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างโปร่งใส และทันในสมัยของสภาชุดนี้ครับ ขอบคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีคณะผู้บริหารอาจารย์ผู้ควบคุมของวัยรุ่นคริสตจักรพระคริสตธรรม เรมา กรุงเทพมหานคร มาฟังการประชุมอยู่ข้างบนนี้ครับ สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับ ทุกท่านครับ ท่านสมาชิกครับ เนื่องจากญัตติมีผู้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงจะขอถามมติที่ประชุมว่าจะเห็นด้วย เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาญัตตินี้หรือไม่ แต่ก่อนที่จะขอมติจากที่ประชุมผมขอให้สมาชิกทุกท่านที่อยู่ใน ห้องประชุมนี้ หรือกำลังเดินเข้ามาได้กดบัตรแสดงตนก่อนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขณะนี้สมาชิก กำลังเดินเข้าห้องประชุมหลายท่าน ที่เข้ามาแล้วกรุณากดบัตรแสดงตนนะครับ
นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
๔๒๐ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่ จดด้วยนะครับ
นายสยาม หัตถสงเคราะห์ หนองบัวลำภู ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สยาม หัตถสงเคราะห์ ๓๙๖ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
จดด้วยครับ
นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ พิษณุโลก ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๗๙ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านใด ที่ยังกดบัตรไม่ได้ก็แจ้งชื่อมาด้วยครับ
นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ชัยภูมิ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๘๗ แสดงตนครับ
นายรชตะ ด่านกุล นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๙๓ แสดงตนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เจ้าหน้าที่ บวกจำนวนผู้แสดงตนภายหลังด้วยนะครับ ผมขอปิดการแสดงตนไว้ก่อนนะครับ หรือมีผู้ยังไม่แสดงตนก็แจ้งด้วยครับ ขอจำนวนผู้แสดงตนครับ ตอนนี้ผู้แสดงตน ๓๘๙ บวก ๔ เป็น ๓๙๓ ครบองค์ประชุมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้น ผมก็จะถามว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในญัตตินี้ ถ้าผู้ใดเห็นว่าเห็นควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญ กรุณากดปุ่มเห็นด้วย ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่า ไม่สมควรตั้งคณะกรรมการวิสามัญ กรุณากดปุ่มไม่เห็นด้วย ท่านผู้ใดต้องการงดออกเสียง กรุณากดปุ่มงดออกเสียง ขอให้ลงมติตามนี้ได้ครับ ถ้ามีปัญหาเรื่องการลงมติกรุณาแจ้ง ด้วยนะครับ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ธิษะณา ชุณหะวัณ ๑๗๐ เห็นชอบค่ะ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เห็นด้วยนะครับ คือถ้าเห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการ กรุณากดปุ่มเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยตั้งกรรมาธิการ กรุณากดปุ่มไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นว่าควรจะงดออกเสียง กรุณากดงดออกเสียง เชิญครับ
นายสิริน สงวนสิน กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม สิริน ๔๒๐ เห็นชอบครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เห็นด้วยนะครับ มีผู้ยังไม่ได้ลงคะแนนอีกไหมครับ ถ้าไม่มีผู้ใดลงคะแนนอีก ผมขอปิดการลงคะแนน ขอให้เจ้าหน้าที่แสดงจำนวนครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๐ คน เห็นด้วยกับการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ ๑๖๔ คน ไม่เห็นด้วย ๒๔๕ คน งดออกเสียง ๑ คน ไม่ลงคะแนน ๐
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เพราะฉะนั้น ญัตตินี้ถือว่าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการครับ ทีนี้ผมจะถามนอกประเด็นหน่อย เพื่อให้มัน Clear ชัดเจนนะครับ ตกลงว่าไม่ตั้ง ลงมติไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยนี้จะเสนอไปที่ คณะกรรมาธิการของคุณโสภณไหมครับ คณะกรรมาธิการการศึกษา หรือไม่ต้อง ถือว่า อภิปรายจบไปแล้ว ผมกลัวว่าญัตติมันจะไม่มีผลแต่อย่างใด
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ให้ส่งไปที่คณะกรรมาธิการ ชุดการศึกษา เป็นเวลา ๙๐ วัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
อันนี้ถือว่า ประนีประนอมนะครับ ที่ถามเพื่อจะได้ประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ให้คณะกรรมาธิการ การศึกษาได้ไปศึกษาต่อจากที่เราสานต่อที่เราพูดไว้ คิดว่าคงไม่ขัดข้องนะครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานขออนุญาตครับ เมื่อสักครู่ ยังไม่ได้ขอผู้รับรองครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้อง อันนี้ความจริงมันเพื่อประนีประนอม เพื่อประโยชน์ของญัตตินี้จริง ๆ จะได้ทำอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นอภิปรายก็จบแล้วนะครับ ไม่มีผู้ใดขัดข้องนะครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานนิดเดียวครับ ไม่ขัดข้องครับ แต่ว่าผมฟังคุณศรัณย์ไม่ชัดว่ามีกรอบระยะเวลาไหมครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวจะถาม ต่อไปครับ ก็ถือว่าเราส่งให้คณะกรรมาธิการการศึกษารับไปพิจารณา ขอระยะเวลา ที่จะให้พิจารณาเท่าไรครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย เสนอระยะเวลา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ระยะเวลา ๙๐ วัน มีผู้ใดขัดข้องไหมครับ ผู้รับรองญัตติ ๙๐ วัน ถ้าไม่มีผู้ใดขัดข้องถือว่าส่งไปให้ คณะกรรมาธิการการศึกษารับไปศึกษาภายในเวลา ๙๐ วัน ขอบพระคุณท่านสมาชิกทุกท่าน ต่อไปจะเป็นการพิจารณาญัตติที่ ๕.๒
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๕.๒ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการประมงทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง สอดรับกับพันธกรณี ระหว่างประเทศ (นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม เป็นผู้เสนอ) และเนื่องจากญัตติในทำนองเดียวกัน นี้ยังมีอีก ๓ ฉบับ คือ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๑. ญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมประมงไทย (นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ) ตามระเบียบวาระที่ ๕.๑๒
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๒. ญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมประมงไทยทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณี ระหว่างประเทศ (นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ เป็นผู้เสนอ) ยังไม่ได้อยู่ในบรรจุระเบียบวาระ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะแจกเอกสารให้นะครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
๓. ญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหาผลกระทบการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป กฎหมายเกี่ยวกับประมงทั้งระบบ ซึ่งนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นผู้เสนอ ผมก็จะให้ ผู้เสนอได้เสนอญัตติพร้อมกับอภิปราย สำหรับผู้เสนอญัตตินี้ก็ขอให้อภิปรายไม่เกิน ๑๐ นาที แล้วก็มีรายชื่อผู้ขออภิปรายแล้วหลายท่าน เดี๋ยวผมจะอ่านต่อไป สำหรับผู้อภิปรายร่วม ให้เวลาอภิปราย ๗ นาที ขอเชิญคุณณัฐพงษ์ครับ
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. จังหวัดสมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นต้องขอบคุณท่านประธาน แล้วก็เพื่อน ๆ สมาชิกที่เสนอญัตตินี้ เข้ามาอภิปรายกัน ขอบคุณมากนะครับ และจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวประมงและธุรกิจ ต่อเนื่อง วันนี้ผมขอเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ ให้เกิดความ เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับ พันธกรณีระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากการประกอบกิจการประมงในประเทศไทย ทั้งชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพาณิชย์ที่ประกอบกิจการประมงในน่านน้ำไทย รวมทั้ง ชาวประมงพาณิชย์ที่ประกอบกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย ตลอดจนผู้ประกอบกิจการ อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจการประมง ต่างได้รับความเดือดร้อนจากการตรากฎหมาย อย่างเร่งด่วนของรัฐบาลที่ผ่านมา ในรูปของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพระราชกำหนดในหลากหลายฉบับ โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพระราชกำหนดต่าง ๆ นั้น มิได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และปราศจาก การกลั่นกรองจากรัฐสภาในระบบปกติก่อนการประกาศใช้ ทั้งนี้โดยมีเหตุผลเพียงต้องการ จะแก้ไขปัญหาประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือที่เรียกว่า IUU Fishing ตามความเข้าใจ ของรัฐบาลในขณะนั้น ภายหลังการที่ประเทศไทยได้รับใบแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป แต่การเร่งตรากฎหมายดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อทั้งผู้ที่ถูกกฎหมาย บังคับใช้โดยตรงอย่างไม่เป็นธรรม และเกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทรัพยากร สัตว์น้ำ คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นเวลานานกว่า ๘ ปีแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการน้อยใหญ่จำนวนมากต้องตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และหลายราย ไม่สามารถประกอบอาชีพหรือมีรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไปได้ หากสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ สามารถนำประเด็นปัญหาในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งการประมง เรือ และการเดินเรือ ตลอดจนการใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงที่บังคับใช้กับกิจการประมงทั้งระบบ มาพิจารณาศึกษาและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล รวมทั้งการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ เสนอต่อรัฐสภาให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับ ชาวประมงทุกกลุ่ม ตลอดจนผู้ประกอบกิจการต่อเนื่อง ทั้งยังจะเป็นกรอบในการจัดการ ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความยั่งยืนภายใต้บริบทของไทย และกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศสืบไปด้วยครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาอีกไม่นานในการ อภิปรายต่ออีกสักเล็กน้อยว่าทำไมผมถึงเห็นว่าเรื่องนี้มีสาเหตุความจำเป็นต้องตั้งเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาทั้งระบบครับท่านประธาน
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ประการแรก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า ๑๐ ฉบับ ในระดับพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด ทั้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงทะเล การประกอบกิจการประมง การประกอบกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แรงงาน เรือ การเดินเรือ การตลาด หลายฉบับเป็นกฎหมายเก่าที่ควรจะได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสม และทันสมัย เนื่องจากหลักคิดและสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปครับ แม้บางฉบับจะมีการ ปรับปรุงแก้ไข แต่ก็มีการปรับปรุงเพียงบางส่วนเฉพาะเพื่อการบังคับใช้ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน การส่งเสริมและสนับสนุนกลับไม่ได้รับการ พิจารณาแก้ไข รวมทั้งบางฉบับก็ตราขึ้นด้วยความเร่งรีบไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วน ได้เสียทั้งหมดนะครับ
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ทำไมถึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ชาวประมง และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องประสบปัญหาในการค้นคว้าและค้นหากฎหมาย ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดด้วยเหตุของ การไม่รู้กฎหมายโดยไม่รู้ตัว จึงควรมีการทำให้เป็นระบบและง่ายต่อการค้นหา และทำความเข้าใจจะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงและผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้ถูกต้อง และหากประสบความสำเร็จจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กับประชาชนในภาคส่วนอื่น ๆ ได้ในอนาคตด้วยครับ ไม่นับว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการประมงมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย ๕ กระทรวง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนกว่า ๑๐ องค์กร นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ภายในประเทศ และภายนอกประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างประณีต เรื่องนี้เป็น เรื่องสำคัญของประเทศและของพี่น้องประชาชน
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
นอกจากนี้ตั้งแต่ผมเข้ามาติดตามเรื่องนี้ ผมก็รับรู้แล้วก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่า เราเห็นร่วมกันในเกือบทุกพรรคการเมืองให้มีการแก้ไขเรื่องประมง แต่ในแต่ละกลุ่ม ประมงเองก็มีความเห็นไม่ตรงกันต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือการออกกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายมากำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องประมงในรายละเอียดครับ ผมเลยคิดว่า เป็นโอกาสอันดีที่เราจะเข้ามาศึกษากฎหมายทั้งระบบร่วมกันอย่างตกผลึก คณะกรรมาธิการ วิสามัญชุดนี้ ไม่ใช่คณะกรรมาธิการที่จะเข้ามาแก้กฎหมายในทันที ย้ำนะครับ ยังไม่ได้เข้าไป แก้กฎหมายในทันที แต่กลับกันจะเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะเป็นที่หาฉันทามติ ร่วมกันระหว่างกลุ่มก้อนต่าง ๆ ศึกษาทั้งระบบก่อนที่จะมีการแก้หรือไม่แก้กฎหมายฉบับใด หรือมาตราใด ใช้พื้นที่ของรัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันอย่างฉันมิตร ชั่งน้ำหนัก หาผลได้ผลเสียในการหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน โดยมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหมดของกิจการประมง ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมครบถ้วนทั้งหมดทุก ประเด็น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และมีความท้าทายอยู่เป็นจำนวนมากที่รอการแก้ไข และอาจจะฟังดูเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย เป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของชาวประมง แต่ถึงที่สุดแล้วนี่คือเรื่องของความไม่เป็นธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ความไม่เป็นธรรม ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลยในประเทศนี้ เราไม่ได้อยากเห็นทรัพยากรกลับไปเป็นแบบเดิม โดยไม่มีการควบคุม แน่นอนว่าการทำประมงยังต้องมีการควบคุม มีความรับผิดชอบในการ ทำประมงให้ยั่งยืน ดังนั้นแล้วจึงอยากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมา มาหาทางออกร่วมกัน มาศึกษาหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อคืนชีวิตให้กับพี่น้องชาวประมง คืนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย เคารพสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และหาสมดุลระหว่าง การรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ และการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงทุกคนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีคณะนักศึกษา คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ มาฟังการประชุมอยู่ชั้นบนครับ สภาผู้แทนราษฎรขอต้อนรับ ทุกท่านนะครับ ต่อไปขอเชิญคุณสฤษฏ์พงษ์ครับ ถ้าคุณสฤษฏ์พงษ์ยังไม่พร้อมก็ขอเชิญ คุณวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ เชิญครับ
นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมเป็น ตัวแทนของพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศ รวมไปถึงตัวแทนของพี่น้องสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในการยื่นญัตติให้สภาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อที่จะศึกษาปัญหาการทำประมง ทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาทางออกร่วมกัน ขอ Slide ด้วยครับ
นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ จุดเริ่มต้นของความ โกลาหล ของความวิบัติในอุตสาหกรรมประมงไทยมันเกิดขึ้นในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ นั่นเป็นวันที่ EU ได้มีการประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทย โดยเป็นการเตือนแล้วบอกว่า ถ้าประเทศไทยไม่แก้ต่อไป EU จะให้ใบแดง และจะไม่มีการนำเข้าสินค้าประมงจาก ประเทศไทย โดยอ้างว่าประเทศไทยมีการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในขณะนั้นรัฐบาลเองก็หน้ามืดตามัวเนื้อเต้นวิ่งตาม EU ทุกอย่าง ไม่ว่า EU จะให้ทำอะไรทำหมดทุกอย่าง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือทำมากกว่าที่ EU ขอด้วย รัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ทุกกรม ทุกกระทรวง ทุกกองที่มีความเกี่ยวข้องกับประมงทะเลมา ร่วมกันออกกฎหมาย เพื่อที่จะบังคับใช้กับพี่น้องชาวประมงในขณะนั้น และประกาศ บอกว่าจะแก้ปัญหา IUU ให้ได้ภายใน ๖ เดือน ถ้าผมเป็น EU ผมมีลูกสาวผมยกให้เลย เพราะอะไรครับ เพราะว่าแม้แต่ประเทศในยุโรปที่ประสบปัญหาเรื่องนี้เองเขายังใช้ ระยะเวลาเป็น ๑๐ ปี ไต้หวันหรือแม้กระทั่งเวียดนามเองก็วางแผนแก้ปัญหาเรื่องนี้ ใช้ระยะเวลา ๒๐ ปี วางวงเงินไว้หลายแสนล้านบาท แล้วพี่ไทยมาจากไหนที่บอกว่าจะแก้ให้ ได้ภายใน ๖ เดือน สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม อุตสาหกรรม ประมงไทยทั้งระบบเจ๊ง เจ๊งอย่างไร กฎหมายที่ออกมาทำให้พี่น้องชาวประมงทำประมงไม่ได้ มีต้นทุนที่สูงขึ้น แน่นอนครับ เรือก็เจ๊งไป หายไปมากกว่าครึ่งในประเทศ ทีนี้มันเกิด Domino Effect พอเรือหายไป ตลาดปลาหายไป แรงงานก็ไม่มี ห้องเย็นก็เจ๊ง ทีนี้ผมถามว่า มันเกิดความเสียหายขนาดไหน ผมคงเปรียบเทียบเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่รู้คร่าว ๆ แค่ว่า หลายแสนล้านบาท ถามว่าคุ้มหรือไม่ ถามว่าทำไมแค่การจัดระเบียบพี่น้องชาวประมง ทำไมมันถึงเป็น Effect เยอะขนาดนี้ทำไมมันถึงเจ๊งขนาดนี้ ยกตัวอย่างกฎหมายง่าย ๆ เวลาเราจะออกไปทำการประมงเราจะต้องแจ้งรายงานกับหน่วยงานให้ทราบ ว่าเราจะต้อง ออกไปทำการประมง มีสมาชิกกี่คน สมมุติว่าวันนี้ผมมีเรือออกไป ๒๕ คน แล้วหนึ่งในนั้นมี Accident ไม่สามารถเดินทางออกไปหาปลากับผมได้ แล้วผมที่เป็นคนบังคับเรือลืมแจ้ง ท่านรู้ไหมว่าจะโดนปรับเท่าไร หลักล้านนะครับ หลักล้าน ล้านบาทด้วยนะครับ แล้วทีนี้ ถามว่าอย่างอื่นก็มีอีก แจ้งเรือเข้าออกผิดเวลา แจ้งว่าจะเข้าถึงท่าเที่ยง มาถึง ๑๐ โมงเข้า มาถึงโดนปรับเป็นล้านอีก แล้วถามว่าพี่น้องชาวประมงจะทำอยู่ได้อย่างไร เมื่อกฎหมายไม่เป็น ธรรมแน่นอนสิ่งที่ตามมาคือเรามีต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สุดท้ายพอต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ เรือมันเจ๊ง ปลาไม่พอบริโภค ต้องไปนำเข้าปลาจากต่างประเทศ การนำเข้าปลานี่ผมไม่ติดนะ แต่บางที่เราดันไปนำเข้าปลาจากประเทศที่มีการทำประมงผิดกฎหมายด้วย นี่คือปัญหาของ ทั้งระบบที่เกิดขึ้นในภาพใหญ่ หลังจากนั้นวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นวันที่รัฐบาลรอคอย ต้องบอกว่าเป็นวันที่รัฐบาลรอคอยนะครับ ไม่ใช่วันนี้พี่น้องชาวประมงรอคอย EU ได้ประกาศปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย ทุกคนดีใจมาก รัฐบาลในขณะนั้นดีใจถือว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดง ได้รับคำสรรเสริญเยินยอ แต่ผมอยากจะบอกว่าบนความภูมิใจนั้นท่าน อย่าก้มลงไปมองที่ใต้เท้าท่านนะครับ ท่านอาจจะยืนอยู่บนซากศพพี่น้องชาวประมงก็ได้ ถามว่าความสำเร็จนี้ชาวประมงได้อะไรจากความสำเร็จนี้บ้าง ลองไปถามดูได้เลยว่าเขาดีใจ หรือเสียใจ หรือแบบไหน แต่ถ้าจะไปถามผมขออนุญาตไม่ไปด้วยเพราะว่ากลัว แล้วก็ถาม มาแล้วฟังให้ดีว่าเสียงที่มันออกมามันเป็นเสียงชื่นชมดีใจ หรือว่าเป็นเสียงร้องไห้จาก ความเสียใจ อันนี้จะต้องไปถามเลย ไม่ต้องถามเฉพาะชาวประมงก็ได้ถามเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานก็ได้ว่าบังคับใช้กฎหมายแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง อย่างที่ผมเรียนไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ปัญหาหลักใหญ่เราตั้งแต่ต้นจนถึงปลายจะมีทั้งหมด ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกัน
นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ
เรื่องของกฎหมาย แน่นอนพวกเราทำงานอยู่ในสถานะของนิติบัญญัติ เราก็ต้องแก้กฎหมาย ถ้าเรามองว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม กฎหมายไม่เหมาะสม เราก็ต้องแก้ แล้วเราก็ทำไปแล้วด้วย ในฐานะสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยเราเริ่มทำตั้งแต่สมัยที่แล้ว เราได้มีการยื่นกฎหมาย แล้วก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณากฎหมายประมงใหม่ ซึ่งเราก็ทำเสร็จแล้ว เพียงแต่ว่ามีการยุบสภาเสียก่อน พอยุบสภาไปทำให้สิ่งที่ทำไปมันก็ ตกไป แต่ไม่ต้องห่วงวันนี้เรามีสภาใหม่ เรามีรัฐบาลใหม่ พรรคภูมิใจไทยเองก็ยื่นไปแล้ว เช่นกันและยื่นไปเสร็จแล้ว และที่เป็นสิ่งที่น่ายินดีก็คือจากการประชุม Whip รัฐบาล ที่ผ่านมาก็ได้รับข่าวมาว่าทางรัฐบาลเองจะยื่นร่าง พ.ร.บ. เข้ามาประกบให้ทันภายใน สมัยประชุมนี้ ซึ่งถ้าทำได้จริง ๆ ผมเองต้องขอกราบขอบพระคุณแทนพี่น้องชาวประมง ทั้งประเทศด้วย
นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ เรื่องของต้นทุน ถามว่าจะแก้อย่างไร จริง ๆ ต้นทุนหลัก ๆ มีอยู่ ประมาณ ๕-๖ อย่าง แต่ว่า ๒ ปัจจัยหลัก ก็คือค่าแรงและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนรวมอยู่ ประมาณ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ของการทำประมงทั้งระบบ จะแก้อย่างไร เรื่องนี้ เราต้องเอาเรื่องของอนาคตมาพูดกัน เอาเรื่องของการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนามาพูดกัน เพื่อทำให้เรามีเทคโนโลยีมีเครื่องมือเข้ามาช่วยเยอะขึ้น ยกตัวอย่างที่ปัตตานีมีพี่ท่านหนึ่ง ที่ผมรักและเคารพมาก พี่สุรัตน์ รัตนศิธร ขออนุญาตเอ่ยนามพี่สุรัตน์ด้วย ได้ทำงานร่วมกับ หน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น SEAFDEC ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพัฒนา การวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) ได้มีการวิจัยพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตน้ำแข็งจากน้ำทะเลซึ่งไปผลิตในทะเลได้เลย การผลิตเครื่องมือ ที่จะเอาไว้ทุ่นแรงในการเก็บอวน การเคลื่อนย้ายปลา หรือแม้แต่กระทั่งในอนาคตผมยังมอง เรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงผมเห็นเรือเล็ก ๆ ตอนนี้หลายลำที่มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า แล้วถ้าเกิดเรามีการวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งผมมั่นใจว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดใน โลกแน่นอน เป็นไปได้ไหมถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนที่ถูกลงได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นหน่วยงานพวกนี้ผมอยากจะ ฝากท่านประธานไปเลยครับว่าควรที่จะต้องให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานเขาเยอะ ๆ เพราะเป็นการซื้ออนาคต
นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล ต้นฉบับ
ข้อสุดท้าย เรื่องของการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ เรื่องนี้ผมไม่ติดเลย แต่ผมติดนิดเดียวว่าประเทศหลาย ๆ ประเทศที่เรานำเข้าปลามาเป็นประเทศที่ทำประมง ผิดกฎหมายเช่นกัน ซึ่งพวกเราพยายามหนีจากเรื่องนี้มาโดยตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่เรา กลับไปนำเข้าปลาจากประเทศที่ทำผิดกฎหมายมาได้อย่างไร เริ่มจากตัวกฎหมายที่บิดเบี้ยว ที่มันผิดเพี้ยน ที่มันไม่ยุติธรรม ผมอยากจะบอกว่าวันนี้ต่างชาติพอเห็นกฎหมายฉบับนี้ เขาต้องบอกว่าอย่างไรรู้ไหมครับ เขาจะบอกว่าเธอหวานเจี๊ยบ มันจะไม่หวานเจี๊ยบ ได้อย่างไร กฎหมายฉบับนี้ออกมาฆ่าประมงไทยแต่สนับสนุนประมงต่างชาติ สนับสนุน แบบไหน ก็แน่นอนเมื่อเรามีต้นทุนสูงขึ้น เราจับปลาได้น้อยลง เขาก็ไปเอาปลาจาก ประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดำเนินการตาม IUU เข้ามา ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า ผมอยากจะบอกว่า รัฐบาลต่างชาติจะต้องเอากระเช้ามากราบขอบคุณรัฐบาลไทยในขณะนั้นด้วยซ้ำที่สนับสนุน การประมงต่างประเทศให้กับพวกเขา แล้วสิ่งที่มันน่าน้อยใจไปกว่านั้นคืออะไรรู้ไหม พอ EU บอกว่าเราทำประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลในขณะนั้นเอาทุกสิ่งทุกอย่างทำทุกอย่าง เพื่อแลกกับมันให้เราปลดจากใบเหลืองได้ แต่ครั้งที่แล้วผมได้มีการหารือเกี่ยวกับการนำเข้า สินค้าประมงจากประเทศที่ทำผิด เขาบอกว่าห้ามนำเข้าไม่ได้เพราะติดสนธิสัญญา ติดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ พอทีประเทศไทยเสียประโยชน์ก็อ้างกันจัง แล้วพอตอน EU ทำไมไม่หาอะไรมาอ้างบ้าง สุดท้ายถ้าพวกเรายังอยู่แบบนี้ ถ้ายังไม่ทำอะไรแบบนี้ ผมไม่อยากจะพูดคำพูดที่บอกว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าชาวประมงไทยมันอาจจะสูญพันธุ์ครับ ขอบพระคุณครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ต่อไปขอเชิญ คุณสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ครับ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
เดี๋ยวขออภัย คุณสฤษฏ์พงษ์ครับ มีสภานิสิตสถาบันนวัตกรรมบูรณาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา มาฟังการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎร ขอต้อนรับทุกท่านครับ ขออภัยคุณสฤษฏ์พงษ์ครับ เชิญคุณสฤษฏ์พงษ์เลยครับ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย ต้องขอบคุณท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ท่านประธานเรียกชื่อผมตั้งแต่ครั้งแรก ผมติดทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานอยู่ที่ชั้น ๔ ก็ลงมาช้าไปหน่อยครับ ผมในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน แล้วก็พรรคภูมิใจไทย เมื่อสักครู่เพื่อน สส. ท่านวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สตูล แล้วก็เพื่อน สส. ฝั่งอันดามัน ไม่ว่าจะเป็น สส. ระนอง สส. พังงา สส. กระบี่ทั้ง ๓ ท่าน สส. สตูล นี่คือฝั่งอันดามัน ทั้ง ๖ จังหวัด เราให้ความสำคัญกับพี่น้องอาชีพประมงไทย แล้วก็ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมานั้น ทีมงานพรรคภูมิใจไทย โดย สส. ทั้งฝั่งภาคใต้ก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ปัญหา กฎหมายประมง แล้วก็เราทราบกันดีว่าปัญหาประมงมีมานาน แล้วก็เป็นปัญหาค่อนข้างที่จะ รุนแรง ผมคิดว่าตามพระราชบัญญัติในเรื่องของค่าปรับในวันนี้ พ.ร.บ. ประมง มีโทษปรับมากที่สุด ไม่ใช่ปรับถึงขนาดที่ผู้โดนปรับล้มละลาย ผมไม่เคยเห็นคดีแพ่งที่ในทาง ภาษากฎหมายเขาเรียกว่าเป็นคดีแพง คดีอาญาก็คือคดีที่มีโทษจำคุก แต่คดีแพ่งนี่ เขาบอกว่าคดีแพง คดีแพงก็คือจ่ายค่าปรับที่แสนจะแพง แต่พี่น้องที่ทำผิดกฎหมายประมง เป็นเหมือนกับบางคนก็เรียกว่ากฎหมายทาสของ EU แล้วก็ชาวประมงวันนี้ ๒๒ จังหวัด ใน Zone ของภาคใต้ ภาคตะวันออก ตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี ๒ ฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จริงแล้วพี่น้องชาวประมง ๒ ฝั่งนี้ มีเรือที่ทำประมง อ่าวไทยจะมากกว่าอันดามัน แต่ในขณะเดียวกันที่เรารับลูกมาจากในส่วนของ EU กติกาของ IUU ก็ดีที่เรามาออกกฎหมายตามเพื่อที่จะให้เป็นเมืองขึ้นทางด้านกฎหมายของอาชีพ ชาวประมงนั้น ทำให้น้ำตาพี่น้องชาวประมงหลายคนที่จะล้มเลิกอาชีพเป็นชาวประมงไป หลายคนด้วยกันวันนี้ที่ไปกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. ประมง แล้วก็ถูกยึดเรือ ถูกยึดอวน ถูกยึดเครื่องมือต่าง ๆ เขาคิดเทียบในขนาดของจำนวนเรือว่าเรือกว้างกี่เมตร ลูกเรือ ชาวประมงที่ทำอาชีพประมงกี่คน เวลามีค่าปรับเขาปรับคูณจำนวนหลายเท่าเข้าไป บางราย ปรับถึง ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาท แล้วก็จับแรงงานต่างชาติเนรเทศกลับไปสู่ประเทศ ต้นสังกัดที่จะมา ผมเห็น พ.ร.บ. ประมงแล้วเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่เราจะต้องให้ความสำคัญ ในเรื่องของการแก้ไข พ.ร.บ. ประมงให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เมื่อสักครู่ท่านวรศิษฎ์ได้พูดในประเด็นข้อกฎหมาย ประเด็นข้อเท็จจริงไปก็มาก คราวนี้ผมอยากจะเรียนท่านประธานเพิ่มเติมในประเด็นที่ยังไม่ได้พูด ในเรื่องของ พ.ร.บ. ประมงนั้นเรายังมีพี่น้องชาวประมงอีกหลายประเภทที่มีอาณาเขตที่ไปหาเช้ากินค่ำ ที่มันทับเส้นกันในทะเล ท่านประธานก็ทราบว่าในทะเลฝั่งอ่าวไทย อันดามันเหล่านั้นเราไม่มี หลักเขต แนวเขตว่าอันนี้เป็นอาณาเขตของชายฝั่งทะเล แต่เราใช้หมุด เราใช้เครื่องหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนชาวประมงนั้นบางครั้งเวลาหลบพายุมันก็จะล้ำเขตในข้อห้ามของ กฎหมาย พ.ร.บ. ประมงบ้าง ผมอยากเรียนท่านประธานว่าประมงที่มีผลกระทบ เช่น ประมง ชายฝั่ง ๒. ประมงพื้นบ้าน ๓. ประมงพาณิชย์ หลัก ๆ เหล่านี้เป็นอาชีพประมง เรือประมง ชายฝั่งก็เป็นประมงพื้นบ้านที่มีเรือใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ที่บ้านเราเรียกว่าเป็นเรือหาง เป็นเรือประมงขนาดเล็กที่ใช้ลาก ใช้ไปวางอวน ใช้ไปวางแห ใช้ไปวางโพงพาง อะไรต่าง ๆ ซึ่งบางเรื่องก็ยังผิดกฎหมายอยู่ แต่ประมงพื้นบ้านเขาจะมีอาชีพอีกอย่างหนึ่ง เมื่อหน้า ประมงมาเขาก็จะทำอาชีพประมงชายฝั่ง เช่น ไปหาปู ไปวางไซที่จะไปดักหมึก ดักปลา ในขณะเดียวกันเวลาหมดหน้าประมงที่เขาเข้าสู่หน้าท่องเที่ยว พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เหล่านี้เขาจะดัดแปลงเรือที่เขามีอาชีพประมงมาเป็นเรือเพื่อนำเที่ยว เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. หรือกฎหมาย ระเบียบของ พ.ร.บ. ประมงนั้น เช่น มีการตรวจใบอนุญาต มีการรับรอง ในเรื่องของเรือ สิ่งเหล่านี้เราจะต้องให้โอกาสกับพี่น้องประมงพื้นบ้านซึ่งมีอยู่มาก แล้วพี่น้อง ประมงพื้นบ้านที่อยู่ชายฝั่งตรงนี้ ทั้งประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน เขาไม่สามารถที่จะไป เปลี่ยนอาชีพ ให้เป็นอาชีพชาวสวนยาง เป็นอาชีพชาวสวนปาล์ม เขาทำไม่ได้ เนื่องจากว่า เขาเกิดมามีที่ดินปู่ย่าตายายมาหลายชั่วคน เขาก็อยู่ในบริเวณชายฝั่ง เขายังต้องต่อสู้เกี่ยวกับ ในเรื่องของพายุคลื่นลมทะเล เขาไม่มีที่ดินอยู่บนชายฝั่งแล้วครับ เพราะฉะนั้นประมง พื้นบ้านกับประมงชายฝั่งเหล่านี้เป็นประมงที่น่าสงสารมาก ในขณะเดียวกันประมงพาณิชย์ เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ผมคิดว่า พ.ร.บ. ประมงที่ผ่านมาเราให้ข้อมูล และต้องการเอาใจในส่วนของ EU มากเกินไป บางเรื่องเราให้ข้อมูลซึ่งคลาดเคลื่อน ไม่ตรง ต่อข้อเท็จจริง ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเรื่องของเรือ วันนี้ถูกบังคับในเรือประมง จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ มีราคาหลายหมื่นบาทครับ บางลำ บาง Size ขนาด ก็ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ แต่ปรากฏว่าการรายงานในส่วนของประมงไทยเรานั้น เรารายงานเกิน จำนวนเรือไปนะครับ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะไปชี้แจง ไป Declare ส่วนหนึ่งทำไมมัน หายไป ในขณะที่มันหายไปเพราะเจ้าของเรือเขาเลิกกิจการไปก็มี เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่มี เจ้าของแพ เจ้าของประมงที่มีเรือ มีลูกจ้างนะครับ วันนี้ทุกคนได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า เลยจาก พ.ร.บ. ประมง
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กระบี่ ต้นฉบับ
มีข้อห้ามมากมาย ในกรณีชีวิตครอบครัวของเจ้าของเรือประมงมีข้อห้าม ผมยกตัวอย่างให้ท่านประธานฟังนะครับว่าห้ามเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปีลงไปในเรือด้วย แต่พี่น้องชาวประมงเขาบอกว่าลูกเขาอยู่ในเรือตั้งแต่เล็ก การที่จะให้ปล่อยลูกทิ้งไว้ที่บ้าน ไม่ให้ไปเรียนรู้ตามวิถีชีวิตอาชีพประมงของพ่อแม่อย่างนี้ก็ทำยาก แล้วก็เด็กอายุยังไม่บรรลุ นิติภาวะ ยังอยู่ในวัยเรียนก็สามารถที่จะไปเรียนรู้ในอาชีพของบิดามารดาได้ ซึ่งตรงนี้ ในระเบียบ กฎหมาย พ.ร.บ. ของ EU เราถือว่าเป็นกฎหมายหลัก กฎหมายสากลก็ตาม แต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นจริงของชีวิตประมงไทยนะครับ ยังมีข้อบังคับอีกมากมายในเรื่องของการที่จะมาตรวจสอบแล้วถ้าไม่ผ่านเป็นการเตือนให้ ใบเหลือง ถ้าผ่านก็ให้ใบเขียวแต่ค่อนข้างที่จะยาก แต่ถ้าเกิดไม่ผ่านปฏิบัติไม่ได้ก็จะให้ใบแดง เพราะฉะนั้นอำนาจการต่อรองของพี่น้องผู้ประกอบการอาชีพประมงวันนี้ไม่เหลือเลยนะครับ ถ้าหากว่ารัฐบาล สภานิติบัญญัติ เพื่อนสมาชิกเราไม่มีการยกร่างในการแก้กฎหมาย เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายเราต้องดูด้วยว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างประเทศ เวียดนาม ประเทศมาเลเซีย ประเทศที่อยู่ในเครือข่ายของการปฏิบัติตามนี่เขารับลูกมา ออกกฎหมายภายในประเทศนี่มันสอดคล้องหรือเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันหรือไม่ ทำไมประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศเขาไม่ปฏิบัติตามมันจึงเป็นเหตุที่มาว่าเรือไทยสัญชาติ กัมพูชาวันนี้มีเยอะขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าเอาเรือไปติดสัญชาติกัมพูชาจะไม่อยู่ใน ข้อบังคับ แต่เวลาเราไปจับปลาในอ่าวไทย ปลาเป็นของที่จะเข้าสู่ในประเทศไทย ปลามันพูด ไม่ได้แล้วเพราะฉะนั้นเรือยังพูดได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการที่จะเอาเรือไปขึ้นเป็นสัญชาติ ของกัมพูชานั้นนี่ก็มีเพิ่มมากขึ้นทุกที ยังมีปัญหาอีกเยอะมากในเรื่องของอาชีพชาวประมง เจ้าของเรือ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความสะดวกในเรื่องของการสร้างท่าเรือ การทำคานเรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกก็พูดไปในเรื่องของค่าครองชีพที่สูง ค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น ต้นทุนก็แพงขึ้น วันนี้จึงมีการนำเข้าปลาจากรัสเซียที่มาทำปลากระป๋อง ยังมีประเทศ เพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ทั้งอินโดนีเซียเยอะมากนะครับ เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ ผมมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะกราบเรียนท่านประธานสภาไปยังเพื่อนสมาชิก ในเรื่องของการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาในเรื่องของการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรม ประมงไทยให้ครบวงจร ขอบคุณท่านประธานครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ตอนนี้มีผู้มาลงชื่อ เพื่อจะร่วมอภิปราย ๑๐ ท่าน จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ๕ ท่าน พรรคร่วมรัฐบาล ๕ ท่าน ผมจะเรียกสลับกันครับ ท่านแรกขอเชิญคุณร่มธรรม ขำนุรักษ์ ๗ นาทีนะครับ มีผู้เสนอญัตติ อีกท่านหนึ่ง ต้องขออภัยด้วยครับ มีผู้เสนอญัตติอีกท่านหนึ่ง คือคุณธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ขออภัยด้วย ขอเชิญคุณธีรรัตน์ครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขอบพระคุณท่านประธาน เป็นอย่างสูงค่ะ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ดิฉันพร้อมด้วยเพื่อนสมาชิกจากทางพรรคเพื่อไทยอีก ๒๐ ท่าน ขอเสนอใน ญัตตินี้ซึ่งประกอบไปด้วยทางท่านประภาพร ท่าน สส. สยาม ท่าน สส. กรวีร์ ท่าน สส. ภาควัต ท่าน สส. สุรเกียรติ หลาย ๆ ท่านที่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ จึงขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการประมงทั้งระบบ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
โดยที่พระราชกำหนดการประมง พุทธศักราช ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพประมง และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงหลายประการ อันสืบเนื่องมาจากกฎหมาย ดังกล่าวได้ถูกตราขึ้นในช่วงที่ บ้านเมืองอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติหลังจากเกิดเหตุการณ์ รัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ และในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีการตรากฎหมายอย่างเร่งด่วน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูก ขึ้นบัญชีของสหภาพยุโรปเท่านั้นเอง จึงไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาถึงปัญหาและผลกระทบ ต่อการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประมง และขาดการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มี ส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพ ประมง และผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงอย่างกว้างขวาง จนผู้ประกอบ อาชีพประมงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่เป็นหลักการสำคัญในร่างกฎหมายอีกหลายประการ ดังเช่น การเสนอให้มีกองทุนการประมงแห่งชาติ การเสนอให้มีสภาการประมงแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กฎหมายการประมงเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบอาชีพประมง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการประมงของประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้กฎหมาย ที่เกี่ยวกับการประมงอีกหลายฉบับที่มีความสัมพันธ์กันสมควรที่จะมีการปฏิรูปกฎหมาย เกี่ยวกับการประมงให้เป็นระบบและเกิดความเป็นธรรม ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล คริสต์ศักราช 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย เมื่อได้ผลการศึกษาแล้วจะได้เป็น ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล หรือเป็นข้อมูลแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำไปสู่การแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงให้เกิดความเหมาะสมและเกิดความเป็นธรรมกับ ประเทศชาติสืบไป ดังนั้นดิฉันและคณะจึงได้ขอเสนอญัตติดังกล่าวเพื่อที่จะให้ที่ประชุมได้ พิจารณาในการที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการศึกษาในเรื่องนี้ ดิฉันต้องขอเรียนใน รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นจากที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วว่าการประมงตามคำจำกัดความ เราอาจจะ หมายความถึงการจัดการของมนุษย์ด้านการจับปลา การจับสัตว์น้ำอื่น ๆ การดูแลรักษาปลา สวยงาม และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น น้ำมันปลา หรือผลิตภัณฑ์ที่พี่น้อง ชาวประมงสามารถที่จะมาสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมดิฉันที่เป็น สส. กทม. ของทางพรรคเพื่อไทย ถึงสนใจในเรื่องการประมงเรื่องนี้ บางท่านอาจจะมองว่า เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ เกี่ยวข้องกับบางพื้นที่เท่านั้น แต่ในความจริงแล้วในพื้นที่ของ กรุงเทพมหานครรวมถึงปริมณฑลและพื้นที่โดยรอบก็มีผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ประกอบอาชีพ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และสัตว์น้ำที่มีความหลากหลายอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นราคาผลผลิตจาก อุตสาหกรรมการประมงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นแหล่ง ผลิตสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออก ก่อให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง และสร้างรายได้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นก็คือมีการออกกฎหมายที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้ว ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเป็นอุปสรรคของ ชาวประมงหลายอย่างด้วยกัน จนทำให้พี่น้องชาวประมงไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ ช่วงเฉพาะเพียงที่ดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกของพรรคเพื่อไทย ดิฉันได้มีโอกาสพบพี่น้อง ชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายหลายฉบับด้วยกัน ดิฉันขออนุญาต ยกตัวอย่างเช่น
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๖ ตัวแทน ๗ สมาคมประมงท้องถิ่นจังหวัดชุมพร นำโดยคุณพิศาล สันติวิชยะ นายกสมาคมประมงปากน้ำชุมพร คุณไตรฤกษ์ มือสันทัด นายกสมาคมประมงปากตะโก คุณมงคล สุขเจริญธนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ดิฉันต้องขอ อนุญาตเอ่ยนาม ไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ปรากฏอยู่ พร้อมตัวแทนพี่น้องชาวประมง ๒๒ จังหวัด ได้เดินทางเข้าพบหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งในขณะนั้นท่านนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อที่จะยื่นหนังสือคัดค้านกรณีที่กรมสรรพสามิต ออกประกาศให้ชาวประมงติดตั้งอุปกรณ์สำหรับระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ หรือที่เรา เรียกว่า Automatic Identification System หรือ AIS สำหรับกิจการเดินเรือ ซึ่งเป็นการ สร้างภาระให้กับพี่น้องประชาชนโดยไม่จำเป็น และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อน ของชาวประมงอีกด้วย นอกจากนี้พี่น้องชาวประมงยังได้เรียกร้องให้มีการขยายวันทำการ ประมงเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในขณะนั้นคณะยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาของชาวประมง พรรคเพื่อไทย ที่ดิฉันได้นำภาพส่งไปแล้วมีหลาย ๆ ท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลในขณะนี้ ดำรงตำแหน่งอยู่ ได้เปิดประชุมเพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ทุก ๆ กลุ่มของผู้ประกอบอาชีพประมง ถ้าหากว่าจะสังเกตดี ๆ มีหลายท่านดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ หลายท่าน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่กำลังพูดกันอยู่ด้วย ดิฉันมั่นใจว่า ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหลังจากที่ทุกท่านได้ทราบปัญหาแล้ว นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ สส. จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ท่าน สส. พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ อดีต สส. จาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แถลงข่าวถึงรัฐบาลให้เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวประมง จากสมาคมชาวประมง ๒๒ จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายฉบับนี้ ใน พ.ร.บ. การประมง พุทธศักราช ๒๕๕๘ ซึ่งถูกตราขึ้นเพื่อใช้แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ที่ขาดการรายงาน ขาดการควบคุม หรือที่เราเรียกว่ากฎหมาย IUU ที่มีสาเหตุมาจากรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่มีความเข้าใจในปัญหาและการทำประมงอย่างเพียงพอ จนสร้างผลกระทบให้กับ ชาวประมงทั่วประเทศมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ครัวเรือน ชาวประมงจำนวนมากต้องหยุดเดินเรือ เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะปรับปรุงเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้ และผู้ประกอบการ หลายรายต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นมูลค่ามหาศาลที่ไม่มีใครรับผิดชอบได้จริง ๆ ที่ผ่านมา สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ว่า ไม่ได้รับการตอบรับกลับมาเลย อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. วินัยการเงิน การคลัง ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเราเองเรารับทราบดีว่าพี่น้องประชาชนทนทุกข์มามากกว่า ๗-๘ ปีแล้ว เราได้มีการหารือร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยในการหาทางออกร่วมกัน ในการช่วยเหลือในปัญหาดังกล่าว ซึ่งเราได้นำเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือชาวประมงให้มีระบบ ในการติดตั้งสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ รวมถึงการขยายระยะเวลาการทำประมงมากขึ้น ในส่วนนี้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ มีการขอให้แก้ไขกฎหมายรวม ๖ ฉบับด้วยกัน เป็นการยื่นเสนอ แก้ไขกฎหมายต่อสภาแบบเป็น Package เพื่อหาทางออกให้พี่น้องชาวประมง อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ร่างพระราชบัญญัติการประมง ฉบับพรรคเพื่อไทย เป็นการเสนอ แก้ไขกฎหมายทั้งแบบครบวงจรและการขอแก้ไข พ.ร.บ. การประมงประกบอีก ๕ ฉบับ ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งฉบับ และการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. การประมงฉบับปี ๒๕๕๘ โดยตัดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ของรัฐออก มีการขอเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ แล้วก็มีการแก้ไข ในฉบับที่เป็นส่วนของวินัยการเงินการคลังให้ดึงออกมา เพื่อง่ายและรวดเร็ว ไม่ติดขัด ในอุปสรรคที่เคยใช้เป็นข้ออ้าง ดิฉันยังเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายกระทรวง ทบวง กรม โดยเสนอให้มีการตั้งกรมประมงทะเลด้วย จากการรับฟังความคิดเห็นยังมี พ.ร.บ. ว่าด้วยกองทุนการประมง เป็นข้อเรียกร้องของชาวประมงหลังจากช่วงที่ ๘ ปีถูกละทิ้ง ที่ผ่านมา ขอเสนอให้มีการตั้ง พ.ร.บ. สภาการประมงแห่งชาติ ซึ่งพี่น้องชาวประมงส่งเสียง เรียกร้องมาเป็นเวลานานแล้ว ท่านประธานคะ เป็นที่น่าดีใจว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เข้าดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ในวันที่ ๑ กันยายน ก่อนที่จะมีคณะรัฐมนตรี เสียด้วยซ้ำ ท่านได้เดินทางไปที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้อง ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย IUU หลังจากนั้นท่านก็ได้ออกคำสั่ง ที่ ๒๔๐/๒๕๖๖ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเล และอุตสาหกรรมการประมง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความจริงใจที่จะทำงานให้กับ พี่น้องประชาชนให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว ท่านประธานคะ พรรคเพื่อไทยเรายกปัญหา เรื่องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการประมงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเราเข้าใจความรู้สึก ของพี่น้องชาวประมงที่พบอุปสรรคในการทำมาหากินเป็นอย่างดี ดิฉันมั่นใจว่าการทำงาน อย่างสอดประสานระหว่างรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร สามารถทำให้เราแก้ไขปัญหานั้น ได้รวดเร็ว
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ดิฉันจึงขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประมง เพื่อนำไปสู่การ ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประมงทั้งระบบ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านผู้เสนอญัตติครบทุกท่านแล้ว ต่อไปท่านสมาชิกอภิปราย ท่านแรก ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายให้ความเห็นในญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ของท่านณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ท่านประธานครับ ทะเลและมหาสมุทรถือเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นอกจากนี้ทะเลยังทำหน้าที่ดูดซับก๊าซต่าง ๆ ที่เราปล่อยไป และผลิตออกซิเจนให้โลก อีกด้วย ทะเลยังเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการประมง โดยสำหรับในประเทศไทยเองก็เช่นกันการประมงถือเป็นอาชีพ ที่สำคัญของคนไทยมาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมาเรามีผลผลิตและการส่งออกด้านประมงติดอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันทะเลของโลกก็เผชิญภัยคุกคามอย่างมากทั้งจากการประมงเกินขนาด การประมงผิดกฎหมาย ไปจนถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น มลพิษ น้ำเสีย ขยะ และภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จากปัญหาเหล่านี้ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมทางทะเลและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้เกิดเป็นความตกลง และอนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเลมากมายครับ ซึ่งด้านองค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กำหนดแนวทางและมาตรการทำประมงอย่างยั่งยืน ให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ โดยชี้ว่าแนวทางที่เป็นปัญหาคือการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือที่เราเรียกกันว่า IUU Fishing ทางด้านสหภาพยุโรป หรือ EU เองก็ได้นำมาตรการนี้มาปรับใช้ในกลุ่มประเทศ และภายหลังก็ได้ประกาศจะไม่ซื้อสินค้า ประมงจากประเทศที่ไม่มีการจัดการปัญหาเรื่อง IUU จนกระทั่งในปี ๒๕๕๘ ทาง EU ก็ได้ประกาศ แจ้งเตือนประเทศไทยด้วยการให้ใบเหลืองว่าเรามีปัญหาในเรื่องดังกล่าว และให้ประเทศไทย แก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ทั้งด้านการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และการจัดการด้านประมงเสียใหม่ รัฐบาลในขณะนั้นจึงเร่งออกคำสั่งและบังคับใช้กฎหมาย ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรือ การเดินเรือ แรงงานประมง จนกระทั่งในปี ๒๕๖๒ สหภาพยุโรปก็ได้ปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตามการเร่งออกกฎหมายมาบังคับใช้ของรัฐบาลในขณะนั้นกลับลืมหันหลังมามอง ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน และต้องแลกมาด้วยความเสียหายต่อชาวประมง และอุตสาหกรรมที่ตามมามากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยพระราชกำหนดการประมง ปี ๒๕๕๘ ขาดการรับฟังความคิดเห็น ขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และขาดการกลั่นกรอง จากรัฐสภา อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมงของไทย มีบทลงโทษที่รุนแรง มีเงื่อนไขที่บีบรัดเกินความจำเป็น และออกมาในช่วงเวลาที่เร่งรัดทำให้ชาวประมงไม่มีเวลา ปรับตัว และไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐเท่าที่ควร จนกระทั่งวันนี้เองปัญหา ของพี่น้องประชาชนชาวประมงก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้พี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการ สูญเสียรายได้มีหนี้สิน หลายรายต้องเลิกการประกอบอาชีพประมงไปในที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อ ประเทศและก่อให้เกิดปัญหาการนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศ และปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก มากมาย การประมงอย่างยั่งยืนที่มีการควบคุมและมีการรายงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จาก การเร่งรัดออกกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ผมจึงมีความเห็นชอบ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยผมมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการ และรัฐบาลให้รับไปศึกษาและพิจารณาดังต่อไปนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประมง ทั้งหมด เช่น เขตประมงพื้นบ้าน คุณสมบัติผู้มีสิทธิขอใบอนุญาต การกำหนดลักษณะ ต้องห้าม เครื่องมือ และขนาดเรือที่ชัดเจน ช่วงเวลาทำการประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำ ในทะเล และแก้ไขบทกำหนดโทษที่เหมาะสม
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการประมง ประจำจังหวัดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวประมง และมาตรการ คุ้มครองแรงงานที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้พิจารณาการเร่งรัดซื้อเรือประมงออกนอกระบบโดยเร็ว ซึ่งเป็น การเยียวยาที่ล่าช้าอยู่ในขณะนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโครงการสินเชื่อ เพื่อเสริม สภาพคล่องของผู้ประกอบการประมง และสามารถช่วยเหลือชาวประมงได้อย่างแท้จริง
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๕. ขอให้รัฐบาลพิจารณาและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่เป็น ประโยชน์ต่อการทำประมงที่ทันสมัย และช่วยลดต้นทุนในการทำการประมง เช่น การจัดหา เงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และผลักดันให้เกิดการผลิตเครื่องจักร เครื่องมือ หรือนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการทำการประมง
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๖. ขอให้พิจารณาการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มประมงท้องถิ่น และการจัดตั้ง โรงเรียนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำการประมง เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่า สัตว์น้ำ และพัฒนาอาชีพ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๗. ขอให้พิจารณาการจัดตั้งกองทุนประมงเพื่อช่วยเหลือเยียวยาชาวประมง รวมถึงการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ตกต่ำ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๘. ขอให้พิจารณาการส่งเสริมและจัดระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เพื่อการแก้ไขปัญหา ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลในระยะยาว
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๙. ขอให้พิจารณาการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวประมง ผู้ประกอบการ และประชาชน ในการฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาประมงทะเลไทย เช่น การจัดการขยะทะเล โดยชุมชนชายฝั่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนชาวประมงอย่างรับผิดชอบ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ การสร้างความสมดุลระหว่างการจับสัตว์น้ำหรือการรักษา ความอยู่รอดของประมงทะเลไทยไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สัตว์น้ำหรือการปฏิบัติตาม หลักการแก้ไขปัญหา IUU เป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม และควรทำไป พร้อม ๆ กันครับ กระผมจึงเห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความซับซ้อน และหากได้รับการแก้ไขก็จะเป็นประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาล และเป็นการฟื้นชีวิต ชาวประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องขึ้นมาอีกครั้งครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ เชิญครับ
นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ผมขออภิปรายปัญหาของพี่น้องชาวประมง ตามที่พี่น้องชาวประมงเดือดร้อน ได้มายื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทยกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และยื่นหนังสือกับท่านนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะพี่น้องชาวประมง พี่น้องแรงงาน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง ๒๒ จังหวัดชายทะเลเดือดร้อนกันมาก จากคำสั่ง คสช. คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวม ๘ ฉบับ ซึ่งทำให้พี่น้องชาวประมง ของเราเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ นครพนม ต้นฉบับ
นอกจากนั้นยังไม่พอ ยังมีกฎหมาย กฎ ระเบียบของหน่วยงานต่าง ๆ และของกรมประมง ๓๐๐ กว่าฉบับ ท่านประธานลองคิดดูว่าพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน พี่น้องชาวประมงพาณิชย์ที่ต้องส่งสินค้าด้านการประมง มีกุ้ง มีปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง มีหมึก ส่งออกไปสหภาพยุโรป ประเทศยุโรปปีละ ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท และมาถูกคำสั่ง คสช. ๘ ฉบับ และกฎ ระเบียบต่าง ๆ ๓๐๐ กว่าฉบับ พี่น้องชาวประมงของเราเดือดร้อน กันมาก จนถึงแรงงานคนไทย แรงงานต่างชาติ จากการที่เราแก้ปัญหาไม่ถูกต้องเกาไม่ถูกที่คัน ท่านประธานลองคิดดูนะครับ พี่น้องประมง ของเรา ๒๒ จังหวัดชายทะเล คสช. ซึ่งทำงานอยู่กรุงเทพฯ ออกคำสั่งเด็ดขาดไป และโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรของเราท่านประธาน ของเรามีตัวแทน ๗๗ จังหวัด ๕๐๐ คน แต่พี่น้องชาวประมงมี ๒๒ จังหวัด เราทั้งหมด ๗๗ จังหวัดต้องมาออกกฎหมาย เพื่อไปบังคับพี่น้องชาวประมง ผมว่าไม่ยุติธรรมสำหรับพี่น้องชาวประมง จนทำให้ ประเทศไทยของเราถูกใบเหลืองตักเตือนจากสหภาพยุโรป เพราะทำผิดกฎหมาย ไม่รายงาน ไม่แจ้ง ไม่มีการควบคุม นั่นคือสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรของเราเองก็ต้องหันมาแก้ไขปัญหานี้ อย่างเร่งด่วน และรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องรีบดำเนินการ ที่ได้ออก กฎหมาย ออกกฎ ระเบียบต่าง ๆ ไป ๓๐๐ กว่าฉบับ ทำให้พี่น้องชาวประมงของเรา ๒๒ จังหวัดชายทะเลเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส การดำเนินการหรือกฎ ระเบียบต่าง ๆ เราควรกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ไปสู่ ๒๒ จังหวัด ถ้าคิดเทียบแล้วจาก ๗๗ จังหวัดของเรา ก็เพียงแค่ ๒๒ เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเองยังไม่ถึงครึ่ง นั่นคือมันต้องเป็นหน้าที่ของพี่น้อง ชาวประมง เป็นหน้าที่ของนักธุรกิจผู้ส่งออก นักอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ถูกปลดที่เจอ ผลกระทบจากปัญหาคำสั่ง คสช. และกฎระเบียบ ๓๐๐ กว่าฉบับ แรงงานต่างด้าว แรงงานคนไทยเจอปัญหาตามกันไปหมด นั่นคือเราต้องมอบหน้าที่ให้คนที่อยู่ในพื้นที่ อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ หรือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเขาได้ออกกฎ ระเบียบของเขาเอง เราอย่าไปออกให้เขาครับ เรามาถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรอาจจะ ๒ วัน ๓ วัน ผมคิดว่ายังไม่ตรงประเด็น กฎ ระเบียบที่จะใช้ได้ต้องคนที่เป็นผู้ถูกกระทำ หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ หรือผู้ที่ต้องทำตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะถูกสหภาพยุโรป เขาจะออกใบแดงให้เรา เพราะเขาเจอปัญหาของประเทศไทยของเราที่ผ่านมาทำผิดกฎหมาย เพราะเราไปออก กฎหมายที่มันนำไปใช้ในพื้นที่ ๒๒ จังหวัดไม่ได้ การยื่นเอกสาร ยื่นขออนุมัติ การรายงาน ยุ่งยากไปหมดใช้ระยะเวลานาน หลาย ๆ ประเทศ หรือแม้กระทั่งนโยบายพรรคเพื่อไทย ต่อไปการขออนุมัติต่าง ๆ ขอทาง Online อนุมัติภายใน ๑ วัน ๒๔ ชั่วโมง ถึงจะเป็น การส่งเสริมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของเรา ช่วยพี่น้องชาวประมง ไม่เช่นนั้นเราต้องมา รอหนังสืออนุมัติ ๒ เดือน ๓ เดือน หรือแม้กระทั่งแรงงานต่าง ๆ จะขอใบอนุญาตทำงาน ทำ Visa ต่อหนังสือยุ่งยากไปหมด เสียเงินหลายหมื่นบาท บางคนทำ ๑ เดือน ๓ เดือน ก็ต้องไปหางานใหม่ นั่นมันไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน ไม่เอื้ออำนวยต่อแรงงาน หรือพี่น้องชาวประมงของเรา สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องรีบทำ ต้องให้ ทุกหน่วยงานเข้าไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงของเราอย่างรวดเร็ว และช่วยดำเนินการ แก้ไขกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคที่เรียกว่ารัฐอุปสรรค ให้เป็นรัฐสนับสนุน ให้แรงงานเรา ได้ทำงานก่อน พี่น้องชาวประมงได้ออกจับปลาได้ ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย อย่าไปเขียน กฎหมายที่ปฏิบัติไม่ได้เหมือนกฎหมายในปัจจุบันนี้ ตามมาด้วยปัญหาการค้าแรงงานเถื่อน การค้ามนุษย์ การจ่ายส่วย นั่นคือสิ่งที่ฝากสภาผู้แทนราษฎรของเราในการออกกฎหมาย ต่าง ๆ ให้ออกกฎหมายที่ให้ในพื้นที่ในจังหวัดนั้น ๆ เขาได้ใช้กฎหมายได้อย่างมีความสุข กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ท่านที่ ๒ ท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ท่านที่ ๓ ท่านกฤช ศิลปชัย เชิญท่านกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล เชิญครับ
นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ระยอง ต้นฉบับ
เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุน ญัตติ ขอให้ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับ ผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกิจกับพันธกรณี ระหว่างประเทศ ท่านประธานคะ ประเทศไทยเรามีชายฝั่งทะเลยาวทั้งสิ้น ๒,๖๑๔ กิโลเมตร มีจังหวัดที่ติดทะเล ๒๒ จังหวัด ประชากรที่อาศัยบริเวณฝั่งทะเลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ประมง มีชุมชนชาวประมงทั่วประเทศกว่า ๔,๐๐๐ ชุมชน หรือกว่า ๖๐,๐๐๐ ครัวเรือน อาชีพประมงมี GDP คิดเป็นร้อยละ ๘ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี ๒๕๕๗ มีมูลค่ามากกว่า ๑๔๕,๐๐๐ ล้านบาท แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังมานี้ชาวประมงพื้นบ้าน ประสบปัญหาจับสัตว์ทะเลไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพ จากที่เคยจับปลาได้วันหนึ่งเป็น ร้อย ๆ กิโลกรัม แต่มาวันนี้ปลาที่จับได้หายไปกว่าครึ่ง จากที่เคยจับปูได้วันละ ๒๐-๓๐ กิโลกรัม ทุกวันนี้ออกเรือไปกลับมานี่แทบจะไม่ต้องเอากิโลมาชั่งแล้วนะคะ ท่านประธาน นับเป็นตัวยังยากเลยค่ะ เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นการเสื่อมโทรม ของทรัพยากรทางทะเล การทำลายระบบนิเวศทางทะเล หรือแม้แต่การรุกล้ำทรัพยากร ทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกล้ำจากนโยบายของทางภาครัฐเอง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ อย่างชัดเจนนั่นก็คือโครงการถมทะเลท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการนี้ ได้เปลี่ยนกระแสน้ำ เปลี่ยนระบบนิเวศทางทะเลอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีการพยายามรักษา ระบบนิเวศให้ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของชาวประมงไม่ให้สูญหายไป ไม่ว่าจะเป็นการทำธนาคารปู การโยนซั้งโยนบ้านปลาลงไปในทะเล แล้วอย่างไรคะ ท่านประธาน บ้านที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตในทะเลนั่นก็คือน้ำทะเลที่ใสสะอาด ดินและทราย ที่ปราศจากสารเคมีปนเปื้อน กระแสน้ำ กระแสลม ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ ต่อสัตว์น้ำสัตว์ทะเล แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ ไม่มีสัตว์ทะเล ไม่มีแหล่งรายได้ของชาวประมง พื้นบ้าน แม้แต่ประมงพาณิชย์เองก็ยังต้องขยายเขตการจับสัตว์ทะเลไกลออกไป แล้วอย่างนี้ ประมงไทยจะอยู่กันอย่างไรคะ มิหนำซ้ำเหตุการณ์ที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทย เพราะปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม เมื่อปี ๒๕๕๘ รัฐบาล คสช. ก็แก้ปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับภาคประมงอย่างเข้มงวด แต่ขาดการมี ส่วนร่วมของชาวประมง ด้วยกฎหมายที่มีข้อบังคับใช้โดยไม่เป็นธรรมสร้างข้อจำกัดในการ ประกอบอาชีพยิ่งทำให้พี่น้องชาวประมงไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากที่จับสัตว์น้ำได้น้อยอยู่แล้วนั้นก็ยิ่งจับได้น้อยลงไปอีก รายได้ที่เคยมีก็ยิ่งลดลง บางราย แม้แต่การออกทะเลไปหาปูหาปลายังไม่สามารถทำได้ หลาย ๆ คนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน และมี หลาย ๆ คนต้องตัดสินใจจบอาชีพประมงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดอย่างน่าเสียดาย จากนโยบายของภาครัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมและมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้พี่น้องชาวประมงเกิดความรู้สึกว่าเขาถูกรัฐแย่งชิงทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น พระราชกำหนดการประมง ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ในมาตรา ๓๔ ที่ได้กำหนดให้ประมง พื้นบ้านสามารถออกเรือไปจับสัตว์ทะเลที่มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไป ไม่เกิน ๓ ไมล์ทะเลเท่านั้น และยังใช้การวัดเขตชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งเว้าทำให้เกิด ความไม่ชัดเจนของพื้นที่ในการทำประมงไปอีก ส่งผลให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากได้เข้าไปทำประมงนอกเขตกำหนดโดยไม่ได้ตั้งใจ ถูกปรับ ถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้จะมีความพยายามแก้กฎหมายแก้กฎกระทรวงเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยัง ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำประมงจริงในแต่ละพื้นที่ชายฝั่งที่มีบริบทแวดล้อมแตกต่างกัน จากจุดยืนด้านนโยบายประมงของพรรคก้าวไกลที่เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่าง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และมนุษยชน จึงมีการเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของท้องถิ่นและชาวประมง ในคณะกรรมการประมงจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการประมงจังหวัดในการกำหนดกติกาทำการประมง ทั้งการกำหนดเครื่องมือในการทำประมง กำหนดพื้นที่และฤดูกาลในการทำประมง ให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตในการทำประมง เนื่องจากสภาพทะเลของ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และแต่ละพื้นที่ก็มีความลึกที่แตกต่างกันด้วย นอกจากนั้น พระราชกำหนดการประมง ปี ๒๕๕๘ ยังมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง บางกรณีมีโทษปรับสูงสุด ถึง ๓๐ ล้านบาท ในบทกำหนดสามารถยกเลิกใบอนุญาตทำประมงจากเรือทุกลำได้ทั้งหมด แม้จะเป็นการกระทำความผิดจากไต้ก๋งเรือเพียงแค่ลำเดียว พรรคก้าวไกลของเราเสนอให้มี การรับบทลงโทษให้เหมาะสม ดูจากเจตนาในการกระทำความผิดคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ให้สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหา แก้กฎหมาย หรือร่างกฎหมาย ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม ช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวประมง ทุกกลุ่มเพื่อไม่ให้มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตกหล่น หรือถูกทำให้สูญหายไปกับนโยบาย หรือการ ออกกฎหมาย กฎ ระเบียบจากทางภาครัฐ และร่วมกันหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรสัตว์ น้ำให้เกิดความยั่งยืน และประโยชน์สูงสุดในอาชีพประมง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่มรดกบาป ทางกฎหมายจะถูกแก้ไขสำเร็จได้เสียที เพราะฉะนั้นดิฉันจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ของเราจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณี ระหว่างประเทศ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ เชิญครับ
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรคเพื่อไทย ผมขอมีส่วน ร่วมในการอภิปรายที่เพื่อนยื่นญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการประมง เมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้นทีมงานของพรรคเพื่อไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรีนั้นได้ลงไปพื้นที่ใน จังหวัดชลบุรีโดยมีท่านอดีตรัฐมนตรีสนธยา คุณปลื้ม นั้นได้หารือแล้วก็รวมผู้ประกอบการ ทุกหน่วยราชการ ตลอดจนปัญหาเรื่องประมง ได้มีนายกสมาคมประมงจังหวัดชลบุรี เนื่องจากผู้อภิปรายหลายท่านได้อภิปรายเกี่ยวกับประมงในพื้นที่ ๒๒ จังหวัดไป เรียบร้อยแล้วผมก็คงจะกลับมา Scope ดูของจังหวัดชลบุรีของผมนั้น จังหวัดชลบุรีนั้นมี เรือประมงหาปลาเพียงประมาณ ๓,๐๐๐ ลำ ก็มีประมงพื้นบ้าน หรือประมงชายฝั่งอยู่ ประมาณ ๒,๕๐๐ ลำ ประมงพาณิชย์ ๕๐๐ ลำ พี่น้องประชาชนชาวประมงสมัยก่อนออกหาปู ออกหาปลานั้นกลับมาเอาปลาเอาปูไปขายในพื้นที่ เหมือนกับชีวิตนั้นอยู่บนเส้นด้ายครับ
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
ประมงชายฝั่ง ท่านประธานจะเห็นใน รูปนะครับ ออกเรือทีประมาณสักคนสองคน ประมาณ ๓ โมงเย็นนั้นจะต้องไปอยู่ทะเล เที่ยงคืนกลับมา ตีสามนั้นเอาปูเอาปลาไปขาย เฉลี่ยแล้วรายได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท โดยเฉพาะการออกหาปลานั้นออกไปเพียงไม่เกิน ๓ กิโลเมตร ถ้าเกิด เกิน ๓ กิโลเมตร ก็เป็นประมงพาณิชย์ ปัญหาที่พี่น้องชาวประมงนั้นได้ประสบปัญหาอยู่ ท่านประธานครับ ท่านเคยดูฟุตบอลไหมครับ ฟุตบอลนั้นเราเคยเห็นแต่ใบเหลือง ใบแดง แต่วันดีคืนดีพี่น้องชาวประมงนั้นโดนใบเหลือง โดนใบแดง เหตุเกิดจากอะไรครับ เกิดจาก เมื่อปี ๒๕๕๗ ภาวะปกติของประเทศไทยเกิดการปฏิวัติ IUU นั้นเกิดขึ้นมาประมาณ ปี ๒๕๓๕ แต่ก็มีผลกระทบกับเมืองไทย คือเพียงแต่เตือนในเรื่องการที่เราจะทำอะไร ที่ผิดกฎหมาย เพียงแต่เตือน พอหลังจากปี ๒๕๕๗ เราเกิดการปฏิวัติ ปี ๒๕๕๘ ประมาณ เดือนเมษายนประมงไทยโดนใบเหลือง จาก EU และ IUU ท่านประธานครับปีหนึ่ง ประเทศไทยนั้นส่งอาหารประมงส่งไป EU ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ไม่มีอะไรที่ EU จะบีบไทยได้ก็เอาคำว่า ปฏิวัติ แล้วก็มาเอา กฎของ IUU มาบังคับใช้ พอ IUU ประกาศปุ๊บ รัฐบาลไทยสมัยที่แล้วทำงานรวดเร็วทันใจ ประกาศว่า ๖ เดือน ไทยจะแก้ปัญหาในเรื่องประมงให้กับพี่น้องชาวประมงได้ รอบ ๆ ข้าง ไม่ว่าเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย บังกลาเทศไม่ต้องพูดถึง เขาขอแก้ไขประมาณ ๖-๗ ปี แต่ของเรานั้นรวดเร็วทันใจ ๖ เดือน ๖ เดือนนั้นตั้งกติกากับพี่น้องชาวประมงละเอียดยิบ วันต่อวัน ไม่ว่าจะให้พี่น้องชาวประมงจะต้องผ่านด่าน PIPO จะต้องไปลงบัญชีการออก เข้าก็ต้องลงบัญชีออกก็ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ชาวประมงสมัยโบราณนั้นไม่สามารถที่จะ ทำได้ ก็ต้องไปจ้างเด็กที่มาทำในเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็เพิ่มทุนเข้าไปอีก ตลอดจน ให้ตั้งวิทยุชาวประมงนั้นมีวิทยุเขาเรียกว่าวิทยุมดดำ ไว้ติดต่อสื่อสารกันเกี่ยวกับบนบก หรือทะเล แต่รัฐบาลที่ผ่านมาให้ตั้งวิทยุมดขาวอีกมันก็แปลกวิทยุมดขาวให้ใหญ่ขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นไปอีก ตลอดจนให้ติดตั้งเครื่องติดตามในเรือประมง เขาเรียกว่า VMS หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GPS ดีกว่า เรือลำนี้จะไปไหนมาไหนนั้นแม้แต่จอดห้ามดับจะต้องรู้ แล้วก็ต้องเสียเป็นรายเดือน สิ่งเหล่านี้นั้นเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องชาวประมงนับหมื่น นับแสนบาท ตลอดจนแรงงานแรงงานบ้านเราท่านประธานก็รู้ไม่มีครับ ต้องแรงงานต่างด้าว รัฐบาลที่แล้วก็บอกว่าจะต้องให้ผู้ทำประมงต้องโอนเงินเข้าบัญชีคนงาน โอนเงินเข้าบัญชีนั้น ผมถามว่าบุคคลต่างด้าวจะทำอย่างไร ไม่สามารถที่จะโอนได้เพราะมันจะเปิดบัญชี จะเข้าไปธนาคารก็ไม่ได้ เรือประมงบางลำต้องจ้างคนไทยแล้วก็ใช้ชื่อคนไทยไปทำบัญชี ส่งไปส่งมาอย่างนี้ทุกวัน ถือว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่งกับการประมงไทย ท่านประธานครับ ที่จริงแล้วปัญหาสิ่งเหล่านี้ผมว่าแก้ง่าย ๆ ตอนนี้ผมฝากท่านประธานไปถึงรัฐบาลดีกว่า ให้ไปเจรจากับ EU ให้เร็วที่สุด เพื่อผ่อนปรน คือระเบียบทุกอย่างประมงไทยทำครบหมดแล้ว ฝากรัฐบาลไปแก้ไขในเรื่องนี้ เพื่อให้ประมงไทยนั้นเดินหน้าไปสู่อาชีพแล้วก็สู่รายได้ เข้ามาเมืองไทย และขอเห็นด้วยกับญัตติที่เพื่อนที่ยื่นไปวันนี้ ขอสนับสนุนญัตตินี้ ขอขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกฤช ศิลปชัย เชิญครับ
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับวันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุน ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ กิจการประมงทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพประมง และกิจการต่อเนื่องครับ ท่านประธานครับ เรื่องที่ผมจะอภิปรายนั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กฎหมายประมงโดยตรงแต่จะเป็นเรื่องของกฎหมายอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมง ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบอย่างมากจากกฎหมายที่หละหลวม และการพัฒนาที่ ไม่คำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของชาวประมงได้กิจการต่อเนื่อง ซึ่งหลัก ๆ วันนี้จะเกี่ยวข้อง กับพี่น้องที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งภาคตะวันออก
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ Slide ที่เห็นอยู่นี้คือภาพ เหตุการณ์อุบัติภัยทางทะเลเมื่อปี ๒๕๕๖ ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำน้ำมันรั่ว ปริมาณน้ำมันมหาศาล และการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันส่งผลให้สัตว์น้ำลอยเกยตื้น มีแผลพุพองที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันที่ฉีดลงทะเล เพื่อกดให้คราบน้ำมันจมลง เพื่อสอนจากสายตาประชาชน สารเหล่านี้มันไม่ได้กำจัดคราบน้ำมันให้หายไปจากทะเล มันเพียงแต่กดน้ำมันจมลงไปสู่ใต้ท้องทะเลเพื่อบดบังจากสายตาของคนทั่วไป น้ำมันรั่วครั้งนี้ ส่งผลกระทบยาวนานกว่า ๘ ปี ทำให้ชาวประมงทำมาหากินลำบาก สัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง พอเริ่มเข้าปีที่ ๘ ชาวประมงก็กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ครับ สัตว์น้ำเริ่มกลับมา ทะเลเริ่มฟื้นตัว แต่นั่นก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำเมื่อต้นปี ๒๕๖๕ หรือปีที่แล้วที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล จำนวนมหาศาลไหลลงทะเลอีกครั้ง ในครั้งนี้ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันไปกว่า ๘๕,๐๐๐ ลิตร โดยอัตราส่วนการใช้สารเคมีที่เป็นมาตรฐาน ก็คือสารเคมี ๑ ส่วนต่อน้ำทะเล ๑๐ ส่วน นั่นหมายความว่าการที่ใช้สารเคมี ๘๕,๐๐๐ ลิตร เท่ากับปริมาณน้ำมันอาจจะรั่วไหลถึง ๘๕๐,๐๐๐ ลิตร ใช่หรือไม่ ตัวเลขที่ได้รับรายงานจากสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่เคยนิ่งครับ ตามข่าวแรกบอกออกมา ๔๐๐,๐๐๐ ลิตร พอข้ามวันมาเหลือ ๑๖๐,๐๐๐ ลิตร พอตกเย็นในวันเดียวกันก็มีประกาศออกมาใหม่ว่ามีจำนวนน้ำมันรั่วเพียง ๕๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าผมไม่เชื่อครับ การหาปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลไม่ได้ยากเลยครับ สามารถ คำนวณได้หมดทั้งจากปริมาณน้ำมันที่บรรทุกมาบนเรือ ปริมาณน้ำมันในท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล รวมถึงน้ำมันที่อยู่บนแท็งค์บนบกในโรงงานอุตสาหกรรม เราสามารถคำนวณปริมาณน้ำมันที่ แท้จริงได้ แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พอน้ำมันรั่วปุ๊บสิ่งแรกที่ทำคือปล่อยเรือบรรทุกน้ำมันหนี ออกจากน่านน้ำไทยทันที ทั้ง ๒ เหตุการณ์ทำให้พี่น้องประชาชนในปัจจุบันยังไม่ได้รับ ความเป็นธรรม มีแต่เพียงการจ่ายเงินเยียวยาจากผู้ก่อมลพิษเพียงเล็กน้อย โดยปี ๒๕๕๖ จ่ายเงินเยียวยารายละ ๓๐,๐๐๐ บาท ส่วนปี ๒๕๖๕ จ่ายรายละ ๔๕,๐๐๐ บาท คำถามคือ มันคุ้มแล้วหรือครับท่านประธานที่ต้องใช้เวลาอีกนับสิบ ๆ ปีกว่าทะเลจะฟื้นกับการชดเชย เยียวยาเพียงการจ่ายเงินแค่นี้ ในส่วนของภาครัฐเองก็ไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมกับเหตุการณ์ พวกนี้ครับ ถ้าเป็นในต่างประเทศภาครัฐจะเข้ามาชดเชยเยียวยาทันที และจะเป็นผู้ฟ้องร้อง ให้กับผู้ก่อมลพิษให้ชดเชยค่าเสียหาย แต่ในประเทศไทยพี่น้องประชาชนต้องลุกขึ้นมา เรียกร้องเอง ทั้งต่อผู้ก่อมลพิษและใช้สิทธิทางศาล ซึ่งเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๕๖ ตอนนี้ คดียังไม่จบ ยังอยู่ในชั้นศาลฎีกาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้วครับท่านประธาน
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือโครงการพัฒนาของรัฐในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก หรือโครงการถมทะเลมาบตาพุดที่เพื่อน สส. ของผม สส. กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ โครงการถมทะเลทำให้พื้นที่ทำกินของประมง พื้นบ้านหายไปนับพัน ๆ ไร่ พื้นที่ตรงนี้นะครับเป็นพื้นที่ที่มีการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งส่งผลให้ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลลดลงอย่างต่อเนื่องไปทั่วทั้งอ่าว ผมยกตัวอย่าง อันนี้ตัวอย่างเช่น ม่านกันตะกอนที่ระบุไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีม่านกันตะกอน ๒ ชั้น ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นเดียว โดยชั้นนอกได้หลุดลอยออกไป แล้วและยังไม่มีการดำเนินการมาติดตั้งให้เป็นไปตามเดิม ตามรายงาน EHIA แต่อย่างใด นี่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่เคยให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ชาวประมงและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เลย และรวมถึงยังไม่มีมาตรการการเยียวยาผลกระทบที่ ชัดเจนครับผมจะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นว่าใน EEC มีโครงการถมทะเล อยู่ ๒ โครงการ ที่แรก คือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่แหลมฉบังนี้ยังดีหน่อยมีการคิดคำนวณความ เสียหายและกำหนดวิธีการเยียวยาที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ ตามหลักการคำนวณ ความเสียหายจริงของพี่น้องชาวประมง ก็คือจ่ายให้ปีละ ๓๖๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๕ ปี แต่พอหันมาดูที่ระยองก็มีการคิดคำนวณจริงอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ต่อเดือน แต่สุดท้ายจ่ายจริงเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจ่ายแบบครั้งเดียวจบ ห้ามเรียกร้องอะไรใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ความยุติธรรมหรือมาตรฐานมันอยู่ตรงไหนครับ ทั้ง ๒ จังหวัดนี้เป็นโครงการ แบบเดียวกัน ถมทะเลเหมือนกัน ผู้ได้รับผลกระทบประกอบอาชีพลักษณะเดียวกัน แต่การเยียวยาต่างกันเสียอย่างนั้น ที่แหลมฉบังเป็นโครงการของสำนักงานท่าเรือ กระทรวงคมนาคม ส่วนที่ระยองเป็นของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม คือแตกต่างกันเพียงกระทรวงผู้รับผิดชอบ แต่ลักษณะโครงการ การก่อสร้างเหมือนกัน ผู้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่การเยียวยาต่างกัน
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ นี่คือปัญหาที่เกี่ยวกับความเข้มแข็งของกฎหมาย ที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เรื่องน้ำมันรั่วท่านต้องไปทบทวน พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โดยต้องกำหนดให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินเยียวยา และฟ้องเอกชนแทน ไม่ใช่ให้ชาวบ้าน ชาวประมงออกไปฟ้องร้องกันเองแบบนี้ ส่วนเรื่อง Megaproject ของ EEC ก็ควรจะกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. EEC ครับ จริงอยู่ใน พ.ร.บ. EEC มีมาตราว่าด้วย กองทุน EEC แต่ในข้อระเบียบ ข้อกำหนดการใช้เงินของกองทุน EEC กลับไม่มีการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเลย
นายกฤช ศิลปชัย ระยอง ต้นฉบับ
สุดท้ายครับ ผมจึงต้องฝากถึงรัฐบาลและฝากถึงเพื่อน ๆ ที่จะไปเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ต้องฝากพิจารณากฎหมายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ของชาวประมงด้วย และนำบทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตมาถอดบทเรียนและแก้ไข กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมให้กับพี่น้องผู้ประกอบอาชีพประมง และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง ต่อไปด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๕ นาทีปิดรับการลงชื่อนะครับ อีก ๓ ท่านต่อไป ท่านสรวงศ์ เทียนทอง ท่านศักดินัย นุ่มหนู ท่านอรรถพล ไตรศรี เชิญท่านสรวงศ์ เทียนทอง ครับ
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณ เพื่อนสมาชิกที่ได้เสนอญัตติให้แก่สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อจะพิจารณาศึกษาปัญหาและผลกระทบในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประมง เพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงได้ทำมาหากินกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ กลับมาเหมือนก่อนที่เราจะถูกกดดันโดย IUU ท่านประธานครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ปัญหาอาชีพประมงของไทยนั้นเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานพอสมควร นับตั้งแต่ ผมได้รับมอบหมายจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นหนึ่งในตัวแทนไปคุยกับสมาคมประมง แห่งประเทศไทย เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้ว เราเริ่มทำงานกันมายาวนานพอสมควร และสิ่งต่าง ๆ ที่ผมประสบมา แล้วก็ได้รับการร้องเรียนมาก็จะเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ส่วนครับ กฎหมายระหว่างประเทศบ้าง IUU ที่เรารู้กัน กฎหมายในประเทศ ข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจน อุปสรรคในการทำมาหากินของผู้ประกอบการในเรื่องของแรงงาน และเชื้อเพลิงในการ ประกอบอาชีพ ท่านประธานครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ลงชื่อสนับสนุนร่างญัตตินี้ เพราะว่า เราต้องหาทาง ที่จะแก้ปัญหาประมงให้แล้วเสร็จ ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะบอกว่ามุมมองของผม ผมมอง ว่าการ Action ของรัฐบาลในสมัยนั้นอาจจะมากเกินไป อาจจะเป็นการออกกฎเกณฑ์มา เพื่อจะ Ban ตัวเองพูดง่าย ๆ การออกพระราชบัญญัติการประมงออกมาในสมัยนั้นอาจจะ เป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองครับ เพราะการเสนอของ IUU เองก็ไม่ได้มากมายอะไรจนกระทั่ง ถึงต้องออกกฎ ระเบียบมากมายเพื่อจะมาล็อกตัวเอง ล็อกผู้ประกอบการภายในประเทศ กฎหมายลูกกว่า ๓๐๐ ฉบับ ที่ประกอบพระราชบัญญัติการประมง ๒๕๕๘ แล้วก็ฎกระทรวง ข้อบังคับต่าง ๆ มันส่งผลให้มีค่าปรับกับผู้ประกอบการ ซึ่งผมมองว่าไม่เป็นธรรม แล้วก็จริง ๆ แล้ว มากเกินจริงทำให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย อย่างที่เราทราบกันต้องหยุดปฏิบัติงาน ต้องหยุดการทำมาหากิน ต้องหยุดกิจการไปโดยปริยาย ผมขออนุญาตเสนอ ๓ สไลด์ ครับท่านประธานขอ Slide ที่ ๑ เลยครับ
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
มุมมองของผมเป็นแบบนี้ครับ ถ้าเราจะมองกันจริง ๆ แล้วมูลค่าการส่งออกสินค้าทางประมงและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ ประมงของไทย ๘-๙ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึงปี ๒๕๖๕ เห็นแท่งน้ำเงินไหมครับท่าน ประธาน แท่งน้ำเงินคือ ๕ เปอร์เซ็นต์เองนั่นคือ EU ครับ นั่นคือคนที่กดดันเราเหลือเกินใน เรื่องของ IUU มูลค่า ๕ เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทางการประมงทั้งหมดของประเทศไทย
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
Slide ที่ ๒ เป็น Slide ที่แสดงให้เห็นถึงสินค้าการประมงที่ส่งออกไปยัง EU ระหว่างปี ๒๕๕๖ ถึงปี ๒๕๖๕ ท่านประธานเห็นเส้นสีน้ำเงินนะครับ สีน้ำเงินคือหมึกกล้วย หมึกกล้วยแช่แข็ง สีส้มคือปลาทูน่ากระป๋องครับ เน้นย้ำนะครับกระป๋องครับ สีเทาคือ อาหารสุนัข อาหารแมว อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของปลา เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ที่ IUU เตือนเรา ให้ใบเหลืองกับเราปี ๒๕๕๙ ยอดส่งออกภาคประมง ของเราถดถอยลง แล้วก็จะเห็นได้ชัดว่าพอปี ๒๕๖๒ IUU ถอนใบเหลืองให้ใบเขียวกับเรา สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น
นายสรวงศ์ เทียนทอง สระแก้ว ต้นฉบับ
แต่อย่างไรก็ตามใน Slide ที่ ๓ ผมมีมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่อยากจะเสนอ ให้กับคณะกรรมาธิการที่จะเข้าไปถกกันเรื่องปัญหา การประมงบ้านเราไม่ใช่มีแค่ประมง พาณิชย์ ประมงทางทะเลนะครับ ท่านประธานเห็นกราฟนี้สีเทาคือปลาทูน่า และสินค้าที่ เกี่ยวข้องก็คือปลาทูน่ากระป๋อง สีเหลืองคืออาหารสัตว์ อาหารสุนัข อาหารแมว ที่มีส่วนประกอบของปลา สีส้มก็คือหมึกกล้วย แต่ที่น่าตกใจคือสีน้ำเงิน สีน้ำเงินไม่ได้ เกี่ยวข้องกับการประมงขนาดใหญ่เลย แต่เป็น ๔ ผลผลิตหลักทางการประมงที่ส่งออก ไปทั่วโลกนั่นก็คือกุ้ง ถ้าจำกันได้เมื่อประมาณ ๑ เดือนที่ผ่านมา เพื่อน ๆ สมาชิกใน สภาแห่งนี้เสนอญัตติในเรื่องของราคากุ้งตกต่ำ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นครับว่าประมง ในบ้านเราควรจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทุก ๆ กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น การประมงเพื่อพาณิชย์ การประมงพื้นบ้าน หรือแม้กระทั่งประมงเพาะเลี้ยง บ้านผมสระแก้ว ไม่มีทะเล ท่าน สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพฯ ก็ไม่มีทะเลครับ แต่เรามีพี่น้อง ประชาชนเกษตรกรชาวประมงที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่งออก อย่างไรก็แล้วแต่วันนี้ผมขอ อนุญาตที่จะสนับสนุนรัฐสภาแห่งนี้ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากฎหมายต่าง ๆ และหาวิธีการแก้ไขให้กับพี่น้องชาวประมงให้ครบวงจรครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านศักดินัย นุ่มหนู เชิญครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคก้าวไกล ผมขอสนับสนุน ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะ การแก้ไขกฎหมายประมงทั้งระบบและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการ ต่อเนื่องและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ต่อญัตตินี้เป็นความดีใจที่มีญัตตินี้ เข้ามาสู่สภา ท่านประธานครับเราทราบกันดีครับว่าจากสมัยที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องปัญหา ของพี่น้องชาวประมง พูดกันมาเยอะมาก แล้วก็ปัญหาของพี่น้องชาวประมงก็ยังดำรงอยู่ แม้จะมีการนำเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา แล้วก็ได้ผ่านในวาระ ๑ แต่ว่าด้วยเงื่อนไข ของเวลาทำให้กฎหมายประมงนั้นไม่สามารถที่จะเข้ามาสู่การพิจารณาในสภาชุดนี้ได้ แต่สิ่งที่มันไม่ได้ตกไปด้วยนั่นก็คือเรื่องปัญหาของพี่น้องชาวประมงที่ยังคงยืนเด่น แล้วก็ยัง เป็นปัญหาที่ท้าทายรอการแก้ไขจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ อันสำคัญที่สภาแล้วก็ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องได้พิจารณาแก้ไขกันต่อไป ผมสนับสนุน ญัตตินี้ ด้วยเหตุผล ๓ ประการด้วยกัน
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ประการแรก อยากจะนำเสนอพูดถึงปัญหาซึ่งสภาพปัญหาของพี่น้อง ชาวประมงก็ไม่อยากที่จะต้องใช้เวลาในการพูดถึงเรื่องนี้เยอะ เพราะว่าก็เป็นที่รับรู้รับทราบ ไปแล้วว่าวันนี้ พี่น้องชาวประมงนั้นเผชิญกับภาวะวิกฤติล้มละลาย เป็นหนี้เป็นสิน บางราย ฆ่าตัวตายจากมาตรการต่าง ๆ จากกฎหมาย จากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เขาไม่สามารถที่จะ ดำรงในอาชีพนี้ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวประมงทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ ทุกคน ล้วนแล้วแต่เผชิญกับสถานการณ์ภาวะวิกฤติเป็นความหายนะในอาชีพของพี่น้องชาวประมง ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็น ที่เราจะต้องมาพูดแล้วก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้กัน ที่มาของปัญหานี้ก็อย่างที่เรา ทราบกันว่าหลังจากที่มีคณะ คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศ มีการออก พ.ร.ก. ๒๕๕๘ โดยเนื้อหาทั้งหมดที่ออกมานั้นเป็นมาตรการในการที่จะบังคับ ควบคุม มีบทลงโทษที่รุนแรง ก็บอกกันง่าย ๆ ว่าอาจจะต้องทำให้เป็นการเอาใจสหภาพยุโรป หรือ EU โดยมีมาตรการที่จะต้องทำให้แก้ไขปัญหานี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน มาตรการต่าง ๆ จึงออกมาด้วยคำสั่ง คสช. ที่ ๑๐/๒๕๕๘ ที่มีการตั้งศูนย์ปราบปรามการทำประมง ที่ผิดกฎหมาย หรือที่เราเรียกกันว่า ศปมผ. ที่มี ผบ.ทร. เป็นผู้ควบคุมที่มีคำสั่งทางทหาร เป็น มาตรการทางทหารที่เข้ามาดำเนินการ เพราะฉะนั้นการดำเนินการต่าง ๆ ในยุคนั้น จนถึงบัดนี้ ๙ ปีมาแล้วจะ ๑๐ ปีแล้วด้วยซ้ำปัญหาของพี่น้องชาวประมงเจอกับภาวะวิกฤติ มาอย่างหนัก เพราะฉะนั้นถัดจากนี้ไปเราทราบแล้วว่าปัญหาที่มาจากนโยบาย หรือมาตรการที่มีบทลงโทษ และไม่มีมาตรการในการที่จะส่งเสริม เน้นในแง่ของการที่จะ ควบคุมเป็นหลักจนทำให้อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเราต้องถึงขั้นวิกฤติทีเดียว ทำให้ประเทศนี้สูญเสียรายได้ เพราะฉะนั้นอนาคตที่เราต้องการจะเห็น ผมถึงต้องเสนอ หลักปฏิบัติ ๖ ข้อด้วยกันที่จะเสนอต่อสภาแห่งนี้นะครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ข้อแรก ก็คือเรื่องของการคำนึงถึงความทันสมัยของกฎหมายที่เราพูดถึงกัน ตอนนี้ที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว การคำนึงถึงความทันสมัย ของข้อกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายประมง หรือว่า กฎหมายแรงงานประมงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นไทยเองเรา ก็เป็นหนึ่งในประเทศเราก็ต้องคำนึงถึงความเป็นหลักการที่เป็นสากล เพราะฉะนั้นกฎหมาย ของเราเองก็ออกมาให้มีความสอดคล้องกับหลักการทางสากล
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ เราต้องการเห็นการกระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมของ พี่น้องชาวประมงให้สามารถที่จะเข้ามากำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบ และวิธีการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการทำประมงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จาก พ.ร.ก. ประมง ปี ๒๕๕๘ มีการปรับปรุง แก้ไขในปี ๒๕๖๐ ซึ่งก็ไม่ได้เพิ่มมาตรการในการส่งเสริมอะไร เพราะว่าที่มาของการกำหนด หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่เป็น ชาวประมงเองที่มีส่วนได้เสียโดยตรงนะครับ เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเห็นเรื่องของ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้กับพี่น้องชาวประมงเข้ามา มีส่วนร่วม
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ ก็คือการวิเคราะห์พฤติกรรมการทำประมง และการวางแบบแผน กฎหมายให้สอดคล้องกับการทำประมงโดยยึดหลักความยั่งยืนของทรัพยากร วิถีการทำ ประมงบางทีผู้ที่ออกกติกาต่าง ๆ เองก็ไม่ได้ทราบ ไม่ได้มีความชัดเจน อันนี้จะมีความ สอดคล้องกับข้อที่ ๒ ว่าการที่ให้มีผู้แทน หรือตัวแทนของพี่น้องชาวประมงนั้นสามารถเข้ามา มีส่วนร่วมก็จะทำให้การออกแบบกติกาต่าง ๆ นั้นเกิดความสอดคล้องครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ข้อที่ ๔ การดำเนินการเพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีการบันทึกรายงาน การติดตาม ตรวจสอบ มีการตรวจสอบย้อนกลับทั้งการทำการประมง การขนส่งสินค้า การควบคุม การมีคนประจำเรือ การนำเข้า ส่งออกสินค้าประมงให้เกิดความสะดวก มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ เราต้องการเห็นมาตรการเหล่านี้ เพื่อความโปร่งใส เพื่อความมั่นคงในการธุรกิจในการประกอบอาชีพไม่ให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมายครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ข้อที่ ๕ ข้อนี้ก็สำคัญ การบริหารจัดการการแต่งตั้งและควบคุมการใช้อำนาจ ของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้ใช้อำนาจที่ถูกต้องแล้วก็เป็นธรรม และใช้มาตรการ ทางการปกครอง รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมสอดคล้องกับโทษที่ได้รับ ที่ผ่านมาโทษของพี่น้องชาวประมงที่ถูกตัดสินตัดสิทธิต่าง ๆ สูงมากอาจจะสูงที่สุดในโลกนี้ ก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นอำนาจของเจ้าหน้าที่เองนี้จะต้องมีการพิจารณาจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องของอำนาจของเจ้าหน้าที่ ทั้งตัวบทลงโทษที่ต้องสอดคล้องไม่ใช่เอาเข้าถึงตายนะครับ
นายศักดินัย นุ่มหนู ตราด ต้นฉบับ
ข้อสุดท้าย การให้มีกองทุน วันนี้พี่น้องชาวประมงล่มสลาย ล้มละลาย เพราะฉะนั้นการที่เขาจะกลับเข้าสู่อาชีพของการทำอาชีพประมงให้รุ่งเรืองเป็นอาชีพที่ส่งต่อ ให้กับลูกหลานเขาได้ การมีกองทุนเพื่อการที่จะกลับเข้ามาประกอบอาชีพนี้จึงมีความสำคัญ และมีความจำเป็นครับ จึงขอสนับสนุนญัตตินี้ครับ ขอขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านอรรถพล ไตรศรี เชิญครับ
นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมก็ขอสนับสนุนญัตติในการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนะการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้วว่าเรามี กฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับกฎหมายการประมงของประเทศไทย แล้วเราก็ยังไปออก พระราชกำหนด ปี ๒๕๕๘ ก็โยงไปเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ IUU ที่กำหนดว่าประเทศไทยเรายังมีการควบคุมการประมงที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น การรายงานหรือการควบคุมการประมงทั้งหมด พระราชกำหนดดังกล่าวในปี ๒๕๕๘ ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการกลั่นกรองจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้การประมงทั้งระบบ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการประมงต้องหยุดการทำประมง หลาย ๆ ท่านต้องถึงกับล่มจมเกี่ยวกับกฎหมาย ฉบับนี้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านก็ได้อภิปรายไปแล้ว วันนี้นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยก็ได้ยื่นหนังสือให้กับกระทรวงแรงงาน ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอาชีพประมงทุกระดับจะต้อง มีผู้ประกอบอาชีพซึ่งเป็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะพม่า กัมพูชา ลาว ต่าง ๆ แต่เราติดขัด เกี่ยวกับกฎระเบียบ กฎกระทรวง หลาย ๆ ฉบับที่ห้ามใช้แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะ การกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษในการทำการประมง ถ้าหากเราขาดแรงงานต่างชาติพวกนี้การประมงก็คงจะเกิดไม่ได้ ผมเองในฐานะที่อยู่จังหวัด พังงา ผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดกว้าง ๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง แต่ผมจะพูดถึงการประมงพื้นบ้านของจังหวัดพังงา ซึ่งผมได้รับการร้องเรียนจาก ผู้ประกอบการประมง
นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการประมงชายฝั่ง ซึ่งประกอบอาชีพในการจับปลาขนาดเล็กนั่นก็คือปลากะตัก หรือบ้านผมเรียกว่าปลาฉิ้งฉ้าง ปลาฉิ้งฉ้างภาคกลางก็เรียกว่าปลากะตัก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นอาชีพหลักของ คนอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในการประกอบอาชีพทำปลากะตักหรือฉิ้งฉ้าง และเป็น รายได้ของจังหวัดพังงา เป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดพังงา เป็นที่ต้องการของประเทศ มาเลเซีย สินค้าปลาฉิ้งฉ้างเป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวประมาณ ๒ นิ้ว หรือ ๑๐ เซนติเมตร อายุก็อยู่ประมาณ ๑-๒ ปี แล้วก็อยู่กันเป็นฝูง แต่ผมได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการจับ ปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้าง เรื่องเกี่ยวกับเขตพื้นที่ในการจับปลา เนื่องจากมีกฎกระทรวง ซึ่ง ออกมาล่าสุดเมื่อ ๒๕๖๕ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยที่แล้ว ได้ กำหนดเขตทะเลชายฝั่งของจังหวัดพังงาในการจับปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้าง บอกว่าถ้าเรือ ขนาด ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป หรือ ๑๐-๒๐ ตันกรอสขึ้นไป ก็ต้องจับปลาฉิ้งฉ้างในระยะทาง ๓-๓.๖ ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง
นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ
อีกประเด็นหนึ่งนะครับ จังหวัดพังงาเรามีเกาะอยู่รอบ ประมาณ ๑๐๕ เกาะ ถ้าเรากำหนดว่าระยะทาง ๓ ไมล์ทะเลถึงชายฝั่ง แต่มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง อีกจุดหนึ่งบอกว่าถ้าเป็นเกาะก็ต้องนับจากชายเกาะออกไปอีกประมาณ ๓ ไมล์ทะเล ทำให้ผู้ประกอบการประมงจับปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้างไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะปลา กะตัก ปลาฉิ้งฉ้างอยู่บริเวณชายฝั่งไม่เกิน ๓ ไมล์ทะเล หรือ ๔ ไมล์ทะเล ทำให้เกิดปัญหา ในการที่ผู้ประกอบการจับปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้างต้องเข้ามาอยู่ในเขตหวงห้ามในน่านน้ำ ที่กำหนดไว้ ให้อยู่ในรัศมี ๓ ไมล์ทะเลไปแล้ว ทำให้มีคดีเกิดขึ้นกับเรือประมง เพราะพบ ปลาฉิ้งฉ้างเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกันยายน ปี ๒๕๖๕ มีคดีเกิดขึ้นกับ เรือประมงที่ถูกจับ โดยเข้ามาจับปลากะตักในพื้นที่เขตหวงห้าม จำนวน ๑๐ กว่าคดี แล้วก็เสียค่าปรับเป็นจำนวนสูงมาก รวมแล้วเกือบ ๓ ล้านบาท ประเด็นที่ผมอยากให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายการประมงช่วยกันพิจารณา คือเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ออกโดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ไม่พิจารณาถึง ความเป็นธรรมหรือความถูกต้องของปลาแต่ละชนิด แล้วก็ค่าปรับที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๑ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่บอกว่าเรือขนาด ๑๐-๒๐ ตันกรอส ถ้าโดนจับก็เสียค่าปรับ ๑๐๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้า ๒๐ ตันกรอสขึ้นไป ก็ ๒๐๐,๐๐๐- ๖๐๐,๐๐๐ บาท ยังไม่พอครับ มาตรา ๑๖๖ กำหนดให้ว่าผู้ประกอบการที่ เป็นเจ้าของเรือก็โดนจับด้วย ต้องเสียค่าปรับด้วย เท่ากับเป็นค่าปรับ ๒ ซ้อน ซ้ำซ้อนกันอยู่ ๒ ลักษณะ คือผู้ประกอบการเรือ แล้วก็เจ้าของเรือทำให้ความเป็นธรรมในการเสียค่าปรับนี่สูงขึ้น ชาวประมงที่ทำเกี่ยวกับปลากะตักเขาประกอบอาชีพเรือขนาด ๑๐ ตันกรอส ๒๐ ตันกรอส ซึ่งลงทุนโดยไม่มาก แต่ว่าเวลาเสียค่าปรับเสียเยอะเป็นการเสียค่าปรับที่ซ้ำซ้อน และไม่ได้ สัดส่วนของความเป็นจริงนะครับก็อยากให้คณะกรรมการวิสามัญที่จะพิจารณาเกี่ยวกับแก้ไข กฎหมายการประมงช่วยกันพิจารณาต่อไปนะครับ ผมก็ขอขอบคุณที่ได้มีคณะกรรมการ วิสามัญที่จะเกิดขึ้นในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายการประมงทั้งระบบนะครับ ก็ขอขอบคุณ ท่านประธานเป็นอย่างสูงครับ สวัสดีครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปอีก ๓ ท่านนะครับ ท่านแรกท่านพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ท่านที่ ๒ ท่านธีระชัย แสนแก้ว ท่านที่ ๓ ท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ เชิญท่านพงศธร ศรเพชรนรินทร์ เชิญครับ
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง เขตอำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมาครับ ท่านประธานครับ ความทุกข์ของชาวประมงจังหวัด ระยองบ้านผมเกิดจากการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวประชาชนอย่างเท่าเทียมกันมาเนิ่นนาน ขอ Slide แผ่นที่ ๑ ขึ้นได้เลยนะครับ
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
ชาวประมงระยองของเราได้รับ ผลกระทบมายาวนานตั้งแต่โครงการ Eastern Seaboard ถมทะเลมาบตาพุด Phase 1 Phase 2 Phase 3 รวมถมไปแล้วกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ การชดเชยเยียวยาก็ไม่ได้สัดส่วนครับ สอง มาตรฐาน ดังที่ สส. กฤช ศิลปชัย พูดไปเมื่อสักครู่ครับ ที่ชลบุรีถมทะเลเหมือนกันดำเนินการ โดยสำนักการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีมาตรการที่ยอมรับได้ ชดเชยเป็นธรรม แต่ที่ระยอง ดำเนินการโดย กนอ. มาตรการชดเชยเยียวยาต่างกันลิบลับ นี่ยังไม่นับว่ามาบตาพุด Phase 1 Phase 2 ไม่มีการชดเชยเยียวยาใด ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่หากินของ ชาวประมงหายไปกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ ไม่เพียงเท่านั้นชายทะเลระยองของเรามีค่ายทหารแห่งหนึ่ง ก็ห้ามเข้าทำการประมงในรัศมีจากค่ายอีก ๑ ไมล์ทะเล พื้นที่ก็หายไปอีก แถมยังมีกรณี น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ ๒ ครั้งในปี ๒๕๕๖ และปี ๒๕๖๕ กระทบการทำมาหากินอย่างหนักหน่วง การชดเชยเยียวยาล่าช้าและเบาหวิว การฟื้นฟูทะเลไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ทะเลระยอง บอบช้ำจากการพัฒนาอุตสาหกรรม มีสิ่งแปลกปลอมลงทะเลส่งผลกระทบทางทะเลมากมาย ต่อเนื่องหลายสิบปี ชาวประมงระยองบ้านผมก็บอบช้ำหนักพออยู่แล้ว ยังมาโดนกฎหมาย ประมงกระทืบซ้ำอีก หลายคนอาการสาหัส หลายคนต้องจบชีวิตการเป็นชาวประมง
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
ในด้านกฎหมายประมงที่ออกมาก็มาแบบคุณพ่อรู้ดี คนออกกฎหมาย ไม่เข้าใจชาวประมง ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมออกแบบ ออกกฎมาขังชาวประมง พื้นบ้านบอกไม่ให้ออกเกิน ๓ ไมล์ ๕ ไมล์ อ้างเป็นห่วงความปลอดภัย บอกว่าเรือเล็กไม่ควร ออกจากฝั่ง รู้จักชาวเลน้อยเกินไปครับ ชาวเลรู้จักคลื่นลม โขดหิน เกาะแก่ง เขารักชีวิต และประเมินตัวเองได้ว่าเรือเล็กควรออกจากฝั่งไปได้ไกลแค่ไหน นี่ภาษาชาวทะเลบ้านผม เขาบอกว่าไม่รู้จักคลื่นอย่าวิจารณ์ทะเล ชาวประมงพื้นบ้านระยองถูกขังอยู่ที่ชายฝั่ง ซึ่งก็ถูกแย่งพื้นที่ไปกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ หน้าค่ายทหารก็เข้าใกล้ไม่ได้ นี่จะบีบคั้นกันไปถึงไหน ประมงชายฝั่งไม่สามารถออกหากินได้เกิน ๓ ไมล์ทะเล แต่สัตว์น้ำที่ประมงต้องการจับ จำนวนมากอยู่นอกเขต ๓ ไมล์ทะเล ทะเลในเขต ๓ ไมล์ทะเลก็ถูกจำกัด ถูกแย่งชิงพื้นที่ นี่ทำให้ชาวประมงหลายครอบครัวไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ที่ออกได้ก็ได้กุ้งหอยปูปลา น้อยส่งผลต่อสถานภาพและสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า ทำให้ชาวประมงบางรายต้องตัดสินใจ ขายเรือประมงของตนเองเพื่อแสวงหาอาชีพใหม่ ผมเข้าใจดีครับว่าเจตนาต้องการออก กฎหมายมาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจาก EU ต้องการแก้ปัญหา IUU Fishing ก็พอเข้าใจได้ แต่ที่ออกกฎหมายมาไม่ถามสุขภาพชาวประมงสักคำ มาตรการเหล่านี้ได้สร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อชาวประมงอย่างมาก เช่น เรื่องอาชญาบัตร เครื่องมือประมงอีกครับ ส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาชญาบัตร หรือบางครั้งมีก็ผิดประเภท เพราะตามวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านจะมีการปรับเปลี่ยน เครื่องมือของตนให้สอดคล้องกับฤดูกาล และประเภทสัตว์น้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน รายเดียวมีเครื่องมือประมงหลากหลายชนิด แต่กลับกำหนดให้เรือประมง ๑ ลำ มีอาชญาบัตร ๑ ใบ จึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวประมง ผมยังมีกรณีตัวอย่าง ปัญหาจากกฎหมายประมงที่กระทบต่อชาวประมงที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ เล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ให้เห็นอีกบางกรณี
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของลุงศาลครับ เห็นลุงศาลยืนอยู่ แกเคยมีเรือ ๒ ลำ ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว หลังจากประกาศใช้กฎหมายประมงชุดปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถออกเรือทำมาหากินได้ เพราะกฎหมายที่บีบบังคับให้ตั้งอุปกรณ์ในราคาแพง การแจ้งเข้าแจ้งออก และปัญหาแรงงานทำให้มีต้นทุนที่สูงและยุ่งยากจนไม่สามารถปฏิบัติ ตามได้ทั้งหมดด้วยทุนรอนน้อย ทำให้ลุงศาลไม่สามารถออกเรือทำมาหากินได้ ต้องปล่อยให้ เรือจม ยุติอาชีพเรือประมง ต้องมาหาเลี้ยงชีพด้วยการยกยอเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้อยู่รอด
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
เรื่องของเรือ ช. ศิลป์ชัยที่บ้านเพ เจ้าของเรือบอกว่าปี ๒๕๕๘ ประกาศใช้ กฎหมายประมง ชาวประมงแทบไม่รู้ข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดของกฎหมาย ขาดความรู้ความเข้าใจ หน่วยงานบอกว่าห้ามออกเรือเกิน ๑ เดือน ซึ่ง ๑ เดือนมันมีทั้ง ๓๐ วัน และ ๓๑ วัน เหตุเกิดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ชาวประมงก็พาซื่อเข้าใจว่า ๑ เดือนคือนับ ๓๑ วัน เพราะเป็นเดือนสิงหาคม เจ้าของเรือจึงเอาเรือเข้านับ ๓๑วัน แต่กฎหมายกลับนับแค่ ๓๐ วัน ก็เกินเวลาไปแค่ ๘ ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าโดนสั่งฟ้องศาล เสียค่าปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท สั่งพักใบอนุญาต ริบเรือประมง ต้องจอดเป็นเวลากว่า ๕ ปี การจอดเรือทำให้สูญเสียเครื่องมือในการทำมาหากิน มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาต่อเดือนกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่หากินไม่ได้
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
อีกกรณี ผู้ประกอบการเรือประมงรายหนึ่งเคยมีเรือประมง ๙ ลำ โดนฟ้องร้องเนื่องจากต้องเอาเรือขึ้นคานแต่ไม่ได้แจ้งก่อน เมื่อเอาเรือขึ้นคานแล้ว ด้วยความหวังดีไปบอก PIPO ว่าตนเองลืมแจ้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับดำเนินคดียึดเรือ เสียค่าปรับเป็นแสนบาท จากมีเรือ ๙ ลำ โดนคดี ๑ ลำ ต้องขายเรือลำอื่น ๆ ในราคาถูกเพื่อ ธุรกิจไปต่อได้ ปัจจุบันเหลือเรือประกอบอาชีพประมงเพียงแค่ ๒ ลำ จากกรณีทั้งหมดมี คำถามว่าผู้ประกอบการประมง และคนในสังคมเห็นตรงกันว่ากฎหมายประมงมันโหดร้าย รุนแรง และหนักหน่วงเกินไปกับบทลงโทษ ซึ่งผู้ประกอบการอีกหลายที่โดนจับ โดนปรับ สั่งล็อกเรือ ทำมาหากินไม่ได้ต้องเลิกทำประมง หมดอาชีพ ติดหนี้ ครอบครัวล่มสลายจากกฎหมายประมง
นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ระยอง ต้นฉบับ
ดังนั้นผมจึงสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมา แก้ปัญหา โดยเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงมีส่วนร่วมออกแบบกฎหมายร่วมกัน ไม่มีใครรู้ เรื่องประมงดีเท่าชาวประมง เราต้องช่วยกันแก้ไขกฎหมายให้กฎหมายประมงเป็นเครื่องมือ ในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับแต่ละบริบทของพื้นที่ ให้แต่ละ จังหวัดใช้คณะกรรมการประมงจังหวัดกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับ พื้นที่และวิถีการทำประมง รวมถึงแก้กฎหมายอื่น ๆ ที่กระทบกับประมงให้ได้รับ ความเป็นธรรม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคืนอาชีพ คืนชีวิต คืนศักดิ์ศรีให้ชาวประมง ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธีระชัย แสนแก้ว เชิญครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ผมใคร่ขอ อนุญาตในการอภิปรายสนับสนุนญัตติที่เพื่อนสมาชิกหลายท่าน โดยเฉพาะญัตติ ของท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง และเพื่อนสมาชิกที่ได้เสนอ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องประมง ทั้งกฎหมาย เพื่อให้จัดการอย่างเป็นระบบ ผมเป็น สส. อีสานก็ต้องพูดเรื่องประมง เพราะว่าประมง ไม่ใช่จะมีแต่ประมงทะเลเท่านั้น ประมงน้ำจืดก็มี ภาคอีสานมีแหล่งน้ำเยอะแยะ อยากจะขอ กราบเรียนว่าในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดในภาคอีสานตอนบน เราสามารถเลี้ยง กุ้งก้ามกรามได้ เมื่อก่อนพี่น้องชาวอุดรธานีกว่าจะได้กินอาหารทะเลมันต้องใช้ระยะเวลามาก ต้องซื้อกุ้ง ซื้อปลาซื้อราคาที่แพงกว่าจะมาถึงพัทยากว่าจะถึงทะเล เพราะฉะนั้นเราสามารถเลี้ยงกุ้งได้ ตลอดแต่ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมานั้น ผู้บริหารของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านก็มี วิสัยทัศน์กับพี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานีโดยการส่งเสริมเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ก็คือต้องเอ่ยนาม ท่านนายกวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมทั้งกรมประมง ประมงจังหวัดอุดรธานี มีโครงการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม และนำส่งปล่อยแหล่งน้ำทั้งหมด ๗๒ แห่งของจังหวัดอุดรธานีในโครงการสร้างรายได้เสริมอาชีพประมงให้กับแหล่งชุมชน จนกระทั่งทุกวันนี้พี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานีจะซื้อกุ้งในราคาไม่แพงเหมือนเดิม พี่น้อง ชาวอุดรธานีหรือภาคอีสาน อีสานตอนบนก็จะเปิดฟาร์มเพาะกุ้งก้ามกรามทั่วจังหวัดและสร้าง รายได้ให้กลับสู่จังหวัดอย่างมากมายที่ผมกราบเรียนไป แต่มันก็มีประเด็นของ พระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้พี่น้องประชาชนชาวประมงพื้นบ้านได้รับ ผลกระทบกับการประกอบอาชีพไม่น้อย ซึ่งที่ผ่านมารัฐใช้มาตรการเชิงสั่งการควบคุม ทั้งในรูปแบบห้ามใช้เครื่องมือบางประเภท ทำการประมงตามฤดูกาล ห้ามทำการประมง บางพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องประมงด้านน้ำจืดยังต้องขออนุญาตสำหรับใช้เครื่องมือในการ ทำประมง และมีค่าใช้จ่ายในการติดอากรใบอนุญาต เช่นต้องขออนุญาต เครื่องมือแหเฉย ๆ ก็ต้องขออนุญาต หรือยอสะดุ้ง ท่านประธานรู้จักสะดุ้งไหม ยกสะดุ้งขึ้นมาเวลาเขา ไปหาปลา เรื่องนี้ควรจะต้องมีการแก้ไขและให้ยกเลิกไปครับท่านประธาน และส่วนการห้าม ทำการประมงบางฤดูกาล ห้ามพี่น้องชาวประมงในฤดูน้ำจืด ประมงน้ำจืดโดยในช่วงวางไข่ เป็นระยะ ๓ เดือน ในช่วงระยะ ๓ เดือนนี้ทางกรมประมงเขาก็มีข้อห้าม แต่พวกเราอยากจะ ขอให้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อที่จะให้มีการช่วยเหลือ ไม่ต้องออกกฎหมายให้มีการช่วยเหลือ ในช่วง ๒-๓ เดือน เขามีอาชีพประมงก็คือประมงอย่างเดียว กระผมเห็นว่าหากรัฐ มีความจำเป็นเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำในฤดูวางไข่ก็ควรจะมีการช่วยเหลือพี่น้องที่เป็นชาวประมง พวกนี้ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านหาเช้ากินค่ำ หรือกรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงปลาในกระชัง ในแหล่งน้ำสาธารณะ นอกจากต้องขออนุญาตตามกฎหมายประมงแล้ว ยังต้องขออนุญาตกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เวลาขออนุญาตเสียเงินนะครับ ถ้าขออนุญาตก็คือการเสียเงินนั่นละครับ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของเกษตรกรประมง กระผม เห็นว่าสมควรให้ได้รับการแก้ไขเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ ให้มากขึ้น และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพที่สุจริตของพี่น้องชาวประมง นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เกิดปัญหากับพี่น้องชาวประมง ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาเกี่ยวข้องกับเรื่องการประมงนี้นอกจากการศึกษาทางด้านกฎหมายแล้ว กระผมเห็นควรที่จะมีการเพิ่มเติมอย่างนี้ว่าควรพิจารณาศึกษาแนวทางด้านฟื้นฟูทรัพยากร น้ำจืดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังในอดีต เพื่อให้พี่น้องชาวประมงไม่ต้องอพยพไปต่างถิ่น เช่น กรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล หรือไปทำงานต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอิสราเอล ทุกวันนี้มันก็มีปัญหา ที่มีความเสี่ยงภัยตามที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ให้มีความจำเป็นต้อง พิจารณาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้กระผมขอยกตัวอย่างที่ได้เตรียมข้อมูลมาที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข ของทรัพยากรสัตว์น้ำของจังหวัดอุดรธานี ข้อมูลการผลิตน้ำจืดจับปลาได้จากแหล่งธรรมชาติ เมื่อปี ๒๕๖๐ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ชาวประมงจับได้ถึง ๗,๕๑๒ ตัน มีมูลค่าตั้ง ๔๖๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ ชาวประมงจับปลา ได้ ๗,๒๔๗ ตัน มีมูลค่า ๑๙๔ ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าลดลงมาเนื่องจากมีปัญหา เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนประมง ซึ่งประกอบอาชีพด้านการทำประมงน้ำจืด ต้องเปลี่ยนอาชีพอพยพไปทำงานที่ชุมชนอื่น เช่น ชุมชนน้ำพ่น ตำบลน้ำพ่น ชุมชนหนองอ้อน้อย หนองบัวบ้าน หนองวัวซอ ชุมชนน้ำผึ้ง ชุมชนนาไหม อำเภอบ้านดุง ชุมชนบ้านท่าเสียว ตำบลสร้างคอม แม้กระทั่งชุมชนบ้านแหลมทอง อำเภอวังสามหมอ ที่ผมพูดนี่ต้อง ยกตัวอย่างมันชุมชนหาปลาทั้งนั้น เขาจะมีชื่อเสียงในการที่จะทำปลาส้มขาย อีกนิดเดียว
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ข้อ ๒ ควรพิจารณาศึกษาการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากร น้ำด้านการประมง น้ำจืดให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนประมงพื้นบ้านให้มากขึ้น เช่นอนุญาตในการใช้ประโยชน์รายได้จากทรัพยากรควรมีการตั้งงบเพื่ออุดหนุนชุมชน ประมงท้องถิ่นในการนำไปจัดบำรุงรักษาอนุรักษ์การฟื้นฟูโดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นประโยชน์ ของผู้คนในท้องถิ่นมากขึ้น
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ข้อ ๓ ควรพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบการแพร่ขยายพันธุ์ผักตบชวา จอกหูหนูยักษ์ วัชพืชอื่น ๆ น้ำอื่น ๆ แหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง ปัญหาการแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว เช่น ผักตบชวา จอกหูหนูหูยักษ์ และวัชพืช น้ำในแหล่งน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง เช่น น้ำหนองหาน อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอกู่แก้ว ลำน้ำปาวซึ่งเป็นหางลำน้ำปาว ซึ่งต้นหัวลำปาวก็จะอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หางลำน้ำปาวอยู่จังหวัดอุดรธานี อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างน้ำพาน อ่างน้ำกุดลิงง้อ ในจังหวัดอุดรธานีมากขึ้น ซึ่งมีวัชพืชต่าง ๆ อย่างนี้มากมาย เราก็ควรจะกำจัดสิ่งเน่าเสีย พวกนี้ซึ่งเป็นการกีดขวางสัญจรทางน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำและหนาแน่นขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของปลา ของพี่น้องชาวประมง ส่งผลกระทบต่อการประมง พื้นบ้านครับ เช่น เลี้ยงปลาในกระชัง รวมทั้งทัศนียภาพแหล่งน้ำ และการท่องเที่ยว การกำจัดก็ยากลำบากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก จึงขอให้มีการศึกษาพิจารณา เป็นวาระเร่งด่วนนะครับ ผมขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องประมง ในคราวนี้ครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสมชาติ เตชถาวรเจริญ เชิญครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ จากพรรคก้าวไกล ผมขอสนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ แต่ก่อนที่ผมจะเข้าสู่การอภิปราย ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานไปถึงท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จากพรรคภูมิใจไทย เมื่อสักครู่นี้ท่านบอกถึงจังหวัดอันดามัน พอดีเผอิญท่านไม่ได้บอกถึงจังหวัดภูเก็ต ผมขอเรียน ว่าจังหวัดอันดามันที่ทำการประมงยังมีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นไข่มุกอันดามันอยู่ด้วยครับ เมื่อ พูดถึงจังหวัดภูเก็ตหลายท่านนึกถึงเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่ง บันเทิงแสงสีอันดับต้น ๆ ของโลก แต่จริง ๆ แล้วในอีกมุมหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตยังมีกลุ่ม ชาติพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวเลอูรักลาโว้ย ชาวเลมอแกน ซึ่งมีอาชีพหลักเป็น ชาวประมงพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาหลายปีนี้ชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ต้องบอบช้ำ จากกฎหมายประมงที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมารีดค่าปรับจากชาวบ้านผู้ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เป็นกฎหมายที่ไม่เข้าใจถึงวิถีดั้งเดิมของประมงพื้นบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินโดยสุจริต โดยไม่ได้ใช้เครื่องมือต้องห้ามตามกฎหมายแต่ อย่างใด แต่อยู่ดี ๆ รัฐบาลออกกฎหมายประกาศเขตอุทยานตามเกาะต่าง ๆ เมื่อชาวเล โดยเฉพาะชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์ออกไปจับปลา จับสัตว์ทะเลในเขตอุทยานก็จะถูกเจ้าหน้าที่ จับกุม ถูกยึดเรือ ถูกยึดเครื่องมือทำมาหากิน ถูกดำเนินคดี ผมคิดว่าวันนี้ต้องออกมาพูดแทน พี่น้องประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือโทงหัวไม้ รวมถึงพี่น้องชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์ทุกชนเผ่า ไม่ใช่เฉพาะภูเก็ต แต่รวมถึงพี่น้องประมงพื้นบ้านและกลุ่มชาวเลทุกชนเผ่าทั่วทั้งประเทศ ว่าวันนี้ไม่ใช่เฉพาะ พ.ร.ก. การประมงที่ขูดรีดประมงพื้นบ้าน แต่เป็นกฎหมายประมงไปละเมิดการทำมาหากิน โดยสุจริตของชาวประมงพื้นบ้าน โดยการประกาศเขตอุทยาน ชาวประมงพื้นบ้านหลายคน ต้องหยุดประกอบอาชีพประมง หลายคนต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพียงเพราะคนร่างกฎหมาย ไม่เข้าใจบริบทของประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่ออกไปทำมาหากินโดยสุจริตโดนจับ ปรับเป็นแสนเป็นล้านเลยครับท่านประธาน เป็นค่าปรับที่โหดร้ายมากสำหรับคนทำมาหากิน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งรัฐควรจะส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนในการทำ ประมงพื้นบ้าน แต่กลับไม่มีการให้ความรู้ ไม่มีการให้การช่วยเหลือ คอยแต่จ้องจะเอารัด เอาเปรียบกับชาวบ้าน พระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ใช้บังคับกับเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป และใช้บังคับกับเรือประมงพื้นบ้านตามมาตรา ๑๗๔ ส่วนกฎหมายที่มีการแก้ไขในปี ๒๕๖๐ ใช้บังคับกับเรือประมงที่ต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส โดยมีคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔/๒๕๕๘ และคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ไปดำเนินการ ตามคำสั่งดังกล่าวดังต่อไปนี้ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
๑. เรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส คือเรือที่มีเครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้า ๒๘๐ แรงม้าขึ้นไปถือว่าเป็นเรือประมงพาณิชย์ ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
๒. เรือทุกขนาดที่ใช้เครื่องมือตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ให้เป็นเรือประมงพาณิชย์ ต้องทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง ทะเลเท่านั้น ห้ามใช้เครื่องมือตามประกาศดังกล่าวในเขตทะเลชายฝั่งโดยเด็ดขาด ตามมาตรา ๕ ซึ่งเป็นคำนิยามของเรือประมงพาณิชย์
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
เรือประมงพื้นบ้านทุกวันนี้โดนจับทั้ง ๆ ที่มีขนาดเพียง ๓ ตันกรอสบ้าง ๔ ตันกรอสบ้าง เป็นเรือประมงตามประกาศคำสั่ง คสช. ข้อที่ ๔ (๑๓) และเป็นเรือประมง ตามมาตรา ๔ (๒) ซึ่งยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับ และเป็นการผ่อนผันให้ประมงพื้นบ้าน ทำการประมงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตก็คือเรือประมง พื้นบ้านที่ใช้ลอบดักปู ขนาดเกินกว่า ๒.๕ นิ้วขึ้นไปเป็นเครื่องมือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้ประกาศว่าห้ามใช้แต่อย่างใด ส่วนเครื่องมือตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ได้แก่ ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบเล็กกว่า ๒.๕ นิ้ว ถือเป็นเครื่องมือต้องห้าม ห้ามใช้ทั้งนอกและในเขตทะเลชายฝั่ง แต่ในเขตกฎหมายผ่อนผัน ให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กใช้ได้ไม่เกิน ๓๐๐ ลูกครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็น พระราชกำหนดก็ดี คำสั่ง คสช. ก็ดี ประกาศกรมประมง มาตรา ๗๐ เรื่องฤดูวางไข่ก็ดี ประมงพื้นบ้านไม่มีความผิด แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ได้ทำการ ตรวจสอบ รวมถึงอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗๐ การเปรียบเทียบปรับทำให้ประชาชน ที่เป็นประมงพื้นบ้านทุกวันนี้ต่างก็มีความเคลือบแคลงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมอาจจะทำ รายงานเท็จหรืออาจจะไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างครบถ้วน
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ส่วนกฎหมายที่ควรได้รับการแก้ไขมานานแล้วก็คือ พ.ร.ก. ประมง ชาวประมงพื้นบ้านไปประท้วงกันเป็นสิบ ๆ รอบ ไปอธิบายให้ฟังกันเป็นสิบ ๆ รอบกลับไม่ได้ อะไรกลับมาเลยครับท่านประธาน ทราบไหมครับว่าวันนี้ทีมงานผู้ช่วยของผมซึ่งอยู่ ฝ่ายกฎหมายต้องไปศาล ต้องไปอัยการ ช่วยเหลือคดีความแก่ชาวประมงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เหล่านั้นจากการที่ถูกริบเรือ ถูกยึดเครื่องมือทำมาหากิน จนต่อมาเมื่อคดีสิ้นสุด ศาลสั่ง ให้คืนเรือ กลับไม่ได้เรือคืนก็ต้องมาร้องเรียนที่ สส. จนผมส่งทีมงานไปก็พบว่าเกิดจาก ชาวบ้านทำเอกสารราชการเพื่อขอของกลางคืนไม่เป็น
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
อีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก ภูเก็ต เรามีพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งประมงพื้นบ้าน ณ ขณะนี้แทบจะหากินไม่ได้เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้องไปดำน้ำลึก ออกจากชายฝั่งออกไปไกลเป็นโรคน้ำหนีบเนื่องจากการดำน้ำลึก ปัญหาจาก โรคน้ำหนีบคืออะไรครับ ทำให้ประมงพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน พิการไปหลายรายแล้วครับท่านประธาน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำ จังหวัดภูเก็ต มีห้อง Chamber ตู้ Chamber หรือตู้ปรับอุณหภูมิเพียงแค่ ๑ ตู้ มันไม่เพียงพอ ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ผมขอสรุปว่าตามมาตรา ๔ (๒) แห่งพระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้ตราขึ้นมาเพื่อปกป้องและคุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนประมงพื้นบ้าน และชุมชนประมงท้องถิ่น ผมจะขอให้ท่านสมาชิกทุกท่านในที่นี้ได้โปรดเห็นใจชาวบ้าน และสนับสนุนการการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้เพื่อช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ด้วย ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่าน ท่านแรกท่านวรวิทย์ บารู ท่านที่ ๒ ท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ท่านที่ ๓ ท่าน ฐิติมา ฉายแสง เชิญท่านวรวิทย์ บารู ครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ ปัตตานี พรรคประชาชาติ ขออภิปรายร่วมแสดงความเห็น แล้วก็เห็นด้วยกับผู้ที่ยื่นญัตติ ท่านประธานครับ กฎหมายที่เราใช้อยู่ที่ออกโดยรัฐบาลที่ผ่านมาถ้าจะเปรียบแล้วก็ราวกับว่ายื่นหมอนให้กับคน ที่กำลังง่วงอย่างเต็มที่ก็เลยเกิดปัญหานี้นะครับ เหมือนที่เราหลาย ๆ คนได้อภิปรายกันไป เราปลดใบเหลืองจาก IUU แต่เราให้ใบแดงแก่ประชาชนของเรา แก่ชาวประมงของเรา อันนี้เป็นสิ่งซึ่งเราจะต้องแก้ไขเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องแก้ไขในประเด็นเหล่านี้ การออก กฎหมายเพื่อบังคับใช้นั้นอย่างน้อยเราต้องคำนึงถึงหลาย ๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดวัฒนธรรม การดำรงชีวิต วิธีคิด วิถีที่เขาดำเนินอยู่ของชาวประมง แต่จากการที่ยึดเอากฎหมายประมง ที่ใช้อยู่ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ผลกระทบหนึ่งที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเลือกตั้งของผม เท่าที่ผมทราบและผมลงพื้นที่นี่ทำให้คนเสียชีวิต ๒ คน แล้วก็เกิดในสภาพที่ตกใจยังรักษาอยู่ อีก ๑ คน นี่คือผลกระทบโดยตรงนะครับ ชาวบ้านซึ่งมีวิถีการดำเนินชีวิตในประมงพื้นบ้าน ก็ทำการจับปลาในลักษณะตามที่ตัวเองดำเนินการมา แต่ก็ปรากฏว่าการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ทำให้สิ่งที่ความที่เราไม่แน่ใจที่จะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น เกี่ยวกับกฎหมาย ประมงนั้นแน่นอนระเบียบที่มีมากมายจิปาถะที่เกินความจำเป็นจากกฎหมายนี้ จะต้อง ยกเลิก ไร้ความจำเป็น แต่เราก็ให้มันมีขึ้นมาจนเกิดผลกระทบแก่ผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้าน การประมง โดยเฉพาะยังขัดกับวิถีชีวิตที่เขาดำรงอยู่เป็นร้อย ๆ ปี ที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเรา จะพัฒนาการประมงให้อยู่ในสภาวะที่ดีไม่ได้ เราสามารถจะทำเพื่อรักษาไว้ซึ่งประมง ทั้ง ๒ รูปแบบ คือประมงพื้นบ้าน แล้วก็ประมงพาณิชย์ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็จะต้องเข้าใจด้วย ในนโยบายการฟื้นฟูอาชีพประมง เพื่อให้สามารถดำเนินไปได้เป็นคู่ขนานกันไป แต่ถ้าหากว่า เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้ยัดเยียดความผิดเหล่านี้แก่ประชาชน ผู้ซึ่งประกอบอาชีพ แล้วก็บางครั้งก็เกิดการต่อรองโดยใช้ระบบศาลเตี้ย บางทีก็จับไป แล้วก็ต่อรองกันไปก็เรียกรับอะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แล้วก็ควรที่จะหยุด การใช้วาทกรรม คำพูดที่ว่ากฎหมายประมงแม้เกิดความผิดโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด ที่จะต้องลงโทษ อันนี้ชาวบ้านบอกอย่างนี้ เวลาโดนก็ถูกวาทกรรมอันนี้โดยเจ้าหน้าที่ก็พูด อย่างนี้ตลอดมา ซึ่งควรที่จะใช้มาตรการทางด้านการปกครองหลังจากศาลมีคำสั่งหรือว่า ตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร ก็ควรที่จะใช้กฎหมายอันนี้ขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่เองก็บังคับ ให้เรือจอด ซึ่งบางทีถ้าเราดูไปมันก็ผิดกฎหมายทางอาญาด้วย เพราะฉะนั้นผมว่าสิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดขึ้น แต่ก็บังเกิดอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกัน เรือเล็กพื้นบ้านถูกยัดเยียดความเป็นเรือประมง บังคับให้ออก แล้วก็โดยเครื่องมือการจับปลา บังคับให้เรือประมงซึ่งไม่เคยออกทะเลนอกจะต้องออกทะเลนอก เรือขนาดนั้นไปประกอบอาชีพ ประมงในทะเลนอกนะครับ ผมเข้าใจว่าโดยศักยภาพแล้วมันจะทำอะไรได้ แล้วก็ยิ่งกว่านั้น มันจะเกิดอันตรายไม่มีความปลอดภัย อันนี้เกิดจากการที่กฎหมายมีปัญหา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
ต่อไปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายแรงงาน กฎหมายแรงงานนี่ถึงแม้ว่าเรา จะดูเหมือนว่าให้สิทธิแก่แรงงานแต่ก็ให้สิทธิเกินความเป็นจริงจนสร้างวัฒนธรรมที่ ไม่ค่อยดีนักแก่แรงงาน นั่นก็คือแม้จะไม่ทำงานแต่ก็ได้รับค่าจ้าง การออกกฎหมายที่มันมี ดุลยภาพที่คำนึงถึงชาวประมงทั้ง ๒ ลักษณะ คือประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ รวมทั้ง กฎหมายที่จะประคับประคองให้ชาวประมงไทยไปได้กับกฎหมายนานาชาติก็ควรที่จะกระทำ กันไป สิ่งที่เราควรจะทำเป็นอย่างยิ่งก็คือการให้ความรู้แก่พี่น้องชาวประมงแทนที่เราจะมี กฎหมายแล้วใช้กฎหมายอย่างที่อีกด้านหนึ่งผู้ที่ถูกกฎหมายนี้เล่นงานก็อยู่ด้วยการไม่สบายใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวิทย์ บารู ปัตตานี ต้นฉบับ
ทีนี้สิ่งที่เราขาดไปอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะทำนะครับ เพื่อนผมมีคานเรือ ซึ่งก่อนหน้านี้เรือทางมาเลเซีย เรือทางไหนก็มาใช้บริการ แล้วก็เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ แก่เขาค่อนข้างเยอะเพราะเขาเป็นคนมีสตางค์ แต่วันนี้ร้าง ร้างจนไม่สามารถจะทำอะไรได้ แล้วก็อีกหลายอย่างที่เราควรจะทำควบคู่กันไป ไม่ใช่เรือที่ทำด้วยไม้เหมือนกับของเรา ไปตีความเอาด้วยกฎหมาย IUU เป็นเรื่องเหล็กที่ออกทะเลกว้างทะเลลึกได้มันก็มีปัญหา อย่างที่เกิดขึ้นแก่ชาวประมงของเรา ส่วนที่จะต้องเพิ่มที่ตรงนี้ก็คือการที่ให้ความรู้กับ ชาวประมงของเราเพื่อพัฒนาเขาให้ไปสู่ความถูกต้องแล้วก็การมีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวรภพ วิริยะโรจน์ เชิญครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวประมง ทั้งระบบ เหตุผลก็แน่นอนครับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค้างคามา ๘ ปีแล้วที่ชาวประมงได้รับความ เดือดร้อนจากการออกกฎเกณฑ์ที่ขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวประมง แล้วก็เป็นอะไรที่ พี่น้องชาวประมงก็ตั้งหน้าตั้งตารอมา ๘ ปีแล้ว แล้วก็ ๕ เดือนแล้วหลังเลือกตั้งที่ชาวประมง ก็คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ก็เข้าใจดีว่าเป็นเพียงแค่ ๑ เดือนที่มีรัฐบาลชุดใหม่ เข้าไปทำหน้าที่ แต่ผมคิดว่าการมีคณะกรรมาธิการวิสามัญนี่จะสามารถเป็นสะพานเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ หรือ แม้กระทั่งนักอนุรักษ์ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับทั้งฝ่ายบริหารเองได้ด้วย ดังนั้นจึงมี ความเห็นเป็นอย่างยิ่งว่าที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อมาศึกษาแก้ไขปัญหา ให้พี่น้องชาวประมงตรงนี้ แล้วก็ต้องย้ำอีกทีหนึ่งว่าปัญหาของพี่น้องชาวประมงจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้มีแค่เรื่องของกฎหมายประมงแต่เพียงอย่างเดียว มันมีกฎหมายกรมเจ้าท่า กฎหมาย แรงงาน ไม่ได้มีเรื่องของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ก็มีเรื่องงบประมาณ มีเรื่องของนโยบาย มีเรื่องของการบังคับใช้ แล้วก็การสนับสนุนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีกหลายประเด็น ดังนั้นมัน เป็นการดีอย่างยิ่งถ้าสภาแห่งนี้จะได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาร่วมกันนะครับ ซึ่งใน ระหว่างนี้ผมก็อาจจะขออภิปรายเสนอแนะว่าสิ่งที่ชาวประมงเขาคาดหวังว่าจะเห็นการ เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรัฐบาลสมัยนี้มีอะไรบ้าง แล้วก็ยิ่งถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ รวดเร็วก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมจะขอไล่จากมาตรการที่สามารถทำได้รวดเร็วที่สุดไปยังมาตรการที่ใช้ เวลานานกว่า เอาตั้งแต่ประเด็นอย่างเช่น การตีความกฎหมาย ท่านประธานอาจจะไม่ทราบ ว่าจริง ๆ แล้วถ้าภาครัฐเปลี่ยนการตีความนิดหน่อยเพียงว่าถ้ามีการจ่ายค่าปรับตามคำสั่ง ปกครองแล้วกรมประมงสามารถยุติการกักเรือได้เลย เพราะกฎหมายเขียนไว้คำว่า หรือ เท่านั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวประมงตั้งหน้าตั้งตารอ แล้วคิดว่าทำได้รวดเร็วมาก หรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ เพราะกฎหมายประมงเองก็แน่นอนเขาไม่อยากเห็นเรือประมงพาณิชย์ทำประมงในเขตชายฝั่ง นั่นคือเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ว่าปัจจุบันเองการบังคับใช้ก็มีการบังคับใช้เข้มข้นไปถึงขั้น ว่าท่าเรือประมงพาณิชย์แฉลบเข้าไปในเขตประมงชายฝั่งก็สามารถถูกเอาผิดและค่าปรับ ก็เป็นหลักแสนหลักล้านได้ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ของ กฎหมายก็เป็นเรื่องที่กรมประมงสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนแล้วก็ส่งไปยังเขตพื้นที่ ต่าง ๆ ให้บังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ นี่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เร็วมากนะครับ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ต่อมาก็คือการออกกฎหมายลูกที่อาจจะไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไขกฎหมายแม่ คือตัว พ.ร.ก. ประมง ออกกฎหมายลูกในประเด็นมาตรา ๘๓ ของ พ.ร.ก. ประมง เพื่อแก้ปัญหา การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวบนเรือประมง ผมคิดว่าต้องย้ำกันอีกทีหนึ่งพี่น้องชาวประมงเอง ทุกคนอยากปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกคนอยากมีลูกน้อง มีแรงงานมาใช้ทำงานบนเรือประมง อย่างถูกต้องขึ้นทะเบียน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกตามกฎหมาย ถูกตามระเบียบ สามารถทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งในกฎหมายประมงเองมาตรา ๘๓ ก็เปิดช่องตรงนี้ว่าอธิบดีกรมประมง สามารถออกกฎหมายลูก หลักเกณฑ์นี้เพื่อให้ใช้ Sea book แทนบัตรชมพูของกระทรวงแรงงาน ได้เลย หรือถ้าให้ดีที่สุดก็คือใช้บัตรชมพูของกระทรวงแรงงานใช้ทดแทน Sea book ของ กรมประมงได้เลยเพื่อลดความซ้ำซ้อน แล้วก็สามารถทำให้ชาวประมงสามารถดำเนินการหา แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานบนเรือประมงได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการค้ามนุษย์ ลดปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายที่จริง ๆ แล้วไม่มีชาวประมงคนไหนอยากจะทำแบบนั้น
นายวรภพ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นต่อมา ก็คือการแก้ไขกฎหมายแม่ หรือว่าตัว พ.ร.ก. ประมง ซึ่งผมคิดว่ามันมีหลัก ๒-๓ ประเด็นที่ผมอยากจะย้ำกันอีกครั้งหนึ่งที่อยากจะเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนในเชิงนโยบายด้วย ว่าในกฎหมายประมงนี้เราควรจะมาทบทวนกัน ว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องตั้งค่าปรับเป็นหลักแสนหลักล้านกันอีกต่อไป โทษปรับที่เหมาะสม บางทีการเปลี่ยนแค่เพียงการกักเรือ ผมคิดว่ามันเพียงพอแล้วในการบังคับใช้กฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นเรือเล็กหรือเรือใหญ่ ไม่มีใครอยากจะเสียเวลาทำมาหากินด้วยการโดนกักเรือ แน่นอน ทุกคนยินดีแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว มันไม่มีความจำเป็นต้องมา หลักแสนหลักล้าน เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่เราทำผิดครั้งหนึ่งนี่ถึงขั้นล้มละลายได้ ผมคิดว่า นี่คือกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม แล้วก็ไม่คิดถึงการมองว่าพี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของ อำนาจตัวจริง รวมถึงการกระจายอำนาจด้วยพื้นที่ทะเล ๒๒ จังหวัด บริบทอย่าว่าแต่ ฝั่งอันดามันหรือว่าฝั่งอ่าวไทยเลยครับ ในจังหวัดเดียวกันแต่ละหาดแต่ละอ่าวมันมีบริบท พื้นที่ที่แตกต่างกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่ราชการส่วนกลางที่คนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ จะไป ตัดสินใจแทนคน ๒๒ จังหวัด ว่าพื้นที่ไหนสามารถใช้เครื่องมืออะไรได้ พื้นที่ไหนสมควรจะ อนุรักษ์แบบไหน เป็นเรื่องที่ดีกว่ามากและเหมาะสมคนมากที่คณะกรรมการประมงจังหวัด จะเป็นคนกำหนดกติกาว่าเครื่องมือไหนทำได้ เครื่องมือไหนทำไม่ได้ พื้นที่ไหนควรจะอนุรักษ์ เวลาไหน ฤดูอะไร เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างอันหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือปัญหาเรื่องโพงพาง โพงพางมีความจำเป็นต้องทำ Zoning และการทำ Zoning ที่ดีที่สุดคือการให้คนในพื้นที่เป็นคนกำหนด Zoning ไม่ใช่ คนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นคนไปกำหนด Zoning ให้คนแต่ละจังหวัด นี่คือต้นตอของปัญหา ของราชการรวมศูนย์ แล้วก็แน่นอนต้องเพิ่มสัดส่วนของท้องถิ่นในคณะกรรมการประมงจังหวัด ให้มีความยึดโยงกับพื้นที่มากขึ้น รวมถึงประเด็นเรื่องของการใช้งบประมาณก็ยังยืนยัน ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะซื้อเรือประมงคืนตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้สัญญาไว้ กับชาวประมง เพราะว่าเป็นมาตรการภาครัฐที่ต้องการให้ชาวประมงยกเลิกอาชีพของเขาไป ดังนั้นก็มีเหตุและผลในการที่จะซื้อเรือประมงคืน ซึ่งแน่นอนทุกวันนี้เป็นซากเรือไปแล้วครับ แต่ก็ต้องขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ซื้อในราคาเรือประมงดั้งเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วทิ้งไว้ เป็นระยะเวลา ๘ ปี กฎหมายกรมเจ้าท่า ก็อย่างเช่นเรื่องการต่อทะเบียนเรือ อยากจะให้ รัฐบาลชุดนี้ทำให้สะดวกขึ้นทำ Online ได้ แล้วก็ในกรณีของเรือเล็ก ผมคิดว่าถ้าเรามองเป็นสวัสดิการให้การต่อทะเบียนเรือมาพร้อมกับ ประกันเรือร่วมกับเอกชนไปเลย ผมคิดว่ามันก็สะดวกกับพี่น้องชาวประมงที่ไม่ต้องรอ ระเบียบราชการในการขอ Claim เวลาประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ แล้วก็อนุญาตให้มีการ ปรับปรุงเรือประมงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้แรงงานให้เหมาะสม แล้วก็สุดท้ายก็คือ อยากให้รัฐบาลเร่งหาพื้นที่ประมงนอกน่านน้ำให้กับพี่น้องชาวประมงนอกน่านน้ำให้เขา กลับมามีอาชีพมีรายได้ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐิติมา ฉายแสง เชิญครับ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันดีใจที่ญัตติเกี่ยวกับประมงนั้นได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ขอภาพด้วยค่ะ
นางฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา ต้นฉบับ
เป็นญัตติที่เกี่ยวกับประมง เพราะเราเป็นห่วงพี่น้องชาวประมง ตอนแรกดิฉันเห็นญัตติของพรรคก้าวไกลก็พูดถึง เรื่องของปัญหาของประมงจะพิจารณาศึกษาปัญหาเกี่ยวกับประมงทั้งระบบ แต่พออ่าน เนื้อในมันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประมงทางทะเล การออกไปน่านน้ำ ไปจับปลาอะไรก็ แล้วแต่ในน่านน้ำ แต่พอมาเจอญัตติของดอกเตอร์ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ที่บอกว่าขอให้สภา ผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการ บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประมง ทั้งระบบ อันนี้ทำให้ดิฉันเห็นเนื้อในของเขาว่าเขาสนใจทั้งระบบจริง ๆ ดิฉันก็เลยดีใจว่า เอาละคราวนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องของประมงที่เราเรียกว่าเป็นการเพาะเลี้ยง นั่นคือ เลี้ยงตามบ่อกันนี้ละค่ะ ซึ่งแถว ๆ ภาคกลางเรา ภาคตะวันออกเราก็เลี้ยงเป็นแบบปลา กุ้งในบ่อมากเลยทีเดียว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สินค้าสัตว์น้ำของไทยมีผลผลิตรวม ๑๖๐,๗๔๓ ล้านบาทต่อปี ปี ๒๕๖๕ มูลค่าเยอะมากแบบนี้ ซึ่งการทำประมงในทะเล จะเป็นประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ กว่าตันต่อปี มูลค่าประมาณ ๖๗,๐๐๐ ล้านบาท แต่ประมง แบบเพาะเลี้ยงที่ดิฉันบอกว่ามันสำคัญมาก เพราะว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประมง แบบเพาะเลี้ยง ๙๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมาดูกันที่ตัวสินค้า ที่เพาะเลี้ยง ดิฉันอยากจะเจาะลึกลงไปไม่สามารถที่จะพูดทุกเรื่องได้ภายใน ๗ นาที ที่ท่านประธานให้เวลา อยากจะบอกว่าดิฉันสนใจเรื่องปลากะพง ใน ๖ เดือนแรกของ ปี ๒๕๖๖ ปี ๒๕๖๖ เราผลิตภายในประเทศ เราผลิตได้ ๕๓,๙๑๓ ตัน มูลค่า ๖,๒๗๗ ล้านบาท เนื้อที่เลี้ยงรวม ๓๐,๔๓๘ ไร่ มีพี่น้องเกษตรกรเพาะเลี้ยงเยอะมาก ดิฉันทราบดีว่าสินค้า ประมงปลากะพงจากประเทศมาเลเซียนำเข้ามาถล่มประเทศไทยที่ราคาถูกกว่า ๒๐ บาท ต่อกิโลกรัม ดังนั้นพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงนั้นจึงพบกับความยากลำบาก เขาโดนค่าไฟเขาก็หนักอยู่แล้ว ค่าอาหารเขาก็หนักอยู่แล้ว ค่าขนส่งก็หนักอยู่แล้ว มาโดนเรื่องนี้อีก ก็ทราบอยู่แล้วว่าการกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าประมงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสินค้าประมงมันไม่ได้เป็นสินค้าเกษตร แต่มันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ความ ตกลง WTO ดิฉันก็แปลกใจมากว่าสินค้าประมงแบบนี้ สินค้าเกษตรแบบนี้มันกลายเป็น สินค้าอุตสาหกรรม เอาละไม่เป็นไร แต่ว่าเมื่อมันไปห้ามนำเข้าไม่ได้ เราต้องมีวิธีที่จะต้อง ช่วยพี่น้องเกษตรกรเรา ให้เขาสามารถอยู่ได้สู้ได้ ไม่อย่างนั้นต่างประเทศก็นำเข้าสินค้า เข้ามาแล้วมาตีเราหมด ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอว่าเราน่าจะต้องมีมาตรการใดที่จะช่วยให้เกษตรกรของไทยเรา สามารถอยู่ได้ อยากจะนำเข้าก็นำเข้าได้นำเข้ามา แต่เราน่าจะเก็บค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมนำเข้าโดยที่เราเอา พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซียถูกกว่า ๒๐ บาทต่อกิโลกรัม ก็เก็บค่าธรรมเนียมสิคะ กองทุน สงเคราะห์เกษตรกรมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ไม่ค่อยได้เก็บเลย เก็บกันครั้งเดียวกระมังคะ แล้วหลังจากนั้นไม่เคยเก็บอีกเลย ก็เก็บสิ เก็บ ๒๐ บาท เพื่อให้ราคาของปลากะพงมันเท่า ๆ กัน เขาจะได้ไม่เดือดร้อน นี่คือแนวคิดของดิฉัน สมมุติว่านำเข้ามา ๑๐,๐๐๐ ตัน ๑๐,๐๐๐ ตันมันคือ ๑๐ ล้านกิโลกรัม เก็บกิโลกรัมละ ๒๐ บาท ได้ ๒๐๐ ล้านบาท เข้ากระเป๋าของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แล้วสามารถนำเงินนี้มาช่วยแหลือเกษตรกรได้ต่อไป ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นดิฉันขอเสนอเรื่องแบบนี้เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเสนอให้กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมา แล้วก็เห็นด้วยที่มีคณะกรรมาธิการนี้ แล้วก็อยากให้ คณะกรรมาธิการนี้นำข้อมูลต่าง ๆ นี้ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป ก็ขอสนับสนุนในคณะกรรมาธิการนี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้องเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ท่านสะกดให้ผมหน่อยครับ
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
ท่านประธานไม่เป็นไรครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปัตตานี หากพูดถึงปัญหาประมงประเทศไทยแล้ว กระผมอดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง ช่องว่างของกฎหมาย และความล่าช้าที่อาจทำให้สัตว์น้ำสูญพันธุ์ ผมอยากจะถามไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลว่าเมื่อไรออกกฎหมายบังคับใช้ ไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง เพราะในขณะนี้ชาวประมงพื้นบ้านของปัตตานี มีความต้องการให้เร่งออกกฎหมายกำหนดควบคุมจับสัตว์น้ำวัยอ่อน มาตรา ๕๗ ของ พระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายประกาศมาตรการ ควบคุมการส่งเสริมให้ผู้ขาย ผู้บริโภค และผมยังได้รับแจ้งจากชาวบ้านอีกว่ามีแม่ค้า พ่อค้า จับลูกปู ลูกกุ้งมาขายในราคาถูก
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
คำถามสำคัญถึงความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมาขาย มาบริโภคนั้น เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็วครับท่านประธาน ประเด็นที่ผมจะไม่พูดก็ไม่ได้ครับ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย IUU ของประเทศไทย โดยสหภาพยุโรป ได้พิจารณาปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ทำให้หลายคนมีถามว่าเมื่อสหภาพยุโรป ปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทยแล้วประเทศไทยได้อะไร ชาวประมงดีใจหรือไม่ สัตว์น้ำ เราจะยั่งยืนหรือยัง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
ข้อที่ ๑ เหตุที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เพราะเห็นว่า หน่วยราชการประมงของไทยไม่มีศักยภาพในการจัดการประมงของประเทศให้เกิด ความยั่งยืนตามหลักการของอนุสัญญากฎหมายทะเล ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ตอบสนองความต้องการจัดการประมงแบบ IUU ไม่มีแผนการจัดทรัพยากรสัตว์น้ำ และการประมง ไม่มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมเรือ เป็นเหตุให้ทรัพยากร สัตว์น้ำไม่มีความยั่งยืน และไม่สอดคล้องกับการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เราต้องการเพียงจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหา
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ กำหนดการที่ผ่านมารัฐบาลไทยตีโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้นด้วยการประมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย IUU เป็นกฎเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดให้เช่นนั้น เราจึง เริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการทำตามสหภาพยุโรปมาตลอด ไม่ว่าสหภาพยุโรปต้องการอะไร เราก็ดำเนินการตามโดยไม่มีทักท้วง ต่อรอง หรืองดเว้นการดำเนินการ เพราะรัฐบาลไทย หวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สหภาพยุโรปพอใจโดยไม่มีใครโต้แย้ง และสิ่งที่เกิดขึ้น วันนี้ก็คือที่มาของการยกเลิกใบเหลืองให้กับประเทศไทย และรัฐบาลไทยมีความภูมิใจเป็น อย่างยิ่งในผลงานของตน
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ เหตุที่ชาวประมงไม่ดีใจก็เพราะว่าชาวประมงต้องทุกข์ สิ่งที่รัฐบาล ได้ดำเนินการนั้น ทั้งการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมขัดกับอนุสัญญากฎหมายทางทะเล ด้วยความอคติ ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ มีกำหนดโทษที่รุนแรงเกินไป ชนิดที่ไม่เคย มีมาก่อนในประเทศไทย มีออกกฎหมายที่ระดับรองกว่า ๒๐๐ ฉบับ ที่ไม่เคยมีอาชีพใด ในโลกต้องปฏิบัติตาม มีการบังคับใช้การกระทำผิดด้วยความอคติ ไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่ยอมรับเหตุผล และไม่ใช่หลักรัฐศาสตร์ในการดำเนินการ
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
ข้อที่ ๔ ในส่วนของการส่งออกที่ประเทศไทยเกรงว่าจะกระทบ ทำให้ประเทศไทย ไม่สามารถส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายไปยังต่างประเทศนั้น ประเด็นนี้ เมื่อกลับไปดูข้อมูลจะพบว่าสัตว์น้ำที่ชาวประมงไทยจับได้ และเคยส่งออกไปขายในประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลกถึงปีละ ๕๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท วันนี้ได้เหลืออยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย IUU และผู้ซื้อก็ไม่ซื้อสินค้าประมงของเราอย่างที่รัฐบาลกลัว แต่เป็นเพราะไทย ไม่มีสัตว์น้ำจะขายให้ผู้ซื้อ เนื่องจากชาวประมงถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ ไม่สามารถออกไป ทำการประมงได้นั่นเอง
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ปัตตานี ต้นฉบับ
ข้อที่ ๕ ในส่วนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของประมงโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย คำถามที่เกิดขึ้นก็คือในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาหลังจากที่รัฐบาลสั่งให้จอดเรือ และเลิกการประมงประมาณ ๓,๐๐๐ ลำแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศไทยกลับคืน อุดมสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงจากสถิติที่เกิดขึ้นมาได้นั้นไม่ได้บ่งบอกว่าเมื่อรัฐ ได้ดำเนินการทุกอย่างขั้นต้นแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ถูกฟื้นฟูและกลับมาเป็น ความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลานตามที่มุ่งหวังไว้ ดังนั้นเมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เราคาดหวัง ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง ชีวิตและอนาคตสูญเสียไป ไม่สามารถกลับฟื้นคืน หรือได้รับการดูแล แก้ไขถูกทางแล้วนั้นเราดีใจได้อย่างไร ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๓ ท่านสุดท้าย ท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ท่านสังคม แดงโชติ เชิญท่านอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ครับ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม กับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ผมจงใจออกเสียงคำว่า และ เพราะว่าในญัตตินี้มีคำว่า และ หลายคำ เหตุที่ และ หลายคำเพราะว่าญัตตินี้ถ้าจะให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาทุกมิตินั้นจะต้องแก้แบบเชื่อมโยง และบูรณาการ จะดำเนินการขับเคลื่อนผลักดันเพียงส่วนหนึ่งส่วนใด หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ไม่ได้ ผมได้ฟังการนำเสนอญัตติโดยท่าน สส. ดอกเตอร์ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ คนสวย ลาดกระบัง คนงามกรุงเทพฯ ก็เข้าใจครับว่าท่านนั้นอ่านปัญหาประมงรู้ ดูปัญหาประมงเป็น ผมจึงขออภิปรายสนับสนุน ท่านประธานครับ ในอดีตนั้นประเทศไทยติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก เป็นประเทศที่ สามารถจับสัตว์น้ำได้มากที่สุดในโลก ต้องย้อนกลับไปเกือบ ๆ ๒๐ ปีในช่วงปี ๒๕๔๓ ถึง ปี ๒๕๔๗ ตอนนั้นเรามีผลผลิตสัตว์น้ำมากถึง ๓.๗-๔.๑ ล้านตัน เนื่องด้วยความได้เปรียบ จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เรามีพื้นที่ประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีความยาวชายฝั่งยาวถึง ๒,๖๑๔ กิโลเมตร แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีตไม่ใช่ว่าจะมาพูด ความเก่าเล่าความหลัง แต่ยกขึ้นมาเพื่ออรรถาธิบายว่าอุตสาหกรรมประมงไทยนั้นเราเคย ยิ่งใหญ่มาก่อน การทำธุรกิจประมงหากล้มพังครืนลงไปไม่ได้กระทบเฉพาะพี่น้อง ผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมงเท่านั้น มีธุรกิจในห่วงโซ่การผลิตที่เรียกว่า Supply chain ได้รับผลกระทบอีกหลายทอด ไม่ว่าจะเป็นโรงน้ำแข็ง ห้องเย็น รถขนส่ง โรงงานแปรรูป อุตสาหกรรมเรือประมง การสร้างเรือ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ โรงงานผลิตอาหาร กระป๋อง ปลากระป๋อง โรงงานแช่แข็ง ผลิตอาหารสัตว์ และส่งผลกระทบอย่างชนิดที่เรียกว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ถ้าเราไปฟังเพลงตังเกของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เราจะพบเลยครับว่าเพลงนี้แต่งและร้องและดังในปี ๒๕๓๓ ยุคนั้นละครับเพลงก็เป็นภาพ สะท้อนของสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ในปีนั้นประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ ๑ ของประเทศผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการจับมากถึง ๒.๘ ล้านตัน และนั่นก็เป็นความภูมิใจที่ดูเหมือนว่าเราจะย้อนหวนกลับคืนไปได้ยากเหลือเกิน วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป หลายสิ่งไม่เหมือนเดิม เส้นทางชีวิตที่จะกำหนดชะตาชีวิตของ ทะเลไทยเพื่อต่อลมหายใจชาวประมงนั้นต้องทำอย่างเข้าใจ และยึดประโยชน์ของ ประเทศชาติ ประชาชน และชาวประมงเป็นสำคัญ และถ้าหากว่าเราไม่ศึกษา ไม่แก้ไข กฎหมาย ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ วันหนึ่งอาชีพประมงจะกลายเป็นอาชีพที่สูญพันธุ์ไปจาก ประเทศไทย วันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดปรับ Mindset ใหม่ว่าเราจะปรับการบังคับใช้ กฎหมายที่เคร่งครัด ปรับการบังคับใช้กฎหมายแบบลักษณะห้ามปราม ควบคุม เป็นการ ส่งเสริมอาชีพประมง เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อต่อลมหายใจ ให้กับพี่น้องชาวประมงได้อีกครั้งได้อย่างไร ผมมี ๕ เรื่องเร่งด่วนที่ความจริงรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐานั้นก็ได้ริเริ่ม แต่ก็ว่าต้องรอการเติมเต็ม ๕ เรื่องที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๑ ต้องไปศึกษา ทบทวนขอแจ้งเตือนกฎระเบียบของสหภาพ ยุโรป หรือ EU ไปดูองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ไปวิเคราะห์ถึงผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมประมงจากการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเจรจา ระหว่างกันครั้งใหม่ มีคนบอกครับเขาให้ใบเหลืองเจตนาเขาอาจจะเพียงแค่ต้องการ แตะเบรก แต่ด้วยอารามตกใจ รัฐบาลที่ผ่านมานั้นอาจจะถึงขั้นโยนเครื่องเรือทิ้ง ดังนั้น ต้องกลับไปศึกษาว่าเขาให้ไปแตะเบรก แตะเบรกอย่างไร
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๒ ต้องกลับไปศึกษาทบทวนไปพิจารณาว่าเราจะสนับสนุน การแก้ไขกฎหมายประมงไทยให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของการประมงไทย และบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศได้อย่างไร หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อครับ ถ้าเรามุ่งเน้น จะเอาตามข้อบังคับให้ถูกใจกฎหมายระหว่างประเทศ โดยละทิ้งหรือมองข้ามบริบทประมง ไทยก็จะทำให้เราเสียโอกาส
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๓ การดำเนินการเจรจาระหว่างไทยกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะ EU เพื่อให้ประเทศไทยได้คืนสิทธิประมงแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการประมงพื้นถิ่น การทำกินพื้นบ้านที่ปฏิบัติมาช้านาน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๔ ควรเสนอมาตรการเยียวยา เพื่อแก้ไขผลกระทบต่อชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงของไทย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
มาตรการที่ ๕ ต้องสนับสนุนให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อกฎหมาย อย่างจริงจัง ต้องมีนักกฎหมายไปช่วยชาวประมง ต้องมีนักบริหารจัดการไปดูเรื่องการแก้ไข การบริหารจัดการ ไปดูเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อการช่วยเหลือชาวประมง ในอดีตมีคำกล่าวว่าชาวประมง ๑ คน มีเรือประมง ๑ ลำ สามารถส่งลูกเรียนหนังสือสูง ๆ ได้ แต่วิกฤติประมงที่ผ่านมานั้นเรือต้องขายครับ ลูกต้องถูกเรียกตัวกลับมา และวันนี้ผมเห็นด้วย ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อจะคืนศักดิ์ศรีและประกาศศักดานำธุรกิจประมงไทย กลับไปสู่การเป็นเบอร์ ๑ ของโลกอย่างยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทย ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณท่านสมาชิกที่ได้ยื่นญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกิจการประมงทั้งระบบ และการแก้ไขประมงอุตสาหกรรม และปัญหาของประมงทุก ๆ อย่างครับ เห็นด้วยกับการให้ มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งในสมัยที่ผ่านมาก็มีการยื่นญัตติเรื่องเกี่ยวกับ การแก้ไขประมง
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
ซึ่งมีการนำเข้าสู่สภาในการพิจารณา ประมาณปลายเดือนแล้วก็เดือนกุมภาพันธ์ผมก็เคยได้มีการอภิปรายในปัญหาของพี่น้อง ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาพี่น้องประชาชนในจังหวัดระนอง ซึ่งจังหวัดระนองก็เป็น จังหวัดหนึ่งฝั่งอันดามันซึ่งประกอบอาชีพหลักก็คืออาชีพประมงซึ่งเป็นอาชีพที่สามารถที่จะ ทำให้พี่น้องประชาชนของจังหวัดระนองนั้นมีรายได้มีเศรษฐกิจที่ดีและที่ผ่านมา แต่วันนี้ ปัญหาของประมงและปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่มีปัญหาทับซ้อนกันอยู่ หลาย ๆ หน่วยงาน หลาย ๆ กระทรวง นี่คือสิ่งที่สะสมมานาน ซึ่งก็เสียดายใน คณะกรรมาธิการวิสามัญที่ผ่านมาของ สส. สมัยชุดที่แล้วมีการตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไข พ.ร.ก. ประมง แต่ก็แก้ไขแล้วเสร็จ แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำเข้าสู่สภาได้ เพราะมีการยุบสภา ก่อน นี่คือสิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมในคณะกรรมาธิการชุดนี้ หรือท่าน สส. ที่ได้ยื่นญัตติได้เร็ว และต้องขอกราบขอบคุณท่านประธานสภาที่ได้นำเรื่องญัตตินี้เข้าประชุมในวาระอย่าง เร่งด่วนในวันนี้ด้วยเช่นกันครับ สิ่งหนึ่งครับท่านประธานสภาที่เคารพครับ ปัญหาของพี่น้อง ประชาชนชาวจังหวัดระนอง ก็คือปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับซื้อเรือคืน ซึ่งก็มี ทางท่าน สส. ของพรรคก้าวไกลต้องขอกราบขอบคุณมากที่ท่านก็ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการ รับซื้อเรือคืน ซึ่งปัญหาของเรือวันนี้ก็ไม่ได้ใช้ในพี่น้องประมงอีกแล้ว วันนี้เรือพังทรุดโทรม ไปหมด สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือในเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับมาตรา ๘๑ การติดตั้งระบบติดตามเรือประมงของ VMS จังหวัดระนองเป็น จังหวัดหนึ่งที่อยู่ฝั่งอันดามันติดกับประเทศเมียนมา น่านน้ำเป็นน่านน้ำสากลไม่สามารถที่จะ ประกอบอาชีพเหมือนกับฝั่งอ่าวไทยได้ เมื่อนำเรือออกไปก็ไปสู่น่านน้ำเมียนมาแล้ว สิ่งนี้ละครับที่ทำให้เรือประมงของจังหวัดระนองได้หายไปจากพี่น้องชาวประมงของระนองไป อย่างมีผลกระทบมากในส่วนนี้ นี่คือเรื่องหนึ่ง
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง คือมาตรา ๔๘ การใช้เรือประมงทำการประมงในเขตทะเล นอกน่านน้ำไทยที่ผมได้นำเรียนเมื่อสักครู่นี้ และสิ่งหนึ่งที่ตามมานั่นคือมาตรา ๑๓๓ เป็นการปรับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย เป็นการปรับตั้งแต่ ๒ ล้านบาท ถึง ๓๐ ล้านบาท และปรับไปที่เจ้าของเรือ ปรับไปที่คนเดินเรือ นี่คือสิ่งหนึ่งครับ แล้วก็ต้องขอขอบคุณ ท่าน สส. อรรถพล ไตรศรี สส. จากจังหวัดพังงา พรรคภูมิใจไทย ที่ได้พูดถึงเกี่ยวกับการปรับ เสียค่าปรับ หรือการที่เรือออกไปจับปลา ไม่ว่าจะเป็นป่าฉิ้งฉ้าง หรือปลากะตัก ซึ่งก็เป็น จังหวัดพังงาที่อยู่ติดต่อเขตเดียวกับจังหวัดระนองเช่นกัน นี่คือปัญหาหนึ่งของข้อกฎหมาย ที่ตามมา สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะนำเรียนเพิ่งเกิดมาไม่นานนี้เอง ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖ นี้เอง ก็มีเจ้าหน้าที่ของเขตอุทยานไปร้องเรียนกับ ผู้กระทำความผิด มีการร้องทุกข์เกี่ยวกับการวิ่งเดินเรือไปเข้าอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในส่วนนี้เป็นเขตทับซ้อนของประมงก็ไปแจ้งข้อหา ไม่ว่าจะเป็นร่วมกันเก็บหา หรือนำออกไปกระทำการโดยประการใดให้เป็นอันตราย ซึ่งนี่ก็เป็นมาตรา ๑๙ (๒) แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
ข้อ ๒ ร่วมกันล่อ หรือนำสัตว์ป่าออกไป
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
ข้อ ๓ ร่วมกันเข้าไปดำเนินการกิจการใด ๆ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
ข้อ ๔ ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไป อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
สิ่งนี้ที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนของจังหวัดระนองซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นนี่เอง เป็นการจับกุมประมาณ ๑๒ ลำได้ เป็นการจับกุมในเขตทะเลอันดามันบริเวณเขต อุทยานแห่งชาติแหลมสน ซึ่งก็มีพระราชกฤษฎีกา ปี ๒๕๒๖ กำหนดให้แนวเขต อุทยานแห่งชาติทำการประมง แต่ว่าทางอุทยานแห่งชาติก็ไม่ได้นำประกาศนี้ไปประกาศ ไว้ในเขตอุทยานแห่งชาติแสดงให้กับกลุ่มประมงให้ทราบ และศูนย์ควบคุมของประมงทราบ ไม่มีการกำหนดตำแหน่งของ GPS หรือตำแหน่งที่ชัดเจนให้กับพี่น้องชาวประมงเลยในส่วนนี้ มีการไปจับกุม มีการไปแจ้งความตรงนี้เกิดขึ้น แล้วเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคมนี้ก็ไปแจ้งความใน การดำเนินคดี ๑๒ ลำ ที่ผมได้นำเรียนเมื่อสักครู่นี้ นี่คือสิ่งหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่นานนี้กับ พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวประมง ๑๒ ลำ ที่วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และการช่วยเหลือด้วย สิ่งนี้ละครับที่อยากจะฝากท่านประธานว่าข้อกฎหมายมันมี บางหน่วยงานที่มีการกำหนดกฎ หลักเกณฑ์ออกมา แล้วก็ซ้ำซ้อนกับกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งก็อยากจะฝากคณะกรรมาธิการชุดที่จะแต่งตั้งขึ้นมานี้ให้ดำเนินการช่วยเหลือ พี่น้องประชาชน พี่น้องประมงของจังหวัดระนอง และพี่น้องชาวประมงอีก ๒๑ จังหวัด ในเขตที่ทำประมง ในส่วนนี้ก็เห็นด้วยกับการให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ ในส่วนนี้ก็ขอฝาก ท่านประธานที่เคารพครับ กราบขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณมากครับ ต่อไปเป็นการอภิปรายของสมาชิกท่านสุดท้ายนะครับ เรียนเชิญ ท่านสังคม แดงโชติ ครับ
นายสังคม แดงโชติ ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายสังคม แดงโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้อง ชาวประมง ซึ่ง ๑ ใน ๒๓ จังหวัดที่ประกอบอาชีพประมง ก็คือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครับ ในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น พ่อแม่พี่น้องหลายคนเติบโตมากับ ท้องทะเล ทำมาหากินอาชีพประมงมากกว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือนครับ วันนี้พ่อแม่พี่น้อง ชาวประมงของเราได้เจอกับปัญหา และความกดดันตลอดในระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการออก พ.ร.ก. ประมง ปี ๒๕๕๘ แต่วันนี้เรามีรัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชนแล้ว กระผมขอให้รัฐบาลโปรดเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาชีพประมงในประเทศไทยนะครับ โดยปัญหาที่เป็นผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนดประมง ปี ๒๕๕๘ และที่แก้ไข เพิ่มเติมนั้นยังคงไม่สมบูรณ์หรือครอบคลุมทุกมิติครับ เนื่องจากกระบวนการการออก กฎหมายมาบังคับใช้นั้นได้ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้กฎหมาย ในครั้งนี้ และมีบทลงโทษที่รุนแรง การเร่งรีบบังคับใช้กฎหมายแบบไม่มีมาตรการรองรับ ผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงกฎหมายอาจจะมีจุดบกพร่องอื่น ๆ อีกหลายมิติ จนวันนี้ พ่อแม่พี่น้องชาวประมงยังคงได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้อย่างรุนแรง ตัวผมเอง ได้ลงพื้นที่ได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นถึงความเดือดร้อนความทุกข์ทรมานของพ่อแม่พี่น้อง ชาวประมง ทั้งในเรื่องของมาตรการทางกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรง และโดยเฉพาะ ในการออกเรือแต่ละครั้งนั้นชาวประมงมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูง ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง หากวันนี้ผมขับรถชนคนตายโดยไม่เจตนา พอขึ้นศาลแล้ว ยังมีโอกาสที่จะรอลงอาญา รอตัดสินนะครับ แต่วันนี้พ่อแม่พี่น้องชาวประมงกระทำความผิดไม่มีรอลงอาญานะครับ ต้องรับโทษโดยทันที ถูกปรับตามอัตราโทษที่รุนแรง ทั้งยังยึดเรือ ยึดเครื่องมือทำมาหากินของเขา และมิหนำซ้ำ ยังมีโทษปรับหลักแสนถึงหลักล้านครับท่านประธาน
นายสังคม แดงโชติ ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
อีก ๑ เคส ครับ ไต๋เรือที่บ้านผมแจ้งชื่อลงเรือผิดพลาดก็โดนปรับ หลายแสนบาทแล้วครับ เขาเกิดมากับท้องทะเล เขาไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเอกสาร จะให้ ชาวประมงมาเชี่ยวชาญเรื่องเอกสารก็คงไม่ได้ เขาเก่งจับปลาครับ บางครั้งบทลงโทษที่ไม่ได้ เจตนาความผิดก็จะรุนแรงจนเกินไปครับ
นายสังคม แดงโชติ ประจวบคีรีขันธ์ ต้นฉบับ
อีก ๑ ประเด็นที่สำคัญของชาวประมงก็คือเรื่องค่าน้ำมันเชื้อเพลิง วันนี้ประมงพื้นบ้านออกเรือหาปลาแต่ละครั้งใช้น้ำมัน ๒๐-๓๐ ลิตร แต่ถ้าระดับประมง พาณิชย์ออกเรือแต่ละครั้งใช้น้ำมัน ๑๐๐-๒๐๐ ลิตร นี่คือเบื้องต้นยังไม่รวมถึงค่าจ้างแรงงาน ค่าเสบียงอาหาร ค่าบำรุงรักษาเรือ วันนี้เราอาจจะพูดได้ว่าการประกอบอาชีพประมง ก็เหมือนกับการเสี่ยงโชค ออกเรือไปแต่ละครั้งเราไม่รู้หรอกครับว่าจะได้ปลามากน้อย เพียงใด จะคุ้มต้นทุนหรือไม่ แล้วสถานการณ์ราคาอาหารทะเลในตอนนี้ก็มีราคาตกต่ำอีก จนทำให้หลาย ๆ ครอบครัวต้องถอดใจ จอดเรือ ทิ้งเรือ เลิกทำอาชีพประมงครับ เพราะทน แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวไม่ไหว วันนี้ผมขอเสนอให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้กับพ่อแม่ พี่น้องชาวประมงผู้ประสบปัญหาโดยตรงได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อกระบวนการตรากฎหมายจะได้ครบทุกมิติ และเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม โดยดูที่เจตนา กระทำความผิดควบคู่กับการใช้กฎหมาย รวมไปถึงการให้ความรู้ในการทำประมงแบบยั่งยืน และให้พ่อแม่พี่น้องชาวประมงของเรากลับมามีความสุขในการประกอบอาชีพประมง และสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติของเราต่อไปครับ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณมากครับ ตอนนี้สมาชิกที่ลงชื่ออภิปรายได้อภิปรายครบแล้วนะครับ แล้วก็ตาม ข้อบังคับ ข้อ ๗๕ สมาชิกผู้เสนอญัตติสามารถอภิปรายสรุปได้ ตอนนี้มีแสดงความจำนง ๒ ท่าน คือท่านณัฐพงษ์ สุมโนธรรม และท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เรียนเชิญท่านแรกก่อน เลยครับ ท่านณัฐพงษ์ครับ
นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ในฐานะผู้เสนอญัตติ ผมขออนุญาตใช้เวลาที่ประชุมไม่นานนะครับ ก่อนอื่นเลยขออนุญาตขอบคุณท่านประธานที่บรรจุวาระการประชุม การบรรจุญัตติเข้ามา ในที่ประชุมนี้ ขอบคุณพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่มีส่วนในการช่วยทำเรื่องเหล่านี้ แล้วก็ ขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ไม่ย่อท้อต่อการต่อสู้ ที่สำคัญขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ที่ให้ความเห็นกันในที่ประชุม สนับสนุนญัตตินี้กันเป็นจำนวนมากนะครับ แล้วก็จากการที่ผม ฟังการอภิปรายเราเห็นพ้องต้องกันว่าเราคงจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อให้มีการแก้ไขและมีการศึกษาอย่างจริงจังนะครับ ผมเองและพรรคก้าวไกลก็เชื่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แล้วก็เราตั้งใจที่อยากให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ศึกษาเรื่องนี้ แล้วก็เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายที่อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันใน รายละเอียดในการแก้ไขกฎหมาย ได้เข้ามาพิจารณาร่วมกัน มาคุยในรายละเอียดกันว่า กฎหมายอะไรบ้างที่เราจะต้องมีการแก้ไข แล้วก็กฎหมายอะไรบ้างที่จะแก้ไขอย่างไร เราตั้งใจจริง ๆ ที่อยากจะให้พื้นที่สภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการมาพูดคุยกัน สัดส่วนใน คณะกรรมาธิการพวกเราก็ตั้งใจที่จะเสนอให้เกิดความหลากหลาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามา ร่วมกันแก้ไข มาเสนอแนะความเห็น ขอบคุณมากนะครับ แล้วก็น่าจะเป็นข้อสรุปที่ผมหวังว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะเห็นพ้องต้องกันในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ศึกษาเรื่องนี้ ขอบคุณทุกท่านจริง ๆ ครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านธีรรัตน์ครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ขอขอบคุณท่านประธานที่ได้เปิดโอกาสให้ดิฉันซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติในเรื่องนี้ ได้สรุปในสุดท้าย จากการที่ดิฉันได้รับฟังเพื่อนสมาชิกที่ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แล้วก็หลากหลาย ๒๐ กว่าท่าน ทั้งหมดแล้วทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวกับอาชีพประมง เกี่ยวกับพี่น้องชาวประมงที่เป็นปัญหาเรื้อรังมา ๗-๘ ปีนี้ เป็นสิ่งที่ พวกเราต้องร่วมกันทำงานอย่างเร่งด่วนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่เราจะสามารถ กระตุ้นทางเศรษฐกิจของพี่น้องชาวประมงให้กลับมาฟื้นตัวให้ครอบครัวของเขาได้มีอนาคต ทำความหวังของลูกหลานของเขาในการที่จะประกอบอาชีพนี้ให้เติบโตไปข้างหน้าได้ ดิฉันคิดว่าวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อสักครู่ท่านสรวงศ์ เทียนทอง ที่รับเรื่องนี้จากชาวประมง มาโดยตรง ทั้งลงไปในพื้นที่จริง ทั้งมีการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นมาอย่างกว้างขวาง แล้วก็หลากหลาย ได้มาสะท้อนกับดิฉันว่าเมื่อสักครู่พอเราได้อภิปรายไปพี่น้องจากสมาคม ชาวประมงโทรศัพท์กลับเข้ามาหาเลยบอกขอบคุณพรรคเพื่อไทย รวมถึงสมาชิกของ สภาผู้แทนราษฎรมาก ๆ ที่เห็นความสำคัญ ในวันนี้เป็นเวลาไม่นานจากที่เราได้ตั้ง รัฐบาล ได้มีสภามา แต่เราสามารถที่จะผลักดันให้เกิดการศึกษา ทบทวนข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปสู่ในเรื่องของการออกกฎหมาย การทบทวนประกาศจาก IUU ที่ส่งมาถึง ประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง ดิฉันคิดว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว และจากที่ฟังการอภิปรายของทุก ๆ ท่านนะคะ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ดิฉันก็ต้อง ขอบคุณทุก ๆ ท่านมาก ๆ ที่เห็นด้วยกับญัตติที่พวกเราได้นำเสนอไปค่ะ ขอบคุณ ท่านประธานค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณผู้เสนอญัตติทั้ง ๒ ท่าน ที่ได้กล่าวสรุปนะครับ แล้วก็เนื่องจากญัตติเรื่องนี้ผู้เสนอ ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษานะครับ แต่จากการอภิปรายของ สมาชิกและจากการสรุปของผู้เสนอญัตติ ๒ ท่าน มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าจะมีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญนะครับ และไม่มีผู้คัดค้านแต่อย่างไร เพราะฉะนั้นผมขออาศัย อำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ในการถามมติว่าจะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นนะครับ ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ครับ มีสมาชิกท่านใดขัดข้องไหมครับ ไม่มี นะครับ ถ้าอย่างนั้นจะเป็นการดำเนินขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญครับ ขอเชิญ ท่านสมาชิกกำหนดจำนวนกรรมาธิการครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ขอเสนอจำนวนกรรมาธิการ ๓๕ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องนะครับ กำหนด ๓๕ ท่าน ก็จะเป็นสัดส่วนกรรมาธิการของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๘ ท่าน และกรรมาธิการของแต่ละพรรคการเมืองจำนวน ๒๗ ท่านนะครับ ขอเชิญ คณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อกรรมาธิการ เดี๋ยวรอสักครู่นะครับ ขอรบกวน Whip ประสานด้วยครับ สมาชิกครับ ถ้าเราพิจารณาเรื่องนี้เสร็จแล้ว ผมขอต่อ ๕.๓ อีกสั้น ๆ เรื่องของการแก้ไข ปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ มีผู้อภิปรายแค่ ๒ ท่านนะครับ แล้วเราจะได้ปิด โดย Clear ญัตติของวันนี้ได้ทั้งหมดนะครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ได้รับมอบหมายให้มาเสนอรายชื่อ กรรมาธิการในสัดส่วนของ ครม. จำนวน ๘ ท่าน ดังนี้ ๑. นายบัญชา สุขแก้ว ๒. นาวาเอก กิติกรณ์ กาญจนวณิชย์ ๓. นายจิตรพรต พัฒนสิน ๔. นางสาลินี ผลประไพ ๕. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ๖. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ๗. นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ๘. นายวิทยา แก้วภราดัย ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ ต่อไปเป็นพรรคก้าวไกลครับ เชิญเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นางทิพา ปวีณาเสถียร ลำปาง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉัน ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ๘ ท่าน ดังนี้ ๑. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๒. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๓. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๔. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ๕. นายปิยะ เทศแย้ม ๖. นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ๗. นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ ๘. นายนัฐวุฒิ กาเซ็ม ขอผู้รับรองด้วยค่ะ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปเชิญพรรคเพื่อไทยครับ
นายวรวงศ์ วรปัญญา ลพบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม นายวรวงศ์ วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี เขต ๕ ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย จำนวน ๘ ราย ลำดับที่ ๑ นายมงคล สุขเจริญคณา ลำดับที่ ๒ นางสาวสกุณา สาระนันท์ ลำดับที่ ๓ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ลำดับที่ ๔ นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ลำดับที่ ๕ นายไตรฤกษ์ มือสันทัด ลำดับที่ ๖ นายจักรกฤษณ์ พุกพิบูลย์ ลำดับที่ ๗ นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ ลำดับที่ ๘ นายสุวรรณ แก้วทอง ขอผู้รับรอง ด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญพรรคภูมิใจไทยครับ
นายชลัฐ รัชกิจประการ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ชลัฐ รัชกิจประการ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ขออนุญาตเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน ๔ ท่านดังนี้ ๑. นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ๒. นายสังคม แดงโชติ ๓. นายอรรถพล ไตรศรี ๔. นายกิตติ กิตติธรกุล ขอผู้รับรองด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญพรรคพลังประชารัฐครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ขออนุญาตเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐจำนวน ๒ ท่าน ดังนี้ ๑. นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว ๒. รองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ ขอผู้รับรอง ด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๒ ท่าน ดังนี้ ๑. นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ๒. นายนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีผู้รับรองถูกต้องครับ เรียนเชิญพรรคประชาธิปัตย์ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพิทักษ์เดช เดชเดโช ขอผู้รับรองด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญพรรคชาติไทยพัฒนาครับ
นายเสมอกัน เที่ยงธรรม สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ เสมอกัน เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี จากพรรคชาติไทยพัฒนา ขอเสนอชื่อนายไพศาล ชโนวรรณ ขอผู้รับรองด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถูกต้องครับ เชิญพรรคประชาชาติครับ
นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ปัตตานี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาชาติ จังหวัดปัตตานี ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการ วิสามัญจำนวน ๑ รายชื่อ ก็คือนายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ขอผู้รับรองด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ รายชื่อครบถ้วนนะครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทน เลขาธิการ ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จำนวน ๓๕ ท่าน ๑. นายบัญชา สุขแก้ว ๒. นาวาเอก กิติกรณ์ กาญจนวณิชย์ ๓. นายจิตรพรต พัฒนสิน ๔. นางสาลินี ผลประไพ ๕. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ๖. นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ๗. นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ๘. นายวิทยา แก้วภราดัย ๙. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๑๐. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๑๑. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๑๒. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ๑๓. นายปิยะ เทศแย้ม ๑๔. นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ๑๕. นายมงคง มงคลตรีลักษณ์ ๑๖. นายนัฐวุฒิ กาเซ็ม ๑๗. นายมงคล สุขเจริญคณา ๑๘. นางสาวสกุณา สาระนันท์ ๑๙. นายวิรัช พิมพะนิตย์ ๒๐. นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ๒๑. นายไตรฤกษ์ มือสันทัด ๒๒. นายจักรกฤษณ์ พุกพิบูลย์ ๒๓. นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ ๒๔. นายสุวรรณ แก้วทอง ๒๕. นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ๒๖. นายสังคม แดงโชติ ๒๗. นายอรรถพล ไตรศรี ๒๘. นายกิตติ กิตติธร กุล ๒๙. นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว ๓๐. รองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ ๓๑. นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ๓๒. นายนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ๓๓. นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ๓๔. นายไพศาล ชโนวรรณ ๓๕. นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
รายชื่อทั้ง ๓๕ ท่านถูกต้องนะครับ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงนะครับ อย่างนั้นเป็นการรับรอง ทั้ง ๓๕ รายชื่อ ต่อไปจะเป็นการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เชิญครับ
นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ
กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ข้อเสนอในระยะเวลาพิจารณา ๖๐ วัน ครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ เป็นการตั้งคณะกรรมาธิการแล้วก็มีเวลาศึกษา ๖๐ วัน ครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านณัฐวุฒิครับ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ด้วยความเคารพท่านประธานครับ ๖๐ วันเองหรือครับ เห็นญัตติอื่นเสนอ ๙๐ วันหมดเลยนะครับ แต่ว่าเอาเป็นว่าผมทราบมาว่ามีการประสานงาน มาว่าทางรัฐบาลเองมีความพร้อมที่จะมีการเสนอ พ.ร.บ. ประมงเข้ามา ถ้าเกิดว่ามีฉันทามติ หรือฝ่ายรัฐบาลจะช่วยยืนยันได้ไหมว่าถ้า ๖๐ วันแล้วมันมีความเป็นไปได้ที่ทาง ครม. จะเสนอ พ.ร.บ. ประมงเข้ามา เราก็พอรับได้ แต่ว่าถ้า ๖๐ วันแล้วไม่มีเงื่อนไขอื่นอาจจะต้อง ขอเวลาอื่น ผมอยากจะขอความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลสักนิดหนึ่งครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ทางรัฐบาล เชิญท่านธีรรัตน์ครับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ก็ขอบพระคุณที่ได้ให้ความสำคัญสำหรับเพื่อนสมาชิก เมื่อสักครู่นี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราอยากจะให้สำเร็จจริง ๆ ดิฉันเองได้รับทราบ จากผู้ประสานงานของจากทางรัฐบาลว่าขณะนี้ตัว พ.ร.บ. เองอยู่ระหว่างการที่จะเสร็จสิ้นแล้ว ดิฉันคิดว่า ๖๐ วัน บางทีอาจจะนานไปเสียด้วยซ้ำ ที่แรกว่า ๓๐ วันก็คงจะพอเพราะว่า รัฐบาลคงจะยื่นเข้ามาก่อนหน้านั้น แต่ถ้าหากว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ๖๐ วัน ทั้ง ๒ ฝ่ายเห็นด้วย ดิฉันก็คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม แล้วก็ยืนยันเช่นเดิม แล้วก็ทางรัฐบาล เองก็บอกว่าจะเสร็จในเร็ววันนี้ด้วยค่ะ ก็ควบคู่กันไปคณะกรรมาธิการศึกษาเสร็จก็จะส่งต่อ ให้รัฐบาลได้ทันทีด้วย ขอบคุณท่านประธานค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ทางฝ่ายค้าน OK ไหมครับ ก็เป็นแนวทางที่ท่านเสนอ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ถ้าตัวแทน รัฐบาลตอบขนาดนั้นทางพวกผมก็เห็นด้วย ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อย่างนั้นสภาเรายืนยันที่ ๖๐ วัน นะครับ เป็นอันสิ้นสุดระเบียบ วาระที่ ๕.๒ ผมขอเข้าสู่ระเบียบวาระสุดท้ายที่เราจะพิจารณากันในวันนี้คือ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕.๓ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ (นายจักรัตน์ พั้วช่วย เป็นผู้เสนอ) ขอเชิญผู้เสนอแถลงเหตุผลได้เลยครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ สส. คนไทหล่ม ในฐานะที่ผมได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ก่อนอื่นต้องขอบคุณ ท่านประธานที่กรุณาบรรจุญัตติของผมและคณะในระเบียบวาระวันนี้นะครับ ท่านประธานครับ เหตุผลของญัตตินี้คือด้วยยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญประเภทหนึ่ง ในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นิยมปลูกยาสูบกันเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ หลักในการผลิตบุหรี่ โดยการปลูกยาสูบสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้หลักในการดำรงชีวิตตลอดมา แต่ในปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบกลับต้องประสบปัญหาราคายาสูบและยาเส้นตกต่ำ เนื่องจากการลด ปริมาณการรับซื้อยาเป็นอย่างมาก จากมาตรการด้านสุขภาพ และการปรับโครงสร้างภาษี สรรพสามิตยาสูบใหม่ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราภาษีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผล ให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น และมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ แล้วก็เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งขณะนี้ แพร่หลายเป็นจำนวนมากนะครับ จากปัญหาราคายาสูบและยาเส้นตกต่ำส่งผลให้เกษตรกร ผู้ปลูกที่ยึดถืออาชีพในการปลูกยาสูบมาอย่างยาวนานได้รับความเดือดร้อน ไม่มีรายได้ เพียงพอในการดำรงชีวิต และต้องแบกรับ ภาระหนี้สิน อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบดั้งเดิมยัง ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อทดแทนอาชีพเดิมได้ จึงเป็นปัญหาที่ เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบต้องเผชิญและมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้นต่อไป ดังนั้นหากมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นตกต่ำ เพื่อให้มีการ พิจารณาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างลอบค้าอย่างรอบด้าน ครบถ้วนในทุกมิติ จะเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตและมีแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสม และยั่งยืนต่อไปในอนาคตครับ ปัญหายาสูบและยาเส้นที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับ เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ก็คือเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบผสมโดยคิดภาษี ตามปริมาณ ๑.๒ บาทต่อมวนบวกกับภาษีตามมูลค่า ๒ อัตรา ได้แก่บุหรี่ที่มีราคา เกิน ๖๐ บาทต่อซองคิดอัตรา ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และบุหรี่ที่มีราคาเกิน ๖๐ บาทต่อซอง คิดอัตรา ๔๐ เปอร์เซ็นต์ พร้อมกันนั้นยังเริ่มเก็บภาษีเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากสินค้ายาสูบ ในอัตรา ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของภาษีสรรพสามิต ทำให้ต้องปรับเพิ่มราคาของบุหรี่สูงมาก อย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน อันนี้รอบแรกนะครับ ส่วนรอบที่ ๒ ในการปรับโครงสร้างภาษี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ๒ อัตราเช่นเดียวกัน แต่คิดภาษีตามปริมาณ ๑.๒๕ บาทต่อมวนและภาษีตามมูลค่า ก็คือปรับเป็นบุหรี่ที่ราคา ไม่เกิน ๗๒ บาทต่อซอง คิดอัตราเพิ่มจาก ๒๐ เปอร์เซ็นต์เป็น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และบุหรี่ที่เกิน ๗๒ บาทต่อซองคิดอัตราจาก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๔๒ เปอร์เซ็นต์ การปรับโครงสร้างภาษี บุหรี่ทั้ง ๒ ครั้งนี้ทำให้บุหรี่มีราคาที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลทำให้ การยาสูบแห่งประเทศไทยมีกำไรลดลงอย่างน่าตกใจนะครับท่านประธาน เดี๋ยวขอภาพประกอบนะครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานคงเห็นนะครับ ก่อนหน้าปี ๒๕๖๐ การยาสูบแห่งประเทศไทยมีกำไรเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท อย่างปี ๒๕๕๘ ๗,๐๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๕๙ ๘,๐๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๐ ๙,๐๐๐ ล้าบาท พอปรับภาษี ปี ๒๕๖๐ ทำให้กำไรลดลง ปี ๒๕๖๑ เหลือ ๘๐๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๒ เหลือ ๕๐๐ ล้านบาท และปีที่แล้ว ๒๕๖๕ การยาสูบแห่งประเทศไทย เหลือกำไรเพียง ๑๒๐ ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควตาการปลูกยาสูบ และที่สำคัญก็คือเรื่องของราคา และที่สำคัญก่อนปี ๒๕๖๐ การยาสูบแห่งประเทศไทย ไม่เคยขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย แต่หลังจากปี ๒๕๖๐ หลังจากการปรับภาษี รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรไปแล้ว ๒ รอบ และเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลก็จ่ายเงิน ช่วยเหลือเยียวยาเรื่องค่าปัจจัยการผลิต ก็ต้องขอบคุณท่าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้ช่วยเหลือผลักดันมาตรการนี้ให้กับพี่น้อง เกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศ ท่านประธานครับกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทย ที่ลดลงอย่างมากท่านว่าหายไปไหนครับ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย ผลิตบุหรี่ออกมาขายไม่ได้ ทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง ผมว่าพวกท่านคิดผิด นี่เป็นกราฟการเติบโตของบุหรี่เถื่อนในประเทศไทย ท่านดูตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ บุหรี่เถื่อนมีอยู่ใน ตลาดประมาณ ๒.๑ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาปีนี้ปี ๒๕๖๖ ตอนนี้บุหรี่เถื่อน ในตลาดมีอัตราเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ ๒๒ กว่าเปอร์เซ็นต์ คิดง่าย ๆ ถ้าท่านประธานเห็น คนสูบบุหรี่ ๔ คนจะมี ๑ คนที่กำลังสูบบุหรี่เถื่อนอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดำเนินงานในเรื่องนี้ และในอนาคตอันใกล้ทราบมาว่าจะมีมาตรการ ภาษีแบบอัตราเดียว ทุกวันนี้เราใช้ ๒ อัตรา แต่ในอนาคตทราบมาจากกระทรวงการคลัง แล้วก็กรมสรรพสามิตจะมีการปรับภาษีอัตราเดียว และการกำหนดแผนการขึ้นภาษีในช่วง ต่อไปก็ขอให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจ โดยมีการประกาศ แผนการขึ้นภาษีระยะยาว เพื่อช่วยให้ชาวไร่และยาเส้นมีการปรับตัวพร้อมให้การยาสูบ แห่งประเทศไทยช่วยเหลือเงินแก่ชาวไร่ยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคายาสูบที่สูงขึ้น แล้วก็เงินช่วยเหลือเรื่องของปัจจัยการผลิต ที่ผมพูดนี่ในส่วนของยาสูบ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ส่วนของยาเส้น สั้น ๆ ครับ ส่วนโครงสร้างภาษียาเส้นในปัจจุบันใช้แบบ ๒ อัตราเช่นเดียวกัน ก็คือคิดจากปริมาณถ้าไม่เกิน ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม เสียภาษี ๐.๐๒๕ บาทต่อกรัม แต่ถ้าปริมาณเกิน ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม เสียภาษี ๐.๑ บาทต่อกรัม ขอให้กรรมาธิการที่เรากำลังจะช่วยกันพิจารณานี้นะครับ ช่วยปรับตัวเลขให้สอดคล้องกับ สภาพความเป็นจริง เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่อยู่ตามต่างจังหวัด ที่มีกำลังเงิน กำลังทุนน้อยให้อยู่ได้ ก็คือปรับเป็นปริมาณไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ กิโลกรัม เสียภาษี ๐.๐๒๕ บาท ต่อกรัม ส่วนที่เกิน ๕๐,๐๐๐ กิโลกรัม เสียภาษี ๐.๑ บาทต่อกรัม ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่วันนี้ ผมยื่นญัตติเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบ แต่สุดท้ายครับ จริง ๆ แล้วญัตตินี้ผมยื่นเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ตอนนั้นคณะกรรมาธิการสามัญ ของเรายังไม่ตั้งขึ้น แต่ตอนนี้ทราบมาว่ามีกรรมาธิการสามัญทั้ง ๓๕ คณะที่พร้อมจะทำงานแล้ว ผมก็เลยอยากจะเสนอว่าเรื่องนี้ ญัตตินี้ขอให้ส่งไปที่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ขอบคุณครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณผู้เสนอญัตตินะครับ ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิก มีฝ่ายค้านเข้าชื่อ ๑ ท่าน แล้วก็ฝ่ายรัฐบาล ๒ ท่าน ฉะนั้นผมขอเริ่มที่ฝ่ายรัฐบาลก่อน ขอท่านทรงยศ รามสูต ครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผมทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขออภิปรายในส่วนของญัตติที่ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ จริง ๆ พื้นที่ยาสูบของ จังหวัดหนองคายมี สส. ของพรรคเพื่อไทย ๒ ท่านนะครับ ก็ตั้งแต่ท่าน สส.ชนก จันทาทอง ที่ดูแลตั้งแต่โพนแพง มาบ้านเวิน หนองกุ้ง ไปจนถึงวัดหลวง ปากสวย แต่พื้นที่ที่ปลูกเยอะที่สุด ก็คือจะเป็นตำบลชุมช้าง บ้านโพนบก มีโรงบ่มด้วย ส่วนอำเภอเมืองตั้งแต่บ้านเดื่อไปจนถึง เวียงคุกส่วนพื้นที่ที่ปลูกเยอะที่สุดจะเป็นของท่าน สส. เอกธนัช อินทร์รอด แถวอำเภอท่าบ่อ ตั้งแต่บ้านท่ามะเฟือง โพนสาไปจนถึงอำเภอศรีเชียงใหม่ จริง ๆ ๒ ท่านก็อยากจะอภิปราย แต่ว่าเพื่อประหยัดเวลา ๓ คน ๓ ๗ ๒๑ นาที ในฐานะที่ผมเคยเป็น สส.หนองคาย รับมาพูดคนเดียว ขอเวลา ๑๐.๓๐ นาที ผมเองเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่เป็นหนึ่งใน ๘๐ เปอร์เซ็นต์บวกลบของคนไทยที่ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ซึ่งทำมาจากยาสูบมันเป็นพืชที่หลายคน เขารังเกียจบางคนบอกว่าเป็นลูกเมียน้อย ผมว่าไม่ใช่ลูกเมียน้อยหรอก เป็นลูกที่พ่อแม่ ไม่ยอมรับ เวลาเกษตรกรที่ปลูกยาสูบมีปัญหามีภัยพิบัติ รัฐไม่เคยเหลียวแลดูแลเลย แต่ก็ต้องยอมรับกิจกรรมที่ไม่ดี แต่บางครั้งก็มีประโยชน์ต่อประเทศเราก็ต้องพยายามรณรงค์ ลอตเตอรี่ สลากกินแบ่งรู้ว่าไม่ดี พยายามเลิกแต่ก็มีรายได้เข้ารัฐ สุราก็เหมือนกัน เป็นอันตรายก็พยายามรณรงค์แต่ก็มีบางส่วนที่ยังดื่มอยู่แล้วก็สร้างรายได้เข้ารัฐ บุหรี่นี่ก็ เช่นกันก็รู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่บางครั้งในอดีตเคยมีรายได้เข้ารัฐเยอะ โทษก็มีเยอะ ปีหนึ่งมีคนเสียชีวิตจากบุหรี่ประมาณเฉลี่ย ๕๐,๐๐๐ คน แล้วก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแล รักษาพยาบาลโรคเกี่ยวกับบุหรี่ปีหนึ่งประมาณ ๑๑,๔๗๓ ล้านบาท เขาสำรวจมา เราก็ต้องยอมรับซึ่งตรงนี้ได้สิ่งที่มีดี มีเสีย เราก็ต้องหาทางแก้ไข หาทางสมดุล ในส่วนที่มันเกิดขึ้นแล้วเราจะแก้ไขอย่างไรอย่างสลากกินแบ่งนี่มีรายได้เข้ารัฐ เราห้าม แต่ชาวบ้านก็ยังซื้อ ก็โชคดีไม่อยากขายเกินราคารัฐบาลก็ออกสลาก Online แต่ก็ต้อง ยอมรับมันยังมีสลากใต้ดินอยู่กับเจ้ามือ อันนี้ต้องหาทางแก้ไขนะครับ สมัยก่อนนายกทักษิณ เอาขึ้นมาบนดินเจ้ามือหายไปเยอะ สุราก็เช่นกันมันมีปัญหาเราก็พยายามรณรงค์ ว่าอย่าไปดื่มมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โชคดีที่มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านพยายามเสนอ กฎหมายสุราก้าวหน้า ซึ่งก็น่าจะสามารถไปส่วนแบ่งการตลาดไม่ผูกขาดกับเจ้าใหญ่ ๆ ไม่กี่เจ้า บุหรี่ก็เช่นกันผมว่ามันก็มีปัญหาเราต้องหาจุดสมดุลให้ได้ว่ามันอยู่ตรงไหน เพราะว่าในกิจกรรม ต่าง ๆ มันมีคนที่เข้ามาร่วมวงกันมาก อย่างบุหรี่ก็มีทั้งคนที่สูบ มีคนที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้ปลูก ยาสูบ ทั้งส่งโรงบ่ม ยาซอย ยาเส้นเองมีทั้งผู้บ่ม แล้วก็มีคนขายปุ๋ย มีทั้งภาครัฐ แล้วก็มีทั้ง ในส่วนของภาษี เราต้องหาจุดสมดุลให้เจอเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของบ้านเรา ในส่วนของบุหรี่มันเริ่มมีปัญหาขึ้นมานะครับ ตั้งแต่เรามี พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบปี ๒๕๓๕ ห้ามโฆษณา ห้ามส่งเสริมการขาย ก็บางทีบางครั้งบางคราวก็สงสารเขาเหมือนกันจะ CSR ก็ลำบากโฆษณาไม่ได้ไม่ว่า แต่เวลา CSR ทีไรจะไปช่วยเหลือนี่ ช่วยเหลือได้เฉพาะลูกไร่ ที่เขาปลูก จะทำบุญไปช่วยเหลือคนนอกกลุ่มก็ไม่ได้ อันนี้ก็ต้องคอยดูนะครับ พอปี ๒๕๔๔ มี กองทุนส่งเสริมสุขภาพหรือ สสส. ก็พยายามเอาภาษีส่วนหนึ่งจากภาษีบาป เอามาดูแลสุขภาพ ซึ่งก็ปรากฏว่าในช่วงแรกตั้งแต่ปี ๒๕๓๔-๒๕๔๗ ตั้งแต่โครงการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมานี่ดี สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่จาก ๓๒ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๓๔ ลงมาเหลือ ๒๓ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๔๗ แต่ว่าปี ๒๕๔๗-๒๕๖๓ อัตราจะคงที่อยู่ ๒๓ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบันก็จะเฉลี่ยเหลือคนสูบบุหรี่ประมาณสัก ๑๗.๙-๑๙ กว่า ไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นความสมดุลมันเริ่มจะถึงจุดแล้ว แต่เราก็รณรงค์ต่อไปว่ามันไม่ดี และเขาเคยไป ทำการสำรวจว่าคนที่สูบบุหรี่ ๑๐๐ คนนี่ ๕๒ เปอร์เซ็นต์ เขาบอกว่ารู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยัง สูบอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องหาทางดูแลแก้ไขอย่างไรนะครับ แล้วก็บางครั้งบางคราเวลา จุดสมดุลมันต้องเกิด คราวนี้เรื่องของยาซอยยาเส้นบุหรี่มันแบ่งเป็น ๒ ประเภทของยาสูบ ส่วนหนึ่งใน ๑๐ ล้านคน ๕.๖ ล้านคนนี่คือส่วนที่สูบบุหรี่ อีก ๔.๖ ล้านคนนี่คือในส่วนของ ยาซอยยาเส้นนะครับ ผมจะขอพูดปัญหาในส่วนของบุหรี่ก่อนนะครับ บุหรี่นี่ถ้าเทียบ เปอร์เซ็นต์แล้วมันมีปัญหารัฐพยายามออกกฎหมายมาแก้ไขหลายต่อหลายอย่างนะครับ อย่างที่เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกผู้เสนอได้อภิปรายไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมานี่โรงงาน ยาสูบเคยได้กำไรประมาณปีละ ๘,๐๐๐ ล้านบาท ปัจจุบันเหลือไม่ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ไม่รู้ ว่าเป็นนโยบายที่มันผิดพลาดหรือว่าคนลดการสูบบุหรี่นะครับ แต่เขาก็ไปศึกษาดูเขามีการไป สุ่มเก็บตัวบุหรี่ตามถังขยะหรือที่ต่าง ๆ ๓๖ จังหวัด ก็พบว่าอย่างเมื่อสักครู่นี้ท่านอภิปรายคือ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ตอนนั้นมัน ๒.๙ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันเพิ่มมาถึงปี ๒๕๖๕ ๑๕.๕ เปอร์เซ็นต์ คราวนี้ปัญหาใหญ่ก็คือว่าอัตราที่มันเพิ่มขึ้นมานี่ไป Check ดูแล้วเงินภาษีที่เพิ่มจาก ยอดขายบุหรี่มันไม่มามันหายไปไหน แสดงว่ามันไปที่บุหรี่เถื่อนที่หนีเข้ามา ถ้าเฉลี่ยแล้ว ยอดเงินที่รัฐสูญเสียไปน่าจะประมาณ ๒๕,๐๐๐ กว่าล้านบาท ฉะนั้นเรื่องนี้ก็มีปัญหาเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาของภาครัฐจริงอยู่เจตนาเราอยากจะลด การสูบบุหรี่มีพยายามปรับลง แต่บางครั้งเราก็ต้องดูจุดสมดุลด้วยว่ามันอยู่ขนาดไหน เพราะครั้งเราอยากจะปรับปุ๊บ แต่บางทีอย่างที่ผมบอกแล้วว่าคนบริโภคมันอยู่ในส่วนของ บุหรี่ประมาณ ๕.๖ ล้าน บางทีเราปรับปุ๊บนี่มันไม่ลงไปกว่านี้แทนที่มันจะลดลงไปของ บุหรี่ไทยมันหนีไปอยู่บุหรี่เถื่อน เพราะฉะนั้นต้องหาจุดสมดุลให้เจอ ยิ่งรัฐออกนโยบาย อย่างเมื่อสักครู่นี้ที่กล่าว ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ลดปริมาณการซื้อเวอร์จิเนียลงไป ๔๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเหนือตอนบน น่าน เดี๋ยวแพร่ของคุณหมอนิยมนี่ก็เหมือนกันนะครับ เตอร์กิชลดไป ๖๐ เปอร์เซ็นต์ พอปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ ลดเวอร์จิเนียไปอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แต่โชคดีตอนนั้นเบอร์เลย์กับเตอร์กิซมันมีปัญหาในเรื่องสภาพภูมิอากาศก็เลยไม่ค่อยมี ปัญหานะครับ เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้ราคายังโอเคอยู่ และยิ่งบุหรี่อย่างว่าเป็นภาษีบาป ภาษีสรรพสามิตกฎหมายออกมาหน่วยงานต่าง ๆ ก็มาขอส่วนแบ่งออกไป อย่างเมื่อสักครู่นี้ ที่เพื่อนสมาชิกที่เสนอปี ๒๕๖๐ กระทรวงมหาดไทยก็มาขอ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ จากกรมสรรพสามิต แล้วก็กองทุนผู้สูงอายุก็มาขอ ๒ เปอร์เซ็นต์เป็นรายได้ หลังจากมี การปรับหลายต่อหลายครั้งก็เลยส่งผลให้การแก้ไขต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ราคาบุหรี่ไทยขึ้นไป ใกล้เคียงกับบุหรี่หนีภาษี ซึ่งรัฐไม่ได้เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รายได้จากภาษีที่หลั่งไหลเข้ามา เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะฝากว่าจะต้องดูแลตรงนี้ ดูแลตรงไหน ในเกษตรกรบุหรี่ไทยเขา อยากให้มันโตเพราะมันขายไม่ค่อยได้ ซึ่งส่งผลต่อบริษัทที่เขาจะไปซื้อ โรงงานยาสูบจะไปซื้อ จากลูกไร่ก็คนที่ปลูกยาสูบจะต้องเป็นคนพิถีพิถันจะต้องละเอียด แต่ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาล ไม่เคยเหลียวแลเลยตลอด ๑๐ ปีมายาเวอร์จิเนียราคาเท่าเดิมมาตลอดแถมขอลดลงไปอีก ๔ บาท ในขณะที่ต้นทุนมันเพิ่มขึ้น ค่าปุ๋ยที่ราคาสูงขึ้น แต่ค่ายาเท่าเดิม เฉลี่ยต้นทุน จากค่าปุ๋ยที่สูงขึ้นเขาบอกเพิ่มประมาณ ๔.๕ บาทต่อกิโลกรัม ค่าไฟค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นมันทำให้ ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มอีก ๒๓ เปอร์เซ็นต์ ค่าแรงจาก ๓๐๐ บาท เป็น ๓๔๐ บาท เพิ่มอีกประมาณ ๕.๙๐ บาทต่อกิโลกรัม ค่าฟืนจากกิโลกรัมละ ๑.๒๐ บาทขึ้นเป็น ๑.๔๐ บาท ต้นทุนก็เพิ่มไปอีก ๑.๔ บาทต่อกิโลกรัม แล้วก็น้ำมันดีเซลจาก ๒๖ บาท เป็น ๒๙ บาท สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการทำให้เกษตรกรที่ปลูกไร่ยาสูบ มีปัญหาเยอะก็อยากจะฝากให้รัฐดูแลวิธีที่จะดูแลที่ดีที่สุด ก็คือต้องพยายามปราบบุหรี่เถื่อน ให้ได้ แล้วก็พยายามที่จะดูแลในส่วนของผู้ประกอบการโรงบ่มต่าง ๆ ในเรื่องโควตาต่าง ๆ ไม่ใช่มุ่งแต่ที่จะลดเขา ๆ แต่ทางมันไหลไปสู่บุหรี่เถื่อนนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องหาจุดสมดุลให้เจอ นอกจากนี้สิ่งที่เขากังวลกันมากในส่วนของ ข้อกฎหมายนะครับ ได้รับทราบว่าทางกระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะออกกฎกระทรวง ห้ามมิให้เติมส่วนประกอบและส่วนปรุงแต่งที่มีความจำเป็นในการผลิตบุหรี่ เช่น สารรักษา คุณภาพรวมถึง Mental และสารปรุงแต่งอื่น ๆ คือถ้ากฎกระทรวงนี้ออกมาถ้าเรา ไม่รอบคอบจริง ๆ บุหรี่ไทยอาจจะหายไปอีกกว่าครึ่ง แล้วพอหายคนที่เขาเสพอยู่แล้วเขาจะ ไปไหนเขาก็ไปซื้อบุหรี่ไปเสพสูบบุหรี่ที่หนีภาษี เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากให้รัฐรอบคอบ ในการออกกฎหมายออกกฎกระทรวง เพราะฉะนั้นจุดที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องดูแลตรงนี้ แล้วก็มีมาตรการปราบบุหรี่เถื่อนอย่างเต็มที่ อันนี้ในส่วนเรื่องของบุหรี่ ปัญหาของบุหรี่ ซึ่งส่งผลต่อเกษตรกรโดยตรงอันนี้ฝากให้รัฐแก้ไข
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มบุหรี่พื้นเมือง มีประมาณ ๔.๕ ล้านคน พวกยาซอยยาเส้น ก็ต้องขอบคุณ สส. ในรัฐบาลชุดที่แล้ว สส. เพื่อไทย หลายคนรวมทั้งภรรยาผม ท่าน สส. สิรินทร รามสูตร และ สส. อีกหลาย ๆ พรรคที่ช่วยกันผลักดันในเรื่องของ อากรแสตมป์ให้รัฐลดอากรแสตมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวไร่เกษตรกรที่ปลูกยาซอย ยาเส้น ซึ่งรัฐก็รับฟัง จนปัจจุบันนี้ชาวบ้านโอเคอยู่ได้ ปัจจุบันก็ตกประมาณกิโลละ ๑๓๐-๑๕๐ บาท เขาบอกพออยู่ได้ แต่ที่ชาวบ้านฝากมาคืออยากจะฝากให้ลดขั้นตอนลงมานิดหนึ่ง เขาบอกว่า เวลาผู้ซื้อซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทจะไปซื้อยาสูบมันยุ่งยาก ต้องไปขอใบตัวแทนจากบริษัท จากโกดัง ในใบนั้นต้องระบุด้วยว่าจะไปซื้อจากนาย ก นาย ข ที่ตั้งอยู่ตรงไหน บ้านเลขที่ เท่าไร กี่กรัม กี่ถุง พอได้มาตรงนี้เสร็จต้องวิ่งรอกไปขอที่สรรพสามิตในพื้นที่อีกว่าจะไปซื้อ จากใคร กี่ถุง กี่กรัม แล้วเขาก็จะได้ Sticker ไปแปะที่ยาสูบเพื่อที่จะขนย้ายเคลื่อนย้าย ถ้าไม่มีใบ Sticker ก็จะถูกจับ ก็อยากจะฝากว่าท่านลดขั้นตอนได้ไหม แค่มีใบแต่งตั้งตัวแทน มาก็พอนะครับ เพราะเวลาไปซื้อนี่มันต้องไปแจ้งสรรพสามิตในพื้นที่อยู่แล้วมันก็จะลด ขั้นตอนลงไป เพราะอะไรที่มันเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ ให้ตัวแทนนี่เขาไม่รับไว้หรอก เขาก็ผลักภาระไปให้กับชาวบ้านให้เกษตรกร ฉะนั้นอะไรที่จะช่วยได้มันก็จะส่งผลถึง เกษตรกร ก็อยากจะเรียนฝากท่านประธานไปถึงภาครัฐบาลในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของบุหรี่ รวมทั้งเรื่องยาซอยยาเส้นขอขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ เขต ๓ สันกำแพง แม่ออน ดอยสะเก็ด ท่านประธานครับ ผมจำเป็นที่ต้องอภิปรายเรื่องนี้นะครับ ด้วยที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง ในเขตเลือกตั้งของผมผมได้พบกับพ่อแม่พี่น้องชาวไร่ ที่ปลูกยาสูบรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ปลูกใบยาสูบ เมื่อประมาณ ๒ เดือนที่แล้วก็มีโอกาส ได้ไปพบกับพ่อแม่พี่น้องที่นั่นก็ได้รับทราบปัญหาของเรื่องใบยาสูบมาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ก็ขอพูดในส่วนของพี่น้องที่ปลูกใบยาสูบซึ่งมีทั้งที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน แล้วก็จังหวัดลำปางก็มีเช่นเดียวกัน ปัญหาก็คล้าย ๆ กับที่ท่านจักรัตน์ กับที่ท่านทรงยศพูดมานะครับ ปัญหาของราคาตกต่ำ โควตาที่ลดลง โควตาที่เกษตรกร จะได้ปลูกใบยาสูบ ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตามที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปว่า ตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีก็ทำให้ยอดขายของบุหรี่ลดลงก็ทำให้เกิดโควตาลดลง แล้วก็ถ้าดูจากตามข้อมูลตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึง ๒๕๖๕ เป็นต้นมา รัฐบาลที่ผ่านมา ก็มีการชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบมาในทุก ๆ ปี จนปีล่าสุดก็มีมาตรการชดเชย แต่อันนี้ไม่แน่ใจว่ามีการจ่ายเงินเยียวยาชดเชยกับเกษตรกรของปีล่าสุดไปแล้วหรือยังนะครับ เรื่องนี้ถ้าเราแยกปัญหาเป็น ๒ เรื่องใหญ่
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องแรกคือยอดขายลดลง ยอดขายบุหรี่ลดลงจริงครับตามข้อมูลจากกราฟ ยอดขายบุหรี่ลดลง แต่ปัญหาก็คือจำนวนผู้สูบไม่ได้ลดลงนะครับ สาเหตุที่จำนวนผู้สูบ ไม่ได้ลดลงอย่างที่มันควรจะเป็นตามยอดขายที่ลดลง คือยอดขายลดลงมากกว่า แต่ผู้สูบ ลดลงน้อยกว่า มันก็สะท้อนว่าจริง ๆ แล้วผู้ที่สูบบุหรี่ก็ไปใช้ทางเลือกอื่น แต่ด้วย การที่ยอดขายลดลงส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนโยบายของรัฐเรานี่ละที่จะทำให้ราคามันสูงขึ้น เมื่อสูงขึ้นแล้ว โดยเรามุ่งหวังว่าจะให้ผู้สูบบุหรี่ลดลง แต่ผลมันไม่ได้กลับเป็นอย่างนั้น แต่ผลมันดันไปตกกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูก อันนั้นคือสาเหตุของปัญหาที่ ๑ ยอดขายลด โควตาการปลูกลดลง เกษตรกรลำบาก
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดกับเกษตรกรก็คือปัญหาต้นทุน คือเกษตรกรชาวไทยไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่าต้นทุนในการทำการเกษตร ในหลายปีช่วงหลังมานี้ ค่าไฟ ค่าน้ำมันต่าง ๆ นานามันก็ส่งผลกระทบกับเกษตรกร ทุกประเภท ผมคงใช้เวลาไม่มาก ผมขอเข้าสู่ข้อเสนอเลยแล้วกัน ผมมี ๔ ข้อเสนอนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อเสนอแรก ก็จะฝากไปถึงคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ว่าโครงสร้างภาษีที่ได้พิจารณามา ผมเข้าใจดีว่าต้องการทำ ให้ราคาบุหรี่มันสูง เพื่อที่จะลดจำนวนผู้สูบ แต่จากข้อมูลแล้วโครงสร้างภาษีนี้ทำให้ยอดขาย บุหรี่ที่เราปลูกโดยการยาสูบแห่งประเทศไทยลดลง แต่จำนวนผู้สูบไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย อย่างที่ต้องการให้เป็น อันนี้อาจจะต้องทบทวนว่าผลดีผลเสียมันสมดุลกันหรือเปล่า
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อเสนอที่ ๒ ผมอยากจะเน้นไปที่เกษตรกรมากกว่า คือเราคงไม่อยากจะให้ มีผู้สูบบุหรี่เยอะขึ้น ทุกคนคงอยากให้มีผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยลดลง ข้อเสนอที่ ๒ ที่ผมอยากจะส่งตรงไปถึงเกษตรกร คือเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไม่ได้รับการดูแล จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ดูแลโดยการยาสูบแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแล โดยกระทรวงการคลัง ข้อเสนอของผม คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรที่จะเข้าไป ช่วยเหลือเขาที่จะเปลี่ยนให้เขาได้ไปปลูกอย่างอื่น จากข้อเท็จจริงที่ผมได้พบกับพ่อแม่พี่น้อง คือเมื่อโควตาลดลงเขาก็ไม่ได้ว่าทู่ซี้ที่จะปลูกใบยาสูบ ก็มีหลายครอบครัว หลายที่ ที่เขาพยายามที่จะปลูกอย่างอื่นแล้ว เพราะว่าก็มีที่อยู่แล้ว มีต้นทุน มีความรู้อยู่แล้ว เขาก็อยากจะขอ ถ้าจะให้เขาลดลงอยู่แบบนี้ เขาก็ไม่อยากจะไปฝากชีวิตไว้กับโควตาแล้ว แต่ถ้าเราช่วยเหลือเขาให้เขาได้ปลูกอย่างอื่นได้มันก็น่าจะดีกว่า
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ ก็อย่างที่เราทราบว่าตอนนี้มี กมธ. วิสามัญเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็มีประเภทของบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นประเภทที่เป็นไส้ Heat-not-burn ที่ในส่วนผสมนั้นยังต้องมีส่วนผสมของใบยาสูบอยู่ ก็มีเกษตรกรบางส่วน ที่เห็นด้วยว่าถ้าเกิดบุหรี่ไฟฟ้าประเภทนี้มันถูกกฎหมาย เขาก็อยากจะมีส่วนร่วมที่เขาจะได้ ปลูกใบยาสูบเพื่อเป็นส่วนผสมของบุหรี่ประเภทนั้น แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องของอนาคต
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ข้อเสนอข้อสุดท้าย เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่ผมไปพบมา และผมก็เชื่อว่า ในหลายพื้นที่เป็นเกษตรกรที่เป็นผู้สูงวัย เสียงสะท้อนจากเกษตรกรที่ผมได้รับมาจริง ๆ ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่เขาก็มีความคาดหวังครับ เงินบำนาญผู้สูงวัย อันนี้ก็ฝากมาว่าถ้าเป็นไปได้ พรบ. บำนาญผู้สูงวัยหรือเบี้ยผู้สูงวัยที่มันจะสูงขึ้นได้มากกว่า ที่เป็นอยู่ จะมากกว่า ๖๐๐ บาท อย่างน้อย ๆ เกษตรกรผู้สูงวัยที่ปลูกใบยาสูบฝากมาครับ ก็เป็น ๔ ข้อเสนอ สำหรับวันนี้ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเชิญท่านนิยม วิวรรธนดิฐกุล
นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล แพร่ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม นิยม วิวรรธนดิฐกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดแพร่ เขต ๒ ซึ่งก็เป็นเขตที่มีการเพาะปลูกใบยาสูบจำนวนมาก ก่อนอื่นก็ต้องขออนุญาตในฐานะ ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับ บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่ วันนี้ก็คงขอแยกในเรื่องของการอภิปราย ครั้งนี้จะไม่พูดถึงผลกระทบของยาสูบ ซึ่งมีทั้งนิโคตินและสารอื่น ๆ อีกกว่า ๗,๐๐๐ ชนิด ที่มีผลต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ แต่จะขออนุญาตพูดถึงเรื่องผลกระทบที่มีต่อพี่น้อง ประชาชนที่ปลูกยาสูบในเขตพื้นที่จังหวัดแพร่นะครับ ถ้าใครไปจังหวัดแพร่เมื่อประมาณสัก ๔๐ ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามีโรงบ่มใบยาสูบเยอะแยะ มากมายทั่วจังหวัดมีการปลูกยาสูบ พี่น้องประชาชนปลูกกันเป็นหลายหมื่นครอบครัว แม้กระนั้นเอง สส. แพร่ทุกคนในอดีตทั้งแพร่ทั้งน่านก็ล้วนแต่เป็นพ่อเลี้ยงใบยาทั้งสิ้น ท่านไปดูประวัติก็แล้วกันนะครับ เพราะฉะนั้นใบยาสูบถือว่าเป็นรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับ พี่น้องประชาชนชาวแพร่ แต่ปัจจุบันนี้การปลูกยาสูบที่แพร่ก็เหลือเพียงแค่ ๒ อำเภอ ก็คือ อำเภอร้องกวาง และอำเภอสองเป็นส่วนใหญ่นะครับ พี่น้องประชาชนที่ปลูกยาสูบก็มีไม่ถึง ๒,๐๐๐ ครัวเรือน ยาสูบที่ปลูกกันในจังหวัดแพร่ก็คือพันธุ์เวอร์จิเนีย ก็คือปลูกในภาคเหนือ ตอนบน ส่วนพันธุ์อื่น ๆ อย่างเช่นพันธุ์เบอร์เลย์ก็จะปลูกที่สุโขทัยและเพชรบูรณ์ เตอร์กิซส่วนใหญ่ขจะเป็นการปลูกในอีสานใต้ และยาสูบที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ พันธุ์เวอร์จิเนียนี่เอง เพราะว่าราคาที่ขายก็ลดลง และนอกจากนั้นที่สำคัญก็คือโควตา การรับซื้อของการยาสูบแห่งประเทศไทยได้ลดลงเรื่อย ๆ ลดลงมาหลายปีแล้ว ลดลงประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นฤดูการปลูกปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ มีการปลูกพันธุ์ เวอร์จิเนียประมาณ ๑๐ ล้านกิโลกรัม เดี๋ยวนี้เหลือเพียง ๕.๖ ล้านกิโลกรัม แล้วถ้าลดอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะเหลือเพียง ๔.๒ ล้านกิโลกรัม ซึ่งมันมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่ เป็นชาวไร่ปลูกยาสูบ อันนี้สาเหตุเราก็คงจะทราบกันดีก็คงอภิปรายกันมาแล้ว นั่นก็คือ การยาสูบแห่งประเทศไทยได้ลดโควตาการรับซื้อลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการยาสูบแห่งประเทศไทย ก็อยู่ในสภาวะเดี๋ยวนี้เรียกว่าน่าจะเกือบขาดทุนแล้ว จากมีรายได้เป็นเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็เนื่องจากบุหรี่ของการยาสูบแห่งประเทศไทยก็คงจะขายได้น้อยลง เนื่องจากมาจาก ๑. มาตรการด้านสุขภาพและการปรับภาษีสรรพสามิตร ก็ทำให้ราคาสูงขึ้น ๒. การลักลอบ นำบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะบางของเรา ก็คือกลุ่มวัยรุ่นเยาวชน รวมทั้งสุภาพสตรีด้วย มูลค่าของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประมาณ ๖,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ๓. เรื่องบุหรี่เถื่อน อันนี้ละครับก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้บุหรี่ของการยาสูบแห่งประเทศไทยขายได้น้อยลง สิ่งที่ชาวไร่ยาสูบเรียกร้องคืออะไรปัจจุบันนี้ ๑. ขอให้ไม่ลดโควตาลงไปกว่านี้อีกเพราะมันจะ ไม่คุ้มทุนแล้ว ๒. ขอให้รับซื้อใบยาสูบในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นนะครับ เพราะเรา ก็ทราบว่าทุกอย่างตอนนี้มันสูงขึ้นและมีต้นทุนที่มากขึ้น ๓. ขอสนับสนุนต้นทุนการผลิต อย่างเช่นปุ๋ย ทั้ง ๓ อย่างนี้คือสิ่งที่ชาวไร่ยาสูบต้องการ ตอนนี้เราจะให้พี่น้องประชาชน ที่ปลูกยาสูบเปลี่ยนไปเป็นอาชีพอื่นก็ยากมากนะครับ เพราะด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ ดังนั้นจึงขอฝากทางรัฐบาลได้พิจารณาในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวไร่ยาสูบ ซึ่งมี กระจัดกระจายอยู่หลายจังหวัด และยังต้องอาศัยรายได้จากการปลูกยาสูบเป็นรายได้ที่ใช้เลี้ยงชีพ ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปเป็นสมาชิกท่านสุดท้ายที่เข้าชื่อเพื่ออภิปรายนะครับ เรียนเชิญ ท่านทศพร เสรีรักษ์ ครับ
นายทศพร เสรีรักษ์ แพร่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ เขต ๑ ทั้ง ๓ ท่านที่อภิปรายมาก็ล้วนแต่ดี มันก็ขมวด ไปสู่ของผมก็คงมีข้อเสนอข้อเดียว จากที่ท่านทรงยศได้พูดว่ามีคนตายจากบุหรี่ ในประเทศไทย ปีละ ๕๐,๐๐๐ คน จริง ๆ แล้วทั้งโลกปีหนึ่ง ๘ ล้านคน แต่ที่ไม่ทราบอาจจะ มีมากกว่านี้อีก เราต้องใช้เงิน ๑๑,๔๗๓ ล้านบาทในการรักษาผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตจากการ สูบบุหรี่ สมัยก่อนเราจะเห็นเท่มากวัยรุ่นนี่ การสูบบุหรี่อยู่ที่ไหนก็สูบบุหรี่ คาบบุหรี่ อยู่บนรถเมล์ก็สูบบุหรี่ นั่งรถไฟ นั่งเครื่องบินก็สูบบุหรี่ แต่ตอนนี้คนสูบบุหรี่ลดไปตาม กาลเวลา ส่วนที่จะออกไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรืออะไรนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าเอามาโยงกันว่า จากเรื่องบุหรี่กับบุหรี่ไฟฟ้าแก้อย่างโน้นแล้วมีผลต่ออย่างนี้ มันมีอยู่ทางเดียวที่รัฐบาล ควรจะทำ ๑๑,๐๐๐ ล้านบาทที่เราใช้ในการรักษาคนเจ็บป่วย หรือจำนวนเงินมากกว่านี้ เอาไปชดเชยชาวไร่ยาสูบ ไม่ต้องไปหาวิธีลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องไปหาวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ แต่เอาเงินนี้ชดเชยให้ชาวไร่ยาสูบหันไปปลูกพืชอย่างอื่นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ แล้วก็ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายชีวิตมนุษย์ ขอส่งเรื่องนี้ไปสู่รัฐบาลให้เน้นประเด็นนี้ให้มากที่สุด ก็คือให้เลิก ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชผลการเกษตรอื่น ๆ แทน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ สมาชิกท่านใดมีความประสงค์จะอภิปรายเพิ่มเติมไหมครับ ถ้าไม่มี จะเป็นสิทธิของผู้เสนอญัตติได้อภิปรายสรุป เรียนเชิญครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม จักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอใช้เวลาสรุปเพียงสั้น ๆ ก่อนอื่นต้องขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่ช่วงนี้เย็นแล้ว ๖ โมงจะครึ่งแล้วครับ ก็ยังสนใจ เรื่องญัตติปัญหาเรื่องยาสูบและยาเส้น จริง ๆ แล้วอยากให้เข้าใจตรงกันว่าการที่ผมเสนอ ญัตตินี้ไม่ได้ส่งเสริมให้คนไทยสูบบุหรี่ คนละเรื่องกันนะครับ เป็นการปกป้องอาชีพ ของชาวไร่ยาสูบ ชาวไร่ยาเส้นให้มีความมั่นคง ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม อยากให้มีความมั่นคงขึ้นก็เลยเสนอญัตตินี้ขึ้นมา เพื่อให้คณะกรรมาธิการช่วยกันหาทาง ช่วยเหลือ อย่างที่ผมกล่าวไว้นะครับ อยากจะฝากคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ช่วยพิจารณาแล้วก็เชิญหน่วยงานมาช่วยกันแก้ปัญหา หลาย ๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพสามิต การยาสูบแห่งประเทศไทย แล้วก็ที่สำคัญคือ ชาวไร่ยาสูบต้องเชิญมาเพื่อที่จะได้รับข้อมูลรอบด้าน ผมขอสรุปเพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เนื่องจากญัตติเรื่องนี้เริ่มต้นเป็นการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่ผู้เสนอญัตติเห็นสมควรที่จะส่งไปที่คณะกรรมาธิการสามัญการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน รวมถึงการอภิปรายของสมาชิกก็เป็นไปในทางเดียวกัน ถ้าไม่มีการขัดข้องผมจะขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ ๑๘ ในการถามมติครับว่าสมาชิก ท่านใดจะเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ถ้าเราจะพิจารณาให้ส่งญัตติเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมาธิการ สามัญ ตามที่ผู้เสนอญัตติได้เสนอ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุม ลงมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงินได้พิจารณา ขอบคุณมากนะครับ สมาชิกครับ วันนี้เราทำเวลาได้ดีมากเลย นะครับ อภิปรายครบถ้วนทุกญัตติเลยครับ ขอโทษครับ ต้องมีการเสนอกรอบระยะเวลา ในการพิจารณาด้วยนะครับ เรียนเชิญผู้เสนอญัตติครับ
นายจักรัตน์ พั้วช่วย เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ จักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอเสนอระยะเวลา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ ๙๐ วัน ขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านนะครับ ระเบียบวาระทุกอย่าง ดำเนินไปได้ด้วยดีนะครับ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านนะครับ ขอบคุณล่ามภาษามือ ฝ่ายโสตด้วย ขอปิดการประชุมเท่านี้ ขอบคุณครับ