นายกฤช ศิลปชัย

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมจะขออภิปราย ในประเด็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) เนื่องจากจังหวัดระยองมีโรงไฟฟ้ากว่า ๔๕ โรง ซึ่งส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าอย่างหนักครับ ท่านประธานครับ กองทุนไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) คือกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน ในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ถ้าเราจำกันได้ว่าในอดีตเวลามี การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือจะมีการเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามักจะมีพี่น้องประชาชน ออกมาคัดค้านต่อต้านกันอยู่เป็นจำนวนมากอยู่เสมอ ๆ ครับ ด้วยเหตุกังวลว่าจะมีผลกระทบ กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชน กระทบต่อคุณภาพชีวิตอันเกิดมาจากการดำเนินกิจการของ โรงไฟฟ้าครับ จากความขัดแย้งดังกล่าวจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนไฟฟ้าขึ้นที่เรียกว่ากองทุน ไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) เพื่อที่จะได้มีงบประมาณมาแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็ว ไม่ล่าช้า สามารถพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าได้ครับ แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวไปสักระยะหนึ่ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเริ่มเป็นที่หมายปอง จากหลายฝ่ายมากขึ้น เนื่องจากมีงบประมาณโดยเฉพาะกองทุนประเภท ก ที่มีงบประมาณ ตั้งแต่ ๕๐ ล้านบาท จนถึงหลายร้อยล้านบาทต่อปีครับ มีการออกระเบียบ และประกาศของ กกพ. มากมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนไฟฟ้า หลายข้อเป็นเรื่องที่ดีครับ เช่น การกำหนดแผนงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นผลงาน จับต้องได้มากขึ้น แต่ท่านประธานครับ ระเบียบบางข้อที่ออกมาเรื่อย ๆ บางครั้ง ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของกองทุนไฟฟ้าหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งวันนี้ก็จะขออภิปราย เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็อาจจะมีข้อเสนอแนะที่พี่น้องประชาชนหรือพี่น้องข้าราชการ ฝากมายังผู้ชี้แจงเพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ระเบียบ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การดำเนินงานของ กองทุนไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นไปตามเจตนารมณ์มากขึ้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ก่อนที่จะลงในรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ผมต้องขอ บอกว่าจากเอกสารในรายงานในเล่มนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าค่อนข้าง ขาดรายละเอียดที่จำเป็นในหลายประเด็นครับ ในรายงานฉบับนี้มีเพียงที่มาของงบประมาณ แล้วก็ภาพรวมว่าใช้งบประมาณไปกับด้านใดบ้าง แต่ไม่มีรายละเอียดให้พวกเราได้รับทราบ เลยว่างบประมาณที่จัดสรรไปตามแผนงานต่าง ๆ มีรายละเอียดอะไรบ้าง เกิดประโยชน์ มากน้อยเพียงใด บรรลุเป้าประสงค์ หรือมีตัวชี้วัดอะไรหรือไม่ และดำเนินการได้สอดคล้อง กับตัวชี้วัดหรือไม่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับกลับเข้ามาในประเด็นที่ ๑ เกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจ ที่ท่านบอกว่าได้มีการกระจายอำนาจพิจารณาการอนุมัติแผนงานโครงการให้คณะกรรมการ กองทุนรอบโรงไฟฟ้าได้เป็นผู้อนุมัติและส่งให้กับ กกพ. เป็นผู้รับทราบผลการพิจารณา ในเอกสารรายงานฉบับนี้ก็มีเรื่องของการกระจายอำนาจที่เขียนไว้อยู่ครับ แต่ในความเป็นจริง ท่านประธานครับ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติไปแล้วได้จัดส่งแผนงานโครงการ ให้ กกพ. รับทราบ แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์ว่ามีการไม่รับทราบแผนงานหรือโครงการ บางโครงการเกิดขึ้น แล้วก็ได้มีการตัดงบประมาณดังกล่าวออก จึงอยากจะถามว่า เมื่อระเบียบให้คณะกรรมการระดับพื้นที่เป็นผู้อนุมัติ กกพ. มีหน้าที่รับทราบ แต่เหตุใด ถึงมีการไม่รับทราบแผนงานหรือโครงการนั้นด้วยครับ นั่นหมายความว่าการที่ท่านให้อำนาจ คณะกรรมการในการอนุมัตินั้นเป็นการกระจายอำนาจจริงหรือไม่ หรือว่าสุดท้ายการอนุมัติ ก็ยังอยู่ในมือของพวกท่านอยู่ดีครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ การคัดเลือกหรือการสรรหาคณะกรรมการผู้แทนภาคประชาชน เนื่องจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยเฉพาะกองทุนประเภท ก ที่มีงบประมาณมาก พอ ๆ หรือเทียบเท่ากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติการเลือกคณะกรรมการ ต่าง ๆ บางครั้งกลับมุบมิบกันเลือกคณะกรรมการ ขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไป ในพื้นที่ได้รับทราบเท่าที่ควร และส่วนใหญ่ก็เป็นการจัดตั้งคน มีการแจกจ่ายเงิน สิ่งของ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้เขาเลือกคนคนนั้นมาเป็นตัวแทนภาคประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปครับ คุณสมบัติของคณะกรรมการต่าง ๆ ตามระเบียบฉบับนี้ครับ ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบ ปี ๒๕๖๓ ก็ได้ไปกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการใน ข้อ ๑๕ (๒) ก็ดันไปกำหนดเกณฑ์อายุ อายุขั้นต่ำ ๒๐ ปี อันนี้เข้าใจได้ แต่ไปกำหนดเกณฑ์อายุไม่เกิน ๗๐ ปี ผมคิดว่าบางครั้งคนที่จะมาเสนอตัวเป็นผู้แทนก็ไม่ควรไปจำกัดสิทธิ ถ้าเราลองไปดูว่า การรับสมัครเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับ อบต. จนถึง สส. ก็ไม่ได้มีการกำหนดจำกัดอายุขั้นสูงไว้ ดังนั้นขอเสนอให้การเลือกตั้งหรือการสรรหาคณะกรรมการควรมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยขอให้อาจจะนำหลักเกณฑ์เดียวกันกับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้ กับการเลือกคณะกรรมการ โดยเฉพาะกรรมการผู้แทนภาคประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ประเด็นเรื่องหน่วยรับงบประมาณหรือหน่วยดำเนินงาน ตามระเบียบของ กกพ. ก็ได้กำหนดวิธีการดำเนินการโครงการให้มีหน่วยดำเนินงาน หรือหน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ นิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลในชุมชน หรือมูลนิธิ แต่ในทางปฏิบัติโครงการส่วนใหญ่ต้องให้หน่วยงานราชการ ส่วนราชการ เป็นผู้ดำเนินงานให้ ท่านทราบหรือไม่ครับว่าแต่ละหน่วยงานราชการก็มีภารกิจของตัวเอง มากอยู่แล้ว ยังต้องมาเป็นหน่วยดำเนินงานให้กองทุนไฟฟ้า ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความล่าช้า โครงการขาดประสิทธิภาพ จึงขอเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบตัวนี้ ขอให้สำนักงานกองทุน ในแต่ละพื้นที่อาจจะเพิ่มระเบียบหรือว่ามีข้อกำหนดให้สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง โดยใช้กระบวนการการตรวจสอบเช่นเดียวกับโครงการของภาครัฐ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ หน่วยงานราชการบางหน่วยงานราชการมีการนำเงินงบประมาณ ของกองทุนไปใช้เพื่อประโยชน์ของราชการตนเอง ทั้ง ๆ ที่กองทุนมีเจตนารมณ์ที่จะให้ งบประมาณตกถึงประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีการนำงบไปใช้ ในการซื้อเครื่องปรับอากาศบ้าง ซื้อรถยนต์ ซื้อคอมพิวเตอร์บ้าง ซึ่งอาจจะไม่ตรงต่อ เจตนารมณ์เสียทีเดียว จึงอาจจะต้องเสนอให้มีการกำหนดกรอบว่าถ้าหน่วยงานราชการ จะเอางบประมาณไปใช้ทำอะไรได้บ้าง

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน เรื่องความโปร่งใสของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า วันนี้ ถ้าเข้าไปดูใน Website ของกองทุนไฟฟ้าแต่ละกอง เราจะเข้าไปดูหน้าแผนงานโครงการ ไม่สามารถดูได้เลยนะครับ กด Link เข้าไปก็ไม่มีข้อมูลอะไรปรากฏขึ้น ดังนั้นไม่แปลกใจ เลยว่าประชาชนในพื้นที่รู้จักกองทุนไฟฟ้าในมุมแง่ลบมากกว่ามุมภาพบวก ดังนั้นท่านควร เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะแผนงานโครงการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องคือเรื่องของการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง มีหลายโครงการที่เป็นโครงการ จัดซื้อจัดจ้างประเภทเดียวกัน แล้วก็ไปแบ่งซื้อแบ่งจ้างซอยให้ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แล้วก็ ไปใช้วิธีการแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจจะส่อถึงการทุจริตได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้าย หวังว่าท่านจะนำข้อมูลที่ผมอภิปรายซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมรับฟังมาจาก ประชาชนแล้วก็ข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ การดำเนินงานของกองทุนไฟฟ้าตามมาตรา ๙๗ (๓) มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถ ตรวจสอบได้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม กฤช ศิลปชัย ครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องมาขอหารือท่านประธานด้วยกันทั้งหมด ๔ เรื่องด้วยกัน ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกนะครับ บริเวณถนน ค ๒ หรือถนน เส้น รย. ๕๐๓๗ ของกรมทางหลวงชนบทนะครับ ได้มีการนำแท่ง Barrier ที่มีความสูงและมี ระยะทางยาวหลายกิโลเมตรมาตั้งไว้บริเวณเกาะกลางถนน สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้อง ประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนนเป็นอย่างมากครับ โดยเฉพาะบริเวณจุดกลับรถ รถคันไหนที่จะต้อง U-turn กลับรถจะต้องยื่นหน้าออกไปยัง Lane ฝั่งตรงข้าม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของ พี่น้องประชาชนครับ อีกทั้งแท่ง Barrier เหล่านี้ยังบดบังทัศนวิสัยของร้านค้าทั้ง ๒ ฝั่ง ในอนาคตเกรงว่าจะได้รับความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจนะครับ เพราะถนนเส้นนี้คือถนน เส้นสายเศรษฐกิจของจังหวัดระยองในเวลากลางวันแล้วก็เวลากลางคืนครับ ท่านประธานครับ ฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เอาแท่ง Barrier ออกไปโดยด่วน เลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เรื่องปัญหาน้ำท่วม ท่านประธานครับ ในพื้นที่ของผม และพื้นที่ใกล้เคียงมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่ด้วยกัน ๒ อำเภอ ได้แก่อำเภอนิคมพัฒนา ที่ตำบลมะขามคู่แล้วก็ตำบลมาบข่า แล้วก็อำเภอเมืองจังหวัดระยองที่ตำบลเนินพระ ตำบลเชิงเนิน ตำบลท่าประดู่ แล้วก็ตำบลทับมาครับ ท่านประธานครับ ถึงหน้าฝนทีไร น้ำท่วมทุกที บ้างก็ระบายไม่ทันบ้าง บ้างก็เอ่อล้นจากคลองบ้าง จึงขอให้ท่านประธานเร่ง ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการขุดลอกท่อ ขุดลอกคลองให้ทางน้ำได้เดินผ่าน สะดวก อย่างน้อยที่สุดครับก็ผ่อนจากหนักให้เป็นเบาให้กับพี่น้องประชาชนได้ และในระยะ ยาวหวังว่าคงจะได้เห็นแผนการจัดการน้ำท่วมที่ยั่งยืนให้กับชาวระยองครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องต่อไปเรื่องที่ ๓ ครับท่านประธาน เรื่องไฟฟ้าครับ ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ บ่อยนะครับ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลกะเฉด ตำบลตะพง แล้วก็ตำบลบ้านเพครับท่านประธาน ฝนตกนิดตกหน่อยก็ไฟดับแล้วครับ ส่งผลให้พี่น้องประชาชนเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย ไปหลายเครื่อง บางบ้านมีผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้ไฟฟ้าในการรักษาพยาบาลครับ มีความเสี่ยง ต่อชีวิตและทรัพย์สินครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ครับท่านประธาน เรื่องเกี่ยวกับน้ำประปาครับ ท่านประธานครับ นี่คือภาพน้ำประปาของพื้นที่จังหวัดระยอง ในเขตอำเภอเมือง ในเขตเทศบาลนะครับ จะมี สีแดง สีขุ่น สีดำนะครับ พี่น้องที่มีเสื้อขาวซักผ้าขาวก็กลายเป็นสีเหลืองครับท่านประธาน และนี่คือตัวอย่างน้ำประปาของจังหวัดระยอง วันนี้ผมเอามาให้ท่านประธานด้วยครับ เดี๋ยวผมจะฝากเจ้าหน้าที่ไปให้ท่านประธานได้ดูว่าน้ำประปาระยอง ทั้งไฟฟ้า ทั้งประปา ที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมันเป็นแบบนี้ นี่หรือครับเมือง EEC เมืองระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออกครับ ขอให้ท่านประธานเร่งหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหา แล้วก็ยังมีอีก ๑๐๐ กว่าเรื่อง เดี๋ยวผมจะส่งให้กับท่านประธานผ่านข้อหารือครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออภิปรายเกี่ยวกับรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนของโครงการในบ้านผม โครงการก่อสร้าง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ ๓ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ Megaproject ของ EEC โครงการ ก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ ๓ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่าโครงการถมทะเลมาบตาพุด ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและการเติบโตของกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่โครงการดังกล่าวยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อห่วงกังวล อยู่หลายอย่างครับ รวมถึงโครงการดังกล่าวนี้ยังสร้างผลกระทบมากมายมหาศาลให้แก่ทะเล ระยอง ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมถึงวงจรอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมง อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมจะมีประเด็นอภิปรายวันนี้ทั้งหมด ๔ ประเด็น

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ด้านสุขภาพของประชาชนครับ ที่ผ่านมาการดำเนินงาน ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังมีค่า VOCs เกินมาตรฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมานี้ท่านยังไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จาก Chart ที่ผมเปิดใน Slide ท่านจะเห็นว่าสารหลายตัวมีค่าเกินมาตรฐานไปมาก เช่น สาร Butadiene บริเวณวัดหนองแฟบ ๐.๔๖ ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน ๑.๓ สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ๐.๘๗ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้วครับ ซึ่งสารเหล่านี้มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ ๐.๓๓ เท่านั้นเอง ตัวต่อไปก็คือสาร Benzene ณ ที่ทำการ ชุมชนบ้านพง ๒.๙ สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ๒.๓ ชุมชนบ้านเนินพยอม ๒.๖ ซึ่งจากค่ามาตรฐาน อยู่ที่ ๑.๗ จึงขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงว่าชาวระยองอยากจะขอให้ท่านทบทวน แผนการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่ได้แล้ว ตอนนี้ชีวิตคนระยองแขวนอยู่บน เส้นด้ายแล้วครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ การดำเนินงานก่อสร้างท่าเรือที่หละหลวมขาดความรับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตาม EHIA หลังจากโครงการได้ดำเนินการก่อสร้าง สร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก ต่อทะเลระยองครับ และนี่คือภาพความหละหลวมของการก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบ ของประชาชน ภาพนี้คือทุ่นและม่านกันตะกอนที่มีช่วงขาดและไม่มีการปล่อยม่านกันตะกอน ลงสู่บริเวณผิวดินในทะเล ส่งผลให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ ทำการประมงของพี่น้องชาวประมง นอกจากนี้ยังมีทุ่นและม่านกันตะกอนหลุดลอยออกไปติดกับใบพัดเรือ ส่งผลให้ชาวประมง กระเด็นตกเรือไปกระแทกกับเรือและตกน้ำทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สิน จากกรณีนี้พี่น้องชาวประมงต้องเย็บถึง ๗ เข็ม ออกทำการประมงไม่ได้ ๑๐ วัน ไหนจะต้อง ซ่อมแซมเรือที่ได้รับความเสียหาย แต่การชดเชยก็ชดเชยคนที่ได้รับความเสียหายเพียง ๑๒,๐๐๐ บาท เป็นธรรมแล้วหรือครับ และหาก Case นี้ผู้ประสบเหตุเกิดอาการ Shock เนื่องจากการเสียเลือดมากหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ท่านจะรับผิดชอบเขาอย่างไร ครอบครัว เขาจะอยู่อย่างไร จะรับผิดชอบเขาไหวหรือไม่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องการทำ EIA EHIA ไม่ครอบคลุม โครงการถมทะเลไม่ครอบคลุม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่รอบ ๆ โครงการมีกลุ่ม ประมงราว ๆ ๒๑ กลุ่มในรัศมีที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านั้น ตอนนี้ ผลกระทบไปทั้งอ่าวระยองแล้วครับ การแจ้งรับฟังความคิดเห็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชาวประมงไม่ทั่วถึง จากภาพท่านจะเห็นวงสีแดงกับสีเขียว นี่คือที่ตั้งกลุ่มประมง รอบ ๆ โครงการทั้งหมด วงสีแดงคือกลุ่มที่ได้รับเชิญให้ทำประชาคมเสนอความคิดเห็น แต่กลุ่มสีเขียวกลับไม่ได้รับเชิญ มีการข้ามไปข้ามมาครับ ส่งผลให้มีการเรียกร้องความเป็นธรรม ในเรื่องของการถมทะเล

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เป็นธรรม ขาดหลักเกณฑ์ ในการคิดคำนวณที่เป็นธรรมของประชาชน หลังจาก EIA ที่ไม่ครอบคลุมมีการร้องขอ ความเป็นธรรมให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากโครงการครับ โดยพี่น้องประชาชนได้ยื่นเรื่องดังกล่าวถึงหลายหน่วยงาน ทั้งการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องต่อจังหวัดระยอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการพิจารณาและเสนอ หลักเกณฑ์การช่วยเหลือออกมาแล้ว โดยคณะกรรมาธิการได้พิจารณาพร้อมมีข้อเสนอ ให้นำหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาจากโครงการท่าเรือแหลมฉบังมาเป็นต้นแบบ ในการชดเชย คือชดเชยให้เรือประมงวันละ ๑,๐๐๐ บาท หรือเท่ากับปีละ ๓๖๕,๐๐๐ บาท แบบเท่ากันทุกคน ในระยะเวลาก่อสร้างแล้วก็ระยะเวลาฟื้นตัวครับ ในส่วนของจังหวัดระยอง ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และได้สรุปหลักเกณฑ์ออกมา มีการคิดคำนวณหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว แบ่งเป็นค่าสูญเสียการจับสัตว์น้ำ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องออกไปทำประมงไกลขึ้นอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ชดเชยในระยะเวลาก่อสร้างก็คือ ๓ ปี ทางนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ตอบกระทู้ของคุณรังสิมันต์ โรม เมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๕ ยืนยันว่าขณะนี้พร้อมที่จะจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวประมงระยองตามที่ คณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์คิดคำนวณแล้ว แต่สุดท้ายทางผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยไม่สนใจหลักเกณฑ์ดังกล่าวปัดตก โดยตัดสินใจจ่ายเงินเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อราย จ่ายแบบครั้งเดียวจบ นี่คืออะไรครับ ผมยังสงสัยว่าผู้ว่า กนอ. นี้ ใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีแล้วหรือ ถ้าเปรียบเทียบกันมาตรฐานระยะเวลาเท่ากันคือ การก่อสร้าง ๓ ปี แล้วก็ฟื้นตัวอีก ๒ ปี ในด้านซ้ายท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยวันละ ๑,๐๐๐ บาท ทุกกรณี ท่าเรือมาบตาพุดโดยคณะทำงานหลักเกณฑ์ของจังหวัดระยองเฉลี่ยวันละ ๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท ส่วนการจ่ายจริงเฉลี่ยอยู่วันละ ๕๔.๗๙ บาท หนักไปกว่านั้นในเอกสาร การรับเงินเยียวยาท่านยังไปจำกัดสิทธิพี่น้องประชาชนห้ามเรียกร้อง ฟ้องร้อง หรือใช้สิทธิ ทางศาลใด ๆ ต่อการสูญเสียพื้นที่ทำกินอีก ผมขออนุญาตสรุปครับ คนระยองไม่เคยคิดขวาง การพัฒนา และยินยอมพร้อมให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แต่อยากให้ EEC ทบทวน การดำเนินงานของท่านในประเด็นที่ผมกล่าวมา อยากให้ท่านรับฟังเสียงจากผู้แทน ของประชาชน ที่วันนี้ผมนำปัญหาความเดือดร้อนมาชี้แจงต่อท่านโดยตรงทำให้มันดีครับ เห็นอกเห็นใจกันบ้าง และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะนำเรื่องที่ผมอภิปรายนี้ไปทบทวน และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของท่าน ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ที่ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงให้กับสภาแห่งนี้รับทราบว่าในส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่แหลมฉบังกับที่จังหวัดระยองนั้นแตกต่างกันก็เป็นข้อมูลจริงบางส่วน ที่แหลมฉบัง มีกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยจริง แต่ในส่วนที่ผมหยิบเอามาอภิปรายคือในส่วนของเรือประมง พื้นบ้าน แหลมฉบังก็มีเรือประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้เพาะเลี้ยงหอย ที่ไม่ได้มีที่แปลงเพาะเลี้ยงหอย แบบที่ท่านว่า แล้วไปใช้วิธีการตามหลักเกณฑ์เวนคืนอะไรตามที่ท่านว่านะครับ ผมหยิบยก ตัวอย่างมาเฉพาะส่วนของเรือประมงที่แหลมฉบังกับที่จังหวัดระยองว่าทำไมมันถึงได้ แตกต่างกันอย่างมากถึง ๒๐ เท่า ถึงกระนั้นก็ต้องฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจง ท่านเลขาธิการ EEC ว่าวันละ ๕๐ บาทที่ท่านจ่ายให้ชาวประมงจังหวัดระยองมันไม่คุ้มค่า กับความเสียหายเลย แล้วท่านยังเอาเอกสารในการรับเงินมาจำกัดสิทธิในการเรียกร้อง เขาไปอีก อย่างไรวันนี้ผมขอความเห็นใจครับ ผมฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านเลขาธิการ EEC ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วยครับ ทุกวันนี้ความเดือดร้อนมันเกินกว่าเงินที่ท่านจ่ายเยียวยา ไปแล้ว อย่างน้อยที่สุดให้เขาได้มีโอกาสพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงท่านประธานครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออภิปราย สนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์จริง ป้องกันปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์และการคอร์รัปชัน วันนี้ผมขอเป็นตัวแทนผู้ประกอบ อาชีพในสถานบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัว เด็กเสิร์ฟ DJ และโดยเฉพาะนักดนตรีครับ ผมเคยเป็นนักดนตรีอาชีพ ทำมาหากินอยู่ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือร้านอาหารต่าง ๆ อาชีพของคนกลางคืนเหล่านี้เหมือนอาชีพที่น่าสงสาร โดยเฉพาะนักดนตรีครับ ผมขอยกตัวอย่างตอนสถานการณ์ COVID-19 ผับ บาร์ ร้าน สถานบันเทิงต้องปิดก่อน เปิดทีหลัง เช่นเดียวกันเพื่อน ๆ นักดนตรีของผมก็เป็นอาชีพ ที่ต้องหยุดงานทันที หยุดก่อนคนอื่นและเปิดทีหลังโดยปราศจากการเหลียวแลของภาครัฐ พวกเขาเหมือนคนที่ถูกลืม ไม่เคยได้รับการเหลียวแล พวกเขาไม่สามารถประกอบอาชีพ ได้เลยในช่วงนั้น เขาไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าบ้าน ค่ารถ สุดท้ายต้องกล้ำกลืน ความเจ็บปวดตัดใจขายทรัพย์สินที่พวกเขารักมากที่สุดก็คือเครื่องดนตรีที่พวกเขาใช้ ทำมาหากินครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมาคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความหละหลวมของ สถานประกอบการ ผมยกตัวอย่างเมื่อในอดีตหากหลาย ๆ ท่านยังจำกันได้ก็คือเหตุการณ์ ไฟไหม้ที่ซานติก้าผับ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุกว่า ๖๐ คน บาดเจ็บนับร้อยคน และท่านเชื่อไหมครับกว่าผู้สูญเสียเหล่านี้จะได้รับความเป็นธรรม ต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นระยะเวลายาวนานนับสิบปี

    อ่านในการประชุม

  • เหตุการณ์ต่อมาครับ เรื่องนี้ส่วยเป็นเหตุ เมื่อปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์ลักษณะ เดียวกัน หรือแทบจะเหมือนกันเลยนั่นก็คือไฟไหม้สถานบันเทิงที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นผับใหม่ที่วัยรุ่นนิยมเที่ยวกัน เปิดมาได้ประมาณ ๑ เดือนกว่า ๆ โดยที่ไม่มีการขออนุญาต ให้ถูกต้อง หรืออาจจะจ่ายแล้วเปิดโดยไม่สนใจใด ๆ บางคนตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีคนมีสี อยู่เบื้องหลังโดยอาจถือหุ้นลมหรือไม่ เหตุการณ์ครั้งนี้หนักหนาเช่นเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตทันที ในที่เกิดเหตุ ๑๓ ราย ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก ๘ ราย บาดเจ็บอีกกว่า ๔๐ คน สุดท้าย มาตรการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือการย้ายนายอำเภอ แล้วก็ย้าย ๕ ส. สภ. สัตหีบ แล้วเรื่องก็เงียบหายไปกับกาลเวลาครับ พอเราลงไปดูการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ ท่านดูนะครับ รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียชีวิต ๒๙,๗๐๐ บาท ผู้บาดเจ็บจนพิการ ๑๓,๓๐๐ บาท ผู้บาดเจ็บทั่วไปอีกรายละ ๔,๐๐๐ บาท ถามว่ามันคุ้มไหมกับการสูญเสีย ครั้งนี้ มันไม่คุ้มกันเลยสักนิดเดียวครับ ผมขอยกตัวอย่างเพื่อนของผมคนหนึ่งเขาชื่อฟิน ฟินคือนักดนตรีผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้ ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล กว่า ๕ เดือน พักฟื้นต่อที่บ้านอีกเป็นปี โดยปราศจากการเหลียวแลของภาครัฐ และผู้ประกอบการ สุดท้ายหากผู้เสียหายอยากได้รับความเป็นธรรมก็ต้องไปฟ้องร้อง ดำเนินคดี ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าจะจบ บางคดีต้องสู้กันถึงขั้นฎีกาด้วยซ้ำ นอกจาก ประเด็นข้อกฎหมาย ใบอนุญาต เวลาเปิดปิด หรือการจัด Zoning ต่าง ๆ ผมอยากจะเห็น การให้ความสำคัญกับแรงงานที่ต้องทำงานในสถานบันเทิง อยากให้มีกฎหมายรองรับ พวกเขาให้พวกเขามีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ มีมาตรการช่วยเหลือพวกเขาในเวลาที่ เกิดวิกฤติหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ และขอฝาก ถึงเพื่อน ๆ ที่จะเป็นกรรมาธิการ ฝากพิจารณาประเด็นที่ผมอภิปรายเพื่อสร้าง สวัสดิภาพ สวัสดิการ ความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบอาชีพในสถานบันเทิง โดยเฉพาะ นักดนตรี ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายญัตติเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน ที่ดินทำกิน ของประชาชนเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ทำไม่สำเร็จเสียทีหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • และนี่ก็คือปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้อง ชาวระยอง จังหวัดที่มี GDP อันดับต้น ๆ ของประเทศ จังหวัดที่เป็นเมือง EEC จังหวัดที่ นักลงทุนหมายปอง แต่ราษฎรอีกนับหมื่นคนที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิในที่ดินทำกิน ของตัวเอง ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านรู้จักเกาะเสม็ดไหมครับ เกาะเสม็ดเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีชื่อเสียง จนนักท่องเที่ยวต่างตั้งฉายาให้ว่ามาเสม็ด เสร็จทุกราย แต่ที่เสม็ดพี่น้องประชาชนยังปวดอกปวดใจกับปัญหาที่ดินทำกินของผู้ที่อยู่อาศัย มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน หากเราย้อนกลับไปปี ๒๕๒๒ ก่อนจะมีการประกาศ เขตอุทยาน เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ได้เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมที่จะประกาศ เขตอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการแจ้งต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เกาะเสม็ดว่า หากท่านได้อยู่ทำกินมาก่อนหรืออยู่มาแต่เดิมท่านยังสามารถทำกินต่อไปได้ และได้มี การสรุปไว้ในรายงานที่เสนอไปยังกรมป่าไม้ด้วยครับว่าบนเกาะเสม็ดนั้นมีชาวบ้านอยู่อาศัย ทั่วทั้งเกาะเสม็ด โดยในรายงานก็มีการอ้างอิงถึงผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น ความว่าเกาะเสม็ด เป็นชุมชนและเป็นหมู่บ้านมานานแล้ว ต่อมาในปี ๒๕๒๔ ก็ได้มีการประกาศเขตอุทยาน เกิดขึ้น แต่ไม่ได้มีหมายแนวเขตที่ชัดเจน ชาวบ้านก็ได้ทวงถามและได้รับการชี้แจงว่า ได้มีการกันพื้นที่ทางทิศเหนือของเกาะเสม็ดออกแล้วตามแผนที่แนบท้าย ๗๐๐ ไร่ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอมครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide นี้จะแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ทางอุทยานบอกว่าได้กันเขตพื้นที่ ออกไปแล้ว ๗๐๐ ไร่ ก็คือบริเวณตรงสีเหลือง ๆ ตรงนั้นคือพื้นที่แนบท้ายประกาศที่อุทยาน บอกว่านี่คือ ๗๐๐ ไร่ที่กันออก แต่พอมีการสำรวจรังวัดจริง ๆ ตรวจสอบแล้วไม่ถึง ๗๐๐ ไร่ ก็คือประมาณสัก ๒๐๐ ไร่เท่านั้นเอง หากดูจากสีทุกสีรวมกัน ลองบวกด้วยตัวเลขดูครับ ถ้าเอาทั้งหมดรวมกันมันถึงจะเท่ากับ ๗๐๐ ไร่ ดังนั้นผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในยุคสมัยก่อน ตอนทำแผนที่แนบท้าย เจ้าหน้าที่บอกว่ากันพื้นที่ออกไปแล้ว ๗๐๐ ไร่ แต่ประกาศแนบท้าย จริง ๆ วัดได้จริง ๆ แค่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ครับ มันจึงเป็นปัญหาต่อมาว่าทำไมชาวบ้าน เขาถึงไม่ยินยอมกัน เพราะว่าเนื่องจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยังไม่ได้ถูกกันออก และในปี ๒๕๒๕ ก็มีการสำรวจใหม่ แต่ก็ไม่เป็นที่ยินยอมของชาวบ้านเพราะว่าการสำรวจ ไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังเป็นข้อยืนยันได้ว่าตามหลักฐานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นี้ก็ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้ครอบครองพื้นที่บนเกาะเสม็ด ซึ่งสำรวจเมื่อปี ๒๕๒๕ ถือว่า มีประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนจริงเป็นหลักฐาน จากนั้นก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เกาะเสม็ด มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่หลายครั้งหลายคราวเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ว่าก็ยังไม่จบเสียที สุดท้ายชาวบ้านเริ่มไม่ไหว ต่อสู้กันอย่างยาวนานเหลือเกิน จนสุดท้าย ก็ต้องตัดสินใจเช่าที่ของกรมธนารักษ์ตามมติ กบร. ที่ ๗/๒๕๔๓ แต่เช่าแล้วก็ยังไม่จบ เนื่องจาก กรมธนารักษ์และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก็ใช้แผนที่กันคนละแผนที่อีก ทำให้มีผู้เช่าตามมติ กบร. หลายรายถูกฟ้องดำเนินคดีโดยอุทยาน จนมีการบังคับคดีให้ต้อง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากนอกพื้นที่ที่เขาอยู่กินกันมารุ่นต่อรุ่น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ปัญหาประกาศเขตที่ดินทับที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อน ยังมีอีกหลายพื้นที่ อีกพื้นที่หนึ่งก็คือของพี่น้องตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง แล้วก็ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ของคุณสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ และคุณกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ที่ทำกินของชาวบ้านห้วยโป่งและสำนักท้อน มีการอยู่อาศัยมาก่อน เพราะมีประวัติความเป็นมาชัดเจน มีการประกาศตั้งหมู่บ้าน ของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ หรือว่าแม้แต่ประวัติการสร้างวัดชากหมาก ตั้งแต่ปี ๒๔๖๗ สร้างโรงเรียนวัดชากหมากในปี ๒๔๘๐ หรือแม้กระทั่งประวัติ ของหลวงพ่อหอมพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ก็มีประวัติว่าเกิดขึ้นที่หมู่บ้านสำนักท้อนตั้งแต่ ปี ๒๔๓๓ ซึ่งประวัติศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนการประกาศกฤษฎีกาหวงห้ามของกรมป่าไม้ ที่มาประกาศเอาปี ๒๔๙๒ ทั้งสิ้น อีกทั้งคณะรัฐมนตรีเคยมีมติไปแล้วเมื่อปี ๒๕๑๔ ให้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้กับพี่น้องประชาชนให้แล้วเสร็จ แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้ว่ากระทำการอย่างไร เวลาผ่านมา ๕๒ ปี จนบัดนี้ยังไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ เกิดขึ้น ยังไม่ได้ รับความเป็นธรรม พี่น้องยังไม่มีที่ดิน ที่อยู่อาศัย และในปี ๒๕๕๖ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในสมัยนั้นที่เป็นผู้ที่จะดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้กับพี่น้องประชาชน แต่ว่าเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในปี ๒๕๕๗ เสียก่อน ผมจึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยัง รัฐบาล ได้โปรดเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับคนระยองและคนไทยทั่วประเทศอย่างเป็นธรรม ที่ดินทำกินคือความมั่นคงของประชาชน มันคือกระดุมเม็ดแรกที่จะเป็นหลักประกันในชีวิต ของประชาชน พวกเขาเหล่านี้มีสิทธิที่จะได้รับเอกสารสิทธิเพราะเขาอยู่มาก่อน บรรพบุรุษ ของเขาได้อยู่อาศัยทำกินกันมาหลายชั่วอายุคนแล้วครับ แล้วรัฐเพิ่งมาประกาศเขตพื้นที่ ทับที่ของชาวบ้าน ชาวบ้านเองได้แต่มองตากันปริบ ๆ ว่าเมื่อไรความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น กับพวกเขาเสียที ผมขอฝากรัฐบาลแล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดไปดำเนินการแก้ไข ปัญหาให้พี่น้องประชาชนให้จบ ทำได้ในสมัยนี้ยิ่งดี ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล สิ่งที่ผมจะอภิปรายอาจจะไม่ได้ เกี่ยวกับตั๋วหรือนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่เกี่ยวข้องกับตำรวจชั้นผู้น้อยบางคนที่เงินเดือนน้อย ชักหน้าไม่ถึงหลัง หันซ้ายหันขวาไม่รู้จะทำอย่างไร ตัดสินใจไถเอาก็ได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ ประชาชนคนทั่วไป คนธรรมดาเจอกันอยู่ทุกวี่ทุกวันนั่นคือการรีดไถ การตบทรัพย์ประชาชน ผมยกตัวอย่างในพื้นที่ของผม เรื่องนี้เกี่ยวกับตำรวจจราจร บริเวณหน้าโรงพยาบาลจะมี การจัดที่จอดรถจักรยานยนต์ไว้เพื่อให้ผู้มาใช้บริการได้จอดกัน แต่ด้วยความที่ที่จอดมันน้อย แล้วก็ผู้มาใช้บริการมีจำนวนมาก บางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องจอดบริเวณจุดห้ามจอด เพราะว่าด้วยความที่จะต้องให้ทันกับเวลาที่คุณหมอนัด หรือรับยาได้ตามคิว พอกลับจาก โรงพยาบาลมาถึงรถโดนล็อกล้อเรียบร้อย และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ผมไปโรงพยาบาลมา เดินออกมาจากโรงพยาบาลพอมาถึงที่จอดรถปรากฏว่าเรียบร้อยครับ โดนล็อก ผมก็พยายามมองหาว่าตำรวจคนที่ล็อกล้อเขาอยู่แถวนั้นไหม สักพักเองตำรวจ ที่ล็อกล้อผมก็ขี่รถมาแต่ไกลเลย ขี่รถย้อนศรมาด้วยนะครับท่านประธาน ขี่รถมาแต่ไกล แล้วก็มาจอด ผมก็ถามว่าคุณตำรวจครับล้อผมโดนล็อกผมต้องทำอย่างไร คุณตำรวจก็ยิ้ม แล้วก็เขียนใบสั่งให้ผม ๑ ใบ นี่ใบสั่งเอาไปเสียค่าปรับที่โรงพัก ๕๐๐ บาท แล้วก็ไปแจ้งผม ที่ป้อมเดี๋ยวผมจะมาปลดล็อกให้ และก่อนที่คุณตำรวจจะขี่รถออกไปรอผมที่ป้อมนั้นเขาก็หัน มาพูดกับผมอีกว่า แต่ถ้าอยากจะจ่ายถูกหน่อยก็ไปหาที่ป้อมเอา ๒๐๐ บาทพอ โอ้โฮ ผมนึกในใจนี่ตำรวจหรือผู้ร้ายกันแน่ ท่านประธานครับ คนมาโรงพยาบาลบางคนมาหาหมอ เจ็บไข้ได้ป่วย บางคนมาเยี่ยมญาติที่กำลังเจ็บป่วย พวกเขาเหล่านี้ทุกข์ทรมานมากพอแล้ว ครั้งแรกตักเตือนกันก็ได้เขาต้องเจออะไรกันแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องต่อมาคล้าย ๆ กัน แต่ทีนี้เป็นตำรวจสายตรวจ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ตำรวจหมวกทอง ญาติของผมเป็นคุณครูกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านเจอตำรวจ หมวกทองขี่รถมาประกบ แล้วก็บอกว่าจอด ๆ ขอตรวจปัสสาวะหน่อย ปรากฏว่าตรวจเจอ ฉี่ม่วงครับ เนื่องจากญาติของผมป่วยแล้วก็กินยาแก้ไอเข้าไป เขาก็พาตัวไปโรงพักอะไร เรียบร้อย ญาติก็โทรตามผมกับญาติ ๆ ไปที่โรงพักกัน พอไปถึงก็ขึ้นไปที่ชั้น ๓ เป็นห้องพัก สายตรวจ ทางเราก็ยืนยันว่าเขาป่วยจริงนะ ท่านสามารถตรวจอีกครั้งโดยละเอียดได้เลย แต่ท่านประธานครับก่อนที่จะมีการตรวจอีกครั้งหนึ่ง มีการเรียกผมและญาติ ๆ เข้าไปในห้อง บอกว่า Clear มาเลยดีกว่า ถ้าตรวจเจอแล้ว Clear ไม่ได้แล้วนะ บอกว่าตอนทุกคนโดนจับ ก็พูดหมดว่าไม่เสพ ๆ แต่พอผลออกมาก็จะมาให้ช่วยทีหลัง เขาช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าจะ Clear ก็ Clear มาเลยตรงนี้ ๕,๐๐๐ บาท สรุปพวกผมไม่ Clear ขอให้ตรวจ และผล ก็ออกมาว่าไม่มีสารเสพติดจริง ๆ ท่านประธานครับ เรื่องที่ผมอภิปรายคือสิ่งที่ประชาชน คนธรรมดาเจอกันทุกวี่ทุกวัน ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังเสียที ยกระดับคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะระดับปฏิบัติการให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้น บางที ตำรวจบางคนอาจตัดสินใจเลือกทางผิด เพราะเขาอาจไม่มีทางเลือก เงินเดือนน้อย รายได้ ไม่พอกับรายจ่าย ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยตัดสินใจคิดผิด ทุจริตคอร์รัปชัน รีดไถประชาชน พฤติกรรมแบบนี้มันทำให้ตำรวจจำนวนมากที่ตั้งใจทำงาน ที่เขารักในเกียรติ ในศักดิ์ศรี ของตำรวจต้องพลอยเสื่อมเสียไปด้วย เพราะจากพฤติกรรมของตำรวจเพียงไม่กี่คน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายก็ต้องขอฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลว่าขอให้เอาจริงเอาจังกับการปฏิรูป ตำรวจสักทีหนึ่ง เพราะคนที่ซวยที่สุดไม่ใช่แค่ตำรวจแต่คือพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับวันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุน ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ กิจการประมงทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพประมง และกิจการต่อเนื่องครับ ท่านประธานครับ เรื่องที่ผมจะอภิปรายนั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กฎหมายประมงโดยตรงแต่จะเป็นเรื่องของกฎหมายอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมง ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบอย่างมากจากกฎหมายที่หละหลวม และการพัฒนาที่ ไม่คำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของชาวประมงได้กิจการต่อเนื่อง ซึ่งหลัก ๆ วันนี้จะเกี่ยวข้อง กับพี่น้องที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งภาคตะวันออก

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ Slide ที่เห็นอยู่นี้คือภาพ เหตุการณ์อุบัติภัยทางทะเลเมื่อปี ๒๕๕๖ ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำน้ำมันรั่ว ปริมาณน้ำมันมหาศาล และการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันส่งผลให้สัตว์น้ำลอยเกยตื้น มีแผลพุพองที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันที่ฉีดลงทะเล เพื่อกดให้คราบน้ำมันจมลง เพื่อสอนจากสายตาประชาชน สารเหล่านี้มันไม่ได้กำจัดคราบน้ำมันให้หายไปจากทะเล มันเพียงแต่กดน้ำมันจมลงไปสู่ใต้ท้องทะเลเพื่อบดบังจากสายตาของคนทั่วไป น้ำมันรั่วครั้งนี้ ส่งผลกระทบยาวนานกว่า ๘ ปี ทำให้ชาวประมงทำมาหากินลำบาก สัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง พอเริ่มเข้าปีที่ ๘ ชาวประมงก็กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ครับ สัตว์น้ำเริ่มกลับมา ทะเลเริ่มฟื้นตัว แต่นั่นก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำเมื่อต้นปี ๒๕๖๕ หรือปีที่แล้วที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล จำนวนมหาศาลไหลลงทะเลอีกครั้ง ในครั้งนี้ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันไปกว่า ๘๕,๐๐๐ ลิตร โดยอัตราส่วนการใช้สารเคมีที่เป็นมาตรฐาน ก็คือสารเคมี ๑ ส่วนต่อน้ำทะเล ๑๐ ส่วน นั่นหมายความว่าการที่ใช้สารเคมี ๘๕,๐๐๐ ลิตร เท่ากับปริมาณน้ำมันอาจจะรั่วไหลถึง ๘๕๐,๐๐๐ ลิตร ใช่หรือไม่ ตัวเลขที่ได้รับรายงานจากสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่เคยนิ่งครับ ตามข่าวแรกบอกออกมา ๔๐๐,๐๐๐ ลิตร พอข้ามวันมาเหลือ ๑๖๐,๐๐๐ ลิตร พอตกเย็นในวันเดียวกันก็มีประกาศออกมาใหม่ว่ามีจำนวนน้ำมันรั่วเพียง ๕๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าผมไม่เชื่อครับ การหาปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลไม่ได้ยากเลยครับ สามารถ คำนวณได้หมดทั้งจากปริมาณน้ำมันที่บรรทุกมาบนเรือ ปริมาณน้ำมันในท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล รวมถึงน้ำมันที่อยู่บนแท็งค์บนบกในโรงงานอุตสาหกรรม เราสามารถคำนวณปริมาณน้ำมันที่ แท้จริงได้ แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พอน้ำมันรั่วปุ๊บสิ่งแรกที่ทำคือปล่อยเรือบรรทุกน้ำมันหนี ออกจากน่านน้ำไทยทันที ทั้ง ๒ เหตุการณ์ทำให้พี่น้องประชาชนในปัจจุบันยังไม่ได้รับ ความเป็นธรรม มีแต่เพียงการจ่ายเงินเยียวยาจากผู้ก่อมลพิษเพียงเล็กน้อย โดยปี ๒๕๕๖ จ่ายเงินเยียวยารายละ ๓๐,๐๐๐ บาท ส่วนปี ๒๕๖๕ จ่ายรายละ ๔๕,๐๐๐ บาท คำถามคือ มันคุ้มแล้วหรือครับท่านประธานที่ต้องใช้เวลาอีกนับสิบ ๆ ปีกว่าทะเลจะฟื้นกับการชดเชย เยียวยาเพียงการจ่ายเงินแค่นี้ ในส่วนของภาครัฐเองก็ไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมกับเหตุการณ์ พวกนี้ครับ ถ้าเป็นในต่างประเทศภาครัฐจะเข้ามาชดเชยเยียวยาทันที และจะเป็นผู้ฟ้องร้อง ให้กับผู้ก่อมลพิษให้ชดเชยค่าเสียหาย แต่ในประเทศไทยพี่น้องประชาชนต้องลุกขึ้นมา เรียกร้องเอง ทั้งต่อผู้ก่อมลพิษและใช้สิทธิทางศาล ซึ่งเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๕๖ ตอนนี้ คดียังไม่จบ ยังอยู่ในชั้นศาลฎีกาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้วครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือโครงการพัฒนาของรัฐในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก หรือโครงการถมทะเลมาบตาพุดที่เพื่อน สส. ของผม สส. กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ โครงการถมทะเลทำให้พื้นที่ทำกินของประมง พื้นบ้านหายไปนับพัน ๆ ไร่ พื้นที่ตรงนี้นะครับเป็นพื้นที่ที่มีการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งส่งผลให้ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลลดลงอย่างต่อเนื่องไปทั่วทั้งอ่าว ผมยกตัวอย่าง อันนี้ตัวอย่างเช่น ม่านกันตะกอนที่ระบุไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีม่านกันตะกอน ๒ ชั้น ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นเดียว โดยชั้นนอกได้หลุดลอยออกไป แล้วและยังไม่มีการดำเนินการมาติดตั้งให้เป็นไปตามเดิม ตามรายงาน EHIA แต่อย่างใด นี่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่เคยให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ชาวประมงและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เลย และรวมถึงยังไม่มีมาตรการการเยียวยาผลกระทบที่ ชัดเจนครับผมจะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นว่าใน EEC มีโครงการถมทะเล อยู่ ๒ โครงการ ที่แรก คือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่แหลมฉบังนี้ยังดีหน่อยมีการคิดคำนวณความ เสียหายและกำหนดวิธีการเยียวยาที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ ตามหลักการคำนวณ ความเสียหายจริงของพี่น้องชาวประมง ก็คือจ่ายให้ปีละ ๓๖๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๕ ปี แต่พอหันมาดูที่ระยองก็มีการคิดคำนวณจริงอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ต่อเดือน แต่สุดท้ายจ่ายจริงเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจ่ายแบบครั้งเดียวจบ ห้ามเรียกร้องอะไรใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ความยุติธรรมหรือมาตรฐานมันอยู่ตรงไหนครับ ทั้ง ๒ จังหวัดนี้เป็นโครงการ แบบเดียวกัน ถมทะเลเหมือนกัน ผู้ได้รับผลกระทบประกอบอาชีพลักษณะเดียวกัน แต่การเยียวยาต่างกันเสียอย่างนั้น ที่แหลมฉบังเป็นโครงการของสำนักงานท่าเรือ กระทรวงคมนาคม ส่วนที่ระยองเป็นของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม คือแตกต่างกันเพียงกระทรวงผู้รับผิดชอบ แต่ลักษณะโครงการ การก่อสร้างเหมือนกัน ผู้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่การเยียวยาต่างกัน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ นี่คือปัญหาที่เกี่ยวกับความเข้มแข็งของกฎหมาย ที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เรื่องน้ำมันรั่วท่านต้องไปทบทวน พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โดยต้องกำหนดให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินเยียวยา และฟ้องเอกชนแทน ไม่ใช่ให้ชาวบ้าน ชาวประมงออกไปฟ้องร้องกันเองแบบนี้ ส่วนเรื่อง Megaproject ของ EEC ก็ควรจะกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. EEC ครับ จริงอยู่ใน พ.ร.บ. EEC มีมาตราว่าด้วย กองทุน EEC แต่ในข้อระเบียบ ข้อกำหนดการใช้เงินของกองทุน EEC กลับไม่มีการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเลย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ ผมจึงต้องฝากถึงรัฐบาลและฝากถึงเพื่อน ๆ ที่จะไปเป็น คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ต้องฝากพิจารณากฎหมายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ของชาวประมงด้วย และนำบทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตมาถอดบทเรียนและแก้ไข กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมให้กับพี่น้องผู้ประกอบอาชีพประมง และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง ต่อไปด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ ผมมีเรื่องมาปรึกษาหารือปัญหาของพี่น้องประชาชนด้วยกัน ๒ เรื่อง ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ท่านประธานครับในพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีโรงงานอุตสาหกรรมจีนประกอบกิจการเผาอัด ขึ้นรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงครับท่านประธาน ทำการปล่อยควันพิษและฝุ่นละอองผ่านหอเผา เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากทั้งฝุ่น ทั้งกลิ่น ทำให้ พี่น้องหลายคนรอบ ๆ โรงงานมีอาการแน่นหน้าอกนะครับ แล้วก็เรื่องนี้เคยร้องเรียนไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ได้มีการเข้ามาตรวจสอบแล้วนะครับท่านประธานแต่ก็ยังคง ดำเนินกิจการไปตามเดิม ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ท่านประธานครับ อีกอย่างหนึ่งที่เป็น ข้อสังเกตว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ผังเมืองสีเหลืองอ่อน ซึ่งผังเมืองสีเหลืองอ่อนนั้นตามกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการกิจการเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่ที่นี่ทำได้ครับ สงสัยว่า เส้นคงจะดีมาก ๆ และผมเคยทำหนังสือร้องทุกข์ผ่านประธานสภาไปแล้วเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ บริเวณถนนเชิงเนิน-ชากบก ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ครับท่านประธาน มีการก่อสร้างท่อส่งน้ำไปยังนิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างนี้ได้มีการนำ ท่อน้ำขนาดใหญ่มาวางขวางอยู่บริเวณถนนเป็นเวลานานหลายเดือน มีทั้งเครื่องจักร มีทั้งท่อน้ำ ส่งผลให้พี่น้องผู้ประกอบอาชีพละแวกนั้นบริเวณตลาดเชิงเนินไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เท่าเดิมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากนะครับ ในบางจุดไปก่อสร้างหน้าบ้านเรือนประชาชน ทำให้มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายมีการทรุดของดิน บ้านเรือนเริ่มโครงสร้างร้าว ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากครับ จึงขอฝากท่านประธานประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวระยองทั้ง ๒ เคส ที่ผมได้อภิปราย หารือในวันนี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมมีเรื่องมาขอปรึกษาหารือกับท่านประธาน ท่านประธานครับ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่ผมจะปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยองของผม เกี่ยวกับเรื่องของปัญหาการประกอบกิจการเผาอัดขึ้นรูปเศษไม้เป็นแท่งเชื้อเพลิง ขอสไลด์ ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานครับ ปัญหานี้เป็นโรงงาน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชน มีทั้งผู้ประกอบการ Resort มีทั้งบ้านเรือนประชาชน แล้วส่วนใหญ่ เป็นชุมชนทำเกษตรกรรมนะครับ ภาพนี้คือภาพที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจ ตั้งเครื่องตรวจว่ามีคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร รวมถึงตรวจวัด PM10 ครับ สไลด์ต่อไป ภาพนี้ก็เป็นภาพในโรงงาน ถ้าเข้าไปในทุกคนต้องใส่ Mask เพราะว่าอยู่ไม่ได้ มีแต่ฝุ่น ทั้งนั้นเลย ทีนี้ปัญหามันอยู่ตรงนี้ อันนี้เป็นภาพตอนที่มีเครื่องตรวจวัดมาตั้ง ท่านประธาน จะสังเกตเห็นว่าแทบไม่มีการเดินเครื่องจักรอย่างเต็มที่ มีควันออกมาเพียงเล็กน้อย เท่านั้นเอง เวลามาตรวจจึงไม่เจออะไร ค่าไม่เคยเกินมาตรฐาน สไลด์ต่อไปครับ นี่คือภาพ ตอนไม่มีเครื่องตรวจ เต็มที่เลยครับ Run กันเต็มที่ทั้งวันทั้งคืน ประชาชนเดือดร้อน ลูกเด็กเล็กแดงเป็นผื่นขึ้นไปหมด ก็อยากจะถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท่านจะทำอย่างไร กับเรื่องนี้ เวลาท่านมาตรวจเขาไม่เดินเครื่องจักรเต็มกำลังครับ แต่เวลาท่านเอาเครื่อง กลับไป เขาเปิดเต็มที่ แล้วอย่างนี้ประชาชนจะอยู่อย่างไร นี่คือผลกระทบครับ ดูเศษฝุ่น เศษไม้จากการเผาเต็มไปหมด เต็มบ้านเรือนประชาชนไปหมด นี่คือลูกหลานของเรา เป็นผดผื่นคันสีแดง ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการประกอบกิจการดังกล่าวนี้ จึงขอฝาก ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานด้วย ให้เข้าไปตรวจสอบในโรงงานหน่อย ว่าการประกอบกิจการแบบนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของแรงงานหรือไม่ รวมถึงฝากผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เสียทีครับ ๓ ครั้งแล้ว พี่น้องประชาชนทนไม่ไหวแล้ว ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฝุ่นมลพิษและการก่อ มลพิษข้ามแดนของท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะที่เป็นผู้เสนอครับ ขอสไลด์ขึ้นด้วย นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ในเขตพื้นที่ของผมก็คือ จังหวัดระยอง ซึ่งอาจไม่ได้มีฝุ่นพิษข้ามแดนเหมือนทางภาคเหนือ แต่ที่นี่คือฝุ่นพิษจาก โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานประเภทปิโตรเคมี ที่มีทั้งสารที่เป็นอันตรายต่อระบบ ทางเดินหายใจอย่างสารเบนซีนและสาร Butadiene ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงฝุ่น PM2.5 ที่สร้างผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนชาวระยองมาอย่างเป็นระยะเวลายาวนานครับ ท่านประธานครับ ที่ผ่านมาชาวจังหวัดระยองไม่เคยมีอากาศที่บริสุทธิ์มาเป็นระยะเวลา นานแล้ว เพราะจังหวัดระยองถูกจัดให้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ Eastern Seaboard เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว จนถึง EEC ในยุคปัจจุบัน คนจังหวัดระยองต้องทนอยู่กับ ฝุ่นพิษหรือควันพิษมาอย่างต่อเนื่อง วันดีคืนดีโรงงานปิโตรเคมีทั้งหลายก็ปล่อยควันพิษจาก หอเผามากมายจนเต็มท้องฟ้าไปหมด โดยอ้างว่าเกิดจากเครื่องจักรขัดข้องบ้าง ระบบไฟฟ้า ขัดข้องบ้าง ดับบ้าง ถ้าไม่ปล่อยก็เสี่ยงที่จะเกิดเหตุโรงงานระเบิดได้ครับ คำถามก็คือว่าแล้ว คนจังหวัดระยองมีสิทธิเลือกอะไรบ้างครับท่านประธานแบบนี้ นี่คือข้อมูลของสารเบนซีน ๑๖ ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐-๒๕๖๖ แทบจะเกินค่าเฉลี่ยทุกปี ตัวต่อไปนี้คือสาร Butadiene ที่ว่าเป็นสารก่อมะเร็งนะครับ ท่านประธานจะสังเกตดูว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ปี ๒๕๖๖ นี้สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ไม่รู้ว่าเคราะห์เวรเคราะห์กรรมใด ๆ ทำให้ ชาวจังหวัดระยองของผมต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ อันนี้คือสไลด์ที่บอกว่าค่าวัดของสถานีตรวจ ค่าวัดสารเบนซีนสีเหลือง ๆ สีแดง ๆ นี่ล่ะครับท่านประธานที่มันเกินมาตรฐานและเกิดมา นานนับสิบปี ต่อไปคือสาร Butadiene ก็คือสารก่อมะเร็งครับ จุดวัดสถานีพวกนี้อยู่โดยรอบ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งนั้น สารพวกนี้อันตรายมาก ท่านประธานเชื่อไหมว่า มลพิษขณะนี้ยังเคยมีความพยายามที่จะยกเลิกเขตควบคุมมลพิษอีกต่างหาก น้ำมันก็ยังรั่ว อากาศก็ไม่บริสุทธิ์ ปล่อยควันพิษกันทั้งวันทั้งคืน ยังจะมายกเลิกเขตควบคุมมลพิษ วันนี้ ชาวจังหวัดระยองตื่นตัวแล้วครับ พี่น้องประชาชนตื่นตัว ไม่มีใครยอมอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีอีก แล้ว วันนี้ผมดีใจมากที่สภาผู้แทนราษฎรของเรามีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยเฉพาะ ร่างของท่านภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดระยองของผมรอคอยกันมาอย่างยาวนาน

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปผมขอพูดถึงคณะกรรมการตามร่างกฎหมายที่ไม่ควรจะซ้ำซ้อนกับ คณะกรรมการตามกฎหมายอื่น ๆ โดยบางร่างที่เสนอมาผมเห็นมีคณะกรรมการถึง ๓ ชุด ก็มี ทั้งคณะกรรมการระดับนโยบายที่จะทำงานในเชิงนโยบาย มีคณะกรรมการระดับกรม ส่วนกลาง แล้วก็กรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งในส่วนของ พรรคก้าวไกล โดยท่านภัทรพงษ์ก็มีการเสนอคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วยกันทั้งหมด ๒ ชุด โดยเขากำหนดให้ชุดที่เป็นชุดทำงานระดับนโยบายก็เป็นชุดเดิม ที่เป็นกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งก็จะไม่ซับซ้อน โดยที่เราไปเพิ่มบทบาท อำนาจหน้าที่ให้กับกรรมการชุดนั้น ชุดต่อมาก็คือคณะกรรมการกำกับ ตรวจสอบฝุ่นพิษ และการก่อมลพิษข้ามพรมแดน และที่ผมอยากจะลงรายละเอียดก็คือชุดคณะกรรมการกำกับ ตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามแดนประจำจังหวัดที่มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการในระดับจังหวัดนี้เรามีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึง เพราะว่า อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เราจำเป็นต้องให้กรรมการชุดนี้มีโครงสร้าง ที่ยึดโยงกับพี่น้องประชาชน เพราะเราเชื่อว่าผู้ที่มาจากประชาชนนั้นจะเข้าอกเข้าใจพี่น้อง ประชาชนเป็นอย่างดี รู้จักพื้นที่ รู้จักปัญหาของพี่น้องประชาชนมากกว่าผู้ที่มาจาก การแต่งตั้งและมีการโยกย้ายอยู่ตลอดเวลาครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายในส่วนของเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้กำหนดให้นำส่งเข้า กองทุนสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายที่ชัดเจนและครอบคลุม กับผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกมิติ หรือว่าในวาระต่อไปหากสภาจะพิจารณาให้มีกองทุน ตามพระราชบัญญัตินี้เหมือนร่างของท่านคนึงนิจ ผมก็ไม่ติดขัดอะไรครับ ผมยังอยากให้มีเงิน ที่ถูกจัดเก็บจากการปล่อยมลพิษในพื้นที่ต่าง ๆ ตกอยู่กับพื้นที่นั้น ๆ ด้วยซ้ำ เพื่อให้แก้ไข ปัญหาได้อย่างตรงจุด แล้วก็สร้างความสมดุลในปัญหาที่เกิดขึ้น สรุปครับ ผมขอสนับสนุน และพร้อมที่จะรับหลักการในร่างพระราชบัญญัตินี้ทุกฉบับ และพวกเราไปร่วมกันพิจารณา อุดช่องโหว่ให้กฎหมายฉบับนี้มีความครอบคลุม เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ให้สมกับที่พี่น้องประชาชนรอคอยกันมาอย่างยาวนาน และขอขอบคุณท่าน สส. ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ รวมถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อน สส. ทุกท่าน ทุกพรรค และผู้เสนอร่างจากภาค ประชาชนที่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออภิปรายรายงานการพิจารณาศึกษาและการเสนอแนะการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมง และกิจการประมงทั้งระบบ ท่านประธานครับ วันนี้ผมต้องขออภิปรายสนับสนุนรายงาน ฉบับนี้ แล้วก็มีข้อสังเกตต่อรายงานฉบับดังกล่าวนี้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นการ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อกิจการประมงทั้งระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ท่านประธานครับ กระผมได้อ่านร่างรายงานฉบับนี้แล้ว ก็ขอขอบคุณทางคณะกรรมาธิการที่ได้ศึกษา แล้วก็แก้ไข มีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตต่าง ๆ ต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับ พี่น้องผู้ประกอบอาชีพ ทั้งประมงพื้นบ้าน ทั้งประมงพาณิชย์ รวมถึงกิจการประมงทั้งระบบ อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราโทษที่ควรปรับให้เหมาะสมสอดคล้องต่อวิถีชีวิตการทำ ประมงไทย ท่านประธานครับ มีพี่น้องของผมคนระยองเคยถูกจับกุม เพราะแจ้งชื่อแรงงาน ผิดโดยมิได้มีเจตนา ก็คือเขามีลูกน้องอยู่ ๒ คน เป็นพี่น้องกันชื่อคล้ายกัน นามสกุลเดียวกัน แต่ได้แจ้งชื่อสลับกัน ก็คือแจ้งว่าคนพี่ไม่ได้ออก แต่คนน้องเป็นคนออกเรือ แต่ในเหตุการณ์จริง ก็คือคนพี่เป็นคนออกเรือ คนน้องไม่ได้ออกเรือ ปรากฏว่าถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกปรับถึง ๒ ล้านบาท เหมือนที่ท่านกรรมาธิการได้อภิปรายต่อสภาเมื่อสักครู่นะครับ หากจะยื่น อุทธรณ์หรือสู้คดีก็ต้องใช้เวลานาน เรือถูกอายัดไม่สามารถทำการประมงได้ ไม่รู้ต้องใช้เวลา กี่เดือน กี่ปี ท่านประธานครับ ผู้ถูกจับกุมท่านนี้เขามิได้มีเจตนาในการแจ้งชื่อไม่ตรง แต่อาจเกิดจากความผิดพลาด ซึ่งทุกคนผิดพลาดกันได้ ทุกคนเป็นมนุษย์ครับ แต่ค่าปรับ แบบนี้ ปรับกันเอาเป็นเอาตาย ปรับกันล้มละลายแบบนี้ ดังนั้นเรื่องนี้ผมเห็นด้วยมาก ๆ ที่มีข้อเสนอแนะข้อสังเกตของกรรมาธิการอยู่ในรายงานฉบับนี้

    อ่านในการประชุม

  • แต่ท่านประธานครับ ผมเห็นว่ายังมีกฎหมายบางตัวอาจจะยังไม่ได้ถูก หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในการศึกษาครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบ กิจการของภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ท่านประธานครับ ย้อนกลับไปปี ๒๕๕๖ หรือเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว และเมื่อปี ๒๕๖๕ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เกิดเหตุ น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่จังหวัดระยอง และปีที่แล้วเมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ก็เกิดน้ำมันรั่ว ที่จังหวัดชลบุรี เหตุการณ์น้ำมันรั่วเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นอย่างมาก ซึ่งการรั่วของน้ำมันแต่ละครั้งมีผลกระทบนานนับ ๑๐ ปี ต่อทรัพยากร ต่อระบบนิเวศ ต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเล โดยเฉพาะทะเลชายฝั่ง

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งผมจะมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่ ๑ ดังนี้ ก็คือข้อสังเกตต่อการ ประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อทะเลและทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย หรือมีระเบียบที่ชัดเจนในการทำประกันความเสียหาย ที่เกิดจากการประกอบกิจการที่มี ความเสี่ยงต่อทะเลและทรัพยากรทางทะเล โดยต้องมีความรับผิดชอบถึงความเสียหาย ให้ครอบคลุม ย้ำนะครับ ครอบคลุมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการดังกล่าว รวมถึงต้องมีการกำหนดให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อันเกิดมาจากอุบัติภัยจากการ ประกอบกิจการ โดยเฉพาะกิจการประเภทโรงกลั่นน้ำมัน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือที่ ชาวบ้านแถวบ้านผมเขาเรียกว่าการถมทะเล ท่านประธานการถมทะเลมีผลกระทบต่อระบบ นิเวศอย่างถาวร ทางน้ำเปลี่ยน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย ส่งผลให้วิถีชีวิตพี่น้อง ชาวประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่ชายฝั่งเกิดผลกระทบอย่างหนัก วันนี้ คนระยอง คนชลบุรีเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้แล้วครับ แต่ยังไม่มีมาตรการเชิงกฎหมาย ที่จะต้องให้มีการสำรวจความเสียหาย การชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม อย่างเป็นระบบ เรียกง่าย ๆ ว่าหากโครงการไหนทำเรื่องนี้ก็ดีต่อชาวประมง มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่หากโครงการไหนไม่ทำ ไม่ศึกษา ความยากลำบากก็หนีไม่พ้นพี่น้องผู้ประกอบอาชีพ ประมงครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตที่ ๒ ของผมก็คือ หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการและสำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรออกมาตรการหรือข้อบังคับ ให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการลักษณะนี้ทั้งระบบ รวมถึงกำหนดให้มี การชดเชยเยียวยา ในการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA ต้องเป็นภาคบังคับครับท่านประธาน ไม่ใช่ใครจะทำเรื่องนี้ก็ได้ หรือไม่ทำเรื่องนี้ก็ได้ จะศึกษาก็ได้ ไม่ศึกษาก็ได้ อันนี้ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมขอสนับสนุนรายงานฉบับนี้ และหากข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต ของผมได้รับการพิจารณาและศึกษาด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบอาชีพประมง ทั้งระบบอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่มีโรงกลั่นน้ำมันหรือพื้นที่ที่มี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างโครงการถมทะเล ซึ่งอันนี้ชาวประมงได้รับผลกระทบมา อย่างยาวนาน และยังไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือมีกฎหมายคุ้มครองพี่น้องประชาชนเหล่านี้ และในอนาคตอันใกล้นี้ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันโครงการแลนบริดจ์ ที่จะมีการถมทะเล ทั้งชุมพรและระนอง สิ่งเหล่านี้หากท่านไม่แก้ไขหรือมีกฎระเบียบกฎหมายต่าง ๆ เข้ามา คุ้มครองพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง ท่านไม่อาจหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากพี่น้อง ประชาชนได้นะครับ ก็ขอฝากท่านประธานด้วย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ ผมมีเรื่องขอหารือกับท่านประธาน สืบเนื่องจากกระผมกับ สส. กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ได้ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนบริเวณใกล้กับป่าสงวนแห่งชาติ ตำบล ห้วยโป่ง จังหวัดระยอง พบว่ามีผู้ประกอบการบ่อทรายกินพื้นที่นับพันไร่ จากกรณีนี้มีพี่น้อง ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องทางน้ำสาธารณะถูกทับถมจนไม่มีสภาพเป็นทางน้ำ ขอสไลด์นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • จากการลงพื้นที่ก็ยังพบว่ามีผู้ประกอบการ หลายรายที่ขุดทรายเกินอาณาเขตของตัวเองจากที่ขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดไว้ โดยบางแปลงไม่มีเอกสารสิทธิในการประกอบกิจการแต่ก็ยังเข้าไปทำได้ เมื่อตรวจสอบจาก ภาพถ่ายทางอากาศทางดาวเทียมเส้นสีเหลืองนี้คือเส้นป่าสงวนแห่งชาติ อันนี้คือปี ๒๕๕๖ มีการประกอบกิจการแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้มีการรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนนะครับ อันนี้ภาพ ปี ๒๕๖๑ จะพบว่ามีการรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนนับร้อยไร่แล้ว หลังจากนั้นก็ได้เห็น ท่านอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ได้ลงพื้นที่ไปตอนนั้น แต่ก็ยังไม่มีการหยุดประกอบกิจการใด ๆ หนำซ้ำในปีปัจจุบันพอดูจากแผนที่ดาวเทียมแล้วก็ยังพบว่าพื้นที่ป่ายังถูกรุกล้ำเข้าไปหนัก กว่าเดิมอีก ก็ไม่รู้ว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ตรงนี้เอกสารสิทธิบางแปลง อธิบดีกรมที่ดินก็ได้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แต่นายทุนกลุ่มนี้ก็ยังไม่หยุดครับ ท่านประธาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แล้วก็คิดว่าส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทำให้ปอด ของคนระยองหายไปเยอะมาก จึงต้องขอฝากท่านประธานประสานไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ กรมที่ดิน จังหวัดระยอง แล้วก็เทศบาลเมืองมาบตาพุดให้เข้าไปตรวจสอบโดยด่วน หากพบ ผู้กระทำความผิดต้องดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงต้องหาแนวทางฟื้นฟูป่าสงวนแห่งชาติ ที่ถูกทำลายด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมต้องขออภิปรายสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ท่านประธานครับ สืบเนื่องจาก พ.ร.ก. การประมง ฉบับ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมาถูกบังคับใช้ ทำให้พ่อแม่พี่น้องที่ประกอบอาชีพประมงได้รับ ความเดือดร้อนอย่างสาหัส ถ้าท่านประธานไปดูแถวพื้นที่ผมบริเวณปากน้ำระยอง ท่านประธานจะเห็นเลยครับว่ามีเรือประมงจอดนับหลายร้อยลำ แล้วก็ไม่เคยออกได้ บางลำจอดจนจมไปแล้วนะครับท่านประธาน ก็ด้วยข้อกำหนดที่ออกมาโดยไม่มีการ มีส่วนร่วมต่าง ๆ แล้วก็ออกมาโดยรัฐบาล คสช. ในยุคนั้น ท่านประธานครับ ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ของชายฝั่งภาคตะวันออกก็มีเต็มไปหมด ตัวอย่างที่พี่น้องประชาชน ของผมเจออยู่ ก็เช่นเรื่องการแจ้งชื่อลูกเรือผิด ผิดแค่ชื่อ เป็นพี่น้องกันชื่อคล้ายกัน แต่แจ้งชื่อผิด ปรากฏว่าถูกปรับ ๒ ล้านบาทครับท่านประธาน ปรับกันเอาเป็นเอาตาย อยู่กันไม่ได้ครับ กลับมาถึงประมงพื้นบ้านในพื้นที่ของผมเองทรัพยากรมันไม่มีแล้ว โดนสารพัด การพัฒนาน้ำมันก็รั่ว ทะเลก็ถม แถมยังจำกัดเขตทำการประมงของพี่น้องประมงพื้นบ้านไว้ ๓ ไมล์ทะเล อยากจะถามว่าหลักตรงนี้ที่ผ่านมาเราใช้หลักอะไรคิดครับ เราจะนับจากตรงไหน ของชายฝั่งบ้านผมถมทะเลออกไปไม่รู้กี่กิโลเมตร ก็กินพื้นที่ทำการประมงไปแล้ว บางที่มีสะพาน มีท่อก๊าซ มีท่อน้ำมัน เต็มไปหมดครับ อย่างนี้ผลกระทบก็เกิดกับพี่น้องประมง ลำพังจะออกไปหากินนอกพื้นที่ที่กำหนดก็ถูกจับถูกปรับอีก นี่คือปัญหาครับ

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นผมได้อ่านร่างของคุณวรภพ วิริยะโรจน์ แล้วก็พบว่ามีหลายมาตราที่ได้ นำเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่ผมกล่าวไปนี้ได้มีการแก้ไข เพื่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมยกตัวอย่าง เช่น ในเรื่องของเขตทะเลชายฝั่ง ๓ ไมล์ทะเล ที่กำหนดอยู่ในกฎหมายเดิม แล้วเราก็ได้มีการเพิ่มเติมถึงแนวชายเกาะอีก ท่านประธานครับ เกาะนี้อยู่ห่างจากฝั่งไป ก็เกิน ๕ ไมล์ทะเล ผมยกตัวอย่างเช่น เกาะเสม็ดบริเวณด้านหลังเกาะเสม็ดห่างออกไป ไม่เกิน ๑ กิโลเมตร ไม่ถึง ๑ ไมล์ทะเลด้วยซ้ำ ก็มีเรือขนาดใหญ่เครื่องมือแบบทำลายล้าง ก็ได้ลากไปลากมาอยู่แถวนั้น เรือพี่น้องประมงเรือเล็กก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งถ้าร่างกฎหมาย ฉบับนี้ของพวกเราได้ผ่านสภาของเราก็เชื่อว่าปัญหานี้ก็ได้รับการแก้ไข แล้วก็เป็นประเด็น ที่ไม่เห็นในหลาย ๆ ร่าง แต่ว่าก็เห็นในร่างของพรรคก้าวไกล

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาเรื่องของการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มีเพื่อน สส. หลายท่านได้พูดไปแล้ว ซึ่งผมก็จะมาพูดว่าเหตุผลใดทำไมเราถึงจำเป็นต้องให้ นายก อบจ. เป็นประธาน ถ้าเรายึดหลักการในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย การที่ผู้รับผิดชอบ ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดในเขตระดับจังหวัด ก็คงหนีไม่พ้นนายก อบจ. นายก อบจ. ควรรับผิดรับชอบกับสิ่งที่ทำได้ ซึ่งคนที่จะให้คุณให้โทษก็คือพี่น้องประชาชนเอง ถ้าวันหนึ่ง บริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ไม่ดี พี่น้องประชาชนก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนที่จะลงโทษผ่านกติกา ในการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาเรื่องการต่อเอกสาร ต่อใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมันต้องไป หลายหน่วยงานมาก ไม่รู้วัน ๆ หนึ่งจะไปต่อเอกสาร บางทีวันเดียวไม่จบ ต้องใช้เวลาถึง ๒ วัน ๓ วัน ก็มีการเสนอให้มีการทำใบอนุญาตแบบ One Stop Service หรือเป็นรูปแบบ Online เราควรนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ได้แล้ว จริงอยู่ครับ พ่อแม่พี่น้องประมง บางท่านอาจจะไม่ได้จบการศึกษาสูง แต่อย่าลืมว่าพวกเขามีลูกมีหลานที่สามารถช่วย เรื่องพวกนี้ให้เขาได้ ฉะนั้นภาครัฐก็ควรที่จะอำนวยความสะดวกนำเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ เข้ามาช่วยเหลือในการแก้ไขหรือว่าต่อทะเบียนแบบให้ง่ายที่สุด เพื่อลดภาระในการเดินทาง ไม่เป็นภาระ ไม่ต้องเสียเวลาในการประกอบอาชีพทำมาหากิน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมยืนยันว่าพี่น้องประชาชนรอกฎหมายฉบับนี้มาอย่างยาวนานแล้ว ทนอยู่กับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสมาอย่างยาวนานแล้วครับ วันนี้เป็นโอกาสอันดี ที่สภาเราได้พิจารณา แล้วก็คาดหวังว่าเร็ว ๆ นี้ กฎหมายฉบับนี้จะปลดล็อกวิถีชีวิต จะคืนความมั่นคงให้กับพี่น้องผู้ประกอบอาชีพประมง ทั้งพี่น้องประมงพาณิชย์และพี่น้อง ประมงพื้นบ้าน ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธาน วันนี้ผมมีเรื่องขอปรึกษาหารือกับท่านประธานทั้งหมด ๓ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประมงพื้นบ้านว่าขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรื้อสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำระยอง บริเวณหน้าวัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง เนื่องจากเวลาน้ำขึ้นทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถสัญจรเรือประมง ลอดใต้สะพานเหล็กชั่วคราวดังกล่าวได้ แล้วก็ขณะนี้สะพานถาวรก็ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว เปิดดำเนินการแล้ว ไม่รู้ว่าเมื่อไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรื้อสะพานเหล็กดังกล่าวออก เรื่องนี้ ขอให้ท่านประธานประสานไปยังเทศบาลนครระยองให้พิจารณาดำเนินการดังกล่าว

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลตะพง ได้รับผลกระทบกลิ่นจากฟาร์มหมู ซึ่งมีการเลี้ยงฟาร์มหมู ฟาร์มสุกร ในพื้นที่จำนวนมาก มีการส่งกลิ่นรบกวนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง หน้าหนาวที่ผ่านมาก็มี กลิ่นรุนแรงมาก เรื่องนี้ขอฝากท่านประธานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลตะพงให้พิจารณา หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณแยกปากทางเพ ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ก็มีเสาไฟ High Mast แต่ว่าไม่มีไฟ เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ก็ขอฝากท่านประธานให้ประสานไปยังแขวงทางหลวงระยองเพื่อแก้ไขปัญหา แล้วก็ เร่งดำเนินการให้มีไฟส่องสว่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาจัดทำ มาตรการป้องกันแก้ไขฟื้นฟูและเยียวยากรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล ท่านประธานครับ น้ำมัน เชื้อเพลิงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการขนส่งน้ำมันทาง ทะเลได้มีบทบาทเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการขนส่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่ง ประเภทอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลจากการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก ท่านประธานครับ ผมอยากพามาดูภาพรวม สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลในประเทศไทยครับ และนี่คือข้อมูลของ The Standard Online ที่ได้เก็บสถิติน้ำมันรั่วในประเทศไทยของเราตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ถึงปี ๒๕๖๕ ได้เกิด น้ำมันรั่วมาแล้ว ๑๗๖ ครั้ง และข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้ติดตาม สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันในช่วงปี ๒๕๕๙ ถึงปี ๒๕๖๕ ก็พบว่า ใน ๒๓ จังหวัดมีน้ำมันรั่วรวมกันถึง ๑๐๑ ครั้ง ซึ่งแบ่งเป็นเหตุการณ์รั่วไหล ๒๘ ครั้ง แล้วก็ การพบก้อนน้ำมันดินหรือที่เราเรียกว่า Tar Ball อีก ๗๓ ครั้ง ท่านประธานครับ ปี ๒๕๕๙ ๑๕ ครั้ง ปี ๒๕๖๐ ๑๐ ครั้ง แต่อยากให้โฟกัสที่ปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ครับ ปี ๒๕๖๓ พบเหตุการณ์ทั้งหมด ๔๗ ครั้ง แล้วปี ๒๕๖๔ พบเหตุการณ์ ๔๔ ครั้ง นี่เพียง ๒ ปี พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วแล้ว ๙๑ ครั้ง แล้วจากข้อมูลในปี ๒๕๖๕ พบการรั่วไหลในชายทะเล ฝั่งอ่าวไทย รวม ๑๓ ครั้ง โดยพบบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ณ จังหวัดระยอง ๖ ครั้ง จังหวัดจันทบุรี ๑ ครั้ง จังหวัดชลบุรี ๒ ครั้ง อ่าวไทยตอนบน ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๑ ครั้ง อ่าวไทยตอนกลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๑ ครั้ง และจังหวัดชุมพร ๒ ครั้ง ส่วนสถานการณ์ในปี ๒๕๖๖ เมื่อปีที่แล้วประมาณเดือนกันยายน พบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ในจังหวัดชลบุรีจากกรณีท่อรับส่งน้ำมันดิบแตกรั่ว ทำให้น้ำมันดิบไหลลงสู่ทะเลอีก ๔๕,๐๐๐ ลิตร และพบก้อนน้ำมันดินอีก ๑๑ ครั้ง ทั้งนี้จากการติดตามตรวจสอบพบว่า จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และเกิดเหตุน้ำมันรั่วบ่อยครั้ง เนื่องจากมีกิจกรรมหลากหลายประเภท เช่น การเดินเรือเข้าออก เรือขนส่งสินค้า ตลอดจน บริเวณชายฝั่งของจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้มีการเดินเรือขนส่งน้ำมันเข้าออกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีระบบท่อขนส่งน้ำมัน กลางทะเลและสำหรับอ่าวไทยตอนล่างครับท่านประธาน ในบริเวณชายฝั่งจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็พบว่าปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ก็มีน้ำมันรั่วไหลบ่อยครั้งมากกว่าในอดีต โดยมีสาเหตุมาจากเรือท่องเที่ยว การแอบล้างถังบรรจุน้ำมัน การทิ้งน้ำมันปนเปื้อนลงทะเล การเดินเรือขนส่ง และรวมถึง แท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล ท่านประธานครับ ต่อมาผมอยากจะพาท่านประธานมาดูเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดระยองของ ผมว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมามันเป็นอย่างไรบ้าง และผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่นั้นได้รับผลกระทบอย่างไร จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครับ

    อ่านในการประชุม

  • เมื่อปี ๒๕๕๖ มีเหตุน้ำมันรั่วไหลที่จังหวัด ระยอง จากการดำเนินการขนถ่ายน้ำมันของบริษัทอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งจากรายงานของ บริษัทที่เกี่ยวข้องรายงานว่าปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงทะเลครั้งนี้คือ ๕๐,๐๐๐ ลิตรครับ แต่สิ่งที่เป็นข้อสงสัยของพี่น้องประชาชนก็คือ การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันที่เรียกว่า สาร Dispersant ใช้สารเคมีไปกว่า ๓๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งสารเคมีดังกล่าวมีการควบคุมให้ใช้ สารดังกล่าวที่ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม คืออัตราส่วน ๑ : ๑๐ นั่นหมายความว่าถ้ามีน้ำมันรั่ว ๑๐ ส่วนนี้ใช้สารเคมี ๑ ส่วน ถ้าเราคำนวณตามหลักการตามคณิตศาสตร์พื้นฐานการใช้ สารเคมี ๓๐,๐๐๐ ลิตรนี้เท่ากับน้ำมันรั่วไหล ๓๐๐,๐๐๐ ลิตรลงทะเลใช่หรือไม่ ตัวเลข ที่ปรากฏจากทั้งผู้ก่อมลพิษและตัวเลขจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกลับมีรายงานปริมาณ การรั่วไหลเพียง ๕๐,๐๐๐ ลิตรเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความสงสัยให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เอาล่ะครับ เมื่อไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็ไม่เป็นอะไร เรามาดูกันต่อว่า ความรุนแรงของน้ำมันรั่วครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง นี่คือภาพที่เกิดขึ้นที่อ่าวพร้าว ที่เกาะเสม็ด จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อยู่ห่างจากชายฝั่งไป ๒๐ กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุดได้ พัดพาคราบน้ำมันเหล่านี้เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ความเสียหายขณะนี้ขนาดว่าใช้สารเคมี กดน้ำมันให้จมลงไปสู่ใต้ท้องทะเลแล้วนะครับ ยังมีน้ำมันอีกปริมาณมหาศาลที่ไม่สามารถ ซ่อนได้หมด จนพัดเข้าสู่ชายหาดของเกาะเสม็ดได้ ต่อมาไม่นานในช่วงมรสุมก็มีก้อนน้ำมันดิน หรือที่เรียกว่า Tar Ball พัดขึ้นหาดเป็นจำนวนมากตลอดแนวชายหาดตั้งแต่หาดสวนสน หาดแม่รำพึง หาดปากน้ำ และหาดอื่น ๆ มีสัตว์น้ำลอยเกยตื้นตายเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างผลกระทบยาวนานกว่า ๘ ปี กว่าทะเลจะเริ่มฟื้น จากการสำรวจ ความเสียหายของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมประมง โดยประมงจังหวัดก็ได้รายงาน ต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุดที่ ๒๕ ว่าหลังจาก เหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเลปริมาณสัตว์น้ำก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๘ ปี แล้วหลังจาก ๘ ปีนั้นก็เริ่มมีสัตว์น้ำที่หายไปกลับมาบ้างแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของพี่น้องประชาชน ที่บอกว่า สัตว์น้ำไม่มีเลยเป็นเวลากว่า ๗-๘ ปี เปรียบเทียบจากการมาของสัตว์น้ำตาม ฤดูกาลก็คือกุ้งเคยครับ ท่านประธานรู้จักไหมครับ กุ้งเคยที่ชาวจังหวัดระยองเอามาทำกะปิ จนมีชื่อเสียงว่ากะปิจังหวัดระยองนั้นอร่อยเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ กุ้งเคย คือกุ้งขนาดเล็ก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดระยอง ชาวประมงจังหวัดระยองมักพูดหยอก ล้อกับคนเล่นน้ำหรือนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำบริเวณชายหาดเสมอ ๆ ว่า เคยโดนตีนไหม เคยโดนตีนไหมนี้ไม่นี้ใช้คำหยาบนะครับ แต่คือกุ้งเคยมันโดนเท้าของนักท่องเที่ยวหรือพี่น้อง ที่อยู่บริเวณชายหาดหรือไม่นะครับ แต่พอหลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว กุ้งเคยที่เคยเข้าอ่าว ตั้งแต่ฝั่งอำเภอแกลง ที่เป็นฝั่งตะวันออกไล่เรื่อยมาจนถึงหาดสวนสน หาดแม่รำพึง หาดปากน้ำ ไปจนจบที่หาดพลา ที่อำเภอบ้านฉางซึ่งเป็นชายหาดฝั่งตะวันตกก็ได้หายไปและ ไม่มาตามฤดูกาลอีกเลย หรือว่ามาก็มาแค่ ๑-๒ วันแล้วก็หายไป ถ้าถามว่ากุ้งเคยสำคัญ อย่างไรก็ต้องบอกว่ากุ้งเคยคืออาหารของสัตว์น้ำนานาชนิด ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของ ระบบห่วงโซ่อาหาร เมื่อเคยเข้า ปลาชนิดอื่นก็จะเข้าตามมาเพื่อกินเคย และปลาที่มีขนาด ใหญ่กว่าก็จะเข้ามากินปลาเล็กกว่า ตามสไลด์ที่ผมกำลังฉายอยู่ครับท่านประธาน ซึ่งวงจร ห่วงโซ่อาหารนี้จะเป็นแบบนี้ทุกปีตามฤดูกาล เมื่อช่วงเวลาผ่านไป ๘ ปี ทะเลก็กำลังจะ ฟื้นคืนสภาพ ชาวจังหวัดระยองยังต้องเจอกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลจากบริษัทโรงกลั่นน้ำมันที่มี Logo เป็นรูปดาว จากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รายงานว่าน้ำมันรั่วครั้งนี้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลิตร และใช้ สารกำจัดคราบน้ำมันกว่า ๘๕,๐๐๐ ลิตร และขณะนั้นมีการแก้ไขปัญหาโดยบูรณาการหลาย หน่วยงาน กองทัพเรือ จังหวัด กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมายครับ ๑๐ หมายความว่าสารกำจัดคราบน้ำมัน ๑ ส่วนต่อน้ำมัน ๑๐ ส่วน การใช้สาร ๘๕,๐๐๐ ลิตร หมายความว่าปริมาณน้ำมันรั่วจริง ๆ มันใช่ ๔๗,๐๐๐ ลิตร ตามที่ผู้ก่อมลพิษ แถลงจริงหรือไม่ หรือว่าจริง ๆ แล้วปริมาณน้ำมันรั่วไหลนั้นคือ ๘๕๐,๐๐๐ ลิตรกันแน่ครับ จากข้อมูลที่กล่าวมานั้นยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของพี่น้องประชาชน ภาคประชาสังคม รวมถึงนักวิชาการอีกจำนวนมากครับ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณน้ำมันรั่วที่รายงานโดยผู้ก่อ เหตุนั้นเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ท่านประธานครับทีนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็แทบ ไม่ต่างกับปี ๒๕๕๖ หรือว่าอาจจะมีความรุนแรงมากกว่าด้วย เพราะว่าปี ๒๕๕๖ ใช้สารเคมี ไป ๓๐,๐๐๐ ลิตร แต่ว่าปี ๒๕๖๕ ใช้ไป ๘๕,๐๐๐ ลิตร สัตว์น้ำที่เคยจับได้ลดลง อย่างต่อเนื่องเหมือนเดิมเลยครับ โดยเฉพาะเขตในทะเลชายฝั่ง ปูม้าที่เคยจับกันได้เป็นหลัก ๑๐ กิโลกรัมต่อเรือพื้นบ้าน ๑ ลำ ทุกวันนี้ต้องนับเป็นตัวครับ กุ้งแชบ๊วยที่จะเข้าตามฤดู มรสุม จากที่เคยเข้าในช่วง ๒ เดือน ๓ เดือนก็ไม่เข้าอีกเลยครับ กุ้งแชบ๊วยนี้ชาวประมงถือ เป็นโบนัสประจำปีที่เขาจะจับมาแล้วก็ขายให้เขาได้มีผลกำไร และที่สำคัญผลกระทบจาก เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวประมงนั่นยังรวมถึงพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเลสด ลูกเรือ ประมงที่มีอาชีพต่อเนื่องจากการประมง ร้านค้าอาหารชายหาด โรงแรม การท่องเที่ยวอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อมีข่าวแพร่สะพัดออกไปนักท่องเที่ยวที่ได้จองโรงแรมไว้ต่างพากันยกเลิก ทั้งหมด ไม่มีใครกล้ามาเที่ยวจังหวัดระยองไม่มีใครกล้ากินอาหารจังหวัดระยองในช่วงนั้น นานหลายเดือน แม้แต่ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวก็ยังลดลงอย่างมากเนื่องจากขาดความเชื่อมั่น

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาครับ มาดูเรื่องการเยียวยากันบ้าง ในปี ๒๕๕๖ การเยียวยาที่เกิดขึ้น จากการเรียกร้องของพี่น้องประชาชน ซึ่งบริษัทผู้ก่อเหตุก็เยียวยา ยกตัวอย่าง ประมง พื้นบ้านครับ คิดวันละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๑ เดือน ก็คือ ๓๐,๐๐๐ บาทต่อเรือ ๑ ลำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเหมาะสมความเสียหายจริงที่มีผลกระทบยาวนานกว่า ๘ ปี เป็นเหตุ ให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ได้มี คำพิพากษาให้ผู้ก่อมลพิษชดเชยเพิ่มเติมจาก ๑ เดือน ๓ เดือน และ ๕ เดือนตามลำดับ และจนบัดนี้เวลาผ่านไปกว่า ๑๐ ปีความก็ยังอยู่ในชั้นศาลฎีกา ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา แล้วในปี ๒๕๖๕ ลักษณะการเยียวยาเป็นเช่นเดียวกัน เหมือนกันเป๊ะ โดยมีการเรียกร้อง จากการประชุมหลายครั้ง สุดท้ายยอมเพิ่มจากวันละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นวันละ ๑,๕๐๐ บาท ถามว่าทำไมถึงเยียวยาเหมือนกัน แบบเดียวกัน ก็บริษัทที่ทำน้ำมันรั่วปี ๒๕๖๕ ไปตั้ง ที่ปรึกษา ก็คือบริษัทน้ำมันรั่ว ปี ๒๕๕๖ มาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทน้ำมันรั่ว ปี ๒๕๖๕ ครับ การแก้ไขปัญหาก็เหมือนกันเป๊ะ ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนต้องยื่นฟ้อง ต่อศาลยุติธรรมกว่า ๒,๐๐๐ ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้ก่อมลพิษ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเดินทางไปศาลกับ พี่น้องประชาชนตั้งแต่ก่อนผมเป็นผู้แทน จนตอนนี้ผมเป็นผู้แทนแล้วผมก็ยังต้องไปศาลกับ พี่น้องประชาชน เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะรัฐไทยทอดทิ้งเขา ปล่อยให้คนตัวเล็กตัวน้อย ต้องสู้กับทุนใหญ่เพียงลำพัง พี่น้องเหล่านี้ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวนะครับ การฟ้องร้องครั้งนี้คือการฟ้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้มีการฟื้นฟูทะเลที่เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน พวกเขาไม่ได้ต้องการเงินเยียวยาหรอกครับ เขาต้องการทะเลที่อุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ภายหลังจากน้ำมันรั่วการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนของหน่วยงานภาครัฐและบริษัทผู้ก่อมลพิษก็ยัง ไม่มีความชัดเจน ยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ เช่น ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเลซึ่งแทบจะไม่ได้ผล ก็เพราะว่าคราบน้ำมันที่มันถูกสารเคมีมันกำจัดคราบน้ำมันมันทำปฏิกิริยาแล้วกดจมลงไปสู่ ใต้ท้องทะเล น้ำมันไม่ได้หายไปไหน มันแค่ถูกซ่อนให้จมหายไปจากสายตาประชาชน และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทะเลไม่อุดมสมบูรณ์จากน้ำมันรั่ว ท่านประธานครับ จะจบแล้วครับ เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวจังหวัดระยองมีตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นได้ จากสารตกค้างในอาหารต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลทันที แต่ค่อย ๆ สะสมสู่ร่างกาย จากการบริโภคอาหารทะเลของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง การขจัดคราบน้ำมัน หรือการเผชิญเหตุน้ำมันรั่วของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเท่ากับว่าทำเพื่อปกปิดความผิด ให้หายไปจากหน้าสื่อและสังคม รัฐไทยกำลังผลักภาระให้คนตัวเล็กตัวน้อยไปสู้กับทุนใหญ่ โดยลำพัง วันนี้แม้คราบน้ำมันจะหายไปแล้ว แต่ความเดือดร้อนและคราบน้ำตาของพี่น้อง ประชาชนยังคงอยู่ พวกเขาต้องอยู่กับทะเล ต้องใช้ชีวิตกับทะเล ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจาก ทะเล ผมทราบดีว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกครับ ที่จะไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีโรงกลั่นน้ำมันและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แบบนี้ และผมก็เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเหมือนกันที่จะเกิดเหตุน้ำมันรั่ว แล้วกระทบต่อพี่น้องประชาชน แต่พวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรเร่งศึกษา วางแผน และรับมือถึงอนาคตหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก จะต้องไม่มีใครได้รับ ความเดือดร้อน ได้รับความหายนะจากเหตุการณ์แบบนี้ รัฐไทยควรมีมาตรการที่ดีกว่าเดิม ในการรับมือ รวมถึงควรออกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันเป็นการเฉพาะเสียทีให้ครอบคลุม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องการป้องกัน การฟื้นฟู การชดเชย และการเยียวยา พอกันทีครับกับการต้องให้พี่น้องไปสู้กับทุนใหญ่โดยลำพังทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ใด ๆ กับความผิดพลาดครั้งนี้ ผมจึงขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อ ศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยา กรณีน้ำมันรั่วไหลทางทะเล เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนคนไทยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพครับ กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ก็ต้องขอขอบคุณท่านประธาน ที่ได้อนุญาตให้ผมและเพื่อนสมาชิกได้เสนอญัตติและอภิปรายกันในวันนี้จนครบ ทุกคนนะครับ จากการที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายในญัตติดังกล่าว เราจะเห็นว่าน้ำมันที่รั่วนี้ มันรั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่า จริง ๆ แล้วถ้านับปริมาณในอ่าวประเทศไทยของเรา ผมว่าน่าจะมีน้ำมัน หลายล้านลิตรแล้วที่ยังปนเปื้อนอยู่ใต้ท้องทะเลนะครับ รวมถึงว่าเราก็จะเห็นว่ากฎหมายไทย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทเอกชนผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันก็ยังไม่เคยถอด บทเรียน ไม่เคยแก้ไขปัญหาทุกอย่าง อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าเราเปรียบเทียบ มาตรการแก้ไขในต่างประเทศกับประเทศไทย ยิ่งเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนครับ วันนี้ยังมีผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมากนับพันนับหมื่นคนนะครับ ยังมีพี่น้องประชาชน ชาวประมงที่ยังต้องอดข้าว ลูก ๆ หลาน ๆ ของพี่น้องชาวประมงไม่มีเงินไปโรงเรียน สัตว์ทะเลลอยตายขึ้นหาดทุกวัน ปริมาณก็ลดลงเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้อง ร่วมไม้ร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวกันทันทีครับ รอไม่ได้อีกแล้วครับ ท่านประธานครับ สุดท้ายผมขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกคนนะครับที่ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติในครั้งนี้ พวกเรามาร่วมกันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรทาง ทะเลของพวกเรากันครับขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม