กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมขอนำหารือกับท่านประธาน ๒ เรื่อง ผมได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยเฉพาะ อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมือง เกี่ยวกับการกำจัดวัชพืชบนเกาะกลางถนน
แขวงการทางจังหวัดพังงาได้มีการประกาศ ให้เป็นแขวงการทางจังหวัดพังงาเมื่อปี ๒๕๕๘ เมื่อก่อนแขวงการทางจังหวัดพังงายังไม่ได้มี แล้วถนนทางหลวงทั้งหมดของจังหวัดพังงาอยู่ในความดูแลของแขวงการทางจังหวัดภูเก็ตด้วย โดยเฉพาะอำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอกะปง การดูแล สายทางตามภาพที่ท่านเห็นถนนหนทาง จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีรายได้จากการท่องเที่ยวติดลำดับ ๑-๑๐ จากรายได้งบประมาณในปี ๒๕๖๒ จึงเห็นสภาพ ของถนนทั้ง ๒ ข้างทางไม่มีการตกแต่งแล้วก็ไม่มีการตัดแต่งต้นไม้ จึงอยากให้หน่วยงาน แขวงทางหลวงภูเก็ตแล้วก็แขวงทางหลวงพังงาที่รับผิดชอบของถนนทางหลวงพังงาช่วยกัน มาดูแลด้วยนะครับ
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับถนนอีกสายหนึ่ง เป็นถนนขึ้นสู่เขานางหงส์ เป็นถนน เพชรเกษมสาย ๔ ดั้งเดิม ตอนนี้มีการลาดผิวจราจรใหม่เรียบร้อย แล้วก็เป็นถนนที่ใช้ ในการสัญจรจากเขาหลักเข้าสู่อำเภอเมือง อำเภอทับปุด แล้วก็เข้าสู่จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง แต่ว่าถนนสายนี้เมื่อลาดยางแล้ว ต้นไม้อยู่ในเขตของป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลด้วย แต่เวลาแขวงการทางดำเนินการตกแต่งต้นไม้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับ กรมป่าไม้ จึงอยากให้ท่านประธานช่วยประสานให้กรมป่าไม้ แล้วก็ทางหลวงท้องถิ่น จังหวัดพังงาช่วยเข้าไปดำเนินการ อันนี้ก็ฝากท่านประธานนำเรียนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการต่อไปครับ
เรื่องที่ ๒ อันนี้ผมได้รับการประสานจาก ท่านธราธิป ทองเจิม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ขออนุญาตที่ได้เอ่ยนาม เกี่ยวกับ อาคารศูนย์จริยธรรมศึกษาวัฒนธรรมของจังหวัดพังงา เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและอันดามัน เป็นการเรียนรู้ของอาคารทั้งหมดเกี่ยวกับ ๖ จังหวัดภาคใต้ โดยกรมศิลปกรเป็นผู้ออกแบบและใช้งบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรม ๑๘๘ ล้านบาท แต่ตอนนี้การส่งมอบให้กับ อบจ. ไม่ถูกต้อง สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๔ จึงมีเหตุจำเป็นที่จะต้อง ให้กรมศิลปากรส่งมอบอาคารให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อกรมธนารักษ์จะได้ส่งมอบให้กับ อบจ. ต่อไป อันนี้ตามสภาพที่ท่านเห็นอาคารต่าง ๆ เริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา เพราะ อบจ. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ ตั้งงบประมาณในการพัฒนาก็ไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมได้ เพราะผิดระเบียบอยู่ จึงอยากหารือท่านประธานเพื่อนำเรื่องทั้งหมดให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมศิลปากร กรมธนารักษ์ และ อบจ. ช่วยกันประสานงานให้อาคารนี้เป็นที่เชิดชู การท่องเที่ยว แล้วก็อยู่ในเขตของการท่องเที่ยวด้วย ขอบพระคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอหารือท่านประธานอยู่ ๒ เรื่อง
เรื่องแรก เกี่ยวกับถนนทางหลวง หมายเลข ๔๓๑๑ จากอำเภอเมืองพังงา ไปสู่อำเภอทับปุด ระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร แต่เรื่องที่ผมจะปรึกษาหารือก็คือจุดก่อนที่จะถึง ตลาดทับปุดประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นทางแยกบ้านเขาเต่า ตรงนี้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่มีสัญญาณป้ายห้ามกลับรถแต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุจนได้นะครับ ล่าสุดก็ทำให้นักเรียน ถึงแก่ชีวิต ชาวบ้านต้องการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเป็นอย่างมากนะครับ อีกจุดหนึ่งครับ ตรงบริเวณถนนดังกล่าวมีโรงพยาบาลทับปุด แล้วก็โรงเรียนทับปุดอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ชาวบ้านต้องการให้เปิดเกาะกลางเพื่อจะได้เข้าสู่โรงเรียนทับปุด แล้วก็เข้าสู่โรงพยาบาล ทับปุดได้ง่ายดาย
เรื่องที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องถนนทางหลวงชนบท ซึ่งเข้าไปอยู่แหล่งท่องเที่ยว ของจังหวัดพังงานั่นก็คือเสม็ดนางชี ซึ่งมีทางเข้าอยู่ ๒ ทาง โดยเฉพาะถนนที่มาจากพังงา เข้าสู่ตำบลหล่อยูง แล้วถ้าหากมาจากภูเก็ตก็เข้าสู่ถนนบ้านโคกกลอย บ้านท่านุ่น เป็นถนนชนบททั้ง ๒ สายนี้มาบรรจบกันที่บ้านในหยง ตำบลหล่อยูง ท่านจะเห็นสภาพ ของถนนที่บรรจบตั้ง ๓ ทางนั้นเป็นถนนวัดใจนะครับ และสถานที่ตรงสามแยกนี้ ก็มีสถานที่สำคัญโดยเฉพาะมัสยิดนะครับ แล้วก็โรงเรียนบ้านในหยง โรงเรียน กศน. และชุมชนที่อยู่กันแออัด ในสภาพที่ท่านเห็นไม่มีสัญญาณไฟจราจร ผมได้รับการร้องเรียน จากชาวบ้านผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ผู้นำศาสนาบอกว่าอยากติดตั้งไฟสัญญาณจราจรตรงจุดนี้ เพราะมีทั้งรถบรรทุกพ่วง ๑๘ ล้อ นำหินเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต แล้วยังมีรถนักท่องเที่ยว ที่จะไปเสม็ดนางชี จึงอยากนำเรียนท่านประธานนำปัญหาต่าง ๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมก็ขอสนับสนุนญัตติในการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนะการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง หลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้วว่าเรามี กฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับกฎหมายการประมงของประเทศไทย แล้วเราก็ยังไปออก พระราชกำหนด ปี ๒๕๕๘ ก็โยงไปเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ IUU ที่กำหนดว่าประเทศไทยเรายังมีการควบคุมการประมงที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น การรายงานหรือการควบคุมการประมงทั้งหมด พระราชกำหนดดังกล่าวในปี ๒๕๕๘ ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการกลั่นกรองจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้การประมงทั้งระบบ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการประมงต้องหยุดการทำประมง หลาย ๆ ท่านต้องถึงกับล่มจมเกี่ยวกับกฎหมาย ฉบับนี้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านก็ได้อภิปรายไปแล้ว วันนี้นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยก็ได้ยื่นหนังสือให้กับกระทรวงแรงงาน ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอาชีพประมงทุกระดับจะต้อง มีผู้ประกอบอาชีพซึ่งเป็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะพม่า กัมพูชา ลาว ต่าง ๆ แต่เราติดขัด เกี่ยวกับกฎระเบียบ กฎกระทรวง หลาย ๆ ฉบับที่ห้ามใช้แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะ การกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษในการทำการประมง ถ้าหากเราขาดแรงงานต่างชาติพวกนี้การประมงก็คงจะเกิดไม่ได้ ผมเองในฐานะที่อยู่จังหวัด พังงา ผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดกว้าง ๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง แต่ผมจะพูดถึงการประมงพื้นบ้านของจังหวัดพังงา ซึ่งผมได้รับการร้องเรียนจาก ผู้ประกอบการประมง
โดยเฉพาะผู้ประกอบการประมงชายฝั่ง ซึ่งประกอบอาชีพในการจับปลาขนาดเล็กนั่นก็คือปลากะตัก หรือบ้านผมเรียกว่าปลาฉิ้งฉ้าง ปลาฉิ้งฉ้างภาคกลางก็เรียกว่าปลากะตัก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นอาชีพหลักของ คนอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในการประกอบอาชีพทำปลากะตักหรือฉิ้งฉ้าง และเป็น รายได้ของจังหวัดพังงา เป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดพังงา เป็นที่ต้องการของประเทศ มาเลเซีย สินค้าปลาฉิ้งฉ้างเป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวประมาณ ๒ นิ้ว หรือ ๑๐ เซนติเมตร อายุก็อยู่ประมาณ ๑-๒ ปี แล้วก็อยู่กันเป็นฝูง แต่ผมได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการจับ ปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้าง เรื่องเกี่ยวกับเขตพื้นที่ในการจับปลา เนื่องจากมีกฎกระทรวง ซึ่ง ออกมาล่าสุดเมื่อ ๒๕๖๕ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยที่แล้ว ได้ กำหนดเขตทะเลชายฝั่งของจังหวัดพังงาในการจับปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้าง บอกว่าถ้าเรือ ขนาด ๑๐ ตันกรอสขึ้นไป หรือ ๑๐-๒๐ ตันกรอสขึ้นไป ก็ต้องจับปลาฉิ้งฉ้างในระยะทาง ๓-๓.๖ ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง
อีกประเด็นหนึ่งนะครับ จังหวัดพังงาเรามีเกาะอยู่รอบ ประมาณ ๑๐๕ เกาะ ถ้าเรากำหนดว่าระยะทาง ๓ ไมล์ทะเลถึงชายฝั่ง แต่มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง อีกจุดหนึ่งบอกว่าถ้าเป็นเกาะก็ต้องนับจากชายเกาะออกไปอีกประมาณ ๓ ไมล์ทะเล ทำให้ผู้ประกอบการประมงจับปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้างไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะปลา กะตัก ปลาฉิ้งฉ้างอยู่บริเวณชายฝั่งไม่เกิน ๓ ไมล์ทะเล หรือ ๔ ไมล์ทะเล ทำให้เกิดปัญหา ในการที่ผู้ประกอบการจับปลากะตักหรือปลาฉิ้งฉ้างต้องเข้ามาอยู่ในเขตหวงห้ามในน่านน้ำ ที่กำหนดไว้ ให้อยู่ในรัศมี ๓ ไมล์ทะเลไปแล้ว ทำให้มีคดีเกิดขึ้นกับเรือประมง เพราะพบ ปลาฉิ้งฉ้างเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกันยายน ปี ๒๕๖๕ มีคดีเกิดขึ้นกับ เรือประมงที่ถูกจับ โดยเข้ามาจับปลากะตักในพื้นที่เขตหวงห้าม จำนวน ๑๐ กว่าคดี แล้วก็เสียค่าปรับเป็นจำนวนสูงมาก รวมแล้วเกือบ ๓ ล้านบาท ประเด็นที่ผมอยากให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายการประมงช่วยกันพิจารณา คือเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ออกโดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ไม่พิจารณาถึง ความเป็นธรรมหรือความถูกต้องของปลาแต่ละชนิด แล้วก็ค่าปรับที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๑ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่บอกว่าเรือขนาด ๑๐-๒๐ ตันกรอส ถ้าโดนจับก็เสียค่าปรับ ๑๐๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้า ๒๐ ตันกรอสขึ้นไป ก็ ๒๐๐,๐๐๐- ๖๐๐,๐๐๐ บาท ยังไม่พอครับ มาตรา ๑๖๖ กำหนดให้ว่าผู้ประกอบการที่ เป็นเจ้าของเรือก็โดนจับด้วย ต้องเสียค่าปรับด้วย เท่ากับเป็นค่าปรับ ๒ ซ้อน ซ้ำซ้อนกันอยู่ ๒ ลักษณะ คือผู้ประกอบการเรือ แล้วก็เจ้าของเรือทำให้ความเป็นธรรมในการเสียค่าปรับนี่สูงขึ้น ชาวประมงที่ทำเกี่ยวกับปลากะตักเขาประกอบอาชีพเรือขนาด ๑๐ ตันกรอส ๒๐ ตันกรอส ซึ่งลงทุนโดยไม่มาก แต่ว่าเวลาเสียค่าปรับเสียเยอะเป็นการเสียค่าปรับที่ซ้ำซ้อน และไม่ได้ สัดส่วนของความเป็นจริงนะครับก็อยากให้คณะกรรมการวิสามัญที่จะพิจารณาเกี่ยวกับแก้ไข กฎหมายการประมงช่วยกันพิจารณาต่อไปนะครับ ผมก็ขอขอบคุณที่ได้มีคณะกรรมการ วิสามัญที่จะเกิดขึ้นในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายการประมงทั้งระบบนะครับ ก็ขอขอบคุณ ท่านประธานเป็นอย่างสูงครับ สวัสดีครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา พรรคภูมิใจไทย วันนี้ผมขอหารือ ท่านประธาน ๒ เรื่อง ผ่านไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ในจังหวัดพังงา
เรื่องแรกเกี่ยวกับถนนทางหลวงจังหวัดพังงา หมายเลข ๔ ตอน คลองบางดินสอ-นาเหนือ ตรงนี้มีถนนแยกบ้านบางยวนซึ่งตรงจุดกลับรถ ห่างจากทางแยกบ้านบางยวนไปประมาณ ๓๐ เมตรนะครับ ทำให้การที่จะ U-turn กลับเข้าสู่ ซอยบ้านบางยวน เมื่อกลับเข้ามาแล้วย้อนเข้ามาอยู่บ้านบางยวนแล้วเกิดอุบัติเหตุ รถที่จะ เข้าออกลำบากมาก เพราะว่าจุด U-turn กับทางแยกไม่ตรงกัน เพราะเนื่องจากถนนสายนี้ จุด U-turn ได้สร้างมาประมาณ ๒๐ กว่าปีแล้ว แต่ถนนสายบ้านบางยวนซึ่งเข้าสู่ ตำบลตากแดด แล้วก็สู่อำเภอกะปง สู่อำเภอตะกั่วป่า ผู้คนใช้สัญจรไปมามากขึ้นทำให้เกิด อุบัติเหตุบ่อยครั้ง ผมได้รับการร้องเรียนจากประชาชน พ่อแม่พี่น้อง แล้วก็กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่าอยากจะย้ายจุด U-turn ให้ตรงกับทางเข้าซอยบ้านบางยวนนะครับ
เรื่องที่ ๒ อันนี้ก็อยากจะนำเรียนท่านประธานเกี่ยวกับถนนตำบลป่ากอ โดยเฉพาะตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพังงาในตลาดพังงาประมาณ ๑ กิโลเมตรนะครับ ถนนสายนี้ผู้คนช่วงเช้าและช่วงเย็นจะนำลูกหลานเข้ามาสู่ในตลาด จังหวัดพังงา แต่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีสัญญาณไฟจราจร จึงอยากนำเรียน ท่านประธานสภาหารือกับท่านเพื่อฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการติดตั้งไฟจราจร ให้กับพ่อแม่พี่น้องในเขตนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย อย่างที่ หลาย ๆ ท่านเสนอญัตติจากเหตุผลทั้งหมด ขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวันนี้มาจากมนุษย์เป็นผู้สร้าง ทั้งหมด แล้วก็ผมจะพูดในประเด็นของเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ ก็ต้องยอมรับว่าจังหวัดภูเก็ตเตาเผาขยะไฟฟ้ามีมานานแล้ว ๒๐ กว่าปี แต่การบริหารจัดการก็ยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และงบประมาณ หลาย ๆ เรื่อง แล้วก็จังหวัดกระบี่ก็มีแล้วนะครับ โรงไฟฟ้าเตาเผาขยะ แต่จังหวัดพังงาผมขอ เจาะลึกไปนิดหนึ่งว่าจังหวัดพังงาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีเตาเผาขยะ ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดพังงามาก แล้วก็เพิ่มปริมาณ เกี่ยวกับขยะมากมาย โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวได้เข้ามาจังหวัดพังงาประมาณ ๒,๖๐๐,๐๐๐ คน และจากข้อมูลทั้งหมดมีขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้ว ๑ กิโลกรัม ๑ คนต่อวัน และขยะมูลฝอยต่าง ๆ ก็กระจายไปทั่วทั้งจังหวัด ปัญหาต่าง ๆ นั้น ณ วันนี้ผมเองกับทีมงาน ผู้บริหารจังหวัดก็ดี พยายามที่จะหาคิดวิธีการว่าจะต้องมีเตาเผาขยะขึ้นที่จังหวัดพังงาให้ได้ ศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลเมืองพังงา ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เนื้อที่ประมาณ ๗๑ ไร่ ใช้วิธีการในการฝังกลบโดยตามแบบถูกสุขลักษณะสุขาภิบาล ปัจจุบันมีหน่วยงานนำขยะ เข้าไปร่วมในการกำจัดอยู่ที่ศูนย์นี้ประมาณ ๑๙ แห่ง มีทั้งอำเภอตะกั่วป่า อำเภอทับปุด อำเภอเมือง แล้วก็อำเภอตะกั่วทุ่ง ไม่มีที่เผา ไม่มีเตาเผา ตอนนี้เราก็ได้ทำการศึกษาวิจัย แล้วก็ของบประมาณ โดยเทศบาลเมืองก็พยายามทำทุกวิธีการ ก็ยังไม่ได้งบประมาณ ยังมีกฎหมายบ้านเมืองหลายฉบับที่ติดขัดอยู่ แล้วก็ไปดูอีกพื้นที่หนึ่งของอำเภอเกาะยาว ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่กลางทะเล การกำจัดเกี่ยวกับขยะนี้เป็นปัญหามากมายนะครับตอนนี้ ประชาชนในพื้นที่ ๑๔,๐๐๐ กว่าคน แล้วก็นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวเกาะยาวประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คนต่อวัน ทำให้เกิดขยะมูลฝอยเกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วด้วย ในขณะนี้ มีความจำเป็นจะต้องตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่ตำบลพรุใน หมู่ที่ ๒ เนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ซึ่งมีการวิเคราะห์แล้วตั้งงบประมาณไว้แล้วทั้งหมด ๑๘๗ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแล เหลียวแล ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เร่งด่วน อย่างเร่งด่วนของประชากรที่เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขยะก็เพิ่มขึ้น แต่เราก็ยังขาดงบประมาณการบริหารจัดการ ตอนนี้เรื่องอยู่ที่จังหวัด และอีกจุดหนึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเขาหลัก อันนี้ก็ถือว่าอำเภอตะกั่วป่า อำเภอ ท้ายเหมือง อำเภอคุระบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีเตาเผาขยะ ณ วันนี้ เทศบาลตำบลลำแก่นเขามีพื้นที่สำหรับ ๑๔๐ กว่าไร่ แล้วก็อยู่ในพื้นที่สีม่วงสามารถตั้ง โรงงานกำจัดขยะแล้วเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย ตอนนี้ทางเทศบาลก็พยายามจะผลักดัน โครงการให้กับจังหวัดแต่เกิดการล่าช้า ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องระเบียบเรื่องการเวนคืน เรื่องผังเมือง หลาย ๆ เรื่องที่ผมประสบมาทั้งหมด พยายามเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ ทุกคนก็ยอมรับว่าพื้นที่เหมาะสมที่สุดคือตำบลลำแก่น ถ้าจะใช้วิธีการทั้งหมดที่นำเรียนต่อ สภาแห่งนี้ว่าท้องถิ่นเราพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างเตาเผา แต่ติดขัดเรื่อง กฎหมาย กฎกระทรวง ผังเมืองและความล่าช้าของระบบราชการ ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะ มูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงนี้ก็อยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ขยะมูลฝอยผลิตเป็นพลังไฟฟ้าของตำบลลำแก่น จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของจังหวัดพังงาไม่สามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำมาสู่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศแหล่งแพร่พันธุ์ของสัตว์ พาหะนำโรค เชื้อโรคต่าง ๆ สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็น อย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ผมก็อยากสนับสนุนญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาเกี่ยวกับแก้ไขปัญหาเรื่องบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของประชาชน จากเหตุผลทั้งหมดประเด็นหลัก อยู่ที่กฎระเบียบ กฎกระทรวง แล้วก็หลาย ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ เรื่องขยะให้เป็นรูปธรรมอย่างที่หลาย ๆ ท่านได้บอกกล่าวมาแล้วในสถานที่แห่งนี้นะครับว่า ถ้าหากเรายังปล่อยให้งบประมาณก็ดี หรือว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ก็ดีที่ยังมีปัญหา ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา จะทำให้ปัญหาซึ่งจะเกิดขึ้นอยู่ทุกวันของกองขยะนี้ จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถ้าไม่มีการดูแลในจุดนี้ ผมก็เชื่อว่าการสร้างมลภาวะเกี่ยวกับขยะก็จะมี ปัญหาต่อไป จึงอยากให้คณะกรรมการซึ่งจะดูแลเรื่องเกี่ยวกับขยะมูลฝอยทั้งหมดนี้ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการด้วยความจริงใจ จริงจัง แล้วก็รวดเร็ว พร้อมกับรัฐบาล ต้องสนับสนุนงบประมาณให้กับการกำจัดขยะอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วนด้วยครับ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วปัญหาก็จะต้องเกิดขึ้นต่อไป ก็อยากนำเรียนให้ท่านประธานได้รับทราบ ณ สถานที่แห่งนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ผมขอหารือท่านประธาน ๒ เรื่อง
เรื่องแรก ขอให้พิจารณาปรับปรุงถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ช่วงอำเภอเมืองถึงแยกนบปริง จุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๙๐ นบปริง-นิคม ถนนสายดังกล่าวตอนนี้เราได้งบประมาณในการทำสะพาน ๒ สะพานจากกรมทางหลวง แล้วก็มีถนน ๔ เลนเชื่อมสะพานดังที่เห็นในภาพ แต่ปรากฏว่าหลังจาก ๔ เลนแล้วก็เป็นถนน ผิวจราจร ๘ เมตร ทำให้การสัญจรไปมาตลอดสายของทางหลวงดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ มีปัญหามากมาย ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านอยากจะขยายถนนเป็น ๑๒ เมตร ผิวจราจร ๑๒ เมตร เชื่อมต่อกับถนน ๔ เลน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ มีระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ตั้งแต่อำเภอเมืองถึงทุ่งคาโงก แล้วเส้นทางนี้มีผู้คนใช้สัญจรไปมามากมาย รถที่วิ่งอยู่ ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คัน ตั้งแต่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี อำเภอทับปุด เข้าสู่ อำเภอเมือง แล้วก็เข้าไปจังหวัดกระบี่ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมช่วยกันพิจารณาขยายไหล่ทางทั้ง ๒ ข้างด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ เกี่ยวกับสะพานท่องเที่ยวของตําบลโคกกลอย อําเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงาเป็น Unseen แห่งใหม่ของตำบลโคกกลอย มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว ไม่ว่า ชาวต่างประเทศหรือชาวไทย ณ วันนี้ไปชมพระอาทิตย์ตกน้ำที่หัวสะพาน แต่หลังจากที่ชม พระอาทิตย์ตกน้ำเรียบร้อยแสงสว่างของสะพานแห่งนี้ไม่มีเลย ห้องน้ำก็ไม่มี ผมได้รับ การร้องเรียนจากชาวบ้านบอกว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะท้องถิ่นหรือว่าผู้ดูแล เกี่ยวกับสะพานแสงสว่างทั้งหมดช่วยไปดำเนินการในการทำห้องน้ำและติดแสงสว่างให้กับ สะพานแห่งนี้ จึงนำเรียนกับท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ให้ช่วยนำเรียนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ขอหารือท่านประธาน ๒ เรื่อง ผ่านไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ
เรื่องแรก เกี่ยวกับการการก่อสร้างโรงอาหาร โรงเรียนอนุบาลจังหวัดพังงา เนื่องจากโรงเรียนอนุบาลจังหวัดพังงาสอนมาเป็นเวลา ๗๐ ปี แต่โรงอาหารของโรงเรียนไม่มีนะครับ มีนักเรียนที่มีเขตบริการจังหวัดพังงา ทั้งจังหวัด และมีจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันนี้มีนักเรียนอยู่ประมาณ ๑,๕๖๐ กว่าคน คณะครู ๑๐๔ คน แต่ไม่มี โรงอาหารเนื่องจากเรายังขาดโรงอาหาร ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรี สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ท่านได้ไปติดตามงาน ได้เห็นเหตุการณ์ว่าเด็กนักเรียนต้องนำหม้อ ข้าวหม้อแกงขึ้นไปรับประทานอาหารที่ห้อง ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นแล้วหดหู่นะครับ ก็อยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการช่วยพิจารณาในการดำเนินการก่อสร้าง อาคารโรงอาหารดังกล่าวด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ก็เกี่ยวกับอาคารเรียนโรงเรียนบ้านคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งอาคารดังกล่าวสร้างมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเวลา ๕๐ ปีแล้วนะครับ ซึ่งมีนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ป. ๖ ทำการเรียนการสอน ปัจจุบันนี้อาคารดังกล่าวสำนักงาน เขตพื้นที่ศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการศึกษามีนโยบายให้ทุบทิ้งตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แต่ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ ผมได้รับการร้องเรียนจากผู้บริหารโรงเรียน แล้วก็ ผู้ปกครองบอกว่า อาคารดังกล่าวอันตรายมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรื้อถอน และสร้างอาคารใหม่ให้กับนักเรียนด้วย จึงนำเรียนให้ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ขอบคุณมากครับ