นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปรายรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ฉบับนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เมื่อดิฉันอ่านจากรายงานที่มี รูปเล่มสวยงามน่าอ่านเล่มนี้ ดิฉันเกือบจะเคลิบเคลิ้มไปกับตัวหนังสือแล้วก็รูปภาพด้านใน ที่สวยงาม คิดว่าเป็นหนังสือโฆษณาชี้ชวนจากหน่วยงานเสียอีก แต่ถ้าเราถอดสายตาออกจาก สิ่งสวยงาม แล้วหันกลับไปมองภาพความเป็นจริงในพื้นที่เราจะยังคงเห็นประชาชนบางกลุ่ม ที่ถูกทำให้ตกหล่นจากการพัฒนานี้ ถูกทำให้หลงลืมต้องแบกรับต้นทุนชีวิตที่สูงกว่าในพื้นที่ อื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่การยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลสุขภาพ เป็นหนึ่งในภารกิจ EEC ที่ได้ระบุไว้ และหน่วยงานหนึ่งที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับ คุณภาพชีวิต รวมไปถึงการเยียวยาดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คงหนีไม่พ้น กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือกองทุน EEC กองทุนที่มีวัตถุประสงค์ เป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและประชาชน รวมไปถึงภารกิจของกองทุนที่ระบุไว้ ถึงการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนานี้ ซึ่งปัจจุบันโครงการที่กองทุน EEC ได้มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการ จัดอบรมต่าง ๆ โครงการส่งเสริมพัฒนาด้านเกษตรกรรม ด้านเทคโนโลยี แต่ในรายงานฉบับนี้ กลับไม่ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการตามภารกิจ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ EEC นี้อยู่เลย นั่นหมายถึงการดำเนินงาน ของกองทุนที่อาจจะไม่สอดรับกับพันธกิจและภารกิจ EEC หรือไม่คะ ยกตัวอย่างการเยียวยา ในกรณีการถมทะเลในโครงการท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด Phase 3 ที่ได้มีการเยียวยา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่พี่น้องประมงและชุมชนที่อยู่ในรัศมีระยะทางไม่เกิน ๕ กิโลเมตร ซึ่งการเยียวยาเหมาะสมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ดังรายละเอียดที่เพื่อน สส. พรรคก้าวไกลภาคตะวันออกได้อภิปรายไปแล้วนั้น การเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกรัศมีก็อาจมีความจำเป็นด้วยหรือไม่คะ ยกตัวอย่างในชุมชนตำบลห้วยโป่ง ต้นทาง ของการถมทะเลที่พวกเขาต้องสูญเสียทรัพยากรเป็นเส้นทางให้หิน ให้ดิน ให้ทรายไปถมทะเล เป็นพัน ๆ ไร่แล้ว แต่พวกเขายังต้องแบกต้นทุนชีวิตที่ต้องอยู่กับฝุ่นละอองที่ปกคลุมอยู่ใน พื้นที่ทั้งวันทั้งคืน ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการหายใจรับฝุ่นละอองเข้าไป ตลอดทั้งวัน โดยที่พวกเขาไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ ที่จะยกคุณภาพชีวิตให้มีระดับ ที่สูงขึ้น และการมีสุขภาพที่ดีเป็นต้นทุนของชีวิตได้เลย ดังภาพที่เห็นนะคะท่านประธาน และเพื่อนสมาชิกคะ ถนนที่เราเห็นจากภาพเป็นถนนลาดยางแล้ว แต่เส้นทางที่รถบรรทุกวิ่งอยู่ จะทิ้งฝุ่นจนเต็มไปหมด เมื่อฝนตกก็จะเกิดเป็นโคลนเดินทางยากลำบากเกิดเป็นทางที่ เฉอะแฉะแบบนี้ จากที่พี่น้องในชุมชนที่ต้องอยู่บนเส้นทางของการขนส่งวัตถุดิบเหล่านี้ ต้องเจอกับรถบรรทุกที่ทิ้งฝุ่นละอองไว้ตลอดเส้นทางเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว นี่ยังไม่รวมถึง ปัญหาการวิ่งรถนอกเวลาที่กำหนด การขับรถเร็วเกินกำหนดในที่ชุมชน และดิฉันเชื่อว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ในเขต EEC รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ จากการพัฒนานี้อย่างแน่นอนค่ะ การเยียวยาอาจมิใช่การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพด้วย ประชาชนต้องใช้ชีวิตแลกไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสมควรจะแลกแบบนี้ ดีหรือไม่คะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขออนุญาตหารือกับประธานสภาในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณเขตอำเภอเมือง จังหวัดระยอง เนื่องจากเมื่อวานนี้เป็นวันอังคารที่ ๓ มีฝนตกหนัก ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตกหนักประมาณ ๔ ชั่วโมง ซึ่งวัดปริมาณน้ำฝนได้อยู่ที่ ประมาณ ๗๒ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำฝนที่ค่อนข้างหนัก และในเขต อำเภอเมืองเป็นเขตที่มีชุมชนอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ในจังหวัดระยองของเรา พอมีฝนตกหนักทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องของการรอระบายน้ำ ที่ท่วมลงมาอย่างรุนแรง หลังจากที่เวลาผ่านไปตอนนี้ก็คือน้ำได้เริ่มลดลงเรื่อย ๆ แล้วคาดว่า จะสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ แต่กว่าที่พี่น้องชาวบ้านจะผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมขังนี้ได้ เขาได้รับผลกระทบในเรื่องของน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ถูกตัดเส้นทางการจราจรเข้าออก หมู่บ้าน บางหมู่บ้านถึงกับต้องขาดแคลนน้ำ ขาดแคลนอาหารในขณะที่มีน้ำท่วมขังอยู่ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังสูง ชาวบ้านบางคนถึงกับต้องปล่อยให้รถจมน้ำอยู่ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซากในเขตอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งดิฉันขออนุญาต ปรึกษาหารือกับท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบล มาบตาพุด เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลเนินพระ เพื่อให้มีการจัดการป้องกัน การแก้ไข แล้วก็เพื่อพัฒนาระบบการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุนขอมี ส่วนร่วมเพื่อตั้งญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมา หรือเมื่อวานนี้มีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง โดยเฉพาะตำบล มาบตาพุด ตำบลทับมา และตำบลเนินพระบางส่วน มีฝนตกเป็นเวลานานกว่า ๔ ชั่วโมง โดยวัดปริมาณน้ำฝนในเขตอำเภอเมืองได้มากกว่า ๙๐ มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วม เฉียบพลัน ถนนหลายสายในพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ อยู่อาศัยของชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของชุมชนเมือง เหตุผลสำคัญที่ทำให้พื้นที่อำเภอเมือง และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดระยองเกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก โดยเฉพาะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงหลายปี หลังมานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการวางผังเมืองที่ไม่ได้รัดกุมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะ เพื่อให้รองรับกับการขยายตัวของเขตเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญมีการถมที่ดินในจุด ที่เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร บ้างก็มีการรุกล้ำในพื้นที่ลำรางสาธารณะเป็นเหตุ ให้เกิดน้ำท่วมขัง การระบายน้ำไม่ดีพอ เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งเตือน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือของหน่วยงานท้องถิ่น ที่รับผิดชอบเรื่องการป้องกันการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมโดยตรง โดยส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ จะได้รับการแจ้งเตือนจากภาคประชาชนและเป็นการส่งต่อข่าวสารกันเองในภาคประชาชน เท่านั้น ส่วนมากประชาชนในพื้นที่ที่มีการสื่อสารผ่านทาง Social หรือทาง Social Network ต่าง ๆ ก็จะเป็นการสื่อสารในวงที่ไม่กว้างนักทำให้ประชากรบางกลุ่มตกหล่นการแจ้งเตือนไป การเตรียมความพร้อมรับมือก็ทำได้ไม่ดีพอ เมื่อรู้ตัวอีกทีหนึ่งน้ำก็หลากหรือว่าน้ำท่วมขัง ในพื้นที่สูงมากแล้วทำให้มีความเดือดร้อนในแต่ละชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ชุมชนหนองโพรงหรือว่าตำบลทับมา รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ด้วยที่มีน้ำท่วมขังอย่างสูง ทำให้ รถยนต์ สินทรัพย์ ของมีค่าต่าง ๆ ที่ไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยทำให้เกิด ความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน นี่ไม่ใช่แค่เพียงแค่พื้นที่เดียวยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่เกิดความเสียหายอย่างหนัก การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของท้องถิ่นก็ยังไม่ดีพอ มีความขาดแคลนทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รวมถึงบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอต่อ การเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซาก น้ำท่วมแบบนี้ ในพื้นที่ทั้งพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลทับมา ตำบลเนินพระ เป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม อยู่บ่อยครั้งเมื่อมีฝนตกอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำระเบียบราชการก็ยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้แก้ไข ปัญหาภัยพิบัติได้ล่าช้าลง อำนาจการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินอยู่ในมือผู้ว่าหรืออำนาจ ในการจัดการบริหารแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอยู่ในมือของส่วนกลางเสียส่วนใหญ่ แทนที่จะเป็นอำนาจของท้องถิ่น เพื่อจะได้บริหารงาน บริหารงบประมาณได้รวดเร็ว และทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นกับพี่น้องประชาชน แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้นค่ะท่านประธาน ถึงเวลาแล้วหรือยังคะที่เราจะคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อให้เขาได้สามารถบริหารงาน จัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงบริหารงบประมาณในท้องถิ่นของพวกเขาได้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันอยากจะฝากท่านประธาน ไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพื่อให้สั่งการไปยังหน่วยงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เป็น ปัญหาเรื้อรังของอำเภอเมือง จังหวัดระยอง รวมถึงเป็นปัญหาเรื้อรังในอีกหลาย ๆ พื้นที่ด้วย ให้รีบหามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากอย่างยั่งยืน อย่าให้คนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ กลายเป็นคนที่ต้องรับกรรม ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุน ญัตติ ขอให้ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบ ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับ ผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกิจกับพันธกรณี ระหว่างประเทศ ท่านประธานคะ ประเทศไทยเรามีชายฝั่งทะเลยาวทั้งสิ้น ๒,๖๑๔ กิโลเมตร มีจังหวัดที่ติดทะเล ๒๒ จังหวัด ประชากรที่อาศัยบริเวณฝั่งทะเลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ประมง มีชุมชนชาวประมงทั่วประเทศกว่า ๔,๐๐๐ ชุมชน หรือกว่า ๖๐,๐๐๐ ครัวเรือน อาชีพประมงมี GDP คิดเป็นร้อยละ ๘ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี ๒๕๕๗ มีมูลค่ามากกว่า ๑๔๕,๐๐๐ ล้านบาท แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังมานี้ชาวประมงพื้นบ้าน ประสบปัญหาจับสัตว์ทะเลไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพ จากที่เคยจับปลาได้วันหนึ่งเป็น ร้อย ๆ กิโลกรัม แต่มาวันนี้ปลาที่จับได้หายไปกว่าครึ่ง จากที่เคยจับปูได้วันละ ๒๐-๓๐ กิโลกรัม ทุกวันนี้ออกเรือไปกลับมานี่แทบจะไม่ต้องเอากิโลมาชั่งแล้วนะคะ ท่านประธาน นับเป็นตัวยังยากเลยค่ะ เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นการเสื่อมโทรม ของทรัพยากรทางทะเล การทำลายระบบนิเวศทางทะเล หรือแม้แต่การรุกล้ำทรัพยากร ทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกล้ำจากนโยบายของทางภาครัฐเอง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ อย่างชัดเจนนั่นก็คือโครงการถมทะเลท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการนี้ ได้เปลี่ยนกระแสน้ำ เปลี่ยนระบบนิเวศทางทะเลอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีการพยายามรักษา ระบบนิเวศให้ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของชาวประมงไม่ให้สูญหายไป ไม่ว่าจะเป็นการทำธนาคารปู การโยนซั้งโยนบ้านปลาลงไปในทะเล แล้วอย่างไรคะ ท่านประธาน บ้านที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตในทะเลนั่นก็คือน้ำทะเลที่ใสสะอาด ดินและทราย ที่ปราศจากสารเคมีปนเปื้อน กระแสน้ำ กระแสลม ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ ต่อสัตว์น้ำสัตว์ทะเล แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ ไม่มีสัตว์ทะเล ไม่มีแหล่งรายได้ของชาวประมง พื้นบ้าน แม้แต่ประมงพาณิชย์เองก็ยังต้องขยายเขตการจับสัตว์ทะเลไกลออกไป แล้วอย่างนี้ ประมงไทยจะอยู่กันอย่างไรคะ มิหนำซ้ำเหตุการณ์ที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทย เพราะปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม เมื่อปี ๒๕๕๘ รัฐบาล คสช. ก็แก้ปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับภาคประมงอย่างเข้มงวด แต่ขาดการมี ส่วนร่วมของชาวประมง ด้วยกฎหมายที่มีข้อบังคับใช้โดยไม่เป็นธรรมสร้างข้อจำกัดในการ ประกอบอาชีพยิ่งทำให้พี่น้องชาวประมงไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากที่จับสัตว์น้ำได้น้อยอยู่แล้วนั้นก็ยิ่งจับได้น้อยลงไปอีก รายได้ที่เคยมีก็ยิ่งลดลง บางราย แม้แต่การออกทะเลไปหาปูหาปลายังไม่สามารถทำได้ หลาย ๆ คนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน และมี หลาย ๆ คนต้องตัดสินใจจบอาชีพประมงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดอย่างน่าเสียดาย จากนโยบายของภาครัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมและมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้พี่น้องชาวประมงเกิดความรู้สึกว่าเขาถูกรัฐแย่งชิงทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น พระราชกำหนดการประมง ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ในมาตรา ๓๔ ที่ได้กำหนดให้ประมง พื้นบ้านสามารถออกเรือไปจับสัตว์ทะเลที่มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไป ไม่เกิน ๓ ไมล์ทะเลเท่านั้น และยังใช้การวัดเขตชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งเว้าทำให้เกิด ความไม่ชัดเจนของพื้นที่ในการทำประมงไปอีก ส่งผลให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากได้เข้าไปทำประมงนอกเขตกำหนดโดยไม่ได้ตั้งใจ ถูกปรับ ถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้จะมีความพยายามแก้กฎหมายแก้กฎกระทรวงเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยัง ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำประมงจริงในแต่ละพื้นที่ชายฝั่งที่มีบริบทแวดล้อมแตกต่างกัน จากจุดยืนด้านนโยบายประมงของพรรคก้าวไกลที่เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่าง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และมนุษยชน จึงมีการเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของท้องถิ่นและชาวประมง ในคณะกรรมการประมงจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการประมงจังหวัดในการกำหนดกติกาทำการประมง ทั้งการกำหนดเครื่องมือในการทำประมง กำหนดพื้นที่และฤดูกาลในการทำประมง ให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตในการทำประมง เนื่องจากสภาพทะเลของ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และแต่ละพื้นที่ก็มีความลึกที่แตกต่างกันด้วย นอกจากนั้น พระราชกำหนดการประมง ปี ๒๕๕๘ ยังมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง บางกรณีมีโทษปรับสูงสุด ถึง ๓๐ ล้านบาท ในบทกำหนดสามารถยกเลิกใบอนุญาตทำประมงจากเรือทุกลำได้ทั้งหมด แม้จะเป็นการกระทำความผิดจากไต้ก๋งเรือเพียงแค่ลำเดียว พรรคก้าวไกลของเราเสนอให้มี การรับบทลงโทษให้เหมาะสม ดูจากเจตนาในการกระทำความผิดคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ให้สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหา แก้กฎหมาย หรือร่างกฎหมาย ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม ช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวประมง ทุกกลุ่มเพื่อไม่ให้มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตกหล่น หรือถูกทำให้สูญหายไปกับนโยบาย หรือการ ออกกฎหมาย กฎ ระเบียบจากทางภาครัฐ และร่วมกันหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรสัตว์ น้ำให้เกิดความยั่งยืน และประโยชน์สูงสุดในอาชีพประมง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่มรดกบาป ทางกฎหมายจะถูกแก้ไขสำเร็จได้เสียที เพราะฉะนั้นดิฉันจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ของเราจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณี ระหว่างประเทศ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือกับท่านประธานดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง ในเรื่องกลิ่นขยะจากศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ตำบลทับมา ที่ส่งกลิ่นเหม็นไปยังชุมชนโดยรอบ ส่งผลกระทบด้านสุขภาวะของประชาชน ได้รับกลิ่นขยะรบกวนตลอดเวลา แม้ที่ผ่านมา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย และกลิ่นรบกวนไปแล้วนั้น อาจยังไม่เพียงพอต่อการจัดการขยะที่เพิ่มมากขึ้น จึงขอฝาก ท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่น ขยะรบกวนนี้ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินของแขวงการทาง ดิฉันได้ทราบ ข้อมูลจากบันทึกรายการทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมของแขวงการทางระยอง ในปี ๒๕๖๖ มีการโจรกรรมทรัพย์สินของแขวงทางหลวงระยองไปแล้ว ๔๙ ครั้ง ยังไม่ทันหมดปีเลย ท่านประธาน และย้อนไปในปี ๒๕๖๕ มีการโจรกรรมทรัพย์สินของแขวงทางหลวง จำนวน ๑๖ ครั้ง จะเห็นได้ว่าปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินแขวงทางหลวงระยองมีความรุนแรงขึ้น และสร้างความเสียหายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เวลากลางคืน ต้องเดินทางในทางที่มืดมิดไม่ปลอดภัย เสี่ยงอันตรายต่ออุบัติเหตุและการถูก จี้ปล้นจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในความมืดนี้ และปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงพื้นที่ จังหวัดระยองเท่านั้น แต่การโจรกรรมสายไฟ รวมถึงโจรกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของแขวง การทางเกิดขึ้นแล้วหลายจังหวัดทั่วประเทศ ดิฉันขออนุญาตเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดูแล บำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่าสูง หากเกิดการโจรกรรมขึ้นทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนได้ทันที ส่วนการโจรกรรมสายไฟและอุปกรณ์อื่น ๆ ขอให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งรัดติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบโจรกรรม รวมถึงการแก้ไขปัญหา ระยะยาวในการขออนุมัติงบประมาณสำหรับการติดตั้งระบบเตือนภัยหรือกล้องวงจรปิด ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย คุณกฤช ศิลปชัย ได้รับการร้องเรียนมาจากพี่น้องประชาชน ในพื้นที่บริเวณชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ว่ามีผู้ประกอบการบ่อทรายเข้ามาดำเนิน ธุรกิจขุดทรายออกไปขาย มีการวิ่งรถบรรทุกผ่านถนนซอยวัฒนา บ้านในไร่ หมู่ที่ ๑ ตำบลเพ ทำให้ถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ส่งผลให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ประสบอุบัติเหตุไปหลายคัน ดิฉันจึงเรียนมายังท่านประธานเพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทศบาล ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ให้ตรวจสอบการทำธุรกิจดังกล่าวว่าได้มีการขออนุญาต ถูกต้องหรือไม่ และเร่งดำเนินการซ่อมแซมถนนดังกล่าว หากมีพื้นที่ถนนทับซ้อน กับหน่วยงานอื่นก็ขอให้เร่งบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหา และขอให้สถานีตำรวจภูธรเพ ได้ตรวจสอบเวลาวิ่งรถและน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้ขนทรายดังกล่าวว่าอยู่ในเกณฑ์ตามที่ กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอหารือกับท่านประธานเพียงเรื่องเดียว แต่สำคัญมากสำหรับพ่อแม่ พี่น้องที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างเช่นน้ำท่วม เพราะทุกครั้งที่โดนน้ำท่วมมีมูลค่า ความเสียหายที่มากโข แต่ระเบียบราชการในการชดเชยเยียวยาตามไม่เคยทันค่ะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ว่าระเบียบราชการยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้ตามทัน กับความเสียหายนั้น ๆ ดิฉันได้รับข้อกังวลใจจากพ่อแม่พี่น้องในตำบลทับมา จังหวัดระยอง ในเรื่องของการชดเชยเยียวยาน้ำท่วมเมื่อครั้งวันที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีหนังสือราชการ ออกมาแล้วนะคะ เป็นหนังสือราชการที่ออกทันทีในขณะที่มีน้ำท่วม แล้วก็ตอนนี้ ทางเทศบาลเอง ก็ได้ให้ประชาชนได้มาลงทะเบียน แล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ไปสำรวจ น้ำท่วมกันแล้ว แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของระเบียบการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ที่อาจทำให้การจ่ายเงินไม่สมเหตุสมผลและไม่สอดคล้องกับ ความเสียหายจริง ยกตัวอย่างเช่นบ้านที่โดนน้ำท่วมสูงกว่า ๖๐ เซนติเมตร ตู้เย็น Sofa Furniture ของใช้ที่มีมูลค่าสูง ๆ เสียหาย ใช้ไม่ได้ต้องทิ้ง ต้องซ่อม แต่พอเจ้าหน้าที่มาสำรวจ บอกว่าของใช้เหล่านี้ไม่สามารถจ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยาให้ได้ จะจ่ายเฉพาะความเสียหาย ของตัวบ้านแล้วก็ที่ติดกับตัวบ้านเท่านั้น หรืออย่างเช่นน้ำท่วมรถยนต์ซึ่งเป็นเครื่องมือ ทำมาหากินของประชาชนถูกน้ำท่วมจนมิดคันแบบนี้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะจ่ายให้เฉพาะ ที่ท่วมตัวบ้านเท่านั้น แบบนี้ก็แย่นะคะท่านประธาน ประชาชนจะต้องถูกซ้ำเติมกันไปถึงไหน กำลังจะตั้งตัวได้โดนน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำอีก ช้ำแล้วก็ช้ำอีก ระบบเตือนภัยก็ไม่มี การระบายน้ำ ก็ไม่ดี น้ำท่วมทีชดเชยเยียวยาก็เล็กน้อย จึงขอเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาชดเชยเยียวยาผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมให้เหมาะสมแล้วก็สอดคล้องกับ ความเป็นจริง และสุดท้ายนะคะ ดิฉันขอให้ท่านประธานช่วยเร่งรัดติดตามข้อหารือต่าง ๆ ที่เพื่อนสมาชิกได้ทำการหารือกันไปแล้ว เพราะว่าหลาย ๆ ข้อหารือยังไม่ได้คำตอบจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ เหตุผลที่ดิฉันต้องลุกขึ้นมาอภิปรายเพื่อที่จะสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน เพราะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ในพื้นที่จังหวัดระยองบ้านของดิฉันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • คลิปดังกล่าวที่เห็นกันอยู่ ตอนนี้เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายนที่ผ่านมา ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุดมีกลุ่มควันดำ ลอยขึ้นไปในอากาศเป็นกลุ่มควันดำจากโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งปกคลุมเป็นกลุ่มก้อนคล้ายเมฆดำ ๆ ที่เราเห็นกันอยู่นั้นไม่ใช่ไหมเมฆฝนนะคะ ท่านประธาน แต่เป็นกลุ่มควันดำที่ขึ้นไปสะสมกันนานกว่าชั่วโมง และสุดท้ายกลุ่มก้อน พวกนั้นไปไหนคะ กลุ่มก้อนพวกนั้นก็จะตกลงสู่ชุมชนโดยรอบ แล้วก็จะมีบ้างบางส่วนที่ถูก พัดออกไปตามกระแสลมไปตกในพื้นที่อื่นไกลออกไปอีก จากเหตุการณ์ดังกล่าวถึงแม้ว่า จังหวัดระยองจะถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ จนถึงวันนี้ ผ่านมาเกือบ ๑๕ ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสารมลพิษต่าง ๆ ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM10 PM2.5 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ สารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือที่เรารู้จักกันว่าสาร VOCs รวมถึงสารมลพิษอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะสารเบนซีนเป็นสารอันตรายที่องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติได้กำหนดให้ สารเบนซีนเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ ๑ หากเราได้รับสารดังกล่าวเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ยาวนานก็จะมีความเสี่ยงต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ มะเร็งเม็ดเลือดขาวค่ะ จากรายงานผลการตรวจวัดค่า VOCs ของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ค่าเฉลี่ยสารเบนซีนเกินมาตรฐานต่อเนื่องตลอดทั้งปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มีค่าสารเบนซีนอยู่ที่ ๔.๕-๖.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสำหรับประเทศไทยของเราได้กำหนด ค่ามาตรฐานของสารเบนซีนไว้ที่ ๑.๗ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทีนี้เรามาดูกันค่ะว่าที่ตำบลมาบตาพุดของเรานี้มีคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร จากการตรวจวัด คุณภาพอากาศในปี ๒๕๖๕ ก็จะพบว่ามีสารเบนซีนที่สถานีวัดบ้านหนองแฟบ มีสารเบนซีนอยู่ที่ ๑.๖ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีที่ทำการชุมชนบ้านพลง ๒.๙ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ๒.๓ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลมาบตาพุด ๒.๑ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน ๑.๘ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ชุมชนเนินพยอม ๒.๙ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แล้วไม่ว่าเราจะย้อนกลับไปดูคุณภาพอากาศของปี ๒๕๖๔ หรือว่าปีหลัง ๆ ต่อไปอีกนี้ก็จะพบว่าสารเหล่านี้เกินค่ามาตรฐานทุก ๆ ปี จากตัวเลข การตรวจวัดคุณภาพอากาศก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน คุณภาพอากาศ ของคนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับสารมลพิษดังกล่าวทุก ๆ วัน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจนะคะท่านประธาน ตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยตรงกับการตรวจวัดที่แสดงให้ เห็นในชุมชนเลยค่ะท่าน ผ่านจุดตรวจวัดทีไรก็จะเห็นเป็นสัญลักษณ์สีเขียวส่งยิ้มให้เราทั้งวัน เลย หรือถ้าวันไหนไม่ยิ้มให้เราจอก็ดับไปเลยค่ะ ตกลงอย่างไรคะ เราจะเชื่อถือข้อมูลเหล่านี้ ได้หรือไม่ อย่างไร แล้วถ้าย้อนเวลากลับไปหลายปีที่ผ่านมาก็ยังจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มี การปล่อยควันดำออกมาทางปล่องควันจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะด้วย เหตุผลใด ๆ ก็ตาม บางทีก็บอกว่าไฟไหม้ในปล่องบ้าง บางทีก็ต้องหยุดกระบวนการผลิต บางส่วนจากไฟฟ้าดับทำให้มีกลุ่มควันออกจากปล่องเป็นจำนวนมากบ้าง ที่ผ่านมาเมื่อเกิด เหตุการณ์ทำนองนี้พอเรื่องเริ่มซาลงข่าวต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ เงียบหายไปเหมือนกับไม่มีอะไร เกิดขึ้น แต่มลพิษพวกนี้มันไม่ได้หายไปไหนมันยังคงสะสมปนเปื้อนอยู่ในอากาศ สะสม ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบนิคมอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วทั้งหมดที่ดิฉันได้นำเสนอมานี้ก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของ การควบคุมมลพิษ การควบคุมคุณภาพอากาศ ความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สะสมมานาน เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าข้าง ๆ ตัวเรามีสารมลพิษชนิดใดอยู่บ้าง เราไม่เคยรู้ เลยว่าผู้ก่อมลพิษข้าง ๆ นี้เราเขาจะบริหารจัดการสารเหล่านั้นได้อย่างไร จะดีหรือไม่หากเรา สามารถเข้าถึงข้อมูลสารมลพิษ ทั้งหมดในระบบนี้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการเคลื่อนย้ายและ การปลดปล่อยสารเหล่านั้นทั้งทางน้ำและทางอากาศ ดังนั้นการบังคับจัดทำรายงานและ การเปิดเผยข้อมูลสารมลพิษหรือที่เราเรียกว่า PRTR จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ได้หมายถึงแค่ฝุ่น PM2.5 แต่หมายรวมถึง สารมลพิษอื่น ๆ ในอากาศด้วย สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำแล้วก็บังคับเพื่อให้เปิดเผย ต่อสาธารณชน ซึ่งการบังคับจัดทำรายงาน หรือ PRTR ได้ระบุอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนของพรรคก้าวไกล หากมีการบังคับใช้ได้จริงเราจะ สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพอากาศได้อย่างตรงจุด ถูกที่ถูกทาง ดิฉันเห็นว่า สมควรที่จะมีการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของปวงชนชาวไทยให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ อากาศที่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเป็นอากาศสะอาดที่ปวงชน ชาวไทยควรได้รับด้วยความเท่าเทียมกัน ดิฉันขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฝุ่นพิษและ การก่อมลพิษข้ามพรมแดนของพรรคก้าวไกล ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือกับท่านประธานผ่านไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ดิฉันได้รับเรื่อง ร้องเรียนมาจาก Rider จังหวัดระยองได้รับประกาศจาก Platform รับส่งอาหารรายหนึ่ง แจ้งว่ามีการลดจำนวนเงินค่ารอบลง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ ๒๓ มกราคมที่ผ่านมา แต่ในการลด ค่ารอบนี้ก็ไม่สามารถที่จะคุ้มกับต้นทุนค่าน้ำมัน หรือว่าค่าเสื่อมสภาพของรถไป ไม่คุ้มกับ ความเหนื่อย แล้วก็ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าครองชีพในปัจจุบัน ดิฉันจึงอยากจะ ฝากท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับ พี่น้อง Rider ที่ทำงานบน Platform รับส่งอาหารในกรณีนี้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องของที่ดิน ดิฉันได้รับเรื่องมาจากพี่น้องประชาชนหลายรายในจังหวัดระยองที่ไม่มีโฉนดที่ดินของ ตัวเองว่าได้ลงทะเบียนผ่านโครงการบอกดินไปตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน แต่การดำเนินการออกโฉนดล่าช้ามากนะคะ ปีหนึ่งสามารถออกโฉนดได้เพียงแค่ไม่กี่ราย และไม่มีความชัดเจนจากกรมที่ดินว่าประชาชน ที่ลงทะเบียนในโครงการนี้ได้ลงทะเบียนไปแล้วจะได้มีการเดินสำรวจให้เมื่อไร และออก โฉนดที่ดินครบเมื่อไร หรือหากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วรัฐบาลนี้จะทำโครงการต่อหรือไม่ พี่น้อง ประชาชนก็ได้แต่เฝ้ารอนะคะ หลาย ๆ คนเฝ้ารอโฉนดมาหลายสิบปีแล้ว ก็หวังพึ่งโครงการนี้ อยากจะส่งต่อที่ดินเป็นมรดกให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานแต่ก็ทำได้เพียงแค่รอ ดิฉันอยากจะฝาก ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือกรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย ช่วยให้ ความชัดเจนกับพี่น้องประชาชนในโครงการบอกดิน และเร่งในการแก้ไขปัญหาที่ดินซึ่งเป็น ปัญหาสำคัญของพ่อแม่พี่น้องประชาชนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัด ระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปรายญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำ และญัตติ ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมและ สนับสนุนการให้บริการของระบบนิเวศในเขตป่าต้นน้ำ เพราะป่าไม้มีความสำคัญในการ รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมดังคำที่เรามักจะได้ยินกันคุ้นหูว่า มีป่า มีน้ำ มีชีวิต จากข้อมูล ของสำนักจัดการที่ดิน รบกวนขอสไลด์ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากข้อมูลของสำนักจัดการ ที่ดินป่าไม้ แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ป่าของประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึง ปี ๒๕๖๕ มีพื้นที่ป่าโดยรวมอยู่ที่ประมาณ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย โดยภาคเหนือจะมี พื้นที่ป่าไม้มากที่สุด รองลงมาก็จะเป็นภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ป่า น้อยที่สุด และจากพื้นที่ป่า ๓๑.๕๗ เปอร์เซ็นต์นี้ก็จะมีพื้นที่ที่เราเรียกว่าป่าต้นน้ำอยู่ ประมาณ ๒๖ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจป่าต้นน้ำของ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพบว่าพื้นที่ที่มีป่าต้นน้ำมากที่สุด นั่นก็คือพื้นที่ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ทีนี้เรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ที่มีป่าต้นน้ำเยอะที่สุดของ ประเทศ ท่านประธานจะเห็นว่าพื้นที่ป่าในภาคเหนือลดลงทุกปี จากพื้นที่ป่าประมาณ ๖๕.๓๑ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๕๖ เหลือ ๖๓.๕ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๖๕ และภาคอื่น ๆ ก็ลดลงด้วย มีเพียงพื้นที่ป่าของภาคตะวันตกที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อ ความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำที่จะช่วยควบคุมการดูดซับและกักเก็บน้ำฝนตามธรรมชาติ ช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ตลอดจนการควบคุมการพังทลายของหน้าดินด้วย เมื่อสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ El Nino ก็ได้เห็นผืนป่าที่เป็นป่าต้นน้ำในอำเภอแม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งน่าจะกำลังประสบปัญหาพื้นที่ป่าเช่นเดียวกัน ช่วงที่คณะไปศึกษาดูงานก็จะเป็น ช่วงที่น้ำกำลังแล้งพอดี ส่งผลกระทบต่อพี่น้องที่อาศัยในแนวลุ่มน้ำ ทั้งปัญหาในเรื่องของ การขาดน้ำการเกษตร กระทบการท่องเที่ยวที่ปกติจะล่องแพกันได้ทั้งปี แต่พอน้ำลดลง ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในชุมชน พอป่าลดน้ำก็แล้ง รายได้ก็ไม่มี อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้ของเรามีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ไฟป่า การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหาการเอื้อประโยชน์ การใช้ ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ ปัญหาบุคลากรที่ดูแลพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ และปัญหาการบริหาร งบประมาณที่จะดูแลรักษาป่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้พื้นที่ป่าของเราลดลงและไม่สามารถเพิ่ม พื้นที่ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาการบริหารงบประมาณที่จะทำให้เกิด การฟื้นฟูป่าอย่างต่อเนื่อง เพิ่มพื้นที่ป่าอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาอาจจะ ประสบกับความสำเร็จไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย เพราะการจัดสรรงบประมาณกว่าครึ่ง เป็นรายจ่ายประจำ เป็นค่าจ้างเหมา ค่าจ้างเหมาบุคลากร หรือแม้แต่การใช้เงินจากกองทุน สิ่งแวดล้อมก็อาจจะไม่เพียงพอ หรือติดข้อจำกัดวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ ดังนั้น อาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณของกองทุนเพื่อรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำโดยเฉพาะ เพื่อเป็น เครื่องมือสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เห็นถึง ความสำคัญของการช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ ช่วยกันปลูกต้นไม้ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ให้เกิด การมีส่วนร่วมกับชุมชน การมีส่วนร่วมของผู้ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าให้มีการฟื้นฟูสภาพป่า ที่เสื่อมโทรมให้กลับสภาพเป็นพื้นที่ดูดซับน้ำได้เหมือนเดิม รวมทั้งให้เป็นพื้นที่ป่าชุ่มชื้น เกิดการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าร่วมกัน แต่การจัดตั้งกองทุนที่เสริมขึ้นมาจากงบประมาณ รายจ่ายประจำปี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดจากการใช้เงินกองทุนนี้ การดำเนินงานอย่างรัดกุม ไม่ให้การดำเนินงานของกองทุนซ้ำซ้อนกับภารกิจหน่วยงาน ราชการ เช่น ภารกิจปลูกป่า เพาะกล้าไม้ ที่หลาย ๆ หน่วยงานได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว เป็นต้น การดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความชัดเจนที่มาของเงิน แหล่งที่มาของเงิน รวมถึงรายได้ของกองทุน และการมีส่วนร่วมของประชาชน การเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน ให้อยู่ในคณะกรรมการของกองทุนด้วย ที่สำคัญอย่างยิ่งข้อมูลดำเนินงานของกองทุนต้อง เปิดเผยต่อสาธารณะให้ชุมชนและประชาชนได้รับทราบและตรวจสอบร่วมกัน ดิฉันเห็นด้วย หากจะมีการศึกษาการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำและสนับสนุนให้เกิดการบริการของระบบ นิเวศในเขตป่าต้นน้ำเพื่อให้มีการดูแลรักษาพื้นที่ป่า มีการฟื้นฟูป่าให้มีความสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่จะหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป แต่อยาก ให้ทางคณะกรรมาธิการหรือทางคณะรัฐมนตรีที่จะรับเรื่องนี้ไปศึกษาได้ตระหนักถึงข้อกังวล และข้อเสนอแนะที่ดิฉันได้กราบเรียนไปแล้ว ดิฉันอยากให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของ ป่าต้นน้ำ เห็นความสำคัญของการรักษาพื้นที่ป่า เพื่อคงความสมดุลของทุก ๆ ชีวิตไว้ และเกื้อหนุนซึ่งกันและกันต่อไป ดิฉันขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทั้ง ๒ ญัตตินี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันมีเรื่องหารือกับท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • คลิปที่ทุกท่านกำลังชมอยู่ ตอนนี้ก็คือสภาพของสายไฟ สายสื่อสาร บริเวณ ๒ ข้างทางถนนสุขุมวิทพื้นที่ชุมชนเมือง ตั้งแต่ช่วงตำบลเนินพระยาวไปจนถึงบริเวณแยกมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง จะเห็นว่ามีสายไฟ สายสื่อสาร ห้อยระโยงระยางพันกันไปมา บางส่วนก็มีความพยายาม ที่จะรวบเก็บแล้ว แต่ก็ยังดูไม่เรียบร้อย แล้วก็ดูไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนที่ใช้ทางเท้า ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งสายเหล่านี้มีทั้งที่ยังใช้งานได้อยู่และบางส่วนก็เป็นสายที่ไม่ได้ ใช้งานแล้ว ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและทัศนียภาพที่สวยงาม จึงขอเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้เร่งบูรณาการประสานกับทุก ๆ หน่วยงานที่เป็น เจ้าของสายไฟ สายสื่อสารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระยอง กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นร่วมกันจัดเก็บสายไฟ สายสื่อสารให้เรียบร้อยและให้มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ในช่วงนี้ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างหนาหูเลยนะคะ รวมถึงมีการร้องเรียนผ่านมาทางช่องทาง Social Media ว่ามีการ ติดตั้งตู้ Slot ไว้คอยดูดเงินคนหาเช้ากินค่ำ หลอกล่อพวกเขาด้วยความหวังในการเพิ่ม ช่องทางทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้อง จึงขอเรียนท่านประธานผ่านไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กำกับดูแลในพื้นที่จังหวัดระยอง ให้ตรวจสอบและกวดขันการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว และขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่วยเร่งดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ให้หมดสิ้นไปด้วย ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎร ดิฉัน กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยากรณี น้ำมันรั่วไหลลงทะเล ท่านประธานคะ พื้นที่ทะเลในภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณอ่าวระยองของเรานี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องอาชีพประมง และอาชีพต่อเนื่องอื่น ๆ มีธรรมชาติที่สวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใน พื้นที่ได้อย่างมหาศาลเลยค่ะ จนกระทั่งปี ๒๕๕๖ เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบกว่า ๕๐,๐๐๐ ลิตร รั่วจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย โดยบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ทันได้รับ การแก้ไขหรือฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ก็ดันมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่จังหวัดระยองซ้ำสอง ทำให้อ่าวระยองที่เสียหายอยู่แล้วยิ่งเสียหายหนักลงไปอีกค่ะ ทรัพยากรในท้องทะเล ถูกทำลายย่อยยับ กุ้งแชบ๊วย กุ้งเคย ปูม้า ปลาอินทรีและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ชาวประมงก็ยังได้พบ ความผิดปกติของสัตว์ทะเล ในอ่าวหลายชนิดเลย รวมถึงการตายของเต่าทะเลและโลมาอย่างไม่ทราบสาเหตุด้วยค่ะ ท่านประธานคะ เอกสารในมือของดิฉันคือเอกสารที่ระบุข้อมูลตั้งแต่หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ในช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่ามีการตายของเต่าทะเล และปลาโลมาโดยไม่ทราบสาเหตุถึง ๓๔ ครั้ง ดังที่ปรากฏบนจอภาพนะคะ ก็จะเห็นการตาย ของทั้งเต่าทะเลแล้วก็ปลาโลมาอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นฤดูลมพัดเข้าฝั่งก็จะพบ สัตว์ทะเลตายเกยตื้นมากกว่าปกติอีกค่ะ ยังไม่หมดแค่นั้นนะคะท่านประธานยังมีการพบ ความผิดปกติของสัตว์ทะเลที่พี่น้องประมงเขาจับขึ้นมา มีการพบสิ่งแปลกปลอมเป็นก้อนเนื้อ ของปลาทะเล พบความผิดปกติของผิวหนังปลา สีตาปลา ลักษณะของเนื้อปลาที่ผิดปกติไป จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นก็ได้สะท้อนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วมันไม่ได้จบเพียงแค่ การทำความสะอาดชายฝั่งหรือเอาสารเคมีโปรยลงไปแล้วกดน้ำมันให้จมอยู่ใต้ทะเลแล้วก็จบ กระบวนการเท่านั้น แต่เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลต่อห่วงโซ่ อาหาร และมันขยายวงกว้างไปแล้วค่ะ เพราะฉะนั้นภารกิจสำคัญที่เราจะต้องทำกัน อย่างจริงจังนั่นก็คือการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ทั้ง ๒ ครั้งที่ผ่านมา ดิฉันจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิดกลางอ่าวเม็กซิโกและปล่อยน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลใน ปี ๒๐๑๐ ซึ่งเป็นข่าว ดังไปทั่วโลก และอาจจะมีน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลมากกว่า ๔,๙๐๐,๐๐๐ บาร์เรล หรือราว ๆ ๗๘๔ ล้านลิตร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิต สัตว์น้ำ เต่า วาฬ และโลมา หรือแม้กระทั่งนกหลายสายพันธุ์ที่อาศัยแหล่งอาหารจากทะเลและชายฝั่งใกล้ ทะเล ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล สัตว์น้ำมากมายถูกพรากชีวิตทันทีหลังจากเหตุการณ์นี้ ส่วนที่รอดชีวิตมา ก็ค่อย ๆ ล้มหายตายไปในเวลาถัดมา หรือแม้แต่สัตว์ที่รอดชีวิตมาได้ก็ต้อง อยู่กับอาการป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถทำหน้าที่ธรรมชาติได้จัดสรรไว้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไป จริง ๆ ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วทั้ง ๒ เหตุการณ์นี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่อ่าวเม็กซิโกหรือ อ่าวระยองผลกระทบแทบจะไม่ต่างกันเลยค่ะ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือการวาง แผนการกำหนดมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติค่ะ ในปีนั้นเองหลังจากเกิดเหตุการณ์ ระเบิดศาลสหรัฐก็ตัดสินให้ บริษัท BP ซึ่งเป็นเจ้าของแท่นขุดเจาะ ขออนุญาตเอ่ยนามนะคะ ไม่เสียหายอะไร เนื่องจากปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ อยู่แล้วให้มีความผิดถึง ๑๔ คดี แล้วสั่งปรับเงินทันที คิดเป็นเงินไทยก็ราว ๆ ๑๔๓,๐๐๐ ล้านบาท รวมถึงต้องชดเชย ค่าใช้จ่ายในการกำจัดคราบน้ำมันในทะเลด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ตกกับทางบริษัททั้งทางแพ่ง และทางอาญาตั้งแต่ช่วงปี ๒๐๑๐ จนถึงปี ๒๐๒๐ สะสมรวมกันไปแล้วกว่า ๒ ล้านล้านบาท ในส่วนของรัฐบาลเองก็ได้ตั้งกรรมาธิการวางแผนฟื้นฟูผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และได้ จัดสรรเงินสำหรับการฟื้นฟูในช่วงแรกถึง ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราว ๆ ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งตัวเลขมันอาจจะดูเยอะนะคะ แต่จริง ๆ แล้วหากเทียบกับมูลค่าทรัพยากรที่เราต้องสูญเสียไป ทั้งทางตรงและทางอ้อม เทียบกันไม่ได้เลยนะคะ จากข้อมูลเป้าหมายของการฟื้นฟูสิ่งที่เขาเคยทำกัน นั่นก็จะ ประกอบไปด้วยมาตรการหลัก ๆ ก็คือการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล การปรับ คุณภาพน้ำ การอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสัตว์ที่อยู่แถบทะเล การฟื้นฟูกิจกรรมทางทะเล เช่น การประมง การท่องเที่ยว และมีการวางแผนในการฟื้นฟู มีการระบุ Timeline มีรายละเอียด และมีการประเมินผลการฟื้นฟูอย่างชัดเจน ซึ่งดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูไปจนถึงปี ๒๐๓๐ ฟังไม่ผิดค่ะท่านประธานปี ๒๐๓๐ น้ำมันรั่วปี ๒๐๑๐ แต่เขาวางแผนฟื้นฟูกัน ยาวนานถึง ๒๐ ปี และไม่ได้หมายความว่าฟื้นฟูไป ๒๐ ปีแล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็น เหมือนเดิมนะคะ ยังคงจะต้องมีการอนุรักษ์กันต่อไปอีก พอย้อนมองกลับมาที่บ้านเรา ที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีน้ำมันรั่วเกิดขึ้นกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง รัฐไทยแทบไม่เคยมีมาตรการฟื้นฟูเลยค่ะ หรือหากมีก็เป็นเพียงมาตรการน้อยนิดและฉาบฉวย ทั้ง ๆ ที่เรามีหน่วยงานที่มีภารกิจ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดูแลอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่งทะเล เรามี พ.ร.บ. มีกฎหมายที่ให้ อำนาจในการจัดการการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลได้ แต่ก็นั่นล่ะค่ะน้ำมันรั่วครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เคยเห็นมาตรการในการฟื้นฟูอะไรกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เลย ทะเลระยองที่เคย อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งทำประมง แหล่งจับสัตว์น้ำ มีนักท่องเที่ยวมากมายทั้งในและ ต่างประเทศ ทุกวันนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหลายสิบปีก่อนเปลี่ยนไปเยอะเลยค่ะท่านประธาน จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ปี ๒๕๖๕ มาถึงเหตุการณ์ น้ำมันรั่วครั้งล่าสุดที่อำเภอศรีราชา ปี ๒๕๖๖ หรือจะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์น้ำมันรั่ว หลาย ๆ ครั้งก่อนหน้านั้น ทุก ๆ อย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยค่ะ ทั้งการรับมือ การเยียวยา และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ถึงเวลาแล้วค่ะที่เราจะต้องตระหนักในการวางแผนการ ฟื้นฟูทรัพยากร รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งนะคะที่สภาผู้แทนราษฎร จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา และจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไข ฟื้นฟูและเยียวยา กรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล เพื่อพลิกฟื้น ระบบนิเวศทางทะเลให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม