เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายสนับสนุนญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ El Nino ท่านประธานคะ El Nino ไม่ใช่ศัพท์แปลกใหม่ หรือไกลตัวเราแต่อย่างใด El Nino เคยเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เร่งให้เกิดอากาศ หรือความร้อนสูงสุดของโลกมาแล้วในปี ๒๕๕๙ และประวัติศาสตร์ตรงนั้นกำลังจะย้อนกลับ มาในปี ๒๕๖๖ นี้ เชื่อไหมคะท่านประธาน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือ ๒ เดือน ที่ผ่านมานี้เอง เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ในปีเดียวกันในรอบ ๑๗๔ ปี ขณะที่เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือว่า WMO ประกาศมาตั้งแต่ ๔ เดือนที่แล้วว่าตอนนี้พวกเรากำลังประสบกับ El Nino ที่จะทุบสถิติ อุณหภูมิโลกแซงเมื่อ ๗ ปีที่แล้วก็เป็นไปได้ และแน่นอนค่ะท่านประธาน วิกฤติด้าน สภาพอากาศแปรปรวนย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และวันนี้ ปรากฏการณ์ El Nino ได้แผลงฤทธิ์ชัดเจนแล้วนะคะ ขอ Slide แผ่นที่ ๑ ค่ะ
ในประเทศไทย จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานจะเห็นได้ว่าปริมาณ ฝนตกเฉลี่ยในปี ๒๕๖๖ ต่ำกว่าปริมาณฝนตกเฉลี่ยถึง ๑๘ เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นการเทียบจาก ค่าเฉลี่ยปกติที่ฝนตกในรอบ ๓๐ ปี และล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ที่ผ่านมานี้เอง สำนักงานกรมชลประทานที่ ๘ โดยโครงการชลประทานนครราชสีมาก็เพิ่งรายงานสภาพน้ำ กักเก็บในอ่างเก็บน้ำของนครราชสีมาว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ๔ แห่ง และขนาดกลาง ๒๓ แห่ง มีปริมาณการกักเก็บน้ำปัจจุบันอยู่ที่ ๔๘๘.๓๘ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ๔๐.๑๔ เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นน้ำที่ใช้ได้เพียง ๔๒๕.๙๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกำลัง ของน้ำลดลงเกือบเท่าตัวในปีเดียวกัน ถ้าเราดูปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางในทุกภาคเราจะพบเห็นว่าเรากำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤติในภาพรวม น้ำใช้ทั้งประเทศในปี ๒๕๖๖ ปัจจุบันเรามีน้ำที่ใช้ได้อยู่เพียง ๒๓,๕๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี ๒๕๖๕ ถึง ๕,๑๖๖ ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งผลอย่างรุนแรงแน่นอน ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก แม้เราจะสามารถบริหารจัดการน้ำใช้ในฤดู เพาะปลูกนี้ได้ก็ตาม แต่ถ้าคาดการณ์แบบนี้ในรอบ ๒๐ ปี และในระยะ ๓ ปีข้างหน้าสถานการณ์ภัยแล้งจะเข้า ขั้นวิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ก็คือเกษตรกรค่ะ มีการคาดการณ์ ความเสียหายว่า El Nino ในปี ๒๕๖๖ อาจจะส่งผลเสียหายต่อพืช เกษตรกรที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด อาหารสัตว์ และผลไม้ เช่น ทุเรียน ที่กำลังเป็นสินค้าส่งออก และมีมูลค่าความเสียหายกว่า ๔๘,๐๐๐ ล้านบาท นี่เรายังไม่รวม การขาดแคลนน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรม ถ้าสถานการณ์ El Nino ลากยาวไปจนถึง เดือนมีนาคม ๒๕๖๗
จากดัชนีชี้วัดของ ONI ค่ะท่านประธาน คือค่าชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิน้ำทะเลตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือคาดการณ์วิกฤติ El Nino เราจะเห็น ได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์ El Nino แล้วตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๖ และจะเด่นชัดมากจนถึงเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ หรือมากกว่านั้น อุณหภูมิเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลให้ปริมาณฝนตกต่ำลงและวิกฤติภัยแล้ง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบริหาร จัดการที่เราจะต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราเล็งเห็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความแปรปรวนของโลก ความรุนแรงของน้ำที่แห้ง ทุกวันและรุนแรงมากขึ้น เราจึงมีแผนการบริหารจัดการน้ำภายใต้เป้าหมายก็คือ ลดความรุนแรง น้ำต้องไม่ท่วม น้ำต้องไม่แล้ง และประชาชนต้องมีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดปี โดยเรามีแผนเร่งรัดพื้นที่ชลประทาน ๓๕ ล้านไร่ เป็น ๕๐ ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ในระบบชลประทานภายใน ๔ ปี ตลอดจนการจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบ โดยสร้างทางเชื่อมต่อหรือการระบายน้ำ Floodway สู่ทะเล นี่เป็นภารกิจที่สำคัญที่ทางพรรคเพื่อไทยมองเห็น และในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้ง รัฐบาล รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ในทุกภาคส่วน เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหา ที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ทางรัฐบาลจึงได้ตั้งให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานผลกระทบ ของ El Nino และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์ El Nino แล้ว ซึ่งข้อเสนอตรงนี้ทำขึ้นสอดรับเพื่อให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินในต่างจังหวัด หวังว่าจะออกมาตรการรับมือผลกระทบได้อย่างเร่งด่วนโดย การบูรณาการหลายหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาร่วมช่วยแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องรอ ตั้งงบประมาณของระบบราชการ และที่สำคัญดิฉันเห็นด้วยถ้าสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะมี การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐบาล ถึงเวลาแล้วที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ต้องเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องหาแนวทางแก้ไข เพราะมันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพของพี่น้องประชาชน คุณภาพชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศ และด้วยอำนาจหน้าที่ที่เรามีเราไม่อาจเพิกเฉยต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้ ประเด็นนี้จึงไม่ควรเป็นกระแสรองอีกต่อไป ดิฉันอยากเห็นประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นกระแสหลักในประเทศไทยให้ได้ และอยากเห็นวิสัยทัศน์ที่มองไกลเพื่อให้เราได้อาศัย อยู่ร่วมโลกอย่างยั่งยืน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานทราบไหมคะว่าวันนี้ประเทศไทยเรามีเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย และจิตใจมากถึง ๗ คนต่อวัน ในเหยื่อจำนวนเหล่านี้มีเด็กที่ควรจะได้รับการปกป้อง และคุ้มครองให้ปลอดภัยจากความรุนแรงของพ่อแม่และคนในครอบครัว แต่นั่นไม่ใช่ ประเด็นปัญหาที่ดิฉันอยากจะพูดถึงในวันนี้ วันนี้คือมีผู้หญิงและเด็กจำนวนมากที่ต้องตกเป็น เหยื่อของความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มี ทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด
ใน Slide เป็นการสะท้อน ให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวและออกเป็นกระแสข่าวรายวัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สอดรับกับข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงจากการรายงานของมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาค ทางสังคม ร่วมกับสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์เฉลี่ยมากถึงปีละ ๓๐,๐๐๐ ราย ซึ่งถือเป็นสถิติความรุนแรงของผู้หญิง ที่สูงติด ๑ ใน ๑๐ ของโลก และนี่ไม่ใช่ความน่าภาคภูมิใจแต่อย่างใดนะคะ แต่นี่คือสิ่งที่ สะท้อนให้เห็นถึงระดับของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขค่ะ
จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงทั้ง ๒ ฉบับ ในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ดิฉันจะขอหยิบยกข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลังไป ๖ ปี เราพบว่ามีเด็กและสตรีที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว เฉลี่ยปีละ ๑๗,๔๓๗ คน และข้อมูลเหล่านี้น่าตกใจยิ่งขึ้นเมื่อมันสะท้อนว่าเด็กและเยาวชน ได้รับความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ค่ะ
ประเภทและรูปแบบของความรุนแรง มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้กล่าว ไปแล้วจากข้อมูลที่เรามีก็คือจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งด้านร่างกายมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และอีกรูปแบบหนึ่งคือความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากความรุนแรงทางเพศอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัจจัยที่มากระตุ้น ไม่ว่า จะเป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือเรื่องของสิ่งกระตุ้นได้แก่สุรา ยาเสพติด รวมถึง สภาพแวดล้อมค่ะ แม้วันนี้เราจะมีกฎหมายหรือหน่วยงานมากมายที่คอยช่วยเหลือรับเรื่อง ร้องทุกข์จากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเท่าไรก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่ามีเหยื่ออีกจำนวนมาก ที่ไม่กล้าออกมาพูด หรือยอมรับว่าตนเองเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคน ในครอบครัว หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งดำเนินการ สิ่งที่ดิฉันกังวลใจอยู่ ขณะนี้ก็คือสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นความน่ากลัวของสังคมก็คือภาวะการยอมทนต่อ ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ เพราะว่าปัญหาหลัก ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหา ความรุนแรงจึงไม่สามารถสะท้อนได้แค่ตัวเลขทางสถิติค่ะ เพราะหากเราเพิกเฉยต่อ ความรุนแรงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ อย่างแรกค่ะ การมองความรุนแรงเป็นเรื่องของ การปล่อยผ่านและเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในสังคม เมื่อเรามองว่ามันเป็นเรื่องของการปล่อยผ่าน และสามารถพบเห็นได้ในสังคม เราจะเริ่มมองไม่เห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น และนั่น จึงนำไปสู่การยอมทนต่อความรุนแรง และสุดท้ายค่ะ ถ้าสังคมมองผ่าน เพิกเฉย และยอมรับมันจะกลายเป็นสถานการณ์ที่ยอมรับว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะเป็น สิ่งที่คุ้นชินในสังคมแห่งนี้ค่ะ จากสภาวะความรุนแรงที่ดิฉันอธิบายไปเมื่อ ๔ ขั้นตอน เมื่อสักครู่นี้ มันเกิดจากทัศนคติค่ะ ซึ่งทัศนคติตรงนี้ละค่ะที่เป็นสิ่งที่หน่วยงานควรเร่งปรับ และแก้ไข เพราะสังคมจะมีทัศนคติว่า ๑. ความรุนแรงกระทำได้หากเกิดจากความรัก เด็กดื้อ ก็ต้องทำโทษ ความรุนแรงกระทำได้เพราะเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว การอดทนต่อความรุนแรงสามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องทำให้เสถียรภาพของครอบครัวอยู่ได้ โดยไม่หย่าร้าง ทัศนคติเหล่านี้ละค่ะที่ส่งผลต่อการร้องเรียนและการรับเรื่องร้องเรียนของ หน่วยงานภาครัฐ เป็นเรื่องส่วนตัวเดี๋ยวเขาก็ดีกัน สุดท้ายปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็ถูกละเลยโดยคนใกล้ตัวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ดิฉันจึงอยากเสนอไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ขอเสนอค่ะ อยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่ะ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก ต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคม ปรับเปลี่ยน ทัศนคติที่มีต่อความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะคนในสังคมต้องตระหนักว่าความรุนแรง ในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกัน โดยไม่เพิกเฉย
ประการที่ ๒ ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการแจ้ง เบาะแสที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวค่ะ ผ่านการสร้างแรงจูงใจ หรือมาตรการทางสังคม เช่นการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับคนในชุมชน ที่คอยเป็นหูเป็นตาดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว
ประการที่ ๓ การสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่ง่ายและสนับสนุนจิตใจ ของผู้ถูกกระทำค่ะ วันนี้ค่ะกระบวนการยุติธรรมนี่มักจะทำให้การบอกเล่าเรื่องราวของเหยื่อ ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เหยื่อเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขั้นตอนและวิธีการ เหล่านี้ควรลดลงเพื่อเยียวยาจิตใจของเหยื่อ
สุดท้ายเพื่อให้ความรุนแรงลดน้อยลง การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มทางเลือก ในอาชีพให้แก่ผู้หญิงในกรณีที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ สามารถเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เขาเคารพในศักดิ์ศรีของ ความเป็นมนุษย์ ผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยเสนอไว้
Slide แผ่นสุดท้ายค่ะท่านประธาน ความรุนแรงที่อ้างว่าทำไปเพราะความรัก เพราะรักถึงตี ความรุนแรงที่อ้างว่าเป็นเรื่องในครอบครัวอย่าไปยุ่งเพราะเป็นเรื่องผัวเมีย ความรุนแรงที่เกิดจากการมองข้ามความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ความรุนแรงเหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม ปัจจุบันเราทุกคนตระหนักได้ว่าไม่ว่าการกระทำความรุนแรง จะกระทำไปด้วยเหตุผลอะไร ความรุนแรงก็คือความรุนแรงค่ะท่านประธาน โดยไม่ต้องมี เหตุผลหรือข้ออ้างใด ๆ และพวกเราทุกคนไม่ควรมองข้ามความรุนแรง ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน ดอกเตอร์ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพื่อให้เป็นความรวดเร็วในการอภิปรายพระราชกำหนด ฉบับนี้นะคะ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายขอ Slide แผ่นที่ ๑ เลยค่ะ แผ่นที่ ๒ เลยค่ะ แผ่นที่ ๓ เลยค่ะ
มูลค่าความเสียหาย ที่เกิดขึ้นมีการพูดกันไปแล้วในหลายประเด็น ในภาพรวมค่ะ ปัจจุบันมีมูลค่าความเสียหาย ทั้งสิ้นกว่า ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาเรามีคดีความที่เกี่ยวกับ Call Center และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกือบวันละ ๖๐๐ คดีต่อวัน และมีมูลค่าความเสียหายกว่า ๘๖ ล้านบาทต่อวัน ท่านประธานลองคิดเล่น ๆ นะคะ นั่นหมายความว่าในแต่ละวัน จะมีประชาชนเกือบ ๖๐๐ คนที่ถูกหลอกลวง และมีทรัพย์สินที่ประชาชนหามาได้ อย่างยากลำบากต้องถูกอาชญากรรม Cyber ขโมยออกไป ประชาชนทุกวันนี้จึงต้องอยู่กับความหวาดกลัว พื้นที่ปลอดภัยในชีวิตลดน้อยถอยลง ตั้งแต่ ความปลอดภัยบนท้องถนนที่เราเห็นกันอยู่ ปัญหาการกราดยิงจากยาเสพติด และปัญหา อาชญากรรม Cyber ที่รุกล้ำเข้ามา เปรียบเสมือนปรสิตที่กำลังเข้ามาแฝงอยู่ในสังคมไทย คอยกัดกินและกัดกร่อนดูดกลืนเลือดเนื้อของประชาชนคนไทย ดิฉันเข้าใจและเห็นถึง ความจำเป็นของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีการประกาศใช้ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ แล้วก็ตาม ขอ Slide ประเด็นหลักของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ค่ะ เท่าที่ดิฉันศึกษาประเด็นหลักของ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะมีสาระสำคัญใหญ่ ๆ ๓ เรื่อง
ประเด็นแรก คือการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ DSI และ ปปง. สามารถเข้าถึงข้อมูลทางเทคโนโลยีธุรกรรม บัญชีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อมูลส่วน บุคคลเท่าที่จำเป็น
อันที่ ๒ สาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นการให้อำนาจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจกฎหมายและผู้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม สามารถเปิดเผยแลกเปลี่ยน ข้อมูลระหว่างกันได้ สถาบันการเงินสามารถระงับธุรกรรมทางการเงินได้ทันที ตามกรอบระยะเวลาหากมีเหตุล่อลวงให้มีการเปิดบัญชีม้าเกิดขึ้น
และประเด็นที่ ๓ คือการกำหนดโทษของผู้เปิดบัญชีม้า ผู้เป็นธุระจัดหาบัญชีม้า หรือหมายเลขโทรศัพท์ปลอม โดยมีการกำหนดโทษและโทษปรับ
ใน ๓ ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้อาชญากรรมทางเทคโนโลยี แพร่กระจาย แต่เพราะความล่าช้าของระบบราชการกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นบัญชีม้าหรือไม่ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกว่าจะสิ้นกระบวนการ เงินทองเหล่านั้นก็ถูกยักย้ายถ่ายเท ออกนอกประเทศไปเสียแล้วค่ะ นั่นคือความเสียหายที่เกิดขึ้น จริงอยู่แม้มีการประกาศ พระราชกำหนดฉบับนี้ขึ้นใช้ในวันที่ ๑๗ มีนาคมที่ผ่านมา สถิติการเกิดคดี Online ลดลง และสามารถอายัดบัญชีได้ทันท่วงทีมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้มีประสิทธิภาพ ในระดับหนึ่งค่ะ แต่ดิฉันมีข้อสังเกตอยู่ ๓ ประการ ณ ที่นี้ค่ะ
ประการแรก คือการกำหนดโทษของผู้เปิดบัญชีม้าที่รุนแรง อาจจะไม่ได้ช่วย ให้เกิดการลดอาชญากรรมขึ้นค่ะ เนื่องจากคนที่เปิดบัญชีม้าจะได้รับโทษจำคุกสูงสุด ๓ ปี และปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนใหญ่ผู้เปิดบัญชีม้าจากการบอกเล่าของตัวเหยื่อเอง มักจะเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน และมีความรู้ และมักถูกล่อลวงโดยแก๊งมิจฉาชีพได้ง่าย ทำให้การต่อสู้คดีที่ตนถูกหลอกลวงทำได้ยาก
ข้อสังเกตประการที่ ๒ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีส่วนใหญ่ เป็นขบวนการข้ามชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของแก๊ง Call Center แน่นอนค่ะว่ามันอาจจะอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจ ของพระราชกำหนดฉบับนี้ แต่ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและควรหยิบยกมากล่าวถึง และดิฉันคิดว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ระบุไว้ในพระราชกำหนดฉบับนี้
และประการสุดท้าย พระราชกำหนดฉบับนี้อย่างที่บอกให้อำนาจทั้งตำรวจ DSI และ ปปง. สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีและธุรกรรมของประชาชน รวมถึงข้อมูล การจราจรทางคอมพิวเตอร์ อำนาจดังกล่าวถือเป็นดาบสองคม แม้จะมีการระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นแต่ก็เป็นการยากค่ะ เพราะเราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาล ที่ผ่านมามีความหวาดระแวงกับประชาชน อาจจะใช้ดุลยพินิจและใช้อำนาจที่เกินขอบเขต เพื่อเข้าถึงข้อมูลของประชาชนบางกลุ่มในกรณีการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงิน มันจึงมีเส้นบาง ๆ อยู่ค่ะท่านประธาน ระหว่างความจำเป็นกับดุลยพินิจ และความจำเป็น ที่ถูกกำหนดโดยรัฐอาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิ่งที่ดิฉันกังวลเรื่องนี้ก็เพราะว่า ความสามารถในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่รัฐเข้าถึงยังไม่รัดกุมเพียงพอ ถ้าเรายังจำกันได้ เมื่อปลายปีที่แล้วในเดือนตุลาคมเราพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และนำข้อมูลเหล่านั้นไปขายให้กับแก๊ง Call Center โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง และเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นมีรายได้ต่อวันคือวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท กว่า ๖๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน นี่เป็นตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ของประชาชนและนำเอาข้อมูลส่วนตัวนั้นไปขายค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ ข้อมูล คือน้ำมันดิบแห่งโลกสมัยใหม่ เมื่อรัฐมีอำนาจในการเข้าถึงส่วนบุคคลของประชาชน การใช้การป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่ดิฉันคิดว่าสมควรมีมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแล้วดิฉันก็เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ค่ะ
สุดท้ายค่ะ การถูกหลอกดูดเงินออกจากบัญชีอาจดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ยังมีความน่ากลัวกว่าคือการที่เงินในบัญชีไม่มีให้หลอกค่ะท่านประธาน ดังนั้นรัฐบาลที่ดี จึงมีหน้าที่ทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนเพิ่มมากขึ้นถึงจะถือได้ว่าเป็นรัฐบาล ของประชาชนทุกคน ขอบพระคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหายาเสพติดในช่วง ๒-๓ ปีมีการแพร่ระบาด อย่างรุนแรง เพราะมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการซื้อง่าย ขายคล่อง ราคาถูก และสามารถ ส่งตรงถึงบ้านคุณค่ะ ดังนั้นปัญหายาเสพติดที่เพื่อนสมาชิกหลายคนได้พูดไปมันได้สะท้อน ออกมา ขอ Slide แผ่นแรกค่ะ
สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณการเกิดขึ้นของยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัว เพิ่มสูงขึ้น และมันก็สอดรับกับปริมาณทั้งยาบ้าและยาไอซ์ที่มีสูงจนประเทศไทย ติดอันดับ ๑ ใน ASEAN แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือปัญหาเรื่องของการลักลอบนำเข้ายาเสพติดซึ่งยังคง เป็นปัญหาที่ไม่ใช่เพียงหน่วยงาน ป.ป.ส. เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ และการบูรณาการจากหลายหน่วยงานถึงจะแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนของประเทศไทยได้ จากข้อมูลการรายงานผลของ ป.ป.ส. ในปี ๒๕๖๔ เราพบว่าจำนวนคดียาเสพติดที่เกิดขึ้น ประมาณ ๓๓๗,๑๘๖ คดี มีมูลค่าของการอายัดทรัพย์สินตั้งแต่เกิดขึ้นของ ป.ป.ส. ในการอายัดทรัพย์สินได้อยู่ประมาณ ๗.๓ พันล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับคดีที่มีการดำเนินคดี เราจะพบว่าอัตราส่วนของการอายัดทรัพย์สินนั้นอาจจะน้อยเกินไปกว่าเป้าหมายที่ ป.ป.ส. จัดตั้งค่ะ นอกจากนี้ในรายงานของ ป.ป.ส. ฉบับปี ๒๕๖๔ รายงานผล ดิฉันยังมีข้อสังเกต ที่น่าสนใจก็คือความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เนื่องจากมี การรายงานผลในส่วนที่ ๕ การกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หน้า ๔๗ ดิฉันพบว่า มีการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือประพฤติมิชอบ หรือได้กระทำความผิดทางอาญา โดยได้รับการร้องเรียนว่า เป็นการกระทำความผิดทั้งสิ้น ๑๑ ราย แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบในเอกสารกลับพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินความผิดทางวินัย และไม่มีการชี้แจงในลักษณะของความผิด หรือโทษในทางวินัยที่ได้รับ เราต้องไม่ลืมว่าหน่วยงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานในการสืบสวน ดังนั้นการลงโทษผู้กระทำผิดทั้งทางวินัย ทางอาญาต้องมีความชัดเจน เพื่อให้ ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานที่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชน ประเด็นที่ ๓ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบันเราใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี ๒๕๖๔ ที่ได้มีการประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ผลของการบังคับใช้กฎหมาย ฉบับดังกล่าวอาจมีอุปสรรคอยู่หลายประการที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะปัญหายาเสพติด อย่างที่กล่าวตอนต้นว่า ป.ป.ส. ไม่ใช่หน่วยงานเดียว จำเป็นต้องใช้การบูรณาการ จากหน่วยงานในทุกภาคส่วน และที่สำคัญที่สุดจำเป็นที่ผู้บริหารหรือนายกรัฐมนตรี จะต้องจริงใจติดตามและใส่ใจในปัญหาอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาการดำเนินงานของ ป.ป.ส. ถึงแม้จะมีกฎหมายผ่านมาแล้วปีกว่า แต่เรายังไม่ค่อยเห็นการดำเนินการที่รวดเร็ว เพราะอะไรคะ เพราะมีแต่คำสั่งการ มีแต่ตั้งคณะกรรมการ และมีแต่วาระแห่งชาติ แต่ไม่เคยมีตัวชี้วัดที่เป็นเป้าประสงค์ที่ชัดเจน จากรายงานทั้งหมดดิฉันจึงอยากขอเสนอแนะ เป็นข้อสังเกตให้กับหน่วยงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ๓ ประการดังนี้ค่ะ
ประการแรก อยากให้มีการกำหนดตัวชี้วัดจำนวนทรัพย์สินที่มีการตรวจยึด และอายัดที่ศาลสั่งริบ ควบคู่ไปกับตัวชี้วัดด้านปริมาณยาเสพติด ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะปกติ เวลาที่ตำรวจจับยาเสพติดก็จะเอาของกลางมาแสดงโชว์ แต่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้ในวันนี้ ก็คือจับแล้วในหมู่บ้านนั้น ในสถานีตำรวจแห่งนั้น มีการอายัดทรัพย์สินได้เท่าไร เพราะว่า การอายัดทรัพย์ของผู้ค้าคือต้นตอและเป็นการหยุดชะงัก และทำลายวงจรของยาเสพติดค่ะ
ประการที่ ๒ ดิฉันอยากให้มีการพัฒนาระบบการสร้างแรงจูงใจในการสร้าง ขวัญกำลังใจของประชาชนในการให้เบาะแส ที่ผ่านมาเข้าไปสำรวจดูสายด่วน ป.ป.ส. ๑๓๘๖ มีปริมาณการโทรเข้ามาแจ้งยาเสพติดประมาณ ๑๖,๐๐๐ สาย ตัวเลขกลม ๆ แต่เรามี หมู่บ้านอยู่ ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน ๗๕,๐๐๐ หมู่บ้าน หมายความว่าถ้ายาเสพติดเป็นปัญหา ที่ลงไปในทุกชุมชนอย่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนรับทราบ การรายงานผลเข้ามา ยังมีน้อยอยู่ นั่นคืออะไรคะ ประชาชนไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการแจ้งเบาะแส ดังนั้น จึงอยากให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ โดยการนำเอา Blockchain เข้ามาใช้ เพื่อใช้ในการแจ้งเบาะแสให้กับภาคประชาชน และยังเป็นการคุ้มครองภาคประชาชนให้มี ความปลอดภัยสูงขึ้นด้วยค่ะ
ประการที่ ๓ เป้าหมายในการยึดทรัพย์ยาเสพติดของ ป.ป.ส. ตามประมวล กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ ตั้งเป้าไว้ว่าปี ๒๕๖๖ จะยึดได้ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่เชื่อไหม UN ประเมินว่าทรัพย์สินและมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า ๖๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า ๒ ล้านล้านบาทไทย ดังนั้น เป้าที่ ป.ป.ส. ตั้ง ๔๐,๐๐๐ ล้านบาทอาจเป็นเป้าหมายที่ต่ำกว่าความเป็นจริงในการยึด และอายัดทรัพย์สินของผู้ค้ายาเสพติด สุดท้ายค่ะท่านประธาน ขอ Slide แผ่นสุดท้ายเลยค่ะ ไม่ว่าเราจะมีมาตรการในการแก้ไขยาเสพติดใน ๖ มาตรการที่ครอบคลุมอย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีมาตรการเหล่านี้ แต่เราไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ดี ไม่มีรัฐบาลที่คอยจี้และคอยติดตาม ผลงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและจริงใจ และอย่างเอาเป็นเอาตายค่ะ ต้องพูด อย่างนี้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดให้อนาคตของลูกหลานไทยคงเป็นไปได้ยาก ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันจะขอหารือท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาที่ซ้ำซากที่เป็นต้นตอ ของความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ซึ่งพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รายย่อยวันนี้พบปัญหาเรื่องการนำเข้าหมูเถื่อนค่ะ ขอ Slide แผ่นถัดไปเลยค่ะ
ปัญหาหมูเถื่อน ที่มีการลักลอบนำเข้ากันมาอย่างต่อเนื่อง บางส่วนได้มีการส่งจำหน่ายกันอย่างเกลื่อนตลาด รวมทั้งมีการค้าขายหมูเถื่อนในโลก Online ค่ะ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกออกได้ว่า อันไหนเป็นหมูไทย อันไหนเป็นหมูเถื่อน ท่านประธานทราบไหมคะว่าหมูเถื่อนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเมื่อมาอยู่ในตู้แช่นาน ๆ จะเป็นหมูที่ด้อยคุณภาพค่ะและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ของผู้บริโภคอย่างที่ไม่รู้ตัว จากสถิติการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนในปี ๒๕๖๖ ที่มีการตรวจยึด และอายัดได้มีจำนวนทั้งสิ้น ๔,๔๐๐ กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ กว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ค่ะ ท่านประธานคะสิ่งที่ดิฉันกังวลอยู่ในขณะนี้ก็คือว่าปริมาณหมูเถื่อนที่มีการตรวจพบ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๕ รัฐมีวิธีการดำเนินการจัดการอย่างไรคะ เพื่อให้เกิด ความโปร่งใสและไม่เปิดช่องทางให้มีการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงอยากให้มี การเร่งดำเนินการดังนี้ค่ะ
๑. อยากให้มีการตรวจสอบตู้แช่ทั้งหมดที่มีในท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออื่น ๆ ทั่วประเทศว่ามีตู้แช่หมูเถื่อนที่แอบแฝงหรือเล็ดรอดจากการตรวจ Check ของเจ้าหน้าที่ อยู่หรือไม่
๒. มาตรการในการทำลายฝังกลบหมูเถื่อน ซึ่งเป็นของกลางต้องทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส่และตรวจสอบได้ค่ะ นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และ DSI อื่น ๆ ควรมีการเพิ่มเติมตัวแทนจากผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หรือกระทั่ง ตัวแทนจากภาคประชาชนค่ะ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นประจักษ์พยานในการฝังกลบ หรือทำลายหมูเถื่อนเหล่านี้ เพราะวันนี้เกิดคำถามมากมายว่าหมูเถื่อนเหล่านี้ได้มีการฝังกลบ และทำลายจริงตามปริมาณที่จับกุมหรืออายัดได้หรือไม่ค่ะ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการ อาจทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความวิตกกังวลว่าบริโภคหมูเถื่อนเข้าไปตามร้านชาบู หมูกระทะต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ดังนั้นคำถามวันนี้เจ็บแต่ต้องจบ จึงฝากถึง DSI กรมปศุสัตว์ รวมถึงกรมศุลกากรให้เร่งตรวจสอบและดำเนินการเรื่องปัญหาหมูเถื่อน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษาที่ได้มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึง การศึกษาของเด็กไทยทุกคนค่ะ แต่แน่นอนว่าปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาที่สำคัญ และจำเป็นที่จะต้องใช้สรรพกำลังในหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันแก้ไข ขอ Slide แผ่นถัดไปเลยค่ะ
จากเล่มรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันมีข้อสังเกตที่สำคัญอยู่ ๒ ประการ เด็กยากจนพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนถึงปี ๒๕๖๕ ปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ ๑.๓ ล้านคน ในตัวเลขเด็กยากจนพิเศษเหล่านี้ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยในเอกสารหน้า ๑๙ อยู่ประมาณ ๑,๐๔๔ บาทต่อเดือน ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นรายวันก็คือวันละ ๓๔ บาท
ประการที่ ๒ ขอ Slide แผ่นที่ ๒ ค่ะ ดิฉันเห็นว่าแนวโน้มดัชนีราคาด้านอาหาร และการเดินทางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทุกปี โดยมีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็น ค่าใช้จ่ายที่ครัวเรือนจะต้องแบกรับในด้านต่าง ๆ และมันหมายถึงอาจส่งผลต่อการสนับสนุน ให้เด็กได้มีโอกาสในการศึกษา ล่าสุดเมื่อสักครู่นี้มีเพื่อนสมาชิกได้นำเรียนไปแล้ว สัปดาห์ที่แล้ว มีเด็กยากจนต้องเสียชีวิตและขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะว่าไม่สามารถกู้ยืม กสศ. ได้ ความน่ากลัวของเรื่องนี้มันเกิดจากความจน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือการแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะสภาพเศรษฐกิจนั้นเชื่อมโยงและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน ขอ Slide แผ่นถัดไปค่ะ นี่คือข่าวที่สมาชิกได้ยกตัวอย่างให้เราได้เห็นค่ะ ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอและมีคำถาม ผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดการดำเนินงานของ กสศ. ดังนี้ค่ะ
อย่างแรกอยากให้ กสศ. มีระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนว่าปัจจุบัน มีเพียงพอแล้วหรือยัง ทั้งในเชิงกว้างว่าครอบคลุมทั่วถึงในทุกพื้นที่หรือไม่ และในเชิงลึก คือการเข้าถึงเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่แท้จริงครอบคลุมหรือไม่ มีข้อเสนอแนะกับ กสศ. เหมือนที่เพื่อนสมาชิกท่านที่แล้วได้นำเสนอไป เรามีหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่มีความใกล้ชิด อยู่กับประชาชนและชุมชน เช่น อสม. ดังนั้นหน่วยงานนี้ถ้ามีความเชื่อมโยงร่วมมือกัน อาจจะทำให้เราได้ข้อมูล และเด็กยากจนพิเศษไม่ตกหล่นสามารถได้รับการพึ่งพาจากรัฐได้ค่ะ นอกจากนี้อยากเสนอให้ กสศ. เปิดช่องทางให้มีการส่งข้อมูลของตัวเด็กถึง กสศ. ได้โดยตรง
ข้อเสนอประการที่ ๒ สนับสนุนแนวทางของ กสศ. ในการขยายระดับการช่วยเหลือ หรืออุดหนุนตั้งแต่ระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะจะเท่ากับครอบคลุม มิติในการอุดหนุนทางการศึกษาของเด็กไทย
ข้อเสนอประการที่ ๓ อยากให้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ อย่างกราฟที่แสดงเมื่อสักครู่นี้เรื่องของค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้น การอุดหนุนเงินจึงควรแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจและสภาวะเงินเฟ้อเพื่อให้สอดรับกับ ค่าครองชีพ แต่ขอให้เป็นไปในปีการศึกษาแต่ละปี โดยอาจพึ่งพิงอย่างรวดเร็วจากงบกลาง ของรัฐบาล ถ้าหากสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น การ Fixed Cost เป็นเงินอุดหนุนอย่างชัดเจนนั้น อาจเพิ่มภาระกับรัฐบาลในอนาคต
ข้อสุดท้าย สนับสนุนให้ กสศ. ประกอบการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีออกมาตรการ ในการลดค่าใช้จ่าย Internet เพื่อให้ครัวเรือนที่มีความยากจนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา ได้ง่ายขึ้น
ท่านประธานคะ ดิฉันหวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้กับ เด็กไทยทุกคน ไม่ควรเป็นเหตุผลว่าความยากจนทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้เรียน และประเทศ จะเจริญได้ค่ะ ถ้าเกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอเสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการการป้องกันและควบคุมผลกระทบ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า ในราชอาณาจักร จึงเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกและปรับในอัตราที่สูง แต่กลับพบว่า มีการจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย ผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ ทุกวันนี้เราจึงเห็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่าง แพร่หลาย ทั้งในพื้นที่สาธารณะและในพื้นที่ส่วนบุคคล เนื่องจากสาร Propylene Glycol ทำให้สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติและกลิ่นคล้ายกับเครื่องสำอางค่ะ นั่นจึงทำให้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่นิยมในผู้สูบ และทำให้เกิดข้อถกเถียงกันถึงผลกระทบต่อประเทศในหลาย ประการ ดิฉันจึงขอหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหามาสัก ๔ ประเด็นค่ะ
ประเด็นแรก ก็คือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม อย่างเคร่งครัด
ประเด็นที่ ๒ คือประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษี นำเข้าและภาษีจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้
ประเด็นที่ ๓ เป็นประเด็นปัญหาด้านสังคม บุหรี่ไฟฟ้ามีการจำหน่ายกัน อย่างแพร่หลายในหมู่นิสิต นักศึกษา และเยาวชน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะ อย่างแพร่หลายจำเป็นต้องมีข้อจำกัดหรือไม่
และประเด็นที่ ๔ ปัญหาด้านสุขภาพ รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณการรักษา ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและผู้ใกล้เคียง เนื่องจากการได้รับสารนิโคติน โดยไม่รู้ตัวหรือไม่
กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของแผ่นดินและความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสุขภาพ ในการกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุม ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นดิฉันจึงขอสนับสนุนญัตติด่วน เพื่อให้มีการจัดการประชุม พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการป้องกันและควบคุมผลกระทบ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ ค่ะ และหลังจากนี้ก็จะมีเพื่อนสมาชิกอีกหลายท่าน ลุกขึ้นมาอภิปรายเนื้อหาและรายละเอียดที่จำเป็นให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ในอนาคตรับทราบค่ะ ท่านประธานคะ ทุกวันนี้มีใครไม่เคยพบเห็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมบ้านเราบ้างไหมคะ ทุกวันนี้การนำเข้า การซื้อ การขาย การสูบบุหรี่ไฟฟ้า หมุนเวียนใกล้ชิดอยู่ในชีวิตประจำวัน เราทุกคน ผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กเยาวชนก็เข้าถึงง่าย แถมใช้กันอย่างแพร่หลายและ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาในพื้นที่สาธารณะ ข้อมูลล่าสุดจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำรวจไว้เมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้เองคือเมษายนถึงมิถุนายน ขณะพบว่าภาพรวมของเยาวชนไทย สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๑ ตัวเลขของเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นนี้เกือบ ๑ เปอร์เซ็นต์ จากเดิมร้อยละ ๘.๒๙ เมื่อปี ๒๕๖๔ ในระยะเวลาเพียงแค่ ๒ ปีเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการถูกชักจูงจากคนรอบข้าง การส่งต่อ การเชื้อเชิญเพื่อนเป็นร้อยละ ๙๒.๒ เปอร์เซ็นต์ ที่ทำให้ทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มากขึ้น นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยรายงานปัจจัยของพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเติมไว้ว่าเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเกี่ยวข้อง กับสื่อ และความสามารถในการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในโลก Online ง่ายขึ้นทั้งในด้านช่องทาง ของการซื้อขายและราคา สิ่งเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งเดียวที่ไม่มี การเคลื่อนไหวเลยวันนี้ก็คือกฎหมายในการกำกับดูแลค่ะท่านประธาน เราคงไม่อยากเห็น ยอดของเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ข้อมูลตัวอย่างจากประเทศอังกฤษเราพบว่าที่ประเทศ อังกฤษมีการเพิ่มขึ้นของเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าจาก ๘ เปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น ๒๔ เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาเพียงแค่ ๑ ปี ข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นจากรายงานการสำรวจแนวโน้มการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนจากชุดข้อมูลการสำรวจประเมินผลนโยบายควบคุมยาสูบ ระหว่างประเทศ หรือตัวย่อก็คือ ITC โดยมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา ที่คาดว่า จำนวนเยาวชน อังกฤษที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขนาดนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาล มีท่าทีสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และวันนี้ประเทศไทยเองก็กำลังจะดำเนินรอยตามประเทศ อังกฤษหรือไม่ในอนาคต ต่อจากข้อมูลเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยแล้ว ดิฉันอยากจะ พูดถึงในมิติสุขภาพด้วยค่ะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ หรือว่า ศจย. เปิดเผยว่าอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น มีอัตราการสูบยาสูบมวนลดลงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเริ่มมีการลักลอบ นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในไทยราวปี ๒๕๕๐ ความชันจองกราฟจำนวนคนสูบกลับลดลง สะท้อนว่าบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การลดของอัตราการสูบบุหรี่ชะลอตัวลง การที่บุหรี่ไฟฟ้าที่หลายคนอ้างว่าสูบแล้วจะทำให้เลิกสูบบุหรี่มวนนั้นมันเป็นจริงแค่ไหน จากรายงานของสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์การแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา เคยระบุไว้ว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ กลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน และคนที่เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยวิธีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีลดลง วาทกรรมเรื่องของผู้ใหญ่ จะเลิกสูบบุหรี่หากมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้าง เอาละค่ะบางคนอาจจะบอกว่า เลิกไม่ได้แต่อันตรายน้อยกว่า เพราะว่าในบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะลดความเสี่ยงสารที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นสารเผาไหม้บางตัว เช่น น้ำมันดินหรือ Tar หรือรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่สารประกอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระบบของบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายไม่แพ้กัน คงจะไม่เป็นธรรม หากเราพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพียงแค่มิติสุขภาพและผลกระทบที่มีต่อเด็กและเยาวชน เพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องพิจารณามิติในเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วยค่ะมีการประมาณการว่าหากเรา มีกฎหมายที่ถูกต้อง และเปิดเสรีเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจาก บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณปีละ ๒,๗๖๒ ล้านบาทค่ะ หากทำให้บุหรี่ไฟฟ้า ถูกกฎหมายเราก็ควรเริ่มศึกษาได้แล้ว เพราะมันเป็นช่องทางหนึ่งเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกว่า มันอาจจะก่อให้เกิดช่องทางของการทุจริตคอร์รัปชันและเรียกรับสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ดังที่เคย ปรากฏเป็นข่าวมาแล้วถ้าเราจำกันได้กรณีของนักท่องเที่ยวไต้หวันชาวจีนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ จับกุมและปรับเงิน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของไทยค่ะ และในมุมกลับกัน การทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายภายใต้การควบคุมของรัฐจะสามารถ ลดอันตรายแก่ผู้สูบได้หรือไม่ โดยการออกกฎหมายที่ครอบคลุมและเหมาะสมก็ปล่อยให้ กลายเป็นธุรกิจนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายเหมือนในปัจจุบันค่ะ สุดท้ายแล้วเราควรจะมี กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะหรือไม่ หากเรามองออกไปไกลนอกประเทศเราจะ พบว่ามาตรการในการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความเปลี่ยนแปลง อยู่บ่อยครั้งและแตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจำหน่ายและการกำหนดอายุ ขั้นต่ำ การควบคุมผลิตภัณฑ์ ปริมาณและความเข้มข้นของนิโคติน ความปลอดภัย ความสะอาด และส่วนประกอบของอุปกรณ์ กลิ่นและรส รวมถึงการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย และการให้การสนับสนุนกิจกรรมบรรจุภัณฑ์และคำเตือนด้านสุขภาพ ความปลอดภัยกับเด็ก และการขออนุญาตก่อนจำหน่าย และมาตรการทางภาษี สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องมีการศึกษา เปรียบเทียบกฎหมายให้ควบคุมและครอบคลุมที่สุดเท่าที่ประเทศเราจะทำได้ค่ะ ในฐานะ องค์กรผู้มีอำนาจนิติบัญญัติ ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญเพื่อพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับ บริบทและความเป็นจริงของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตามที่เมื่อวานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การขนส่งทางบก และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ส่งคณะกรรมาธิการการคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการ แต่โดยที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณา ดิฉันจึงขอเสนอระยะเวลาการพิจารณาศึกษาในญัตติดังกล่าวของคณะกรรมาธิการ การคมนาคมจำนวน ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ หลังจากที่ดิฉันได้อ่านรายงานผล การปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปี ๒๕๖๕ ดิฉันมีข้อสังเกตอยู่ หลายประการ ขอ Slide ด้วยค่ะ
ในรายงานผล การปฏิบัติงานฉบับที่ดิฉันถืออยู่นี้ระบุว่า ในปี ๒๕๖๕ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็นอุดหนุนทั่วไปมากถึง ๑,๗๐๗ ล้านบาท และใช้เป็น เงินนอกงบประมาณอีก ๑,๘๑๕ ล้านบาท รวมทั้งสิ้นของงบประมาณที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งได้รับการจัดสรรคือ ๓,๕๒๓ ล้านบาท ทั้งนี้ ได้ระบุในหลายส่วนงานที่กล่าวถึง การใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร แต่สิ่งที่ดิฉัน อยากตั้งข้อสังเกตก็คือหลังจากการดำเนินงาน ๑ ปี จนมีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๖๖ งบประมาณเหล่านี้ถูกใช้ในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ในส่วนที่ ๔ ของรายงานฉบับนี้ ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากค่ะ ในท่อนแรกระบุว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมุ่งมั่นพัฒนา ปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต และเที่ยงธรรม ในเนื้อหาส่วนนี้ยังระบุถึงวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเป็นที่ยอมรับระดับสากลในกระบวนการ การเลือกตั้งอย่างมืออาชีพ ท่านประธานคะ ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาในส่วนนี้ยังระบุอีกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และพัฒนางาน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่องทั้ง ๓ ด้าน
ด้านแรก ในแง่ของการพัฒนาคน ในรายงานระบุว่าต้องเน้นพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ รู้เท่าทันเทคโนโลยี และปฏิบัติงานด้วยความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ส่วนด้าน การพัฒนางาน ก็เน้นเสริมสร้างระบบและการพัฒนากระบวนการอย่างมีมาตรฐาน เน้นการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประสิทธิภาพ รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม นอกจากนี้ ในแง่ของการพัฒนาองค์กรก็เช่นกัน เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่าต้องมีการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ และศรัทธาในการบริหาร การเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม ท่านประธานคะ ตัวอย่างที่ดิฉันยกให้เห็น มันสะท้อนให้เห็นคำสำคัญหลายอย่างที่ระบุไว้ คำว่า สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ซ้ำกันไปมา ประกอบกับคำว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ และศรัทธา ในระบบการบริหาร การเลือกตั้ง แต่ข้อสังเกตที่ดิฉันพบ ด้วยงบประมาณกว่า ๓,๕๒๔ ล้านบาท อันเป็น งบประมาณที่ไม่น้อยเลยที่ต้องสามารถสร้างให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และความเชื่อมั่น ศรัทธาในการเลือกตั้งหากมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมค่ะท่านประธาน แต่หากเราดูรายจ่ายหมายเหตุที่ ๑๙ มีค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ดิฉันสนใจและตั้งข้อสังเกต ก็คือ มีการระบุค่าใช้จ่ายเรื่องการรับรองอาหารว่างและเครื่องดื่มที่มีมูลค่าสูงถึง ๔๔ ล้านบาท ซึ่งการตั้งงบประมาณตรงนี้สูงกว่าปี ๒๕๖๔ กว่า ๓๗ ล้านบาท ซึ่งดิฉันอดตั้งคำถามไม่ได้ค่ะ การเพิ่มขึ้นของงบประมาณส่วนนี้ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพต่อองค์กรอย่างไร จึงอยากเรียน สอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงเหตุผลการเพิ่มขึ้นของงบประมาณส่วนนี้ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งค่ะท่านประธาน คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปฏิเสธรายงานผล การนับคะแนนแบบ Real Time จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลก Online อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น Hashtag กกต. มีไว้ทำไม รวมถึงมีการรณรงค์รายชื่อ ผ่าน Change.org ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า ๑ ล้านคน แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่มีผล ในทางกฎหมาย แต่มันคือภาพสะท้อนของวิกฤติที่ประชาชนเสื่อมความศรัทธา และขาด ความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการการเลือกตั้งหรือไม่ ท่านประธานคะ ดิฉันต้องขอ สารภาพค่ะ ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งที่เกิดกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีแผนจัดทำโปรแกรมการรับสมัคร เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ Online ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีงบประมาณในการจัดสรรราว ๒๐ ล้านบาท แต่ปรากฏว่า งบประมาณตัวนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะว่ามีมูลค่าที่สูงเกินไป และไม่สามารถทำให้เกิด การรายงานอย่าง Real Time ได้ ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าการปรับลดงบประมาณในเรื่อง ของค่ารับรองอาหารว่างและเครื่องดื่ม จะทำให้ระบบการทำงานของ กกต. มีประสิทธิภาพ มากกว่านี้หรือไม่ จากประเด็นนี้ดิฉันคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ กกต. ต้องเตรียมความพร้อม ในอนาคต เพราะเรากำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น และจะมีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในอีก ๔ ปีข้างหน้า ท่านประธานคะ นอกจากการจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่เหมาะสมแล้ว ดิฉันอยากเสนอว่าเราควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาโดยการใช้ เทคโนโลยี Blockchain โดยทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้เสนอว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมา ประยุกต์ใช้กับการเลือกตั้งได้ และยังสามารถลดการโกงการเลือกตั้งได้อีกด้วยค่ะ ท่านประธานคะ นี่คือการยิงปืนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านระบบ Blockchain อยู่แล้ว ดิฉันคิดว่าเราสามารถพัฒนาระบบ Blockchain เพื่อนำมาปรับใช้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ได้ในอนาคต เพราะเราจะมีฐานข้อมูลของประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่า ๕๖ ล้านคน ดิฉันจึงอยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ลองพิจารณา ข้อเสนอแนะของดิฉันดู เพื่อให้การเลือกตั้งในอนาคตสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม พลิกฟื้น ความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ ความศรัทธาของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลับไปอีกครั้ง ให้พวกท่านเป็นความหวังที่พวกเราประชาชนได้ไว้ใจให้ท่านในการบริหารจัดการอำนาจ ของพวกเรา ขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพคะ การฟังคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิก ผู้เสนอญัตติดิฉันเห็นด้วย และพรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการและเป้าหมาย ที่เพื่อนสมาชิกผู้เสนอญัตติกล่าวมา เพราะพรรคเพื่อไทยได้ประกาศต่อพี่น้องประชาชน ทั่วประเทศในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่าเราจะมีการจัดทำประชามติเพื่อทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยรัฐบาลก็ได้บรรจุไว้ในประเด็นซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่จึงถือเป็นฉันทามติร่วมของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นในหลักการ และเป้าหมายที่ว่าจะต้องให้มีการจัดทำประชามติและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ดิฉันและเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทยรวมถึงเพื่อนสมาชิกท่านอื่น ๆ ในสภาแห่งนี้ย่อมเห็นด้วย อย่างเต็มที่และไม่มีข้อโต้แย้งใด ถึงแม้ว่าดิฉันจะเห็นด้วยและสนับสนุนในหลักการ และเป้าหมายที่เพื่อนสมาชิกผู้เสนอได้เสนอญัตตินี้ขึ้นมา แต่ดิฉันก็ไม่สามารถจะเห็นชอบ กับญัตตินี้ได้ เพราะว่ามีรายละเอียดและวิธีการของเพื่อนสมาชิกผู้เสนอญัตติด้วยเหตุผล ๒ ประการดังนี้
ประการแรก ความละเอียดอ่อนในการจัดทำคำถามประชามติ รัฐบาล รับรู้ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นเรื่องยุ่งและยากมากกว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อยู่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาสู่ข้อถกเถียงในทางกฎหมายต่อมาว่าเราจะต้องทำประชามติ กี่รอบกันแน่ ดังนั้นการตั้งคำถามในการจัดทำประชามติจึงเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณา อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน พอดิฉันกลับมาพิจารณาคำถามประชามติที่ผู้เสนอญัตติ เสนอมานั้น คือท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เมื่อพิจารณาคำถามประชามติของผู้เสนอ ดิฉันตั้งข้อสังเกตไว้ ๒ ประเด็น ดังนี้ ๑. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และข้อสังเกตข้อ ๒ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยดิฉันขออนุญาต ขยายความข้อสังเกตทั้ง ๒ ประเด็นดังต่อไปนี้
ข้อสังเกตประเด็นแรก การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ คำว่า ทั้งฉบับ นั้นอาจนำไปสู่ข้อกังวลของหลายภาคส่วนในสังคมที่ตั้งคำถามว่าทั้งฉบับนั้นย่อมหมายถึง การรวมกันแก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ ด้วยหรือไม่ คำถามประชามติที่ผู้เสนอญัตติเสนอมานั้น กลับไปตอกย้ำคำว่าทั้งฉบับ ซึ่งอาจเป็นการรื้อฟื้นข้อกังวลให้กลับมาปะทุขึ้นจนกลายเป็น ความขัดแย้งครั้งใหม่ค่ะ เพราะเรารู้กันอยู่แล้วภายใต้สังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด ละเอียดอ่อนทางอุดมการณ์และความรู้สึก ประกอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญจะต้องอาศัย การยินยอมและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงเสนอแนวทางว่า เราน่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ เพื่อปลดล็อกข้อกังวล ของทุกฝ่าย โดยหวังว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะได้รับการยอมรับมากขึ้น
ข้อสังเกตประเด็นที่ ๒ สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน แน่นอนว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่นี้ต้องมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การระบุว่าต้องมาจาก การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนถือเป็นการตีกรอบที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนเกินเหตุค่ะ เพราะว่าจริงอยู่มีเพื่อนสมาชิกหลายคนเห็นด้วยว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะเรายังถกเถียงและยังตกผลึกกันไม่ชัดเจน สมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนเท่าใด ฝ่ายเสนอก็บอกว่า ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีหลายฝ่ายที่เสนอว่าควรจะมาจาก การเลือกตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มาจากนักวิชาการ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญ อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ จะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกว่าไหม เรายังคุยกันไม่ครบถ้วนและยังไม่มี ความชัดเจน ยังมีข้อถกเถียงกันในรายละเอียดอย่างกว้างขวาง อีกทั้งระบุว่ามาจาก การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนก็เป็นสิ่งที่ตีกรอบอีกเช่นกัน เพราะหลายฝ่ายก็เสนอว่า ควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด แต่ก็มีบางฝ่ายเสนอว่าเราจะเป็น การเลือกตั้งโดยอ้อมเหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญสมัยปี ๒๕๔๐ ได้หรือไม่ ซึ่งรายละเอียด เหล่านี้ต้องมีการตกผลึกให้ชัดเจน แต่สิ่งที่ญัตตินี้เสนอยังไม่ได้เกิดจากการตกผลึกค่ะ ดังนั้นดิฉันคิดว่าการจัดทำคำถามประชามตินั้นละเอียดอ่อน ต้องมีความรอบคอบและรับฟัง จากทุกภาคส่วน รัฐบาลตระหนักดีแล้วรู้ว่าทุกฝ่ายล้วนมีข้อกังวลเป็นของตนเอง นี่จึงเป็น เหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดทำ ประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ขึ้น ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว ออกแบบมาเพื่อเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งตัวแทนจากการเคลื่อนไหว ภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และนักกฎหมาย ตัวแทนจากข้าราชการ ตัวแทน จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีกระบวนการที่ชัดเจนอยู่แล้ว รอบคอบ และเปิดกว้างอย่างเต็มที่ในการพิจารณาคำถามประชามติ และดิฉันคิดว่าไม่มี ความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเสนอญัตติคำถามประชามติขึ้นมาเองโดยเอกเทศ ไม่มีการเปิด รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และไม่มีการพูดคุยเพื่อตกผลึกของคำถามที่ชัดเจน ซึ่งดิฉัน มองว่าจะเป็นการสร้างความซ้ำซ้อนในกระบวนการจัดทำคำถามประชามติ และทำให้ ประชาชนสับสนในกระบวนการจัดทำคำถามประชามติ อีกทั้งรัฐบาลก็มีคณะกรรมการ พิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้วซึ่งเป็นกลไกที่เปิดเผยและเปิดกว้าง และเปิดรับฟังทุกความคิดเห็น มีกรอบระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งจะจัดให้มีการทำประชามติภายในไตรมาสแรก ของปี ๒๕๖๗ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอญัตตินี้อย่างที่ทำอยู่ค่ะ
สรุปง่าย ๆ จากความกังวลทั้ง ๒ ประการที่ดิฉันไม่อาจสนับสนุนญัตตินี้ ท่านประธานที่เคารพคะ จากข้อกังวลทั้ง ๒ ประการที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วนั้นทำให้ดิฉัน ไม่อาจสนับสนุนญัตตินี้ได้ แต่จงอย่าเข้าใจผิดว่าดิฉันไม่สนับสนุนการทำประชามติ และคิดว่า ดิฉันไม่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่าเข้าใจผิดว่าดิฉันไม่สนับสนุนการให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางกลับกันดิฉันอยากให้เพื่อนสมาชิก พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยในหลักการและเป้าหมาย แต่รูปแบบและวิธีการในการนำเสนอญัตติ ครั้งนี้ต่างหากขณะที่มีปัญหาค่ะ ถ้าเราอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงควรรับฟัง ความคิดเห็นของทุกฝ่าย และเปิดกว้างผ่านช่องทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะขออภิปรายในวาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำประปาทั้งระบบ ท่านประธานคะ ตามที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวไว้ว่าการบริหารจัดการน้ำ มีเรื่องที่สำคัญอยู่ด้วยกัน ๔ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือภาคการเกษตร ส่วนที่ ๒ คือภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่ ๓ คือการรักษาระบบนิเวศ และส่วนสุดท้ายที่มักมองข้ามก็คือน้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภค หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบควบคุม และดูแลรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมถึงมีอำนาจในการออกระเบียบและข้อบังคับ ท้องถิ่น แต่กรณีน้ำประปาถือเป็นปัญหาเร่งด่วนพื้นฐานที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ควรเร่งผลักดันและแก้ไข เพราะว่ามันเป็นอำนาจหน้าที่ที่จะต้องจัดหาให้มีน้ำสะอาด ให้กับชุมชนอย่างพอเพียงและมีมาตรฐาน ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากกองน้ำประปาเทศบาลนครพิษณุโลก
ดิฉันต้องการอภิปราย ในญัตตินี้เพื่อแสดงให้เห็นภาพต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าน้ำประปาที่ชาวพิษณุโลกใช้ บ้านเกิดที่ดิฉันเกิดและเติบโตนั้นมีปัญหาอย่างไร นี่คือสภาพน้ำประปาที่เกิดขึ้นในเขต เทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนของผู้อยู่อาศัยกว่า ๓๓,๒๔๕ ครัวเรือน ปัจจุบันนี้ท่อน้ำประปาที่ใช้กันอยู่ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกมีอายุเก่าแก่เกือบ ๘๗ ปี และเป็นระบบน้ำประปาที่มีการบริหารจัดการมานานเกือบ ๗๐ ปี ปัญหาน้ำประปา ในจังหวัดพิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลก จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้ง ๆ ที่ พิษณุโลกแม้อาจไม่ใช่เมืองหลักด้านการท่องเที่ยว แต่เราเป็นเมืองรองที่เป็นยุทธศาสตร์ ที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลกเป็นเมืองแห่งการบริการ มีศูนย์ราชการระดับภาค ตั้งอยู่มากมาย มีสถานพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ และมีโรงพยาบาลเอกชนถึง ๕ แห่ง รวมถึงมีสถานศึกษา มหาวิทยาลัยหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงแรมอีก ๑๑๔ แห่ง แหล่งน้ำ ที่เราใช้ก็คือจากแม่น้ำน่าน ทำให้ปัญหาน้ำประปาในจังหวัดไม่ใช่การขาดแคลนน้ำ แต่เป็น ปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการน้ำให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะปัญหาน้ำขุ่นแดงและน้ำในช่วง ฤดูฝน และปัญหาน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีปริมาณการรั่วไหล ท่อแตกที่เกิดจาก แรงดันน้ำ ทำให้สูญเสียน้ำปริมาณกว่าร้อยละ ๕๐ มีมูลค่าความเสียหายกว่าปีละ ๒๐ ล้านบาท ทำไมปัญหาเหล่านี้ถึงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเทศบาลมีอำนาจหน้าที่เพียงการบริหารจัดการ และการจัดเก็บจากการประปาเพียงแค่ ๔.๕๐ บาท จึงขาดแคลนงบประมาณในการนำมา จัดสรรเพื่อวางระบบน้ำประปาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพได้ค่ะ ท่านประธานคะ น้ำประปาเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการรองรับให้เมืองเติบโตค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในมิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านอุตสาหกรรม มิติด้านเกษตร และการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราไม่สามารถทำให้เมืองเจริญเติบโตในมิติใด ๆ ได้เลย ถ้าน้ำประปา อันเป็นปัจจัยพื้นฐานยังไม่สามารถได้รับการแก้ไข ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงอยากจะประมวล วิธีการแก้ไขที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้ ดังนี้
อย่างแรก อยากให้รัฐบาลพิจารณาอุดหนุนให้เงินกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจัดสรรในเรื่องของการสร้างระบบน้ำประปา ทั้งสถานที่ผลิต โรงผลิต รวมถึงถังพักน้ำ และระบบเส้นท่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างที่ ๒ อาจให้มีการโอนย้ายให้การประปาส่วนภูมิภาคเข้ามาบริหาร ในการจัดเก็บ และสร้างระบบน้ำประปาใหม่ของเทศบาลนครพิษณุโลก แต่ปัญหาที่อาจจะ เกิดขึ้นตามมาก็คือภาระของค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น อาจจำเป็นต้องมีการทำประชาคม เพื่อสำรวจความต้องการว่าประชาชนอยากได้น้ำประปาจากภูมิภาคหรือไม่
อย่างที่ ๓ อันนี้เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ คือการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารได้ด้วยตนเองโดยการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินออกมาบริหารจัดการระบบน้ำประปา ที่มีประสิทธิภาพด้วยการวางระบบท่อใหม่ทั้งระบบ แต่ต้องขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย สิ่งเหล่านี้เป็นแนวเสนอที่ดิฉันอยากนำเสนอต่อที่ประชุมแห่งนี้ ต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สุดท้ายแล้ว ดิฉันอยากให้นำเสียงของพี่น้องคนพิษณุโลกเรียนถึงท่านประธาน ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการในการแก้ไขตามดำริของนายกรัฐมนตรี เพื่อนำน้ำอุปโภคบริโภคกลับมาให้มีความใสสะอาด คนเราขาดอาหารได้ ๓๐ วัน ๖๐ วัน แต่ถ้าเจอน้ำขุ่น ๆ น้ำไม่ไหลแค่วันเดียวใจจะขาดแล้ว ดังนั้นทุกนาทีที่ท่านจะดำเนินการ ต่อจากนี้จะมีคุณค่าต่อน้ำประปาของพี่น้อง และเป็นความคาดหวังที่คนไทยทุกคนมีต่อ รัฐบาลชุดนี้ ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นคำถามในการตั้งกระทู้สดในวันนี้ ดิฉันต้องขอชื่นชม รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชน และได้ดำเนินการแก้ไข และประกาศจนเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขหนี้นอกระบบ แต่การขับเคลื่อนปัญหาเรื่องนี้ อย่างจริงจัง ดิฉันอยากจะนำเรียนให้ท่านประธานทราบถึงข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ ทราบที่มาที่ไปของปัญหาว่าทำไมดิฉันถึงตั้งกระทู้ถามสดในวันนี้ จริงอยู่ว่าปัญหาหนี้สินเป็น ปัญหาเรื้อรังที่มีมาอย่างยาวนานและเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก เคยได้ยินคำกล่าว ใช่ไหมคะ ถ้าเรามีหนี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะฝัน ดังนั้นปัญหาหนี้สินจึงเป็นปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้น ของปัญหาอื่นที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้มีอิทธิพลในสังคมไทย หรือนำไปสู่ ปัญหาการก่ออาชญากรรม ในการติดตามทวงถามหนี้ที่เราปรากฏเห็นตามข่าวอยู่ทุกวัน รวมกระทั่งถึงปัญหายาเสพติด หลายคนค้าขายยาเพื่อมาจ่ายหนี้ และปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ก็คือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข อย่างจริงจัง ท่านประธานคะ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา พวกเราทราบดีแล้วว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ว่ามันส่งผลกระทบต่อ พี่น้องประชาชนอย่างไร โดยเริ่มเปิดช่องทางให้ประชาชนที่ประสบปัญหาเข้ามาลงทะเบียน แจ้งหนี้ได้ ๕ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าน Website ผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม ๑๕๖๗ ที่ว่าการอำเภอ รวมถึงสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครทุกแห่ง
จากสถิติจะเห็นได้ว่า หลังจากเปิดการลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ ๑ จนถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม มีผู้มาลงทะเบียน สูงสุดถึง ๘๘,๙๕๔ ราย โดยเป็นการลงทะเบียนออนไลน์กว่า ๘๐,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้ ลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ๘,๕๐๐ คน มีเจ้าหนี้มาลงทะเบียนด้วยถึง ๘๕,๙๔๗ ราย รวมมูลค่าหนี้ ณ ปัจจุบันคือ ๔,๘๐๐ ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ค่ะท่านประธาน รายละเอียดสัดส่วนของลูกหนี้ สถิติการลงทะเบียนของหนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ ๑-๑๒ ธันวาคม เราจะเห็นได้ว่า ๕ จังหวัดแรก ผู้มาลงทะเบียน ๕,๗๐๐ คน ในกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าหนี้อยู่ ๔,๕๐๐ คน จังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้มาลงทะเบียน ๓,๗๐๐ คน เป็นเจ้าหนี้อยู่ ๒,๘๐๐ คน จังหวัดสงขลามาลงทะเบียน ๓,๕๐๐ คน เป็นเจ้าหนี้อยู่ ๒,๔๐๐ คน จังหวัดนครราชสีมา ๓,๕๐๐ คน เป็นเจ้าหนี้อยู่ ๒,๐๐๐ คน และจังหวัดขอนแก่น มาลงทะเบียน ๒,๒๐๐ คน เป็นเจ้าหนี้ ๑,๖๐๐ คน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอะไรคะ ท่านประธาน ดิฉันอยากจะขอตั้งคำถามแบบนี้ค่ะ ทำไมตัวเลขจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมสัดส่วน ของผู้มาลงทะเบียนเจ้าหนี้กับลูกหนี้ถึงมีจำนวนเจ้าหนี้มากกว่าลูกหนี้ มันสะท้อนว่าอะไรคะ มันสะท้อนว่าลูกหนี้ ๑ คน มีเจ้าหนี้มากกว่า ๑ ราย ใช่หรือไม่ ดังนั้นสิ่งนี้คือคำถาม
อันที่ ๒ ทำไมตัวเลขของมูลค่าหนี้ ณ ปัจจุบันคือมีอยู่ประมาณ ๔,๙๐๐ ล้านบาท แต่รัฐบาลได้ประเมินว่าหนี้นอกระบบจะมีมูลค่ากว่า ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเท่ากับมูลค่า ของหนี้ ณ วันนี้ยังไม่สอดรับกับการประเมิน ทำให้ดิฉันตั้งข้อสังเกตและตั้งสมมุติฐาน หลายประการดังนี้ ๑. อย่างแรกเจ้าหนี้เป็นผู้มีอิทธิพลใช่หรือไม่ ๒. ผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าหนี้ เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยใช่หรือไม่ และ ๓. เพราะเป็นแบบนี้ใช่หรือไม่ จึงทำให้ลูกหนี้ ไม่กล้าที่จะออกมาแสดงตน นี่คือข้อสมมุติฐานของดิฉัน จากการตั้งข้อสมมุติฐานเหล่านี้ เราปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าระบบหนี้นอกระบบเกี่ยวพันกับปัญหาของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ข้าราชการที่เข้าไปพัวพันกับผลประโยชน์จากปัญหานี้ สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำ คือการตรวจสอบติดตามเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง สิ่งนี้คือปัญหาใหญ่นะคะท่านประธาน ถ้าลูกหนี้ ๑ คน มีเจ้าหนี้มากกว่า ๑ ราย เจ้าหนี้ ๑ คน และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การกระทำโดยการกู้ยืม แบบธรรมดา แต่เป็นกระบวนการค่ะ ดิฉันจะขออธิบายให้ท่านประธานเห็นภาพสั้น ๆ อย่างนี้ค่ะ ว่ากระบวนการของการเกิดหนี้นอกระบบและทำให้เจ้าหนี้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต ของลูกหนี้ก็คือ เมื่อมีการกู้หนี้จากเจ้าหนี้ ๑ ราย ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ก็จะเกิด เจ้าหนี้รายใหม่ที่มายื่นข้อเสนอให้มีการเข้าไปกู้หนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้รายแรก กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นจากเจ้าหนี้รายใหญ่ ดังนั้นวัฏจักรเหล่านี้มันไม่ใช่ความโหดร้าย แค่อัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่ความโหดร้ายแค่การติดตามทวงถามหนี้ แต่มันคือกระบวนการ จัดการให้เกิดการปล่อยกู้หนี้อย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปจัดการ
ท่านประธานคะ ปัญหาหนี้นอกระบบแม้วันนี้รัฐบาลจะพยายามที่จะแก้ไข แต่มันจะถูกตัดวงจรไปไม่ได้เลย ถ้าหนี้ในระบบไม่ถูกแก้ไขไปด้วย หลายคนเลือกที่จะ กู้หนี้นอกระบบ เพราะหนี้ในระบบแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นหนี้ในระบบตอนนี้รัฐบาลประเมิน ว่ามีสูงถึง ๑๖ ล้านล้านบาท หากตามดูตัวเลขการจัดกลุ่มลูกหนี้ที่รัฐบาลแบ่งมา ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ค่ะ เพราะค่อนข้างที่จะมีความชัดเจนและดูควบคุมและช่วยเหลือ สภาวะหนี้ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ มีภาระหนี้เกินศักยภาพ และกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน และกลุ่มลูกหนี้เสียที่คงค้างกับสถาบันการเงิน ซึ่งกระบวนการและวิธีการช่วยเหลือปัญหา หนี้ในระบบของรัฐบาลดูมีเป้าหมายที่ชัดเจนค่ะ ดิฉันหวังว่าเป้าหมายที่วางไว้จะเป็นไปตามที่ รัฐบาลคาดหวัง ทั้งนี้เพราะปัญหาเหล่านี้มันพัวพันกันไปหมดค่ะ ถ้าหนี้ในระบบกู้ไม่ได้ ก็นำไปสู่หนี้นอกระบบ ท่านประธานคะ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเลขที่ดิฉันสะท้อนนำไปสู่ คำถามที่ดิฉันอยากจะถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อจะตอบคำถาม ถึงความชัดเจนสำหรับพี่น้องประชาชน ดังนี้
คำถามแรก ก็คือเราจะแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ไม่กล้ามาลงทะเบียน เพราะกลัว อิทธิพลของเจ้าหนี้ได้อย่างไรคะ ปัจจุบันแม้จะเปิดรับลงทะเบียนที่อำเภอ แต่กระบวนการ ไม่ได้หยุดลงค่ะ เจ้าหนี้ยังคงส่งคนไปตามหนี้ ไปเก็บดอกเบี้ยกับประชาชน ดังที่เพื่อนสมาชิก ของดิฉันจากจังหวัดอุตรดิตถ์ได้นำเรียนในที่ประชุมสภาแห่งนี้ไปเมื่อตอนหารือในช่วงเช้าค่ะ ดังนั้นรัฐบาลจะมีหลักประกันอะไร ในความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้เป็นผู้กู้หนี้นอกระบบ
คำถามข้อ ๒ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องมีความพร้อมใจกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ดิฉันขอถามว่ารัฐบาลมีมาตรการและแรงจูงใจอย่างไร ให้เจ้าหนี้ และลูกหนี้ร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ด้วยกัน
ปัญหาสุดท้าย ปัญหาไม่ว่าจะเป็นทั้งนอกและในระบบเริ่มต้นจากปัญหา เศรษฐกิจและปากท้อง ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ถ้ามีกินค่ะ คำถามของดิฉันก็คือนอกจาก แนวทางแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบแล้ว รัฐบาลมีมาตรการทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ที่จะช่วยตัดวงจรของการเป็นหนี้ให้กับประชาชน
ท้ายที่สุดค่ะท่านประธาน วันนี้พ่อค้า แม่ค้าร้านตลาดฝากดิฉันมาเป็น กระบอกเสียงค่ะ ฝากขอบคุณรัฐบาลที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง แล้วหวังว่ารัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนดีขึ้น เพื่อคืนเกียรติ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง คืนความฝันให้ประชาชนคนไทยทุกคน ขอบคุณค่ะท่านประธาน
ใช่ค่ะท่านประธาน
ใช่ค่ะ
ท่านประธานคะ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ หมายเลข ๓๑๓ แสดงตนค่ะ
ท่านประธานคะ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ หมายเลข ๓๑๓ รับหลักการค่ะ
ท่านประธานคะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ หมายเลข ๓๑๓ รับหลักการค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ขอสนับสนุนญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตามที่เพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ต่อท่านประธานไว้ นั่นก็เพราะว่าเราเห็นว่าสถานการณ์ในทางการเมืองของบ้านเมืองเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากมีการรัฐประหารครั้งล่าสุดนั้นมีการดำเนินคดีทางการเมือง สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดสถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานยอดตั้งแต่ เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ คือสิ้นปีที่ผ่านมานี้เอง มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์การชุมนุม และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย ๑,๙๓๘ คน ในจำนวน ๑,๒๖๔ คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี จำนวน ๒๘๖ ราย และจากจำนวนคดี ๑,๒๖๔ คดีดังกล่าว มีจำนวน ๔๖๙ คดีที่ดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ท่าน ประธานทราบไหมว่ามีอีกกว่า ๗๙๕ คดีที่ยังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ความขัดแย้ง ทางการเมืองไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นเพียงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังฝังรากมาตั้งแต่สมัยที่มี การชุมนุมหลากสีเสื้อ ด้วยความเชื่อและอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกฝ่ายมีแง่มุมและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายที่อยากเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้น กว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช. หรือว่ากลุ่มคน เสื้อแดง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง คณะกรรมการ ประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หรือ กปปส. จนถึงบรรดาขบวนการนักศึกษาและ ประชาชนฝ่ายต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ขั้วต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นโจทย์ ใหญ่ในทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลในปัจจุบัน ดิฉันขอหยิบยก การศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายนิรโทษกรรมของไทยระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๔ จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ตีพิมพ์ในวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ มาให้ เห็นภาพว่าการนิรโทษกรรมมันไม่ได้จำกัดเพียงแค่ประเภทเดียว แต่ในรอบ ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่าน มานี้เราแบ่งการนิรโทษกรรมออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ
ประเภทแรก ได้แก่ การยกเว้นความผิดให้แก่ผู้ยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งถือ เป็นปฏิบัติหลังการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จค่ะ
ประเภทที่ ๒ เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดด้านความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจรัฐ อาศัยการใช้หลักกรุณาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ
และประเภทที่ ๓ การนิรโทษกรรมยกเว้นความผิดให้แก่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนึ่ง การนิรโทษกรรม หรือ Amnesty มีรากศัพท์คือการลืม การลืมซึ่งเป็นแก่นแท้ของกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ตราขึ้นภายหลังการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มีผลย้อนหลังไปให้ช่วงกระทำความผิด เป็นการพ้นผิดเสมือนไม่ได้กระทำผิดมาก่อน หรือเราจะเรียกว่าการลืมหรือในเชิงกฎหมาย ก็ว่าได้ เพื่อไม่ให้บุคคลที่ทำการเคลื่อนไหวหรือมีความเชื่อทางการเมืองของตนเองต้องติดพัน แล้วก็พัวพันกับคดี ทำให้สังคมก้าวข้ามความขัดแย้งนำไปสู่ความสมานฉันท์ แต่ท่านประธาน ทราบไหมคะ ในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาและในช่วงแห่งการรัฐประหารที่มีการรัฐประหาร ติดต่อกันถึง ๒ ครั้ง ข้อมูลที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือคดีทางการเมืองเกิดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในการแสดงออกในปัจจุบัน แม้กระทั่งคดีในอดีตที่ติดพันมา ดังนั้นประเด็นการนิรโทษกรรม จึงไม่เคยเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีความพยายามยื่นกฎหมายในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ไม่ต่ำกว่า ๑๔ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากภาคประชาชน กลุ่มการเมือง หรือแม้อำนาจทางการทหาร แต่กลับไม่มีร่างใดประสบความสำเร็จเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็น แล้วว่ากฎหมายนิรโทษกรรม ณ ปัจจุบันเป็นเรื่องยาก แต่มี ๒ ร่างที่ผ่านได้ ก็คือร่างของ คณะรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ และปี ๒๕๕๗ ที่นิรโทษกรรมตนเองสำเร็จได้ การนิรโทษกรรม ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่มันเป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งในทางการเมืองไทย ที่ฝังรากลึกมานานนับทศวรรษ และนี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะได้เรียนรู้และจดจำ ก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน ไปสู่ความปรองดองภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งก็สอดรับกับ นโยบายของนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ ว่า การนิรโทษกรรม การปรองดองระหว่างประชาชนทั้งประเทศ ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดนี้ และจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปข้างหน้า ได้อย่างปลอดภัยและมีเสถียรภาพ ท่านประธานคะเราทุกคนในที่นี้เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เราตระหนักในหน้าที่ เราจะพบว่าแต่ละพรรคการเมือง แต่ละกลุ่มการเมืองก็มีข้อเสนอการตรานิรโทษกรรม ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในแง่ของช่วงเวลาจะนิรโทษกรรมให้กับการกระทำในช่วงเวลา ใดบ้าง การชุมนุมครั้งไหนอย่างไร หรือแม้แต่ในแง่บุคคลและประเภทคดี สิ่งเหล่านี้ยัง ไม่ได้รับการตกผลึกเลยค่ะ ทั้งนี้เป็นสาระสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทย นำโดยรองชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ประกาศจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมประเด็นเหล่านี้คือทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา ร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุดจึงเป็นทางออกค่ะ ดังนั้นดิฉันต้องการเน้น ย้ำเจตนารมณ์ของ สส. พรรคเพื่อไทย ต้องการให้มีการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างกฎหมายให้เป็นไปเพื่อการจัดการปัญหาในทาง การเมืองแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่เพื่อบัญญัติกฎหมายแบบทั่ว ๆ ไป และที่สำคัญไม่ใช่เพื่อ ปลุกเร้าความเห็นต่างและก่อชนวนความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเป็นพื้นฐาน ที่ดิฉันต้องการเรียนไปถึงท่านประธานให้สภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาการตรากฎหมายฉบับนี้ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ย้ำอีกครั้งค่ะ เราไม่อาจย้อนอดีต หรือลืมอดีตได้ค่ะ แต่เราแก้ไขให้ปัจจุบันดีขึ้นได้ การนิรโทษกรรมในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งในการเมืองไทย ขอบคุณค่ะท่านประธาน
เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ วันนี้ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเราซึ่งในฐานะผู้แทนประชาชน จะได้ร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนปัญหาที่เรื้อรังและยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ กลับขึ้นมาดีอีกครั้งหนึ่ง ท่านประธานคะ ทุกวันนี้พี่น้องชาวประมงได้เจอมรสุมปัญหามากมาย เรือหลายลำจอดทิ้งขว้าง จนกลายเป็นซากชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวประมงหลายต่อ หลายชีวิตเหมือนถูกลอยแพ ไม่ต่างจากซากเรือที่พวกเราเห็นค่ะ ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงหลาย ๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลง ดังที่เพื่อนสมาชิก หลายคนได้กล่าวไปค่ะ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร ดิฉันมีคำตอบต่อคำถามง่าย ๆ ๒ ข้อ คือ ๑. ความไม่เข้าใจ และ ๒. คือการไม่รับฟังค่ะ ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนนะคะ ท่านประธานเคยได้ยินใช่ไหมคะ เริ่มต้นผิดชีวิตเปลี่ยน การแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดจึงนำไปสู่ หายนะของพี่น้องชาวประมงไทย เราต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ณ ที่นี้ว่ากฎหมาย พระราชกำหนดการประมงที่ตราขึ้นในปี ๒๕๕๘ นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อวิถีชีวิตของ พี่น้องประชาชนชาวประมง ทั้งทรัพยากรธรรมชาติหรือแม้แต่การรักษามูลค่าการส่งออก สินค้าสัตว์น้ำของไทย ตามที่เคยคาดหวังกันไว้เลยแม้แต่น้อยค่ะท่านประธาน เพราะอะไร หรือคะ เพราะกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลชุดที่แล้วเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยความผิดพลาด เป็นกฎหมายที่เริ่มจากการไม่รับฟัง ไม่รับรู้ และไม่เข้าใจประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมา เพื่อต้องการเพียงการยอมรับจากสหภาพยุโรปเพียงเท่านั้นค่ะท่านประธาน กฎหมายเก่า จากรัฐบาลหลังการทำรัฐประหารจึงไม่ได้เริ่มต้นที่การแก้ไขปัญหา นั่นจึงเป็นเหตุที่เราจะต้อง ยื่นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ฉบับนี้ค่ะ หากเรามองย้อนกลับไป การตรากฎหมายประมงฉบับเดิมขึ้นมา โดยคณะกรรมาธิการ ยุโรปหรือสหภาพยุโรป มีคำประกาศ แจ้งเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ด้วยการให้ใบเหลือง เพื่อให้ทราบถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะถูกระบุว่า เป็นประเทศโลกที่ ๓ ที่ไม่ให้ความร่วมมือในด้านการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า IUU Fishing โดยกำหนดให้ ประเทศไทยต้องดำเนินเสนอแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน ด้วยความเร่งรีบรัฐบาลเลยออกพระราชกำหนดปี ๒๕๕๘ ขึ้นมา แต่พระราชกำหนด ฉบับดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงถึง ๑.๑ ล้านล้านบาท ค่ะท่านประธาน
หากพิจารณาการตรากฎหมายในแง่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดที่แล้วก็อาจ พูดได้ว่าบรรลุเป้าหมาย เพราะทำให้ประเทศไทยรอดจากการถูกระงับการส่งออกสินค้า ประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังยุโรปแต่หากพิจารณาในแง่ผลกระทบและข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นกับภาคการประมงและอุตสาหกรรมประมงของไทยกลับทำให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวง ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับ ๑ ในเรื่องธุรกิจประมง ปัจจุบันตกมาอยู่ ลำดับที่ ๑๔ ของโลก และเปลี่ยนสถานะจากผู้ส่งออกสินค้าประมงกลายเป็นผู้นำเข้าสัตว์น้ำ เพื่อการบริโภคแทน ท่านประธานคะ เพราะการเร่งออกกฎหมายดังกล่าวไร้ความรัดกุม และยังส่งผลให้มีบทลงโทษที่รุนแรงต่อประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการออกกฎหมาย ในระดับรองกว่า ๒๐๐ ฉบับ มีการบังคับใช้กฎหมายแบบจ้องจับผิดและมีอคติไม่เป็นธรรม และไม่มีเหตุผล ประชาชนพี่น้องชาวประมงกว่า ๑๐,๐๐๐ ราย ถูกจับเสียค่าปรับเป็น พัน ๆ ล้านบาท หลายร้อยรายต้องยอมติดคุกเพื่อชดเชยการเสียค่าปรับ และหลายคน เป็นหนี้เป็นสิน เรือเป็นทรัพย์สิน เรือที่เคยสร้างชีวิต เคยสร้างครอบครัว กลายเป็นเพียง เศษเหล็ก เศษไม้ จอดจมกันเป็นร้อยเป็นพันลำ เป็นสิ่งไร้ค่า ณ ปัจจุบันอาจเป็นไปได้หากเรา ไปย้อนดูก่อนนะคะ ดิฉันขอสไลด์แผ่นแรกค่ะ
หากเราย้อนดูสถิติ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึง ปี ๒๕๖๖ จะเห็นว่าตัวเลขลดลงของการนำเข้าจำนวนสัตว์น้ำที่จับได้ กับมูลค่าการส่งออกสะท้อนปัญหาเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนค่ะ ไม่ว่าก่อนหรือหลังการปลดล็อก ใบเตือนสีเหลืองก็ตาม ก็ไม่ได้มีผลต่างกัน แต่กลับแย่ลงเรื่อย ๆ ดิฉันจะชี้ให้เห็นในสไลด์ แผ่นที่ ๒ เห็นไหมคะว่าตัวเลขของกราฟมูลค่าของการส่งออกปรับลดลงเรื่อย ๆ แม้ว่า เราจะรอดพ้นใบเหลืองแล้วก็ตาม ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นของปัญหาในวันนี้ ประเทศไทยถูกเตือนมาจนถึงปีที่ผ่านมา ตามสถิติการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยที่ส่งออกไป สหภาพยุโรป จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ก่อนที่เราจะโดนใบเหลืองเตือนจากสหภาพยุโรป ประเทศไทยจับสัตว์น้ำส่งออกได้มากถึง ๑๖๐,๐๐๐ ตัน เป็นมูลค่ารวม ๒๗,๐๐๐ ล้านบาท แต่กลับลดลงเรื่อย ๆ จนในปี ๒๕๖๖ เหลือเพียง ๖๒,๐๐๐ ตัน หายไปกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกเหลือเพียงแค่ ๑๐,๔๐๐ ล้านบาทเท่านั้น เพราะฉะนั้นการปลดล็อก ใบเหลืองของ IUU ไม่ได้ช่วยรักษามูลค่าการส่งออกทางด้านการประมงของไทยแต่อย่างใด แต่กลับสร้างหายนะให้กับประเทศไทยมากกว่า ท่านประธานคะ นี่ต่างหากคือปัญหา ปัญหาที่แท้จริงก็คือรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐไม่เข้าใจเรื่องการทำประมงทางทะเลอย่างรอบด้าน และไม่ได้มองมิติ ขาดองค์รวมความรู้ในเรื่องของกฎหมายสากลและการตราสารระหว่าง ประเทศที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างแท้จริง การที่ต้องเข้าใจปัญหา ที่แท้จริง สังเคราะห์ปัญหาและมองกฎหมายประมงอย่างรอบด้านจึงเป็นสิ่งที่สภาแห่งนี้ ต้องนำมาสู่การแก้ไข ท่านประธานที่เคารพคะ IUU ไม่ได้ต้องการเห็นหายนะทางเศรษฐกิจ ของประเทศใดประเทศหนึ่ง IUU ไม่ได้ต้องการเห็นการออกกฎหมายเพื่อทำลายชีวิตพี่น้อง ชาวประมง และ IUU ไม่ต้องการเห็นซากเรือ ซากเหล็ก หรือชีวิตของพี่น้องชาวประมง ต้องลอยเคว้งเพราะอยากให้ใครมาเอาใจ ท่านประธานคะ เราเริ่มต้นด้วยการติดกระดุม เม็ดแรกผิด จนทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจและชีวิตพี่น้องชาวประมง วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เรา จะต้องเริ่มต้นกันใหม่ สร้างชีวิตใหม่ สร้างโอกาสใหม่ คืนชีวิต คืนศักดิ์ศรี และคืนเกียรติของ ความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องชาวประมง ด้วยการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... อีกครั้งค่ะ ท่านวิสุทธิ์ ไชยณรุณ พรรคเพื่อไทย ได้พยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข ขอบคุณค่ะท่านประธาน
ลิณธิภรณ์ ๓๑๓ แสดงตนค่ะ
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ขออภิปรายสนับสนุนหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่ใช่เป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา ๗๐ แห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ที่บัญญัติให้รัฐต้องพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทย กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือว่าเพื่อให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีสิทธิดำรงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขและ ไม่ถูกรบกวนค่ะ ก่อนที่ดิฉันจะเข้าสู่การอภิปรายเจตนารมณ์ของรัฐบาลและสารัตถะของ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ท่านประธานทราบหรือไม่คะว่าวันนี้จำนวนราษฎรแห่ง ราชอาณาจักรไทยประมาณการว่าจะมีอยู่ประมาณสัก ๖๖ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย ทั้งสิ้น ๖๕ ล้านคนและไม่ได้สัญชาติไทยถึง ๙๙๐,๐๐๐ คนค่ะ ด้วยจำนวนราษฎร ๖๐ ล้านคนเกือบ ๗๐ ล้านคนนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวง วัฒนธรรม ผู้ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้รายงานว่าประเทศไทยมีประชากรที่นิยามตนเอง ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ๖๐ กลุ่ม จำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน หรือสัดส่วนเป็น ๑ ใน ๗ ของประเทศทีเดียว หมายความว่าอย่างไรคะท่านประธาน หมายความว่าทุก ๆ ๗ คน ที่เราเดินผ่าน โดยเฉลี่ยจะมี ๑ คนที่นิยามตนเองว่าเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งอาศัยอยู่และ มีลมหายใจร่วมกับเราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยนี้ค่ะ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือพวกเขา จำนวนมากยังไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะในเชิงกฎหมายด้วยสัญชาติที่ทำให้พ่อแม่เขา ยังไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ทำให้ลูกหลานขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ขั้นพื้นฐานที่ดี หรือแม้แต่ตัวเขาเองจะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนสักใบค่ะ ทำให้เขา เข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างเราทุกคนไม่ได้ แม้ตัวเราเองค่ะต่างคนต่างเกิดมา มีอาหาร ที่ชอบ มีเสื้อผ้าที่อยากใส่ สารพัดความทรงจำที่เกิดขึ้น เราคงไม่อยากให้วิถีชีวิตของคน เหล่านี้สูญหายไปใช่ไหมคะท่านประธาน แต่ละชาติพันธุ์ซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ก็มีสำนึกรักที่แตกต่างกัน ปัญหาการขาดกลไกคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรมจึงทำให้ที่ผ่านมา แม้หลายคนจะโชคดีได้รับสถานะของความเป็นพลเมืองไทย แต่ก็มีชาติพันธุ์อีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้โชคดีอย่างนั้นค่ะ ดิฉันจึงต้องการชวนคิดและตามข้อสังเกตจากนักวิชาการท่านหนึ่ง มานำเสนอค่ะ เป็นการกล่าวในวงเสวนา Kick Off กฎหมายชาติพันธุ์ ที่ร่วมกันจัดทำ โดยกระทรวงวัฒนธรรมผ่านสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและภาคีองค์กรเครือข่าย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ที่ผ่านมานี้เองค่ะ เขาระบุไว้ว่าการเป็นชาติพันธุ์คือสำนึกของการเป็น คนในกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวค่ะ ไม่ใช่แค่พี่น้องที่อยู่ในป่าเขาหรือทะเล หรือพวกเรา ทุกคนที่จะใช้สิทธิ ใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ชาติพันธุ์ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนล้วนเป็นคนชาติพันธุ์ค่ะ และทุกชาติพันธุ์ก็เป็น คนเหมือนกันค่ะท่านประธาน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาชัดเจนว่าจะมุ่งมั่นทำให้พี่น้องคนไทยทุกเผ่าพันธุ์มีความเสมอภาค และเท่าเทียม และได้รับการคุ้มครองเป็นคนที่สมบูรณ์ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังค่ะ เราอยู่ ในประเทศไทยด้วยกัน เราเป็นคนไทยด้วยกันและประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พี่น้องทุกคน ที่เป็นคนไทยโดยเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องมีสิทธิทางการเมืองโดยเท่าเทียมกัน ท่านประธานคะ ความเสมอภาคเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและเป็นคุณค่าหลักที่ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรียึดถือมาตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีค่ะ ทั้งนี้ปณิธาน ที่มุ่งมั่นส่งผลในหลาย ๆ วาระและโอกาส ล่าสุดยังมีการย้ำในเวทีแห่งประเพณีการขึ้นปีใหม่ ของลาหู่นานาชาติ ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็ประกาศชื่นชมความสามัคคีของพี่น้อง ชาติพันธุ์ลาหู่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้กระจาย ไปทั่วโลกค่ะ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติชัดเจนที่จะอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา จึง Post Facebook เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ย้ำว่าเป้าหมายของพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลัก Multicultural Society นั่นก็คือจะเป็นหลักประกันให้พี่น้องกลุ่มชาติ พันธุ์กว่า ๖๐ กลุ่ม หรือมากกว่า๑๐ ล้านคน มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิต ที่ดี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เจตนารมณ์ที่ชัดเจนในวันนั้นส่งผลต่อมาในที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ค่ะ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจนออกมาเป็นร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้ง ๖ หมวด ๓๕ มาตรา ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ครอบคลุม ตั้งแต่กลไกคณะกรรมการระดับนโยบาย ในหมวดที่ ๒ มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก ชาติพันธุ์ร่วมด้วย นอกจากนี้ในหมวดที่ ๓ ยังมีการพูดถึงสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเลือกกันเองเพื่อเสนอแนะนโยบายและ มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการค่ะ ท่านประธานคะ นี่เป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกในประวัติศาสตร์ ที่เราจะไม่เพียงแต่คุ้มครองวิถีชีวิตของ ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกชีวิต แต่จะเป็นหลักประกันว่าทุกลมหายใจบนผืนแผ่นดินไทย มีเกียรติและมีคุณค่าที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันและเสมอภาค สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ค่ะ ดิฉันขอเรียนกับท่านประธานไปยังสมาชิกทุกท่านที่มา ร่วมกันในยุคสมัยที่มีการแบ่งเขาแบ่งเราค่ะ เราต้องเดินตามเข็มนาฬิกามุ่งไปข้างหน้า นำสังคมไทย เคารพวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ผ่านการลงมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอในวันนี้ และดิฉันขอรับหลักการในเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน