สวัสดีท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องจะมาปรึกษาท่านประธาน เป็นเรื่องที่ผมอยากจะให้ชื่อเรื่องว่า ก้าวเดียวก็เสียวได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมได้รับเรื่องร้องทุกข์มาจากชุมชนริมทางรถไฟชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน มาเป็นเวลานานแล้ว เรื่องนี้มีปัญหาเกี่ยวกับทางเท้าที่บริเวณถนนเลียบทางรถไฟ ที่ไม่ปลอดภัยและขาดเป็นบางช่วงครับ
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแล ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทางสำนักงานเขตจึงไม่สามารถมีอำนาจเข้ามาดูแล หรือซ่อมแซมได้ คือชุมชนจะตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างถนนราชพฤกษ์และถนนชัยพฤกษ์ จากจุดที่ ๑ ถ้าเราเดินมาจากถนนราชพฤกษ์ เดินผ่านมามันก็จะมี Footpath ใช้ประมาณ ๖๐๐ เมตร แต่เมื่อเราเดินเลยหมู่บ้านร่มรื่นไป Footpath ก็จะหายไป หลังจากที่เราเดินเลย มาระยะทาง ๖๐๐ เมตร ที่ชาวบ้านต้องใช้ทางนี้เพื่อจะเดินกลับชุมชน ซึ่งมีอันตราย ค่อนข้างสูงเพราะมีดงหญ้ารกรุงรัง แล้วก็มีการนำขยะมาทิ้ง หรือถ้าเราเดินมาจาก ถนนชัยพฤกษ์ ถนนชัยพฤกษ์ก็จะมีระยะทางไปถึงชุมชนประมาณ ๓๕๐ เมตร ซึ่งเรามี ทางเท้าแค่ประมาณ ๔๕ เมตรเท่านั้น ซึ่งถนนชัยพฤกษ์เองมีสถานที่สำคัญมากมาย ทั้งโรงเรียน ตลาด และสถานที่ทำงาน ก็อยากจะฝากท่านประธานเรียนไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ท่านผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยช่วยมาดูแลตรงนี้ แล้วก็สร้างทางเท้า ให้เชื่อมต่อและให้มีความปลอดภัยด้วยครับ ขอบคุณครับ
สวัสดีท่านประธานที่เคารพนะครับ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอมาตั้งข้อสังเกตในการอภิปรายผลดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติ ในแผนแม่บทที่ ๑๓ การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี มีเป้าหมาย คือคนไทยมีสุขภาวะที่ดี และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีแผนแม่บทย่อยอยู่ ๕ แผน ผมขออนุญาตหยิบขึ้นมาพูด ๒ แผนนะครับ
แผนแรก คือการพัฒนาบริการสุขภาพที่ทันสมัยและสนับสนุน การมีสุขภาวะที่ดีครับ แผนนี้ท่านใช้ Health Care Index จาก NUMBEO Survey เป็น ตัวชี้วัดการปฏิรูปเป้าหมายนี้ครับ การปฏิรูปเป้าหมาย ก็คือเราต้องติดอันดับ ๑ ใน ๒๕ ของ NUMBEO Survey ในเรื่องของมาตรฐานสาธารณสุขในปี ๒๕๖๕ เราก็ผ่านตามที่ท่าน ต้องการนะครับ แต่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตแล้วก็มีความเป็นกังวลนะครับ ว่าการเข้าถึง สาธารณสุขของประเทศไทยมันเข้าถึงสำหรับประชากรทุกระดับหรือเปล่านะครับ เพราะว่า หากการประเมินที่เราประเมินมานี้มันไม่ใช่ประเมินจากสภาพความเป็นอยู่จริงนะครับ จากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้องและแม่นยำนะครับ มันจะกระทบและเกิด ความเสียหายต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากครับ เพราะรัฐจะพึงพอใจกับ การประเมินนี้ และคิดว่าตัวเองบริหารงานได้ดีจนประชาชนพึงพอใจนะครับ แต่ผมคิดว่า มันค่อนข้างขัดกับความรู้สึกของพวกเราเป็นอย่างมากนะครับ ขัดกับความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เพราะผลสำรวจจาก NUMBEO Survey มันไม่น่าเชื่อถือ ครับท่าน มันไม่สามารถสื่อสารถึงภาพรวมของประเทศได้ครับ เพราะแบบสำรวจนี้ ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาทำได้ด้วย ๘ คำถามตรงนี้ที่ไม่มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมใด ๆ ครับ และผมก็อยากจะตั้งข้อสังเกตต่อไปนะครับว่าคนที่เข้ามาทำแบบสอบถามนี้เป็นคนไทย จริง ๆ หรือเปล่า และเป็นประชาชนที่เข้ามาใช้บริการจริง ๆ หรือเปล่าครับ และอีกอย่างหนึ่ง ผมเห็นในแบบสอบถามก็มีคน Sample Size แค่ ๕๐๐ คน และจะเอา ๕๐๐ คนนี้ มา Referenced คนไทย ๗๐ ล้านคน ผมว่ามันไม่ค่อยถูกต้องนะครับ และเมื่อเราแยกดู รายจังหวัดนะครับ บางจังหวัดไม่มีคนทำแบบสอบถามเลยด้วยซ้ำครับ ผมจึงเห็นว่าเรา ไม่ควรนำผลลัพธ์จากแบบสอบถามนี้มาประเมินความพึงพอใจของประชาชนของคนไทย ทั้งประเทศครับ
เรื่องที่ ๒ แผนย่อยที่ ๒ คือจำนวนสุขภาพชุมชนดีขึ้น วัดจากการขยาย จำนวนบริการปฐมภูมิ เป้าหมายคือ ๓,๐๐๐ แห่ง อันนี้ด้วยเพียงจำนวนตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ผมว่ามันไม่พอที่จะสรุปว่าชุมชนในประเทศไทยสุขภาพดีขึ้นครับ เราควรพิจารณา ดูสภาพความเป็นจริงนะครับ เรายังมีปัญหาในระบบสาธารณสุขอีกมากมายครับ เช่น ปัญหาการจัดการบุคลากรของรัฐ ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอเราเห็นได้จากอัตราส่วน ประชากรต่อจำนวนหมอนะครับ World Health Organization เขาเขียนมาตรฐานว่า หมอ ๑ คน สามารถดูแลประชากรได้ ๑,๐๐๐ คน แต่ความเป็นจริงในประเทศไทย ตอนนี้หมอ ๑ คน ดูแลคนถึง ๑,๖๘๐ คน ซึ่งมันเกินจากอัตราส่วนมาเกือบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ผมขอยกตัวอย่างปัญหาหมอลาออกจากระบบนะครับ ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นมา นานแล้วนะครับ แต่ในระบบสาธารณสุของของไทยครับ ด้วยการบริหารงานที่ไม่เข้าใจ จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์งานล้นมือนะครับ เรื่องค่าตอบแทน เรื่องค่าครองชีพ ก็ไม่สอดคล้องกับงานปัจจุบัน ผมขอแบ่งปันประสบการณ์จากพี่น้องประชาชนในเขตตลิ่งชัน แม้อยู่ในกรุงเทพฯ หน่วยปฐมภูมิก็ไม่สามารถบริการได้อย่างครอบคลุมครับ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่แพทย์นาน ๆ จะมาทีนะครับ เวลาเปิดปิด ที่ไม่แน่นอน เปิดบ้าง ปิดบ้าง สิทธิต่าง ๆ ที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางคนก็เล่าว่าอะไรนิดหน่อยสุดท้ายก็ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล อยู่ดี อย่างไรก็ต้องไปจบที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลก็อยู่ค่อนข้างไกลออกไปนะครับ นี่ขนาดอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ฝ่าน้ำท่วม ฝ่าฝนตกออกไปนะครับ บางทีกว่าจะถึงโรงพยาบาลรถชนตายกันก่อนนะครับ ทำให้ผมอดเป็นห่วงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ไม่ได้นะครับ ว่าเขาต้องเจอปัญหาที่มันยากเย็นกว่าคนในกรุงเทพฯ ขนาดไหนนะครับ ผมอยากจะแนะนำว่าเราควรจะจัดการปัญหานี้ด้วยแนวคิดเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ แล้วเราก็ควรจะดูปัญหาจริง ๆ ว่าบุคลากรต้องการอะไร เพราะภาระงานที่ล้นมือ หมายถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตคนไข้ครับ และทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่มันคือความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขของไทยครับ ผมจึงเล็งเห็นว่า เราควรปรับเพิ่มตัวชี้วัดในเรื่องนี้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยครับ
ต่อไปขออนุญาตพูดในส่วนแผนแม่บทที่ ๖ เรื่องพื้นที่และเมืองที่น่าอยู่ อัจฉริยะ โดยจุดประสงค์ก็คือการพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะในทุกมิติ ให้เป็น ส่วนงานการเศรษฐกิจและสังคมด้วยแผนผังภูมินิเวศน์อย่างยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ผมมีความรู้สึกว่าแผนแม่บทของท่านมันค่อนข้างจะมีความขัดกันเองนะครับ เพราะว่า ท่านก็มองแต่จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ไม่ได้ส่งเสริมให้มัน ครอบคลุมไปทุกจังหวัดทั่วไทยและอย่างนี้จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร และจังหวัดที่ท่าน หยิบขึ้นมาก็เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพดีอยู่แล้วครับ
อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ท่านบอกว่าท่านใช้เวลา ๕ ปีในการทำแผนผัง ภูมินิเวศ ๑ ภาค นั่นก็คือภาคเหนือ แต่ท่านมีโครงการวางแผนว่าจะใช้เวลา ๒๐ ปี ถึงจะทำ ครบ ๔ ภาค ผมว่ามันจะไม่ล่าช้าเกินไปหรือครับ ผมอาจจะแนะนำให้ท่านลอง Chat GPT ดูเผื่อจะทำให้มันเร็วขึ้นได้ครับ
อีกประเด็นหนึ่งนะครับ ผมว่าท่านควรให้ความสำคัญกับแผนผังเมืองมากกว่า แผนผังภูมินิเวศนะครับ เมื่อก่อนแผนผังเมืองเราใช้ได้ในระยะ ๕-๗ ปี ใช้ไม่เกิน ๗ ปี แต่ก็มีการแก้ไขให้มันสามารถใช้ออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดนะครับ โดยปัจจุบันเมืองบางเมือง แผนผังเมืองหมดอายุเกิน ๑๒ ปีแล้วครับ ยังไม่มีการ Update เลย แล้วผมก็คิดว่า แผนผังภูมินิเวศมันเหมือนเป็นการแสดงว่าปัจจุบันพื้นที่นั้นเขาทำอะไรอยู่ แต่แผนผังเมือง มันคือการกำหนดทิศทางอนาคตของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อว่าจะได้พัฒนาไปทางไหน กำหนด กรอบไว้นะครับ ผมก็เลยอยากจะเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ ผังเมือง เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมี ๒ ประเด็นหลัก ๆ ครับ
ประเด็นแรก เกี่ยวกับการดำเนินงานและนโยบายสุขภาพสาธารณสุข ส่วนของสุขภาพจิตที่มีผู้ดำเนินการหลักก็คือ สสส. และกรมสุขภาพจิต ปัจจุบัน ด้วยสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสภาพการเมืองที่ไม่มั่นคงส่งผลให้คนไทยมีความเครียด และความกดดันในครอบครัวและภายนอก โดยจากเพื่อนและจากตนเองนะครับ อ้างอิงจาก โรงพยาบาลพญาไท ตอนนี้คนไทยเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากถึง ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน หรือคิดเป็น ๒.๒ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยนะครับ แต่ก็ยังมีคนที่ป่วยและยังไม่ได้เข้ารับการรักษาอีก เป็นจำนวนมาก แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ซึ่งเราเห็นได้จาก ข่าวที่มีข่าวนักเรียนมัธยมกระโดดตึกฆ่าตัวตายบ้าง เนื่องจากโรคซึมเศร้าจากกลุ่มอาชีพครูเอง ก็น่าเป็นห่วง จากงานวิจัยที่ศึกษาคุณครูในโรงเรียน กทม. กว่า ๗๖ เปอร์เซ็นต์มีสุขภาพจิต อยู่ในระดับที่ไม่ดี และมีเพียงแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ซึ่งตัวเลขนี้ค่อนข้าง น่าเป็นห่วงมาก ๆ ครับ แม้สังคมจะมีการเปิดรับผู้ป่วยทางจิตเวชมากขึ้น แต่ก็ยังมีการเข้าใจ ผิดอยู่ในสังคมจำนวนมาก อาจจะคิดว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชนั้น อาจจะต้องเป็นคนที่มีสติ ไม่สมประดีหรือเป็นบ้า หรือเป็นคนที่มีปัญหาในสังคม สาเหตุอาจจะมาจากการประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ดีพอ ไม่ทั่วถึงเพียงพอที่ทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงอาการป่วยทางจิตเวช เพราะจริง ๆ แล้วเพียงแค่เรามีอาการเครียดหรือว่าเรานอนไม่หลับ เราก็ควรจะเข้ารับ คำปรึกษาจากแพทย์เพื่อที่จะไม่ให้อาการกำเริบและรุนแรง
อันต่อไปที่ผมจะพูดถึงก็คือเกี่ยวกับสายด่วน ๑๓๒๓ ดูเผิน ๆ โครงการนี้ ก็เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ แต่ถ้าลองโทรศัพท์เข้าไปใช้งานดู เวลาผมโทรศัพท์ไป ผมและ ทีมงานโทรศัพท์ไปขั้นต่ำรอสายมีเป็นครึ่งชั่วโมง บางครั้งโทรศัพท์ไป ๓-๔ ชั่วโมงยังไม่มี การรับสายนะครับ ถ้ามันติดง่าย ๆ เหมือน ๑๑๑๒ ก็คงจะดีนะครับ เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ เพราะเพียงแค่เราช้าเพียง ๑ นาทีบางครอบครัวอาจจะสูญเสียคนที่เรารักไปก็ได้นะครับ ผมถึงอยากจะสอบถามถึงปัญหาว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงรับสายช้า เป็นเพราะบุคลากร ไม่เพียงพอหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่าการจัดการระบบที่ไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้นในการที่ให้คำปรึกษา กับผู้ที่ขอคำปรึกษา ในโครงการนี้ส่วนใหญ่คำปรึกษาก็จะเป็นการประเมินแบบกว้าง ๆ ไม่ได้ครอบคลุมต่อสภาวะปัจจุบันที่มีโรคจิตเวชที่มันหลากหลายมากขึ้น ทั้งโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคสมาธิสั้น หรือเรียกว่า ADHD นะครับ ซึ่งในรายงานนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มี ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ข้างต้นเลยครับ ผมจึงอยากจะเสนอให้ท่านศึกษาข้อมูล โรคดังกล่าวเพื่อพัฒนา และปรับปรุงโครงการสุขภาพจิตของท่านในปีถัดไปด้วยครับ
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของงบประมาณ งบประมาณของกองบริหารสุขภาพจิต ที่ได้รับน้อยลงเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกปีนะครับ เห็นตัวเลขแล้ว ค่อนข้างน่าตกใจนะครับ ปี ๒๕๖๒ เราได้งบเกือบ ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่พอในปีถัดมา ก็โดนตัดงบกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท หรือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เหลือ ๙๕๐ ล้านบาท ปีถัดมา ก็โดนตัดอีกเหลือ ๖๕๐ ล้านบาท ปีถัดมาก็โดนตัดเหลือ ๖๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๖ มีงบ ๖๑๐ ล้านบาท ถ้าเทียบกับในปี ๒๕๖๒ เราถือว่าเราโดนตัดมากว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งงบประมาณมีทิศทางที่จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งสวนทางกลับกลุ่มผู้ป่วยมากนะครับ ถ้าผมเป็นผู้ป่วยผมก็คงคิดว่าทำไมคนที่วางนโยบายไม่ได้ตระหนักหรือให้ความสำคัญ ไม่เห็นอกเห็นใจพวกเขาหรือเปล่า ทำไมต้องตัดลดนโยบายกันขนาดนี้นะครับ ทั้ง ๆ ที่ การฆ่าตัวตายของคนไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับงบประมาณสุขภาพจิต ที่ลดน้อยลงนะครับ อันนี้ผมอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลกเมื่อปี ๒๕๕๖ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คนมีคนฆ่าตัวตาย ๗.๕ คน และในปี ๒๕๖๒ ประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน มีคนฆ่าตัวตาย ๘.๘ คน ซึ่งจากสถิติเราเห็นว่ามันเพิ่มขึ้นนะครับ แต่พอเรามาดูสถิติ ของกองยุทธศาสตร์มันก็ไม่ตรงกับของธนาคารโลกนะครับ ซึ่งมันมีตัวเลขน้อยกว่านะครับ ซึ่งในรายงานของปัญหาการฆ่าตัวตายของคนไทยปี ๒๕๖๕ ที่รวบรวมโดยศูนย์เฝ้าระวัง การฆ่าตัวตายในสังคมก็ได้ยอมรับว่าการจัดทำข้อมูลเป็นการจัดทำข้อมูลค่อนข้างล่าช้า แล้วก็ตัวเลขมันยังน้อยกว่าความเป็นจริงอยู่มากนะครับ ผมจึงรู้สึกกังวลแล้วก็หนักใจ ต่อสุขภาพจิตของคนไทย แล้วก็อยากจะนำเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกล การดูแล สุขภาพจิตแบบครบวงจรโดยการเพิ่มบุคลากร ขยายบัญชียา แล้วก็การใช้เทคโนโลยี การเพิ่มบุคลากรเราก็ควรจะเพิ่มบุคลากรจิตแพทย์ แล้วก็นักจิตวิทยาให้ครอบคลุม แล้วเราก็ต้องทบทวนบัญชียาหลักในระบบให้เท่าทันกับวิทยากรทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน พัฒนาบริการสุขภาพจิตรูปแบบใหม่ อาจจะเป็นการแพทย์ทางไกลหรือว่ามี Platform สุขภาพจิต รวมไปถึงการกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพจิตฟรี เข้าไปใน Package ของการตรวจสุขภาพประจำปีครับ
เรื่องที่ ๒ ผมขอพูดเรื่องทางม้าลาย เรื่องทางเท้า แม้เราจะเกิดความตื่นตัว ในสังคมจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นบนท้องถนน แล้วก็ความพยายามในการรณรงค์ ผ่านโครงการหลาย ๆ โครงการของ สสส. แต่ผู้เสียชีวิตในทางเท้าถ้าเราเทียบระหว่าง ปี ๒๕๖๕ กับปี ๒๕๖๔ มันลดลงจริง แล้วก็ลดลงประมาณ ๘๐ กว่าราย แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิต อยู่มาก นั่นละครับมันอาจจะเป็นเพราะว่าพวกเราคนไทยเราค่อนข้างจะลืมง่ายนะครับ อย่างในรายงานของท่านเองก็เขียนไว้เหมือนกันนะครับว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ ของหมอกระต่ายผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ชะลอหยุดรถให้คนเดินเท้า โดยเฉพาะ รถจักรยานยนต์ไม่หยุดถึงร้อยละ ๙๒ เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลมากนะครับ คำถามคือมาตรการที่สนับสุนความปลอดภัยของคนเดินเท้าในปัจจุบันมันเพียงพอแล้ว หรือเปล่านะครับ ผมขอตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับว่า มาตรการของท่านดีแล้ว แต่เราไม่ควรพึงพอใจกับรายงาน ที่บอกว่าอุบัติเหตุทางเท้าลดน้อยลง ในปี ๒๕๖๔ มีผู้เสียชีวิต ๖๒๙ ราย แต่ในปี ๒๕๖๕ มีผู้เสียชีวิต ๕๔๘ ราย มันลดลง ๘๑ ราย แต่ก็ยังมีคนเสียชีวิตถือว่าเป็นเสียชีวิตรายวันอยู่ดี เราควรมองนะครับว่าเราควรทำอย่างไรให้อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มคนเดินเท้าเป็น ๐ หรือใกล้เคียง ๐ ให้ได้มากที่สุดนะครับ นั่นหมายความว่าเราต้องมีการจัดการใหม่ทั้งระบบ โดยมีการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน อย่างแรก คือการบูรณาการร่วมกับการบังคับใช้ กฎหมายกับตำรวจ คือมันต้องมีความสม่ำเสมอ ย้ำว่าสม่ำเสมอ เพราะว่าพวกเราต่างเห็น ความตื่นตัวหลังจากเกิดอุบัติเหตุบ่อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเราก็ลดความสนใจบ้าง แล้วก็ลืมกันนะครับ เราจึงอยากสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด ไม่เป็นเพียงแค่มาตรการเท่านั้นแต่ต้องทำจริง ๆ และมีบทลงโทษที่รุนแรงและเด็ดขาด รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการจับ ที่ทำได้ก็ทำอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่ควร จะทำแค่ความเร็วอย่างเดียว แต่ควรจะกวดขันวินัยการจราจรทุกอย่างครับ อย่างที่ ๒ เราควรจะบูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งให้มีการอบรมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ขับขี่เข้าใจ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและต้องกลัวการถูกเพิกถอนใบขับขี่ด้วยครับ อย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นคนญี่ปุ่นเขาค่อนข้างเข้มงวดกับการทำใบขับขี่มากครับ และมีบทลงโทษที่ค่อนข้างหนักสำหรับคนที่ทำผิดจราจรนะครับ อย่างที่ ๕ ในภาคสังคม ในปีที่ผ่านมาเราก็มี Platform อยู่แล้วสำหรับคนที่สามารถแจ้งได้ว่าใครทำผิดกฎ แต่ว่าเวลา แจ้งเข้าไปเราก็ถูกปฏิเสธค่อนข้างหลายครั้ง ตัวผมเองผมก็เคยลองแจ้งเข้าไปมันก็มีข้อจำกัด หลายข้อครับ ก็เลยอยากจะให้ช่วยพัฒนาระบบ Platform ตรงนี้ให้คนสามารถมีส่วนร่วม แล้วก็ได้รางวัลนำจับจริง ๆ นะครับ ในส่วนที่ ๕ เราต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษา ให้ความรู้ความปลอดภัยตั้งแต่เด็ก ๆ ควรสร้างทัศนคติให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนว่าการทำผิด กฎจราจรเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกมากขึ้น เพราะการที่จะสร้างจิตสำนึกมันต้องสร้างจิตสำนึกตั้งแต่ในช่วงเติบโต อย่างในประเทศญี่ปุ่น เขามีการปลูกฝังตั้งแต่เด็กวัยอนุบาล และผมก็ขออนุญาตยกตัวอย่างในพื้นที่ตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา ก็ยังมีคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์ย้อน Lane เป็นประจำนะครับ
เวลาข้ามถนนนี้มองแต่ขวาไม่ได้ ต้องมองซ้ายด้วย เพราะมีรถมอเตอร์ไซค์สวน Lane ตลอดนะครับ
ขออนุญาตสรุปนะครับ ก็อยากจะบอกว่าคือเรามีมาตรการดีแล้วแต่ว่า อาจจะต้องมีการบังคับใช้ให้มันดีกว่านี้ครับ อาจจะต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานครับ ขอบคุณมากครับ
สวัสดีครับ เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะครับ ผม สิริน สงวนสิน สส. พรรคก้าวไกล เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา วันนี้ ผมมีปัญหาปรึกษาหลายเรื่อง เลยขออนุญาตพูดเร็วหน่อยนะครับ
เรื่องแรก ปัญหาขนส่งทวีวัฒนา ปัญหานี้ปัญหาเรื้อรังมากว่า ๒๐ ปี ยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นรูปธรรม กทม. ได้เอาป้ายมาติด แต่บริษัทที่ดำเนินการอยู่ก็ยังดำเนินการต่อไป แถมยังมีบริษัทเข้ามาดำเนินการเพิ่มอีก จึงอยากจะฝากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วยเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๒ ชาวบ้านในเขตตลิ่งชันอาศัยอยู่ริมคลองจำนวนมาก เช่น ริมคลองชักพระ คลองบางพรหม และคลองบางระมาด แต่แสงไฟส่องสว่างยังไม่พอ สร้างความไม่ปลอดภัยแล้วก็เป็นอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงอยากจะฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจและติดตั้งไฟริมคลองด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาผู้หลบหนีจากศาลตลิ่งชันระหว่างที่คุมตัวไปขึ้นศาล ครึ่งปี ที่ผ่านมาเกิดเหตุไป ๒ รอบ ผู้ต้องหาหนีมาบริเวณชุมชนสร้างความหวาดระแวงให้กับ ชาวบ้าน เข้ามางัดแงะบ้านชาวบ้านขโมยเสื้อผ้า ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งศาลและตำรวจ ช่วยเข้ามาดูแลให้ครอบคลุมกว่านี้นะครับ
เรื่องที่ ๔ ไฟส่องสว่างไม่ติดมานานแล้ว บริเวณถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน และบริเวณก่อนทางขึ้นด่านเก็บเงินค่าทางผ่านพิเศษตลิ่งชัน มีการร้องเรียนไปหลายรอบแล้ว แต่ไฟก็ยังไม่ติด เป็นอันตรายต่อรถที่ใช้ตอนกลางคืนมาก ฝากเรื่องนี้ด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๕ ปัญหากลิ่นสารเคมีที่โรงงานกระดาษบริเวณหมู่บ้านอักษรา ๒ ทางเข้าหมู่บ้านอยู่ฝั่งถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก เรื่องนี้ร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน ลงไปตรวจสอบโรงงานก็ทำเป็นปิด แต่ก็ยังปล่อยกลิ่นออกมาเรื่อย ๆ สร้างความลำบาก ให้กับผู้อาศัยที่อยู่บริเวณรอบข้างมาก ๆ ครับ โรงงานนี้ไม่มีใบอนุญาต แล้วก็พื้นที่นี้เองก็เป็น พื้นที่สีเขียวไม่สามารถตั้งโรงงานได้ อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยช่วยเข้ามาดูแลและตรวจสอบด้วยครับ
เรื่องที่ ๖ รถเมล์สาย 4-54E หรือ ๑๕๗ ที่วิ่งผ่านเข้าเส้นพุทธมณฑลสาย ๑ เรื่องนี้ผมได้ไปตามให้รถเมล์กลับมาวิ่ง แต่ว่าก็ยังไม่มีป้ายรถเมล์เพียงพอ อยากจะฝาก กระทรวงคมนาคมเข้ามาสำรวจดูแลให้รถเมล์มันครอบคลุมด้วยครับ
เรื่องที่ ๗ ขอฝากเรื่องสุดท้าย เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมในตลิ่งชัน ช่วงนี้ฝนตกหนัก พี่น้องที่ตลิ่งชันค่อนข้างลำบาก เพราะตลิ่งชันเป็นพื้นที่ราบลุ่ม แม้ทาง สำนักการโยธาจะทำงานอย่างหนักเอาเครื่องสูบน้ำไปติดหลายที่ แต่ว่าเครื่องสูบน้ำ ก็ไม่เพียงพอ ชาวบ้านบางที่ต้องรอน้ำท่วมข้ามคืนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากจะฝาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและพิจารณาซื้อเครื่องสูบน้ำให้ครอบคลุมด้วยครับ ขอบคุณครับ
๔๒๐ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ ผม สิริน ๔๒๐ เห็นชอบครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม นายสิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกล เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา วันนี้ผมมาอภิปรายสนับสนุนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร เพื่อแก้ไขปัญหาบ่อนการพนันที่ผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ
เริ่มแรกผมอยากจะมาทำความเข้าใจว่า Entertainment Complex มันคืออะไร มันคือสถานบันเทิงแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร สวนสนุก ธุรกิจบันเทิงหรือธุรกิจบริการต่าง ๆ รวมไว้ที่เดียวกัน ไม่ใช่แค่กาสิโน อย่างเดียว ผมขอยกตัวอย่างเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เมื่อก่อนประมาณ ๙๐ ปีที่แล้วเป็นแค่ทะเลทรายเป็นผืนทะเลทรายว่างเปล่า เวลาผ่านมาแล้วตอนนี้เต็มไปด้วย ตึกรามบ้านช่อง โรงแรม กาสิโนขึ้นเต็มไปหมดจนได้รับฉายาว่าเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับไหล ทั้งหมดนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าสภานิติบัญญัติของรัฐเนวาดาไม่ได้ออกกฎหมายให้การพนัน สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย ในปี ๒๐๒๒ ที่ผ่านมาท่านประธานเชื่อไหมว่ารัฐเนวาดา สามารถกวาดรายได้จากกาสิโนถึง ๓๐,๐๐๐ ล้านยูเอสดอลลาร์ หรือถ้าเทียบเป็นมูลค่าเงินไทย คือ ๑ ล้านล้านบาท จาก Slide ที่ผมทำมาแต่ว่ามันไม่ได้ขึ้น คือจะอธิบายว่ารายได้เกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์มาจากการพนัน แต่รายได้อีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์มาจากการบริการทางอ้อมอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการจองโรงแรมหรือการบริการอย่างอื่น ซึ่งมันถึงสำคัญมากที่เราต้องทำเป็น Entertainment Complex เพราะว่ารายได้มันมาจากทุกทางครับ ลองคิดดูว่าถ้าโครงการ แบบนี้สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เราจะมีเงินไหลเข้าประเทศเราเยอะขนาดไหน ผมก็เลยลองไปหาข้อมูลนะครับ ผมจากปีที่ผ่านมาลาสเวกัสทำเงินได้ ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญ ก็มีนักท่องเที่ยวมาประมาณ ๔๐ ล้านคน ถ้าเราหารดูเป็นรายได้ต่อหัวก็จะเห็นว่ารายได้ ต่อหัวสูงถึง ๗๕๐ ดอลลาร์ หรือประมาณ ๒๗,๐๐๐ บาทต่อคน ผมซึ่งถ้าเราลองมา คำนวณย้อนกลับดูประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวอยู่ ๓๐ ล้านคน ถ้า ๓๐ ล้านคนมีคนมา เข้าคาสิโนสัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ โดยที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ประมาณ ๒๗,๐๐๐ ประเทศไทยเรา จะสร้างเงินจากการเปิด Entertainment Complex ได้สูงถึง ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ทุกวันนี้ผมว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงได้ว่าประเทศไทยการพนันมันเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคมไทยไปนานแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นสนามม้า หวยใต้ดิน หวยบนดิน ไก่ชน บ่อนไก่ วงไพ่ หรือว่าบ่อนกาสิโนที่เปิดกันอย่างโจ่งแจ้งทั้ง ๆ ที่มันผิดกฎหมาย ซึ่งสถานที่พวกนี้ มันเป็นศูนย์รวมของธุรกิจสีเทาแล้วผู้มีอิทธิพล ท่านเราสังเกตดูว่าข่าวรายวันเราเห็น บ่อยมากเลยการบุกเข้าทำลายบ่อนกาสิโนทั้ง ๆ ที่มันผิดกฎหมาย แล้วเราสังเกต อดสงสัยไหมว่าเงินเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในกระเป๋าใคร แน่นอนเงินส่วนมากก็ไหลออก ตามตะเข็บชายแดนเรา ไม่ว่าจะเป็นชายแดนพม่าหรือชายแดนกัมพูชา จากปัญหา ที่ผมกล่าวมาข้างต้นผมว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่าย ๆ ครับ คำตอบมันอยู่ตรงหน้าเรา คือ Entertainment Complex ซึ่งรัฐควรจะเข้ามากำกับดูแลให้มันโปร่งใสทำให้เศรษฐกิจ ภายในประเทศเติบโตขึ้น คนมีรายได้มากขึ้น สร้างงานสร้างอาชีพให้เงินไหลเวียนอยู่ใน ระบบ ให้มันเกิดการลงทุนในพื้นที่ ผมทราบดีว่าสังคมไทยเป็นสังคมเมืองพุทธนะครับ เรามี การคำนึงถึงเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมอันดีงาม แต่เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าบ่อนการพนัน มันมีอยู่ทุกแห่ง ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ทุกคนทราบกันดีว่าใครอยากจะเปิดก็ต้องมี การจ่ายส่วย จ่ายเงินใต้โต๊ะกัน ต้องมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีการรับสินบน ผมจึงคิดว่า เราควรหาแนวทางทำให้มันถูกต้อง ทำให้มันโปร่งใส หยิบรายได้เหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ให้มันเป็นรายได้ของรัฐ เราควรมีแนวทางที่ชัดเจนตรงไปตรงมาตรวจสอบได้ ผมเชื่อว่า เราควรจะเปิดใจรับ Entertainment Complex ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล วันนี้ผมจะมาอภิปรายสนับสนุนญัตติการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภา ๒๕๖๒ ครับ การเมืองคืออะไรหรือครับ การเมืองคือการมีส่วนร่วมของประชาชนนะครับ หลาย ๆ คน ก็มีคำอธิบายแตกต่างกัน การเมืองอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารประเทศ การเมือง เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายรัฐ การเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นในรัฐสภาแห่งนี้ทั้งนั้นครับ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่หลายครั้งเราอาจจะได้ยินว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่ดีบ้าง เป็นเรื่องของความขัดแย้งบ้าง จนทำให้ภาพจำของหลาย ๆ คนไม่อยากมีส่วนร่วมกับการเมือง จนเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีและสังคมที่ควรจะเป็นครับ ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเข้าถึงยาก ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารแห่งนี้ จนไปถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การหารือ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อ พ่อแม่พี่น้องประชาชนทั้งสิ้น แต่ประชาชนกลับเข้าถึงได้ยากและเข้าถึงได้น้อยมากครับ จนทำให้รู้สึกไปว่าเราไม่ต้องรู้อะไรก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย ข้อบังคับการประชุมฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ซึ่งเราบังคับใช้ไม่ได้นานนะครับ ในสังคม ที่ตื่นรู้ สังคมที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเผยแพร่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วอย่างปัจจุบัน ซึ่งปัจจัย เหล่านี้สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและ ความเป็นอยู่ เข้าถึงการเมืองและเข้าถึงเรื่องของทุกคนได้ง่ายขึ้น แต่หลาย ๆ ข้อบังคับ การประชุมกลับดูไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเท่าไรครับ ไม่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงง่าย ทั้ง ๆ ที่มันสามารถทำได้ง่ายมากนะครับ พวกเราพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุม เพิ่มประโยชน์จากเทคโนโลยีให้การทำงานของ พวกเราในรัฐสภาแห่งนี้ เชื่อมโยงและเพิ่มอำนาจเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลในการทำงานของพวกเราให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ผมขอ อนุญาตยกตัวอย่างนะครับ ทุกวันนี้เราต่างใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารทั้งสิ้น ไม่ว่า จะเป็นการสั่งอาหาร เราก็สามารถกดส่งให้ถึงหน้าบ้าน อย่างนี้วันที่ ๑๒ เดือน ๑๒ ผมก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนไม่ว่าจะเป็นสถานที่อยู่ในที่นี้หรือทางบ้านก็ Shopping Online สามารถซื้อของจากร้านค้าทั่วประเทศได้ แต่กลับกันการทำงานของพวกเราในสภาแห่งนี้ กลับดูเข้าถึงยากจังเลยครับ การเผยแพร่ผ่านช่องทาง Online เป็นช่องทางที่สำคัญที่สุด ควรจะเป็นช่องทางที่ระบุไว้ในข้อบังคับเลยว่าควรจะทำ ไม่ใช่แค่ทางเลือกในการเผยแพร่ การทำงานของพวกเรา เช่น เอกสารภายในรายงานการประชุม การพิจารณาต่าง ๆ รวมไป ถึงการขาด ลา มาสาย ของพวกเรา พี่น้องประชาชนควรรู้ครับ เพราะเราคือผู้แทนของพวกเขา เรากินภาษีของพวกเขาอยู่ และสิ่งที่เราทำงานล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาทั้งสิ้น ตาม Slogan ของแต่ละพรรค แล้วแต่พรรคที่เราอยู่กันเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดไหน Slogan ไหน แต่สุดท้ายก็คือทำเพื่อประชาชนทั้งนั้นครับ วันนี้โอกาสมาถึงแล้วที่จะพิสูจน์ คำพูดของพวกท่านว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า เริ่มจากการเปิดพื้นที่สื่อสารให้ช่องทาง ให้ประชาชนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วม สามารถมาตรวจการบ้านพวกเราตรวจสอบพวกเราได้ เพียงไม่กี่ Click ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ถ้าพวกเราเผยแพร่ข้อมูลพวกนี้ออกไปทาง Online ความคืบหน้าของงานสภาต่าง ๆ เช่น การพิจารณากฎหมาย การหารือความเดือดร้อน ของพ่อแม่พี่น้องประชาชนเขาก็สามารถติดตามความคืบหน้าเหล่านี้ได้ครับ การปรึกษาหารือ เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมาก ๆ เพราะเป็นการนำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาแจ้งต่อ ที่ประชุม เพื่อที่จะให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถติดต่อและสามารถติดตามได้ แต่ทุกวันนี้ ผมนำเรื่องมาปรึกษาถึง ๒ รอบแล้วนะครับ สำหรับพ่อแม่พี่น้องในตลิ่งชันและทวีวัฒนา ก็ยังไม่สามารถติดตามได้เลยถึงความคืบหน้าว่ามันไปถึงไหนแล้ว ขนาดตัวผมเองยังไม่รู้เลย แล้วพี่น้องประชาชนเขาก็คงไม่มีเวลามานั่งตามดูหรอกครับ ผมเลยคิดว่าเราควรจะเปิดเผย ข้อมูลพวกนี้ให้อยู่ใน Online การประชุมของกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการก็เหมือนกันครับ ควรมีการถ่ายทอดสด Online ไม่ต่างกับการประชุมใหญ่ในห้องนี้ เพราะอย่างที่พูดไปทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาแห่งนี้มันล้วนส่งผลกระทบต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชน พวกเขารู้ว่า เราตัดสินใจอะไรกัน ตัดสินใจเพื่อใครและตัดสินใจเมื่อไร และตัดสินใจอย่างไรครับ สุดท้ายนี้ เรื่องที่พวกเราพรรคก้าวไกลเห็นว่าสำคัญและควรมีก็คือเรื่องระบบข้อมูลที่สามารถนำไป วิเคราะห์ต่อได้ เราจึงเสนอให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผมได้นำเสนอไปข้างต้นนั้นเผยแพร่ออกมา ในรูปแบบที่สามารถเป็นประโยชน์ในการนำไปศึกษาและประมวลผลต่อได้ เช่น ทำเป็น File ออกมาเราไม่ต้องมานั่ง Key เข้าไปใหม่อีกนะครับ สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นและแก้ไข ได้ง่ายมากครับ เพื่อให้การทำงานของเรานั้นโปร่งใสและเกิดประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนให้คุ้มกับภาษีที่พวกเขาจ่ายให้พวกเรามานั่งทำงานในรัฐสภาแห่งนี้ครับ ผมจึง ขอสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุม ๒๕๖๒ ครับ ขอบคุณครับ
กราบสวัสดีท่านประธานที่เคารพ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนาครับ วันนี้ผม ขออนุญาตมาอภิปรายสนับสนุนการตั้งกรรมการวิสามัญเพื่อป้องกันปัญหาการขโมยสายไฟ การติดตั้งเสาไฟฟ้า การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการ สัญจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตอนกลางคืน แต่ปัญหานี้บางทีสายไฟพวกนี้หรือว่าไฟส่องสว่างก็มี การดับบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ไฟที่ติดไว้ก็ต้องมีการเสียบ้าง แต่หลายครั้งไฟส่องสว่างที่ติดไว้ กลับเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างเช่นการขโมยสายไฟฟ้ากัน อย่างในเขตผมพื้นที่ เลียบทางรถไฟตลิ่งชันมีการขโมยหลายครั้งมากในรอบปีหนึ่ง บางทีเราแจ้งหน่วยงานไป หน่วยงานก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเร็วทันท่วงทีเพียงพอตามความต้องการนะครับ เรื่องนี้ผมก็เคยประสานไปหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการหารือ ปีที่แล้วเขตผมไฟดับทั้งเส้น ยาวเป็นกิโลเมตร เส้นเลียบทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปัญหานี้ผมก็ได้คุยกับ หน่วยงานหลายหน่วยงานก็ได้ทราบว่ามันมีปัญหาเกี่ยวกับการขโมยสายไฟฟ้าทำให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่รับผิดชอบไม่สามารถดูแลซ่อมแซมได้ หรือว่าจะเป็นจำนวน ตำรวจในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอต่อการลาดตระเวน ผมจึงคิดว่าปัญหานี้ควรจะต้องเอามาคุยกัน ในกรรมาธิการวิสามัญ จากสถิติของกรมทางหลวงเมื่อปี ๒๕๖๕ มีสายไฟหายไปมูลค่ากว่า ๓๐ ล้านบาท ซึ่งในปี ๒๕๖๔ ก็หายไปจำนวนไม่แตกต่างกันมาก ประมาณ ๒๕ ล้านบาท ผมก็เลยคิดว่าการป้องกันเป็นเรื่องที่เราสมควรจะต้องทำอย่างด่วน ผมจึงขอสนับสนุน ญัตตินี้ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ครับ ผม สิริน สงวนสิน ผู้แทนราษฎรคนตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา
วันนี้นะครับ ผมอยากจะมาพูด เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย นี่ครับ ตรงนี้คือจุดสาย ๓ ตรงหน้าหมู่บ้านเจ้าพระยาร่วมใจ คือทางสำนักงานเขตเขาได้เอา Barrier มากั้น เพราะว่ารถบรรทุกเขาชอบออกจากซอยนี้ แล้วก็ Pass เลน ๒ เลนเพื่อที่จะข้ามผ่านสะพาน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากครับ ทางเราก็ได้เอา Barrier มากั้นแล้วนะครับ แต่ว่าคนขับรถบรรทุกคงคิดว่าตัวเองเป็น มอเตอร์ไซค์เขาเลยวิ่งย้อนเลน คราวนี้ยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่ ย้อนเลนออกมาแล้วก็กลับรถ ๓ คัน จุดนี้มีคนเสียชีวิตมา ๔ ศพแล้วครับ คือผมอยากจะบอกท่านประธานก่อนนะครับว่า จริง ๆ แล้วในเขตทวีวัฒนาเราเป็นพื้นที่สีเขียว มันไม่ควรจะมีบริษัทขนส่งตั้งอยู่ครับ แต่มัน ก็ไม่ได้มีแค่ ๒-๓ บริษัท มีถึง ๒๕๐ บริษัทที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งสร้างความลำบากใจกับ พี่น้องชาวทวีวัฒนามาก ๆ ครับ คือเราไม่อยากจะอยู่ร่วมกับเขา แต่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมเขา แต่เราได้อยู่ร่วมกับเขาแล้วเราก็อยากให้เขาไม่ประมาท มาทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนเรา หรือชีวิตของลูกหลานเราต้องเสียชีวิตง่าย ๆ นะครับ อยากจะรบกวนตำรวจจราจร อาจจะมาติดกล้องที่จุดนี้ก็ได้นะครับ เพราะผมเคยให้ผู้ช่วย มายืนจุดนี้ วันหนึ่งมีเป็น ๑๐ รายที่เขาย้อนเลนกลับมา รถบรรทุกนะ รถ Trailer ใหญ่ ๆ ย้อนเลนมา ผมว่าอย่างไรมันคุ้มค่ากับการลงทุนที่จะเอากล้องวงจรปิดมาติดแน่นอนครับ ผมว่าเราปรับเดือนหนึ่งได้เป็น ๑๐๐,๐๐๐ บาทจุดนี้ แล้วก็อาจจะฝากกระทรวงมหาดไทย ช่วยดูแลเรื่องผังเมืองหน่อยนะครับ เพราะว่า พ.ร.บ. ผังเมืองอันใหม่กำลังจะออกมา แต่ว่าอันนี้เป็น ๒๐ กว่าปีแล้วยังค้างคา ไม่มีใครไปจัดการกับบริษัทขนส่งได้เลยครับ ถ้าเป็นไปได้จริง ๆ ผมก็อยากจะขอร้องนะ แต่ถ้าเป็นไปได้นะครับ ลองมาปราบ Mafia ขนส่งเขตทวีวัฒนาหน่อยครับ ท่านชาดาครับ
เรื่องที่ ๒ ขอสไลด์ถัดไปครับ เกี่ยวกับไฟแสงสว่าง ผมได้หารือมา ๒ รอบ แล้วนะครับ ก็พูดเรื่องเดิมมาทั้ง ๒ รอบ คือเรื่องเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ทั้งไม่มี Footpath ค่อนข้างอันตราย เพราะมีรถมอเตอร์ไซค์ย้อนเลนบ่อย ดูสภาพตอนกลางคืน มืดตื๋อเลยครับ เป็นจุด ๆ นะครับ หลายจุดมากที่ยังมืด มีทั้งวงเวียนชัยพฤกษ์ แล้วก็ทางสะพานกลับรถ หลาย ๆ จุด ก็ฝากท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา วันนี้ผมขอมาร่วมอภิปรายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน ปี ๒๕๔๓ พระราชบัญญัตินี้จะแก้ไขให้ผู้จัดสรรที่ดิน จะเป็นการกำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดสรรที่ดิน ต้องจดแจ้งจัดตั้งนิติบุคคล ถ้าที่ดินที่เขาจัดสรรขายเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ลูกบ้านสามารถ รวมตัวกันเพื่อขอจัดตั้งนิติบุคคลได้ หลายคนอาจจะงงว่าทำไมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ การจัดตั้งนิติบุคคลมันค่อนข้างสำคัญกับคนที่อยู่ในหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่เก่าแล้ว บางหมู่บ้าน ๒๐ กว่าปี ลูกบ้านก็อาจจะไม่อยากจ่ายค่าส่วนกลางแล้ว นิติบุคคลก็สามารถ โอนที่ดินที่เขาใช้สอยร่วมกันไปให้กับทางราชการเข้ามาดูแลได้ เพราะว่าในเขตของผม ผมอยู่ในเขตทวีวัฒนา และเขตตลิ่งชัน มีหมู่บ้านจัดสรรกว่า ๓๐๐ หมู่บ้านในเขตทวีวัฒนา อย่างเดียวมีประมาณ ๒๐๐ หมู่บ้าน ในเขตตลิ่งชันประมาณ ๘๐ หมู่บ้านกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างมีอายุนาน มีอายุนานกว่า ๒๐ ปี แล้วก็มีประมาณ ๘๐ หมู่บ้านที่กำลัง สร้างอยู่ ถ้ากฎหมายนี้ผ่านเรื่องที่มันเกิดขึ้น หรือปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับหมู่บ้านเก่า ๆ มันก็จะ หมดไป พระราชบัญญัตินี้จะช่วยให้ชาวบ้านสามารถขอถนน ถนนไหนที่น้ำท่วมก็สามารถ ขอให้มาลอกท่อได้ ถ้าไม่ลอกท่อก็สามารสร้างท่อได้ใหม่ครับ ให้เขตเข้ามาดูแลจัดสรร ตัดต้นไม้ อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านได้ ตามกฎหมายนี้ก็ยังจะช่วยให้ข้าราชการสามารถ เข้ามาดูแลประชาชนได้ โดยไม่ต้องกลัวจะถูก สตง. มาตรวจสอบทีหลังปัจจุบันไม่ได้มีการ กำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องจดนิติบุคคล บางผู้จัดสรรก็ค่อนข้างเรียกได้ว่า ไม่มีจริยธรรม เอาที่ดินของหมู่บ้าน เอาที่ดินถนนส่วนกลางของหมู่บ้านไปจดจำนองกับแบงก์ แล้วมันทำให้มีปัญหาที่คาราคาซังมากครับ ผมเลยอยากจะวิงวอนให้เพื่อน ๆ สมาชิกทุกท่าน ช่วยกันรับหลักการนี้ เราจะได้ร่วมกันแก้ปัญหานี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
สิริน ๔๒๐ แสดงตัวครับ
สิริน ๔๒๐ เห็นด้วยครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สิริน สงวนสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมอยากจะมาพูดถึงการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ครับ หลักการมีเจตนารมณ์ที่ดีมาก โดยเฉพาะมาตรา ๕๙ ที่พูดไว้ว่า ในกรณี ที่ผู้รับบริการผู้ใดไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร หรือตามสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุข ที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้จากหน่วยงานบริการ หรือหน่วยงานบริการเรียกเก็บค่าบริการ จากตน โดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ผู้นั้นสามารถร้องเรียนไปถึงสำนักงานให้มีการตรวจสอบได้ ปัญหาก็เกิดขึ้นจากมาตรานี้ล่ะครับ การดำเนินการทุกอย่างดีหมด แต่ไม่ตลอดรอดฝั่งครับท่านประธาน มันก็เหมือนกับนักวิ่ง ที่จะวิ่งเข้าเส้นชัย แต่สะดุดขาตัวเองล้มเสียอย่างนั้น ปัญหามันคืออะไรครับ ปัญหามันคือ การสื่อสารของ สปสช. ที่ไม่รอบด้าน เพราะหลักการใช้บัตรทองคือ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และต้องไม่มีการจ่ายเงินค่าเพิ่มเติมอะไรทั้งนั้น จบที่ ๓๐ บาท ขาดตัวครับท่านประธาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่ให้บริการของ สปสช. ดันไปเรียกเก็บค่าบริการที่เกินจาก ๓๐ บาท จากประชาชนผู้มาใช้สิทธิครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ปัญหานี้นอกจากจะซ้ำเติมการดำเนินชีวิต ที่ยากลำบากอยู่แล้ว ค่าครองชีพที่แพง ค่าแรงที่ถูก ยังโดนหน่วยงานรัฐที่บอกว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ทำให้ต้องเป็นหนี้สินจนบางคนถึงมาบ่นกับผมว่าอยากจะตายนะครับ ท่านประธาน อันนี้ผมก็ไม่ได้พูดเกินความจริงนะครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตของผมเอง คุณลุงวัย ๖๐ ปี เอาเรื่องนี้มาร้องเรียนกับผมครับ เมื่อกรกฎาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เขาถูกเรียกเก็บค่าบริการเกิน ๖๓,๖๙๖ บาท ต้องแบ่งชำระเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๖๓ งวด จนถึงปี ๒๕๗๑ คุณลุงมาระบายกับผมครับว่า ไม่คิดว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค จะโหดร้ายขนาดนี้ ถ้ารู้อย่างนี้ผมตายเสียดีกว่า ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่ามีพี่น้อง ประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศที่ถูกเรียกเก็บแบบคุณลุงคนนี้ ซึ่งความจริงก็คือการเรียกเก็บ ค่าบริการส่วนเกินจากประชาชนผู้มาใช้บริการไม่สามารถทำได้ครับ เพราะหน่วยบริการนี้ ต้องไปเรียกเก็บเงินจาก สปสช. เอง ไม่ใช่มาเรียกเก็บจากประชาชนผู้มาใช้บริการครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมถามว่า สปสช. รู้ถึงปัญหานี้ไหมครับ รู้ครับ และแก้ปัญหาไหมครับ แก้ครับ แต่แก้ไม่ถูกจุด ก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คันครับท่านประธาน ปี ๒๕๕๘ ปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนถึง ๘,๐๔๒ เรื่อง ซึ่งความจริงอาจจะมีเป็น ๑๐,๐๐๐ ราย ก็ได้นะครับ แต่เขาไม่ได้ร้องเรียนเข้ามาเท่านั้นเอง ที่บอกว่า สปสช. แก้ไม่ถูกจุดคืออะไร สปสช. ได้ทำคู่มือ Extra Billing หรือพูดง่าย ๆ ว่า Bill ส่วนเกินกับหน่วยงานบริการของ สปสช. ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยจัดทำในรูปแบบ e-Book ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๖๓ การร้องเรียนในปีนั้นก็ลดลงเหลือ ๖๖๕ เรื่อง หรือแค่ ๖๖๕ ราย แต่ในปี ๒๕๖๔ เรื่องร้องเรียน ก็เพิ่มขึ้นมาถึง ๑,๔๒๗ เรื่อง นั่นแสดงว่าอะไรครับ นั่นแสดงว่าวิธีการที่ สปสช. แก้ปัญหา หรือประชาสัมพันธ์นั้น ยังไม่ครบถ้วน ยังไม่รอบด้าน แล้วจะทำอย่างไรครับ เราก็ควรจะทำ ในลักษณะของ Dual Track หรือทำประชาสัมพันธ์ใน ๒ เส้นคู่ขนาน คือการแจ้งให้หน่วยงาน บริการของ สปสช. และพี่น้องประชาชนที่ใช้บัตรทองด้วย วิธีการก็คืออาจจะใช้ Social Media ทุก Platform เอาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเป็น Presenter ไม่ว่าจะใช้ TikTok IG Facebook Youtube ให้พี่น้องประชาชนเขารู้ว่า ๓๐ บาทต้องรักษาทุกโรค แล้วประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าส่วนเกินอะไรนอกจาก ๓๐ บาท เพราะส่วนเกินนั้นมันต้อง ไปเรียกเก็บกับ สปสช. เอง ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้า สปสช. แก้ปัญหาโดยยึดเอา ประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่สื่อสารประชาสัมพันธ์เฉพาะกับหน่วยงานของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องให้พี่น้องประชาชนเขารู้ถึงสิทธิของตัวเอง ปัญหาจากการร้องเรียนก็จะน้อยลง พี่น้องประชาชนก็จะไม่ต้องมาลำบาก แล้วก็จะไม่ต้องเป็นหนี้สินจากการเข้ารักษาบริการ อีกต่อไปครับ
ผมอยากจะขออาสาเป็นตัวกลางให้พี่น้องประชาชน คนที่ได้รับความเดือดร้อน จากค่ารักษาพยาบาลโดยการใช้บัตรทอง คนที่เป็นหนี้จากการใช้บัตรทองและยังผ่อนชำระอยู่ ไม่ว่าจากหน่วยงานใด ๆ ก็แล้วแต่ ท่านสามารถร้องเรียนไปที่ผมได้นะครับ สิริน สงวนสิน หรือว่าถ้าท่านรัฐมนตรีจะรับเรื่องนี้เองก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งนะครับ ท่านประธานครับ ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม ประชาชนรอไม่ได้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน