สวัสดีครับ เรียนท่านประธาน ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ตามเอกสารงบการเงินที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าทุกท่านในที่นี้ ผมขอเข้าประเด็นเลยนะครับ หมายเหตุที่ ๑๘ รายได้เงินสมทบ สังเกตเห็นไหมครับว่าเงินสมทบตามมาตรา ๓๓ ตามมาตรา ๓๙ ตามมาตรา ๔๐ และเงินสมทบจากรัฐบาล ปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ลดลงอย่างน่าใจหายไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท รายได้เงินกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากภาคแรงงาน และโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตเราเคยมีรายได้ ก่อนโควิด-๑๙ ปีละไม่น้อยกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย จังหวัดภูเก็ตมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าราย เรามี นักท่องเที่ยว เรามีแรงงานนอกระบบ เรามีประชากรแฝงรวมกันเบ็ดเสร็จแล้วน่าจะ แตะหลักล้านคนขึ้นไป คำถามที่ผมอยากจะนำเรียนสภาแห่งนี้และหารือท่านประธาน นะครับ เราจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเงินกองทุนประกันสังคม ก่อนอื่นต้องทำ ความเข้าใจก่อนว่าเรามีแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตแรงงาน ณ ตอนนี้ จากรายงานของประธานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตได้แจ้งผมมาว่าเราขาดแคลนแรงงาน เป็นจำนวนมาก และเราต้องการแรงงานโดยเฉพาะภาคโรงแรม ร้านอาหาร ภาคการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก และอีกอันหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือภาคการประมง ไม่ว่าจะเป็นประมงพาณิชย์หรือประมงพื้นบ้าน วันนี้เงื่อนไขของการขึ้นทะเบียน ผู้ประกันตนสร้างความยากลำบากให้แก่นายจ้างและลูกจ้างโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ในจังหวัดภูเก็ต แรงงานต่างด้าวทุกวันนี้ต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะอะไรครับ เพราะต้องติดขัดกับระเบียบขั้นตอนเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นแรงงานฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของเราคือประเทศพม่านั่นเองครับ ผมอยากจะนำเรียน หารือท่านประธานฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นไปได้ไหม หากเราจะลด ระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวได้ขึ้นทะเบียน ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตรงนี้ล่ะครับจะสามารถแก้ไข เพิ่มรายได้ให้กับเงินกองทุนประกันสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็น หลักประกันให้กับพ่อแม่พี่น้อง แรงงานต่างด้าววันนี้เรื่องประกันสังคมมันเกี่ยวเนื่องกับ แรงงานก็เพราะว่าวันนี้แรงงานที่อยู่นอกระบบ เรามีฟิลิปปินส์จำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต ต้องยอมรับก่อนว่าคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าวเยอะมากครับในจังหวัดภูเก็ต และคนเหล่านี้ หากเราดึงเขาเข้ามาสู่ระบบได้นะครับ คนฟิลิปปินส์ แม่บ้าน Reception ตามโรงแรม เงินเดือนที่โรงแรม ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจ้างแรงงานเหล่านี้ ๑๘,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ บาท แต่ว่าด้วยเงื่อนไขของกฎหมาย กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็น ชาติยุโรปไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท ประเทศในแถบเอเชียของเรา ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เงินเดือนขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า ๓๕,๐๐๐ บาท ตรงนี้ล่ะครับคือสาเหตุว่าทำไม นายจ้างจึงไม่สามารถเอาบุคคลเหล่านี้เข้าสู่ระบบได้ ก็เพราะเพดานอัตราเงินเดือนที่มันสูง กระทั่งว่าการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ๑ คนจะต้องมีแรงงานไทยไม่น้อยกว่า ๔ คน เป็นอัตราส่วนตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งตรงนี้หากเราสามารถทลายข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นของ อัตราส่วนก็ดี เพดานเงินเดือนก็ดี จะทำให้แรงงานนอกระบบเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบ ได้เอาเงิน เข้าสู่ภาครัฐ เอาเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคม เพราะตัวเลขที่มันอยู่ตรงหน้าเรานี้น่าวิตกมาก นักวิชาการหลายท่านก็ออกมาให้สัมภาษณ์นะครับว่าอีก ๓๐ ปีนับจากนี้กองทุนประกันสังคม มีโอกาสถึงขั้นล้มละลาย ท่านไป Search หาดูได้ครับข้อมูลที่ผมพูด ฉะนั้นแล้วการนำแรงงาน นอกระบบ โดยเฉพาะรายงานต่างด้าวเข้ามาสู่ระบบ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับ เงินกองทุนประกันสังคมแล้วยังเป็นการจัดการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย วันนี้ภูเก็ต มีหลายหน่วยงาน จากข้อร้องเรียนที่ผมรับทราบจากประชาชน หน่วยงานหนึ่งไปจับ มีการจ่ายส่วย อีกหน่วยงานไปจับพื้นที่เดียวกัน แรงงานเดียวกัน นายจ้างเดียวกัน ก็ต้องจ่าย ส่วยเป็นทอด ๆ ไปนี่ล่ะครับคือปัญหาที่มันกำลังเกิดขึ้น และมันกำลังสะสมอยู่ทุกวันนี้ ในภาคแรงงานของจังหวัดภูเก็ต อยากจะหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นะครับ ช่วยดูปัญหาตรงนี้ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และที่จะขาดตกไปไม่ได้ก็คือ ช่วงโควิด-๑๙ ที่ผ่านมา ตามรายงานผู้สอบบัญชีในหน้าที่ ๔๖ นะครับ มีการระบุถึงกรณี การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ มีการกล่าวถึงผู้ประกันตนที่ได้รับ ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยก็คือโควิด-๑๙ หรือโคโรนา ๒๐๑๙ นั่นเอง แต่สิ่งที่ผมอยากจะขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกันสังคมได้ชี้แจงต่อ ประชาชนก็คือว่าวันนี้ตามที่ท่านผู้อภิปรายหลายท่านได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าได้เยียวยา ได้ให้เงินผู้ประกันตนครบถ้วนแล้วหรือยังที่ต้องตกงาน ที่ต้องว่างงานช่วงโควิด-๑๙ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต
สุดท้ายนี้นะครับ ขอฝากท่านประธานว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับเรื่องร้องเรียน จากประชาชนภูเก็ตมาก็คือว่า Sex worker เขาเหล่านั้นต้องการสิทธิประกันสังคมเหมือนกับ พนักงานบริษัท ห้างร้านทั่ว ๆ ไปตามมาตรา ๓๓ ผมขอฝากท่านประธานแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ ขออภิปรายพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับภาษีอากร พุทธศักราช ๒๕๖๖
ในประเด็นที่ ๑ ผมอยากกราบเรียนท่านประธานว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ มิได้เป็นเรื่องเร่งด่วนแต่ประการใด เหตุผลที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าเมื่อเข้าไปดู ในหน้า Website ของ OECD แล้วนี่ในส่วนของ Section Country Monitoring และปรากฏว่ามีการระบุข้อมูลใน Website ว่าประเทศไทยอยู่ระหว่าง Pending status ของ Domestic law หรือการรอแล้วอยู่ระหว่างการออกกฎหมายภายในประเทศนะครับ แต่ปรากฏว่าเมื่อ Click เข้าไปดูในหน้าถัดไปในส่วนของประเทศไทยไม่พบว่ามี TimeLINE ที่กำหนดไว้สอดคล้องกับหมายเหตุของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ว่าจะต้องมีการแล้วเสร็จภายใน เดือนกันยายน ๒๕๖๖ แต่ประการใด ปรากฏว่าในหน้า Website ใน Quarter ที่ ๓ ของปี ๒๐๒๓ จะมีอยู่ประมาณ ๕-๖ ประเทศเท่านั้นเอง อาเซอร์ไบจาน โคลัมเบีย กาย่า เซเนกัล และอีก ๒ ประเทศนะครับ ฉะนั้นแล้วยกตัวอย่างเทียบเคียงในกรณีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดที่แล้ว พ.ร.บ. อุ้มหาย มีความพยายามที่เสนอ พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนระยะเวลา การบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวออกไป แต่สุดท้ายศาลปัดตก แล้วเกิดอะไรขึ้นครับ มีใครในรัฐบาลออกมารับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ. อุ้มหายต่างหาก ที่เป็นกฎหมายที่เข้ามาแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ฉะนั้น ผมไม่เห็นว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนแต่ประการใดนะครับ
ประการถัดมานะครับ ผมขอหารือผ่านท่านประธานว่า ทั้ง ๓๒ มาตรา ที่อยู่ในมือของผมและของทุก ๆ ท่านในที่นี้ไม่มีมาตราใดแม้แต่มาตราเดียวที่บอกถึงสิทธิ ของเจ้าของข้อมูลเลยครับ เช่น ข้อมูลที่มีอำนาจตามมาตรา ๓ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ อธิบดี กรมสรรพากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งข้อมูลจะส่งข้อมูลไปให้ใครบ้าง แล้วส่งข้อมูลใดบ้าง แล้วข้อมูลนั้นจะมีการบันทึกว่าส่งเมื่อไร อย่างไรหรือไม่ ไม่ปรากฏ อยู่ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้แม้แต่นิดเดียวครับ
ประการถัดมาประการที่ ๓ ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ ที่จะต้องส่งข้อมูลให้กับอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้มีอำนาจ หรือรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง สุดท้ายข้อมูลเหล่านั้นจะต้องถูกส่งต่อไปยังต่างประเทศ ข้อกังวล ก็คือกรมสรรพากรมีมาตรการการเก็บรักษาข้อมูลได้ดีเพียงใด มีโอกาสที่ข้อมูลจะหลุดรั่ว เหมือนข้อมูลของวัคซีนหมอพร้อมที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร มีมาตรการในการเก็บรักษา ข้อมูลและปกป้องข้อมูลได้ดีมากน้อยเพียงไรนะครับ ที่ผมต้องยก Case กรณีหมอพร้อม ขึ้นมานี่ เพราะมันมีตามสื่อที่ออกทุกท่านทราบดีอยู่แล้วนะครับ Ministry of Public Health Immunization Center ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกมามีการรับข้อมูลของผู้ที่มีประวัติ การฉีดวัคซีน แล้วปรากฏว่าข้อมูลดังกล่าวมีการรั่วไหลออกไปตามสื่อที่เป็นหน้าข่าวอยู่ ก็คือ 9Near ๕๕ ล้านรายชื่อ นี่แค่เบา ๆ แค่ข้อมูลของคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังรั่วออกไป ถึง ๕๕ ล้านรายชื่อนะครับ กระทรวงการคลังกำหนดสิทธิระดับสิทธิการใช้งานระบบของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๖ ในข้อที่ ๓ มันระบุว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะนำข้อมูลที่เป็น Excel Sheet ออกไปด้วย ข้อมูลที่นำออกไปไปอยู่ไหนครับ แก๊งมิจฉาชีพก็นำไปหลอกลวงไม่ว่าจะเป็น Call Center ก็ดี อย่าลืมว่าข้อมูลของหมอพร้อมเป็นแค่ข้อมูลเบา ๆ แต่เรากำลังพูดถึง พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ใช่แค่บัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อายุ อาชีพ แต่มีบัญชี ธนาคาร ยอดเงินในบัญชีธนาคารของบุคคลที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ข้อมูลของ หมอพร้อมที่ผ่านมาต้องกราบเรียนท่านประธานว่าที่ผ่านมามีผู้รับผิดชอบ มีผู้ออกมา แสดงความรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร เจ้ากระทรวงที่ดูแลอยู่ เจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง กับหมอพร้อมไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกด้วยซ้ำไป
ประการสุดท้าย หากเกิดการรั่วไหลของข้อมูลจากกรมสรรพากรขึ้นมา ผมอยากจะฝากท่านประธานครับ ใครจะรับผิดชอบหากเกิดการรั่วไหลของข้อมูล โดยเฉพาะ ข้อมูลทางด้านการเงินเหมือนกับข้อมูลของหมอพร้อมที่ยังไม่มีใครออกมาแสดง ความรับผิดชอบ ผมขอฝากท่านประธานแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน ๓ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาความขัดแย้ง ของรถรับจ้างหรือรถแท็กซี่บริการสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต ระหว่างรถป้ายเหลือง รถป้ายเขียว และรถป้ายขาวหรือที่เราเรียกกันว่ารถ Application ประการแรกครับ ปรากฏว่ามีกลุ่มแท็กซี่ ที่ทำตัวหรือมีพฤติกรรมเป็นคิวรถแท็กซี่ Mafia ทำการข่มขู่รถแท็กซี่ป้ายเหลือง ตาม Slide ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านประธานนะครับ รวมไปถึงมีการข่มขู่รถแท็กซี่ป้ายขาวหรือที่เรา เรียกกันว่ารถ Application และที่ผ่านมาไม่นานนี้ที่ปรากฏในหน้าสื่อข่าวต่าง ๆ นะครับ มีการข่มขู่ผู้โดยสารให้ลงจากรถซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อุกอาจมาก และทำให้ผู้ประกอบการ รถแท็กซี่มิเตอร์ ป้ายเหลือง หรือแท็กซี่เหลือง แดง และแท็กซี่ป้ายขาว Application ทำการรับส่งผู้โดยสารแต่เพียงขาเดียวเพราะเข้าไปแล้วไม่กล้ารับผู้โดยสารกลับออกมา เพราะเกรงว่าจะถูกคุกคามจากกลุ่มคิวรถบางแห่งที่มีพฤติกรรมเป็นแท็กซี่ Mafia นะครับ และเหตุนี้เองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่ารถโดยสาร โดยเฉพาะค่ารถโดยสารสาธารณะ ในจังหวัดภูเก็ตมีอัตราที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย
ประการที่ ๒ นะครับ ขออนุญาตกลับไปที่ Slide แผ่นที่ ๑ ก่อนครับ ต้นทุน รถแท็กซี่ไม่เท่ากันระหว่างป้ายเหลือง ป้ายเขียวที่มีต้นทุนสูงกว่าป้ายขาว ตรงนี้ทำให้เกิด ความไม่เป็นธรรมและทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบของผู้ประกอบการรถแท็กซี่
ประการที่ ๓ นะครับ รถแท็กซี่ป้ายขาวที่เป็นรถ Application ที่ผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมก็ถูกปรับ แล้วก็กลับมากระทำความผิดซ้ำอีกเพราะโทษปรับมันช่างเบา เหลือเกินครับ
สิ่งที่ผมอยากจะหารือท่านประธานในข้อแรกก็คือฝากไปยังกระทรวง คมนาคมและ/หรือกรมการขนส่งทางบกนะครับ ให้ลดต้นทุนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ทั้ง ๓ ป้ายสีให้อยู่ในอัตราใกล้เคียงกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ รถรับจ้างสาธารณะ ขอให้เพิ่มอัตราโทษของผู้ประกอบการรถแท็กซี่นะครับ
ประการถัดมาในข้อที่ ๒ ขอ Slide ถัดไปด้วยนะครับ ข้อที่ ๒ ที่ผมหารือ ท่านประธานนะครับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการฝ่าธงแดงลงเล่นน้ำทะเลจำนวน ๕ ราย ผมหารือท่านประธาน ขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ เพิ่มอำนาจให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรามนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิด การสูญเสียของนักท่องเที่ยวที่ฝ่าธงแดงลงเล่นน้ำในจังหวัดภูเก็ต
ข้อหารือข้อสุดท้ายในข้อที่ ๓ นะครับ เป็นเรื่องห้องน้ำโรงเรียนครับ ผมได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานไปโรงเรียนในโรงเรียนของรัฐหลายแห่งว่า ห้องน้ำโรงเรียนไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เป็นไปตามคู่มือการจัดการส้วมสาธารณะของกรมอนามัย และไม่เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ระยะที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ถึงพุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไป เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เมื่อได้รับข้อร้องเรียน ผมลงตรวจสอบพื้นที่จริง ได้พบว่า โรงเรียนหลายแห่งมีห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะนะครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี ๒๕๖๕ ๒ ประเด็นครับ
ประเด็นที่ ๑ คือประเด็นทางด้านกฎหมาย สมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการตั้งสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้าง ความสามัคคีปรองดองหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ป.ย.ป. ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินงบประมาณ หมดไปเท่าไรแล้วกับสำนักงานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้าง TDRI ให้ทำแผนปฏิรูป กฎหมาย หมดเงินงบประมาณไปตั้งกี่ล้านบาท จำนวนกฎหมายทั้งสิ้นที่มีการศึกษา ๑,๐๙๔ กระบวนงาน มีจำนวน ๑,๐๒๖ กระบวนงาน หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ ๘๕ เกิดจากระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย ซึ่งหากภาครัฐยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ตามข้อเสนอของผลการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถประหยัดต้นทุน ในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ถึงปีละไม่น้อยกว่า ๑๓๓,๘๑๖ ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ ๐.๘ ของอัตรา GDP เท่ากับว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนได้น้อยมาก เสมือนหนึ่งว่าเอารายงานไปซุกอยู่ในลิ้นชัก เพราะปัจจุบัน ประชาชนยังคงต้องทุกข์ยากกับใบอนุญาตต่าง ๆ ของรัฐบาล ตอนนี้คนไทยต้องเจ็บใจ กับคำว่า เทคนิคในการหาเสียง แต่หลังจากที่ผมอภิปรายในวันนี้แล้ว คนไทยยังต้องเจ็บใจอีก กับคำว่า เทคนิคการทำรัฐประหาร โดยการอ้างว่ามาปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ยังคงลำบากกับใบอนุญาตที่มีอยู่อย่างมากมาย ขอ Slide ด้วยครับ
ขออนุญาตท่านประธาน ทดเวลาให้ด้วยนะครับ ไม่ขึ้นภาพ Slide ที่ปรากฏอยู่เป็น Slide แผ่นที่ ๑ ก็คือ ป.ย.ป. ขออนุญาตไป Slide แผ่นที่ ๒ เลยครับเพื่อความรวดเร็ว ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่จำเป็นไปได้ ถึงร้อยละ ๔๘ ทำให้รัฐบาลเกาหลีประหยัดเงินให้กับรัฐบาลไปถึงร้อยละ ๔.๔ ของ GDP ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปรับตัวขึ้นสูงมากจนสามารถขับเคลื่อนประเทศเกาหลี ไปยืนอยู่ในเวทีระดับโลกได้ ถัดมาผมขอยกตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระทบกับ พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องในจังหวัดภูเก็ตที่ต้องทุกข์ยากกับกฎหมายที่ล้าสมัย และไม่จำเป็น
ประเด็นที่ ๑ เรื่องใบอนุญาตโรงแรม ขอ Slide แผ่นที่ ๓ เลยครับ รัฐบาล ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม SMEs ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายที่เกี่ยวกับโรงแรมยังมีกฎหมายอื่น ๆ อีก เช่นประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเรื่องเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อที่ ๗ กำหนดให้ต้องมีพื้นที่ว่างในบริเวณที่ ๑ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ และกำหนดให้มีพื้นที่ว่างในบริเวณที่ ๒ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ทำให้พื้นที่ของเกาะภูเก็ตทางทิศตะวันตกทั้งซีกไม่สามารถขอใบอนุญาตโรงแรมได้ ทางสมาคมที่พัก Boutique ภูเก็ต เคยขอให้รัฐบาลงดเว้นการบังคับใช้ประกาศกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ในประเด็นของพื้นที่ว่าง และในส่วนของอาคาร ที่ก่อสร้างมาก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยัง ป.ย.ป. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมาช่วยดูด้วยครับ กระบวนการต่อใบอนุญาตโรงแรมในคู่มือของกรมการปกครองเขียนไว้ ว่าใช้เวลาถึง ๖๖ วัน แต่จริง ๆ แล้วใช้เวลามากกว่านั้นอีกครับ เพราะต้องมีการตั้งกรรมการตรวจโรงแรมถึง ๒ ครั้ง ผมตั้งคำถามครับว่าทำไปเพื่ออะไร ผมได้รับแจ้งมาว่าจังหวัดกระบี่ใช้เวลาเป็นปีในการขอใบอนุญาตโรงแรมใหม่ รวมถึง การขอต่อใบอนุญาตโรงแรม จนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรากฏข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุมปลัดอำเภอในพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ จากการเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ไม่แน่ใจว่ามันจะเกี่ยวข้องกับความล่าช้า ในการออกใบอนุญาตโรงแรมตามกฎหมายหรือไม่ครับ และนอกจากใบอนุญาตโรงแรมแล้ว สิ่งที่ประชาชนยังต้องทุกข์ยากก็คือใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ทำไมจึงไม่ปรับกระบวนการ ให้ง่ายขึ้น เช่นส่งเอกสารไปทาง Website แล้ว Print ใบอนุญาตออกมาได้เลย มิฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังต้องไปพึ่ง Agency หรือนายหน้าในการขอออกใบอนุญาต และบางครั้งจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่ได้ไปขอใบอนุญาตให้กับลูกจ้างทำให้ถูกจับกุม
ขอ Slide แผ่นที่ ๔ ด้วยครับ ยังมีใบอนุญาตอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ ขอสั้น ๆ ครับ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ที่รัฐบาลไม่ได้ปรับปรุง ตามรายงานของ TDRI เลย ยังคงต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ยังคงต้องถ่ายสำเนา ทะเบียนบ้านลงลายมือชื่อ สุดท้ายนี้ผมอยากให้ทุกกระทรวงในรัฐบาลเปิดรายงานของ TDRI ออกมาขับเคลื่อนเสียทีเถอะครับ หากรัฐบาลตั้งใจที่จะปฏิรูปกฎหมายจริง ๆ โดยไม่เป็น เทคนิคในการทำรัฐประหาร รัฐบาลควรใช้เวลาไม่เกิน ๑-๒ ปีในการขับเคลื่อน และจะ สามารถขับเคลื่อนได้ครบทั้งเล่มรายงาน
อีกประเด็นหนึ่งคือด้านการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบครับ ขอ Slide แผ่นที่ ๕ ครับ สัปดาห์ที่แล้วมีเจ้าหน้าที่จับกุม หัวหน้าช่างฝ่ายควบคุมอาคารของหน่วยงานเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ในข้อหา เรียกรับเงินสินบน ๒๕๐,๐๐๐ บาท แลกกับการเปลี่ยนออกใบอนุญาต เปลี่ยนแปลงประเภท การใช้อาคาร ผมพบว่าผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ให้หน่วยงานนี้ อยู่ในระดับ AA ด้วยคะแนนสูงถึง ๙๗.๒๙ ไม่ทราบว่าเกณฑ์การประเมินเป็นอย่างไร จึงย้อนแย้งกับความเป็นจริงถึงเพียงนี้ ถึงเวลาสมควรแล้วหรือยังที่เราจะต้องปรับปรุง หลักเกณฑ์
นอกจากนี้ผมยังพบว่าดัชนีการรับรู้การทุจริต ภาษาอังกฤษเรียกว่า Corruption Perception Index หรือย่อว่า CPI คะแนนของประเทศไทยในปีที่ทำรัฐประหาร อยู่ที่ ๓๘ หลังจาก พลเอก ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศ คะแนนลดลงต่ำกว่าปีที่ทำรัฐประหาร โดยปีล่าสุดพุทธศักราช ๒๕๖๕ อยู่ที่ ๓๖ คะแนน ดูได้จากกราฟ ขอ Slide แผ่นถัดไปครับ นั่นแปลว่าการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งเป็นเพียงเทคนิคในการทำรัฐประหารใช่หรือไม่ ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอหารือท่านประธานดังนี้ ขอ Slide แผ่นที่ ๑
เรื่องที่ ๑ เกาะมะพร้าว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต มีความเป็นธรรมชาติ สามารถพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ มีประชากรบนเกาะมะพร้าวราว ๘๐๐ คน ประสบความเดือดร้อน ในการสัญจรไปยังภูเก็ต เนื่องจากเรือไม่สามารถเข้าออกท่าเรือแหลมหินได้ในช่วงน้ำลง ได้ร้องเรียนไปยัง อบต. เกาะแก้วตั้งแต่ปีที่แล้วได้ความว่า อบต. เกาะแก้วไม่สามารถทำ การขุดลอกท่าเรือได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดภูเก็ต
เรื่องที่ ๒ พื้นที่จอดรถสาธารณะบริเวณท่าเรือแหลมหินไม่เพียงพอ ทำให้ ประชาชนชาวเกาะมะพร้าวต้องไปเช่าที่จอดรถจากเอกชนในราคาสูง รบกวนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดหาที่จอดรถสาธารณะให้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ชาวบ้านอาศัยอยู่ชุมชนหินลูกเดียวบนเกาะมะพร้าวได้รับอนุญาต จาก คทช. แล้ว แต่ทางเข้าชุมชนเป็นที่ดินเอกชนไม่สามารถปักเสาไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้าน ต้องใช้ไฟฟ้าพ่วงจากเอกชนในราคาแพง ขอฝากการไฟฟ้าเร่งประสานงาน ขอใช้พื้นที่ เพื่อปักเสาไฟฟ้าด้วยครับ
เรื่องที่ ๔ ประชาชนบนเกาะมะพร้าวต้องการให้สร้างสะพานจากภูเก็ต ไปยังเกาะมะพร้าว ขอฝากให้กระทรวงคมนาคมตั้งงบศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ ให้ทันพระราชบัญญัติงบประมาณปี ๒๕๖๗ ด้วยครับ
เรื่องที่ ๕ ประชาชนอีกหลายชุมชนในจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้า เนื่องจากอยู่ระหว่างรออนุมัติเอกสารสิทธิจาก คทช. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ ตรวจสอบไปเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ผมยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้า ขอให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยินยอมให้ประชาชนขอมิเตอร์ไฟฟ้าจากทะเบียนบ้านชั่วคราว ตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลขที่ ๑๔๗-๑๕๑/๒๕๖๕ ด้วยครับ
เรื่องที่ ๖ สืบเนื่องจากการอภิปรายเรื่องรถสาธารณะ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ที่ผ่านมา ผมได้ติดตามขอรายงานการประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกจังหวัดภูเก็ต ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ เพื่อแจ้งความคืบหน้าให้กับประชาชนทราบ แต่ผมยังได้รับรายงานการประชุมดังกล่าว ฝากท่านประธานติดตามให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดังนี้ครับ
ด้วยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมาก แต่การดำเนินการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ตเผื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนและนักท่องเที่ยว ยังมีความล่าช้าและยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ ปัญหาดังกล่าวในหลายด้าน ขอ Slide แผ่นที่ ๑ ครับ
๑. การเกิดอุบัติเหตุในบริเวณ ทางขึ้นเขาไปตำบลป่าตองในระหว่างปี ๒๕๕๖-๒๕๖๕ มีผู้เสียชีวิต ๒๕ ราย และมี ผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน ๒,๘๔๔ ราย เนื่องจากการจราจรบนเส้นทางคดเคี้ยวและสูงชัน มีการศึกษาเพื่อจัดสร้างโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ และความคืบหน้า ล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมการคัดเลือก เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าไม่มีภาคเอกชน รายใดมายื่นซองเอกสารข้อเสนอครับ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ ๑ ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตถึงห้าแยกฉลองและส่วนต่อขยายไปยัง ท่าฉัตรไชยปรากฏว่ามีความล่าช้า โครงการดังกล่าวเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ แล้ว มีการเปลี่ยนรูปแบบโครงการในรูปแบบต่าง ๆ เช่นรถไฟรางเบาหรือรถ EBRT ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า กรมรถไฟสังกัดกระทรวงโยธาธิการซึ่งมีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๓๓ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางรถไฟมายังจังหวัดภูเก็ตแม้แต่เส้นทางเดียว โดยโครงการทางรถไฟ สายสุราษฎร์ธานี-พังงา (ท่านุ่น) เริ่มมีการศึกษาโครงการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ที่จะเชื่อมกับ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต การรองรับผู้โดยสารทางเรือของหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่เข้าจอดแวะที่หาดป่าตอง จังหวัด ภูเก็ตเป็นประจำ ซึ่งท่าเทียบเรือหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นท่าเรือขนาดเล็กรองรับ ผู้โดยสารได้ครั้งละไม่มากและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีท่าเรือไว้รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า Cruise Terminal ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้มีการตั้งงบประมาณ ๗๐ ล้านบาทเพื่อศึกษาโครงการ ไปตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ โครงการทางพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ โครงการนี้เริ่มมีการศึกษามา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ปัจจุบันก็ยังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น โครงการนี้จะเป็นการแก้ไข ปัญหาจราจรบนถนนเทพกระษัตรีซึ่งเป็นถนนสายหลักเพียงสายเดียวของจังหวัดภูเก็ต ที่ในปัจจุบันนี้มีปัญหาการจราจรติดขัดมากโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน หากมีอุบัติเหตุ เกิดขึ้นบนเส้นทางนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงที่จะตกเครื่องบินสูง สนามบินภูเก็ต ได้ให้บริการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มศักยภาพแล้ว เนื่องจากไม่มีพื้นที่ ว่างเพิ่มเติมให้กับทางวิ่งหรือ Runway ได้และมีระยะทางวิ่งค่อนข้างสั้นประมาณ ๓ กิโลเมตร เท่านั้น แต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ชะลอโครงการสนามบิน ภูเก็ตแห่งที่ ๒ ตำบลโคกกลอยและตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จากสาเหตุ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนสนามบินกระบี่เข้ามาดูแล จึงขอเรียนถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ๑. กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งรัด การจัดทำโครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับ การให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวหรือไม่ และสามารถจะดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อใด ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ คำถามที่ ๒ กระทรวงคมนาคมจะสามารถ ใช้งบประมาณของภาครัฐในการดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในจังหวัดภูเก็ตเผื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในกรณีที่ไม่มี ภาคเอกชนรายใดยื่นข้อเสนอดำเนินการก่อสร้างได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วย ขอบคุณครับ
มีคำถามเพิ่มเติมครับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ พรรคก้าวไกล เขต ๑ ภูเก็ต ขออนุญาตสอบถาม เพิ่มเติมท่านรัฐมนตรีครับ ก่อนจะเข้าสู่คำถาม สั้น ๆ พอดีท่านรัฐมนตรีไม่ได้ตอบในเรื่องของ โครงการรถไฟรางเบาว่าท่านมี Timeline จะเริ่มโครงการเมื่อไร อย่างไร แต่ท่านไปตอบ เอาประเด็นเรื่องของทางลอดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทรซึ่งผมไม่ได้ถาม ทีนี้ผมขอให้ท่านรัฐมนตรีช่วยตอบหน่อยว่า Timeline ของรถไฟรางเบาเมื่อไรจะเริ่ม โครงการ แล้วยังมีอีก ๒ Timeline ที่ท่านรัฐมนตรีไม่ได้ตอบก็คือโครงการรถไฟ สายสุราษฎร์ธานี-พังงา (ท่านุ่น) ที่ท่านบอกว่าอยู่ระหว่างการศึกษา อันนี้ท่านก็ไม่ได้ตอบ Timeline ว่าจะเริ่มโครงการได้เมื่อไร และอีกประการหนึ่ง โครงการท่าเรือ Cruise Terminal หรือท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ท่านก็ไม่ได้ตอบ Timeline ฉะนั้นคำถามแรกขอให้ท่านรัฐมนตรี ช่วยตอบ Timeline ของแต่ละโครงการ ๓ โครงการดังกล่าวให้ชัดเจนด้วยครับ
คำถามเพิ่มเติมคำถามที่ ๒ โครงการสำคัญจากทั้งหมด ๖ โครงการที่ผม นำเรียนท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แก่
โครงการที่ ๑ ก็คือสายกะทู้-ป่าตอง มีคำถามผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าขอให้เริ่ม การก่อสร้างให้ทันปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ได้หรือไม่
ถัดมาคำถามเพิ่มเติมนะครับ โครงการรถไฟรางเบาอยู่ใน Slide แผ่นที่ ๒ และโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ใน Slide แผ่นที่ ๕ ที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่าสายทางพิเศษนี้จะเริ่มปี ๒๕๗๒ ขออนุญาตกราบเรียนตรง ๆ ว่าคนภูเก็ตรอรถไฟรางเบามา ๓๐ ปีแล้ว ทุกวันนี้ยังไม่ได้ โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้รอมา ๑๐ ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ ตอนนี้ภูเก็ตรถติดหนักมาก คนภูเก็ตรอไม่ไหวอีกต่อไปแล้วครับ
คำถามสุดท้าย ขอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้เริ่มการก่อสร้างโครงการที่ ๑ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง โครงการรถไฟรางเบา และโครงการพิเศษ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ให้ทันปีงบประมาณ ๒๕๖๗ และปี ๒๕๖๘ ได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดังนี้ครับ
ด้วยประชาชนที่อาศัย อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต กำลังได้รับความเดือดร้อน จากการปล่อยควันและน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว มาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว ทำให้ประชาชนเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพทั้งทางด้าน ทางเดินหายใจและการใช้น้ำที่มีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งทางเทศบาลตำบลรัษฎาและสำนักงาน อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบโดยเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสีย และตรวจสอบค่าการปล่อยควันพิษเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วแต่ขณะนี้ยังไม่มี ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอเรียนสอบถามว่า
๑. ภาครัฐมีมาตรการในการควบคุมการปล่อยควันพิษและการปล่อยน้ำเสีย อย่างไร เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดปัญหาการปล่อยควันพิษและน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ขอทราบรายละเอียดครับ
๒. รัฐบาลสามารถเร่งรัดแก้ไขปัญหาการปล่อยควันพิษและน้ำเสียลงสู่ แหล่งน้ำสาธารณะของโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวให้แล้วเสร็จเมื่อใด ขอทราบรายละเอียดครับ
๓. รัฐบาลจะสามารถมีคำสั่งให้โรงงานที่ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวพักใบอนุญาต การดำเนินกิจการจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาการปล่อยควันพิษและน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ สาธารณะได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดครับ ขอบคุณครับ
เดี๋ยวจะมีรอบ ๒ ด้วยครับ
ใช่ ลงรายละเอียดครับ
เรียนท่านประธาน ผม ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ผมขอสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ในส่วนของน้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงานแห่งนี้ที่ท่านได้ชี้แจงแล้วว่า ๓ ตุลาคม ผล OK แล้ว ใช่ไหมครับ ผมจะขอสอบถาม
ที่อยู่ตรงหน้าท่านรัฐมนตรี ก็คือผมและ สส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลได้สอบถามกับทางเจ้าของโรงงานว่า น้ำนี้มาจากไหน ก็ได้รับคำตอบว่าน้ำนี้เป็นน้ำบ่อ ใช่ไหมครับ ก็คือขุดเอง ไม่ได้เป็นน้ำของ การประปาส่วนภูมิภาค พอถามถึงว่าแล้วปริมาณน้ำที่เข้ามีมิเตอร์ มีซับมิเตอร์หรือเราจะ ตรวจสอบได้อย่างไรว่าที่คุณบอกว่า ๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในเมื่อเรายังไม่รู้เลยว่า น้ำคุณเข้ามาเท่าไร แล้วผมถามกับทางโรงงาน โรงงานก็ตอบไม่ได้ว่าน้ำเข้าแต่ละวัน คือเขาไม่ตอบเลยว่าเข้ามาในแต่ละวันเป็นจำนวนกี่ลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นแล้วตรงนี้ ก็อยากจะตั้งคำถามว่า แล้วที่เขาบอกว่า ๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แล้วถ้าเกิดว่ามันเข้ามา ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตรแต่บำบัดแค่ ๕๐ ลูกบาศก์เมตร แล้วอีก ๕๐ ลูกบาศก์เมตรมันไปไหน อันนี้คือคำถามที่สำคัญมากว่า แล้วเข้ากับออกเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเท่ากัน ปริมาณน้ำที่ เรารับเข้ามาแล้วผ่านกระบวนการต้มแล้วก็ออกไปจากโรงงานอย่างนี้มันมีจำนวนที่เท่ากัน อย่างไรตรงนี้ผมว่าผมต้องมีมาตรการตรวจสอบว่าน้ำเข้ามาอย่างไร วันนี้ที่บอกว่าน้ำ OK แล้วผมก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามันไม่ Make sense เลยว่าคุณไม่รู้ คุณไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ว่าน้ำเข้ามาในแต่ละวันมีปริมาณเท่าไร ไม่มีตัวชี้วัด อะไรเลย อันนี้ในส่วนของน้ำนะครับ
ในส่วนของควัน จากที่ผมลงพื้นที่ก็พบว่าทุกครั้งที่ลงไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืนจะพบว่าในแต่ละครั้งควันที่ออกจากปล่องทั้งสีขาวและทั้งสีดำ บางครั้งเป็นสีดำ ออกเหลือง ๆ ทราบจากอธิบดีกรมควบคุมมลพิษหลังจากที่ผมได้ลงไปพบท่าน เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนตรงนี้ ก็ได้รับทราบว่าทางท่านได้ส่งทางสิ่งแวดล้อมพื้นที่ที่ ๑๕ จังหวัดภูเก็ตลงไปตรวจสอบ ทีนี้พอลงไปตรวจสอบแล้วก็ได้รับแจ้งว่ากลุ่มควันสีขาวบางที มันเป็นแค่เขม่าอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นควันพิษ แต่ทั้งนี้มันไม่ได้เป็นควันขาวอย่างเดียว ในรายงานที่ผมเห็นที่ทางท่านอธิบดีส่งให้ผม ทางอธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่ได้กล่าวถึง กลุ่มควันที่เป็นสีดำว่า แล้วกลุ่มควันสีดำตรงนั้นมันส่งผลกระทบอย่างไร อันนี้ในส่วนของ เรื่องควันนะครับ
ในส่วนถัดมา โรงงานแห่งนี้ถ้าข้อมูลผมตามที่ได้รับมามันก่อตั้งมา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ปีนี้ก็ปี ๒๕๖๖ แล้ว หากว่าเมื่อพบว่ามีการปล่อยควันแล้วก็น้ำเสียลงสู่ แหล่งน้ำสาธารณะ ผมอยากจะฝากท่านรัฐมนตรีให้ตรวจสอบลึกลงไปกว่านั้นว่ามันผ่านมา เป็นระยะเวลากี่สิบปีแล้วที่เขาปล่อยควัน ซึ่งจะเป็นควันพิษหรือไม่เดี๋ยวต้องไปพิสูจน์กัน อีกทีหนึ่งตามรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วถ้าเขาปล่อยน้ำ
ได้ครับท่านประธาน ขออภัยครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งก็คือว่ามันเป็นสีขาวออกมาก็คือเส้นก๋วยเตี๋ยว แล้วบางครั้งก็เป็นสีเหลือง พอดีไม่ได้เอา Slide มาด้วย มันทั้งขาวและทั้งเหลือง ตรงนี้ ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าบริเวณรอบนอกมันก็จะมีร้านซักผ้าอะไรด้วย เขาก็สันนิษฐานว่าไม่ใช่มาจากโรงงานแห่งนี้เพียงแห่งเดียว แต่เมื่อได้ลงพื้นที่แล้วสอบถาม กับชาวบ้านก็พบว่ามันเป็นสีที่ชาวบ้านยืนยันว่าออกมาจากโรงงานแห่งนี้และเป็นโรงงาน ที่มีขนาดใหญ่ ผมได้รับแจ้งจากทางโรงงานว่าหลังจากที่ผมลงพื้นที่พร้อมกับ สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล ได้รับแจ้งว่ามีการเพิ่มหม้อต้มแล้วมีการเปลี่ยนชนิด ของฟืน จากที่ก่อนหน้านี้ใช้ไม้ฟืนไม้ยางขนาดใหญ่ แล้วทางโรงงานก็ได้ตอบว่าที่เกิดควันเยอะ ก็เพราะว่าระบบการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เนื่องจากในไม้ฟืนมันมีขนาดใหญ่และมีความชื้น หลังจากวันนั้นเราก็เลยสอบถามทางโรงงานว่าแล้วจะแก้ไขอย่างไร ก็ทราบว่าทางโรงงาน ได้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยใช้ไม้ฟืนที่มีขนาดเล็กลง แล้วก็เพิ่มหม้อต้ม แล้วก็เพิ่มการฉีดสเปรย์ ทั้งนี้ทั้งนั้นหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงตามที่ท่านรัฐมนตรีชี้แจงแล้วที่ว่าตาม มาตรา ๓๗ ปรากฏว่าทุกวันนี้จนถึงวินาทีนี้ผมยังได้รับ Clip Video จากชาวบ้านแทบจะทุกวัน หรือวันเว้นวันเลยก็ได้ว่าท่าน สส. มันยังขาวอยู่เลย แล้วบางครั้งก็ยังเป็นควันสีดำอยู่เลย ไหนท่านบอกว่าทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบแล้ว ตรงนี้ผมก็อยากจะให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทบทวนว่าที่ผ่านมา
๑. จะมีมาตรการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางเดินหายใจหรือไม่ ผมได้ไปพบกับชาวบ้านเขาต้องพกเครื่องพ่น เขามีถุงยาเป็นกล่องเลย ผมยืนยันว่าเป็นลังเลย ที่ต้องไปพบแพทย์จากปัญหาที่สูดควันพิษเข้าไป แล้วหลังจากที่ผมลงไปได้ไม่นานทางโรงงาน ได้ถือกระเช้าไปขอโทษคุณลุงประเสริฐและชาวบ้านใกล้เคียง แต่คุณลุงก็ได้ปฏิเสธไป ผมเห็นว่าตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันเกิดมา ๑๐ ปีแล้ว ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ฟังแล้ว น่าหดหู่ใจ คุณลุงและชาวบ้านซอยพะเนียงตรงนี้เคยมีการยื่นเรื่องร้องเรียนโรงงานแห่งนี้ แทบจะทุกระดับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ปรากฏว่า สิ่งที่คุณลุงได้คำตอบก็คือรับเรื่องไว้แล้วเดี๋ยวจะดำเนินการให้ แต่สุดท้ายคุณลุงก็บอกว่า เรื่องก็เงียบ ยื่นไปทีไรเรื่องก็เงียบ วันนี้พอ สส. ลงไปพอเรามีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เป็น สส. ของพรรคก้าวไกลลงไป ทุกคนดูเหมือนจะมี Action มีการตอบรับว่าจะมีการเริ่ม กระบวนการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ก็หวังว่าเรื่องคงจะไม่เงียบอีกต่อไป อย่างไร ผมขอฝากท่านรัฐมนตรีด้วยครับ
คำถามแรก ถามรัฐมนตรีว่า ในส่วนของน้ำท่านจะมีมาตรการตรวจสอบปริมาณน้ำเข้าได้อย่างไร แล้วจะทราบ ผลการตรวจสอบได้เมื่อใด
๒. การขยายระยะเวลาให้ส่งผลเรื่องควันที่ปล่อยออกจากปล่องควันที่ท่าน บอกว่าอยู่ระหว่างขยาย แล้วจริง ๆ แล้วมันถึง ๑๕ กันยายน แล้วยังมีการขยายขอตั้งคำถาม ท่านรัฐมนตรีว่ามันขยายได้กี่ครั้ง แล้วมันจะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อไร
คำถามสุดท้ายเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาเป็นไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีแล้ว หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากทั้งควันแล้วก็น้ำเสีย ที่ปล่อยออกจากโรงงานสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้อย่างไร แล้วจะมีมาตรการเยียวยาเมื่อไร ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทาง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก ดังนี้
รถรับจ้างในภูเก็ตปัจจุบันมีอยู่ ๓ ประเภทครับท่านประธาน คือ ๑. รถรับจ้างป้ายเหลือง หรือ ร.ย.๖ ๒. รถรับจ้างป้ายเขียว หรือ ร.ย.๙ และ ๓. รถรับแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ร.ย.๑๘ โดยกฎกระทรวง รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร.ย.๑๘ นั้นเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมาบังคับใช้ ส่วนรถป้ายเหลืองและป้ายเขียว เดิมเป็นกฎหมายเก่าที่ออกมาใช้นานแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เงื่อนไขของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ ร.ย.๑๘ นั้นมีความยืดหยุ่นสูงกว่า ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่ารถรับจ้างป้ายเหลืองและป้ายเขียว จนทำให้รถประเภทเดิมแข่งขัน ลำบากครับ ผมอยากให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ทำการศึกษาปรับปรุงกฎหมายให้เกิด ความเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันได้ด้วยครับ ผมเห็นป้าย ประชาสัมพันธ์ของกรมการขนส่งทางบก แจ้งว่ามี Application เรียกรถที่ได้รับการรับรอง ทั้งหมด ๗ บริษัท และยังไม่ได้รับการรับรองอีก ๒ บริษัท ทำให้ผมเข้าใจว่า Application ที่ได้รับ การรับรองจะไม่มีรถผิดกฎหมายที่ไม่ได้จดทะเบียน ร.ย.๑๘ ให้บริการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พบว่า Application ที่ได้รับการรับรองก็ยังมีรถผิดกฎหมายให้บริการอยู่ และรถที่ผิดกฎหมาย หากโดนจับกุมก็จะมีโทษปรับเพียง ๒,๐๐๐ บาทเท่านั้นครับท่านประธาน ซึ่งตรงจุดนี้ ก็อยากจะให้คณะกรรมาธิการศึกษาความเหมาะสมของโทษด้วยครับ เพราะในปัจจุบัน เมื่อถูกปรับก็สามารถกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นนั้นคุ้มค่ากับ การจ่ายค่าปรับตรงนี้ครับ สาเหตุที่ Application เรียกรถที่ได้รับการรับรองยังมีรถผิดกฎหมาย ให้บริการอยู่ ผมทราบมาว่าหน่วยงานที่รับรอง Application เรียกรถรับจ้างกลับไม่ใช่ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม แต่เป็นสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ซึ่งสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ ถือกฎหมายคนละฉบับทำให้รถที่ผิดกฎหมายก็สามารถให้บริการใน Application ที่ได้รับ การรับรองได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทั้ง ๒ หน่วยงานนี้แต่ประการใด แต่เป็นความผิดของ ระบบราชการรวมศูนย์แบบ Silo ของรัฐบาลไทยต่างหาก บางครั้งขนาดกระทรวงเดียวกัน แต่อยู่กันคนละกรมก็ยังไม่คุยกันเลย ผมจึงขอฝากท่านประธานสร้าง LINE Group ให้ ทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ให้เขาได้ประสานงานกันด้วยครับ แล้วก่อนที่จะจัดการกับรถผิดกฎหมาย ผมขอให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จัดการกับ Application ที่ไม่ได้รับ การรับรองก่อน มิฉะนั้นแล้วรถผิดกฎหมายก็จะถูกตัดออกจาก Application ที่ได้รับการรับรอง แล้วเขาก็จะไปอยู่กับ Application ที่ไม่ได้รับการรับรองเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาครับ ท่านประธาน สุดท้ายแล้วจะทำให้ Application ที่ได้รับการรับรองจะเสียเปรียบในการแข่งขัน เนื่องจาก มี Partner น้อยกว่าคู่แข่ง จนต้องมาขอคืนใบรับรองให้กับทางราชการเพื่อไปอยู่ในกลุ่ม Application ที่ไม่ได้รับการรับรอง ทาง อบจ. จังหวัดภูเก็ตไม่สามารถเดินรถประจำทางได้ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ ของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พุทธศักราช ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงที่เก่ามาก ไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์การขออนุญาตเดินรถไว้ ผมขอฝาก ท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมให้เร่งแก้กฎกระทรวงนี้ให้ด้วยครับ
สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของจังหวัดภูเก็ต ปี ๒๕๖๕ เสียชีวิตทั้งหมด ๑๓๗ ราย เป็นชาวต่างชาติ ๓๒ ราย บาดเจ็บทั้งหมด ๑๗,๑๘๖ ราย เป็นชาวต่างชาติ ๗,๙๑๗ ราย ใน ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๖๖ ก็คือปีนี้ เสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด ๑๑๙ ราย เป็นชาวต่างชาติ ๒๙ ราย และบาดเจ็บทั้งหมด ๑๖,๐๐๒ ราย เป็นชาวต่างชาติ ๓,๒๔๐ ราย โดยร้อยละ ๘๔ เกิดจากยานพาหนะประเภทรถจักรยานยนต์ และในส่วนของชาวต่างชาตินั้น พบว่ายังมีความสัมพันธ์กับการที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยว ต่างก็คำนึงถึงในการเลือกเดินทางมายังประเทศเพื่อมาท่องเที่ยว เมื่อเราพบว่าอุบัติเหตุ บนท้องถนนของชาวต่างชาติมีสูง และยังมีความสัมพันธ์กับการไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ผมจึงขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ทำการศึกษาพระราชบัญญัติรถยนต์ มาตรา ๕๖ ว่าสมควรแล้วหรือยังที่จะเพิ่มอัตราโทษผู้ให้เช่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ไม่มี ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์หรือไม่ อย่างไร เพราะกฎหมายปัจจุบันมีอัตราโทษเพียง ปรับไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาทเท่านั้น
ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวมาก เป็นอันดับ ๑ จำนวน ๑,๙๔๘,๕๔๙ คน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทางบก ผมได้รับเรื่องร้องเรียน จากนายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงครับว่ารถนำเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เหล่านั้นไม่สามารถเดินทางออกจากจังหวัดสงขลาได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขตามประกาศ จังหวัดสงขลา เรื่องการนำรถโดยสารที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ในข้อที่ ๓ ที่สั่งให้ขนส่งจังหวัดอนุญาตให้รถต่างประเทศ เดินทางออกจากจังหวัดสงขลาได้จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เท่านั้น ทำให้หลังจากนั้น รถนำเที่ยวจากประเทศมาเลเซียไม่สามารถทำการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้อีก มีผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการท่องเที่ยวสูงมาก ผมจึงขอตั้งคำถามว่าผู้ว่าราชการ จังหวัดสงขลาไปเอาอำนาจสั่งการแบบนี้มาจากไหนครับท่านประธาน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยควรจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอย มากที่สุดตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ผมจึงขอให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ รวมถึง ท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนี้
จากการปิดอุโมงค์ทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ กับ ๔๐๒๐ จังหวัดภูเก็ต ทางลอดแยกดาราสมุทร ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เนื่องจากมี น้ำท่วมในทางลอด อันเนื่องมาจากเครื่องสูบน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำสำรองไม่สามารถ ใช้งานได้ แขวงทางหลวงภูเก็ตได้ทำการจัดจ้างซ่อมระบบเครื่องสูบน้ำในอุโมงค์มีกำหนด สิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ โดยในระหว่างนี้แขวงทางหลวงภูเก็ตได้ขอใช้ เครื่องสูบน้ำจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นการชั่วคราว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถ ทำงานทดแทนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในอุโมงค์จนต้องปิด การใช้งาน ผมมีความเห็นว่าการที่เครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ทางลอดไม่สามารถใช้งานได้ พร้อมกันแบบนี้ จะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนที่ใช้ทางลอด จึงจำเป็นต้องทำให้เครื่องสูบน้ำใช้งานได้ตลอดเวลา การซ่อม บำรุงเชิงแก้ไขหรือ Corrective Maintenance จึงอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงขอเรียนสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบาย ให้มีการทำสัญญาซ่อมบำรุงเชิงป้องกันหรือที่เรียนกว่า Preventive Maintenance กับผู้ผลิตเครื่องสูบน้ำในอุโมงค์ทางลอดได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ
ขอบคุณครับท่านรัฐมนตรี ขออนุญาตถามต่อเลยนะครับ ที่ท่านบอกว่าจะต้องนำเรื่องนี้หารือกับสำนักงบประมาณ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ผมมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นผมจะต้องทำกระทู้ถามเพื่อสอบถาม ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกหรือไม่ ขอคำถามแรกก่อนครับ เดี๋ยวมีอีกคำถามหนึ่งครับ
คำถามแรก ถามท่านรัฐมนตรี ว่าจะต้องให้ผมทำกระทู้ถามไปยังท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่
อีกคำถามหนึ่ง เวลาน้ำท่วมตามภาพที่ปรากฏบน Slide ที่ท่านรัฐมนตรี ได้กรุณานำขึ้น Slide หากว่ามีคนเสียชีวิตหรือมีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากน้ำท่วม ใครจะ รับผิดชอบชีวิตของพี่น้องชาวภูเก็ต รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย และจะรับผิดชอบต่อการสูญเสีย อย่างไร มี ๒ คำถามครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ จากพรรคก้าวไกล ผมขอสนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ แต่ก่อนที่ผมจะเข้าสู่การอภิปราย ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานไปถึงท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จากพรรคภูมิใจไทย เมื่อสักครู่นี้ท่านบอกถึงจังหวัดอันดามัน พอดีเผอิญท่านไม่ได้บอกถึงจังหวัดภูเก็ต ผมขอเรียน ว่าจังหวัดอันดามันที่ทำการประมงยังมีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นไข่มุกอันดามันอยู่ด้วยครับ เมื่อ พูดถึงจังหวัดภูเก็ตหลายท่านนึกถึงเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่ง บันเทิงแสงสีอันดับต้น ๆ ของโลก แต่จริง ๆ แล้วในอีกมุมหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตยังมีกลุ่ม ชาติพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวเลอูรักลาโว้ย ชาวเลมอแกน ซึ่งมีอาชีพหลักเป็น ชาวประมงพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาหลายปีนี้ชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ต้องบอบช้ำ จากกฎหมายประมงที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมารีดค่าปรับจากชาวบ้านผู้ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เป็นกฎหมายที่ไม่เข้าใจถึงวิถีดั้งเดิมของประมงพื้นบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินโดยสุจริต โดยไม่ได้ใช้เครื่องมือต้องห้ามตามกฎหมายแต่ อย่างใด แต่อยู่ดี ๆ รัฐบาลออกกฎหมายประกาศเขตอุทยานตามเกาะต่าง ๆ เมื่อชาวเล โดยเฉพาะชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์ออกไปจับปลา จับสัตว์ทะเลในเขตอุทยานก็จะถูกเจ้าหน้าที่ จับกุม ถูกยึดเรือ ถูกยึดเครื่องมือทำมาหากิน ถูกดำเนินคดี ผมคิดว่าวันนี้ต้องออกมาพูดแทน พี่น้องประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือโทงหัวไม้ รวมถึงพี่น้องชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์ทุกชนเผ่า ไม่ใช่เฉพาะภูเก็ต แต่รวมถึงพี่น้องประมงพื้นบ้านและกลุ่มชาวเลทุกชนเผ่าทั่วทั้งประเทศ ว่าวันนี้ไม่ใช่เฉพาะ พ.ร.ก. การประมงที่ขูดรีดประมงพื้นบ้าน แต่เป็นกฎหมายประมงไปละเมิดการทำมาหากิน โดยสุจริตของชาวประมงพื้นบ้าน โดยการประกาศเขตอุทยาน ชาวประมงพื้นบ้านหลายคน ต้องหยุดประกอบอาชีพประมง หลายคนต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพียงเพราะคนร่างกฎหมาย ไม่เข้าใจบริบทของประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่ออกไปทำมาหากินโดยสุจริตโดนจับ ปรับเป็นแสนเป็นล้านเลยครับท่านประธาน เป็นค่าปรับที่โหดร้ายมากสำหรับคนทำมาหากิน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งรัฐควรจะส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนในการทำ ประมงพื้นบ้าน แต่กลับไม่มีการให้ความรู้ ไม่มีการให้การช่วยเหลือ คอยแต่จ้องจะเอารัด เอาเปรียบกับชาวบ้าน พระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ใช้บังคับกับเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป และใช้บังคับกับเรือประมงพื้นบ้านตามมาตรา ๑๗๔ ส่วนกฎหมายที่มีการแก้ไขในปี ๒๕๖๐ ใช้บังคับกับเรือประมงที่ต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส โดยมีคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔/๒๕๕๘ และคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ไปดำเนินการ ตามคำสั่งดังกล่าวดังต่อไปนี้ครับ
๑. เรือที่มีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส คือเรือที่มีเครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้า ๒๘๐ แรงม้าขึ้นไปถือว่าเป็นเรือประมงพาณิชย์ ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
๒. เรือทุกขนาดที่ใช้เครื่องมือตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ให้เป็นเรือประมงพาณิชย์ ต้องทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง ทะเลเท่านั้น ห้ามใช้เครื่องมือตามประกาศดังกล่าวในเขตทะเลชายฝั่งโดยเด็ดขาด ตามมาตรา ๕ ซึ่งเป็นคำนิยามของเรือประมงพาณิชย์
เรือประมงพื้นบ้านทุกวันนี้โดนจับทั้ง ๆ ที่มีขนาดเพียง ๓ ตันกรอสบ้าง ๔ ตันกรอสบ้าง เป็นเรือประมงตามประกาศคำสั่ง คสช. ข้อที่ ๔ (๑๓) และเป็นเรือประมง ตามมาตรา ๔ (๒) ซึ่งยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับ และเป็นการผ่อนผันให้ประมงพื้นบ้าน ทำการประมงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตก็คือเรือประมง พื้นบ้านที่ใช้ลอบดักปู ขนาดเกินกว่า ๒.๕ นิ้วขึ้นไปเป็นเครื่องมือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้ประกาศว่าห้ามใช้แต่อย่างใด ส่วนเครื่องมือตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ได้แก่ ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบเล็กกว่า ๒.๕ นิ้ว ถือเป็นเครื่องมือต้องห้าม ห้ามใช้ทั้งนอกและในเขตทะเลชายฝั่ง แต่ในเขตกฎหมายผ่อนผัน ให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กใช้ได้ไม่เกิน ๓๐๐ ลูกครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็น พระราชกำหนดก็ดี คำสั่ง คสช. ก็ดี ประกาศกรมประมง มาตรา ๗๐ เรื่องฤดูวางไข่ก็ดี ประมงพื้นบ้านไม่มีความผิด แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ได้ทำการ ตรวจสอบ รวมถึงอาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗๐ การเปรียบเทียบปรับทำให้ประชาชน ที่เป็นประมงพื้นบ้านทุกวันนี้ต่างก็มีความเคลือบแคลงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมอาจจะทำ รายงานเท็จหรืออาจจะไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างครบถ้วน
ส่วนกฎหมายที่ควรได้รับการแก้ไขมานานแล้วก็คือ พ.ร.ก. ประมง ชาวประมงพื้นบ้านไปประท้วงกันเป็นสิบ ๆ รอบ ไปอธิบายให้ฟังกันเป็นสิบ ๆ รอบกลับไม่ได้ อะไรกลับมาเลยครับท่านประธาน ทราบไหมครับว่าวันนี้ทีมงานผู้ช่วยของผมซึ่งอยู่ ฝ่ายกฎหมายต้องไปศาล ต้องไปอัยการ ช่วยเหลือคดีความแก่ชาวประมงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เหล่านั้นจากการที่ถูกริบเรือ ถูกยึดเครื่องมือทำมาหากิน จนต่อมาเมื่อคดีสิ้นสุด ศาลสั่ง ให้คืนเรือ กลับไม่ได้เรือคืนก็ต้องมาร้องเรียนที่ สส. จนผมส่งทีมงานไปก็พบว่าเกิดจาก ชาวบ้านทำเอกสารราชการเพื่อขอของกลางคืนไม่เป็น
อีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก ภูเก็ต เรามีพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งประมงพื้นบ้าน ณ ขณะนี้แทบจะหากินไม่ได้เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้องไปดำน้ำลึก ออกจากชายฝั่งออกไปไกลเป็นโรคน้ำหนีบเนื่องจากการดำน้ำลึก ปัญหาจาก โรคน้ำหนีบคืออะไรครับ ทำให้ประมงพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน พิการไปหลายรายแล้วครับท่านประธาน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำ จังหวัดภูเก็ต มีห้อง Chamber ตู้ Chamber หรือตู้ปรับอุณหภูมิเพียงแค่ ๑ ตู้ มันไม่เพียงพอ ครับ
ผมขอสรุปว่าตามมาตรา ๔ (๒) แห่งพระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้ตราขึ้นมาเพื่อปกป้องและคุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนประมงพื้นบ้าน และชุมชนประมงท้องถิ่น ผมจะขอให้ท่านสมาชิกทุกท่านในที่นี้ได้โปรดเห็นใจชาวบ้าน และสนับสนุนการการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้เพื่อช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ด้วย ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขตที่ ๑ จากพรรคก้าวไกล ขอ Slide แผ่นที่ ๑ ด้วยครับ
จังหวัดภูเก็ตได้เสนอตัวเป็น เจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 โดยใช้พื้นที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาทาง BIE ซึ่งเป็นผู้จัดงานได้ตัดสินเลือกประเทศอื่นในการจัดงานนี้ ทางโรงพยาบาล วชิระภูเก็ต กรมการแพทย์ จึงได้เดินหน้าใช้พื้นที่ตรงนี้ทำศูนย์รักษาสุขภาพองค์รวม หรือ Wellness Center เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแก่ภูมิภาคอันดามัน ซึ่งได้ผ่าน ขั้นตอนการออกแบบและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง สาธารณสุข คณะที่ ๑๓ ด้านนักท่องเที่ยวปลอดภัย ณ กรมควบคุมโรค ทางกรมควบคุมโรค ได้เปลี่ยนแปลงโครงการจากศูนย์รักษาสุขภาพองค์รวมหรือ Wellness Center เป็นศูนย์กักกันโรคติดต่อร้ายแรงหรือ Quarantine Center ต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น Traveler Health Center ให้ดูเบาลง แต่รูปแบบการดำเนินการยังเป็นศูนย์กักกันโรคติดต่อ ร้ายแรงเหมือนเดิม จึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า
๑. ก่อนที่กรมควบคุมโรคจะปรับรูปแบบโครงการนี้ควรที่จะสอบถามประชาชน ในพื้นที่และผู้ประกอบการท่องเที่ยวก่อนหรือไม่
๒. ขอให้ทางกรมควบคุมโรคพิจารณาใหม่อีกครั้งว่าการจะทำศูนย์กักกันโรค บนพื้นที่การท่องเที่ยวอย่างอันดามันนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่
๓. ขอให้กรมควบคุมโรคศึกษาเหตุการณ์จลาจลแทนทาลัมเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ ด้วยครับ
ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนโรงเรียนสตรีภูเก็ตว่าห้องน้ำในชั้น IP ม. ๑ ถึง ม. ๖ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกรมอนามัย ไม่มีการแยกห้องน้ำชายหญิง ผมได้แจ้ง ข้อร้องเรียนและพยายามนัด ผอ. โรงเรียนสตรีภูเก็ตรวมถึง ผอ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อทราบข้อเท็จจริงแต่ก็ไม่ให้เข้าพบ จึงได้ยื่นหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนมอบให้ โรงเรียนสตรีภูเก็ต เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ จนถึงวันนี้ผมยังคงได้รับเรื่องร้องเรียน ในเรื่องเดิมจากเด็กนักเรียน ขอฝากท่านประธานสภาแจ้งข้อร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการด้วย จังหวัดภูเก็ตพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อมีการ Lockdown และปิดประเทศตอนเดือนเมษายน ๒๕๖๓ พี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวภูเก็ตประสบ ภาวะตกงานอย่างกะทันหัน ทางสำนักงานประกันสังคมได้ชดเชยรายได้ ๖๒ เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่ ๓ เดือน และบางคน ไม่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างสักบาท เนื่องจากนายจ้างล้มละลายไม่มีเงินจ่าย จากนั้น ผู้ใช้แรงงานจำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถกู้เงินในระบบได้เนื่องจากตกงาน ทางผู้ใช้แรงงานได้เรียกร้องขอกู้เงินสะสม ของพวกเขาที่สะสมไว้ในสำนักงานประกันสังคมเพื่อใช้จ่ายยามวิกฤติ แต่กลับไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคมไม่ได้เปิดช่องไว้ ทางกระทรวงแรงงานจึงได้ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่เพื่อให้สมาชิกประกันสังคมสามารถกู้เงินสะสม ของตนเองได้ ไม่ทราบว่าเป็นความตั้งใจให้กฎหมายฉบับนี้แท้งหรือไม่ครับ ที่กระทรวง แรงงานใช้เวลาถึงเกือบ ๓ ปีในการร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่โดยได้ยื่นเข้ามา ในสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นเวลาไม่นานก่อนที่จะมีการยุบสภา ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๗ ต้องเริ่มกระบวนการ ยกร่างใหม่ทั้งหมด จึงขอให้กระทรวงแรงงานเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับใหม่กลับเข้าสภา เนื่องจากอนาคตข้างหน้าไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดวิกฤติขึ้นมาเมื่อไร ก็ไม่รู้ ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอสไลด์แผ่นที่ ๑ ครับ
ทุ่นสึนามิหมายเลข ๒๓๔๖๑ ซึ่งเป็นทุ่นเดียวในทะเลอันดามันได้หยุดทำงานไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลาสองทุ่ม ต้องไปใช้งานทุ่นหมายเลข ๒๓๔๐๑ ที่อยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไกลจาก ชายฝั่งประเทศไทย ขณะนี้ผ่านมา ๕ เดือนแล้ว ขอคำชี้แจงจากกระทรวงมหาดไทยว่าทุ่นที่ ทะเลอันดามันจะกลับมาใช้งานได้อีกเมื่อไร สามารถติดตั้ง ๒ ทุ่นในทะเลอันดามันเพื่อสำรอง ได้หรือไม่
สไลด์แผ่นที่ ๒ วันที่ ๒ ธันวาคมมีผู้ขับรถ Application รย ๑๘ ซึ่งเป็น รถรับจ้างที่ถูกกฎหมาย แต่ไม่ถูกใจ คิวรถรับจ้างเจ้าถิ่น ถูกทำร้ายร่างกายจนปอดรั่ว อาการสาหัสที่ มายา บีช คลับ จังหวัดภูเก็ต อีก ๑๐ วันถัดมา ก็เกิดเหตุการณ์ คิวรถรับจ้าง บุกต่อยผู้ขับรถ Application ภายในโรงแรมพูลแมนต่อหน้านักท่องเที่ยวอีก มันไม่ดีแน่ครับ ถ้าหากมีคลิปความรุนแรงเช่นนี้เป็น Viral ออกไปทั่วโลก จะทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยง การมาเที่ยวไทยหรือหลีกเลี่ยงการใช้บริการคิวรถรับจ้าง จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ที่มีรัฐมนตรีบอกว่าจะจัดการผู้มีอิทธิพล เข้ามาป้องกันเหตุเช่นนี้ เกิดซ้ำในอนาคต ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่จัดการให้จบ ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องมาคอย ลุ้นว่าจะเกิดเรื่องอีกครั้งเมื่อไร เพราะความปลอดภัยคือหัวใจของการท่องเที่ยว
ขอสไลด์แผ่นที่ ๓ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณลักษณะ และระบบการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์รับจ้าง ผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อ ๑๒ (๕) ค ระบุให้รถที่บริการใน Application ต้องเป็น รย ๑๘ แต่ในความเป็นจริงรถเถื่อนที่ไม่ใช่ รย ๑๘ ก็สามารถให้บริการผ่าน Application ที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายนี้ จึงขอให้กรมการขนส่งทางบกบังคับใช้กฎหมายที่ตัวเอง เขียนขึ้นด้วยครับ
เรื่องสุดท้ายขอสไลด์แผ่นที่ ๔ มีโครงการห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ขนาด ๘,๘๒๐ ตารางเมตร ตรงข้ามตลาดสดเทศบาลนครภูเก็ตได้รับอนุญาตก่อสร้างแล้ว แต่ในจังหวัดภูเก็ตมีกฎกระทรวงห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อที่ ๒ (๑) ระบุห้ามสร้างห้างค้าปลีก ค้าส่ง ขนาดเกินกว่า ๓๐๐ ตารางเมตร ในพื้นที่นี้ จึงขอหารือไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า ใบอนุญาตนี้ถูกต้องตาม กฎกระทรวงหรือไม่ รวมถึงมีการเลี่ยงกฎหมายโดยการขออนุญาตเป็นสำนักงานหรือไม่ ขอบคุณครับ
เรื่องประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาตตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีดังต่อไปนี้ ขอสไลด์แผนที่ ๑ ครับ
ต้องรอสไลด์ครับท่านประธาน
ขอบคุณครับ ภาพที่ท่านเห็น อยู่ตรงหน้านี้ คือเด็ก ๆ ที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ต้องเดินข้ามน้ำเพื่อไปโรงเรียน ด้านข้าง จะเห็นว่ามีแต่ตอม่อแต่ไม่มีสะพาน ผมเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะเด็ก ๆ ที่กำลังเดินข้ามสะพาน เหล่านี้ แต่ยังมีพี่น้อง ผู้ปกครอง ปู่ย่า ตายายของเด็ก ๆ เหล่านี้ต่างก็ต้องเดินข้ามน้ำแบบนี้ เพื่อไปโรงเรียนเช่นกัน เหตุใดครับท่านประธาน ปัญหาของประชาชนจึงไม่ได้รับการแก้ไข และประชาชนต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อผมได้ตรวจสอบที่มาของปัญหา ที่เกาะพยามว่าทำไมเด็ก ๆ ยังต้องเดินลุยน้ำกันแบบนี้ ก็พบว่าเพียงแค่จะทำสะพานง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่ต้องลุยน้ำไปโรงเรียน แผ่นสไลด์ที่อยู่ตรงหน้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้แจ้งกระทรวงมหาดไทยไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ว่ามันมีขั้นตอนที่จะต้อง ไปขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ป่าชายเลน วันนี้ปี ๒๕๖๗ ผ่านมากว่า ๔ ปี แล้วเด็ก ๆ ก็ยังไม่ได้สะพาน ทั้ง ๆ ที่สะพานเพียงแค่นี้ควรที่จะสามารถอนุมัติงบประมาณ และอนุมัติการใช้ที่ดินในการก่อสร้างสะพาน
กำลังจะเข้าประเด็นแล้วครับ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายกระจายอำนาจด้วยการหาเสียงไว้กับประชาชนไว้ว่า กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดนำร่อง แต่ปรากฏว่า รัฐบาลกลับแถลงนโยบายไว้ว่า รัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ ผู้ว่า CEO เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและในแต่ละองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จึงขอเรียนถาม
ข้อที่ ๑ ท่านนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการกระจายอำนาจและงบประมาณ ตามที่ได้เคยประกาศไว้ก่อนเลือกตั้งว่าจะจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดนำร่อง หรือไม่ หรือมันเป็นแค่เทคนิคในการหาเสียงเท่านั้น
ข้อที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยใช้ หาเสียง มีอำนาจหน้าที่และได้รับงบประมาณอย่างไร ขอทราบรายละเอียดด้วยครับ คำถาม ข้อที่ ๓ ครับท่านประธาน
เดี๋ยวขออนุญาตใช้สิทธิถาม ในรอบที่ ๒ ครับท่าน
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ตอบคำถามในรอบที่หนึ่ง มีคนเคยพูดว่า ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยการก่นด่าของประชาชน คิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความผิด ของรัฐบาล มันผิดที่ระบบรวมศูนย์ของรัฐบาลครับท่านประธาน ถ้าระบบยังรวมศูนย์ อยู่แบบนี้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลกี่ยุค กี่สมัย กี่รัฐบาล ก็จะถูกก่นด่าอยู่แบบนี้เรื่อยไป ท่านทราบหรือไม่ครับ ยังมีอีกหลายปัญหาที่คาราคาซังและยังต้องรอการอนุมัติจากพวกท่าน เช่น เทศบาลขออนุญาตใช้ที่ดินจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำ โรงน้ำประปาให้กับชาวบ้าน เลือกตั้งนายกเทศมนตรีมากี่สมัยแล้วก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ หากท่านมีความจริงใจในการกระจายอำนาจเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชน โดยไม่ต้องรอให้เป็นข่าวดังแล้วจึงมาเต้นแร้งเต้นการีบลงมาแก้ไขเหมือนกับกรณี เด็ก ๆบนเกาะพยาม จังหวัดระนองที่ผมได้ฉายสไลด์ให้ท่านดูไปเมื่อสักครู่นี้ ผมขอถามในรอบที่ ๒ ดังต่อไปนี้ครับ ท่านมีแผนและเงื่อนเวลาในการกระจายอำนาจและ งบประมาณ ผมย้ำนะครับ ท่านมีแผนและเงื่อนเวลาที่จะกระจายอำนาจและงบประมาณ ไม่ใช่กระจายแต่อำนาจแต่ไม่กระจายงบประมาณนะครับ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและ ท้องถิ่นอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนนั้นจบที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือกระทั่งว่าจะจบที่นายก อบต. ก็ยิ่งดีครับท่านประธาน โดยการทำลายขั้นตอนที่ต้อง ขออนุญาตในระดับกรม กระทรวง หรือคณะรัฐมนตรี คำถามข้อที่ ๑ ในรอบที่ ๒ นี้ผมขอ ทราบรายละเอียดแผนงานและเงื่อนเวลาที่จะกระจายอำนาจและงบประมาณจากท่าน รัฐมนตรีด้วยครับ
คำถามถัดมา ท่านทราบหรือไม่ครับว่าวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วทั้งประเทศมีปัญหาบริหารงานการบริหารบุคลากรท้องถิ่น เชื่อหรือไม่ครับท่านประธาน ว่าวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลก็ดี อบต. ก็ดีทั่วทั้งประเทศ เราขาด ผอ. กองช่าง ไม่ว่าจะเป็น กองช่าง กองคลัง ปลัด ขาดหัวหน้าส่วนเยอะแยะมากมาย เฉพาะ อบต. ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง และเทศบาลอีกไม่รู้เท่าไร รวมกันแล้วเบ็ดเสร็จแตะหลัก ๑๐,๐๐๐ ครับ ท่านประธาน ฉะนั้นแล้วคำถามต่อมาต่อท่านรัฐมนตรี ก็คือว่าคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ที่มัน บอนไซองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มันทำให้ท้องถิ่นไม่เติบโต ขออนุญาตถามท่านว่า กระทรวงมหาดไทยหรือนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร แล้วก็เมื่อไร
คำถามสุดท้าย จริง ๆ มันอยู่ในชุดแรก แต่ผมก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จากท่านรัฐมนตรีว่าตกลงแล้วที่ท่านบอกว่าการกระจายอำนาจนั้นจะต้องมีการแก้ไข กฎหมายหลายฉบับ จะต้องมีการทำประชามติ จะต้องมีการทำความเข้าใจกับหน่วยงาน หลายกระทรวง ทบวง กรม ผมขอถามและขอให้ท่านตอบนะครับว่า ตกลงท่านจะให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แล้วจังหวัดนำร่องท่านใช้หลักเกณฑ์ใดในการ พิจารณาว่าสมควรเป็นจังหวัดนำร่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมขออนุญาตตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ครับ
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายอย่างเร่งด่วนต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะ ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรก ในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชน เป็นจำนวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุง ขั้นตอนการขอ Visa และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม Visa สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย รวมไปถึงการจัดทำ Fast Track Visa สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดง สินค้านานาชาติ หรือที่เรียกว่า MICE และเพื่อเป็นการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ในช่วงสิ้นปี รวมถึงนโยบายปลดล็อกกฎหมาย สร้างโอกาสให้กับประชาชน ดังที่ได้แถลงไว้ว่า การเปลี่ยนบทบาทของรัฐที่เคยเป็นผู้กำกับดูแลที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ให้เป็น ผู้สนับสนุนที่ปลดล็อกข้อจำกัดของประชาชน สร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้ และการเจริญเติบโต อาทิการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น ขอสไลด์แผ่นที่ ๑ ครับ
ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ ๑ จำนวน ๑,๙๔๘,๕๔๙ คน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเข้ามาทางด่านบก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัด พัทลุงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศจังหวัดสงขลา เรื่อง การนำรถโดยสาร ที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ โดยในข้อ ๓ ระบุว่า กรณีที่รถยนต์โดยสารที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เฉพาะรถโดยสาร ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดสงขลา มีความประสงค์จะนำรถโดยสารที่จดทะเบียนใน ต่างประเทศและพาผู้โดยสารเดินทางไปยังเขตจังหวัดอื่น ๆ ไกลกว่าจุดที่กำหนดไว้ตามข้อ ๑ จะต้องยื่นขอรับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกตามแบบที่ ๒ เป็นการล่วงหน้า และเมื่อ ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกแล้วจึงจะนำรถนั้นออกเดินทางได้ โดยให้สามารถ ดำเนินการได้จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เท่านั้น ตามข้อตกลงของชมรมผู้ประกอบการ รถบัสปรับอากาศภาคใต้ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ พบว่าหลังจากวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ รถนำเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ไม่สามารถทำการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้อีกจนถึงทุกวันนี้ ส่งผลให้ ประเทศไทยเสียโอกาสจากการท่องเที่ยวสูงมาก จึงขอสอบถามว่า
ข้อ ๑ ประกาศจังหวัดสงขลา ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ในข้อ ๓ ที่ให้ กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถต่างประเทศเดินทางออกจากจังหวัดสงขลาได้จนถึงเพียง วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เท่านั้น เป็นการออกประกาศโดยชอบหรือไม่ เนื่องจากอำนาจของ ศูนย์ดำรงธรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่สามารถออกประกาศแก้ไขการปฏิบัติงานของ กรมการขนส่งทางบกเช่นนี้ได้ ถ้าหากว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกประกาศสั่งการ อธิบดีข้ามกระทรวงได้แบบนี้เราจะมีตำแหน่งปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีไว้ทำไม
ข้อ ๒ เพื่อให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ว่า เราตั้งเป้า ว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก และรัฐบาลจะปลดล็อกข้อจำกัด ของประชาชน สร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้และการเจริญเติบโต นายกรัฐมนตรี สามารถสั่งการให้ยกเลิกประกาศจังหวัดสงขลา เรื่องการนำรถโดยสารที่จดทะเบียน ต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ เพื่อให้เป็นไปตาม นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้หรือไม่
ข้อ ๓ สามารถสั่งการให้ยกเลิกขั้นตอนการขออนุญาตกรมการขนส่งทางบก ในประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง การนำรถโดยสารที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใน ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๘ ผมย้ำนะครับ เป็นการสั่งการให้ยกเลิกขั้นตอน เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการห้ามรถนำเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางออกจากจังหวัดสงขลา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ประกาศว่า ประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ได้หรือไม่
คำถามทั้ง ๓ ข้อนี้หากท่านรัฐมนตรีตอบว่าไม่ทราบ เพราะอยู่คนละกระทรวง ผมขออนุญาตท่านประธานได้โปรดเชิญท่านนายกรัฐมนตรีมาตอบคำถามด้วย ขอบคุณครับ
ขอบคุณมากครับท่านรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามที่ ๑ จากที่ท่านได้ชี้แจงผมอยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีต่อไปว่า ต้องขอบคุณ ที่ท่านบอกว่าประกาศนี้สามารถยกเลิกได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ทราบว่าเมื่อไร ถูกต้อง ใช่ไหมครับ เพราะจะต้องเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอน และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันนี้ข้อ ๑ นะครับ ส่วนข้อ ๒ ที่ท่านรัฐมนตรีตอบว่าจะต้องผลักดันให้มีการทำ MOU ร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซีย ตรงนี้ก็ยังไม่รู้ ยังไม่มี Timeline ว่าจะเป็นเมื่อไรตามที่ ท่านรัฐมนตรีตอบเมื่อสักครู่
อยากจะถามท่านรัฐมนตรีว่าขอทราบกรอบระยะเวลาได้ไหมครับว่าประกาศ ตัวนี้เอาคร่าว ๆ ก็ได้ครับว่า Timeline มันน่าจะสักเมื่อไร เพราะนี่ผ่านมา ๑๐ ปีแล้ว รถออก จากสงขลาไม่ได้เลย รถนำเที่ยว ผมคิดว่าจังหวัดข้างเคียงไล่ตั้งแต่พัทลุงมาจนถึงภูเก็ต ได้รับ ผลกระทบค่อนข้างมาก แล้วอย่าลืมว่าตอนนี้ว่าเมื่อท่านรัฐมนตรีได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยว แล้วว่ามันเกือบ ๒ ล้านคน ปี ๒๕๖๕ ก็อยากจะถามท่านรัฐมนตรีว่าเมื่อมีตัวเลขโชว์ให้เห็น ว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาตั้ง ๑,๙๐๐,๐๐๐ กว่าคนทางด่านบก แต่วันนี้ยังไม่สามารถที่จะทำ โปรแกรมเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ ๆ จังหวัดสงขลา ผมก็ อยากจะถามท่านรัฐมนตรีว่านอกจากการแก้ไขระเบียบกฎหมาย นอกจากแผนการทำ MOU ผลักดันการทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้านเราแล้ว ยังมีวิธีอื่นอีกไหมครับในระหว่างนี้ ใน ระหว่างที่เราจะต้องรอการแก้ไขกฎหมาย ในระหว่างที่เราจะต้องรอว่าเมื่อไรรัฐบาลจะพร้อมที่ จะทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะผมเชื่อว่ามันต้องผ่านขั้นตอน ผ่านหลายกระทรวง ทั้งนี้ทั้งนั้นขอทราบ ตั้งคำถามกับท่านรัฐมนตรีว่าในระหว่างที่เรารอสิ่งที่ท่านกำลังจะผลักดัน ถามรัฐมนตรีว่ามีวิธีอื่นในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียในระหว่างนี้หรือประเทศอื่น เพื่อมาทดแทนนักท่องเที่ยวจีน ที่วันนี้ก็ยังไม่ฟื้น ยังไม่รู้ชะตาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ขอทราบ รายละเอียดจากท่านรัฐมนตรีด้วย ขอบคุณครับ
ใช่ครับ ก็คือเป็นรถนำเที่ยว ก็คือออกไม่ได้เลยครับ
ใช่ครับ
เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ในพื้นที่เขตทะเลอันดามันครับ จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสม และเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วนะครับ ผมเห็นว่า การรวบรวมปัญหาข้อกฎหมายจากการใช้กฎหมายหลัก รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายรอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงไทยค่อนข้างจะครบถ้วนดีแล้วทั้ง ๔ แนวทาง ได้แก่ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาแรงงานประมงที่ท่านปลอดประสพพูดเมื่อสักครู่นี้ครับ การรักษาทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงความมั่นคงทางทะเลและมาตรการส่งเสริมการส่งออก นำเข้า และการตรวจสอบสินค้าประมง แต่มันยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็นครับท่านประธาน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียงกลุ่มทะเลอันดามัน ที่ควรจะต้องได้รับการพิจารณา เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ
ข้อที่ ๑ การทำประมงของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล หรือที่เราเรียกว่าชาวเล ตามกรอบมติ ครม. พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล ชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตประกอบไปด้วย หลัก ๆ ๕ กลุ่มด้วยกัน ซึ่งทั้ง ๕ กลุ่มนี้ก็ประกอบไปด้วยชาวเลอูรักลาโวยจ มอแกนและ มอแกลน ชุมชนที่ ๑ ได้แก่ ชุมชนชาวเลที่ราไวย์ ชุมชนที่ ๒ ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านเกาะสิเหร่ หรือที่เราเรียกว่า ชุมชนแหลมตุ๊กแก ชุมชนที่ ๓ ได้แก่ ชุมชนบ้านสะปำ อำเภอเมือง จังหวัด ภูเก็ต ชุมชนที่ ๔ ชุมชนแหลมหลา และชุมชนที่ ๕ ชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งสิ้นประมาณ ๘๐๐ กว่าหลังคาเรือน ประชากรกว่า ๓,๘๙๔ คน และยังมีพี่น้องชาวชาติพันธุ์ชาวเลในจังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล อีกหลายพันคนที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนควบคู่กันไปด้วย เช่นเดียวกัน เช่น การเร่งรัดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ เป็นแนวทางการฟื้นฟูวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติ ครม. ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และกลุ่มอื่น ๆ ตามมติ ครม. ลงมาวันที่ ๓ สิงหาคม ปี ๒๕๕๓ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปช่วยเหลือคดีความของชาวบ้านชาวเลบางส่วน ดังนั้นผมขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงคณะ กมธ. ที่นั่งอยู่ตรงหน้านี้นะครับ รวมไปถึงกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และกองทัพเรือ ให้เร่งดำเนินการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษพื้นที่ทางทะเล เพื่อที่จะ เอื้อให้กับชาวประมงได้มีความมั่นใจและไม่ถูกดำเนินคดีการทำประมงเฉพาะหน้า
ข้อที่ ๒ รายงานแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ผลักดันการจัดทำ พ.ร.บ. ประมงใหม่ ผมเห็นว่าให้เน้นการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มากกว่าการรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการของรัฐบาลกลาง ผ่านคณะกรรมการนโยบาย ประมงแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและ กองทัพเรือ ดังเช่นที่หลาย ๆ นานาอารยประเทศเขาทำกัน เช่น ประเทศใกล้เคียงเราก็คือ มาเลเซียและอินเดีย ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความเป็นเจ้าของทรัพยากรประมงของคนท้องถิ่น มากยิ่งขึ้น ส่วนรัฐบาลกลางจะทำหน้าที่เฉพาะกำหนดมาตรการกลางเบื้องต้นตามหลัก วิชาการตามพันธสัญญาที่ได้ไปทำไว้กับนานาประเทศ ดังนั้นผมขอเสนอให้มีแนวทางดังนี้
ด้านการกระจายอำนาจ ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจและ หน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงมากขึ้น เช่น การกำหนดเขตประมงชายฝั่ง ในระยะ ๑๒ ไมล์ทะเล เป็นเขตห้ามเข้าทำประมงเรือประมงพาณิชย์ที่ถูกกำหนดไว้ ตามมาตรการเข้าทำประมง และห้ามประมงพื้นบ้านออกไปนอกเขต หรือสามารถทำ การประมงนอกเขตดังกล่าวได้หรือที่เราเรียกว่าเขตห้ามเข้า ไม่ใช่เขตห้ามออกตาม พ.ร.ก. ในฉบับปัจจุบัน
ถัดมาให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีสิทธิและอำนาจ ในการตัดสินใจ ในการกำหนดและจำแนกแบ่งประเภทการทำประมง ที่ใช้ปัจจัยแบบองค์ประกอบองค์รวม ในการทำประมงควบคู่กันไป ด้านขนาดเรือ อัตรากำลังเครื่องยนต์และเครื่องมือที่ทำการ ประมงโดยไม่คิดแบบแยกส่วน เช่น กรณีประมงพื้นบ้านชุมชนโหนทรายทอง ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถูกดำเนินคดี โดยใช้กฎหมายประมงพาณิชย์มาจับ ทั้ง ๆ ที่เป็น เรือมีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส ตรงนี้ล่ะครับที่มาทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับ ความเดือดร้อน แล้วถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ต้องพันล้านหรอกครับ แค่หลักแสนบาท ถูกปรับ ๔๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ บาท ก็หมดตัวแล้ว ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น
ข้อที่ ๓ การจัดการทรัพยากรทางทะเลเพื่อการประมง ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ผ่านมานานาประเทศได้ตระหนักและมีความพยายาม ในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะพบว่าแหล่งการทำประมง ส่วนใหญ่ของโลก รวมถึงประเทศไทยชายฝั่งทะเลอันดามันกำลังประสบกับปัญหาการลดลง อย่างต่อเนื่องของทรัพยากรสัตว์น้ำ มีเหตุปัจจัยหลักมาจากน้ำมือของมนุษย์นี่เอง ไม่ว่าจะมาจาก การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจับสัตว์น้ำในวัยอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำประมงกันมากจนเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตทดแทนได้ทัน ซึ่งหากยังมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ความสมดุลทางนิเวศทางทะเลและมหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญคือความมั่นคง ทางอาหารของประชากรโลกในอนาคตด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและเร่งด่วน โดยสมควรกำหนดมาตรการ ในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การขาดการทำรายงานและไร้ การควบคุม กำหนดจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สนับสนุนกิจกรรม อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้กับประมงพื้นบ้าน ประมงท้องถิ่นตามหลักสิทธิมนุษยชน
การอภิปรายในครั้งนี้ผมขอให้รัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจ ในการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพื่อการแก้ไขปัญหาและการจัดการทรัพยากร ทางทะเลเพื่อการประมง เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อความมั่นคงทางทรัพยากรต่อไป ตามวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และกิจการประมงทั้งระบบ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนสามารถจบได้ ในระดับพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การจัดการทรัพยากรประมง การจัดการทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งต้องจัดการควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรการส่งต่อ ให้กับลูกหลานในอนาคตเป็นสำคัญ ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ จากพรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่อง การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อจากที่คุณพิธาได้อภิปรายไว้เมื่อสักครู่นะครับ ขอสไลด์แผ่นที่ ๑ ครับ
ภาพที่ท่านประธานเห็นอยู่คือ จุดพักขยะตำบลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ผมขอถามว่าพวกเราเห็นอะไรในภาพนี้บ้างครับ เราเห็นกองขยะทุกประเภทมากองสุมรวมกันโดยที่ไม่มีการคัดแยกขยะแม้แต่ชิ้นเดียว สิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไรครับ ก็คือแนวทางในการจัดการขยะที่เราจะต้องลดขยะต้นทาง เริ่มจากการแยกขยะเป็นถุงขยะคนละสี เอาแบบที่หยาบที่สุดครับท่านประธาน ๑. ขยะอินทรีย์ เพื่อใช้เลี้ยงหมูหรือทำปุ๋ย ๒. ขยะ Recycle และ ๓. ขยะส่งเข้าเตาเผาเพื่อผลิตกระแส ไฟฟ้า นอกจากนี้แล้วเรายังเห็นอะไรอีกครับท่านประธานในสไลด์แผ่นนี้ เราเห็นขยะกองอยู่ ริมทะเลมีเพียงแนวต้นไม้ ๑ แนวกั้นระหว่างกองขยะที่สุมกองพะเนินกับทะเลที่สวยงาม ท่านประธานคิดว่ามันเหมาะสมแล้วหรือไม่กับจังหวัดภูเก็ตที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวระดับโลก สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือการวางถัง Container ตามภาพมุมซ้ายด้านบนท่านประธานนะครับ เผื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทิ้งขยะที่แยกแล้วสำหรับส่งเข้าเตาเผาขยะ โดยเอาขยะเข้าไปอยู่ ในถัง Container ดังกล่าว แล้วนำรถบรรทุกตามภาพด้านขวามุมล่าง นำถัง Container ที่สะอาดลูกใหม่มาวาง พร้อมยกถังเดิมที่มีขยะไปยังเตาเผา หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดถัง Container ลูกนั้นเพื่อนำไปสลับกับถังขยะตรงจุดพักขยะแห่งอื่นต่อไป ประโยชน์ของถัง Container คืออะไรครับท่านประธาน ประโยชน์ของถัง Container ก็คือความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและความรวดเร็วในการขนย้ายขยะไปยังเตาเผา เมื่อเรายกถัง Container ใส่ รถบรรทุกแล้วเราต้องใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมงครึ่งต่อรอบของการขนขยะในการนำขยะจาก ตำบลป่าตองไปสู่เตาเผาที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต การที่รถบรรทุกต้องใช้เวลา เดินทางมากขึ้นเท่าไรมันคือต้นทุนในการบริหารจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแรงงาน รวมถึงค่าเสื่อมและค่าสึกหรอของรถบรรทุก ทำให้เทศบาลและผู้รับเหมาต้องใช้ เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และลงทุนเพื่อซื้อรถขยะเป็นจำนวนหลายคันด้วยกัน และในที่สุด แล้วต้นทุนต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะถูกผ่องถ่ายไปยังประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อการขนถ่าย ขยะไปยังเตาเผาต้องใช้เวลานาน การใช้รถเก็บขนเป็นคันเดียวกันตั้งแต่จุดเก็บไปยังเตาเผา ขยะอาจจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมอีกต่อไป เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการตั้งสถานีขนถ่ายขยะหรือ Transfer Station แล้วใช้รถพ่วงขน ขยะหรือรถอัดท้ายที่จะทำให้สามารถรองรับขยะได้ถึง ๔-๕ ตันต่อ ๑ คันรถ รถพ่วงจะรับ ขยะจากรถอัดท้ายจะใช้เวลาจากสถานีขนถ่ายหรือ Transfer Station ไปยังเตาเผาขยะใช้ เวลาเพียงแค่ ๑ ชั่วโมงเท่านั้นเองครับ ลดปัญหาการขาดแคลนรอบรถเก็บขยะจาก ๓ ชั่วโมง ครึ่งเหลือเพียง ๑ ชั่วโมงต่อรอบการเก็บขยะจากสถานีขนถ่ายไปยังเตาเผาขยะ ข้อเท็จจริง ของการจัดการขยะในจังหวัดภูเก็ต มาดูกันครับ ๗๔๒ ตันต่อวันคือปริมาณขยะที่เกิดขึ้นบน เกาะภูเก็ตในปี ๒๕๖๕ และ ๘๗๑ ตันต่อวันในปี ๒๕๖๖ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๗๔ ตันต่อวัน คือขยะที่เราได้นำไป Recycle ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามผมย้ำนะครับ เพียงหนึ่งในสามของ ค่าเฉลี่ยการ Recycle ขยะทั้งประเทศที่ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ หรือ ๖๘๘ ตันต่อวันคือขยะที่เกิดขึ้นนำไปเข้าเตาเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ๗๐๐ ตันต่อวันคือขีด ความสามารถของเตาเผา ซึ่งปัจจุบันขยะมีเกินขีดความสามารถของเตาเผาไปเยอะมากครับ ทำให้จังหวัดภูเก็ตต้องของบประมาณ ๓๕ ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรีเผื่อรื้อหลุมฝังกลบ ขยะมูลฝอยเก่าเพื่อนำมาใช้ฝังกลบขยะส่วนเกินที่มันเข้าเตาเผาไม่ได้ ๕๐๐ ตันต่อวันคือ โครงการขยายกำลังเตาเผาขยะของโรงเตาเผาขยะที่บริเวณ ณ จุดเดิม เราต้องหาขยะ มาป้อนให้ได้ถึงกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๓๕๐ ตันต่อวันเพื่อให้เตาเผาขยะสามารถ เดินเครื่องทั้งระบบได้ ๖๐๐ ตันต่อวันคือปริมาณขยะที่เหลือเพื่อนำไปเผาทั้งหมดโดยไม่ต้อง ใช้วิธีการฝังกลบขยะ หากเราสามารถรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะอินทรีย์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อไปทำปุ๋ยและเพิ่มอัตราการ Recycle อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของประเทศ เทศบาลตำบลกะรน งดการเก็บขยะจากโรงแรม โดยให้โรงแรมนำไปทิ้งที่เตาเผาเอง เนื่องจากต้นทุนการขนย้ายขยะที่สูงขึ้น เทศบาลเมืองป่าตองเพิ่มอัตราการเก็บค่าเก็บขยะขึ้น หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ฉะนั้นแล้วผมมีข้อเสนอแนะในการจัดการขยะของ จังหวัดภูเก็ตดังต่อไปนี้ครับท่านประธาน
ข้อที่ ๑ ควรมีการคัดแยกขยะต้นทาง ควรรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ อินทรีย์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อไปทำปุ๋ย และเพิ่มอัตราการ Recycle อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ โดยให้ แยกถุงขยะเป็นคนละสี ทำให้ลดการใช้หลุมฝังกลบซึ่งเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ควรหลีกเลี่ยง
ข้อที่ ๒ ท้องถิ่นควรบริหารจัดการขยะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เพื่อการกำจัดขยะ เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข้อควรระวังก็คือการเร่งสร้างเตาเผาขยะเพียง อย่างเดียวจะยิ่งสร้างจิตสำนึกในการผลิตขยะให้มากขึ้นเพื่อให้เตาเผาสามารถเดินระบบได้ ซึ่งจะสวนทางกับหลักการจัดการขยะที่ต้องพยายามลดปริมาณการเกิดขยะ
ข้อที่ ๓ หากมีการก่อสร้างโครงการใหม่ที่จะสร้างขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ผมเห็น ว่าควรจะไปสร้างที่จุดอื่นที่จะช่วยร่นระยะเวลาในการขนถ่ายขยะได้ และจะเป็นการลด ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะ ขอบคุณครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอสไลด์ แผ่นที่ ๑ ครับ
มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ ป่าชายเลนบริเวณหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๒๓ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต ร้องเรียนไปแล้วหลายหน่วยงาน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีการปล่อยน้ำเสียลง อย่างต่อเนื่อง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดการปล่อยน้ำเสียให้ได้ครับ
คลองท่าจีนจังหวัดภูเก็ตตื้นเขิน ทำให้ปิดเส้นทางเดินเรือเขาออกสู่ทะเล ในช่วงน้ำลง ทำให้เรือทุกประเภทต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงรอจนกว่าน้ำจะขึ้นจึงจะสัญจร เรือไปมาได้ ขอให้กรมเจ้าท่าช่วยขุดลอกร่องน้ำและนำซากเรือออกด้วยครับ
คลองบางใหญ่ใต้สะพานกอจ๊าน อยู่ใจกลางเมืองภูเก็ตเป็นตะกอนตื้นเขิน เรือไม่สามารถเข้าออกได้โดยเฉพาะในช่วงเวลาน้ำลง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกคลอง เพื่อให้เรือสัญจรได้สะดวก รวมถึงเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วมด้วยครับ
มีสถานบันเทิงหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต ณ ขณะนี้เปิดเพลงเสียงดังรบกวน ชุมชนโดยรอบ บางร้านถึงขั้นนำโต๊ะและเก้าอี้ออกมาวางบนทางสาธารณะและมีการสูบ กัญชากันอย่างแพร่หลาย ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองช่วยกวดขันจัดการด้วยครับ
ค่าโดยสารเครื่องบินระหว่างกรุงเทพ-ภูเก็ต โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมามีราคาสูงมาก ขอให้คณะกรรมการการบินพลเรือนปรับลดอัตราเพดานค่าโดยสาร สูงสุดลงมา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วยครับ
ผมได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนเรื่องโรงงานก๋วยเตี๋ยวปล่อยควันดำ หน่วยงานราชการใดเข้ามาตรวจสอบได้สั่งการให้แก้ไขมาหลายเดือนแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังคง ปล่อยควันดำอย่างต่อเนื่อง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรวจสอบอีกครั้งครับ
เรื่องสุดท้าย ข้าราชการเกษียณต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ รพ.สต. แล้วนำใบเสร็จไปเบิกเงินจากหน่วยต้นสังกัด ซึ่งอยู่คนละจังหวัดกับที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ขอให้กระทรวงต้นสังกัดของ รพ.สต. พัฒนาระบบงานให้สามารถเบิกจ่ายตรงได้ด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนประธานสภาที่เคารพผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกลครับ ในวันนี้ผมขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ของท่านวรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะเป็นผู้เสนอ ผมขออนุญาตอภิปราย ๓ ประเด็นหลัก ๆ ครับท่านประธาน ในข้อ ๑ เครื่องมือ การทำประมง ในข้อที่ ๒ การจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ และในข้อที่ ๓ คือหนังสือคนประจำเรือ ผมจะขออนุญาตไล่ไปทีละข้อ
ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำประมง และพื้นที่การทำประมงที่ห้ามใช้การทำประมงในที่จับสัตว์น้ำทะเล เขตทะเล ชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อ ๒ (๗) ลอบปูตามข้อดังกล่าวเป็นเครื่องมือต้องห้าม เพราะลอบปูตา เล็กกว่า ๒.๕ นิ้ว ปกติแล้วห้ามใช้ทั้งในเขตและนอกเขตทะเลชายฝั่ง ผมย้ำนะครับ ทั้งในและ นอกเขตทะเลชายฝั่ง ปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เองมีการประชุมและมีการทำบันทึก การประชุมของหน่วยงานราชการ กำหนดให้มีการผ่อนผันลอบปูให้เรือประมงพื้นบ้าน ทำการประมงได้ไม่เกิน ๓๐๐ ลูกต่อเรือ ๑ ลำ หากใช้เกินกว่า ๓๐๐ ลูก จะเข้าข่ายเป็น เครื่องมือต้องห้ามทันที แต่ลอบปูของชาวบ้านส่วนใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โหนทรายทอง คลองท่าจีน มีขนาดไม่เกิน ๒.๕ นิ้ว ตามที่กำหนดให้ใช้ได้ เพราะเป็นตาใหญ่ หรือเป็นภาษาที่ชาวบ้านใช้เรียกกัน ชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าเป็นกรณี ที่ไม่จำกัดจำนวนลอบปู ตามคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔/๒๕๕๘ ที่กำหนดให้ใช้เครื่องมือการทำประมง กรณีใช้ลอบปูขนาด ๒.๕ นิ้วขึ้นไป และให้ใช้เกินกว่า ๓๐๐ ลูก นอกเขตทะเลชายฝั่ง จึงสรุปได้ว่าประกาศดังกล่าวนั้นให้ใช้บังคับเอากับเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้าน เพียงแต่ว่าหากใช้ลอบปูตาเล็กหรือที่เล็กกว่าหรือน้อยกว่า ๒.๕ นิ้วจะใช้ได้ไม่เกิน ๓๐๐ ลูก หากมีขนาดเกินกว่า ๒.๕ นิ้วขึ้นไป ถือว่าใช้ลอบปูจำนวนเท่าใดก็ได้ไม่เป็นการขัดหรือฝ่าฝืน ต่อข้อกฎหมายจากคำสั่งของ คสช. ดังกล่าว จึงเป็นการวางกรอบนโยบายให้มีการออก กฎหมายลูก เพื่อใช้บังคับสอดคล้องกับคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔/๒๕๕๘ ต่อมาครับท่านประธาน ได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดการใช้เรือประมงทุกขนาด ประกอบเครื่องมือทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดเครื่องมือการทำประมง ต้องห้าม จำนวน ๗ ชนิดด้วยกัน ดังนั้นแล้วเครื่องมือตามคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔ ข้อ ๒ ถึงข้อ ๗ จึงไม่ถือว่าเป็นเครื่องมือต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่อย่างใด เมื่อประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดเครื่องมือประมงไว้ จึงต้องใช้กฎหมายเทียบเคียง ได้แก่ อะไรครับ ก็คือ พ.ร.ก. การประมง มาตรา ๖๗ ห้ามใช้เครื่องมือตาม (๑) ถึง (๔) ทั้งในและ นอกเขตโดยเด็ดขาดครับท่านประธาน ส่วนเรือประมงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีน้ำหนัก เกินกว่า ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป ตามคำสั่ง คสช. ที่ ๒๔/๒๕๕๘ กำหนดแรงม้าไว้ไม่เกิน ๒๘๐ แรงม้า
ถัดมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงในช่วงฤดูวางไข่ ด้วยคำสั่งของ คสช. ที่ ๘/๒๕๖๑ เป็นการยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๕๘ จึงมีเหตุให้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น ประกาศ ที่ ๘/๒๕๖๑ ได้ยกเลิกบทบัญญัติบางประการว่าด้วยการแก้ไขปัญหา หากทำการ ประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ประกาศที่ออกโดยกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์บางส่วนของ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง พ.ศ. ๒๕๖๑ ยังอนุญาตให้ใช้ลอบปูได้ตามข้อ ๒ (๖) ที่อนุญาตให้ใช้ลอบปูตาอวนโดยลอบตั้งแต่ ๒.๕ นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงได้ไม่เกิน ๓๐๐ ลูกต่อเรือ ๑ ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูขนาดตาอวนโดยลอบ ตั้งแต่ ๒.๕ นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ประกอบกับ (๑๓) ยังระบุว่า การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์กำลังแรงม้าไม่ถึง ๒๘๐ แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มีเครื่องมือที่ไม่ใช่เครื่องมือการทำการประมง ตามประเภทที่กำหนดในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในส่วนที่ ๓ การออกหนังสือคนประจำเรือและการอนุญาตตามวรรคสอง ให้ใช้ได้เฉพาะการทำงานในเรือประมงที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาตและในบริเวณ ท่าเทียบเรือประมง หรือเฉพาะตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหลักฐานการอนุญาต ซึ่งการเดินเรือ ในน่านน้ำไทยที่อยู่ในบังคับให้คนประจำเรือจะต้องจัดให้มีหนังสือคนประจำเรือให้ใช้กับ เรือประมงพาณิชย์เท่านั้น หาได้นำมาใช้กับเรือประมงพื้นบ้าน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๖๓ กำหนดมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชาวประมงพื้นบ้านได้ไปติดต่อขอทำหนังสือคนประจำเรือที่ PIPO แต่ PIPO กลับแจ้งให้ไปทำหนังสือที่กรมประมง ปรากฏว่าอะไรครับ เมื่อไปที่กรมประมง ก็ได้รับแจ้งว่า ประมงพื้นบ้านไม่ต้องทำหนังสือคนประจำเรือก็ได้ ทราบภายหลังว่าจริง ๆ แล้ว สามารถทำได้และเสียค่าธรรมเนียมเพียงคนละ ๑๐๐ บาท จึงไม่มีสาเหตุใด ๆ เลยครับที่ชาวประมงพื้นบ้านจะหลีกเลี่ยงกฎหมายข้อนี้ ประกอบกับใบทะเบียนเรือที่ไม่ได้กำหนดให้มีหนังสือคนประจำเรือ ท่านลองไปหาดูได้ครับ เอกสารคนประจำเรือในน่านน้ำไทย หมายความว่า ให้ใช้กับเรือประมงพาณิชย์ มิได้ให้ใช้บังคับกับเรือประมงพื้นบ้านประกอบกับอัตราโทษตามมาตรา ๑๕๓ โทษปรับไม่น้อยกว่า ๔๐๐,๐๐๐ บาท ไม่เกิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ต่อคนประจำเรือ ๑ คน ค่าปรับที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้พวกเราในที่นี้เห็นว่ามันเหมาะแล้วหรือครับ ๔๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ บาท เรือโทงหัวไม้ลำหนึ่งไม่ถึง ๑๐ ตันกรอส บางลำ ๓ ตันกรอส ๔ ตันกรอส ท่านคิดว่าเขาจะได้ปูได้ปลากลับมาเท่าไร รายได้เขาจะมีเท่าไร แต่ไปปรับเขา ๘๐๐,๐๐๐ บาท ล้มทั้งยืนนะครับท่านประธาน ต้องเลิกอาชีพประมงไปในที่สุด
สุดท้ายนี้ผมเคยได้ไปเป็นทนายให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ไม่ใช่เฉพาะ ชาวประมงนะครับ กระทั่งผู้พิพากษาเองยังฝากเลยครับว่าท่าน สส. ช่วยแก้กฎหมายหน่อย มันเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านเสียเหลือเกิน ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต เขต ๑ พรรคก้าวไกล ผมขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยท่านพัฒนา สัพโส ผมขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูป การบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พ.ศ. .... ที่เสนอโดยท่านวรภพ วิริยะโรจน์ ท่านประธานทราบไหมครับ ว่าพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้กันมากกว่า ๒๐ ปีแล้วครับท่านประธาน ไม่ได้ มีการ แก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์เลย จนเกิดปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ในปัจจุบันนี้ท่านประธาน โครงสร้างพนักงานท้องถิ่นถูกกำหนดให้มีรูปแบบเป็นปลัด ผอ. กองต่าง ๆ ไล่ลงมา มีความสลับซับซ้อนถึง ๙๓ สายงานด้วยกัน มีจำนวนข้าราชการ หลักหมื่นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ในวันนี้ ๒๕๕๗ เชื่อไหมครับ ว่าเรามีพนักงานท้องถิ่นรวมถึง พนักงานอัตราจ้างกว่า ๖๐๐,๐๐๐ อัตรา สิ่งสำคัญที่สุดคือข้าราชการท้องถิ่นอยู่ภายใต้ โครงสร้างการบริหารงานบุคลากรอย่างนี้มายาวนาน ๒๐ ปีแล้วครับท่านประธาน ไม่มี การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบบริหารงานบุคคลเลย ไม่เหมือนกับข้าราชการพลเรือนที่มี การแก้ไขปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ ผมมองว่าวันนี้โครงสร้างการบริหารบุคคลของราชการส่วน ท้องถิ่นถึงเวลาแล้วที่เราจะยกระดับโดยการจัดตั้งสำนักงานข้าราชการส่วนท้องถิ่น คล้าย ๆ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และต้องไม่อยู่ภายใต้สังกัด สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือต้องไม่อยู่ภายใต้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะอะไรครับ ก็เพราะว่าพนักงานส่วนท้องถิ่นรวมถึงพนักงานอัตราจ้างกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คนวันนี้ อยู่ภายใต้องค์กรที่บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นในระดับแค่กอง เท่านั้นครับ อย่าว่าแต่เล็กกว่ากระทรวงเลยครับ ยังเล็กกว่ากรมด้วยซ้ำไป ข้อดีของ การยกระดับการบริหารงานบุคคลจะก่อให้เกิดแล้วนะครับท่านประธาน จะทำให้ท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาท้องถิ่น ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั่นเอง ปัจจุบันนี้เรามีคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น จังหวัดแล้ว ๓ คณะ อย่างที่ท่านเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วเมื่อจำเป็น อบจ. เทศบาล หรือ อบต. พบว่าอะไรครับ พบว่าทั้ง ๓ คณะ หรือทั้ง ๓ ก. นี้นะครับ มีหลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจ ข้าราชการท้องถิ่น จึงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม อย่างไม่เท่าเทียม อย่างไม่เสมอภาคกันมา เป็นการขัด ต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นถูกลงโทษโดยมติของคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นในระดับ จังหวัด ผู้ที่ถูกลงโทษจริงอยู่ครับ มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพนักงานท้องถิ่น ในระดับจังหวัด แต่รู้หรือไม่ว่าคณะกรรมการท้องถิ่นในระดับจังหวัดก็คือคณะเดียวกันกับ คณะแรกที่มีมติลงโทษ ฉะนั้นแล้วน้อยมากครับ ที่จะมีการกลับมติหรือพิจารณาเป็นอย่างอื่น ไม่เหมือนกับข้าราชการพลเรือน หากมีการถูกลงโทษ มีมติให้ลงโทษทางวินัย ข้าราชการ พลเรือนสามารถที่จะอุทธรณ์คำสั่งไปยังใครครับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ซึ่งเป็นคนละคณะกับที่มีมติให้ลงโทษ ทำให้การพิจารณาของข้าราชการพลเรือนนั้น อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ผมจึงมีความเห็นว่าองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นควรที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเหมือนกับข้าราชการ พลเรือน เพราะคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเปรียบเสมือนกับศาลชั้นต้น รับเรื่อง อุทธรณ์ รับเรื่องร้องเรียนของข้าราชการ ซึ่งคณะกรรมการก็จะถูกเลือกมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จากองค์กร ผู้แทนองค์กรที่เป็นกลาง เช่น ประธานศาลฎีกา เช่น ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ทำการคัดเลือกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขึ้นมา
อีกเรื่องหนึ่งครับท่านประธาน ผมขอให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เพราะมันคือการรวมหรือการรวบอำนาจในการสอบแข่งขันเข้าเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งผิดหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นและหลักการกระจายอำนาจ ในอดีต จริงอยู่ครับ มีท้องถิ่นบางแห่งที่มีขนาดเล็ก ไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอในการจัดสอบ แต่สามารถที่จะมอบอำนาจให้กับระดับจังหวัด หรือให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็น ผู้ทำการจัดสอบแทนได้ ฉะนั้นแล้วจึงไม่เป็นการสมควรเลยครับ ทุกประการที่ส่วนกลางจะ รวบอำนาจไว้เช่นนี้ ส่วนข้ออ้างเรื่องการทุจริตนั้นก็อย่างที่เพื่อนสมาชิกอภิปรายไป หลายท่านแล้ว ผมมีความเห็นว่าไม่ว่าจะส่วนกลางหรือจะท้องถิ่น หากคิดจะโกงเขาก็โกง อยู่ดีครับ แต่ในขณะนี้ ในโลกปัจจุบันนี้อย่าลืมนะครับว่าเรามีองค์กรที่ทำการตรวจสอบ การทุจริต ไม่ว่าจะเป็น ปปง. ป.ป.ท. ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ป. ก็ดี ที่จับตาดูเรื่องการทุจริต ทำให้ การทุจริตในการโกงข้อสอบลดน้อยถอยลง ฉะนั้นแล้วหากมี อปท. แห่งใดก็ตามในประเทศ ไทยบางแห่ง ผมย้ำนะครับ ว่าบางแห่ง มีการทุจริตขึ้นมาก็ไม่ควรที่จะไปเหมารวมว่าองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศไทย ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง ทุจริตหมด ผมว่าหลักการคิด อย่างนี้ไม่ถูกต้องครับ ผมขออนุญาตสรุปสิ่งที่ผมอภิปรายมาทั้งหมดในวันนี้
ข้อที่ ๑ ขอให้มีการจัดตั้งสำนักงานข้าราชการส่วนท้องถิ่นขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรี
ข้อที่ ๒ ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเหมือนกับ ข้าราชการพลเรือน
ข้อที่ ๓ เป็นเสียงสะท้อนที่ฝากผมมายังสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ฝากไปถึง สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ขอให้พวกเราทุกพรรคการเมืองร่วมกัน ช่วยกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ โดยให้เข้าสู่สภาอย่างรวดเร็วและไม่มีเงื่อนไข โดยเร็วที่สุด เพื่อคืนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ และการปกครองส่วนท้องถิ่น ขอบคุณครับท่านประธาน
สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ ๓๘๗ เห็น ด้วยครับ
ท่านประธานครับ พอดีว่าผมลืมบัตรทั้ง ๒ ใบเลยครับ ต้องขอประทานโทษด้วยจริง ๆ ครับ
สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
ท่านประธาน สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธาน สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ