กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ท่านประธานครับ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมขออนุญาตอภิปรายรายงาน ของ กกพ. หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ท่านประธานครับ คณะกรรมการชุดนี้ เกิดขึ้นมา คลอดออกมาภายใต้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ปี ๒๕๕๐ ในหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ มาตรา ๑๐ ซึ่งมีภารกิจที่ชัดเจน คือ ๑๘ ข้อ ๑๘ อนุนี้ครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการมีคณะกรรมการชุดนี้ภายใต้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ปี ๒๕๕๐ นี้ มันมีความคาดหวังอยู่ ๒ ประการท่านประธานครับ
ประการแรก เราคาดหวังว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นตัวแทน จะเป็น กรรมการผู้ที่จะปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน แก๊ส หรือพลังงานอื่น หรือออกแบบแนวทาง พลังงานที่มันเหมาะสมและสมดุลท่านประธานครับ
ประการที่ ๒ เราคาดหวังว่ากรรมการชุดนี้ท่านจะกำกับระบบพลังงาน ในประเทศนี้ให้มันมีความสมดุลและเป็นธรรม ทั้ง ๑๘ ข้อ ในหน้าที่ของท่านตามมาตรา ๑๑ ของ พ.ร.บ. นี้ ผมคิดว่ามันมีความคาดหวังแค่ ๒ ข้อนี้ อันนี้คือประเด็นสำคัญ ท่านประธานครับ ทีนี้คำถามที่ประชาชนเขาฝากถามผมจะไม่ลงรายละเอียด เพราะว่าภารกิจที่อยู่ในรายงาน ผมคิดว่ามันเป็นภารกิจปลีกย่อยมันไปทำที่มันไม่ใช่เป็นภารกิจหลัก ประชาชนถามอย่างนี้ ท่านประธานครับ อันนี้ฝากถึงคณะกรรมการทั้ง ๗ รวมถึงองค์กรเลขาธิการ ลำดับการทำงาน ในองค์กรของท่าน ประชาชนถามว่ากำกับพลังงานอย่างไร กำกับอย่างไรครับ ค่าไฟฟ้า แพงขึ้น ๆ อย่างนี้ครับ อันนี้คือประเด็นสำคัญ ถ้าเอาตามมาตรา ๑๐ ใน พ.ร.บ. นี้ ท่านจะต้องรักษา ๒ ความคาดหวังของ พ.ร.บ. นี้ที่พี่น้องประชาชนเขามีจินตนาการว่า ท่านจะต้องทำเรื่องนี้ ทำอย่างไรให้พิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของ พลังงาน ท่านจะเป็นกรรมการในการดูแลว่าใครจะบริหารจัดการพลังงานที่มันสมดุล และเป็นธรรม ๒ ข้อนี้นะครับ คำถามของพี่น้องประชาชนบอกว่า บริหารจัดการอย่างไร ทำไมแพงขึ้น
คำถามที่ ๒ ก็คือว่าสัดส่วนพลังงานสำรอง ทำไมเยอะเกินไป บางข้อมูล บอกว่าเกิน ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วเรามีความจำเป็น ขนาดไหนที่จะต้องมีการสำรองพลังงานขนาดนี้ อันนี้คำถามของพี่น้องประชาชน และที่สำคัญ ก็คือว่าการที่จะต้องกำกับว่าใครจะเป็นผู้เล่นพลังงานนี้
คำถามของพี่น้องประชาชนในข้อ ๓ ถามว่าทำไมเวลาอนุญาตให้ผู้ประกอบการ ในการผลิตพลังงานเพื่อไปขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขายให้กับหน่วยงาน ที่รับผิดชอบและมาขายให้ประชาชน ที่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟแพง ๆ ทำไมมันซ้ำหน้ากัน ทำไมเป็นเดิม ๆ ทำไมไม่พูดถึงหลักการกระจายอำนาจ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องพลังงานทางเลือก ที่ประชาชนบอกว่าเรามีครัวเรือนประมาณ ๒๒ ล้านครัวเรือน ทุกหลังคาเรือนสามารถ ผลิตไฟฟ้าได้ ทำไมนโยบายเหล่านี้มันไม่เกิด อันนี้คือ ๓ ข้อที่ประชาชนเขาถามมาครับ
ทีนี้สำคัญที่สุดครับท่านประธาน คำถามก็คือว่า ผมคิดว่าวันนี้มันเป็น การสนทนาธรรม ท่านอาจจะมีความอึดอัด ท่านอาจจะมีความไม่สบายใจ ท่านอาจจะมี ข้อจำกัด พ.ร.บ. ที่ให้อำนาจท่านในมาตรา ๑๐ ในหมวด ๒ ว่าจริง ๆ แล้วกรรมการไม่มี อิสรภาพในการทำงานเลย จริง ๆ แล้วกรรมการมีมีด มีดาบ มีอาวุธ แต่ออกใช้ไม่ได้เลย จริงหรือเปล่าครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าต้องมาคุยกันแบบตรงไปตรงมา ต้องมาพูดต่อที่ประชุม สภาแห่งนี้ว่าในบทบาทของผู้แทนราษฎร ในบทบาทของผู้แทนประชาชนว่าที่จะทำหน้าที่ ในการตรวจสอบและเสนอแนะ ช่วยดู การแก้กฎหมายก็แก้ตรงนี้นะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็น เรื่องความจำเป็น เพราะว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมคิดว่าความคาดหวังของพี่น้อง ประชาชน ๒ ข้อว่าท่านจะเป็นผู้ปกป้องสิทธิด้านพลังงาน ซึ่งไม่เกิดความเป็นจริงเลย ท่านจะเป็นผู้กำกับระบบพลังงานที่มีความสมดุลและเป็นธรรม ซึ่งปรากฏการณ์ที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าใครคือคนที่ได้สิทธิและสร้างพลังงานและขายให้พวกเรา และพวกเราต้องจ่ายเงิน ค่าแพง ๆ ออกมา เพราะฉะนั้นผมต้องคิดว่าท่านต้องมาพูดความเป็นจริงเลยว่าเครื่องมือ ที่มีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ มาตรา ๑๐ มันใช้ได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็เสนอมาครับ ผมคิดว่า ต้องคุยกันอย่างนี้ประเทศชาติถึงจะเดินได้ ทีนี้ข้อสงสัยของผมว่าทำไมมันกำกับไม่ได้ มันออกฤทธิ์ไม่ได้จริง ๆ ผมไปดูในมาตรา ๑๗ ในกฎหมาย เขาบอกว่ากรรมการ ดำรงตำแหน่ง ๖ ปี อันนี้มาตามกระบวนการนะครับ ซึ่งกรรมการนี้มาอย่างไร มาตาม มาตรา ๑๔ นะครับ รัฐมนตรีจะต้องแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการสรรหา จะต้องเป็นความเห็นชอบของ ครม. ผมก็กลับไปดูว่ากรรมการกำกับพลังงานชุดนี้ ๗ คน ที่อยู่ในเอกสาร ผมคิดว่าท่านไม่ได้มาโดยปกติตาม พ.ร.บ. ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๕ ท่านมาตามคำสั่ง คสช. มาตรา ๔๔ ในปี ๒๕๖๒ คือจริง ๆ แล้ว คสช. หมดไปแล้ว ผมคิดว่าท่านก็น่าจะหมดวาระ แต่ถ้ายึดโยงกับประเด็นนี้ หมายความว่าท่านก็ต้องอยู่ ๖ ปี ท่านก็อยู่มา ๔ ปี ก็ได้อีก ๒ ปี เหตุผลเหล่านี้หรือเปล่าครับ ท่านไม่สามารถจะมีอิสรภาพ ในการที่จะกำกับควบคุมทิศทางพลังงานที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและพี่น้อง ประชาชน เหตุผลนี้หรือเปล่าครับที่ท่านไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือในการกำกับ หรือว่า มีผู้กำกับที่เรามองไม่เห็น ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องพูดความจริง ท่านประธานครับ
ประเด็นสุดท้าย ผมก็ได้ยินข่าวมาว่ามีองค์กรอิสระ หรือมีองค์กร หลายองค์กรที่มีค่าตอบแทนหลาย ๆ แสน ผมคิดว่าอันนี้เป็นเหตุผลหรือเปล่าครับ ที่ท่านไม่สามารถที่จะใช้ฤทธิ์เดชตาม พ.ร.บ. นี้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องผลประโยชน์หรือค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ อันนี้เป็นคำถาม ที่พี่น้องประชาชนฝากถามมาครับ ขอบคุณมากครับ
ท่านประธานนิดเดียวครับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ผมไม่แน่ใจว่าผู้ชี้แจงอาจจะตอบผมทีหลังก็ได้ หรือว่าที่เมื่อสักครู่นี้ที่ได้ชี้แจงคำถามที่ผมได้ ตั้งก็คือว่าท่านผู้ชี้แจงยังไม่ได้ตอบ
ประเด็นแรก ก็คือว่าที่ประชาชนถามมาว่าภารกิจของท่านคือต้องกำกับ ควบคุมพลังงานใช่ไหมครับไปในทิศทางตาม พ.ร.บ. สิ่งที่ประชาชนถามว่าที่ท่านไม่สามารถ กำกับได้ เช่น ไฟมันขึ้น ๆ ไม่หยุดอย่างนี้ หรือมันมีเรื่องของพลังงานสำรองเกินอย่างนี้ครับ หรือมันมีผู้แข่งขันรายเดียว หรือว่ามีการแข่งขันที่น้อยมากอย่างนี้ครับ ประเด็นสำคัญที่ พี่น้องประชาชนถามมาก็คือว่าสิ่งที่มันเป็นอุปสรรคที่ท่านไม่สามารถกำกับได้มันคือข้อ กฎหมายหรือมันมีเหตุผลอะไร คือว่าถ้าเมื่อสักครู่นี้ท่านไม่ได้ตอบเดี๋ยวก็ท่านต่อไปค่อยชี้แจง ก็ได้ ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับท่านประธานที่ได้มาทำหน้าที่ เป็นประธานให้กับพวกเรา แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านประธานจะเอื้ออำนวย แล้วก็ทำงาน กับพวกเราอย่างเที่ยงธรรมนะครับ
ท่านประธานครับ เรื่องแรกที่ผมอยากจะปรึกษาท่านประธานคือเรื่องไฟฟ้า ชุมชน หมู่ที่ ๔ บ้านหินเหล็กไฟ บ้านห้วยมะนาว ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง เรื่องนี้ ประสานมาหลายรอบแล้วครับ ท่านประธานครับ แล้วก็ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ท่านนายอำเภอจอมทอง ส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ป่าไม้ ได้หารือกันนะครับ ตอนนี้เรื่องอยู่ที่สำนัก ๑ กรมป่าไม้ เพราะฉะนั้นอยากจะเรียนท่านประธานไปยัง ผอ. สำนัก ๑ แล้วก็อธิบดีกรมป่าไม้ช่วยกรุณาเร่งดำเนินการพิจารณาให้กับพี่น้องประชาชน โดยด่วนครับ
เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับ เรื่องถนนชนบทเชื่อมต่อระหว่างตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง แล้วก็ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง ระยะทางเพียงประมาณ ๕ กิโลเมตร ท่านประธานครับ ตอนนี้ยังเป็นลูกรัง แล้วก็ในฤดูฝนก็จะเดินทางสัญจรลำบากมากนะครับ เพราะฉะนั้นก็คือขอเรียนท่านประธานไปยังนายก อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ช่วยเร่งดำเนินการ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนครับ
เรื่องที่ ๓ ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายพี่น้อง ประชาชนจากลุ่มน้ำสาละวิน สืบเนื่องมาจากการสู้รบในชายแดนเขตประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนี้มีสถานการณ์การหนีภัยสู้รบ จำนวนมากนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่าจะทำอย่างไรให้มีการบริหารจัดการ ผู้หนีภัยสู้รบจำนวนมากมาย ตอนนี้คาดว่าน่าจะเกิน ๑๐,๐๐๐ คนอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องของอนามัยเราจำเป็นจะต้องตรวจสอบว่าคนที่เข้ามามีความเสี่ยงเรื่องโรคภัย ที่จะระบาดในประเทศหรือไม่ ที่อยู่อาศัย แล้วก็อาหาร เด็กและสตรี ขอเรียนท่านประธาน ฝากไปยังทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมช่วยพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้และดึงหน่วยงานองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมครับ
เรื่องสุดท้าย ท่านประธานครับ ประชาชนฝากผมมาถามท่านประธาน โดยตรงนะครับ เมื่อวานนี้มีการอภิปรายกันโดยเฉพาะเรื่องข้อบังคับของรัฐสภาในข้อ ๔๑ ประชาชนถามว่า ท่าน สส. ครับ ตกลงแล้วข้อบังคับรัฐสภากับรัฐธรรมนูญนี่อันไหนใหญ่กว่ากัน ขอบคุณมากครับ ท่านประธานครับ
ประเด็นเดียวกันครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง อยากจะปรึกษาท่านประธานต่อรายงานของหน่วยงาน ท่านประธานครับ เพื่อนสมาชิกให้ความสำคัญในเรื่องรายงานของหน่วยงานจำนวนมาก ทีนี้เรื่องเวลาครับ ท่านประธาน ผมเข้าใจว่าทำอย่างไรให้รายงานที่มันค้างอยู่ได้ทยอยผ่านการรายงาน ต่อสภาผู้แทนราษฎรให้รวดเร็วมากขึ้น ทีนี้เรื่องเวลาโดยปกติที่ผ่านมาเรายึดปฏิบัติก็คือว่า โดยมาตรฐานท่านละ ๗ นาที แต่ผมเข้าใจว่า ถ้าจะประหยัดเวลาเพื่อที่จะให้ เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเยอะขึ้นในประเด็นที่ ๑
ประเด็นที่ ๒ เพื่อให้รายงานของหน่วยงานได้ไหลไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ครับ ถ้าขยับเวลาคือเป็น ๕ นาที เป็นมาตรฐานเพื่อที่จะให้ทั้งการมีส่วนร่วมของเพื่อนสมาชิก ในสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ทั้งที่จะให้รายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ถูกรายงานรวดเร็ว มากขึ้น อยากจะหารือท่านประธานครับ ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ท่านประธานครับ ผมได้มีโอกาสในการอภิปรายรายงาน ความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๐ ไปหลายครั้งนะครับ แล้วก็ เมื่อสักครู่ผู้ชี้แจงก็บอกว่านี่เป็นครั้งที่ ๑๘ เป็นครั้งสุดท้าย ช่วงท้าย ๆ ผมไม่แน่ใจว่า ผมอยากจะพูดถึงเอกสารว่ามันเป็นเอกสารปฏิรูปประเทศหรือมันเป็นเอกสารที่เอาข้อเสนอ ของหน่วยงานแต่ละกระทรวงมาแปะ ๆ ไว้นะครับ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ครับ ท่านประธานครับ ผมอยากจะมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ และเป็นคำถามต่อคณะกรรมการ ปฏิรูป ในการปฏิรูปประเทศในด้านที่ ๖ ครับท่านประธาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ในประเด็นเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดิน
คำถามแรกครับท่านประธาน ผมอยากจะถามผู้ชี้แจงครับ ในเอกสารนี่ ผมคิดว่ามันมีความไม่ตรงกันอยู่ในเชิงตัวเลขนะครับ เอกสารเล่มนี้ที่รายงานความคืบหน้า ครั้งที่ ๑๘ ในหน้าที่ ๗๕ ในข้อที่ ๒ ย่อหน้าที่ ๑ ได้มีการจัดที่ทำกินให้ชุมชน ๑,๔๔๒ พื้นที่ ๗๐ จังหวัด ตัวเลขข้างหน้านะครับท่านประธาน ถ้าผมอ่านมันไม่มีจุด Full stop มันเป็น Comma ตัวเลขนี้หมายความว่าที่ดินที่ท่านปฏิรูปนี่มันเกินกว่าจำนวนประเทศไทยนะครับ ถ้าผมอ่านตรงนี้มันก็จะเป็นอย่างไรครับ มันประมาณ ๓๗๕ ล้านไร่ตรงนี้ ซึ่งประเทศไทย จริง ๆ แล้วมันมีอยู่แค่ ๓๒๐ ล้านไร่ แต่พอมาดูในเล่มสรุปรายงานตรงกับคำชี้แจงของ ท่านผู้ชี้แจงเมื่อสักครู่ก็คือ ๕,๗๕๗,๖๘๒ ไร่ ผมคิดว่าอันนี้ในแง่ของเอกสารมีปัญหาว่า ตกลงแล้วเอกสารนี่ตัวเลขมันผิดพลาดอย่างไร อันนี้เป็นคำถาม
ทีนี้ท่านประธานครับ ผมมีความเห็นในเรื่องของการปฏิรูปหรือว่า การกระจายการถือครองที่ดินนี่ผมคิดว่ามันมีความสำคัญนะครับ ที่ดินคือกุญแจสำคัญ ที่จะนำไปสู่เรื่องของความเสมอภาค เรื่องของความเท่าเทียมครับท่านประธาน ประเทศไทย มีอยู่ ๓๒๐ ล้านไร่ เป็นโฉนดไปแล้วประมาณ ๑๓๐ ล้านไร่ อยู่ในการดูแลของส่วนราชการ ที่เหลือนะครับ และที่เยอะที่สุดที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานราชการก็คือกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระจายทุกที่ แต่เวลาเราดูในรายงานนะครับ ท่านประธานครับ เวลาพูดถึงเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดินจะพูดเฉพาะกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ครับ ในที่ประชุมแห่งนี้ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาเรื่องของการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนได้พูดไว้ชัดเจนครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ดินมี ๑๗ หน่วยงานท่านประธานครับ แต่ว่าในเอกสารนี่พูดแค่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คือเรื่องของ คทช. อันนี้ผมว่ามีปัญหาครับ ท่านประธานครับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงนี้เกี่ยวกับพี่น้องไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านคน คนไทย ๑๐ ล้านคนยังไม่มีที่ดินทำกินที่ชอบด้วยกฎหมาย บางคนไร้ที่ดินทำกิน แต่บางคนถือครอง ที่ดินประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ครับท่านประธานแค่ครอบครัวเดียว เพราะฉะนั้นประเด็น ของผมคิดว่าการปฏิรูปที่ดินถ้าจะเรียกว่าเป็นแผนปฏิรูปประเทศจริง ๆ นะครับ มันต้องดู ที่ดินทุกหน่วยงานที่ถือครองครับ ๑. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๒. กระทรวงการคลัง ๓. กระทรวงกลาโหม ๔. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดินและ สหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ที่ น.ส.ล. ที่ดินทั้งหมดที่อยู่ในส่วนราชการมันจะต้องเป็น องค์ประกอบข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การปฏิรูปครับ การที่เสนอว่าเป็นแผนปฏิรูปและหยิบเอา เฉพาะที่ดินที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลและเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า เท่านั้นก็คือที่ คทช. ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหามาก ผมไม่อยากจะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปประเทศในด้านการกระจายการถือครองที่ดินได้ เพราะว่าท่านกำลังพูดเฉพาะหน่วยงานเดียวคือ คทช. ท่านประธานครับ ประเด็นที่ผม อยากจะลงรายละเอียดไปเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพนะครับท่านประธานครับ คทช. ไม่ใช่ เป้าหมายที่แท้จริงของประชาชนในการถือครองที่ดินครับ เพราะไม่ใช่ระบบกรรมสิทธิ์ แต่เป็นระบบเช่า ผมถามว่าเรื่องนี้ในข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่ดินจริง ๆ อันนี้ ไม่ชัดเจน และผมเชื่อว่าถ้าดำรงการแก้ไขปัญหาภายใต้กลไก คทช. ที่มันมีปัญหาตั้งแต่ระดับ นโยบายถึงพื้นที่ ผมคิดว่าทำแบบนี้เป็นร้อยปีก็ไม่มีทางที่จะหาทางออกได้ครับท่านประธาน
ประเด็นสุดท้ายครับ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่พี่น้องประชาชน รอคอยก็คือว่า ถึงแม้ว่ายังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทางที่ดิน แต่ว่าขอให้ที่ดินของเขาชอบด้วย กฎหมายได้ไหม คือ คทช. เมื่อที่ดินชอบด้วยกฎหมาย การเข้าถึงงบประมาณ การพัฒนา ศักยภาพพื้นที่ก็จะเกิดขึ้น ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตป่าที่ผมพูดว่าจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านคน ที่ดินของรัฐนี่นะครับ วันนี้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ เข้าถึง งบประมาณของ ๓.๓ ล้านล้านไร่เลยครับท่านประธาน จะขอใบรับรอง GMP จะขอใบ Organic ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายของหน่วยงานราชการ ไม่สามารถทำได้ จะพัฒนาแหล่งน้ำก็ทำไม่ได้ เพราะอะไรท่านประธานรู้ไหมครับ เพราะว่า การรวมศูนย์ในการบริหารจัดการและการแก้ปัญหามันอยู่ที่ส่วนกลาง อันนี้คือปัญหาใหญ่ ผมมีตัวอย่างครับท่านประธาน ผมได้ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีท็อปแล้วว่าถ้าจะทำให้การแก้ไข ปัญหากรณีทำพื้นที่ คทช. ที่ชอบด้วยกฎหมายของพี่น้องประชาชน ลดความขัดแย้ง แก้ปัญหาความขัดแย้งให้กับพี่น้องประชาชนกับรัฐเราทำได้ครับ แต่เมื่อไรให้กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำเพียงลำพังนะครับ เขาจะมีหน่วยงานเช่น สำนัก ๑ สำนัก ๔ สำนักอะไรพวกนี้ครับ ปีหนึ่งเขาทำได้ไม่เกิน ๒๐ หมู่บ้าน และผมคำนวณดูแล้ว อย่างนี้ต้องใช้เวลาประมาณ ๗๐-๘๐ ปี ถามว่าอย่างนี้ปฏิรูปประเทศไหม เรามีตัวอย่างครับ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือที่ดินมันไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้องกับปากท้อง เกี่ยวข้องกับเรื่องหลาย ๆ เรื่องครับ การใช้พื้นที่ เป็นตัวตั้งที่ผมพยายามจะเสนอให้กับท่านประธานก็คือว่าเรามีตัวอย่างที่แม่แจ่ม อันนี้ก็ต้องชม ท่านปลัดกระทรวงนะครับว่าเมื่อเราตั้งกระทู้ท่านก็ลงไป ท้องถิ่น อบต. เทศบาลนะครับ ไปทำแผนที่มาตราส่วนเดียวกัน ๑:๔,๐๐๐ ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ GPS อันเดียวกัน ไปรังวัดหมดเลยครับว่าเงื่อนไขภาพถ่ายก่อนปี ๒๕๒๕ มติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ภาพถ่ายปี ๒๕๔๕ คำสั่ง คสช. ก่อนปี ๒๕๕๗ เครื่องมือเดียวกันครับ หน้าที่ของ อบต. ท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยจะต้อง Clear พื้นที่ทั้งหมดว่าใครถือครองที่ดินเท่าไร อย่างไร หน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คือไปรับรองความถูกต้อง ตามเงื่อนไขข้อกฎหมายระเบียบที่มีอยู่
แต่ถ้าหากว่าทำโดยหน่วยงาน ลำพังนะครับ ท่านประธานผมคิดว่าเป็นการทำงานที่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ตามเอกสาร ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเอาแค่ที่ดินชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะให้หน่วยงาน และประชาชนได้ทำมาหากินได้ จำเป็นอย่างยิ่งครับที่จะต้องใช้หน่วยงานหลายหน่วยงาน ทำงานไปพร้อม ๆ กันครับ ถ้าหากว่าเอกสารตรงนี้ยังแยกส่วนแบบไม่เป็นองค์รวม ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปนะครับ ท่านประธานครับ ผมคิดว่าเอกสารนี้ไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า เป็นเอกสารการปฏิรูปประเทศครับ เป็นเอกสารที่เอางานประจำของกระทรวง หน่วยงาน ต่าง ๆ มารวมเล่มครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ทาง สสส. ท่านเห็นหน้าผมก็คงนึกภาพออกว่าจะพูดเรื่องอะไร ก็หนีไม่พ้นเรื่องไฟป่าและหมอกควัน ถ้าจำกันได้คราวที่แล้วผมได้สะท้อนและได้พูด เสนอแนะให้ สสส. ไปจัดกระบวนการการสร้างความรู้ผ่านกลุ่มวิชาการ กลุ่มประชาสังคม กลุ่มประชาชน วันนี้ผมคิดว่ารายงานของท่านในส่วนที่ ๓ ผลการดำเนินงานตามเป้าประสงค์ ผมขอพูดในเป้าประสงค์ที่ ๒ แผนการควบคุมปัจจัยที่เสี่ยงกับสุขภาวะ ผมคิดว่า การถอดบทเรียนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการอย่างนี้ อันนี้ก็ต้องชมนะครับว่า เราได้มีองค์ความรู้ใหม่ มีการสรุปอย่างเป็นระบบ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ท่านสามารถที่จะทำ ข้อมูลความรู้ตรงนี้นำไปสู่การตั้งศูนย์วิชาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องของมลพิษ พัฒนาองค์ความรู้ ๑๑ เรื่อง อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องชมนะครับ จนนำไปสู่การเสนอ เรื่อง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ แต่เป็นที่น่าเสียดายครับท่านประธาน พ.ร.บ. อากาศ สะอาดไม่ว่าจะเสนอโดยภาคประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการกลุ่มต่าง ๆ ๕ ฉบับนี้ ไม่ได้รับการพิจารณาในรัฐสภา ชุดที่ ๒๕ เพราะ พ.ร.บ. ทั้งหมดต้องเกี่ยวข้องกับเรื่อง การเงินในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.บ. ที่เสนอเข้ามาในสภา เรื่องไหนถ้าเกี่ยวกับ การเงิน จะต้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นคนให้ความเห็น อันนี้คือปัญหาใหญ่ครับ กฎหมาย ที่เสนอโดยภาคประชาชน กฎหมายที่เสนอโดยพรรคการเมืองเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับ การเงินเมื่อไรต้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี เราก็หวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีชุดใหม่ ครม. ชุดใหม่ จะให้ความสำคัญเรื่องนี้ครับท่านประธาน
ประเด็นสำคัญที่อยากจะฝากถึงทาง สสส. อย่างนี้ครับ ผมคิดว่าเป็นประเด็น หนีไม่พ้นเรื่องของไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นควัน ความรู้ที่ได้มานี่ผมเข้าใจว่าคงไม่ได้มาเฉพาะ จากฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาสังคม และฝ่ายวิชาการ คงมาจากกระบวนการถอดบทเรียน แล้วก็ลงไปดูข้อเท็จจริง และสร้างกระบวนการเรียนรู้ถกเถียงกัน แต่ที่สำคัญวันนี้ผมคิดว่า การปะทะกันเรื่องของความรู้ยังเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่นะครับ ผมเป็นคนเชียงใหม่ ผมก็ไปสัมผัส กับทุกกลุ่ม วันนี้เรามีนักวิชาการหลายกลุ่มมาก นักวิชาการที่อยู่ในห้อง Air นักวิชาการที่รู้ ไปทุกอย่างซึ่งไม่เคยลงพื้นที่ก็มี เรามีนักวิชาการที่ทำงานปฏิบัติการในพื้นที่ เรามีนักวิชาการ ที่อยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่เยอะแยะมากมาย แต่ผมเข้าใจว่าวันนี้การตกผลึก ในประเด็นเรื่องความรู้ของไฟป่าและหมอกควัน คิดว่าในทางวิชาการยังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งในทางนิเวศวิทยาของทางวนศาสตร์เอง ในส่วนของทางวิชาการของภาคประชาชน และนักวิชาการทั่วไป ผมคิดว่าอันนี้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการถกแถลง แล้วก็ การแลกเปลี่ยนกันในวงวิชาการให้มากขึ้น ที่สำคัญก็คือว่าพี่น้องประชาชนจะย่อยข้อมูล วิชาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร และผมก็เชื่อว่าวิชาการทั้งหมดที่ออกมาเขียนไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการในมหาวิทยาลัย ก็ย่อมมาจากพี่น้องประชาชน หลาย ๆ ครั้งผมพยายามจะบอกกับตัวเองว่านักวิชาการ ที่ทำงานกับพวกเราบางคนได้ดอกเตอร์ ได้ศาสตราจารย์ ได้ผลงานวิชาการเยอะแยะแล้วก็ ย้ายไป แล้วก็คนใหม่มาก็เรื่องเดิม ๆ ผมคิดว่าเรื่องนี้บทบาทสำคัญคนที่จะรวบรวมความรู้ จัดระบบความรู้เพื่อไม่ให้คนใหม่ ๆ ที่จะทำประเด็นซ้ำซาก อันนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างที่จะ มีความหมายสำคัญกับพี่น้องประชาชน ทีนี้ประเด็นที่ท้าทายสำหรับในข้อเสนอของผม ผมคิดว่าน่าเสียดายที่ พ.ร.บ. อากาศสะอาดนี่นะครับไม่ผ่านการพิจารณา เพราะฉะนั้น ในเนื้อหาของ พ.ร.บ. ตรงนี้ผมคิดว่าพูดถึงเรื่องของการออกแบบเรื่องกลไกในการทำงาน ในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับกำกับ ระดับปฏิบัติการมันมีบทบาทในการที่จะ ทำให้แต่ละฝ่ายเข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงสาเหตุของปัญหา แต่ว่าไม่สามารถจะคลอด พ.ร.บ. ออกมา ภารกิจเรื่องนี้ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรตรงนี้ สสส. หรือส่วนอื่น ๆ ก็จะต้องทำหน้าที่ในการดันต่อไปว่า พ.ร.บ. ตัวนี้ถ้ามันมีจะเป็นเครื่องมือได้หรือไม่อย่างไร ประเด็นก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ผมคิดว่าการใช้เวลาในเรื่องนี้ค่อนข้างที่อาจจะต้องใช้เวลา และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และส่วนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างที่จะเยอะ ผมพยายามจะ สื่อสารกับหลาย ๆ ฝ่ายตลอดนะครับว่า ความรู้ที่มันมีอยู่ผมคิดว่าประชาชนก็เข้าใจ ในระดับหนึ่ง แล้วเขาก็เจอมาในระดับหนึ่ง แต่พื้นที่ ผมยกตัวอย่างเรื่องความรู้วันนี้ครับ ไม่ว่าจะถามป่าไม้ ไม่ว่าจะถามหลายส่วนบอกว่าไฟป่าเกิดจากการเผา เผาอะไร เผาล่าสัตว์ เผาเอาที่ เยอะกว่านั้นผมคิดว่าเราจำเป็นจะต้องถอด ถอดรหัสที่มันอยู่ว่าทำไมต้องเผา ข้อสรุปบางอย่างผมคิดว่าอาจจะไม่ตรงนะครับ ทำไมต้องเผา เผาเพราะอะไร บางพื้นที่ไม่ใช่ พื้นที่ของชาวบ้านเลย เป็นพื้นที่ราชการดูแล เช่น ตัวอย่างพื้นที่หลังศาลากลางจังหวัด เชียงใหม่ หน่วยราชการอยู่ทางนั้นอยู่ ๆ แล้วมันมาเผาได้อย่างไร หลาย ๆ ครั้ง พี่น้องประชาชนบอกว่าไฟป่าเกิดจากความขัดแย้ง ไฟป่าเกิดจากสังคมยังไม่รู้จักป่า เหล่านี้ต่างหาก ผมคิดว่ามันเป็นเนื้อหาที่จำเป็น ผมยกตัวอย่างป่าในประเทศไทย เราไล่ตั้งแต่ป่าพรุ ป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา และป่าเมฆ และวันนี้ทุกคนยังไม่เข้าใจระบบนิเวศป่านะครับ และไปเหมารวมว่าป่าทุกชนิดต้องไม่มีไฟ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มากเลยนะครับ พื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ๙ จังหวัดภาคเหนือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ เพราะฉะนั้นความรู้ในการใช้ของแต่ละป่า มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกออกแบบและนำไปใช้ให้สอดคล้องกับตัวบริบทนิเวศ และนิเวศ ทางสังคม วันนี้ผมคิดว่าความอันตรายในการถอดบทเรียนที่เป็นความรู้ ความรู้เชิงเดี่ยวที่จะ ลงไปกดทับความรู้อื่น ๆ ที่มันมีบริบททางนิเวศและสังคมที่แตกต่างเหล่านี้ อันนี้จะเป็น ความอันตราย ผมอยากจะเห็น สสส. ได้มีพื้นที่ปฏิบัติการก่อนที่จะมีนโยบายที่ชัดเจน ผมคิดว่าการใช้พื้นที่ หรือว่า Area base ในการปฏิบัติงานและสร้างเครือข่าย ท่านประธาน ผมขอเวลาอีกนิดเดียวนะครับ คือใน ๑ พื้นที่มันประกอบด้วยหลายหน่วยงานมากครับ ผมยกตัวอย่างพื้นที่บ้านผมมีทั้งอุทยาน มีทั้งกรมป่าไม้ มีทั้งหน่วยงานพระราชดำริ มีทั้ง ปกครอง มีทั้ง อบต. มีทั้งชาวบ้านอื่นเยอะแยะมากมายที่ใช้พื้นที่ แต่ละคนถือกฎหมาย คนละฉบับ ถืองบประมาณคนละตัว ถืออำนาจคนละอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาทำงาน การบูรณาการที่เราพูดกันบ่อย ๆ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้จริงเลย ถ้าเราสามารถถอดบทเรียน อีกรอบหนึ่งบอกว่าการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งเอา Area base และทุกหน่วยงานมาบริหารจัดการ แชร์ทั้งคน แชร์ทั้งงบประมาณ แชร์ทั้งอำนาจอยู่ในพื้นที่ และเอามาดูตัวชี้วัด สิ่งเหล่านี้ ต่างหากครับที่จะทำให้ความเข้าใจของสังคม แล้วก็ตัวนโยบาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด จะเป็นจริง ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ขอบคุณท่านประธานครับ กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขอสนับสนุน ญัตติของเพื่อน สส. ของผม คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แล้วก็เพื่อนสมาชิกอีกทุกญัตติ ที่เสนอมาวันนี้ เรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่มาก ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้ ความเป็นธรรม ในสังคมนี้เกิดขึ้นได้แน่นอน มีความพยายามที่จะทำเรื่องนี้หลายรอบมาก เอกสาร ที่อยู่ในมือผมนี้ รายงานเรื่องของการศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ที่ผ่านมา แล้วก็เพื่อนสมาชิกที่อยู่ในสภานี้ ผมคิดว่าคนที่เป็น กรรมาธิการมีตั้งแต่รัฐมนตรี และวันนี้ก็ไปเป็นรัฐมนตรี มีอยู่เกือบทุกพรรค เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือคณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นมาใหม่นี้ ผมคิดว่าข้อเสนอต่าง ๆ อยู่ในเอกสารตรงนี้ค่อนข้างที่จะครบ เพราะฉะนั้นก็คือว่าการใช้เวลาในการศึกษาอาจจะ ไม่ต้องใช้เวลามากเท่าไรนัก เพราะมีข้อเสนอตั้งแต่โครงสร้างนโยบาย และเป็นเรื่อง ของฝ่ายบริหารเช่น ครม. สามารถดำเนินการ แค่แก้กฎกระทรวงต่าง ๆ ประเด็นที่ผม อยากจะพูดนี้ เนื้อหาที่ผมจะพูดต่อไปมันอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการการที่ดิน เรื่องการออกเอกสารสิทธิในชุดที่ ๒๕ ทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าสมาชิกที่จะอภิปรายเรื่องนี้ ที่สนใจเรื่องนี้ เข้าไปดูใน Website ของรัฐสภา ได้จัดรูปเล่มไว้เป็นเอกสาร Digital มีหมดเลย อยากให้สื่อได้ขึ้นแผ่นสองแผ่นเมื่อสักครู่นี้ ก็เข้าไปดูได้เลยครับ มันมีเนื้อหา มีข้อเสนอต่าง ๆ ท่านประธานครับ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่ารากของปัญหาเรื่องที่ดินและป่าไม้มีที่มาที่ไป ประเทศไทยมีอยู่ ๓๒๐ ล้านไร่ ไม่เกินกว่านี้ครับ ๓๒๐ ล้านไร่ วันนี้ ๑๓๐ ล้านไร่ มีโฉนด หมดแล้ว อยู่ในการดูแลของกรมที่ดิน และที่เหลือก็เป็นที่ของรัฐทั้งหมด ไม่ว่าการดูแล ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ส.ป.ก. หรืออื่น ๆ ที่มาเป็นที่ดินของรัฐอยู่ในนี้ทั้งหมด ซึ่งมันเป็นปัญหาที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปราย ญัตติต่าง ๆ ซึ่งก็อยู่ในนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นประเด็นที่ผมอยากจะบอกว่าการแก้ปัญหาวันนี้ การใช้เวลาโดยเอาเอกสารต้นทุนที่มีอยู่ในชุดที่ ๒๕ หรือชุดก่อน ๆ ที่มีอยู่สรุปรวบรวม แล้วก็นำเสนอให้กับฝ่ายบริหารดำเนินการเลย ซึ่งมีรูปแบบการแก้ปัญหาที่ผมจะอภิปราย ในข้อเสนอเขาแบ่งเป็นกลุ่มอย่างนี้ครับ ตอนนี้พี่น้องประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของคน ๖๕ ล้านคน ๑. ก็คือไร้ที่ดิน ๒. ก็คืออยู่ในที่ดินของรัฐที่ยังผิดกฎหมาย คือที่ดินที่ยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านคน อันนี้คือปัญหาใหญ่มาก คนเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพราะเขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงงบประมาณ ของแผ่นดิน ๓.๓ ล้านล้านบาทได้ ส่วนราชการเข้าไปทำก็ผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า ในเอกสารเล่มนี้อยากจะฝากคณะกรรมาธิการชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นมา ใช้เอกสารตรงนี้ เป็นตัวนำทางแล้วก็รีบสรุป แล้วฝ่ายบริหารจะได้ดำเนินการครับ กลุ่มปัญหาที่เป็นประเด็น สำคัญที่ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานฝากไปยังคณะกรรมาธิการชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น เราแบ่งกลุ่มปัญหาออกเป็นอย่างนี้ เช่น กลุ่มปัญหากรณีที่ที่ดินในเขตป่าทั้งหมดที่ดิน ในเขตป่า กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของที่ดิน ส.ป.ก. กลุ่มปัญหาที่เกี่ยวกับที่ดินที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องของกระทรวงมหาดไทยคือที่ดินสาธารณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ล. ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ที่ดินที่ราชพัสดุ ที่ดินจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น EEC เช่น ๖๖/๒๕๒๓ ที่เอาพี่น้อง คอมมิวนิสต์ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งตกลงมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ แล้ว ที่ดินการรถไฟ แห่งประเทศไทย ที่ดินที่มีปัญหาเรื่องของการใช้ทรัพยากรการใช้พื้นที่ของรัฐ เช่นเหมืองแร่ต่าง ๆ เหล่านี้ และที่สำคัญคือเราเสนอว่ามันต้องมีระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย ที่ทุกคน และทุกหน่วยงานเข้าถึงได้ หลายรัฐบาลหลายคนบอกว่าเรามี One Map แล้ว ผมถามว่า One Map วันนี้อยู่ที่ไหน กล้าประกาศใช้ไหม กล้าประกาศใช้หรือเปล่า มันอยู่ตรงไหน ที่จะทำให้ปัญหาที่ดินถูกแก้ปัญหาทั้งหมด ผมอยากจะบอกท่านประธานอย่างนี้ว่าเรื่องที่ดิน ผมคิดว่าทั้งหมดมีประเด็นที่จะต้องแก้ปัญหา ส่วนมากเลยจะอยู่ในเชิงโครงสร้างทั้งหมดเลย ผมยกตัวอย่าง เช่น พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาของที่ดินเกือบทั้งหมด ที่ดิน ๓๒๐ ล้านไร่ พ.ร.บ. ป่าไม้ถาวร ปี ๒๔๘๔ เขียนนิยามความหมายว่า ป่าคือที่ดิน ที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ เพราะฉะนั้นก็คือว่าที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์เมื่อปี ๒๔๘๔ ทั้งหมดคือเป็นป่า พี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละเขตก็จะรู้ว่าหลังคาบ้านก็เป็นป่า หลังคาวัดก็เป็นป่า หลังคาโรงเรียนก็เป็นป่า ที่ อบต. ก็เป็นป่า ที่ทำการอำเภอ ส่วนราชการ ก็เป็นป่า เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่สำคัญก็คือว่าตกลงแล้วพี่น้องประชาชนบอกว่า กฎหมายบุกรุกคน หรือว่าคนบุกรุกป่า กระบวนการต้นทางที่ไม่มีความยุติธรรมตั้งแต่ต้น ผมคิดว่าคือรากเหง้าปัญหา ซึ่งหมายความว่าจะต้องยกเลิกหรือแก้ไขปัญหากรณีนิยาม ความหมายของปี ๒๔๘๔ ตามมาด้วย พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. ป่าสงวน ที่ดิน ที่ราชพัสดุต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย ท่านประธานครับ อันนี้ก็คือว่าจะต้องแก้ในเชิงกฎหมาย และโครงสร้างของนโยบายทั้งหมด
ประเด็นที่ ๒ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารครับท่านประธาน เรื่องนี้ก็คือไม่ต้อง แก้กฎหมายเลย ใช้มติ ครม. ต่าง ๆ แก้ได้เลย ผมยกตัวอย่าง กรณีที่ดินสหกรณ์ ๑๓ ป่า ๑๔ การนิคม ท่านประธานครับ ไปดูกฎหมายแล้วไม่ต้องแก้ พ.ร.บ. อะไรเลยครับ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งกฎหมายก็บอกว่าถ้าหากพี่น้องที่อยู่ในการนิคมอยู่ครบ ๕ ปี ก็สามารถที่จะออกกรรมสิทธิ์ได้เลย แต่วันนี้ผ่านไปแล้วกี่ปี ออกตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ พี่น้อง ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ วันนี้มีนโยบายทวงว่ายกเลิกการนิคมแล้วจะให้มาเป็น ส.ป.ก. ผมถามว่า พี่น้องประชาชนได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ประเด็นที่ ๒ ที่จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ ครม. ไปถึงกระทรวง กรณี ๖๖/๒๕๒๓ ฝ่ายความมั่นคงเคยสัญญาว่าพี่น้องที่มี ความคิดต่างอยู่ในป่าสู้รบกันออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ไม่ว่าที่เพชรบูรณ์ เชียงราย หรือที่อื่น วันนี้พี่น้องทั้งหมดที่ถูกหลอกมาก็ได้ ใช้คำว่าถูกหลอกมาก็ได้ สิทธิต่าง ๆ ยังไม่เกิดขึ้น
สุดท้ายผมคิดว่าอันนี้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเลยโดยไม่ต้องให้ คณะกรรมาธิการศึกษาก็ได้ วันนี้เราก็เสนอได้เลย ลดความขัดแย้ง บรรเทาความขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพี่น้องประชาชน ผมยกกรณีตัวอย่าง ที่ดินพี่น้องชาวบางกลอย ที่แก่งกระจาน ท่านประธานครับ ในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศระบุไว้ชัดเจนว่า บ้านใจแผ่นดินที่ปู่คออี้อยู่ อยู่ตั้งแต่ปี ๒๔๔๕ อุทยานแห่งชาติประกาศเมื่อปี ๒๕๓๒ และคนเหล่านี้ถูกโยกย้าย ผมถามว่าความยุติธรรมเหล่านี้อยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นกรณีเร่งด่วน ต่าง ๆ เหล่านี้ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตั้งกลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหา ทั้งหมดนี้ ท่านประธานครับ ผมอยากจะสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนด้วย และเฉพาะหน้าด้วย และที่สำคัญผมคิดว่าต้นทุนในการศึกษาของคณะกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องที่ดินและการออก เอกสารสิทธิของรัฐสภา ชุดที่ ๒๕ มีความพร้อมและเพียงพอ เราใช้เวลาในการศึกษา เกือบ ๔ ปี กว่าจะได้ข้อสรุป เพราะฉะนั้นก็คือว่าเพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมอยากจะให้ คณะกรรมาธิการชุดใหม่ได้เอาเล่มนี้ไปศึกษา ขอจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ครับ ขอบคุณมาก ท่านประธานครับ
ท่านประธานนิดเดียวครับ
ท่านประธานครับ ก่อนที่สมาชิก ท่านอื่นพูด ผมขอใช้สิทธินิดเดียวได้ไหมครับ ผมมานพครับท่านประธาน เรียนท่านประธานครับ ผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนที่ผมจะอภิปรายเมื่อสักครู่ ผมพยายามทำสมาธิ มีเพื่อนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายและใช้คำว่า ชาวเขา ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำที่ ตกยุคไปแล้ว ในสังคมไทยเราจะใช้คำว่า ชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง แล้วก็ชาติพันธุ์คนไทย ไม่ว่า จะอยู่ทางภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ เราทุกคนล้วนเป็นคนชาติพันธุ์ แล้วก็โดยระดับสากล เขาใช้คำว่า ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้รณรงค์ ในความเป็นพหุสังคมว่าเราควรจะใช้คำว่า ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง คำที่ใช้ว่า ชาวเขา เป็นคำที่ตกยุค และมันมีนัยที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ขอบคุณมากท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมอยากจะพูดอย่างนี้ก่อน ท่านประธานครับ ท่านประธานอยู่ในสภาตรงนี้มานาน ผมคิดว่าเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการเรื่องน้ำท่วม เรื่องน้ำแล้ง ท่านคุ้น ๆ ไหมครับว่าเราตั้งมากี่ครั้งแล้ว ท่านคุ้น ๆ ไหมครับว่าแต่ละยุค แต่ละสมัยมักจะตั้งอย่างนี้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นคำถามแรกของผมว่าครั้งนี้ถ้าจะเป็นการตั้ง ครั้งสุดท้ายโดยการมองทั้งระบบ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากท่านประธานครับ ผมขอ Slide ด้วยนะครับ แผ่นแรกเลยนะครับ
ท่านประธานครับ ผมคิดว่า เรื่องของน้ำท่วมมันไม่ใช่แค่เรื่องของภัยพิบัติแล้วนะครับท่านประธาน มันไม่ใช่แค่เรื่องของ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยพิบัติเรื่องกระบวนการบริหารจัดการที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ ส่วนกลาง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกว่า การบริหารจัดการที่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เราจะต้องมานั่งคุยกันทุกปี ๆ พี่น้องต้นน้ำ กลางน้ำต้องมาทะเลาะกัน ส่วนราชการก็จะมาทะเลาะกัน แล้วก็มาสู่สภาตรงนี้ ผมคิดว่า อันนี้คือระบบที่มันเป็นปัญหาใช่หรือไม่
ประเด็นแรกครับท่านประธาน ผมคิดว่าเรามาดูเรื่องของหน่วยงาน ปี ๒๕๖๐ เราบอกว่าเราจะมีศูนย์น้ำอัจฉริยะ แล้วตัวนี้มันทำหน้าที่อะไรครับ ลืมบอกว่า Fast Track สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูล สามารถที่จะจัดการบริหารตัดสินใจได้เลย ท่านประธานครับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าปี ๒๕๖๕ ล่าสุด หน่วยงาน ๕ หน่วยงาน ได้มาลงนาม ข้อตกลงร่วมกันว่าจะเป็นหน่วยงานที่มาทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน มีทั้ง กนช. มีทั้ง สทนช. และหน่วยงานอื่น ๆ สิ่งสำคัญที่สุดผมคิดว่างบประมาณที่แผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ ๒๐ ปี ในช่วง ๕ ปี ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ เราใช้เงินงบประมาณไปแล้ว ๔๑๑,๙๐๐ กว่าล้านบาท คือถ้าไม่พูดไม่ได้ครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนจะไม่เห็น และงบประมาณตรงนี้ไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ตั้ง ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ใน ๕ ปี และทำไมน้ำยังท่วมล่ะ ไหนว่าเรามีข้อมูล ไหนว่าเรามีกลไก หน่วยงานที่ทำความร่วมมือ และใช้งบประมาณขนาดนี้ อันนี้มาดูเฉพาะเรื่องระบบบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรา บอกว่าข้อมูลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ หรือที่เรียกว่า Big Data ของ หน่วยงาน ใช้งบประมาณไป ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท แล้ววันนี้ที่ท่วมอยู่ทำให้พี่น้องที่ลุ่มน้ำยม พี่น้องแพร่ พี่น้องสุโขทัย พี่น้องในพื้นที่ บางคนก็จะเอาเขื่อน บางคนก็จะไม่เอาเขื่อน ข้อมูล เหล่านี้มันอยู่ตรงไหน ทำให้หน่วยงานและพี่น้องประชาชนจะต้องตัดสินใจร่วมกันครับ ข้อมูลอยู่ตรงไหนครับ Big Data ใช้งบประมาณไม่น้อยเลยนะครับท่านประธาน เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ๗,๑๖๐ กว่าล้านบาท โดยเฉพาะระบบ Big Data ประมาณเกือบ ๓,๐๐๐ ล้านบาท เราบอกว่าข้อมูลอัจฉริยะของเรา หน่วยงาน พี่น้องประชาชนก็จะมาถาม ว่าเป็นอย่างไรครับ หน่วยงานเข้ามาถาม ประชาชนมาถามอย่างนี้ครับ แล้วปีนี้น้ำจะเยอะ อีกไหมคะ ไม่คิดจะปล่อยไปทางอื่นหรือเปล่าคะ แล้วอันนี้รบกวนช่วยพิจารณาด้วยครับ พื้นที่น้ำแล้ง เพาะปลูกไม่มีน้ำ บลา บลา บลานะครับท่านประธาน การทำงานเชิงรุกไม่มีน้ำ ประชาชนไม่เคยสนใจ น้ำจะท่วมทุกปี และข้อสุดท้ายบอกว่าตกลงน้ำเจ้าพระยาจะปล่อย ไหมคะ อันนี้เราบอกว่าข้อมูลศูนย์น้ำที่มันเป็นอัจฉริยะ แล้วทำไมไม่มีใครตอบพี่น้อง ประชาชนเลย ทั้งหมดที่ผมยกมานี้ผมคิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผมถามว่ามันเป็นภัยพิบัติที่เป็น ธรรมชาติอย่างเดียวไม่เพียงพอครับ มันคือภัยพิบัติในเชิงระบบบริหารจัดการในการรวมศูนย์ อำนาจการบริหารจัดการ พื้นที่ท้องถิ่นคนที่เจอปัญหาไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหา อย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร จะประกาศภัยพิบัติไหม จะเอาน้ำไปทางไหน จะขุดลอกไหม จะทำเขื่อนไหม จะทำอ่างไหม ทำไม่ได้เลยครับส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทาน กรมที่ดิน กรมป่าไม้ ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ส่วนกลาง แล้วเราจะบริหาร จัดการอย่างนี้ผมคิดว่าที่แท้จริงแล้วภัยที่มันมาทุกปี หลายท่านก็บอกว่าซ้ำซาก แล้วมันรู้แล้ว ปีหน้ามันก็จะมา แล้วอีกไม่กี่เดือนก็จะเจอแล้ง เรื่องฝุ่นอีกแล้ว มันก็มาทุกปีครับ แต่ระบบ การบริหารจัดการที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้เลย ท่านประธานครับ อันนี้กรณี ลุ่มน้ำยมนะครับ ผมคิดว่าถ้ามีข้อมูลจริง ๆ ที่เราใช้งบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท และ ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท ในการทำ Big Data เพื่อประกอบการตัดสินใจ ทำไมไม่เอาข้อมูล มาให้พี่น้องประชาชนทั้งลุ่มน้ำได้ตัดสินใจครับ อันนี้คือปัญหาใหญ่หรือเปล่าครับ บทสรุปครับท่านประธานตรงนี้สำคัญที่สุด ผมคิดว่าเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็เจออยู่ทุกปี เพราะว่าสถานการณ์โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝนก็ดี มรสุมที่มา แต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน เราก็รู้นะครับโดยเฉพาะประเทศไทยก็มาทุกปี แต่สำคัญที่สุด ก็คือว่าเราก็จะใช้กระบวนการมาพูดคุยกันแบบนี้ทุกปี ๆ การคิดแก้ปัญหาเชิงระบบนี้ ผมคิดว่าถ้ายังอยู่ที่ส่วนกลางในการแก้ไขปัญหา ถ้ายังใช้กลไก ระดับกลางในการตัดสินใจและอนุมัติงบประมาณ ผมคิดว่าท่วมแล้ว ท่วมอยู่ ท่วมอีก ท่วมต่อไป ท่วมอย่างยั่งยืนแน่นอนถ้าแบบนี้ครับ สิ่งที่เราจะต้องตัดสินใจในการแก้ปัญหา ท่านประธานครับ เราจำเป็นจะต้องเอาอำนาจในการบริหารจัดการพร้อมงบประมาณลงไปสู่ ในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นในระดับภูมินิเวศ ลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้เขา ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นวิชาการ บนพื้นฐานการมี ส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้มันถึงจะเกิดการแก้ปัญหาแล้วเราไม่จำเป็น จะต้องมาตั้งคณะกรรมาธิการแบบนี้
คำถามสุดท้าย ท่านประธานครับ ทุก ๆ ครั้งที่เราจะอภิปรายเสนอรัฐบาล ต่าง ๆ เหล่านี้ มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุด ผมอยากให้พิจารณา ถ้าเอาแบบนี้ผมคิดว่าไม่ยั่งยืน ผมไม่อยากเห็นการอภิปรายครั้งนี้เพื่อที่จะเป็นเหตุผลในการที่จะทำให้รัฐบาลได้ใช้ งบประมาณแบบตามใจ การแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนที่เกิดปัญหาอุทกภัยแบบเร่งด่วน ก็ต้องดำเนินการ แต่เมื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ใช้เหตุผลในการสนับสนุนจากรัฐสภาแล้วมา ทำงบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ แก้ปัญหา ประกาศภัยต่าง ๆ แล้วไม่ลืมระบบใหญ่ที่อยู่ใน แผนแม่บท ๒๐ ปี ลืมทั้งหมดที่คิดในเชิงโครงสร้าง ลืมทั้งหมดที่จะบริหารจัดการที่เป็น ทั้งลุ่มน้ำและให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ถ้าแบบนี้ไม่ยั่งยืนครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ไม่อยากเห็นการอภิปรายครั้งนี้เป็นแค่เรื่องของการแก้ปัญหาชั่วคราว ผมอยากจะเห็น การแก้ปัญหาที่มันมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผมได้อภิปรายนี้ได้มองแบบทั้งระบบ ซึ่งแผนบริหาร จัดการน้ำ ๒๐ ปี เราก็มีแล้ว เราใช้งบ ๕ ปี ๔๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เฉพาะเรื่องข้อมูล ก็ ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท เราจำเป็นจะต้องบริหารจัดการเป็นเชิงระบบและให้พื้นที่เป็น คนตัดสินใจครับ ขอบคุณมากท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ผมคิดว่าเป้าหมายของการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญครั้งนี้ พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผู้เสนอญัตติ และผู้อภิปราย รวมถึงพี่น้องประชาชน ที่ติดตามเราอภิปรายในวันนี้ ผมคิดว่าเป้าหมายสูงสุดก็คือว่าเราต้องการสันติภาพ และสันติสุข ผมคิดว่านี่คือบทบาทของรัฐสภาที่จะทำหน้าที่ในการสร้างพื้นที่ สร้างความปลอดภัยและสร้างเวทีโดยเบื้องต้น สรุปแล้วถ้าหากว่ามันมีรูปแบบแนวทางอย่างไรเราก็เสนอให้ฝ่ายบริหาร ผมคิดว่าวันนี้เรามี พื้นที่แบบนี้เป็นพื้นที่ที่มีความถูกต้องและเหมาะสม เหตุผลอย่างนี้ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วผมก็ ได้ทราบข่าวตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ๆ ความไม่สงบในภาคใต้ แต่ปี ๒๕๔๗ ผมคิดว่าเป็นประเด็น ที่มีความชัดเจนแล้วก็มีความรุนแรงที่เราทราบมาตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา เราต้องสูญเสียคน ประมาณไม่ต่ำกว่า ๗,๕๐๐ กว่าคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าพี่น้องประชาชน ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม หรือพี่น้องที่อยู่ตรงข้ามกับความคิดของพวกเรา เราต้องสูญเสีย งบประมาณไม่ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทตลอดเวลา ๒๐ ปี ผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่เพียงพอ ที่พวกเราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ในการสนทนาในการเปิดพื้นที่ให้มีกลไกในการคุยกัน หลายคน บอกว่าเป็นความขัดแย้งในทางประวัติศาสตร์ ทางความเชื่อ หลายคนก็บอกว่าเป็น ความขัดแย้งที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในทางกฎหมายหรืออำนาจ นอกกฎหมาย หลายคนก็บอกว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่าทั้งหมดที่เป็นประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้พื้นที่รัฐสภาควรจะเป็นพื้นที่ในการออกมา พูดคุยและสื่อสาร การที่พูดคนละครั้ง พูดคนละที พูดคนละมุมจะเป็นพื้นที่ที่จะนำไปสู่ ความเข้าใจที่มีความคลาดเคลื่อนและแตกต่างออกไป อันนี้คือเหตุผลที่ผมคิดว่า มีความสำคัญ ผมคิดว่ารัฐสภาแห่งนี้ไม่ควรปล่อยให้ผู้ใดจะต้องสูญเสียชีวิตจากความรุนแรง ความเข้าใจผิด ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้อีกแล้ว ที่ผมเสนอและพูดอย่างนี้เพราะว่า พี่น้องชาติพันธุ์ของผมก็สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ภาคใต้ พี่น้องชาติพันธุ์หลายคนที่อยู่ตาม ชายแดนก็ดี อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นทหารพรานอาสาสมัคร ค่อนข้างที่จะเยอะมากและถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้หลาย ๆ ครั้ง พี่น้องก็ส่งสารมาว่าเราได้สูญเสียพี่น้องของเราจากการทำงานในพื้นที่เพราะฉะนั้นก็คือว่า เราในฐานะพื้นที่รัฐสภาที่จะเปิดให้กับทุกส่วนเข้ามามีพื้นที่ในการสื่อสารเหล่านี้ เราไม่ควร จะให้เกิดการสูญเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความคล้ายคลึง กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเหมือนกับพวกผม พี่น้องทางภาคใต้ที่มีพื้นที่ความขัดแย้ง มายาวนาน ผมคิดว่ามีความเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือว่าก็เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ที่มี ความแตกต่างทั้งในภาษา ความเชื่อและวิธีปฏิบัติ ตรงนี้ถ้าในทัศนะของผม ผมคิดว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม พหุสังคม เราควรจะหยิบเอาตรงนี้ที่เป็นความแตกต่าง และความหลากหลายเป็นต้นทุนในการพัฒนาประเทศทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางการศึกษา เพื่อนสมาชิกก็อภิปรายไปแล้วว่าทำอย่างไรประเด็นเรื่องของการกระจายอำนาจ หรืออำนาจในการตัดสินใจบางเรื่องทำให้คนพื้นที่กลไกระดับจังหวัดเขามีโอกาสได้ตัดสินใจ ที่จะกำหนดชะตากรรมชีวิตของตัวเอง ผมยกตัวอย่างกรณีเรื่องที่ดินและป่าไม้ พี่น้อง ที่เชียงใหม่ พี่น้องที่แม่ฮ่องสอน พี่น้องภาคเหนือกับพี่น้องทางใต้มีปัญหาเดียวกัน ก็คือกฎหมายทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ประเด็นเรื่องนี้ผมเคยติดตามกรณีการแก้ไขปัญหา เรื่องเทือกเขาบูโด เรื่องนี้ผมคิดว่าวิธีการมองเรื่องสิทธิและวิธีในทางวัฒนธรรม มีความแตกต่าง กรณีเทือกเขาบูโด เรื่องสวนผลไม้กับเรื่องไร่หมุนเวียนแทบจะเป็นเรื่อง เดียวกัน เขามองเรื่องของสิทธิของชุมชนและกระบวนการบริหารโดยชุมชน เพราะฉะนั้น ผมยกตัวอย่างกรณีเรื่องนี้ในประเด็นเรื่องของอำนาจในการบริหารจัดการโดยพื้นที่ และท้องถิ่น ผมคิดว่ากรณีภาคใต้ประเด็นกระจายอำนาจน่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ คณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นในการตั้งครั้งนี้ได้พิจารณาหาทางออก การกระจายอำนาจ ผมคิดว่าหลาย ๆ เรื่องผมคิดว่าอาจจะไม่ได้กระจายทันทีทั้งหมด แต่ว่าเราเริ่มผ่อนคลาย ปลดล็อกทีละเรื่อง ๆ ได้ไหม แล้วค่อยพิสูจน์ให้เห็นว่าอำนาจแล้วก็ศักยภาพของพื้นที่ สามารถทำได้จริง ซึ่งเรื่องนี้หมายถึงที่อื่น ๆ ด้วย แต่ถ้าจะเริ่มต้นที่ทาง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่า เป็นเรื่องหนึ่งที่จะนำไปสู่พื้นที่การเจรจา การพูดคุยหรือพื้นที่ให้เกิดสันติภาพ ผมคิดว่ากลไก ที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพูดคุยเหล่านี้นอกจากรัฐสภาแล้ว ผมคิดว่าในส่วนของช่วงที่รัฐสภา มีคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพูดคุยเหล่านี้ผมไม่อยากให้ฝ่ายบริหารได้ปล่อยให้มันเป็น พื้นที่สุญญากาศ หลาย ๆ รัฐบาลอาจจะตั้งกลไกมีรูปแบบ มีวิธีการมาบ้างแล้ว ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุดขอให้มันมีกลไกจะเรียกว่าในทางลับก็ได้ จะเรียกว่าในทางเปิดเผยก็ได้ หรือจะมีพื้นที่อื่นใดที่จะนำไปสู่ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เกิดความรุนแรง ควรจะดำเนินการ โดยเร่งด่วน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้กรณีความขัดแย้งในต่างประเทศผมคิดว่าถ้าหากว่า ตัวอย่างในต่างประเทศเป็นบทเรียนให้พวกเรา ผมคิดว่าการตั้งเบื้องต้นให้มันมีพื้นที่ระบาย ให้มันมีพื้นที่ทางออก หรือว่าให้มันมีพื้นที่พอที่จะไม่มีการประทุในอันที่เราไม่ต้องการ เกิดขึ้น ผมคิดว่าควรจะดำเนินการ อันนี้หมายถึงว่าในช่วงที่คณะกรรมาธิการได้ศึกษา
ประเด็นต่อไป ในส่วนของคณะกรรมาธิการผมมีข้อเสนออย่างนี้ กรณีต่อเรื่อง การตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ผมคิดว่าบทบาทของ สส. ในสภาทางฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ผมคิดว่าสัดส่วนของ สส. ควรจะเกิดขึ้น แต่ผมอยากจะเห็นสัดส่วนของบุคคลภายนอก ที่เกี่ยวข้องทั้งในทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องทั้งในทางวิชาการ เกี่ยวข้องทั้งในตัวที่ได้รับ ผลกระทบเข้ามาอยู่ในคณะกรรมาธิการ ซึ่งเรื่องนี้ผมอยากจะเรียกร้องไปทุกพรรคการเมือง หมายถึงโควตาของรัฐบาลด้วยว่ามันไม่ควรจะมีเฉพาะคนที่มีบทบาท หรือเราเรียกว่า ผู้แทนราษฎรตรงนี้เท่านั้น เพราะเรื่องนี้ผมคิดว่าสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปแล้วว่า มันเป็นประวัติศาสตร์บางส่วนที่จะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกัน ยอมรับร่วมกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นก็คือว่าประเด็นที่ผมอยากจะฝากทุกพรรคการเมือง เปิดใจ เปิดรับบุคคลภายนอกที่จะทำหน้าที่มาร่วมเป็นกรรมาธิการกับพวกเรา
ท่านประธานครับ ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากคณะกรรมาธิการชุดใหม่ ที่จะเกิดขึ้นนี้ ชุดที่แล้วผมได้มีโอกาสอยู่ในคณะกรรมาธิการ แต่มีเนื้อหานี้เกี่ยวข้อง กับเรื่องของความรุนแรงทางภาคใต้ แต่เป็นคณะกรรมาธิการการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในรูปแบบต่าง ๆ ผมได้อยู่ในคณะอนุกรรมาธิการความรุนแรงชายแดนใต้และการกระทำ ความรุนแรงกับพี่น้องชายขอบในพื้นที่ ผมเป็นรองประธานอนุกรรมาธิการ ผมได้อยู่กับ สส. ภาคใต้ ๒-๓ คนแล้วก็ได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ คณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นรอบนี้ ผมอยากจะให้ท่านได้เอาเอกสารเล่มนี้ ซึ่งมีความชัดเจนในแง่ของข้อเสนอบางประการ มีเอกสารที่ท่านสามารถที่จะต่อยอดได้ในแง่ของการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องทางใต้ เพราะนั่นก็คือว่าอยากจะฝากคณะกรรมาธิการได้เอาเอกสารส่วนที่สำคัญตรงนี้ ในคณะกรรมาธิการ ชุดที่ ๒๕ ประกอบในการทำงานของคณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้น ได้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ก่อนที่จะเข้าสู่ วาระต่อไป ผมอยากปรึกษาท่านประธานเล็กน้อยครับ สืบเนื่องจากประชาชนได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. ด้านชาติพันธุ์โดยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ทีนี้สิ่งที่ผมคิดว่าตอนนี้มันมีร่างที่เกี่ยวข้องลักษณะแบบนี้มีอยู่หลายร่าง ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของภาคประชาชนอีกฉบับหนึ่ง ก็คือร่างของทางเครือข่าย P-Move แล้วยังมีร่างที่เคยถูก นำเสนอ ดำเนินการโดยหน่วยงานราชการคือ ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องหมดเลย ทีนี้ผมได้ติดตามเรื่องนี้ยังไม่มีสัญญาณจากทางรัฐบาล หรือ ครม. ว่า ทางรัฐบาล และ ครม. จะนำร่างที่เกี่ยวข้องลักษณะอย่างนี้เข้ามาประกบร่วมกันดีไหม เนื่องจากว่าเป็นร่างที่มีความเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด สิ่งที่ผมอยากจะเรียนท่านประธาน ก็คือว่าขอให้ท่านประธานได้ประสานไปยังทาง ครม. ฝ่ายรัฐบาลว่าเรื่องนี้จะออกแบบ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาในสภาร่วมกันได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ
ท่านประธานสักครู่หนึ่งครับ ผมไม่ค่อยได้ยินเสียงเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายเลยนะครับ อย่างไรเพิ่มเสียง Microphone หน่อยครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อที่จะสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการแก้ไขปัญหากรณีเด็กหัว G อันนี้ผมยืนยันนะครับ เรื่องนี้มีความสำคัญ สภาจะต้องเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ทุกส่วนเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้
ท่านประธานครับ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่าเด็กหัว G หรือเด็กไม่มีสถานะ ทางทะเบียนใด ๆ เลยจะต้องแยกออกจากเรื่องของสัญชาติ ไม่เกี่ยวข้องกันเลยนะครับเรื่องนี้ ถ้าเอามาผสมกันมันจะทำให้การทำงานมีปัญหา เด็กหัว G ก็คือเด็กที่ไม่ปรากฏสถานะ ทางทะเบียนใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นบัตรหัว ๐ ไม่ว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน คือเป็นพลโลกแต่ว่าอยู่ที่นี่ แต่ว่าไม่มีสถานะอะไรเลย มันมีเงื่อนไขทั้งระดับสากลแล้วก็ กฎหมายของประเทศไทย เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการบอกว่านักเรียนที่ไม่พบสถานะ ใด ๆ เลยให้ขึ้นทะเบียนรหัสด้วยตัว G คือ Generate ใหม่ คนเหล่านี้จะได้มีสถานะเพื่อที่จะ เข้าถึงการศึกษา อันนี้เป็นหลักข้อตกลงระหว่างสากลนานาชาติว่าสิทธิการศึกษาของเด็ก ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหนจะต้องได้รับการศึกษา ผมอยากให้ท่านประธานฝากไปยัง คณะกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นว่าเรื่องเด็กหัว G ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสถานะสัญชาติ แต่ว่าเด็กหัว G มีสิทธิที่จะพัฒนาสัญชาติไหม ก็ต้องไปดูว่าเด็กหัว G แต่ละคนเข้าเงื่อนไข เกี่ยวกับกระบวนการได้รับมาซึ่งสัญชาติหรือไม่ ซึ่งมี พ.ร.บ. มีระเบียบ มีคำสั่งต่าง ๆ อยู่แล้ว ผมคิดว่าเอาเรื่องนี้ให้ชัดนะครับ เด็กหัว G ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของสัญชาติ เป็นการรับรอง สถานะของนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาตามสิทธิการศึกษาของข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องให้เด็กเหล่านี้มีสิทธิ และเด็กเหล่านี้จะต้องมีรหัสทางทะเบียน ที่ขึ้นต้นด้วย G ผมคิดว่าอันนี้ประเด็นที่ ๑
ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน เรื่องนี้เป็นเรื่องความจำเป็นและสำคัญ ที่จะต้องให้สภาแห่งนี้พิจารณา ผมคิดว่าระบบการศึกษาเป็นพื้นที่แห่งเดียวของมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นเผ่าพันธุ์ชนชาติไหน คุณจะอาศัยอยู่ในประเทศอะไร แม้แต่คนไทยที่ไปอยู่ ในต่างแดน การศึกษาคือพื้นฐานที่จะพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ในทักษะ ต่าง ๆ การศึกษาเป็นพื้นฐานอันเดียวที่จะนำไปสู่เรื่องของการที่จะให้พลเมืองประเทศนั้น ๆ มีคุณภาพในการพัฒนา ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือทรัพยากรมนุษย์ ผมอยากจะพูดอย่างนี้ครับว่ากรณีเด็กหัว G หรือว่าเด็กตัว G ในประเทศไทยตัวเลขมันเหลือไม่เยอะแล้วครับท่านประธาน ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิน ๒๐๐,๐๐๐ คน ๒๐๐,๐๐๐ คนเหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นในกระบวนการทำงาน ของหน่วยงาน ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว หลายพื้นที่ ก็ดำเนินการว่านักเรียนคนไหนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา ไปถึงระดับ มหาวิทยาลัย ถ้าพบว่าไม่มีการปรากฏสถานะใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นสถานะคนต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นสถานะคนไร้รัฐ หรือเลขต่าง ๆ ที่กรมการปกครองเขาออกไว้ ถ้าไม่มีใด ๆ เลย ก็คือให้ออกเป็นตัว G อันนี้มีกฎหมายอยู่เรียบร้อยครับ และที่สำคัญก็คือว่ามันไปเกี่ยวข้อง กับกรมการปกครอง เด็กหัว G ที่ทางโรงเรียนส่งชื่อมาจะต้องแจ้งไปที่อำเภอ ที่กรมการปกครอง เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนว่ามีจำนวนนักเรียนเหล่านี้ที่ยังไม่พบสถานะใด ๆ ที่ขึ้นหัว G จำนวนเท่าไร ทางอำเภอจะได้ออกบัตรไว้ ปัญหาทั้งหมดมันอยู่ตรงที่ว่าหน่วยงาน ที่ทำงาน ที่ว่าในระดับนโยบายไม่มีนโยบายสั่งการที่ชัดเจนว่าจะต้องทำงานความร่วมมือ ถึงแม้อาจจะสั่งการแบบหลวม ๆ แต่สำคัญที่สุดคือว่ามันไม่มีงบประมาณและเครื่องมือ ทำงาน ผมไปเจอหลายอำเภอครับ อำเภอที่ดำเนินการได้ ผมยกตัวอย่าง ผมไปที่เชียงดาว ท่านนายอำเภอ แล้วก็ท่านปลัดอำเภอแก้ปัญหากรณีเด็กตัว G ได้เยอะ เพราะความร่วมมือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ผมต้องขอชม ผมขอเอ่ยนามคือ องค์กร Plan ออกทั้งงบประมาณ จัดเวที สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตั้งคณะทำงาน อบรมต่าง ๆ จนได้ บุคลากรเหล่านี้ ปัญหาที่เราเจอ
๑. คือการประสานงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกรมการปกครอง ผมคิดว่าถ้านโยบายไม่ชัดเจนจะมีปัญหาในแง่การดำเนินการ
๒. คือการสนับสนุนบุคลากรที่เป็นการเฉพาะ และงบประมาณ เป็นการเฉพาะ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ วันนี้บุคลากรที่อำเภอเราจะใช้ นายอำเภอฝ่ายทะเบียน ซึ่งต้องทำเรื่องแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งหย่า หรืองานปกติของเขา แต่ต้องมีภารกิจเพิ่มเติมกรณีเด็กหัว G เด็กตัว G ที่กระทรวงศึกษาธิการส่งให้ และไม่มี งบประมาณอีก ต้องหาเงิน ต้องหางบประมาณ ต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือในการเดินทาง ไปมาเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ อันนี้ฝ่ายนโยบายก็สามารถที่จะสั่งการได้
๓. คือเรื่องกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผลพลอยได้ ที่จะต้องไปรับรอง โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ผมอภิปรายมันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเด็กที่ไม่มีสถานะใด ๆ เลย หรือมีสถานะแล้วรอการพัฒนาสถานะทางบุคคล ไม่ว่าจะเป็นลูกของแรงงานก็ดี หรือนำไปสู่ การพัฒนาสัญชาติ ซึ่งสัญชาติก็ได้มาแค่ ๒ ทางเท่านั้นครับ หลักแห่งการเกิด แล้วก็ หลักแห่งสายเลือด มันมีแค่ ๒ หลักการนี้ในการออกสัญชาติ ซึ่งมันมีรายละเอียดข้อกฎหมาย ต่าง ๆ หมดแล้ว ผมยกตัวอย่างกรณี สสป. ที่อยู่ข้าง ๆ ผม เด็กนักเรียนที่อุ้มผางจบแล้ว สอบชิงทุนได้ที่ ๒ แพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พอกระบวนการทางสถานะ ทางทะเบียน พ่อแม่ไม่มีสัญชาติก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ แล้วบุคลากรเหล่านี้เขาเสียโอกาสขนาดไหน บุคลากรเหล่านี้เขาจะสูญเสียศักยภาพที่เขามีอยู่และมีผลต่อประเทศอย่างไร
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากเรื่องนี้นะครับ กรณีเด็กหัว G ผมคิดว่า จำนวนมีไม่ค่อยเยอะ ถ้าหากว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญตั้งขึ้นมา มีข้อสรุปและเสนอไปที่ รัฐบาล ผมคิดว่าใช้เวลาประมาณปีถึง ๒ ปีก็จะจบ บางทีอาจจะไม่ถึงปีก็ได้ เพราะสถานะ ทางทะเบียนของโรงเรียนอาจจะมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเชื่อมระหว่างปกครองนี่อาจจะมี ข้อจำกัด คล้าย ๆ กับเรื่องของผมเคยอภิปรายเรื่องนี้ เรื่องสถานะบุคคลไร้สัญชาติครับ ปัญหาทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเลยนะครับ ปัญหาทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาเรื่อง ระเบียบ มติ ครม. หรือข้อสั่งการเลย แต่ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ระบบบริหารและกลไก การสั่งการที่เอางานพิเศษ เอางานที่มีความพิเศษกว่าอื่นใดไปอยู่ในกลไกปกติ ซึ่งกลไกปกติ เขามีงานที่ล้นมืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหัว G สถานะบุคคลและสัญชาติ ดำเนินการให้มีหน่วยบริหารจัดการที่เป็นการเฉพาะและมีกรอบระยะเวลา มีงบประมาณ สนับสนุน มีบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งเหล่านี้จะจบภายใน ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
เรียนท่านประธานครับ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมือง ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานเพื่อที่จะย้ำไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ผมทราบว่าทาง Whip มีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องนี้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือไม่ ผมฟังจากเพื่อนสมาชิกได้อภิปราย รวมถึงที่ผมได้อภิปรายว่าเรื่องนี้มันมีความจำเป็น จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และ พม. เพราะฉะนั้นก็คือว่าการที่เพื่อนสมาชิก ที่เป็น Whip ฝ่ายรัฐบาลมองว่าให้เข้าให้เข้าสู่คณะกรรมาธิการการศึกษาเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่ามันจะแก้ปัญหาไม่จบ เพราะฉะนั้นผมยังยืนยัน แล้วก็ขอความร่วมมือจาก เพื่อนสมาชิกในทุก ๆ พรรคว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้มันไม่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นปีครับ ผมคิดว่าใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณสักไม่เกิน ๙๐ วันก็น่าจะจบ ขออนุญาต ย้ำอีกรอบต่อท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
ท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ เพื่อนสมาชิกจากพรรคอื่นบอกว่าน้อง ๆ จากพรรคก้าวไกลคนที่ดีใจที่สุดท่านคำพอง ท่านองค์การ ท่านสุรวาท ถึงแม้ว่าท่านจะเกิน ๖๐ ปี ท่านยิ้มใหญ่เลยว่าพวกเราก็ยังหนุ่มอยู่ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ท่านประธานครับ ขอมีส่วนร่วม ในการอภิปรายว่าด้วยเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องของหนี้สินครัวเรือน ผมสนับสนุนทุกญัตติ ท่านประธานครับ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ก็คือว่าหนี้สินครัวเรือนสาเหตุใหญ่คือมาจากปัญหา เรื่องของโครงสร้างอำนาจการรวมศูนย์ อันนี้ประเด็นที่ ๑ ประเด็นที่ ๒ คือหนี้สินครัวเรือน มาจากเรื่องของระบบสวัสดิการแห่งรัฐที่มันไม่มี ระบบบริการสาธารณะที่มันไม่มี ประสิทธิภาพพอ ผมคิดว่า ๒ เรื่องใหญ่เป็นที่มาที่ไป เพื่อน ๆ สมาชิกได้อธิบายว่าเราจะต้อง ทำบัญชีครัวเรือน เราจะต้องแก้ปัญหา ๑ ๒ ๓ ๔ แต่ด้วยระบบโครงสร้างทั้งหมด ท่านประธาน ถ้าเราไม่ดูที่สาเหตุที่มันเป็นโครงสร้าง เราจะแก้ไปแล้วจะปะติดปะต่ออะไร ไม่ได้ท่านประธานครับ ผมอยากให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีหนี้ กยศ. ถ้าหากว่า ระบบรัฐสวัสดิการเรื่องการเรียนการสอนฟรีตั้งแต่ประถมศึกษาถึงปริญญาตรีมันจะมี หนี้ไหมครับ วันนี้เราแก้กฎหมายเมื่อรัฐสภาชุดที่แล้วประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔ วันนี้ผมได้รับการร้องเรียนว่ายังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ยึดกฎหมายที่เราแก้ เราบอกว่าดอกเบี้ย ๑ เปอร์เซ็นต์ เบี้ยปรับ ๐ ไม่มีผู้ค้ำ ไม่มีหลักประกัน แต่ว่าวันนี้การนำใช้ กฎหมายเรื่องนี้ยังคงบังคับใช้กรณีเรื่องลูกหนี้ หนี้ซ้ำหนี้ซ้อนเหล่านี้ ผมคิดว่าอันนี้คือปัญหา ที่ผมพยายามจะยกตัวอย่าง ถ้าหากว่าประเทศนี้มีระบบสวัสดิการที่ดี ระบบการศึกษารัฐ จัดให้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาแบบเท่าเทียมนะครับ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาศักยภาพตัวเองย่อมเกิดขึ้นได้ครับท่านประธาน อันนี้กรณีเรื่องการศึกษาครับ วันนี้หนี้ กยศ. เราเคยบอกว่าเป็นการยืมเรียนได้ไหม ไม่ต้องกู้ได้ไหม วันนี้ก็ยังกู้อยู่ แต่ว่าดอกเบี้ยจะลดลง ผมคิดว่าอันนี้ประเด็นสำคัญในแง่ของการจัดรัฐสวัสดิการที่มันไม่เคยมี และไม่มีจริงเลยครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๒ เรื่องที่ดินและป่าไม้ ผมคิดว่าที่บ้านท่านประธานก็ไม่ต่างจาก บ้านผมหรอกครับ เราเจอปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เราเจอปัญหาเรื่องของสิทธิในที่ดิน ไปตรงไหนก็เป็นที่ของรัฐหมดเลยครับ ไปตรงไหนก็มีเจ้าของหมดเลยครับ ไม่เป็นกรมป่าไม้ ก็เป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่เป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็เป็นกรมธนารักษ์ ที่ดินมันไม่ชอบด้วยกฎหมายมันไม่ใช่เป็นทรัพย์สิน ที่จะนำไปสู่การแข่งขันได้ พี่น้องทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา พี่น้องกรุงเทพฯ พี่น้องหลายที่นะครับ เขาใช้ที่ดินเป็นเครื่องมือในการที่จะต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เขาใช้ที่ดินที่จะ ปลูกสร้างในการประกอบธุรกิจ ไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน เอาเงินไปส่งลูกเรียน หรือไป พัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ แต่พี่น้องประเทศไทยไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านคนที่ดินไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย กติกาแบบนี้ผมถามว่ามันสร้างความเป็นธรรมตรงไหนล่ะครับ มันสร้าง เครื่องมือที่จะนำไปสู่เรื่องของเส้นทางการแข่งขันที่มันชอบธรรมได้อย่างไร ทั้งหมดที่ผมว่า กรณีที่ดินเป็นสาเหตุใหญ่มากเลยท่านประธานครับ พื้นที่ท่านประธานที่ภูชี้ฟ้าหลายพื้นที่ พี่น้องประชาชนก็พยายามจะพัฒนาเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวิถีวัฒนธรรม จะทำ Homestay เหมือนกับพื้นที่ที่ม่อนแจ่ม เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ครับ วันนี้กรมป่าไม้บอกว่า ทำไม่ได้ แล้วก็จะปลูกผัก ปลูกข้าวโพด บอกว่าทำไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ท่านประธานอันนี้คือ ปัญหาใหญ่ที่นำไปสู่การกู้หนี้นอกระบบ การจะต้องใช้ชีวิตไปปูทางอย่างอื่น ถ้าเราแก้ปัญหา เรื่องที่ดินและป่าไม้ที่ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อย่างน้อยที่สุดคือที่ดินชอบด้วยกฎหมาย การพัฒนา การปรับวิถีชีวิตในทางเศรษฐกิจ ในรูปแบบต่าง ๆ ผมคิดว่าอันนี้คือทางออก ต่างหากท่านประธานครับ ถ้าเราพูดเฉพาะเรื่องปลายเหตุ ผมคิดว่าถ้าพี่น้องในเขตชนบท หรือพื้นที่ที่สูงก็ดี ที่อื่นก็ดี ถ้าทำบัญชีผมคิดว่ามันจะลงทำบันทึกบัญชีอย่างไรครับ กู้หนี้นอกระบบและใช้หนี้ในระบบ กู้หนี้ กยศ. ใช้หนี้กองทุนหมู่บ้าน กู้หนี้กองทุนหมู่บ้าน ใช้หนี้สหกรณ์มันก็จะวนอยู่อย่างนี้ครับ เราจะเห็นระบบการบริหารหนี้ของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ชนบทที่เขาไม่มีโอกาส ไม่มีเครื่องมือในการแข่งขันที่เท่าเทียมกันในระบบ ทุนนิยม อันนี้คือประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๓ เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการสาธารณะ มาตรา ๕๖ รัฐธรรมนูญบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐ บางหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ครับท่านประธาน โดยเฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์ที่จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่อื่น ๆ ทางภาคใต้ ไม่มีไฟฟ้าใช้ครับ ไม่มี Internet ถ้าจะมี Internet ถ้าจะดูข่าวสาร ถ้าจะรับรู้ จะสื่อสาร กับสังคมก็ต้องไปเช่าของเอกชน ก็ต้องไปลงทุนใหม่ ก็ต้องรวมตัวกันให้เอกชนมาทำ ระบบสื่อสารเพื่อที่จะสื่อสารกับคนภายนอกได้ การรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่มาจากฝ่ายรัฐบาล หรือว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะสื่อสารกับพี่น้องประชาชน คนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะรับรู้ ถ้าเขา จะรับรู้ เขาจะต้องหาเงินมาลงทุนเอง ถ้าเขาจะสื่อสารกับบุคคลภายนอก เขาจะต้องหา งบประมาณมาลงทุนเอง ประเด็นนี้ต่างหากมันคือความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การก่อหนี้สิน ครัวเรือนที่เป็นปัญหาปลายเหตุ ทั้งหมดนี้ท่านประธานที่ผมพยายามจะบอกว่าปัญหา เรื่องหนี้สินครัวเรือนเป็นปลายทาง เป็นปรากฏการณ์ เป็นอาการของโรคที่เราเรียกว่า โรคที่มีหนี้ ปัญหาทั้งหมดที่ผมได้เล่ามานะครับ
๑. สาเหตุทั้งหมดคือการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการ ทำไมไม่ให้ พื้นที่จัดการ ตัดสินใจแก้ไขปัญหา เขาจะพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไร เขาจะจัดการทรัพยากร อย่างไร เขาจะตัดสินใจว่าเรื่องนี้จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งมิติทรัพยากร มิติทางสังคม นิเวศวิทยา ปล่อยให้เขามีอำนาจตัดสินใจเถอะครับ ส่วนกลางมีหน้าที่ในการคอยสนับสนุน แล้วก็ประเมินติดตาม
๒. เรื่องของรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะของรัฐ ผมคิดว่ามันไม่มี ความเป็นธรรมเลย ขณะที่กรุงเทพฯ มีตั้งแต่รถไฟฟ้าบนอากาศ ใต้ดิน บนดิน แต่บนดอย ไปดูถนน พี่น้องที่แม่ฮ่องสอน ที่แม่สะเรียง เดี๋ยวผมจะส่งรูปให้ท่านประธานครับ เขาต้องเอา คนป่วยมา ต้องใช้รถของเอกชนมูลนิธิอาสาสมัคร กว่าจะถึงโรงพยาบาล ความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างเรื่องสวัสดิการสังคมและบริการสาธารณะของรัฐเป็นสาเหตุที่แท้จริง ของการให้แต่ละครัวเรือนมีหนี้สินครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ท่านประธานครับ ผมอยากจะหารือท่านประธานไปยัง นายกรัฐมนตรี กรณีเรื่อง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ ๒๔ ที่ผ่านมานี้รัฐสภาก็จัดงาน เรื่องการรับฟังความเห็นเรื่องของ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ที่มีหลายฝ่ายได้ร่างขึ้นมา มีร่างของ สภาชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในวาระการประชุมการค้างพิจารณาในพื้นที่วาระที่ ๕.๕ แล้วยังมี ร่างที่นายกรัฐมนตรีจะต้องให้ความเห็น ร่างของ P-Move ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในรัฐสภาชุดที่ ๒๕ ที่ผ่านมา แล้วยังมีหน่วยงานภาครัฐ ที่ดำเนินการภายใต้ ครม. มอบหมาย คือร่างของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สิ่งที่ผมอยากจะ หารือกับท่านประธานก็คือว่าตอนนี้ก็คือยังไม่มีวี่แววของร่างของ ครม. ที่จะมาร่วมประกบ ในการบรรจุในวาระการประชุมของรัฐสภาจึงทำให้ร่างของประชาชนที่ลงชื่อกันมา ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในวาระค้างพิจารณาที่ ๕.๕ ต้องขยับไปตลอดเลยนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในตอนนี้ก็คือว่าช่วงที่ปิดสมัยนี้อยากให้ ครม. ได้พิจารณา ร่างต่าง ๆ ที่ท่านจะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการประชุมรัฐสภาอย่างเร่งด่วนครับ ท่านประธานครับ มันมีเหตุผลอยู่ ๓ ประเด็นที่จำเป็นจะต้องมี พ.ร.บ. ตรงนี้นะครับ
ประเด็นแรก คือประเทศไทยได้ไปลงนามในข้อตกลงว่าด้วยเรื่องสิทธิชนเผ่า พื้นเมืองตามปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ เมื่อปี ๒๕๕๐
ประเด็นที่ ๒ คือรัฐธรรมนูญมาตรา ๗๐ ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ได้เขียน บัญญัติไว้ชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองนะครับ
ประเด็นที่ ๓ คือข้อเท็จจริงว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม ซึ่งนักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้ศึกษาแล้วก็ดูแล้วมีทั้งหมด ๖๐ กว่าชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็น วันนี้เป็นวันที่สำคัญที่พวกเราจะได้พิจารณากฎหมาย สิ่งที่จำเป็นตอนนี้ก็คือ ครม. โดยท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องรีบนำเข้ามาพิจารณาโดยด่วน ขอบคุณมากครับ ท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมก็มีส่วนร่วมในการอภิปรายรายงานของสถาบัน พระปกเกล้าประจำทุกปี แล้วก็มีทั้งการติ การชม แล้วก็การเสนอแนะนะครับ ครั้งนี้ก็เป็น อีกครั้งหนึ่งที่ผมอยากจะมีส่วนร่วมในการเสนอแนะในรายงานประจำปีนะครับ ก่อนอื่นครับ ท่านประธาน ผมต้องขอแสดงความยินดีกับท่านเลขาธิการคนใหม่ของสถาบันพระปกเกล้า วันนี้รายงานที่ท่านรายงานมานี้ก็ถือว่าเป็นงานของท่านเลขาธิการคนเก่า ข้อเสนอแนะของผม วันนี้ก็น่าจะพิจารณานำไปสู่การทำงานของท่านเลขาธิการพร้อมกับฝ่ายบริหารทุกท่าน ในภารกิจของท่านในวาระของท่านต่อไป ท่านประธานครับ ถ้าเอาตัวเลขการเกิดหรือว่า การมีองค์กรสถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่ ๒๕๔๑ ถ้าจำวันที่ไม่ผิดก็คือวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๑ ปีนี้ก็ครบรอบ ๒๕ ปีพอดี ถ้าเป็นวัยของคนก็คือเป็นวัยเบญจเพส วัยเบญจเพสผมคิดว่า มีความสำคัญในการได้เรียนรู้ ได้เติบโต ในระดับหนึ่ง แล้วก็พร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ อันนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ ซึ่งก็ไม่น้อย ก็มีบทเรียนพอสมควรในตลอด ระยะเวลา ๒๕ ปี
ประเด็นที่ผมอยากจะเสนอแนะเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงในการทำงาน หรือว่ามีแผนภารกิจเพิ่มเติมนะครับ ประเด็นเรื่องของการพัฒนาเยาวชนของชาติในบทบาท ของสถาบันพระปกเกล้านะครับ ท่านประธานครับ ถ้าดูในพันธกิจในเอกสารนี้ผมคิดว่า ในพันธกิจที่ ๒ ชัดเจนมากเลยนะครับ ให้บริการทางวิชาการในรูปแบบการศึกษา อบรม ทางวิชาการ ให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริการข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับความรู้ทางการเมือง การปกครองในระบบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี อยู่ตรงในข้อความเรื่องการศึกษาอบรมนี้ครับท่านประธาน คือผมก็เคยเป็นศิษย์เก่าของ พระปกเกล้านะครับ ผม ปศส. ที่ ๑๙ นะครับ ประเด็นของผมคิดว่าผมเห็นหลักสูตรต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะมีแต่คนรุ่นใหญ่ คนที่เป็นนักธุรกิจ คนที่เป็นราชการระดับสูง แล้วผมก็เห็น หลายคนก็เรียนวนไปวนมาอยู่นั่นละครับ จบที่นี่แล้วก็ไปหลักสูตรนั้น แล้วผมก็ไปเจอในหลักสูตร ที่อื่นด้วย ผมคิดว่าที่ท่านทำไปแล้วคงมีฝ่ายอื่นประเมินอยู่แล้วนะครับ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ผมคิดว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยตรงปลายทางผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มันก็เติมได้ แต่ว่ามันไม่สามารถที่จะเติมได้ในเชิงกระบวนคิดหรือฐานคิดในเชิงระบบประชาธิปไตยได้ เพราะฉะนั้นก็คือว่าถ้าเอาพันธกิจตรงนี้เราเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนชายขอบ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ที่อยู่ในชนบท ช่วงปิดสมัยประชุมท่านประธาน ทราบไหมครับ ผมได้เห็นน้อง ๆ นักเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กับกรุงเทพมหานครมีโอกาสได้มา ทัศนศึกษาในสถาบันสภาผู้แทนราษฎรนะครับ มีโอกาสเข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์ มีวิทยากร บรรยายต่าง ๆ ผมมาจากบ้านนอกนะครับ ผมนึกภาพว่าแล้วเมื่อไรโอกาสของเด็กต่างจังหวัด เด็กชายขอบ เด็กบนดอยเหล่านี้เขาจะมีโอกาสได้ อย่างน้อยที่สุดไปเห็นบรรยากาศว่า สภาผู้แทนราษฎรอันนี้แหละที่เป็นการจัดสรรอำนาจ เป็นการออกกฎหมาย เป็นการแบ่งปัน ผลประโยชน์ เป็นการควบคุมกติกาทั้งประเทศก่อนที่ฝ่ายบริหารจะเอาไปปฏิบัติ ก่อนที่ ส่วนราชการไปปฏิบัติ ผมคิดว่าแบบนี้ท่านลองไปคิดดูนะครับว่าโอกาสของคน ๖๐ กว่าล้านคน แล้วคนรุ่นใหม่ที่อยู่ตามชนบทและคนชายขอบเหล่านี้เขาจะมีโอกาสเข้าถึงอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วผมคิดว่ามันมีอยู่ ที่ท่านใช้คำว่าเยาวชนในอนาคตมีอยู่ เพียงแต่ว่าผมเข้าใจว่าอาจจะ หยิบเป็นกลุ่มที่อยู่ในมหาวิทยาลัยหรือว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่ท่านกำหนดไว้ มันมีกลุ่มเยาวชน ที่หลุดออกจากการศึกษาในระบบครับ ซึ่งผมเข้าใจว่า กสศ. ก็ดูแลอยู่ กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่จะ เป็นพลเมืองในอนาคต จะเป็นพลเมืองที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาตินะครับ ท่านประธานครับผมคิดว่าในประเด็นยุทธศาสตร์ที่พันธกิจแล้วมันมี ๒ ยุทธศาสตร์นี้แหละ ที่ท่านจะทำได้ ก็คือยุทธศาสตร์ที่ ๑ เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ยุทธศาสตร์ที่ ๒ คือการพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้นำทางความคิดและ การทำงานเพื่อเผยแพร่การพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ผมคิดว่าข้อความ ที่มีความหมายและมีความสำคัญในการปูพื้นฐานให้กับคนรุ่นใหม่ ก็คือผู้นำทางความคิด ท่านลองนึกภาพนะครับ การสร้างผู้นำแต่ละคนมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะครับ ผู้นำแต่ละคน ที่จะมาอยู่ในห้องประชุมแห่งนี้รวมถึงท่านด้วยนะครับ ผมคิดว่าเป็นการลงทุนมหาศาล หลายท่านก็เคยคำนวณตั้งแต่เรียนจบจนถึงปริญญาตรีใช้งบประมาณไม่น้อยนะครับ เพราะฉะนั้นก็คือว่าถ้าหากว่าสถาบันพระปกเกล้าที่อยู่ภายใต้ของรัฐสภาได้มีกรอบ กระบวนการเชื่อมโยง จะผ่านระบบไหนผมคิดว่าอีกเรื่องหนึ่งนะครับ แต่อย่างน้อยที่สุด เด็กชายขอบท่านจะออกแบบอย่างไรก็ได้ อาจจะเป็นโครงการประกวด อาจจะเป็นโครงการ อะไรก็ได้ว่าปีหนึ่งเด็กชายขอบต่างจังหวัดโควตาอาจจะ ๖๐ คนในเมืองอาจจะ ๔๐ คนขึ้นมา อบรมมีหลักสูตรตั้งแต่ลงพื้นที่ ไปอยู่ในพื้นที่ หรือว่ามาอยู่ที่รัฐสภาอะไรพวกนี้ครับ ผมคิดว่า อันนี้เป็นเรื่องจำเป็น
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ที่ผมอยากจะฝากให้เห็นถึงรูปแบบ การทำงานของสถาบันพระปกเกล้าเพื่อปูพื้นฐานการสร้างคนในกระบวนการประชาธิปไตย ผมเห็นด้วยกับทุกหลักสูตรที่มีอยู่ แต่เพียงแต่ว่าผมคิดว่าหลักสูตรต่าง ๆ เหล่านี้ผมไม่ได้ บอกว่าเป็นหลักสูตรที่มีแต่ผู้สูงอายุไปเรียนนะครับ ซึ่งข้อเท็จจริง ๆ อาจจะเป็นอย่างนั้น บางส่วน ก็ไม่ได้ขัดอะไร แต่ถ้าเรามีโควตาต่าง ๆ เช่น หลักสูตรเล็กที่อบรมให้กับผู้ช่วย สส. อะไรพวกนี้มันก็มีบุคคลอื่นเข้ามาเรียน ซึ่งมันมีความสำคัญค่อนข้างที่จะมากนะครับ กระบวนการเหล่านี้ถ้าเราจับมือกับสถาบันการศึกษาหรือท้องถิ่น อบต. เทศบาล ที่ท่าน ทำงานอยู่แล้วทั่วประเทศ ผมคิดว่าเราสามารถที่จะเพิ่มพื้นที่ทางวิชาการ จะเพิ่มพื้นที่ การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และที่สำคัญผมย้ำนะครับว่าถ้าหากท่านได้กำหนด ยุทธศาสตร์หรือแผนงานโครงการที่จะเปิดพื้นที่ให้กับคนชายขอบ คนที่อยู่ห่างไกล และคนที่ ด้อยโอกาสสุด ๆ ก็คือคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งมีบางหน่วยงานดูแลอยู่ ก็จะเป็น การศึกษาที่อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการศึกษานอกระบบจริง ๆ คนเหล่านี้ถ้าเขามีโอกาส ถ้าเขา ได้มีพื้นที่ในการได้สื่อสาร ได้พูดคุย ได้เสนอแนะ สิ่งเหล่านี้ต่างหากผมคิดว่าได้เป็นการ ปูพื้นฐานให้กับคนที่มีความหลากหลาย คนที่มีความแตกต่าง คนที่มีวิธีคิดจากบริบท การทำงาน จากบริบทการใช้ชีวิตที่แตกต่าง จะเป็นการเรียนรู้จากสังคม เรียนรู้เพื่อนคนใน ชาตินี้ที่มีความแตกต่างและหลากหลายนะครับ ผมต้องขอบคุณท่านประธาน แล้วก็ทาง สถาบันพระปกเกล้าทุกคนครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายร่างแก้ไขข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ นะครับ ท่านประธานครับเห็นว่าท่านสมาชิกได้อภิปรายในแง่ของหลักการหรือว่าข้อเสนอแนะ ในเชิงระบบชัดเจนอยู่แล้ว ทั้ง ๙ ข้อที่คุณพริษฐ์ได้นำเสนอต่อสภาแห่งนี้ว่ามันมีความจำเป็น ที่จะต้องแก้ไข มันมีหลักการอยู่ ๔ ประการ ที่ท่านจุลพงศ์ได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ เพื่อให้ เห็นภาพผมขออนุญาตย้ำในเชิงหลักการชัด ๆ อีกรอบหนึ่ง เดี๋ยวผมจะลงรายละเอียด ในบางประเด็น คือมันมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพในการทำงาน เรื่องนี้นะครับ เรื่องความโปร่งใสผมคิดว่ามันก็เป็นหลักการที่มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในการ ทำงาน ขณะที่เราเรียกร้องให้ระบบราชการ ระบบสังคม ระบบอื่น ๆ ว่าต้องมีความโปร่งใส รัฐสภาเองก็ต้องปฏิรูปตัวเองครับ รับหลักการความเป็นธรรม อันนี้ก็ไม่ต่างกัน ในระบบ เรื่องสภายุติธรรม เรื่องสภาเสมอภาคอะไรพวกนี้ มันต้องไม่มีอำนาจที่มันไปแทรกแซง กระบวนการนิติบัญญัติของการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกที่เป็นผู้ทรงเกียรติ จากพี่น้องประชาชน และที่สำคัญคือมันต้องไปเชื่อมโยงกับพี่น้องประชาชน ทั้งหมด หลักการนี้มันเป็นข้อเรียกร้อง มันเป็นแนวการปฏิรูปของประเทศไม่ใช่หรือครับท่านประธาน ผมยกตัวอย่างนะครับ กรณีการยกระดับให้มีประสิทธิภาพ กรณีข้อ ๒ ที่ผู้เสนอได้เสนอว่า สภามีความหมาย ที่เป็นประเด็นที่สมาชิกบางท่านบอกว่าไม่เห็นด้วยคือการเพิ่มพื้นที่ ให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นฝ่ายรัฐบาล จะเป็น ฝ่ายค้านอะไรก็ตามแต่นะครับ มันมีปัญหาอย่างนี้ สมัยที่แล้วผมก็เสนอว่ากระทู้อย่างนี้ครับ ผมยกตัวอย่างเรื่องไฟฟ้า ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับกี่กระทรวงครับ ท่านประธานทราบไหมครับ ไฟฟ้าก็คือกระทรวงมหาดไทยดูแลนะครับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่พื้นที่ปักเสาพาดสายนี้ ไปอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางพื้นที่ที่ผมลงพื้นที่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ห่างจากถนนเพชรเกษมไม่ถึง ๔๐ กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ของ กระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่สภาบอกว่าท่านครับแบบนี้ถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ถามกระทรวงมหาดไทยไม่ได้ ต้องถามที่นายกรัฐมนตรี คือปัญหา ในประเทศนี้ ท่านประธานครับมันมีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมาตอบกระทู้นะครับ กระทู้สดในสภานี้ มันมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการเพราะว่ารัฐไทยรวมศูนย์อำนาจ อยู่ตรงนี้ คนที่จะมีอำนาจในการสั่งการในข้อคำสั่งราชการก็คือนายกรัฐมนตรี อันนี้คือ เป็นประเด็นหลักการสำคัญที่สุดครับท่านประธาน
ประการที่ ๒ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้มาตอบ ผมคิดว่าการสั่งการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมันดำเนินการได้ทันทีครับ เพราะฉะนั้นการที่นายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้สด คำถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ อาทิตย์ ซึ่งใช้เวลาไม่มาก จะเป็นการแก้ปัญหา ให้พี่น้องประชาชนได้ทันทีครับ ท่านประธานทราบไหมครับผมเคยตั้งกระทู้และอภิปราย หลาย ๆ เรื่อง เรื่องก็วนอยู่นี้นะครับ ส่งภายในกระทรวง ตีปิงปองกันไปตีปิงปองกันมา สุดท้ายก็คือว่าเรื่องนี้ข้ามเป็นปีข้ามเป็นสมัย บางสมัยก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น การที่นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีการทับซ้อนในการแก้ไข ปัญหา ที่มีการทับซ้อนในการบริหารราชการ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้ทันที จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ทันทีท่านประธานครับ
ประการที่ ๓ กรณีเรื่องการที่ทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้นี้ ผมถือว่าเป็นการพบนายกรัฐมนตรี พบกับตัวแทนประชาชนอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ไม่เสียหาย อะไรเลยครับ การที่นายกรัฐมนตรีจะมาพบกับตัวแทนประชาชน เพราะแต่ละคนที่มานี้ ก็มาจาก ๗๐ กว่าจังหวัด มีตั้งแต่ภาคใต้ ประเภทลุ่มน้ำ ในทะเล ในภูเขา อย่างผมครับ ผมก็สามารถที่จะอธิบายอยากได้สื่อสารกับนายกรัฐมนตรีได้ว่าพี่น้องประชาชนบนพื้นที่สูง มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่นายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้ก็ถือว่าเป็น นายกรัฐมนตรีพบกับตัวแทนประชาชน ท่านนายกรัฐมนตรีไม่มีทางที่จะไปพบกับ ๗๖ ล้านคนได้ทันที เพราะฉะนั้นการที่พวกเรามาตั้งกระทู้นี้ ก็เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ผมถามว่ามันจะเสียหายอะไรครับ ทีนี้ในกรอบหลักการข้อ ๒ ที่ผมจะลงรายละเอียดคือเรื่องการเชื่อมโยงกับประชาชน อันนี้ สำคัญนะครับท่านประธาน ผมเห็นว่าสมัยการประชุมรอบที่ผ่านมา รัฐสภาที่ผ่านมาพี่น้อง ประชาชนได้ใช้พื้นที่รัฐสภามากขึ้น ต่างกับที่ผมเป็นสมัยที่ผมทำงานภาคประชาสังคม เป็น NGOs ครับ ท่านประธานลองเข้าไปดูประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วง เคยมีเอาสุนัข มาไล่พวกเรานะครับ ไปยื่นหนังสือเข้าไปในรั้วรัฐสภาก็ไม่ได้ครับท่านประธาน มียามของ รัฐสภามารับหนังสือพวกเรา แต่รอบแบบนี้ผมเห็นพี่น้องประชาชนจากทั่วสารทิศ เจ้าหน้าที่ อำนวยความสะดวกขึ้นมา เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ถ้าให้มันเป็นเชิงหลักการ กรณีการเสนอ กฎหมาย ตอนนี้เราใช้หลักการที่ว่าประชาชน ๑๐,๐๐๐ รายชื่อเสนอกฎหมาย ลดลงหน่อย ได้ไหมครับ การที่ประชาชนเขาจะมีพื้นที่ในทางข้อเสนอกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ ๑๐,๐๐๐ คน ไม่ใช่หาง่าย ๆ นะครับท่านประธาน ยังดีครับวันนี้สามารถที่จะลงชื่อในระบบ Online ระบบดิจิทัลได้ แต่ก็ไม่ง่ายนะครับท่านประธาน กฎหมายบางกฎหมายที่พี่น้องประชาชน สนใจที่จะเสนอ ถ้าเราลดจำนวนคนลงมา ๕,๐๐๐ คนก็มีสิทธิที่จะเสนอ ผมคิดว่าจะเป็น โอกาสดี เพราะฉะนั้นก็จะเป็นกระบวนการรัฐสภาภายใต้ข้อบังคับรัฐสภา เปิดประชาธิปไตย โดยตรง ทางตรงให้กับพี่น้องประชาชนใช้สิทธิตามสิทธิรัฐธรรมนูญและข้อบังคับเหล่านี้ จะนำไปสู่การเอื้ออำนวยให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลที่รวมตัวกันที่จะเสนอกฎหมาย ผมถามว่า มันผิดอะไรครับตรงนี้ ผมถามว่ามันจะไปขัดแย้งอะไร หลักการและจะปฏิรูปประเทศ ผมถามว่ามันจะไปขัดแย้งกับหลักการเรื่องการพัฒนาระบบประชาธิปไตยอย่างไรครับ ในประเด็นการเชื่อมโยงประชาชนนี้สิ่งที่มีความจำเป็นเราจะเห็นว่ากฎหมายประชาชน ที่เสนอเข้ามาบางทียิ่งไปใหญ่นะครับ ตอนนี้ก็คือว่าเสนอเข้ามาก็ปัดตก ปัดตก ปัดตก อะไรพวกนี้ เพราะประชาชนไม่ได้มีตัวแทนในการพูดตรงนี้ และที่สำคัญก็คือว่ากฎหมาย ของประชาชนมารอแล้วรออีกครับ สภาไม่ได้พิจารณา ผมคิดว่าข้อเสนอของคุณพริษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้นำเสนอนี้ กฎหมายที่ประชาชนเสนอควรจะ เป็นกฎหมายที่มีความเร่งด่วน มีความเร่งด่วนที่สภาจะพิจารณาให้ความเห็นและพิจารณา ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิโดยทางตรง ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมได้อภิปราย ผมถามสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ผมถามท่านประธาน ผมถามพี่น้องประชาชนว่าถ้าคิดจะปฏิรูป ประชาธิปไตย ถ้าคิดจะปฏิรูปประเทศไทย การเริ่มปฏิรูปจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ โดยหลักการการยกระดับคุณภาพ โดยหลักการการเพิ่มความโปร่งใส โดยหลักการ การรับประกันความเป็นธรรม โดยหลักการการเชื่อมโยงกับประชาชน ผมถามว่า ๔ หลักการ ๙ ข้อย่อยนี้มันผิดตรงไหนครับ ขอบคุณมากท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมได้รับการประสานงานกับท่านนายกตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท่านพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ บอกว่าให้ สส. ช่วยติดตามหน่อยครับ
กรณีเรื่องสิทธิประโยชน์ในการ เข้าถึงบริการสาธารณะ ไฟฟ้า ถนน ประปา อันนี้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๖ เลย ครับท่านประธาน ประเด็นอย่างนี้ครับ คือเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ได้ยื่นหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี แล้ววันที่ ๑๘ ธันวาคม ที่ผ่านมาก็ไปยื่น หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก แล้วก็ที่ผ่านมาก็ไปยื่นที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอีก แล้วก็มีเอกสารไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านประธานครับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่า ประมาณ ๘๗ เปอร์เซ็นต์ แล้วพี่น้องชาติพันธุ์มีอยู่ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาสำคัญของ พี่น้องเหล่านี้ครับ ทุกอย่างในการพัฒนาโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะที่เป็น หน้าที่ของท้องถิ่น ไม่สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการได้ เพราะนั่นคืองบประมาณทุกปีที่ดำเนินการ ไม่ว่า หน่วยรับงบประมาณส่วนไหน เวลาจะเข้าไปดำเนินการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้อง ยากที่จะเข้าถึงการพัฒนา เพราะฉะนั้นก็คือสิ่งที่เขาทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ทุกคนนะครับ เขาบอกว่าช่วยหาทางในการผ่อนปรน ถ้าอย่างนั้นก็คือว่าหลาย อบต. บอกว่า อย่างนี้ไม่ต้องมี อบต. ไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีก็ได้ เพราะว่าทำงานแล้วโดนชาวบ้านด่า ไม่สามารถที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น ๑. เรื่องนี้คำถามก็คือว่า นายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือหรือยัง ๒. รัฐมนตรีที่รับหนังสือนี้เอาเข้าไปสู่ ครม. หรือยัง ถ้าเอาเข้าแล้วอยู่ในขั้นตอนไหน โปรดชี้แจงให้กับผู้นำท้องถิ่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต มีส่วนร่วมในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดนะครับ ผมอภิปรายเรื่องของไฟป่าและ หมอกควัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้วก็เพื่อนสมาชิกหลายคนก็บอกว่ามันรุนแรงขนาดนั้นหรือ วันนี้ผมคิดว่าความสุกงอมของปัญหาและการรับรู้ในสังคมมีความพร้อมนะครับ ผมเข้าใจว่า นอกจากเงื่อนไขทางธรรมชาติที่พวกเราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความกดอากาศ กระแสลม แต่ว่าสิ่งที่มันเป็นสาเหตุที่มนุษย์ก่อขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคขนส่ง อุตสาหกรรม ก่อสร้าง เกษตร แล้วก็ภาคป่า ผมอยากจะลงลึกในกรณีภาคป่าครับท่านประธาน เดี๋ยวสิ่งที่ผมจะเปิด คลิปนี้เกี่ยวข้องกับพี่น้องที่อยู่ในภาคป่า โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในภาคเหนือ ไล่ตั้งแต่ จังหวัดตากไปถึงเชียงราย ๙ จังหวัด ฝ่ายโสตผมขอคลิปด้วยครับ นี่เป็นข้อตกลงระหว่าง ผู้บริหารประเทศก็คือท่านรัฐมนตรี
ผมคิดว่าอันนี้เป็นจุดเริ่มต้น ระหว่างพี่น้องประชาชนกับผู้บริหารที่ได้มีโอกาสได้คุยกันในกรณีสาเหตุของฝุ่นควันที่อยู่ ในภาคป่าครับท่านประธาน ท่านประธานทราบไหมว่าในพื้นที่ของภาคเหนือมีป่าค่อนข้าง ที่จะเยอะ ๖๐ เปอร์เซ็นต์เป็นป่าเต็งรังคือป่าผลัดใบ เพราะฉะนั้นคือความเสี่ยงที่สุดที่จะ เกิดไฟในพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนครับ เขตอุทยาน เขตป่าสงวน ในประเทศไทยที่ไม่มีชุมชนตั้งอยู่มีที่เดียวครับคืออุทยานเขาใหญ่ครับท่านประธาน นอกนั้น พี่น้องประชาชนตั้งอยู่ก่อนที่กฎหมายจะประกาศเกือบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญก็คือ การจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้มีบทบาท ได้มีส่วนร่วม ซึ่งผมก็เข้าใจว่า ตลอดที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนเขาก็มีองค์ความรู้ และหลายพื้นที่ก็พยายามทำงาน ใช้คำ ภาษาที่หรูหน่อยก็ได้ก็คือว่าบูรณาการหรือการมีส่วนร่วมค่อนข้างที่จะได้ดีมากครับ พี่น้อง ประชาชนได้บอกกับพี่น้องส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในฐานะที่ผู้ถืองบประมาณว่าเราไม่ควร จะแยกว่าเป็นกรมป่าไม้ เป็นกรมอุทยานหรือว่าหน่วยนั้นหน่วยนี้ เพราะว่าไฟป่ามันไม่เคย แยกกรมครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นคือการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง การใช้พื้นที่ในการ บริหารงานโดยมีหน่วยงานส่วนต่าง ๆ เข้ามา ผมเชื่อมั่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครับ ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๐ ตอนนี้ปี ๒๕๖๗ แล้ว ๑๐ กว่าปี ผมเชื่อมั่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าเรื่องความรู้ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องกระบวนการบริหารพอมีอยู่ แต่ว่าระบบในการจัดการให้แต่ละส่วน มีบทบาทในการดำเนินการอย่างไร ผมคิดว่านี่ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ครับท่านประธาน ผมยกตัวอย่างเชียงใหม่มีอยู่ ๒,๕๐๐ กว่าหมู่บ้าน หมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่า และหมู่บ้านที่อยู่ติดกับป่ามีประมาณครึ่งหนึ่ง มีประมาณ ๑,๒๐๐ กว่าหมู่บ้าน ผมถามว่า หมู่บ้านที่มันมีไฟเกิดซ้ำซาก ไฟเกิดตลอดเกิดทุกปีสาเหตุมันคืออะไร และที่สำคัญคือเขามี รูปแบบการบริหารการจัดการอย่างไร การจัดการไฟป่าท่านประธานครับ ผมยืนยัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าถ้าหากว่าคนที่จะบริหารจัดการไฟป่าถ้าไม่เข้าใจระบบนิเวศป่าผมคิดว่า อันนี้ยากมาก เพราะว่าท่านจะเอาวิธีคิดหรือว่ากระบวนทัศน์อีกแบบหนึ่งเข้ามาครอบ ซึ่งมัน จะเกิดความขัดแย้งกับผู้คนในพื้นที่อีก ป่าของเราก็มีไม่เยอะครับท่านประธาน มีประมาณสัก ๕-๖ รูปแบบ ไล่ตั้งแต่ป่าชายเลน ป่าพรุ ขึ้นมาเป็นป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขาครับ เพราะฉะนั้นก็คือมันมีบางประเภทที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดไฟส่วนใหญ่ ก็จะเป็นป่าผลัดใบ กรณีที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีเวทีกับพี่น้อง ภาคประชาสังคมและองค์กรภาคีในจังหวัดเชียงใหม่ อันนี้คือตัวอย่างครับท่านประธาน ถ้าหากว่าเราตรึงพื้นที่ของเชียงใหม่ ๑,๒๐๐ กว่าหมู่บ้าน เชียงรายก็เหมือนกัน ตาก ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีกองทุนสนับสนุนให้กับพี่น้องประชาชนโดยการมีส่วนร่วมของ ส่วนราชการต่าง ๆ เราจะเห็นว่าเรื่องนี้กระบวนการตัดสินใจ รูปแบบการทำงานก็จะเป็นของ คนพื้นที่ ความรับผิดชอบสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็เป็นของคนพื้นที่ เพราะฉะนั้นก็คือเราสามารถ ที่จะติดตามว่าทั้งหมดที่มาเป็นพื้นที่เสี่ยงนี้มันมีจุดไหนที่มันมีความเปราะบางและจุดไหน ที่จะไปเติมลงไป อันนี้คือประเด็นกรณีเรื่องของพื้นที่ในเขตป่าครับท่านประธาน ทีนี้ในพื้นที่ เกษตร ตอนนี้เรายังมีพื้นที่เกษตรที่อยู่ในเขตป่า ไม่ว่าจะอยู่ในเขตอุทยานหรือเขตป่าสงวน หรือเขตใด ๆ ของรัฐ ปัญหาตอนนี้ก็คือที่มันไม่ชอบด้วยกฎหมายครับท่านประธาน เรามี นโยบายจะทำ คทช. เรามีนโยบายหลาย ๆ เรื่องที่จะออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ของรัฐต่าง ๆ วันนี้การดำเนินการล่าช้า เพราะนั่นคือรูปแบบของพี่น้องประชาชนที่จะพัฒนารูปแบบ การเกษตรที่มันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงในสิทธิไม่มี ความเสี่ยงตรงนี้พี่น้อง ประชาชนไม่กล้าที่จะลงทุนครับ ส่วนราชการก็เข้าไม่ได้ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานต่าง ๆ จะเข้ามาพัฒนาโครงสร้างในการดำเนินการการเกษตรก็ไม่สามารถ ที่จะเข้าได้ อันนี้คือเป็นประเด็นสำคัญ ผมทราบว่าท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็มาด้วยนะครับ ผมคิดว่ากรณีโครงการแม่แจ่มโมเดลที่ท่านดำเนินการลงไป การมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลระบบต่าง ๆ เพื่อที่จะแยกป่ากับที่ทำกินออกมาโดยการมี ส่วนร่วมของท้องถิ่น อบต. เทศบาล แล้วก็องค์กรประชาชน หลังจากนั้นก็คือค่อยไปรับรอง เรื่องสิทธิว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใด ๆ ที่กฎหมายให้มา แบบนี้ต่างหากที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา กรณีภาคเกษตร ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้ผมคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้ผมยกเป็นหลักการแล้วข้อเท็จจริง ในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการในชุดนี้ที่มาจากผู้เสนอทุกร่าง ที่มาจากทั้งภาครัฐบาล แล้วก็ในส่วนของฝ่ายค้านจะต้องเอาประเด็นข้อเท็จจริงตรงนี้เขียนลงไปในกฎหมาย แล้วก็ เปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตป่าซึ่งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือได้มี ส่วนร่วมในเชิงงบประมาณและการบริหารจัดการครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมในฐานะที่เป็นผู้เสนอญัตติในนาม ของพรรคก้าวไกลร่วมกับคุณธิษะณา ชุณหะวัณ พรรคก้าวไกลมีความห่วงใยในเรื่องของกรณี ผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยจากการสู้รบในกรณีประเทศเมียนมา ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียดอธิบาย เหตุผล ท่านประธานครับ ตามข้อบังคับนี้ผมก็จะต้องอ่านญัตติให้จบก่อนที่ผมจะให้เหตุผล ประกอบ ญัตติที่ผมได้นำเสนอขออนุญาตท่านประธานได้อ่านให้กับท่านประธานแล้วก็ เพื่อนสมาชิกได้รับทราบถึงที่มาที่ไปในการตั้งญัตติครั้งนี้
พื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทยเกิดขึ้นนานกว่า ๓๐ กว่าปีเพื่อรับรอง ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในประเทศพม่ามีอยู่ทั้งหมด ๙ แห่ง ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๔ แห่ง จังหวัดตาก ๓ แห่ง จังหวัดราชบุรี ๑ แห่ง จังหวัดกาญจนบุรี ๑ แห่ง มีจำนวน ประชากรที่อยู่ใน Camp ผู้พักพิงไม่ต่ำกว่า ๗๐,๐๐๐ คน โดยประเทศไทยคาดหวังว่าจะให้ คนเหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราวแล้วจะส่งกลับเมื่อสถานการณ์สู้รบ ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ๓๐ กว่าปีสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่ายังไม่มีท่าทีที่จะ หยุดลง กรณีสถานะชั่วคราวของผู้คนที่อยู่ในศูนย์พักพิงเต็มไปด้วยปัญหา ข้อจำกัดทาง กฎหมาย ทั้งการถูกจำกัดให้อยู่ในแต่พื้นที่ ไม่สามารถที่จะเดินทางเข้าออกนอกพื้นที่พักพิงได้ ผู้คนจึงได้แต่รอคอยว่าความช่วยเหลือที่จะหารายได้มาหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก การเข้าถึงบริการสาธารณะ สิทธิขั้นพื้นฐานในการักษาพยาบาล การศึกษาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย บ้านเรือนยังไม่มีความมั่นคงเป็นแค่ไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วย ใบตองตึง มีสภาพแออัด บ่อยครั้งที่จะเกิดไฟไหม้และลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ สถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่ายังคงมีความต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้นหลังจาก มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เมื่อรัฐบาลทหารพม่าได้ก่อรัฐประหารขึ้นมา ส่งผลให้เกิดสงครามการเมืองในประเทศ ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อต้านการต่อสู้กับรัฐบาล ทหาร มีผู้คนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก หลายหมื่นคนได้หลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหมายถึงประเทศไทยด้วย กลุ่มทหารชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ลุกขึ้นมาจับปืนต่อสู้กับทหารพม่า โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้จำนวนผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าทะลักเข้ามา ในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยปัญหาเดิมของผู้ลี้ภัยจากการสู้รบใน ๙ ที่พักพิงที่อยู่ในประเทศไทย ยังคงเผชิญกับปัญหา ยังขาดความมั่นคงในชีวิต โอกาสที่จะกลับบ้านแทบไม่มี โอกาสที่จะไป ประเทศที่สามมีน้อยมาก ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาการเข้ามาของผู้หนีภัยสู้รบอย่างต่อเนื่อง ตราบใด ที่ประเทศพม่ายังไม่มีความสงบ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเร่งแก้ไขปัญหา ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานกว่า ๓๐ กว่าปี และเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม ที่จะรับมือกับผู้หนีภัยกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และคาดว่าอาจจะ เพิ่มมากขึ้นถ้าหากมีความรุนแรง ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติเพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่ พักพิงชั่วคราว ๙ แห่งในประเทศไทย และผู้หนีภัยสู้รบตามแนวชายแดนพม่า ตามข้อบังคับ การประชุมผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ต่อไปผมจะอธิบายเนื้อหาประกอบที่มี ความจำเป็น
ท่านประธานครับ อย่างที่ผมได้ นำเรียนท่านประธานว่าพรรคก้าวไกลซึ่งมีเพื่อนสมาชิกที่มาจากหลากหลายกลุ่ม กลุ่มที่สนใจ เรื่องของสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มที่อยู่กับคนชายขอบ เราให้ ความสำคัญเรื่องนี้โดยเฉพาะผู้ลี้ภัย ท่านประธานทราบไหมครับ ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในที่พักพิง ชั่วคราว ๙ แห่งใน ๔ จังหวัด ๘ อำเภอ อยู่มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ในร่างที่ผมยกผมบอกว่า ๓๐ กว่าปี แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ก็คือ ๔๐ ปีเต็มครับ ปี ๒๕๒๗ ปีนี้ ๒๕๖๗ ปัญหาที่เราเจอ สถานะของผู้ลี้ภัยทั้ง ๙ Camp ประมาณ ๗๐,๐๐๐ กว่าคนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่เรา เรียกว่า Refugee ตามความหมายสากลนะครับ เพราะฉะนั้นรัฐจึงใช้คำว่า ที่พักพิงชั่วคราว แต่การอยู่ชั่วคราวในกลุ่มของพี่น้องประชาชนที่ลี้ภัยในที่นี้อยู่ชั่วคราวมา ๔๐ ปี เหตุผล ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่ประเทศไทยไม่ได้ไปลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องของ ผู้ลี้ภัย อันนี้จึงเป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคที่เราจะไปรับรองว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย จริงหรือเปล่า ซึ่งในข้อเท็จจริงก็มี ประสบการณ์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการ หลายเรื่อง ผมก็ยังเป็นเด็ก ๆ อยู่ครับท่านประธาน ผมคิดว่าสงครามอินโดจีนกรณีที่เกิดขึ้นเขมร แดงแตก ผมคิดว่าประสบการณ์ตรงนี้ประเทศไทยได้ใช้องค์ความรู้จากสหประชาชาติ ได้ดำเนินการกรณีผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนในการแก้ไขปัญหา มีการจัด Camp เมื่อสถานการณ์สงบ มีการส่งกลับ และส่วนหนึ่งก็ไปประเทศที่สาม แต่ในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผมกล่าวมาทั้ง ๙ ศูนย์นี้ กระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ผมคิดว่าที่ผ่านมาสถานะของผู้อยู่อาศัยตรงนี้ เอาเข้าจริง ๆ เราก็ถามว่ามันมีกฎหมายอะไรรับรองหรือรองรับว่ากระบวนการจัดการให้มัน มีศูนย์พักพิงมันมีกฎหมายอะไรไหม ซึ่งผมอยู่ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการ ชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้ นะครับ เป็นนโยบายของความมั่นคง เป็นนโยบาย เป็นมติ ครม. เพราะฉะนั้นก็คือทางออก ข้อเท็จจริงที่มันมีอยู่นี้สืบเนื่องมาจากที่เราไม่ได้ไปรับรองกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของผู้ลี้ภัย ระหว่างประเทศ อันนี้คือเป็นประการที่ ๑ ทีนี้ส่วนที่เป็นข่าวดี ผมคิดว่า ณ วันนี้ข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในปี ๒๕๖๗ นี้มีนโยบายที่จะอพยพ มีนโยบายที่จะโยกย้ายผู้ลี้ภัย ทั้ง ๙ Camp ไปยังประเทศที่สาม ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมี นโยบายที่จะรับผู้อพยพเหล่านี้ กระบวนการดำเนินการผมคิดว่าเรื่องนี้มีความจำเป็น ที่จะต้องมาพูดในสภาแห่งนี้เพื่อที่จะทำให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสาน ความร่วมมืออย่างเป็นระบบครับท่านประธาน วันนี้คำถามของผมก็คือว่า ๗๗,๐๐๐ กว่าคน ที่อยู่ใน Camp ตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งบางข้อมูลก็ไม่ตรงกันอีกครับ ท่านประธาน เราจะทำอย่างไรให้ระบบการที่จะเข้าถึงสิทธิที่จะไปประเทศที่สามมันมี ความโปร่งใสแล้วก็ตรงกับวัตถุประสงค์ความต้องการของคนที่อยากไปจริง ๆ ผมคิดว่าอันนี้ เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เรามีภาคีที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยเองผมคิดว่าหนีไม่พ้นที่สำคัญก็คือกระทรวงมหาดไทยที่จะต้อง ดำเนินการจัดระบบระเบียบแล้วก็มีกระบวนการคัดกรอง ซึ่งผมทราบว่าในขั้นตอนนี้ได้มี การประสานงานไปแล้วหลายศูนย์อยู่ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดี แต่ปัญหามันไม่ได้เกิดขึ้นตรงนี้ครับ ท่านประธาน ๗๐,๐๐๐ กว่าคนนี้สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นคือว่าผมเชื่อมั่น แล้วก็หลายคนก็บอกว่า ไม่ได้ไปทั้งหมด ไม่ได้ไปประเทศที่สามหรือไปทั้งหมด อันนี้คือปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องคิด จะกลับมาตุภูมิก็กลับไม่ได้ บางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองมาจากไหนด้วยซ้ำไปเพราะว่าเกิดอยู่ในศูนย์ นั่นละครับท่านประธาน ตอนนี้อายุ ๔๐ กว่าปีแล้ว ถามว่าประเทศต้นทางอยู่ที่ไหน เขาก็ไม่ทราบเพราะว่าเขาก็เกิดในศูนย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่ากรรมาธิการวิสามัญที่จะ เกิดขึ้นที่จะมีองค์ประกอบทั้ง สส. ในสภาแห่งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนราชการจะต้องมานั่งคิดว่า กลุ่มที่หลงเหลือที่ไม่ได้ไปและกลับประเทศต้นทางไม่ได้เราจะบริหารจัดการอย่างไร ผมคิดว่า อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าหากว่าจะทำให้เขามีสถานะบางอย่างที่ อาศัยอยู่ในประเทศนี้ แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของการพัฒนาเรื่องสัญชาติหรือ ๆ สถานะบุคคล แต่บุคคลสามารถที่จะดำรงอยู่ได้ในประเทศที่ที่อยู่อาศัยเดิมของเขาคือตรงนี้ที่เขาเกิดมา เนื่องจากว่าไปประเทศที่สามก็ไม่ได้ หรือไม่อยากไป หรือจะกลับต้นทางไม่ได้ ผมคิดว่าจุดนี้ เป็นจุดสำคัญที่กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องช่วยกันพิจารณาว่ามันมีความจำเป็น จะต้องหาทางออกในมาตรการ ซึ่งอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของข้อกฎหมาย ข้อระเบียบ ต่าง ๆ และจะต้องเตรียมความพร้อมในแง่ของความรู้สึก ความเข้าใจของสังคมด้วยว่า คนเหล่านี้จะอยู่ในสถานะอะไรในแผ่นดินไทยครับท่านประธาน
ส่วนที่ ๒ ครับท่านประธาน สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงที่หนีไม่ได้เลยนะครับ ผมคิดว่าตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี ๒๐๒๑ ที่ทหารได้เข้าไปยึดอำนาจของรัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านวันนี้ผมคิดว่าได้ส่งผลกระทบกับ พวกเรา กลุ่มนี้ผมถือว่าเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่ครับท่านประธาน กลุ่มแรก ๙ Camp นี้เป็น ผู้ลี้ภัยเดิมตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ กลุ่มผู้ลี้ภัยใหม่นี้ผมแบ่งคร่าว ๆ เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มที่เป็น พี่น้องประชาชนที่หลบหนีเข้ามาตามชายแดนต่าง ๆ ซึ่งทางราชการเรียกว่า ผภสม. ผภสม. ก็คือผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่ผ่านมาครับท่านประธาน ในช่วงสถานการณ์ที่มัน เคร่งเครียดมาก ๆ โดยเฉพาะที่จังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน จำนวนตัวเลขที่เข้ามาอาศัย ความสงบหรือว่าหนีภัยจากประเทศพม่ามีประมาณ ๕๐,๐๐๐ กว่าคน ตอนนี้ก็ถูกส่งกลับ ไปแล้วเพราะว่าในประเทศต้นทางหรือพื้นที่ที่เขาอยู่มันก็สามารถที่จะมีความสงบระดับหนึ่ง ตัวเลขที่อยู่ในมือผมตอนนี้ฟังจากส่วนราชการไม่น่าจะถึง ๒,๐๐๐ คนแล้วในบางจุด แต่สิ่งที่ มันเป็นปัญหาที่ผมคิดว่ากรรมาธิการที่จะเกิดขึ้น หรือรัฐสภา หรือฝ่ายบริหารจะต้องช่วยกัน พิจารณาก็คือเราไม่สามารถที่จะคาดคะเนได้เลยว่าประเทศต้นทางของเพื่อนบ้านเราจะมี ความสงบสันติสุขเมื่อไร ดูจากสถานการณ์นะครับท่านประธาน วันนี้เราจะเห็นว่ามันมีกลุ่ม กองกำลังต่าง ๆ ที่มีการปะทะกันแต่ละจุด ไม่ว่าจะเป็นทางเหนือ ทางทิศตะวันตกที่ติดกับ ประเทศอินเดีย แล้วก็ทางทิศตะวันออกที่ติดกับประเทศเรา ซึ่งบ้านเรามีพื้นที่ชายแดนติดต่อ กับทางประเทศเมียนมา ๒,๔๐๐ กว่ากิโลเมตร เพราะฉะนั้นคือเราไม่มีทางเลยที่จะสกัด หรือไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเวลาพี่น้องประชาชนอีกฝั่งหนึ่งหนีความตายมาพึ่งพวกเรา จุดนี้ ผมเข้าใจว่าเราจะทำอย่างไรให้มันมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพี่น้องประชาชนที่หนีความตาย ท่านนายกรัฐมนตรีก็พูดถึงเรื่องของระเบียงมนุษยธรรม ตรงนี้ผมคิดว่าบทบาทของประเทศไทย ในฐานะที่เคยเป็นผู้นำ ASEAN ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต้องแสดงออกให้มันชัดเจน จะต้องมีบทบาทที่ชัดเจนในการที่จะวางบทบาทกับกรณีความขัดแย้งภายในประเทศของ เพื่อนบ้านคือกรณีพม่านะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมคิดว่าถ้าหากว่าเรามีกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมา เราจะได้หยิบยกขึ้นมาว่าระเบียงมนุษยธรรมที่เราพูดกันนี้หน้าตามันจะเป็น อย่างไร ระบบบริหารจะเป็นอย่างไร ศักยภาพของประเทศไทยเพียงพอไหม หรือจำเป็น จะต้องเอาความร่วมมือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมมือ อันนี้คือกลุ่มแรกนะครับ กลุ่มเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะข้ามไปข้ามมาระหว่างชายแดน ตอนนี้หน่วยงานที่ดูแลส่วนใหญ่ก็คือจะเป็น ความมั่นคงคือทหาร
กลุ่มที่ ๒ กลุ่มนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาในระบบมาก ๆ ที่ยังเป็นปัญหาในระบบ การบริหารจัดการในกฎหมายไทย รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ กลุ่มที่หนีภัยเข้าไปอยู่ในเมือง ชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ต กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มหนีภัยทางการเมือง กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่หนีภัยการประหัตประหารสืบ เนื่องมาจากความขัดแย้งในพื้นที่ สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือว่าเรายังไม่มีระบบข้อมูลที่ชัดเจนว่า กลุ่มเหล่านี้จะจัดอยู่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยประเภทไหน ไม่ใช่ ผภสม. แต่เป็นกลุ่มที่เข้าไปอยู่ชั้นใน ในเมือง กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางครับท่านประธาน กลุ่มที่มีการศึกษา กลุ่มที่มีทักษะอาชีพที่ดี บางคนเข้ามาแล้วมี Passport แต่วันนี้ต่อ Visa ไม่ได้แล้ว บางคน เข้ามาโดยผิดกฎหมาย กลุ่มเหล่านี้ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาชนบอกว่าอาจจะมีถึง ประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน และสถานะของเขาจะอยู่ในสถานะอะไร ผู้ลี้ภัย หรือผู้ที่จะอาศัยอยู่ ในประเทศไทยในบทบาทอย่างไร ข้อมูลตรงนี้ในส่วนราชการที่เราสอบถามมานะครับ ท่านประธาน ๑. ไม่มีข้อมูล ๒. ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร และกลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่จะ ทรงพลังมาก ๆ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศของเขาด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความมั่นคงก็ดี เรื่องของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพก็ดี กลุ่มเหล่านี้ผมคิดว่าถ้าหากเรามีกรรมาธิการ โดยมาตรการของฝ่ายบริหารก็ดี โดยมาตรการที่จะต้องแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ก็ดี ถ้ากลุ่ม เหล่านี้ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยที่เราจะเรียกอย่างไรก็ได้ แต่ว่าเขาควรจะมีสถานะ เหตุผล ที่จะต้องมีสถานะครับท่านประธาน อันที่ ๑ ก็คือว่าเขาสามารถที่จะไปต่อ ต่อในประเทศ ที่สามได้เพราะว่าเขาก็มี Passport อยู่ บางคนอาจจะไม่มี ๒. ก็คือว่าเป็นแรงงานที่ถือว่า มีทักษะที่ดีครับท่านประธาน เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มเหล่านี้มีบทบาทในการที่จะมาทำงาน ในประเทศไทยให้เรา โดยเฉพาะดูแลกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ใน Camp หรือว่าโดยเฉพาะดูแลกลุ่ม ผู้ลี้ภัยตามชายแดนที่จะต้องใช้บุคลากรที่ทั้งเป็นนักการศึกษา เรื่องของอนามัย เรื่องสุขภาพ เรื่องการแปลภาษาต่าง ๆ เหล่านี้ ผมคิดว่าถ้าเรายกระดับกลุ่มนี้มีสถานะขึ้นมา การจะอาศัย ศักยภาพของบุคลากรจำนวนนี้มาช่วยแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นประโยชน์กับ ประเทศไทยครับท่านประธาน
กลุ่มที่ ๓ นี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพที่กลุ่มใหญ่ ซึ่งมันจะซ้อน ๆ กับแรงงาน ครับท่านประธาน ผมขออนุญาตใช้คำว่า ผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความไม่สงบ ในประเทศพม่า ท่านประธาน กลุ่มเหล่านี้ค่อนข้างที่จะเยอะแล้วก็กระจัดกระจายไปหลาย ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากว่าการประกอบอาชีพ การทำมาหากินในประเทศต้นทาง ในเมืองตัวเองไม่สามารถดำเนินการได้ สถานการณ์การสู้รบไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพ โดยปกติได้ การแสวงหาความอยู่รอด การแสวงหาทางเศรษฐกิจจึงเป็นทางเลือกที่พวกเขา ต้องไป บางคนมาทั้งครอบครัวนะครับประธานแล้ววันนี้เราไม่แน่ใจเลยว่าตรงที่มาชอบด้วย กฎหมายมีจำนวนเท่าไร ที่หนีเข้ามาแล้วผิดกฎหมายมีจำนวนเท่าไร เราไม่มีระบบเลย ท่านประธาน แล้วกลุ่มคนเหล่านี้เราไม่แน่ใจเลยว่าจริง ๆ แล้วคือเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ในแง่ของทักษะแรงงานหรือเป็นแรงงานพื้นฐานทั่วไป อันนี้เราไม่มีระบบข้อมูล ผมคิดว่า อันนี้เป็นประเด็นปัญหา
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ผมคิดว่ามันมีประเด็นเรื่องของนิยาม ความหมายของคำว่า ความมั่นคง ตรงนี้ผมคิดว่าก็สามารถที่จะมาถกมาเถียงกัน ในกรรมาธิการวิสามัญได้ สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งคำถาม ผมอยู่ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ คำถามของผมคือว่าถ้าคนเหล่านี้ มันไม่มีระบบฐานข้อมูล ไม่ได้มีชื่อบนโต๊ะ แล้วหลบ ๆ ซ่อน ๆ อย่างนี้ อะไรคือความมั่นคง ยิ่งเราไม่มีข้อมูล ยิ่งเราไม่มีระบบที่ติดตามประเมินและดำเนินการกับกลุ่มต่าง ๆ ที่ผมกล่าว มาทั้งหมดเหล่านี้ ผมคิดว่าอันนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคและจะเป็นปัญหาแห่งความมั่นคง เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วผมเข้าใจว่ากรณีผู้ลี้ภัยทั้ง ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกที่ผมใช้คือกลุ่มผู้ลี้ภัย ดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ค.ศ. ๑๙๘๔ ท่านประธาน ปีนี้ ๔๐ ปีแล้วทิศทางที่จะต้อง จัดการ ไม่ว่าจะไปประเทศที่สาม ไม่ว่าจะอยู่ต่อเนื่องจะต้องมีความชัดเจนในแง่ของ กระบวนการและระบบ กลุ่มที่มาใหม่ผมคิดว่ามันมีอยู่ ๓ กลุ่มที่ผมว่านะครับ สำหรับพี่น้อง ชาวบ้านที่อยู่ตามชายแดนผมคิดว่าถ้าสงบก็กลับได้ แต่สำคัญที่สุดก็คือว่าที่เราพูดถึง เรื่องระเบียงมนุษยธรรม ผมคิดว่ามันจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นและจะต้องมีระบบบริหารจัดการ อีก ๒ กลุ่มคือผู้หนีภัยทางการเมือง การประหัตประหารไม่มีระบบข้อมูล แล้วก็ผู้ที่หนีภัย ทางเศรษฐกิจเราก็ไม่มีข้อมูล ทั้งหมดนี้ผมอยากจะเสนอต่อท่านประธาน แล้วก็ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าเราควรจะมีกรรมาธิการวิสามัญ เราควรจะมีกระบวนการ ศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือเราเป็นหนึ่งในประเทศ ASEAN และเราเคย เป็นหนึ่งแกนหลัก เราเป็นผู้ก่อตั้ง ASEAN สถานการณ์แบบนี้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะหนี ความรับผิดชอบได้ครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ต้องกราบขอบพระคุณ ท่านประธานครับที่กรุณาให้เวลาผมเพิ่มเติมนะครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และ ชนเผ่าพื้นเมือง เรียนผู้มาชี้แจงจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองทุกท่านนะครับ ท่านประธานครับ ผมอยากจะบอกอย่างนี้ครับว่า ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้ ในนามผู้แทนราษฎรที่เป็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ผมอยู่พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธาน ในสมัยที่แล้วรัฐสภา ชุดที่ ๒๕ รายงานของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เข้ามา ในกรรมาธิการในที่ประชุมใหญ่แห่งนี้ เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกือบทุกพรรค ก็ลุกขึ้นมาอภิปรายให้ความสนใจ เพราะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของท่านและท่านเองก็เป็น พี่น้องชาติพันธุ์ด้วยนะครับ อันนี้คือประเด็นที่ผมอยากจะเกริ่นนำ ท่านประธานครับ ผมอยากจะบอกอย่างนี้ครับว่า กฎหมายฉบับนี้อย่างที่ผู้ชี้แจงได้นำเรียนได้มีการริเริ่มมานาน แต่กระบวนการเข้าสู่สภาตรงนี้ผมก็เป็น ๑ ใน ๒๐ คนที่ลงรายชื่อพร้อมกับสภาชนเผ่า พื้นเมือง และได้รับการรับรองเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ ๑๒,๘๘๘ รายชื่อ แล้วจากนั้น เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ เป็นไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ท่านประธานครับ ผมมีเหตุผล อยู่หลายประการที่จำเป็นจะต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในการบังคับใช้ในประเทศไทยกับพี่น้อง ชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งหมดนี้ท่านประธานครับ ถ้าดูจากเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ คือกลไกสำคัญที่เราเรียกว่า สภาชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ชี้แจงก็ได้ชี้แจงแล้วครับ เพื่อให้สภาเป็นกลไกให้ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศนี้ได้มีองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้มีการรับรองความเป็นตัวตน ความเป็น ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งผมจะลงรายละเอียดนะครับ เพราะฉะนั้นก็คือสภาชนเผ่าพื้นเมืองภายใต้ เนื้อหาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เปรียบเสมือนเป็นโซ่ข้อกลางที่จะทำหน้าที่การทำงานระหว่าง พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองกับส่วนราชการทุกส่วนที่ถูกบังคับใช้ในการทำงานกับพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าถ้าดูเนื้อหาก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการทำแผน ทำความเข้าใจ ทำข้อมูล และสื่อสารกับส่วนราชการต่าง ๆ นะครับท่านประธาน เหตุผลที่ผมจะลงรายละเอียด มีอยู่ ๓-๔ ประการ
ประการแรก ข้อเท็จจริงในสังคมไทยครับ สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม พหุสังคม ผมอยากให้ฝ่ายสื่อได้ขึ้นแผนที่ประเทศไทยครับ วันนี้ส่วนวิชาการโดยเฉพาะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้มีการสำรวจ ชาติพันธุ์ทั้งหมดวันนี้มีไม่ต่ำกว่า ๖๐ ชาติพันธุ์ กระจายไปอยู่ทั่วประเทศครับท่านประธาน ซึ่งทางวิชาการได้แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม อย่างที่ ผู้ชี้แจงได้นำเรียนเมื่อสักครู่นี้นะครับว่ากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์ที่ราบ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่น้ำหรือทะเล และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังอาศัยชีวิตอยู่ในป่า ซึ่งมีความเปราะบาง รวม ๆ แล้วล่าสุดเราได้ข้อมูลมา ๖๐ ชาติพันธุ์ มีประชากรอยู่ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ ก็คือ ๖ ล้านกว่าคน ไม่ใช่น้อย ๆ เลยนะครับ เพราะฉะนั้น ข้อเท็จจริงที่ผมไปล่าสุดก็คือที่จังหวัดสุรินทร์ พี่น้องชาวกูยซึ่งมีองค์ความรู้ด้านเกี่ยวกับช้าง มีคชศาสตร์การดูแลช้างมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านคน กระจายอยู่ในภาคอีสาน หลาย ๆ จังหวัด อันนี้เหตุผลที่ ๑ ครับท่านประธาน ว่า ๖๐ ล้านคน เรามีพี่น้องชาติพันธุ์อยู่ ๖ ล้านคน ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์นะครับ
ประการที่ ๒ ก็คือเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผมดูในรายละเอียดแล้ว ในรัฐธรรมนูญมีอยู่ ๓ หมวด หมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตรา ๔๓ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ และที่สำคัญคือแนวนโยบาย ของรัฐ คือหมวด ๖ มาตรา ๗๐ ได้เขียนไว้ชัดเจนนะครับว่าจะต้องส่งเสริมและให้การ คุ้มครองกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และที่สำคัญคือว่าการคุ้มครอง และส่งเสริมดังกล่าวนั้น จะต้องไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นอันตรายด้านสุขอนามัย อันนี้รัฐธรรมนูญมาตรา ๗๐ เขียนไว้อย่างชัดเจนครับท่านประธาน สิ่งที่ผมอยากจะบอก ต่อไปครับท่านประธาน นอกจากจะเป็นประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงในบริบทว่าเรามี กลุ่มชนชาติพันธุ์จริง ๆ ๖๐ ชาติพันธุ์ ๖ ล้านคน ข้อกฎหมาย ข้อรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่ง คือสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นมติของสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ไปลงนามไว้เมื่อปี ๒๕๕๐ อันนี้เป็นข้อตกลงที่ประเทศไทยได้ไปลงนามไว้กับ นานาอารยประเทศในเวทีสากล เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราจะปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเราจะ ไม่มีกลไกหรือไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่จะคุ้มครองตามข้อตกลงที่เราไปลงนามในเวที สหประชาชาติว่าด้วยเรื่องของสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งผมก็ทราบว่ามีหลายประเทศ ได้มีการออกกฎหมาย ได้มีการสร้างมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะรับรองสิ่งเหล่านี้ตามข้อตกลง ที่ได้ไปตกลงไว้ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนสำคัญที่ได้ลงนามไว้
ประการที่ ๓ อยากจะนำเรียนท่านประธานอย่างนี้ว่าสภาพปัญหา ข้อเท็จจริง พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ๖๐ ชาติพันธุ์ ผมว่ามันมีปัญหาอยู่ ๒ เรื่อง ใหญ่ ๆ นะครับ สิทธิความเป็นตัวตนความเป็นชาติพันธุ์ของพี่น้องชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบ จากนโยบายและกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสโลก พวกเขาไม่สามารถที่จะดำรงรักษาความเป็น ตัวตนที่จะดูแลตัวเองได้ เพราะมันมีอำนาจของรัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิในที่ดิน สิทธิในการดำรงชีวิตภายใต้วัฒนธรรมและองค์ความรู้ของบรรพบุรุษ เนื่องจากว่ามีนโยบาย มีกฎหมายหลายฉบับ ผมยกตัวอย่าง เช่น กฎหมาย พ.ร.บ. อุทยาน พ.ร.บ. ป่าสงวน หรือแม้แต่ทางทะเล พี่น้องชาวเลที่เคยไปหาปลาตามฤดูกาลน้ำขึ้นน้ำลง วันนี้ถูกประกาศ เป็นเขตอุทยานทางทะเล ไม่สามารถจะใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ต้องปรับวิถีชีวิตอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ผลกระทบที่เขาจะดำรงวิถีชีวิตของตัวเองได้ยากลำบากนะครับ เช่นเดียวกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงหรือชาวลัวะด้วยนะครับ เขาดำรงวิถีชีวิตที่เราใช้ คำว่า ไร่หมุนเวียน ในอดีตราชการใช้คำว่า ไร่เลื่อนลอย ไร่หมุนเวียนนี้เป็นระบบการเกษตร บนพื้นที่สูงที่มันมีความชัน มี Slope เกิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ในระบบทางวิชาการเขาก็ ยอมรับว่ามันเป็นระบบเกษตรเดียวที่จะอยู่กับบริบทสังคมและบริบทนิเวศได้ ไม่สามารถ ที่จะทำซ้ำได้ จะต้องหมุนเวียนพื้นที่ ถ้าไม่ทำแบบนี้ความยั่งยืนในการเพาะปลูกแล้วก็ อยู่อาศัยไม่ได้ สิ่งเหล่านี้พี่น้องไม่สามารถดำเนินการได้อยู่ต่อไป เพราะได้รับผลกระทบของ กฎหมายและนโยบาย เราก็จะเห็นหลายพื้นที่วันนี้กลายเป็นไร่ข้าวโพด ที่เป็นไร่ข้าวโพด เพราะว่าไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ ซึ่งรายละเอียดเดี๋ยวท่านประธานอยากจะทราบ ผมจะได้คุยต่อไปนะครับ
ผมอยากจะบอกอีกกลุ่มหนึ่งนะครับ ผลกระทบพี่น้องในทางที่มีความสุ่มเสี่ยง ที่จะสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ราบค่อนข้าง ที่จะเยอะ พี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้บางคนบางหมู่บ้านไม่ได้พูดภาษาของตัวเองแล้ว พี่น้อง ชาติพันธุ์เหล่านี้บางคนบางท่านไม่ยอมใส่เสื้อผ้าของตัวเองแล้ว ทางภาคอีสานผมก็เจอ ทางภาคกลางผมก็เจอ สิ่งที่เขาไม่ดำรงรักษาความเป็นตัวตนนี้ก็คือว่าถูกสังคมกลุ่มใหญ่ สังคมกลุ่มใหญ่นะครับ ไม่เชิงรังแกครับท่านประธาน ก็คือว่าเป็นการด้อยค่าว่าคุณเป็น คนกลุ่มน้อย คุณเป็นคนกลุ่มที่ล้าหลัง พูดภาษาใหญ่ ๆ ไม่ได้ มีแต่ภาษาท้องถิ่น เด็กคน รุ่นใหม่ต่าง ๆ ไม่มีความภาคภูมิใจที่จะดำรงรักษาตัวเอง ล่าสุดข้อมูลที่เป็นทางวิชาการ นะครับท่านประธาน ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นรอยต่อทางเพชรบูรณ์และชัยภูมิเป็นชนเผ่าดั้งเดิม สมัยทวารวดีที่ยังคงดำรงรักษาวิถีชีวิตได้อยู่ ณ วันนี้ครับ แต่เหลือน้อยมากคือพี่น้อง ชาติพันธุ์ญัฮกรุ ภาษาแบบทวารวดีเลยนะครับท่านประธาน ซึ่งอยู่ในสังคมไทยนี้นะครับ เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ ๒ ที่ผมพยายามที่จะสื่อสารกับท่านสมาชิกแล้วก็ท่านประธานก็คือว่า ความเปราะบางเหล่านี้ถ้าหากว่าเราไม่มีการคุ้มครอง ไม่มีกลไก ไม่มีการสนับสนุน ไม่มีพื้นที่ ให้เขา มีโอกาสที่จะสูญหายไปจากสังคมไทย
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอสรุปแบบท้าย ๆ ขอเวลาท่านประธาน เพิ่มอีกสักเล็กน้อยนะครับ กลไกสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่จะรวบรวม ปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ๖๐ ชาติพันธุ์ ก่อรูปมาเป็นคณะกรรมการ คณะทำงาน ซึ่งวันนี้ตัวสภาชนเผ่าที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเขาก่อรูปและเขาก็ใช้คำว่า สส. เหมือนกันนะครับ สมาชิกสภาเหมือนกัน และมีกลไกตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน เขาก็ทำงานเป็นก่อรูปขึ้นมาเพื่อที่จะล้อกับร่างตรงนี้ ทำงานล่วงหน้าไปแล้ว กลไกเหล่านี้จะทำหน้าที่หลายภารกิจ ภารกิจหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าจะต้องไปคุยกับ หน่วยงานภาครัฐราชการคือตั้งแต่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าพี่น้องชาติพันธุ์ ในสังคมไทยที่ดำรงอยู่ตอนนี้ปัญหาคืออะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ อย่างไร
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมอยากจะขอให้เพื่อน ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกพรรคนะครับ อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วครับว่าในสมัยรัฐสภาชุดที่แล้วท่านก็ได้อภิปราย สนับสนุนเกี่ยวกับร่างของกรรมาธิการด้านชาติพันธุ์มาโดยตลอด แล้วท่านก็ยืนยันว่า ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์ในสังคมส่วนใหญ่ ผมอยากจะให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกพรรคช่วยกันสนับสนุน ช่วยกันยกร่างกฎหมายฉบับนี้ในพื้นที่ของรัฐสภา ให้มีกรรมาธิการ ในการพิจารณา ในการออกกฎหมายร่วมกัน ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ นิดเดียวครับ
ผมเสนอรอบเดียวกันเลย ไหมครับท่านประธาน เผื่อว่าท่านรัฐมนตรีจะได้ตอบเลยครับ
ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมไม่ได้แย้งนะครับ ผมคิดว่าจะต้องบันทึกไว้ในการประชุมรัฐสภาของเรา อย่างนี้ท่านประธานครับ โดยเจตนา ของผู้ร่างกฎหมายทั้งหมดส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในวงเดียวกันเลย ก็จะอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ไม่ว่าทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ไม่ว่าร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่างของ P-move ร่างของพรรคก้าวไกลอะไรพวกนี้ ส่วนใหญ่เขาจะมีวิธีการในการประชุมร่วมกัน เจตนา ครั้งแรกครับท่านประธาน เจตนาครั้งแรกของผู้ร่างทั้งหมดมีเจตนาที่อยากให้ทุกร่าง เข้าพร้อมกัน อันนี้คือเจตนาของพวกเรา สิ่งที่ผมอยากจะให้บันทึกในประวัติศาสตร์ กรณีที่มันมีกฎหมายของประชาชนเข้ามา ผมคิดว่าการทำหน้าที่ของรัฐบาลของ ครม. ผมไม่อยากให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ ร่างของประชาชนพร้อมแล้วเข้าสภา แต่ร่างของ ครม. ไม่พร้อมนะครับ ซึ่งมันก็จะทำให้เสียเวลาครับ ประเด็นสำคัญอย่างนี้ ถ้าดูจาก ระยะเวลานะครับ ผมคิดว่า ครม. ชุดนี้ก็ทราบอยู่แล้วนะครับว่าร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง ได้บรรจุในวาระการประชุมของรัฐสภา ชุดที่ ๒๕ แล้ว พอท่านขึ้นมาเป็น ครม. ผ่านการ ประชุมไปแล้ว ๑ สมัย อันนี้สมัยประชุมครั้งที่ ๒ ของปีนี้ ก็คือความไม่พร้อมของฝ่าย ครม. มันก็เลยทำให้กระบวนการที่เป็นเจตนาตั้งแต่เริ่มต้นร่วมกัน คือว่าอยากให้พิจารณาทุกฉบับ พร้อม ๆ กัน เพราะว่ามี ๒ ฉบับ ๓ ฉบับที่จะต้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นคนลงนาม เพราะว่าเป็นร่างที่เกี่ยวกับการเงิน ทั้งหมดนี้ผมอยากให้ที่ประชุมแล้วก็ทุกฝ่ายช่วยกันบันทึก ไว้ว่ากรณีที่มันมีร่างของประชาชนเข้ามานี้ ผมคิดว่าฝ่ายรัฐบาลทุกฝ่ายหรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ การดึงกลับไปเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ผมก็ เห็นด้วยนะครับ แต่ว่าความล่าช้านี้มันเกิดจากกระบวนการของฝ่ายบริหาร ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ขอหารือกับท่านประธานไปยังกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย แล้วก็สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๑๖ ที่ผ่านมานี้ก่อนที่ผมจะไปร่วมงานคริสต์มาสที่อมก๋อย ผมได้รับเรื่องร้องเรียนที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยท่านนายกลัดดา ชัยชนะ โดยการประสานงานของคุณสมเกียรติแล้วก็คุณออยนี้ครับ ผมอยากให้ขึ้นรูปนี้ครับ ท่านประธาน
อันนี้เป็นความรับผิดชอบ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองนะครับ ตลิ่งที่มันทำเสร็จเรียบร้อยอยู่อำเภอสันป่าตอง ฝั่งที่ไม่ได้ทำนี้อยู่อำเภอดอยหล่อครับท่านประธาน ลำน้ำตรงนี้เขาเรียกว่าลำน้ำขานนะครับ ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง คือในฤดูกาลนี้หน้าฝนที่จะมานะครับท่านประธาน ถ้าเราไม่แก้ปัญหา ถนนเส้นนี้ที่ผมยืนอยู่พร้อมกับที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนก็จะหายไปเลย เพราะฉะนั้น คือเวลาทำเรื่องนี้ อันนี้อยากจะฝากไปทางกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าเวลาทำนี้มันอยู่ คนละอำเภอก็จริง แต่ว่าน้ำนี้ไม่ได้แยกอำเภอครับท่านประธาน เพราะนั่นคือเวลาทำฝั่งหนึ่ง ก็ต้องทำฝั่งอีกหนึ่ง ถ้าไม่ทำ ในฤดูกาลหน้าฝนปีนี้ฝั่งอำเภอดอยหล่อก็จะเจอกระแสน้ำขาน พัดพาหายไป ก็อยากจะฝากนะครับ และเป็นการเร่งด่วนเลย ผมคิดว่าท่านจะหางบประมาณ ตรงไหนก็ได้ งบฉุกเฉินตรงไหนก็ได้ ถ้าไม่ทำฝั่งอำเภอดอยหล่อนี้จะหายไปเลย
เรื่องที่ ๒ อันนี้เป็นการหารือแบบเร่งด่วน ท่านประธานครับ ผมทราบเมื่อเช้านี้ ว่าสภาองค์กรชุมชนประเทศไทยจะมาขอใช้พื้นที่ของรัฐสภา คือชั้น B1 ท่านประธาน ไม่อนุญาต ผมคิดว่าเป็นการจัดเวทีของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ผมก็ไม่ทราบว่า ท่านประธานไม่อนุญาตด้วยเหตุผลอะไร ผมได้รับเรื่องเมื่อเช้านี้จริง ๆ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
ขอบคุณครับท่านประธาน กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ผมอยากจะให้ความเห็นต่อกรณี ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล เพื่อการแก้ไขปัญหา สังคม การลงทุน และการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ท่านทรงยศ รามสูต ท่านประธานครับ เรื่องนี้ผมอยากจะให้ความเห็นที่มันเป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งท่านสมาชิก ผู้เสนอญัตติก็ได้อภิปรายไปแล้ว ผมจะลงรายละเอียดในแง่ของฤดูกาลกับงบประมาณ ที่ลงไปในพื้นที่ มันมีปัญหาสู่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณครับท่านประธาน ผมยกตัวอย่างกรณีอย่างนี้ครับท่านประธาน เอาให้ใกล้ที่สุดใกล้กับเราที่จะเกิดขึ้น ในเดือนหน้านี้ครับท่านประธาน เรื่องงบประมาณไฟป่าและหมอกควัน อันนี้เป็นสิ่งที่ เราถกเถียงกันมาตลอดว่างบประมาณมันไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ขององค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรของประชาชนต่าง ๆ ที่จะต้องได้รับงบสนับสนุนจากข้าราชการ งบประมาณที่ลงไปไม่ว่าจะเป็นงบสนับสนุน งบอาหาร งบอุปกรณ์ งบดำเนินการ งบจัดเตรียมอะไรต่าง ๆ งบประมาณที่ลงไป พอมันลงมา ฤดูกาลของไฟป่า หมอกควัน หมดไปแล้ว อันนี้คือข้อเท็จจริงครับท่านประธาน เพราะฉะนั้น เราพยายามเสนอในที่ประชุมเครือข่ายขององค์กรต่าง ๆ ว่าปัญหาทั้งหมดมันเป็นเรื่องของ กรอบงบประมาณที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ว่างบประมาณจะใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมสมมุติว่า ปีนี้ครับ แล้วก็จะจบในกันยายนในปีถัดไป เพราะฉะนั้นความไม่สอดรับในกรณีอย่างนี้ กรณีไฟป่า ผมคิดว่าเห็นได้ชัดเจน แล้วก็หน่วยงานราชการที่เป็นผู้รับงบประมาณที่จะต้องไป ดำเนินการกับพี่น้องประชาชนก็จะเจออุปสรรค หัวหน้าส่วนราชการหัวหน้าท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องไปทำงานกับพี่น้องประชาชนจะต้องเอาเงินสำรองของตัวเอง หรือว่าบางที ก็ไปกู้ไปยืมมานะครับท่านประธาน อันนี้ก็สร้างอุปสรรคปัญหาให้กับการดำเนินงาน ที่มันไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามฤดูกาลในพื้นที่
ประเด็นที่ ๒ ก็คือโดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน คือบ้านผมอยู่บนดอย ครับท่านประธาน บางพื้นที่ผมก็เห็นเวลาทำงบประมาณ ในการก่อสร้างทำถนนซ่อมก็ดี หรือว่าทำใหม่ก็ดี หรือว่ามีการปรับปรุงพื้นที่ไหล่ทางก็ดี ก็จะมาช่วงหน้าฝนครับ ท่านประธานลองนึกภาพว่าบนดอยเวลามีการขนปูน ขนทราย ขนอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นไป ในการซ่อม เวลากองไว้ในพื้นที่ Slope ที่มันมีความลาดชันเกิน พอฝนมาพัด พาไปหมดเลยครับ ท่านประธาน เพราะฉะนั้นก็คือประสิทธิภาพที่จะใช้วัสดุ อุปกรณ์ ที่มันตาม Spec จริง ๆ หรือว่าผู้รับเหมาที่จะดำเนินการให้มีค่าใช้จ่ายในกรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติในการ ก่อสร้างต่าง ๆก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็จะใช้เวลาเพิ่มขึ้น ก็จะนำไปสู่ประสิทธิภาพต่าง ๆ ในการทำงานของผู้รับเหมา แล้วก็ส่วนราชการมีปัญหามาก ๆ ซึ่งตัวโครงสร้างพื้นฐาน มันไม่ใช่เฉพาะถนนหนทางซอยเล็ก ๆ ครับท่านประธาน มันหมายถึงอาคาร มันหมายถึง ทุก ๆ อย่างนะครับ ล่าสุดนี้ผมยกตัวอย่างครับท่านประธาน น่าจะเป็นเป็นโครงการของ สำนักงานพลังงานจังหวัด ที่ได้งบประมาณจากกองทุนพลังงานจังหวัด จะไปให้พี่น้อง ที่อมก๋อยในการจะให้มีแสงสว่างมีไฟฟ้าใช้ โดยการใช้โครงการเรื่องของพลังงานสะอาดก็คือ โซลาเซลล์ ก็ใช้งบประมาณหลายสตางค์อยู่ แต่ช่วงที่งบดำเนินการช่วงฝนที่ผ่านมาจะต้องใช้ Four Wheel จะต้องใช้คนที่เยอะมากในการขนอุปกรณ์ ซึ่งมันเป็นรายละเอียดมากในทาง วิศวกรรมอันนี้ผมก็ไม่ทราบนะครับต้องขนอุปกรณ์ในช่วงหน้าฝน ซึ่งมันเป็นช่วงที่รถปกติ เดินทางไม่ได้คนก็ต้องเดินทางโดยการเดินเท้าหรือว่ามอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นก็คือเหตุผล ที่ฤดูกาลกับงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ อย่างกรณี ไฟป่า หมอกควัน และกรณีการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทุกประเภท ในภาคเหนือที่ผมสัมผัสมาตลอดชีวิตจะเจอปัญหาเรื่องนี้ทำให้ ประสิทธิภาพทำให้การดำเนินงานมีปัญหา บางพื้นที่ถ้ามีทางลูกรังเส้นเดียวครับท่านประธาน ผู้รับเหมาต้องขอให้ประชาชนในพื้นที่หยุด เป็นอาทิตย์เลยนะครับ ห้ามเข้าออก เนื่องจากว่าทำถนนมันไม่มีทางเบี่ยงอะไรเลย เพราะฉะนั้นก็คือว่าถ้าเราหาทางออก ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะมีกรรมาธิการวิสามัญไหม หรือจะ ส่งไป ครม. ครับ ช่วยพิจารณาตรงนี้ว่าให้มันสอดคล้องกับพื้นที่จริง ๆ เพราะฉะนั้นก็มาสู่ ในประเด็นเป็นข้อเสนอครับท่านประธาน คือผมยังยืนยันเรื่องนี้ทั้งประเทศทั้งภาคเหนือ ถึงภาคใต้ ความยาวประมาณ ๒,๐๐๐ กว่ากิโลเมตรครับท่านประธาน ฤดูกาลก็ไม่เหมือนกัน ช่วงภาคเหนือเป็นอากาศหน้าหนาว ภาคใต้ฝนตก ทางออสเตรเลีย ทางอินโดนีเซีย ทางภาคใต้เป็นหน้าฝน เพราะฉะนั้นก็คือความไม่สอดคล้องกับในบริบทพื้นที่ทุกภูมิภาค จึงเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นความคิดเห็นส่วนตัวผมผมคิดว่าการกระจายอำนาจในการบริหาร จัดการในบางกรณี เช่น เรื่องไฟป่าหมอกควัน เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมันเกี่ยวข้อง กับเรื่องของภูมิอากาศ การจัดสรรงบประมาณมันจะนำไปสู่การทำให้มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการกระจายอำนาจในบางพื้นที่อย่างนี้ได้หรือไม่ อันนี้เป็นข้อสังเกตข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้ญัตติมันมีประเด็นที่สอดคล้องกับเนื้อหาในญัตติ และสอดคล้องกับประเด็นในพื้นที่ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ญัตติเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา และแก้ไขปัญหากรณีค่าไฟแพง ท่านประธานครับ ผมอยู่ในกรรมาธิการเรื่ององค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ ในสภาชุดที่ ๒๕ ก็ได้มีการสอบถามเรื่องนี้ครับท่านประธาน ผมตั้งสมมุติฐาน อย่างนี้ครับ ทำไมค่าไฟถึงแพง ที่มันแพงเพราะว่ามันมีระบบการผลิตที่ผูกขาด เดี๋ยวผม จะลงรายละเอียด ในความเป็นจริงญัตติของคุณธิษะณา ชุณหะวัณ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ ในมาตรา ๕๖ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ มันเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก แต่กระบวนการที่ทำให้ค่าไฟมันแพงมันไปเกี่ยวข้องกับ ตัวละครอยู่หลายตัวที่ทำให้กระบวนการผลิต หรือกระบวนการดำเนินการมันไปผูกขาดครับ
ตัวละครแรกก็คือกระทรวงพลังงานครับท่านประธาน ประเด็นที่ผมพยายาม สืบข้อมูลมา ณ วันนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนควบคุมดูแลเกือบทั้งหมดในการออกนโยบาย ปัญหาที่มันแพงวันนี้ ตอนนี้เรามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในข้อเท็จจริง เราใช้อยู่ที่ประมาณ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันแพงเพราะว่าเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใน การผลิต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดครับท่านประธาน อาจจะออกมาเป็นค่า FT ผมเคย สอบถามแล้ว FT มันคือค่าอะไร เขาบอกว่าเป็นค่าดำเนินการที่ไม่อาจจะลงรายละเอียดได้ มันหมายถึงค่าอะไรบ้าง ก็ไม่รู้ครับท่านประธาน โดยรวมแล้วคือเราผลิตไฟฟ้าในประเทศนี้ ทุกระบบเลย๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราใช้เพียงแค่ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบค่าไฟที่ผลิตทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันแพงครับ เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวข้องกับตัวละครที่ผมว่าก็คือกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นคนดูแลนโยบายเรื่องนี้ครับ
ตัวละครที่ ๒ ก็คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผมเคยถาม ในที่ประชุม ๒ องค์กร ก็จะตีปิงปองกันไปกันมาว่าใครมีอำนาจ ใครไม่มีอำนาจ ตัวละคร ตรงนี้ทั้งหมดนี้ถ้าจะส่งให้กรรมาธิการพลังงานผมคิดว่าถ้าไม่คุยถึงกลไกตัวละครที่ผมว่านี้ เป็นไปยากมากที่จะแก้ปัญหา
ตัวละครที่ ๓ ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคอันนี้ก็ไม่เบาครับท่านประธาน ที่ผ่านมาอาจจะมีอำนาจเยอะ แต่วันนี้คือ มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและมีกระทรวงพลังงาน และบอร์ดของคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ท่านประธานลองไปดูครับ ไม่มีรัฐวิสาหกิจอยู่ตรงนั้น เป็นบุคคล ภายนอกที่บอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราไปถอดรหัสดูจริง ๆ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงาน ซึ่งหมายความว่าเขาจะผลิตเท่าไรก็ได้ ตามนโยบายของเขา แล้วก็ให้ประชาชนเป็นผู้รับซื้อ จะใช้หมด ไม่หมด ไม่เป็นอะไร บางโรงไฟฟ้ายังไม่เดินเครื่องเลยครับ แต่วันนี้ประชาชนต้อง รับผิดชอบค่าลงทุนทั้งหมด อันนี้มันเป็นกระบวนการผูกขาดในการผลิตทำให้ประชาชน ต้องรับผิดชอบ ซึ่งตัวนี้เป็นสาเหตุใหญ่นะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเสนอให้กับ ท่านประธานในวันนี้ โอเค ถ้าไม่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญจะไปอยู่ในกรรมาธิการพลังงาน หรือจะมีอนุกรรมาธิการหรือมีคณะกรรมการ ถ้าไม่ไปดู ๓ องค์กรที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ในวันนี้ อำนาจและดาบที่เขามีอยู่เขากำหนดเลยถ้าไม่ไปแก้เรื่องนี้อย่างไรก็ไม่จบครับ ประชาชน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ภาษีประชาชนต่าง ๆ ก็ต้องไปจ่ายลงที่นั่นนะครับ ท่านประธานก็ทราบอยู่แล้วมีบางบริษัทใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ ปี ๑๕ ปี เป็นเจ้าสัวเป็นคนที่ รวยที่สุดในประเทศไทยก็มาจากตรงนี้ ตรงพลังงานตรงนี้ครับ ทั้งหมดนี้ก็คือใช้เงื่อนไข เครื่องมืออะไรครับ ก็ใช้เครื่องมือในแง่ของกฎหมายพลังงานคณะคณะกรรมการตรงนี้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก คนที่จะเข้าไปดำเนินการในกรรมาธิการพลังงาน ที่จะเป็นอนุกรรมาธิการก็ดี จะเป็นอะไรก็ดี ท่านต้องไปดูตรงนี้นะครับ เรื่องอื่นมันเป็น เรื่องจิ๊บจ้อยครับท่านประธาน เป็นเรื่องปลีกย่อย ถ้าไม่ดูตรงนี้อย่างไรมันแก้ไม่ได้ครับ เพราะหัวหลักจริง ๆ ตัวที่ทำให้เรื่องที่ไฟมันแพงโดยการผูกขาดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ มันอยู่ตรงนี้ครับ สุดท้ายครับท่านประธาน ผมคิดว่าประเทศไทย เรามีทางเลือกเยอะแยะ ผมเคยอภิปรายในห้องประชุมแห่งนี้มาโดยตลอด แล้วผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับกระแสของโลก เราพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต เราพูดถึงเรื่อง การใช้พลังงานสะอาด แต่วันนี้ผมคิดว่านโยบายตรงนี้กระทรวงพลังงานแล้วก็คณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน ไม่มีความชัดเจนพอครับ ประเทศไทยมีอยู่ ๒๒ ล้านครัวเรือน ๒๒ ล้านครัวเรือนนี้ สามารถที่จะเป็นผู้ผลิตไฟได้ทั้งหมดเลย เราไม่มีปัญหา เราไม่มีความ ด้อยประสิทธิภาพเรื่องเทคโนโลยีและความรู้ วันนี้เรามีวิศวะ วันนี้เรามีเทคโนโลยี ผมเคย ทดลองครับ ท่านประธานไปดูผมก็ได้นะครับ ไฟฟ้าเราเก็บมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ เราก็ใช้ ถ้าไฟไม่พอเราก็ดึงของหลวงมา หมายความว่ามันจะมีระบบสวิตช์ปิด-เปิดอย่างนี้ ไม่ต้องขายคืนก็ได้ครับ สมัยนี้เราทำได้แล้วมันมีระบบ ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ครัวเรือน ๒๒ ล้านครัวเรือน เป็นผู้ผลิตไฟเอง ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแสงและมีศักยภาพในการผลิตเรื่องนี้ ทำไม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทำไมกระทรวงพลังงาน ทำไม EGAT ไม่พูดถึงเรื่องนี้
ประเด็นที่ ๒ ท่านประธานครับ วันนี้ผมคิดว่าบริการสาธารณะมันไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ระดับส่วนกลางจะต้องบริการเท่านั้น วันนี้ในกฎหมายท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล พูดถึงเรื่องของหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องบริการสาธารณะ เพราะฉะนั้น คือเรื่องของไฟฟ้าท้องถิ่นไหนมีศักยภาพ ท้องถิ่นไหนที่จะผลิตไฟฟ้าได้เอง ไม่ว่าจะเป็น พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือชีวมวลหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ขอให้ดำเนินการโดยภายใต้ กระบวนการผลิตที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ วันนี้เราจะต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ที่มีศักยภาพเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง ทั้งหมดที่ผมเสนอมานี้ครับท่านประธาน กรรมาธิการพลังงานจะต้องไปพิจารณา ถ้าหากว่าชุดที่ไปดำเนินการไม่พิจารณาในประเด็น ๓ ตัวละครที่ผมว่านี้ อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ทำไมผมต้องมาพูดถึง เรื่องของการจัดการขยะ พื้นที่สูงของผมก็เจอปัญหาครับ ผมอยากจะบอกท่านประธาน อย่างนี้ว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย เป็นปัญหาทั่วโลก แต่ที่สำคัญ ก็คือว่าประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเรา รัฐสภาแห่งนี้ก็เคยไปดูงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ ทางยุโรปครับท่านประธาน แล้วก็มีหลายประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศที่การบริหารจัดการ ขยะที่แย่กว่าเราก็มี ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าหัวใจสำคัญก็คือว่าการจัดการขยะนี้จัดการได้ ขอให้มี เครื่องมือมีความจริงใจและจริงจังครับ สิ่งที่ผมอยากจะอธิบายต่อไปเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า จะสอดคล้องกับประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล คุณพิธาได้อภิปรายนะครับ กรณีเรื่องของต้นน้ำ ซึ่งของผมนี้เป็นเรื่องต้นน้ำของต้นน้ำจริง ๆ ครับ ผมอยากจะบอกความจริง อย่างนี้ครับ เมื่อผมเป็น สส. สมัยที่ ๒๕ ผมเดินทางไปที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พี่น้อง ชุมชนที่ดอยอ่างขาง ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สูงแล้วก็เป็นพื้นที่ ชุมชนท่องเที่ยว
ปัญหาของเขาก็เจอขยะครับ ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่สูงอันนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ผมยกมา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลักษณะคล้าย ๆ กัน เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ผมไม่แน่ใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ตรงนี้เคยไป เที่ยวไหม อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไปเพิ่มขยะในพื้นที่ก็ได้ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเกิดจาก ภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ภายในชุมชนก็จะมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการครับ สิ่งที่ชุมชนพยายามทำคือไม่ใช่ปฏิเสธนักท่องเที่ยวครับ เขาก็ต้องการการท่องเที่ยว เขามีความตั้งใจที่จะบริหารจัดการขยะของเขาเองนะครับ ปัญหาที่เราเจอมีอยู่ ๒-๓ ประเด็น
ประเด็นแรก ก็คือว่าพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เขตป่าลุ่มน้ำชั้น ๑ ลุ่มน้ำชั้น ๒ การขอพื้นที่เพื่อที่จะเป็นสถานีเก็บขยะรวบรวมขยะนี้ดำเนินการไม่ได้ครับท่านประธาน เพราะว่าอยู่ในอำนาจการดูแลของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะขอประมาณสัก ๑ ไร่ ๒ ไร่เพื่อที่จะเป็นพื้นที่ในการรวบรวมเก็บขยะนะครับ ทำไมต้อง รวบรวมครับท่านประธาน จากจุดจัดการขยะในพื้นที่นี้ จากชุมชนไปถึงที่รวบรวมในระดับ ตำบลต้องใช้ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ไม่ใช่ทางแบบทางเรียบเหมือนทั่วไป ต้องขึ้น เขาลงห้วยและเกิดความอันตราย เพราะฉะนั้นก็คือหลายท่านบอกว่าให้เทศบาล ให้ อบต. ทำอย่างนี้ ผมถามนิดหนึ่งคือว่าเทศบาล อบต. ทั้งประเทศนี้ตั้งอยู่ในเขตป่ากี่ อบต. ตั้งอยู่ใน เขตของที่ดินของรัฐเท่าไร เวลาจะดำเนินการอะไรในประเด็นแรกที่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคได้อภิปรายคือ ต้องบริหารจัดการต้นน้ำ ๑ ๒ ๓ ๔ ประเด็นสำคัญก็คือว่า แม้แต่จะขอใช้พื้นที่จะบริหาร จัดการแบบพื้นฐานก็ยังเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นคือเวลาคิดเรื่องระบบบริหารจัดการขยะนี้ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องความรู้และเทคนิคครับ มันมีปัญหาโครงสร้างในการบริหาร จัดการ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับท่านประธาน ผมอยู่ที่จอมทอง ดอยอินทนนท์ก็เจอปัญหา มีปีหนึ่งคือเจอขยะวันละ ๒๘ ตัน เอาไปจัดการอย่างไรครับ เทศบาลมีรถคันเดียว นักท่องเที่ยวก็มาเยอะ อุทยานก็มีรถ ๒-๓ คัน เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ผมพยายามจะชี้ว่า ถ้าจะให้ต้นทางต้นน้ำจัดการปัญหาเรื่องนี้ จะต้องเคลียร์ปัญหาเรื่องของพืชที่การใช้ในการ บริหารจัดการขยะแค่เป็นสถานีเก็บ พื้นที่ตำบลบ้านหลวงใช้เวลาประมาณ ๕-๖ ปี ในการ ขอใช้พื้นที่ เพราะฉะนั้นมันมีความทับซ้อนในแง่ของอำนาจการบริหารจัดการ เราพูดเรื่องขยะ ที่มันเยอะในพื้นที่ในชุมชนได้ครับท่านประธาน แต่เวลาจัดการมันไปเกี่ยวข้องกับอำนาจอื่น มากมาย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการขยะไม่ใช่แค่เรื่องความรู้และเทคนิค แต่มันเป็นเรื่อง ของกลไกโครงสร้างอำนาจที่จะต้องให้เครื่องมือกับคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดครับ
ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการขยะนี้ ผมมี ประสบการณ์ทำงานขยะกับเครือข่ายชุมชน แล้วก็หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ ผมเจอคนที่เกี่ยวข้องกับขยะในระดับพื้นที่ ซาเล้งคนเก็บขยะ แล้วก็ผู้ประกอบการระดับ เล็ก ๆ ที่รับซื้อขยะ คนเหล่านี้ผมต้องยกย่องครับ เป็นคนที่รักษาโลก เป็นคนที่คัดแยกขยะ รู้จักความรู้เยอะกว่านักวิชาการและพวกเราอีกหลายคน เขาจะรู้ว่าตัวไหนมันไป Reuse ตัวไหนมา Recycle เหล็กอย่างไร คัดออกมาเรียบร้อย แล้วก็ส่งแยกแยะ แล้วก็ทำเป็นสร้าง มูลค่า อันนี้คิดเบื้องต้นนะครับ
ปัญหาที่ผมเจอครับท่านประธาน ผมมีโอกาสได้คุยกับรัฐมนตรีคนก่อน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเลย และที่สำคัญก็คือโรงที่ซื้อขยะ เก็บขยะต่าง ๆ เหล่านี้เก็บภาษีเท่ากับร้านทองครับ โรงเรือนเหล่านี้ ถ้าจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้น ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค เรื่องความรู้ เรื่องทักษะ มันต้องปลดล็อก สร้างแรงจูงใจตรงนี้ ถ้าหากว่าเราสนับสนุนให้ความรู้เกี่ยวกับซาเล้ง สนับสนุนเรื่องรถ เรื่องความปลอดภัย ขยะอันตรายเป็นอย่างไร ต้องแยกแยะอย่างไร ต้องจัดการอย่างไร แต่ว่าพูดถึงว่าทุกอาชีพมีประโยชน์ต่อประชาชนแล้วก็สังคม แต่ว่าบางทีในอีกมุมมองหนึ่ง ผู้ประกอบการต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเขาได้รับการลดหย่อนภาษีในฐานะคนที่มีส่วนร่วมในการ จัดการขยะ ท่านประธานลองนึกภาพนะครับว่าผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศไทยจะมี ความภูมิใจและจะมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่ต้นทางได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า กรรมาธิการจะต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก ๆ วันนี้เราบอกว่าขยะมีกี่ประเภท ตอบได้หมดเลยครับ ขยะที่ย่อยสลายได้ ขยะที่เป็นพลาสติก ขยะที่จะต้องไป Reuse Recycle ขยะอันตราย ขยะมีพิษ มีหมดเลยครับ แต่ละถังมีสีหมดเลยนะครับ สีนี้ทิ้งอะไร ๆ แต่รัฐสภาเรายังมีปัญหา อยู่ครับ ทิ้งไม่ตรงตามหลักวิชาการ อันนี้ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นประเด็นที่ผมอยากจะพูด ถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าการคิดถึงเรื่องของกฎหมายและกระบวนการกระจายอำนาจในการ ตัดสินใจบางอย่าง ทำไมผมต้องพูดอย่างนี้ครับ ต่างประเทศบางประเทศสามารถที่จะ แยกขยะต้นทางได้ เพราะเขามีมาตรการและกระบวนการแรงจูงใจ วันจันทร์เก็บขยะสด วันพุธเก็บขยะนี้ วันศุกร์เก็บขยะนี้ คนที่ไม่ทำตามนี้ก็โดนปรับ คนที่ทำแล้วก็มีกระบวนการ ที่ถูกต้องได้แรงจูงใจลดภาษี ได้รับการสนับสนุน มาตรการแบบนี้ต่างหากที่จะนำไปสู่ กระบวนการจัดการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะฝาก ผมคิดว่าเรื่องความรู้มันเต็ม มหาวิทยาลัยแล้ว เรื่องความรู้มันเต็มกับหน่วยงานหมดแล้ว อบรมแล้วอบรมอีก สัมมนาแล้ว สัมมนาอีก แต่สิ่งที่มันทำไม่ได้ก็คือเวลาทำจริง ๆ กฎหมายขัดแย้งกันเลย ขอบคุณ ท่านประธานครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วน ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ต่อกรณีที่กรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้เสนอรายงาน ต่อที่ประชุมสภา เรื่อง การจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของ สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ สสร. เบื้องต้นผมอยากจะบอกท่านประธาน ว่าผมเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง สสร. ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานครับ ผมยืนยัน แล้วผม ก็อยากจะอธิบายเหตุผลประกอบต่อไป ท่านประธาน ผมได้ใช้ชีวิตในช่วงที่มีการร่าง รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ผมก็มีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในการที่จะสื่อสารให้กับพี่น้องประชาชน ท่านประธานจำได้ไหม ท่านอาจารย์อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน ก่อนที่จะมาเป็นประธาน บรรยากาศการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมครับท่านประธาน ส่วนหนึ่งก็จะมีธงสีเขียวจำได้ ไหมครับ อีกส่วนหนึ่งก็จะอยู่ที่สนามหลวงธงสีเหลืองใช่ไหมครับ บรรยากาศแบบนี้ผมคิดว่า นี่ล่ะคือบรรยากาศของการมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าทำอย่างไรให้บรรยากาศการทำรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน มีวิธีเดียวครับท่านประธานก็คือการเลือกตั้งครับ ทำอย่างไรให้ระบบการร่างรัฐธรรมนูญ พี่น้องประชาชนจะได้รับรู้รับทราบและมีส่วนร่วมในระบบ ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ เรามี สสร. อยู่ ๙๙ คน ตัวแทนเขตหรือมาจากการเลือกตั้ง ๗๖ จังหวัด ณ เวลานั้น วันนี้เรามี ๗๗ จังหวัด แล้วก็มาจากสถาบันศึกษาเสนออีก ๒๓ แล้วก็มีกระบวนการ และวันนี้ผมก็ไม่ได้ บอกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก แต่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มี ข้อบกพร่องน้อยที่สุด แล้วผมรู้สึกว่าประชาชนได้ใช้สิทธิ ได้ใช้เสียงตามระบอบประชาธิปไตย ได้มากที่สุด การมีพื้นที่ประชาธิปไตยของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ผมเติบโต ในช่วงนั้นผมสัมผัสได้ แล้วผมได้ใช้มัน แล้วสุดท้ายก็ถูกทำลายโดยระบบรัฐประหาร เพราะฉะนั้นที่ผมพูดว่าผมเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่มาจาก สสร. จากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าผมได้ลิ้มลองบรรยากาศ รสชาติ ของประชาธิปไตยที่มาจาก ประชาชนในปี ๒๕๔๐ ครับท่านประธาน สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอท่านประธานต่อกรณี การศึกษาของคณะกรรมาธิการครับ คณะกรรมาธิการได้แบ่งเป็น ๓ ส่วน ผมคิดว่าก็โอเค ตัวแทนเขตหรือว่าตัวแทนจากพื้นที่ ตัวแทนจากการเลือกตั้งอะไรพวกนี้ ผมคิดว่าถ้าเอา หน่วยจังหวัดมาก็ได้ ซึ่งรายละเอียดค่อยว่ากัน จะคำนวณจำนวนประชากรด้วยหรือไม่ ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย เพราะฉะนั้นในสมอง ของผม ผมคิดอย่างนี้ทันทีเลยครับท่านประธาน แต่ละจังหวัดนี้ก็เป็นตัวแทนเขตไป ในส่วน ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้วก็กลุ่มความหลากหลาย ผมลองยกตัวอย่างกลุ่มพี่น้อง ชาติพันธุ์ของผม วันนี้นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรบอกว่าเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความจำเป็นเฉพาะ หรือบางกลุ่มเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมมีอยู่ประมาณ ๖๐ กลุ่ม อยู่ในภาคใต้ อยู่ในภาคกลาง อยู่ในภาคเหนือ อยู่ในภาคอีสาน อยู่ในภาคตะวันออก มีหมดเลย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะไปยืนอยู่ในพื้นที่ของตัวแทนเขต ตัวแทน พื้นที่ได้ครับท่านประธาน แต่เขาก็มีสิทธิที่จะเลือกพื้นที่ด้วย เพราะฉะนั้นในส่วนที่ผมได้ เสนอนี้มันก็ไม่ต่างจากที่ว่าเราเลือกตั้ง สส. เขต แล้วก็เลือกตั้ง สส. เขตประเทศ สสร. ที่มา จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความหลากหลายนี้ก็คือตัวแทนทั้งประเทศ ซึ่งหมายความว่า พี่น้องชาติพันธุ์ทั้งหมดมีประมาณ ๖ ล้านคน ๖๐ กว่าชาติพันธุ์กระจายอยู่ทั่วประเทศ เขาก็ มีสิทธิที่จะส่งตัวแทนเป็น สสร. ไหมในกระบวนการอย่างนี้ แต่ถ้าเอาเขตไปให้เขาแข่ง อย่างจังหวัดเชียงใหม่ผมมีอยู่ประมาณ ๑๖ กลุ่มชาติพันธุ์ และกระจายอยู่ทุกเขต ทุกอำเภอ เพราะฉะนั้นมันก็ลำบากอยู่ครับท่านประธาน ถ้าเราเปิดพื้นที่ ถ้าเรายึดในหลักการว่าตัวแทน สสร. ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยนี้ต้องมาจัดระบบเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งแบบกลาง ๆ ตัวแทนทั้งประเทศอย่างนี้ผมคิดว่าเหมาะกับพี่น้องที่มีกลุ่ม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ตามข้อมูลทางวิชาการพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งประเทศมีจำนวน คือ ๖ ล้านคน ๖๐ กว่าชาติพันธุ์นี้มีตัวแทนสัก ๖ คนไหม สัก ๕ คนไหม ก็ส่งรายชื่อมาเลย ครับท่านประธาน เขาจะลงกี่กลุ่ม กี่ทีมก็ส่งมา แล้วก็ให้ประชาชนได้เลือกตั้ง แล้วเขาจะได้ ถูกเลือกตั้งโดยตรง พอเลือกตั้งโดยตรงเขาจะทำหน้าที่ และเขาจะเชื่อมโยงกับประชาชน ผมคิดว่าระบบนี้มันไม่มีอะไรซับซ้อน ตรงไปตรงมา ส่วนตัวแทนของเขตก็ว่าไป ตัวแทนของ เครือข่ายแล้วก็กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งประเทศ ผมคิดว่าระบบอย่างนี้จะทำให้ประชาชนตื่นรู้และมี ส่วนร่วม มีอารมณ์ร่วมที่จะสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นกติการ่วมกันทั้งประเทศครับท่านประธาน ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ผมคิดว่ากระบวนการอย่างนี้ก็จำเป็น นักวิชาการ นักกฎหมายหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ลงสมัครระดับประเทศอย่างนี้ก็ลงสมัครเลยครับ แต่ไม่เป็นอะไรครับ เราก็ยังเผื่อพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญที่อาจจะไม่ออกตัว ผมว่าอันนี้ ต้องไปคิด คือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ ด้านประวัติศาสตร์ หรือด้านการต่างประเทศ หรือด้านอื่น ๆ ผมคิดว่าอันนี้ถ้าหากว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่จำนวน สสร. ที่จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ ผมคิดว่า สสร. มีอำนาจและมีสิทธิที่จะตั้ง ที่ปรึกษา จะมีตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานเต็มไปหมดครับท่านประธาน
สุดท้ายครับท่านประธาน ระบบรัฐสภาแห่งนี้ ระบบประชาธิปไตย อย่ากลัว เลยครับถ้าคุณเชื่อมั่น ถ้าคุณเคารพหลักการประชาธิปไตย เคารพพี่น้องประชาชน อย่ากลัว การเลือกตั้งครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และ ชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล แล้วก็พรรคเพื่อไทยว่าด้วยเรื่องของการดูแลป่าต้นน้ำ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นกองทุนก็ได้ จะเรียกว่าการสนับสนุนให้บริการระบบนิเวศป่าต้นน้ำก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดนี้มีเจตนาคือว่า ทำอย่างไรให้ต้นน้ำมีความสมบูรณ์ ต้นน้ำมีคนดูแล ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ นอกจากมีหน้าที่ ดูแลป่าแล้วเขายังมีทรัพยากรดูแล ผมคิดว่าโดยเจตนาโดยรวมประมาณนี้ ผมขอสนับสนุน ญัตติให้มีการตั้งกรรมาธิการในญัตตินี้เพื่อที่จะศึกษาในรายละเอียด ผมคิดว่าประเด็นสำคัญ มีอยู่หลายเรื่องครับท่านประธาน ไม่ว่าเรื่องความจำเป็นในพื้นที่ ๒. ก็คือคนที่เกี่ยวข้อง ๓. คือกองทุนและที่มาของกองทุน ผมพยายามจะลงรายละเอียดทีละประเด็นครับ ท่านประธาน ประเทศไทยมีอยู่ ๓๒๐ ล้านไร่ ข้อมูลที่ผมจะพูดต่อไปอาจจะซ้ำกับ ท่านสมาชิกทั้ง ๒ ท่าน แต่เนื่องจากว่าเป็นข้อมูลที่มีความจำเป็น บางประเด็น ข้อมูลบางตัว อาจจะต้องซ้ำครับท่านประธาน
๓๒๐ ล้านไร่วันนี้เรามีป่าเหลืออยู่ ประมาณ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ ท่านประธานครับ ๓๑ เปอร์เซ็นต์นี้เกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นป่า ต้นน้ำทั้งหมด ผมจะยกตัวอย่างอย่างนี้ครับท่านประธาน อันนี้แผนที่ของกรมป่าไม้ ในพื้นที่ จำนวนป่าชุมชน ป่าชุมชนที่ได้รับการอนุมัติแล้วตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชนที่อยู่ตอนนี้ ๑,๒๐๐ กว่าหมู่บ้าน ซึ่งหมายความว่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าสงวนที่จัดตั้งป่าชุมชนแล้วคือ ๒๒,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ หมายถึงเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ ตามความหมายของกฎหมายอื่น ๆ มีไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ชุมชน เพราะฉะนั้นตัวเลขและ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าการที่จะให้มีกองทุน หรือว่าการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการ ดูแลรักษาป่าตรงนี้ ชุมชนในประเทศไทยนี้อยู่มาก่อนที่กฎหมายประกาศจำนวนเยอะมาก มีอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ไม่มีประชาชนอยู่ นอกนั้นอุทยาน ทั้งหมด เขตอนุรักษ์ทั้งหมด เขตป่าสงวนทั้งหมด ประชาชนอยู่มาก่อนแล้วทั้งนั้น ท่านประธานครับ สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับท่านประธานอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ในอำนาจหน้าที่ การดูแลรักษาป่านี้ครับท่านประธาน ใน พ.ร.บ. ด้านทรัพยากรป่าไม้ทั้งหมดเขาเขียนระบุว่า หน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน เพราะฉะนั้นคือประชาชนที่ยังรักษาป่า ยังดูแลป่า ยังลุกขึ้นทำ แนวกันไฟ ทำฝาย เฝ้าระวังไม่ให้ใครบุกรุก มันคือหม้อข้าวหม้อแกงของเขาครับ ท่านประธาน มันคือชีวิตของเขา เพราะเขาอยู่ก่อนที่กฎหมายจะประกาศ เขาอยู่ก่อนที่ เจ้าพนักงานจะเข้ามาถึง ประชาชนเขามองว่าตรงนี้คือชีวิตและเป็น Supermarket เขาจึง รักษา แต่ว่าได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบและทางการหรือไม่ ต้องตอบว่า ไม่ครับ ท่านประธาน อันนี้ข้อเท็จจริง สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับท่านประธานอีกเรื่องหนึ่งว่าพื้นที่ป่า เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ครับท่านประธาน ผมเชื่อมั่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ วันนี้ประชาชนก็ไม่ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ ไม่ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะมีเจตนาหรือจะมีเป้าหมายที่จะดูแลป่า แต่ผมเชื่อว่าถ้าเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เป็นชุมชนที่อยู่กับป่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาปกป้องป่าของเขา เขาปกป้องทรัพยากรของเขา เพราะมันเป็นชีวิตของเขา กฎหมาย จะสั่งให้ทำ ไม่ทำ เขาไม่รู้ แต่เขารู้เพียงว่าอันนี้คือป่าของเขา
ประเด็นที่ ๒ ผมอยากจะให้เห็นผู้คน และคนที่เกี่ยวข้องกับป่า ผมอยากให้สื่อ ออกรูปที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินการ นี่คือสภาพของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เป็นลูกจ้างระดับล่าง ที่สุดนะครับท่านประธาน บางคนก็ไม่ใช่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เป็นลูกจ้างเหมา ตามโครงการ แต่คนเหล่านี้ที่ทำหน้าที่รักษาปกป้องป่าอยู่กับพี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่ ซีสูง ๆ ไม่ได้ลงอย่างนี้ครับท่านประธาน ส่วนใหญ่จะไปเฝ้าสนามบินต้อนรับเจ้านายมา พาเจ้านายไปกินข้าว ก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ครับ แต่คนเหล่านี้จำนวนมากทำไมเราไม่เพิ่ม สวัสดิการให้เขา เงินกองทุนว่าด้วยกองทุนที่มันมีอยู่ เฉพาะกองทุนอุทยานปีหนึ่งประมาณ เกือบ ๓,๐๐๐ ล้านบาททำไมไม่ดูแลคนเหล่านี้ คนเหล่านี้ค่าเฉลี่ยนะครับ เมื่อสักครู่ เพื่อนสมาชิกอภิปรายไว้แล้ว คนเหล่านี้จำนวน ๑ คนต้องดูแลป่าประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ครับ ท่านประธาน ๑ คน ๖,๐๐๐ ไร่ และไม่ใช่ ๒๔ ชั่วโมงด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น คือว่าอย่างไรก็ตามแต่เราต้องการให้ป่าต้นน้ำ ป่าทุกประเภทมีความสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกันเราไม่มีทางที่จะเพิ่มบุคลากรให้มันเยอะกว่านี้ เรามีข้อจำกัดเรื่อง งบประมาณ จึงมาเป็นเรื่องที่ ๒ ครับท่านประธาน เป็นเรื่องของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เอาข้อกฎหมายที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เอาข้อเท็จจริงที่เป็นประชาชนผสมกัน Integrate กัน ให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน ผมอยากให้ดูคลิปที่ ๒ ผมไปทำทุกปีครับท่านประธาน ผมรู้กับ พี่น้องประชาชน เราจะเห็นว่ากระบวนการของประชาชนแสดงออกได้หลายรูปแบบครับ ท่านประธาน อย่างตัวอย่างนี้ผมไปร่วมทำแนวกันไฟ เราก็จะทำทุกปีครับ หลายคนถามว่า ทำแนวกันไฟป้องกันไฟได้หรือ ถ้าคนไปจุดไฟนอกแนวกันไฟหรือในแนวกันไฟมันป้องกัน ไม่ได้ครับท่านประธาน แต่แนวกันไฟตรงนี้มันหมายถึงประชาชนได้แสดงออกถึงสิทธิว่าอันนี้ คือเป็นป่าของข้าพเจ้า อันนี้คือเป็นมรดกของหมู่บ้าน ผู้ใดจะมาทำลาย ผู้ใดจะมาจุดไฟเผา ผู้ใดจะมาลักลอบตัดไม้เป็นไปไม่ได้ครับ ประชาชนจึงแสดงออกถึงการมีกระบวนการ วิธีการ ไม่ว่าจะบวชป่า ไม่ว่าจะทำแนวกันไฟ ไม่ว่าจะปลูกป่า ไม่ว่าจะไปดับไฟป่า หรืออื่นใด ก็ตามแต่ที่เป็นกิจกรรมที่สื่อถึงว่าป่านี้เป็นป่าของประชาชน ท่านประธานทราบไหมครับ เมื่อสักครู่ผมบอกว่าป่าอนุรักษ์มีไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ หมู่บ้าน วันนี้ป่าชุมชนที่จัดตั้งแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๑๒,๐๐๐ หมู่บ้าน ๒ เรื่องนี้ในส่วนของกลไกรัฐเขาจะมีงบอยู่ ในส่วนประชาชน ตามมีตามเกิดครับท่านประธาน บางที อบต. ก็ให้ บางทีประชาชนก็ไปขอที่อื่น เราจำเป็น จะต้องมีกองทุนก็ได้ หรือว่าทรัพยากรที่เราเรียกว่างบประมาณที่สนับสนุนก็ได้ มาสนับสนุน ตรงนี้ครับ แล้วมาจัดกลไกให้ทั้งภาครัฐแล้วก็ภาคประชาชน ที่เราเรียกว่าการจัดการแบบ มีส่วนร่วมไปอยู่ในเงื่อนไขตรงนี้ครับ
ประเด็นที่ ๓ เราเห็นตัวละครแล้ว ๒ กลุ่ม คือ ๑. เจ้าหน้าที่รัฐตาม พ.ร.บ. ๒. คือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ประเด็นที่ ๓ เป็นเรื่องของการได้มาว่าด้วยเรื่องของกองทุน ผมอยากจะบอกอย่างนี้ก่อน พรรคก้าวไกลตอนที่เราเสนอนโยบาย แล้วผมก็ได้หาเสียง ด้วยว่า กรณีไฟป่า หมอกควัน แล้วก็สิ่งแวดล้อม และการรักษาป่า ชุมชนไหน พื้นที่ไหน ที่มีป่า เราสนับสนุนเลยตำบลละ ๓ ล้านบาทเป็นเบื้องต้น แล้วก็ดูว่าป่าไหน พื้นที่ไหน ตำบลไหนที่ป่าเยอะอาจจะเพิ่ม ถามว่าเอางบประมาณตรงนี้มาอย่างไร เราควรจะมีกองทุน เราควรจะมีงบประมาณลงไปในพื้นที่เลย ไม่ต้องมาไว้ที่ส่วนกลาง คนส่วนกลางมันจะรู้เรื่อง เกี่ยวกับพื้นที่ได้อย่างไร แต่เรามีงบกลางให้กับระดับตำบล เขาจะไปรักษาป่า ทำแนวกันไฟ จะปลูกป่า ไปสร้างจิตสำนึก จะไปจัดการอะไรก็ได้ แต่ว่าโดยเป้าหมายผลผลิตสุดท้ายก็คือว่า ป่าสมบูรณ์ คนมีความเข้มแข็ง ป่าและคนอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน เราต้องการตรงนี้ครับ เพราะฉะนั้นคือหน่วยของกองทุน หรือหน่วยของการบริการป่าต้นน้ำ หรือการตอบแทน ตรงนี้ผมคิดว่าหน่วยเล็กที่สุดต้องอยู่ที่ตำบล เพราะฉะนั้นคือกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอ ตอนหาเสียงคือว่าเราอยากจะมีงบประมาณเรื่องนี้สนับสนุนไปพื้นที่ ตำบลละ ๓ ล้านบาท ผมคิดว่าอันนี้คือรูปธรรมที่เราเสนอ ทีนี้มาถึงประเด็นว่าแล้วจะเอาเงินที่ไหน ก็เงินที่ผมว่า เมื่อสักครู่นี้ก็คือ ๓ ล้านบาท แต่ว่าที่มาของเงินผมคิดว่าได้เยอะมาก กรณีเรื่อง PES ที่ ท่านสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วว่าการตอบแทนคุณนิเวศ อันนี้ก็ต้องไปคิดมาครับ เงินตรงนี้ มันจะมาได้อย่างไร การตอบแทนคุณนิเวศมีหลากหลายรูปแบบมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องของ บริษัทเอกชนที่ทำเกี่ยวกับกิจกรรมเรื่องการลดภาษี ผมจำชื่อไม่ได้ครับท่านประธาน อันนี้ ก็ทำได้ แต่ว่าต้องมาสู่กระบวนการกลาง แล้วก็นำไปสู่กระบวนการกระจายให้พื้นที่ได้รับ งบประมาณ หรือแม้กระทั่งกองทุนที่มันมีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทุนของกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทุนสิ่งแวดล้อมที่ท่านสมาชิกได้กล่าวมา หรือกองทุนอื่น ๆ ที่นำไปสู่การสามารถที่จะกองไว้ กองไว้แล้วก็ต้องกระจายลงพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะ ทำให้การพัฒนาในพื้นที่มีความหมายและมีชีวิตกับพี่น้องประชาชน ที่มาของกองทุน อีกเรื่องหนึ่งโดยตรงกับพี่น้องประชาชนเลยครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง แล้วผม เพิ่งกลับมาจากที่จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอม่อนแจ่ม เขามีกิจกรรมท่องเที่ยว วันนี้ป่าของ ม่อนแจ่ม พี่น้องม่อนแจ่มดูแลรักษาป่า พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น เขามีรายได้ทุกส่วนจาก การท่องเที่ยวและเขาก็เก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ วันนี้ม่อนแจ่มมีกองทุนเกี่ยวกับเรื่องชุมชนและ รักษาป่า ๓ ล้านบาทครับ เพราะฉะนั้นที่มาของกองทุนก็มาจากตัวป่าของประชาชน เขาจะ จัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เขาจะจัดศึกษาดูนก เขาจะทำเกี่ยวกับอะไรก็ตามแต่ เกี่ยวกับ เรื่องของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เงินรายได้ที่มาจากประชาชน ประชาชนก็หักเปอร์เซ็นต์ และมาทำเป็นกองทุน อันนี้ก็เป็นที่มาครับ แต่วันนี้ปัญหาก็คือว่าการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน วันนี้ข้อกฎหมายใหญ่ ไม่ว่าแต่ละตัว พ.ร.บ. ที่มันมีอยู่ การเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน ดำเนินการอย่างจริงจังและมีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ อันนี้ยังไม่เกิด พื้นที่แต่ละพื้นที่ พยายามจะพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยทางอ้อม แต่ทำยากมาก มีการช่วงชิง พี่น้องที่อำเภอปายที่บ้านน้ำฮู พี่น้องชาวลีซูจะพัฒนาบ่อน้ำร้อนตัวเองก็ทำไม่ได้ กฎหมายบอกว่า ๑ ๒ ๓ ๔ แต่สุดท้ายวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐให้กับเอกชนดำเนินการ ท่านประธาน เห็นไหมว่าตัวทรัพยากรที่อยู่ใกล้กับพี่น้องประชาชน วันนี้เป็นของพี่น้องประชาชนจริง หรือเปล่า หรือเป็นของคนอื่น หรือรักษาไว้ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเราจะ ระดมว่าที่มาของกองทุนหรืองบประมาณสนับสนุนต่าง ๆ มันได้ครับ ขอให้มันมีเครื่องมือ ขอให้มีอำนาจ และสุดท้ายขอให้มันอยู่ในพื้นที่ก็คือ อบต. หรือเทศบาล
ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่ผมอยากจะนำเรียนท่านประธาน แล้วก็เพื่อนสมาชิก ในห้องประชุมนี้ว่าการที่จะให้ป่าและคนอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ ได้แล้ว ท่านประธานมีเวลาว่างไปกับผมครับ ที่บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ชุมชนรักษาป่าและทำไร่หมุนเวียน เป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลระดับโลกครับ ท่านประธานไปกับผมครับ ที่บ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนกะเหรี่ยง ที่อยู่มานานมากแล้วครับ เขารักษาผืนป่าและมีกองทุนของตัวเอง ท่านประธานอยากจะไป ที่ไหน ที่ชุมชนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนและบริหารจัดการได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ ท่านประธาน บอกผมครับ ผมจะพาไป สุดท้ายผมไม่ได้หมายความว่าชุมชนทุกชุมชนจะมีความเข้มแข็ง แต่ว่าการมีกองทุนและกระบวนการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการ ที่สำคัญและมีความหมายที่จะทำให้ทั้งคนและป่าอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ ท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ขอหารือท่านประธานกรณีปัญหาชาวบ้าน ผมได้รับเรื่องเรียนจาก คุณศรีทอง สมพงษ์ ชาวบ้านขวัญคีรี หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ร้องมาว่าถนนเข้าหมู่บ้านจากบ้านข่อย หมู่ที่ ๔ ถึงบ้านขวัญคีรี ระยะทาง ๘ กิโลเมตร และแยกบ่อสี่เหลี่ยมถึงบ้านขวัญคีรี ระยะทาง ๔ กิโลเมตร
เป็นปัญหาตามภาพที่ท่านประธาน เห็นนี้ นี่คือหน้าฝน อีกภาพหนึ่งก็คือฤดูแล้งก็จะเป็นฝุ่นครับ เรื่องนี้ผมขอฝากไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางช่วยประสานไปยังกรมทางหลวงชนบท แล้วก็ อบจ. จังหวัดลำปาง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องโดยด่วน ท่านประธานครับต่อประเด็นนี้เนื่องจากว่า มันเป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยภาพรวมทั้งหมดเรื่องการก่อสร้างหรือโครงสร้าง พื้นฐานของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตป่า รอบที่ผ่านมาผมขอปรึกษาหารือกรณีผู้นำ อบต. เทศบาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนร้องมาแล้วก็ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ปัญหาอุปสรรค ก็คือการขออนุญาตใช้ครับท่านประธาน ประเด็นนี้ผมคิดว่าผมอยากจะฝากท่านประธาน ไปยังนายกรัฐมนตรีต่อกรณีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าถนน ไฟฟ้า หรืออื่น ๆ ที่มัน เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น หรือ อบจ. หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะลงไปพัฒนาพื้นที่นี้ ขอให้ ท่านนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งลงไปเลยนะครับ ถ้าหากว่าเป็นพื้นที่เส้นทางเดิม ที่ อบต. เทศบาล อบจ. รับผิดชอบ ผมคิดว่าเรื่องการขออนุญาต ขออนุมัติ เรื่องการใช้พื้นที่คือไม่ต้องขอแล้ว เพราะว่ามันก็เป็นพื้นที่อยู่ตรงนั้นที่เทศบาลท้องถิ่นดูแลอยู่แล้ว ท่านประธานครับ กรณีนี้ โดยภาพรวมฝากถึงนายกรัฐมนตรีนะครับ แต่กรณีบ้านขวัญคีรีฝากถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานเคยทราบข่าวไหมครับ กรณีประชาชนที่จังหวัดพิษณุโลกไม่ออกมาเลือกตั้ง ทั้งหมู่บ้านเลยนะครับ เพราะว่าเรียกร้องประเด็นลักษณะแบบนี้ ทั้งหมดที่ผมได้นำเรียน ท่านประธานนะครับ โดยภาพรวมนี้ท่านนายกรัฐมนตรีต้องมีคำสั่งลงไปครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
ขอบคุณท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผาพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมเป็นคนภาคเหนือ อยู่บนดอยด้วยนะครับ อยากจะมีประเด็นที่จะมาพูดถึงท่านประธานในญัตติของ คุณเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ที่ว่าเราจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ท่านประธานครับ ก่อนที่กรรมาธิการจะได้ศึกษา ผมคิดว่าคำถามที่จำเป็นและสำคัญ สำหรับกรรมาธิการที่จะเกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่ามีอยู่หลายเรื่อง ประเด็นแรก ก็คือว่าถ้าเราจะทำ เศรษฐกิจภาคเหนือ เรามีต้นทุนอะไรบ้าง ผมคิดว่าอันนี้ต้องชัดเจนนะครับท่านประธาน และต้นทุนที่มีอยู่เราจะทำอย่างไรกับมัน คำถามที่ ๒ ครับ การทำเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจ ภาคเหนือที่เราพูดกันตรงนี้ ใครเป็นคนได้และใครจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเรา แยกแยะไม่ได้ ผมคิดว่ากระบวนการที่ลงไป เรามักจะเห็นตลอดว่ามันจะมีกระบวนการที่ ขัดแย้ง คัดค้าน ประท้วง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าภารกิจ ๒ เรื่องนี้จะเป็นภารกิจของ กรรมาธิการที่จำเป็นจะต้องศึกษา ดังนั้นผมก็เลยจะอภิปรายในหลักการในญัตตินี้ เพื่อเป็น กรอบให้กรรมาธิการในการศึกษาถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการครับ ผมจะมองในภูมิสังคม ของภาคเหนือทั้งหมด ผมอาจจะมีอยู่ ๓ ประเด็น ท่านประธานครับ อยากให้ฝ่าย โสตทัศนูปกรณ์ได้ขึ้นด้วยนะครับ
ผมมีแค่สไลด์เดียวครับ ผมจะมองบริบทของภาคเหนือใน ๓ ประเด็น อันที่ ๑ คือด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ อันที่ ๒ คือความหลากหลายของผู้คนและ วัฒนธรรม อันที่ ๓ ก็คือความเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ๓ บริบท ๓ ประเด็นนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นหลักพื้นฐานที่จะต้องมอง แล้วก็ที่จะต้องลง รายละเอียดก่อนที่จะลงว่าจะทำโครงการอะไร จะทำอะไร ๑ ๒ ๓ ๔
ประเด็นแรก คือประเด็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ท่านประธานย้อนไปเมื่อประมาณเป็น ๑๐๐ กว่าปีที่แล้วนะ ครับ ประเทศตะวันตกได้ล่าอาณานิคม ได้เข้าไปยึดพื้นที่ในเอเชียหลายประเทศนะครับ ประเทศไทยก็เกือบจะเป็นอาณานิคม แต่ว่ากระบวนการต่อรองก็คือเรื่องผลประโยชน์ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่จะนำไปสู่การต่อรองเจรจา ก็คือทรัพยากรธรรมชาติว่าด้วยเรื่องของ ไม้ ต้นน้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นพื้นที่ต้นน้ำของเจ้าพระยา และในอดีตคือเป็นพื้นที่สัมปทาน ป่าไม้ทั้งหมดครับท่านประธาน ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ผมพยายามยกตัวอย่างว่า ในอดีต ต้นทุนของเราที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นก็คือทรัพยากรป่าไม้ หากเราจะทำเรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษ เราย้อนกลับไปดูเรื่องต้นทุนเหล่านี้ และพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ เราจะเห็นว่ามันมีพื้นที่ที่ป่าต้นน้ำมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพด นำไปสู่เรื่องของ Soil Erosion การพังทลายของหน้าดิน แม่น้ำมีปัญหา ใช้สารเคมี ในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจถ้าเรามองเรื่องนิเวศ ฐานทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ในแง่ของการสร้างพื้นที่สีเขียว หรือว่า Green Economic เศรษฐกิจสีเขียว ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่กรรมาธิการจะต้องคิด ต่อจากเรื่องของการสร้างป่า สร้างรายได้ เรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วันนี้ประชาชนในพื้นที่ทำเต็มไปหมดเลยครับท่านประธาน แต่ว่ายังติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย อยู่ในเขตป่าทำอะไรก็ไม่ได้ ขอใบรับรองก็ไม่ได้ จัดกระบวนการอะไรต่าง ๆ ก็ไม่ได้ ผมถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไรในมิติทรัพยากร เรามี ทรัพยากรว่าด้วยเรื่องยาสมุนไพรครับ ภาคเหนือมีหมอเมือง หมอเมืองคือหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทยเยอะแยะมากมายนะครับ เคยต่อสู้กันมา มีความขัดแย้งว่าเป็นหมอเถื่อน วันนี้ทรัพยากรเหล่านี้อยู่เต็มไปหมดเลยครับในวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสปา ไม่ว่าจะเป็น กรมแพทย์ทางเลือก เรื่องของการพัฒนาตัวความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีฐานทรัพยากร เยอะมากครับ วันนี้ยังติดข้อกฎหมาย ผมเคยไปถามผู้ประกอบการเล็ก ๆ ในภาคเหนือว่า นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยไปซื้ออะไร เขาไปซื้อยาดมครับ ยาดมเล็ก ๆ ที่มันทำ มาจากสมุนไพรอะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้การพัฒนาฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมันเป็นต้นทุนของภาคเหนือ จำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมาธิการจะต้องเอากรอบนี้ไปพิจารณา เพื่อที่จะดึงเข้ามาในกรอบของการพัฒนาเศรษฐกิจครับ
บริบทที่ ๒ ครับท่านประธาน คือบริบทเรื่องของความหลากหลายของผู้คน และวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าภาคเหนือมีผู้คนที่หลากหลายมากครับ เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ ๑๗ ชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกนะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งบนที่สูงและพื้นราบ คนที่มาท่องเที่ยวทุกวันนี้อาศัยความเป็น เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ความเป็นเฉพาะตรงนี้มาศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรม เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหาร สมุนไพรต่าง ๆ เหล่านี้ อันนี้คือต้นทุนที่เราจะต้องมองว่าเราจะหยิบยกขึ้นมา ได้อย่างไร ผมไปแอบดูนโยบายของประเทศจีน เขาเรียกว่าชนชาติกลุ่มน้อย นโยบาย ส่วนกลางสนับสนุนให้กับชนชาติกลุ่มน้อยแต่ละมณฑล ได้มีการบริหารจัดการตัวเอง จนนำไปสู่การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวและนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ ผมถามว่าตรงนี้มันคือต้นทุน หรือไม่ ในการคิดพิจารณาที่จะวางกรอบเรื่องการศึกษาเรื่องนี้ ผมเสนอว่าเรื่องนี้มีความ จำเป็นที่จะต้องศึกษา บนพื้นฐานความหลากหลายของผู้คน เรายังมีเรื่องของอาหาร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าวันนี้ มีอาหารประจำจังหวัดนะครับ จริง ๆ มันไม่ใช่แค่นั้นครับ อาหารที่เราพูดถึงคืออาหารก็เป็น ยาได้ครับ เพราะฉะนั้นคือความหลากหลายของผู้คนมันไปปรากฏในเรื่องของการแต่งกาย ภาษาพูด เรื่องอาหาร เรื่องของการใช้พื้นที่ หลากหลายมิติครับ อันนี้คือต้นทุนที่ ๒ ที่กรรมาธิการจะต้องมาพิจารณา
ประเด็นสุดท้ายครับ ในบริบทว่าด้วยเรื่องของเมืองที่ติดชายแดน ท่านประธานครับ ผมไล่ตั้งแต่จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ลงมาทางจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านประธานครับ เรามีประเทศเพื่อนบ้านที่ติดเรา เรามีด่านอยู่ ๔ ประเภท คือ ด่านพรหมแดนก็คือพรหมแดนติดกับตรงด่านเลยครับ อันที่ ๒ คือด่านถาวร อันที่ ๓ คือด่านชั่วคราว อันที่ ๔ คือช่องทางทางธรรมชาติ คำถามของผม ก็คือว่า ผมกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ในอาณาจักรล้านนา ท่านประธานครับ มันมีการ ค้าขายระหว่างเชียงตุง จังหวัดเชียงใหม่ ล้านนาและทางพม่ามาเป็นพัน ๆ ปี วันนี้สิ่งสำคัญ ที่สุดก็คือว่าการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแต่ละประเทศที่ติดกับพวกเรานี้ มิติการบริหารชายแดน ผมอยู่ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ผมคิดว่าอันนี้ยังเป็นข้อบกพร่อง จุดอ่อนที่เรา จะต้องพิจารณา และที่สำคัญก็คือว่า วันนี้สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ ทางประเทศพม่า อำนาจรัฐ ซึ่งเรารู้ว่าที่ผ่านมานั้นเป็นของทหาร แต่สถานการณ์วันนี้ ความเสถียรภาพในการนำของอำนาจต่าง ๆ เหล่านี้มันมีความเปลี่ยนแปลงและมันมี ความสุ่มเสี่ยง เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ กรณีชายแดน ผมคิดว่า การคิดบริบทที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายครับท่านประธาน สิ่งที่ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อที่จะศึกษาเรื่องนี้ ทำอย่างไร หากมีแผนหรือมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเหนือแล้ว ผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ จะไม่ถูกละเลย จะไม่ถูกทำให้เขาขยับออกไปเป็นคนชายขอบของพื้นที่ชายขอบ เขาจะมี พื้นที่มีตัวตน มีศักดิ์ศรี และได้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
ผมหรือเปล่าครับท่านประธาน ผมดูรายชื่อเมื่อสักครู่ครับ
ผมดูรายชื่อผมไปดูหลายรอบ ผมคนแรกครับท่านประธาน
ใช่ครับ เพราะว่าผมก็ได้วางแผน ไว้ครับ เดี๋ยวมันจะไม่เป็นไปตามแผนครับ
ขอบคุณครับท่านประธานครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ ผมอยากจะบอกว่า กัญชงไม่ใช่กัญชาครับท่านประธาน เรื่องนี้เราจำเป็นจะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมครับ ท่านประธาน ตอนนี้มีความพยายามที่จะร่างกฎหมายและจะดึงกัญชงกลับเข้าไปเป็นกัญชา เป็นอยู่ในพวกเดียวกัน ท่านประธานครับ ที่ผมพูดอย่างนี้ผมมีเนื้อหาความจำเป็นประกอบ นะครับ ผมอยากให้ฝ่ายสื่อได้ขึ้นรูปที่ผมลงไปลุยกับพี่น้องชาวบ้านนะครับ
อันนี้คือต้นกัญชงครับ ท่านประธาน ผมไปถ่ายที่อำเภอพบพระ ต้นมันสูงครับ ต้นนี้ไว้เก็บเมล็ดครับท่านประธาน ต้นเล็ก ๆ ที่ท่าน สส. เลาฟั้งได้โชว์เมื่อสักครู่ว่าเขาเก็บไว้ทำเสื้อผ้า ทำใยนะครับ รูปที่ ๒ อันนี้ครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามจะบอกนะครับว่า โอเคครับรูปร่างคล้ายกัน แต่ว่า ไม่เหมือนครับ เพราะฉะนั้นก็คือว่าสภาแห่งนี้จำเป็นจะต้องเสนอไปที่กรรมาธิการ การสาธารณสุขว่า ไม่ควรจะเอาไปเกี่ยวข้องใด ๆ กับกัญชานะครับ พืชกัญชงผมเสนอว่า ควรจะเป็นพืชเศรษฐกิจแบบทั่วไปครับ ไม่ต้องมีกฎหมายอะไรรับรองครับท่านประธาน เหมือนกับหอมแดง เหมือนกับกระเทียม เหมือนกับพืชทั่วไป ต้องทำแบบนี้ครับ ที่ท่านสมาชิกครับ ท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง บอกว่าตอนนี้มีผู้ประกอบการด้านกัญชง จดทะเบียนเป็นชมรมประมาณ ๔๐-๕๐ กว่าชมรมแล้ว เขาจะได้ทำได้ครับ ตราบได้ไปผูกกับ เรื่องของกัญชา ท่านประธานครับ สิ่งที่มันเป็นจินตนาการว่าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจจากฐาน ความหลากหลายทางชีวภาพ จะพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็น Soft Power มันเป็นไปไม่ได้ครับ ท่านประธาน ถ้าเราไม่ปลดล็อกความคิดตรงนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะร่างกฎหมายใหม่ที่เอา กัญชงมาเกี่ยวข้องกับกัญชานะครับ อย่าได้คิดที่จะทำแบบนี้เลยครับ เพราะว่ามันจะไม่มี อนาคต ท่านประธานครับ กัญชากับกัญชงมันไปคนละทางครับ ถ้าเป็น Converse เขาบอก ว่าคนละทาง ทางใครทางมัน กัญชาสารมันคนละตัว กัญชงนี่วัตถุประสงค์ต่าง ๆ เมื่อสักครู่ เพื่อนสมาชิกก็อธิบายแล้วนะครับ มันเน้นไปเรื่องของตัวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบ ไม่ว่าจะเป็น เยื่อ ใย ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ท่านประธานเข้าไปดูใน Google นะครับ อาจารย์ Google บอกว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชง สามารถทำได้เป็นหมื่น ๆ ชนิดครับ ประเทศจีนทำอะไรรู้ไหมครับ ทำเสื้อกันกระสุนส่งออก บริษัทยานยนต์ในต่างประเทศยุโรปทดลองเอาไปทำเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินครับ เพราะฉะนั้นคือถ้าจะคิดทำเรื่องนี้ มันคนละทางอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่มันไปคนละทาง อย่าให้ มารวมกัน แยกออกตั้งแต่ต้นครับ จริง ๆ แล้วเมื่อสักครู่ท่านสมาชิกเขาบอกว่า ประกาศของ กระทรวงสาธารณสุขมันมีอยู่แล้วครับว่า ตรงนี้มันไม่ใช่พืชเสพติดแล้ว เพราะฉะนั้นตัวนี้ มันต้องต่อยอด ก็คือประกาศไว้เลยว่ามันไม่ใช่ พอมันไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่มันจะได้เดินต่อ ท่านประธานครับ ผมจะใช้เวลาไม่มากนะครับ สิ่งที่ผมอยากจะเห็น ทำอย่างไรไม่ให้ พืชกัญชงอยู่ในขบวนของพืชเสพติด ควรจะเป็นพืชทั่วไป เราจำเป็นจะต้องพัฒนาส่งเสริมให้ มันครบวงจร เราต้องมีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สมาชิกเขาบอกว่าตอนนี้ภาคอุตสาหกรรม เรื่องการลงทุน เรื่อง BOI เรื่องการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ทำไม่ได้ เพราะมันมีปัญหาว่าพืชตรงนี้ มันเกี่ยวกับยาเสพติด ในข้อกฎหมายใหม่ยังเขียนด้วยนะครับ ตัวร่างนี้ครับ คนที่จะปลูกต้อง ขออนุญาต ๕๐,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นมันมีเกษตรกรที่ไหนครับ เกษตรกรที่ไหนจะมีเงินใน การขออนุญาตโดยใช้เงิน ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วผมก็เชื่อว่าต้องมีเงื่อนไขต่อไปว่ามีเงินแล้ว ไม่พอครับ ที่ของท่านชอบด้วยกฎหมายไหม มีกรรมสิทธิ์ไหม มี ส.ป.ก. ไหม มีเอกสารสิทธิไหม ตามไปครับ สุดท้ายถ้าทำแบบนี้คือเกษตรกรก็ไม่ได้ประโยชน์ครับ โดยสรุปครับท่านประธาน ผมเห็นด้วยว่าจะต้องมีพืชเศรษฐกิจที่ชื่อว่า กัญชง วิธีเดียวที่จะทำให้พืชเศรษฐกิจตรงนี้ เติบโต และเป็นฐานเศรษฐกิจที่เชื่อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คืออย่าให้มายุ่งอยู่ใน ขบวนของยาเสพติดในนิยามใด ๆ เลยครับ ในส่วนที่หลายท่านเป็นห่วง เป็นห่วงว่าเดี๋ยวก็จะ มีบางคนไปสกัดสารที่อยู่ในพืชของกัญชง เพราะว่ามันมีส่วนประกอบถึงแม้ว่าจะมีน้อย แต่กลัวว่าคนจะเอาไปสกัดสารตรงนี้ออกมา ซึ่งมันเป็นสารคล้าย ๆ กับอยู่ในกัญชา หรือว่า THC นี่ครับ ตรงนี้กระบวนการข้อกฎหมายระเบียบต่าง ๆ มีอยู่ครับท่านประธาน ในประเทศนี้ มันมีกฎหมายว่าด้วยใครก็ตามที่จะไปสกัดพืช พืชทุกตัวครับถ้าจะไปสกัดสารมันมีกฎหมาย เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่จะเอาเยื่อ เอาใย เอาพืช เอาร่างกาย เอาทุกส่วนของกัญชงไปสกัด ในสารที่มันมีอยู่ในกัญชง ขอให้สู่กระบวนการที่มันมีอยู่แล้ว ท่านประธานอยากเห็นภาพชัด ไหมครับว่า เอาพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจทั่วไป ผู้ใดก็ตามที่จะสกัดพืช สารที่อยู่ในกัญชง เข้าสู่กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น อย. ไม่ว่ามาตรฐานอะไรต่าง ๆ เต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะฝากไปยังกรรมาธิการการสาธารณสุขครับ ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความ กล้าหาญพอ กล้าหาญที่จะเสนอกับผู้ที่จะเสนอกฎหมายใหม่ครับ เอากัญชงออกจากกัญชา ประเทศนี้จะได้เดินหน้า พัฒนาเศรษฐกิจที่เราคาดหวังจากประชาชน ผู้ประกอบการและ การส่งออก ขอบคุณมากครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ เพื่อประหยัดเวลาผมขออนุญาตดำเนินการ ตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผมขออ่านญัตติแล้วก็หลังจากนั้นผมจะ ให้เหตุผลว่าผมยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคและ โครงสร้างพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ด้วยปัญหา ข้อร้องเรียนอย่างต่อเนื่องของพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงปัญหาอุปสรรค ต่าง ๆ ที่ติดขัดในการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา รวมถึงโครงการพัฒนาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีความล่าช้า หลายแห่ง แม้จะพยายามเสนอโครงการรับงบประมาณต่อเนื่องทุกปีก็ไม่สามารถที่จะได้รับการอนุมัติ ทั้งในเขตพื้นที่ที่เป็นเขตป่าและเขตพื้นที่อุทยาน เขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่ของรัฐอื่น ๆ ส่งผล ให้คุณภาพของพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในเขตป่าที่ดินของรัฐกลายเป็นปัญหาที่สั่งสม มานาน กระทบกับการพัฒนาขั้นพื้นฐานของชีวิตพี่น้องประชาชน แม้รัฐธรรมนูญในมาตรา ๕๖ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะเป็นหน้าที่ ของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติเป็นปัญหาในการดำเนินการ เพราะฉะนั้นท่านประธานครับ ผมเลย เสนอญัตตินี้ให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญตามข้อบังคับ ข้อ ๔๙ เพื่อหาแนวทางต่อไป
ท่านประธานครับ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ ประเทศไทยมีทั้งหมด ๗๕,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน หมู่บ้านที่เป็นปัญหาที่ผมได้ยื่นญัตติก็คือไม่สามารถที่จะพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานตามเจตนาของรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ หมู่บ้านครับ ที่ดินของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ กรมป่าไม้ และที่ดินอื่น ๆ ของรัฐ เขตทหาร ที่สหกรณ์ ปัญหาทั้งหมดครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนบอกผมอย่างนี้ครับ ท่าน สส. หมู่บ้านของผมชอบด้วยกระทรวงมหาดไทยครับ เพราะมีผู้ใหญ่บ้าน มีบ้านเลขที่ มีกรรมการ มี อปพร. หมู่บ้านของผมชอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข มี อสม. มีสาธารณสุข หมู่บ้านของผมชอบด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการเพราะมีครู มีโรงเรียน ทำไมหมู่บ้านของผม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่อนุญาตให้เป็นคนไทย อันนี้คือปัญหาใหญ่ ปัญหาทั้งหมดผมศึกษามาตลอดชีวิตและผมเสนอในการประชุมอภิปรายรัฐสภา ชุดที่ ๒๕ มาตลอด ปัญหามันอยู่ที่การอนุญาต กระบวนการอนุญาตต้องให้คนที่ไม่ใช่พื้นที่เป็นคน อนุญาตครับ ผมจะกินข้าว ผมจะทำอะไรผมต้องขออนุญาตคนที่อยู่กรุงเทพฯ ที่เรียกว่า อธิบดี เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาอย่างเดียว ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ผมคิดว่าไม่ต้องคิดทำอย่างอื่น เมื่อเป็นกระบวนการอนุญาตก็ไม่ต้องมี อนุญาตสิครับ เพราะว่าหมู่บ้านมันชอบด้วยกฎหมาย อยู่แล้ว อันนี้คือสาระสำคัญที่ผมจะอภิปราย ท่านประธานครับ ผมอยากจะให้เห็นภาพว่า ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในเมื่อหมู่บ้านมันชอบด้วยกฎหมายหลาย พ.ร.บ. หลายกระทรวง แต่ว่ากระบวนการพัฒนาตรงนี้งบประมาณทุกปี งบประมาณ ๓.๓ ล้านล้านบาท คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิเข้าถึงในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผมไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องโครงสร้าง พื้นฐาน เมื่อที่มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานราชการซึ่งเป็นหน่วยรับงบประมาณไม่ว่า กรมไหน เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการ กรมอะไรก็ตามแต่เวลาเข้าไปดำเนินการ ไม่สามารถดำเนินการได้ อันนี้คือปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้นก็คือว่ากระบวนการขออนุญาต มันเป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นก็คือหมู่บ้านที่ชอบด้วยกฎหมาย เส้นทางเดิม ถนนเดิม โครงสร้างพื้นฐานเดิม ๆ ที่ อบต. หมู่บ้านเขามีอยู่แล้วก็ไม่ต้องอนุญาตครับ ใครมีงบประมาณ ก็ลงไปทำเลย ยกเว้นพื้นที่ที่จะเปิดใหม่อันนี้ต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องมีคณะทำงาน ทั้งหมดนี้ครับท่านประธานถ้าท่านฟังผมก็จะจบ ทีนี้เรามาดูรายละเอียด เปิดสไลด์เลยครับ
คือปัญหาเรื่องนี้ผมคิดว่า สส. ในสภาผู้แทนราษฎรทุกภูมิภาค ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคกลาง อาจจะไม่มีเขตป่าเยอะ แต่ว่าเขตทหารก็เยอะ ที่ราชพัสดุ ปัญหาข้อร้องเรียนของพี่น้อง ประชาชน การประชุมสภาที่ปรึกษาหารือท่านประธานเรื่องพวกนี้ทั้งนั้นครับ โครงสร้าง พื้นฐานถนน ไฟฟ้า ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานที่ผมได้อภิปรายไปแล้วว่ามันเป็นสิทธิ ของประชาชนที่รัฐจะต้องให้บริการพี่น้องประชาชน สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖ การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในแต่ละปีผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนจะต้องขอ งบประมาณ มีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นข้อสังเกต โครงการบางโครงการโดยเฉพาะ ทางหลวงชนบท บางพื้นที่ผมจะไม่เอ่ยถึงหมู่บ้าน ตำบลนะครับ อยู่ในแผนงบประมาณ และชาวบ้านก็ทราบว่าโครงการนี้จะเข้ามาแล้ว หน่วยงานก็แจ้งแล้ว ทางอำเภอหรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็แจ้งแล้วว่าโครงการนี้จะได้รับการพัฒนา พอใกล้ ๆ ปลายปีปรากฏว่า โครงการที่ไม่ได้รับอนุญาตทางกรมขอใช้สิทธิขอคืน งบประมาณตรงนี้คล้าย ๆ ว่าเอาไปฝาก ไว้กับพี่น้องชายขอบที่รู้ว่าการอนุญาตเป็นอุปสรรค เอาเงินไปฝาก ถึงเวลาไม่ได้ทำก็ขอ งบประมาณคืน และไม่ได้คืนที่คลังครับ คืนไว้ที่กระทรวงและกรม ไม่รู้เอาไปใช้ที่ไหนต่อ เราก็จะเห็นถนนโผล่ที่ทุ่งนาที่ไม่มีชุมชนอยู่ ท่านประธานเราไม่อยากเห็นภาพอย่างนี้ ข้อติดขัดในข้อกฎหมาย จริง ๆ แล้วท่านสมาชิกก็อภิปราย ก่อนการรัฐประหารผมคิดว่า กระบวนการของท้องถิ่น อบต. เขาก็ดำเนินการตามปกติ แผนพัฒนา ๕ ปี ๑๐ ปี งบ อบจ. งบท้องถิ่น งบจากส่วนกลาง งบที่สนับสนุนส่วนกลางเขาก็ลงมาสนับสนุนก็ดำเนินการไปเลย แต่หลังจากนั้นมันมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีกระบวนการย้อนกลับมาที่ส่วนกลาง ที่น่าเศร้าที่สุด ที่อำเภออมก๋อย อบต. จะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กได้รับงบประมาณจากส่วนกลางมาทำ ศูนย์เด็กเล็กนะครับท่านประธาน ใช้พื้นที่ไม่เกิน ๑ ไร่ ปรากฏว่าไม่อนุญาตให้ทำ แล้วงบประมาณก็คืนหมด แล้วเด็กจะไปอยู่ที่ไหนครับ เรากำลังพูดถึงคน คนที่เท่าเทียม เราพูดถึงคนที่จะต้องมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง เด็กก็คืออนาคตของพวกเรา กระบวนการอนุญาตอย่างนี้ผมถามว่าเราจะสร้างความเป็นธรรม และเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร สไลด์แผ่นต่อไปผมคิดว่าผมอยากจะให้ท่านประธานได้เห็นภาพ อันนี้ก็คือผมยกตัวอย่าง เขาก็บอกว่าพยายามแก้ปัญหา แล้วมติ ครม. วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ผมใช้คำว่า มติ ครม. ที่เขาเรียกว่า มติ ครม. นิรโทษกรรม บอกว่าจะปิดแล้ว ไม่อนุญาตแล้ว ปรากฏว่าหมู่บ้านทั้งประเทศอยู่ในเขตป่าอยู่ โรงเรียนก็ยังอยู่ในเขตป่า สถานี ตำรวจอยู่ในเขตป่า บางอำเภอยังอยู่ในเขตป่าท่านประธาน คือจริง ๆ แล้วต้องไปจับ นายอำเภอ ข้าราชการที่ทำงานตรงนั้นไม่ได้ขออนุญาตเลย ถ้าอย่างนั้นก็คือว่าให้แจ้งใหม่ ให้ทำข้อมูลใหม่ คล้าย ๆ นิรโทษกรรม วันนี้นิรโทษกรรมที่อยู่ในมือผมนี้ ตามมติ ครม. ๒๑,๙๐๘ แปลง ยื่นไปแล้ว ๔๐,๐๐๐ กว่าแปลง เกินไปแล้ว ๓๐,๐๐๐ แปลง ทั้งหมดนี้ มันกองไว้อยู่ที่ ทสจ. ซึ่งเป็นหน่วยอนุญาตที่จะส่งไปส่วนกลาง แล้วผมคิดว่าท่านอธิบดีและ ส่วนต่าง ๆ จะทำอย่างไร อันนี้คือปัญหาทั้งหมดเลยครับ เรายังไม่ได้พูดถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐ เช่นกรมธนารักษ์ เช่นเขตทหาร ผมไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พี่น้อง ที่นั่นอยู่กันนาน เป็นเขตทหาร เป็นที่ราชพัสดุ ข้างในเป็นตำบลครับ มีสถานีอนามัย โรงเรียน มัธยมถึง ม. ๓ ไม่มีสายไฟฟ้าครับ หมอก็บอกว่าเวลาผู้บังคับบัญชาบอกว่าจะต้อง ฉีดวัคซีน จะต้องป้องกัน วัคซีนต้องแช่ความเย็นครับ จะเอาไฟฟ้าที่ไหน ไฟฟ้าโซลาเซลล์ Solar House ที่ว่านี้เวลาฝนตก แสงไม่พอมันก็ทำงานไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเป็น ข้ออนุญาตที่มันยุ่งยากลำบากนี้มันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาและเป็นข้อขัดขวางของ ส่วนราชการเกือบทั้งหมดเลยครับท่านประธาน ทีนี้เรามาดูนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐาได้แถลงไว้ตอนแถลงนโยบายในเรื่องนี้ชัดเจนว่าจะลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ เพื่อเปิดประตูการค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทย บริหารในรูปแบบของการกระจาย อำนาจ ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ให้มีคุณภาพชีวิต เรื่องนี้เรื่องสำคัญท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนะครับ อันนี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ ในระดับ อบต. ในระดับจังหวัด ถ้าหากว่าท่านนายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ ที่ผมอภิปรายนี้ถ้าทำไม่ได้คือไม่ต้องคิดที่จะทำเรื่องอื่นแล้วครับ เรื่องนี้มันไม่ต้องไปแก้ กฎหมายอะไรมากมาย ไปดูในระเบียบครับ ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการแค่ ๒ กระทรวงก็จบ คือกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ดูแลคน ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลเรื่องป่า แต่มันมีพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน ผมเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าหมู่บ้านเกิดก่อนที่จะมีการประกาศ เขตอุทยานและเขตป่าสงวน จริง ๆ แล้วคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประกาศทับที่ของกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้น ๒ กระทรวงนี้ต้องคุยกัน สั่งการ ไปเลย เรื่องนี้มันจะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖ นะครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ เรื่องที่จะต้องไปแก้กฎหมายอะไรมากมาย เป็นแค่อำนาจของฝ่ายบริหารเขาสั่งการลงไป ผมใช้เวลาพอสมควร ผมอยากให้ท่านประธานไปดูรูปก็แล้วกันเพื่อเห็นบรรยากาศ สิ่งที่ น่าสนใจ โรงเรียนนั้นน่าจะเป็นที่เกาะพยามที่นักเรียนจะต้องว่ายน้ำไปโรงเรียน ที่จังหวัด ระนอง ชาวบ้านก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ สามัคคีกันเอาอุปกรณ์เท่าที่มีแก้ปัญหาครับ ภาพต่อไปเห็นไหมครับ สายไฟ Digital ครับท่านประธาน อันนี้ที่อำเภอสบเมย ข้างในเป็น โครงการของ ตชด. ด้วย ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีท่านเสด็จแล้วก็ไปสร้างตรงนี้ แต่ปรากฏว่าปักเสาไฟแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง อย่างไรครับท่านประธาน เป็นเสาไฟฟ้าแบบ Digital ครับ ต่อไปครับท่านประธาน นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ ประชาชนทำผ้าป่าระดมทุนเพื่อแก้ปัญหา และมี พระด้วยนะครับท่านประธาน เราจะอยู่อย่างนี้หรือครับ งบประมาณที่เราพูดกันเยอะแยะ มากมาย โครงสร้างพื้นฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมคิดว่าให้ อบต. ให้ท้องถิ่น ให้อำเภอ ให้จังหวัด เขาจัดการเถอะครับ ไม่ใช่เขาไม่มีงบ อบจ. บางพื้นที่มีครับ อบต. บางพื้นที่มีครับ แต่สิ่งที่ เขาทำไม่ได้ก็คือเขาบอกว่าต้องขออนุญาต ช่วงสุดท้ายแล้วครับ สิ่งที่ผมเสนอผมอยากจะให้ ท่านประธานเข้าใจในประเด็นอย่างนี้ว่าพื้นที่เดิมทั้งหมดที่ถูกประกาศเป็นหมู่บ้านตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ มีผู้ใหญ่บ้าน มีกำนัน มีอะไรพวกนี้ มีขอบเขต ในแนบ ท้ายกฤษฎีกาเขาจะเขียนไว้อยู่แล้วว่าหมู่บ้านนี้สันเขาไหน ทิศตะวันออกถึงไหน ทิศตะวันตก ถึงไหน มีอยู่แล้วครับท่านประธาน ตำบลนี้อยู่ในเขตทิศไหนถึงไหน ในกฤษฎีกาประกาศเขต หมู่บ้านเขตปกครองมันมีอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าหมู่บ้านเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมาย อันเดิม ที่มันมีอยู่ชอบด้วยกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นและชุมชนจะทำ ไม่ต้องขอ อนุญาต ดำเนินการได้เลย ยกเว้นพื้นที่เปิดใหม่ อยากจะฝากเรื่องนี้ไปยังท่านรัฐมนตรี สิ่งที่ ผมจะทำหน้าที่ต่อไปคือผมจะศึกษารายละเอียด ถ้าหากว่ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญผมจะ ศึกษารายละเอียดในรูปธรรม รูปแบบ แนวทาง และจะเสนอตามไป อะไรที่นายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารสั่งการได้ดำเนินการไปเลยครับ เราไม่อยากจะอยู่ด้วยกันในประเทศนี้ที่มันมี ความเหลื่อมล้ำ นอกจากเศรษฐกิจแล้ว เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ผมคิดว่าแค่นี้ถ้าเราทำไม่ได้ไม่ต้องคิดทำอย่างอื่นครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
ขอบคุณครับท่านประธาน ต้องขออนุญาตท่านประธานครับ ผมอาจจะใช้เวลาเกินกว่าที่ได้ขอไว้นะครับ เนื่องจากว่า ข้อมูลผมเป็นคนอภิปรายก่อนที่จะเป็นคนสุดท้าย กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และ ชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ จริง ๆ แล้วเราได้อภิปรายเรื่องนี้เมื่อประมาณ ๒ เดือน ที่แล้วนะครับ ตอนที่ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง โดยคุณศักดิ์ดา แสนมี่ ได้เสนอเข้ามา ทางรัฐบาลขอศึกษาไป ๖๐ วันนะครับ วันนี้ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เลยครับท่านประธาน เป็นการเสนอกฎหมายที่มาจากทุกฝ่าย ฝ่ายแรกก็คือฝ่ายประชาชน ที่เสนอกฎหมายมา มีอยู่ ๒ ร่าง ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง และเราเรียกย่อ ๆ ว่าร่างของ P-move ร่างของพรรคการเมืองมีของพรรคก้าวไกลแล้วก็พรรคเพื่อไทย และที่สำคัญคือมีร่างของรัฐบาลคือร่างของ ครม. อันนี้ผมถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ ที่ฝ่ายประชาชน ฝ่ายสภา ฝ่ายพรรคการเมือง แล้วก็ฝ่ายบริหาร เห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้อง มีกฎหมายฉบับนี้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญครับท่านประธาน
สิ่งที่ผมคิดว่าผมขออนุญาตย้ำไป อีกรอบหนึ่งว่าทำไมเราจะต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมคิดว่ามันมีหลักเหตุผล หลักความสำคัญ แค่ ๒-๓ เรื่องครับท่านประธาน ประเด็นแรกก็คือว่าในสังคมไทยมันเป็นสังคมแบบ พหุวัฒนธรรม ผมเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้แย้ง ไม่ได้ค้าน ทุกคนเห็นด้วยว่าเราคือเผ่าพันธุ์ เราคือ ผู้คนที่มาอยู่รวมกันที่เราเรียกว่า คนไทย เราใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง นักวิชาการก็ได้ ยืนยันเรียบร้อยว่าประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๖๐ ชาติพันธุ์ มีอยู่ ๖ ล้านคน ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศครับท่านประธาน และเรามีทั้งคนที่มาใหม่และคนอยู่เก่า เพื่อนสมาชิกหลายคนบอกว่าประเทศนี้ไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เป็นชนเผ่าพื้นเมืองแล้วจะทำให้ การปกครองมีการแตกแยก ผมคิดว่าท่านเอาที่ไหนมาพูดครับ ท่านประธาน เรื่องนี้ชนเผ่า พื้นเมืองมันมี ไม่มีได้อย่างไรครับ ก่อนที่จะมีอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะมีอาณาจักรต่าง ๆ เหล่านี้ คนดั้งเดิมที่มีอยู่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถ้ำผีแมน อำเภอปางมะผ้า เป็นหมื่น กว่าปี เราจะพูดอย่างไรครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเราจะมาขุดคุ้ยทางประวัติศาสตร์อะไรพวกนี้ เป็นการทะเลาะกันที่จะต้องเอาข้อมูลประวัติศาสตร์มาพูดกัน วันนี้คำว่า ชาติพันธุ์และ ชนเผ่าพื้นเมืองมันมีการใช้กันทั่วโลก เรามีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกัน ผมคิดว่าใหญ่ ๆ นักวิชาการแบ่งเป็น ๓ กลุ่มอยู่แล้ว คือพี่น้องชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หลายคนเรียกว่า ชาวเขา ชาวไทยภูเขาต่าง ๆ เหล่านี้ พี่น้องชาติพันธุ์คนไทยพื้นราบ ซึ่งอาจจะมีทั้งพี่น้องคนมอญ พี่น้องชาวกูย พี่น้องซ่ง พี่น้องหลายกลุ่มมากนะครับท่านประธาน แล้วก็พี่น้องทางทะเล เราเรียกว่า ชาวเล ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวมอแกน ชาวอูรักลาโวยจ และพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ เขตป่าดำรงรักษาความเป็นวิถีชีวิตเกือบจะดั้งเดิมที่เราเรียกว่า มานิ อันนี้คือกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งถามนักวิชาการแล้วครับ อย่างพี่น้องมานิดำรงอยู่ที่นี่นานมาก นานที่จะมีเกาะในประเทศ ที่จะแยกออกจากสุมาตราด้วยซ้ำไปครับท่านประธาน ตรงนี้ดำรงเป็นหมื่น ๆ ปีแล้วนะครับ หลายพันปีมาก เพราะฉะนั้นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมันคือความเป็นจริง ในสังคมไทยอยู่แล้วครับท่านประธาน
ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำไมเราจะต้องมี ผมคิดว่าหลายท่านได้พูดไปแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ พูดอยู่ แต่สำคัญที่สุด ปี ๒๐๐๗ ประเทศไทยได้ไปลงนามว่าด้วยเรื่องของสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง อันนี้เราได้ไปลงนามนะครับ เราได้ไปรับรองว่าในโลกนี้มีชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยก็ได้ไปลงนาม แต่ว่าในทางปฏิบัติ วันนี้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง อาจจะไม่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ได้มีกฎหมายฉบับอื่น เขียนไว้ แต่วันนี้เรากำลังจะมาทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตนในกฎหมาย อันนี้สิ่งที่มันเป็น ข้อเท็จจริงที่ ๑ ก็คือความเป็นจริงในสังคมไทย ข้อเท็จจริงที่ ๒ คือเราได้ไปตกลงกับ นานาอารยประเทศ หน้าที่ของเราคือทำให้ ๒ อย่างนี้มีความเป็นจริง ก็คือการตรากฎหมาย ฉบับนี้ ท่านประธานครับ สิ่งที่ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานว่า ทำไมพี่น้องชาติพันธุ์ จะต้องมาเรียกร้อง จะต้องมาต่อสู้เรื่องนี้ การต่อสู้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พี่น้อง ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผมว่าไม่ใช่เฉพาะพี่น้องเผ่าของผมคือ เผากะเหรี่ยง เผ่าปกาเกอะญอ ผมว่ามี ทุกเผ่าได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคุกคาม การกระทำหลายอย่าง โดยเฉพาะ เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน หลายหมู่บ้าน หลายพื้นที่อยู่ก่อนมานานมาก ผมไม่อยากจะพูดว่าอยู่ ก่อนประเทศไทยด้วยซ้ำไป แต่วันนี้เขาเป็นคนผิดกฎหมาย วันนี้หมู่บ้านชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรครับ เพราะมีผู้ใหญ่บ้าน ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ. ปกครอง ท้องที่ท้องถิ่น ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรครับ หมู่บ้านมีโรงเรียน มีครู หมู่บ้าน มีอนามัย ชอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข มี อสม. แต่ว่าไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ บางอำเภอ ที่ตั้งอำเภอ ที่ตั้งของสถานีตำรวจยังอยู่ในเขตป่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องมา โดยตลอด คือว่าสิทธิให้เหมือนกับคนทั่วไปเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรพิเศษเลยครับ หลายคนบอกว่า ถ้ามีชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นการแยกการปกครอง ผมคิดว่าท่านเอาอะไรที่ไหนมาพูด เรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ไม่อยากจะให้สภาตรงนี้มาพูดเพื่อให้เกิดความแตกแยกครับ เราต้อง ยืนอยู่บนความเป็นจริงที่เรายืนอยู่ภายใต้แผ่นดินตรงนี้ และยืนอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่เราได้ไปลงนาม สิ่งที่ผมอยากจะบอกครับท่านประธาน อันนี้ตัวอย่างนะ ครับ คนที่อยู่รางรถไฟ ขอสไลด์ขึ้นด้วยครับ ชื่อพะตีปูนุ ดอกจีมู อยู่ที่บ้านห้วยหอย อำเภอ แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ไปเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย ในที่ดินทำกิน เอาภาพเมื่อสักครู่อีกที นะครับ เขาบอกว่า ท่านไม่สามารถที่จะอยู่ในหมู่บ้านตัวเองได้ จะต้องอพยพ พะตีปูนุก็ เสียใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร กลับไปถึงเส้นทางช่วงเด่นชัย-ลำปาง ก็กระโดดรถไฟตายที่นั่น นะครับ อันนี้คือสิ่งที่เราเรียกร้องนะครับ ขอให้เราอยู่สงบสุขเหมือนกับคนทั่วไป รับรอง ความเป็นตัวตนของเรา รับรองสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของพวกเรา เขาจะทำไร่หมุนเวียน เขาจะทำวนเกษตร เขาจะเลี้ยงวัว เขาจะเลี้ยงควาย เขาจะทำมาหากิน รับรองในสิ่งที่เขามี อยู่ อันนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรครับ มีบางอย่างที่ผมคิดว่า ความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่การพัฒนา กฎหมายฉบับนี้ก็คือว่า อำนาจของรัฐ แล้วก็ที่สำคัญคือมายาคติ ความรู้สึกของคนในสังคม นะครับ ที่เราไม่ได้สร้างว่าเราประกอบสร้างจากชนเผ่าต่าง ๆ รวมกันมากมาย ตั้งแต่อดีต ประวัติศาสตร์แล้ว เราอยู่ร่วมกันมาตลอด ผมยกตัวอย่างตลอดนะครับ ถ้าทางภาคเหนือ จังหวัดตาก ทุกคนก็รู้จักพะวอ พะวอเป็นนายทหารเชื้อสายกะเหรี่ยง อยู่ที่ด่านแม่ละเมา เราไป Check เอาครับ อยู่ในสมัยไหน ยิ่งทางอำเภอศรีสวัสดิ์ ทางจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับ โอกาสรับราชการในสมัยอยุธยาเป็นนายหน้าด่านเวลาข้าศึกมา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เรา ละเลย เราไม่ให้คุณค่า อย่าลืมคนที่เคยอยู่ในอดีตร่วมกับประวัติศาสตร์ แม้แต่ทางจังหวัด เชียงราย ทางจังหวัดน่าน หลาย ๆ พื้นที่ที่ติดต่อกันนะครับ มันเป็นโอกาสของพวกเราที่จะ ทำให้ทุกคนได้มีจุดยืนและมีพื้นที่ยืนและมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากันครับ ทีนี้สิ่งที่ ผมอยากจะนำเรียนประเด็นสุดท้ายครับ สิ่งที่ผมอยากจะให้กับท่านประธานได้รับทราบว่า เราขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองขับเคลื่อนตั้งแต่ ปี ๒๕๕๓ แล้วนะครับ ตั้งแต่ผ่านรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสู่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และนำไปสู่รัฐบาลที่ยึดอำนาจอีก วันนี้เป็นโอกาสของสภาแห่งนี้ครับ เป็นสภาที่มาจากพี่น้อง ประชาชนเลือกพวกเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเห็นจากเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ว่า เป็นการทำหน้าที่ในครั้งประวัติศาสตร์ที่พวกเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็คือการช่วยกัน ช่วยกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นร่างของรัฐบาล ร่างของพรรคการเมือง ร่างของภาคประชาชน เรามาดูรายละเอียดกันในชั้นกรรมาธิการ เรามาถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการครับ มาตราไหนที่เราเห็นต่าง เราก็เอาเหตุและผลข้อมูล ทางวิชาการ ข้อมูลประวัติศาสตร์ ข้อมูลระดับสากลมาถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ เพราะฉะนั้นหลังจากวันนี้ในขั้นรับหลักการ เราก็จะมีชั้นกรรมาธิการ พอผ่านจาก ชั้นกรรมาธิการ เราก็กลับมาที่สภาใหม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้ ผมคิดว่าเราควรจะ ใช้โอกาสนี้ในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน ท้ายที่สุดครับท่านประธาน ผมคิดว่าชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมไทย คือความจริงที่มีอยู่ หน้าที่ของเราก็คือว่าทำความจริง ให้ปรากฏและรับรองความเป็นตัวตน ความเท่าเทียมกันของคนในสังคมนี้ผ่านกฎหมาย ฉบับนี้ ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับ ช่วยกันรับร่างทุกร่าง แล้วไปคุยรายละเอียดกัน ในชั้นกรรมาธิการ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ เรื่องวิธีการ ผมก็ยังไม่เข้าใจ แล้วผมถามเพื่อนสมาชิกหลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ รบกวน ท่านประธานช่วยอธิบายวิธีการอีกรอบหนึ่งครับ