นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ในฐานะภรรยาและในฐานะแม่ของลูกสาว ดิฉันมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ครอบครัวที่มั่นคงจะต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับ ทุกคน จะต้องเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ และต้องเป็นพื้นที่ที่เราสามารถ แบ่งปันความทุกข์และความสุขในครอบครัวได้ เป็นพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ครอบครัวเปรียบเสมือนสังคมขนาดเล็ก และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสังคมขนาดใหญ่ ในประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง การที่ความรุนแรงในครอบครัวมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยจากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในปี ๒๕๖๕ ขอ Slide ขึ้นด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อมูลความรุนแรง ในครอบครัวปี ๒๕๖๕ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ ๗.๘ เปอร์เซ็นต์ ๒,๓๔๗ ราย และปัญหาหลัก ๆ ก็ไม่พ้นปัญหาจากยาเสพติด ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แล้วก็ปัญหา ทางด้านความมึนเมา ซึ่งดิฉันเรียกว่าตัวเลขตรงนี้มันยังไม่ครบถ้วน ยังมีความรุนแรง ที่ยังซ่อนไว้อยู่ มันยังมีเหยื่อที่เรียกว่ายังไม่ได้ออกมาและไม่สามารถกล้าพูดและแสดงตัว ออกมาอีกเยอะแยะมากมาย และยังมีผู้ที่กระทำผิดและยังไม่ได้รับการดำเนินการอีก เป็นจำนวนมาก สิ่งนี้เป็นเหมือนสิ่งชี้วัดศักยภาพของรัฐในการดูแลประชาชน มันเป็นเหมือน สิ่งชี้วัดถึงความสามารถในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง การบริหารจัดการ การเข้าถึงทรัพยากรให้กับครอบครัวหรือสังคมขนาดเล็กให้ได้มีโอกาสเติบโต สร้างเป็น รากฐานให้กับสังคมที่ใหญ่ขึ้นจนเป็นระดับประเทศ ขออนุญาตเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในสังคมไทยนะคะ เชื่อว่าทุกคนก็คงจะยังจำได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้ง จากเด็กผู้หญิงอายุ ๑๓ ปี ว่าพี่สาวของตนอายุ ๑๗ ปี ย้ำนะคะ อายุวัยแค่ ๑๗ ปีถูกพ่อแท้ ๆ กักขังหน่วงเหนี่ยวและข่มขืนกระทำชำเราในห้องพัก โดยเด็กสาวผู้โชคร้ายคนนี้ได้ให้การกับ ทางตำรวจว่าถูกพ่อแท้ ๆ กระทำชำเราข่มขืนละเมิดทางเพศ ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจด้วย เป็นระยะเวลาถึง ๖ ปีด้วยกัน ซ้ำร้ายยังถ่าย Clip เก็บไว้ด้วย ยังไม่พอค่ะท่านประธาน เด็กสาวคนนี้ก็ไปขอความช่วยเหลือไปบอกกับคนที่เป็นป้า แต่การได้รับความช่วยเหลือนั้น คุณป้าแท้ ๆ ของเขาเองยังเข้าข้างน้องชายตัวเองผู้ที่เป็นพ่อของเด็กสาวคนนั้น ถ้าเด็กสาว คนนั้นไม่ได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ดิฉันในฐานะผู้เป็นแม่ไม่อยากจะคิดเลยว่าฝันร้ายนี้ จะติดตัวเขาและอยู่กับเขาอีกยาวนานขนาดไหน เรายังไม่ได้พูดถึงเลยว่าเขาจะได้รับ การบำบัดจิตใจและเยียวยาสภาพจิตใจ และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้เหมือนคนปกติหรือเปล่า

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทุกท่านก็คงจะทราบข่าวพอคลั่งฆ่าลูกกับเมียดับ แล้วยิงตัวตายตาม แต่ท้ายที่สุดไม่ตายกลับได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะว่าอะไรค่ะ เพราะว่า เครียดหลังจากที่ไปค้ำประกันรถให้กับเพื่อนบ้าน แต่ท้ายที่สุดเขาไม่ส่งค่างวด กรมบังคับคดี เตรียมยึดบ้าน ยึดทรัพย์ ก็ต้องหาเงินไปเร่ง Clear ท้ายที่สุดเมียก็ต้องถูกแก๊ง Call Center หลอกจากการกู้เงินทาง Application สูญเงินไปกว่า ๑.๗ ล้านบาท อยากจะถามว่า เราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับสังคมได้เรื่อย ๆ จริงหรือคะ มันมีความรุนแรงเกิดขึ้น ในทุกเพศทุกวัย พบได้ว่ามีความรุนแรงในครอบครัวปี ๒๕๖๔ มีผู้เคราะห์ร้าย ๒,๑๗๗ ราย แบ่งเป็นผู้หญิงซึ่งก็ไม่แปลกใจเลย ๘๑ เปอร์เซ็นต์ เพศชาย ๑๙ เปอร์เซ็นต์ และนอกเหนือจากนั้น ก็คือมาจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นจากในครอบครัวสามีภรรยาคิดเป็น ๔๑ เปอร์เซ็นต์ ดิฉันขอเสนอแนวทางแก้ไขดังนี้ คุณต้องตัดตอนความรุนแรง แล้วก็มีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้

    อ่านในการประชุม

  • ต้นตอแรก คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง วันนี้พ่อแม่พี่น้องประชาชนมีรายได้น้อย ค่าครองชีพก็สูง หนี้ท่วมตัว นี่คือปัญหาหนึ่งที่สร้างความเครียดและเป็นตัวกดดันที่เพิ่ม ความเครียดให้กับครอบครัวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง แต่ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาเร็ว ๆ นี้ จะมีแผนนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างรายได้ ลดค่าครองชีพ แล้วก็แก้ไขปัญหาหนี้สิน รัฐจะผันตัวมาเป็นรัฐสนับสนุนเพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถลืมตาอ้าปาก ทำมาหากินได้ สร้างคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัวได้ดีขึ้น จะเป็นตัวลดการกดดันของต้นตอตัวนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต้นตอที่ ๒ คือปัญหายาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการมึนเมา อาชญากรรม อบายมุขต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย บอกได้เลยว่าพวกนี้คือเปรียบเสมือนตัวเร่ง เพื่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว อย่างที่เคยพูดเอาไว้เบื้องต้นว่าเรื่องเหล่านี้ควรได้รับ การแก้ไข พรรคเพื่อไทยของเรามีนโยบายจะเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เราจะมีการบำบัด ให้ผู้เสพเหล่านี้ได้มีการลดการใช้ยาให้น้อยลง แล้วส่งพวกเขากลับคืนสู่สังคมเพื่อให้สามารถ ได้ไปจุนเจือครอบครัว แล้วก็สร้างครอบครัวได้ดีขึ้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกทั้งการจัดการมิจฉาชีพ Call Center เราต้องใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพ แล้วจะเอาตัวเร่งตัวนี้ออกจากความรุนแรง และตัดต้นตอปัญหาตัวนี้ได้ค่ะ นอกจากนี้ปัญหาความรุนแรงส่งผลกระทบให้ครอบครัว และส่งผลกระทบให้กับทุกคน ในประเทศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวเรื่องความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้น กับใครก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกบั่นทอนจิตใจ และทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนในความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของตัวเราเองหรือครอบครัว มันทำให้รู้สึกสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ในสังคม ความรุนแรงในครอบครัวคือการบ่อนทำลายโครงสร้างของสังคม ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะแม่คนหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกหลานของพวกเราทุกคนจะอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ดิฉันจะขอทำหน้าที่ในสภาอย่างเข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบการบริหารงานในเรื่องนี้ของรัฐบาลที่จะเข้ามาถึงในเร็ววันนี้อย่างใกล้ชิด ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือในที่ประชุมเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้อง จังหวัดเชียงราย ๒ ประเด็นด้วยกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ดิฉันได้ลงพื้นที่รับร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนชาวตำบลห้วยสัก ตำบลดอยลาน และตำบลท่าสาย เรื่องของถนนสาย ชร.๑๐๒๐ สายเชียงราย-เทิง-เชียงของ ซึ่งพี่น้องประชาชนเรียกถนนเส้นนี้ว่า ถนนสายมรณะ เป็นถนนสายหลักที่ไปยังสถานที่ ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงรายและที่พี่น้องประชาชนใช้เดินทางเข้าไปสู่ตัวเมือง เชียงรายอีกด้วย แต่การสัญจรเรียกว่าใช้กันเยอะมาก แต่การสัญจรถนนแคบ ปัจจุบันมีถนน แค่ ๒ เส้นทางจราจร และต้องบอกว่าปริมาณการเฉลี่ยของรถแต่ละวัน ๒๓,๔๒๑ คันต่อวัน ถนนไม่มีไหล่ทาง ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ไม่มีสัญญาณเตือนในจุดอันตราย และประกอบกับ ซอยถนน ซอยเข้าหมู่บ้าน ทำให้เกิดปัญหาแล้วก็มีอุบัติเหตุมากในแทบทุกวัน โดยท่านอดีต สส. วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ได้เคยหารือไปแล้วในสภาแห่งนี้ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข งบประมาณมาล่าช้ามาก ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วน นะคะท่านประธาน พี่น้องประชาชน ชีวิตของประชาชนไม่สามารถรอได้อีกต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ท่านประธาน ประชาชนในพื้นที่ตำบลสันมะค่า อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเรื่องการเกษตรขาดแคลน ประกอบกับเราทราบว่าในภาวะอันใกล้นี้จะมีภาวะ El Nino เกิดขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิด ความแห้งแล้งและส่งผลกระทบให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ชาวบ้าน ต้องการให้มีการขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลลึกไปจนถึง ๑๒๐ เมตรให้แต่ละหมู่บ้าน เป็น ๕ หมู่บ้านโซนวังด้วยกัน บ้านวังผา หมู่ที่ ๒ วังน้อย หมู่ที่ ๕ วังศิลา หมู่ที่ ๘ วังอวน หมู่ที่ ๖ และวังแสงทอง หมู่ที่ ๙ ดิฉันทราบว่าช่วงนี้ยังไม่มีการตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ มีแค่เพียงรัฐบาลรักษาการของ ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา มันเกิดสุญญากาศค่ะ ในขณะที่ท้องถิ่นมีความเดือดร้อน แต่รัฐบาลกลับเอางบประมาณไปใช้ในทางที่ผิด เอาไปให้หน่วยราชการซ่อมศาลากลางจังหวัด สร้างบ้านพักให้กับผู้ว่าอีก ๒๐ กว่าจังหวัด รัฐบาลรักษาการมีการประชุมจริง แต่ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ถูกจุด สิ่งที่ดิฉันพูดมาคือความจำเป็นที่เร่งด่วน จึงขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อลดความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัด เชียงรายให้เร็วที่สุดค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย เรื่องพระราชกำหนดเรื่องภัยคุกคาม Cyber ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอ ต่อสภาในวันนี้เป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • แต่ในมุมมองของดิฉันเบื้องต้นนะคะ ดิฉันคิดว่าแค่พระราชกำหนดฉบับนี้ เพียงฉบับเดียวไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของปัญหาทั้งหมดได้ค่ะ ท่านประธานคะ จากการประชุม World Economic Forum 2023 ได้มีการจัดให้ภัยคุกคาม Cyber ติดอันดับ ๑ ใน ๕ ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบ จากการโจมตีทาง Cyber สูงสุดถึง ๑๐.๕ ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือสูงเทียบเท่ากับ ๓๖๐ ล้านล้านบาท ภายในปี ๒๐๒๕ แต่จากตัวเลขที่ได้เปิดเผยได้พบว่าสถิติ รบกวน ขอ Slide ด้วยนะคะ Slide ที่ ๒ ค่ะ อีก Slide หนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • จากตัวเลขที่ได้เปิดเผยว่า มีสถิติการรับแจ้งความในคดี Online มาตั้งแต่ ๑ มีนาคมปีที่แล้วจนถึง ๘ กุมภาพันธ์ปีนี้ ได้รับการแจ้งความอาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้นรวมมูลค่าทั้งหมดเกือบ ๒๙,๐๐๐ ล้านบาทหรือเกือบ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาทก็ได้ค่ะ สามารถติดตามอายัดเงินได้ทัน แค่เพียง ๔๐๐ กว่าล้านบาท จาก ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่อายัดได้ทันแค่เพียง ๔๐๐ ล้านบาท ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของความเสียหาย ดังนั้นรัฐบาลชุดที่แล้วจึงออก พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้นมา ล่าสุดมีรายงานจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยยอดสะสม ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม จนถึง ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ คือหลังจากที่ พ.ร.ก. ได้มีกำหนด การบังคับใช้แล้วมีผู้แจ้งความเรื่องคดี Online กว่า ๓๐,๐๐๐ เรื่อง ความเสียหายเกือบ ๒,๗๐๐ ล้านบาท นี่เรียกว่า ๔๐๐ เรื่องต่อวันเลยนะคะ คำถามค่ะ คำถามสำคัญที่อยากจะ ถามในวันนี้ ก็คือ ณ วันที่ออกพระราชกำหนดวันนั้นจนถึงวันนี้ สัดส่วนการอายัดบัญชี แล้วก็ จำนวนเงินที่สามารถอายัดได้ทันแล้วนั้นคิดเป็นสัดส่วนจากความเสียหายทั้งหมดมียอด เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ แล้วเราสามารถแก้ไขปัญหาด้วยเพียงการป้องกันบัญชีม้าแค่นั้น มันเพียงพอหรือเปล่าคะ แต่ประเด็นค่ะ ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือกลไกในการออก พระราชกำหนดที่อ้างถึงรัฐธรรมนูญ อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้นตอของปัญหา Cyber นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่มันเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ๕ ปี ๑๐ ปีก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ต้องบอกว่า ปัญหาของพี่น้องประชาชนเกิดมานานแล้วค่ะ พวกเราโดนหลอกมากันนับไม่ถ้วน แต่ปัญหานั้นก็คือความล่าช้าในการแก้ไขของรัฐบาล ที่ผ่านมา ความใส่ใจในการที่จะแก้ไขของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างหากค่ะ พระราชกำหนดฉบับนี้มันจึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเฉพาะสถานการณ์ของปัญหา แต่มันด่วนเพราะว่ารัฐบาลล่าช้าในการจะแก้ไขปัญหา ต้องมารีบลุกลี้ลุกลนเร่งออก พ.ร.ก. ในช่วงท้ายของการประชุมสภาในไม่กี่วันที่จะยุบสภา หากรัฐบาลที่ผ่านมาใส่ใจเรื่องนี้จริง ควรจะเอาร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาเป็นพระราชบัญญัติตั้งแต่ ๒-๓ ปีก่อนหน้านั้นแล้ว ให้สภาทั้ง สส. สว. มีโอกาสได้เข้ามาพิจารณา มีเวลาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ให้กฎหมาย ออกมาแล้วก็นำใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในเรื่องของ Cybercrime ได้จริง ๆ ค่ะ พระราชกำหนดฉบับนี้ปิดช่องโหว่เพียงปัญหาแค่จุดเดียว ลองคิดดูสิคะว่า เรื่องการป้องกันของบัญชีม้าแค่อย่างเดียวมันสามารถจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างปัญหา อันนี้ได้หรือเปล่า เชื่อหรือไม่คะว่ากลไก พ.ร.ก. ฉบับนี้ถ้าเอาจริง ๆ ให้ภาครัฐเดินหน้า อย่างเข้มงวดจริง ๆ สิ่งที่ทำได้มากสุดก็คือทางอาชญากรข้ามชาติในเรื่อง Cybercrime เปลี่ยนช่องทางการโอนเงิน การโอนทรัพย์สินก็แค่นั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากต้นตอ ได้อย่างแท้จริง สรุปแล้วดิฉันไม่มองว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะสามารถออกมาและแก้ไขปัญหา ได้อย่างรูปธรรม อาจจะแก้ไขได้บ้างจุดเล็กน้อย แต่ด้วยความที่รัฐบาลไม่มองภาพใหญ่ ไม่เข้าใจในโครงสร้างของปัญหา พระราชกำหนดที่ออกมาจึงเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ เป็นเศษเสี้ยวของกลไกที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาเท่านั้นเองค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๔ จากพรรคเพื่อไทย วันนี้เป็นวันประชุมซึ่งก็ตรงกับวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ๑๐ สิงหาคม ขออนุญาตใช้โอกาสนี้ยกย่องและเชิดชูเกียรติทางกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่พวกเรา สส. ไม่สามารถไปลงพื้นที่แล้วก็ร่วมเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาได้ ก็ขอใช้โอกาสนี้ยกย่อง เชิดชูเกียรติแล้วก็เป็นกำลังใจให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ สารวัตร แล้วก็สมาชิกท้องที่ ท้องถิ่นทุกท่าน ให้มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่พี่น้องประชาชนต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ พูดถึงตามรัฐธรรมนูญไทยแล้ว การศึกษาเป็นสิทธิที่คนไทย ควรจะต้องเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงแล้วก็มีคุณภาพ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือทุก ๆ คน ที่เป็นคนไทยควรที่จะได้รับการศึกษา รวมถึงภาครัฐก็ควรที่จะต้องช่วยส่งเสริมแล้วก็พัฒนา คุณภาพการศึกษา การเรียนของไทย แล้วก็พัฒนาการศึกษาประสิทธิภาพของครูด้วย เช่นเดียวกัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นกองทุนที่มีประโยชน์ เป็นหนึ่ง ในเครื่องมือที่จะสามารถพาเราไปยังจุดมุ่งหมายตรงนั้นได้ ช่วยพัฒนาการบุคลากรในประเทศ ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ที่เรียกว่าเป็นรากฐานของประเทศไทยเราช่วยในการพัฒนาบ้านเมือง ในอนาคต กองทุนจึงควรที่จะมีบทบาทในการช่วยเพื่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ท่านจะแค่เก็บข้อมูลแล้วก็ส่งต่อให้กับองค์กรต่าง ๆ ให้ไปดำเนินการ แล้วก็แก้ไขเท่านั้น จริง ๆ แล้วถ้าตามพระราชบัญญัตินะคะ องค์กรของท่านหรือว่ากองทุน ของท่านก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เฉกเช่นเดียวกัน ไม่ต้องแค่รวบรวมข้อมูลแล้วก็ส่งต่อ เท่านั้น แต่ว่าท่านสามารถปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันเพื่อที่จะสร้างความเสมอภาคในการเรียนรู้ และการศึกษา เพราะทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่ายังมีเด็กที่หลุดการศึกษามากขึ้นทุก ๆ ปี จึงทำให้ดิฉันมาสงสัยว่าวันนี้ผลลัพธ์หรือว่าวัตถุประสงค์ของท่านถือว่าสำเร็จหรือยังคะ เพราะว่าการปฏิบัติหน้าที่ของท่านในวันนี้สิ่งที่เราเห็นมันมีตัวเลขมากขึ้นที่มีเด็กหลุดออก จากการศึกษา ดังนั้นการมีกองทุนกับไม่มีกองทุนทำให้ดิฉันเริ่มสงสัยค่ะว่ามันจะแตกต่างกัน อย่างไร วันนี้ต้องบอกว่าถ้าดูจากตามรายงานเล่มนี้ เป็นปีแรกที่ทาง กสศ. ได้ดำเนินการ ตามแผนกลยุทธ์ ๓ ปีฉบับใหม่ และด้วยทรัพยากรที่ท่านได้รับจากรัฐบาล ท่านเขียนไว้ว่า ท่านจะมุ่งสร้างสรรค์องค์กรของท่านที่มีให้เป็นองค์กรที่มีขนาดกะทัดรัด แต่ก็ยังมี ประสิทธิภาพสูง แต่ว่าภาระหน้าที่ของท่านมันใหญ่มากนะคะ ท่านต้องดูแลควบคุมไปทั่วประเทศ วันนี้เรามาพูดถึง การศึกษาของเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาส เราพูดถึงเด็กที่มีภาระแล้วก็ความจำเป็นทางด้านครอบครัว เราพูดถึงเด็กที่ครอบครัวของเขาขาดความพร้อม แต่ว่าสิ่งที่เราเห็นนี่เด็ก ๆ เหล่านี้หลุดออก จากระบบการศึกษาเป็นล้านคน คำถามค่ะ ด้วยภารกิจเหล่านี้ ภารกิจที่ใหญ่ขนาดนี้ ท่านบอกว่าท่านจะเปลี่ยน แล้วก็มุ่งให้องค์กรของท่านเป็นองค์กรขนาดกะทัดรัดและมี ประสิทธิภาพ อันนี้ดิฉันขอแสดงความเป็นห่วงไปด้วยนะคะ เพราะปัญหาที่พูดมา มันก็สะท้อนผ่านรายงานการดำเนินการของท่าน เมื่อไปดูว่าการดำเนินงานผลิต พัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน และหน่วยจัดการเรียนรู้ การสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียน พื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นที่เรียกว่าครูรุ่นใหม่หรือว่าครูรักษ์ถิ่นในปี ๒๕๖๕ ได้ผลิต และพัฒนาครูเป็นจำนวน ๓ รุ่น รวมแล้ว ๘๖๓ คน บรรจุในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ๖๙๙ แห่ง และในปีการศึกษา ๒๕๖๗ มีครูรักษ์ถิ่นแค่เพียง ๓๒๘ คน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของท่าน หรือว่าหน่วยงานนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แล้วก็การศึกษาได้มากน้อยเพียงใด เพราะว่าเมื่อดูจำนวนตัวเลขในแต่ละปีมีบุคลากร ทางการศึกษาของท่านเข้าสู่กระบวนการพัฒนาของท่านแค่หลักพันเท่านั้นเอง เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะไปเจอกับหัวข้อโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดูแล้วแนวทางก็ดูดี อ่านแล้วรวม ๆ ดูดีมาก แต่ต้องบอกว่าความครอบคลุมมันยังต่ำเกินไป เพราะในปี ๒๕๖๕ ทาง กสศ. ได้จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ครอบคลุม เพียงแค่ ๑๒ จังหวัด รวมไปถึงแม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก แล้วก็ยังมีบางจังหวัด ในอีสาน แล้วก็ในเขตภาคใต้ แต่ด้วยที่ดิฉันเป็น สส. จังหวัดเชียงรายต้องบอกเลย การลงพื้นที่ ทุกครั้งยังเห็นความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของน้อง ๆ และเด็กที่ด้อยโอกาสค่ะ ถามว่าวันนี้ ไม่ใช่แค่จังหวัดเชียงราย แต่อยากจะทราบว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรถึงจะครอบคลุมได้ ทั่วทั้งประเทศ และต้องใช้งบประมาณมากอีกเท่าไร เด็กเหล่านี้เมื่อได้พูดคุยแล้วทุกคนเป็นเด็ก ที่มีความฝัน ทุกคนอยากเป็นครู อยากเป็นทหาร อยากเป็นอาจารย์ แต่ว่าสิ่งที่พวกเขา เหล่านั้นไม่ได้รับคือโอกาส พวกเขาอยากจะฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเขาให้ดีขึ้น นั่นก็ต้องเริ่มจากการศึกษาถูกต้องไหมคะ วันนี้จึงอยากเห็นให้ทุกท่านมองกว้าง ๆ มีเป้าหมาย ให้กว้างขึ้นแล้วก็ดูอย่างมีวิสัยทัศน์ให้มันครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อที่จะแก้ไข เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา และให้ได้รับการแก้ไขและครอบคลุมจริง ๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้จะมาอภิปรายในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติประจำปี ๒๕๖๕ ในเบื้องต้นค่ะต้องบอกเลยว่าดิฉันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐธรรมนูญที่เขียนให้มี ยุทธศาสตร์ชาติเป็นระยะเวลา ๒๐ ปี เพราะเรารู้ดีค่ะว่าการกำหนดแผนการยุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาวขนาดนี้มันทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาวิกฤติไวรัส COVID-19 ใครจะรู้ว่ามันจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ เกิดขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ตาม จริง ๆ แล้วเหตุการณ์เหล่านี้มันเป็นเหตุการณ์ที่ คาดเดาไม่ได้ค่ะ และมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้กับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ในวันนี้ใครจะรู้คะว่าในอีกปีสองปีข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์โลก จะเป็นอย่างไร และสถานการณ์ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เรามองกันไม่ออกเลยค่ะ แต่ถ้ามี ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีมาเขียนเป็นลงลายลักษณ์อักษรยาวขนาดนี้แล้วนี่ ต้องบอกว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดที่จะเข้ามาบริหารต่อหน้านี้มาแล้วนี่กลับกลายเป็นต้องถูกผูกมัด ถูกโซ่ ล่ามตรวนไว้ ไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาประเทศได้ ไม่สามารถแสดงศักยภาพ อย่างแท้จริงออกมาได้ค่ะ บางอย่างต้องบอกว่ากรอบของท่านนี่บางอย่างก็ดีนะคะ แต่บางอย่างต้องยอมรับค่ะว่ามันเป็นปัญหา เพราะต้องบอกว่าการวางวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าใส่กรอบยุทธศาสตร์แล้ว และเอามาจารึกเหมือนวางลงในแผ่นศิลาแล้ว มันเป็นปัญหา และมันฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • และพอมาดูในหนังสือยุทธศาสตร์ชาติที่ดำเนินมาถึงในวันนี้แล้วต้องบอกว่า ยุทธศาสตร์ชาติมันล้มเหลวนะคะ และไม่ตอบโจทย์เกี่ยวกับการพัฒนาของประเทศเลย จากที่ได้เห็นนี่มันมียุทธศาสตร์ชาติแบ่งเป็นการประเมินผลการพัฒนาในภาพรวมแล้ว เป็น ๖ มิติค่ะ ดิฉันจะขอยกขึ้นมาแค่ ๓ มิติเท่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • มิติแรกเกี่ยวกับเรื่องความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทยค่ะ โดยการจัด อันดับเครือข่ายภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยมีคะแนนลดลงในปี ๒๕๖๔ จะดูได้ว่าเราประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๕๔ เป็น ๖๑ ของโลก แต่พอมาในปี ๒๕๖๑ แล้วนี่ คะแนนความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยลดลงค่ะ ดิฉันก็ไม่แปลกใจเลยนะคะ ลองมองรอบ ๆ สิคะ ถามว่าพี่น้องประชาชนคนไทยปัจจุบันนี้อยู่ดีกินดีกันไหม ไหนจะปัญหา เศรษฐกิจ ไหนจะปัญหาปากท้อง ฝุ่น PM2.5 แถมซ้ำร้ายที่ผ่านมายังมีภาวะเรียกว่าวิกฤติ COVID-19 อีก ดูยอดสะสมแล้ว ๔ ล้านกว่าคน ขอ Slide ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียกว่ายอดผู้ป่วย COVID-19 สะสมของไทย ๔ ล้านกว่าคน เกือบ ๕ ล้านคน ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย

    อ่านในการประชุม

  • มาดูมิติที่ ๒ กันค่ะ เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ ต้องบอกว่าการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ IMD ความสามารถของการแข่งขันของคนไทยมันมีอันดับจาก ๓๓ ลดลงจาก ๒๘ เป็น ๓๓ จาก ๖๓ ประเทศ มันมีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอีกนะคะ อยู่ที่ ๖๘.๖๗ จากค่าเฉลี่ย ๗๐.๐๓ ต้องถามว่าขีดความสามารถของคนไทย ของประเทศไทยมันลดลงในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ หรือว่าประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ลดอันดับคือลดลงมาหมดเลย มันเป็นผลพวงจากที่รัฐบาล บริหารประเทศได้ล้มเหลวค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • มิติที่ ๔ ค่ะ มาพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคมไทย แน่นอนเลยว่าดัชนีความก้าวหน้าของสังคมไทย SPI ไทยเราอยู่ที่อันดับ ๗๑ ในขณะเดียวกัน ที่สิงคโปร์เพื่อนบ้านเรา หรือว่ากลุ่มประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ASEAN เดียวกันอยู่ในลำดับที่ ๒๘ ของโลก มันห่างกันมากเลยนะคะ แต่ต้องยอมรับค่ะว่าประเทศไทยของเรามีการตื่นตัว เรื่องความเสมอภาคก็จริง แต่ว่าประชาชนเองตื่นตัวไม่พอนะคะ ภาครัฐเองก็ต้องตื่นตัว แล้วก็ต้องทำให้เห็นด้วยว่าอีกไม่ช้านี้ และประเทศไทยเรานี้ ก็จะมีความเท่าเทียมเสมอภาคกันในสักวันหนึ่งค่ะ นี่คือเป็นเพียงตัวอย่างความล้มเหลว จากการประเมินผลพัฒนาภาพรวมทั้งหมดจาก ๖ มิติ เลือกมา ๓ มิติ เรามาดูต่อไปกันค่ะว่า ความล้มเหลวในประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ ๓ ยุทธศาสตร์ที่ดิฉันเลือกมามีอะไรบ้างที่ล้มเหลว

    อ่านในการประชุม

  • ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เรื่องความมั่นคง จาก ๑๐ แผนแม่บทนะคะ ต้องบอกว่า บรรลุเป้าหมายแค่ ๕ ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ๑ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง ๔ แล้วพอลอง เข้าไปดูลึก ๆ ประเด็นที่บรรลุเป้าหมายไปแล้วมันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของกองทัพ แต่ประเด็นที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย คืออยู่ในระดับเสี่ยง คือความมั่นคงของประเทศ มันตลกไหมคะท่านประธาน ความมั่นคงของกองทัพดีขึ้น แต่ว่าความมั่นคงของประเทศ มันอยู่ในระดับเสี่ยง ประชาชนคนไทยเรียกว่าไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไหนจะเรื่องยาเสพติด ไหนจะเรื่องการค้ามนุษย์ก็ยังคงอยู่ อย่างไรตรงนี้ก็ต้องขอฝาก พิจารณาไว้ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • มาดูกันที่ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เรื่องด้านการเกษตร บรรลุเป้าหมายไป ๕ ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ๒ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง ๒ และต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับวิกฤติ อีก ๑ อันนี้น่าเป็นห่วงมาก ๆ เลยนะคะท่านประธาน เพราะว่าระดับเสี่ยงนั่นคือเรื่อง ผลิตภัณฑ์ของเกษตรไทย แน่นอนเราอาจจะมีคุณภาพ ความปลอดภัย คุณค่าโภชนาการ ตอนปี ๒๕๖๔ เราขึ้นจากอันดับ ๕๔ เป็น ๕๑ แต่พอมาปี ๒๕๖๕ ต้องบอกว่ามันร่วงมาอยู่ที่ ลำดับ ๖๔ เลยค่ะ และที่น่าตกใจกว่านั้นด้านคุณภาพและความปลอดภัยมันคือเรียกว่า ของอาหาร ด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเป็นระดับที่อยู่ในคะแนนน้อยที่สุด จากของไทยอยู่ที่ ๒๐.๒ จากค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ ๖๓.๗ คิดดูสิคะว่าประเทศไทย เป็นพื้นที่เกษตรกร และพึ่งพาการส่งออกทางด้านเกษตรเป็นหลัก แล้วถ้าสินค้าคุณภาพ การเกษตรของเราไม่สามารถได้รับความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ เราจะเสริมสร้างเศรษฐกิจ ได้อย่างไร ทุกวันนี้ดิฉันเองในฐานะประชาชนคนไทยก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วค่ะ ว่าทุกวันนี้ เราได้บริโภคสินค้าอย่างมีคุณภาพจริง ๆ หรือเปล่า

    อ่านในการประชุม

  • ยุทธศาสตร์สุดท้ายค่ะ ขออีกนิดหนึ่งนะคะท่านประธาน ยุทธศาสตร์ที่ ๖ พื้นที่และเมืองน่าอยู่อย่างอัจฉริยะ วันนี้มาดูในแผนแม่บทย่อยเรื่องประเด็นของสิ่งแวดล้อม และมลพิษ ต้องบอกว่าในแบบแผนไม่มีการจัดการเกี่ยวกับเรื่อง PM2.5 เลย แม้ว่ามันจะเป็น เรื่องที่อันตรายและส่งผลกระทบแก่พี่น้องประชาชนก็จริง มาดูจังหวัดดิฉัน ยกตัวอย่าง ต้องบอกว่าที่ผ่านมาภายในต้นปีมียอดผู้ป่วยทางเดินหายใจ เฉพาะของจังหวัดเชียงราย ๓,๐๐๐ กว่าคน แค่ช่วงเวลา ๑ สัปดาห์เท่านั้นเอง แล้วถ้ามานับดูตัวเลขของทั้งประเทศ มันคงจะเป็นตัวเลขที่เรียกว่าสูงมาก ๆ เลย สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ต้องบอกว่า ความล้มเหลวของยุทธศาสตร์ชาติเราเห็นมาหมดภายในระยะเวลา ๕ ปีเท่านั้น ยังล้มเหลว ทางด้านความมั่นคง การดำรงชีวิต และสภาพแวดล้อมของประชาชน ถ้าให้อยู่ต่อ อีก ๒๐ ปี โดยที่เราไม่ทำอะไรเลย จะปล่อยให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินต่อไปแบบนี้ไม่ได้ค่ะ มันจะไม่เหลืออะไรแล้ว สรุปนะคะท่านประธาน ขออนุญาตฝากนะคะว่าเร็ว ๆ นี้จะมีรัฐบาล ชุดใหม่ที่มาจากประชาชน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ยังคงอยู่ ดิฉันขอฝากนะคะ ว่าขอให้มันไปเป็นตามกลไกระบอบประชาธิปไตยค่ะ ท่านปล่อยให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้ามา ทำหน้าที่ และตั้งใจทำงานในแบบของเขา เพื่อที่จะตอบสนองพี่น้องประชาชนค่ะ ขอท่าน อย่าทำเป็นจระเข้ขวางคลองไม่ให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนสามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่นะคะ ขอฝากด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย วันนี้จะมาขออภิปรายเรื่องปัญหาของกระดูกสันหลังของชาติค่ะ นั่นก็คือเรื่องของพี่น้องเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวนาชาวไร่ชาวสวน หรือชาวประมง ต้องบอกว่าในปัจจุบันนี้ล้วนประสบปัญหาจากการที่มีพืชผลทางการเกษตรหรือว่า มีราคาตกต่ำ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรเป็นหลัก GDP ของประเทศเรา คือ ๘ เปอร์เซ็นต์ เรามีเกษตรกรอยู่ ๑๐ ล้านคน คิดเป็นประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกคน ล้วนเป็นผู้ที่ประสบปัญหาทางด้านราคาพืชผลการเกษตรกันทั้งหมด

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันจะขอยกตัวอย่าง สินค้า การเกษตรของเราที่ขึ้นชื่อมานาน สินค้าที่เรียกว่านึกถึงประเทศไทยก็ต้องนึกถึงสินค้า ชนิดนี้ นั่นก็คือข้าวค่ะ โดยจะขอเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในด้านราคาแล้วก็ด้าน การส่งออก ข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ที่ ๙๒๐ เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวของเวียดนามอยู่ที่ ๗๖๒ เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวอินเดียด้านการส่งออกอยู่ที่ ๑,๒๒๐ เหรียญต่อตัน เดี๋ยวมาดู ด้านการส่งออกนะคะโดยที่จะใช้สถิติในปี ๒๕๖๕ อันดับ ๑ ประเทศที่ส่งออกมากที่สุด นั่นก็คือประเทศอินเดียอยู่ที่ ๑๘.๒๕ ล้านตัน อันดับ ๒ เป็นประเทศของเราเองนั่นก็คือ ประเทศไทยอยู่ที่ ๘.๕ ล้านตัน ส่วนอันดับ ๓ คือประเทศเวียดนามที่ตามเรามาติด ๆ อยู่ที่ ๖.๖๗ ล้านตัน ซึ่งจะเห็นว่าประเทศไทยเราห่างกับอันดับ ๑ นั่นก็คือประเทศอินเดีย มากพอประมาณอยู่ แต่ถ้ามาดูประเทศอันดับ ๓ นั่นก็คือประเทศเวียดนาม เราห่างจาก ประเทศเวียดนามไม่มากเท่าไร ทั้งเรื่องปริมาณการส่งออกแล้วก็ราคาของข้าว ปัญหาที่ทำให้ ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำนั้นต้องบอกว่าหลัก ๆ มาจากการที่ตลาดเรานี่หรือว่าพี่น้องเรา ผลิตสินค้าออกมามากเกินความต้องการของตลาด หรือเรียกว่า Supply over Demand หรือพูดง่าย ๆ ว่าคือเรามีคนมาซื้อน้อยกว่าสินค้าที่อยู่ในตลาด มันเลยต้องทำให้เรา ต้องลดราคาสินค้าในตลาดนั้นให้ถูกลงไปอีกเพื่อที่จะดึงคนให้กลับมาซื้อ แต่ปัญหาเหล่านี้ ดิฉันเชื่อได้ว่าโดยนโยบายของรัฐบาลชุดนี้นำโดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เราจะใช้ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะทำ Market Profile ซึ่งจะทำให้รู้ว่า ตลาดมันต้องการอะไร แล้วก็มีความต้องการมากแค่ไหน เพื่อที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกร ของเราสามารถผลิตผลิตผลที่มันถูกกับตลาด แล้วก็ออกมาได้ตามที่ตลาดต้องการ เพื่อให้ สามารถสร้างรายได้ แล้วก็พลิกคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างแท้จริงค่ะ ปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องพบไม่ใช่แค่ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำเท่านั้น แต่ว่ามันมีปัญหา อย่างอื่นที่จะต้องพูดถึงที่มันผูกโยงกับสิ่งเหล่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก คือเรื่องต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกร ไปลงพื้นที่เมื่อไร จะต้องได้รับคำตอบมาตลอดว่า สส. ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ราคาต้นทุน การผลิต ค่าอาหารสัตว์ก็ตาม ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงก็ตามมันทำให้ราคามันสูงมาก จนพี่น้องเกษตรกรเราไม่สามารถจะผลิตสินค้าออกมา และทำให้มีต้นทุนที่สูงขนาดนี้ ไม่สามารถจะทำให้กำไรได้ดีขนาดนั้น ยกตัวอย่างต้นทุนปุ๋ยคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของต้นทุน ซึ่งต้องบอกว่าสูงมาก ๆ เลยนะคะ นั่นหมายความว่าถ้าต้นทุนสูงนี่กำไรที่ได้ก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้นต้องบอกเลยว่าสถิติพบว่า ต้นทุนการเกษตรนั้นคิดเป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของรายได้ วันนี้พี่น้องเกษตรกรไทยมีต้นทุน การผลิตที่สูงมาก และทุกวันนี้ก็ลำบากมากจริง ๆ ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ต่อเนื่องกับเรื่องแรกเลยนั่นก็คือเมื่อต้นทุนสูงพี่น้องการเกษตร มีเงินใช้หมุนเวียนในการทำนาทำไร่ไม่พอ สิ่งที่ตามมาก็เป็นหนี้ค่ะ เพราะเขาต้องหาที่ กู้หนี้ยืมสินจากเกษตรกรดี ๆ ต้องกลับกลายเป็นลูกหนี้ซ้ำไปอีก วันนี้กำไรมันไม่พอค่ะ ที่ผ่านมาเราพบว่าเกษตรกรมีหนี้สิน ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์เลย จากเกษตรกรทั้งหมดมีหนี้สิน เฉลี่ยอยู่ที่ ๑๖๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างที่ดิฉัน ได้พูดไว้ข้างต้นว่าปัญหา ๒ อย่างนี้มันผูกโยงกัน ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง พี่น้องเกษตรกรไทยเราก็ไม่สามารถจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ วันนี้เป็น เรื่องยากที่จะแก้ปมนี้ แต่ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้และพรรคเพื่อไทยเราเอง เรามั่นใจว่าเราจะ สามารถนำนโยบาย

    อ่านในการประชุม

  • ๑. พักหนี้เกษตรกร ๓ ปีทั้งต้นทั้งดอกค่ะ ถ้าพี่น้องเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ จากนโยบายนี้แล้วสิ่งที่พี่น้องเกษตรกรจะได้ คือจะสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร เพิ่มขึ้น ๓ เท่าในเวลา ๔ ปี

    อ่านในการประชุม

  • ๒. เพิ่มความต้องการ และปรับสินค้าภาคการเกษตรค่ะ เรานำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนในการเพิ่มผลการผลิต แล้วการลดต้นทุนแปรรูปสู่มูลค่าที่ให้มันเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวทาง ๖ ประการนั่นก็คือ ๑. ดินนำน้ำดี ๒. มีสายพันธุ์ดี ๓. ยืนยันราคา ๔. จัดหาแหล่งทุน ๕. หนุนนำนวัตกรรม และ ๖. จัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดิฉันเชื่อว่า รัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทย เราสามารถจะทำให้ราคาของพืชผลการเกษตร และคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้นได้อย่างแน่นอน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ขออนุญาตหารือกับท่านประธานเรื่องความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้อง จังหวัดเชียงราย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เรื่องสัญญาณไฟบนเสาไฟฟ้าในเขตเทศบาลของตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มันมีสายไฟฟ้าที่มันห้อยระโยงระยางต้องเรียกว่าเป็นอันตราย กับพี่น้องที่ใช้ถนน แล้วก็สัญจรไปแถวนั้นเจออุบัติเหตุบ่อยมาก อยากจะฝากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องช่วยไปดูแลอันไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ขอให้เอาออกได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องการขยายเขตไฟฟ้าในหมู่บ้านใหม่สามัคคีธรรมของบ้านสาขา ปางเกาะทราย ตำบลป่าหุ่งของอำเภอพาน ตรงนี้เป็นเขตอุทยานซึ่งจะขยายไฟฟ้ามันขอ ค่อนข้างยากแล้วก็ติดปัญหา ตอนนี้ชาวบ้านแก้ไขโดยการขอเชื่อมไฟฟ้ากับบ้านใกล้เคียง ซึ่งก็เรียกว่ามันไม่มีความปลอดภัยแน่นอนค่ะ ดังนั้นตอนนี้ในเรื่องของอุทยานแห่งชาติ คือไม่ติดขัดอะไร ก็ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยไปดูแลเรื่องการไฟฟ้าไม่เพียงพอ ของบ้านสาขาปางเกาะทราย บ้านใหม่สามัคคีธรรมด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นการปรับปรุงและขยายไหล่ทางของถนนของบ้านฮ่องหลง บ้านถ้ำที่ตำบลป่าหุ่งเช่นเดียวกันค่ะ เนื่องจากปัญหาไหล่ทางค่อนข้างแคบ แล้วรถมอเตอร์ไซค์ เวลาขับผ่านจะมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งด้านข้างเป็นคลองทำให้รถสามารถล้มได้ แล้วก็ เจออุบัติเหตุเยอะมาก ก็ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องเชื่อมถนนระหว่าง ๒ อำเภอ นั่นก็คืออำเภอพาน ตำบลสันกลาง แล้วก็อำเภอแม่สรวย ตำบลแม่พริก อยากจะขอเชื่อมถนนเส้นนี้เป็นถนน การเกษตรให้เชื่อมระหว่าง ๒ อำเภอ จะทำให้พี่น้องประชาชนเดินทางแล้วก็ขนส่งทางด้าน การเกษตรได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ เป็นเรื่องเส้นทางถนนหมายเลข ๑๑๒๖ เป็นถนนของทางหลวง ระหว่างอำเภอพานกับอำเภอป่าแดด อยากจะขอให้ช่วยขยายถนนตรงนี้จาก ๒ เลนให้เป็น ๔ เลน เพื่อเป็นการสัญจร มันเป็นถนนหลักค่ะ เพราะว่าเส้นทางนั้นเป็นป่า แล้วก็ มีทางโค้งอันตรายเยอะมาก เรียกว่าสัญญาณไฟก็ไม่พอเพียง อยากจะขอให้ท่านประธาน ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลแล้วก็เรื่องเดือดร้อนแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดเชียงรายอย่างเร่งด่วนค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย ขอเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จำนวน ๑๕ ท่าน พรรคก้าวไกล จำนวน ๔ ท่าน ๑. นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ๒. นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ ๓. นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ๔. นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สัดส่วนจากพรรคเพื่อไทย จำนวน ๕ ท่าน ๑. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ๒. นายนพดล ปัทมะ ๓. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ๔. นางสาวจิรัชยา สัพโส ๕. นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ พรรคภูมิใจไทย จำนวน ๒ ท่าน ๑. ท่านชลัฐ รัชกิจประการ ๒. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ สัดส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๑ ท่าน คือนายอัคร ทองใจสด พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน ๑ ท่าน คือหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ และสัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน ๑ ท่าน คือนายศุภโชค ศรีสุขจร ขอผู้รับรองด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันจะมาขออภิปรายในญัตติที่มีเพื่อนสมาชิกได้นำเสนอเข้าสู่สภา แห่งนี้ แล้วก็รู้สึกดีใจที่มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เด็กไร้สัญชาติ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษย์ที่คงเป็นปัญหาใหญ่ในโลกของเรา มีการพูดถึงแล้วก็ เรียกร้องให้แก้ไขกันตลอดเวลา จากการที่เด็ก ๆ เกิดมาในสถานการณ์ที่ทำให้เรียกว่า พวกเขาไม่มี และตราบใดที่พวกเขาไม่มีสัญชาติก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิที่เขาควรได้รับ แล้วก็การบริการต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตลอดช่วงชีวิตของเขา ซึ่งการศึกษาก็เป็นหนึ่งในสิทธินั้น ที่พวกเขาควรได้รับ แต่ปัจจุบันเราแทบจะไม่มีช่องทางใด ๆ เลยที่จะให้เด็ก ๆ เหล่านี้ หรือแม้ถ้ามีช่องทางแต่ว่ามันก็มีข้อจำกัดบางอย่าง แล้วก็บางอย่างมันก็ไม่เอื้ออำนวย อย่างเต็มที่ จึงเป็นปัญหาให้ต่อทั้งนักเรียน แล้วก็ผู้ที่ให้การศึกษาให้กับพวกเขาเองด้วย แม้ในช่วงก่อนจะมีมติ ครม. จากรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย จะมีการจัดการศึกษาให้แก่ บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ตาม แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็อย่างที่บอก มันยังมีข้อจำกัด อย่างเช่นกรณีที่เกิดมาไม่นานนี้เองในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง รับเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนเพื่อให้การศึกษา แต่เมื่อถูก ตรวจสอบเป็นอย่างไรคะ เด็กเหล่านั้นถูกส่งกลับคืนสู่พื้นที่ของเขา ทำให้ถูกตัดขาดการศึกษา อีกครั้งหนึ่ง ดิฉันต้องขอชื่นชมครู อาจารย์ แล้วก็โรงเรียนเหล่านั้นที่ตั้งใจเป็นผู้สอน และเป็นผู้ให้ แต่ถ้าวันนี้เรามาร่วมกันศึกษาอย่างแท้จริงแล้วหาทางออกร่วมกัน ดิฉันเชื่อว่า ทั้งเด็กนักเรียนแล้วก็ครูผู้เป็นผู้ให้ก็จะสามารถเดินหน้าได้อย่างถูกต้อง

    อ่านในการประชุม

  • จากข้อมูลของ UNHCR ปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติราว ๆ กว่า ๓๐๐,๐๐๐ กว่าคน เด็กเหล่านี้ไม่ได้กระทำความผิดอะไรเลย ผิดเพียงแต่ว่าเขาไม่สามารถเลือกเกิดได้ แล้วก็ แค่โชคร้ายที่พวกเขาเกิดมานี่เกิดมาข้ามเส้นพรมแดนสมมุติไป แต่นั่นมันไม่ใช่เหตุผล ที่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาไม่ได้เข้าถึงการศึกษา ถ้าท่านลองไปถามเด็ก ๆ เหล่านั้นว่า เขาอยากได้รับการศึกษาไหม อยากเรียนหนังสือไหม ดิฉันเชื่อว่าทุกคนต้องบอกเป็นเสียง เดียวกันว่าพวกเขาอยากเรียน การแก้ปัญหาของเด็กไร้สัญชาติเป็นประเด็นสำคัญที่ต้อง ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กไร้สัญชาติได้สามารถเข้ารับการศึกษาและมีการพัฒนา ตนเองเหมือนเด็กที่มีสัญชาติ ดิฉันจึงอยากจะขอเสนอนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. คือสร้างโอกาสให้พวกเขาได้เข้าระบบการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ การให้โอกาสนี้จะต้องไม่ผลักดันพวกเขาให้เป็นบุคคลชั้น ๒ หรือเป็นการด้อยค่า เพื่อให้ภาพของคนทั่วไปนี้ดูดีกว่าพวกเขา

    อ่านในการประชุม

  • ๒. การสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะ มันจำเป็นต่อการใช้ชีวิต ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และได้พัฒนาทักษะของพวกเขาเอง เพื่อใช้ชีวิตในสังคมและเพื่อมี อนาคตต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๓. การสร้างความรับรู้ อันนี้สำคัญมาก ๆ สังคมเราต้องมีการสร้างความรับรู้ ว่ามันมีกลุ่มเด็กไร้สัญชาติเกิดขึ้นมีปัญหาอยู่ ไม่ปฏิเสธการมีตัวตนของพวกเขา ไม่ด้อยค่า กลุ่มของพวกเขา เพิ่มความเข้าใจและความตั้งใจในการแก้ปัญหานี้ในสังคมเรา ไม่ว่าจะเป็น ในระบบชุมชนไปจนถึงระบบสากล

    อ่านในการประชุม

  • ๔. การสร้างการตรวจสอบทำให้การทิ้งผู้คนไว้ข้างหลังสิ้นสุดลง รัฐบาล และสังคมไทยราต้องช่วยกันในการตรวจสอบสถานะของกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ จัดให้มี กระบวนการต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้พวกเขาต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • สิ่งที่ดิฉันพูดมาทั้งหมด ดิฉันให้ความสำคัญที่สุดการศึกษาเพราะมันคือ รากฐาน มันคือความเจริญงอกงามของชีวิต ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีแต่ได้ หากซึ่งไร้รากฐานแล้ว พวกเราก็จะสามารถประคองตัวเองอยู่ในสังคมค่อนข้างยาก การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าใคร ไม่ว่ากลุ่มใด เพศใด และไม่ว่าแม้แต่เด็กที่ไร้สัญชาติ หากเราให้การศึกษากับเด็กไร้สัญชาติแล้ว ให้การศึกษากับเด็กที่อยู่ตามแนวขอบชายแดนแล้ว ทำให้เขามีความรู้ติดตัวไว้ดำรงชีวิตและสามารถกลับไปพัฒนาตามแนวขอบชายแดน ให้เขานำวัฒนธรรมต่าง ๆ ประสบการณ์ของเขาต่าง ๆ มาผสมผสานกับความรู้ที่เขามี ดิฉันเชื่อว่าประเทศเราจะได้รับกลับมา และมันคุ้มค่าที่เราเลือกที่จะให้ในเรื่องนี้กับเขา ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอหารือกับท่านประธานเป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจังหวัดเชียงราย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ คือขอติดตั้งไฟส่องสว่างช่วงที่เป็นจุดเสี่ยง จุดกลับรถเป็นทางแยก ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบนเส้นทางถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข ๑ ในช่วงเขตพื้นที่ ของอำเภอพานไปบ้านแม่เย็น อบต. ม่วงคำ ไปหน้าโรงพยาบาลพาน หน้าวัดชัยมงคล ตลอดจนไปถึง อบต. ธารทอง เพราะตลอดเส้นทางนี้มีจุดกลับรถเถื่อน ไม่มีเกาะกลางถนน ไม่มีสัญญาณไฟจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุในท้องถนนบ่อยมาก เป็นถนนสายหลักด้วย มีรถทัวร์ รถบรรทุก รถใหญ่วิ่งด้วยความเร็วสูง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องของภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ของ พี่น้องชาวตำบลสันมะเค็ด อำเภอพานและพื้นที่ใกล้เคียง ฝากผลักดันดูแลโครงการฟื้นฟู แหล่งน้ำหนองกุ่ม พร้อมระบบกระจายน้ำผันน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผันน้ำ จากหนองกุ่มนี้ไปใช้ในการเกษตรและการประมง หนองกุ่มเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่กักเก็บน้ำไว้ ใช้ในการทำการเกษตรและรองรับน้ำในฤดูฝน ซึ่งเรื่องนี้ทางพื้นที่ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ทรัพยากรน้ำที่ ๑ ของลำปางไว้แล้วด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรที่เป็นชาวนา อันนี้เรื่องใหญ่ เพราะตอนนี้เหล่าโรงสีมีการเล่นกับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยรวมกลุ่มกัน เพื่อตั้งราคาข้าวที่ตัวเองพอใจ บังคับให้ชาวนาขายข้าวในราคาถูก ในพื้นที่ดิฉันได้รับรายงานมาว่า วันแรกเปิดมาที่ ๑๓ บาท วันที่ ๒ เหลือแค่ ๑๒.๘๐ บาท วันที่ ๓ วันที่ ๔ วันที่ ๕ จนปัจจุบันนี้ราคาต่ำมาเหลือที่ ๑๐ บาทแล้ว การกระทำแบบนี้เป็นการทำนาบนหลังคน ขูดเลือดขูดเนื้อกันแบบเอาให้ตายเลย อย่างนี้พี่น้องประชาชนชาวนาจะลืมตาอ้าปาก ได้อย่างไร ก็ต้องไปกู้หนี้กันเป็นวงจรซ้ำกันไป ซึ่งดิฉันจะไม่ยอมให้เป็นแบบนี้อีกต่อไป ฝากประธานเรื่องราคาข้าวด้วย แล้วก็ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงพื้นที่ตรวจสอบ และรายงานกลับมาให้ทางดิฉันทราบด้วย แล้วตัวดิฉันเองทำงานประกบคู่ตรวจสอบ ไปอีกทางหนึ่ง ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงราย ขออนุญาตแก้ไขรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี โดยจะขอเสนอชื่อ นายสุวิทย์ มังคละแทน นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ก็จะขอร่วมอภิปรายถึงร่าง พ.ร.บ. ที่ประชาชนชาวไทยและ ประชาคมโลกให้ความสนใจ ณ ขณะนี้ นั่นก็คือเรื่องของการสมรสเท่าเทียม ซึ่งต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราพรรคเพื่อไทยให้ความสนใจมาโดยตลอด วันนี้ไม่ได้มีแค่เพียง ร่างของฝ่ายรัฐบาลแต่มีของภาคประชาชนแล้วก็ฝ่ายค้านเข้ามาด้วย และแน่นอนว่าทั้ง ๓ ร่างนี้มีจุดมุ่งหมายเฉกเช่นเดียวกัน นั่นก็คือความเท่าเทียม ความรักไม่ควรถูกตีกรอบจาก บรรทัดฐานทางด้านสังคมหรือว่าเพศสภาพ หลายคนอาจจะพูดถึงว่าเขาจะใช้ชีวิตคู่กัน อย่างไร หรือว่าเอาเรื่องของเขามาล้อเลียน มันไม่สำคัญเลยว่าเขา ๒ คนนี้จะมีเพศสัมพันธ์ กันอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเขาจะสื่อสารกันรู้เรื่องไหม จะดูแลซึ่งกันและกันและ สามารถเข้าใจกันมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่พวกเราที่ควรที่จะให้ความสำคัญคือ เราจะทำให้พวก เขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างไร โดยที่ไม่ให้มีอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐหรือเกิดจาก กรอบสังคมที่เกิดขึ้นจนทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้เฉกเช่นดังคนคู่รักทั่ว ๆ ไป ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็คือบุคคลคนหนึ่งเหมือนกับพวกเราค่ะ อาจจะฟังดูว่าการสมรสมันเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับพวกเขานี้มันส่งผลใหญ่หลวงกับชีวิตของพวกเขานะคะ ดิฉันจะขอยกตัวอย่าง บางประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่จะให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญถึงการสมรสเท่าเทียมครั้งนี้

    อ่านในการประชุม

  • เคสแรกก็คือเคสที่คู่รัก LGBTQ+ ที่บ้านของพวกเขานี้ไม่ยอมรับทำให้ คู่รักคู่นี้ต้องออกมาใช้ชีวิตร่วมกัน ๒ คน ทำมาหากินจนสร้างเนื้อสร้างตัวมีทรัพย์สินเกิดขึ้น แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้งค่ะ มีคนหนึ่งต้องเสียชีวิตลง และเมื่อครอบครัวคนนั้น เขาทราบข่าวสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สิทธิและทรัพย์สมบัติทั้งหมดตกเป็นของครอบครัวที่ไม่ได้ ให้การยอมรับในคู่ของเขาในลูกของตนตั้งแต่แรก โดยที่อีกคนหนึ่งที่เรียกว่าเป็นคู่ชีวิตและดูแล กันมาไม่สามารถเรียกร้องในทรัพย์สินใด ๆ ตรงนั้นได้เลย ทั้ง ๆ ที่นั่นคือสินสมรสที่พวกเขา สร้างขึ้นมาด้วยกัน ๒ คนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกคู่หนึ่งก็เป็นคู่ LGBTQ+ ที่เป็นเคสเดียวกับที่หลาย ๆ ท่านในสภาได้ อภิปรายไปนะคะ ซึ่งถ้าไม่ใช่คนในครอบครัวหรือคู่สมรสไม่สามารถเซ็นรับรองใด ๆ ได้ ตรงนี้ลองคิดดูว่าถ้าเราไม่แก้ไขให้พวกเขาได้สมรสกันจะต้องมีอีกกี่คนที่จะต้องเสียใจและ จบชีวิตด้วยเหตุผลเช่นนี้ ดิฉันเชื่อว่าแค่เรื่อง ๒ เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดกับแค่ ๒ คู่นี้เท่านั้น แต่เกิดกับคู่รักอีกนับไม่ถ้วนเลยในสังคมเรา และยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เกิดขึ้น แล้วหากมันจะเกิดต่อไปและไม่หยุดยั้งถ้าเราไม่ผ่านสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ การให้ผ่านสมรส เท่าเทียมนั้นไม่ได้ลิดรอนสิทธิของใครนะคะ แต่เป็นการคืนสิทธิที่พวกเขาควรได้รับต่างหาก อีกทั้งเชื่อไหมคะว่ามันยังจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราให้ดีขึ้นอีกด้วย หากประเทศไทยเรามีความเท่าเทียมในเรื่องนี้ก็จะทำให้เราได้รับการรองรับจากองค์กร InterPride ที่เป็นองค์กรจัดงาน World Pride ซึ่งจัดสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้ไม่ใช่แสดงให้ เห็นแค่เท่าเทียมนะคะ แต่ยังได้ส่งเสริมในด้านมิติเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะถ้าหากเราได้มี โอกาสจัดงานและเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Pride ได้นี้ จะเป็นการดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลในประเทศไทยเราอีกด้วยยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาได้เป็น เจ้าภาพในการจัดงาน World Pride Stonewall ในปี ๒๐๑๙ สามารถดึงนักท่องเที่ยว ทั่วโลกมาถึง ๕ ล้านคน ในปี ๒๐๒๑ World Pride ที่โคเปนเฮเกนมีนักท่องเที่ยวราว ๆ แล้ว ต่อวันเกือบ ๒๐,๐๐๐ คนเลย นับว่าเป็นการจัดงานระดับโลกที่ไม่ได้จัดง่าย ๆ เลยใช่ไหมคะ ต้องเป็นคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีพลังเท่านั้น แต่ทั้งนี้การให้ผ่านสมรส เท่าเทียมเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่เราต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมในประเทศนี้ ขึ้นจริง ๆ และรัฐบาลเองจะต้องทำให้เกิดการปฏิบัติเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่เพียงให้ผ่านในแผ่นกระดาษ เท่านั้น ดิฉันเชื่อว่าไม่ว่าเพศใดก็มีศักยภาพอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไปกับ พวกเราอยากเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น อยากเห็นสวัสดิการที่ดีขึ้น และแน่นอนจากที่ดิฉันอภิปราย มาทั้งหมด การยอมรับ LGBTQ+ และสมรสเท่าเทียมจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นและ ยกระดับสิทธิมนุษยชน สมรสเท่าเทียมไม่ได้นำไปสู่ผลเสียแต่ประการใด มีแต่จะสร้าง การเติบโตและความสง่างามให้แก่ประเทศไทยเรา ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย จากพรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะมาร่วมทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ ร่วมทวง คืนลมหายใจของประชาชนคนไทย ต้องบอกว่าประเทศไทยเรามีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และมะเร็งปอดหลายล้านคน ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าต้นตอสำคัญเหล่านั้น นั่นก็คือ มาจากฝุ่น PM2.5 ดิฉันเชื่อว่าพวกเราที่อยู่ในสภาแห่งนี้ ได้เคยพูดถึงเรื่องของฝุ่น PM2.5 มานับไม่ถ้วน และทุกครั้งที่มีคนพูดถึงเรื่องนี้ล้วนพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องการสูญเสีย แต่ต้องบอก ว่าการสูญเสียเหล่านั้นมันเทียบไม่ได้เลยกับชีวิตของประชาชนคนไทยที่เกิดจากปัญหา ฝุ่นควันเหล่านี้ ขอสไลด์ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรามาดูผลกระทบกันว่า PM2.5 นี้ในมิติต่าง ๆ มันส่งผลกระทบอะไรกันบ้าง ๑. ด้านสุขภาพ อย่างที่ดิฉันได้กล่าว เอาไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคทางเดินหายใจลามไปจนถึงผื่นคันผิวหนัง ไปจนถึงมะเร็งปอด ต้องบอกว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยจากฝุ่นพิษ ฝุ่นควัน PM2.5 เป็นจำนวนมาก โดยจากกระทรวง สาธารณสุข วันที่ ๑ มกราคมจนถึงวันที่ ๙ มีนาคมพบมากถึงกว่า ๑,๗๐๐,๐๐๐ กว่าคน แล้วถ้าพูดถึงในจังหวัดเชียงรายของดิฉัน ทาง สสส. ก็ได้รับแจ้งมาเช่นกันว่ามีผู้ป่วยที่เข้าไป รักษาในโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ คนต่อวันเลยในช่วง High Season ที่เรียกว่าฝุ่นควัน เยอะของจังหวัดเชียงราย เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เรามาดูด้านค่าใช้จ่ายกันบ้างค่ะ ท่านประธานลองคิดดูสิคะว่า ถ้าสมมุติประชาชนคนหนึ่งอยากจะป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 หน้ากากอนามัยที่เขาสามารถจะป้องกันเขาจากฝุ่นต่าง ๆ ละอองเล็ก ๆ ถ้าพูดถึง ครอบครัวที่มีรายได้น้อยลองคิดดูว่าราคากล่องหน้ากากอยู่ที่กล่องละ ๕๐๐-๗๒๐ กว่าบาท และ ๑ กล่องนี้มีแค่ ๒๕ ชิ้นเท่านั้น ถามว่าในครอบครัวนั้นมีกี่คน ๒๕ ชิ้นนี้ได้ใช้ได้ไม่ถึง ๑ เดือนเลยด้วยซ้ำค่ะท่านประธาน ลองคิดดูว่ามันจะต้องใช้จ่ายเท่าไรต่อเดือน แล้วต่อปีนี้ จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นขนาดไหน ทำไมคะ ทำไมเรียกว่าผู้คนต้องแบกรับ พี่น้องประชาชน คนไทยต้องแบกรับต้นทุนที่เรียกว่าเป็นสิทธิโดยกำเนิดของตัวเอง นั่นคืออากาศหายใจ อีกทั้ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาพักรักษาตัวถ้าเราไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ก็จะเปรียบเสมือนได้ว่า เรากำลังสร้างต้นทุนเรียกว่าต้นทุนชีวิตให้กับประชาชนคนไทย สร้างความเหลื่อมล้ำใน โอกาสของการใช้ชีวิตรอดได้แต่ละวันของประชาชนคนไทย

    อ่านในการประชุม

  • ด้านที่ ๓ คือด้านเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเศรษฐกิจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะมันต้องส่งผลกระทบแน่นอน คงไม่มีบริษัทไหนหรือว่า นักลงทุนคนไหนหรอกค่ะ ที่จะอยากมาลงทุนในประเทศที่เรียกว่ามีต้นทุนของลมหายใจ เกิดขึ้นและต้องบอกเลยว่ามันยังกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งต้องบอกว่าประเทศไทย ของเรานี้เครื่องยนต์ที่เป็นกลไกหลักสำคัญ นั่นก็คือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแล้วก็ สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเรามีทิวทัศน์สวยงามมากมาย เราได้เชิญชวนทุกคนให้ไปขึ้นดอย ได้ไปสัมผัสธรรมชาติกับบรรยากาศที่ดี จังหวัดเชียงรายเองก็ด้วยซ้ำค่ะ แต่ถึงเวลานั้นในช่วง ที่แบบฝุ่น เรียกว่าโหมกระหน่ำกัน บ้านดิฉันจังหวัดเชียงรายองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่หรือว่า องค์เจ้าแม่กวนอิมของวัดห้วยปลากั้งเองนี้ก็ถูกกลืนหายไปยังในฝุ่นควันเหล่านั้น ตัวดิฉันเอง ในฐานะที่เป็นคนในจังหวัดเชียงราย คนในพื้นที่มันรู้สึกเจ็บปวดใจมาก ๆ ฝุ่นละอองเหล่านั้น ไม่ใช่ไม่ได้มองเห็นด้วยตา เรามองเห็นค่ะ ภูเขาหลายไปลูก พระพุทธรูปองค์ใหญ่หายไป เรียกว่าทั้งองค์เลย แต่ถามว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกจากยอมรับมันต่อไปใส่หน้ากาก และเดินหน้าทำงานต่อไป พี่น้องประชาชนต้องออกไปทำงานในพื้นที่โล่งแจ้ง ดิฉันเองก็ต้อง ออกไปทำงานไปพบปะกับประชาชนเราก็ต้องก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตต่อไป ถึงแม้จะรู้ว่ามันจะ ส่งผลกระทบให้กับการหายใจ แล้วก็ส่งผลกระทบให้กับปอด แล้วก็สุขภาพในอนาคต วันนี้ เรามาดูกันว่าหลักการของเรา Solution ต่าง ๆ ที่ทางพรรคเพื่อไทยได้เอ่ยถึง ไม่ว่าจะเป็น การจัดการให้มีการแจ้งเตือนภัยและเขตเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือทาง เศรษฐศาสตร์อย่าง PPP Polluter Pays Principle นั่นก็คือใคร ที่เป็นผู้ก่อมลพิษก็ต้องเป็น ผู้จ่าย การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องมลพิษข้ามเขตแดน การจัดระบบบริการสุขภาพ รองรับผู้ป่วยทางเดินหายใจหรือจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบางสิ่งเหล่านี้พรรค เพื่อไทยเคยได้คิดแล้วก็พูดไว้ตลอด เราได้หาเสียงไว้และเชื่อว่าสามารถทำได้จริงเราคิดกันมา แบบครอบคลุมตั้งแต่การจัดการต้นตอของปัญหา ตั้งแต่การระวังป้องกันและดูแลผู้ได้รับ ผลกระทบ หากเราได้อากาศบริสุทธิ์กลับคืนมาประชาชนคนไทยจะได้ลมหายใจที่บริสุทธิ์ กลับคืนมา ธรรมชาติจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งไม่มีใครต้องเจ็บ ต้องป่วยและต้องเสียชีวิต อีก และที่สำคัญของประเทศเราจะได้รับการไว้วางใจจากนักลงทุนจากหลากหลายประเทศ การท่องเที่ยวจะต้องดีขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน การลงทุนในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิด ปัญหาเกิดขึ้นย่อมดีกว่าไปรอลงทุนในการรักษาถูกไหมคะ เพราะนั่นมันคือความสูญเสียที่ เกิดขึ้นไปแล้ว ดังนั้นวันนี้ดิฉันเลยมาขอทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ลมหายใจให้กับทุกคน ให้กับ ประชาชนคนไทยด้วยการสนับสนุนญัตติร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการอากาศเพื่ออากาศ สะอาดทุกร่างค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทยค่ะ ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนให้ความสนใจมาก ๆ ในปัจจุบัน ตัวดิฉันเองก็เรียกว่าให้ความสนใจมากเลย มันไม่ใช่แค่ครั้งแรกด้วยค่ะท่านประธาน เพราะว่า เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉันก็ติดตามข่าวสาร มันก็มีเรื่องเกี่ยวกับเรื่องครูเวร ซึ่งก็เกิดขึ้น ในเขตพื้นที่ของดิฉัน นั่นก็คือเขตตำบลดอยลาน จังหวัดเชียงรายค่ะ ซึ่งเราก็ได้ร้องเรียนไปยัง ทางกระทรวงศึกษาธิการให้เขาเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและ นักเรียนในโรงเรียน ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้มี ข้อสั่งการออกมาให้ยกเลิกในที่ประชุม ครม. ทันที และมาในวันนี้อีกครั้งหนึ่งก็ต้องมาเจอ ข่าวที่เรียกว่าต้องสลดใจให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็น วันนี้เกิดเหตุ ความรุนแรงในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดเหตุด้วยต้นเหตุอะไร ก็ตาม ความรุนแรงไม่สมควรที่จะต้องเกิดขึ้นอีกแล้วภายในโรงเรียน อะไรคือความรุนแรง ในโรงเรียนค่ะ ๑. คือความรุนแรงทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเตะ ต่อย หรือตบ ใช่ไหมคะ ๒. ความรุนแรงทางด้านจิต Psychological Violence การใช้คำพูด การทำให้คุณรู้สึก นักเรียนรู้สึกโดดเดี่ยว หรือว่าการถูกกีดกันออกจากสังคมหรือกลุ่มเพื่อน ๓. ความรุนแรง ทางเพศ หรือว่า Sexual Violence นั่นก็คือการทำร้ายหรือว่ารวมไปถึงการถูกล่วงละเมิด ทางเพศด้วย ๔. การใช้อาวุธ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายหรือว่าเป็นการข่มขู่ก็ตาม ๕. ก็คือ การ Bully ไม่ว่าจะเป็นการ Bully ด้วยคำพูด และปัจจุบันนี้ก็จะเป็นมีรวมถึงเรื่อง Cyberbullying ด้วยค่ะ ดิฉันอยากจะขอพูดในสภาแห่งนี้อีกครั้งหนึ่งในการขอการเพิ่มแล้วก็ ยกระดับความปลอดภัยทั้งโรงเรียนในด้านบุคลากรและเทคโนโลยี ซึ่งจะสร้างให้โรงเรียนเรา เป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน บุคลากร หรือว่าคุณครูที่อยู่ ในโรงเรียนสามารถรู้สึกปลอดภัย ให้กลุ่มนักเรียนแล้วเด็ก ๆ เหล่านั้นสามารถรู้สึกว่าเขาได้ อย่างเต็มที่ในช่วงวัยของเขา เขาได้เล่นอย่างเต็มที่และปลอดภัยในกลุ่มของเขา วันนี้ ผู้ปกครองเองก็ควรจะได้รับความสบายใจในการส่งบุตรหลานให้เข้ารับการศึกษา การป้องกันแบบเทคโนโลยีเป็นอันหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันบุคลากรที่ต้องเผชิญกับ อันตรายต่าง ๆ อีกทั้งเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบ ตรวจจับความเคลื่อนไหวในเวลากลางคืนหรือว่าการตรวจเช็กอาวุธต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้า โรงเรียน หรือว่าจะเป็นการ Program จำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่า ทางสหรัฐอเมริกาเองเขาก็ได้เริ่มมีการพัฒนาใช้ Program เหล่านี้แล้วเพื่อจำลองสถานการณ์ ในการที่จะพบปะกับสถานการณ์ต่าง ๆ ค่ะ ในด้านบุคลากรเองดิฉันไม่ได้พูดถึงว่าเราจะเพิ่ม บุคลากรที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาบุคลากรให้พวกเขาเหล่านั้น มี Training Program ที่ดีขึ้น เพื่อที่จะให้เขารับมือกับสถานการณ์ รับมือเบื้องต้นกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่พนักงานต่าง ๆ หรือว่าเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ จะมาถึง แต่การป้องกัน ด้วยการรักษาความปลอดภัยอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอค่ะท่านประธาน เพราะว่าพอเรามาดู ต้นตอของปัญหาเหล่านี้ ผู้ก่อเหตุก็คือเป็นนักเรียน แล้วสาเหตุมันอาจจะยังไม่ทราบ อย่างชัดเจน แต่เหตุผลหลัก ๆ ในหลายเหตุการณ์มันก็เกิดมาจากการถูก Bully ถูกกลั่นแกล้ง จนทนไม่ไหว จนทำให้ส่งผลไปถึงความรู้สึกทางจิตใจ และก็ส่งผลไปถึงความรุนแรงต่าง ๆ ที่จะออกก่อเกิด มาในทาง Physical หรือว่าทางร่างกาย ดิฉันคิดว่าเราควรจะมีวิธีการแก้ปัญหา Bully เหล่านั้นให้หมดไปจากโรงเรียน หากเราสามารถจัดการในระดับโรงเรียนได้แล้วนั้น ดิฉัน เชื่อว่าในระดับสังคมเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ดิฉันขอแนะนำวิธีหนึ่งที่ได้รับการที่น่าสนใจ จากอาจารย์แห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นั่นก็คือการใช้ศิลปะมาบำบัด หรือที่เขา เรียกว่า Expressive Arts Therapy คือเด็กนี้ ถ้าสมมุติเขาได้ Express หรือว่าได้ออกมา วาดภาพอะไรต่าง ๆ ในหัวสมองเขาว่าเขาคิดอะไรอยู่ มันจะเป็นกระบวนการกระบวนหนึ่ง ที่จะช่วยคัดกรองได้ว่าเด็กคนนั้นเขามีความรู้สึกอย่างไร ภาพจะบ่งบอกและบอกได้ว่าเขาคนนี้ มีความคิดอย่างไร จัดอยู่ในกลุ่มผู้ถูกกระทำหรือจะอยู่ในกลุ่มผู้ที่จะสร้างความรุนแรง ในสังคม ศิลปะบำบัดจะช่วยในด้านจิตวิทยาตรงที่ว่าครูเองก็จะสามารถประเมินภาวะของ เด็กกลุ่มนั้นได้ด้วยก่อนที่จะให้คำแนะนำ สามารถทำประวัติกลุ่มเสี่ยงก่อนที่สถานการณ์ รุนแรงต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขออนุญาตพูดถึงสถิติจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สถิติ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ วัยที่เป็นช่วงที่ก่อคดีมากที่สุดคือวัยมัธยมศึกษา คิดแล้วเป็น ๖,๓๐๖ คดีด้วยกัน หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ ๕๑.๗๒ เปอร์เซ็นต์ ด้วยเด็กวัยนี้เขามีอารมณ์ที่คึก คะนองและเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ นอกจากการดูแลทางโรงเรียนแล้วดิฉันว่าสถาบันของ ครอบครัวก็เป็นอะไรที่สำคัญมาก ๆ ถ้าครอบครัวจะช่วยดูแลเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับ พวกเขา เป็นพื้นที่ที่เขาสามารถพูดคุยและปรึกษาไม่ให้พวกเขาได้รู้สึกถูกทอดทิ้ง ดิฉันเชื่อว่า ถ้าเราหันมาใส่ใจกับครอบครัวมากขึ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็จะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ ค่ะท่านประธาน แม้ในช่วงนี้ประเทศเราจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรงเรียนและนักเรียน เกิดขึ้น แต่ก็ยังโชคดีขณะที่มันไม่ได้ยกระดับความรุนแรงไปเหมือนที่ต่างประเทศเกิดขึ้น ดิฉันก็ขอแค่ภาวนาว่าจากนี้ไปเราต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้มีความรุนแรง ในโรงเรียนเกิดขึ้นอีกแล้ว และสุดท้ายนี้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แล้วก็ในฐานะคุณแม่ ของลูกสาว ดิฉันขอให้รัฐบาลนี้ทำให้โรงเรียนกลับมาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อลูกหลานแล้วก็ คนไทยอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ประเทศไทยของเรานั้นผ่านช่วงที่ยากลำบากมาหลายครั้ง แล้วก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ การชุมนุม ปี ๒๕๕๒ การสลายการชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดง การรัฐประหารปี ๒๕๕๗ รวมถึงการชุมนุมของน้อง ๆ เยาวชนที่ผ่านมา ถ้าจะถามถึงเรื่องผลกระทบ จำนวนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถประเมินได้ การนิรโทษกรรมในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมีประโยชน์ เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาที่จะคลี่คลาย ความขัดแย้ง เปิดทางให้ผู้ที่เห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน แต่การนิรโทษกรรม ก็เคยถูกใช้แบบไม่ถูกต้อง เช่น การนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหาร ทำให้วงจร รัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า การตั้งกรรมาธิการชุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่มีใครมา สามารถปฏิเสธได้ และการขอให้ตั้งกรรมาธิการชุดนี้เกิดขึ้นก็เพื่อจะให้มีการพูดถึงเนื้อหาว่า ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง พูดถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ ได้รับโทษ ผู้ที่เสียหาย ผู้ที่เห็นด้วย และเห็นต่างกับการแก้นิรโทษกรรม การหาจุดร่วมกัน ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าเรื่องนี้มันมีความละเอียดอ่อน กรรมาธิการชุดนี้ จึงต้องประกอบไปด้วยทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพรรคการเมือง นักวิชาการหรือว่าฝ่ายเอกชน ภาคประชาชนเองก็ตาม การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจึงควรมุ่งเน้นไปในทางการศึกษา และพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสมกับการจัดการคดีทางการเมืองและความขัดแย้ง ในสังคม อีกทั้งการพิจารณาคดีต่าง ๆ ต้องนึกถึงผลดีและผลเสียของการนิรโทษกรรม ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และหาแนวทาง ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ในประเทศไทยเรา อย่างไร ก็ตามเราต้องเน้นว่าการนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงว่าเราจะปลดปล่อยความผิด หรือว่า การรับผิดชอบต่าง ๆ จากการกระทำผิดทุกประการ และเพื่อความเป็นธรรมการดำเนินการ ที่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมาธิการวิสามัญควรจะถูกตั้งขึ้นศึกษาและพิจารณาในขอบเขต นิรโทษกรรมอย่างรอบคอบ ลองคิดดูว่าจะนิรโทษกรรมตามเหตุการณ์ หรือว่าจะนิรโทษกรรม ตามช่วงกรอบเวลาที่เกิดขึ้น หรือจะเป็นตามฐานความผิดที่ต่าง ๆ กันไป พิจารณาถึงสถานการณ์ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นต่อสังคมไทย โดยรวม การตั้งคณะกรรมาธิการครั้งนี้จะช่วยให้การนิรโทษกรรมเป็นไปด้วย ความเหมาะสม และเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความปรองดองให้กับชาติไทยเราอีกค่ะ เรื่องนี้ต้องถือว่า เป็นกุญแจดอกสำคัญอีกอันหนึ่งเลยที่จะไขล็อกความขัดแย้งทางการเมืองได้ และหากเรา ทำกันแบบไม่รอบคอบ ไม่ศึกษาให้ดีและไม่ครบทุกฝ่าย อาจจะนำพาถึงความขัดแย้ง อีกครั้งหนึ่งก็ได้ พรรคเพื่อไทยจึงขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา การจัดทำนิรโทษกรรม และขอเชิญชวนเพื่อนสมาชิกผู้เป็นตัวแทนของประชาชนมาร่วม หมุนกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน โดยที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ อย่างสูงสุด ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ขออนุญาต หารือกับท่านประธาน ๓ เรื่อง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ขอให้มีการปรับปรุงเส้นทางถนนจราจร ถนนหมายเลข ๑ ที่บริเวณ หน้าโรงเรียนพานพิทยาคมไปจนถึงแยกวัดชัยมงคล เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แล้วก็ยังมีทางร่วมทางแยกเป็นถนน ๖ แยก หน้าตลาดหกแยก ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ขอให้มีการติดตั้งไฟจราจร ปรับปรุงพื้นผิว กำหนดจุดจอดรถให้ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ ก็จอดกันริมถนนทางหลวง แล้วก็เพิ่มแสงสว่างให้กับเส้นนี้ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ขอขยายน้ำประปาส่วนภูมิภาคให้กับอำเภอพาน อำเภอป่าแดด เนื่องจากอำเภอพานในเขตรัศมี ๕ กิโลเมตร นับจากตรงการประปายังไม่มีน้ำประปาใช้ อย่างทั่วถึง แล้วในอำเภอป่าแดดเองแม้แต่น้ำประปาส่วนภูมิภาคก็ยังไม่ถึงนะคะ ขอให้มีการ ขยายเขตให้บริการน้ำประปาแล้วก็สร้างระบบน้ำประปาใหม่ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เรื่องปัญหาขาดแคลนบุคลากรครูในเขตอำเภอพาน ใน Zone ชนบทแล้วก็บนดอย และในอำเภอป่าแดด ในเขตชนบทเช่นเดียวกัน เนื่องจากโรงเรียนนี้ อยู่บนดอยแล้วก็ห่างไกลจากอำเภอเมือง ขาดงบสนับสนุนให้บุคลากรครูเข้าไปสอนนักเรียน จึงอยากให้มีการบรรจุครูอาจารย์เพิ่มค่ะ และขอให้สนับสนุนค่าครองชีพเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจแล้วก็สวัสดิการแรงจูงใจให้บุคลากรครูด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ในตำบลห้วยสักและตำบลดอยลานขาดสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ครอบคลุม หรือบางพื้นที่ก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เลย ยกตัวอย่างเช่น หมู่ที่ ๓๑ บ้านเนินสะดวก ตำบลห้วยสัก บ้านปงอ้อ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลดอยลาน บ้านใหม่น้ำเย็น หมู่ที่ ๙ ตำบลดอยลาน และบ้านโละป่าตุ้ม หมู่ที่ ๗ ตำบลดอยลาน ขอให้มีการขยาย สัญญาณโทรศัพท์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเสาสัญญาด้วย ก็ขอฝากท่านประธาน แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวจังหวัดเชียงรายด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ก่อนอื่นค่ะ ดิฉันต้องขอฝากท่านประธานขอบคุณไปทาง คณะรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียม แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้ทุกคน เท่ากัน โดยต้องบอกว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือความหวังของกลุ่มคนที่ไม่ได้จะต้องการ อะไรพิเศษไปมากกว่าคนอื่น เพียงแค่ต้องการสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ และวันนี้พวกเรา จะร่วมกันคืนสิทธิเหล่านั้นให้กับพวกเขากันค่ะ และต้องบอกว่าการอภิปราย พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังเป็นการต้อนรับวันที่ ๑ มีนาคมที่จะถึงนี้ด้วยนะคะ ซึ่งเป็นวัน Zero Discrimination Day หรือว่าเป็นวันที่ยุติเลือกปฏิบัติอีกด้วยค่ะ ที่ผ่านมาพวกเราได้พูดถึงกลุ่มพี่น้องกลุ่มคนเหล่านี้ พูดว่า เป็นชนกลุ่มน้อยใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาไม่ใช่เป็นคนกลุ่มน้อยเลย ประเทศไทยเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ ๗๐ กว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และหากนับเป็นรายคนก็ประมาณ อยู่ที่ ๖.๑ ล้านคน และถ้าจะให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นค่ะท่านประธาน คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของ ประชากรไทย ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ตลอดมามีที่อยู่อาศัย มีความไม่มั่นคง ในที่อยู่อาศัย ไม่มีการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้ แม้ว่าในช่วงวิกฤตโลก อย่างโควิด-๑๙ เป็นต้น พวกเขาไม่สามารถได้รับการรักษาหรือแม้แต่ได้เข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ เพียงเพราะเป็น ชนกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งยังประสบกับปัญหาจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกผลักไปเป็นคนชายขอบ เป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกัน ทุกคนเป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจ มีความรู้สึก เราจะ คิดอย่างไรคะ ถ้าเมื่อบ้านเราที่เราเคยอยู่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ อยู่กันเป็น ๔๐ ปี ๕๐ ปี มาตลอด และวันหนึ่งจะต้องถูกไล่ออก ปัญหาเหล่านี้ค่ะ บางคนอยู่กันมานานแต่ไม่สามารถมีสัญชาติได้ ลูกหลานบางท่านเป็นเด็กเรียนดี สอบทหารได้ แต่ไม่มีสิทธิเกณฑ์ทหาร ไม่สามารถรับบรรจุ เพราะว่าแม่ไม่มีสัญชาติค่ะ อันนี้คือเป็น อย่างหนึ่งที่เป็นการลิดรอนสิทธิหรือเปล่าคะ วันนี้ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาที่สำคัญที่พวกเรา จะมาช่วยกัน ช่วยกันให้สังคมไทยที่วันนี้มองไม่เห็นมาเห็นพวกเขากันค่ะ และวันนี้รัฐบาล แล้วก็พรรคเพื่อไทยเอง พวกเรามองเห็นพวกเขาและพร้อมที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้ ได้มองเห็นอย่างที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยค่ะท่านประธาน บทบัญญัติทั่วไปทำขึ้นมาเพื่อให้ทุกคน ได้รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านี้ได้เผชิญกับการที่จะต้องถูกเหยียดหยาม อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ให้พวกเขาเหล่านี้ที่อยู่กับธรรมชาติมาโดยตลอดสามารถ ดำเนินชีวิต แล้วก็อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่มาโดยตลอด ๒. ให้หน่วยงานราชการนั้น มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของพวกเขาเหล่านี้ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ส่งเสริมวัฒนธรรม ส่งเสริมประเพณีต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักให้กับทั่วโลก ให้ชาวต่างชาติ แล้วก็คนไทยได้เห็น ให้พวกเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเขา วัฒนธรรมกลุ่ม ของพวกเขา ซึ่งต้องบอกว่าเป็นประเพณีที่สวยงามไม่แพ้ชาติใดเลย อย่างที่จังหวัดเชียงราย บ้านเราค่ะ ท่านประธานก็อยู่จังหวัดเชียงรายเหมือนกับดิฉัน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานมหัศจรรย์ ๑๐ ชาติพันธุ์ที่แม่สาย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งบอกว่าก็มี การจัดขึ้นในครั้งนี้เป็น ครั้งที่ ๙ แล้วนะคะ จึงอยากให้ทุกคนได้เห็นและได้สัมผัสกับประเพณี เหล่านี้ ๓. จัดตั้งสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน แลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และสังคม ๔. ทำให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิในการป้องกัน ศักดิ์ศรีของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการกำหนดฐานความผิดอาญาว่าด้วย การเหยียดหยาม หรือสร้างความเกลียดชังให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ๕. ในเรื่องของการรักษา พยาบาล ซึ่งต้องบอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ และในการดำรงชีวิตอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมานี้พวกเขาไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล หรือขั้นพื้นฐานจากรัฐได้เลย และวันนี้เราต้องนอกจากนี้ไปจะต้องไม่มีชีวิตใดที่จะต้อง สูญเสียและจะไม่มีการเจ็บป่วยใดที่จะมาดึงไม่ให้พวกเขาสามารถได้รับเข้ารับการรักษา ได้อีกต่อไป ๖. ทำให้เขาสามารถเข้าถึงการศึกษา นอกจากสิทธิที่ได้เข้ารับถึงการศึกษา แล้วอีก ๑ ปัญหานั่นก็คือความยากจน ขอให้ความยากจนในการที่จะขอทุนในการศึกษา จากภาครัฐต่าง ๆ ที่จะได้รับรองทางการกฎหมายนี้ผ่าน ถ้าเราผ่าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้อุปสรรค ในการศึกษาของพวกเขาจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการทำขึ้น ให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในทุกรูปแบบ หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งหมดนี้ที่ดิฉันได้กล่าวมาเพื่อที่จะบอกว่าวันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย พวกเราเอง ที่ร่วมอภิปรายในวันนี้พร้อมที่จะให้ผ่าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ และขอส่งความหวังผ่านสภาแห่งนี้ ไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ คนว่าวันนี้ท่านกำลังจะได้สิทธิที่ท่านพึงมีคืนอย่างมี เกียรติ อย่างมีศักดิ์ศรีและจะไม่มีใครไม่มองเห็นท่านได้อีกต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม