นางสาวชุติมา คชพันธ์

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ภูมิลำเนาพัทลุงค่ะ สำหรับหนังสือเล่มนี้ดิฉันได้อ่านแล้วจาก ๔๗ หน้าที่อ่านไปทั้งหมด ดิฉันมีความห่วงใยอยู่บางประเด็นนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ดิฉันมีความห่วงใยในประเด็นของหนี้สูญที่เกิดขึ้น หากเป็น บริษัทเอกชนนะคะ บริษัทเอกชนที่มีหนี้ขนาดนี้และมีต่อเนื่องมาทุกปีอยู่ในอาการ น่าเป็นห่วงนะคะ ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากตัวอย่างจะเห็นว่า ในปี ๒๕๖๓ จะมีหนี้สูญ ๓๗ ล้านบาท และหนี้สงสัยว่าจะสูญนี่คือศัพท์ทางบัญชีนะคะ ๔๕๐ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๔ หนี้สูญ ๘๐ ล้านบาท และสงสัยจะสูญ ๒๘๑ ล้านบาท และดิฉันได้สืบค้นข้อมูลลึกลงไปมากกว่านั้นอีกในปีก่อนหน้านั้นยังมีแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ นั่นแปลว่าหนี้สูญไม่ได้เพิ่งเกิดแต่เกิดมาตลอดค่ะ แปลว่าอะไรคะ ดิฉันก็เกิดคำถาม ก็เลยไปหาข้อมูลต่ออีกพบว่าหนี้สูญคือหนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บจากนายจ้างได้ คำถามคือ ในเมื่อรู้ว่าเรียกเก็บไม่ได้แล้วทำไมถึงปล่อยเป็นแบบนี้ตลอดมาหลายปี อย่างที่ดิฉันกล่าวไป ข้างต้นว่าถ้าเป็นบริษัทเอกชน เป็นธุรกิจ SME แล้วมีหนี้สูญแบบนี้ฝ่ายบัญชีคงไม่ยอมเป็นแน่ ทีนี้คำว่าหนี้สูญในที่นี้ส่วนหนึ่งมาจากเก็บเช็คไม่ได้ใช่ไหมคะ มีเช็คแล้วเก็บเงินไม่ได้ เช็คเด้ง นั่นเองนะคะ ซึ่งถ้าเป็นกรณีแบบนี้จะทำให้มีปัญหาตามมา หรือแม้กระทั่งนายจ้างจ่ายเงินช้า ผู้ประกันตนก็จะมีปัญหาก็คือไม่สามารถใช้สิทธิได้ หรือเกิดความล่าช้าตามมา ซึ่งผู้ประกันตน ก็คือประชาชนทั่วไปนั่นละค่ะ ก็จะเสียประโยชน์ในจุดนี้นะคะ ดิฉันเลยเสนอทางแก้ปัญหานะคะ แต่ก็อยากจะทราบเช่นเดียวกันว่าทางประกันสังคม มีแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างไรบ้าง ในส่วนนี้ดิฉันอยากจะเรียกร้องให้ทางประกันสังคมทำงาน ในเชิงรุกมากขึ้นค่ะ อยากให้มีการหารือร่วมกันกับกระทรวงอื่น ๆ หน่วยงานอื่น ๆ นะคะ แล้วก็ไปตรวจสอบ คำว่า ตรวจสอบ ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าไปจับผิดหรืออะไรนะคะ แต่หมายถึงว่า ให้ไปตรวจสอบว่าในองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นนายจ้างที่เขาจ่ายเราไม่ได้ เขาประสบปัญหาอะไร หรือไม่ เขามีปัญหาเรื่องการตลาด เรื่องการขายหรืออะไร อย่างเช่นที่ผ่านมามีปัญหาเรื่อง โควิด-๑๙ หรือเรื่องอะไรทำให้เขาจ่ายไม่ได้แล้วไปช่วยเหลือเขานะคะ ให้นึกถึงตอนที่เวลา เขาขึ้นทะเบียนนายจ้างแล้วท่านต้องให้เขายืนยันตัวตน ต้องไปตรวจสอบถึงที่ ต้องให้เขา เขียนแผนที่ ต้องให้ยืนยัน เพราะฉะนั้นเวลาเขามีปัญหาดิฉันอยากเรียกร้องให้ไปช่วยเหลือ แล้วก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้วย เขาจะได้มีเงินกลับมาจ่ายให้กับท่านได้ในส่วนของ นายจ้างนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปที่ดิฉันเป็นห่วง Slide ถัดไปเลยค่ะ คือเรื่องของกองทุนชราภาพ อย่างที่บอกด้วยหลักการนะคะ หลายท่านรู้ดีว่าหลักการของกองทุนประกันสังคม เป็นกองทุนที่เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกับประชาชน เราดูแลตั้งแต่ตอนที่คลอดลูกใช่ไหมคะ เรามีเงินชดเชยให้ เรามีอะไรให้จนถึงชรา แต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาคือโครงสร้าง ของประชากรเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวนะคะ ทำให้มีจำนวนแรงงานลดลง ในขณะเดียวกันผู้รับบำนาญมีจำนวนเพิ่มขึ้น เร็ว ๆ นี้ท่านอาจจะเคยได้ยินว่าประเทศฝรั่งเศส เจอปัญหาก็คือปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทยเลย และมีการประท้วงเกิดขึ้น ดิฉันอยากจะ ทราบว่าทางประกันสังคมได้มีการวางแผนอย่างไรบ้างเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เงินของ พี่น้องประชาชนที่เขาฝากไว้กับท่านสูญหายไปในอนาคต ทำอย่างไรให้เขาได้มั่นใจว่าเงิน ที่ฝากไว้ เมื่อเขาเกษียณแล้วเขามีใช้แน่นอนนะคะ วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นดิฉันมองว่าอยากให้ ทางประกันสังคมได้มีการวางแผนการทำงานอย่าง Active มากขึ้น เหมือนบริษัทเอกชน มีการวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว คือให้ทำงานรวดเร็วมากขึ้น มีปัญหาก็รีบแก้ไขทันที และทำงานเชิงรุก อย่าให้มีปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้ เรารู้อยู่แล้วว่าโครงสร้างประเทศไทย เป็นอย่างไร และหากส่วนไหนที่ติดขัดปัญหาขอให้รีบแก้ไขโดยทันทีนะคะ ทันทีทันใด

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ในส่วนของวิธีคิดนะคะ ดิฉันอยากจะเรียกร้องให้ทางประกันสังคมมีวิธีคิด ในเชิงของเศรษฐศาสตร์มากขึ้น และที่ผ่านมาดิฉันทราบค่ะว่าท่านได้ไปลงในกองทุนต่าง ๆ หลายกองทุนเลย แต่ก็มีข่าวในช่วงที่ผ่านมานะคะ เป็นข่าวที่โด่งดัง หลาย ๆ คน ก็คงจะทราบมาว่าบางกองทุนที่ท่านไปลง หรือท่านไปลงหุ้นไว้มีโครงการดังอยู่ที่หนึ่ง ๕๐๐ กว่าล้านบาทใช่ไหมคะ ก็ประสบปัญหานะคะ ทีนี้กองทุนต่าง ๆ ที่ลงไปนั้น ดิฉันไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้มีการตรวจสอบ มีการ Update มีการได้ประเมินผลกันเรื่อย ๆ มากน้อยเพียงใด ดิฉันดูตัวเลขเงินปันผลใช่ค่ะ ดิฉันทราบว่าท่านได้เงินปันผลตรงนั้นเยอะ แต่อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นความเสี่ยงมันย่อมเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นได้ เรื่อย ๆ ในแต่ละปี ๆ ท่านมีการตรวจสอบและประเมินผลมากน้อยเพียงใดที่จะไม่ให้เงิน ของประชาชนสูญหายไปนะคะ ทั้งนี้การแก้ปัญหาทั้งหมดขอให้แก้ปัญหาบนพื้นฐานที่ไม่ผลัก ภาระให้กับผู้ประกันตน ดิฉันอยากจะขอฝากตรงนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นสุดท้าย ขอ Slide ถัดไปด้วยค่ะ อันนี้เป็นข้อร้องเรียนจาก ประชาชนที่ดิฉันได้รับมาและประสบจากคนรอบตัวนะคะ เพื่อน ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในที่นี้น่าจะเคยเห็นเวลาเราไปที่โรงพยาบาลในเขตของเรา เราก็จะพบพี่น้องประชาชน ของเราที่ต้องไปกันตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ ไปรอคิว แต่ได้พบหมออีกทีหนึ่งก็คือไปเจอหมอตอนเที่ยง ถูกไหมคะ ส่วนหนึ่งเพราะอะไร เพราะว่าจำนวนโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการนี้มีน้อยเกินไป บางครั้งเขาอยากจะไปที่อื่น แต่ที่อื่นไม่มีอยู่ในโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม ถ้าเราไปดู รายชื่อในแต่ละจังหวัด บางจังหวัดมีแค่โรงพยาบาลหลักที่เดียวเองเท่านั้นแต่ที่อื่นไม่มี ทำให้ ไม่สามารถที่จะใช้บริการได้ เมื่อเราเจอความแออัด ความหนาแน่นก็จะกระจุกกันอยู่แบบนั้น เพราะฉะนั้นอยากให้เพิ่มมากขึ้น ดิฉันเคยเจอประชาชนที่เพิ่งผ่าตัดใหญ่มานะคะ แต่ด้วยความที่ว่างบประมาณไม่เพียงพอก็ต้องรีบออกจากโรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่มีไข้อยู่ แน่นอนค่ะ คือไข้มันอาจจะกลับมาได้ใช่ไหมคะในร่างกายของแต่ละคน แต่แน่นอน พอคนกระจุกันมาก ๆ แบบนั้นมันกลายเป็นว่าเขาก็มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะอะไรคะ เพราะว่าห้องนี่ต้องรีบออกเพื่อให้คนอื่นได้ใช้สิทธิต่อ ภาวะแบบนี้ดิฉันไม่อยากเห็นอีกแล้ว และไม่อยากให้เจอแบบนี้ ถ้าเราสามารถกระจายไปได้หลาย ๆ ที่คงไม่มีใครต้องมาเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้ และบางคนเวลาที่ไปติดตามตรวจอาการซ้ำ ปรากฏว่ารอบข้างนี่ค่ะ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ผู้ป่วยเต็มเลยค่ะ บางคนเป็นแค่โรคเดียว แค่ไป Follow up เฉย ๆ แต่ปรากฏว่าติดโรคได้ แถมกลับบ้านด้วยเพราะความแออัดนะคะ อันนี้ดิฉันมองว่าเรื่องสาธารณสุขมันมีตัวแปร หลายเรื่อง แต่เรื่องนี้มีผลแน่นอนเรื่องหนึ่งเพราะฉะนั้นอยากจะฝากด้วยให้ท่านเพิ่ม โรงพยาบาล บางคนอาจจะบอกว่า ท่านอาจจะบอกว่าเรามีคลินิกเครือข่ายเยอะแล้ว แต่คนที่ไปในคลินิกเครือข่ายคือคนที่อาการเป็นไม่เยอะใช่ไหมคะ แต่คนที่เป็นเยอะ เขาก็ไปโรงพยาบาลอยู่ดี เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลควรจะต้องกระจายมากขึ้น ท่านต้องหา วิธีการจูงใจโรงพยาบาลทำอย่างไรให้เขามาทำสัญญากับเรามากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมานะคะ เรื่องการเข้าถึงความช่วยเหลือได้ง่ายในยามวิกฤต ในช่วงโควิด-๑๙ ที่ผ่านมาดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สำหรับคนที่ถูกเลิกจ้าง อันนั้นไม่มีปัญหาเพราะเขาได้รับเงินเวลาที่เขาโดนเลิกจ้าง แต่คนที่ประสบปัญหาคือ คนอีกส่วนหนึ่งที่บริษัทเขาไม่ได้หยุด แค่สั่งให้หยุดชั่วคราว เขาไม่ได้ถูกไล่ออก เขาไม่ได้ ลาออก แต่เขาถูกลดเงินเดือนค่ะ ลดเงินเดือนไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือลดเงินเดือนไป ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ประชาชนกลุ่มนี้คือประชาชนที่ตายก่อนตายค่ะในเวลานั้น ในเวลาที่เกิด วิกฤตขณะนั้นกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ เมื่อประชาชนไปถามก็ได้รับคำตอบว่ามีข้อติดขัดทางกฎหมายทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญหาที่กฎหมายก็แก้กฎหมายค่ะ ประชาชนต้องมาก่อนนะคะ เพราะฉะนั้นทั้งหมด ทั้งมวลที่ดิฉันกล่าวมา ดิฉันอยากจะให้มีการปรับปรุงในเรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และโดยเฉพาะหนี้ทั้งหลาย แล้วก็ตัวเลขต่าง ๆ ที่มีปัญหาอยู่ อยากให้ท่านทบทวนกันใหม่ และดิฉันคาดหวังอย่างยิ่งว่าในปีถัด ๆ ไปจะไม่เจอปัญหาหนี้สูญเยอะแบบนี้อีก ด้วยการที่ เห็นพวกท่านเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้น อย่าลืมว่าเม็ดเงินที่เรามีอยู่ในกองทุน ประกันสังคมซึ่งเป็นกองทุนพิเศษ เป็นเงินที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐ และเป็นเงินที่มาจาก ประชาชนคือมาจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ประชาชนคือเจ้าของเงินนะคะ เพราะฉะนั้น ขอให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคใต้ค่ะ เมื่อสักครู่ดิฉันยังคงคาใจ อยู่นะคะ ยังมีอีก ๑ คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบค่ะ ก็คือคำถามที่ดิฉันถามว่าในกรณีที่ ผู้ประกันตนโดนลดเงินเดือนในภาวะวิกฤตินะคะ คือยังไม่ว่างงานแต่ว่าโดนลดเงินเดือน ในกรณีแบบนั้นเขาไม่สามารถเรียกเงินเยียวยาได้ ทีนี้พอไปถามทางประกันสังคมก็ได้รับ คำตอบมาว่าติดเรื่องข้อกฎหมาย ทีนี้ในที่นี้ค่ะคำถามดิฉันนะคะ ขอถามอีกครั้งก็คือว่า ถ้าติดเรื่องข้อกฎหมายติดข้อกฎหมายข้อใด เป็นที่กฎกระทรวงหรือว่า พ.ร.บ. หรือว่าสิ่งใด แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นในอนาคตถ้ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ก็จะเกิดปัญหาเดิม ๆ และคำถามที่จะตอบประชาชนก็จะบอกว่าติดเรื่องข้อกฎหมายอีก เช่นเดิม ปัญหาเดิมก็ไม่ได้ถูกแก้ไขไปนะคะ เพราะฉะนั้นดิฉันยังอยากทราบคำตอบนี้อยู่ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคใต้ ภูมิลำเนาพัทลุง ท่านประธานคะ สำหรับ พ.ร.ก. ฉบับนี้โดยหลักการดิฉันเห็นด้วยและมองว่ามีความจำเป็น อย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังรู้สึกว่ามีอีกหลายประเด็นที่ยังหละหลวม และดิฉันก็ยังมี ข้อกังวลใจหลายประการสำหรับ พ.ร.ก. ฉบับนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรกเลย พ.ร.ก. ฉบับนี้ช้ามาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ความเสียหายทะลุไป ๓๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทแล้ว ตั้งแต่มีนาคม ปี ๒๕๖๕ จนถึงมีนาคม ปี ๒๕๖๖ แต่ พ.ร.ก. นี้เพิ่งคลอด แต่ก็ดีค่ะ ดีกว่าไม่มีเลยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา หลาย ๆ ข้อยังรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไปเลย ยกตัวอย่าง เช่น ค่าปรับ ดิฉันมองว่าค่าปรับน้อยเกินไปค่ะ ท่านลองคิดดูแค่ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๓๐๐,๐๐๐ บาท มิจฉาชีพเขาจะกลัวหรือคะ แค่เขาดูดเงินไปวันหนึ่ง ๆ เขาได้เป็นล้านแล้ว และไม่ได้มีโทษทางอาญาหรือไม่ได้มีสิ่งใดที่ทำให้เขากลัวได้เลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ ดิฉันอยากจะให้กลับไปปรับปรุงถ้าเป็นไปได้ ถ้ามีการแก้ไขในอนาคตนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปเลยค่ะ Slide เลยค่ะ สำหรับประเด็นที่ดิฉันกังวลคือในเชิงหลักการดิฉันเข้าใจว่าหลักการดี แต่ในทางปฏิบัติ อันนี้กังวลอย่างยิ่ง Slide ถัดไปเลยค่ะ ในทางปฏิบัติมีหลักการ มีวิธีการ ขั้นตอนในการร้องทุกข์ ต่าง ๆ นานามากมาย แต่ในความเป็นจริงในภาคปฏิบัติสิ่งที่เกิดขึ้นมันต่างกัน ดิฉันเป็นผู้หนึ่ง ที่ลงพื้นที่จริง เราจะรู้ว่าอะไรเกิดปัญหาเราต้องลงมือทำเอง เราต้องไปเอง ดิฉันเป็นผู้ที่พา ผู้เสียหายไปแจ้งความไปถึงที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนดิฉันก็ไปด้วยกันเลยค่ะ เพื่อไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น และถ้าประชาชนต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วก็เจอจริง ๆ คือพอไปที่ สน. ก็พบว่าตำรวจเองก็ยังงง ๆ ว่าจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหา อย่างไร ดิฉันไม่ได้ตำหนิตำรวจ ดิฉันไม่ได้ตำหนิผู้ปฏิบัติงาน แต่ดิฉันกำลังชี้เป้า ไปถึงกระบวนการ ไปถึงการฝึก ไปถึงกระบวนการบริหารจัดการทั้งหลาย รวมถึง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนตั้งแต่ ๑ ๒ ๓ ๔ ทุกสิ่งทุกอย่าง การตรวจสอบก็ตาม ดิฉันไม่ทราบว่า ทางสำนักงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการฝึกกันอย่างเข้มงวดมากน้อยเพียงใด ในทุก สน. เพราะว่าไปอีก สน. หนึ่งก็บอกอีกแบบ ไปอีก สน. หนึ่งก็บอกอีกแบบ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า พอเราไปถึง สน. ก็ไม่รู้จะเขียนสำนวนอย่างไร แล้วมีการบอกเราว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตำรวจท้องที่ให้ไปที่ สอท. เลย แน่นอนค่ะ ประชาชนเองพอตำรวจ แนะนำแบบนั้นก็ไปที่ สอท. ก็ไปที่ สอท. ก็คือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั่นเอง ดิฉันก็ไปด้วยค่ะ ไปด้วยกันเลย ปรากฏว่าพอไปถึง ก็เจอประชาชนเพิ่มเติมอีกนั่งกันอยู่เต็มเลย ได้เวลาดิฉันก็สัมภาษณ์เลยว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าบางคนมานั่งรอว่าเงินที่โดนอายัดไปแล้วนี่จะได้คืนเมื่อไร เพราะสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าโดนหลอกจริง ๆ ต้องการเงินคืน เงินนี้เป็นเงินทั้งหมดในชีวิตที่เก็บสะสมมา เจอคุณป้าอายุ ๖๐ ปีท่านหนึ่ง หมดแล้วชีวิตนี้ไม่เหลือแล้วนะคะ นี่คือตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ดิฉันมองว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะแก้ปัญหานั้นได้จริงหรือไม่ นี่คือข้อกังวลประการแรกนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไป Slide ถัดไปเลยค่ะ ในเรื่องของช่องทางการแจ้งความร้องทุกข์ ต่าง ๆ ดิฉันขอสอบถามเพื่อนสมาชิกที่นั่งอยู่ในนี้หรือประชาชนทางบ้านก็ตาม พี่น้องประชาชน ที่รักทุกท่าน ถามว่าหน้าจอนี้ท่านเคยเห็นหรือไม่ หรือจะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามีช่องทางนี้ ที่เราสามารถแจ้งความ Online ได้ พี่น้องทุกท่าน หรือว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่าน เวลาที่มี ประชาชนมาถามเราเราสามารถแนะนำได้ไหมคะว่าถ้าเจอ Case แบบนี้ให้เราไปแจ้งความ Online ๑ ๒ ๓ ๔ ทำอย่างไรบ้าง มีกี่คนที่สามารถตอบได้ แปลว่าอะไรคะ แปลว่า การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง ยังไม่เข้าถึงผู้คนที่เดือดร้อนจริง ๆ แล้วการเข้าถึงแต่ละ ช่องทางก็ยังไม่สะดวกค่ะ นึกไปถึงผู้สูงวัย นึกไปถึงประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าถ้าเจอเรื่องแบบนี้ต้อง แจ้งความที่ไหน ต้องทำอย่างไร ต้องร้องทุกข์อย่างไร แล้วยิ่งกว่านั้น พ.ร.ก. ฉบับนี้บอกว่า ต่อไปนี้เราไม่ต้องไปแจ้งความแล้วนะ มีเรื่องนี้ปุ๊บแจ้งธนาคารให้อายัดได้เลย ดิฉันขอถามว่า มีกี่คนที่ทราบคะว่าทำแบบนี้ได้ แม้กระทั่งมิจฉาชีพเองเอาง่าย ๆ เลยทุกวันนี้มิจฉาชีพเอง ก็ยังคงทำกันอยู่เป็นปกติ มิจฉาชีพเองอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี พ.ร.ก. ฉบับนี้เกิดขึ้น หรือไม่รู้ด้วย ซ้ำว่ามันมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น ก็ยังคงทำงานกันอย่างสบายใจ เพราะฉะนั้นเรื่อง ประชาสัมพันธ์ยังอ่อนอยู่นะคะ ดิฉันอยากจะให้ประชาสัมพันธ์ทั่วถึงมากกว่านี้นะคะ แล้วก็โดยเฉพาะเรื่องของการ Tracking อันนี้สำคัญมาก ๆ ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ ดิฉันไปเจอประชาชนที่มาตามเรื่องว่าเงินในบัญชีของตัวเองที่อยู่ในบัญชีนั้นเมื่อไรจะได้คืน แล้วที่สอบถามคือมาหลายรอบแล้วด้วย เขาต้องมาอีกกี่รอบถึงจะจบ ทำไมไม่ให้เขาสามารถ Check ได้มันจะดีกว่าไหมคะถ้าทุกคนสามารถ Check ได้ว่าตอนนี้เรื่องของเราไปถึง ขั้นตอนไหนแล้วโดยที่ไม่ต้องไปถึงที่ ไม่ต้องไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาตินะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประการหนึ่ง ช่องทางการแจ้งความที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโชว์อยู่ แบบนี้เป็น One Stop Service หรือไม่ ประชาชนยังจะต้องไปที่หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ หรือไม่ วันก่อนดิฉันต้องพาผู้เสียหายไปสุทธิสารแล้วไปแจ้งวัฒนะ ไปโน่นไปนี่กว่าจะจบ สุดท้ายดิฉันไปถึง DE เลยด้วยซ้ำ เพราะมันไม่จบ คำถามคือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็ตามหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ก็ตามเป็น One Stop Service หรือยัง แล้วประชาชนเองจะต้องเจอปัญหานี้ไปอีกนานเท่าไร Slide ถัดไปเลยค่ะ จากสถิติ นี่แค่เดือนมีนาคมปีนี้เองนะคะ จนถึง ๕ พฤษภาคมนี้ปรากฏว่ามีอยู่ ๓๐,๐๐๐ เรื่อง นี่คือเราประกาศใช้แล้วนะคะ แล้วก็มีมูลค่าความเสียหายอย่างที่เห็นเลยค่ะ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ประกาศใช้แล้วยังคงมีเรื่องแบบนี้อยู่ และเฉลี่ยแต่ละวัน ๔๐๐ เรื่องต่อวัน คำถามของดิฉัน ก็คือว่าประสิทธิภาพในการแก้ปัญหามีมากน้อยเพียงใด การตอบสนองต่อประชาชน เป็นอย่างไร ต้องการให้รวดเร็วมากขึ้น และที่สำคัญเลยค่ะ Workload ตอนนี้ตำรวจ ที่มีอยู่ เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอนะคะ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ค่ะอาจจะมีการ Rotate มีการหมุนเวียนเพื่อให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ ดิฉันไปเจอที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่ที่ สอท. เอกสารกองเป็นปึกหลายร้อย Case เลย เป็นไปได้ไหมคะที่จะหมุนเวียนบุคลากรเพื่อมาช่วย เรื่องนี้มากขึ้น ไม่อย่างนั้น Case ไม่จบนะคะ ดิฉันดูรายงานฉบับนี้นะคะ ปรากฏว่า จากที่เมื่อสักครู่นี้ ๒๐๐,๐๐๐ กว่า Case ใช่ไหมคะ ปิดไปได้แค่หลักร้อยค่ะ หลักร้อย Case แล้วเมื่อไรจะหมดล่ะคะ แล้วเมื่อสักครู่นี้ที่ท่านรัฐมนตรีเอามาโชว์เองด้วยซ้ำนี่แค่ ๐.๐๓ เปอร์เซ็นต์ที่ปิดไปแล้ว แล้วเมื่อไรปัญหาจะหมดไปนะคะ เพราะฉะนั้นสุดท้ายนี้ ดิฉันอยากจะฝากว่าขอให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง แล้วก็ขอให้ไป ทบทวนนะคะ มีขั้นตอนปฏิบัติงานตรงไหนที่ยังบกพร่องอยู่รีบทบทวนนะคะ เพื่อแก้ไข ปัญหาให้ประชาชนค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตัวแทนภาคใต้ ภูมิลำเนาจังหวัดพัทลุงค่ะ ดิฉันมีความผูกพันกับ ๓ จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างยิ่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาดิฉันได้เดินทางไป ๓ จังหวัดชายแดนใต้อยู่เป็นประจำ ทันทีที่เกิด เหตุการณ์นี้ดิฉันรีบลงไป ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • พี่น้องประชาชนใน ๓ จังหวัด ชายแดนใต้เปรียบเสมือนพี่น้องของดิฉัน ทันทีที่ไปเห็นภาพแบบนั้นนะคะความรู้สึกแรก ที่เห็นเลยคืออึ้ง ไม่มีคำบรรยายจริง ๆ และมีคำถามในหัวตลอดเวลา มีคำถามมากมาย เกิดขึ้นในหัว เราจะอยู่กันแบบนี้จริง ๆ หรือคะ อยากจะถามไปยังทุกท่าน อยากจะถาม ผู้ที่มีอำนาจในประเทศนี้ว่าท่านจะปล่อยให้ลูกหลานเราเติบโตขึ้นมาในประเทศที่เป็นแบบนี้ ไปอีกนานแค่ไหน ตราบใดที่เราไม่แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ถ้ารัฐบาลไม่ทำงาน อย่างตรงไปตรงมา เราไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ปัญหาเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ร่ำไป ดิฉันไม่ต้องการให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาในประเทศที่เป็นแบบนี้นะคะ ดิฉันขอส่ง กำลังใจไปยังอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ในขณะนี้ทุกคนทำงานหนักมาก เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของเรา ดิฉันได้ลงไปในพื้นในพื้นจริงแล้วก็ได้ไปในโรงพยาบาล ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ ก็ขอให้อัลเลาะห์คุ้มครองทุกท่านให้หายป่วยไว ๆ แล้วก็ทุกท่านมีชีวิตที่ดี นับจากนี้นะคะ Slide ถัดไปเลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับเงินเยียวยานะคะ เงินแค่นี้นะคะ ในมุมมองของดิฉัน ดิฉันอยากจะ บอกรัฐบาลว่าไม่ว่าท่านจะมีกฎหมายกี่ฉบับ ท่านจะมี พ.ร.บ. กี่ฉบับเอามาใช้เถอะค่ะ เอามา ใช้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของเรา เพราะเงินแค่นี้ไม่เพียงพอนะคะกับสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ สำหรับชายแดนใต้ สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นดิฉันทราบมาว่ามีกฎหมายอย่างอื่น นอกเหนือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ขอให้นำมาใช้ให้หมด แล้วก็ขอให้มี การจ่ายเงินเยียวยาตามรายหัว ไม่ใช่แค่รายครัวเรือนแบบที่เป็นอยู่ เนื่องจากบางครัวเรือน มีสมาชิกหลายคน แล้วก็ขอให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ดิฉันเห็นผู้ประสบภัยบางคนได้เล่า ให้ฟังว่ายังไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะอยู่อย่างไร ถึงแม้จะมีเงินเยียวยามาให้ก็ตาม หรือแม้จะมี เงินบริจาค หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่บริจาคไปถึงพวกเขาก็ตาม แต่ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร ต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นแค่นี้ไม่เพียงพอนะคะ Slide ถัดไปเลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ นะคะ ดิฉันอยากจะให้รัฐบาลช่วยดูแลในเรื่อง การพักหนี้ชั่วคราว ในเวลาแบบนี้คงไม่มีใครที่จะมีกำลังมาจ่ายหนี้ได้นะคะ แล้วก็เป็นไปได้ ขอให้ปล่อยเงินกู้สำหรับซื้ออุปกรณ์ในการค้าขาย หรือประกอบอาชีพในการทำมาหากิน หลังจากนี้นะคะ หลาย ๆ บ้านมันหมดไป มันหายวับไปในพริบตาเลย เพราะฉะนั้นไม่มี แม้แต่อุปกรณ์จะทำมาหากิน จะเลี้ยงชีพหลังจากนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ปล่อยเงินกู้ ไม่มีดอกเบี้ยได้ยิ่งดีนะคะ เพื่อให้ทุกคนสามารถที่จะกลับมาประกอบอาชีพได้ดั้งเดิมนะคะ Slide ถัดไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการดูแลผู้ประสบภัยในเรื่องของที่อยู่อาศัยนะคะ สำหรับในกรณี ผู้ที่อยากจะกลับไปอยู่ที่เดิม เนื่องจากอย่างที่ท่านเห็นในรูปนี้นะคะจะเห็นว่าเรียบ เป็นหน้ากองเลย เพราะฉะนั้นบางครั้งการที่จะฟื้นฟู การที่จะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ใช้เวลา เพราะฉะนั้นระหว่างนี้นอกจากการอยู่ศูนย์พักพิงแล้ว ดิฉันอยากให้มีการจัดหาบ้านพักให้ เพราะว่าในสภาพศูนย์พักพิงไม่ได้เหมาะในการที่จะอยู่อาศัยเลยนะคะ ในเวลาแบบนี้เราต้อง ดูแลเขาทั้งร่างกายแล้วก็จิตใจ การอยู่ในศูนย์พักพิงไม่ได้ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นนะคะ เพราะฉะนั้นขอให้เช่าบ้านพัก หรือโรงแรม หรือ Resort หรือจัดหาที่อยู่ที่เป็นที่อยู่จริง ๆ ที่มนุษย์ควรจะอยู่ได้ ที่อยู่ได้อย่างสุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจนะคะ ไม่ได้อยู่แค่ชั่วคราว เพราะแน่นอนกว่าจะซ่อมเสร็จนี่ใช้เวลานานแน่นอน ต่อมานะคะสำหรับบุคคลที่ต้องการจะ ย้ายออกไปจากที่เดิมเลยก็อยากจะให้รัฐจัดหาบ้านให้นะคะ อาจจะเป็นบ้านมั่นคง หรือว่า บ้านที่ราคาไม่แพงจนเกินไปนะคะที่สามารถที่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในอนาคตนะคะ Slide ถัดไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับตอนนี้ปัญหาล่าสุดเลยนะคะ ดิฉันทราบมาว่าเรื่องของปัญหาน้ำ เป็นพิษในพื้นที่ไม่สามารถที่จะอุปโภคบริโภคได้ในบริเวณ ๕๐๐ เมตรรอบที่เกิดเหตุนะคะ ตอนนี้เริ่มเป็นพิษขึ้นมาแล้ว แล้วก็ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ในทุกกรณี

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับแนวทางแก้ไขนะคะ ดิฉันขอนำเสนอดังนี้ค่ะ คือในระยะสั้นขอให้ จัดหาแหล่งน้ำที่ปลอดภัยแก่ประชาชนโดยทันที ให้สามารถที่จะใช้อุปโภคบริโภคได้ น้ำดื่ม อาจจะมีแล้วค่ะ แต่น้ำอุปโภคนี่ยังเป็นปัญหาอยู่นะคะ ในระยะยาวดิฉันขอเสนอให้มี การบังคับให้มีประกันภัยสาธารณะนะคะ คือโรงงาน หรือว่าสถานที่ผลิต หรือโกดังที่จัดเก็บ วัตถุอันตรายขอให้มีประกันภัยขึ้นมา ดิฉันไปสืบหาข้อมูลแต่ไม่พบว่าปัจจุบันมีประกันที่เป็น ประกันภัยสาธารณะ หรือแม้กองทุนประกันวินาศภัยก็ตามก็ยังไม่ครอบคลุมตรงนี้นะคะ เพราะฉะนั้นขอเสนอให้มีเกี่ยวกับการประกันภัยสาธารณะขึ้นมาด้วย เพื่อดูแลส่วนรวม หรือดูแลสภาพแวดล้อมรอบ ๆ โรงงานในกรณีแบบนี้ในอนาคตนะคะ ท่านประธานคะ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่ดิฉันกล่าวไปข้างต้นนะคะว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาของแค่พี่น้องที่จังหวัด นราธิวาสเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนไทยทุกคน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกถ้าเรา ไม่หาทางแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน ดิฉันขอวิงวอนให้ทุกคนช่วยกัน ขอให้จริงจัง ขอให้ ตรงไปตรงมา และขอให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศนี้ เพื่อให้ลูกหลาน ของเราได้มีชีวิตที่ดีอยู่ในประเทศไทยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงท่านประธานคะ สำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ โดยหลักการดิฉันเห็นด้วยนะคะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็จากรายงานที่ดิฉันดูมามีความสงสัยหลายประการ มีคำถามเกิดขึ้น มากมายว่ากองทุนนี้คุ้มค่าจริงหรือไม่ ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ด้วยหลักการนะคะ กองทุนนี้ สามารถเริ่มต้นออมเงินได้ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ดีนะคะ ให้เยาวชนได้ออมเงิน แล้วก็มีเงินเก็บจนถึงบำนาญได้มีเงินใช้ เราเป็นผู้ปกครองก็สามารถที่จะออมให้ลูกได้ โดยหลักการดีค่ะ ทีนี้พอมาดูรายงานก็อย่างที่หลายท่านกล่าวไปแล้ว วันนี้ที่ฉันจะขอ สั้น ๆนะคะ เพราะดิฉันไปดู พ.ร.บ. อ่านทุกข้อเลยค่ะ ก็ไปเจอข้อหนึ่งคือมาตรา ๕๖ ซึ่งคิดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมถึงย้อนหลังไปตั้ง ๕-๖ ปี ในนั้นบอกไว้ว่าต้องรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๘๐ วันนับจากวันสิ้นปีบัญชี เหตุใดปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ จึงเพิ่งมาถึงสภา นี่คือคำถามนะคะ เดี๋ยวก็คิดว่าท่านคง เตรียมคำตอบไว้แล้วนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับค่าใช้จ่ายนะคะ พอดิฉันไปดูก็ตกใจเลย ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลหรือไม่ จากที่ดูเป้าหมายทำไว้ดูดี เป้าหมายดูดีคือจะเพิ่มขึ้นไป แต่เมื่อไปดูลึก ๆ จริง ๆ เพิ่มเป็นแค่ หลักแสนเอง แต่งบประมาณที่วางไว้คือวางไว้เป็นวงเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาท เทียบกับสมาชิก ที่มีเป้าว่าจะเพิ่มขึ้นแค่หลักแสน ในมุมมองดิฉันคือไม่คุ้มค่านะคะ Slide ถัดไปเลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาค่ะ พอยิ่งไปดูรายละเอียด พอไปดูของปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ ดิฉันก็ไล่ดู มาเรื่อย ๆ เลย จนถึงปี ๒๕๖๔ ยิ่งตกใจ และส่วนใหญ่งบประมาณที่หมดไปจะหมดไปกับ ในส่วนของบุคลากร ดิฉันไม่ติดขัดอะไรกับเงินเดือนของข้าราชการนะคะ แต่ในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือนทั้งหมดและงบประมาณทั้งหมดของกองทุนที่ใช้ คือเงินภาษีประชาชน เป็นหน้าที่ของดิฉันที่จะต้องสงสัยและตรวจสอบ ดิฉันก็สงสัยว่า ทำไมกองทุนนี้ทุกปีเลยจะมีงบประมาณหมดไปกับบุคลากรเป็นอย่างนี้ตลอด ปี ๒๕๕๘ ๑๐.๗ ล้านบาท ปี ๒๕๕๙ ๓๗.๘ ล้านบาท พอมาดูปี ๒๕๖๔ กระโดดขึ้นมา ๖๗ ล้านบาท ทำไมถึงมากขนาดนี้ แล้วพอไปดูเงินค่าใช้จ่ายกรรมการอีก ๔.๗ ล้านบาท นี่คือล่าสุดเลยนะคะ ปี ๒๕๖๔ ที่ดิฉันไปดู คำถามคือซ้ำซ้อนหรือไม่ จำเป็นจริงหรือไม่ เพราะว่าพอไปดูโครงสร้าง บริหาร กรรมการบางท่านเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คำถามคือท่านเหล่านี้ มีเงินเดือนอยู่แล้วใช่หรือไม่ เหตุใดยังต้องมีเงินตรงนี้ไปจ่าย แล้วถ้าไปดูคณะกรรมการชุดอื่นอีก ปรากฏว่าในชุดอื่นก็มีการประชุมแต่ก็ไม่ได้มากพอที่คิดว่าจะต้องใช้เงินถึง ๔-๕ ล้านบาท ใช่ไหมคะ ดิฉันก็มีคำถามว่าเหตุใดต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ เท่ากับประสิทธิภาพของงาน และในแง่ของบุคลากร ถ้าเป็นบริษัทเอกชนดิฉันเป็นประธานบริษัท ดิฉันก็จะถามว่าที่มีอยู่ งานที่ได้ออกมากับจำนวนคนที่มีคุ้มค่าหรือไม่ คนมีมากเกินไปหรือไม่ และดูจากผล มันแตกต่างกัน ไม่คุ้มค่า ต่อไปเลยค่ะ ผลที่ดิฉันบอกก็คืออย่างนี้ค่ะ ท่านดูนะคะ ประชากรไทย อายุ ๑๖-๖๐ ปี ทุกเพศมีอยู่ประมาณ ๔๒ ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคมแล้วประมาณ ๒๓ ล้านคน อยู่ในกองทุนนี้ประมาณ ๒.๔ ล้านคน แปลว่าอะไรคะ แปลว่ามีคนไทยที่ตกหล่น ไม่อยู่ในระบบใดเลย ๑๖.๕ ล้านคน ถ้าท่านทำงานแล้วมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพกับ งบประมาณที่ใช้ไปตัวเลขคงไม่ใช่ ๑๖.๕ ล้านคน คงจะคุ้มค่ามากกว่านี้นะคะ ต่อไปเลยค่ะ ดูตรงนี้นะคะ อาชีพส่วนใหญ่ที่มีก็อย่างที่เพื่อนสมาชิกบอกไปแล้วส่วนใหญ่คือเกษตรกร แต่ดิฉันสงสัยว่าทำไมคนค้าขายซึ่งน่าจะมีเงินในการมาจ่ายเงินออมทำไมถึงน้อยเหลือเกิน พอไปดูภาคอีกก็จะไปเป็นภาคอีสานเสียมากกว่า ทำไมภาคอื่นยังน้อย ต่อไปเลยค่ะ ดิฉันอยากจะเสนอก็คือว่าเป็นไปได้กองทุนนี้ดิฉันมีความเข้าใจว่ามันน่าจะซ้ำซ้อนกัน กับกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะมาตรา ๔๐ บางข้อก็น่าจะใช้ด้วยกันได้ น่าจะรวมกันได้ เพราะฉะนั้นขอให้สมาชิกเป็นสมาชิกได้ทั้ง ๒ กองทุนได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๔๐ ควรจะเป็นได้ทั้ง ๒ กองทุนเลย แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้ อย่างนั้น ยุบเถอะค่ะ รวมกันเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามาตรา ๔๐ เขามีสิทธิที่ประโยชน์ มากมาย รักษา มีสงเคราะห์บุตร มีทุพพลภาพ มีอะไรต่าง ๆ นานามากมาย ต่อมาที่อยากจะเสนอ ก็คือว่าในอดีตเพดานของท่านอยู่ที่ ๑๓,๐๐๐ บาท ปัจจุบันตั้งแต่มีนาคม ๒๕๖๖ ดิฉันทราบว่า เพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปีแล้ว แต่มันดูย้อนแย้งนะคะ วัตถุประสงค์คือบอกว่าให้ประชาชน ออมเงิน แต่ทำไมท่านมีเพดานล่ะคะ ไม่ควรจะมีเพดาน ควรจะให้ออมแบบไม่จำกัดไปเลย ไม่อย่างนั้นมันจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน คำว่า ออม คือออม ไม่ควรจะมีเพดาน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอแนะต่อไป เงินสมทบโดยรัฐไม่ต้องมีขั้นบันไดแบบนี้ค่ะ ให้มีไปเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยอัตราเดียวกันแล้วไม่ต้องมีช่วงอายุด้วย ควรจะมีทุกช่วงอายุให้เหมือนกัน หมดเลย ดิฉันอยากจะเสนอคือในการทำงานของกองทุนที่ผ่านมาที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ดิฉันมองว่าอาจจะยังทำงานเชิงรุกไม่มากพอ เพราะฉะนั้นขอเสนอให้เกิดแรงจูงใจให้ประชาชน ออมมากขึ้น คือทำงานในเชิงรุกมากขึ้นเหมือนเอกชน ทำการตลาดมากขึ้น ดิฉันถามเพื่อนสมาชิก หลายคน ถามพี่น้องประชาชนมีหลายคนที่ไม่รู้จักว่ากองทุนนี้คืออะไร มีด้วยหรือ แล้วดิฉัน ก็มองว่ากองทุนนี้จริง ๆ ท่านสามารถที่จะทำการตลาดให้เป็นกองมรดกได้เลยด้วยซ้ำ เพื่อแข่งขันกับการออมในตลาดทุนหรือว่าธนาคารอื่น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันอยากจะฝากไว้ สุดท้ายนี้ถ้าท่านอยากจะให้กองทุนนี้ดำรงอยู่ต่อไป ท่านควรทำให้มีกำไรมากกว่านี้ แล้วท่านปักธงไปเลย ๓ ม. เลยค่ะ ทำให้กองทุนนี้มั่นคง ในสายตาประชาชน ให้ประชาชนมองว่ากองทุนนี้มั่นคงกว่ากองทุนอื่น ๆ มากกว่าไปลง ในตลาดหลักทรัพย์หรือไปในธนาคารอื่น ตอนนี้มีกองทุนมากมายเลย ท่านต้องทำให้ ประชาชนรู้สึกมั่นคงเขาถึงจะมาลงทุนกับท่าน ให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจว่าเงินจะไม่หาย แล้วมีเงินใช้ยามเกษียณจริง ๆ ต่อมาคือทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้สึกว่าท่านมีความแตกต่าง ถ้าในแง่การตลาดท่านต้องแตกต่าง สิ่งที่ท่านต่างได้คือท่านต้องทำให้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้ นี่คือสิ่งที่กองทุนอื่นเขาทำไม่ได้ ดิฉันฝากไว้ด้วยนะคะ เพราะว่าทั้งหมดที่มีค่าใช้จ่าย ในกองทุนนี้คือเงินจากภาษีประชาชน ขอให้ท่านใช้ให้คุ้มค่าด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน ภาคใต้ จากจังหวัดพัทลุง ดิฉันขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับทุนหมุนเวียนผ่านท่านประธาน ดังนี้ ก่อนอื่นเลยดิฉันขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ดิฉันทราบดีว่าการที่ต้องดูแล แล้วก็ต้องประเมินถึง ๑๑๖ ทุนเป็นงานที่หนักมากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามดิฉันก็มี ความคิดเห็นบางอย่างที่อยากจะเสนอไปเพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขอ Slide เลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับภาพรวม โดยรวมดิฉัน ถือว่ามีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีบางกองทุนที่อาจจะมีบางอย่างที่ดิฉันเห็นแย้ง ยกตัวอย่าง Slide ถัดไปเลยค่ะ จากที่ดูวิธีการประเมินบางสิ่งบางอย่าง ดิฉันยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ยกตัวอย่าง อย่างตอนนี้ดิฉันเห็นกองทุนมีทั้งหมด ๑๑๖ กองทุน พบว่าขาดทุน ๕๔ กองทุน ดิฉันก็สงสัยว่าทำไมถึงขาดทุนเกือบครึ่งหนึ่งเลย เกิดอะไรขึ้น ก็เลยไปดูรายละเอียดนะคะ ในหัวก็คิดว่าแล้วแนวทางพัฒนากองทุนล่ะคืออะไร มีหรือไม่ ดิฉันก็เลยย้อนกลับไปดู วิธีการคิด พอไปดูวิธีการคิดดิฉันก็ประเมิน โดยส่วนตัวมองว่า เอ๊ะ หรือว่าการประเมิน ยังไม่ทันสมัย หรือว่าเรามองคนละแบบกัน ในมุมมองของดิฉัน ดิฉันมองว่ากองทุน ทั้ง ๑๑๖ กองทุนที่มี มันแยก ๒ ประเภทหลัก ๆ เลย คือกองทุนที่มีเพื่อสงเคราะห์ หรือสนับสนุน อย่างนี้เราควรต้องดู เกณฑ์ที่ต้องใช้ดูที่ความคุ้มค่า แล้วก็ดูในเชิงของ การพัฒนาว่ามันได้ผลหรือไม่ อย่างเช่น กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยี และนวัตกรรม อีกประเภทหนึ่งคือกองทุนที่ให้กู้ยืม OK อันนี้ดูแบบที่มีอยู่แล้วได้ ที่ท่าน ทำอยู่แล้วคือดูที่กำไร ขาดทุน เช่นกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ดีมาก ๆ เลย แต่ท่านประเมินว่าควรปรับปรุง อันนี้ดิฉันเห็นแย้งเพราะว่าเป็นกองทุน ถ้าเรามองในแง่ ความคุ้มค่าเป็นกองทุนที่มีประโยชน์ ส่งเสริมนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ประกอบการ Startup หรือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่อยากจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ กองทุน TED Fund ดิฉันรู้จักกองทุนนี้ดีเลย เป็นกองทุนที่มีประโยชน์มาก ๆ แต่ผลออกมาคือปรับปรุง เพราะอะไรคะ เพราะท่านไปดูในเรื่องของกำไร ขาดทุน เพราะอันนี้เป็นกองทุนที่ให้เปล่า ให้ทุนกับนักศึกษา ให้ทุนกับผู้ประกอบการ เพื่อไปสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ มันเป็นให้เปล่า ไม่มีทางที่จะได้กำไรอยู่แล้ว ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นเราต้องมองในแง่ ความคุ้มค่า สำหรับดิฉันถ้าประเมินอันนี้ดิฉันให้ผ่านนะคะ แต่ในขณะเดียวกันพอเราไปดู กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ท่านกลับบอกว่าปรับปรุง แต่ถ้าดิฉันประเมินดิฉันจะบอกว่า ไม่ผ่าน ดิฉันยังคิดเลยว่าเจ้าหน้าที่ใจดีจังเลย ไม่ควรจะผ่าน เดี๋ยวดิฉันจะบอกว่าทำไม ถึงไม่ผ่านนะคะ ท่านดูหนี้สูญจำนวนมาก สะท้อนถึงอะไรคะ สะท้อนถึงการบริหารกองทุนที่ ไม่มีประสิทธิภาพ คะแนนแต่ละด้านไม่สอดคล้องกันเลย มันสอดคล้องกับการดำเนินงาน จริงหรือไม่ ก็ไม่นะคะ ไปดูกองทุนมีแนวทางจัดการปรับปรุงอย่างไร ตรงนี้ก็ไม่ชัด ท่านดูนะคะ ที่ดิฉันดูในแง่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียท่านให้คะแนนเยอะมาก แต่ดิฉัน ให้ตกนะคะเรื่องนี้ ท่านจะเห็นได้เลยว่าในแง่ของการปฏิบัติการ เช่นเดียวกันดิฉันก็ให้ตกเหมือนกัน คือไม่ผ่าน เลยละค่ะกองทุนนี้ แต่ท่านบอกว่าปรับปรุง ดิฉันเลยมองว่าบางอย่างเป็นเพราะว่าเกณฑ์ มันไม่ทันสมัย หรือว่าผิดหลักการอย่างไรอยู่หรือไม่ ต่อไปดิฉันจะขอย้ำอีกนิดหนึ่งว่าทำไม ดิฉันถึงไม่ให้ผ่าน ยกตัวอย่างกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร งบปี ๒๕๖๔ ถ้าท่านดูจะเห็นว่า เงินให้กู้ยืมทั้งหมด ๓,๑๙๖ ล้านบาท เป็นหนี้เสียประมาณ ๓๗๗ กว่าล้านบาท การบริหาร จัดการทุนนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ มันไม่ใช่ควรแค่ปรับปรุงแล้วละค่ะ คือมันไม่ผ่านแล้ว มันค้างเยอะขนาดนี้ แล้วบางโครงการค้างเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปีเลยไม่ผ่านค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาอันนี้ ดิฉันอยากจะขอใช้เวลากับตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะคาใจมากเลย เมื่อเช้ามีการอภิปรายกองทุนนี้ แต่ว่าไม่ได้พูดถึงในแง่นี้ ดิฉันขอพูดถึงหน่อยนะคะ คือมี การปล่อยเงินให้กับบางหน่วยงาน เป็นโครงการนำร่องเพื่อสร้างต้นแบบภาคธุรกิจ ที่จังหวัด สุพรรณบุรี ให้กับบริษัทเอกชน ๒ ราย ดิฉันค้นพบว่าเอกชน ๒ รายนี้เป็นบริษัทในเครือของ ทุนใหญ่ ถ้าเอ่ยชื่อไปทุกคนร้องอ๋อแน่นอน ดิฉันเลยคาดเอาไว้ ปิดเอาไว้ไม่เห็น คำถามคือ เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรทำไมถึงไปให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ทุนใหญ่ด้วย ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์เลย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือเกษตรกร และที่สำคัญเก็บไม่ได้ ด้วยนะคะ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ๑๓ ล้านบาท นี่ละค่ะดิฉันเลยบอกว่าไม่ผ่าน ดิฉันเลย ให้ตกถ้าเป็นกองทุนนี้ อันนี้อยากจะฝาก ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทางบ้านหรือสื่อมวลชน ถ้าดูอยู่ ท่านช่วยกันดูหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นหนี้เสียตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ และเป็น บริษัทเอกชน ถ้าบอกว่าไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดหนี้เสียขึ้นมา อย่างนั้นดิฉันถามว่าตอนที่ อนุมัติ คนอนุมัติอนุมัติไปได้อย่างไรถึงปล่อยโครงการนี้ไป เพราะถ้าเป็นดิฉัน ดิฉันไม่อนุมัติ ตั้งแต่แรกแล้วค่ะ มันไม่น่าจะได้คืนอยู่แล้ว เราควรจะใช้กลไกอื่นนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาการดำเนินงาน อีกอันหนึ่งที่ดิฉันกังวลก็คือในแง่ของการดำเนินงาน บางกองทุนที่เราไม่ได้ส่งเงินเข้าคลัง ดิฉันเป็นห่วงว่าถ้าการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เสียโอกาสในการนำงบกลับไปพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นขอเสนอว่าถ้ากองทุนไหน ที่มีกำไรมากเพียงพอแล้ว ประมาณ ๓ เท่าของรายจ่าย หยุดการอุดหนุนเลยค่ะ เพราะเขา อยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปดิฉันมองว่าสำหรับภาพรวมการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน มีหลาย ๆ กองทุนที่ไม่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้ ส่วนหนึ่งเลยเราจะต้องพิจารณา กันใหม่ รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกัน ในอนาคตเวลาที่เราประเมินงบประมาณ ของกระทรวงไหน หน่วยงานใดก็ตาม เราคงต้องมองเรื่องความคุ้มค่าด้วย เราจะมองแค่ ตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางครั้งตัวเลขสูงแต่ไม่คุ้มค่าก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องความคุ้มค่า สำคัญมากที่เราต้องเอามาคิด ต้องมีการกำกับดูแล ติดตามอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา เราปล่อยเงินแต่ก็ไม่ได้ติดตามต่อเนื่องมันก็เลยขาดทุนกันอย่างที่เห็น แล้วบทบาทภารกิจ ต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภาวะเศรษฐกิจ แล้วก็สังคม นี่คือทั้งหมดทั้งมวลที่ดิฉันฝากไว้ ก็ขอบคุณมาก ๆ ขอฝากเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน แล้วก็รับข้อเสนอแนะไปปรับปรุงเพื่อจะได้ดีขึ้นกว่าเดิม ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง ก่อนอื่นสำหรับ EXIM Bank ขอเรียนให้ทราบว่าดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามมา เป็นระยะเวลา ๑๐ ปีแล้ว EXIM Bank เป็นที่พึ่งของผู้ส่งออกมายาวนานนะคะ แล้วก็เห็นถึง พัฒนาการที่ดีเสมอมา แล้วก็พัฒนาการที่ก้าวกระโดดในช่วงหลัง อันนี้ก็ขอชื่นชมว่า ท่านทำได้ดีมากเลยในส่วนนี้ เห็นพัฒนาการที่ดีนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • จากที่ดิฉันเคยสัมผัสมา เป็นระยะเวลา ๑๐ ปีแล้ว แต่ยังมีบางประการที่ดิฉันอยากจะขอเสนอแนะ อันนี้ไม่ได้เป็น การอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่อย่างใด เพียงแต่คิดว่ามีบางอย่างน่าจะดีกว่านี้ถ้าเราสามารถ ทำได้เพื่อประชาชน สำหรับโครงการนี้เป็นสิ่งที่โดนใจถูกใจมาก ๆ เลย แล้วก็เชื่อว่าถูกใจ พี่น้องประชาชนหลายคนเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็ก SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน อันนี้เป็นสินเชื่อเพื่อการแสดงสินค้าในต่างประเทศสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก การเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าออก Booth ต่างประเทศต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น ค่าใช้จ่าย บางครั้งแม้จะเป็นหลักแสนก็ตาม คือเป็นเงินที่ก้อนใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ รายเล็ก มีโครงการนี้ขึ้นมาเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ เลย ดิฉันอยากให้สนับสนุนมากกว่านี้ อยากให้ผู้ประกอบการที่เข้าถึงมีมากกว่านี้ และอยากให้ประชาสัมพันธ์ตรงนี้เยอะ ๆ ให้ผู้ประกอบการได้ทราบว่ามีแบบนี้ด้วย เพราะนี่คือประตูใบใหม่สำหรับเขาเลย ขอชื่นชม สำหรับอันนี้นะคะ แต่ยังมีข้อสงสัยสำหรับดิฉัน โครงสร้างขององค์กร มีสายงานวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม ดิฉันอยากจะทราบว่ามีผู้ส่งออกที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก เล็กจริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่เป็น SMEs คือไม่ใช่ Medium Enterprise ขึ้นไป จะเป็นแบบ Small หรือ Very Small จริง ๆ หรือว่าวิสาหกิจชุมชนที่เป็นนิติบุคคลที่มีความพร้อมในการส่งออก ท่านสนับสนุนเขากี่เปอร์เซ็นต์ ดิฉันหาข้อมูลนะคะ หาทุกแหล่งที่มี ทั้งในหนังสือ ทั้งข้อมูล ทุกอย่างที่มี ไม่เจอเลยค่ะ อยากจะทราบว่ามีกี่รายที่ท่านสนับสนุนอยู่ สินค้าชุมชนของเรา มีดีมากมาย ดิฉันอยากจะให้ทาง EXIM Bank ผลักดันให้ความฝันของผู้ประกอบการเป็นจริง อยากให้ทุกเมืองทั่วโลกมีสินค้าชุมชนไทยไปวางอยู่ ไม่เฉพาะแค่ China Town --------------- ไม่เฉพาะแค่ร้านค้าในเมืองใหญ่ ๆ แต่ทำอย่างไรที่ท่านจะช่วยผลักดัน ช่วยส่งเสริม ให้ความฝันของเขาเป็นจริง สินค้าไทยไปอยู่ในทุกมุมเมืองให้ได้ ท่านจะเป็นองค์กรหลักที่จะ ช่วยผู้ประกอบการได้ ดิฉันอยากให้ส่งเสริมมากกว่านี้ ในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก สำคัญมาก ๆ เราจำเป็นต้องมีรายได้เข้ามาจากต่างประเทศ ท่านจะเป็นองค์กรหนึ่งที่จะ ช่วยได้ แต่คำถามคือมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ท่านช่วยเหลือเขา ณ วันนี้

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดี แต่ดิฉันก็สงสัยว่าเป็นกิจกรรม CSR ที่เป็น แค่ CSR ในความเป็นจริงแล้วท่านได้สานต่อเพื่อยกระดับไปสู่การเป็นผู้ส่งออกตัวจริงหรือไม่ ท่านประธานคะ เป็นผู้ส่งออกหรือไม่ ดิฉันขอฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดิฉันอยากให้ ผลักดันหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ อยากให้บูรณาการร่วมกัน ทุกกองทุน ทุกองค์กร รวมถึง กระทรวงพาณิชย์ที่มีอยู่แล้ว ที่ร่วมมือกับท่านอยู่แล้ว ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นผู้ส่งออก ได้จริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับข้อมูลนี้นะคะ ตัวเลขนี้ ดิฉันก็เกิดข้อสงสัยเหมือนกัน ท่านมีบริการ ประกันการส่งออกระยะสั้น มูลค่ารวมตอนนี้ ๘๔ ล้านบาท ที่ผู้ซื้อไม่ชำระเงิน ดิฉันหาข้อมูล ก็ไม่เจอเลยค่ะว่าท่านจะ Take Action อย่างไรต่อ ท่านมีแผนจะฟื้นฟูอย่างไร จะทำอย่างไร และที่กังวลคือเงินก้อนนี้จะเป็นเงินสูญหรือไม่ ทาง EXIM Bank ได้เจรจากับรัฐบาลประเทศ นั้น ๆ หรือยัง แล้วผลเป็นอย่างไร จะหาจากไหนก็ไม่มีเลยค่ะ ไม่สามารถทราบได้ อันนี้อยากจะฟังคำตอบนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของผู้บริหารระดับสูง เรื่องนี้ดิฉันข้องใจมากเลยว่าทำไมตัวเลขถึงสูง ขนาดนั้น ซ้ำซ้อนหรือไม่ พอไปดูรายชื่อแล้วเป็นอธิบดีกรมบางกรม เป็นผู้อำนวยการ บางส่วนก็เป็นข้าราชการอยู่แล้ว กลายเป็นรับเงินซ้ำซ้อนหรือไม่ OK ค่ะท่านอาจจะบอกว่า เป็นมาตรฐานของกระทรวงการคลังที่ทำได้ แต่ในความเป็นจริงในภาวะแบบนี้ถ้าเรา ประหยัดได้ เราทบทวนได้ ในภาวะที่เงินเบี้ยผู้สูงอายุโดนตัดขนาดนี้ แล้วมันเจ็บปวดใจนะคะ เวลาที่เห็นเงินเบี้ยประชุมอะไรต่าง ๆ ของพวกท่านสูงขนาดนี้ ทั้งที่เวลาที่ประชุมก็มี เบี้ยประชุมอีกในขณะที่เป็นเวลาราชการด้วยซ้ำ แต่ในขณะที่ราชการ ข้าราชการบางส่วน เขาก็ประชุมเหมือนกันแต่เขาไม่ได้เบี้ยตรงนี้ ก็อยากจะให้ดูในส่วนนี้ด้วย ทีนี้ในตัวเลข ดิฉันอยากจะรู้ว่าค่าตอบแทนนี้ผันแปรแล้วหรือไม่ รวมรถประจำตำแหน่ง รวมอะไรหรือยัง ก็อยากให้ลดในส่วนนี้ถ้าเป็นไปได้

    อ่านในการประชุม

  • Slide สุดท้ายแล้วค่ะ อันนี้ดิฉันสงสัยมากเลยว่าเกี่ยวข้องกับภารกิจของ EXIM Bank ได้อย่างไร ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ ดู Public ได้เลยค่ะ เหตุใดจึงต้องให้กัมพูชากู้ยืม ไปสร้างถนนคะ คือเงินงบประมาณของไทยเยอะขนาดนั้นหรือคะ อะไรดลใจท่าน หรืออะไร ครอบงำท่าน เหตุผลอะไรต้องให้เขากู้ยืมไปทำถนน ในขณะที่ผู้ส่งออกไทยยังต้องการ ความช่วยเหลืออีกมาก อันนี้น่าจะไม่ใช่ภารกิจหลัก แล้วดิฉันดูปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ก็ยังมี ให้กู้ยืมอยู่เรื่อย ๆ ตอนนี้รวมกันเป็นพันล้านบาทแล้ว ฝากด้วยนะคะ อันนี้ดิฉันข้องใจ มาก ๆ เลย แล้วถ้าเป็นไปได้อยากให้เน้นผู้ส่งออกไทยก่อนนะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ขออนุญาตค่ะ ดิฉันยังไม่ได้คำตอบข้อหนึ่ง ขอทราบคำตอบด้วยได้ไหมคะ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ ค่ะ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เมื่อสักครู่ดิฉันถามคำถาม สุดท้ายไว้ว่าเหตุใดทาง EXIM Bank ถึงให้ทางประเทศกัมพูชากู้ไปทำถนนคะ ขอคำตอบ ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ก่อนอื่นเลย ดิฉันอยากจะบอกว่าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็รู้สึกประทับใจ ก่อนอื่นเลยจะบอกว่าขอฝาก ไปยังท่านผู้มาชี้แจงนะคะ รู้สึกประทับใจในผลงานของท่านที่ผ่านมา สำหรับ SMEs ไทยคงไม่มี ใครที่ไม่รู้จักธนาคาร SME ในแง่ประชาสัมพันธ์ ท่านทำหน้าที่ได้ดีนะคะ และจากใน Slide ที่เห็นอยู่นี้ดิฉันประทับใจมากที่ท่านมีแนวคิดที่บอกว่าท่านจะใช้ Mind ก็คือใช้หัวและใจ ในการทำงาน ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ แต่ดิฉันเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ดิฉัน ช่างสงสัย ดิฉันเลยมีคำถามต่อมา ดิฉันสงสัยว่าท่านใช้ทั้งหัวและใจในการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการอย่างไร ดิฉันก็ไปหาข้อมูลพบว่า SMEs ทั้งหมดของประเทศไทยมีอยู่ ๓ ล้านกว่ารายในตอนนี้ แต่ในความเป็นจริงก็คืออย่างเมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกบอกไปแล้ว คือจริง ๆ มีเข้าถึงได้แค่ ๐.๓-๐.๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แล้วท่านก็แจ้งไว้ในผลการดำเนินงาน หน้า ๘๘ คำถามก็คือว่าในตัวเลขนี้ผู้ประกอบการไทยเราแข็งแกร่งจริง ๆ จนไม่ต้องการ เงินกู้แล้ว หรือจริง ๆ แล้วเข้าไม่ถึงเงินกู้กันแน่ จริง ๆ แล้วมันคืออะไร สำหรับมุมมอง ของดิฉันมองว่าเหตุผลหลังคือเข้าไม่ถึงเงินกู้ ดิฉันเป็น SMEs คนหนึ่ง เป็น ๑ ใน ๓ ล้านคนนี้ ดิฉันเป็น SMEs ตัวจริงเสียงจริง ดิฉันเป็น SMEs มา ๒๐ ปีแล้วที่ทำธุรกิจมา ถ้าจะบอกว่า มีใครสักคนหนึ่งที่เข้าใจหัวอกผู้ประกอบการเข้าใจ SMEs ดิฉันคือคนที่เข้าใจจริง ๆ ทำเอง เจ็บเอง ลุกขึ้นเอง ผ่านมาแล้วทุกอย่างนะคะ ดิฉันลุกขึ้นมาวันนี้เพื่อมาเป็นปากเสียงให้กับ พี่น้อง SMEs ทั่วประเทศ ดิฉันยังสงสัยต่อว่าในสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบันนี้เกิดการจ้างงานมากน้อย แค่ไหน SMEs ของเราทุกวันนี้จำนวนที่มีอยู่เกิดการจ้างงานประมาณ ๑๒ ล้านคน และถ้าเรา โฟกัสไปที่ธุรกิจขนาด Micro จะมีอยู่ประมาณ ๕.๔ ล้านคนที่เกิดการจ้างงาน ธุรกิจ Micro คือธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศ ท่านจะเห็นเลยว่ามีจำนวน เยอะที่สุด ถ้าฟันเฟืองตัวนี้หยุดทำงานไม่หมุน ดิฉันเชื่อว่าประเทศนี้เศรษฐกิจก็จะเป็นอัมพาต ได้มากพอสมควรเลยทีเดียว แล้วจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคมากพอสมควร ผู้ประกอบการรายย่อยสำหรับดิฉันเป็นผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่มากผู้ประกอบการ รายย่อย คือคนที่ต้องต่อสู้ คือคนที่ต้องฟันฝ่าในการที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองรอดไปในแต่ละวัน ๆ ถ้าท่านศึกษาตรง Pyramid ประชากร ท่านจะเห็นเลยว่าปัจจุบันแนวโน้มของประชากร เปลี่ยนไป และถ้าท่านศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค สำหรับคนที่กู้เงินเรามองว่าเป็นผู้บริโภค ถ้าท่านทำงานเชิงรุกมากขึ้นท่านจะเห็นว่ามีประมาณ ๘.๖ ล้านคน กลุ่มนี้คือปัจจุบันนี้ เป็นกลุ่มที่อยากจะเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของธุรกิจ นี่คือลูกค้าของท่าน ปัจจุบันนี้ Microfinance เติบโตขึ้นมา เนื่องจากว่าไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้นั่นเอง มันสวนทางกัน เพราะฉะนั้นยิ่ง Microfinance เติบโตมากเท่าไรนั่นสะท้อนว่าท่านทำงานล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น มี Startup จำนวนมากประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่เข้าไม่ถึงเงินทุน นี่คือตัวอย่าง ถ้าท่านอยากให้ประเทศ เติบโตท่านต้องทำให้ Startup และ Micro เข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น ต่อมาดิฉันเห็นสินเชื่อที่ท่านพยายามปล่อย แต่ดิฉันสงสัยว่าท่านพยายามที่จะปล่อยสินเชื่อ ให้กับคนที่อยากทำ Franchise แต่ทำไมถึงไปเน้นแค่ ๒ Brand นี้คะ ในขณะที่ประเทศไทย มี Franchise ถึง ๖๐๙ กิจการ ทำไมท่านถึงปล่อยให้แค่ ๒ Brand นี้ ดิฉันไม่อยากเอ่ยชื่อ ในที่นี้ดิฉันเลยปิดไว้ นี่คือคำถาม ดิฉันต้องการคำตอบนะคะ ต่อมานะคะ ดิฉันมองว่า สำหรับปัจจุบันมีหลายคนที่เขาอยากที่จะทำ ๒ อาชีพด้วยกัน อาจจะเป็นพนักงานบริษัท และอยากทำธุรกิจด้วย แต่พอไปดูเงื่อนไขเขาไม่ใช่นิติบุคคล เขาก็ไม่สามารถที่จะกู้เงิน ของท่านได้ และถ้าเกิดไปดู Micro ที่ท่านมีอยู่ Micro OK ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะต้อง ทำธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ปี แต่บางคนเขายังไม่ได้ทำธุรกิจ เขาต้องการทำอาชีพเสริม เขาจะเข้าถึง Micro OK ของท่านได้อย่างไร คำถามของดิฉันก็คือว่ามีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ ข้างหลังหรือไม่ ในหนังสือเล่มนี้ท่านบอกว่าท่านไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จากข้อมูลที่ดิฉันศึกษา คือมีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลังนะคะ เป้าหมายที่ท่านวางไว้สำหรับปี ๒๕๖๖ คือปีนี้ดิฉัน มองว่าผู้ที่ได้โอกาสในตัวเลขนี้กับคนที่ต้องการโอกาสที่มีอยู่ SMEs ทั้งหมดทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกัน ผู้ที่ได้รับโอกาสจาก SME Bank จะมีน้อยกว่าผู้ต้องการโอกาส ดิฉันมี ข้อร้องเรียนมาฝากเนื่องจากเวลามีน้อย ดิฉันเลยจำเป็นต้องรีบเล่าให้ท่านฟัง มีข้อร้องเรียน นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ท่านบอกว่าท่านมีการบริหารจัดการมี Risk Management เกิดขึ้น แต่ความจริงที่เกิดขึ้นท่านตั้งใจฟังนะคะ ในสาขาของท่านจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ ท่านไปสืบ เอาเอง มีการกู้เงิน ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ไม่ผ่าน แต่ผ่านครั้งที่ ๓ เกิดอะไรขึ้นถึงผ่าน คือต้องแบ่ง เงินที่ได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ให้เจ้าหน้าที่ด้วย ท่านไปสืบดูที่จังหวัดไหน ท่านมีการบริหารจัดการ อย่างนี้ ท่านบอกมีธรรมาภิบาล มีเรื่องความซื่อสัตย์ แต่มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้อย่างไร นี่คือข้อร้องเรียนจากประชาชนมาจริง ๆ ดิฉันขอเสนอแนะให้ท่านมีขั้นตอน Monitoring กระบวนการที่ชัดเจนในการตรวจสอบ ชี้แจงกรณีที่เขากู้ไม่ผ่านเกิดจากอะไร ต่อมาคือ หาทางช่วยเหลือทางอื่น จะให้ บสย. มาค้ำให้หรือไม่ หรือมีกองทุนอื่น ๆ เพื่อให้เขา บรรลุเป้าหมายของผู้กู้ ถ้าเขาไม่เดือดร้อนเขาไม่มากู้หรอกค่ะ หรืออีกอันหนึ่งให้มี Mystery check ได้ไหม ให้บุคคลภายนอกเลยมาสุ่มตรวจสอบและปลอมตัวเป็นผู้กู้ แล้วท่านจะรู้ ความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ดิฉันฝากประเด็นนี้นะคะ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง อีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นข้อร้องเรียนคือเวลาที่ท่านออกโครงการร่วมกับพันธมิตรของท่านมันมีบางโครงการที่ได้ เงินก้อนมา ท่านรู้ไหมว่าเงินก้อนที่ได้มามันเกิดจากการที่มีเจ้าหน้าที่ของท่านโทรไปหาบริษัท ที่เขามีความพร้อมอยู่แล้ว ที่ไม่มีความเสี่ยงในการเป็น NPL แล้วถามเขาว่ามีเงินก้อนนี้มา ช่วยเอาไปหน่อย ดิฉันก็ได้ทราบมาเหมือนกันและดิฉันได้ยินกับหูด้วย ไม่ควรเกิดเหตุการณ์ แบบนี้ขึ้น แปลว่าอะไรคะ แปลว่าคนต้องการกลับไม่ได้เงินกู้ แต่คนได้คือคนที่ไม่ต้องการเงินกู้ SME Bank ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และไม่ควรเป็นแบบนี้ต่อไป นั่นแปลว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยเงินกู้ไม่ถูกวัตถุประสงค์และไม่ถูกคนนะคะ ดิฉันขอเสนอให้ท่านตรวจสอบ ผลประกอบการย้อนหลังว่าคนที่ท่านให้กู้ไปนี่เขาอยู่ในสภาพที่ต้องการเงินกู้จริงหรือไม่ ดิฉันเห็นผลกำไรที่ท่านบอกที่ได้จากโครงการ ที่ท่านให้กับหน่วยที่เป็นพันธมิตรของท่าน ท่านมีกำไร ดิฉันขอแสดงความยินดีกับกำไรที่ได้ แต่วิธีการได้มาดิฉันมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นดิฉันขอให้วางมาตรการเพื่อให้คนที่ต้องการเงินจริง ๆ เขาได้เงินกู้จริง ๆ นะคะ อีกนิดเดียวค่ะท่านประธาน ดิฉันประทับใจมากที่ท่านบอกว่าท่านใช้หัวและใจในการที่จะดูแล SMEs ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการของเราทุกคนจะพึ่งท่านได้ ดิฉันมี ความรักและปรารถนาดี และหวังดีกับ SME Bank อย่างแท้จริงนะคะ และอยากให้ท่าน ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการทุก ๆ คนในประเทศนี้ผู้ประกอบการเราดิ้นรน เราเหนื่อยมากจริง ๆ ในการที่จะให้ธุรกิจเราอยู่รอดในแต่ละวัน ๆ แต่ละเดือน แต่ละปี ขอให้จุดประสงค์ของการตั้ง SME Bank ขึ้นมาได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์นั้น และได้โอกาส เท่าเทียมกันสำหรับผู้ประกอบการทุกคน ดิฉันหวังจากใจจริงจริง ๆ นะคะ ขอให้เสียง ของดิฉันเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และขอให้ท่านฟังดิฉันนะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ พรรคก้าวไกล ดิฉันต้องขอขอบพระคุณที่ท่านฟังข้อมูลความคิดเห็น เมื่อสักครู่นี้ไป แล้วก็ยินดีที่จะประสานให้นะคะ ทีนี้ดิฉันยังคงมีค้างคาใจอยู่อีก ๑ ข้อคือดิฉัน ยังไม่ได้รับคำตอบในกรณีที่เงินกู้ให้กับ Franchise ที่ดิฉันถามไปว่าทำไมถึงแค่ ๒ Brand นั้น ในความเป็นจริงแล้วในประเทศนี้มีตั้ง ๖๐๐ กว่า Brand แล้วก็ ณ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งพนักงานออฟฟิศหรือคนที่อยากมีรายได้เสริมเขาก็อยากจะซื้อธุรกิจ Franchise เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เลยอยากทราบว่าทำไม ถึงไม่ส่งเสริม Brand อื่น ๆ ด้วยเพื่อที่ว่าจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าด้วยกัน อันนั้น คำถามข้อแรกที่ยังต้องการคำตอบอยู่

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อสักครู่ที่ท่านบอกว่าในกรณีถ้าเคยทำงานประจำมา แล้วพอไปขอเงินกู้ใช่น่าจะเป็นกรณี Micro OK ใช่ไหมคะที่พูดถึงเมื่อครู่นี้ ถือว่านับเป็น ประสบการณ์ให้ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนิติบุคคลใช่ไหมคะ ในกรณีแบบนี้ดิฉันขอขอบพระคุณ ถ้าทำได้แบบนั้นจริง ๆ แล้วก็ในระดับนโยบาย ถ้ามีแนวทางแบบนี้ดิฉันอยากให้ในทางปฏิบัติ ในทางสาขา ก็อยากให้ท่านแจ้งให้ในทางปฏิบัติเป็นแบบนี้ตรงกันจะเพิ่มโอกาสให้กับคนไทย แล้วก็ผู้ประกอบการรายย่อยได้อีกมาก รวมถึงผู้ที่อยากจะมีอาชีพเสริมในอนาคตด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้จังหวัดพัทลุงค่ะ ดิฉันเกิดที่จังหวัดพัทลุง ดิฉันเป็นลูกหลานชาวใต้ ที่เห็นสวนยางพารามาตั้งแต่เด็ก วันนี้ดิฉันขอมุ่งเน้นไปที่เรื่องยางพาราเป็นหลักเลยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เนื่องจากว่าดิฉันทนไม่ได้ ที่จะเห็นพี่น้องประชาชนของเราต้องหลั่งน้ำตาซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดมา ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มีอยู่ประมาณ ๑.๗ ล้านคนทั่วประเทศได้ผลิต ยางพาราออกสู่ตลาดประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาทในแต่ละปี แต่ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราก็ยังคงต้องอยู่อย่างยากลำบาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมประเทศนี้ถึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที กลับมามองที่พวกเรา ในฐานะของผู้แทนราษฎรที่เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นที่หวังของพี่น้องเกษตรกร ปรากฏว่า ดิฉันพบว่าตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ๓๑ ปีผ่านไป เราพูดถึงเรื่องยางพารา ดิฉันเน้นเรื่อง ยางพารา เรายื่นญัตติถึง ๒๒ ครั้ง เป็นกระทู้ถามอีก ๘๑ ครั้ง รวมแล้วเป็น ๑๐๓ ครั้ง เราพูดกันแต่เรื่องยางพารานี่ละค่ะ แล้วทำไมมันถึงไม่ดีขึ้นเลย ถ้าเป็นบริษัทบริษัทหนึ่งนะคะ และปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมแล้ว ๓๑ ปีเลยนะคะท่านประธาน บริษัทนี้ ใกล้จะเจ๊งแล้วค่ะ ดิฉันเจอหน้าของพี่น้องเกษตรกรทุกครั้ง เจอด้วยความทุกข์ระทม เช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปเลยค่ะ ดิฉันอยากจะเสนอให้เพื่อน ๆ สมาชิกในที่นี้ได้รับฟังนะคะ พี่น้องชาวจังหวัดพัทลุง อำเภอควนขนุน บอกดิฉันว่าตัดยางได้วันละ ๖ กิโลกรัม กิโลกรัมละ ๔๐ บาท ให้ลูกไปโรงเรียนก็ ๒๕๐ บาทแล้ว ถามว่าเอาอะไรมากินในแต่ละวัน ค่ากับข้าว ก็ไม่พอกินแล้ว ค่าน้ำ ค่าไฟอีกจะอยู่กันอย่างไร คนต่อไปนะคะ พี่น้องดิฉันบอกว่าตัดยาง ครั้งหนึ่งแบ่งกันคนละไม่ถึง ๖๐ บาท ชีวิตอยู่ขนาดไหน น่าเอ็นดูขนาดไหน ไม่พอก็ติดลบกัน ไปก่อน ก็อยู่กันแบบนี้ขาดทุนกันไปก่อนอยู่แบบนี้ ติดลบไปเรื่อย ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของผู้ประกอบการรับซื้อน้ำยาง ดิฉันทราบมาว่าเมื่อก่อนจากที่เคย รับซื้อน้ำยางวันละ ๔ ตัน ตอนนี้แค่ให้ได้วันละ ๔๐๐ กิโลกรัมก็ต้องชะเง้อคอกันคอแทบหัก นี่คือสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่จริง ถ้าใครที่ไม่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้หรือพื้นที่ที่มียางพารา คงจะไม่เข้าใจ น้ำตาของพี่น้องชาวสวนยางของดิฉันหลั่งรินซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกปี แล้วเราจะเป็น อย่างนี้ไปถึงเมื่อไรคะ ดิฉันจำได้ว่าในสมัยประชุมสภาครั้งที่แล้วดิฉันเคยได้ยิน สส. เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ขออภัยที่ต้องเอ่ยนามนะคะ เพราะท่านพูดด้วยความรักและห่วงใยเกษตรกร ชาวสวนยางพาราแบบที่ดิฉันพูดนี่ละค่ะ ตอนนั้นท่านอยู่อดีตพรรคอนาคตใหม่ และตอนนี้ วันนี้ดิฉันก็ต้องมาพูดเรื่องเดิมเหมือนกัน เราจะพูดเรื่องนี้ไปอีกถึงเมื่อไร เรื่องนี้เราแก้ไขกัน เสียทีได้ไหมคะ โดยที่ไม่ต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะการที่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง ๑๐๓ ครั้ง แปลว่าการทำงานของเราไม่มีประสิทธิภาพ และการทำงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ๓๑ ปี ไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันจึงอยากจะขอนำเสนอนะคะ วันนี้ดิฉันจะให้เห็นก่อนว่าตอนนี้ราคา น้ำยางพารา ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคมที่ดิฉันดูมา น้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ ๔๓ บาท กลายเป็นว่า ยังต้องขาดทุนอยู่ ๒๑ บาท ต้นทุน ๖๑ บาทเข้าไปแล้วค่ะท่านประธาน ดิฉันรับไม่ได้จริง ๆ ที่เราต้องอยู่กันแบบนี้ต่อไป ดิฉันขอเสนอค่ะ ขอเสนอให้ไทยเราเป็นผู้นำในตลาดโลก รัฐบาลต้องกล้าที่จะเป็นผู้นำ ทุกวันนี้กลไกของตลาดโลกคือเราต้องตามอยู่นะคะ เวลาที่ ถามว่าทำไมราคายางพาราเป็นแบบนี้ ๆ ดิฉันถามใครก็ตาม ตอบคำตอบเดียวกันเลยคือ เราต้องดูราคาตลาดโลก เราต้องอิงตลาดโลก และทำไมเราต้องอิงล่ะคะ ทำไมเราต้องเป็นอิง สิงคโปร์ มาเลเซีย ทำไมเราไม่เป็นผู้นำเสียเอง เราต้องผ่าตัดใหญ่ ประเทศเราป่วยมากแล้ว โดยเฉพาะในวงการยางพารา ดิฉันขอฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนที่เข้ารับหน้าที่ทุกวันนี้ที่เพิ่งรับหน้าที่ไป แล้วก็กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ดิฉันขอฝากให้ทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย ขอให้ท่านกล้าที่จะวาง Vision ใหม่ วางตำแหน่งใหม่ในเวทีโลก ไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก และเป็นผู้กำหนดราคา เป็นผู้กำหนดทิศทางเสียเอง ท่านต้องท้าทายตัวเองให้ได้ และดิฉันมั่นใจว่าถ้าพรรคก้าวไกล เป็นรัฐบาล เรากล้าที่จะทำ เรากล้าที่จะปรับโครงสร้างใหม่ เรากล้าที่จะรื้อ เรา Challenge พอที่จะแก้ปัญหานี้ได้แน่นอน ขอให้เร่งหาตลาดรองรับก็คือว่าให้รัฐร่วมลงทุนในการวิจัย และพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะยางรถยนต์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ใช้ปริมาณยางมากขึ้น แล้วก็ในส่วนของการแพทย์ต่าง ๆ แล้วก็ในชีวิตประจำวันนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ถัดไปเลยนะคะ เนื่องจากเวลามีน้อย ขอให้มีการทำงานในเชิงรุก มากขึ้นแบบเชิงรุกจริง ๆ ที่ไม่ใช่ทำไปวัน ๆ แล้วก็ Matching กันแล้วก็จบ ขอให้มีการ Matching แล้วเกิดผลจริง ๆ มีการติดตามจริง ๆ และขยายมิตรประเทศ FTA มากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อมคือ FSC และ EUDR เพราะสิ่งเหล่านี้ เขาจะมากีดกันทางการค้ากับเรา ถ้าเราไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในประเทศก็ขอให้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ แล้วก็ในชีวิตประจำวันมากขึ้น อะไรที่เป็นสินค้าในชีวิตประจำวันที่เราใช้กันอยู่ขอให้นำมาใช้มากขึ้น และที่สำคัญในตอนนี้ ดิฉันเห็นมีกองทุนต่าง ๆ เยอะแยะมากมายเลยค่ะ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุน ต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกร ขอให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงได้ จริง ๆ ที่ไม่ใช่ไปปล่อยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยที่เกษตรกรเข้าไม่ถึงแบบที่ผ่านมา

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของ Startup แล้วก็ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมแปรรูปยางพารา ขอให้ส่งเสริมมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เกิดการนำยางพารามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปนะคะ สิ่งที่ดิฉันอยากจะนำเสนอก็คือว่าขอให้รัฐบาลใหม่ และรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง ทำทันทีแล้วก็รวดเร็วด้วยนะคะ ไม่เอาแบบ ลูบหน้าปะจมูกแบบที่ผ่านมาแล้ว ดิฉันไม่ต้องการเห็นสภาชุดต่อไปที่ต้องเห็นพวกเรามาพูด เรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นแปลว่าปัญหายังไม่หมดไป ดิฉันต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกร ชาวสวนยางของพวกเราทุกคนทั่วประเทศยิ้มได้ ดิฉันขอฝากประเด็นนี้ไว้กับรัฐบาลใหม่ ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล จากภาคใต้ วันนี้ดิฉันมีเรื่องเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนชาวใต้ ๕ เรื่องที่จะขอฝากผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ เป็นเรื่องของ โครงการขุดวางท่อระบายน้ำเสียใต้คลองเลียบถนนราษฎร์ยินดี หรือที่เรียกกันติดปากว่า คลอง ๓๐ เมตร ตอนนี้เกิดปัญหาอุปสรรคคือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัย อยู่บริเวณดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเกิดปัญหาการใช้เส้นทางสัญจรของประชาชน ซึ่งบริเวณนี้ได้มีการขุดปิดหน้าดินเพื่อวางท่อทำให้มีน้ำจากใต้ดินขึ้นมา ทำให้ดินบริเวณนั้น เป็นโพรง ทำให้กำแพงทรุดตัว ถนนพัง และถ้าสังเกตจากในรูปนี้จะเห็นว่ามีหิน มีดินทราย ในท่อระบายน้ำทำให้ตื้นเขินและเกิดน้ำล้นตลิ่งได้หากฝนตกหนัก จึงขอฝากไปยังเทศบาล นครหาดใหญ่ให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จโดยไว เนื่องจากตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ แล้วหากยังปล่อยไว้แบบนี้จะเกิดปัญหาตามมาและเกิดปัญหาน้ำท่วมในบริเวณนั้นแน่นอน และที่สำคัญท่านจะเห็นว่าก่อนหน้านี้มีเพื่อนสมาชิกได้กล่าวไปแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขอให้เร่งดำเนินการโดยไวนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ พี่น้องประชาชนที่ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เดือดร้อนจากการสัญจรยากลำบากเนื่องจากการเดินทางที่ต้องอ้อมไกลในการข้ามฝั่ง เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยมายาวนานแล้ว ตอนหลังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ จึงกลายเป็นเกาะขึ้นมาแยกเป็น ๒ ส่วน ประชาชนกำลังรอการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง ๒ ฝั่งอยู่นะคะ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบลลานข่อยร่วมกับองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดพัทลุงได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ ณ ตอนนี้ ยังทำอะไรไม่ได้ยังรออยู่นะคะ เนื่องจากกรมชลประทานไม่สามารถอนุญาตเองได้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ไม่ทำอะไรนะคะ จึงขอเร่งดำเนินการ ให้มีการจัดทำสะพานตรงบ้านห้วยน้ำใสโดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อไป ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดพัทลุงก็คือชาวบ้าน เดือดร้อนจากน้ำท่วมเนื่องจากมีการทำถนนใหม่ แต่ท่อที่ใช้คือมีขนาดเล็กทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ระบายไม่ทันในฤดูฝน จะเห็นจากภาพนี้ว่าน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนที่จังหวัดพัทลุง อำเภอเขาชัยสน แล้วก็เป็นแบบนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งในอนาคตประชาชนวางแผนไว้ว่าจะทำเป็น แหล่งท่องเที่ยวในบริเวณนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ในขณะนี้คลองนี้เป็นคลองที่แห้งเนื่องจาก มีการกั้นฝายทำชลประทานในหมู่ที่ ๙ ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตอนนี้ ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการดูดน้ำจากคลองมาใช้อยู่ ซึ่งจากคลองเองบางทีก็มีสารเคมีจากคลอง ทำน้ำไม่สะอาดนะคะ จึงของบประมาณจัดทำเจาะบ่อบาดาลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือให้การประปาส่วนภูมิภาคขยายการบริการถึงจุดนั้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ เรื่องสุดท้าย ลักษณะเดียวกันแต่เป็นอีกที่หนึ่ง คือหมู่ที่ ๑๐ ตำบลท่ามิหรำ จังหวัดพัทลุง เกิดปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคไม่ปลอดภัยเนื่องจากสูบน้ำ จากลำคลองมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีจากการเกษตร ต้องการให้การประปาส่วนภูมิภาค ขยายขอบเขตการให้บริการประชาชนจนถึงบริเวณนั้น จึงขอฝากท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง สำหรับปัญหาด้านที่ดินนั้น ในพื้นที่ภาคใต้ก็เช่นเดียวกันค่ะท่านประธาน มีปัญหาหลากหลายกรณีมากมาย ในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรนั้น อันดับแรก เราจะต้องแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้ได้ก่อน ถ้าเกษตรกรยังไม่สามารถที่จะมีที่ดิน ของตัวเองได้ ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรได้ เปรียบเสมือนว่าหากรากเน่า แล้วลำต้น ดอก ผลจะสมบูรณ์ได้อย่างไร ทุกวันคืนที่ผ่านไปคนจำนวนหนึ่งอาจจะทำมาหากิน อยู่ในเมือง มีทางเลือกมากมาย แต่ในขณะเดียวกันยังมีพี่น้องร่วมชาติของเราอีกจำนวนมาก ที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศนี้ ยังต้องดิ้นรน ยังต้องทำมาหากิน หาทางทวงคืนที่ดิน ที่เคยเป็นของตนเอง ท่านประธานคะ พี่น้องจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้แจ้งดิฉันว่าประสบปัญหา ที่ดินทำกินทับซ้อนในอำเภอชัยบุรี แต่แทนที่รัฐจะอนุญาตให้ประชาชนได้ทำกินในที่ดินนั้น กลับกลายเป็นว่ารัฐปล่อยให้เอกชนเช่ายาวนานกว่า ๑๐ ปีแล้ว เหตุใดจึงทำแบบนั้น เหตุใด จึงปล่อยให้เอกชนเช่า แทนที่จะให้พี่น้องประชาชนของเราทำมาหากินได้ใช้ประโยชน์ จากพื้นที่ตรงนั้น ในขณะเดียวกันเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในจังหวัดกระบี่ ก็เช่นเดียวกันค่ะ ดิฉันทราบมาว่าในจังหวัดกระบี่ก็เกิดเรื่องราวลักษณะนี้เช่นเดียวกัน จึงอยากจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากล ถึงความผิดปกติของกรณีดังกล่าว และเรื่องนี้พี่น้องประชาชนได้เดินทางมาถึง สภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนที่แล้ว และได้ยื่นหนังสือกับสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ดิฉัน จึงอยากจะเรียกร้องขอให้ทางท่านประธานเร่งรัดและดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามที่ เขาได้ร้องเรียนมาตามขั้นตอนโดยเร่งด่วนด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับพี่น้องประชาชน ในจังหวัดพัทลุงก็เช่นเดียวกัน ดิฉันได้รับเรื่องมาเช่นเดียวกัน ในพื้นที่ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต ป่าพะยอม และพื้นที่รอบ ๆ เทือกเขาบรรทัดบริเวณรอยต่อ ทั้งพัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ข้อพิพาทที่ดินกับรัฐมายาวนาน หลังจากนั้นได้มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวน แห่งชาติทับซ้อนกับที่ดินทำกินของประชาชน บางพื้นที่ก็มีการจับกุมประชาชนด้วย ประชาชนที่เข้าไปทำมาหากินโดยสุจริต เป็นที่ดินของตนเองแท้ ๆ แต่ว่าถูกคุกคาม ทำให้ ประชาชนไม่อยากมีปัญหากับรัฐจึงต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ในที่สุดก็ต้องไปทำงาน ต่างแดน เมื่อไปต่างแดนแล้ว แน่นอนค่ะ ภูมิภาคแต่ละจังหวัดก็จะขาดประชากรที่มี ศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ไป ยกตัวอย่างนะคะท่านประธาน ดิฉันอยากจะให้ดูตัวอย่าง กรณีนี้ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่เจอ ท่านจะเห็นได้ว่านี่คือโฉนด ในอดีตเคยเป็นที่ดินที่มีเอกสาร สิทธิและประชาชนเป็นเจ้าของด้วย สามารถเอาไปจำนองได้ด้วย แต่วันดีคืนดีอยู่ ๆ ก็มี การประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ไม่สามารถที่จะทำอะไรต่อได้เลย ประชาชนต้องรีบไป ไถ่คืนมา จะไปจำนองซ้ำก็ไม่ได้ ประชาชนก็เลยทำหนังสือทวงถามไปว่าพื้นที่ตรงนี้เราเคยมี กรรมสิทธิ์ เหตุใดอยู่ ๆ เราถึงทำอะไรไม่ได้ ก็มีหนังสือตอบกลับมาด้วยว่าได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้ นี่คือถูกต้องทุกอย่างเลย นี่คือกรณีหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นดิฉันทราบมาว่าป่าพะยอม ศรีบรรพตในจังหวัดพัทลุง ตำบลลานข่อย ทั้งตำบลเลยถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการตรวจสอบสิทธิกันใหม่อีกรอบหนึ่ง ช่วยกันดูหน่อยว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าประชาชนอยู่อาศัยที่นี่มา ๑๐๐ กว่าปีแล้ว แล้วในขณะที่เพิ่งมาประกาศเมื่อปี ๒๕๕๗ นี่เอง แล้วประชาชนเองก็ถูกคุกคามเชิงนโยบาย ตลอดเวลา ทำอะไรไปก็จะโดนจับ ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปในกรณีที่ประชาชนต้องการจะตัดต้นยาง หลาย ๆ คนพอจะทราบ มาบ้างใช่ไหมคะว่ายางพารามีอายุจำกัด เมื่อถึงวันหนึ่งเมื่อหมดสภาพไปแล้ว หมดอายุแล้ว เราก็ต้องตัดยางพาราเพื่อที่จะปลูกยางใหม่ขึ้นมา แต่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย พื้นที่แถว ๆ นั้น รอบ ๆ เชิงเขาที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานเขาไม่สามารถตัดได้เลย ไม้ก็จะคาอยู่แบบนี้ นี่คือปัญหาที่ดิฉันได้รับฟังมาเยอะมาก ๆ เลย เพราะฉะนั้นปัญหานี้ต้องรีบแก้โดยเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • อีกประการหนึ่ง เรื่องนี้ดิฉันเคยนำเข้าสู่สภาไปแล้วครั้งหนึ่ง คือเมื่อก่อน เป็นพื้นที่ประชาชนอาศัยอยู่ แต่ต่อมาปรากฏว่าเป็นอ่างเก็บน้ำ มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน ประชาชนโดนตัดขาด ไม่สามารถสร้างสะพานได้ ในขณะที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เขามีหนังสือ เขาเตรียมงบประมาณทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ขอแค่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชอนุญาตเท่านั้นเองก็ทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการอนุญาตอย่างถูกต้อง นี่คืออีกปัญหาหนึ่งที่ดิฉันอยากจะนำเสนอให้ฟัง

    อ่านในการประชุม

  • อีกประการที่ดิฉันมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าเราไม่รีบแก้ปัญหาเหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อเรื่องของวัตถุดิบยางพาราที่จะส่งออกจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ หลายท่านน่าจะเคยได้ยินเรื่องของ FSC แล้วก็มาตรฐานกฎหมายของ EUDR มาแล้ว คือต่อไปถ้าเราไม่มีมาตรฐานเหล่านี้ ประเทศไทยเราจะถูกกีดกันในเรื่องของวัตถุดิบ จากยางพารา ดิฉันเคยอภิปรายเรื่องนี้ไปแล้วในเรื่องของยางพาราเมื่อเดือนที่แล้ว เพราะฉะนั้นอยากจะให้ปลดล็อกเรื่องของที่ดินทำกินโดยเร่งด่วน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้อง โดนข้ออ้างเหล่านี้จากต่างประเทศในการที่จะกีดกันทางการค้า

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะท่านประธาน ดิฉันอยากจะเรียกร้องสิ่งที่ดิฉันเล่าไปทั้งหมด ดิฉันอยากจะเรียกร้องขอให้มีการปลดล็อกที่ดินทำกินทันที ดิฉันขอทันทีเลยนะคะ แล้วก็ ทันใจ ให้ทันใจประชาชน แล้วก็ทันเวลา สิ่งเหล่านี้เราพูดกันมาในสภาแห่งนี้ เราพูดกันมา หลายครั้งมากแล้ว ประชาชนที่เขาต้องรอความหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกวันที่ผ่านไปที่เขาต้อง ทำมาหากินแต่เขาทำอะไรไม่ได้ มันช่างเป็นเวลาที่ทรมานเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ดิฉันไม่อยากให้เราพูดแล้วก็จบไป ตอนนี้เราก็มีกรรมาธิการที่ดินแล้ว เราก็มีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประชาชนร้องเรียนมา เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะขอให้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่เราเสนอแก้ หรือกรรมาธิการก็ตาม ขอให้ช่วยกันรีบปลดล็อกทันที ทันใจ ทันเวลา ประชาชนด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากเมื่อสักครู่ ดิฉันฟังเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูดถึงตลาดทุนถึงความบกพร่องในการกำกับดูแลตลาดทุน ของ ก.ล.ต. แต่ยังไม่มีเพื่อนสมาชิกคนไหนที่พูดถึงอีกกรณีหนึ่งที่เป็นความเสียหาย เช่นเดียวกันดิฉันจึงขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้พูดถึงกรณีของเหรียญ Cryptocurrency สินทรัพย์ Digital ของ Zipmex ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่อง ความหละหลวม ของ ก.ล.ต. เช่นเดียวกัน ดิฉันไม่สามารถจะนิ่งเฉยอยู่ได้นะคะ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานค่ะ ที่ผ่านมา น่าจะมีเพื่อนสมาชิกหลายคนเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องของสินทรัพย์ Digital Zipmex ที่มีปัญหาอยู่ ดิฉันขอเป็นตัวแทนของผู้เสียหายเกือบ ๗๐,๐๐๐ ราย ดิฉันได้รับหนังสือ ร้องเรียนโดยตรงจากผู้เสียหาย ก่อนอื่นเลยขอเล่าให้ฟังว่าคืออะไร เหรียญ Zipmex เป็น Cryptocurrency ชนิดหนึ่งซึ่งหลาย ๆ คนต้องการที่จะไปเก็บเงินไว้เปรียบเสมือน เป็นเงินออมเนื่องจากมีดอกเบี้ยสูง ทีนี้ถามว่าดอกเบี้ยนั้นมาจากไหน ดอกเบี้ยนั้นก็คือว่า Zipmex Thailand ก็ระดมสินทรัพย์ทุนจากผู้ลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากดอกเบี้ยสูง เพื่อจูงใจก็จะมีคนลงทุนเยอะ แล้วก็โอนสินทรัพย์จาก ZipUp+ ไปลงทุนต่อกับผู้ค้าธุรกิจ โดยมีแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อให้มีผู้คนมาซื้อเหรียญ Cryptocurrency ตัวนี้มากขึ้น โดยนำเงินนี้ ไปลงทุนใน Babel ประมาณ ๔๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วก็ไปลงทุนใน Celsius Bid ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยคืนกลับมาให้กับผู้ลงทุน แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันดันมีปัญหาเกิดขึ้นค่ะท่านประธาน คือเมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ปีที่แล้วเกิดการประกาศระงับการถอนเหรียญ Cryptocurrency นี้ขึ้นมา คือไม่สามารถ ถอนเงินได้นั่นเอง นี่สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมค่ะ สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้า ก.ล.ต. เข้มงวด แล้วก็มีการกำกับดูแลที่ดีกว่านี้ ผู้เสียหายจากกรณีนี้ ประมาณเกือบ ๗๐,๐๐๐ คน เป็นผู้ลงทุนรายย่อย และมูลค่าความเสียหายประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้เสียหายพยายามที่จะดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง มาตลอดเลย ในความเป็นจริงดิฉันอยากจะตั้งคำถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การลงทุนในตลาด หลักทรัพย์มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง แล้วใครกันที่เป็นคนควบคุมกติกา ก.ล.ต. ใช่หรือไม่ แล้วทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ดิฉันเลยไปดู พ.ร.ก. ที่เกี่ยวข้อง ไปดู พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลพบว่าเข้าข่ายละเมิดหลายมาตราเลยค่ะ มีความผิดหลายมาตราเลย ถ้าเราดูกันจริง ๆ ยกตัวอย่างในกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลอาจก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประชาชนในวงกว้าง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ต้องรายงาน ข้อเท็จจริงและประเมินผลกระทบ หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว แค่ข้อนี้ก็ละเมิดแล้วค่ะ ข้อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ดิฉันสืบถามข้อมูลมา ดิฉันไม่เจอเลยว่า ก.ล.ต. เคยรายงาน Case นี้ กับรัฐมนตรีนะคะ แต่ถ้ามีรายงานแล้วดิฉันก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าทางรัฐมนตรีในชุด ที่แล้วทำอย่างไรต่อ เพราะฉะนั้น ครม. ชุดนี้ ดิฉันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งเลยว่า Case นี้จะมี การรายงาน รวมถึง Case ก่อนหน้านี้ที่เพื่อน ๆ อภิปรายไปแล้วจะมีความจริงจังในการ แก้ปัญหาจากคณะรัฐมนตรีชุดนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปที่ดิฉันรับรู้มาจากประชาชน ดิฉันสรุปได้ว่า ก.ล.ต. หละหลวม ละเลย เรื้อรัง แล้วก็ล่าช้า เกิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว นี่แค่ Case เดียวเท่านั้นนะคะ และประชาชนเสียหายถึง ๗๐,๐๐๐ คน ปล่อยมาได้อย่างไรตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ๑ ปีกับอีก ๒ เดือนแล้วผู้เสียหายต้องดูแลตัวเองกันโดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปดิฉันจะให้ดูตัวอย่างที่ประชาชนเดือดร้อน และรู้สึกตั้งคำถามก็คือว่า ในกรณีความเสียหาย ๓,๐๐๐ ล้านบาทแบบนี้ ก.ล.ต. เรียกปรับกรณีนี้แค่ ๑๑ ล้านบาท เท่านั้น นี่คือประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม ในความเป็นจริงค่าปรับต้องสูงกว่านี้ค่ะ ค่าปรับแบบนี้ มาตรการแบบนี้ กฎหมายแบบนี้ คนที่ทำผิดเขาจะไปกลัวอะไร สุดท้าย ก็ปล่อยละเลยมาแบบนี้มันก็เลยไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ดิฉันอยากให้เห็น สิ่งที่ผู้เสียหายได้ดำเนินการไปแล้วที่เขาดูแลตัวเองกันก็คือว่าไปยื่นหนังสือร้องเรียน ที่ ก.ล.ต. ก็แล้ว ไปแจ้งความที่ สอท. ๑ ก็แล้ว ไปที่ ปอส. ก็ไปมาแล้ว บางคนถึงกับฟ้องศาล แพ่งและอาญาเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทีนี้มันจะมี Timeline ที่ชัดเจนมากเลย ดิฉันขอยกตัวอย่าง ดิฉันขอไปเร็ว ๆ คือผู้เสียหายเขาดูแลตัวเองกันมาตลอดเลยค่ะ ถามว่า ประชาชนในประเทศนี้ต้องดูแลตัวเองหรือคะ อย่างนี้จะมี ก.ล.ต. ไว้ทำไม

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาอุปสรรคต่อการดำเนินการกรณีนี้คือประชาชนไม่ได้รับข้อมูล หรือเอกสารหลักฐานที่เหมาะสมและเพียงพอจาก ก.ล.ต. ในการที่จะไปฟ้องร้องต่อ ไม่รู้ ขั้นตอนในการเอาผิด ไม่มีการแนะนำข้อมูลหรือดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้รับ ความร่วมมือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ มีความยุ่งยากในขั้นตอนการติดตาม ทวงคืนทรัพย์สิน ในที่สุดประชาชนบางคนไม่เหลือเงินเก็บเลย บางคนต้องมีปัญหาครอบครัว ด้วย ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพจิต บางคนเงินทั้งชีวิตเลย เขาบอกดิฉันว่าเงินทั้งชีวิต หมดไปแล้ว ประสบปัญหาในการดำรงชีพเนื่องจากไม่เหลือแล้วนะคะ ด้วยความไว้วางใจ ด้วย Logo ก.ล.ต. นี่ค่ะ Stamp ไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ประชาชน ๗๐,๐๐๐ คน เสียหายแล้วก็ผิดหวังมาก ๆ สิ่งที่เขาตั้งข้อสังเกตกันจากที่ได้พูดคุย กับดิฉัน และร้องเรียนมาก็คือผู้เสียหายสงสัยว่า คือที่ผ่านมาเขาก็หลงเชื่อ แล้วก็เชื่อใน ผลิตภัณฑ์นี้เพราะ ก.ล.ต. รับรอง ดิฉันก็เข้าไปดูใน Website ของบริษัทนี้ปรากฏมีคำว่า ก.ล.ต. รับรองแทบทุกหน้าเลยค่ะท่านประธาน คือมีคำว่า ก.ล.ต. เยอะมากเลย ไม่แปลกค่ะ ที่ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ ทีนี้พอเชื่อแล้วนี่มันกลายเป็นว่าเขาเชื่อว่า ก.ล.ต. จะดูแล มีการโฆษณาและมีการอ้างถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศนี้ด้วย ทีนี้พอตอนหลังมีปัญหาขึ้นมา บริษัทก็ยื่นขอพักชำระหนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้เสียหายก็พบว่าสินทรัพย์นี้ถูกระงับไว้แล้ว แต่จำนวนที่เคยมีอยู่มันลดลง ทำไมมันลดลงไปมันไม่ควรจะเป็นแบบนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้อยากจะมีคำถามไปถึง ก.ล.ต. ว่า ก.ล.ต. จะมีแนวทางการกำกับดูแล อย่างไร ทำไมจึงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ทำไมถึงให้ประชาชนต้องเดือดร้อนแบบนี้ ทั้งที่บริษัทนี้ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. แท้ ๆ นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตต่อมาก็คือว่า ในเมื่อมีการบอกว่ามีข้อตกลงในการใช้บริการ ZipUp+ ที่บริษัทอ้างว่าลูกค้าตกลงเอง คุณไปกดเอง ดิฉันได้ดูตัวอย่างนะคะ ประชาชน ให้ดิฉันดูหน้าจอเลยคือมัน ๆ กดเอง แล้วบางคนเป็นภาษาอังกฤษ บางคนก็ไม่ได้เข้าใจ ทั้งหมด บางครั้งก็เลยมีปัญหา และพนักงานของบริษัทก็มีการโน้มน้าว สิ่งที่ดิฉันพูดทั้งหมด มันเผยแพร่อยู่แล้วในสาธารณะ ทีนี้ผู้เสียหายก็เกรงว่าจะมีปัญหา จะได้รับการข่มขู่ เพราะเกรงผู้มีอำนาจในประเทศนี้เข้าแทรกแซงทำให้คดีนี้ล่าช้าจึงร้องเรียนมายัง พรรคก้าวไกล เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือก็คือว่า ต้องการให้ช่วยเร่งดำเนินงาน ที่เขาร้องเรียนไปแล้วไม่ว่าจะเป็น DSI ก.ล.ต. ปอส. สอท. ๑ ก็ตาม ช่วยเร่งให้หน่อย แล้วก็ปราบปรามข้าราชการที่ฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ และคดีอื่น ๆ ใน ก.ล.ต. ที่ใช้อำนาจ ในทางไม่ชอบ เพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่ได้รับความยุติธรรม

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอสุดท้ายค่ะท่านประธาน ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ สอบสวน กรณีความเสียหายทั้งกรณีก่อนหน้านี้ที่เพื่อนสมาชิกพูดไปแล้ว และดิฉันขอให้ในกรณี Zipmex ด้วยโดยเร่งด่วนเลยนะคะ แล้วก็ช่วยเหลือผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรม ให้ปรับโครงสร้าง ก.ล.ต. ให้มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ รัดกุม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โลกมันหมุนไปเร็วนะคะ ดิฉันทราบว่ากรณีคล้าย ๆ กันที่ประเทศอื่นผู้เสียหายเขาได้ รับเงินคืนแล้วแต่ประเทศไทยผู้เสียหายไม่ได้อะไรเลย และแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับกรณีนี้ดิฉันขอแจ้งไว้ในที่นี้ข้อมูลนี้อาจจะถูก ส่งไปที่ ครม. ในอนาคตถ้าไม่มีความคืบหน้าดิฉันขออนุญาตที่จะตั้งกระทู้ถามไปยังรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องต่อกรณีนี้ เพราะคน ๗๐,๐๐๐ คน ไม่ใช่น้อย ๆ ที่เสียหาย และถ้ายังไม่มี ความคืบหน้าอีก แน่นอนค่ะในขณะเดียวกันดิฉันจะนำเข้าคณะกรรมาธิการเช่นเดียวกัน สำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะว่าผู้เสียหายอีก ๗๐,๐๐๐ คน เขารอความหวังอยู่นะคะ ท่านประธาน ดิฉันจึงขอกราบเรียนว่าในที่นี้ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้ดิฉันมีความเดือดร้อนจากพี่น้อง ประชาชนจำนวน ๕ เรื่อง เพื่อขอให้มีการดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก คือการก่อสร้างถนนเพชรเกษม เส้นพัทลุง-สงขลา เส้นนี้ มีความยืดเยื้อยาวนานรถติด ไม่สะดวกในการสัญจร ก่อให้เกิดความรำคาญในการสัญจร แก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเวลาที่มีคนป่วยอยู่ในขบวนนั้น บางครั้งอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้ จริง ๆ ต้องเสร็จตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แล้ว แต่ว่าปัจจุบันปี ๒๕๖๖ ยังไม่แล้วเสร็จนะคะ จึงขอให้มี การรีบดำเนินการแล้วก็รีบแก้ไขโดยเร่งด่วนไม่ว่าจะติดขัดเรื่องใดก็ตาม

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา ความเดือดร้อนประการต่อมาคือพี่น้องชุมชนคลองหมวย ปากทางเข้าออกอำเภอศรีนครินทร์-กงหรา ต้องการให้ติดตั้งไฟจราจรเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่นี้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ดิฉันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการโดยเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาความเดือดร้อนถัดไป คือมีกลิ่นเหม็นมูลสุกร สร้างมลพิษแก่นักเรียน โรงเรียนวัดบ้านสวน และประชาชนที่อาศัยอยู่ที่ตำบลบ้านสวน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบหาทางแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน เนื่องจากทุกวันนี้ประชาชนอยู่ กันอย่างยากลำบากเป็นมลพิษนะคะ บางครั้งนั่งหน้าบ้านก็จะมีกลิ่นติดตัวไปด้วย จึงขอให้มีการรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา ปัญหาความเดือดร้อนถัดไปเป็นความเดือดร้อนของพี่น้อง จากจังหวัดสงขลา คือเกิดปัญหาจากฝุ่นจากโรงไม้ถึง ๒ แห่ง คือมาจากอำเภอสะเดา และอำเภอหาดใหญ่ เกิดฝุ่นไม้เป็นเวลานานกว่า ๔ ปีแล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ หาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน จากภาพจะเห็นฝุ่นไม้เกาะรถ เกาะเครื่องใช้ไฟฟ้าเต็มไปหมดเลย ประชาชนจำเป็นที่จะต้อง เข้าบ้านปิดประตู ปิดหน้าต่างตลอดเวลา เด็กเล็กไม่สามารถนั่งเล่นหน้าบ้านได้ เนื่องจาก จะมีฝุ่นเข้า ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา ประการสุดท้ายคือความเดือดร้อนจากพี่น้องจังหวัดตรัง ท่าเรือกันตังทุกวันนี้ทรุดโทรมไม่ได้รับการดูแล มีทรายกองไว้ยาวนานหลายปีแล้ว คนในพื้นที่ไม่สามารถที่จะเข้าไปใช้ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะได้ บางครั้งอยากจะสร้าง เป็นแหล่งท่องเที่ยว อยากจะสร้างเป็นตลาดก็ไม่สามารถทำได้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปบูรณะให้เกิดความเรียบร้อยมากขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ในการท่องเที่ยวด้วย ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันเป็นลูกหลานชาวใต้ ดิฉันเติบโตมากับพี่น้องชาวใต้และรับรู้ความรู้สึก มาตลอดว่ายังมีพี่น้องของเราอีกบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่ได้เหมือนกับ พวกเราภาคใต้จังหวัดอื่น ๆ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อน ๆ ของเรา เด็ก ๆ น้อง ๆ ของเรา ต้องเติบโตมาท่ามกลางความรู้สึกหวาดกลัว ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต้องเติบโตมาท่ามกลาง ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย เป็นแบบนี้มาตลอดระยะเวลายาวนาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเจอ ล้วนแต่ฝังลึกลงไปในจิตใจ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เติบโตขึ้นเมื่อถึงวัยทำงานก็ทำให้เกิดปัญหา สมองไหล ปัญหาแรงงานคนรุ่นใหม่ออกไปหางานทำนอกพื้นที่ บางหมู่บ้านก็เลยมีแค่ คนสูงอายุ เด็กและเยาวชน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าอยู่ในพื้นที่จะทำมาหากินอะไร แน่นอนค่ะ เมื่อแรงงานออกไปทำงานที่อื่นทำให้ศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ลดน้อยลง แทนที่ ๓ จังหวัดภาคใต้จะเติบโตเหมือนจังหวัดอื่น ๆ กลายเป็นว่าถดถอยไปมากกว่าเดิม มุมมองของสันติภาพสำหรับดิฉัน ดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องสันติภาพ กินได้ไม่แพ้สันติภาพ ด้านอื่น ๆ ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ในขณะนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันดิฉันมองว่า ๓ จังหวัดชายแดนใต้ยังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารอยู่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อุดมสมบูรณ์มาก ๆ เหมาะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่เนื่องจากมี กฎหมายพิเศษอยู่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทำให้คนหนุ่มสาวจำเป็นจะต้องออกไปหางานทำ ในพื้นที่อื่น ๆ แน่นอนทำให้แรงงานที่จะทำการเกษตรลดน้อยลง จากตัวอย่างที่ดิฉันจะให้ดู นี่คือตัวอย่างปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ที่ผลิตขึ้นมาจาก ๓ จังหวัดภาคใต้ ได้แค่ ๗ กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด ทั่วประเทศที่มีถึง ๕๔ กิโลกรัมต่อคนต่อปี นั่นแปลว่าถ้า ๓ จังหวัดชายแดนใต้มีประชาชน มีแรงงาน มีเกษตรกรมากกว่านี้ผลผลิตที่จะได้ในจังหวัด รายได้ที่จะตามมา ผลิตภัณฑ์ มวลรวมในจังหวัดก็จะมากขึ้นตามมานั่นเอง ต่อมาอีกด้านหนึ่ง ด้านขวามือเป็นตัวอย่าง ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ไข่เป็ดใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ผลิตได้เพียง ๑๔.๙ ฟองต่อคนต่อปี เทียบกับความต้องการของคนไทยทั่วประเทศโดยเฉลี่ย ๒๖๗ ฟองต่อคนต่อปี นั่นแปลว่า ความต้องการในประเทศยังมีอีกเยอะ แต่พื้นที่ภาคใต้ยังผลิตได้น้อยเนื่องจากไม่มีประชากร ไม่มีแรงงาน เพราะฉะนั้นถ้าทุกอย่างสงบสันติภาพกินได้ ความมั่นคงทางอาหารที่ใช้ใน จังหวัดเองและข้างนอกก็ได้เช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • ในเรื่องของสันติภาพกินได้ สินค้าชุมชน ธุรกิจเพื่อสังคมต่าง ๆ ก็จะเติบโต เช่นเดียวกัน ดิฉันยกตัวอย่างให้ดูสำหรับในตัวอย่างนี้ก็คือสินค้าที่ทำจากนมแพะ นี่คือนมแพะมาจู เป็นนมแพะที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่ผลิตนมแพะขึ้นมาให้ได้มาตรฐาน พร้อมสำหรับการจำหน่าย นี่คือเป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่าหากเรามีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ก็จะเห็นว่าสามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตได้มากกว่านี้ นี่คือโครงการที่ได้รับ การส่งเสริมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นถึงความพร้อม ว่าเป็นความพร้อมที่สามารถที่จะส่งออกได้หากได้รับการส่งเสริม นั่นแปลว่าสินค้าชุมชน หรือธุรกิจเพื่อสังคมในพื้นที่ยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้หาก ๓ จังหวัดชายแดนใต้ มีสันติภาพ

    อ่านในการประชุม

  • สันติภาพต่อเศรษฐกิจฐานรากในมุมมองของดิฉัน น่าเสียดายมากที่ผ่านมา เราเสียโอกาสมามากแล้ว เราเสียโอกาสมาตั้งเท่าไรแล้ว ใครอยากไปเที่ยวเมืองที่มีทหาร คอยถามทางตลอดเวลาว่าจะไปไหน มาจากไหน บ้านอยู่ไหน มากี่คน จะไปไหนต่อ นักท่องเที่ยวที่ไหนเขาอยากจะไปเที่ยวเมืองแบบนั้น นั่นแปลว่าเราเสียโอกาสในการที่จะทำ ท่องเที่ยวชุมชน เราเสียโอกาส เสียรายได้ในการทำท่องเที่ยวมามากแล้ว ดิฉันอยากให้เห็น ภาพสวยงามของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ที่ดิฉันเคยไปสัมผัสมา นี่เป็นภาพที่สวยงามมาก ๆ มีทะเลหมอกไม่ต่างจากภาคเหนือเลย มีทะเล มีภูมิปัญญา มีวิถีชีวิต มีอัตลักษณ์ชุมชน ที่สวยงามมาก ๆ ดิฉันอยากให้พี่น้องทั่วประเทศได้ไปเห็นภาพนี้ แน่นอนค่ะถ้ามีสันติภาพ สิ่งเหล่านี้ก็จะปรากฏสู่สายตาคนทั้งประเทศและสายตาชาวโลกมากขึ้น เพราะฉะนั้น ดิฉันเชื่อว่าหากการเมืองดี ปากท้องดี ๓ จังหวัดชายแดนใต้มีอนาคตแน่นอน ดิฉันขอเรียกร้อง ให้คืนสันติภาพ คืนลมหายใจ คืนโอกาสเศรษฐกิจที่ดีที่รุ่งเรืองสู่ชายแดนใต้ เพราะฉะนั้น ดิฉันขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญสำหรับศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราจะไม่ตั้ง ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยเฉพาะ เพื่อให้ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ของเราพัฒนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากจังหวัดพัทลุง ดิฉันยินดีมาก ๆ เลยวันนี้ที่ได้นำเรื่องราวของทะเลสาบสงขลาเข้ามาให้ เพื่อน ๆ ในสภาแห่งนี้ได้ฟังและให้ประชาชนทั่วประเทศได้รู้จักทะเลสาบสงขลามากยิ่งขึ้น ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช เวลาที่เราเรียกทะเลสาบสงขลาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด จะเรียกว่าอย่างไร สำหรับพัทลุงบ้านเกิดของดิฉันเราก็จะมีในส่วนที่เราเรียกว่าทะเลลำปำ ทะเลน้อย หรือบางคนเราก็จะเรียกว่าทะเลพัทลุงก็เป็นความภาคภูมิใจของพวกเรา

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับความสำคัญของทะเลสาบสงขลา ก็เป็นความสำคัญระดับนานาชาติ ตอนนี้พัทลุงเรามีทะเลสาบที่เราภาคภูมิใจ คือจัดเป็นทะเลสาบลากูนหนึ่งเดียว ของไทยและเป็นหนึ่งใน ๑๑๗ แห่งทั่วโลก เป็นพื้นที่ Ramsar Sites เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นทะเลสาบที่เรียกว่าเป็นทะเลสาบ ๓ น้ำ เป็นป่าต้นน้ำมาจากเทือกเขาบรรทัด แล้วก็แนวเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นระบบนิเวศแบบผสมผสาน เรามีป่าชายเลน มีป่าพรุ มีทั้งแหล่งน้ำจืด เป็นทะเลสาบที่สำคัญมาก ๆ ในพื้นที่ มีน้ำจากหลายสายในจังหวัดพัทลุง ไหลมารวมกันอยู่ที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เราทราบมามีประวัติค้นพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ปีแล้ว พบหลักฐานกระดูกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ และพบขวานหินขัดสมัยใหม่ มีหลักฐานการเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่เมืองโบราณ เราพบกำแพงเมืองโบราณในฝั่งสงขลา และในขณะเดียวกันในฝั่งพัทลุงเองเราก็พบหลักฐานมายาวนานเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลาง ของฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกตั้งแต่ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ดิฉันอยากจะให้ เพื่อน ๆ ได้เห็นความสวยงาม อยากจะให้ประชาชนทั่วประเทศได้เห็นความสวยงาม ของทะเลสาบสงขลาว่าเรามีอะไรบ้างนะคะ ทะเลสาบสงขลาเรามีพื้นที่ที่สวยงาม นี่คือตัวอย่างแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของทะเลสาบสงขลา ถ้าท่านใดไปนั่งเรือตอนเช้า ๆ ท่านจะเห็นว่าจะมีแสงสีส้มขึ้นมาแบบนี้ในตอนเช้า รวมถึงตอนพระอาทิตย์ตกตอนเย็น หลังจากนั้นเราสามารถที่จะนั่งเรือไปท่องเที่ยวชมนกน้ำ ชมบึงบัวแบบนี้ แล้วเราก็จะมี ปลาโลมา นี่คือปลาโลมาอิรวดีเป็นปลาโลมาหน้ายิ้มแสนน่ารัก เป็นเพื่อนสัตว์น้อยที่น่ารัก ของเราที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีแล้ว มีแค่ ๑๔ ตัวสุดท้ายเท่านั้นจากการที่ไปสำรวจมา แล้วก็เป็นแหล่งทำประมงของชาวประมง นอกจากนั้นทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ยังเป็นที่ ทำนา เราทำนาริมทะเลสาบด้วย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชุมชนที่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีที่ใดเหมือน จากภาพท่านจะเห็นว่านี่คือการทำนาแบบดั้งเดิม หรือเราเรียกกันว่านาริมเลเป็นการทำนา พื้นที่เดียวในพัทลุงและไม่มีที่อื่นที่ทำได้ ทะเลสาบที่อื่นเขาทำแบบนี้ไม่ได้ กินพื้นที่ประมาณ ๖๓ ไร่ และจะทำนาปีละ ๑ ครั้ง คือในช่วงฤดูน้ำลดในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เนื่องจากช่วงนั้นเป็นการสะสมของโคลนทั้งปีตามธรรมชาติก็ทำให้ต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่ต้อง ใส่ปุ๋ยเคมี มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ก็ทำเพื่อการขายด้วย แล้วก็บริโภคกันเองในพื้นที่ด้วย นอกจากนั้นเรายังมีสินค้าจากปลากะพง จากที่เห็นจะมีปลากะพงที่เราเรียกกันว่าปลากะพง ๓ น้ำ นี่คือทำจากผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่พยายามพัฒนาตัวเอง โดยเลี้ยง ในทะเลสาบสงขลานี่ละค่ะ ปลากะพง ๓ น้ำ เนื่องจากมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม อยู่ในพื้นที่นั้นอย่างที่ท่านเห็น ผู้ประกอบการรายย่อยเขาก็สามารถที่จะนำไปแปรรูป เป็นผงปลา เป็นปลาต่าง ๆ เป็นปลาตากแห้ง นี่คือตัวอย่างของความพยายามของประชาชน ในพื้นที่ที่เกิดจากการสร้างรายได้จากปลากะพงที่เลี้ยงในทะเลสาบนี่ละค่ะ เพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศอยู่ นอกจากปลากะพงในฝั่งพัทลุงนั้น เรายังมีปลาที่เรียกว่า ปลาลูกเบร่ ใครที่เคยไปพัทลุงอาจจะเห็นที่บ้านปากประ จังหวัดพัทลุง จะมีปลาลูกเบร่อยู่ ปัจจุบันนี้ราคาขึ้นไปถึง ๗๐๐ บาทแล้ว จากในอดีตแค่ ๑๕๐ บาท นี่คือการขับเคลื่อน ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ ทะเลสาบแห่งนี้สำคัญมาก ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่เราก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ และทุกวันนี้ เป็นที่ทำมาหากิน เป็นที่เลี้ยงชีพของประชาชนที่อยู่รอบทะเลสาบ นอกจากในส่วนของ การประมงแล้ว นอกจากปลาที่เราเห็นแล้ว ในส่วนของสินค้า Hand made จากกระจูด ดิฉันเองยังเคยถือกระจูดจากพัทลุงเข้ามาในที่สภาแห่งนี้แล้วด้วย ก็คือกระจูดนี่ละค่ะ เราสามารถเอากระจูดจากพื้นที่ทะเลน้อยฝั่งจังหวัดพัทลุงทำเป็นกระเป๋า ทำเป็นเสื่อ ทำเป็น ภาชนะต่าง ๆ ได้มากมายเลย สร้างรายได้ให้กับประชาชน ถ้าท่านไปที่ทะเลน้อยควนขนุน ท่านจะเห็นว่ามีร้านค้าที่ขายกระจูดอยู่มากมาย นี่คือสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากรายได้จากชุมชนนี่ละค่ะ นั่นคือความสำคัญที่อยากจะให้ทุกท่านได้เห็นว่าทะเลสาบ สงขลามีความสำคัญและผูกพันต่อวิถีชีวิตของประชาชนและมีผลต่อเศรษฐกิจไทย มากเพียงใด ไม่ใช่แค่นี้ค่ะ ยังมีมากกว่านี้อีกนะคะ ดิฉันอยากจะให้เห็นมากกว่านั้นคือยังมี ผลต่อการท่องเที่ยวชุมชนด้วย ดิฉันอยากจะให้ทุกท่านได้เห็นความพยายามของชาวบ้าน ที่อ่าวสะทัง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มาจากชมรมอนุรักษ์โลมาจังหวัดพัทลุง และอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามหรือกุ้ง ๓ น้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมติ ครม. ที่ประกาศให้ทะเลสาบ พัทลุง ทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำพิเศษ ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณอ่าวสะทังจึงพยายามที่จะ ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเพาะลูกกุ้งก้ามกรามได้สำเร็จแล้วก็ปล่อยเลี้ยง ในอ่าวสะทังและกำลังจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ดิฉันก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ไปเที่ยวที่อ่าวสะทัง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

    อ่านในการประชุม

  • หลังจากที่ท่านเห็นไปแล้วว่ามันสวยงามเพียงใด เป็นพื้นที่ที่สมควรที่จะดูแล อย่างดีเพียงใด แต่ปัจจุบันเราพบปัญหาก็คือมีชาวบ้านมาเล่าให้ดิฉันฟังนะคะ เพราะว่า มีมลพิษทางน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่ความรู้สึก เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ ก็ไปตรวจสอบแล้วพบว่าอยู่ในขั้นเสื่อมโทรมจริง ๆ ที่ค้นพบก็คือมีการปนเปื้อน ของแบคทีเรีย มีกลุ่มโคลิฟอร์ม มีปริมาณแอมโมเนียในแหล่งน้ำด้วย ถามว่ามาจากไหน ก็มาจากหลายแหล่ง แต่ส่วนหนึ่งเลยที่ชาวบ้านมาร้องเรียนกับดิฉันก็คือว่าบางครั้งมาจาก ฟาร์มเกษตรที่เลี้ยงโคบ้างหรือว่าบ่อขยะที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงในทะเลสาบ มีคลองอยู่ คลองหนึ่งแล้วก็อยู่ใกล้กับบ่อขยะก็อาจจะมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งสุดท้ายแล้วน้ำเสียนั้นก็ไปลง ทะเลสาบในที่สุด นี่คือปัญหาอีกประการหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • กลับไปที่พื้นที่ทะเลน้อย ท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องควายน้ำ นี่คือควายน้ำ เป็นควายแบบนี้จริง ๆ น่ารักมากเลย คือว่ายน้ำด้วย อยู่ทั้งบนบก ทั้งในน้ำ ก็เป็นแหล่งที่ ท่องเที่ยวของประเทศไทยเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลก ทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประกาศให้การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศ ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว เป็นมรดกโลก ทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทยด้วย เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้เป็นพื้นที่ที่แย่ ไปกว่าเดิมได้อีกแล้ว เราต้องช่วยกันฟื้นฟู เราจะปล่อยให้ย่ำแย่กว่านี้ไม่ได้ และปัจจุบัน ดิฉันพบว่าระบบนิเวศเปลี่ยนไป นี่คือเรื่องราวที่อยากจะให้เราช่วยกันจับตามองและไม่อยาก ให้ปล่อยไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาสักพักแล้ว มีการลงพื้นที่ตรวจสอบโดย DSI โดยผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ ดิฉันขอใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ช่วยกันดูหน่อยว่า เกิดอะไรขึ้น ชาวบ้านสงสัยว่ากลุ่มนายทุนไปปลูกยูคาลิปตัสในพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้อย่างไร พื้นที่เกือบ ๑,๐๐๐ ไร่ แล้วก็สุดสัปดาห์นี้หลังจากปิดประชุมในวันนี้ดิฉันจะลง พื้นที่พัทลุงเพื่อไปลงพื้นที่และพูดคุยกับประชาชนเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ดิฉันไม่สามารถปล่อย ให้เรื่องนี้เป็นแบบนี้ต่อไปได้ เนื่องจากการปลูกยูคาลิปตัสเกือบ ๑,๐๐๐ ไร่ ทุกคนก็รู้ดีว่า ยูคาลิปตัสจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ปลาผิวน้ำนี่ก็จะตายและใบ ที่ลงในน้ำทำให้น้ำเน่าเสียได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ขอฝากให้เราช่วยกันติดตามด้วย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะ สิ่งที่ดิฉันอยากจะให้เห็นเหตุผลที่เราต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ดูแลอย่างจริงจัง นี่คืออีกปัญหาหนึ่งค่ะ ผักตบชวาปกคลุมพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทะเลน้อย ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงก็จะมีปัญหาตามมา ก็เป็นที่สงสัยกันของประชาชนว่าทำไม ยังไม่เสร็จเสียที ทำไมมีปัญหาตลอดเวลา เป็นปัญหาเรื่องของงบประมาณไม่เพียงพอ หรืออย่างไร หรือเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออย่างไร ทำไมผักตบชวาถึงยังอยู่เต็มพื้นที่แบบนี้ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งดิฉันทราบดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ที่ดิฉันกล่าวไปเบื้องต้นนี่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยถ้าดิฉันแค่พูดแล้วจบในนี้ เพราะฉะนั้นดิฉันขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาดูแลและแก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่างจริงจัง แล้วก็ขอให้ช่วยกันสนับสนุนสินค้าชุมชนที่ดิฉันกล่าวไปข้างต้นให้สามารถ เป็นสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เพราะนี่คืออัตลักษณ์ของประเทศไทยที่พื้นที่อื่นไม่มี ดิฉันขอเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ ท่านประธานคะ คำว่า หนี้ ทำให้คนมีปัญหากันมาเยอะแล้ว พี่น้องต้องโกรธกัน เพื่อนฝูง ต้องบาดหมางกันก็เพราะว่าเรื่องหนี้ยืมเงินกันไปมา แล้วชีวิตคนไทยเราก็ต้องวนเวียนอยู่กับ เรื่องนี้ เรื่องหนี้วนเวียนกันมาตลอดเวลาเลย ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันได้ถามประชาชนที่เขาเจอ ปัญหานี้ ดิฉันได้ทราบข้อมูลได้ยินเสียงมาจากพี่น้องที่ขับวินมอเตอร์ไซค์เขาบอกว่า อาชีพของเขา เขาก็ต้องมีมอเตอร์ไซค์ในการทำมาหากิน พอรถเก่าก็ต้องไปออกรถใหม่ ก็ต้องดาวน์รถใหม่ก็ต้องผ่อนกันอยู่แบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันคนใช้บริการก็น้อยลง เรื่อย ๆ ค่าน้ำมันก็แพง แล้วจะไม่ให้เขาเป็นหนี้ได้อย่างไรในเมื่อไม่มีเงินเหลือเก็บ พอไปถาม แม่ค้าในตลาด พี่น้องประชาชนของเราแม่ค้าก็บอกเราว่าของแพงคนก็ไม่ซื้อ ถึงแม้ของถูก เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ซื้อเพราะว่าคนไม่มีเงินในกระเป๋า จะใช้จ่ายอะไรคิดแล้วคิดอีก ขนาดแม่ค้าเอง ยังต้องส่งดอกเบี้ยเลย จะต้องผ่อนรถ ผ่อนโน่นผ่อนนี่ ประหยัดจนไม่รู้จะประหยัดอย่างไร แล้วคือสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่เจออยู่ ดิฉันก็สงสัยว่าแล้วหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นได้ อย่างไร ส่วนใหญ่เกิดจากอะไร พอเราไปดูข้อมูลปรากฏว่าหนี้ส่วนใหญ่มาจากหนี้บัตรเครดิต ด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากหนี้รถยนต์ แล้วก็หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค สาเหตุก็มาจาก ค่าครองชีพสูง รายรับไม่พอรายจ่าย คนว่างงานมากขึ้น ต้องดูแลคนในครอบครัว เช่น ผู้สูงวัย หรือว่าผู้พิการ ผลกระทบจากภัยธรรมชาติสำหรับเกษตรกร แล้วก็ราคาพืชผลตกต่ำ นั่นเอง ทีนี้พอเราไปดูสถิติประเทศไทยเราติดอันดับโลก แต่เราไม่น่าภูมิใจกับสิ่งนี้เลยคือ เราเป็นหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ ๒ ของ Asia เลย ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ คนไทยเป็นหนี้มากขึ้นนะคะ อันนี้เป็นสถิติที่ดิฉันไม่ได้ภาคภูมิใจกับสิ่งนี้ด้วยเลย มีแต่อยากจะทำอย่างไรให้มัน น้อยลง ต่อมาคำว่า หนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนบางคนเท่านั้น แต่กระทบกับทุกคน และกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม หนี้ครัวเรือนปัจจุบันคนไทย ๒๑ ล้านคนที่มีหนี้ เป็นหนี้เสียไปแล้ว ๓ ล้านคน หรือประมาณ ๑๕.๙ เปอร์เซ็นต์และในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จนถึง ๑๐ ปีถัดมาถ้าเราดูสถิติจะพบว่าเมื่อก่อน ๑๐ ปีที่แล้วแค่ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าบาทต่อคน พอต่อมาคือเพิ่มขึ้นเป็น ๕๐๐,๐๐๐ บาท และสัดส่วนประชากร ที่มีหนี้จากเมื่อก่อนแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เอง ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และที่น่า ตกใจมากขึ้นก็คือว่าคนไทยเราปัจจุบันเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นนานขึ้นด้วยอายุ ๓๐ ปี ปัจจุบันนี้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ ๓๐ ปีเป็นหนี้แล้ว และเป็นนานขึ้นเกษียณแล้ว ก็ยังคงเป็นหนี้อยู่ คำว่าหนี้จึงไม่ใช่แค่กระทบกับคนบางคนเท่านั้น แต่กระทบกับทุกคน กระทบกับพวกเราทุกคนด้วย กับเศรษฐกิจโดยรวม เพราะถ้าคนมีหนี้ไม่มีเงินเหลือที่จะมา ซื้อข้าวของ ไม่มีสตางค์ที่จะมาจับจ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจไม่มีทางที่ดีขึ้นแน่นอน ต่อมาดิฉันก็เลยไปดูเพิ่มเติมอีกดิฉันก็สงสัยว่าแล้วคนที่เริ่มเป็นหนี้กันตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี เป็นอย่างไรต่อ จนถึงอายุเมื่อไร ดิฉันก็เลยไปดูข้อมูลต่อก็คือพบว่า ๑ ใน ๕ ของคนอายุช่วง ๒๙-๓๐ ปีเป็นหนี้เสียแล้ว และจนถึงอายุ ๖๐-๖๙ ปีเป็นหนี้เฉลี่ยประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าคน จนถึงอายุ ๗๙ ปี ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าบาทต่อคน อายุ ๖๐-๖๙ ปีประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าบาทต่อคน นั่นแปลว่าคนเป็นหนี้ตั้งแต่หนุ่มสาว และเป็นหนี้ติดตัวจนตาย คือเป็นเรื่องที่ไม่น่าดีใจเลย ดิฉันก็ถามถามคนบางคนว่าเป็นหนี้จนอายุมากขนาดนี้แล้ว อายุมากแล้วควรจะได้อยู่อย่างสบาย ควรจะสมองโล่งปลอดโปร่ง ไม่ต้องมานั่งคิดถึง เรื่องจ่ายดอกเบี้ย มาเรื่องผ่อนดอกเบี้ย ทำไมถึงยังคงเป็นหนี้อยู่ คำตอบที่ได้ก็คือว่าคนเรา ทุกคนเกิดมาไม่ได้มีพ่อแม่มีเงินทองมากองให้ทุกคน บางคนเกิดมาชีวิตก็ติดลบแล้ว จะลงทุน ทำอะไรแต่ละอย่างต้องไปกู้มา ไปยืมมา ไม่ได้มีเงินทอง ไม่ได้มีเงินเย็นนอนอยู่ในธนาคาร นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคนบางคนถึงเป็นหนี้ตลอดชีวิตตั้งแต่วัยตั้งตัวจนถึงวัยเกษียณ จนอายุจะ ๘๐ ปีอยู่แล้วยังคงต้องจ่ายอยู่เลย แล้วถ้าไปดูในหมู่บ้าน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของคน ในหมู่บ้านไปดูได้เลย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว แต่รุ่นลูกยังต้องมา รับผิดชอบหนี้ก้อนนั้นอยู่ ยังต้องมาจ่ายหนี้ ยังต้องมารับผิดชอบตรงนั้นอยู่แล้วโดนทวงหนี้ ทุกวัน เพราะอะไรคะเพราะมันมีต้นตอมาฝังรากไปตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มันเป็นอย่างนี้ มันเหมือนที่เพื่อนสมาชิกบอกเมื่อสักครู่เรื่องการกระจายอำนาจก็มีส่วน เรื่องความไม่เท่าเทียม ในการทำมาหากิน เรื่องโอกาสในการทำมาหากินที่ไม่เท่าเทียมกัน ทีนี้พอกลับไปดู ว่าเกิดอะไรขึ้นอีกหนี้นอกระบบนี้คือปัญหาหลัก ๆ อีกอันหนึ่ง พอดิฉันก็เลยไปหาอีกว่า เหตุผลของการเป็นหนี้นอกระบบมาจากอะไร พบว่าส่วนใหญ่หนี้นอกระบบที่มีกันอยู่นี้ มาจากใช้คืนหนี้เก่าเอาไปโปะใหม่ เอาไปโปะก้อนเดิม มันก็วนเวียนอยู่แบบนี้ ที่เป็น ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอะไรเล็กน้อยมากเลย

    อ่านในการประชุม

  • อีกอันหนึ่งที่สำคัญมาก คือค่าใช้จ่ายในครัวเรือนมาจากการรักษาพยาบาล มาจากค่าเล่าเรียน เพราะฉะนั้นทางออกคือถ้าประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิด ถึงเชิงตะกอนแบบนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เราเคยบอกไว้ หรือเรียนฟรีแบบเรียนฟรี จริง ๆ พ่อแม่ก็ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องหาค่าเทอม หยิบยืมกัน ไม่ต้องไปจำนำ ไม่ต้องไป หยิบยืมเงินเวลาลูกต้องเปิดเทอม สร้างงาน สร้างรายได้ให้จริงจังปัญหานี้ก็จะน้อยลงนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอดิฉันขอชื่นชมธนาคารแห่งประเทศไทยนะคะ ดิฉันพบมาแล้วดิฉัน ก็คุยกับประชาชน พบว่าตอนนี้มีเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย มีการรวมหนี้คือ เอาหนี้บ้าน หนี้บัตรมารวมกันจะมาปรับโครงสร้างในธนาคารเดียวกันก็ได้ หรือต่างธนาคาร ก็ได้ แต่ปัญหายังมีค่ะ ดิฉันขอฝากไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยโครงการท่านดี แต่ยังดี ไม่พอ คือประชาชนเรียกร้องขอให้มีดอกเบี้ยต่ำกว่านี้ ตอนนี้ดอกเบี้ยก็ยังสูงอยู่ดี หนี้ก็ยัง พอกอยู่ดี ให้รวมหนี้นอกระบบให้ด้วย ไหน ๆ ก็ช่วยขนาดนี้แล้วช่วยให้ถึงที่สุดไปเลย ตอนนี้ ยังช่วยไม่ถึงที่สุด แล้วก็สำหรับวงเงินที่ไม่เยอะไม่ต้องมีหลักประกันหรอก ขอให้ช่วยแล้วช่วย จริงจังให้สุดทางเลย ประชาชนเราจะได้หายใจกันได้โล่งอกโล่งใจมากขึ้นนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปข้อสุดท้ายค่ะ ประชาชนฝากดิฉันมา ฝากบอกรัฐบาลว่าตอนนี้เรามี รัฐบาลแล้ว ขอให้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจให้ดีนะคะ ให้เศรษฐกิจดีกว่านี้ประชาชนจะได้จัดการ ตัวเองกันได้ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีประชาชนก็จะตายอยู่แบบนี้ พยุงตัวเอง ช่วยตัวเองกันมา หลายปีแล้วเห็นใจบ้าง นี่คือเสียงจากประชาชนพี่น้องทางภาคใต้ฝากดิฉันมาบอก ขอให้เพิ่ม รายได้ให้ทั่วถึง ไม่ใช่แค่แจกเงิน แต่ให้สร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาส เพิ่มตลาด ใหม่ ๆ ให้สินค้าไทยในเวทีโลกค่ะ แล้วหนี้สินของครัวเรือน หนี้สินของประชาชนก็จะดีขึ้นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ สวัสดีค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ สำหรับโครงการต่าง ๆ โครงการเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ตั้งแต่ดิฉันจำความได้ ดิฉันได้ยินคำว่า คอคอดกระ ได้ยินคลองไทย จนมาวันนี้ได้ยิน Landbridge อีกแล้ว ซึ่งมีโครงการ หลาย ๆ โครงการที่มีจุดประสงค์ที่บอกว่าต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ แต่สำหรับดิฉัน ณ วันนี้เราไม่สามารถที่จะบอกได้เลยว่าโครงการเหล่านี้ดีหรือไม่ดีจนกว่าเราจะได้ศึกษา อย่างจริงจัง โครงการ Landbridge ก็เช่นเดียวกัน ดิฉันศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็คิดว่าเราจำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องมีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ดิฉันไปเจอ Timeline อันหนึ่งที่บอกว่า ครม. ตั้ง Timeline ไว้เรียบร้อยแล้วคือจะเปิดบริการในธันวาคม ปี ๒๕๗๓ ซึ่งดิฉันแอบกังวลใจเล็กน้อยว่าอันนี้คือ Final หรือยัง อาจจะยังใช่ไหมคะ ก็หวังว่าจะยังไม่ Final ซึ่งงบตรงนี้จากก่อสร้างท่าเรือก็ใช้ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท พัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบขนส่งสินค้า ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ในส่วนก่อสร้าง Motorway และรถไฟก็ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่มีทั้งท่าเรือ มีทั้งรถไฟ มีทั้ง Motorway และที่สำคัญคือมีร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ สิ่งนี้คือดิฉันคิดว่า เราต้องมานั่งคุยกันจริงจังว่าเราจะให้เขาประมูลระยะเวลากี่ปี และเมื่อไรถึงจะกลับมาเป็น ของไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วในเรื่องของการตั้ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ร.บ SEC หรือการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เหล่านี้เราจะจัดตั้งกันอย่างไร เราจะทำอย่างไร รายละเอียดต่าง ๆ พวกนี้ดิฉันคิดว่าเราจำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องมีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาจัดการเรื่องเหล่านี้

    อ่านในการประชุม

  • อีกกรณีหนึ่งสิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่เราเป็นข้อสันนิษฐานกันทั้งนั้นเลย เราไม่รู้เลยว่าโครงการนี้มันจะรุ่งหรือมันจะร่วงจนกว่าจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง เราจะมี ท่าเรือระนองแห่งใหม่ขึ้นมา เราจะมีท่าเรือชุมพรขึ้นมา โดยเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย นำระบบ Automation มาใช้และพัฒนาให้เป็น Smart Port เราจะพัฒนาเส้นทางบก เราจะมี Motorway ขึ้นมา มีรถไฟรางคู่ขึ้นมา ระยะทาง ๑๒๐ เมตร และมีการขนส่งทางท่อ ด้วยทฤษฎี ด้วยความฝันของเราตอนนี้เรามองว่ามันดี แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้เลย เพราะฉะนั้นดิฉันสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในส่วนของความฝันของโครงการนี้เป็นความฝันที่สวยงามมากเลย คือต้องการจะยกระดับ ประเทศไทยสู่การเป็น Transshipment ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคนี้ เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกดูดีมากเลย ลดระยะเวลาการขนส่งได้ถึง ๒ วัน เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุน Logistics สร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญสู่พื้นที่ นำโอกาสและคุณภาพชีวิตสู่ประชาชน นี่คือความฝัน แต่ความเป็นจริงเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะเป็นแบบนี้หรือไม่ สิ่งแวดล้อมที่เสียไป ระบบนิเวศ ที่เสียไปจะเป็นอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ ใครจะรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ดิฉันอยากจะเรียกร้องให้มีการศึกษาอย่างจริงจัง ดิฉันได้รับข้อมูลจากพี่น้องจังหวัด ระนองแล้วก็ชุมพร ซึ่งดิฉันได้เห็นหลาย ๆ อย่าง เห็นทั้งข้อมูล เห็นรูปภาพ แล้วก็เห็นถึง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนจากที่ดินเหล่านี้ บางคนเป็นที่ดินได้รับมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเป็นสวนผลไม้ที่เป็นชีวิตของเขา ที่เขาต้องใช้ทำมาหากิน เขามีรายได้จากแหล่งนั้น นั่นเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่เราลืมไม่ได้ ในขณะเดียวกันในแง่ของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ดิฉันเข้าใจว่าเราก็ต้องศึกษาเหมือนกัน ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในกลุ่มของภาคเศรษฐกิจก็จะมองว่าอาจดีในเรื่องของ การที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิม แต่นั่นมันก็คือความฝันที่เราคิดกันเอาไว้ ความจริงคือ อะไรเราคงต้องศึกษากันให้ถี่ถ้วน เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะเรียกร้องให้มีการศึกษา ความคุ้มค่าในแง่ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องว่ามันจะมีอุตสาหกรรมอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง อุตสาหกรรมใหม่ต่าง ๆ หรือที่มีอยู่แล้วปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยจะได้อะไรหรือไม่ หรือว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เขาจะได้ผลประโยชน์อย่างไรจากสิ่งนี้และมีอุตสาหกรรม อะไรใหม่ ๆ เกี่ยวเนื่องจากโครงการนี้ขึ้นมาบ้าง หรือว่ากิจกรรมในเชิงพาณิชย์ที่จะเกิดขึ้น หลังจากนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจจุลภาคในประเทศนี้ โครงการนี้จะช่วย ได้มากน้อยแค่ไหน เราคงต้องศึกษากันจริงจัง เราต้องมีวิเคราะห์รูปแบบ Model การพัฒนาการลงทุนอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นในเรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องทำอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เพื่อที่ให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคน โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบขอให้เกิดอย่างยุติธรรม หากวันหนึ่ง ข้างหน้าเราจำเป็นที่จะต้องมีโครงการนี้จริง ๆ ดิฉันอยากให้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน ไม่มีประโยชน์ อะไรเลยที่เราจะได้เม็ดเงินมหาศาลพันล้าน แสนล้าน แต่เราต้องเสียระบบนิเวศ เราต้องเสีย สิ่งแวดล้อม หรือเราต้องเสียทรัพยากรที่เรามีให้ลูกหลานเราในอนาคต ดิฉันอยากให้เรา คำนึงเป็นหลัก หัวใจสำคัญก็คือว่าสิ่งที่เราจะทำที่เรามองว่ามันเป็นผลดีต่อประเทศ ณ ตอนนี้หรือไม่กี่ปีข้างหน้ามันจะเป็นผลเสียหรือเป็นความหายนะที่ลูกหลานเราต้องเผชิญ แล้วเขาต้องมาก่นด่าพวกเราในวันที่เราไม่อยู่ในโลกนี้แล้วหรือไม่ เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะ ฝากให้เรื่องนี้ศึกษากันอย่างจริงจังและขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง แม้ดิฉันจะมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพัทลุงนะคะ แต่ดิฉันก็มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง แล้วก็ห่วงใยพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ของเราโดยเฉพาะเรื่องปากท้อง ดิฉันเป็นห่วง อย่างยิ่งเลยว่าพี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อไรจะอยู่ดีกินดี เมื่อไรจะเจอสันติภาพ กินได้สักทีนะคะ ดิฉันพบว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับพื้นที่โดยตรง ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากภาพจะเห็นว่าในช่วงเวลา ๒๐ ปี นี่คือข้อมูลจาก ๒๐ ปีเราจะเห็นว่า GDP ของประเทศไทยคือภาพรวมเพิ่มขึ้น แต่เราจะเห็นว่า ๓ จังหวัดชายแดนใต้ยังคงอยู่แบบนั้นเลยค่ะ ๒๐ ปีผ่านไป คำถามก็คือว่า เราจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ ดิฉันทราบว่าทุกหน่วยงานพยายามที่จะแก้ไขแต่ก็ยังไม่ได้ผล เพียงพอ สำหรับงบประมาณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗-๒๕๖๕ รวม ๑๙ ปี ท่านประธานคะ เพื่อนสมาชิกทุกท่านทราบหรือไม่ว่ารัฐบาลไทยใช้งบประมาณ ไปแล้ว ๔๘๔,๑๓๔ ล้านบาท เฉลี่ยปีละ ๒๕,๔๘๐ ล้านบาท ที่เราใช้ไป มากกว่ากระทรวง อุตสาหกรรม มากกว่ากระทรวงพาณิชย์ เกือบ ๆ เท่ากับกระทรวงยุติธรรมเลยค่ะ มากกว่า กระทรวง พม. ด้วยซ้ำ นี่คือโดยเฉลี่ยต่อปีที่เราใช้ไปแล้ว แต่ปัญหาก็ยังคงเป็นอย่างที่ เราเห็นกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่ดิฉันกังวลมาก เมื่อสักครู่ตอนที่ทางสำนักงาน รายงานตอนต้นท่านบอกว่า ท่านทำให้หลุดพ้นจากความยากจนประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าครัวเรือน ใช่หรือไม่ แต่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้เรามีประชาชนอยู่ในที่นั้นประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าครัวเรือน ท่านทำให้หลุดพ้นแค่ ๔,๐๐๐ กว่าครัวเรือน เทียบเท่ากับ ๐.๐๑๕ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น มันน่าภูมิใจตรงไหนคะ ทำให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ ทำให้จำนวนผู้ที่หลุดพ้นจาก ความยากจนมากกว่านี้ได้หรือไม่ นี่คือจำนวนครัวเรือนประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าครัวเรือน แต่ถ้าเราดูประชากรใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ก็อยู่ประมาณเกือบ ๒ ล้านคน เป็นไปได้ ดิฉันอยากจะให้ช่วยกันหาทางให้หลุดพ้นจากความยากจนมากกว่านี้ จากข้อมูลนี้ที่ดิฉันโชว์ ให้ดูคือ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ติดอันดับจังหวัดที่ยากจนยาวนานมานับสิบปี ครอง Champ มาตลอดเลยค่ะ ประเทศไทยมีอยู่ ๗๗ จังหวัด แต่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ครอง Champ ตลอดเลย เพราะฉะนั้นดิฉันคาดหวังว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่จะช่วยได้มากกว่านี้ ดิฉันต้องการให้มีตลาดแรงงานที่ใหญ่มากพอที่จะรองรับแรงงานวัยหนุ่มสาวให้ทำงานในบ้าน ในจังหวัดของตัวเองมากขึ้นแทนที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน หรือในหัวเมืองใหญ่ มาอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองต่าง ๆ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับรายงานฉบับนี้ ดิฉันได้ดูในรายงานฉบับนี้สิ่งที่ดิฉันเจอก็คือความไม่ชัดเจน ดิฉันอ่านไปดิฉันก็เจอคำถามว่าทำอย่างไร ดิฉันเข้าใจค่ะว่านี่คือนโยบาย ท่านไม่สามารถ ที่จะลงรายละเอียดได้ใช่หรือไม่ เข้าใจค่ะ แต่ก็มีคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไร จะทำเมื่อไร OK ค่ะ ท่านจะบอกว่ามีแผนปฏิบัติการ นั่นแปลว่าดิฉันก็ต้องไปอ่านในแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ในร่างแผนแม่บทต่าง ๆ ดิฉันต้องไปอ่าน อันนั้นเข้าใจได้นะคะ แต่ดิฉันต้องการให้มีความชัดเจน มากกว่านี้ ดิฉันไปย้อนดูของปีก่อน ๆ ปรากฏว่าปีก่อน ๆ กับปัจจุบันนี้ที่ผ่านไป และดิฉัน เชื่อว่าน่าจะเคยมีความคิดเห็นจากสภาแห่งนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่เราได้ก็คือว่าจำนวนหน้ากระดาษ ที่เพิ่มมากขึ้น แต่รายละเอียดแทบไม่ได้ต่างกันเลยค่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดิฉันต้องการ ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือขอให้มีรายละเอียดที่มากขึ้น รัฐสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่แค่ตรายางที่ท่านจะเสนอ ครม. เสร็จแล้วมาเสนอรัฐสภา แล้วไปใช้งานได้ ดิฉันต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน เพราะงบประมาณที่ท่านใช้ อย่างที่เสนอไปตอนต้น รวม ๆ กันแล้วเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี ก็เทียบเท่ากับ กระทรวง ๆ หนึ่งเลย เพราะฉะนั้นดิฉันไม่สามารถที่จะปล่อยให้รายงานแบบนี้เป็นแบบนี้ ได้อีกในครั้งต่อ ๆ ไป ดิฉันขอให้ละเอียดกว่านี้ ให้ชัดเจนกว่านี้ แล้วก็ถ้าระบุถึงเป้าหมาย KPI อะไรได้เลยยิ่งดี และที่สำคัญที่ดิฉันกังวลมากเลยก็คือว่า ดิฉันอ่านเล่มนี้ไม่มีหน้าไหน ไม่มีตัวหนังสือไหนที่บอกเลยว่าท่านมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร มีการกำกับดูแลติดตาม อย่างไร ส่วนใหญ่จะเน้นว่ามีนโยบายจะทำอย่างโน้นจะทำอย่างนี้ แต่ว่าในแง่ของการกำกับ ดูแลติดตามความคืบหน้า หรือความคุ้มค่านี่ไม่มีนะคะ ดิฉันก็เลยไปหาต่อ ดิฉันไปอ่าน พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดิฉันก็ไปอ่านเลยค่ะว่าในแต่ละมาตรา จะมีอยู่ตรงไหนหรือไม่ เผื่อจะมีระบุไว้ในนั้นก็เห็นว่ามีบ้างมีสภาที่ปรึกษา แต่ในสิ่งที่ดิฉัน อยากจะรู้ในเรื่องของการตรวจสอบ การกำกับดูแล ก็ยังไม่ได้ละเอียดหรือว่าไม่ได้รัดกุม เพียงพอ ดิฉันก็ยังรู้สึกว่าแม้ใน พ.ร.บ. นั้นก็ตามน่าจะมีช่องโหว่บางอย่างอยู่ ดิฉันเป็นห่วง เพราะนี่คือเงินภาษีประชาชน แล้วก็สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ดิฉันอยากจะให้เกิดประโยชน์กับพี่น้อง ประชาชน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ของเราจริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะท่านประธาน สิ่งที่ดิฉันจะฝากไว้สุดท้ายก็คือว่าในเรื่องของ เศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะเศรษฐกิจชายแดนใต้นโยบายราชการที่ท่านวางไว้นี้ ดิฉันอยากจะฝากให้มีเนื้อหาหรือว่านโยบายที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมในการส่งเสริม เศรษฐกิจฐานรากมากกว่านี้ ดิฉันอยากเห็นรายละเอียดที่บอกว่าท่านสร้างงาน ท่านสร้าง ผู้ประกอบการรายใหม่ เสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการเดิม ที่มีอยู่แล้วท่านช่วยเขาอย่างไร แล้วโดยเฉพาะเรื่องการค้าขายชายแดน ท่านมีอยู่รอบ ๆ ชายแดน เลยนะคะ ท่านมียะลา มีจังหวัดที่บอกว่าอยู่ใกล้ชายแดนอยู่แล้ว แต่ว่าหนังสือเล่มนี้ก็แทบจะ ไม่มีนโยบายอะไรให้ดิฉันเห็นมากมายนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสันติภาพ เรื่องสันติสุข ที่ท่านใส่ไว้ เรื่องนโยบายต่าง ๆ แต่ว่าเรื่องเศรษฐกิจน้อยมากเลยค่ะ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่อง ที่สำคัญมาก เพราะอย่างที่บอกว่ามันย้อนแย้ง ๓ จังหวัดเป็นจังหวัดที่ยากจนมา ๑๐ ปี แต่ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจฐานรากน้อยมาก ๆ เลยนะคะ อันนี้ดิฉันพูดจาก ข้อเท็จจริงในหนังสือเล่มนี้นะคะ เพราะฉะนั้นดิฉันจะขอฝากว่าในครั้งหน้านโยบายต่าง ๆ จะเห็นเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจฐานรากเพื่อพี่น้องประชาชน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ของเรา มากขึ้นนะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ ท่านประธานคะ เวลาที่เราพูดกันถึงเรื่องการอยู่ร่วมระหว่างคนแล้วก็สัตว์ ดิฉันเชื่อว่านี่ไม่ใช่ ครั้งแรกที่เราพูดในสภาแห่งนี้ เราคงจะพูดเรื่องนี้กันมาหลายครั้งแล้ว แต่ว่าสุดท้ายปัญหา ก็ยังคงอยู่ อยู่มาเนิ่นนาน และดิฉันไม่แน่ใจว่าจะอยู่ไปถึงเมื่อไร ดังนั้นวันนี้ดิฉันอยากจะให้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ สมาชิกแล้วก็ที่ดิฉันจะสะท้อนให้เห็นต่อไปนี้นำไปสู่การตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ดิฉันอยากจะสะท้อนให้เห็นปัญหา ที่ดิฉันได้รับทราบมา ดิฉันได้รับทราบปัญหาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยร้องเรียนผ่านคณะทำงานพรรคก้าวไกล จังหวัดสงขลา และคุณสักกพันธุ์ อนันตพงค์ อดีตผู้สมัครเขต ๑ จังหวัดสงขลาของพรรคก้าวไกล ทราบมาว่าที่นั่นมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ โดยลิงเยอะมากค่ะ และดิฉันเองดิฉันเป็นคนที่ไปในที่นั่นเองด้วยตัวเองมาหลายครั้งมากแล้ว พื้นที่หาดสมิหลาเป็นพื้นที่ที่ดิฉันตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะฉะนั้นดิฉันกำลังจะสะท้อนให้ฟังถึง ปัญหาที่เกิดจากลิงในเขาตังกวนนะคะ ขอภาพด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในตัวอย่างดิฉันจะให้เห็น คือการบุกรุกพื้นที่โดยลิง นี่คือลิงจากเขาตังกวนและเขาน้อยที่สงขลาทำลายทรัพย์สิน ปีนรถนักท่องเที่ยวแล้วก็รถของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ตอนนี้ลิงเขาขยายพื้นที่ ออกไปแล้ว เขาไม่อยู่แค่บนเขา เขาไปในเมืองเลยค่ะ ประชาชนจะไปซื้อของในเมืองออกมา ก็เจอลิงปีนรถแบบนี้นะคะ นักท่องเที่ยวไปเที่ยวบนเขาไปไหว้พระลงมาก็จะเจอรถตัวเอง แบบนี้ค่ะ แล้วลิงที่นั่นเขา Advance มาก เขาแกะชิ้นส่วน แกะอุปกรณ์ตกแต่งออกมา บางครั้งคิ้วรถยนต์ต่าง ๆ ที่เราเห็นเขาแกะออกมาได้เลยนะคะ เขาพัฒนาไปถึงขั้นนั้นแล้ว ซึ่งคงไม่มีใครอยากเจอแบบนั้นนะคะ ต่อไปค่ะ ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ลิงที่นั่นบุกรุกไปถึงบ้าน ไปถึงที่อยู่อาศัย วัด สถานที่ราชการ และโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียง จังหวัดอื่นอาจจะมี สุนัขเฝ้าบ้าน แต่ที่นั่นมีลิงเฝ้าบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านคงไม่ได้อุ่นใจแน่นอน เพราะต้องระแวงว่า เมื่อไรจะโดนลิงกัด ไม่ใช่สิ่งที่มีใครอยากจะเจอแน่นอน และนอกจากนั้นลิงที่นั่นยังไปที่ ชายหาดด้วย ที่แหลมสมิหลา เราพาลูกหลานเราไปพักผ่อน ไปนั่งเล่น ลิงก็นั่งเล่นเช่นกันค่ะ เราก็จะเห็นลิงอยู่รอบ ๆ กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวก็จะระแวงว่าจะโดนลิงกัดไหม จะมี อันตรายหรือไม่ เพราะลิงก็ไม่ได้น่ารักทุกตัว บางตัวก็น่ารัก แต่บางตัวก็ดุร้าย ต่อไปนะคะที่ ดิฉันอยากให้เห็นชัด ๆ เลยก็คือว่าไปถึงบ้าน บุกรุกที่อยู่อาศัยในชุมชน วัด สถานที่ราชการ และโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียง เวลาที่เราพูดถึงเรื่องลิงบางคนอาจจะบอกว่ามันดูเป็นเรื่อง ตลกมากเลย ดิฉันอยากจะบอกว่ามันไม่ตลกเลยนะคะ คุณลองนึกภาพสิคะ นึกภาพว่าบ้านเราแล้วมีลิงมาบุกรุกบ้านเรา ๒๔ ชั่วโมง ทุกวัน ทุกเดือน อยู่แบบนี้เป็นปี ๆ และหลายปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ก็เป็นตลอดมา ไม่มีใครแก้ไข ไม่ได้มีใคร ช่วยแก้ปัญหาให้มันหายไปได้ คุณจะมีความสุขหรือไม่ มันยังตลกกันได้หรือไม่ ยิ้มไม่ออก ถ้าเป็นแบบนี้ ไหนต้องเสียทรัพย์สินในการซ่อมแซมบ้าน ไหนจะต้องมานั่งระแวงว่าเราจะ โดนทำร้ายหรือไม่ จะมีอะไรเกิดขึ้นกับลูกหลานเราหรือไม่ ลูกหลานจะมานั่งเล่นหน้าบ้าน ก็ไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องตลกเลยค่ะ และมันไม่ใช่เรื่องเล็กเลย มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ สำหรับ ประชาชนคนที่อยู่ที่นั่น เรื่องนี้ดิฉันอยากจะสะท้อนให้เห็นและอยากให้ทุกคนช่วยกัน ต่อไป นอกจากลิง นอกจากคนจะเจอปัญหาแล้ว ลิงเองก็เช่นเดียวกัน สวัสดิภาพของลิงก็ไม่ปลอดภัย ท่านจะเห็นในรูปนี้เลยว่าเกิดอุบัติเหตุรถชน อย่างที่เห็นน่าสงสารมากไฟฟ้า Shock ลิงตกน้ำ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่านอาจจะได้ข่าวว่ามีลิงถึง ๓๐ ตัวตกลงไปในบ่อน้ำตายหมดเลย สิ่งนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือลิงก็ตาม ภาพนี้คงบาดใจสำหรับคนรักษาสัตว์ มันไม่ควร จะเกิดขึ้น เราไม่ควรจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • โดยสรุปก็คือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ปัญหาก็คือประชากรลิงที่เขาน้อย เขาตังกวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีน้อยนิด ไม่เพียงพอกับ ความต้องการ เมื่อเขาไปในเมืองได้เขาก็จะไปเจอแหล่งอาหารในบ้านเรือน กลายเป็นว่าเขาก็ ขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ เขาก็จะอยู่แบบนั้นไม่กลับมาที่เขา นักท่องเที่ยวก็จะน้อยลง เนื่องจากหวาดกลัวลิงจะทำร้ายทรัพย์สินและร่างกายส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงในช่วงที่เกิดโรคระบาด และทรัพย์สินประชาชนเกิด ความเสียหายอย่างเช่นที่ดิฉันให้ดูไปก่อนหน้านี้แล้ว

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับพื้นที่เกิดความเสียหาย โดยรอบ ๆ เลยถัดไปท่านจะเห็นว่าพื้นที่ ประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร นี่คืออย่างน้อยนะคะ ในความเป็นจริงอาจจะกว้างออกไปมากกว่านี้ ได้อีกถ้าประชากรลิงเพิ่มขึ้น โดยรอบ ๆ เขาตังกวนและเขาน้อยท่านจะเห็นเลยว่าแถวนั้น เป็นชุมชนหนาแน่น เนื่องจากมีทั้งโรงเรียน มีทั้งวัด โรงเรียนก็มีหลายโรงที่นั่น มีทั้งวัด มีทั้ง โรงแรม แล้วเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แล้วก็บ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะเห็นว่าหนาแน่นมากเลย รอบ ๆ ภูเขาตรงนั้น นั่นคือลิงขยายอาณาเขต ขยายบริเวณไปเรียบร้อยแล้วค่ะ กำลังจะ กลายเป็นเมืองลิงไปเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายถึงว่าจะมีผลกระทบต่อผู้คนนับหมื่นคน ดิฉันเลย มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่แล้วเราปล่อยแบบนี้ไม่ได้

    อ่านในการประชุม

  • ถัดไปสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือเทศบาลนครสงขลา ดิฉันอยากจะ ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาจับมือร่วมกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สิ่งที่เรา พูดไปทั้งหมดที่ดิฉันสะท้อนให้ฟังเองก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าไม่มีผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่ง ที่จะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาจับมือร่วมกันหลาย ๆ กระทรวง เราพูดมาซ้ำแล้วซ้ำอีกเราคงจะพูดแค่ในสภาแล้วส่งต่อไปหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ อย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ดิฉันขอเรียกร้องและขอเพื่อน ๆ สมาชิกทุกท่านในที่นี้ช่วยกันโหวต ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อมีการศึกษาการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนแล้วก็สัตว์ โดยเฉพาะลิงหรือว่าสัตว์อื่น ๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา อย่างยั่งยืนและเร่งด่วน ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง ก่อนอื่นดิฉันอยากจะบอกว่าดิฉันดีใจมาก ๆ ที่ประเทศเรามีกองทุนดี ๆ อย่าง กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพราะกองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีประโยชน์และช่วยเกษตรกร ได้เยอะมาก ดิฉันมั่นใจเช่นนั้นนะคะ แต่เมื่อดิฉันอ่านรายงานการเงินย้อนหลัง ดูรายงาน การทำงานย้อนหลังหลายปีที่ผ่านมาดิฉันก็ยังคงเกิดคำถามค่ะ ดิฉันสงสัยมาก ๆ เลยว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนี้สงเคราะห์ใครกันแน่ กองทุนนี้ทั่วถึงและเท่าเทียมหรือไม่ และอนาคตมีวางไว้อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันสงสัยอีกประการหนึ่งก็คือ สัดส่วนการให้กู้เงินของเกษตรกรที่มีอยู่ตอนนี้ยังน้อยเกินไป ควรจะให้มากกว่าการกู้ผ่าน กรมและกระทรวงต่าง ๆ ควรจะให้เกษตรกรเสนอโครงการกับกองทุนโดยตรง แทนที่จะ เสนอผ่านกระทรวง กรมต่าง ๆ เหตุผลที่ดิฉันต้องการให้เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าหนี้สูญ ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงต่าง ๆ นี่ละค่ะ มาจากกรม มาจากหน่วยงานต่าง ๆ ท่านก็น่าจะทราบดีว่าเวลาที่ท่านให้กู้ไป ท่านให้กรมปศุสัตว์ ให้กระทรวงมหาดไทย ให้หน่วยงานไหนก็ตาม ท่านเก็บคืนมาได้แค่ไหน ท่านน่าจะเห็นตัวเลขกันอยู่แล้ว แต่เมื่อ เราไปเทียบนะคะ เราให้วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ กู้ ไม่น่าเชื่อเลยค่ะ เขากลับคืนได้มากกว่า ดิฉันเลยสงสัยว่าเกณฑ์ในการให้เหมือนกันหรือไม่ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเกณฑ์ในการ พิจารณาผ่านกรม กองต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ ที่ให้ไปจะเหมือนกับผ่านคณะกรรมการของ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร อันนี้ดิฉันสงสัยนะคะ เพราะหนี้สูญเยอะเหลือเกิน

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมาที่ดิฉันมีข้อสังเกตก็คือว่าในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมาเมื่อดูปริมาณ ที่ได้มากที่สุดคือปศุสัตว์ ได้มากสุดถึง ๒๔ โครงการจาก ๓๐ โครงการ เยอะมากนะคะ แล้วโครงการอื่น ๆ ทำไมได้น้อยจังเลย ต่อมาเมื่อเราไปดูวงเงิน ดิฉันเห็นวงเงินที่ได้อยู่ที่ ประมงมากที่สุด คือ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเลย แล้วก็เมื่อเราดูอีกจริง ๆ พืชสวน พืชไร่ น้อยเกินไปค่ะ เป็นแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และเมื่อดิฉันไปดู เทียบเลยนะคะ ปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๔ เทียบกัน ดิฉันก็เกิดคำถามอีกค่ะ ก็คือว่าในส่วนของปศุสัตว์อย่างที่ ท่านเห็นในตัวอย่างนี้ ในปศุสัตว์ได้ไปในปี ๒๕๖๔ ก็เป็นปศุสัตว์เยอะที่สุด พอปี ๒๕๖๕ วงเงินจากที่เคยได้ปี ๒๕๖๔ ๕๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นไปเป็น ๗๐๐ กว่าล้านบาท แต่คราวนี้ ไปหนักที่ประมง มีอยู่โครงการหนึ่งได้ไป ๕๐๐ ล้านบาท อันนี้ก็อีกแล้วค่ะ เป็นสิ่งที่ดิฉัน สงสัยอีกแล้วว่าให้กรมประมงตั้ง ๕๐๐ ล้านบาท คือเป็นโครงการเสริมสภาพคล่องให้กับ ผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ดิฉันขอบอกเลยว่าดิฉันไม่ได้มีปัญหากับการให้เงินกับผู้เลี้ยงกุ้ง ดิฉันยินดี หากทางพี่น้องผู้เลี้ยงกุ้งเกิดมีปัญหาด้านสภาพคล่อง อันนี้ไม่เป็นอะไร แต่ดิฉันก็ยังสงสัยว่า ทำไมหนักไปทางนี้เยอะเหลือเกิน ประเทศนี้ไม่ได้มีแค่ผู้เลี้ยงกุ้งนะคะ ประเทศนี้ยังมีผู้เลี้ยงหมู ถ้าท่านบอกว่าท่านช่วยเขาเพราะเขาขาดสภาพคล่อง แล้วพี่น้องผู้เลี้ยงหมูของเรา ฟาร์มหมู ของเราก็ขาดสภาพคล่องเช่นกัน ชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ ขาดสภาพคล่องเช่นกัน แล้วทำไม ท่านเทไปโครงการเดียวตั้ง ๕๐๐ ล้านบาท อันนี้ดิฉันสงสัยมาก ๆ เลยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาค่ะ เมื่อดิฉันไปดูต่อในเรื่องของเงินกู้ ปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่าเงินกู้ระยะยาว มีมากขึ้นแปลว่าอะไรคะ ยิ่งยาวยิ่งเสี่ยงสูง ท่านก็เห็นอยู่แล้วว่าจำนวนที่ยังเก็บเงินไม่ได้ มากตั้งเท่าไร ยกตัวอย่างในนี้ ดำเนินคดีบังคับคดีไป ๒๑ โครงการ ๓๗๘ ล้านกว่า ๆ เป็นไป ได้ว่าหนี้สูญอาจจะมากขึ้นอีก แล้วโครงการเหล่านี้บางโครงการตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ นี่ปี ๒๕๖๖ แล้ว ๓๐ ปีแล้วท่านยังค้างคากันอยู่เลย และอย่างที่บอกไปส่วนใหญ่ก็มาจากหน่วยงานต่าง ๆ กรมต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ เยอะมากเลย แล้วที่มีปัญหาอีกก็คือว่ากระทรวงต่าง ๆ เมื่อมี ปัญหาเข้าท่านก็ไปฟ้องบังคับคดีกับเกษตรกรอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังแก้กันอยู่เราแก้ ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงทางหรือไม่ ไม่ได้แก้ที่ต้นตอหรือไม่ ดิฉันอยากจะฝากให้ไปดูด้วยนะคะ เพราะว่ามันไม่ควรจะเป็นหน่วยงานที่ไปฟ้องร้องหรือว่ากระทรวงไหนไปฟ้องร้องเกษตรกร เสียเอง เราตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ใช่หรือคะ ดิฉันอยากจะให้ท่านย้อนกลับไปดู ประวัติเหล่านี้แล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหาให้ดีขึ้นจริง ๆ ให้ตอบโจทย์เกษตรกรจริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาประการสุดท้ายที่ดิฉันอยากจะฝากไป คือดิฉันไม่แน่ใจเลยว่าทุกวันนี้ เกณฑ์ในการคัดเลือกของท่านเป็นอย่างไร ดิฉันไปดูรายชื่อ ดูโครงสร้างของคณะกรรมการ ดิฉันชื่นชมและเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคณะกรรมการทุกท่านนะคะ เรียนด้วยความเคารพ ในที่นี้ แต่ดิฉันก็ยังสงสัยอยู่ดี เพราะดูจากผลแล้วมันดูย้อนแย้งกันเหลือเกิน ประการต่อมา ที่ดิฉันอยากจะฝากไว้ก็คือว่ากองทุนได้คำนึงถึงสินค้าเกษตรที่มีอยู่ว่ามีอนาคตมากน้อย แค่ไหน ท่านได้ให้ทุนความช่วยเหลือกับกลุ่มนั้นมากน้อยแค่ไหน และได้คำนึงถึงการลด สินค้านำเข้าและเพิ่มการส่งออกหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นสินค้าเกษตรบางตัวเราต้องนำเข้าอยู่ เยอะมาก กลุ่มนี้ดิฉันแทบไม่เห็นรายชื่อที่ท่านให้เงินกู้เลย ในขณะเดียวกันที่เราสามารถ ส่งออกได้มีศักยภาพดิฉันก็เห็นน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นอยากจะฝากว่าในการให้เงินกู้ นอกจากให้ในประเภทที่ว่าเหมือนซ่อม ซ่อมที่มีปัญหาอยู่แล้ว ท่านสร้างด้วยได้ไหมคะ คือให้ กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ กลุ่มเกษตรที่มีศักยภาพโดยเฉพาะเกษตรแปรรูป หรือจะเป็นของสด ก็แล้วแต่ที่มีศักยภาพให้เงินทุนเขาเยอะ ๆ แล้วก็ที่มีศักยภาพในประเทศอยู่แล้ว มีความ ต้องการอยู่แล้วที่เป็นพืชเศรษฐกิจหรือพืชแห่งอนาคตที่มีความต้องการซื้อในประเทศอยู่แล้ว ก็ตามก็ส่งเสริมกันเยอะ ๆ ดิฉันขอยกตัวอย่างโกโก้ โกโก้มีความต้องการสูงมาก ตอนนี้ธุรกิจ เครื่องดื่มกำลังไปได้ดี ท่านรู้ใช่ไหมคะว่ามีการนำเข้าโกโก้แต่ละปีสูงมาก เหตุใดเรายังต้อง นำเข้าอีกคะ ทำไมเราไม่ส่งเสริมเกษตรกรในประเทศเราให้ปลูกให้เยอะ ๆ ถ้าเขาไม่มีทุน ท่านก็ให้เขามากู้เงินไปสิคะ ถ้าท่านบอกว่าตอนนี้ที่เรามีตัวเลขอยู่แค่นี้เพราะว่าเราให้แค่นี้ เขาส่งเรื่องมาน้อย เขาส่งโครงการมาน้อย คำถามคือท่านประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่ หรือเกณฑ์ของท่านไม่ตอบโจทย์เขาหรือไม่ หรือจริง ๆ แล้วท่านต้องทบทวนหรือไม่ ทำไมถึงไม่สามารถที่จะตอบโจทย์เกษตรกรทุกกลุ่มได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะช่วยประเทศเราได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นดิฉัน คิดว่าเราคงต้องมานั่งทบทวนกันถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แล้วก็ต้องมองไปถึงอนาคตมากขึ้น นอกจากจะให้เงินเพื่อซ่อมอย่างที่ดิฉันบอก ท่านต้องให้เงินกู้เกษตรกร เพื่อสร้าง เพื่อให้ เศรษฐกิจของประเทศนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากซึ่งก็มาจากเกษตรกรของเรานี่ล่ะ นโยบายเกษตรเพิ่มมูลค่าก็มีแล้วสำหรับรัฐบาลนี้ ดิฉันเห็นกองทุนเกษตรกรก็ยังคงทำงาน ไม่สอดคล้องกันอยู่ ดิฉันขอฝากไว้เพียงแค่นี้ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ชุติมา คชพันธ์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดิฉันยังติดใจในประเด็นเรื่อง การเข้าถึงนะคะ เมื่อสักครู่ที่ท่านบอกว่าติดกฎกระทรวง ติดกฎหมาย ติดข้อบังคับอะไร ต่าง ๆ นานามากมาย เอาอย่างนี้ดีไหมคะ ดิฉันมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพื่อน ๆ สมาชิก หลายคนก็ติดใจ และดิฉันก็ติดใจมาก ๆ เช่นกัน ดิฉันอยากจะให้ปัญหานี้จบ ถ้าท่านติดขัด ตรงไหน ติดขัดเรื่องอะไร ท่านส่งข้อมูลให้สภาแล้วส่งต่อให้ดิฉันได้ไหมคะ ดิฉันยินดีที่จะรับ เป็นเจ้าภาพเพื่อให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะไม่เช่นนั้นทุกปี ๆ ท่านมารายงานก็จะเจอปัญหา เดิม ๆ แล้วพี่น้องเกษตรกรของเราก็จะขาดโอกาส ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียมกันแบบนี้อยู่ต่อไป แล้วถ้าเกิดอันไหนที่ท่านเสนอ ครม. ได้เลย แก้เลยก็ยินดีค่ะ ท่านเสนอได้เลย แต่ถ้าบอกว่า จะเสนอสภา ท่านแจ้งเลย ดิฉันยินดี แล้วก็ดิฉันเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกทั้ง ๕๐๐ คนในที่นี้ยินดี ที่จะแก้กฎหมายนั้น แก้ข้อบังคับนั้นเพื่อพี่น้องเกษตรกรทุกคน เพราะฉะนั้นท่านส่งข้อมูล เพิ่มเติมได้เลย ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันมีทั้งหมด ๗ เรื่อง เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข โดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก พี่น้องชาวนาท่อม หมู่ที่ ๘ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุงต้องการให้ซ่อมแซมไฟฟ้าส่องถนนโดยเร่งด่วน ดิฉันได้รับ เรื่องมาจากกำนันตำบลนาท่อมว่าปัจจุบันจุดนั้นคือจุดที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากเป็นถนนเลียบคลอง ถนนแคบและคดเคี้ยว จำเป็นต้องมีไฟฟ้าส่องสว่างนะคะ ทุกวันนี้คือมืดแบบนั้นเลย ด้านข้างที่เห็นนั้นคือคลองนะคะ และเป็นขนาดใหญ่ด้วย จึงต้อง รีบดำเนินการแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมาค่ะ หมู่ที่ ๖ ตำบลนาท่อม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เช่นเดียวกัน ในบริเวณใกล้เคียงวัดนาท่อมต้องการให้มีการซ่อมแซมไฟฟ้าส่องถนนที่ชำรุด โดยเร่งด่วน เนื่องจากเป็นบริเวณที่เป็นถนนเลียบคลองเช่นเดียวกัน ถนนแคบและจุดนั้น เป็นชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอย่างหนาแน่น จำเป็นต้องมีไฟส่องสว่าง ปัจจุบันนี้มืดแบบนั้น เลยนะคะ ซึ่งอันตรายมาก ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาต่อไป คือความเดือดร้อนจากพี่น้องหมู่ที่ ๘ ตำบลนาท่อมเช่นเดียวกัน ต้องการให้ขยายพื้นที่การให้บริการประปาส่วนภูมิภาค อย่างที่เห็นในรูปนะคะ ตำบลนาท่อม เป็นสถานีผลิตน้ำ ตำบลนาท่อมการประปาส่วนภูมิภาคอยู่ที่นั่น แต่ประชาชนในพื้นที่ หลายครัวเรือนยังไม่มีโอกาสเข้าถึงน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคเลยนะคะ จึงขอให้ การประปาเร่งสำรวจบ้านเลขที่ที่มีความต้องการใช้น้ำประปาเพื่อวางแผนขยายการให้บริการ โดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๔ คือหมู่ที่ ๒ ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน ที่นี่เดือดร้อนคูณ ๒ เลยค่ะ ก็คือถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ อันตรายในเวลากลางคืน และขอให้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง บนถนนนะคะ หากมีการหกล้มบนถนนขึ้นมา เนื่องจากรถตกหลุม แน่นอนค่ะเกิดอุบัติเหตุ เกิดขึ้น จึงขอให้มีการติดตั้งไฟฟ้าบริเวณนั้นโดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาต่อไปค่ะ ความเดือดร้อนจากพี่น้องบ้านหนองทุ่งสิบบาท ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด ขอให้มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบนถนน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีไฟ ส่องถนนเลย ในบริเวณกลางคืนจะเห็นว่ามีรถใหญ่ รถบรรทุกแบบนี้วิ่งผ่านไปมาก็จะเกิด อันตรายกับประชาชนที่สัญจรบริเวณนั้นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ความเดือดร้อนต่อไป คือถนนหมายเลข ๔๑๖๓ ควนดินสอ-สหัสคุณ ในพื้นที่ ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ถึงตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต ยังไม่มีไฟส่องถนนเลย มืดอย่างที่เห็นเลยนะคะ และถัดไปข้างในคือโรงงานก็จะมีรถบรรทุกและประชาชนสัญจร ผ่านไปมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงขอไฟส่องสว่างโดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะ ความเดือดร้อนจากพี่น้องจังหวัดมุกดาหาร ดิฉันขอเป็นตัวแทน ของเทศบาลตำบลโพนทราย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร คือขอเร่งรัดไปยัง กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนะคะ ขอให้เร่งอนุมัติการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างระบบ ประปาหมู่บ้าน และก่อสร้างถนน หากโครงการนี้สำเร็จจะมีประชาชนเกือบ ๕,๐๐๐ คน ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ มีการขอใช้พื้นที่เรียบร้อยแล้วตามขั้นตอนทุกอย่างนะคะ ทำหนังสือไปแล้วเมื่อปี ๒๕๖๕ ก็ยังเงียบนะคะ ทวงถามไปแล้วเมื่อปี ๒๕๖๖ นี้ก็ยังเงียบ เช่นเดียวกัน จึงขอเร่งรัดให้รีบดำเนินการและมีการเซ็นอนุมัติโดยเร่งด่วน รวมถึงหน่วยงาน อื่น ๆ ที่ดิฉันจะทำหนังสือถัดไปหลังจากนี้อีกหลายเทศบาล หลายตำบล เจอปัญหา เช่นเดียวกันค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ บ้านเกิดของดิฉันคือจังหวัดพัทลุงนะคะ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ทำประมงน้ำจืด แต่ด้วยความที่ ดิฉันได้เดินทางไปทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ เพราะฉะนั้นดิฉันก็จะเข้าใจวิถีชีวิต ดิฉันสัมผัส วิถีชีวิตของชาวประมงทั้งน้ำจืด น้ำเค็มนะคะ ก่อนอื่นเลยค่ะดิฉันต้องบอกว่าดิฉันได้อ่าน รายงานเล่มนี้ที่ท่านทำมา ดิฉันก็ชื่นชมนะคะ เพราะว่าท่านเหมือนนั่งอยู่ในใจดิฉันเลย เหมือนรู้เลยว่าดิฉันต้องการจะให้แก้ปัญหาเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งดิฉันอ่านแล้วดิฉันก็เชื่อค่ะว่า รายงานฉบับนี้จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และกิจการประมงทั้งระบบจริง ๆ แต่ถึงแม้ว่าจะมีบางอย่างที่ถูกใจดิฉันอยู่แล้ว แล้วทางผู้ชี้แจงบางท่านได้ชี้แจงไปแล้ว เมื่อสักครู่นี้ วันนี้ดิฉันเลยขอพูดสั้น ๆ ในบางประเด็นที่ยังไม่ซ้ำและคิดว่าดิฉันกังวลอยู่นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อันดับแรก เรื่องนี้ดิฉันต้องบอกว่าดิฉันดีใจมากที่ในหน้า ๔๖ ดิฉันเห็นท่าน แก้ข้อความที่บอกว่าตัดคำว่า สัตว์น้ำ หรือ นำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก ออก อันนี้ดิฉันอยากให้ เร่งแก้ไขโดยเร็ว แก้กฎหมายโดยเร็ว เพราะว่าจังหวัดพัทลุงของดิฉันเรามีปลาที่เราเรียกกันว่า ปลาลูกเบร่ หรือถ้าคนใต้ก็จะมีปลาอีกชนิดหนึ่งที่เรากินกันบ่อยก็คือปลาจิ้งจั้ง ถ้าท่านเคยได้กิน ปลาตัวเล็ก ๆ นี่ไม่ใช่ตัวอ่อนนะคะ มันคือตัวเต็มวัยแต่มันตัวเล็ก ปลาลูกเบร่คือตัวเล็ก จริง ๆ เลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยังมีศักยภาพอีกมาก ยังสามารถที่จะส่งออก ยังสามารถแปรรูป ทำอะไรได้อีกเยอะแยะ การแก้กฎหมายนี้จะช่วยปลดล็อกตรงนี้ได้ ซึ่งดิฉันก็ได้รับฟังปัญหา จากประชาชน จากชาวประมงมา อันนี้คือสิ่งที่ดิฉันถูกใจมาก ๆ เลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • แต่ในส่วนที่ดิฉันกังวลนะคะ ดิฉันอ่านหน้า ๓๐ ดิฉันก็กังวล คือดิฉันอยากจะ รู้ว่าในแง่ของการส่งออก การตลาด การนำเข้าสินค้าประมงเป็นอย่างไร แต่ว่ารู้สึกจะมีน้อย เหลือเกิน น้อยเกินไป ก็มองได้ ๒ แบบนะคะ คือว่าการที่ท่านพูดถึงประเด็นนี้น้อยเกินไป เป็นเพราะว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือจริง ๆ แล้วไม่ได้มีปัญหามากมายก็เลยไม่ได้พูดถึง มากมายนัก ก็มองได้ ๒ แบบ แต่ดิฉันอยากจะฝากไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันท่านเจรจาตกลงการค้าเรื่องนี้ไปแล้ว ๑๘ ประเทศ ประเทศนี้มีเป็นร้อย ๆ ประเทศเลยนะคะ ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ เป็นไปได้ไหมที่เราจะเจรจาให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ ๑๘ ประเทศ สินค้าประมงไทยเรา ทั้งภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน หรือภาคตะวันออกก็ตาม ๒๒ จังหวัด ดิฉันเชื่อมั่นว่าเรา มีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากกว่านี้ เรามีผลิตภัณฑ์ที่จะแปรรูปทำได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้น อันนี้อยากจะฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วถ้าเป็นไปได้ถ้ามีการศึกษาในอนาคตอยากให้ ช่วยกันศึกษาลงรายละเอียดในเรื่องนี้มากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • อีกประการหนึ่งที่ดิฉันกังวลนะคะ โดยข้อกฎหมายที่มีอยู่ดิฉันไม่แน่ใจว่า ข้อกฎหมายนี้จะยังคงเป็นการกีดกันผู้ประกอบการ หรือชาวประมงพาณิชย์รายย่อย อยู่หรือไม่ เพราะว่าดูหลาย ๆ ข้อก็จะเหมือนได้ประโยชน์ คือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่ว่าพาณิชย์ขนาดเล็กก็อาจจะยังไม่ได้ประโยชน์ในบางข้อมากมายนัก ก็อยากจะฝาก ประเด็นนี้ไว้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งคือดิฉันเป็นห่วง เมื่อเราพูดถึงเรื่องปากท้องแล้วนะคะ ดิฉัน ไปจังหวัดสงขลา ดิฉันได้รับร้องเรียนจากชาวประมงก็คือว่าเวลาหน้ามรสุม และในเล่มนี้ก็ตาม ท่านก็มีระบุไว้แล้วว่าบางช่วงเวลาที่ห้าม ห้ามทำประมง คำถามก็คือว่าช่วงเวลาที่ห้ามเขา ทำประมงจะให้เขาทำอาชีพอะไร สิ่งนี้ดิฉันเข้าใจว่าอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกรรมาธิการวิสามัญ ชุดนี้โดยตรง แต่ว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟังอยู่ ดิฉันคิดว่าเราต้องบูรณาการร่วมกัน และในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องคิดร่วมกันว่า เราจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร เพราะเราห้ามเขาทำประมงในบางช่วงเวลา แล้วเขา จะทำอะไร กินอะไรคะ

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้ในส่วนของเวลาที่มีมรสุมก็เช่นเดียวกัน บางช่วงมีพายุเข้าภาคใต้บ่อยมากเลย พายุเข้าบ่อยมากเลยโดยเฉพาะปลายปี ช่วงนั้นล่ะค่ะเขาไม่สามารถออกเรือไปทำประมงได้ เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ให้เขาทำอาชีพอื่น ๆ เป็นอาชีพเสริมหรือไม่ กรมพัฒนาชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องนี้อยู่จะมาช่วยได้อย่างไรหรือไม่ หรือกระทรวงพาณิชย์ หรือทางพาณิชย์จังหวัดก็ตามจะช่วยได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันอยากจะฝากไว้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาที่ท่านบอกว่าในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้มีการประชุมกัน ปีละ ๔ ครั้ง อันนี้ดิฉันเห็นด้วย เพราะดูว่ามีการประชุมกันบ่อย แต่ขออีกนิดหนึ่งค่ะ ในกรณีที่ บางจังหวัดที่มีปัญหาเยอะ ดิฉันขอเพิ่มได้ไหมคะ คือให้ประชุมกันถี่ขึ้นอาจจะทุกเดือนก็ได้ อย่างบางพื้นที่มีปัญหาบ่อย ๆ แล้ว ๔ ครั้งต่อปีคงไม่พอ ควรจะมีมากกว่านั้น จังหวัดไหน ที่ไม่ค่อยมีปัญหา ก็โอเคค่ะ ตามข้อกำหนดเดิมคือ ๔ ครั้ง ต่อ ๑ ปีไป

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้ายที่ดิฉันเป็นห่วงนะคะ ไม่ว่าเราจะทำเล่มนี้ดีแค่ไหน เราจะแก้ กฎหมายช่วยเหลือประชาชนดีแค่ไหนก็ตาม แต่หากขาดการประชาสัมพันธ์ ชาวประมงเขาก็ ไม่ทราบ ดิฉันไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวประมงเล่าให้ดิฉันฟัง แทบจะเล่าทั้งน้ำตาเลย เป็นผู้ชายแต่เขาก็อึดอัดคับข้องใจมาก เขาบอกดิฉันว่าเขาเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือ แต่เขาไม่รู้ กฎเกณฑ์บางอย่าง เพราะเขาไม่รู้จะถามใคร ไปถามประมงจังหวัดบางทีก็เหมือนกับว่า ไม่เต็มใจตอบ ก็ไม่รู้จะถามอย่างไรดี เขาก็แบบชาวบ้านก็ไม่กล้าถามลงรายละเอียดเยอะ กลัวโดนดุอะไรอย่างนี้ค่ะ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดนะคะ มันกลายเป็นว่าพอเขา เปลี่ยนเครื่องยนต์อีกประเภทไปเป็นอีกประเภท แล้วทางสำนักงานบอกว่าให้เขาไปถ่ายรูป ย้อนหลัง เขาก็ถามดิฉันว่าแล้วจะให้ผมทำอย่างไร ผมเปลี่ยนไปแล้ว แล้วผมจะเอารูป จากไหนย้อนหลัง แล้วนี่คือปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่าเราคงจะไปว่าประชาชน ไม่ได้หรอกค่ะ ว่าทำไมคุณศึกษา คุณไม่ดู โอเคหน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นของเขา แต่ต้องย้อนกลับมา มองในภาครัฐด้วยนะคะว่าเราได้ช่วยเหลือเขาเต็มที่หรือยัง เราได้ประชาสัมพันธ์ เราได้จัด หลักสูตรอบรมหรืออะไรก็ตามที่เราจะทำได้ภายใต้หน้าที่ของพวกเรา หรือว่าภายใต้หน้าที่ ของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ดิฉันก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันเชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ และจะสามารถช่วยเหลือ พี่น้องชาวประมงของเราทั้ง ๒๒ จังหวัดได้อย่างแท้จริง ก็ขอชื่นชมและเห็นด้วยกับรายงาน ฉบับนี้ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงค่ะ ท่านประธานคะ ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงเป็นปัญหาที่เราพบเจอกันมา ตลอดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคอะไรก็ตาม คำถามของดิฉันก็คือทำไมคนไทยเรา จะต้องทน แล้วเราจะต้องทนกับค่าไฟฟ้าแพงแบบนี้ไปถึงเมื่อไร

    อ่านในการประชุม

  • ใครจะให้คำตอบได้บ้าง แล้วใครจะแก้ปัญหาได้บ้าง เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเจอมายาวนานนะคะ ถ้าเราดูย้อนหลัง กลับไปเราจะพบว่าใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา ค่า FT ที่เราเจอกันมันก็จะแกว่งไปแกว่งมาอยู่แบบนี้ แต่ในช่วงปี ๒ ปีที่ผ่านมานี้ มันกระโดดสูงเป็นพิเศษเลยโดยเฉพาะปีที่แล้ว แล้วก็ปีนี้ถึงแม้ รัฐจะบอกว่ารัฐช่วยดูแล ช่วยแบกรับอะไรแทนก็ตาม สุดท้ายต้นปีนี้ก็กลับมาเป็นภาระ ให้ประชาชนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะส่งเสียงแทนประชาชน อยากจะบอกว่า อย่าผลักภาระให้ประชาชนเลย ช่วยกันทบทวน ช่วยกันปรับโครงสร้างใหม่เถอะ ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร ค่า FT ภาษีมูลค่าเพิ่มต่าง ๆ ประชาชนที่เป็นภาคธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร เราต้องอดทนกันมาตั้งเท่าไร เราต้องอยู่ในภาวะจำยอม เราต้องรับสภาพกับ ความไม่เป็นธรรมเสมือนถูกขูดรีดอยู่แบบนี้ แต่เป็นการขูดรีดอย่างถูกกฎหมาย เราต้องทน แบบนี้ไปถึงเมื่อไร อยากจะฝากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ปัญหานี้นะคะ ในส่วนของ ค่าไฟแพง ในภาคธุรกิจนั้นส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศตกต่ำลง อย่างเห็นได้ชัด ต่อมาท่านจะเห็นว่าค่าไฟฟ้าที่เป็นขาขึ้นนี้จะส่งผลอย่างมากเลยต่อการ เติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยลงจะทำให้ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง ภาคธุรกิจที่กระทบมากที่สุดเลยก็คือโรงน้ำแข็งกระทบมาก นะคะ โรงแรมและที่พัก สิ่งทอ ๓ กลุ่มนี้กระทบมาก แต่ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ดิฉันได้พบเกษตรกร ในจังหวัดตรังแล้วก็จังหวัดกระบี่ ดิฉันได้ข้อมูลมาว่าเกษตรกรจากกระบี่ตอนนี้หันไปติด โซลาเซลล์ในบางฟาร์ม ต้นทุนค่าไฟฟ้า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์นี้ถือว่าสูงมาก สำหรับเกษตรกรในการเลี้ยงกุ้งแต่ละรอบจะต้องใช้เครื่องปั่นไฟตลอดเวลา ก็ต้องใช้ โซลาเซลล์เพราะลดต้นทุนสลับกับการใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังอยากจะให้รัฐช่วยเหลือก็คือช่วยให้ เงินกู้ยืมก็ได้หรือว่ารัฐติดตั้งให้ก่อนแล้วค่อยหักจ่ายคืนหลังจากมีการจับกุ้งแต่ละรอบ จะเป็น การช่วยเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุนและการผลิตได้ ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ดิฉันได้พูดคุยกับ เกษตรกรผู้ประกอบการฟาร์มหมู ทางฟาร์มหมูก็บอกดิฉันว่าค่าไฟฟ้านี้เป็นต้นทุนอยู่ที่ ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนของฟาร์มหมู ในการเลี้ยงหมูจะต้องใช้ปั๊มน้ำใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ความอบอุ่นกับลูกหมู โดยเฉพาะฟาร์มที่เป็นระบบปิดต้องใช้พัดลมตลอดเวลา แน่นอนค่ะเปลืองไฟตลอดเวลาแน่นอน สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนก็คือโซลาเซลล์สำหรับเกษตรกรเช่นเดียวกับฟาร์มกุ้ง เมื่อสักครู่นี้เลยนะคะ อยากให้มีการคิดดอกเบี้ยต่ำมากขึ้น ลดราคาในส่วนของอุปกรณ์ โซลาเซลล์ลง ทุกวันนี้บางคนอาจจะบอกว่าก็ในเมื่อมีทางเลือกอยู่แล้ว มีโซลาเซลล์อยู่แล้ว อย่างนั้นก็ไปใช้บริการอันนั้นสิ คุณก็ไปติดตั้งสิ ท่านประธานคะ เวลาที่เราจะติดตั้งโซลาเซลล์ แต่ละครั้งต้องใช้เงินก้อนใหญ่เป็นแสนเลย ๓๐๐,๐๐๐ บาท ๔๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับ เกษตรกรเป็นเงินที่เยอะ บางครั้งเงินก้อนนี้เขาสามารถเอาไปหมุนเวียนเป็นค่าอาหารสัตว์ เป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในครัวเรือนของเขา มันได้อีกมากมาย มากกว่าจะมาลงทุนเป็นก้อน ๆ แบบนี้นะคะ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้กระทบโดยตรงแน่นอนค่าไฟฟ้า ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ดิฉันพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ก็กระทบเช่นกัน เพราะว่า ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนถึง ๑๓ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ย นี่แค่ธุรกิจเดียวนะคะ ถ้าเราสำรวจทั้งหมด ดิฉันเชื่อว่าเราจะเห็นภาพชัดเจนเลยว่าประเทศนี้มันถดถอยขนาดไหน ถ้าเรายังปล่อยให้ ค่าไฟแพงแบบนี้ต่อไป นี่ยังไม่รวมอื่น ๆ ยังไม่รวม ค่าน้ำ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าแรงพนักงาน ค่าวัตถุดิบต่าง ๆ แล้วผู้ประกอบการจะเหลืออะไรคะ ถ้าค่าไฟแพงแบบนี้ต่อไปจะอยู่รอด ได้อย่างไร นั่นแปลว่ารัฐจะต้องให้ความสำคัญต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการรายเล็กมาก ขึ้นรายใหญ่เขาอาจจะอยู่ได้ไม่กระทบ แต่รายเล็กมีปัญหาแน่นอนถ้ายังปล่อยแบบนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาอีกปัญหาหนึ่งที่ประชาชนร้องเรียนดิฉันมา เขาพบว่าค่าไฟบางช่วง ไม่อยู่บ้าน อันนี้มีการเล่าให้ฟังว่าไม่อยู่บ้าน แต่ทำไมยังมีค่าไฟเกิดขึ้นมาได้ อันนี้เป็นไป ได้อย่างไร หรือว่าธุรกิจโรงแรมในช่วงโควิดรัฐก็สั่งปิดโรงแรม ปกติเปิดบริการปกติเงิน ก็หมื่นกว่าบาทเป็นค่าไฟ แต่ช่วงที่ปิดโรงแรมเงินก็ยังหมื่นกว่าอีกค่าไฟมาจากไหน เกิดอะไรขึ้น อันนี้ต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างแล้ว ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ร้านค้าในจังหวัดพัทลุงส่งข้อมูล ร้องเรียนมานะคะ บอกว่าเขาเจอปัญหาสันนิษฐานว่าน่าจะจดเลขมิเตอร์ผิดพลาด จากตัวอย่างนี้จะเห็นเลยค่ะ เดือน ๕ เดือน ๔ ของปี ๒๕๖๖ ปรากฏว่ากระโดดขึ้นไปเยอะ จากที่จ่ายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท กระโดดเป็น ๓,๐๐๐ บาท ๔,๐๐๐ บาท อย่างตัวอย่างที่เห็นในนี้ก็ไปที่การไฟฟ้า ปรากฏการไฟฟ้าก็ตอบไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น การไฟฟ้าก็บอกว่าก็จ่าย ๆ ไปก่อน จะได้จบ จะได้ไม่ต้องมีค้างจ่าย จะได้ไม่ต้องโดนตัดไฟ ไม่ต้องโดนถอนมิเตอร์ไป นี่คือบิลจากร้านค้านะคะ ผู้ประกอบการก็บอกดิฉันว่าของก็ขายไม่ได้ แล้วต้องมารับผิดชอบมาแบกรับอะไรก็ไม่รู้ที่เกิดจากความผิดพลาดจาก Human Error ของคนที่จดไฟฟ้าผิด เพราะฉะนั้นภาครัฐของเราควรต้องจริงจังแล้วในเรื่องของการใช้ Smart Meter ไม่ใช่ให้คนไปจดอยู่แบบนี้ แล้วไม่ใช่แค่นั้นนะคะ นอกจากจดผิดแล้วตอนนี้ ถ้าท่านเห็นบางท่านอาจจะเห็นมี SMS เขาใช้จุดอ่อนตรงนี้ส่งมาอาจจะเป็นมิจฉาชีพ ที่บอกว่าเนื่องจากค่ามิเตอร์ของท่านจดผิดให้กดไปที่ Link นี้ กลายเป็นสิ่งนี้เป็นช่องทาง ให้มิจฉาชีพเอาไปหากินอีกเป็นการเดือดร้อนซ้ำเติมค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่ารัฐบาล จะต้องจริงจังเรื่องนี้โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้า เราคงต้องรื้อโครงสร้างกันจริงจัง เราคงต้องมีนโยบายจริงจังอย่างที่พรรคก้าวไกลเราเคยทำก็คือเปลี่ยนแสงแดดเป็นเงิน แล้วก็สนับสนุนโซลาเซลล์เป็นแบบ Net Metering แล้วก็เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า แล้วถ้าเป็นไปได้ ดิฉันขอยืนยันสนับสนุนแนวทางของพรรคก้าวไกล คือเราต้องกล้าที่จะชนกับกลุ่มทุนใหญ่ เรารู้อยู่แล้วว่าเกิดจากอะไรบ้างในประเทศนี้เราต้องจริงจังกับเรื่องนั้นนะคะ ดิฉันขอฝาก ปัญหาของประเทศนี้ไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา และขอสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงค่ะ ครั้งนี้ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจากภาคใต้ทั้งหมด ๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก พี่น้องจาก ตำบลกงหรา อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ร้องเรียนมาทางดิฉันว่ามีความเดือดร้อนจากการ ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เรื่องนี้แตกต่างจากกรณีอื่น ๆ ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของขั้นตอนการปฏิบัตินะคะ นี่คือเอกสาร ที่ประชาชนเจรจา และดิฉันได้อ่านทั้งปึกนี้แล้วนะคะ เจรจามายาวนานหลายปีแล้ว จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ยากเลยถ้ามีการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว ขอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุก ที่ดินของรัฐ หรือ กบร. ทั้งส่วนกลางและจังหวัดพัทลุงแค่เร่งดำเนินการพิสูจน์ให้เรียบร้อย แล้วคุณสามารถที่จะออกโฉนดเป็นรายเฉพาะบุคคลได้อยู่แล้ว พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้บุกรุก แต่เป็นพื้นที่อยู่มาก่อนนับทศวรรษเรียบร้อยแล้ว ขอแค่มีการพิสูจน์สิทธิแล้วก็ดำเนินการ ตามขั้นตอนอย่างจริงจังนะคะ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา ในพื้นที่เดียวกันประชาชนจ่ายค่ารังวัดเรียบร้อยแล้วในการ ขอออกโฉนดมาหลายปี แต่ก็ถูกเลื่อนนัดหลายครั้ง จึงขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง เร่งดำเนินการที่ค้างคาให้เสร็จโดยด่วนนะคะ จ่ายเงินไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ นี่ปี ๒๕๖๗ แล้ว ไม่ว่าจะยืดเยื้อยาวนานไปทำไม จึงขอให้เร่งดำเนินการด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมาค่ะ จังหวัดตรังดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ภาคประชาชน ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรังว่า สูญเสียโอกาสจากการเปิดอาคารใหม่ซึ่งควรจะเป็น สนามบินนานาชาติและควรจะเปิดตั้งนานแล้ว แต่ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม เดิมจะเสร็จ ในปี ๒๕๖๕ ขยายมาถึงปี ๒๕๖๖ ตอนนี้ปี ๒๕๖๗ แล้วก็ยังไม่มีวี่แววเลยว่าจะเปิดใช้งาน เมื่อไร สะพานเทียบเครื่องบินหรือที่เราเรียกกันว่างวงช้าง ที่จริงต้องมี ๒ ตัว ปัจจุบันยังมีแค่ ๑ ตัวคาดว่าจะเสร็จในเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๖๖ ตอนนี้ก็ยังไม่มีเลยนะคะ ต่อไปมาอย่างที่ เห็นในภาพยังล้อมรั้วกันอยู่เลยค่ะ ยังไม่พร้อมส่งมอบ ยังไม่พร้อมใช้งาน จึงขอให้ กรมท่าอากาศยานเร่งดำเนินการให้พร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมามากขึ้นในทุกปี โดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้ายค่ะท่านประธาน เรื่องของจังหวัดสงขลา หาดสมิหลา ดิฉันได้รับ เรื่องร้องเรียนมาว่า ร้านค้าแถวนั้นเดือดร้อนจากการขึ้นค่าเช่าที่ร้านค้าแบบก้าวกระโดด ขึ้นมาถึง ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จึงขอให้เทศบาลนครสงขลา รวมถึงผู้ว่าราชการ จังหวัดสงขลาได้ทบทวน และได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน พ่อค้าแม่ค้าร้านค้าแถวนั้น ให้มีการเก็บค่าเช่าที่อย่างเป็นธรรมโดยเร่งด่วน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้จังหวัด พัทลุง ท่านประธานคะ เวลาที่เราพูดกันถึงขยะ ทุกวันนี้ดิฉันกังวลทุกครั้งเลยเวลาที่เห็น กองขยะ เวลาที่เห็นรถขยะผ่านไปมา คือแต่ละครั้งเราจะเห็นรถอัดแน่นไปด้วยขยะ ตลอดเวลาเลย แต่ว่าปลายทางของมันพอเราไปดูกองขยะตอนนี้กลายเป็นกองภูเขา เกือบทุกที่เลยค่ะ คำถามของดิฉันก็คือว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในโลกใบนี้ ต่อไปถ้ายังเป็น แบบนี้อยู่ขยะล้นเมืองเป็นภูเขาแบบนี้ เราคงอยู่กันแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วถ้าเราไม่ทำอะไร สักอย่าง

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันเห็นปริมาณขยะ ทั่วประเทศ ก็พบว่าทั่วประเทศตอนนี้ปริมาณขยะมีอยู่ประมาณ ๒๔ ล้านตัน ๓๗ เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างถูกต้อง แต่ว่าอีก ๓๑ เปอร์เซ็นต์ คือกำจัดไม่ถูกต้องนะคะ และ ๓๗ เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นขยะที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก ทีนี้พอไปดูในภาคใต้ ของดิฉัน ในภาคใต้ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ เป็นปริมาณขยะจากภาคใต้ ถ้าเราเทียบจากทั่วประเทศ แต่ที่น่ากังวลก็คือว่า มีอยู่ ๒๑๙ แห่ง เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกต้องนะคะ แล้วส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการเทกอง มีฝังกลบบ้างเป็นบางที่ และขยะส่วนใหญ่ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ คืออาหาร เป็นเศษอาหารซึ่งสามารถที่จะไปทำปุ๋ยหรือแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้อีก ทีนี้พอดิฉัน ไปดู ดิฉันเคยไปดูกองขยะที่หนึ่ง โดยเฉพาะของจังหวัดพัทลุง ปรากฏว่าในกองขยะที่เห็นว่า เป็นกองใหญ่มาก ๆ เลย เป็นภูเขาเลยค่ะ และที่น่ากังวลอันนี้ไม่เฉพาะจังหวัดพัทลุง จังหวัด อื่น ๆ ก็เป็น ก็คือว่าที่น่ากังวลคืออาจจะมีน้ำไหลซึมลงสู่พื้นดินแล้วก็ปนเปื้อนน้ำใต้ดินได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่เรื่องเล็ก อย่าคิดว่าเรามีที่กำจัดแล้วเรามีบ่อแล้ว แต่ที่น่ากังวล ก็คือว่าดิฉันเคยรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนบางครั้งน้ำที่มาจากใต้ดินนี้ลงแม่น้ำลำคลอง อีกที่หนึ่งที่ดิฉันกังวลมาก คือเราได้ยินกันบ่อย ๆ จะมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนบ่อยมากเลย ก็คือประชาชนจะบอกว่าเดือดร้อนจากน้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็น นี่คือตัวอย่างจากจังหวัดตรัง ขยะล้นออกมา แล้วก็มีการร้องเรียนว่าบ่อขยะเมืองตรังกระทบต่อสุขภาพชาวบ้าน หรือเรา อาจจะเคยได้ข่าวว่าไฟไหม้บ่อขยะหาดใหญ่นะคะ ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถามว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ของประชาชนอยู่ที่ไหน ประชาชนจะต้องทนอยู่แบบนี้หรือคะ จะอยู่แบบนี้ไปถึงเมื่อไร ถ้าเราไปดูบ่อขยะ ดิฉันจะให้ดูตัวอย่างบ่อขยะของเทศบาลเมืองพัทลุง ของคลองทรายขาว จังหวัดพัทลุงเช่นกัน ของนาปะขอ ในอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุงเช่นกัน นี่คือภาพรวม เราจะเห็นเลยว่าส่วนใหญ่จะเป็นแบบวางเทกองไว้แบบนั้น คือดิฉันไม่อยากจะโทษองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ดิฉันมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องวางแผนร่วมกัน คือท้องถิ่นก็มีข้อจำกัด เป็นเรื่องที่รัฐเองจะต้องช่วยกัน เราต้องร่วมมือกันแล้ว เราจะปล่อยให้ท้องถิ่นโดดเดี่ยว แล้วเขาแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่ดิฉันอภิปรายในวันนี้ ดิฉันอยากจะให้รัฐทำ หน้าที่อย่างจริงจังในการช่วยกันดูแลประชาชน แล้วก็ช่วยท้องถิ่น อีกที่หนึ่งที่ดิฉันกังวล มาก ๆ เลย นี่คือตัวอย่างของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือบ่อขยะเทศบาลเมืองปากพนัง ต่อวันจะมีปริมาณ ๔๖ ตัน ในพื้นที่ ๒๘ ไร่ แต่นี่คือภาพเมื่อไม่กี่ที่ผ่านมานี้เองค่ะ น้ำเน่าเสีย สารพิษจากบ่อขยะนี้เริ่มออกมานอกบริเวณ ถ้าท่านเห็นในรูปนี้ออกมาที่ถนนนี้แล้ว นี่คือ ภาพที่ทีมงานดิฉันไปเจอถึงที่เลย แล้วที่น่ากังวลคือบริเวณนั้นมีหนองน้ำอยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วมากไปกว่านั้นอีก ที่ดิฉันกังวลมากกว่านั้นก็คือ แค่ ๗ นาทีเท่านั้น หรือ ๒ กิโลเมตรกว่า ๆ เท่านั้น นั่นคือทะเลอ่าวไทย ที่เราเรียกกันว่าสะพานตัว T นั่นเป็นที่ทำประมงชายฝั่ง เป็นที่ ที่ประชาชนไปซื้อปลา มีปลาสด มีอาหารทะเลสด ๆ กันอยู่ที่นั่น และเป็นที่พักผ่อนของ ประชาชน ดิฉันกังวลมากเลยว่าวันหนึ่งข้างหน้านี้ถ้าน้ำใต้ดินหรือน้ำจากบ่อขยะไปถึงทะเล อ่าวไทย ดิฉันไม่อยากจะนึกภาพเลยว่าจะเป็นอย่างไร และอย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรา ละเลยกันอยู่ แล้วเราคิดว่ามันเป็นอยู่แบบนี้ไม่มีใครทำอะไร วันหนึ่งถึงทะเลแน่นอนนะคะ อันนี้อันตรายมาก ๆ ดิฉันกังวลมาก

    อ่านในการประชุม

  • อีกอันหนึ่งที่ทำให้ดิฉันกังวลมากเลย ก็คือว่าดิฉันไปเจอว่ามีการแจ้งเตือน จากกรมควบคุมมลพิษเมื่อประมาณปี ๒๕๖๕ กรมควบคุมมลพิษบอกว่ามีสถานที่กำจัด ขยะมูลฝอยที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัยใน ๑๖ จังหวัด คือ ๒ จังหวัดภาคตะวันตก และ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งหมด ๑๑๙ แห่ง นั่นแปลว่าเสี่ยงน้ำท่วม ก็จะเกิดการชะล้าง สารพิษจากบ่อขยะออกนอกบริเวณ ภาคใต้ของดิฉันฝนตกตลอดทั้งปี ตอนนี้ก็น้ำท่วมจังหวัด พัทลุงอยู่ ดิฉันก็เป็นห่วงพี่น้องชาวพัทลุงมาก ๆ เลย คือบ่อขยะนี้ถ้าเมื่อไรก็ตามที่น้ำท่วมสูง มากกว่านี้มันเป็นไปได้หมดเลย อะไรเกิดขึ้นได้ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านนึกภาพสิคะ ถ้าน้ำท่วมบ่อขยะมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องคิดวางแผนแล้ว อย่าวัวหายล้อมคอก อย่ารอให้เกิดก่อนแล้วมาแก้กัน ตอนนั้นไม่ทันแล้ว มันคงวุ่นกัน ไปทั้งเมืองนะคะ ดิฉันเลยอยากจะให้เรามานั่งคิดกัน ดิฉันเสนอคร่าว ๆ แต่ดิฉันคิดว่า เราคงต้องมีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อวางแผนกันโดยเฉพาะ ดิฉันขอเสนอก่อนก็คือ ว่าต้องมีการบริหารจัดการร่วมกันทั้งระบบ ทั้งประชาชนแล้วก็ภาครัฐ ประชาชนเอง เราก็ต้องจัดการขยะด้วยหลัก 3R นะคะ Reduce Reuse Recycle ดังภาพถัดไปนะคะ ภาครัฐเองเราก็ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น อาจจะมี Application ต่าง ๆ จูงใจให้ ประชาชนคัดแยกขยะ แล้วก็มีการ Monitor การจัดเก็บขยะในชุมชนหรือใช้หุ่นยนต์ มาวิเคราะห์ในการคัดแยกขยะก็ได้ ดีกว่าภาพตอนต้นดิฉันให้เห็นไปว่าต้องเอาคนไปขนไป คัดแยก อันนั้นก็ไม่ดีกับสุขภาพประชาชน หรือแม้กระทั่งคนงานที่เขาต้องคัดแยกขยะ เขาก็คือคนเหมือนกัน คงไม่มีใครที่จะต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงแบบนั้นนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาปัญหาขยะที่นานาชาติตื่นตัว ดิฉันอยากจะให้เห็นว่าประเทศฟินแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศฝรั่งเศสเขาแก้ปัญหากันไปไกลแล้วค่ะ อย่างประเทศฝรั่งเศสตอนนี้เขาห้ามใช้แล้ว เขาออกกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติก ทั้งจอบ มีด ช้อนส้อม จาน เขาห้ามตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แล้ว คำถามคือประเทศไทยเราจะ อย่างไรต่อ ถึงเวลาที่เราต้องจริงจังกับเรื่องขยะแล้ว เราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้อีกแล้ว ดิฉันให้ดูอีกตัวอย่างหนึ่ง คือของประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นว่า ของประเทศญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ในครัวเรือน ใช้หลัก 3R เข้ามา แล้วก็หลังจากนั้นขยะที่ เผาไหม้ได้ก็ไปเตาเผา ในขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ก็มีเตาเผาอีกประเภทหนึ่ง ขยะขนาดใหญ่ก็มี โรงบดขยะขนาดใหญ่ อันไหนที่กลับมาใช้ซ้ำได้ก็นำกลับมาใช้ซ้ำ และในประเทศญี่ปุ่นเอง สามารถได้พลังงานความร้อน ได้ไฟฟ้าจากการเผา เขาทำกันมานานแล้วในกรุงโตเกียว กำจัดขยะจาก ๒๓ เขตของโตเกียว ในส่วนของฝังกลบก็ทำไปอย่างเป็นระบบ ในเรื่องของ ถมทะเลอันนี้เห็นชัดมาก ๆ ถ้าใครเคยไปสนามบินคันไซ จะเห็นว่าสนามบินคันไซคือเกิดจาก การรวมกันของขยะจนสามารถสร้างเป็นสนามบินได้ นั่นคือตัวอย่างที่ดีมากที่ประเทศญี่ปุ่น เขาบริหารจัดการขยะได้อย่างดี คำถามคือประเทศไทยเราขยะล้นขนาดนี้เราได้คิดอะไรแบบ นั้นบ้างหรือไม่ที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือประเทศญี่ปุ่นเองเขาได้แร่เหล็ก ได้อลูมิเนียม ต่าง ๆ นานา มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นดิฉันสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมา เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็สนับสนุน พ.ร.บ. การจัดการขยะของพรรคก้าวไกล ที่กำลังจะเข้า เร็ว ๆ นี้ ดิฉันคิดว่าถึงเวลาจริงจังแล้วที่เราจะต้องร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน รัฐบาล แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อไป ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุง สำหรับวันนี้ดิฉันต้องการที่จะให้ความเห็นสั้น ๆ กับทาง สวทช. ก่อนอื่น ต้องบอกว่าสำหรับ สวทช. การดำเนินงานที่ผ่านมาดิฉันมีความพึงพอใจมากแล้วก็ชื่นชม ท่านมาก ๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประโยชน์จากองค์กรของท่านมาก อันนี้ดิฉันทราบดี และดิฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีในวงการเทคโนโลยีมาประมาณเกือบ ๒๐ ปีแล้วค่ะ ดิฉัน ได้สัมผัสกับการทำงานของ สวทช. หลาย ๆ หน่วยงานในนี้ โดยเฉพาะขอฝากชื่นชมไปยัง Software Park ดีมาก ๆ เลย คือช่วยผู้ประกอบการด้านนี้ได้เยอะมาก อันนี้ดิฉันชื่นชม แต่ว่ายังมีบางองค์กรที่ดิฉันอยากจะฝากความคิดเห็น คือดิฉันขอบอกไว้ก่อนว่าครั้งนี้ไม่ใช่ การวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด แต่ถ้าดิฉันไม่พูดดิฉันก็คงจะค้างคาใจอยู่แบบนี้ต่อไปก็เลย ขอพูดสั้น ๆ หน่วยงานแรกที่ดิฉันมีความคิดเห็นคือในเรื่องของ ITAP ITAP นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อ ช่วยผู้ประกอบการใช่ไหมคะ แต่ว่าจากที่ดิฉันได้รับทราบมาจากผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่าน รวมถึงที่ได้เคยสัมผัสมาบ้างก็ทราบมาว่ากระบวนการในการที่ส่งข้อมูล ส่งเอกสาร รายละเอียดต่าง ๆ เข้าไป กระบวนการในการที่จะ Approve หรือไม่ ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างเช่นขั้นตอนในการสัมภาษณ์หรือในการพิจารณา ขั้นตอนต่าง ๆ มีความเชื่อถือได้ มากน้อยแค่ไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีการใช้เส้นอะไรแบบนั้น อันนี้ดิฉันก็ฝากในเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าบางครั้งบางโครงการที่เข้าไปผู้ประกอบการไปดูรายชื่อแล้วก็ยังมีข้อสงสัยว่า โครงการนั้นเข้าไปได้อย่างไร เราอยากจะให้ท่านคำนึงในแง่ของ Impact ที่มีต่อประเทศ อย่างเช่นบางโครงการอาจจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศเลยก็ได้แต่ว่าก็ไม่ผ่าน หรือว่าบางโครงการดูรายชื่อหรือดูข้อมูลแล้วไม่น่าจะผ่านได้แต่ผ่านไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นนอกเหนือไปจากตัวนวัตกรรมที่เขานำมาใช้แล้วก็อยากให้คำนึงถึง Impact ที่จะมีต่อประเทศให้มากกว่านี้อีกมุมหนึ่งนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาที่ดิฉันอยากจะฝากไปก็คือเรื่องของการขึ้นบัญชีนวัตกรรม โครงการ บัญชีวัตกรรมเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ มีการช่วยผู้ประกอบการได้เยอะมาก ดิฉันเชื่อมั่น อย่างนั้น แต่ก็ยังเกิดคำถามว่าบัญชีนวัตกรรมทำไมขั้นตอนยุ่งยากเหลือเกิน แล้วก็ยาวนาน เหลือเกิน กว่าที่จะผ่าน กว่าที่จะรู้ผล คือรู้สึกว่าดึงเวลานานมาก ในโลกธุรกิจทุกท่านคงรู้ดีว่า เราต้องใช้เวลากันเร็ว ๆ รวดเร็ว ทำอะไรว่องไว แต่บางโครงการที่ผู้ประกอบการขึ้นบัญชี นวัตกรรมไปแล้วแต่เขาต้องรอนานมาก บางทีไม่ทันการณ์ ธุรกิจต้องมีการแข่งขัน แล้วก็ โดยเฉพาะบางโครงการที่มีประโยชน์ อย่างเช่นโครงการที่มีผลในด้านการแพทย์ โครงการ แบบนี้จะมีประโยชน์ เราไม่มีทางรู้เลยว่าโครงการนั้นแค่เราเสร็จเดือนเดียว หรือวันเดียวจะมี ประโยชน์ต่อผู้ป่วยมหาศาลขนาดไหน เพราะฉะนั้นอยากจะให้เร็วกว่านี้ แล้วก็เรื่องค่าใช้จ่าย ดิฉันทราบมาว่าขั้นตอนแต่ละขั้นตอน หรือว่าในแต่ละ Module ในแต่ละตัวชิ้นวัตกรรมจะมี รายละเอียดค่าบริการหยุมหยิมเยอะแยะไปหมดเลย อันนี้ก็อยากจะฝากด้วย เพราะว่าเราก็ พยายามส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช่ไหมคะ แต่ว่าเมื่อมีค่าใช้จ่ายมากเกินไปในทุก ๆ ขั้นตอนผู้ประกอบการเองก็คงไม่สามารถที่จะ Support ไม่สามารถที่จะมาแบกรับตรงนี้ได้

    อ่านในการประชุม

  • แล้วอีกข้อหนึ่งที่บอกว่าเนื้อหาของนวัตกรรมบางอย่างเป็นของต่างประเทศ ก็ได้ ดิฉันไม่แน่ใจว่าท่านกำหนดสัดส่วนไว้อย่างไร เพราะว่าจริง ๆ เราก็อยากจะส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยในด้านเทคโนโลยีถูกไหมคะ แต่ถ้าเราไม่กำหนดสัดส่วน เราให้เป็น นวัตกรรมที่มาจากเมืองนอกมากเกินไป ผู้ประกอบการไทยก็ไม่ได้เติบโตขึ้น เรื่องนี้ก็อยากจะ ฝากไว้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้อีกข้อหนึ่ง ดิฉันได้ทราบมาก่อนหน้านี้ น่าจะได้เห็นหน้าข่าวกันบ้างแล้ว ในเรื่องของความกังวลในแง่ของการทุจริตใช่ไหมคะ เพราะว่าบัญชีนวัตกรรมเป็นข้อดีก็จริง แต่ก็มีช่องโหว่เช่นกัน คือเราไม่รู้เลยว่าโครงการไหนจะมีช่องให้ทุจริตได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้เราก็ทราบกันบ้างว่ามีบางโครงการที่อยู่ใน ป.ป.ช. ใช่ไหมคะ ดิฉันก็อยากจะ ฝากให้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้รอบคอบมากขึ้นกว่านี้ด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วดิฉันเห็นด้วย อยากจะฝากในบางประเด็นตามนี้ แล้วก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ใน สวทช. ทุกท่าน ท่านมีประโยชน์ช่วยประเทศนี้ได้มากจริง ๆ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ จังหวัดพัทลุงค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันมีความกังวลในเรื่องอนาคตของชาวประมงว่า ต่อไปเราจะไปกันในทิศทางไหน เราทราบกันดีว่าทุกวันนี้พี่น้องชาวประมงของเรามีอุปสรรค ในการทำมาหากินจากกฎหมายฉบับปัจจุบันที่เป็นอยู่ และดิฉันก็เชื่อว่า พ.ร.บ. ประมง ที่ยื่นโดยพรรคก้าวไกลจะเป็น พ.ร.บ. ฉบับที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นฉบับที่ Balance สร้างสมดุล ที่สุดแล้วระหว่างประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน เรามีพี่น้องชาวประมงอยู่ใน ๒๒ จังหวัด มีชาวประมงถึง ๑๑,๘๒๒ ราย ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เรามีธุรกิจประมงและแปรรูปอาหารทะเล ถึง ๑,๑๙๘ กิจการ และสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ถึง ๕.๖ หมื่นล้านบาท ไม่น้อยเลยนะคะ แต่กฎหมายที่มีอยู่นี้เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของชาวประมงตลอดมา ในเรื่องของประมงน้ำเค็มนั้นมีเพื่อน สส. ในที่นี้พูดถึงกันไปมากแล้ว ดิฉันขอพูดถึง ประมงน้ำจืดในบ้านเกิดของดิฉันเองคือจังหวัดพัทลุง ในกรณีนี้เรามีปัญหาในบริเวณ ทะเลสาบสงขลาค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ก็คือระบบนิเวศในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไป ทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมมากกว่าเดิม แน่นอนกุ้งก้ามกรามอันโด่งดัง ของจังหวัดพัทลุง กุ้ง ๓ น้ำที่เราเรียกกันมีน้อยลง ประมงจังหวัดพัทลุงจึงจัดงบประมาณ เพื่อนำกุ้งปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติ แต่พบว่าเป็นกุ้งต่างถิ่นเมื่อนำมาปล่อยทำให้กุ้งท้องถิ่น กลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดพัทลุงมีความเป็นห่วง ก็เลยมีการเพาะเลี้ยงขึ้นมาในสายพันธุ์ดั้งเดิม ดังจะเห็นได้ในภาพถัดไปนะคะ จะเห็นว่า นี่คือสถานที่เลี้ยงเป็นแบบปิดเลย เพียงแต่ว่านำน้ำเค็มมาผสมกับน้ำจืดที่มาจากทะเลสาบ สงขลาน้ำเค็มจากทะเลระโนด เพื่อมาเพาะพันธุ์ให้เป็นน้ำกร่อยให้กุ้งก้ามกรามสามารถ เติบโตได้ดังที่เห็นในภาพเลย ในภาพจะเห็นว่าเป็นลูกกุ้งออกมา นี่ค่ะพื้นที่ปิดแบบนี้เลย แล้วก็เมื่อเติบโตเราเอาไปปล่อยทะเลสาบสงขลาก็จะโตขึ้นแล้วก็ตัวใหญ่ เอกลักษณ์ของกุ้ง ก้ามกรามในทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง ก็คือเนื้อแน่น ตัวใหญ่ ท่านที่เคยทานจะรู้ดีว่า มันรสหวานอร่อยเพียงใด เวลาที่ชาวบ้านจับเขาก็จับใส่เรือแบบนี้ นี่คืออย่างน้อยนะคะ ถ้าจังหวัดที่เยอะมาก ๆ ก็จะเต็มเลยค่ะ ทีนี้เมื่อมีการเพาะพันธุ์มากขึ้นก็จะมีปัญหาอยู่ เดี๋ยวดิฉันจะเล่าให้ฟังต่อไป ทีนี้ในการที่จะเพาะพันธุ์ทางสำนักงานจังหวัดพัทลุง ประมงจังหวัดพัทลุงก็ได้มอบงบประมาณให้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อไปเพาะพันธุ์กัน เพื่อกลับคืน สู่ธรรมชาติต่อ คำถามก็คือไปอย่างไรต่อคะ ในกฎหมายที่เป็นปัญหาอยู่แบบนี้ ท่านจะเห็น ในภาพถัดไปหลังจากมีการเพาะพันธุ์กุ้ง นี่คือตัวอย่างในแก้วเล็ก ๆ นี้ค่ะ นี่คือลูกกุ้ง ที่ชาวบ้านทำขึ้นมาสำเร็จคือเก่งมาก ๆ เลย เขาสามารถที่จะทำสำเร็จ แม่กุ้ง ๑ ตัว สามารถ ผลิตได้ถึง ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ตัว ในเวลาแค่ ๔๐ วันเท่านั้นเอง ก็ปล่อยได้ ก็ปล่อยแบบนี้ ไปเรื่อย ๆ ขายกิโลกรัมประมาณ ๔๐๐-๘๐๐ บาท แล้วแต่น้ำหนัก แล้วแต่ขนาดตัว ส่งให้ร้านอาหาร ส่งให้โรงแรม แล้วก็จูงใจนักท่องเที่ยวในการไปชิมกุ้งก้ามกรามจังหวัดพัทลุง แต่ปัญหาก็คือว่ามีอุปสรรคค่ะ มีข้อจำกัดทางกฎหมายก็คือว่ามีคำสั่งจังหวัดพัทลุงมา ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถที่จะทำวิสาหกิจชุมชนในเชิงพาณิชย์ได้ มีคำสั่งมาให้ระงับใช้ ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด ยกเว้นแค่บางตำบล ในอำเภอปากพะยูน เท่านั้น ทำให้พื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดพัทลุงไม่สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้น้ำเค็มได้

    อ่านในการประชุม

  • เดี๋ยวดิฉันจะให้เห็นว่ามันเกี่ยวกับกฎหมายประมงอย่างไร นี่คือผลพวงจาก การที่ไม่กระจายอำนาจ พ.ร.บ. ประมงที่มีอยู่ เมื่อไม่กระจายอำนาจทำให้เกิดปัญหาอุปสรรค ท่านจะเห็นเลยในภาพถัดไปว่าถ้ามีการเพาะเลี้ยงแล้วมีการแปรรูปสำเร็จ หรือว่าสามารถ ส่งกุ้งเอาไปขายต่างประเทศ ตลาดต่างประเทศมีอยู่แล้วค่ะ มีอเมริกา จีนไต้หวัน พม่า มาเลเซีย ฮ่องกง เขาพร้อมที่จะรับซื้อกุ้งก้ามกรามของไทยอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะ เพิ่มมากขึ้นทุกปีค่ะ แต่ถ้ากฎหมายยังเป็นอุปสรรคอยู่แบบนี้ไม่สามารถที่จะเติบโตได้เลย ชาวบ้านก็จะขาดโอกาสเราจะเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปอีกตั้งเท่าไรถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ คณะประมงในประเทศไทยเรามีมหาวิทยาลัยที่มีคณะประมงหลายที่ หลายมหาวิทยาลัย ท่านจะเห็นว่าในภาพถัดไปจะมีทั้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรามีเยอะมาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หรือว่าแม้กระทั่งราชภัฏต่าง ๆ แต่จะมีประโยชน์อะไรคะ เรามีงานวิชาการ เรามีงานวิจัย เราสร้างวิทยฐานะมากมายให้กับนักวิชาการ แต่ในชีวิตจริง ของชาวประมงกลับอยู่อย่างยากลำบาก ในการปฏิบัติจริงมีอุปสรรคต่าง ๆ นานามากมาย เลยเราจะมีประโยชน์อะไรที่เราจะสร้างบัณฑิต มีงานวิชาการดีเลิศสวยหรูแค่ไหนก็ตาม แต่ชีวิตของชาวประมงกลับลำบาก ไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องแก้ อย่างจริงจังเราต้องแก้กฎหมายประมงอย่างจริงจัง เพื่อให้ชีวิตของชาวประมงดีขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจของกุ้งในทะเลสาบดิฉันจะให้เห็นเลย นี่คือข้อมูลจากประมงจังหวัดพัทลุง ดิฉันได้ข้อมูลมาว่ากุ้งก้ามกรามสมมุติว่าเราปล่อยไป ๕ ล้านตัว รอด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ นี่คืออย่างน้อยนะคะ ในความเป็นจริงอาจจะรอดมากกว่านั้น เราขายได้กิโลกรัมละ ๔๐๐ บาท นั่นแปลว่าจะมีเม็ดเงินกลับมาถึง ๕๐ ล้านบาท นี่คือโอกาสค่ะ โอกาสทาง เศรษฐกิจที่จะมีกลับเข้าไปในท้องถิ่นให้กับชุมชนรอบ ๆ ทะเลสาบให้กับพี่น้องชาวประมง ที่ทำน้ำจืด แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้ากฎหมายยังเป็นอุปสรรคอยู่แบบนี้ค่ะ ดิฉันจะให้ดูในภาพถัดไป ดิฉันอยากเห็นรัฐบาลให้เราผ่านแล้วก็อยากเห็นเพื่อนสมาชิก สส. ในที่นี้ทุกท่านโหวตพระราชบัญญัติประมงฉบับพรรคก้าวไกลให้ผ่าน เนื่องจากเป็นฉบับที่ให้ ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากที่สุดแล้ว เหตุผลก็คือในคณะกรรมการจังหวัด เราจะปรับเปลี่ยน เราจะแก้ข้อความ คือให้นายก อบจ. มีอำนาจเป็นประธานกรรมการ ให้ผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่งมีตัวแทนชุมชนจาก ท้องถิ่นต่าง ๆ เลือกกันเข้ามาเองเป็นกรรมการด้วย รวมถึงตัวแทนจากอบต. จากเทศบาล รวมถึงชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เราต้องการให้ผู้แทนประชาชนเข้ามามีอำนาจ มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่มีใครรู้จักประชาชนดีไปกว่าตัวแทนของประชาชน ไม่มีใครรู้จักท้องถิ่น ดีไปกว่าท้องถิ่น ถ้าเราสามารถผลักดันตรงนี้ได้ดิฉันเชื่อว่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่ดิฉันกล่าวไป ข้างต้นก็จะหายไปแต่ระหว่างที่ พ.ร.บ. นี้จะแก้ไขได้ ดิฉันขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องไปยัง ประมงจังหวัดพัทลุง รวมถึงอธิบดีกรมประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ดูแลในเขตอนุรักษ์ สัตว์น้ำ อ่าวคลองขุด จังหวัดพัทลุง ช่วยดูแล ช่วยปลดล็อกให้ธนาคารกุ้งก้ามกราม หมู่ที่ ๘ ตำบลหานโพธิ์ จังหวัดพัทลุง สามารถดำเนินต่อได้ในเชิงพาณิชย์โดยไม่ติดขัดในเรื่องของ ข้อกฎหมาย ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ ดิฉันขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภาคใต้บ้านเกิดของดิฉัน พี่น้องชาวอุรักลาโวยจเป็นชาวเลที่อาศัยอยู่ที่เกาะสิเหร่ หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี เกาะจํา เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ เรามีพี่น้องชาวมอแกนบนเกาะ หลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ชาวมอแกนนี้ที่ทำให้เรารักษาดินแดนบริเวณนั้นไว้ได้ ในคราที่มี ข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย พี่น้องชาวมอแกนคือผู้ที่ยืนยันว่า ผืนแผ่นดินตรงนั้นคือประเทศไทย ทำให้เกาะหลีเป๊ะยังคงเป็นเขตแดนของไทยมาถึงทุกวันนี้ ดิฉันขอขอบคุณพี่น้องชาวมอแกนมา ณ ที่นี้ค่ะ ส่วนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลา เรามีพี่น้องชาวมานิ มานิ แปลว่า มนุษย์ การที่ พวกเขาเรียกตัวเองว่า มานิ เท่ากับเขากำลังบอกพวกเราว่าเขาคือมนุษย์ มีศักดิ์ศรีไม่ด้อย ไปกว่าผู้ใด เขาคืออีก ๑ ชีวิตที่อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ปัจจุบันพี่น้องชาวมานิของเรากำลังประสบ ปัญหา เพราะป่าที่เคยอยู่ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของชาวมานิเปลี่ยนไป ทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และการที่ต้องปรับตัวเข้ากับชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึง ปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมมีปัญหาระบบสุขภาวะ ของชุมชน เนื่องจากแหล่งอาหารในป่าน้อยลง กลุ่มที่เริ่มปรับตัวตั้งถิ่นฐานมีปัญหาถูกเอารัด เอาเปรียบจากคนภายนอก รวมไปถึงการผลิตและการบริโภคอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวรมีปัญหาขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สำหรับพี่น้องชาว มานิที่ได้บัตรประชาชนแล้ว สิ่งที่ต้องการคือสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการศึกษาค่ะ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพี่น้องชาวมานิหลายคนเข้าคูหาเลือกตั้งด้วยความหวังเช่นเดียวกับ พวกเราทุกคนว่าการเมืองที่ดีจะช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้เขาได้ ชาวมานิมีองค์ความรู้ในทุกมิติ ของป่า มีนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พี่น้องชาวมานิ คือผู้ที่ช่วยดูแลผืนป่า ช่วยปกป้องผืนป่าไว้ ความรู้ภูมิปัญญาของพี่น้องชาวมานิที่มีอยู่ทุกที่ใน ป่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือคนส่วนใหญ่ไม่เปิดใจ ติดในมายาคติ ล้อเลียน ไม่ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ตระหนักในคำว่า คนเท่ากัน จนบางครั้งเท่ากับเป็นการไป ละเมิดดูถูกดูแคลนไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ผ่านมาที่คนส่วนใหญ่ถ้าเหมือนเป็น การหวังดี แต่มีอีกมุมหนึ่งก็คือสิ่งนั้นคือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาเช่นกัน แทนที่เราจะส่งเสริมศักดิ์ศรี ส่งเสริมศักยภาพให้เขาสามารถมีอาชีพที่เลี้ยงดูตนเองได้ เราควรจะเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ เราควรที่จะส่งเสริมให้พี่น้องชาวมานิ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน มีสิทธิจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภค ๆ ได้ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ มากกว่าการดูถูกดูแคลน ดิฉันเชื่อมั่นค่ะว่าพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคนพร้อม ที่จะปรับตัวและต้องให้โอกาส และเชื่อมั่นจากใจจริงว่าพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคนมีศักยภาพ ไม่ด้อยไปกว่าคนอื่น ๆ ในประเทศนี้ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนเขาจะสามารถพัฒนา ตนเองได้ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถเขาจะสามารถใช้พลังในตัวเองสร้าง ตัวตนในสังคม ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้เปล่งประกาย เราจะได้ดาวจรัสแสงเพิ่มขึ้นอีก มากมายในการพัฒนาประเทศไทย นี่คือสิ่งที่รัฐจะต้องคิดและต้องหาวิธีการดูแลให้ทุกคน บนผืนแผ่นดินนี้ได้ใช้ศักยภาพตัวเองมากขึ้นอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน การมีกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะนำมาซึ่งการสร้างทัศนคติที่ดี เกิดการยอมรับในความแตกต่าง สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค และมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันภายใต้วิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างสงบสุข การมีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองชาติพันธุ์จะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ของเรา ในทุกภูมิภาค ทุกพื้นที่ได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิ มีเสียง มีโอกาสในการสร้างศักยภาพและ เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ดิฉันจึงขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้และอยากจะขอเชิญชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านในที่นี้ได้ทำหน้าที่ของ การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนของราษฎรอย่างแท้จริง เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่ม อย่างแท้จริงด้วยการลงมติเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณธนดล อมรพล ตัวแทนจาก อบต. ท่าเรือ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นตำบลท่าไร่ ตำบลท่าเรือ ถึงปัญหาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาก็คือมีประตูระบายน้ำรั่ว ในตำบลท่าไร่ ในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็คือมีช่องระหว่างบานประตู ลูกยางบานประตู ลูกยางรางประตูเกิดความชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดช่องว่างน้ำเค็มไหลผ่าน จุดรั่วซึมปัญหานี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานนับสิบปีแล้วค่ะ จึงขอให้รีบดำเนินการแก้ไข โดยเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้น ๒ ตำบลรวมกัน ทั้งท่าไร่และท่าเรือรวมกัน มีประชากร ประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน จะเป็นปัญหาต่อพื้นที่การเกษตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลผ่าน เข้าพื้นที่ทางการเกษตร จึงขอให้รีบดำเนินการซ่อมบำรุงโดยเร่งด่วนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาต่อไปค่ะ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณประยุทธ วรรณพรหม ถึงปัญหา ๑๗ ตำบล ๑๑ อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปัญหาของพื้นที่ สาธารณประโยชน์ที่ควรได้รับการจัดสรรที่ดินเรียบร้อยแล้ว พื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่พื้นที่ป่า แต่เป็นพื้นที่ที่ควรจะได้รับการจัดสรรให้ประชาชนได้ทำกินค่ะ มีกฎหมายรองรับแล้ว คือมีการทำประชาคมแล้ว ผ่านมติ อบต. แล้ว คณะกรรมการอำเภอเห็นชอบแล้ว ส่งเอกสาร เรียบร้อยตามขั้นตอนแล้ว แค่รอคณะกรรมการจังหวัดพิจารณา รอสำนักงานที่ดินจังหวัด พิจารณาเพื่อส่งต่อ สปก. จังหวัด และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณา ต่อไป จึงขอให้มีการเร่งอนุมัติตามขั้นตอนโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาที่ค้างคามานานหลาย ปีอย่างที่เห็นในภาพเมื่อสักครู่นะคะ ว่ามีเอกสารประกอบการทำประชาคม และดิฉันอ่าน เอกสารทั้งหมดนี้แล้ว และเห็นว่าควรจะต้องมีการจัดสรรที่ดินให้ถูกต้องต่อไป ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม