นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน แนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตอภิปรายในรายงานข้อมูลสถานการณ์ ด้านความรุนแรงในครอบครัวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขออนุญาตเรียกชื่อกระทรวงสั้น ๆ เพราะว่าชื่อกระทรวงท่านยาว ขออนุญาตเรียก พม. นะคะ คืออย่างนี้ค่ะ อันดับแรกเลย เพื่อนสมาชิกหลายท่านทั้งให้กำลังใจแล้วก็ข้อเสนอแนะ ต่อผู้แทนกระทรวงแล้ว แต่ว่าอย่างหนึ่งด้วยขนาดของหน่วยงานนะคะ จากรายงาน ที่ท่านส่งมา ๒ ปีท่านเก็บข้อมูลจากทั้งหมด ๑๕ หน่วยงาน เอาเข้าจริง ๆ เป็นหน่วยงาน โดยตรงที่ท่านกำกับดูแลเพียงแค่ ๓ หน่วยงานเท่านั้น ที่เหลือก็คือเป็นเครือข่าย เป็นพันธมิตร ที่ท่านทำงานร่วมกัน ซึ่งก็เป็นเหตุเข้าใจได้ว่าขนาดของหน่วยงานของท่านมันไม่สอดคล้อง กับปัญหาที่เกิดขึ้น แทบจะพูดได้ว่าการทำงานในแต่ละขวบปีคือการทำงานในเชิงรับล้วน ๆ การทำงานเชิงรุกอาจจะยากด้วยความที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไม่สัมพันธ์กัน แต่สิ่งหนึ่ง จะช่วยงานของท่านได้ถึงแม้เราจะรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างยาวนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของ ทางฝ่ายปกครองเองหรือผู้บังคับใช้กฎหมายเอง เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเลขที่โชว์ในรายงาน แน่นอนค่ะ มันไม่สัมพันธ์กันในโลกแห่งความเป็นจริง และยังมีอีกหลายส่วนในประเทศนี้ ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องที่คนนอกอย่ายุ่ง ก็ยังมีอยู่ ยังมีความเข้าใจนี้ เกิดขึ้นอยู่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดถ้าทาง พม. เราสามารถให้เป็นข้อมูลหรือให้เป็นความรู้กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้เขาได้สามารถ ให้ข้อมูลต่อ เนื่องจากคนของท่านเองต้องยอมรับว่าคนของท่านไม่พอครอบคลุมให้ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศ เมื่อคนของท่านไม่พออย่างน้อย ๆ ท่านสามารถให้ข้อมูล และให้ความมั่นใจกับเขาได้ ท่านอย่าลืมนะคะว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หลาย ๆ พื้นที่เขายังถือว่าเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกกับคนข้างนอกได้ แม้กระทั่งญาติเอง พี่ป้าน้าอาเองบางเรื่องยังไม่กล้าจะบอกด้วยซ้ำ ถึงแม้เรื่องเกิดกับลูก กับหลานเขา เพียงเพราะว่า ๑. เขาก็ไม่มั่นใจค่ะ ไม่มั่นใจว่าเมื่อเขาแจ้งออกไปแล้ว เมื่อมันเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตแล้วเขาจะได้รับความคุ้มครองมากแค่ไหน จะบอกให้เขา ไปหาข้อมูลว่ามันมีหน่วยงานอะไรบ้างที่ดูแล บางเรื่องคนเราอยู่ในมุมอับ มันสุดวิสัยจริง ๆ ที่เราจะหาทางรับทราบและรับรู้ได้ว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ช่วยเหลือเรา อย่างน้อย ๆ ท่านมี เป็นคู่มือ ท่านมีเป็นข้อมูล บอกกับฝ่ายปกครอง เพราะแน่นอนค่ะ ทุกอำเภอฝ่ายปกครอง ประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว ให้เขาได้รับทราบข้อมูล ให้เขาได้รับทราบว่าเขาสามารถจะติดต่อ ทางไหนได้บ้าง เพราะถึงแม้ว่าเขาจะทำงานใกล้ชิดกับแต่ละครอบครัวก็จริง เขาก็คนกันเองค่ะ เขาเป็นคนกันเองที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ที่อยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน ซอยเดียวกัน ในชุมชน เดียวกันที่เห็นกันทุกเช้า เห็นกันทุกวัน เมื่อมีปัญหามาบางทีเขาอาจจะไม่กล้าบอกคนใกล้ตัว แต่ถ้าท่านสามารถบอกข้อมูลเขาได้ ให้ข้อมูลเขาเพิ่มเติม ดีกว่าการที่เราทำงานเชิงรับ รอรับ Case รอรับงานจากทางหน่วยงานอื่น ๆ ที่เราเป็นพันธมิตรด้วย แล้วเราก็ค่อยไปรับงาน ต่อจากเขาว่าเขามีปัญหามีอะไรอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านทำได้ในเมื่อคนไม่พอข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่ท่านจะสามารถส่งต่อ แล้วเรื่องที่เป็นปัญหาต่อท่านสามารถทำงานเชิงรุกได้ เชิงรุกในด้านไหน ๑. นอกจากให้ข้อมูลแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นสื่อทำให้คนมองเห็นแล้วกลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อในโทรศัพท์มือถือของเราค่ะ Social ด้านต่าง ๆ ท่านสามารถ เสนอได้ค่ะ เสนอผ่านทางหน่วยงานที่เขาดูแลและเกี่ยวข้องว่าพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น หล่อหลอมให้คนในสังคมมองว่านี่คือเรื่องปกติ ขนาดใน TV ในโทรศัพท์มือถือยังออกมา โชว์ได้ ละครยังออกมาตบตีกันได้ ถ้าทาง พม. มีความเห็นลงไปว่าเราควรจะจำกัดขอบเขตว่า สิ่งใดที่ควรจะเสนอออกมาเพื่อหล่อหลอมให้คนในสังคมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เราไม่ควรทำอย่างนี้ เราควรจะมีแนวทางในการโชว์ที่ว่าให้เขาเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ เราอย่าให้เป็นเรื่องที่ว่า เห็นในครอบครัวแล้วว่าครอบครัวมีความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางวาจา หรือทางร่างกาย แล้วพอไปเปิดดู TV ปุ๊บ ไปเปิดดูสื่อต่าง ๆ ในมือถือเราก็ยังเจอเรื่องราวคล้ายกัน มันหล่อหลอม ให้เด็ก ๆ มองว่านี่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น บ้านเราก็มี ข้างนอกก็มี แล้วมันเกิดปัญหา อะไรต่อคะ ปัญหาก็คือเขาก็ลามไปถึงที่โรงเรียน ปัญหานี้จริง ๆ มันเชื่อมกันไม่ว่าจะเป็น เรื่องความรุนแรงในครอบครัว หรือการ Bully ในโรงเรียนเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องปกติ หลาย ๆ ท่านอภิปรายบอกท่านไปแล้วว่าอย่างไร แต่ก็เข้าใจด้วยความที่ว่า ๑. เจ้าหน้าที่เราน้อย เราใช้การเป็นพันธมิตรเพื่อพูดคุยกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการทำ แต่มันก็มีในงานบางส่วน ที่ท่านสามารถทำงานเชิงรุกได้โดยที่ไม่ต้องรอรับ Case จากมูลนิธิที่ต่าง ๆ หรือจาก หน่วยงานต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว การให้ข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ ถึงแม้ในยุคนี้เป็นยุคที่ ประชาชนสามารถหาข้อมูลได้จากหลากหลายจากทุกที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เขาจะมาหาข้อมูล บังเอิญถ้าดิฉันโดนกระทำฉันต้องไปหาอะไร อย่างไร ซึ่งอย่างนี้เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครเขาคิดถึง จังหวะนั้นแล้วค่ะ เขาคิดถึงแค่ว่าคนรอบตัวเขาคิดอย่างไร คิดเรื่องอะไร พอถัดออกไปปุ๊บ ถ้าจะไปหาผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นญาติกับคนนั้นเป็นญาติกับคนนี้ เรื่องราวก็จะใหญ่โต ไปอีกพูดไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำได้นอกเหนือคือการป้องกัน การป้องกันคือ การให้ข้อมูลค่ะท่าน ให้ข้อมูลและท่านอาจจะชี้นำ ชี้นำด้านไหน ชี้นำในเรื่องของสื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในทาง TV ทาง Social ท่านชี้นำเป็นเรื่องข้อมูลชี้นำว่าเราควรจะเป็นแบบนี้ได้ เพราะว่า อย่างที่บอกค่ะท่าน ถ้าท่านทำงานเชิงรับต่อไปตัวเลขก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป มันก็จะไม่มีทางลด จะยาวไปเรื่อย แล้วเราก็จะมาพูดปัญหาแบบนี้ทุกปีเพราะว่าท่านก็ต้องทำรายงานส่งมา ที่สภาทุกปี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ทำงานเชิงรุกในบางเรื่องที่ไม่ต้องอาศัยคนจำนวนมาก เอาแค่พอที่ท่านจะช่วยแบ่งเบาท่านได้ในส่วนหนึ่งค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องที่จะมาปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ๓ ประเด็นด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก เป็นเรื่อง ความเสียหายของถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๗ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๓๕-๓๖ จริง ๆ เป็นช่วงที่ไกลกว่านั้น เพียงแต่ว่าช่วงนี้ที่ดิฉันเอารูปภาพขึ้นมามี ๒ รูปเท่านั้น เนื่องจากบริเวณตรงนี้เป็นที่น่าสงสัยของพี่น้องประชาชนที่สัญจรตลอดเวลา เพราะเนื่องจาก พอเข้าฤดูฝนถนนก็จะมีความเสียหายทันทีเกิดขึ้นมา แล้วก็ถนนเส้นนี้เป็นช่วงเดียวที่จะต้อง มีการปรับปรุงก่อสร้างหรือเสริมสร้างใหม่ทุก ๆ ของรอบในการที่จะทำค่ะ ซึ่งเส้นบริเวณอื่น แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางหลวงที่ดูแลตรงนี้ บอกว่าในส่วนของเส้นตรงนี้แค่ซ่อมสร้างอาจจะไม่พอ อาจจะต้องรื้อไปถึงชั้นดินข้างล่างเพื่อที่จะให้ระยะอายุของการใช้งานยาวนานกว่าเดิม

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่ดิฉันเคยปรึกษาหารือไปแล้วตั้งแต่สมัยสภาชุดที่แล้ว จริง ๆ แล้วได้รับคำตอบมาแล้วแต่เป็นคำตอบที่ดิฉันไม่สามารถจะอธิบายกับพี่น้อง ประชาชนได้เลยว่าทำไมหน่วยงานถึงไม่สามารถทำให้เขาได้ ก็คือเรื่องของสถานีสูบน้ำ ด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำของบ้านโนนข่า ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร เรื่องที่ จะต้องปรึกษาหารือนั้นเนื่องจากสถานีแห่งนี้เป็นสถานีขนาดใหญ่และท่อส่งน้ำที่มีระยะไกล ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับพี่น้องประชาชนในระยะของการใช้สูบน้ำชั่วโมงละ ๘๐๐ บาท และการที่จะขอใช้น้ำแต่ละครั้ง แน่นอนค่ะ ๑ ชั่วโมงน้ำยังไม่ถึงที่นาเขาแน่นอน ต้องใช้ ระยะเวลามากกว่า ๒-๓ ชั่วโมงกว่าน้ำจะกระจายไปทั่วถึง ซึ่งชั่วโมงละ ๘๐๐ บาทค่ะ นี่จะเป็นสถานีเดียวด้วยซ้ำที่มีราคาสูงขนาดนี้ ซึ่งสถานีสูบน้ำในบริเวณใกล้เคียงกัน ค่าไฟฟ้าหลักสิบทั้งนั้นเลยค่ะ มีสถานีนี้สถานีเดียวที่เป็นหลัก ๘๐๐ บาทต่อ ๑ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นดิฉันอยากฝากไปถึงกรมชลประทานค่ะ อยากให้เข้ามาดูแลแก้ไขในส่วนตรงนี้ ท่านจะหาทางอย่างไรที่จะช่วยในการบรรเทาเรื่องการใช้ไฟฟ้าสำหรับมาเสียค่าใช้จ่าย กับโรงไฟฟ้าโรงนี้ ท่านจะเป็นแผง Solar Cell หรือท่านจะติดตั้งเครื่องใหม่ก็ได้ค่ะ ท่านอย่าบอกเลยค่ะว่าการทำอะไรใหม่ลงไปแล้วมันขาดทุน มันแพง มันอะไรก็ตามแต่ เพราะว่างบประมาณของรัฐไม่มีคำว่าขาดทุนหรือกำไร มันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือ พี่น้องในพื้นที่ประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • แล้วก็เรื่องสุดท้าย เรื่องนี้ดิฉันได้รับหนังสือจากชมรมรักษ์สหกรณ์ออมทรัพย์ ครูอุบลราชธานี จำกัด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู อุบลราชธานี จำกัด ตลอดระยะเวลา ๑๐ กว่าปีผ่านมา อยากฝากไปถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์ อยากให้เข้ามาดูแลในเรื่องการดำเนินกิจการต่าง ๆ แม้กระทั่งเรื่องที่มีปัญหาต่อเนื่อง ค้างคามานานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้ได้เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งค่ะ ขอบพระคุณ ท่านประธานค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทยค่ะ ท่านประธานคะ ญัตติในวันนี้เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม ถ้าดิฉัน ไม่พูดก็คงจะไม่ได้เพราะวันนี้มีการกล่าวถึงจังหวัดอุบลราชธานีบ่อยครั้ง และโดยเฉพาะ ที่สำคัญที่สุดพื้นที่ที่ดิฉันดูแลรับผิดชอบนี่เป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนที่จะเจอแก่งต่าง ๆ ในลำน้ำมูล ก่อนที่จะไปถึงเขื่อนปากมูลที่เป็นปัญหาถกเถียงกันว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับลำน้ำมูลนะคะ ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่ ที่น่าแปลกใจคือสัปดาห์ที่แล้วสภาเราเพิ่งคุยกันเรื่องน้ำแล้งนะคะ El Nino สัปดาห์นี้เราคุยกันน้ำท่วมแล้ว และที่ต้องพูดต่อมาค่ะท่านประธาน รบกวนห้องโสตช่วยขึ้น ภาพแรกนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ที่ต้องคุยเรื่องในเขตพื้นที่ ดิฉันค่ะ ภาพนี้คือภาพปัจจุบันของวันนี้ ที่ตรงนี้คือบริเวณที่เรามองเห็นไปตรงขาว ๆ นั่นค่ะ นั่นคือจุดที่แก่งสะพืออยู่ค่ะ ถ้าท่านมองจากริมตลิ่งถือว่าระดับน้ำ ณ วันนี้ของอำเภอ พิบูลมังสาหารปกตินะคะ ไม่ได้มีเหตุการณ์ที่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ใกล้น้ำท่วม เพราะดูจากหลัก ตลิ่งแล้วนี่หลายเมตร ขออนุญาตรูปต่อไปค่ะ ซึ่งดิฉันมีแค่ ๒ รูปเท่านั้น รูปต่อไปนี้ เป็นรูปบริเวณบ้านท่าเสียว ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหารค่ะ ที่ดิฉันเอารูปนี้ขึ้นมา ถ้าท่านจะสังเกตนะคะว่าระดับแม่น้ำมูลนี่ต่ำกว่าเมื่อสักครู่มากกว่าบริเวณที่แก่งสะพือด้วยซ้ำ เพราะเนื่องจากตรงนี้ถ้าท่านมองไกล ๆ ท่านจะเห็นตรงนั้นเป็นเหมือนเกาะกลางน้ำค่ะ ดอนตาดไฮและเป็นแก่งที่มีอีกประมาณ ๑๓ แก่ง นับจากแก่งสะพือลงมาก่อนถึงเขื่อนปากมูล เพราะฉะนั้นที่ดิฉันพูดถึงข้อมูลนี้พูดเพื่ออะไรคะ เพื่อที่จะให้ทุกคนทราบว่าเหตุการณ์ ปัจจุบัน ณ วันนี้ ๒ รูป ที่ดิฉันโชว์ขึ้นมาเอารูปลงได้นะคะ ๒ รูปที่โชว์ขึ้นมาเป็นรูปของวันนี้ ดิฉันให้เลขานุการดิฉันไปถ่ายให้เลยว่าอยากทราบระดับน้ำปัจจุบันใน Zone ที่เขาบอกว่า น้ำท่วมเยอะ ๆ เป็นอย่างไร ในเขตพื้นที่ดิฉันน้ำปกติ น้ำไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติที่จะบอกว่าน้ำท่วม แต่พวกเราก็เฝ้าระวังเพราะว่าปีที่แล้วที่เรามีปัญหาเพราะเนื่องจากพายุเข้าจังหวัด อุบลราชธานีเต็ม ๆ ทำให้เรื่องน้ำนี่สำคัญที่สุดมันก็เลยท่วม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เป็นข่าว อยู่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ตรงไหนก็ตามแต่ของอุบลราชธานีที่ท่วม เราต้องย้อนกลับไปด้วย ย้อนกลับไปว่าเหตุการณ์ที่น้ำท่วมนี่มันเป็นบริเวณตรงไหน เกิดเพราะอะไร เป็นบริเวณ น้ำท่วมซ้ำซากหรือเปล่า เพราะอะไร ทำไมเราถึงจะต้องมาโทษในสิ่งที่เป็นปลายน้ำที่ขณะนี้ น้ำไม่มี มีเป็นปกติยังไม่ถึงขั้นระดับวิกฤติของน้ำท่วม ถามว่าปัจจุบันนี้ค่ะในระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ผ่านมา การก่อสร้างบ้านเรือน การก่อสร้างชุมชน การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่เป็นที่ของ เอกชนที่ที่จังหวัดเคยใช้เป็นพื้นที่รับน้ำต่าง ๆ ของจังหวัดมันได้หายไปเกือบหมดแล้ว กลายเป็นพื้นที่ที่เขาพัฒนา เพราะมันเป็นสิทธิของเขา เป็นพื้นที่ของเขาในการพัฒนา ของจังหวัด เมื่อเป็นแบบนี้การที่พื้นที่รับน้ำของจังหวัดลดน้อยลง แต่ดิฉันก็ยังไม่เห็นแผน ดิฉันเคยอภิปรายในสภานี้ไม่ต่ำกว่า ๓ รอบค่ะ เรื่องแก้มลิงของจังหวัดอุบลราชธานีที่มัน หายไป หายไปเพราะอะไรคะ อย่างที่บอกเมื่อสักครู่ที่เอกชนที่เขาพัฒนาเป็นบ้านเรือนเขา ที่ทุกอย่างเมื่อหายไปปุ๊บนี่เรายังไม่ได้เห็นโครงการที่จะพัฒนาเพื่อกักเก็บน้ำ เรามีแต่จะบอก ว่าให้ผันน้ำออกเอาน้ำไป เรามีแต่จะเทน้ำทิ้งค่ะ เราไม่คิดถึงว่าผ่านแค่หน้าฝน ๒ เดือนนี้ แล้วอีก ๑๐ เดือนที่เหลือ เราจะใช้น้ำอะไรกันคะ ถ้าเราบอกว่าแก่งสะพือต้องมีการทำอะไร สักอย่าง แก่งต่าง ๆ จะบอกเลยว่าแก่งสะพือแตะต้องไม่ได้ค่ะ ทำไมถึงบอกแบบนั้น บอกได้เลยนะคะว่าถ้าไม่มีแก่งสะพือน้ำในจังหวัดอุบลราธานีไม่เหลือจะทำอะไรทั้งสิ้นในช่วง หน้าแล้ง ไม่ต้องพูดถึงการเกษตร แม้แต่น้ำประปาก็ทำไม่ได้ค่ะ เพราะนี่คือปราการ ด่านธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถกักเก็บน้ำให้ชาวอุบลราชธานีมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่ถามว่าถัดจากแก่งสะพือไปอีก ๑๓ แก่ง ที่ต้องบอกว่าไม่ใช่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เป็นเหมือนแก่งธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว และนอกจาก ๑๓ แก่งแล้ว เรายังมีดอนก็คือเกาะนี่ค่ะ เกาะกลางน้ำในแม่น้ำมูลขนาดใหญ่อีก ๔ เกาะ นี่ก็เป็นปราการด่านธรรมชาติทั้งหมด ทำไม เราไม่หาวิธีว่าทำอย่างไรที่น้ำจะไหลเร็วขึ้น ส่วนที่กักน้ำได้ท่านก็เก็บเอาไว้ ส่วนที่เราจะทำ ท่านก็ต้องดูไม่ใช่คิดอะไรไม่ออกท่านก็จะบอกแค่ว่าจะผันน้ำทิ้ง ผันน้ำทิ้ง ไม่เหลือน้ำไว้ใช้ หน้าแล้งหรือคะ อันนี้ต้องคิดนะคะ ไม่ใช่พอตอนหน้าแล้งเดี๋ยวพวกเราก็มาตั้งญัตติคุยกัน เรื่องน้ำแล้งอีก พอคุยกันเรื่องน้ำแล้งแป๊บหนึ่งเรามาคุยน้ำท่วมอีก สัปดาห์เดียวคุยกัน ๒ เรื่องเลยแล้งกับท่วม เพราะฉะนั้นถึงอยากจะบอกว่าเรื่องต่าง ๆ เราต้องมองย้อนกลับไป ว่าเหตุการณ์และเหตุผลต่าง ๆ เกิดอะไรขึ้น แก้มลิงของจังหวัดที่เราเคยมี ที่เราหายไป เราสามารถใช้ตรงไหนได้ การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าหน้าฝน จะบอกว่าเราเปิดเขื่อน ช้าไหม จะบอกว่าปีนี้ก็ไม่ช้านะคะ ปีนี้เปิดเขื่อนจนกระทั่งบริเวณรูปที่ ๒ ดิฉันโชว์เมื่อสักครู่ บริเวณตรงนั้น Zone อำเภอตรงนั้น ๒ ฝั่ง เขาถึงขั้นบอกว่าปิดเขื่อนได้ไหม เพราะน้ำตรง เขาคือลดลงมากจนแทบจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว แต่น้ำเหนือขึ้นไปไหนเขาก็ลงมาเรื่อย ๆ มา เอื่อย ๆ แบบช้า ๆ เพราะฉะนั้นเรื่องเขื่อนก็คือว่าเป็นปกติของเขา แต่ถามว่าการบริหาร จัดการก่อนที่จะเข้าหน้าฝน การขุดลอกคูคลองต่าง ๆ การเตรียมทางน้ำต่าง ๆ การสำรวจ ล่าสุดว่าทางน้ำที่เคยใช้ในอดีตที่ผ่านมาอยู่ตรงไหนบ้าง โดนรุกล้ำหรือเปล่า มันตื้นเขิน หรือเปล่า หรือได้เตรียมความพร้อมอะไรหรือเปล่า น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า แล้วอีกอย่างหนึ่ง จะไปบอกว่าให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูก็คงจะไม่ถูกต้องเสมอไป ในเมื่อประเด็นปัญหา ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่ในปัจจุบันที่ขยายเมืองมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เราเตรียม ความพร้อมขนาดไหน ดิฉันได้ยินคำว่าบูรณาการมาหลายปีมาก แต่พูดตรง ๆ แทบจะไม่เห็น โครงการไหนที่ใช้คำว่า บูรณาการได้อย่างสมบูรณ์ ที่แก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ ดิฉัน เจอเพื่อนสมาชิกหลายท่านที่นั่งอยู่บริเวณนี้ ๒ เดือนที่แล้ว อยุธยาปวดหัวมากเพราะว่าแล้ง แต่ตอนนี้ปวดหัวหนักกว่าเดิมเพราะจะท่วม นี่ค่ะถึงบอกว่าหน่วยงานราชการจะบอกว่า ทำงานหรือเตรียมงานเป็นฤดูคงไม่ได้ ท่านต้องเตรียมล่วงหน้า แล้วคงต้องบอกให้ได้ว่า ต้องเตรียมอย่างไร พื้นที่ที่เคยเป็นรับน้ำเคยมีอยู่หรือไม่ หายไปหรือเปล่า ที่ตรงไหนเคยเป็น ที่ผันน้ำตามปกติ ช่องทางปกติยังอยู่ดีอยู่หรือเปล่า หรือมันหายหมดแล้ว หรือมันตื้นเขิน หมดแล้วจนเป็นเหตุให้น้ำทุกอย่างมันไหลเร็วและไหลมารวมกันอยู่ที่แม่น้ำสายหลัก แล้วก็ เป็นเหตุให้น้ำท่วมอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ต้องขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าแยกกันทำ ช่วยบูรณาการ จริง ๆ ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณค่ะท่านประธาน ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องหลัก ๆ อยู่ ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ดิฉันได้รับ การร้องเรียนจากทั้งประชาชน แล้วก็ทั้งท่านสิริบูรณ์ สนิทพรรณ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องด้วยมีถนนเส้นหนึ่งเป็นของ กรมทางหลวงชนบทซึ่งผ่านตำบลนาดีทั้งตำบลเลย ก็คือเส้น อบ.๓๐๔๕ เส้นนี้เป็นทางเชื่อม ระหว่างตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เชื่อมมายังตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ประเด็นหลัก ๆ ของถนนเส้นนี้ก็คืออย่างนี้ค่ะ เนื่องจากถนนเส้นนี้ ส่วนมากจะมีปัญหาเฉพาะช่วงตำบลนาดีเป็นส่วนใหญ่ แล้วอีกอย่างหนึ่งมีปัญหาคือ จากสภาพที่เห็น ๒-๓ รูปที่ดิฉันนำรูปมาโชว์นะคะ เกิดจากการที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ สัญจรผ่านเส้นนี้เป็นประจำทำให้เส้นนี้มีปัญหา ถึงแม้จะซ่อมอย่างไรก็ตามก็จะเป็นอย่างนี้ ในทุกช่วงหน้าฝนของทุกปี เพราะฉะนั้นทางพี่น้องประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนทุกปี อันนี้ก็คือทาง อบต. เขาได้พยายาม Grade ถนนเพื่อให้ดีขึ้นเล็กน้อย ถ้าท่านประธานไปช่วง ที่เริ่มหน้าฝนกลาง ๆ แล้วท่านก็จะเห็น บางหลุมรถ Pickup ก็ไม่สามารถผ่านได้ ก็ฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือทางหลวงชนบทว่าให้รบกวนมาดูแลอย่างจริงจังกับถนนเส้นนี้ เพราะว่าได้ซ่อมทุกปี ทำใหม่ทุกปี ซ่อมทุกปี พี่น้องประชาชนก็ต้องบอกว่าทั้งเดือดร้อน แล้วก็เบื่อหน่ายนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมา เป็นเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่างในบริเวณของเส้นทางหลวง หมายเลข ๒๑๗ ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำโดม ตั้งแต่ช่วงหน้าบ้านหมู่บ้านสร้างแก้ว บ้านสะพานโดม ยาวมาจนถึงสวนป่าประมาณกิโลเมตรที่ ๓๘ ช่วงนี้จะมีไฟฟ้าเป็นบางช่วง แล้วช่วงที่ไม่มีจะเป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้งเนื่องจากถนนที่พังเสียหาย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมา ก็คือในเรื่องของไฟฟ้าที่ติด ๆ ดับ ๆ ตลอดเวลาในช่วงเส้น ๒๑๗ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร ก็ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ขอบพระคุณท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตค่ะท่านประธาน ดิฉันขอเสนอให้ท่านประธานล้างใหม่เลยได้ไหมคะ เพราะไม่อย่างนั้นจะงงค่ะ เพราะว่า หลายท่านทั้งกดบัตร แล้วก็ทั้งยืนพูดแสดงตนด้วยค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ไม่ซ้ำค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ แนน สมชัย ภูมิใจไทยค่ะ ประเด็นที่จะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่องขององค์ประชุม เมื่อครู่นี้ ขออนุญาตนะคะท่าน คือท่านบอกว่าองค์ประชุม ท่านพูดเรื่องฝั่งรัฐบาล พูดฝั่งฝ่ายค้าน แต่องค์ประชุมของการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือพวกเราทั้ง ๕๐๐ คนที่นั่งในนี้ค่ะ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นฝั่งไหนมาเยอะ ฝั่งไหนมาน้อย ไม่ถูกค่ะ นั่งอยู่ในนี้ทุกคนคือ องค์ประชุมค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ แนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ดิฉันขออนุญาตอภิปรายในญัตติ เรื่อง ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ หลาย ท่านพูด ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นเองหรือว่าเป็นระดับประเทศเอง แต่วันนี้สไลด์ที่ดิฉัน เตรียมมาก็คือทางฝ่ายโสตสามารถขึ้นเรื่อย ๆ ได้เลยเพราะว่ามันเป็นแค่รูปประกอบในพื้นที่ ในเขตดูแลรับผิดชอบของดิฉันคือที่อำเภอพิบูลมังสาหาร

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาจริง ๆ เพื่อนสมาชิก หลายท่านได้พูดกันไปแล้วในเรื่องขยะมูลฝอยในแต่ละสถานที่บางพื้นที่เป็นบ่อขยะ บางพื้นที่ คงไม่สามารถจะเรียกบ่อขยะได้ คงจะเรียกเป็นสถานที่กำจัดมูลฝอย ซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะ เจ้าของญัตติคือท่านมัลลิกาเองนี้ก็ได้ว่าการแยกขยะอะไรก็ตามแต่ ถึงแม้เราจะแยกจาก ที่บ้านมาแล้วก็ตามแต่ เมื่อรถขยะมารับแล้วนำไปทิ้ง สุดท้ายแล้วเราไม่ทราบเลยว่า มันมากองรวมกันอยู่เป็นแบบนี้ ในหลาย ๆ ที่ที่ท่านสมาชิกได้ขึ้นรูปมาแล้วรอบหนึ่ง แต่มีอยู่ หน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง จริง ๆ คือเป็นการช่วยการย่อยขยะ คือแยกขยะได้ดี ก็คือว่ากลุ่ม ชาวซาเล้งต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ไม่ว่าจะขับซาเล้งไปตามหน้าหมู่บ้านต่าง ๆ หรือตามบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งเขาก็มา Check ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซาเล้งเองหรือว่ากลุ่มพี่น้องที่เป็น พนักงานเก็บขยะก็ได้ช่วยแยกขยะให้ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งนอกเหนือจากงบประมาณ ที่อยากให้ทางรัฐบาลได้ดูแลว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไรกับบ่อขยะต่าง ๆ ตามอำเภอใหญ่ ๆ ที่เขามีสถานที่เป็นบ่อขยะนี้ดูแลอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่น่าจะนำเสนอคือว่าในต่างประเทศ หลาย ๆ ประเทศนี้เขาจะมีจุดรับซื้อขยะ เป็นแยกชิ้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้ว หรือว่า ขวดพลาสติกต่าง ๆ พูดง่าย ๆ คือให้ตามชุมชนหรือตามบ้านเรือนนี้เขาสามารถได้หาเงินจาก ขยะที่เขาผลิตเองในบ้านของเขา ซึ่งหลายท่านก็ขึ้นข้อมูลว่าวัน ๆ หนึ่งเราผลิตขยะไปก็คือ ประมาณ ๑-๑.๕ กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งบางอย่างในชิ้นนั้นเราสามารถนำไป Recycle ไปขยาย ต่อได้ ไปขายต่อ ได้เพียงแต่ว่าในหลาย ๆ ที่ไม่มีที่รับซื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งนอกเหนือจาก งบประมาณในการที่จะอุดหนุนกับ อปท. ทั้งหลายแล้วนั้นน่าจะมาช่วยส่งเสริมให้ประชาชน ได้แยกขยะ ซึ่งเขาจะได้มีกำลังใจในการแยกขยะต่อไป เพื่ออะไรคะ ๑. พนักงานเก็บขยะ เขาจะได้เก็บได้ ๒. เขาสามารถนำขยะพวกนี้มาขายนำเงินเข้ามาสู่ครอบครัวได้จากขยะ ที่เขาผลิตเองนะคะท่านประธาน อันนี้ก็คืออีกทางหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมา ในหลาย ๆ สถานที่กำจัดขยะเป็นปัญหาลักลั่น เพราะว่า อย่างเช่นรูปที่โชว์เมื่อสักครู่ ชื่อของสถานที่แห่งนั้นเขาบอกว่าเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร แต่เจ้าของสถานที่จริง ๆ คือเจ้าของพื้นที่จริง ๆ เป็นของ เทศบาลตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาอะไรโดยรอบกับ สถานที่บ่อขยะนี้จะเป็นอีกเทศบาลหนึ่งดูแล แต่ปัญหาตรงกลางก็ต้องให้อีกเทศบาลหนึ่ง ดูแล เพราะฉะนั้นงบประมาณก็คือลักลั่นกัน ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรก็ตามแต่ นอกเหนือจากเรื่องขยะมูลฝอย นอกเหนือจากเรื่องการกำจัด นอกเหนือจากเรื่องของกลิ่น แล้วนั้นก็ต้องอย่าลืมนะคะ ในหลาย ๆ บ่อขยะนี้เราก็จะมีสุนัขจรจัด มีอะไรเยอะแยะ มากมาย ซึ่งก็ทำความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณนั้น ซึ่งแน่นอนค่ะ กว่าเราจะขอความร่วมมือไปยังปศุสัตว์เพื่อให้เขามาเรื่องทำหมันบริเวณนั้น ก็ตามแต่ก็จะมีปัญหาเรื่องชาวบ้านที่จะโดนสุนัขเหล่านั้นวิ่งไล่กวดไล่กัดกันตลอดเวลาในช่วง บริเวณที่เป็นบ่อขยะก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นดิฉันมั่นใจว่าหลังจากนี้ค่ะ จริง ๆ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เจ้าของญัตติไล่ลงมาจนถึง เพื่อน ๆ ทุกคนนี้ก็อธิบายตรงกันว่าปัญหาใหญ่สุดก็คือเรื่องงบประมาณในการดูแล แล้วก็ การให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นพวกเราเองทุกคนที่เป็นผู้ผลิตขยะในแต่ละวันในการใช้ ในครัวเรือนเราหรือว่าที่ทำงานหรืออะไรก็ตามแต่ รวมถึงผู้ที่นำขยะไปทิ้ง เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งอย่างที่บอกตั้งแต่ตอนเริ่มแรกชาวบ้านมีขยะเกิดขึ้น แต่เขาทราบค่ะว่าเดี๋ยวมีคนเอา ขวดไปขายได้ มีที่รับซื้อมีอะไรอย่างนี้ แต่ไม่คุ้มหรอกค่ะ ถ้าอาทิตย์หนึ่งเขาจะมีขวดพลาสติก ขวดแก้วแค่ ๕ ขวด ๑๐ ขวด แล้วเขาต้องนั่งรถไปไกล ๆ ไปซื้อ แต่ถ้าท่านสามารถทำเป็น เหมือนธนาคารชุมชนในแต่ละ Zone ว่าเป็นการรับซื้อรวม ทำเป็นเครดิตให้เขาสามารถไป แลกซื้อของในชุมชนได้ นี่ก็เป็นการช่วยลดขยะอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากที่เป็นขยะทั่วไป ที่ต้องกำจัดอย่างเดียว เพราะฉะนั้นปัญหาตัวนี้คือเราจะไปแก้เรื่องว่าในประเด็นของการกำจัด อย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องให้ความรู้กับชาวบ้าน แล้วก็ให้ทางเลือก ให้ทางออกของเขา ในการที่เขาจะจัดทำอย่างไร จะคิดอย่างไรว่าแยกขยะไปแล้วจะมีผลแบบไหน ไม่อย่างนั้นเรา ก็จะเห็นว่ามีถังขยะ ๓ แบบ ๓ สี อยู่ในทุกสถานที่ราชการ อยู่ในสถานที่เอกชนไม่ว่าจะเป็น ห้างร้านต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้วไปรวมไปกองอยู่ที่เดียวกัน ดิฉันอยากจะให้ทางรัฐบาล นอกจากสนับสนุนงบประมาณให้กับท้องถิ่นในการดูแลเรื่องขยะแล้ว อยากให้สนับสนุนใน เรื่องของเป็นแรงจูงใจให้พี่น้องได้นำขยะมาเพิ่มมูลค่าเป็นรายได้ให้กับครอบครัวด้วยค่ะ ท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ แนน บุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะวันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือ น่าจะเป็นการตามเรื่องมากกว่าค่ะ เพราะว่า เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ๓-๔ อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอพิบูลมังสาหารที่ต้องใช้ สะพานข้ามแม่น้ำมูล

    อ่านในการประชุม

  • ภาพขึ้นได้เรื่อย ๆ นะคะ สะพานแห่งนี้สร้างมา ๓๐-๔๐ ปีแล้วค่ะ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสะพานยังแข็งแรงดีอยู่ แต่สิ่งที่ เกิดขึ้นคือบริเวณนี้ในระยะ ๒๐ กิโลเมตรนี้มีสะพานข้ามแม่น้ำมูลเพียงแห่งเดียว และปัญหา ก็คือสะพานแห่งนี้ไม่สามารถขยายได้มากกว่านี้แล้ว เนื่องจากทั้งหัวสะพานและปลายสะพาน ก็จะไปติดเขตชุมชนเมือง ทีนี้ปัญหาคืออย่างนี้ค่ะท่านประธาน เมื่อมีหน้าเทศกาล ในสมัยก่อนก็จะรถติดไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง รถพยาบาลต่าง ๆ ก็ต้องขับไปไกลอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเพื่อใช้อีกสะพานข้ามมายังโรงพยาบาล แล้วดิฉันต้องตามเรื่องเนื่องจากได้มี การสำรวจออกแบบแล้วค่ะ เสร็จตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แล้วในการสำรวจออกแบบสะพาน ข้ามแม่น้ำมูลแห่งที่ ๒ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร เพื่อที่พี่น้องทั้งอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอ ตาลสุม อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่จะได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงอำเภอสิรินธรด้วยจะได้ ใช้ประโยชน์ ฉะนั้นขออนุญาตตามเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมว่าหลังจากที่สำรวจออกแบบแล้ว อยากให้ติดตามเรื่อง อนุมัติให้สร้างโดยเร็วพลัน ทั้งสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งที่ ๒ และ ทางเลี่ยงเมืองเพื่อให้พี่น้องประชาชนบรรเทาในการจราจร ไม่ใช่แค่ช่วงวันหยุดพิเศษ ขณะนี้ ทุก ๆ วันสะพานแห่งนี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงในการผ่าน ยิ่งช่วงเช้าและช่วงเย็น ช่วงเวลาก่อนเข้าเรียนกับเลิกเรียน เพราะฉะนั้นก็ขอฝากไปยังกระทรวงคมนาคมให้พิจารณา โครงการนี้โดยด่วนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม