กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออภิปราย ถึงประกันสังคมประเด็นสำคัญตรงนี้ครับว่าผมคิดว่ามันถึงเวลาสื่อสารให้กับพี่น้อง ประชาชนแล้วก็รัฐบาลชุดใหม่เข้าใจถึงระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอระเบิดอยู่นะครับ ก็คือ ประกันสังคมจะถังแตกในอีก ๓๐ ปีนี้นะครับ ก็คือล้มละลายใน ๓๐ ปีข้างหน้า ผมคิดว่า มันหมายถึงอะไร มันหมายถึงว่าคนที่อายุ ๒๔ ปีนี้ทำงานส่งเงินเข้าประกันสังคมตลอดชีวิต แต่เมื่อเกษียณแล้วเขาจะไม่ได้เงินเลยสักบาท ผมคิดว่านี่คือใจความสำคัญที่ประกันสังคม ต้องอธิบายกับพี่น้องประชาชน คนที่อายุมากกว่านี้ก็สะสมไป แต่เงินเกษียณที่จะได้มา ก็ได้ไม่ครบ แต่นั่นมันไม่ใช่แค่เรื่องของคนอายุ ๒๔ ปีลงไปนะครับ นี่คือระเบิดลูกใหญ่ ที่รอเวลาให้รัฐบาลใหม่เข้าไปแก้ปัญหา ดังนั้นวันนี้ผมจะมาอภิปรายสั้น ๆ ถึงแนวทาง ว่าเราจะแก้ปัญหาระเบิดลูกใหญ่นี้อย่างไร สิ่งที่ผมอยากเสนอนะครับ ฝากประกันสังคมไป พิจารณา เข้าใจเองว่าท่านกำลังพูดถึงในการเพิ่มเพดานเงินสะสม เพิ่มเพดานเงินเดือน หรือว่าเพิ่มขยายเกษียณอายุ ผมว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องประเด็นทางออกหนึ่งนะครับ แต่ท่าน ควรจะพิจารณาทางที่ยั่งยืนกว่า คือถึงเวลาเปลี่ยนจากที่ว่าระบบถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขา เรียกว่า Define Benefit เป็น Define Contribution ก็คือให้เหมือน กบข. ก็คือว่ายิ่งสะสมมาก เงินเกษียณที่ท่านจะได้ก็จะได้มากตามไปด้วย นี่คือเหตุผลที่ท่านจะสามารถอธิบายกับพี่น้อง ประชาชนได้ว่าทำไมถึงควรจะต้องขยายเพดานเงินเดือน ทำไมถึงต้องเพิ่มเงินสะสม แล้วก็ทำไมต้องเพิ่มขยายเวลาเกษียณ เพื่อให้พี่น้องผู้ประกันตนนั้นได้เงินเกษียณมากขึ้น แล้วก็เป็นหลักการที่ว่าไม่เอาตกให้เป็นภาระของคนรุ่นหลังมาจ่ายให้กับคนรุ่นก่อน ที่เป็นการออกแบบที่ผมคิดว่าผิดพลาดของประกันสังคมในรอบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา สมัยก่อนเขาอาจจะออกแบบไว้ว่าสักวันหนึ่งจะมาเพิ่มทยอยขยายเพดานขึ้น แต่ ๓๐ ปี ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ระเบิดเวลาลูกนี้มันก็เลยจะเข้ามาถึงเข้าใกล้งวดขึ้นทุกวัน ๆ นี่ คือเหตุผลที่ผมอยากให้ทบทวน ว่าถึงเวลาแล้วถ้าท่านจะขยายเพดานไม่ใช่ปรับจาก Define Benefit ที่เพียงแค่ขยายเพดานเงินสะสม เงินสมทบเพิ่ม แต่ถึงเวลาให้เปลี่ยนเป็น Define Contribution ที่รัฐบาลการันตีขั้นต่ำ ผมว่าแบบนี้อธิบายพี่น้องประชาชนได้ว่ารัฐบาล ยังการันตีผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อยามเกษียณขั้นต่ำอยู่เหมือนเดิม ไม่น้อยไปกว่าเดิมเลย แต่ที่ใครก็ตามที่สะสมเพิ่มก็จะได้รับเงินเกษียณเพิ่มขึ้นไปด้วย แล้วผมก็อยากฝากให้พิจารณา ถึงโมเดลที่ประเทศสิงคโปร์เขาใช้ ประเทศสิงคโปร์เขามองว่าให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกใช้ เอกชน ก็คือใช้ Provident Fund แทนก็ได้ ให้มันเกิดการแข่งขัน เพราะว่าประกันสังคม ไม่ได้มีอะไรการันตีว่ากองทุนประกันสังคมจะสามารถนำเงินสะสมไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนดีที่สุด การเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันคือการการันตีว่าผลตอบแทนที่ ผู้ประกันตนจะได้จากการส่งเงินเข้าประกันสังคมจะได้ผลตอบแทนที่ดีสุดเพราะมีการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนด้วยขนาดของท่านนี่ท่านอย่างไรก็คิดค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเอกชนอยู่แล้ว แต่การเปิด การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภคอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันจะบอกว่าเงินสะสมที่มากขึ้น จะเอาไปช่วยผ่อนบ้านก็ยังได้ นี่ก็คือโมเดลที่ประเทศสิงคโปร์เขาใช้เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคง ในเรื่องที่อยู่อาศัยตรงนี้ แล้วที่อยู่อาศัยเมื่อเกษียณแล้วก็จะไปแปลงเป็นเงินบำนาญก็ยังได้ นี่คือเรื่องที่ฝากให้ท่านคิดพิจารณาว่าถึงเวลาที่ต้องแก้ไขระเบิดเวลาลูกนี้แล้วครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวประมง ทั้งระบบ เหตุผลก็แน่นอนครับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค้างคามา ๘ ปีแล้วที่ชาวประมงได้รับความ เดือดร้อนจากการออกกฎเกณฑ์ที่ขาดการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวประมง แล้วก็เป็นอะไรที่ พี่น้องชาวประมงก็ตั้งหน้าตั้งตารอมา ๘ ปีแล้ว แล้วก็ ๕ เดือนแล้วหลังเลือกตั้งที่ชาวประมง ก็คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ก็เข้าใจดีว่าเป็นเพียงแค่ ๑ เดือนที่มีรัฐบาลชุดใหม่ เข้าไปทำหน้าที่ แต่ผมคิดว่าการมีคณะกรรมาธิการวิสามัญนี่จะสามารถเป็นสะพานเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ หรือ แม้กระทั่งนักอนุรักษ์ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับทั้งฝ่ายบริหารเองได้ด้วย ดังนั้นจึงมี ความเห็นเป็นอย่างยิ่งว่าที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อมาศึกษาแก้ไขปัญหา ให้พี่น้องชาวประมงตรงนี้ แล้วก็ต้องย้ำอีกทีหนึ่งว่าปัญหาของพี่น้องชาวประมงจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้มีแค่เรื่องของกฎหมายประมงแต่เพียงอย่างเดียว มันมีกฎหมายกรมเจ้าท่า กฎหมาย แรงงาน ไม่ได้มีเรื่องของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ก็มีเรื่องงบประมาณ มีเรื่องของนโยบาย มีเรื่องของการบังคับใช้ แล้วก็การสนับสนุนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีกหลายประเด็น ดังนั้นมัน เป็นการดีอย่างยิ่งถ้าสภาแห่งนี้จะได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษาร่วมกันนะครับ ซึ่งใน ระหว่างนี้ผมก็อาจจะขออภิปรายเสนอแนะว่าสิ่งที่ชาวประมงเขาคาดหวังว่าจะเห็นการ เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรัฐบาลสมัยนี้มีอะไรบ้าง แล้วก็ยิ่งถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ รวดเร็วก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี
ผมจะขอไล่จากมาตรการที่สามารถทำได้รวดเร็วที่สุดไปยังมาตรการที่ใช้ เวลานานกว่า เอาตั้งแต่ประเด็นอย่างเช่น การตีความกฎหมาย ท่านประธานอาจจะไม่ทราบ ว่าจริง ๆ แล้วถ้าภาครัฐเปลี่ยนการตีความนิดหน่อยเพียงว่าถ้ามีการจ่ายค่าปรับตามคำสั่ง ปกครองแล้วกรมประมงสามารถยุติการกักเรือได้เลย เพราะกฎหมายเขียนไว้คำว่า หรือ เท่านั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวประมงตั้งหน้าตั้งตารอ แล้วคิดว่าทำได้รวดเร็วมาก หรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ เพราะกฎหมายประมงเองก็แน่นอนเขาไม่อยากเห็นเรือประมงพาณิชย์ทำประมงในเขตชายฝั่ง นั่นคือเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ว่าปัจจุบันเองการบังคับใช้ก็มีการบังคับใช้เข้มข้นไปถึงขั้น ว่าท่าเรือประมงพาณิชย์แฉลบเข้าไปในเขตประมงชายฝั่งก็สามารถถูกเอาผิดและค่าปรับ ก็เป็นหลักแสนหลักล้านได้ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ของ กฎหมายก็เป็นเรื่องที่กรมประมงสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนแล้วก็ส่งไปยังเขตพื้นที่ ต่าง ๆ ให้บังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ นี่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เร็วมากนะครับ
ต่อมาก็คือการออกกฎหมายลูกที่อาจจะไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไขกฎหมายแม่ คือตัว พ.ร.ก. ประมง ออกกฎหมายลูกในประเด็นมาตรา ๘๓ ของ พ.ร.ก. ประมง เพื่อแก้ปัญหา การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวบนเรือประมง ผมคิดว่าต้องย้ำกันอีกทีหนึ่งพี่น้องชาวประมงเอง ทุกคนอยากปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกคนอยากมีลูกน้อง มีแรงงานมาใช้ทำงานบนเรือประมง อย่างถูกต้องขึ้นทะเบียน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกตามกฎหมาย ถูกตามระเบียบ สามารถทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งในกฎหมายประมงเองมาตรา ๘๓ ก็เปิดช่องตรงนี้ว่าอธิบดีกรมประมง สามารถออกกฎหมายลูก หลักเกณฑ์นี้เพื่อให้ใช้ Sea book แทนบัตรชมพูของกระทรวงแรงงาน ได้เลย หรือถ้าให้ดีที่สุดก็คือใช้บัตรชมพูของกระทรวงแรงงานใช้ทดแทน Sea book ของ กรมประมงได้เลยเพื่อลดความซ้ำซ้อน แล้วก็สามารถทำให้ชาวประมงสามารถดำเนินการหา แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานบนเรือประมงได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการค้ามนุษย์ ลดปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายที่จริง ๆ แล้วไม่มีชาวประมงคนไหนอยากจะทำแบบนั้น
ประเด็นต่อมา ก็คือการแก้ไขกฎหมายแม่ หรือว่าตัว พ.ร.ก. ประมง ซึ่งผมคิดว่ามันมีหลัก ๒-๓ ประเด็นที่ผมอยากจะย้ำกันอีกครั้งหนึ่งที่อยากจะเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนในเชิงนโยบายด้วย ว่าในกฎหมายประมงนี้เราควรจะมาทบทวนกัน ว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องตั้งค่าปรับเป็นหลักแสนหลักล้านกันอีกต่อไป โทษปรับที่เหมาะสม บางทีการเปลี่ยนแค่เพียงการกักเรือ ผมคิดว่ามันเพียงพอแล้วในการบังคับใช้กฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นเรือเล็กหรือเรือใหญ่ ไม่มีใครอยากจะเสียเวลาทำมาหากินด้วยการโดนกักเรือ แน่นอน ทุกคนยินดีแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว มันไม่มีความจำเป็นต้องมา หลักแสนหลักล้าน เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่เราทำผิดครั้งหนึ่งนี่ถึงขั้นล้มละลายได้ ผมคิดว่า นี่คือกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม แล้วก็ไม่คิดถึงการมองว่าพี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของ อำนาจตัวจริง รวมถึงการกระจายอำนาจด้วยพื้นที่ทะเล ๒๒ จังหวัด บริบทอย่าว่าแต่ ฝั่งอันดามันหรือว่าฝั่งอ่าวไทยเลยครับ ในจังหวัดเดียวกันแต่ละหาดแต่ละอ่าวมันมีบริบท พื้นที่ที่แตกต่างกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่ราชการส่วนกลางที่คนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ จะไป ตัดสินใจแทนคน ๒๒ จังหวัด ว่าพื้นที่ไหนสามารถใช้เครื่องมืออะไรได้ พื้นที่ไหนสมควรจะ อนุรักษ์แบบไหน เป็นเรื่องที่ดีกว่ามากและเหมาะสมคนมากที่คณะกรรมการประมงจังหวัด จะเป็นคนกำหนดกติกาว่าเครื่องมือไหนทำได้ เครื่องมือไหนทำไม่ได้ พื้นที่ไหนควรจะอนุรักษ์ เวลาไหน ฤดูอะไร เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างอันหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือปัญหาเรื่องโพงพาง โพงพางมีความจำเป็นต้องทำ Zoning และการทำ Zoning ที่ดีที่สุดคือการให้คนในพื้นที่เป็นคนกำหนด Zoning ไม่ใช่ คนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นคนไปกำหนด Zoning ให้คนแต่ละจังหวัด นี่คือต้นตอของปัญหา ของราชการรวมศูนย์ แล้วก็แน่นอนต้องเพิ่มสัดส่วนของท้องถิ่นในคณะกรรมการประมงจังหวัด ให้มีความยึดโยงกับพื้นที่มากขึ้น รวมถึงประเด็นเรื่องของการใช้งบประมาณก็ยังยืนยัน ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะซื้อเรือประมงคืนตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้สัญญาไว้ กับชาวประมง เพราะว่าเป็นมาตรการภาครัฐที่ต้องการให้ชาวประมงยกเลิกอาชีพของเขาไป ดังนั้นก็มีเหตุและผลในการที่จะซื้อเรือประมงคืน ซึ่งแน่นอนทุกวันนี้เป็นซากเรือไปแล้วครับ แต่ก็ต้องขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ซื้อในราคาเรือประมงดั้งเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วทิ้งไว้ เป็นระยะเวลา ๘ ปี กฎหมายกรมเจ้าท่า ก็อย่างเช่นเรื่องการต่อทะเบียนเรือ อยากจะให้ รัฐบาลชุดนี้ทำให้สะดวกขึ้นทำ Online ได้ แล้วก็ในกรณีของเรือเล็ก ผมคิดว่าถ้าเรามองเป็นสวัสดิการให้การต่อทะเบียนเรือมาพร้อมกับ ประกันเรือร่วมกับเอกชนไปเลย ผมคิดว่ามันก็สะดวกกับพี่น้องชาวประมงที่ไม่ต้องรอ ระเบียบราชการในการขอ Claim เวลาประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ แล้วก็อนุญาตให้มีการ ปรับปรุงเรือประมงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้แรงงานให้เหมาะสม แล้วก็สุดท้ายก็คือ อยากให้รัฐบาลเร่งหาพื้นที่ประมงนอกน่านน้ำให้กับพี่น้องชาวประมงนอกน่านน้ำให้เขา กลับมามีอาชีพมีรายได้ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอถามคำถามสั้น ๆ ไปยังประเด็นเรื่องของการทำงานของ สตง. นิดหนึ่ง เพราะว่าตั้งแต่ สมัยที่แล้วผมก็มีการอภิปรายหลายครั้งว่า สตง. ได้มีการ Audit การทำธุรกิจของกองทัพ ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ กฎหมายที่มีกำหนดมากน้อยขนาดไหนแล้ว มีความคืบหน้าอย่างไร เพราะว่าเดี๋ยวในบ่ายวันนี้เราก็จะมีญัตติ เพื่อให้กองทัพพาณิชย์เข้ามาสู่กระทรวงการคลัง เพราะว่ายังไม่ได้มีการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินราชพัสดุ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิบัติระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการใช้สวัสดิการภายในหน่วยราชการ ซึ่งส่วนใหญ่ ธุรกิจที่กองทัพทำนี้ไม่ควรจะถูกจัดเป็นสวัสดิการใช้ภายในหน่วยราชการ ควรจะเป็น สวัสดิการเชิงธุรกิจ แล้วก็ต้องมีการแบ่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง แต่ที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่า สตง. มีการ Audit ในประเด็นนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ก็ขอเป็นคำถามสั้น ๆ ที่อยากได้รับคำตอบจากทาง สตง. ขอบคุณครับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอเป็นหนึ่งคนที่อยากขออภิปรายสนับสนุนรายงานของกรรมาธิการแก้ไขปัญหาประมง ในครั้งนี้นะครับ แน่นอนครับ เหตุผลก็คือเราทราบกันดีว่าเป็นเวลาเกือบ ๙ ปีแล้วที่กฎหมาย ประมง พ.ร.ก. ประมงที่ออกมาโดยขาดความรอบคอบนี้ มันทำร้ายชีวิตชาวประมงขนาดไหน การศึกษาในรายงานฉบับนี้ก็เป็นที่คาดหวังของชาวประมงทั้งประเทศที่อยากจะเห็นให้เกิด การแก้ไข ประเด็นมันก็จะอยู่ที่ว่าแล้ว จากรายงานฉบับนี้มันจะไปสู่การดำเนินการได้สำเร็จ ตามที่มีการศึกษาไว้รวดเร็วแค่ไหน เพราะว่าแน่นอนครับหลายอย่างที่ทางสภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้ก็กำลังรอความคืบหน้าอยู่ ก็อย่างเช่นการแก้ไข พ.ร.บ. ประมง ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกว่า ในวาระของสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็มีร่างแก้ไขประมง ๕ ฉบับจ่อคิวอยู่แล้ว รอแค่ร่างของ ครม. ซึ่งเข้าใจว่ามติ ครม. เมื่อวานก็มีรับรองหลักการ แต่ต้องยืนยันตรงนี้ครับว่ายิ่งการแก้ไข พ.ร.บ. ประมงล่าช้าไปอีกนานเท่าไร ความเสียหายผลกระทบที่ชาวประมงได้รับมันก็ยิ่งยืดเยื้อ ออกไปนานขึ้น ฉะนั้นมันจึงมาเป็นประเด็นสำคัญว่า แล้วการแก้ไขตามรายงานนี้จะสำเร็จได้ รวดเร็วอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ เพราะถ้าเราไม่แก้ พ.ร.บ. ประมง ต่อให้เราแก้กฎหมายลูก ออกมาวางหลักประกันนะครับ หลักประกันก็จะเป็นจำนวนที่สูง เพราะโทษมันยังสูงอยู่ ต่อให้แก้โทษว่าเฉพาะการทำผิดครั้งแรกให้ปรับโทษครึ่งหนึ่งได้ แต่โทษปรับ ๓๐ ล้านบาท ครึ่งหนึ่งมันก็ยังเป็น ๑๕ ล้านบาทอยู่ดี ดังนั้นมันก็จะกลับมาที่กฎหมายลูก กฎหมายแม่ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการบังคับใช้ ที่ว่าจริง ๆ แล้วตามหลักโทษอาญาก็คือต้องไปดูกันที่ เจตนา สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยากขอความชัดเจนครับว่าเราจะเห็นการแก้ไขในเรื่องการบังคับใช้ เจตนาตรงนี้มากน้อยแค่ไหนนะครับ
แล้วก็ประเด็นที่ชาวประมงเขารออยู่ก็คือการตั้งงบซื้อเรือคืน ที่เป็นสัญญา ของรัฐบาลที่ผ่านมาที่สัญญาไว้กับพี่น้องชาวประมงก็ยังไม่เห็นนะครับ แม้กระทั่งในคำของบ ปี ๒๕๖๗ ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ในรายงานเล่มนี้ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้นะครับ ก็ขอเป็น ตัวแทนพี่น้องชาวประมงในการทวงถามสัญญาตรงนี้กับที่รัฐบาลเอง ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาล ชุดที่แล้วได้เคยสัญญากับชาวประมงไว้ รวมถึงว่าความคืบหน้าต่าง ๆ กฎหมายลูกก็เข้าใจว่า ในรายงานเล่มนี้เขียนไว้ว่าจะมีแก้ไข ๑๓ ฉบับ มีประกาศออกมาแล้วเข้าใจว่า ๓ ฉบับ ที่เหลือก็คืออยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ก็ต้องขอฝากท่านประธานในการเร่งรัด ให้การแก้ไขกฎหมายลูกออกมาได้รวดเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวประมง นะครับ แต่ที่ยังไม่เห็นความคืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า เรื่องของการ ต่อทะเบียนเรือต่าง ๆ ผมคิดว่ามันมีอีกหลายประเด็นที่นอกเหนือจากกฎหมายที่อาจจะ ไม่เห็นในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นต่อทะเบียนเรือขอใบอนุญาตตรงนี้ มันควรจะ ทำให้กรมเจ้าท่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมประมง ทำให้ชาวประมงได้รับความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการต่อทะเบียนเรือต่าง ๆ จบที่เดียวนะครับ ไม่ต้องไปวิ่งรอบกันระหว่าง กรมเจ้าท่ากับกรมประมงอีก สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ได้เห็น แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะเกิดขึ้น เพราะว่ารวมถึงแม้กระทั่ง การปรับปรุงเรือว่าถ้าเราบอกว่าค่าแรงจะขึ้น แต่การปรับปรุงเรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการลดการใช้แรงงานเหล่านี้ มันก็ต้องเกี่ยวพันกับการแก้ไขการปรับปรุงเรือต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นนะครับ หรือแม้กระทั่งเรื่องของแรงงานต่างชาติ ซึ่งผมต้องขอย้ำ อีกทีหนึ่งว่านี่เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในประเด็นนี้นะครับ ในรายงานเล่มนี้ก็เขียนชัดเจนว่า สิ่งที่ชาวประมงต้องการอยากจะเห็นก็คือการให้ขึ้นทะเบียน แรงงานต่างชาติได้ทั้งปี ไม่ใช่ปีหนึ่งทำได้แค่ ๒ ครั้ง ซึ่งแน่นอนล่ะ และระหว่างที่ไม่ได้ขึ้น มันก็มาส่งผลกระทบกับการทำมาหากิน ในการนำแรงงานต่างชาติมาขึ้นระบบ ซึ่งอันนี้มันก็ จะกลับมาเป็นเรื่องข้อกังวลที่ทุก ๆ ภาคส่วนเขากังวลนะครับ ก็คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การค้ามนุษย์ต่าง ๆ ต้นตอของมันจริง ๆ มันคือกฎระเบียบเรื่องแรงงานต่างชาติที่ซับซ้อน ยุ่งยากและไม่เป็นธรรมกับการขึ้นระบบตรงนี้นะครับ ดังนั้นมันก็เลยกลับมาทวงถามว่า แล้วเรื่องนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาคนต่างชาติจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ผมเห็น ในรายงาน แต่อย่างที่เกริ่นไว้ว่ายังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ออกมา ซึ่งแน่นอนครับก็คงต้องฝาก ท่านประธานนำเรียนกับทางรัฐบาลด้วยนะครับว่า จะแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติทั้งระบบได้ ผมก็ขอเสนอเป็น Idea หลักการใหญ่ ๆ สัก ๒ ประเด็น ประเด็นแรก ให้แรงงานต่างชาติ ทำบัตรประจำตัวใบเดียวแล้วทำงานได้ แต่ต้องมีนายจ้าง จะเป็นชาวประมงก็ได้นะครับ ประเด็นที่ ๒ ก็คือการเปลี่ยนหลักการที่ว่าค่าธรรมเนียมที่ต้องเป็นเงินก้อนให้เปลี่ยนเป็น รายเดือน ให้นายจ้างหักนำส่งรัฐเป็นรายเดือนไป เมื่อมีการเปลี่ยนนายจ้าง นายจ้างคนใหม่ ก็หักนำส่ง ๒ หลักการนี้จะเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติได้อย่างมั่นคงถาวรกว่า มาตรการชั่วคราวที่ผ่านมานะครับ เพราะที่ผ่านมาสุดท้ายถ้าเรายังคงมีเงินก้อนอยู่ ในครั้งแรกมันก็ไม่มี ทั้งนายจ้างและตัวแรงงานต่างด้าวเองก็ไม่มีความสมประโยชน์ร่วมกันว่า ไม่อยากจะจ่ายเงินก้อนตรงนี้ แล้วก็เกิดเป็นขบวนการลักลอบ แล้วก็ต้องมาผ่อนผันทุกปี ดังนั้นการแก้ไขเรื่องนี้มันก็ต้องกลับไปแก้เรื่องกฎหมายแรงงานต่างชาติทั้งระบบ เพราะผม คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ชาวประมงก็ต้องการอยากจะเห็นด้วย แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกับ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไปนะครับ
ข้อสุดท้ายยังมีรายละเอียดในเรื่องของการดำเนินการของกรมประมงเอง ที่ยังค้นพบว่ายังมีข้อความไม่เป็นธรรมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่ม MSY ที่ว่าชาวประมง ที่มีหลักประเภทเดียวกัน เรือคล้ายกัน แต่จำนวนวันทำการประมงยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอน อันนี้ก็ยังได้รับข้อร้องเรียนขึ้นมาว่าทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ ในการออกว่า จำนวนวันทำการประมงของแต่ละชาวประมงไม่เท่ากัน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ายังต้อง ไปขอให้ทางกรมประมงช่วยดูรายละเอียดเพื่อสร้างความเป็นธรรม แล้วก็ปรับปรุงข้อบกพร่อง ตรงนี้ครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ก็ขออภิปรายสนับสนุนญัตติ การแก้ไขปัญหาค่าไฟราคาแพงด้วยครับ แน่นอนครับวันนี้ผมอาจจะขออนุญาตมาลงลึกในประเด็นเรื่องของนโยบายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญที่ว่าจะเป็นต้นตอของเรื่องของค่าไฟนะครับ เพราะว่าในโครงสร้าง ค่าไฟฟ้าของประเทศไทย เราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นต้นทุนถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นก๊าซธรรมชาติราคาถูกหรือแพงส่งผลโดยตรงกับตัวค่าไฟฟ้าของประเทศไทยนะครับ ซึ่งแน่นอนครับ นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราได้พูดมาตลอดว่าเป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดค่าไฟ ได้เร็วที่สุดก็คือการเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็อาจจะได้ทำไปแล้วเป็น มาตรการชั่วคราวสำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนนี้ ต้องมาดูกันต่อว่าจะเป็น มาตรการชั่วคราวหรือมาตรการถาวรนะครับที่ว่า เปลี่ยนให้โรงแยกแก๊สธรรมชาติของ กลุ่มทุน ปตท. ใช้ราคาเดียวกันกับที่โรงไฟฟ้า แล้วก็ภาคอุตสาหกรรมเขาใช้อยู่ หรือที่เรียก กันว่าเป็น Single Pull ก็เกริ่นอีกนิดหนึ่งก็คือจากเดิมก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเราใช้ มาจาก ๓ ก้อน จากอ่าวไทยราคาถูกที่สุด แล้วก็พม่าแพงขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็นำเข้าจาก LNG ตอนนี้รวมมาเป็น Pull เดียวกัน แล้วผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซ โรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็โรงไฟฟ้าก็ใช้ราคาเดียวกันแล้ว ทีนี้มันมามองต่อยอดอีกนิดหนึ่ง ว่าจากเดิมที่เกิดขึ้นแล้วจะไปสู่อนาคตเพื่อลดค่าไฟได้อย่างไรบ้าง มันก็หนีไม่พ้นครับ ผมคิดว่าทุกวันนี้อยากให้เห็นนโยบายภาครัฐที่จะจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมเองเปลี่ยนจาก การใช้ก๊าซธรรมชาติไปใช้พลังงานอื่นทดแทนมากขึ้น เหตุผลก็คือว่ายิ่งโรงงานอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ก๊าซธรรมชาติใน Pull นี้เท่าไร นั่นหมายถึงอะไร หมายถึงว่า เราก็จะนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพง แล้วก็ผันผวนไม่แน่นอนลดลงไปได้ ดังนั้นหมายถึง ค่าไฟฟ้าที่ภาคประชาชนเองก็ตาม หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจใช้ก็ตามก็จะถูกลงนะครับ ซึ่งแน่นอนจะจูงใจอย่างไร ผมมองเป็นเรื่องเดียวที่ทำได้ประโยชน์ ๓ ต่อนะครับ แน่นอน คือจูงใจให้ภาคเอกชนไปใช้พลังงานอื่นแทนก๊าซธรรมชาติในการเผา ลดค่าไฟได้ด้วย บรรลุ เป้าหมายเรื่องของ Net Zero ได้เร็วขึ้นด้วยนะครับ เพราะว่าทุกการเผาก๊าซธรรมชาติ มันมาพร้อมกับคาร์บอนแน่นอน แล้วก็เป้าหมายที่ ๓ คือการพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นก็เลยเป็นที่มาที่ผมก็อยากจะสนับสนุนข้อเสนอของทางสภาอุตสาหกรรมด้วยนะครับ ที่อยากจะให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยี Heat Pump เข้ามาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในการเผาเป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี Heat Pump นี้เป็นอย่างไรนะครับ ผมขอเกริ่นสั้น ๆ มันก็คือเหมือนกับเป็นแอร์บ้านเรานี่ละครับ แต่เป็นแอร์ที่กลับด้าน ก็คือ ใช้ด้านที่เป็น Compressor ปล่อยลมร้อนออกมา ไปใช้ให้ความร้อนแทนการเผาก๊าซ ธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้นใช้เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์มาแล้วมากกว่าสิบปี มีประสิทธิภาพสูงนะครับ ก็คือใช้ไฟฟ้าตรงนี้เปลี่ยนจากเป็นการให้ความร้อนแทนการเผา ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้มันมีโอกาสในประเทศไทยอย่างไรนะครับ ก็ต้องบอกว่าประเทศไทย เราเองเป็นผู้ผลิตแอร์อันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศไทยเราเป็นผู้ส่งออกแอร์อันดับ ๒ ของโลกรองจากประเทศจีน ดังนั้นเราจึงมีศักยภาพโดยตรงที่จะมาสนับสนุนเทคโนโลยี ให้จริงจัง ก็คือต่อยอดจากการเป็นผู้ส่งออกแอร์มาเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี Heat Pump ไปทั่วโลกด้วย เพราะว่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยก็เป็นสิ่งที่จะเป็นความต้องการที่เกิดขึ้น ทั้งโลกในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในการลดเชื้อเพลิง การเผาเชื้อเพลิงเพื่อการให้ ความร้อนในภาคโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ก็เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าในการใช้เทคโนโลยี Heat Pump ตรงนี้แทน ซึ่งแน่นอนครับ ในส่วนนี้ผมก็ขออนุญาตเสริมลงไปเลยว่าวิธีการ มันจะเป็นอย่างไร เผื่อว่าในทางกรรมาธิการจะแต่งตั้งหรือตั้งเป็นข้อสังเกตเสนอต่อไปยัง รัฐบาลได้นะครับ อันแรกก่อนก็คือการสร้างความต้องการ ก็คือ Demand ซึ่งในตรงนี้สิ่งที่ มันเหมาะสมที่สุด ก็คือกองทุนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงานเอง ต้องมีมาตรการ จูงใจออกมา หรือที่เรียกว่าเป็น ESCO Model คือว่าให้มีภาคเอกชนไปช่วยกัน Co pay หรือไปช่วยกันลงทุน Heat Pump ในภาคโรงงานอุตสาหกรรม แล้วต้นทุนที่ประหยัดได้ก็จะ กลับมาคืนทุนให้กับกองทุนตรงนี้ อันนี้จะสร้างให้เกิดการ Demand แล้วก็ทำให้จูงใจให้ ภาคโรงงานก็เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเผาเป็นเชื้อเพลิงไปใช้ Heat Pump เพื่อให้ ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมแทน แน่นอนครับ เมื่อ Demand มีความต้องการก็ไป สนับสนุนที่ภาคการผลิต หรือเรียกว่าเป็น Package DOI ควรจะตามต่อเนื่องมา แล้วก็ สุดท้ายก็คือการส่งออก อย่างที่เกริ่นไปว่า เรามีศักยภาพที่จะต่อยอดจากอุตสาหกรรมแอร์ เป็นอุตสาหกรรม Heat Pump เพื่อส่งออกไปได้ อันนี้ก็ต้องพึ่งกลไกภาครัฐในการขยาย ตลาดตรงนี้นะครับ ก็จะขอทวนกลับมาอีกทีหนึ่งว่า ยิ่งภาคอุตสาหกรรมไทยสวิตซ์ จากการเผาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นใช้ Heat Pump มากขึ้นเท่าไร เราก็จะมีค่าไฟ ที่ถูกลง เพราะว่าเราก็จะนำเข้าก๊าซ LNG น้อยลง แล้วก็เมื่อใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แน่นอนครับ ตัวหารจาก เดิมที่โรงไฟฟ้า เรามีโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ไม่ได้เดินเครื่องนะครับ แต่ว่าได้เงินจากเรามันก็ เท่ากับว่าเขาจะได้ Run มามากขึ้นด้วย ดังนั้นมันจะเป็น ๒ ต่อ ที่เพิ่มขึ้นก็คือราคาก๊าซ ธรรมชาติถูกลงได้ แล้วก็มีการใช้ไฟฟ้าเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง เดินเครื่องมาก ขึ้นได้ ทีนี้เมื่อตัวหารมากขึ้นค่าความพร้อมจ่ายต่อหน่วยก็จะลดลงไปได้ นอกเหนือจากก๊าซ ธรรมชาติถ้าผมทวนอีกทีหนึ่งที่เราเสนอมาตลอดคือเรียกว่าเป็น ๕ ขั้น ก็เพื่อไม่ให้เป็น การเสียเวลาสภาแห่งนี้ ก็จะขอทวนสั้น ๆ ว่านอกเหนือจากนี้สิ่งที่ยังรออยู่ว่าให้เกิดการแก้ไข ปัญหาค่าไฟ ก็คือการเจรจากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ก็ได้เงินจากเรา รวมถึงพลังงานไฟฟ้าทดแทนต่าง ๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มทยอยหมดสัญญา แต่ว่ายังมีสัญญาเก่า ที่ได้ค่าไฟที่มีราคาแพงอยู่ไปด้วยนะครับ ผมก็ต้องยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการเจรจากับเอกชน เหล่านี้เป็นไปได้นะครับ ถ้าเรามองว่าในอนาคตโรงไฟฟ้าที่เราใช้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติปัจจุบันสามารถขยายอายุ สัญญา เพื่อเป็น Backup Plan ในอนาคตเพื่อให้ในอนาคตเองเราก็มีความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยที่ค่าไฟปัจจุบันลดลงได้ครับ ก็ขอเสนอเป็น ข้อเสนอแนะผ่านไปยังกรรมาธิการที่จะตั้งหรือเป็นข้อสังเกตไปยังรัฐบาลต่อไป ขอบคุณครับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขออภิปรายสั้น ๆ ฝากข้อสังเกตไปยังทาง ปปง. นะครับว่า ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งในที่นี้ก็คือข้อมูลครับ ในเรื่องของข้อมูลการเงินนี้ท่านก็ ทราบดีว่าท่านก็มี ข้อมูลการเงินสามารถช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพตรงนี้ได้ แต่สิ่งหนึ่ง ที่เป็นโจทย์สำคัญที่ทาง ปปง. ก็ทราบดี ก็คือเรื่องของการใช้เงินสดเป็นเครื่องมือฟอกเงิน ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกประเทศก็จะเห็นตรงกันว่า นี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากนะครับ เพราะว่าถ้ามีการเงิน มี Transaction ต่าง ๆ เรื่องนี้มันสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ครับ แต่ทีนี้ผมก็ต้องฝากข้อสังเกตว่าในเมื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างที่ผมไปดูงานที่สำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล สิ่งที่สำนักงานสลากเขาทำก็คือว่ามีการใช้เทคโนโลยีพิมพ์ QR Code ไปที่ใบสลากทุกใบ อันนี้ผมคิดว่ามันมีศักยภาพที่ทาง ปปง. จะรับไปพิจารณานะครับ เพื่อผลักดันให้ในธนบัตรของประเทศไทยมีการพิมพ์ QR Code สักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็น สัญลักษณ์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้นทาง ปปง. หรือทางภาครัฐเองมีข้อมูลว่า ใครมีการถอนเงินสดไปเท่าไร มีการหมุนเงิน แล้วก็มีการมาขึ้นเงินจากใคร อะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลตรงนี้อย่างที่บอกว่า เมื่อข้อมูลการใช้เงินสดควบคู่กับข้อมูลของภาคการใช้ Transaction ในข้อมูลระบบการเงิน ผมคิดว่าการป้องกันเพิ่มประสิทธิภาพของการฟอกเงิน ปัญหาต่าง ๆ ในประเทศไทยมันจะเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนครับมันก็ต้อง ร่วมมือกันครับ มันไม่ใช่แค่ ปปง. แต่เพียงหน่วยงานเดียว ก็ต้องร่วมมือกับทางแบงก์ชาติ ทางสรรพากรต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่มีข้อมูลทรัพย์สินต่าง ๆ ของภาครัฐ อันนี้มันถึงจะเพิ่ม ประสิทธิภาพสูงสุดได้ ดังนั้นในวาระโอกาสนี้ก็คงต้องขอเป็นข้อสังเกตสั้น ๆ ที่คิดว่า ใช้เทคโนโลยีตรงนี้เข้ามาตอบโจทย์การฟอกเงินที่ใช้เงินสดอยู่ในขณะนี้ได้ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ครับ แน่นอนครับผมคิดว่า สิ่งที่ทุกพรรคการเมืองได้ยื่นกฎหมายแก้ไขประมงเข้ามา เป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่ากฎหมายนี้ มีปัญหาอยู่จริง แล้วก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข สิ่งที่ทุกพรรคการเมืองน่าจะเห็น ตรงกันก็คือเรื่องของบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินสมควร ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่หลายท่าน ได้อภิปรายมาแล้วโทษปรับ ๓๐ ล้านบาท ถ้าเกิดว่าทำผิด ๑ ลำ อีก ๑๐ ลำ ก็ต้องห้าม ทำการประมงไปด้วย นี่มันเปรียบเสมือนเป็นโทษประหารชีวิตทางอาชีพ ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียว ที่มีลักษณะกฎหมายแบบนี้ในประเทศไทย ดังนั้นทุกพรรคการเมืองจึงเป็นที่มาที่เห็นตรงกัน ว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไข แต่สิ่งที่ผมอยากจะขออภิปรายเสริมเพิ่มเติมจากร่างอื่น ๆ ว่าฉบับที่ พรรคก้าวไกลเสนอมีข้อดีที่เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างไรบ้าง ผมจะขออนุญาตไล่เรียงไปทีละประเด็น
เริ่มจากประเด็นแรก ปัญหาประมง การบังคับใช้ที่ผ่านมาเมื่อราชการ ส่วนกลางพยายามจะไปคิดว่า กติกาในการประมงพื้นบ้านหรือกติกาของการทำประมงชายฝั่ง ในพื้นที่ ๒๒ จังหวัด จะต้องมีรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ อันนี้คือต้นตอของปัญหานะครับ เพราะว่าอย่างที่ผมได้อภิปรายหลายครั้งครับ อย่าว่าแต่อ่าวไทยกับทะเลอันดามันเลย เอาแค่ ในจังหวัดเดียวกัน แต่ละหาด ๒ หาดที่อยู่ข้าง ๆ กันมันก็มีบริบทที่แตกต่างกัน มันควรจะมี เครื่องมือ มีกติกาที่แตกต่างกันได้ ว่ารอบปูจะเป็นขนาดไหน พื้นที่ไหนทำหอยได้ พื้นที่ไหน เพาะเลี้ยงสัตว์อะไรได้ ต้องมีมาตรการอย่างไร ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกฎหมาย ฉบับเดียวที่ออกจากราชการส่วนกลางที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครนี้ แล้วบังคับใช้ ๒๒ จังหวัด เหมือนกันหมด ซึ่งแน่นอนครับมันก็คงไม่ใช่ว่าจะให้ทำอะไรก็ได้ ประเทศไทยควรจะก้าวข้าม จากคำว่า ทำอะไรก็ได้อิสระเสรี กับ ทำไม่ได้เลย ดังนั้นมันมีจุดตรงกลางอยู่ ในที่นี้ก็คือว่า ให้บทบาทของจังหวัด ซึ่งในที่นี้กลไกก็คือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นบทบาทหลัก ในการออกกำหนดกติกาว่าในเรื่องของประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่งนี้จะต้องมีกำหนด กติกาอย่างไร ซึ่งแน่นอนครับ ปัญหาอย่างที่พวกเราก็เจอกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ เครื่องมือประมงอย่างโพงพาง ซึ่งแน่นอนครับ โพงพางนี้มันคืออุปกรณ์ประมงที่อยู่ในลำน้ำ จะวางตรงไหนก็ได้มันก็มีปัญหากับเรือที่สัญจรไปมา แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะห้ามการใช้โพงพาง ไปเลย ดังนั้นกฎหมายปัจจุบันที่อนุญาตให้ทำได้ แต่ต้องมีอธิบดีประกาศรองรับ กลไกเช่นนี้ มันจึงไม่เคยเกิดขึ้นมาใน ๘ ปีที่ผ่านมา ดังนั้นอันนี้เป็นตัวอย่างที่ผมเสนอว่าเรื่องของพื้นบ้าน เรื่องของชายฝั่ง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นคนกำหนด กติกานี้ จะมีความเหมาะสมกับบริบทสำคัญมาก
ประเด็นที่ ๒ เช่นเดียวกันครับ เรื่องเขตอำนาจของคณะกรรมการประมง ประจำจังหวัด ซึ่งในร่างฉบับของพรรคก้าวไกลเราก็ยืนยันครับว่าเรื่องของเขต ๑๒ ไมล์ทะเล ที่นับจากชายฝั่งนี้ ควรจะเป็นบทบาทของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด จากกฎหมายเดิม ที่กำหนดไว้แค่ ๓ ไมล์ทะเล เหตุผลเพราะผมเชื่อมั่นว่าถ้าเป็นคณะกรรมการประมงประจำ จังหวัดสามารถออกกติกาที่เหมาะสมกว่าได้ว่า เรือขนาดไหนในเขต ๑๒ ไมล์ทะเล เครื่องมือใด สามารถทำการประมงได้เพื่อทำให้การประมงมีความยั่งยืนมากขึ้น และทรัพยากรที่ยั่งยืน ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับชาวประมงพื้นบ้าน หรือว่าชาวบ้านที่สามารถจับปลามีรายได้ มากขึ้นได้นะครับ
เรื่องต่อมายังเป็นเรื่องของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเช่นกันนะครับ ก็คือเรื่องของสัดส่วน อย่างที่เกริ่นไปว่าเมื่อเราเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการประมงประจำ จังหวัดเป็นคนออกกติกาเป็นหลัก เพิ่มขอบเขตอำนาจจาก ๓ ไมล์ เป็น ๑๒ ไมล์ สิ่งที่หนี ไม่พ้นตามมา แล้วคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมาจากไหน กฎหมายเดิมก็จะเป็น ตัวแทนของราชการภูมิภาคเป็นหลัก ไม่ว่าจะมีนายอำเภอทุกอำเภอที่มีเขตประมงอยู่ ซึ่งอันนี้ เราคิดว่าควรจะลดบทบาทส่วนนี้ไป เพิ่มสัดส่วนของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเป็น ๑ ใน ๓ ของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้นายก อบจ. เป็นประธานคณะกรรมการประมง ประจำจังหวัดแทนที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เหตุผลมันเรียบง่ายมากครับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกท่านเป็นคนเก่ง แต่โดยเฉลี่ยก็มีข้อมูลเป็นประจักษ์พยานเรียบร้อยแล้ว ว่าท่านอยู่ ในตำแหน่งแต่ละจังหวัดเพียงแค่ ๑ ปี ๘ เดือน เป็นคนนอกพื้นที่อาจจะมีความเข้าใจในบริบท แต่ละจังหวัดที่แตกต่างกัน ไม่ได้ดีพอเท่ากับคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ดังนั้นเรายืนยันครับว่าถ้าคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้นายก อบจ. เป็นประธานแทน จะสามารถกำหนดกติกาที่รับผิดรับชอบ มีความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ได้เหมาะสมกว่า
ประเด็นต่อมาประเด็นเรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน ก็จะขออนุญาตเป็นตัวแทน ของพรรคก้าวไกลยืนยันเช่นเคยว่าการแก้ไขกฎหมายประมง เรายังยืนยันในเรื่องของการ คุ้มครองสิทธิแรงงานของแรงงานประมง แล้วเราก็ขอไม่สนับสนุน แล้วก็มีความพยายาม อย่างยิ่งที่จะกำจัดขบวนการค้ามนุษย์ให้ออกไปจากประเทศไทยทั้งหมด และขอเป็นตัวแทน พี่น้องชาวประมงเช่นกันนะครับว่า ไม่มีชาวบ้านคนไหนหรอกครับที่เขาตั้งใจจะทำผิดกฎหมาย เรื่องของการค้ามนุษย์ต่าง ๆ เรื่องของการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แต่ต้นตอมันเป็น เพราะกฎระเบียบของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวต่างหาก ที่ประเทศไทยมีกฎระเบียบ ที่ซ้ำซ้อน อย่างกฎหมายประมงนี้ชัดเจนที่สุด ก็คือว่าถ้าต่อให้ไปขึ้นทะเบียนของกระทรวง แรงงานมาเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมารอขึ้นทะเบียน Seabook หนังสือประจำเรือกับกรมประมง ซ้ำอีกทีหนึ่ง นี่ล่ะครับต้นตอของการที่ว่าเมื่อกฎระเบียบมันซ้ำซ้อน มันไม่เอื้ออำนวยความ สะดวกให้กับพี่น้องชาวประมง ที่จะสามารถจัดหาแรงงานต่างชาติมาทำงานบนเรือประมงได้ ในเมื่อมีกฎหมายตรงนี้ไปแล้ว มันก็เลยเกิดช่องโหว่ให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ตามมา ดังนั้น สิ่งที่พวกเราเสนอ ก็คือการทำให้ลดกฎระเบียบอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นว่าถ้าเป็น เพียงแค่เป็นการทำประมงในราชอาณาจักร ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมาขอ Seabook เพิ่มกับกรมประมงอีก ใช้การขึ้นทะเบียนที่กระทรวงแรงงานที่เดียวเพียงพอแล้ว เพราะถือว่า มีการขึ้นทะเบียนไปเรียบร้อยแล้ว แต่เท่าที่ผมทราบมาไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่ ครม. ตั้งใจจะเสนอก็ตามก็ยังจะคงประเด็นนี้ไว้ แต่จะแค่บอกว่าถ้ามาขอ Seabook แล้ว ก็ไม่ต้อง ไปขอที่กระทรวงแรงงานอีก ซึ่งมันเป็นการทำงานแบบที่เป็นไซโลของระบบราชการเกินไป สิ่งที่ถูกต้องก็คือควรจะให้ตัดเป็นเรื่องของกระทรวงแรงงานที่เดียว เมื่อเสร็จสิ้นเมื่อเขาได้ขึ้น ทะเบียนแล้วก็สามารถขึ้นทำงานบนเรือประมงได้ อันนี้เป็นรายละเอียดที่คิดว่ามันเป็น ต้นตอหนึ่งที่ว่าทำไมเราต้องมีกฎหมายที่รุนแรง เพียงเพราะว่าเราถูกข้อกล่าวหามา โดยตลอดว่าเรามีขบวนการค้ามนุษย์บนเรือประมง ซึ่งต้นตอของมันไม่มีใครอยากจะทำผิด กฎหมายหรอกครับ ถ้ากฎระเบียบมันทำได้โดยสะดวก อย่างที่ตรงไปตรงมาตรวจสอบได้
สุดท้ายก็อาจจะต้องขอทิ้งท้ายอีกทีหนึ่งครับว่า การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อง ชาวประมง สิ่งที่พี่น้องชาวประมงรออยู่มันไม่ใช่แค่กฎหมาย พ.ร.ก. การประมงฉบับนี้ มันยังมีอีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรมเจ้าท่าเองก็ตามก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ที่เกิดขึ้นเลย แล้วเรื่องสัญญาของภาครัฐที่จะซื้อเรือคืนจากพี่น้องชาวประมง ก็ยังไม่เห็น วี่แววของการดำเนินการตรงนี้ ดังนั้นในการอภิปรายครั้งนี้ก็ขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวประมง อีกครั้งหนึ่งที่ต้องส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมตรงนี้ว่า ในเมื่อท่านไม่ให้เขาทำอาชีพ ประมงไปแล้ว ท่านก็ต้องมีการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมให้กับพี่น้องชาวประมงต่อไป
แล้วก็ขอทิ้งท้ายอย่างนี้ครับว่า เรื่องปัญหาประมงเป็นเรื่องเร่งด่วน ผมคิดว่า ทุกพรรคการเมืองที่เสนอกฎหมายเข้ามานี้มันเป็นประจักษ์พยานที่ดีที่สุดว่า นี่คือฉันทามติ ของประชาชนที่ต้องการเห็นการแก้ไข และพรรคก้าวไกลก็เสียใจอย่างยิ่ง ผิดหวังมากที่มติ ของรัฐบาลจะออกมาว่า ในวันนี้อาจจะไม่ผ่านการรับรองวาระที่ ๑ ก็ต้องขอยืนยัน แล้วก็ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าให้ ครม. รีบเร่งพิจารณากฎหมายประมงเพื่อเข้าสู่สภา เพื่อให้เกิดการ แก้ไขได้โดยเร็ว ตามที่ทุกพรรคการเมืองในสภาแห่งนี้เห็นตรงกัน ขอบคุณครับ
กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ผมขอเป็นผู้แทนเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ พ.ศ. .... ต่อสภาแห่งนี้ครับ ซึ่งเป็นร่างเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สาระสำคัญของมันคือการคืน อำนาจการสอบคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่นกลับไปที่ท้องถิ่น จากตัวคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ในคำสั่งนั้นก็ชัดเจนว่าคือการรวบอำนาจ การคัดเลือกบุคลากรของท้องถิ่นจากท้องถิ่นมาสู่ ส่วนกลาง เท้าความไปนิดหนึ่งว่าสาเหตุที่สมัยนั้นต้องออกคำสั่ง คสช. นี้ออกมาก็ด้วยเหตุผล ข้ออ้างว่า ท้องถิ่นเมื่อไปจัดสอบแข่งขันคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่นแล้วมีการทุจริตจำนวนมาก แต่เมื่อมีการรวบอำนาจกลับมาที่ส่วนกลางเป็นเวลากว่า ๖ ปี ก็พิสูจน์แล้วเช่นกันว่าการรวบ อำนาจกลับมาที่ส่วนกลางก็สร้างปัญหาที่ไม่แตกต่างกันกับที่ให้ท้องถิ่นทำ ดังนั้นปัญหาทุจริต ที่เกิดขึ้นในการสอบแข่งขันคัดเลือกมันไม่ได้อยู่ที่ว่าท้องถิ่นเป็นคนทำหรือส่วนกลางเป็นคนทำ มันอยู่ที่มาตรฐานครับ มาตรฐานในการจัดสอบแข่งขันให้มีความโปร่งใส ให้ตรวจสอบได้ มี มาตรฐานที่ชัดเจนเพื่อให้ข้าราชการท้องถิ่นนั้นสามารถเติบโตก้าวหน้าได้ สามารถบรรจุ ข้าราชการที่ชดเชยทดแทนตำแหน่งที่หายไปได้นะครับ
แต่อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเมื่อมีการรวบอำนาจมาที่ส่วนกลางแล้ว ปัญหาหนึ่ง ที่เป็นที่ประจักษ์ชัด ก็คือตำแหน่งของข้าราชการบุคลากรท้องถิ่นที่ขาดแคลนไป ปัจจุบันนี้ ๖,๐๐๐ กว่าตำแหน่ง เหตุผลง่าย ๆ เมื่อจากเดิมที่ท้องถิ่นเป็นคนจัดสอบนี้ส่วนใหญ่แล้ว ก็จะจัดกันปีละ ๔ ครั้ง แต่พอรวบอำนาจเข้ามาสู่ส่วนกลาง กลายเป็นว่าส่วนกลางจัดสอบ ๒ ปีครั้งนะครับ นี่คือต้นตอของปัญหาที่ว่าทำไมพนักงานท้องถิ่นจำนวนมากยังขาดการบรรจุ ยังเป็นรักษาการจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายมันก็จะไปกระทบกับปัญหาบริการสาธารณะให้กับ พี่น้องประชาชน ดังนั้นอันนี้จึงเป็นต้นตอสำคัญที่ว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะผลักดันไปสู่ การกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยการคืนอำนาจการคัดเลือกการสอบแข่งขันบุคลากรท้องถิ่น กลับไปที่ท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่งนะครับ นี่คือสาระสำคัญที่ผมคิดว่าทุกพรรคการเมือง ที่ยื่นกฎหมายเข้ามาในวันนี้เราเห็นตรงกันว่าปลดล็อกข้อแรก คือยกเลิกคำสั่ง คสช. แต่ใน รายละเอียดที่อาจจะเห็นแตกต่างกัน ที่ผมก็ต้องขออภิปรายเป็นหลักการรับไว้ในสภานี้ นั่นก็คือว่าหลายฉบับที่ยื่นเข้ามาในเรื่องของการแก้ไขร่างระเบียบบริหารงานข้าราชการ ส่วนท้องถิ่นนี้ มาตรา ๑๓ ก็คือจะมีการเพิ่มเติมว่าจากเดิมถ้าเรายกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เพียงอย่างเดียว อำนาจในการสอบแข่งขัน การคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่นก็จะ กลับไปที่ท้องถิ่นตามกฎหมายเดิม แต่ถ้าเกิดว่าในร่างที่มีผู้เสนอหลายท่านยื่นเข้าสู่สภา จะมีการกำหนดเพิ่มเติมในมาตรา ๑๓ (๖) ก็คือเพิ่มให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการจังหวัด ในการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่นแทนที่ท้องถิ่นเลย ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็น ในรายละเอียดที่ผมคิดว่าอาจจะขอเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล ในการแสดงให้เห็นถึง ความเห็นที่แตกต่างกันเล็กน้อยว่าการคืนอำนาจกลับไปที่ท้องถิ่นเลย มีความยืดหยุ่นและ เหมาะสมมากกว่าและยึดหลักการกระจายอำนาจ ความเป็นอิสระของท้องถิ่นได้ดีกว่า เหตุผลเพราะว่าในท้องถิ่นเองก็ต้องยอมรับว่ามันมีความพร้อมที่แตกต่างกัน เรามีท้องถิ่น ขนาดเล็ก ท้องถิ่นขนาดใหญ่ ท้องถิ่นที่มีศักยภาพที่สามารถจัดสอบแข่งขันคัดเลือกให้จบ เสร็จสิ้นภายในตัวท้องถิ่นได้เอง และเช่นเดียวกันเรามีท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่อาจจะมี ขนาดเล็ก ที่จะต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อการจัดสอบเพื่อประหยัดของขนาด ดังนั้นการคืน อำนาจกลับไปที่ท้องถิ่นโดยตรงให้ท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจว่าท้องถิ่นถ้ามีศักยภาพ ก็จัดสอบได้เอง ย่อมดีกว่าการที่จะกำหนดล็อกไว้ในชั้น พ.ร.บ. เลยว่าให้เป็นอำนาจ ของคณะกรรมการจังหวัดในการจัดสอบแข่งขัน เพราะถึงแม้ว่าในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าเอาตามกฎหมายเดิมก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางที่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ ให้คณะกรรมการจังหวัดเป็นการจัดสอบคัดเลือกไปพลางก่อน จนกระทั่งเรามีมาตรฐานที่เรา มั่นใจได้ว่าให้ท้องถิ่นจัดสอบได้เอง ดังนั้นอันนี้ก็เป็นในรายละเอียดที่ว่าทำไมผมในฐานะ ตัวแทนของพรรคก้าวไกลยื่นแค่ร่างยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ แล้วก็คิดว่ามาตรา ๑๓ ในส่วน (๖) ยังคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องล็อกในชั้น พ.ร.บ. ก็ขอเป็นตัวแทน ของพรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่างต่อสภาแห่งนี้ในหลักการและเหตุผลครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนประธานสภา ที่เคารพ ผม วรภพ วิริยะโรจน์ ผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ก็ขอเป็น ผู้อภิปรายสรุปต่อร่างกฎหมายนี้สั้น ๆ ว่าคงเป็นฉันทามติตกลงพร้อมกันหมดของทั้งสภา แห่งนี้นะครับที่จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ แล้วก็คืนอำนาจการสอบคัดเลือกบุคลากร ท้องถิ่นให้กับท้องถิ่น ก็ยังคงยืนยันในรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยที่คิดว่าถ้ายกเลิก คำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ไปแล้วอำนาจกลับไปอยู่ที่ท้องถิ่น แต่ก็คิดว่าถ้าเกิดว่าจะเอาคืน อำนาจที่คืนตรงนี้กลับไปอยู่ที่คณะกรรมการจังหวัด ก็คงจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เสียทีเดียว เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วท้องถิ่นที่มีศักยภาพที่มีกำลังก็ควรจะสามารถ ตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง ท้องถิ่นมีขนาดเล็กก็มารวมกลุ่มเพื่อขอให้คณะกรรมการจังหวัด ดำเนินการจัดสอบได้ อันนี้คือยืดหยุ่นกว่าแล้วก็มีความเหมาะสมมากกว่า ก็คงเป็นเรื่อง รายละเอียดที่จะต้องไปพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการนะครับ ส่วนแน่นอนครับ นอกจากเรื่อง ประเด็นกฎหมาย สิ่งที่มันต้องสร้างมาตรฐาน ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า เราเรียนรู้มาจากคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ที่ผ่านมาว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่อยู่ที่จะสอบโดย ส่วนกลางหรือท้องถิ่น ไม่ว่าจะสอบที่ไหนถ้าขาดมาตรฐานตรงนี้มันก็เกิดช่องให้เกิด กระบวนการวิ่งเต้นทุจริตได้นะครับ ดังนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องไปดำเนินการกันต่อในกลไก กฎหมายที่มีอยู่แล้วนะครับ ก็อาจจะขอสรุปถึงไทยนิดหนึ่งว่าจริง ๆ แล้วใน พ.ร.บ. บริหารงานบุคคลท้องถิ่นนี้มันก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่จริง ๆ แล้วก็เป็นที่น่าเสียดายที่ถ้าเกิด ว่าสภาแห่งนี้สามารถหยิบพิจารณาแก้ไขปัญหาได้พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นอย่าง มาตรา ๓๕ ที่ว่าล็อกเพดานค่าใช้จ่ายบุคลากรของท้องถิ่นทุกท้องถิ่นไว้ที่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้ เป็นเพดานสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถพัฒนาบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษาครูพี่เลี้ยงเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รพ.สต. บุคลากรในสาธารณสุขต่าง ๆ ก็ถูก เพดานอันนี้กำหนดไว้ ก็คาดหวังว่าในสภาชุดนี้ในโอกาสหน้า ถ้าสามารถแก้ไขปลดล็อก ประเด็นนี้ได้ก็จะสามารถทำให้ท้องถิ่นพัฒนาบริการสาธารณะได้ตอบโจทย์กับพี่น้อง ประชาชนมากขึ้น ก็ขอสรุปแต่เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ