นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมได้มีโอกาสอ่านรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน หรือ กกพ. แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลามีหลายประเด็นที่ผมสงสัยและอยากจะอภิปราย สอบถาม แต่จะมีประเด็นสำคัญหลัก ๆ อยู่ ๒ ประเด็นที่อยากจะสอบถามท่านเลขาธิการ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเรื่องของการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จริง ๆ แล้ว กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องถิ่นชุมชนกระจายความเจริญ และพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ได้รับ ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านะครับ แล้วก็ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตามมาตรา ๙๗ (๑) ถึง (๖) แต่ที่ผมตั้งข้อสังเกตตามมาตรา ๙๗ (๔) กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการใช้ พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะ ปี ๒๕๖๔ ที่ท่านเลขาธิการได้ชี้แจงตอนแรกว่าเป็นโครงการ พลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้าก็คือติดตั้ง Solar Cell แบบ On Grid และ Off Grid ถ้าดูในตารางปี ๒๕๖๔ กรอบงบประมาณ ๑,๙๒๐ ล้านบาท แต่ว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติ ท่านยังไม่ได้ใส่ไว้ เพราะว่าเขียนว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ถ้าอย่างนั้นผมจะย้อนไปในปี ๒๕๖๓ กรอบงบประมาณ ๑,๘๐๐ ล้านบาท โครงการที่เข้าร่วม ๕๙ โครงการ วงเงิน ๓,๒๐๐ ล้านบาท แต่ท่านอนุมัติแค่ ๑๓ โครงการ วงเงินแค่ ๑๓๗ ล้านบาท ๘ เปอร์เซ็นต์ของกรอบ งบประมาณแค่นั้นเองนะครับ ทั้ง ๆ ที่ท่านเขียนในรายงานโครงการนี้ท่านมีแผนที่จะติดตั้ง โรงเรียนตามชนบทห่างไกลนี่ ๑๖๖ แห่ง หมายถึงโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นะครับ โรงพยาบาลอีก ๗๐ แห่ง ซึ่งมันโครงการที่ดีเพราะว่าตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนา ไฟฟ้า แต่ทำไมตัวเลขอนุมัติมันถึงน้อยขนาดนี้นะครับ เปรียบเทียบกันกับมาตรา ๙๗ (๕) โดย (๕) เป็นเกี่ยวกับเรื่องของการให้ประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วม ด้านไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นงบศึกษาดูงานแล้วก็ประชาสัมพันธ์ ถ้าตามตารางปี ๒๕๖๔ กรอบวงเงินเท่ากับปี ๒๕๖๓ ก็คือ ๖๐๐ ล้านบาท แต่ปี ๒๕๖๔ ท่านยังเว้นไว้ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการนะครับ ย้อนมาดูตัวเลขปี ๒๕๖๓ วงเงินที่ท่านอนุมัติ ๔๗๖ ล้านบาท ๘๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ คือผมไม่ได้คาดหวังว่า (๔) จะสูงใกล้เคียงกับ (๓) เพราะว่า (๕) ที่ท่านอนุมัติไปนั้นถือว่าตัวเลขประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๔๗๖ ล้านบาท แต่ (๔) ที่แจ้งไปก็คือแค่ประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ จริง ๆ แล้วท่านสามารถที่จะอนุมัติโครงการ พวกนี้ได้อยู่แล้วนะครับ เพราะว่างบประมาณกรอบวงเงินที่ท่านก็วางไว้อย่างสูงอยู่แล้ว ๑,๘๐๐ ล้านบาท แล้วโครงการนี้ผมถามนิดหนึ่งว่า ๕๙ โครงการท่านอนุมัติไป ๑๓ โครงการ แล้วอีก ๔๖ โครงการนี้คืออย่างไรครับ หมายถึงว่าปัดตกไปมาในปีงบประมาณใหม่ หรืออย่างไร อันนี้ท่านต้องช่วยชี้แจงด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP 2018 แต่ปี 2018 ที่ท่านระบุไว้ก็คือเป็น Revise 1 ก็คือปรับปรุงครั้งที่ ๑ ทำไมถึงจะต้อง ปรับปรุงผมจะยกตัวอย่างให้ โครงการที่ ๑.๑ Solar Rooftop ภาคประชาชนในแผน มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากประชาชนอยู่ที่หน่วยละ ๒.๒ บาท ย้ำนะครับ หน่วยละ ๒.๒ บาท เป้าหมายท่านกำหนดไว้ ๕๐ เมกะวัตต์ แต่ระยะเวลา ๒ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ มีประชาชนเขาคงร่วมโครงการแค่ ๗๐๐ กว่าราย กำลังการผลิต ที่ขายให้การไฟฟ้าแค่ ๔.๓ เมกะวัตต์ แค่นั้นเองยังไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เลยนะครับ แน่นอนครับการติดตั้ง Solar Cell ท่านก็ทราบว่ามีอยู่ ๒ แบบ ก็คือติดตั้งแบบ On Grid ใช้ไฟอย่างสมมุติว่า Load ในบ้าน ๕ กิโลวัตต์ก็ติดตั้ง ๕ กิโลวัตต์ใช้ไฟกลางวัน กลางคืน ก็เสียไฟให้การไฟฟ้า หรือแบบที่ ๒ อาจจะติดตั้งเผื่ออนาคตแล้วก็มีแบตเตอรี่ ความคิดที่ ประชาชนจะขายไฟให้กับท่านแทบจะไม่มีเลยครับ เพราะว่าท่านขายไฟให้ประชาชน ๔ บาทกว่า เกือบ ๕ บาท ณ ตอนนี้ โครงการนี้ท่านตั้งเป้าไว้เกินหรือเปล่าครับ ๕๐ เมกะวัตต์ อันนี้ เดี๋ยวท่านช่วยชี้แจงด้วยนะครับ สลับกันในโครงการที่ ๑.๒ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจ ฐานรากที่ท่านแจ้งไว้เป็นโครงการนำร่อง เป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล แล้วก็ก๊าซชีวภาพก็คือ Biomass กับ Biogas นะครับ จริง ๆ แล้ว โครงการนี้ดีมากเพราะว่ามันจะส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานในชุมชน แล้วโรงไฟฟ้าในชุมชน ก็จะสร้างงานสร้างอาชีพด้วย ท่านตั้งเป้าไว้ ๑๕๐ เมกะวัตต์ ที่ท่านรายงานเมื่อสักครู่ ท่านบอกว่าได้ถึง ๑๔๙.๕ เมกะวัตต์ ผู้เข้าร่วมโครงการ ๔๓ ราย จริง ๆ แล้วเกินด้วยซ้ำ เพราะว่าท่านตัดทิ้งไป เพราะว่าโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งคิดว่าน่าจะประมาณ ๒-๓ เมกะวัตต์ อยู่แล้วใช่ไหม ทำไมอันนี้มันถึงต่ำล่ะครับ ไม่ขาดก็เกิน ผมกำลังมองดูว่าแผนที่ท่านปรับปรุง อย่างไรฝากท่านเลขาช่วยชี้แจงด้วย เพราะผมคิดว่าโครงการแต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นมาได้ มันจะต้องมีความคิดร่วมกัน ประชาชนฝากความหวังไว้กับท่าน ไม่ว่าจะเป็น กกพ. กพช. กระทรวงพลังงาน เพราะว่าอนาคตของพลังงานและทิศทางของพลังงานในประเทศไทย อยู่ที่พวกท่าน อย่างไรขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเรื่องปัญหาขยะสะสม และขยะล้นในพื้นที่ของเทศบาลนครนนทบุรี พบว่าเรื่องปัญหาการจัดเก็บขยะ ทางเทศบาล ขาดแคลนบุคลากรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสะสมในพื้นที่ จากข้อมูลสถิติ การรับสมัครพนักงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๖ พบว่าพนักงานขับรถและพนักงาน เก็บขยะ มีผู้สมัครจำนวนน้อยกว่าที่ต้องการมาก โดยปัจจุบันพนักงานเก็บขยะได้รับ เงินค่าตอบแทนอยู่ที่ ๙,๐๐๐ บาทต่อเดือน เงินค่าครองชีพชั่วคราว ๑,๐๐๐ บาท และเงินค่าเสี่ยงภัย ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งรวมแล้วจะอยู่ที่ ๑๒,๐๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น ทางเทศบาลได้เคยคุยและส่งรายละเอียดชี้แจงไปทาง ก.พ. ในเรื่องของการปรับอัตราเพดานค่าจ้าง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ผมจึงเรียนผ่านท่านประธานฝากไปทาง ก.พ. และต้นสังกัด กระทรวงมหาดไทย ขยายเพดานเงินค่าตอบแทนพนักงานเก็บขยะ จาก ๙,๐๐๐ บาท เป็น ๑๒,๐๐๐ บาท รวมเงินเพิ่มแล้วจะได้อยู่ที่ ๑๕,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนมา สมัครเพิ่มมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ปัญหาใต้ทางด่วนงามวงศ์วาน โดยมีระยะทาง ๒.๔ กิโลเมตร ตั้งแต่ ถนนงามวงศ์วานจนถึงถนนสามัคคีมีปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดระเบียบ ร้านค้า ปัญหาด้านความสะอาด ขยะที่ทิ้งไว้ตามข้างทาง กองขยะที่ไม่ได้เก็บ ปัญหาพื้นผิว จราจรเป็นหลุมเป็นบ่อ ขาดการซ่อมแซมและดูแลทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ปัญหา ด้านพื้นที่สาธารณะ Lane จักรยาน ตอนนี้กลายเป็นที่ทิ้งซากรถยนต์ ชาวชุมชนได้ร้องเรียน กับทางเทศบาลไปแล้ว แต่ทางเทศบาลก็แจ้งว่าเป็นพื้นที่รับผิดชอบของการทางพิเศษ แห่งประเทศไทย พอชาวบ้านไปร้องกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็บอกว่าให้สัมปทาน กับเอกชนในการบริหารจัดการไปแล้ว ตอนนี้ทางประชาชนก็ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร ผมจึงอยากให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เป็นเจ้าภาพในการจัด ประชุมร่วมเพื่อหาแนวทางแก้ไข กราบเรียนท่านประธานฝากไปถึงการทางพิเศษ แห่งประเทศไทยด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สนามบินน้ำ-อ้อมเกร็ด โครงการโดยทางหลวงชนบท แผนของโครงการนี้ใช้งบประมาณถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ระยะทาง ๘ กิโลเมตร โดยเริ่มต้นโครงการตั้งเป้าเพื่อจะแก้ปัญหาจราจร ภาพรวมของจังหวัดนนทบุรี แต่ตอนนี้เหลือเพียงแก้ปัญหาจราจรและแบ่งเบารถยนต์ที่สะพาน พระนั่งเกล้า และสะพานพระรามสี่เท่านั้น คงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบจากโครงการนี้ไม่ว่าจะเป็นชุมชนและวัดได้ออกมาคัดค้านโครงการรวมถึงผมที่เป็น ตัวแทน แล้วก็ชุมชนในการยื่นหนังสือคัดค้านไปกับบริษัทที่ปรึกษาและกรมทางหลวงชนบทแล้ว แต่ตอนนี้โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้ง ๆ ที่ได้สรุปรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๕ แล้ว จึงอยากเรียน ท่านประธานผ่านไปถึงกรมทางหลวงชนบทว่าโครงการนี้จะมีแนวทางอย่างไรต่อไป ทำหรือไม่ทำ ประชาชนในพื้นที่จะได้ทราบข้อมูลอย่างชัดเจน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนชาวอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นปัญหาของถนน ในซอยสามัคคี ตั้งแต่แยกติวานนท์จนถึงตลาดสมบูรณ์ทรัพย์ ระยะทางกว่า ๒.๗ กิโลเมตร มีรถสัญจรไปมาหลายพันคันต่อวัน แต่ปัญหาก็คือว่าถนนเส้นนี้มีสภาพชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ฝนตกก็มีน้ำท่วม ประชาชนร้องเรียนถึงปัญหาถนนเส้นนี้มากว่า ๑๐ ปี แต่ก็ยังไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างจริงจัง ผมฝากไปถึงเทศบาลนครนนทบุรีถึงแผนในการทำถนนเส้นนี้ใหม่ ประชาชนอยากให้ทำถนนเส้นนี้ใหม่ ไม่ใช่ทำซ่อมแซมแบบชั่วคราว

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของการจัดระเบียบบริเวณหน้าโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อันนี้เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะรถฉุกเฉินที่จะต้องเข้าออก โรงพยาบาล เพราะว่าทางผู้ป่วยแจ้งกับทางโรงพยาบาลซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานนะครับ อยากให้ทางสถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์และเทศบาลนครนนทบุรีจัดการปัญหาเรื่องของ ระเบียบร้านค้าและรถที่จอดบริเวณริมหน้าโรงพยาบาลด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องขยะที่มากับน้ำ บริเวณเขื่อนชุมชนศาลเจ้า ซอยนนทบุรี ๙/๑ ปัญหาของขยะที่เข้ามาในชุมชน เพราะชุมชนนี้ไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอย่างถาวร โดยชุมชนนี้จะอยู่ระหว่างโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ากับโรงสีข้าว ซึ่งมีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม อย่างดี แต่ชุมชนนี้ระยะทางประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ เมตร ถูกเว้นระยะไว้ไม่ได้สร้างเขื่อน ป้องกันน้ำท่วม ทำให้ทั้งผักตบชวาและขยะลอยเข้ามาในชุมชนเป็นอย่างมาก ทางจังหวัดเอง ก็มีแผนที่จะสร้างเขื่อนแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ผมไปสอบถามก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงเรียน ฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า เทศบาลนครนนทบุรี ถึงแผนในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้กับประชาชนด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตอำเภอเมืองนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้ มีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับความเดือดร้อนและปัญหาที่สำคัญของอำเภอเมือง นนทบุรี ๑ เรื่องดังนี้นะครับ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ดูตามภาพเลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • มีบันไดหนีไฟของคอนโดมิเนียมที่กำลัง ก่อสร้างริมถนนรัตนาธิเบศร์ถล่มลงมา ทางผมและเทศบาลนครนนทบุรีก็ได้เข้าไปตรวจสอบ พื้นที่ทันทีนะครับ แต่ในเรื่องของการตรวจสอบ ทางเทศบาลเองก็ได้ระงับการก่อสร้างไป ๗ วัน ส่วนทางโครงการก็มีการเยียวยากับผู้เสียหายตามขั้นตอนนะครับ มีบ้านเรือนเสียหาย ๓ หลัง แต่หลังจากนั้นครับท่านประธาน ผมต้องการทราบถึงสาเหตุและอุบัติเหตุในครั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร จึงได้ติดต่อไปยังเทศบาลนครนนทบุรี ก็ยังไม่ได้รับการแจ้ง จึงได้ประสานงานสภาวิศวกรสภาวิศวกรแห่งประเทศไทยและวิศวกรรมสถาน ทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ แจ้งกลับมาว่าไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าไปตรวจสอบในอุบัติเหตุครั้งนี้ ผมจึงย้อนกลับไปเช็กที่ เทศบาลนครนนทบุรี กลับพบว่าเทศบาลนครนนทบุรีเข้าไปตรวจสอบกับสมาคมวิศวกร โครงสร้างไทย ซึ่งท่านประธานครับ พอผมเช็กแล้วที่ตั้งของสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ถ้าดูตามรูปก็คืออยู่ข้างกับเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ สถานที่ไม่ชัดเจนนะครับ แต่มีเบอร์โทร ไม่เป็นอะไรครับท่านประธาน ผมโทรไปมากกว่า ๑๐ สาย ก็ไม่มีคนรับ หลังจากนั้นก็โทรไป อีกหลายวันก็ไม่มีคนรับเหมือนกัน ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าช่องทางที่เทศบาลนครนนทบุรีติดต่อ กับหน่วยงานนี้ทางช่องทางไหน ผมกังวลเรื่องนี้มากครับท่านประธาน เพราะว่าผมเองก็เป็น สมาชิกของสภาวิศวกรเหมือนกัน จึงอยากเรียนท่านประธานไปถึง ๓ หน่วยงาน ก็คือ เทศบาลนครนนทบุรี ว่าทำไมไม่เอาหน่วยงานที่มีมาตรฐานและได้รับความเชื่อถืออย่าง สภาวิศวกรหรือวิศวกรรมสถานเข้าไปตรวจสอบ หน่วยงานที่ ๒ ก็คือสภาวิศวกรและ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ใครเป็นผู้รับรองและอนุญาตสมาคมเหล่านี้ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล วันนี้มีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวอำเภอเมืองดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นเรื่องประตูระบายน้ำของ กรมชลประทานบริเวณหมู่ ๓ ตำบลท่าทราย จำนวน ๕ บานที่อยู่คู่กับชุมชนมามากกว่า ๒๐ ปี ปัจจุบันชำรุดใช้งานไม่ได้ ขาดการดูแลซ่อมแซมเป็นเวลานาน เพราะว่าทาง กรมชลประทานไม่ได้เข้าไปซ่อมแซมดูแลเลย ทางเทศบาลเองก็ไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมได้ เพราะเป็นสมบัติของกรมชลประทาน ไม่ได้รับการโอนย้าย พอเวลาช่วงที่น้ำขึ้นประตู ก็ไม่สามารถกั้นน้ำได้ เป็นแบบนี้ทุกปี ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ตอนนี้ทางเทศบาลเองก็ได้แต่ วางแผนแล้วก็ออกแบบการก่อสร้างประตูระบายน้ำใหม่ แต่ไม่สามารถจะไปรื้อประตูระบายน้ำ อันเก่าได้ ผมทราบถึงปัญหานี้ดีถึงได้ทำหนังสือถึง ผอ. สำนักการระบายน้ำที่ ๑๑ จังหวัด นนทบุรี ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๕ แล้วครับ ทางสำนักการระบายน้ำก็ได้ทำหนังสือถึงสำนัก บริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาในเรื่องของการเตรียมโอนย้ายครุภัณฑ์ เหลือแต่ท่านอธิบดี กรมชลประทานในการเซ็นอนุมัติโอนย้ายเท่านั้น รอจนท่านเกษียณไปเมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา จนอธิบดีคนใหม่เข้ามาเกือบ ๕ เดือนแล้วก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในการเซ็นโอนย้าย สักที จึงเรียนท่านประธานผ่านไปยังอธิบดีกรมชลประทานด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่จะเรียนท่านประธานผ่านไปยังอธิบดีกรมชลประทาน คือ ประชาชน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ส่งภาพมา ให้ผมให้เห็นถึงการใช้รถและเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานมาตัดต้นไม้ในหมู่บ้าน ผมก็ ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ภารกิจของทางกรมชลประทานนี้มีเรื่องของการรับตัดต้นไม้ด้วยหรือเปล่าครับ ท่านประธาน เพราะว่าถ้าราคามันไม่สูงมากผมเองก็อยากจะติดต่อมาตัดที่บ้านเหมือนกัน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม