นายธัญธร ธนินวัฒนาธร

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร จากเขตบางแคและเขตภาษีเจริญ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ ผมขออนุญาตอภิปรายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องขอขอบคุณ ทางหน่วยงานทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติสภาแห่งนี้มาชี้แจงด้วยตนเองนะครับ ๒ ข้อสังเกต หลักครับท่านประธาน ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒ ข้อสังเกตหลักนะครับ คือความหลากหลายของโครงการที่ยื่นเสนอเพื่อรับการสนับสนุนจากกองทุนนะครับ และการติดตามความสำเร็จของโครงการที่ได้รับจากกองทุนนะครับ ความหลากหลายของ โครงการนะครับท่านประธาน ประเภททุนสนับสนุนในปี ๒๕๖๕ นั้นเราจะเห็นว่า แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท เป็นประเภทเปิดรับทั่วไป ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ และประเภท ความร่วมมือนะครับ หากเราดูที่กรอบวงเงินสนับสนุนนั้นประเภททั่วไปอยู่ที่ ๙๐ ล้านบาท ส่วนประเภทเชิงยุทธศาสตร์นั้นคูณ ๒ ทวีคูณเป็นเท่าตัวขึ้นมาที่ ๑๘๐ ล้านบาท จำนวน โครงการที่นำเสนอนะครับ ประเภททั่วไปอยู่ที่ ๓๗๑ โครงการ ตามมาด้วยประเภท เชิงยุทธศาสตร์ที่ ๓๖๘ โครงการ โดยจำนวนเงินอนุมัตินั้น ๑๗๙ ล้านบาท ถูกอนุมัติไปที่ ประเภทยุทธศาสตร์มากเป็นอันดับ ๑ ส่วนประเภทความร่วมมืออยู่ที่ ๑๖.๑๓ ล้านบาท เมื่อเรามองประเภททุนเปิดรับทั่วไปที่ได้รับการสนับสนุนอันดับ ๑ ก็จะเป็นสื่อสำหรับกลุ่ม ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ อันดับ ๒ เป็นสื่อสำหรับเด็ก อันดับ ๓ เป็นโครงการ เพื่อความรู้เท่าทันสื่อ และตระหนักรู้ปัญหาครับ ส่วนอันดับที่ ๔ นั้นมีเพียง ๑ เรื่องเท่านั้น คือสื่อเพื่อสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ข้อสังเกตจาก Slide เมื่อสักครู่ คืออะไรครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ การขาดความหลากหลายของหัวข้อที่สามารถเข้าถึงมวลชนนะครับ ผมคิดว่าถ้าเราเพิ่มความหลากหลายให้มีการกระจายตัว และมีค่าเฉลี่ยที่มากกว่านี้ จะสามารถดึงดูดพี่น้องประชาชนและเข้าถึงพี่น้องประชาชนจากหลากหลายกลุ่มให้เข้ามา สนใจสื่อได้มากยิ่งขึ้นนะครับ รวมไปถึงหัวข้อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิเพื่อความเท่าเทียม และหลากหลายทางเพศยังคงมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหัวข้ออื่น ๆ นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ กองทุนอาจพิจารณาสนับสนุนด้านภาพยนตร์ Series หรือละคร โทรทัศน์ ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาขณะนี้และเข้าถึงประชาชนได้เป็นจำนวนมากนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ การประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนอาจจะยังไม่เข้าถึง ประชาชนในวงกว้างมากพอครับ

    อ่านในการประชุม

  • เมื่อเรามาดูคณะกรรมการกองทุน ทั้งหมดจะมีอยู่ ๒๐ ตำแหน่งนะครับ ท่านประธาน ประธานกรรมการมาจากรองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการมาจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และประกอบไปด้วย ๗ ปลัดกระทรวง และ ๙ ผู้ทรงคุณวุฒิ ดังที่ท่านอาจจะเห็นอยู่ในแผนภาพ แผนภูมิด้านซ้ายมือนะครับ ถ้าเราจะแยกจำนวนของ คณะกรรมการนี้ที่มีความเกี่ยวพันกับสื่อมวลชน เกี่ยวพันกับศิลปะจริง ๆ อาจจะมีอยู่เพียง ๕ ตำแหน่งจาก ๑๗ ตำแหน่ง ถ้าไม่รวมประธานและเลขานุการนะครับ ดังที่ผม Highlight เป็นสีดำอยู่ทางด้านขวามือครับ จะดีแค่ไหนครับถ้าเราสามารถจะเพิ่มคณบดีในมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ ทางด้านสื่อสารโทรทัศน์ และศิลปะเข้ามา ในโครงสร้างนี้ด้วย นอกจากจะสามารถนำผลงานของนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เข้ามารับทุนของกองทุนนี้ด้วยแล้วยังสามารถเพิ่มความหลากหลายให้กับผลงาน และเป็นประโยชน์ในภาพรวมได้มากกว่านี้ และสัดส่วนของปลัดกระทรวงซึ่งมีอยู่ ค่อนข้างมาก อาจจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกำกับควบคุมเนื้อหามากกว่าการสนับสนุน และสร้างสรรค์หรือไม่ สำหรับผลการดำเนินการของกองทุน การจัดสรรงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ นะครับ ๕๗๒ ล้านบาท ผูกพันงบประมาณข้ามปีถึง ๓๖๒ ล้านบาท คิดเป็น ๖๓.๓๓ เปอร์เซ็นต์ สำหรับงบประมาณผูกพันในปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ เป็นงบประมาณ ผูก ๒๖.๑๒ เปอร์เซ็นต์ จุดนี้เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการจัดสรรงบประมาณซึ่งมีงบ รอเบิกจ่ายสูงกว่า ๒ เท่าตัว ถึง ๖๓.๓๓ เปอร์เซ็นต์ การดำเนินงานของกองทุนและกิจกรรม ที่ยื่นขอไม่เสร็จสิ้นพร้อมตรวจรับในปีงบประมาณหรือเปล่า มีความคืบหน้าอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ คือกรอบเวลาการตรวจรับงาน เพราะในปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ นั้น รวมทั้งสิ้น ๓ ปี เบิกจ่ายแล้ว ๓๙๑ ล้านบาท ยังมีผูกพันคงเหลืออีก ๑๓๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๖ นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ครับ ประสิทธิภาพในการสื่อสารสำหรับโครงการที่เสร็จสิ้นช้านะครับ ในบางโครงการเป็นโครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเร็วครับ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความมั่นคงปลอดภัยทาง Cyber หรือข้อมูลทางสุขภาวะ หรือสาธารณะสุข เราไม่สามารถ รอเป็นหลาย ๆ ปีได้ ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นอุบัติการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๔ บทบาทกองทุนในการผลักดันช่องทางการนำเสนอผลงาน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางของ Social Media ต่าง ๆ หากท่านดูใน YouTube มีหลายโครงการที่ได้รับทุนจาก กองทุนนี้ครับ แต่ยอด View น้อยอย่างน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่นั่นเป็นผลงานที่ค่อนข้างดีมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เรามีการประชาสัมพันธ์ทั้ง Online และ On Ground ให้มากกว่านี้ ให้พี่น้องประชาชนสามารถเสพผลงานที่ทุกท่านรังสรรค์ขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้มากกว่านี้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๕ เป็นระบบการเปิดเผยข้อมูลหรือ Open Data ปัจจุบันแล้ว Website ของกองทุนนะครับ ผมเข้าไปดูก็มีการจัดแสดงผลงานที่ได้รับทุนเพียงบางส่วน จึงมีข้อเสนอ ให้เปิดเผยข้อมูลเป็น Open Data เลยนะครับ รายงานสถานะของทุกโครงการให้เห็นว่า โครงการนี้อยู่ในสถานะอะไร ดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน และมีช่องทางการเผยแพร่ ผลงานอะไร อาจจะแนบ Link ไปให้เขาเลยนะครับ นักศึกษาที่ต้องการศึกษาผลงาน หรือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจจะได้เข้าถึงผลงานเหล่านี้ได้โดยสะดวกครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตบางแคและเขตภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกล วันนี้รบกวนปรึกษาหารือ ท่านประธานในเนื้อหาดังนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาการเวนคืนค้างคาบริเวณถนนสุขาภิบาล ๑ หรือถนน บางแค-ท่าเกษตร เราเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ผ่านมาแล้ว ๑๖ ปี ปัจจุบันยังไม่มี ความคืบหน้า อาคารพาณิชย์ประชาชนบริเวณนั้นร้างทำการค้าไม่ได้ ขายก็ไม่มีผู้ซื้อ ปล่อยเช่าก็ไม่มีผู้เช่า ขอให้ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่โดยด่วนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ การเวนคืนที่ดินในพื้นที่ ๕ เขต ฝั่งธนบุรี ได้แก่ เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตราษฎร์บูรณะ ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ เริ่มต้นที่ถนนพุทธมณฑลสาย ๑ เขตภาษีเจริญ มีกรอบระยะเวลาการดำเนินงานคืบหน้าอย่างไร ขอให้กรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบบริเวณนั้นทราบโดยเร็วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ปัญหาไฟส่องสว่าง พื้นที่สาธารณะชำรุด การซ่อมล่าช้า ขอให้ กรุงเทพมหานครประสานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงโดยเร็ว ล่าสุดผมไปลงพื้นที่บริเวณ ซอยร่มไทรในเขตบางแค มีดับต่อเนื่องจำนวนมากหลายสิบต้นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๔ ไฟส่องสว่างในบริเวณถนนกัลปพฤกษ์ตัดถนนกาญจนาภิเษก ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง แม้อยู่ระหว่างการปรับปรุงผิวถนน แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ควรรอนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๕ การจราจรติดขัดบริเวณซอยเพชรเกษม ๖๙ ฝากกรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินโครงการอุโมงค์ระบายน้ำ และการขยายถนนให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่ได้อนุมัติ ไว้แล้วครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๖ ปัญหารถจอดแช่ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณฝั่งตรงข้าม เดอะมอลล์ บางแค ฝั่งซีคอน บางแค และบริเวณ BTS บางหว้า ทำให้การจราจรติดขัด ประชาชนเดือดร้อนนะครับ ฝากเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ ในกรณีนี้ ผมทราบมาว่าตำรวจจราจรมีไม่พอเพียงนะครับ เพียง สน. ละ ๓-๔ ท่านเท่านั้น ฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และสวัสดิภาพ ของตำรวจชั้นผู้น้อยด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๗ เขตภาษีเจริญไม่มีสวนสาธารณะเป็นกิจจะลักษณะฝากกรุงเทพมหานคร พิจารณาใช้ประโยชน์จากที่ว่าง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๘ สัญญาณไฟจราจรบริเวณปากซอยเพชรเกษม ๑๑๖ ติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่เปิดใช้งาน การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ฝากเจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๙ ในคลองภาษีเจริญได้มีการสร้างท่าเรือเตรียมเอาไว้แล้วนะครับ แต่ปัจจุบันไม่มีเรือโดยสารวิ่ง รบกวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสม เพื่อความสะดวกและเพื่อเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสุดท้าย ทีมงานผู้ช่วยของผม คุณณพัฎน์ จิตตภินันท์กัณตา และคุณณัชชา ชาญชัยพิชิต ลงพื้นที่สำรวจริมคลองชุมชนเลิศสุขสม ทางเดินสร้างมานานหลายสิบปีครับ ไม่มีราวกันตกตลอดทางยาว รวมถึงมีสะพานทางเดินที่หักอยู่ภายในชุมชนครับ ฝากกรุงเทพมหานครพิจารณาเพื่อดำเนินการ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๓๐ บางแคและภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกล ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ขออนุญาตอภิปราย การรับทราบรายงานตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ พ.ศ. ๒๕๔๔ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยจะขอพูดในหัวข้อของสถานการณ์ ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs หรือ Non-Communicable Diseases นะครับ ซึ่งตัวอย่างของโรค NCDs ที่หลัก ๆ เลยตอนนี้เราจะพบปัญหาโรคทางเดินระบบหัวใจ และหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น COPD ปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง แล้วก็โรคไต รวมถึงปัญหาโรคทางสุขภาพจิตก็เป็นหนึ่งใน NCDs ด้วยเช่นกัน เมื่อเราดู สาเหตุนะครับ สาเหตุอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันการกิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย การทำงานต่าง ๆ และมลภาวะทางอากาศเช่น PM2.5 ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุนี้เช่นกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปนะครับ จะแสดงข้อมูลของการเสียชีวิตทั้งหมดของประชากร ในประเทศไทยครับ โดยจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรค NCDs นั้นเช่นเดียวกับที่ท่านฐิติมา ได้กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ จำนวนผู้ป่วย ๔๐๐,๐๐๐ คนต่อปี คิดเป็น ๗๔ เปอร์เซ็นต์ ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก จำนวนที่มากมายขนาดนี้สร้างความเสียหาย ทางเศรษฐกิจ ๑.๖ ล้านล้านบาท ๙.๗ เปอร์เซ็นต์ของ GDP เลยทีเดียวครับ เมื่อเรามาดู ความชุกของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของประชากรไทยในอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป เราจะ เห็นว่าถ้าเราดูกราฟแท่งสีส้มจะเป็นโรคเบาหวาน ส่วนในกราฟสีเขียวเป็นความดันโลหิตสูง ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีแนวโน้มกราฟคือขาขึ้นทั้งนั้นเลยนะครับท่านประธานครับ ทั้งความชุก ของประชากรและอัตราผู้ป่วย เรามีกระบวนการอย่างไร เราเดินมาถูกทางแล้วหรือยัง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชนคนไทยครับ ซึ่งแนวทางที่เรายึดถือมานาน เป็นแนวทางที่เกี่ยวข้องกับ WHO เช่นกัน เป็นแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพตามกฎบัตร Ottawa ซึ่งแนวคิดนี้ให้ความสำคัญ ๕ ด้านด้วยกัน ด้านที่ ๑ คือการสร้างนโยบายสาธารณะ ด้านที่ ๒ การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ ด้านที่ ๓ เป็นการเพิ่มความสามารถของชุมชน ด้านที่ ๔ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล และด้านที่ ๕ การปรับระบบบริการสุขภาพ ซึ่งส่วนนี้ ภาครัฐเองก็พยายามให้บุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทในการชี้นำ ส่งเสริม ป้องกันปัญหา สุขภาพเหล่านี้ครับ แต่สวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์นั้นกลับไม่เป็นไปตามกฎบัตรนี้ ทั้งเรื่องของชั่วโมงการทำงานเกินขีดความสามารถ ปัญหาภาระงานยังไม่รวมถึงอำนาจนิยม ภายในองค์กร ซึ่งส่วนหนึ่งกระทบกับสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์แน่นอนนะครับ ปัญหาสุขภาพจิตนี้ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs นี้เสียเองด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปนะครับ กรอบแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาพครับ กรอบแนวคิดนี้ท่านวางแผนไว้ที่ ๓ ปีนะครับ ประชาชนบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะภายใต้ ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเป้าหมาย ๑๐ ปี ประชาชนมีสุขภาวะทางอาหารและลด การเจ็บป่วยจากโรค NCDs ซึ่งคำถามครับ คือเราต้องใช้เวลามากถึง ๓ ปีเลยหรือครับ ประชาชนถึงจะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้ แล้ว ๑๐ ปีเลยหรือครับที่ประชาชนมีสุขภาวะ ทางอาหารและลดการเจ็บป่วยจากโรค NCDs ในขณะนี้เรามีนักโภชนาการซึ่งก็มีใบประกอบ วิชาชีพเรียบร้อยแล้วก็ขึ้นทะเบียนเป็นนักกำหนดอาหาร เราควรส่งเสริมวิชาชีพของบุคลากร ทางสุขภาพเพื่อช่วยในการส่งเสริมดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนในภาพรวมด้วยกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • ใน Slide ถัดไปนะครับ ทุกท่านคงเคยเห็น Slide นี้มาก่อนเป็น Logo ที่แปะ ไว้ตามซองอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มอาหารทางเลือกสุขภาพ แต่ไม่ได้มาได้ง่าย ๆ การที่จะได้มาซึ่งเครื่องหมายนี้มีการเก็บค่าธรรมเนียม แต่เดิม ๑๐,๐๐๐ บาทต่อผลิตภัณฑ์ ต่อ ๓ ปี เรานับเป็นต่อผลิตภัณฑ์ นั่นหมายถึงว่าถ้าบริษัทเล็ก ๆ มีหลายผลิตภัณฑ์ต้องการ นำเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพมาแปะไว้ที่ผลิตภัณฑ์ของเขานะครับ ของชาวบ้านเองนี่ เราต้องจ่าย ๑๐,๐๐๐ บาทต่อผลิตภัณฑ์เลย ซึ่งปัจจุบันก็เป็นข้อดีที่ท่านได้ยกเว้นไว้ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ปี ๒๕๖๖ แต่ใน WebSite นั้นก็ยังระบุไว้ว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมอีกครั้ง ในเดือนมกราคม ปี ๒๕๖๗ ซึ่งถ้าเป็นไปได้อยากให้ทบทวนในกรณีนี้ด้วย ซึ่งข้อสังเกต ในเรื่องนี้ของผมเรามีภาษีน้ำตาลไปแล้วในเครื่องดื่มหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าเรื่องของโซเดียมนั้น ยังไม่มีการพูดถึงในประเทศไทยนักนะครับ ในข้อสังเกตเรื่องโซเดียม เช่นในประเทศชิลี ได้ผ่านกฎหมายการติดฉลากและโฆษณาอาหาร ซึ่งเมื่อบังคับแล้วจะกำหนดให้ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากคำเตือนระบุว่าผลิตภัณฑ์นั้น มีโซเดียมมากเกินไป หากโซเดียมสูงเกินกว่าข้อจำกัดของกระทรวงสาธารณสุขในประเทศ นั้น ๆ ซึ่งการใช้สัญลักษณ์ทางเรื่องสุขภาพในไทย เทียบกับการใช้ฉลากคำเตือนโซเดียม มากเกินไปของประเทศชิลี ชวนให้เราเห็นอะไรครับท่านประธาน มันทำให้เห็นว่าการให้ คุณค่าในการดูแลประชาชนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างการสมัครใจกับการออกกฎหมาย มาควบคุม ใน Case ของประเทศชิลีนั้นผู้ผลิตไม่พยายามพัฒนาก็จะโดนตีตราทันทีว่าเค็ม เขาจะติดไปเลยอาหาร เครื่องดื่มอันนี้มันเค็ม มันเกินมาตรฐานครับ แต่ของไทยผู้ผลิตจะต้อง พยายามเพื่อที่จะบอกว่าตัวเองไม่เค็ม ซึ่งแตกต่างกันมากนะครับ ใน Case ของไทย เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ผลิตในการยื่นขออนุญาตและต่ออายุมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นการผลักภาระนี้ไปสู่ผู้บริโภคนะครับผลักต้นทุนการผลิตไปสู่ ผู้บริโภค การขึ้นราคาสินค้าซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น ส่วนนั้นทำให้การบริโภคอาจจะต้องจ่ายแพง กว่าถ้าอยากลดหวาน มัน เค็มนะครับ ฝากส่วนนี้ในการศึกษาต่อไปและดำเนินการ เพื่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนในอนาคตนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตบางแคและเขตภาษีเจริญ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้มีเรื่องขอหารือ ท่านประธาน จำนวน ๗ เรื่อง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ถนนเทอดไทบริเวณวัดรางบัวถึงวัดอ่างแก้ว เขตภาษีเจริญ ที่ผมได้ประสานงานพื้นผิวจราจรชำรุด ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงผิวถนนใหม่แล้วครับ แต่ยังตีเส้นจราจรไม่เรียบร้อย ขอให้เร่งดำเนินการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าส่องสว่างดับบริเวณถนนกัลปพฤกษ์เชื่อมต่อถนนกาญจนาภิเษก ตั้งแต่การหารือครั้งที่แล้ว ฝากกรมทางหลวงพิจารณาแก้ไขโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ การดูแลตัดแต่งกิ่งไม้ในกรุงเทพมหานคร ส่วนที่ขึ้นไปโดน สายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ยังมีความไม่คล่องตัวระหว่างกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้า และเอกชนผู้รับจ้างตัด เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ขอให้วาง แนวทางการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนและมีมาตรการคาดโทษหรือปรับผู้รับจ้างที่เก็บงาน ไม่เรียบร้อยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ อัตราค่าบริการต้นไม้ในที่เอกชนของ กทม. ซึ่งเป็นอัตราที่รัฐตัด มีการปรับราคาขึ้น ในทางปฏิบัติมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่มาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก อาจเกิดช่องโหว่ในการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสได้ ขอให้กรุงเทพมหานครออกหนังสือ แจ้งเกณฑ์ราคาที่ชัดเจนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ ปัญหาผู้มีภาวะทางจิตที่อันตรายต่อบุคคลรอบข้าง ยังมีพบเห็น ในที่สาธารณะ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ พม. และผู้เกี่ยวข้องจริงจังกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. สุขภาพจิต เมื่อ ๒ วันนี้เกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยถือมีดวิ่งไล่ฟันต้นไม้ริมถนนเพชรเกษม บริเวณปากซอยเกษม ๖๗/๑ ประชาชนต้องวิ่งหนี ทราบว่ายังไม่ได้เข้ารับการรักษานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๖ สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza ยังคง น่าเป็นห่วง ยาโอเซลทามิเวียร์ก็ขาดแคลน วัคซีนไม่เพียงพอ ฉีดก็ไม่ทั่วถึง แม้แต่โรงพยาบาล ของรัฐหลายแห่งในขณะนี้ก็ยังต้องคิดค่าบริการฉีด หลายแห่งถึงเราจะจ่ายเงินก็ไม่มี ให้ฉีดแล้วครับ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการแก้ไขนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ฝุ่น PM2.5 กลับมาในระดับที่มีอันตรายต่อสุขภาพอีกแล้วครับ เมื่อเช้านี้อยู่ที่ ๒๕๕ AQI ฝุ่นหนามากครับ ผมเดินทางมาจากทางสะพานกรุงธนมองไม่เห็น รัฐสภาแล้ว ปัญหานี้เรื้อรังนะครับ ฝากรัฐบาลเร่งแก้ไขดำเนินการด้วย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต ๓๐ บางแคและภาษีเจริญ วันนี้ขออนุญาตหารือท่านประธาน ๖ เรื่องดังนี้นะครับ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ได้รับการหารือไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้มีหนังสือตอบกลับจากทางหน่วยงานราชการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาการเวนคืนค้างคาบริเวณถนนสุขาภิบาล ๑ หรือถนนบางแค-ท่าเกษตร ดำเนินการมา ๑๖ ปีแล้วครับ ปัจจุบันนี้ผมเพิ่งไปลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนะครับ พี่น้อง ประชาชนบ่นกันอุบเลยนะครับว่าไม่มีการค้าขายที่ดี บ้านเรือนจะปล่อยเช่าก็ปล่อยไม่ได้ ขายก็ขายไม่ได้ ขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาพื้นที่บริเวณนี้ว่าจะดำเนินการเวนคืน หรือไม่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อต่อไป ไฟส่องสว่างบริเวณถนนกัลปพฤกษ์และถนนกาญจนาภิเษกในเขต บางแค เข้าใจว่ากรมทางหลวงกำลังดำเนินการซ่อมแซมถนนอยู่ แต่ว่าไฟฟ้าดับมาเป็น เวลานาน ตลอดเวลาหลายเดือนมานี้ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่ค่อนข้างที่จะต้อง ใช้ความสว่างพอสมควร ไม่สามารถชดเชยด้วยการให้พี่น้องประชาชนติดไฟเองได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อต่อไป การจราจรติดขัดบริเวณซอยเพชรเกษม ๖๙ ซึ่งโครงการอุโมงค์ ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาและการขยายถนนบริเวณซอยเพชรเกษม ๖๙ ก็ได้รับการแจ้ง มาจากกรุงเทพมหานครว่าอาจจะล่าช้าลง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการเร่งรัด ผู้รับเหมาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน รวมถึงการขยายสะพานข้ามคลองบริเวณตลาดคลองขวาง ด้วยซึ่งได้มีโครงการเอาไว้แล้วครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อต่อไป ปัญหารถจอดแช่ชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตรงข้าม ตลาดบางแค แล้วก็ตรงข้ามเดอะมอลล์บางแค ปัจจุบันได้มีการนำรั้วเหล็กจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางแคไปกั้นในลักษณะขอให้ผ่านตลอด ไม่จอดแช่ แต่ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืน จอดรถค้างอยู่เป็นเวลานาน ทำให้สภาพการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนค่อนข้างติดขัด ปัญหา ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังมีอยู่สูงในเวลานี้ ก็ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไข

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสุดท้าย เรื่องกลุ่มผู้ป่วย Rheumatic Disease ซึ่งเป็นลูกหลานของ ข้าราชการเมื่อมีอายุครบตามเกณฑ์ก็จะหลุดจากสิทธิการรักษาไป ถูกย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ๔ ส่วนนี้ก็ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขเร่งการปฏิรูปสิทธิ การรักษาโดยด่วน ให้แต่ละสิทธิการรักษาได้รับสิทธิเท่าเทียมกันมากกว่านี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๓๐ ในเขตบางแคและเขตภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกล ในวันนี้ผมขออนุญาตอภิปราย รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕

    อ่านในการประชุม

  • ที่ทุกท่านเห็นอยู่ในหน้าจอ พาดหัวข่าวนะครับ ขอบคุณฐานเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาครับ อลังการงานสร้างอาคาร กสทช. แห่งใหม่ เป็น Complex ที่ตั้งใจว่าจะเสร็จในปี ๒๕๖๖ นี้ แต่ ณ วันนี้ครับท่านประธาน เรากำลังเข้าสู่เดือน ๙ ในวันพรุ่งนี้แล้ว ความคืบหน้าของโครงการยังไม่มีแนวโน้มว่า จะแล้วเสร็จแต่อย่างใด ที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ริมถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ใกล้ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ศูนย์ราชการนนทบุรี ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามว่าเมื่อโครงการนี้สร้างเสร็จแล้ว ท่านมีแผนอย่างไรกับสำนักงานปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ในซอย ๘ ถนนพหลโยธิน ในเขตพญาไท มูลค่าโครงการของโครงการนี้ ๒,๗๔๓ ล้านบาท ซึ่งตั้งงบในปี ๒๕๖๖ ไป ๒๗๐ ล้านบาท คงเหลือผูกพันในปี ๒๕๖๗ อยู่เพียง ๑๕๐ ล้านบาทเท่านั้น เหลือแค่ ๑๕๐ ล้านบาท จาก ๒,๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งโครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อเราดูรายละเอียดงบงานก่อสร้าง และงานออกแบบ จะแบ่งเป็นงานก่อสร้างและตกแต่งภายในอาคารสำนักงานแห่งใหม่ทั้งสิ้น ๒,๖๔๓ ล้านบาท และส่วนของงานจ้างผู้ควบคุมงาน ๙๗ ล้านบาท ซึ่งตั้งงบประมาณ ในปี ๒๕๖๖ ไปแล้ว ๑๑ ล้านบาท เป็นงวดสุดท้าย รวมถึงงานออกแบบเพิ่มเติม ๓ ล้านบาท ซึ่งได้เบิกไปเรียบร้อยเมื่อปี ๒๕๖๔ Slide ถัดไปเป็นภาพ ณ เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นปีที่ เดิมเรากำหนดให้สถานที่แห่งนี้ ที่ทำการ กสทช. แห่งใหม่สร้างเสร็จในปีนี้ ด้านหน้าโครงการนั้น ได้มีการปิดทับวันสิ้นสุดของโครงการไปเรียบร้อยแล้ว จึงอยากสอบถามท่านผู้ชี้แจงผ่านทาง ท่านประธานว่าจะมีแนวโน้มเปิดใช้โครงการนี้อย่างเต็มรูปแบบได้เมื่อไร ซึ่งผมคาดว่า ท่านเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ใน กสทช. เองซึ่งต้องย้ายมาทำงานที่นี่ ซึ่งค่อนข้างไกลจากที่เดิม ก็คงอยากจะทราบประเด็นนี้นะครับ รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจร ผ่านไปมาในบริเวณที่ก่อสร้างอยู่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เมื่อเรามาดูราคากลางการจ้างงานในวงเงิน ๑๐๐ ล้านบาท เราจะเห็นว่า เป็นค่าจ้างควบคุมงาน ๗๙.๒๙ ล้านบาท ดังที่ Highlight อยู่เป็นสีเหลืองเอาไว้นะครับ ซึ่งจุดนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตในการประกาศผู้ชนะการเสนอราคางานก่อสร้างควบคุมงาน เรามี การคำนวณราคากลาง ณ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ๑ เดือนถัดมาประกาศงบประมาณ และโครงการ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒ และอีก ๑ เดือนถัดมา วันที่ ๑๑ เช่นกันเลย ระยะเวลา ห่างกัน ๑ เดือนพอดี ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ก็เป็นเวลาที่ห่างกัน ๑ เดือนพอดีในวันที่ ๑๑ เหมือนกัน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นระเบียบของ กสทช. เองในการจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นได้

    อ่านในการประชุม

  • ในหน้าถัดไป คุณสมบัติด้านผลงานของผู้เสนอราคาจ้างก่อสร้างอาคาร กสทช. ในข้อ ๕.๒ มีกำหนดไว้ว่าโดยเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับส่วนราชการ หน่วยงาน ตามกฎหมายด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติ ในฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือที่ขีดเส้นใต้นะครับ หรือหน่วยงาน เอกชนที่สำนักงาน กสทช. เชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลงานได้จริง ซึ่งจุดนี้ก็ต้องตั้ง ข้อสังเกตอีกว่าเราเอาเกณฑ์อะไรเป็นตัวชี้วัด รวมถึงจะมีผู้รับเหมาหน้าใหม่เข้ามารับงาน กสทช. ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเราเชื่อมโยงเกี่ยวกับผู้รับงานการประกวดราคา เราขอ เชื่อมโยงมาที่สื่อในด้านของการทำสื่อ ประกวด จ้างผลิตสื่อองค์ความรู้เพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภคสื่อ ในข้อ ๑๑ บอกไว้ว่าต้องมีผลงานการผลิตสื่อประเภทเดียวกันกับงานที่จ้าง โดยมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๓๕๐,๐๐๐ บาท ดูเป็นวงเงินที่อาจจะเยอะสักเล็กน้อยสำหรับผู้ผลิต สื่อรายเล็ก แต่นั่นยังไม่เท่ากับการประกวดจ้างผลิตสื่อ Online ให้ความรู้ปัญหาหลอกลวง ทางอาชญากรรมเทคโนโลยีซึ่งกำลังเป็นประเด็น ในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนโดนหลอก เป็นจำนวนมาก ท่านได้กำหนดไว้ในการประกวดราคา ข้อ ๑๑ ว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงาน ประเภทผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อ Online โดยมีมูลค่าวงเงินไม่น้อยกว่า ๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท จุดนี้ก็จะเป็นวงเงินที่ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน ก็ขอตั้งคำถามครับว่าอยากให้ กสทช. มีการสนับสนุนสื่อรายเล็กให้เข้ามาผลิตผลงานสื่อมากกว่านี้

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอยกตัวอย่างจากของ กสทช. เป็น YouTube ใน Channel นี้ท่านมี การ Upload ผลงานให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วย โดยขอ ชื่นชมครับ ท่านมีการนำ Influencer และมีการ Upload ทำเป็น Episode เป็นตอน ๆ ก็ทำให้ยอดผู้ติดตามอยู่ในระดับค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ อยู่ที่หลักหมื่นเลย โดยท่าน Upload ประมาณสัปดาห์ละ ๑ คลิป ซึ่งจุดนี้ก็ขอเสนอ กสทช. ผ่านทางท่านประธานไปครับ น่าจะเป็นข้อดีหากท่านได้นำผู้ผลิตสื่อรายเล็กมาอยู่ในกระบวนการผลิตได้มากขึ้น ทำให้ สามารถ Upload ผลงานต่าง ๆ เข้าสู่วงการให้พี่น้องประชาชนได้เห็น ได้ศึกษาหาความรู้ จากการป้องกันตัวเองจากการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มากขึ้น ขอฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตภาษีเจริญและเขตบางแคครับ วันนี้มีเรื่องขออนุญาตหารือท่านประธาน จำนวน ๖ เรื่อง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ประชาชนร้องเรียนสุนัขจรจัดจำนวนมาก ก่อความเดือดร้อน บริเวณซอยบางแวก ๘๐ แขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ แล้วซอยเพชรเกษม ๖๓ แขวงหลักสอง เขตบางแค บริเวณศรีสุวรรณทาวเวอร์เกรงว่าสุนัขจะโดนทำร้ายขอให้ กรุงเทพมหานครรับไปดูแลในพื้นที่ที่เหมาะสมหาบ้านใหม่และทำหมันให้สุนัขนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาน้ำประปาไหลอ่อน ประชาชนแจ้งมาบริเวณซอยเพชรเกษม ๕๐ และซอยเพชรเกษม ๖๕/๑ ซอยเพชรเกษม ๖๕/๒ แสงทองวิลล่า โดยอาจเกิดจาก การปั๊มน้ำตรงกับมิเตอร์ โดยไม่เป็นไปตามระเบียบ ให้การประปานครหลวงตรวจสอบ นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ยังจับลิงไม่ได้นะครับ ประชาชนพบลิงบริเวณซอยเพชรเกษม ๖๕-๖๙ แขวงหลักสอง เขตบางแค เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ป่าที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาดำเนินการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ คำหารือในสภาแห่งนี้ ๒ ครั้งนะครับ ไฟบริเวณถนนกาญจนาภิเษก ตัดกับถนนกัลปพฤกษ์ก็ยังดับครับ ขอให้กรมทางหลวงเร่งพิจารณาดำเนินการเช่นกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ เบี้ยประชุมคณะกรรมการชุมชน ซึ่งปกติสำนักงานเขตจะจัด ประชุมทุกเดือน แต่พอช่วงรอยต่อปีงบประมาณเดือนกันยายนกับเดือนตุลาคมหลายเขต ก็เลือกที่จะไม่จัดการประชุมไปเลย เพราะการเบิกเงินช่วงนั้นก็ทำได้ยากและล่าช้า ทำให้ หลาย ๆ ชุมชนก็ต้องมาทวงถามกับเขตว่าจะได้รับเงินเมื่อไร ก็เลยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนสำหรับการเบิกจ่ายเงินที่ต้องจ่ายประจำอยู่แล้วให้รอบคอบและถี่ถ้วนครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้ายครับท่านประธาน จากที่ลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในกรุงเทพมหานคร มีหลาย ๆ แห่งที่เงินเดือนครูได้รับล่าช้า บางเดือนก็ล่าช้าออกไปเดือน สองเดือนเลยนะครับ แถมอุปกรณ์การเรียนของเด็ก ๆ นี้ครูขอเบิกไปอย่างหนึ่งได้อีกอย่าง หนึ่งรวมถึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพ คุณครูก็ทำเรื่องร้องเรียนไป ก็มีการตรวจสอบมาอีกครับ ดูลายมือว่าครูท่านไหนเป็นผู้ร้องเรียน ก็วอนผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบรายการคำขอและรายการ ที่จัดสรรให้ตรงกับทางที่ศูนย์เด็กขอไป รวมถึงเงินที่จ่ายให้ครูผู้สอนด้วย ก็ขอให้ดำเนินการ อย่างเป็นธรรมครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ ๓๐ บางแคและภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกลครับ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ .... เสนอโดย สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โดยหลักการ พระราชบัญญัตินี้ก็มีเนื้อหา สำคัญอยู่ ๒ ประการ ประการแรก ก็คือกำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดสรรที่ดินแจ้งหรือเรียกให้ ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตั้งนิติบุคคลเป็นภายในระยะเวลา ๓ ปีนับตั้งแต่ที่ได้มีโอนทรัพย์สินแล้ว ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนแปลงย่อยที่ได้จัดสรรที่ดินแล้ว สำหรับประเด็นที่ ๒ ก็คือ กำหนดให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนที่จัดสรรแล้ว แต่งตั้งตัวแทน เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้เองครับ โดยผมและทีมงานในเขต พื้นที่ก็ได้ลงพื้นที่มาประมาณกว่า ๒ ปีแล้วสำหรับพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรที่เป็นชุมชน ดังที่เห็น อยู่ในรูปนะครับ เราได้ประชุมรับฟังปัญหากับพี่น้องประชาชนซึ่งอยู่ในหมู่บ้านชัยมงคล ในเขตบางแค ปัญหาของพี่น้องประชาชนที่รับฟังในพื้นที่นี้ หลัก ๆ ๒ เรื่องครับ ก็หนีไม่พ้น น้ำท่วมและแสงสว่างนะครับ ซึ่งก็นับว่าเป็นปัญหาที่พี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงทั่วประเทศไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้น ๒ เรื่องนี้แน่นอนนะครับ ปัญหาน้ำท่วมขัง หน้าบ้านท่านจะเห็นที่ผมลงพื้นที่อยู่แล้วจะอยู่ได้ในรูปด้านขวามือ ไม่ว่าจะไปลงพื้นที่ ตอนไหนครับแม้ว่าฝนจะตกเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที หมู่บ้านนี้ก็น้ำท่วมขังทั้งในบ้านและ ออกมานอกบ้าน ไม่ว่าประชาชนจะเดินทางไปอย่างไรก็ยากลำบากมากครับ ต้องเดินลุยน้ำ ขี่มอเตอร์ไซค์ลุยน้ำกันไป แล้วถามว่าหมู่บ้านนี้เขาแก้ปัญหากันอย่างไร ก็อยู่ที่สไลด์ถัดไป นี่คือวิธีการแก้ปัญหานะครับ เครื่องสูบน้ำของกรุงเทพมหานครจะต้องไปตั้งประจำในชุมชน แล้วถามว่าตามมาด้วยอะไรครับท่านประธาน ตามมาด้วยปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งค่าน้ำมัน สำนักงานเขตก็ช่วยออกให้ในฐานะที่เป็นชุมชนอยู่นะครับ รวมถึงประชาชนก็ต้องเรี่ยไร ออกค่าน้ำมันกันเองในกรณีที่ฝนตกหนักและเดินเครื่องตลอดเวลานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาต่อมาก็คือปัญหามลภาวะทั้งกลิ่นและเสียงของเครื่องสูบน้ำ เครื่องนี้ครับ บ้านไหนที่บ้านอยู่ใกล้ ๆ กับเครื่องสูบน้ำแล้วฝนตกหนักตอนกลางคืน ก็ไม่เป็น อันหลับอันนอนนะครับ ด้วยเครื่องสูบน้ำนี้ในฐานะที่ผมเคยเป็นอนุกรรมการของสำนัก การระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ก็เป็นเครื่องลักษณะเก่าซึ่งมีลักษณะเป็นหอยโข่งมีปัญหา ในการบำรุงรักษา สูบไปแป๊บหนึ่งถ้าสูบขึ้นมาเจอกับสิ่งของเสียที่อยู่ในท่อก็จะติดบริเวณ หอยโข่ง เขาก็ต้องหยุดเครื่องแล้วก็ต้องล้วงมือไปดึงของเสียนั้นออกมาครับ ซึ่งบางที ก็หนีไม่พ้นกับประชาชนซึ่งอยู่ในชุมชนหมู่บ้านจะต้องเป็นคนดำเนินการเอง เพราะเรียก เจ้าหน้าที่มาก็อาจจะไม่ทันการณ์นะครับ ซึ่งก็เป็นปัญหาในการบำรุงรักษาอีกทางหนึ่งครับ ปัญหาต่อไปก็หนีไม่พ้นภาระงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเพิ่มมากขึ้นนะครับทั้งเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานเขตเองและเจ้าหน้าที่ของสำนักระบายน้ำ กทม. อย่างที่เห็นในรูปก็มาจากทาง สำนักระบายน้ำ ซึ่งมาคอยบำรุงรักษาให้ตลอดเวลานะครับ ปัญหาเหล่านี้แก้อย่างไรครับ ท่านประธาน ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาผมได้ประชุมจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โดยรวบรวมประชาชนเจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวนครึ่งหนึ่งครับ ด้วยความที่เป็นลักษณะของ หมู่บ้านจัดสรรเก่ามาจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งก็จัดตั้งนิติบุคคลเสร็จสิ้นแล้วนะครับ แต่ปัญหา ก็คือการรวบรวมเอกสารซึ่งต้องประกอบด้วยสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และ สำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการดำเนินการและไปจดทะเบียนกับกรมที่ดิน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนนี้ก็คือปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรเก่าครับ สำหรับที่ดินเอกชนที่เมื่อสักครู่ สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก็ได้พูดไปว่ามีความเห็นที่ถ้าประกบกับ พ.ร.บ. ที่ดิน ก็จะเป็น ผลดีนะครับในกรณีดังรูปผมไปถ่ายที่แขวงคลองขวาง เขตภาษีเจริญ ในเขตของผมเองก็เป็น พื้นที่ที่เป็นที่ดินของเอกชนมีปัญหาน้ำท่วมขังมายาวนาน ที่ดินตรงนี้ก็เป็นที่ดินที่พี่น้อง ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ที่ดินตรงนี้ก็ยังโชคดีที่เราประสานกับเจ้าของพื้นที่ แล้วเจ้าของพื้นที่ก็ยินยอมที่จะยกที่ดินส่วนนี้มาให้สาธารณประโยชน์ ในรูปก็คือการลง หินคลุกในขั้นแรกซึ่งสำนักงานเขตภาษีเจริญก็จะได้ดำเนินการตัดถนนและซ่อมแซมระบบ ท่อประปา ท่อระบายน้ำต่อไป ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องเป็นเครดิตของพี่น้องประชาชนซึ่งอยู่บริเวณนั้น ที่ร่วมกันประสานงานให้เกิดขึ้นจริง แต่ในกรณีที่เป็นที่ดินที่ใช้สอยร่วมกันอื่น ๆ เช่น หลังตลาดบางแค ก็มีพื้นที่เหล่านี้เช่นเดียวกันครับ พี่น้องประชาชนใช้สัญจรผ่านกันไปมา ประจำ หาก พ.ร.บ. ที่ดินผ่าน ก็ทำให้เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียสิทธิในที่ดินของตัวเอง และรัฐ ก็สามารถนำงบประมาณมาพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ผมจึงขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินทั้งของ สส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แล้วเพื่อน สส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ให้สภาได้ร่วมกันลงมติรับหลักการในวาระแรก ให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้แก้ไขจริง ๆ จัง ๆ เสียทีครับ หากวาระแรกววาระนี้ไม่ผ่าน ถูกนำไปพิจารณาก่อนจะเกิดอะไรขึ้นครับท่านประธาน เราอาจจะพิจารณากันไม่ทันวาระ การประชุมของสภาชุดนี้ เราอาจจะต้องมาล่าช้ากันไปกว่าครึ่งปีเลยกว่าจะได้รับการ พิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้อีกครั้งครับ ก็ขอเรียกร้องให้พี่น้อง สส. ทั้งหลายร่วมกันลงมติ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนร่วมกันครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตบางแค และเขตภาษีเจริญ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน จำนวน ๓ เรื่องดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาการวางท่อประปาในซอยเพชรเกษม ๕๑ ป้ายที่ประกาศของ การประปานครหลวงระบุว่างานจะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม แต่ปัจจุบันงานก็ยัง ไม่เสร็จ ขอให้แจ้งพี่น้องประชาชนติดป้ายใหม่บอกว่าล่าช้าเพราะอะไร และจะแล้วเสร็จ จริง ๆ เมื่อไร หลาย ๆ ครั้งที่มีการวางท่อซ่อมถนนวันที่จะถูกยืดออกไปเรื่อย ๆ กำหนด วันเสร็จสิ้นตรวจรับงานควรจะตรงเวลากว่านี้ และควรมีมาตรการค่าปรับหรือเลิกจ่ายงาน ให้กับผู้รับเหมาเจ้าหน้าที่ทำงานล่าช้า บังคับใช้อย่างจริงจัง สืบเนื่องจากเรื่องแรก

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ พอมีการวางท่อประปาใหม่ ทำฝั่งหนึ่งอีกฝั่งหนึ่งก็จะมีปัญหา อิฐ หิน ดิน ปูน ไปกองอยู่ในท่อ อีกข้างหนึ่งก็มีปัญหาน้ำท่วมขังตามมา แก้ปัญหากันไม่ได้ สักที ขณะนี้ในหมู่บ้านเพชรเกษม ๒ ฝั่งใต้ ทั้งซอยเพชรเกษม ๕๕/๑ และ ๕๕/๒ มีประชาชน ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากครับ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาวิธีการที่ให้นำเศษ วัสดุต่าง ๆ ไปทิ้งอย่างถูกวิธี และมีมาตรการด้านความปลอดภัย นำกรวยมากั้น นำเชือกมากั้น ให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องมาเจอกับพื้นต่างระดับ แล้วขับรถอันตรายในตอนกลางคืน อีกต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดประจำถิ่นของไทย โดยปกติจะมี การระบาดซ้ำในทุก ๒-๕ ปีเป็นระบาดครั้งใหญ่ และปัจจุบันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อก็เริ่มมากขึ้น อีกครั้ง เสี่ยงที่จะเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งครับ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่ง ประชาสัมพันธ์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มีมาตรการด้านการรับวัคซีนซึ่งมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ธัญธร ธนินวัฒนาธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ ๓๐ เขตบางแคและเขตภาษีเจริญ จากพรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอเริ่มด้วยสไลด์นี้ครับ ท่านประธาน ค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพเมื่อเรามาดูกราฟจากเอกสารรายงานของ สปสช. ที่เราจะเห็นได้ชัดว่ากราฟนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนะครับ นี่คือรายจ่ายรวม ด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งกราฟยิ่งสูงเท่าไรก็หมายความว่าเรามีรายจ่ายด้านสุขภาพ สูงมากเท่านั้น และปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๗๑๑,๗๗๗ ล้านบาท แล้วผมก็เอะใจว่านี่เป็นรายงานของ ปี ๒๕๖๕ ทำไมกราฟมันถึงจบแค่ปี ๒๕๖๓ ในเล่มรายงาน ผมก็เลยลองไปค้นดูครับ ท่านประธาน ที่เราคุยกันสักครู่ว่าปี ๒๕๖๓ นั้นแตะระดับ ๗๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่สูงที่สุด เป็นประวัติศาสตร์แล้วนั้น ยังมีสูงกว่านี้อีกครับ ปี ๒๕๖๔ นั้นอยู่ที่ ๘๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ปีเดียวเพิ่มมากว่า ๑.๖ แสนล้าน คิดเป็น ๒๒.๔๒ เปอร์เซ็นต์เชียวนะครับ และในเมื่อเอกสาร สรุปปี ๒๕๖๕ ทำไมถึงไม่มีตัวเลขในปี ๒๕๖๔ เข้ามาในเล่มรายงานด้วย ก็ยังไม่แน่ใจ เหมือนกันนะครับ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อเช้าท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ท่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ ไม่เสียหาย ก็ได้มาตอบ กระทู้ถามสด ไม่แน่ใจว่าท่านได้รู้ตัวเลขเหล่านี้หรือยัง หากท่านได้รู้รับทราบแบบนี้แล้วว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็ขอฝากท่านประธานถึงผู้บริหารกระทรวงนะครับว่า ให้ทำอะไรสักอย่าง รวมถึงกำกับดูแลสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ทีนี้เราลอง มาดูจำนวนผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพกันบ้าง ถ้าท่านประธานสังเกตตารางดี ๆ คนพิการ ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องฟื้นฟู ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทำไมนับวันจำนวนยิ่งถอยลงละครับ จำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ เลยนะครับ เราประสบความสำเร็จในการรักษาพี่น้องประชาชนเหล่านี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้หายดีเป็นปกติสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว หรืออย่างไรครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในหน้าถัดไปจะเป็นการกายภาพบำบัดหรือฟื้นฟูการได้ยิน หรือกระตุ้น พัฒนาการ ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นก็ต่ำเตี้ยลงทุกปีเลยครับ หากท่านจะอธิบายด้วย เรื่องของภาวะโควิด แล้วการฟื้นฟูประเภทอื่น ๆ ทำไมถึงไม่ลดลงไปด้วยละครับ อันนี้ก็ต้อง ขอฝากท่านรัฐมนตรีลงไปดูแลผู้ป่วยพี่น้องชาวไทยให้ทั่วถึงถ้วนหน้าจริง ๆ จัง ๆ นะครับ อย่าให้พ่อแก่แม่เฒ่า ผู้พิการ ผู้ติดเตียงต้องถูกทอดทิ้งแล้วหายไปจากระบบการรักษาเลย สไลด์นี้ก็พูดถึงเรื่องของ IP Anywhere ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยในแบบต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว มีจำนวน ๓๔.๘๘ เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว ก็นับว่าผู้ป่วย จำนวน ๑ ใน ๓ นี้ ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นมากจริง ๆ ครับท่านประธาน แต่ตรงนี้ผมก็อยากให้ท่านเน้นที่การเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการอย่างแพร่หลายกว่านี้ เถอะครับ ถ้าท่านสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ณ ที่นี้ได้ลองสัมผัสการบริการในโรงพยาบาล ของรัฐบาล หรือได้ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเองนั้น ท่านจะเข้าใจเลยครับว่าการที่ พี่น้องประชาชนต้องเดินทางไปเพื่อขอให้ส่งตัวสำหรับการรักษาต่อเนื่องนั้น เป็นภาระกับ พี่น้องประชาชนมากมายขนาดไหน แล้วจะหนักหนาสาหัสกว่านั้นมากถ้าพี่น้องเหล่านี้รักษาตัว อยู่ตามส่วนภูมิภาคตามต่างจังหวัด หรือว่าย้ายมาอยู่คนละจังหวัดกันแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องโควิดก็ยังไม่ห่างหายไปไหน ปัจจุบันนี้สายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกของ Omicron BA.2.86 ผู้ป่วยก็มีระบบทางเดินหายใจคล้ายไข้หวัด ไม่แน่ใจว่า ท่านสามารถประชาสัมพันธ์ได้ทั่วถึงกว่านี้ได้หรือไม่ รวมไปถึงในระบบประกันสุขภาพที่สมัย โควิด-๑๙ ระบาดหนัก บริษัทประกันได้รับผลกระทบ ออกมากำหนดกฎเกณฑ์เข้มข้นไว้ สำหรับการ Claim ประกันด้านสุขภาพ ปัจจุบันรัฐก็ควรเข้าไปกดปลดล็อกได้แล้วครับ เข้าใจนะครับว่าเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพ เป็นเงื่อนไขสำหรับการ Admit IPD แต่ประชาชน ยอมจ่ายเงินเพื่อทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง เกณฑ์เหล่านั้นอย่างเข้มข้นมากขึ้นเกินไป ประชาชนยอมจ่ายเงินทำประกัน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐ แต่ทุกวันนี้ ทั้งแพทย์และผู้ป่วยยังต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่กล้า Admit IPD กัน กลัวประกันไม่จ่าย แล้วก็เป็นอย่างไรครับ เป็นภาระของรัฐเองที่ต้องนำเงินของประชาชนทั้งประเทศมาจ่าย ค่ารักษาพยาบาลแทน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายที่ผมคงต้องขอฝากไว้จริง ๆ นะครับ จำนวนโครงการป้องกัน การแพร่ระบาดในปีที่ผ่าน ๆ มา โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นนั้นมีการ กระจุกตัวอย่างผิดปกติหรือไม่ จากข้อมูลรายงานของ สปสช. ผมเปรียบเทียบให้ท่านประธาน เห็นเป็นตารางแบบนี้ครับ จากเขตสุขภาพทั้ง ๑๒ เขตทั่วไทย ซึ่งไม่รวมกรุงเทพมหานครนั้น ท่านประธานลองดูช่องที่ผม Highlight ไว้สิครับ แล้วเข้าใจเอาเองคิดว่าเชียงใหม่ ระยอง นครราชสีมาที่ดูแลพี่น้องประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากในเขตสุขภาพแล้วกว่า ๖ ล้านคน จะต้องมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเยอะถูกไหมครับ แต่เมื่อผมลองเปรียบเทียบหารเฉลี่ย จำนวนประชากรที่เขตสุขภาพนั้น ๆ จะต้องดูแลว่า ๑ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนไปนั้น ได้ดูแลพี่น้องประชาชนอยู่จำนวนกี่พันคนครับ ทั้งในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ ก็เป็นดังตารางที่ Highlight อยู่ด้านขวามือ ผมเทียบสัดส่วนจำนวนประชากรให้เรียบร้อยแล้ว ถ้าท่านประธานลองเอาตัวเลขที่ผม Highlight ไว้นั้น เทียบกับค่าเฉลี่ยแถวล่างที่เป็นสีม่วง ๓ อันดับแรกที่ได้รับเงินสนับสนุน ก็ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่มากทีเดียวครับ อย่างไรก็ตามจำนวนตัวเลขนี้ด้วยความที่ตอนนี้เป็นรายงาน สปสช. ของปี ๒๕๖๕ ก็เท่ากับว่า ตัวเลขนี้ Delay ไป ๒ ปี หวังว่าปัจจุบันจะมีการจัดสรรงบประมาณกระจายอำนาจดูแล พี่น้องประชาชนให้เท่าเทียมและทั่วถึงยิ่งขึ้นมากกว่านี้นะครับ แล้วผมก็ไม่แน่ใจครับว่า ทาง สปสช. มีวิธีการคัดเลือกโครงการอย่างไร แต่ตัวเลขที่ออกมานี้มันชี้ให้เห็นว่ามีการกระจุกตัว ด้านงบประมาณ งบกระจุกได้ไปจุก ๆ ส่วนพื้นที่อื่นประชาชนอาจจะรู้สึกจุกอกครับ ท่านประธาน ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม