นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ ขอนำปัญหาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเข้าหารือกับ ท่านประธานดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาของบ้านน้ำแจ้งพัฒนา หมู่ที่ ๑๕ ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หมู่บ้านนี้ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินโคลนสภาพสัญจรไปมาลำบากมาก ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน หมู่บ้านนี้ไม่ได้ขาด แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่หมู่บ้านนี้ขาดคือโอกาส และสิ่งที่ต้องแบกรับไว้คือต้นทุนชีวิต ที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องถนนทางเข้าหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ หมู่ที่ ๖ ตำบลห้วยเฮี้ย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านหมู่ที่ ๖ รอถนนเส้นนี้มา ๒๒ ปี แต่สิ่งที่ได้ คือถนนคอนกรีตกว้างแค่ ๔ เมตร ไม่มีไหล่ทาง ขอบถนนสูง ๑๕-๒๐ เซนติเมตร การสัญจรไปมาลำบากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กระจกมองข้างแตก ประสบอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ถ้าล้อรถตกไหล่ทางก็จะเกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยทำไหล่ทางให้เขาหน่อยหรือขยายผิวถนนให้กว้าง อีกสักนิดหนึ่ง ไหน ๆ ได้ถนนมาแล้วขอให้ได้ถนนที่ปลอดภัยและมีคุณภาพครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เรื่องนี้ผ่านมายังท่านนายกทวีทรัพย์ ตาฉิมมา นายก อบต. ท่าสะแก ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ เรื่องซ่อมสะพานข้ามน้ำพึง สะพานนี้ เชื่อมระหว่างหมู่ที่ ๕ ตำบลท่าสะแกไปยังหมู่ที่ ๗ ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ ๒ ตำบลนี้สัญจรไปมาผ่านสะพานนี้ แต่สะพานนี้ถูกน้ำป่าพัดไปเมื่อคราวฝนตกหนัก เมื่อปีที่แล้ว และสะพานหายไปทั้งสะพานครับ ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้วจนถึงบัดนี้ครบรอบ ๑ ปี ยังไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแลแก้ไข ก็ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยไปซ่อมแซมสะพานนี้เพื่อให้ได้รับการสัญจรไปมาอย่างสะดวกครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ปัญหาการขาดแคลนปศุสัตว์อำเภอ เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้พูดถึงปัญหาราคาสัตว์ที่เป็นปศุสัตว์ราคาตกต่ำ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ อีกเรื่องหนึ่งของประเทศไทย คือปัญหาการขาดแคลนปศุสัตว์อำเภอครับ ตอนนี้ประเทศไทย ประสบปัญหาหนักขาดแคลนปศุสัตว์อำเภอ ๑๕๒ อำเภอจาก ๘๗๘ อำเภอคิดเป็น ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานครับ เกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ที่หนักกว่านั้นคือจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกขาดปศุสัตว์อำเภออยู่ ๓ อำเภอจาก ๙ อำเภอ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และในเดือน ตุลาคมนี้จะลาออกอีก ๑ อำเภอ คืออำเภอชาติตระการ เพราะฉะนั้นในเดือนตุลาคมนี้ จังหวัดพิษณุโลกจะขาดปศุสัตว์อำเภอ ๔ อำเภอ คืออำเภอนครไทย อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอชาติตระการ การขาดปศุสัตว์อำเภอก็เหมือนไปโรงพยาบาล แล้วไม่มีหมอครับ ขีดความสามารถในการรักษาย่อมมีอยู่อย่างจำกัด และเมื่อในยามวิกฤติ การแก้ไขปัญหาก็อาจจะไม่ทันท่วงทีครับ และการขาดปศุสัตว์อำเภอก็เหมือนการขาดคน ให้ความรู้ในการแนะนำเกษตรกรที่เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย คนที่น่าจะเข้าใจปัญหานี้ ดีที่สุดก็คือท่านประธานนะครับ ฝากท่านประธานไปยังกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ ผมขออภิปราย สนับสนุนญัตติการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ท่านประธานครับ สำคัญกว่าการตั้ง คณะกรรมาธิการชุดนี้คือการที่จะแก้ไขราคาผลผลิตการเกษตรให้ได้ผลอย่างจริงจัง เพราะว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำมีทุกยุคทุกสมัย ทุก ๆ การมีรัฐบาลใหม่ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้เสมอ แต่เกษตรกรก็ยังไม่เคยได้รับ การแก้ไขปัญหาสินค้าราคาเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน ทั้งที่อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ผลิต อาหารให้กับคนทั่วโลก แต่เกษตรกรในประเทศไทยกลับมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องดิ้นรน แล้วก็เป็นหนี้เป็นสินกันมากมาย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวงจรหนี้สิน ปัญหาความยากจน ทีนี้เรามาดูปัญหาครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาแรกของราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำผมอยากพูดถึงราคาของข้าวโพด เรามาดูต้นทุนครับ ต้นทุนในการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์ ทั้งปุ๋ย ทั้งค่าน้ำมัน แล้วก็ค่าน้ำ เกษตรกร หลาย ๆ ที่จำเป็นจะต้องซื้อน้ำในการเพาะปลูกข้าวโพด ในพื้นที่อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ของผม รวมถึงจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดถึงเกือบ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ แต่เมื่อเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้นตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเมื่อปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่าพื้นที่ทำการเพาะปลูกข้าวโพดมีพื้นที่ลดลง นั่นแสดงว่าเกษตรกรหลายพื้นที่ ไปไม่ไหวแล้วครับ ปลูกต่อไปไม่ได้ เพราะว่ายิ่งทำยิ่งขาดทุน

    อ่านในการประชุม

  • -๓๑/๑ และยิ่งปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง และปีหน้าที่จะมีวิกฤติการณ์ของ EI Nino ตอนนี้ไม่ต้องรอ ให้เก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะว่าตอนนี้ข้าวโพดหลายที่ตายไปแล้วครับ ตายคาพื้นที่จากปัญหา ความแห้งแล้ง ต้นทุนในการผลิตข้าวโพด ๑ ไร่ใช้ต้นทุนประมาณ ๖,๔๒๐ บาท อันนี้เป็นตัวเลข จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ ท่านประธานครับ เพื่อนผมปลูกข้าวโพดครับ ผมถามว่าทำข้าวโพดได้กำไรเท่าไร เขาบอกว่า ปลูกข้าวโพด ๔ เดือนนี่ได้กำไรประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท ๖๐,๐๐๐ บาท หาร ๔ ตกเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ทำกัน ๒ คนผัวเมียตกเดือนละ ๗,๕๐๐ บาท วันละ ๒๕๐ บาท ค่าแรงขั้นต่ำ ยังไม่ได้เลยครับต้องเดินเข้าไร่ทุกวัน ตากแดด ตากฝน สู้กับปัญหาปุ๋ยแพง ปัญหาน้ำมันแพง นี่คือต้นทุนในการผลิต ยังไม่รวมถึงต้นทุนในการที่เราต้องมาดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะว่า เมื่อเกษตรกรไม่สามารถมีกำไรจากการเพาะปลูกได้เพียงพอเขาก็ใช้วิธีการเผาไม่สามารถ มีวิธีการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมได้ ใช้วิธีการเผาซังตอข้าวโพด ยังไม่รวมประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ การเผาเราต้องมาแก้ปัญหา PM2.5 กันอีก นั่นคือปัญหาที่ ๑ ก็คือต้นทุนการผลิตที่สูง

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ปัญหาที่ ๒ คือราคาที่ขาย อาชีพเกษตรกรนี่เป็นเหมือนอาชีพธุรกิจ ส่วนตัวนะครับ แต่การทำธุรกิจส่วนตัวอื่น ๆ อย่างอาชีพซื้อมาขายไปเรายังรู้ว่าต้นทุน เราเท่าไร แล้วเราจะขายสินค้าเท่าไรให้ได้กำไร แต่อาชีพเกษตรกรนี่กำหนดไม่ได้เลยครับ ตั้งแต่ต้นทุนไปจนถึงราคาขาย ราคาปุ๋ย ราคาเมล็ดพันธุ์จะแพงแค่ไหนก็ต้องซื้อต้องทำ ราคา น้ำมันเลือกไม่ได้ แล้วสุดท้ายเมื่อเพาะปลูกเสร็จแล้ว เก็บเกี่ยวแล้วเอาผลผลิตไปขาย ก็เลือกราคาขายไม่ได้ ราคาเป็นแบบนี้ครับท่านประธาน ปกติประเทศเรามีความต้องการ ใช้ข้าวโพดอยู่ทั้งประเทศประมาณ ๘ ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยเราผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้เพียงแค่ประมาณ ๕ ล้านตันต่อปี ตัวเลขมันขาดอยู่ ๓ ล้านตันครับท่านประธาน ของขาด สินค้าน่าจะแพงถูกไหมครับ ราคาข้าวโพดน่าจะแพง เกษตรกรน่าจะมีกำไรของมันขาด แต่ว่าประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ อันนี้เข้าใจได้ เพราะว่าของ ขาดก็ต้องนำเข้าเข้ามา แต่นำเข้าเข้ามาปีละประมาณ ๑,๗๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี และยังมีการ ลักลอบนำเข้า อันนี้เป็นปัญหาสำคัญครับท่านประธาน เพราะปัญหานี้เคยนำเข้า คณะกรรมาธิการแก้ไขราคาผลผลิตการเกษตรแล้วเมื่อปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ มีการลักลอบนำเข้า ถึงปีละเกือบ ๕ ล้านตันต่อปี นั่นหมายความว่าทำให้ข้าวโพดในประเทศไทยล้นตลาด ราคาขายไม่มีวันที่จะฟื้นขึ้นมาได้ ตัวเลขหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประกาศไว้ใน Website คือประมาณ ๙-๑๑ บาทกว่า แต่ผมไปถามเกษตรกรในพื้นที่อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ เอาในจังหวัดพิษณุโลกของผมไม่เคยมีเกษตรกรไหนขายได้ถึง ๗ บาท ด้วยซ้ำ ราคาที่รับซื้อกันก็คือเต็มที่เลย ๖ บาทกว่า แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ ๔ บาทกว่า ๆ ๕ บาท นิดหน่อย ถ้าไปถึง ๙ บาทนี่ต้องปิดหมู่บ้านเลี้ยง ๑๐ วัน ๑๐ คืนครับท่านประธาน มันไม่เคยมีราคาขายที่ไปถึง ๑๑ บาทกว่าได้เลย นอกจากนั้นราคาผลผลิตข้าวโพด ในประเทศเราขาดแล้วนี่มีการลักลอบนำเข้า ตัวเลขที่ลักลอบนำเข้านี่มีการลักลอบนำเข้าถึง วันละ ๓๐๐-๔๐๐ พ่วงต่อวัน ๑ พ่วงนี่ ๔๐ ตัน แสดงว่าเรามีการลักลอบนำเข้าวันละ ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตันต่อวัน ตลอด ๓-๔ เดือน แสดงว่าเรามีข้าวโพดนำเข้าหลายล้านตัน นั่นทำให้ราคาข้าวโพดในประเทศไทยถึงไม่มีวันที่จะขึ้นครับ ประกอบกับต้นทุนที่สูงทำให้ เกษตรกรยากลำบาก สุดท้ายท่านประธานครับ เมื่อราคาข้าวโพดไม่สามารถทำให้เกษตรกร อยู่ได้ทำให้เกษตรกรต้องไปประกอบอาชีพอื่น ๆ การประกอบอาชีพเกษตรจึงไม่ตอบโจทย์ เกษตรกร เกษตรกรบ้านเราไม่มีวิถีชีวิตที่ดีเหมือนเกษตรกรต่างประเทศอื่น ๆ และราคา สินค้าเกษตรที่ตกต่ำส่งผลให้เกิดวงจรหนี้สิน และการต้องไปหาทางออกอย่างอื่น การต้องไป กู้หนี้ยืมสิน การต้องไปเข้ากองทุนฌาปนกิจ การต้องไปฝากเงินตามธนาคาร หมู่บ้านต่าง ๆ แล้วก็นำปัญ หาอย่างอื่นกลับเข้ามาในประเทศเรา ก็ขอฝากท่านประธาน และคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังจะตั้งขึ้นในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ศึกษาปัญหาของธุรกิจสถานบันเทิง ปัญหาธุรกิจสถานบันเทิง เริ่มแรกเลยคือประเทศไทยไม่มี พ.ร.บ. ของธุรกิจสถานบันเทิง มีแต่ พ.ร.บ. สถานบริการ แค่การจดทะเบียน ขึ้นทะเบียนเปิดสถานบริการก็มีกฎหมาย ที่ยุ่งยากแล้วนะครับ สถานบริการ สถานบันเทิงที่เราพูดถึงนี้มักจะตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยว อยู่ในสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และบริเวณเมืองหรือชุมชนนั้นก็จะมีเศรษฐกิจดี ชุมชนไหนหรือพื้นที่ไหนที่มีการเคลื่อนตัวของเงินหลังพระอาทิตย์ตกดิน มักจะเป็นเมือง ที่เศรษฐกิจดีเสมอ เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังพระอาทิตย์ตกดินจึงมีมูลค่า สูงมาก ทำให้เป็นต้นตอของการเกิดส่วย การเกิดการเรียกรับสินบน การแสวงหา ผลประโยชน์โดยมิชอบในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งวันนี้เพื่อน ๆ สมาชิกก็ได้อภิปรายกันไปมากแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสถานบริการนั้นมีความยุ่งยาก หยุมหยิม ไม่เอื้อต่อการประกอบกิจการสถานบริการ ไม่สามารถทำให้เปิดได้โดยง่าย แล้วก็ไม่มี การควบคุมที่มีประสิทธิภาพพอ จึงเกิดเหตุที่เพื่อน ๆ ได้อภิปรายกันมาไม่ว่าจะเป็นเกิดเหตุ เพลิงไหม้ ไฟไหม้ ความไม่ปลอดภัย แล้วก็เกิดการทุจริต การจะเปิดอย่างที่เพื่อน ๆ ผมบอก ว่าต้องมีเส้นถึงจะเปิดได้เพราะว่าขั้นตอนยุ่งยาก รายละเอียดเยอะ มีเส้นแล้วก็ต้อง มีสาย เมื่อเปิดธุรกิจได้แล้วในระหว่างที่ดำเนินธุรกิจเวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาตรวจ สถานบริการหรือจะมาค้น จะเข้ามาตรวจสอบก็ต้องมีสายโทรมาแจ้งล่วงหน้า ไม่อย่างนั้น ก็จะมีปัญหา เมื่อมีเส้นมีสายสุดท้ายมันถึงเกิดการมีส่วยนี่ละครับ ใบอนุญาตในการประกอบ กิจการก็มีความยุ่งยาก รายละเอียดเยอะ แล้วก็ล้าสมัย พอไปดูประเภทของการประกอบ กิจการ ตัวผมเองก็ยังไม่เคยเห็นการแสดงหรือการละเล่นประเภทรองเง็งเหมือนกันนะครับ หลังจากขออนุญาตการประกอบกิจการได้แล้วยังต้องขออนุญาตขายสุรา ขออนุญาต ขายบุหรี่ ยังไม่รวมถึงความยุ่งยากในสถานที่ตั้งหรือว่า Zoning ของการตั้งสถานบริการ การจัดตั้ง Zoning ผมคิดว่าการจัด Zoning ในประเทศไทย ความจำเป็นน้อยลงเรื่อย ๆ และผมคิดว่าการทำ Zoning มันเป็นการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ ถ้าผมมีพื้นที่ตรงนี้ อยู่แค่ที่เดียว และผมมีอาชีพเดียวที่ถนัดก็คือการเปิดสถานบริการ การเปิดร้านอาหาร การเปิดร้านเหล้า การเปิดผับ ผมไม่สามารถใช้พื้นที่ของตัวเองได้ถ้ายังมีการจัด Zoning อยู่ อย่างนี้มันเป็นการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ อันนี้ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย แล้วก็ คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตประกอบการ มันเป็นกฎหมายที่ใช้ดุลยพินิจ พอเป็นกฎหมาย ที่ใช้ดุลยพินิจก็มีโอกาสทำให้เกิดช่องว่างในการเรียกรับผลประโยชน์หรือการที่จะต้องจ่าย ใต้โต๊ะ เช่น ตามมาตรา ๖ ต้องไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรม อันนี้ มันเป็นดุลยพินิจของผู้ให้การอนุญาต คุณสมบัติแบบนี้มันทำให้เกิดการที่จะต้องมีเส้นมีสาย แล้วก็มีส่วยอย่างที่ผมแจ้งนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องถัดมาครับ อยากจะโยงไปจนถึงเรื่องที่เมื่อสักครู่นี้เพื่อนสมาชิกพูดก็คือ เรื่องนักดนตรี ผู้ประกอบอาชีพอิสระในสถานบริการยามค่ำคืน นักดนตรีหรือว่าจะเป็น พนักงานเสิร์ฟ DJ Cashier ต่าง ๆ พนักงานที่ทำงานกลางคืน ผมพูดถึงนักดนตรีครับ เป็นอาชีพอิสระที่ไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐ และไม่มีสวัสดิการใด ๆ ไม่มีความมั่นคง ทางอาชีพ มีความเสี่ยงในการประกอบอาชีพตลอดเวลา รวมถึงการถูกคุกคาม การถูก ล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักร้องผู้ชายหรือผู้หญิง เมื่อถูกล่วงละเมิดหลายครั้งที่ไม่สามารถไปเรียกร้องใด ๆ ได้ หรือไม่สามารถหาหลักฐานได้ ยกตัวอย่างเช่น รุ่นน้องผมเองเป็นนักดนตรีในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขาถูกลูกค้าล่วงละเมิด ด้วยการจับก้น แต่ว่าเมื่อไปขอกล้องวงจรปิดทางร้านเองก็ไม่ให้กล้องวงจรปิด ไม่ให้ความ ร่วมมือ ไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ ได้นะครับ นี่ก็คือการถูกล่วงละเมิด รวมถึงการถูกข่มขู่ เป็นนักร้อง เป็นนักดนตรี บางทีลูกค้าขอเพลง พอเราไม่เล่นให้หรือเราเล่นให้ไม่ถูกใจ ก็จะโดนข่มขู่ หนักกว่านั้นคือถูกทำร้ายร่างกาย ไม่เว้นแม้กระทั่งนักดนตรีอาชีพหรือนักร้อง ที่มีชื่อเสียงอย่างเมื่อปี ๒๕๖๐ พี่ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ขออนุญาตที่เอ่ยนาม ก็ถูกลูกค้าใช้อาวุธปืน ข่มขู่เช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งคืออายุในการประกอบอาชีพ ร้านอาหาร ผับ บาร์หลายที่ มีนักดนตรี นักร้องที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีเข้ามาทำอาชีพนี้ เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ ผิดกฎหมายแรงงานอีกเช่นกัน แล้วก็ พ.ร.บ. สถานบริการด้วย ขอฝากไว้ตรงนี้ในเรื่องของ ความยุ่งยากของกฎหมาย ความล้าหลังของกฎหมาย รวมถึงสิทธิสวัสดิภาพของผู้ที่ใช้ แรงงานมาทำหน้าที่ในสถานประกอบการด้วยครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธาน ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ถนนทางเข้าออกหมู่บ้านน้ำตาก หมู่ที่ ๑๗ ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ถนนสัญจรไปมาลำบากมาก โดยเฉพาะหน้าฝน รถเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากท่านประธานไปยังกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ถนนจากบ้านบุ่งผลำ หมู่ที่ ๗ ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย ไปยัง บ้านขวดน้ำมัน หมู่ที่ ๒ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง ประมาณ ๘ กิโลเมตร ถนนเป็นทางดินแดงตลอดเส้นทาง การเดินทางลำบาก ล่าช้า และอันตราย ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ช่วยทำถนน ให้ชาวบ้านหน่อยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ถนนจากหมู่ที่ ๗ บ้านหลังเขา ไปยังหมู่ที่ ๒๑ บ้านน้ำดั้น ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ตอนนี้ถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อจำนวน มากเวลาน้ำขังมองไม่เห็นหลุม รถขับขี่ตกหลุมได้รับอันตรายบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ถนนทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๑๒๙๖ กิโลเมตรที่ ๓๖ ซึ่งเป็น ทางแยกเข้าหมู่บ้านหนองกระบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ถนนมีลักษณะเป็นเนินหลังเต่าอยู่ตรงบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านพอดี รถที่จะออกมา จากหมู่บ้านก็จะมองไม่เห็นรถที่ขึ้นเนินมา รถที่ขึ้นเนินมาก็จะมองไม่เห็นรถที่ออกจาก หมู่บ้าน เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบ่อยครั้งมาก ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ให้เร่งรัดติดสัญญาณไฟเพื่อแจ้งเตือนให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้รับ ความปลอดภัย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย เรื่องที่ ๕ เรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณโชคดี สายนำพามีลาภ ถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่อำเภอวังทอง ทั้งตำบลชัยนาม ตำบลวังพิกุล และเขตเทศบาลวังทอง ทีมงานพรรคก้าวไกล จังหวัดพิษณุโลก เขต ๓ ได้ลง พื้นที่ตรวจการเกิดน้ำท่วมทุก ๆ ปี พบว่าแม่น้ำวังทองมีสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวนมาก ฝากท่านประธานผ่านไปยังกรมชลประทานช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปราย สนับสนุนญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาและแนวทางการแก้ไข รวมถึงปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืนครับ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปอย่างกว้างขวางแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานหลายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการจ้างงานได้ รวมไปถึงปัญหา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งวงจรหนี้สินมันเป็นวงจร ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน แต่ทีนี้อีกประเด็นหนึ่งคือการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนจะเกิดขึ้นได้จริง ผมขออภิปรายในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหากฎหมายที่ ๑ คือปัญหากฎหมายที่ดิน เมื่อสักครู่ท่านมานพ คีรีภูวดล ได้อภิปรายภาพกว้างให้เห็นปัญหาของที่ดินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินครัวเรือนไปแล้ว ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นปัญหาเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ มีปัญหาที่ดินของกรมป่าไม้ มากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อำเภอนครไทย ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในที่ป่า อำเภอชาติตระการ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในพื้นที่ พ.ร.บ. ป่าไม้ ไม่ใช่ พ.ร.บ. เดียว มีทั้ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. เขตห้ามล่าสัตว์ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึง ที่ของ กอ.รมน. เมื่อมีปัญหาที่ดินอย่างนี้ทำให้พื้นที่อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ เป็นพื้นที่ห้ามพัฒนา โอกาสที่จะมีโรงงานดี ๆ จะมีผู้ประกอบการดี ๆ จะมีเจ้าของร้านค้า ต่าง ๆ มาเปิดโรงงานหรือประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก เป็นโอกาสที่ยากมาก ๆ ท่านประธานครับ ลองให้คนที่จบปริญญาโทเดินเข้าไปที่อำเภอนครไทย หางานที่มีเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาทให้ผมดูหน่อย ไม่มีครับ หางานที่เงินเดือน ๑๕,๐๐๐ บาท ยังยากเลยครับ ในพื้นที่ของผม นี่คือปัญหาที่ ๑ คือปัญหาที่ดิน เมื่อไม่มีที่ดิน ไม่มีต้นทุนในการประกอบ อาชีพ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน นี่คือปัญหาที่ ๑ คือกฎหมายที่ดินที่ส่งผลต่อหนี้สินครัวเรือน

    อ่านในการประชุม

  • กฎหมายที่ ๒ อันนี้เป็นปัญหาเฉพาะ คือ พ.ร.บ. สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๕ การตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินได้อย่างไร ชาวบ้าน หาเงินมาทั้งชีวิตเพื่อมาใช้จ่ายในบ้าน ในครัวเรือน แต่เกษตรกรไม่มีหลักทรัพย์ หรือไม่มี อำนาจที่จะบริหารจัดการเงินในตอนที่มีแรงทำงานได้ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เมื่อกู้หนี้ยืมสินมา ภาระหนี้มันวนเวียนทำให้ชาวบ้านไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้และแน่นอนไม่มี การวางแผนในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

    อ่านในการประชุม

  • เพราะฉะนั้นแต้มต่อเดียวที่ชาวบ้านทำได้ คือการรวมตัวกันตั้งเป็นกองทุน เพื่อดูแลกันในยามที่เสียชีวิต แต่กฎหมายในประเทศไทยมี พ.ร.บ. ฌาปนกิจสงเคราะห์ เพื่อให้ชาวบ้านได้รวมตัวกัน ได้ช่วยเหลือกันในตอนที่เสียชีวิต มันก็เหมือนการเล่นแชร์ แต่เป็นการเปียด้วยการตายครับ เมื่อตายแล้วเราถึงได้เงินแชร์นี้ ปัญหาของ พ.ร.บ. นี้คือ มันไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องได้เท่าไร จะต้องเก็บเท่าไรในแต่ละ สมาคม ขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละสมาคม และเมื่อสมาคมแต่ละสมาคมมีปัญหา ชาวบ้าน ตาดำ ๆ ที่เก็บเงินส่งให้กับสมาคมทุก ๆ ปีไม่สามารถที่จะไปแจ้งความดำเนินคดี ถึงแจ้งความได้คดีก็ล่าช้า และยังไม่เคยมีชาวบ้านได้เงินคืนจากสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ แบบนี้ แต่เรื่องสมาคมจะไปพูดอีกทีในรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ นี่คือปัญหาหนึ่งที่ทำให้ เมื่อเขาส่งเงิน เก็บเงินส่วนหนึ่ง แทนที่จะไปใช้ชีวิต ไปใช้จ่ายอย่างอื่น ก็ต้องมาส่งให้สมาคมนี้ เมื่อสมาคมนี้ไม่สามารถตอบแทนให้กับบุพการีที่เสียชีวิตได้ ลูก ๆ ก็ต้องรับภาระแทน นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนครับ

    อ่านในการประชุม

  • และปัญหาต่อมาคือธนาคารหมู่บ้าน ที่อำเภอนครไทยมีการตั้งธนาคาร หมู่บ้านขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่าธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ และธนาคารนี้ก็ให้ ดอกเบี้ยสูง ประกาศให้ชาวบ้านนำเงินมาฝากโดยให้ดอกเบี้ยสูง แต่การบริหารจัดการ มีปัญหาครับ ชาวบ้านไม่สามารถเบิกเงินคืนได้ ไปถอนเงินก็ไม่สามารถเบิกได้ วิธีการแก้ไข ปัญหาของธนาคารหมู่บ้านแห่งนี้คือการไปข่มขู่ชาวบ้าน มีตัวแทนของธนาคารไปข่มขู่ ไปคุกคามชาวบ้าน ไปคุกคามผู้เสียหายเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดี เรื่องนี้เกิดขึ้น หลายปีแล้วนะครับชาวบ้านไปร้องหลายที่ทั้งศูนย์ดำรงธรรม ทั้งจังหวัดคดียังไม่คืบหน้า มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท นี่ก็เป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้สิน ครัวเรือน ชาวบ้านบางคนเก็บเงินมาทั้งชีวิตแล้วไม่มีวิธีไปต่อยอดเงินอย่างอื่น เมื่อเห็น ธนาคารหมู่บ้านมาเปิดและให้ดอกเบี้ยสูงก็หวังว่าเงินก้อนนี้ที่เขาเก็บมาทั้งชีวิตนี่ จะสามารถ นำไปต่อยอดได้มีรายได้จากดอกเบี้ยของธนาคาร ซึ่งปรากฏว่าปัจจุบันบางคนไปฝากธนาคาร เป็นล้าน หลายแสน เป็นล้านก็มี หลายล้านก็มีครับ ปัจจุบันไม่สามารถเบิกคืนได้ หมดตัวครับ ชาวบ้านที่เคยมีฐานะดีเก็บเงินมาทั้งชีวิต อุตส่าห์เก็บเงินจากการใช้แรงงาน ของตัวเองมาหลายล้านบาท หมดตัวครับกับการไปฝากธนาคารหมู่บ้าน นี่ก็คืออีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมอยากจะฝากไว้ตรงนี้ก็เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ มีการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนให้รอบคอบ รัดกุม แล้วก็ครอบคลุม ในทุกประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลไกของสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถแก้ไข ปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แบบนี้มีเกิดขึ้นทุกสมัย มีเกิดขึ้นทุกยุคที่มีการเลือกตั้ง เราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไข ความยากจน แก้ไขปัญหาสินค้าราคาเกษตรตกต่ำ แก้ไขปัญหาน้ำ ปัญหาหลายเรื่องนะครับ แต่เราก็ยังตั้งคณะกรรมาธิการเหล่านี้อยู่ เพราะฉะนั้นผมหวังเป็นอย่างยิ่ง นี่จะหมดสมัยประชุม สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งแล้วเรายังไม่ได้พิจารณากฎหมายกันเลย ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายญัตติ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาล รวมถึงการขาดแคลนแหล่งน้ำอื่น ๆ ต้องยอมรับว่า จริง ๆ แล้วการบริหารจัดการแหล่งน้ำควรจะมีการมาคุยกันแล้วก็แก้ไขก่อนหน้านี้นานแล้ว เพราะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน แหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดินหรือน้ำใต้ดินเป็นน้ำก้อนเดียวกัน ที่เราจะต้องมาบริหารจัดการเพื่อให้มันไม่ไปกระทบถึงกัน และปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการเกษตรมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ พื้นที่ที่พี่น้องเกษตรกร ทำการเกษตรมักจะมีปัญหาแหล่งน้ำ เพราะว่าพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยเป็นพื้นที่ ที่ใช้น้ำมากที่สุด หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำผิวดินตรงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกรมชลประทานดูแลน้ำ แม่น้ำ ลำคลองต่าง ๆ เพื่อให้มีน้ำในการทำการเกษตรและสาธารณูปโภค เกษตรกรที่อยู่ใกล้ แหล่งน้ำธรรมชาติก็จะโชคดีไป มีน้ำใช้ตลอด มีการเพาะปลูกที่ดี ต้นทุนก็ต่ำ เกษตรกร ที่อยู่ไกลแหล่งน้ำธรรมชาติก็จำเป็นจะต้องมีการขุดบ่อไว้ใช้เพื่อทำการเกษตร อาจจะพอบ้าง ไม่พอบ้าง เพราะว่าบ่อที่ขุดไว้มันก็มีการตื้นเขินขึ้นทุกปี ก็ต้องไปขอเครื่องมือเครื่องจักร จาก อบต. บ้าง อบจ. บ้าง พอแหล่งน้ำไม่พอทำการเกษตรมันก็กระทบไปถึงน้ำอุปโภค บริโภคในบ้านเรือน ในครัวเรือน ก็ต้องไปร้องขอให้กับ อบต. อบจ. มาขุดเจาะน้ำบาดาล หรือใช้งบประมาณจากหน่วยงานอื่น ๆ มาขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งก็ไปกระทบกับน้ำกิน น้ำใช้ในบ้าน การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยจะดีได้อย่างไร ในเมื่อกรมทรัพยากร น้ำบาดาลกับกรมชลประทานอยู่คนละกระทรวงกัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานสังกัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ผมไม่ได้ติดใจว่า ๒ กรมนี้จะอยู่คนละกระทรวงกัน เพราะว่าภารกิจดั้งเดิม ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อนำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่กรมชลประทานตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ ภารกิจหลัก ๆ คือการบริหาร จัดการน้ำ หาแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเกษตรและการสาธารณูปโภค ก็เห็นควรที่จะ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่แล้ว และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ควรจะอยู่กับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือ ๒ หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงาน หลัก ๆ ที่จะต้องดูแลบริหารจัดการน้ำก้อนใหญ่ ๆ ในประเทศเรา ๒ หน่วยงานนี้ควรจะ ทำงานร่วมกัน ควรจะบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน แล้วในปัจจุบันนี้ ทั้ง ๒ หน่วยงานก็มีการใช้น้ำทั้งบนดินและใต้ดินร่วมกันไปแล้ว เพราะฉะนั้นควรจะมี การบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ปัญหาของน้ำประปาในเขตจังหวัดพิษณุโลก เอาตั้งแต่ในเขตเมืองเลย อำเภอเมืองในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก น้ำประปาก็ขุ่นแดง หน้าฝนก็จะแดงเพราะว่าน้ำเยอะเกินไป หน้าแล้งก็แดงเพราะน้ำน้อย เพราะฉะนั้นจะหาช่วง ที่น้ำใสพอดี ๆ นี่ยากมาก นั่นคือเขตเมืองครับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผม อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ ปัญหาของการขาดแคลนน้ำบาดาล ผมขอพูดในประเด็น ที่เกิดจากการบริหารงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้งบประมาณในการขุดเจาะ น้ำบาดาล การติดตั้งหอสูงพร้อมระบบปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้งานไม่ได้ครับ มีบางตำบลที่มีการขุดเจาะน้ำบาดาลพร้อมกับติดตั้งหอสูง ๑ จุดใช้งบประมาณถึง ๗๕๐,๐๐๐ บาท ติดตั้งหลายหมู่บ้าน และบางหอสูงส่วนใหญ่จะไม่มีท่อ มีแต่หอสูง แต่ไม่มีท่อไปที่บ้านเรือนของประชาชน ทำให้มีการใช้งบประมาณ แต่ประชาชนไม่ได้ใช้น้ำ เพราะไม่มีท่อไป ถ้าจะใช้น้ำก็ต้องเอารถกระบะใส่ถังน้ำ หรือเอารถเข็นใส่ถังน้ำไปรองน้ำ ใต้หอสูง ยิ่งกว่านั้นบางหอสูงไม่มีน้ำบาดาลขึ้นมาเลย นั่นคือปัญหาที่ ๑ คือการใช้ งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๒ คือการเข้าใช้พื้นที่ในการขุดเจาะน้ำบาดาล ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ในพื้นที่ของผมก็คือปัญหาที่ดิน อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ป่าไม้ เพราะฉะนั้นการจะเข้าไปขุดเจาะน้ำบาดาล จะเข้าไปขุดบ่อ เพื่อเป็นแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ทำไม่ได้ครับ และเมื่อมีพื้นที่ที่เหมาะสม มีการสำรวจ แล้วว่าพื้นที่ตรงนี้มีน้ำบาดาลที่มีปริมาณมากพอ มีคุณภาพมากพอที่จะใช้อุปโภคบริโภค ในหลาย ๆ หมู่บ้าน ประชาชนได้ประโยชน์หลายหมู่บ้าน ก็ไม่สามารถเจาะได้ ทั้งที่เจาะแค่ ประมาณสัก ๑๒๐ เมตร อย่างนี้ทำไม่ได้ ต้องหาพิกัดใหม่ หาตำแหน่งในการเจาะ น้ำบาดาลใหม่ซึ่งอยู่นอกเขตป่าไม้ แต่ปริมาณน้ำน้อยกว่าหรือไม่มีเลย แล้วก็ต้องขุดเจาะ ลงไปลึกกว่า ใช้งบประมาณมากกว่า นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้ยังมีบางหมู่บ้านในเขต ของผมไม่มีน้ำประปาใช้ ไม่มีน้ำบาดาลใช้ ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ยังต้องใช้ น้ำประปาภูเขาซึ่งมาบ้างไม่มาบ้าง ตรงนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่คนไทยหลายคนต้องเจอ ก็ขอสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบของประเทศนี้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ย้อยง อู๋ลุ่มเบ ฮูอัว ไก่ ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ กู๋เย่า นครไทย กู๋เก สส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกล เมื่อสักครู่คือคำแนะนำตัวของพี่น้องม้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในพี่น้องชาติพันธุ์หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทยครับ ท่านประธานครับ ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์มากกว่า ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ แล้วในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน มีวัฒนธรรม ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์และมีภูมิปัญญาเป็นของตนเอง และแต่ละกลุ่ม แต่ละชาติพันธุ์ ก็พยายามที่จะดำรงชีวิตและจะสืบสานวิถีชีวิตตามแบบดั้งเดิม ตามแบบวัฒนธรรม ของตนเอง แต่ว่าพี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตหลายด้าน ปัญหาที่ ๑ ก็คือปัญหาสัญชาติและการเป็นพลเมืองไทย ปัญหาที่ ๒ ก็คือปัญหาที่ดินทำกินและปัญหา ที่อยู่อาศัย ปัญหาที่ ๓ คือปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาที่ ๔ คือปัญหาของ การขาดการส่งเสริมและคุ้มครองวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภาษาชนเผ่าพื้นเมือง

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมลุกขึ้นมาอภิปรายเพื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทย พ.ศ. .... อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านสนับสนุนและรับหลักการ ในร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะว่าพี่น้องชาติพันธุ์ทุก ๆ ชนเผ่า ทุก ๆ กลุ่ม ก็ล้วนแต่เป็นคนไทยด้วยกัน แต่วิธีการปฏิบัติของรัฐถูกปฏิบัติจากรัฐแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ ได้บัญญัติรับรองให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครอง ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิในการดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ให้รัฐ พึงส่งเสริมและสนับสนุนและให้ความคุ้มครอง แต่สิ่งที่รัฐปฏิบัติกับพี่น้องชาติพันธุ์มันทำให้ พี่น้องชาติพันธุ์อย่างที่ท่านเพื่อน สส. ขึ้นมาพูดเมื่อสักครู่แม้กระทั่งการกรอกเอกสารของรัฐ การกรอกสัญชาติ เชื้อชาติ แน่นอนครับ ไม่มีใครอยากกรอกว่าเป็นเชื้อชาติม้ง เชื้อชาติมลายู เชื้อชาติมอญ เพราะอะไรครับ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ภาคภูมิใจในเชื้อชาติหรือในชนเผ่าของเขา แต่การถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐไทยต่างหากที่ทำให้พี่น้องเหล่านี้ขาดโอกาส ยกตัวอย่าง ในจังหวัดพิษณุโลกมีพี่น้องม้งอยู่ที่ตำบลห้วยเฮี้ย ที่บ้านห้วยทรายเหนือ มีพี่น้องม้งอยู่ที่ บ้านภูขัด บ้านน้ำแจ้งพัฒนา ที่ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย มีพี่น้องม้งอยู่ที่บ้านน้ำไซ ที่ตำบล เนินเพิ่ม อำเภอนครไทย มีพี่น้องม้งอยู่บ้านร่มเกล้า บ้านสงบสุข บ้านน้ำคับ บ้านน้ำจวง อำเภอ ชาติตระการ นี่คือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดพิษณุโลก แต่พี่น้องเหล่านี้ถูกปฏิบัติ จากรัฐเสมือนว่าเป็นชนชั้นสองเพราะอะไรครับ แม้กระทั่งถนนจะเข้าหมู่บ้านพี่น้องม้งในพื้นที่ ผมต่อสู้มามากกว่า ๒๕ ปี ก็ยังไม่ได้แม้แต่ถนนจะเข้าหมู่บ้าน เมื่อไม่มีถนนแน่นอนครับ ไฟฟ้าก็ไม่มี เมื่อไม่มีไฟฟ้าสัญญาณโทรศัพท์การติดต่อ เพราะฉะนั้นการพัฒนาไม่ใช่แค่พัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนามนุษย์ การพัฒนาคนในพื้นที่ยังทำได้ยากเลยครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นการมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีตัวตน อย่างน้อย ๆ สภานี้จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐ ให้มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนกัน อย่างเช่น ที่อำเภอนครไทยมีหลายพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้าน ของพี่น้องม้งที่น่าจะทำการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และหน่วยงานรัฐ ก็ทำท่าทีว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยวกันเป็นล่ำเป็นสัน แม้แต่ถนนยังไม่ให้เขาเลยครับ เพราะฉะนั้นการเรียกร้อง แบบให้ชาวบ้านเรียกร้องกันเองกับหน่วยงานรัฐเป็นไปได้ยากมาก ยากมาก ๆ เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของสภาชนเผ่าพื้นเมือง แน่นอนครับมีประโยชน์กับพ่อแม่ พี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างแน่นอน และสุดท้ายนี้อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านเล็งเห็นความสำคัญของการให้สิทธิในการเป็น มนุษย์ที่เท่าเทียมกันของพี่น้องชาติพันธุ์ในทุก ๆ กลุ่ม แล้วก็เชิญชวนให้ทุกท่านรับหลักการ ในวาระที่ ๑ นะครับ เพื่อยืนยันการมีอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และสนับสนุนให้พี่น้องชาติพันธุ์ ในประเทศไทยมีสิทธิและมีเสรีภาพเท่าเทียมกับคนไทยทุกคน ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธานดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาการก่อสร้างถนนในเขตพื้นที่อุทยาน ปัญหาการก่อสร้างถนน ในเขตพื้นที่อุทยานบ้านเข็กใหญ่ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก พ่อแม่พี่น้องประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านการจราจรอย่างหนัก เนื่องจากถนนสัญจร หลักภายในหมู่บ้านระยะทาง ๕.๔ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นถนนดินแล้วก็มีความ ลาดชัน การสัญจรไปมาเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก และไม่สามารถทำถนนได้นะครับ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติเขากระยาง ทั้งที่ถนนเส้นนี้อยู่ในหมู่บ้านและไม่ได้มีสภาพเป็นป่า เป็นชุมชนที่พักอาศัย เป็นถนนหลัก ในหมู่บ้าน แต่ไม่สามารถทำถนนที่ดีและปลอดภัยได้ ฝากท่านประธานไปยังกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ติดตามความคืบหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยออมสิงห์นะครับ โครงการนี้ที่ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีการสำรวจเพื่อจะก่อสร้าง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนบัดนี้ ๑๙ ปียังไม่มีความคืบหน้าของโครงการ ฝากท่านประธานไปยัง กรมชลประทานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านโคกผักหวานหมู่ที่ ๕ ไปยังหมู่ที่ ๓ บ้านปากรอง ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ถนนเป็นลูกรังมีหลุมขนาดใหญ่สัญจรไปมาลำบาก แล้วก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากท่านประธานไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมชลประทานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ถนนสายบ้านคลองช้างใหม่ไปยังตลาดวัดโบสถ์ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร เส้นทางสัญจรไปมาลำบากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เชื่อมต่อระหว่างทางหลวง ชนบท พล.๒๐๔๗ ไปยังแยก พล.๑๑ กับ พล.๔๐๓๗ ทางหลวงชนบท ฝากท่านประธานไป ยังกรมทางหลวงชนบทด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ นี่เป็นภาพ Page ภาษานครไทยน่ารัก ได้แจ้งมาว่าทางเข้าโรงเรียน นครไทย ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ภาพที่เห็นนี้ เป็นภาพที่ทำสัญลักษณ์บนพื้นถนนให้ดูเป็นตัวอย่างว่าน่าจะมีเส้นแบบนี้เพื่อความปลอดภัย เพราะว่าถนนในช่วงเช้าและในช่วงหัวค่ำมีความมืดแล้วก็สัญจรไปมาลำบากแล้วก็เกิด อุบัติเหตุบ่อยมาก ซึ่งเป็นทางเข้าโรงเรียนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย น้ำประปาในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกมีความขุ่น แล้วก็ ไหลเบาแล้วก็น้ำแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๙ ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง ฝากท่านประธานผ่านไปยังเทศบาลนครพิษณุโลกครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ ขออภิปรายสนับสนุนญัตติการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนอื่นผมก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ตั้งญัตตินี้ ขึ้นมานะครับ เข้าประเด็นเลยครับท่านประธาน ขยะมีที่มาที่ไป เมื่อขยะมีที่มาและที่ไป แต่ส่วนใหญ่ภาครัฐมักจะพยายามจัดการไปที่ที่ไปครับ โดยลืมใส่ใจกับที่มาของขยะ ดังนั้น การบริหารจัดการขยะเราไม่สามารถทำขาใดขาหนึ่งได้ เราจึงต้องบริหารจัดการทั้ง ๒ ขา คือทั้งบริหารที่มาแล้วก็ต้องจัดการกับที่ไปของขยะครับ ปัญหาของที่มาของขยะก็คือจำนวน คนที่สร้างขยะมีมากกว่าจำนวนคนที่จัดการขยะ เมื่อจำนวนคนที่ทิ้งมากกว่าคนที่เก็บ แน่นอนครับ ก็เกิดปัญหาที่มาของขยะ ปัญหาที่ ๒ จำนวนขยะที่มาใหม่มีมากกว่าจำนวน ขยะที่ถูกบริหารจัดการ เรามีขยะเกิดขึ้นใหม่ทุก ๆ วัน แต่จำนวนขยะที่ถูกจัดการนั้น มีน้อยกว่า มันจึงเกิดปัญหาของขยะล้นเป็นภูเขาเลากาในหลาย ๆ อปท. ทั่วประเทศ มากขึ้น เป็นทวีคูณในทุก ๆ วัน เราจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการที่มาของขยะที่จะเกิดขึ้นใหม่เป็น ขาแรกนะครับ ขอสไลด์ครับ

    อ่านในการประชุม

  • การแยกทรัพยากรก่อนที่มัน จะกลายเป็นขยะบนหลักการที่ว่า ขยะไม่มีอยู่จริง มีแต่ทรัพยากรที่ถูกจัดวางไว้ไม่ถูกที่ แต่การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จได้นั้นมันต้องใช้องค์ความรู้ การคัดแยกขยะต้องใช้ องค์ความรู้ครับ อย่างขยะพลาสติก ขยะกระดาษ โลหะ เศษแก้ว กระจก ขวดต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเศษอาหาร สิ่งเหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้ในการแยกขยะอย่างปลอดภัยแล้วก็ ถูกต้องนะครับ หรือแม้กระทั่งขยะอันตรายต่าง ๆ สารเคมีต่าง ๆ ขยะติดเชื้อ หรือขยะจากเทคโนโลยี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้ในการคัดแยกอย่างถูกต้องและปลอดภัยครับ และในอีก ๕-๑๐ ปีข้างหน้า ผมอย่างที่ผมบอกองค์ความรู้ในการบริหารจัดการขยะนั้นสำคัญ มาก ๆ ในอีก ๕-๑๐ ปีข้างหน้าเราจะมีขยะประเภทใหม่จำนวนมาก นั่นก็คือขยะยานยนต์ ปัจจุบันมีการใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และในอีก ๕-๑๐ ปีข้างหน้าเราจะมีขยะยานยนต์ ที่เป็นเครื่องสันดาปจำนวนมหาศาล เพราะอะไรครับ เพราะปัจจุบันมีรถยนต์มากกว่า ๔๒ ล้านคันในประเทศเรา ดังนั้นก็จะเกิดขยะยานยนต์จำนวนมหาศาล และการคัดแยกขยะ จากยานยนต์เหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การแยกแบตเตอรี่ออกมา จากรถยนต์นี้เราไม่สามารถเอาไปทำลายได้เลย เพราะมันอันตราย มันจะต้องผ่าน กระบวนการลดประจุไฟฟ้าลงก่อน สิ่งเหล่านี้ใช้องค์ความรู้ทั้งสิ้น นั่นก็คือการบริหารที่มา ของขยะ ต่อไปคือการจัดการกับที่ไปของขยะ การจัดการกับขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามี การคัดแยกทรัพยากรจากขยะอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพแล้วนี้เราแทบจะไม่เหลือขยะ จริง ๆ ที่ต้องจัดการเลย หรือถ้ามีมันก็น้อยมากแล้วก็จัดการง่ายและปลอดภัย แนวทางที่ผม จะเสนอในการใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรจากขยะเหล่านี้ ก็คือ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ เร่งระดมและเผยแพร่ความรู้ในการคัดแยกขยะเพื่อลดจำนวนขยะใหม่ และเพิ่มจำนวนคนที่ช่วยจัดการกับขยะให้มากขึ้น เพื่อไปลดปัญหาที่มาของขยะ ข้อ ๑ ก็คือ คนสร้างขยะเยอะกว่าคนที่จัดการขยะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ เมื่อ อปท. ทั่วประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ ขยะในชุมชน ดังนั้น ข้อ ๒ ต้องเร่งเพิ่มงบประมาณอย่างจริงจัง เพิ่มงบประมาณอย่างจริงจัง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ นอกจากเพิ่มงบประมาณ อย่างจริงจังแล้วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ยังต้องให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้าใช้พื้นที่ ในการจะจัดการขยะโดยผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหา แบบนี้ครับ อปท. ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ที่จะทิ้งขยะได้ เมื่อมีพื้นที่ที่เหมาะสม แต่พอเมื่อ อบต. หรือ อปท. ต่าง ๆ จะเข้าไปใช้พื้นที่ ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ป่า ปรากฏว่า เป็นพื้นที่สาธารณะ ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ที่ อปท. ไม่มีอำนาจในการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ได้ ดังนั้นแค่เพิ่มงบประมาณไม่พอครับ มันจะต้องเพิ่มอำนาจให้อำนาจในการเข้าบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๔ อีกปัญหาหนึ่งนะครับ ในหลาย อปท. ทั่วประเทศ ไม่มีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ไม่มีนักวิชาการทางด้านนี้ ไม่มีนักวิชาการที่จะจัดการกับขยะและสิ่งแวดล้อม ทำให้ขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ แต่ว่าทุก อปท. มีภารกิจที่ต้องจัดการกับขยะมูลฝอย แต่เขาไม่มีบุคลากร อปท. ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการนำบุคลากรด้านอื่นเข้ามาปฏิบัติงานแทน มันก็อิหลักอิเหลื่อสะเปะสะปะแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท. ไหนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะยิ่งมีปัญหามาก เราจะปล่อยปละละเลยแบบนี้ไม่ได้เพราะเท่ากับเราไปลดแต้มต่อให้กับชุมชนที่เขากำลังจะลืมตาอ้าปากได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๕ ข้อสุดท้ายครับ ออกกฎหมายที่จะเข้มงวดกับบริษัทผู้ผลิตต้นทาง ในการที่จะใช้วัสดุที่ควรย่อยสลายง่าย และหรือมีแนวทางที่จะจัดการกับวัสดุของบริษัทเหล่านั้นที่ผลิตสินค้าออกมา วัสดุของท่านต้องมีแนวทางในการที่จะบริหารจัดการขยะปลายทางด้วย เช่น ถ้าบริษัทผลิตขวดน้ำมาแบบนี้ คุณจะต้องระบุไปเลยว่าหลังจากที่ใช้น้ำขวดนี้เสร็จแล้ว ขวดนี้จะต้องนำไปที่ไหน ส่งคืนที่ไหน จัดการอย่างไรให้ขยะเป็นศูนย์ เมื่อเราทำการแยกขยะหรือบริการจัดการตั้งแต่ต้นทางแล้ว ปลายทางเราจะไม่ต้องมาเสียงบประมาณและเสียสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้ครับ ทั้งหมดนั้นก็คือเพื่อยืนยันว่าการบริหารจัดการทรัพยากรขยะนั้นเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสะเปะสะปะได้ และไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ รัฐควรส่งเสริมให้องค์ความรู้นี้ เปลี่ยนจากองค์ความรู้ให้กลายเป็นอาชีพ และต้องเป็นอาชีพที่มีมูลค่าสูง คนที่เข้ามาบริหาร จัดการขยะต้องสามารถใช้ความรู้เหล่านั้นในการประกอบอาชีพและมีรายได้ สามารถมี คะแนนคาร์บอนเครดิตได้ เปลี่ยนเป็นเงินได้ เพราะจำนวนบุคลากรเหล่านี้เป็นบุคลากร ที่ยังขาดอยู่มากในทุก ๆ อบต. ทุก ๆ อปท. ทั่วประเทศ แล้วก็จะช่วยแก้ปัญหาที่มาได้ เพื่อเพิ่มจำนวนของคนจัดการขยะให้มันมากขึ้นให้เท่ากับคนที่สร้างขยะนะครับ เพราะว่า อาชีพเหล่านี้จะช่วยทั้งรัฐ แล้วก็ช่วยสังคมแล้วก็ช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ผมจึงขอ สนับสนุนญัตตินี้อย่างเต็มที่ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ขอร่วมอภิปรายในญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ข้อมูลพื้นฐานทั่ว ๆ ไปนะครับ ท่านผู้ที่ได้ยื่นญัตติ เข้ามาหลายท่านก็ได้อภิปรายกันไปบ้างแล้ว แล้วก็ผมขอลงในรายละเอียดบางส่วน แล้วก็ วิเคราะห์บางส่วนนะครับ การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ประกอบไปด้วย ๕ จังหวัด อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดมา เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ และกลาง ประกอบไปด้วย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย แล้วก็จังหวัดตาก ก็เป็นจังหวัดขนาดใหญ่และกลาง ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ๕ จังหวัดนี้ก็จังหวัดตาก ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วก็เป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ ๑๒,๐๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร แล้วก็เป็นจังหวัดพิษณุโลก ๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วก็ จังหวัดอุตรดิตถ์ ๗,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วก็จังหวัดสุโขทัย ๖,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งภาพรวมทั้งหมดคือกลุ่มจังหวัดขนาดที่ไม่น้อยเลยทีเดียว พื้นที่เกือบ ๕๔,๐๐๐ ตาราง กิโลเมตร แต่มีประชากรอยู่แค่ประมาณสัก ๖-๗ ล้านคนในภาคเหนือตอนล่าง ทีนี้ก่อนที่เรา จะพัฒนากลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเราก็ต้องมาดูว่าอะไรจะทำให้ กลุ่มจังหวัดเหล่านี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ องค์ประกอบอะไร แล้วเรายังขาดอะไร เรายังต้องเติมอะไร เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาศึกษากันในชั้นกรรมาธิการ เราถึง จำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนจากเพื่อนสมาชิกทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ อย่างเช่น ข้อมูลที่เพื่อนสมาชิกได้พูดขึ้นมาก็คือว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีศักยภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อย่างที่ฟัง ๆ มา ก็คือมีศักยภาพเยอะทั้งในแง่ของสินค้า ทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์การเกษตร ทั้งในเรื่องภูมิศาสตร์ ทั้งในเรื่องเส้นทางคมนาคม ถามว่าหัวใจสำคัญทำไมถึงต้องผลักดันเขตภาคเหนือตอนล่าง ตรงโซนนี้ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะอะไร เพราะว่าเรามีการตั้งแผนในการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก North South East West Economic Corridor แต่ทีนี้ความสำคัญของภาคเหนือตอนล่างมันอยู่ตรงนี้ครับ จุดตัดของ ทั้ง ๔ โครงการ ทั้ง ๔ ภูมิภาคนี้มันอยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง มันอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก สี่แยกอินโดจีน หรือว่า Indochina Intersection มันคือศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง ๔ ภาคที่ประเทศไทยกำลังจะพัฒนาอยู่ นั่นก็คือ NEC ก็คือภาคเหนือ North Economic Corridor แล้วก็จะเป็นภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาคใต้ จุดศูนย์กลางของทั้ง ๔ ภูมิภาคนี้อยู่ตรงนี้ครับ อยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ก็คืออยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ประเด็นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ๑ จะพัฒนามี ๔ ประเด็นใหญ่ ๆ ด้วยกัน นั่นก็คือ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ เรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุน โครงข่ายคมนาคมขนส่ง แล้วก็สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการพัฒนา อันนี้กว้าง ๆ เลยนะครับ ข้อมูลทั้งหมดนี้ มาจากสำนักยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ หรือว่า Lower Northern Provincial Cluster 1 นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ก็คือการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและยั่งยืน เป็นศูนย์กลางของการประชุม การจัดนิทรรศการ อบรม สัมมนาต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนา บริการด้านสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ สินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับตลาด ให้มีนวัตกรรมด้วย แล้วก็มีเทคโนโลยีด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ คือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ถ้าเราจะพัฒนาเขตพื้นที่ของเรา พื้นที่ของภาคเหนือตอนล่างให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราต้องเตรียมความพร้อมก่อน มาดูการใช้พื้นที่ก่อนครับ การใช้พื้นที่ของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ ใน ๕ จังหวัดนี้พื้นที่ ทั้งหมดประมาณ ๓๓ ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ป่าไปแล้ว ๑๖.๗ ล้านไร่ นั่นหมายความว่า ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เป็นที่ป่าครับ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่เรากำลังจะบอกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจ พิเศษที่เรากำลังจะพัฒนากันอยู่นี้เป็นที่ป่า ทีนี้เป็นที่ป่าแล้วมันสำคัญอย่างไร หรือมันติด ปัญหาอย่างไร ก็คือว่าการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าในปัจจุบันนี้กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ยังไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้เลย องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ตามปกติเลย มีโครงการดี ๆ โครงการสร้างสรรค์จะพัฒนาพื้นที่ ชุมชน ยังเข้าใช้พื้นที่ป่าไม่ได้เลย อันนี้ผมไม่ได้พูดว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดีหรือ ไม่ดีนะครับ แต่เรากำลังต้องวิเคราะห์ลงไปว่าถ้าเราจะทำให้ Zone นี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันต้องไปดูอะไรบ้าง ๑. การใช้พื้นที่ แล้วก็ต่อมาครับ แผนอื่น ๆ ที่เพื่อนสมาชิกได้พูดกันมา ทั้ง LIMEC ทั้ง MICE City Greater Mekong Subregion หรือ GMS มีหลายแผนงานเลย อีก ๖ แผนงาน พัฒนาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ก็ต้องไปดูในรายละเอียด ของแต่ละแผนงาน MICE City ปัจจุบันเป็นอย่างไร LIMEC ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง มาดู รายได้ครับ รายได้จากกลุ่มจังหวัด GPP Per capita กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีรายได้ จาก ๓ ภาคใหญ่ ๆ คือภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม เหมือนจะเป็นรายได้ที่ก้อนใหญ่ที่สุด แต่ดูในกราฟแท่งครับ กลายเป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่สร้าง รายได้มากที่สุดกลายเป็นภาคบริการ รายละเอียดเดี๋ยวไปถกกันในชั้นกรรมาธิการครับ เรามาดูศักยภาพของภาคเหนือตอนล่างแล้ว ทีนี้มันก็ต้องไปเทียบกับถ้าเราจะพัฒนา ภาคเหนือตอนล่างให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องไปเปรียบเทียบจากพื้นที่ที่เคยทำมาก่อน ครับ นั่นก็คือ EEC ปัจจุบันพื้นที่ EEC จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานมากที่สุด ในเขต EEC ในไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๖ มากกว่าการว่างงานของทั้งประเทศ อัตราการว่างงาน ของประเทศคือร้อยละ ๑.๑ แต่จังหวัดระยองมีอัตราการว่างงานถึง ๑.๓๓ ครับ ทีนี้มาดูการว่างงานของภาคเหนือครับ ในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๕ภาคเหนือว่างงานถึง ๑.๓ และไตรมาสที่ ๓ ก็เป็น ๑.๔ ซึ่งก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการว่างงานทั้งประเทศครับ และใน ปี ๒๕๖๖ อัตราการว่างงานอาจจะลดลงมานิดหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าสูงทัดเทียมกับการว่างงาน ของทั้งประเทศครับ และการจัดอันดับการว่างงานที่มากที่สุดในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง อันดับที่ ๑ ก็คือจังหวัดพิจิตร อันดับที่ ๒ จังหวัดพิษณุโลก อันดับที่ ๓ คือจังหวัดสุโขทัย อันดับที่ ๔ จังหวัดกำแพงเพชร และอันดับที่ ๕ จังหวัดน่าน จุดมุ่งหมายของ EEC ก็คือเพื่อ แก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รัฐจึงใช้การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ดึงนักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนนะครับ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว และที่สำคัญเพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีรายได้มากขึ้น แต่ท่านประธาน ครับ ภาพรวมของการลงทุน EEC ในช่วงปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่านักลงทุน ๕ สัญชาติหลัก ทั้งญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน มียอดสะสมตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๕ แค่ ๔๓๙,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้นเองครับ เป็นแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่คาดไว้ในปี ๒๕๗๐ นั่นก็คือ ๒.๒ ล้านล้านบาท ยังไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์เลยครับ นั่นแสดงให้เห็นว่า EEC ยังทำได้ไม่ตามเป้าเลย จังหวัดระยองยังมี อัตราการว่างงานสูงในระดับประเทศเลย แสดงว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจจะไม่ได้ สะท้อนถึงว่าจะพัฒนารายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเสมอไป ช่วงสุดท้ายครับ พื้นที่ ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าใช้พื้นที่ป่าเป็นเรื่องหลักนะครับ แล้วก็ไปสอดคล้อง กับเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคที่รัฐกำลังจะไปส่งเสริม เขตเศรษฐกิจพิเศษส่วน ใหญ่ปัญหาหลักคือการเข้าใช้พื้นที่ป่า ปัญหาสิทธิการครอบครองพื้นที่เป็นปัญหาหลักของ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เกือบทุกที่ แบบนี้แล้วอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือนักลงทุนขนาดใหญ่ อาจจะมาชี้จิ้มได้ เอาในเขตป่าของเราได้ แต่ชุมชนหรือพื้นที่ คนในพื้นที่จริง ๆ อาจจะไม่ได้ ประโยชน์ เศรษฐกิจที่ดีใคร ๆ ก็อยากได้ครับท่านประธาน คนทุกคนอยากได้เศรษฐกิจดี ในทุกจังหวัด อยากมีความเจริญในทุกจังหวัดครับ ไม่ใช่เจริญแบบเป็นกลุ่ม ๆ เพราะสุดท้าย กลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้จริง ๆ อาจจะไม่ใช่กลุ่มจังหวัด แต่เป็นกลุ่มนายทุน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดพิษณุโลก อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกลครับ ขอนำเรื่องหารือท่านประธานดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ถนนสายบ้านแก่งเจ็ดแคว ถึงอำเภอวัดโบสถ์ หมู่ที่ ๑๑ บ้านแก่งเจ็ดแคว ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ ถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ แล้วก็เนื่องจากว่าน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนท่วมหลายครั้ง ทำให้ถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ แล้วก็ถนนผิวจะลงเรื่อย ๆ นะครับ ก่อนที่จะสร้างเขื่อนแควน้อยนี้ชาวบ้านใช้ถนน เส้นนี้ระยะทางเพียงแค่ ๗ กิโลเมตร แต่พอสร้างเขื่อนแล้วชาวบ้านต้องวิ่งอ้อมใช้ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร แล้วปัจจุบันก็ถนนพังแบบที่เห็นนะครับ ฝากกรมชลประทานช่วยดูแลให้ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ขอขยายเขตประปาบ้านหนองน้ำสร้าง หมู่ที่ ๔ ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ของเขตบริการน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขานครไทย มีชาวบ้านประมาณ ๗ หลังคาเรือน ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้เป็นระยะเวลา ๑๐ กว่าปีแล้ว ได้ทำเรื่องขอไปแล้ว แล้วก็เทศบาลเองก็ได้ทำงบอุดหนุนไปแล้ว แต่ว่า การประปายังไม่ได้ขยายเขตประปาให้ ทั้งที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอเพียง ๑ กิโลเมตร ฝากการประปาส่วนภูมิภาคสาขานครไทยด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ภาพที่เห็นนี้เป็นถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๓ เป็นถนนที่มืดมาก เป็นถนนทางหลวง เป็นทางหลักนะครับ เป็นถนนบ้านแยงไปด่านซ้ายในช่วงจากปากทางเข้า วัดหนองกะท้าวไปจนถึงอนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ระยะทางรวม ๓.๓ กิโลเมตร ไม่มีไฟรายทางเลยครับ เส้นทางมืดมาก แล้วก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ฝากกรมทางหลวงด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต ๕ พื้นที่ที่ถูก พ.ร.บ. ป่าไม้ครอบคลุมไว้กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์ พรรคก้าวไกลครับ ขออภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่น ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ ของท่านมานพ คีรีภูวดล เป็นผู้เสนอนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมเข้าใจได้ครับว่าประเทศเราจำเป็นจะต้องมีเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อรักษาต้นน้ำ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาป่าไม้ไว้ อันนี้เข้าใจได้ครับ แต่การประกาศ เขตป่าในปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้น มันไม่ใช่การอนุรักษ์ป่าไม้แต่เพียงอย่างเดียว มันเป็นการกักขัง ประชาชนไว้ในความยากจน มันเป็นอย่างไรหรือครับท่านประธาน ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมเอาสไลด์มาให้ดูให้เห็นภาพ สไลด์ที่ ๑ นี้คือ แผนที่อำเภอวัดโบสถ์ทั้งอำเภอ สไลด์ที่ ๒ เป็นเขตพื้นที่ ส.ป.ก. วันนี้เอาให้ เห็นชัด ๆ เลยนะครับ นี่คือพื้นที่ ส.ป.ก. นี่คือพื้นที่ที่เราผ่อนผันให้ชาวบ้านทำกินได้นะครับ อันนี้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า สีแดงนะครับ ถัดไปอันนี้ป่าไม้ถาวรป่าแควน้อยนะครับ และนี่คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอวัดโบสถ์ ๖๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในพื้นที่ป่าครับ สไลด์ถัดไปอันนี้อำเภอชาติตระการ นี่คือที่ดิน ส.ป.ก. คือสีเทา ๆ ม่วง ๆ นะครับ ถัดไปคือ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าครึ่งอำเภอ ต่อไปเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ด้านขวาสีจะเข้มกว่า นิดหนึ่ง ถัดไปป่าไม้ถาวรสีฟ้า ถัดไปป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอชาติประการ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในพื้นที่ป่า อำเภอนครไทยพื้นที่ ส.ป.ก. ถัดไปพื้นที่อุทยาน ถัดไปป่าไม้ถาวรสีฟ้า ถัดไปคือป่าสงวนแห่งชาติครอบไว้ครับ กินพื้นที่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ การประกาศ เขตป่าแบบนี้ แน่นอนมันเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้อยู่ด้วย แต่ในขณะเดียวกันท่านประธานดูครับ ตำบลห้วยเฮี้ยทั้งตำบล ตำบลบ้านแยง ตำบลนครชุม ตำบลน้ำกุ่ม ตำบลเนินเพิ่มบางส่วน ตำบลหนองกะท้าวบางส่วน ตำบลบ่อโพธิ์บางส่วน ตำบลยางโกลนบางส่วน ตำบลนาบัว ตำบลบ้านพร้าวบางส่วน คือทั้งอำเภออยู่ในเขตที่ห้ามพัฒนาทั้งนั้นเลย เป็นพื้นที่ป่าไม้ มันเป็นไปได้อย่างไรครับ พื้นที่ที่รัฐยอมรับว่าตรงนี้เป็นเขตปกครอง ตรงนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่รัฐเอา พ.ร.บ. ป่าไม้ไปครอบพื้นที่เหล่านี้เอาไว้ ตรงนั้นมีคนอยู่ครับท่านประธาน มีบ้านเรือน มี รพ.สต. มีโรงเรียน มีสถานีตำรวจ มีที่ทำการ อบต. มีหน่วยงานราชการอยู่

    อ่านในการประชุม

  • คำถามคือเอากฎหมายไปครอบเขาไว้ทำไมครับ พื้นที่แบบนี้ต่อให้เกษตรกร ปลูกพืชเก่งแค่ไหน ต่อให้จะแปรรูปสินค้าเก่งแค่ไหน ขายผลผลิตทางการเกษตรได้ดีแค่ไหน คุณไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณไม่สามารถเติบโตทางธุรกิจได้ คุณจดทะเบียนจัดตั้ง เป็นบริษัทไม่ได้ ตำบลนครชุม ตำบลน้ำกุ่ม ถ้าคุณมีโฉนดเก่า ๆ ปัจจุบัน พ.ร.บ. ป่าไม้ ครอบไว้แล้วทั้ง ๒ ตำบล ถ้าคุณมีโฉนดคุณก็จะจำหน่ายจ่ายโอนให้ลูกหลานไม่ได้ครับ ติดพื้นที่ป่า ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย อบต. และ อบจ. พยายามผลักดันการทำถนนเส้นบ้านโคกคล้าย ไปยังตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย เพื่อสาธารณประโยชน์นะครับ ประชุมแล้วประชุมอีก ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ปี ๒๕๖๑ ไล่มา จนปัจจุบันยังทำไม่ได้ครับ ติดพื้นที่ป่า ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ ตำบลเล็ก ๆ อยากจะลืมตาอ้าปากกับเขาบ้าง อุตส่าห์พยายามออกแบบ การท่องเที่ยวทางน้ำ หวังว่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ในพื้นที่ชุมชน ทำแบบไปเสนอกับอุทยานแห่งชาติแควน้อย เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน Present ไป ๓ รอบ นำเสนอไป ๓ รอบ นำเสนอแล้วนำเสนออีก ปัจจุบันก็ยังทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ได้ครับ ติดพื้นที่ป่า ตำบลคันโช้ง ตำบลบ้านยาง ชาวบ้านจะขุดบ่อน้ำชุมชนจะทำการเกษตร ขออนุญาตเท่าไรก็ไม่เคยทำได้ ติดพื้นที่ป่า แต่เวลารัฐอยากจะทำโรงไฟฟ้า อยากจะทำเขื่อน ทุกอย่างจะดูง่ายไปหมด ทั้งที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านมากมาย EIA ก็ไม่ทำ แต่รัฐสามารถ เข้าไปทำได้ง่ายกว่าชาวบ้านขอขุดบ่อน้ำครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นในเขต พื้นที่เขต ๕ จังหวัดพิษณุโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าไม้ในขณะนี้ มันไม่ใช่ปัญหาของ การแก้ยากหรือแก้ง่ายครับ มันเลยจุดที่จะพูดเรื่องการแก้ง่ายหรือแก้ยากไปแล้วครับ ท่านประธาน ปัญหาคือรัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลจริงใจ ในการแก้ปัญหาจริง ๆ ปัญหานี้คงไม่ถูกปล่อยมานานถึง ๓๐-๔๐ ปีครับ ๓๐-๔๐ ปีที่ผม ได้ยินเรื่องปัญหาป่าไม้มาตั้งแต่ผมยังเด็ก เมื่อก่อนผมเคยได้ยิน สส. ไปหาเสียงในพื้นที่ บ้านผม เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ว่าจะแก้ปัญหาที่ดิน จะแก้ปัญหาป่าไม้ ไม่น่าเชื่อครับ ๓๐ ปีผ่านไป ผมยังต้องมาหาเสียงด้วยนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดิน ปัญหาป่าไม้เหมือนเดิมครับ เหมือนเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว แล้วผมก็ยังเชื่อเป็นอย่างยิ่งครับว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มี ความจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เหมือนเดิม ในการเลือกตั้งครั้งหน้าผมก็อาจจะต้องใช้ Script เดิมมาหาเสียงอีกแน่ ๆ แล้วถ้าเป็นแบบนั้น รอบหน้าขอให้พวกผมพรรคก้าวไกล เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้แล้วกันนะครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม