นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือที่ เรียกว่า กอช. มีแนวคิดที่ดีคือพยายามจะสร้างระบบบำนาญให้กับเกษตรกร ผู้ค้าขายรายย่อย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นสิ่งที่ควรจะสนับสนุน คราวที่แล้วเราก็ได้มีการพูดถึงว่า อุปสรรคอันหนึ่งที่ทำให้กองทุนการออมแห่งชาติไม่สามารถขยายได้เท่าที่ควรก็เนื่องจาก เงินสะสมของรัฐบาลยังมีปริมาณที่น้อยเกินไป ทราบจากทาง กอช. ว่าปัจจุบันได้ปรับเงิน สะสมสูงสุดจากเดิม ๑,๒๐๐ บาทต่อปี กลายเป็น ๑,๘๐๐ บาท ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ดีถึงเราจะเอาใจช่วย แต่ผลประกอบการของ กอช. ที่พวกเราเห็นในรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ยังไม่ดีเท่าที่ควรครับท่านประธาน ที่บอกว่าไม่ดีเท่าที่ควรถ้าเราดูจาก ตัวเลขภาพรวมเลย มีเงินทุนสะสมที่รัฐบาลมีเงินลงทุนที่ทางสมาชิกลงทุนไป แล้วก็มี เงินสะสมจากทางรัฐบาลรวมแล้ว ๑๒,๐๐๐ ล้านบาทเศษ แต่ปรากฏว่าสิ้นปี ๒๕๖๕ เงินลงทุนจำนวนนี้ก็ลดลงเหลือเพียง ๑๑,๖๘๐ ล้านบาทเศษ เท่านั้นเอง คือขาดทุนไป ๓๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งถ้าหากว่าเป็นกองทุนของเอกชน กองทุนที่มี ผลประกอบการลักษณะนี้เป็นกองทุนที่น่าจะไม่มีคนลงทุน เพราะว่าเงินต้นกลับลดลง ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลนะครับ จากการที่ผมได้ลองศึกษาในรายงานฉบับนี้ก็เห็นปัญหาว่าสาเหตุ ที่ขาดทุนก็คงจะมาจาก ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน อีกส่วนหนึ่ง ก็คือเรื่องของการลงทุนของกองทุน ถ้าดูการลงทุนของกองทุนก็จะพบว่าที่ผ่านมาการลงทุน ของกองทุนขาดทุนมาโดยตลอด ผมขออนุญาตยกตัวอย่างนะครับ จากเอกสารในหน้า ๘๙ กำไรขาดทุนสุทธิจากเครื่องมือการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน ในเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๕ ขาดทุน ๒๑๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๔ ก็ทำนองเดียวกันครับ ขาดทุน ๕๙ ล้านบาทเศษ ก็แสดงว่าเงินลงทุนต่าง ๆ ที่ทาง กอช. ไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ พันธบัตรรัฐบาล หรือจะไปซื้อเงินลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ไปลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ผลประกอบการออกมาไม่ดี ก็คือขาดทุนติดต่อกันมาโดยตลอด เป็นภาระสำคัญอันหนึ่ง ที่ทำให้ความน่าสนใจของกองทุนลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องของ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในปี ๒๕๖๔ ก็อยู่ที่ ๑๖๐ ล้านบาท ปี ๒๕๖๕ ก็กลายเป็น ๑๘๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้นโดยตลอด ทำให้รายได้ที่เคยได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก รายได้ที่ได้จากเงินปันผล หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน ส่วนในปี ๒๕๖๕ ได้เงินปันผลเยอะหน่อย ได้ดอกเบี้ยเยอะหน่อยก็มีเหลือ แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนสูงกว่าดอกเบี้ยกับเงินปันผลมาโดยตลอดหลาย ๆ ปี ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลครับ ผมก็ลองไปดูในรายจ่ายที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็พบว่ามี ๓-๔ ตัวที่ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ทาง กอช. ให้ข้อมูลกับเราว่าทำไมมันถึงเพิ่มขึ้นเยอะอย่างนั้น อย่างเช่น มีค่าวัสดุสำนักงาน ในหน้า ๑๐๙ จากเดิมปี ๒๕๖๔ อยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ปี ๒๕๖๕ ก็กลายเป็น ๓.๘ ล้านบาท ค่าเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูล Internet ในปี ๒๕๖๔ ไม่มี แต่ว่าในปี ๒๕๖๕ กลายเป็น ๑๒.๘๗ ล้านบาท ผมเข้าใจว่าตัวนี้น่าจะเป็นค่าเช่า Cloud ทำไมถึงมีค่าใช้จ่ายสูงถึง ๑๒ ล้านบาทเศษ ก็เป็นสิ่งที่ขออนุญาตให้ทาง กอช. ให้ข้อมูล กับเราด้วยนะครับ แล้วก็ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์องค์กรในปี ๒๕๖๔ อยู่ที่ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๖๕ ก็กลายเป็น ๓.๕๖ ล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีความกังวลว่าถ้าหากว่าในปีใดรายได้จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผลไม่ได้สูง เท่าที่ควรมันจะเกิดยอดติดลบจำนวนมากได้ เพราะว่ามีต้นทุนในการบริหาร ๑๘๕ ล้านบาท แล้วยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก มันก็ค่อนข้างน่ากลัว ก็เลยขออนุญาตฝากความกังวล จากท่านประธานไปถึงผู้บริหารกองทุน กอช. ว่าสภาแห่งนี้อยากสนับสนุนกองทุน กอช. แต่อยากเห็นการปรับปรุงในเรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน การออมแห่งชาติให้มีความเหมาะสม ให้มีประสิทธิภาพดีกว่านี้ แล้วก็อยากจะให้มีการลงทุน ในลักษณะที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แล้วก็ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้ เพราะปัจจุบันการลงทุน ของท่านผลตอบแทนไม่ดี ก็ขออนุญาตฝากความกังวล ๒ ประเด็นนี้ไปยังผู้บริหารกองทุน การออมแห่งชาติ กอช. ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ประเด็นที่ผมมีข้อสงสัยก็คือในเรื่องที่ทางท่านผู้ชี้แจงได้แจ้งต่อสภา แห่งนี้ว่าจริง ๆ แล้วการบริหารงานของกองทุนไม่ได้ขาดทุน แต่เป็นเพราะว่าวิธีการลงบัญชี ที่นำเงินสมทบไปรวมเป็นเงินทุนด้วยทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าขาดทุน แต่ในสายตาของ ประชาชน ในสายตาของนักลงทุน การจะดูว่าการลงทุนนั้นกำไรหรือขาดทุนจะต้องดูจาก เงินทุนตั้งต้นหลังจากบริหารงานผ่านไปแล้ว จะเป็น ๑ ปีก็ดี ๒ ปีก็ดี หรือ ๖-๗ ปีก็ดี เงินที่ลงไปเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าเพิ่มขึ้นก็ถือว่ารายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย หรือจะเรียกว่า กำไรก็ได้ แต่ถ้าเงินลงทุนที่ลงไปมียอดลดลง ลักษณะนั้นก็ต้องถือว่าขาดทุน ในกรณีนี้ ประชาชนมีเงินสะสมอยู่ ๗,๕๐๐ ล้านบาท ตัวเลขกลม ๆ รัฐก็เพิ่มเข้าไป ๒,๕๐๐ ล้านบาท รวมแล้วเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทเศษ แต่ก็รวมกับส่วนอื่น ๆ ด้วยก็กลายเป็นทั้งสิ้น รวมเงินทุนที่ได้รับเป็น ๑๒,๐๓๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ แต่รวมเงินกองทุนหลังจากที่มี การลงทุนแล้ว ปรากฏว่าเหลืออยู่ ๑๑,๖๘๓ ล้านบาท เหมือนกับว่าตั้งต้นที่ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่เมื่อสิ้นงวดเหลือ ๑๑,๖๘๓ ล้านบาท ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปจะได้จากรัฐสมทบ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ถือว่าเป็นเงินทุนนะครับ ถ้าหากว่ามันลดลงก็ต้องถือว่าขาดทุน ผมไม่อยากจะให้ไปดูว่าส่วนที่รัฐเอามาให้เป็นผลตอบแทนเลย เพราะว่าจริง ๆ มันเป็น เงินทุน ถ้าหากว่าเราไปวัดผลตอบแทนของกองทุนโดยนำเงินที่รัฐสะสมนี้เป็นผลตอบแทน ผมคิดว่าไม่น่าจะสื่อถึงความสามารถในการบริหารกองทุนที่ดีได้ จะรบกวนท่านลองชี้แจง ประเด็นนี้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม จิตติพจน์ หมายเลข ๕๐ แสดงตนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ จิตติพจน์ ๕๐ เห็นด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ พระราชกำหนดฉบับนี้ผมมีข้อกังวล อยู่ประมาณ ๓-๔ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ก็คือวิธีที่กระทรวงการคลังตราพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมา พระราชกำหนดฉบับนี้ออกมาเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ในขณะที่มีการยุบสภา ในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งโดยปกติแล้วกฎหมายที่มีความสำคัญตามธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติตามมารยาทแล้วมักจะต้องรอให้รัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่เป็นคนพิจารณา แต่จะด้วยเงื่อนไข เงื่อนเวลาที่ทางกระทรวงการคลังชี้แจงว่าจะต้องมีการตราพระราชกำหนด ให้ทันภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ก็พอฟังได้นะครับ แต่ฟังแล้วก็ดูแปลก ๆ อยู่ ก็ไม่อยากจะให้การตราพระราชกำหนดของรัฐบาลของไทยในอนาคตจะใช้กระบวนการ เช่นนี้อีกเพราะว่าน่าจะไม่เหมาะสมครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเรื่องประเด็นว่ามี Deadline มีขีดเวลา มีเงื่อนเวลาว่าจะต้องอนุมัติ ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ หรือไม่ เพื่อนสมาชิกก่อนหน้านี้ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านนะครับ ไม่เสียหาย ท่าน ว่าที่ร้อยตรี สมชาติท่านก็ได้อภิปรายว่าท่านไม่พบว่า มีเงื่อนกำหนดว่าจะต้องมีกฎหมายภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ เพราะฉะนั้น ในแง่ของความจำเป็นเร่งด่วนก็มีข้อสงสัย ก็อยากให้ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงให้พวกเราฟัง ว่าจริง ๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างนั้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้จากการที่รัฐบาลไทยได้เข้า ร่วมกับ Global Forum ในปี ๒๕๖๐ แล้วก็ทราบกำหนดการเองอยู่แล้วว่าจะต้องมีกฎหมาย ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ท่านมีเวลาถึง ๖ ปีนะครับ เหตุไฉนจึงไม่ได้มีการพยายามที่จะ ตราพระราชบัญญัติล่วงหน้าให้ทันท่วงที กลับมาตราพระราชบัญญัติแล้วยื่นต่อสภาแห่งนี้ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งใกล้เวลายุบสภาเต็มที เพราะว่าต่อให้ท่านไม่ยุบสภา ครบกำหนดก็เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยเงื่อนเวลาตามหลักการปกติแล้วพระราชบัญญัติ ถ้ายื่นภายในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ แล้วเหลือเวลาสั้น ๆ อย่างไรก็ตราไม่ทันอยู่แล้ว เหตุไฉนจึงไม่ยื่นก่อนหน้านั้นในต้นปี ๒๕๖๕ หรือปลายปี ๒๕๖๔ ก็ขออนุญาต ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ครับ สำหรับพระราชกำหนดฉบับนี้ก็มีปัญหาใหญ่ ๆ อยู่ ๒-๓ ข้อ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ มิได้มีการนำเรื่องของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ มาใส่เลย ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดนะครับ เนื่องจากเพื่อนสมาชิก มีอภิปรายไปหลายท่าน

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งที่มิได้มีการนำมาบัญญัติไว้ในพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็คือเรื่องของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กระบวนการ ดำเนินการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐย่อมกระทบกระเทือนต่อบุคคล ซึ่งการใช้อำนาจ ทางปกครองนั้นต้องเกิดความเป็นธรรม อย่างน้อยที่สุดต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธี ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้วนะครับ แต่ผมไม่เห็นรายละเอียดเลยนะครับว่าพระราชกำหนดฉบับนี้มีส่วนใดที่จะทำให้สบายใจได้ว่า จะมีการใช้อำนาจทางปกครองด้วยความเป็นธรรม แต่สิ่งที่เห็นก็คือพระราชกำหนดฉบับนี้นั้น มีการตราขึ้นมาโดยเพียงเขียนเป็นหลักการคร่าว ๆ แต่ในเรื่องของรายละเอียดของ การใช้อำนาจของรัฐนั้นก็มีระบุในมาตรา ๖ บอกว่า ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง หรือประกาศ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้มีผลบังคับใช้ได้ ทำให้กระบวนการ ตราพระราชบัญญัติในการออกกฎหมายที่ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐสภาแห่งนี้ ควรจะเป็น หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้กลับถูกโอนไปส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจจะ ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยซึ่งให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เท่าไรนะครับ ก็เป็น ๓-๔ ประเด็น ที่ผมขออนุญาตฝากเป็นคำถามและข้อกังวลไปยัง ท่านผู้ชี้แจงครับ ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ แต่เดิมผมไม่ได้คิดว่าจะอภิปราย เกี่ยวกับเรื่องรายงานการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับ กสทช. แต่พอได้เห็น เอกสารก็ค่อนข้างจะตกใจเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลที่ผมตกใจ ก็เพราะว่า กสทช. เป็นหน่วยงาน เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์ระดับหลายแสนล้าน แต่ปรากฏว่าเมื่อทำบัญชีมาแล้ว ผู้ตรวจสอบบัญชีกลับมีปัญหาในการตรวจสอบบัญชีเป็นอย่างยิ่งนะครับ ต้องขออนุญาตใช้คำว่า มีปัญหาเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่ามีปัญหาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ เวลาครับ การตรวจสอบบัญชีความจริงแล้วใช้เวลาไม่เกิน ๑๒๐ วัน ถ้าเป็นบริษัทเอกชนปกติ ก็ให้ ๕ เดือน หรือประมาณ ๑๕๐ วัน แต่ถ้าเป็น กสทช. ให้เพิ่มอีก ๑ เดือน เป็น ๑๘๐ วัน แต่ปรากฏว่าครบ ๖ เดือนแล้วผู้ตรวจสอบบัญชีก็ยังตรวจไม่เสร็จครับท่านประธาน ตรวจเสร็จ ก็ต้องข้ามมาอีกปีหนึ่งเป็นปี ๒๕๖๕ ในเดือนกันยายน ใช้เวลากว่า ๒๑ เดือน จากเดิมที่ต้อง ใช้เวลาแค่ ๖ เดือน แสดงให้เห็นว่าต้องมีอุปสรรคอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเข้าถึงข้อมูลหรืออุปสรรคอื่น ๆ จึงมีอุปสรรคในการตรวจสอบบัญชี เพิ่งมาตรวจสอบ บัญชีแล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีการตรวจสอบพบ ข้อบกพร่อง เมื่อมีการแจ้งต่อผู้บริหาร ผู้บริหารก็ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จนะครับ และโดยทาง ผู้สอบบัญชีมีเขียนหมายเหตุไว้ว่า ณ วันที่มีการรายงานแจ้งผู้บริหารไปแล้ว แต่ผู้บริหาร ก็ยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ผมก็ไม่มั่นใจว่าจนถึงวันที่พวกเราอภิปรายอยู่นี้ทาง กสทช. ได้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จหรือยัง หรือมีอุปสรรคอะไร ก็จะฝากทาง สตง. ช่วยแจ้ง พวกเราด้วยว่า ณ วันนี้ทาง กสทช. ได้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จแล้วหรือไม่ และเมื่อดู รายละเอียดของรายงานนะครับ ผมขออนุญาตไปแค่บางประเด็น แล้วก็จะพยายามไม่ให้ซ้ำ กับทางท่านผู้อภิปรายผู้อื่น มี ๓-๔ ประเด็น แต่ผมขออนุญาตกล่าวถึงในหน้า ๓ และหน้า ๔ ปรากฏว่ารายงานประจำปีที่ กสทช. ยื่นต่อสภาแห่งนี้ภายใน ๑๒๐ วัน และยื่นต่อ ครม. ด้วย มีส่วนแตกต่างจากรายงานการเงินที่ผู้สอบบัญชีสอบแล้วที่ยื่นให้พวกเราพิจารณาวันนี้อย่างมี นัยสำคัญจำนวนมากอยู่ในหน้า ๓ และหน้า ๔ นะครับ ซึ่งผมก็ขออนุญาตกล่าวถึงเฉพาะ ๓ ประเด็นก็แล้วกันเป็นตัวอย่าง ประเด็นหนึ่งที่มีความแตกต่างก็คือค่าใช้จ่ายตามคำสั่ง ศาลปกครองสูงสุด ในการรายงานประจำปีของ กสทช. ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่าไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ของผู้สอบบัญชีสอบแล้วมีค่าใช้จ่าย ๗๗๑.๖๗ ล้านบาท แต่ส่วนนี้ สามารถอธิบายได้ครับ เนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเพิ่งมีคำพิพากษา ในปี ๒๕๖๔ เมื่อมีคำพิพากษาในปี ๒๕๖๔ ก็คงจะต้องใช้เวลา วันที่ลงวันที่ในคำพิพากษา กับวันที่อ่านคำพิพากษาอาจจะไม่ใช่วันเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาในปี ๒๕๖๔ ย่อมไม่ปรากฏ ในรายงานการเงินของ กสทช. ก่อนที่จะมีการตรวจสอบบัญชี ส่วนนี้ผมคิดว่าให้ความเป็นธรรมกับ กสทช. สามารถอธิบายได้เนื่องจากคำพิพากษายังไม่ออกครับ แต่อีก ๒ ประเด็น ผมเห็นแล้ว ผมก็ตกใจมาก อย่างเช่นในหน้า ๔ ค่าสาธารณูปโภค รายงานประจำปีก่อนตรวจสอบบัญชี ๘๑.๘๖ ล้านบาท ขณะที่ สตง. ตรวจสอบแล้วบอกว่าลงบัญชีได้แค่ ๗๘.๗๕ ล้านบาท ถามว่าสาธารณูปโภคนี่เป็นค่าใช้จ่ายอะไรครับท่านประธาน เป็นเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ส่วนนี้ยังมีปัญหาความคลาดเคลื่อนในการลงบัญชี ผมก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะจริง ๆ เท่าที่เคยตรวจสอบบัญชี เคยอ่านบัญชีจำนวนมาก ยังไม่ค่อยเคยเห็นว่ามีบริษัทไหน หรือองค์กรใดมีปัญหาในการลงบัญชีค่าสาธารณูปโภคนะครับ อันนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ ก็อยากจะให้ทาง สตง. ให้ข้อมูลกับเราเพิ่มเติมว่าคลาดเคลื่อนตรงไหน ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องของค่าใช้สอยครับท่านประธาน กสทช. บอกว่ามีค่าใช้จ่าย ๑,๔๒๒.๙๗ ล้านบาท ในขณะที่ สตง. ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าค่าใช้จ่ายจริง ๆ ควรจะเป็น ๑,๑๑๘.๒๓ ล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กสทช. ลงค่าใช้จ่ายเกินไป ๓๐๔.๗๔ ล้านบาท ซึ่งถามว่าค่าใช้สอย เป็นอะไร ก็อยู่ในหมายเหตุที่ ๔๓ ในหน้า ๔๒ ท่านประธานครับ มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในประเทศ มีเรื่องของค่าเช่า มีค่าใช้จ่ายของการจ้างที่ปรึกษา การบริจาคการกุศล ค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ความจริงแล้วไม่น่าจะมีความคลาดเคลื่อน แต่สุดท้ายก็คลาดเคลื่อนไปถึง ๓๐๔.๗๔ ล้านบาทเศษ ซึ่งก็น่าเสียดายที่ในรายงานการตรวจสอบ บัญชีนี้มีหมายเหตุลงเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ผู้ตรวจสอบบัญชีก็คือ สตง. คิดว่าสมควรจะลงหรือว่า ลงได้ แต่ส่วนที่ลงไม่ได้ไม่ได้นำข้อมูลมาใส่ ถ้าในคราวหน้าท่านได้นำข้อมูลมาแจ้งต่อเราว่า ค่าใช้จ่ายที่ สตง. เห็นว่าลงไม่ได้มีอะไรบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ครับ ก็ฝากทาง สตง. ให้ข้อมูล กับเราว่าประสบปัญหาอะไรในการตรวจสอบบัญชี เพื่อที่สภาแห่งนี้จะช่วยผลักดัน ให้การตรวจสอบบัญชีของ กสทช. สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา ๖ เดือนหลังจาก ที่สิ้นงวดบัญชี เพื่อให้การพิจารณาของสภาเป็นไปอย่างทันเหตุการณ์และสามารถแก้ไข ปัญหาให้พ่อแม่ พี่น้องประชาชนได้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ตามที่ท่านผู้ชี้แจงได้ชี้แจงกระผมมีข้อสงสัย เนื่องจาก ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ กสทช. กำหนดว่าในการรายงานของ กสทช. จะต้องมีรายงานของผู้สอบบัญชีเสนอต่อสภาและเสนอต่อ ครม. ภายใน ๑๒๐ วัน ใช่ไหมครับ แต่ทาง สตง. แจ้งว่าทาง สตง. ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับในส่วนนี้ ผมก็เลย สงสัยว่าถ้าเช่นนั้นแสดงว่าต่อไปนี้งบสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีแล้ว ต่อไปอย่างไรก็ตามจะไม่มีทางทำได้ตามกำหนดเวลาตามมาตรา ๗๖ ใช่หรือไม่ ซึ่งตามความเห็นของผมนะครับ เมื่อมีกฎหมาย ๒ ฉบับ ถ้ามีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. แจ้งว่าต้องได้รายงานการสอบบัญชีมารายงานต่อสภา ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๗๖ ย่อมมีความสำคัญ ย่อมเหนือกว่าข้อกำหนด ตามกฎหมายทั่วไปของ สตง. ที่บอกว่าตรวจให้เสร็จภายใน ๑๘๐ วัน ก็จะขออนุญาต ฝากความกังวลไปนะครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วการปฏิบัติตามกฎหมายต้องปฏิบัติให้ชอบด้วย กฎหมายทุกฉบับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ประเด็นเกี่ยวกับรายงาน ประจำปี ๒๕๕๘ กับปี ๒๕๕๙ ของคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กอช. ผมมีข้อคิดเห็นดังนี้ครับ โดยหลักการแล้วกองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีแนวคิดที่ดีนะครับ เพราะต้องการที่จะให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้ที่ประกอบการค้า เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือผู้ประกอบอาชีพเป็นวิศวกร สถาปนิก ที่ไม่มีโอกาสจะเข้าถึงระบบบำนาญ หลังจากที่เกษียณ สามารถที่จะออมเงินกับกองทุนแล้วก็จะมีเงินที่คล้าย ๆ กับบำนาญ เช่นเดียวกับที่ข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีกันอยู่นะครับ แต่อย่างไรก็ดีโดยโครงสร้างของ กองทุนที่จัดเอาไว้ที่ระบุว่าระหว่างอายุ ๑๕-๓๐ ปีจะมีเงินสมทบจากภาครัฐปีละไม่เกิน ๖๐๐ บาท หรือสมทบให้ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน ๖๐๐ บาท ระหว่างอายุ ๕๐-๖๐ ปีจะมีเงินสมทบให้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่เกินปีละ ๑,๒๐๐ บาทต่อปี โดยโครงสร้างตัวนี้ก็จะทำให้ประชาชนที่สนใจเข้ารวมกับกองทุน ถ้าเขาคิดถึงผลตอบแทน เขาก็คงจะคิดว่าถ้าเงินสะสม ๖๐๐ บาท ภาครัฐก็สนับสนุนสมทบเข้ามาอีก ๖๐๐ บาท เป็นจุดที่เขาได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าอายุ ๕๐-๖๐ ปี เงินสะสม ๑,๒๐๐ บาท เงินสมทบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๑,๒๐๐ บาท ก็เป็นจุดที่จะได้ผลตอบแทนสูงสุด ด้วยเหตุนี้จึงอาจจะเป็น สาเหตุที่เราพบว่ากองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อพิจารณาเป็นรายต่อบุคคลมียอดเงินที่ต่ำมาก ถ้าอยากจะให้กองทุนนี้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องเพดานนี้บางส่วนนะครับ สำหรับในรายงานฉบับปี ๒๕๕๘ ผมมีข้อสงสัยอยู่ ๒-๓ ประการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการลงทุนนะครับ ในหน้า ๖๑ มีการระบุว่า มีเงินลงทุนทั้งสิ้น ๑,๑๕๔.๕๗๓ ล้านบาท ในขณะที่หน้า ๙ ซึ่งเป็นข้อมูลตอนตั้งกองทุน ขึ้นมาใหม่ ๆ ระบุว่า ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม กอช. มีเงินสะสมของสมาชิกรวม ๔๘๕.๔๕ ล้านบาท เงินสมทบจากรัฐบาล ๒๖๓.๐๘ ล้านบาท รวมแล้วก็ ๗๐๐ กว่าล้านบาทเท่านั้นเองนะครับ ก็มีตัวเลขที่แตกต่างกันอยู่ก็เลยสงสัยว่าในตอนเริ่มต้นนี่กองทุนเกิดจากเงินสะสมของสมาชิก บวกกับเงินสมทบของภาครัฐรวมแล้ว ๗๐๐ กว่าล้านบาท แต่เหตุไฉนภายใน ๖ เดือนนี่นะครับ กลายเป็น ๑,๑๕๔ ล้าบาท ก็เป็นข้อสงสัยที่ผมขออนุญาตสอบถามครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกข้อหนึ่งก็เป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนะครับ ซึ่งในมาตรา ๒๐ (๖) ระบุว่าคณะกรรมการสามารถที่จะมอบหมายหรือเลือกสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลทำหน้าที่จัดการบริหารกองทุนของกองทุน กอช. ได้ ก็เลยมีข้อสงสัยนะครับว่า จนถึงปัจจุบันนี้คณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งหรือว่าจ้างผู้ใดให้บริหารกองทุน กอช. ไม่ว่าจะ บางส่วนหรือเท่าไรก็แล้วแต่นะครับ มีการดำเนินการแล้วหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ขออนุญาต ฝากท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจงด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็เป็นเรื่องของรายงานที่ค่อนข้างจะล่าช้ามาก ณ วันนี้ เป็นปี ๒๕๖๖ แต่รายงานที่ส่งเข้ามาให้เราพิจารณากลับเป็นของปี ๒๕๕๘ กับของปี ๒๕๕๙ ซึ่งค่อนข้างจะช้ามาก ทั้ง ๆ ที่ในมาตรา ๕๒ ของพระราชบัญญัติ กอช. นี้ก็บอกว่า การรายงานต่อคณะรัฐมนตรีให้รายงานอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องผลการดำเนินงานของ กอช. นั้นเป็นสิ่งที่คณะรัฐมนตรีให้ความสนใจและประสงค์จะทราบ อย่างทันเหตุการณ์เลยให้รายงานทุก ๆ ๑ เดือน อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง และถ้าหาก ดูมาตราอื่น ๆ ต่อมาก็จะมีระบุคือจากมาตรา ๕๓ ถึงมาตรา ๕๖ ก็จะมีระบุครับว่า เรื่องงบการเงินให้ทำให้เสร็จภายใน ๑๒๐ วัน หลังจากนั้นก็ให้ส่งให้ผู้สอบบัญชี ซึ่งกรณีนี้ ก็คือ สตง. สตง. ก็ต้องตรวจให้เสร็จภายใน ๑๕๐ วัน หลังจากนั้นก็จะต้องมีการทำรายงาน ฉบับที่ส่งมาให้พวกเราทั้งปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙ ให้กับสภาแห่งนี้ภายใน ๑๘๐ วัน เพราะฉะนั้นมันก็ล่าช้ามามากไปหลายปี เลยขออนุญาตปรึกษาท่านประธานครับว่า ถ้าหากว่ารายงานของท่านมีพร้อมอยู่แล้ว เพราะตามกฎหมายกำหนดว่าท่านต้องทำ จากปี ๒๕๖๐ จนถึงปี ๒๕๖๕ ถ้าท่านจะเสนอเข้ามาพร้อมกัน แล้วเราก็พิจารณา พร้อม ๆ กันไปเลยตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ถึงปี ๒๕๖๕ เพื่อที่จะให้การพิจารณาในเรื่องของ ผลประกอบการ หรือรายงานการทำงานของคณะกรรมการ กอช. เป็นไปอย่างทันท่วงที ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าที่เราจะมาพิจารณารายงานสำหรับปี ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ ในปี ๒๕๖๖ ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ขออนุญาตฝากเป็นความกังวลจากท่านประธาน ไปถึงผู้ชี้แจงด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ เกี่ยวกับรายงานการเงินแผ่นดิน ก็เป็นรายงานการเงินในภาพรวมของรัฐบาลไทย ไม่รวมธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้อง ขอบคุณท่านผู้ที่อภิปรายก่อนหน้านี้ที่ได้ดูโดยภาพรวมแล้ว ในส่วนของผมมีประเด็นที่มี ข้อสงสัย ผมดูรายงานการเงินแผ่นดิน ท่านประธานครับ ในหน้า ๖๓ ระะบุในตารางบอกว่า หนี้สาธารณะจำนวน ๑๐,๓๗๓,๙๓๗ บาท แต่พอผมดูในเอกสารอีกฉบับหนึ่ง เป็นเอกสาร ของกรมบัญชีกลางเช่นเดียวกัน เป็นรายงานการเงินแผ่นดิน เป็นบทวิเคราะห์ อยู่ในหน้า ๔๑ กลับปรากฏว่าหนี้สาธารณะที่ปรากฏอยู่ในเอกสารจะเขียนเป็นตัวเลข ๑๐,๓๘๗,๕๕๕ บาท กลายเป็นว่าเอกสาร ๒ ฉบับที่ออกจากกรมบัญชีกลางเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าตัวเลข ไม่ตรงกันครับ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเอกสารตัวไหนจะถูกต้องกว่า แต่เบื้องต้นในการอภิปรายก็จะขออนุญาตใช้ข้อมูลตามรายงานการเงินแผ่นดิน ก็คือตัวเลข ๑๐.๓๗ ล้านล้านบาท ท่านประธานครับ สาเหตุที่ผมให้ความสนใจกับหนี้สาธารณะเป็นพิเศษ ก็เนื่องจากว่าในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงอย่างน่าตกใจครับ จาก ๗.๘ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓ ๙.๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ ส่วนในปี ๒๕๖๕ ก็กลายเป็น ๑๐.๓๗ ล้านล้านบาท มีอัตราการเพิ่มที่สูงมาก ถ้าคิดเป็นสัดส่วน ในปีปัจจุบันถ้าใช้ตัวเลข ๑๐.๓๗ ก็จะเป็นอัตรา ๖๐.๔๑ เปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้ตัวเลข ๑๐.๓๘ ก็จะเป็น ๖๐.๔๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ที่กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่สูงก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ปี ๒๕๖๑ ในมาตรา ๕๐ คณะกรรมการนโยบายการเงิน การคลังได้กำหนดในปี ๒๕๖๑ ว่าสัดส่วน หนี้สาธารณะต่อ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมควรจะเป็นแค่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วย ความกังวลว่าเมื่อมีการกู้เงินมาก ๆ ก็จะทำให้สัดส่วนตัวนี้เพิ่มขึ้น คณะกรรมการนโยบาย การเงินการคลัง โดยมีท่านนายกรัฐมนตรี ก็คือ พลเอก ประยุทธ์ ท่านก็ได้ขยายสัดส่วน หนี้สาธารณะ จากไม่เกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับการกู้เงิน ซึ่งก็ทำให้ปัจจุบันอยู่ที่ ๖๐.๔ เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ ตัวเลขตัวนี้เป็นตัวเลข ณ สิ้นกันยายน ปี ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบันนี้ก็มีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมคิดว่าก็คงจะเข้าใกล้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ไปเรื่อย ๆ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เราจะต้องระมัดระวัง สาเหตุที่บอกว่าจะต้อง ระมัดระวังก็เนื่องจากว่าโดยภาพรวมใน World Bank ธนาคารโลกเคยทำผลวิจัยออกมา บอกว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศไทย ไม่ควร จะเกิน ๖๔ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ Cato Journal ท่านก็ไปสังเคราะห์มาจาก หลาย ๆ รายงานแล้วก็มีข้อเสนอแนะไว้ว่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา อัตรานี้ไม่ควรจะเกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยของเราก็เกินไปเรียบร้อยแล้ว แล้วอัตรานี้นะครับ ในประเทศไทยเองก็เคยมีนักวิจัยของไทย ขออนุญาตเอ่ยนาม ไม่เสียหายครับ ท่านตัง กาญจนพาสน์ และคณะ ก็ได้ศึกษาเศรษฐกิจของประเทศไทย แล้วก็ได้มีผลวิจัยออกมา ในปี ๒๕๖๓ บอกว่าอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ประมาณ ๔๒ เปอร์เซ็นต์ จะเป็นอัตราที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย อันนี้ก็เทียบให้ดูว่าต่างประเทศ ดูอย่างไร แล้วคนไทยเองดูอย่างไร แล้วปัจจุบันนี้มีอีกทีหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็คือ ประเทศสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปมีนโยบายว่าประเทศที่อยู่ใน EU อยู่ใน Common Currency จะต้องมีอัตราหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ Public Debt ต่อ GDP ไม่เกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินก็จะต้องลดลง ไม่ลดลงในอัตรา ๑ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ก็ต้องลดลง ในอัตรา ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะฉะนั้นประเทศไทยของเราก็อยู่ในสถานะที่น่ากังวล พอสมควร แต่อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และการใช้จ่ายงบประมาณในปัจจุบัน ผมยังเชื่อว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมก็จะยังขึ้นต่อไปอีก อาจจะเข้าใกล้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ภายใน ๒ ปี หรือ ๓ ปี ก็คงจะเข้าใจอัตรานั้น ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยความเห็นส่วนตัวของผม ผมมีความเห็นว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ถ้าทำได้ ในอนาคตก็ไม่ควรจะเกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ผมกล่าวเช่นนั้นก็เนื่องจากได้ดูจาก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็มีอัตราส่วน หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ ๔๑ เปอร์เซ็นต์เศษ อัตรา ๔๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นอัตราที่ เป็นไปได้ ประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีเศรษฐกิจไม่ต่างจากเรามากนัก สมัยก่อนก็อยู่ในระดับ เดียวกันใกล้ ๆ กับประเทศไทย เราก็เคยแข่งขันกับประเทศอินโดนีเซียมาก่อน ก็มีอัตราส่วน หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ ๔๑ เปอร์เซ็นต์เศษ แล้วก็มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มีการประเมินว่าในระยะเวลาอนาคตอันใกล้ ประเทศอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจ ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลกในเวลาไม่นาน ประเทศไทยของเราก็ไม่ทราบว่าจะอยู่ที่อันดับ เท่าไร ก็มีความกังวลท่านประธานครับ ก็อยากจะเห็นของเรามีความเจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกัน อัตราหนี้สินต่อ GDP มีผลต่อการกู้เงินของรัฐบาลไทย การเข้าถึงเงินกู้ คนที่เป็นหนี้มากจะกู้ก็ต้องกู้ดอกเบี้ยแพง เพราะฉะนั้นการมีอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP สูง ๆ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย ถ้าหากว่าสามารถทำได้ก็ต้องช่วยกันหาทางแก้ไข แต่ในขณะที่เราต้องใช้เงินอยู่ในขณะนี้ก็อาจจะไม่สามารถลดทันที แต่การใช้จ่ายงบประมาณ จะต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสมด้วยความระมัดระวัง การใช้จ่ายงบประมาณจะต้อง ไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายในเรื่องที่มีผลต่อการปรับโครงสร้างประเทศ ทำอย่างไรให้ประเทศ ของเรามีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้ประเทศของเรามีผลิตภาพสูงขึ้น ทำอย่างไรให้เรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำอย่างไรให้คนไทยมีการศึกษาที่ดีขึ้น มีทักษะ มี Skill ที่ดีขึ้น ทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถไฟ หรือท่าอากาศยาน ได้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นโครงสร้างของประเทศที่ใกล้เคียงกับ ประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ขออนุญาตฝากความกังวลว่าการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะนี้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถตราพระราชบัญญัติ งบประมาณฉบับใหม่เพื่อใช้งบประมาณของปี ๒๕๖๗ ได้ ทำให้น่าจะต้องใช้งบประมาณ ของปี ๒๕๖๖ ไปพลางก่อนหลายเดือน อาจจะถึง ๕ เดือน หรือ ๖ เดือน ซึ่งก็จะทำให้ การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีการสูญเสียโดยไม่จำเป็นไปอีกจำนวนหนึ่ง ก็ขออนุญาตฝาก ความกังวลไปยังท่านประธานว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่ชักช้า แล้วก็มี การตราพระราชบัญญัติงบประมาณปี ๒๕๖๗ ซึ่งจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มากกว่างบประมาณปี ๒๕๖๖ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ในวันนี้ประเด็นเกี่ยวกับ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติผมขอให้ข้อคิดเห็นดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก แผนยุทธศาสตร์ชาติ อันนี้เป็นแผนที่มีลักษณะพิเศษกว่า ยุทธศาสตร์ชาติเท่าที่ผมเคยเจอมา เพราะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ผูกกับรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีพระราชบัญญัติรองรับ ก็คือรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๕ และพระราชบัญญัติการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งเท่าที่ผมเคยมีประสบการณ์มา เคยตรวจสอบมา เคยศึกษามา ไม่พบว่ามีประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศใดมีการผูกยุทธศาสตร์ชาติเป็นกฎหมาย และผูกกับ รัฐธรรมนูญ ผู้ใด รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ไม่กระทำตามยุทธศาสตร์ชาติอาจจะ ถูกถอดถอนโดย ป.ป.ช. หรือโดนพิจารณาวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นลักษณะพิเศษ ของยุทธศาสตร์ชาติอันนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ยุทธศาสตร์ชาติอันนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นการคิด จากด้านบน แล้วกำหนดให้ผู้ที่อยู่ด้านล่างปฏิบัติ ที่ผมกล่าวเช่นนั้นก็เนื่องจากว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๕ จะเขียนว่าในการตรากฎหมาย หรือในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน อย่างทั่วถึง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทั้งตัวกฎหมายและตัวยุทธศาสตร์ชาติเอง ก็ถูกจัดทำขึ้น ก่อนที่เราจะมีรัฐบาลประชาธิปไตย จึงไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตรา พระราชบัญญัติ หรือจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าถามเพื่อนสมาชิก ๕๐๐ คนที่อยู่ในสภาแห่งนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจ ผมถามหลายท่านครับ ไม่พบว่ามีใครมีส่วนร่วมในการตรา หรือว่ามี ส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นในการตรากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ หรือมีส่วนร่วมในการให้ ข้อคิดเห็นในการทำยุทธศาสตร์ชาติเลย เป็นที่น่าเสียดายมากนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ยุทธศาสตร์ชาตินี้มีความซับซ้อน ท่านประธานครับ ยุทธศาสตร์ชาติ ในปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๗๐๐ หน้า ปีนี้เป็น ๑,๐๐๐ หน้า แล้วผมก็ได้ยินว่าจะมีแผนระดับรอง ระดับย่อยต่อ ๆ ไปอีก ไม่แน่ใจว่าปีหน้าเราจะถึง ๑,๕๐๐ หน้าหรือไม่ จึงซับซ้อน แล้วก็ซ้ำด้วยครับ เพราะเรามียุทธศาสตร์ชาติ เรามีแผนปฏิรูปประเทศ เรามีแผนยุทธศาสตร์ แล้วก็มีนโยบายของรัฐบาล มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด ก็จะมีปัญหาว่าเวลาหน่วยงาน ราชการจะดำเนินการก็จะต้องปวดหัว ดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย ก็เลยเวลาจะทำ อะไรก็ขาดความเป็นอิสระ มีโซ่ตรวนล้อมเต็มไปหมด ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งยุทธศาสตร์อันนี้ไม่ได้มีการจัดความสำคัญครับ มีอยู่ ๖ ด้าน ๒๓ แผนแม่บท แต่อ่านแล้วก็ไม่ทราบว่าควรจะทำอะไรก่อน อะไรมีความสำคัญมากกว่า อะไรมีความสำคัญน้อยกว่า ในภาวะที่ประเทศไทยของเรามีปัญหาในเรื่องของทรัพยากร มีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ และ Resources ต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องจัดความสำคัญ ว่าภายใต้งบประมาณที่จำกัดเราจะทำอะไรก่อน ผมมุ่งหวังว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะให้ความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นเราจะมี ยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้สำหรับการดูเท่านั้นเอง ในการทำจริง ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรครับ อีกลักษณะหนึ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติอันนี้ก็คือลักษณะการเป็น สารานุกรม หรือ Encyclopedia มี ๒๓ ด้าน มี ๒๓ แผนแม่บท ครอบคลุมสารพัดเรื่อง แต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้งหมดครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างแผนแม่บทที่ ๔ เกี่ยวกับ เรื่องอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ก็จะแบ่งเป็น ๖ ด้าน มีเรื่องของอุตสาหกรรม ชีวภาพ มีเรื่องของการแพทย์ มีเรื่องของอุตสาหกรรม Digital ปัญญาประดิษฐ์ มีเรื่องของ การเป็น Hub ในเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยานมีแค่ ๖ ด้าน แต่ว่าอุตสาหกรรม และบริการแห่งอนาคต ผมเชื่อเลยว่าไม่ได้มีแค่ ๖ ด้านนี้อย่างแน่นอนครับ มีมากกว่านี้ และทุกวันเวลาที่เปลี่ยนไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แม้แต่ในด้านที่เขียนไว้แล้ว อย่างเช่น ด้านที่ ๓ เรื่องของ Digital เรื่องของข้อมูล เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ ลักษณะของ การเขียนยุทธศาสตร์ก็ไม่อยู่ในลักษณะที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ที่ผมพูดอย่างนั้น ผมมีเหตุผลอย่างนี้ครับ ในด้านที่ ๔ ส่วนที่ ๓ มีการกำหนดว่าให้มีเป้าหมาย ๒ ส่วน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนแรก เป็นเรื่องของการขยายตัวของ GDP เกี่ยวกับอุตสาหกรรม Digital และปัญญาประดิษฐ์ให้เพิ่มขึ้นปีละ ๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ท่านประธานทราบไหมว่าเวลาชี้วัด วัดจากอะไรครับ ไปวัดดูว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวนเงินเท่าไร ซึ่งตัวนี้ มันไม่ใช่ตัวชี้วัด GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมเลยแม้แต่น้อย

    อ่านในการประชุม

  • อีกตัวหนึ่งครับ เรื่องของผลิตภาพ อุตสาหกรรมนี้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะต้อง มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นมากกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวชี้วัดคืออะไรครับท่านประธาน ตัวชี้วัด บอกว่าไปดูจาก Digital Evolution Index ที่ IMD เป็นคนจัดลำดับครับ ซึ่งผมก็เห็นว่า IMD เป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ แต่ลำดับที่ IMD จัดมันไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภาพเลยครับท่านประธาน แค่ตัวชี้วัดก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติย่อมมีปัญหาครับ ท่านประธาน ปัญหาต่าง ๆ ที่ผมได้กราบเรียนท่านประธานมา ผมก็ขออนุญาตยกตัวอย่างว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ฟังแล้วสมเหตุสมผล และดำเนินการได้มีอะไรบ้าง ผมขอยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ก็แล้วกันนะครับ สิงคโปร์มียุทธศาสตร์ชาติในอดีตอยู่ ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๑ บอกว่าให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค สำเร็จครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของโลก ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • ยุทธศาสตร์ชาติที่ดีจึงต้องมีความเรียบง่าย ปฏิบัติง่ายและเข้าใจกันทั้งประเทศ เพราะถ้าหากว่าแม้แต่สมาชิกสภาแห่งนี้ก็ยังไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ชาติทั้งฉบับ แล้วประชาชน ที่จะต้องร่วมผลักดันกับเรา ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติจะเข้าใจและดำเนินการได้ อย่างไร ก็ขออนุญาตฝากความกังวลไปยังท่านประธานไปถึงผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ดีต้องเรียบง่าย ต้องไม่ซับซ้อน สามารถสื่อสารถึงประชาชนได้โดยง่าย และประชาชนทราบแล้วก็สามารถร่วมกันผลักดันและปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ได้ครับ ขออนุญาตขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือที่เรียกย่อว่า ส.ส.ท. หรือ Thai PBS ผมมี ความเห็นอย่างนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ในมาตรา ๑๒ ก็ระบุถึงรายได้หลัก ของทาง Thai PBS ว่าจะมาจาก ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ของภาษีสุราและบุหรี่ แต่ไม่ให้เกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถที่จะทบทวน ทุก ๆ ๓ ปี และปัจจุบันนี้เงินบำรุงองค์การก็เป็นเงินประมาณ ๒,๐๙๐ ล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน พระราชบัญญัติ ฉบับนี้มีเจตนาดีว่าอยากให้ผังรายการและการจัดทำรายการเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ประชาชนอย่างแท้จริง จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและคำเสนอแนะจากประชาชน อย่างทั่วถึงนะครับ โดยได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา ๔๕ ว่าให้ประธานคณะกรรมการนโยบาย เป็นผู้แต่งตั้งสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการโดยให้มีจำนวนทั้งสิ้น ๕๐ คน ซึ่งก็ได้มีการตั้งขึ้น โดยการแบ่งเป็น ๕ ภาค ภาคละ ๑๐ คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มี ๑๐ คน ภาคใต้ ก็มี ๑๐ คน ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นปัญหาในเรื่องนี้ก็คือว่าการแบ่งภาคละ ๑๐ คนนั้น อาจจะไม่เป็นตัวแทนของประชากรที่แท้จริง เพราะว่าทางภาคอีสานมีประชากรประมาณ ๑ ใน ๓ ของประเทศไทย แต่ก็มีตัวแทนเพียงประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือ ๑ ใน ๕ เพราะฉะนั้นในแง่ของการเป็นตัวแทนประชากรก็อาจจะไม่ดีเท่าที่ควรครับ แล้วการรับฟัง ความเห็นจากเฉพาะสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการก็อาจจะไม่ได้รับฟังคำแนะนำและข้อเสนอแนะ ที่ทั่วถึงจากประชาชนอย่างแท้จริง ผมก็อ่านเจอในรายงานของ Thai PBS ฉบับนี้ในหน้า ๑๑๘ ก็ระบุว่าทาง Thai PBS อยากรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างทั่วถึง ถ้าหากว่าโครงสร้างของสภาผู้ชมและผู้ฟังเป็นลักษณะอย่างนี้ และไม่มีการเสริม การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรงด้วย เจตนารมณ์ที่จะรับฟังคำแนะนำ และความเห็นจากประชาชนก็อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับรายงานปี ๒๕๖๕ ผมพยายามตรวจสอบอย่าง ละเอียดก็ไม่พบว่ามีหมายเหตุประกอบงบการเงินแต่อย่างใด ซึ่งจริง ๆ แล้วการส่งรายงาน งบการเงินจะต้องมีหมายเหตุงบการเงินประกอบมาด้วย ถ้าหากไม่มี เวลาที่เราจะอภิปราย ก็จะขาดข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญครับ แต่อย่างไรก็ดีผมมีโอกาสได้ตรวจค้นไปจนถึงปี ๒๕๖๒ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๒๕๖๕ ก็พอเห็นภาพรวมว่างบการเงินของทาง Thai PBS เป็นอย่างไร ผมก็ขออนุญาตยกตัวอย่าง ๒-๓ ประเด็นนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ในปี ๒๕๖๒ Thai PBS ยังมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ ๔๐๐ กว่าล้านบาท แต่ว่าหลังจากปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาก็มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย มาโดยตลอด ๑๐๐ กว่าล้านบาทบ้าง จนถึงปีล่าสุดปี ๒๕๖๕ ก็มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ถึง ๒๕๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แล้วก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นครับ เหตุผลเพราะว่า เรามีเงินบำรุงองค์การเพิ่มขึ้นจนเป็นถึง ๒,๐๙๐ ล้านบาทแล้ว และยังมีรายได้ส่วนอื่นด้วย ทำให้ทาง Thai PBS มีรายได้ที่น่าจะเพียงพอ ไม่น่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รายได้ ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกว่าขาดทุนนะครับ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่การขาดทุน เนื่องจาก Thai PBS ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไรนะครับ ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์รายได้ต่ำกว่า ค่าใช้จ่ายติดต่อกันหลายปี ก็เป็นสิ่งที่มีความกังวลเป็นอย่างมากนะครับ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากงบการเงินที่ส่งมาไม่มีหมายเหตุประกอบงบการเงินที่สมบูรณ์ ก็อาจจะไม่สามารถ ที่ดูในรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน ผมก็ขออนุญาตให้ความเห็นบางส่วนนะครับว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปัญหาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะ ค่าใช้รายจ่ายในการจัดทำรายการ จากปี ๒๕๖๒ อยู่ที่ประมาณ ๗๐๐ กว่าล้านบาท เป็นปี ๒๕๖๕ ก็ ๑,๑๖๐ กว่าล้านบาท มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทุกปี โดยมีข้อสังเกตว่า มีการจ้างผู้จัดทำรายการด้านนอกเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของ Thai PBS เพิ่มขึ้นครับ ซึ่งผมก็เชื่อว่าทาง Thai PBS มีเจตนาดีก็เลยพยายามจัดหาผู้ผลิต รายการด้านนอกเข้ามาเพิ่มเพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีผมมีความกังวลนะครับว่า การบริหารองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐให้รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ควร หลีกเลี่ยงครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทางท่านรองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งเป็นประธานกรรมการนโยบาย และท่านดอกเตอร์วิลาสินี พิพิธกุล ซึ่งเป็น ผอ. ส.ส.ท. แล้วก็เป็นประธานกรรมการบริหารด้วยว่าท่านมีเจตนาดีนะครับ แต่ก็ฝากความกังวลไปด้วย ก็แล้วกันนะครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ผมขออนุญาตเรียนถามไปยังท่านผู้ชี้แจงผ่านท่านประธาน ที่ถามมิได้มี เจตนาเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องอื่นนะครับ แต่ว่าเป็นประเด็นเรื่องของความห่วงใยในฐานะ ที่เป็นตัวแทนของประชาชน แล้วก็มีความรู้สึกว่า Thai PBS เป็นสื่อสาธารณะ เป็นสื่อ ของประชาชน ผมได้ตั้งข้อสังเกตแล้วก็ประสงค์จะให้ทางผู้ชี้แจงได้ให้ข้อมูล ก็คือหลังจาก ปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมามันเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของนโยบายหรือว่าวิธีการทำงานของ Thai PBS อย่างเป็นนัยสำคัญ คือในปี ๒๕๖๒ ผมย้อนกลับไปดูงบการเงินปี ๒๕๖๒ ในปีนั้น Thai PBS มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสมอยู่ ๕,๘๐๐ ล้านบาทเศษ แล้วก็รายได้สูงกว่า ค่าใช้จ่ายอยู่ ๔๐๐ ล้านบาทเศษเป็นปี ๒๕๖๒ หลังจากนั้นปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมาทุกปีก็จะ ขาดทุนทุกปี ผมขออนุญาตใช้คำว่าขาดทุนก็แล้วกัน สั้นกว่านะครับ ก็จะติดลบทุกปี ปีละ ๑๐๐ กว่าล้านบาทบ้าง ๑๑๗ ล้านบาทบ้าง ๑๕๕ ล้านบาทบ้าง หรือปีล่าสุดเป็น ๒๕๑ ล้านบาท ก็เกิดความสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ทุกปีก็จะมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายปีละ ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ล้านบาทตลอด แต่ทำไมหลังจากปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมามันมีนโยบาย การดำเนินการอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้มียอดรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายโดยตลอดตั้งแต่ ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งในปี ๒๕๖๕ ติดลบอยู่ ๒๕๑ ล้านบาท และทำให้รายได้ สะสมที่เกินกว่าค่าใช้จ่ายลดลงเหลือเพียง ๕,๔๐๐ ล้านบาทเศษ ลักษณะนี้เกิดอะไรขึ้น และจะเป็นนโยบายของ Thai PBS ต่อไปเรื่อย ๆ หรือไม่ และการที่ทำให้รายจ่ายสูงกว่า รายได้เพื่อประโยชน์หรือเพื่อดำเนินการอะไร ในฐานะที่เป็นประชาชนก็ด้วยความห่วงใย เพราะพวกเราก็ดูว่า Thai PBS เป็นหน่วยงานของประชาชนนะครับ ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ กระผมเป็นคนต่างจังหวัดครับ ที่บ้านประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตรตั้งแต่เด็กก็เลยเห็นวิวัฒนาการของสินค้าเกษตร ในต่างจังหวัดนะครับ ในอดีตจังหวัดศรีสะเกษจะมีการทำสินค้าเกษตรหลัก ๆ ก็จะมีข้าว หอม กระเทียม หลังจากนั้นก็มีข้าวโพด มีมันสำปะหลังเข้ามาเพิ่มเติม แต่ไม่ว่าจะมีการปลูกอะไรขึ้นมา หรือจะเป็นยางพาราในภายหลังนี้ ก็ปรากฏว่าเกษตรกรก็ยังคงยากจน เป็นหนี้เป็นสิน มากมายจนหาเกษตรกรที่สามารถมีที่ดินของตัวเองปลูกข้าวแล้วก็ขายข้าวของตัวเอง ได้น้อยเต็มที เคยมีคนเก็บตัวเลขบอกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ปลูกข้าวไม่มีที่ของตัวเอง หรือต้องไปเช่าที่ หรือเอาที่ของตัวเองไปจำนองเพื่อจะเอามาทำนา เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การทำการเกษตรในประเทศไทย ไม่ใช่สินค้า หรือไม่ใช่ธุรกิจ หรือไม่ใช่กิจการที่ให้ ผลตอบแทนที่ดีแต่อย่างไรไม่ว่าจะปลูกเป็นอะไรก็ตาม ในภายหลังจังหวัดศรีสะเกษอาจจะมี การปลูกทุเรียน มีการปลูกแก้วมังกร แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกษตรกรก็ยังมีปัญหาอยู่ดี ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องข้าวก็แล้วกันเพื่อจะได้ช่วยกันดูว่าปัญหามาจากไหน ข้าวหอมมะลิในจังหวัดศรีสะเกษ ๑ ไร่ ได้ข้าวเปลือกประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ กิโลกรัม ในขณะที่ประเทศเวียดนามสามารถมีผลผลิตได้ถึง ๙๐๐ กิโลกรัม หรือถ้าไปเทียบกับของ ออสเตรเลีย ซึ่งมีระบบการจัดการที่ดี มีนวัตกรรมทางการเกษตรสามารถทำได้ถึง ๑,๖๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ เห็นได้ชัดเจนว่าเรื่องของการเกษตรของเรานั้นมีปัญหาจริง ๆ ครับ ท่านประธาน ซึ่งผมก็ได้ขออนุญาตว่าพรรคเพื่อไทยก็ได้วางนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาในตัวนี้ ผมก็รวบรวมมาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยบอกว่าตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย พักหนี้ แล้วก็มีระบบขนส่งที่ดี การเพิ่มรายได้นั้น สาระสำคัญของการเพิ่มรายได้อยู่ที่การมีตลาดนำครับ เกษตรกรถ้าเป็นไปได้มีหน้าที่ พยายามปลูกพืชผลการเกษตรที่ตัวเองมีความชำนาญ และเหมาะสมกับพื้นที่ให้ได้ผลผลิต ดีที่สุด ให้ได้คุณภาพดีที่สุด ถ้าหากปีนั้นมีปัญหาในเรื่องของการตลาด ก็เป็นหน้าที่ของ รัฐบาลที่จะต้องไปขายผลผลิตส่วนเกินนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขายขาด หรือจะเป็นการ Barter Trade หรือที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยน จะไปแลกเปลี่ยนกับอาวุธ หรือการแลกเปลี่ยนกับ รถไฟก็ดีนะครับ แต่ว่าการแลกเปลี่ยนนั้นมีความยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากการขายสินค้า ในการค้าระหว่างประเทศนั้นมักจะไม่นิยมรับสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าครับ ก็อาจจะ ต้องใช้นวัตกรรมทางการตลาดเพิ่มเติม นวัตกรรมเสริมครับ นวัตกรรมในเรื่องของการผลิต ก็จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น คุณภาพสูงขึ้น แล้วก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้วย แต่การลด ค่าใช้จ่ายด้วยนวัตกรรมนั้น เป็นเรื่องยากครับ เนื่องจากการจะใช้นวัตกรรมนั้นต้องมี การลงทุนและการลงทุน ไม่ใช่การลงทุนน้อย ๆ ซึ่งจะสามารถทำได้คงต้องใช้เวลา และอาจจะไม่สามารถทำพร้อมกันทั้งประเทศในเวลาเดียวกันครับ แต่การลดค่าใช้จ่าย ให้เกษตรกรในเรื่องของค่าปุ๋ยซึ่งเป็นต้นทุนถึง ๒๖ เปอร์เซ็นต์ของการทำนาสามารถทำได้ การลดค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ หรือค่าน้ำเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ครับ นอกจากนี้การพักหนี้ เกษตรกร ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีนโยบายพักหนี้อยู่แล้ว ๓ ปี ปลอดต้น ปลอดดอกเบี้ย แล้วก็ ปรับในเรื่องของระบบขนส่ง มีสินค้าการเกษตรมากมายที่ดี ๆ อย่างตัวผมเองก็เคยปลูก ปัจจุบันก็ยังปลูกอยู่ ในเรื่องของผัก Organic ก็มีปัญหาว่าจากจังหวัดศรีสะเกษจะนำมาขาย ที่กรุงเทพฯ ใช้เวลา ๕-๖ ชั่วโมง รถวิ่งเร็วจริง ๆ ก็ ๕-๖ ชั่วโมง แต่ของจริงมันเกินกว่านั้น ถ้าหากว่าเรามีระบบขนส่งที่ดีอาจจะเป็นรถไฟรางคู่ ไม่ถึงกับต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง เป็นรถไฟรางคู่ที่มีความเร็วสัก ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากศรีสะเกษมาที่กรุงเทพฯ ก็ประมาณ ๓ ชั่วโมง ก็จะสามารถช่วยในเรื่องของการตลาดได้เป็นอย่างดี โดยสรุปการแก้ไข ปัญหาสินค้าเกษตรต้องทำเป็นระบบครบวงจร ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย พักหนี้ แล้วก็มีระบบขนส่งที่ดีครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ตั้งแต่ผมได้มีโอกาสมาอยู่ที่สภาแห่งนี้ครั้งแรก ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ก็จำได้ว่าสภาแห่งนี้มีการพูดถึงวิธีการแก้ไขเรื่อง ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมมาโดยตลอด แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีการแก้ไขอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น การเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัยเนื่องจากน้ำท่วมบ้านเรือน หรือเป็น การเยียวยาพ่อแม่พี่น้องที่ต้องได้รับผลกระทบต้องเจ็บป่วย หรือเยียวยาพ่อแม่พี่น้อง เกษตรกรที่มีปัญหาพืชผลการเกษตรเสียหาย มีการชดเชยความเสียหายให้กับพ่อแม่พี่น้อง ที่เป็นเกษตรกรก็ดี หรือจะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการสร้างเขื่อนรอบข้าง ทั้งนี้ก็เพื่อ ป้องกันมิให้น้ำท่วม แต่อย่างไรก็ดีนะครับเรามีวิธีการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งก็ไม่เคยจะหมดสิ้นจากประเทศไทยครับ จริง ๆ ผมค่อนข้าง จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในสมัยท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่มีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ เพราะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งแบบเฉพาะหน้า เยียวยาเฉพาะหน้า แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ทำให้พวกเราเห็นอยู่แล้วว่าการแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ เป็นแต่ การเยียวยาเฉพาะอาการที่ปรากฏเท่านั้น ถ้าเปรียบกับการรักษาพยาบาลก็เหมือนกับ ถ้าปวดหัวตัวร้อนก็กินยาแก้ปวดหัวตัวร้อน แต่สาเหตุแห่งโรคที่แท้จริงมิได้มีการดำเนินการ แก้ไข นอกจากนี้นะครับท่านประธาน ด้วยสภาวะของโลกร้อน โลกเดือด หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า Climate Change นี่นะครับ ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทำให้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปครับท่านประธาน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการไปตรวจสำรวจที่ขั้วโลก ก็พบว่าปริมาณน้ำแข็งในขั้วโลก Antarctica ขั้วโลกใต้มีพื้นที่ลดลงถึง ๑ ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งก็หมายความว่าน้ำแข็งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ละลายและกลายเป็นน้ำทะเล ย่อมทำให้ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งจึงย่อมจะทวีความรุนแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตามลำดับครับท่านประธาน ดังนั้นผมจึงอยากจะขอเสนอให้รัฐบาลนอกจากจะดูเรื่อง การเยียวยาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว อยากจะให้มีการนำวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างครบวงจรเป็นระบบกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อที่ว่าพวกเราจะได้แก้ปัญหา เรื่องนี้ให้มีความเด็ดขาด ให้เป็นมรรคผลยิ่งกว่าเดิม ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ประเด็นเรื่อง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเรื่องที่เราได้ติดตามกันมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเพื่อนสมาชิกหลายท่านก็ได้เล่าถึงวิธีการโกงของบริษัทนี้ ซึ่งผมก็ขออนุญาตสรุป แต่เพียงว่าวิธีการโกงของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้นถือว่าเป็นระดับ ตำนาน เพราะว่าจากเท่าที่ผมได้ตรวจสอบ ได้ติดตามการลงทุนเรื่องหุ้นในประเทศไทย และในต่างประเทศผมคิดว่าการโกงของบริษัท หรือการปั่นหุ้น หรือการ Insider Trading หรือการปลอมเอกสารต่าง ๆ การโกงของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) น่าจะติดอันดับโลก เท่าที่ผมทราบไม่น่าจะมีบริษัทอื่นที่ทำได้ครบถ้วนขนาดนี้ ในแง่ของ ความเสียหายถ้าดูเผิน ๆ เราก็บอกว่าความเสียหายอันนี้ก็เป็นแต่เพียงความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ลงทุนในหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่กี่พันราย หรือเกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนในการถือหุ้นกู้เพียง ๔,๐๐๐ กว่าราย หรือเกี่ยวข้องกับแบงก์ เพียงไม่กี่แบงก์ที่ปล่อยกู้เงินให้กับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประมาณ ๙,๐๐๐ ล้านบาท แต่ความจริงความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศไทย กับภาพลักษณ์ของประเทศไทยนั้น รุนแรงมากกว่าที่เราคิด ในเรื่องของหุ้น ราคาหุ้นกลางปี ๒๕๖๕ มูลค่า Market Cap มูลค่า ราคาตลาดของตลาดของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกประมาณ ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ปัจจุบันนี้มูลค่าหุ้นเหลือเพียง ๒๐๐ กว่าล้านบาท ก็จะทำ ให้เกิดความเสียหายไป ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ล้านบาท หุ้นกู้น่าจะไม่สามารถได้รับการชำระ ปัจจุบันก็น่าจะประมาณ ๙,๐๐๐ ล้านบาท แบงก์ ๒ แบงก์ให้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กู้ก็อีก ๙,๐๐๐ กว่าล้านบาท รวมแล้วเสียหายอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะ ๖๐,๐๐๐-๗๐,๐๐๐ ล้านบาท อันนี้แค่เพียงผิวหน้าเท่านั้น แต่ในแง่ของภาพลักษณ์ ของประเทศ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในระดับ SET100 จัดว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่ ๑๐๐ อันดับแรกของประเทศไทยในตลาดหุ้นของประเทศไทย ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือมาก ตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ถึงจะให้อยู่ในระดับ SET100 ต้องเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือมาก บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดอันดับ ความน่าเชื่อถือก็จัดให้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการ Rating ถึง BBB+ ซึ่งเป็น Rating ที่สูงมาก สูงกว่าหลายบริษัทที่พวกเรารู้จักกันดี แต่ก็ปรากฏว่า บริษัทที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จาก ก.ล.ต. ของไทย จาก บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด กลับมีการทุจริตและมีการโกงอย่างมโหฬาร อย่างไม่น่าเชื่อ แสดงให้เห็นว่าระบบกระบวนการต่าง ๆ ในประเทศไทยน่าจะมีปัญหา ที่จะต้องแก้ไขเป็นการด่วน เริ่มตั้งแต่ บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ทำไมท่านมีโอกาสที่มา ตรวจสอบบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อย่างละเอียด สามารถขอข้อมูล ต่าง ๆ มากมาย ท่านให้ Rating BBB+ แต่ทำไมบริษัทจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมตลาดหลักทรัพย์ ถึงปล่อยให้บริษัทที่มีการตกแต่งตัวเลขทางบัญชีให้เป็นบริษัท SET100 ผู้ตรวจสอบบัญชีที่มี ชื่อเสียงอย่างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ซึ่งเป็น Big four มีชื่อเสียง ระดับโลก ตรวจสอบบัญชีอย่างไรถึงตรวจไม่พบว่ามีการตกแต่งตัวเลข มีการ Syphon เงิน ในระดับหลายหมื่นล้านบาท มันเกิดอะไรขึ้นกับวิชาชีพบัญชีของเรา สภาวิชาชีพบัญชี ทำอะไรอยู่ ผู้ทำบัญชีทุกท่านจะต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชีทุกท่านก็ต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี และจะต้องมีการผ่านการสอบ มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่แม้เราจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังปล่อยให้เกิด การทุจริตมากมายขนาดนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การลงทุนในตลาดหุ้น และหุ้นกู้ของประเทศไทย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือ ในการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีหลายท่านวิเคราะห์ว่า การที่เงินไหลออกจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเกิดจาก ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศกับอัตราดอกเบี้ยของไทย เช่น ในสหรัฐอเมริกาก็อยู่ประมาณ ๕.๒๕-๕.๕๐ เปอร์เซ็นต์ของไทยล่าสุดก็ตกอยู่ประมาณ ๒.๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ต่างกันอยู่พอสมควร แต่ผมเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้มีเงิน ไหลออกจากตลาดเงินตลาดทุนของประเทศไทย ความน่าเชื่อถือขององค์กรต่าง ๆ ความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. ความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เงินไหลออกจากประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าหากพวกเราไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ อย่างเร่งด่วน จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาลงทุนในประเทศไทยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในตลาดเงิน หรือการลงทุนในตลาดทุน หรือจะเป็นการลงทุนในลักษณะของ Foreign Direct Investment การลงทุนโดยตรงก็จะมีปัญหาทั้งสิ้น เนื่องจากไม่สามารถ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนได้เลยว่าระบบต่าง ๆ องคาพยพต่าง ๆ ของประเทศไทย จะสามารถทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่า ถ้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจะได้รับ การคุ้มครองอย่างเพียงพอ จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากลทั่วไป ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่าน ประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ญัตติที่เรากำลัง พิจารณาในวันนี้มีอยู่ประมาณ ๓ ญัตติ ถ้าสรุปแบบภาษาชาวบ้านเราก็จะมีเรื่องของ Entertainment Complex มีเรื่องของปัญหาบ่อนการพนันว่าจะทำให้บ่อนการพนัน ถูกกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งปัญหาในเรื่องของการพนัน Online ผมก็จะขออนุญาตอภิปราย ไปพร้อม ๆ กัน ญัตติก็คือว่าเราจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาปัญหาเรื่องนี้ หรือไม่ ซึ่งผมขออนุญาตกล่าวโดยสรุปนะครับว่าผมเห็นควรด้วยที่จะให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนประเด็นเรื่องของการพิจารณาว่าควรจะตั้ง หรือไม่ หรือตั้งอย่างไร หรือมีข้อพิจารณาอย่างไร ก็ขออนุญาตพิจารณาในภายหลัง หลังจาก ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีการพิจารณาและนำข้อมูลมาให้พวกเราพิจารณาแล้วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นปัญหาในเรื่องของ Entertainment Complex เรื่องของบ่อน เรื่องของการพนัน Online มีประเด็นที่ต้องพิจารณาโดยหลัก ๆ ๒ ประเด็นครับ ประเด็น ที่ ๑ ก็คือประเด็นในแง่ของเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นที่ ๒ ก็เป็นประเด็นในเรื่องของปัญหาทางสังคม คุณธรรมจริยธรรม และศีลธรรมครับท่านประธาน ในแง่ของเศรษฐกิจเพื่อน ๆ ก็ได้อภิปรายไปหลายคนว่า น่าจะมีคนไทยเกี่ยวข้องมากกว่า ๓๐ ล้านคน จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องมากกว่า ๔.๕ แสนล้านบาท ซึ่งโดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าจำนวนเงินที่คาดการณ์ไว้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่อีก ของจริงน่าจะมากกว่านั้น เพราะถ้าหากว่าตีความเรื่องของการพนันแบบกว้าง แม้แต่ สลากกินแบ่งรัฐบาลก็ถือว่าเป็นการพนันอย่างหนึ่ง การที่พรรคพวกเพื่อนฝูงจับเข่า มานั่งเล่นไพ่กันเล่น ๆ ก็ถือว่าเป็นการพนันเช่นเดียวกัน หรือในต่างจังหวัดที่มีการตีไก่ มีการชกมวย แล้วมีการเล่น มีการต่อกัน มีการพนันขันต่อ เพื่อมีการชนะมีการแพ้ ได้เงิน หรือไม่ได้เงินก็ตามก็เป็นเรื่องของการพนันทั้งสิ้น ดังนั้นในแง่ของจำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องการพนันนั้นจึงมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทอย่างแน่นอนและจำนวนคนที่เกี่ยวข้อง ผมก็เชื่อว่ามากกว่า ๓๐ ล้านคนครับท่านประธาน เงินต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ใน ประเทศถ้าอยู่ในประเทศก็อยู่ในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาต ให้มีการเล่นการพนันหรือถ้าหากว่ามีการเล่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นการเล่น ในต่างประเทศโดยที่ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงมีความน่าสนใจในเรื่องของ เศรษฐกิจ มีความน่าสนใจว่าการตั้ง Entertainment Complex หรือการทำให้บ่อนการพนัน ถูกกฎหมายน่าที่จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นเรื่องของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมนั้นก็เป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้ที่พวกเราพิจารณาเกี่ยวกับเรื่อง Entertainment Complex ไม่สามารถดำเนินการได้ มาหลายสิบปีก็เป็นประเด็นปัญหาในเรื่องนี้นี่เอง เนื่องจากประเทศไทยของเราเป็นประเทศ ที่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าการพนันเป็นสิ่งที่ขัดศีลธรรมอย่างร้ายแรง ก็เลย ไม่สามารถตั้ง Entertainment Complex มาได้เป็นเวลานาน แต่ก็อย่างที่เพื่อนสมาชิก หลาย ๆ ท่านก็ได้อภิปรายไว้ว่าปัญหาเรื่องนี้มันจะต้องพิจารณาดูว่าการตั้ง Entertainment Complex หรือการทำให้บ่อนการพนันถูกกฎหมายหรือมีการจัดการเรื่องการพนัน Online ทำให้ปัญหามันร้ายแรงขึ้น หรือทำให้ปัญหามันบรรเทาลง ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีแนวคิดทั้ง ๒ ด้าน ก็มีส่วนหนึ่งที่มีความเห็นว่าการทำให้ถูกกฎหมายการที่รัฐมีการควบคุมจะทำให้ปัญหา ในเรื่องนี้เบาบางลง แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือให้ความเห็นในด้านตรงกันข้ามครับท่านประธาน แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ผมก็จะขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ขออนุญาตเรียกร้องไปที่คณะกรรมการวิสามัญ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นขอให้มีการพิจารณา โดยละเอียดโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ในสิ่งที่กำลังจะ เกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งและถ้าหากว่าจะมี การดำเนินการอย่างไรก็ตาม ก็ขอให้เป็นความเห็นร่วมกันของประชาชนคนไทย ที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๗ ฉบับนั้นผมได้ พิจารณา ได้อ่านแล้วมีความเห็นว่าสมควรที่จะสนับสนุนและรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง ๗ ฉบับดังกล่าวครับ ประเด็นที่ผมขอให้ข้อมูลกับท่านประธานก็คือเรื่องของอากาศ สะอาดนั้นเป็นเรื่องที่พรรคการเมือง ประชาชน เห็นร่วมกันจนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นวาระ แห่งชาติก็ว่าได้ พรรคเพื่อไทยในขณะที่มีการหาเสียงเลือกตั้งก็มีการออกนโยบายทวงคืน อากาศสะอาดและแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่ทุกต้นตอ พรรคการเมืองอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน จึงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมในประเทศไทยเห็นร่วมกัน ท่านประธานครับ ตัวผมเองก็ประสบปัญหาเรื่อง PM2.5 เช่นเดียวกัน แต่เดิมยังไม่เข้าใจว่าเกิดปัญหา เนื่องจาก PM2.5 คือมีอาการว่าบางครั้งตื่นเช้าขึ้นมาก็จะมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาจึงทราบว่าอาการอย่างนี้เป็นเรื่องของ PM2.5 เป็นเรื่องของอากาศไม่สะอาดไม่ดี เท่าที่ควรครับท่านประธาน สำหรับร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๗ ฉบับนั้นผมมีข้อสังเกตหรือ ข้อกังวลดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ มีการตั้งคณะกรรมการในหลายระดับ แต่ละร่างก็มีการตั้ง คณะกรรมการจำนวนไม่เท่ากัน เรียกชื่อต่าง ๆ กัน อาจจะเรียกว่าเป็นคณะกรรมการ นโยบายบ้าง คณะกรรมการบริหารบ้าง คณะกรรมการระดับจังหวัดบ้าง หรือเรียกว่า คณะกรรมการวิชาการบ้าง มีหลายระดับ การตั้งคณะกรรมการนั้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ในมาตรา ๗๗ ในวรรคท้ายมีเขียนไว้ชัดเจนว่า การใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมายนั้นให้กระทำเท่าที่ จำเป็น ก็ขออนุญาตฝากประเด็นนี้ให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณาในโอกาส ต่อไปว่าเมื่อมีการพิจารณาก็ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะมิฉะนั้น ก็อาจจะมีความซ้ำซ้อนหรือเกิดอุปสรรคในการทำงานได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งที่ผมพบประเด็นปัญหา ก็คือเรื่องของอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ ในร่างพระราชบัญญัติ เมื่อเทียบกับอำนาจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครับท่านประธาน ถ้าหากว่าไปดูพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จะมีการระบุอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ในมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ ครับท่านประธาน ก็จะมีกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ และในกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการ กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็มีกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งผมจะขออนุญาตยกตัวอย่างแค่บางหน่วยงานนะครับ อย่างเช่น กองจัดการคุณภาพ อากาศและเสียง กองควบคุมมลพิษ ศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์ ถ้าหากดูอำนาจหน้าที่ของ หน่วยงานต่าง ๆ แล้วเราจะพบว่ามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพอากาศ โดยตรงครับท่านประธาน เมื่อเรามีการตราพระราชบัญญัติขึ้นมา มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ให้กับคณะกรรมการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย ระดับบริหาร หรือระดับจังหวัดก็ดี อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอำนาจหน้าที่ที่บางส่วนก็ซ้ำหรือซ้อนกับอำนาจของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากว่ามีอำนาจที่ซ้ำและ ซ้อนกันนี้มันก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติว่าเวลาข้าราชการจะรับคำสั่งนั้นจะปฏิบัติตามคำสั่ง ของรัฐมนตรี อธิบดี หรือคณะกรรมการ หรือเจ้าพนักงานอากาศสะอาดที่จะได้มีการตั้งต่อไป ก็เป็นประเด็นที่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติได้ แต่อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าความไม่สะดวก หรือข้อขัดข้องบางส่วนเหล่านี้ สามารถที่จะแก้ไขได้ในชั้นของกรรมาธิการวิสามัญครับ ก็ฝาก ความกังวลในประเด็น ๒-๓ เรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการวิสามัญที่จะได้มีการพิจารณาต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • และสุดท้ายผมขออนุญาตฝากความเห็นว่า การแก้ไขปัญหา PM2.5 นั้น สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยไม่จำเป็นต้องรอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจจะทำให้การแก้ไขมีความเป็นบูรณาการมากขึ้น มีความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานมากขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างของกฎหมายในปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องของอากาศ ในเรื่องของ PM2.5 อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ากรมควบคุมมลพิษหรือกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจน ครม. จะได้มีการบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าก็จะสามารถแก้ไขปัญหา PM2.5 ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ประธานสภาที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ผมนั่งฟัง การอภิปรายและการถามตอบของ กสทช. กับเพื่อนสมาชิกด้วยความสนใจ ผลสรุปอันหนึ่ง ที่ผมได้ข้อสรุปก็คือว่าในการพิจารณารายงานผลการประกอบการของ กสทช. ในปี ๒๕๖๕ นั้น กสทช. ยังมิได้มีการดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สาเหตุ ที่ผมสรุปอย่างนี้ก่อนก็เนื่องจากได้ฟังเพื่อนสมาชิกพูด แล้วก็จะขออนุญาตอ่านมาตรา ๗๖ เพื่อกราบเรียนต่อท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๗๖ ให้ กสทช. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีในด้าน การบริหารคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณี ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดแผนงานและผลการปฏิบัติงาน รายละเอียดเกี่ยวกับ การบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณี และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเปิดเผย ให้ประชาชนทราบ รายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ (๑) ผลงานของ กสทช. ในปีที่ล่วงมาเมื่อเทียบกับแผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ (๒) แผนงาน โครงการ และแผนงบประมาณสำหรับปีถัดไป (๓) งบการเงินและรายงาน ของผู้สอบบัญชี รายงานการตรวจสอบภายใน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ถ้าหากได้อ่านมาตรา ๗๖ อย่างช้า ๆ รายละเอียดก็จะ พบว่ารายงานที่ กสทช. ทำมาไม่ครบถ้วน อย่าง (๑) เป็นเรื่องแผนงานของปี ๒๕๖๕ และผล การปฏิบัติงานของปี ๒๕๖๕ แต่ผมอ่านดูแล้วก็ไม่เห็นว่ามีการแสดงให้เราเห็นว่า กสทช. วางแผนงานอย่างไร และผลเป็นอย่างไรโดยชัดเจน แล้วถ้าหากไปดูใน (๒) ก็คือแผนงานของ ปี ๒๕๖๖ ก็จะอยู่ในหน้า ๒๖๗-๒๖๘ ประมาณ ๒ หน้า ก็ไม่ปรากฏว่ามีรายละเอียดของ แผนงานที่จะทำให้พวกเราทราบเลยว่า กสทช. จะทำอะไรในปี ๒๕๖๖ มีแผนงานอะไรบ้าง และแผนงานนั้นจะมีการวัดผลได้อย่างไร มีแต่การบรรยายคร่าว ๆ ประมาณ ๒ หน้าว่า จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ แต่ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่แผนงานที่จะมานำเสนอต่อสภา เพื่อให้สภาให้ข้อคิดเห็นหรือท้วงติง เนื่องจากมาตรา ๗๖ มีลักษณะพิเศษคือไม่ใช่รายงาน เพื่อทราบเท่านั้น แต่เป็นการรายงานเพื่อที่สภาแห่งนี้จะได้มีข้อคิดเห็น รวมทั้งยังสามารถ ขอเอกสารเพิ่มเติมจากทาง กสทช. เพิ่มได้อีกด้วย ดังนั้นการดำเนินการใน (๑) และ (๒) ของมาตรา ๗๖ ของ กสทช. จึงยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนใน (๓) ใน ๑๒๐ วัน กสทช. จะต้องส่งรายงานผลการประกอบกิจการประจำปี พร้อมด้วยรายงาน งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบของสอบบัญชี แต่ในเอกสารที่เป็นเล่มก็ไม่มีนะครับ ส่วนในเอกสารแทรกก็เป็นเอกสารที่ สตง. แจ้งว่า มีประเด็นที่จะต้องแก้ไข เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลง ไม่ตรงกับรายงานของผู้ตรวจสอบ บัญชี แต่การแนบเอกสารนั้นมาก็ไม่ได้หมายความว่ากระทำครบถ้วนตาม (๓) นะครับ เนื่องจาก (๓) เขียนอย่างนี้ครับท่านประธาน รายงานของผู้สอบบัญชีซึ่งก็คือรายงานของ สตง. ปกติรายงานของผู้สอบบัญชีก็จะมีเขียนว่า สตง. ได้ตรวจสอบรายงานงบการเงิน ของ กสทช. แล้วมีความเห็นอย่างไรบ้าง มีความเห็นว่ามีข้อบกพร่องในสาระสำคัญหรือไม่ โดยมีหมายเหตุประกอบงบการเงินโดยครบถ้วน แต่เอกสารที่ กสทช. ส่งมาทั้งส่วนที่เป็น ในเล่มนี้เอง หรือในใบแทรกนี่ผมก็ไม่พบว่ามีรายงานของผู้สอบบัญชีแนบมาแต่อย่างใด ดังนั้นผมจึงอาจจะกล่าวได้ว่ารายงานผลการดำเนินงานของ กสทช. ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังบกพร่องอยู่ในสาระสำคัญ ผมก็ประสงค์ใช้อำนาจตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ. กสทช. มีในวรรคท้ายบอกว่า นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอาจขอให้ กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. แล้วแต่กรณี ชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจา ก็ได้ ก็จะขอความกรุณาท่านประธาน ขอให้ กสทช. ดำเนินการตามมาตรา ๗๖ ให้ครบถ้วน สมบูรณ์ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมฟังแล้วก็ค่อนข้างกังวลครับท่านประธาน ทาง กสทช. ได้ชี้แจงว่าในเรื่องของการกำกับหรือป้องกันปัญหาเรื่องอาชญากรรมทาง Cyber นั้น กสทช. ไม่มีอำนาจหรือไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผมเข้าใจว่าการให้ ข้อมูลนั้นเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากถ้าหากดูตามมาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เขียนไว้ชัดเจนครับท่านประธาน ใน (๔) (๖) (๗) ว่านอกจาก ท่านจะต้องพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว ท่านยังต้องกำกับดูแลด้วย อำนาจกำกับดูแล ก็คืออำนาจที่จะต้องดูแลไม่ให้ประชาชน พ่อแม่พี่น้องเดือดร้อนจากอาชญากรรมทาง Cyber เป็นความรับผิดชอบของท่านโดยตรง ส่วนการรับผิดชอบของหน่วยงานบ้านเมืองในเรื่องของ กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ หรือศาลก็แล้วแต่ ก็เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งในเรื่องของ กระบวนการยุติธรรม แต่ในเรื่องของฝ่ายบริหาร ผู้กำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัย ของประชาชน ความเดือดร้อนของประชาชนนั้นเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กสทช. อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ขออนุญาตฝากความกังวลไป ๒ เรื่อง ก็คือ ๑. รายงานผลงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๗๖ แล้วก็อำนาจหน้าที่ของ กสทช. นั้นมีอำนาจ หน้าที่ในการกำกับดูแลด้วย ดังนั้นจึงมีความรับผิดชอบโดยตรง ถ้าหากว่าประชาชนเดือดร้อน เกี่ยวกับอาชญากรรมทาง Cyber เป็นสิ่งที่ กสทช. ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ผมขออนุญาตถามสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ เพื่อที่ผู้ตอบจะได้ตอบ ประเด็นหนึ่งที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตและสอบถามไว้ ก็คือการปฏิบัติตามมาตรา ๗๖ ใน (๓) ที่ระบุว่าทาง กสทช. นั้นจะต้องส่งรายงานของผู้สอบบัญชี แต่ก็ปรากฏว่าทาง กสทช. ก็ไม่ได้ตอบว่าจะนำรายงานผู้สอบบัญชีมาส่งมอบให้สภาแห่งนี้เมื่อไร ซึ่งในวรรคท้าย ของมาตรา ๗๖ ระบุชัดเจนว่าท่านต้องส่ง คือกฎหมายบังคับว่าท่านต้องส่ง แล้วเราก็ขอ เพิ่มเติมได้ ซึ่งรายงานที่ท่านอ้างมาในเอกสารแนบ ตีความอย่างไรมันก็ไม่ใช่รายงาน ของผู้สอบบัญชี ซึ่งตามกฎหมายนะครับ รายงานของผู้สอบบัญชีไปตรวจสอบดูจาก ข้อกฎหมายหรือรายงานผู้สอบบัญชีของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ก็จะเห็นชัดเจนว่า เป็นอย่างไร ซึ่งในกรณีนี้คือรายงานของ สตง. ที่เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ ท่านมีหน้าที่ต้อง ส่งให้สภาแห่งนี้ ส่วนประเด็นที่ ๒ ก็เป็นเรื่องอำนาจของ กสทช. ที่ทาง กสทช.

    อ่านในการประชุม

  • ใช่ครับ สั้น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ก็คือประเด็นเรื่องอำนาจ ในการกำกับดูแล ซึ่งตามชื่อของ พ.ร.บ. เขียนชัดเจน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับ มีคำว่า กำกับ ชัดเจนครับ มาตรา ๒๗ ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และมาตราอื่น ๆ ก็มี ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง Call Center หรือการควบรวมกิจการ เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยแท้ กสทช. ย่อมไม่อาจจะละเว้น ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้ ขออนุญาตสอบถาม ๒ เรื่องครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาที่กว้าง แต่ปัญหาที่ผมกังวลมาก ๆ ตอนนี้เลยก็คือปัญหาเรื่องของน้ำที่จะใช้ในการเกษตรกรรม ในช่วงเวลาที่จะมาถึง ๑-๓ ปีต่อไป เหตุผลเพราะว่าปัจจุบันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหา El Nino ซึ่งสำหรับประเทศไทยผลกระทบก็น่าจะเป็นเรื่องของ การขาดแคลนน้ำ น้ำแล้งแล้วก็น้ำจะไม่มาตามฤดูกาล แต่เดิมเราเคยมีปริมาณน้ำฝน ๘๐๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อมีปรากฏการณ์ El Nino ปริมาณน้ำฝน ย่อมลดลงอย่างมากมายอย่างแน่นอน เราเคยสามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้งานได้ถึง ๘๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ปัจจุบันนี้ปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในเขื่อนต่าง ๆ มีอยู่เพียง ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ในขณะที่พื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ มีประมาณ ๑๓๐ ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานประมาณ ๓๐ ล้านไร่ นอกเขต ชลประทาน ๑๐๐ ล้านไร่ ศูนย์ติดตามภัยพิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บอกว่า ในปี ๒๕๖๖/๒๕๖๗ จะมีพื้นที่ในเขตชลประทานได้รับผลกระทบประมาณ ๗ ล้านไร่เศษ จะมีพื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบประมาณ ๑๐ ล้านไร่ ผมก็ยังสงสัยครับ ท่านประธาน ในพื้นที่ชลประทานถ้ามีผลกระทบในช่วงหน้าแล้งประมาณ ๗ ล้านไร่ ประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมพื้นที่นอกเขตชลประทาน ๑๐๐ ล้านไร่ จึงได้รับผลกระทบ เพียงประมาณ ๙ ล้านไร่เศษ ถึง ๑๐ ล้านไร่เท่านั้นเอง เพียงแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ ผมจึงมีความกังวลว่าตัวเลขที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ไว้อาจจะไม่ตรงกับ ความจริง เพราะผมก็ยังเชื่อว่าในสถานการณ์ที่เผชิญกับภัยแล้งนั้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาภัยแล้งคือพื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบมากกว่าอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามผลกระทบของสถานการณ์ El Nino ซึ่งก็มี ท่านรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรมเป็นประธาน ขออภัยที่เอ่ยนาม ไม่เสียหายนะครับ ซึ่งท่าน ก็มีนโยบาย ทางรัฐบาลก็มีนโยบายว่าจะมีการใช้ธนาคารน้ำใต้ดิน จะมีการใช้ฝายแกนดิน ซีเมนต์ ซึ่งก็จะแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ผมกังวลก็คือว่าการใช้กระบวนการฝาย แกนดินซีเมนต์หรืออะไรก็แล้วแต่อาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ เนื่องจากว่าถ้าหากเกิดปัญหาน้ำ แล้งขึ้นมาจริง ๆ จะไปรอน้ำที่ตอนนี้ก็เหลือน้อยเต็มที ในเขื่อนต่าง ๆ ก็เหลือน้อยเต็มที อาจจะไม่พอใช้ จึงมีความคิดอยากเสนอรัฐบาลว่าน่าจะพิจารณาวางแผนการใช้น้ำใต้ดิน โดยวิธีการขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งน้ำบาดาลนั้นถ้าเอกชนทำขนาด ๔ นิ้ว ถ้าในภาคอีสาน ก็จะตกประมาณ ๘,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่นะครับ สามารถผลิตน้ำได้ประมาณ ๔๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ก็คงพอใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากว่า เจอปัญหาเรื่องน้ำแล้งจริง ๆ ต้องใช้น้ำจำนวนมาก จะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นเราเกิดปัญหาน้ำแล้งขึ้นมาจริง ๆ ค่อยไปวางแผนในตอนที่เกิดปัญหาอาจจะไม่ทัน ต่อเหตุการณ์ จึงต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ว่าพื้นที่ใดจะใช้น้ำจากส่วนใด จะต้องขุดเจาะ น้ำบาดาลจำนวนเท่าไรจึงจะพอเพียง แล้วก็อาจจะต้องมีการขุดเจาะน้ำเพื่อมาตรวจสอบ คุณภาพของน้ำก่อน เนื่องจากน้ำบาดาลนั้นมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพทางกายภาพ คุณภาพทางเคมี แล้วก็คุณภาพทางชีวภาพ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับการปลูก หรือการทำ การเกษตรบางชนิด จำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์คุณภาพของน้ำเพื่อที่จะได้วางแผนไว้ ล่วงหน้าว่าน้ำในพื้นใดจะต้องปรับปรุงในส่วนใดเพื่อที่จะให้เหมาะกับการทำการเกษตร ในพื้นที่นั้น ๆ ก็อยากจะฝากความกังวลไปยังท่านประธานไปถึงรัฐบาลว่าการวางแผน เรื่องน้ำในวิกฤติภัยภัยแล้งในช่วง ๑-๓ ปีข้างหน้ามีความจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว และต้องดำเนินการตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นถ้าหากว่ารอให้เกิดภัยแล้งแล้วค่อยไปวางแผน หรือดำเนินการอาจจะไม่ทันท่วงทีครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า เป็นประเด็นที่ประชาชนกังวลเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะว่าค่าไฟที่แพงนั้นนอกจากจะมี ผลกระทบกับเศรษฐกิจของเรา ทำให้ต่างชาติเวลาพิจารณาว่าจะมาลงทุนประเทศไทย หรือไม่ ก็ต้องดูว่าผลิตสินค้าประเทศไหนแล้วต้นทุนถูกที่สุด ถ้าหากว่าค่าไฟในประเทศไทย ของเราสูงกว่าประเทศคู่แข่งอยู่ที่ ๔ บาทกว่า ขณะที่เวียดนามอยู่ ๒ บาทกว่า การลงทุน Foreign Direct Investment หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ก็จะลดลงครับ และในขณะเดียวกันค่าไฟที่แพงก็มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกด้วยครับ ประชาชนปัจจุบันมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ถ้าหากต้องมารับภาระค่าไฟที่แพงอีก ความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะยิ่งลำบากขึ้นอีก ซึ่งในปลายปีที่แล้วรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการพยายามช่วยเหลือประชาชนนะครับ ในเดือนธันวาคมที่ทาง กฟภ. จะปรับค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น ๔.๖๘ บาท รัฐบาลเพื่อไทย ในเดือนมกราคมก็ได้มีการปรับลงเหลือ ๔.๑๘ บาท ก็เนื่องจากว่าปัญหาเรื่องค่าไฟนั้น เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ การที่จะลดค่าไฟนั้นมีประเด็น ที่ต้องพิจารณาอยู่ประมาณ ๓ ส่วน ครับท่านประธาน ส่วนหนึ่งก็คือค่าไฟฟ้าพื้นฐาน ส่วนที่ ๒ ก็คือค่าไฟฟ้า FT หรือต้นทุนผันแปร ส่วนที่ ๓ ก็จะเป็นเรื่องของค่าบริการรายเดือน ครับท่านประธาน ในเรื่องของค่าไฟฟ้าพื้นฐานและค่าไฟฟ้าซึ่งมีการผันแปรนั้น สามารถที่จะปรับลดลงได้ โดยการที่พิจารณาหาต้นทุนพลังงานที่มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ที่ถูกลงครับ อย่างเช่น พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนประมาณ ๒ บาท หรือว่าการใช้แก๊ส ธรรมชาติที่มีราคาไม่สูงคือแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาประหยัดทำให้ต้นทุน การผลิตสูงให้มากและใช้ไฟฟ้าที่มีแหล่งผลิตที่มีต้นทุนสูงให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า จากชีวมวลหรือไฟฟ้าจากการนำเข้าพลังงานก๊าซที่มีราคาสูง ถ้าลดสัดส่วนลงต้นทุนไฟฟ้า ก็จะลดลงครับ ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าลดเรื่องของการสำรองไฟฟ้าหรือไฟฟ้าส่วนเกิน ซึ่งปัจจุบันอยู่เกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์นั้น ถ้าหากว่าสามารถลดลงมาที่ ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญครับท่านประธาน ส่วนอีกตัวหนึ่งที่ผมเห็นว่า สามารถดำเนินการได้เลย ก็คือเรื่องของค่าบริการรายเดือนครับ ค่าบริการรายเดือน ปัจจุบันถ้าเป็นบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่ ๒๔.๖๒ บาท ประมาณ ๒๕ บาท ส่วนถ้าเป็นกิจการขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่มีการผสมผสานกับบ้านพักอาศัยก็จะตกอยู่ประมาณ ๓๓ บาท ๒๙ สตางค์ คิดถ้วน ๆ ก็ประมาณ ๓๓ บาท ต้นทุนส่วนนี้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งคนไปจดมิเตอร์มีการทำการออก Bill ทำการชำระเงินและรับชำระเงินออกใบเสร็จ ซึ่งต้นทุนขนาด ๒๔ บาทหรือ ๓๓ บาท เป็นต้นทุนที่สูงครับ ถ้าหากว่าเราพิจารณาให้ละเอียดปัจจุบันมีการใช้มิเตอร์ Digital หรือมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถที่จะบอกจำนวนการใช้ไฟฟ้า มีการพิมพ์ใบแจ้งหนี้ แล้วก็สามารถพิมพ์ใบเสร็จได้ โดยที่ไม่ต้องใช้คนจำนวนมากซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก และเริ่มมีการใช้ เป็นการทั่วไปตาม Apartment ต่าง ๆ ถ้าหากว่าการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาคจะได้พิจารณานำมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์หรือมิเตอร์ Digital ที่ปัจจุบันราคาถูกลง กว่าเดิมมาก นำมาใช้ในการจดมิเตอร์ออกใบแจ้งหนี้และออกใบเสร็จรับเงิน ก็จะสามารถ ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายน้อย ๆ ครับท่านประธาน เดือน ละ ๓๓ บาทก็ดี หรือจะเดือนละ ๒๔ บาทก็ดีจากยอดผู้ใช้มิเตอร์นครหลวง ๔ ล้านมิเตอร์ ยอดผู้ใช้มิเตอร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค๒๐ ล้านมิเตอร์ รวมแล้ว ๒๔ ล้านมิเตอร์ เฉลี่ยประมาณ ๔๐ บาทต่อมิเตอร์แต่ละเดือนก็ประหยัดเงินได้เกือบพันล้านบาท ส่วนนี้ เป็นเงินที่รัฐบาลหรือการไฟฟ้าสามารถประหยัดได้และสามารถโอนผ่านส่วนที่ลดลงนี้ ทำให้ประชาชนมีภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟซึ่งเป็นค่าบริการ รายเดือนนั้น เป็นค่าไฟฟ้าที่ไม่ว่าประชาชนจะใช้ไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม จะต้องชำระอยู่ดี เป็นค่าใช้จ่ายตายตัว ซึ่งผมคิดว่าไม่สมเหตุผลครับท่านประธาน เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นตัว ที่อยากจะขอให้ทาง กกพ. การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาคได้พิจารณาลดค่าใช้จ่าย ตัวนี้ลง ซึ่งผมเชื่อว่าสามารถทำได้เพราะปัจจุบันนี้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค ใช้วิธีให้สัมปทานหรือให้มีการประมูล เพื่อที่จะดำเนินการจดมิเตอร์ วางบิลและรับชำระเงิน คือการไฟฟ้าไม่ได้ทำเองแต่จ้างคนข้างนอกทำ เหมือนกับเป็น Subcontractor ซึ่งค่าใช้จ่าย ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ผมคิดว่าสูงเกินจริง และถ้าหากว่าจะได้พิจารณาแก้ไขก็ช่วยประหยัด ค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ครับ ขอบพระคุณครับท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาใหญ่ แต่ละปีประเทศไทยมีขยะมูลฝอย มากกว่า ๒๖ ล้านตัน ถ้าแบ่งเป็นส่วน ๆ เอาตัวเลข คร่าว ๆ ๑ ใน ๓ มีการนำกลับมาใช้ใหม่ ๑ ใน ๓ มีการบริหารจัดการถูกต้อง ส่วนอีก ๑ ใน ๓ มีการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้อง กล่าวคือแต่ละปีก็จะมีประมาณ ๙ ล้านตันที่พวกเรา จัดการขยะไม่ถูกต้อง แล้วก็มีขยะที่ตกค้างจัดการไม่หมด ประมาณอีก ๑๐ ล้านตัน ตัวขยะ ที่จัดการไม่ถูกต้องและตัวขยะที่ตกค้างเป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหามากมายกระทบต่อคนไทย กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องหาทางแก้ไข โดยเฉลี่ยแล้วคนไทย ๑ คน จะมีการผลิตขยะประมาณ ๔๐๐ กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ย ประมาณ ๑ กิโลกรัมต่อวัน ขยะต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าหากได้มีการบริหารอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะ เป็นการพยายามที่จะลดขยะ เช่น ถ้าเป็นอาหารก็ให้มีเศษอาหารน้อยลง หรือนำกลับมาใช้ ใหม่ เช่น ถุงพลาสติกใช้แล้วก็อย่าเพิ่งทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่ หรือมีการส่งไป Recycle หรือมี การเปลี่ยนขยะนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่า Recover อย่างเช่น การเอาขยะไป เปลี่ยนเป็นพลังงาน การเอาขยะไปเปลี่ยนเป็นปุ๋ย หรือการนำขยะไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อาจจะเป็น Furniture หรืออื่น ๆ ก็ตาม การใช้ การจัดการขยะอย่างเหมาะสมนั้นจะทำให้ ปัญหาขยะลดลงและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการถมงบประมาณลงไปเพื่อแก้ไข ปัญหาขยะ ซึ่งถ้าหากว่ามิได้มีการแก้ไขปัญหาขยะด้วยวิธีการที่ถูกต้องแล้ว แม้เราจะถม งบประมาณลงไปเท่าใด ผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ การจะแก้ไขปัญหา จึงต้องเริ่มต้นจัดการที่ต้นตอ ก็คือพยายามให้ผู้สร้างขยะได้หาวิธีที่จะจัดการกับขยะ ด้วยตนเอง ถ้าเป็นตามบ้านเรือนก็อาจจะทำตามที่ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น หรือ ประเทศไต้หวันพยายามทำ ก็คือมีการแยกขยะเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน อย่างเช่นถ้าเป็น ขวดนมมีฉลากกระดาษ ก็แยกฉลากกระดาษออกก่อนที่จะมีการทิ้งขวดพลาสติก ก็จะสามารถทำให้มีการนำขยะที่มีการทิ้งไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือจะเป็นวิธีการที่ประเทศสวีเดนได้มีการใช้ขยะที่เป็นทางชีวมวล ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกนำไปใช้ในการผลิต Biogas แล้วก็มาใช้เป็นพลังงานในด้านต่าง ๆ ขวดที่เป็นขวดพลาสติก ก็มีเครื่องนะครับ ประชาชนสามารถที่จะเอาขวดพลาสติกไปบรรจุในเครื่อง แล้วก็จะมีการลง Record มีการลงบันทึกว่าประชาชนคนใดมีการเอาขวดพลาสติมา Recycle จำนวนเท่าใด มีการเอาขวดโค้กที่เป็นอลูมิเนียมมา Recycle เท่าใด แล้วก็จะมีการเครดิตเอาไว้แล้วก็จะคืน ให้กับประชาชน ทำให้มีผลลดขยะที่จะต้องไปขุด กลบ ฝัง เหลือเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ของขยะ ทั้งหมดที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจมากนะครับ ถ้าหากว่าประเทศของเราสามารถ ทำได้นี้ปัญหาขยะล้นเมืองหรือปัญหาขยะต่าง ๆ ก็จะสามารถลดได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือแม้กระทั่งกระบวนการของประเทศสิงคโปร์ที่นำขยะที่มีปัญหาก็ไปเข้าโรงเผาขยะ เสียก่อน หลังจากเผาแล้วปริมาณขยะที่แต่เดิมมี ๑๐๐ กิโลกรัมก็จะเหลือเพียง ๑๐ กิโลกรัม หลังจากนั้นก็เอาเถ้าไปถมกลางทะเล ประเทศสิงคโปร์สร้างเกาะจากเถ้าขยะ ส่วนพลังงาน ที่ได้จากการเผาขยะก็เอาไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ก็เป็นการทำให้ปัญหาขยะของประเทศ สิงคโปร์สามารถจัดการได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีการสร้างขยะที่มีจำนวน มหาศาลเช่นเดียวกัน และพื้นที่ก็เป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ เป็นเกาะเล็ก ๆ นิดเดียว เล็กกว่า จังหวัดภูเก็ตเสียอีก แต่ก็สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ประเทศไทย น่าที่จะได้ลองศึกษาดู ขยะถ้าหากว่าดูในระดับโลกในส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหา คือมีปัญหา คือ พวกเราต้องจัดการกับขยะ แต่ในขณะเดียวกันขยะก็เป็นโอกาสเช่นเดียวกัน ในอเมริกาเหนือ คาดการณ์กันมีการประมาณกันว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะ ไม่ว่าจะเป็นการเอาขยะมาทำเป็น Biogas หรือการเอาขยะมาทำเป็น Natural Gas ก็ตาม เป็นแก๊สธรรมชาตินี้มีขนาด เศรษฐกิจถึง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพราะฉะนั้นในปัญหาก็มีโอกาส ในโอกาส ก็มีปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าประเทศของเราจะจัดการกับปัญหาในเรื่องขยะอย่างไร จะทำอย่างไร ให้ขยะที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในประเทศไทยที่เป็นภูเขาอยู่ในหลาย ๆ ที่ ทำอย่างไร จะให้เป็นทรัพย์สิน แล้วก็นำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ ก็ขออนุญาตฝากไปยังหน่วยงานที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางรัฐบาลหรือคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการ วิสามัญก็ดีที่จะได้พิจารณาในเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาให้รอบคอบ แล้วก็มีข้อเสนอแนะที่ดี ต่อรัฐบาลต่อไป ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ คำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ มีผลทำให้ การเปลี่ยนแปลงวิธีการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่พระราชบัญญัติ ปี ๒๕๕๓ ประสงค์จะให้ฝ่ายพลเรือนโดยมี ศอ.บต. เป็นองค์กร สำคัญในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ แต่เมื่อมีคำสั่งของ คสช. ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๙ ออกมาทำให้บทบาทของ ศอ.บต. และประชาชน รวมทั้งข้าราชการพลเรือนในการแก้ไข ปัญหาเปลี่ยนไป ถูกลดบทบาทลงไปและทำให้ กอ.รมน. และฝ่ายทหารมีบทบาทมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสาระสำคัญของคำสั่งนั้นก็คือการยกเลิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและ การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีที่มายึดโยงจากประชาชน มาจากระบบ Bottoms Up หรือจากข้างล่างสู่ข้างบน ในขณะที่คำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ นั้นเป็นคำสั่งที่ใช้คณะกรรมการ มาทำงานแทนสภาที่ปรึกษาซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาและการบริหารนั้นมีที่มา จากระบบสั่งตรงจากด้านบน กล่าวคือท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็เป็นคนเลือก คือมาจาก ด้านบนนะครับ โดยความเห็นของ ศอ.บต. กับ กอ.รมน. ซึ่งผลของการทำเช่นนั้นทำให้ การทหารมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาและทำให้ ศอ.บต. ซึ่งตามหลักแล้วเป็น หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นข้าราชการพลเรือน มีฐานะ เท่ากับปลัดกระทรวง ซี ๑๑ นะครับ แต่พอมีคำสั่งออกมาทำให้ ศอ.บต. ต้องฟังความเห็น ของ กอ.รมน. ด้วย ซึ่ง กอ.รมน. นั้นเป็นหน่วยงานราชการซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งทำให้การบริหารราชการก็มีความแปลกอยู่บ้าง เพราะจริง ๆ แล้ว ศอ.บต. ก็ควรขึ้นกับ นายกรัฐมนตรีโดยตรงนะครับ แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา กระบวนการบริหารก็ดูจะ ลักลั่นบ้าง ผลของการที่เป็นเช่นนั้นเราก็จะพบว่าการที่ใช้การทหารนำในการแก้ไขปัญหา โดยที่ผ่านมาโดยตลอดเราพบว่าปัญหาของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ลดลงครับ คือการแก้ไขปัญหามีแต่ทุ่มเทงบประมาณลงไป แต่ปัญหาจริง ๆ ไม่ได้คลี่คลายลงครับ ถ้าจะเปรียบเทียบก็เปรียบเสมือนกับปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่มีหม้อน้ำเดือดอยู่ แล้วเราก็ใช้ กำลังทหารฝ่ายความมั่นคงปิดฝาโดยที่ไม่หาทางที่จะเอาฟืนที่ทำให้ไฟลุกโชน ทำให้น้ำ เดือดออก ผลของการเป็นเช่นนั้น แม้ในระยะสั้นจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ดู เหมือนว่าสงบอยู่ แต่แรงกดดันที่อยู่ในหม้อน้ำที่เดือดนั้นไม่ได้ผ่อนคลายลง การแก้ไขปัญหา จึงไม่ได้ยุติลงไปครับ ในขณะที่ถ้าหากว่าเราใช้ระบบของพระราชบัญญัติการบริหารราชการ จังหวัดชายแดนใต้ ๒๕๕๓ ซึ่งให้ข้าราชการพลเรือนเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหานั้นจะเป็น การแก้ไขปัญหาที่ตรงกว่า เนื่องจากว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยตรง โดยผ่านการมีส่วนร่วมเป็นสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่สามารถรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนตามมาตรา ๒๓ หรือแม้แต่การที่ประชาชนจะร้องเรียนผ่านสภาที่ปรึกษาและให้ความเห็นต่อเลขาธิการ ศอ.บต. ในการที่จะมีการปรับเปลี่ยนข้าราชการพลเรือนที่มีปัญหาออกไปจากพื้นที่ ก็ทำให้ การแก้ไขปัญหามีความบูรณาการมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ความเข้าใจที่เคย มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสมัยอดีตก็คลี่คลายตามลำดับ เพราะว่าการแก้ไขปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้นั้น ไม่สามารถที่จะใช้กำลังทหารหรือ ฝ่ายความมั่นคงแล้วกดให้เรื่องสงบได้ การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้นั้นถ้าจะแก้ไข ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงต้องเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ก็คือการแก้ไขปัญหาที่ความเข้าใจของ ประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติปี ๒๕๕๓ เป็นพระราชบัญญัติที่มีความเหมาะสมกว่าคำสั่ง คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ ดังนั้นการที่มีเพื่อนสมาชิกเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๙ จะเป็นมิติสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ กลับเข้าสู่แนวทางและวิธีการที่ถูกต้อง ผมจึงเห็นควรที่จะสนับสนุนร่างพระบัญญัตินี้ครับ ขอบพระคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ผมติดตามข่าวที่เกิดขึ้นที่พัฒนาการ ด้วยความกังวลครับ ที่กังวลก็เนื่องจากว่ามันเกิดขึ้นบ่อยครั้งเรื่อย ๆ บ่อยขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่เรามีเคสที่พารากอนแล้วก็มีเคสที่พัฒนาการอีก แล้วก็เป็นความรุนแรงที่เกิดจาก เยาวชนซึ่งเป็นกรณีความรุนแรงที่มีลักษณะพิเศษ เพราะว่าตามประมวลกฎหมายอาญา ของเรานั้นได้มีการแบ่งว่าถ้าเด็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ปีเป็นกรณีหนึ่ง เด็กอายุ ๑๐-๑๕ ปีเป็นอีก กรณีหนึ่ง ๑๕-๑๘ ปีเป็นอีกกรณีหนึ่ง ๑๘-๒๐ ปีก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ถ้าต่ำกว่า ๑๐ ปี ไม่ว่า จะกระทำการใดที่กฎหมายถือว่าเป็นความผิดก็ไม่มีความผิด ต่ำกว่า ๑๕ ปีส่วนมากก็ไม่ต้อง รับผิดเช่นเดียวกัน หรือว่าถ้า ๑๕-๑๘ ปีก็อาจจะไม่ต้องรับผิดก็ได้ หรือถ้าหากว่าศาล เห็นสมควรลงโทษก็ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ถ้า ๑๘-๒๐ ปีก็ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า ความผิดของเยาวชนนั้นกฎหมายมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ก็เนื่องจากเห็นว่าเยาวชนนั้น ยังมีประสบการณ์ ยังมีวุฒิภาวะที่ไม่เพียงพอ การกระทำใด ๆ ไปนั้นก็อาจจะไม่มีเจตนา หรือไม่รู้ว่าเป็นการกระทำผิด กฎหมายจึงมีการพิจารณาและดูแลเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ดีการกระทำผิดของเยาวชนนั้นไม่เฉพาะในประเทศไทย ในต่างประเทศไม่ว่า ในสหรัฐอเมริกาก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผมก็ขออนุญาตให้ข้อมูลกับท่านประธานว่า ในช่วงประมาณ ๕-๖ ปีที่ผ่านมา แต่เดิมการใช้อาวุธปืนยิงกันในโรงเรียนเคยมีปีหนึ่ง ประมาณ ๓๐๐ กว่าเคส พอถึงปี ๒๐๒๒ ก็กลายเป็น ๗๐๐ กว่าเคส ซึ่งมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ของประเทศไทยผมเชื่อว่าคงยังไม่เลวร้ายถึงขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ดีโลกปัจจุบันเป็นโลก โลกาภิวัตน์ สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ดี ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็สามารถนำมาใช้ในประเทศไทย ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสมหรือพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่เคย เกิดขึ้นในต่างประเทศก็อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยของเราได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นรัฐบาล จึงไม่ควรนิ่งนอนใจครับ สำหรับกรณีของเด็กนักเรียนที่พัฒนาการผมก็ขออนุญาตแสดง ความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิต แล้วก็ขอให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ กทม. กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาเยียวยาผู้เสียหาย และได้สอบถาม สืบสวน สอบสวน ให้ทราบข้อเท็จจริงว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการแทงกันตายที่พัฒนาการ เพราะการที่เรารู้ถึงสาเหตุของปัญหาจะทำให้เราสามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้ดียิ่งขึ้น ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาดำเนินการเป็นการด่วน เพราะเราก็คง ไม่อยากเห็นประเทศของเรามีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก อยากให้เหตุการณ์ที่พัฒนาการ เป็นเหตุการณ์ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา ในเบื้องต้นผมก็ขออนุญาตให้ ข้อคิดเห็นว่าในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนของ เด็กนักเรียน ในเบื้องต้นเราอาจจะต้องพิจารณาถึงมาตรการในการตรวจสอบอาวุธที่จะ นำเข้าไปในโรงเรียน เหตุการณ์ที่พารากอนก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้เราจะมีเครื่องตรวจจับ โลหะหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ยังสามารถนำวัตถุที่นำไปทำอาวุธเข้าไปในห้างสรรพสินค้าได้ ในโรงเรียนก็อาจจะต้องเริ่มมีมาตรการป้องกันในส่วนนี้เช่นเดียวกัน เพราะการที่สามารถ ป้องกันไม่ให้อาวุธเข้าไปในโรงเรียนได้ก็จะลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นที่ ๒ นอกจากเราจะต้องป้องกันไม่ให้มีการนำอาวุธเข้าไป ในโรงเรียนแล้ว อีกมาตรการหนึ่งที่ผมคิดว่าเราควรจะดำเนินการก็คือการฝึกอบรมให้ พนักงานรักษาความปลอดภัย ครูบาอาจารย์ก็ดี นักเรียนก็ดี ได้มีประสบการณ์หรือมีความรู้ ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันจะต้องดำเนินการอย่างไร ทาง รปภ. จะต้อง ทำอย่างไร ทางครูจะต้องทำอย่างไร หรือเพื่อนนักเรียนด้วยกันถ้าเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้น อย่างเช่นเหตุการณ์ที่พัฒนาการเมื่อมีการแทงแล้ว ถ้าหากว่าเพื่อนนักเรียน ครู หรือ รปภ. ดำเนินการอย่างทันท่วงทีเราก็อาจจะสามารถป้องกันการสูญเสีย คืออาจจะบาดเจ็บ แต่อาจจะไม่สูญเสียรุนแรงก็อาจจะเป็นได้ ก็ถือว่าเป็นมาตรการที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะได้พิจารณาให้มีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในทำนองเดียวกัน กับการป้องกันการเกิดอัคคีภัยที่เราได้มีการฝึกซ้อมกันอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ ความรุนแรงในโรงเรียนก็สมควรที่ทางโรงเรียนจะได้มีการจัดโปรแกรมหรือมาตรการที่จะ ซักซ้อมให้เกิดความเข้าใจในการป้องกันปัญหานี้เช่นเดียวกันครับท่านประธาน อีกประเด็นปัญหาหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความรุนแรงในทำนองนี้เกิดขึ้นก็คือ เรื่องของยาเสพติด ยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดอ่อน ๆ หรือรุนแรงก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสุรา กัญชา ใบกระท่อม หรือยาบ้า ยาม้า หรือวัสดุกล่อมประสาทใด ๆ ก็แล้วแต่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นประการหนึ่งที่ทำให้เยาวชนของเราไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ หรือไม่สามารถที่จะ ควบคุมพฤติการณ์ของตนเองได้ ถ้าหากได้มีการป้องกันในส่วนนี้อย่างจริงจังก็จะช่วย ลดปัญหาในเรื่องนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง เป็นเรื่องของการฝึก EQ หรือฝึกในเรื่องของมาตรการ ทางอารมณ์ ทำอย่างไรจะทำให้เด็กนักเรียนของเรามีจิตสำนึกที่ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนของเราแม้ว่าจะมีการเสพสื่อ มีการเสพภาพยนตร์ หรือมีการ เล่นเกม เห็นความรุนแรงในเกมหรือในภาพยนตร์แล้วแต่ก็ยังสามารถที่จะตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ใช่ความจริง เป็นสิ่งที่เสมือนจริง เอาไว้สำหรับเล่นสนุก ๆ เท่านั้น ในชีวิตความเป็นจริงสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นทำไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถ้าหากได้มี การฝึกอบรมให้นักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจ มีจิตสำนึกที่ดี มี EQ ที่ดี ผมเชื่อว่าจะช่วย ป้องกันปัญหาในเรื่องนี้ได้อีกทางหนึ่งครับ นอกจากนี้ครับท่านประธาน ประเด็นปัญหาหนึ่ง ซึ่งผมก็มีส่วนรับรู้ใกล้ชิดพอสมควรก็คือเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ มหาวิทยาลัย แห่งหนึ่งในกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็จะมีเด็กนักเรียนจากหลายสถาบันต้องเดินมาขึ้น รถเมล์หรือรถไฟฟ้าตอนกลางคืน แต่ก็ปรากฏว่าถนนหนทางเหล่านั้นค่อนข้างมืด พอมันเกิด ความมืดบางครั้งก็จะทำให้มีมิจฉาชีพฉวยโอกาสเอามีดมาจี้เด็กนักเรียนหรือทำร้าย ซึ่งเป็นสิ่ง ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นครับ ถ้าหากว่ารอบ ๆ บริเวณสยามสแควร์หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณต่าง ๆ ที่นักเรียนต้องเดินผ่านถ้าทาง กทม. จะได้มีการติดไฟให้เกิดความชัดเจน มีกล้องวงจรปิดที่เป็นของกล้องวงจรปิดที่ไม่ใช่ Dummy สามารถใช้การได้จริง ๆ ผมก็เชื่อว่า ก็คงจะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ สถาบันการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง ก็ขออนุญาตฝาก เป็นข้อคิดเห็นในเบื้องต้นก่อน ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลก็คงจะมีมาตรการแก้ไขในเรื่องนี้ในโอกาส ต่อไป ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ผมเฝ้าติดตามสถานการณ์ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน ด้วยความกังวลครับในช่วงประมาณ ๑๘ ปี ที่ผ่านมา ประเทศของเรามีความถดถอยในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือในด้าน อื่น ๆ แทบทุกด้าน แต่เดิมเราเคยเป็นประเทศที่คาดว่าจะเป็นเสือตัวที่ ๕ ของ Asia สามารถ เทียบชั้นไต้หวัน เกาหลีได้ แต่ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่าเราจะยังเป็นเสือตัวที่ ๕ ของ ASEAN ได้ หรือไม่ ASEAN เล็กกว่า Asia เยอะนะครับ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเรายังสามารถเป็นเสือตัวที่ ๕ ของ ASEAN ได้หรือไม่ สาเหตุหลัก ๆที่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจาก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครับ ความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่เกิดขึ้น ในประเทศเป็นสถานการณ์ที่บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมมี ส่วนได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมสำคัญ ๆ หลายครั้ง สำหรับปี ๒๕๕๓ ตอนนั้นผม เป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจากับผู้ชุมนุม และต่อมาเมื่อมีการสลาย การชุมนุมแล้วก็ได้เป็นคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งตั้งโดยวุฒิสภา มีอาจารย์ โคทม อารียา มีท่านพลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ มีท่าน สว. วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ขออภัย ที่เอ่ยนามไม่ใช่เรื่องเสียหาย ท่านต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็มาเป็นรองประธาน ในคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง พวกเราได้มีโอกาสได้ศึกษาถึงข้อขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา มีโอกาสได้ศึกษาถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการใช้อาวุธจริงกับประชาชนที่ไม่มีอาวุธหรือบุคคลบางส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ด้วยซ้ำไป เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้พวกเราได้ศึกษาอย่างละเอียดครับ ข้อมูลบางอย่างก็มี การตีพิมพ์สู่สาธารณชน บางส่วนก็เก็บไว้ที่วุฒิสภา ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของ ประเทศเรา แต่ว่าท่านประธานครับ แม้พวกเราพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มีการตั้ง คณะกรรมการโดยวุฒิสภาก็ดีหรือ คอป. ก็ดีหรือคณะกรรมการอื่น ๆ ก็ดีนะครับ แต่ท่านประธานก็คงเห็นนะครับว่าสถานการณ์ในวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจครับ เรายังมี ความขัดแย้งในสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเหตุการณ์ในไอซ์แลนด์ เพื่อประกอบการพิจารณา ในประเทศไอซ์แลนด์ในปี ค.ศ. ๑๙๗๒ เคยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Bloody Sunday หรือวันอาทิตย์เลือด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทหารอังกฤษสลายการชุมนุม ประชาชนชาวไอริช และมีผู้เสียชีวิตทันที ๑๓ คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก ๑ คน ในภายหลัง เหตุการณ์ดังกล่าวมีการตรวจสอบว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหลายครั้ง ครั้งหลังสุด ท่านประธานเกิดขึ้น ในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว ๒๖ ปี ใช้เวลา ๑๒ ปี ในการตรวจสอบ ผลการตรวจสอบผมขออนุญาตไม่เอ่ยถึงก็แล้วกัน เพราะว่าจะเป็นการใช้ เวลาของสภาแห่งนี้มากเกินไป แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่าวิธีการที่พวกเรากระทำอยู่ ในขณะนี้ยังไม่เห็นทางออกครับท่านประธาน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นครับที่จะต้องหาวิธีออก จากความขัดแย้งอันนี้ให้ได้ ซึ่งการใช้วิธีการนิรโทษกรรม ผมก็เชื่อว่าเป็นวิธีหนึ่งซึ่งเป็นไปได้ เพราะว่าในขณะนี้ในหน่วยงานของรัฐหลาย ๆ หน่วย ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วโดย กฎหมาย หรือได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วโดยปริยาย แต่ประชาชนผู้ชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ยังต้องได้รับผลกระทบกับเรื่องเหตุการณ์การชุมนุมอยู่ บางส่วนก็หนีไป ต่างประเทศยังไม่ได้กลับมาสู่ประเทศไทย บางส่วนก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือมีเหตุการณ์ อื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง หรือตัดสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้เป็น เหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะ ไม่สามารถที่จะกลับสู่สภาวะปกติได้เลยถ้าพวกเราไม่หาวิธีดำเนินการโดยวิธีอื่น ถ้าปล่อยไป เรื่อย ๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าอีก ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปีเหตุการณ์จะกลับสู่ปกติหรือไม่ คำว่ากลับสู่ ปกตินั้น ผมหมายถึงว่าเป็นเหตุการณ์เช่นเดียวกับในประเทศอังกฤษที่มีการเลือกตั้งก็เป็น การเลือกตั้งโดยปกติ จะมีการชุมนุมบ้างก็เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ความขัดแย้งที่เอาเป็นเอาตายกันแต่อย่างไร หรือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หรือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่ ประเทศไทยควรจะพยายามที่จะดำเนินการไปให้ได้ ดังนั้นแนวคิดวิธีการใช้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงบุคคลทุกกลุ่มและมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าส่วนใดควรจะได้ การนิรโทษกรรม ส่วนใดสมควรที่จะมีวิธีหรือมาตรการอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งหนึ่งที่ถ้าหากว่ามีการพิจารณา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแล้วน่าที่จะได้ พิจารณาถึงการเยียวยาผู้เสียหายที่มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่รับการเยียวยา รวมทั้งการเสาะหา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของ ข้อขัดแย้งและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มานับครั้งไม่ถ้วน ก็ขออนุญาตให้ข้อมูลกับท่านประธานและขอสนับสนุนการตั้งญัตตินี้ครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ เกี่ยวกับเรื่องร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๘๘ พ.ศ. .... นั้น ผมขออนุญาตสนับสนุน การแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ นั้น เกิดขึ้นมาเนื่องจากว่าในปี ๒๕๕๘ ประเทศของเราได้รับใบเหลืองจาก EU ในประเด็นข้อหาเรื่องการทำการประมงโดยขัดหลัก IUU กล่าวคือไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือ Illegal Unreported หรือว่าไม่ได้มีการรายงาน ให้ถูกต้อง หรือ Unregulated ก็คือไม่มีการควบคุม การทำการประมงของเราโดยมี การประมงที่เป็นลักษณะของ IUU นี้ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การประมงของเราถูกขึ้นใบเหลือง โดย EU เป็นที่มาของรัฐบาลในขณะนั้นที่จะต้องตราพระราชกำหนดออกมา เพื่อจะแก้ไข เรื่องดังกล่าวก็ออกมาในปีเดียวกัน ก็คือปี ๒๕๕๘ ที่เราได้รับใบเหลืองนั้นก็มีการกระทำ แล้วก็ได้ผลพอสมควรนะครับ ก็คือในที่สุดเราก็ได้รับการปลดล็อกใบเหลืองในปี ๒๕๖๒ แต่ปรากฏว่าผลของการตราพระราชกำหนดดังกล่าว เนื่องจากอาจจะเป็นการตราขึ้นโดยเร่งรัด และไม่รอบคอบเท่าที่ควร เป็นผลทำให้พระราชกำหนด ปี ๒๕๕๘ ที่มีการบังคับใช้อยู่ ในขณะปัจจุบันนี้ ไม่เหมาะสมกับการประมง กล่าวคือทำให้ยอดส่งออกลดลง ในขณะเดียวกัน ยอดนำเข้าก็เพิ่มขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมงแย่ลง มีรายได้ลดลง โรงงานต่าง ๆ ปิดตัวไปจำนวนมาก เรือประมงจำนวนมากไม่สามารถที่จะออกไปจับปลาได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ เพื่อนสมาชิกในหลาย ๆ พรรคได้ร่วมกันเสนอร่างพระบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนด ปี ๒๕๕๘ ในครั้งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งโดยภาพรวมผมเชื่อว่าเป็นความตั้งใจที่ดีที่จะมีการแก้ไขพระราชกำหนด ที่ออกมาโดยไม่รอบคอบดังกล่าวผมขออนุญาตยกตัวอย่างสั้น ๆ ถึงพระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่มีการออกมาในช่วงก่อนหน้านี้แล้วก็มีปัญหา เนื่องจากออกมาโดยไม่รอบคอบเท่าที่ควร อีกฉบับหนึ่ง ก็คือพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งออกมาใช้บังคับในปี ๒๕๖๒ พระราชบัญญัติเรื่องดังกล่าวก็ออกมาโดยไม่รอบคอบเท่าที่ควร แต่เดิมมีเจตนาที่จะออกมา เพื่อที่จะทำให้มีการเก็บภาษีจากทรัพย์สิน โดยตั้งเป้าว่าจะเก็บสินทรัพย์จากผู้ที่มีสินทรัพย์ มีมูลค่ามาก ๆ โดยไม่เป็นภาระกับประชาชนที่มีรายได้น้อย แต่ผลของการบังคับใช้ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ก็ปรากฏชัดว่ามีปัญหาอย่างมากมาย การเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของ อปท. ต่าง ๆ หรือกรุงเทพมหานครก็ดี ต่างลดลงทั้งสิ้น แล้วผู้ที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลก็มีวิธีการหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้ แต่เดิมเคยคิดว่าจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากยอดบนของพีระมิด ก็กลายเป็นว่า ยอดบนของพีระมิดจ่ายภาษีน้อยลง แต่ฐานของพีระมิดต้องจ่ายภาษีมากขึ้น พระราชกำหนด การประมงฉบับนี้ก็เช่นเดียวกันครับท่านประธาน ออกมาโดยไม่รอบคอบเท่าที่ควร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขโดยการตราเป็นร่างพระบัญญัติแก้ไข แต่อย่างไรก็ดี ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกต ๒-๓ ประการ เกี่ยวกับร่างบัญญัติที่จะมีการแก้ไขนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ก็คือประเด็นที่มีการให้อำนาจของคณะกรรมการประมงประจำ จังหวัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นส่วนดีที่มีการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่ผมกังวลก็คือว่าการกำหนด ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยคณะกรรมการประจำจังหวัดนั้น ถ้าหากว่าคณะกรรมการจังหวัด ไม่ได้มีข้อมูลที่เพียงพอ ไม่มีเรือที่จะไปสำรวจ เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และถูกต้อง แล้วมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ไป โดยที่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอหรือยังไม่มี ความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมาย กติกาที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประมง การกำหนดมาตรการต่าง ๆ เหล่านั้นอาจจะเป็นผลเสียก็ได้นะครับ ก็เป็นความกังวลอันหนึ่ง รวมทั้งการที่มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ โดยคณะกรรมการจังหวัด เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาจจะกำหนดไว้อย่างหนึ่ง จังหวัดระนอง จังหวัดเพชรบุรีที่ติด ๆ กันก็กำหนดไว้อีกอย่างหนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาเรื่องของการลักลั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ ก็เป็นข้อกังวลข้อหนึ่งที่จะ ขออนุญาตฝากคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือหน่วยงานใด ๆ ก็ตามที่จะมีการพิจารณา ร่างพระบัญญัติแก้ไขดังกล่าว ได้นำเรื่องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อที่จะได้ ช่วยลดปัญหานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่งที่ผมมีความกังวลก็คือบางส่วนที่มีการใส่รายละเอียด ที่มากเกินไปในร่างพระบัญญัติแก้ไขอาจจะทำให้ขาดความคล่องตัวในการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่างสักมาตราหนึ่งก็แล้วกัน เป็นมาตรา ๓๒ ที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องของ การทำประมงพื้นบ้าน โดยในวรรคท้ายในบางร่างก็มีการระบุว่า ห้ามมิให้คนต่างด้าว เป็นคนงานที่ทำงานในเรือประมงพื้นบ้าน แม้ว่าเรื่องดังกล่าวผมจะเห็นด้วย เนื่องจากว่า การทำประมงพื้นบ้านเป็นเรื่องที่ควรสงวนสำหรับคนไทย แต่อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัด ของปัญหาแรงงานในปัจจุบัน คือเรือประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ก็จะมีคนงานประมาณ สัก ๒ คน ๓ คน ปกติแล้วก็ใช้คนไทยได้ แต่ว่าปัญหาของการรายงานนี้มันเป็นปัญหา ที่ทวีความรุนแรงยิ่ง ๆ ขึ้น ถ้ากำหนดตายตัวไว้ในพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ วันหลังถ้าหากเราประสบปัญหาว่าแรงงานไม่สามารถหาได้เพียงพอ แล้วต้องมาแก้ พระราชบัญญัติอีกมันก็จะเสียเวลาครับ ส่วนนี้ถ้าหากว่าจะมีการเอาออกจากร่างพระบัญญัติ แล้วไปกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสมกว่า ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ขออนุญาตฝากท่านประธานไปยังผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาต่อไปว่า มี ๒-๓ ประเด็น ที่เรากังวล ก็ฝากท่านพิจารณา ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจากจังหวัดศรีสะเกษครับ ปัญหาที่ผมจะขออนุญาตอภิปรายวันนี้ก็เป็นเรื่อง ของการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีกรมป่าไม้ ที่มี อปท. ยื่นเรื่องเพื่อขอปรับปรุงหรือซ่อมถนน จากข้อมูลที่ทราบน่าจะประมาณ ๖๐,๐๐๐ กว่าราย แต่ก็ปรากฏว่าผ่านมาเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน หรือบางส่วนอาจจะถึงปี แต่ก็ปรากฏว่าทางกรมป่าไม้ก็ยังไม่ได้มีคำตอบกลับมาว่าจะอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ พอสอบถามไปก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมันมี ประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายอย่างนี้ คือตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๖ การจะเข้าใช้ประโยชน์หรืออาศัยอยู่ในป่าสงวนจะต้องขออนุมัติจากอธิบดี ซึ่งอธิบดีจะต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรี ส่วนมาตรา ๑๙ เป็นอำนาจของอธิบดีโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนั้นกฎหมายกำหนดให้อธิบดีจะต้องมีหน้าที่อนุมัติหรือไม่อนุมัติ จึงไม่มีเหตุที่ท่านอธิบดีจะเก็บเรื่องดองไว้เป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือบางส่วนอาจจะถึงปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง ที่ผมกล่าวว่าไม่ถูกต้องเป็นเช่นนี้ครับ แม้ว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ จะไม่ได้มีการกำหนดว่าการพิจารณาอนุมัติ ของอธิบดีจะต้องดำเนินการในเวลาเท่าใด ๑๕ วันหรือ ๓๐ วัน แต่ถ้าหากดูจาก พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ครอบคลุม การดำเนินการทางปกครองของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ถ้าท่านดูในมาตรา ๓๙/๑ ท่านก็จะเห็นว่าการที่มีหน่วยงานของรัฐก็ดีหรือประชาชนก็ดี ขอให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมี อำนาจทำคำสั่งทางปกครอง แล้วผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองจะต้องออกคำสั่งตามที่ กฎหมายกำหนดเวลาไว้ หากกฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาไว้ท่านก็จะต้องมีคำสั่งอนุมัติหรือ ไม่อนุมัติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายในระยะเวลา ๓๐ วัน อันนี้เป็นกำหนดเวลาที่ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดบังคับไว้ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้อง ปฏิบัติตาม และอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดเช่นเดียวกันว่าท่านอธิบดีกรมป่าไม้จะต้อง ดำเนินการในเวลาเท่าใด ก็คือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งออกมาในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นการปฏิวัติ เป็นการปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานของรัฐอย่างมี นัยสำคัญ กล่าวคือถ้าท่านประธานจำได้ แต่เดิมพวกเราเวลาที่ไปทำบัตรประชาชนบางครั้ง ต้องรอ ๓ อาทิตย์ ๔ อาทิตย์ หรือเป็นเดือน แต่หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เราก็จะพบว่าการดำเนินการอนุมัติต่าง ๆ ของ หน่วยงานราชการเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น การขอบัตรประชาชนก็สามารถทำได้ ในวันเดียว หรือจนปัจจุบันนี้ก็ทำเสร็จภายใน ๑๕ นาทีหรือ ๒๐ นาทีเท่านั้น หรือสมัยก่อน ที่พวกเราไปทำเรื่องของที่ดิน แต่เดิมใช้เวลามากกว่า ๑ วัน แต่ปัจจุบันนี้ก็สามารถทำได้ ในวันเดียว และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ นี้ก็เป็นอีกหลักเกณฑ์หนึ่งซึ่งท่านอธิบดีกรมป่าไม้จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน ซึ่งในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ ได้วางหลักการไว้ว่า ในการที่มี ผู้ขออนุญาตหรือมีคำขอใด ๆ ก็ตาม หน่วยงานของรัฐจะต้องมีวิธีการ ขั้นตอน ให้ชัดเจนว่า ถ้ามีหน่วยงานหรือบุคคลใดมาขออนุญาตจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และหน่วยงาน ของรัฐคือท่านอธิบดีจะต้องพิจารณาอนุมัติในเวลาเท่าใด ถ้าหากว่าในกรณีใดกฎหมายไม่ได้ ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าจะต้องดำเนินการในเวลาเท่าใด มีการกำหนดว่าท่านก็ต้องดำเนินการใน ๑๕ วัน ซึ่งก็เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการดำเนินการของท่านอธิบดีกรมป่าไม้ไว้ ดังนั้น ในการที่ท่านอธิบดีกรมป่าไม้ไม่พิจารณาเรื่องที่มีการขออนุมัติซ่อมแซมถนนในเขตป่าสงวน ซึ่งเป็นถนนเดิมจึงเป็นการกระทำที่น่าจะขัดกับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙/๑ แล้วก็ขัดกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ ซึ่งไม่น่าจะชอบ แล้วก็ มีอีกหน่วยงานหนึ่งที่สามารถดูแลในเรื่องนี้ได้ก็คือคณะกรรมการ ก.พ.ร. หรือคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ ซึ่งปัจจุบันก็มีท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านปานปรีย์ มหิทธานุกร เป็นประธาน แล้วก็ท่านพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรองประธาน ขออภัยที่เอ่ยนามท่าน ไม่ใช่ เรื่องเสียหาย คณะกรรมการ ก.พ.ร. ก็มีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา ในการพิจารณาของกรมป่าไม้เช่นเดียวกันว่า กรมป่าไม้เมื่อมีการทำเรื่องขอให้มีการอนุมัติให้มีการซ่อมบำรุงถนนซึ่งเป็นถนนเดิม กรมป่าไม้ จะต้องพิจารณาอนุมัติด้วยหลักเกณฑ์หรือในระยะเวลาเท่าใด ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ ผมก็ขออนุญาตฝากท่านประธานไปยังท่านอธิบดีกรมป่าไม้ และคณะกรรมการ ก.พ.ร. ให้ได้โปรดพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพราะปัจจุบันนี้มีประชาชนและ อปท. จำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ขอบพระคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษครับ ท่านประธานครับ ผมเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษก็มีผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม แต่ถ้าหากว่าจะพูดถึงชนเผ่าพื้นเมือง ก็พอจะเรียกได้ว่ามีอยู่ ๔ กลุ่มหลักครับท่านประธาน ก็จะมีเยอ มีส่วย มีลาว แล้วก็มีเขมรครับ ซึ่งก็เป็น ๔ กลุ่มหลัก ซึ่งทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและ มากสีสันครับ ตัวผมก็เห็นด้วยที่จะมีการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อที่ประเทศไทยเราจะได้เป็นสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์ทาง วัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะเป็นจุดดึงดูด ให้ต่างชาติได้มาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น การที่รัฐบาลและเพื่อนสมาชิกได้มี การเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะได้มี การร่วมกันคิดถึงการพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างบูรณาการ เพื่อที่จะรับใช้พ่อแม่พี่น้องที่เป็น ชนเผ่าพื้นเมืองกว่า ๑๐ ล้านคนครับ ผมมีข้อสังเกต ๒-๓ ประการ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ ต่าง ๆ ที่มีการร่างขึ้นครับ แล้วก็จะขออนุญาตฝากไปยังคณะกรรมการที่จะมีโอกาสได้ พิจารณาเรื่องนี้ในอนาคตอยู่ ๒-๓ ประเด็นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ก็คือเรื่องของการตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ นะครับ ซึ่งการตั้ง คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๗ ได้มีการพูดไว้ ในช่วงท้ายนะครับว่าในเรื่องของการใช้ระบบกฎหมายที่จะใช้คณะกรรมการนั้น อยากให้ทำ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ความหมายก็คือว่าไม่อยากจะให้มีการตั้งคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการจำนวนมาก จนเกินไป เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นการเปลืองทรัพยากรบุคคลและขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แล้วก็ทำให้องค์กรหน่วยงานของรัฐของเราซึ่งปัจจุบันนี้ มีขนาดใหญ่ เรามีค่าใช้จ่ายประจำแต่ละปีที่ต้องชำระ ที่ต้องจ่ายในงบประมาณรายจ่าย จำนวนมากมายมหาศาล ทำให้ต้องกู้เงินจำนวนมากและเหลือเงินสำหรับการพัฒนาในเรื่อง ของงบลงทุนเพียงไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ก็จะขอ อนุญาตฝากความกังวลครับว่าขอให้มีการตั้งเท่าที่จำเป็นจริง ๆ การไปตั้งระดับจังหวัด หรือระดับอำเภออะไรทำนองนั้น อาจจะเกินไปนะครับ ก็ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็นน่าที่จะเป็น ประโยชน์ต่อการดำเนินการของรัฐบาลครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ที่ผมจะขออนุญาตให้ข้อคิดเห็นนะครับ ก็คือเรื่องของการใช้ กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันของเรานะครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในเรื่องของ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน กฎหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่าง ๆ มีร่างพระราชบัญญัติมากมายที่บังคับใช้อยู่แล้วนะครับ ถ้าหากว่าจะมีการหาวิธีบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เหล่านั้นมาเพื่อส่งเสริมในเรื่องของการดูแล ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะครอบคลุมมากพอสมควรแล้วนะครับ ถ้าใช้กฎหมายต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการ โดยที่ไม่มีการบัญญัติเพิ่มเติมในหลาย ๆ ประเด็นนี้น่าที่จะเป็น ประโยชน์มากกว่าการที่จะเพิ่มกฎกติกาอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกโดยเฉพาะ เหตุผลที่ผมกังวล ก็คือถ้าหากว่าในบางชนเผ่าหรือในบางแห่งนะครับ เรามีการใช้กฎหมายเฉพาะและกำหนด มาตรการเฉพาะขึ้นสำหรับกลุ่มชนเผ่าหนึ่ง ๆ ในขณะที่เรามีชนเผ่าอื่น ๆ อีกหลายสิบชนเผ่า อาจจะเป็น ๕๐ ชนเผ่าหรือ ๖๐ ชนเผ่า แล้วเกิดความลักลั่นหรือไม่เสมอภาคกัน มันก็อาจจะ เกิดปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ ได้นะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าการดำเนินการต่าง ๆ ดำเนินการไปโดยอาศัยกฎหมายตามปกติ น่าจะเป็นวิธีการ ที่ดีกว่าครับ รวมทั้งอีกประเด็นหนึ่งที่ขออนุญาตฝากนะครับ เนื่องจากว่าชนเผ่าพื้นเมือง ของเรานะครับ ถ้าเราไปนับรวมกันปัจจุบันก็มีเพื่อนสมาชิกนะครับ ได้บอกว่าประมาณ ๑๐ ล้านคน ซึ่งก็เป็นจำนวนมากนะครับ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองก็เป็นคนไทย ชนเผ่าที่ไม่ใช่ชนเผ่า พื้นเมืองจะเป็นคนในพื้นที่ประเทศไทยเป็นชาวไทยตั้งแต่ดั้งเดิม หรือเป็นผู้อพยพมาจาก ต่างประเทศมาเป็นคนไทยต่างก็เป็นพี่น้องชาวไทยด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคนไทย ด้วยกันถ้าหากว่ามีการปฏิบัติต่อทุกชนเผ่าอย่างเท่าเทียมในฐานะคนไทย ผมก็คิดว่าน่าจะทำ ให้เกิดความรู้สึกว่าสังคมของเรานั้นมีความเป็นธรรมและมีความเท่าเทียมมากกว่าที่จะใช้ ระบบกฎหมายหรือกฎกติกาเฉพาะสำหรับประชาชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่งที่พิเศษกว่าชนเผ่าอื่น ก็เป็น ๒-๓ ประเด็นที่ผมกังวลครับ แต่กล่าวโดยสรุปผมก็สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ ของเพื่อนสมาชิกและของรัฐบาลที่มีการยื่นเข้ามาในครั้งนี้ แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการ พิจารณาในชั้นของกรรมาธิการนั้นจะได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อที่จะให้การดูแลชนเผ่าพื้นเมืองของเราเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ยังผลทำให้ประเทศไทย เรายังคงรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของแต่ละชนเผ่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก หรือแตกต่าง หรือเกิดความขัดแย้งในสังคมครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ท่านประธานครับ ผมได้มีโอกาสได้อ่านรายงาน งบประมาณไทยสร้างสรรค์ไม่เหมือนเดิม โดยคร่าว ๆ ประมาณทั้งหมด ๘๕ หน้า นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรกที่จะขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ก็คือขออนุญาตแสดงความ ชื่นชมที่ทางท่านประธานคณะกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการ ตลอดจนคณะอนุ กรรมาธิการและคณะทำงานที่มีความตั้งใจที่จะทำงานอย่างจริงจังนะครับ ใน ๓ เดือนแรก ที่มีการทำงานเราก็คงจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าผลการทำงานจะดีหรือไม่ แต่เบื้องต้น เราก็เห็นว่าทางคณะกรรมาธิการซึ่งก็ประกอบด้วยหลาย ๆ พรรครวม ๆ กัน ก็ได้วาง แนวทางการทำงานที่มีลักษณะเฉพาะ แล้วก็เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งก็เป็นวิธีการทำงาน แบบหนึ่ง เราก็จะติดตามรับว่าวิธีที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานนี้จะทำให้ผลงานการทำงาน ออกมาดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ อย่างไร ส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าการเปลี่ยนรูปแบบ การทำงานนั้นจะได้ผลดีหรือไม่ เพียงไรครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๒ ผมเข้าใจว่ามันก็จะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยน คณะกรรมาธิการ ก็คงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธี หรือเสนอแนวทางให้กับรัฐบาลในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งเท่าที่ผมฟังท่านประธานคณะกรรมาธิการพูดเมื่อสักครู่นี้ ท่านก็มีการขึ้นสไลด์ แล้วก็เสนอ ว่าประเทศของเราควรที่จะมีการทำงบประมาณโดยระบบ Set Zero Based Budgeting นะครับ หรืองบประมาณฐาน ๐ ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านก็คือเหมือนกับว่าแต่เดิมเราเคยมี วิธีการทำงานอย่างหนึ่ง มีองคาพยพในการทำงานอยู่ส่วนหนึ่ง มีโรงงานอยู่โรงงานหนึ่ง หลักการของงบประมาณฐาน ๐ นี้ก็คือเราก็รื้อทิ้งหมดเลย แล้วเราก็ทำใหม่นะครับ โดยวางแผนใหม่ให้เหมาะกับความต้องการในขณะนั้น ๆ วิธีการทำอย่างนี้แม้ว่าจะเป็น วิธีการที่ดีในอุดมคติ แต่ว่าเมื่อนำมาใช้กับประเทศก็จะพบอุปสรรคค่อนข้างมาก ระบบนี้ ถ้าเป็นเรื่ององค์กรเอกชนที่ขนาดเล็ก ๆ หรือขนาดกลางก็ไม่ยากครับ แต่ถ้าเป็นองค์กร เอกชนที่ใหญ่ ๆ อุปสรรคก็เริ่มมี ถ้าเป็นเรื่องของประเทศ อุปสรรคก็จะทวีความรุนแรง ขึ้นตามลำดับ ผมก็ได้มีโอกาสอ่านในรายงานของคณะกรรมาธิการ ท่านมีการสัมมนาใน ครั้งที่ ๑ ผมขออนุญาตอ่านก็แล้วกันนะครับ เพราะว่าเป็นข้อสรุปของคณะกรรมาธิการ ท่านดอกเตอร์สมชัย จิตสุชน ท่านก็ได้บอกว่า งบประมาณฐาน ๐ นี้เป็นแนวคิดที่ริเริ่มใน สหรัฐอเมริกาและยังไม่ได้ผลดีอย่างที่คาดเท่าไร มีข้อเสียทำยาก ทั้งเชิงเทคนิคและแรงจูงใจ ผู้ที่เกี่ยวข้องทำได้ยากในทางปฏิบัติ ซึ่งผมก็เห็นใจนะครับ เพราะว่าระบบราชการของเรา เป็นระบบค่อนข้างที่จะใหญ่แล้วก็มีข้าราชการจำนวนมาก ระเบียบวิธีการก็ซับซ้อน แล้วเรา ก็มีคณะกรรมการหลายชุดเยอะแยะเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นด้วยระบบของเราอย่างนี้ การที่ จะปรับเปลี่ยนทำอะไรขึ้นมาใหม่ อุปสรรคในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร อุปสรรคในเรื่องของ ข้อกฎหมาย ตลอดจนรูปแบบการทำงานจะทำให้ความพยายามที่จะทำ Zero Based Budgeting มีปัญหาค่อนข้างมาก ผมก็อยากจะยกตัวอย่างข้อมูลนะครับ ปกติงบประมาณ ถ้าตามตัวเลขนี้เราก็จะมีประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นงบลงทุน ส่วนที่ไม่ใช่งบลงทุนนี้ ผมก็คิดว่าก็คงจะมาใช้งบประมาณฐาน ๐ ไม่ได้ จะเป็นงบประมาณในเรื่องของบุคลากร ๔๐ เปอร์เซ็นต์ก็ดี ส่วนนี้ก็คงจะไปแตะต้องอะไรไม่ได้ ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวกับ การลงทุนประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากงบประมาณที่มีการผูกพันข้ามปี คิดไปคิดมา ก็อาจจะเหลือปีหนึ่งสัก ๔-๕ เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นในแง่ที่จะมีการทำ งบประมาณฐาน ๐ ทั้ง ๓.๔๘ ล้านล้านบาทนี้ ซึ่งเป็นงบประมาณทั้งก้อน ผมคิดว่าน่าจะ เป็นไปได้ยากในขณะนี้ แต่ในอนาคตถ้าหากว่าเรามีการปรับโครงสร้างระบบของราชการของ เรา มีการปรับเรื่องระบบกฎหมาย มีการปรับวัฒนธรรมการทำงาน ในอนาคตระดับกลางมี ความเป็นไปได้ แต่ในระยะสั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก ถ้าจะทำจริง ๆ ก็คงจะทำแค่ในส่วน งบประมาณจำนวนหนึ่งสัก ๕ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ก็อยากจะฝากไว้ว่าจริง ๆ แล้วมันมีวิธีการทำงานที่ง่ายกว่าด้วย ก่อนที่ท่านจะทำเรื่องของ งบประมาณฐาน ๐ ถ้าหากปรับระบบวิธีงบประมาณปัจจุบัน เลือกโครงการที่เหมาะสมกับ เศรษฐกิจประเทศไทย ทำอย่างไรที่จะให้งบประมาณที่เลือกแล้วนั้นดำเนินการไปแล้วมี ประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล มีความรั่วไหลน้อย ปราศจากการทุจริต หากทำได้แต่เพียงเท่านี้ ผมเชื่อว่างบประมาณของเราก็จะมีการจัดการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้วนะครับ ก็ไม่อยากจะให้ทางคณะกรรมาธิการ ซึ่งผมก็ชื่นชมว่ามีความตั้งใจดี ไม่อยากจะให้ Focus ไปแค่เรื่องของงบประมาณฐาน ๐ อยากฝากท่านว่ามันมีวิธีการทำที่ง่ายกว่าก็คือ การปรับปรุงโครงสร้างปัจจุบัน การทุบกำแพงบางส่วนออก การเจาะผนังบางส่วนออก การเปิดหน้าต่างบางส่วนแล้วทำให้โรงงานของท่านหรือว่าระบบงบประมาณของเราทำงาน ให้ดีขึ้น สามารถทำได้เร็วกว่า แล้วก็สามารถทำได้ทันที ไม่อยากจะให้ Focus หรือทุ่มเท ความพยายามทั้งหมดไปที่การทำงบประมาณฐาน ๐ อย่างเดียว ซึ่งท่านก็เห็นแล้วว่าใน ต่างประเทศนี้คนที่ใช้ระบบงบประมาณฐาน ๐ นั้น ผมยังไม่เห็นว่ามีประเทศใดที่ใช้ งบประมาณฐาน ๐ แล้วประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ยังไม่เห็นครับ ขอบคุณครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพครับ กระผม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดศรีสะเกษ ถึงแม้ว่าจังหวัดศรีสะเกษจะไม่มีทางติดทะเล แต่เรื่อง ของปัญหามลภาวะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อทะเลก็เป็นปัจจัยที่อยู่ในความสนใจของ ชาวจังหวัดศรีสะเกษเช่นเดียวกัน ปัญหาของน้ำมันรั่วในทะเลมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อยู่ใน บริเวณนั้น มีผลต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม มีผลต่อสุขภาพของประชาชนที่จะต้องรับประทาน สัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันที่รั่วนั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากชาวประมง ก็น่าจะจับปลาได้น้อยลง รวมทั้งปัญหาที่นักท่องเที่ยวจะไม่มาเที่ยวประเทศไทยหรือมาเที่ยว น้อยลง เนื่องจากมีข่าวเรื่องของน้ำมันรั่วหรือสภาพของทะเลที่ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยว อย่างเต็มที่ ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญตามที่เพื่อนสมาชิก ได้มีการอภิปรายไปแล้วหลายท่าน ผมก็จะขออนุญาตผ่านในส่วนนั้นไป ก็จะขออนุญาต ไปในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยส่วนตัวผมเห็นอย่างนี้ว่า การแก้ไขปัญหา ในเรื่องนี้มีวิธีการทำได้ ๓ วิธี วิธีที่ ๑ ทำได้ทันที ก็คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และส่วนที่ ๒ ก็คือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ในส่วนที่ ๓ คือการ ใช้กระบวนการทางสังคมในการป้องกันและป้องปรามมิให้เกิดการกระทำให้มีน้ำมันรั่ว ในทะเล ก็มีอยู่ ๓ ส่วน ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็นหลักในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ ๓ ฉบับครับท่านประธาน ฉบับที่ ๑ ก็คือพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งดูแลโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มาตรา ๑๑๙ ทวิ มาตรา ๒๐๔ ก็มีการระบุเรื่อง การดูแลรักษาน่านน้ำทางทะเลไว้ พระราชบัญญัติ ฉบับที่ ๒ ก็คือพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งส่วนนี้ก็ดูแลโดยกรมทรัพยากรทาง ทะเลและชายฝั่ง ก็มีหลายมาตรา เช่น มาตรา ๙ มาตรา ๗๘ มาตรา ๙๖ มาตรา ๙๗ พระราชบัญญัติตัวที่ ๓ คือพระราชกำหนดการประมง ๒๕๕๘ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการดูแล เวชวิทยาของสัตว์น้ำ การดูแลรักษาคุณภาพสัตว์น้ำก็จะอยู่ในมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๙ โดยสรุปรวมแล้วทั้ง ๓ พระราชบัญญัตินี้ก็มีเจตนาที่จะให้ผู้ที่ทำน้ำมันรั่วในทะเลหรือ ผู้ครอบครองหรือเจ้าของส่วนที่ก่อให้เกิดมลพิษนั้นจะต้องดูแลรักษา ถ้าหากเกิดปัญหามี น้ำมันรั่วในทะเล เจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ทำให้เกิดความเสียหายนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องขจัด คราบน้ำมันให้หมดสิ้น แล้วก็ฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลให้กลับสู่ปกติ ถ้าหากมีสัตว์น้ำได้รับ ผลกระทบก็ต้องปรับปรุงให้สัตว์น้ำสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุขตามธรรมชาติด้วย เช่นเดียวกัน โดยถ้าหากว่าผู้กระทำความผิดไม่ได้ดูแลให้ถูกต้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะมีโทษทางอาญา มีโทษจำคุก ก็จะมีตั้งแต่ ๑ ปี ๓ ปี หรือ ๕ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ในโทษปรับนั้นก็จะอยู่ระหว่าง ๓๐,๐๐๐ บาทบ้าง ๖๐,๐๐๐ บาทบ้าง หรือ ๕๐๐,๐๐๐ บาทบ้าง แล้วแต่ว่ากระทำความผิดในมาตราใด แต่ประเด็นที่มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ผมก็จะขออนุญาตให้ข้อมูลครับ ก็คือข้อมูลที่เป็นความเสียหายของน้ำมันรั่วทางทะเล ถ้าหากไปดูข้อมูลที่เผยแพร่ของ ๓ หน่วยงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจะพบว่าข้อมูลของ ทางราชการที่มีการประกาศออกมา มีไม่ครบถ้วนครับท่านประธาน แล้วก็ถึงแค่ประมาณ ปี ๒๕๖๔ เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันนี้เป็นปี ๒๕๖๗ แล้ว ความจริงแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น สมควรที่หน่วยงานของรัฐจะมีการเผยแพร่และบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยทันที แล้วก็มีการชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุของการเกิดปัญหา รวมทั้งมาตรการแก้ไข เยียวยาก็ควรจะมีนะครับ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นกรมประมง กรมทรัพยากรทาง ทะเลและชายฝั่ง หรือจะเป็นกรมเจ้าท่าก็ตาม มิได้มีการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ปัญหา ข้อมูลอย่างทันท่วงที รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเราไปถามเอกชนที่อยู่ในพื้นที่เราก็จะพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีมากกว่าตัวเลขที่หน่วยราชการมี แสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวลครับว่า ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หรืออย่างเต็มที่ แม้แต่ ยกตัวอย่างเคสนะครับ ที่เหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๖๕ ที่มีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว โดยบริษัทแห่งหนึ่ง แต่เดิมบอกว่ารั่ว ๒๐๐,๐๐๐ ลิตร ต่อมาบริษัทเดียวกัน ท่านก็บอกว่าน้อยกว่านั้น และในที่สุด จบที่ ๕๐,๐๐๐ ลิตร แต่หน่วยงานราชการของเราในที่สุดไปตรวจ แล้วก็บอกว่า ๒๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งก็ทำให้ความน่าเชื่อถือในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐของเราได้รับ ผลกระทบกระเทือนครับ ก็อยากจะฝากท่านประธานครับว่า อยากจะให้หน่วยงานของรัฐ มีเครื่องมือตามกฎหมายมากมายตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าทุกหน่วยงานได้ดำเนินการ อย่างเต็มที่ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วในทะเลได้ดีกว่าที่เป็นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๙ ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันนั้นเป็นอำนาจของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมอบหมายให้ทาง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจแทนก็ได้ มีอำนาจในการสั่งการในเรื่องของการป้องกันและ ขจัดมลพิษเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าหากว่ามีผู้ใดขัดขืนคำสั่งนั้นมีโทษสูงสุด จำคุกถึง ๕ ปี และปรับ ถึง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ผมแทบจะไม่เคยได้ยินนะครับว่า มีการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว แต่อย่างใด และส่วนใหญ่ผมก็เชื่อว่าผู้กระทำความผิดก็จ่ายค่าปรับ จะเป็น ๖๐,๐๐๐ บาทก็ดี ๑๐๐,๐๐๐ บาทก็ดี หรือ ๕๐๐,๐๐๐ บาทก็ดี แล้วก็ไม่มีโทษจำคุก ก็เป็นที่น่าเสียดายครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๒ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการปรับปรุงกฎหมายนะครับ ก็อย่างที่ท่าน สส. สุรเกียรติ เทียนทอง ท่านได้เป็นผู้เสนอญัตติ ท่านก็ได้ยกตัวอย่างของอัตราค่าปรับ ที่สูงกว่ามากในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอัตราค่าปรับวันละเป็นล้านบาท เทียบกับของประเทศไทยซึ่งอัตราค่าปรับต่ำมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมประมง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน ก็เป็นที่น่าเสียดาย ครับว่า กฎหมายของเราบทลงโทษอาจจะเบาไปนิดหนึ่งนะครับ น่าที่จะได้มีการพิจารณา ในชั้นต่อไปนะครับว่า จะปรับปรุงกฎหมายในส่วนนี้ ในเรื่องของการเพิ่มโทษในทางกระทำ ความผิดหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนที่ ๓ เป็นเรื่องของการใช้กระบวนการทางสังคมครับ ถ้าหากว่า ตรงข้อมูลมีการเผยแพร่ว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครอง ผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษ แล้วก่อให้เกิด มลพิษที่ไหน อย่างไร แล้วหน่วยงานของรัฐเข้าไปจัดการปัญหาอย่างไร ผมเชื่อว่าเมื่อ ประชาชนทราบเรื่องนี้ เจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ก่อให้เกิดปัญหานี้ก็จะมีความระมัดระวัง มากกว่านี้ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำมันรั่วในทะเล ที่ปัจจุบันมีมากกว่า ๔๐-๕๐ ครั้ง ๔๐-๕๐ รายต่อปี ซึ่งถือว่ามากมายมหาศาล สมควรที่จะได้มีการหาทางแก้ไขปัญหา เรื่องดังกล่าวโดยด่วนครับ ขอบพระคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม