นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล

  • ผมอยากจะเริ่มต้น ด้วยการชี้ให้เห็นสาระสำคัญของอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สรุปก็คือ มีอำนาจในการกำกับ ตรวจสอบ แล้วก็ส่งเสริม ที่สำคัญก็คือว่าเสนอความเห็นต่อแผนพัฒนา พลังงาน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ผมจะพูดในลำดับต่อไปด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • วัตถุประสงค์ในการมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็คือเพื่อให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งมีหลายส่วน แต่ผมอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือ ในข้อ ๗ ที่บอกว่าส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากร ในการประกอบกิจการพลังงาน ขีดเส้นใต้นะครับ อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็แล้วแต่พอเรามาดูปริมาณการใช้ และการผลิตไฟฟ้า แท่งสีน้ำเงินก็คือปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จริง แท่งสีส้มก็คือค่าพยากรณ์ การใช้ไฟฟ้า และแท่งสีดำก็คือกำลังการผลิตตามสัญญา ยกตัวอย่างในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ตามรายงานฉบับนี้ ค่าพยากรณ์อยู่ที่ ๓๔,๐๐๐ เมกกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตที่รัฐทำสัญญา ซื้อมาอยู่ที่ ๕๓,๐๐๐ เมกกะวัตต์ สัดส่วนความต่างประมาณเกือบ ๒๐ เมกกะวัตต์ สัดส่วนเหล่านี้เป็นเรื่องของการผลิตที่มันล้นเกิน นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จนถึงปี ๒๕๗๐ สัญญาที่ไปผูกมัดซื้อไฟฟ้ามามันเกินกว่าค่าพยากรณ์ความต้องการใช้จริง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าสถิติในระดับสากลที่เขายึดถืออยู่ที่ไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งมาดูรายละเอียดอีกอันหนึ่งก็คือสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิต ในขณะที่เราผลิตล้นเกินแล้ว ตัวเชื้อเพลิงที่เอามาใช้ผลิตผมคิดว่ามันก็น่ากังวล เพราะว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ปีนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับปี ๒๕๖๔ ตามรายงาน เกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซธรรมชาติและเป็นถ่านหินเสีย ๑๙ เปอร์เซ็นต์ คือเราจะเห็นว่า สัดส่วนส่วนใหญ่ในการผลิตไฟฟ้าเป็นการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ มลภาวะ ทีนี้ในประเด็นที่ผมอยากจะชี้ตรงนี้ก็คือว่า อันที่ ๑ ก็คือการซื้อไฟฟ้าล้นเกิน การที่รัฐทำ สัญญาผูกมัด ซื้อไฟฟ้ามาล้นเกินมันก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เพราะว่าสัญญาที่ไปซื้อไฟฟ้า แล้วก็จ่ายมานี้มันถูกนำมาคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายโดยที่ไม่มีความจำเป็นนะครับ แล้วในทุก ๆ หน่วยของปริมาณไฟฟ้าที่มันล้นเกินถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือว่ามันมี ความสำคัญอะไรบ้าง แน่นอนว่าเม็ดเงินที่เราจ่ายไปมันเพิ่มขึ้นโดยที่เราไม่มีความจำเป็น ต้องใช้

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ก็คือการสิ้นเปลืองพลังงาน อย่างที่ผมให้ดูก็คือว่าส่วนใหญ่ก็พลังงาน ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็เป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปซึ่งมีอยู่จำกัด แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ แต่โดยนัยพลังงานเหล่านี้ก็จะถูกป้อนเข้าโรงงานตลอดเวลา แล้วเราก็ต้องจ่ายไปด้วย กระแสไฟฟ้าความพิเศษของมันก็คือว่าผลิตมาแล้วเข้าสู่ระบบแล้วก็หายไปกับระบบ มันไม่สามารถเก็บได้เหมือนอย่างน้ำ เหมือนอย่างทรัพยากรอย่างอื่นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • -๑๔๑/๑ เพราะฉะนั้นการที่เราผลิตล้นเกินมามันหายไปในระบบ มันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนะครับ อันนี้ยังไม่นับว่ากระบวนการได้มาซึ่งทรัพยากร ซึ่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตหรือกระบวนการ ในการจัดตั้งโรงงานการผลิตนี้จำนวนมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ปัญหาการแย่งชิงน้ำ นอกจากในประเทศไทยเองยังขยายไปสู่การแย่งชิงน้ำใน สปป. ลาว แล้วก็มีหลายแผน ที่จะไปในประเทศพม่าอีกด้วยอย่างนี้นะครับ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง

    อ่านในการประชุม

  • การใช้พลังงานหมุนเวียน อันนี้เป็น Trend ของโลกสมัยใหม่ที่ทุกรัฐต้องการ ที่จะให้เกิดขึ้น ถ้าเราไปดูตัวอย่างของต่างประเทศ ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายจะเพิ่มให้ได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๕๖๓ เยอรมนีเขาประสบความสำเร็จ เขาสามารถที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้าได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แล้วสหราชอาณาจักรได้ ๔๓ เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ แล้ว ในขณะที่ในปีนี้ของประเทศไทยเรายังอยู่ที่ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ แม้ว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานบอกว่าต้องการที่จะเพิ่ม หรือว่ามีแผนที่จะเพิ่ม อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ แต่พอเราหันกลับไปดูสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามันก็ยังไปเน้นที่การใช้ Fossil ใช้ก๊าซธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ งบประมาณในการสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าที่ผลิตจาก พลังงานสะอาดมันก็ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นจริง คำถาม ๒-๓ คำถามที่อยากจะถามก็คือว่า

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๑ สรุปแล้ว กกพ. ได้กำกับแล้วก็ตรวจสอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า จริงไหม เมื่อสักครู่นี้ท่านพูดถึงตัวแผน PDP การที่ยังปล่อยให้ธุรกิจพลังงานที่ทำลาย สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลเหนือรัฐอยู่ แล้วก็ควบคุมความมั่นคงของระบบพลังงาน อันนี้ผมคิดว่า มันเป็นปัญหามาก ความมั่นคงทางพลังงานของเราเอาไปฝากไว้ในมือของเอกชนที่เป็น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ป้อนเข้าสู่ระบบ แล้วก็ใช้เชื้อเพลิงที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็จะเป็น ปัญหานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ คือว่า กกพ. จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำคัญก็คือว่าปัญหา การมัดมือชกในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ล้นเกินแล้วก็ยาวนานได้อย่างไร ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ที่เมื่อสักครู่ท่านได้ อธิบายว่าในส่วนพลังงานที่ผลิตล้นเกินไม่ได้อยู่ในการดูแลของ กกพ. แต่ว่าพอมาเปิดดู ตัว พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน มาตรา ๑๑ (๕) ก็ระบุชัดว่าท่านมีหน้าที่ในการให้ คำแนะนำในการจัดทำแผน PDP ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ก็แสดงว่าสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในอำนาจ ในการที่จะให้คำแนะนำหรืออำนาจในการตรวจสอบกำกับของท่านอยู่ แต่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ คือผมเข้าใจดีว่าอำนาจของท่านก็อาจจะไม่ได้ไปสั่งการใครได้มาก แต่ทุกคนก็รู้ว่าพลังงาน ที่มันล้นเกินมันสร้างภาระ แล้วในส่วนของท่านจะมีบทบาทเข้าไปทำอย่างไรให้การผลิตไฟฟ้า ที่ล้นเกินปรับเข้ามาให้เข้าที่เข้าทางในทางที่ควรจะเป็นบ้างครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองครับ ผมยังจำความรู้สึกของผมก่อนที่จะ เป็นผู้ประกันตนกับหลังจากที่เป็นผู้ประกันตนแล้วได้นะครับ ก่อนที่จะเป็นผู้ประกันตน เรารู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงนะครับ แต่ว่าหลังจากที่เราเข้าเป็นผู้ประกันตนแล้วเรามี ความรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ผมพูดอย่างนี้เพื่อที่อยากจะย้ำนะครับว่ากองทุน ประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคน โดยเฉพาะคนระดับล่าง ๆ ในสังคมนี้นะครับ ผมอยากจะมองรายงานการเงินของกองทุนประกันสังคมนี้ว่ามันเป็นโอกาสหนึ่ง ในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากสินทรัพย์ทั้งหมด ๒.๓๗ ล้านล้านบาท เป็นกองทุนที่มีสินทรัพย์เยอะ ถือว่าเยอะที่สุดนะครับ ในช่วงปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๔ มีรายได้เฉลี่ย ๒๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่าย ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท หักส่วนต่าง ก่อนหักค่าใช้จ่ายสุทธิ ๗๗,๐๐๐ ล้านบาท เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินทดแทน จ่ายอยู่ที่ ๑๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ตรงนี้เราก็จะเห็นได้ว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้วรายได้ของกองทุน ประกันสังคมมันก็ยังมากกว่าค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นการหักค่าทดแทน เมื่อดูแล้วเงินที่หักเป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ประกันตน ในจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ประมาณ ๕๒ เปอร์เซ็นต์เป็นการจ่ายทดแทนให้แก่การเจ็บป่วย ๑๖ เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของการว่างงาน แล้วก็ ๑๔ เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของการชราภาพ เมื่อรวมแล้วการจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมด ทีนี้พอมาดูว่าในจำนวนเงินเหล่านี้ครอบคลุมประชาชนในสังคมไทยขนาดไหนนะครับ ผมลองเอาตัวเลขมาดู จำนวนประชากรวัยแรงงานระหว่าง ๒๐-๖๐ ปี มีอยู่ที่ประมาณ ๓๙ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่อยู่ในระบบเรียกว่าเป็นคนที่มีสวัสดิการอยู่ที่ ๒๖ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนที่เป็นข้าราชการ ๒.๓ ล้านคน แล้วก็เป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ๒๓ ล้านคน เมื่อหักแล้วมีประชาชนวัยแรงงานในสังคมไทยที่ไม่มีสวัสดิการใด ๆ เลย ๑๓.๒ ล้านคน เท่ากับ ๓๓ เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย ผมคิดว่า ตัวเลขนี้มีความสำคัญนะครับ ณ ขณะนี้อย่างน้อย ๓๓ เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย เป็นคนที่อยู่โดยที่ไม่มีระบบสวัสดิการใด ๆ ของรัฐในการมารองรับ โดยเฉพาะกลุ่มคน ที่เปราะบางก็คือกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ที่ใช้แรงงานรายวัน พ่อค้า แม่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มคน ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ เป็นเกษตรกรเสียส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีโอกาสเป็นผู้ประกันตน อันนี้ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเลยนะครับ แม้ว่าที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม พยายามซึ่งผมอยากจะชื่นชมด้วยนะครับ พยายามที่จะขยายโอกาสให้เข้าถึงคนที่ไม่มีโอกาส แล้วก็พยายามสร้าง Option ให้แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะมาตรา ๔๐ ไม่ว่าจะเป็น การสมทบจ่ายที่ ๓๐๐ บาท ๑๐๐ บาท หรือแม้กระทั่ง ๗๐ บาท อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เป็น ๑ ในความพยายามของกองทุนประกันสังคมที่พยายามจะขยายโอกาสให้แก่ คนที่มีรายได้น้อย แต่อย่างไรก็แล้วแต่ยังเหลือประชากรอยู่ ๑๓ ล้านคนที่ยังไม่มีโอกาส เข้าถึง ซึ่งส่วนนี้ต้องพยายามหาวิธีการทำอย่างไรเพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าไปนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องของการจ่ายค่าประโยชน์ทดแทน อันนี้ผมมองว่ามันยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มมาตรา ๓๙ กับมาตรา ๔๐ โดยเฉพาะมาตรา ๔๐ ผมคิดว่าการจ่าย มันยังไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงในยุคสมัยปัจจุบัน อย่างเช่น ประสบอันตรายบาดเจ็บ ได้รับค่าทดแทน ๓๐๐ บาทต่อวัน เป็นระยะเวลา ๙๐ วันอย่างนี้นะครับ ชราภาพได้เริ่มต้นที่ ๑๕๐ บาทต่อเดือนอย่างนี้นะครับ สงเคราะห์บุตรได้ที่ ๒๐๐ บาทต่อเดือนต่อคนอย่างนี้ ซึ่งผมมองว่ามันยังน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจริงในยุคสมัยปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะ เสนอก็คือว่ากองทุนประกันสังคมนะครับ ถ้าพูดโดยภาพรวมถือว่าเป็นกองทุนที่มีศักยภาพ มากที่สุดที่จะเป็นองค์กรนำในการสร้างเครื่องมือ สร้างมาตรการ ลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ คนในสังคมไทย แล้วก็โดยเฉพาะอยากจะเสนอว่า

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๑ ก็คือการเพิ่มสิทธิ แล้วก็ขยายจำนวนคน แล้วก็เพิ่มสิทธิเรื่องของ ค่าประโยชน์ทดแทนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๒ ก็คือเรื่องของการขยายกลุ่มผู้ประกันให้ครอบคลุม โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่เป็นเกษตรกร กลุ่มคนชายขอบ ผมคิดว่าทางสำนักงานประกันสังคมพยายามแล้ว นะครับ แต่จะต้องหาวิธีการที่สร้างแรงจูงใจให้แก่คนเหล่านั้น สร้าง Option ใหม่ ๆ ให้แก่ คนเหล่านั้น โดยเฉพาะคนที่เป็นเกษตรกร ทุกวันนี้คนที่เป็นเกษตรกรอาจจะไม่ได้มี รายได้น้อยเสียเลยทั้งหมดนะครับ แต่เป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นการที่จะต้อง ให้เขามาจ่ายในเวลาที่แบบต่อเนื่องแน่นอนแบบนี้อาจจะมีบางช่วง บางเวลาที่เขาไม่สามารถ จ่ายได้ก็ขาดไปอันนี้ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นการหา Option หรือว่าการสร้างวิธีการ ใหม่ ๆ ที่จะทำให้คนที่มีรายได้ไม่แน่นอนเหล่านี้สามารถที่จะเป็นผู้ประกันตนได้ตามกำลัง ตามศักยภาพของเขา อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ขอบคุณมากนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ขอ Slide ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ก่อนอื่นผมอยากจะเรียน ท่านประธานไปยังผู้รายงานว่าในการพูดของผมอาจจะมีบางส่วนที่เป็นการวิพากษ์ ผมไม่ได้มี เจตนาที่จะกล่าวหานะครับ ผมเพียงแต่ว่าพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อที่จะให้ทุกส่วนได้ข้อมูล ในการไปแก้ไขปัญหา ต้องยอมรับว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่กัดกร่อนความสงบเรียบร้อย ของสังคมเรา แต่อย่างไรก็แล้วแต่ในทางกลับกันเราก็กลับเจอสถานการณ์ที่ทำให้ชวนสงสัย ว่าการปราบยาเสพติดนี่ยิ่งปราบยิ่งเพิ่มขึ้น แล้วกลไกรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในทางตรงกันข้าม มันเป็นการพยายามเลี่ยงปัญหา แล้วก็ใช้สถานการณ์การระบาดของปัญหายาเสพติด แสวงหาผลประโยชน์อย่างชอบด้วยกฎหมาย ถึงที่สุดแล้วกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อ กลุ่มคน ได้รับผลกระทบก็คือคนชายขอบ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์อย่างคนของผมเป็นกลุ่มคนที่ได้รับ ผลกระทบมากที่สุดนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสถิติคดียาเสพติด ที่ทางเพื่อนสมาชิกหลายคนได้พูดถึงไปแล้ว แล้วก็ อยู่ในรายงานชิ้นนี้อยู่แล้ว สิ่งที่ผมอยากจะให้ดูก็คือว่าสถิติปัญหาคดียาเสพติด นับตั้งแต่ ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งแท่งก็คือสถิติผู้ต้องขังในคดี สีน้ำเงินก็คือคดียาเสพติด เฉลี่ยแล้วร้อยละ ๗๒ ของผู้ต้องขังทั้งประเทศคือคดียาเสพติด แล้วจำนวนคดีที่มากมาย เหล่านี้ สถิติคดีเหล่านี้มันสะท้อนอะไรบ้าง ผมอยากจะโฟกัสไปที่เรื่องปัญหายาเสพติด ถึงที่สุดแล้วมันสามารถสร้างประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมายให้แก่หน่วยงานรัฐทุกระดับ หน่วยงานรัฐทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดจากการปราบปราม ยาเสพติด ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือคนชายขอบ ผลประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะออกมาในรูปของโครงการ การรณรงค์ การปราบปรามอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับ การปราบปรามยาเสพติด แล้วก็ไม่มีการตรวจสอบด้วยว่าโครงการเหล่านั้นได้มีการทำจริง ขนาดไหน ประสบผลสำเร็จขนาดไหน แม้กระทั่งศาลยุติธรรมเองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมายเหล่านี้

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหายาเสพติดเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ จากจำนวน ผู้ต้องหาในคดียาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการทำผิดจริง เป็นเหยื่อ เป็นแพะก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ เป็นผู้ชายอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี จากการวิจัยนะครับ ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานฉบับนี้ ในหน้า ๓๕ แล้วก็ร้อยละ ๓๑ เป็นกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป แล้วก็ รายได้ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท อย่างนี้นะครับ ต่อไปก็คือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในชนบท เกินกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่อยู่ในชนบท ตรงนี้บ่งบอก ว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดคือคนชนบท ซึ่งไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ของชนชั้นกลาง ในเมื่อชนชั้นกลางเดือดร้อนจากเรื่องนี้น้อยกว่า ความใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาก็มีน้อยกว่า

    อ่านในการประชุม

  • ด้านกลับของปัญหายาเสพติด ผมอยากจะชี้ตรงนี้ว่าเมื่อทุกคนรู้ว่ายาเสพติด เป็นสิ่งที่เลวร้าย รัฐพยายามที่จะประกอบสร้างแบบเหมารวมว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทุกคนเป็นคนเลวร้าย สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาก็คือว่ามีกฎหมายสร้างสภาวะยกเว้นสิทธิ ที่สำคัญบางประการของประชาชนไป ตามกฎหมายเลยก็คือให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวได้ ไม่เกิน ๓ วัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไปมีอำนาจควบคุมได้ ไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมงหรือ ๒๔ ชั่วโมง แล้วที่สำคัญก็คือว่าอำนาจในการค้นและยึดทรัพย์สิน เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ยาเสพติดมีอำนาจที่จะค้นสถานที่ ค้นตัว ค้นรถได้โดยไม่ต้องมีหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาการใช้อำนาจค้นโดยไม่มีหมายจากศาลนำไปสู่การใช้เป็น เครื่องมือในการข่มขู่ ปราบปรามประชาชน ผู้นำชุมชน คนที่เห็นต่างทางการเมืองด้วย จากสถิติการใช้อำนาจค้นนะครับ การใช้อำนาจค้น ๑๗,๐๐๐ กว่าครั้ง ที่น่าสังเกตก็คือว่า กองทัพบกได้ใช้อำนาจในการค้น ๑,๐๐๐ กว่าครั้ง แล้วก็กรมการปกครอง ๓,๐๐๐ กว่าครั้ง ตั้งแต่หลังปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมาสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนได้พยายามที่จะไป ข่มขู่ แล้วก็ปราบปรามผู้นำชุมชนที่เห็นต่างทางการเมือง โดยใช้ช่องทางนี้ในการไปค้นบ้าน ของผู้นำ ของแกนนำที่เห็นต่างทางการเมือง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คน ด้านมืดของ กระบวนการยุติธรรมในคดียาเสพติดมีหลายด้าน ผมอยากจะโฟกัสไปที่เรื่องของสิ่งที่เป็น สาระสำคัญ สิ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือว่าเรื่องของการสอบสวน แล้วก็การสั่งฟ้อง ที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องของการซื้อขายคดี ที่เข้าใจกันในเรื่องของมาตรา ๑๐๒ หรือที่เป็นประมวล กฎหมายยาเสพติดใหม่คือมาตรา ๑๕๓ เรื่องนี้ทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดในฝ่าย ของเจ้าหน้าที่ก็คือเป็นขุมทรัพย์ ในฝ่ายของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาจำเลยก็ตกเป็นเหยื่อนะครับ คำถามที่โต ๆ ก็คือว่าทาง ป.ป.ส. ทางเจ้าหน้าที่รัฐจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้านมืด ของการดำเนินคดียาเสพติดได้อย่างไร โดยเฉพาะในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการกระทำความผิด ขอบคุณมากเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมมีเรื่องหารือ ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ เรื่องด้วยกัน ขอ Slide ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ ก็คือปัญหา ภัยพิบัติทางธรรมชาติในพื้นที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมแล้วก็ดินโคลนถล่มเป็นบริเวณกว้างในท้องที่ตำบล แม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปิดทับหลายหมู่บ้านทำให้ท่อประปาได้รับ ความเสียหาย ไฟดับ แล้วก็สะพานขาดหลายจุด หมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายหนัก ๒ หมู่บ้าน ก็คือบ้านแม่ตอละ หมู่ที่ ๒ เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย มีบ้านที่เสียหายโดยสิ้นเชิง ๔ หลัง แล้วก็จะต้องสร้างใหม่ ๑๖ หลัง แล้วก็เสียหาย ในระดับที่สามารถซ่อมแซมได้อยู่ ๔๙ หลัง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ก็คือบ้านโตแฮ หมู่ที่ ๕ เกิดดิน Slide ด้านล่าง นี่คือหมู่บ้านโตแฮ ดิน Slide สีแดงเกือบจะถึงหมู่บ้านอยู่แล้ว บ้านหลายหลังก็กำลังจะไหลลงไปแล้ว สิ่งที่ เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทางนายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลแม่สามแลบและชุมชนแจ้งมาว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังต้องการรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ๑. ก็คือเรื่องเครื่องจักรซ่อมแซมเส้นทางที่ถูกดิน Slide ปิดทับ ๒. ก็คือ ต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญลงไปสำรวจประเมินหมู่บ้านที่มีความเสี่ยง แล้วก็สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือว่ากรณีหมู่บ้านโตแฮ และหมู่บ้านแม่ตอละอาจจะจำเป็นต้องย้ายบ้านบางหลัง หรืออาจจะทั้งหมู่บ้านออกจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ต้องขอความกรุณา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันบูรณาการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • กรณีที่ ๒ ก็คือกรณีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลเขาค้อเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ๑๒ หมู่บ้าน ประชากร ๑๕,๐๐๐ คน ถูกขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสุดทับที่ของชาวบ้าน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ หลายปีที่ผ่านมาธนารักษ์ในพื้นที่ไม่อนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งท้องถิ่นจัดทำ โครงการพัฒนาใด ๆ โดยเฉพาะเรื่องน้ำเป็นปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เป็นอย่างมาก ทาง อบต. เข็กน้อย ได้พยายามที่จะจัดทำโครงการเพื่อจัดทำประปาให้แก่ หมู่บ้านแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้พื้นที่ในการจัดทำโครงการ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ธนารักษ์จังหวัดเพชรบูรณ์ กองทัพภาคที่ ๓ แล้วก็สำนักงานเจ้าท่าสาขาพิษณุโลก ได้โปรด พิจารณาถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน เรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่ช่วยเร่งรัดให้มีการอนุญาต ให้ อบต. เข็กน้อย ใช้พื้นที่ในการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ ชาวบ้านทั้งตำบลด้วย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ขออภิปรายรายงานความคืบหน้า ในการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ โดยผมจะเน้นไปที่เรื่องปัญหาป่าไม้และที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะคนชนบทและคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง อย่างผมนี่นะครับ ขณะนี้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า ๕ คน พื้นที่ที่เดือดร้อนไม่ต่ำกว่า ๑๗ ล้านไร่ทั่วประเทศไทย เวลาเราพูดถึงเรื่องของรูปแบบในการบริหารจัดการที่ดิน ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว สิ่งที่เขาปฏิรูปมีเป้าหมายอยู่ ๓ อย่าง อันที่ ๑ ก็คือว่ากระจาย อำนาจไปสู่ท้องถิ่น แล้วก็ลดอำนาจของส่วนกลาง อันที่ ๒ คือว่าออกแบบโครงสร้างให้เกิด ความโปร่งใส แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่าต้องส่งเสริม คุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะ การใช้ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองในการบริหารจัดการทรัพยากร

    อ่านในการประชุม

  • เป้าหมายในการปฏิรูป ประเทศตามแผนมีอยู่ ๔ ประการ แต่ผมอยากจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า และการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามแผนเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญสรุปออกมาได้ อยู่ ๓ ประการ ก็คือรักษาพื้นที่ป่าเดิมแล้วก็สร้างพื้นที่ป่าใหม่ อันที่ ๒ คือว่าสร้างรายได้จาก การใช้ทรัพยากรจากป่าเป็นต้นทุน แล้วอันที่ ๓ ก็คือเรื่องของการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน กับที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งเรื่องที่ ๑ และเรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ ตามแผน คือผมคิดว่ามันยังมีความไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของความล้มเหลวในการปฏิรูปงานด้านป่าไม้และที่ดิน เมื่อเราดู เนื้อหาของรายงานโดยละเอียดแล้วผมคิดว่ามีปัญหาหลายส่วน ผมจะขอพูดถึงเฉพาะส่วน ที่เป็นสาระสำคัญคือเรื่องป่าไม้และเรื่องที่ดิน ว่ามันมีปัญหาอย่างไร ดูเหมือนว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็จะพยายามสนใจกับค่านิยมของโลกสมัยใหม่ในการบริหาร จัดการป่าไม้ที่ทันสมัย แต่ปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ ของรัฐบาลกลับสวนทางกับสิ่งที่กรรมการปฏิรูปคิดอยู่ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ก็คือเป็นการรวบอำนาจในการจัดการ ทรัพยากร โดยเฉพาะการหารายได้จากการท่องเที่ยว ห้ามชาวบ้านทำ แต่ว่าเงินรายได้ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้จากการใช้ทรัพยากรของประเทศในการ จัดการท่องเที่ยว รายได้ปีหนึ่งหลายพันล้านบาท แต่ไม่ได้ถูกนำส่งเข้าคลัง

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ต่อไปนะครับ ที่ขีดเส้นใต้สีแดงเป็น พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๓๑ กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าเงินที่เรียกเก็บได้จากการใช้บริการ ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในอุทยาน ไม่ต้องส่งเข้าคลัง ซึ่งปีหนึ่ง ๆ ทำให้กระทรวงการคลัง สูญเสียรายได้หลายพันล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปนะครับ อันนี้ก็คือปัญหาอีกประการหนึ่ง สิ่งที่แผนปฏิรูปต้องการ ที่จะบอกก็คือว่าจะทำอย่างไรให้เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบว่าสถิติป่าไม้ ของประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปนะครับ ก็คือเรื่องที่ดิน ถึงที่สุดแล้วตัวแผนปฏิรูปประเทศ แม้จะพยายามบอกว่าแก้ไขปัญหาที่ดิน แต่ปรากฏการณ์ก็คือว่ามีการพยายามออกระเบียบ ออกกฎหมายใหม่ ๆ ออกวิธีคิดใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การแย่งยึดสิทธิในที่ดินของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทวงคืนผืนป่า การจัดทำ คทช. หรือการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดิน ในเขตอุทยาน ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ก็คือการแย่งสิทธิในที่ดินของชาวบ้าน เสร็จแล้วก็ค่อยอนุญาตให้ใช้ในรูปแบบที่มีเงื่อนไข

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปครับ สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เป็นความต้องการของประชาชน ที่ดินรวมกันทั้งหมดในเขตป่าสงวน ๑๒.๗ ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่เป้าหมายจัดทำ คทช. ตามนโยบายของรัฐบาลตามแผนปฏิรูป ฉบับนี้อยู่แค่ ๕.๗ ล้านไร่ หรือ ๔๔ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป้าหมายเอง แล้วก็ไม่รวมพื้นที่สูง ของกลุ่มชาติพันธุ์ บอกว่าได้มีการส่งมอบไปแล้ว ๓.๙ ล้านไร่ แต่ไม่ได้ส่งมอบให้ชาวบ้าน ส่งมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเอาไปจัด แล้วส่งมอบจริง ๆ ให้แก่ชาวบ้านประมาณ ๓.๗ แสนไร่ ซึ่งเท่ากับ ๓ เปอร์เซ็นต์ของผู้เดือดร้อนเอง ก็จะเห็นว่าจนถึงระยะเวลา ที่สิ้นสุดแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้แค่ ๓ เปอร์เซ็นต์

    อ่านในการประชุม

  • Slide ต่อไปนะครับ สิ่งที่เป็นปัญหาของแผนปฏิรูปฉบับนี้เอาเข้าจริง ๆ สาเหตุหลักที่เป็นปัญหา ก็คือเรื่องที่ดิน แล้วก็เรื่องป่าไม้ ปัญหาใหญ่ ๆ คือเรื่องของ โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบในการบริหารจัดการป่าไม้ที่รวมศูนย์อำนาจเอาไว้ ที่ส่วนกลาง แล้วก็แผนฉบับนี้ก็ยังเป็นลักษณะของการไปลอกเอาแผนของฝ่ายนโยบาย หรือฝ่ายราชการประจำที่เขาดำเนินการมานานอยู่แล้วเอามาใช้ ซึ่งมันก็จะเป็นลักษณะของ การพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ไม่ไปแตะโครงสร้าง การที่พยายามแก้ไขแต่ปัญหา เฉพาะหน้าไม่ไปแตะโครงสร้างมันไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูปได้จริง ๆ หรอกครับ แล้วแผน ปฏิรูปฉบับนี้คืออะไร สรุปได้เลยนะครับว่าแผนปฏิรูปฉบับนี้ไม่ใช่เครื่องมือที่จะนำไปสู่ การรักษาทรัพยากร แล้วก็กระจายทรัพยากรอย่างจริง ๆ แต่เป็นได้เพียงแค่เครื่องมือ สนับสนุนการรวมรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรของชาติเอาไว้ แล้วก็กดทับ ประชาชนคนรากหญ้าต่อไป สิ่งสุดท้ายก็คือว่าก็จะกลายเป็นเพียงแค่เอกสารโฆษณาชวนเชื่อ อ้างว่าประเทศกำลังเข้าเผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุกคนต้องทำตามแผนฉบับนี้แล้วเราจะปลอดภัย แต่ว่าอีกด้านหนึ่งก็คือผู้มีอำนาจ ยังผูกขาด เนื้อในในการบริหารจัดการป่าไม้ก็ยังกดทับประชาชนต่อไปอยู่นะครับ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตเสนอ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและนโยบาย ที่ห้ามหรือเป็นอุปสรรคต่อการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่บนพื้นที่สูง ภูเขาและเกาะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ปัจจุบันนี้มีประชาชนที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าอย่างน้อยจำนวน ๑๖.๙ ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดประมาณ ๑๒.๗ ล้านไร่ ส่วนที่เหลือ อีกประมาณ ๔.๒ ล้านไร่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและนโยบายทำให้รัฐบาลไม่สามารถออก เอกสารรับรองสิทธิให้แก่พื้นที่ที่อยู่บนเกาะหรือบนภูเขา อุปสรรคและปัญหาที่สำคัญ อย่างน้อยมีอยู่ ๓ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ซึ่งออกตามความ ในประมวลกฎหมายที่ดิน ข้อ ๑๔ ซึ่งมีสาระสำคัญก็คือห้ามไม่ให้ออกเอกสารรับรองสิทธิ ในที่ดินที่เป็นภูเขา

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดห้ามไม่ให้มีการออกเอกสารรับรองสิทธิ ให้แก่บนพื้นที่สูง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ มติคณะรัฐมนตรีที่ว่าด้วยการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ห้าม ไม่ให้มีการกระทำการใด ๆ รวมถึงการออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินให้แก่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ และชั้น ๒

    อ่านในการประชุม

  • กฎหมายและนโยบายเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ต่อให้รัฐบาลมีนโยบาย ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราจะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้ แต่ถึงที่สุดแล้วนโยบายก็ไม่สามารถที่จะทำได้จริง เพราะกฎหมายได้กำหนด ห้ามเอาไว้นะครับ ดังนั้นหากมีการศึกษาแนวทางปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เป็น อุปสรรคเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ก็จะนำไปสู่การออกเอกสารรับรองสิทธิ ลดความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับประชาชน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้จริง และที่สำคัญ รัฐจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการใช้ที่ดินของประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้ ผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยโดยรวมนะครับ ในขณะที่พวกเราอยู่ที่นี่กำลังพูดถึง แนวทางในการออกเอกสารรับรองสิทธิให้แก่พื้นที่สูง พื้นที่ภูเขา หรือเราเรียกรวม ๆ ว่า พื้นที่ป่า ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลขณะนี้มีพี่น้องประชาชนในนามกลุ่มขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้รวมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วยกัน สิ่งที่ พวกเขาปักหลักชุมนุมอยู่ที่นั่นเรียกร้องต่อรัฐบาลมันก็เหมือนกับสิ่งที่พวกเรากำลังพูดกันที่นี่ พวกเขาพูดกันข้างนอก เราพูดกันในสภาตรงนี้ สาระมันก็คือเรื่องเดียวกัน พวกเขาเหล่านั้น เป็นเกษตรกร เป็นคนยากจน เป็นตัวแทนของคนที่มาจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กลุ่มคนพื้นราบ กลุ่มคนที่อยู่ตามเกาะ คนที่อยู่ตาม ป่าชายเลน แม้กระทั่งกลุ่มคนจนเมือง ทุกคนล้วนเจอปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิด้วยกัน ทั้งนั้น พวกเขาอยู่ที่นั่นเพียงเพื่อต้องการที่จะให้รัฐบาลใหม่ของเราแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้แก่ พวกเขา พวกเขาอยู่เพื่อที่จะรอพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้รับ ข้อเสนอของเขาไปดำเนินการแก้ไขปัญหานะครับ อย่างไรก็แล้วแต่การปักหลักรอของเขา รวมทั้งความหวังของเขาก็ยังไม่ได้รับการตอบรับในทางที่ดีพอ เมื่อวานนี้ผมได้ลงพื้นที่ไป พูดคุยกับพวกเขา ทราบว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริง ๆ ผมพยายาม ฟังเขา สิ่งที่เขาเรียกร้องสะท้อนออกมาว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสนใจเขา อย่างจริงจัง ไม่แม้กระทั่งจะรับฟังเขาอย่างจริงใจ ผมจึงขอถือโอกาสที่นี่สื่อสารเสียง ของพวกเขาไปยังผู้ที่มีอำนาจผ่านสภาแห่งนี้นะครับ ผมย้ำว่าข้อเรียกร้องของเขาไม่ได้ ต่างจากสิ่งที่พวกเรากำลังพูดกันที่นี่

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ การที่เขาอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิทำให้ถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกแย่งยึดที่ดินตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐ และถือว่าเป็นการแย่งยึดสิทธิที่ดินในยุคสมัยใหม่ คือใช้กลไกระหว่างประเทศ และความต้องการของคนในยุคสมัยใหม่ในการไปแย่งยึดสิทธิของคนที่เขาอยู่ในเขตป่า มาก่อน หลายคนอาจจะเห็นด้วยกับการที่ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ภายใต้แนวคิดเรื่องของ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่ของคนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นพื้นที่ ที่จะต้องนำไปปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ไม่ได้รับการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค มีชุมชนหลายที่ เขาอยู่มาก่อนแต่ไม่สามารถที่จะต่อไฟฟ้า ต่อน้ำประปา หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้มี การจัดทำสิ่งสาธารณูปโภคเข้าไปในชุมชนได้ อันนี้คือปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต ประจำวันของคนจริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินที่ถูกจำกัดเหลือเพียงแค่การทำ การเกษตร ในขณะที่บางพื้นที่เขามีศักยภาพในการใช้ที่ดินทำอย่างอื่น แต่ในเมื่อกฎหมาย เพียงอะลุ้มอล่วยให้เขาทำการเกษตรได้ ต่อให้เขามีศักยภาพก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยด้วย ถูกบังคับให้ต้องเข้าโครงการ คทช. ซึ่งเป็นนโยบายแย่งยึดที่ดินของรัฐ รัฐบาลอาจจะเจตนาดี แต่ผลถึงที่สุด คทช. คือการแย่งยึดสิทธิ ที่สำคัญก็คือว่าคนที่ถือครองที่ดินอยู่อาศัยและทำประโยชน์รู้สึกไม่มี ความมั่นคง ต้องหวาดระแวงเพราะการไม่มีสิทธิมีโอกาสถูกจับกุมดำเนินคดีได้ทุกเมื่อ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อเสนอของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่ดิน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ก็คือว่าพวกเขาเพียงเรียกร้องให้มีการจัดทำแนวเขตระหว่าง ที่ดินของรัฐกับที่ดินของประชาชนให้มีความชัดเจน ซึ่งถ้าเรื่องนี้ชัดเจนจะนำไปสู่การลด ความขัดแย้งในแนวเขตได้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ก็คือการออกเอกสารรับรองสิทธิให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ยกตัวอย่างภาคประชาชนตอนนี้เขาเรียกร้อง โฉนดชุมชน ผมย้ำว่าบางกลุ่มเขาคิดว่าโฉนดชุมชนสามารถเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้ บางชุมชนเรียกร้องให้มีการออก พ.ร.บ. คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนำไปสู่การประกาศ เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การสร้างกติกาที่เป็นธรรมในการใช้ ที่ดินและทรัพยากร รวมทั้งการออกหนังสือรับรองสิทธิประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ คทช. คือเขา ต้องการสิทธิ ไม่ใช่ต้องการเช่านะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ คือยกเลิกเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ การกำหนดห้ามไม่ให้ออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ที่มีความลาดชัน เกินกว่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญก็คือว่ายกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เรื่องการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน คือมติ ครม. ฉบับนี้มีการจำกัดสิทธิในการพิสูจน์สิทธิ แล้วก็พิสูจน์สิทธิให้เพียงบางกลุ่ม สิ่งที่ประชาชนต้องการก็คือการพิสูจน์สิทธิต้องดำเนินการ อย่างเท่าเทียม และที่สำคัญก็คือว่าถ้วนหน้าโดยไม่มีการแบ่งแยกนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย ก็คือการยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) เรื่องการห้ามออกโฉนดที่ดินสำหรับพื้นสูง ภูเขา และเกาะ ถ้ารัฐบาลสามารถที่แก้ไข ปัญหาเหล่านี้ได้จะทำให้ประชาชนอย่างน้อย ๕ ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๑๖.๙ ล้านไร่ พื้นที่เหล่านี้จะมีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมากครับ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ จากการอภิปรายตลอดระยะ เวลาร่วม ๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาการไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเป็นปัญหา สำคัญแล้วก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ ผู้ได้รับผลกระทบกระจายไปทั่วสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กลุ่มคนพื้นราบ คนในเมือง คนที่อยู่ตามเกาะ ตามชายทะเล ทุกคนเจอปัญหาร่วมกันในลักษณะเดียวกันหมด ท่านประธานครับ เหตุผลแรกเริ่ม ในการห้ามมิให้มีการออกเอกสารสิทธิให้แก่ที่ดินที่อยู่บนเขา เหตุผลจริง ๆ ตามหลักฐาน ที่ปรากฏก็คือเพื่อหวงกันพื้นที่ไว้สำหรับการสัมปทานป่า ในช่วงยุคสมัยก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ในยุคสมัยนั้นอาจจะเป็นแบบนั้นจริง เพราะว่าเศรษฐกิจ สังคมมันไปแบบนั้น แต่ว่า ๕๖-๖๐ ปีผ่านไป เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จากแนวคิด ที่ผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้นพยายามที่จะหวงกันพื้นที่ป่าไว้สำหรับการสัมปทาน นำมาสู่ การพยายามทำให้สังคมเชื่อว่า การที่คนถือครองที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิในเวลาต่อมานั้นเป็นการบุกรุกป่า ซึ่งเป็น การเหมารวมที่ไม่ถูก แต่การเหมารวมแบบนี้มันไม่ใช่แค่การพูดเสร็จแล้วก็จบ มันสะท้อนไป ที่ตัวกฎหมายและนโยบายสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย คนในยุคสมัยนี้ก็เลยต้องรับเอา ผลกรรมจากการประกาศใช้กฎหมายและนโยบายในสมัยอดีต ท่านประธานครับ เราต้อง ยอมรับความจริงว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายและนโยบายมันจำเป็นต้องเปลี่ยน ไปด้วย การสัมปทานป่าในยุคสมัยนี้เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เศรษฐกิจที่เกิดจากป่าไม้เปลี่ยนไป จากการสัมปทานป่าเป็นการปลูกป่า การให้สัมปทานเหมืองแร่เป็นเศรษฐกิจหรือว่า เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่เป็นที่นิยมในยุคสมัยใหม่แล้ว การไม่มีเอกสารสิทธิไม่ได้กระทบแค่ ตัวบุคคล แต่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย เราต้องยอมรับความจริงว่า พืชเศรษฐกิจหลายอย่างปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าเราทำให้พื้นที่เหล่านั้น มีเอกสารสิทธิก็จะสามารถพัฒนาการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้อีกหลาย ๆ อย่าง การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะสามารถนำไปแก้ไขปัญหาให้แก่คนได้ไม่น้อยกว่า ๕ ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า ๑๗ ล้านไร่ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะสามารถพัฒนาได้ จากพื้นที่เหล่านี้ คนยุคใหม่ที่จะใช้ที่ดินในยุคสมัยใหม่อาจจะไม่ใช่ทำการเกษตรอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ผ่านมา บางคนอาจจะไปทำ Resort ทำ Homestay ทำ Farm stay สร้างโรงงานขนาดเล็ก หรือว่าไปทำอะไรก็แล้วแต่ แต่คนรุ่นใหม่จะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าหาก ที่ดินที่เขาอยู่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ที่ดิน ของประชาชนมีเอกสารสิทธิกันอย่างถ้วนหน้า ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ขออภิปรายญัตติสนับสนุนญัตติด่วน ด้วยวาจา เรื่อง การเสนอให้แก้ไขปัญหาตำรวจ โดยผมจะเสนอสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น กับคนชายขอบดังต่อไปนี้ ตั้งแต่เด็กเราได้ยินคำกล่าวขานกันว่าตำรวจเป็นประตูแรกที่จะเปิด ไปสู่ความยุติธรรม ระบบกฎหมายของเราก็เชื่อเช่นนี้จึงกำหนดให้เฉพาะองค์กรตำรวจ เท่านั้นที่มีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดีอาญา เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม คือการรับแจ้งความร้องทุกข์ สืบสวนสอบสวน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานนำเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อ ควบคุม ดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเรา จึงได้กำหนดไว้ว่าประชาชนทุกคนหากตกเป็นผู้เสียหายย่อมสามารถที่จะแจ้งความร้องทุกข์ เอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ แต่ประชาชนคนธรรมดา โดยเฉพาะ คนชายขอบอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ คนยากจน ไม่มีความรู้ในกฎหมาย ไม่มีเงินที่จะใช้จ้าง ทนายความ เวลาถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายในทางอาญาแล้วไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ ตำรวจแทนที่จะได้รับการช่วยเหลือ มักจะได้รับในสิ่งที่ตรงกันข้าม ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะไม่รับแจ้งความ โดยอ้างว่าความผิดเกิดขึ้นนอกเขต อำนาจบอกปัดให้ไปแจ้งความยังสถานที่ที่เกิดเหตุ แต่ว่าความจริงก็คือการแจ้งความร้องทุกข์ ในคดีอาญาสามารถที่จะไปแจ้งที่ไหนก็ได้ เพราะว่ามีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ กำหนดเอาไว้ ไม่รับแจ้งความโดยอ้างว่าผู้เสียหายไม่เอาพยานหลักฐาน มามอบให้ บอกให้ไปหาพยานหลักฐานมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของพนักงาน สอบสวนในการแสวงหาพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ ไม่รับแจ้งความโดยบอกว่าผู้เสียหายไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย เช่น ในคดี ฉ้อโกง คดียักยอก ถูกทำร้ายร่างกายอย่างนี้นะครับ ไม่รับแจ้งความโดยอ้างว่าเป็นความผิด ทางแพ่งไม่ใช่คดีอาญาทั้งที่ยังไม่ได้รวบรวม แสวงหาพยานหลักฐานมาประกอบเลยนะครับ หรือหากรับฟังว่าเป็นคดีแพ่งจริง ๆ ก็ย่อมสามารถที่จะรับแจ้งความไว้ เพื่อให้ผู้เสียหายใช้ เป็นหลักฐานในการไปดำเนินคดีต่อได้ ไม่รับแจ้งความเพียงเพราะผู้เสียหายไม่รู้ว่าเป็น ความผิดในข้อหาอะไร ชาวบ้านมาแจ้งความว่าได้รับความเสียหาย แต่เขาไม่รู้ว่าความ เสียหายที่เขาได้รับกฎหมายว่าเป็นความผิดอะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ พนักงานสอบสวนในการสอบถามข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน แล้วปรับข้อเท็จจริงให้ ตรงกับบทบัญญัติกฎหมาย บางกรณีก็ขู่ว่าถ้ารับแจ้งความแล้วหากไม่เป็นความจริงจะถูก ดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จ ทำให้ผู้เสียหายที่ไม่มีพยานหลักฐานที่มากพอสมควรก็จะเกิด ความกลัว แล้วก็ไม่กล้าที่จะดำเนินคดีต่อ บ่อยครั้งเมื่อแจ้งความร้องทุกข์แล้วทำสำนวนคดี ล่าช้าไม่พยายามแสวงหาพยานหลักฐานมาดำเนินคดี จนบางครั้งคดีขาดอายุความทำให้ ได้รับความเสียหาย บางครั้งผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์แล้วไม่ทำสำเนาส่งคืนให้กับทาง ผู้ที่มาแจ้งความเขาก็ไม่มีหลักฐานอะไรนอกจากนี้ก็ยังมีกรณีที่ผู้เสียหายต้องการแจ้งความ ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่กลับทำเพียงแค่การลงบันทึกประจำวันเอาไว้ ภายหลังผู้เสียหายไปติดตามก็พบว่าไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ บางรายก็ขาดอายุความ จากตัวอย่างเหล่านี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้กลับกลายเป็นว่าตำรวจแทนที่จะเป็นกลไกที่ทำให้ ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่กลับเป็นว่าตำรวจ เป็นกลไกขัดขวางไม่ให้คนชายขอบมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างที่สมควรจะเป็น คำถามก็คือว่าปัญหาเหล่านี้เป็นความบกพร่องเฉพาะตัวของตำรวจบางสถานี บางราย ใช่หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ อาจจะเป็นปัญหาในเชิงระบบ เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น เพียงแค่ที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาของระบบการบริหารงานของตำรวจที่ ไม่สามารถบริหารให้บุคลากรในองค์กรสามารถทำหน้าที่ตามระเบียบกฎหมายที่วางไว้ได้ ในทางปฏิบัติตำรวจก็ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชน แต่ต้องรับผิดชอบต่อความพึงพอใจ ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูก กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือกลไกกลางที่รัฐ สร้างขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ระงับข้อพิพาท ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย และลงโทษผู้ที่ กระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้คนในสังคมใช้วิธีการแก้แค้นทวงความเป็นธรรมด้วยตัวเอง เหมือนอย่างในหนัง แต่หากประตูที่จะเปิดสู่ความเป็นธรรมของรัฐปิดใส่คนบางกลุ่มเสียแล้ว จึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะนำไปสู่ความโกลาหลในอนาคต ถ้ามันมีความกดดันต่อ คนบางกลุ่มมากเกินไป ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้จำเป็นต้องปฏิรูประบบ การบริหารงานตำรวจทั้งระบบ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ผมขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐาน ทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทยที่เสนอโดยท่านปารมี ไวจงเจริญ ในญัตตินี้ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่แล้วก็มีความจำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อจัดการศึกษา แล้วก็เสนอแนะแนวทาง ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบทั้งหมด ผมขอเรียนอย่างนี้ว่าปัญหาเหล่านี้มันไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะมันเกี่ยวข้องอย่างน้อยที่สุด ๗-๘ กระทรวง องค์กรด้วยกัน อย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกระทรวงกลาโหมด้วย เพราะว่ามันยังมีประเด็นเรื่องของ ความมั่นคงเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ถ้าให้ระบุ เฉพาะเจาะจงก็คือกลุ่มที่ยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์เลย ที่เป็นเด็กแล้วก็ยังไม่มี โอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบได้ ตอนนี้จากตัวเลขมีกลุ่มเด็กกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย แล้วก็ มีรหัสตัว G แล้วไม่มีตรงนี้รวมกันประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน สามารถเข้าสู่ระบบ การศึกษาได้ และรัฐสามารถที่จะจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนช่วยเหลือได้ประมาณ ไม่เกิน ๙๐๐,๐๐๐ คน เหลืออีกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ คนเหล่านี้ เด็ก ๆ เหล่านี้มาจากที่ไหนบ้าง เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมี สงครามอยู่ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเขาจำเป็นต้องเข้ามา เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนบ้านยังมีปัญหาอยู่ ทำให้พวกเขาต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า แล้วสิ่งที่สำคัญ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าในสังคมไทยเรายังต้องการแรงงานข้ามชาติที่เขาเข้ามาอยู่ใน สังคมไทย ถ้าในสังคมไทยไม่มีแรงงานข้ามชาติระบบเศรษฐกิจบางอย่างก็จะหยุดไปต่อไม่ได้ อันนี้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริง เด็กเหล่านี้ก็คือลูกหลานของคนเหล่านั้น ลูกหลานของคนที่ หลบหนีภัยสงครามมา ลูกหลานของคนที่เข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ลูกหลานของคนที่เข้ามาเป็นแรงงานที่สังคมไทยเรามีความจำเป็น ผมคิดว่ามันมีความจำเป็น ที่สังคมไทยเราต้องเปิดใจแล้วก็โอบรับคนเหล่านี้ ถามว่าทำไมเราต้องโอบรับคนเหล่านี้ ในขณะที่เรากำลังพูดถึงการใช้ Soft Power ในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างสังคมไทย ยกระดับ สังคมไทย ผมคิดว่ามันเป็นโอกาส เราใช้จังหวะนี้ให้เป็นโอกาสในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย แล้วก็อย่าลืมนะครับว่าในยุคสมัยปัจจุบันชายแดนมันไม่ได้ปิด เหมือนในอดีตแล้ว ทุกคนข้ามไปมาหาสู่ด้วยกันได้ คนที่อยู่ตามแนวชายแดนก็เข้ามา อยู่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเราสามารถที่จะทำให้คนที่อยู่รอบชายแดนไทย เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยผ่านระบบการศึกษา ผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแล้วก็เป็น ประโยชน์ ถ้าเราทำให้คนเหล่านี้เขาซึมซับภาษาไทย เขาซึมซับสังคม วัฒนธรรมความเป็นไทย เขาซึมซับเอาคุณูปการที่รัฐไทยมอบให้ คนเหล่านี้เขาจะตอบแทนกลับคืนสู่สังคมไทย ไม่ว่าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น แล้วก็เศรษฐกิจ พวกเขานอกจากจะเป็นแรงงาน พวกเขาจะเป็นผู้บริโภค รวมทั้งจะเป็นผู้เสียภาษีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนที่จะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยด้วยกันทั้งสิ้น การจัดการศึกษา ให้แก่คนเหล่านี้ถามว่าเป็นภาระต่อสังคมไทยไหม ผมลองดูตัวเลขเฉลี่ยแล้วจะอยู่ประมาณสัก ๓๐๐-๕๐๐ ล้านบาทต่อปี ถ้าดูแล้วก็จะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เกินกว่าศักยภาพของรัฐไทย ที่จะดูแลคนเหล่านี้ได้ อันนี้ยังไม่นับว่าถ้าหากรัฐไทยมีระบบการบริหารจัดการในการดูแลคนเหล่านี้ที่ดีพอ ยังมีโอกาสที่จะขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรม องค์กรด้าน สิทธิมนุษยชนต่างชาติที่เขาพร้อมจะให้การสนับสนุนสำหรับรัฐหรือองค์กรที่จะให้ ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่คนเหล่านี้อยู่แล้วนะครับ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะ ขอวิงวอนสภาแห่งนี้ช่วยกันทำให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อที่จะจัดการ ให้มีการแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งก็เป็นจำนวนที่เยอะ พอสมควร ญัตตินี้ยังไม่ได้พูดครอบคลุมไปถึงการพิจารณาให้สัญชาติเป็นคนละเรื่องกัน การให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน อันนี้เป็นภาระหน้าที่ของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีระเบียบกฎหมายที่ควบคุมแล้วก็เป็นกระบวนการ ขั้นตอนในการดำเนินการอยู่แล้ว สำหรับญัตตินี้สิ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือการหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา การจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ที่ถูกละเลยไป ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ เราไม่ได้มีปัญหาแค่ไม้พะยูงอย่างเดียว อันที่จริงปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่านั้นมีกับไม้มีค่าทุกชนิด ที่สำคัญการลักลอบตัดไม้ มันดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เรียกว่าเป็นการฟอกขาว เริ่มต้นจากการตัดไม้ทิ้ง เอาไว้ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจยึดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เสร็จแล้วก็นำไปประมูลขาย ทอดตลาดตามระเบียบ ซึ่งตรงจุดนี้ที่ทำให้ไม้ที่ถูกตัดมาอย่างผิดกฎหมายกลายเป็นไม้ที่ถูก กฎหมายขึ้นมา แล้วก็ทำกันเป็นขบวนการ ถ้าสังเกตเห็นนะครับ ในการตรวจยึด การจับกุมขบวนการตัดไม้ทำลายป่า เราแทบไม่เคยเห็นข่าวที่บอกว่ามีการจับกุมผู้กระทำ ความผิดจริง ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับว่าสังคมไทยเราจำเป็นต้องเพิ่ม พื้นที่ป่าอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็แล้วแต่ผมอยากจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับไม้ ซึ่งเราต้องยอมรับข้อเท็จจริง ว่าคนทั่วไปเราใช้ไม้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำเสาบ้าน ทำฝาผนัง หรือเป็นถ่านในร้านหมูกระทะ หรือเป็นกระดาษที่เราเขียนอยู่ทุกวันนี้นะครับ แล้วก็ไม้ก็ยัง เป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนสามารถที่จะเกิดขึ้นทดแทนกันได้แต่อาจจะใช้อะไรใช้เวลานานไป และที่สำคัญก็หมดอายุไขไปตามกาลเวลา กฎหมายก็ได้พยายามที่จะปรับแล้วก็คลาย ความกดดัน เมื่อปี ๒๕๖๒ ได้มีการแก้ พ.ร.บ. ป่าไม้ โดยกำหนดให้ไม้หวงห้ามเฉพาะไม้ ที่เกิดขึ้นในป่าเท่านั้นที่เป็นไม้หวงห้าม ส่วนไม้มีค่าที่เกิดขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ มีเอกสารสิทธิไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้ามต่อไป ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ที่ว่านี้ ก็คือการทำให้วงจรตลาดไม้ที่ถูกกฎหมายดำเนินไปอย่างเป็นปกติ โดยการจูงใจให้คน ที่เกี่ยวข้องได้หันมาทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการไม้ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ทำให้ไม้มีค่าแล้วก็ถูก กฎหมายน้อยกว่าความต้องการในตลาด ไม้ในป่าจึงเป็นที่ต้องการ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๖๒ ถือว่าไม้มีค่าทุกชนิดแม้กระทั่งไม้ที่ปลูกในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ก็ถือถ้าตัดแปรรูปก็ยังผิด กฎหมายอยู่ อันนี้เป็นปัญหาที่สำคัญ แม้ต่อมาจะมีการคลายล็อกแต่ว่าก็ยังไม่มีการจูงใจ มากพอให้คนปลูกต้นไม้เพื่อขายป้อนสู่ตลาด เพราะการปลูกต้นไม้โดยเฉพาะไม้มีค่าใช้ระยะ เวลานาน เมื่อเอาที่ดินไปปลูกต้นไม้อาจจะต้องเสียเวลา ๑๐ ปีเป็นอย่างน้อย ๑๕-๒๐ ปี ระหว่างนี้ก็อาจจะไม่สามารถใช้ที่ดินสร้างรายได้ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นเกษตรกรก็จะประสบ กับความยากลำบาก สิ่งเหล่านี้มันไม่จูงใจให้คนหันมาปลูกต้นไม้ สิ่งที่เป็นข้อเสนอ ก็คือในประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาใช้แนวคิดในการจัดการป่าไม้และทรัพยากรในรูปแบบใหม่ ก็คือ Eco Centric ก็คือการที่ยอมให้คนดูแลรักษาป่าไม้ ต้นไม้ และทรัพยากร และใช้ ประโยชน์อย่างยั่งยืน ดังนั้นข้อเสนอในทางที่เป็นรูปธรรม ก็คืออันที่ ๑ ต้องเริ่มต้นจาก การแก้กฎหมายที่เปิดกว้างให้คนที่ถือครองที่ดินทุกประเภทมีสิทธิในการปลูกต้นไม้ จริง ๆ ตอนนี้ยังจำกัดอยู่เพียงแค่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินของเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

    อ่านในการประชุม

  • ที่สำคัญประการต่อมา ก็คือรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่สร้างแรงจูงใจให้คน ที่มีที่ดิน หรือคนที่ไม่อยากจะเป็นเกษตรกรแบบปกติแล้วนี่ได้ใช้ที่ดินของตัวเองปลูกไม้ มีค่า เพื่อป้อนสู่ตลาด และไม้เหล่านี้ก็จะเป็นไม้ที่ถูกกฎหมาย ไม่ได้ไปเบียดเบียนไม้ที่อยู่ ในป่า ไม่ว่าจะเป็นการลดหรือยกเว้นภาษีที่ดินสำหรับคนที่เอาที่ดินของตัวเองไปปลูกป่า ผมคิดว่ามันก็สมเหตุสมผล เพราะการเอาที่ดินไปปลูกป่านอกจากทำให้เขาต้องสูญเสียรายได้ ไปในระยะเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปีแล้วนี่ เขาก็ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา ก็คือการอุดหนุนเงินให้คนที่เขาอาจจะไม่สามารถที่จะใช้ที่ดิน ของตัวเองสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้กู้ยืมระยะยาว หรือการอุดหนุน

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา คือการส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปถัมภ์ ไม้ที่ถูกกฎหมาย อุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือว่าอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้ ขอย้ำนะครับ ว่าต้องถูกกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ในสังคมเราเองก็ยังต้องการไม้อย่างที่ผมได้กล่าวไปตั้งแต่ต้นนะครับ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือคนที่ใช้ไม้ก็จะหันมาใช้ไม้ที่ถูกกฎหมาย สิ่งที่ตามมา ก็คือว่ามูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นจากเดิม ท่านประธานครับ ผมไปเปิดดูข้อมูลเมื่อปี ๒๕๖๕ ประเทศไทย ส่งออกไม้ไปต่างประเทศมากกว่า ๑๗,๐๐๐ ล้านบาท ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็คือไม้แปรรูป ถ้าเรามีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการทำไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะสามารถที่จะ นำรายได้เพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์นะครับ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณ สส. ทุกท่านในที่นี้นะครับ ในฐานะที่ผมเป็น สส. ที่ประกาศตนตั้งแต่แรกเข้ามาสู่สภาแห่งนี้ว่าผมเป็นตัวแทนของ กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อมาทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแทนกลุ่มชาติพันธุ์ วันนี้ดีใจและเป็นที่น่ายินดี ที่ผมได้มีโอกาสเห็น สส. จากทุกพรรคได้สนับสนุนให้มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ทุกท่านครับ ที่ผมยังใช้ชื่อ ๆ ของผมเป็นชื่อเลาฟั้งนี้ยังเป็นชื่อเดิมที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนเอามาเป็นชื่อไทย แบบมาตรฐาน การที่ผมยังใช้ชื่อเดิมอยู่ผมต้องยืนหยัดอะไรบางอย่างเหมือนกัน เพราะการที่ ผมแสดงอัตลักษณ์โดยการใช้ชื่อผมซึ่งเป็นชื่อที่เป็นชนเผ่าอยู่นี้ ผมมักอาจจะเจอกับ การเลือกปฏิบัติก็อาจจะพูดได้ไม่ชัดเสียเลยทีเดียว แต่ผมจะถูกมองด้วยสายตาที่แตกต่าง ออกไป บางครั้งคนที่ใช้ชื่อแปลก ๆ จะถูกตรวจฉี่บ้าง อาจจะถูกค้นอย่างแปลก ๆ ออกไปบ้าง หรืออาจจะถูกเลือกปฏิบัติอะไรบางอย่างบ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ทำให้คนที่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่หันมาใช้ชื่อแบบมาตรฐานเป็นภาษาไทยหมด เพราะว่า การที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในบางโอกาสก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางโอกาส ก็อาจจะสร้างความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่คนเหล่านั้นด้วย ท่านประธานครับ ในจังหวะที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ คำว่า Soft Power ขอสไลด์ขึ้นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมคิดว่านี่เป็นโอกาส ที่ดีที่สุดที่รัฐบาลแห่งนี้จะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการสร้าง Soft Power อย่างแท้จริง เพื่อโชว์ให้สังคมโลกได้เห็น จูงใจให้พวกเขา เข้ามาในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งเอาประเทศไทยเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมสนับสนุน ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไปนะครับ หลายท่านได้พูดถึง จำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ไปแล้ว ผมจะไม่ลงรายละเอียด แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์อาจจะจำแนกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือ กลุ่มที่ยกสถานะเป็นชนชั้นกลางแล้ว อาจจะไม่ได้ประสบปัญหากับอัตลักษณ์ของตนเองแล้ว กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังได้รับผลกระทบ จากกฎหมายและนโยบายของรัฐ อันเนื่องมาจากอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ อยู่ ทั้ง ๒ กลุ่มนี้ต่างมีปัญหาที่หนักเบาแตกต่างกันนะครับ ในที่นี้ผมอยากจะให้น้ำหนักไปที่ กลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายที่ยังไม่เป็นธรรม แม้ประเทศไทย จะมีกฎหมายที่ก้าวหน้าพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นคนชายขอบ ของชายขอบในสังคมนี้ ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ ในกรณี ที่เป็นบุคคลทั่วไปอาจจะไม่ได้ประสบกับความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพ แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว อัตลักษณ์ของเขาอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำให้เขาเข้าถึง สิทธิและเสรีภาพได้ ปัญหาหนัก ๆ ที่เผชิญมีอะไรบ้าง มันมีหลากหลายเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งที่ทุกคนเผชิญลักษณะร่วมกันก็คือเรื่องวัฒนธรรมที่สูญหายไปแล้วบ้าง ทำให้ คนในชาติพันธุ์เหล่านั้นก็ใจหายนะครับ พื้นที่ด้อยการพัฒนา คุณภาพการศึกษาต่ำ สถานะ ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนะครับ ที่สำคัญก็คือเรื่องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร แม้กระทั่ง คทช. ซึ่งเป็นนโยบายในการรับรองสิทธิในที่ดินของรัฐบาลชุดนี้ เข้าถึงพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ น้อยมากนะครับ ผมใช้เลยว่าน้อยมาก ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไหนที่ได้รับ คทช. ไปแล้วนะครับ ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้ อันที่ ๑ ก็คือเรื่องของ การอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ดีงามจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์เอาไว้ มันเป็นคุณค่า ทางจิตใจของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ อันที่ ๒ คือเรื่องของการคุ้มครอง ในกรณีที่อัตลักษณ์ บางอย่างอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับกฎหมายและนโยบาย สิ่งเหล่านี้อาจจะจำเป็นต้องมีกลไก ขึ้นมาทำหน้าที่ในการคุ้มครอง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดินและทรัพยากรนะครับ อันต่อไป ก็คือส่งเสริม ก็คือต้องทำให้มีความโดดเด่นทำให้สังคมสนใจ ที่สำคัญก็คือว่ายอมรับนะครับ ต่อไปก็คือเรื่องของการถ่ายทอด ต้องสร้างโอกาสให้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสที่จะ สืบสานแล้วก็ถ่ายทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองจากรุ่นสู่รุ่น เรื่องนี้พูดไปมันก็ เหมือนกับว่าจะไม่จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้วในพื้นที่ในชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ที่การถ่ายทอดวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นี้มันก็ลดหายลงไป แล้วก็เรื่องของการพัฒนา การพัฒนาหมายความรวมถึงการพัฒนาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ที่ทำให้คนที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนพื้นฐานที่ใช้วัฒนธรรมเป็นทุน แล้วสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างไร มีหลายกรณีนะครับ แต่ผมขอยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่ดิน เรื่องที่ดินเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ณ ขณะนี้ไม่มีสิทธิในที่ดิน การไม่มีสิทธิในที่ดินนำไปสู่ อุปสรรคปัญหามากมาย แม้กระทั่งการถูกจับกุมดำเนินคดีและติดคุก ถ้ามีสภาชนเผ่า พื้นเมืองแห่งประเทศไทยขึ้นมาเป็นตัวแทน อันดับแรกที่สามารถทำได้ก็คือการผลักดัน กฎหมายนโยบายหรือแม้กระทั่งการเจรจากับรัฐบาล เพื่อที่นำไปสู่การคลี่คลายปัญหา ให้มีสิทธิในที่ดินบางอย่าง เรื่องของการเจรจาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งเกิดขึ้นเป็นรายวัน อย่างนี้เป็นต้น รวมทั้งเรื่องสิทธิในการใช้ทรัพยากร พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพื้นที่ ที่มีทรัพยากรเยอะที่สุด แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เพราะการมีทรัพยากรที่ดี มีทรัพยากร ที่สมบูรณ์ มีทรัพยากรที่มากกว่าเพื่อน นั่นล่ะครับเป็นเป้าหมายที่รัฐจะประกาศเอาเป็น พื้นที่อนุรักษ์ ป่าอนุรักษ์ หรือแม้กระทั่งพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ไม่อนุรักษ์คน อันนี้ก็เป็นปัญหา สภาชนเผ่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐ กับชาวบ้าน ในการเจรจาต่อรองเพื่อที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาส มีสิทธิ ในการใช้ และเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ตัวเองดูแลรักษา รวมทั้งเรื่องของการละเมิดสิทธิที่จะเกิดขึ้น กลุ่มชาติพันธุ์แม้จะมีสิทธิตามกฎหมายแม่บท แต่นั่นคือสิทธิที่เขียนไว้ในกฎหมาย ในทาง ปฏิบัติแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือต้องการที่จะใช้สิทธิ ก็ยังประสบกับความ ยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น เวลาถูกจับกุมดำเนินคดี มีโอกาสน้อย ที่กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการประกันตัว เพราะที่ดินของเขาไม่มีเอกสารสิทธิ เพราะไม่มีเงิน มากพอ ไม่มีญาติที่เป็นข้าราชการไปประกันตัวมาให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้โอกาสในการได้รับการ ประกันตัว เพื่อที่จะเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมก็ลดน้อยถอยลงไป นี่เป็นแค่กรณี ตัวอย่าง หลาย ๆ กรณีพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกสัมปทานหรือว่าถูกอนุญาตให้บริษัทเอกชน ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ การดำเนินการเหล่านี้มันเป็น การกระทบต่อสิทธิในการใช้ที่ดินและทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ เวลากลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้ ก็ต้องไปต่อสู้กับนายทุน โดยที่รัฐก็เป็นเครื่องมือให้ด้วย ถ้ากรณีอย่างนี้ก็เป็นเรื่องยากครับ ที่กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการคุ้มครองสิทธิจริง เพราะฉะนั้นการมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง แห่งประเทศไทยขึ้นมาก็จะเป็นองค์กรที่จะสามารถเข้ามาอำนวยการหรือช่วยเหลือให้กลุ่ม ชาติพันธุ์สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องให้เข้าถึงสิทธิ ที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากจะพูดในที่นี้ด้วย ก็คือเรื่องของข้อมูล สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์แล้วเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมที่ไม่เขียนนะครับ เป็นสังคมที่อยู่กับการบอกเล่า การเล่าเรื่อง หรือที่เราเรียกว่า Unwritten Society เรื่องราว ประวัติศาสตร์การต่อสู้หรือการถูกละเมิดสิทธิไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ หลักฐานเอกสารที่มีอยู่ เป็นเรื่องที่คนอื่นมาจัดทำให้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเอกสารทางประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เพียงการ เขียนเป็นเอกสารอาจจะไม่มีปัญหาเท่าไร แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการนำเอกสารเหล่านั้น ไปตีความหรือนำสิ่งที่เห็นไปตีความ ผมยกตัวอย่าง เช่น การทำการเกษตรแบบกลุ่มชาติพันธุ์ บนพื้นที่สูงที่ไม่ได้ทำกินอย่างถาวร แต่มีการเปลี่ยนจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งวนไป การทำ การเกษตรแบบนี้ถูกคนที่เขียนเอาไว้ตีความว่าเป็นไร่เลื่อนลอย ซึ่งภายหลังต่อมาก็ถูก ตีความใหม่ว่าเป็นเรื่องไร่หมุนเวียน แม้ถ้อยคำตอนนี้เราจะพูดคำว่า ไร่หมุนเวียน แต่เมื่อใดก็ตาม ที่พูดถึงการทำการเกษตรแบบกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง คำว่า ไร่เลื่อนลอย ก็จะเข้ามาอยู่ ในหัวแทน แล้วเมื่อคนเข้าใจว่าการทำการเกษตรแบบบนพื้นที่สูงเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ้าเป็นความเข้าใจของผู้มีอำนาจด้วย อย่างนี้ก็จะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของ กลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองจะเข้าไปมีบทบาท อย่างมีนัยสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์นะครับ โอกาสนี้ ก็ขอขอบคุณทุกท่านมากเลยนะครับ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการบริหารจัดการอากาศสะอาดทุกฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ ท่านประธานครับ กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวกับไฟป่าโดยตรง เพราะว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร แล้วก็มีพื้นที่ มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่รายล้อมด้วยป่า และที่สำคัญยังมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้ป่าและ ทรัพยากร เพราะฉะนั้นเรื่องการออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าหมอกควัน จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ที่ผ่านมาการจัดการไฟป่ามีปัญหาอย่างน้อย ๒ ประการ ประการแรก ก็คือระเบียบที่กำหนดมาจากส่วนกลาง ขอสไลด์ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ระเบียบที่กำหนดมา จากส่วนกลาง แล้วก็ออกมาเป็นลักษณะเป็นแท่งเดียวกำหนดมาในลักษณะเดียว ไม่ได้มีส่วน เกี่ยวข้องหรือไม่ได้มีส่วนที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ของกลุ่ม ชาติพันธุ์นำมาสู่ปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการออกระเบียบที่มีลักษณะเป็นแบบเดียวกัน แล้วเอาไปใช้ทั่ว ๆ ไป พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างออกไปก็จะประสบ ปัญหา ปัญหาต่อไปก็คือ เรื่องของการผลิตซ้ำวาทกรรม โดยเฉพาะวาทกรรมที่บอกว่า ชาวเขาทำลายป่า ผ่านบทบาทของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และสื่อที่ผ่านมาหลายปี ต่อเนื่อง สื่อกระแสหลักก็ยังนำเสนอภาพที่บอกว่าชาวเขาเผาป่ามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่การตอกย้ำให้สังคม ยังมีความเข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทุกวันนี้ก็ยังเผาป่าทั้ง ๆ ที่การเผาไร่หรือว่าการเผาป่าเพื่อที่จะจัดการไฟป่าทำผ่านการเจรจาการพูดคุยกับหน่วยงาน รัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็ไปเผาเอง แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่สังคมไทยยังมอง ไม่เห็นก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้มีการจัดการไฟป่ากันเองอยู่แล้ว ทั้งที่ทำ กันเองหรือทำโดยได้รับการสนับสนุนหรือความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอยู่ในพื้นที่ ผมจะขอ ยกตัวอย่างนะครับ อย่างที่เราเห็นอยู่ก็คือจะเป็นการจัดการไฟป่าของชุมชนเครือข่ายม้ง สุเทพ-ปุย ๑๒ หมู่บ้าน อันนี้ก็จะเป็นการจัดการป่าของชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน อันนี้ก็จะเป็นชุมชนอาข่า ที่บ้านอาแหยะ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อันนี้ ก็จะเป็นการจัดการป่าของชุมชนลีซู ที่บ้านเลาวู อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงราย นี่ก็จะเป็น เพียงแค่ตัวอย่าง จริง ๆ แล้วกลุ่มชาติพันธุ์เกือบทุกชุมชนก็ได้มีการจัดการป่าในลักษณะแบบ นี้ การจัดการป่าของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ มีลักษณะ ที่เป็นแบบแผน อย่างเช่นมีการสร้างกติกาในชุมชนอย่างชัดเจน มีการทำงานร่วมกันกับ หน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านป่าไม้ ท้องถิ่น อำเภอ มีการวางแผน ดำเนินการอย่างเป็นระบบ แล้วก็เพื่อปกป้องทรัพยากรของท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เมื่อทำ ๆ ไป กลายเป็นค่านิยมของคนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการไฟป่า ในการร่างกฎหมายใหม่ ในหลาย ๆ ร่าง ได้พูดถึงหลักการกระจายอำนาจการสร้างแรงจูงใจ แล้วก็มาตรการในการ ควบคุม ซึ่งผมอยากจะเสนอว่าในการดำเนินการจำเป็นที่จะต้องให้สิทธิ ให้โอกาสแก่ชุมชน ท้องถิ่นที่เขาได้มีการบริหารจัดการป่าที่ดีอยู่แล้วได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ขอย้อนกลับไปที่ เป็นตาราง ในกรณีของการกระจายอำนาจในร่างกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ ได้พูดถึงการจัดทำ แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในระดับพื้นที่ ผมอยากจะให้รวมถึงการรับรอง แผนปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เขาได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว แล้วก็ดีด้วย กฎหมายต้องรองรับแผนของชุมชนเหล่านี้ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปคือเรื่องของการสร้างแรงจูงใจ ในร่างกฎหมายหลายฉบับ พูดถึงการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ทีนี้ผมอยากจะรวมถึงเรื่องของการสร้างมาตรการ จูงใจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงิน แต่อาจจะรวมถึงเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่เขาอยู่แล้วก็ใช้ทรัพยากรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ทรัพยากร หมุนเวียนจากป่า รวมทั้งส่วนแบ่งในคาร์บอนเครดิต รวมถึงเรื่องของระบบตรวจสอบ ย้อนกลับสิ่งเหล่านี้จะต้องไม่ไปกระทบกับการใช้ชีวิตปกติของชุมชนท้องถิ่นที่เขามี การบริหารจัดการป่าที่ดีอยู่แล้ว ในการชดเชยกับการเผาไร่ เผาสวนของเขาที่เกิดขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปคือเรื่องของมาตรการควบคุม เราพูดถึงเรื่องของการประกาศรายการ ที่ห้ามเผาในที่โล่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามัน จำเป็นต้องไปยกเว้นกรณีสำหรับชุมชนท้องถิ่นที่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ดีอยู่แล้ว ถ้าเขา มีแผนในการบริหารจัดการไฟป่าที่ดีอยู่แล้วต่อให้เขาต้องมีการเผาบ้าง ถ้าเผาในระดับ ที่ยอมรับได้ หรือได้มีการจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องให้สิทธิ กับเขาด้วย ทีนี้ผมอยากจะย้ำในที่นี้ว่าสิ่งที่ผมพูด ผมไม่ได้เรียกร้องให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอภิสิทธิ์ หรือมีเสรีภาพในการเผา ผมเพียงแต่จะเรียกร้องให้ระบบกฎหมายของเราต้องยอมรับ ข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าชุมชนท้องถิ่น ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถมีการบริหารจัดการไฟป่า ได้ดีกว่ารัฐมีหน้าที่ที่จะต้องไปส่งเสริมและสนับสนุน ที่สำคัญจะต้องเขียนไว้ในกฎหมายด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าชุมชนจะมีสิทธิจริง ไม่ใช่รอให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นเพียงแค่เครื่องมือ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์เวลาไปจัดการไฟป่า เวลาไฟดับไฟป่า สิ่งที่เขาทำไม่ได้มีระบบ กฎหมายมารองรับ ไม่ได้มีงบประมาณที่สนับสนุนเพียงพอ เขาทำด้วยจิตอาสาหรือได้รับ การขอร้อง หรือแม้กระทั่งการบังคับจากหน่วยงานรัฐให้เข้าไปทำ แต่เขาก็เต็มใจที่จะไปทำ เพราะว่าการบริหารจัดการไฟป่าของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิ คุ้มครองการใช้ ที่ดินทรัพยากรในพื้นที่ของเขาเองนะครับ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ผมขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของระบบนิเวศในเขต ป่าต้นน้ำ ด้วยพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของโลกนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมาพื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ ๓๑ ของพื้นที่ป่า ซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำก็ลดลงไปด้วย แม้รัฐบาลจะพยายามมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า ให้ได้ร้อยละ ๕๕ ของพื้นที่ประเทศ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการให้เพิ่มขึ้นได้ สืบเนื่องจากปัญหาการดำเนินนโยบายบริหารจัดการป่าที่รวมศูนย์อำนาจและเกิดการทุจริต คอร์รัปชันที่หยั่งรากลึกลงในทุกองคาพยพของสังคมไทย ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีเจ้าหน้าที่ ด้านป่าไม้จำนวนน้อย ไม่เพียงพอ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมกันประมาณ ๒๙,๐๐๐ คน เฉลี่ยแล้วเท่ากับคนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบ พื้นที่ป่า ๓,๕๐๐ ไร่ ซึ่งเกินกว่าศักยภาพที่จะดูแลรักษาป่าของประเทศไทยได้จริง จำเป็นต้อง พัฒนากลไกและแนวทางใหม่เพื่อนำมาเสริมระบบการบริหารจัดการป่าโดยกลไกที่มีอยู่แล้ว ก็คือชุมชนท้องถิ่นที่ได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญในการรักษาผืนป่า เช่น การจัดการป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด ๑๑,๓๒๗ แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๖.๒ ล้านไร่ นอกจากนี้ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าจำนวนมากก็มีการจัดการไฟป่า ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ อย่างแข็งขัน หากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ทุกวันนี้พวกเขาทำงาน ในลักษณะที่เป็นจิตอาสา ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ทำให้ชาวบ้านขาดแรงจูงใจ ในขณะที่ฝ่ายคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการดูแลรักษาป่าต้นน้ำของชุมชนที่อยู่ในเขตป่า เช่น คนที่อยู่ท้ายน้ำ นักท่องเที่ยว ชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแล ระบบนิเวศ เนื่องจากรัฐไม่ได้มีกลไกที่มาเอื้ออำนวย แนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ประการหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกยอมรับและนำไปปรับใช้ ก็คือ การจ่ายค่าตอบแทน การให้บริการของระบบนิเวศ หรือ PES เป็นรูปแบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ หลักการผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นผู้จ่ายให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาระบบนิเวศและ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือผู้ทำหน้าที่อนุรักษ์ ซึ่งรูปแบบการได้รับผลตอบแทนอาจเป็นเงิน การลดหย่อนภาษี สิทธิประโยชน์อย่างอื่นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนดูแลรักษาพื้นที่ป่า ซึ่งหาก สามารถนำแนวทางนี้มาพัฒนาให้เป็นนโยบาย และสร้างกลไกร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำของประเทศไทยได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวนี้ตามข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของ ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และส่งผลการพิจารณาให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ โดยมีเหตุผลและ สาระสำคัญดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วยนะครับ นี่คือสภาพของประเทศไทยที่ยังคงมีพื้นที่ป่าอยู่ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังกระจุกอยู่ที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก แล้วก็ภาคใต้ ส่วนหลายภูมิภาคพื้นที่ป่าก็หายไป หรือเหลือน้อยลงไปแล้ว นี่คือลักษณะทางกายภาพของ ประเทศไทย ซึ่งตัวเลขที่ผมอยากจะให้เห็นก็คือปริมาณฝนโดยเฉลี่ยในแต่ละปี จากภาพเดิม เมื่อสักครู่นี้ พื้นที่ป่าจะอยู่ทางเขตภูเขา ไม่ว่าจะเป็นทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก แต่ปริมาณ ฝนเฉลี่ย ในพื้นที่ป่า พื้นที่ที่อยู่บนภูเขามีปริมาณฝนโดยเฉลี่ยน้อยกว่าพื้นที่ราบ พื้นที่ที่อยู่ ติดทางทะเล อย่างเช่นพื้นที่ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าเยอะที่สุด มีปริมาณฝนด้วยเฉลี่ย ๑,๒๓๐ มิลลิเมตรต่อปี ในขณะที่ภาคอีสานมีฝนโดยเฉลี่ย ๑,๔๐๔ มิลลิเมตรต่อปี โดยเฉพาะ พื้นที่ทางภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนโดยเฉลี่ยเยอะที่สุด นี่มันก็แสดงให้เห็นว่าการที่เราไป ดูแลพื้นที่ที่มีป่าหรือว่าพื้นที่ที่อยู่ในเขตต้นน้ำอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่วิธีการที่จะทำให้ประเทศ ไทยมีน้ำใช้โดยเฉลี่ยเพียงพอกับทุกพื้นที่ สิ่งที่ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจไปด้วยกัน ก็คือว่า น้ำที่ผุดขึ้นมาจากตาน้ำจะมีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกลงมา แล้วก็ศักยภาพ ในการกักเก็บ อันต่อไปคือน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ น้ำจากฝนที่ตกในที่ราบไม่อาจขึ้นไป ผุดตรงตาน้ำที่อยู่บนภูเขาได้ เพราะฉะนั้นต่อให้ฝนที่ตกอยู่ในพื้นที่ราบมากเพียงใด ถ้าไม่มี การกักเก็บน้ำที่มาจากพื้นที่ต้นน้ำอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปก็คือ พื้นที่ภูเขาที่มีป่ามากกว่าแต่ปริมาณฝนน้อยกว่าพื้นราบ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องนำมาพิจารณา ส่วนใหญ่พื้นที่ในประเทศไทยไม่ได้มีแหล่ง กักเก็บน้ำที่เพียงพอ พื้นที่ที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ ไม่ได้มีแหล่งกักเก็บน้ำที่เพียงพอ น้ำจากป่าต้นน้ำอย่างเดียวจึงไม่ได้เพียงพอต่อการใช้จริง เพราะว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ป่าต้นน้ำมันก็เป็นจำนวนที่น้อยอยู่ ไม่ได้เพียงพอต่อ ความต้องการ อย่างไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็แล้วแต่ในเมื่อสังคมไทยเรายังไม่ได้มีระบบการกักเก็บน้ำที่เพียงพอ การดูแลรักษา พื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อให้มีน้ำในการหล่อเลี้ยงก่อน จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นแล้วก็มีความสำคัญ อย่างยิ่ง ทีนี้ในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำใครเป็นคนดูแล แล้วเราเอางบมาจากที่ไหน ในทางกฎหมาย แน่นอนครับ หน่วยงานรัฐเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลโดยกฎหมายอยู่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งที่เราพูดถึงค่อนข้างที่น้อยก็คือในทางปฏิบัติแล้วชาวบ้านมีบทบาทในการดูแล รักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างมาก โดยเฉพาะมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าจำนวนมากที่เป็นชุมชนที่อยู่ ใกล้ชิดป่าแล้วก็ทำหน้าที่ในการดูแลจัดการป่า ดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำให้แก่สังคมไทยอยู่ หมู่บ้านที่มีป่าชุมชน ซึ่งเป็นบทบาทของชุมชนที่มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพื้นที่ ป่าต้นน้ำ มีอยู่ทั้งหมด ๑๒,๐๐๐ ชุมชน ดูแลป่าของประเทศนี้อยู่ ๖.๒ ล้านไร่ด้วยกัน นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นป่าที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น ๑ ชั้น ๒ มีประชาชน ๔,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน รวมพื้นที่กว่า ๔.๒ ล้านไร่ นี่เฉพาะที่ดินทำกินของชุมชน ที่อยู่ในเขตอุทยานด้วย ทีนี้มาดูอัตรากำลัง เปรียบเทียบให้เห็นนะครับ ถ้าเป็นพื้นที่ป่าที่ดูแล โดยหน่วยงานรัฐเฉลี่ยแล้วก็จะเท่ากับคนละ ๓,๕๐๐ ไร่ อันนี้คือเรานับทั้งหมด แต่ถ้านับ เฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจริง ๆ ก็อยู่ที่ประมาณ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ไร่ต่อคน ในขณะที่ ป่าชุมชน ชุมชนเป็นคนดูแล เฉลี่ยแล้วชุมชนหนึ่งก็เท่ากับ ๙๐๐ ไร่ ทีนี้ก็จะเห็นว่าชุมชน แม้จะดูแลป่าในขนาดที่เล็กกว่า แต่ก็เป็นป่าที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ชุมชนเขาใช้ประโยชน์อยู่ การที่ชุมชนหนึ่ง ๆ ดูแลป่าในขนาดที่ไม่ได้ใหญ่มาก นี่จึงทำให้ ศักยภาพในการดูแลมีมากกว่า งบประมาณที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการป่า หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในกรมป่าไม้หรือว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็แล้วแต่ มีงบประมาณในการฟื้นฟูป่าเฉลี่ยปีละประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี อันนี้เรานับ เฉพาะในป่าชุมชนที่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลอยู่นะครับ งบประมาณในการ ส่งเสริมการดูแลป่าชุมชนอยู่ที่ประมาณ ๖๐ ล้านบาททั่วประเทศ เพราะฉะนั้นในกรณีทั่วไป การดูแลป่าของชุมชนจึงเป็นการดูแลแบบจิตอาสา อาสาตัวเองเข้าไปทำเอง ป่าต้นน้ำ มีความสำคัญอย่างแน่นอน แล้วเราจะทำอย่างไร มีปัญหาอยู่ ๒-๓ ประการ ทุกวันนี้ หน่วยงานรัฐมีงบประมาณ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วที่เป็นปัญหาซ้อนเข้ามาก็คือ เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อ ๒ ปีที่แล้วที่เกิดข่าวดัง มีหน่วยงานหนึ่งที่เกิดการทุจริต ก็คือหน่วยงานด้านป่าต้นน้ำ ทุกวันนี้ชุมชนจำนวนมาก ดูแลป่าแต่ว่าไม่ได้รับสิ่งตอบแทน ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอย่างเดียวก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่ที่ เป็นปัญหาหนักกว่านี้ก็คือยังต้องเผชิญกับผู้มีอิทธิพล คนที่จ้องจะมาตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ ที่ชุมชนดูแลอยู่

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปก็คือ ถ้าหากชุมชนต้องลดพื้นที่ในการเพาะปลูกหรือว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินเพื่อจะเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับน้ำ พวกเขาจะได้รับอะไร ตอบแทน นี่ก็เป็นโจทย์สำคัญที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนหรือว่ากลไกในการดูแลรักษาป่า แล้ว Trend ในสังคมโลกเขาไปถึงตรงไหนแล้ว อย่างไร ในสังคมโลกยอมรับแล้วก็ส่งเสริมให้ ชุมชนดูแลรักษาป่าในท้องถิ่นของตัวเอง ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม ปฏิญญาว่าด้วยการป่าไม้ และการใช้ที่ดินของผู้นำกลาสโกว์ (Glasgow) ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ ๒๖ หรือที่เราเรียกว่า COP26 ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมระดับนานาชาติได้ให้การยอมรับอย่างเป็นทางการว่าชุมชน ท้องถิ่น โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมืองมีบทบาทอย่างสำคัญในการดูแลรักษาป่าของโลก แล้วที่ สำคัญได้ร่วมกันที่จะจัดตั้งกองทุนที่สนับสนุนให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในการดูแลรักษาป่าให้เกิด ความยั่งยืนด้วย นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการสร้างกลไกที่เข้ามาช่วยเสริมรัฐ ในการดูแลรักษาป่าโดยเฉพาะป่าต้นน้ำอย่างมีส่วนร่วม ก็คือการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ผู้ที่ดูแลรักษาป่า ก็คือการจ่ายค่าตอบแทนในการดูแล หรือที่เราเรียกว่าการจ่ายค่าตอบแทน ในการให้บริการของระบบนิเวศ ซึ่งก็เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สำหรับการจัดสรร งบประมาณตอบแทนให้แก่ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าอยู่ มีตัวอย่างจากต่างประเทศที่ได้ ดำเนินการแล้วอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่นที่ประเทศคอสตาริกาก็ได้ทำกิจกรรมในการ ปลูกป่าทดแทน คือให้ชุมชนปลูกป่าทดแทนโดยที่ได้รับประโยชน์ เอกชนเจ้าของที่ดินที่อยู่ ต้นน้ำก็ได้รับประโยชน์จากการที่เอาที่ดินของตัวเองไปปลูกป่า หรือไปปลูกป่าในพื้นที่ที่เป็น ป่าแล้วก็ไปดูแล ที่ประเทศออสเตรเลียก็มีการปลูกป่าทดแทน โดยที่เขาได้รับประโยชน์จาก รัฐบาล แล้วก็จากคนที่ใช้น้ำด้วย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการอนุรักษ์ดิน ก็คือเป็นการใช้ ที่ดินที่สร้างพื้นที่สีเขียวด้วย ที่ดินก็ยังเป็นของเกษตรกร แต่มีการปลูกต้นไม้หรือมีการใช้ที่ดิน ที่ป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน โดยสิ่งที่เขาได้รับก็คือรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณ ลงมาเพื่อที่จะทำให้ชุมชน ให้ชาวบ้านสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกของ ตัวเองที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ อย่างนี้เป็นต้น ที่ใกล้เคียงกับประเทศเรามากขึ้น ก็คือที่ ประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้ทำการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สิ่งที่ชาวบ้านได้รับก็คือเกษตรกรผู้ปลูกป่าเขา ก็จะได้รับลักษณะที่เป็นงบประมาณมาสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ชุมชน ให้ชาวบ้านที่เขา เอาที่ดินของตัวเองไปปลูกป่าหรือเขาไปฟื้นฟูป่า โดยรัฐบาลสนับสนุนเข้ามา แล้วเงินที่ได้มา อันนี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญว่าคนที่จ่ายให้ก็คือบริษัทผลิตน้ำประปาในระดับท้องถิ่นเป็นคน จ่ายให้ อันนี้ก็จะทำให้เห็นได้ว่าเงินหรือกองทุนที่เอามาใช้สนับสนุน หรืออุดหนุนให้แก่ชุมชน ที่เขาพยายามที่จะรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำอยู่ ไม่ว่าจะมาจากรัฐหรือมาจากเอกชนผู้ใช้น้ำ หรือเราเรียกว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาป่า

    อ่านในการประชุม

  • ทีนี้การฟื้นฟูป่าต้นน้ำจะทำได้อย่างไร ก็คงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควร การยึดที่ดินของชาวบ้านมาปลูกป่า กับการปลูกป่าในพื้นที่ป่า ๒ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควร เกิดขึ้นแล้ว ผมขอรวมถึงการปลูกป่าในพื้นที่ป่าด้วย ด้วยระบบนิเวศของประเทศไทย เราเป็นระบบนิเวศที่ป่าฟื้นเองได้ การเอางบประมาณไปปลูกป่าก็เท่ากับการเอาเงินไป ละลายกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทีนี้แนวทางที่พอจะเป็นไปได้ ที่เป็นรูปธรรมด้วยก็คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน จากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวอาจจะเปลี่ยนมาเป็น การท่องเที่ยว อันนี้คือตัวอย่าง การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก อาจจะเปลี่ยนจากไร่ ข้าวโพดมาเป็นไร่กาแฟ การจัดการไฟป่า การจัดการป่า รวมทั้งการดูแล แล้วก็ป้องกัน การบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ รวมทั้งเรื่องของการทำสัญญาให้ชาวบ้านปลูกป่าในที่ดิน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการตอบแทน ซึ่งประการสุดท้ายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่สิ่งที่มี ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดจะทำให้คนยอมที่จะเอาที่ดินของตัวเองไปปลูกป่าได้ก็ต้อง มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันเรื่องรายได้กับหลักประกันเรื่องสิทธิในที่ดินที่ต้อง ไม่สูญเสียไปด้วย แล้วก็กลไกส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ผมอาจจะไม่ใช้คำว่า กองทุน โดยตรงนะครับ แต่ผมจะเรียกว่าเป็นกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลจัดการ ป่าต้นน้ำในส่วนของหน่วยงานรัฐ ผมคิดว่ามีงบประมาณจากหน่วยงานรัฐที่เพียงพออยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ผมอยากจะให้ความสำคัญกับกลไกนี้ในการสนับสนุนชุมชน แล้วก็องค์กรเอกชนที่พวกเขาทำงานแบบจิตอาสา ต้องหางบประมาณมาทำกันเอง รัฐควรมี กลไกทั้งกลไกเรื่องของการให้สิทธิหรือว่าให้อำนาจให้แก่ชุมชนหรือเอกชนที่เขาทำหน้าที่ ดูแลป่า เขามีสิทธิ มีอำนาจตามกฎหมาย และประการที่ ๒ ก็คือ กองทุนหรืองบประมาณ ที่จะเอาเข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนในการดูแลรักษาป่าของเขา ทีนี้งบประมาณจะมาจาก ตรงไหน แน่นอนครับ การอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐ นี่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้อยู่แล้ว จากตัวอย่างที่ผมยกให้ฟังเมื่อสักครู่ว่า ระหว่างนี้กรมป่าไม้ได้ตั้งงบประมาณในการอุดหนุน ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนอยู่ที่ประมาณ ๖๐ ล้านบาทต่อปี ทีนี้มันก็ทำให้เห็นได้ว่า การจัดตั้งกองทุนหรือการอุดหนุนเงินจากรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แล้วก็มีการทำไปแล้ว เพียงแต่ จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากไปกว่านี้ ประการที่ ๒ ก็คือการจ่ายจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ จากการดูแลรักษาระบบนิเวศ อาจจะเป็นผู้ใช้น้ำ หรือโรงงาน หรือคนที่อยู่ท้ายน้ำ คนที่ ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็แล้วแต่ จากการที่ชุมชนที่อยู่บนพื้นที่ต้นน้ำเขาใช้กำลัง ใช้ทรัพยากรของตัวเองในการดูแลรักษาป่าอยู่ ซึ่งเราเรียกว่าการจ่ายเป็นค่าบริการทางนิเวศ ของผู้ที่ได้รับประโยชน์ อันนี้ก็จะเป็นคำที่ใช้กัน เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ผมคิดว่ามันมี ความจำเป็นที่สังคมไทยเราจำเป็นจะต้องส่งเสริม สนับสนุนให้แก่ชุมชนที่เขาดูแลรักษาป่า อยู่แล้วให้เขาดูแลรักษาป่าของตัวเองต่อไป รวมทั้งเป็นการจูงใจให้แก่ชุมชนที่อยู่บนพื้นที่ป่า อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำที่เขาอยากจะจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำของตนเอง มีศักยภาพหรือมีงบประมาณ ในการมาสนับสนุนให้เขาสามารถทำกิจการได้จริง ไม่ใช่เพียงรอให้ชาวบ้านอาสาเข้ามาทำ อย่างเดียว การทำเพียงแบบจิตอาสาไม่ได้มีความยั่งยืน แล้วก็ไม่สามารถที่จะคาดหวังอะไร ได้ด้วย ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ครับ ผมขอสไลด์เดิมด้วย แล้วก็ ไปที่สไลด์ที่ ๔

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ น้ำมี อยู่ทุกที่ โดยเฉพาะในระบบนิเวศของสังคมไทยเป็นระบบนิเวศป่าดิบชื้น ป่าร้อน แล้วก็เป็น เขตร้อนที่มีปริมาณฝนมากพอสมควร แล้วยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนยิ่งมีฝนในปริมาณ ที่มาก เราก็จะเห็นว่าพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นเขตร้อน ร้อนชื้น มีปริมาณ ฝนที่มากกว่าพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยป่า แล้วก็เป็นพื้นที่ป่าบนภูเขา ผมพูด อย่างนี้เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีการใช้น้ำโดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคน แล้วก็พื้นที่ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมใช้น้ำในปริมาณที่มาก ในขณะที่มีพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำ ที่น้อย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จัดเก็บน้ำที่เราสร้างขึ้นมาหรือพื้นที่จัดเก็บน้ำที่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่า เมื่อเรามีพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำที่น้อย ฝนที่ตกลงมาต่อให้มีปริมาณที่มาก ก็ไม่สามารถจัดเก็บไว้ให้ได้เพียงพอต่อความต้องการทั้งปี เราก็เลยจำเป็นที่จะต้องอาศัยน้ำ ที่มาจากต้นน้ำที่เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งโดยปริมาณแล้วจะมีปริมาณน้ำที่น้อยกว่าพื้นที่ที่เราใช้ทำ ประโยชน์หรือว่าอยู่อาศัย เพราะฉะนั้นมันก็จึงมีความจำเป็นโดยปริยายที่เราจะต้องดูแล รักษา จัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้สามารถที่จะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในระหว่างนี้ไป การที่จะทำให้น้ำเพียงพอ ต่อความต้องการใช้ นอกจากการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำแล้ว พื้นที่ราบ พื้นที่เขตเมือง พื้นที่ ทำการเกษตรที่ไม่มีป่าแล้วก็ต้องมีวิธีการในการจัดเก็บน้ำด้วย การสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ ทำการเกษตรหรือว่าพื้นที่ทำประโยชน์อันนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่ง ลำพังถ้าเราใช้พื้นที่ป่า อย่างเดียวมันไม่เพียงพอแน่ ๆ ผมขอไปที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ในมาตรา ๔๓ ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่าง สมดุลและยั่งยืนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ มาตรานี้เป็นกฎหมาย แม่บทที่บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเป็นเจ้าของ แล้วก็ร่วมในการบริหารจัดการ พื้นที่ป่า สิทธิของชุมชน ชุมชนจะทำหน้าที่ในการจัดการพื้นที่ป่า ดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้แก่ประเทศไทยได้จริง มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องส่งเสริมแล้วก็สนับสนุนด้วย ๒ ประการที่ผมอยากจะย้ำก็คือ ประการแรก ให้มีสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือ เป็นนโยบายของรัฐบาลก็แล้วแต่ ประการที่ ๒ ก็คืองบประมาณไปสนับสนุนให้ชุมชน สามารถที่จะทำกิจกรรมหรือว่าดำเนินกิจการต่าง ๆ ในการดูแลแล้วก็บริหารจัดการพื้นที่ป่า ของชุมชนได้ ด้วย ๒ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นในที่นี้สิ่งที่ผมอยากจะ เสนอแนะต่อทางรัฐบาลก็คือจำเป็นต้องพัฒนากลไกกฎหมาย หรือนโยบาย หรือกลไกที่จะ ทำให้ชุมชนมี ๒ ประการที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่ ประการที่ ๑ ก็คือว่ามีสิทธิตามกฎหมาย ประการที่ ๒ ก็คือมีงบประมาณที่เพียงพอในการทำงาน ถ้ารัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการ แบบนี้ได้ชุมชนก็จะมีแรงจูงใจในการที่จะดูแลรักษาพื้นที่ป่า รวมทั้งเอาพื้นที่ทำประโยชน์ ของตัวเองไปสร้างเป็นป่า โดยที่ตัวเจ้าของพื้นที่หรือชุมชนก็ยังเป็นเจ้าของที่ดิน แล้วก็ได้รับ ประโยชน์จากการที่เอาพื้นที่ของตัวเองไปสร้างเป็นป่าด้วย อันนี้ก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจ แล้วก็ทำให้พื้นที่ป่า พื้นที่ที่จะดูดซับน้ำเกิดขึ้นได้จริง เราคงไม่สามารถที่จะคาดหวังให้ ประชาชนเป็นอาสาสมัครทำงานด้วยจิตอาสา เอาชีวิต ทรัพย์สิน ของตัวเองไปเสี่ยงเพื่อที่จะ ทำให้รัฐมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างเดียว อย่างนี้มันคงเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยาก รัฐสามารถที่จะ ทำได้ แล้วสิ่งที่ผมพูดไปก็ไม่ได้เกินกว่ากำลัง ไม่ได้เกินไปกว่าอำนาจที่จะสามารถดำเนินการ อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่ารัฐบาลควรมีนโยบายในการไปส่งเสริมและสนับสนุน แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นกฎหมายที่เป็นทางการเพื่อที่จะรับรองให้ประชาชนที่อยากจะเข้ามามีส่วน ในการดูแลรักษา แล้วก็จัดการบริหารพื้นที่ป่าต้นน้ำได้มีโอกาสที่จะทำได้อย่างถูกต้องจริง ๆ ขอบคุณทุกท่านมากเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ครับ วันนี้ผมจะขอเสนอญัตติเรื่องขอให้สภา ผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจากกฎหมาย ว่าด้วยกัญชาเพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ท่านประธานครับ ความแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญระหว่างกัญชาและกัญชงก็คือ กัญชามีสาร THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเกินกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่มีสาร CBD ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ฤทธิ์ระงับอาการปวดไม่เกิน ๒ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กัญชงมีความตรงกันข้าม ก็คือ มีสาร THC ไม่เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมีสาร CBD เกินกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ความโดดเด่นของกัญชงอีกประการหนึ่งก็คือมีลำต้นสูงเรียว และให้ใยในปริมาณที่มากและมี ความคงทน ทำให้วัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์โดยทั่วไปของกัญชาและกัญชงมีความ แตกต่างกันนะครับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกัญชาและกัญชงมีลักษณะที่คล้ายกันบางประการ ทำให้กัญชงถูกจัดให้เป็นพืชเสพติดควบคู่กับกัญชา ส่งผลให้กระทบถึงคนที่ปลูกและใช้กัญชง ที่ทำให้มีความผิดตามกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับกัญชา จนกระทั่งเมื่อปี ๒๕๖๕ ได้มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕ ทำการ ปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภท ๕ ตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติด อย่างไรก็ตามครับ การปลดล็อกดังกล่าวนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีการซื้อขาย กัญชา แล้วก็เสพกันโดยทั่วไปในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนทำให้เกิดปัญหา สังคมต่าง ๆ ตามมามากมาย เกิดกระแสเรียกร้องจากสังคมไทยให้นำกัญชากลับไปเป็น พืชเสพติดเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้มีการพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติกัญชาและกัญชง หลายฉบับที่มีวัตถุประสงค์เพื่อออกกฎหมายควบคุมกัญชาและกัญชง ประกอบกับมีการ แก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะนำกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นพืชเสพติด เหมือนเดิมครับ นับตั้งแต่อดีตกลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีวัฒนธรรมในการใช้กัญชงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เป็นการทอเป็นผ้าสำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม นำมาถักทอเป็นเชือกใช้ทั่ว ๆ ไป รวมทั้งใช้ ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

    อ่านในการประชุม

  • คนม้งจึงเก็บรักษา เมล็ดพันธุ์กัญชงพื้นเมือง และปลูกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนะครับ และพืชกัญชง มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร เครื่องสำอางและยาที่เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนโดยทั่วไปด้วยนะครับ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกกัญชงออกจากกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมกัญชา ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาตามข้อบังคับของการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชา เพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง นอกจากนี้การส่งผล การศึกษานี้ไปให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ นอกจากนี้ประชาชนที่ขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้มี การคุ้มครองกัญชงยังสามารถนำผลการศึกษานี้ไปใช้ในการต่อสู้เรียกร้องต่อไปได้ด้วย โดยผมจะนำเรียนเหตุผลและรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ขอสไลด์ด้วย นะครับ เดิมทีนะครับ พืชกัญชงก็เสรีโดยทั่วไป มีการบันทึกว่ากัญชงมีการปลูกกันอย่าง แพร่หลายในประเทศจีนมากกว่า ๒,๘๐๐ ปีก่อนคริสตกาลแล้วนะครับ ต่อมาในช่วงศตวรรษ ที่ ๑๕ ซึ่งเป็นช่วงของการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิยุโรป เมล็ดพันธุ์กัญชงก็แพร่กระจายไป ยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่อเมริกาเหนือ พอมาถึงยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม กัญชงได้รับความนิยมกว่าฝ้าย เพราะใยกัญชง มีความแข็งแรง เหนียวแน่นกว่าใยอย่างอื่น ๆ ทำให้คนนิยมนำใยกัญชงมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทอผ้า ใช้เป็นเชือก รวมทั้งเชือกที่ต้องใช้มัดเรือ แล้วก็สิ่งประกอบต่าง ๆ เพราะว่ามีความคงทนแข็งแรง ทีนี้พอมาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ กระแสของสังคมโลก ที่ควบคุมยาเสพติด ก็มีการควบคุมกัญชา ก็แน่นอนว่ากัญชงถูกจัดให้เป็นประเภทเดียวกัน กับกัญชา จึงถูกควบคุมไปพร้อม ๆ กับกัญชาด้วย ระยะหลังต่อมาคนก็เริ่มกลับมาศึกษา กัญชา พอพบว่ามีสารหรือมีประโยชน์อะไรบางอย่าง แล้วก็มีส่วนที่แตกต่างจากกัญชา จึงมีการพยายามที่จะปลดให้กัญชงไม่ได้เป็นพืชเสพติด ที่สำคัญก็คือว่ามีการส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชง รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมด้วย ผมขอ ยกตัวอย่างนะครับ อย่างเช่น เมล็ดมีโปรตีนและ Omega สูง สามารถใช้เป็นส่วนประกอบ ของอาหาร ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีกว่าพืชอื่น ๆ มีการศึกษาพบว่ากัญชง ๑ ต้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๑.๖๕ ตัน เส้นใยสามารถนำมาถักทอเป็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้ โดยเฉพาะสามารถนำมาประกอบกับวัสดุอื่น ๆ ใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ด้วย อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของกัญชง ซึ่งท่านสมาชิกได้พูดไป แล้ว ผมก็จะไม่มาลงรายละเอียดในส่วนนี้เพิ่มเติมนะครับ ทีนี้ก็กลับมาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้งใช้กัญชงอยู่ในชีวิตและวัฒนธรรมของ กลุ่มชาติพันธุ์ม้งมานาน ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ม้งนะครับ กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็อาจจะใช้กัญชงได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันเป็นการทั่วไปเลยนะครับ ก็คือเรื่องของการใช้ทอเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ในสมัยโบราณกลุ่มชาติพันธุ์ม้งก็จะอยู่ตาม ป่าเขา เพราะฉะนั้นก็จะมีโอกาสน้อยในการติดต่อสื่อสารทำมาค้าขายกับกลุ่มคนอื่น ๆ จึงมี ความจำเป็นที่จะต้องปลูกต้นกัญชงเพื่อที่จะนำมาใช้ทอเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเอง นอกจาก มีการทอใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแล้วนะครับ ก็ยังมีการใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ นับตั้งแต่เด็กจนตาย ยกตัวอย่าง อย่างเช่นเด็กที่เกิดมาก็ต้องมีการผูกด้ายสายสิญจน์ เรียกขวัญ ทำพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ใช้ด้ายกัญชงเป็นสายสิญจน์ อย่างนี้เป็นต้นนะครับ ก็ใช้เป็น เสื้อผ้า รวมทั้งพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะตอนที่ตาย คนม้งก็จะมีพิธีกรรม มีความเชื่อในการ จัดพิธีศพที่ใช้เส้นใยกัญชงมาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรม จนถึงขั้นที่คนเฒ่าคนแก่ บอกว่า ถ้าไม่มีเส้นใยกัญชงจะไม่สามารถประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อให้แก่คนที่ ลุล่วงไปแล้วได้อย่างนี้นะครับ นอกจากนี้ในยุคสมัยใหม่พืชกัญชง ใยกัญชง ผ้ากัญชง ถูกพัฒนาขึ้นไปกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ในหลาย ๆ กรณีมีการพัฒนาใย พัฒนาผ้า พัฒนา ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากใยกัญชง การปลูกกัญชงและอุตสาหกรรมกัญชงในประเทศไทย ผมอยากจะให้ข้อมูลโดยสังเขปดังนี้ ข้อมูลจาก Application ปลูกกัญชงมีการลงทะเบียน ปลูกมากกว่า ๑.๑ ล้านคน แล้วก็ข้อมูลจากองค์การอาหารและยา และกรมการแพทย์ แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พบว่ามีพื้นที่ปลูกกัญชงมากกว่า ๗,๐๐๐ ไร่ มีใบอนุญาต สกัดกัญชงมากถึง ๔๘ แห่ง แล้วก็มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับคณะกรรมการอาหารและยามากกว่า ๑,๐๐๐ รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเครื่องสำอางมากถึง ๗๗ เปอร์เซ็นต์ อาหารและอาหารเสริมมีอยู่ ๑๙ เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ ๔ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลคร่าว ๆ นะครับ ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์หรือกัญชงมีความสำคัญ ไม่เฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ต่อสังคมไทยด้วย เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งนะครับ เมื่อต้นปีนี้เอง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ผ้าทอใยกัญชงม้ง เป็นหนึ่งในมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการ ส่งเสริม และรักษาอย่างเร่งด่วนในแขนงงานช่างฝีมือดั้งเดิม ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยนะครับ อันนี้ทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐเอง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุน วัฒนธรรม เห็นว่าผ้ากัญชงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ จำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์อย่าง เร่งด่วน รวมทั้งจะต้องพัฒนาต่อยอดไปด้วยนะครับ ในยุคสมัยนี้เราพูดถึง Soft Power นี่อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง Product อย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้าง Soft Power แล้วที่สำคัญนะครับ ถ้าเราทำให้คนทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะคนรากหญ้าสามารถปลูก แปรรูป สร้างผลิตภัณฑ์ที่มาจากกัญชง ผลประโยชน์ก็จะตกแก่เศรษฐกิจของคนรากหญ้า อย่างไรก็ ตามนะครับ อุตสาหกรรมกัญชงก็ยังเติบโตช้ามาก เติบโตเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่มี การปลดล็อกเมื่อกลางปี ๒๕๖๕ แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ต่อให้มีการปลดล็อกกัญชงออกจากพืชเสพ ติดแล้วก็ยังเติบโตช้า เพราะความไม่ชัดเจนในทิศทางทางนโยบาย และกัญชงถูกผูกเอาไว้กับ กัญชา เมื่อไรก็ตามที่คนบ่นว่ากัญชามีปัญหา เสียงก็จะไปถึงกัญชงด้วย คนที่อยู่ในแวดวงที่ ทำธุรกิจทำงานเกี่ยวกับกัญชงก็ไม่มีความมั่นใจว่า ถ้ารัฐบาลเอากัญชากลับไปเป็นพืชเสพติด เหมือนเดิม กัญชงก็จะถูกผูกไปด้วย นี่เป็นความไม่ชัดเจนที่ทำให้อุตสาหกรรมกัญชง ไม่สามารถที่จะต่อยอดได้ตามที่คาดหวังมากนักนะครับ แม้ตอนนี้กัญชงจะถูกปลดล็อก ออกไปจากพืชเสพติดแล้ว อย่างไรก็ตามมีการพยายามยกร่าง พ.ร.บ. กัญชงและกัญชา เพื่อที่เอากัญชงและกัญชากลับไปเป็นพืชที่ควบคุม แล้วก็เป็นยาเสพติดเหมือนเดิมนะครับ การที่ควบคุมรวมทั้งเรื่องของการปลูก การแปรรูป การขาย การนำเข้า การส่งออกจะต้อง ดำเนินการขออนุญาตตามกฎหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วก็ตามกฎหมายควบคุมยา เสพติดด้วยนะครับ ตามร่างกฎหมายในการขออนุญาตปลูก การขออนุญาตแปรรูปนำเข้า ส่งออกก็ต้องมีค่าธรรมเนียม แล้วค่าธรรมเนียมก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวลนะครับ เพราะในร่างกฎหมาย ๔-๕ ฉบับที่มีการพูดถึงไปแล้วนั้น ผมยกตัวอย่างนะครับ การปลูกต้อง มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๑,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท การขายต้องเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท การนำเข้าเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท การส่งออกต้องเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป และที่สำคัญนะครับ กำหนดให้ มีบทลงโทษทางอาญาด้วย ซึ่งไม่มีการแยกกัญชงและกัญชาออกจากกัน มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑-๕ ปี แล้วก็มีโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท ๒ ประการนี้เป็นเรื่องที่มี ความสำคัญนะครับ ถ้าเมื่อไรกัญชงถูกผูกเอาไว้กับกัญชาแล้วเอากลับไปเป็นพืชเสพติด เหมือนเดิม โอกาสของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาอาชีพจากกัญชงก็จะลดน้อยถอยลงไป ก็จะทำให้ถูกผูกขาดไว้ในมือของคนที่เป็นนายทุนไปโดยปริยาย โดยคนรากหญ้าจริง ๆ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ นี่จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลนะครับ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกกัญชงออกจากกฎหมายว่าด้วยกัญชา เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิและเสรีภาพ ในการปลูก การแปรรูป การขาย แม้กระทั่งการนำเข้า ส่งออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การ พัฒนาเศรษฐกิจของคนรากหญ้า อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ สิ่งเดียวที่ยังเป็นเรื่องน่ากังวล แล้วก็อาจจะจำเป็นซึ่งต้องมีการควบคุมอยู่ ก็คือสารสกัด THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แม้กัญชงจะมีสาร THC ในปริมาณที่น้อยแต่ก็สามารถที่จะสกัดออกมาได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะต้องควบคุมก็ควบคุมเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวนะครับ สำหรับเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่มีเหตุผล ความจำเป็นอื่นที่จะต้องทำการควบคุมกัญชา แล้วก็เอากัญชงและกัญชาจัดเอาไว้ให้อยู่ในพืช ประเภทเดียวที่เมื่อไรก็ตามควบคุมกัญชาก็หมายความถึงกัญชงด้วย การทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ ไม่ถูกต้องนะครับ นี่จึงเป็นเหตุผลประการทั้งปวงที่ผมอยากจะเรียนท่านประธานไปยัง ท่านสมาชิกทุกท่านที่อยู่ในที่นี้นะครับ ขอบคุณมากเลยครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ก่อนอื่นผมก็ต้องขอกราบขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกที่ได้ร่วม อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับญัตติที่ผมและเพื่อนสมาชิกอีก ๒ คนเสนอนะครับ ที่สำคัญ ก็ขอกราบขอบพระคุณท่านคุณหมอทศพร เสรีรักษ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ การสาธารณสุขที่มาร่วมฟังในวันนี้ด้วยนะครับ แม้ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำให้ ประเทศไทยกลายเป็น Hub ของกัญชงนะครับ ซึ่งจะมีกลุ่มนักธุรกิจที่เขาพยายามที่จะผลักดัน มีการจัดงานใหญ่ที่จะทำให้ประเทศไทย กลายเป็น Hub ที่จะนำไปสู่การค้าการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชงในประเทศไทย แต่อย่างไรก็แล้วแต่นะครับ คือมันก็ยังไปต่อไม่ค่อยได้ มันก็ยังมีอุปสรรคปัญหาที่ตามมาอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความน่าเชื่อถือ อย่างที่ผมได้เกริ่นไปนะครับว่า แม้ตอนนี้กัญชงจะถูก ปลดล็อกออกจากพืชเสพติดแล้ว แต่ความยังไม่ชัดเจนในทิศทางของนโยบาย ประกอบกับ กระแสที่เรียกร้องให้มีการนำกัญชากลับไปเป็นพืชเสพติดเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ อยากจะมาลงทุนไม่มีความมั่นใจ แม้กระทั่งชาวบ้านที่เป็นคนปลูกเอง ผมได้สัมผัสกับคนม้ง ที่เป็นคนปลูก แล้วก็คนที่ทอ คนที่ตัดเสื้อผ้าจากใยกัญชง คนปลูกเองก็ยังระแวงอยู่ คือแม้จะ ไม่ผิดกฎหมาย แต่คนม้งจำนวนหนึ่งเคยถูกจับกุมดำเนินคดีในสมัยอดีตนะครับ เพราะฉะนั้น การที่ยังไม่ค่อยมีความชัดเจนว่า ตกลงสักวันหนึ่งในเร็ววันนี้กัญชงจะกลายเป็นพืชเสพติด อีกหรือไม่ อันนี้ทำให้คนม้งเองก็ยังไม่มีความมั่นใจในการที่จะปลูกจะปลูก จะลงทุนในการ ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ ผมอยากจะฝากถึงผู้ที่กำลังยกร่างกฎหมาย แล้วก็ผลักดัน ร่างกฎหมายที่ควบคุมกัญชงและกัญชา แล้วก็รวมทั้งผู้มีอำนาจที่กำลังจะนำกัญชงกลับไป เป็นพืชเสพติดตามบัญชียาเสพติดประเภท ๕ เหมือนเดิม ให้คิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนนะครับว่า ในการที่จะนำกัญชากลับไปเป็นพืชเสพติดนั้น ขอให้แยกกัญชงออกมานะครับ อาจจะมีการ กำหนดอะไรบางอย่างในการควบคุมสาร THC ในกัญชงก็ได้ ผมไม่ได้ติดขัดในเรื่องนี้นะครับ แต่ตัวกัญชงโดยธรรมชาติของมันเองควรที่จะถูกแยกออกมา เพื่อที่จะทำให้คนที่จะใช้กัญชง มีเสรีในการที่จะทำได้จริง เรื่องนี้ผมอยากจะเน้นย้ำนะครับว่า ถ้าเสรีกัญชงจะนำไปสู่ ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ในธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชงไปกว้าง แล้วก็ยาวนะครับ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกกัญชงออกจากกัญชา แล้วก็ประกาศให้ประชาชน ได้รู้โดยทั่วไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน คนปลูก คนขาย คนที่จะพัฒนา เทคโนโลยี คนที่จะมาพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตด้วยนะครับ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ ผลประโยชน์ก็จะตกแก่คนรากหญ้าจริง แต่ถ้ายังเอากัญชงกลับไปเป็นพืชที่ต้องควบคุม ในลักษณะที่เป็นยาเสพติดอีก แม้จะมีกระบวนการในการอนุมัติอนุญาตตามมา แต่ถึง ที่สุดแล้วชาวบ้านทั่ว ๆ ไปก็จะไม่มีโอกาสจะเข้าถึงได้จริง ก็จะมีแต่นายทุนบางกลุ่มเท่านั้น ที่เข้าถึงนะครับ เพราะฉะนั้นจึงขอเรียนให้ทราบอย่างนี้ แล้วก็ขอกราบขอบพระคุณ เพื่อนสมาชิกทุกคนในวันนี้ที่อภิปรายในลักษณะที่สนับสนุนญัตติของผม และเพื่อนสมาชิก อีก ๒ ท่าน ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ผมมีเรื่องหารือ ๒ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ คือตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าอุทยานแห่งชาติได้สนธิกำลังกว่า ๑๙๐ คน เข้าปฏิบัติการรื้อถอน Resort บริเวณภูทับเบิกนั้น

    อ่านในการประชุม

  • พื้นที่พิพาทเป็นที่ดินทำ กินอยู่ตรงขอบระหว่างแนวเขตอุทยานกับแนวเขตนิคมสร้างตนเองที่ยังไม่มีการระบุ แนวเขตชัดเจน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อยุติ โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิในการทำ มาหากินโดยสุจริตของชาวบ้านนะครับ ในวันเกิดเหตุมีคนแต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ชุด สีดำใช้ผ้าและสวมหมวกปกปิดใบหน้า ถืออาวุธปืนเข้าไปปะปนกับเจ้าหน้าที่และแสดง ท่าทางข่มขู่ชาวบ้านขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ตรวจสอบว่า การที่หน่วยงานรัฐให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้าไป ปะปนกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปกล่าวหาชาวบ้านที่ทำมาหากินโดยปกติ และเปิดเผยนั้นเป็นสิ่งที่ สมควรหรือไม่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ผมได้ลงพื้นที่ไปที่บ้านห้วยตะพาด ตำบลสันติคีรี อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาผมพร้อมกับมอบจดหมายน้อยให้ มีข้อความตอนท้ายเขียนว่า หนูขอความเห็นใจจากท่านผู้ใหญ่ช่วยทำสะพานให้พวกเราด้วย ได้ไหมคะ สืบเนื่องจากที่หมู่บ้านนี้มีลำห้วยลึกตรงทางเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านได้เคยสร้าง สะพานไม้ใช้กันเอง ใช้มา ๑๒ ปี จนผุพังไปหมดแล้ว แต่ป่าไม้ไม่อนุญาตให้สร้างใหม่ ล่าสุดชาวบ้านรอไม่ไหวต้องระดมทุนและใช้แรงงานของชาวบ้านสร้างกันเองไปแล้วนะครับ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปต่อที่จังหวัดกำแพงเพชร ก็มีเรื่องในลักษณะเดียวกันนี้ ทางเข้าหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและปกาเกอะญอ หมู่ที่ ๑๐ และหมู่ที่ ๒๖ ตำบลโกสัมพี และบ้านปากคา ตำบลโป่งน้ำร้อน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นถนนดินระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร มีสะพานไม้แบบชั่วคราวที่ชาวบ้านทำกันเอง จำนวนทั้งหมด ๗ แห่ง เป็นสะพานไม้ลักษณะนี้ ๗ แห่งตลอดทาง ชาวบ้านทำกันเอง ทำให้การเดินทางยาก ลำบากมาก โดยเฉพาะในหน้าฝน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่ม ที่มีอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ จารีตประเพณี รวมทั้งวิถีชีวิตที่ แตกต่างออกไป ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง กลุ่มที่อาศัยตั้งถิ่นฐานบนเกาะแก่งหรือตาม ชายฝั่ง มีอาชีพทำการประมง กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าที่ยังคงดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาอยู่กับป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นราบ ซึ่งกลมกลืนกับคนไทยโดยทั่วไปแล้วนะครับ แม้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ จะได้บัญญัติรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองเอาไว้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตามนะครับ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมืองในประเทศไทยก็ยังคงมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิบรรดา กฎหมายต่าง ๆ กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายและนโยบายบางประการที่จำกัดสิทธิ ในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับป่าไม้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และมีโอกาสในการพัฒนา คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยขึ้น โดยผมจะขออภิปรายชี้แจง รายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้ ขอสไลด์นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมจะขอเริ่มต้นเล่าเรื่อง ของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งนะครับ ชื่อพ่อหลวงสมชาติ หรือที่รู้จักกันในนามผู้ใหญ่สมชาติ รักษ์สองพลู เป็นผู้ใหญ่บ้านที่บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง บ้านกลางนี้ เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีอายุกว่า ๓๐๐ ปีแล้ว ปัจจุบันมีประชากร ๗๗ หลังคาเรือน ๓๐๐ กว่าคน ชาวปกาเกอะญอที่นี่ยังคงมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ผูกพันอยู่กับผืนป่า ผืนดิน และสายน้ำ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนา โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เก็บหาหน่อไม้ และผลผลิตที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงเลยทีเดียวก็คือ มะแขว่น ชาวบ้าน ได้จัดการผืนป่าของชุมชนรวมประมาณ ๑๖,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าชุมชน ๑๒,๐๐๐ ไร่ เกินกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ทำกิน ๔,๐๐๐ ไร่ เป็นทั้งที่นาแล้วก็ที่ไร่หมุนเวียน แต่ได้ใช้ทำกินจริง ๆ ในแต่ละปี เฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ ไร่ต่อปีเท่านั้นเอง ในอดีตรัฐได้ให้นายทุนสัมปทานป่าไม้ ในพื้นที่ป่าบ้านกลางนี้ ๓ ครั้งจนป่าไม้หมด ต่อมาชาวบ้านช่วยกันดูแลจนป่าไม้สามารถที่จะ ฟื้นฟูกลับคืนมาได้ อย่างไรก็ตาม พ.ศ. ๒๕๓๔ รัฐได้ดำเนินการเตรียมประกาศเป็นอุทยาน แห่งชาติทับชุมชนและที่ทำกิน แต่ชาวบ้านคัดค้านนะครับ เพราะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ กำลังทำลายวิถีชีวิตของชุมชน ทุกวันนี้ชาวบ้านบ้านกลางอยู่ท่ามกลางสารพัดปัญหาที่ยัง ไม่มีทางแก้ ถนนเข้าหมู่บ้านยังเป็นดินบางส่วน ในหน้าฝนเดินทางเข้าหมู่บ้านด้วยความ ยากลำบาก ไม่ได้รับงบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านหลายปีแล้วนะครับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๔ ชาวบ้านเคยจะไปเอาไม้ในป่าชุมชนมาสร้างโบสถ์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ ดำเนินคดี วิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาเห็ด หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ ทำไร่ทำนา ทำสวน สร้างบ้าน ทุกอย่างผิดกฎหมายหมด นี่คือความ เดือดร้อนของชาวบ้าน แล้วเรื่องราวเหล่านี้มันสะท้อนอะไรล่ะครับ สไลด์ต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ประวัติศาสตร์ ๓๐๐ ปีของชุมชนบ้านกลางถูกเลือนหายไป หรือแทบไม่มีความสำคัญเลยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาวปกาเกอะญอ ถูกตีความว่า เป็นภัยต่อสังคม ถูกเบียดขับออกจากสิทธิและนำมาสู่การทำให้เป็น อาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำกิน การเก็บหาของป่า การนำไม้มาสร้างบ้าน แม้กระทั่ง การสร้างถนนสร้างสะพานเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดว่า ผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ทำให้สิทธิและ โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านบ้านกลางถูกจำกัด ลงไป แล้วมีคนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับชาวบ้านที่บ้านกลางนี้อยู่ในสังคมไทยมากน้อย เพียงใดครับ ผมขอแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบาย ของรัฐ ตัวเลขอาจจะเยอะกว่านี้นะครับ นี่เป็นเพียงตัวเลขที่ผมยกมา แล้วก็ที่ปรากฏ กลุ่มที่ ๑ ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเฉพาะใน ๒๐ จังหวัดภาคเหนือ จำนวน ๑๐ กลุ่ม มี ๓,๔๕๘ หมู่บ้าน ประชากร ๑.๑๒ ล้านคน เป็นกลุ่มชาวเล ๔๖ ชุมชน ๑๔,๐๐๐ คน และ กลุ่มมานิซึ่งแบ่งเป็น ๑๕ กลุ่มครอบครัว ๓๐๐ กว่าคน อันนี้คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับ ผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐโดยตรง อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่กลมกลืนกับ สังคมไทยแล้วประมาณ ๔-๕ ล้านคน กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและ นโยบายโดยตรง แต่วิถีชีวิตวัฒนธรรมคุณค่าบางอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ ลบเลือน หายไปแล้ว เป็นที่น่าใจหายของคนผู้เฒ่าผู้แก่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สไลด์ต่อไป อันนี้เป็นข้อมูลเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ๑๐ กลุ่ม ปัจจุบัน มีอยู่ ๓,๔๕๘ หมู่บ้าน หมู่บ้านตรงนี้หมายถึงหมู่บ้านที่เป็นทางการนะครับ ยังไม่รวมถึง หย่อมบ้าน หรือว่าบ้านบริวาร ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านี้ รวมกัน ๑.๑๒ ล้านคน อันนี้ก็ยังไม่ได้ เป็นตัวเลขที่ถูกต้องเสียเลยทีเดียว แต่อย่างน้อยก็คือประมาณเท่านี้ ทำไมเราต้องมีกฎหมาย คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นการเฉพาะ ตามที่ผมได้บอกไปนะครับ แม้ว่าเราจะมีกฎหมาย ที่รับรองความเท่าเทียมกันอย่างเป็นทางการแล้ว แต่กลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ด้อยพัฒนา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ ที่ไม่เป็นธรรม กดขี่ กดทับ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิจริง ๆ กฎหมายและนโยบายที่เลือกปฏิบัตินี้ ผมย้ำนะครับว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ และปัญหา ประการหนึ่งก็คือเกิดขึ้นมาจากอคติ ซึ่งเป็นผลมาจากการประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ และตอกย้ำ อัตลักษณ์ที่เป็นลบของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้านลบที่ถูกตอกย้ำซ้ำ ๆ ในสังคมไทยมีอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุด ๓-๔ ประการนะครับ ประการที่ ๑ ก็คืออพยพเข้ามาใหม่ ประการที่ ๒ คือเป็นภัยต่อ ความมั่นคง โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น ประการต่อไปก็คือเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และประการสุดท้ายก็คือ การทำลายป่า สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะการที่ไป ตอกย้ำให้แก่คนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ในสมัยอดีตคำว่า ชาวเขาทำลายป่า คำว่า ชาวเขา ค้ายา อยู่ในแบบเรียนของนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะการตอกย้ำในหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ เมื่อตอกย้ำบ่อย ๆ สังคมไทยก็ซึมซับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงนะ ทำให้มีสภาพที่เรียกว่า Engrave หรือการแทรกซึม หรือในภาษาไทยเราจะเรียกว่า ฝังเข้ากระดูกดำ ทำให้คนมี ทัศนคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ว่า เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาใหม่ ค้ายาเสพติด แล้วก็ทำลายป่า แม้คนส่วนหนึ่งจะไม่เชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในสำนึกของคน เมื่อฝังอยู่ในสำนึกของคน สิ่งเลวร้ายที่ตามมาก็คือ กฎหมายและนโยบายที่ตั้งอยู่บนความคิดความเชื่อเหล่านี้ แล้วในยุคสมัยปัจจุบันการเลือกปฏิบัติ อคติมันไม่ได้ตรงไปตรงมา มันมีความสลับซับซ้อน และมีลักษณะที่แฝงเร้น เราไม่สามารถเห็นได้หรือว่ามีการเลือกปฏิบัติ พูดด้วยคำพูด แบบตรงไปตรงมา เส้นแบ่งในการเลือกปฏิบัติจึงเบาบาง แต่สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือ คุณภาพชีวิต ที่ตกต่ำ แล้วก็การปฏิเสธสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางแก้ไขปัญหาในการเลือก ปฏิบัติเหล่านี้ทำอย่างไรได้บ้าง ในทางหลักการสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ยาก แม้กระทั่งอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ ทางเชื้อชาติ หรือมีพื้นฐานมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่ก็มีแนวทางอยู่ นะครับ ซึ่งต้องทำอย่างน้อย ๒ ประการ ประการแรกก็คือ มีกฎหมายรองรับให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีความชอบธรรมอย่างชัดเจน อันนี้เป็นประการแรก การมีกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะทำ ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิโดยทันที แต่อย่างน้อยที่สุดก็รับรองความชอบธรรม ทำให้เกิดพื้นที่ ในการเจรจาต่อรอง ประการต่อมาก็คือ การทำให้คนในสังคมไทยตระหนักรู้ ตระหนักว่า สิ่งที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านลบเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา แล้วก็ตอกย้ำ เข้าไป มันไม่ได้เป็นความจริงอย่างนั้นเสียทั้งหมด มันอาจจะมีบางคนที่อพยพเข้ามาใหม่จริง แต่ไม่ใช่ทุกคน อาจจะมีบางคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง แต่นั่นเป็นเพียงแค่บางคน แล้วก็ ส่วนน้อยมาก คนส่วนใหญ่เขามีวิถีชีวิตปกตินะครับ โดยเฉพาะคนนอก คนที่มีอำนาจต้อง ตระหนักรู้นะครับว่า สิ่งที่เขารับรู้ในด้านลบของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้าง ขึ้นมา ผู้มีอำนาจต้องตระหนักรู้ในสิ่งเหล่านี้นะครับ ตัวอย่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ของต่างประเทศมีอะไรบ้าง ตอนนี้เรากำลังผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ถามว่า เราทำกันเองโดยลำพังใช่ไหม ผมยืนยันว่า ไม่ใช่ ประเทศต่าง ๆ ในสังคมโลกนี้ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนา เขาได้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้มานานแล้วนะครับ ผมขอ ยกตัวอย่างประเทศแคนาดา มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิในที่ดินของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมาเป็น เวลาเกินกว่า ๓๐ ปีแล้ว ประเทศญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ประเทศนิวซีแลนด์ก็เหมือนกัน ใกล้มา บ้านเราก็คือประเทศมาเลเซียก็มีเหมือนกันนะครับ ประเทศออสเตรเลียอันนี้ก็มีเหมือนกัน กฎหมายเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิในที่ดิน และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วกฎหมายฉบับที่ผมเสนอดีต่อสังคมไทยอย่างไร รวมถึงกฎหมายฉบับอื่น ๆ ด้วย กฎหมาย ลักษณะนี้จะดีต่อสังคมไทยอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรกก็คือ ปลดล็อกปัญหาสิทธิในที่ดิน รับรองให้มีสิทธิในที่ดิน ผมย้ำนะครับว่า มันเป็นคนละเรื่องกันกับการออกโฉนด การรับรองให้มีสิทธิในการใช้ที่ดิน และทรัพยากร

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ คือส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปก็คือ รักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่น

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปคือ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มาเป็นทุน ในขณะนี้เราพูดถึง Soft Power นี่เป็นโอกาสดีที่สุดที่เราจะยก Soft Power มา อยู่ในกฎหมาย แล้วก็ทำให้หน่วยงานรัฐสามารถสนับสนุนและส่งเสริมได้อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อไปคือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนทำการพัฒนา ชุมชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้ายก็คือ การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ดีต่อสายตาของ สังคมโลก

    อ่านในการประชุม

  • สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับที่ผมเสนอก็มีรายละเอียดเยอะ แต่ผมขอให้ ภาพกว้าง ๆ อยู่ ๓ ประการ ประการที่ ๑ ก็คือการกำหนดให้คุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ ประการที่ ๒ คือสร้างกลไกทำหน้าที่เป็นตัวแทน และประการที่ ๓ ก็คือการประกาศพื้นที่ คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาถึงกรณีแรก

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ การกำหนดให้ทำการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ผมได้บอกไปนะครับ แล้วผมก็อยากจะย้ำว่า แม้เราจะมีกฎหมายแม่บทกำหนดให้รับรองคุ้มครองสิทธิของกลุ่ม ชาติพันธุ์ในลักษณะที่เสมอภาคเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป แต่ผลที่ตามมาก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์ ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ หรือไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องกำหนดเพิ่มเติม ก็คือการห้ามเลือกปฏิบัติหรือการสร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะสื่อกับปฏิบัติการของ หน่วยงานรัฐ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ก็คือสิทธิในวัฒนธรรม วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มันมี มากกว่าเพียงแค่เสื้อผ้า หรือบทเพลง มันมีเรื่องวิถีชีวิต มันมีเรื่องอาชีพ มันมีเรื่องที่ดิน มันมี เรื่องอื่น ๆ ด้วยนะครับ ประการต่อไปก็คือ สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่ผมได้ ยกตัวอย่างกรณีของพ่อหลวงสมชาติที่บ้านกลาง วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ รวมทั้ง กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็คือการใช้ที่ดินที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากระบบที่กฎหมายปัจจุบัน รับรอง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรจากป่าด้วย เมื่อกฎหมายไม่รับรอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นกฎหมายที่เราพยายามออกแบบมาใหม่ ก็คือพยายามที่จะหาช่องทางในการ รับรองสิทธิในที่ดินและสิทธิในการใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ และสุดท้ายก็คือสิทธิในการ กำหนดตนเอง กรณีนี้ปัจจุบันปรากฏว่ามีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีทรัพยากรอยู่ จะถูกรัฐอนุญาตให้เอกชน หรือแม้กระทั่งโครงการของรัฐเองไปดำเนินการ อย่างเช่น การทำเหมือง สร้างเขื่อนอย่างนี้นะครับ ทำให้กระทบต่อการใช้ที่ดิน ใช้ทรัพยากร และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในชุมชนตรงนั้น เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าไปดำเนินการ มันก็จำเป็นต้องมีการกลั่นกรอง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องให้ความสำคัญแก่ชุมชนตรงนั้นก่อน

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ ก็คือกลไกที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทน ตามที่ผมได้บอกไปนะครับว่า แม้กฎหมายจะรับรองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากก็ไม่มีโอกาส เข้าถึงสิทธิที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ได้จริง ๆ รวมทั้งเมื่อถูกเลือกปฏิบัติหรือได้รับผลกระทบ ไม่สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการมีองค์กรตัวแทนที่จะมาทำ หน้าที่ตรวจสอบ แล้วก็ผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิได้ จึงเป็นเรื่องที่ยัง จำเป็นอยู่นะครับ แล้วก็สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือ สังคมกลุ่มชาติพันธุ์เวลามีปัญหา ไม่ว่า จะเป็นกับหน่วยงานรัฐหรือกับใครก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นปัญหามากก็คือ ข้อมูลที่จะเอามายืนยัน ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิหรือคุ้มครองสิทธิของตัวเอง เพราะสังคมกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสังคม ที่ไม่เขียน หรือเราเรียกว่า Unlegends Unwritten Society ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมา ทุกอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์ จารีตประเพณี วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่เล่า สืบทอดถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก แล้วก็ผ่านปฏิบัติการต่าง ๆ แต่ไม่มีการเขียนเอาไว้ เพราะฉะนั้นในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิจึงมีปัญหามาก และข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือจึงมี ความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งต่อรัฐและต่อชุมชนเอง และข้อมูลเหล่านี้จะมีความน่าเชื่อถือก็ ต่อเมื่อถูกจัดทำโดยหน่วยงานกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย แล้วก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกฎหมายฉบับนี้ที่ผมอยากจะย้ำ ก็คือ การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การประกาศตรงนี้ไม่ใช่เป็นการ ประกาศเขตอภิสิทธิ์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ผมอยากจะย้ำตรงนี้นะครับ เป็นเพียงระเบียบในการ คุ้มครองวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับเขตป่า พูดให้ตรงไปตรงมาก็คือเป็นการพยายามสร้างเครื่องมือทางเลือกขึ้นมาในการแก้ไขปัญหา พื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ป่าไม้ หรือที่อื่นของหน่วยงานรัฐกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ แน่นอนว่าการประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมาย เกี่ยวกับป่าไม้ หรือกฎหมายอื่น ๆ ของรัฐในบริเวณนั้นนะครับ เป็นลักษณะของกฎหมาย เชิงซ้อน ก็คือการประกาศเขตพื้นที่เหล่านี้จะคุ้มครองเฉพาะการใช้ประโยชน์ การดูแลรักษา ทรัพยากรที่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐและชุมชนกำหนดร่วมกันขึ้นมานะครับ แต่หากผู้ใด หรือแม้กระทั่งสมาชิกของชุมชนทำผิดเงื่อนไข หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เข้ามา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายปกติไป ซึ่งส่วนนี้ผมอยากจะทำความเข้าใจด้วยนะครับว่า การประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ตรงนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน วิธีการประกาศถามว่า ทำอย่างไร ก็เริ่มต้นด้วยชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือหลายชุมชนรวมกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จัดทำแผนซึ่งอาจจะเรียกว่าแผนแม่บทหรือ แผนอะไรก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่คุ้มครองตรงนี้ขึ้นมา แล้วก็มีการออกระเบียบ ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ขึ้นมา และคณะกรรมการเมื่อเห็นชอบแล้ว ก็ประกาศ กำหนดไปให้เป็นเขตคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การประกาศเมื่อประกาศ ออกมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิทำอะไรได้ทุกอย่าง ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและ สามารถที่จะถูกยกเลิกได้ หากชุมชนไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้ต่อไปอย่างนี้นะครับ สิทธิมีอะไรบ้าง มีอยู่ ๒-๓ ประการ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ก็คืออยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามระเบียบที่กำหนดขึ้น ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีความยั่งยืน และไม่นำไปสู่การ ทำลาย

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ก็คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ขอย้ำกันนะครับว่า การพัฒนาทั้งหลายก็ต้องไม่นำไปสู่การ ทำลายล้างเหมือนกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้ายก็คือ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิให้แก่บุคคลใดได้ เว้นแต่เป็นการสืบทอดทางมรดก ทางทายาท หรือเป็นการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติของชุมชน

    อ่านในการประชุม

  • อันนี้ก็คือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดนะครับ แล้วในการผลักดันด้านกฎหมาย ฉบับนี้เราไม่ได้เพิ่งมาพูดตอนนี้นะครับ เราพูดกันมาเป็นเวลานานแล้ว กระแสในสังคมก็รับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เอง โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างรุนแรงมีความต้องการเป็น อย่างมาก เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งเครื่องมือของชุมชนแล้วก็เครื่องมือของหน่วยงานรัฐ ด้วยที่จะเข้าไปคุ้มครองชุมชน นักวิชาการเองก็เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ นักการเมืองเองเรื่องนี้เราเคยอภิปรายเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว ทุกพรรคก็เห็นด้วยกับหลักการในการออกกฎหมายในลักษณะนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเอง โดยเฉพาะท้องถิ่นก็เห็นว่า ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นในการ จัดการแล้วก็การพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในสังคมโลกในยุคสมัยปัจจุบัน สังคมโลกให้ความ สนใจกับการคุ้มครองสิทธิของชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อย หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เป็น ผู้อพยพ เรื่องนี้เป็นกระแสในสังคมโลกที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่สังคมโลกต้องคุ้มครองให้ ทุกคนได้มีวิถีชีวิตที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็น ชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่หนึ่ง ๆ แต่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และนโยบายที่เรา เรียกว่า กฎหมายนโยบายในสมัยใหม่ที่ไปกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนที่ยังคงยึดถือ ประเพณีวัฒนธรรมจารีตของท้องถิ่นอยู่อย่างนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายขอกราบขอบพระคุณท่านประธาน แล้วก็ทุกท่านที่ให้โอกาสในการ เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้นะครับ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ร่วม อภิปรายในวันนี้ แล้วก็ให้การสนับสนุนหลักการในร่างกฎหมายทุกฉบับนะครับ อย่างไร ก็แล้วแต่ก็ยังมีเรื่องที่หลายท่านยังคงกังวลอยู่ โดยเฉพาะประเด็นคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็การจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็เชื่อมโยงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคง เพื่อที่จะทำความเข้าใจผมจะขอชี้แจงโดยสรุปดังนี้นะครับ บ้านเรา ประเทศเรามีชนเผ่า พื้นเมืองไหม ผมขออธิบายอย่างนี้ก่อนว่า คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง เป็นคำที่เราแปลมาจาก ภาษาต่างประเทศ มันก็มีอยู่หลายคำที่มีการใช้กัน แล้วก็ใช้ในประเทศที่แตกต่างกัน อย่างเช่นใช้คำว่า Aboriginal Native People Fist People Travel People และคำที่ ถูกใช้ในลักษณะที่เป็นสากลก็คือ Indigenous People นะครับ ทาง UN ได้ย้ำนะครับ คำว่า Indigenous People ไม่ได้มีคำนิยามที่เป็นสากลเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจว่า หมายถึงการ Claim สิทธิเหนือดินแดนที่จะนำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระ นี่เป็นความเข้าใจ ที่ผิดนะครับ คำว่า Indigenous People ยังไม่มีนิยามที่เป็นสากลแล้วก็ใช้ได้ทุกที่ เหมือนกันหมด แต่จะพิจารณาว่าหมายความรวมถึงกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ และสืบเชื้อสาย สืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวพันกับภูมิภาคหนึ่ง ๆ หรือบางส่วนของภูมิภาคนั้น ๆ และเป็นผู้ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่หรือเคยอาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ ก่อนเป็นอาณานิคม หรือผนวกรวมดินแดน หรืออยู่ร่วมกับกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ เพราะฉะนั้นคำว่า ชนเผ่า พื้นเมือง ไม่ได้หมายความเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกล่าอาณานิคม อันนี้เป็นความหมายที่คับแคบ ในยุคสมัยใหม่ คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ถูกขยายความไปเป็นอย่างอื่น แล้วก็ไม่ได้มีความหมาย ที่จะทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐนะครับ แล้วถามว่าประเทศ ไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองไหม คือผมขอยืนยันว่ามีเยอะนะครับ อย่างเช่น ชาวมอแกน ชาวมานิ ชาวลัวะ ชาวปกาเกอะญอ บางส่วน คนเหล่านี้โดยเฉพาะชาวมอแกนนะครับ เขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ติดแผ่นดินในพื้นที่ ทางภาคใต้เขาอยู่ก่อน แต่ถูกเบียดขับออกไปจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ทุกวันนี้ ชาวมอแกน ชาวมานิ ก็เลยเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดแล้วตรง ๆ ก็คือเป็น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายในการพัฒนาของรัฐ การที่เรายอมรับว่ามีชนเผ่า พื้นเมืองอยู่ในประเทศไทยเรา ไม่ใช่การยอมให้เขามีสิทธิเหนือดินแดนที่เป็นอิสระจากรัฐ แต่เป็นการแสดงความเคารพต่อเขาในฐานะที่เขาเป็นพลเมืองติดแผ่นดินบริเวณนั้น แล้วก็ เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเสมอเท่าเทียมกับเรานะครับ ที่บอกว่าฝ่ายความมั่นคงแสดง ความกังวลต่อร่างของพรรคก้าวไกล เท่าที่ผมติดตามมาผมยังไม่เคยได้ยินว่าฝ่ายความมั่นคง ได้แสดงความกังวลต่อร่างของพรรคก้าวไกล ถ้าหากมีจริงผมยินดีที่จะขอคำแนะนำ แล้วก็ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมในส่วนนี้นะครับ ส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะให้ระมัดระวัง เพื่อนสมาชิกหลายคนได้ใช้คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ คำบางคำอาจจะเป็นคำที่เหยียด หรือเรียก เขาในลักษณะที่ไม่ให้เกียรติ คือผมเข้าใจว่าหลาย ๆ คำที่หลายคนได้พูดไปไม่ได้เจตนาที่จะ รังเกียจ หรือเจตนาที่จะพูดเพื่อที่จะเหยียด แต่พูดไปโดยที่ไม่รู้ความหมาย อันนี้ผมก็อยากจะ ให้ระมัดระวังอย่างเช่น คำว่า แม้ว อย่างนี้เป็นต้นนะครับ สภาชนเผ่าพื้นเมืองที่หลายท่าน กังวลว่าการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะนำไปสู่การสร้างปัญหาเรื่องความมั่นคงอย่างนี้ ผมขอชี้แจงอย่างนี้ครับว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองเป็นเพียงกลไกที่จะตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ในการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่เขาไม่มีโอกาสที่เข้าถึงสิทธิ ให้เขามี โอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิเพียงแค่นี้เอง เขาไม่ได้มีอำนาจที่ล้นฟ้านะครับ แล้วก็ยังเป็นกลไก ที่ถูกตั้งขึ้นมาภายใต้การกำกับของรัฐ ดำเนินกิจการภายใต้กรอบระเบียบกฎหมายไม่ได้ มีอำนาจอิสระเสรีนะครับ อีกอย่างหนึ่งถ้าเราไม่อยากใช้คำว่า สภาชนเผ่าพื้นเมือง เรายัง สามารถจะใช้คำอื่น ๆ แทนได้ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า สภาชาติพันธุ์ สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์ หรืออะไรก็แล้วแต่นะครับ คำนี้ก็ยังเป็นคำที่เราสามารถจะถกเถียงเพื่อที่จะหาคำที่เหมาะสม แล้วก็ตกลงร่วมกันได้นะครับ เนื้อหาของหลาย ๆ เรื่องในฉบับของพรรคก้าวไกลอาจจะยัง ไม่ได้สมบูรณ์นะครับ ยังมีหลายเรื่องที่หลายคนยังกังวลอยู่หลายคนยังมีคำถามอยู่ ผมคิดว่า ยังเป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันต่อไปได้อยู่นะครับ เมื่อเข้าสู่ชั้น กรรมาธิการหลาย ๆ เรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เราสามารถจะสร้างความชัดเจนให้กับมันได้ เพื่อที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้นะครับ แล้วก็สุดท้ายจริง ๆ ก็คือขอขอบคุณทุกท่านที่อภิปราย สนับสนุน แล้วก็เห็นด้วยกับการที่มีกฎหมายในลักษณะนี้ ซึ่งผมเชื่อได้ว่าถ้ากฎหมาย ฉบับนี้ผ่านผลประโยชน์จะตกแก่ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และที่สำคัญที่สุดก็คือสังคมไทย ไม่ว่าจะ เป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม แล้วผมอยากจะเน้นย้ำว่าการที่เรามีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของ กลุ่มชาติพันธุ์แน่นอนว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมโลก อันนี้ผมก็อยากจะย้ำด้วย นะครับ ขอบคุณมากครับ

    อ่านในการประชุม