นายธนาธร โล่ห์สุนทร

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ ผมก็อยากจะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับรายงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เท่าที่ผมได้อ่านรายงานมาก็จะเห็นว่าแนวโน้มการเกิดเหตุ ในปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ก็ดูว่าไม่ได้มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ผมกังวลอยากจะฝาก ท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือ จากข้อมูลตัวเลข ข้อมูลที่อยู่ในระบบก็ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว แต่ผมคิดไปถึงว่าตัว Case ที่ไม่ได้รับรายงานเข้ามาในระบบมีอีกจำนวนเท่าไร ก็อยากจะฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจงว่า อยากจะให้ช่วย Track ตัวข้อมูลที่ไม่ได้ลงในระบบ แล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีการเก็บข้อมูล เชิงสถิติเช่นในเรื่องการรับรู้ของประชาชนถึงข่าวสาร แล้วก็การที่จะสามารถติดต่อช่วยเหลือ อย่างไร แล้วก็รวมถึงการที่จะนำ Case เข้าไปตามศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ ว่าได้มีการรับ Case ไปเท่าไร อย่างไร แล้วก็รวมถึงประสิทธิภาพของการสื่อสารให้ผู้ที่ถูกกระทำรับรู้ที่จะนำไป ช่วยเหลือ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตที่ ๒ ที่ผมอยากจะฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ชี้แจงก็คือว่าในรายงานนี้ได้บอกว่ามีสาเหตุปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความรุนแรง ในครอบครัว เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับสามีภรรยา เรื่องที่ ๒ ก็คือการหึงหวงนอกใจ ทะเลาะวิวาทกัน ปัญหาทางอารมณ์ ซึมเศร้า แล้วก็รวมถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องยาเสพติด แล้วก็รวมถึงเรื่องการดื่มสุราต่าง ๆ ซึ่งในปัญหาใหญ่ ๆ ทั้ง ๕ เรื่องนี้ ผมเห็นว่าลำพังทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวคงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานเดียวไม่ได้ ก็อยากจะให้มีการที่จะต้องประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการที่จะแก้ไข สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ ก็อยากจะฝากท่านประธานนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตที่ ๓ ผมก็เห็นว่าผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่จากรายงานบอกว่าอยู่ในช่วงวัย ๑๐-๒๐ ปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ และรวมถึงข้อสุดท้ายที่ผมอยากจะ ตั้งข้อสังเกตก็คือในสถานที่เกิดเหตุมักจะเกิดเหตุในบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบ้านควรจะเป็นที่ ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุก ๆ คน แต่กลับเป็นจุดที่เกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัวเยอะที่สุด ซึ่งผมก็อยากจะฝากข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการติดตาม ข้อมูลที่ไม่อยู่ในระบบ และรวมถึงความเป็นจริงว่ามี Case ที่ไม่เข้ารวมอีกเท่าไร อยากจะให้ ทางหน่วยงานช่วยชี้แจงว่าได้มีการติดตามเรื่องนี้หรือไม่ เพราะว่า Case ที่อยู่นอกระบบ ผมก็คิดว่าค่อนข้างเยอะทีเดียวที่เราไม่รู้ รวมถึง Case ที่ไม่มีการดำเนินคดีต่าง ๆ แล้วก็ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอผ่านท่านประธานไปก็คือว่าควรจะมีข้อมูลรายจังหวัด รวมถึงการทำ ข้อมูลภาพรวมที่ไม่ซ้ำซ้อนกันของแต่ละหน่วยงาน เพราะว่าการที่มีข้อมูลรายจังหวัด เราจะเห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้นว่าภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันเหตุการณ์เป็นไปขนาดไหน และรวมถึงการที่อยากให้มีการรวมข้อมูลกันให้เป็นข้อมูลตรงกลางเพื่อที่จะไม่มีความซ้ำซ้อนกัน รวมถึงที่จะครอบคลุมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมว่าทุก ๆ หน่วยงาน มีความตั้งใจจริง แต่ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลให้มาอยู่ตรงกลางก็จะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ และอยากจะฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า การเพิ่ม ประสิทธิภาพในการสื่อสาร ในการที่จะให้ประชาชนรับรู้รับทราบประเด็นปัญหาความรุนแรง ในครอบครัวมากขึ้น ให้ทุกคนมีความตื่นตัวในการที่จะช่วยกันเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รวมถึงที่จะตระหนักรู้ในปัญหาซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่นะครับ แล้วก็อยากจะให้มีมาตรการเชิงรุก ก็คือในการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง เพราะว่าเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความเครียดจาก การงานต่าง ๆ ซึ่งก็มักจะนำไปสู่การใช้สารเสพติด และจากนั้นก็จะนำไปสู่ความรุนแรง ก็อยากจะให้ทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องช่วยกันในการที่จะป้องกันการเกิดเหตุอะไรไว้ก่อน ในการที่จะช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่น ๆ ไปก็จะเป็นเรื่องที่ดีครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย ผมก็อยากจะขอบคุณกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในการที่จะทำรายงานฉบับนี้มา ซึ่งพวกเราที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะมีความช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงทางกรมเองในการที่จะช่วยเหลือพัฒนา สิ่งต่าง ๆ เพื่อให้มีการช่วยเหลือให้ได้มากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ขอฝากเรื่องสุดท้ายก็คือความรวดเร็วในการติดต่อในการขอความช่วยเหลือ การระงับเหตุต่าง ๆ อยากจะให้มีความทันท่วงทีแล้วก็เข้าถึงได้ง่าย ทันต่อเหตุการณ์ ตามมาด้วยการให้คำปรึกษา แล้วก็มีความสะดวกในการที่จะให้ผู้ที่ถูกกระทำไปอยู่ในที่ปลอดภัย ก็จะขอฝากท่านประธานเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ ผมก็จะขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งผมก็จะขอตั้งข้อสังเกตในด้านการศึกษานะครับ ซึ่งการศึกษานี้ก็เป็น รากฐานสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศ อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านได้พูดไปนะครับ ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากการศึกษาเราไม่ดี ด้านอื่น ๆ มันก็จะไม่ดีตามไปด้วย ซึ่งจากการที่ผมได้อ่านรายงาน ผมก็มีข้อสังเกต

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นที่ ๑ ก็คือเรื่องที่ท่านได้บอกว่าการสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ซึ่งมีการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา ก่อนเข้ารับการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งผมดูแล้วก็ยังไม่เห็นมีการระบุการช่วยเหลือ อย่างเป็นรูปธรรมในรายงาน มีแต่เขียนกว้าง ๆ ไว้ว่าช่วยอะไรไปบ้าง แล้วก็รวมถึงที่มีการ ช่วยเหลือศูนย์การเรียนรู้ สถานเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกือบ ๓๐,๐๐๐ แห่ง ซึ่งท่านก็บอกว่ามีประมาณ ๓๐,๐๐๐ แห่ง ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยังท่าน คณะกรรมการนะครับว่าถ้าเกิดในแผนที่จะทำต่อ ๆ มาก็อยากจะให้มีการใส่รายละเอียดมา ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงว่าท่านได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้างนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วที่ท่านระบุในแผนที่เป็นผลการดำเนินงานหรือว่าการดำเนินการที่สำคัญ เพื่อที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Big Rock หรืออะไรต่าง ๆ ส่วนใหญ่ผมก็เห็น แล้วว่ากิจกรรมต่าง ๆ เป็นการสำรวจ แล้วก็เป็นการพัฒนาระบบการทำเชิงนโยบาย การวิจัยและพัฒนาระบบต่าง ๆ เสียส่วนใหญ่นะครับ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ ของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้วที่จะทำได้นะครับ ก็อยากจะฝากว่าถ้าหากท่านจะทำกิจกรรม อะไรที่มันเกี่ยวกับเป็นการปฏิรูปก็น่าจะให้ทำอะไรที่มันจะมีผลกระทบมากกว่าที่จะเป็น งานทั่วไปที่หน่วยงานต่าง ๆ เขาได้ทำกันอยู่แล้วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • แล้วก็ในเรื่องที่ ๒ ก็คือเงินอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงิน ๖๐๐ บาท ซึ่งก็อาจจะรวมเงินสงเคราะห์บุตร ๘๐๐ บาท เป็นเงิน ๑,๔๐๐ บาท ผมเห็นว่า จำนวนเงินนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงนะครับ เพราะว่าขณะนี้ ค่าครองชีพต่าง ๆ ก็ถีบสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงท่านคณะกรรมการอยากจะให้เพิ่มเติมในการที่จะมีการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้นเรื่องค่าครองชีพต่าง ๆ สำหรับการดูแลเด็กแรกเกิดด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นที่ ๒ ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานนะครับ ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการ อยู่ในรายงานที่บอกนั่นก็คือการพัฒนาครูเดิม ผมก็ถือว่าการพัฒนาครูซึ่งเป็นบุคลากร ที่สำคัญในระบบการศึกษาก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่ว่าท่านก็ยังไม่มีสิ่งไหนที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คืออยากให้มีการสร้างคุณค่าในอาชีพครู คือจะหาวิธีอะไรก็ได้ ที่จะได้คนเก่ง แล้วก็คนดีที่อยากจะเข้าไปเป็นครู เพราะว่าครูก็ถือว่าเป็นทรัพยากร ที่มีความสำคัญในการที่จะเข้าไปสอนเด็ก ๆ เข้าไปสอนเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นมา

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือการประเมินผลปฏิบัติงานของ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งเท่าที่ผมทราบมาคือเพิ่งมีการ เปลี่ยนใหม่ คือแบบเดิมมี ๒ องค์ประกอบก็คือว่าการประเมินประสิทธิภาพภาคการปฏิบัติ จะได้ ๗๐ คะแนน ส่วนการประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัยคุณธรรมจะมี ๓๐ คะแนน ส่วนแบบใหม่นะครับท่านประธาน จะเพิ่มมาเป็น ๓ องค์ประกอบก็คือ การประเมิน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติจะเป็น ๘๐ คะแนน ส่วนการประเมินการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาการศึกษา ๑๐ คะแนน ส่วนทางด้านรักษาวินัย คุณธรรม และจรรยาบรรณ จะเป็น ๑๐ คะแนนนะครับ ซึ่งส่วนนี้จะเห็นว่าด้านคุณธรรมและทางด้านจริยธรรมก็มีการ ลดลงมาก ก็อยากจะฝากให้เราเน้น ถ้าเราอยากเน้นให้มีสังคมที่ดีหรือสิ่งอะไรที่ดีต่าง ๆ ก็ควรจะเน้นเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือเรื่องเกี่ยวกับอาชีวศึกษานะครับ ผมคิดว่าในด้านนี้มันก็เหมือนกับการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วไปนะครับ ซึ่งสิ่งที่พัฒนาอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าความตั้งใจของคณะกรรมการในการที่จะ ทำเรื่องต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ว่าก็ยังไม่มีการระบุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ยังไม่มีบอกว่า จะทำสิ่งไหนต่อไป รวมถึงจำนวนกี่คน แล้วก็ไม่มีที่บอกว่าจะพัฒนาคนไปเท่าไรแล้ว จากระดับไหนสู่ระดับไหน แล้วก็ดีขึ้นแค่ไหนก็ตามนะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็กลับไปสู่เรื่อง การวัดผลและการประเมินผลต่าง ๆ ซึ่งก็อยากให้ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมนะครับ ส่วนการเพิ่มคุณค่าและค่านิยมในการเรียนอาชีวะมากขึ้น ผมก็เห็นด้วยนะครับ เพราะว่า ในปัจจุบันสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาก็ประสบปัญหาการขาดแคลนทั้งครูและนักเรียน ส่วนสถานการณ์ในประเทศตอนนี้ก็ค่อนข้างที่จะขาดแคลนแรงงานที่เป็นทักษะเฉพาะ ทางด้านนี้ด้วยกันนะครับ ผมก็จะขอฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการว่าสุดท้ายนี้ แผนดำเนินการที่ดำเนินต่อไป ที่ท่านจะปฏิรูปอะไรต่อไปก็ขอให้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ในการที่จะวางเป้าหมาย แล้วก็รวมถึงผลสัมฤทธิ์ที่มันจะเกิดขึ้นที่ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ผม มีประเด็นที่จะหารือกับท่านประธานใน ๓ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ก็คือปัญหาฝายน้ำล้นแม่งาวที่ตำบลบ้านร้อง จังหวัดลำปาง เกิดการทรุดตัว เพราะว่าเนื่องจากวันที่ ๑๓ กันยายนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักในบริเวณนั้น แล้วก็ทำให้ฝายยุบตัวแล้วก็มีรอยแตกเป็นบริเวณ ๗๕ เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น ๗ หมู่บ้านได้รับผลกระทบในการที่จะขาดน้ำ พื้นที่ทำการเกษตรในบริเวณนั้น ๑,๑๖๕ ไร่ ก็อยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของบสนับสนุนในการที่จะซ่อมแซม ฝายน้ำล้นแม่งาว

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เรื่องน้ำประปาในหมู่บ้าน บ้านทัพป่าเส้า ตำบลวังเหนือ เกิดปัญหามานานมาก คือมีการส่งกลิ่นเหม็นแล้วก็ไม่สะอาด เพราะว่าตัวระบบประปา มันไม่ได้มาตรฐาน และคนดูแลก็ขาดความรู้ความชำนาญ ขาดงบประมาณในการซ่อมแซม บำรุง ก็อยากฝากท่านประธานช่วยส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะของบ สนับสนุนในการทำน้ำประปาให้ได้มาตรฐานนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ที่ผมอยากจะฝากท่านประธานก็คือมีชาวบ้านตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้ร้องเรียนมากับผมในเรื่องขาดแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในบริเวณ ๔ หมู่บ้านด้วยกัน คือ บ้านหลวง หมู่ที่ ๑ บ้านศรีปรีดา หมู่ที่ ๓ บ้านแม่อางน้ำล้อม หมู่ที่ ๘ แล้วก็บ้านวังยวม หมู่ที่ ๑๐ อยากจะฝากท่านประธานที่จะของบประมาณสนับสนุน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะช่วยเหลือชาวบ้านตำบลบ้านแลงทั้ง ๔ หมู่บ้านนี้ ในการที่จะมีน้ำกินน้ำใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ผม ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายในหัวข้อการศึกษาของเด็กที่ไม่มีสัญชาติ ผมขอยืนยัน ในหลักการก่อนนะครับว่าเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยนั้นควรได้รับการศึกษาอย่าง เท่าเทียมกันทุกคน การศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างไร คือสิ่งที่ให้ความรู้ และความรู้ก็คือ เครื่องมือในการที่เขาเหล่านั้นจะดำรงชีวิต ถ้าท่านไม่ให้การศึกษากับพวกเขาเหล่านั้น แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะใช้ชีวิตได้อย่างไร ประเทศเรามีมติ ครม. มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ แล้วว่า ให้มีการจัดการศึกษาให้กับผู้ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย แต่ผ่านมา ๑๘ ปีก็ยังคงมีเด็กไร้สัญชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงและถูกกีดกัน โดยปัญหาหลัก ๆ ก็คือมาจาก หน่วยงานภาครัฐที่ทำตัวเป็นอุปสรรค ทำเหมือนพวกเขาไม่มีสิทธิ ไม่มีตัวตน ซึ่งหลาย ๆ คน อย่าว่าแต่คนที่ไม่มีสิทธิเลยครับ ขนาดคนที่มีสิทธิก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ ผมอยากจะ พูดต่อนะครับว่าในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีปัญหา ในหลาย ๆ พื้นที่ก็ยังหวังพึ่งผู้ที่เป็นจิตอาสา ให้ขึ้นไปสอนหนังสือพวกเขา หลาย ๆ พื้นที่ยังคงต้องดิ้นรนโดยการทำวิธีต่าง ๆ เพื่อเข้าถึง การศึกษา อย่างเช่นกรณีที่เป็นประเด็นก็คือโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ผมอยากจะใช้คำว่า ดิ้นรนทั้งผู้เรียน และผู้สอน ซึ่งจากเพื่อน ๆ จากที่ผมฟังมาในสัปดาห์ก่อน ๆ หลายท่านก็ได้พูดถึงปัญหา และต้นตอของปัญหา ผมอยากจะเสริมว่านอกจากเราจะจัดการศึกษาให้พวกเขาแล้ว เราต้องจัดการแบบมีประสิทธิภาพอย่าทำแบบส่ง ๆ ไป เราต้องทำการศึกษาให้มีคุณภาพ ให้พวกเขาสามารถเอาวิชาติดตัวไปใช้ได้ในการดำรงชีวิต แล้วก็ให้เขาสามารถที่จะตอบแทน ที่ ๆ เขาอยู่ได้ สามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศเรานี้สามารถที่จะ พัฒนาไปได้โดยการศึกษา

    อ่านในการประชุม

  • และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝาก ที่อยากจะทำไปด้วยก็คือการทำความเข้าใจ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าประชาชนในพื้นที่ให้ยอมรับการอยู่ของพวกเขา ปฏิบัติกับพวกเขา เฉกเช่นเป็นเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ผมมีความเห็นว่าไม่เห็นด้วยในการที่จะตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่ควรที่จะส่งต่อให้กับคณะกรรมาธิการการศึกษาในการที่จะ ศึกษาปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ผมมีข้อเสนอแนะในบางเรื่องบางอย่างที่อยากจะฝาก ไปถึงคณะกรรมาธิการการศึกษา รวมถึงระดับนโยบายในการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับเด็ก ที่ไม่มีสัญชาติ คือเราควรที่จะให้มีการกระจายงบประมาณ โดยมีการรับรองว่างบประมาณ การศึกษาของชาติต้องได้รับการจัดสรรบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและครอบคลุมเด็ก ทุก ๆ คน ไม่ว่าเขานั้นจะมีสัญชาติและสถานะใด และตัวกระทรวงศึกษาธิการควรที่จะ พิจารณาเกณฑ์การลงทะเบียนให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิมในการกำกับดูแล ศูนย์การเรียนรู้ สำหรับเด็กข้ามชาติต่าง ๆ และขยายความร่วมมือ รวมถึงเพิ่มสถาบันการศึกษาให้มีมากกว่า สถานศึกษาของรัฐและของภาคเอกชน และผมอยากจะฝากท่านประธานไปถึงรัฐบาล ควรที่จะสานต่อความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการโอน หน่วยกิตของเด็กข้ามชาติที่เรียนในประเทศ และเริ่มความร่วมมือกับประเทศต้นทางประเทศ อื่น ๆ ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • สิ่งที่ผมอยากจะฝากต่อไปก็คือในเรื่องของข้อมูล ควรมีการจัดเก็บและใช้ข้อมูล เกี่ยวกับเด็กข้ามชาติในประเทศไทยให้ถูกต้องและเป็นจริงในการแจ้งปัญหา ควรต้องมีการศึกษา เก็บข้อมูลเหล่านี้นำมาประมวลที่จะทำนโยบายให้ดีต่อไป แล้วก็เราควรที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ เหล่านี้ที่อาจจะมีกรณีย้ายที่อยู่บ่อย ๆ ในระบบการศึกษานี่ให้เขาลดการลาออกจากโรงเรียน โดยควรมีการโอนหน่วยกิตข้ามการศึกษารูปแบบต่าง ๆ และควรโอนข้ามจังหวัดได้ และควร ให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่เด็กข้ามชาติที่ย้ายที่พักบ่อย ๆ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าข้อเสนอแนะของเพื่อนสมาชิก รวมถึงตัวผมที่ฝาก ท่านประธานไปสามารถที่จะส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ในการที่จะดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อที่จะให้เด็กเหล่านี้สามารถที่จะมีการศึกษา ที่มีความเท่าเทียมกันได้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย ผมมีประเด็น ที่จะหารือปัญหาของพี่น้องประชาชนที่จะฝากไปยังท่านประธานใน ๕ ประเด็นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ก็คือมีการก่อสร้างถนน ๔ เลน ของทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๕ สายลำปาง-แจ้ห่ม ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร ซึ่งทางผู้รับเหมาทำงานไม่เรียบร้อย โดยไม่มีป้ายไฟบอกในเวลากลางคืน แล้วการจะเปิดหรือปิด Lane ต่าง ๆ ก็ไม่มีป้ายบอก อย่างชัดเจน เสี่ยงต่อการเกิดรถชนในบริเวณนั้น ก็ขอฝากท่านประธานแจ้งไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือกรมทางหลวง ในการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ก็คือไฟฟ้าขาดแคลน ที่หมู่ที่ ๑๒ ตำบลบ้านขอ ซึ่งในบริเวณ ซอย ๗ ของหมู่ที่ ๑๒ เป็นเส้นทางสัญจรหลักของชาวบ้านในการไปทำการเกษตร รวมถึง เป็นเส้นทางหลักที่จะออกไปยังถนนใหญ่ ซึ่งก็ได้ทำการขอไฟฟ้าไปแต่ยังไม่ได้รับ การดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ในบริเวณนั้นเพราะขาดไฟฟ้า ก็ขอฝาก ท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ก็คือปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง ที่บ้านสบมาย ตำบลบ้านแลง ในช่วงที่ฝนตกถึงแม้ฝนจะตกไม่หนักก็ตามไฟมักจะดับ ๔-๕ ชั่วโมงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแบบนี้มา ๔-๕ ปีไม่เคยได้รับการแก้ไข ฝากท่านประธาน ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ประเด็นไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ที่บ้านไร่เหนือ หมู่ที่ ๙ ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน ได้มีการติดตั้งไฟกิ่งบริเวณท้ายหมู่บ้าน แล้วก็ตรงหัวหมู่บ้าน แต่ว่าตรงช่วงกลางหมู่บ้านยังไม่ได้รับการติดตั้ง ซึ่งผมได้รับการร้องเรียนมาก็คือ เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นในการสัญจรในเวลากลางคืน ก็อยากจะฝากท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการให้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอหารือ ก็คือที่บ้านสบลี ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน มีพี่น้องประชาชนจำนวน ๕๙๐ ราย ๒๐๐ ครัวเรือน ได้ทำหนังสือไปยังการประปา ส่วนภูมิภาค ในการที่จะขอขยายเขตประปาต่อจากบ้านข่วมกอม หมู่ที่ ๙ ซึ่งขอไป นานแล้วแต่ก็ยังไม่เคยได้รับการดำเนินการใด ๆ เพราะว่าที่บ้านสบลีมีผู้ใช้น้ำเยอะ ทำให้ ในช่วงหน้าแล้งทำให้ปริมาณการใช้น้ำไม่เพียงพอ ก็ฝากท่านประธาน วันนี้ผมขอฝาก ท่านประธานเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมจะขอร่วม ในการที่จะพูดถึงเรื่องปัญหาการขาดแคลนและคุณภาพน้ำบาดาล และรวมถึงญัตติขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาระบบน้ำประปา ท่านประธานที่เคารพครับ การใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้นล้วนมีเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเสมอ เพราะน้ำคือปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตของพวกเราทุก ๆ คน แต่ในปัจจุบันนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสาธารณูปโภค และในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ผมจึงอยากจะขอชี้ให้เห็นถึงผลกระทบหากเราไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ปัญหาน้ำในภาคส่วนสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่เราเรียกกันว่า น้ำประปานั้น ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ น้ำขุ่นแดงแล้วก็ไม่มีมาตรฐานเลย ทั้ง ๆ ที่เป็น ปัจจัยพื้นฐานสำหรับประชาชนในการดำรงชีวิต แล้วน้ำที่ประชาชนใช้ก็ไม่มีความสะอาด จากที่ผมได้ฟังจากเพื่อนสมาชิกทั้งการหารือผ่านสภาแห่งนี้ รวมถึงท่านสมาชิกก่อนหน้า รวมถึงทั้งท่านผู้เสนอญัตติ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำที่ประชาชนในแต่ละจังหวัดใช้ ขาดความสะอาด ขาดมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงการจัดการต่าง ๆ ก็มีปัญหา โดยในส่วนปัญหา ของน้ำประปาก็เกิดจากหลายปัจจัย ผมก็จะขอพูดถึงเป็นข้อ ๆ ดังนี้ ปัญหาจากระบบ การจำหน่ายน้ำและการซ่อมท่อประปา และต้นทางก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหา รวมถึง ปัญหาการใช้น้ำบาดาล เนื่องจากน้ำบาดาลนั้นเป็นน้ำที่มีหินปูน มีสนิมเหล็ก แล้วก็แร่ธาตุอยู่ ทำให้ในบางครั้งเกิดคราบตะกอนออกมาด้วย รวมถึงปัญหาหลักที่เกี่ยวกับพวกเราทุกคน ก็คือการปนเปื้อนจากการกระทำของพวกเรากันเอง เช่นการทิ้งขยะใส่แหล่งน้ำ และการทำ ปศุสัตว์ต่าง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือในส่วนของภาคเกษตรกรรม เกษตรกรนั้น เป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ เราก็จะเห็นในแต่ละพื้นที่ ที่ไร่นาต่าง ๆ ถ้าไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม ก็น้ำแล้ง วนไปอย่างนี้ทุก ๆ ปี ไม่มีความพอดี น้ำคือสิ่งที่เกษตรกรขาดไม่ได้ เพราะว่า เกษตรกรก็ต้องอยู่คู่กับน้ำในการทำการเกษตร และโดยสภาพของประเทศไทยส่วนใหญ่ มักอยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำผิวดินที่เพียงพอในฤดูแล้ง การนำน้ำบาดาล มาใช้ในด้านเกษตรกรรมก็ช่วยสร้างอาชีพให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี แต่น้ำบาดาลนั้น ก็ก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาในการทำเกษตรกรรมในประเทศไทย เช่นการเสื่อมสภาพ ของแหล่งน้ำบาดาล การดึงน้ำบาดาลมาใช้ในการทำเกษตรกรรมอย่างมากทำให้แหล่งน้ำ เสื่อมสภาพ แล้วก็ลดความลึกของน้ำบาดาลตลอดเวลา ซึ่งก่อให้เกิดเป็นปัญหารุนแรง ในบางพื้นที่ที่มีการใช้น้ำบาดาลอย่างไม่รอบคอบ ขาดความรับผิดชอบ ทำให้แหล่งน้ำ มีความเสื่อมโทรม ทำให้ปัญหาต่าง ๆ รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ก็คือการใช้น้ำบาดาลอย่างมากมายส่งผลให้มีการขาดแคลนน้ำ ในบางฤดูกาล ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาน้ำบาดาลอย่างมาก แล้วก็ในเรื่องคุณภาพน้ำ มีการปนเปื้อนจากสารเคมี แล้วก็มีสารเคมีบางอย่างที่ทำให้น้ำไม่เหมาะสมในการใช้ทำ การเกษตรกรรม

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๔ ของน้ำบาดาลที่ผมอยากจะชี้ให้ท่านประธานก็คือปัญหา เกี่ยวความยากลำบากและค่าใช้จ่าย การสร้างหรือการดึงน้ำบาดาลมาใช้ อาจเป็นการลงทุน ที่มากและมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้น้ำบาดาลอาจจะไม่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการทำ เกษตรกรรมในบางพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๕ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดึงน้ำบาดาลอาจมีผลกระทบ เช่นการลดลำน้ำใต้ดินที่มีอิทธิพลต่อน้ำในแม่น้ำและลำคลอง ซึ่งจากปัญหาที่ผมชี้ให้ ท่านประธานเห็นแล้ว ผมเห็นควรจะส่งเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมาธิการสามัญของสภาซึ่งเพิ่ง ตั้งขึ้นใหม่ หรือว่าเพิ่งเปลี่ยนชื่อ นั่นคือคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งผมก็ขอฝากในประเด็นนี้ เพราะว่าเหมือนที่เพื่อนสมาชิกกล่าวไว้ก็คือ น้ำคือชีวิตของเรา ทุก ๆ คน ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีเรื่อง จะหารือท่านประธานใน ๒ ประเด็นด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ สะพานข้ามลำห้วยแม่อีด บ้านทุ่งฝูง ตำบลร่องเคาะได้พังทลาย ลงจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ซึ่งสะพานนี้ประชาชนใช้เพื่อเดินทาง ไปยังแปลงเกษตรพื้นที่รวมกันกว่า ๑๖๐ ไร่ อีกทั้งพี่น้องประชาชนยังใช้สัญจรในการขน สินค้าทางการเกษตรกว่า ๓ ตำบล คือตำบลร่องเคาะ ตำบลวังทองของอำเภอวังเหนือและ ตำบลทุ่งผึ้งของอำเภอแจ้ห่ม ปีนี้เป็นปี ๒๕๖๗ แล้วครับท่านประธาน ผมก็จะขอฝาก ท่านประธานที่จะสอบถามผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในการที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณหรือว่าหน่วยงานต่าง ๆ นั้นจะเข้าไปช่วยเหลือในการ ที่จะทำให้สะพานนั้นกลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่งครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ผมได้รับการฝากจากท่านนายกประหยัด สุวรรณโณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง อำเภองาว ที่ได้แจ้งร้องเรียนปัญหาถนนเชื่อม ระหว่างบ้านข่อย บ้านแม่คำหล้า บ้านแม่งาวใต้ และบ้านบ่อสี่เหลี่ยม ซึ่งทั้ง ๔ หมู่บ้านนี้ ยังเป็นถนนลูกรังอยู่ เนื่องจากติดปัญหาเป็นพื้นที่ป่าและรวมถึงติดกฎระเบียบต่าง ๆ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะทำถนนคอนกรีตในการที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้นะครับ ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางสัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว ผมก็อยากจะฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนของบประมาณต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความ สะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ธนาธร โล่ห์สุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต ๒ พรรคเพื่อไทย วันนี้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้ใช้อากาศหายใจร่วมกับทุก ๆ ท่าน และในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคเหนือ ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ในการร่วมที่จะพูดคุย ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. .... ซึ่งวันนี้เป็นสิ่งสำคัญ มากในการที่เราจะร่วมกันทวงคืนลมหายใจให้กับคนภาคเหนือและคนไทยทุก ๆ คน มลพิษ ทางอากาศอย่าง PM2.5 เป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุก ๆ คน แล้วก็เป็นภัยคุกคามอันตราย อย่างมากต่อสุขภาพของชาวไทย แล้วก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลาย ๆ ประการ ไม่ว่าจะ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง แล้วก็อาจจะทำให้เกิดมะเร็งปอด แม้ว่าเราจะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเป็นหัวใจแล้วก็รวมถึงโรคหลอดเลือดต่าง ๆ นี้ส่งผลต่อ การพัฒนาของทารกในครรภ์ด้วย รวมไปถึงสุขภาพจิตของเราด้วย จากที่ผมกล่าวมาข้างต้น ทั้งหมดเป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่จะเห็นว่าเป็นโรคจากฝุ่นละออง ซึ่งผมจะพาท่านประธานไปดู ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗ ได้รายงานไว้ว่ามีถึง ๓๑ จังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นจำนวนประชากรมากกว่า ๒๘ ล้านคน ซึ่งสถิตินี้ อ้างอิงมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลข ๒๘ ล้านคนตรงนี้ถือว่าเป็นจำนวนประชากร ที่เยอะมาก ๆ เพราะที่จริงแล้วแม้แต่ ๑ คนก็ไม่ควรที่จะประสบชะตากรรมดังกล่าว เราจะ เห็นได้ชัด ๆ ว่าการส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทุก ๆ คน แม้โดยรวมแล้ว ฝุ่นที่เราเห็นจะเป็นแค่หมอกจาง ๆ ก็ตาม และปัญหาต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผลเสียใน ระยะยาว ซึ่งขาดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ พรรคเพื่อไทยของผม พวกเราได้ผลักดันเรื่องนี้มา โดยตลอด และจะทำให้เป็นรูปธรรม เรามีนโยบายและได้แบ่งแนวทางการปฏิบัติเรื่องมลพิษ ทางอากาศเป็น ๓ ระยะ ซึ่งเนื้อหาทั้ง ๓ ระยะนี้มีเพื่อนสมาชิกได้พูดไปบ้างแล้ว ผมก็จะขอสรุป สั้น ๆ ว่าในระยะสั้นเราจะเน้นที่การเตือนภัยเมื่อเกิดปัญหาและออกมาตรการในการรับมือ ต่าง ๆ ส่วนในระยะกลางนี้เราให้ความสำคัญกับการออกกฎหมาย และควบคุมแหล่งที่มา ของฝุ่น เช่นการก่อสร้างและออกมาตรการด้านภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมาใช้พลังงาน ทางเลือกมากขึ้น และโดยในระยะยาวเราก็มีร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งเรากำลังพูดคุยกัน อยู่ในวันนี้ รวมถึงการออกแบบผังเมืองใหม่เพื่อลดการจราจรที่หนาแน่นและการประสาน ความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน เพื่อหยุดฝุ่นข้ามพรมแดนนะครับท่านประธาน โดยร่าง พระราชบัญญัติฉบับของพรรคเพื่อไทยได้มีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และเพื่อสร้าง แรงจูงใจ รวมไปถึงส่งเสริมให้ลดมลพิษทางอากาศ อย่างมีภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด นะครับ รวมถึงมีค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ และยังมีบทลงโทษที่หนักแน่น และชัดเจน เช่น หลักการ Polluter Pays Principle เป็นต้น และในร่างของเราก็จะมี เจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบคอยที่จะไปควบคุมและเราจะพัฒนาระบบ Digital ในการตรวจสอบ แหล่งมลพิษต่าง ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าเรานั้นเอาจริง แล้วก็ติดตามผลในระยะยาวด้วย ผมเชื่อ ว่าถ้าเราทุก ๆ คนช่วยกันที่โหวตตัวร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ผ่านแล้วไปประกาศใช้ได้จริง ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และการทวงคืนอากาศ บริสุทธิ์ที่พวกเขาเหล่านั้นควรได้รับ คือการทวงสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วมอบโอกาสในการ ดำรงชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกคน ผมในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ผมขอสนับสนุนร่างทุก ๆ ร่างที่เพื่อน สมาชิกได้ร่วมกันยื่น รวมถึงภาคประชาชนนะครับ เพื่อที่เราจะทวงคืนอากาศสะอาดบริสุทธิ์ ให้กับพวกเราทุก ๆ คน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม