กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขอหารือดังนี้นะคะ
เรื่องที่ ๑ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ ดิฉันได้ร่วมให้การต้อนรับท่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในโอกาสที่ท่านเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ทันตกรรม แล้วก็ศูนย์ไตเทียมที่โรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม (พุทธโสธร ๒) จึงได้มีโอกาสเข้ากราบ นมัสการพระประชาธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ท่านได้ปรารภมาว่าให้ดิฉัน ช่วยนำเรื่องมาหารือกับท่านประธานในเรื่องงบประมาณ ๓๔๐ ล้านบาท ที่จะมาพัฒนา โรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม (พุทธโสธร ๒) ท่านกลัวว่าเดี๋ยวงบนี้จะตกไป ขอความกรุณา ด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าตกและดับบ่อยมากโดยไม่เลือกเวลาเลย ของหมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองเปรง ไม่ว่าจะฝนตกหรือไม่ตกก็ดับเป็นประจำ ท่านประธานคะ ลองคิดดูนะคะว่าบ้านไหนถ้าเกิดว่ามีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้น จะเสียชีวิตกันได้ง่าย ๆ จึงขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เข้ามาแก้ไขด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๓ ประตูน้ำที่ตั้งอยู่ตรงคลองซิมปลา รอยต่อหมู่ที่ ๘ ตำบล คลองจุกกระเฌอ อำเภอเมือง กับหมู่ที่ ๒ ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัด ฉะเชิงเทรานั้นชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถปิดเปิดเพื่อระบายน้ำได้ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ ริมคลองซิมปลาไม่มีน้ำในการทำเกษตร ในการอุปโภคบริโภค ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ก็ขอให้กรมชลประทานนั้นมาแก้ไขด้วย เพราะแจ้งไปหลายครั้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ขอบพระคุณค่ะ
เรื่องที่ ๔ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมาหลายทางมากเลยทีเดียว เรื่องการก่อสร้างสะพานข้ามคลองบางพระ บริเวณถนนบางปรง ซอย ๔ หลังโรงเรียนวัดบางปรง หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพระ มีป้ายประกาศติดไว้ว่าโครงการก่อสร้างสะพานเริ่มตั้งแต่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๖ ถึง ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ จนป่านนี้ก็เลยกำหนดมา ๓ เดือนแล้ว ชาวบ้านรอกันอีกนานแค่ไหนกว่าจะเสร็จ อันตรายมาก เดือดร้อนมาก และเคยมีรถไปติด อยู่ด้วยนะคะ ก็อยากจะให้ อบจ. ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบได้ช่วยแก้ไข แล้วก็ช่วย ซ่อมแซมให้เสร็จเสียที เป็นของ อบจ. ฉะเชิงเทรา ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขออนุญาตอภิปรายถึงเรื่องปัญหาภัยแล้งอย่างหนักจากปรากฏการณ์ El Nino ซึ่งคาดว่าจะเกิดภัยแล้งไปอีก ๓ ปีทีเดียว ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันเองไปพบ พี่น้องประชาชนชาวนาแล้วก็คุยกับเขาท่ามกลางสายฝน ก็ยากลำบากหน่อยนะคะที่จะพูด กับเขาในขณะที่ฝนตกบอกว่าภัยแล้งจะเกิดขึ้น เขาก็มองหน้ามา แล้วดิฉันก็บอกว่า มันจะแล้งจริง ๆ นะ
แล้วดิฉันก็นำเสนอภาพกับเขาบอกว่า ดูกราฟนี้นะ มันเป็นกราฟที่บอกถึงสภาวะฝนตก ว่าสีฟ้าหรือสีน้ำเงินมันเป็นค่าเฉลี่ย สีเขียว คือตกฝนตกปี ๒๕๖๕ แต่สีแดงสิคะ ปี ๒๕๖๖ มันต่ำกว่าทุกภาคเลยในประเทศไทย บอกให้เขา เขาก็เริ่มตกใจแล้วค่ะ ภาพต่อไปค่ะ อันนี้คือน้ำในเขื่อนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเขื่อนภูมิพล ปี ๒๕๖๕ มีน้ำไหลเข้า ๓๐.๑๗ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปี ๒๕๖๖ เข้าแค่ เพียง ๓.๔๘ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ปี ๒๕๖๕ ไหลเข้า ๖๔.๓๗ ล้านลูกบาศก์เมตร ปี ๒๕๖๖ ๒๒ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง นี่ยกตัวอย่าง มันไหลเข้าน้อยมาก ภาพต่อไป ปริมาณฝนเปรียบเทียบกับค่าปกติ แดงทุกกระดานว่าอย่างนั้นเถอะ ท่านประธานที่เคารพคะ เรากำลังจะเผชิญกับแบบนี้ คลองนี่น้ำจะแห้งขอดหมดเลย และประชาชนที่ใช้น้ำมาทำ ประปาหมู่บ้านเขาก็ใช้น้ำจากคลอง แล้วเมื่อมันเป็นแบบนี้น้ำในคลองจะเป็นอย่างไร ดิฉันพยายามพูดกับพี่น้องประชาชน นี่คือน้ำปกติที่เขาเผชิญอยู่แล้ว แล้วเป็นน้ำแห้งขอด แบบนั้นอะไรจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ท่านประธานที่เคารพคะ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือภาคตะวันออกมีการแย่งน้ำกันเกิดขึ้นเป็นประจำ เกษตรกรรมถูกอุตสาหกรรมแย่งไป เพราะฉะนั้นเรากำลังจะเผชิญแบบนั้นอีก ดิฉันไม่อยากที่จะเห็นภาพแบบนี้เลย แต่มันกำลัง จะเกิดขึ้น คือภัยแล้งที่รุนแรงแล้วก็แย่งกันสูบน้ำ แล้วพี่น้องชาวนาอาจจะซื้อน้ำทำนา ซึ่งเรา เห็นเป็นข่าว ซื้อน้ำจากรถแล้วก็ปล่อยเข้าไปในท้องนา วันก่อนดิฉันไปเจออดีตผู้ใหญ่บ้าน ท่านหนึ่งของตำบลหนามแดง ผู้ใหญ่สนธยา ก็คุยกับเขา เขาบอกว่าเขาเคยซื้อน้ำทำนา แล้วเขาก็หมดไปหลายหมื่นบาท ไม่อยากเจอ เราไม่อยากเห็นภาพที่ชาวสวนทุเรียนชุมพร ที่ต้องซื้อน้ำเพราะภัยแล้ง แล้วก็ซื้อน้ำขนาดไหน ๖,๐๐๐ บาทต่อวัน แล้วก็ ๑ เดือนกว่า เสียเงินไปเป็นแสน พี่น้องทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กำลังจะเผชิญแบบนี้ ท่านประธานคะ อยากจะพูดคุยกันถึงเรื่องของการปลูกพืช ปลูกพืชเราต้องมาดูว่า พี่น้องประชาชนบางคน ไม่รู้นะคะว่าทำนาใช้น้ำมากขนาดไหน ใช้น้ำ ๑,๙๒๐ ลูกบาศก์เมตรต่อไร่เลยทีเดียว แต่พืชอื่นเห็นไหมคะ มันน้อยลง พี่น้องของภาคกลางเราปลูกข้าวเยอะ โดยเฉพาะ จังหวัดฉะเชิงเทราของดิฉันปลูกข้าวเต็มไปหมดเลย เขามีอาชีพเดียวมาเป็นตระกูล ๆ มาเป็น Generation ว่าอย่างนั้นเถอะ มาตลอดนานเลยปลูกข้าว จะให้เขาไปปลูกอย่างอื่นเขาไม่มี ความรู้ค่ะท่านประธาน จำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือให้ความรู้กับเขา เขาจะถามมาคำถามแรก เลยนะคะบอกว่าตลาดล่ะ เขาถามแบบนี้ ดิฉันเองก็บอกว่ารัฐบาลอยากได้ถั่วเหลืองซึ่งนำเข้าแทบจะเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นำเข้ามา เพราะฉะนั้นการขาดแคลนมีไหม มี ท่านประธานที่เคารพคะ ถ้าเกิดว่าเรามีการรับ ซื้อถั่วเหลือง แล้วถั่วเหลืองใช้น้ำน้อยกว่าข้าว เราก็ต้องมานั่งให้ความรู้ แต่การที่จะพูดให้เขา เข้าใจนี่ยากลำบากมาก ดิฉันเข้าใจว่าพี่น้องเขาปลูกข้าวมาตลอด อยู่ดี ๆ ให้มาเปลี่ยนเป็น ปลูกถั่วเหลือง ลำบาก ถึงแม้จะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่เรากำลังเผชิญกับไม่มีน้ำเอาเลย ทำอย่างไรดี ท่านประธานที่เคารพคะ คลองจำเป็นที่จะต้องขุดลอก คุณจำรูญ สนธิโรจน์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เขาส่งหนังสือมาถึง สส. บอกว่าอยากที่ จะให้ดิฉันได้พูดถึงเรื่องการขุดลอกคลอง ไม่ว่าจะเป็นคลองรางกัญชา คลองจรเข้น้อย คลองหลวงแพ่ง คลองเปรง คลองแขวงกลั่น ที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดทำนากันทั้งนั้นเลยค่ะ ถ้าเราไม่ขุดลอกมันก็จะไม่มีที่จะเก็บปริมาตรน้ำได้เยอะ ๆ ถูกไหมคะ แล้วก็ภัยแล้งมันจะ เผชิญกันนักแบบนี้ ถามว่ามันมีอาชีพอะไรบ้างที่จะช่วยพี่น้องประชาชน ถ้าไม่ช่วยเขาจะอยู่ กันอย่างไร ท่านประธานที่เคารพคะ สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่อยู่ต่ำกว่าฉะเชิงเทรา เชื่อไหมคะน้ำทุกปีไหลไปที่สมุทรปราการแล้วก็ทิ้งลงทะเลกันไปหมด ไม่มีการเก็บไว้หรือ ตอนนี้ที่ฉะเชิงเทรามีบ้างนะคะ มีผู้นำเริ่มที่จะทำฝายเก็บกักน้ำ ก็ช่วยได้บ้าง แต่มันคง ไม่เพียงพอกับการที่กำลังเผชิญ เพราะฉะนั้นการขุดลอกคลองสำคัญ การทำฝายชะลอน้ำ สำคัญ การทำธนาคารน้ำใต้ดินของทั้งประเทศสำคัญ ดิฉันไปดูงานที่ชัยนาทก็ดี กำแพงเพชร ก็ดี ธนาคารน้ำใต้ดินช่วยได้มากเลยนะคะ แต่จังหวัดฉะเชิงเทราทำยากมาก เพราะเรามี ปริมาณดินเหนียวที่ลึกมากทีเดียว มันไม่สามารถจะทำธนาคารน้ำใต้ดิน ยกเว้น อำเภอแปลงยาว อย่างนี้เป็นต้น สามารถทำได้ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้แล้วจะหาหนทางอย่างไร ถามว่าชาวนาซึ่งเป็นนาเช่าทั้งนั้นเลยท่านประธาน จะขุดดินได้ไหมเพื่อเก็บกักน้ำ ไม่ได้ เจ้าของนาไม่ยอมค่ะประธาน ดังนั้นจึงต้องหาหนทางช่วยพี่น้องประชาชนโดยด่วน ดิฉันก็เห็นด้วยกับการที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะมาช่วยกันเรื่องภัยแล้ง แล้วก็หา หนทางให้ได้จริง ๆ เถอะนะคะ เพราะว่าเราพูดเรื่องภัยแล้งกันมานานเหลือเกิน ขอบพระคุณค่ะ ท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขึ้น Slide ด้วยค่ะ
ดิฉันขออภิปรายในรายงานข้อมูล สถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งก่อนอื่น ก็ต้องขอให้กำลังใจผู้ที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็แล้วแต่ เพศหญิง เพศชาย หรือไม่ระบุ สภาพเพศ ขอให้กำลังใจกับทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทาง พม. ก็ดี ผู้ที่มาชี้แจงก็ดี ขอให้กำลังใจกับมูลนิธิต่าง ๆ ที่เป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้สังคมนี้พยายามจะแก้ไขสังคมนี้ ให้ลุล่วงไป ท่านประธานคะเราพูดกันอยู่เสมอว่าสาเหตุนั้นมาจากหลายอย่างที่เป็นสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะติดการพนัน พ่อแม่ผู้ปกครองต่าง ๆ นานาที่ไปติดการพนัน แล้วก็ทำให้เป็นปัญหา ในครอบครัว ลูกเต้าเห็นอยู่ว่าพ่อติดหนักมาก แม่ติดหนักมาก เมาหัวทิ่ม ดิฉันใช้คำนี้เลยนะคะ เพราะว่าเราจะเห็นเยอะแยะมากในสังคม จะเห็นพ่อหรือแม่ก็ตามที่เป็นสภาพแบบในภาพนี้ สามีหรือภรรยาก็ตามที่ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันจนกระทั่งลูกได้เห็น เราเห็นปัญหานี้ กันเยอะแยะ จนกระทั่งเมื่อลูกเห็นภาพต่าง ๆ นานาของพ่อแม่ สถานการณ์ของครอบครัว ตัวเขาเองก็เลยเข้าสู่ยาเสพติดจับกลุ่มกัน เล่นเกมแบบไม่หยุดเลย แล้วก็ชอบใช้ความรุนแรง เพราะเห็นว่าพ่อเขาทำแบบนั้น ต่าง ๆ นานานี้เราจะเห็นว่าเพื่อน ๆ สส. ด้วยกันได้พูด เรื่องแบบนี้กันหลายคนเลยทีเดียว หนังสือที่เป็นรายงานข้อมูลสถานการณ์ทั้ง ๒ เล่ม ก็พูดอยู่ว่าสถิติมีอะไรบ้างนะคะ จะเห็นว่าตัวสถิติเหล่านี้มันไม่ได้ลดลง มันกลับจะเพิ่มขึ้นด้วย ในบางปี เพราะฉะนั้นทำให้ดิฉันสงสัยมากมาย ท่านคะดิฉันอยากจะพูดไปถึงว่าดิฉันได้รับเชิญ จากมูลนิธิแห่งหนึ่ง เป็นมูลนิธิที่ชื่อว่ามูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติจากประเทศเกาหลีใต้ เขาก็เชิญให้ดิฉันบอกว่าเนื่องจากเป็นตัวแทนของ สส. ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเขามีแนวทาง มีนโยบาย มีหลักการว่าเขาอยากที่จะไปแก้ปัญหาในสังคม อยากที่จะไปช่วย ให้เด็กต่าง ๆ นานาที่มีปัญหาที่เมื่อสักครู่พูดถึงในภาพ ได้ให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้เข้าใจว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการ ครูแนะแนวต่าง ๆ บุคลากรทางการศึกษาได้เข้าใจว่า เราจะแก้ปัญหาให้เด็กอย่างไรกัน เขาก็เลยจะไปจัดงานที่ฉะเชิงเทรา เขาก็เชิญให้ดิฉันไปพูด อยู่บนเวทีด้วย ดิฉันก็รับเชิญทันทีเมื่อฟังหลักการของเขาว่าหลักสูตรของเขา เขามีโรงเรียนค่ะ โรงเรียนของเขาชื่อว่า Lincoln House School Thailand เป็นการศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษานอกโรงเรียน แล้วก็เป็นโรงเรียนประจำอยู่ตรงรังสิตนี้เอง ถัดจาก Makro ไป แล้วก็อยู่ก่อนสนามมวยจะมีโรงเรียนนี้ตั้งขึ้นมา เป็นโรงเรียนที่เป็นมูลนิธิซึ่งไม่ได้หวัง ผลกำไรใด ๆ เลย และปรากฏว่าดิฉันก็ได้รับเชิญไปที่ฉะเชิงเทราก่อนไปฟังเขาเบื้องต้น ในขณะเดียวกันดิฉันก็ไปเยี่ยมเขาที่โรงเรียนดังในภาพ ดิฉันไปเพื่อจะไปรู้ว่าเขาสอนกัน อย่างไร ก็รู้ว่าเขาสอนโดยใช้หลักสูตรว่า Mind Education ซึ่งในภาพจะมีมิสเตอร์ฮักเซิล คิม ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรียนนี้อยู่ ดูแลมูลนิธินี้อยู่ได้อธิบาย ได้ให้ดิฉันเข้าใจมากขึ้น ทำให้รู้ว่า เขาใช้หลักสูตรที่ช่วยเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาต่าง ๆ นานา แล้วเข้ามาสู่โรงเรียนนี้อย่างไร เด็กคนนี้ ยกตัวอย่างพ่อแม่ตีกันเพราะแม่เมาเหล้าจัด พ่อจึงตีทำร้ายเพราะพ่อเป็นนักมวย ทำร้ายแม่ พอทำร้ายแม่ปุ๊บ ลูกก็เห็นว่าแม่ถูกทำร้าย ลูกก็ไม่พอใจไม่พูดกับพ่อ ต่าง ๆ นานา เสร็จแล้วลูกก็ไปคบเพื่อนติดยาเสพติด แล้วก็ไปถึงขั้นเข้าสถานพินิจก็ไปเจอแก๊งต่าง ๆ นานา ก็คือไปสู่สภาพที่มันย่ำแย่ เสร็จแล้วเด็กคนนี้ปรากฏว่าอยู่ในกลุ่มของเพื่อนที่ไม่ไหวด้วยกัน แล้วนะคะ เกเรกันหมดแล้ว บังเอิญ Facebook ของ Lincoln House School Thailand มูลนิธินี้มันเด้งขึ้นมาในโทรศัพท์เขา เขาก็เลยติดต่อเข้ามาพอเขาเข้ามาปุ๊บเขาได้ศึกษาถึงโลก ของจิตใจนะคะ กลายเป็นว่าปัญหาต่าง ๆ ในสังคมนี้อยู่ที่จิตใจ ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง ดิฉันอยากที่จะฝากถึงหน่วยงานที่มาชี้แจงว่าเราอาจจะต้อง มาดูกันที่จิตใจ ดูกันที่รากเหง้า ดูกันที่ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ หน่วยเล็ก ๆ ของสังคมว่าทำอย่างไรให้ทุกคนมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่โอนเอนไปในเรื่องที่ไม่ดี พ่อสอนลูกให้ดี พ่อดูแลแม่ให้ดี แม่สอนลูกให้ดี ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ไปติดยาเสพติดง่าย ๆ ไม่ทำร้ายเพื่อน ไม่ไปเห็นความรุนแรงต่าง ๆ นานา ถ้าหน่วยสังคมเล็ก ๆ นี้ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีสังคม ก็จะอยู่ได้ดีถูกต้องไหมคะ ท่านประธานที่เคารพคะ พม. เอง ท่านรัฐมนตรีเองก็ได้จัดกิจกรรม Camp Camp ของเยาวชน ๔,๐๐๐ คนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต จัดเพื่อจะพัฒนาศักยภาพ จัดโดยมูลนิธินี้ละค่ะ เพราะฉะนั้น พม. สามารถทำเรื่องนี้ได้ ดิฉันพูดถึงเรื่องเด็กนักเรียน ไม่ได้หมายความว่าการพูดถึงเด็กนักเรียนแล้วมันจะต้องไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ มันสามารถดูแลทั้งประเทศได้เลย พม. ดูแลทุกคนได้หมด ดังนั้นท่านเคยจัด Camp แบบนั้น ทำไมท่านจะตั้งหลักสูตรเกี่ยวกับจิตใจ พัฒนาจิตใจให้กับคนทั้งประเทศได้ ทำสิคะ ลงไป ในท้องถิ่น ลงไปพูดกับทาง อบต. ทางกำนันผู้ใหญ่บ้าน จัดหลักสูตรขึ้นมาพัฒนาจิตใจ ของคนทุกคน ให้ทุกคนนั้นมีความเข้าใจว่าต้องคิดอย่างลึกซึ้ง ต้องคิดอย่างลึก ๆ ต้องชั่งใจ เวลาทำอะไรก็แล้วแต่ ดิฉันหวังว่าทาง พม. จะพอเข้าใจว่าดิฉันพูดถึงอะไร มูลนิธิเยาวชน สัมพันธ์นานาชาติจากเกาหลีใต้ซึ่งไม่หวังผลกำไรเลย แล้วก็มี Lincoln House School Thailand อยู่ตรงรังสิต ไปศึกษาจากเขาสิคะ แล้วเอามาใช้ใน พม. ให้ได้ เพราะท่านคือ หน่วยงานที่สำคัญของสังคมจริง ๆ ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง พรรคเพื่อไทย เขต ๑ ฉะเชิงเทรา อยากจะฝากถึงท่านผู้ชี้แจงว่าครั้งหน้า ถ้าเกิดว่าท่านทำรายงาน
อันที่ ๑ อย่าได้ทำรายงาน Part สุดท้ายที่เป็นเรื่องของแนวทาง คำแนะนำ อะไรก็แล้วแต่ อย่าทำแบบ Copy แล้วก็ Paste มา ดิฉันอ่านปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ดิฉันสงสัยว่า ทำไมเนื้อหาเหมือนกันเลย ทำแค่เพียงว่าให้มันดูย่อหน้าแตกต่างกันเท่านั้นเอง ดิฉันรู้สึก อย่างนั้นจริง ๆ
อันที่ ๒ กราฟหรือว่าแผ่นแบบนี้ค่ะ ท่านทำออกมาแล้วเปอร์เซ็นต์ คือท่าน ทำเป็นสัญลักษณ์นะคะ สัญลักษณ์ว่าทำร้ายร่างกายมีภาพแบบนี้ ไอ้โน่นมีภาพแบบนั้น แต่ว่ามันดูไม่ออกเพราะว่าเป็นขาวดำ ท่านควรจะใส่เปอร์เซ็นต์ลงไปท้ายคำว่าทำร้าย ร่างกายด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะดูไม่ออกเลยว่าสุดท้ายแล้วมันอยู่ตรงไหนกันแน่ แล้วก็ฝากถึงว่าคิดใหม่ทำใหม่ได้ก็ดี คิดถึงเรื่องจิตใจที่ดิฉันพูดไปว่ามันเป็นเรื่องที่ช่วยได้จริง ๆ ถ้าคนเรามีจิตใจที่ดี เข้าใจ ชั่งใจมันก็จะไม่ไปทำร้ายใครแค่นั้นเอง ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ขอสักคนหนึ่งก่อน ได้ไหมคะ พอดีคุณพ่อเข้า ICU อยู่ค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ ฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานกราบขอบพระคุณนะคะ วันนี้ดิฉัน ขออภิปรายในวาระรายงานประจำปี ๒๕๖๔ ขึ้น Slide เลยนะคะ
ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ หรือ กกพ. คือภารกิจ และอำนาจหน้าที่ของ กกพ. เขาก็เป็นไปตาม พ.ร.บ. ปี ๒๕๕๐ ของประกอบกิจการพลังงาน ไว้ตามมาตรา ๑๐ มีถึง ๑๘ อนุมาตราด้วยกัน ภารกิจที่ใกล้ตัวประชาชนที่สุดก็คือ กำกับกิจการไฟฟ้า กำกับโรงไฟฟ้าให้สามารถบริการให้ได้มีประสิทธิภาพใช่ไหมคะ แล้วก็ มีความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ซึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกพูดกันไปทำนองนี้เยอะแยะแล้วนะคะ แล้วก็ เป็นเรื่องของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งดิฉันก็ขอขอบคุณนะคะที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในรอบโรงไฟฟ้าได้อันนั้นดีมาก ทีนี้วันนี้ดิฉันเองอยากพูดถึงเรื่องที่คณะกรรมการ กกพ. และสำนักงานยังไม่ค่อยได้ทำหรือทำน้อยมาก มันคือเรื่องของก๊าซธรรมชาติค่ะ กิจการก๊าซธรรมชาตินี่นะคะ ซึ่งดิฉันคิดว่ามันส่งผลกระทบถึงราคาค่าไฟฟ้า แล้วก็รวมถึง ความเพียงพอของก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่งด้วย แล้วก็ทราบอยู่ว่าท่านยกเว้นว่า มันไม่รวมถึงการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งในมาตรา ๕ นี้ทราบอยู่นะคะ แต่ว่ามันก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่การดำเนินงานมันจะส่งผล ขอภาพเลยค่ะ เมื่อ ๒-๓ วันก่อน ท่านประธาน มีผู้ประกอบการขนส่ง Logistics ของจังหวัดฉะเชิงเทราก็มาร้องเรียนกับดิฉัน บอกว่าเรื่องราคาก๊าซ CNG ที่ใช้กับรถยนต์กำลังจะปรับราคาขึ้นจาก ๑๘.๕๙ บาทต่อกิโลกรัม วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ นี้จะเพิ่มกิโลละ ๑ บาท ก็จะเป็น ๑๙.๕๙ บาท แล้วก็วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ ก็จะเพิ่มอีก ๑ บาท เป็น ๒๐.๕๙ บาทแล้ว ทีนี้ผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิง ชนิดนี้เขาก็ได้รับผลกระทบมาก เราทราบกันอยู่แล้วนะคะว่าเมื่อปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ รัฐบาลพยายามที่จะให้ทุกคนเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมาเป็นก๊าซธรรมชาติ อันนี้ เราทราบอยู่นะคะ แล้วก็สนับสนุนให้ผู้ใช้รถใช้ก๊าซธรรมชาติให้มาก ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ ที่ขุดเจาะได้ในอ่าวไทย ดังนั้นก๊าซธรรมชาติก็เลยเป็นพลังงานหลักของธุรกิจผู้ขนส่งนะคะ ทีนี้ผู้ที่มาร้องเรียนเขาก็ร้องว่าธุรกิจของเขาที่แล้วมามันโดนผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มาก มันยังไม่ฟื้นตัวเลย ดังนั้นเขาจึงขอให้รัฐบาลอยากจะให้ตรึงราคา ช่วย CNG ให้อยู่ที่ ๑๘.๕๙ บาทเท่าที่ทำได้ไปก่อน ทีนี้ต่อมาดิฉันก็เลยตรวจสอบปัญหาก็พบว่าข้อมูล ที่น่าสนใจก็คือว่าปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนใช้ CNG ในภาคขนส่งแล้ว เพราะทุกวันนี้กระทรวงพลังงานก็ขอให้ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานช่วยชดเชย ราคาก๊าซธรรมชาติแบบเป็นครั้งคราว เป็นการแก้ปัญหาราคาจำหน่าย CNG แบบลูบหน้าปะจมูก ดิฉันรู้สึกอย่างนั้น ดิฉันจึงสงสัยว่าทำไมก๊าซธรรมชาติที่เรารับรู้ว่ามันมีปริมาณมากเลย ในอ่าวไทยซึ่งอาจจะมีไปถึง ๕๐-๖๐ ปีเลยหรือเปล่า สามารถส่งไปช่วยโรงงานผลิตไฟฟ้าก็ได้ ผลิตกระแสไฟฟ้า ไปให้โรงงานปิโตรเคมีแยกก๊าซออกมาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมก็ได้ หรือว่าสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรม เช่น พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ไปเป็นเครื่องสำอางอะไรก็ได้ แต่ทำราคาก๊าซจึงต้องแพง ทำไมมันไม่มีเพียงพอหรืออย่างไร อันนี้สงสัยนะคะกรุณาตอบด้วย แล้วถ้ามีพอให้กับภาคขนส่งก็น่าจะให้ประโยชน์กับเขาบ้าง อันนี้เป็นข้อสงสัยที่อยากจะถามจริง ๆ นะคะ แล้วก็จากข้อมูลที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ มีการเปลี่ยนผ่านผู้ได้รับสัมปทานเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รายเก่าเป็น ปตท. สผ. ใช่ไหมคะ ทำให้เกิดปัญหาปริมาณก๊าซผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ G1/61 ขาดหายไป แต่ว่าก็สามารถค่อย ๆ กลับมาผลิตเพิ่มได้อีกในปี ๒๕๖๕ ดิฉันจะคิดว่า เรื่องราคาและปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้น่าจะใกล้ภาวะปกติ ซึ่งสอดคล้องกับ การลดลงของค่า Ft ราคาไฟฟ้าปัจจุบันลดลง ดังนั้นทำไมปริมาณของ NGV ในภาคขนส่ง จึงยังไม่เป็นปกติ ราคาขายปลีกทำไมยังมีแนวโน้มขึ้นอยู่ไม่เข้าใจนะคะ สร้างความเดือดร้อน ให้กับผู้ใช้รถยนต์เลยอยากจะได้คำตอบจากท่านคณะกรรมการด้วยนะคะ
แล้วก็อีกเรื่องที่สงสัยมากก็คือว่าดิฉันได้รับข้อมูลจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง กับการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในยานยนต์และภาคขนส่ง ได้ยินมาบางเรื่องว่ารัฐบาล ไม่สนับสนุนแล้วใช่ไหมคะ และทุกวันนี้ก็ไม่มีการตั้งสถานี NGV และ CNG เพิ่มขึ้น ซึ่งทั่วประเทศน่าจะมีสัก ๔๐๐ กว่าแห่งเอง เหมือนอยากให้ผู้ใช้รถประเภทนี้ยอมแพ้ หรือเลิกไปในที่สุดนะคะ ดิฉันเลยสงสัยว่าคณะกรรมการได้เคยประชาสัมพันธ์ให้ ผู้ประกอบการก็ดี ให้ประชาชนก็ดี พี่น้องแท็กซี่หรืออะไรก็แล้วแต่เขารู้บ้างหรือเปล่าว่า ท่านจะไม่สนับสนุนแล้ว และเขามีรถของเขาอยู่อย่างฉะเชิงเทรามี ๑,๐๐๐ กว่าคันที่เขาจะ มาร้องเรียนนะคะ เขารู้เรื่องไหม เขาเดือดร้อนขนาดนี้ และเกิดเขาไปซ่อมเพิ่มเติม เขาไป ลงทุนเพิ่มเติม แล้วท่านก็จะไม่สนใจใยดีกับเขาอีก ทีนี้มันจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะให้ ภาคขนส่งเขาขึ้นราคาค่าขนส่งไหม ถ้าเกิดว่าเขาไม่เป็นแก๊ส แล้วเขาไปเป็นน้ำมัน จากน้ำมัน ตอนนี้ดีเซลของท่านคือ ๓๑ ใช่ไหมคะ แล้วก็จะให้เขาขึ้นราคาค่าขนส่งไหม เพราะว่า จาก ๑๘.๕๙ เดี๋ยวจะเป็น ๒๐ แล้วก็จะให้เขาไปใช้น้ำมัน และเขาก็กลายเป็น ๓๑ ราคา ค่าขนส่งมันก็จะสูงขึ้นใช่ไหมคะ แล้วก็แนวทางการช่วยเหลือภาคขนส่งจะเป็นอย่างไร ขอให้ ตอบให้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่าจะเอาอย่างไรดี ขอบพระคุณมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านคะ อยากจะปรึกษา เรื่องหารือหน่อยนะคะ ดิฉันเองร้างราจากสภาไปนานถึง ๑๒ ปี แต่พอมาเป็น สส. ก่อนจะ เข้ามาในสภานี้เรื่องที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมันเยอะเหลือเกิน ตอนนี้เกือบ ๑๐ เรื่องแล้ว ที่ต้องการที่จะหารือ ยังไม่เข้าใจว่าท่านจะเริ่มเวลาไหน อย่างไร ถ้าเกิดว่าคำนวณตามที่ ท่านจุลพันธ์พูดว่าคนละ ๒ นาที ๓๐ วินาที ถ้า ๓๐ คนมันเข้าไปเป็นชั่วโมง แล้วก็ท่านจะ เริ่มการประชุมสมมุติว่าเริ่มที่ ๐๙.๓๐ นาฬิกา แล้วหารือมันจะเริ่มกันตอนไหน และประชุม จริง ๆ มันจะเริ่มตอนไหน อยากได้ความชัดเจนมากขึ้นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ขออนุญาตนำเรื่องเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนมาหารือท่านประธานเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบค่ะ
เรื่องที่ ๑ ไฟทางบนถนนสาย ๓๐๑๔ หรือที่เรียกกันว่าถนน รพช. บ้านหนามแดง คลองประเวศบุรีรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปัญหาไฟทางดับมานานนับปี ถนนเส้นนี้ เป็นถนนที่สำคัญมากนะคะ ชาวบ้านจากตำบลหนามแดง ตำบลคลองเปรง ตำบลคลองอุดมชลจร ตำบลคลองหลวงแพ่ง และจากที่อื่นเช่น สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ใช้กันเป็นประจำ เพราะว่าถนนเส้นนี้เชื่อมต่อกับถนนฉะเชิงเทรา-อ่อนนุชค่ะ อีกทั้งมีนักเรียนจากหลายโรงเรียน พี่น้องผู้ใช้แรงงานจากหลายโรงงานใช้ถนนเส้นนี้ก็อยากให้แก้ปัญหาไฟส่องสว่างดังกล่าว ก่อนที่จะมีอุบัติเหตุร้ายแรงเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
เรื่องที่ ๒ คุณสงวนทรัพย์ ชุ่มชูจันทร์ ชาวบ้านแจ้งมาว่าถนนสุวินทวงศ์ ช่วงกิโลเมตร ๕๗+๖๐๐ บริเวณ ปากทางเข้าวัดบางสาย ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรงนั้นมีร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน มีตลาดนัด โรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่เช้าจนยัน ๓ ทุ่ม ทั้งรถยนต์ จักรยาน ผู้คนข้ามถนนขวักไขว่ไปมา แต่ตรงนั้นกลับไม่มีไฟส่องสว่างค่ะ จึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หากมีไฟส่องสว่างถนนตรงนั้น สัก ๓-๔ ดวงก็แก้ปัญหาได้แล้วค่ะ
เรื่องที่ ๓ ไฟทางบนถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช. ๓๐๐๑ หรือที่เรียกกันว่า ถนนฉะเชิงเทรา-อ่อนนุช จากจุดเริ่มต้นที่เชื่อมกับทางหลวงสาย ๓๑๔ กิโลเมตรที่ ๑๘+๐๐๐ ตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปตลอดระยะทาง ๒๐ กิโลเมตรเลยค่ะ จนถึงถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ไฟส่องสว่างดับตลอดเส้นทางเลยค่ะ เป็นอันตรายอย่างมาก เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายนะคะ
เรื่องที่ ๔ ขอให้กรมทางหลวงได้โปรดจัดสรรงบประมาณแบบด่วนเลยให้กับ แขวงการทางฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินการปิดจุดกลับรถบริเวณกิโลเมตรที่ ๑๙+๙๖๘ บนถนน สาย ๓๑๔ บางปะกง-ฉะเชิงเทรา หรือที่เรียกกันว่าถนนสิริโสธร แล้วเปลี่ยนไปสร้างสามแยก พร้อมสัญญาณไฟจราจรตรงปากซอยประชาสรรค์ เพราะจุดดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ภายในปีนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว ๔ ราย ทางแขวงการทางฉะเชิงเทราทำแผนไว้พร้อมแล้วนะคะ แต่รองบประมาณซึ่งมันจะเป็นงบประมาณปี ๒๕๖๘ ดิฉันเห็นว่ามันล่าช้าเกินไปอาจจะ เสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
เรื่องที่ ๕ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใหญ่ปิยะ เอี่ยมจำรูญ ว่าพี่น้องประชาชน ที่บ้านคลองคู้กบ ปลายหมู่ที่ ๗ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๑๒ หลังคาเรือน ร้องเรียนมาเรื่องไฟฟ้าตกอยู่เป็นประจำทำให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ทั้งหมดทั้งปวงนะคะท่านประธานขอให้ส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้โดยด่วนด้วย ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ดูเหมือนรีบเร่งทำจนลืมคำนึงถึงมาตรการกำหนดความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สถาบันการเงินนั้นต้องมีมาตรการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิด การถอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าง่าย ๆ โดยลูกค้าไม่ยินยอม มีอย่างหรือท่านประธานคะ อย่างดิฉัน นั่งเล่น LINE อยู่ดี ๆ มีคนส่ง Link มา ธนาคารส่ง Link มาบอกว่า โปรดกด Link นี้เพื่อดูมาตรการ ป้องกันอาชญากรรม Cyber ดิฉันก็เชื่อมั่นในธนาคารก็กดเข้าไป ท่านประธานคะ เงินในบัญชี ที่น้อยนิดของดิฉันหายเกลี้ยงเลยค่ะ ธนาคารไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น บอกแต่เพียงว่าให้ไป แจ้งความ แล้วดิฉันก็ไปแจ้งความ ตำรวจก็ไปขอข้อมูลจากธนาคารและเครือข่ายโทรศัพท์ ใช้อำนาจสั่งให้เปิดเผย แล้วอย่างไรคะ ใครชดใช้ความเสียหายให้ดิฉัน ตำรวจแค่ติดตามเอา ผู้กระทำผิดเท่านั้นแล้วก็ผ่านเลยไปดิฉันได้เงินหรือเปล่าก็ไม่รู้
อีกอันหนึ่ง เพื่อนของดิฉันมีบริษัทใหญ่โตตอนเช้าจะทำงานเขามีลูกค้าอยู่ในมือ หลายหมื่นชื่อมาก จะทำงานปรากฏรายชื่อลูกค้าหายเกลี้ยง แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีคนติดต่อมาบอกว่า ถ้าอยากจะได้รายชื่อของลูกค้าคืนเอาเงินมา ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินที่ไทย ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทนี่ มันเกิดจากการที่โดน Hack ข้อมูล เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรท่านประธาน เกิดจากอะไร แล้วทำไมมันไม่มีมาตรการป้องกัน เพื่อนของดิฉันจะทำอย่างไรต่อไปคะท่านประธาน เรื่องแบบนี้ไม่มีพูดถึงเลยใน พ.ร.ก. นี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วถือว่าเป็นเวรกรรมของแต่ละคนหรืออย่างไร ท่านประธานคะ ในมาตรา ๕ ที่บอกว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดก็ให้ตำรวจ ให้ DSI ให้สำนักงาน ปปง. ไปสั่งให้บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์เปิดเผยข้อมูล ดิฉันสงสัยว่าต้องไป ขอหมายศาลก่อนไหมคะ และสำนักงานตำรวจทุกท้องที่ก็มีอำนาจหมดด้วย ส่วนมาตรา ๖ ท่านประธานคะก็ให้ตัวสถาบันการเงินเองพบเหตุอันควรสงสัยเองก็สามารถทำการระงับธุรกรรม ทางการเงินได้ เป็นการชั่วคราวไม่เกิน ๗ วัน สมมุตินะคะท่านประธาน สมมุติว่ามีนักธุรกิจคนหนึ่ง ชื่อนาย ก จะไปประมูลงานก่อสร้างโดยต้องเตรียมหนังสือค้ำประกันซอง แต่คู่แข่งรู้เข้าก็หาทาง ฉ้อฉลร่วมกับสถาบันการเงิน โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๖ ที่บอกว่าพบเหตุอันควรสงสัยเองก็เลย ระงับธุรกรรมทางการเงินของนาย ก ไป ๗ วัน ท่านประธานบังเอิญ ๗ วันนี่มันเลยวันประมูล ทำอย่างไรดีคะ เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้นะคะ สรุปว่าการออกกฎหมาย พ.ร.ก. ที่ให้รัฐ และเอกชนมีอำนาจในการที่จะลุกล้ำสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้มากขนาดนี้ไม่ควรทำหละหลวม แบบนี้ไม่ดีเลย ทีนี้มาดูเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ของคณะกรรมการ ท่านประธานคะ โครงสร้างของ คณะกรรมการชุดนี้เป็นข้าราชการจากสำนักงานปลัดและตำรวจเป็นเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ไม่มีโครงสร้างชัดเจนถึงผู้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Digital ไม่มีคุณสมบัติความชำนาญ ด้านเทคโนโลยีอะไรอย่างชัดเจน เหมือนจะเอาใครก็ได้มาเป็น อีกทั้งไม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ ที่ชัดเจนเอาไว้เลยระบุเพียงเป็นผู้ให้แนวทางปฏิบัติ แนะนำ ให้คำปรึกษา ซึ่งถ้าไม่มีความรู้ดีพออาจจะแนะนำจนเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นการทำพระราชกำหนดนี้ ควรจะทำเป็นพระราชบัญญัติในความรู้สึกของดิฉันนะคะ ให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ มาระดมผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันคิดจะรอบคอบกว่า ดังนั้นดิฉันจึงเห็นว่าดิฉันไม่เห็นด้วย กับความหละหลวมของ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงาน การเงินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งรายงานนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็จะเสนอต่อเลขาธิการ กกต. แล้วก็จะเสนอมา ในลักษณะของเป็นความเห็น เป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็น เป็นข้อมูลเหตุการณ์ที่จะเน้น เป็นข้อมูลอื่นอะไรก็แล้วแต่เขาก็จะมีมา ดิฉันสนใจอย่างนี้ค่ะ ในเรื่องรายงานของผู้สอบบัญชี ตรงข้อมูลและเหตุการณ์ที่เน้น ขอใช้คำว่าเหตุการณ์ที่เน้น ขอให้สังเกตในหมายเหตุประกอบ งบการเงินหมายเหตุที่ ๒ เขาบอกว่าเกณฑ์การจัดทำรายงานการเงิน ซึ่งระบุว่ารายงานการเงิน ของสำนักงาน กกต. ไม่ได้รวมรายการบัญชีของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งเป็น กองทุนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงาน ทีนี้การที่งบการเงินนี้ไม่ได้ถูกรวมไปอยู่ใน รายการบัญชีของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง แสดงว่างบการเงินนี้ไม่ได้สะท้อน ผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่แท้จริง การไม่นำมารวมจึงทำให้มองไม่เห็น หรือมองไม่รู้ว่าทำอะไรไป หรือมีประสิทธิภาพแค่ไหน อย่างไร เปรียบเทียบ เทียบเคียงกับ ธุรกิจทั่วไปว่าบริษัทจะมีบริษัทย่อย บริษัทลูก ต้องนำผลประกอบการทั้งหมดมารวมกัน หรือเรียกว่า Consolidate แล้ว กกต. ก็มีกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่มีเงินเป็นพันล้าน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบริษัทลูกของ กกต. แล้วทำไมไม่เอาตัวเลขผลการดำเนินงานของ กองทุนมารวมด้วย จึงขอให้ผู้ชี้แจงได้โปรดชี้แจงให้ด้วยว่าเพราะอะไร เพราะดิฉันอยากรู้ว่า ภารกิจก็ดีของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในปีนี้ทำอะไร อย่างไรบ้าง ท่านประธานคะ ส่วนเรื่องเกี่ยวกับหมายเหตุซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้นำเสนอมา ดิฉันก็สนใจในหมายเหตุที่ ๒๗ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีฟ้องร้อง ซึ่งเขาก็จะทำเป็น ๒ อย่าง เป็นคดีฟ้องร้อง เรียกว่าถูกร้องเรียกค่าเสียหายกับไปฟ้องเขา คดีที่ กกต. และสำนักงาน กกต. เป็นโจทก์ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น ๒๐ คดี อันนี้ดิฉันสนใจ ในวงเงินที่ฟ้อง คือ ๓,๑๕๗ ล้านบาท ไปฟ้องเขาแสดงว่า กกต. เสียหาย ดิฉันเลยอยากจะทราบว่า ไปทะเลาะอะไรกับใครเขา และมีโอกาสจะชนะไหมคะ โปรดชี้แจงด้วยค่ะ
เรื่องต่อไป ท่านจำได้ไหมว่าตอนที่พวกเราสมัคร สส. ตอนนั้นมันจะมี ข้อกำหนด ๑๘๐ วันก่อนที่จะออกประกาศกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง เราก็ถกเถียงกัน เยอะแยะมากเลยว่าก่อนประกาศกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใน ๑๘๐ วัน เราจะทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ มันจะนับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหรือเปล่า เราพบว่า กกต. มีงบประมาณ ในการที่จะเป็นด้านบุคลากรเยอะมากเลย ๑,๖๐๐ กว่าล้านบาท ปีที่แล้วก็ ๑,๖๙๕ ล้านบาท ปี ๒๕๖๔ ๑,๖๗๕ ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่สูงเพื่อให้ บุคลากรไปทำหน้าที่ต่าง ๆ นานาเต็มไปหมด แต่ปรากฏว่าเรื่องแบบนี้บุคลากรของท่าน ก็อธิบายไม่ได้ หรือ กกต. เองก็อธิบายได้ว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำ ซึ่งพวกเรา เป็นผู้สมัครเราจะไปพบเจอในรายละเอียดเยอะมาก เช่นส่งพวงหรีดได้ไหม ก็มีการพูดกัน บอกว่าส่งพัดลมไม่ได้ ส่งดอกไม้สดได้แล้วกันเพราะมันสดเดี๋ยวก็เหี่ยวแห้งไป นี่คือคำตอบ จาก กกต. ถามว่าเรื่องแบบนี้มันอยู่ในงานของ กกต. เขา ซึ่งน่าจะต้องให้คำชี้แจงกับผู้สมัคร มากกว่านี้ ในขณะเดียวกันงบประมาณกำลังพลทาง กกต. ก็ตอบมา อย่างที่ฉะเชิงเทราเอง เราก็อยากที่จะได้มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจดูโน่นตรวจดูนี่ เขาก็บอกว่าเขาไม่มีกำลังพลเพียงพอ ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะไปดูหรอกว่าผู้สมัครติดป้ายไปกี่ป้าย อย่างไร ก็ขอให้ผู้ที่ แข่งขันกันเองมาฟ้องแล้วกัน ปรากฏว่าในพื้นที่ติดป้ายเกิน กกต. กำหนดกฎเกณฑ์เยอะมาก ละเอียดเยอะมาก แม้กระทั่งว่าป้ายต้องขนาดเท่าไร กี่มิลลิเมตร กี่เซนติเมตรอะไรกัน แต่ปรากฏว่าเราทำตาม แต่มันก็จะมีคนที่ไม่ทำตามด้วย เช่นไม่ให้ติดป้ายเกิน ๒ เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง สมมุติว่ามีหน่วยเลือกตั้ง ๒๐๐ ก็ห้ามเกิน ๔๐๐ ปรากฏว่าบางที่ ติดไป ๕๐๐-๖๐๐ เราก็ไปแจ้ง กกต. กกต. ก็อาจจะบอกว่าเขาไม่มีเจ้าหน้าที่ในการที่จะไป ทำหน้าที่อย่างนี้ค่ะ งบประมาณตั้ง ๑,๖๐๐ กว่าล้านบาทแล้วไปทำอะไรคะ อยากจะฝากให้ ท่านประธานบอก ทาง กกต. เขาอาจจะได้ยินอยู่ตอนนี้ก็ได้ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลช่วยกันว่า การทำงานในครั้งต่อไปก็ขอให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนะคะ ขอบพระคุณท่านประธานค่ะ
ท่านประธานที่เคารพคะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ อยากจะขอปรึกษาท่านประธานถึงเรื่องหารือนี้นิดหนึ่งว่า เนื่องจากว่า สส. ในพื้นที่จะเจอ ปัญหาของพี่น้องประชาชนเยอะมากทีเดียว กว่า Loop มันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งที่จะได้ พูด ๓ นาทีนี้มันนานหลายเดือน เป็นไปได้ไหมคะที่ให้ สส. ทำเป็นหนังสือถึงท่านประธาน ถึงความเดือดร้อน พร้อมภาพประกอบอะไรมันก็เหมือนกับเราพูดในสภา แต่เป็นหนังสือ เพื่อที่จะแบ่งเบา การที่เราจะรอนานเหลือเกินนี่ เป็นไปได้ไหมคะ ขอปรึกษาค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายเรื่องรับทราบรายงาน ขอ Slide ด้วยค่ะ
รายงานผลการประเมินสถานการณ์ ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๕ และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือเรียกย่อ ๆ ว่า กสม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ท่านประธานคะ วาระนี้จึงเป็นเรื่องรับทราบพร้อม ๆ กัน ๒ รายงาน ซึ่งก็เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๗ (๒) แล้วก็ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๕ แล้วก็ยังเป็นไปตามมาตรา ๒๖ ของ พ.ร.ป. ที่ให้ ทาง กสม. เองต้องจัดทำรายงานขึ้นมาเสนอต่อใคร เสนอต่อรัฐสภา ครม. แล้วก็เผยแพร่ต่อ ประชาชน มาตรา ๒๖ (๔) ที่ดิฉันสนใจมากก็คือ บอกว่าชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริง ที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม อันนี้น่าสนใจนะคะ ทีนี้รายงานทั้ง ๒ ฉบับนี้ โดยเฉพาะ รายงานประเมินสามารถบอกหลายเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ จึงอยากให้ทุกคนให้ความสนใจในรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม. เอง เพราะว่า ครม. สามารถกำชับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้ทั้งหมดเลย ให้ดำเนินการตามที่ กสม. เสนอแนะนะคะ
ทาง กสม. เสนอแนะแล้ว ครม. ก็ดี หรือส่วนราชการก็ดีหน่วยงานนั้น ๆ ก็ดี ไม่ดำเนินการหรือใช้เวลาในการดำเนินการ ก็ให้แจ้งเหตุผลต่อ กสม.โดยมิชักช้า ตามมาตรา ๔๓ คำว่า ไม่ชักช้า ก็เลยทำให้ดิฉันสนใจไปเรื่อยเลยนะคะท่านประธาน
ดิฉันเห็นว่าของ กสม. งานยิ่งใหญ่มาก ท่านต้องดูแลทั้งประเทศ มันมีหลายเรื่องเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิแรงงาน สิทธิทางด้านสุขภาพ การศึกษา ชุมชน ที่ดิน เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ อะไรไม่รู้เต็มไปหมดเลย เดี๋ยวเพื่อน ๆ ก็คง จะอภิปรายในเรื่องราวต่าง ๆ หลากหลายกันไป
ดิฉันสนใจในเรื่องของคนพิการค่ะ ดิฉันสนใจว่าในปี ๒๕๖๕ เป็นปีที่กำหนด ว่าปีแห่งการปฏิรูปงานด้านคนพิการ ค้นหาคนพิการเชิงรุกในชุมชน และนำผู้ตกหล่นมาขึ้น ทะเบียนคนพิการเพื่อรับสิทธิสวัสดิการและการคุ้มครองต่าง ๆ เป็นปีของผู้พิการ ขนาดนั้นเลยนะคะ ซึ่งท่านประธานจำได้ไหมคะว่าเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๖ จะมีลูกสาวคนหนึ่งของผู้ที่นอนติดเตียงอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี เขาก็มาร้องว่า เขาต้องพาพ่อเขาไปทำบัตรประชาชนที่อำเภอ สุดท้ายเรื่องราวต่าง ๆ น่าเห็นใจเขามาก เขาต้องสูญเสียคุณพ่อแค่เพียงการไปทำบัตรประชาชน จนกระทั่งนายอำเภอเมืองปทุมธานี ต้องมาไหว้ขอโทษกับลูกสาวกับครอบครัว ที่เจ้าหน้าที่ห้องบัตรพาพ่อไปทำบัตรประชาชน ก็แค่ถ่ายภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แต่วันรุ่งขึ้นเขาเสียชีวิต อันนี้น่าเห็นใจ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ซึ่งในวันถัดมาบอกว่า Case นี้เขาบอกนะคะ เขาขอ ให้เป็น Case สุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ที่บกพร่องต้องมีการลงโทษ ก็พูดกันไว้แบบนี้ ท่านประธานคะ ดิฉันสนใจเรื่องของคนพิการที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมา ก็สนใจว่าทาง กสม. จะพูดถึงเรื่องคนพิการ พูดบอกว่าทุกปีเลยที่มาชี้แจงจะบอกว่า คนพิการยังมีอุปสรรคในการเดินทาง เช่น ทางเท้า พื้นถนนมีสภาพชำรุด มีสิ่งกีดขวาง มีรถเมล์ชานต่ำสำหรับคนพิการที่นั่งเก้าอี้รถเข็นไม่เพียงพอ สนามบินไม่มีที่ลาดขึ้นลงเครื่องบิน ท่าเรือบางแห่งก็ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ คนพิการที่ใช้เก้าอี้รถเข็น ขอภาพด้วยค่ะ อยากจะเรียนถามท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงนะคะว่า ท่านต้องมาชี้แจงซ้ำ ๆ แบบนี้ ดูภาพนะคะรถเมล์ที่เป็นทางลาดที่จะให้เขาขึ้นรถเมล์ให้ได้ ถามว่าเรามีแบบนี้สักแค่ไหน อย่างไร มันไม่เพียงพอ แล้วก็ยังไม่เพียงพอทุก ๆ ปีแบบนี้ และภาพทางขวามือเป็นภาพที่ทางลาดสูงมากจนเขาขึ้นไม่ได้แบบนี้ กสม. ก็ต้องสนอกสนใจ ใช่ไหมคะ และถามว่าท่านรายงานไปยัง ครม. รายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า อย่างไร อยากจะเห็นรายงานท่านจริง ๆ และหน่วยงานนั้นตอบท่านมาอย่างไร ทำไมท่านถึง มาพูดแบบนี้ทุกปีว่าไม่เพียงพอ ติดปัญหาโน่นนี่ ดิฉันก็สนใจตรงคำว่า ไม่ชักช้า นะคะว่า มันจะช่วยอะไรกับท่านได้บ้างหรือเปล่าเพราะว่าเราได้ยินบ่อย เราเห็นบ่อยเลยภาพที่รถเมล์ แบบนี้ก็ดี หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนคนที่เป็นคนพิการ ซึ่งดิฉัน มีพรรคพวกที่เป็นคนพิการ เป็นเพื่อนฝูงเยอะมาก เขาน่าเห็นใจมากแบบนี้เยอะ มันจะเป็น อีกนานแค่ไหนคะ อยากทราบจากผู้ชี้แจงด้วยนะครับว่าท่านชี้แจงไปแล้วเป็นอย่างไร เขาตอบท่านมาอย่างไรจนไม่อยากที่จะได้ยินคนที่เข้ามาว่าทาง กสม. ซึ่งเป็น ผู้ที่มีความสำคัญมากต่อสังคมไทยบอกว่าท่านเป็นเพียงเสือกระดาษหรือเปล่า ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานคะ ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเองได้ถามไว้ตอนต้นนะคะ ซึ่งทราบดีว่าท่านผู้มาชี้แจงก็คงจะเจอะเจอกับหลากหลาย ในแง่มุมหลากหลาย สิทธิอะไรต่าง ๆ ก็จะทำให้มึนไปหมดว่าอย่างนั้นเถอะนะคะ เพราะฉะนั้นจึงอาจจะตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง คำถามที่ดิฉันถามไปนี่ ก็ไม่ได้ตอบนะคะ ก็เลย จะมาถามในช่วงนี้ซึ่งคิดว่าเป็นช่วงที่ถามตอบกันโดยตรง คืออย่างนี้ค่ะ พี่น้องคนพิการเขาก็ จะด้อยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขานะคะ คือหมายถึงว่าเขาอยากจะได้แต่มันไม่เคยได้ เขาก็ถามมาว่าเมื่อไรเขาถึงจะได้ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านรถเมล์ที่เมื่อสักครู่นี้ เราพูดกันถึงนะคะ ที่ดิฉันพูดถึงรถเมล์ชานต่ำอะไรแบบนี้ เขาก็อยากจะได้ ทีนี้ดิฉันอยากจะ โยงไปถึง มาตรา ๔๓ ใน พ.ร.ป. ที่บอกว่า ในกรณีที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้รับรายงาน หรือข้อเสนอแนะจากท่านแล้วนี่ ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุง แก้ไขตามความเหมาะสมโดยเร็ว กรณีใด ไม่อาจดำเนินการได้ หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบ โดยไม่ชักช้า ดิฉันอยากจะถามว่า สิ่งที่ท่านพูดถึงว่ามันเป็นปัญหาว่ามันไม่มีรถเมล์ชานต่ำ เพียงพอนะ ทางลาดก็ไม่พอ อ้ายนี่ก็ไม่พอ ทางกระทรวงคมนาคม หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ใด ๆ เขาตอบท่านมาอย่างไร เราจะได้รู้ว่ากระบวนการในการทำงานของท่านนี่มันเป็น อย่างไร ท่านแจ้งไป ชี้แนะไปเขาต้องตอบกลับมาตามกฎหมาย มาตรา ๔๓ แล้วเขาตอบว่า อย่างไร ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันได้อ่านรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา พบว่ามากมายหลายเรื่องเลยที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาแล้วก็ลด ความเหลื่อมล้ำในภาคการศึกษา สามารถช่วยเด็กนักเรียนยากจนได้หลุดจากระบบ การศึกษาก็ได้เป็นล้านคน ช่วยผู้ด้อยโอกาส ช่วยคนพิการ ท่านประธานคะ ดิฉันเคยเป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้เห็น ความเหลื่อมล้ำในการจัดงบประมาณของการศึกษามากมาย คืองบประมาณรายหัว ที่น้อยและไม่เท่าเทียมเห็นเยอะมาก โรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบทจะอยู่ไม่ได้เลยเพราะว่า ให้งบน้อย เพราะบางโรงเรียนมีแค่ ๖๐ คน อย่างนี้เป็นต้น แต่โรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมือง มีนักเรียนเยอะก็ได้งบประมาณเยอะ นี่คือไม่เท่าเทียม มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน ในกรุงเทพฯ ได้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสหารายได้เองด้วยนะคะ นอกงบประมาณ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าเราเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัย ในต่างจังหวัด ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จะกลับกันเลย งบประมาณที่ให้ น้อยมาก ต่อหัวนี่ถือว่าแตกต่างกันอย่างมาก ๆ เลยนะคะ เป็นพันต่อหัว กับเป็นร้อย ต่อหัว ดังนั้นจึงเกิดความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาก็ส่งผลถึงคุณภาพทางการศึกษาอย่างยิ่ง ระหว่างคนเมืองกับคนชนบทที่แตกต่างกัน ท่านประธานคะปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกและดิฉันก็คิดว่า ไม่เห็นข้อความใด ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้เลยนะคะท่านประธาน มันเป็นเรื่องของ ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่เห็นเลย หรือการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้กับเด็กไทย
ท่านประธานคะเด็กไทยในทุกวันนี้ ระดับการใช้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการพูดยังใช้การไม่ได้ เพราะเด็กไทยในชนบทท่านดู สภาพอาคารเรียนหรือสถานที่สิคะ คือเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนภาษาอังกฤษหรือพูด กับครูเจ้าของภาษาอังกฤษเลย เด็กที่เรียนในระบบ Inter กลับกันนะคะ อีกภาพหนึ่ง ถัดไปเลยนะคะ อันนี้คือภาพที่เด็กชนบทที่เขาเป็นอยู่ แต่ในขณะที่อีกภาพหนึ่ง Slide ต่อไป เด็กที่เรียนในระบบ Inter เรียนแบบ English Program มีค่าเล่าเรียนที่แพง ๆ โรงเรียน เหล่านี้มีแรงที่จะจ้างครูที่เป็นเจ้าของภาษามาสอนได้ใช่ไหมคะ ดิฉันเคยสอบถามโรงเรียน ในต่างจังหวัดว่าจะแก้ไขอย่างไร ผอ. โรงเรียนก็ตอบว่าไม่มีงบประมาณจ้างครูฝรั่ง อยากจะจ้างมาก บางโรงเรียนก็ไปขอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. แต่ก็ช่วย ไม่ได้มาก ทำอย่างมากก็คือแค่มี Camp ภาษาอังกฤษเท่านั้นเอง จ้างครูฝรั่งก็เป็นครั้งเป็นคราว เท่านั้น บางโรงเรียนต้องใช้เงินสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าช่วยเหลือมาเป็นครั้งคราว หลาย ๆ ครั้งที่พยายามทำเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย หลาย ๆ ที่ก็พยายามอยู่ ดิฉันเห็นว่าการอ่อนศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษเป็นความเหลื่อมล้ำระดับสูงมาก เพราะในระบบการศึกษาไทยลูกคนมีเงินในสังคมระดับสูงได้เรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League เลยก็ว่าได้ หรือเรียนมหาวิทยาลัย ระดับโลกในต่างประเทศ ดังนั้นเด็กมีเงินก็จะมีโอกาสทางการศึกษา มีโอกาสทางการพูด ภาษาอังกฤษต่าง ๆ นานา มีอนาคตที่ดี มีงานทำ แต่ว่าต่างจากเด็กยากจนทั่ว ๆ ไป หรือในชนบทที่มีโอกาสเรียนแค่โรงเรียนธรรมดายังยากลำบากเลยค่ะท่านประธาน ดังนั้น ดิฉันจึงเห็นว่ากองทุนนี้มีแสงสว่างให้กับเด็กไทยที่จะมีอนาคตที่เท่าเทียมได้ ท่านประธานคะ ในมาตรา ๑๓ ของกองทุนบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา กองทุนจะดำเนินการเอง หรือจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา หรือหน่วยงานอื่นก็ได้ในการนี้ ให้กองทุนมีอำนาจสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้น คำถามของดิฉันจึงถามว่า ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีแนวทางจะพัฒนา การเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยสนับสนุนให้มีความช่วยเหลือ ไปที่สถานศึกษาเพื่อให้มีการเรียนการสอนบ้างหรือไม่ แล้วท่านมีแผนงานที่จะให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะในชนบทได้เรียนกับครูฝรั่งบ้างหรือเปล่า ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขอ Slide ด้วยนะคะ
ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันขออภิปราย เรื่องรายงานการเงินของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ท่านประธานคะ รายงานฐานะการเงิน ประจำปี ๒๕๖๔ รวมสินทรัพย์ทั้งสิ้น ๖,๗๘๑ ล้านบาท ประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๆ ก็คือเงินสด เงินฝากธนาคาร ๓,๒๕๗ ล้านบาท เงินให้กู้ยืมระยะสั้น ระยะยาว ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท มีทุนเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ดิฉันจะไม่ขอลงรายละเอียดอะไร แต่ว่าสิ่งที่ดิฉันไปค้นคว้ามาคืออยากจะรู้ว่าภารกิจอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. กองทุน สงเคราะห์เกษตรกรนั้นมีอะไรบ้าง ดูที่มาตรา ๗ บอกว่าภารกิจหรือกิจการตามที่โครงการ ที่จ่ายเงินจากกองทุน
ข้อ ๑ บอกว่าส่งเสริมการผลิต ผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น ผลิตภัณฑ์อาหาร จัดหาปุ๋ยในราคาที่เป็นธรรมก็ทำได้ ช่วยเรื่องลงทุนในการผลิต รักษา จำหน่ายก็ได้ จัดหา แหล่งน้ำที่ดินก็ได้ แล้วดูดอกจันที่สีเขียวอันแรก ดำเนินการอื่นใดอันจะเกิดประโยชน์ ต่อการผลิต โอ้โฮ กว้างใหญ่ไพศาลมากเลยท่านประธาน ประโยชน์นี่นะคะ ต่อมาคือ ตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพก็ได้ด้วย รักษาเสถียรภาพราคา จะซื้อ รับจำนำสินค้า เกษตรก็ได้ ขายสินค้าเกษตรภายในประเทศ ส่งออกก็ได้ ดูสีเขียวต่อไปนะคะ ความจำเป็น เร่งด่วนเพื่อป้องกันขจัดภัยที่จะเป็นผลเสียต่อเกษตรกร ท่านประธานคะ El Niño เอย โลกร้อนอะไร ๆ ก็แล้วแต่ สามารถช่วยได้หมดเลยเพราะว่าเกษตรกรเขาเผชิญหมด ศึกษาวิจัย พัฒนาการผลิต ท่านประธานคะ ประโยชน์หลายอย่างที่กองทุนเกษตรกรนั้น สามารถทำได้
ทีนี้มาดูอันนี้ค่ะท่านประธาน ดูงบการแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน ดูว่ารายได้ที่กองทุนนี้ได้มา ดูทั้งเล่มไม่เห็นอะไรเลยนอกจากรายได้อื่น ซึ่งในปี ๒๕๖๔ บอกว่ามีดอกเบี้ยเงินกู้ให้กู้ยืม ให้ค่าเบี้ยปรับ รายได้อื่น ๒๕.๖ ล้านบาท ทั้งปีมีรายได้ ๒๕.๖ ล้านบาท มีแค่นี้จริง ๆ ท่านประธาน ดิฉันก็เลยมาดูที่ พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์ เกษตรกร มาตรา ๙ บอกไว้ว่าอะไร บอกว่า ครม. มีอำนาจกำหนดให้ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า เสียค่าธรรมเนียมการส่งออก เสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า ท่านประธานคะ ดิฉันไม่เห็น ตัวเลขของรายได้จากค่าธรรมเนียมนี้เลยค่ะ ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกข้าวปีละเท่าไรคะ ประมาณ ๘ ล้านตัน ส่งออกไก่แช่แข็ง นี่ยกตัวอย่างนะคะ ๑ ล้านตัน ไม่มีค่าธรรมเนียม แบบนี้เลยหรือคะ แล้วก็สงสัยว่าไม่ได้เก็บ นั่นก็หมายความว่าแทนที่เราจะมีเงินมาช่วย เกษตรกรกลับไม่มี แล้วก็แสดงว่าไม่ได้ทำตามภารกิจใช่ไหมคะ
มาดูที่คณะกรรมการค่ะท่านประธาน คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกร มี Big ทางเศรษฐกิจทั้งนั้นเลยค่ะ คนแรก ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวง มหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผอ. สำนักงบประมาณ อธิบดีกรม เต็มไปหมดเลย การค้าต่างประเทศ อะไรเต็มไปหมด แล้วยังมีผู้จัดการ ธ.ก.ส. และกรรมการอีกรวม ๒๓ คน ท่านประธาน ๒๓ คน ปี ๒๕๖๔ ทำภารกิจอะไร
ท่านประธานมาดูที่กระแสเงินสดกันบ้าง กระแสเงินสดคือกองทุนนี้ให้เงินกู้ กับเกษตรกรอย่างไร ปี ๒๕๖๓ ให้ ๖๐๐ กว่าล้านบาท ปี ๒๕๖๔ ให้ ๑๓.๑๓ ล้านบาท ท่านประธาน กองทุนนี้สำคัญมากนะคะ แล้วก็ทั้งปี ๒๕๖๔ ให้แค่นี้ มันเกิดอะไรขึ้นคะ จึงสงสัยมาก ๆ แล้วก็จริง ๆ แล้วกองทุนนี้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้เดือดร้อนได้มากมาย ท่านจะให้ความรู้กับเกษตรกร ท่านจะช่วยอย่างที่บอกไปตอนต้น เยอะแยะไปหมด ในพื้นที่ ของดิฉันชาวนา ชาวสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาต่าง ๆ นานา มีปัญหาทั้งสิ้น เขายังคงทำสิ่งที่ เขาทำมาชั่วชีวิตเป็น Generation ยังผิดอยู่ก็ได้ น่าจะต้องให้ความรู้ กองทุนนี้ก็สามารถที่จะ ศึกษาวิจัยแล้วเอามาช่วย แต่ไม่ได้ทำ ทีนี้มาดูว่าเขาสามารถช่วยอะไร ดิฉันไปคุยกับพ่อแม่ พี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งเขาก็อยากได้ห้องเย็น เพื่อช่วยรักษาระดับราคาของสัตว์น้ำทะเล ก่อนที่จะขนสินค้านั้นไปถึงมหาชัย อยากได้ห้องเย็น ช่วยได้แต่ไม่ช่วย ชาวเกษตรกร เขาอาจจะเข้าไม่ถึงท่านหรือเปล่า หรือเขาไม่รู้จักท่าน ท่านรู้ไหมว่าดิฉันไปหาพี่น้อง เกษตรกรทั้งหลาย ทั้งเพศชาย เพศหญิง ทั้งอาชีพเขาจะปลูกโน่นปลูกนี่ เขาจะทำอะไร ลองดูนะคะ คนแรกเป็นชาวนา นี่หลายอำเภอ หลายตำบล คนที่ ๒ ชาวนา คนที่ ๓ ชาวนา ไม่รู้จักท่านเลย ปลูกมะม่วงรู้จักไหม ไม่รู้จัก เลี้ยงกุ้งรู้จักไหม ไม่รู้จัก เลี้ยงปลากะพงรู้จักไหม ไม่รู้จัก เลี้ยงปลารวมรู้จักไหม นี่คือพื้นที่ของดิฉัน ไม่รู้จัก เลี้ยงโคที่มีปัญหา Lumpy skin อะไรก็แล้วแต่ ไม่รู้จัก ต้องหาทางช่วยของตัวเองตลอด เลี้ยงสุกรรู้จักไหม ไม่รู้จัก สมาชิก สภาเกษตรกรสำคัญมากเลยเพิ่งจะเลือกตั้งกันไปหยก ๆ ถามว่ารู้จักไหม ไม่รู้จัก วิสาหกิจ ชุมชนคนสุดท้ายที่ในตารางนี้เขาช่วยตัวเอง เขาหาเงินกันเอง ไม่ได้มาขอเงินกองทุนท่านเลย เขาก็ไม่รู้จัก และสำคัญมาก ๆ คืออะไรคะ ดิฉันถามเกษตรอำเภอ เกษตรอำเภอบอกว่าไม่รู้จักกองทุน สงเคราะห์เกษตรกร อยากจะบอกว่าบ้าไปแล้วท่านประธาน กองทุนนี้สำคัญมาก ช่วยเหลือ ได้เยอะมากดังที่ดิฉันพูดตั้งแต่ต้น แต่แล้วไม่ได้ช่วยเกษตรกรให้ทั่วถึงดีจริง นี่คือตัวอย่าง จากฉะเชิงเทรา เพราะฉะนั้นขอฝากเถอะค่ะ ฝากว่าให้ช่วยเกษตรกรมากกว่านี้ เพราะท่านมี ศักยภาพทำได้แต่ไม่ทำ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายในรายงาน ขอ Slide ด้วยค่ะ
รายงานสรุปผลการดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ นะคะ ท่านประธานคะ ประเทศไทยนี่ก่อนที่จะใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เราใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแผนหลัก ในการวางนโยบายพัฒนาประเทศ หลังจากใช้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ แล้วนี่ในมาตรา ๖๕ กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศนะคะ จึงเกิด พ.ร.บ. ขึ้นมา แล้วก็ใช้กันมานาน ๕ ปีแล้วค่ะ ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ แล้วแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็มาเป็น แผนรอง ซึ่งต้องสอดคล้องกันไป ใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐ บอกว่าให้คณะกรรมการแต่ละด้านจัดทำแผนแม่บท แล้วในแผนแม่บทก็แบ่งแนวทาง ในการพัฒนาออกไปถึง ๒๓ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน Logistics กฎหมายอะไรก็ว่าไปนะคะ เป็นต้น ทีนี้ดิฉันเองมีความสนใจ ในเรื่องของเกษตรค่ะท่านประธานคะ เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แล้วก็เพื่อนพ้องน้องพี่ของดิฉันก็เป็นเกษตรกรเยอะมากทีเดียวนะคะ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ปลูกมะม่วง เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว เยอะมากทีเดียวนะคะ Slide ถัดไปค่ะ ท่านประธานคะ ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินี้นะคะ ด้านการเกษตรที่ดิฉันสนใจ บอกว่าเป้าหมาย ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ GDP ภาคเกษตรขยายตัว ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ บอกแบบนั้น ดิฉันจึงได้สอบทานข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๔ GDP ภาคเกษตรขยายตัวแค่ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เองค่ะ ส่วนปี ๒๕๖๕ ขยายแค่ ๐.๘ เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่ามันต่ำกว่าเป้า ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ไปมากเลยค่ะ จึงเป็นข้อสรุปในรายงานผล การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๕ ว่า GDP เกษตรอยู่ในระดับวิกฤติในการ บรรลุเป้าหมาย นั่นหมายความว่ายุทธศาสตร์ชาติทางการเกษตรไม่ถึงฝันจริง ๆ ค่ะ ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมท่านประธานคะ แต่ภาคการเกษตรกลับตกต่ำไปเรื่อย ๆ ถดถอยไป ทุกปี ๆ ผลผลิตต่อไร่ ท่านประธานคะ ข้าวของไทย ท่านดูเส้นสีแดงนะคะ เทียบกับ ผู้ผลิตหลักของโลก ประเทศไทยอยู่อันดับสุดท้าย ความสามารถในการแข่งขัน ทางภาคเกษตรของไทยก็เข้าขั้นวิกฤติอยู่อันดับต่ำสุด สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ให้เห็นว่าชาวนา จนที่สุด ๆ ใน Asia แล้วก็ใน ASEAN ๑๐ปีไม่มีอะไรดีขึ้น รายได้ลด ต้นทุนพุ่ง นี่คือเส้นสีแดง ที่ถือว่าประเทศไทยอยู่อันดับรั้งท้าย มันจึงเกิดคำถามค่ะท่านประธาน เกิดคำถามเสียงดัง ๆ เลยว่าเราจะมียุทธศาสตร์ชาติไปทำไม รัฐบาลกำลังหลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า และหลอก ประชาชนอยู่หรือเปล่าท่านประธาน คำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ฟังดูมันสวยหรูดูดีอยู่ ถูกไหมคะ แต่ดิฉันคิดว่ามันควรจะแก้รัฐธรรมนูญยกเลิกนโยบายยุทธศาสตร์ชาติไปเสียเลยดีกว่า เพราะว่าผลผลิตการเกษตรก็ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตั้งเป้าไว้ก็ไม่เป็นไปตามเป้า หันซ้าย หันขวาพี่น้องเกษตรกรก็ยังเจอกับปัญหา เพราะฉะนั้นหากมีบทลงโทษ ตอนนี้เขามีบทลงโทษอยู่ในมาตรา ๒๖ ของ พ.ร.บ. ก็บอกว่า ถ้าหน่วยงานราชการใดไม่ทำตามนี้ ก็จะต้องโดนส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. อะไรขนาดนั้นเลย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยค่ะท่านประธานคะ แล้วก็หากยังทำการงานด้านการเกษตร ตกต่ำกันแบบนี้ เพราะฉะนั้นเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติกันดีกว่านะคะ ทีนี้ตอนนี้ เรายกเลิกไม่ได้ เราก็รู้อยู่ว่ามันต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันยกเลิกไม่ได้ ดังนั้นจึงต้อง มาปรับแผน ท่านประธานคะ คณะกรรมการใน พ.ร.บ. มาตรา ๑๑ ก็กำหนดว่า คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนได้ทุก ๆ ๕ ปี ขณะนี้ก็ครบ ๕ ปีพอดี ดังนั้นดิฉันจึงเสนอว่า ปรับแผน แต่จะปรับแผนอะไรล่ะคะ ถ้าสถานการณ์แบบนี้มันก็ต้องปรับกันมากมาย หลายขนานเลยทีเดียว แต่ดิฉันคิดว่าจากตัวดิฉันเขตเล็ก ๆ เขตหนึ่ง เขต ๑ ใน ๔๐๐ เขต ยังเจอปัญหาของพี่น้องเกษตรกรมากมายเลยทีเดียว ที่เขาไม่สามารถจะไปต่อได้ เพราะฉะนั้นหลังจากที่ดิฉันเข้าอบรมในเรื่องเกี่ยวกับปุ๋ยนะคะท่านประธาน จากทาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ส่งอาจารย์มาพูดคุยที่พรรคเพื่อไทย ทำให้เรารู้ว่าการปลูกข้าว ท่านเป็นอาจารย์ทางด้านปฐพีวิทยา ท่านบอกว่าการปลูกข้าวชาวนายังใส่ปุ๋ยผิดกันอยู่ ท่านบอกว่าไปใส่ปุ๋ยสูตร ๔๖-๐-๐ แล้วก็ ๑๖-๒๐-๐ ข้างหลัง Potassium ยังเป็น ๐ อยู่นั่น ซึ่งมันไม่ได้ นั่นหมายความว่า ๔๐-๕๐ ปีก่อนประเทศไทย ดินมันมี Potassium เยอะพอสมควร แต่หลังจากนั้นมันหายไปมันร่อยหรอไป ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มสูตรตัวหลัง ชาวนาไม่ทราบ ชาวนาก็ยังคงทำแบบนี้อยู่ ดังนั้นการให้ความรู้กับพี่น้องชาวนาสำคัญ
มาดูเรื่องกุ้งกันบ้าง กุ้งประเทศไทยเคยเป็น Champ ของการส่งออก ท่านดูกราฟว่าเราเคยเป็น Champ ทั้งผู้ผลิตแล้วก็การส่งออกของโลก ปี ๒๕๕๓ เราเคยทำ ได้ ๖๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี แล้วมาเกิดโรค แล้วเราเคยทำได้ดีขนาดนี้แต่ว่าเกิดโรคจึงตกลงไป อยู่ที่ ๒๖๐,๐๐๐ ตันต่อปีเท่านั้น รู้ไหมว่าหากรัฐบาลให้ความใส่ใจ แล้วก็หากช่วยเหลือ พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมาก ๆ สนับสนุนเขาให้เขาเข้าถึงทุนก็ดี แก้ปัญหาให้ได้ ท่านลองคิดดูนะคะ ประเทศอินเดียสามารถที่จะมีพันธุ์กุ้งที่ทนต่อโรค เขายังคิดค้นได้เลย แล้วประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำไมถึงทำไม่ได้ ดังนั้นจึงคิดว่าถ้าประเทศไทย จะไปต่อให้ได้ ขออนุญาตอีกนิดหนึ่งนะคะ จำเป็นที่จะต้องหาหนทางให้ดีว่าเกษตรของเรา มีคุณค่ามากขึ้นกว่านี้ได้หลายวิธี เช่น มีเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นก็มี เกษตรปลอดภัย ที่สามารถทำเงินได้ดี เกษตรชีวภาพก็ทำได้ เกษตรแปรรูป เรามีความสามารถในการที่ใช้ แรงงานด้านนี้ เกษตรอัจฉริยะ ใช้ความแม่นยำต่าง ๆ นานา สิ่งเหล่านี้ดิฉันยกตัวอย่างขึ้นมา ว่าประเทศไทยสามารถทำได้เยอะมากมายเลย เวลามันหมดแล้วค่ะท่านประธาน อย่างไรก็ตามก็ฝากด้วยว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้นล้มเหลวจริง ๆ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขอหารือค่ะ เรื่องที่ ๑ สะพานข้ามคลอง หลวงแพ่งทรุดตัวหนักใกล้ถล่มเลย สะพานนี้อยู่ระหว่างตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา กับเขตลาดกระบัง กทม. เป็นรอยต่อ ๒ จังหวัดพอดีเลยค่ะ
สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ โดยเอกชน แล้วก็ยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ไปแล้ว ส่วนลำคลองนี้ก็ขึ้นอยู่กับกรมชลประทานค่ะ ประชาชนเคยร้องเรียนทั้งภาครัฐฝั่งฉะเชิงเทรา ฝั่ง กทม. ให้เข้ามาตรวจสอบโครงสร้าง เพื่อทำการซ่อมแซมแก้ไข แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ เขตลาดกระบังก็มาติดประกาศคำสั่งห้ามผ่าน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน ทำให้ประชาชนเสียหายได้ ทีนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในฉะเชิงเทรา หมู่บ้านเลคการ์เดน แล้วก็ประชาชนที่อยู่ในคลองหลวงแพ่งราว ๓๐๐ หลังคาเรือนไม่มี ที่เข้าออกแล้วนะคะ จำเป็นต้องขอใช้เส้นทางเข้าออกผ่านมาทางหมู่บ้านลากูนา ซึ่งทางด้าน นิติบุคคลก็ได้ขอเก็บค่าผ่านทาง ๓๕๐ บาทต่อรถยนต์ ๑ คันต่อเดือน ซึ่งต้องจ่ายล่วงหน้า เป็นเวลา ๖ เดือนด้วย จึงเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่หนักกับพี่น้องประชาชน อย่างไร ก็ตามวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ดิฉันได้เคยยื่นหนังสือถึงท่านผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ช่วยจัดสรรงบประมาณมาแก้ไข แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่นะคะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นว่า ปัญหาของสะพานนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ทั้งฉะเชิงเทรา กทม. กรมชลประทาน จึงขอให้ท่านประธานประสานทั้ง ๓ หน่วยงานเลยเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนโดยด่วน ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรม เพราะมีประชาชน ยังลักลอบใช้สะพานนี้อยู่
เรื่องที่ ๒ ขอสัญญาณไฟจราจร ๒ จุด จุดที่ ๑ บริเวณสามแยกถนนมหาจักรพรรดิ์ ตัดถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จุดที่ ๒ บริเวณ สามแยกบนถนนทางหลวงฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว เชิงสะพานหนึ่งซึ่งจะเลี้ยวไปวัดจุกเฌอ กับวัดสมานรัตนาราม ตำบลบางขวัญ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เรื่องที่ ๓ กระแสไฟฟ้าตกและดับบ่อยทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย จึงต้องขอขยายไฟฟ้ามีดังนี้ค่ะ หมู่ที่ ๒ ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ตำบลคลองเปรง หมู่ที่ ๕ ริมคลองลำรางกัญชา ตำบลคลองเปรง ซอยเจริญสุข หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกะไห ขอขยายไฟฟ้า ส่วนหมู่ที่ ๙ ริมคลองบางเรือน ตำบลบางกะไหนั้นขอขยายเขตไฟฟ้า จากริมคลองขึ้นบนถนน ทั้งหมดนี้อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
เรื่องที่ ๔ พี่น้องประชาชนร้องเรียนมาว่าอยากได้สะพานลอยข้ามถนน สาย ๓๐๔ ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงกิโลเมตรที่ ๕๒ บริเวณใกล้กับวัดคลองเจ้า มีโรงเรียน ตลาด หมู่บ้านจัดสรรมากมายเลยหลายแห่ง หมู่บ้านเรสซิเด้นท์ หมู่บ้านปริม หมู่บ้านสุวินท์ธารา ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา หากได้สะพานลอยบริเวณนั้นจะเพิ่ม ความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อย่างดีค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขออภิปราย ในรายงานประจำปี ๒๕๖๕ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกกันว่า EEC ท่านประธานคะ EEC คืออะไร
ดิฉันอยากจะพูดในที่นี้เพราะว่า เวลาที่พ่อแม่พี่น้องได้ดู Video ต่อไปจะได้เข้าใจดิฉันมากขึ้น EEC คือเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ภาษาอังกฤษก็บอกว่าเป็น Eastern Economic Corridor ตัวย่อเราก็พูดกัน EEC พูดกันอย่างนี้ตลอด มีเงินลงทุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนรวมกันมหาศาล ใช้คำนี้เลย มหาศาลจริง ๆ และพัฒนาอะไรบ้าง เขาพัฒนารถไฟความเร็วสูง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สนามบินมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ใช้งบประมาณเยอะมาก แล้วก็บอกว่าเขาประสบความสำเร็จด้วยนะคะ คือลงทุน ตั้งเป้าหมายว่า ๑.๗ ล้านล้านบาท แต่ว่ามีคนมาลงทุนด้วยเยอะมากถึง ๑.๙๓ ล้านล้านบาท เขาก็เลยจะตั้งเป้าไปที่ ๒.๒ ล้านล้านบาท ความสำเร็จอันนี้ก็เลยถามว่าประชาชน สำเร็จไปด้วยหรือเปล่า เกิดคำถามตรงนี้ แล้วภาพต่อไปบอกว่า ๔ ปี EEC ก้าวไปด้วยกัน กับการเติบโตที่ดีในทุกมิติ ดิฉันวงไว้เลยว่าทุกมิติ ทุกมิติในที่นี้ถามว่าพี่น้องประชาชน ก้าวไปด้วยหรือเปล่า อีกครั้งหนึ่งนะคะ ยกตัวอย่างมิติดีกว่า มิติสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ภาพต่อไปค่ะ ดิฉันสังเกตจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ภารกิจ และดิฉันขีดเส้นใต้ไว้ วิสัยทัศน์บอกว่าเป็นองค์กรต้นแบบที่จะให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนา เป้าหมายก็จะ ยกระดับกันเลยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของ Asia พันธกิจก็เขียนอีกว่าคำนึงถึงประโยชน์ ของประเทศและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ภารกิจต่าง ๆ นานา สาธารณูปโภคต้องมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีการกระตุ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่าง ๆ นานา ท่านประธานคะ ดิฉันเป็น สส. ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ดิฉันไปพบพี่น้อง ประชาชนมากมายท่านดูว่าเรายังคงมีปัญหาในพื้นที่กันอยู่ขณะนี้ ถนนเรายังทุลักทุเลแบบนี้ รถไฟความเร็วสูงที่ท่านจะสร้าง แต่รถไฟที่เขาวิ่ง ๆ กันอยู่ยังไม่มีไม้กั้นเลย มีคนตายไม่รู้เท่าไร พุ่งชนกันเต็ม ๆ ที่ฉะเชิงเทราเมื่อต้นเดือนนี้เองเพิ่งจะตายกันไป ๘ ศพ ผักตบชวายังเต็ม แน่นคลองอยู่เลย นี่คือถนนนะคะ ไฟมืดขนาดนี้ถนนใหญ่ด้วย อันตรายมากโดนจี้ปล้น พี่น้อง ประชาชนยังคงขอถนนเข้าออกอยู่เลย นี่คือชีวิตของผู้คนที่เขาไม่สามารถจะมีรถพยาบาล วิ่งเข้าไปเพื่อรับคนป่วยได้ นี่คือฉะเชิงเทราคนจนยังคงเป็นอย่างนี้ หลังคายังรั่ว น้ำยังท่วม คลองเมื่อน้ำแล้ง หน้าแล้งน้ำแห้งขอดแบบนี้ และชลบุรีมาเอาน้ำจากฉะเชิงเทราไปด้วยนะคะ แล้วดูสะพานที่เมื่อเช้าดิฉันหารือยังเป็นอย่างนี้ร้าวแตกใกล้ถล่ม ชีวิตพวกเราอยู่กันแบบนี้ นี่คือดิฉันไปที่อำเภอเมืองที่ผนังเขาติดอย่างนี้เลยค่ะ บอกว่าฉะเชิงเทราเป็นเมืองอยู่อาศัยชั้นดีที่ทันสมัย รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร และ EEC เมืองอยู่อาศัยชั้นดี ท่านดูนี่คือน้ำประปาของฉะเชิงเทรา ตำบลคลองเปรง ซึ่งอยู่ ห่างจากสุวรรณภูมิแค่เพียง ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้นเอง ไปเรื่อย ๆ ดูน้ำนะคะ หน้าต่อไป ท่านบอกสร้างรถไฟความเร็วสูง ท่านจะมีสนามบิน ท่านจะพัฒนาท่าเรือใช้เงินเป็นล้านล้าน แล้วท่านดูน้ำประปาของพวกเราที่อยู่แบบนี้สิคะ ขอถามค่ะ ขอถามท่านประธาน แล้วก็ ท่านเลขาธิการว่าถ้าบ้านท่านมีน้ำประปาแบบนี้จะทำอย่างไร ท่านจะซักผ้าได้ไหม ท่านจะอยู่อย่างไร เขาคัน เขาใช้น้ำคลอง เขายังคงมีชีวิตแบบนี้ แล้วบอกว่าท่านจะดูแล ชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ท่านจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมากมายหลายด้าน แล้วเรายังอยู่แบบนี้ ดิฉันอยากให้พี่น้องประชาชนของดิฉันตำบลคลองเปรง ตำบลเกาะไร่ ได้มีน้ำประปาใสแจ๋วแบบนี้ ท่านเลขาช่วยได้ไหมคะ และรู้ไหมว่าท่านประชาสัมพันธ์ไว้มากมาย หลายกลุ่มใช้เงินหลายล้านมาก มีคนมาสัมมนากับท่านเยอะแยะ
แต่เราไปถามคนในพื้นที่ เขาไม่รู้จัก EEC เลย ได้ยินเสียงไหมคะ ถามพี่น้องประชาชนคนฉะเชิงเทราซึ่งเป็นคนที่อยู่ในเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออกของท่าน เขาไม่รู้จัก เขาไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากท่านเลย ท่านไม่ได้ลงไปดูพี่น้องประชาชน ขอเถอะค่ะ ขอให้กลับมาช่วยพี่น้องประชาชนให้เขามีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี ขอให้เขาได้รับการพัฒนาไปด้วย ท่านประธานคะ ขออีกนิดหนึ่ง ดิฉันมี คำถามว่า EEC ที่ท่านทำมา ๕ ปีแล้ว ขอเรียนถามว่าท่านมีโครงการอะไรบ้างที่เกี่ยวกับ ฉะเชิงเทรา ดิฉันอ่านแทบตายก็เห็นน้อยมากเลยทีเดียว แล้วก็ลงทุนไปเท่าไร อย่างไร มีแผนงานอย่างไรเกี่ยวกับฉะเชิงเทรา คุณภาพชีวิตของคนฉะเชิงเทราจะดีขึ้นบ้างไหม แล้วก็ ขอแนะนำว่าสำนักงาน EEC นั้นน่าจะต้องมีดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชนบ้าง ท่านเจริญ ทางวัตถุเยอะแยะ เหมือนเกาหลีใต้เจริญทางวัตถุมากมาย แต่เสร็จแล้วฆ่าตัวตายกันอันดับสูง ของโลกเลยทีเดียว รายได้เขาจะสูงขึ้นบ้างไหม ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร เขตพัฒนาพิเศษ พัฒนาอะไรให้กับเขาบ้าง ตัวชี้วัดนี้สะท้อนความสำเร็จ EEC ของท่าน ได้โปรดช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนก่อนที่ท่านจะไปทำเรื่องอื่น ให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก่อนที่ท่านจะไป พัฒนาต่าง ๆ นานาถึง ๒ ล้านล้านบาทของท่านด้วยเถอะค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ โครงการนี้ดิฉัน ยังติดใจอยู่ตรงที่ว่าเขาทำมานานแล้ว เขาทำมา ๕ ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาเพิ่งเริ่มทำปีเดียว แล้วจึงไม่มาสนใจ ในขณะเดียวกันท่านเลขาธิการก็บอกแล้วว่าท่านยังขาดในการลงไปดู ในเชิงพื้นที่ ดิฉันกลัวว่าวันนี้เราพูดกันแล้วมันก็ลอยหายไป พี่น้องประชาชนในเขตจังหวัด ฉะเชิงเทราที่ดิฉันเป็นตัวแทนอยู่เขายังเดือดร้อนหลายเรื่องมาก ที่ดิฉันหยิบยกไปเมื่อสักครู่ มิติแค่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมันก็ย่ำแย่ขนาดนั้น แล้วท่านเองบอกว่าเราจะก้าวไปด้วยกัน เติบโตที่ดีในทุกมิติ ดิฉันก็ถามว่าประชาชนก้าวไปด้วยหรือเปล่า อะไรก็แล้วแต่ที่พูดไปแล้ว ดิฉันจะอย่างนี้ค่ะ ขอเรียนเสนอว่าดิฉันยินดีที่จะไปกับท่าน ท่านตั้งคณะทำงานมาเลย ลงไป ดูพื้นที่กับดิฉันทำงานเชิงรุกกันดีกว่า อย่าปล่อยให้เรื่องนี้มันลอยไปเถอะ เพราะอย่างเช่นน้ำ ที่เมื่อสักครู่ดิฉันนำเสนอเป็นทั้งตำบลเลยอยู่ติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ ๓๐ กิโลเมตรเอง ๑๒ หมู่บ้านไม่มีประปาภูมิภาคเลย ตำบลที่ติดกันเป็นของอีกอำเภอหนึ่งก็ไม่มีประปาภูมิภาค แล้วเขาใช้น้ำแบบนั้น น้ำมันคือชีวิต ท่านก็รู้อยู่ว่าถ้าบ้านท่านน้ำดำแบบนั้นจะอยู่อย่างไร ขอเถอะค่ะ ดิฉันขอว่าช่วยดูแลพี่น้องประชาชนของดิฉันด้วยเถอะ มีโอกาส ๒๐-๓๐ ล้านบาทเอง ท่านกำลังดู ๒ ล้านล้านบาท นี่คือแค่นี้เองจริง ๆ ลงไปดูด้วยกันเถอะ ดิฉันยินดีที่จะไปกับท่าน ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ขอ Slide ด้วยค่ะ
วันนี้ดิฉันขออภิปรายในเรื่องของ เกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่ตกต่ำมีราคาที่ตกต่ำ เนื่องจากสินค้าเกษตรมีกันมากมาย หลายประการด้วยกันที่ราคาตกต่ำ แต่ไม่สามารถที่จะอภิปรายได้หมด ดิฉันจึงอยากจะหยิบยก เรื่องราคากุ้งตกต่ำ แล้วก็ราคาปลากะพงตกต่ำค่ะ ไทยเราเคยเป็น Champ โลกในการส่งออกกุ้ง เราผลิตได้เยอะ เราส่งออกได้เยอะ เคยเป็น Champ ดูกราฟที่ตัวสูง ปี ๒๕๕๓ แต่พอมาปลายปี ๒๕๕๔ มันเกิดโรคค่ะ เกิดโรคขี้ขาว เกิดโรค ตายด่วน เกิดโรคตัวแดงดวงขาว มันก็เลย Drop ลงไปเรื่อย ๆ พอปี ๒๕๕๖ เห็นไหมคะ กราฟหล่นลดลงมาอย่างหนักเลย เราเสีย Champ โลกไป เราเคยมีชื่อเสียงในการผลิตกุ้ง เรามีคุณภาพ เรามีความปลอดภัย เรามีความสามารถในการที่จะผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ ที่ดีที่สุดในโลก เรามีแรงงานที่เชี่ยวชาญในการที่จะแปรรูป แต่เราไม่ได้เป็น Champ โลก อีกแล้วท่านประธาน จากที่บอกว่ามันตกลงไป เรากลายไปเป็นอยู่อันดับที่ ๖ อันดับที่ ๗ ของโลกเสียแล้ว นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเกิดโรคอย่างที่บอก ในขณะเดียวกัน เราไม่มีทางรักษา ไม่มียารักษาโรค เราไม่มีการวิจัยหรือมีก็ไม่รู้ แต่ประเทศอินเดีย กลับปรับปรุงกุ้ง สายพันธุ์กุ้งที่สามารถทนทานต่อโรคได้ ทีนี้กุ้งนี่นะคะ ดิฉันเองไปพบ ผู้ประกอบการแพกุ้งแล้วก็ผู้เลี้ยงกุ้ง ไปรับฟังปัญหาของเขา สิ่งที่บ่นมามันคือค่าใช้จ่าย ในปัจจัยการผลิต แน่นอนเรื่องแรกเลยนะคะ ไฟฟ้าสูงมาก น้ำมันในการสูบน้ำเข้าออกบ่อ ค่าขนส่ง ค่าอาหารกุ้ง นี่คือสิ่งที่เขาบ่น แน่นอนพวกเรารับรู้ตรงนี้อยู่ แต่ปรากฏว่า เขาหนักกว่านั้นก็คือว่าเขาเจอกับกุ้งนำเข้าจากเอกวาดอร์และอินเดียซึ่งราคาถูกกว่ามาก แล้วก็เอาเข้ามา Pack แล้วก็ส่งออกไปต่อ
ท่านประธานคะ เจ้าของแพกุ้งเขาเล่าให้ดิฉันฟัง บอกว่าเขารับซื้อกุ้งจาก เกษตรกรทุกวัน รับซื้อกุ้งเสร็จแล้วแม่ค้าก็มาซื้อต่อจากเขา แต่ซื้อไม่หมด เพราะฉะนั้น เขาเหลือวันละ ๗๐๐-๘๐๐ กิโลกรัม เอาไปไหนต่อ เขาก็ต้องไปขายต่อ ไปขายที่ไหน ขายมหาชัย พอไปขายมหาชัยเจอว่าคนที่ทำธุรกิจเรื่องของห้องเย็นกับแปรรูปบอกว่า เขามีปริมาณกุ้งเพียงพอที่เขาจะทำมาหากินแล้วที่จะ Pack แล้วก็ส่งออกต่อ เขาจึงไม่ค่อย อยากซื้อกุ้งจากเกษตรกรไทย แพกุ้งเราก็เดือดร้อนสิคะว่าตายแล้วจะทำอย่างไร กุ้งแช่เย็นอยู่เดี๋ยวก็จะคุณภาพไม่ดีจึงโดนกดราคา พอโดนกดราคาแบบนี้เขาก็เสียหาย ขาดทุนเป็นหมื่น ๆ บาทกลับบ้านไป พอกลับบ้านไปวันรุ่งขึ้นมีคนมาขายกุ้งอีก เขาโดน ขาดทุนไปหยก ๆ เขาก็จำเป็นที่จะต้องเอาราคาที่ต่ำ เกษตรกรไทยก็โดนแบบนี้ค่ะ ท่านประธาน การนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์แล้วก็อินเดียนั้น ถือเป็นการรุกรานอาชีพของ พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างน่าเห็นใจเป็นที่สุด
ท่านประธานเรื่องต่อไปค่ะ ปลากะพงตกต่ำ ราคาปลากะพงก็ตกต่ำ เช่นเดียวกัน ปัจจัยการผลิตปัญหานี้เหมือนกันกับกุ้ง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าอะไรก็แล้วแต่ เหมือนกัน และปลากะพงไทยก็ถูกรุกรานจากปลากะพงมาเลเซีย ปรากฏว่าปลากะพง มาเลเซียนั้นราคาถูกกว่าของไทย ๒๐ บาททุกชั้นของการขาย เช่น สมมุติว่าปลากะพงไทย แบบเป็น ๆ ขายที่ ๑๓๐ บาทต่อกิโลกรัม ปลากะพงมาเลเซียที่นำเข้ามาจะเป็น ๑๑๐ บาท ยกตัวอย่าง เพราะฉะนั้นเราก็จะเจอปัญหาอย่างนี้เยอะ ภาพต่อไปค่ะ อันนี้คือภาพ ปลากะพงที่ทะลักเข้ามาแล้วใช้ Foam ด้วยนะคะ เป็นอันตรายต่อประเทศไทย ท่านประธานคะหมูเถื่อน ทำไมดิฉันพูดหมูเถื่อน ท่านประธานรู้ไหมหมูเถื่อนเป็นสินค้าที่ สามารถทดแทนได้ ปกติหมูราคาถูกกว่ากุ้งกับปลากะพงอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีหมูเถื่อนทะลัก เข้ามาเพียบเลย นั่นหมายความว่าคนเขาก็บอกว่าจะไปกินกุ้งกับปลาไหวหรือขอกินหมู ก็แล้วกัน เพราะราคาหมูเถื่อนมันต่ำมากท่านประธาน หมูเป็นสินค้าทดแทน และประเทศไทย ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดทั้งปวงดิฉันคิดว่าคงมีปัญหาเรื่องประโยชน์ของ คนที่ทำเรื่องกุ้ง เรื่องปลา ดิฉันขอเสนออย่างนี้ค่ะท่านประธาน ขอเสนอว่ารัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะต้องรีบเร่งแก้ปัญหาทุก ๆ เรื่องให้กับเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาอย่างด่วนที่สุด เมื่อ ๒-๓ สัปดาห์ก่อนดิฉันอภิปรายเรื่องกองทุน สงเคราะห์เกษตรกรท่านประธาน เป็นกองทุนที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากมาย มาตรา ๗ บอกไว้ว่า ใน พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สามารถจัดหาปัจจัยการผลิต ก็ได้ จัดหาแหล่งน้ำที่ดินก็ได้ เป็นเสถียรภาพราคา รับซื้อ รับจำนำได้หมดเลย ดำเนินการ อื่นใดอันอาจจะเกิดประโยชน์ในการผลิตก็ได้ หรือดำเนินการในการที่จำเป็นในการที่จะช่วย พี่น้องเกษตรกรให้พ้นภัย หรือผลเสียหายต่าง ๆ ของเกษตรกรช่วยได้หมดเลย ทำไมเราถึงไม่ใช้ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้เป็นประโยชน์มากขึ้น มาตรา ๙ บอกว่า คณะรัฐมนตรี สามารถออกประกาศให้ผู้ส่งออก และผู้นำเขาต้องเสียค่าธรรมเนียม วันก่อนผู้ชี้แจง เรื่องกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรก็บอกกับดิฉันว่าขอบคุณฐิติมา ฉายแสง ที่บอกให้ ใช้ค่าธรรมเนียม เพราะเขาจะกลับไปปรึกษาหารือกัน ท่านประธานคะ เพิ่มเติมนะคะ ถ้าอยากจะนำเข้าสินค้าเกษตร อยากจะนำเข้ากุ้ง นำเข้าปลา เก็บค่าธรรมเนียมสิคะ ให้ค่าธรรมเนียมนั้นมาช่วยให้ราคาสินค้ามันเท่า ๆ กัน กองทุนนี้เมื่อมีเงินเข้ามา เป็นหมื่น ๆ ล้านย่อมจะเอาเงินมาช่วยพี่น้องเกษตรกรได้มากขึ้น ถูกต้องไหมคะ ดิฉันอยากจะให้มีการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรโดยการชะลอ แล้วก็เพิ่มความยากลำบาก ในการนำเข้ามาเสียหน่อย คุณสุทธิ มะหะเลา ท่านนายกสมาคมเพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย และคณะให้ข้อมูลกับดิฉันว่า กรมประมงและกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องเก็บ ค่าตรวจ ตรวจอะไร ตรวจสินค้าทุก Lot เลยที่นำเข้ามา ตรวจแบบเข้มข้น ตรวจแล้ว ได้ผลลัพธ์ก่อนที่จะให้เข้าสู่ประเทศ ไม่ใช่ตรวจยังไม่ได้ผลก็เอาเข้าประเทศเสียแล้ว
ต่อไปนะคะ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขนั้นตรวจเข้มมากขึ้นในเรื่อง ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะ ก็คือว่าปลากะพงจากมาเลเซียเขาใช้ยาปฏิชีวนะเยอะมาก แล้วก็ ใช้แบบไม่มีความรู้ด้วย เพราะฉะนั้นพวกเราผู้บริโภคเราจะติดเชื้อดื้อยา อันนี้อันตราย จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการพวกนี้ป้องกันเพราะฉะนั้นขอวิงวอน
สุดท้ายดิฉันขอวิงวอนท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน วิงวอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วิงวอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิงวอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านมีศักยภาพเพียงพออยู่แล้วที่จะไปขาย สินค้าที่ต่างประเทศได้ นำสินค้ากุ้ง ปลา เกษตร ไปแลกเปลี่ยน เปลี่ยนกับเครื่องบินก็ได้ ไปเปลี่ยนกับรถไฟความเร็วสูงก็ได้ ท่านทำได้ทั้งนั้นเพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกร วิงวอนนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉัน ขออภิปรายในเรื่องรายงานประจำปี ๒๕๖๕ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เราเรียกว่า สสส. นี้นะคะ หนังสือเล่มนี้ดิฉันอ่านอยู่ทั้งเล่ม แล้วก็พบว่าทาง สสส. นั้น ทำกิจกรรมเยอะมาก ต้องขอชื่นชม ขอชื่นชมว่าท่านมีส่วนร่วมในสังคมในทุก ๆ เรื่องเลย ที่ดิฉันเห็น สร้างทางม้าลายปลอดภัยก็มีด้วย ถ้าไปเกี่ยว สร้างอาชีพให้คนพิการ คนไร้บ้าน กิจกรรมรณรงค์โน่นรณรงค์นี่เยอะแยะไปหมด ขอชื่นชมว่าท่านได้มีส่วนช่วยสังคม ทีนี้ท่านประธานแผนงานของ สสส. นั้นเป็นการสร้างเสริมสุขภาวะความเข้าใจ ทำ ๓,๒๐๐ ชิ้นไปที่ ๗ องค์กร ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน ได้รับรู้ หรือว่าเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก อย่างที่ ดิฉันบอกว่าไปทั่ว ปกป้องเยาวชน ภัยบุหรี่ไฟฟ้า สร้างเครือข่ายเยาวชน แกนนำ จิตอาสา เสริมสร้างการอ่านในเด็กเยอะจริง ๆ ค่ะ พอมาดูแบบนี้แล้วดิฉันเลยไม่เข้าใจว่า ทาง สสส. นั้น มีหนทางในการที่จะช่วยเรื่องที่ดิฉันจะพูดดังต่อไปนี้อย่างไร PM2.5 เอย อะไรเอยท่านเข้าไปเกี่ยวหมดเลยนะคะ ขอภาพเลยค่ะ
ทำไมท่านใช้งบประมาณทุกปีท่านมีมา ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ กี่ปีแล้วคะ ๒๒ ปีแล้วใช่ไหมคะ ๒๒ ปี แต่เรายังเจอเผานาให้เกิด PM2.5 อยู่ ภาพต่อไปค่ะ เรายังเจอหมอกควันหนาในเมือง ภาพต่อไปค่ะ เรายังเจอการทิ้งขยะ อุตสาหกรรมเละเทะ จังหวัดฉะเชิงเทราก็มี มีปัญหามากมาย น้ำไหลนองทำให้เรารู้เลยว่า เป็นปัญหาอย่างยิ่งเราเจออยู่ ภาพต่อไปค่ะ การฉีดยาฆ่าแมลงในนา ในสวนก็ยังทำกันอยู่ ภาพต่อไปค่ะ ฉีดยากำจัดวัชพืชในคลอง ดิฉันเจอเยอะมาก อบต. เองบอกกับดิฉันเองเลยว่า ชาวบ้านร้องว่าถ้ามีผักตบชวามาอยู่หน้าบ้านเขาเยอะ ๆ ไม่รู้จะกำจัดกันอย่างไรก็เลยฉีดยา ใช้วิธีนี้จริง ๆ เขาไม่มีอุปกรณ์ในการที่จะไปแก้ปัญหาให้วัชพืชต่าง ๆ ผักตบชวามันหายไป ก็เลยใช้วิธีฉีดยาในคลอง ต่อไปค่ะ เวลาเรากินก๋วยเตี๋ยวสังเกตเลยว่าบางคนไม่ชิมด้วยซ้ำ ใส่เครื่องปรุงทันทีเยอะด้วย ท่านบอกว่าท่านทำโครงการลดหวาน มัน เค็มใช่ไหมคะ แต่เราเจออย่างนี้เยอะมากเลย ภาพต่อไปค่ะ เราเจอใส่ผงชูรสที่เยอะที่สุด ดิฉันเอง เป็นคนแพ้ผงชูรส ถ้าเกิดกินไปภายในราวประมาณสักชั่วโมงกว่า ๆ ๒ ชั่วโมง ปลายนิ้วจะชา แล้วเพื่อนดิฉันคอนี่เคล็ดไปเลย บางคนก็อาเจียนเราเจอแบบนี้เยอะที่ใส่เข้าไป แล้วเจอ การใช้ Foam ดูในภาพ ก๋วยเตี๋ยวความร้อนออกมาที่ Foam อันตรายขนาดไหน แล้วการกำจัด Foam พวกเราก็รู้อยู่ว่าใช้เวลากันกี่ปี เป็นร้อยปีหรือเปล่าถึงจะหมด เรายังเจอเด็ก ๆ นักเรียน ผู้ใหญ่ หรือใครสูบบุหรี่ ท่านก็รณรงค์ ถูกไหมคะว่าอย่าสูบบุหรี่นะ แต่เราเจอ แล้วก็ไปถึงขั้นยาเสพติด สูบบุหรี่ไฟฟ้าเราก็เห็น พูดตรง ๆ ว่าตอนแรกดิฉันก็ไม่รู้ หรอกนะว่ามันผิดกฎหมาย แต่เราเจออย่างนี้เยอะแยะ
กินเหล้า กินเหล้านี่อย่างที่เห็น หัวทิ่มบ่อกันว่าอย่างนั้นเถอะ เราเจอ เยอะมาก ดิฉันสนใจอย่างนี้ค่ะว่าท่านทำกิจกรรมของท่านเยอะมาก แตะไปทุกที่เลย แต่เรา พบว่าสถิติการเป็นมะเร็งของประเทศไทยสูงมาก คนเป็นใหม่ ๆ รายใหม่ ๑๔๐,๐๐๐ คน ประมาณ ๔๐๐ คนต่อวัน สิ่งต่าง ๆ ที่ดิฉันให้เห็นภาพทั้งหมดมันเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คน เกิดมะเร็งได้ แล้วดูสิคะ มะเร็งตับ ท่อน้ำดี มะเร็งปอด อะไรก็แล้วแต่ เราเจอเยอะมาทีเดียว ดิฉันไปงานศพชาวบ้าน ถามว่าเขาเสียชีวิตจากอะไร ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวที่บอกว่า ตายจากมะเร็ง
นี่คือภาพแผนที่ประเทศไทยที่เป็นเปอร์เซ็นต์ของการที่ว่าภาคไหนเป็นมะเร็ง มากอย่างไร กรุงเทพมหานครเยอะมาก ๒๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ นี่ยกตัวอย่างขึ้นมาเป็น ภาคกลางตรงนี้ละ ภาคตะวันออก ภาคกลางอยู่ด้วยกัน ท่านดูนะคะ มะเร็งรายใหม่ที่สถาบัน มะเร็งแห่งชาติ สถิติปี ๒๕๖๓ ดิฉันหาปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ไม่เจอ สมุทรปราการ รายใหม่ ๗๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อยู่ใกล้บ้านดิฉันเองฉะเชิงเทรา เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ สิ่งแวดล้อมเรา เลวร้ายมาก
ภาพต่อไป ดูนะคะ ผู้ชายสถิติเป็นอย่างนี้ค่ะ จะเป็นโรคมะเร็งกันเยอะมาก ของผู้หญิงเช่นเดียวกัน ดิฉันไปเยี่ยมพี่น้องประชาชน ๕ บ้าน เดินเข้าไป ไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่เป็นเบาหวาน ถามคนแก่ บอกว่าเป็นเบาหวานกินข้าวอย่างไร ปรากฏว่ากินอาหาร ผิดหมดเลย เช่นเขาบอกว่าเขากินตอนเช้า แล้วเขาไม่หิวกลางวันเขาไปกินตอนเย็น เบาหวานทำแบบนั้นไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องกินในระยะเวลาที่กำหนด ถูกไหมคะ เช่น ๘ โมงเช้าแล้วก็เที่ยง ๔ ชั่วโมงถัดมา แล้ว ๔ ชั่วโมงอีกที น้ำตาลจะได้ไม่ Swing น้ำตาลน้อย ตกก็เป็นลม น้ำตาลมาก พุ่ง ๔๐๐-๕๐๐ ก็ไม่ถูกต้อง ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง
ทีนี้ภาพนี้เป็นภาพของคนแก่ที่ไม่มีฟัน ไม่มีฟันนี่คืออะไร ดิฉันก็ถามว่าป้า ถ้าป้าเป็นเบาหวานป้ากินผักไปเยอะ ๆ นะ หมอเคยบอกว่าถ้ากินผักเยอะ ๆ ยังสามารถ กินขนมได้หน่อยนะ กินผักเยอะ ๆ บอกว่าไม่มีฟัน พอไม่มีฟันตรงนี้ก็หมายความว่าไม่ได้ กินผัก ทั้งหมดทั้งปวงที่ดิฉันพูดมาอยากจะบอกว่าท่านแตะไปทุกเรื่องเกินไปหรือเปล่า ท่านน่าที่จะทำอะไร น่าที่จะเน้นไปเป็นเรื่อง ๆ เลย ดิฉันสนใจว่าเบาหวานสถิติเยอะมาก การเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเองบอกว่าประชากรคนไทยนั้น มีมากถึง ๔๐๐,๐๐๐ คนต่อปี หรือ ๗๔ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด แล้วก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจปีละ ๑.๖ ล้านล้านบาท หรือ ๙.๗ เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือ GDP นั่นหมายความว่าจะเบาหวานที่เราพบกัน เยอะเหลือเกิน แล้วเป็นโรคต่อมา โรคหลอดเลือดตีบ ท่านเป็นหมอท่านรู้ดีอยู่แล้วว่า โรคอะไรมันตามมา ความดันหมดเลย มะเร็งเยอะมาก ถ้าเป็นไปได้อยากเสนอให้ท่านเน้น เป็นเรื่องเป็นราวให้มันชัดเจนไปเลย เพราะแนวทางการสูญเสียทางเศรษฐกิจเยอะขนาดนี้ ๑.๖ ล้านล้านบาท หรือ ๙.๗ เปอร์เซ็นต์ของ GDP เยอะมาก ท่านไปแตะตรงนั้นตรงนี้ แล้วมันก็เป็นแบบนี้ ๒๒ ปีของท่าน ขอชื่นชม แต่ก็ขอติว่าน่าจะหาหนทางให้มันชัดเจน เพื่อพี่น้องประชาชนและเพื่อประเทศไทย ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ฐิติมา ฉายแสง ๑๑๘ แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง เขต ๑ จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย
เรื่องที่ ๑ ท่านประธาน ดิฉันได้รับการร้องเรียนจาก Page ของคุณ IQ นี่หว่า แล้วก็สมาชิก อบต. วัชระ ชื่นบาน ว่า หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองเปรง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ถนนในหมู่บ้านไม่มีไฟ ตอนกลางคืนก็มืดอันตรายมาก ขอภาพด้วยนะคะ
เส้นที่ ๑ เส้นหลังวัดจรเข้น้อยจากบ้าน คุณสำอางค์ ตุ้มวิจิตร ถึงบ้านคุณป้อม ศรีสวัสดิ์ ระยะทาง ๑ กิโลเมตร เส้นที่ ๒ เส้นคลองรางปีกนกซีกซ้าย จากบ้านคุณคม พวงเจริญ ถึงบ้านคุณบารมี จั่นจิตรเพชร ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เส้นที่ ๓ เส้นคลองรางปีกนซีกขวา บ้านคุณพล ศุภฤทธิ์ ถึงบ้านคุณสำราญ แสงสี ๑ กิโลเมตร
เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าดับบ่อยมากในหมู่ที่ ๒ ตำบลคลองหลวงแพ่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลบางแก้ว บริเวณหน้าวัดเกาะจันทาราม อำเภอเมือง หมู่ที่ ๑๖ ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จึงอยากให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาแก้ไขโดยด่วน
เรื่องที่ ๓ ท่าน สจ. ไพบูลย์ ลายประดิษฐ์ ได้ร้องเรียนมาเรื่องคอสะพาน ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลคลองเปรง และคอสะพานหน้าวัดเปร็งไพบูลย์ ธัญญาหาร หมู่ที่ ๘ เชื่อมหมู่ที่ ๗ ตำบลคลองเปรง บนถนนสาย ๓๐๑๔ คือถนน รพช. ชำรุดทรุดตัวทำให้เวลาวิ่งลงตรงคอสะพานกระแทกอย่างแรงเลยค่ะ ดิฉันเองก็ใช้อยู่นะคะ เป็นจริงเลยค่ะ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขด้วยค่ะ
เรื่องสุดท้ายคือเรื่องที่ ๔ ปัญหาผักตบชวาที่ไม่สามารถไหลผ่านตอม่อ สะพานเบี่ยงที่ทำการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่มีระยะห่างระหว่างตอม่อแค่เพียง ๓ เมตร เองนะคะท่านประธาน แต่ว่าประชาชนสัญจรไปมาไม่ได้ แล้วก็ท่านผู้ใหญ่บ้านวสวัตติ์ หลำเจริญ ต้องออกมาตัดผักตบชวาทุกเช้าเลยค่ะ นั่นหมายความว่าทางเบี่ยงสายนี้ทำกันมา ๓ ปีกว่า เขาเลยถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อไรจะสร้างให้เสร็จ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ วันนี้ขออนุญาตที่จะอภิปรายถึงเรื่องของภัยพิบัติน้ำท่วม ท่านประธาน วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๖ เราได้อภิปรายในญัตติเรื่องของภัยแล้ง El Nino ไป เราก็ พยายามที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ข้อเสนอแนะกันต่าง ๆ นานา ๒ สัปดาห์ ผ่านมา วันนี้ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องน้ำท่วม ซึ่งกำลังเผชิญกันอยู่เยอะ มากเลย
เพราะฉะนั้นประเทศไทยเราแล้งซ้ำซาก แล้วเราก็ท่วมซ้ำซาก เรากำลังเผชิญอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้นวัฏจักรน้ำในประเทศไทย ปริมาณฝนตกต่อปีมันประมาณ ๗๔๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ฝนตกลงมา เรากักเก็บน้ำได้แค่เพียง ๙๐,๐๐๗ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ที่เหลือไปไหน ๕๐๐,๐๐๐-๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรไหลลงทะเลบ้าง ระเหยไปสู่ชั้นบรรยากาศบ้าง เติมไป ในชั้นบาดาลบ้าง พื้นที่การเกษตรของประเทศไทยประมาณ ๑๔๙ ล้านไร่ และพื้นที่ ชลประทานที่ดูแลได้ ๓๔ ล้านไร่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นชลประทานซึ่งมีอายุมาถึง ๑๒๐ ปี ก็ทำกันได้แค่นี้ ดังนั้นเราอาจจะต้องหาหนทางกันแล้วว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อจะแก้ปัญหา ไม่ว่าจะแล้งหรือจะท่วม ดิฉันขอเสนออย่างนี้ว่าดิฉันสนใจแล้วก็อยากจะนำเสนอถึงเรื่องของ ธนาคารน้ำใต้ดิน ธนาคารน้ำใต้ดินสามารถช่วยทั้งท่วมและแล้ง ถ้าแล้งเราสามารถเก็บน้ำ ใต้ดินและเอาน้ำนั้นมาใช้ในยามที่ขาดแคลน น้ำบาดาลขุดเพียงตื้น ๆ ก็เจอน้ำเสียแล้ว เพราะมันไปอยู่ในใต้ดิน น้ำท่วมก็ยังสามารถทำให้มันซึมผ่านลงไปยังใต้ดินได้ เวลาน้ำหลาก ก็ยังสามารถลดความรุนแรงของกระแสน้ำได้ ทีนี้มาดูรายละเอียดกันจากสิ่งที่ดิฉันเสนอ ธนาคารน้ำใต้ดิน ลักษณะของชั้นดินตามธรรมชาติจะมีชั้นดินอ่อน ชั้นแรกชั้นดินอ่อนคือ ผิวดิน ชั้นที่ ๒ ก็คือชั้นดินเหนียวซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ อย่างฉะเชิงเทราเองอาจจะ ชั้นดินเหนียวเยอะมากเลย ลึกมากเลย แต่บางที่ภาคอีสานหรือภาคเหนือก็อาจจะตื้น ๆ เท่านั้นเอง ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นหินอุ้มน้ำ ชั้นที่ ๔ คือกรวด ทราย ถ้าชั้นที่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ มันก็คือชั้นหินอุ้มน้ำและถ้าต้องการเก็บน้ำก็ต้องไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำให้ได้นั่นเอง นี่คือ การทำธนาคารน้ำใต้ดินซึ่งมีทั้งระบบปิดแล้วก็ระบบเปิด ระบบปิดก็ทำไม่ได้ยากอะไรเลย สมมุติว่าเรากำลังพูดถึงพื้นที่ที่ธรณีวิทยานั้นไม่ได้ขุดลงไปลึกมากมายใส่ท่อระบายอากาศไว้ เอาหินก้อนใหญ่ ๆ ใส่ไว้เต็ม แล้วเราก็ใช้มุ้งสีฟ้า ๆ มาปิดแล้วจึงกลบด้วยหินก้อนเล็ก ๆ เพื่อไม่ให้ผงต่าง ๆ มันลงไปได้ง่าย ความกว้างอาจจะแค่เพียง ๑ เมตร คูณ ๑ เมตร ลึก ๑ เมตรก็ได้ หรือว่าลึกกว่านั้นหน่อยก็ได้ บางที่ทำแค่นี้เองก็สามารถที่จะเป็นธนาคาร น้ำใต้ดินแบบปิดได้ ไม่ได้ใช้พื้นที่ใหญ่โตอะไรเลย แล้วก็ถ้าเป็นแบบปิดอยู่ข้างบ้านแค่เล็ก ๆ แบบนี้สามารถเก็บน้ำลงไปใต้ดิน เพราะฉะนั้นทำแบบนี้สามารถอยู่ตรงบริเวณซักล้างก็ได้ ทุกบ้านทำได้หมด
อันนี้เป็นธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิดอาจจะครึ่งไร่ ๑ ไร่ ทำไปจนกระทั่ง มันผ่านฝนไป ๑ ฝน น้ำใต้ดินมันขึ้นมาได้ด้วย ก็สามารถจะเอาน้ำนี้ไปทำนา ไปทำสวน ไปอะไรก็แล้วแต่ เดี๋ยวอีกไม่กี่ชั่วโมงหรือวันรุ่งขึ้นมันก็ขึ้นมาอีกท่านประธาน ท่านประธานคะอยากจะชวนดูภาพนี้ เป็นภาพของตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร น่าสนใจมากดิฉันไปเยี่ยมดูธนาคารน้ำใต้ดิน จุดขาว ๆ ที่เห็นอยู่นี้ จำนวน ๓,๐๐๐ จุดก็คือธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ซึ่ง ๑๒ หมู่บ้านของเขาทุกหลังคาเรือน ทำตามหมดเลย ขุดแบบเล็ก ๆ ๓,๐๐๐ แห่ง ทุกคนทำหมด เพราะฉะนั้นเขาไม่เจอกับปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง จุดสีเหลือง ๆ คืออะไร สีเหลือง ๆ คือธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิด จะครึ่งไร่ ๑ ไร่ก็แล้วแต่เขาก็มีด้วย เพราะฉะนั้นเขามีทั้งปิดและเปิด ท่านดูว่าจากมะละกอที่เขา ตอนแล้ง ๆ เขาปลูกได้แค่เพียง ๑๐๐ กว่าไร่ แล้วก็ทรมานมากไม่มีน้ำ ต่อมาพอทำ ธนาคารน้ำใต้ดินทั้งแบบปิดและเปิดเขาสามารถมีน้ำที่จะทำแปลงปลูกมะละกอได้เป็น ๕,๐๐๐ ไร่เลย นี่คือตัวอย่างที่ดี ถามว่าเขาทำแบบนี้ได้อย่างไรเป็นเพราะเขามีผู้นำที่ดี เขามีท่านอดีตนายก อบต. วังหามแห ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว คุณไฉน อำไพริน เป็นผู้นำเป็น ที่น่าเชื่อถือดังนั้นผู้คนจึงทำตามเขา และเรามาดูว่าถ้าท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ท่านสนอกสนใจเหลือเกินเรื่องพวกนี้ ท่านเป็นผู้นำที่ดีและท่านบอกให้ทุกคนทำตามกัน ทั่วประเทศเลย อะไรจะเกิดขึ้น สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้เป็นอย่างดี วัฏจักร ในฤดูแล้งเราไม่มีน้ำปลูกพืช พอไม่มีน้ำชลประทานก็ช่วย พอชลประทานช่วย ช่วยได้ ไม่เพียงพอ เพราะชลประทานช่วยได้แค่เพียง ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง พืชตาย พอพืชตายเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้ วัฏจักรฤดูแล้งเป็นแบบนี้ วัฏจักรฤดูฝนเป็นอย่างไร ลงทุนปลูกพืชกัน ใส่ปุ๋ยกัน เก็บเกี่ยวตอนฝนตก และแล้วน้ำก็ท่วมอีก พื้นที่เกษตรกร ต่าง ๆ นานาเสียหาย เสียหายขาดรายได้ เราอยู่กับวัฏจักรของแล้ง วัฏจักรของน้ำท่วม อยู่ตลอดเวลามันถึงเวลาแล้วค่ะท่านประธาน ถึงเวลาที่จะต้องหาหนทางแก้ไขปัญหา ดิฉัน จึงเสนอว่าธนาคารน้ำใต้ดินเป็น Idea ที่ดี ซึ่งดิฉันคิดว่าคณะเกษตรของพรรคเพื่อไทยก็ดี ของรัฐบาลชุดนี้น่าจะต้องนำความคิดของคณะเกษตรของพรรคเพื่อไทยที่บอกว่ามีธนาคาร น้ำใต้ดินไปช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ดิฉันเห็นด้วยกับการเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ของประเทศไทยหรือการสร้างแนวป้องกัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล ดิฉันคิดว่ามันถึงเวลา ที่เราจะต้องมาพูดกันเรื่องนี้ เพราะว่าพวกเรารู้กันอยู่แล้วว่าหลายประเทศเลยประสบ กับวิกฤติโลกร้อน ซึ่งจะเจอกับน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนน้ำทะเลหนุนสูงหลายประเทศ ก็จมบาดาลกันอยู่ ขอภาพด้วยค่ะภาพแรก
บางประเทศเจอกับอย่างนี้เมืองเวนิส อิตาลีเราเห็นภาพแบบนี้กันอยู่ บางประเทศเราเจอไฟป่าเยอะมากเลย ไฟป่าเยอะ ฝนชุก อากาศร้อนผิดปกติ แห้งแล้ง มีความแปรปรวนเยอะมาก มี El Nino มี La Nina มีน้ำท่วม เราะเจอะเจอความผิดปกตินี้เยอะ ประเทศไทยเช่นเดียวกัน กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน เราก็มีปัญหา ปัญหาอะไรบ้าง ความหนาแน่นในเขตเมืองมีคนอาศัยอยู่เยอะ แล้วก็มี บางท่านพูดถึงเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาลกันมากมาย มีฝนตกชุก ซึ่งเมื่อสักครู่ ท่านผู้อภิปรายก็เพิ่งพูดไปหยก ๆ ว่ากรุงเทพฯ น้ำทะเลหนุนสูง สูงขึ้นเป็นถึงขั้นครึ่งฟุต กันเลยทีเดียว พื้นดินทรุดอย่างรวดเร็ว ปีละ ๒-๓ เซนติเมตร นี่กรุงเทพมหานคร มีองค์กรสาธารณประโยชน์อยู่องค์กรหนึ่งที่เขาพูดไว้ทำให้ดิฉันเรียกว่าต้องใช้คำว่า ตกใจ เหมือนกัน องค์กรนี้คือ Greenpeace เขาบอกว่าเขาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แล้วก็สันติภาพ พูดไว้น่าตกใจ เพราะเขาคาดการณ์ว่าอีก ๗ ปีกรุงเทพมหานคร ก็จะจมบาดาล เขาบอกว่ามีผลกระทบมาจากน้ำท่วม จมบาดาล บอกว่าในพื้นที่ ของกรุงเทพฯ มี ๑,๕๐๐ กว่าตารางกิโลเมตร จะจมบาดาลไปถึง ๙๖ เปอร์เซ็นต์ คือ ๑,๕๒๑ ตารากิโลเมตร กินพื้นที่กันขนาดนั้น แล้วก็มีมูลค่าที่เสียหายทางเศรษฐกิจมาก คำนวณออกมาแล้วประมาณ ๑๘-๒๐ ล้านล้านบาท อาจจะสูญเสียไปถึง ๕๐๐,๐๐๐ million US dollars กันเลย แล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็แค่ ๑๖ ล้านล้านบาท เกินมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยซ้ำ คน ๑๐.๔๕ ล้านคน ก็จะเดือดร้อน แต่มันไม่ได้เดือดร้อนแค่นี้ เพราะว่าจังหวัดอื่นก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อย่างนั้นอย่างนี้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเขตที่พวกเรา รู้อยู่ว่าเจริญมาก ๆ รัชดาภิเษก สีลม สาทร เยาวราช สยามสแควร์มันจะหายไปจาก ความเจริญที่เรารู้จักกันหรือ ทีนี้ดิฉันเองมาดูญัตติบอกว่าเป็นการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ แห่งที่ ๒ พูดตรง ๆ ว่าดิฉันก็ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพชรบูรณ์ หรือจะเป็นนครนายก หรือบางที่เคยพูดด้วยว่าเป็นฉะเชิงเทรา จริง ๆ ยังไม่เห็นด้วย ขนาดนั้น เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง กรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ มีชีวิตความ เป็นอยู่ กรุงเทพฯ มีวัฒนธรรม มีวัดวาอาราม มีพระราชวัง มีการค้าธุรกิจที่สำคัญ เราจะไป เมืองอื่นแล้วทิ้งกรุงเทพฯ หรือ เป็นไปไม่ได้ เราจำเป็นต้องรักษากรุงเทพฯ ให้อยู่ให้ได้ ถึงแม้จะต้องใช้งบประมาณเยอะแค่ไหนก็ต้องทำ ถามว่าทำอะไร ดิฉันขอเสนอว่าเราจำเป็น ที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเขื่อนสร้างพนังกั้นน้ำ สร้างกำแพงกันคลื่นทะเล ดูภาพต่อไปนะคะ ถ้าภาพของกรุงเทพมหานครที่จมบาดาลเป็นแบบนี้พวกเราเห็นแล้วว่า ปี ๒๕๕๔ กรุงเทพฯ เป็นแบบนี้ แต่เรามาดูที่อื่นที่ดิฉันคิดว่าเขาทำแล้ว ถ้าเราทำตาม หรือเรามีแนวคิดที่จะทำให้กรุงเทพมหานครไม่ต้องจมบาดาลแบบนี้ มันเป็นอย่างไร ดิฉันมีข้อเสนอค่ะ นี่ยกตัวอย่างนะคะ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เขาทำพนังกั้นน้ำ แบบนี้ค่ะ คือเขื่อน กำแพงกั้นคลื่นทะเลอะไรก็แล้วแต่ เรียกว่า Seawall แล้ว Seawall ของเขาสามารถที่จะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ด้วย ได้ประโยชน์หลายอย่าง ดูนะคะ เขาแบ่งเส้นทางระหว่างคนเดินกับจักรยานก็แบ่งกันด้วย คนละฝั่งกันเลย ทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น อันนี้ถามว่าการลงทุนรอบอ่าวตัว ก ของไทยเรา มีกรุงเทพมหานคร มีสมุทรปราการ มีฉะเชิงเทรา จำเป็นต้องทำไหม ก็จำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะว่าเราทิ้ง กรุงเทพฯ ไม่ได้ มากไปกว่านั้น ท่านประธานคะ ดิฉันมีข้อมูล ขอยกตัวอย่าง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดบ้านเกิดของดิฉัน ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านรู้ไหมว่าโดนน้ำทะเลกัดเซาะจนกระทั่งมันหายไปเป็นกิโลเมตรแล้ว หายไปเป็นหมู่บ้านเลย ถามว่าเราจะปล่อยแบบนี้หรือ เราจำเป็นที่จะต้องช่วย เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเพื่อให้กรุงเทพมหานครอยู่ต่อไปมันต้องทำอะไร ระบบระบายน้ำแน่นอน ต้องทำ เราต้องแก้ไข เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่น้องประชาชนว่าอย่าทิ้งขยะ เต็มไปหมดจนกระทั่งมันอุดตันกันทำให้การระบายน้ำไม่ได้เกิดขึ้น กระจายความเจริญสิคะ กระจายความเจริญไปยังเมืองต่าง ๆ แล้วก็ให้ลดความแออัดด้วย แล้วก็ระบบขนส่งมวลชน เราช่วยกันสิคะว่าให้งบประมาณมาเพื่อมีระบบขนส่งมวลชน คนจะได้ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องเกิด มลภาวะ ไม่ต้องเกิด PM2.5 แล้วเราก็สนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้า นี่คือแนวทางยกตัวอย่าง เท่านั้นเอง เป็นแนวทางที่บอกว่าเราต้องรีบแก้ปัญหาเพื่อให้กรุงเทพมหานครอยู่ต่อไป เป็นเมืองเศรษฐกิจต่อไป ไม่จำเป็นต้องไปเป็นตามกับประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา อินเดีย เขาก็ย้าย ปากีสถาน หรือว่าจาการ์ตากำลังจะย้ายไป เรารักษากรุงเทพฯ ของเราไว้ แล้วยังไม่ต้องไปเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ก็ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันดีใจที่ญัตติเกี่ยวกับประมงนั้นได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ขอภาพด้วยค่ะ
เป็นญัตติที่เกี่ยวกับประมง เพราะเราเป็นห่วงพี่น้องชาวประมง ตอนแรกดิฉันเห็นญัตติของพรรคก้าวไกลก็พูดถึง เรื่องของปัญหาของประมงจะพิจารณาศึกษาปัญหาเกี่ยวกับประมงทั้งระบบ แต่พออ่าน เนื้อในมันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประมงทางทะเล การออกไปน่านน้ำ ไปจับปลาอะไรก็ แล้วแต่ในน่านน้ำ แต่พอมาเจอญัตติของดอกเตอร์ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ที่บอกว่าขอให้สภา ผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการ บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประมง ทั้งระบบ อันนี้ทำให้ดิฉันเห็นเนื้อในของเขาว่าเขาสนใจทั้งระบบจริง ๆ ดิฉันก็เลยดีใจว่า เอาละคราวนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องของประมงที่เราเรียกว่าเป็นการเพาะเลี้ยง นั่นคือ เลี้ยงตามบ่อกันนี้ละค่ะ ซึ่งแถว ๆ ภาคกลางเรา ภาคตะวันออกเราก็เลี้ยงเป็นแบบปลา กุ้งในบ่อมากเลยทีเดียว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สินค้าสัตว์น้ำของไทยมีผลผลิตรวม ๑๖๐,๗๔๓ ล้านบาทต่อปี ปี ๒๕๖๕ มูลค่าเยอะมากแบบนี้ ซึ่งการทำประมงในทะเล จะเป็นประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ กว่าตันต่อปี มูลค่าประมาณ ๖๗,๐๐๐ ล้านบาท แต่ประมง แบบเพาะเลี้ยงที่ดิฉันบอกว่ามันสำคัญมาก เพราะว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประมง แบบเพาะเลี้ยง ๙๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมาดูกันที่ตัวสินค้า ที่เพาะเลี้ยง ดิฉันอยากจะเจาะลึกลงไปไม่สามารถที่จะพูดทุกเรื่องได้ภายใน ๗ นาที ที่ท่านประธานให้เวลา อยากจะบอกว่าดิฉันสนใจเรื่องปลากะพง ใน ๖ เดือนแรกของ ปี ๒๕๖๖ ปี ๒๕๖๖ เราผลิตภายในประเทศ เราผลิตได้ ๕๓,๙๑๓ ตัน มูลค่า ๖,๒๗๗ ล้านบาท เนื้อที่เลี้ยงรวม ๓๐,๔๓๘ ไร่ มีพี่น้องเกษตรกรเพาะเลี้ยงเยอะมาก ดิฉันทราบดีว่าสินค้า ประมงปลากะพงจากประเทศมาเลเซียนำเข้ามาถล่มประเทศไทยที่ราคาถูกกว่า ๒๐ บาท ต่อกิโลกรัม ดังนั้นพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงนั้นจึงพบกับความยากลำบาก เขาโดนค่าไฟเขาก็หนักอยู่แล้ว ค่าอาหารเขาก็หนักอยู่แล้ว ค่าขนส่งก็หนักอยู่แล้ว มาโดนเรื่องนี้อีก ก็ทราบอยู่แล้วว่าการกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าประมงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสินค้าประมงมันไม่ได้เป็นสินค้าเกษตร แต่มันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ความ ตกลง WTO ดิฉันก็แปลกใจมากว่าสินค้าประมงแบบนี้ สินค้าเกษตรแบบนี้มันกลายเป็น สินค้าอุตสาหกรรม เอาละไม่เป็นไร แต่ว่าเมื่อมันไปห้ามนำเข้าไม่ได้ เราต้องมีวิธีที่จะต้อง ช่วยพี่น้องเกษตรกรเรา ให้เขาสามารถอยู่ได้สู้ได้ ไม่อย่างนั้นต่างประเทศก็นำเข้าสินค้า เข้ามาแล้วมาตีเราหมด ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอว่าเราน่าจะต้องมีมาตรการใดที่จะช่วยให้เกษตรกรของไทยเรา สามารถอยู่ได้ อยากจะนำเข้าก็นำเข้าได้นำเข้ามา แต่เราน่าจะเก็บค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมนำเข้าโดยที่เราเอา พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซียถูกกว่า ๒๐ บาทต่อกิโลกรัม ก็เก็บค่าธรรมเนียมสิคะ กองทุน สงเคราะห์เกษตรกรมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ไม่ค่อยได้เก็บเลย เก็บกันครั้งเดียวกระมังคะ แล้วหลังจากนั้นไม่เคยเก็บอีกเลย ก็เก็บสิ เก็บ ๒๐ บาท เพื่อให้ราคาของปลากะพงมันเท่า ๆ กัน เขาจะได้ไม่เดือดร้อน นี่คือแนวคิดของดิฉัน สมมุติว่านำเข้ามา ๑๐,๐๐๐ ตัน ๑๐,๐๐๐ ตันมันคือ ๑๐ ล้านกิโลกรัม เก็บกิโลกรัมละ ๒๐ บาท ได้ ๒๐๐ ล้านบาท เข้ากระเป๋าของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แล้วสามารถนำเงินนี้มาช่วยแหลือเกษตรกรได้ต่อไป ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นดิฉันขอเสนอเรื่องแบบนี้เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเสนอให้กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นมา แล้วก็เห็นด้วยที่มีคณะกรรมาธิการนี้ แล้วก็อยากให้ คณะกรรมาธิการนี้นำข้อมูลต่าง ๆ นี้ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป ก็ขอสนับสนุนในคณะกรรมาธิการนี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ขอนำเรื่องเดือดร้อนมาหารือต่อท่านประธานนะคะ
เรื่องที่ ๑ ท่านประธานคะ ดิฉันได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคุณสุรพล พลอยน้ำเพ็ชร นายก อบต. เกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าประชาชน ชาวหมู่ที่ ๕ ตำบลเกาะไร่ ได้ร้องของบประมาณในการก่อสร้างโดมอเนกประสงค์ สนามหน้าโรงเรียนสุเหร่าเกาะไร่ เนื่องจากลูกหลานของเขาต้องตากแดดตากฝน เวลาเข้าแถวแล้วก็ทำกิจกรรมทางการศึกษา หากได้โดมอเนกประสงค์นี้จะทำให้มีประโยชน์ ทั้งทางด้านศาสนาด้วย จึงขอให้ท่านประธานส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยจัดสรร งบประมาณค่ะ
เรื่องที่ ๒ ถนนคันกั้นน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต บริเวณหมู่ที่ ๑๓ ถึงหมู่ที่ ๑ ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ ๑๑ เกิดชำรุดเสียหายอย่างมาก ประชาชนร้องเรียนไปทางชลประทานก็ได้แต่มาซ่อมแซม แก้ไขเพียงเล็กน้อยอยู่เป็นประจำ แล้วก็มักจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ แต่ว่าเนื่องจากเส้นทางนี้ประชาชนใช้สัญจรจำนวนมากเลย เกิดความเดือดร้อนมาทุก ๆ ปีเลย จึงอยากให้ท่านประธานช่วยประสานไปยัง สำนักงานชลประทานให้ทำการแก้ไข ซ่อมแซม ปรับปรุงให้ดีถาวรหรือโอนถ่ายภารกิจนี้ ให้กับทางกรมทางหลวงชนบทก็อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไข
หารือเรื่องที่ ๓ ขณะนี้ราคาปลากะพงตกต่ำมาก ผู้เลี้ยงปลากะพง มาร้องกับดิฉันบอกว่ากำลังเผชิญปัญหากับปลากะพงราคาเหลือแค่เพียง ๗๕ บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ทุนของเขาคือ ๙๐ บาทต่อกิโลกรัม ปลากะพงจากมาเลเซียมาตีตลาด ของไทยอย่างหนัก ราคาต่ำกว่าของเรา ๒๐ บาทต่อกิโลกรัมตลอดเลย เพราะฉะนั้น อยากจะให้ท่านประธานช่วยส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลากะพงโดยด่วนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นด้วยกับญัตติที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน แล้วก็ค่าครองชีพที่สูง ท่านประธานที่เคารพคะ ขอภาพ ด้วยนะคะ
ท่านประธานคะ ในปี ๒๕๖๖ นี้ หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัว ๑๑.๕ เปอร์เซ็นต์ มูลค่าประมาณ ๕๕๙,๔๐๘ บาทต่อครัวเรือน จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนี้ก็บอกว่าหนี้ครัวเรือนของเรามันสูงมาก แบบนี้ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี ๒๕๖๗ การอภิปรายในวันนี้เด็กญัตติเรื่องเกี่ยวกับ หนี้สินครัวเรือนนี้ ดิฉันคิดว่าท่าน สส. หลายท่านก็มีข้อห่วงใยที่แตกต่างกัน ส่วนดิฉันเอง มีข้อห่วงใยดังต่อไปนี้ค่ะ
ในปี ๒๕๖๗ เป็นที่ทราบกันดีว่าจะเกิดปรากฏการณ์ El Nino แล้วก็ เกิดภัยแล้ง และอาจจะแล้งนานถึง ๓ ปี ดังนั้นปัจจัยเรื่องน้ำแล้งจะเป็นเรื่องสำคัญ มากทีเดียวที่จะส่งผลกระทบในทุกภาคส่วนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากขาดแคลนน้ำจะทำให้ หนี้สินมากขึ้นอย่างไร ภาคการเกษตรท่านดูนะคะถ้าเกิดขาดแคลนน้ำ อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศแปรปรวนส่งผลว่าพืชผลผลิตลดลง ปศุสัตว์ลดลงแน่นอน สัตว์กินอาหารได้น้อยโตช้า เป็นปัญหา เป็นโรคง่าย ประมงผลผลิตลดลงเลี้ยงกันไม่ได้เลยปริมาณการจับสัตว์น้ำต่าง ๆ นานามีผลหมด น้ำใต้ดินอาจจะถูกใช้มากขึ้น อาจจะเกิดแผ่นดินทรุด ภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนค่าเสียโอกาสเพราะว่าผลผลิตมันลดลงถูกไหมคะไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญา ต้นทุนการผลิต กำไรก็ลดลง ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นแรงงานกลางแจ้ง ทำงานไม่ได้ สินค้า เน่าเสียได้ง่าย คุณภาพสินค้าลดลง การบริการ ปัญหาแย่งในเขตท่องเที่ยวเพราะมันไม่มีน้ำ แย่งน้ำกัน อากาศร้อนนักท่องเที่ยวก็อาจจะลดลง ต้นทุนพลังงานก็อาจจะเพิ่มขึ้น พื้นที่ปะการังสำคัญมากลดลง ขาดความสวยงามนักท่องเที่ยวไม่มา แรงงานในภาคบริการ เจ็บป่วยมากขึ้นได้ แล้วเราก็รู้ว่าทั้ง ๓ ภาคส่วนนี้มันสัมพันธ์กันแน่ ๆ เดือดร้อนแน่ ๆ เลย ถ้าเราไม่มีน้ำขาดน้ำไป การขาดน้ำจึงทำให้มีสิทธิที่จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเพราะทำงานไม่ได้ ดิฉันขออนุญาตหยิบยกตัวอย่างค่ะท่านประธาน โดยที่จะเน้นให้เห็นภาพว่าภาคการเกษตร นั้นจะก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มมากขึ้นอย่างไร ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมค่ะ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ต่อให้มีปุ๋ยราคาที่ลดลง ต่อให้มีเมล็ดพันธุ์พืชได้ฟรี ด้วยซ้ำท่านประธาน ต่อให้มีปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ลดลง หรือพักหนี้เกษตรกร แต่ถ้าไม่มีน้ำ ท่านประธานพูดตรง ๆ เสร็จแน่ เกษตรกรรมไม่มีน้ำ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นแน่นอน ท่านดูภาพต่อไปนะคะ นาแล้ง ทำนาไม่ได้ ๖๔ ล้านไร่ ผลิตผลลดลง ชาวนาไม่สามารถ ทำนาได้ ชีวิตทั้งชีวิตทำมาตลอด เสร็จแล้วไม่สามารถทำนาอะไรจะเกิดขึ้น ประมงเพาะเลี้ยงขาดน้ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปลาตามบ่อต่าง ๆ ๑๓๘,๒๕๐ กระชัง ๑,๕๒๐,๐๗๓ บ่อจะอยู่กันอย่างไรคะท่านประธาน ทั้ง ๒ ประการ ไม่ว่าจะเป็นนาแล้ง หรือว่าประมง ถ้าขาดน้ำ เขาเช่าที่ เขาต้องเสียค่าเช่าที่ แต่ไม่มีผลผลิต นี่คือปัญหาของพี่น้อง เกษตรกร ไม้ผล ไม้ยืนต้นแห้งตาย ไม่ว่าจะลำไยที่ภาคเหนือ ทุเรียนภาคใต้ หรือว่า ภาคตะวันออก มะม่วง มังคุดต่าง ๆ นานา เสียหายหมด จะเอารายได้ที่ไหน นี่คือหนี้สิน จะต้องเพิ่มขึ้น ท่านประธานคะ วัวไม่มีหญ้าจะกิน ไม่มีน้ำ หมู ไก่ โดยเฉพาะไก่ ถ้าขาดน้ำแทบจะวันเดียวก็ตายแล้วท่านประธาน เพราะฉะนั้นการที่พี่น้องประชาชนของเรา ที่เป็นเกษตรกรไม่มีน้ำทำการเกษตรเป็นเรื่องที่หนักมาก แล้วมาดูที่คนเครียดไหมคะ ถ้าไม่มีน้ำทำนาไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ถ้าผู้นำของครอบครัวล้มป่วยเพราะเครียด ครอบครัว จะอยู่กันอย่างไร ไม่มีรายได้ แล้วพอเครียดท่านนอนติดเตียงทำงานไม่ได้เป็นภาระ ของครอบครัวไหม เป็น อากาศร้อนจัดออกไปทำงานไม่ได้ เป็นลมแดด Heatstroke ที่เรารู้กันอยู่ อาจถึงขั้นเสียชีวิต เสียหายไหมครอบครัวนี้ เป็นไปได้ การบุกรุกของน้ำเค็ม อาจจะกระทบไปถึงการทำน้ำประปา แล้วก็กระทบไปถึงผู้ที่เป็นโรคไต ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แน่นอน ราคาอาหารสูงขึ้นแน่นอน ของหายากขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มลพิษทางอากาศ PM2.5 เกิดขึ้น เพราะว่ามันแล้ง เราพบประสบเจอพวกนี้ ขาดสารอาหาร เพราะว่าหาไม่ได้ ไม่มีเงินจะซื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดนั้นอยากจะสรุปว่า อยากจะขอสนับสนุน ว่าญัตตินี้เป็นญัตติที่ต้องรีบดำเนินการ รีบช่วยเหลือ แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน แก้ปัญหา ค่าครองชีพ แต่ขอฝากคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่าขอให้นำประเด็นภัยแล้งนั้นเป็นประเด็น สำคัญด้วยเพราะมันส่งผลกระทบ ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม อุตสาหกรรมก็โดน และขอให้นำเรื่องภัยแล้งนั้นมาเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้หนี้สินครัวเรือนมันอาจจะ สูงมากขึ้นนั้นไปพิจารณาด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ดิฉันมีเรื่องหารือ ๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ ผู้ใหญ่บ้านก็ดี ประชาชน ของชาวหมู่ที่ ๒ ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๔๐ หลังคาเรือน ๑๘๐ คนนั้นไม่มีถนนเข้าออก เขาอาศัยอยู่ริมคลองหลวงแพ่งซึ่งเป็นแบบนี้มานานมากแล้ว ทีนี้ทางเข้าออกของเขาตามภาพใช้ทางปูนเดินเท้าเข้าออกแบบนี้เป็นประจำ ซึ่งเวลาที่เขา เดือดร้อนก็คือว่าถ้าเขาเจ็บป่วย ผู้พิการก็ดี ผู้สูงอายุก็ดี ก็จะออกไปลำบากมากเลยค่ะ เพราะฉะนั้นถนนที่เข้าออกนั้นสำคัญมาก อยากจะขอให้ทางราชการช่วยทำถนนเข้าออก เพื่อที่ให้รถพยาบาลได้สามารถเข้าไปรับเขาได้ฉุกเฉิน ทีนี้ดิฉันทราบมาว่าพี่น้องประชาชนนั้น จัดทำประชาคมก็แล้ว ประชุมกับ อบต. ก็แล้ว ประชุมกับราชการหลายหน่วยงานเลยทีเดียว มีหน่วยงานหนึ่งค่ะ กรมชลประทาน เพราะอยู่ริมคลองหลวงแพ่ง เขาจะต้องทำเขื่อน ริมคลองอยู่แล้ว ขอให้ทำเขื่อนเร็ว ๆ เพื่อที่จะได้ทำถนนกันต่อไป
เรื่องที่ ๒ ทางหลวงชนบท ฉช.๒๐๐๔ เรียกว่า ถนนเกษมราษฎร์พัฒนา ช่วงกิโลเมตรที่ ๑๘+๖๑๖ ถึง ๒๔+๖๑๖ ระยะทาง ๔ กิโลเมตร ท่าน สจ. ไพบูลย์ ลายประดิษฐ์ และประธานสภา อบต. บางกะไห คุณจรัญ สุนทรโชติ ร้องเรียนมาว่า พี่น้องประชาชนต้องการขยายจาก ๒ ช่องจราจร เป็น ๔ ช่องจราจร เพราะปัจจุบันบนถนน สายนี้ สถิติปริมาณการจราจรมีมากถึง ๑๕,๖๘๗ คันต่อวัน ดิฉันจึงขอให้ท่านประธาน โปรดพิจารณาส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมช่วยเหลือโดยด่วนด้วย ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันขอเป็นคนหนึ่งที่ร่วมอภิปรายในญัตติเกี่ยวกับการเปิด สถานบันเทิงแบบครบวงจร Entertainment Complex ท่านประธานคะ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว หากใครพูดถึงเรื่องการตั้งบ่อนกาสิโนแบบถูกกฎหมาย มีหวังโดนด่าเปิง แต่ว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สังคมยอมรับในหลาย ๆ เรื่อง สังคมยอมรับในกลุ่ม LGBTQ ยอมรับคนหลากหลายทางเพศ ยอมรับเรื่องลอตเตอรี่ Online ตอนนี้ก็แพร่หลาย สังคมนี้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบเรื่องการพนัน คนที่ชอบ แม้กระทั่งใบไม้ร่วงลงมาจะคว่ำ หรือจะหงายยังเล่นการพนันได้เลยค่ะ ตามงานบุญต่าง ๆ ท่านประธานไปงานบวช งานแต่ง หลังบ้านเราจะเห็นกลุ่มคนอยู่กันตลอดเวลา นั่นละวงไฮโล วงเล่นการพนัน หรือการเลือกตั้ง แม้กระทั่งเลือกตั้งทุกระดับเลยนะคะ เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ก็เล่นว่าใครจะได้ ใครไม่ได้ เลือกตั้ง สส. ก็เล่นการพนันว่าใครจะได้สัก ๕,๐๐๐ แต้มไหม ๔๐,๐๐๐ แต้มไหม เล่นการพนันหมดเลย ส่วนคนไม่ชอบ คนไม่ชอบอาจจะเป็นเพราะว่าเล่นไม่เป็น หรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น หัวหน้าครอบครัวเล่นเสียจนหมดเนื้อหมดตัว หมดรถ หมดบ้าน ดังนั้นเราต้องมาดูว่าประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการที่เราจะมี Entertainment Complex มันเป็นอย่างไร โทษและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมันเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นต้องทำ ความเข้าใจกับสังคมแน่ ๆ ว่า Entertainment Complex สถานบันเทิงแบบครบวงจร มันคืออะไร กว้างใหญ่ขนาดไหน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนั้นมันมีอะไรบ้าง มันมีทั้งห้างสรรพสินค้า ขนาดใหญ่ครบวงจร มีโรงแรม มีร้านอาหาร มีการจัดประชุมใหญ่ มีสนามกอล์ฟ มีศูนย์สุขภาพ มีโรงพยาบาล มีอะไรเต็มไปหมดเลยนะคะ ซึ่งมันทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น แน่นอน มีเงินหมุนเวียนแน่นอน มีการจับจ่ายใช้สอยมากแน่นอน รัฐเก็บภาษีได้มากแน่นอน ฟังดูดีมีแต่บวก มิน่าหลายประเทศเลยนะคะท่านประธาน หลายประเทศมีบ่อนกาสิโน แล้วก็ ในเขต ASEAN ของเรา ๑๐ ประเทศ มีกันหมดเลย ยกเว้นบรูไนกับประเทศไทยเท่านั้น ทีนี้เมื่อมีบวก มันก็ต้องมีลบค่ะท่านประธาน คนที่จะติดการพนันกันมากขึ้นหรือเปล่า มันเกิดคำถามขึ้นมา คนจะติดยาเสพติดกันมากขึ้นไหม คนจะติดแอลกอฮอล์กันมากขึ้นไหม แล้วก็คนจะจนมากขึ้นไหม และที่สำคัญคือบ่อนการพนันเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันมีกันอยู่แล้ว มันจะมีมากขึ้นอีกหรือเปล่า ดังนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงเห็นด้วย กับการที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในญัตตินี้ว่าเราจำเป็นต้องศึกษาข้อดี ข้อเสีย ให้ชัดเจนว่าเราจะได้เงินมามากมายเพื่อมาช่วยชาติไหม ภาษีจะเยอะแค่ไหน หรือว่า มันอาจจะนำพาไปซึ่งเรื่องที่เรานึกไม่ถึงก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านประธานคะ วันนี้เห็นมีแต่คน เห็นด้วยเต็มไปหมดเลย แต่มันคงจะมีข้อเสีย ดังนั้นจึงขอฝากคณะกรรมาธิการนี้ว่าถ้าท่านได้ ศึกษา ขอให้ถามผู้รู้มากขึ้น แล้วก็มีโอกาสทำประชาพิจารณ์ได้กรุณาทำด้วยค่ะ เพราะพี่น้อง ประชาชนและสังคมนี้ยังมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอีกเยอะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ เรื่องหารือมี ๒ เรื่องนะคะ
เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจาก Page Facebook ของคุณสุวิทย์ ซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาย-กรีน บางพระ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งว่าเขาและเพื่อนนั้นในชีวิตประจำวันต้องข้ามถนนทาง หลวงสาย ๓๑๔ ตรงหน้าร้านสะดวกซื้อสาขาบ้านใหญ่ ปากทางถนนเกษมราษฏร์พัฒนา เพื่อขึ้นรถรับส่งของบริษัทไปทำงาน ซึ่งจุดนี้ไม่มีสะพานลอยคนข้าม และถนนสาย ๓๑๔ เป็นถนน ๘ เลน จึงเสี่ยงกับอันตรายเป็นอย่างมาก จึงอยากจะขอสะพานลอยกับกรมทางหลวง เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และถ้าให้ดีขอสะพานลอยนี้มีหลังคาด้วยนะคะ เพราะว่าถนน ๘ เลนมันก็ไกลหน่อย แดดฝนก็จะได้ช่วยประชาชนได้นะคะ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากคุณสุรพล พลอยน้ำเพชร นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลเกาะไร่ ว่าประชาชนที่สัญจรไปมาช่วงถนนสาย ฉช.๒๐๐๔ ระหว่าง กิโลเมตรที่ ๒๒+๕๐๐ ถึง ๑๔+๗๐๐ และกิโลเมตรที่ ๑๓+๖๐๐ ถึงกิโลเมตรที่ ๑๔+๑๐๐ ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับความเดือดร้อน ในตอนกลางคืน เนื่องจากว่าไม่มีไฟส่องสว่างค่ะ ทำให้มีความอันตรายเกิดขึ้นได้ ก็ขอ ไฟส่องสว่างจากทางหลวงชนบทด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธาน กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรดิฉันให้ความสำคัญมากนะคะ เมื่อสักไม่กี่เดือนก่อน กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรก็เข้ามายังสภาแห่งนี้ได้มานำเสนอ แล้วดิฉันก็ได้พูดไปเยอะเลย ที่พูดไปเยอะก็คือว่าทำให้ สส. ในสภาแห่งนี้ได้รู้จักกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมากขึ้น เพราะหลายคนบอกว่าไม่เคยได้ยินเลย ไม่เคยได้ยินเลย พี่น้องประชาชนหลายคนในพื้นที่ ที่ดิฉันไปสืบเสาะถามมาหลายคนก็ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้จักก็ไม่ได้ประโยชน์ ถูกไหม ทีนี้มีอยู่วันหนึ่งดิฉันไปประชุมกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ได้นำข้อมูลไปให้ท่านได้รู้จักกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรด้วย เพราะว่าท่านเพิ่งจะเข้ามารับหน้าที่ ดังนั้นจึงคิดว่าท่านคงไม่รู้เหมือนกัน พอท่านเห็นท่านก็ สนใจค่ะ สนใจก็ค่อนข้างจะหันไปถามทางผู้ที่ดูแลกองทุนอยู่ ก็ยังไม่ค่อยได้คำตอบอะไรกัน มากมาย ถามว่าตอนนั้นเราพูดเรื่องอะไรกัน เราพูดเรื่องของการเก็บค่าธรรมเนียม ท่านประธานคะ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมีหน้าที่ได้หลายอย่างมาก มีประโยชน์มาก ในมาตรา ๗ ของ พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนั้นบอกไว้ว่าจะรับจำนำก็ได้ รับซื้อก็ได้ จะสนับสนุนวัสดุทางการเกษตรก็ได้ จะช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนทางการเกษตร อะไรก็ได้เยอะแยะไปหมด มีอยู่ข้อหนึ่งที่บอก ดำเนินการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ให้กับพี่น้อง เกษตรกร คำนี้ละค่ะ ประโยคนี้ละค่ะที่น่าสนใจมาก ท่านสามารถทำได้เยอะ แต่ถามว่า ท่านได้ทำอะไรมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ที่ท่านตั้งกองทุนมาดูแล้วไม่ค่อยจะมี เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญและมาพูดจากันตอนนี้นะคะ ทีนี้กองทุนสงเคราะห์ เกษตรกรที่ดิฉันอยากจะมุ่งเน้นไปก็คือในอำนาจหน้าที่ของท่านตามมาตรา ๙ ของกองทุน สงเคราะห์เกษตรกรที่มีอำนาจให้ท่านสามารถเก็บค่าธรรมเนียม ท่านประธานลองคิดดูนะคะ พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ที่ดิฉันพูดในสภาหลายครั้งเลย ปลากะพงนำเข้าจาก มาเลเซียราคาต่ำกว่า ๒๐ บาท ทุกชนิด ทุกระดับของการขายปลากะพง ๒๐ บาทตลอด ยกตัวอย่างสมมุติว่าปลาราคา ๑๓๐ บาท ปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียก็จะเป็น ๑๑๐ บาท ต่ำกว่า ๒๐ บาท ถามว่าเราสามารถที่จะใช้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยรัฐมนตรีได้รับอนุมัติจาก ครม. เพื่อที่จะเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้า ๒๐ บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อที่จะให้ราคาของปลากะพงนำเข้ามานั้นมาราคาเท่ากับปลากะพงบ้านเรา เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรบ้านเรา ไม่อย่างนั้นถามว่าพี่น้องเกษตรกรเขาจะสู้ได้อย่างไร ลองคิดดูเวลาปลากะพงนำเข้ามา ทางกรมประมงต้องตรวจสอบ ดีอยู่ตอนนี้เพิ่มขึ้นการตรวจ สารเคมี ตรวจเชื้อยาปฏิชีวนะอะไรก็แล้วแต่ เพิ่มจาก ๒ เปอร์เซ็นต์เป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ถือว่าดี แต่ว่ามันไม่ใช่การช่วยแค่นั้น มันต้องช่วยอย่างอื่นด้วยไม่อย่างนั้นจะสู้เขาได้อย่างไร ดังนั้น จึงขอถามผู้ชี้แจงว่าการเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียทำได้ไหม และจะทำ อย่างไร ท่านต้องตอบนะคะ ไม่อย่างนั้นพี่น้องเกษตรกรเขารอคำตอบอยู่ การจัดหาประโยชน์ อย่างอื่นอีกนะคะ ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่มีคุณภาพเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาที่ เป็นธรรมท่านก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นในการที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไม่ว่าเขาจะ เป็นอยู่ด้านใดก็แล้วแต่ท่านควรจะลงไปช่วยมากกว่านี้ ดิฉันดูในหน้า ๑๘ ของเล่มนี้ ดูแล้วจะ เจอว่าโครงการที่ท่านจัดสรรเงินให้จะเป็นเรื่องของปศุสัตว์เสียส่วนใหญ่ เพราะว่ามีเรื่องของ แพะ เรื่องของโคถึง ๓๐ ล้านบาท มีกุ้งในโครงการเสริมสภาพคล่องกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ๕๐๐ ล้านบาท อันนั้นดี แต่ก็อาจจะยังไม่ได้ทั่วถึงก็ไม่เป็นอะไร แต่ปศุสัตว์ ๓๐ ล้านบาท แต่พอมาดูปลาท่านประธาน ปลาดิฉันนับแล้ว ๕ ล้านบาท คนเลี้ยงปลามันเยอะมาก อย่างในพื้นที่ของดิฉันเลี้ยงปลาเยอะทีเดียว ปลารวมที่มักจะพูดกันปลาเบญจพรรณก็คือ ปลารวม ปลากะพงเยอะ แต่เขาไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือ แล้วการเข้าถึงของเขามันยาก หรือเปล่าถึงได้แค่ ๕ ล้านบาท ถูกไหมคะ ทั้งประเทศแค่ ๕ ล้านบาท ไม่ได้พูดว่าจังหวัด ฉะเชิงเทรา ทั้งประเทศแค่ ๕ ล้านบาท เพราะฉะนั้นจึงอยากจะให้ทางกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกรนั้นได้ทำงานมากขึ้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จี้ลงไปเยอะ ๆ ให้ท่านธรรมนัสลงไปจี้กับกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้มากขึ้น ๆ ให้คนรู้จักมากขึ้น ให้คน เข้าถึงมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรมากขึ้น สรุปนะคะ อยากจะให้ท่านได้ตอบ มาว่าการเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าและส่งออกที่รัฐมนตรีไปขออนุมัติกับ ครม. ท่านจะทำ ได้ไหม เพราะในประวัติศาสตร์ของท่าน ท่านทำแค่ครั้งสองครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ไม่เคยทำ อีกเลย แล้วจะมีเงินเข้ากองทุนได้อย่างไร เงินจากกองทุนตั้งแต่ต้นเลยที่ท่านเคยมีมามันก็ ร่อยหรอเพราะท่านไม่เก็บเข้าไป มันร่อยหรอไปเรื่อย ๆ แล้วท่านจะช่วยเหลือพี่น้อง ประชาชนได้อย่างไร นี่คือหนทางหนึ่งที่ท่านจะได้เงินเข้าสู่กองทุนและช่วยเหลือพี่น้อง เกษตรกรไปพร้อมกัน ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทยค่ะ ก็คงอยากจะได้คำตอบเรื่องเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ท่านผู้ชี้แจงคะ อยากจะรู้ว่ามันทำ ได้ไหม เพราะว่าไม่รู้จะหาทางออกให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงเขาอย่างไร เพราะเขา โดนจากสินค้านำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งไปห้ามไม่ได้นะคะท่านประธาน การนำเข้าปลากะพง จากมาเลเซียเราไปห้ามเขาไม่ได้ เมื่อห้ามไม่ได้แล้วราคาต่ำกว่าทุก ๆ ครั้งที่ ๒๐ บาท ต่อกิโลกรัม แล้วเราจะหาทางออกช่วยเขาอย่างไร ในเมื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรก็ไม่ได้ ช่วยในปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ให้กับพี่น้องผู้เลี้ยงปลากะพง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าอาหาร เขาก็หนักอยู่ ไฟฟ้าก็หนักอยู่ เพราะฉะนั้นต้องตอบเรื่องนี้ให้ได้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ดิฉันดีใจที่ญัตติเรื่องเกี่ยวกับ น้ำบาดาลก็ดี หรือว่าน้ำประปาก็ดี ได้เข้าสู่สภา และวันนี้ สส. ของเราก็พูดทั้งเรื่องน้ำบาดาล น้ำประปาไหลเบา น้ำประปาภูมิภาค ประปาหมู่บ้าน เราพูดกันเยอะเลยทีเดียว ขอภาพด้วยนะคะ
ท่านประธานที่เคารพคะ อันนี้เป็น น้ำประปา หมู่บ้าน ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้คุณภาพเลย อันตรายต่อสุขภาพมาก พี่น้องประชาชน ส่งภาพมาให้ดิฉันแล้วก็บอกว่าซักเสื้อผ้าไม่ได้เลย ล้างจานก็แทบไม่ได้ ดิฉันก็บอกว่าอย่างนี้ ล้างพื้นบ้านยังไม่ได้เลย พี่น้องประชาชนจำเป็นต้องรองน้ำเอาไว้ แล้วเขาส่งมาให้ดิฉันดูว่า เขาทำแบบนี้และต้องทิ้งให้ตกตะกอน แล้วน้ำที่เขารองอยู่ในถังใช้ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นเอง อีกครึ่งหนึ่งก็ต้องทิ้งไปเพราะว่ามันตกตะกอนแบบนี้ มันสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ๆ สำหรับ พี่น้องประชาชน เพราะว่าเสียค่าน้ำที่ทิ้งไปก็ดี
ภาพต่อไป คุณป้าแกรองน้ำไว้แล้วน้ำหน้าตาแบบนี้ เราจะต้องมานั่ง เสียค่ากรองน้ำซึ่งราคาประมาณการก็ ๒,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม น่าเห็นใจพี่น้องประชาชนมาก ท่านประธานคะ ดิฉันอยากจะพูดถึงเรื่องว่าเราเป็นห่วงว่า ปรากฏการณ์ El Nino นั้นมันทุบสถิติแล้วว่าตั้งแต่มกราคมถึงกันยายนปีนี้ เปรียบเทียบกัน ทุกเดือนเลย ในรอบ ๑๗๔ ปีที่ร้อนที่สุด ทุกเดือนเลยร้อนที่สุด แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ประปาหมู่บ้านจะต้องสูบน้ำจากคลอง อันนี้ที่ฉะเชิงเทราเป็นตัวอย่างแล้วกัน เขาสูบน้ำ จากคลองขึ้นไปแล้วก็ใช้ ท่านประธานรู้ไหมคะว่าประปาหมู่บ้านในประเทศไทยมี ๖๙,๙๔๑ แห่งด้วยกัน เยอะมากขนาดนั้น แล้วคิดว่าแต่ละที่ใสแจ๋วกันไหมคะ ไม่เลยวันนี้ สส. เราพูดกันตั้งเยอะ ทุกคนล้วนแล้วแต่โชว์น้ำดำทั้งนั้น ทีนี้มันคืออะไร มันคือปัญหาว่า ถ้าน้ำดำแบบนี้อันตรายมาก เราอาจจะเจอว่าพี่น้องชาวนาทำนาแล้วฉีดยาคุมหญ้า ฉีดยาฆ่าหญ้า ฉีดยาฆ่าแมลง สารเคมีปนเปื้อนต่าง ๆ น้ำมัน เศษอาหาร ไขมัน ลงไปในน้ำ แล้วยังจะมีโลหะหนักอยู่ในน้ำอีกที่เราพบเจอกันได้ สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สังกะสี โครเมียม นิกเกิล แมงกานีส สารอินทรีย์จากสบู่หรือว่าผงซักฟอกเต็มไปหมดอยู่ในน้ำ แล้วก็สูบขึ้นมา ถ้าบริหารจัดการไม่ได้เสร็จแน่ท่านประธาน เพราะฉะนั้นเรามาพูดกัน ถึงเรื่องนี้ดีกว่าว่าเราควรจะจัดการอย่างไร และใครควรมีส่วนร่วมบ้าง การจัดการอย่างไร แน่นอนต้องมีผู้ดำเนินการ และผู้ดำเนินการนั้นก็ควรจะต้องมีองค์ความรู้ ถูกไหมคะ แล้วก็ ต้องมีความเข้าใจในการที่จะผลิตน้ำนั้นขึ้นมา มีการบำรุงรักษา มีการตรวจสอบ ดิฉัน อยากจะชวนคิดอย่างนี้ว่าแน่นอนท้องถิ่นจัดการ มีผู้ใหญ่บ้าน มี ส.อบต. ในการดูแล ควรจะมีหน่วยตรวจสอบ อยากเชิญชวนว่าจำเป็นที่สาธารณสุขต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น มีหน้าที่อะไร เขาบอกว่ามีหน้าที่และความรับผิดชอบสนับสนุน แก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุข ตรวจ วิเคราะห์ เพื่อประเมินความเสี่ยงและเตือนภัยทางสุขภาพ ท่านประธานที่เคารพคะ เราจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังในการมาช่วยเหลือกันแล้ว ไม่ว่าจะบอกว่าสาธารณสุขก็ดี หรือว่าลองใช้นักวิทยาศาสตร์ด้วยสิคะ อย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เขาก็มีนักวิทยาศาสตร์ มีมหาวิทยาลัย ต้องเอามาช่วยแล้ว เพราะว่า ๖๐,๐๐๐ กว่าแห่ง แน่นอนเป็นหมื่น ๆ แห่งที่จะต้องน้ำดำและมีอันตรายแบบนี้ จำเป็น ที่สภาแห่งนี้ต้องขอความช่วยเหลือกันไป รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือลงไปยังหน่วยงาน ที่มีความเกี่ยวข้อง คุ้มครองผู้บริโภคก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วย เพราะว่าพี่น้องประชาชน จ่ายเงินค่าน้ำถึงแม้เป็นน้ำประปาหมู่บ้านก็ตาม ก็อาจจะจ่าย ๖ บาท ๗ บาท ๘ บาท ๑๐ บาท แล้วอย่างไรคะ ได้คุณภาพน้ำแบบนี้ เราจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้อง ประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นขอขอบคุณทั้ง ๓ ญัตติที่เข้ามาในวันนี้ แล้วขอขอบคุณท่านประธานที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้พูดกันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะยกระดับ ชีวิตค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันได้อ่านรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณของกรมบัญชีกลางนี้นะคะ แล้วพบว่าประเด็นที่ดิฉันอยากจะพูดถึงก็คือว่าพบว่ามีเงิน เรียกว่ามีเงินเหลือหน่วยงาน ต่าง ๆ นี้นะคะ รายละเอียดรายจ่ายเงินงบประมาณประจำปี ๒๕๖๖ จะมีอยู่ช่องหนึ่ง จากเล่มนี้นะคะท่านประธาน จะมีอยู่ช่องหนึ่งจะพูดถึงเรื่องรายจ่ายจริงและเงินกันไว้ เบิกเหลื่อมปีที่ต่ำกว่างบประมาณรายจ่ายถึง ๑๑,๓๕๙ ล้านบาท ซึ่งถือว่ามันเยอะมากเลย ทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นงบกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงนั้น กระทรวงนี้ ไปจนถึง เรื่องของจังหวัดต่าง ๆ อันนี้ดิฉันสนใจตรงนี้มาก ถามว่าทำไมสนใจ ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันมีเรื่องที่อยากจะนำมาโยงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็คือว่า ในพื้นที่ของดิฉันเองมีความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน ซึ่งถ้าเงินเหลือแบบนี้ถามว่าทำไมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ขออนุญาตนำเสนอภาพแล้วก็ปรึกษาทาง กรมบัญชีกลางเลยนะคะว่า งานนี้มันจะไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหนกันแน่ เพราะมันซับซ้อน จนกระทั่งดิฉันเองก็ต้องมาถามในที่ประชุมสภาแห่งนี้ ขอภาพประกอบเลยค่ะ
ท่านคะ มันเป็นเรื่องของสะพาน ข้ามคลองหลวงแพ่งที่ใกล้ถล่มอันตราย ท่านรู้ไหมคะว่าสะพานแห่งนี้มันเป็นสะพาน ข้ามคลองหลวงแพ่ง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกันระหว่างเขตลาดกระบังกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคลองนี้เป็นคลองชลประทาน แล้วกรมชลประทานก็ได้ยกให้ กทม. ปรากฏว่าสะพานนี้ สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ โดยเอกชน แล้วเขาก็ยกให้เป็นสาธารณะแล้ว อย่างนั้น อย่างนี้ ประชาชนก็ใช้ข้ามผ่านไปมาตลอด ปรากฏว่าเมื่อปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ดูสะพานสิคะ ดูภาพ ในสะพานมันแยกขนาดนี้แล้ว ดูภาพต่อไปเรื่อย ๆ นะคะ ประชาชนเขาก็ร้อง เพราะว่ามีคน ใช้ระหว่างกรุงเทพมหานครกับฉะเชิงเทราอยู่ตลอดเวลา ปรากฏว่า กทม. เขตลาดกระบัง ก็มาปิดประกาศไม่ให้ผ่านอีกต่อไปแล้ว เกิดความเดือดร้อนกันแล้ว ๑. ข้ามไม่ได้ ๒. คนที่เคย ข้ามได้ปรากฏว่าจำเป็นต้องไปขอข้ามผ่านทางอื่น ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่านทาง ปรากฏว่าการผ่านทางเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง ๓๕๐ บาทต่อรถยนต์ ๑ คันต่อเดือน จ่ายล่วงหน้า ๖ เดือน จ่ายไปแล้ว ๖ ครั้ง อย่างนั้น อย่างนี้ คนละ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาทต่อเดือน เยอะไปหมดเลย ทีนี้ถามว่างานนี้เป็นงานใคร ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ ทำไมต้องมาพูดในสภา แห่งนี้ ท่านประธาน ดิฉันอยากจะบ้าตายกับเรื่องพวกนี้ ดิฉันร้องเรียนไปทั่วเลย ภาพต่อไป ดิฉันไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ กทม. ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขอให้ท่านรับผิดชอบว่าท่าน มีงบประมาณไหม มาสร้างสะพานอันนี้เถอะ ท่านปิดประกาศไม่ให้คนผ่านไปมา เขาก็เลย ต้องไปเสียเงิน แล้วเขาข้ามไม่ได้ เขาเดือดร้อนอย่างนั้น อย่างนี้ ภาพต่อไป EEC เขตพัฒนา พื้นที่พิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งในนั้น ดิฉันก็เชิญไปดูอีกเหมือนกัน EEC ควรจะไปประสานงานกับ กทม. หรือจังหวัดฉะเชิงเทราให้มันเกิดเรื่องเกิดราว ให้มันเป็นงบประมาณขึ้นมาแก้ปัญหา ปรากฏไม่เลยค่ะ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น หลายหน่วยงานที่ดิฉันพูดถึงนี้ อยากจะถามกรมบัญชีกลางว่าจริง ๆ แล้วเกี่ยงกันไป ก็เกี่ยงกันมา แล้วเงินนี้มันเหลือตั้ง ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท แล้วทราบไหมคะว่าเวลาดิฉันอ่าน ไปเรื่อย ๆ แล้วเจออะไร งบกลางก็เหลือ สามารถใช้ในแง่ฉุกเฉิน สามารถใช้ในแง่เดือดร้อน เร่งด่วนได้เลย และดูไปในแง่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพูดอยู่เสมอว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขา เพราะว่าเขาไม่มีงบประมาณ น่าจะเป็นของ กทม. เพราะว่าทางกรมชลประทานได้ยกให้ทาง กทม. ไปแล้ว กทม. ดูแล้วเหลือ ๐ บาท ปรากฏว่าไม่มีใครทำเลย ๓ ปี ๔ ปีผ่านไป พี่น้องประชาชนเดือดร้อนแล้วเดือดร้อนเล่า เสียเงินเสียทองไม่รู้เท่าไร ยังไม่มีใครรับผิดชอบ กรมบัญชีกลางคะ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเงินเหลือจ่ายที่อยู่ใน ๑๑,๐๐๐ ล้านบาทนี้ เหลือ ๖๖ ล้านบาท มากที่สุดในประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้น สะพานนี้แค่ ๒๖ ล้านบาท ท่านประธานที่เคารพคะ เปรียบเสมือนท่านมีเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท อยู่ในมือ ดิฉันไปขอท่าน ๒๖ บาท มันจะเดือดร้อนอะไรนักหนา ทำไมราชการถึงไม่ดูแลพี่น้องประชาชน แล้วกรมบัญชีกลางตอบดิฉันหน่อยสิว่าเรื่องนี้ มันควรอยู่ในหน่วยงานไหน กรมชลประทานก็สร้างสะพานข้ามคลองหลวงแพ่ง หรือมันจะ กทม. ที่เป็นคนที่ต้องมาดูแลปิดประกาศเพราะเขายกให้แล้ว เงินก็หมดแล้ว ๐ บาท ฉะเชิงเทราเงินก็มีแต่ไม่ทำ ใครรับผิดชอบบ้าง อยากจะรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะแก้ไขปัญหา ของพี่น้องประชาชนได้ ท่านประธานดิฉันหมดปัญญาจริง ๆ ดิฉันพูดหารือก็แล้ว EEC เข้ามา ดิฉันก็พูดเรื่องนี้แล้ว ครั้งนี้อีกเป็นครั้งที่ดิฉันเริ่มโมโหแล้ว ท่านประธานคะ เพราะฉะนั้นวันนี้ อยากจะถามกรมบัญชีกลางในฐานะที่ดูแลบัญชีว่ามันอยู่กับใครกันแน่ ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอเรียนเสนอถึงท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยหนังสือ ฉบับนี้ ให้ท่านใช้งบกลางในกรณีเร่งด่วนและฉุกเฉินให้ได้ ๒๖ ล้านบาทเท่านั้น ต้องดูแล พี่น้องประชาชน ปล่อยแบบนี้อีกไม่ได้นะคะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานที่เคารพค่ะ
ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตเรียนถามกรมบัญชีกลางว่าในกรณีที่งบกลาง เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน อันนี้มันเป็นเรื่องของสะพานที่มันจะถล่ม แล้วถ้าเกิดคนที่ลักลอบใช้อยู่ ลักลอบใช้อยู่ทุกวันเลย มันเกิดอันตรายขึ้นค่ะ เกิดถล่มลงมา มันเสียชีวิต ทรัพย์สิน เสียชื่อเสียง เสียหมดเลย ใช้งบกลางได้ไหมคะ เพราะ กทม. งบเหลือมันก็เหลือ ๐ บาทอยู่ ฉะนั้นใช้งบกลางเป็นไปได้ไหมคะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง เขต ๑ จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย ท่านประธานค่ะ ดิฉัน ขอหารือ ๒ เรื่องนะคะ ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรานี้มีปัญหาเรื่องของทางม้าลาย ซึ่งเราพบเป็นประจำที่คนข้ามทางม้าลายแต่รถไม่หยุดให้
มีอยู่ ๓ จุดด้วยกันค่ะท่านประธาน อยากที่จะให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนข้ามแบบอัจฉริยะ อันที่ ๑ คือบริเวณทางม้าลาย หน้าพระอุโบสถ วัดหลวงพ่อโสธร มีคนข้ามถนนไปมามากมาย เพราะนักท่องเที่ยวเยอะ อันที่ ๒ บริเวณทางม้าลายหน้าโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ อันที่ ๓ บริเวณทางม้าลาย หน้าโรงเรียนดัดดรุณี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา ทั้งหมดนี้มีคนข้ามถนนเยอะมาก ทีนี้เราจะเจอว่ารถไม่ยอมหยุดให้ ในขณะเดียวกันก็พบว่าคนก็ข้ามถนนประปรายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อเป็นความยุติธรรมนะคะ อยากที่จะให้มีสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะเสียเลย เพื่อที่ว่าคนหยุดให้รถแล่นผ่าน รถหยุดให้คนข้ามถนนได้ ขอให้ช่วยตรงนี้ด้วยค่ะ
เรื่องต่อไปนะคะ ชาวบ้านตำบลบางเตย ตำบลหนามแดง ตำบลคลองเปรง ตำบลบางกะไห ตำบลโสธร ตำบลบางพระ ๖ ตำบลด้วยกันของอำเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้คลองบึงหนามแดง บางพระเป็นแหล่งน้ำสายหลักเลย ในการทำการเกษตรมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ มีประชากรที่เดือดร้อนประมาณ ๘๐,๐๐๐ คนเลยทีเดียว ถามว่าเขา ต้องการอะไร ในหน้าแล้งแล้งมาก ๆ น้ำไม่มีเลยนะคะ ดังในภาพจะเห็นว่าเขาต้องมานั่งทำ ทดน้ำเป็นชั่วคราวอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเกิดทำประตูน้ำชัดเจนเลยนะคะ นี่ค่ะภาพ ประตูระบายน้ำที่ชัดเจนไปเลยจะมีการกักเก็บน้ำได้ดีมาก เพราะว่าน้ำไหลไปสู่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากพื้นที่มันสูงกว่าจังหวัดสมุทรปราการ ในขณะเดียวกันไหลลงทะเลไปหมด ดังนั้น ดิฉันจึงขอให้สร้างประตูน้ำด้วยการใช้งบ ดิฉันไปเจอกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ท่านก็รับปากว่าท่านจะใช้งบประมาณสร้าง แต่ว่าดิฉันขอใช้พื้นที่ ตรงนี้ตอกย้ำเรื่องนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ขอให้เรื่องนี้จากสภาส่งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ได้ประตูน้ำตัวนี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานที่เคารพ ดิฉันอ่านข้อมูลของรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติบริหารหนี้ สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ที่กระทรวงการคลัง เข้ามารายงานอยู่ พบสิ่งที่น่าสนใจดิฉันอยากจะนำวาระนี้เข้ามา มาผนวกกับความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนค่ะ อ่านดูแล้วก็เจอะเจอว่ารายงานนี้ก็แน่นอน มันก็เป็นหนี้สาธารณะ ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ วิทยุการบินแห่งประเทศไทย องค์การคลังสินค้า องค์การแทรกแซงตลาด ต่าง ๆ เราอ่านกันอยู่ ดิฉันสนใจเรื่องการประปาส่วนภูมิภาคมาก ๆ อยากนำปัญหาของ พี่น้องประชาชนมาบอกกล่าวกับท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่มารายงาน ท่านประธานคะ ปัญหาประปามีเยอะมากทีเดียว แล้วก็มีผู้คนที่ไม่มีประปาจะใช้เยอะมากในหลาย ๆ พื้นที่ เราทราบกันอยู่ แต่ก็ดูแล้วในรายงานนี้มีการกู้เงินค่ะ กู้เงินเพื่อไปขยายเขตประปา ในจังหวัดอุบลราชธานี แล้วก็จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีนั้นก็กู้เงินกันไป ๖๐๐ ล้านบาท ส่วนจังหวัดมหาสารคามก็กู้เงิน ๙๐๐ กว่าล้านบาท ไปทำเรื่องประปา คือขยายเขตประปา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะคะ การที่เรามีประปาใช้นี้ถือว่าเป็นความสุขมากเลยทีเดียว แต่อยากจะ บอกว่ามีพี่น้องประชาชนบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดฉะเชิงเทราที่ดิฉันเป็น สส. อยู่นั้น เขาไม่มีประปาใช้ อยากจะบอกว่าเขาไม่มีประปาแบบนี้ มันสมควรที่จะกู้เงินไป เพื่อช่วยเหลือเขาไหม ดิฉันอ่านไปแล้วก็เจอะเจอว่าทำไมการประปาส่วนภูมิภาคมักจะตอบ กับพี่น้องประชาชนว่าไม่มีงบประมาณทุกทีเลย ถามทีไรไม่เคยมีงบประมาณให้พี่น้อง ประชาชน นั่นหมายความว่าประปาส่วนภูมิภาคในสาขาต่าง ๆ ในจังหวัดต่าง ๆ เขามี งบประมาณน้อย ส่วนกลางไม่ส่งมาให้เขา ไม่ส่งเพราะอะไร เพราะประปาเองก็มีเงินเจียดมาน้อย ด้วยหรือเปล่า พอถามไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกับการประปา จังหวัดฉะเชิงเทรานำเสนอ งบประมาณไปไหน ไปยังสำนักงบประมาณ ส่วนกลางเลย สำนักงบประมาณตอบกลับมาว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ให้ ดิฉันงงเลยว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติมาเกี่ยวอะไร อ๋อ มันมาเกี่ยวกับ พ.ร.บ มาตรา ๙ ท่านประธาน มาตรา ๙ ของ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ บอกว่ารัฐวิสาหกิจถ้าคิดจะดำเนินกิจการใด ๆ ก็สามารถกู้เงินได้ แล้วกู้เงินนี้จะต้องเสนอแผนงานต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ แต่ถ้าเงินนั้นมันเกิน ๕๐ ล้านบาท ก็ต้องผ่าน ครม. ให้ความเห็นชอบด้วย ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าอะไร หมายความว่าการประปาไม่ค่อยเสนองานไปยังสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ เขาจึงไม่เห็นชอบ แล้วก็จึงไม่มีเงิน พอมาดูในรายงาน ฉบับนี้ ก็มีจังหวัดอุบลราชธานี ๖๐๐ กว่าล้านบาท มีจังหวัดมหาสารคาม ๙๐๐ กว่าล้านบาท แสดงว่าทำได้นี่ แล้วทำไมไม่ทำกันล่ะ ทำไมปล่อยให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนแบบนี้ ดังภาพที่อยากจะนำเสนอ
ท่านประธานดูนะคะ ดิฉันฉายภาพนี้ บ่อยครั้งมาก เพราะว่าพี่น้องประชาชนในเขตของดิฉัน ตำบลคลองเปรง นี่ภาพจากประปา หมู่บ้าน เขาไม่มีประปาภูมิภาค เขาใช้น้ำดำแบบนี้ ภาพต่อไปค่ะ หมู่อื่นก็เป็นดำ ๆ แบบนี้ ขอร้องกันแล้วตอน EEC ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราเป็น ๑ ใน EEC อยู่ในการพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ขอร้องแล้ว ยื่นหนังสือแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย EEC ก็ยัง EEC เฉย ๆ อยู่นั่น เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนก็เดือดร้อน ดิฉันจึงต้องใช้เวทีแห่งนี้ในการช่วยเหลือ พี่น้องประชาชน น้ำดำขอย้อนกลับไปที่น้ำดำ ภาพเดิมภาพแรกค่ะ ท่านประธานลองคิดดูนะ ว่าน้ำดำแบบนั้น แล้วอยู่กันแบบนี้ เราสมควรที่จะยอมเป็นหนี้สาธารณะไหม ยอมที่จะ ให้การประปาเขากู้เงินไหม เพื่อเอามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ท่านทราบไหม มีหมู่ที่ ๒ ตำบลคลองเปรง อยู่ติดกับสมุทรปราการ ห่างแค่เพียงสะพาน ๕๐ เมตรกระมัง ๑๐๐ เมตร กระมัง เขาใช้ประปานครหลวงใสแจ๋วเลย แต่พี่น้องประชาชนในตำบลคลองเปรง กลับไม่มีประปาภูมิภาค นั่นหมายความว่าลงทุนเท่าไร ไม่เท่าไรเลย สอบถามทางการประปา นครหลวงแล้ว ยินดีที่จะปล่อยน้ำมาด้วย แต่ไม่รู้จะวางท่ออย่างไร เพราะไม่มีงบประมาณ ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่าขอร้องว่าหน่วยงาน อบต. หรือประชาชนร้องมาที่ อบต. อบต. ร้องมาที่การประปาส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาคร่วมกับจังหวัดร่วมกันร้องไปยัง สำนักงบประมาณ ร้องไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้เขาเห็นชอบ แล้วเรื่องมันจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ทำ มันก็ไม่มีเงินกันอยู่นั่น ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่า ไม่ว่าพี่น้องตำบลคลองเปรง อำเภอเมือง ตำบลบางเตย ตำบลหนามแดง ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เขายัง ไม่มีประปา ท่านประธาน นี่คือเขตที่ดิฉันเป็น สส. อยู่ แล้วมีความเดือดร้อนมาก นี่คือเขตที่ดิฉันเป็น สส. อยู่และมีความเดือดร้อนมาก จึงอยากขอสรุปว่าขอให้หน่วยงานนั้น ได้เข้าใจในกฎหมายว่าต้องร้องไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงให้ ความเห็นชอบ และการที่ดิฉันบอกมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย ไม่ต้องผ่าน ครม. ด้วย อยากใช้เหตุการณ์นี้เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อยากให้สำนักงบประมาณได้ยิน อยากให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ยินเสียงจากพี่น้องประชาชน ดัง ๆ โดยดิฉันเป็นตัวแทน ขอให้ท่านเห็นใจ เมื่อเขาทำเรื่องไปเห็นชอบเถอะ แล้วให้มันเกิด งานขึ้นมา จะเป็นหนี้สักเท่าไรก็ต้องทำเพื่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ๑๑๘ แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย
หารือเรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากคุณสำเริง ผูกโอสถ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๘ ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าหลังจากที่ถนนวัดดอนทอง- วัดเซนต์ปอล ซอย ๓ ได้รับการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีต และทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ได้มาตั้งแนวเสาไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ แล้ว ขณะนี้จะเข้าเดือนที่ ๕ แล้ว เสาไฟฟ้าต้นเก่ายังคงอยู่ แล้วก็ไม่ได้ถูกรื้อถอนออก ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความ เดือดร้อน เกรงว่าจะเกิดอันตราย อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เพราะมีเสาไฟฟ้าขวางอยู่ ทางผู้ใหญ่ สำเริงก็ร้องเรียนมายังดิฉันให้ช่วยนำเรื่องนี้มาหารือกับท่านประธานสภาขอให้การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคได้ช่วยเข้ามารื้อถอนเสาไฟฟ้าต้นเก่าออก และทำพื้นตรงที่เสาถอนออกนั้น ให้เรียบร้อย เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการสัญจรด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๒ คุณมณฑล ฤทธิบัณฑิต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แจ้งมาว่าถนนเลียบคลองส่งน้ำของกรมชลประทานยังลาดยางไม่ครบ ตลอดเส้นทาง เหลือเพียงไม่ถึง ๑ กิโลเมตร คือช่วงระหว่างบริเวณหมู่ ๔ ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เชื่อมหมู่ ๒ ตำบลดอนทราย อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัด ฉะเชิงเทรา ถนนสายนี้ประชาชนใช้สัญจรไปมามากเลย ปัญหาอยู่ที่ว่าในหน้าแล้งฝุ่นเยอะ ในหน้าฝนถนนก็เละ ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบมาดำเนินการด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๓ มีชาวบ้านหลายคนเลยที่ร้องเรียนดิฉันมาว่าภายในตำบลบางกะไห อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปัญหาขยะ คือไม่มีถังขยะแล้วก็ไม่มีรถขยะมาเก็บขยะนั้น ทำให้ชาวบ้านต้องหิ้วขยะของตัวเองออกไปทิ้งที่อื่นที่ตำบลอื่นตำบลใกล้เคียง หรือไม่ก็ทิ้ง ลงคลองบ้าง หรือบางบ้านใช้วิธีเผา เผาทำลาย เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีระบบจัดการขยะจาก อบต. ประชาชนใช้วิธีนี้จึงเกิดมลพิษและ PM2.5 ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ
เรื่องหารือเรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียน จาก คุณสิทธิพงษ์ สงวนวัฒนา ว่าตัวเขาและประชาชนในหมู่ที่ ๒ ตำบลคลองอุดมชลจร จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๒๘๖ หลังคาเรือน ๗๐๖ คน ต้องทนใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งผลิตมาจากน้ำประปาบาดาล ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มาทำการขุดเจาะ ซึ่งการขุดเจาะในครั้งนั้นก็ขุดเจาะ ๓ บ่อ ปรากฏว่าน้ำเค็มทั้ง ๓ บ่อ บ่อที่ ๑ น้ำเค็ม บ่อที่ ๒ น้ำเค็มปานกลาง บ่อที่ ๓ น้ำเค็มอย่างมาก โดยทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็แนะนำว่า ให้ใช้น้ำบ่อที่เค็มน้อยที่สุดผลิตประปาหมู่บ้านไปก่อน แต่ปัจจุบันประชาชนในหมู่ที่ ๒ ไม่สามารถทนได้อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าเค็มมากเหลือเกิน จึงให้ดิฉันมาหารือกับท่านประธาน เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อให้มาช่วยตรวจสอบ ควบคุมน้ำบาดาลนี้ให้มีความสามารถในการที่จะช่วยให้น้ำอุปโภคบริโภคใช้ได้ต่อไปค่ะ
เรื่องที่ ๒ ไฟฟ้าดับบ่อยเลยค่ะ ไฟฟ้าตกด้วยนะคะ ต้องการขยายเขตไฟฟ้า ในอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณนพดล ชื่นอุทัย ท่านรองนายก อบต. คลองนครเนื่องเขต ก็แจ้งว่า หมู่ที่ ๑๖ ตำบลคลองนครเนื่องเขต ซอยสวนวรลักษณ์ ขอขยายเขตไฟฟ้า เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้มานาน ๒๐ ปีแล้ว แล้วก็ยังมีพื้นที่อื่นอีกนะคะ หมู่ที่ ๖ เชื่อมหมู่ที่ ๗ ตำบลบางแก้ว ขอขยายเขตไฟฟ้า หมู่ที่ ๖ ตำบลบางขวัญ ซอย ๒๓/๑ ขอขยายเขตไฟฟ้า หมู่ที่ ๒ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองหลวงแพ่ง ไฟฟ้าดับบ่อยและนานมาก หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลคลองอุดมชลจร ไฟฟ้าตกเป็นประจำ หมู่ที่ ๑๒ เชื่อมหมู่ที่ ๑๑ ถนนเลียบทางรถไฟตำบลท่าไข่ ไฟฟ้าตกเป็นประจำ ดิฉันขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้ามาแก้ไขด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๓ ถนนในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ไฟฟ้าส่องสว่างดับ บนถนน ๒ เส้นทางอยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ. ฉะเชิงเทรา สายที่ ๑ สาย ๓๐๑๔ หรือถนน รพช. อันนี้ดับแล้วดับเล่า หารือเป็นประจำก็ยังดับอยู่ เส้นที่ ๒ ต้อง Check นะคะว่าเป็นถนนสายแพรกบางหมูทางไปวัดหนามแดง ตำบลหนามแดง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นของ อบจ. ฉะเชิงเทราหรือไม่ ซึ่งพี่น้องประชาชนก็บ่นว่า สัญจรไปมาลำบาก เพราะว่ามืดมาก ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเห็นด้วยแล้วก็ขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ที่ได้มีเสนอเข้ามาถึง ๕ ร่างด้วยกัน เห็นด้วยกับการแก้ไข แล้วก็เห็นใจพี่น้องชาวประมง ดิฉันไปเยี่ยมพี่น้องชาวประมงจังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรีมา ได้เจอะเจอกับพี่น้องชาวประมงที่เดือดร้อนมาก ๆ จาก พ.ร.ก. การประมง ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนะคะ เจอะเจอว่าบางเจ้าถูกจับ เรือถูกล็อกอยู่ ๕ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ แล้วก็เสียค่าปรับไป ๒ ล้านกว่าบาท จนกระทั่งเรือผุเขาก็มาร้อง ดิฉันไปในฐานะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ไปเยี่ยมและที่เห็นอกเห็นใจมาก สะเทือนใจมาก ก็คือมีอยู่เจ้าหนึ่งค่ะจังหวัดตราด ชื่อว่าป้าเต็งค่ะ ป้าเต็งเดือดร้อนมาก มีเรือลำเดียวเท่านั้นเอง แล้วแกก็ทำผิด ซึ่งแกก็ไม่รู้ว่าใครทำผิดอะไร แกก็บอกนะคะ แล้วแกก็ถูกปรับ ๗๐๐,๐๐๐ บาท ไม่มีเงินให้ สามีก็เครียดเป็นเส้นเลือดสมองแตก แล้วก็นอนติดเตียง เพราะฉะนั้นไม่มีรายได้ นี่เราพบเจอปัญหา ดีแล้วค่ะ ที่เรามาแก้ไขกัน เราแก้ไขอะไรกัน เราแก้ไขนิยาม ประมงพื้นบ้าน เราแก้ไขนิยาม ประมงพาณิชย์ แล้วเรา ก็แก้ไขบทกำหนดอัตราโทษให้ต่ำลง ซึ่งดีมากจะช่วยพี่น้องชาวประมงอย่างมาก แต่ว่า การแก้ไขนี้ดิฉันเองอาจจะพูดแตกต่างจากคนอื่นท่านประธาน พูดแตกต่างตรงที่ว่า มันไม่ได้มีแค่ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ แต่มันมีประมงเพาะเลี้ยงน้ำจืดน้ำกร่อยด้วย ซึ่งอาจจะเลี้ยงอยู่ตามถัง ตามบ่อ ตามกระชัง การดูแลประมงถ้าเราจะทำกฎหมายให้ชัดเจน เพราะมันมีฉบับนี้ฉบับเดียวที่จะช่วยพี่น้องประมงมันต้องดูให้ครบ ดูพี่น้องประชาชน เกษตรกรไม่ใช่แค่ชาวประมง ดูเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงด้วย ดูกันทุกกลุ่ม
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดิฉันจำเป็นต้องเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง พี่น้องเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงเขาเดือดร้อนมาก เขาโดนปลากะพงจากมาเลเซียนำเข้ามาตีตลาด ตีตลาดที่ราคาต่ำกว่า ๒๐ บาท ทุก ๆ ขนาดของปลา ดิฉันพูดในสภานี้หลายครั้ง เพราะว่า เขาเดือดร้อนจริง ๆ เขาเดือดร้อนตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ก่อนที่โควิดจะเกิดด้วยซ้ำ จนตอนนี้ ปี ๒๕๖๗ ยังไม่มีใครแก้ไขให้เขาเลย นั่นหมายความว่าเขาเดือดร้อนกันหลายล้านบาท เช่นเดียวกับพี่น้องที่มีเรือประมง บางคนเจ๊งไป ๑๔ ล้านบาท เจ๊ง ๕ ล้านบาท เจ๊งวันละเป็นหมื่น แล้วมันกี่วันมาแล้วไม่มีใครดูแล ดูในร่าง พ.ร.บ. การแก้ไขไม่มีพูดถึงประมงนี้เลย ไม่มีพูดถึงว่าอะไรว่าเราต้องดูแลเขาอย่างไร เขาถูกปลากะพงจากมาเลเซียนำเข้ามา ถามว่า ราคาต่ำกว่า ๒๐ บาททุกครั้ง มันคือ Dumping หรือเปล่า มันคืออุดหนุนปัจจัยการผลิต หรือเปล่า ปรากฏว่าประเทศมาเลเซียมีปัจจัยการผลิตช่วยเหลือไฟฟ้า ของเรา ๔.๔๐ บาท เขา ๑.๗๐ บาท น้ำมันเขาก็ถูกกว่า นี่เขาอุดหนุนอยู่ ถามว่าการอุดหนุนก็ดีราคาที่มี คนกระซิบบอกว่าที่มาเลเซีย ๙๐ บาท แต่มาขายที่เมืองไทยนำเข้ามา ๗๐ บาท อย่างนี้ ก็ Dumping สิ ถ้า Dumping ก็ผิดข้อตกลง GATT สิ แต่การนำเข้าเราห้ามเขานำเข้าไม่ได้ เพราะเดี๋ยวผิด WTO แล้วอย่างนี้มันคืออะไร
ดิฉันอยู่กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ก็รับฟังข้อเสนอแนะจากสมาคม ผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทยที่มาร้องเรียนที่กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ พอร้องเรียนเสร็จ ปรากฏว่าในวันนั้นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศไม่ได้เข้ามา มีแต่กรมเจรจาการค้าระหว่าง ประเทศค่ะ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศบอกว่าเรื่องนี้ Dumping หรือเปล่าต้องไปสืบ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ผม ดิฉันจึงรีบวิ่งไปที่กรรมาธิการงบประมาณ ที่ดิฉันเป็นกรรมาธิการอยู่ เข้าไปถามอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเลย ปรากฏว่าอธิบดีตอบว่าอะไรรู้ไหมคะ เรื่องนี้ ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมไม่เคยได้ยิน ไม่มีใครตั้งเรื่องมาหาผมเลย ตั้งเรื่องมาหน่อยสิครับ ให้สมาคมที่เป็นนิติบุคคลตั้งเรื่องมาหาผมเลย ผมจะได้ลงไปเจาะลึกเพื่อดูว่าเขา Dump ราคา หรือเปล่า นี่ท่านประธานมันไม่มีใครตั้งเรื่อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันพูดก็คือว่าในอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาตินี่ละค่ะ ทุกข้อเลยมีแค่เพียง ๑๐ ข้อ ท่านประธานคะ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีถึง ๓๐ ข้อ แต่นี่มีแค่ ๑๐ ข้อเท่านั้น แล้วแต่ละข้อลองอ่านดูไม่มีพูดถึงเรื่องการค้าที่อาจจะโดนโจมตีจากประเทศอื่น แล้วเป็นการ Dumping ไม่มีพูดถึงเลย ไม่มีการปกป้อง ไม่มีการสนใจ ได้แต่บอกในข้อ ๓ แค่เพียงบอกว่า กำหนดนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศเป็นการพัฒนาเท่านั้น แต่ไม่มี การคุ้มครอง ในข้อ ๕ บอกว่ากำหนดมาตรการในการดำเนินการควบคุมให้บรรลุตามนโยบาย ตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ถามว่า ๑-๔ เป็นเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องของประมงในน่านน้ำทะเล ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องดูแลเขาด้วย ดิฉันจึงขอเสนอว่าถ้าจะแก้ไขขอให้แก้ไข ใน (๓) ใน (๓) ของอำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติที่บอกว่า กำหนด นโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ แค่นี้สั้น ๆ ขอเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ตามมาตรา ๑๙ (๓) ของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน
กำหนดนโยบาย มาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิต การพัฒนาและการจำหน่าย รวมถึงมาตรการคุ้มครองสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงที่ถูกละเมิดตามข้อตกลงทางการค้า ระหว่างประเทศ นี่คือข้อความที่ดิฉันอยากจะแก้ไขเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปลากะพงโดนโจมตีมาจากมาเลเซียราคาต่ำกว่าตลอด หรือกุ้งจากเอกวาดอร์ หรือกุ้งจากอินเดีย สัตว์น้ำต่าง ๆ ตอนนี้หอยนางรมโดนโจมตีราคาถูก มาจากเวียดนาม ดังต่อไปนี้ท่านประธานเราจะไม่ดูแลพวกเขาหรือ ไม่ได้ ทำกฎหมายทั้งที ต้องดูแลพี่น้องที่เกี่ยวกับประมงให้รอบด้าน ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ฐิติมา ฉายแสง ๑๑๘ แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านสภาที่เคารพ ดิฉัน ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณทางสภา ผู้แทนราษฎรนะคะ ที่ได้จัดกระทู้ถามแยกเฉพาะให้ดิฉันได้มีโอกาสมาพูดคุย ท่านคะวันนี้ จะขอพูดถึงเรื่องของจุดอันตรายบนท้องถนน แล้วก็ความต้องการของพี่น้องประชาชน บนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ และหมายเลข ๓๐๔
เรื่องแรก เป็นเรื่องของจุดกลับรถที่อยู่บนถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๑๔ หรือเรียกว่าถนนบางปะกง-ฉะเชิงเทรา แล้วก็คนในฉะเชิงเทราเขาเรียก ถนนสิริโสธร ถนนเส้นนี้เป็นถนนอยู่ในเมือง อยู่ในเขตเทศบาลเมือง แล้วก็เป็นถนนหลวง ที่แขวงการทางดูแลอยู่ ปรากฏว่าจุดกลับรถเป็นจุดที่ประชาชนมักจะลักลอบขี่มอเตอร์ไซค์ ย้อนศรมากลับรถ ทำให้เกิดการชนกัน อันตราย มีผู้เสียชีวิต ๔ ศพ ในปีที่แล้วสถิติมีแบบนี้ ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น เนื่องจากว่ามีรถลงมาจากสะพานค่ะ มันจะมีความแรงของรถ มาแล้วก็มาลักลอบก็เลยชนกัน ทีนี้อันตรายตรงนี้ประชาชนยังคงลักลอบอยู่นั่น ดิฉันเองก็ได้ มีโอกาสลงไปยังพื้นที่ ไปฟังการประชุมไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา แขวงการทาง แล้วก็ตำรวจจราจร เขาก็คุยกันทำให้เข้าใจว่าจุดกลับรถนี้ควรจะเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นอะไร เปลี่ยนไปเป็นแยก แยกที่ดิฉันจะพูดถึงนี้นะคะ เป็นแยกประชาสรรค์ แล้วทำเป็นสัญญาณ ไฟจราจรชัดเจน แต่ทางแขวงการทางบอกว่าเดี๋ยวจะไม่มีงบประมาณ หรือถ้าจะกำหนด งบประมาณ ๔ ล้านบาท ต้องไปปี ๒๕๖๘ เพราะฉะนั้นอันตรายเกิดขึ้นจึงเรียนถามค่ะ ดิฉันถามกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่ากระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง ซึ่งรับผิดชอบถนนเส้นนี้จะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและจัดสรรงบประมาณโดยเร่งด่วน ได้หรือไม่ และคาดว่าจะดำเนินการได้เมื่อใด อันนี้คำถามแรก ขอบพระคุณค่ะ
ฐิติมา ฉายแสง สส. ฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันขออนุญาตพูดถึงคำถามนี้อีกหน่อย เพราะว่าเวลา ยังเหลืออยู่ ก็คือว่าถนนเส้นนี้อย่างที่เรียนให้ท่านรัฐมนตรีท่านทราบไปนะคะ ว่าเป็นถนน ที่มันอันตรายเหลือเกิน เป็นถนนที่เพิ่มเติมด้วยนะคะ ว่าเส้นแบ่งถนนไม่มีค่ะ ประชาชนร้อง มาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึงจุดอันตรายต่าง ๆ ก็ขอให้ครอบคลุมทั้งหมดด้วย อันนี้คือ ถนนสาย ๓๑๔ ซึ่งเราหวังว่าสิ่งที่ดิฉันได้หารือไปก็ดี ณ วันนี้ก็ดีที่เป็นกระทู้แยกเฉพาะ ทำให้ พี่น้องประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราก็ดี ผู้ที่ใช้สัญจรไปมาบนถนนนี้จะได้รับความปลอดภัย ก็ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีในประเด็นนี้อย่างมาก ๆ เลยนะคะ แล้วถือว่าการหารือ ในสภาผู้แทนราษฎรนี้มีประโยชน์มาก ๆ ค่ะ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ หรือเรียกว่า ถนนสุวินทวงศ์ค่ะท่านประธาน เป็นถนนสายหลักที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะว่าถนน สุวินทวงศ์เป็นถนนที่พี่น้องประชาชนหลายอำเภอหลายจังหวัดก็ใช้ไป อีสานไปหมดนะคะ ไปภาคตะวันออกอะไรก็แล้วแต่ ปรากฏว่าชุมชนก็ต้องเกิดขึ้นมากมายมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพอเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีอันตรายมากขึ้น อยากจะเชิญชวนดูภาพค่ะ มี ๒ จุด ที่ดิฉัน อยากจะพูดถึง ท่านจะสังเกตว่าในภาพ พี่น้องประชาชนข้ามถนนกัน ดูลักษณะของ พี่น้องประชาชนนะคะ วิ่งข้าม มาเป็นกลุ่ม พอเลิกงานคนก็จะใช้ ปรากฏว่าถนนมัน กว้างใหญ่ถูกไหมคะ พี่น้องประชาชนก็เลยร้องขอมาว่าอยากจะได้สะพานลอยข้ามถนน เพราะว่ามันจะได้ชัดเจนไปเลย เนื่องจากว่าเขาเสียวไส้กันค่ะ เสร็จจากการทำงานมาเป็นกลุ่ม เห็นชุดของพนักงานที่มา เป็นอย่างนี้ค่ะ เป็นประจำทุกวัน มีหมู่บ้านจัดสรรเยอะ มีวัด มีโรงเรียน มีผู้คนสัญจรไปมามากมาย นี่คือจุดแรกที่อยากจะพูดถึง คือจุดที่เห็นในภาพ นี่อีก ภาพหนึ่ง เป็นจุดที่พี่น้องประชาชนตรงหน้าตลาดสุวินทวงศ์ ซึ่งอยู่ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๐๔ นี้ละค่ะ เขาอยากจะได้เขาก็ร้อง จริง ๆ มีเป็นวิดีโอด้วยนะคะ
เมื่อสักครู่เป็นกิโลเมตรที่ ๕๒+๐๐๐ นั่นคือภาพหนึ่งที่อยากจะได้สะพานลอยเพราะเป็นตลาด มีหมู่บ้านมีอะไรอย่างที่บอก เยอะแยะเลย มีโรงงานด้วย ต่อไปก็เป็นอีกจุดหนึ่งค่ะ เป็นจุดที่คนก็ต้องการสะพานลอย ซึ่งไม่ได้ห่างกันนะคะ แต่มันไกลกันเป็นกิโล คือเมื่อสักครู่กิโลเมตรที่ ๕๒+๐๐๐ อันนี้ กิโลเมตรที่ ๕๓+๑๐๐ อันนี้มีตลาดอีกตลาดหนึ่งเรียกว่า หน้าตลาดคลองเจ้า ตำบล ศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็น ๒ อำเภอ ๒ ตำบลนั้นนะคะ แต่อยู่ ไม่ไกลกัน แต่มีคนเยอะเหลือเกินค่ะท่านประธาน และมีประชาชนอยู่คนหนึ่ง วันนั้นดิฉัน ได้ลงพื้นที่ไปกับท่านแขวงการทางนี้ละค่ะ เราไปดูพื้นที่กัน ประชาชนคนนั้นก็เห็นเรายืนมุง คุยอะไรกันไม่รู้ เขาก็บอกว่ามาคุยอะไรกันนี่ เราก็บอกว่าเรามาคุยเรื่องนี้ พี่น้องประชาชน ร้อง สส. ก็เลยลงพื้นที่มาดู ดีมากเลยค่ะ ดิฉันอยากจะร้องเรียน เขาก็บอก ถามว่าร้องเรียน อะไร เขาก็บอกเขานี่บ้านอยู่แถวนี้ แต่เขาไปทำงานอยู่จังหวัดชลบุรี เขาอยากกลับบ้าน ทุกวันแต่กลับบ้านไม่ได้ เพราะถ้ากลับบ้านก็มีอัตราเสี่ยงในการข้ามถนนทุกวัน เขาจึงต้องไป เช่าบ้าน เช่าบ้านแล้วกลับบ้านทุกวันศุกร์ อัตราเสี่ยงจะได้เหลือวันเดียว นี่คือสิ่งที่ชีวิต พี่น้องประชาชนอยู่แบบนี้ และใช้มอเตอร์ไซค์ก็ดีอะไรก็ดีเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องการ สะพานลอยอีกจุดหนึ่ง สรุปว่ามีสะพานลอย ๒ จุด จุดหนึ่งคือหน้าตลาดสุวินทวงศ์ กิโลเมตร ๕๓+๑๐๐ กับหน้าวัดคลองเจ้า กิโลเมตรที่ ๕๒+๐๐๐ ๒ จุดนะคะท่านประธาน ก็เลย อยากจะเรียนถามว่าทางกรมทางหลวงจะสามารถดำเนินการให้ได้ไหม และถ้าดำเนินการได้ จะเมื่อไรดี เพราะว่ามันเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก ขอบพระคุณค่ะ
ฐิติมา ฉายแสง จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต ๑ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ จากทั้งการตอบท่านรัฐมนตรีก็ดี ภาพที่ท่าน นำเสนอก็ดี จะเห็นว่า ๑. ทำสะพานลอยไม่ได้ และให้ไปใช้ทางจุดกลับรถ ท่านประธานคะ พี่น้องประชาชนเขาอยู่ตรงนั้น มีหมู่บ้านจัดสรรเยอะมาก โรงงานเยอะเลย ถ้าใช้จุดกลับรถ ตรงนั้นได้เขาใช้ไปแล้วละ เพราะมันใช้ไม่ได้ มันไกล ลำบากอะไรก็แล้วแต่ จึงอยากได้ สะพานลอยกันคนเรา ทีนี้อาจจะพูดกันไม่รู้เรื่องตรงนี้ค่ะ เวลาที่ดิฉันลงพื้นที่แล้วไปคุยกับ ผู้ใหญ่บ้านก็ดี หรือสมาชิก อบต. อะไรก็แล้วแต่ เราคุยกันเขาจะบอกว่ามีที่ราชพัสดุนะพี่ พี่ไปดูก่อน ดิฉันจึงอยากจะฝากว่าสะพานลอยนี้อย่าเพิ่งสรุปว่ามันทำไม่ได้เสียทีเดียว ขอให้ ไป Work กันในพื้นที่ให้จริงจัง แต่ถ้าจะมาฝากให้ดิฉันไปคุยกับ อบต. เอง กลัวจะโดน ก้าวก่ายและแทรกแซง ก็ไม่อยากที่จะไปพูดกันขนาดนั้น ที่ดิฉันพูดว่าไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน คุยกับอะไร มันคือเจอกันในวงสนทนา วงงานบวชอะไรก็แล้วแต่ ก็เลยพูดคุยกันแบบนั้น แต่เขาอยากได้กันมาก ดังนั้นจึงต้องฝากทางท่านประธานบอกทางแขวงการทางนี่ละค่ะ ว่าท่านต้องลงไปดู ไปคุยกันให้ชัดเจนจริง ๆ เพราะจริง ๆ แล้วดิฉันลงพื้นที่กับท่านนานแล้ว หลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ตอนเป็น สส. ใหม่ ๆ นี่เข้ามา ๘ เดือน ๙ เดือน มันยังไม่มี ความคืบหน้าอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน จะคุยกันไม่ถี่ถ้วนดีพอ ยังไม่ชัดเจน ทางนั้นพอถามตรงนั้น ตรงนั้นบอกยังไม่รู้เรื่องมันอะไรกันก็ไม่รู้ค่ะ เพราะฉะนั้น ทำงานให้เต็มที่อีกหน่อย ดังนั้นอย่างที่บอกฝากนะคะ แล้วก็เมื่อสักครู่ดูภาพของท่าน รัฐมนตรีนะคะ อยากดูภาพสุดท้ายของท่านรัฐมนตรีอีกนิดหนึ่งค่ะ ท่านดูนะคะ ภาพซ้ายล่าง ท่านดูไม่มีเส้นเลยกลับมาพูดถึงเส้นอีกแล้ว เส้นบนถนน ท่านประธานดูนะคะ เส้นบนถนน เขาไม่ค่อยจะมีกันหรอกค่ะ แล้วเวลาที่พี่น้องประชาชนใช้ถนน รถชนกัน พอชนกันใครผิดใครถูกใครอะไรก็แล้วแต่ ขนาดมีเส้นชัดเจนยังมีปัญหาได้เลย นี่มันไม่มีเส้น อีกแล้ว เพราะฉะนั้นจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่กำลังเจริญขึ้น มีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ ผู้คน ใช้รถใช้ถนน มอเตอร์ไซค์ รถยนต์เยอะแยะ อุบัติเหตุเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องมองให้ครบถ้วน ครอบคลุม ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานที่เคารพ ฐิติมา ฉายแสง จริง ๆ เคยลงไปคุยแล้วนะคะ รอบหนึ่ง
คือคุยไปแล้วรอบหนึ่ง ก็จะมีการ เถียงกันอย่างนี้ หน้าบ้านหมู่บ้านจัดสรรเขาก็จะไม่ยอมแน่นอน เพราะทำหน้าบ้านเขา ไม่สวย ส่วนหน้าเซเว่น-อีเลฟเว่น เขาก็ไม่ยอม แต่มีคนพูดว่ามันมีที่ราชพัสดุตรงนี้ค่ะ ที่ต้อง ให้ทางการไปติดต่อกันเอง สส. จะไปถามที่ราชพัสดุ อย่างที่บอกว่าเดี๋ยวก้าวก่ายแทรกแซง อะไรก็แล้วแต่ ต้องให้ทางแขวงนี้ละค่ะ ลงไปดูรายละเอียดเอง สส. ไม่น่าจะมีหน้าที่ตรงนั้น พยายามแล้ว หน้าที่ สส. คือรับเรื่องราวร้องทุกข์แล้วนำมาพูดในสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ พูดหารือไปแล้วรอบหนึ่งแล้วมาพูดกระทู้ถามแยกเฉพาะอีกรอบหนึ่ง ถือว่าสู้เต็มที่แล้วนะคะ ท่าน ให้ลงไปดูอีกนี่ไม่น่าใช่หน้าที่แล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ