นายจาตุรนต์ ฉายแสง

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพครับ ในการพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ๕ ปีแรกของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ ๕ ปี ของแผนปฏิรูปที่สิ้นสุดลงแล้วนี้ ผมจะไม่อภิปรายลงในรายละเอียดเป็นด้าน ๆ แล้วเสนอแนะว่าด้านไหนควรจะปรับปรุงอะไร ใครควรจะทำอะไร เพราะผมเห็นว่า มีผู้อภิปรายจำนวนมากได้เสนอความคิดเห็นไปแล้ว แต่ผมจะพูดถึงความล้มเหลว ของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ หรือพูดอีกแบบก็คือความผิด ความเสียหาย ที่เกิดจากการมียุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้ง แผนปฏิรูปประเทศซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และผมจะกราบเรียนท่านประธานว่าถ้าจะให้ ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติและความล้าหลังจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไรดี กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่มีการต่ออายุโดยคณะรัฐมนตรี ท่านประธานครับ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปมาจากไหน มีบทบาทอย่างไร ความจริงตั้งต้นมาจาก การรัฐประหาร คณะรัฐประหารต่อมาก็เป็นรัฐบาล คสช. นั่นละที่บรรจุเรื่องเหล่านี้ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้กลายเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสืบทอดอำนาจ สืบทอด อำนาจในการกำหนดทิศทางวิสัยทัศน์ของประเทศให้ทุกหน่วยงานต้องทำตาม ไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย ๆ เมื่ออ่านดูรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๕ ซึ่งเขาก็รวม ๔-๕ ปีเข้าด้วยกันด้วย จะพบว่า

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ไม่สามารถแก้ปัญหา ด้านสำคัญ ๆ ของประเทศได้เลย ยกตัวอย่าง ในรายงานก็บอกดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกันในสังคมไทย อันนี้ของสภาพัฒน์บอกว่ามีแนวโน้มลดลงจากคะแนน ปี ๒๕๖๑ ๗๕ คะแนน พอปี ๒๕๖๕ ลดลงมาเป็น ๗๒.๔ อย่างมีนัยสำคัญ หนี้ครัวเรือนในรายงาน ไม่ได้พูดครับ แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ ๑๕ ปี ในปี ๒๕๖๖ นี้ องค์กรอื่นเขารายงาน ท่านประธานครับรายได้ต่อหัวของประชาชนไทยเติบโตช้าสุด ใน ASEAN ในรอบ ๑๐ ปี อันนี้รายงานก็ไม่ค่อยกล้าแตะ ความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำ ในรายงานนี้พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านรายจ่ายซึ่งไม่สำคัญ เพราะไม่แตกต่างกันมากนัก คนรวยคนจนบางทีก็มื้อกลางก็อาจจะกินก๋วยเตี๋ยวคนละชาม แต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งของประเทศไทย เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อันนี้ก็ผลจากยุทธศาสตร์ชาตินี่ละครับ ๕ ปีมานี้ละที่เป็นปัญหา นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ รายภาคต่อหัว หมายถึงเทียบภาคนั้นกับภาคนี้ ภาคที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดกับต่ำสุดต่างกัน ๑๕ เท่า อันนี้อยู่ในรายงานของยุทธศาสตร์ชาติ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ การที่ประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้า สะท้อนปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บท เป็นการวางแผนล่วงหน้า ๒๐ ปี ยกร่างกันโดยกลุ่มบุคคลที่ขาด การมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจปัญหาของประเทศ จึงไม่แปลกเลยครับ วันนี้ท่านสมาชิกจำนวนมากพูด ถามว่าทำไมไม่มีเรื่องนั้น ทำไมไม่มีเรื่องนี้ ปัญหาเกิดใหม่ ๆ ทำไมไม่มี มันมีไม่ได้ครับ เพราะว่าคิดไว้ คิดแบบ ๒๐ ปี อันนี้ละครับทำให้ประเทศไทย ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวทันโลกได้ จะเห็นได้ชัดจาก COVID-19 มาสงคราม รัสเซีย ยูเครน มีปัญหา Supply Chain ห่วงโซ่ทางการผลิต ประเทศไทยควรจะเป็นฐาน การผลิต ปรับตัวไม่ทันเลยครับ ประเทศไทยยังเจอปัญหาต้นทุนภาคเกษตร ปศุสัตว์สูงขึ้น ราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค หลายประเทศทั่วโลกพูดถึงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างมีแผนเป็นระบบ ของเรายุทธศาสตร์ชาติมันไม่มีเรื่องพวกนี้ครับ เพราะฉะนั้นวิธีคิด แบบยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี มันจึงใช้ไม่ได้ และไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ผู้มีอำนาจจัดทำ อันนี้เรื่องสำคัญครับ ผู้มีอำนาจจัดทำและดูแล ยุทธศาสตร์ชาติ คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถึงแม้จะมีประธานสภา ๒ สภาอยู่ ก็จริง แต่ผู้ที่เป็นหลักคือรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงแรกเป็นรัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ ต่อมาก็เป็นรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากคณะรัฐประหาร ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมีผลผูกพันหน่วยงานทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ อันนี้มันผิดหลักการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม และองค์กรอิสระที่ไม่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกัน ว่าไปแล้วนี่คือไม่ใช่ระบบรัฐสภาปกติ ท่านประธานที่เคารพ ต่อจากเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ก็มาเป็นเรื่องแผนปฏิรูปประเทศ ในรายงานนี้ประเมินผลการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ทั้ง ๖ ด้าน ซึ่งจะพบว่าเป็นการพูดถึงโครงการที่เป็นรายละเอียดยิบย่อยมากมาย มีผลสำเร็จอยู่บ้าง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ ทำโน่นนิดนี่หน่อยมันไม่ใช่การปฏิรูป ความหมายโดยรวมของทั้งหมดแล้ว ถ้าดูแล้ว ๕ ปีนี้ คือไม่มีการปฏิรูปเลย ไม่มีเลย แม้แต่เรื่องเดียว ผมยกตัวอย่างสัก ๒-๓ ด้าน ให้เห็นว่าทำไมผมจึงพูดว่าไม่มีการปฏิรูป ท่านประธานครับ เรื่องเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในรายงาน มีการพูดถึง FTA ข้อตกลงเสรีทางการค้าอยู่ในหลายที่ แต่ไม่ได้บอกว่าการทำข้อตกลง ทางการค้าเสรีนี้ช้าไป ๙ ปี ทำไม่ได้ จนต้องรอรัฐบาลใหม่ อันนั้นเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ดึงดูดการลงทุน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานระบบ Logistics เสียโอกาสในการพัฒนาไปมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง เครื่องบิน ระบบโครงสร้าง พื้นฐานสำหรับ Digital Economy การลงทุนจากต่างประเทศของไทยจึงต่ำกว่าประเทศ ต่าง ๆ ใน ASEAN หลายเท่า พอมาดูด้านการศึกษา รายงานพูดถึง Active Learning Excellence Center การเรียนอย่างกระตือรือร้น เรื่องศูนย์ความเป็นเลิศ แต่การปฏิรูป การศึกษาที่สำคัญ ๆ ไม่พูดถึง ก็เพราะว่ามันไม่มี ไม่มีคือไม่มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การเรียนการสอนให้เด็กมีทักษะในโลกที่ต้องการ การพัฒนาครู การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา การจัดระบบการบริหาร คือการแก้ พ.ร.บ. การศึกษา ผ่านไป ๙ ปี พ.ร.บ. นี้ ยังไม่ออกมา และไม่มีการแก้ปัญหาระบบการบริหารที่ คสช. ไปแก้ พ.ร.บ. การศึกษาไว้ อย่างมากมาย ไม่ได้ทำ ที่ดินท่านพูดถึงการจัดที่ดินให้คน ๖๐,๐๐๐ กว่าราย ประเทศนี้คนมีปัญหาที่ดินไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านไร่ ส.ป.ก. ไม่น้อยกว่า ๓๐ ล้านไร่ แต่การทำเรื่องที่ดินพูดถึงไม่กี่หมื่นไร่ กระบวนการยุติธรรมและตำรวจ การปฏิรูปตำรวจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กระบวนการยุติธรรม ทั้งระบบไม่ได้ทำ การดำเนินคดีทุกขั้นตอนมีปัญหา แต่ไม่มีการทำ ในรายงานจะเห็นว่า มีการพูดปฏิรูประบบยุติธรรมเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ทั้งหมดนี้คืออะไรครับ การปฏิรูปกรอบแนวคิดเหล่านี้ นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นข้อจำกัดในการทำงาน ของหน่วยงานต่าง ๆ ซ้ำร้ายก็คือ ครม. มีมติ พอแผนปฏิรูปหมด ๕ ปี หมดอายุ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๕ มีมติให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำต่อเนื่องไปอีก ทั้ง ๆ ที่มันสิ้นสุดแล้ว สุดท้ายผมจะเสนออะไร ผมเสนออย่างนี้ครับ ในระหว่างที่ยังมียุทธศาสตร์ชาติ ยังมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ครม. บอกไว้ยกเลิกมติ ครม. นั้นเสีย แต่ยุทธศาสตร์ชาติและแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานอาจจะต้องทำตาม ถ้าประกาศ ไว้ให้ทำเคร่งครัดก็ต้องทำ ขออนุญาตอีกนิดเดียวครับท่านประธาน แต่ว่าต้องประยุกต์ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ของสังคม

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะต้องพิจารณาทบทวนแก้ไข อย่างจริงจัง ให้ยุทธศาสตร์ชาตินี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงผันผวนของโลก

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ และอันนี้ละครับ เป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งที่เราจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ และในการ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อใดเราจะต้องผลักดันให้มีการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ให้มียุทธศาสตร์ชาติ อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้บริหารปกครองด้วยยุทธศาสตร์ชาติ กลับมาใช้ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง ให้ประชาชนกำหนดแผนในการบริหารประเทศ อย่างยืดหยุ่น พลิกแพลง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสอดคล้องกับ ความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่ล้มเหลวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ เนื่องจากว่าพรรคเพื่อไทยมีผู้อภิปรายน้อย จึงจะขอเวลาเพิ่มขึ้น อีกเล็กน้อย ผมจะขออภิปรายสนับสนุนญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามการเจรจาสันติภาพในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ของคุณศรัณย์ ทิมสุวรรณ กับคณะ และสนับสนุนญัตติของ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก ๓ ญัตติจาก ๓ พรรคการเมือง เราอภิปรายกันมาในวันนี้ หลายท่านได้พูดถึงประวัติความเป็นมาของเหตุการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านสุธรรม แสงประทุม พูดย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีการพยายามไปสร้างความสงบสุขแก้ปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรัฐประศาสโนบายซึ่งดีมากแก้ปัญหา หลายเรื่องได้ตรงจุด หลายเรื่อง หลายข้อยังใช้ได้จนทุกวันนี้ แต่เสียดายที่ผู้มีหน้าที่ในช่วง หลัง ๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจและถือปฏิบัติมากนัก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มี ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่กันอย่างมีสันติสุขเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าก็มีเป็น ช่วง ๆ ที่เกิดความไม่สงบ ถูกปราบปรามจากผู้มีอำนาจในขณะนั้น ๆ ส่วนใหญ่ท่านสมาชิกพูดกันถึงเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี ๒๕๔๗ แล้วก็บอกว่าเป็นจุดเริ่มต้น ของปัญหา ซึ่งความจริงมันเกิดขึ้นมาก่อนนานแล้ว และตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ความจริง บ้านเมืองเราก็บริหารโดยรัฐบาลทั้งที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ช่วงเป็นประชาธิปไตยก็เป็นรัฐบาลหลายรัฐบาลจากหลายพรรคการเมือง การแก้ปัญหา ได้บ้าง ไม่ได้บ้างจึงเกิดสลับไปสลับมา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นผลจากเหตุการณ์เดือนมกราคม ปี ๒๕๔๗ หรือการแก้ปัญหาในขณะนั้นเท่านั้น ผ่านมาหลายปีปัญหายังคงมีอยู่ วันนี้ ท่านสมาชิกได้พูดให้เห็นถึงว่าใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัญหาเศรษฐกิจยังหนักหนา สาหัส เศรษฐกิจเติบโตช้า รายได้ต่อหัวต่ำมาก การศึกษาก็มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ นอกจากนั้น ปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงถึงแม้จะลดลงบ้างในช่วงหลังนี้ แต่ถ้านับรวม ๆ แล้วก็ยังเป็น ปัญหามากอยู่ ปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาก ๆ นี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่มีการใช้ งบประมาณ วันนี้ท่านสมาชิกบางท่านพูดถึงงบประมาณรวม ๆ กันปีหนึ่งสัก ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท พูดตัวเลขรวม ๆ ใช้ตัวเลขที่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ปัญหาก็ยังคง มีอยู่มาก ผมจะขอให้เหตุผลว่าทำไมสภาจึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ทำไมคณะกรรมาธิการ ควรจะมีขึ้นและเพื่อศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ปัญหาใหญ่ ๆ ที่เราพูดกันมาหรือจะหา อ่านจากหนังสือเอกสารที่เกี่ยวข้องก็จะเห็นว่ามีสัก ๔-๕ เรื่อง การประเมินสถานการณ์ ในเอกสารที่รายงานเกี่ยวกับนโยบายและแผนของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเมินสถานการณ์สภาพปัญหาแนวโน้มไว้อย่างไม่ชัดเจน ต่างกัน คลุมเครือ จนกระทั่ง ไม่รู้ว่าเห็นว่ามีปัญหามากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นเอกสารทางการของสภาความมั่นคง การกำหนดนโยบายและแผนถูกทำให้กลายเป็นเรื่องร้อยกรอง เอานโยบาย เอายุทธศาสตร์ชาติ เอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เอาเรื่องความยั่งยืนของสหประชาชาติ เอาเรื่องสิทธิของพลเมือง และสิทธิทางการเมืองทั้งหมดมาร้อยเรียงกันไม่ให้ขัดแย้งกัน แต่ว่าไม่ได้สัมพันธ์กับปัญหาที่ เกิดขึ้นจริง ๆ อันนี้ก็ทำให้เราไม่อาจรู้ได้เลยว่านโยบายและแผนซึ่งเรายังไม่ได้พิจารณากัน ด้วยซ้ำผ่านไปเป็นปีแล้วจะสอดคล้องกับปัญหาหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ข้อต่อไปก็คือองค์กรบริหาร โครงสร้างองค์กรบริหารใน ๓ จังหวัดชายแดน ภาคใต้ซึ่งวันนี้ก็พูดกันมาก ขณะนี้ถ้าเราดูเอกสารที่เกี่ยวข้องเราจะหาไม่เจอเลยว่า ศอ.บต. อยู่ตรงไหน ศอ.บต. ไม่รู้อยู่ตรงไหนแล้วครับ กลายเป็นว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบ แล้วก็เป็นผู้รับผิดชอบวางแผนในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนา แก้ปัญหา อัตลักษณ์ ดูแลเรื่องวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม แต่ดูแลโดยฝ่ายความมั่นคง ท่านสมาชิก เมื่อสักครู่ก็พูดอยู่ว่าการแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำโดยฝ่ายความมั่นคง คงจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หลายท่านก็พูดตรงกัน ควรจะเพิ่มบทบาทของฝ่ายพลเรือน เข้ามาหรือพลเรือนเป็นหลักร่วมด้วยฝ่ายความมั่นคงใช่หรือไม่ เรื่องการมีส่วนร่วมของ ประชาชนก็ยังจำกัด การทำโครงการงบประมาณต่าง ๆ ไม่ได้สอบถามความเห็นของ ประชาชน ผมเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นรัฐมนตรีไปดูแลปัญหาใน ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ เคยเสนอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เสนอความคิดเห็น เสนอความต้องการว่าต้องการพัฒนาแบบไหน แต่ปรากฏว่าการพัฒนาของเราเวลาเราสรุป เราก็จะพูดแต่ว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างไร GDP โตเท่าไร แต่เราไม่มีตัวชี้วัดเลยว่า มันตรงกับความต้องการของประชาชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้แค่ไหน อย่างไร การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อย การกระจายอำนาจเพียงพอหรือยัง หน่วยราชการ ฝ่ายความมั่นคงก็จะบอกว่ากระจายแล้ว แต่ประชาชนยังเห็นว่ากระจายไม่พอ คำตอบ ในเรื่องนี้ก็คือว่ากระจายอำนาจไม่พอแน่นอนครับ เพราะการกระจายอำนาจทั้งประเทศ ก็ไม่พอ มันถูกรวบอำนาจไปมากในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งมีปัญหาการไม่กระจายอำนาจ มันกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง หรือกระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงาน ของรัฐการกระจายอำนาจก็ต้องทำมากขึ้น สิทธิเสรีภาพ ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นธรรม ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่อย่างเนือง ๆ ท่านสมาชิกบางท่านยกตัวอย่างในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างดี เราก็จะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ยังมีอยู่ การที่รัฐบาลก่อน เลื่อน พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยว่า การเลื่อนนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ความจริงแล้วจะปกป้องสิทธิเสรีภาพ ของพี่น้องประชาชนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดีเรื่องหนึ่งก็ถูกเลื่อนไปอย่างน่าเสียดาย มาถึงเรื่องที่ความจริงก็เป็นหัวข้อเรื่องการหาทางสร้างเสริมสันติภาพ มีการเจรจา การเจรจานี้ เรียกว่าเจรจาอะไรยังเรียกไม่ตรงกัน รัฐบาลที่ริเริ่มเรื่องนี้ขึ้นมาเรียกว่าการเจรจาสันติภาพ ตอนหลังก็มาเรียกเป็นการเจรจาสันติสุข แต่ว่าอันนั้นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าจะมีกรอบ แนวทางอย่างไร ท่านสมาชิกบางท่านก็พูดไป จะมีกรอบอย่างไร จะมีกฎหมายรับรองหรือไม่ สภาผู้แทนราษฎรควรจะมีบทบาทอย่างไรในการเจรจานี้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มีการรายงาน บอกว่าการเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง แต่มีการเพิ่มพื้นที่ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ในรายงานนั้นไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี ความจริงมีการเคลื่อนไหว ทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องดีจะได้ไม่ต้องเกิดเป็น ความรุนแรง แต่รัฐไทยเราก็ยังมีบทบาทจัดการอย่างไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจน เวลามีนักศึกษา มาเสนอประเด็นอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาจับดำเนินคดีเอาเป็นเอาตาย แต่ว่าไปเจรจากับขบวนการ ในต่างประเทศ เหมือนกับว่าถ้าอย่างนี้นักศึกษาคงจะต้องสรุปว่าถ้าอยากจะเจรจากับรัฐบาลไทย ก็เดินทางข้ามไปต่างประเทศแล้วไปร่วมเจรจาที่นั่น เพราะเขาเจรจาในเมืองไทย เขาเสนออะไร ในเมืองไทยกลายเป็นถูกจับถูกดำเนินคดีข้อหาร้ายแรง อันนี้เป็นความสับสนทั้งนั้น สภาควรจะมี บทบาทอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๑. คือทำความเข้าใจปัญหาและกระบวนการแก้ปัญหา มีบทบาทในการช่วย แก้ปัญหา สร้างสันติภาพ สร้างสันติสุข

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัวแทนของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนา และแก้ปัญหา

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายอำนาจให้สอดคล้องกับ ความต้องการของประชาชนในจังหวัด ให้การพัฒนาต่าง ๆ เป็นการพัฒนาที่ประชาชน ใน ๓ จังหวัดมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา เขาจึงจะรู้สึกว่า ความรุนแรงต่าง ๆ ไม่เป็นประโยชน์เพราะมันขัดขวาง กีดขวางการพัฒนาที่พวกเขา ได้ประโยชน์ ที่พวกเขากำลังจะได้ประโยชน์ ให้ชาว ๓ จังหวัดมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน กับประชาชนทั้งประเทศว่าเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้ ได้ประโยชน์จากการพัฒนา ประเทศนี้ร่วมกัน เนื่องจากเราทุกคนเป็นผู้กำหนด ท่านประธานครับ การสื่อสารทำความเข้าใจ กับคนทั้งประเทศ อันนี้สำคัญมากครับ สภาผู้แทนราษฎรต้องทำหน้าที่นี้ คณะกรรมาธิการ ต้องไปศึกษาแล้วเผยแพร่ข้อค้นพบนี้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบ ทำความเข้าใจ กับประชาชนทั้งประเทศให้เข้าใจว่าปัญหานี้คืออะไร คนส่วนใหญ่ที่อยู่นอก ๓ จังหวัด ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ๓ จังหวัด เฉพาะเรื่องว่าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นเมื่อไร ที่ไหน มีคนบาดเจ็บกี่คน มีคนตายกี่คน แล้วก็ลืม ๆ กันไป นาน ๆ ก็มีคนมาบอกว่า ตอนนี้ ๗,๕๐๐ คนแล้ว แต่ไม่มีใครมาบอกว่ามันเกิดปัญหาอะไร อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แปลว่าอะไร สังคมพหุวัฒนธรรมคืออะไร ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับ ประชาชนมีอะไรบ้าง ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นการที่สภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการที่เราจะแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้ ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจว่าปัญหานี้คืออะไร จะช่วยกันทำอย่างไรให้มีการจัดความสัมพันธ์ ที่ถูกต้อง ที่ดีงามระหว่าง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้กับประชาชนนอก ๓ จังหวัด ซึ่งเป็นพลเมือง ของประเทศไทยด้วยกัน ร่วมสร้างประเทศนี้มาด้วยกัน แล้วก็จะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้า ให้ทั้ง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศนี้ทั้งประเทศร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมจึงขอสนับสนุน การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ติดตาม และส่งเสริมเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เนื่องจากว่าพรรคเพื่อไทยใช้วิธีฝากข้อมูลกันและมีผู้อภิปรายน้อย ผมอยากจะขออนุญาต ท่านประธานพูดเกินเวลา ๗ นาทีไปสักเล็กน้อยเนื่องจากมีประเด็นที่จำเป็น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ การเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาแก่เด็กที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นการตั้งประเด็นไว้เฉพาะเจาะจงไปที่การศึกษา แต่ว่าท่านสมาชิกหลายท่านก็ได้พูด ครอบคลุมไปถึงการที่เด็กไม่มีสัญชาติ เด็กไร้รัฐ เด็กไร้บัตร ควรจะได้รับการคุ้มครอง ในด้านอื่น ๆ ด้วย ผมก็เห็นด้วยว่าควรจะได้รับการคุ้มครองในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่อง การสาธารณสุข สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ว่าจะขอเน้นเรื่องการศึกษาตามญัตติที่เสนอ สมาชิกหลายท่านได้พูดถึงปัญหาของเด็กไม่มีสัญชาติ แล้วก็พูดให้เห็นว่าการที่เด็ก ไม่มีสัญชาตินั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับโอกาสต่าง ๆ แล้วก็ ไปเน้นว่าทำอย่างไรจะให้เด็กได้รับสัญชาติ รวมถึงได้พูดว่าการได้รับสัญชาติเป็นเรื่องยาก ขอสัญชาติก็ยาก กว่าจะได้สัญชาติก็ยาก ต้องมีการวิ่งเต้นอะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ว่าตัวเลข ที่มีการพูดถึงเด็ก ๓๐๐,๐๐๐ คน ๕๐๐,๐๐๐ คน หรือความจริงอาจจะมากกว่านั้น โดยเฉพาะ ในภาวะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังมีปัญหา และมีเด็กต้องข้ามแดนมาในประเทศไทยจำนวน มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาสัญชาติก่อนคงไม่ได้ แต่ปัญหาก็คือว่าที่หลายท่านได้พูดข้อมูล ที่เราหาได้ เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่นานมานี้ เร็ว ๆ นี้ก็มีการไปกวาดต้อนเอาเด็ก ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคกลางส่งกลับไปชายแดน และส่งกลับไปประเทศเพื่อนบ้านเลย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเป็นที่สนใจไปทั่ว เรียกว่าองค์กรระหว่างประเทศสนใจกันมาก ซึ่งก็เป็น ปัญหา เมื่อรวมกับสิ่งที่ท่านสมาชิกได้พูดกันมาว่ามีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ในเรื่องการที่เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือไร้บัตร ไม่มีบัตรอะไรสักอย่างก็ตาม ไม่มีโอกาสได้รับ การศึกษา แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งกระทรวงอื่น รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง เกี่ยวกับ การดำเนินคดี จะเป็นตำรวจ เป็นอัยการก็ตาม ยังขาดความเข้าใจต่อเรื่องนี้อย่างน่าเป็นห่วง เรื่องเด็กในประเทศไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการศึกษา เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับข้อตกลง ระหว่างประเทศและระบบกฎหมายของประเทศไทยเอง ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เริ่มจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี ๒๔๙๑ มาแล้ว ปี ๒๕๐๙ มีกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR ปี ๒๕๓๒ อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก CRC ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มีปฏิญญาจอมเทียน ปี ๒๕๔๒ มีกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๕ ปี ๒๕๖๒ มีปฏิญญา อาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเข้าไปรับรอง เข้าเป็นภาคี ต้องปฏิบัติตามทั้งนั้น ในข้อตกลงระหว่างประเทศเหล่านี้บอกว่าประเทศต่าง ๆ จะต้อง คุ้มครองเด็ก ไม่ว่าเด็กนั้นจะมีสัญชาติ ไม่มีสัญชาติ มีรัฐ หรือไม่มีรัฐ เข้าประเทศนั้น ๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องก็ตามต้องได้รับการคุ้มครอง กฎหมายประเทศไทย มีอีกเยอะเลยครับ กฎหมายของไทยเราเองตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ พ.ร.บ. ไล่มาจากรัฐธรรมนูญ ไล่มา พ.ร.บ. การศึกษา และที่สำคัญต่อมามี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๔๘ มีมติ ครม. ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่ง ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ มติ ครม. เหล่านี้ เชื่อมโยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศ เชื่อมโยงกับกฎหมายของประเทศไทยเอง และมีความหมายว่าเด็กที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ ไม่ว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ ไม่ว่าจะพิสูจน์แสดงให้เห็นว่าเป็นคนรัฐไหนได้หรือไม่ ต้องได้รับ การศึกษา อันนี้คือกฎที่ประเทศไทยมีเองครับ แล้วก็ยังมีด้วยว่ามีสิทธิเรียนฟรี ๑๕ ปี โดยรัฐบาล ค่าใช้จ่ายรายหัวอัตราเดียวกับเด็กไทย รับวุฒิบัตรเช่นเดียวกันกับเด็กไทย มติเหล่านี้เนื่องจากผมมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่สมัยนั้น มาสอบถามดูก็ได้ความว่ามีวิวัฒนาการ ไปเป็นระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจน แต่กลายเป็นว่ามติที่ไม่ได้มีการยกเลิกแก้ไขนี้ไม่ได้รับ การปฏิบัติ ขาดความเข้าใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ท่านสมาชิก ได้กล่าวกันมา ได้ให้ข้อมูลต่อท่านประธานในวันนี้ เพราะฉะนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการ หรือไม่ ผมก็มีความเห็นใจว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พม. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวข้องกับ ตำรวจ อัยการ กรรมการสิทธิมนุษยชน อีกหลาย ๆ ฝ่ายที่จะต้องมาดูปัญหานี้กัน คณะกรรมาธิการการศึกษาจะดูแลได้ดีแค่ไหน ถ้าหากว่าคณะกรรมาธิการการศึกษา รับเรื่องนี้ไปก็คงต้องฝากว่าต้องไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กว้างกว่าหน่วยงานทางด้าน การศึกษาเท่านั้น การที่เราปล่อยให้ปัญหานี้มีอยู่มากมายใหญ่โตเป็นความเสียหาย เสียหาย ทั้งในแง่ภาพพจน์ของประเทศ ที่สำคัญเสียหายที่เราไม่ได้คุ้มครองเด็กที่อยู่ในประเทศไทย เด็กเขาจะเข้ามาถูกหรือผิดก็ตาม เมื่อเข้ามาแล้วหลักมันมีอยู่ว่าเขาต้องได้รับการศึกษา ในสังคมหนึ่ง ๆ ถ้ามีเด็กเยาวชนอยู่ใน สังคมนั้น อยู่ในประเทศนั้น การให้เขาได้รับการศึกษาย่อมจะดีกว่า ดีสำหรับเด็กเหล่านั้น และดีสำหรับสังคมนั้น สำหรับประเทศนั้น มากกว่าที่จะปล่อยให้เขาไม่ได้รับการศึกษา ถ้าจะต้องลงทุนไปบ้างก็เป็นเรื่องคุ้มค่าครับ เด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่พ่อแม่ เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือว่าอาจจะไม่เกี่ยวกันเลยก็ตาม เรามีแรงงานข้ามชาติ อยู่ในประเทศไทยเป็นล้าน ๆ คน ทำไมเราไม่คิดส่งเสริมว่าให้เด็กในประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี พอมาถึงตรงนี้ก็เป็นประเด็นทางนโยบายว่าเมื่อเด็กเข้ามาแล้ว ต้องได้รับการศึกษา แต่จะให้เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศมากหรือน้อย ตรงนี้ต้องไปพิจารณากันในเชิงนโยบาย แต่ไม่ใช่เอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ไปเที่ยวจับ ไปเที่ยวกวาดเด็กส่งกลับประเทศ จับผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือเด็กที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายไปดำเนินคดี อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเร่งด่วน แล้วก็เป็นเรื่องที่ถ้าเราทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศได้ดี ระบบกฎหมาย ของประเทศเราได้ดี เราจะแก้ปัญหา เราจะทำให้เด็กในประเทศไทยไม่ว่ามีสัญชาติไทย หรือไม่ ได้รับการศึกษา ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อสังคมไทยเอง เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเอง และที่สำคัญเราจะได้คุยกับนานาประเทศ เขาได้ ไม่อายเขาว่าเราไม่เข้าใจข้อตกลง หลักการสำคัญ ๆ ที่เราไปรับเป็นภาคี หรือไปเป็น สมาชิก ไปรับรองเขา และไปยืนยันกับเขามาแล้วว่าจะต้องปฏิบัติตามนั้น ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธาน ที่เคารพครับ เมื่อวานนี้ในที่ประชุม สส. พรรคเพื่อไทย ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับญัตตินี้ แล้วก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าส่งเสริมให้มีการพิจารณาญัตตินี้ในสภา เนื่องจากเห็นว่าเป็นญัตติ ที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรควรจะได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือญัตตินี้เป็นญัตติของ สส. พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเราเห็นว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรจะต้อง ไปขัดขวางหรือทำให้ญัตตินี้ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องการ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ถ้าไม่มีเสียงของฝ่ายค้านสนับสนุนในการแก้รัฐธรรมนูญรัฐบาลก็แก้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ ผมอยากจะพูดแทนเพื่อนสมาชิก ซึ่งความจริงหลายท่านได้พูดไปแล้วว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อทำให้อำนาจ เป็นของประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่อำนาจเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคล องค์กร ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังจำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เรามี นโยบายมาตลอดว่าเราสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. เป็นนโยบายตลอดมา หลายปี และยังเป็นนโยบายอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้น ตามที่เสนอ ในญัตตินี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา ทำไมต้องมีการทำประชามติ ผมคิดว่าเราก็ เข้าใจร่วมกันอยู่แล้ว ความจริงในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ ไม่มีเรื่องว่าด้วยการทำประชามติ ในกรณีที่ร่างใหม่ ก็คือไม่ได้พูดถึงการร่างใหม่ การร่างใหม่จะเกิดก็ต่อเมื่อมีการแก้ มาตรา ๒๕๖ เสียก่อน แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกไว้ว่าจะต้องทำประชามติหรือไม่ ไม่เหมือน กรณีสำคัญอื่น ๆ ที่บอกไว้อย่างชัดเจน แต่ต่อมาก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในระหว่าง ที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอยู่ว่า ถ้าจะร่างใหม่ต้องมีการทำประชามติ ปัญหาที่จะต้องพิจารณาก็คือว่ายังมีการตีความไม่ตรงกันว่าการทำประชามติจะต้องทำ ในขั้นตอนไหน อย่างไร จะต้องทำกี่ขั้นตอน ทำกี่ครั้ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องทำ ประชามตินั้น ผมคิดว่าเราเข้าใจตรงกันว่าเป็นความสำคัญ จำเป็น และเป็นประโยชน์ ในการที่จะทำประชามติ แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือว่าญัตตินี้เสนอให้มีการทำประชามติ โดยอาศัยมาตรา ๙ (๔) ที่บอกว่าการออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้แจ้งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ คำว่า รัฐสภา เกิดมีการตีความว่าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนแล้วมีมติเห็นชอบ ส่ง ครม. หรือจะต้องส่งไปที่วุฒิสภา เสร็จแล้วจะต้องมีมติของวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ส่งไป ครม. ทั้ง ๒ สภาส่งไปยัง ครม. อันนี้เป็นการตีความว่าเท่ากับรัฐสภาได้พิจารณา และมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่สมควรให้มีการออกเสียงประชามติแล้ว ซึ่งก็จะมีปัญหาว่า คำว่า รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติ หมายความว่า ต้องพิจารณากันในที่ประชุมร่วมกัน ของรัฐสภาหรือไม่ ในความเห็นผม ผมยังเข้าใจว่าต้องเป็นการพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมกัน ของรัฐสภา ซึ่งก็จะไม่มีเรื่องแบบนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา เว้นแต่ว่าจะมีการพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เสียก่อน และมีมติอย่างน้อยในขั้นรับหลักการว่าจะให้มี การตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมเข้าใจว่าจากกรณีอย่างนี้จึงมีประเด็นว่า ถ้าส่งเรื่องนี้ไปยังวุฒิสภาก็ดี หรือส่งไปยัง ครม. ก็ดี ถ้ามีการทำประชามติขึ้นจะมีผลทาง รัฐธรรมนูญอย่างไร จะมีผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญได้จริงหรือ เพราะว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้ ท่านสมาชิกหลายท่านได้อ่านข้อความตรงผลคำวินิจฉัยบอกว่ารัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา รัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ว่าข้อความ ก่อนหน้านั้นที่ไม่ค่อยได้อ่านกัน คือมีข้อความบอกว่า หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน ว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความสำคัญก็อยู่ตรงที่ว่าหากรัฐสภาต้องการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ข้อความ ตรงนี้จึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเจ้าของเรื่อง เจ้าของเรื่อง ก็คือรัฐสภา ถ้ารัฐสภายังไม่มีมติ ยังไม่มีการแสดงความต้องการที่จะให้มีการร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติจะมีผลได้อย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ นอกจากนั้นแล้วความยากในการเสนอญัตติแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ ยังอยู่ที่วุฒิสภา จะพิจารณาอย่างไร ถ้าวุฒิสภาร่วมพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ ว่าจะให้มี การตั้ง สสร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราต้องการเสียงวุฒิสภาไม่น้อยกว่า ๘๔ เสียง ซึ่งก็ยากอยู่แล้ว แต่ถ้าพิจารณาแบบนี้ กระบวนการนี้เราต้องการเสียงเกินครึ่งหนึ่ง ของวุฒิสภา ซึ่งจะยิ่งยากไปใหญ่ เป็นการใช้กระบวนการที่โอกาสสำเร็จน้อยมาก นอกจากนั้นกระบวนการทำประชามติตามพระราชบัญญัติประชามติ เป็นการทำประชามติ ที่ใช้กติกาแตกต่างจากการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับ ไม่เหมือนกัน ๒ ฉบับนั้นคือการลงประชามติแล้วใช้เสียงข้างมาก เสียงข้างมากให้ผ่านก็ผ่าน เสียงข้างมากไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน แต่ในครั้งนี้เมื่อใช้ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา ๑๓ ของ พ.ร.บ. ประชามติบอกว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จะทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มา ใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น ความหมายก็คือว่าต้องมีคนมาออกเสียง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ซึ่งเป็นกติกาที่แตกต่างจากการจัดทำประชามติ ๒ ครั้งนั้น ก็คือการทำประชามติด้วยกติกาแบบนี้จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ได้ยากอย่างมาก ท่านประธานครับ ยกตัวอย่างตัวเลขนิดหนึ่ง ก็คือว่าในการทำประชามติ สมมุติว่าเคยมีคนมาลงคะแนน ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มาออกเสียง เสร็จแล้ว ใน ๗๐ เปอร์เซ็นต์นี้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย หรือ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย คนที่ไม่อยากให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญอ่านกติกาแล้วก็ จะใช้วิธีนอนอยู่บ้าน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๒๕ เปอร์เซ็นต์นอนอยู่บ้าน ไม่ต้องทำอะไรเลย ฝ่ายที่เห็นด้วยซึ่งความจริงเป็นเสียงข้างมากถ้ามีการมาลงคะแนนกันตามปกติ ๔๐-๔๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งก็เท่ากับว่าการทำประชามตินั้น จะไม่ผ่านเพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายประชามติ ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกอย่างนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่าให้ใช้กติกาแบบนี้ ตรงนี้ผมจึงเห็นว่าถ้าหากทำประชามติกันไป โดยไม่แก้ พ.ร.บ. ประชามติเสียก่อน มีความเสี่ยงอย่างสูงที่การทำประชามติแล้วจะไม่ผ่าน และไม่ผ่านเนื่องจากกติกามันพิสดารไปกว่าการทำประชามติ ๒ ครั้งของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ การทำประชามติกันไปในเงื่อนไขอย่างนี้จึงมีปัญหา ในแง่กระบวนการ มีปัญหาว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มีผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ หรือไม่ และยังมีปัญหาในเรื่องการที่คนไม่มาใช้สิทธิและทำให้การทำประชามตินั้นตกไป ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตกไป ที่หวังว่าจะเป็นผลดี แสดงให้เห็นว่าประชาชนเห็นด้วยกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นข้ออ้างของฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญบอกว่า ประชาชนลงประชามติ ประชาชนไทยลงประชามติกันแล้วไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเท่ากับเป็นการปิดโอกาส ปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีกเป็นเวลา ยาวนาน ตรงนี้ละครับท่านสมาชิกบางท่านที่เสนอญัตตินี้บอกว่านี่เป็นการติดกระดุมเม็ดแรก ความจริงคำว่า ติดกระดุมเม็ดแรก เขาใช้ในกรณีที่ติดกระดุมเม็ดแรกผิดไป ครั้งนี้มันอาจจะ กลายเป็นถ้าทำกันไปตามกระบวนการนี้จะกลายเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกผิด และจะทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปยากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็บัญญัติไว้หาทาง ป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว เราอาจจะกำลังไปเสริมให้การแก้ไข รัฐธรรมนูญยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องหารือกัน เราไม่ต้องการเอาชนะคะคานฝ่ายค้าน เราเข้าใจดีว่าจะแก้รัฐธรรมมนูญได้ต้องมีเสียง ฝ่ายค้านไม่ต่ำกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นฝ่ายรัฐบาลไม่มีเหตุผลเลยที่จะไป ขัดขวางหรือยับยั้งกระบวนการใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าในกรณีนี้ ถ้าทำตามกันไปกลับจะเป็นผลเสียต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมได้รับ มอบหมายจากเจ้าของญัตติคือท่านอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ให้เป็นผู้อภิปรายสรุป เข้าใจว่า ในระยะหลัง ๆ เนื่องจากระบบเสียงจะไม่ค่อยดี เวลาอภิปรายสรุปสมาชิกก็จะคาดหวังว่า ก็อภิปรายกันสั้น ๆ ก็พอ เพราะว่าไม่มีใครได้ยินใคร แต่ว่าวันนี้ระบบเสียงน่าจะดีขึ้นบ้างแล้ว ผมก็จะพยายามใช้เวลาอย่างจำกัดอยู่ดี ไม่ต้องการใช้เวลานานเกินไป แต่ว่ามีเนื้อหาสาระ ที่จะต้องอภิปรายพอสมควร จะเห็นได้ว่าการเสนอญัตติในครั้งนี้ของทุกพรรคและการ อภิปรายของท่านสมาชิกทุกท่านเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือต้องการให้มีการเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการ ที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ พ.ศ. .... คำสั่งของคณะ คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ นี้ที่เขาออกเขาอ้างว่าภายใต้ พ.ร.บ. บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ สภาที่ปรึกษาตาม พระราชบัญญัตินี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ จึงมีคำสั่ง มีเนื้อหา สำคัญ ๓ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. คือให้งดใช้ทุกมาตรา ที่เกี่ยวข้องกับสภาที่ปรึกษา และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้มาทำหน้าที่แทน จากสภาที่ปรึกษาก็เปลี่ยนมาเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา

    อ่านในการประชุม

  • ๒. คือให้เลขาธิการ ศอ.บต. ปรึกษาหารือ รับฟังข้อคิดเห็นจากเลขาธิการ กอ.รมน. อันนี้จริง ๆ แล้วมันก็คือสัญญาณบอกว่า กอ.รมน. กำลังจะมีบทบาทมาก และอาจจะมากกว่า ศอ.บต. ซึ่งผมจะได้อภิปรายต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๓. เนื้อหาของคำสั่ง คสช. นี้ก็คือให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ปกป้องและ บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่จริง ๆ แล้วควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานฝ่ายพลเรือน และควรจะได้รับการดูแลโดย ศอ.บต. ถ้าเราดูว่าทำไม คสช. จึงต้องหวั่นไหวกับ พ.ร.บ. บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมจึงไม่อยากให้สภาที่ปรึกษามีบทบาทอย่างที่ควร จะเป็น เราจะเห็นว่าในพระราชบัญญัตินี้ได้ออกแบบไว้ให้มีการส่งหรือจัดวางองค์กร ระดับประเทศเข้าไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ระบบนี้จะมีการวางองค์กรออกเป็น ๓ ขา ขาที่ ๑ คือมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้าน พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. คณะกรรมการนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี ๑๗ รัฐมนตรี และมีหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ความจริงก็เรียกกันว่าเป็น ครม. น้อยบ้าง ครม. จชต. บ้าง ขาที่ ๒ คือ ศอ.บต. ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ตามมาตรา ๘ เป็นองค์กรหลัก มีเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นระดับ ๑๑ ความจริงก็เทียบเท่าปลัดกระทรวง และใหญ่กว่า แม่ทัพภาคด้วย ขาที่ ๔ คือสภาที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๙ เกิดจากการเลือกตั้งมาจาก ภาคส่วนต่าง ๆ ของประชาชน ตรงนี้ล่ะครับคือประเด็นที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ในวันนี้ มีภาคส่วนต่าง ๆ ๙ กลุ่ม มีผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งหมดแล้วมี ๔๙ คน วาระ ๓ ปี ขาที่ ๓ นี้เป็น สิ่งที่ คสช. ซึ่งท่านอาจารย์ชูศักดิ์ได้อภิปรายไปแล้วว่าพอมีการยึดอำนาจ มีระบบความคิด แบบเผด็จการเขาก็ไม่พอใจ เขาไม่ต้องการ เขาเกรงกลัวมากเพราะอะไร เพราะสภาที่ปรึกษานี้ มีอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้เป็นเรื่องสำคัญ ๆ ถึง ๙ ข้อ ผมก็ไปเร็ว ๆ เพราะสมาชิกหลายท่าน ก็ได้พูดไปแล้ว ให้ความเห็นชอบต่อนโยบายของ สมช. ให้คำปรึกษา ศอ.บต. ทำงานร่วมกับ ศอ.บต. ตรวจสอบประเมิน ศอ.บต. รายงานต่อนายกได้ ให้ความเห็นเรื่องที่นายกและ ศอ.บต. ต้องฟัง หาข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมกับประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ สามารถเสนอเลขา ศอ.บต. ให้ย้ายเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ก็ยังได้ พิจารณาข้อร้องเรียนของ ประชาชน ลงไปรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยงานได้ตาม ความเหมาะสม และออกระเบียบการประชุมอื่น ๆ ได้ที่จำเป็น อันนี้จะเห็นว่าโดยระบบ โดยพระราชบัญญัตินี้เขาวางไว้ให้สภาที่ปรึกษามีอำนาจหน้าที่อย่างมาก และที่สำคัญที่สุด ก็คือมีความเชื่อมโยงกับประชาชน สภาที่ปรึกษานี้ยังเชื่อมโยงกับฝ่ายที่ออกกฎหมาย ออกระเบียบต่าง ๆ และเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพ พูดคุยสันติภาพที่ท่านสมาชิก ท่านประธานก็อาจได้ยินอยู่บ้างแล้วว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้ รัฐบาลท่านนายกเศรษฐาก็เพิ่ง ตั้งคณะพูดคุยคณะใหม่ และการพูดคุยกำลังเริ่มต้นขึ้น ศอ.บต. เขามีหน้าที่นี้ และสภา ที่ปรึกษาก็จะมีหน้าที่ในการเชื่อมโยง ในการป้อนความคิดเห็นต่าง ๆ สภาที่ปรึกษาต่อมา เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา มันมีปัญหาอะไร ทำไมเราจึงต้องมายกเลิกคำสั่งนี้ มีคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นมา เหมือนกับว่าก็ตั้งคนชุดเดิม ๆ แต่จริง ๆ คือนายกตั้ง ไม่ได้มี ที่มาเหมือนอย่างสภาที่ปรึกษาและอำนาจก็เหลือเพียงให้คำปรึกษาประสานงาน ศอ.บต. ให้ความเห็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าสมควรฟังความคิดเห็น หมายความว่านายกรัฐมนตรี ไม่ถามก็ไม่ต้องให้ความคิดเห็น มันแตกต่างจากการที่มีสภาที่ปรึกษาที่มีหน้าที่ต้องให้ คำปรึกษา ให้ความเห็นอยู่เป็นประจำโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นคณะนี้ก็แต่งตั้งคณะทำงาน ได้ตามความเหมาะสม แต่ว่าจากการที่อำนาจหน้าที่หายไป จากการที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับ ประชาชน ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ปัญหาจึงเกิดขึ้นมากในทุก ๆ ด้าน ด้านที่ สำคัญ ๆ เช่น เรื่องการเยียวยา เยียวยาไม่ครบ คนเดือดร้อน ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการ เยียวยาไม่ครบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ๓ ฝ่ายก็ไม่สามารถได้รับ การเยียวยา ลูกหลานเจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ ไม่มีสภา ที่ปรึกษาแล้วไม่มีใครช่วยเสนอความเห็น การพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ด้านการศึกษา ปัญหาการศึกษามีมาก ถ้าหากว่ามีสภาที่ปรึกษาเขาจะ สามารถเสนอความเห็นต่อ ศอ.บต. ได้ และจะไปผลักดันให้เกิดการปรับปรุงการจัดการศึกษา ซึ่งมีศึกษาธิการส่วนหน้าอยู่ที่นั่น

    อ่านในการประชุม

  • ด้านเศรษฐกิจ ผมไปรับฟังความเห็นมาจากประชาชนในพื้นที่ก็จะพบว่า ประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดเคยพยายามเสนอความเห็นต่อทางภาครัฐหลายครั้งหลายหน แต่ไม่มีใครฟัง ปกติถ้ามีสภาที่ปรึกษาเขาก็จะสามารถเสนอผ่านสภาที่ปรึกษาได้ อันนี้ก็ ขาดหายไป ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกหลาย ๆ เรื่องที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีสภาที่ปรึกษา แต่ผมขอข้ามไปเนื่องจากว่าท่านสมาชิกบางท่านก็ได้พูดเรื่องนี้แล้วอย่างค่อนข้างจะละเอียด ท่านประธานครับ ปัญหาของคำสั่ง คสช. ฉบับนี้นอกจากทำให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาอย่างที่ ผมกล่าวไปแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการที่ให้เลขาธิการ ศอ.บต. ปรึกษารับฟังความเห็นจาก เลขาธิการ กอ.รมน. จะให้ กอ.รมน. มามีบทบาทดูแลบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งหมายความว่า ขยายอำนาจ กอ.รมน. เข้ามาล้วงลูก เข้ามาแทรกแซง เข้ามาทำแทนหน่วยงานทางด้าน พลเรือน ซึ่งมันทำให้เจตนารมณ์ของการมี ศอ.บต. นั้นถูกเปลี่ยนไป แทนที่จะให้ฝ่าย พลเรือนมีอำนาจ มีบทบาทมาก ๆ และรับฟังประชาชนก็เลยเปลี่ยนไป มีสมาชิกบางท่าน ได้อภิปรายว่าความจริงสภาที่ปรึกษานี้ต่อไปอาจจะมีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมคิดว่า จากที่ศึกษาข้อมูลมาก็ควรจะมีการปรับปรุง แต่ว่าคณะกรรมาธิการที่จะไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งหลายนี้อาจจะไม่สามารถไปปรับปรุงได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากว่าร่างนี้เป็นร่างยกเลิก คำสั่ง แล้วกลับไปเหมือนกฎหมายเดิม แต่ที่สำคัญก็คือว่ายังสามารถที่จะไปทำข้อเสนอ ข้อสังเกต กลับมายังสภาได้ ในเรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบก็ดี บทบาทหน้าที่ก็ดี ของสภาที่ปรึกษา ท่านประธานครับ สภาที่ปรึกษาจะทำให้ ศอ.บต. กลับมามีบทบาทมากขึ้น แต่ในสภาพการณ์ความเป็นจริงปัจจุบันเราจะพบว่า สภาที่ปรึกษาจะไปมีบทบาท การมี สภาที่ปรึกษากลับมาจะเป็นเพียงก้าวสำคัญก้าวหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ยาวิเศษครับ ศอ.บต. ที่ท่านสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายกันไปตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. นี้จะมีบทบาทมาก แต่ว่า ในระยะหลังนี้มีองค์กรและมีกฎหมายที่สลับซับซ้อนมากจนทำให้ ศอ.บต. มีบทบาทน้อย มีบทบาทไม่มากเท่าความตั้งใจดั้งเดิมตอนที่ออก พ.ร.บ. นี้เมื่อปี ๒๕๕๓ ทำไมผมจึงพูดอย่างนั้น ปัจจุบันนี้มีองค์กรสำคัญองค์กรระดับประเทศถึง ๓ องค์กรอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดไปแล้วก็เหมือนเป็นรูปแบบการปกครองพิเศษอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หลายท่านอาจจะไม่เห็นปัญหานี้ ก็ไปคิดแต่ว่ามีการพูดถึงรูปแบบการปกครองพิเศษทีไร ก็ถามว่าทำไมต้องมีรูปแบบการปกครองพิเศษที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในสภาพความ เป็นจริงคือมีรูปแบบการปกครองพิเศษอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภา กำหนดนโยบายความมั่นคงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด องค์กรที่ ๒ คือ กอ.รมน. มีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ. กอ.รมน. มี ผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ. ในพื้นที่ ผอ. กอ.รมน. ก็คือ ผอ. กอ.รมน. กองทัพภาคที่ ๔ คือ แม่ทัพภาคที่ ๔ และ กอ.รมน. มีบทบาทอย่างมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากองทัพทำไมจึงมี บทบาทมากและมากกว่า ศอ.บต. องค์กรที่ ๓ คือศูนย์อำนวยการบริหาร ก็คือตัว ศอ.บต. เอง นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ท่านจะเห็นว่า ๓ องค์กรนี้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานทั้งหมด แต่ไม่มีระบบประสานเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเอกภาพ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ ศอ.บต. ยังมีบทบาทที่จำกัด

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย กฎหมายพิเศษ ๓ ฉบับอยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ พระราชบัญญัติบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายใน และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกนี้มีความสำคัญ อย่างไร กฎอัยการศึกนี้มีเนื้อหาสำคัญ นอกจากการตรวจค้น การจับกุมอะไรต่าง ๆ ได้ตาม สบายใจชอบแล้ว ที่สำคัญเขาบอกว่าในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกก็คือจังหวัดชายแดน ภาคใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนทั้งหมดทุกหน่วยงาน จะเห็นได้ว่า โดยองค์กรและโดยระบบกฎหมาย ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกองทัพ คือผู้มีบทบาทเป็นหลัก เป็นองค์กรที่มีบทบาทกดทับ ศอ.บต. อยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ถ้าหากว่ามีการยกเลิกคำสั่ง วันนี้เราเห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. กลับไปเป็น พ.ร.บ. ศอ.บต. ปี ๒๕๕๓ มันจะเป็น ก้าวสำคัญให้เกิดความร่วมมือจากประชาชน ระดมความคิดจากประชาชนมาเพื่อแก้ปัญหา ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกันโดยตรงก็คือ จะเกิดการมาคิดกันว่าเราจะออกแบบระบบโครงสร้างและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริง จึงจะทำให้เกิดสันติสุข จะทำให้เกิดสันติภาพ จะทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศได้ เพราะฉะนั้นในวันนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดี เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากสภาก็ได้ ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา พิจารณา และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการ สร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลก็เพิ่งตั้งคณะพูดคุย การพูดคุยก็เริ่มต้น ขึ้นแล้ว มันกำลังเป็นสัญญาณที่ดีว่าถ้าสภาเห็นชอบให้มีสภาที่ปรึกษาหมายความว่าเข้าใจ ปัญหานี้ และกำลังจะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การแก้ปัญหาที่มากยิ่งขึ้น ได้ผลมากยิ่งขึ้น ผมจึงขอ สรุปว่าหากที่ประชุมแห่งนี้เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติที่มีการเสนอทั้งโดยอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย และจากพรรคอื่น ๆ ที่ได้ร่วมกันเสนอในวันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการ แก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมได้รับมอบหมาย ให้มาอภิปรายสรุปการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ที่ในวันนี้เสนอโดย ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามปัญหาของชาวประมงทั่วประเทศมาเป็นเวลานาน และเป็น กำลังสำคัญในการสังเคราะห์ทำนโยบายประมง จนกระทั่งมาเป็นพระราชบัญญัติในวันนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ สมาชิกหลายท่านได้ชี้ให้เห็นที่มาของปัญหาความผิดพลาด ล้มเหลวในอดีตจนนำมาเป็นความจำเป็นที่จะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติกันในวันนี้ เนื้อหาสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจะแก้เรื่องอะไร จะส่งผลเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีการอภิปรายไปอย่างกว้างขวาง พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากมาตลอด ได้ตระเวนพบปะกับประชาชนในจังหวัดชายทะเล ๒๒ จังหวัด พบผู้นำสมาคมการประมง อดีตผู้นำนายกสมาคมการประมง และผู้นำอุตสาหกรรมประมงหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและเราก็โชคดีว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญของพรรคเราเอง เช่น ท่านปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมประมง ช่วยเป็นกำลังสำคัญในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จนกระทั่งเราหาทั้งทางออกที่เป็นมาตรการของฝ่ายบริหาร และตัวบทกฎหมายที่จะ ใช้แก้ปัญหาประมงของประเทศได้อย่างยั่งยืน

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอสรุปดังนี้ครับ สาเหตุที่ประเทศไทยต้องเข้ามาจัดการกับการประมง ของประเทศอย่างผิด ๆ และทำให้เกิดความล้มเหลวอย่างมาก ความจริงนั้นสืบเนื่องมาจาก การที่มีข้อกล่าวหาที่ EU ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปขาย ในตลาด EU ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ร้ายแรง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เขาต้องการทำตัวมาเป็น ปฏิปักษ์อะไรกับประเทศไทย เขาก็เสนอของเขาไปตามหลักการที่เป็นสากล มี ๕ ข้อครับ ๑. คือพระราชบัญญัติประมงไทยล้าสมัย คือมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ ๒. ประเทศไทย ยังไม่มีแผนที่จะป้องกัน ที่จะลด ที่จะกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายหรือที่ไม่ได้รายงาน ๓. ประเทศไทยไม่มีนโยบายทางทะเลของชาติ และไม่มีระบบในการติดตามติดตามว่าเรือไหน ไปไหน อย่างไร ประเทศไทยยังไม่มีระบบติดตามตำแหน่งของเรือประมง จาก ๕ ข้อนี้ ความจริงแล้วประเทศหนึ่ง ๆ จะแก้ปัญหาโดยไม่ต้องให้เกิดผลเสีย ผลกระทบต่อประเทศนั้น มาก ๆ ก็ได้ จะชะลอเวลาก็ได้ ยืดเวลาก็ได้ทำตามมาตรการให้ได้อย่างเคร่งครัดโดยไม่ต้อง เสียหายมาก ๆ ก็ได้ แต่ว่าประเทศไทยทั้ง ๆ ที่เป็นมหาอำนาจด้านการประมงมีรายได้เข้าประเทศ มากมายมหาศาล รายได้ในประเทศรวม ๆ กันทั้งหมด ๗๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท นำเข้าปีหนึ่ง ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ว่าเรากลับไปเลือกใช้วิธีการที่เรียกว่า ทำเกินกว่าเหตุ ทำเกินกว่าความจำเป็นไปอย่างมาก ที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่ารัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และไม่สามารถพูดจากับ EU ได้ อยากจะทำ FTA กับ EU ก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องพยายาม เอาใจให้เต็มที่ เอาใจจนกระทั่งเอาผลประโยชน์ของประเทศ เอาผลประโยชน์ของชาวประมง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงไปสังเวย การที่จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่การได้รับการยอมรับก็ล้มเหลว เพราะว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนการประมงยิ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เราได้ออกกฎหมาย โดยใช้มาตรา ๔๔ ๒ ครั้ง ใน ๖ เดือน เป็นการขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดต่ออนุสัญญาระหว่าง ประเทศและขาดมนุษยธรรม พร้อมกับบทลงโทษสูงสุด และมีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มีการวางระบบ วางมาตรการต่างจากเดิมที่สำคัญ ๕ ข้อ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ คือตั้งศูนย์บัญชาการ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย คณะบุคคลในคณะนี้ไปดูย้อนหลังได้ เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการประมงเลย อันนี้คนในวงการ นักวิชาการเขาเป็นคนพูด

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมง ให้ไทยทำแผน ๑๒ ข้อ และมาติดตามผล ๑๔ ครั้ง ตลอด ๗ ปี เขาเข้มงวด แต่เราไม่ใช่ ทำตามเขาเท่านั้น ทำเกินไปอีกมาก

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๓ ออกพระราชกำหนด ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๖๐ ออกกฎหมายลูก บังคับใช้ทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่าและด้านแรงงาน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๔ ประเทศไทยต้องเป็นภาคีองค์การระหว่างประเทศ ๓ ฉบับ ต้องเซ็น MOU กับประเทศเจ้าของท่า ๑๒ ประเทศ และอาจต้องเพิ่มอีก ๙ ประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๕ กรมประมงปรับโครงสร้างเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าปรับโครงสร้าง กลายเป็นตำรวจประมง คือแทนที่จะดูแลทรัพยากร ดูแลชาวประมง ดูแลกฎหมาย กลายเป็นตำรวจที่คอยทำหน้าที่จับอย่างเดียวจนกระทั่งเดือดร้อนกันไปหมด

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๖ เรื่องของชาวประมงซึ่งไม่จำเป็นต้องทำโดยใช้โทษที่รุนแรงก็กลับเลือกใช้ โทษที่รุนแรง

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ใช้เวลาในการแก้ปัญหา ๓ ปี ๘ เดือน ๙ วัน และในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๓ EU ปลดใบเหลืองให้ไทย แต่บนความสำเร็จนี้ทำให้เกิดผลเสียตามมา อย่างร้ายแรง ผมจะสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นความจำเป็นของการที่จะออกกฎหมาย ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ การประมงไทยล่มสลายไม่มีอาหารทะเลส่งออก เศรษฐกิจพัง ความเสียหาย ใน ๒๒ จังหวัด ผู้ประกอบการบอกว่าปีละประมาณ ๗๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท มาเป็นเวลา ๘-๙ ปี การประมงนอกน่านน้ำของไทยเหลือ ๐ การประมงในน่านน้ำปริมาณเรือ หายไป ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ คนงานประมงตกงาน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยส่งออกได้ปีละ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ประเทศไทยกลับต้องนำเข้าเสียเองปีละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ราคาปลาตกต่ำ เพราะประเทศข้างเคียงส่งมาขายดังที่ท่านสมาชิกจากสุพรรณบุรีก็ดี จากฉะเชิงเทราก็ดีได้พูดถึงประมงน้ำจืดว่าได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าประมงมาจาก ต่างประเทศในราคาต่ำ ต่างประเทศเริ่มเข้ามาใช้คำภาษาง่าย ๆ คือเขาเข้ามาขโมยปลาไทย ในน่านน้ำของไทย ชาวประมง ผู้ประกอบการจำนวนมากติดคุก เป็นหนี้ โดนดำเนินคดี ทั้งทางแพ่ง ทางปกครอง อาญา จนชาวประมงฆ่าตัวตาย

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ท่านสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายเรื่องนี้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน เกิดการเสียเกียรติภูมิของประเทศ เสียเกียรติคนไทย และเราได้กฎหมายใหม่ที่ไม่มีมาตรฐานเลย เสียหลักความรู้ทางวิชาการในด้านภูมิศาสตร์เขตร้อน และความแตกต่างทางชีวภาพ ชาวประมงถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร ในการบริหารมาทั้งหมดโดยออกคำสั่ง ออกกฎหมาย โดยไม่ใช่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยปกติ และไม่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้มีความเดือดร้อนติดต่อกันมาถึง ๘-๙ ปี

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพเมื่อสักครู่สด ๆ ร้อน ๆ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทย คุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ได้พูดเป็นข้อ ๆ ๑๙ ข้อ ว่าร่างพระราชบัญญัติ ที่เสนอโดยท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กับพวก เสนอเพื่อแก้อะไรบ้าง ได้พูดอย่างชัดเจน ผมจึงไม่จำเป็นต้องสรุป ๑๙ ข้อนี้อีกแล้ว แต่อยากจะกราบเรียนท่านประธานว่าการออก กฎหมายครั้งนี้และมาตรการบริหารที่ทางฝ่ายรัฐบาลเตรียมไว้ที่ท่านปลอดประสพ สุรัสวดี กับคณะ กำลังเตรียมเสนอรัฐบาล มันจะนำไปสู่อะไร มันจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร อันนี้เพื่อเป็นเหตุผลให้มั่นใจกันว่าร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นร่างพระราชบัญญัติที่แก้ปัญหา ตรงจุดและจะเกิดประโยชน์ พระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่นี้จะไม่ขัดกับหลัก IUU ของสหภาพยุโรป

    อ่านในการประชุม

  • แต่ข้อปฏิบัติและบทลงโทษจะต่างกันทั้งเรื่องการกำหนดค่าปรับที่เหมาะสม ลดเงื่อนไขการเดินเรือ ทำโดยจะใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีประโยชน์หลายข้อมาก ขอพูดอย่างเร็ว ๆ รวบรัดก็คือ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการประมงควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่การจับสัตว์น้ำ เพิ่มเวลาการทำประมง ประมงพื้นบ้านได้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว บรรเทาผลกระทบที่มีมากเกินไป ปกป้องสัตว์น้ำ ขนาดเล็กได้ดีกว่าเดิม ปกป้องสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมในท้องทะเลได้ดีกว่าเดิม ควบคุมเครื่องมือประมง โดยเฉพาะประเภททำลายล้าง ในการปกป้องและคุ้มครองไม่ให้ใช้ อนุญาตให้ปรับปรุงเครื่องมือประมงได้ โดยการได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง ทำการประมงในเวลากลางคืนได้ ลดภาระชาวประมงต้องรายงานทุกเรื่องจนเกินความจำเป็น เพิ่มความสะดวก เช่น เอกสารลูกเรือในการออกเรือจะนำไปสู่ One Stop Service ลดภาระ เพิ่มเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่จำเป็น โดยรัฐให้การช่วยเหลือ เพิ่มมาตรการช่วยป้องกัน โทษทางปกครอง จำกัดโทษที่ร้ายแรง ไม่ยึดเรือให้กลับมามีอาชีพได้ใหม่ โดยจะยึดเรือ ที่ทำผิดจริง ๆ เท่านั้น ลูกเรือจะไม่ผิดทางอาญา ส่วนผู้ควบคุมคุมเรือคือผู้รับผิดชอบ ใช้โทษปรับแทนอาญามีลำดับขั้น ปรับสูง กลาง ต่ำ แทน ท่านประธานครับ จากกฎหมาย อย่างนี้ และมาตรการทางบริหารที่เตรียมกันอยู่ เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายนี้อาจจะมี คณะกรรมาธิการมาแก้เพิ่มเติม ร่างของรัฐบาลเข้ามา มีการรับฟังความเห็นฝ่ายต่าง ๆ เพิ่มเติม มั่นใจได้เลยครับว่าเราจะทำให้เกิดการคืนศักดิ์ศรี คืนชีวิต ให้ชาวประมง ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็น มหาอำนาจทางประมงอีกครั้ง ทำให้ประมงจะเป็นที่มาที่สำคัญของรายได้และที่มาของ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ เรากำลังจะร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีอนาคต เรากำลังจะทำให้ความหวังของชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั่วประเทศ ที่หมดหวัง สิ้นหวังกันมานาน ๘-๙ ปีนี้ ได้กลับมามีความหวังอีกครั้งหนึ่ง ได้กลับมามีชีวิตที่รุ่งเรือง มีเศรษฐกิจที่ดีที่เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านประธานที่เคารพครับ ในฐานะที่เป็น ผู้สรุปร่างพระราชบัญญัติประมงครั้งนี้ ผมขอกราบเรียนท่านประธานว่าพวกเราสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรมีความมั่นใจได้ว่าการพิจารณาให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติอีกหลาย ๆ ฉบับในหลักการเดียวกันนี้ จะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ผม จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผมได้รับมอบหมาย ให้มาอภิปรายในเรื่องของร่างพระบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ประเด็นที่ท่านประธานได้ให้แนวทางไว้ว่าในการ อภิปรายนี้ควรจะอภิปรายถึงร่างของคณะรัฐมนตรี เพราะว่าเราได้อภิปรายร่างของแต่ละ พรรคการเมืองไปในการประชุมก่อนหน้านี้มาแล้ว แต่เนื่องจากว่าร่างของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอเข้ามาพร้อมกับข้อสังเกตหรือความเห็นที่มีต่อร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้น จะทำให้อาจจะต้องมีการเท้าความย้อนหลังไปบ้าง เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าร่างของ คณะรัฐมนตรีเมื่อเทียบกับร่างของพรรคการเมืองที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มีความแตกต่าง หรือมีความเหมือนกันมีจุดร่วมกันอย่างไร เพียงพอหรือไม่ที่เราจะสนับสนุนร่างของ คณะรัฐมนตรี ท่านประธานครับ ก็ขอเท้าความเพียงเล็กน้อยที่ท่านรัฐมนตรีได้ใช้คำว่า ในเวลาที่ผ่านมา ชาวประมง ประชาชนอยู่กับความทุกข์ระทม อันนั้นก็เป็นความจริง ความจริงอันนี้เกิดขึ้น จากการที่เมื่อทาง EU ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยว่าได้ทำผิดหลักการของ IUU ในขณะนั้นรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ ของนานาประเทศ เวลาแก้ไขปัญหาเพื่อปลดใบเหลืองนั้นก็เลยได้ทำเกินไป เพื่อเป็นการเอาใจ เพื่อเป็นการหวังว่าจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น ก็ทำเกินไปกว่าที่เขาขอ มีการออกคำสั่ง คสช. ไม่น้อยกว่า ๒๐ ฉบับ ขัดต่อหลักการของกฎหมาย ขัดต่ออนุสัญญา ระหว่างประเทศและขาดมนุษยธรรม พร้อมกับบทลงโทษสูงสุดและการใช้กฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรม จากที่เขาให้ใบเหลืองมารัฐบาลในขณะนั้นใช้เวลาแก้ปัญหา ๓ ปี ๘ เดือน ๙ วัน จนถึงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๓ EU ก็ปลดใบเหลืองให้ไทย แต่ผลงานของรัฐบาล ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนั้นแลกมากับความเสียหายของพี่น้องชาวประมง และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ก็คือการประมงไทยล่มสลายที่เคยส่ง อาหารทะเลออกไปทั่วโลกปีละ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท กลายเป็นนอกจากส่งออกไม่ได้แล้ว ยังต้องนำเข้าปีละแสนล้านบาท ความเสียหายใน ๒๒ จังหวัด ๗๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท มา ๘-๙ ปี การประมงนอกน่านน้ำเหลือ ๐ ในน่านน้ำปริมาณเรือหายไป ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ คนงานประมงตกงาน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ปลาในประเทศไทยน้อย แต่ราคาไม่แพงมาก เพราะว่า มีการลักลอบหรือส่งเสริมให้มีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ กระทบต่อผู้เลี้ยงปลา หรือทำประมงน้ำจืด อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดมาตลอด ๘-๙ ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญก็คือ ชาวประมงซึ่งเป็นอาชีพที่ควรจะเป็นที่ภาคภูมิใจ ถูกลดเกียรติ ต้องไปติดคุกติดตาราง เป็นหนี้เป็นสิน ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง จนกระทั่งฆ่าตัวตายกันไปก็มี ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกโจร เป็นพวกทำความเสียหายแก่ประเทศชาติ ฉะนั้นการจะแก้ปัญหานี้ จึงต้องแก้กฎหมายต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อสักครู่ก็ได้พูดว่าได้มีการแก้ไขกฎหมายระดับรองลงไปแล้วหลายฉบับ ซึ่งอันนั้น ก็เป็นเรื่องดีครับ แต่ว่าเรื่องใหญ่คือตัวร่างพระราชกำหนดที่เราจะต้องแก้นี้ ผมขอสรุป เพียงสั้น ๆ นะครับว่าร่างของพรรคเพื่อไทยเพื่อจะไปเปรียบเทียบว่าทำไมพรรคเพื่อไทย จึงจะสนับสนุนร่างของคณะรัฐมนตรีนี้ว่าร่างของพรรคเพื่อไทยปลดล็อกพระราชกำหนดประมง โดยเสนอให้คุ้มครองการประกอบอาชีพประมงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมง เพิ่มอิสระให้กลุ่มประมงพื้นบ้านสามารถทำประมงนอกพื้นที่ทะเลชายฝั่งได้ เปิดช่อง ให้สามารถดัดแปลงเครื่องมือทำการประมง โดยให้รัฐกำหนดเครื่องมือต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย ให้ชัดเจน แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้เหมาะสม โดยไม่กำหนด ให้เรือประมงเป็นสิ่งที่ต้องถูกริบ แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษปรับทางอาญาให้มีจำนวนค่าปรับ ที่เหมาะสม โดยกำหนดให้มีเพียงค่าปรับขั้นสูงเพื่อทำให้แต่ละฐานความผิดสามารถ ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ อันนี้คือสาระสำคัญ ในร่างพระราชบัญญัติประมงที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ท่านประธานครับ ขณะนี้มีร่าง คณะรัฐมนตรีเข้ามา เราพิจารณาแล้วก็เห็นว่ามีประเด็นสอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญ กับเป้าหมายของร่างพรรคเพื่อไทย คือการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการทำประมง คุ้มครองอาชีพประมง มาตรการเหล่านี้ล้วนมาจากการคำนึงถึงวิถีการทำประมงจริง ๆ ผมยกตัวอย่าง เช่น มาตรา ๖๙ ผ่อนปรนให้ใช้อวนล้อมที่เล็กกว่า ๒.๕ เซนติเมตร ได้ในเวลากลางคืนในที่ที่เป็น บริเวณน้ำลึก มาตรา ๕๗ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจับสัตว์น้ำตัวอ่อน มาตรา ๔๒ ผ่อนปรน การดัดแปลงเครื่องมือประมงให้ทำได้ในกรณีที่ไม่มีผลต่อปริมาณสัตว์น้ำหรือตัวอ่อนสัตว์น้ำ มาตรา ๔๘ คืนชีวิตประมงนอกน่านน้ำภายใต้กติกาสากล ให้ผู้ประกอบการประมงไทย สามารถขออนุญาตทำการประมงในทะเลหลวง มาตรา ๔ กำหนดทะเลชายฝั่งให้น้อยกว่า ๑.๕ ไมล์ทะเลก็ได้ เช่น ในพื้นที่ทะเลน้ำลึกที่ใกล้ชายฝั่ง อีกข้อหนึ่งที่สำคัญที่ตรงกับร่างของ พรรคเพื่อไทย ความจริงรวมทั้งอีกหลายพรรครวมทั้งพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคฝ่ายค้านและ พรรครัฐบาลก็คือทำให้ประมงพื้นบ้านมีอิสระมากขึ้น ก็อยู่ในมาตรา ๕ ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ ในการทำประมงพื้นบ้านให้ทำได้ทั้งในเขตชายฝั่งและครอบคลุมนอกชายฝั่งด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือแม้จะเปิดโอกาสให้มีการประมงเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เพิ่มสัดส่วนในการควบคุมและบทลงโทษ เพื่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืนควบคู่ไปด้วย อันนี้เหมือนกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่ต้องการให้การหารายได้จากการทำประมง สมดุลกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็อยู่ในมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๘๑ ผมจะไม่ขอ กล่าวในเนื้อหาในรายละเอียด ที่ตรงกับร่างของหลายพรรคคือองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประมงจังหวัดที่กระจายอำนาจสู่มือประมงท้องถิ่นมากขึ้น โดยรวมแล้วร่างพระราชบัญญัติ ประมงที่ ครม. เสนอนี้มีจุดร่วมกันกับร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เสนอ ก็คือร่างพระบัญญัตินี้ไม่ได้ขัดกับหลักของ IUU ของสหภาพยุโรป แต่ให้มีข้อปฏิบัติและบทลงโทษที่แตกต่างออกไป เพื่อไม่ให้มีมาตรการ ที่รุนแรงเกินกว่าเหตุเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็จะอยู่ในมาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๙ ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจงแล้วเมื่อสักครู่ หลายมาตราได้มีการกำหนดโทษให้เหมาะสม กับพฤติการณ์ความผิด โดยทำบนหลักการที่ว่าชาวประมงยังคงกลับมาทำอาชีพประมงได้ ไม่ตัดโอกาสพวกเขาไปตลอดชีวิต อันนี้อยู่ในมาตรา ๓๙ มาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๒๑ ถึงมาตรา ๑๗๐ เราก็ศึกษาโดยละเอียดและมีการเปรียบเทียบกับร่างของพรรคการเมือง หลาย ๆ พรรคประกอบกัน โดยสรุปครับท่านประธาน ขณะนี้คือร่างนี้มาจากความต้องการ ของชาวประมง เพราะว่านี่เป็นนิมิตใหม่ นิมิตใหม่ก็คือว่าปกติเราจะเห็นว่าเมื่อ สส. เสนอ ร่างกฎหมาย รัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ พอกลับมามีร่างของรัฐบาลมา เพื่อจะเป็นร่างหลัก และเนื้อหามักจะถูกกำหนดโดยส่วนราชการต่าง ๆ มากกว่าที่จะมี ความสอดคล้องกับร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ครั้งนี้ร่างของคณะรัฐมนตรี ได้รวมเอาความเห็นของ สส. ซึ่งคุยกันมาตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว แล้วก็ตลอดเวลาในการ หาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ไปฟังความเห็นของประชาชน และความเห็นเหล่านั้น ก็ถูกบรรจุอยู่ในร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งร่างของพรรคเพื่อไทยที่คุณวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นผู้เสนอ เมื่อมีการนำความเห็นต่าง ๆ จากทั้งพรรคการเมือง จากทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราก็ได้ร่างที่ไม่ขัดที่ไม่ขัดต่อหลัก IUU และจะเป็นการนำรายได้ กลับคืนสู่พี่น้องชาวประมงและอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยที่มีความสมดุลในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้ยั่งยืน และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ทำบน หลักมนุษยชน ท่านประธานครับ ร่างของ ครม. ก็ดี ร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ เกือบจะ เรียกว่าเกือบทุกพรรคที่ได้เสนอกันเข้ามาในคราวนี้ ถ้าเราเห็นชอบในหลักการและมี คณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณา โดยนำเนื้อหาของร่างทั้งของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีหลายเรื่องสอดคล้องกัน ตรงกัน มีบางอย่างต่างกัน แต่ก็อาจจะ เลือกนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำให้เป็นร่างที่จะกลับเข้ามาสู่สภาพิจารณาในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ต่อไป ผมในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จึงขอสนับสนุน ร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามาในครั้งนี้ และเสนอให้สภาลงมติเห็นชอบรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับที่กำลังพิจารณาและจะลงมติในขั้นรับหลักการต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม