นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะขออภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วมีความจำเป็นทุกประการที่จำเป็นที่ต้อง ออกเป็นพระราชกำหนดค่ะ อันเนื่องมาจากว่าตัวร่างพระราชบัญญัติที่ได้เข้าสู่สภาแห่งนี้ ไปเมื่อสมัยที่แล้วนั้น พิจารณาแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการ แต่ยังไม่มีโอกาสได้พิจารณา ในวาระที่สอง วาระที่สาม และมีเงื่อนเวลาที่เราได้ทำความตกลงไว้กับทาง OECD ว่า จำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในเดือนกันยายนของปี ๒๕๖๖ ดังนั้น พ.ร.ก. ฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด ไม่เหมือนกับ พ.ร.ก. ฉบับของการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มีการลักไก่ออกเป็น พ.ร.ก. ในช่วงที่เรา ยังไม่ได้ยุบสภาด้วยซ้ำไป และไม่ได้มีการนำมาพิจารณาในสภาเป็นโอกาสแรกตามที่กำหนดไว้ ตามรัฐธรรมนูญค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็มีวัตถุประสงค์หลักในการที่จะช่วยในการที่มี ผู้เสียภาษีที่อยากจะหลบเลี่ยง หลีกเลี่ยงการเสียภาษี แล้วก็นำทรัพย์สินของตัวเอง โดยเฉพาะสินทรัพย์ทางการเงินไปฝากไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ในต่างประเทศ เราก็ทราบกันดีว่า รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกมีความต้องการที่จะหารายได้ภาษีเพิ่มเติมโดยเฉพาะหลังจากที่เรา เพิ่งผ่านในช่วงวิกฤติ COVID-19 แล้วรัฐบาลต่าง ๆ ก็ได้มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ จริง ๆ แล้วตัวพหุภาคีนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อน COVID-19 ด้วยซ้ำ ไป แต่ว่ายิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลัง COVID-19 นี้เป็นต้นมา และดิฉันเองก็ ให้ความเห็นชอบตั้งแต่เข้ามาในรัฐสภาตอนที่เราจะลงนามพหุภาคี แล้วก็รวมถึงวาระที่หนึ่ง ของตัวร่าง พ.ร.บ. การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยเช่นเดียวกัน แล้วก็จะเห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่อยากจะตั้งคำถามในระยะต่อมาก็คงจะเป็นในเรื่องต่าง ๆ ที่อยากจะทราบความคืบหน้ามากกว่า แต่ว่าก่อนที่จะไปถึงคำถามอยากที่จะเรียน ท่านประธานผ่านไปยังพี่น้องประชาชนที่รับฟังการถ่ายทอดประชุมสภาอยู่ในตอนนี้ว่า ตัวการของการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติฉบับนี้มันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ด้วยค่ะ จริง ๆ แล้วการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติมีการทำมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งในเรื่องที่เป็น การแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยมีการร้องขอจากประเทศต่าง ๆ หรือว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยน ข้อมูลอัตโนมัติ อย่างน้อย ๆ ก็คือช่วงปี ๒๐๑๙ เป็นต้นมา ตอนนี้ ณ วันนี้ ณ เดือน พฤษภาคม ๒๕๖๖ ก็มี ๑๒๐ ประเทศทั่วโลกแล้วที่เข้าร่วมภาคีการแลกเปลี่ยนข้อมูล อัตโนมัติครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศที่ถือว่าเป็น Tax haven หรือว่าประเทศที่มักถูกใช้ เป็นแหล่งหลีกเลี่ยง หลบเลี่ยงภาษี อย่างเช่น บริติชเวอร์จินไอส์แลนด์ เคย์แมนไอส์แลนด์ เบอร์มิวดา เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ ก็เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ นี้แล้ว ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากถึง ๑๑๐ ล้านบัญชีด้วยกัน และครอบคลุมสินทรัพย์ สูงถึง ๔๐๐ ล้านล้านบาท หรือประมาณ ๑๑ ล้านล้านยูโร ที่เราเห็นเป็น Impact ที่สำคัญว่า ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนนี้สามารถสร้างรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของภาษี ทั้งในรูปแบบของดอกเบี้ย แล้วก็ค่าปรับ ได้สูงถึง ๔.๓ ล้านล้านบาท ทั่วโลกรวมกัน ถ้าดูเฉพาะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเราสามารถที่จะนำเงินภาษีกลับคืน มาได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเงินครั้งนี้สูงถึง ๑.๑ ล้านล้านบาท แล้วก็ยังมี ๔๐ ประเทศที่นำข้อมูลที่ได้มานี้นำไปใช้ในการจัดการในการต่อต้านการฟอกเงิน ต่อต้าน การคอร์รัปชัน แล้วก็สืบสวนในเรื่องของการรับสินบนด้วยเช่นเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นที่น่ายินดี ที่สุดท้ายประเทศไทยจะได้มีการนำมาปฏิบัติใช้เสียที แล้วก็ได้มีการเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อย่างไรก็ตามเราทราบดีว่าตัว CRS เรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติที่มีการทำ Common Reporting Standard นี้ยังคงมีช่องโหว่อยู่หลายประการจากการศึกษาที่ผ่านมา ว่าก็ยังมีผู้ที่มีความมั่งคั่งยังพยายามที่จะหลบเลี่ยง หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีต่าง ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการขอ Passport ทอง หรือว่า Golden Passport เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง ตัวตนว่าตัวเองเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีอยู่ที่ประเทศใดกันแน่ มีการตั้ง Shell Company หรือว่าบริษัทที่ถูกตั้งมาเพื่อที่จะใช้ในการลักลอบสินทรัพย์ต่าง ๆ ออกจากประเทศตัวเองไป ไว้อยู่อีกที่หนึ่งแล้วก็ปกปิดตัวตนต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ มีการเอาทรัพย์สินไปเก็บในรูปแบบอื่น ๆ ที่เราไม่สามารถที่จะใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูล ตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้ อย่างเช่น สินทรัพย์ที่ไม่ใช่การเงินต่าง ๆ อย่างเช่น ที่ดิน หรือว่าเพชร ทองอะไรต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะตามตัวเจอได้เช่นเดียวกันนะคะ หรือแม้กระทั่งเอาไปใช้ ในประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วม CRS นะคะ เพราะไม่ได้เข้าร่วมระบบของการแลกเปลี่ยนข้อมูล อัตโนมัติ มันก็ยังดีอยู่นะคะนอกเหนือจาก ๑๒๐ ประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ขอหน้าถัดไปค่ะ หน้าถัดไปนะคะจุดเขียว ๆ นี่คือประเทศที่เข้าร่วมภาคี การแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ ลงนามเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะเห็นจุดส้มก็คือประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็มีการพูดถึงข้อกังวลในจุดนี้ว่าถึงแม้จะ เข้าร่วม CRS แล้ว แต่ว่าอเมริกานี่ยังไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งก็อาจจะเป็นแหล่งที่ Chip สินทรัพย์ ไปไว้ที่นั่นได้โดยที่ก็จะไม่สามารถที่จะล่วงรู้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติได้ แต่ประเทศไทย เราได้เข้าร่วม FATCA หรือว่าเป็นกฎหมายที่เราทำกับทางสหรัฐอเมริกาทำความตกลงที่จะ แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันนะคะ ดังนั้นถ้ามีชาวไทยที่นำสินทรัพย์ไปไว้ที่อเมริกา เราก็สามารถที่จะตามเจอได้เช่นเดียวกันนะคะ ก็จะเป็นกรณีที่ยังสามารถที่จะได้รับ ประโยชน์จากการได้มีข้อมูลอัตโนมัติอยู่ค่ะ ดังนั้นนี่จะมี ๓ เรื่องด้วยกันค่ะที่อยากจะ สอบถามผ่านท่านประธานไปยังคณะรัฐมนตรีและผู้ชี้แจงนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามแรกค่ะ หน้าต่อไปค่ะ ความพร้อมที่เราจะเริ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูล อัตโนมัติ ข้อมูลการเงินเหล่านี้กับประเทศอื่น ๆ นะคะ เพราะว่านับจากวันนี้ก็คือเหลือเวลา อีกแค่ไม่ถึงเดือนแล้ว ก็จะเริ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งแรกในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ ว่ามีความพร้อมอย่างไรบ้าง สถาบันการเงินที่มีความพร้อมคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์จากสถาบัน การเงินทั้งหมด กฎหมายลูกทั้ง ๓ ฉบับ ที่จะต้องออกตามกฎหมาย ตาม พ.ร.ก. ได้มี การออกแล้ว เรียบร้อยแล้วหรือยังนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ แผนงานที่เราจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินเหล่านี้ เพื่อจัดการกับการหลบเลี่ยง หลีกเลี่ยงภาษีตลอดไปจนถึงการต่อต้านคอร์รัปชันว่ามีแผนงาน อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างอย่างที่ IRAS ของประเทศสิงคโปร์มีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ ในการต่อต้านการโกงภาษี VAT ก็คือการขอคืนภาษีจากสินค้าส่งออกต่าง ๆ ก็มีการนำมาใช้ แล้วก็ได้ประโยชน์มากเช่นเดียวกันนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องของความคืบหน้าในการจัดเตรียมความร่วมมือ ในการป้องกันการกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไรหรือว่า BEPS 2.0 นะคะ ซึ่งน่าจะเป็น ภาคต่อของ MCAA CRS เช่นเดียวกันว่า ถ้าเราจำเป็นที่จะต้อง Implement Pillar 2 ที่กำหนดให้มีการเก็บภาษีขั้นต่ำหรือว่า Global Minimum Tax rate ที่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลกนี่เราพร้อมแล้วหรือยังสำหรับที่จะทำ ณ จุดนี้ และความคืบหน้าของ OECD เป็นอย่างไรค่ะ ก็มีเท่านี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอให้ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ นำ Slide ขึ้นด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • การอภิปรายครั้งนี้ก็เป็น ครบรอบ ๔ ปี ที่ดิฉันได้อภิปรายรายงานการเงินแผ่นดินครั้งแรกเมื่อประมาณ ๔ ปีที่แล้ว ก็จะขอชื่นชมว่าหลังจากที่ได้อภิปรายไปครั้งแรกที่มีงบการเงินมาอย่างเดียว ๒-๓ ปีให้หลังนี้ รายงานการเงินแผ่นดินได้มีการทำบทวิเคราะห์มาด้วย ซึ่งก็จะเป็นมาตรฐานที่หลาย ๆ ประเทศ ทำกันเวลาที่มีการรายงานการเงินแผ่นดิน จะมีในส่วนที่เรียกว่า MD&A เหมือนเป็นคำอธิบาย ของฝ่ายบริหารว่ารายการในงบการเงินนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรที่มีนัยสำคัญ ก็ขอชื่นชมค่ะ ถึงแม้ว่าบทวิเคราะห์อาจจะยังสามารถที่จะปรับปรุงให้มีความละเอียดได้มากกว่านี้ ซึ่งอาจจะมีการพูดคุยกันในรายละเอียดต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก อยากจะทำความเข้าใจก่อน ดิฉันก็เพิ่งเข้าใจในเรื่องของรายงาน การเงินแผ่นดินจริง ๆ จัง ๆ พอมาอ่าน ตอนแรกคิดว่ามันจะเป็นงบการเงินแบบงบการเงินรวม หรือว่าเป็น Consolidated Financial Statement แต่ปรากฏว่าพออ่านไปอ่านมาแล้ว เข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นการรวม เลยอยาก Check ความเข้าใจว่าที่ดิฉันเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่ ว่าตัวสินทรัพย์ หนี้สินต่าง ๆ ไม่ได้เป็นการรวมของหน่วยงานราชการอื่น ๆ มาไว้ในที่เดียว แต่จะนำมาเฉพาะส่วนราชการที่มีอำนาจบริหารจัดการแทนรัฐบาล ยกตัวอย่าง เช่น กรมบัญชีกลางที่ดูแลเงินคงคลัง ดังนั้นทั้งด้านรายได้ รายจ่าย งบประมาณแผ่นดินต่าง ๆ ก็จะปรากฏอยู่ในรายงานงบการเงินฉบับนี้ มีกรมธนารักษ์ที่ดูแลที่ราชพัสดุ เราก็จะเห็นว่า ในส่วนของสินทรัพย์ก็จะมีการรายงานเรื่องเกี่ยวกับที่ราชพัสดุว่ามูลค่าการประเมิน เป็นเท่าไร สคร. ที่ดูแลเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วก็ สบน. ที่ดูแลเงินกู้ของแผ่นดิน แต่ก็ยังมี อีกหลายรายการที่ไม่ได้รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนหมุนเวียน หรือว่ารัฐวิสาหกิจก็จะมา ในรูปแบบของเงินลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนที่รัฐถือหุ้น ถูกต้องใช่ไหมคะอันนี้ ผู้ชี้แจงอาจจะพยักหน้าถ้าดิฉันเข้าใจถูก ดิฉันจะได้อภิปรายต่อ ดิฉันน่าจะเข้าใจถูกแล้ว ทีนี้พอมาดูในรายละเอียด อย่างที่บอกว่ามันไม่ได้เป็นการรวมสินทรัพย์ทั้งหมดของ หน่วยราชการ ดังนั้นสินทรัพย์ตัวหลัก ๆ ที่จะมาปรากฏก็คือคิดเป็น ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ของสินทรัพย์ทั้งหมดก็คือที่ราชพัสดุ ในรายงานทั้งบทวิเคราะห์ก็มีการระบุว่าที่ราชพัสดุมีอยู่ ๑๐.๕๖ ล้านไร่ แต่ในความเข้าใจของเรา เราเข้าใจมาตลอดว่าที่ราชพัสดุมีอยู่ ๑๒ ล้านไร่กว่า ดังนั้นส่วนที่หายไปใช่หรือไม่ว่าเป็นที่ราชพัสดุที่ใช้ประโยชน์เพื่อความลับเกี่ยวกับความมั่นคง ของประเทศในราชการกระทรวงกลาโหมอีกประมาณ ๒.๖ ล้านไร่ อันนี้ก็เป็นคำถามนะคะ ทีนี้พอมาดูก็จะเป็นการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ สิ่งที่น่ากังวลก็คือความเสี่ยง จะมีเรื่องของ ข้อพิพาทระหว่างที่ดินราชพัสดุกับที่ดินประชาชน ซึ่งตรงนี้ได้มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่า ความเสี่ยงจากข้อพิพาทเหล่านี้อาจจะมีผลต่อการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นที่ราชพัสดุ แล้วที่สำคัญก็คือว่ามีการไปทำข้อตกลงที่จะมีการสำรวจและเรียกคืนที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์ ซึ่งในบทวิเคราะห์ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่ว่าไม่ได้มีการพูดถึง ความคืบหน้าของการสำรวจและเรียกคืนที่ราชพัสดุว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว หลังจากที่ได้มี การออกระเบียบมาเมื่อปี ๒๕๖๒ ทางพรรคก้าวไกลเองก็มีการติดตามในเรื่องของ การเรียกคืนที่ราชพัสดุ หรือว่าการทำข้อตกลงในการใช้ที่ราชพัสดุกับทางกองทัพในการทำ สวัสดิการต่าง ๆ ของกองทัพว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ถ้ามีตัวแทนจากกรมธนารักษ์ ก็ฝากให้ได้ตอบคำถามนี้กับพวกเราด้วยนะคะ แล้วก็มีการพูดถึง Capital Charge ด้วย อันนี้ดิฉันก็ตามมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ไม่มั่นใจว่าได้เริ่มมีการปรับใช้หรือยังในการที่จะเหมือน แสดงมูลค่าที่แท้จริงของการที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ มาใช้ที่ดินของที่ราชพัสดุโดยที่ อาจจะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ว่าจริง ๆ แล้วที่ราชพัสดุตรงนั้นอาจจะอยู่ในใจกลางเมือง ที่สามารถจะนำไปใช้หาประโยชน์ได้มากกว่านั้นมาก

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนของสินทรัพย์มีเรื่องที่น่าสนใจอีกค่ะ ดิฉันไปดูเรื่องของเงินลงทุน หลักทรัพย์เผื่อขาย ก็มีคำถามหลายเรื่องว่าทำไมภาครัฐจึงมีตัวเลือกที่จะไปลงทุน ในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในธนาคารต่าง ๆ ก็มีทั้ง SCB ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าน่าจะเป็นผลพวงมาจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ แต่ก็มี บางอันที่ดิฉันก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ อย่างเช่นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือว่า อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็อยากที่จะทราบเหตุผลด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในส่วน ของเงินลงทุนหลักทรัพย์เผื่อขาย ยังมีการพูดถึงกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ ซึ่ง ณ วันที่มี การประเมินมูลค่า Fair Price อยู่ที่ประมาณ ๓๒๐,๐๐๐ ล้านบาท พอไปดูรายงานประจำปี ซึ่งปีอาจจะไม่ตรงกับตัวรายงานการเงินแผ่นดิน ของปี ๒๕๖๕ ของกองทุนวายุภักษ์เราพบว่า ผลตอบแทน Years to Date ตั้งแต่ตั้งกองทุนมา ติดลบ ๓.๖ เปอร์เซ็นต์ ก็เลยอยากสอบถามว่า สรุปแล้วทางรัฐบาลหรือว่าผู้ที่มีอำนาจบริหารจัดการแทนรัฐ มีนโยบายอย่างไรในการลงทุน ทั้งตัวหลักทรัพย์แล้วก็ตัวกองทุน มีเจตนาที่จะเพิ่มเงินลงทุนในตรงนี้เพื่อเป็นการพยุง ตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ หรือว่าจะลดการลงทุนตรงนี้เพื่อนำเงินมาใช้ในประโยชน์อย่างอื่น

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปเป็นหมวดของเงินลงทุนทั่วไป จำนวนไม่มากนะคะ ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท แต่ว่าถ้าเราดูตัวรายละเอียดเราจะมีคำถามมากมายว่าทำไมรัฐต้องไปลงทุนในบริษัทเหล่านี้ ถ้าหลาย ๆ บริษัทเป็นบริษัทที่ต้องลงทุนตามนโยบายและทำความเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทริสเรทติ้ง บรรษัทประกันภัยต่อแห่งเอเชีย แต่ก็มีหลาย ๆ บริษัทที่ไม่มั่นใจว่า เพราะเหตุใดยังจำเป็นที่จะต้องลงทุน เป็นนโยบายอะไร อย่างเช่น บริษัท ชลสิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเหมืองแร่ เข้าใจว่าได้รับมาตอนที่มีการทำเหมืองแร่ทองคำ แล้วก็เป็น บริษัทลูกของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ แต่ว่าจนถึงวันนี้แล้วเรายังจำเป็นที่จะต้องถือหุ้นเหล่านี้ อยู่หรือไม่ ที่สำคัญค่ะ มันมีหุ้นที่ได้มาจากนิติเหตุหรือว่าการยึดทรัพย์ แล้วก็เป็นบริษัทที่ประกอบ กิจการอาบ อบ นวด ถูกยึดทรัพย์มาเนื่องจากว่า ปปง. ตรวจพบว่ามีการค้าประเวณี ที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท PARLIAMENT TURKISH BATH COMPANY LIMITED DAVIS DIAMOND STAR CO., LTD. DAVIS COPA CABANA Co., LTD. หลาย ๆ ท่าน ในที่นี้อาจจะคุ้นเคยกับชื่อ ซึ่งเป็นบริษัทอาบ อบ นวด ก็ทราบดีว่าได้มาจากการยึดทรัพย์ แต่อยากสอบถามว่าเมื่อไรจะขาย มันก็อาจจำเป็นที่จะต้องมีการที่จะจำหน่ายออกไป ตามระเบียบของปี ๒๕๖๒ ว่าด้วยการจำหน่ายและซื้อขายหลักทรัพย์ของรัฐบาล

    อ่านในการประชุม

  • หน้าต่อไป เรื่องของหนี้สินค่ะ หนี้สินมีอยู่ ๙.๘ ล้านล้านบาท ถ้าพวกเรา จำกันได้ คือสินทรัพย์มีอยู่เพียงแค่ ๘.๓ ล้านล้านบาท เท่ากับว่าสินทรัพย์สุทธิติดลบไปแล้ว ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หลาย ๆ ประเทศก็เป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ว่าอยากที่จะ โน้ตไว้ถ้าประชาชนติดตามอยู่ ก็คือว่าตัวหนี้สินที่ปรากฏในรายงานการเงินแผ่นดินนี้ ไม่เท่ากับหนี้สาธารณะนะคะ เพราะว่ามีแค่ในส่วนที่รัฐบาลกู้โดยตรงเท่านั้น สิ่งที่อยากจะ สอบถามคืออย่างนี้ค่ะ อย่างที่ดิฉันได้สอบถามไปว่าเงินทุนหมุนเวียนไม่ได้รวมอยู่ใน งบการเงินฉบับนี้ สินทรัพย์ หนี้สินของรัฐวิสาหกิจไม่ได้รวมอยู่ในงบการเงินฉบับนี้ แต่มันมี เจ้าหนี้รอการชดเชยตามมาตรา ๒๘ ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง อีกประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่ทางหน่วยงานก็ลงบัญชีว่ารัฐบาลเป็นลูกหนี้รอการชดเชย หรือว่า เป็นลูกหนี้ที่ค้างจ่ายเงินสมทบ อย่างเช่นกรณีของกองทุนประกันสังคม แต่ไม่ปรากฏรายการ หนี้สินในรายงานการเงินแผ่นดินฉบับนี้ ก็อยากสอบถามว่าแบบนี้มันจะไป Book ลงตรงไหน ในทางบัญชี ในเมื่ออีกฝั่งหนึ่งเขา Book ไปแล้วว่ารัฐบาลเป็นหนี้เขา แต่ว่าทางรัฐบาลเอง ไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้ ตรงนี้จะมีทางแก้ไขในทางบัญชีอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะ สั้น ๆ ในเรื่องของรายจ่าย ในรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ รายจ่ายงบประมาณประจำปี ทีนี้ปัญหาก็มีอยู่ว่าในปีงบประมาณปี ๒๕๖๕ ทางสภานี้ ได้อนุมัติเงินให้กับทางรัฐบาลไปใช้ ๓.๑ ล้านล้านบาท ใช้จริง ๕๒.๙ ล้านล้านบาท ใช้จริง ไม่เท่ากับที่อนุมัติไป ไม่ได้น่าแปลกใจเพราะว่าก็จะเกิดการเบิกจ่ายล่าช้าไม่ทันปีงบประมาณนี้ เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่ที่เราเจอก็คือว่าบางกระทรวงใช้งบประมาณมากกว่าที่ได้ขออนุมัติ ไปจากทางสภา ยกตัวอย่างเช่นกระทรวงกลาโหม อนุมัติไป ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ว่า ใช้จริง ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นต้น ในขณะที่บางกระทรวงก็ใช้ไม่ถึง ซึ่งอันนั้นก็จะเป็น เรื่องที่เบิกจ่ายไม่ทันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ที่เบิกจ่ายเกินอยากทราบว่าเป็นเพราะสาเหตุ อะไร หรือว่าเป็นเทคนิคในทางบัญชีที่มีการรวมเรื่องของงบบำเหน็จบำนาญเข้าไปไว้ที่ งบของกระทรวง แทนที่จะมาเอาไว้แยกเป็นงบกลางแบบเวลาที่เราดูงบประมาณ ก็จะมี เรื่องสอบถามกับทางผู้ชี้แจงเท่านี้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ขออนุญาตค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ผู้ชี้แจงยังเหลืออีกท่านหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ชี้แจงค่ะ จากทาง สคร. ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอสนับสนุน การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาในเรื่องของ Landbridge นะคะ ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่สภาแห่งนี้จะเปลี่ยนบรรยากาศบ้างจากที่มีการศึกษาเรื่องของคลองไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในวุฒิสภา หรือว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎรนะคะ แต่ว่าวันนี้เราเปลี่ยนมาศึกษาเรื่อง Landbridge นะคะ ซึ่งเวลาที่เราจะศึกษาเรื่องนี้เราก็ควรที่จะเลือกแล้วว่าเราจะเลือกทำ คลองไทย หรือว่าจะเลือกทำ Landbridge อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ ซ้ำซ้อนกันเองนะคะท่านประธาน แต่อย่างไรก็ตามดิฉันก็ต้องขอยืนยันว่าคณะกรรมาธิการ วิสามัญของเราไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาเองใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะว่าโครงการนี้มีผลการศึกษา มาหลายครั้งหลายคราว ตั้งแต่ที่ได้มีมติ ครม. ไปเมื่อปี ๒๕๖๑ นะคะ และในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการจัดทำรายงานขึ้นมา อันเนื่องมาจากการที่ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ การขุดคลองไทยของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ นี่ละค่ะ ที่ได้ให้สภาพัฒน์ศึกษา ความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทย และหนึ่งในทางเลือกของโครงการก็คือ Landbridge นี่เองนะคะ จึงมาเป็นงานศึกษาฉบับนี้ค่ะ ขอ Slide ด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • รายงานศึกษาฉบับนี้ชื่อว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ของประเทศไทย หน่วยงานที่รับงบก็คือสภาพัฒน์ได้ว่าจ้างทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องนี้ มีมูลค่า ๑๒ ล้านบาท ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๔ ก่อนที่จะไป ถึงรายละเอียดนะคะ ต่อมาถึงแม้ว่ารายงานฉบับนี้จะทำเสร็จสิ้นประมาณเดือนเมษายน ๒๕๖๕ รับเงินจบโครงการไปเรียบร้อยแล้ว ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ เราก็มีการจัดจ้าง การทำรายงานอีก ๑ ฉบับขึ้นมา นั่นก็คือรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร ขอเรียกสั้น ๆ ว่า สนข. ที่เป็นโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบ Model การพัฒนาการลงทุน ของโครงการ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้คราวนี้ Double งบเป็น ๒๕.๘ ล้านบาท โดยใช้งบปี ๒๕๖๖ แล้วก็หน่วยรับงบคือ สนข. ทีนี้เรามาดูรายละเอียดกันค่ะ รายละเอียด ที่น่าสนใจในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับเวลาที่เราจะพิจารณาโครงการใดโครงการหนึ่งว่าคุ้มค่า หรือไม่ เราจะมีการประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์และวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ขอ Slide ถัดไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • รายงานฉบับแรกที่สภาพัฒน์เป็นผู้จัดทำแล้วก็ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีการศึกษาว่าโครงการ Landbridge นั้นไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แล้วก็ไม่เหมาะที่จะลงทุน ยังไม่ต้องพูดถึง ถ้าท่านดูใน Slide ทางเลือกที่ ๓ ที่ใช้ชื่อว่า Artificial Waterway นั่นคือคลองไทย ยิ่งไม่คุ้มไปกันใหญ่เลยค่ะท่านประธาน หน้าต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในผลการศึกษาของเล่มล่าสุด ถึงแม้ว่าจะยังเป็นเพียงแค่รายงาน ความก้าวหน้า ฉบับที่ ๒ ยังไม่ใช่ฉบับสุดท้าย ก็มีการศึกษาในเรื่องของความคุ้มค่า ทางเศรษฐศาสตร์ไว้แล้ว โดย สนข. บอกว่าคุ้มมาก เพราะว่าอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือว่า Economic Internal Rate of Return อยู่ที่ ๑๖.๑๘ เปอร์เซ็นต์ หรือว่าถึงแม้ จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน หรือว่าเวลาที่เราดูก็ดูผลตอบแทนทางการเงินก็พบว่าสูงถึง ๖.๒ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีระยะเวลาคืนทุน ๔๐-๔๙ ปี แต่ยังไม่หมดค่ะท่านประธาน มติ ครม. ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา มีการนำเรื่องของ Landbridge เข้าไปขอความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรี

    อ่านในการประชุม

  • ปรากฏว่าในรายงานที่ปรากฏอยู่ในมติ ครม. บอกว่าโครงการ Landbridge คุ้มสุด ๆ อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนั้นสูงกว่าที่อยู่ในรายงานอยู่ที่ ๑๗.๔๓ เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาคืนทุนอยู่เพียงแค่ ๒๔ ปีเท่านั้นเอง จึงเป็นที่มาค่ะท่านประธาน ในเมื่อหลาย ๆ ครั้ง เราเห็นรายงานที่ทางเราใช้งบประมาณแผ่นดินในการศึกษาความเป็นไปได้ แล้วก็มีผลขัดแย้งกัน เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งในฐานะของสภาผู้แทนราษฎรที่จำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาศึกษาลงรายละเอียดในเรื่องของสมมุติฐานต่าง ๆ ที่เขาใช้ในการวิจัย เพราะว่า อย่างไรก็ตามรายงานเหล่านี้ก็มาจากภาษีของประชาชน และจะเป็นประโยชน์มาก ๆ ถ้าคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถที่จะลงรายละเอียดในเรื่องของสมมุติฐานต่าง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันได้มาวิเคราะห์ในเบื้องต้นแล้วว่าผลที่เกิดขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมโครงการวิจัยหนึ่งบอกว่าคุ้ม แต่ว่าอีกรายงานการศึกษาความเป็นไปได้หนึ่งบอกว่าไม่คุ้ม สมมุติฐานตัวที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกันก็คือการคาดการณ์ความต้องการของ การขนถ่ายสินค้านั่นเอง เจ้าหนึ่งโดยเฉพาะรายงานของ สนข. ก็มีการประมาณการไว้ ค่อนข้างสูง จริง ๆ แล้วในมติ ครม. ที่รายงานผลว่าคุ้มสุด ๆ นั้น เป็นการแสดงผล ของการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่เรียกได้ว่าเป็น High Side แล้วก็ ประเมินว่าความต้องการจะสูงขึ้นมาก ๆ โดยใช้อัตราการเติบโตอ้างอิงมาจากท่าเรือ Tanjung Pelepas ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งในระยะเริ่มต้นเติบโตสูงมากเฉลี่ยแล้ว ๖๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี ก็เลยทำให้เราได้ผลการศึกษาความคุ้มค่าที่คุ้มแบบสุด ๆ ไปเลย ในขณะที่ผลการศึกษาที่ไม่คุ้ม ก็อาจจะมองในแง่ร้ายมากกว่าในเรื่องของการที่จะมีเรือที่จะ เปลี่ยนทางเรือมาผ่าน Landbridge แทนที่จะไปผ่านทางช่องแคบมะละกา เพราะว่าอาจจะ ไม่คุ้มค่าในเรื่องของระยะเวลาแล้วก็ค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการขนถ่ายที่ซ้ำซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะไม่ได้ประเมินถึงว่าทางท่าเรือทางช่องแคบมะละกาทั้งสิงคโปร์ แล้วก็ Tanjung Pelepas จะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น หรือว่าขยายเพื่อรองรับ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ยังมี ในเรื่องของการจัดทำโครงการ PPP ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ ๑ ล้านล้านบาท แต่จะเป็น ๑.๓ ล้านล้านบาท เนื่องจากต้องรวมมูลค่าการทดแทนสินทรัพย์เสื่อมสภาพด้วยนะคะ แล้วก็ มี Model ของการทำ PPP อีกหลากหลายมากมายซึ่งจำเป็นที่ต้องทำการศึกษา ในรายละเอียด ดิฉันจึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในชุดนี้ แล้วก็ขอแรง เพื่อนสมาชิกได้สนับสนุนด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ขอสอบถาม ทางหน่วยงานผู้มาชี้แจงนะคะ เพราะว่าหลังจากที่ได้สังเกตตัวรายงานของรายรับแล้วก็ รายจ่าย พบข้อสังเกต ๑ เรื่อง เกี่ยวกับการชดใช้เงินคงคลังค่ะท่านประธาน ซึ่งปี ๒๕๖๖ มียอดสูงถึง ๘๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งถ้าเราไปดูตอนปี ๒๕๖๕ เอง ก็มียอดที่จะต้องชดใช้ เงินคงคลังมากถึง ๓๓,๐๐๐ กว่าล้านบาทเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นต่อเนื่องกันมาถึง ๒ ปีแล้ว แล้วก็จำเป็นทำให้ปี ๒๕๖๗ นี้เราต้องตั้งเงินเพื่อชดใช้เงินคงคลังสูงถึง ๑๑๘,๐๐๐ ล้านบาท ค่ะท่านประธาน ปัญหาก็คือว่ามันเกิดมาจากการที่เราตั้งงบไว้ไม่เพียงพอใช่ไหมคะ แล้วก็ ไม่สามารถที่จะถัวเฉลี่ยได้ในรายการนั้นอีกต่อไป อย่างเช่น ในส่วนของงบกลาง ในกรณีของ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ซึ่งตั้งไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงนี้ต่ำมาก ก็คือขาดไป ประมาณเป็นหลักหมื่นล้านบาท รวมไปถึงงบบุคลากรก็ตั้งไว้ไม่เพียงพอเช่นเดียวกันค่ะ ท่านประธาน ทีนี้ก็เลยอยากสอบถาม ก็เข้าใจดีว่าตอนนี้มันมีกฎหมายที่บังคับอย่างชัดเจน ว่าจำเป็นที่จะต้องมีการชดใช้เงินคงคลังแล้ว อันนี้เราไม่เป็นห่วงในเรื่องของปริมาณ เงินคงคลังว่าน่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ปัญหาของการตั้งงบประมาณไว้ไม่เพียงพอ แม้จะเป็นรายจ่ายที่เราน่าจะสามารถ คาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากรเราไม่ควรที่จะต้องมีการตั้งขาดใช่ไหมคะท่านประธาน เพราะเราก็ทราบดีว่าในแต่ละปีเรามีข้าราชการกี่คนถูกไหมคะ หรือแม้แต่เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ถึงแม้ว่าเราจะคาดการณ์ไม่ได้เต็มที่ว่าจะมีข้าราชการที่เสียชีวิตกี่ราย แต่ว่าเราก็น่าจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าบำนาญทั้งหมดมันควรจะเป็นเท่าไร จึงขอฝากไปที่ ทางกรมบัญชีกลางค่ะท่านประธาน ว่าควรจะต้องมีการท้วงติงหรือว่าตักเตือนไปทางสำนัก งบประมาณด้วย ในการตั้งงบประมาณในแต่ละปีไม่ให้มีข้อผิดพลาด ซึ่งมันเป็นก้อนใหญ่ขึ้น เรื่อย ๆ ทุก ๆ ปีแบบนี้ โดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ไม่อย่างนั้นแล้ว ในแต่ละปีงบประมาณที่เราจะใช้ได้จริง มันก็จะต้องกันส่วนหนึ่งเอาไว้เพื่อเป็นเงินชดใช้ เงินคงคลังแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดิฉันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อนหน้านี้สมัยที่แล้ว เงินชดใช้เงินคงคลังในแต่ละปีมีไม่เยอะมาก จะเป็นเรื่องของการแลกเหรียญกษาปณ์คืน หลักร้อยล้าน แต่ว่าพอหลัง ๆ ยิ่งในช่วงที่งบประมาณมีค่อนข้างจำกัด แล้วสำนักงบประมาณ ใช้วิธีการที่ตั้งงบไว้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่เพียงพอที่จะจ่ายแต่ก็ตั้งไว้แบบนี้ ก็อยากให้ ทางกรมบัญชีกลางเข้มงวดกับสำนักงบประมาณในเรื่องนี้ค่ะ เพราะว่าสิ่งที่เราจะเห็นต่อไป ก็คืองบประมาณของปี ๒๕๖๗ ดิฉันคิดว่ามีหลายรายการที่ทางสำนักงบประมาณก็ตั้งไว้ ดูท่าทางแล้วไม่น่าจะเพียงพอเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ งบบุคลากรดิฉันยังไม่มั่นใจนะคะ เดี๋ยวคงต้องได้ตรวจสอบ รายละเอียดเมื่องบปี ๒๕๖๗ เข้ามาแล้ว ก็ต้องฝากทางผู้ชี้แจงในส่วนนี้ด้วยค่ะ เพราะว่า มันเป็นขวัญและกำลังใจนะคะ ถ้าเกิดงบไม่เพียงพอข้าราชการบางส่วนอาจจะกังวลใจด้วยว่า ถ้าเกษียณไปแล้วจะมีเงินเพียงพอที่จะได้ใช้จ่ายหรือไม่ หรือว่าเงินเดือนจะต้องตกเบิกไปอีก กี่เดือนในอนาคตค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ดิฉัน เป็นอดีตกรรมาธิการของกรรมาธิการที่ศึกษาแลนด์บริดจ์ฉบับนี้ค่ะ แล้วก็เหตุผลที่ลาออก เป็นเพราะว่าไม่สามารถที่จะให้ความเห็นกับตัวรายงานฉบับนี้ซึ่งแทบจะไม่ได้มีการแก้ไข อะไรเลยจากวันที่ดิฉันได้ลาออกมา ท่านประธานที่เคารพ จริง ๆ เพื่อนสมาชิกได้พูดว่าทำไม การศึกษานี้ถึงได้มีธงมาก่อนล่วงหน้า แต่ดิฉันก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ทางคณะกรรมาธิการ ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่มาจากฟากฝั่งรัฐบาลมีธงมาจากบ้านแล้วว่าเราควรจะทำโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเพราะว่ามติ ครม. เองก็ดี หรือว่าเป็นนโยบายที่กลายเป็นนโยบายหลักของ รัฐบาลไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการแถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภาก็ตาม แต่สิ่งที่เราจำเป็น ที่จะต้องกังวลใจถึงแม้ว่าเราจะมีธงแล้วก็ตาม ก็ต้องดูว่าผลการศึกษาที่นำมาสู่ธงนั้นมันถูก ศึกษามาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน แล้วก็ถูกต้อง มีสมมุติฐานที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ดิฉันก็ปฏิบัติ หน้าที่กรรมาธิการตามปกติที่จำเป็นที่จะต้องมีการสอบถามกับทางหน่วยงานที่มีหน้าที่ รับผิดชอบในการทำรายงานของ สนข. ที่เป็นจุดกำเนิดเป็นสารตั้งต้นของรายงานฉบับนี้ อย่างถี่ถ้วนก่อนเพื่อที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าธงนำที่ทางฝั่งรัฐบาลนั้นได้มอบให้มานั้น เราจะสามารถเดินตามธงนี้ได้อย่างมั่นใจได้อย่างไร แต่ดิฉันกลับไม่ได้คำตอบที่ดิฉันต้องการ แล้วก็หลายครั้ง หลายวาระที่ได้มีการสอบถามก็ถูกตัดการสอบถาม แล้วก็นำไปสู่การที่ สุดท้ายข้อมูลคำตอบยังไม่ได้ แต่ว่าสุดท้ายกรรมาธิการก็จบเสียก่อนค่ะ ที่ร้ายแรงกว่านั้น รายงานฉบับนี้กลับใช้ตัวรายงาน สนข. โดยที่ไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วก็ เรียกได้ว่าก๊อบปี้ผิด ก๊อบปี้ถูก ยกตัวอย่างเช่น หน้า ๒๓ หัวข้อที่ ๒.๖ การศึกษาเปรียบเทียบ โครงการคลองไทยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเปิดฉากมาอย่างเร้าใจว่าเราคงจะได้เรียนรู้อะไร จากการเปรียบเทียบทั้ง ๒ โครงการนี้ แต่สิ่งที่ได้ก๊อบปี้มาจากรายงานของ สนข. ของรายงาน ฉบับนี้ก็คือการทำ Literature Review หรือว่าการทบทวนวรรณกรรม ก็คือไปทบทวนวรรณกรรมของรายงานของสภาพัฒน์ได้ศึกษาทั้ง ๔ แนวทางไว้แล้ว ทั้งกรณีฐาน กรณีแลนด์บริดจ์ กรณีที่เป็นคลองไทย แล้วก็กรณี GMS และในรายงาน ฉบับนั้นพูดชัดเจนว่าทางเลือกที่ ๒ ก็คือโครงการแลนด์บริดจ์กับโครงการคลองไทยไม่คุ้มค่า แต่รายงานฉบับนี้ก็ตัดมาเพียงแค่เท่านี้แล้วก็ปิดจบ ไม่ได้มีการอภิปรายใดๆ ว่าศึกษา เปรียบเทียบแล้วเกิดอะไรขึ้น อย่างที่มีกรรมาธิการหลายท่านพูดถึงว่ารายงานฉบับนี้มันยัง ไม่ชัดเจน แต่ที่มันร้ายแรงก็คือว่ามันเป็นการตัดแปะความเห็นของหลาย ๆ หน่วยงานที่ได้ เข้ามาให้คำชี้แจงกับทางกรรมาธิการ โดยที่กรรมาธิการเองไม่ได้พยายามที่จะแสวงหาคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น หน้า ๕๒-๕๗ ที่เป็นความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ณ วันนั้น ที่ภาคเอกชนเข้ามาถาม ทางกรรมาธิการก็ไม่ได้มีคำตอบให้ สนข. ก็ไม่ได้มีคำตอบให้กับ ภาคเอกชนเช่นเดียวกัน สุดท้ายดิฉันต้องมาตามสอบถามในหลาย ๆ ประเด็น จนถึงทุกวันนี้ ดิฉันก็ยังตามสอบถามอยู่ ในเมื่อพวกท่านไม่ให้ดิฉันสอบถามในคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ ดิฉันก็จะไปสอบถามในที่อื่น ๆ ในที่สาธารณะ ตามสื่อต่าง ๆ รวมไปถึงกรรมาธิการ งบประมาณค่ะ แล้วดิฉันได้คำตอบเพิ่มเติมจากที่พวกท่าน กรรมาธิการหลาย ๆ ท่านบอกว่า ดิฉันไม่ได้ตั้งใจฟัง ไม่ได้เข้าประชุม หรือว่ามาสาย แต่คนอื่นเข้าใจกันหมด แต่ว่าลองมาดู คำถามที่ดิฉันได้ถามกับทาง สนข. แล้วได้คำตอบมาเพิ่มเติมว่าเป็นสิ่งที่ท่านทราบหรือไม่ ๗ คำถามยังได้คำตอบไม่หมด แต่ว่าเรามาดูกันว่ามีคำตอบอะไรที่เพิ่มเติมมาบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๑ ดิฉันก็พูดถึง เรื่องของเส้นทางเดินเรือว่าเส้นทางเดินเรือที่เป็นคู่ระหว่างเอเชียใต้กับยุโรป-แอฟริกา- ตะวันออกกลางเขาจะมาใช้แลนด์บริดจ์ทำไม เราได้คำตอบแล้วค่ะท่านประธาน ในที่สุด ทาง สนข. ก็ได้มีการส่งข้อมูลให้กับทางกรรมาธิการงบประมาณ แล้วก็ทำให้ดิฉันได้ตัวเลข มาดู ณ วันนี้ค่ะ ปรากฏว่าเวลาที่ สนข. ทำตัวรายงานกลับไม่ได้พิจารณาเส้นทางที่เป็น เส้นทางโดยตรงที่เรือแม่จะเดินทางผ่าน ยกตัวอย่างเช่นเส้นทางเอเชียใต้-ยุโรป ก็พิจารณา เฉพาะเจนไน-รอตเตอร์ดัม แล้วก็บอกว่าเจนไน-รอตเตอร์ดัมไม่มีเส้นทางตรงหรือว่า Direct Service ข้างล่างเจนไน-รอตเตอร์ดัมก็จะพูดถึงเรื่อง Existing through ก็คือ สายเดินเรือตรงที่ไม่ได้มีการถ่ายลำ อันที่ ๒ Existing Transshipment ก็คือการเดินทางของ เส้นทางเดินเรือที่มีการถ่ายลำและ LB ก็คือย่อมาจาก Landbridge ค่ะท่านประธาน ท่านประธานลองดู Existing Transshipment ที่เป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ระยะระหว่าง Land Bridge กับ Transshipment ท่านประธานจะเห็นว่าระยะทางในการที่เอามาใช้นี้ใช้ถึง ๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร นั่นก็คือหมายความว่าเส้นทางจากยุโรปมาเอเชียใต้หรือเอเชียใต้มายุโรป จะต้องมา Transship อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ก่อน ซึ่งทำให้เส้นทางมันถึงได้ยาวนาน แต่อย่าง ที่ดิฉันถาม ถามแล้วถามอีกว่าทำไมถึงไม่ใช่โคลัมโบ แต่วันนี้ก็ได้รับคำตอบแล้วว่า เพราะว่า เอาตัวเจนไนมาคิด แล้วก็เลยไม่ได้เอาโคลัมโบมาเป็นท่าเรือสำหรับการถ่ายลำ ที่ตลก มากกว่านั้น ก็คือเส้นทางเอเชียใต้กับมิดเดิลอีสต์พิจารณาจากคู่ Port ก็คือ Chennai to Bellary หรือว่า to Bellary มา Chennai ปรากฏว่าตัวเลขมันผิดแน่ ๆ ก็คือค่าระวางเรือ หรือว่า Ocean Freight คิดในกรณีที่เป็น Transshipment ไว้แค่ 200 U.S. Dollar ต่อตู้ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ระยะทางมันยาวกว่าการที่เรือแม่วิ่งตรงเป็น Direct Service ถึง ๒ เท่า แต่ว่าค่าระวางกลับลดลง ที่สำคัญค่ะท่านประธาน พอไปเป็นแลนด์บริดจ์ลดลงกว่าเดิมอีก จากถ่ายลำมาประเทศสิงคโปร์ ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร 200 U.S. Dollar พอมาแลนด์บริดจ์ ๘,๐๐๐ กิโลเมตรลดลงมาอีก เหลือแค่ 163 U.S. Dollar ต่อตู้ แบบนี้ดิฉันก็ไม่รู้ว่า ความน่าเชื่อถือยังจะเหลืออยู่หรือไม่ ส่วนเซาท์เอเชีย แอฟริกา ก็ไม่ได้บอกว่าแอฟริกาเป็น Port ไหน ถ้าเส้นทางนี้สรุปแล้วมันไม่ได้มีการเกิดขึ้นจริงหรือว่าสุดท้ายแล้วไม่ได้มีใครมาใช้ เส้นทางนี้จริง ๆ ปริมาณสินค้าที่เราประมาณการไว้นี้จะหายไปประมาณ ๙ ล้านตู้ต่อปี เส้นทางเจ้าปัญหาเส้นทางต่อมาก็คือในเรื่องของเอเชียตะวันออกกับออสเตรเลีย อันนี้ ผิดจัง ๆ เลยท่านประธาน จากข้อมูลที่ทาง สนข. ให้กับทางกรรมาธิการงบประมาณมานี้ เราจะเห็นว่าเส้นทางที่เรียกว่า Existing Transshipment ก็คือการถ่ายลำที่มีอยู่ปกติไม่มี ปกติเขาก็คือใช้เรือแม่วิ่งตรงกันอย่างที่ดิฉันได้อภิปรายไปหลายครั้งหลายหนและพยายาม หาคำตอบจากทาง สนข. ว่าทำไมถึงรวมเส้นทางนี้มา วันนี้ สนข. ก็เอามาให้ดูเองว่า จริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีใครเขาถ่ายลำกันหรอกระหว่างออสเตรเลียกับเอเชียตะวันออก ที่สำคัญ ที่สุดก็คือเส้นทางที่เรือแม่เดินเป็น Direct Service เป็นเส้นทางบริการตรงอยู่นี้ใช้ระยะเวลา น้อยกว่าและใช้ต้นทุนน้อยกว่า ถ้าเป็นไปตามที่ สนข. ใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเส้นทาง เดินเรือ เส้นทางนี้มันไม่ควรจะต้องมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะให้ดิฉันต้องถามไม่รู้กี่รอบ ทั้งในห้องกรรมาธิการ ทั้งกับสื่อสาธารณะ กับกรรมาธิการ กับทาง สนข. ในห้องกรรมาธิการ งบประมาณตั้งหลายรอบทำไม ในเมื่อในที่สุดตัวเลขมันก็ฟ้องแล้วว่าคุณหยิบมาผิด เส้นทาง เดินเรือนี้มันไม่ควรจะต้องรวมตั้งแต่ต้น และถ้าไม่รวมเส้นทางนี้หายไป Net Net ค่ะ ท่านประธาน ๒.๕ ล้านตู้ต่อปี นี่ยังไม่รวมเรื่องของอาเซียนอะไรอีกนะคะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ คำตอบอะไรเพิ่มเติม ที่น่ากังวลค่ะ คำถามถัดมา คำถามที่ ๖ เรื่องของการคำนวณการเติบโต ของท่าเรือ วันนั้นก็เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงไปใช้การเติบโตของท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือตันจุง เปเลปาส ซึ่งทำออกมาแล้วสูงมาก ทาง สนข. ได้ให้คำตอบในห้องกรรมาธิการงบประมาณ บอกว่าไม่ได้ใช้ ทั้ง ๆ ที่ในตัวรายงานได้เขียนชัดเจนว่า ใช้การเติบโตจากท่าเรืออื่น ๆ มา ในการประมาณการ บอกว่าไม่ได้ใช้แล้วค่ะ ใช้ GDP Growth แทน ก็คือการเติบโตของ GDP ของประเทศคู่ค้ามาแทน ซึ่งแน่นอนว่ามันประหลาด เพราะว่าจริง ๆ ก็ใช้ตัวการเติบโตของ Trade Volume ก็ได้แต่ท่านไม่ใช้ ท่านมาใช้ GDP Growth แต่สิ่งที่ประหลาดกว่านั้นก็คือ ถ้าดูปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือมะละกาเราจะเห็นว่ามันโตเพียงแค่ ๑๔ เปอร์เซ็นต์ แต่การเติบโตของสินค้าที่มาผ่านท่าเรือของแลนด์บริดจ์กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่าในช่วง ๕ ปี แบบนี้ดิฉันไม่รู้ว่ายังจะเชื่อตัวรายงาน สนข. ได้หรือไม่ และรายงานฉบับนี้ที่อ้างอิง รายงาน สนข. ไปเต็ม ๆ แบบนี้แล้วเรายังจะเชื่ออะไรได้อยู่หรือเปล่า

    อ่านในการประชุม

  • อันสุดท้าย การประเมินความคุ้มค่า แล้วก็มีตัวความคุ้มค่าทางการเงินที่ สุดยอด คุ้มมาก สามารถคืนทุนได้ภายใน ๒๔ ปี โดยที่มีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ ๘.๖๒ เปอร์เซ็นต์ เราก็ได้ Excel มา สุดท้ายและท้ายที่สุดได้ถึงแม้จะไม่ได้จาก คณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์แต่ก็ได้มาจากกรรมาธิการงบประมาณค่ะ แล้วปรากฏว่ารายได้ ที่เป็นรายได้จากท่าเรือ Over มาก สูงมากค่ะ ก็คือปีแรกบอกว่าจะได้รายได้จากท่าเรือ ๕๘,๐๐๐ ล้านบาท อันนี้ดิฉันคิดว่ากรรมาธิการที่นั่งอยู่ข้างบนไม่มีใครทราบ ยกเว้นที่มาจาก สนข. ถึงจะทราบเรื่องนี้ เพราะว่าในรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ ๒ ยังไม่มีเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ดิฉันอ่านแล้วไม่มีเรื่องของรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน แต่วันนี้มาแล้วค่ะ ๕๘,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท และมาจากรายได้ของท่าเรือ เพียงแค่ ๘,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้นเอง ๕๐,๐๐๐ ล้านบาทที่มาจากการขายน้ำมันนี้มันจะ เป็นไปได้อย่างไร ท่านประธานลองคิดดูถ้าเราไม่มีโรงกลั่นเอง กำไรที่เราจะได้จากการขาย น้ำมันต่อ ๑ ตันอยู่ที่ประมาณแค่ ๑๐ ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น ถ้าจะกำไร ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ก็คือจะต้องมีการขายน้ำมันประมาณ ๑๔๐ ล้านตันต่อปี ๑๔๐ ล้านตันต่อปี คิดเป็น ๓ เท่า ที่สิงคโปร์ขายอยู่ตอนนี้ ๔๕ ล้านตันต่อปีค่ะท่านประธาน ก็หมดคำจะพูดว่าแล้วเราศึกษา อะไรกันอยู่ รายงานฉบับนี้กำลังรับรองความผิดพลาดอะไรกันอยู่ แล้วดิฉันกังวลมากจริง ๆ ท่านอาจจะไม่กังวล ไม่อาย แต่ดิฉันอายเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องออกไปพูดกับต่างชาติ เรื่องโครงการนี้โดยที่เนื้อในมันเป็นแบบนี้ค่ะท่านประธาน จริง ๆ แล้วไม่ได้ทำเพื่อที่จะเป็นฝ่ายค้านแล้วต้องค้านทุกเรื่อง แต่ว่าเราก็ยังต้องรักษา ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีของเราเอาไว้บ้างค่ะ และดิฉันเองไม่ได้มีปัญหา กับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และยินดีพร้อมใจถ้าจะมีการรื้อรายงานของ สนข. และรื้อรายงาน ของกรรมาธิการใหม่อีกครั้งหนึ่งดิฉันก็จะยินดีมาก ๆ และถ้าเกิดสามารถที่จะศึกษาใหม่ มีแนวทางใหม่ขึ้นมาแล้วมันคุ้มค่าดิฉันก็ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการใหม่นั้นค่ะ ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ๓๗๑ แสดงตนค่ะ

    อ่านในการประชุม