เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขต ๕ อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ พรรคประชาชาติ กระผมขอหารือ ๒ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาวิกฤติ อ่าวปัตตานีซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแห่งเดียว เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิต เศรษฐกิจฐานรากของผู้คนรอบอ่าวปัตตานี มากกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ที่ปัจจุบันมีความเสื่อมโทรมจนถึงขั้นวิกฤติ จากการลงพื้นที่รับทราบ ปัญหาด้วยตนเอง และข้อมูลวิจัยของนักวิชาการในพื้นที่พบว่าปัจจุบันพี่น้องประมงพื้นบ้าน รอบอ่าวปัตตานีมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องดังกราฟที่ผมนำมาให้ดูครับ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ แหลมโพธิ์เดิม ปี ๒๕๔๒ มีรายได้ ๘๑ ล้านบาท แต่ปี ๒๕๖๓ ลดลงเพียง ๙ ล้านบาทเท่านั้น และอีกพื้นที่คืออ่าวตอนในจาก ๑๒๙ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๒ คงเหลือ ๒๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓ ลดลงถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นขอให้กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กรมประมง ตามการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ๑. ขอให้ทำการขุดลอกร่องน้ำชุมชนที่มีความตื้นเขินในหลายร่องน้ำ เพราะขณะนี้กระแส น้ำเค็มไม่สามารถเข้าไปหมุนเวียนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนได้ครับ ๒. ขอให้ การศึกษาวิธีการเปิดอ่าวปัตตานี แหลมตาชีให้คงสภาพเช่นเดิม ซึ่งในอดีตอ่าวปัตตานี มีความกว้างประมาณ ๓ กิโลเมตร แต่ปัจจุบันนี้เหลืออยู่ประมาณ ๑.๙ กิโลเมตรเท่านั้นเอง ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนระดับกระแสน้ำเค็มขึ้นลงยังก้นอ่าวไปไม่ถึง เกิดภาวะความเค็ม ของน้ำลดลง จากปัญหาดังกล่าวถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้าในการแก้ปัญหา ดังนั้นหมายถึงว่าชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีจำเป็นต้องทิ้งอาชีพประมง ต้องขายเรือ ขายอวนครับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงตั้งแต่พื้นที่ตำบลตะโละกาโปร์ พื้นที่ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี และชาวบ้านกำลังหาหน่วยงานที่รับผิดชอบมาแก้ไขปัญหาอยู่ ซึ่งตลอด ๓ ปีที่ผ่านมามีทั้ง หน่วยงานภาครัฐ และกรรมาธิการกัดเซาะ สภาผู้แทนราษฎร ลงมาทราบปัญหา แต่ไม่มี การแก้ปัญหาที่ชาวบ้านสามารถจับต้องได้ เพราะทุกวันนี้ชายหาดตะโละกาโปร์ ชายหาด ตะโละสะมิแลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานีมีแต่ซากปรักหักพังครับ ดังนั้น กระผมขอหารือผ่านท่านประธานยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณ และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ ปัตตานี อำเภอยะหริ่ง และอำเภอมายอ หากพูดถึงปัญหายาเสพติดแล้วปัญหาสำคัญของประเทศไทยอันดับ ต้น ๆ เลยทีเดียว รัฐบาลเกือบทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ไขปัญหายาเสพติดหลากหลายวิธี โดยเฉพาะวิธีการดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวข้องยาเสพติด ซึ่งถือว่า เป็นมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยภายใต้บัญญัติแห่งกฎหมายได้กำหนดให้มี การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่จะทำให้ปัญหายาเสพติดลดลง และหมดสิ้นจากประเทศไป จากการที่กระผมได้ติดตามสถานการณ์ รัฐบาลพยายามแก้ไข ปัญหายาเสพติดพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ การป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ และกรอบงบประมาณถึง ๑,๙๐๐ กว่าล้านบาท ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยมี แม่ทัพภาคที่ ๔ เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา ๒ ปีที่ผ่านมายาเสพติดไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเลย การค้าและแพร่ระบาดของยาเสพติดใน ๓ จังหวัดภาคใต้ จากการรายงานสถานการณ์ ยาเสพติดในพื้นที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค ๙ พบว่าในช่วงปี ๒๕๖๐ ปี ๒๕๖๔ มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ ได้แก่ กัญชา ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน พืชกระท่อม นอกจากนั้นยังรวมถึงประเภทต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในทางที่ผิด เช่นยาแก้ไอ และส่วนผสมต่าง ๆ โดยนำเป็นส่วนผสมหลัก ๔ คูณ ๑๐๐ เป็นยาเสพติดชนิด ๑ ที่ส่วนผสมของน้ำต้มจากใบกระท่อม ยาแก้ไอ และตัวยาอื่น ๆ มีฤทธิ์ต่อประสาท ทั้งนี้ยาหลักที่การค้าและแพร่ระบาดมากที่สุด ได้แก่ พืชกระท่อม ยาบ้า และยาแก้ไอ ปัญหาการค้าและการแพร่ระบาดยาเสพติดยังมีอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธ ไม่ได้เลย หากดูข้อมูลจากสถิติการจับกุมยาเสพติดในปี ๒๕๖๐ และปี ๒๕๖๔ มีการจับกุม ประมาณ ๑๕,๐๐๐ คดี ผู้ต้องหาจำนวน ๑๗,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลา เมื่อ ๓ ปีที่ผ่านอย่างหดหู่ นอกจากนี้ผมขอการสำรวจของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า พบว่า ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหายาเสพติด ๘๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ คน จากประชากรแค่ประมาณ ๒ ล้านคน หรือประมาณร้อยละ ๕ ของประชากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว กระผมจึงขอตั้งคำถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ ๒ ประเด็น
๑. การปราบปรามสกัดยาเสพติดในชายแดนประเทศมาเลเซีย การแก้ไข ปัญหายาเสพติดตามแผนงานด้านปราบปรามยาเสพติดในด้านสกัดยาเสพติดจากภายนอก ประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. แต่งตั้งเอกอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแก้ไขปัญหายาเสพติด ในประเทศจีน ลาว กัมพูชา แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียกลับไม่มี เอกอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแก้ปัญหายาเสพติด สะท้อนมุมมองของรัฐในการแก้ไขปัญหา ยาเสพติด ท่านประสงค์แก้ปัญหาต้นเหตุจากประเทศนำเข้ายาเสพติด แต่ปลายทาง ยาเสพติดมุ่งหน้าลงพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขายเอากำไรจำนวนมาก โดยการส่งออกไปยังประเทศที่ ๒ ประเทศที่ ๓ ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขปัญหา ในลักษณะนี้ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมันไม่สามารถตัดวงจรค้ายาเสพติดทั้งหมดได้ ท่านตัดอุปทานจากระบบ แต่ไม่ได้ตัดอุปสงค์ออกจากการแก้ปัญหายาเสพติด สถานการณ์ การค้ายาเสพติดจึงไม่ได้ลดลงตามที่ประชาชนต้องการ สิ่งเหล่านี้สะท้อนการแก้ไขปัญหา ยาเสพติดในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญในการจัดการ แก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ
๒. การใช้อำนาจของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการดำเนินการผู้เสพและผู้ติด ยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา ๑๖๒ ประกอบมาตรา ๑๖๕ โดยสรุป กฎหมายในหมวดดังกล่าวให้โอกาสผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้โอกาสได้รับปรับปรุงนิสัย รวมทั้งให้การเข้าบำบัดรักษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยหวังให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. นำผู้เสพ ผู้ติดเข้าสู่ระบบการดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้เสพคือผู้ป่วย ตามเจตนารมณ์ประมวลกฎหมายยาเสพติดต้องนำผู้เสพ ผู้ติดเข้ารับการบำบัดรักษา ปรับปรุงนิสัยการสามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติโดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติด คำถามคือ บำบัดรักษาที่ไหน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติดส่งผลกระทบ ต่อประชาชนอย่างมาก คือผู้เสพระดับกลุ่มที่ติดรุนแรงและมีอาการทางจิตอยู่ด้วย แต่ปัญหา การนำตัวไปเข้ารับการบำบัดรักษาแน่นอนในทฤษฎีมี คือมีศูนย์บำบัดยาเสพติดตั้งอยู่ที่ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่ผมทราบว่าจริง ๆ แล้วมีอาการทางจิตที่รุนแรง และอาการทางจิตร่วมด้วย ต้องรักษาอาการจิตเวชที่สงขลาหรือถอนพิษที่ธัญญารักษ์ ปัตตานีก่อน เรื่องนี้สะท้อนว่าภาครัฐทราบปัญหาและกำลังมีแนวทางแก้ไขปัญหา ๑ ๒ ๓ และ ๔ แต่ประชาชนในพื้นที่เขาจะรอไม่ได้ เขาทราบเพียงว่านาย ก นาย ข คนนี้กำลัง มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดออกจากพื้นที่เมื่อใด เขาจะได้ไม่เดือดร้อน นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มผู้ติดยาเสพติดและผู้ค้าอาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ในการแก้ไข ปัญหายาเสพติดจะเป็นพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือทางประเทศรัฐบาลจำเป็น ต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีกลไกในการเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ให้ไปสู่ การปฏิบัติ เหตุผลเป็นรูปธรรม จริงจัง และมีความต่อเนื่อง และมีการตรวจสอบงบประมาณ และปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เป็นต้น ขอขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ ปัตตานี อำเภอยะหริ่ง และอำเภอมายอ พรรคประชาชาติ ท่านประธานครับ ผมขอเริ่มต้นการรับทราบรายงาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ด้วย ๒ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคม การศึกษาของเราครับ
เหตุการณ์ที่ ๑ นักศึกษาหญิง อายุ ๑๔ ปีผูกคอตายที่จังหวัดสงขลา เพราะโดนครูห้ามเข้าเรียนเนื่องจากเป็นเด็กยากจน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
เหตุการณ์ที่ ๒ ที่เกิดที่อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ผูกคอตายติดกับตัวบ้าน เหตุเกิดจากความยากจนเหมือนกันครับท่านประธาน พ่อไม่มีเงินจะให้ลูกไปโรงเรียนถึงขั้น ต้องรื้อสังกะสีหลังคาบ้านไปขาย ในที่สุดก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายเหมือนกันครับท่านประธาน ๒ เหตุการณ์นี้คำถามฝากท่านประธานถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยินดี กับความสำเร็จในเล่มรายงานของ กสศ. ในขณะที่สังคมเรามีเด็กผูกคอตายทุกปีเพราะไม่มี เงินเรียนได้หรือครับ
ตามที่มาตรา ๕๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้ มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ วรรคสี่ รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษา หรือพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และมีศักยภาพจะพึ่งตนเองในการดำรงชีวิตครับท่านประธาน ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า จะต้องดูแลถึงอายุเท่าไร ซึ่งในหมวดมาตรา ๕๔ กำหนดไว้ว่าให้รัฐจัดกองทุนช่วยเหลือ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ในวรรคห้า รัฐจะต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาให้มีการศึกษาสอน หรือทำให้นักเรียนสามารถ เรียนรู้และพัฒนาไปตามความถนัดและศักยภาพของตนเอง แต่จนถึงปัจจุบันผู้ยากไร้ ระดับชั้นปริญญาตรีและอุดมศึกษายังไม่มีกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้เลย กองทุน เพื่อความเสมอภาค กสศ. ก็ดูแลเฉพาะผู้ศึกษาระดับไม่เกิน ม. ๖ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน ให้เรียนฟรีอยู่แล้วครับ แม้รัฐบาลจะมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาก็ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ แบบให้เปล่า กลับไม่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ต้องเลื่อนชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ ระดับอุดมศึกษา แต่นำไปช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เรียนฟรีอยู่แล้ว ไม่ใช่ข้ออ้างหน้าที่ กับกองทุน กยศ. แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อจะให้ การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนกองทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาครับท่านประธาน นอกจากนั้นยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เรียนเพราะภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้เรียนเพราะไม่มี ข้าวกิน ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีชุดนักเรียนใส่ ไม่ได้เรียนเพราะต้องดูแลพ่อแม่ ต้องออกมา ทำมาหากิน และสุดท้ายไม่ได้เรียนเพราะไม่มีเงินค่าเล่าเรียน ปัจจุบันคนจนที่สุด ในจำนวน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยเพียงแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเองครับ จากข้อมูล กสศ. จากเหตุนี้จึงควรยุบกองทุน กยศ. มารวมกองทุน กสศ. เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคการศึกษาของไทยได้อย่างแท้จริงและเพิ่มขอบเขต การศึกษาของคนยากจนและคนทุกคนให้อยู่ในระดับตนที่พึงพอใจ ซึ่งรัฐควรดูแล อย่างแท้จริงมากกว่า ๑๒ ปี รัฐต้องเป็นพ่อแม่ที่ให้โอกาสลูกได้เรียน ให้โอกาสลูกได้พัฒนา ให้การสนับสนุนและให้โอกาสลูกมีสังคมให้การเรียนรู้ สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไก ทำให้สังคมดีขึ้น มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาชญากรรมลดลง อันนี้เป็นผลดีสู่สังคมรัฐเอง ไม่ใช่หรือครับ
ประเด็นสุดท้าย รัฐควรขยายสัดส่วนผลประโยชน์ครอบคลุมนักศึกษา ทุกระดับให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ กสศ. ควรขยาย ครอบคลุมนักศึกษาสถาบันปอเนาะ โรงเรียนบูรณาการ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนอย่างตาดีกาด้วยครับท่านประธาน เพราะมาตรา ๕๔ กำหนดไว้ว่า ให้รัฐจัดกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ในวรรคห้า รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือสถานที่ศึกษาเพื่อให้มีการเรียน การสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน เด็กทุกคน จะต้องมีสิทธิและจะเลือกเรียนตามความถนัดของตน โดยรัฐไม่ควรจะกำหนดให้เขาเรียน ตามรัฐเท่านั้นเอง ขอขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส พรรคประชาชาติ เขต ๕ ปัตตานี ผมขอเสนอกรรมาธิการ วิสามัญในส่วนของพรรคประชาชาติ คือ นายอิมรอน เส็นหลีหมีน ขอผู้รับรองครับ
ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขต ๕ พรรคประชาชาติ วันนี้กระผมขอหารือท่านประธานไปยังหน่วยงานกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ศอ.บต. เพื่อปรับปรุงท่องเที่ยวลานไม้ไผ่ บริเวณปากร่องน้ำบางปูเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้และการท่องเที่ยวป่าชายเลน ในอ่าวปัตตานี ซึ่งสถานที่ดังกล่าวเป็นที่จอดเรือกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ ของพื้นที่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนและอ่าวปัตตานี เช่น กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา ตำบลตะโละกาโปร์ กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ กลุ่มชุมชนท่องเที่ยว บางปูอะเมซิ่ง ตำบลบางปู กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม ตำบลบาราโหม กลุ่มชุมชน ท่องเที่ยวสะพานไม้บานา ตำบลบานา ซึ่งโดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นเรือนำเที่ยว มากกว่า ๑๐๐ ลำ เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่นอกเหนือจากการทำอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งสภาพปัจจุบันที่ผมได้ลงไปด้วยตัวเองนั้นพบว่าลานไม้ไผ่ดังกล่าวอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดการดูแลพื้นที่ จึงอยากให้รัฐบาลเข้าดูแลเพื่อเปิดโอกาสพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สามารถสร้างรายได้ แล้วก็ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของ ชุมชนท่องเที่ยวอ่าวปัตตานีในอนาคต
อีกเรื่องครับท่านประธาน ผมขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของชาวไทย ที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และกระผมขอฝากท่านประธาน เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยให้รักษาความเป็นกลางด้านการเมือง ในกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพราะว่าความขัดแย้งนี้ มีความสลับซับซ้อนมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานต่อชีวิตชาวยิว คริสต์ และมุสลิมทั่วโลก ทั้งนี้ประเทศไทยควรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและควรช่วยเหลือ ประชาชนชาวไทยที่ถูกจับกุมตัวและบางส่วนที่อยู่ในการปะทะอย่างเร่งด่วน สุดท้ายนี้ ผมขอให้สันติภาพและความสงบสุขสู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเร็ววันต่อไป ขอขอบคุณครับ
ท่านประธานไม่เป็นไรครับ เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปัตตานี หากพูดถึงปัญหาประมงประเทศไทยแล้ว กระผมอดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง ช่องว่างของกฎหมาย และความล่าช้าที่อาจทำให้สัตว์น้ำสูญพันธุ์ ผมอยากจะถามไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลว่าเมื่อไรออกกฎหมายบังคับใช้ ไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง เพราะในขณะนี้ชาวประมงพื้นบ้านของปัตตานี มีความต้องการให้เร่งออกกฎหมายกำหนดควบคุมจับสัตว์น้ำวัยอ่อน มาตรา ๕๗ ของ พระราชกำหนดประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายประกาศมาตรการ ควบคุมการส่งเสริมให้ผู้ขาย ผู้บริโภค และผมยังได้รับแจ้งจากชาวบ้านอีกว่ามีแม่ค้า พ่อค้า จับลูกปู ลูกกุ้งมาขายในราคาถูก
คำถามสำคัญถึงความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมาขาย มาบริโภคนั้น เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็วครับท่านประธาน ประเด็นที่ผมจะไม่พูดก็ไม่ได้ครับ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย IUU ของประเทศไทย โดยสหภาพยุโรป ได้พิจารณาปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ทำให้หลายคนมีถามว่าเมื่อสหภาพยุโรป ปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทยแล้วประเทศไทยได้อะไร ชาวประมงดีใจหรือไม่ สัตว์น้ำ เราจะยั่งยืนหรือยัง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่
ข้อที่ ๑ เหตุที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เพราะเห็นว่า หน่วยราชการประมงของไทยไม่มีศักยภาพในการจัดการประมงของประเทศให้เกิด ความยั่งยืนตามหลักการของอนุสัญญากฎหมายทะเล ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ตอบสนองความต้องการจัดการประมงแบบ IUU ไม่มีแผนการจัดทรัพยากรสัตว์น้ำ และการประมง ไม่มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมเรือ เป็นเหตุให้ทรัพยากร สัตว์น้ำไม่มีความยั่งยืน และไม่สอดคล้องกับการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เราต้องการเพียงจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหา
ข้อที่ ๒ กำหนดการที่ผ่านมารัฐบาลไทยตีโจทย์ผิดมาตั้งแต่ต้นด้วยการประมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย IUU เป็นกฎเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดให้เช่นนั้น เราจึง เริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการทำตามสหภาพยุโรปมาตลอด ไม่ว่าสหภาพยุโรปต้องการอะไร เราก็ดำเนินการตามโดยไม่มีทักท้วง ต่อรอง หรืองดเว้นการดำเนินการ เพราะรัฐบาลไทย หวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สหภาพยุโรปพอใจโดยไม่มีใครโต้แย้ง และสิ่งที่เกิดขึ้น วันนี้ก็คือที่มาของการยกเลิกใบเหลืองให้กับประเทศไทย และรัฐบาลไทยมีความภูมิใจเป็น อย่างยิ่งในผลงานของตน
ข้อที่ ๓ เหตุที่ชาวประมงไม่ดีใจก็เพราะว่าชาวประมงต้องทุกข์ สิ่งที่รัฐบาล ได้ดำเนินการนั้น ทั้งการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมขัดกับอนุสัญญากฎหมายทางทะเล ด้วยความอคติ ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ มีกำหนดโทษที่รุนแรงเกินไป ชนิดที่ไม่เคย มีมาก่อนในประเทศไทย มีออกกฎหมายที่ระดับรองกว่า ๒๐๐ ฉบับ ที่ไม่เคยมีอาชีพใด ในโลกต้องปฏิบัติตาม มีการบังคับใช้การกระทำผิดด้วยความอคติ ไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่ยอมรับเหตุผล และไม่ใช่หลักรัฐศาสตร์ในการดำเนินการ
ข้อที่ ๔ ในส่วนของการส่งออกที่ประเทศไทยเกรงว่าจะกระทบ ทำให้ประเทศไทย ไม่สามารถส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายไปยังต่างประเทศนั้น ประเด็นนี้ เมื่อกลับไปดูข้อมูลจะพบว่าสัตว์น้ำที่ชาวประมงไทยจับได้ และเคยส่งออกไปขายในประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลกถึงปีละ ๕๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท วันนี้ได้เหลืออยู่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย IUU และผู้ซื้อก็ไม่ซื้อสินค้าประมงของเราอย่างที่รัฐบาลกลัว แต่เป็นเพราะไทย ไม่มีสัตว์น้ำจะขายให้ผู้ซื้อ เนื่องจากชาวประมงถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ ไม่สามารถออกไป ทำการประมงได้นั่นเอง
ข้อที่ ๕ ในส่วนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของประมงโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย คำถามที่เกิดขึ้นก็คือในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาหลังจากที่รัฐบาลสั่งให้จอดเรือ และเลิกการประมงประมาณ ๓,๐๐๐ ลำแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศไทยกลับคืน อุดมสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงจากสถิติที่เกิดขึ้นมาได้นั้นไม่ได้บ่งบอกว่าเมื่อรัฐ ได้ดำเนินการทุกอย่างขั้นต้นแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ถูกฟื้นฟูและกลับมาเป็น ความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลานตามที่มุ่งหวังไว้ ดังนั้นเมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เราคาดหวัง ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง ชีวิตและอนาคตสูญเสียไป ไม่สามารถกลับฟื้นคืน หรือได้รับการดูแล แก้ไขถูกทางแล้วนั้นเราดีใจได้อย่างไร ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปัตตานี อำเภอมายอและอำเภอยะหริ่ง ขอหารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ วันนี้กระผมขอหารือต่อท่านประธาน มี ๒ เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องแรก ผมขอฝากไปยัง สำนักงานทางหลวง ๑๘ ให้ดำเนินการก่อสร้างทางขนานถนนสาย ๔๒ ปัตตานี-นราธิวาส ตั้งแต่เขตเทศบาลตำบลบางปูจนถึงบริเวณโรงพยาบาลยะหริ่ง และขอให้ก่อสร้างทางร่วม ทางแยกพร้อมทั้งติดตั้งไฟจราจรบริเวณหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ถนนเพชรเกษม สายปัตตานี- นราธิวาส ตัดกับทางหลวงชนบทเทศบาลตำบลยะหริ่ง บ้านม่วงหวาน ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก
เรื่องสุดท้าย เรื่องเร่งด่วนและสำคัญอย่างมาก คือเรื่องของการศึกษา ผมขอพูดถึงโรงเรียนตาดีกาในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ มีศูนย์ตาดีกามากถึง ๒,๐๐๐ กว่าแห่ง มีจำนวนนักเรียนมากถึง ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน และพบปัญหาที่เร่งด่วนที่ต้อง ให้ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ให้ความช่วยเหลือก็คือ
๑. เงินอุดหนุนที่รัฐมอบให้ศูนย์ตาดีกาในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ไม่เพียงพอในค่าใช้จ่ายจริงในปัจจุบัน
๒. ปัญหาอาหารกลางวันศูนย์ตาดีกา ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ทางรัฐบาล ได้จัดสรรงบประมาณเพียง ๒ เดือน คือเดือนสิงหาคมกับเดือนกันยายน ๒๕๖๖ เท่านั้น และปีงบประมาณ ๒๕๖๗ รัฐบาลยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณเลย ซึ่งในขณะนี้เด็กนักเรียน โรงเรียนไม่มีข้าวกลางวันให้รับประทานมาจะครบ ๓ เดือนแล้วครับ
๓. ขอให้จัดสรรคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก และเครื่องปริ้นเตอร์ เพื่อปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศ จึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือให้จัดสรรโรงเรียนตาดีกาละ ๑ ชุด
๔. ขอให้ Wi-Fi ประจำตาดีกาเพื่อสะดวกในการรายงานระบบสารสนเทศ และส่งเสริมให้เรียนรู้เท่าทันในสื่อ Digital
ดังนั้น กระผมฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอหารือผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณและดำเนินการทั้ง ๒ เรื่อง อย่างเร่งด่วน โดยยึดหลักความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งเพื่อแก้ปัญหา ขอบคุณครับท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ จังหวัดปัตตานี อำเภอมายอและอำเภอยะหริ่ง ผมมี ๒ ประเด็นด้วยกันที่จะหารือกับท่านประธานครับ
เรื่องที่ ๑ จากการที่กระผมได้เคย หารือมาแล้วประมาณวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรณีวิกฤติอ่าวปัตตานีนั้นได้มีหนังสือตอบ กลับจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๙ สำนักงานกรมเจ้าท่าภูมิภาคปัตตานี ได้อนุญาตให้ทาง อบต. แหลมโพธิ์ดำเนินการขุดลอกบริเวณร่องน้ำตะโละสะมิแล ตำบล แหลมโพธิ์ได้นั้น แต่ปัญหาคือทาง อบต. แหลมโพธิ์ไม่มีงบประมาณเพียงพอ
และอีกอย่างหนึ่งที่ผมเคยหารือเหมือนครับ นอกจากนี้กระผมยังได้เคยหารือ ไปเรื่องของบประมาณเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิธีการเปิดอ่าวปัตตานีที่แหลมตาชี ซึ่งบริเวณนี้ส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนกระแสน้ำเค็ม จึงเกิดภาวะความเค็มของน้ำลดลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมากครับท่านประธาน อีกทั้งมีประชาชนใน พื้นที่รอบอ่าวปัตตานีร้องขอให้ติดตามสอบถามไปยังกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาตื้นเขินของอ่าวปัตตานีอย่างเป็นระบบ ซึ่งสำนักงาน ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๙ มีหนังสือตอบกลับมาว่าเคยเสนอโครงการนี้แล้ว โดยเสนอผ่านทางคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดปัตตานีเพื่อเสนอโครงการไปยัง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด จึงฝาก ให้นำเรื่องนี้ไปทบทวนเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนของ พี่น้องอีกสักครั้งหนึ่งครับท่านประธาน
เรื่องที่ ๒ ขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานกรมทางหลวงและสำนักงาน ทางหลวงที่ ๑๘ ให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมพื้นผิวจราจร หมายเลข ๔๒ นราธิวาส-ปัตตานี ช่วงระหว่างบางปู หลักกิโลเมตร ๑๑๕-๑๑๓ ซึ่งผิวถนนมีลักษณะเป็นร่อง และมีน้ำท่วมขังที่เกิดฝนตกส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในรอบปีที่ผ่านมาครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ขอเสนอ ๑ ท่านครับ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ขอผู้รับรองครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เขต ๔ อำเภอยะหริ่ง และอำเภอมายอ ผมขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ของ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ และ พ.ร.บ. ทุกฉบับของพรรคการเมืองครับ เนื่องจากชาวปัตตานีบ้านผม ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจาก พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ บางคนไม่กล้าออกทะเล ทำการประมง สาเหตุค่าปรับสูงเกินไปครับท่านประธาน ทำให้บางคนล้มเลิกการทำประมง กระทบกับอาชีพหลาย ๆ อาชีพ หลาย ๆ ครอบครัวเกี่ยวข้องกับประมง บางคนตกงาน โรงงานปิดกิจการหมดสิ้น ยกตัวอย่าง คนที่บ้านในเขตจังหวัดปัตตานีได้รับผลกระทบ เป็นอย่างยิ่งในด้านสุขภาพ บางคนล้มป่วย บางคนเสียชีวิต เกิดภาวะเครียดที่ไม่สามารถ ทำการประมงได้ ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวขาดรายได้ สาเหตุสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จากการที่ประเทศไทยได้ถูกสหภาพยุโรป EU แจ้งเตือนใบเหลือง หรือประเทศไทยอาจเป็น ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือจากระบบกำกับควบคุมป้องกันการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ขาดแรงงานและไร้การควบคุม IUU ทำให้เอกสารสำคัญรับรองการจับหรือที่รับรองว่า สัตว์น้ำมิได้จับมาจากการประมง IUU นี้ขาดความน่าเชื่อถือ และกฎหมายประมงบางฉบับ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้นล้าสมัยไปแล้ว ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย ระหว่างประเทศทางทะเล พันธกรณีและความตกลงที่เกี่ยวข้องกับ IUU Fishing นับว่าเป็น แรงกดดันให้ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ให้พ้นจากใบเหลืองเพื่อป้องกันผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดสำคัญของประเทศไทย จึงได้มีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ในช่วงเวลาเร่งด่วนทำให้ชาวประมง ไม่มีเวลาปรับตัวและไม่ได้รับการช่วยเหลืออุดหนุนจากภาครัฐในการปรับตัว และบทลงโทษ ในพฤติการณ์การกระทำผิดนั้นลงโทษหนักมากเกินไป เป็นการลิดรอนสิทธิในการประกอบ อาชีพด้านการประมง และส่งผลกระทบต่อประมงนอกน่านน้ำและประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ทำให้พี่น้องชาวประมงทั่วทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ในบางราย ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงต่อไปได้ ชาวประมงจอดเรือทิ้งไว้และผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีปัญหาตามมาจำนวนมาก แม้ประเทศไทยจะได้รับการปลดสถานะ ใบเหลืองจากการทำประมง IUU จากสหภาพยุโรปแล้ว แต่จากการประกาศใช้พระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU นั้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไขและกำหนดกติกาการทำประมงขึ้นมาใหม่ และมีการบังคับใช้ อย่างเข้มงวด จนก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อชาวประมงอย่างรุนแรง อาทิเช่น
๑. กฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นที่กำหนดไว้มากกว่าข้อกำหนดของ สหภาพยุโรป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วควรแก้ปัญหาประมงนอกน่านน้ำไทยและการนำเข้า สัตว์น้ำจากต่างประเทศมากกว่า แต่กฎหมายยังครอบคลุมประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และหมายรวมถึงประมงน้ำจืดไปด้วย ทำให้ไม่สอดคล้องกับวิถีการประมงของประเทศไทย
๒. การกำหนดเอกสารจำนวนมากและขั้นตอนการทำธุรการในการควบคุม การตรวจสอบมากเกินความจำเป็น ทั้งเรือประมง ท่าเทียบเรือประมงและบทลงโทษ ถึงแม้จะเป็นความผิดเล็กน้อยก็ตักเตือนได้
๓. กำหนดเกี่ยวข้องการครอบคลุมป้องกันล่วงหน้ามากกว่าการส่งเสริม สนับสนุนชาวประมงให้ทำการประมงที่ชอบด้วยกฎหมาย
๔. บทกำหนดโทษสูงมากเกินความจำเป็นครับท่านประธาน จนส่งผลให้ พี่น้องชาวประมงต้องเป็นหนี้เป็นสินจำนวนมาก ล้มละลาย บางรายไม่สามารถประกอบ อาชีพต่อไปได้เลยท่านประธาน
สุดท้ายนี้ผมอยากจะให้การแก้ไขพระราชบัญญัติของพรรคประชาชาติ ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาชาติและทุกพรรค ขอขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๕ ปัตตานี อำเภอมายอ และอำเภอยะหริ่ง ขอหารือกับท่านประธาน ปัญหาความกับเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่
เรื่องแรก ปัญหาการกัดเซาะ ชายฝั่ง ตั้งแต่พื้นที่ตำบลตะโละกาโปร์จนถึงตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี บริเวณสายแหลมตาชี ทางหลวงชนบท ปน.๒๐๖๒ กิโลเมตรที่ ๑๔+๖๐๐ ถูกกัดเซาะอยู่เป็น ประจำครับท่านประธาน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายเข้ามาแก้ปัญหาถนนสายนี้ ในระยะยาวซึ่งมีการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีครับท่านประธาน ซึ่งที่ดินชาวบ้าน ถูกน้ำทะเลกลืนไปแล้วหลายร้อยไร่ตลอดแนวชายหาด ในขณะปัจจุบันการแก้ไขปัญหา ดังกล่าวกลับไม่มีแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทำ ลักษณะเฉพาะหน้า แต่มีผลทำให้การกัดเซาะยิ่งรุนแรงมากขึ้น พอมีการกัดเซาะถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการเอาหินมาวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ปีต่อไปก็กลับมา กัดเซาะอีก ก็ปัญหาเดิม ๆ ครับท่านประธาน ดังนั้นจากการลงพื้นที่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการทำงานเพื่อจัดทำแผนป้องกันการกัดเซาะ ชายฝั่งอย่างเป็นระบบ และขอให้รัฐบาลช่วยจัดสรรงบประมาณไปจัดทำเขื่อนกันคลื่น นอกชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะด้วยครับท่านประธาน
เรื่องที่ ๒ ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ขยายถนนทางหลวง ปน.๒๐๖๖ จากปาลัสถึงบ้านดูวา ซึ่งจากเดิมถนนสายนี้มีขนาด ๘ เมตร ซึ่งเป็นการจราจรไปมา เป็นจำนวนมาก แต่ถนนค่อนข้างคับแคบ จึงขอให้ขยายถนน ๘ เมตรเป็น ๑๒ เมตรครับ ท่านประธาน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคประชาชาติ ขอเสนอกรรมาธิการวิสามัญส่วนของพรรคประชาชาติ อาจารย์วรวิทย์ บารู ขอผู้รับรอง ด้วยครับ