เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือครับ เป็นเรื่องการบุกรุกที่ป่าสงวนในจังหวัดเชียงราย ที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย บนเส้นทางทางหลวงชนบท ที่ ชร. ๕๐๔๗
เนื่องจากว่าพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ที่มีชนเผ่าชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เป็นอาข่านะครับ เราจะเห็นว่าพื้นที่นี้จะมีการก่อสร้าง Resort รวมถึงร้านกาแฟ แต่ที่เรากังวลใจคือพื้นที่แม่สรวยนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในแผ่นรอยเลื่อน เปลือกโลกที่มีโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหว และการก่อสร้าง จากภาพที่เราเห็นนะครับ จะเป็น ภาพใช้เหล็กกล่องขนาดเล็ก แล้วก็โครงสร้างไม่ได้มีการวางฐานตอม่อ รวมถึงไม่ได้มี การขออนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานราชการ ถ้าหากเกิดการเลื่อนของเปลือกโลก อาจจะเกิดความเสียหายได้ และภาพที่เห็นอยู่นี้คือการตัดภูเขาทั้งลูกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งน่าแปลกใจว่าเป็นพื้นที่ที่ชาติพันธุ์ได้ครอบครองอยู่ แต่กลับมีการใช้รถ Backhoe ขนาดใหญ่ รวมถึงรถบดถนนที่เกินกว่ากำลังของชาวอาข่าหรือชาติพันธุ์ที่จะลงทุน ในการก่อสร้างโรงแรมหรือว่า Resort ได้ เพราะฉะนั้นอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาดูแล และภาพกว้างจากดาวเทียมจะเห็นว่าพื้นที่ป่าสงวนตอนนี้ก็แทบจะหาป่า ไม่เจอแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะให้ชาวอาข่าได้มีพื้นที่ทำกินด้วยการออกเอกสารสิทธิ ที่ถูกต้อง หรือการปรับพื้นที่จากป่าสงวนมาเป็น ส.ป.ก. หรือโฉนด น่าจะเป็นทางออกที่ดี ในการที่จะแก้ปัญหาให้ชนเผ่าชาติพันธุ์อยู่คู่กับธรรมชาติได้ และเป็นการสร้างงานนะครับ เพราะการมี Resort ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ ก็ทำให้พี่น้องได้กลับมาอยู่ร่วมกัน ด้วยการเป็นลูกจ้าง หรือแม้แต่เจ้าของกิจการ แต่หากเป็นการลงทุนโดยนายทุนจากเมืองหลวง จากกรุงเทพฯ หรือว่าจากเมืองใหญ่ ก็จะเกิดปัญหาทั้งการบุกรุกป่า ปัญหาขยะ น้ำเสีย ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน รวมถึงการที่นายทุนจ่ายใต้โต๊ะให้กับข้าราชการในการบุกรุก พื้นที่ป่า จึงขอฝากป่าไม้จังหวัดเชียงราย และทางนายอำเภอแม่สรวย ในการจัดการเรื่องนี้ ด้วยครับ กราบขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมได้รับมอบหมายจากพรรคก้าวไกลให้เป็นผู้นำการอภิปรายผลของ การปฏิรูปประเทศในหัวข้อเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นที่ ๕ ด้านเศรษฐกิจ ประเด็นที่ ๖ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเด็นที่ ๑๐ ด้านพลังงานครับ ท่านประธานครับ การปฏิรูปประเทศในทั้ง ๓ ประเด็นนี้มีจุดร่วมกันกับการปฏิรูปประเทศ ในประเด็นก่อน ๆ ที่สมาชิกของพรรคก้าวไกลได้อภิปรายไป นั่นคือในตอนแรกเมื่อปี ๒๕๖๑ มีการทำแผนปฏิรูปประเทศแบบสวยหรู ตั้งเป้าไว้เสียยิ่งใหญ่เหมือนจะไปถึงดวงจันทร์ แต่สุดท้ายแล้วผ่านไป ๕ ปี ผลที่ออกมาผมว่าแค่ยอดมะพร้าวก็ยังปีนไปไม่ถึงครับ
ผมขอกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศประเด็นที่ ๕ ด้านเศรษฐกิจก่อน เป็นอันดับแรกครับท่านประธาน แผนปฏิรูปฉบับแรกสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปวางแผนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยต้องเปลี่ยน มี ๕ เป้าหมายหลักตาม Slide ครับ ขอ Slide ด้วย
เริ่มด้วยการที่ประเทศไทย จะมีผลิตภาพที่สูงขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เติบโตอย่างครอบคลุม เติบโต อย่างยั่งยืน และสถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีสมรรถนะที่สูงขึ้นครับ ในเวลาแค่ ๗ นาที ผมคงไม่สามารถลงรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่ท่านประธานก็น่าจะพอเห็นภาพ จากผู้อภิปรายท่านอื่น ๆ ว่าวิมานในอากาศที่ปฏิรูปประเทศเขียนมานั้นเป็นแบบใด ช่างใหญ่โตสวยงาม แต่ในการทำจริงนั้นแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพ ผ่านอุตสาหกรรมหลักของเราอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร ก็มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายในด้านต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้า ว่านักท่องเที่ยวจะต้องเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้นเท่าไร ตั้งเป้าว่าจะมีเกษตรกร Zoning เลิกปลูกพืชราคาถูกหันมาปลูกพืชราคาแพง ตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ตั้งเป้าว่าจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการส่งออกเพิ่มขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีสถาบัน ทางการเงินชุมชนเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะเพิ่มเพดานเงินสมทบประกันสังคม จะใช้ธนาคารที่ดินกระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน จะปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของ สถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่หน่วยงานระดับนโยบายไปจนถึงรัฐวิสาหกิจ
ต่อมาครับท่านประธาน จากปี ๒๕๖๑ เข้าสู่ช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ก็ได้มี การปรับปรุงแผน โดยสาเหตุสารพัดปัญหาอย่างที่คุณพริษฐ์ เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ของผมได้พูดไปก่อนหน้านี้นะครับ กิจกรรมรูปแบบไปถึงเป้าหมายต่าง ๆ นั้นก็ถูกย่อย ให้เหลือเป็นเพียงรูปแบบของ Big Rock หรือว่า ๕ กิจกรรมรายละเอียดตาม Slide ครับ จะเห็นได้ในภาพรวมจะยังดูคล้าย ๆ เดิมแต่ว่าเล็กลงมาก ๆ เลย ไม่ใช่แค่เป้าหมายที่ย่อลง เท่านั้น ผลลัพธ์จากการปฏิรูปก็ย่อลงด้วยเช่นกันนะครับ
ขอ Slide ถัดไปครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวที่พูดถึงเรื่องการใช้จ่าย ต่อหัวของนักท่องเที่ยว แต่ผลออกมาน่าผิดหวังมาก ทำได้เพียงแค่ฐานข้อมูลของสถานที่ ท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ Promote ลง Social Media เท่านั้นเองนะครับ ส่วนการพัฒนา เกษตรกรสุดท้ายก็เป็นการพัฒนาในระบบอบรม Smart Farmer แค่ ๑๐,๐๐๐ ราย การเปลี่ยนพืชมูลค่าต่ำเป็นพืชมูลค่าสูงก็ทำได้เพียง ๒,๐๐๐ แปลงเท่านั้น ส่วนที่น่าผิดหวัง มาก ๆ การเพิ่มพื้นที่ชลประทานในระยะยาวจากเป้าหมาย ๒๗ ล้านไร่ ย้ำตัวเลข ๒๗ ล้านไร่ ผลที่ออกมาตลอดระยะเวลา ๕ ปีเพิ่มได้ ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ ถ้าเผื่อเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ ๐.๕๙ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าบริหารงานล้มเหลวได้หรือยังครับ แบบนี้ ส่วนการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันก็ไม่มีความคืบหน้า ผลที่รายงานออกมา ก็เหมือนยอมรับว่าทำไม่สำเร็จนะครับ เพราะมีแต่คำว่า เร่งรัด ผลักดัน และจัดประชุม ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัด MOU ว่าด้วยการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เร่งรัด แปลว่ายังไม่เสร็จนะครับถึงต้องเร่งรัด ผลักดันครับ ผลักดันร่าง พ.ร.บ. พาณิชยนาวี ผมถามครับว่าผลักดันนี่คือทำอะไรบ้าง ร่างนี้อยู่ในชั้นไหนแล้ว ส่วนเรื่อง FTA ไทยกับยุโรป ในรายงานก็ใช้คำว่า จัดประชุม ซึ่งการจัดประชุมมันไม่ใช่ผลงาน เพราะผลงานต้องมี ผลสัมฤทธิ์ จึงตั้งคำถามว่าการจัดประชุมนี้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากแค่ไหน ท่านประธานครับ เป้าหมายที่หายไปก็คือเรื่องของการเติบโตอย่างครอบคลุมที่แสดงให้เห็นว่า แผนของการลดความเหลื่อมล้ำนั้นล้มเหลวอย่างชัดเจน ซึ่งหลักฐานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง และปัญหาคนจนที่จนอย่างไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไปได้ ลักษณะของการฝันใหญ่แต่ล้มเหลวไปไม่ถึงไหน ก็ยังปรากฏอยู่ในแผนปฏิรูปประเด็น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเด็นพลังงานครับ
ผมขอเริ่มด้วยประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็น การปฏิรูปที่ ๖ นี้เราจะได้อ่านแผนปฏิรูปฉบับแรก ต้องบอกเลยว่าคิดกันมาอย่างจริงจังมาก ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ ทะเล และสิ่งแวดล้อม และผลเป็นอย่างไรครับท่านประธาน เรื่องป่าไม้นี่เห็นชัดเจนเลยนะครับว่าตามแผนคือต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า ลดการบุกรุก แต่สุดท้ายเราได้โครงการอะไรมาครับ เราได้โครงการทวงคืนผืนป่า ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการที่เรียกได้ว่าเป็นโครงการงามหน้าอันดับต้น ๆ ของ คสช. เลย เพราะเกิดการ ฟ้องร้องขับไล่ประชาชนมากมาย ทำลายกระบวนการพิสูจน์สิทธิในพื้นที่ พอมาถึง การดำเนินงานก็เห็นได้ว่าไม่พูดถึงการเพิ่มพื้นที่ของป่าเลยนะครับ เหมือนกับว่า คสช. โดนใครก็ไม่รู้หลอกให้ไปมีปัญหากับพี่น้องประชาชนโดยไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ป่าก็ไม่เพิ่ม ประชาชนก็เดือดร้อนครับ เรื่องที่ดินทำกินก็เอาผลงานของ คทช. คณะกรรมการ ที่ดินแห่งชาติ ซึ่งพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบล้วนแต่ก่นด่ากันมาเป็นผลของการปฏิรูป ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวสมาชิกท่านต่อไปของผมก็คงจะได้พูดกันในวาระถัดไป
ท่านประธานครับ คณะกรรมการปฏิรูปยังกล้าพูดเรื่องโครงการ One Map หลายคนคงรู้จักโครงการนี้ดี โครงการนี้ทำมาเป็น ๑๐ ปีแล้วแต่ไม่เสร็จสักทีนะครับ เพราะผมเชื่อว่าถ้าโครงการนี้เสร็จเรียบร้อย เราจะมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการ ถูกดำเนินคดีจากการออกโฉนดที่ทับพื้นที่ป่านะครับ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีแผนสัมฤทธิ์ ในรายงานเลย กรณีมาบตาพุดที่บอกว่าจะแก้ไขปัญหามลพิษ และนำออกจากประกาศ ให้เป็นเขตควบคุมมลพิษก็ยังทำไม่สำเร็จตามเป้า เรื่องรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้าย มลพิษ หรือ PRTR พรรคก้าวไกลของผมก็ได้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปตั้งแต่สภาชุดก่อน แต่ก็ถูก พลเอก ประยุทธ์ปัดตกไป ขอถามคณะกรรมการปฏิรูปนะครับว่าได้ทำอะไรกับ เรื่องนี้บ้าง ร่างกฎหมายของตัวเองมีหรือยังที่ปัดของเราตกไป และได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ อย่างไร ทำไมถึงถูกนายกปัดตกไปนะครับ
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่จะขออภิปรายครับ คือการปฏิรูปประเทศในประเด็น พลังงาน ซึ่งผมก็ขอให้ข้อสังเกตตามแบบเดิมครับว่าเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้เมื่อปี ๒๕๖๑ ไม่มีผลสัมฤทธิ์ใด ๆ เลยนะครับ โดยเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปด้านพลังงานคือการปรับ โครงสร้างบริหารกิจการไฟฟ้า ส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในกิจการพลังงาน และที่สำคัญคือให้ประชาชนได้ใช้ไฟในราคาที่เป็นธรรม อันนี้เน้นย้ำนะครับ ให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่เป็นธรรม แต่ผลการปฏิรูปแทบไม่มีอะไร เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Smart Grid นะครับ กิจการไฟฟ้าเสรีอะไรพวกนี้เลย เอาแค่เรื่องพื้นฐานง่าย ๆ การพัฒนาระบบไฟฟ้าหรือแผน PDP ฉบับใหม่ที่ควรจะประกาศใช้ เมื่อปีที่แล้ว จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้นะครับ การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน เราทราบกันดี อยู่แล้วครับว่ายังล้นเกิน ทำให้ประชาชนคนไทยต้องใช้ไฟฟ้าแพง แต่ไม่เห็นมีวี่แววของ การที่จะปลดระวางโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น รวมถึงมีข่าวว่าไปอนุมัติซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน ในลาวเพิ่มขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่ไฟในประเทศมีมากเกินความจำเป็นนะครับ ประเด็นเหล่านี้ เดี๋ยวจะมีผู้แทนจากพรรคก้าวไกลอภิปรายอย่างละเอียดในลำดับต่อไปนะครับ สำหรับผม ก็ขอให้ท่านผู้ชี้แจงตอบคำถาม แล้วก็ตอบเพื่อนสมาชิกในที่ประชุมแห่งนี้ด้วยครับ กราบขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากที่เพื่อนสมาชิกได้พูดถึงปัญหาของตำรวจ ผมเองไม่ได้รับราชการตำรวจมาก่อน แต่ว่า คลุกคลีกับตำรวจมาตั้งแต่เกิด เนื่องจากคุณพ่อรับราชการตำรวจ สิ่งที่เราเห็นคือ ความบิดเบี้ยวของระบบราชการตำรวจ เริ่มตั้งแต่การรับสมัครเลยก็สามารถแยกได้จาก คนธรรมดา หรือลูกหลานของตำรวจที่มีคะแนนพิเศษ ความเท่าเทียมกันในการสอบเข้า ก็แตกต่างกัน นอกจากนั้นเมื่อรับราชการแล้วก็ยังแบ่งชั้นวรรณะกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ตำรวจชั้นประทวน หรือข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่รากเหง้า ของตำรวจก็คือการแบ่งชั้นวรรณะ แต่แน่นอนในระบบราชการจำเป็นที่จะต้องมีการแบ่ง ชั้นการปกครอง เพื่อการปกครองในหน่วยราชการจะได้ทำงานกันได้อย่างสะดวก แต่สิ่งหนึ่ง ที่มันเป็นปัญหาทำให้ทุกวันนี้ข้าราชการตำรวจไม่ได้รับความยุติธรรมจากการมีเส้นสาย หรือการที่ข้าราชการตำรวจจำเป็นจะต้องหาเงินมากกว่าทำงาน นั่นคืออัตราเงินเดือน ของข้าราชการตำรวจ เมื่อจบมาเป็นพลตำรวจ อัตราเงินเดือนอยู่หลักพัน กว่าที่อัตรา เงินเดือนจะขึ้นถึงหลักหมื่นหรือหลายหมื่นบาทจำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และที่สำคัญ ผมเห็นแล้วว่าข้าราชการตำรวจในประเทศนี้มีอยู่กว่า ๒๓๐,๐๐๐ คน แต่งบประมาณ ๗๗,๐๐๐ ล้านบาท เป็นงบประมาณที่เป็นเงินเดือน แต่ว่างบประมาณที่ใช้จ่ายในการสืบสวน สอบสวน หรือค่าใช้จ่ายในระหว่างรอบวัน รอบเดือนเองกลับน้อยนิด ผมลงไปในพื้นที่ สน. ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สิ่งที่ได้รับจากพี่น้องตำรวจในการพาเดินชม สน. ก็คือ สวัสดิการต่าง ๆ ที่น้อยนิด เราจะเห็นว่าข้าราชการที่ดูแลความยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นอัยการ หรือศาล หรือแม้แต่ข้าราชการที่ดูแลด้านความมั่นคง อย่างเช่นทหารจะมีบ้านพัก และสวัสดิการที่เพียงพอกับการทำงาน เพื่อไม่ให้ตัวข้าราชการเองนั้นมีความลำบากในการ ทำงาน แต่เรากลับเห็นบ้านพักของข้าราชการตำรวจในกรุงเทพมหานครนี่เองครับใกล้ ๆ ไปดูได้เลยครับว่าในพื้นที่แต่ละ สน. ที่มีตำรวจอยู่ ๒๐๐-๓๐๐ คนนั้นความเป็นอยู่ ของตำรวจใน สน. ต่าง ๆ ไม่ได้แตกต่างกับสลัมครับ เพราะว่าอาคารที่พักอาศัยของตำรวจ เองเป็นครอบครัวที่มีทั้งพ่อแม่ลูกที่อยู่ยัดทะนานกันอยู่ในอาคาร และที่สำคัญไม่เพียงพอ หลายคนจำเป็นที่จะต้องออกไปเช่าด้านนอกจากการที่รัฐให้การสนับสนุนเพียงน้อยนิด จากเงินเดือนน้อยนิดอยู่แล้วกลับกลายต้องมาแชร์เป็นค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่เองก็น้อยนิด รวมถึงถ้าโชคร้ายได้ไปอยู่สืบสวนหรือปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าสืบสวน หรือว่า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็แทบจะไม่มีให้ สุดท้ายก็ต้องควักเงินของตัวเอง แล้วตำรวจชั้นผู้น้อย จะไปหาเงินจากไหน สุดท้ายก็ต้องไปลำบากประชาชนที่จะต้องขอความอนุเคราะห์บ้าง หรือตามสถานบริการที่อาจจะจำเป็นที่จะต้องไปขอรับเงินนอกระบบ เพื่อที่จะมาใช้จ่าย จนสุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรตำรวจที่เราเห็นกันอยู่ดาษดื่น และเมื่อพี่ ๆ หรือผู้มีตำแหน่งสูงได้กระทำการแบบนี้ทำให้คนที่อยู่ล่างลงมาก็เห็นเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เมื่อไม่รับเงินเหล่านี้ก็ถูกเตะโด่งออกไปอยู่ชายแดน กว่าจะกลับมาได้ ก็ใช้เวลาหลายปี ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตำรวจที่อยากจะทำงาน ผมเชื่อว่าตำรวจ หลายคนตั้งใจที่จะเข้ามาเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อยากจะมาเป็นคนที่ช่วยดูแล พี่น้องประชาชน แต่เมื่อเข้ามาในระบบที่ไม่มีสวัสดิการที่ดูแลเพียงพอ ระบบที่ใช้เส้นสาย ระบบที่จะต้องเติบโตด้วยการใช้เงิน วันนี้ผู้อภิปรายหลายท่านก็ได้พูดมาแล้วว่าไม่ว่า หมึก Printer ก็ยังต้องซื้อเอง ไม่ว่าค่าไฟ สน. ที่ต้องขอ ก.ตร. ตำรวจ จากประชาชนมาช่วย เป็นส่วนเสริม หรือแม้แต่น้ำมันรถที่จะช่วยในการออกไปตรวจพื้นที่ก็ยังคงจะต้องอาศัยจาก ภาคประชาชน จนทำให้หลายครั้งเมื่อมีเงินผ่านมือเข้ามาเยอะ ๆ มันก็ทำให้กลายเป็นนิสัย และกลายเป็นสิ่งที่ชาชินจนทำให้ตำรวจรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น จะต้องทำเพื่อความอยู่รอด หากเราไม่ปรับปรุงสวัสดิการของพี่น้องตำรวจไทยให้สามารถ อยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองจากสวัสดิการ ของภาษีพี่น้องประชาชนที่มอบให้โดยรัฐบาล เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน หรือการวิ่งเต้นตำแหน่งได้ ตำรวจแตกต่างกับทหาร หลายคนบอกว่าทหาร จะไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แต่เราเคยได้ยินของตำรวจว่าไม่ว่าจะอย่างไร จะฆ่าน้อง จะฟ้องนาย จะขายเพื่อน เพื่อแย่งชิงอำนาจที่จะเข้ามาสู่ตัวเองเมื่อบั้นปลายชีวิต เพราะหลายคนถ้าได้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถโกยเงินโกยทองได้ก็จะไม่ยอมลุกจากเก้าอี้นั้น ไปไหนจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ หรือหลายคนมีความฝันที่จะขึ้นในตำแหน่งสูง และพร้อมที่จะเป็น ผบ.ตร. ก็จะใช้ทุกวิถีทาง เพื่อที่จะลำบากในตอนต้นแต่ไปสบาย ในตอนปลายแต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่สามารถขึ้นเป็น ผบ.ตร. ได้ อย่างเช่นปัจจุบัน ที่ใช้เวลา ๑๒ ปี ในการขึ้นตำแหน่งจากรองผู้กำกับการไปเป็นรอง ผบ.ตร. และเข้าสู่ ผบ.ตร. นั้น จะไม่ใช่คนดีครับ เพราะว่าการที่สามารถเลื่อนไหลได้รวดเร็วกว่าคนอื่นก็ย่อมที่ จะมีหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีมือ เรื่องเส้นสาย หรือแม้แต่การที่จะรู้จักผ่านทาง นักการเมือง หรือผู้มีอำนาจที่อยู่นอกการเมือง สิ่งเหล่านี้จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการปฏิรูป วงการตำรวจให้ตำรวจได้ออกสิทธิออกเสียงในการฟังนโยบายของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น รอง ผบ.ตร. บังคับบัญชาที่อยู่ชั้นสูงขึ้นไป หรือแม้แต่ผู้บังคับการที่อยู่ในแต่ละจังหวัดได้ แสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้ตำรวจได้เลือกนายของตัวเอง ได้แสดงวิสัยทัศน์เพื่อที่จะให้ตำรวจได้รู้ ว่าเมื่อเขาเลือกคนคนนี้ขึ้นมาเป็นนายเขาจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร ผู้ที่เป็นนาย เองก็จะได้รู้ว่าวิธีการในการที่จะทำให้ลูกน้องของเขากินดีอยู่ดี สามารถที่จะใช้ภาษีจาก พี่น้องประชาชนที่เป็นเงินเดือนเลี้ยงดูตัวเองได้จะทำได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพิง ไม่ต้อง ไปรีดไถ หรือไม่ต้องไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผมเชื่อว่าตำรวจดี ๆ กว่า ๒๓๐,๐๐๐ คน มีมากกว่าตำรวจเลว แต่สิ่งที่ตำรวจเลวทำแล้วทำให้ตำรวจทั้งองค์กรเสื่อมเสียนั่นย่อมทำให้ ความเชื่อในตำรวจของประชาชนน้อยลงทุกวัน จนวันนี้หลายคนบอกว่าเห็นตำรวจแล้วกลัว มากกว่าเห็นโจร กลายเป็นโจรในเครื่องแบบทั้ง ๆ ที่ตำรวจที่ดี ๆ ที่พร้อมเสียสละชีวิต เพื่อพี่น้องประชาชนยังมีอยู่อีกมากมาย ผมเชื่อว่าการที่เราจะปฏิรูปตำรวจ สังคายนาตำรวจ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดขององค์กรตำรวจไทยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานครับ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ ๐๐๖ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธานครับ ๐๐๖ กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล แสดงตนครับ
๐๐๖ กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล เห็นด้วยครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล วันนี้ขออภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนอื่นเราคงต้องมาเรียบเรียงกันก่อนว่าประชากร ที่มีคุณภาพนั้นคืออะไร เป็นแบบไหน หลายคนบอกว่าเด็กที่ดี ผมได้ยินมา เพื่อนสมาชิกได้ อภิปรายไปว่าประชากรที่มีคุณภาพคือคนดี คนดีในความหมายของคนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เราต้องตีความให้ชัดเจนก่อนว่าคนดีนี้คือประชากรที่เชื่อฟังคำสั่ง ประชากรที่ปฏิบัติตามกฎ ที่ผู้ใหญ่ตั้งไว้ แม้กฎนั้นมันจะไม่สามารถตอบโจทย์กับยุคปัจจุบันได้ใช่หรือไม่ ประชากรที่ดี เหล่านั้นคือประชากรที่ต้องเชื่อฟัง ขู่ บอก หรือบังคับ อะไรก็ตามจำเป็นจะต้องทำตาม ถึงจะเป็นประชากรที่ดีใช่หรือไม่ ผมยืนยันว่าประชากรเหล่านั้นไม่ใช่ประชากรที่มีคุณภาพ สำหรับโลกปัจจุบันและในอนาคตในวันข้างหน้า ท่านคงรู้กันแล้วนะครับว่าในยุคปัจจุบัน ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ มาอย่างเต็มตัวเราต้องการอะไรบ้าง เราต้องการเยาวชนที่คิดทัน ทันรู้ข่าวสารข้อเท็จจริง คิดอย่างสร้างสรรค์ และวิเคราะห์ แยกแยะ รวมถึงกล้าที่จะ วิพากษ์วิจารณ์ กล้าที่จะตั้งคำถาม รวมถึงมีทักษะในการสื่อสาร วันนี้ครับเราต้องการ เยาวชน แต่ปัจจุบันนายกรัฐมนตรียังบอกเลยนะครับว่าการเกิดของเยาวชนของลูกหลานเรา ในอนาคตน้อยลงมาก ๆ เราลืมไปหรือเปล่าครับเราต้องการแก้ไขหลักสูตรทางการศึกษา แต่เราไม่สร้างระบบนิเวศที่จะให้คนที่จะเกิดมา คนที่จะเติบโตบนแผ่นดินนี้ ได้มีระบบนิเวศ ที่สามารถสร้างคนอย่างมีคุณภาพได้ เราไม่มีสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิดที่เพียงพอ เราไม่มี ความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เราไม่มีพื้นที่สำหรับให้นมบุตร เราไม่มีโรงเรียน เพียงพอกับลูกหลาน เราไม่มีค่าเล่าเรียนที่สามารถเจือจุนให้กับทุกคนที่ต้องการการเล่าเรียน อย่างเข้าถึง เราไม่มีงานเพียงพอกับผู้ที่จบการศึกษา เราไม่มีคุณภาพชีวิตเพียงพอให้กับ คนในวัยทำงาน และเรามีสวัสดิการเพียงน้อยนิดให้กับผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้มันจะสร้าง ประชากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยได้อย่างไร หากเราคิดเพียงแค่จะแก้หลักสูตร การศึกษา คิดเพียงแค่ต้องการคนที่เชื่อฟัง เราควรจะสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับประชากร ในประเทศไทย และแน่นอนภาครัฐควรจะต้องเป็นผู้เข้ามาดูแลตรงนี้ แต่ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมาหลายสิบปีเราเห็นเพียงภาครัฐต้องการที่จะสร้างกฎระเบียบที่จะควบคุมประชากร ในประเทศให้เชื่อฟัง ให้ศิโรราบ หลายครั้งเราเห็นภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม กระบวนการต่าง ๆ ที่กดทับประชาชนให้เชื่อฟัง ให้ทำตามในสิ่งที่รัฐเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้สิ่งเหล่านั้นจะขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมของโลกเสรีและอารยะประเทศต่าง ๆ ถ้าประชาชนไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าคิดต่าง ไม่กล้านำเสนอความเห็นที่แตกต่าง และความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะหาประชากรของโลก ประชากร ของประเทศไทยที่เท่าทันกับโลกยุคปัจจุบันได้จากไหนหากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ การที่ประชาชนออกมากดดันเรียกร้องเพราะเขาเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ในประเทศนี้นั้นมันไม่ถูกต้อง กลับกลายเป็นว่าเยาวชนเหล่านั้น คนเหล่านั้น ไม่ใช่คนดี ไม่ใช่คนที่มีคุณภาพอย่างนั้นหรือ ผมว่าการตั้งคำถามแบบนี้คงจะไม่สามารถที่จะหาประชากรที่มีคุณภาพในประเทศนี้ได้ และแน่นอนเราจำเป็นที่จะต้องให้มีการถกเถียง มีการแลกเปลี่ยน มีการนำเสนอ และมีพื้นที่ ปลอดภัยให้กับเยาวชน ให้กับบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันในประเทศนี้ครับ แล้วทั้งหมดที่ผมนำเสนอมา นั่นคือแนวทางการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพสำหรับระบอบ ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เท่านั้น แต่เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ทั่วโลกยอมรับ ผมในฐานะที่ทุกท่านในที่นี้ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคงไม่จำเป็นแล้ว ที่จะบอกว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้องคืออะไร เพราะทุกท่านก็มาด้วยเสียงของพี่น้องประชาชน แต่สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำไว้ตรงนี้คือ ประชาธิปไตยเป็นเสียงของประชาชน เจ้าของอำนาจ อธิปไตยคือประชาชน ไม่ใช่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลต้องมีสำนึกใหม่ ไม่ใช่มองว่า ประชาชนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เหิมเกริมคิดว่าตัวเองเป็นผู้ปกครอง และประชาชนคือ ผู้ถูกปกครอง รัฐจำเป็นจะต้องทำทุกวิถีทางให้ประชาชนกลายเป็น Active Citizen เป็น ประชาชนที่ตื่นรู้ มีส่วนร่วมกับภาครัฐ มีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามและ ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าหน่วยงานนั้นจะเป็นหน่วยงานใด เพื่อสร้างรัฐที่โปร่งใส ร่วมกัน และต้องย้ำนะครับว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การที่ประชาชนมีความเห็นต่าง ๆ ทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ เราสามารถเห็นต่างกันได้ เราสามารถเชื่อในอุดมการณ์ของสีเสื้อ ที่ต่างกันได้ แต่เราต้องรับฟังกันด้วยเหตุผล แต่เราต้องยอมรับความแตกต่าง ในสมัยที่ผม ยังเคยรับอาชีพเป็นนักแสดง ในยุคนั้นการแสดงความเห็นค่อนข้างลำบาก ใครที่มีความเห็น แตกต่างกับผู้มีอำนาจ ใครที่มีความเห็นแตกต่างกับนายทุน ย่อมไม่ได้รับการสนับสนุน ย่อมจะเสียโอกาสทางอาชีพ แต่ ณ วันนี้คนกล้าออกมามากขึ้น นักแสดงออกมามากขึ้น คนที่ มีชื่อเสียงออกมามากขึ้น วันนี้ประชาธิปไตยเบ่งบาน การแลกเปลี่ยนความเห็นมีมากมาย เราต้องการสิ่งเหล่านี้ในโลกยุคปัจจุบันครับ และผมเชื่อว่าการที่เราจะเงียบกันอยู่ ปัจจุบันนี้ มีหลายคนไม่สนใจการเมือง มีหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องห่างไกลตัว แต่ผมเชื่อว่าการที่ทุกคน มีส่วนร่วมทางการเมืองมันจะยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นจากการส่งเสียงเรียกร้องไปถึง ผู้มีอำนาจ ไปถึงรัฐบาล เพื่อที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับคนทุกคนในแผ่นดินนี้ และเรา ก็จะสามารถที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเยาวชนและคนทุกคนในประเทศนี้ได้ครับ และผมเชื่อมั่นว่าคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเข้าใจ สาระสำคัญของการอภิปรายในวันนี้ และเชื่อว่าคำว่า พลเมืองที่มีคุณภาพ ในนิยามของผม ก็คงจะตรงกับนิยามของคณะกรรมาธิการชุดนี้ครับ ผมจึงเห็นว่าควรจะให้กรรมาธิการชุดนี้ เป็นผู้ตัดสินแล้วก็หาทางแก้ไขเพื่อที่เราจะได้มีพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม กรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกลครับ ขอร่วมอภิปรายรายงานของ สปสช. ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ก่อนอื่นผมว่าเพื่อนสมาชิก ก็ได้พูดกันหลายครั้งแล้วนะครับว่า การทำงบประมาณของ สปสช. มีปัญหาไม่ตรงเป้า ขอยกตัวอย่างที่เราเจอกันบ่อย ๆ ก็คือ เมื่อผู้ป่วยไปหาสถานบริการทางด้านการแพทย์ใกล้บ้าน กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถที่จะรักษาได้ ด้วยการที่ไม่มีบุคลากรและไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ สุดท้ายก็ต้องย้ายมาโรงพยาบาลศูนย์ภายในเมือง ซึ่งแน่นอนเราก็จะเห็นกันแล้วนะครับว่า โรงพยาบาลศูนย์ในเมืองมีความหนาแน่นของผู้ป่วย ทำให้การใช้บริการต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งมาตั้งแต่เช้ากว่าจะหาหมอได้ตอนบ่าย แล้วบางครั้งอาจจะต้องกลับไปเพราะหมอเอง ก็มีธุระมากมายนะครับ จนสุดท้ายประชาชนก็ต้องกลับไปในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิ หรือไปที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งนั่นทำให้เป้าประสงค์และวัตถุประสงค์หลักของ สปสช. ที่จะให้ประชาชนได้ใช้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมเป็นไปไม่ได้ วันนี้ สปสช. เองก็ได้ให้มีการใช้บัตรทองทุกที่ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ เพื่อที่ให้ ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ใกล้บ้าน แต่ในความเป็นจริงนั้นการทำแบบนี้ ผมเชื่อนะครับว่าทาง สปสช. มีวัตถุประสงค์ที่ดี แล้วตั้งใจที่จะให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง การรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วอย่างที่ผมเคยเกริ่นไปขั้นต้นนะครับว่า สถานพยาบาลปฐมภูมิตามพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าเราได้ลงไปดูแทบจะไม่มีหมออยู่นะครับ อาจจะมี พยาบาลวิชาชีพ และส่วนใหญ่ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอที่จะใช้ในการตรวจโรค ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งหรือเป็นโรคที่ต้องใช้ห้อง Lab ในการดู เพราะว่าหลายพื้นที่ที่เราไปมีเพียงแค่เครื่อง Ultrasound การมีเครื่อง Ultrasound นี้ ก็ถือว่าดีมากแล้วนะครับ นอกนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลย หรือบางพื้นที่หนักกว่านั้นอีกครับ ไม่ใช่แค่ไม่มีเครื่องมือ แต่ไม่มียาสำหรับโรคง่าย ๆ อย่างความดัน เบาหวาน เพียงเพราะ บอกว่าทางศูนย์ใหญ่ไม่ส่งมา หรือแม้แต่วัคซีนต่าง ๆ ก็ไม่มีเช่นกัน แล้วแบบนี้การที่จะให้ประชาชนเข้าถึงการพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อที่จะลดความแออัดของ โรงพยาบาลศูนย์มันก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแน่นอนเมื่อไปสถานพยาบาลปฐมภูมิ แล้วไม่ได้รับการรักษา ทุกคนก็ต้องแห่กันไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ อาจจะ ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เพราะว่าการขนส่งสาธารณะมีค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ในต่างจังหวัด ที่ห่างไกล เราเห็นแล้วนะครับว่าประชาชนหลายคนเคยบ่น เคยรำพึงรำพันว่าจะต้องหยุดงาน เพื่อเหมารถไปถึงโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอยู่ห่างไกล บางคนมีเงินรายได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ หรือน้อยกว่านั้น ต้องเก็บเงินเก็บทองหลายวันเพื่อที่จะเหมารถไปที่โรงพยาบาลศูนย์ และสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้การรักษาพยาบาลของประชาชนนั้น สามารถเข้าถึงเท่าเทียม และมีคุณภาพได้อย่างไร
อันนี้ผมก็ขอฝากไปทาง สปสช. นะครับว่าจะทำอย่างไรที่จะมุ่งเน้นแค่ว่า วันนี้แพทย์ไม่พอ วันนี้งบประมาณมีน้อย แต่สุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ คุณจะนำเงินไปสร้างระบบ คุณจะนำเงินไปเพิ่มให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือคุณบอกว่า คุณจะให้โรงพยาบาลปฐมภูมิใช้งานได้ แต่ไม่มีงบให้ อีกทั้งโรงพยาบาลที่มีอยู่ผมเชื่อว่า ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างทั่วถึง หากมีงบประมาณและมีแพทย์ รวมถึง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถใช้งานได้จริง
อีกครั้งหนึ่งนะครับที่เราหลงลืมไปนะครับ ผมเห็นท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขและท่านนายกรัฐมนตรีได้บอกไว้ว่า ปัญหาหลัก ๆ ของเราคือเรา ไม่มีแพทย์ เราไม่มีพยาบาล เราจึงจำเป็นที่จะต้องผลิตแพทย์และพยาบาลออกมาให้กับ ตลาดแรงงาน รวมถึงการให้คนที่จบปริญญาตรี ๔ ปี อบรมพยาบาลอีก ๒ ปี แล้วทำงาน ได้เลย แต่ในความเป็นจริงผมว่า สปสช. เอง และกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะมีตัวเลข อยู่แล้วนะครับว่าแพทย์ในประเทศนี้เรามีเพียงพอ โรงพยาบาลแพทย์สามารถผลิตแพทย์ ได้ปีละเป็นพัน ๆ คน เรามีพยาบาลที่อยู่ในระบบเป็นแสน ๆ คน แต่ที่มันไม่พอเพราะอะไร เพราะเราผลิตออกมาแล้ว เราไม่สามารถเลี้ยงดูเขาได้ หลายคนอาจจะชี้แจงว่าเงินเดือนแพทย์ มีเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าแพทย์ตามชนบทถึงจะมีเงินเดือน แต่ที่พักที่ไม่มี เพียงพอ ที่พักที่ไม่มีความปลอดภัย การทำงานที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ หลักประกันในชีวิต ในการเติบโตก้าวหน้าทางอาชีพแทบจะไม่มี สิ่งเหล่านี้ล่ะครับ มันทำให้แพทย์ที่อยู่ในระบบ ค่อย ๆ ไหลออกจากระบบไปอยู่ในระบบของเอกชน หรือไปอยู่ตามคลินิกเสริมความงาม เราจะผลิตแพทย์ขึ้นมาเพื่อป้อนโรงพยาบาลเอกชน หรือป้อนสถานเสริมความงามกันต่อไป อย่างนั้นหรือครับ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเอางบที่มีมาเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแพทย์ เพราะถ้าแพทย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ไหลออกจากระบบ นั่นจะทำให้แพทย์ที่อยู่ในระบบ มีมากขึ้น และลดความแออัดและชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันนี้แพทย์ทำงานกัน ๒๔-๓๕ ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่ควงกะแล้วไม่ได้พักผ่อน เมื่อไม่ได้พักผ่อนการที่แพทย์ จะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ก็ย่อมผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เมื่อผิดพลาดแล้วไม่มีใคร ที่จะมาดูแลหรือคอยโอบอุ้มเขาเหล่านั้น รวมถึงพยาบาลที่ ณ วันนี้พยาบาลล้นตลาด หลายคนอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ แล้วก็มาบอกว่าพยาบาลไม่พอ แต่เราไม่ได้เหลียวแลเขาเลยว่าเราจะดูแลเขาอย่างไร ให้เขาได้มีสวัสดิการที่ดี ให้เขาได้มีความก้าวหน้าในชีวิต แล้วสุดท้ายเขาก็ออกไปอยู่ โรงพยาบาลเอกชน สุดท้ายเขาก็ไปอยู่สถานเสริมความงาม ผมว่าเราต้องเปลี่ยนเป้าครับว่า นอกจากดูแลประชาชนแล้ว เราต้องดูแลบุคลากรทางการแพทย์ในระบบให้เขาได้มีโอกาส ที่จะเติบโต ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้มีการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่าจะดูแล ประชาชนทุกคน แต่อย่าหลงลืมบุคลากรของท่านนะครับ
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าจะได้เห็นการยกระดับของระบบประกันสุขภาพที่สมบูรณ์ สักทีครับ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือไม่ ให้มีสิทธิในการเข้าถึง บริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานครับ ๐๐๖ กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล แสดงตนครับ