เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก วันนี้ดิฉันจะขอร่วมอภิปรายโดยมีคำถาม สั้น ๆ ดังนี้
คำถามข้อ ๑ เราจะทำอย่างไรให้ กอช. เป็นกองทุนจริง ๆ ในเมื่อจำนวน คนออมก็น้อย ผลตอบแทนก็ต่ำ และเราจะดึงดูดให้คนมาออมเงินกับกองทุนนี้ได้อย่างไร
คำถามข้อ ๒ คือเรื่องของความทับซ้อนกันของกองทุน โดยเฉพาะ เมื่อเปรียบเทียบกับประกันสังคม มาตรา ๔๐ มันเป็นการสร้างความสับสนให้กับพี่น้อง ประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณให้กับรัฐบาลหรือไม่
คำถามข้อ ๓ คือกองทุนนี้เป็นกองทุนที่รับงบประมาณจากรัฐ มีการบันทึก บัญชีขาดทุนสะสมที่รัฐได้จัดสรรทุนลงมาในปี ๒๕๖๔ ๗๒๕ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๕ ๘๘๘ ล้านบาท
คำถามข้อ ๔ คือแนวทางการปฏิรูปกองทุน มีโครงการตัวแทน กอช. ประจำ หมู่บ้าน แต่เท่าที่ดิฉันอ่านดูในรายงานก็ไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด แนวทางการปฏิรูปกองทุน จะทำให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศที่อยู่นอกระบบหรือไม่ทับซ้อนกับของประกันสังคม ได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ยังมีความกังวลอื่น ๆ ของดิฉันคือโครงสร้างคณะกรรมการ ของ กอช. ที่ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ ปลัดกระทรวงต่าง ๆ หรือข้าราชการที่เกษียณแล้วแต่ว่า ยังอยู่ใน Connection มานั่งใน Board รับเงินเดือน รับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าบริหาร แต่ท่าน เหล่านี้มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะบริหารกองทุนหรือไม่
สุดท้าย พันธกิจหลักของกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและสร้าง หลักประกันที่มั่นคงให้กับประชาชน แต่ดูเหมือนก็ยังจะไม่สามารถทำได้ ก็อยากฝากผ่าน ท่านประธานไปยังกองทุน สิ่งที่ดิฉันเป็นห่วงจริง ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่ประชาชนไม่รู้ว่าจะต้องไปออมเงินที่ไหน ยังเข้าถึงกองทุนไม่ได้ แล้วก็เรื่องของ ความทับซ้อนที่มันทับซ้อนกับประกันสังคม มาตรา ๔๐ ฝากไว้เท่านี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล แต่ก่อนอื่นที่ดิฉัน จะอภิปรายนะคะ ต้องขอชมเชยการนำผลกำไรของกองทุนนำส่งคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน เกือบ ๘๐๐ ล้านบาท ส่วนในประเด็นที่ดิฉันจะอภิปรายคือรายละเอียดต่าง ๆ ในหมายเหตุ ประกอบการเงินมีหลายรายการที่เป็นข้อสังเกตของดิฉัน
เริ่มที่หมายเหตุที่ ๖ ลูกหนี้การค้าค้างชำระกว่า ๑๗๐ ล้านบาท และมีลูกหนี้ ค้างชำระ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๔ มากถึง ๑,๒๑๘ รายการ อยากเรียนถาม ผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงว่าปัจจุบันได้มีการติดตามทวงถามรับชำระเรียบร้อยแล้ว หรือไม่ หากยังไม่มีการติดตามทวงถาม ดิฉันขอเสนอแนะให้ลองปรึกษากรมสรรพากรดู
หมายเหตุต่อไป หมายเหตุที่ ๑๑ มีการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นถึง เกือบ ๑,๐๐๐ ล้านบาท มากกว่างบในการอุดหนุนในการศึกษาและวิจัยพัฒนาน้ำบาดาล ๒ ปีรวมกัน อยากทราบว่าตรงนี้มันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพน้ำบาดาลของประเทศไทย อย่างไร และมันเป็นการใช้จ่ายงบประมาณถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหรือไม่
หมายเหตุต่อมา อยู่ในหมายเหตุที่ ๒๓ การอุดหนุนและบริจาคมีหลายรายการ ที่เป็นข้อสังเกตของดิฉัน จะขอยกตัวอย่างสั้น ๆ สัก ๒-๓ รายการค่ะ รายการที่ ๑๘ โครงการเสริมสร้างศักยภาพการกำกับดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาล ตาม พ.ร.บ. น้ำบาดาล ใช้งบประมาณไปกว่า ๙๗ ล้านบาท ดิฉันอยากทราบว่าโครงการตรงนี้ค่าใช้จ่าย ใช้ไปกับอะไรบ้าง และมีความคุ้มค่าหรือไม่ ท่านวัดผลอย่างไรคะ รายการที่ ๕๒ มีการศึกษาการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในการบริหารจัดการน้ำบาดาล ศึกษาการสร้าง ศูนย์การเรียนรู้ ท่านใช้งบไปกับการศึกษาที่จะสร้างศูนย์หนึ่งกว่า ๙๐๐,๐๐๐ บาท ศึกษาอย่างไรคะ
หมายเหตุต่อไป รายการที่ ๖๐ เป็นการศึกษาทบทวนร่างกฎหมายน้ำบาดาล ใช้งบประมาณไปกว่า ๓ ล้านบาท หากคิดเป็นเงินที่จ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำเป็นเงินค่าตอบแทนท่านละ ๕๐,๐๐๐ บาท ท่านจะได้ กองทัพผู้เชี่ยวชาญกว่า ๖๐ กว่าคน ท่านศึกษาแล้วได้อะไรบ้าง มีข้อเสนอในการปรับปรุง แก้ไขร่างกฎหมายที่ว่าด้วยน้ำบาดาลอย่างไร
หมายเหตุข้อสุดท้าย หมายเหตุที่ ๒๔ เป็นรายจ่ายกว่า ๖๐๐ ล้านบาท คิดเป็นรายจ่ายถึง ๑ ใน ๓ ของรายจ่ายทั้งหมด แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดแล้วปรากฏว่า เป็นการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์อะไรดิฉันก็ไม่สามารถทราบได้ เพราะไม่มีในรายงานฉบับนี้ ก็ต้องสอบถามผ่านท่านประธานไปยังผู้มาชี้แจงว่า ขาดทุนจากอะไร ทั้งหมดเมื่อพิจารณาจากงบทั้งหมดจะเห็นได้ว่ารายจ่ายส่วนใหญ่ ใช้ไปกับการลงทุนในสิ่งก่อสร้างอาคาร การศึกษาอบรม แต่ในความเป็นจริงนั้นประชาชน ในหลายพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำดิบที่เป็นน้ำผิวดิน เขามีแต่น้ำบาดาล แต่ดิฉันกลับพบว่าคุณภาพ ของน้ำบาดาลหลายพื้นที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย เพราะฉะนั้นดิฉัน จึงขอเสนอด้วยความหวังดีไปยังกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลให้ท่านได้กำหนดเป้าหมาย ที่เน้นความสำคัญต่อจำนวนบ่อบาดาลที่เพียงพอและมีคุณภาพต่อประชาชนนะคะ เพราะให้ประชาชนได้มีความมั่นคงในชีวิต เพราะน้ำคือชีวิต ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนท่านประธานค่ะ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดลำปาง ๒ ประเด็นสั้น ๆ ประเด็นแรก คำถาม ที่ไร้คำตอบ ดิฉันถามถึงการศึกษาการสร้างศูนย์การเรียนรู้
รับทราบค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
ถามได้แล้วใช่ไหมคะท่านประธาน
ต่อเนื่องจากเมื่อสักครู่คำถาม ที่ไร้คำตอบค่ะ ดิฉันถามถึงเรื่องการศึกษา การสร้างศูนย์การเรียนรู้ ๙๐๐,๐๐๐ บาท ท่านจะสร้าง ใช่ค่ะดิฉันทราบ แต่ท่านศึกษาอะไรบ้างและผลเป็นอย่างไร คำถามที่ ๒ การศึกษาทบทวนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำบาดาล ตรงนี้ดิฉันก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ส่วนในเรื่องคุณภาพของน้ำบาดาล ในมือของดิฉันคือรายงานสถานการณ์น้ำบาดาล ของประเทศไทยเป็นตัวอย่างของจังหวัดลำปาง รายงานล่าสุดที่ดิฉันได้รับคือของปี ๒๕๕๘ หน้า ๑๐๑ คุณภาพน้ำบาดาลของจังหวัดลำปางกล่าวคือมีปริมาณเหล็กเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๕-๓๐ มิลลิกรัมต่อลิตร และมีปริมาณ Fluoride เกินมาตรฐานของน้ำบาดาลกระจาย อยู่ทั่วไป พบมากสุดอยู่ที่ ๔.๖ มิลลิกรัมต่อลิตร พบอยู่ที่อำเภอเกาะคาและอำเภอเมือง ในอำเภอเมืองคุณภาพน้ำบาดาลยังเป็นแบบนี้ และท่านบอกดิฉันว่าน้ำส่วนมากผ่านเกณฑ์ มาตรฐาน ก็กราบเรียนไปยังท่านประธานนะคะ ขอให้ผู้ชี้แจงได้ตอบคำถามให้ชัดเจน อีกครั้งหนึ่งว่าข้อมูลของดิฉันถูกต้องแล้วหรือไม่ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง ดิฉันมีเรื่องความทุกข์ร้อน ของพี่น้องประชาชนมาหารือต่อท่านประธานสภาดังนี้ค่ะ
เรื่องแรก ด้วยพี่น้องอำเภอเถิน อำเภอเสริมงาม ขาดแคลนน้ำที่ใช้ทำ เกษตรกรรม จึงขอหารือผ่านท่านประธานไปยังสำนักชลประทานที่ ๒ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ถึงโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำดังนี้ค่ะ อ่างเก็บน้ำที่ ๑ อ่างเก็บน้ำโป่งผาก ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน อ่างเก็บน้ำที่ ๒ อ่างเก็บน้ำห้วยงาม ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน ๒ อ่างนี้จะช่วยเหลือประชากรในพื้นที่ทั้งหมด ๘ หมู่บ้านของตำบลเวียงมอก อ่างเก็บน้ำที่ ๓ อ่างเก็บน้ำแม่พริก ตำบลเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม และฝายน้ำล้นวังบง ที่ตำบลทุ่งงาม อำเภอเสริมงาม ฝายน้ำล้นวังบง อบต. ได้มีการทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักทรัพยากรน้ำที่ ๑ และสำนักชลประทานที่ ๒ แล้ว โยนกันไปโยนกันมา บัดนี้ประชาชนก็ยังไม่ได้รับการทำฝาย ก็ต้องฝากทั้งทางสำนักทรัพยากรน้ำที่ ๑ และชลประทานที่ ๒ จังหวัดลำปาง ช่วยติดตาม เร่งรัดด้วย
เรื่องที่ ๒ จังหวัดลำปางเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ เป็นเมือง ที่มีความมั่นคงทางพลังงาน แต่กลับพบว่าหลายอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเสริมงาม และอำเภอสบปราบ มีปัญหาไฟตก ไฟดับบ่อยมาก ฝนยังไม่ทันตก ลมยังไม่ทันแรง ไฟดับแล้วค่ะท่านประธาน อย่างไรก็ต้องขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยด้วยนะคะ พี่น้องทั้ง ๒ อำเภอนี้ต้องทนกับปัญหาไฟดับบ่อย ๆ มานานกว่า ๔๐ ปีแล้วค่ะ
เรื่องสุดท้าย ถนนทางหลวงแผ่นดินที่ ๑๐๖ กิโลเมตรที่ ๘๓-๘๕ มีอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ไม่เคยได้รับการแก้ไขใด ๆ อดีต สส. ท่านก่อน ท่านเดชทวี ศรีวิชัย ก็เคยได้มา หารือผ่านสภาแห่งนี้ เปิดสภามาวันแรก ๆ สิ่งที่ดิฉันทำคือการตั้งกระทู้สอบถามไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เลย ชีวิตของพี่น้องประชาชนมีค่าค่ะท่านประธาน เราต้องรอให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินอีกเท่าไรคะจึงจะมีการแก้ไข อย่างไรก็ขอฝากผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมท่านใหม่ด้วยนะคะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๔ อย่างที่ เพื่อนสมาชิกได้ทราบกันมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นหลายจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดลำปาง ก็เป็น ๑ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ดิฉันจึงรวบรวมความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนเขต ๔ มาหารือผ่านท่านประธานดังนี้ค่ะ อำเภอเกาะคา ตำบลเกาะคา มีสะพานเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๔ ได้รับความเสียหายสะพานเชื่อมต่อ ระหว่างตำบลวังพร้าวและตำบลศาลาเสียหายค่ะ สำหรับอำเภอเถินได้รับความเสียหาย ๓ ตำบล ตำบลเวียงมอกเสียหาย ๖ แห่งด้วยกัน ก็คือสะพานของหมู่บ้านที่ ๖ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๘ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ และหมู่ที่ ๑๔ ตำบลแม่มอก สะพานเสียหายทั้งหมด ๖ แห่งหมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๖ นอกจากนี้ยังมีหมู่ที่ ๑๒ ด้วยนะคะ สำหรับตำบลแม่ปะ สะพานและพนังกั้นน้ำหมู่ที่ ๙ ได้รับความเสียหาย ก็อยากจะฝากผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. หรือ อบจ. หวังว่า การรวบรวมความเสียหายมาหารือผ่านรัฐสภาแห่งนี้จะเป็นการเร่งให้หน่วยงานรับผิดชอบ ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพี่น้องลำปาง เขต ๔ อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก อย่างที่ทราบกัน พี่น้องลำปาง โดยเฉพาะลำปาง Zone ใต้บ้านดิฉันได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วม บ้านเรือนเสียหายหนักทุกอำเภอที่กล่าวมา ดิฉันจึงขอร่วมอภิปรายในวันนี้ค่ะ แต่ก่อนอื่น ที่จะอภิปรายดิฉันต้องขอชื่นชมพ่อเมืองแม่เมืองจังหวัดลำปางนะคะ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านชัชวาลย์ ฉายะบุตร และท่านตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ได้เข้าพื้นที่ประสบภัยเป็นหน่วยงานแรก ๆ และนอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึง ปภจ. หน่วยงานอาสากู้ภัยต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่หน้างานที่ปฏิบัติงาน อย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบค่ะ แต่กระนั้นแล้ว ดิฉันก็ยังเล็งเห็นการบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้ภาระงานที่หนักหนาสาหัส ต้องมาตกอยู่กับผู้ที่ปฏิบัติงานหน้างาน
ประเด็นแรก เรื่องของการแจ้งเตือนภัยของศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่แม่นยำ ขออนุญาตยกตัวอย่างจากพื้นที่ของดิฉันจากที่สังเกตได้ และเชื่อว่าข้อสังเกตนี้จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ คือศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประจำจังหวัดลำปางมีหอแจ้งเตือนภัยเพียง ๒ หอ ซึ่งขั้นตอนการแจ้งเตือนภัย ก็คือให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ เมื่อข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ส่งมาเจ้าหน้าที่ก็จะส่งผ่านไปยังระบบ Next Gen และหัวหน้า ปภ. จังหวัดก็จะต้องนำเสนอ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขั้นตอนเหล่านี้มันช้านะคะท่านประธาน การแจ้งเตือนที่ล่าช้า น้ำมาตอนตีสอง ตีสาม แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปที่พื้นที่เกิดเหตุก็ปาเข้าไป ๑๐ โมง ๑๑ โมงแล้วค่ะ สุดท้ายบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายหลายร้อย หลังคาเรือนท่วม บางตำบลท่วมทุกหมู่บ้าน แล้วอย่างไรคะประชาชนจะต้องเผชิญ ชะตากรรมจากการรอสัญญาณเตือนภัยที่ล่าช้าแบบนี้หรือคะ นอกจากล่าช้าแล้วยังไม่ตรงกับ ข้อเท็จจริง ศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไม่มีการประกาศเตือนแจ้งต่อประชาชนให้ทราบ ล่วงหน้าเลย
จากข้อมูลของ Page ในวันที่ ๒๙ กันยายนที่ผ่านมา น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม ตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา ที่ตำบลแม่มอก และตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน ที่ตำบลสบปราบ ตำบลสมัย อำเภอสบปราบ แต่รายงานหน้า Page ยังแจ้งว่าสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะปกติดี แม้กระทั่งรายงานตอนเย็น เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ก็ยังไม่รายงานตรงกับความเป็นจริง ยังรายงานว่าน้ำขึ้นสูงเล็กน้อย แต่ท่วมไปแล้ว ๓ อำเภอ คืออำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ และอำเภอเถิน ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนว่าแย่แล้ว อปท. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. ต่าง ๆ ไม่ได้รับการแจ้งเตือนเช่นเดียวกัน ทำให้หน่วยงานที่ต้อง เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกลับกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ควรแล้วหรือไม่ที่เราควรจะต้อง ปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเหล่านี้ให้มันดีขึ้นกว่านี้
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของพื้นที่ที่ท่วมซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในอำเภอเกาะคา ที่ตำบลลำปางหลวงได้รับน้ำระบายมาจากลำแม่น้ำตาล จากตำบลปงยางครก อำเภอห้างฉัตร ไหลมาเพื่อรอการระบายลงสู่แม่น้ำวัง น้ำจากลำน้ำเข้ามา ๖-๗ เมตร ขนาดของลำน้ำ แต่มาเจอท่อระบายน้ำที่เป็นคอคอดอยู่ที่ตำบลลำปางหลวงขนาดเพียง ๑.๕ เมตร ไม่พอ ในท่อเต็มไปด้วยทรายและเศษขยะแล้วน้ำจะไปไหน เข้าท่อไม่ได้ก็เอ่อล้นท่วมเข้าหมู่บ้าน บ้านม้าทั้ง ๓ หมู่บ้าน และอื่น ๆ อีก แล้วท่วมไม่ใช่เพียงแค่เขตดิฉันยังท่วมย้อนกลับไปที่ อำเภอห้างฉัตรอีก อีกบริเวณหนึ่งที่มีเทศกาลน้ำท่วม ก็คือที่แม่เชียงรายบนเขตติดต่อ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ตรงนี้ก็เป็นลุ่มน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำวัง พื้นที่เหล่านี้ท่านประธาน ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเลย ท่วมก็ท่วมทุกปีจนชาวบ้านบอกดิฉันว่า มันท่วมเป็นเทศกาลแล้วค่ะ สส.
ประเด็นสุดท้าย เรื่องของการเยียวยา การอพยพ การหาแหล่งพักพิง และการช่วยเหลือในเรื่องของอาหาร ตลอดจนเรื่องของการเดินทางของราษฎร ไม่มีเลยค่ะ กว่า ปภ. จะเข้ามา เมื่อเวลาน้ำท่วมท่วมในหลายพื้นที่เขตของดิฉันมี ๕ อำเภอ ท่วมทุก อำเภอ การช่วยเหลือเข้าไปไม่ทัน ไม่มีการเตรียมการทำงานเชิงรุกเลย ตลอดจนโรคระบาด ที่มากับน้ำตอนนี้ก็ยังไม่เห็นทางสาธารณสุขออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ เลย การเยียวยาต่าง ๆ มีขั้นตอนมากมายล่าช้าและไม่ทันต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ยกตัวอย่าง ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองจ่ายราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินจะต้องมีขั้นตอนให้ อปท. ส่งเรื่องขึ้นไปให้อำเภอ ถ้ามีเงิน ก็ช่วยเหลือเยียวยากันไป ถ้าไม่มีก็ต้องส่งให้ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาแล้วก็มาช่วยเหลือต่อไป กว่ามันจะส่งเรื่องกลับมาพี่น้องประชาชนไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้นะคะท่านประธาน เหล่านี้มันเป็นการบรรเทาสาธารณภัยมันไม่ใช่การป้องกัน เพราะถ้าการป้องกันจะต้องมี ระบบ ระเบียบ มีประสิทธิภาพกว่านี้มันจะต้องมีการทำงานเชิงรุกร่วมเข้ามาด้วย และเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ให้ต้องเจอกับเทศกาลน้ำท่วม เทศกาลที่แสน เจ็บปวดเหล่านี้อีก ดิฉันจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน คือให้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมให้ชุมชนได้มาร่วมออกแบบให้มันเข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงควรจะเข้าไปเร่งพัฒนาระบบนี้
ประเด็นที่ ๒ คือเรื่องของการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน ราชการ ดิฉันไปลงพื้นที่มาทุกอำเภอของดิฉันไม่มีศูนย์ปฏิบัติการ การช่วยเหลือต่าง ๆ แยกกันทำ หน่วยงานใครหน่วยงานมัน อาสากู้ภัยก็ทำไปอย่างหนึ่ง หน่วยงานเอกชนก็ทำ ไปอย่างหนึ่งดูแลกันไปตามมีตามเกิด
สุดท้ายการสร้างทุ่งรับน้ำที่ไม่ใช่ทุ่งรับกรรมในหน้าน้ำที่มีน้ำเข้ามา จำนวนมากควรจะต้องมีการหาพื้นที่ให้น้ำมีทางที่อยู่มีทางที่จะไป คือให้มีทุ่งระดับน้ำ มีการจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียโอกาสในการทำการเกษตร และนอกเหนือจากหน้าน้ำหลาก ควรจะมีการประกันราคาพืชผลเกษตรเผื่อว่าในกรณีที่น้ำยังเข้าทุ่งอยู่แต่ว่ามันเป็นการทำ เกษตรของพี่น้องเกษตรกร และนี่ก็คือข้อเสนอของดิฉันที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วม อภิปรายของดิฉันในครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายค่ะ เพราะว่าพี่น้องประชาชน เดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
ท่านประธานคะ รภัสสรณ์ ๒๙๔ แสดงตนค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง วันนี้ดิฉันมีเรื่องมาหารือ ท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ
เรื่องแรก ฝายแม่แสลมหลวง บ้านปางอ้า หมู่ ๔ ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำทำการเกษตรนะคะ อีกทั้งกระแสน้ำที่เปลี่ยน เส้นทางจากการชำรุดของฝายนี้ ได้กัดเซาะรุกล้ำที่ดินของชาวบ้านฝายนี้อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงฝากเรียนถามผ่านท่านประธานไปถึงความ คืบหน้าในการซ่อมแซมฝายด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ สะพานข้ามแม่น้ำแม่ยาว บ้านทุ่งขามใต้ หมู่ ๙ ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเช่นเดียวกันค่ะ ตอนนี้ทาง อบต. ใหม่พัฒนา ได้เร่งแก้ไขเฉพาะหน้าโดยการนำกระสอบทรายและไม้มาเรียงเป็นสะพานชั่วคราว แต่ก็ยัง ความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่จะต้องใช้สะพานแห่งนี้สัญจรเข้าหมู่บ้าน เดิมสะพานแห่งนี้ สร้างจากงบของกรมการปกครอง ดิฉันจึงอยากสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง ความคืบหน้าในโครงการนี้
และเรื่องสุดท้าย โครงการขอขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรของพี่น้อง บ้านเหล่ายาว หมู่ ๔ ตำบลเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม ที่ได้ทำเรื่องกับ กฟภ. เกาะคาไว้ ขอกันไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับความคืบหน้า ทาง กฟภ. เกาะคา ได้ให้เหตุผลว่าเป็นโครงการที่การไฟฟ้าไม่ได้ลงทุนเอง ต้องขอสนับสนุนงบจากกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ดิฉันจึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดลำปาง ตามที่ดิฉันได้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ วันนี้ดิฉันจะพูดถึงที่มาถึงปัญหาที่ดิฉันต้องเสนอญัตตินี้ ตลอดระยะเวลา หลายเดือนที่ผ่านมาดิฉันมักได้รับปัญหาข้อร้องเรียนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องถึงเรื่องเกี่ยวกับ ปัญหาน้ำประปา ประกอบกับที่ดิฉันได้ติดตามการหารือของเพื่อนสมาชิกรัฐสภาแห่งนี้ พบว่ากว่า ๕๑ ครั้ง เป็นการหารือเกี่ยวกับปัญหาน้ำประปาอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น จากการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และประปาหมู่บ้าน จากน้ำที่ขุ่นแดง ไม่ได้มาตรฐาน และไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภค และจากการรวบรวมข้อมูลปัญหา เกี่ยวกับน้ำประปา พบว่าปัญหาหลัก ๆ คือเรื่องของมาตรฐานประปา และปัญหาอื่น ๆ ที่ดิฉันจะกล่าวในรายละเอียดตอนท้าย ปัญหาเรื่องมาตรฐาน ดิฉันจะขอแบ่งออกเป็น ๓ มาตรฐานหลัก ๆ คือ
มาตรฐานที่ ๑ ด้านแหล่งน้ำดิบ มาตรฐานการควบคุมการผลิต และบำรุงรักษา มาตรฐานสุดท้ายเป็นมาตรฐานด้านระบบประปา สำหรับมาตรฐานด้านแหล่งน้ำดิบก็จะมี น้ำดิบประเภทผิวดินและน้ำดิบประเภทน้ำบาดาล น้ำผิวดิน ในปัจจุบันประเทศไทยเรากำลัง เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาวะความรุนแรงของลมฟ้าอากาศทั้งในรูปแบบ ของภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม ตลอดจนภาวะความรุนแรงของอุณหภูมิและคลื่นความร้อน ที่ส่งผลให้น้ำดิบมีปัญหาทั้งเชิงคุณภาพที่มีน้ำเค็มรุกล้ำ น้ำดิบด้อยคุณภาพ และความขุ่น ที่สูงขึ้น ในเชิงปริมาณ แหล่งน้ำดิบไม่เพียงพอที่จะใช้ตลอดทั้งปี ระบบประปาบางที่ที่เป็น ประปาแบบผิวดินไม่สามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบขึ้นมาใช้ได้เพียงพอก็ต้องไปสูบน้ำบาดาล ขึ้นมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งตรงนี้จะไม่สามารถกรองสารฟลูออไรด์หรือกรองสนิมเหล็กออกได้ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพน้ำที่นำไปใช้จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนตามมาได้ เรื่องคุณภาพของน้ำบาดาล ดิฉันจะขอยกตัวอย่างจังหวัดลำปางที่มีปริมาณสนิมเหล็กอยู่ที่ ๕-๓๐ มิลลิกรัมต่อลิตร และปริมาณฟลูออไรด์สูงกว่าที่มาตรฐานของกรมอนามัยกำหนด ในเชิงปริมาณก็เช่นเดียวกันหลายพื้นที่ไม่เพียงพอถึงขั้นที่บางพื้นที่ อปท. จำเป็นที่จะต้อง ซื้อน้ำจากหน่วยงานอื่น ๆ มาบริการให้กับพี่น้องประชาชนอีกต่อหนึ่ง สุดท้ายประชาชน ก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
มาตรฐานที่ ๒ คือการควบคุมการผลิตและการบำรุงรักษา ในรายละเอียด ส่วนนี้ดิฉันจะขอเน้นไปที่ผู้ที่ควบคุมระบบประปาที่จะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในการผลิต การดูแล การบำรุงรักษา และการบริหารจัดการ ในเรื่องของความเชี่ยวชาญ การผลิตประปา เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา ต้องผ่านการกรอง ต้องอาศัยการเติมสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารส้ม สารคลอรีน เพื่อให้น้ำที่ออกมาได้คุณภาพ ตามมาตรฐาน แต่หากผู้ที่ควบคุมระบบประปาขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญ เติมสารเคมี มากเกินไปก็จะส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน
มาตรฐานที่ ๓ ในเรื่องของการบำรุงรักษา หลายพื้นที่ในปัจจุบันต้องการ การซ่อมแซม อย่างในช่วงที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน เสียหาย ท่อส่งน้ำของหมู่บ้านเสียหายทั้งหมู่บ้านก็จะต้องมีการวางท่อใหม่ทั้งหมด แต่งบประมาณไม่เพียงพอ ภาระหนักจึงไปตกอยู่ที่ผู้ที่ควบคุมประปาที่จะต้องมีการบริหาร จัดการต้นทุนผลิตน้ำประปาให้เหมาะสมให้สามารถมีเงินเหลือพอที่จะไว้ซ่อมบำรุง ไม่ว่า จะเป็นปั๊มน้ำ อุปกรณ์วางท่อต่าง ๆ ซึ่งเรากลับมามองที่ความเป็นจริงแล้วนั้น ต้นทุนหลัก ๆ ในการบริหารจะอยู่ที่การสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบ บางพื้นที่หาแหล่งน้ำดิบแทบไม่ได้ต้องสูบไกล เป็นกิโลเมตร เพื่อหาน้ำมาบริการต่อพี่น้องประชาชน อย่าว่าแต่เรื่องของการสูบน้ำเลย งบประมาณในการซื้อกรวดกรอง ทรายกรองมาเปลี่ยนก็ไม่มี เราไม่ต้องนึกถึงสารส้ม สารคลอรีนที่จะมาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำเลย เราจึงมักจะเห็นน้ำประปาที่เราเห็นมันเป็น สีเหมือนโอวัลตินอยู่เสมอ ๆ และจากความเชี่ยวชาญที่เรากล่าวมาก็จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ผู้ที่ควบคุมระบบประปาที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญที่จะจัดการประปา ทั้งระบบมีอยู่น้อยเหลือเกิน การฝึกอบรมผู้ดูแลประปามันไม่ครอบคลุมกับจำนวนประปา หมู่บ้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน บ้างก็ต้องอาศัยวิธีครูพักลักจำ จำจากผู้ดูแลคนเก่า ๆ เขาเรียกว่า ถ่ายทอดกันเป็นรุ่นต่อรุ่นเป็นวิชาองค์ความรู้ที่ไม่ได้มีสอนกันทั่วไป
มาตรฐานด้านสุดท้ายเป็นมาตรฐานเรื่องระบบประปา ประปาจะต้องมี มาตรฐานการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้น้ำของชุมชนและต้องสามารถรองรับ ต่อปริมาณการใช้น้ำสูงสุดต่อวันได้ กล่าวคือเมื่อชุมชนมันขยายตัวมากขึ้นประชากรในพื้นที่ เพิ่มมากขึ้น แต่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำประปากลับไม่สามารถขยายตาม ความหนาแน่นของประชากรได้ มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในช่วงเวลาใช้น้ำในช่วงเช้า หรือหัวค่ำน้ำประปาจึงไหลน้อย ไหลเบา ไหลกะปริบกะปรอยเสียเหลือเกินทั้ง ๆ ที่ค่าบริการ น้ำประปาพี่น้องก็ชำระไม่ใช้ฟรี ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นการประปานครหลวง การประปา ส่วนภูมิภาค กลับไม่สามารถขยายเขตให้บริการให้พี่น้องประชาชนได้ และแม้กระทั่ง น้ำประปาหมู่บ้านก็ต้องรอของบประมาณแรมปีแรมชาติ อปท. บางแห่งไม่ได้มีผู้นำที่เป็นนักวิ่ง นักเต้น ชาวบ้านก็ต้องดูแลกันเองตามยถากรรม สูบน้ำ ใช้เอง และนอกเหนือจากปัญหาเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ที่ดิฉันได้กล่าวไป ยังมีอีก ๑ ปัญหาใหญ่ คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง ดิฉันจะขออนุญาตเล่าข่าวดัง จากเมื่อวาน ที่มีนายกเทศมนตรีได้เรียกรับเงินจากผู้รับเหมาที่เข้ามาประมูลก่อสร้างระบบ ประปาหมู่บ้านเป็นเงินกว่า ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท หลายโครงการที่เป็นความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข ๑ สาเหตุเลยก็คือเงินทอนไม่มากพอ เปอร์เซ็นต์น้อยเกินไป โครงการแบบนี้ผู้มีอำนาจไม่เหลียวแลเลยถ้าไม่ได้รับเงินทอน เลือกทำ เฉพาะโครงการที่ได้รับเงินทอนสูง ๆ ส่วนความเดือดร้อนของชาวบ้านจะเป็นอย่างไรช่างมัน อันนี้ก็คงต้องฝากผ่านทางท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยให้ดูแล ตรวจสอบ แล้วจัดการอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก
สุดท้ายค่ะท่านประธาน ประปาหมู่บ้าน ประปาท้องถิ่น ประปาส่วนภูมิภาค หรือประปานครหลวงก็ล้วนแล้วแต่มีผู้กำกับที่แตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงหลายจังหวัด ในประเทศไทยไม่ได้มีประปานครหลวงเหมือนกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีประปาส่วนภูมิภาค เหมือนหัวเมืองใหญ่ ๆ หลายพื้นที่ใช้ประปาภูเขา ใช้ประปาหมู่บ้านที่ดูแลกันเอง และหาก เราพิจารณาถึงการแก้ปัญหาที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลแต่ละยุค แต่ละสมัย ก็ได้พยายาม ใช้หลากหลายวิธีเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเหล่านี้เข้ามาเสมอ นี่จึงเป็น ที่มาที่ดิฉันเสนอญัตติครั้งนี้เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการบริหารจัดการน้ำประปาทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดหาน้ำดิบ การผลิต การควบคุม กำกับดูแล เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้เข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพใช้เสียทีค่ะ ก็ต้องขอวอนต่อพี่น้องสมาชิกสภาแห่งนี้ได้โปรดให้ความเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยค่ะ ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดลำปางค่ะ การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จำเป็นที่จะต้องแก้ไขทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบการบริหารจัดการ การกำหนดอำนาจ หน้าที่ที่ชัดเจนและไม่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและ ท้องถิ่น ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในหลักการ ดิฉันเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทุกร่างที่เข้าในวันนี้ค่ะ และประเด็นข้อแตกต่าง ที่ดิฉันจะอภิปรายสนับสนุนในวันนี้คือการให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและ การก่อมลพิษข้ามพรมแดนของพรรคก้าวไกล ด้วยปัจจุบันให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดใน การออกประกาศห้ามเผา แต่อย่างที่ทราบกันดีค่ะ ปัญหาฝุ่นพิษก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีการโอนย้าย เปลี่ยนกันไปแทบจะทุกปี แต่ท้องถิ่นนั้นยึด โยงกับประชาชน มีวาระการทำงานกว่าคราวละ ๔ ปี และเป็นคนในพื้นที่ ทราบดีถึงปัญหา ของพี่น้องประชาชน ดิฉันจึงเห็นด้วยกับร่างของพรรคก้าวไกลที่ให้ประธานคณะกรรมการ ระดับจังหวัด คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด และการให้อำนาจของคณะกรรมการจังหวัด ในการพิจารณาให้อำนาจและงบประมาณกับท้องถิ่น เพราะเรารู้ดีว่าหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับ ประชาชน และมีทรัพยากรในการบริหารจัดการกับการเผา ไม่ว่าจะเป็นไฟจากการเกษตร จากไฟป่า ก็คือหน่วยงานท้องถิ่นอย่าง อบต. หรือเทศบาล ขั้นตอนที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลและ อบต. จะต้องทำคือการจัดทำแผนปฏิบัติการในเขตความ รับผิดชอบของตนเองให้สอดคล้อง และไม่ขัดต่อแผนของระดับจังหวัด และนำเสนอแผนนี้ ให้กับคณะกรรมการของจังหวัดได้ให้ความเห็นชอบ การให้อำนาจในการจัดการกับควันพิษ แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีผลดีกับประชาชนในพื้นที่อย่างไร ดิฉันขอยกตัวอย่าง ขึ้นมา ๔ ประเด็นค่ะ
ประเด็นที่ ๑ คือทำให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วและทันเหตุการณ์ท้องถิ่น สามารถจัดเตรียมกำลังพล อุปกรณ์ในการดับไฟป่า ซึ่งภารกิจในการควบคุมไฟป่าเป็นภารกิจ ที่กรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการกำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจในปี ๒๕๔๒ และการปฏิบัติการการควบคุมไฟป่าระหว่างกรมป่าไม้ และท้องถิ่นไม่ได้มีการถ่ายโอนทรัพย์สินหรืออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือแต่อย่างใด แต่เป็น การทำงานแบบแชร์ฟังก์ชันที่กรมป่าไม้จะสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลวิชาการ ท้องถิ่น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการฝึกอบรมอาสาจัดชุดเฝ้าระวังและลาดตระเวนเพื่อคอยระวังไฟ
อีกมาตรการหนึ่ง คือการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มผู้เปราะบาง อย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการให้ความรู้ในการ จัดทำห้องปลอดฝุ่น แต่เป็นการให้ความรู้อย่างเดียวค่ะท่านประธาน งบประมาณไม่มีให้ นี่จึงเป็นภาระที่ท้องถิ่นจะต้องแบกรับ
ประเด็นที่ ๒ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามพื้นที่ ท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกัน ในเรื่องของวัฒนธรรม ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ การให้อำนาจแก่ท้องถิ่นนั้น ก็จะทำให้ ออกแบบนโยบาย สามารถปรับเปลี่ยนแผน หาวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างดีที่สุด
ประเด็นที่ ๓ คือการสร้างความร่วมมือให้ท้องถิ่นกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรชุมชนอื่น ๆ ได้มีการสร้างแรงจูงใจในการแก้ปัญหาควันพิษร่วมกัน
ประเด็นสุดท้าย ท้องถิ่นจะเป็นหนึ่งหน่วยงานที่จะร่วมในการสนับสนุนให้ใช้ พลังงานสะอาดที่มีต้นทุนต่ำ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ อย่างเช่น การทำ MOU กับภาคเอกชนที่รับซื้อเศษซากจากการทำเกษตรนำไปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือเรียกว่า เชื้อเพลิงชีวมวลที่ได้ใช้กับอุปกรณ์เครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำ หรือเตาเผาของโรงงานผลิตกระแสไฟ ชุมชนในเขตพื้นที่ ภาคเหนือ มีการปลูกข้าวโพดในปริมาณมาก หากสามารถนำซังข้าวโพดมาสร้างประโยชน์ นำมาเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง สร้างรายได้ไปในตัวและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมลงด้วย นี่จะเป็น การสร้างชุมชนสร้างธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน สุดท้ายค่ะท่านประธาน การให้อำนาจการ จัดการควันพิษแก่ท้องถิ่น ไม่เพียงแต่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดและสุขภาพที่ดี แก่พี่น้องประชาชน แต่ยังส่งผลให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และระยะยาว ขอบคุณท่านประธานค่ะ
เรียนประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถินและอำเภอแม่พริก ๕ อำเภอที่กล่าวมา มีปัญหาเรื่องน้ำทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำประปาไม่ไหล เรื่องนี้ดิฉัน ไม่อยากนำมาหารือเลยค่ะท่านประธาน เพราะว่ามีคณะกรรมาธิการหลายคณะที่ได้ตั้ง อนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องนี้ แต่ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รอไม่ได้ค่ะ เรื่องหารือในวันนี้จึงเกี่ยวกับความเดือดร้อนของพี่น้องอำเภอเสริมงาม ตำบลเสริมซ้าย ที่เดือดร้อนจากปัญหาน้ำประปามาอย่างยาวนาน น้ำประปาไม่มีคุณภาพ มีกลิ่นเหม็น ขุ่นดำและมีสนิมเหล็ก และจากการที่ดิฉันได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาของ ตำบลเสริมซ้ายทั้ง ๑๐ หมู่บ้าน พบว่ามีเพียงแค่ ๒ หมู่บ้านเท่านั้นที่มีระบบกรอง ที่ได้มาตรฐานคือ หมู่ที่ ๔ บ้านนาไผ่ และหมู่ที่ ๗ บ้านน้ำหลง ที่เหลือใช้น้ำแบบตามยถากรรม หมู่บ้านบางหมู่บ้านที่ใช้น้ำจากการสูบน้ำจากบ่อน้ำตื้นขึ้นมาไม่มีระบบกรองก็คือ หมู่ที่ ๓ บ้านนาจะลา หมู่ที่ ๖ บ้านนาเดา และหมู่ที่ ๘ บ้านนาสันติสุข ดิฉันขอฝากผ่าน ท่านประธานไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ได้เข้าไปเร่งรัดเทศบาลตำบลเสริมซ้ายให้เข้าไปแก้ปัญหานี้โดยเร็วค่ะ พี่น้องประชาชน ร้องเรียนมาว่า แจ้งไปกี่ที่ต่อกี่ทีก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นแค่ลมผ่านไปแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไร ขอบคุณ ท่านประธานค่ะ
ท่านประธานคะ ๒๙๔ กดไม่ติด เหมือนกันค่ะ