ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ 26
ปีที่ 1
สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง
ครั้งที่ 21 วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.27 - 16.28 นาฬิกา
เอกสารต้นฉบับ: บันทึกการประชุมบันทึกการออกเสียงและลงคะแนนรายงานการประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
การประชุม เราจะมีการหารือกันก่อนนะครับ เชิญท่านแรก ท่านปารมี ไวจงเจริญ ครับ
นายปารมี ไวจงเจริญ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะขออนุญาตปรึกษาหารือท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรถกระบะพุ่งชนนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ขณะที่นักเรียนกำลังเข้าค่ายฐานปฏิบัติการลูกเสือ เรื่องนี้เศร้าสลดมาก เพราะว่าทำให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเสียชีวิตถึง ๓ ราย และยังมีนักเรียนและครู บาดเจ็บสาหัสอีกกว่า ๑๕ คน เหตุน่าจะมาจากคนขับรถขับเร็วมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นเขตชุมชน และเป็นฐานปฏิบัติการลูกเสือ แต่ก็ยังคงขับเร็วและอาจจะมีการดื่มแอลกอฮอล์หรือมี สารเสพติดในร่างกาย ซึ่งขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดคดีต่อไป ดิฉันขอยืนยันในหลักการว่า โรงเรียนและนักเรียนต้องปลอดภัยทั้งกายและใจ แต่ขณะนี้สังคมไทยเรายังทำเรื่องโรงเรียน ปลอดภัยไม่ได้ อยากจะขอวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงคมนาคม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสร้างโรงเรียนปลอดภัย และนักเรียนปลอดภัยให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เพราะว่าในรอบ ๓ เดือนที่ผ่านมา ดิฉันไปดู สถิติย้อนหลังนะคะท่านประธาน มีอุบัติเหตุของนักเรียนที่เกี่ยวกับรถเกิดขึ้นเกือบทุกอาทิตย์ ทั้งรถตู้รับส่งนักเรียนหรือในเคสนี้ที่เป็นรถกระบะขับรถเร็ว ดิฉันอยากจะให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการกัน เพื่อสร้างโรงเรียนปลอดภัยหรือนักเรียนปลอดภัยให้เกิดขึ้นจริง อยากให้ทุก หน่วยงานทั้งกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงคมนาคม ตำรวจและหน่วยงานอื่น ๆ ตรวจจับความเร็วรถยนต์ในเขตชุมชนหรือในเขตโรงเรียน และตรวจสภาพรถตู้ที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งตัวรถและคนขับ และนอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง คนขับรถตู้คุกคามทางเพศนักเรียนอยู่บ่อย ๆ อยากจะให้วางระบบเหล่านี้ให้มีมาตรฐาน ระบบจัดรถรับส่งนักเรียน รถตู้ต่าง ๆ ต้องวางระบบให้มีมาตรฐานครบวงจร ให้หน่วยงานทุก หน่วยงานบูรณาการร่วมมือกัน ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านตวงทิพย์ จินตะเวช ครับ
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน ตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย
นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับ ปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องอำเภอเดชอุดม ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของดิฉันค่ะ วันนี้ดิฉัน มีเรื่องหารือท่านประธานเกี่ยวกับเรื่องน้ำค่ะ อำเภอเดชอุดมมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ประมาณ ๖๕๘,๐๑๑ ไร่ แบ่งออกเป็นการปลูกข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และพืชผลชนิดอื่น ๆ ซึ่งปัญหาหลักที่พบในปัจจุบันนี้คือน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งเพื่อการเกษตรและเพื่อ การอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลนากระแซง ตำบลสมสะอาด ตำบลบัวงาม ตำบลตบหู เป็นต้น ซึ่งดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนมาจาก นายสมร อบมาพันธ์ นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลนากระแซงแจ้งมาว่า ในเขตพื้นที่มีน้ำขาดแคลนเป็นจำนวนมาก แล้วก็เป็น วงกว้างมาก ซึ่งขณะนี้พ่อแม่พี่น้องที่ตำบลนากระแซง เริ่มมีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ดิฉันจึงได้ประสานไปยังนางสุจิตรา พาพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเดช และ หมวดทางหลวงเดชอุดม กรมทางหลวง ให้ได้มีการนำรถน้ำออกมาบริการพ่อแม่พี่น้อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ซึ่งดิฉันต้องขอชื่นชมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ของอำเภอเดชอุดม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการนำของท่านนายอำเภอที่ได้มีการทำ MOU ร่วมกันประสานแต่ละหน่วยงานให้ดูแลพ่อแม่พี่น้องร่วมกัน และนี่เป็นเพียง ๑ ตัวอย่าง ท่านประธานคะ ดิฉันขอกราบเรียนท่านประธานฝากไปยังกรมชลประทาน หรือกรมทรัพยากรน้ำให้ได้มีการออกสำรวจแหล่งน้ำที่ตื้นเขินหรือระบบน้ำใต้ดินให้พ่อแม่ พี่น้องได้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี จะเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้องมากค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช ครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด นครศรีธรรมราช ลุ่มน้ำปากพนัง พรรคประชาธิปัตย์ กระผมมีเรื่องหารือท่านประธาน อยู่จำนวน ๒ เรื่องด้วยกันครับ
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน สืบเนื่องจากวัชพืช ในแม่น้ำลำคลองหลัก ในเขตอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร และอำเภอ ชะอวด มีวัชพืชในแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก ฝากไปถึงกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เร่งดำเนินการจัดการวัชพืชในแม่น้ำลำคลองสายหลัก และแม่น้ำลำคลอง สายย่อยเพื่อบรรเทาแก่พี่น้องประชาชนในการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเป็นการเร่งด่วน
นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ สืบเนื่องจากเริ่มมีปัญหาเรื่องภัยแล้งกับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร ฝากกรมชลประทานดำเนินการตั้งเครื่องสูบน้ำตาม ลำคลองสายหลัก และคลองสาขาเพื่อสูบน้ำให้กับพี่น้องประชาชนที่ทำการปลูกพืชผล ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นนาข้าวและพืชล้มลุก ต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนเป็นการ เร่งด่วน เพราะว่าภัยแล้งกำลังก้าวสู่วิกฤติกับพี่น้องเกษตรกร ฝากท่านประธานไปถึง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อลำเลียงน้ำ จากลำคลองสายหลักไปสู่ลำคลองสายรองแก่พี่น้องประชาชน ในเขตอำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทรเป็นการเร่งด่วน ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวิลดา อินฉัตร ครับ
นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน วิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๗ พรรคเพื่อไทยค่ะ
นางสาววิลดา อินฉัตร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
วันนี้ขอหารือเรื่อง โครงการจัดการ หาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ตำบลพยุห์ได้รับมอบบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบประปา ขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ จากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัด อุบลราชธานี ต่อมา อบต. พยุห์ได้มอบให้กองทุนกลุ่มกิจการประปาบาดาลบริหารจัดการต่อ แต่ขาดทุนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ กว่าบาทนะคะ เนื่องจากเครื่อง สูบน้ำบาดาลทำหน้าที่สูบน้ำขึ้นมาสู่ผิวดิน แต่ไม่มีน้ำเพราะว่าแหล่งน้ำใต้ดินมีปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอ อบต. พยุห์ก็ได้หาทางแก้ไขปัญหา โดยการลดกำลังเครื่องสูบน้ำลง เพื่อประหยัด ค่าไฟฟ้าพร้อมกับประสานไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับเพียงการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แล้วก็ อ้างว่าไม่มีงบประมาณในการซ่อมบำรุงแก้ปัญหาดังกล่าว หากพิจารณาระยะเวลาในการ รับมอบจนมาถึงช่วงที่เกิดปัญหา ซึ่งถือว่าสั้นมากนะคะ เฉลี่ยเพียงแค่ ๑ ปีเท่านั้น มาตรฐาน บ่อน้ำบาดาลควรจะใช้งานได้มากกว่านี้ เพราะใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปถึง ๕๐ ล้านบาท ดิฉันจึงขอหารือผ่านท่านประธานสภาช่วยประสานให้สำนักทรัพยากร น้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานีแก้ปัญหาโดยการเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ เป่าล้างบ่อ และแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าโดยการติดโซลาเซลล์แทนการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย หากการแก้ไขยังล่าช้า สถานการณ์ภัยแล้งได้เกิดขึ้นแล้ว และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันราษฎรก็ต้อง ซื้อน้ำใช้กันแล้วนะคะ จึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามา แก้ไขโดยด่วนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านปรีดา บุญเพลิง ครับ
นายปรีดา บุญเพลิง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายปรีดา บุญเพลิง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคครูไทย เพื่อประชาชน การศึกษานำการเมือง ครูพัฒนาคน ประชาชนพัฒนาชาติ รากฐานของตึก คืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา ท่านประธานที่เคารพครับ ผมขอหารือท่านประธาน ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีเกี่ยวเนื่องกับ ๓-๔ เรื่อง วันนี้ผมได้รับหนังสือร้องเรียนจาก ข้าราชการบำนาญ ซึ่งขณะนี้มารวมกันที่ชั้น ๖ ห้อง ๖๐๗ ของอาคารรัฐสภา ประมาณเกือบ ๒๐๐ คน นำเรื่องเดือดร้อนมานำเสนอผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของหนี้สินของ ครูบาอาจารย์ที่เดือดร้อนกันมาก หลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้วเป็นคนจนรุ่นใหม่ ปัญหาซับซ้อนเยอะ เมื่อสมัยที่แล้วผมก็ได้เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแผนปฏิรูป ประเทศด้านการศึกษา และการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว แล้วก็นำไปเสนอรัฐบาล และรัฐบาลนี้ก็ได้ดำเนินการ อยากให้เร็วขึ้นกว่าเดิม และขอให้ สนับสนุนเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็คือการจัดตั้งกองทุน สวัสดิการและสงเคราะห์สมาชิกของสหกรณ์ขึ้นในสหกรณ์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และ ๒. ก็ได้รับหนังสือจากสมาคมลูกจ้างส่วนราชการผู้รับบำเหน็จรายเดือน อยากจะให้ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสวัสดิการ การรักษาพยาบาลลูกจ้างและผู้รับบำเหน็จรายเดือน และผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือน พ.ศ. .... อยากจะให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ผ่านสภา แล้วก็เรื่องหนี้สินของครูบาอาจารย์ ก็อยากจะให้ออกพระราชบัญญัติเงินกู้ เหมือนคราวที่แล้วที่ออกพระราชบัญญัติเงินกู้ให้กับพวก SMEs ดอกเบี้ยร้อยละ ๐.๐๑ เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ ๒ ก็ได้นะครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของ ลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการที่สอบบรรจุ บางคนเป็นพนักงานราชการมา ๗-๘ ปี เงินเดือนถึง ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท แล้วพอเวลาไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการใหม่กลับมา รับเงินเดือน ๑๕,๘๐๐ บาท นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เสียขวัญและกำลังใจ และปัญหาหนี้สินก็จะ ตามมาเยอะแยะ อยากจะฝากให้รัฐบาลได้หันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขอบคุณมาก
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภัณฑิล น่วมเจิม ครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ผม ภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา-คลองเตย ขอปรึกษาหารือท่านประธาน ขอสไลด์ด้วยนะครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ประเด็นแรก ขอให้สำนัก การจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ติดป้ายห้ามจอดตลอดแนวปากซอยสุขุมวิท ๒๒ ข้างศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอให้สำนักงานประปาสุขุมวิทตรวจสอบคุณภาพบริษัทผู้รับเหมา ที่วางท่อใต้ทางเท้าตลอดแนวถนนพระรามที่ ๔ เพราะว่าไม่มีการป้องกันดูแลความปลอดภัย เพียงพอ รวมถึงไม่มีการแจ้งแผนงานระยะเวลาในการดำเนินงาน
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชุมชนแฟลตเทพประทาน ร้องให้มีการดูแลสาธารณูปโภค ไฟทางส่องสว่าง ปั๊มน้ำ ลิฟต์ พื้นผิวจราจร เพราะว่าปัจจุบัน ก็ไม่แน่ใจว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผมต้องไปร้องที่ใคร ไม่รู้สังกัด หน่วยงานไหน ขอบคุณมากครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ปัญหาสุนัขจรที่มีจำนวนมากขึ้นในชุมชนแฟลต ๑๙-๒๒ ขอให้ ปศุสัตว์กรุงเทพมหานครมาทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัขจรทั้งหมดในชุมชนแฟลต ๑๙-๒๒
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องต่อไป เรื่องการปรับปรุงสาธารณูปโภคของแฟลต ๑๙-๒๒ เคยเรียก การเคหะแห่งชาติเข้ามาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม แต่ก็ยังไม่มีการทำ อะไรเลยนะครับ ฝาท่อระบายน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่าง ประตูเหล็ก ห้องขยะที่พัง ตู้เก็บถังดับเพลิง
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ต่อไป ปัญหาขอทานต่างด้าวละเมิดสิทธิเด็ก เคยร้องไปที่คณะกรรมาธิการ กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เหมือนกัน ไม่มีความคืบหน้าครับ พม. ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เทศกิจเขตวัฒนา สน. ลุมพินี รบกวนเข้ามาตรวจตราด้วยนะครับ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ปัญหาแท็กซี่ป้ายดำ กรมการขนส่งทางบก ย่านอโศก-นานา รบกวนมาดูด้วย เคยร้องไปแล้วเหมือนกัน ทำหนังสือไป ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน สภานี้มันปาหี่หรือเปล่า พูดไปทุกสัปดาห์ พูดทุกครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ผ่านไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่ได้รับ การแก้ไขครับ ผมว่า สส. ปัจจุบันนี้ประชาชนเขายังด่าเลยครับ ทำอะไรไม่ได้ เหมือน ประชาชนคนหนึ่ง ร้องไปก็เท่านั้น ทำหนังสือไปก็เงียบ บางทีหลายเรื่องเข้ากรรมาธิการ
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องถัดไป ผมเอาเรื่องเข้าคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ไม่เคยจะมาตรวจ ไม่เคยบรรจุเรื่องผมเข้าวาระ ทำหนังสือถึงกรมการแพทย์แผนไทย เทศกิจเขตวัฒนา ยังขายกันโจ๋งครึ่มครับ ต่างด้าวจำหน่ายกัญชา
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องต่อไป น้ำกระท่อมจะเอาอย่างไรครับ สน.คลองตัน แจ้งแล้ว บอกมาจับแล้ว ก็ยังมีขายอยู่ ผมขับรถไปส่งลูกหน้าโรงเรียนก็ยังมีขายน้ำกระท่อมอยู่ ขายไม่ได้ขายธรรมดา ขายบนทางเท้า ขายบนพื้นผิวจราจร
นายภัณฑิล น่วมเจิม กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ ปรับปรุงไฟส่องสว่าง ร้อง Traffy Fondue ไปกี่ครั้งแล้ว สำนักโยธาธิการและผังเมือง เขตคลองเตย การไฟฟ้าเขตคลองเตยรบกวนมาจัดการด้วย ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านพิมพฤดา ตันจรารักษ์ ครับ
นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ พิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต ๓ พรรคภูมิใจไทยค่ะ
นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะ หารือท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ในปัญหาความเดือดร้อนของนักเรียน คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ของดิฉัน ก็คือในเขต อำเภอวังน้อย อำเภออุทัยและอำเภอภาชีมีปัญหาที่คล้ายคลึงกันก็คืออาคารเรียนหลายแห่ง ชำรุดทรุดโทรม และเป็นอันตรายต่อน้อง ๆ นักเรียน บางที่หลังคาก็เปิดเนื่องจากพายุลมฝน บางที่พื้นไม้กระดานก็ชำรุดจนทำให้เด็ก ๆ เกิดอุบัติเหตุ ส่วนบางที่โครงสร้างอาคารก็มีความ เก่าและเสียหายมาก จนอาจจะก่อให้เกิดความอันตรายถึงชีวิตของน้อง ๆ นักเรียน ซึ่งก็ล้วน แต่เป็นลูกหลานในชุมชนของพวกเรานะคะ ซึ่งปัญหาที่ต่อเนื่องกันมาก็คือน้อง ๆ นักเรียน มีห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน คุณครูเองก็ต้องจัดสรรห้องเรียนเท่าที่จะมี เท่าที่จะ เหลืออยู่ เท่าที่จะใช้การได้อยู่ให้กับนักเรียน โรงเรียนเป็นสถานที่ที่พ่อแม่และผู้ปกครองไว้ใจ จะฝากบุตรหลานเอาไว้ค่ะ จึงอยากจะฝากท่านประธานไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งรัด จัดสรรงบประมาณมาปรับปรุง ซ่อมแซม รวมถึงก่อสร้างอาคารที่มีการจำหน่ายไปแล้ว เพื่อที่ โรงเรียนจะได้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย และได้รับความไว้วางใจในการฝากลูกหลานไว้อย่างที่ ควรจะเป็นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม อ.เอท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง วันนี้ขอหารือประมาณ ๓-๔ เรื่องนะครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ป้ายรถเมล์ ถนนรามคำแหง ๑๒๒ ไม่มีความเป็นมาตรฐาน อันนี้อย่างไรฝากทาง กทม. เข้าไปดูแล ด้วยนะครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็คือท่าเรือที่ชำรุด ตอนนี้หลังตลาดมีนบุรีเก่า อันนี้เป็นเรื่องที่ อ.เอท ได้พูดไปแล้วเมื่อคราวที่แล้ว ตอนนี้มันพังไปแล้วครับ ตอนแรกมันยังไม่พัง ถ้าเป็น รูปนี้ท่านจะเห็นว่ามันเจ๊ง และใช้การไม่ได้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรฝากทางกรมเจ้าท่าด้วย นะครับ เพราะว่าถ้าเกิดท่านไม่ทำจะกลายเป็นไม่เข้าท่าแล้วนะครับ
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของการทิ้งขยะที่ไม่ถูกที่ ที่เคหะชุมชนรามคำแหง ซอยรามคำแหง ๑๙๐/๑ ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ในการดูแลของสำนักพระพุทธศาสนาและการเคหะแห่งชาติ อย่างไรก็ฝากด้วยครับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดกลิ่นเหม็นแล้วก็เผาไหม้ มีการเกิดไฟไหม้ มาแล้วหลายครั้งแล้วในที่ที่ ๓ นี้
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ เรื่องของการมีคนเร่ร่อนในพื้นที่ของ อ.เอท มีคนเร่ร่อน มีผู้ป่วย แล้วก็มีผู้ติดยา หรือบางครั้งก็คนเดียวเป็นทั้ง ๓ อย่างเลย ก็คือทั้งเร่ร่อน ทั้งติดยา แล้วก็เป็น ผู้ป่วย ก็อยู่ในเขตพื้นที่มีนบุรีและเขตสะพานสูง ตอนนี้มีหลายท่าน แต่ อ.เอทว่า น่าจะเกิน แล้วครับ คำว่า เกิน ในที่นี้คือไม่ใช่มีแค่เฉพาะใน ๓ พื้นที่หรือ ๒ พื้นที่ น่าจะมีทั่วประเทศ เลยนะครับ ก็อยากจะฝากให้ทาง พม. ช่วยเข้ามาดู หรืออย่างน้อยก็สร้างเป็นที่อยู่ชั่วคราว เป็น Shelter ชั่วคราวให้เขาได้มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
และนี่คือ ๔ เรื่องที่ อ.เอทอยากจะฝากนะครับ เรื่องแรกป้ายรถเมล์ ๒. เรื่องของท่าเรือที่ตอนนี้ไม่เข้าท่าแล้ว ๓. เป็นเรื่องของขยะที่รามคำแหง ๑๙๐ และ เรื่องที่ ๔ เป็นเรื่องของคนเร่ร่อนที่มีอยู่ทั่วประเทศ อย่างไรฝาก พม. ด้วยครับ สุดท้ายนี้ครับ อยากที่จะเห็นข้าราชการไทยบริการด้วยใจที่ไม่เหมือนเดิม ขอบพระคุณครับ Respect
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ครับ
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จริง ๆ แล้วผมจำเป็นต้อง ฝากท่านประธานผ่านไปยังกระทรวงการคลัง เรื่องที่ผมจะหารือ แต่กระทรวงการคลัง ก็ไม่มีอำนาจครับ เพราะเป็นเรื่องของธนาคารชาติ ในเรื่องของภาวะดอกเบี้ย ท่านประธาน จะสังเกตเห็นไหมครับว่าในยุคนี้ ช่วงนี้ประเทศไทยเหมือนกับมีการปฏิวัติรัฐประหาร เรื่องดอกเบี้ย ภาวะระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้นี้ ความห่าง มันห่างกันมาก แล้วภาวะของดอกเบี้ยเงินกู้ไม่มีท่าทีจะลดลง เมื่อไม่มีท่าทีจะลดลงผู้ประกอบการที่กู้กันไป ก็เสียดอกเบี้ยแพง พอเสียดอกเบี้ยแพง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกระบวนการใช้จ่าย ในตลาดมันก็ทำให้ของมันแพงขึ้น มันก็เกิดภาวะเงินเฟ้อส่วนหนึ่ง ในความคิดของผม ผมไม่ใช่นักการเงินนะครับ ผมเป็นครู แต่ผมดูแล้วว่า ท่าทีของดอกเบี้ยไม่ยอมลดลงอย่างนี้ มันมีผลกระทบไปถึงพ่อแม่พี่น้องผมที่อยู่ในพื้นที่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนก็ดี เพราะต้องมาซื้อ ของแพง แล้วคนที่ประกอบการแทนที่ว่าปีหนึ่ง เช่น เขาต้องเสียดอกเบี้ย สมมุติว่าเดือนหนึ่ง สัก ๒ ล้านบาท ถ้าดอกเบี้ยมันลดลงมาเหลือ ๑.๕ ล้านบาท แน่นอนที่สุด เขาก็ไม่ต้องมา ขูดรีดกับพี่น้องประชาชน ฉะนั้นผมอยากกราบเรียนฝากท่านประธานไปยังกระทรวงการคลัง แล้วผ่านไปยังธนาคารชาตินะครับว่า ให้รีบกลับมาทบทวนภาวะดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ภาวะดอกเบี้ยเงินฝาก ภาวะดอกเบี้ยเงินกู้ หรือแม้กระทั่งการลดดอกเบี้ย ซึ่งมันเป็น ผลกระทบมากมายทีเดียว กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสรวีย์ ศุภปณิตา ครับ
นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพครับ กระผม นายสรวีย์ ศุภปณิตา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๑ พรรคก้าวไกล กระผมมีเรื่องปรึกษาหารือท่านประธาน เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนดังนี้ ขอภาพสไลด์ด้วยครับ
นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ
ที่วัดสิงห์ อำเภอสามโคก ขณะนี้ เศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาค่อนข้างขัดสน บางคนตกงาน ไม่มี รายได้ครับ ต้องอาศัยหาของมาขายตามบริเวณวัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ช่วยกันซื้อ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยววัดในเชิงศิลปวัฒนธรรมตามวัดริมน้ำเจ้าพระยาไม่สะดวกในการจะ เดินทาง เพราะโป๊ะเรือส่วนใหญ่ชำรุด ขาดตอน เอาภาพให้ดูก่อนครับ สไลด์นี้ให้เห็นว่า โป๊ะเรือนี้มันขาดตอนไป ผู้สัญจรและนักท่องเที่ยวที่จะลงเรือเดินเข้ามายังวัด เดินไม่ได้ มันขาดตอน ฉะนั้นขอให้กรมเจ้าท่าหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยบูรณะซ่อมแซมให้ใช้การ ได้ด้วยครับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่จะมาทำบุญจะได้ขึ้นเรือได้สะดวก ในชุมชนจะได้ มีรายได้ ได้ขายของรอบวัด และบริเวณโป๊ะเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่งชำรุดครับ ขอให้กรมเจ้าท่ากรุณาขอความอนุเคราะห์สำรวจและซ่อมให้ด้วยครับ
นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ
ขอภาพสไลด์ที่ ๒ โป๊ะเรือที่ตลาดอิงน้ำสามโคก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ของสามโคก แต่ต้องหยุดชะงักไปก็พิษภัยโควิด และประสบภัยน้ำท่วมมา ๒ ปี เศรษฐกิจ แย่มากครับ ตอนนี้กำลังจะฟื้นแต่ท่าเรือชำรุด และพี่น้องประชาชนในชุมชนอื่น ๆ จะมา ท่องเที่ยวก็มาไม่ได้ เพราะโป๊ะเรือชำรุด จึงขอความอนุเคราะห์จากกรมเจ้าท่าและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมให้ด้วยครับ
นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ
สไลด์ต่อไป ภาพนี้เป็นแท็งก์น้ำบาดาลชุมชนวัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ แท็งก์น้ำ บาดาลชุมชนวัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ชำรุดเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ พี่น้องประชาชน ใช้ชีวิตลำบากมาก การใช้น้ำน้ำไม่ไหล ได้ติดต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว แต่ได้รับคำตอบว่า งบประมาณหมดครับ จึงขอให้กระทรวงมหาดไทย จัดสรรงบประมาณมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนด้วยครับ
นายสรวีย์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ
ขออีกเรื่อง เล็กน้อยครับ พี่น้องประชาชนตำบลเชียงรากน้อย ตำบลเชียงรากใหญ่ บ้านงิ้ว และตำบลบ้านปทุม น้ำไม่ไหล เวลาเร่งด่วนน้ำไหลอ่อนจนไม่ไหลเลย ประชาชน ประสบความยากลำบากครับ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและทำการปรับปรุงแก้ไข ให้ด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านประดิษฐ์ สังขจาย ครับ
นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม ประดิษฐ์ สังขจาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขตเลือกตั้งที่ ๕ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางซ้าย พรรคภูมิใจไทย ขออนุญาตนำปัญหาในพื้นที่หารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ
นายประดิษฐ์ สังขจาย พระนครศรีอยุธยา ต้นฉบับ
ขอหารือท่านประธานผ่านไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมบริเวณหน้าวัดโบสถ์ ล่างและวัดยวด พื้นที่หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร วัดโบสถ์ล่างและวัดยวดเป็นวัดที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย จึงทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี ปัจจุบันหลวงพ่อเจ้าอาวาสทั้ง ๒ วัดได้สร้างคันดินชั่วคราวป้องกันไว้ แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนัก ชาวบ้านต้องมาช่วยกันเสริมคันดินอยู่เป็น ประจำ วัดโบสถ์ล่างถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่เป็นจุดศูนย์รวมการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมของอำเภอเสนาและอำเภอใกล้เคียง เป็นเพียงวัดเดียวที่สามารถ ทำพิธีฌาปนกิจศพได้ในช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วม ถ้าได้เขื่อนป้องกันน้ำท่วมมาก็จะสามารถ ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวบ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านแพนที่อาศัยอยู่บริเวณวัดยวด จำนวนถึง ๑๓๐ ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนวัดโบสถ์ล่างที่ตั้งอยู่บริเวณวัดก็จะได้รับ ประโยชน์ด้วย การก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของวัดโบสถ์ล่างจะทำให้สามารถสร้างจุด พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม และยังเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานราชการ หรือ หน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ที่มีความประสงค์จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขต อำเภอเสนา และอำเภอใกล้เคียงได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงขอความกรุณากรมโยธาธิการและ ผังเมือง กระทรวงมหาดไทยได้ช่วยจัดสรรงบประมาณการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวด้วย กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศิรสิทธิ์ สงนุ้ย ครับ
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร เขต ๓ พรรคก้าวไกล ขอนำปัญหาของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจำนวน ๒ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยครับ
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ ไฟส่องสว่างทางหลวงชนบท สค.๒๐๒๘ สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๕ ถนนพระราม ๒ บ้านชายทะเลกาหลง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร จากภาพที่เห็นขณะนี้ด้านหลังของผมเป็นที่มาของคำว่า มืดตึดตื๋อ อันเนื่องมาจากโครงการถนนไร้ฝุ่น โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งสาขาการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันถนนเส้นนี้ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีไฟส่องสว่างเข้ามาบางส่วน แต่มีเพียงช่วง กม. ๓+๕๐๐ ถึง ๖ +๕๕๐ ที่ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่างได้ อันเนื่องมาจากมีเอกชนเข้ามาแสดง สิทธิ และยังมีข้อพิพาทกันอยู่ กระทั่งต้องทิ้งฐานเสาไฟไว้ตามรูปที่ท่านได้เห็น ซึ่งเป็น งบประมาณของหลวง จึงขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและ หาข้อยุติโดยเร็วที่สุด
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ น้ำท่วมขังบริเวณใต้สะพานกับรถยูเทิร์นดูโฮม ในจุดนี้มีการ ร้องเรียนและลงพื้นที่ของทุกกระทรวง ทบวง กรม มาหลายยุคหลายสมัยนับ ๑๐ ปี แต่ก็ยัง ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขใด ๆ ได้ จนชาวบ้านและผู้ใช้รถใช้ถนนเส้นนี้จะเอารถไปขาย เศษเหล็กแล้วครับท่าน เพราะทั้งสนิมและช่วงน้ำทะเลหนุนสูง รถก็เสียหายไปหลายคัน จึงขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ทุกมิติ โดยมีโครงการโดยเร่งด่วนก่อนที่จะ เข้าฤดูฝนบวกกับน้ำทะเลหนุน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายซ้ำ ๆ อีกเช่นเคย สุดท้ายครับ รวมถึงสอบถามว่าถนนพระราม ๒ จะสร้างเสร็จเวลาไหน ถ้านับสมัยนั้นถึงตอนนี้ระยะเวลา ก็สามารถสร้างพีระมิดได้ ๓ แห่งแล้วครับท่าน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านเอกธนัช อินทร์รอด ครับ
นายเอกธนัช อินทร์รอด หนองคาย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายเอกธนัช อินทร์รอด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดหนองคาย เขต ๓ หลายพรรคเพื่อไทย
นายเอกธนัช อินทร์รอด หนองคาย ต้นฉบับ
เรื่องแรก ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากนางสาวครสวรรค์ พรมสมบัติ เกี่ยวกับการขอความอนุเคราะห์เรื่องที่ทำกินในพื้นที่ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพานพร้าว ซึ่งนางสาวครสวรรค์กับ ประชาชนส่วนหนึ่งได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งท่านก็ได้ส่งหนังสือมาทางจังหวัดหนองคายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามา พูดคุย และหาทางแก้ไขช่วยเหลือปัญหาที่ทำกินของเกษตรกร ซึ่งทำกินมานานแล้วนะครับ
นายเอกธนัช อินทร์รอด หนองคาย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับการประสานงานจากนายกอนุวรรัตน์ ชานัย นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคายว่า ขอความอนุเคราะห์เข้าร่วม โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ซึ่งตำบลบ้านม่วงประกอบด้วย ๗ หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด ๓,๓๓๓ คน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งทุก ๆ ปี ซึ่งบ้านม่วง หมู่ที่ ๒ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในฤดูฝน จึงขอประสานงานมายังสภาผู้แทนราษฎรของเรานะครับ
นายเอกธนัช อินทร์รอด หนองคาย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ได้รับการประสานงานจากนางเพลินใจ คุโน นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลท่าบ่อ ซึ่งอยากขอปรับปรุงขยายระบบน้ำประปาขององค์การบริหารส่วนตำบล ท่าบ่อ เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างพอเพียง ซึ่งประชากรเริ่มขยายตัวออกมายัง รอบ ๆ อำเภอท่าบ่อ จำนวนประชากรขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าบ่อมีทั้งหมด ๓,๑๕๐ คน มีพื้นที่ในการผลิตน้ำ ๒๔๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของประชาชน จึงขอประสานงานมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ ครับ
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ เขต ๓ จังหวัดนครราชสีมา ขอหารือผ่านท่านประธาน ๔ เรื่องด้วยกัน
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ข้อ ๑ ที่กลับรถถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมามุ่งหน้าไปจังหวัดขอนแก่น ในกิโลเมตรที่ ๔ ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมือง มีรถรอกลับรถที่จุดนี้เยอะมากครับ เป็นอันตรายมากเลยนะครับ ก็อยากจะฝากทางกรมทางหลวงพิจารณาว่า ถ้าสร้างสะพาน กลับรถจะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัยมากขึ้นไหม
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ข้อ ๒ สะพานข้ามทางรถไฟ ตำบลโคกกรวดมุ่งหน้าไปสู่อำเภอขามทะเลสอ ตรงนี้ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก เป็นอันตรายกับพี่น้องผู้ใช้รถใช้ถนน กับเส้นแบ่งเขตการจราจร ก็อยากจะฝากทางกรมทางหลวงแล้วก็แขวงทางหลวงนครราชสีมา ที่ ๒ ลงพื้นที่ไปดู แล้วก็พิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ของท่านด้วย
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ข้อ ๓ สะพานข้ามทางด่วน M6 ช่วงขามทะเลสอมุ่งหน้าสู่ตำบลสีมุม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตรงนี้มีรถที่ข้ามสะพานแล้วชอบลักไก่ ลักไก่เพื่อตัดเข้า เลนจราจรฝั่งตรงข้าม ตรงนี้แม้ว่าจะมีเส้นแบ่งเขตจราจรชัดเจน แต่ว่าก็ยังมีการลักไก่ทำให้ เกิดอุบัติเหตุกันบ่อยครั้งมากเลย ก็ฝากทางกรมทางหลวงพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรกันดี
นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ นครราชสีมา ต้นฉบับ
ข้อ ๔ ประชาชนฝากข้อกังวลมาเยอะมากเลยเรื่องเกาะกูด ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ประเทศไทย โดยอาศัยพื้นฐานกฎเกณฑ์การอ้างอิงจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย กฎหมายทางทะเล ๑๙๘๒ อนุสัญญาเจนิวา ๑๙๕๘ แล้วก็สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ๑๙๐๗ ชี้ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของประเทศไทย ก็อยากจะฝากคณะรัฐมนตรี แล้วก็กระทรวงกลาโหม สื่อสารชี้แจงให้ข้อมูลกับประชาชน ให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่าเราจะไม่เสียดินแดนพื้นที่ ตรงนี้ให้กับใครไป ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านซาการียา สะอิ ขออนุญาตข้ามนะครับ เชิญท่านสุรวาท ทองบุ ครับ
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยัง กระทรวงศึกษาธิการดังต่อไปนี้ครับ
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก ขอให้กระทรวงศึกษาธิการปลดล็อกเงื่อนไขการย้ายครู โดยเฉพาะ ครูต่างสังกัดกับกระทรวงศึกษาธิการ เช่น ครูสังกัดกรุงเทพมหานคร สังกัดองค์การบริหาร ส่วนท้องถิ่น และกระทรวงอื่น ๆ ให้สามารถย้ายเลื่อนไหลไปโรงเรียนในสังกัดกระทรวง ศึกษาธิการได้
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ให้ปลดล็อกเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลาการปฏิบัติงานในโรงเรียนเดิม ของครูทุกโครงการในการบรรจุ ไม่ว่าจะบรรจุด้วยกรณีเหตุพิเศษ ว๑๖ หรือครูโครงการ พิเศษต่าง ๆ เช่น ครูพัฒนาท้องถิ่น ที่กำหนดไว้ว่าจะต้อง ๒ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๘ ปีบ้าง ถึงได้ย้ายนะครับ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีข้อจำกัด เกิดสภาพคล่อง สามารถย้ายจับคู่ได้ หมุนเวียนได้มาก ครูได้กลับภูมิลำเนา มีขวัญกำลังใจ นักเรียนได้ครูที่ สอนตามคุณวุฒิตามสาขาที่ต้องการเร็วขึ้น
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการหาวิธีลดภาระการจัดอาหารกลางวัน จัดให้มีครัวกลาง ให้ครูได้มีเวลาอย่างเต็มที่ในการเรียนการสอน ไม่ต้องมาพะว้าพะวังกับการ จัดซื้อจากการประกอบอาหาร จัดอาหาร แล้วก็เสี่ยงต่อความผิดระเบียบในเรื่องการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง
รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ ขอให้กระทรวงพิจารณาเกี่ยวกับการโอน การเลื่อน แต่งตั้ง การเปลี่ยนสายงาน ให้โอนวิทยฐานะ และให้นับระยะการได้รับวิทยฐานะต่อเนื่องจาก ตำแหน่งเดิม ในการขอเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้นในตำแหน่งใหม่ต่อไปด้วย ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านพชร จันทรรวงทอง ครับ
นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้กระผมมีประเด็นหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่องดังนี้ครับ
นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ จากที่ผมได้หารือปัญหา ภัยแล้งที่ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้วไปที่ ๓ เดือนก่อน ก็ต้องขอขอบคุณทางกระทรวง ยุติธรรมและกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ ดังกล่าว ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าจะจัดทำอ่างเก็บน้ำบริเวณรอยต่อที่หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๙ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ วันนี้ผมจึงขอความอนุเคราะห์ไปยังกรมป่าไม้ ที่ ๘ นครราชสีมา และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างนะครับ แล้วก็ขอให้สำนักชลประทานที่ ๘ นครราชสีมาและ กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสรรงบประมาณ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำด้วยครับ
นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่านนายกสุนทรา พอควร กำนันจรัญ ขับผักแว่น และผู้ใหญ่สุเมธ มงคล ว่ามีหลายพื้นที่ในตำบลวังกะทะ อำเภอปากช่อง ตอนนี้ ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก ชาวบ้านไม่มีน้ำจะกินจะใช้ ต้องขอความช่วยเหลือจาก รถน้ำของทางองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตำบลวังกะทะเป็นตำบลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ผมจึงขอความอนุเคราะห์ของบประมาณจากกรมทรัพยากร น้ำบาดาล เขต ๕ นครราชสีมา ของบประมาณมาขุดเจาะน้ำบาดาลภายในหมู่บ้านตำบลวังกะทะ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
นายพชร จันทรรวงทอง นครราชสีมา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่านนายกฉลอง ทุมขุนทด และกำนัน สิริวัฒน์ หล่อนจันทึก ตำบลดอนเมือง อำเภอสีคิ้ว เพราะตอนนี้หมู่บ้านลาดใหญ่ และหมู่บ้านผาแดง ตำบลดอนเมือง ประสบปัญหาความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ขาดแคลน น้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งท่านนายกและกำนันได้ยื่นหนังสือของบประมาณไปที่กรมทรัพยากร น้ำบาดาล ภาค ๕ จังหวัดนครราชสีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณ วันนี้ผมจึงขอ ความอนุเคราะห์ผ่านท่านประธานไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ภาค ๕ จังหวัดนครราชสีมา ของบประมาณขุดลอกสระสาธารณประโยชน์ และติดตั้งระบบประปาภายในหมู่บ้านลาดใหญ่ และ หมู่บ้านผาแดง ตำบลดอนเมือง อำเภอสีคิ้วด้วยครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านสิริน สงวนสิน ขออนุญาตข้ามนะครับ เชิญท่านอรรถพล ไตรศรี ครับ
นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายอรรถพล ไตรศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ขอหารือท่านประธาน ๒ เรื่อง ผ่านไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ
นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ
เรื่องแรก เกี่ยวกับการการก่อสร้างโรงอาหาร โรงเรียนอนุบาลจังหวัดพังงา เนื่องจากโรงเรียนอนุบาลจังหวัดพังงาสอนมาเป็นเวลา ๗๐ ปี แต่โรงอาหารของโรงเรียนไม่มีนะครับ มีนักเรียนที่มีเขตบริการจังหวัดพังงา ทั้งจังหวัด และมีจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันนี้มีนักเรียนอยู่ประมาณ ๑,๕๖๐ กว่าคน คณะครู ๑๐๔ คน แต่ไม่มี โรงอาหารเนื่องจากเรายังขาดโรงอาหาร ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรี สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ท่านได้ไปติดตามงาน ได้เห็นเหตุการณ์ว่าเด็กนักเรียนต้องนำหม้อ ข้าวหม้อแกงขึ้นไปรับประทานอาหารที่ห้อง ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นแล้วหดหู่นะครับ ก็อยากให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการช่วยพิจารณาในการดำเนินการก่อสร้าง อาคารโรงอาหารดังกล่าวด้วยครับ
นายอรรถพล ไตรศรี พังงา ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ก็เกี่ยวกับอาคารเรียนโรงเรียนบ้านคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งอาคารดังกล่าวสร้างมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเวลา ๕๐ ปีแล้วนะครับ ซึ่งมีนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ป. ๖ ทำการเรียนการสอน ปัจจุบันนี้อาคารดังกล่าวสำนักงาน เขตพื้นที่ศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการศึกษามีนโยบายให้ทุบทิ้งตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แต่ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ ผมได้รับการร้องเรียนจากผู้บริหารโรงเรียน แล้วก็ ผู้ปกครองบอกว่า อาคารดังกล่าวอันตรายมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรื้อถอน และสร้างอาคารใหม่ให้กับนักเรียนด้วย จึงนำเรียนให้ท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านบัญชา เดชเจริญศิริกุล ครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผม บัญชา เดชเจริญศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทยครับ วันนี้มีเรื่องนำเรียนหารือท่านประธาน ๒-๓ เรื่องครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรก เรื่องฝากท่านประธานไปถึงพี่น้องเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา โดยเฉพาะ พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ณ ขณะนี้ลานมันและโรงแป้งมันได้ขายมันในไร่ของท่าน ไปเรียบร้อยแล้วนะครับ ไม่ต้องรีบขุดนะครับ ค่อย ๆ ขุด ช้า ๆ อย่างไรก็ราคาดีตลอดครับ แป้ง ๒๐ ขึ้นไปนี้ตันละ ๓,๐๐๐ กว่าบาทตลอด อยู่ได้ตลอดทั้งปีครับ ไม่ต้องรีบขุด ขุดให้ สะอาดอย่างเดียวครับ พี่น้องเกษตรกรชาวนาก็เช่นกันนะครับ ขณะนี้โรงสีทั้งประเทศได้ ขายข้าวท่านไปหมดเรียบร้อยแล้ว เดือนมีนาคม เดือนเมษายนนี้ราคาดีแน่นอนครับ ขอให้ เกี่ยวให้คุณภาพดีอย่างไรก็ ๑๑,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ บาทอยู่แล้วครับ เรื่องที่ ๔ ขอสไลด์ด้วยครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เป็นเรื่องเกี่ยวกับพี่น้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งประเทศ ท่านกำนันรัฐกานต์ จันทนู ประธาน ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ ได้เชิญผม แล้วก็ท่าน ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมประชุม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งร้องขอมานะครับ ไม่ใช่ร้องเรียน ร้องขอว่า พี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ อย่างเช่น เมื่อช่วงปีใหม่นี้ปฏิบัติหน้าที่ช่วงปีใหม่รถพุ่งชนเสียชีวิต ก็ตายไป ก็ได้แต่พวงหรีด แล้วก็จบไป สำหรับผู้ใหญ่บ้านท่านนี้นะครับ นี่ก็อีกท่านหนึ่งครับ ผู้ใหญ่บ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ เรื่องปราบปรามยาเสพติด ก็บอกผู้ใหญ่บ้านไม่รู้ไม่ได้ บ้านไหนมียาเสพติดต้องรู้ ผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศเสียงตามสาย ดำเนินการทำหน้าที่ทันทีเลยครับ หลังจากนั้นไม่นานมี ๒ ชายฉกรรจ์บุกทำร้ายเลย แล้ว อีกท่านหนึ่ง ท่านที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้นะครับ ขณะประชุม เป็นผู้ใหญ่บ้านดีเด่นที่ทำงานได้โล่ดีเด่น สุดท้ายถูกยิงคาที่ประชุมเลย นี่เป็นการทำงานของ พี่น้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งประเทศ ๒๙๐,๐๐๐ กว่าคน ตอนนี้อยากให้กรมการปกครองช่วย ทำฌาปนกิจของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแบบ อสม. เขาพร้อมใจกันทำทั้งประเทศอยู่แล้วครับ ก็ขอให้ผ่านท่านประธานไปถึงกระทรวงมหาดไทยถึงปลัดกระทรวง ถึงท่านอธิบดีกรมการ ปกครอง โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมการปกครอง ท่านก็มีความเข้าใจอยู่แล้วว่า ขอให้ย้าย ฌาปนกิจของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาอยู่ที่สำนักปกครองท้องที่ ซึ่งจะดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ดี และโดยตรง ก็ขอเสนอให้ทำฌาปนกิจพวกเขาทั้งประเทศพร้อมทำนะครับ เพียงแต่ขอให้ ข้อบังคับในการทำฌาปนกิจนั้นชัดเจนนะครับ แล้วก็แจกจ่ายไป ๘๗๘ อำเภอทั่วประเทศ เขาจะได้ยื่นหนังสือฝากฉบับร่างนี้มาเพื่อให้ทำร่วมกับกรมการปกครอง ให้กรมการปกครอง ช่วยดูหนังสือฉบับนี้ แล้วก็ดำเนินการข้อบังคับให้ชัดเจน แล้วก็สามารถนับ ๑ ทำฌาปนกิจ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งประเทศเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านครับเลยเวลานานแล้วนะครับ สรุปได้แล้วครับ
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เพราะว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้ถูกดูแลจากเรื่องอะไรเลยนะครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ เชิญท่านวรโชติ สุคนธ์ขจร ครับ
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วรโชติ สุคนธ์ขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออนุญาตหารือเกี่ยวกับเรื่องรถไฟไปจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีการผลักดันขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างทางรถไฟ สายลำนารายณ์ไปอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี ๒๕๕๘ ขอสไลด์ด้วยนะครับ
นายวรโชติ สุคนธ์ขจร เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
วันนี้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัด ที่มีเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นอันดับ ๓ ของภาคเหนือ ซึ่งรองจากจังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็ จังหวัดเชียงราย มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเมื่อปี ๒๕๖๖ มีนักท่องเที่ยวชาวไทย ๒,๕๕๕,๐๐๐ คน และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไป ๕๘,๙๐๐ คนโดยประมาณ มีรายได้จากการท่องเที่ยว จากพี่น้องนักท่องเที่ยวชาวไทย ๘,๗๘๐ กว่าล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ๒๓๓ ล้านบาท วันนี้รถไฟสายลำนารายณ์ไปอำเภอหล่มเก่า เมื่อปี ๒๕๕๘ ได้มีการสำรวจไว้ มีค่าก่อสร้าง ประมาณ ๓๗,๐๐๐ ล้านบาท วันนี้บวกลบเพิ่มไปสัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะอยู่ประมาณสัก ๔๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวไปจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้โดยสะดวก มีสนามบินแต่ไม่ได้ใช้ ถ้ามีรถไฟมันก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์เรามีเขาค้อ มีภูทับเบิก แล้ววันนี้มีมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่ง UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนศรีเทพเมืองเก่าเป็นมรดกโลก ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้วก็ดึงดูด นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แล้วก็พี่น้องนักท่องเที่ยวชาวไทย ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้นะครับ ท่านประธานครับ จังหวัดเพชรบูรณ์เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไป วันนี้ผมหวังว่าทางรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะเห็นความสำคัญของ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้าเกิดเราสามารถสร้างรถไฟจากลำนารายณ์ไปหล่มเก่า แล้วเลยไป จนถึงอำเภอท่าลี่ ซึ่งมีด่านพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป. ลาว เราจะสร้าง เศรษฐกิจระหว่างประเทศได้เพิ่มอีกด้วย วันนี้ต้องฝากท่านประธานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ช่วยดูเรื่องรถไฟ ไปเพชรบูรณ์ให้ด้วย ด้วยกราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านคุณากร มั่นนทีรัย ครับ
นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ ผม ทนายไวท์ คุณากร มั่นนทีรัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี อำเภอบางใหญ่ พรรคก้าวไกล วันนี้ขอหารือประธานสภาทั้งหมด ๓ เรื่องนะครับ
นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ พื้นที่สี่แยกบริเวณตลาดชุมพลพาณิชย์ ตำบลบางใหญ่ อำเภอ บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีการจราจรที่หนาแน่นและติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากเป็น พื้นที่หมู่บ้านเยอะ จึงขอปรึกษาว่าทางท้องถิ่นสามารถร่วมกับกรมชลประทาน องค์การ บริหารส่วนจังหวัดช่วยกันหาทางบูรณาการขยายเลนจราจร หรือสะพานข้ามสี่แยกในแยกนี้ ได้หรือไม่
นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ขอปรึกษาท่านประธานผ่านไปยังทางหลวงชนบทว่า ถนนที่ ถูกสร้างขึ้นและมีความต่างระดับสูงดังเช่นภาพบนสไลด์นี้นะครับ
นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ
ภาพที่ ๑ จะเห็นว่ามีลำคลองด้านข้าง ภาพที่ ๒ เห็นไหมครับทางโค้งไม่มีราวกั้น ภาพที่ ๓ ก็ไม่มีราวกั้นเช่นกัน ทั้ง ๓ ภาพนี้ ควรทำแผงกั้นกันตก เพื่อลดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งมันจะมี ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ เช่น ตำบลเสาธงหิน บางแม่นาง บางเลน บางใหญ่ บางม่วง บ้านใหม่ ล้วนมีปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น เพราะเดิมเป็นพื้นที่ทำนา ทำให้มีความต่างระดับของถนนสูงกว่า พื้นที่รอบข้างเป็นอย่างมาก อย่าให้เกิดความสูญเสียอีกเลยครับ
นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ขอปรึกษาท่านประธานไปยังกรมทางหลวงชนบทและสถานี ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีว่า รถที่จอดแช่ตามป้ายรถเมล์สาธารณะ และก่อให้เกิดการจราจร ติดขัดมากขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนนั้น ตามแนวทางหลวงหมายเลข ๙ ดังเช่นวีดิทัศน์นี้นะครับ
นายคุณากร มั่นนทีรัย นนทบุรี ต้นฉบับ
จะสังเกตว่าเห็นว่ารถแท็กซี่จอดแช่ แล้วก็ปลายลิบ ๆ โน่นก็คือเป็นคอขวดนะครับ ก็อยากจะให้มีการใช้มาตรการทางกฎหมาย แก่กรณีดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน สำหรับวีดิทัศน์เมื่อสักครู่นี้ ขอบคุณ คุณสิทธิ เมืองนนท์ก้าวหน้าไปด้วยกัน ก้าวไกลไปกับเรา ผมทนายไวท์ คุณากร มั่นนทีรัย คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านชัยมงคล ไชยรบ ครับ
นายชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชัยมงคล ไชยรบ พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดสกลนคร
นายชัยมงคล ไชยรบ สกลนคร ต้นฉบับ
ขอหารือกับท่านประธานผ่านไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องด้วยผมได้รับการร้องทุกข์จาก นายเรืองยศ อินทรธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสว่าง พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านง่อน หนองพะเนาว์ มิตรภาพที่ ๒๖ ตลอดจนพี่น้องประชาชน ได้รับความเดือดร้อนจากการ ก่อสร้างถนน ๔ เลนของกรมทางหลวงสายสกลนคร-อุดรธานี เนื่องจากว่าสร้างแล้วก็มี เกาะกลางถนน ทำให้พี่น้องประชาชน ๒ ฝั่งถนน อันประกอบไปด้วย บ้านง่อนหมู่ที่ ๒ บ้านโน้นหมู่ที่ ๒๖ บ้านดอนธงชัย แล้วอีกฝั่งหนึ่งคือบ้านหนองพะเนาว์ ได้รับความเดือดร้อน จากการสัญจรไปมา ซึ่งที่ตั้งของทั้ง ๔ หมู่บ้านนั้นมีโรงเรียนบ้านง่อนหนองพะเนาว์ มิตรภาพ ที่ ๒๖ ตั้งอยู่ และโรงเรียนนี้มีนักเรียนทั้งหมด ๑,๑๘๙ คน แบ่งเป็น ๒ ฝั่งอยู่คนละฝั่งถนน ฝั่งหนึ่งเป็นฝั่งประถมศึกษา มีนักเรียน ๖๓๓ คน ฝั่งมัธยมศึกษา ๕๒๖ คน ซึ่งต้องสัญจร ไปมา ข้ามถนนตรงนี้ แล้วก็จุดยูเทริน์นั้นมีระยะห่างกัน ๒ กิโลเมตร ทำให้นักเรียนที่จะ เดินทางไปเรียนนั้นได้รับความเดือดร้อน จึงมีความต้องการอยากสร้างไฟแดงตรงสี่แยกจุดตัด ทางหลวงหมายเลข ๒๒ อุดรธานี-สกลนคร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชนในตำบลสว่างแดนดินนั้นจะได้รับการดูแลจากกระทรวงคมนาคม จะปลุกให้ กรมทางหลวงได้ตื่นขึ้นมารับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน และในท้ายที่สุดนั้นพี่น้อง ประชาชนรอคอยไฟแดงเพื่อให้การสัญจรไปมาสะดวก และไม่มีอุบัติเหตุ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านสรัสนันท์ อรรณนพพร ครับ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพคะ ดิฉัน สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต ๙ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขอนำเรื่องเดือดร้อนของพี่น้องจังหวัดขอนแก่นทั้ง ๓ เรื่อง ผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานรับผิดชอบดังนี้ค่ะ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องแรก ฝากไปถึงกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เรื่องการขอสัญญาณ ไฟจราจรบริเวณสามแยก จากเส้นโยธาธิการ ๒๐๔๖ เขาถนนเส้นหลักทางหลวง ๒๔๔๐ ตำบลเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากบริเวณนี้มีโรงงานเสื้อผ้าขนาดใหญ่ มีพนักงานโรงงานหลายพันคน รวมถึงร้านค้าตลาดรอบ ๆ ทำให้การสัญจรบริเวณสามแยกนี้ เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เพราะไม่มีสัญญาณไฟ และถนนเส้นนี้ก็อยู่ตรงทางโค้งพอดี ทำให้ วิสัยทัศน์ของคนใช้รถใช้ถนนเป็นไปได้ด้วยความลำบาก จึงใคร่ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ค่ะ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ดิฉันได้รับการร้องเรียนจากนายสายัณห์ งวงช้าง นายกเทศมนตรี ตำบลแวงใหญ่ เรื่องการขอขยายถนนทางหลวง ๒๑๙๙ สายชนบท-กุดรู ช่วง กม.๑๖-๓๕๐ ถึง กม.๑๗ ตำบลแวงใหญ่ อำเภอแวงใหญ่ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เพื่ออำนวย ความสะดวกการสัญจรของประชาชนในทุกพื้นที่ จึงใคร่ขอความกรุณากรมทางหลวง มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ ปัญหาชำรุดแตกพังของถนนรอบบึงละหานนา ตำบลละหานนา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ที่เป็นปัญหาซ้ำซาก ดิฉันเคยร้องเรียนไปแล้ว ก็ได้รับการ ซ่อมแซมค่ะ แต่ในลักษณะขอไปที ถนนแตกก็เอายางมาหยอด ผ่านไป ๓-๔ เดือนเท่านั้น ถนนก็พังเช่นเดิม ปัญหาก็สืบเนื่องมาจากการก่อสร้างที่มีปัญหามาตั้งแต่ต้นค่ะ จึงอยาก ฝากความไปถึงกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งหาแนวทางแก้ไขอย่าง เป็นรูปธรรมค่ะ อีกอย่างหนึ่งคือฝากไปถึงการตรวจรับงานที่หละหลวมจากผู้รับเหมาด้วย ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวรรณิดา นพสิทธิ์ ครับ
นางสาววรรณิดา นพสิทธิ์ ชลบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน วรรณิดา นพสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉันมีประเด็น หารือกับท่านประธาน เรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรโคนม เดิมจังหวัดชลบุรีมีเกษตรกร เลี้ยงโคนมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรโคนม เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เกษตรกรโคนมจังหวัดชลบุรีก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น สหกรณ์โคนมบ้านบึงขึ้น เพื่อรวบรวมน้ำนมดิบในจังหวัดมาผลิตแปรรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือการผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียน และจากที่ดิฉันได้ เยี่ยมเยียนพูดคุยกับเกษตรกร ดิฉันก็ได้ทราบค่ะท่านประธานว่า เกษตรกรโคนมได้ประสบ ปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากการบริหารจัดการแบ่งสัดส่วนน้ำนมปัจจุบันสร้างรายได้ไม่คุ้มทุน ส่งผลให้เกษตรกรเลิกทำอาชีพนี้ไปค่ะท่านประธาน ตามมติ ครม.ของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้น โดยให้กรมปศุสัตว์เป็น ๑ ในกรรมการนั้น เพื่อบริหารจัดการรับซื้อน้ำนมจากสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดปริมาณการ รับซื้อน้ำนมแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน โดยกำหนดให้สหกรณ์โคนมบ้านบึงส่งปริมาณน้ำนม ไม่เกิน ๕ ตันต่อวัน ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนการผลิตค่ะท่านประธาน แน่นอนค่ะ ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ก็ทำให้เห็นว่า มีขั้นตอนที่มากขึ้น และเข้มงวดกับคุณภาพน้ำนมที่สูง ถ้าตรวจคุณภาพแล้วไม่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ก็จะถูกตัดสิทธิ ลดสิทธิการจำหน่ายไปให้รายอื่น ซึ่งระเบียบเงื่อนไขดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับเกษตรกรโคนมชาวบ้านที่จะสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ดิฉันจึงขอ เรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้อง และส่งเสริมเกษตรกรโคนมของไทย และเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรโคนมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข ครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ผมมีเรื่องหารือผ่านท่านประธานไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ๑ เรื่องนะครับ คือเรื่องการจัดระเบียบแผงลอยบริเวณตลาดริมเมย ที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ ๑ ของจังหวัดตาก ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจาก นักท่องเที่ยวและประชาชนว่า การค้าขายแผงลอยบริเวณพื้นที่โนแมนแลนด์ ที่ติดกับ ชายแดนไทยไม่เป็นไปตามระเบียบ มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมของผู้ขาย ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่ก็จะเป็น เพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของสินค้า ถ้าเป็นอาหารทะเลก็พวกโกงน้ำหนักไม่ครบ คุณภาพเน่าบ้าง และที่สำคัญก็คือสินค้าปลอดภาษีคือเหล้ากับบุหรี่ เนื่องจากว่ามีการหลอก ให้นักท่องเที่ยว หรือชาวบ้านซื้อในจำนวนที่เกินจากกฎหมายกำหนด แล้วก็มีการจับกุม จากภาครัฐ ก็อยากจะให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตากมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร เป็นกรมสรรพสามิต เป็นฝ่ายความมั่นคงเข้าไปตรวจสอบ เข้มงวดในการจัดการการซื้อขายให้ถูกต้อง การแนะนำให้นักท่องเที่ยวประชาสัมพันธ์ว่า ท่านสามารถซื้อเหล้า บุหรี่เข้ามาในประเทศไทยโดยการอนุโลมได้เท่าไร มีป้าย ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แล้วก็ให้ความดูแลนักท่องเที่ยว เพราะท่องเที่ยวแห่งนี้ เป็นแหล่งสำคัญของจังหวัดตาก ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวแอบสงสัยนะครับว่า ระหว่างผู้ขายกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการรู้เห็นเป็นใจกันหรือเปล่า คนขายปุ๊บก็มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง อันนี้ เขาสงสัยมานะครับ ถ้าจะให้หายสงสัยท่านก็ทำให้นักท่องเที่ยวสบายใจ มีการเข้มงวด ต่อเนื่อง ก็ฝากไปยังทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตากด้วย ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะครูและนักเรียนห้องเรียนสังคมศาสตร์ โรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไป เชิญท่านจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ครับ
นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่จัน ๔ ตำบล พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องจะหารือ ท่านประธาน ๒ เรื่อง จากปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่พี่น้องในเขตพื้นที่นะคะ
นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องแรก คือปัญหาการจัดการ การใช้น้ำร่วมกันของพี่น้องชาวอำเภอแม่สาย ซึ่งแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศก็คือ ประเทศเมียนมาและประเทศไทยเรา ซึ่งที่ผ่านมาดิฉันเคยนำปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับ แม่น้ำสายนี้มาหารือท่านประธานในสภาแล้วนะคะ ก็คือจะเป็นเรื่องของที่น้ำไหลหลาก ท่วมมาโดยที่เราไม่ทราบ ไม่มีสัญญาณเตือน เหตุเนื่องจากว่าต้นน้ำอยู่ที่ฝั่งประเทศ เพื่อนบ้านของเรา อีกทั้งยังมีเรื่องของขยะที่ทิ้งลงมาในแม่น้ำ แล้วก็มากองอยู่ในเขตพื้นที่ของ ประเทศของเรา แล้วก็การกัดเซาะตามตลิ่งด้วยเหมือนกัน อันนี้ก็คือเป็นปัญหาที่ทางพี่น้อง แม่สายได้รับผลกระทบ และล่าสุดเกิดปัญหาน้ำขุ่นโดยที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นเกือบเดือนนะคะ ซึ่งผลการตรวจน้ำขุ่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคก็บอกว่า พบโลหะหนักผสมอยู่ในน้ำด้วย และแหล่งน้ำนี้เป็นน้ำที่ชาวอำเภอแม่สาย การประปาแม่สายใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการที่จะ ให้พ่อแม่พี่น้องชาวแม่สายอุปโภคและบริโภค ซึ่งสร้างความวิตกกังวลกับพี่น้องอย่างมาก ดิฉันจึงหารือ แล้วก็พูดคุยลงพื้นที่กับท้องถิ่นก็มีข้อนำเสนอมาว่า น่าจะมีแหล่งน้ำ ภายในประเทศของเราสำหรับการบริหารจัดการได้ ควบคุมได้ จึงขอหารือท่านประธานไปยัง กรมชลประทาน แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางสำหรับพี่น้องชาวแม่สายด้วยค่ะ
นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เชียงราย ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องปัญหาการถูกจำหน่ายบัตรหัว ๐ ยาวนานกว่า ๑๐ ปี ของพี่น้องอำเภอแม่จัน หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๑๓ ถูกจำหน่ายด้วยเหตุที่ว่า ทุจริต ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการตรวจสอบใด ๆ แล้วก็ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับการคืนสิทธิ ชาวบ้านเดือดร้อน มาก ๆ เสียสิทธิในการเรียน การเดินทาง การทำงาน การใช้ชีวิตในแต่ละวัน จึงขอนำเรียน ท่านประธานไปยังที่ว่าการอำเภอแม่จัน แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เร่งดำเนินการ ให้ชาวบ้านด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ขอเชิญท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ครับ
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๔ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขอหารือท่านประธานไปถึงการติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์พื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่อำเภอ ศรีสัชนาลัย บ้านสะพานยาว แม่สานสามัคคี หมู่ที่ ๑๐ ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งมี ๒๐๐ ครอบครัว มีความเดือดร้อน การติดต่อลูกหลานตลอดจนการติดต่อภายนอก ภายในนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ และอีกบ้านหนึ่ง คือบ้านห้วยระแห้ หมู่ที่ ๒๑ ตำบลแม่สิน อำเภอ ศรีสัชนาลัย มีเกือบ ๑๐๐ ครอบครัว แล้วก็มีไร่นามากมายที่คนเข้า-ออก ยังขาดสัญญาณ โทรศัพท์ จึงกราบเรียนไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ท่านรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง ที่ท่านก็ได้พูดคุยแล้วบอกให้ติดต่อมาเพื่อจะให้ความเมตตา แล้วก็เจ้าของ คลื่น ไม่ว่าจะเป็น TRUE DTAC หรือจะเป็น AIS ก็ขอความกรุณาด้วยครับ ทั้ง ๒ หมู่บ้านนี้
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
อีกเรื่องหนึ่ง ท่านประธานครับ วันนี้ประตูน้ำที่สร้างบนแม่น้ำยมเป็น ๒ ประตู คือประตูเกาะน้อยที่หนองอ้อ แล้วก็ประตูบ้านบานชื่นที่แม่สำ ๒ ประตูใหญ่นี้ที่ได้ พูดคุยในระดับจังหวัดไปแล้วว่า จะมีการออกแบบแล้วก็ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดมา แต่วันนี้ทราบว่าการออกแบบโดยกรมชลประทาน โดยที่สำนักงานก่อสร้าง ขนาดกลางที่ ๔ ที่อำเภอสวรรคโลก ท่านผู้อำนวยการ แล้วก็ผู้อำนวยการสำนักงาน ชลประทานที่ ๔ ที่กำแพงเพชร ท่านได้ดำเนินการออกแบบไปเรื่อย ๆ จนจะใกล้สำเร็จแล้ว แต่ยังติดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการประกอบในการที่จะของบประมาณจาก สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน จึงกราบเรียนถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ท่านรัฐมนตรีธรรมนัส พรหมเผ่า ให้ความกรุณาเร่งรัดในการให้เจ้าหน้าที่ สำนักบริหารโครงการของกรมชลประทานนั้นได้ออกสำรวจจะเป็นการจ้าง หรือสำรวจโดย กรมเองก็ตามแต่เพื่อจะได้ประกอบกับแบบในการออกแบบประตูน้ำ ๒ ตัว ก็คือที่เกาะน้อย หนองอ้อ แล้วก็ที่บ้านบานชื่น ที่แม่สำของอำเภอศรีสัชนาลัย จึงกราบเรียนประธานช่วย ประสานต่อไปครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรียนประธานสภาครับ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๓ พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมมีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๕ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ อันนี้เป็นทางหลวง ๑๑๘ จากจังหวัดเชียงใหม่ถึงจังหวัดเชียงราย บริเวณปากทางเข้าของเขื่อนแม่กวง จริง ๆ แล้ว ตรงนี้เป็นจุดกลับรถ แต่ว่าสภาพทุกวันนี้คล้าย ๆ ราวกับเป็นสี่แยกนะครับ ก็ขอฝากไปถึง กรมทางหลวงช่วยพิจารณานะครับ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นสี่แยกไฟเขียวไฟแดงนะครับ เพราะว่ามันจะผิดหลักของถนนใหญ่ที่ต้องการให้รถวิ่งเร็ว แต่ช่วยติดไฟ ติดป้ายเตือนต่าง ๆ เพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ อันนี้คือทางหลวง ๑๐๐๖ ถนนสันกำแพงสายเก่า ท่านประธาน เห็นในรูปไหมครับว่า เส้นถนนสีต่าง ๆ หายไปหมดเลย อันนี้ก็ฝากถึงกรมทางหลวงเช่นกัน ทาสีถนนใหม่ ตีเส้นใหม่ไม่ใช่เรื่องยากนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ อันนี้คือทางหลวง ๑๐๐๖ เช่นเดียวกันนะครับ บริเวณนี้เป็นบริเวณ หน้าโรงเรียนบ้านหนองโค้ง ด้านขวาคือโรงเรียนบ้านหนองโค้ง และด้านซ้ายคือศูนย์เด็กเล็ก ตอนเช้ากับตอนเย็นรถติด เพราะว่าบริเวณนี้มีนักเรียนอยู่ราว ๆ ประมาณกว่า ๖๐๐ คน ทีนี้ ผมอยากจะมีข้อเสนอไปยังกรมทางหลวง พื้นที่บริเวณหน้าโรงเรียนที่เป็น Footpath แล้วพื้นที่ที่เป็น Footpath หน้าศูนย์เด็กเล็กยังพอที่จะบากเข้าไปเพื่อให้เป็นที่จอดรถ ชั่วคราวให้ผู้ปกครองได้ในการรับส่ง แล้วก็ขอฝากให้พิจารณาทำสะพานลอยเพื่อให้เด็ก สามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๔ อันนี้เป็นแยกสันกลางที่กำลังทำการก่อสร้างทางยกระดับ ๒ ชั้นอยู่ พ่อแม่พี่น้องประชาชนฝากมาครับว่า อยากให้ติดแสงสว่างเพิ่ม แล้วก็ตั้ง Barrier ให้มัน เต็ม ๆ เพราะว่ามันดูเป็นอันตราย ก็เกรงว่าจะเกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนนะครับ
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เชียงใหม่ ต้นฉบับ
เรื่องสุดท้ายครับ การประปา อันนี้ฝากถึงการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด เชียงใหม่ เมื่อเดือนที่แล้วมีการประกาศว่า จะหยุดจ่ายน้ำนะครับ ประกาศ ๑ วัน แต่น้ำ ไม่ไหลไป ๔ วัน ประชาชนตำบลลวงเหนือก็เดือดร้อน ผมพยายามที่จะติดต่อกับทางผู้จัดการ การประปาเพื่อสอบถาม แต่ติดต่อไม่ได้ อันนี้ก็ฝากผ่านท่านประธานสภาผ่านไปยัง การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านถนอมพงศ์ หลีกภัย ครับ
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ถนอมพงศ์ หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เขตเลือกตั้งที่ ๑ พรรครวม ไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับวันนี้ผมมีเรื่องจะหารือเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวัน ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย เราต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 Micron คงเป็นปัญหาหลักครับท่านประธาน อย่างเช่นใน กทม. ในชุมชนขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชีย แหล่งมลพิษทางอากาศ ยังไม่สามารถจะควบคุมได้ ซึ่งเกิดจากการสร้างถนน การสร้างรถไฟฟ้า การสร้างอาคารทุก จังหวัด การสร้างอาคาร การเผาน้ำมันที่เกิดจาก Fossil และที่สำคัญครับท่านประธาน ต่างจังหวัดคือการเผาป่า การเผาป่านี้ท่านประธานต้องทราบนะครับว่า เกิดจากน้ำมือของ มนุษย์โดย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครับ การเผาป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น จึงเกิด สภาพอากาศปิด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงแล้ง ซึ่งตอนนี้ก็มาถึงแล้วครับ ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางบางพื้นที่ และที่สำคัญยิ่งครับ ภาคใต้ ประจวบเหมาะ กับเราได้รับอิทธิพลจากการเผาป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าประเทศอินโดนีเซียหรือไม่ว่า ประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี แล้วก็จังหวัดนราธิวาสเขตของเพื่อนผมครับ ท่าน สส. วัชระ ยาวอหะซัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้น ในช่วงเดือนมิถุนายน เดือนตุลาคมทุกปี ส่วนตรังที่บ้านของกระผมเป็นหางเลข กระผมจึงขอ ฝากท่านประธานสภาที่เคารพไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้หลักผู้ใหญ่ ในกระทรวงต่าง ๆ สุดท้ายครับ ผมจะฝากท่านประธานคือ สมัยท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญเรื่องหมอกควันและฝุ่นละอองทุกพื้นที่ของประเทศ จึงได้ขอมติ เห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการกำจัดฝุ่นละออง PM2.5 Micron เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมหลายด้าน จึงขอฝากท่านประธานสภาที่เคารพไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ให้ได้ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านชัชวาล แพทยาไทย ครับ
นายชัชวาล แพทยาไทย ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง ผมได้รับเรื่อง ร้องเรียนจากแม่ผู้ใหญ่สถาพร หงโสดา ผู้ใหญ่บ้านบ้านตาจ่อย หมู่ ๑๒ ตำบลดอกล้ำ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค อันมีสาเหตุมาจากแหล่งน้ำบนดินที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้านเริ่มแห้งขอด พี่น้องประชาชน ๑๗๓ ครัวเรือน ๖๓๙ คนต้องได้รับความเดือดร้อน ซึ่งนับเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้วครับ ที่พี่น้องต้องทนทุกข์อยู่กับปัญหานี้ อีกทั้งน้ำใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าวก็เค็ม แต่พี่น้องก็จำใจต้อง ขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อมาประทังชีวิต ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากปัญหาข้างต้น ผมได้ประสานไปยังท่านนายกบุญจันทร์ ขันโท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอกล้ำ โดยทางท้องถิ่นได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยเตามายังลำห้วยสากลแหล่ง ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านในทุก ๆ ปี แต่ปัจจุบันในลำห้วยเตาน้ำก็เริ่มแห้งขอด ทำให้ไม่มีแหล่ง น้ำดิบสำรองเพื่อใช้บรรเทาทุกข์ของพี่น้องได้เช่นเดิม หลายฝ่ายได้ปรึกษาหารือหาแนวทาง ในการแก้ปัญหาและเห็นตรงกันว่า แนวทางที่พอจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ นั่นก็คือในระยะยาว ต้องสร้างฝายกักเก็บน้ำและขุดลอกลำห้วยเตา ซึ่งเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตประปาให้หมู่บ้าน ผมจึงขออนุญาตหารือผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยตอบโต้ภัยพิบัติทุกหน่วยงานในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ระยะสั้นให้พี่น้องบ้านดอกล้ำก่อนครับท่านประธาน และในระยะยาวผมขอฝากไปถึง กรมชลประทานให้ช่วยเหลือพี่น้องในการขุดลอกลำห้วยเตา และจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พี่น้องในลำดับต่อไป ท่านประธานครับ หน้าแล้งปีนี้ท่าทางว่าจะ รุนแรงกว่าทุกปี เพราะฉะนั้นฝากหน่วยงาน ฝากรัฐบาลเตรียมรับมือกับสถานการณ์ด้วย ด้วยความเคารพครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านนพพล เหลืองทองนารา ครับ
นายนพพล เหลืองทองนารา พิษณุโลก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม นพพล เหลืองทองนารา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย คนพรหมพิราม ท่านครับวันนี้ผมมีในส่วนเรื่องน้ำในโครงการส่งน้ำที่จะ เชื่อมโยงในพื้นที่ทั้งหมด ๓ จังหวัด ก็คือจังหวัดพิษณุโลก คือในส่วนของอำเภอพรหมพิราม จังหวัดอุตรดิตถ์คือในส่วนของอำเภอพิชัย และจังหวัดสุโขทัยคือในส่วนของอำเภอ กงไกรลาศ อำเภอเมือง อำเภอศรีนคร และอำเภอศรีสำโรง เมื่อ ๒ วันก่อนผมกับ ท่านรวี เล็กอุทัย ได้ไปดูที่จุดผันน้ำ ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ประสานงานจนกระทั่งได้รับงบประมาณมาเพื่อที่จะทำการผันน้ำที่เกาะวารี ซึ่งตั้งอยู่ใน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งโครงการนี้ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถือว่าเป็นวาสนาของ คนที่นี่ ที่ท่านสมศักดิ์ท่านได้พยายามผลักดัน จนกระทั่งได้งบประมาณมาเริ่มทำ แต่ว่าถ้าจะ ให้โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์เอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้องทั้ง ๓ จังหวัดนี้ โครงการนั้นจะต้องมีการ ทำท่อลอดถนน โดยเฉพาะตอนนี้ ซึ่งประตูน้ำเกือบจะเสร็จแล้ว ผันน้ำเกือบจะได้แล้วนะครับ แต่ว่าน้ำยังไม่สามารถจะไปส่งให้พี่น้องเกษตรกรได้ เพราะว่าติดตรงที่จะต้องมีทำช่องลอดถนน เพื่อให้น้ำผ่านในถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑๗ ช่วงบริเวณวัดเกาะวารี ที่อำเภอพิชัย แล้วก็ ถนนทางหลวงชนบทสาย อต ๑๓๒๔ อีกจุดหนึ่ง แล้วถ้าโครงการนี้สำเร็จแล้ว ท่านประธาน ครับ ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานว่า โครงการบางระกำโมเดล ซึ่งเป็นโครงการที่ถือว่า ดีมาก ที่ทำให้พี่น้องนั้นสามารถทำนาได้ถึงปีละ ๒ ครั้ง แล้วก็เวลาหน้าน้ำสามารถเก็บน้ำ เพื่อที่จะบรรเทาอุทกภัยให้กับพี่น้องในภาคกลาง แล้วก็กรุงเทพมหานครได้ ตอนนี้ ยังไม่สามารถจะทำโครงการบางระกำโมเดลได้เต็มศักยภาพ ถ้าเต็มศักยภาพแล้ว โครงการบางระกำโมเดลต้องใช้พื้นที่ทั้งหมด ๓๘๒,๐๐๐ ไร่ แต่ถ้าเกาะวารีนี้เสร็จ ความฝัน ที่อยากจะเห็นโครงการบางระกำโมเดลนั้นเต็มสมบูรณ์ครบรูปแบบจะต้องมีโครงการ ที่มีการผันน้ำจากเกาะวารีนี้เป็นสิ่งสำคัญ กราบเรียนท่านประธานได้ช่วยส่งเรื่องนี้ให้กับ ทางชลประทานได้รีบดำเนินการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องเกษตรกร ใน ๓ จังหวัดด้วย กราบขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวัชระ ยาวอหะซัน ครับ
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วัชระ ยาวอหะซัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต ๑ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอหารือ ๓ เรื่องครับ
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องแรก ก็คือชาวนราธิวาสยินดี ต้อนรับ ท่านอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี คนที่ ๑๙ พร้อมคณะชุดใหญ่ เมื่อวานได้ลงพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส และได้ไปมอบบ้านซ่อมแซมแล้วเสร็จให้กับผู้ประสบภัยเหตุการณ์โกดัง เก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๑ ศพ เมื่อปีที่แล้วครับท่านประธาน ที่บ้าน มูโนะ จังหวัดนราธิวาส และวันนี้ก็ได้เข้าไปเยี่ยมพบปะคณะผู้บริหารกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาสด้วย ชาวนราธิวาสขอบคุณท่านจุฬาราชมนตรีเป็นอย่างยิ่งนะครับ ที่ได้มาเยี่ยมเยือนในครั้งนี้ด้วยนะครับ
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ช่วงวันที่ ๒๗-๒๙ กุมภาพันธ์นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพร้อมคณะ เดินทางเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริม การท่องเที่ยว เที่ยวใต้สุดใจ ณ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส โดยก่อนที่ ท่านเดินทางลงภาคใต้ครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีก็บอกท่านลงใต้บ่อยครั้ง แล้วก็ประทับใจ ในรอยยิ้มความจริงใจของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีศักยภาพพร้อม ไม่ว่าด้าน วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว และสำคัญก็คือทางภาคใต้อาหารอร่อยมากครับ โดยเฉพาะ วันที่ ๒๙ วันพรุ่งนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ไปเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะเขตผม ก็มีหลายแห่ง ที่ท่านจะไป เช่น พุทธมณฑลวัดเขากง ตำบลลำภู อำเภอเมือง แล้วก็ชมตลาดน้ำ แม่น้ำบางนรา เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส แล้วก็วันพรุ่งนี้ท่านจะไปเปิดพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน ที่บ้านศาลาลูกไก่ อำเภอยี่งอด้วย ก็ต้องขอบคุณท่านเป็นอย่างมากนะครับ ที่ได้ไปเยี่ยม นราธิวาสในครั้งนี้
นายวัชระ ยาวอหะซัน นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องสะพานข้ามแม่น้ำบางนรา เดิมเป็น ๒ ช่องทาง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร แต่วันนี้ทั้ง ๒ ฝั่ง เป็นถนน ๔ เลน แต่สะพานแค่ ๒ เลน เห็นควรสร้างใหม่ เป็น ๔ เลน กว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร ให้เป็นกว้าง ๒๐ เมตร ท่านประธานครับ เพื่อจะได้รองรับแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากสะพานไปพระตําหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประมาณ ๕ กิโลเมตรเองครับ แล้วก็สะพานนี้ห่างจากตัวเมือง ๒ กิโลเมตร ก็ต้องฝากไปยัง หน่วยงานกระทรวงคมนาคม ผ่านท่านประธานสภาด้วยครับ ขอบคุณมากครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญ ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาต นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาหารือ ดังต่อไปนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. ขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ พิจารณาสำรวจตรวจสอบและสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมประตูกั้นน้ำ ระบายน้ำ ในพื้นที่ตำบลหารเทา ตำบลดอนประดู่ ตำบลดอนทราย อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ขณะนี้ประตูน้ำหลายแห่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เปิดปิดไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วม การกักเก็บและระบายน้ำส่งผลกระทบต่อพี่น้องในพื้นที่อย่างมาก
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. ขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวง คมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบทได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้กับเทศบาลตำบล บางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เพื่อซ่อมแซมถนนสายท่ามะเดื่อ-บางขวน-หาดไข่เต่า ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรสายหลักของพี่น้องในพื้นที่ ขณะนี้ถนนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นหลุม เป็นบ่อ ทางเทศบาลขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมแซมเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับ พี่น้องประชาชน จนกระทั่งมีความประสงค์ที่จะถ่ายโอนถนนกลับไปยังทางหลวงชนบท จึงขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาจัดสรร งบประมาณในการบริหาร และก่อสร้างศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำอำเภอทุกแห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กพิการได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยปัจจุบันในความเป็นจริง ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำอำเภอ มีการจัดตั้งขึ้นโดยความอนุเคราะห์สถานที่จาก หน่วยงานต่าง ๆ ในอำเภอนั้น ๆ เช่น อบต. เทศบาล หรือโรงเรียน แต่ไม่มีงบประมาณ ในการซ่อมแซมอาคารสถานที่ ไม่มีงบประมาณในการบริหารที่เพียงพอ และบางแห่ง ต้องย้ายสถานที่บ่อยครั้ง ทำให้ศูนย์ศึกษาเหล่านี้ขาดความมั่นคงในการทำงานและให้บริการ นักเรียนพิการ ผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของผม โดยท่านอรรถวุธ แก้วหนูนวล อดีต รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าบอน ได้สะท้อนปัญหาว่า ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงต้องย้ายสถานที่มาแล้วเป็นเวลาเป็นจำนวนกว่า ๑๐ ครั้ง ขณะนี้ ศูนย์ตั้งอยู่ที่เทศบาลป่าบอนเป็นการชั่วคราว และได้ประสานงานไปยังโรงเรียน บ้านห้วยทรายในการใช้พื้นที่โรงเรียน เพื่อจัดตั้งศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำอำเภอ ป่าบอนแล้ว หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและงบประมาณในการ บริหาร จะช่วยให้เด็กพิการในแต่ละพื้นที่ได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค ได้ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม วิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขต ๑ พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมขอนำเรียนท่านประธานด้วยกัน ๒ เรื่องนะครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องร้องเรียนจากท่าน นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร ท่านศรีชัย วีระนรพานิช เรื่องของถนนทางหลวงชนบท หมายเลข ชพ.๕๐๕๗ จังหวัดชุมพร ที่ก่อสร้างถนนเป็นถนนเลียบเมืองของจังหวัดชุมพร ตอนนี้ถนนนั้นเกิดชำรุดเสียหาย โดยเฉพาะไหล่ทางเป็น Footpath เกิดต้นไม้ที่ทางหลวง ชนบทเอามาปลูกไว้ เป็นต้นไม้โตเร็ว เขาเรียกไม้มะฮอกกานี แล้วก็มีลูก เป็นลูกที่โตแล้วร่วง ลงมาโดนรถของพี่น้องประชาชน ถนนเส้นนี้นั้นเป็นถนนที่สร้างสวยงามด้วยและเป็นปัญหา กับพี่น้องประชาชนมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องของความรกร้างของถนน แล้วก็ภูมิทัศน์ ในเรื่องของการขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เพราะฉะนั้นก็ขอนำเรียนท่านประธานฝาก ถึงทางหลวงชนบท สังกัดกระทรวงคมนาคมให้ไปแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยเฉพาะต้นไม้ ถ้ารื้อออกได้ก็ให้รื้อออกนะครับ
นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ชุมพร ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพระครูปลัดวีระยุทธ ทันตจิตโต ท่านเจ้าอาวาส วัดถ้ำเขาโพงพาง แล้วก็ท่านสมชาย แซ่ลิ้ม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลหาดทรายรี ท่านกำนัน เดช เพชรวรรณ ในเรื่องของถนนน้ำกัดเซาะริมทะเล วัดนี้เป็นวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นภูมิทัศน์ที่ตั้งใจที่จะนำให้กับนักท่องเที่ยวได้ดูทัศนียภาพ ในเรื่องของวัดวาอารามตรงนี้ แต่ว่าสร้างโบสถ์ในราคาเกือบ ๒๐ ล้านบาท หรือ ๓๐ ล้านบาท แต่กลายเป็นว่าน้ำเซาะใกล้ จะถึงพระอุโบสถแล้ว ขอวิดีโอนิดหนึ่งนะครับ ไม่มีวิดีโอนะครับ น้ำกัดเซาะอย่างนี้ แต่เราขอ โครงการไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองหลายครั้ง แล้วก็ติดปัญหาในเรื่องของหน่วยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร และอีกหลายหน่วยงาน ขอให้บูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับวัดด้วย แล้วก็ให้กับพี่น้องประชาชนด้วย เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ ผมเชื่อว่าน้ำกัดเซาะริมชายฝั่งทะเลนั้นจะถึงพระอุโบสถอยู่แล้ว ไม่ต้องรอที่จะทำ EIA เพราะว่าใช้เวลาหลายปี ก็ขอนำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาให้กับทางวัดและทางตำบลหาดทรายรีโดยด่วน เลยนะครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ครับ
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ผมได้รับคำร้องเรียนหรือสอบถาม จากท่านอดีต สส. สมชาย สหชัยรุ่งเรือง ให้รีบแก้ไข ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยเร่งด่วน
นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ ชลบุรี ต้นฉบับ
คือปัญหารถติดในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เนื่องจากเขตอำเภอพนัสนิคมนั้นมีเส้นทางเพียงเส้นเดียวเป็นสายหลัก และสายกลาง มีรถวิ่งจากอำเภอบ้างบึง จากอำเภอเกาะจันทร์ไปจังหวัดฉะเชิงเทราไป จังหวัดชลบุรี มีโรงเรียนทั้งหมด ๔ โรงในเขตอำเภอเมืองพนัสนิคม มีนักเรียนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนเศษ ปัญหารถติดเช้าถึงเย็นวันละหลาย ๆ ชั่วโมง อยากจะให้ท่านประธานสภา ทำเรื่องถึงกรมทางหลวงชนบท ทำถึงอำเภอพนัสนิคม ถึง สภ. พนัสนิคม เพื่อหาแนวทางออก รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเร่งด่วน ในทางแก้ไขที่ผมอยากจะนำเสนอ ท่านประธานคือ เนื่องจากเวลาเร่งด่วนนั้นอยากจะให้จราจรหรือตำรวจนั้น เรื่องไฟแดง ให้มากดหรือโดยใช้ระบบ Manual ๒. รถพ่วง รถดินที่วิ่งผ่านในเขตอำเภอเมืองตรงนี้ ช่วงเวลาเร่งด่วนนั้นขอให้หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่แห่งนี้ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว มีหลายท่าน ที่ไปดูใน YouTube แล้วก็เอา YouTube นี้มาลงเพื่อการหาเสียงก็ดี ว่าจะมีทางสายวงแหวน เลี่ยงเมือง รอบเมือง โดยใช้งบประมาณ ๗๓,๑๐๐ ล้านบาท แล้วก็มาบอกว่าปี ๒๕๖๖ จะดำเนินการก่อสร้าง ในวันที่ ๕ มกราคมที่ผ่านมา ผมได้เข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พร้อมทั้งท่านปลัดกระทรวง ท่านอธิบดี แล้วได้สอบถามท่านปลัดกระทรวง และท่านอธิบดีว่าเส้นทางเส้นนี้เพียงแต่กันแนวเขต แล้วก็ปี ๒๕๖๘ นั้นจะให้ออก พระราชบัญญัติการเวนคืน อยากจะนำเรียนพี่น้องประชาชนชาวอำเภอพนัสนิคมให้รับทราบ เนื่องจากมีผู้สับสนเรื่องที่จะสร้างหรือไม่สร้าง
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ครับ
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ผม ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ขอหารือเกี่ยวกับกีฬาคนพิการ ท่านประธาน โดยขอสไลด์ที่ ๑ ครับ
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมขอยกสถิติจำนวนคนพิการ ในประเทศไทยให้ดูสักเล็กน้อยนะครับ ประเทศไทยมีประชากร ๖๖ ล้านคน โดยมีคนพิการ ที่ขึ้นทะเบียนอยู่จำนวน ๒,๒๐๐,๐๐๐ คน ในจำนวนคนพิการกว่า ๒ ล้านคนนั้น จะมีจำนวน ถึง ๘๕๐,๐๐๐ คนอยู่ในวัยทำงานนะครับ แล้วก็มีนักกีฬาหรือบุคลากรที่เกี่ยวกับวงการกีฬา คนพิการมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ขึ้นชื่อว่านักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนยอมทุ่มเท แรงกาย แรงใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดความชำนาญและคว้ารางวัลชนะเลิศเพื่อสร้าง ชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ถึงแม้พวกเขาจะใช้ความพยายาม ความทุ่มเทเท่ากันกลับได้ ผลตอบแทนไม่เท่ากัน เท่าที่ผมได้ศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๕ ท่านประธานจะเห็นจากสไลด์ คือ เงินรางวัลนักกีฬาคนพิการและนักกีฬาปกติจะมีความแตกต่างกันถึง ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราไปแข่งในกีฬาโอลิมปิกนั้นจะได้ ๑๒ ล้านบาทในเหรียญทอง แต่ว่าถ้าเป็น พาราลิมปิกเราจะได้ ๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าเป็นเอเชียนเกมส์ อันนี้จะแตกต่างกันเยอะเลย ได้ ๒ ล้านบาท กับ ๑ ล้านบาท แบบนี้รักของเราไม่เท่ากันหรือเปล่าครับท่านประธาน ผมเข้าใจว่าหลักเกณฑ์เหล่านี้ เงื่อนไขดังกล่าวมีกำหนดการมาหลายปีแล้ว แต่หลักเกณฑ์ ไม่ใช่ปัญหาของหัวใจที่จะใช้เวลาเยียวยา ปล่อยให้ไว้นาน ๆ ก็อาจจะล้าสมัยครับ ผมจึง อยากเรียนท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุน พัฒนากีฬาว่า มีเหตุผลในการกำหนดเงินรางวัลนักกีฬาอย่างไร และในอนาคตพอจะมีโอกาส ที่จะปรับหลักเกณฑ์ส่วนนี้หรือไม่ หรือมีแนวทางที่จะส่งเสริม สนับสนุนประเด็นดังกล่าว เพื่อที่จะยกระดับให้กีฬาคนพิการเท่าเทียมกับนักกีฬาปกติ อีกทั้งอยากจะผลักดันการ จ้างงานคนพิการในสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ โดยสนับสนุนให้ผู้พิการที่มี ความรู้ความสามารถได้แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การทำงานในชมรม สโมสรสมาคมกีฬาต่าง ๆ และอุตสาหกรรมกีฬาด้วย จึงขอขอบคุณไปยังรัฐบาลที่มีมาตรการ การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐในอัตราร้อยละ ๑ คือลูกจ้าง ไม่ใช่คนพิการ ๑๐๐ คนต่อคนพิการ ๑ คน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผมเชื่อว่าคนพิการมีฝีมือ ไม่เป็นสองรองใครเหมือนกันครับท่านประธาน ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ มีสมาชิก ๒ ท่านที่ผมอ่านข้ามไป เชิญท่านซาการียาครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายซาการียา สะอิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ประกอบไปด้วยอำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุคิริน พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานครับ ผมมีเรื่องหารือท่านประธาน อยู่ ๒ เรื่องหลัก ๆ ครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องแรก คือเรื่องน้ำครับ หลังจากน้ำท่วมหนักที่ผ่านมา อันนี้มาแล้งอีกแล้ว นะครับท่านประธาน หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ จะมีฝายน้ำหลายแห่ง โดนน้ำซัดทำลายเสียหายหนักมากครับท่านประธาน ฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างเร่งด่วน เช่น ฝายน้ำประปาบ้านกาหนั๊วะ ตำบลกาลิซา บ้านซีโป บ้านปาเซร์ บ้านกูจิงลือปะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องน้ำอีกเรื่องหนี่งนะครับ เรื่องน้ำประปาที่เทศบาลตำบลสุคิรินได้รับเรื่อง ร้องเรียนจากนายลุอี ฮาบิ รองนายกเทศมนตรีตำบลสุคิริน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชากร เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านขาดน้ำกิน น้ำใช้ โดยเฉพาะในช่วงแล้ง ฝากท่านประธาน ไปยังการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ช่วยขยายเขตและขยายขนาดท่อประปา ในพื้นที่ด้วยครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องของการเงินการธนาคาร ในอำเภอจะแนะ ซึ่งเป็นอำเภอ ในเขตพื้นที่ผม จังหวัดนราธิวาสยังไม่มีธนาคารสักแห่งเลยนะครับท่านประธาน ทำให้ ชาวบ้านมีความยากลำบากมาก เวลารัฐมีนโยบายอะไรที่เกี่ยวกับการเงิน ต้องเดินทาง ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ระยะทางก็ไกล เส้นทางก็ยากลำบากนะครับ ก็เลยอยากจะให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝากท่านประธานไปยัง ธกส. ไปยังกระทรวงการคลังช่วยเปิดสาขาที่ อำเภอจะแนะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนในพื้นที่ เพราะคนในพื้นที่จะได้ใช้จ่ายได้ สะดวกนะครับ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ท่านสิริน สงวนสิน อยู่ไหมครับ ไม่มี เป็นท่านสุดท้ายแล้วนะครับ เป็นอันว่า การหารือของเราจบเพียงเท่านี้นะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๖๑ คน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรียนท่านสมาชิกครับ ขณะนี้มีสมาชิกลงชื่อมาประชุมแล้วจำนวน ๒๗๑ ท่าน ครบองค์ประชุม ผมขอเปิดการประชุมและดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุม ไม่มี
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มี เชิญท่านศรัณย์ครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ผมขอเสนอเปลี่ยนระเบียบ วาระการประชุมครับ ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ ๕๔ (๒) โดยขอนำระเบียบวาระที่ ๗ การเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภาแทน ตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ เลื่อนขึ้นมาพิจารณาต่อจากระเบียบวาระที่ ๕.๒ ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมาชิกต้องรับรองญัตติด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ด้วยมีสมาชิกเสนอญัตติตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๒) ให้มีการเปลี่ยนระเบียบวาระ โดยเลื่อนระเบียบวาระที่ ๗ ขึ้นมาพิจารณาต่อจาก ระเบียบวาระที่ ๕.๑ จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ ถ้าไม่มีสมาชิกท่านใดเห็น เป็นอย่างอื่น ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยนระเบียบวาระตามที่ผู้เสนอญัตติ เราก็จะ ดำเนินการตามนี้ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เรื่องต่อมาครับ มีเรื่องของการเสนอเปลี่ยนกรรมาธิการใช่ไหมครับ ขอเชิญ พรรคก้าวไกลครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณท่านประธานครับ ผม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เนื่องจากว่า สส. ทิสรัตน์ เลาหพล ได้ลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการอยู่ ร่วมกันในยุคปัญญาประดิษฐ์ ผมขอเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ในตำแหน่งที่ว่างลง ๑ ท่าน คือท่านธัญธร ธนินวัฒนาธร ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ เป็นอันว่าท่านธัญธรใช่ไหมครับ เพราะว่ารายชื่อที่มาจะเป็นอีก รายชื่อหนึ่ง เดี๋ยวรบกวนฝ่ายเลขานุการตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่งด้วยนะครับ รายชื่อที่ ผมได้รับมา จะเป็นท่านสยาม หัตถสงเคราะห์ ขอยืนยันอีกสักครั้งได้ไหมครับ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ได้ครับท่านประธาน ท่านสยาม หัตถสงเคราะห์ เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้อยู่แล้ว อีกครั้งหนึ่งนะครับ แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญการอยู่ร่วมกันในยุคปัญญาประดิษฐ์ ในตำแหน่งที่ว่างลง สัดส่วน ของพรรคก้าวไกล ธัญธร ธนินวัฒนาธร ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขออภัยครับ ผมอ่านผิดพลาดเอง ท่านสยามเป็นประธานกรรมาธิการ ขอโทษครับ เรียบร้อยนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องด่วน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
- ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมายังสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓๓ (๑) และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ ผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ แล้ว ทั้งนี้มีร่างพระราชบัญญัติ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ของนายศักดิ์ดา แสนมี่ กับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๒,๘๘๘ คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องด่วนที่ ๒ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการตามข้อบังคับ ๑๑๘ และได้ส่งคืนสภา ผู้แทนเพื่อพิจารณาพร้อมกัน ประกอบกับมีร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกัน อีก ๓ ฉบับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ร่างที่ ๑ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... (นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๔,๙๕๔ คน เป็นผู้เสนอ) ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระที่ ๖.๑
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ร่างที่ ๒ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ.... (นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ) ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระที่ ๖.๒
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ร่างที่ ๓ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... เสนอโดยท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช กับคณะเป็นผู้เสนอ ยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ซึ่งเราเห็นว่าร่างทั้ง ๕ ฉบับ สามารถพิจารณาและลงมติรวมกันได้ แต่เนื่องจาก ร่างของท่านปิยะรัฐชย์กับคณะ ยังไม่ได้บรรจุในระเบียบ และข้อบังคับข้อ ๒๘ กำหนดให้ ที่ประชุมต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องที่อยู่ในระเบียบวาระเท่านั้น ดังนั้นผมขอปรึกษาที่ประชุม เพื่อขอนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๕ ฉบับ รวมของท่านปิยะรัฐชย์มาพิจารณาพร้อมกันตาม ข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) และข้อ ๒๘ และลงมติในวาระที่ ๑ รวมกันตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ วรรคสาม จะมีสมาชิกท่านใดเห็นเป็นอย่างอื่นไหมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถ้าไม่มี ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบตามนี้ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติของนายศักดิ์ดา (ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) ที่คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณานั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รับทราบข้อสังเกตและผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกาเสนอ และได้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติพร้อมให้ความเห็นของคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้ส่งความเห็นของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ได้วางให้กับสมาชิก แล้วครับ ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้มีสิทธิ เลือกตั้งทั้ง ๔ ฉบับ เสนอร่างพระราชบัญญัติมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตาม รัฐธรรมนูญ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ทั้ง ๔ ฉบับเสร็จแล้วครับ และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการรับ ฟังความเห็นและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิ เลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๒ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ได้แจ้งให้กับสมาชิกครับ สำหรับร่างที่ยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ ขอเชิญเจ้าหน้าที่แจกเอกสารเพื่อประกอบการ พิจารณา และในการนี้ผมได้อนุญาตให้บุคคลภายนอกซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ข้อที่ ๗๖ ขอเชิญผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้ เข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุม ๑. นางสาวอัญชลี ทำนุรัฐ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ๒. นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและนโยบาย สาธารณะ ๓. นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วัฒนธรรมครับ และในการนี้ร่างพระราชบัญญัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผมอนุญาตให้ผู้แทนของ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบุคคลภายนอกเข้าเสนอและชี้แจงต่อที่ประชุมตามข้อบังคับ ขอเชิญ ผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้เป็นผู้เสนอและชี้แจงในที่ประชุมครับ ๑. นายศักดา แสนมี่ ๒. นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ๓. นายชูพินิจ เกษมณี ๔. นายยงยุทธ สืบทายาท ๕. นางนิตยา เอียการนา ๖. ท่านสุริยันต์ ทองหนูเอียด ๗. นายวิทวัส เทพสง ๘. นายวรวิทย์ นพแก้ว ๙. นางสาววิไลลักษณ์ เยอเบาะ และ ๑๐. นายถาวร หลักแหลม วันนี้สภาเรางดงามมากนะครับ มีการแต่งกายตามชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เพื่อนสมาชิกได้ เอกสารครบถ้วนแล้วนะครับ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติของท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เมื่อที่ประชุมพร้อมแล้ว ผมขอเชิญผู้เสนอ ตามระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ ๑ ระเบียบวาระที่ ๖.๑ และระเบียบวาระที่ ๖.๔ และร่างของท่านปิยะรัฐชย์ ซึ่งยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระแถลง หลักการและเหตุผล ส่วนร่างฉบับของท่านศักดากับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้เสนอสามารถอภิปรายในประเด็นที่คณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกต และผลการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีที่ขอรับร่างพระราชบัญญัติไปพิจารณาก่อนรับหลักการ ขอเชิญผู้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๔ ฉบับ เริ่มจากคณะรัฐมนตรี เรียนเชิญครับ
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ กระผม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้มาเสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... เพื่อให้ที่ประชุมสภา ผู้แทนราษฎรได้พิจารณา โดยมีหลักการและเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต้นฉบับ
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ต้นฉบับ
เหตุผล โดยที่มาตรา ๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติ ให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย ดังนั้นสมควรให้มีกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ขึ้นนะครับ ทั้งนี้ ขอให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านได้กรุณาแสดงความคิดเห็นที่ หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อจะยังผลให้ มีการบังคับใช้ในการคุ้มครอง ส่งเสริม และความเสมอภาคแก่ทุกชนชาติพันธุ์ต่อไปด้วย จักขอบพระคุณมาก ขอบพระคุณมาก
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ร่างที่ ๒ ขอเชิญท่านสุริยันต์ ทองหนูเอียด กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๔,๙๕๔ ท่าน เชิญครับ
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ๑๔,๙๔๕ รายชื่อ ขอนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่า พื้นเมือง ฉบับที่ .. พ.ศ. .... โดยมีหลักการนี้
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
เหตุผล ประเทศไทยเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณี วัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตาม ภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง กลุ่มที่อยู่อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะแก่ง หรือชายฝั่ง ซึ่งดำรงชีวิตด้วยการประกอบการประมง และมีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ทางทะเล กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งดำรงชีวิตโดยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และกลุ่มที่ตั้ง ถิ่นฐานอยู่บนพื้นราบ ซึ่งมีวิถีชีวิตกลมกลืนกับคนไทยโดยทั่วไป แต่ยังคงอัตลักษณ์และ วัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติ รับรองให้บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ ได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมายเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุความแตกต่างทางเชื้อชาติ มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบ พิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน มีเสรีภาพในการเดินทาง และการเลือกถิ่นฐานที่อยู่ มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กรชุมชนหรือหมู่คณะอื่น และรัฐธรรมนูญยังรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม ของทั้งท้องถิ่นและของชาติ มีสิทธิจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศไทย ยังให้การรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชน และยังให้สัตยาบันเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ อนุสัญญาว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย ต้องถือปฏิบัติด้วย เนื่องจากการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจากอดีตจนถึง ปัจจุบัน ส่งผลให้วิถีชีวิต อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี ภาษาดั้งเดิมของ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้เริ่มจางหายไปจากสังคม และยังถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุความแตกต่างแห่งเชื้อชาติและภาษา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในประเทศไทยยังมีความด้อยสิทธิ และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะของบุคคล การมีสิทธิอาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งมีการทับซ้อนกับ พื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของราชการที่ไม่สามารถอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้ ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ขาดการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน รวมทั้งขาดการมี ส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการ หรือกิจกรรมของรัฐหรือเอกชนที่อาจกระทบต่อสิทธิ วิถีชีวิตและชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติฉบับนี้ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณ เชิญท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่ม ที่มีอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ จารีตประเพณี รวมทั้งวิถีชีวิตที่ แตกต่างออกไป ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง กลุ่มที่อาศัยตั้งถิ่นฐานบนเกาะแก่งหรือตาม ชายฝั่ง มีอาชีพทำการประมง กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าที่ยังคงดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาอยู่กับป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นราบ ซึ่งกลมกลืนกับคนไทยโดยทั่วไปแล้วนะครับ แม้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ จะได้บัญญัติรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองเอาไว้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตามนะครับ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมืองในประเทศไทยก็ยังคงมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิบรรดา กฎหมายต่าง ๆ กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายและนโยบายบางประการที่จำกัดสิทธิ ในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับป่าไม้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และมีโอกาสในการพัฒนา คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยขึ้น โดยผมจะขออภิปรายชี้แจง รายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้ ขอสไลด์นะครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมจะขอเริ่มต้นเล่าเรื่อง ของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งนะครับ ชื่อพ่อหลวงสมชาติ หรือที่รู้จักกันในนามผู้ใหญ่สมชาติ รักษ์สองพลู เป็นผู้ใหญ่บ้านที่บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง บ้านกลางนี้ เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีอายุกว่า ๓๐๐ ปีแล้ว ปัจจุบันมีประชากร ๗๗ หลังคาเรือน ๓๐๐ กว่าคน ชาวปกาเกอะญอที่นี่ยังคงมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ผูกพันอยู่กับผืนป่า ผืนดิน และสายน้ำ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนา โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เก็บหาหน่อไม้ และผลผลิตที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงเลยทีเดียวก็คือ มะแขว่น ชาวบ้าน ได้จัดการผืนป่าของชุมชนรวมประมาณ ๑๖,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าชุมชน ๑๒,๐๐๐ ไร่ เกินกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ทำกิน ๔,๐๐๐ ไร่ เป็นทั้งที่นาแล้วก็ที่ไร่หมุนเวียน แต่ได้ใช้ทำกินจริง ๆ ในแต่ละปี เฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ ไร่ต่อปีเท่านั้นเอง ในอดีตรัฐได้ให้นายทุนสัมปทานป่าไม้ ในพื้นที่ป่าบ้านกลางนี้ ๓ ครั้งจนป่าไม้หมด ต่อมาชาวบ้านช่วยกันดูแลจนป่าไม้สามารถที่จะ ฟื้นฟูกลับคืนมาได้ อย่างไรก็ตาม พ.ศ. ๒๕๓๔ รัฐได้ดำเนินการเตรียมประกาศเป็นอุทยาน แห่งชาติทับชุมชนและที่ทำกิน แต่ชาวบ้านคัดค้านนะครับ เพราะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ กำลังทำลายวิถีชีวิตของชุมชน ทุกวันนี้ชาวบ้านบ้านกลางอยู่ท่ามกลางสารพัดปัญหาที่ยัง ไม่มีทางแก้ ถนนเข้าหมู่บ้านยังเป็นดินบางส่วน ในหน้าฝนเดินทางเข้าหมู่บ้านด้วยความ ยากลำบาก ไม่ได้รับงบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านหลายปีแล้วนะครับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๔ ชาวบ้านเคยจะไปเอาไม้ในป่าชุมชนมาสร้างโบสถ์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ ดำเนินคดี วิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาเห็ด หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ ทำไร่ทำนา ทำสวน สร้างบ้าน ทุกอย่างผิดกฎหมายหมด นี่คือความ เดือดร้อนของชาวบ้าน แล้วเรื่องราวเหล่านี้มันสะท้อนอะไรล่ะครับ สไลด์ต่อไปครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ประวัติศาสตร์ ๓๐๐ ปีของชุมชนบ้านกลางถูกเลือนหายไป หรือแทบไม่มีความสำคัญเลยนะครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาวปกาเกอะญอ ถูกตีความว่า เป็นภัยต่อสังคม ถูกเบียดขับออกจากสิทธิและนำมาสู่การทำให้เป็น อาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำกิน การเก็บหาของป่า การนำไม้มาสร้างบ้าน แม้กระทั่ง การสร้างถนนสร้างสะพานเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดว่า ผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ทำให้สิทธิและ โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านบ้านกลางถูกจำกัด ลงไป แล้วมีคนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับชาวบ้านที่บ้านกลางนี้อยู่ในสังคมไทยมากน้อย เพียงใดครับ ผมขอแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบาย ของรัฐ ตัวเลขอาจจะเยอะกว่านี้นะครับ นี่เป็นเพียงตัวเลขที่ผมยกมา แล้วก็ที่ปรากฏ กลุ่มที่ ๑ ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเฉพาะใน ๒๐ จังหวัดภาคเหนือ จำนวน ๑๐ กลุ่ม มี ๓,๔๕๘ หมู่บ้าน ประชากร ๑.๑๒ ล้านคน เป็นกลุ่มชาวเล ๔๖ ชุมชน ๑๔,๐๐๐ คน และ กลุ่มมานิซึ่งแบ่งเป็น ๑๕ กลุ่มครอบครัว ๓๐๐ กว่าคน อันนี้คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับ ผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐโดยตรง อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่กลมกลืนกับ สังคมไทยแล้วประมาณ ๔-๕ ล้านคน กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและ นโยบายโดยตรง แต่วิถีชีวิตวัฒนธรรมคุณค่าบางอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ ลบเลือน หายไปแล้ว เป็นที่น่าใจหายของคนผู้เฒ่าผู้แก่นะครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สไลด์ต่อไป อันนี้เป็นข้อมูลเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ๑๐ กลุ่ม ปัจจุบัน มีอยู่ ๓,๔๕๘ หมู่บ้าน หมู่บ้านตรงนี้หมายถึงหมู่บ้านที่เป็นทางการนะครับ ยังไม่รวมถึง หย่อมบ้าน หรือว่าบ้านบริวาร ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านี้ รวมกัน ๑.๑๒ ล้านคน อันนี้ก็ยังไม่ได้ เป็นตัวเลขที่ถูกต้องเสียเลยทีเดียว แต่อย่างน้อยก็คือประมาณเท่านี้ ทำไมเราต้องมีกฎหมาย คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นการเฉพาะ ตามที่ผมได้บอกไปนะครับ แม้ว่าเราจะมีกฎหมาย ที่รับรองความเท่าเทียมกันอย่างเป็นทางการแล้ว แต่กลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ด้อยพัฒนา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ ที่ไม่เป็นธรรม กดขี่ กดทับ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิจริง ๆ กฎหมายและนโยบายที่เลือกปฏิบัตินี้ ผมย้ำนะครับว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ และปัญหา ประการหนึ่งก็คือเกิดขึ้นมาจากอคติ ซึ่งเป็นผลมาจากการประกอบสร้าง ผลิตซ้ำ และตอกย้ำ อัตลักษณ์ที่เป็นลบของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้านลบที่ถูกตอกย้ำซ้ำ ๆ ในสังคมไทยมีอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุด ๓-๔ ประการนะครับ ประการที่ ๑ ก็คืออพยพเข้ามาใหม่ ประการที่ ๒ คือเป็นภัยต่อ ความมั่นคง โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น ประการต่อไปก็คือเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และประการสุดท้ายก็คือ การทำลายป่า สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะการที่ไป ตอกย้ำให้แก่คนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ในสมัยอดีตคำว่า ชาวเขาทำลายป่า คำว่า ชาวเขา ค้ายา อยู่ในแบบเรียนของนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะการตอกย้ำในหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ เมื่อตอกย้ำบ่อย ๆ สังคมไทยก็ซึมซับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงนะ ทำให้มีสภาพที่เรียกว่า Engrave หรือการแทรกซึม หรือในภาษาไทยเราจะเรียกว่า ฝังเข้ากระดูกดำ ทำให้คนมี ทัศนคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ว่า เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาใหม่ ค้ายาเสพติด แล้วก็ทำลายป่า แม้คนส่วนหนึ่งจะไม่เชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในสำนึกของคน เมื่อฝังอยู่ในสำนึกของคน สิ่งเลวร้ายที่ตามมาก็คือ กฎหมายและนโยบายที่ตั้งอยู่บนความคิดความเชื่อเหล่านี้ แล้วในยุคสมัยปัจจุบันการเลือกปฏิบัติ อคติมันไม่ได้ตรงไปตรงมา มันมีความสลับซับซ้อน และมีลักษณะที่แฝงเร้น เราไม่สามารถเห็นได้หรือว่ามีการเลือกปฏิบัติ พูดด้วยคำพูด แบบตรงไปตรงมา เส้นแบ่งในการเลือกปฏิบัติจึงเบาบาง แต่สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือ คุณภาพชีวิต ที่ตกต่ำ แล้วก็การปฏิเสธสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ และแนวทางแก้ไขปัญหาในการเลือก ปฏิบัติเหล่านี้ทำอย่างไรได้บ้าง ในทางหลักการสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ยาก แม้กระทั่งอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ ทางเชื้อชาติ หรือมีพื้นฐานมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่ก็มีแนวทางอยู่ นะครับ ซึ่งต้องทำอย่างน้อย ๒ ประการ ประการแรกก็คือ มีกฎหมายรองรับให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีความชอบธรรมอย่างชัดเจน อันนี้เป็นประการแรก การมีกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะทำ ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิโดยทันที แต่อย่างน้อยที่สุดก็รับรองความชอบธรรม ทำให้เกิดพื้นที่ ในการเจรจาต่อรอง ประการต่อมาก็คือ การทำให้คนในสังคมไทยตระหนักรู้ ตระหนักว่า สิ่งที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านลบเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา แล้วก็ตอกย้ำ เข้าไป มันไม่ได้เป็นความจริงอย่างนั้นเสียทั้งหมด มันอาจจะมีบางคนที่อพยพเข้ามาใหม่จริง แต่ไม่ใช่ทุกคน อาจจะมีบางคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง แต่นั่นเป็นเพียงแค่บางคน แล้วก็ ส่วนน้อยมาก คนส่วนใหญ่เขามีวิถีชีวิตปกตินะครับ โดยเฉพาะคนนอก คนที่มีอำนาจต้อง ตระหนักรู้นะครับว่า สิ่งที่เขารับรู้ในด้านลบของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้าง ขึ้นมา ผู้มีอำนาจต้องตระหนักรู้ในสิ่งเหล่านี้นะครับ ตัวอย่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ของต่างประเทศมีอะไรบ้าง ตอนนี้เรากำลังผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ถามว่า เราทำกันเองโดยลำพังใช่ไหม ผมยืนยันว่า ไม่ใช่ ประเทศต่าง ๆ ในสังคมโลกนี้ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนา เขาได้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้มานานแล้วนะครับ ผมขอ ยกตัวอย่างประเทศแคนาดา มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิในที่ดินของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมาเป็น เวลาเกินกว่า ๓๐ ปีแล้ว ประเทศญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ประเทศนิวซีแลนด์ก็เหมือนกัน ใกล้มา บ้านเราก็คือประเทศมาเลเซียก็มีเหมือนกันนะครับ ประเทศออสเตรเลียอันนี้ก็มีเหมือนกัน กฎหมายเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิในที่ดิน และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วกฎหมายฉบับที่ผมเสนอดีต่อสังคมไทยอย่างไร รวมถึงกฎหมายฉบับอื่น ๆ ด้วย กฎหมาย ลักษณะนี้จะดีต่อสังคมไทยอย่างไร
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการแรกก็คือ ปลดล็อกปัญหาสิทธิในที่ดิน รับรองให้มีสิทธิในที่ดิน ผมย้ำนะครับว่า มันเป็นคนละเรื่องกันกับการออกโฉนด การรับรองให้มีสิทธิในการใช้ที่ดิน และทรัพยากร
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ คือส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการต่อไปก็คือ รักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่น
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการต่อไปคือ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มาเป็นทุน ในขณะนี้เราพูดถึง Soft Power นี่เป็นโอกาสดีที่สุดที่เราจะยก Soft Power มา อยู่ในกฎหมาย แล้วก็ทำให้หน่วยงานรัฐสามารถสนับสนุนและส่งเสริมได้อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการต่อไปคือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนทำการพัฒนา ชุมชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการสุดท้ายก็คือ การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ดีต่อสายตาของ สังคมโลก
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับที่ผมเสนอก็มีรายละเอียดเยอะ แต่ผมขอให้ ภาพกว้าง ๆ อยู่ ๓ ประการ ประการที่ ๑ ก็คือการกำหนดให้คุ้มครองสิทธิเป็นการเฉพาะ ประการที่ ๒ คือสร้างกลไกทำหน้าที่เป็นตัวแทน และประการที่ ๓ ก็คือการประกาศพื้นที่ คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาถึงกรณีแรก
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ การกำหนดให้ทำการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ผมได้บอกไปนะครับ แล้วผมก็อยากจะย้ำว่า แม้เราจะมีกฎหมายแม่บทกำหนดให้รับรองคุ้มครองสิทธิของกลุ่ม ชาติพันธุ์ในลักษณะที่เสมอภาคเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป แต่ผลที่ตามมาก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์ ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ หรือไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องกำหนดเพิ่มเติม ก็คือการห้ามเลือกปฏิบัติหรือการสร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะสื่อกับปฏิบัติการของ หน่วยงานรัฐ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ก็คือสิทธิในวัฒนธรรม วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มันมี มากกว่าเพียงแค่เสื้อผ้า หรือบทเพลง มันมีเรื่องวิถีชีวิต มันมีเรื่องอาชีพ มันมีเรื่องที่ดิน มันมี เรื่องอื่น ๆ ด้วยนะครับ ประการต่อไปก็คือ สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่ผมได้ ยกตัวอย่างกรณีของพ่อหลวงสมชาติที่บ้านกลาง วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ รวมทั้ง กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็คือการใช้ที่ดินที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากระบบที่กฎหมายปัจจุบัน รับรอง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรจากป่าด้วย เมื่อกฎหมายไม่รับรอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นกฎหมายที่เราพยายามออกแบบมาใหม่ ก็คือพยายามที่จะหาช่องทางในการ รับรองสิทธิในที่ดินและสิทธิในการใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ และสุดท้ายก็คือสิทธิในการ กำหนดตนเอง กรณีนี้ปัจจุบันปรากฏว่ามีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีทรัพยากรอยู่ จะถูกรัฐอนุญาตให้เอกชน หรือแม้กระทั่งโครงการของรัฐเองไปดำเนินการ อย่างเช่น การทำเหมือง สร้างเขื่อนอย่างนี้นะครับ ทำให้กระทบต่อการใช้ที่ดิน ใช้ทรัพยากร และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในชุมชนตรงนั้น เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าไปดำเนินการ มันก็จำเป็นต้องมีการกลั่นกรอง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องให้ความสำคัญแก่ชุมชนตรงนั้นก่อน
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๓ ก็คือกลไกที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทน ตามที่ผมได้บอกไปนะครับว่า แม้กฎหมายจะรับรองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากก็ไม่มีโอกาส เข้าถึงสิทธิที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ได้จริง ๆ รวมทั้งเมื่อถูกเลือกปฏิบัติหรือได้รับผลกระทบ ไม่สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการมีองค์กรตัวแทนที่จะมาทำ หน้าที่ตรวจสอบ แล้วก็ผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิได้ จึงเป็นเรื่องที่ยัง จำเป็นอยู่นะครับ แล้วก็สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือ สังคมกลุ่มชาติพันธุ์เวลามีปัญหา ไม่ว่า จะเป็นกับหน่วยงานรัฐหรือกับใครก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นปัญหามากก็คือ ข้อมูลที่จะเอามายืนยัน ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิหรือคุ้มครองสิทธิของตัวเอง เพราะสังคมกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสังคม ที่ไม่เขียน หรือเราเรียกว่า Unlegends Unwritten Society ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมา ทุกอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์ จารีตประเพณี วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่เล่า สืบทอดถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก แล้วก็ผ่านปฏิบัติการต่าง ๆ แต่ไม่มีการเขียนเอาไว้ เพราะฉะนั้นในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิจึงมีปัญหามาก และข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือจึงมี ความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งต่อรัฐและต่อชุมชนเอง และข้อมูลเหล่านี้จะมีความน่าเชื่อถือก็ ต่อเมื่อถูกจัดทำโดยหน่วยงานกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนะครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการสุดท้าย แล้วก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกฎหมายฉบับนี้ที่ผมอยากจะย้ำ ก็คือ การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การประกาศตรงนี้ไม่ใช่เป็นการ ประกาศเขตอภิสิทธิ์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ผมอยากจะย้ำตรงนี้นะครับ เป็นเพียงระเบียบในการ คุ้มครองวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับเขตป่า พูดให้ตรงไปตรงมาก็คือเป็นการพยายามสร้างเครื่องมือทางเลือกขึ้นมาในการแก้ไขปัญหา พื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ป่าไม้ หรือที่อื่นของหน่วยงานรัฐกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ แน่นอนว่าการประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมาย เกี่ยวกับป่าไม้ หรือกฎหมายอื่น ๆ ของรัฐในบริเวณนั้นนะครับ เป็นลักษณะของกฎหมาย เชิงซ้อน ก็คือการประกาศเขตพื้นที่เหล่านี้จะคุ้มครองเฉพาะการใช้ประโยชน์ การดูแลรักษา ทรัพยากรที่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐและชุมชนกำหนดร่วมกันขึ้นมานะครับ แต่หากผู้ใด หรือแม้กระทั่งสมาชิกของชุมชนทำผิดเงื่อนไข หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เข้ามา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายปกติไป ซึ่งส่วนนี้ผมอยากจะทำความเข้าใจด้วยนะครับว่า การประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ตรงนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน วิธีการประกาศถามว่า ทำอย่างไร ก็เริ่มต้นด้วยชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือหลายชุมชนรวมกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จัดทำแผนซึ่งอาจจะเรียกว่าแผนแม่บทหรือ แผนอะไรก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่คุ้มครองตรงนี้ขึ้นมา แล้วก็มีการออกระเบียบ ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ขึ้นมา และคณะกรรมการเมื่อเห็นชอบแล้ว ก็ประกาศ กำหนดไปให้เป็นเขตคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การประกาศเมื่อประกาศ ออกมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิทำอะไรได้ทุกอย่าง ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและ สามารถที่จะถูกยกเลิกได้ หากชุมชนไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้ต่อไปอย่างนี้นะครับ สิทธิมีอะไรบ้าง มีอยู่ ๒-๓ ประการ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๑ ก็คืออยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามระเบียบที่กำหนดขึ้น ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีความยั่งยืน และไม่นำไปสู่การ ทำลาย
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ก็คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ขอย้ำกันนะครับว่า การพัฒนาทั้งหลายก็ต้องไม่นำไปสู่การ ทำลายล้างเหมือนกัน
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประการสุดท้ายก็คือ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิให้แก่บุคคลใดได้ เว้นแต่เป็นการสืบทอดทางมรดก ทางทายาท หรือเป็นการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติของชุมชน
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
อันนี้ก็คือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดนะครับ แล้วในการผลักดันด้านกฎหมาย ฉบับนี้เราไม่ได้เพิ่งมาพูดตอนนี้นะครับ เราพูดกันมาเป็นเวลานานแล้ว กระแสในสังคมก็รับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เอง โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างรุนแรงมีความต้องการเป็น อย่างมาก เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งเครื่องมือของชุมชนแล้วก็เครื่องมือของหน่วยงานรัฐ ด้วยที่จะเข้าไปคุ้มครองชุมชน นักวิชาการเองก็เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ นักการเมืองเองเรื่องนี้เราเคยอภิปรายเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว ทุกพรรคก็เห็นด้วยกับหลักการในการออกกฎหมายในลักษณะนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเอง โดยเฉพาะท้องถิ่นก็เห็นว่า ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นในการ จัดการแล้วก็การพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในสังคมโลกในยุคสมัยปัจจุบัน สังคมโลกให้ความ สนใจกับการคุ้มครองสิทธิของชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อย หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เป็น ผู้อพยพ เรื่องนี้เป็นกระแสในสังคมโลกที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่สังคมโลกต้องคุ้มครองให้ ทุกคนได้มีวิถีชีวิตที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็น ชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่หนึ่ง ๆ แต่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และนโยบายที่เรา เรียกว่า กฎหมายนโยบายในสมัยใหม่ที่ไปกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนที่ยังคงยึดถือ ประเพณีวัฒนธรรมจารีตของท้องถิ่นอยู่อย่างนี้นะครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายขอกราบขอบพระคุณท่านประธาน แล้วก็ทุกท่านที่ให้โอกาสในการ เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้นะครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปร่างสุดท้าย ขอเชิญท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ครับ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันจะขออนุญาตเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยมานำเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและตัวดิฉันเอง ได้ลงพื้นที่ และได้รับทราบถึงปัญหาของพ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์ในหลากหลายประเด็น และทางพวกเราเองก็มีความเป็นห่วงพี่น้องชาติพันธุ์ทุก ๆ ท่านที่ต้องต่อสู้กับปัญหา ไม่ว่า จะเป็นการต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่เป็น อุปสรรค ที่ไม่ได้พัฒนาหรือปรับปรุงไปตามบริบทของสังคมที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ปัญหา ต่าง ๆ ที่พ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์ได้พบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจึงเป็นหลัก จึงเป็นเหตุ จึงเป็นที่มา ของการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของ พรรคเพื่อไทยฉบับนี้ค่ะ และดิฉันจะขออนุญาตทางสภาใช้เวลาไม่กี่นาทีในการอธิบายถึง หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทย ได้รับทราบถึงหัวใจสำคัญ ดังต่อไปนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ ได้บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มี สิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่าง สงบสุข ไม่ถูกรบกวนเท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์ มีความหลากหลายของด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและความเชื่อ ตามจารีตประเพณีของตัวเอง มีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีวิถีชีวิต กลมกลืนรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย แม้ที่ผ่านมาจะมีนโยบายและมาตรการในการคุ้มครอง กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังขาดตัวบทกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการอันเหมาะสม ในการปฏิบัติ ต่อคนเหล่านี้ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย หลากหลายกลุ่มไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการเท่าที่ควร เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีสิทธิอาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งมีการทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ ที่อยู่ในการดูแลของทางราชการ ที่ไม่สามารถอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ตาม กฎหมายค่ะ อีกทั้งขาดการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ตลอดจนขาดการมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจในกิจกรรม หรือกิจการของรัฐหรือเอกชนที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตหรือชุมชน ของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์แห่งการดึงศักยภาพชุมชน ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจการค้าและ การท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน ประกอบกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกัน ในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน และห้ามมิให้ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าความแตกต่างในเรื่องของถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ดังนั้นสมควรให้มีกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ขึ้นค่ะ จากหลักการและเหตุผลข้างต้นนะคะ ดิฉันและพรรคเพื่อไทยจึงได้นำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ โดยสรุปทั้งหมด ๘ ข้อ ดังต่อไปนี้ค่ะ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อแรก คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยห้ามมิให้มีการ เลือกปฏิบัติ เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง รวมถึงส่งเสริมภูมิปัญญา ส่งเสริมภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ พี่น้องชาติพันธุ์ รวมถึงให้พี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉันมีส่วนร่วมในกระบวนการทางสังคมและ การเมืองในทุก ๆ ระดับ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๒ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของภาครัฐร่วมมือกันในการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ลดการโยนภาระ โยนงานให้กับพี่น้องประชาชน พี่น้อง ชาติพันธุ์ของดิฉันในการติดต่อประสานงานและการแก้ไขปัญหา มาโยนภาระให้กับพี่น้อง ชาติพันธุ์ของดิฉันในการหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเขาเองค่ะ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๓ จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธาน และนี่คือสิ่งที่พวกเรา พี่น้องชาติพันธุ์ต้องการที่สุด คือการได้มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการ รับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉันค่ะ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๔ จัดตั้งสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์เพื่อประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับชาติพันธุ์
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๕ จัดทำฐานข้อมูลวิถีชีวิตประวัติศาสตร์ของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์เพื่อใช้ ประโยชน์ในการส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ค่ะ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๖ กำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิ ใช้ประโยชน์จาก ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหมายความว่า หากพิสูจน์ทราบได้ว่าพี่น้องชาติพันธุ์นี้มีการอยู่กินในพื้นที่ดินทำกิน มาก่อนที่กฎหมายจะออกมาบังคับใช้ ให้ถือว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่ม ชาติพันธุ์ ให้มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่จะไม่ทำลาย ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่ะ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ข้อที่ ๗ กำหนดฐานความผิดด้านอาญา ว่าด้วยการกระทำเหยียดหยาม สร้าง ความเกลียดชังแก่กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
และข้อสุดท้าย เป็นกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้กำหนดกระบวนการ เปลี่ยนผ่านสู่การมีพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ ให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดค่ะ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ทางรัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็มีความเป็นห่วงเป็นใยในการใช้ชีวิต ในการเข้าถึงสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศ และเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ไปร่วมงานปีใหม่ของชาวล่าหู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ โดยที่ท่านได้ย้ำถึง ความสำคัญในเรื่องของการให้สัญชาติ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิทธิด้านต่าง ๆ ให้มีความเท่าเทียมกัน ดังนั้นวันนี้ดิฉันอยากจะขอความร่วมมือ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านได้มาร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมา อย่างยาวนาน ให้มีทางออกร่วมกัน โดยที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง ข้อกฎหมายที่บังคับใช้ทุกคน อย่างเท่าเทียมกัน ดิฉันหวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นหนทาง ในการแก้ไขปัญหา เป็นตัวกลางในการพูดคุยในทุก ๆ ประเด็นของพี่น้องชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมหรือพื้นที่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ท่านประธานคะ คณะกรรมาธิการชุดนี้อาจจะมีระยะเวลาพิจารณาไม่ได้นานมาก พี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉัน รอได้ค่ะ หากปัญหาของเขาได้รับการพูดคุย มีเวทีกลางที่จะได้นำเสนอปัญหา เพราะปัญหา ของพี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉันบางท่านรอมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือบางท่านเขารอ มาทั้งชีวิต ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกัน อย่างตรงไปตรงมา และหาหนทางในการแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้านในทุก ๆ ประเด็นให้กับ พี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉัน และพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับของพรรคเพื่อไทยนี้ จะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้มีสิทธิ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และยังได้ ส่งเสริมวิถีชีวิตที่ตัวเองได้ภาคภูมิใจภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมโครงการสภาเด็กและเยาวชน จากองค์การบริหารส่วนตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ยินดีต้อนรับครับ ผู้เสนอญัตติทั้ง ๔ ท่านก็ได้เสนอเสร็จเรียบร้อย ต่อไปจะเป็นการอภิปรายของสมาชิกครับ มีสมาชิกฝ่ายค้านลงชื่อทั้งหมด ๕ ท่าน ฝ่ายรัฐบาล ๒๑ ท่าน ถ้าเป็นสัดส่วนแบบนี้ก็คง ต้องเป็น ๔ ต่อ ๑ นะครับ ทางวิปทั้ง ๒ ฝ่าย โอเคนะครับ ผมจะเรียกฝ่ายรัฐบาลก่อน ๔ ท่าน แล้วก็สลับไปที่ฝ่ายค้าน ๑ ท่าน สัดส่วน ๔ ต่อ ๑ เพราะฉะนั้น ๔ ท่านแรก ท่านศรีโสภา โกฏคำลือ ท่านวิชัย สุดสวาสดิ์ ท่านทรงยศ รามสูต และท่านปรเมษฐ์ จินา ขอเชิญท่านศรีโสภาครับ
นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน ศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต ๑๐ พรรคเพื่อไทยค่ะ
นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
วันนี้ดิฉันขอมีส่วนร่วมอภิปราย สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ก่อนอื่นค่ะท่านประธาน ดิฉันขอเรียนให้ท่านประธานทราบก่อนนะคะว่า ชุดที่ดิฉันสวมใส่อยู่นี้ มาจากชาว ปกาเกอะญอ หมู่บ้านหล่ายแก้ว หมู่ ๓ ตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวันนี้ นอกจากจะมีความภาคภูมิใจที่ดิฉันได้สวมใส่เสื้อผ้าของพวกเขาแล้ว เขายังมีความภูมิใจ ที่พระราชบัญญัติคุ้มครองและการส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าสภาวันนี้อีกค่ะ ท่านประธาน นอกจากจะมีความสวยงามทางด้านอัตลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว การสืบทอด ภูมิปัญญาอย่างยาวนาน ดังนั้นผ้าที่ดิฉันสวมใส่อยู่นี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับ การส่งเสริมภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์พี่น้องชาวปกาเกอะญอ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอ ที่อยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของดิฉัน อำเภอฮอด มีทั้งชาวลัวะ ชาวม้งอยู่อาศัยในหลายหมู่บ้าน มีการสืบทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ตามจารีตประเพณีเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะ แต่ที่ผ่านมา กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางพื้นที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ยัง เข้าไม่ถึง หากมีพี่น้องได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้ ต้องการรักษาตัวในโรงพยาบาลอาจจะต้อง ใช้เวลาเดินทาง ๓ ชั่วโมง ถึง ๔ ชั่วโมง เพื่อไปถึงโรงพยาบาล ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิทาง การศึกษานะคะ หรือว่าสิทธิทางสวัสดิการขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิที่ดินทำกิน ยังมีอื่น ๆ อีกมากมายค่ะ ดังนั้นพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์นี้ จะช่วยให้เรา จัดสวัสดิการของภาครัฐ คำนึงถึงพี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้มากขึ้น ให้พวกเขาได้มีสิทธิ ขั้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรี มีคุณภาพเท่าเทียมกับคนในเมือง ท่านประธานคะ โดยเฉพาะด้าน สาธารณสุข สัปดาห์ที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสหารือเพื่อให้มีการแก้ไข เพื่อเพิ่มความเสมอภาค และเท่าเทียมในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่จะนำผู้ป่วยเข้าไปสู่สถานพยาบาล ในตัวอำเภอเมือง เมื่อกล่าวด้านสาธารณสุข ในช่วงปี ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา เป็นช่วงวิกฤต โควิด-๑๙ กลุ่มพี่น้องชาวชาติพันธุ์ยิ่งได้รับผลกระทบหลายด้านค่ะ โดยเฉพาะช่วงโควิด-๑๙ พี่น้องชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาด เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร มิหนำซ้ำยังอยู่พื้นที่ห่างไกล ทำให้การตรวจคัดกรอง และการรักษาพยาบาลขาดอุปกรณ์การป้องกันจากเชื้อที่เหมาะสม เข้าไม่ถึงการแจกวัคซีนรวมถึงการไม่มีบัตรประชาชน ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการเยียวยา อย่างเหมาะสม การมีพระราชบัญญัติและคุ้มครองการส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะทำให้ เขาไม่เจอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ท่านประธานคะ ดิฉันทราบว่าประเทศไทยของเรา ได้ลงนามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองหรือ UNDRIP เป็นเอกสารที่ กำหนดกรอบมาตรฐานสากลขั้นต่ำที่รับรองความอยู่รอด ศักดิ์ศรี ความเป็นอยู่ที่ดีของชาว พื้นเมืองทั่วโลก โดยปฏิญญานี้ได้รับการรับรองจากการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ เมื่อ วันที่ ๑๓ กันยายน ในคริสต์ศักราช ๒๐๐๗ เป็นข้อตกลงที่สะท้อนถึงความเห็นชอบระหว่าง ประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพี่น้องชาติพันธุ์ และจุดที่สำคัญของปฏิญญาฉบับนี้ ๑. ยอมรับ สิทธิพี่น้องชาติพันธุ์ในการกำหนดอนาคตของพวกเขา ซึ่งพวกเขาสามารถกำหนดสถานะ ทางการเมือง และแสวงหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของตนเองได้อย่าง อิสระ ๒. สิทธิในความมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของ พวกเขา ผ่านตัวแทนของพวกเขา ที่เขาเลือกเองโดยขั้นตอนของพวกเขาเอง และ ๓. มาตรการ ในการรับรองสุขภาพ กายสุขภาพจิตที่ดีของชนชาวพื้นเมือง รวมไปถึงการป้องกันบังคับให้ เข้าสู่วัฒนธรรมอื่น และการทำลายวัฒนธรรมของพวกเขา นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยของเรา ยังลงนามในกลไกระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ หรือ CERD กติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ICESCR อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก CRC ทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวมามีข้อสำคัญที่กำหนดว่า รัฐจะต้องมีหน้าที่ ๑. เคารพ โดยรัฐจะต้องรับประกันว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมาย นโยบายหรือมาตรการใด ๆ จะไม่เป็น การเลือกปฏิบัติต่อประชาชนชาวพื้นเมือง ๒. ปกป้อง โดยที่รัฐจะต้องมีกลไกและมี ประสิทธิภาพในการป้องกันโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อส่งเสริมหรือยุยงก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ต่อชนชาวเชื้อชาติ หรือชนชาวพื้นเมือง และ ๓. เติมเต็ม โดยที่รัฐจะต้องมีมาตรการและมี ประสิทธิผล โดยการปรึกษาหารือหรือความร่วมมือกับชนชาวพื้นเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อสู้ กับอคติและขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความอดกลั้น ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อัน ที่ดีระหว่างชนชาวพื้นเมืองทุกภาคส่วนและสังคม ท่านประธานคะ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ฉบับของพรรคเพื่อไทยนี้จะทำให้เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า จะมีการ คุ้มครองและการส่งเสริมวิถีชีวิตพี่น้องชาวชาติพันธุ์ได้ตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ ด้วยสาระสำคัญที่ครอบคลุมทั้งในด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความเป็นมนุษย์ค่ะ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองการส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงในการกำหนดคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือการกำหนดฐานความผิดทางอาญา ด้วยการกระทำเหยียดหยาม และการเกลียดชัง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะช่วยพี่น้องชาวชาติพันธุ์มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้น สุดท้ายค่ะ ท่านประธาน พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์จะทำให้ พระราชบัญญัติฉบับแรกในประเทศไทยของพี่น้องชาวชาติพันธุ์กว่า ๑๐ ล้านคน จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประเทศไทยในการปฏิบัติตามหลักสากล ว่าด้วยการคุ้มครอง เสริมสร้างกลุ่มชาติพันธุ์ และเราพรรคเพื่อไทยหรือประเทศไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอบคุณมากค่ะท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ เชิญท่าน วิชัย สุดสวาสดิ์ ครับ
นายธนกร วังบุญคงชนะ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายธนกร วังบุญคงชนะ ขออนุญาตแทนคุณวิชัยนะครับ เพราะว่าคุณวิชัย ติดภารกิจนิดหนึ่ง ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเองเห็นด้วย แล้วก็ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ที่ ครม. เสนอนะครับ ที่ผ่านมานั้น กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีปัญหามากมายนะครับ เพราะว่าเขาไม่ได้รับการส่งเสริมในสิ่งที่ถูกต้อง หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า รัฐบาลเองก็ต้องส่งเสริม ในเรื่องของความเท่าเทียม ในเรื่องของความยุติธรรมต่าง ๆ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นไปด้วยความ ยากลำบาก ท่านประธานที่เคารพครับ ในอดีตที่ผ่านมานั้น คนส่วนกลางมักมองกลุ่ม ชาติพันธุ์ในลักษณะที่มองในแง่ไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นในอดีตเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในอดีต มีการรุกป่า ทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่ว่าด้วยพระบารมีของสมเด็จย่าฯ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในหลวงรัชกาล ๑๐ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ช่วยกันพัฒนาต่าง ๆ จนวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดีขึ้นมาโดยตลอด แต่การที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นที่สุดนั้น ผมคิดว่าร่าง พ.ร.บ. ตรงนี้ที่รัฐบาลเสนอ จะแก้ปัญหา กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้นะครับ สิ่งสำคัญผมคิดว่าวันนี้ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ในการแก้ปัญหา ในการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยนโยบายที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่ม ชาติพันธุ์นั้น ควรมีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิทธิ แล้วก็ประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ และส่งเสริมให้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นไป ในทิศทางที่ถูกต้อง ยั่งยืน และมีความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าถึงบริการ ภาครัฐ ทางด้านการศึกษา ทางด้านสิทธิมนุษยชน แล้วก็สวัสดิการต่าง ๆ ท่านประธานครับ วันนี้เรามีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ถึง ๑๐ ล้านคน และมีกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนที่มีปัญหา ก็คือว่า ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมาย นั่นหมายความว่ากลุ่มเหล่านี้จะไม่สามารถที่จะเข้าสู่การบริการ ภาครัฐได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายคนละครึ่ง หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนชรา ต่าง ๆ หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านเหล่านี้ไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นแล้วผมคิดว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะสามารถช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเองให้การ สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้นะครับ เพราะว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว ไม่แบ่งแยกและ มีกฎหมายที่คุ้มครอง แล้วก็ส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเองมีความเป็นห่วง นั่นก็คือการจัดตั้งสภาชนเผ่าต่าง ๆ ตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะครับ ซึ่งเป็นร่างอีก ๒ ร่าง ๓ ร่างที่เสนอเข้ามานี้ ผมอยากจะให้ได้พิจารณากันอย่างถ้วนถี่ว่า บางครั้งแล้วการ ดำเนินการบางอย่างอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกได้ แล้วก็สิ่งสำคัญก็คือว่า เราจะต้องไปดู ในเรื่องของความมั่นคงของประเทศด้วย เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งตรงนี้ผมเองก็เห็นด้วย ในรายละเอียดของร่างอีก ๓ ฉบับอีกหลาย ๆ ส่วน แต่ว่าบางส่วนเอง ผมคิดว่าสภาแห่งนี้ จะต้องมีการพิจารณากันอย่างดี เพราะว่ามันอาจจะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้ ท่านประธาน ครับ วันนี้สุดท้ายผมก็อยากจะฝากไปยังพี่น้อง ไปยังสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติแห่งนี้ว่า ได้ให้ การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราทำเพื่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งมีกว่า ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เขามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันนี้ผมคิดว่า ๑๐ ล้านคนนี้เขาก็คือคนไทย เพราะฉะนั้นแล้วก็ต้องมีสิทธิในความเป็นคนไทย นั่นหมายความว่า สิทธิต่าง ๆ เขาก็ต้องมีเหมือนคนไทย เพราะฉะนั้นผมอยากจะให้ ทุกคนได้ให้การสนับสนุน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านทรงยศ รามสูต ครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผม ทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ขออภิปรายสนับสนุนพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งร่างของภาครัฐบาลเสนอ แล้วก็ร่างของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอ จากเมื่อ ครั้งที่แล้วที่ร่างฉบับภาคประชาชนได้นำเสนอ ผมได้มีโอกาสอภิปรายสนับสนุน ตอนนั้น ก็บอกแล้วว่า เห็นด้วยกับการที่เราจะมีกฎหมายมาดูแลพี่น้องชาติพันธุ์ แต่ว่าร่างอาจจะมี บางข้อที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งผมเองก็พยายามไปร่างข้อกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. เสนอต่อพรรค แต่เนื่องจากเพื่อความรอบคอบ ร่างของพรรคที่สมบูรณ์ แล้วก็ร่างของรัฐบาลที่สมบูรณ์ก็ได้ นำสิ่งต่าง ๆ เอามาแก้ไข ก็ยินดีที่ส่วนของผมบางอย่างตรงกับรัฐบาล และบางเรื่องที่ผม ร่างไว้ก็อยู่ในร่างชุดนี้ ฉะนั้นผมคงต้องใช้เวลาอภิปรายเฉพาะในส่วนที่รัฐบาลเห็นด้วย แล้วก็อธิบายส่วนที่ผมนำเสนอนะครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
ในข้อแรก ในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ตามมาตรา ๓ เขาหมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งมีถิ่นฐานในประเทศไทย มีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรมตามที่กฎหมายกำหนด เพราะว่าชาติพันธุ์อยู่ในประเทศไทยเรามาก ซึ่งเรามีทั้งที่ อพยพมา พี่น้องม้ง พี่น้องอิ้วเมี่ยน พี่น้องไทลื้อ พี่น้องอาข่า พี่น้องที่อพยพมาจากจีน จากสิบสองปันนา ไทลื้อ จากเชียงขวาง ไทพวน อพยพมาจากทางประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็น ไทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมอญ จากหลายต่อหลายที่ แต่ผมไม่อยากจะจำกัด อย่างที่บอกว่า ตอนนั้นบอกว่ามีอยู่ ๖๐ ชาติพันธุ์ แต่ว่าจริง ๆ มันอาจจะมีมากกว่านั้น เพราะในหลาย ๆ พื้นที่เขาก็มีวัฒนธรรม ประเพณี ผมขอยกตัวอย่างว่า จังหวัดน่านบ้านผมก็เคยเป็น อาณาจักร ๆ หนึ่งมาประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ ปีแล้วพร้อมกับสุโขทัย มีเจ้าผู้ครองนครน่านมา ๖๔ พระองค์ มีวัฒนธรรมประเพณี นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่เองก็ เป็นอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ผมว่าต่าง ๆ เหล่านี้เขาก็ถือว่าเป็นชาติพันธุ์ ถ้าเขารักษาเอาไว้ได้ นอกจากนี้เราจะต้องมองถึงในกลุ่มต่าง ๆ ชาติพันธุ์บางคนที่เขาอพยพหรือมาลงทุน บ้านเรา อย่างพี่น้องชาติพันธุ์เชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็นไหหลำ แต้จิ๋ว เขาก็มาอยู่ในเมืองไทยมาก หลายตระกูลเขาก็รักษาวัฒนธรรมของเขาไว้ หรืออย่างในภาพยนตร์ออเจ้า พี่น้อง Portuguese ที่อยู่ในอยุธยา พี่น้องฝรั่งเศสที่อยู่ในจังหวัดลพบุรี ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเขามีชุมชน ที่เขารักษาวัฒนธรรมประเพณีเขาได้ ผมว่าถ้าเราเอามารวบรวมไว้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าสามารถ มาจดทะเบียนตามมาตรา ๓ ตามรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนด ตอนนั้นผมคิดว่าใน เรื่องของกฎหมายชาติพันธุ์นี้จะให้ใครดูแลดี ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ซึ่งดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง หรือกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งดูแลในพื้นที่ราบ ผมดีใจที่ร่างของรัฐบาลและร่างของพรรคเพื่อไทย ท่านนายกรัฐมนตรีลงมาเป็นประธานเอง แล้วก็มีรองประธานคือรัฐมนตรีทั้ง ๒ ท่าน แต่ที่อยากจะฝากไว้นิดหนึ่งนะครับ ถ้าได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้าไปอีกคนเป็นรองก็จะดีด้วย เพราะ อนาคตในเรื่องของชาติพันธุ์ นอกจากเราจะยกฐานะสิทธิเขาแล้ว ผมว่าจะสามารถยกระดับ ในเรื่องการท่องเที่ยวได้นะครับ นอกจากนี้ในส่วนหนึ่งที่ผมได้นำเสนอและรัฐบาลได้นำไปไว้ ก็คือคำว่า สมัชชานะครับ คำว่า สมัชชาชาติพันธุ์ ผมคิดว่าชาติพันธุ์เรามีหลากหลาย เพราะฉะนั้นแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ไปจดทะเบียน โดยมีหน่วยงานรัฐคอยดูแลกำหนด จารีตประเพณี แต่อย่างน้อยเขาจะต้องมีตัวแทนเข้ามาสู่สมัชชาเป็นชาติพันธุ์นะครับ ซึ่งในตัวบทกฎหมายนี้เขาก็บอกว่า มีไม่เกิน ๕ คน สาเหตุที่กำหนดไว้เช่นนี้ก็เพราะว่า บางชาติพันธุ์ก็อาจจะมีไม่มาก อย่างบ้านผมเผ่ามลาบรี หรือที่เราเรียกว่าผีตองเหลือง ก็มีไม่มาก หรือบางพื้นที่ไม่เยอะ อย่างนี้สัดส่วนอาจจะได้คนเดียว แต่บางชาติพันธุ์ที่เขามีกัน มาก ๆ อย่างพี่น้องม้งของผมมีมาก สัดส่วนก็อาจจะ ๓-๕ คน อันนี้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ กระทรวงจะไปกำหนด เพื่อให้เขาเป็นสมัชชาและมาควบคุมกำกับดูแลในส่วนชาติพันธุ์ ของเขา ส่วนชาติพันธุ์ของเขาดูแลในส่วนของประกาศของกระทรวง ในส่วนของเขาระบบ ระเบียบ วัฒนธรรมกลางนี้ก็มีสมัชชามาดูแล อย่างนี้ถ้าเราเอามารวบรวมตั้งเป็นปฏิทินดูแล เพราะแต่ละชาติพันธุ์เขาก็มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกันนะครับ โดยเฉพาะวันชาติ ของเขา การนับถือปีใหม่ของเขาก็แตกต่างกัน ถ้าเราเอามาส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำมาเป็น ตารางการท่องเที่ยวของแต่ละชาติพันธุ์ วันชาติของเขา ให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและ ของประเทศไทยได้ไปเยี่ยมไปเยียน ผมมีโอกาสไปของอาข่าที่จังหวัดเชียงราย คนเขา เยอะมากนะครับ แต่ว่าก็มีแต่คนภาคเหนือ ที่อื่นก็ยังไม่มีโอกาส หรือที่จังหวัดน่านก็จัด หลายครั้ง อย่างพี่น้องม้งเขาก็จะจัดช่วงเดือนธันวาคม เดือนมกราคม วันปีใหม่ พี่น้อง อิ้วเมี่ยน จะจัดช่วงวันตรุษจีน เดือนกุมภาพันธ์ แล้วพี่น้องไทลื้อก็ขึ้นอยู่กับว่ามาจาก เมืองไหน ถ้าเจ้าหลวงเมืองล้าจะจัดช่วงเดือนธันวาคม เดือนมกราคม ถ้าจากเมืองอื่น ก็อย่างของบ้านแฮะของผมก็ประมาณวันที่ ๘ ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้พี่น้องไทพวนอีก ที่อพยพ มาจากเชียงขวาง ก็กระจัดกระจายกันอยู่ที่จังหวัดน่าน โชคดีบ้านฝายมูลจะจัดงานไทพวนโลก วันเสาร์นี้ ถ้าใครอยากไปเที่ยวก็เชิญชวนกันไปได้นะครับ
นายทรงยศ รามสูต น่าน ต้นฉบับ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายต่อหลายพื้นที่ ถ้าเรารวบรวมชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามา จัดไว้ เขามีตาราง บางครั้งบางคราวผมเห็นเขาเคยจัดอิ้วเมี่ยนโลก จัดตรงนั้นตรงนี้โลก มีชาติพันธุ์ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก เขาพร้อมที่จะให้การสนับสนุน เขาเดินทางมา เมืองไทย เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเราวางแผนดี ๆ มันจะส่งเสริมการท่องเที่ยว แล้วดึง Promote เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศไทยได้ นำเป็นตารางการท่องเที่ยวนะครับ อีกอย่างในส่วนนี้ ถ้าเราสามารถจัดงานชาติพันธุ์โลกได้ มันอาจจะเป็น Soft Power อย่างหนึ่ง แล้วก็ดึง การท่องเที่ยวได้ เพราะแต่ละชาติพันธุ์เขาก็มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะให้กลุ่มชาติพันธุ์เขาจะรักษาฮีตฮอย รักษาวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ในส่วนของ นิยามมาตรา ๓ เขาก็บอกไว้ว่า พื้นที่คุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ คือพื้นที่ที่คุ้มครองให้กลุ่ม ชาติพันธุ์ดำรงชีวิตอยู่บนมาตรฐานของปัญญาและวัฒนธรรมการจัดการ คือมีการให้การ รองรับว่า พื้นที่ถิ่นกำเนิดที่เขาอยู่อาศัยนี้เขาอยู่กินกันมา เพราะฉะนั้นสิทธิต่าง ๆ ก็จะ เกิดขึ้นก็จะติดตามมา โดยเฉพาะอย่างพี่น้องม้งของบ้านผม เมื่อปี ๒๕๔๘ เขาขอบใจมาก สมัยท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ท่านก็มอบบัตรประชาชนให้กับพี่น้องม้งนะครับ อันนี้ให้เห็นว่ารัฐบาลก็พยายามที่จะใส่ใจให้การดูแลพี่น้องชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการที่ เสนอร่างพระราชบัญญัติชาติพันธุ์ฉบับนี้ ผมเห็นด้วย แล้วโดยเฉพาะสิทธิต่าง ๆ ก็อาจจะ ตามมา อย่างน้อยอันดับแรกให้เขามีความภูมิใจว่า อันดับแรกเขาเป็นคนไทยเหมือนกัน เมื่ออยู่ในประเทศไทย อันดับที่ ๒ ให้เขารำลึกถึง บรรพบุรุษของเขา ชาติพันธุ์ของเขา ได้ไปสืบสานว่ามีชาติพันธุ์มาอย่างไร เราจะได้ดึงรักษา วัฒนธรรมประเพณีของเด็ก ๆ ของชาติพันธุ์รุ่นใหญ่ ๆ ให้เด็ก ๆ เขาได้ซึมซับ ได้พูด ได้นำมาใช้ เพราะจะส่งเสริมให้เขาได้รักษาวัฒนธรรม แล้วก็จะส่งผลต่อการรักษา ขนบธรรมเนียม แล้วก็ดูแลประเทศต่อไป เพราะฉะนั้นผมจึงขอสนับสนุนในส่วนของ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ที่ทั้งรัฐบาลเสนอและพรรคเพื่อไทยเสนอ ขอขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะนักเรียนและครู โรงเรียนพระอินทร์ศึกษา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๒๗๐ ท่าน สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับ นะครับ ต่อไปท่านปรเมษฐ์ จินา เชิญครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ สมาชิกผู้ทรงเกียรติที่รักทุกท่าน ปรเมษฐ์ จินา พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต ๕ ก็ขอร่วมอภิปราย และเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองในส่วนของกลุ่ม ชาติพันธุ์ของรัฐบาล ซึ่งนำโดยกระทรวงวัฒนธรรม สืบเนื่องจากว่า ผมได้เข้าไปร่วมประชุม ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม แล้วก็กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็พบว่า ที่ไปที่มาในส่วนของคำว่า ชาติพันธุ์ แล้วก็ในเรื่องของชนเผ่าพื้นเมือง มันก็อาจจะมี การทับซ้อนกันเล็กน้อย เนื่องจากว่าในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม เขาก็จะมีตัวแทน ไปนั่งประชุมที่สหประชาชาติว่าประเทศไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง โดยเขาให้คำนิยามว่า ในส่วนของชนเผ่าพื้นเมือง ขอยกตัวอย่างของอินเดียนแดงในต่างประเทศ ที่เขาเข้ามา แล้วก็ขับไล่คนที่อยู่เดิมให้ออกจากพื้นที่ แล้วก็ไปยึดครอง แต่ของประเทศไทยเรา มันไม่ใช่ อย่างนั้น ของประเทศไทยเราเขาเรียกว่า กลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากว่าเป็นความหลากหลาย ความสวยงามเหมือนดอกไม้ที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราดูในส่วนของกลุ่ม ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ถ้าแบ่งประเด็นเป็นพื้นที่ ชาวเขา ชาวป่า ชาวนา ชาวเล หรือว่าชาวทะเล ยกตัวอย่างในส่วนของพื้นที่เขา เมื่อสักครู่เพื่อนเราหลายท่านก็ได้นำเรียนไปแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ม้ง ข่า หรือว่าในที่ราบสูง ส่วนของชาวนาเป็นพื้นที่ราบ ไม่ว่าจะเป็น ไทดำ ไทลื้อ ในส่วนของภูไท ในส่วนของญ้อ กูย แล้วก็กะเลิง แล้วก็ในส่วนของชาวป่า ก็จะเป็นส่วนของมานิ ซาไกหรือมลาบรี ในส่วนของชาวเล เราก็จะเคยได้ยินในช่วงหนึ่ง ที่เกิดสึนามิ แล้วก็มีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่เขามีสัญชาติญาณ แล้วก็สามารถที่จะรู้ตัวล่วงหน้า ในการที่จะหนีภัยสึนามิ นั่นก็คือเรารู้จักคำว่า มอแกน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของชาวเล นอกจากนี้ก็จะมี อูรักลาโวยจ ในส่วนของชาวเล อันนี้ก็คือความสวยงามตามธรรมชาติของ แต่ละชาติพันธุ์ ทีนี้ถ้าถามว่า หัวใจหลัก ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการ ผมก็ได้เข้าไปสัมผัส ไปศึกษาดูงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน แล้วก็ในส่วนของภาคใต้ ในกลุ่ม ของซาไก ก็พบว่าส่วนที่เขาต้องการหลัก ๆ ที่เป็นหัวใจของเขาก็คือ สถานะบุคคล เขาอยากจะได้สถานะบุคคล เขาอยากจะได้บัตรประชาชน ๑๓ หลักเหมือนกับคนไทยทั่วไป เนื่องจากว่าพอเขามีสถานะบุคคลแล้ว สิทธิต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล หรือว่าการอาศัย อยู่ในพื้นที่แหลมทองแห่งนี้มันก็จะได้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน บางคนที่เขาก้ำกึ่งไม่รู้ว่า จะเป็นคนไทยตกสำรวจ หรือว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เขายังมาหาหน่วยราชการ ครั้งหนึ่งที่เข้ามาหาผม เพราะเขาต้องการที่จะพิสูจน์ DNA ซึ่งใช้งบประมาณเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาทในการพิสูจน์ DNA แต่ละครั้งเพื่อที่จะหาเครือญาติที่จะเชื่อมโยง ทำอย่างไรให้เขาได้ เขาอยากจะได้ บัตรประชาชน แล้วก็สามารถที่จะมีสถานะบุคคล ไม่เหมือนกับเป็นคนที่เลื่อนลอย ไม่มีตัวตนในแผ่นดินนี้ อันนี้ก็คือหัวใจหลักนะครับ หลังจากที่มีสถานะบุคคลตรงนั้นแล้ว สิทธิตามมาก็คือเป็นเรื่องของปัจจัย ๔ เขาก็อยากจะมีที่อยู่อาศัย แน่นอนว่าสิทธิในการทำกิน สิทธิในเรื่องของการที่จะสร้างบ้าน หรือว่าในเรื่องของการรักษาพยาบาล การเข้าถึงยา อันนี้ ก็แน่นอนว่าในส่วนของประเทศไทยเรา กระทรวงสาธารณสุขก็ขึ้นชื่อในระดับ Top Five Top Ten ของโลก ช่วงที่โควิด-๑๙ ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นแล้วว่า ในเรื่องของระบบสาธารณสุข ของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้เขาก็อยากจะได้สิทธิในการที่จะรักษาพยาบาลเหมือนกับ คนทั่ว ๆ ไปนะครับ สิทธิอีกส่วนหนึ่งที่จะตามมา นั่นก็คือในเรื่องของการเล่าเรียน แน่นอนว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แล้วก็ธรรมชาติก็ต้องมีดำรงเผ่าพันธุ์ เมื่อมีลูกขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะ ให้ลูกได้มีเลขสถานะ ลูกได้เข้าเรียนเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เขาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน แต่ว่าลูกเขาไม่มีสิทธิเข้าไปเรียนตรงนั้น บางทีก็อาจจะมีมูลนิธิ หรือว่ากลุ่มจิตอาสาต่าง ๆ ลงไปสอน แต่ว่าหลังจากเรียนจบแล้ว ประเทศไทยเราก็จะมีการ Guarantee ต้องมีหลักฐานการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการว่า จบจากโรงเรียนไหนมา หลังจากนั้นก็เข้าไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น หลังจากนั้นพอจบมาแล้ว ก็จะต้องมีการประกอบ อาชีพ ซึ่ง ณ วันนี้ถ้าสิทธิเบื้องต้น กระดุมเม็ดแรกตรงนั้นเขาไม่มี เขาเข้าศึกษาบางทีก็มี ความรู้ แต่ว่าไม่สามารถจะใช้สิทธิในการศึกษาต่อ ไม่สามารถใช้สิทธิในการประกอบอาชีพได้ อันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ เขาอยากจะเป็นแพทย์ อยากจะเป็นพยาบาล อยากจะเป็นครู แล้วก็ กลับไปเพื่อพัฒนาในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ของเขา แต่ว่าพออยู่ในสิทธิตรงนี้มันก็ทำให้เขา ไม่มีสิทธิที่จะได้อาชีพที่เขาใฝ่ฝัน แล้วก็เขาไม่มีสิทธิที่จะไปทดแทนบุญคุณของคนในพื้นที่ ของเขา เราก็จะเห็นว่ามีครูคืนถิ่น มีพยาบาลคืนถิ่น มีหมอชนบท อันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ อีกส่วนหนึ่งที่เขาอยากจะได้สิทธิในหัวใจตรงนั้นนะครับ แล้วก็มีสิทธิอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่า จะเป็นในเรื่องของการที่จะอาศัยอยู่ในชุมชน อาศัยอยู่ในสังคม อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็น หัวใจหลักในความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามที่ได้ไปรับประสบการณ์ แล้วก็ไป ทัศนศึกษาดูงานมา แล้วก็สิ่งที่เป็นเรื่องที่อยากจะให้เราได้ย้อนกลับไปดูนิดหนึ่ง นั่นก็คือว่า ปัจจุบันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องมี พ.ร.บ. ตัวนี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากว่ามันมีเรื่องของมายาคติ มันมีเรื่องของอคติ มันมีเรื่องของมุมมองเหมือนที่หลายท่านได้นำเรียนไปแล้วนะครับ ไม่ว่า จะชนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเกี่ยวข้องกับการปลูกฝิ่น ในเรื่องของการค้ายาเสพติด การทำไร่เลื่อนลอย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีบางกลุ่มบางคนอาจจะมองภาพแบบนั้นขึ้นมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญผมก็มองว่าเราจะลบภาพตรงนั้นออกนะครับ เพื่อที่จะกลับมาในส่วน ของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการให้ความสำคัญ แล้วก็ที่สำคัญที่สุดวันนี้รัฐบาลใช้ คำว่า Soft Power นะครับ เราทำอย่างไรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม จารีตประเพณีของเขา แล้วก็สนับสนุนงบประมาณ อบจ. เทศบาล อบต. หรือว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ อุดหนุน จัดสรรทรัพยากรให้เขาได้จัดกิจกรรมที่เป็นวันสำคัญ ของเขา อันนี้ก็เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เราต้องการที่จะให้มีการอยู่ร่วมกัน ไม่แบ่งพรรค แบ่งพวก ไม่แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะว่าเราคือเผ่าไทยด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดที่กังวลอยู่ ก็ในเรื่องของความมั่นคง ถ้ารวมตัวกันแล้วเป็นเขตที่รัฐเข้าถึงไม่ได้ หรือว่าการถือ ๒ สัญชาติ แล้วก็เป็นภัยต่อความมั่นคง อันนั้นเราก็ร่วมกันพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออุดช่องว่างตรงนั้น ถึงอย่างไรก็ขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ของรัฐบาล ซึ่งวันนี้ท่านรัฐมนตรีเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ก็มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ เชิญครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ที่เข้าพิจารณาพร้อมกันทุกฉบับในวันนี้ ท่านประธานครับ วันนี้เป็นวันที่เราได้ร่วมกันพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่มีจุดประสงค์เหมือนกัน คือเพื่อ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม ในพื้นที่ของผมมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มานิอาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด ของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน ซึ่งมานิ ก็แปลว่า มนุษย์ หรือคนเหมือนพวกเรานี่ละครับ แต่หลายท่านอาจจะรู้จักพวกเขา ในชื่อว่า เงาะป่าซาไก โดยปัจจุบันมีพี่น้องมานิอาศัยอยู่ประมาณ ๑๒ กลุ่ม ประชากร ประมาณ ๓๘๐ คน พี่น้องมานิก็มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม หาของป่า ทั้งขุดมัน กินพืชและสัตว์ พวกเขาจะเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร และตั้งถิ่นฐานแบบถาวรในบางกลุ่ม การดำรงอยู่ ของพวกเขาสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่เคารพ ธรรมชาติ มีภาษาและประเพณีที่เฉพาะ มีภูมิปัญญาอันน่าทึ่งในเรื่องของสมุนไพรและ ยารักษาโรคตามธรรมชาติ พวกเขามีการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความเอื้ออาทร แต่ปัจจุบัน ก็ถือว่า เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างมาก โดยพื้นที่ที่พี่น้องมานิอาศัย ในปัจจุบันเรียกว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่า มีน้ำตกและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่ตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๑๘ โดยการมีอยู่ของชาวมานิในพื้นที่มาก่อนแล้ว ปัจจุบันพี่น้องมานิ มีบัตรประชาชน เป็นประชาชนคนไทย โดยได้มีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้ช่วยดูแล ยกตัวอย่างในพื้นที่อำเภอป่าบอนและอำเภอกงหรา ก็ได้รับการดูแลให้เข้าถึงระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุขและยังช่วยดูแลในด้านอื่น ๆ ซึ่งผมเองก็ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แต่เรื่องที่ยังเป็นปัญหาก็ยังมี โดยพี่น้อง มานิได้เรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน โดยขอให้มีพื้นที่คุ้มครองให้สามารถดำรง วิถีชีวิต พึ่งพาตนเองได้ ไปจนถึงสิทธิด้านการศึกษา อาชีพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร และ สวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มากกว่าคนอื่น แต่เท่าเทียมกับคนอื่นในประเทศ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ มากถึง ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรกว่า ๑๐ ล้านคนที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งบนพื้นที่สูง ภูเขา ที่ราบ ริมทะเล ในเกาะและในป่า ปัจจุบันพวกเขายังเผชิญปัญหาที่ หลากหลายครับ บางกลุ่มไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย บางกลุ่มมีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิ ขั้นพื้นฐานและบริการของรัฐ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิ บางกลุ่มได้รับผลกระทบจาก กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ถูกกำจัดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิม ทำให้พวกเขาเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จนกระทั่งชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มได้สูญเสียวัฒนธรรม และอาจสูญหายไปตามกาลเวลา วันนี้ผมจึง ขอสนับสนุนให้เรามีกลไกทางกฎหมาย เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยผมคิดว่ากฎหมายที่จะบังคับใช้ ควรที่จะประกอบ ไปด้วยประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๑. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สามารถดำรงชีวิตตามวิธีและวัฒนธรรม มีการรับรองสถานะทางกฎหมาย พร้อมกับมี สิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ ระบบสาธารณสุข การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่อาศัยและสิทธิในด้านอื่น ๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องส่งเสริมให้เกิดการอยู่ ร่วมกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๒. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อมากำหนดนโยบายและ มาตรการในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อนำไปสู่ การปฏิบัติ โดยภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องมีส่วนร่วม ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการและประชาชน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๓. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีสมาชิกหรือตัวแทน ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการประสานงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และ ให้มีการเสนอแนะ สะท้อนปัญหาและความต้องการต่อหน่วยงานของรัฐ และสร้างการมี ส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตและคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อไป
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๔. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อรับรอง ให้ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ได้มีพื้นที่ในการอยู่อาศัยตามวิถีชีวิตอย่างมั่นคง และใช้ประโยชน์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
๕. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งข้อมูลในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และที่อยู่อาศัยของพวกเขา ยกตัวอย่างพี่น้องมานิ มีข้อมูลอีกมากมายเกี่ยวกับพวกเขาที่เราไม่ทราบ การจัดทำข้อมูล จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และมาตรการเพื่อการ อนุรักษ์ คุ้มครอง และส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ วันนี้ผมจึงขอให้เราได้ร่วมกันลงมติเห็นชอบรับหลักการ กับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกฉบับ โดยที่เราจะนำความแตกต่างไปสู่การพิจารณาในวาระต่อ ๆ ไป เพื่อให้เกิดกลไกทางกฎหมาย ที่บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่าวันนี้เป็นวันที่ สำคัญ ที่เราจะยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรของประชาชนแห่งนี้รับรู้ ยอมรับ และเห็น ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และจะส่งเสริมสิทธิที่เป็นธรรมให้กับ คนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยในสังคม ไม่ว่าจะมี ความหลากหลาย หรือความแตกต่างทั้งด้านความคิด วิถีชีวิต อาชีพ เพศ ศาสนา หรือวัฒนธรรม วันนี้เราจะยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเสมอ ภาคจากภาครัฐ และสร้างความเข้าใจจากสังคมที่จะไม่มองว่า พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์คือคนอื่น แต่เป็นมนุษย์และเป็นประชาชนที่เท่าเทียมกัน สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ผมขอกล่าวคำว่า ฮัมยิก ซึ่งเป็นภาษามานิที่แปลว่า ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๕ ท่าน เตรียมตัวนะครับ ท่านแรกท่านธีระชัย แสนแก้ว ท่านที่ ๒ ท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ท่านที่ ๓ ท่านดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ท่านที่ ๔ ท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข ท่านที่ ๕ ท่านธิษะณา ชุณหะวัณ เชิญท่านธีระชัย แสนแก้ว ครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายธีระชัย แสนแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ท่านประธาน กระผมใคร่ขออนุญาตร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะรัฐมนตรี เพื่อนสมาชิกและพี่น้องประชาชนเป็นผู้เสนอ ทั้ง ๔ ฉบับ ๕ ฉบับ ๖ ฉบับนี่ละ ท่านประธานครับ ประเด็นแรกประเทศไทยเราเป็นสังคม พหุวัฒนธรรม มีประชากรชนเผ่าของกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย กลุ่มสังคม มีวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากหลานสู่หลาน ประเทศไทยเรามีชนเผ่าพื้นเมือง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และมีประชากรที่เป็นคนพื้นเมืองมากถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบ ประชากรของคนเผ่าพันธุ์ชาติพันธุ์นี้ใหญ่กว่าประเทศบางประเทศในโลกนี้ด้วยซ้ำ ท่านประธานครับ กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันไป แต่สภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องเผชิญไม่แตกต่างกันก็คือ พวกเขาถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นที่อยู่จากบรรพบุรุษของเขา พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้แสดงออกถึงความเชื่อ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ของพวกเขาเอง แล้วซ้ำ ยังมีพี่น้องชาติพันธุ์อีกหลายคนถูกทำร้าย ถูกเลือกปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นสอง แล้วบางครั้งเขาเรียกว่า คนชายขอบ ท่านประธานครับที่เรียกว่า คนชายขอบนั้น หรือการที่ ถูกตราหน้าว่า พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝัง ของพวกเรามองภาพลักษณ์ และสร้างอคติที่ไม่เป็นธรรมต่อพวกเขาเลย ตัวกระผมเอง บรรพบุรุษเมื่อก่อนนั้นเป็นคนอีสาน แต่ยังโชคดีได้เกิดมาเป็นคนไทย คนในภาคอีสานเขามี ชนเผ่าเยอะครับ ชนเผ่าภูไท เผ่าญ้อ เผ่าภูลาว ผมก็ถูกตราหน้าว่า เป็นเผ่าภูลาวเช่นเดียวกัน ถูกกระทำมาแล้ว แม้กระทั่งปัจจุบันวัฒนธรรมคำพูดก็ไม่เหมือนกัน การอยู่การกิน ก็ไม่เหมือนกัน เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ก็ยังถูกเหยียดหยามเลยครับคนอีสาน เขาบอกว่า ไอ้ลาวบ้าง โน่นนี่นั่น ผมเป็นคนไทยอีสาน เกิดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถูกเหยียดหยามมาแล้วครับ สมัยเป็นเด็ก ๆ บอกว่า ไอ้เสี่ยว ถ้าท่านประธานเรียกผมว่า ไอ้เสี่ยว ถือว่าเพื่อนกันครับ แต่ถ้าคนไม่รู้จักกันเรียกว่า ไอ้เสี่ยว ผมลุกขึ้นเตะปากเลยครับ มันจะเป็นอย่างนี้ อันนี้คือ การดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งสร้างความไม่เข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่เรานี่ คนเมือง และคนต่างก็เกิดขึ้นในเมืองไทย คนชนบทต่างเผ่าพันธุ์มีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกัน คนพวกนี้เกิดขึ้นมายาวนาน ก่อนที่จะมีการสถาปนารัฐไทยด้วยซ้ำนะครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ท่านประธานครับ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการรับรองสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ ที่บอกว่า รัฐต้องส่งเสริมและคุ้มครองพี่น้องประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รัฐจะต้องให้เขามีสิทธิในการดำรงชีวิตในสังคม และมีวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ของเขา ตามความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ มาตรา ๕ ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ผมอ่านเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับของท่านเสริมศักดิ์ ของ ครม. เป็นผู้เสนอ โดยมาตรา ๕ ในร่างนี้ กระผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เป็นการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ และ ยังคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์ให้สิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิต ดั้งเดิมของพวกเขาได้อย่างแท้จริง โดยมาตรา ๕ บอกว่า ๑. พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการดูแล จากภาครัฐและไม่ถูกเกลียดชัง ไม่ถูกเหยียดหยาม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรม ๒. รัฐจะต้องอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญา ดูแลรักษาหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต และความเชื่อจากจารีตประเพณีของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ๓. รัฐจะต้องเข้ามาดูแล และจัดการบริหาร จัดการชุมชน พื้นที่ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์และต้องคุ้มครองดูแลเขา ให้มีสิทธิในการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของพวกเขาได้อย่างมีอิสระ ๔. รัฐจะต้องบริหารจัดการ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่า ผืนน้ำ ลำธาร พี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์ให้เขาใช้ชีวิตดำรงอยู่ ให้เกิดความยั่งยืน ๕. รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้กลุ่ม ชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกความคิดเห็น และรับฟังปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เกิดจากโครงการ หรือกิจการของรัฐเอกชน หรืออาจจะกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาอย่าง รอบด้านให้เท่าเทียมกัน และ ๖. รัฐจะต้องสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนนหนทาง น้ำประปา ไฟฟ้าให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในที่กันดาร เสมือนให้พวกเขา ดำรงชีวิตว่าเสมือนเป็นคนไทยและรัฐจะต้องจัดบริการสาธารณะ เพื่อดูแลด้านการศึกษา สาธารณสุขทุกอย่างนะครับ เป็นการดูแลให้เข้าถึงภาครัฐอย่างแท้จริง สามารถให้เขาใช้ชีวิต อย่างเท่าเทียมเหมือนกับมนุษย์คนไทยทุกคน ท่านประธานที่เคารพครับ
นายธีระชัย แสนแก้ว อุดรธานี ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๓ ขอกราบเรียนท่านประธานว่า กระผมอยากจะบอกกับทุกท่าน และพี่น้องประชาชนทุกคนว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราคนไทยทุกคนที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันในกฎหมายฉบับนี้ เพราะ กฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในแง่ของ การสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย ทำให้เกิดการยอมรับและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะช่วยลดอคติทางวัฒนธรรม และสร้างสังคมให้มี ความสงบสุข ลดปัญหาความขัดแย้ง และเป็นการวางรากฐานสังคมของเรา คือความมั่นคง และยั่งยืน และที่สำคัญครับท่านประธาน การคุ้มครองวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหลากหลายของ พี่น้องชาติพันธุ์ในฐานะทุนทางวัฒนธรรม เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประเทศ ของเรา และสามารถนำเป็นทุนทางวัฒนธรรมมาเป็น Soft Power ของประเทศเราได้ครับ ท่านประธานครับ ขณะเดียวกันพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ทุนทางวัฒนธรรมก็สามารถพึ่งพาตนเอง ได้ ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณด้วย ที่ต้องให้ความช่วยเหลือและยังสามารถนำงบประมาณ ไปพัฒนาทางด้านอื่นได้ด้วย ซึ่งก็เป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้อีกด้วย ท่านประธานครับ ผมเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจเลยนะครับว่า ศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมของกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิขั้นพื้นฐาน เราจะสามารถถอดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้พวกเขามาเป็นพลังของชาติในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ท่านประธานครับ วันนี้สภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลและพี่น้องประชาชนได้คืนสิทธิ คืนความเท่าเทียม และ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพี่น้องชาวชาติพันธุ์ และพวกเขาถูกพรากมาอย่างยาวนาน แล้ว ดังนั้นกระผมขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และกระผมขอยืนยันว่า จะไม่ทิ้ง ใครไว้ข้างหลังนะครับ ผมเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้ ขอขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้ร่วมสัมมนา เรื่องการมีส่วนร่วมของ ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยกับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ยินดีต้อนรับนะครับ ต่อไปท่านจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล เชิญครับ
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ขออนุญาตอภิปรายประกอบร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... หลาย ๆ ท่านตั้งแต่เช้ามา ได้พูดถึงสิทธิ แล้วก็สวัสดิการของพี่น้องชาวชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างที่ยังไม่มีสิทธิโดยชอบธรรม เรื่องบัตรประชาชน ท่านประธานครับ วันนี้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยนั้นโดยเฉพาะเขต ๔ นั้น ประกอบไปด้วยภูเขาติดต่อกับจังหวัดแพร่ จังหวัดตาก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเทือกเขา เชื่อมกับจังหวัดน่าน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้พี่น้องชาวชาติพันธุ์หลายชาติพันธุ์ติดต่อกัน ไม่ว่า ลีซอ กะเหรี่ยง ม้ง ผมได้เข้าไปดูแลเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ซึ่งผมก็พูดในสภานี้หลายครั้งว่า แม้กระทั่งพี่น้องที่มีความถูกต้องตามประชาธิปไตย ประชาชนคนไทยมีบัตรประชาชน ยังไม่มีโอกาสที่จะได้สวัสดิการจากรัฐเลย ที่เท่าเทียมกับพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วไป ในขณะที่ถือบัตรใบเดียวขนาดเท่ากัน หนังสือต่างกันที่เลขบัตรประชาชนเท่านั้น วันนี้ ต้องกราบเรียนว่า ประเทศไทยนั้นการดูแลเรื่องกฎหมายตลอดจนสิทธิของคนประเทศนั้น ยังไม่เท่าเทียมกันเท่าที่ควร โดยเฉพาะพี่น้องชาวชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ วันนี้หลาย ๆ ที่ เราจะเห็นว่าประเพณีนั้น กลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีความงดงาม มีความสวยงาม โดยเฉพาะเรื่อง ภาษา และเรื่องประเพณีกตัญญู การกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คล้าย ๆ กับ ชนชาติจีนที่มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ การพูดภาษา การแต่งกาย เป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมมากกว่าคนเมือง แต่คนคนนี้ถือบัตรใบเดียวเท่ากับเรา สาธารณูปโภค ถนนเอย ไฟฟ้าเอย ประปาเอย แม้กระทั่งการดูแลเรื่องสุขภาพนั้นยังเข้าไม่ถึง การจะก่อสร้างสักชิ้นหนึ่งเพื่อความปลอดภัยในชีวิต เดินทางออกมาต้องมาคลอดข้างทาง ต้องมาตายข้างทาง เพราะคนเหล่านี้ยังไม่มีการดูแลของรัฐ แล้วก็ประกอบด้วยที่ดินที่อยู่ ในป่า จะเป็นป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ก็ตามแต่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้กันมาตั้งแต่ ๒-๓ ชั่วโคตรแล้ว ของเขา ๔๐-๕๐ ปี ผมเองนั้นเคยร้องเรียนและได้ดำเนินการถนนเรื่องหน้าศาล ที่องค์สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จไป ๖๐ ปีก่อน เพิ่งจะได้ประมาณ ๗-๘ ปี ผมเป็นรองนายก ต้องประชุมป่าไม้แทบทั้งภาค ป่าไม้จังหวัด ภาคป่าไม้เขต กว่าจะได้คำว่า ถนนที่พระองค์ เสด็จไปเมื่อเกือบ ๖๐ ปีแล้ว ไปเอาปืน ไปเอาฝิ่นออกมา ๒๙ กิโลเมตร ยากเย็นมากที่พี่น้อง จะได้สักเส้นหนึ่ง ตลอดจนบางหมู่บ้านห้วยระแห้ กว่าไฟฟ้าจะปักเข้าไป ๖๐ ต้น ต้องลงชื่อ ถวายฎีกา ไปรบกวนเบื้องฟ้าเบื้องแผ่นดิน คนเหล่านี้ทำอะไรมักจะได้อะไรที่ยากเย็นแล้วก็ เกิดความเหลื่อมล้ำ หลาย ๆ สิ่ง อย่างเมื่อตอนเช้าที่เพื่อนสมาชิกพูดมานั้นล้วนแต่เป็น ความจริงทั้งสิ้น แล้วก็มันขาดหายไปจากพี่น้องชาวชาติพันธุ์จริง ๆ ผมถึงกราบเรียนว่า ประเทศไทยหลายชาติมา ผมเองก็เชื้อชาติจีน บรรพบุรุษก็มาจากซัวเถา คนจีนอยู่ในเมือง ได้สิทธิเหมือนกัน แต่เขาอยู่ในพื้นที่ที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจรากหญ้า ไม่ว่าการจะทำ เกษตรกรรมอะไรต่าง ๆ ที่เข้ามาในเมืองสร้างเศรษฐกิจเราได้อย่างดี ดูแลป่าไม้ ให้ความ ร่วมมือป่าไม้ ดูแลเรื่องต้นน้ำ ให้เรามีแหล่งน้ำ ธนาคารน้ำอยู่บนซอกเขา อยู่บนหุบเขา แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ใช้ กลับได้ความเหลื่อมล้ำทางด้านกฎหมายก็ดี สิทธิก็ดี สวัสดิการ ทางแพทย์ก็ดี น้อยลง ไม่เหมือนกับบัตรประชาชนที่อยู่ในเมือง ผมถึงกราบเรียนไปถึงรัฐว่า บางสิ่งบางอย่างวันนี้ที่อภิปรายไป ไม่อยากให้มีกฎหมายพิเศษ กับคนชาติพันธุ์เลย อยากให้เป็นกฎหมายเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ เขาแต่งชุดไปงดงาม คนก็มองกัน ก๊งเก๊ง ๆ งดงามมากครับ มีเงินมีอะไรติดตัวกัน อย่างน้อง ๆ หลายคนที่ใส่ชุด มาวันนี้ ผมว่าเป็นเอกลักษณ์ เทียบกับคนในเมือง แทนที่จะรุงรังกลับหดเว้าเห็นโน่นเห็นนี่ โชว์นั่นโชว์นี่ กลับไม่ให้ความสำคัญ พี่น้องครับ วันนี้เราต้องปรับ แล้วก็ต้องเปลี่ยนกฎหมายไทย เพราะว่าร่างใหม่คุ้มครองสิทธิของพี่น้องชาวชาติพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีเป็นกฎหมาย พิเศษเลยจะเป็นเรื่องดี หลาย ๆ คนที่มาอยู่บ้านเรานานต้องมาตรวจ DNA ต้องมาดูพ่อ ดูแม่ ตามกันไม่เจอ คนเหล่านี้อยู่ด้วยความว้าเหว่ อยู่ในหลืบ ถ้าไม่เข้ามาในเมือง ขาดสวัสดิการดูแลเรื่องการแพทย์อย่างดี อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ผมถึงกราบเรียนว่า วันนี้ผมคง พูดตรงที่ว่า สร้างอย่างไรให้เขามีสิทธิ ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ มีปมด้อย ไม่เสียเปรียบ คนทั้งชาติที่เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ ในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเกษตรกรรม ตลอดจน ประเพณีที่เขามีความงดงาม โดยเฉพาะการแต่งกายนั้นน่าสรรเสริญเยินยอ ซึ่งไม่เป็นอัตตา เหมือนดูไม่ดีในสังคม ไม่เคยถูกติเตียน พี่น้องเราจะเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่เราควรจะ อนุรักษ์ประเพณีของเขาอย่างดี ก็เลยกราบเรียนไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะต้องดูแลเกี่ยวกับ การคุ้มครองวิถีชีวิตของพี่น้องชาวชาติพันธุ์นั้นควรจะให้ความสำคัญตรงนี้ คนเหล่านี้ไม่ได้ เรียกร้องอะไร ขอให้อย่างน้อยก็ได้สิทธิเท่ากับคนไทย เราว่าคนที่มีบัตรอยู่แล้ววันนี้ยังไม่ได้ ความเท่าเทียมเลย ที่ผมบอก เขาทำนา ทำไร่ หรือทำสวน ส่วนใหญ่จะไปทำไร่สวนอยู่บนเขา อยู่ที่ราบสูงมาหลาย ๑๐ ปี หลายชั่วโคตร เขาก็ยังไม่ได้สิทธิในที่ดินทำกินอย่างคนไทย บางคนที่มีเงินทองไปที่ส่วนต่าง ๆ สามารถซื้อหลบเรื่องปัญหาต่าง ๆ ส.ป.ก. ที่ครอบครอง โดยแอบแฝง โดยความไม่ถูกต้องกลับได้กระทำขึ้น แต่คนเหล่านี้อยู่อย่างแท้จริง อยู่จนปลูก ต้นไม้ต้นโตจนท่วมหัวท่วมบ้าน แต่กลับไม่มีสิทธิที่จะไปพิสูจน์ว่า คนเหล่านี้ต้องมีสิทธิ ทำกินจริง ๆ ผมกราบเรียนท่านประธานว่า หลาย ๆ ชาติพันธุ์ที่เข้ามานั้นผมก็มองเห็นพี่น้อง ที่อยู่บนดอย ไม่ว่า ม้ง กะเหรี่ยงหรือจะเป็นลาหู่นั้น ค่อนข้างจะขาดการดูแลในเรื่องสิทธิและ สวัสดิการของประชาชนทั่วไป ก็ฝากไว้ด้วยว่า หากมีโอกาสแล้ว ไม่อยากให้มีกฎหมายพิเศษ อะไรที่จะต้องไปแสดงถึงคนชาติพันธุ์เหล่านี้ครับ ให้เป็นคนไทยได้เหมือนอย่างคนทั่วไป เดินไปไหนแล้วก็เป็นคนไทย ไม่ต้องมีคนมองแต่อยากมีคนชื่นชม อันนี้เป็นสิ่งที่ดีของชาติ แล้วก็เป็นพลัง แล้วก็เป็นกลุ่มคนที่จะสร้างชาติให้ดูดีแล้วก็เป็นพลังเข้มแข็งต่อไป ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เชิญครับ
รองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานและท่านสมาชิกทุกท่านครับ ผม รองศาสตราจารย์พิเศษดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้ผมจะขอมา นำเสนออีกด้านหนึ่งที่สำคัญในเรื่องนี้ ก็คือด้านการศึกษา เป็นที่รับทราบรับรู้กันดีอยู่แล้วว่า ณ ปัจจุบันน้อง ๆ กลุ่มนี้ก็มีสิทธิที่จะได้เข้าถึงระบบการศึกษาของเรา ไม่ว่าจะเป็นในระดับ อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา แต่วันนี้ผมคิดว่าเราต้องเอาความจริงมาคุยกันนะครับ ว่า การที่เขาได้เข้าถึงการศึกษาของเราในระดับอนุบาล ในระดับประถมศึกษา ไม่มีปัญหา ครับ แต่ถ้าเป็นในระดับมัธยมศึกษายังยากมาก ๆ นะครับ ที่น้อง ๆ กลุ่มนี้จะมีโอกาสได้รับ การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่รวมถึงการศึกษาที่สูงขึ้นใน ระดับอุดมศึกษา น้อง ๆ กลุ่มนี้เขาก็มีความมุ่งมั่นที่อยากจะพัฒนาตัวเองทางด้านการศึกษา แต่เราเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ก็ยังมีน้อง ๆ หลาย ๆ คนที่ยังมีปัญหาและยังมีอุปสรรค ยังติดขัดในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เรื่อง หนึ่งที่เป็นเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องเงินทุน ณ ปัจจุบันนี้น้อง ๆ กลุ่มนี้ถ้าใครที่มีความมุ่งมั่นที่จะ ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อการศึกษาของเราได้ ผมได้มีโอกาส ไปพูดคุยได้ไปแลกเปลี่ยนกับน้อง ๆ ในกลุ่มนี้ในหลาย ๆ คน สิ่งที่เขาต้องการและต้องการมาก ๆ นะครับทุกท่าน ก็คือสิทธิที่จะไม่โดนเลือกปฏิบัติในด้านการศึกษา ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านภาคภูมิ บูลย์ประมุข เชิญครับ
นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ตาก ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ผมขอร่วมอภิปรายในร่างพระราชบัญญัติของฉบับนี้ เนื่องจากจังหวัดตากถือเป็นจังหวัดหนึ่ง ที่มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดตากมีประชากรประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ กว่าคน เป็นพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าคน ๑ ใน ๓ มีทั้งชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือปะกาเกอะญอ ม้ง ลาหู่ ลีซอ อาข่า เมี่ยน และคนไทยพื้นราบ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลไทยโดยสมบูรณ์แบบ มีบัตรประชาชน เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ารัฐทำงานอย่างเป็นระบบ ผมไม่ใช่สนับสนุนว่า จะมีกฎหมายเรื่องไหน ผมขออนุญาตจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ ผมขออนุญาตอภิปรายประกอบกับ ในเรื่องเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะว่ารัฐให้ความหวังกับพี่น้องกลุ่มนี้ ให้ความหวังต่อเนื่อง ๆ เรื่องที่สำคัญคือเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราคุยกันเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า อันนี้ก็เป็นอีก เรื่องหนึ่งที่ทำให้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ปัญหาของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ไม่ได้รับความ เป็นธรรมเท่ากับของคนทั่วไป ฉะนั้นผมคิดว่าถ้ารัฐทำเป็นระบบ เมื่อสักครู่เราพูดถึงเรื่อง ที่ดินทำกิน การเข้าถึงสิทธิครอบครองในที่ดิน รัฐมีนโยบาย คทช. แต่ต้วมเตี้ยมมาก เดินก็ช้า ทำอะไรก็ไม่สะดวก เพราะว่าเรามียึดติดเรื่องระเบียบเยอะเกินไป คทช. ถ้าทำดี ๆ เป็นเรื่อง ที่ดีนะครับ เพราะว่ารัฐตั้งใจจะจัดหาที่ดิน จัดหาสิทธิที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มชาติพันธุ์นี้เป็นหลัก เพราะว่าในเมื่อถ้าทำ คทช. อะไรปุ๊บ พี่น้องก็จะได้ถือสิทธิ สามารถ ถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ สามารถนำไปแปลงทรัพย์สินเป็นทุนได้ และที่สุดสามารถเข้าถึง งบประมาณของรัฐได้ ๔ ปีที่ผ่านมาผมพยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้ผลักดันเป็นเรื่อง พระราชบัญญัติหรอกครับ เราผลักดันในเรื่องสิทธิที่ชาวบ้านเขาจะได้ ผมยกตัวอย่าง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขุดบ่อจิ๋วให้ คนพื้นล่างมี ส.ป.ก. มีโฉนด มี น.ส. ๓ มีใบที่ดิน ของสหกรณ์เขาได้รับบ่อจิ๋ว แต่คนพื้นที่สูงไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่สามารถรับเรื่องพวกนี้ได้เลย เพราะว่าอันดับแรกคือไม่มีสิทธิทำกิน เขาปลูกพืชไร่ เขาโดนภัยพิบัติ รัฐจะไปเยียวยา ก็ทำยาก เพราะพิสูจน์ไม่ได้ อันนั้นคือเรื่องเรื่องหนึ่งนะครับ ถ้ารัฐบาลไม่ว่าจะกระทรวง ต่าง ๆ ถ้าท่านเห็นความสำคัญนี้ ท่านลดขั้นตอน ลดกฎหมาย ลดระเบียบ และช่วยให้เขาได้ ตามสิทธิที่เขาควรจะช่วยเหมือนคนไทยทั่วไป เรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ถนนหนทางที่ผมพูด ทุกครั้งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมีสิทธิทำได้เลย ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ ก็ติดด้วยระเบียบ เงื่อนไข แล้วก็ขั้นตอนที่มันยุ่งยาก ผมก็เชื่อว่าตอนนี้ทั้งกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ท่านเป็นเจ้ากระทรวง ท่านก็จะพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็พยายามจะประสานกันเพื่อจะให้ โครงการ ๒ โครงการนี้มันสามารถเข้ากันได้ แล้วมันจะเป็นโอกาสของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ผมเลยนำเรียนว่า ทุกอย่างที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เขาไม่ได้รับความเท่าเทียม ก็เกิดจากเงื่อนไข ของรัฐ ท่านไม่ต้องไปทำกฎหมายก็ได้ครับ ท่านไปแก้ไขเงื่อนไขของท่านให้รองรับกับการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ การได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐเท่าเทียมกับ คนทั่วไป ผมว่าเขาก็คงไม่เดือดร้อน สำหรับผมอยู่กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะบ้านผม พี่น้อง ปกาเกอะญอ หรือว่ากะเหรี่ยงอยู่ด้วยกันมาเป็น ๑๐ ปีรู้ว่าเขาอยากได้อะไร เงื่อนไขที่มัน เป็นกฎหมายคุ้มครองมันก็เป็นเรื่องดี แต่รูปธรรมที่รัฐจะทำให้เขา อันนี้เรื่องจริง คือเราต้อง พยายาม Support เขาให้ได้ ให้เขาได้จับต้องได้ ให้เขาเห็นว่าเขาไม่ได้ด้อยค่า วันนี้บ้านคน พื้นล่างมีไฟฟ้าใช้ เขาก็ต้องควรมีไฟฟ้าใช้ แต่มันก็ติดด้วยเงื่อนไข เขามีถนน พวกเรามีถนน คอนกรีต ถนนลาดยางอย่างดี เขาถนนลูกรัง ใช้งานได้ก็เฉพาะหน้าแล้ง หน้าฝนก็ใช้ไม่ได้ ในเมื่อเราไม่ได้ให้เขา เขาก็ต้องมีปัญหาในเรื่องการดำรงชีวิต ถ้ารัฐทำเรื่องนี้ได้ กฎหมาย ฉบับนี้ผมว่า จำเป็นน้อยกว่าความเป็นจริงที่รัฐจะสนับสนุนให้ ในเรื่องการตั้งพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ ผมไม่มีความเห็นว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง ตั้งก็ดี ถ้าไม่ตั้งรัฐต้องปรับปรุงระเบียบกฎหมาย ของการใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินให้ได้เท่าเทียมกัน เรื่องนี้ก็จะจบไปได้ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านธิษะณา ชุณหะวัณ เชิญครับ
นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน ธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กรุงเทพมหานคร เขต ๒ หรือเขตปทุมวัน เขตสาทร และเขตราชเทวี พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ที่ผ่านมา ดิฉันได้เคยอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองดังกล่าว พร้อมกับเสนอให้ มีการช่วยสร้างกลไก และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ สำหรับพี่น้องชาติพันธุ์และกลุ่ม ชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย ดิฉันจึงขอผลักดันสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใน ประเทศไทยต่อไปเพื่อความยุติธรรมความเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักสากล ประเด็นหลัก ที่ดิฉันอยากจะกล่าวถึงมีอยู่ ๓ ประการด้วยกันค่ะ คือ ๑. อุปสรรคในการขอสัญชาติ ๒. ความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันของพี่น้องชาว ชาติพันธุ์ ๓. กฎหมายไทยที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เราได้ลง สัตยาบันไปแล้ว และก็ยังไม่ได้อนุวัติมาเป็นกฎหมายไทยคะ ตัวอย่างเช่น กติกาว่าด้วยสิทธิ พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ๑๙๖๖ และกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและ วัฒนธรรม ๑๙๖๖ และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองหรือ UNDRIP ปี ๒๐๐๗ แม้ว่าทั้ง ๓ ประเด็นนี้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงทับซ้อนกันอยู่บ้าง และหากพอกางออกมาแล้วในแต่ละประเด็นก็จะทราบว่า แต่ละประเด็นมีเนื้อหาอะไรและ มีความเกี่ยวโยงกันอย่างไรบ้าง อุปสรรคในการขอสัญชาติอย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายคนได้กล่าว ก่อนหน้านี้นะคะ พ.ร.บ. สัญชาติ ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ปัจจุบันถ้าว่ากันตามพระราชบัญญัติสัญชาติตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ ไม่ว่าจะด้วยภายใต้หลักดินแดนและการเกิด บุคคลที่เกิดในประเทศไทย แต่บิดา มารดามีสถานะเป็นคนต่างชาติ และขณะที่บิดามารดาไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสัญชาติ ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีชนกลุ่มน้อยและพี่น้องชาติพันธุ์ซึ่งถูกจัดอยู่ใน กลุ่มข้อยกเว้นภายในหลักดินแดน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะจัดกลุ่มอยู่ในประเทศ Jus Soli ภาษาลาติน หรือสิทธิสัญชาติโดยแผ่นดินก็ตาม แต่มีข้อจำกัดบางประการ เช่น บิดาหรือ มารดาจะต้องมีถิ่นอยู่ถาวรในประเทศไทยมาเป็นเวลาอย่างน้อย ๕ ปี ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะ ต้องเผชิญอุปสรรคเมื่อจำเป็นต้องแสดงหลักฐานที่อยู่ และหลักฐานการเกิดในประเทศไทย และตามสถานะกฎหมายที่พวกเขาจะมีอุปสรรคและไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก หรือ ในกรณีการแปลงสัญชาติที่นอกจากจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดหลายข้อ รวมถึงการ แสดงเอกสารต่าง ๆ ในการตรวจ DNA ยังจะต้องมีการผ่านการประชุมคณะทำงานระดับ จังหวัดคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการไปจนถึงการลงนามเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดของกฎกระทรวงส่งประกาศราชกิจจานุเบกษา และรับหนังสือการแปลง ซึ่งในหลักขั้นตอนและกระบวนการอาจจะทำให้เกิดอุปสรรค จนเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง เช่น ออกเอกสารที่บุคคลนั้นไม่มี หรือการใช้อำนาจ ทางระบบราชการในขั้นตอนดังกล่าวหาประโยชน์ค่ะ ดิฉันทราบว่าที่กล่าวมาก่อนหน้านี้อันเนื่องด้วยมาจากผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สถานะทั้งในและนอกประเทศหรือเศรษฐกิจการเมือง ประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามยังได้ มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อความเท่าเทียมสำหรับชนกลุ่มน้อย และพี่น้องชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในส่วนของการขอสัญชาติ รวมถึงการกลับคืนสัญชาติค่ะ นอกจากนี้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และโอกาสทางเศรษฐกิจควรเปิดให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถ ที่จะเข้าถึงได้ แล้วก็ส่วนคนที่จะเป็นเจ้าของประเทศควรจะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่แค่กลุ่มทุน ผูกขาดเพียงไม่กี่กลุ่ม และกลุ่มที่ยึดโยงกับรัฐประหารที่ได้รับผลประโยชน์ เพราะทุกคนล้วน เท่าเทียมกันและต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง บริการรัฐต่าง ๆ เช่น บริการทางสาธารณสุข บริการด้านการศึกษา และบริการในการที่จะ เข้าถึงบัตรประชาชนที่จำเป็นที่จะต้องมีบัตรประชาชนถึงจะเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น ข้อกังวล เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื้อหาใน Website ที่ได้รับฟังความคิดเห็นในส่วนของข้อมูลประกอบการพิจารณาที่มีการตั้งคณะกรรมการ ระดับชาติ และระดับจังหวัดนั้น ดิฉันมีข้อกังวลเล็กน้อยว่า หากใช้ระบบราชการเข้าไป ดำเนินการอย่างเต็มที่อาจจะเกิดปัญหาการสวมสิทธิปลอมแปลง สิทธิโดยผู้มีอำนาจ ทางการเมือง การปกครอง หรือกำลังทางเศรษฐกิจ หรือมีเส้นสายได้เหมือนที่เกิดขึ้นกรณี ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่กลับกลายเป็นเอาทรัพยากรส่วนกลางไปให้นายทุนผูกขาดสวมสิทธิ ใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่เพียงไม่กี่บริษัท ดิฉันจึงอยากเรียนท่านประธานเพื่อให้ใช้พื้นที่สภา ผู้แทนราษฎรแห่งนี้ในการปรึกษาหารือรูปแบบแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำของ ทางทรัพยากร และป้องกันความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ จากการสวมสิทธิตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ค่ะ สิทธิอื่น ๆ ที่จะต้องมีตามบัตรประชาชน พี่น้องชาติพันธุ์ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงได้อย่าง เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดิฉันเคยไปลงพื้นที่ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และพบกับพี่น้องชาวลาหู่ มีอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงการจดทะเบียนได้บัตรประชาชน ไม่มีหลักฐานในการเกิดในประเทศไทย ดิฉันบอกข้างต้นนะคะ ต้องจบปริญญาโท ต้องมี รายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๐ บาท ต้องมีการตรวจ DNA ท่านคะ พี่น้องชาติพันธุ์ยังไม่มีสิทธิ ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นสิทธิในการศึกษา ท่านจะเอาจากไหนมาจบปริญญาโท ท่านจะเอาเงินจากไหนมาตรวจ DNA คะ ท่านจะเอาเงินจากไหนมาให้รายได้ ๔๐,๐๐๐ บาท ต่อเดือนเพื่อที่จะได้รับบัตรประชาชน และได้สิทธิเท่าเทียมกับคนส่วนมาก ทั้ง ๆ ที่เขาเกิด ในแผ่นดินไทย อยู่ในแผ่นดินไทย ทำมาหากินได้อยู่ในแผ่นดินไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษของ พวกเขาแล้วค่ะ จะเอาเงินจากไหนไปเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เป็นประกาศจากกระทรวง ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พิลึกพิลั่นและแปลกประหลาดที่สุดค่ะ นอกจากนั้นในการ เข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นการใช้ไฟฟ้าในเขตป่าสงวนเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่พี่น้อง ชาติพันธุ์เข้าไม่ถึง จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ สภาชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นเครื่องมือ ในการที่จะสร้างกลไกที่พี่น้องชาติพันธุ์จะได้สะท้อนเสียงและความต้องการของเขาเข้ามาสู่ สภาใหญ่ มีกลไกในการประสานงานกับชุมชนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ค่ะ ๒. การคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ๓. การอนุรักษ์ส่งเสริมฟื้นฟูอัตลักษณ์ จารีตประเพณี ๔. ศึกษาติดตามประเมินผลกระทบ อันนี้สำคัญมากนะคะ ของโครงการ Mega Project ระหว่างนายทุนกับรัฐ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ และทรัพยากรที่เป็นที่ดินทำกิน เป็นการทำมาหาได้ของพี่น้องชาติพันธุ์ นอกจากนี้นะคะ ท่านประธาน ทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสทางเศรษฐกิจควรเปิดให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่ดิฉันได้กล่าวไปข้างต้นว่าด้วยมาตรา ๒๗ แห่งกติกา ว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง และกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ได้บัญญัติไว้ว่า ในรัฐทั้งหลายซึ่งมีชนกลุ่มน้อยทางเผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือภาษาอยู่ บุคคลผู้เป็นชนกลุ่มน้อย ดังกล่าวจะต้องไม่ถูกปฏิเสธสิทธิอันที่มีวัฒนธรรมของตนเอง หรือนับถือและประกอบ พิธีกรรมทางศาสนาของตนเอง หรือใช้ภาษาของตนเองภายในชุมชนร่วมกับสมาชิกอื่น ๆ ของชนกลุ่มน้อยด้วยกัน นอกจากนั้นในมาตรา ๒ ของกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมยังกำหนดว่า รัฐภาคีซึ่งเราเป็นหนึ่งในภาคีจะต้องดำเนินการเป็นรายบุคคล และผ่านการช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ และเทคนิคโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นประโยชน์สูงสุดที่จะนำมาซึ่งสิทธิและ เสรีภาพที่บัญญัติอยู่ในกติกา ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนี้ ซึ่งรวมไปถึง มาตรา ๒๗ ที่ดิฉันกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นสิทธิของพี่น้องชาวชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย ซึ่งประเทศไทยก็ได้ลงสัตยาบันไว้แล้ว วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๐ นอกจากนี้ ว่าด้วยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ ได้ระบุ ไว้ว่า รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูก รบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชนหรือ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเช่นนี้ ทำไม ประชาชนชนกลุ่มน้อยยังไม่ถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมล่ะคะ ไหนจะเรื่องสัญชาติ การจัดแจง ทรัพยากร สถานะทางเศรษฐกิจไปจนถึงการใช้ชีวิตในสังคมไทย ท่านประธานคะ ที่ดิฉัน กล่าวมา ท่านประธานจะได้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันไปตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมากฎหมายไทยไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ดิฉัน กล่าวมาข้างต้นจวบจนถึงปัจจุบัน ดิฉันจึงอยากให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ มีการพิจารณาคำนึง ครอบคลุมถึงประเด็นที่ดิฉันได้นำเสนอไปด้วย เพื่อที่จะได้รับสิทธิเท่าเทียมเพราะทุกคน เป็นคนเท่ากันค่ะท่านประธาน นอกจากนั้นในมาตรา ๑ ของ ICCPR ยังกำหนดไว้ว่า ยังยืนยันว่า ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในการกำหนดตนเอง และถูกรับเป็นกฎหมายจารีต ประเพณีระหว่างประเทศที่ปฏิบัติโดยทั่วไป และเป็น Opinio Juris หรือว่าคำตัดสิน คำวินิจฉัยของศาลโลก ที่ทุกประเทศร่วมปฏิบัติเมื่อลงสัตยาบันโดยสุจริต Pacta Sunt Servanda สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการกำหนดตนเองถือเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน เคารพในการตัดสินใจที่เป็นอิสระ การปกครองตนเองและพึ่งพาตนเอง และเป็นสถาบันที่จะ ปกครองตนเองมานับ ๑๐,๐๐๐ ปี ตั้งแต่ก่อนล่าอาณานิคมได้เริ่มขึ้นแล้วค่ะท่านประธาน ในร่าง พ.ร.บ. พื้นเมือง จะให้ความหวังกับคำนิยามชาติพันธุ์นะคะ คือชาติพันธุ์ก็คือคน กำหนดนิยามชนเผ่าพื้นเมือง ตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมือง และตั้งคณะอาวุโสชนเผ่าพื้นเมือง ไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐสภา ดิฉันอยากให้พี่น้องในสภาแห่งนี้ ร่วมกันเป็นหนึ่งในจุด เปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ไทย ก้าวไปข้างหน้าสู่ความเท่าเทียม และสังคมพหุวัฒนธรรม และความหลากหลาย ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชิญครับ
นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เชียงราย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ก่อนอื่นค่ะ ดิฉันต้องขอฝากท่านประธานขอบคุณไปทาง คณะรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียม แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้ทุกคน เท่ากัน โดยต้องบอกว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือความหวังของกลุ่มคนที่ไม่ได้จะต้องการ อะไรพิเศษไปมากกว่าคนอื่น เพียงแค่ต้องการสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ และวันนี้พวกเรา จะร่วมกันคืนสิทธิเหล่านั้นให้กับพวกเขากันค่ะ และต้องบอกว่าการอภิปราย พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังเป็นการต้อนรับวันที่ ๑ มีนาคมที่จะถึงนี้ด้วยนะคะ ซึ่งเป็นวัน Zero Discrimination Day หรือว่าเป็นวันที่ยุติเลือกปฏิบัติอีกด้วยค่ะ ที่ผ่านมาพวกเราได้พูดถึงกลุ่มพี่น้องกลุ่มคนเหล่านี้ พูดว่า เป็นชนกลุ่มน้อยใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาไม่ใช่เป็นคนกลุ่มน้อยเลย ประเทศไทยเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ ๗๐ กว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และหากนับเป็นรายคนก็ประมาณ อยู่ที่ ๖.๑ ล้านคน และถ้าจะให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นค่ะท่านประธาน คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของ ประชากรไทย ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ตลอดมามีที่อยู่อาศัย มีความไม่มั่นคง ในที่อยู่อาศัย ไม่มีการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้ แม้ว่าในช่วงวิกฤตโลก อย่างโควิด-๑๙ เป็นต้น พวกเขาไม่สามารถได้รับการรักษาหรือแม้แต่ได้เข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ เพียงเพราะเป็น ชนกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งยังประสบกับปัญหาจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกผลักไปเป็นคนชายขอบ เป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกัน ทุกคนเป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจ มีความรู้สึก เราจะ คิดอย่างไรคะ ถ้าเมื่อบ้านเราที่เราเคยอยู่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ อยู่กันเป็น ๔๐ ปี ๕๐ ปี มาตลอด และวันหนึ่งจะต้องถูกไล่ออก ปัญหาเหล่านี้ค่ะ บางคนอยู่กันมานานแต่ไม่สามารถมีสัญชาติได้ ลูกหลานบางท่านเป็นเด็กเรียนดี สอบทหารได้ แต่ไม่มีสิทธิเกณฑ์ทหาร ไม่สามารถรับบรรจุ เพราะว่าแม่ไม่มีสัญชาติค่ะ อันนี้คือเป็น อย่างหนึ่งที่เป็นการลิดรอนสิทธิหรือเปล่าคะ วันนี้ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาที่สำคัญที่พวกเรา จะมาช่วยกัน ช่วยกันให้สังคมไทยที่วันนี้มองไม่เห็นมาเห็นพวกเขากันค่ะ และวันนี้รัฐบาล แล้วก็พรรคเพื่อไทยเอง พวกเรามองเห็นพวกเขาและพร้อมที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้ ได้มองเห็นอย่างที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยค่ะท่านประธาน บทบัญญัติทั่วไปทำขึ้นมาเพื่อให้ทุกคน ได้รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านี้ได้เผชิญกับการที่จะต้องถูกเหยียดหยาม อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ให้พวกเขาเหล่านี้ที่อยู่กับธรรมชาติมาโดยตลอดสามารถ ดำเนินชีวิต แล้วก็อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่มาโดยตลอด ๒. ให้หน่วยงานราชการนั้น มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของพวกเขาเหล่านี้ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ส่งเสริมวัฒนธรรม ส่งเสริมประเพณีต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักให้กับทั่วโลก ให้ชาวต่างชาติ แล้วก็คนไทยได้เห็น ให้พวกเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเขา วัฒนธรรมกลุ่ม ของพวกเขา ซึ่งต้องบอกว่าเป็นประเพณีที่สวยงามไม่แพ้ชาติใดเลย อย่างที่จังหวัดเชียงราย บ้านเราค่ะ ท่านประธานก็อยู่จังหวัดเชียงรายเหมือนกับดิฉัน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานมหัศจรรย์ ๑๐ ชาติพันธุ์ที่แม่สาย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งบอกว่าก็มี การจัดขึ้นในครั้งนี้เป็น ครั้งที่ ๙ แล้วนะคะ จึงอยากให้ทุกคนได้เห็นและได้สัมผัสกับประเพณี เหล่านี้ ๓. จัดตั้งสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน แลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และสังคม ๔. ทำให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิในการป้องกัน ศักดิ์ศรีของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการกำหนดฐานความผิดอาญาว่าด้วย การเหยียดหยาม หรือสร้างความเกลียดชังให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ๕. ในเรื่องของการรักษา พยาบาล ซึ่งต้องบอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ และในการดำรงชีวิตอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมานี้พวกเขาไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล หรือขั้นพื้นฐานจากรัฐได้เลย และวันนี้เราต้องนอกจากนี้ไปจะต้องไม่มีชีวิตใดที่จะต้อง สูญเสียและจะไม่มีการเจ็บป่วยใดที่จะมาดึงไม่ให้พวกเขาสามารถได้รับเข้ารับการรักษา ได้อีกต่อไป ๖. ทำให้เขาสามารถเข้าถึงการศึกษา นอกจากสิทธิที่ได้เข้ารับถึงการศึกษา แล้วอีก ๑ ปัญหานั่นก็คือความยากจน ขอให้ความยากจนในการที่จะขอทุนในการศึกษา จากภาครัฐต่าง ๆ ที่จะได้รับรองทางการกฎหมายนี้ผ่าน ถ้าเราผ่าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้อุปสรรค ในการศึกษาของพวกเขาจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการทำขึ้น ให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในทุกรูปแบบ หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งหมดนี้ที่ดิฉันได้กล่าวมาเพื่อที่จะบอกว่าวันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย พวกเราเอง ที่ร่วมอภิปรายในวันนี้พร้อมที่จะให้ผ่าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ และขอส่งความหวังผ่านสภาแห่งนี้ ไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ คนว่าวันนี้ท่านกำลังจะได้สิทธิที่ท่านพึงมีคืนอย่างมี เกียรติ อย่างมีศักดิ์ศรีและจะไม่มีใครไม่มองเห็นท่านได้อีกต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านสัญญา นิลสุพรรณ เชิญครับ
นายสัญญา นิลสุพรรณ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม สัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ วันนี้ผมขออนุญาตร่วมอภิปรายร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นะครับ สืบเนื่องจากจริง ๆ เมื่อสมัยที่แล้วผมก็ได้มีโอกาสได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ว่าเมื่อครั้งที่แล้ว ปลายสมัย แล้วก็ปิดสมัยไปก่อน แล้วก็ได้ทราบว่าทางคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วก็ได้มี การมอบหมายให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์นี้ให้ไปเตรียมร่าง แล้วก็วันนี้ก็ดีใจที่คณะรัฐมนตรีเองได้นำร่างพระราชบัญญัติ ดังกล่าวนี้เข้ามาให้สภาพิจารณาในวันนี้ ผมจึงถือโอกาสนี้ได้ร่วมอภิปรายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งที่แล้วเองยังไม่ได้ครอบคลุมในเรื่อง ของรายละเอียดในพระราชบัญญัตินี้ ก็เลยไม่ได้ลงรายละเอียดในการอภิปรายเยอะ แต่ในสัปดาห์ในครั้งนี้เอง ในร่างของคณะรัฐมนตรีผมเห็นด้วยในหลายประเด็นครับ ท่านประธาน ในเรื่องของร่างมาตรา ๕ ในเรื่องของการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต ในหลาย ๆ เรื่องที่ท่านสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายไปแล้วผมคงไม่อภิปรายซ้ำ อันนี้เป็น เรื่องที่ดีมาก แล้วก็เรื่องของการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วก็มีเรื่อง ของการจัดตั้งสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าตอบโจทย์ของพี่น้องกลุ่ม ชาติพันธุ์ ในพื้นที่ผมเอง ๓ อำเภอ อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอชุมแสงมีพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ทั้ง ๓ อำเภอ มีพี่น้องไทยทรงดำ ลาวครั่ง ผมเองมีโอกาสได้ร่วมงานกับ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์แทบจะทุกงานที่มีประเพณีที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ มีโอกาสได้ต้อนรับสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย มีโอกาสเลี้ยงต้อนรับกัน มีโอกาส ได้พูดคุย เมื่อปลายสมัยที่แล้วตอนที่มีการหาเสียงเลือกตั้งก็มีการได้พบปะพูดคุยกับ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการนำความต้องการของพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาเพื่อประมวลผลในการที่จะขับเคลื่อน วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมาย ที่ดีที่คณะรัฐมนตรีและคณะประชาชนอีก ๓ ร่างที่ยื่นเข้ามาในวันนี้ ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นประชารัฐ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษของเรา ในการที่แต่งเพลงชาติไทยไว้ ความหมายชัดเจนครับว่าประเทศไทยนี้รวมเชื้อชาติหลาย เชื้อชาติมารวมกันเป็นประเทศไทย ทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยถือว่าเป็นคนไทย แต่เราต้องยอมรับที่ผ่านมาในอดีตพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ห่างไกลก็อาจจะได้รับการดูแล ที่ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ท่านลองย้อนนึกไปเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วเราจะเห็นว่าพี่น้องที่อยู่ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นี้ก็จะมีปัญหา เราคงไม่พูดซ้ำเติม แต่ว่าพูดกันแค่อดีตว่าเรื่องของ ยาเสพติด เรื่องของฝิ่น เราจะเห็นภาพนั้น แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ปัจจุบันพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ จากองค์กรต่าง ๆ องค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ได้เข้าไป ช่วยทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ของพี่น้องชาติพันธุ์ได้เข้าถึงการพัฒนาเป็นอย่างดี วันนี้ก็ถือว่าเป็น อีกก้าวหนึ่งที่จะก้าวต่อไปที่จะส่งเสริมให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีโอกาสเข้าถึงงบประมาณ ของรัฐได้มากขึ้น ได้เข้าถึงสิทธิที่จะเป็นคนไทยอย่างเต็มตัวได้มากขึ้น ผมคิดว่าพี่น้อง กลุ่มชาติหลาย ๆ ท่านที่ผมได้พูดคุยก็มีความคิดเดียวกันว่าไม่อยากให้รู้สึกว่าเขาเป็น คนต่างชาติหรือต่างภาษาหรืออะไร ทุกคนอยากจะเป็นคนไทยเพราะเราภูมิใจในความเป็น คนไทย และเรารักกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตาม อันนี้ผมว่าเป็นเสน่ห์ที่ประเทศไทย มีไม่เหมือนประเทศไหน อันนี้ที่เราจะต้องช่วยกันรักษาไว้ ผมคิดว่าทางคณะรัฐมนตรีเอง หน่วยงานต่าง ๆ เอง ก็คงจะได้กลั่นกรองทุกอย่างมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิ มนุษยชนและความมั่นคงของรัฐ ผมจึงเชื่อมั่นใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ที่ตอบ โจทย์มากที่สุด เพราะอย่าลืมว่าบางครั้งถ้าเราทำอะไรที่มากเกินไปอาจจะมีผลกระทบ ตามมาได้ อันนี้ผมอาจจะมองในแง่ร้ายไว้นิดหนึ่ง เพราะว่ามันมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศครับ ท่านประธาน ไม่ว่าจะประเทศบ้านเราเอง ใกล้ ๆ เราเองนะครับ แล้วก็มีอีกหลายประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มี การที่เราไปแบ่งแยกจนเกินไปในเรื่องของการเป็นตัวตน ของชาติพันธุ์นั้น ชาติพันธุ์นี้ จะทำให้มันจะเกิดเหมือนแบ่งพรรคแบ่งพวกกันไปเอง แต่การที่ผมมองว่าถ้าเราร่วมกันเราเป็นคนไทย แล้วก็มีคณะกรรมการและร่วมกัน แต่ท่านก็ สามารถมีคณะกรรมการหรือมีสมัชชาได้ผมว่าตอบโจทย์ อันนี้เป็นข้อคิดในชั้นกรรมาธิการ ถ้ามีการตั้งผมก็อยากจะฝากเป็นข้อสังเกตให้ทุกท่านนะครับ ท่านศักดิ์ดา แสนมี่ เอง ขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ ผมก็ได้เคยมีโอกาสได้โทรศัพท์พูดคุยและได้ทราบถึง ความต้องการของท่านเอง แล้วพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ผมก็คิดว่าทุกอย่างต้อง เดินไปด้วยกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ผมก็ขอสนับสนุนนะครับร่างพระราชบัญญัติ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่ได้นำเสนอเข้าสู่สภาในวันนี้ครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ เชิญครับ ท่านต่อไปก่อนนะครับ ท่านจิตติพจน์อยู่ไหมครับ ต่อไปท่านอภิชาติ แก้วโกศล เชิญครับ ท่านจิตติพจน์อยู่ใช่ไหมครับ เชิญครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
ผมอภิชาติครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ท่านอภิชาติเชิญเลยครับ
จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล เพชรบุรี ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ผม จ่าอากาศเอก อภิชาติ แก้วโกศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับที่ให้การสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นสมัยกรุงสุโขทัยประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ก่อตั้งเป็นไทยจนมาถึงเป็นประเทศไทย ทุกวันนี้นะครับ รวมถึงมีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ได้อยู่อาศัยกันมาอย่างยาวนานเช่นกัน ก็เช่นกันบ้านผมเองจังหวัดเพชรบุรีมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มลาวโซ่ง กลุ่มกะเหรี่ยง กะหร่าง กลุ่มชนชาติมอญ กลุ่มคนมลายู มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีนที่ตั้งรกรากถิ่นฐาน ใช้ชีวิตดำรงชีวิตประกอบอาชีพต่าง ๆ กันไปนะครับ ที่สำคัญทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บน แผ่นดินไทยผืนนี้ได้รับพระเมตตาจากสถาบัน ให้การส่งเสริมในการดำรงชีวิตและแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในด้านต่าง ๆ และอีกประการได้สร้างความรัก ความสามัคคี ให้กันและกันมาอย่างยาวนาน ผมเองได้ พูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์นะครับ เขาได้บอกว่าเขาภูมิใจมากที่ได้เกิดได้อยู่บนแผ่นดินไทยผืนนี้ มาอย่างยาวนาน ทำให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดำรงชีวิตอย่างมีความสงบสุข และได้รับการดูแลตลอดมานะครับ ผมเองได้ไปร่วมงานของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ ๖ ธันวาคม ของทุก ๆ ปีจะจัด งานที่ใหญ่มากและจัดมาอย่างยาวนาน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพวกเขาทำให้พวกเขาอยู่บน แผ่นดินไทยผืนนี้อย่างมีความสุข แล้วก็เช่นกันหลาย ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยาวนานเช่นกัน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งนะครับ การดำรงชีวิต วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นั้นปัจจุบันเป็นแหล่ง เรียนรู้แหล่ง ท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจให้กับครอบครัว ให้กับชุมชน ให้กับประเทศชาติ ในแต่ละพื้นที่ได้ดีมากนะครับ สุดท้ายอยากจะเรียนทุกท่านที่เกี่ยวข้องว่าทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราต้องช่วยกันดูแลพวกเขาให้ได้รับสวัสดิการต่าง ๆ สิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน ก็ต้องฝากทุกท่านที่มีส่วนร่วม ที่มีส่วนผลักดันในเรื่องนี้ เพราะว่าทุกท่าน ที่เกิดในประเทศไทยอยู่บนแผ่นดินไทยผืนนี้ ทุกท่านต้องมีสิทธิเป็นคนไทยด้วยกัน ขอบพระคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านชุติมา คชพันธ์ เชิญครับ
นางสาวชุติมา คชพันธ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน ชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากภาคใต้ค่ะ ดิฉันขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภาคใต้บ้านเกิดของดิฉัน พี่น้องชาวอุรักลาโวยจเป็นชาวเลที่อาศัยอยู่ที่เกาะสิเหร่ หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี เกาะจํา เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ เรามีพี่น้องชาวมอแกนบนเกาะ หลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ชาวมอแกนนี้ที่ทำให้เรารักษาดินแดนบริเวณนั้นไว้ได้ ในคราที่มี ข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย พี่น้องชาวมอแกนคือผู้ที่ยืนยันว่า ผืนแผ่นดินตรงนั้นคือประเทศไทย ทำให้เกาะหลีเป๊ะยังคงเป็นเขตแดนของไทยมาถึงทุกวันนี้ ดิฉันขอขอบคุณพี่น้องชาวมอแกนมา ณ ที่นี้ค่ะ ส่วนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลา เรามีพี่น้องชาวมานิ มานิ แปลว่า มนุษย์ การที่ พวกเขาเรียกตัวเองว่า มานิ เท่ากับเขากำลังบอกพวกเราว่าเขาคือมนุษย์ มีศักดิ์ศรีไม่ด้อย ไปกว่าผู้ใด เขาคืออีก ๑ ชีวิตที่อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ปัจจุบันพี่น้องชาวมานิของเรากำลังประสบ ปัญหา เพราะป่าที่เคยอยู่ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของชาวมานิเปลี่ยนไป ทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และการที่ต้องปรับตัวเข้ากับชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึง ปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมมีปัญหาระบบสุขภาวะ ของชุมชน เนื่องจากแหล่งอาหารในป่าน้อยลง กลุ่มที่เริ่มปรับตัวตั้งถิ่นฐานมีปัญหาถูกเอารัด เอาเปรียบจากคนภายนอก รวมไปถึงการผลิตและการบริโภคอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวรมีปัญหาขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สำหรับพี่น้องชาว มานิที่ได้บัตรประชาชนแล้ว สิ่งที่ต้องการคือสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการศึกษาค่ะ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพี่น้องชาวมานิหลายคนเข้าคูหาเลือกตั้งด้วยความหวังเช่นเดียวกับ พวกเราทุกคนว่าการเมืองที่ดีจะช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้เขาได้ ชาวมานิมีองค์ความรู้ในทุกมิติ ของป่า มีนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พี่น้องชาวมานิ คือผู้ที่ช่วยดูแลผืนป่า ช่วยปกป้องผืนป่าไว้ ความรู้ภูมิปัญญาของพี่น้องชาวมานิที่มีอยู่ทุกที่ใน ป่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือคนส่วนใหญ่ไม่เปิดใจ ติดในมายาคติ ล้อเลียน ไม่ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ตระหนักในคำว่า คนเท่ากัน จนบางครั้งเท่ากับเป็นการไป ละเมิดดูถูกดูแคลนไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ผ่านมาที่คนส่วนใหญ่ถ้าเหมือนเป็น การหวังดี แต่มีอีกมุมหนึ่งก็คือสิ่งนั้นคือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาเช่นกัน แทนที่เราจะส่งเสริมศักดิ์ศรี ส่งเสริมศักยภาพให้เขาสามารถมีอาชีพที่เลี้ยงดูตนเองได้ เราควรจะเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ เราควรที่จะส่งเสริมให้พี่น้องชาวมานิ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน มีสิทธิจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภค ๆ ได้ เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ มากกว่าการดูถูกดูแคลน ดิฉันเชื่อมั่นค่ะว่าพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคนพร้อม ที่จะปรับตัวและต้องให้โอกาส และเชื่อมั่นจากใจจริงว่าพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคนมีศักยภาพ ไม่ด้อยไปกว่าคนอื่น ๆ ในประเทศนี้ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนเขาจะสามารถพัฒนา ตนเองได้ ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถเขาจะสามารถใช้พลังในตัวเองสร้าง ตัวตนในสังคม ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้เปล่งประกาย เราจะได้ดาวจรัสแสงเพิ่มขึ้นอีก มากมายในการพัฒนาประเทศไทย นี่คือสิ่งที่รัฐจะต้องคิดและต้องหาวิธีการดูแลให้ทุกคน บนผืนแผ่นดินนี้ได้ใช้ศักยภาพตัวเองมากขึ้นอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน การมีกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะนำมาซึ่งการสร้างทัศนคติที่ดี เกิดการยอมรับในความแตกต่าง สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค และมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันภายใต้วิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างสงบสุข การมีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองชาติพันธุ์จะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ของเรา ในทุกภูมิภาค ทุกพื้นที่ได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิ มีเสียง มีโอกาสในการสร้างศักยภาพและ เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ดิฉันจึงขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้และอยากจะขอเชิญชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านในที่นี้ได้ทำหน้าที่ของ การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนของราษฎรอย่างแท้จริง เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่ม อย่างแท้จริงด้วยการลงมติเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขอบคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านกัณวีร์ สืบแสง เชิญครับ
นายกัณวีร์ สืบแสง แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ในการที่จะยืนขึ้นมาอภิปรายเห็นชอบในร่าง พระราชบัญญัติแห่งนี้ ในการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และรวมถึงสนับสนุน ให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยเรามีตัวตน ท่านประธานครับ ด้วยเหตุผล ๒ อย่าง หนึ่งตามหลักการและอีกหนึ่งตามเหตุผล หลักการนี้คือเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการแสดงการมีตัวตนของพี่น้องชาติพันธุ์และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์นี้ จริง ๆ แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายที่เรากำลังพิจารณาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามาทั้งหมด ๔ ร่าง จริง ๆ แล้วกฎหมาย เทียบเท่าไม่ได้หรอกครับ กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เริ่มต้น มาก่อนที่กฎหมายต่าง ๆ จะเกิดขึ้น เราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เราจะต้องเป็นคนสร้างกลไก ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ ในอดีตสมัยก่อนประเทศไทยมีการสร้าง รัฐชาติ ความเป็นเอกภาพก็คือการเป็นหนึ่งเดียวที่สร้างเอกภาพ แต่จริง ๆ แล้วในเวที ระหว่างประเทศเราเห็นชัดว่า ความหลากหลายจะสร้างเอกภาพต่างหาก ศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์นี้ในเวทีระหว่างประเทศเรายอมรับครับ ในเรื่องเกี่ยวกับความคุ้มครองระหว่าง ประเทศหรือเรียกว่า International Protection การที่เราต่าง ๆ จะมีสถานะ มีสิทธิได้รับ การยอมรับให้มีตัวตนเป็นสิ่งสำคัญ มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถเข้าไปสู่การเรียกว่า Mini Full Access หรือการเข้าสู่การบริการต่าง ๆ อย่างมีความหมาย การบริการต่าง ๆ อย่างมี ความหมาย รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ๒ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน ไม่ว่าจะ เป็นความคุ้มครองระหว่างประเทศ ไม่ว่าการจะเป็นการเข้าถึงอย่างมีความหมาย อันนี้ จะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย เหตุผลที่ผมยืนยันในการรับ ร่างพระราชบัญญัติตัวนี้ ก็เรื่องเกี่ยวกับการลดภาวะบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และไร้ตัวตน ในประเทศไทย เราเห็นครับว่ามีชนเผ่าทั้งหมด ๖๐ กว่าชนเผ่า ณ ปัจจุบัน ๑๐ ล้านกว่าคน ในประเทศไทย มีพี่น้องหลายท่านหลายคนยังไม่มีสิทธิ ยังไม่มีสถานะใด ๆ เลย ไม่ว่า ชนเผ่าต่าง ๆ ที่เราเห็นกันอยู่ ยังไม่สามารถที่จะมีสถานะ เป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นร่างพระราชบัญญัติตัวนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า ในฝ่ายนิติบัญญัติของ เราให้ความสำคัญต่อการมีตัวตนของพี่น้องชนเผ่าต่าง ๆ แต่ผมขอตั้งข้อสังเกตง่าย ๆ ครับ และสั้น ๆ คือในร่างทุกร่างก็จะเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นคนที่จะเข้ามาอยู่ใน สภาชนเผ่าของเรา ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับคณะกรรมการ ไม่ว่าจะมาจากสมัชชาต่าง ๆ ที่ทาง ครม. ได้เสนอขึ้นมา ผมยังกังวลข้อหนึ่ง ก็จะฝากไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญ ถ้ามีการจัดตั้งขึ้นให้พิจารณาให้ดีครับ คุณสมบัติที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นตัวสภาชนเผ่าเอง ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาเองก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชื่ออะไรเองก็ตาม จำเป็นครับ เราเห็นว่าตอนนี้เราพยายามจะผลักดันในการสร้างตัวตนให้กับพี่น้อง เราเห็นครับ หลาย ๆ คนยังไม่มีสัญชาติไทย เราเห็นครับว่า การที่บอกว่าถิ่นฐานถาวร ในประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติในการที่จะเป็นคณะกรรมการ ในการที่จะเป็น สมาชิกของสภาต่าง ๆ แต่เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เห็นว่า การอยู่พำนักถาวรใน ประเทศไทยคืออะไร เรามีเอกสารใด ๆ บ้างที่จำเป็นจะต้องให้มีการพิจารณาว่า เขามีสิทธิ ที่จะมาเป็นสมาชิกของคณะกรรมการและเกี่ยวกับทางด้านสภาต่าง ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ผมขอยืนขึ้นมาวันนี้ ก็ขอสนับสนุนท่านประธานครับ ในการที่จะเสนอให้ร่างพระราชบัญญัติ เกี่ยวกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับ วันนี้ก็ขอฝากให้กับพี่น้อง ทางเพื่อน ๆ สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ในการที่รับร่างตรงนี้ ขอบคุณครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ต่อไปท่านจะได้เตรียมตัวนะครับ ท่านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ นะครับ ท่านพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ แล้วก็ ตามด้วยท่าน แล้วก็ตามด้วยท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ๕ ท่าน เชิญท่านลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ เชิญครับ
นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ขออภิปรายสนับสนุนหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่ใช่เป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา ๗๐ แห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ที่บัญญัติให้รัฐต้องพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทย กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือว่าเพื่อให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีสิทธิดำรงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขและ ไม่ถูกรบกวนค่ะ ก่อนที่ดิฉันจะเข้าสู่การอภิปรายเจตนารมณ์ของรัฐบาลและสารัตถะของ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ท่านประธานทราบหรือไม่คะว่าวันนี้จำนวนราษฎรแห่ง ราชอาณาจักรไทยประมาณการว่าจะมีอยู่ประมาณสัก ๖๖ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย ทั้งสิ้น ๖๕ ล้านคนและไม่ได้สัญชาติไทยถึง ๙๙๐,๐๐๐ คนค่ะ ด้วยจำนวนราษฎร ๖๐ ล้านคนเกือบ ๗๐ ล้านคนนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวง วัฒนธรรม ผู้ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้รายงานว่าประเทศไทยมีประชากรที่นิยามตนเอง ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ๖๐ กลุ่ม จำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน หรือสัดส่วนเป็น ๑ ใน ๗ ของประเทศทีเดียว หมายความว่าอย่างไรคะท่านประธาน หมายความว่าทุก ๆ ๗ คน ที่เราเดินผ่าน โดยเฉลี่ยจะมี ๑ คนที่นิยามตนเองว่าเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งอาศัยอยู่และ มีลมหายใจร่วมกับเราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยนี้ค่ะ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือพวกเขา จำนวนมากยังไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะในเชิงกฎหมายด้วยสัญชาติที่ทำให้พ่อแม่เขา ยังไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ทำให้ลูกหลานขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ขั้นพื้นฐานที่ดี หรือแม้แต่ตัวเขาเองจะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนสักใบค่ะ ทำให้เขา เข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างเราทุกคนไม่ได้ แม้ตัวเราเองค่ะต่างคนต่างเกิดมา มีอาหาร ที่ชอบ มีเสื้อผ้าที่อยากใส่ สารพัดความทรงจำที่เกิดขึ้น เราคงไม่อยากให้วิถีชีวิตของคน เหล่านี้สูญหายไปใช่ไหมคะท่านประธาน แต่ละชาติพันธุ์ซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ก็มีสำนึกรักที่แตกต่างกัน ปัญหาการขาดกลไกคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรมจึงทำให้ที่ผ่านมา แม้หลายคนจะโชคดีได้รับสถานะของความเป็นพลเมืองไทย แต่ก็มีชาติพันธุ์อีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้โชคดีอย่างนั้นค่ะ ดิฉันจึงต้องการชวนคิดและตามข้อสังเกตจากนักวิชาการท่านหนึ่ง มานำเสนอค่ะ เป็นการกล่าวในวงเสวนา Kick Off กฎหมายชาติพันธุ์ ที่ร่วมกันจัดทำ โดยกระทรวงวัฒนธรรมผ่านสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและภาคีองค์กรเครือข่าย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ที่ผ่านมานี้เองค่ะ เขาระบุไว้ว่าการเป็นชาติพันธุ์คือสำนึกของการเป็น คนในกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวค่ะ ไม่ใช่แค่พี่น้องที่อยู่ในป่าเขาหรือทะเล หรือพวกเรา ทุกคนที่จะใช้สิทธิ ใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ชาติพันธุ์ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนล้วนเป็นคนชาติพันธุ์ค่ะ และทุกชาติพันธุ์ก็เป็น คนเหมือนกันค่ะท่านประธาน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาชัดเจนว่าจะมุ่งมั่นทำให้พี่น้องคนไทยทุกเผ่าพันธุ์มีความเสมอภาค และเท่าเทียม และได้รับการคุ้มครองเป็นคนที่สมบูรณ์ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังค่ะ เราอยู่ ในประเทศไทยด้วยกัน เราเป็นคนไทยด้วยกันและประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พี่น้องทุกคน ที่เป็นคนไทยโดยเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องมีสิทธิทางการเมืองโดยเท่าเทียมกัน ท่านประธานคะ ความเสมอภาคเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและเป็นคุณค่าหลักที่ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรียึดถือมาตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีค่ะ ทั้งนี้ปณิธาน ที่มุ่งมั่นส่งผลในหลาย ๆ วาระและโอกาส ล่าสุดยังมีการย้ำในเวทีแห่งประเพณีการขึ้นปีใหม่ ของลาหู่นานาชาติ ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็ประกาศชื่นชมความสามัคคีของพี่น้อง ชาติพันธุ์ลาหู่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้กระจาย ไปทั่วโลกค่ะ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติชัดเจนที่จะอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา จึง Post Facebook เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ย้ำว่าเป้าหมายของพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลัก Multicultural Society นั่นก็คือจะเป็นหลักประกันให้พี่น้องกลุ่มชาติ พันธุ์กว่า ๖๐ กลุ่ม หรือมากกว่า๑๐ ล้านคน มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิต ที่ดี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เจตนารมณ์ที่ชัดเจนในวันนั้นส่งผลต่อมาในที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ค่ะ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจนออกมาเป็นร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้ง ๖ หมวด ๓๕ มาตรา ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ครอบคลุม ตั้งแต่กลไกคณะกรรมการระดับนโยบาย ในหมวดที่ ๒ มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก ชาติพันธุ์ร่วมด้วย นอกจากนี้ในหมวดที่ ๓ ยังมีการพูดถึงสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเลือกกันเองเพื่อเสนอแนะนโยบายและ มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการค่ะ ท่านประธานคะ นี่เป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกในประวัติศาสตร์ ที่เราจะไม่เพียงแต่คุ้มครองวิถีชีวิตของ ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกชีวิต แต่จะเป็นหลักประกันว่าทุกลมหายใจบนผืนแผ่นดินไทย มีเกียรติและมีคุณค่าที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันและเสมอภาค สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ค่ะ ดิฉันขอเรียนกับท่านประธานไปยังสมาชิกทุกท่านที่มา ร่วมกันในยุคสมัยที่มีการแบ่งเขาแบ่งเราค่ะ เราต้องเดินตามเข็มนาฬิกามุ่งไปข้างหน้า นำสังคมไทย เคารพวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ผ่านการลงมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอในวันนี้ และดิฉันขอรับหลักการในเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ เชิญครับ ท่านคงกฤษยังไม่มานะครับ เชิญท่านจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ก่อนนะครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ผมเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษก็มีผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม แต่ถ้าหากว่าจะพูดถึงชนเผ่าพื้นเมือง ก็พอจะเรียกได้ว่ามีอยู่ ๔ กลุ่มหลักครับท่านประธาน ก็จะมีเยอ มีส่วย มีลาว แล้วก็มีเขมรครับ ซึ่งก็เป็น ๔ กลุ่มหลัก ซึ่งทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและ มากสีสันครับ ตัวผมก็เห็นด้วยที่จะมีการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อที่ประเทศไทยเราจะได้เป็นสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์ทาง วัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะเป็นจุดดึงดูด ให้ต่างชาติได้มาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น การที่รัฐบาลและเพื่อนสมาชิกได้มี การเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะได้มี การร่วมกันคิดถึงการพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างบูรณาการ เพื่อที่จะรับใช้พ่อแม่พี่น้องที่เป็น ชนเผ่าพื้นเมืองกว่า ๑๐ ล้านคนครับ ผมมีข้อสังเกต ๒-๓ ประการ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ ต่าง ๆ ที่มีการร่างขึ้นครับ แล้วก็จะขออนุญาตฝากไปยังคณะกรรมการที่จะมีโอกาสได้ พิจารณาเรื่องนี้ในอนาคตอยู่ ๒-๓ ประเด็นครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๑ ก็คือเรื่องของการตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ นะครับ ซึ่งการตั้ง คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๗ ได้มีการพูดไว้ ในช่วงท้ายนะครับว่าในเรื่องของการใช้ระบบกฎหมายที่จะใช้คณะกรรมการนั้น อยากให้ทำ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ความหมายก็คือว่าไม่อยากจะให้มีการตั้งคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการจำนวนมาก จนเกินไป เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นการเปลืองทรัพยากรบุคคลและขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แล้วก็ทำให้องค์กรหน่วยงานของรัฐของเราซึ่งปัจจุบันนี้ มีขนาดใหญ่ เรามีค่าใช้จ่ายประจำแต่ละปีที่ต้องชำระ ที่ต้องจ่ายในงบประมาณรายจ่าย จำนวนมากมายมหาศาล ทำให้ต้องกู้เงินจำนวนมากและเหลือเงินสำหรับการพัฒนาในเรื่อง ของงบลงทุนเพียงไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ก็จะขอ อนุญาตฝากความกังวลครับว่าขอให้มีการตั้งเท่าที่จำเป็นจริง ๆ การไปตั้งระดับจังหวัด หรือระดับอำเภออะไรทำนองนั้น อาจจะเกินไปนะครับ ก็ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็นน่าที่จะเป็น ประโยชน์ต่อการดำเนินการของรัฐบาลครับ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ที่ผมจะขออนุญาตให้ข้อคิดเห็นนะครับ ก็คือเรื่องของการใช้ กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันของเรานะครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในเรื่องของ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน กฎหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่าง ๆ มีร่างพระราชบัญญัติมากมายที่บังคับใช้อยู่แล้วนะครับ ถ้าหากว่าจะมีการหาวิธีบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เหล่านั้นมาเพื่อส่งเสริมในเรื่องของการดูแล ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะครอบคลุมมากพอสมควรแล้วนะครับ ถ้าใช้กฎหมายต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการ โดยที่ไม่มีการบัญญัติเพิ่มเติมในหลาย ๆ ประเด็นนี้น่าที่จะเป็น ประโยชน์มากกว่าการที่จะเพิ่มกฎกติกาอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกโดยเฉพาะ เหตุผลที่ผมกังวล ก็คือถ้าหากว่าในบางชนเผ่าหรือในบางแห่งนะครับ เรามีการใช้กฎหมายเฉพาะและกำหนด มาตรการเฉพาะขึ้นสำหรับกลุ่มชนเผ่าหนึ่ง ๆ ในขณะที่เรามีชนเผ่าอื่น ๆ อีกหลายสิบชนเผ่า อาจจะเป็น ๕๐ ชนเผ่าหรือ ๖๐ ชนเผ่า แล้วเกิดความลักลั่นหรือไม่เสมอภาคกัน มันก็อาจจะ เกิดปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ ได้นะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าการดำเนินการต่าง ๆ ดำเนินการไปโดยอาศัยกฎหมายตามปกติ น่าจะเป็นวิธีการ ที่ดีกว่าครับ รวมทั้งอีกประเด็นหนึ่งที่ขออนุญาตฝากนะครับ เนื่องจากว่าชนเผ่าพื้นเมือง ของเรานะครับ ถ้าเราไปนับรวมกันปัจจุบันก็มีเพื่อนสมาชิกนะครับ ได้บอกว่าประมาณ ๑๐ ล้านคน ซึ่งก็เป็นจำนวนมากนะครับ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองก็เป็นคนไทย ชนเผ่าที่ไม่ใช่ชนเผ่า พื้นเมืองจะเป็นคนในพื้นที่ประเทศไทยเป็นชาวไทยตั้งแต่ดั้งเดิม หรือเป็นผู้อพยพมาจาก ต่างประเทศมาเป็นคนไทยต่างก็เป็นพี่น้องชาวไทยด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคนไทย ด้วยกันถ้าหากว่ามีการปฏิบัติต่อทุกชนเผ่าอย่างเท่าเทียมในฐานะคนไทย ผมก็คิดว่าน่าจะทำ ให้เกิดความรู้สึกว่าสังคมของเรานั้นมีความเป็นธรรมและมีความเท่าเทียมมากกว่าที่จะใช้ ระบบกฎหมายหรือกฎกติกาเฉพาะสำหรับประชาชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่งที่พิเศษกว่าชนเผ่าอื่น ก็เป็น ๒-๓ ประเด็นที่ผมกังวลครับ แต่กล่าวโดยสรุปผมก็สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ ของเพื่อนสมาชิกและของรัฐบาลที่มีการยื่นเข้ามาในครั้งนี้ แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการ พิจารณาในชั้นของกรรมาธิการนั้นจะได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อที่จะให้การดูแลชนเผ่าพื้นเมืองของเราเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ยังผลทำให้ประเทศไทย เรายังคงรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของแต่ละชนเผ่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก หรือแตกต่าง หรือเกิดความขัดแย้งในสังคมครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เชิญครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตท่านประธานอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยทั้ง ๕ ฉบับ รวมทั้งของรัฐบาลด้วยนะครับในวันนี้ ท่านครับ เหตุผลที่ผมต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติในวันนี้ก็คือ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๑ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุก ๆ ด้านที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในวันนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในวันนี้ ท่านประธานจะได้เห็นอย่างชัดเจน ว่าแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ส่วนแรกก็คือคนเมือง คนเมืองจะมีสิทธิต่าง ๆ มากกว่าคนกลุ่มอื่น กลุ่มที่ ๒ คือกลุ่มที่เราเรียกกันว่ากลุ่มชนบทครับ เป็นกลุ่มที่ ๒ ที่มีความเหลื่อมล้ำ แตกต่าง จากคนในเมืองครับ กลุ่มที่ ๓ เป็นกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างมากที่สุดก็คือ ที่เราเรียกกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มนี้ในวันนี้ที่เราจะเห็นร่างของรัฐบาลที่เข้ามาในวันนี้ ผมมีความรู้สึกดีใจมากครับ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนชาติพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นเราจะได้ลดศักดิ์ศรี ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมที่เกิดขึ้นในวันนี้ ลดช่องว่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ครับ เรื่องแรกเกี่ยวกับเรื่องด้านการศึกษา ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้าน การศึกษาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คนในกลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะว่ารัฐ ก็ยังไม่สามารถที่จะสนับสนุนด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่ครับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๒ ด้านสาธารณสุข เป็นด้านที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่เรา จะช่วยกันในการที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเราเอง ในการที่จะทำให้ ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนในเมือง คนชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถที่จะเข้าถึง ระบบสาธารณสุขของประเทศได้เท่าเทียมกัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องที่ ๓ เรื่องสังคม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งว่าศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของคนทุก ๆ คน จะต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในเมือง จะร่ำรวยล้นฟ้าขนาดไหน คนชนบท หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุก ๆ คน ท่านประธานครับ วันนี้ผมต้องขอ อนุญาตท่านประธานว่าดีใจ แล้วก็ผมสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ทั้ง ๕ ร่าง ไม่ว่าจะเป็นของร่างรัฐบาล ร่างภาคประชาชน และร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นำเสนอเข้ามาในวันนี้ครับ มีข้อเสนอแนะอีกนิดหนึ่ง ครับท่านประธาน ในมาตรา ๑๓ ร่างของรัฐบาลที่เสนอเข้ามา หน่วยงานธุรการที่กำหนดไว้ ว่าเป็นผู้นำเสนอต่อคณะกรรมการ กำหนดไว้ว่าเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็น หน่วยงานธุรการของคณะทำงานในชุดนี้ ผมขออนุญาตเสนอแนะว่าในมาตรา ๖ เขียนไว้ว่า รองประธานคณะกรรมการชุดนี้ จากนอกจากที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้วก็คือมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธาน แล้วก็ให้ปลัดกระทรวง พม. และปลัด กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเลขานุการในคณะ แต่พอเป็นหน่วยงานธุรการไปกำหนดไว้ว่าให้ เฉพาะสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานธุรการในการที่จะเสนอแนะ ผมขออนุญาตเพิ่มนิดหนึ่งครับ ขอให้หน่วยงานปลัดกระทรวง พม. เป็นเลขานุการร่วม ในการนำเสนอแผนนโยบายต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จะทำให้ระบบการทำงาน ต่าง ๆ วิธีคิดต่าง ๆ สามารถที่จะมีความหลากหลายในการที่จะเสนอนโยบายต่าง ๆ ได้มาก ยิ่งขึ้นครับ ผมขออนุญาตกราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ ขอบคุณครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ เชิญครับ ช่วงนี้เราปิดรับรายชื่อท่านสมาชิก ที่จะอภิปรายแล้วนะครับ
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทยครับ ก่อนอื่นต้องกราบขอโทษท่านประธานด้วยนะครับ มีติดประชุมเมื่อสักครู่นี้ต้องกราบขอโทษ ด้วยครับ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมต้องกราบขอบคุณที่ทางคณะรัฐบาล โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ครม. ได้ยื่นญัตติในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... และรวมถึงทางของภาคประชาชนด้วย ทุกญัตติของร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับ ท่านประธานที่เคารพพื้นที่จังหวัดระนองมีกลุ่มชาติพันธุ์ ๑ กลุ่ม
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ระนอง ต้นฉบับ
นั่นคือเขาเรียกว่ากลุ่มมอแกน เป็น ๑ ใน ๓ ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล นั่นหมายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลหรือตาม เกาะแก่งต่าง ๆ และมีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเลเป็นอย่างยิ่ง คนส่วนใหญ่เริ่มรู้จักมอแกนหลัง เหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้น หลังจากนั้นชนเผ่าพื้นเมืองก็ได้มีหลักแหล่ง มีที่ทำมาหากิน แล้วก็ประกอบอาชีพไปตามจุดต่าง ๆ ของจังหวัดระนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบทะเล ฝั่งอันดามัน ท่านประธานครับ ปัจจุบันชาวมอแกนที่อยู่รวมกันเป็นชุมชน ที่เรามีการสำรวจ ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดระนอง แถวแนวเขตพรมแดนประเทศ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะต่าง ๆ จังหวัดระนองได้มีการสำรวจออกมา มีทั้งหมด ๓ ชุมชนวันนี้ นั่นคือชุมชนมอแกนเกาะเหลา มีจำนวนประชากรของพี่น้องมอแกน ๒๑๒ คน ชุมชนมอแกนเกาะช้าง จำนวน ๒๔๕ คน ชุมชนมอแกนเกาะพยาม ๑๗๓ คน รวมแล้วทั้งหมด ๖๓๐ คนได้ สิ่งนี้ที่ชาวมอแกนที่ผมอยากจะนำเรียนว่าวันนี้ทำไมถึงต้อง อภิปราย ชาวมอแกนที่ยังไม่ใช่คนไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครับท่านประธาน เพราะกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของชาวมอแกนยังไม่มีบัตรประชาชน เมื่อไม่มีบัตรประชาชนก็เท่ากับว่าเป็น บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นข้อห่วงใยสำหรับผมเอง ท่านประธานครับ ในส่วน ของร่างพระราชบัญญัติที่ผมขอหยิบยกขึ้นมา เป็นร่างพระราชบัญญัติ ของ ครม. โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในมาตรา ๕ และบางอนุมาตราแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า การคุ้มครองและส่งเสริมชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองชาวไทย กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจ อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ท่านประธานครับ (๕) (๖) (๗) ที่อยู่ในมาตรา ๕ สิ่งนี้ที่ผมอยากจะหยิบยก ทำไมชาวมอแกน ยังมีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสัญชาติ เช่น การคลอดบุตรจะต้อง คลอดด้วยหมอตำแยในหมู่บ้าน ไม่มีการแจ้งเกิดที่อำเภอเลย แต่ต้องแจ้งที่ผู้ใหญ่บ้าน ปัญหา คือกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือกรณีที่พ่อแม่ได้รับบัตรประชาชนแล้ว แต่เด็กก็ยังไม่ได้รับ จึงขาดสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐครับ ปัญหาที่ตามมาคือปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการ ของรัฐและการขาดสิทธิขั้นพื้นฐาน ชาวมอแกนส่วนน้อยครับท่านประธาน ถือบัตรประชาชน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรเช่นกันบางส่วนถือปฏิบัติหมายเลข ๐ ครับท่านประธาน หรือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้พี่น้องชาวมอแกนได้รับสิทธิขั้น พื้นฐานที่จำกัด เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เป็นต้น สิทธิบัตรทอง รักษาทุกโรค บัตรคนชรา หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐที่รัฐจัดให้ แล้วก็เป็นการส่งเสริมให้กับพี่น้องชาวมอแกนตรงนี้ ชาวมอแกนเหล่านี้ไม่ได้รับ มีสัญชาติไทย แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการเหล่านี้ได้ ครับท่านประธาน ปัญหาที่ตามมาอีกปัญหาหนึ่ง ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เมื่อไม่มีสถานะทางทะเบียนแล้วก็ไม่สามารถถือครอง เอกสารสิทธิที่ดินทำกินได้ และบางพื้นที่ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐด้วยครับท่านประธาน จึง เป็นข้อจำกัดต่อการทำมาหากินของพี่น้องชาวมอแกนและเด็กรุ่นหลังด้วย ซึ่งปัญหาที่ผม กล่าวมาข้างต้นนี้ผมได้รับข้อมูลจากท่าน สจ. จำลอง พงษ์พิทักษ์ คุณแม่เนาวนิตย์ แจ่มพิศ และคุณนครินทร์ ดำรงภคสกุล ที่สะท้อนปัญหานี้ให้กับผม ต้องกราบขอบคุณมาก ในข้อมูลตรงนี้เพิ่มเติม สิ่งหนึ่งที่ผมยังมีความห่วงใยมาก ปัญหาเรื่องของการมีส่วนร่วม การบริหารจัดการ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ข้อนี้ยิ่งลำบากครับ พื้นที่ส่วนใหญ่ชาวมอแกนอาศัยอยู่ในพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ของภาครัฐ กรมป่าไม้ เป็นต้น ท่านประธานทราบไหมครับ ที่มีข่าว พูดถึงการก่อสร้างสะพานให้กับเด็กนักเรียนชาวมอแกน ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาของ พี่น้องประชาชน แต่โชคดีครับท่านประธาน ตอนประชุม ครม. สัญจรท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ท่านได้ลงพื้นที่ตรงนี้เร่งด่วนและไปรับฟังปัญหา และท่านก็ช่วยแก้ไข ปัญหาตรงนี้ให้กับพี่น้องประชาชนชาวมอแกนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ต้องขอบคุณภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ ที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างสะพานให้กับพี่น้องชาวมอแกน และให้กับลูกหลานชาวมอแกนได้ใช้ในการสัญจรไปเรียนหนังสือได้สะดวกยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งครับ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านก็มีความห่วงใยเรื่องเกี่ยวกับสิทธิหรือพี่น้องประชาชน ชาวมอแกนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ท่านได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมการปกครองลงสำรวจเรื่องนี้ อย่างเร่งด่วน เราโชคดีครับ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านครับ ท่านบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ท่านประกาศิต พรประสิทธิ์ ปลัดจังหวัด ระนอง และว่าที่ร้อยตรี สมบัติ สิงห์คาร ท่านนายอำเภอเมืองระนอง แล้วก็เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายปกครองได้ลงไปสำรวจและติดตามแก้ไขปัญหาได้สถานะบุคคลและสัญชาติกับพี่น้อง ชาวมอแกนที่ตำบลเกาะพยามเรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธาน ปัญหาเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไข ผมจึงหยิบยกมาตรา ๕ แห่งร่างพระราชบัญญัติที่ ครม. เสนอขึ้นมานี้ แล้วก็ขอฝากกรรมาธิการชุดที่จะแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อห่วงใย ข้อสังเกต ที่ผมได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของสวัสดิการของรัฐให้กับพี่น้องชาวมอแกน และลูกหลาน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต แล้วก็สิ่งดี ๆ ให้กับพี่น้องชาวมอแกน ต่อไปในอนาคต ขอกราบขอบคุณท่านประธานมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ อีก ๔ ท่านนะครับ ท่านแรก ท่านภัสริน รามวงศ์ ท่านที่ ๒ ท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ท่านที่ ๓ ท่านองค์การ ชัยบุตร ท่านที่ ๔ ท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ท่านได้เตรียมตัวนะครับ เชิญท่านภัสริน รามวงศ์ ครับ
นางสาวภัสริน รามวงศ์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน ภัสริน รามวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนเขตบางซื่อ คนเขตดุสิต พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายสนับสนุนให้เกิดการรับรองร่างพระราชพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ค่ะ วันนี้ดิฉันอยากจะขอพูดถึงนักปกป้องสิทธิที่กล้าหาญ ผู้ที่กล้าเรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ให้เกิดความยุติธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ค่ะ ให้มีสิทธิที่จะดำรงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม วันนี้ดิฉันขอใช้โอกาสนี้เป็นการสรรเสริญนักต่อสู้ เพื่อสิทธิมนุษยชนชนเผ่า เวลาเราพูดถึงสิทธิสตรีชนเผ่าหลายท่านคงจะนึกถึงความล้าหลัง การขาดการศึกษา ความยากจน แต่ที่จริงแล้วสถานการณ์เชิงบวกของผู้หญิงชนเผ่า พวกเขา ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี ความอบอุ่นในชุมชน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำรงชีวิตแบบชนพื้นเมือง ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม และช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรม ท้องถิ่นทั้งภาษา เรื่องเล่า เพลง นิทาน กลอน ภาพพื้นเมืองอันล้ำค่า ดิฉันขอยกกรณี ชุมชนบ้านแม่สามแลบ พื้นที่นี้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากความขัดแย้งการใช้อาวุธสงคราม มายาวนาน มากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติจึงถูกจำกัดสิทธิหลายอย่าง ถูกเลือกปฏิบัติไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้ ถูกละเมิดสิทธิทางด้านทรัพยากร ซึ่งหลังจากถูกกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านถูกผลักให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัยหลายครั้ง มีน้ำที่ไม่สะอาด เจอกับ ดินถล่ม อุทกภัย ไฟไหม้ ต้องตั้งบ้านเรือนโดยที่รัฐก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือค่ะ นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาภาครัฐ เช่น เขื่อนแม่น้ำสาละวิน ๗ เขื่อน โดยที่ผู้นำ ในชุมชนไม่ได้รับทราบทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้ามีการสร้างเขื่อนชาวบ้านก็ต้อง ถูกขับออกจากพื้นที่ที่ดินทำกินและบ้านเกิดค่ะ ในขณะที่ไม่มีอาชีพมีความกังวลว่าลูกหลาน จะอยู่อย่างไร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฝนแล้งต้องพึ่งพาป่าก็ถูกกีดกัน ไม่สามารถเข้าไปใช้ป่าได้ค่ะ ไม่มีน้ำสะอาดที่เพียงพอ ผู้หญิงยังเป็นคนที่ต้องหาบน้ำค่ะ และเมื่อเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันได้ค่ะ ไม่ได้รับการคุ้มครอง และผู้หญิงหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็เผชิญกับการใช้ความรุนแรงจากวัฒนธรรม ชายเป็นใหญ่ เช่น เมื่อผู้หญิงเข้าไปหาอาหารในป่าก็กลับถูกใช้ความรุนแรงทั้งต้องนำอาหาร นี้มาเลี้ยงครอบครัวค่ะ อีกทั้งเด็กผู้หญิงจำนวนมากก็ยังถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัย อันควร ผู้หญิงชนเผ่ามีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมต่าง ๆ เสมอมา ทั้งเครือข่ายเยาวชน สิทธิสตรีและการขับเคลื่อนสิทธิในที่ดินของชนเผ่า ในเมื่อ ทุกเรื่องมีผู้หญิงเกี่ยวข้องก็ควรมีตัวแทนผู้หญิงเข้ามาสะท้อนปัญหา ผู้หญิงมีบทบาท มีส่วนร่วมในทุกระดับการตัดสินใจ มองปัญหาได้อย่างรอบด้านสร้างกลไกที่เอื้อให้ชนเผ่า พื้นเมืองได้เป็นผู้กำหนดชีวิตของเขาเอง เรามีพี่น้องชาติพันธุ์หลากหลาย ทั้งกะเหรี่ยง มอญ จีน มาเลย์ ที่มีภาษาวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ที่ผ่านมาอัตลักษณ์เหล่านี้ถูกกลบโดยรัฐ ไทยมาโดยตลอด ครอบงำและผลักไสให้เขาเป็นคนอื่นมาโดยตลอดค่ะท่านประธาน ดังนั้น การมีกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะสามารถ Guarantee การมีส่วนร่วมที่มีความหมายทั้ง ผู้หญิง เด็กเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยค่ะ ท่านประธาน ในการผลักดันเชิงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและพัฒนาสิทธิ มนุษยชนในทุกระดับ โดยการให้ความสำคัญกับการมีตัวแทนการสนับสนุนและ การตอบสนองต่อเสียง ความต้องการ ตลอดจนข้อเสนอแนะเหล่านั้น ดิฉันจึงขอสนับสนุน และขอให้เพื่อน ๆ สมาชิกทุกท่านให้ความสำคัญในหลักการนี้ค่ะท่านประธาน ขอบพระคุณค่ะ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ เชิญครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอครับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจ ได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวนทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เป็นกลุ่มที่ถูกกระบวนการทางสังคมผลักดันให้ตกอยู่ ในฐานะบุคคลชายขอบ ถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทาง วัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์จึงมีความเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในชีวิตและจิตใจ อย่างรุนแรง ผลกระทบที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายซึ่งมีจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งมีบางส่วนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นบุคคล แต่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนก็ยังมีอีก ประมาณหลายแสนคนเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะยังมีปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งบุคคลทั้งหมด ที่กล่าวมานี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางด้านสถานภาพและจิตใจ การมีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง คือเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณีที่มีมาช้านาน การที่สังคมไม่เข้าใจในชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม ทำให้ไม่มั่นคงในทางที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยส่วนมากอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ ขออนุญาตออกกฎหมายประกาศในภายหลัง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ เหล่านี้ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเป็นของตัวเอง ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของ ความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมในด้าน สวัสดิการของรัฐ ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม โดยไม่ ถูกคุกคาม สามารถอนุรักษ์ภูมิปัญญา ภาษา วิถีชีวิต และความเชื่อตามจารีตประเพณี หากร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รับการพิจารณาก็จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ วิถีชีวิตบนพื้นฐานภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่ม ชาติพันธุ์ให้ได้รับความคุ้มครองอย่างยั่งยืน โดยบุคคลเหล่านี้ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ก็จะได้รับบัตรประชาชนที่เป็นพลเมืองไทย ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับพี่น้องคนไทย ทุก ๆ คนได้รับระบบสาธารณสุขได้รับการรักษาพยาบาล ได้ประกอบอาชีพทุก ๆ อาชีพ ไม่เว้นแม้แต่อาชีพใด ๆ ได้รับสวัสดิการจากรัฐทุก ๆ ประเภท ตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนละครึ่ง บัตรเที่ยวด้วยกันอะไรก็แล้วแต่ ได้รับสิทธิที่ดินทำกิน ไม่ต้องทำไร่แบบเลื่อนลอย ได้รับวิถีชีวิตวัฒนธรรม จารีตประเพณีและทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย ทำให้ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ครบทุก ๆ ด้าน ซึ่งต่างจากต่างด้าวที่หลบหนี เข้าเมืองมา ผมสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของรัฐบาลนั้นเพียงร่างเดียว เพราะว่าเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกทางสังคม ทางด้านการปกครอง ความมั่นคงของประเทศ เป็นการปกป้องผืนแผ่นดินไทยที่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเสาหลักของประเทศ ส่วนร่างอื่น ๆ ที่ผมไม่เห็นด้วยนั้นก็ถือว่า ในร่างของรัฐบาลนั้นก็มีครอบคลุมทุก ๆ ประเด็นแล้วนะครับ ดังนั้นผมจึงเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้หากได้รับพิจารณาก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โดยรวมได้ดีเป็นอย่างยิ่งครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านองค์การ ชัยบุตร เชิญครับ
นายองค์การ ชัยบุตร แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธาน กระผม องค์การ ชัยบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล จังหวัด มุกดาหารคือบ้านเกิด ท่านประธาน ต่อพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยหลักการแล้วผมเห็นด้วยกับร่างทั้ง ๔ ร่าง โดยเฉพาะของที่มาจากภาคประชาชนนะครับ ดูคร่าว ๆ ก็มีรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องวิถีชีวิตการดำรงชีพดั้งเดิมและต่อระบบนิเวศ ในปัจจุบันด้วย ผมอยากจะกล่าวคำว่าเดิมที่ประเทศไทยเราเนิ่นนานมาแล้วก็มีการแบ่ง ชนชั้นวรรณะอย่างที่ได้ร่ำเรียนมาบ้าง ไม่ได้ร่ำเรียนมาบ้าง ท่านประธานอย่างที่เข้าใจบ้าง แต่ผมจะเอ่ยถึงชนชั้นไพร่ แล้วก็ทาส ถ้าเทียบกับชนเผ่าแล้วก็น่าจะอยู่ที่ทาสมากกว่า เพราะถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำเตี้ยติดดิน โอกาสที่จะมารบราฆ่าฟันหรือมาต่อสู้กับชนชั้น ต่าง ๆ มีน้อยมาก ด้วยคำดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนป่า คนดอยเป็นคนไม่มีการศึกษา ไม่เหมือนคนเมือง หรือคนที่มีการศึกษา หรือสังคมชั้นสูง ก็จะถูกตราหน้ามาตลอด ผมเอง ก็เป็นคนชนเผ่าที่มาจากภาคอีสาน บรรพบุรุษผมคือเผ่าอีสาน ก็จะมีเผ่าอีสาน เผ่าภูไท เผ่าญ้อ เผ่ากะเลิง เผ่าภูไทก็จะมีภาษาเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ไปสิเล่อ มาสิเล่อ ล้มเหลว อยู่นั้นละ ซับเด๋ ซับคือความงาม ก็จะถึงวันผู้ไทโลกที่เขาจัดติดต่อกันมาหลายปี เขาพยายาม รวมพลังเอาเผ่าภูไทต่าง ๆ หรือเผ่าต่าง ๆ ในภาคอีสานหรือในประเทศไทยเอามารวมกัน เพื่อแสดงเจตนาเจตจำนงในการแสดงถึงอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเพณี วัฒนธรรม เสื้อผ้า วิวัฒนาการของชนเผ่าต่าง ๆ ที่อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร วันที่ ๘-๑๐ มีนาคม ๒๕๖๗ ถ้าท่านใดว่างก็เรียนเชิญ ขออนุญาตเรียนเชิญทั้งสภา อันนี้เป็นงานสำคัญของชนเผ่า ท่านประธาน ที่ผมขออนุญาตหยิบยกมา ก็เห็นว่าชนเผ่าแถวอีสานจังหวัดมุกดาหาร จังหวัด สกลนคร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม หรือจังหวัดหนองคาย มีชนเผ่า ภูไทอยู่มาก และได้รับการยอมรับ ท่านประธานครับ ๑. ด้านการศึกษา ชนเผ่าภูไท มีการศึกษาสูง แล้วก็มีหน้าที่การงานค่อนข้างที่จะสูง ในโซนนั้นหลายท่านก็ได้ถึงตำแหน่ง อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีไม่เอ่ยถึงก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาพัฒนาตนเองมาเรื่อย ๆ ไม่ว่า ด้านการศึกษา การอบรมบุตรหลานให้เป็นคนดี ให้ดำรงสืบต่อวัฒนธรรมที่เขายืนหยัดมา ในอดีต โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร แถว ๆ นี้ จะมีชนเผ่าในจังหวัด แต่ละจังหวัดไม่ต่ำกว่า ๘-๙ ชนเผ่า ที่อยู่รวมกัน แล้วก็รักความสงบ นิสัยโดยพื้นฐานแล้ว ชนพวกนี้จะรักสงบ ไม่ไประรานกับใคร ไม่ไปตอแยกับใคร เขาจะมีสายสัมพันธ์ในเครือญาติ ต่างเผ่าพันธุ์ต่างชนเผ่าอันดีงามมาตลอด มีประเพณีผีปู่ตา เลี้ยงผีตาแฮก เดือนมีนาคมนี้ ผมกลับไปก็จะไปรวมอยู่ ๒-๓ งาน นี่ก็ประเพณีอันดี แม้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ ในมาตรา ๗๐ ว่าต้องส่งเสริม ต้องสนับสนุน ต้องให้เท่าเทียม แล้วรัฐต้องดูแล แต่ในทาง ปฏิบัติในการส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน เรื่องอะไรก็แล้วแต่นี้ ยังห่างมากท่านประธาน เมื่อได้เทียบกับหน่วยงานอื่นหรือองค์กรอื่นหรือชนชั้นอื่น ๆ ท่านประธาน ก็อยากจะฝากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่พูดเล่นในสภานะครับ ผมฝากไปถึงซีกรัฐบาลว่า ท่านเห็นด้วย ท่านต้องโหวตให้เขียวนะ ท่านอย่าหักหลังเหมือนที่ผ่านมานะครับ มันเป็นเรื่องของชาวบ้าน ที่เขาต่อสู้กันมานาน ผมเองก็อยู่ในขบวนตั้งแต่เป็น NGO ก็เคยเรียกร้องสิ่งนี้มา ฉะนั้นแล้ว เป็นวาระที่ดีท่านประธาน ถือว่าเป็นกฎหมายภาคประชาชนก็แล้วกัน ที่มาผ่านสภาแล้ว สภาเห็นชอบแล้วมีมติ ผมเองก็จะกดเขียวให้รัว ๆ ท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไป ท่านอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เชิญครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมขออภิปรายใน พ.ร.บ. ทั้ง ๔ ร่างนี้ ในเรื่องของการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของ ครม. แล้วก็ ของทางภาคประชาชน แล้วก็ในส่วนของพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามาอีก ๑ พรรค ก็คือ พรรคก้าวไกล รวมทั้งหมด ๔ ร่าง แต่ว่าในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ได้มีมติ เมื่อวานนี้ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าเราจะสนับสนุนเพียงร่างของ ครม. ก็คือ พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะรัฐมนตรีที่เสนอเข้ามาให้ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา เนื่องจากผมจะอภิปรายให้ท่านประธานได้รับทราบว่าทำไม เราถึงรับร่างเดียว แล้วอีก ๓ ร่าง เราถึงไม่รับ อาจจะเกินเวลาสักเล็กน้อย ก็ต้องขอ ท่านประธาน แต่ผมก็จะอภิปรายเฉพาะเนื้อ ๆ เพื่อให้ทางสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็พี่น้อง ประชาชนได้เข้าใจ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. ของ ครม. เราจะเห็นว่าไม่มี คำว่า กลุ่มชนเผ่า พื้นเมืองอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในส่วนของร่างของ ครม. เราจะใช้คำว่า พ.ร.บ. คุ้มครองและ ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สามารถตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ถึง ๓๐-๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของการตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิในที่ดินทำกินและ ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิในการมีส่วนร่วม และสิทธิในการรับบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เปรียบเสมือนเป็นคนไทยอยู่แล้ว เพื่อนสมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้อภิปราย ไปก่อนหน้านี้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นั้น เขาเองเขาอยากเป็นคนไทย เขาไม่ได้อยากเป็นคนชนกลุ่มน้อยหรือเป็นชนเผ่า เขาอยากเป็นคนไทย ซึ่งคนไทยนั้นเขาก็ จะได้สิทธิตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ทุกคนนั้นต้องการที่จะเป็นคนไทย แล้วก็มีชาติพันธุ์ ซึ่งในชาติพันธุ์อย่างหลาย ๆ ท่านนี้ก็มีชาติพันธุ์แตกต่างกันมา ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์จีน ชาติพันธุ์อินเดีย ชาติพันธุ์แขก ชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์ม้ง แม้ว ลาว ทุกคนนั้นถือว่าเป็น คนไทยที่มีชาติพันธุ์ที่มีอยู่ถึง ๓๐-๖๐ ชาติพันธุ์ในปัจจุบันนี้ตามแต่ละหน่วยงานที่ได้ ขึ้นทะเบียนไว้ อันนี้คือสิ่งที่พระราชบัญญัติในส่วนของคณะรัฐมนตรีที่ได้เสนอเข้ามาในสภา แล้วก็มีการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ นี้สามารถตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ แต่ทำไม พรรครวมไทยสร้างชาติเราถึงไม่สนับสนุนอีก ๓ พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่า พื้นเมือง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ๒ ฉบับนี้เสนอมาในกลุ่มภาคประชาชน ส่วน พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคก้าวไกล ๓ ฉบับนี้ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติจะไม่ลงมติ ในการรับหลักการ ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากท่านประธานจะเห็นว่าทั้ง ๓ ฉบับนั้นมีคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ชนเผ่าเมืองนั้นในภาษาทั่วไป แล้วก็อยากจะเรียน ท่านประธานว่าในหลักสากลทางประเทศไทยโดยรัฐบาลไทย ได้ไปแถลงที่สหประชาชาติ ว่าประเทศไทยเรานี้ ไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ที่ไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เพราะว่าประเทศไทยของเรา นั้นมีเผ่าพันธุ์เดียว ก็คือเผ่าพันธุ์ไทย แต่เรามีกลุ่มชาติพันธุ์ ๓๐-๖๐ ชาติพันธุ์ ที่เข้ามาพึ่ง พระบรมโพธิสมภารอย่างที่ได้เรียนกับท่านประธานไปว่า เรามีเผ่าพันธุ์ไทย เพราะคำว่า ชนเผ่าพื้นเมืองในหลักสากลนั้น ในความหมายของสหประชาชาติก็คือชนกลุ่มน้อยหรือ ชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่ตนเองอยู่ แล้วก็โดนคนมารุกรานยึดพื้นที่ของตนเอง อย่างเช่นที่ สหรัฐอเมริกา ก็คือคนอินเดียนแดงถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็โดนคนผิวขาวนั้นมายึด พื้นที่ แล้วก็ตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา อันนี้ก็คือตัวอย่างในนามของสหประชาชาติก็คือ ชนเผ่าพื้นเมือง แต่ประเทศไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองครับท่านประธาน เราไม่มี ชนเผ่าพื้นเมือง เพราะว่าเรานั้นมีเผ่าพันธุ์ไทยมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่ก่อตั้งชาติมา แต่ว่าทุกท่านที่มาก็ล้วนแล้วแต่เป็นชาติพันธุ์ อย่างใครที่เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน อย่างผมเองก็เหมือนกันครับ เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเราก็ภูมิใจในความเป็นคนไทย แต่เราเชื้อสายจีนเป็นชาติพันธุ์จีน หลายท่านในนี้ก็มีหลายชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์แขก ชาติพันธุ์ มลายู ชาติพันธุ์ม้ง ชาติพันธุ์แม้ว ชาติพันธุ์ลาว ประเทศไทยเรารัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ ให้ความคุ้มครองในความเป็นชาติพันธุ์ ท่านประธานก็จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญเราก็ไม่ได้ใช้ คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง เพราะฉะนั้นการที่เราจะรับรอง ๓ พ.ร.บ. นี้ก็เสี่ยงในการที่เราจะขัด รัฐธรรมนูญถ้าเราจะใช้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง นะครับ ซึ่งตรงนี้เราจึงถือได้ว่าในส่วนของ สหประชาชาติที่รัฐบาลไทยเคยไปแถลงไว้นี้ว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง นี่คือ ประเด็นที่ ๑ แล้วประเด็นที่ ๒ ในเวลาต่อมาประเทศไทยเราไปรับปฏิญญาว่าด้วย ชนเผ่าพื้นเมือง การที่เรารับปฏิญญานั้นก็เพราะว่าประเทศไทยเรานี้เคยประกาศ แล้วไป แถลงว่าประเทศไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เพราะว่าถ้าเราไปรับว่าเรามีชนเผ่าพื้นเมือง ในปฏิญญาสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองนี้ สามารถแยกไปปกครองตนเองได้ ฉะนั้นถ้าเรารับ ว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองนี้ ก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในอนาคตในการที่เราจะมี ชนเผ่าพื้นเมือง ในอนาคตก็จะเป็นสิ่งที่ปกครองลำบาก เพราะสามารถที่จะแยกไปปกครอง ตนเองได้ อันนี้คือสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคง แล้วก็กระทรวงวัฒนธรรม แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นห่วงในประเด็นนี้ ฉะนั้นการที่เรามีชนเผ่าเดียว ก็คือเผ่าพันธุ์ไทยที่เรามีมาตั้งแต่ สมัยประวัติศาสตร์ นี่คือความภาคภูมิใจในความเป็นไทย แต่เรายอมรับในความหลากหลาย ในความมีหลายชาติพันธุ์ ๓๐-๖๐ ชาติพันธุ์ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจะทำให้เรานั้น รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นประเทศไทย เพราะว่าทุกชาติพันธุ์นั้นทุกคน สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรของพรรครวมไทยสร้างชาติลงไปสำรวจแล้วครับ ไม่มีใครอยากเป็นคนชนเผ่าครับ ทุกคนอยากเป็นคนไทยหมด แล้วก็ได้สิทธิเหมือนคนไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทย แต่ยังดำรงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของแต่ละชาติพันธุ์ไว้ ฉะนั้นต่อไปนี้เลย ขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ นั้นได้งดใช้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อความมั่นคงของ ประเทศ แล้วให้ใช้คำว่า ชาติพันธุ์ แทนประเทศไทยเราก็จะได้เข้าสู่ความกลมเกลียวว่า ทุกคนนั้นอยากเป็นคนไทย แล้วก็ได้สิทธิในความเป็นไทยเหมือนกัน ฉะนั้นนี่คือเหตุผลที่เรา ไม่รับหลักการในส่วนของ ๓ พระราชบัญญัตินี้นะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ อยากจะเรียนท่านประธานว่าในส่วนของประเทศไทยเรานั้น เรามีความหลากหลาย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ อย่างที่ได้เรียนท่านประธานว่าเรายอมรับ ในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ฉะนั้นเราไม่อยากจะเห็นการเอาประเด็นนี้มาหาเสียงทาง การเมือง แล้วก็เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคต เราจึงได้ร่วมกันพิจารณา เมื่อวานนี้ในที่ประชุม สส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า เราจะรับหลักการ พ.ร.บ. คุ้มครอง ชาติพันธุ์ แล้วก็ส่งเสริมชาติพันธุ์ของคณะรัฐมนตรีซึ่งสามารถตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ ทุก ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้ เราก็จะไม่รับในส่วนของอีก ๓ พ.ร.บ. ก็คือ พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็ พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เสนอโดยภาคประชาชน แล้วก็ พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมืองที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล เพราะเราเห็นว่าประเทศไทยเรานั้นไม่ควรจะมีการใช้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ทุกคนนั้นจะต้องเป็นคนไทยที่อยู่บนความหลากหลายที่เคารพในความ หลากหลายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติสืบต่อไปในอนาคต ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับคณะผู้บริหารสมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่จาก ตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี สภาผู้แทนราษฎรยินดีต้อนรับครับ ต่อไปอีก ๕ ท่านสุดท้ายผู้อภิปรายนะครับ ท่านแรก ท่านคำพอง เทพาคำ ท่านที่ ๒ ท่านนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ท่านที่ ๓ ท่านมานพ คีรีภูวดล ท่านที่ ๔ ท่านถนอมพงศ์ หลีกภัย ท่านที่ ๕ ท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เชิญท่านคำพอง เทพาคำ ครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพรับ ผม คำพอง เทพาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ การอุบัติขึ้นของ ชาติรัฐในดินแดนต่าง ๆ บนพื้นพิภพนี้ แน่นอนไม่ได้ครอบคลุมชนเผ่าหรือชาติพันธุ์เดียว ไม่ว่าอาณาเขตนั้นจะเป็นอาณาเขตเล็ก ๆ หรือกว้างใหญ่ไพศาลต้องมีคนหลายเผ่าพันธุ์ มีหลายชนเผ่า มีหลายชาติพันธุ์เข้าไปตั้งรกรากในนั้น หรือแม้แต่ประเทศโลกใหม่ที่อุบัติขึ้น หลังที่พิสูจน์แล้วว่าโลกกลมอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ชาติพันธุ์เดียวที่อพยพเข้าไป เข้าไปตั้งรกรากแล้วก็แพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ยังมีชนเผ่าพื้นเมือง ชนเผ่า Aryan Arakan ทั้งหลายแหล่เข้าไปอยู่ในโลกใหม่นั้น ประเทศไทยก็เช่นกันครับ แม้ว่าดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้จะเป็นโลกเก่ามาตั้งแต่โบราณที่เรียกว่า ถ้าประเทศนี้ ผมก็เรียกว่า ประเทศสยาม สยามประเทศ ซึ่งก็เป็นชื่อมาแต่เก่าก่อน เปลี่ยนมาเป็น ประเทศไทยก็เมื่อปี ๒๔๘๒ นี่เองครับท่านประธาน คนที่เกิดในยุคนั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ เป็นจำนวนมากห้วงเวลาที่ขอบเขตขัณฑสีมาของสยาม หลัง ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖ นิ่งแล้ว มีการปักปันเขตแดนอาจจะไม่ลงตัว อาจจะทะเลาะกับอินโดจีน ฝรั่งเศสบ้าง แต่ว่าในประเทศสยามก็มีชาติพันธุ์ เช่น มีกลุ่มชาติพันธุ์คนลาวในบังคับสยามอะไรพวกนี้ แล้วก็ชนเผ่าอื่น ๆ เผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ก็จะใช้คำว่า โน่น นี่ก็ว่ากันไปตามชนเผ่าของตัวเอง จนถึงสร้างชาติรัฐครับ หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ เราเองคำว่า รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ก็มาสร้างความเป็นเอกภาพโดยเชื่อผู้นำ แล้วปลอดภัยใช่ไหมครับ แต่ความเป็นกลุ่มก้อนของ ชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองนี้ ถามว่าหายไปไหนไหมครับ ไม่หาย ความจริงก็คือยังดำรงอยู่ กลุ่มชาติพันธุ์ยังอยู่จนบัดเดี๋ยวนี้ อะไรละครับ อะไรคือสิ่งที่บ่งชี้ว่าชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ยังคงอยู่ตามร่างของคุณเลาฟั้งก็นิยามไว้ชัดเจนว่าคือ กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อร่วมกัน และหมายความรวมถึง ชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ชาติพันธุ์ชนเผ่าในประเทศไทยวันนี้ นับได้มากกว่า ๖๐ ชาติพันธุ์ชนเผ่า หรือมากกว่านั้น นักวิจัยก็อาจจะต้องไปค้นหาที่เขาเรียกตัวเองว่าเขาอยู่ในชนเผ่าอะไร ประเทศไทยมี ชาติพันธุ์ชนเผ่ารวมชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่าประเทศจีนเสียด้วยซ้ำนะครับ ประเทศจีนเขานับ เพียงแค่ ๕๖ จู๋เท่านั้นนะครับ จู๋ แปลว่า ชาติพันธุ์ อย่างฮั่นจู๋ก็คือคนฮั่นนะครับ อย่างในภาค อีสานบ้านผมแหล่งเดียวมีมากกว่า ๒๐ ชาติพันธุ์ชนเผ่า เก่าใหม่มีปะปนกันนะครับ ในบันทึก สงครามลับของ CIA ในลาวเขียนเอาไว้ว่า ลาวในประเทศไทยมีอยู่ ๑๘ ล้านคน นอกนั้น ก็มีไทย มีขแมร์ มีกวย มีญ้อ มีภูไท ไทพวน หรือว่าคนพวนนี้เขาจัดงานคนพวนโลกด้วย นะครับ ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจัดที่จังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านผือ หรือไปจัดที่ฝั่งประเทศลาว ยังไม่รู้ กำหนดการนะครับ แต่เขาจัดกันทุกปี เขาเรียกว่าคนพวนโลก นอกนั้นก็ยังมีไทเลย มีฮ่อโส้ จีน เวียด บรู ขมุ คนกลุ่มนี้เป็นชนเผ่าพื้นเมืองนะครับ อย่างขมุนี้เป็นเผ่าพื้นเมืองนะครับ แล้วพักหลังก็จะมีฝรั่งด้วยที่ภาคอีสานบ้านผมนี้ ก็ถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาอาศัย อยู่มีหมู่บ้านนะครับ เมื่อก่อนนี้เป็นหมู่บ้านลูกเขยฝรั่ง ตอนนี้ก็เป็นหมู่บ้านฝรั่งไปแล้วนะครับ หมู่บ้านสวิส หมู่บ้านโน่นนี่นะครับ ต่างก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองผสมผสานกันบ้างก็ว่ากันไป นะครับ ดังนั้นการตรากฎหมายที่จะส่งเสริมคุ้มครองชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองนี้ จึงเป็น โอกาสที่เราจะได้เห็นความงดงาม ความหลากหลายความงดงามของคนในสังคมที่มี ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางความเชื่อ ภาษา ประเพณี ขนบธรรมเนียมที่เป็น อัตลักษณ์เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ดีไม่ดีก็อาจจะเป็น Soft Power ไปด้วยนะครับ
นายคำพอง เทพาคำ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ส่วนภารกิจของกฎหมายฉบับนี้ต่อไปก็คือการคืนสิทธิเสรีภาพ ในการ ดำรงชีวิต มอบสถานภาพทางกฎหมายต่อคนที่ยังตกหล่นในเรื่องของทะเบียนราษฎร ซึ่งก็จะ ทำให้เขาขาดโอกาสทางการศึกษา การสาธารณสุขและสิทธิความเป็นมนุษย์ ซึ่งกฎหมาย ฉบับนี้ก็จะปูทางสำคัญเป็นกฎหมายสำคัญที่จะทำให้ชนเผ่าชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ อาจจะมีกลุ่มน้อย กลุ่มใหญ่ ก็จะได้มีสิทธิมีเสียงใช้กฎหมายฉบับนี้นำเข้าไปสู่ จะไม่มีคนไร้รัฐ ในประเทศไทยแห่งนี้ ทุกคนจะต้องเป็นคนที่มีรัฐรับรองเพื่อความเท่าเทียม ผมจึงสนับสนุน ในการที่จะตรากฎหมายพระราชบัญญัติเรื่องราวของการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเป็น ชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะขอเชิญชวนทุกท่านได้รับทุกร่างที่เสนอ ทั้งของรัฐบาล ของเพื่อนสมาชิก รวมถึงของพี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อเสนอเข้ามาสู่สภาแห่งนี้ ขอบคุณครับ ท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านมานพ คีรีภูวดล เชิญครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ต้องขออนุญาตท่านประธานครับ ผมอาจจะใช้เวลาเกินกว่าที่ได้ขอไว้นะครับ เนื่องจากว่า ข้อมูลผมเป็นคนอภิปรายก่อนที่จะเป็นคนสุดท้าย กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และ ชนเผ่าพื้นเมือง ท่านประธานครับ จริง ๆ แล้วเราได้อภิปรายเรื่องนี้เมื่อประมาณ ๒ เดือน ที่แล้วนะครับ ตอนที่ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง โดยคุณศักดิ์ดา แสนมี่ ได้เสนอเข้ามา ทางรัฐบาลขอศึกษาไป ๖๐ วันนะครับ วันนี้ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เลยครับท่านประธาน เป็นการเสนอกฎหมายที่มาจากทุกฝ่าย ฝ่ายแรกก็คือฝ่ายประชาชน ที่เสนอกฎหมายมา มีอยู่ ๒ ร่าง ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง และเราเรียกย่อ ๆ ว่าร่างของ P-move ร่างของพรรคการเมืองมีของพรรคก้าวไกลแล้วก็พรรคเพื่อไทย และที่สำคัญคือมีร่างของรัฐบาลคือร่างของ ครม. อันนี้ผมถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ ที่ฝ่ายประชาชน ฝ่ายสภา ฝ่ายพรรคการเมือง แล้วก็ฝ่ายบริหาร เห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้อง มีกฎหมายฉบับนี้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญครับท่านประธาน
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สิ่งที่ผมคิดว่าผมขออนุญาตย้ำไป อีกรอบหนึ่งว่าทำไมเราจะต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมคิดว่ามันมีหลักเหตุผล หลักความสำคัญ แค่ ๒-๓ เรื่องครับท่านประธาน ประเด็นแรกก็คือว่าในสังคมไทยมันเป็นสังคมแบบ พหุวัฒนธรรม ผมเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้แย้ง ไม่ได้ค้าน ทุกคนเห็นด้วยว่าเราคือเผ่าพันธุ์ เราคือ ผู้คนที่มาอยู่รวมกันที่เราเรียกว่า คนไทย เราใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง นักวิชาการก็ได้ ยืนยันเรียบร้อยว่าประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๖๐ ชาติพันธุ์ มีอยู่ ๖ ล้านคน ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศครับท่านประธาน และเรามีทั้งคนที่มาใหม่และคนอยู่เก่า เพื่อนสมาชิกหลายคนบอกว่าประเทศนี้ไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เป็นชนเผ่าพื้นเมืองแล้วจะทำให้ การปกครองมีการแตกแยก ผมคิดว่าท่านเอาที่ไหนมาพูดครับ ท่านประธาน เรื่องนี้ชนเผ่า พื้นเมืองมันมี ไม่มีได้อย่างไรครับ ก่อนที่จะมีอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะมีอาณาจักรต่าง ๆ เหล่านี้ คนดั้งเดิมที่มีอยู่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถ้ำผีแมน อำเภอปางมะผ้า เป็นหมื่น กว่าปี เราจะพูดอย่างไรครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเราจะมาขุดคุ้ยทางประวัติศาสตร์อะไรพวกนี้ เป็นการทะเลาะกันที่จะต้องเอาข้อมูลประวัติศาสตร์มาพูดกัน วันนี้คำว่า ชาติพันธุ์และ ชนเผ่าพื้นเมืองมันมีการใช้กันทั่วโลก เรามีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกัน ผมคิดว่าใหญ่ ๆ นักวิชาการแบ่งเป็น ๓ กลุ่มอยู่แล้ว คือพี่น้องชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หลายคนเรียกว่า ชาวเขา ชาวไทยภูเขาต่าง ๆ เหล่านี้ พี่น้องชาติพันธุ์คนไทยพื้นราบ ซึ่งอาจจะมีทั้งพี่น้องคนมอญ พี่น้องชาวกูย พี่น้องซ่ง พี่น้องหลายกลุ่มมากนะครับท่านประธาน แล้วก็พี่น้องทางทะเล เราเรียกว่า ชาวเล ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวมอแกน ชาวอูรักลาโวยจ และพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ เขตป่าดำรงรักษาความเป็นวิถีชีวิตเกือบจะดั้งเดิมที่เราเรียกว่า มานิ อันนี้คือกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งถามนักวิชาการแล้วครับ อย่างพี่น้องมานิดำรงอยู่ที่นี่นานมาก นานที่จะมีเกาะในประเทศ ที่จะแยกออกจากสุมาตราด้วยซ้ำไปครับท่านประธาน ตรงนี้ดำรงเป็นหมื่น ๆ ปีแล้วนะครับ หลายพันปีมาก เพราะฉะนั้นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมันคือความเป็นจริง ในสังคมไทยอยู่แล้วครับท่านประธาน
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำไมเราจะต้องมี ผมคิดว่าหลายท่านได้พูดไปแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๐ พูดอยู่ แต่สำคัญที่สุด ปี ๒๐๐๗ ประเทศไทยได้ไปลงนามว่าด้วยเรื่องของสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง อันนี้เราได้ไปลงนามนะครับ เราได้ไปรับรองว่าในโลกนี้มีชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยก็ได้ไปลงนาม แต่ว่าในทางปฏิบัติ วันนี้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง อาจจะไม่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ได้มีกฎหมายฉบับอื่น เขียนไว้ แต่วันนี้เรากำลังจะมาทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตนในกฎหมาย อันนี้สิ่งที่มันเป็น ข้อเท็จจริงที่ ๑ ก็คือความเป็นจริงในสังคมไทย ข้อเท็จจริงที่ ๒ คือเราได้ไปตกลงกับ นานาอารยประเทศ หน้าที่ของเราคือทำให้ ๒ อย่างนี้มีความเป็นจริง ก็คือการตรากฎหมาย ฉบับนี้ ท่านประธานครับ สิ่งที่ผมอยากจะนำเรียนท่านประธานว่า ทำไมพี่น้องชาติพันธุ์ จะต้องมาเรียกร้อง จะต้องมาต่อสู้เรื่องนี้ การต่อสู้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พี่น้อง ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผมว่าไม่ใช่เฉพาะพี่น้องเผ่าของผมคือ เผากะเหรี่ยง เผ่าปกาเกอะญอ ผมว่ามี ทุกเผ่าได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคุกคาม การกระทำหลายอย่าง โดยเฉพาะ เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน หลายหมู่บ้าน หลายพื้นที่อยู่ก่อนมานานมาก ผมไม่อยากจะพูดว่าอยู่ ก่อนประเทศไทยด้วยซ้ำไป แต่วันนี้เขาเป็นคนผิดกฎหมาย วันนี้หมู่บ้านชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรครับ เพราะมีผู้ใหญ่บ้าน ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ. ปกครอง ท้องที่ท้องถิ่น ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรครับ หมู่บ้านมีโรงเรียน มีครู หมู่บ้าน มีอนามัย ชอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข มี อสม. แต่ว่าไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ บางอำเภอ ที่ตั้งอำเภอ ที่ตั้งของสถานีตำรวจยังอยู่ในเขตป่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องมา โดยตลอด คือว่าสิทธิให้เหมือนกับคนทั่วไปเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรพิเศษเลยครับ หลายคนบอกว่า ถ้ามีชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นการแยกการปกครอง ผมคิดว่าท่านเอาอะไรที่ไหนมาพูด เรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ไม่อยากจะให้สภาตรงนี้มาพูดเพื่อให้เกิดความแตกแยกครับ เราต้อง ยืนอยู่บนความเป็นจริงที่เรายืนอยู่ภายใต้แผ่นดินตรงนี้ และยืนอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่เราได้ไปลงนาม สิ่งที่ผมอยากจะบอกครับท่านประธาน อันนี้ตัวอย่างนะ ครับ คนที่อยู่รางรถไฟ ขอสไลด์ขึ้นด้วยครับ ชื่อพะตีปูนุ ดอกจีมู อยู่ที่บ้านห้วยหอย อำเภอ แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ไปเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย ในที่ดินทำกิน เอาภาพเมื่อสักครู่อีกที นะครับ เขาบอกว่า ท่านไม่สามารถที่จะอยู่ในหมู่บ้านตัวเองได้ จะต้องอพยพ พะตีปูนุก็ เสียใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร กลับไปถึงเส้นทางช่วงเด่นชัย-ลำปาง ก็กระโดดรถไฟตายที่นั่น นะครับ อันนี้คือสิ่งที่เราเรียกร้องนะครับ ขอให้เราอยู่สงบสุขเหมือนกับคนทั่วไป รับรอง ความเป็นตัวตนของเรา รับรองสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของพวกเรา เขาจะทำไร่หมุนเวียน เขาจะทำวนเกษตร เขาจะเลี้ยงวัว เขาจะเลี้ยงควาย เขาจะทำมาหากิน รับรองในสิ่งที่เขามี อยู่ อันนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรครับ มีบางอย่างที่ผมคิดว่า ความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่การพัฒนา กฎหมายฉบับนี้ก็คือว่า อำนาจของรัฐ แล้วก็ที่สำคัญคือมายาคติ ความรู้สึกของคนในสังคม นะครับ ที่เราไม่ได้สร้างว่าเราประกอบสร้างจากชนเผ่าต่าง ๆ รวมกันมากมาย ตั้งแต่อดีต ประวัติศาสตร์แล้ว เราอยู่ร่วมกันมาตลอด ผมยกตัวอย่างตลอดนะครับ ถ้าทางภาคเหนือ จังหวัดตาก ทุกคนก็รู้จักพะวอ พะวอเป็นนายทหารเชื้อสายกะเหรี่ยง อยู่ที่ด่านแม่ละเมา เราไป Check เอาครับ อยู่ในสมัยไหน ยิ่งทางอำเภอศรีสวัสดิ์ ทางจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับ โอกาสรับราชการในสมัยอยุธยาเป็นนายหน้าด่านเวลาข้าศึกมา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เรา ละเลย เราไม่ให้คุณค่า อย่าลืมคนที่เคยอยู่ในอดีตร่วมกับประวัติศาสตร์ แม้แต่ทางจังหวัด เชียงราย ทางจังหวัดน่าน หลาย ๆ พื้นที่ที่ติดต่อกันนะครับ มันเป็นโอกาสของพวกเราที่จะ ทำให้ทุกคนได้มีจุดยืนและมีพื้นที่ยืนและมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากันครับ ทีนี้สิ่งที่ ผมอยากจะนำเรียนประเด็นสุดท้ายครับ สิ่งที่ผมอยากจะให้กับท่านประธานได้รับทราบว่า เราขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองขับเคลื่อนตั้งแต่ ปี ๒๕๕๓ แล้วนะครับ ตั้งแต่ผ่านรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสู่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และนำไปสู่รัฐบาลที่ยึดอำนาจอีก วันนี้เป็นโอกาสของสภาแห่งนี้ครับ เป็นสภาที่มาจากพี่น้อง ประชาชนเลือกพวกเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเห็นจากเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ว่า เป็นการทำหน้าที่ในครั้งประวัติศาสตร์ที่พวกเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็คือการช่วยกัน ช่วยกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นร่างของรัฐบาล ร่างของพรรคการเมือง ร่างของภาคประชาชน เรามาดูรายละเอียดกันในชั้นกรรมาธิการ เรามาถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการครับ มาตราไหนที่เราเห็นต่าง เราก็เอาเหตุและผลข้อมูล ทางวิชาการ ข้อมูลประวัติศาสตร์ ข้อมูลระดับสากลมาถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ เพราะฉะนั้นหลังจากวันนี้ในขั้นรับหลักการ เราก็จะมีชั้นกรรมาธิการ พอผ่านจาก ชั้นกรรมาธิการ เราก็กลับมาที่สภาใหม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้ ผมคิดว่าเราควรจะ ใช้โอกาสนี้ในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน ท้ายที่สุดครับท่านประธาน ผมคิดว่าชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมไทย คือความจริงที่มีอยู่ หน้าที่ของเราก็คือว่าทำความจริง ให้ปรากฏและรับรองความเป็นตัวตน ความเท่าเทียมกันของคนในสังคมนี้ผ่านกฎหมาย ฉบับนี้ ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับ ช่วยกันรับร่างทุกร่าง แล้วไปคุยรายละเอียดกัน ในชั้นกรรมาธิการ ขอบคุณมากครับท่านประธาน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เชิญครับ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ราชบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต ท่านประธานนิดเดียวครับ สัก ๒ นาที ท่านประธานครับ ผม อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ก่อนที่ทางผู้อภิปรายท่านสุดท้ายจะได้อภิปราย จะได้ขออนุญาตท่านประธานได้ใช้สิทธิ พาดพิงชี้แจงสักนิดหนึ่ง แป๊บเดียวครับ ผม อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดราชบุรี ท่านประธานครับ ในส่วนของที่เมื่อสักครู่นี้ท่านผู้อภิปรายได้ชี้แจงว่าเอาอะไรมาพูด ที่จะมี การแบ่งแยกการปกครองอะไรอย่างนี้นะครับ อยากเรียนท่านประธานครับว่ารายงานฉบับนี้ เป็นรายงานที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ทำขึ้น แล้วก็ชี้แจงในวิปรัฐบาล เพราะว่ามี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถกำหนดให้มีการกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมได้อย่างอิสระ แล้วก็ที่สำคัญประเทศไทยเราได้ไปรับร่างปฏิญญาสากล ที่สหประชาชาติว่าในเรื่องของชนเผ่าพื้นเมืองในหลักปฏิญญาสากลนั้นชนเผ่าพื้นเมือง สามารถที่จะแบ่งแยกไปปกครองตนเองได้ อันนี้คือสิ่งที่หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ หน่วยงานความมั่นคงและกระทรวงวัฒนธรรมมีความเป็นห่วง ซึ่งเราเคยไปแถลงที่ สหประชาชาติครับท่านประธานว่า ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยเรายอมรับ ในความหลากหลายในกลุ่มชาติพันธุ์ ประเทศไทยเราก็คือเป็นรัฐไทย เป็นคนไทยทุกคน และผมก็เชื่อมั่นว่าพี่น้องคนไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตามขอบตะเข็บชายแดนก็ดี หรือคนที่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดีอยากเป็นคนไทยนะครับ แล้วร่าง พ.ร.บ. นี้ก็เรียนกับท่านประธานครับ ว่าส่งเสริมสิทธิทุกอย่าง กลุ่มชาติพันธุ์เหมือนคนไทย ฉะนั้นคำว่า กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ควรจะใช้ในประเทศไทย เพราะว่า ๑. เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ๒. อยากจะเรียนว่า เป็นความกังวลใจของสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในการที่ หน่วยงานความมั่นคงบอกว่าอาจจะมีการแบ่งแยก แล้วก็ไปปกครองตนเองก็จะเป็นภัยต่อ ความมั่นคงได้ อันนี้เป็นความกังวลของหน่วยงานความมั่นคงแล้วก็หน่วยราชการ ก็เลย อยากจะเรียนให้ท่านประธานทราบว่าไม่ใช่ว่าใครมาพูดนะครับ เป็นหน่วยงานความมั่นคง แล้วก็ภาครัฐที่มาให้ข้อมูลกับทางวิปรัฐบาล ก็เลยนำเรียนท่านประธานได้รับทราบครับ ขอบคุณท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปท่านพิธา เชิญครับ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สำหรับ วันนี้ผมต้องเรียนท่านประธานก่อนว่าเป็นวันที่มีความสำคัญกับพรรคก้าวไกล เป็นอย่างยิ่ง ในความสำคัญที่มีต่อประวัติศาสตร์ทั้งของพี่น้องชาติพันธุ์ แล้วก็พี่น้องแรงงาน เป็นวันที่กฎหมายสำคัญ ๆ ที่เหมือนกับเป็น พ.ร.บ. เรือธงของพรรคก้าวไกลได้เข้า เพราะฉะนั้นวันนี้ผมอาจจะต้องขอเรียนท่านประธานไว้ก่อนว่าอาจจะต้องลุกขึ้นอภิปราย หลายครั้งหน่อย เพราะว่าเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็น พ.ร.บ. เรือธงกับพี่น้อง ประชาชนไว้ทั้ง ๒ เรื่อง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรื่องแรกสำหรับวันนี้ครับ คือเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ สำหรับร่างของพรรคก้าวไกลนำเสนอโดยนายเลาฟั้ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... กลุ่มชาติพันธุ์ก็คือ Ethnic Group ชนเผ่าพื้นเมืองก็คือ Indigenous Peoples ซึ่งเมื่อสักครู่ มีเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายถึงความกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงก็ดี เกี่ยวกับ Definition ที่เราให้ไว้กับทางสหประชาชาติก็ดี ผมเข้าใจครับ ก็หวังว่าเราจะผ่านกฎหมาย ทั้ง ๔ ฉบับ แล้วก็ไปตั้งกรรมาธิการพูดคุยกันในเรื่องนี้นะครับ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สำหรับเนื้อหาครับ หน้าต่อไปผมเป็น สส. สมัยที่ ๒ ครั้งแรกตั้งแต่เป็น พรรคอนาคตใหม่ก็มีโอกาสได้เข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่า ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปกาเกอะญอ ม้ง ลีซู แล้วก็จำนวนอีกมากมาย โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเพื่อนสมาชิกที่นั่งอยู่ข้างหน้านะครับ ท่าน สส. มานพ ก็ได้มีโอกาสให้ผมได้ คลุกคลีกับพี่น้องชาติพันธุ์กว่า ๖๐ เผ่า เป็นจำนวน ๗ ล้านคนทั่วประเทศ ก็ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย ปัญหาหลัก ๆ แล้วก็เป้าหมายสำคัญในการที่เราจะ ยกระดับความมั่นคงของพี่น้องชนเผ่าและชาติพันธุ์มี ๔ เสาด้วยกันครับ นี่คือ ๔ เสา เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชนเผ่าและชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องของที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัย เรื่องที่ ๒ ก็คือการคุ้มครอง ส่งเสริม วัฒนธรรม เรื่องที่ ๓ ก็คือเด็กรหัส G G ย่อมาจาก Generate ก็ไม่สามารถที่จะ Generate หมายเลขบัตรประชาชนก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงเรื่องของสาธารณสุขและการศึกษาได้นะครับ เรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องของสัญชาติครับ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ทั้ง ๔ เรื่อง ๔ เสาหลักนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของเกือบทุกประเทศทั่วโลก ที่จะต้องทำเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์โดยทั่วไป ไม่ได้จำเป็นเฉพาะ ในประเทศไทยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ที่มีที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มีเอกสารเป็นของตัวเอง อันนี้คือปัญหา เสาที่ ๑ เสาที่ ๒ ก็คือการรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีและภาษาประจำเผ่า หรือการทำเศรษฐกิจชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกว่า Indigenous Economy ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาล ทั่วโลกพยายามสนับสนุนอยู่ ณ ปัจจุบันนะครับ เรื่องที่ ๓ เด็กรหัส G ก็คืออนาคตของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อไม่ให้เป็นการส่งต่อ ความเหลื่อมล้ำจากรุ่นปู่สู่พ่อ จากพ่อสู่ลูก จากตาสู่แม่สู่ลูกหลานของเขานะครับ เรื่องสุดท้าย ก็คือเรื่องการพิสูจน์สิทธิของสัญชาตินะครับ แต่ถ้านี่คือ ๔ เสาเป้าหมายหลัก ในการยกระดับสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ ณ ปัจจุบัน ในประเทศไทยถ้าท่านเอา ๔ เสาหลักนั้นมาตั้ง แล้วมองกลับกันว่าการเข้าถึงที่ดินอยู่ ที่ดิน ทำมาหากินของพี่น้องชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างอย่างเช่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น พี่น้องชาติพันธุ์ไม่สามารถที่จะมีชีวิตมีที่ดินเป็นของตัวเองทำกินอยู่ได้ แต่สามารถ อนุญาตให้โรงไฟฟ้า โรงถ่านหิน เข้าไปสามารถทำมาหากินได้ในพื้นที่ป่าสงวนเป็นต้น อันนี้ ก็เป็นความย้อนแย้ง ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ฝั่งซ้ายมือสุดของท่านประธาน หน้าต่อไปเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม สิ่งที่กำลังสูญหายก็คือตอนนี้มี ๑ ภาษา ภาษาพะล็อก สูญหายไปแล้วถาวร แล้วยังมีอีก ๒๕ ภาษาที่เสี่ยงจะสูญหายในช่วงชีวิตของพวกเรา เรื่องเด็กติด G เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เห็นได้ชัดว่าอัตราการสำเร็จการศึกษา ชั้น ม.๖ ถ้าเป็นคนที่ใช้ภาษาไทยเป็นปัจจุบันกับที่ใช้ภาษามากกว่าภาษาไทยต่างกันถึง ๒.๕ เท่า อันนี้คือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา สุดท้ายเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ เรื่องเกี่ยวกับสัญชาติก็จะเห็นได้ชัดว่ามีรายงานของ UNICEF ไปสอบถามนะครับว่า ครอบครัวที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติขัดกับรัฐธรรมนูญนะครับท่านประธาน เกี่ยวกับเชื้อชาติ และถิ่นกำเนิดระหว่างคนที่ใช้ภาษาไทยปัจจุบันเป็นประจำกับที่ไม่ได้ใช้ต่างกันถึง ๕ เท่า อันนี้คือข้อเท็จจริงในประเทศไทยที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมี Gap ที่ห่างจากเป้าหมายอยู่ อย่างมาก คำถามต่อมาเราพูดถึงเรื่องเป้าหมายแล้ว เราพูดถึงเรื่องความเป็นจริงแล้ว เราพูด ถึงเรื่องของ Gap ที่มันเกิดขึ้นแล้ว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
คำถามต่อมาก็คือว่าอะไรคืออุปสรรค อะไรคือ Roadblocks สำคัญ ๆ ที่ทำ ให้พี่น้องชาติพันธุ์ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ภายในประเทศไทย ก็บอกท่านประธานอย่างนี้ ครับว่ามันมี 3 Roadblocks สำคัญ ๆ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ก็คือเรื่องเกี่ยวกับ งบประมาณแล้วก็คือเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงาน เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายท่านประธานคง ทราบดีอยู่แล้วครับว่ากฎหมายนี้มันมีปัญหาทับซ้อนกับ ๓ กฎหมายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ที่ดินครับ อันนั้นก็คือ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ พ.ร.บ. ป่าสงวน ปี ๒๕๐๗ แล้วก็ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ หนำซ้ำก็ยังมีมติ ครม.ปี ๒๕๕๓ ที่กำหนด เขตวัฒนธรรมพิเศษที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จนถึงปัจจุบัน ในเรื่องของงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา เรามีงบพิสูจน์สัญชาติและอายุ ๓๕ ล้านบาทนะครับ ถ้าเราใช้ Rate นี้ คนไร้สัญชาติมีอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ คน หารด้วย ๓๕ ล้านบาท ปีหนึ่ง ท่าน สส. มานพ เคยอภิปรายไว้ปีที่แล้วทำได้ ๑๐,๐๐๐ คน เอา ๘๐๐,๐๐๐ หารด้วย ๑๐,๐๐๐ เท่ากับ ๘๐ ปีครับ กว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าท่านประธานกับผมก็ไม่ได้อยู่ในห้องนี้อีกต่อไปแล้ว ยังแก้ปัญหาไม่เสร็จ ถ้าเราเคาะคำว่า ชาติพันธุ์ ไปในงบประมาณแผ่นดินออกมามีอยู่ ๓ โครงการรวมกันแค่ ๒๕ ล้านบาท เมื่อเทียบกับประชากร ๗ ล้านคนทั่วประเทศไทย ถือว่างบประมาณเป็น อุปสรรคสำคัญในการดูแลพ่อแม่พี่น้องชาวชาติพันธุ์อย่างแน่นอน รวมถึงเรื่องของการ บริหารงาน ซึ่งผมคงไม่ลงรายละเอียด เพราะว่าเพื่อนสมาชิกก็ได้อภิปรายกันไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงเรื่องเป้าหมายแล้ว พูดถึงเรื่อง Gap แล้ว พูดถึงเรื่องอุปสรรคต่าง ๆ แล้ว กฎหมายที่เรากำลังจะผ่านนี้จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไรนะครับ เรื่องกฎหมายปลดล็อกแน่นอนครับ ให้กลายเป็นเรื่องของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตพิเศษ บัญญัติรับรองสิทธิและตั้งคณะกรรมการส่งเสริม ในเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณถ้ามี พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็สามารถที่จะให้รัฐบาลสามารถที่จะออกกองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ ประโยชน์ที่ดินและออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินของพี่น้องชาติพันธุ์ได้ รวมถึงวิสัยทัศน์ ของรัฐบาลที่จะสามารถสร้าง Indigenous Economy หรือว่าเศรษฐกิจของชนเผ่าพื้นเมือง ต่อไปในอนาคตได้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
สุดท้ายนี้ก็ขอวิงวอนเพื่อน ๆ สมาชิกในการผ่านกฎหมายทั้ง ๔ ร่าง ตั้งกรรมาธิการแล้วก็ศึกษาวิธีการสำคัญในการที่จะยกระดับชีวิตของพี่น้องชาวชาติพันธุ์ ทั้ง ๔ เสา อย่างที่ผมได้เรียนไว้นะครับ ขออนุญาตฝากกรรมาธิการครับ สิ่งสำคัญ ๆ ที่น่าจะ เปลี่ยนวิธีคิดของกรรมาธิการแล้วก็ประชาชนคนไทยในประเทศของเราได้พอสมควร Trend ของโลกตอนนี้พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนในการช่วยรักษาป่าเป็นอย่างมาก ดูอย่างกราฟด้านขวาเป็นกราฟในประเทศลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย บราซิล หรือว่า โคลัมเบียเปรียบเทียบสีแดงคือพื้นที่ป่าที่ไม่มีชาติพันธุ์อยู่ สีเขียวคือพื้นที่ป่าที่มีชาติพันธุ์อยู่ ในพื้นที่ป่าของประเทศเดียวกัน ๒-๓ เท่าครับ การตัดไม้ทำลายป่าลดลงได้เมื่อมีพี่น้อง ชาติพันธุ์อยู่ในเขตป่าเหล่านั้น ก็ขอให้เปลี่ยนวิธีคิดว่าเราจะต้องแยกคนออกจากป่า แยกป่า ออกจากคน แต่ให้คนปลูกป่า แล้วให้พี่น้องชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการศึกษา ในการ พัฒนาการรักษาป่าลดการตัดไม้ทำลายป่าลงในประเทศไทยเป็นไปได้นะครับ สุดท้ายจริง ๆ ครับท่านประธานเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจชาติพันธุ์อาจจะยังไม่มีการพูดถึงในประเทศไทยมา แต่วิสัยทัศน์ของผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงนะครับ ฝั่งนี้คือ Indigenous Economy ของประเทศออสเตรเลียนะครับ ๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐครับ ทั้งฝั่งซ้ายของประเทศ แคนาดา ๑๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา น่าจะเหรียญของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าอยากจะให้กรรมาธิการชุดนี้เริ่มคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนปัญหาสังคม ให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์อย่างที่ประเทศ ออสเตรเลีย ประเทศแคนาดาและประเทศนิวซีแลนด์ได้เริ่มทำแล้วครับ ขอบพระคุณ ท่านประธานครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ตามข้อบังคับ ข้อ ๗๕ ผู้เสนอญัตติมีสิทธิสรุปอีกครั้งหนึ่งนะครับ เชิญท่านชูพินิจ เกษมณี แทนท่านศักดิ์ดา แสนมี่ เชิญครับ
นายชูพินิจ เกษมณี ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน ก่อนอื่นอยากจะขอขอบพระคุณท่าน สส. หลายท่านที่เข้าใจสถานการณ์ของ พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองอย่างดี ในนามของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่เราจัดตั้งแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ทีนี้มีประเด็นที่ผมคิดว่าจะต้องคลี่คลายความเข้าใจผิดนะครับ ประการหนึ่ง ก็คือเรื่องของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง มาตรา ๔๖ ขออนุญาต อ่านนะครับ มาตรา ๔๖ ของปฏิญญาฉบับนี้บอกว่าไม่มีส่วนใดที่จะให้อำนาจแก่รัฐนะครับ ประชาชน กลุ่มคน หรือบุคคลใดในการกระทำกิจกรรม หรือการกระทำใด ๆ ที่ขัดต่อกฎบัตร แห่งสหประชาชาติ หรือตีความว่าเป็นการให้อำนาจและให้การสนับสนุนที่จะก่อให้เกิด การแตกแยก หรือเป็นอุปสรรคไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบูรณภาพ ทางดินแดน หรือเอกภาพทางการเมืองขององค์อธิปัตย์และรัฐเอกราช เพราะฉะนั้น ใน UN List นี้นะครับ ไม่อนุญาตให้ใช้มาตราหนึ่งมาตราใดในปฏิญญาฉบับนี้ในการที่ทำให้ เกิดความแตกแยก อันนี้เป็นประการแรกที่ผมอยากจะขออธิบาย
นายชูพินิจ เกษมณี ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
ประการที่ ๒ ก็คืออยากจะให้ข้อมูลแก่สภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ว่าในเวที นานาชาตินี้ คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์กับคำว่า ชนเผ่าพื้นเมืองนี้ มันเริ่มตั้งแต่ปี ๑๙๘๐ ขออนุญาตเท้าความนะครับ ปี ๑๙๘๐ กว่านี้ประชาคมโลกมีความเป็นห่วงประชากรใน หลายประเทศที่ถูกเรียกว่า เป็นกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มคนใช้ชายขอบ หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ก็มอบหมายให้ผู้รายงานพิเศษ มาร์ติเนซ โคโบลท์ (Martinez Cobalt) ศึกษาเรื่องนี้ดู แล้ว มาร์ติเนซ โคโบลท์ (Martinez Cobalt) ก็เลยเสนอนิยาม คำว่า Indigenous Peoples ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า ชนพื้นเมือง กับ ชนเผ่า เข้ามาอยู่ในนิยามนี้ หลังจากนั้นก็มีหน่วยงานของสหประชาชาติทั้งหลายแหล่นะครับ ไม่ว่าจะเป็น UNDP-UNEP IFAD อะไรต่าง ๆ รวมทั้งธนาคารโลกนะครับ ก็เอานิยามของ มาร์ติเนซ โคโบลท์ (Martinez Cobalt) ไปขยายความต่อนะครับ ซึ่งตรงนี้ผมจะขออนุญาตนำเสนอเป็นภาพสไลด์ของสภา ชนเผ่าพื้นเมืองนะครับ
นายชูพินิจ เกษมณี ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
หลักการ และเหตุผล ขอภาพถัดไปเลยครับ สถานการณ์ปัญหานี้ผมคิดว่าท่าน สส. หลายท่าน เข้าใจปัญหาเรื่องนี้ดีนะครับ ผมก็ขออนุญาตไปภาพถัดไป หลักการและเหตุผล เราก็อ้างอิง ทั้งรัฐธรรมนูญด้วย แล้วก็พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีเข้าผูกพันแล้ว รวมทั้งปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้พูดถึงเมื่อสักครู่นี้นะครับ อันนี้ก็มีความเข้าใจผิดมีบางองค์กรที่เขียนรายงานมาว่าประเทศไทยนี้ไม่ได้เป็นภาคีของ ปฏิญญา ซึ่งไม่ใช่ ปฏิญญาฉบับนี้ประกาศในสมัชชาใหญ่ที่ภาคีสมาชิกทุกประเทศเข้าร่วม แล้วก็ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่รับรองปฏิญญาฉบับนี้ ๔ ประเทศที่ไม่รับรองในเบื้องต้นก็คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ในภายหลังทั้ง ๔ ประเทศนี้ก็รับรอง ทั้งหมดแล้วนะครับ ก็ถือว่าเป็นปฏิญญาที่ใช้ร่วมกันในบรรดาประเทศภาคีของสหประชาชาติ นิยามชนเผ่าพื้นเมืองทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยศึกษานิยามของสหประชาชาติ ในหลาย ๆ องค์กร เราก็กำหนดว่าความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของเราก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ นั่นแหละ แต่เขามีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ แล้วก็พึ่งพาผูกพันกับทรัพยากรในพื้นที่ ของเขา ประเด็นถัดมาก็คือว่าพวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มครอบงำทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองทั้งหลายแหล่ อันนี้ก็ตรงกับหลาย ๆ องค์กรของสหประชาชาติ แล้วก็ยังมุ่งมั่นที่จะ อนุรักษ์สืบทอด ระบบภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิต ภาษา ไปยังคนรุ่นอนาคต เป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม เพราะว่ามันเป็นจารีตประเพณีของความเป็นพี่น้องชนเผ่า พื้นเมือง แล้วก็ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเขาจะระบุตนเองว่าเขาเป็นชนเผ่า พื้นเมืองแล้วได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ผมยกตัวอย่างขององค์การระหว่าง ประเทศ ๒ องค์กรเท่านั้นนะครับเพื่อไม่ให้เสียเวลา จะเห็นได้ว่าแผนงานสิ่งแวดล้อม สหประชาชาติ ก็พูดถึงความเกี่ยวพันกับภูมิประเทศภูมิภาค ความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ พูดถึงลักษณะเฉพาะของภาษา วัฒนธรรมและสังคมองค์กร พูดถึงความแตกต่างบางระดับ จากประชากรที่แวดล้อมและวัฒนธรรมที่ครอบงำของรัฐชาติ พูดถึงการระบุตนเองเมื่อเป็น ชนเผ่าพื้นเมืองหรือเป็น Indigenous Peoples ธนาคารโลกก็เหมือนกัน การระบุตนเอง เป็นเกณฑ์สำคัญประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ ที่จะไปบอกว่าใครเป็น หรือไม่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง เป็นการระบุตนเองขอย้ำนะครับ ทุกองค์กรของสหประชาชาติย้ำ ในเรื่องนี้ว่าการเป็นชนเผ่าพื้นเมืองคือการระบุตนเอง และได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วยนะครับ สิ่งที่เราจะยึดโยงกับความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ซึ่งเราก็พบว่าเรามี หลายกลุ่มเหลือเกินทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และภาคใต้ เราก็มีศักดิ์และสิทธิที่จะใช้ชื่อชนเผ่าพื้นเมืองเหมือนกันกับบรรดานานาประเทศทั่วโลก เขาจะได้รับการส่งเสริมโดยปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็ สามารถเฉลิมฉลองวันสากลแห่งชนเผ่าพื้นเมืองโลกได้ทุกวันที่ ๙ สิงหาคม ซึ่งเราทำมา ตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ทุกปี เราเฉลิมฉลองทุกปีนะครับ แล้วก็มีอนุสัญญาว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ อนุญาตให้ใช้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองได้ ซึ่งกฎหมายเราก็ยังไม่เอื้อ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยก็ผูกพันแล้ว พูดถึงกรอบอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วหลังสุดในกรอบอนุสัญญานี้ เมื่อปี ๒๕๕๙ ก็มีความตกลงกรุงปารีส ซึ่งระบุถึงการยอมรับภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เพื่อจะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ประเทศไทยก็เข้าไปร่วมให้สัตยาบรรณตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า ทางสภานี้จะต้องตระหนักถึงกระแสของโลก เราอยากจะให้ลูกหลานของเรามีโอกาสที่จะเข้า ไปอยู่ในเวทีสหประชาชาติ สิทธิและโอกาสที่ลูกหลานของเราจะได้ในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้ง แม้แต่โอกาสในการรับการสนับสนุน ทรัพยากรจากแหล่งทุนต่าง ๆ ในเรื่องของการจัดการ โลกร้อนโดยใช้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมือง ขอภาพถัดไปเลยครับ จะดูโครงสร้างของสภานิดเดียวนะครับ อันนี้เราจะเห็นว่าในสภานี้ เราสมาชิกที่แต่ละกลุ่มเขาจะเลือกกันเองที่มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คือในร่างกฎหมายเรากำหนด ไว้เลย ต้องมีผู้ชาย ผู้หญิงและมีเยาวชน เราให้โอกาสเยาวชนถึงอายุ ๑๕ ปี เข้ามาอยู่ใน สภาได้ แล้วก็มีบทบาท สภานี้ไม่ใช่เป็นแค่ที่ประชุม แต่ว่ามีกิจกรรมอย่างอื่นนอกเหนือ การประชุมด้วย แล้วก็ยังมีบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาด้วยที่จะต้องขานรับต่อสภา แล้วก็ จะมีคณะกรรมการบริหารสภา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีนะครับ ทำหน้าที่อยู่ ๑๕ คน ตัวแทน จากภาคต่าง ๆ นะครับ แล้วก็มีคณะผู้อาวุโสจากสภา ตรงนี้อยากจะขอชี้แจงอย่างนี้นะครับ ว่าคณะผู้อาวุโสนี้เราเอามาจากโครงสร้างตามจารีตประเพณีที่พี่น้องหลายกลุ่มเผ่า เขามี ผู้อาวุโสเป็นผู้ที่คอยตัดสินเวลาเกิดข้อพิพาทหรือเกิดความขัดแย้งในชุมชน เราก็เอา โครงสร้างตามจารีตประเพณีนี้เข้ามาบูรณาการกับโครงสร้างสภาสมัยใหม่นี้ ซึ่งก็ทำงานได้ผล แล้วก็จะมีสำนักงานสภา มีคณะอนุกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ ที่อาจจะจัดตั้งขึ้นมาตาม ความจำเป็น แล้วก็เราจะจัดตั้งกองทุนสภาด้วยกัน ช่วยกันระดมทุนนะครับ ก็คิดว่า การจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยนี้จะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคงของ ประเทศ เพราะเป็นการสร้างพื้นที่ร่วมให้พี่น้องของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ต่าง ๆ ในประเทศไทยเข้ามาร่วมกันปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาด้วยการพัฒนาชุมชนด้วยกัน ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นเป้าหมายปลายทางของประเทศ แล้วก็จะมีการประสานงาน ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ก็เลยคิดว่าแทนที่จะทำให้เกิดความแตกแยก ผมคิดว่าน่าจะมีความสามัคคียิ่งขึ้น เราจะไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เอาแนวคิด Divide and Rule หรือการแบ่งแยกและปกครองตามแบบอาณานิคมมาใช้ ซึ่งเขาก็เจอ ปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบ้านเราไม่เคยมีในลักษณะนี้เลย ก็ขอกำลังใจท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติ ได้เห็นความจำเป็นว่าเราต้องมี อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีอยู่ในกฎหมายว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ใน ประเทศไทยด้วย ด้วยการที่เขาระบุตนเอง แล้วเข้ามาร่วมกันในสภาแล้วช่วยกันขับเคลื่อน ประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกันนะครับ ขอบคุณมากครับ
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ต้นฉบับ
ต่อไปท่านสุริยันต์ ทองหนูเอียด เชิญครับ
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
ขอบคุณ ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ในนามของ ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ๑๔,๙๕๔ รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในนามของกระบวนการประชาชนเพื่อสังคม ที่เป็นธรรม ในนามของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับรองให้ร่างกฎหมายของ ภาคประชาชน ๒ ฉบับ และร่างของพรรคการเมืองได้เข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ ขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ขอขอบคุณ พรรคเพื่อไทย ที่เสนอกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ขอขอบคุณพรรคก้าวไกล คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม และคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ท่านประธานสภาและท่านสมาชิกที่ เคารพทุกท่าน พวกเราในนามของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและพี่น้องที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษจากการเสนอกฎหมายฉบับนี้แต่ประการใด แต่เราต้องการ คืนความเป็นธรรมและทำให้พี่น้องมีชีวิตอย่างปกติสุข มีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมเท่ากับ พี่น้องประชาชนคนไทยทั่วไป ซึ่งหลักนี้ก็จะเป็นหลักที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เราพูดกันมาทั้งหมดถึงร่างกฎหมายที่จะ สร้างความสำคัญและเป้าหมายที่จะสอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการ คุ้มครองสิทธิ และวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ของชนเผ่าพื้นเมืองตามหลักที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันรายมาตรา แล้วก็สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยไป รับรองไว้ ซึ่งหลายท่านได้คุยไปแล้ว ประการสำคัญเพื่อเป็นกฎหมายที่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักและมีความเข้าใจในวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมืองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
ประการต่อมา กฎหมายนี้ก็จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต สนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ร่วมกับรัฐ เรายืนยันนะครับว่าการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะ ร่วมมือกันสร้างชาติ สร้างบ้านเมือง สร้างความมั่นคง สร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็ง โดยอาศัย หลักการ องค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม พื้นที่ที่ทำกินที่มันสอดคล้องและยั่งยืนอยู่กับหลักการ จัดการตามวิถีของชาติพันธุ์
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
ประการสุดท้าย เพื่อให้การสนับสนุนหลักความหลากหลายทางวัฒนธรรม การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักของ สหประชาชาติ หลักนิติธรรม หลักความเสมอภาค หลักไม่แบ่งแยก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขอความกรุณาของสภาแห่งนี้ได้รับรองร่างกฎหมายทุกฉบับที่ได้กล่าว มาแล้ว ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญท่านต่อไปนะครับ ท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ครับ
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ร่วม อภิปรายในวันนี้ แล้วก็ให้การสนับสนุนหลักการในร่างกฎหมายทุกฉบับนะครับ อย่างไร ก็แล้วแต่ก็ยังมีเรื่องที่หลายท่านยังคงกังวลอยู่ โดยเฉพาะประเด็นคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็การจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมือง แล้วก็เชื่อมโยงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคง เพื่อที่จะทำความเข้าใจผมจะขอชี้แจงโดยสรุปดังนี้นะครับ บ้านเรา ประเทศเรามีชนเผ่า พื้นเมืองไหม ผมขออธิบายอย่างนี้ก่อนว่า คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง เป็นคำที่เราแปลมาจาก ภาษาต่างประเทศ มันก็มีอยู่หลายคำที่มีการใช้กัน แล้วก็ใช้ในประเทศที่แตกต่างกัน อย่างเช่นใช้คำว่า Aboriginal Native People Fist People Travel People และคำที่ ถูกใช้ในลักษณะที่เป็นสากลก็คือ Indigenous People นะครับ ทาง UN ได้ย้ำนะครับ คำว่า Indigenous People ไม่ได้มีคำนิยามที่เป็นสากลเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจว่า หมายถึงการ Claim สิทธิเหนือดินแดนที่จะนำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระ นี่เป็นความเข้าใจ ที่ผิดนะครับ คำว่า Indigenous People ยังไม่มีนิยามที่เป็นสากลแล้วก็ใช้ได้ทุกที่ เหมือนกันหมด แต่จะพิจารณาว่าหมายความรวมถึงกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ และสืบเชื้อสาย สืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวพันกับภูมิภาคหนึ่ง ๆ หรือบางส่วนของภูมิภาคนั้น ๆ และเป็นผู้ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่หรือเคยอาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ ก่อนเป็นอาณานิคม หรือผนวกรวมดินแดน หรืออยู่ร่วมกับกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ เพราะฉะนั้นคำว่า ชนเผ่า พื้นเมือง ไม่ได้หมายความเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกล่าอาณานิคม อันนี้เป็นความหมายที่คับแคบ ในยุคสมัยใหม่ คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ถูกขยายความไปเป็นอย่างอื่น แล้วก็ไม่ได้มีความหมาย ที่จะทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐนะครับ แล้วถามว่าประเทศ ไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองไหม คือผมขอยืนยันว่ามีเยอะนะครับ อย่างเช่น ชาวมอแกน ชาวมานิ ชาวลัวะ ชาวปกาเกอะญอ บางส่วน คนเหล่านี้โดยเฉพาะชาวมอแกนนะครับ เขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ติดแผ่นดินในพื้นที่ ทางภาคใต้เขาอยู่ก่อน แต่ถูกเบียดขับออกไปจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ทุกวันนี้ ชาวมอแกน ชาวมานิ ก็เลยเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดแล้วตรง ๆ ก็คือเป็น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายในการพัฒนาของรัฐ การที่เรายอมรับว่ามีชนเผ่า พื้นเมืองอยู่ในประเทศไทยเรา ไม่ใช่การยอมให้เขามีสิทธิเหนือดินแดนที่เป็นอิสระจากรัฐ แต่เป็นการแสดงความเคารพต่อเขาในฐานะที่เขาเป็นพลเมืองติดแผ่นดินบริเวณนั้น แล้วก็ เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเสมอเท่าเทียมกับเรานะครับ ที่บอกว่าฝ่ายความมั่นคงแสดง ความกังวลต่อร่างของพรรคก้าวไกล เท่าที่ผมติดตามมาผมยังไม่เคยได้ยินว่าฝ่ายความมั่นคง ได้แสดงความกังวลต่อร่างของพรรคก้าวไกล ถ้าหากมีจริงผมยินดีที่จะขอคำแนะนำ แล้วก็ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมในส่วนนี้นะครับ ส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะให้ระมัดระวัง เพื่อนสมาชิกหลายคนได้ใช้คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ คำบางคำอาจจะเป็นคำที่เหยียด หรือเรียก เขาในลักษณะที่ไม่ให้เกียรติ คือผมเข้าใจว่าหลาย ๆ คำที่หลายคนได้พูดไปไม่ได้เจตนาที่จะ รังเกียจ หรือเจตนาที่จะพูดเพื่อที่จะเหยียด แต่พูดไปโดยที่ไม่รู้ความหมาย อันนี้ผมก็อยากจะ ให้ระมัดระวังอย่างเช่น คำว่า แม้ว อย่างนี้เป็นต้นนะครับ สภาชนเผ่าพื้นเมืองที่หลายท่าน กังวลว่าการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะนำไปสู่การสร้างปัญหาเรื่องความมั่นคงอย่างนี้ ผมขอชี้แจงอย่างนี้ครับว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองเป็นเพียงกลไกที่จะตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ในการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่เขาไม่มีโอกาสที่เข้าถึงสิทธิ ให้เขามี โอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิเพียงแค่นี้เอง เขาไม่ได้มีอำนาจที่ล้นฟ้านะครับ แล้วก็ยังเป็นกลไก ที่ถูกตั้งขึ้นมาภายใต้การกำกับของรัฐ ดำเนินกิจการภายใต้กรอบระเบียบกฎหมายไม่ได้ มีอำนาจอิสระเสรีนะครับ อีกอย่างหนึ่งถ้าเราไม่อยากใช้คำว่า สภาชนเผ่าพื้นเมือง เรายัง สามารถจะใช้คำอื่น ๆ แทนได้ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า สภาชาติพันธุ์ สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์ หรืออะไรก็แล้วแต่นะครับ คำนี้ก็ยังเป็นคำที่เราสามารถจะถกเถียงเพื่อที่จะหาคำที่เหมาะสม แล้วก็ตกลงร่วมกันได้นะครับ เนื้อหาของหลาย ๆ เรื่องในฉบับของพรรคก้าวไกลอาจจะยัง ไม่ได้สมบูรณ์นะครับ ยังมีหลายเรื่องที่หลายคนยังกังวลอยู่หลายคนยังมีคำถามอยู่ ผมคิดว่า ยังเป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันต่อไปได้อยู่นะครับ เมื่อเข้าสู่ชั้น กรรมาธิการหลาย ๆ เรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เราสามารถจะสร้างความชัดเจนให้กับมันได้ เพื่อที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้นะครับ แล้วก็สุดท้ายจริง ๆ ก็คือขอขอบคุณทุกท่านที่อภิปราย สนับสนุน แล้วก็เห็นด้วยกับการที่มีกฎหมายในลักษณะนี้ ซึ่งผมเชื่อได้ว่าถ้ากฎหมาย ฉบับนี้ผ่านผลประโยชน์จะตกแก่ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และที่สำคัญที่สุดก็คือสังคมไทย ไม่ว่าจะ เป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม แล้วผมอยากจะเน้นย้ำว่าการที่เรามีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของ กลุ่มชาติพันธุ์แน่นอนว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมโลก อันนี้ผมก็อยากจะย้ำด้วย นะครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นผู้เสนอท่านสุดท้ายนะครับ ท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ขอเชิญครับ
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เชียงราย ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขต ๒ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง ๓ ตำบล พรรคเพื่อไทยค่ะ ในฐานะที่ เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับของพรรค เพื่อไทย ก็จะขออนุญาตกราบขอบพระคุณในทุก ๆ คำชี้แนะ คำแนะนำและความห่วงใยของ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก ๆ ท่าน ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่ากรรมาธิการวิสามัญที่กำลัง จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นตัวกลางในการพูดคุยถกเถียง แล้วก็นำข้อมูลเข้ามา พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉันไม่ต้องรอ การแก้ไขปัญหา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี หรือรอการแก้ไขปัญหาทั้งชีวิต เหมือนที่ผ่าน ๆ มา และวันนี้ดิฉันพรรคเพื่อไทย รวมถึงท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เราก็ขอย้ำและยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับของพรรคเพื่อไทยหรือฉบับอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมกันจะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้มีสิทธิ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และส่งเสริมวิถีชีวิตที่พี่น้องชาติพันธุ์ของดิฉัน ประชาชนคนไทยภูมิใจ ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมคะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ ผู้เสนอก็ได้อภิปรายสรุปครบถ้วนแล้วนะครับ ต่อไปจะเป็นการลงมติครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญสมาชิกใช้สิทธิแสดงตน โปรดเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนครับ สมาชิกทยอยไป รับบัตรยังไม่มีความจำเป็นต้องขานชื่อนะครับ
นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ สุรินทร์ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๒๐๙ แสดงตนค่ะ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๐๔ กรวีร์ สาราคำ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สักครู่ นะครับ ๒๐๙ นะครับ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๔๐๓ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๐๓ ขอโทษครับ ก่อน ๔๐๓ เป็นท่านใด ผมไม่ได้ยิน
นายกรุณพล เทียนสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานครับ ๐๐๖ กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๐๖ ครับ
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๙๓ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๙๓ นะครับ
นางสาวจิราพร สินธุไพร ร้อยเอ็ด ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ จิราพร สินธุไพร ๐๕๕ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๕๕ ครับ
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ เชียงใหม่ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ พุธิตา ชัยอนันต์ ๒๖๕ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๖๕ ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ ครับ
นายศุภโชติ ไชยสัจ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ศุภโชติ ไชยสัจ ๓๗๗ แสดงตนครับ
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ขัตติยา สวัสดิผล ๐๓๔ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๗๗ และ ๐๓๔ นะครับ
นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ กัลยพัชร รจิตโรจน์ ๐๑๕ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๑๕ ครับ ไปรับบัตรนะครับ
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ๓๒๗ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๒๗ ครับ
นายชยพล สท้อนดี กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ชยพล สท้อนดี ๐๗๓ ครับ
นายเกษม อุประ สกลนคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม เกษม อุประ ๓๐ แสดงตนครับ
นายสรวีร์ ศุภปณิตา ปทุมธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สรวีร์ ๔๐๒ พรรคก้าวไกล แสดงตนครับ
นายศาสตรา ศรีปาน สงขลา ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๖๘ ศาสตรา แสดงตนครับ
นางสาววิภาณี ภูคำวงศ์ ขอนแก่น ต้นฉบับ
๓๔๓ แสดงตนค่ะ
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๔๔๐ แสดงตนครับ
นายปรเมษฐ์ จินา สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๐๕ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ไปรับบัตรเถอะครับทุกท่าน
นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๗๙ แสดงตนครับ
นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร ศรีสะเกษ ต้นฉบับ
๑๙๑ นุชนาถ แสดงตนค่ะ
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ๒๑๑ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๑๑ ครับ ยังไม่รีบปิดนะครับ
นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สมุทรสาคร ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๗๐ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๗๐ ครับ
นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ๓๖๑ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๖๑ ครับ
นายประเสริฐ บุญเรือง กาฬสินธุ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๑๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๑๗ ครับ
นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ดิฉัน ๔๓๔ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๓๔ ครับ
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๓๗๑ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๗๑ ครับ
นายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ ปทุมธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๒๑๕ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๑๕ ครับ
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สุโขทัย ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ จักรวาล ๐๔๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๔๖ ครับ ท่านใดแสดงตนแล้วไปบัตรด้วยนะครับ ตอนลงมติจะได้ไม่วุ่นวายนะครับ
พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านวิโรจน์ เปาอินทร์ เจ้าหน้าที่ช่วยดูหมายเลขท่านด้วย พอสมควรแล้วนะครับ
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี อุบลราชธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๐๒๒ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๒๒ ครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผมขอเรียนท่านประธานครับ ผม เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านเกชาครับ
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ผม เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านประธานครับ ผมขอเรียนท่านประธานเกี่ยวกับเรื่องในการลงมติ ร่างพระราชบัญญัติ ๕ ฉบับนี้ เนื่องจากว่า มีหลายฉบับที่หลักการและเนื้อหานี้ไม่คล้ายคลึงกัน ผมขอเสนอให้ลงมติเป็นรายฉบับ ท่านประธานครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ขออนุญาตหารือท่านประธานครับ ตอนนี้มันผ่านขั้นตอน การแสดงตนไปแล้ว กำลังจะเตรียมการลงมติ แต่มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลต้องแสดงตนใหม่ หรืออะไรหรือเปล่าครับ ผมว่าเดินหน้าลงมติตามที่เราได้มีการเตรียมการไว้เลยดีกว่านะครับ ท่านประธาน
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมขอทีละขั้นตอนนะครับ เดี๋ยวผมขอตรวจสอบองค์ประชุมในตอนแรกก่อน แล้วเดี๋ยวจะมา ที่ญัตติของท่านเกชาครับ
นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ขออนุญาตท่านประธาน ๒๓๓ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๓๓ ครับ ผมขอปิดการแสดงตน เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ รอตัวเลขที่กดบัตร แล้วก็ ที่ขานชื่อสักครู่นะครับ เป็น ๓๘๘ บวก ๓๒ ๔๒๐ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เสียงผมแปลก ๆ ไหมครับ ผมมันวิ้ง ๆ กลัวตอนถามจะผิดพลาด เจ้าหน้าที่ช่วยปรับเสียงให้ หน่อยนะครับ เดี๋ยวเรากลับมาที่ญัตติของท่านเกชานะครับ ท่านเกชาเสนอให้มีการลงมติ แยกรายฉบับ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากตอนที่มีการเริ่มต้นประชุมต้น พอตอนเริ่มต้น ประชุมที่ประชุมตกลงกันว่าไม่มีใครเห็นแย้งในการที่จะพิจารณาทั้ง ๕ ฉบับ แล้วลงมติ ในคราวเดียว ทีนี้ท่านเกชา เสนอแบบนี้ มีท่านใดจะคัดค้านไหมครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญครับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ระยอง ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ผม ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้านครับ ก็ขอยืนยันว่า อยากให้มีการประหยัดเวลาของสภาด้วยการลงมติพร้อมกันทั้ง ๕ ร่าง ส่วนเรื่องรายละเอียดจะเป็นอย่างไรที่จะมีความเห็นต่าง ก็ไปว่ากันในชั้นของกรรมาธิการ เพื่อจะได้เดินหน้าวาระของสภาต่อไป ขอยืนยันให้โหวตครั้งเดียวครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ในเมื่อมีความเห็นแตกต่างกันอย่างนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องลงมติครับ ขอตรวจสอบองค์ประชุม ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนเพื่อโหวตในญัตติของท่านเกชาครับ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๔๐๓ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๐๓ ครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๐๔ กรวีร์แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๐๔ ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ ครับ
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน สิทธิพล ๔๑๘ พรรคก้าวไกล แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมว่า หยุดขานชื่อ ไปรับบัตรนะครับ
นางสาวทิสรัตน์ เลาหพล กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๑๕๓ แสดงตนค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ไปรับ บัตรครับ
นายจุติ ไกรฤกษ์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๕๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕๗ เชิญไปรับบัตรครับ
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๓๙๓ ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านครับ ไปรับบัตรเถอะครับเชื่อผม เพราะว่าเดี๋ยวลงมติแล้วมันจะสับสนนะครับ ผมไม่ได้ รีบปิดนะครับ ขอปิดการแสดงตนครับ เจ้าหน้าที่เชิญแสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๔๐๓ เท่าที่ดูบวกอีก ๕ เป็น ๔๐๘ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไป จะเป็นการลงมติครับ ผมขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับญัตติของท่านเกชาในการ ที่จะแยกลงมติรายฉบับ แยกกันทุกฉบับนะครับ เป็น ๕ ฉบับ แยกกันหรือไม่นะครับ ท่านใด ที่เห็นด้วย โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ท่านใดที่ไม่เห็นด้วย โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ท่านใด งดออกเสียงกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญลงคะแนนครับ
นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ขอนแก่น ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๔๐๓ เห็นด้วยค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๐๓ เห็นด้วยครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
สมชาติ ๓๘๗ ครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๐๐๔ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๐๔ เห็นด้วยครับ
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๓๙๓ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๙๓ เห็นด้วยครับ มีท่านใดยังไม่ได้ออกเสียงไหมครับ ถ้าครบแล้วผมขอปิดการลงคะแนน เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๖ เห็นด้วยในการแยกลงมติ ๒๓๗ ไม่เห็นด้วย ๑๕๗ งดออกเสียง ๑ ไม่ลงคะแนนเสียง ๑ ที่ประชุมเห็นชอบกับญัตติของท่านเกชาครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นถามมติในการรับหลักการทีละฉบับนะครับ เริ่มจากฉบับที่ ๑ ผมขอถามมติ จากที่ประชุมว่าจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอหรือไม่ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบ องค์ประชุมครับ ขอเชิญสมาชิกใช้สิทธินะครับ ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิมีไหมครับ
นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
๓๙๓ ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๙๓ ครับ
นายกรวีร์ สาราคำ อุดรธานี ต้นฉบับ
๐๐๔ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๐๐๔ ครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ ครับ
นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ กรุงเทพมหานคร ต้นฉบับ
สุภกร ๔๓๖ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๓๖ นะครับ
นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ นครสวรรค์ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ พีระเดช ๒๖๓ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๒๖๓ ครับ ผมขอปิดการแสดงตนครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๔๑๐ บวก ๕ เป็น ๔๑๕ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผมขอ ถามมติ ผู้ใดเห็นควรรับหลักการควรกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นควรไม่รับหลักการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียงโปรดกดปุ่ม งดออกเสียงครับ สมาชิกท่านใดยังไม่ได้ ออกเสียงไหมครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ ๓๘๗ เห็น ด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มันต้องลงมติเยอะนะครับ ท่านสมชาติไปเอาบัตรนะครับ ลงหลายฉบับเลยครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ พอดีว่าผมลืมบัตรทั้ง ๒ ใบเลยครับ ต้องขอประทานโทษด้วยจริง ๆ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ครบแล้ว เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๕ เห็นด้วย ๔๑๔ บวก ๑ ไม่เห็นด้วย ๐ งดออกเสียง ๐ ไม่ลงคะแนนเสียง ๐ ครับ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการแห่ง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นร่างที่ ๒ ผมขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... นายศักดิ์ดา แสนมี่ กับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๒,๘๘๘ คน เป็นผู้เสนอ หรือไม่ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบ องค์ประชุมครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิแสดงตนไหมครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ไม่มีแล้ว นะครับ ผมขอปิดการแสดงตนครับ ขอเชิญครับ จำนวนผู้เข้าประชุม ๔๐๙ บวก ๑ เป็น ๔๑๐ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไป จะเป็นการลงเสียงคะแนนเสียง อันนี้เป็นร่างที่ ๒ ของภาคประชาชน นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้ใดเห็นควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นไม่ควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญใช้สิทธิลงคะแนนครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ เห็นด้วยครับ ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ครบถ้วนนะครับ ขอปิดการลงมติ ขอเชิญแสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๑ ครับ เห็นด้วย ๓๘๕ บวก ๑ ไม่เห็นด้วย ๒๕ งดออกเสียง ๑ ไม่ลงคะแนนเสียง ๑ เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... นายศักดิ์ดา แสนมี่ กับประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๒,๘๘๘ คน เป็นผู้เสนอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นร่างที่ ๓ ขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๔,๙๕๔ คน เป็นผู้เสนอ หรือไม่ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธาน สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีท่านใดยังไม่แสดงตนไหมครับ ถ้าไม่มีผมขอปิดการแสดงตนครับ เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ องค์ประชุม ๔๐๖ บวก ๑ ครับ ๔๐๗ ครบองค์ประชุม
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนครับ นี่เป็นร่างฉบับที่ ๓ ของภาคประชาชน โดยนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ใดเห็นควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นควรไม่รับหลักการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญลงคะแนนครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธาน สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ เห็นด้วยครับ สมาชิกท่านใดยังไม่ได้ลงคะแนนไหมครับ ถ้าไม่มีผมขอปิดการลงมติ ถ้าไม่มีผมขอปิดการลงมติครับ เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๑ ท่าน บวก ๑ ท่าน เห็นด้วย ๓๘๔ ท่าน บวก ๑ ท่าน ไม่เห็นด้วย ๒๕ ท่าน งดออกเสียง ๑ ท่าน ไม่ลงคะแนนเสียง ๑ ท่าน เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการรับหลักการร่างพระราช บัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ของท่านสุริยันต์ ทองหนูเอียด
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปผมจะถามมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการร่างที่ ๔ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม และคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ หรือไม่ครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ นะครับ ท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ผมขอปิดการแสดงตน เจ้าหน้าที่เชิญ แสดงผลครับ องค์ประชุม ๔๐๕ ท่าน บวก ๑ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปจะเป็นการถามมติครับ ผู้ใดเห็นควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นไม่ควร รับหลักการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าควรงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญใช้สิทธิลงคะแนนครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ เห็นด้วยครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิไหมครับ ถ้าไม่มีแล้ว ผมขอปิดการลงคะแนนครับ เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๖ ท่าน เห็นด้วย ๓๘๘ ท่าน บวก ๑ ท่าน ไม่เห็นด้วย ๒๕ ท่าน งดออกเสียง ๑ ท่าน ไม่ลงคะแนนเสียง ๑ ท่าน เป็นอันว่าที่ประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ของท่านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กับคณะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นร่างสุดท้ายนะครับ ผมขอถามมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการแห่ง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดย ท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช กับคณะ เป็นผู้เสนอ หรือไม่ครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ ประชุมครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ แสดงตนครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิแสดงตนไหมครับ ไม่มีแล้วนะครับ ขอเชิญ เจ้าหน้าที่แสดงผลครับ ขอปิดการแสดงตนครับ ๔๐๖ ท่าน บวก ๑ ท่าน เป็น ๔๐๗ ท่าน ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปเป็นการถามมติครับ ท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงนะครับ ผู้ใดเห็นว่าควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ผู้ใดเห็นว่าไม่ควรรับหลักการ โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ผู้ใดเห็นควร งดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียงครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ เห็นด้วยครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนไหมครับ ถ้าไม่มีขอปิดการลงคะแนน เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๑๓ ท่าน เห็นด้วย ๔๑๑ ท่าน บวก ๑ ท่าน ไม่เห็นด้วย ๐ ท่าน งดออกเสียง ๑ ท่าน ไม่ลงคะแนนเสียง ๐ ท่าน เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติ รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช กับคณะ เป็นผู้เสนอ แสดงความยินดีกับผู้เสนอทุกท่านด้วย นะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องจากที่ประชุมมีมติรับหลักการ จำนวน ๕ ฉบับ ขอเชิญเสนอคณะกรรมาธิการครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอจำนวนกรรมาธิการ ทั้งสิ้น ๔๒ ท่าน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เป็นกรรมาธิการวิสามัญ ๔๒ ท่าน ถูกต้องครับ สัดส่วนรัฐมนตรี ๗ ท่าน สัดส่วนจากผู้แทน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑๔ ท่าน สัดส่วนกรรมาธิการของพรรคการเมือง ๒๑ ท่าน ขอเชิญ คณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อกรรมาธิการครับ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน ๗ ท่าน ดังนี้ ๑. นายโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ๒. นายอภินันท์ ธรรมเสนา ๓. นายกิตติ อินทรกุล ๔. นางสาวอุดมลักษณ์ บุญสว่าง ๕. นายอนันต์ ผลอำนวย ๖. นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ๗. นางสาวมิรันตี บุญแก้ว ขอบคุณค่ะ ขออนุญาตเพิ่มนิดหนึ่งค่ะ ในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขอใช้ร่างของ ครม. เป็นหลักนะคะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นสัดส่วนของผู้แทนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เชิญครับ
นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้นฉบับ
เรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ รายชื่อผู้แทนภาคประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขอเสนอรายชื่อจำนวนทั้งหมด ๑๔ ท่านดังนี้นะครับ ๑. นายศักดิ์ดา แสนมี่ ๒. นายชูพินิจ เกษมณี ๓. นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ๔. นายเกรียงไกร ชีช่วง ๕. นายยงยุทธ สืบทายาท ๖. นางนิตยา เอียการนา ๗. นายสุพจน์ หลี่จา ๘. นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ๙. นายวรวิทย์ นพแก้ว ๑๐. พชร คำชำชาญ ๑๑. นายวิทวัส เทพสง ๑๒. นางสาวอรวรรณ หาญทะเล ๑๓. นายสนิท แซ่ซั่ว ๑๔. นางสาววิมลรัตน์ ธัมมิสโร ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ต่อไปเป็นกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคการเมือง เชิญพรรคก้าวไกลครับ
นายคริษฐ์ ปานเนียม ตาก ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ๖ ท่าน ดังนี้ครับ ๑. นายมานพ คีรีภูวดล ๒. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ๓. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ๔. นางสาวภัสริน รามวงศ์ ๕. นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ๖. นางสุนี ไชยรส ขอบคุณครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ ขอเชิญพรรคเพื่อไทยครับ
นายวัชระพล ขาวขำ อุดรธานี ต้นฉบับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วัชระพล ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ขอเสนอ รายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... จำนวน ๖ ท่าน ดังนี้ครับ ๑. นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ๒. นายนิคม บุญวิเศษ ๓. นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ ๔. ท่านจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ๕. นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ ๖. นายภัทร ภมรมนตรี ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ ขอเชิญพรรคภูมิใจไทย ๓ ท่านครับ
นายซาการียา สะอิ นราธิวาส ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายซาการียา สะอิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคภูมิใจไทย วันนี้ขอเสนอ ชื่อของกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ๓ ท่านครับ ท่านแรก นายอับดุลกูดุส สมูซอ ท่านที่ ๒ นายจาตุรนต์ เอี่ยมโสภา ท่านที่ ๓ นายบำรุง คงสมา ขอผู้รับรองครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ ขอเชิญพรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่านครับ
นายอัคร ทองใจสด เพชรบูรณ์ ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอเสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ในสัดส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน ๒ ท่านครับ ๑. นายจีรเดช ศรีวิราช ๒. นายปกรณ์ จีนาคำ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ๒ ท่านครับ
นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ตรัง ต้นฉบับ
กราบเรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม นายถนอมพงศ์ หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรครวมไทยสร้างชาติ กระผมขอเสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ๒ ท่านครับ ๑. นายฤกษ์อารี นานา ๒.นางสาวชนกนันท์ ศุภศิริ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องนะครับ ต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่านครับ
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง ต้นฉบับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาต เสนอรายชื่อกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือท่านสมบัติ ยะสินธุ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ผู้รับรองถูกต้องครับ ต่อไปพรรคชาติไทยพัฒนา ๑ ท่านครับ
นายเสมอกัน เที่ยงธรรม สุพรรณบุรี ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม เสมอกัน เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี จากพรรคชาติไทยพัฒนา ขอเสนอชื่อ นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ถูกต้องครับ ครบถ้วนแล้วนะครับ ขอเชิญเลขาธิการอ่านรายชื่อกรรมาธิการครับ
นางสาวศุภพรรัตน์ สุขพุ่ม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ แทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... จำนวน ๔๒ ท่าน ๑. นายโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ๒. นายอภินันท์ ธรรมเสนา ๓. นายกิตติ อินทรกุล ๔. นางสาวอุดมลักษณ์ บุญสว่าง ๕. นายอนันต์ ผลอำนวย ๖. นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ๗. นางสาวมิรันตี บุญแก้ว ๘. นายศักดิ์ดา แสนมี่ ๙. นายชูพินิจ เกษมณี ๑๐. นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ๑๑. นายเกรียงไกร ชีช่วง ๑๒. นายยงยุทธ สืบทายาท ๑๓. นางนิตยา เอียการนา ๑๔. นายสุพจน์ หลี่จา ๑๕. นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ๑๖. นายวรวิทย์ นพแก้ว ๑๗. นายพชร คำชำนาญ ๑๘. นายวิทวัส เทพสง ๑๙. นางสาวอรวรรณ หาญทะเล ๒๐. นายสนิท แซ่ซั่ว ๒๑. นางสาววิมลรัตน์ ธัมมิสโร ๒๒. นายมานพ คีรีภูวดล ๒๓. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ๒๔. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ๒๕. นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ๒๖. นางสาวภัสริน รามวงศ์ ๒๗. นางสุนี ไชยรส ๒๘. นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ๒๙. นายนิคม บุญวิเศษ ๓๐. นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ ๓๑. นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ๓๒. นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ ๓๓. นายภัทร ภมรมนตรี ๓๔. นายอับดุลกูดุส สมูซอ ๓๕. นายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ๓๖. นายบำรุง คงสมา ๓๗. นายจีรเดช ศรีวิราช ๓๘. นายปกรณ์ จีนาคำ ๓๙. นางสาวชนกนันท์ ศุภศิริ ๔๐. นายฤกษ์อารี นานา ๔๑. นายสมบัติ ยะสินธุ์ และ ๔๒. นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
รายชื่อทั้งหมดถูกต้องนะครับ ไม่มีเปลี่ยนแปลงนะครับ ขอเชิญที่ประชุมกำหนดระยะเวลา ในการแปรญัตติครับ ที่ประชุมจะมีใครเสนอไหมครับ ระยะเวลาในการแปรญัตติ ทางวิป ช่วยประสานกันด้วยครับ ระยะเวลาในการแปรญัตติครับ
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ เลย ต้นฉบับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ขอเสนอระยะเวลาแปรญัตติ ๑๕ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เวลาแปรญัตติ ๑๕ วันนะครับ เรื่องสุดท้าย กรณีมีการรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ มากกว่า ๑ ฉบับ จะใช้ร่างพระราชบัญญัติฉบับใดเป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่ ๒ เมื่อสักครู่คณะรัฐมนตรีเสนอให้ใช้ของคณะรัฐมนตรีนะครับ มีผู้ใดเห็นด้วยหรือคัดค้านไหม ไม่มีใครคัดค้านนะครับ ที่ประชุมมีมติใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา เป็นอันเสร็จสิ้นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๕ ฉบับ ขอขอบคุณทางพี่น้อง ประชาชนที่เข้ามาร่วมชี้แจงในวันนี้ครับ แสดงความยินดีด้วยนะครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องที่ค้างพิจารณา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๕.๑ ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๙ วันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เพื่อให้ที่ประชุมลงมติครับ จากการประชุม สภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้เห็นชอบให้รวมพิจารณาญัตติทำนองเดียวกันอีก ๑ ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) โดยผู้เสนอได้แถลงเหตุผล สมาชิกได้อภิปราย แสดงความเห็นและผู้เสนอได้ใช้สิทธิในการอภิปรายสรุปแล้วครับ จากนั้นประธาน ในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมเพื่อให้ลงมติในคราวถัดไป เพราะฉะนั้นวันนี้จะไม่มี การอภิปรายแล้ว จะเป็นการลงมติเลยครับ ก่อนลงมติผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีครับ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้นฉบับ
เรียน ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผมในฐานะของ ครม. แล้วก็รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย จะขอร่างทั้ง ๒ ร่างไปพิจารณา ๖๐ วันครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
คณะรัฐมนตรีขอรับร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับไปพิจารณาตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๘ เป็นเวลา ๖๐ วันครับ เชิญท่านณัฐพงษ์ครับ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากข้อบังคับไม่ได้เปิดช่องให้อภิปรายในญัตติดังกล่าวก็อยากจะขอนำเรียน ในที่ประชุมว่าโดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรีจะหยิบไปพิจารณาก่อนครับ อยากจะให้มีการลงมติครับ ขอบคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณครับ มีท่านใดแสดงความคิดเห็นอย่างอื่นไหมครับ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีใช้สิทธิ ในการขอนำร่างพระราชบัญญัติไปพิจารณาและมีสมาชิกเห็นค้านนะครับ เพราะฉะนั้นต้องมี การลงมติครับ ขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนครับ ขอเชิญสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนครับ โปรดเสียบบัตร และกดปุ่มแสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีท่านใด ยังไม่ได้ใช้สิทธิแสดงตนไหมครับ
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๑๖๗ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แสดงตนค่ะ ไม่แน่ใจว่าปุ่มมันเสียหรือเปล่า มันเหมือนค้าง อยู่ค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๑๖๗ นะครับ
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
มีท่านใดยังไม่ได้แสดงตนไหมครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
จะเรียกหาท่านสมชาติอยู่พอดีเลยครับ ๓๘๗ นะครับ ที่ประชุมแสดงตนครบถ้วนแล้ว ขอเชิญเจ้าหน้าที่แสดงผล ปิดการแสดงตนครับ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๔๐๖ บวก ๒ เป็น ๔๐๘ ครบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอถามมติจากที่ประชุมครับ ท่านใดเห็นชอบในการที่คณะรัฐมนตรีจะรับร่างไปพิจารณาก่อน เป็นเวลา ๖๐ วัน โปรดกดปุ่ม เห็นด้วย ท่านใดไม่เห็นชอบให้ ครม. นำร่างไปพิจารณา โปรดกดปุ่ม ไม่เห็นด้วย ท่านใดงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญใช้สิทธิ ลงคะแนนครับ ไม่เห็นด้วย ท่านใดงดออกเสียง โปรดกดปุ่ม งดออกเสียง ขอเชิญใช้สิทธิ ลงคะแนนครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ ไม่เห็นด้วยครับ มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนไหมครับ ถ้าไม่มีแล้ว ผมขอปิด การลงคะแนนครับ เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้ลงมติ ๔๐๗ บวก ๑ เห็นด้วย ๒๕๒ ไม่เห็นด้วย ๑๕๔ บวก ๑ งดออกเสียง ๑ ไม่ลงคะแนนเสียง ๐ ครับ เป็นอันว่าที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีใช้สิทธินำร่างทั้ง ๒ ฉบับ ไปพิจารณาภายในกรอบเวลา ๖๐ วันครับ ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ต่อไปขอเข้าสู่ระเบียบวาระที่ ๗
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
- การเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นกรรมการข้าราชการ รัฐสภา เพื่อตำแหน่งที่ว่างลง ๑ ตำแหน่ง ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ด้วย นางบุษกร อัมพรประภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา หรือ ก.ร. ครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ เป็นผลให้มีตำแหน่งว่างลง ๑ ตำแหน่ง ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการรัฐสภา ปี ๒๕๕๗ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือแจ้งให้มีการ เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน ๑ ชื่อ ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ ต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ เป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) จำนวน ๔ ท่านครับ ท่านที่ ๑ ท่านบุษกร อัมพรประภา ท่านที่ ๒ ท่านพรพิศ เพชรเจริญ ท่านที่ ๓ ท่านจีรพงศ์ วัฒนะรัตน์ และท่านที่ ๔ ท่านสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เนื่องจากประกาศรัฐสภาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ข้อ ๖ กำหนดให้นำข้อบังคับว่าด้วยการเลือกกรรมาธิการสามัญมาใช้บังคับแก่การเลือกตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยอนุโลม ดังนั้นในการเลือกตั้งลงคะแนนเสียงจะนำข้อบังคับ ข้อ ๙๑ วรรคท้ายมาบังคับใช้ คือถ้ามีการเสนอชื่อกรรมการเท่ากับจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้ถือว่าผู้เสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก และถ้ามีการเสนอชื่อมากกว่าจำนวนกรรมการ ทั้งหมดให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับครับ เพราะฉะนั้นเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๔ ท่าน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าตำแหน่งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างลง การออกเสียงจึงต้องใช้วิธีการออกเสียงด้วยการลงคะแนนลับครับ เดี๋ยวเชิญเจ้าหน้าที่เตรียมการสักครู่นะครับ การออกเสียงลงคะแนนลับจะเป็นการออกเสียง โดยใช้บัตรลงคะแนนครับ ผมขอเชิญสมาชิกเป็นกรรมการผู้ตรวจนับคะแนน จำนวน ๖ ท่าน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการหย่อนบัตรลงคะแนนและการตรวจนับคะแนนครับ รายชื่อ กรรมการจากสัดส่วนพรรคการเมืองนะครับ ท่านแรก ท่านศรีโสภา โกฏคำลือ จาก พรรคเพื่อไทย ท่านที่ ๒ ท่านผกามาศ เจริญพันธ์ พรรคภูมิใจไทย ท่านที่ ๓ ท่านอรรถกร ศิริลัทธยากร พรรคพลังประชารัฐ ท่านที่ ๔ ท่านภัณฑิล น่วมเจิม พรรคก้าวไกล ท่านที่ ๕ ท่านร่มธรรม ขำนุรักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ และท่านที่ ๖ ท่านรำพูล ตันติวณิชชานนท์ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขอเชิญกรรมการทั้ง ๖ ท่านประจำที่ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญคุณหมอครับ
นายทศพร เสรีรักษ์ แพร่ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม ทศพรครับ ระหว่างที่รอความเรียบร้อย ผมขออนุญาตเรียนปรึกษาท่านนิดหนึ่งเรื่องระบบเสียง ที่มีปัญหานี่ผมมีอาจารย์มหิดลที่เป็น Sound Engineer อยู่ จะขออนุญาตเชิญเข้ามา เพื่อจะได้ให้ความเห็นให้ความช่วยเหลือได้ ถ้าท่านประธานไม่ขัดข้อง ผมจะเชิญเขามา วันพรุ่งนี้ตอนบ่าย ท่านจะอนุญาตไหมครับ จะได้ให้เขามาระหว่างการประชุมจะได้มาฟัง เสียงในจุดต่าง ๆ ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอบคุณ คุณหมอมากนะครับ ก็ไม่มีอะไรขัดข้องเลยครับ ขอเรียนเชิญครับ
นายทศพร เสรีรักษ์ แพร่ ต้นฉบับ
ขอบพระคุณครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เดี๋ยวให้เจ้าหน้าที่ประสานกับทางคุณหมอด้วยนะครับ ให้ความสะดวกให้อาจารย์เข้ามา ในห้องประชุม เจ้าหน้าที่พร้อมไหมครับ กรรมการ ๖ ท่าน เชิญประจำตำแหน่งเลยนะครับ ถ้าเจ้าหน้าที่พร้อมแล้วส่งสัญญาณให้ผมทราบด้วยนะครับ คณะกรรมการเข้าประจำที่แล้ว ผมขออนุญาตอ่านขั้นตอนการลงมติครับ กรรมการจะทำการตรวจนับซองคะแนนก่อนที่ เจ้าหน้าที่จะแจกให้กับสมาชิกท่านละ ๑ ซองครับ ภายในซองจะมีบัตรลงคะแนนที่มีรายชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิที่สมาชิกได้เสนอชื่อไว้จำนวน ๔ ท่านครับ ในการออกเสียงลงคะแนนนั้น ให้สมาชิกเขียนเครื่องหมายกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมหน้ารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่สมาชิก ประสงค์จะเลือกจำนวนไม่เกิน ๑ ท่านเท่านั้นครับ หากทำเครื่องหมายอื่น หรือทำ เครื่องหมายเกินกว่าที่กำหนดจะถือเป็นบัตรเสียนะครับ กากบาทเท่านั้นและเลือกได้เพียง ๑ รายชื่อนะครับ ทำเกินกว่านี้ทำผิดไปจากนี้เป็นบัตรเสียครับ เมื่อสมาชิกลงคะแนน เสร็จแล้วนะครับ ให้นำบัตรลงคะแนนใส่ซองและนำมาหย่อนในกล่องด้านหน้า พร้อมแจ้ง หมายเลขประจำตัวของสมาชิกให้กรรมการทราบ เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบรายชื่อ ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนครับ แล้วเราจะมีโต๊ะอยู่ ๒ โต๊ะ โต๊ะทางด้านขวามือของท่านคือหมายเลข สมาชิก ๑-๒๕๐ ครับ ให้นำบัตรลงคะแนนมาหย่อนใส่กล่องนะครับ ทางด้านขวามือของท่าน ด้านซ้ายมือของบัลลังก์ครับ ส่วนสมาชิกหมายเลขประจำตัว ๒๕๑-๕๐๐ ให้นำบัตร ลงคะแนนมาหย่อนในกล่องด้านขวามือของบัลลังก์ครับ และถ้ามีสั่งปิดการนับคะแนนแล้ว จะใช้สิทธิลงคะแนนอีกไม่ได้ตามประกาศรัฐสภา ผมขอตรวจสอบองค์ประชุมครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ขอเชิญสมาชิกใช้สิทธิแสดงตนครับ โปรดเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนครับ
ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ ภูเก็ต ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ สมชาติ ๓๘๗ แสดงตนครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๗ แสดงตนครับ ขอเชิญใช้สิทธิแสดงตน เสียบบัตรแสดงตนครับ มีท่านใดยังไม่ได้ ใช้สิทธิไหมครับ ยังรออยู่นะครับ ท่านใดยังไม่ใช้สิทธิเชิญใช้สิทธิได้เลยครับ ครบถ้วนแล้ว ไม่มีแล้วนะครับ ผมขอปิดการแสดงตน เชิญเจ้าหน้าที่แสดงผลครับ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ๓๗๗ บวก ๑ ครบองค์ประชุมครับ ขอเชิญกรรมการทั้ง ๖ ท่าน
นางสาวเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ขออนุญาตแสดงตนค่ะ ๓๘๓ ค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๓๘๓ บันทึกไว้ ผมปิดไปแล้วนะครับ
นางสุภาพร สลับสี ยโสธร ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ขออนุญาตแสดงตน ๔๓๘ ค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
๔๓๘ ครับ
นางสาวกานสินี โอภาสรังสรรค์ สุราษฎร์ธานี ต้นฉบับ
ท่านประธานคะ ๐๑๘ ค่ะ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ไม่เป็นไรครับ ท่านสมาชิกครับครบองค์แล้วนะครับ บันทึกไว้เฉย ๆ นะครับ กรรมการ พร้อมไหมครับ สมาชิกทุกท่านครับขอโปรดนั่งประจำที่นะครับ เจ้าหน้าที่จะนำซอง ลงคะแนนไปมอบให้กับที่นั่งนะครับ ขอเชิญสมาชิกนั่งนะครับ ท่านมานพมีอะไรครับ
นายมานพ คีรีภูวดล แบบบัญชีรายชื่อ ต้นฉบับ
ท่านประธานครับ เรื่องวิธีการ ผมก็ยังไม่เข้าใจ แล้วผมถามเพื่อนสมาชิกหลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ รบกวน ท่านประธานช่วยอธิบายวิธีการอีกรอบหนึ่งครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
อันนี้เป็นการลงคะแนนลับนะครับ เพราะฉะนั้นจะมีการแจกซองลงคะแนนให้กับทุกท่าน ในบัตรลงคะแนนจะมี ๔ หมายเลขพร้อมรายชื่อ ทำเครื่องหมายกากบาทที่หน้ารายชื่อ เท่านั้น และกาได้เพียงแค่ ๑ หมายเลข เกินกว่านี้เป็นบัตรเสียครับ แล้วเมื่อท่านนำซอง มาลงคะแนนจะต้องรายงานเลขประจำตัวของท่านด้วย เพื่อเช็กจำนวนผู้มาใช้สิทธิครับ กรรมการพร้อมนะครับ ขอเชิญเจ้าหน้าที่แจกซองลงคะแนนเลยครับ กรรมการตรวจนับซอง แล้วใช่ไหมครับ
นายสนอง เทพอักษรณรงค์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม สนอง เทพอักษรณรงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขต ๑ ตอนที่ จะออกไปหย่อนบัตรลงคะแนนต้องประกาศรายชื่อสมาชิกตามลำดับที่ไหมครับ หรือว่าใคร กาเสร็จแล้วก็สามารถเดินไปหย่อนได้เลย แล้วแจ้งรายชื่อและแจ้งหมายเลขประจำตัว ที่เจ้าหน้าที่ครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
เป็นการลงคะแนนเสร็จแล้วลงมาได้เลย ไม่จำเป็นต้องขานชื่อครับ แล้วก็มาแจ้งหมายเลข ที่นี่ครับ
นายสนอง เทพอักษรณรงค์ บุรีรัมย์ ต้นฉบับ
ขอบคุณมากครับ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกครับ ผมต้องเชิญสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ก่อนนะครับ เพราะเป็นการลงคะแนนแบบปิดครับ ขอเชิญสื่อมวลชนออกนอกพื้นที่นะครับ ขอเชิญท่านสมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนและนำบัตรลงคะแนนใส่ซอง เพื่อนำมาหย่อนใส่กล่องลงคะแนนบริเวณด้านหน้าครับ จะลงได้ ๒ ข้างนะครับ ด้านซ้ายของบัลลังก์จะเป็นหมายเลข ๑-๒๕๐ นะครับ ด้านขวาจะเป็น ๒๕๑-๕๐๐ ครับ เดี๋ยวขั้นตอนลงคะแนนจะดำเนินต่อไปนะครับ ผมขอไปทำธุระสักครู่เดี๋ยวกลับมา ยังไม่พักการประชุมนะครับ มีท่านใดยังไม่ลงคะแนนไหมครับ ครบหรือยังครับ ไม่มีท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธินะครับ ผมขอปิดการลงคะแนน ขอเข้าสู่กระบวนการนับคะแนน เชิญเจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยครับ ขออนุญาตปิดการลงคะแนนแล้วครับ ขอเชิญกรรมการดำเนินการนับคะแนนครับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ขณะนี้คณะกรรมการนับคะแนน นับคะแนนเกือบหมดสิ้นแล้วนะครับ ขอเชิญสื่อมวลชนเข้ามาสังเกตการณ์ในห้องประชุมได้นะครับ ณ ที่ของสื่อมวลชน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้นฉบับ
ท่านสมาชิกทุก ๆ ท่านครับ บัดนี้การนับคะแนนเลือกผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภา ซึ่งเพิ่งเลือกเสร็จเมื่อสักครู่นี้คะแนนจะเป็นดังต่อไปนี้นะครับ หมายเลข ๑ คุณบุษกร อัมพรประภา ได้ ๓๗ คะแนน หมายเลข หมายเลข ๒ คุณพรพิศ เพชรเจริญ ได้ ๑๖๕ คะแนน หมายเลข ๓ คุณจีรพงศ์ วัฒนะรัตน์ ได้ ๓ คะแนน หมายเลข ๔ คุณสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ได้ ๒๑๒ คะแนน ผู้มาลงคะแนนทั้งหมด ๔๑๗ คะแนน ก็เป็นอันว่าที่ประชุมนี้เลือก คุณสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ได้รับการเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกเป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภา หรือ ก.ร. แล้วผมก็ขอให้เจ้าหน้าที่ได้ทำลายบัตรที่ลงคะแนนวันนี้ทั้งหมดลงไปด้วยนะครับ ตามประกาศรัฐสภาข้อ ๖ ประกอบข้อบังคับ ข้อ ๘๗ วรรคสอง ด้วยนะครับ บัดนี้เราได้ประชุมวันนี้มาพอสมควรแล้ว ผมขออนุญาตปิดประชุมครับ