เรียนท่านประธานสภาค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันอยากจะมานำเรียนท่านประธานถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและต้องการ การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบค่ะ ในพื้นที่ของบริเวณตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัด นครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเจอปัญหาเรื่องของภัยพิบัติซ้ำซากตลอดเวลา ในพื้นที่ หมู่ที่ ๑ บ้านน้ำร้อน หมู่ที่ ๒ บ้านสี่ขีดและหมู่ที่ ๑๑ บ้านเขาพับผ้า ขออนุญาตนำภาพค่ะ ท่านประธาน
พื้นที่ดังกล่าวนี้มีพี่น้อง ประชาชนกว่า ๑,๐๒๘ ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ทั้งบริเวณ ๓ หมู่บ้าน ทุก ๆ ครั้งที่ฝนตกหนัก ทุก ๆ ครั้งที่เกิดเหตุภัยพิบัติพื้นที่ทั้ง ๓ หมู่บ้านจะเจอปัญหาเรื่องของเส้นทางคมนาคม โดนตัดขาดค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ดังกล่าวมีโรงเรียนตั้งอยู่คือโรงเรียนบ้านน้ำร้อน ปัญหาที่เราเจอทุก ๆ ครั้งก็คือเส้นทางโดนตัดขาด พี่น้องประชาชนต้องไปตัดต้นหมาก มาทำเป็นพื้นที่สำรองในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน เดินทางไปโรงเรียน หรือแม้แต่เดินทางเพื่อที่จะขนส่งสินค้าที่อยู่ภายในหมู่บ้านดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน พื้นที่ดังกล่าวเจอปัญหาที่ดิฉันบอกก็คือภัยพิบัติซ้ำซาก แล้วก็ได้มี การร้องขอจากหน่วยงานหลักก็คือทางกรมชลประทาน เพื่อที่จะออกแบบแก้ไขปัญหา เพราะว่าโดยตำบลสี่ขีดเองงบประมาณที่มีอยู่ก็ไม่มากนัก ก็เลยต้องร้องขอทางสำนักงาน ชลประทานที่ ๑๕ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขอให้เข้าไปออกแบบ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ออกแบบในการป้องกันตลิ่งพัง ออกแบบในการสร้างทำนบน้ำ เพื่อใช้ในยามแล้ง และแก้ไขปัญหาเวลาที่เกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่วงคอสะพาน ของคลองน้ำใส หมู่ที่ ๑ บ้านน้ำร้อน และหมู่ที่ ๑๑ ของบ้านเขาพับผ้าบริเวณเส้นทาง ดังกล่าวเป็นช่วงของคลองท่าเรือรีที่คลองน้ำใสและคลองน้ำขุ่นมาเจอกัน พอทั้ง ๒ สายคลอง มาเจอกันกระแสน้ำที่ค่อนข้างแรงมากค่ะ มันก็เลยทำให้มีมวลน้ำมาก แต่สายคลองค่อนข้างเล็ก เลยจะเจอปัญหาก็คือบริเวณตลิ่งทั้ง ๒ ฝั่งเกิดการกัดเซาะ สายทางโดนตัดขาดทุกครั้งที่มี ฝนตกหนัก และเป็นแบบนี้ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว ทางองค์การบริหาร ส่วนตำบลสี่ขีดจึงได้ทำหนังสือเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณให้เข้าไปออกแบบและแก้ไข ปัญหาอย่างถาวร ๓ โครงการด้วยกันคือ
โครงการที่ ๑ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองน้ำใส หมู่ที่ ๑ ตำบลสี่ขีด
โครงการที่ ๒ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองท่าโคกหมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสี่ขีด
โครงการที่ ๓ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองท่าเรือรี หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๑๑ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ดิฉันนำเรียนความเดือดร้อนที่เป็นปัญหาอยู่ตลอดทุกปีทุกหน้า
พอถึงเวลาหน้ามังคุด จังหวัดนครศรีธรรมราชเราเดือดร้อนและเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยค่ะ วันนี้จึงอยากจะมานำเรียนท่านประธานพร้อมทวงถามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างถาวร เมื่อ ๒-๓ อาทิตย์ที่ผ่านมามังคุดออกสู่ตลาดของภาคใต้ช่วงเริ่มต้นเลยราคามา ๗๐-๑๐๐ บาท มังคุดภูเขาราคาดี แต่มังคุดใน Zone ด้านล่างราคาค่อย ๆ ดิ่งเหวตกลงมา ตอนนี้รับซื้อกันอยู่ ๒๕-๓๐ บาท ท่านประธานคะ ปัญหามันอยู่ที่คนกำหนดราคาไม่ใช่ เกษตรกรค่ะ แล้วคนรับซื้อเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดราคา วันนี้กลุ่มผู้รับซื้อหรือที่เรารู้จักกัน ในนามล้งมีจำนวนไม่มากในจังหวัด เมื่อถึงเวลาชาวบ้านไปสอยมังคุดมาแล้วจำเป็นต้องขายค่ะ เพราะมังคุดถึงเวลามันก็แข็งมันก็เสีย แต่เมื่อราคาเปิดมาเท่าไรก็ต้องขาย นี่คือปัญหาที่เกิด วนเวียนซ้ำซากเป็นประจำ ดิฉันจึงมาใช้พื้นที่ในสภาเพื่อผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันนี้เราต้องแก้ปัญหาราคาพืชผลของพี่น้องเกษตรกร ทั้งประเทศ และทำเป็นแผนแม่บทมีการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ต้องมีการช่วยกันก่อนหน้าที่หน้ามังคุดจะออกมาค่ะ กระทรวงพาณิชย์ต้องชัดเจนว่าถ้ามังคุด ล้นตลาดมา เรามีตลาดให้เกษตรกรสามารถรวมตัวกันแล้วส่งไปขายเพื่อแข่งกับล้งได้ ตรงไหนบ้าง กรมวิชาการเกษตรที่อ้างว่าวันนี้ที่กลุ่มล้งอ้างว่าไม่มี GAP ท่านก็ต้องจัด เจ้าหน้าที่ให้เพียงพอสามารถออก GAP ให้กับเกษตรกรได้ ถ้าท่านทำเองไม่ได้ ท่านต้องจ้าง Outsource ไปช่วยทำให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครอบคลุมพื้นที่ ทางล้งจะได้มีข้ออ้างค่ะ สำคัญที่สุดวันนี้ถ้าหน่วยงานราชการอ้างว่ามังคุดไม่ใช่มังคุดคุณภาพ ทางหน่วยงานราชการ ก็ต้องไปช่วยส่งเสริม มีทุนให้กับเกษตรกร มีความรู้ให้กับเกษตรกร และที่สำคัญต้องสร้าง เกษตรกรให้เข้มแข็ง ให้เขาสามารถขายตรงสู่มือผู้บริโภคได้ค่ะ ช่วยลดต้นทุน ช่วยสร้าง ความเข้มแข็ง กระจายรายได้ กระจายโอกาส นี่คือหน้าที่ของข้าราชการของประเทศนี้ค่ะ สิ่งที่ดิฉันกังวลดิฉันไม่อยากให้เกษตรกรต้องเป็นเครื่องมือของการจับมือกันของผู้ประกอบการ และข้าราชการที่คิดไม่ดีต่อเกษตรกร ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนอื่นต้องกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ ที่ได้คำนึงถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนจังหวัดภูเก็ต และได้เป็นตัวแทนมาตั้งกระทู้เพื่อหาทางแก้ไขในวันนี้ ดิฉันในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. ว่ามาตรการที่ทางกระทรวงเอง หรือทางรัฐบาลเองได้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ. ต่าง ๆ ใช้ในการควบคุมสามารถ แบ่งได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน มี ๒ ระยะมาตรการควบคุมขออนุญาตดูตามแผ่น Slide
มาตรการควบคุมในระยะแรกเลยเริ่มต้นจากการขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการ เริ่มต้นถ้ามีใครจะตั้งโรงงานเขาจะมีการเขียนใบ ร.ง. ๓ มายื่นความจำนงที่อุตสาหกรรม ทางกระทรวงเองเมื่อได้รับใบ ร.ง. ๓ เราจะมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจ เจ้าหน้าที่ทำการพิจารณา ตรวจกระบวนการผลิต รวมถึงมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแล้วก็ควบคุมการปล่อย ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางกลิ่น นี่คือมาตรการอย่างแรก อย่างที่ ๒ ก็คือ การมีการคำนวณจากแบบแปลน มีการขอ ร.ง. ๓ แล้วสอบถามเรื่องวิธีการแก้ไข วิธีการ บำบัด แล้วก็จะมีการตรวจแบบแปลน ทางผู้ขอจะต้องมีการส่งแบบแปลนให้ทางกระทรวง
ทีนี้มาระยะที่ ๒ นอกจากการขอใบอนุญาตแล้ว เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของ การกำกับดูแล การกำกับดูแลเราก็แบ่งได้คือเรื่องของมลพิษทางอากาศแล้วก็มลพิษทางน้ำ เราอาศัยจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องของการกำหนดค่าปริมาณสารเจือปน ในอากาศที่จะระบายออกจากโรงงาน เรามีประกาศหลายตัวด้วยกัน สีเหลืองคือประกาศ ของการควบคุมมลพิษทางอากาศ ส่วนสีฟ้าเป็นการออกประกาศควบคุมมลพิษทางน้ำ ถ้าท่านจะเห็นกากบาทสีแดงด้านหลังคือมาตรการที่ออกไป แต่โรงงานไทยอุตสาหกรรม อาหารเส้นไม่ได้อยู่ในประเภทที่จะครอบคลุมถึง ประเภททั้งหมดคือมาตรการโดยรวม แต่โรงงานไทยอุตสาหกรรมอาหารมีปริมาณน้ำเข้าและน้ำออกเพียง ๕๐ ลูกบาศก์เมตร แต่มาตรการของลำดับที่เป็นเครื่องหมายต้องใช้ ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมลพิษทางน้ำ จริง ๆ แล้วก็มีเรื่องของค่า BOD COD ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมเราได้ออกมาตรฐาน ต้องใช้เครื่อง Online อย่างนี้เราจะมีเครื่อง Online ติดตั้งน้ำทิ้งที่จะส่งตรงไปยัง กรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่น้ำที่จะเข้าเครื่องเขาได้กำหนดไว้ว่าขั้นต่ำจะต้อง ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร แต่ว่าโรงงานมีแค่ ๕๐ ลูกบาศก์เมตร มันก็เลยกลายเป็นว่ามาตรการ ควบคุมมีแค่ตามนั้น ทีนี้ถามว่าควบคุมแล้วมีการบังคับใช้แล้วก็ไปดูได้อย่างไรบ้าง ต้องนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. โรงงานดังกล่าวก็มีการร้องเรียนมาหลายครั้ง ทุกครั้งที่มีการร้องเรียนทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปในพื้นที่แล้วก็ตรวจสอบ กรณีดังกล่าวมีการร้องเรียนเมื่อวันที่ ๑๖ และวันที่ ๒๐ มิถุนายน เรามีการลงพื้นที่ไปแล้วก็มีการติดต่อพร้อมส่งข้อมูลไปกลับกันมาทั้งหมด ๘ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกก็คือเรื่องของวันที่ ๑๖ และวันที่ ๒๐ มิถุนายนมีการร้องเรียน พอวันที่ ๒๓ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็ได้มีคำสั่งออกไปห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงาน พอมาวันที่ ๓ แล้วก็วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๑๐ วันต่อมาทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้รับหนังสือจากทาง โรงงานไทยอุตสาหกรรมอาหารเส้นเพื่อขอขยายระยะเวลาปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดอากาศ ไปจนถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ถามว่าทำไมต้องขยาย เพราะว่าโรงงานดังกล่าวเมื่อไป ตรวจสอบแล้วมีปัญหาทั้ง ๒ อย่าง คือเรื่องน้ำและเรื่องอากาศ ระบบน้ำเมื่อร้องเรียนปุ๊บ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดบอกว่าห้ามระบายน้ำออกเพราะว่ามีการตรวจสอบแล้วมันเกิน ค่ามาตรฐานทั้งน้ำและอากาศ อย่างแรกเลยคือห้ามระบายน้ำก่อนและให้ไปปรับปรุง ให้ถูกต้อง ปรากฏว่าการปรับปรุงต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากพอเข้าไปดูแล้วระบบค่อนข้าง จะไม่สมบูรณ์มันเลยทำให้น้ำทิ้งออกมาไม่ค่อยมีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ก็เลยต้องขอให้ขยายเวลาเพื่อให้ได้กระบวนการการบำบัดให้เป็นไปตามแบบของ กระทรวงอุตสาหกรรม ทีนี้มาวันที่ ๔ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตได้รับหนังสือเสร็จ ก็ได้ขยายเวลาให้ แล้วก็พอมาวันที่ ๑๑ เราโชคดีท่าน สส. เองก็ได้ลงพื้นที่ไปดูด้วย ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ลงไปดูโรงงานก็ไปตรวจสอบว่าน้ำทิ้งได้คุณภาพหรือยัง อากาศได้คุณภาพหรือยัง ก็ปรากฏว่า ณ ตอนนั้นยังไม่ผ่าน พอมาวันที่ ๑๘ อุตสาหกรรม จังหวัดภูเก็ตก็ได้มีคำสั่ง มาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง คือเรื่องขอให้ปิดปรับปรุงใน Zone ที่มีปัญหา แล้วก็ได้เพิ่มจุดวัดคุณภาพน้ำเพิ่มอีก ๔ จุด พอมาครั้งที่ ๗ คือวันที่ ๒๒ โรงงานเริ่มมีการระบายน้ำ แล้วเราก็ได้ตรวจดูปรากฏว่าทางอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ก็ได้รับหนังสือขอขยายเวลาเพิ่มจากวันที่ ๑๕ กันยายน เป็นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ถามว่า ทำไมต้องขยายเวลาเพิ่ม ตอนนี้มันจะมีปัญหาไปถึงเรื่องของอากาศ คือน้ำแก้ไขปัญหาได้แล้ว แต่อากาศยังมีปัญหาอยู่ ต้องนำเรียนท่านประธานอย่างนี้ โรงงานดังกล่าวใช้ฟืนในการจุด พอใช้ฟืนถ้าชื้นสักหน่อยควันที่ออกไปตอนแรกจุดเลยก็จะเป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ อาจก่อให้เกิดปัญหาและไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน เขาจำเป็นจะต้องปรับปรุงเรื่องของระบบ การเผาไหม้ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาแล้วก็ต้องเขียนแปลนซึ่งต้องใช้เวลา เราเลยจำเป็น จะต้องขยายเวลาให้เพิ่ม ถามว่าทำไมต้องขยายแล้วขยายอีก เพราะเราต้องการให้สิ่งที่ ปล่อยออกมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรืออากาศเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดไว้ ทีนี้พอมาวันที่ ๓ ตุลาคมท่านประธานทางผู้ประกอบการเองก็ได้แจ้งผล ของการวิเคราะห์น้ำและก็ปรากฏว่าตอนนี้ ๓ ตุลาคม เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดแล้ว เฉพาะน้ำ ยังไม่รวมอากาศ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นทางอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องก็บอกแล้วว่าทั้งน้ำ ทั้งอากาศ ต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๖
มาเรื่องสุดท้ายที่เมื่อสักครู่ท่าน สส. เองได้ถามเรื่องของการพักใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต จริง ๆ เราทำตามขั้นตอนตลอดเริ่มต้นจากเจอว่ามีปัญหา เข้าไปตรวจแล้วให้แก้ไข ให้แก้ไขก็มีการขยายเวลา แต่โรงงานดังกล่าวยังอยู่ในระยะเวลา ที่ขยาย ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ดังนั้นเราทำได้แค่ให้ดำเนินการตามมาตรการ เรื่องของ การถอนใบอนุญาตจริง ๆ แล้วตอนนี้ยังไม่สามารถทำการถอนใบอนุญาตได้เพราะโรงงานเอง ยังอยู่ในกระบวนการ ก็เลยนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉันขออนุญาตตอบประเด็นข้อซักถามเพิ่มเติม ของท่าน สส. ผ่านไปยังท่านประธานนะคะ จริง ๆ แล้วเรื่องของปริมาณน้ำเข้าน้ำออก ถึงแม้จะไม่มีมาตรวัดในการเข้า Process แต่มันสามารถคำนวณได้จากใบ ร.ง. ๓ ที่บอก เมื่อสักครู่คือจำนวนกำลังการผลิตของหม้อน้ำที่ใช้ เพราะฉะนั้นมันสามารถทราบคร่าว ๆ ว่าเราจะต้องใช้น้ำทั้งกระบวนการปริมาณเท่าไร เพราะฉะนั้นก็เลยนำเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังท่าน สส. ว่าทางกระทรวงเองเรามีวิธีการคำนวณกลับจากกำลังการผลิตหม้อน้ำ ที่ใช้ค่ะ ประการที่ ๑ ที่ตอบคำถามท่านนะคะ
เรื่องที่ ๒ เรื่องที่ท่านค่อนข้างห่วงใยเรื่องของควัน เรื่องของควันสีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ประเภทควันและสีควันก็อาจจะบ่งบอกได้ ควันสีดำมันอาจจะเป็นการเผาไหม้ ไม่สมบูรณ์จริง แล้วก็มักจะเกิดเริ่มต้นกระบวนการที่เริ่มจุดเตา พอเริ่มจุดเตาใส่ไม้ฟืน ถ้าฟืนตัวนั้นเหมือนที่ท่านบอกว่ามีขนาดใหญ่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์แรก ๆ ที่จุดจะเป็นควันดำ ออกมา แต่พอสักพักออกมาถ้าเป็นสีขาวส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของไอน้ำ แล้วก็ถ้าเป็น ควันสีเทาก็คือไอน้ำกับเขม่า ก็เลยจะนำเรียนท่านว่าประเภทสีควันมันบ่งบอกเรื่องของ การเผาไหม้ ส่วนเรื่องของน้ำที่ออกมาสีต่าง ๆ แน่นอนโรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตอาหารเส้น สีที่ออกมาเป็นสีขาวแน่นอน แต่สีไม่ได้บอกว่าคุณภาพดี ไม่ดี การบอกคุณภาพคือเรื่องของ การที่จะต้องเอาน้ำไปตรวจแล้วถึงจะบอกได้ว่าคุณภาพดีหรือไม่ดีอย่างไร ทีนี้เหมือนมัน จะเป็นงูกินหาง ด้วยขนาดของโรงงานมันไม่สามารถที่จะติดตั้งเครื่อง Online ได้ เพราะ Size มันไม่ถึงกับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด แต่เราสามารถไปตรวจได้เหมือนที่ท่าน บอกว่ามีเรื่องร้องเรียนมาอุตสาหกรรมจังหวัดก็จะเข้าไปแล้วก็ตรวจสอบ อันนี้ดิฉัน ต้องยอมรับกับท่านประธานโดยตรงว่ามันเป็นช่องว่างจริง ๆ ถามว่าเรามีนโยบายไหม เราอยากทำค่ะ แต่ว่าการติดเครื่อง Online ๑ เครื่อง เรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. ต้องใช้เงินกว่า ๑ ล้านบาทในการติดตั้ง ทีนี้เราอาจจะปรับเหมือนกับการตรวจสอบคุณภาพ เราก็ใช้วิธีการว่าเราอาจจะกระตุ้นไปยังผู้ประกอบการว่าในเมื่อมีการร้องเรียนหลาย ๆ ครั้ง แล้วทางชุมชนที่อยู่แวดล้อมเองเขามีความสงสัย ผู้ประกอบการเองก็จำเป็นจะต้อง ไปให้ข้อมูลและพูดคุยกันให้มากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องของการเยียวยาดิฉันขอกลับไปสอบถาม ทางผู้ประกอบการนิดหนึ่งว่าอย่างไร เพราะวันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเราจำเป็นจะต้องใช้ กฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ประกาศที่มีอยู่ในกระทรวงทำตามให้เสร็จสิ้นก่อน และที่สำคัญที่สุดการขยายถามว่าขยายครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ มันเป็นการขยายแบบมีมูลเหตุ เนื่องจากเราอยากให้น้ำและควันพิษออกมาเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด เพราะฉะนั้น เราต้องให้ระยะเวลาผู้ประกอบการในการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ปรับปรุงเรื่องน้ำทำเสร็จ ในตอนแรก เสร็จไปตั้งแต่วันที่ ๒๒ แต่เรื่องอากาศต้องใช้เวลา เพราะเขาต้องไปปรับปรุง ตัวเตาซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เราเลยจำเป็นต้องขยายเป็นครั้งที่ ๒ แต่ถ้าไม่เสร็จวันที่ ๑๖ อาจจะต้องมีพักต้องดูด้วยว่ามันมีมูลเหตุหรือเปล่า แต่คำว่า พัก ไม่ได้หมายถึงว่าพักกิจการ ทั้งระบบ พักเฉพาะ Zone ที่มีปัญหา ต้องนำเรียนท่านประธานด้วยว่ากฎหมายมี แต่ต้อง บังคับใช้อย่างเป็นธรรม ดิฉันเองต้องนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. ว่ากระทรวง อุตสาหกรรมเราไม่ได้เพิกเฉยเลย แต่ด้วยเรื่องทั้งหมดที่มาที่กระทรวงมีเรื่องร้องเรียนมาที่ กระทรวงแค่ ๒ ครั้งเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้ผ่านช่องทางไหนไป แต่ทุกครั้งที่ร้องเรียน มาที่กระทรวง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี ๒๕๖๔ หรือครั้งนี้ก็ตามแต่ เราได้รีบให้ข้าราชการ ที่อยู่ในพื้นที่ลงไปตรวจสอบพื้นที่อย่างเร่งด่วน ก็นำเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่าน สส. ค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ๒๖๐ เห็นด้วยค่ะ
ท่านประธานคะ
ท่านประธานคะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวาน ได้มีการขอเสนอเลื่อนญัตติ แล้วก็ได้เป็นมติร่วมกันแล้วว่าญัตติของการเสนอปัญหาราคา พืชผลทางการเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไขจากเกษตรกร แล้วถ้านับจำนวน เกษตรที่รอการแก้ไขปัญหาไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง วันนี้พืชผลเกษตรทั้งหมดรอการรับฟังและรอการสรุปประเด็นปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไข ในวันนี้ค่ะ ถ้าสมาชิกทางพรรคก้าวไกลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญและจะนับองค์ประชุม ทั้ง ๆ ที่ ญัตติยังเสนอกันไม่ครบ ดิฉันเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรที่เขารอการแก้ไขอยู่ ถ้าท่าน จะทำอย่างนี้ได้ค่ะ ประชาชนรอการแก้ไขจากสภา การเสนอญัตติยังไม่เสร็จสิ้นด้วยซ้ำ แล้วก็ เป็นการสรุปกันตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมาแล้วว่าญัตติด่วนจำเป็นจะต้องเลื่อนขึ้นมาในวันนี้
ท่านประธานคะ อยากให้ ท่านประธานได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นค่ะ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ยังไม่ได้กล่าวอ้างชื่อเลยนะคะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรมค่ะ ก่อนอื่นต้องขอบคุณผ่านท่านประธานไปยังท่าน สส. เกรียงยศ สุดลาภา ที่ให้ความห่วงใยเรื่องของพลังงานสีเขียวพลังงานสะอาด ต้องนำเรียนท่านประธานอย่างนี้ค่ะว่า วันนี้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เรามีความตั้งใจเหมือนกัน ก็คือว่าต้องการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย แล้วก็กระจายโอกาส ที่สำคัญที่สุดค่ะ คืออะไรที่เป็นอุปสรรคปัญหา แล้วก็อะไรที่จะสามารถช่วยเหลือ ผู้ประกอบการได้ เรายินดีที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของ กระทรวงพลังงานที่มีเรื่องของพลังงานสีเขียวมาเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยเหลือ ทั้งผู้ประกอบการทั้งนักธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดก็ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่จะสามารถหา พลังงานสะอาดผลิตได้ด้วยตัวเอง กระทรวงอุตสาหกรรมก็รับลูก ไม่ว่าจะเป็นการทำนโยบาย ต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงกันระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเรื่องของพลังงานสีเขียว ท่านประธานคะ ตัวเราเองเราคำนึงตลอดค่ะ เพราะว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน นักลงทุนมักจะมีคำถามผ่านมาทางท่านนายกรัฐมนตรีก็ดี ผ่านมา ทางรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ดีว่า ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดพลังงานสีเขียวแล้ว หรือไม่ หลังจากที่กระทรวงพลังงานได้ทำเรื่องของ UGT เกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม เราก็รับลูกทันทีนะคะ เรามีการเข้าไปดูว่า เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเราสามารถจะ สนับสนุนได้อย่างไรบ้างคะ ปรากฏพอเราเข้าไปดูปุ๊บ เราก็มีเรื่องของโซลา Solar Rooftop โซลาฟาร์ม และรวมไปถึง Solar Floating ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น พอเราเข้าไปดูปุ๊บ ก็เข้าไปดูแล้วก็จะเจอปัญหาว่าวันนี้การจะติดตั้งหรือการขอตั้ง Solar Rooftop ในสถานประกอบการ หน่วยงานราชการหรือกิจการของผู้ประกอบการใหญ่ ๆ กำลังเจอปัญหาค่ะ เพราะอะไรคะ เพราะถ้าเกิดมีขนาดเกิน ๑ เมกะวัตต์ เราจะต้องไปเข้าที่ กรมโรงงานเพื่อขอใบอนุญาต หรือเรียกว่า รง. ๔ พอเราเห็นอุปสรรคปัญหาตรงนี้ ดิฉันเองก็ นำเรียนไปพูดคุยกับทางท่านปลัดกระทรวง ท่านอธิบดีกรมโรงงานว่า เราจะสนับสนุนที่จะ สามารถให้ผู้ประกอบการหรือพี่น้องประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดโดยง่ายได้อย่างไร ก็เข้าสู่ขั้นตอนก็คือเข้าไปแก้ไขกฎกระทรวงค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของการแก้กฎกระทรวงนี้ เราไม่ได้ช่วยเฉพาะหน่วยใดหน่วยหนึ่ง วันนี้คนที่จะได้ทั้งหมดก็คือนักลงทุน นักลงทุนต่างชาติ จะมีความมั่นใจมากขึ้น เข้ามาอย่างน้อย ๆ มีพลังงานสีเขียว มีพลังงานสะอาด เพราะอะไร คะ เพราะวันนี้กติกาโลกได้กำหนดไว้แล้ว เราโดนกีดกัน เรามีกำแพงภาษีกลายๆ เรื่องของ พลังงานก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าวันนี้เรายังคงใช้พลังงาน Fossil พลังงานเชื้อเพลิง เราก็จะ เจอปัญหาเรื่องคาร์บอนค่ะ ซึ่งวันนี้ถ้าเรามีพลังงานสีเขียวปุ๊บ ช่วยผู้ประกอบการและ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน อย่างน้อย ๆ วันนี้ที่เราเดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนมาตั้ง ฐานการผลิตในเมืองไทย พอเริ่มต้นเรามีพลังงานสีเขียว แน่นอนค่ะ นักลงทุนเห็นปัจจัย ตรงนี้เป็นปัจจัยที่เขาจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนค่ะ สำหรับผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน อย่างน้อย ๆ เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ต้นทุน พลังงานกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทางการผลิต ที่สำคัญที่สุดค่ะ พี่น้องประชาชนจะได้ ประโยชน์อะไรคะ พี่น้องประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาด ที่สำคัญที่สุดนะคะ เรื่องที่เรากังวลอยู่ตอนนี้คือเรื่องของฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการผลิตที่เป็นพลังงาน Fossil จะส่งผลต่อสุขอนามัยของพวกเขา เพราะฉะนั้นแล้วจะนำเรียนท่านประธานผ่านไปยัง ท่านสมาชิกว่า เราในฐานะของกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เราจะทำ นโยบายเรื่องของ UGT พลังงานสะอาด การเข้าถึงเรื่องนี้ไปด้วยกันค่ะ แล้วก็พร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะมีนโยบายใด ๆ ก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและให้เข้าถึงพลังงานได้ โดยง่ายค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม ที่เกริ่นไว้เมื่อสักครู่ว่า วันนี้เรามีการปลดล็อกให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ ที่มีความตั้งใจจะหาพลังงานสะอาดติดตั้ง Solar Rooftop เดิมเราเคยมีอุปสรรคปัญหา ถ้าเกิน ๑ เมกะวัตต์ ต้องเข้าไปที่กรมโรงงานขอ รง. ๔ ถ้าไม่ถึง วันนี้ปลดล็อกทั้งหมด ไม่จำเป็นจะต้องขออีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรากังวลมาตลอด แล้วก็ได้รับฟัง ดิฉันเข้าใจดีว่าทางท่านสมาชิกคงจะได้รับข้อเสนอแนะมาจากผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ราชการต่าง ๆ ที่มีความต้องการอยากลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟ และมีความต้องการอยากตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาของสถานที่ต่าง ๆ แต่เกิดปัญหา ที่ดิฉันบอกเมื่อสักครู่ว่า จะต้องเข้าไปขอใบ รง. ๔ ที่กรมโรงงาน วันนี้เรารื้อลดปลดสร้าง ตรงนี้แล้วค่ะ รื้อสิ่งที่มีปัญหาคือกฎหมาย ลดขั้นตอนอุปสรรค แล้วก็สร้างโอกาสให้กับพี่น้อง ประชาชนให้เข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เดิมเราอาจจะเจอปัญหาเรื่องของการเข้าไป ขอใบอนุญาต แต่ตอนนี้ด้วยเราได้รับประเด็นคำชี้แนะมาจากหลาย ๆ หน่วยงานด้วยกัน สำคัญที่สุดท่านประธานคะ อย่างแรกเลย คือเรื่องของทางสภาอุตสาหกรรมเขาก็มีข้อกังวล แล้วก็รวบรวมประเด็นกันมาตั้งแต่เริ่มต้นที่มีรัฐบาลเลยว่า ต้นทุนพลังงานถ้ายังสูงอยู่อย่างนี้ มันก็ส่งผลต่อเรื่องของการผลิต เรื่องของราคา ทางสภาอุตสาหกรรมก็มีข้อห่วงใยมานะคะ และที่สำคัญที่สุดที่เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเราจะยึดถือกฎหมายเดิม ๆ อีกไม่ได้แล้ว นั่นคือความทันสมัยของเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้ตัวแผงโซลาเซลล์ หรือว่าแผงโซลาที่เอาไป ติดบนหลังคา ก่อนหน้านี้ ๑ เมกะวัตต์ ต้องใช้จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ แผง ท่านประธานคะ ๔,๐๐๐ แผงด้วยกัน แต่วันนี้เทคโนโลยีมันก้าวไกลแล้วค่ะ มันมีการพัฒนา และที่สำคัญที่สุด วันนี้ ๑ เมกะวัตต์ใช้เพียงแค่ ๑,๔๐๐ แผงเท่านั้น แล้วตัวกฎหมายเดิมสาเหตุที่ทำไมเรา จะต้องไปที่กรมโรงงานเพื่อขออนุมัติขออนุญาตใบ รง. ๔ ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ จำนวนแผง ที่มันมีมาก ๆ มันจะส่งผลต่อความปลอดภัย โครงสร้างหลังคา ตัวน้ำหนักหลังคา มันมีผล เชื่อมโยงต่อเนื่องกันมาหมด แต่ด้วย ณ ขณะนี้ เทคโนโลยีที่ดีขึ้น แผงโซลาเซลล์ จากจำนวน แผงที่มาก ตอนนี้ลดลงเหลือจำนวนแผงที่น้อย กำลังผลิตก็มีเท่าเดิม เราก็เลยเห็นแล้วว่า กฎหมายเดิมที่เคยออกมามันอาจจะล้าหลังแล้ว เราก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนนะคะ เปลี่ยน กฎหมายให้มันทันสมัยมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเราต้องทำนโยบายสอดคล้องกับทางของ นโยบายของพลังงาน ก็คือเรื่องของพลังงานสีเขียว สิ่งต่าง ๆ ที่ดิฉันพูดมาเมื่อสักครู่นี้ คือปัจจัยที่ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเรากลับมาดูว่า กฎหมายฉบับใด กฎกระทรวงฉบับใดที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ สามารถปรับ สามารถ เปลี่ยน แล้วส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงพลังงานในราคาที่ถูก และที่สำคัญที่สุด ก็คือสามารถขยายโอกาสให้เขาได้มีโอกาส มีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ก็ที่ดิฉันพูดเมื่อสักครู่ เราโดนกำแพงภาษี แต่เมื่อไรก็ตามเรามีพลังงานสีเขียวเข้ามา เราจะมี ต้นทุนในการต่อสู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะว่าวันนี้ผู้ผลิตเองยังไม่ได้ส่งสินค้าเฉพาะ ในประเทศเท่านั้น เราส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เราไม่สามารถทราบได้ว่า แต่ละประเทศ มีกำแพงภาษีอย่างไร แต่ถ้าเรามีต้นทุนพลังงานสีเขียวขึ้น นี่คือโอกาสอีกโอกาสหนึ่งของ ผู้ประกอบการในประเทศ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมค่ะ เรื่องของความปลอดภัย ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองเราต้อง คำนึงถึงอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานเท่านั้น แต่มันหมายถึงความปลอดภัยของชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ด้วยเช่นกัน เรื่องของมาตรฐานความ ปลอดภัย ประกอบไปด้วยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ๒-๓ ส่วนด้วยกัน
อย่างแรก เรื่องของการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พุทธศักราช ๒๕๒๒ แล้วก็ที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอันนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
อย่างที่ ๒ เรื่องของการกำกับดูแลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน เรื่องของมาตรการด้านการออกแบบติดตั้ง แล้วก็การจัดการขยะและกากของเสีย สำหรับผู้ประกอบการกิจการ ง่าย ๆ ก็คือเรื่องของโครงสร้างอาคาร แล้วก็เรื่องของหลังจากที่ ติด Solar Rooftop เสร็จแล้วแผงโซลาเซลล์ มันมีเวลาค่ะ แต่หลังจากที่หมดอายุแล้ว เราจะจัดการอย่างไร นี่คือปัญหาที่เราเองต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้ไม่ใช่มีแค่ โซลาเซลล์เท่านั้น ไม่ใช่แค่แผงโซลาเท่านั้น แบตเตอรี่ซึ่งวันนี้เรามีตั้งแต่แบตเตอรี่ธรรมดา แบตเตอรี่ของ Hybrid รวมถึงแบตเตอรี่ของรถยานยนต์ไฟฟ้า เรามีการคำนึงถึงทั้งระบบ ท่านประธานคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการลดใช้ รวมถึงการ Recycle ที่สำคัญหลังจากนี้ การที่จะต้องติดตั้งแล้ว การดูแลหลังการติดตั้ง หรือการปลดระวางมันต้องเป็นความ รับผิดชอบร่วมกัน ระหว่างผู้ติดก็คือเจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการ และรัฐ จะโยนภาระให้ใคร ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ค่ะ นี่คือสิ่งที่เรากำหนดมาตรฐานไว้ด้วยเรื่องของการดูแลบำรุงรักษาหลังการใช้งาน ที่สำคัญที่สุดค่ะ ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมหนีไม่พ้นสำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า สมอ. เรามีการกำหนดมาตรฐานเหมือนกัน มาตรฐานของแผงโซลาเพื่อความปลอดภัย ให้ทางผู้ประกอบการดูด้วยว่าแผงโซลาที่เรากำลัง จะตัดสินใจซื้อนี้มันผ่าน มอก. หรือไม่ อย่างไร เรามีมาตรฐานเช่นเดียวกันค่ะ ก็คือ มอก. ๖๑๒๑๕ สำหรับแผงโซลาเซลล์แสงอาทิตย์ภาคพื้นดินชนิดผลึกซิลิคอนค่ะ แล้วก็มี มอก. ๒๒๑๐-๒๕๕๕ สำหรับฟิล์มบาง แล้วก็มี มอก. ๒๕๘๐ สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของ แผงเชลล์ แผงแสงอาทิตย์ และสุดท้าย มอก. ๒๕๗๒-๒๕๕๕ สำหรับการติดตั้งทางไฟฟ้า และระบบจ่ายกำลัง ท่านประธานจะสังเกตได้ว่า มาตรฐานเราไม่ได้มีเฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่เราต้องมีตั้งแต่สินค้า กระบวนการติดตั้ง รวมไปถึงการดูแลค่ะ แต่หลังจากนี้ เราจะไม่ปล่อยให้เป็นแค่มาตรฐานทั่วไป เราจะพยายามทำให้เป็นมาตรฐานเพื่อบังคับใช้ เพราะอะไรคะ เพราะถ้าบังคับใช้เมื่อไรเท่ากับทุกบริษัททุกที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งนี่ก็คือ ความห่วงใย แล้วก็เป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมเรากำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สิ่งใด ๆ ก็ตาม สินค้าใด ๆ ก็ตาม ซื้อได้ ซื้อง่าย ราคาถูก แต่ต้องมีมาตรฐานค่ะ สำคัญที่สุด เรื่องของ การดูแลหลังปลดระวางแผงโซลา ก็คือหนีไม่พ้นเรื่องของการเอาแผงโซลาไปทำอย่างไรต่อ ได้ไหม เราจะส่งคืนประเทศต้นทาง หรือจะมาจัดการในประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นนโยบายของ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและนโยบายท่านนายกรัฐมนตรีที่เราอยากจะมี ศูนย์กลางการจัดการเรื่องขยะของเสีย แล้วก็ขยะมีพิษที่จะต้องทำการจัดการเป็นระบบ เพราะว่าวันนี้เรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงเรื่องของ พลังงานสะอาดที่เราพยายามปลดล็อกให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึง แล้วสามารถได้มีต้นทุน พลังงานในราคาที่ถูกขึ้นค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันต้องกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยัง เพื่อนสมาชิกว่า ดิฉันขอขอบคุณนะคะ ทางเพื่อนสมาชิกที่มีความห่วงใย เรื่องของการปลด กฎหมาย Solar Rooftop ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญที่สุด อยากให้ท่านมั่นใจว่า ทางเราเอง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงานเรามีนโยบายที่จะ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงพี่น้องประชาชนให้มีต้นทุนพลังงานในราคาถูก ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตาม เราสู้ให้ทุกปัญหา แล้วก็พึ่งพาได้ทุกเรื่องค่ะท่านประธาน ขอบคุณมากค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนอื่นต้องนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกก่อนนะคะว่า วันนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเอง ติดภารกิจต้อนรับผู้นำประเทศเยอรมัน เวลาเดียวกันกับประชุมสภา จึงไม่สามารถที่จะมาตอบกระทู้นี้ได้ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถตอบให้กับพี่น้องประชาชนแล้วก็สมาชิกที่ได้ถามได้ แล้วก็ ขอบคุณท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ที่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ทราบดีค่ะว่าเรื่องนี้เป็นความห่วงใย แต่สำหรับรัฐบาลเอง เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศค่ะ ก่อนอื่นที่ดิฉันจะอธิบายคำถาม ที่ท่านสมาชิกได้สอบถามเมื่อสักครู่ ขอทำความเข้าใจกับสมาชิกไปถึงพี่น้องประชาชนที่กำลัง รับฟังอยู่ เรื่องของที่มาที่ไป ตลอดจนเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือหนีไม่พ้นเรื่องของลิเทียมค่ะ ขออนุญาตให้ทางสภาฉายกล้องทางด้านหน้าของดิฉันนะคะ
ขออนุญาตท่านประธานนะคะ นำสิ่งของมาในสภานิดหนึ่ง เป็นตัวหินตัวนี้ แล้วก็ตัวผงนะคะ ก่อนอื่นเดี๋ยวดิฉันจะเข้าไปถึงในรายละเอียด ลิเทียมทำไมถึงต้องสำคัญ เพราะวันนี้ทุกคน สนใจลิเทียมมาก เพราะลิเทียมเป็นแร่ที่จะต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ค่ะ และที่สำคัญที่สุด ตัวลิเทียมเองมันไม่สามารถที่จะอยู่เดี่ยว ๆ ได้ มันประกอบไปด้วย ๒ ส่วนด้วยกัน บางประเทศลิเทียมก็จะอยู่กับน้ำ อย่างน้ำเค็ม น้ำเกลือ อย่างประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ แต่อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็จะแทรกตัวอยู่ในหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ถ้าท่านสังเกตก้อนหินก้อนนี้ ก้อนนี้เราไม่ได้เรียกว่าก้อนลิเทียม แต่ลิเทียมมันจะแทรกอยู่ใน บริเวณผิวอยู่ข้างใน อยู่ในเนื้อนะคะ ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นลิเทียม เราต้องไปผ่านกระบวนการ แต่ก้อน ๆ นี้ ตัวลิเทียมที่เรากำลังพูดถึงมันจะอยู่ด้านในนี้ เพราะฉะนั้นอยากทำความเข้าใจ ให้ตรงกันก่อนเรื่องของลิเทียมในเมืองไทย ลิเทียมในเมืองไทยจะอยู่ในก้อนหินแบบนี้นะคะ กว่าจะได้มาต้องไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ก่อนถึงจะได้มาเป็นแร่ลิเทียมตามที่ทุกคน อยากได้ แล้วตอนนี้ที่ท่านสมาชิกได้พูดเมื่อสักครู่ว่า มันมีไหม มันมีจริงไหม หรือมันเป็น อย่างไร ตั้งแต่เรามีเรื่องของ EV มา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเรามีนโยบายให้ทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ไปสำรวจดูว่า มีแปลงไหนบ้างที่มาขอ หรือมี แปลงไหนบ้างที่มาขออนุญาตทำการสำรวจ ก็ปรากฏว่าในประเทศไทยตอนนี้ เรามีแหล่ง ลิเทียมที่มาขอในการสำรวจ ๒ แหล่งด้วยกัน แหล่งแรกคือแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งที่ ๒ ก็คือแหล่งบางอีตุ้ม ซึ่งอยู่ในจังหวัดพังงา ทั้ง ๒ แหล่งนี้เป็นแหล่งที่มีการเข้าไปสำรวจแล้ว แล้วพบว่ามีหินที่มีลิเทียมเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ะ แหล่งแรกก็คือ แหล่งเรืองเกียรติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าไปแล้วมีปริมาณ ทรัพยากรแร่ หรือตัวนี้ค่ะ ที่เราพูดถึงกว่า ๑๔.๘ ล้านตัน ดิฉันย้ำว่า ๑๔.๘ ล้านตัน ก็คือปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ เข้าใจตรงกันก่อนนะคะ ปริมาณ ๑๔.๘ ล้านตัน คือปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ ซึ่งไม่ใช่ตัวของโลหะลิเทียมค่ะ ส่วนพื้นที่ของบางอีตุ้ม อีกแหล่งหนึ่ง เรายังไม่ได้รับรายงานของผลการสำรวจว่ามีจำนวนปริมาณหินที่มีลิเทียม อยู่ปริมาณเท่าไร พอเราไปดูความสมบูรณ์ของลิเทียมที่อยู่ในแหล่งบางอีตุ้ม เราก็ได้รับการ รายงานในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่าความสมบูรณ์ของสารประกอบลิเทียมออกไซด์ที่ ร้อยละ ๐.๕ ซึ่งหากแปลงเป็น Lithium Carbonate ก็จะมีประมาณ ๑๖๔,๕๐๐ ตัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวนี้หากออกแบบการทำเหมือง การแต่งแร่ แล้วก็การประกอบโลหะกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถแต่งแร่ออกมา คาดว่าจะผลิตแบตเตอรี่ Lithium Ion สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ขนาด ๕๐ กิโลวัตต์ได้ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคัน ซึ่งข้อมูล ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลความจริงตามหลักการคำนวณ ตามกระบวนการถูกต้องนะคะ แล้วก็ สำหรับความสับสนที่เกิดขึ้น ดิฉันเข้าใจดีว่ามันมีความสับสนเรื่องของความมาก ความน้อย การติดอันดับ ลำดับ ๓ ของโลก ซึ่งก่อนอื่นเลยดิฉันก็ต้องยอมรับก่อนว่า ศัพท์เทคนิคของ เหมืองนี้มันมีความเข้าใจยากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ปริมาณสำรองทาง ทรัพยากรธรณี ซึ่งหมายถึงหินที่มีลิเทียม ก็คือตัวนี้นะคะ นี่คือปริมาณสำรองทาง ทรัพยากรธรณี ซึ่งตอนที่ดิฉันบอกไปก็คือว่า ๑๔.๘ ล้านตัน มันหมายถึงตัวหินตัวนี้ ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการสกัดถูกต้องนะคะ ถ้าสกัดแล้วลิเทียมก็จะมาอยู่เป็นผง ๆ แบบนี้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจผิดแบบนี้ ดิฉันเอง ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เราก็พยายามที่จะอธิบายกับพี่น้องประชาชน หลังจากมีเหตุขึ้นมาว่า มันจริงไหม มันใช่ไหม ดิฉันก็มีคำสั่งให้ทางอธิบดี กพร. ได้ออกไปสื่อสารภายใน ๒๔ ชั่วโมง ให้ออกไปทำความ เข้าใจ และอธิบายให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบว่าปริมาณสำรองนี้แท้จริงมันเป็นอย่างไร และจำนวนที่เราพยายามพูดถึง ๑๔.๘ ล้านตันมันมีจริงหรือไม่ ก็ย้ำว่ามีจริงนะคะ เพียงแต่ว่า วันนี้อาจจะมีความตื่นเต้น เพราะด้วยความที่มีเจตนาดี วันนี้ดิฉันเข้าใจค่ะ ทุกคนตื่นเต้นกับ ลิเทียม ทุกคนอยากทราบว่ามันมีมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดมันเป็นโอกาสค่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้การสื่อสาร ความเข้าใจในศัพท์เทคนิค แล้วก็การแปลนี้มันอาจจะไม่ได้ไป ในทางเดียวกัน แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด อุตสาหกรรมเองเราออกไปแก้ไข และที่สำคัญที่สุด ดิฉันคิดว่ามันคือความเจตนาดี วันนี้ลิเทียมที่เกิดขึ้นที่พบขึ้น มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศบ้าง มันสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน เพราะนี่คือการที่เราจะเดินออกไปขายแค่พื้นที่ที่จะมา ตั้งฐานการผลิตคงไม่เพียงพอ การที่เรามีแค่พลังงานสีเขียว จูงใจนักลงทุนมา ก็ไม่เพียงพอ แต่วันนี้เรามีสารตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ จำนวนที่จะสามารถผลิตแบตเตอรี่ แค่เหมือง เหมืองเดียวเราสามารถทำได้ ๑ ล้านคัน อันนี้มากกว่าค่ะที่มันเป็นใจความสำคัญ และเป็นหัวใจของการที่เราจะเปิดเผยให้กับพี่น้องประชาชนชาวโลกรู้ว่าเรามีลิเทียมค่ะ วันนี้มันไม่มีทางที่ดิฉันคิดว่าคนไทยไม่ควรเข้ามาด้อยค่าว่า มีมากหรือมีน้อย แต่เราต้องภูมิใจ ว่าประเทศของเรามีค่ะ มีลิเทียม ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบคุณท่านประธานผ่านไปถึงท่านสมาชิกอีกครั้งหนึ่งนะคะ เรื่องของข้อกังวลห่วงใยเรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ทั้งระบบ ดิฉันก็นำเรียนอีกครั้งหนึ่ง นะคะว่า เรื่องของการสนับสนุนการลงทุนที่จะมาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เราทำกัน มากว่า ๕ ปีแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา สมัยท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมาถึง ท่านเศรษฐา ทวีสิน มาตรการ EV3 จนมาถึงมาตรการ EV3.5 เราคิดครอบคลุมทั้งระบบค่ะ และเราทราบดีว่าสิ่งที่ท่านห่วงใยก็คือเรื่องแบตเตอรี่จะเป็นปัญหาในอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่ แค่แบตเตอรี่ค่ะ รวมไปถึง Solar Rooftop หรือตัวแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ทุกอย่างที่ท่าน คิดว่าเป็นขยะอุตสาหกรรม เราคิดค่ะ วันนี้เราจะเอาแค่ขยะในประเทศและส่งออกกลับไป ส่งออกไปยังต้นทาง คงทำไม่ได้ เพราะวันนี้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเราโต โตขึ้นกว่า ๓ เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และแน่นอนค่ะหลังจากนั้นมาการจัดการแบตเตอรี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาล กำลังคำนึงถึงค่ะ วันนี้เรามีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากเราภูมิใจที่เรามีลิเทียม ในเมืองไทยที่ถือว่าเป็น Rare Earth ท่านถามว่า ภูมิใจตรงไหน อย่างไร เราภูมิใจค่ะ เพราะที่อื่นเขาไม่มี แต่เรามี ที่สำคัญที่สุดเรื่องกระบวนการจัดการเอาแร่ลิเทียมขึ้นมา ท่านหมดความกังวลได้เลยค่ะ เพราะว่าแต่ละประทานบัตรกว่าจะขึ้นมาต้องผ่าน กระบวนการ ผ่านหน่วยงานกว่า ๑๔ หน่วยงานกว่าจะได้ประทานบัตร ๑ ประทานบัตร แล้วเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เรามี พ.ร.บ. แร่ ๒๕๖๐ เรากำชับค่ะว่าเหมืองใดก็ตาม สถานประกอบการ ใดก็ตามต้องอยู่คู่ชุมชนให้ได้ แล้วการที่จะได้ ๑ เหมือง นอกจากรับฟังความคิดเห็น นอกจาก จัดการ EIA แล้ว กว่าจะมาขออนุญาตได้ ไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีสองปี จะต้องทำตามขั้นตอนและ ต้องผ่านหน่วยงานกว่า ๑๔ หน่วยงาน เพราะฉะนั้นแล้วท่านคลายความกังวลได้นะคะ เรื่องนี้ เราต้องการให้เหมืองอยู่คู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนค่ะ
กลับมาที่เรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ค่ะ เราไม่คิดแค่ทำแบตเตอรี่ สร้างแบตเตอรี่ หรือเอาแบตเตอรี่จากข้างนอกมาประกอบ แต่เราคิดถึงว่าวันนี้ 3R ที่เรา คิดถึง ไปถึงเรื่องของ Recycle แล้วด้วย รัฐเองเรากำลังคุยถึงเรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ ตั้งแต่ต้นทาง ใครเอาแบตเตอรี่เข้ามาผ่านวิธีการไหนมา เราต้องมีการ Tracking ว่าก้อนนี้ ไปอยู่ที่ไหน อย่างไร ต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงหมดอายุนะคะ หมดอายุสำหรับรถยนต์แล้วสามารถเอาไปใช้อีกได้ไหม ถ้าใช้ไม่ได้ มา Recycle อย่างไร แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องของ Recycle วันนี้รัฐบาลก็ทำเรื่องนี้แล้ว โดยดิฉันเอง ก็มีคณะทำงานทำเรื่องนี้ แล้วก้าวไปจนถึงเรื่องของการจะตั้งพื้นที่สำหรับการจัดการ แบตเตอรี่ทั้งหมดแล้วด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านกังวลก็อยากให้ท่านคลายความกังวลว่า เราไม่ได้แค่มาตั้งฐานการผลิตค่ะ เราไม่ใช่แค่ดึงดูดนักลงทุนมา เราไม่ใช่แค่ต้องการให้รายได้ ประเทศนี้มากขึ้นจากการเข้ามาลงทุน แต่เรากำลังทำให้ประเทศนี้เป็น Hub จากเดิมเราเป็น Hub ของการตั้งฐานการผลิตของรถยนต์ ICE วันนี้เรากำลังเป็นศูนย์กลาง Hub ของการผลิต EV และต่อไปเรากำลังเป็นศูนย์กลางการจัดการขยะของเสียพวกนี้ด้วย เราทำการจัดการ อย่างเป็นระบบค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนอื่นต้องนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังสมาชิกนะคะว่า วันนี้ที่ท่านบอกว่าการสื่อสาร ผิดพลาด ดิฉันเข้าใจดีว่าในนามรัฐบาล เมื่อสื่อสารเข้าไปมันคือความมั่นคงความมั่นใจของ คนในประเทศ และผู้ที่ได้รับฟังข่าวสารค่ะ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นแล้วว่ามันเกิดความเข้าใจ ผิดกัน หลังจากเข้าใจผิดเรามีการทำความเข้าใจอย่างทันท่วงที และดิฉันคิดว่าเรื่องนี้ถ้ามอง ในมุมของกระทรวงอุตสาหกรรม ถ้ามองในมุมของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ ดิฉันกลับมองในมุมบวกค่ะ ดิฉันคิดว่าวันนี้ข่าวลิเทียมมันทำให้สถานการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงพี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ วันนี้ลำดับความสำคัญว่าจะเป็น ลำดับ ๓ หรือลำดับใด ๆ มันหมายถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนจริงที่ท่านบอกว่าอาจจะเกิด ความเข้าใจผิด แต่สำหรับดิฉันเองมันกลับไปกระตุ้นให้เกิดความรับรู้ที่ทั่วถึงและมากมายค่ะ แต่ถามว่าเราจะไม่รับผิดชอบเลยหรือ ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบค่ะ หลังจากที่ทราบว่ามันมีความ เข้าใจผิดจากศัพท์ทางเทคนิคบางคำ เราก็มีการออกไปให้ความเข้าใจ แล้วก็หลังจากวันนั้นมา วันนี้ทุกคนให้ความสนใจ ถามถึง และมีการถามต่ออีกว่า เรายังมีแหล่งต่าง ๆ แบบนี้อีกไหม อย่างไร แล้วเราได้มีโอกาสตรงนี้ละค่ะในการขยาย ในการบอก แล้วก็ตัว กพร. เอง ก็สามารถทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า ดิฉันยอมรับค่ะที่ท่านเพื่อนสมาชิก บอกว่ามันมีการสื่อสารผิดพลาด แต่สิ่งที่ดิฉันอยากบอกอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าในการสื่อสาร ที่ผิดพลาด มันก็มีข้อดีอีกหลาย ๆ ข้อเช่นเดียวกัน ขอบคุณที่ห่วงใยค่ะ แล้วก็ทาง กพร. เอง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเอง เราจะพยายามใช้ศัพท์ที่ทุกคนเข้าใจ ตรงกันให้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิคเพื่อที่จะมีความเข้าใจไม่ตรงกันค่ะ ดิฉันขอน้อมรับข้อนี้ไป แล้วก็ยังยืนยันว่านี่เป็นโอกาสของประเทศ ขอบคุณค่ะ