กราบเรียนท่านประธานสภา ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอหารือกับท่านประธาน เรื่องมาตรการการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เนื่องจาก ในอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยทำเงินรายได้เข้าประเทศ เกือบหลัก ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่เนื่องจากว่าในสภาพปัจจุบันมีการแข่งขันของ นานาประเทศค่อนข้างเยอะมาก ทำให้ผู้ถ่ายทำมี Location เลือกในที่อื่น เพราะฉะนั้น ในสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศก็ได้ปรึกษาหารือแล้วก็ทำเรื่อง เพื่อเข้าเสนอให้กับรัฐบาล ก็แบ่งเป็น ๒ มาตรการนะครับ มาตรการแรกก็คือมาตรการจูงใจ แล้วอันที่ ๒ ก็คือมาตรการที่ช่วยส่งเสริมอุปสรรค ใน Slide ถัดไปเราจะเห็นรายละเอียดว่า ในตัวมาตรการจูงใจทางสมาคมได้ทำเรื่องขอเสนอไปในรัฐบาลแล้วก็เข้าไปในกรรมการ สบส. เมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๕ แล้วก็เข้าไปใน ครม. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๖๖ ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยกัน ๔ เรื่อง ก็คือเรื่องการปรับคืนเงิน Cash Rebate จาก ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ให้เป็น ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เงื่อนไขในการคืนเงินให้กำหนด ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในลักษณะอันเดิมก็คือ ๕๐ ล้านบาท แล้วก็ปรับเพดานการคืนเงินเพิ่มขึ้น จาก ๗๕ ล้านบาทเป็น ๑๕๐ ล้านบาท แล้วก็ขอเงินที่จะใช้ในการคืน Cash Rebate แต่เดิม ให้งบประมาณไว้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันนี้ก็จะของบประมาณเพิ่มเติมเป็น ๙๐๐ ล้านบาท ในเรื่องนี้กรมการท่องเที่ยวก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากว่าตัวเลขที่ กรมการท่องเที่ยวทำมันเป็นตัวเลขที่ไปเพิ่มขั้นต่ำของอุตสาหกรรม แต่ว่าไม่ได้ไปเพิ่ม ตัวเงินคืนให้เต็มตามจำนวนที่ได้เสนอไว้ตอนแรก เพราะฉะนั้นในมาตรการการจูงใจอันต่อไป ที่จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีก็คือการปรับอัตราคืนเงินเป็น ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็การตั้งกรอบวงเงินงบประมาณในปี ๒๕๖๗ กับปี ๒๕๖๘ เนื่องจากเงื่อนไขรัฐบาล บอกว่าให้ทดลองทำ ๒ ปีก็คือปี ๒๕๖๗ กับปี ๒๕๖๘ ผมอยากติดตามเรื่องการตั้ง เงินงบประมาณในปี ๒๕๖๗ ปี ๒๕๖๘ แล้วก็อีก ๒ อันที่เราคงต้องรีบดำเนินการเป็นไปตาม มติ ครม. ก็คือการปรับหลักเกณฑ์ของตรวจคนเข้าเมือง เรื่องหลักเกณฑ์ของการตรวจคนเข้าเมือง ให้มันครอบคลุม ให้กองถ่ายมีระยะเวลาการขอ Visa ได้นานมากยิ่งขึ้น แล้วอันต่อมา ก็คือเรื่องการติดตามเรื่องการแจ้งการปรับเรื่องคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีมาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๖๕ จนถึงปีนี้ผ่านมา ๑ ปีแล้วก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร สุดท้ายก็คือเรื่องเกณฑ์การใช้พื้นที่ในการถ่ายทำ ก็เป็นเรื่องที่ใน ครม. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องก็ยังไม่มีความก้าวหน้า เพราะฉะนั้นฝากเรียนท่านประธานไปหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขตามมติคณะรัฐมนตรี ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภานะครับ แล้วก็ผู้บริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องจากว่ากองทุนนี้ได้รับ เงินรายได้หรือเงินอุดหนุนจากการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผมเข้าใจว่าตัวกองทุนที่ให้เงิน ท่านมานี่ก็คงอยากจะเห็นโจทย์ที่เอาเงินที่เก็บมาจากงานโทรทัศน์ แล้วก็มากระจายกลับคืน ให้กับสังคม ผมไล่ไปตามรายงานเลยนะครับ ตาม Slide แล้วกัน ผมขอ Slide เปิดหน้า ถัดไปเลยครับ
ในรายงานของท่านก็บอกถึง ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงในปีปัจจุบันที่ท่านส่งรายงานคือปี ๒๕๖๕ ตัวที่เป็นสีฟ้าก็คืออันที่ ท่านให้บอกตามยุทธศาสตร์ที่เป็นเรื่องทั่วไป กับอันที่เป็นสีส้มก็คืออันที่เรื่องที่ให้ตาม ยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าในท้าย ๆ มานี่เราก็จะให้เงินไปตามยุทธศาสตร์ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมกำลังมองว่าโอกาสของคนตัวเล็ก คนที่อยู่ในต่างจังหวัด คนที่เริ่มต้น ทำงานใหม่ ๆ ทางด้านสื่อสร้างสรรค์นี่โอกาสก็จะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นผมอยากเห็น ก็คือเรื่องเกณฑ์ในการพิจารณาของปีถัดไป เช่นในปี ๒๕๖๖ ว่าสัดส่วนของเกณฑ์ในการจัดสรรทุน ให้ทางตัวที่เป็นยุทธศาสตร์ของสถานการณ์ของตัวกองทุนเอง กับอันหนึ่งก็คืออันที่เป็นเรื่อง ทั่วไปที่จะเปิดให้กับคนทั่วไปเพิ่มมากขึ้นนะครับ ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะไม่มีโอกาสเห็น หรือส่งเสริมกับเยาวชนที่จะทำงานเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ใน Slide ที่ ๒ ผมไล่ไปตามรายงานของท่านนะครับ ก็คือตัวจำนวนเงิน รายละเอียดของตัวสื่อที่ท่านให้มาตามรายงานนี้ ในปี ๒๕๖๕ ท่านให้ไว้ที่เปิดรับทั่วไป ๕๗ โครงการ ด้วยเงินประมาณ ๑๐๓ ล้านบาท แล้วก็ประเภทยุทธศาสตร์ ๗๐ โครงการ ด้วยเงิน ๑๗๙ ล้านบาท แล้วก็อันที่เป็นเรื่องความร่วมมือ ๕ โครงการ ๑๖ ล้านบาท ส่วนในปี ๒๕๖๖ ที่เตรียมทำแผนไว้ ท่านก็ให้ไว้ในสัดส่วนที่ดูใกล้เคียงกัน แต่พอลง รายละเอียดในตัวเลขของโครงการต่าง ๆ ผมก็ไปนั่งดูรายละเอียด ในนั้นมันมีรายละเอียด ตั้งแต่โครงการย่อย ๆ เล็ก ๆ ก็คือ ๓๐๐,๐๐๐ บาท จนไปถึงโครงการ Scale ขนาดใหญ่ คือ ๑๔ ล้านบาท หรือแม้กระทั่งในปี ๒๕๖๖ ที่ท่านเตรียมให้ ๘.๕ ล้านบาท ใน Scale ของโครงการที่แตกต่างกัน ซึ่งความจริงท่านก็ได้ชี้แจงไว้ในข้อเสนอแนะของทีมประเมิน โครงการว่าได้แบ่งโครงการไว้ใน Scale ที่เป็น S M L นะครับ ผมอยากเห็นว่าความแตกต่าง ของตัวเลขที่มันจาก ๓๐๐,๐๐๐ บาทจนถึง ๑๐ กว่าล้านบาทนี่มันมีวิธีการจัดสรร ด้วยวิธีอะไรได้บ้าง มันมีเกณฑ์ในการพิจารณาที่จะให้เงินกับโครงการต่าง ๆ ด้วยเกณฑ์อะไร เพราะว่าลองอ่านในรายงานนี่ไม่มีเกณฑ์ในการที่จะให้ทราบว่าเราให้เงินโครงการนี้เท่าไรบ้าง พอเปิดไปดูในหน้า ๒๒ ของรายงาน ก็ไปดูเงินที่ท่านใช้จ่ายในปี ๒๕๖๕ ๕๗๒ ล้านบาท แล้วก็ตัวโครงการนี่ท่านให้ไว้ที่ ๒๙๙ ล้านบาท เงินที่ท่านจ่ายในเฉพาะปีนี่พอไปดูข้อที่เป็น งบประมาณที่ใช้ผูกพัน ท่านปล่อยให้เงินผูกพันของปี ๒๕๖๕ ไปถึง ๓๖๒ ล้านบาท ซึ่งเทียบแล้วก็คือประมาณ ๖๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเพดานเงินที่ค่อนข้างเยอะมาก หลังจากที่ท่านได้เงินงบประมาณประจำปีแล้วเอาไปปล่อยไว้เป็นเงินผูกพันซึ่งค่อนข้าง เยอะมาก เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นก็คือว่าในอนาคตข้างหน้าทำอย่างไรมันถึงจะทำให้เรา สามารถจ่ายเงินงบประมาณได้ปีต่อปี แล้วก็เข้าใจได้ว่าในบางโครงการนี้ท่านอาจจำเป็น ที่จะต้องจ่ายในระยะเวลาเกิน ๑ ปี แต่ผมเชื่อว่าเราคงจะต้องมีเพดานในการจ่ายนะครับ
ส่วนใน Slide อันที่ ๓ ผมก็หยิบตามตัวอย่างของท่านนะครับ ที่ท่านให้ไว้ เป็น Highlight ของ ๒ โครงการ โครงการแรกก็คืออันที่บอกว่าเป็นโครงการเด่นของปี ๒๕๖๕ ชื่อว่า บินล่าฝัน A Time to Fly โครงการนี้ให้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แล้วก็มีผลสัมฤทธิ์ในปีนี้เอง หรือโครงการที่ชื่อว่า White Monkey หนุมานขาว ก็ให้ไว้ตอนปี ๒๕๖๓ แล้วเพิ่งจะมา สัมฤทธิ์ ทั้ง ๒ โครงการ พอผมลงไปดูในรายละเอียด เช่น เงินงบประมาณ ๑๐ ล้านบาททั้งคู่ แต่เวลาที่ผมเปิดเข้าไปดูใน Review ภาพยนตร์ เพราะอันนี้ฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปด้วย ผมไปเปิดดูใน Review ก็ไม่พบว่าเรื่องนี้มีการ Review ในระบบของภาพยนตร์ ไปดูใน Thailand Box Office ก็มีรายได้ฉายอยู่ ๑๔ วัน ได้ ๓.๓ ล้านบาท ซึ่งมันไปเปรียบเทียบ กับหนังของเอกชนในช่วงเวลาเดียวกัน ชื่อ บัวผันฟันยับ ในเวลา ๑๔ วันเหมือนกัน เขามีรายได้ ๗๕ ล้านบาท ในขณะที่หนังของเรามีรายได้อยู่ที่ ๓.๓ ล้านบาท เพราะฉะนั้น ผมก็เลยอยากให้ท่านช่วยดูในฝั่งเรื่องการรับรู้ของคนดูด้วยว่าคนดูมีการรับรู้เท่าไร ผมขออีกนาทีเดียวครับท่านประธาน แม้กระทั่งวิธีการที่จะให้คนรับรู้ ผมก็เข้าไปดู รายละเอียด ก็พบว่ามีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๘๑๖๓.๓/ว๙๑๗๘ ซึ่งลงวันที่ ๗ ธันวาคม เมื่อปีที่แล้ว บอกว่าให้เราช่วยเกณฑ์เอานักเรียนไปเข้าชมหนังเรื่องนี้ด้วย โดยการที่บอกว่าให้ใช้เงินงบประมาณในหมวดค่าจัดการเรียนการสอน การทำกิจกรรมของ ผู้เรียนเพื่อไปเกณฑ์ให้ตัวเลขของคนเข้าชม แล้วก็ต้องทำแบบสอบถามตอบกลับคืนมาด้วย เพราะฉะนั้นในภาพยนตร์นี่ผมหวังว่าเมื่อเราพยายามลงทุนแล้ว ให้เงินไป ๑๐ ล้านบาทแล้ว เราก็คงหวังผลที่มันจะทำให้มันมีผลสัมฤทธิ์ต่อคนดูด้วย เพราะฉะนั้นใน Slide สุดท้ายก็คือมี คำถามกับท่าน ๒ ข้อ
ข้อแรกก็คือข้อมูลทั้งหมดที่ท่านผู้บริหารกองทุนเสนอมานี่ผมคิดว่าแนวทาง ในการจัดสรรโครงการท่านทำอย่างไร
ข้อที่ ๒ ก็คือเรื่องตัวชี้วัดในกองทุนต่าง ๆ ในโครงการต่าง ๆ ว่าท่านมีตัวชี้วัด ในกองทุนเท่าไร ซึ่งจริง ๆ แล้วเราวัดได้ทั้งตัวที่เป็น ROI หรือ SROI ได้ทั้งคู่ แล้วก็ในตัว กองทุนเองผมว่าท่านก็มีอนุกรรมการอยู่ ๖ ชุด แต่ว่าในอนุกรรมการชุดกลั่นกรองนี่ท่าน ไม่ได้ระบุชื่อไว้ว่าใครเป็นกรรมการอนุกรรมการกลั่นกรองนะครับ เพราะว่าเป็นคนที่ระบุ กองทุนเอง แล้วก็ข้อแนะนำของชุดกรรมการประเมินนี่ผมก็มีความเห็นสอดคล้องครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาครับ ข้อกังวลผมนี้นะครับคือในยุทธศาสตร์ที่ ๔ ที่ท่านเขียนว่าเรื่องการมีส่วนร่วม เนื่องจากว่า สื่อของท่านนี่ลูกค้าโดยตรงคือตัวเยาวชน แล้วก็ผู้สูงอายุทั้งหลาย แล้วก็เหตุผลในท้าย พระราชบัญญัติของท่านพูดถึงเรื่องคุณภาพ เรื่องเยาวชน เรื่องการพัฒนาสื่อ ผมอยากเห็น เยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำโครงการต่าง ๆ หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการเลือกโครงการต่าง ๆ เพราะเนื่องจากว่าตัวสื่อวันนี้ถ้าเผื่อเราเอาคนอายุ ๖๐ ปีขึ้น มานั่งตัดสินใจให้เด็กอายุ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ๑๗ ปี ๑๘ ปีว่าให้เขาเข้าใจกัน ผมคิดว่ามันเป็นไป ไม่ได้หรอกครับ เพราะฉะนั้นท่านต้องพยายามเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในกลุ่มลูกค้าของท่าน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะเลือกโครงการ ถ้าท่านยังเลือกโครงการเดิมด้วยวิธีการเดิม ด้วยคนอายุ ๖๐ ปีขึ้นมาตัดสินใจ ผมเชื่อว่ามันไม่สามารถสื่อถึงเหตุผลในท้ายพระราชบัญญัติได้ ขอบคุณครับ
ผม อภิสิทธิ์ครับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
กราบเรียนท่านประธาน ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอต่อเนื่องจากที่ท่านเลขาธิการ ได้ชี้แจงไปเรื่องกฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ๓๕ ฉบับนี้ เนื่องจากว่าอันที่ผมติดใจ ก็คือในพระราชบัญญัติภาพยนตร์ แล้วก็วีดิทัศน์ที่จะดำเนินการแก้ไขในปี ๒๕๖๖ เนื่องจากว่าการรายงานครั้งนี้มันจะเป็นการรายงานครั้งสุดท้าย เพราะฉะนั้นผลของตัวกฎหมาย ฉบับนี้ในท้ายของหน้าเอกสารนี่บอกว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ว่าในระหว่าง การดำเนินการเนื่องจากว่าตอนรายงานมันเป็นฉบับถึงเดือนธันวาคมปี ๒๕๖๕ แต่ในปัจจุบัน มันได้มีการดำเนินการไปแล้วก็คือได้ทำประชาพิจารณ์ ทำ Public Hearing ไปแล้ว แล้วก็ โดยหลักการของสมาคมวิชาชีพที่เขาประกอบอาชีพทางด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ทั้งหมด ๒๐ กว่าสมาคม เมื่อวันที่ ๒๓ เขาได้มีแถลงการณ์ แล้วก็คัดค้านเรื่องตัวพระราชบัญญัติ ที่ดำเนินการ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ฉะนั้นผมอยากฝากเนื่องจากว่า เป็นการคัดค้านจากกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพนี้ เพราะฉะนั้นอยากฝากให้ท่านเลขาธิการ ซึ่งเป็นตัวเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศช่วยติดตามให้ด้วยว่าในตัวพระราชบัญญัติ ที่กรมส่งเสริมได้เสนอ แล้วก็ทางกลุ่มวิชาชีพเขาคัดค้าน ท้ายที่สุดจะดำเนินการด้วยวิธีอะไร ต่อไป เพราะเนื่องจากว่าการรายงานคราวหน้ามันจะไม่มีแล้วครับ ขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมฟังการอภิปรายในเรื่องปัญหา ชายแดนภาคใต้ เราก็ทราบกันดีอยู่ว่าตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี ปัญหานี้ความจริงมากกว่า ๒๐ ปีด้วยซ้ำ แล้วเราก็ลงเงิน ๘๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้วเราหมดเงินไป แต่ปัญหา ยังคิดว่าทุกวันนี้เราก็หยิบปัญหานี้ขึ้นมาพูดในสภานี้อยู่ทุกครั้ง ผมเชื่อว่าในประเด็นปัญหา ต่าง ๆ ที่เราทำกันมากว่า ๒๐ ปีด้วยงบประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เราก็ทำ โดยประเด็นหลักสำคัญก็คือเราพยายามแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคง เราพยายามจะแก้ปัญหา เรื่องการสู้รบ เราพยายามแก้ปัญหาเรื่องที่ทหาร ที่ตำรวจทั้งหลาย ที่ชาวบ้านมาปะทะกัน แล้วเราก็เชื่อด้วยว่าในชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็มีการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพียงแต่ว่าความพยายามที่มองปัญหาของเรื่อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ เราเทน้ำหนักไปที่ทางด้านความมั่นคงเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมอยากเสนอมุมมองที่ต่างจากเดิม ที่ทำกัน เพราะเนื่องจากว่าผมมาจากประสบการณ์ของคนที่ทำงานทางด้านงานสร้างสรรค์ จากที่ลงไปในพื้นที่ที่ผมทำงานร่วมกับคน ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ที่เป็นพุทธ เป็นคนจีน เป็นมุสลิม เขาทำงานสร้างสรรค์ เขาทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เขาทำงานดนตรี เขาทำงาน ภาพยนตร์ เขาทำงานเรื่องการแสดง ผมเชื่อว่าคนเหล่านั้นเมื่อมาทำงานร่วมกันแล้วก็จะมี ผลงานมีกิจกรรมร่วมกัน มันเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทำให้คนที่มีพื้นฐาน ภูมิฐานต่างกันเข้ามา คิดในเรื่องเดียวกันได้ แล้วก็ความคิดนั้นจากปีแรกที่ผมลงในพื้นที่ มันก็ขยายความคิดกว้าง มากขึ้น ๆ จนในท้ายที่สุดเขาก็สามารถจัดงานร่วมกันได้ เช่น ที่ปัตตานีเขาก็จัดงานเรื่อง ปัตตานีดีโค้ดขึ้นมา เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมในงานก็มาจากคนที่หลากหลาย หลังจากที่จัดงานเสร็จ ตัวผลิตภัณฑ์ ตัวการแสดง ตัวอะไรเขาก็ไปทำงานต่อกันในระดับ หมู่บ้าน เขาไปทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เขาใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อไปสู่กระบวนการ สุดท้ายที่เราอยากได้กันมากก็คือเรื่องกระบวนการสันติสุขในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เขาทำกัน เขาก็ผ่านกลุ่มต่าง ๆ ผ่านพื้นที่อย่างเช่นใน Pattani Decode มีกลุ่ม Melayu Living ที่ทำทั้งผลิตภัณฑ์ ทำทั้งเรื่องงานแสดงต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนภาพจำของ ๓ จังหวัดภาคใต้จากคนอื่นที่มองไปกับความรุนแรง แต่กลับมีเรื่องใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เรามี เรื่องดนตรีพื้นเมือง เรามีเรื่องงานหัตกรรมที่เกิดมาจากสินค้าของวัสดุในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น งานจักสาน ไม่ว่าจะเป็นงานผ้า ไม่ว่าจะเป็นตัวงานอาหาร เรามีบางถนน เช่น อาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนฤาดี ที่เป็นชุมชนใหญ่ของคนทั้ง ๓ ศาสนาเข้าไปอยู่ร่วมกัน ผมว่า สินค้าอย่างเช่น สินค้า Batik ที่พอเริ่มเปิดพื้นที่ได้หลายคนสามารถพัฒนาจนเกิดอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ ในกลุ่มอย่างเช่น ผ้า Batik ของบาราโหม สามารถทำเงินในทั้งกลุ่มได้เป็นหลัก แสนบาท ผมเชื่อว่าถ้าเผื่อเราสามารถทำให้สังคมเขาอยู่ในพื้นที่ที่ดีได้ สังคมเขาเปิดพื้นที่ ที่มันปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ผมพยายามกลับไปอ่านในรายงานของประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซีย ระหว่างตัวรัฐบาลกับกลุ่มอาเจะฮ์ ผมไปอ่านในอังกฤษการต่อสู้ กับกลุ่ม IRA ที่ไอร์แลนด์ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมพบแล้วก็เป็นข้อตรงกันก็คือการเพิ่มพื้นที่ ปลอดภัยให้มากขึ้น ๆ เพื่อทำให้ปัญหาทางกายภาพมันลดลง แล้วก็สร้างความไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน ผมเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างกิจกรรมใหม่ ๆ มันจะเป็นวิธีการที่สร้าง ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มันทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สร้างสรรค์ ที่ในปัจจุบันผมคิดว่าเราขยายพื้นที่สร้างสรรค์เข้าไปในหลายจังหวัด แต่ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ เรายังเห็นไม่ชัดเจนมาก ฉะนั้นถ้าเผื่อเราสามารถฝากให้คณะกรรมาธิการลองพิจารณา สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ลองพัฒนาสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อทำให้คนในพื้นที่สามารถเข้าใจ ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นประเด็นของศิลปะ ประเด็นของการออกแบบ ประเด็นของความรู้ ภูมิปัญญาในพื้นที่ถ้าเอามาแชร์ร่วมกันมันก็จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ ความไว้วางใจในระดับตัวบุคคลแล้วก็จะขยายมาเป็นความไว้วางใจในระดับ Community เกิดขึ้นผมเชื่อว่าความไว้วางใจเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการสร้างสันติสุขแล้วก็เชื่อว่า วิธีทางความคิดสร้างสรรค์จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่มีภูมิหลังต่างกัน แต่มีความเข้าใจซึ่งกันและกันจะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปได้ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ๔๗๖ แสดงตนครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นผมนั่งฟัง เพื่อนสมาชิกที่อภิปรายในญัตตินี้มากกว่า ๒๐ คน หลายท่านก็ให้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นทาง เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกและด้านลบ แล้วก็เอกสารเก่า ๆ ของสภาเองก็มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้ครบถ้วนหลายครั้งต่อหลายครั้ง แต่สิ่งสำคัญผมกลับมองว่าในเรื่องนี้เราไม่สามารถที่จะพูดในประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ ครับท่านประธาน ไม่ว่าจะพูดด้วยประเด็นทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าประเด็นถึงการจ้างงาน ผมอยากเรียนท่านประธาน ผมสนับสนุนกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา เรื่องนี้ โดยประเด็นที่ผมอยากเสนอในเรื่องนี้ก็คือประเด็นทางสังคม ผมคิดว่า ตรรกะสำคัญของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่ประเทศต่าง ๆ ที่เพื่อนสมาชิก ได้ยกมาให้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน ท่านทราบใช่ไหมว่าประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่ผลการศึกษา Scientific Education Ranking สูงกว่าประเทศไทยเกือบหมดเลย ไม่ใช่เกือบหมด หมดทุกประเทศ ประเทศเหล่านั้นที่เอ่ยชื่อมาเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่อปีนี้เกินกว่า ประเทศไทยเกือบเกินกว่า ๑ เท่าตัว เพราะฉะนั้นสังคมของการพนัน สังคมของคำที่ท่านใช้คำว่า การเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร หรือใช้ภาษาอังกฤษว่า Entertainment Complex ผมมีความรู้สึกว่ามันมีคำซ่อนในมิติอื่น ๆ อยู่ด้วย ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีแนวทาง ในการพัฒนาประเทศคือเราต้องการสร้างสังคมที่เป็นสังคมวิทยาศาสตร์มากขึ้น เราต้องการ คำอธิบายเพื่อที่จะตอบโต้ปัญหา แก้ปัญหาซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราอ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์เราก็จะเห็นตัวเลขจากงูที่มันขดกัน จากใบไม้ จากต้นไม้ จากสิ่งต่าง ๆ อะไรก็ได้ แล้วเราก็สามารถทำให้มาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการพนัน ผมคิดว่า เราต้องสร้างสังคมใหม่เพื่ออธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโชคชะตา เราต้องทำให้ สังคมเข้าใจได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเรื่องความเชื่อที่มันไม่ได้มีผลต่อการดำรงชีวิต ผมอยากเสนอประเด็นให้คณะกรรมาธิการได้ช่วยศึกษาในแง่ตรรกะของสังคม ในแง่ตรรกะของ การดำรงชีวิตว่าเราควรจะดำรงชีวิตด้วยสัมมาอาชีพ เราควรจะดำรงชีวิตด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ความอดทน เพื่อที่จะหารายได้มาให้ได้ เราไม่ควรดำรงชีวิตบนพื้นฐานของเส้นด้าย ของความโชคดี เราไม่ควรดำรงชีวิตบนความเชื่อที่เราฝันมาเมื่อคืน เพราะฉะนั้นสังคมไทยเอง ถ้าเราทำให้ตรรกะของชีวิต ตรรกะของสังคมอยู่บนสังคมทางวิทยาศาสตร์ได้ เราก็จะแก้ไข ปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เพราะฉะนั้นในการตั้งเรื่อง Entertainment Complex ผมคิดว่า มันควรจะต้องมองในหลายมิติ มองในหลายเรื่องเพื่อจะทำให้สังคมไทย ถ้าเผื่อเรามีเรื่องนี้ เกิดขึ้นเราก็คงจะมีหลวงพ่อที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกาสิโน ก็จะมีหลวงพ่อไปห้อย องค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อเราศึกษาเรื่องนี้ แล้วก็ทำเรื่องนี้ให้เป็นตรรกะ ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ผมเชื่อว่าสังคมไทยเราจะยืนอยู่ได้บนสัมมาอาชีพ บนตรรกะ ทางสังคม ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เราทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้ครับ ขอบพระคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา กระผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในเรื่องของ กสทช. ผมขออภิปรายเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องของกองทุนวิจัยพัฒนากิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จริง ๆ ในวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยอันนี้ผมว่าก็พูดไว้ชัดเจน เพราะว่าเป็นรายจ่ายหลักของ กสทช. ว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายหลักประมาณเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ทุก ๆ ปีเราก็ได้เงิน เจียดมาจากตัว กสทช. ที่มาจากค่าธรรมเนียม ในวัตถุประสงค์ของกองทุนก็พูดไว้ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสเพื่อจะใช้บริการทั่วถึงของการวิจัย เพื่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อการพัฒนาการบริการ เพื่อทำให้คนในอุตสาหกรรมทั้ง ๓ สาขานี้ ได้มีโอกาสเป็นพื้นที่ทดลอง แล้วก็คุ้มครองผู้บริโภค
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมใช้ในการอภิปรายข้อมูลเรื่องนี้ ก็มีคนที่เขาทำวิจัยเรื่องทุน ของ กทปส. ไว้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งประเด็นสำคัญ ๓ เรื่องที่ผมอยากพูด อันที่ ๑ ก็คือเรื่อง การใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ อันที่ ๒ ก็คือเรื่องตัวทุนต่าง ๆ ที่มอบให้ มันกลายเป็น แหล่งเงินทุนอีกแหล่งหนึ่งที่ส่วนงานราชการเอาไปทำภารกิจปกติของส่วนงานราชการนั้น ๆ แล้วอันที่ ๓ ก็คือเรื่องธรรมาภิบาล
ใน Slide ที่ ๓ ผมขอฝากดู ใน Slide ที่ ๓ ให้หน่อยครับ ใน Slide ที่ ๓ นี้เราจะเห็นได้ว่าในโครงการต่าง ๆ ที่ปรากฏ ตามเอกสาร หรือแม้กระทั่งโครงการเก่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เพื่อนสมาชิกพูดไปมาก ก็คือเรื่องการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ๖๐๐ ล้านบาท ไม่น่าเชื่อนะครับ เรามีชื่อโครงการว่า โครงการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชิงแชมป์ประเทศไทย ๓๐ ล้านบาท มาขอใช้เงินกองทุน โครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อความมั่นคงของกองทัพบกขอไป ๑๘ ล้านบาท โครงการ พัฒนาเพื่อการสื่อสารของกระทรวงกลาโหมอีก ๔๓ ล้านบาท ซึ่งปกติในโครงการเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันน่าจะไปอยู่ในงบปกติที่หน่วยงานขอตรงไปกับสำนักงบประมาณ เพราะฉะนั้น ผมมีความรู้สึกเหมือน กทปส. นี่ทำหน้าที่คล้าย ๆ สำนักงบประมาณทางด้านกิจการ วิทยุกระจายเสียงอีกแหล่งหนึ่ง หรืออันที่มันไปตอบกับเรื่องตัวหน่วยงานรัฐในหน่วยงานอื่น ๆ กทปส. ก็ให้กับหน่วยงานอย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำเรื่องระบบปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่อีก ๑๗ ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาให้ไป ๑๐ ล้านบาท โครงการวิศวกรรมเรื่องระบบโทรทัศน์วงจรปิดของกระทรวงกลาโหมให้ไปอีก ๒๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่ากองทุน กทปส. เป็นแหล่งเงินทุนอีกอันหนึ่ง ที่ไปกระจายให้กับส่วนราชการ ซึ่งพอไปเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ผมคิดว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนพูดไว้ภาพใหญ่มาก แล้วก็พยายามที่จะตอบตรงไปกับประชาชน ทั่วไปเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนที่อยู่ในวงการทั้ง ๓ อัน ถึงแม้ว่าในตัววิธีการบริหารกองทุน จะบอกไว้ แบ่งประเภทของกองทุนไว้ทั้ง ๔ ประเภท อันนี้ผมเข้าใจว่าคงจัดตัวกองทุนไว้ อยู่ในประเภทที่เป็นตามวัตถุประสงค์ของกองทุนก็คือชี้ไปเลย หรือแม้กระทั่งในอันที่เป็น ของส่วนราชการก็เป็นกองทุนประเภทหนึ่งที่ชี้ไปเลย ฉะนั้นผมอยากให้ความเห็น ผ่านท่านประธานก็คืออาจจะต้องไปปรับดูวัตถุประสงค์ของกองทุนใหม่ ในเรื่องอะไร ที่สามารถใช้ในงบปกติได้ ขอให้กลับไปใช้ในงบปกตินะครับ เราจะเห็นได้ว่ามันมีชื่อแปลก ๆ อยู่หลายชื่ออย่างที่ผมได้บอกไป
ส่วนอันถัดมาก็คือวัตถุประสงค์ของ กทปส. ก็คือเรื่องการให้กองทุน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พอไปดูชื่อโครงการต่าง ๆ ของกองทุนสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ใน Slide ถัดไป เราก็จะเห็นได้ว่าในกองทุนกลุ่มนี้หลายชื่อโครงการ มันซ้ำกัน โครงการที่ไปขอในกองทุนสื่อกับโครงการที่ กทปส. ให้เองก็ซ้ำกัน เนื่องจากว่า ผมไม่มีโอกาสได้อ่านลงไปดูในรายละเอียดใน Slide ถัดไป ผมไม่ทราบว่าในรายละเอียด ของเนื้อหาของงานวิจัยที่ขอหรือขอเงินสนับสนุนที่ขอนี่ทำงานเนื้อหาอะไร แต่ผมว่าในฐานะ ที่ กทปส. เป็นหน่วยงานต้นทางคือให้เงินเขา เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องตรวจสอบผลผลิต หรือโครงการประจำปีแต่ละอันว่าประเภทไหน อาจจะต้องมีเส้นแบ่งเขตกันว่าถ้าเรื่อง ประเภทนี้ทาง กทปส. เป็นคนทำ เรื่องประเภทนี้ให้ตัวกองทุนสื่อเป็นคนทำ ถ้าเราอ่านแบบ ผิวเผินเร็ว ๆ มันจะมี Keyword คำที่เห็นอยู่เรื่อย ๆ เช่น จะมีคำว่า ศูนย์ข้อมูลระบบสื่อสาร หรือมีคำว่า Digital หรือมีคำว่า Platform แล้วก็ปลายทางที่จะให้ก็คือให้เด็ก ให้คนพิการ หรือทำงานเรื่องเพื่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นผมอยากฝากให้หน่วยงานช่วยดูรายละเอียด เพิ่มเติมให้หน่อย เพื่อทำให้กองทุนนี้ได้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่สำคัญ อันหนึ่งผมคิดว่าของกองทุนก็คือเรื่องตัวโครงสร้างของกองทุนที่ผมเรียกว่าธรรมาภิบาล ผมทราบดีว่าตัวกรรมการของ กสทช. และตัวกรรมการของกองทุนมันถูกตราด้วยกฎหมาย พอเราเห็นรายชื่อทุนที่ได้รับมันก็กลับไปย้อนดูว่าใครเป็นสมาชิกที่จะอนุมัติเงินเหล่านี้ได้ ท้ายที่สุดนี้กรรมการทั้งหลายของทั้ง กสทช. และ กทปส. ก็มาจากส่วนราชการที่เป็นทหาร สัก ๓-๔ คน มาจากตำรวจ ๑ คน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีคุณหมอเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ หลายคนมาก ฉะนั้นผมคิดว่าสำคัญก็คือ Stakeholder ที่ดูเรื่องนี้น่าจะรู้เรื่องดี ผมคิดว่า ผู้ประกอบการที่เขาทำงานอยู่ในแวดวงนี้ เพราะฉะนั้นในการคัดเลือกคุณวุฒิ หรือในการคัดเลือกตัวแทนจากส่วนราชการ ผมอยากเรียนว่าอยากทำให้มันตรงกับ ความต้องการของตัววัตถุประสงค์กองทุนแล้วก็ประโยชน์ที่ได้รับกับประชาชนปลายทาง ฉะนั้นฝากกราบเรียนท่านประธานถึงหน่วยงาน กสทช. ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ผมขอ ๒ นาทีได้ไหมครับ ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฟังจากที่ท่านผู้ชี้แจงได้พูดแล้วผมก็ชื่นชม แต่ผมคิดว่าข้อหนึ่งที่ท่านพูดถึง เรื่องการอธิบายวิทยาศาสตร์กับสังคมผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เราอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ทุก ๆ วันนี้เราก็จะเห็นปัญหาของสังคมที่มันไม่มีตรรกะทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นเยอะแยะ มากมาย เช่น วันหนึ่งเราก็มีคนที่ไปหมักน้ำแล้วก็มาหยอดตาได้ โดยที่กระบวนการอะไร ก็ไม่รู้ แต่คนเชื่อ แล้วก็ไปซื้อยาหยอดตาที่หมักกันเองในไหในอะไรอย่างนี้ แล้วมีปัญหา ในเรื่องทำนองนี้เยอะมากเลยในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งในสังคมของคนเชื่อในเรื่อง ของปลุกเสก ในเรื่องของทำเสน่ห์เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมหวังว่า สวทช. น่าจะพยายามที่จะ อธิบาย หลักของ สวทช. คือการใช้ตรรกะความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้วก็ไปแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเผื่อเราสามารถอธิบายให้สังคมมีตรรกะทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไป แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของตัวเองก็ลดความงมงายให้มันง่ายให้มันชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราจะได้ลดข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่ใช้วิธีอะไรที่มันดูแปลก ๆ ผมเสนอว่า สวทช. ลองไปคุยกับ สำนักพระพุทธศาสนาว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะไปอธิบายความเชื่อกับสำนัก พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อจะไปอธิบายกับพระที่นอกลู่นอกทาง ผมไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่ จริง ที่ทำเสน่ห์ ทำอิทธิฤทธิ์อะไรทั้งหลายไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าถ้าเผื่อเราสามารถ อธิบายตรรกะทางวิทยาศาสตร์ได้มันจะทำให้สังคมไทยก้าวหน้าบนพื้นฐานที่สำคัญ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาการศึกษาพัฒนา เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า NEC แล้วก็ (Creative LANNA) โดยหลักการของเหตุผลในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราก็คงทราบกันแล้วว่ามันคงอาศัย พื้นฐานตามเอกสารแบบง่าย ๆ
อันแรก ก็คือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มันสามารถที่จะเพิ่มช่องทาง มันมี ความสามารถด้วยตัวมันเอง แล้วก็มีช่องทางที่จะเพิ่มคุณภาพของทางเศรษฐกิจให้มันดีขึ้น
อันที่ ๒ ก็คือเรื่องการกระจายความเจริญออกไปในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งถ้าเผื่อดู จากตัวเลข เรามีการจ้างงานอยู่ ๒.๙ ล้านตำแหน่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ถ้าเผื่อ เราทำเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขึ้น โดยเฉพาะที่เขาใช้คำว่า Creative LANNA เราก็หวังว่า มันคงจะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น จาก ๒.๙ ล้านคน ซึ่งจากจำนวนประชากรในเขตพื้นที่ ภาคเหนือตอนบนประมาณ ๓๐ ล้านคน สมมุติเราสามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้นไปอีกได้ กลายเป็นตัวเลขสัก ๓.๕ ล้านคน เพราะฉะนั้นตัวเงินที่มันจะหมุนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ก็จะเพิ่มมากขึ้น และสิ่งสำคัญก็คือรายได้ต่อหัวของประชากรในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิด ก็ประมาณแค่ ๑๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี ฉะนั้นเราต้องพยายามทำให้ตัวเลขนี้มันขึ้นมาอยู่อย่างน้อยได้เท่าเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ปกติที่ค่าเฉลี่ยของ GDP ที่คนไทยควรได้รับคือประมาณเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
อันที่ ๓ ก็คือเรื่องตัวภูมิศาสตร์ของตัวเขตพื้นที่ภาคเหนือ ผมคิดว่า ตัวภูมิศาสตร์ของเขตพื้นที่ภาคเหนือ ก็เป็นกลุ่มเดียวกับเศรษฐกิจพื้นที่พิเศษชายแดนนะครับ แต่เนื่องจากว่าความน่าสนใจของเขตพื้นที่ภาคเหนือ มันต่อไปกับชายแดนที่ติดต่อมี ๒ ประเทศ ก็คือจากพม่าแล้วก็ลาว และถ้าขึ้นเหนือไปกว่านั้นอีกแค่ ๖๐ กว่ากิโลเมตร ก็กลายเป็นจีน แล้วมันจะกลายเป็นตัวภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจ สำหรับการขยายจากพื้นที่ ภาคเหนือขึ้นไปกับประเทศเพื่อนบ้านอีก ๓ ประเทศ ทีนี้เรากลับมาดูว่าในเขตพื้นที่ ภาคเหนือเขามีคุณลักษณะสำคัญอะไรบ้างที่มันจะส่งเสริมทำให้มันเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล้านนาเกิดขึ้น ในตาม Proposal เดิมที่สมัยตั้งแต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติเคยทำไว้ให้เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว สิ่งที่เขาพยายามโฟกัสมาก ให้ความเน้นก็คือเรื่อง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในเขตพื้นที่นั้น เราจะเห็นได้ว่าในพื้นที่นั้นมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อยู่หลายประเภท จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเลือกเป็น Creative City ทางด้านศิลปหัตถกรรม เรามีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเข้มแข็ง รวมถึงการเชื่อมต่อวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมในกลุ่ม ล้านนาที่เข้าไปในพม่า ในลาว แล้วก็ไปถึงจีนใต้ เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับคนในพื้นที่ ผมคิดว่าค่อนข้างทำได้ง่าย ส่วนผู้ผลิตที่เป็นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เอง ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดตั้งแต่จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูนแถวนั้น ก็มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจอยู่หลายอัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลัก ก็คืออุตสาหกรรมดนตรี มีอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรม Digital เรามีคนที่ทำงานทาง ด้าน Digital อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หลักเป็น ๑,๐๐๐ คน เรามี Nomad ที่เขาเรียกว่า Digital Nomad อยู่ในพื้นที่นั้น อีกอันหนึ่งที่เราสามารถเชื่อมต่อในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ก็คืออุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป แล้วก็แปรจากการผลิตเดิมมาเป็นตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืออุตสาหกรรมการบริการ เช่น เราเกิดโรงแรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น เราเกิดที่พักใหม่ ๆ เกิดขึ้น เราเกิดที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่หลักสำคัญของเรื่องนี้ ผมฝากให้กรรมาธิการที่จะตั้ง ต่อไป ถ้ามีโอกาสได้ตั้งต่อไปได้พิจารณาอยู่ ๓ เรื่องใหญ่ ๆ
เรื่องแรก ก็คือเรื่องการ ลงทุน คือส่งเสริมให้พื้นที่นี้มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ก็คือเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยอาศัยอุตสาหกรรม Digital อาศัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาศัยเกษตรแปรรูป ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แล้วก็การท่องเที่ยว
อันที่ ๒ ผมฝากให้ท่านกรรมาธิการที่จะจัดตั้ง พิจารณาถึงเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างตัวพื้นที่ภาคเหนือกับบริบทของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า แล้วก็จีน ทางตอนใต้ ถ้าเผื่อเราทำ ๓ เรื่องนี้ แล้วก็สร้างลักษณะเฉพาะของเขตเศรษฐกิจพื้นที่ สร้างสรรค์ของภาคเหนือตอนบนที่เป็น NEC Creative LANNA ผมก็เชื่อว่าวัฒนธรรมของ กลุ่มล้านนาจะเป็นแก่นสำคัญที่จะช่วยกระจายความสามารถทางด้านอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ไปในพื้นที่อื่น ๆ แล้วก็เป็นเบาะรองรับให้กับคนที่ทำงานในสาขาอื่น ๆ ได้มีโอกาส เข้ามาเพิ่มรายได้ จากที่ได้เรียนตั้งแต่ต้นว่า รายได้ของกลุ่มนี้มีต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้น ผมขอสนับสนุนกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการศึกษาพัฒนาเขตพื้นที่ เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนบน Northern Economic Corridor เป็น Creative LANNA ขอบคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ผม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผมกดแล้วไฟมันไม่ขึ้นครับ