กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันเป็นผู้แทนของคนลำปาง เขตเทศบาลนคร อำเภอเมืองบางส่วน และอำเภอห้างฉัตร เมื่อดิฉันได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ประชาชนในเขตพื้นที่ดิฉันได้รับปัญหา ดิฉันนิ่งนอนใจไม่ได้ค่ะท่านประธาน เมื่อสัปดาห์ก่อนกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยน้ำท่วม ภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น ทิศทางฝนมาจากประเทศเมียนมา เข้าทางจังหวัด อุทัยธานี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จะผ่าน เข้าเขตจังหวัดลำปาง ไปต่อที่จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเกิดน้ำท่วมหนักทั่วภาคเหนือ ที่จังหวัดลำปางมีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ อำเภอเกาะคา อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองปาน อำเภอเมือง อำเภอเสริมงาม จึงเกิดอุทกภัยทั่วภาคเหนือดังเพื่อน สส. ของแต่ละจังหวัดระดมกำลังช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้กำลังใจ รับฟังปัญหา และบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ และในคืนวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้วเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม เมื่อดิฉันทราบว่าเกิดน้ำป่า ไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านจำ ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ดิฉันพร้อมด้วย ทีมผู้ช่วย ทีมปฏิบัติงานลงพื้นที่ประสบภัยทันที และเหตุการณ์นี้ดิฉันได้ร่วมลงพื้นที่ กับนายอำเภอนเรศวร์ฤทธิ์ อุบลศรี นายอำเภอห้างฉัตร นายกย้าย ฮาวคำฟู นายกเทศบาล ตำบลปงยางคก
จากการลงพื้นที่พบว่ามีมวลน้ำป่าไหล หลากพัดเอาเศษกิ่งไม้ เศษขยะและวัชพืชมากมายลอยมากับน้ำที่ไหลเชี่ยว และหนาแน่น จึงเป็นเหตุให้น้ำทะลักล้นเข้าท่วมบ้านเรือนละแวกใกล้เคียงกับคลองระบายน้ำ โดยเฉพาะ ในวัดหน้าวัด ตลาดบ้านจำ และด้านหลังวัด ด้วยเหตุที่หมู่บ้านจำเกิดน้ำท่วมแบบนี้ทุก ๆ ปี ดิฉันลงพื้นที่อุทกภัยที่นี่ทุกปีตั้งแต่ดิฉันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย สส. นะคะ ดิฉันจึงถือโอกาสนี้ นัดหารือกับท่านนายอำเภอท่านนายกเทศมนตรีตำบลปงยางคก เพื่อหารือแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ อย่างถาวร เพื่อดูแลและแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้มาอย่างยาวนาน จากการปรึกษาหารือร่วมกับนายนเรศวร์ฤทธิ์ อุบลศรี นายอำเภอห้างฉัตร และนายกย้าย ฮาวคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลปงยางคก เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมบ้านจำ ซึ่งท่วมติดต่อกัน ซ้ำซากมาเป็นเวลา ๒๔ ปี ในฝั่งของตำบลปงยางคกนั้นมีการขุดลอกท่อก้างปลาในทุก ๆ ปี ทำให้ปีนี้มีน้ำที่ท่วมน้อยกว่าเดิม แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำที่ไหลลากผ่านจากเทือกเขาขุนตาล ไหลผ่านอำเภอห้างฉัตร แม่ตาล และมาถึงตำบลปงยางคก น้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขานี้ มีไม่น้อยกว่า ๒๐-๓๐ เมตร พอถึงหมู่บ้านจำแล้วจะเหลือทางเข้าของน้ำแค่ ๑๐-๑๒ เมตร แล้วท่วมต่อไปที่บ้านม้า ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ที่อยู่ในเขต ๔ ของลำปางนะคะ เหลือแค่ประมาณ ๓-๔ เมตรเท่านั้นเอง ติดตรงที่ปากขวด ตรงนี้มันเป็นจุดปากขวดนะคะท่าน อยู่ที่ตำบลลำปางหลวง วางท่อแค่ ๑.๕๐ เมตร มีดินทรายทับถมมาติดอยู่ตรงบริเวณนี้ทำให้ น้ำไหลไม่สะดวก แล้วก็เอ่อล้นกลับไปท่วมที่ตำบลปงยางคก ในส่วนนี้ตำบลปงยางคกได้มีการทำความสะอาดขุดลอกท่อทุกปี ทำให้น้ำไหลสะดวกขึ้น แต่คอขวด ณ จุดที่อยู่บ้านม้านั้นมันไม่สามารถไหลได้ เลยเป็นปัญหาของ ๒ ตำบล ที่จะต้อง หารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหานี้นะคะ น้ำเอ่อล้นที่นี่ทุกปีมา ๒๔ ปีแล้ว ทำให้ประชาชน ในเขตบ้านจำ ตำบลปงยางคก และบ้านม้า ตำบลลำปางหลวง เจอปัญหาในพื้นที่ทุก ๆ ปี เป็นประจำกว่า ๓๐๐ กว่าหลังคาเรือน เมื่อไม่ใช่พื้นที่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาล ตำบลปงยางคกที่ดิฉันดูแลอยู่ จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้ ต้องหารือกับเทศบาล ตำบลลำปางหลวงในการแก้ไขร่วมกัน เบื้องต้นทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้งบประมาณ มาทำพื้นที่ขุดท่อแบบก้างปลาเพื่อบรรเทาปัญหาให้ส่วนหนึ่ง เรื่องนี้ดิฉันหารือร่วมกับ สส. เขต ๔ จังหวัดลำปางเรียบร้อยแล้วเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ และดิฉันขอฝาก ท่านประธานแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขน้ำท่วมซ้ำซากนี้ให้หมดไปอย่างถาวร
อีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเป็นพื้นที่ของเกษตรกรตำบลบ้านค่า ดิฉัน ได้มอบหมายให้กับทีมผู้ช่วยและทีมปฏิบัติงานลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์ อุทกภัย เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ณ บ้านค่า ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เหตุอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากฝายทุ่งปึ๋ง ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จำนวน ๘ หมู่บ้านด้วยกัน เหตุอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากฝายทุ่งปึ๋งมีคันรับน้ำ อบต. ที่ได้ทำไว้ มันเกิดการทลาย มันพังมา ทิศทางน้ำมันก็ไหล ที่ไหลผ่านมันทำให้เกิดปัญหาอย่างนี้ทุก ๆ ปี โดยเฉพาะพี่น้องบ้านค่ากลาง หมู่ที่ ๒ บ้านทุ่งโจ้ หมู่ที่ ๓ แล้วก็บ้านค่าหลวง หมู่ที่ ๔ น้ำทะลักเข้าบ้านเรือนหลายหลัง รวมถึงพื้นที่เกษตร ชาวบ้านต้องการฝายที่มั่นคงในการ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และผันน้ำไม่ให้ไหลเข้าที่นาได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน ที่นี่มีปัญหาพืชผลทางการเกษตรเสียหาย อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อย่างไรดิฉันก็ฝากท่านประธานประสานงานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขและเยียวยาผู้ประสบภัย ขอบคุณมากค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอหารือกับท่านประธานในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องตั๋วเครื่องบินของจังหวัดลำปางราคาสูง ที่ผ่านมาจังหวัดลำปางมีสายการบินที่เปิดให้บริการอยู่ ๒ สายการบิน ก็คือบางกอกแอร์เวย์ และนกแอร์ แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาทางสายการบินนกแอร์ได้ยกเลิกใช้เครื่องบิน Q400 เปลี่ยนไปใช้เครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๘๐๐ แทน ซึ่งเป็นเครื่องบินที่จุผู้โดยสารได้มากกว่า แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สนามบินลำปางไม่สามารถรองรับอากาศยานขนาด ๑๘๐ ที่นั่งได้ ตามมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ทำให้ปัจจุบันนี้ เหลือเพียงสายการบินเดียวก็คือบางกอกแอร์เวย์ที่ยังให้บริการเพียงสายการบินเดียวเท่านั้น โดยราคาเดินทางไปกลับ ประมาณ ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท เสียงสะท้อนจากคนลำปางบอกว่า นี่ขนาดว่าเป็นสายการบิน Low Cost ราคาแพงขนาดนี้คนจนมีสิทธิไหมคะ แนวทางที่จะ ลดราคาค่าโดยสารได้ ก็คือการขยายสนามบินลำปางปัจจุบันได้ดำเนินการขยายกว้างแล้ว จากเดิม ๓๐ เมตร เป็น ๔๕ เมตร แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับอากาศยานขนาดใหญ่ อย่างโบอิง ๗๓๗ ได้ ต้องรอ Phase 2 ให้เสร็จก่อนโดยจะเริ่มสร้างอีก ๒ ปีข้างหน้า จึงอยากจะให้มีการสร้าง Phase 2 เสร็จโดยเร็วที่สุด และฝากท่านประธานสะท้อนไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูเรื่องราคาตั๋วโดยสารด้วยว่าขอให้ค่าโดยสารลดลงในช่วงที่ ระหว่างก่อสร้าง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางด้วยค่ะ
อีกเรื่องที่ดิฉันจะหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาทางข้ามในจังหวัดลำปาง จาก Video ข้างบนเป็น Video เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างหน้าโรงเรียนเทศบาล ๓ มีรถจักรยานยนต์ขับขี่มาแต่มองไม่เห็นเด็กนักเรียนวิ่งข้ามถนน เคราะห์ดีที่เจ้าหน้าที่ มองเห็นก่อนถึงหยุดรถได้ทัน เหตุการณ์นี้ทำให้คนลำปางประสบเหตุมากขึ้น เหตุเพราะว่า ทางม้าลายไม่ชัดเจน จึงอยากให้ท่านประธานประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำทางม้าลายให้กับคนลำปางชัดเจนขึ้น มีป้ายบอกการจราจร มีการบอกว่าระยะทาง ข้างหน้านี้กี่เมตรจะมีทางม้าลายเพื่อที่ให้รถหยุดให้กับคนข้าม เพราะว่ามักจะไม่หยุดกัน และในลำปางมีสถานศึกษามากถึง ๙๒ แห่ง โรงพยาบาล ๔ แห่ง และในตลาดมีชุมชน หลากหลายเยอะแยะ คนก็สัญจรไปมามากหนาแน่นแล้วก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก ขอให้ ท่านประธานประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มทางม้าลาย แล้วก็ทำสีให้ชัดเจน เพิ่มจุดที่ทำให้มีไฟสัญญาณจราจรชัดเจนด้วย ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉัน ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ๘ ท่าน ดังนี้ ๑. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ๒. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ๓. นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ๔. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ๕. นายปิยะ เทศแย้ม ๖. นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ๗. นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ ๘. นายนัฐวุฒิ กาเซ็ม ขอผู้รับรองด้วยค่ะ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอเชิญ เที่ยวงานฤดูหนาวและของดีนครลำปางนะคะ เทศกาลสวมผ้าย้อมครั่ง “คลั่งรัก ครั่งลำปาง”
ดิฉันขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับ ปัญหาสหกรณ์โคนมนครลำปางนะคะ ดิฉันได้มีโอกาสเข้าพบกับนายโยธิน ฮาวปินใจ ประธานกรรมการและทีมบริหารสหกรณ์โคนมนครลำปาง ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ทางสหกรณ์โคนมนครลำปางได้ฝากเรื่องร้องเรียนมายังดิฉันให้ติดตามเรื่อง ดังนี้นะคะ
๑. ติดตามโรงงานแปรรูปผลิตน้ำนมที่เคยดำเนินงานของบประมาณไปแล้ว เมื่อ ๕ ปีก่อน เพื่อสร้างโรงงานรองรับ ๑๘ สหกรณ์โคนมภาคเหนือ เพื่อแก้ปัญหาค่าขนส่ง ไปยังจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีต้นทุนค่าน้ำมันสูง
๒. ผลักดันเรื่องการควบคุมราคาอาหารสัตว์ ทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลือง มันสำปะหลังและข้าวโพดที่เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ แทนการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมการเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่ม
๓. ปัญหาราคาวัวเป็น วัวนม วัวเนื้อ วัวปลดระวางตกต่ำ แต่ราคาเขียงเนื้อ ยังแพงอยู่ ยังมีการนำเข้าเนื้อกล่องหรือว่าเนื้อแช่แข็งจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อราคา เนื้อวัวภายในประเทศ อีกทั้งยังมีการลักลอบนำเนื้อไร้คุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาขาย รวมถึงวัวเป็นมาตามเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งวัวเหล่านี้ทนต่อโรค แต่นำโรคมาติดต่อวัว ภายในประเทศของเรา
๔. ปัญหาโรคผิวหนังของวัวนมและวัวเนื้อระบาด อยากให้ทางสภาช่วยย้ำกับ ปศุสัตว์เรื่องการควบคุมโรคระบาดและจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เนื่องจากว่าวัคซีนที่ได้รับแจกมาไร้คุณภาพค่ะ
๕. ฝากติดตามเงินชดเชยจากปศุสัตว์ที่สัญญาว่าจะมีการชดเชยให้กับ เกษตรกรโคนมในอัตรา ๗๕ สตางค์ต่อกิโลกรัมเป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งเมื่อ ๑ ปีที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งว่าจะมีการช่วยเหลือของเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม ของปี ๒๕๖๕ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวเลยค่ะ
๖. เรื่องส่งเสริมพลังงานทดแทน Solar Cell ปัจจุบันทางสหกรณ์โคนม นครลำปางมีค่าใช้จ่ายในการแช่นมอยู่เดือนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท หากทางภาครัฐมีมาตรการ ในการช่วยเหลือด้านพลังงานทดแทนมาแบกรับต้นทุนในการแช่นมก็จะช่วยทำให้ต้นทุนของ เกษตรกรลดลงค่ะ
๗. อยากให้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีความรู้ในการทำปศุสัตว์โคนม ให้มีแนวคิดแบบนักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีวัวนมหายไปจากระบบ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการเพิ่มสมาชิก แต่หากทำให้เกษตรกรอีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ มีความรู้ความสามารถในการเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่หายไป ก็จะทำให้มี ปริมาณน้ำนมในตลาดกลับมาเท่าเดิมให้ภาครัฐส่งเสริมเหมือนกับประเทศอิสราเอล ที่มีระบบการเลี้ยงดูแบบมีเทคโนโลยี Support ขอบคุณค่ะท่านประธาน
ทิพา ปวีณาเสถียร ๑๕๒ แสดงตนค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพค่ะ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติทุกร่างจากของทุกภาคนะคะ เพราะดิฉันมองเห็นประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษ หรือ PM2.5 ให้เบาบางลงและหมดไป
ถึงเวลาใส่ใจผู้สูงวัยปลอดภัยจากมลพิษ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปีสภาพอากาศของประเทศไทยจะแห้งแล้ง และมีลมกรรโชกแรง ประกอบกับอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน และการเผาในพื้นที่ โล่งในพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม โดยเฉพาะจังหวัดลำปางมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ แอ่งกระทะ มักพบปัญหาการสะสมของฝุ่น PM2.5 มากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศ ปิด ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่าหมอกควันได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพความ เป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและทัศนวิสัยในการ คมนาคม ทั้งทางบกและทางอากาศโดยภาวะวิกฤติจะอยู่ในช่วงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๓๐ เมษายนของทุกปี
สำหรับข้อมูลปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงกว่าระดับมาตรฐาน ๕๐ ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่จังหวัดลำปางตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม จากตารางเปรียบเทียบของ ๒ ปีล่าสุดในปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ พบว่าปี ๒๕๖๕ มีจำนวน วันที่เกินมาตรฐานอยู่ ๒๑ วัน จะสูงสุดอยู่ที่ ๘๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในวันที่ ๑๔ เมษายนของปี ๒๕๖๕ และในปี ๒๕๖๖ จำนวนวันที่เกินมาตรฐานมีอยู่ ๗๙ วันโดยมีวันที่อยู่ ในระดับที่ ๔ คือสีส้ม ๔๐ วัน และระดับที่ ๕ สีแดงอยู่ ๓๙ วัน สูงสุดอยู่ที่ ๑๘๖ ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์และวันที่ ๖ เมษายนปี ๒๕๖๖ ค่ะ การเผาใน จังหวัดลำปางพบว่าในปี ๒๕๖๖ มีการเผามากกว่าปี ๒๕๖๕ ถึง ๓ เท่า ซึ่งจะเป็นการเผาป่า เป็นส่วนใหญ่นะคะ ส่วนในเขตชุมชนและพื้นที่เกษตรจะมีการเผาในตัวอำเภอเมืองลำปาง เยอะที่สุด โดยในพื้นที่ที่มี PM2.5 สูงที่สุดจะเป็นใน Zone ของอำเภอเมือง ซึ่งจะวัดปริมาณ ฝุ่นได้สูงกว่าในพื้นที่อื่น ๆ และจากกราฟที่เห็นตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปลายเดือนเมษายน ตลอดเกือบ ๔ เดือนนี้ คนลำปางต้องทนอยู่กับฝุ่นมลพิษเกือบทุกวัน ภาคเหนือเป็นภูมิภาค ที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ เมื่อก่อนเราพบว่าการเป็น มะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่อัตราการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือนั้นไม่ได้มากไป กว่าภาคอื่น ๆ เลย แต่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดนั้นกลับสูงกว่าภาคอื่น ในปัจจุบัน การสูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก จากรูปจะเห็นได้ว่าภาคที่สูบบุหรี่เยอะที่สุดคือคนภาคใต้ แต่กลับพบว่า Zone ภาคใต้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดน้อยในขณะที่ Zone ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง ที่มีอัตราการสูบบุหรี่น้อยที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ แต่กลับมี ยอดของผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเป็นอันอับหนึ่งของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นว่า มะเร็งปอดเกิดจากฝุ่น PM2.5 ค่ะ ในขณะเดียวกันจังหวัดลำปางมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่ม เปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ดิฉันจึงเล็งเห็นถึงปัญหาผลกระทบของ PM2.5 ที่ส่งผลต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ความเสี่ยง สูงและประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดิฉันจึงขอ เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม ดังนี้ ๑. จัดให้มีห้องปลอดฝุ่นเพื่อรองรับกลุ่ม ผู้เปราะบางอย่างผู้สูงอายุในเขตฝุ่นพิษอันตราย ๒. การออกแบบวางแผนคัดกรองโรค ที่เกิดขึ้นจากภาวะ PM2.5 ในกลุ่มเปราะบางหรือในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้ ประชาชนสามารถที่จะได้รับการวินิจฉัย หากได้รับผลกระทบหรือเป็นโรคได้อย่างทันท่วงที ๓. เพิ่มสิทธิในการเข้าถึงการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรค ที่เป็นผลมาจาก PM2.5 ให้มากขึ้น ในกลุ่มเปราะบางหรือในกลุ่มที่มีอยู่ในเขตฝุ่นพิษอันตราย ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันขอขอบคุณ ทุกท่านที่ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาในทุก ๆ ฉบับ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษทาง อากาศเพื่อสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับประชาชนค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
ท่านประธานคะ โหวตเห็นด้วย ๑๕๒ ค่ะ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉันได้ลงพื้นที่เข้ารับฟังปัญหาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโครายย่อยของตำบลบางแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ดิฉันได้รับ ฟังและรับทราบปัญหาทั้งหมดจากเกษตรกรดังนี้
ปัญหาที่ ๑ ก็คือปัญหารับซื้อวัวเนื้อ ในตลาดตกต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อแม่พันธุ์มาเลี้ยง จากราคาที่ซื้อมา ๓๒,๐๐๐ บาท แต่สามารถ ขายได้แค่ ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาทต่อตัว ทำให้เกษตรกรขาดทุนค่ะ
ปัญหาที่ ๒ ปัญหาที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงใน MOU กับฟาร์มที่ซื้อแม่พันธุ์ มาเลี้ยง ที่ตกลงว่าเมื่อเลี้ยงครบ ๖ เดือนแล้วจะรับซื้อคืนในราคาตัวละ ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถขายคืนได้ เพราะว่าฟาร์มเองก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับราคาเนื้อตกต่ำ ด้วยเช่นกันค่ะ
ปัญหาที่ ๓ ปัญหาการนำเนื้อวัวเถื่อน แล้วก็โคเถื่อนจากต่างประเทศ หรือจากตะเข็บชายแดนเข้ามา ทำให้ราคาตลาดแปรปรวนตกต่ำและยังนำโรคมาสู่วัวเนื้อ ในพื้นที่อีกด้วยค่ะ
ปัญหาที่ ๔ ก็คือปัญหายารักษาโรคและวัคซีนไม่เพียงพอ
ปัญหาที่ ๕ ปัญหาเรื่องของแหล่งเงินทุนและการชำระหนี้ของเกษตรกร ซึ่งจากการที่ขาดทุนหรือไม่สามารถขายวัวได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้เกษตรกรเหล่านี้ไม่มี กำลังในการชำระหนี้คืนให้กับ ธ.ก.ส. ปัญหาทั้งหมดนี้ดิฉันขอฝากท่านประธานช่วย ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางในการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกร เหล่านี้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
ขอบคุณค่ะท่านประธาน เรียนท่าน ประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ จากแนวคิดในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA เป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมนะคะ ซึ่งประกอบไปด้วย ๔ จังหวัดดังนี้ค่ะ จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายซึ่งมีพื้นที่ติดกับชายแดน ทำให้มีจุดเด่นในการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่ ๓ คือจังหวัดลำพูนซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมส่งออกและ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดที่ ๔ จังหวัดลำปางซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงของการขนส่ง ระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ ขับเคลื่อนด้วย ๔ อุตสาหกรรมหลัก ดังนี้ ๑. อุตสาหกรรม สร้างสรรค์ ๒. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ๓. อุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร ๔. อุตสาหกรรม Digital โดยนำแนวคิด BCG Model มาใช้เป็นกรอบการพัฒนา ร่วมกัน ๔ จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย ๓ ส่วนหลัก ดังนี้ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ หมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว สอดรับกับกระแสความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน โดยแต่ละจังหวัดต่างมี Flagship Project ของตัวเอง โดย Flagship Project ของ จังหวัดลำปางคือ BCG Industrial Park และ Logistics Hub นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ศูนย์กลาง Logistics โดยมีกิจกรรม ดังนี้
๑. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จังหวัดลำปางตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลาง ภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ติดกับ ๗ จังหวัดของภาคเหนือ ซึ่งสามารถ เชื่อมโยงเส้นทางไปยังจังหวัดและภูมิภาคอื่น ๆ ได้โดยรอบ โดยมี ๔ ศักยภาพในพื้นที่ของ อำเภอแม่เมาะ ด้านแรกศักยภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ๕,๔๐๕ เมกะวัตต์ ด้านที่ ๒ พื้นที่อำเภอแม่เมาะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง ทางบก พื้นที่นี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางเดี่ยวสายเด่นชัย-เชียงใหม่ และ รถไฟรางคู่สายเด่นชัยไปถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นโอกาสในการขนส่งลำเลียงเชื้อเพลิงมาผลิต ไฟฟ้าในพื้นที่ ตลอดจนส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปยังต่างประเทศได้ ด้านที่ ๓ ชุมชน มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ด้านสุดท้ายความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานมีทั้งถนน สายส่งไฟ พื้นที่แหล่งน้ำ และสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยใช้พื้นที่ กฟผ. แม่เมาะที่ได้รับ อนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ประมาณ ๙๕,๐๐๐ ไร่ และพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการใช้ ประโยชน์ในอนาคตอีก ๕,๗๙๐ ไร่
๒. พัฒนาพลังงานสะอาดในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ ได้เตรียมแผนพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อเพิ่มทางเลือก และตอบสนองการใช้ไฟฟ้า สีเขียวของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็น ๐ โดยมีแนวทางที่จะพัฒนาโครงการ Solar Farm ขนาด ๖๐๐ เมกะวัตต์ และโครงการ Biomass ๖๐๐ เมกะวัตต์ และยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกักเก็บ คาร์บอนไดออกไซด์ หากพัฒนาสำเร็จแล้วจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนค่ะ
๓. พัฒนาย่านกองเก็บตู้สินค้า Container Yard เป็นที่เชื่อมต่อการขนส่ง สินค้าทางรถไฟ รองรับการขนส่งต่อเนื่องด้วยการใช้ระบบตู้ Container รถไฟเป็นหลัก ในการขนส่งสินค้าระยะไกล เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการในการลงทุนและการบริหาร จัดการขนส่งต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ
๔. พัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวและ Logistics ลำปาง
๕. พัฒนารถไฟฟ้ารางเชื่อมระหว่างอำเภอแม่เมาะและอำเภองาว การคมนาคม ขนส่งทางราง ทางรถไฟรางคู่ สายเด่นชัย-เชียงใหม่ และทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย- เชียงรายและเชียงของ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอำเภอแม่เมาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างทางรถไฟสายเหนือและโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ดังกล่าว โดยมี ศักยภาพสามารถพัฒนาให้เป็น Container Yard และ Dry Port ได้ ดิฉันจึงขอสนับสนุน ญัตติของเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล สส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ และทุกความคิดเห็นของเพื่อน ๆ สมาชิกในที่นี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการศึกษา ซึ่งดิฉันมีความคิดเห็นว่า การพัฒนา NEC ด้วย Model BCG จะช่วยสร้าง มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ทิพา ปวีณาเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๑ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันมาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องคนลำปาง ดิฉันลงพื้นที่ ได้รับเรื่องร้องเรียนมาหลายกรณี แต่มันเรื่องเยอะมาก วันนี้ดิฉันขอยกตัวอย่างมา ๓ กรณี นะคะ
ดิฉันอยากผลักดันการแก้ปัญหาข้อจำกัด พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่ส่งผลให้การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้า อยากให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวย ความสะดวกแก่ประชาชน สืบเนื่องมาจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล แห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือยื่นไปยังคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครอง ส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ และคณะกรรมาธิการการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการดำเนินการแล้ว อีกทั้ง ยังได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กฤษฎีกาตีความกรณีโครงการบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึง ในพื้นที่ป่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตดำเนินการเพราะเป็นการทำ สาธารณูปโภค แต่การทำถนนในพื้นที่ป่ากลับต้องขออนุญาต ทำให้เกิดกรณีพิพาทและเกิด ความล่าช้าในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดิฉันยกตัวอย่างกรณีพิพาท เกิดจากการดำเนินโครงการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายบ้านนายโต้ง บ้านทุ่งเกวียน หมู่ที่ ๖ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นเหตุให้ทางเทศบาลตำบลเวียงตาล ถูกกรมป่าไม้ฟ้องร้องและดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า พุทธศักราช ๒๔๘๔ จากการ ปรับปรุงพื้นที่ทำโครงการทำถนนสาธารณะ ทั้งที่เป็นพื้นที่นอกเขตป่าสงวน เป็นที่ดินที่มี เอกสารสิทธิ เป็นโฉนดที่ชาวบ้านอุทิศให้ แต่กลับถูกตีความว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เบื้องต้นรับทราบข้อมูลว่าช่วงดำเนินการก่อสร้างถนนนั้นได้ทำการ ขออนุญาตกรมป่าไม้และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อำเภอ และทางจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ทางป่าไม้แจ้งว่าอยู่นอกพื้นที่ป่า ที่ดินดังกล่าว ๒ ข้างทางมีโฉนดที่ระบุว่าเป็นทางเข้าบ้าน และเป็นพื้นที่สาธารณะ
กรณีที่ ๒ เรื่องของการขอเอกสารสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย จังหวัดลำปาง หรือป่าแม่เมาะแปลง ๒ พื้นที่ ๒๕,๕๘๐ ไร่ ออกจากป่าไม้ถาวร คณะรัฐมนตรีได้ลงมติว่าได้จำแนกที่ดินพื้นที่ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้ายหรือป่าแม่เมาะแปลง ๒ ในพื้นที่ จังหวัดลำปางออกจากป่าไม้ถาวรให้เป็นพื้นที่ทำกินของราษฎร ในพื้นที่บางส่วนของ ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลต้นธงชัยบางส่วน ตำบลบ่อแฮ้วบางส่วน ตำบลบ้านเป้าบางส่วน และตำบล บ้านเอื้อมบางส่วน ได้ทำการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินสำหรับที่ดินในพื้นที่ ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้ายหรือป่าแม่เมาะแปลง ๒ มาก่อนการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๓ แต่ว่าในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้พวกเขาเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถ ทำนิติกรรมต่าง ๆ ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารก็ไม่ได้ แบ่งแยกให้ลูกหลานก็ไม่ได้ ทำให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำในสิทธิที่ดินทำกินและการดำรงชีวิตของผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ซึ่งเรียกร้องกันมานับ ๓๐ ปีผ่านมาแล้ว กรณีที่ ๓ ปัญหาพื้นที่จัดสรรที่ดินทำกินของ ตำบลนิคมพัฒนาและตำบลบุญนาคพัฒนา เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ปัจจุบัน ได้ยื่นเรื่องไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงความเดือดร้อน อยากให้เจ้าหน้าที่ออกพื้นที่ทำกิน ให้กับประชาชนที่ยากจนเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในที่ดินป่าสงวนของหมู่บ้านนิคมพัฒนา ที่ไม่ได้ทำประโยชน์แล้วนั้นเป็นนิคมสร้างตนเองกิ่วลม หมู่บ้านเวียงทอง หมู่ที่ ๑๓ ตำบล นิคมพัฒนา ให้สามารถทำประโยชน์ในที่ดิน ปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย มีสาธารณูปโภคครบครัน โดยที่ไม่มีค่าเช่า ซึ่งภาครัฐเริ่มเก็บค่าเช่ากับพวกเขาในปี ๒๕๖๓ หากชาวบ้านไม่มีกำลังจ่าย เจ้าหน้าที่ก็ขอให้ออกจากที่อยู่อาศัย ซึ่งพวกเขาได้อยู่อาศัยที่นี่มานานนับ ๑๕ ปีค่ะ และขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวน ส่งผลต่อปัญหาโฉนดที่ดินในการ ทำธุรกรรมการเงิน ทางตัวแทนชุมชนได้ร้องเรียนว่าในอดีตนั้นสามารถนำโฉนดที่ดินที่ได้รับ การจัดสรรเมื่อครั้งสละที่อยู่อาศัยบ้านของพวกเขาเพื่อให้ภาครัฐไปสร้างเขื่อนกิ่วลม ก่อนหน้านี้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารได้ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ นำโฉนดที่ดินฉบับเดิมไปขอกู้ธนาคารแต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากธนาคารแจ้งว่าต้องไปขอ หนังสือรับรองที่ดินจากกรมป่าไม้เพื่อยืนยันว่าโฉนดที่ดินนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า เพราะธนาคาร แจ้งว่าตาม DSI MAP ทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทรายคำใต้ จึงไม่สามารถ อนุมัติสินเชื่อได้ จากข้อเรียกร้องและการร้องเรียนที่ดิฉันได้รับมา ๓ เรื่องนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาเกิดจากขั้นตอนการดำเนินงานการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของที่ดินป่าสงวนและการใช้ พื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งมีขั้นตอนระหว่าง ๒ หน่วยงาน ที่ต้องประสานงานกัน ส่งเรื่องต่อกันไปมาแต่ละหน่วยงานทำให้ใช้ระยะเวลานานกว่าเรื่องจะ ไปถึงขั้นตอนของการอนุมัติของอธิบดี ทำให้เกิดความล่าช้า ประชาชนได้รับผลกระทบต่อ การดำรงชีวิต ดิฉันจึงเห็นควรและสนับสนุนทุกญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดพื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อลดขั้นตอน การอนุมัติของอธิบดีตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๗ ขอบพระคุณมากค่ะ