นางสาวขัตติยา สวัสดิผล

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ เรามีคนแก่เยอะมาก เรามีคนจนเยอะมาก และที่สำคัญเรามีแรงงานที่อยู่นอกระบบ เป็นจำนวนสูงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดในประเทศ ดังนั้น กอช. จึงมีความสำคัญมาก ๆ เพราะว่าเป็นกองทุนที่จะรองรับแรงงานที่อยู่นอกระบบ เพื่อที่จะให้เขาได้มีการออมเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันหลังเกษียณต่อไป ในรายงานฉบับนี้ ของ กอช. บอกว่าได้ดำเนินงานเพื่อจะขับเคลื่อนภารกิจกองทุนให้บรรลุเป้าหมายตามแผน ยุทธศาสตร์ ๔ ด้านด้วยกัน ดิฉันจะขอไล่ไปในแต่ละยุทธศาสตร์นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ยุทธศาสตร์แรก กอช. บอกว่าจะเพิ่มจำนวนสมาชิกอย่างทั่วถึง แล้วก็จะส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่อง ที่น่าดีใจที่ กอช. ทำสำเร็จ เพราะว่าในรายงานแสดงให้เห็นว่า กอช. มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ปี ๒๕๖๕ มีจำนวนอยู่ถึง ๒.๕ ล้านคน

    อ่านในการประชุม

  • ยุทธศาสตร์ที่ ๒ กอช. บอกว่าเน้นเรื่องการบริหารเงินลงทุน แล้วก็สร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศของ กอช. Slide นี้จาก Port เงินสะสม แล้วก็เงินสมทบของสมาชิก กอช. มีเงินลงทุนอยู่เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนที่เป็น ความเสี่ยงต่ำ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ และเป็นความเสี่ยงสูงอยู่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีผลตอบแทน อยู่ที่ประมาณ ๐.๑๔ เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ผลตอบแทนที่ได้รับในอัตรา ๐.๑๔ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดิฉันคิดว่ามันอาจจะโตไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อของเราที่ตอนนี้อยู่ที่ ๓ เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะเมื่อดิฉันเอาไปเปรียบเทียบกับกองทุนประกันสังคมที่ดิฉันเคยอภิปรายไปในช่วงแรก ๆ กองทุนประกันสังคมมีการเอาเงินไปลงทุนในการลงทุนที่เป็นความเสี่ยงต่ำอายุ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นความเสี่ยงสูง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีผลตอบแทนอยู่ที่ ๑.๖๖ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดิฉันเลยอยากจะขอแนะนำผ่านท่านประธานไปยัง กอช. ว่า เราอาจจะปรับเปลี่ยน Port การลงทุนดีหรือไม่ เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ คืออาจจะ เสี่ยงมากขึ้นอีกนิดหนึ่งเพื่อที่จะได้กำไรมากขึ้น ท่านประธานคะ ปัจจุบันจำนวนแรงงาน นอกระบบเรามีถึง ๒๐.๒ ล้านคนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นประมาณ ๕๑ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มี งานทำที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ ๓๙.๖ ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่ามันคงไม่ใช่หน้าที่ของ กอช. ที่จะ ผลักดันแรงงานนอกระบบให้มาอยู่ในระบบ แต่ในรายงานเขียนว่าเป้าหมายของ กอช. คือ อยากให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี และอยากให้ไปแตะที่จำนวน ๒.๗๖ ล้านคนในปี ๒๕๖๙ คำถามของดิฉันคือการตั้งเป้าหมายแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ เราควรผลักดันให้แรงงาน นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบไม่ใช่หรือคะ แต่ กอช. กลับวางเป้าหมายแบบนี้ตั้งแต่ต้น ทั้ง ๆ ที่เราควรจะเอาแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อที่ว่ารัฐจะได้จัดการเรื่องสวัสดิการ แล้วก็เรื่องภาษีต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอไปยุทธศาสตร์ที่ ๓ ต่อนะคะ กอช. พูดถึงเรื่องการถ่ายทอดค่านิยม สังคมการออมด้วยภาพลักษณ์ที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ดิฉันดีใจที่ทางกองทุนได้ให้ ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางช่องทาง Online ด้วยเทคโนโลยี Digital แต่พอดิฉันไปดู การสื่อสารผ่านช่องทาง Online ว่ามันได้ผลมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าช่องทาง YouTube กับ Facebook กอช. มีรายการชื่อ สื่ออาสาประชาชน กับรายการ คุยกับ กอช. มันมียอด คนดูน้อยมาก ๆ คือหลักพันต้น ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกของ กอช. ที่มีอยู่ประมาณ ๒ ล้านกว่าคน หรือรายการ เงินทองของจริง ที่ทาง กอช. เอาไปผูกกับช่อง ๗ กับ YouTube ของ The Standard ก็มียอด View อยู่ที่แค่ ๑๐,๐๐๐ ต้น ๆ แค่นั้นเอง เลยอยากจะถาม กอช. ว่ามีความคิดที่จะปรับปรุงให้มันดีกว่านี้หรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ ๓ คือ กอช. มีหลักสูตรการเรียน Online เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ทางการเงินที่ กอช. ไปทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็น e-Learning ซึ่งน้องในทีมงานของดิฉันก็ได้ลงเรียนจนได้ประกาศนียบัตรมาเช่นกัน แล้วก็ชื่นชมว่าเป็นหลักสูตรที่ดี เพราะว่าเป็นการสอนวางแผนการใช้ชีวิตด้านการเงินจริง ๆ ซึ่งหลักสูตรพวกนี้ควรจะไปบรรจุอยู่ในของกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยซ้ำ ดิฉันไม่แน่ใจว่า กอช. ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ คนมาเรียนทางนี้ได้มากน้อยแค่ไหน มีจำนวนคนลงเรียนกี่คน และสุดท้ายแล้วมีคนเรียนจบ ได้รับประกาศนียบัตรมากี่คน ทาง กอช. พอจะเปิดเผยได้ไหมคะ จากนั้น กอช. ยังมี การประกวด TikTok Contest ด้วย แล้วก็มีการประกวด Animation ซึ่งเงินรางวัลก็เกือบ ๔๐๐,๐๐๐ บาทเช่นกัน เลยอยากถามว่าผลลัพธ์ที่ได้มามีอย่างไรบ้าง และทาง กอช. ได้นำ ส่วนนี้ไปต่อยอดอย่างไรได้บ้างคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นของยุทธศาสตร์ที่ ๓ คือ กอช. มีการจัดกิจกรรม CSR เช่น ไปช่วยผู้ประสบภัย ไปปลูกต้นไม้ ไปร่วมงานเทศกาลวันเข้าพรรษา ดิฉันอยากฝาก คำแนะนำผ่านท่านประธานไปยัง กอช. ว่าอยากให้พิจารณาการทำกิจกรรม CSR ให้มี ความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของกองทุนการออมแห่งชาติมากกว่านี้จะได้หรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันขอปิดท้ายด้วยยุทธศาสตร์สุดท้าย ยุทธศาสตร์ที่ ๔ คือการมุ่งพัฒนา ประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ตามรายงาน กอช. บอกว่า มีพนักงานอยู่ ๘๕ คน แต่ทราบไหมคะว่าพนักงาน ๔ คน จาก ๘๕ คน ตอนนี้มีเรื่องฟ้องร้อง กับ กอช. อยู่ และมีอดีตพนักงานของ กอช. ๒ คนก็มีเรื่องฟ้อง กอช. อยู่เช่นกัน ถึงแม้ว่าคดี จะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม สิ่งที่ทาง กอช. พยายามจะบอกว่าต้องการพัฒนาประสิทธิภาพ การดำเนินงานภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานหลักคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กอช. กลับถูกพนักงานฟ้องร้องตนเอง แถมยังมีสมาชิกกองทุนฟ้องร้อง เอาผิดเรื่องสัญญาการจ่ายเงินด้วย ดิฉันจึงอยากให้กองทุนพิจารณาถึงการบริหารงานองค์กร ในส่วนที่สัมพันธ์กับทางพนักงานแล้วก็สมาชิกกองทุนว่าเราควรจะทำสัมพันธ์ให้ดีขึ้นกว่านี้ หรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อหน้าตาและความเชื่อมั่นที่มีให้แก่กองทุน แต่อย่างใด กองทุนเองก็ขาดทุนสะสมมาหลายปี ปี ๒๕๖๕ กองทุนขาดทุนสะสมแตะอยู่ที่ ๘๐๐ ล้านบาท ไม่ทราบว่ากองทุนจะมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธาน ผ่านไปยังคณะกรรมการกองทุนว่าให้กองทุนยกระดับการทำงาน ดูแลบุคลากรให้ดี เพื่อที่จะ เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กองทุน แล้วก็สร้างวินัยที่ดีในการออมให้กับประชาชนต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคเพื่อไทย อันดับแรกดิฉันต้องขอขอบคุณทางกองทุนประกันสังคมที่วันนี้มาที่สภาผู้แทนราษฎร ด้วยตัวเอง ก็อยากจะให้หน่วยงานอื่น อย่างเช่น กกต. ป.ป.ช. รวมถึง กสทช. ดูจาก หน่วยงานกองทุนประกันสังคมไว้เป็นตัวอย่างนะคะว่าหน่วยงานที่ดีที่ต้องรับใช้พี่น้อง ประชาชนนั้นเป็นอย่างไร ดิฉันขออภิปรายถึงรายงานของผู้สอบบัญชีแล้วก็รายงานการเงิน ของกองทุนประกันสังคม เนื่องจากดิฉันถือเป็นผู้ประกันตน ๑ คนที่ต้องจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมในทุก ๆ เดือน เพราะว่าดิฉันเป็นพนักงานบริษัทเอกชน จ่ายมาเป็นหลายสิบปีแล้วค่ะ เนื่องจากเราถูกบังคับด้วยกฎหมาย โดยดิฉันหวังว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับดิฉัน หากว่าจะต้องตกงาน หากว่าจะต้องเจ็บป่วย หากว่าจะต้องพิการ หากว่าจะต้องเสียชีวิต ก็จะมีเงินจากกองทุนประกันสังคมที่ดิฉันถูกหักในทุกเดือนนั้น มาเก็บไว้ใช้ในยามที่ลำบากได้ จนบางครั้งดิฉันมานั่งดู Slip เงินเดือนของตัวเองก็ได้แต่ มองว่านี่มันเงินเดือนหรือว่าเงินทอนกันแน่ มันคุ้มหรือเปล่าที่เราถูกหักกันไปในแต่ละเดือน ท่านประธานคะ เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่ากองทุนประกันสังคมถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักประกัน และความมั่นคงให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยมีเดิมพันคือความไว้วางใจที่ภาคแรงงานมีให้ ต่อภาครัฐ ซึ่งภาครัฐถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันมีคำถาม เกิดขึ้นมากมายจากผู้ประกันตนที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากับกองทุนประกันสังคมในทุก ๆ เดือน ว่ากองทุนนี้ยังเป็นหลักประกันให้เราได้อยู่หรือไม่ กองทุนนี้ยังมีความมั่นคงอยู่หรือไม่ และเราจะยังให้ความไว้วางใจในกองทุนประกันสังคมนี้ได้อยู่หรือไม่ ท่านประธานคะ ที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ ๒ ประการด้วยกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรกในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้แรงงานต้องถูกออก นอกระบบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถูก Lay off หรือถูกให้ออกจากงาน รัฐบาลที่แล้วคือ รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เม็ดเงินมหาศาลจากกองทุนประกันสังคม ในการไปเยียวยาผู้ที่ต้องถูกออกจากงานเหล่านี้ กองทุนประกันสังคมจะดูแลตรงนี้อย่างไร มีเงินเหลือในกองทุนอยู่เท่าไร อันนี้คือสิ่งแรกที่เราต้องเผชิญนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • การเผชิญความท้าทายที่ ๒ ค่ะ ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging society อัตราการเกิดในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียงแค่ ๐.๑๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่งให้ในอนาคตจำนวนผู้ประกันตนจะลดลง แต่เรายังต้องใช้เงินจากกองทุนนี้อย่างมหาศาล เนื่องจากผู้สูงอายุต้องใช้บำเหน็จบำนาญ ต้องใช้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ท่านประธานคะ เมื่อดิฉันพิจารณาจากรายงานที่ได้รับมา เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของกองทุน เพื่อเป็น การเพิ่มสัดส่วนรายได้ ๑ ในนั้นก็คืองบการลงทุนค่ะ ดิฉันจึงอยากฝากข้อสังเกตผ่าน ท่านประธานไปยังกองทุนประกันสังคมนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อแรก เราจะสามารถขยับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบได้หรือไม่ อันนี้ เป็นแค่คำถามหรือความเห็นนะคะ ดิฉันเข้าใจว่าคนใช้แรงงานหรือผู้จ่ายเงินสมทบก็รู้สึกว่า การหักจากเงินเดือนร้อยละ ๕ ในแต่ละเดือน แต่จำกัดเพดานอยู่ที่ ๗๕๐ บาท มันก็ลำเค็ญ พอแล้ว เพราะว่าทุกวันนี้เราต้องการที่จะลดรายจ่ายแล้วก็เพิ่มรายได้ แต่เงินส่วนนี้ ๗๕๐ บาทที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือนมันคือเงินออมที่เราจะเอาไว้ใช้ในอนาคต หากทาง กองทุนประกันสังคมสามารถที่จะสร้างความไว้วางใจได้ว่าทางผู้ประกันตนหรือผู้ส่งเงิน สมทบจะสามารถตรวจสอบเงินที่เราจ่ายไปในแต่ละเดือนได้ กองทุนประกันสังคมมีความ โปร่งใสในการใช้เงิน จนผู้ประกันตนเชื่อได้ว่าถ้าเราจ่ายเงินไป เราจะได้รับผลตอบแทน อย่างคุ้มค่า มีความมั่นคงในชีวิต เป็นการจูงใจให้คนอยากเป็นผู้ประกันตนจะดีกว่าหรือไม่ เหมือนที่ข้าราชการเต็มใจจ่ายเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. หรือที่ พนักงานเอกชนเต็มใจที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตข้อที่ ๒ ค่ะ ในส่วนของเงินกองทุนที่เราไปว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์ ให้จัดการการลงทุน เมื่อดิฉันดูรายงานนะคะ เห็นว่างบรายจ่ายของกองทุนเติบโตเพียงแค่ ๒.๑๖ เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น และเมื่อดูตามรายงานที่ส่งมาคือเป็นรายของปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๔ กองทุนมีกำไรจากการที่ไปว่าจ้างให้บริษัทหลักทรัพย์ไปลงทุนให้เพียงแค่ ๓.๓๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเมื่อดิฉันนำมาคำนวณเป็นอัตราการเติบโตรายปีแบบผสม คือ Compound annual growth rate เพื่อที่จะวัดอัตราผลตอบแทนการลงทุน มันตกกำไร เพียง ๑.๖๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คือเมื่อดิฉันเอาไปเทียบกับอัตราการเติบโตของกองทุนอื่น ที่เขาเอาเงินไปลงทุนกันซึ่งมันอยู่ที่ประมาณ ๒-๕ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พอมาเปรียบเทียบกับ กองทุนประกันสังคมมันอยู่แค่ ๑.๖๖ เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้นคือมันต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะได้ เพราะฉะนั้นดิฉันก็เลยอยากตั้งคำถามไปยังกองทุนว่ากองทุนมีแผนเพื่อที่จะปรับ Port การลงทุนหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้มันเพียงพอต่อรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเพิ่มขึ้น ทุกปี อย่างที่ดิฉันบอกไปว่าเราเผชิญกับความท้าทายจากการเอาเงินออกมาใช้ตอน สถานการณ์โควิด-๑๙ กับความท้าทายที่เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้านี้ที่เราต้องใช้ เม็ดเงินจากกองทุนประกันสังคมอย่างมหาศาลค่ะ ตรงนี้ทางกองทุนประกันสังคมมีทางแก้ไข อย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากกองทุนยังทำงานแบบสบาย ๆ แบบนี้อยู่ ยังถูกราชการคุมอยู่ มีโอกาส ที่ผลตอบแทนในอนาคตจะขาดทุนหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ซึ่งทำให้เงินไม่พอจ่ายในอนาคต และที่สำคัญมันจะส่งผลกระทบถึงตลาดทุนไทยที่จะแย่ตามไปด้วย เพราะกองทุน ประกันสังคมมีเงินอยู่มหาศาลในตลาดทุน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตข้อที่ ๓ ค่ะ ดิฉันเทียบรายได้ของปี ๒๕๖๓ กับ ๒๕๖๔ มียอดรายได้ ต่ำกว่ารายจ่ายอย่างมีนัย ปี ๒๕๖๓ มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ที่ติดลบ ๖.๕ พันล้านบาท ๖.๕ พันล้านบาทคือปี ๒๕๖๓ นะคะ ปี ๒๕๖๔ มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ที่ ลบ ๒.๘ หมื่นล้านบาท จากพันล้านบาทเป็น ๒๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท เกือบ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ท่านประธานเห็นไหมคะว่ามันมีการติดลบมากขึ้นทุกปีอย่างมีนัย ยังไม่เห็นว่าตัวเลขปี ๒๕๖๕ และปี ๒๕๖๖ จะเป็นอย่างไรนะคะ อันนี้ก็ขอลุ้นอยู่ ขอใช้เวลา อีกไม่นานค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตข้อที่ ๔ ค่ะ เราจะสามารถทบทวนหรือปรับสัดส่วนเงินลงทุน ได้หรือไม่ เพราะสัดส่วนที่เป็นอยู่ที่กองทุนจะเอาไปลงทุนตามข้อกำหนดในปัจจุบันของ กองทุนประกันสังคม คือสามารถเอาไปลงทุนในสิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่ำได้ไม่เกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และในความเสี่ยงสูงได้ไม่เกิน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามาทบทวนปรับสัดส่วน การลงทุนความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูงกันใหม่จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่านี้หรือไม่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบให้กองทุนประกันสังคม ในทุก ๆ เดือน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ สุดท้ายนี้ฝากไปถึงผู้บริหารกองทุนประกันสังคมค่ะ ท่ามกลางสวัสดิการอันน้อยนิดที่แรงงานไทยได้รับอยู่นะคะ ประชาชนคาดหวังที่จะมี หลักประกัน แล้วก็ความมั่นคงที่จะได้รับจากสำนักงานประกันสังคมหรือกองทุน ประกันสังคม เรายอมสละจ่ายเงินเดือนละ ๕ เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอาสมทบเข้ากองทุน เพื่อความมั่นคงในวันข้างหน้า ดังนั้นขอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้เงินของพวกเรา เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นคง สร้างหลักประกันให้กับพวกเรา ให้สมกับความไว้วางใจ ที่ภาคแรงงาน ภาคเอกชนมีให้กับภาครัฐค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องปรึกษาหารือทั้งหมด ๓ เรื่องด้วยกันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ดิฉันได้รับการฝากเรื่องมาจากท่านสุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เขต ๙ หลักสี่ จตุจักร เนื่องจากมีความเดือดร้อนของพี่น้อง ชาวจตุจักร ซึ่งเป็นผู้เช่าแผงค้าบริเวณตลาดโดม ปตท. ซึ่งอยู่บริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม. ๑๑ โดยเช่าแผงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ถูกเรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลังโดยมีเงื่อนไขว่า หากไม่จ่ายค่าเช่าย้อนหลังนั้นจะไม่ต่อสัญญาเช่าให้ใหม่ พอย้อนไปดูค่าเช่าที่ถูกเรียกเก็บ ย้อนหลังนั้นเป็นค่าเช่าที่ค้างไว้เมื่อปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วง การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดมีผู้ได้รับความเดือดร้อนหลายรายค่ะ ระยะเวลาที่เรียกเก็บ ค่าเช่าย้อนหลังนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการให้มีการ Lockdown ประเทศ รวมถึงรณรงค์ให้มีการ Work From Home นะคะ ทำให้การค้าบริเวณตลาดโดมหลัง ปตท. ซบเซาลงไม่ได้มีการค้าขาย ผู้เช่าแผงจำนวนมากจึงต้องค้างค่าเช่าค่ะ ซึ่งตอนนั้นทางการรถไฟ แห่งประเทศไทยก็เลยไม่ได้มีการค้าขาย ทางรัฐบาลเองก็มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดค่ะ ซึ่งตอนนี้กลับกลายเป็นว่าหากจะทำ สัญญาเช่าใหม่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะมาเรียกเก็บค่าเช่าย้อนหลังนะคะ ดิฉันจึงขอให้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยรวมถึงกระทรวงคมนาคมพิจารณายกเว้นค่าเช่าที่ค้างอยู่ให้กับ ผู้เช่าแผงค้านะคะ รวมถึง ๒. ช่วยนัดหมายกับผู้เช่าแผงค้าเพื่อหารือถึงเงื่อนไขในสัญญา รวมถึงอัตราค่าเช่าแผงด้วยค่ะ เนื่องจากสืบทราบมาว่าจะมีการขึ้นค่าเช่าแผงจาก ๓,๓๐๐ บาทต่อเดือนเป็น ๔,๐๐๐ บาท แล้วก็จะมีการขอเก็บอัตราค่าเช่าล่วงหน้าในอัตราที่ สูงมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ท่าน สส. ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. จังหวัดกาญจนบุรี เขต ๔ พรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนนี้นั่งอยู่ข้างหลังดิฉันได้ฝากดิฉันมาหารือความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนค่ะ โดยเมื่อปีที่แล้วสภาแห่งนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณของปี ๒๕๖๖ ให้กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นจำนวนเกือบ ๓,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อที่จะจัดหาน้ำ ไว้อุปโภคบริโภคแล้วก็ใช้เพื่อการเกษตรให้กับพี่น้องประชาชนค่ะ แต่ปรากฏจนถึงตอนนี้ ประชาชนยังไม่ได้ใช้น้ำบาดาลจากงบปี ๒๕๖๖ แต่อย่างใด มีการเบิกจ่ายงบประมาณ ในส่วนนี้ไปเพียงแค่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๔ มีการเบิกจ่าย งบประมาณส่วนนี้ไปถึง ๙๑ เปอร์เซ็นต์ และปี ๒๕๖๕ มีการเบิกจ่ายไปถึง ๘๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรื่องนี้ความเสียหายเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้มีน้ำกินน้ำใช้และไว้ใช้ในการเกษตร รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่หมุนเวียนด้วยค่ะ จึงอยากฝากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยเร่งรัดการทำงานของอธิบดี เพราะว่าประชาชนรอใช้น้ำจากส่วนราชการนี้อยู่ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่ง ไม่นานค่ะ เรื่องที่ ๓ จากข่าวที่เผยแพร่ว่า ผอ. โรงเรียน ไทยรัฐวิทยา ๖ จังหวัดอ่างทอง ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีในข้อหาให้ที่พักพิงกับเด็กนักเรียน ๑๒๖ ราย ซึ่งไม่มีสัญชาติ ซึ่งปี ๒๕๔๘ มติ ครม. ได้ออกมาว่าเด็กที่มีหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ตาม จะต้องได้รับความคุ้มครองทางด้านการศึกษา นั่นหมายความว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้อง ให้การศึกษาแก่เด็กทุกคน เมื่อปรัชญาพื้นฐานคือการให้การศึกษาแก่เด็กทุกคน การที่ ผอ. โรงเรียน ถูกแจ้งจับนั่นแปลว่าเราไม่มีบรรทัดฐานกลางใช่หรือไม่ ดิฉันจึงอยากให้ ๔ หน่วยงานด้วยกันก็คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองช่วยกันหารือถึงบรรทัดฐานกลาง ในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้ไม่มีสัญชาติด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่าง ประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศนะคะ เรื่องความร่วมมือทางภาษีอากรที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Global Forum ซึ่งประเทศไทย มีกรอบเวลาว่าจะต้องออกกฎหมายนี้ให้ทันภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ท่านประธานคะ ในภาพทัศน์เศรษฐกิจยุคใหม่ ห่วงโซ่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงต่อกันอย่างใกล้ชิด ประเทศไทย เราอยู่ในจุดเชื่อมต่อทางด้านการผลิตและการลงทุน ดังนั้นความโปร่งใสในการที่จะ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นสำหรับ การลงทุนในประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็จำเป็นที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของ คนในประเทศด้วยเช่นกันค่ะ ดิฉันจึงมีข้อสังเกตและข้อกังวลในเนื้อหาของพระราชกำหนด ฉบับนี้ที่จะต้องบังคับใช้ต่อไปในประเด็นต่อไปนี้ค่ะ ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • Slide แรกนะคะ มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง เป็นการพูดถึงการส่งคำสั่งหรือหนังสือต่าง ๆ ที่อธิบดีจะต้องส่ง ให้กับบุคคลใดก็ตาม ในพระราชกำหนดนี้ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้นำไปส่ง ที่สำนักงานหรือตามภูมิลำเนาของบุคคลนั้น อันนี้เป็นเรื่องปกติค่ะ ไปที่วรรคสอง แต่หากไม่สามารถส่งตามวรรคหนึ่งได้ หรือบุคคลนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ใช้วิธี ปิดคำสั่งหรือหนังสือนั้น ณ ที่อยู่หรือสำนักงานแล้วแต่กรณี หรือให้โฆษณาข้อความย่อ ในหนังสือพิมพ์ หรือให้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะตามที่กำหนด เมื่อได้ส่ง ตามวิธีในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับคำสั่งหรือหนังสือต่าง ๆ นั้นแล้ว ท่านประธานคะ ข้อกังวลของดิฉันคือการส่งคำสั่งตามวรรคสองค่ะ เพราะในพระราชกำหนด ใช้คำว่า หรือ ในการเลือกส่งคำสั่ง คือจะเลือกเอาวิธีปิดคำสั่ง ณ ที่อยู่ หรือจะใช้วิธีโฆษณา ในหนังสือพิมพ์ หรือจะใช้วิธีโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็เท่ากับว่า ผู้รับนั้นได้รับคำสั่งนั้นแล้ว คราวนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราใช้คำว่า และ แทนคำว่า หรือ คำ ๒ คำนี้มีความหมายแตกต่างกันมากนะคะ เพราะในปัจจุบันมันยังมีคนอ่านหนังสือพิมพ์ กันอยู่กี่คน มันตกยุคไปหรือเปล่า ถ้าเราใช้คำว่า และ นั่นหมายความว่าผู้ส่งจะต้องใช้วิธี ในการส่งทั้ง ๓ แบบ คือปิดคำสั่ง โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลนั้นจะได้รับคำสั่งหรือหนังสือจริง ๆ Slide ถัดไปค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันขอไปต่อในหมวด ๑ ซึ่งพูดถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ ประเทศไทยเรา เข้าเป็นสมาชิก Global Forum ซึ่งเรามีพันธะที่จะต้องประเมินถึงประสิทธิภาพ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามสากลหรือไม่ ซึ่งการประเมินจะถูกดำเนินการโดย Peer Review Group หรือ PRG ซึ่งจะตรวจสอบ มาตรฐาน ๓ อย่างด้วยกันค่ะ อย่างแรกคือความพร้อมของข้อมูล อย่างที่ ๒ คือการเข้าถึง ข้อมูล และอย่างที่ ๓ ก็คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อกังวลของดิฉันในการประเมิน ประสิทธิภาพคือความพร้อมของข้อมูลของประเทศเราค่ะ ว่าเรามีความพร้อมหรือไม่ อย่างไร และมากแค่ไหน เช่น ในกรณีของข้อมูลขององค์กรธุรกิจ ข้อมูลทางบัญชี หรือข้อมูล ทางธนาคาร เนื่องจากประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายจัดตั้งกอง Trust ขึ้น แล้วเราก็ยังไม่มี ข้อมูลบางประเทศ เช่นการเข้าถึงข้อมูลหุ้นชนิดผู้ถือนะคะ จึงอาจจะยังไม่มีความพร้อม ของข้อมูลได้ Slide ถัดไปค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่ะอาจทำให้คะแนนประเมินประสิทธิภาพ ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเรา ของประเทศไทยเราออกมาไม่ดีจะส่งผลเสียต่อประเทศ ในอนาคตหรือไม่ถ้าดูใน Slide ก็คือจะเห็นว่าของช่องประเทศไทยยังว่างอยู่ยังไม่มีคะแนน ออกมาค่ะ ขอ Slide ถัดไปค่ะ ดิฉันขอพูดถึงมาตรา ๑๐ ซึ่งเป็นการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไทย ในการที่จะปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอหากปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งที่กำหนดไว้ ในมาตรา ๑๐ ค่ะ ดิฉันขอดูที่มาตรา ๑๐ (๓) การแลกเปลี่ยนข้อมูลเจ้าหน้าที่ไทยสามารถ ที่จะปฏิเสธได้หากการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเป็นการเปิดเผยความลับทางการค้า ธุรกิจอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือความลับทางวิชาชีพ หรือกรรมวิธีทางการค้า หรือข้อมูลที่เปิดเผยจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตรงส่วนตอนท้ายที่ว่าศีลธรรมอันดีของประชาชนนี่ละค่ะที่ดิฉันมีปัญหา คำถามคือศีลธรรม อันดีของเรามันไปยึดโยงกับศีลธรรมอันดีของประเทศผู้ร้องขอหรือไม่ ศีลธรรมอันดีเขา มีมาตรฐานเช่นเดียวกับศีลธรรมของเราหรือไม่ ถ้าเราปฏิเสธและไม่เข้าหลักเกณฑ์ ของประเทศคู่สัญญามันอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเราในอนาคตได้ (๔) เจ้าหน้าที่ มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้หากมีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าคู่สัญญาผู้ร้องขอจะไม่สามารถรักษา ข้อมูลที่ได้รับไว้เป็นความลับ ตรงคำว่า พฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า ถือว่าเป็นการให้ ดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่เราอย่างกว้างมาก ต่อด้วย (๗) คู่สัญญาผู้ร้องขอมิได้ดำเนินมาตรการ ทั้งหมดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิด ความยากลำบากเกินสมควร มาท่อนแรกก็เป็นการเปิดกว้างให้หน่วยงานที่รับคำร้อง ไม่เปิดเผยข้อมูลแล้ว โดยอ้างว่าประเทศผู้ร้องขอไม่ทำตามมาตรการ ส่วนคำว่าเกินสมควร ในส่วนท้ายก็เป็นการเปิดกว้างในการตีความของเจ้าหน้าที่เช่นกัน ดิฉันยังไม่เห็นรายละเอียด เกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาในการส่งข้อมูลว่ามีการบังคับกันอย่างไร ควรจะส่งภายในกี่วัน ไม่แน่ใจว่าในกฎหมายลูกจะมีรายละเอียดในส่วนนี้อยู่หรือเปล่า ขอ Slide ถัดไปค่ะ ดิฉันขอไปหมวด ๒ ของพระราชกำหนดฉบับนี้ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ ที่แต่ละประเทศจะต้องลงนามเพื่อเป็นคู่สัญญาของกันและกัน ข้อมูล Update ล่าสุด ของ OECD ปี ๒๐๒๒ มีประเทศที่ลงนามกับประเทศไทยอยู่เพียง ๕๑ ประเทศ คำถามคือ จำนวน ๕๑ ประเทศนี้เพียงพอแล้วหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น มาเลเซียได้ลงนามกับประเทศอื่น ๆ ไปแล้ว ๖๕ ประเทศ แล้วก็อินโดนีเซียก็ลงนาม กับประเทศอื่นไปแล้ว ๖๘ ประเทศ ประเด็นเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ดิฉันอยากฝากไว้เพื่อให้เรา สามารถดำเนินการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนต่อไปค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายถึงรายงานประจำปีของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานะคะ ก็ต้องขอส่งคำชมผ่านท่านประธานไปยังทางกองทุนว่ารายงานเล่มนี้เป็นรายงานที่ดีมาก ๆ มีรายละเอียดครบถ้วน แล้วก็มีลูกเล่นดีมาก โดยเฉพาะในหน้า ๘๔ ที่แสดงถึงผลงาน ชีวิตที่ผลิดอกออกผลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นการร่วมมือกัน ระหว่าง กสศ. และภาคเอกชน ท่านประธานคะที่ผ่านมาประเทศไทยเราต้องเผชิญกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แน่นอนว่าผลกระทบที่เราได้รับนั้นมีหลายด้าน และหนึ่งในผลกระทบนั้นก็คือผลกระทบทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ในวัย ศึกษาเล่าเรียน ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สถานการณ์โควิดค่ะ ท่านประธานมีเด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากการศึกษาเป็นจำนวนกว่า ๑.๓ ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเส้นความยากจน พอสถานการณ์ กลับเข้าสู่สภาวะปกติสิ่งที่เกิดขึ้นเด็กที่หยุดเรียนไปกลับไปเรียนแต่เรียนตามไม่ทัน เกิดปัญหา เด็กมีความรู้ถดถอย ถ้าหากเราไม่มีมาตรการรองรับเราจะสูญเสียเด็กกลุ่มนี้ไปเลยทั้งรุ่น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านี้มีการเรียนรู้ถดถอยก็เนื่องมาจากว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อการเรียนการสอนนะคะ โดยเฉพาะ ในช่วงโควิด ทุกคนต้องการ Internet ทุกคนต้องการคอมพิวเตอร์ ทุกคนต้องการ Tablet ทุกคนต้องการมือถือ Slide ถัดไปค่ะ ภาพที่เห็นเป็นภารชี้ให้เห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำ ภาพทางซ้ายเป็นเด็กที่มี ความพร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการศึกษา ภาพทางขวาเป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มา จากครัวเรือนที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ต้องใช้เทคโนโลยีได้ เกิดภาวะ ถดถอยทางการศึกษา ไม่มีการพัฒนาทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ต้องออกจากระบบ การศึกษาไปและนั่นคือการส่งต่อความจนจากรุ่นสู่รุ่น ท่านประธานคะยิ่งจนยิ่งเข้าถึง การศึกษาระดับสูงได้น้อย และระดับการศึกษาค่ะคือตัวชี้วัดที่แม่นยำที่สุดที่จะคาดการณ์ ถึงความจนในอนาคตได้ ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๒ ปีที่แล้วค่ะ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีความพยายามป้องกันปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ที่จะเกิดขึ้น การเข้าไม่ถึงการศึกษา การรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วยการมีนโยบาย One Tablet per Child ขึ้นของพรรคเพื่อไทย แต่น่าเสียดายว่าเกิดรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ เสียก่อนทำให้นโยบายนี้ต้องหยุดชะงักไป ไม่เช่นนั้นถ้ายังมีนโยบายนี้ต่อไปเด็กที่มีฐานะ ยากจนก็จะเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่านี้จะมีการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกับคนที่ มีโอกาสมากกว่าได้น้อยลง ความเหลื่อมล้ำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาก็จะเกิดขึ้นได้ น้อยกว่านี้ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ที่เกิดขึ้นนี่ละค่ะ มันทำให้เราถึงจะต้องมี กสศ. หรือกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอยู่ ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับความชื่นชมมาโดยตลอด แต่จาก รายงานประจำปีฉบับนี้ดิฉันก็ยังมีข้อห่วงใยอยู่นิดหนึ่งไม่มากนะคะ พอดีดูจากรายงาน งบการเงินค่ะ เพราะว่าพออย่างที่พูดไปว่าเรามีเด็กที่อาจจะต้องขาดโอกาสในการเรียนอยู่ ประมาณ ๑.๓ ล้านคน นั่นหมายความว่า กสศ. จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากที่จะต้องดูแล เด็กกลุ่มนี้ให้ทั่วถึงนะคะ จากงบการเงินเมื่อเทียบระหว่างปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ กองทุน ของ กสศ. มีรายได้รวมลดลงประมาณ ๒๐๐ กว่าล้านบาท หรือประมาณลบ ๔ เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ที่ประมาณ ๖๐ กว่าล้านบาท คำถามคือตัวเลขรายได้ที่ลดลงกว่า ๔ เปอร์เซ็นต์จะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่ เมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ของ กสศ. ที่ต้องดูแลเด็ก ที่อาจจะถูกออกจากการศึกษาถึง ๑.๓ ล้านคน อันนี้คือขอฝากถามท่านประธานผ่านไปยังกองทุน ในขณะที่งบรายจ่ายมีส่วนของงบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมา มันคือเงินเดือนของบุคลากรในปี ๒๕๖๕ มันเพิ่มขึ้นกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๔ ค่าใช้จ่ายบุคลากรรวมก็ขึ้นเกือบ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ คำถามคือทำไมเงินเดือนของบุคลากรถึงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ มันมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือมีการเพิ่มเงินเดือนให้บุคลากรตัวเลขมันถึงได้ออกมาเป็นแบบนี้ ไปดูที่สินทรัพย์ค่ะ จากในงบการเงินจะเห็นว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง ๑.๖ ล้านบาท คือหายไป ๘๘ เปอร์เซ็นต์ คำถามคือสินทรัพย์หมุนเวียนที่ลดลงมันถูกแปลงไปเป็นอะไร หรือเปล่า และตัวเลขที่มันลดลงไปถึง ๘๘ เปอร์เซ็นต์นี้มันน่ากังวลไหมสำหรับกองทุน ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนก็เช่นกันนะคะ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนลดลงเกือบ ๓๐๐ ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๔ คำถามเดียวกันกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนว่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนนี้ มันถูกแปลงไปเป็นอะไร และตัวเลขที่ลดลงไปเกือบ ๓๐๐ ล้านบาทนี้น่ากังวลหรือไม่ สินทรัพย์โดยรวมติดลบตอนนี้อยู่ประมาณ ๑๐๐ ล้านกว่าบาทน่ากังวลหรือเปล่า อันนี้ ฝากถามกองทุนนะคะ หากว่าประเด็นงบการเงินที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ก็ต้องขอชื่นชมว่า กสศ. นั้นทำงานได้ดีมาก แต่หากมีปัญหาก็คงต้องขอให้ทาง กสศ. นั้น รีบหาทางแก้ไขค่ะ น่าเสียดายที่รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีดัชนีชี้วัดถึงผลความสำเร็จของ งบประมาณต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดสรรให้ รวมถึงเงินอุดหนุนต่าง ๆ ที่ได้จากภาคเอกชน ไม่อย่างนั้นรายงานฉบับนี้จะเป็นรายงานที่สมบูรณ์ที่สุด ขอ Slide ถัดไปค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันขอส่งกำลังใจผ่านท่านประธานไปให้ กสศ. ที่ทำงานอย่างหนักจนได้รับงบประมาณ จากรัฐบาลแล้วก็ได้รับเงินอุดหนุนจากเอกชน อย่างเช่น Candidate นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย คุณเศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการและอดีตกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เคยทำโครงการ Zero Dropout ออกหุ้นกู้ ๑๐๐ ล้านบาท ของแสนสิริเพื่อสนับสนุน กสศ. ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นต้องขอฝากท่านประธานขอบคุณไปยังทางดอกเตอร์รักษ์ แล้วดอกเตอร์เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รวมถึงผู้บริหารคนอื่น ๆ ของทาง EXIM Bank ที่วันนี้ได้สละเวลามาตอบ ข้อซักถามในสภาแห่งนี้ ท่านประธานคะ ดิฉันจะขออภิปรายถึงรายงานประจำปีของธนาคาร เพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือว่า EXIM Bank ประจำปี ๒๕๖๕ ขออิง ตามรายงานประจำปีที่ทางธนาคารส่งมาให้ เมื่อสักครู่เห็นขึ้นใน Slide เป็นของปี ๒๕๖๖ ดิฉันไม่แน่ใจว่าแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แต่ดิฉันขออ้างอิงตามรายงานที่ดิฉันได้อ่าน มาแล้วกันนะคะ ท่านประธานคะ เศรษฐกิจไทยของเรามันมีขนาดเล็ก แล้วเราก็เปิดรับ การค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้นแน่นอนว่าเราจะมีการเชื่อมโยงแล้วก็อ่อนไหวกับ สภาพเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก ในแง่นี้ธนาคารนำเข้าและการส่งออกจึงมีความสำคัญ ต่อเศรษฐกิจไทยในทั้งระบบค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ที่ดิฉันจะขอพูดถึงก็คือวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของทาง EXIM Bank ท่านประธานคะ เป็นที่ทราบกันดีว่า EXIM Bank ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการนำเข้าและการส่งออก รวมถึงการลงทุนต่าง ๆ ด้วยการให้ สินเชื่อ ด้วยการค้ำประกัน ด้วยการรับประกันความเสี่ยง รวมถึงให้บริการที่จำเป็นอื่น ๆ ท่านประธานคะ จากปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ และจากข้อมูลที่ดิฉันได้รับมา ทำให้ดิฉัน ต้องตั้งคำถามกับ EXIM Bank ว่ากำลังดำเนินธุรกิจถูกต้องตามวัตถุประสงค์เพื่อที่จะส่งเสริม การส่งออกและการนำเข้าอยู่หรือไม่ เนื่องจากดิฉันทราบมาว่าทางธนาคารได้มีการปล่อยกู้ เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อการนำเข้าและการส่งออก ที่ดิฉันได้ยินมาคือมีการปล่อยกู้ซื้อ บ้านด้วย อันนี้ไม่แน่ใจว่าจริงเท็จประการใด ซึ่งถ้าหากเป็นจริง ธนาคารกำลังดำเนินธุรกิจ ผิดวัตถุประสงค์อยู่หรือเปล่า และ ๒. หากเป็นจริง การกระทำเช่นนี้จะเป็นการแข่งขัน กับสถาบันการเงินอื่นหรือไม่ นอกจากนั้นดิฉันยังได้รับข้อมูลมาว่าทางธนาคาร ได้ให้ทุนแก่บริษัทลูกซึ่งเป็นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าบริษัทลูกนั้นอาจจะเข้า หลักเกณฑ์ในการได้รับสินเชื่อ แต่อย่างนี้ก็คงไม่ต่างกับการให้ทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น หากเป็นจริง ทางธนาคารกำลังดำเนินธุรกิจผิดเจตจำนงหรือไม่ เพราะเราต้องการที่จะ ช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อยเพื่อที่จะทำการค้าเพื่อการส่งออกแล้วก็เพื่อการนำเข้า ท่านประธานคะ ดิฉันได้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทาง EXIM Bank ได้ทำการสนับสนุน พบว่าธนาคารสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าวเป็นหลัก ทำให้สัดส่วนที่จะ ไปช่วยภาคการเกษตรอื่นนอกจากข้าวมันลดลง เลยอยากตั้งคำถามผ่านท่านประธานไปยัง ผู้บริหารธนาคารว่าในอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ทางธนาคารได้ให้การสนับสนุนหรือไม่ เช่น ผลไม้ หรือว่าประมง เพราะตอนนี้การแข่งขันในภาคเกษตรของไทยอยู่ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยโลกในรอบ ๒๑ ปี ดิฉันจึงเห็นว่าเราควรที่จะให้ความสนใจหรือใส่ใจในสินค้า เกษตรอื่นด้วยเช่นกันค่ะ เพราะดิฉันคิดว่าเราควรจะต้องเอาความเสี่ยงนั้นใส่ไว้ในหลาย ๆ ตะกร้า อีกคำถามหนึ่ง ก็คือทำไมการนำเข้า Raw Material หรือว่าวัตถุดิบ ถึงไม่ได้รับ การสนับสนุนจากธนาคารเลย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ดิฉันขอพูดถึงการจัดการทรัพย์สินของธนาคาร ดิฉันอยากฝาก ท่านประธานถามไปยังธนาคารว่าเราจะสามารถเพิ่มขนาดของธนาคารได้หรือไม่ เพราะว่า เรามี SMEs รอที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้มากอยู่แล้วก็เพื่อให้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก Loan Size ของธนาคารตอนนี้หรือวงเงินที่ธนาคารจะปล่อยให้ประชาชนกู้ได้มีอยู่ประมาณ ๑.๕ แสนล้านบาท แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่มันเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ การส่งออกของเรามี สภาพ Slow down หรือว่าเติบโตช้า คือลดลงไป ๗.๖ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ดังนั้นทางธนาคารจึงควรจะต้องเตรียมวงเงินกู้ให้มากกว่านี้ไหม เพื่อที่จะส่งเสริมการส่งออก

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือมูลค่าการส่งออกของเรามีมูลค่ากว่า ๑๐ ล้านล้านต่อปี ดังนั้นเมื่อเทียบกับ Loan Size ของ EXIM Bank ที่มีอยู่ ๑.๕ แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า Loan Size ของธนาคารไม่ได้สัดส่วนกับมูลค่าการส่งออก รวมถึงไม่ได้ สัดส่วนกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เราต้องเผชิญด้วย กลายเป็นว่าการทำงานของ EXIM Bank ก็คือ มีการปล่อยกู้เท่าเดิม แต่คนต้องการวงเงินกู้นั้นมีมากขึ้น ท่านประธานคะ ดิฉันได้อ่านรายงานประจำปีของธนาคาร เห็นว่าธนาคารวางแผนที่จะ ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งก็คงจะต้องใช้ เงินจำนวนมาก มากกว่า ๑.๕ แสนล้านบาท แต่ว่าเมื่อสักครู่นี้ทางธนาคารได้รายงานตอนต้น แล้วว่าด้วยจำนวนเงินดังกล่าวก็สามารถผลักดัน Green Economy ไปได้ด้วยดี นอกจากนั้น ในรายงานประจำปีมีรายละเอียดว่า ๑ ใน ๓ ของลูกหนี้ของธนาคารเป็นลูกหนี้ที่อยู่ ต่างประเทศ แต่เงินที่เราปล่อยกู้ไปมันเป็นเงินภาษีของคนไทยค่ะ ดิฉันก็เลยตั้งคำถามว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีที่เป็นคนไทยได้อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ข้อกังวลของดิฉันคือเรื่องของความผันผวนของค่าเงิน เนื่องจาก คำถามคือ EXIM Bank นี่เรามีมาตรการที่ช่วย SMEs อย่างไรบ้างเพื่อที่จะรับมือกับ ของราคาเงิน เนื่องจากว่าเราพึ่งพาการนำเข้าถึง ๕๘ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็พึ่งพาการส่งออกถึง ๖๔ เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ยังไม่เห็นแนวทางของธนาคารในการรับมือความผันผวน ของค่าเงินแต่อย่างใดค่ะ ดิฉันจึงมีข้อเสนอแนะและข้อแนะนำจาก ๓ ประเด็นที่ดิฉันกล่าวมา ในข้างต้นว่าอยากให้ทาง EXIM Bank โฟกัสที่วัตถุประสงค์ของธนาคารเป็นหลัก คือ สนับสนุนการนำเข้าและการส่งออก เพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็กให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม รวมถึงอยากให้มีการเพิ่ม Loan Size ขึ้นเพื่อที่จะรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ แล้วก็ส่งเสริม Green Economy ๓. ก็คือรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ๔. ก็คือรับมือกับหนี้ที่สงสัยจะสูญที่มี มูลค่า ๘๐ ล้านบาท ซึ่งดิฉันไม่แน่ใจว่าตัวเลขนี้น่ากังวลหรือไม่ แล้วทางธนาคารจะรับมือ อย่างไร ประเทศไทยเราเป็น ๑ ในห่วงโซ่การผลิตหลักของโลก การนำเข้าเราอยู่ที่ ๕๘ เปอร์เซ็นต์ การส่งออกเราอยู่ที่ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสินค้าไปแล้วก็คือ ๕๒ เปอร์เซ็นต์ มีส่วนของภาคบริการเพียง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่าตอนนี้ธนาคารพยายามทำเรื่อง Service Export อยู่ก็ขอสนับสนุนอย่างเต็มที่นะคะ ดิฉันก็อยากให้ Exim Bank เป็นที่พึ่งที่แข็งแรง ของคนตัวเล็กตัวน้อยของคนไทย อะไรที่ทำแล้วดีเป็นไปตามวัตถุประสงค์ดิฉันก็ขอให้ สนับสนุนให้ทำต่อไป อยากให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีผู้บริหารที่มี คุณภาพ แล้วก็เป็นเสาหลักให้กับผู้ประกอบการไทยต่อไปค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อันดับ แรกก็ขอขอบคุณ สสส. ที่พยายามทำรายงานเล่มนี้ออกมาเพื่อที่จะรายงานว่า ในปีงบประมาณที่ผ่านมา สสส. พยายามจะทำอะไรเพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพ ให้ประชาชนคนไทยเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีนะคะ สำหรับรายงานประจำปีฉบับนี้ได้มี การรายงานถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ การบริโภคยาสูบ สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานการณ์ความปลอดภัย ทางถนน สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกาย สถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้รวมถึง สถานการณ์โรคไม่ติดต่อหรือ NCDs แต่การอภิปรายวันนี้ค่ะดิฉันจะขอหยิบใน ๑ เรื่องมาพูด ก็คือเรื่องสถานการณ์การบริโภคยาสูบค่ะ ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จากกราฟที่เห็นนะคะ สสส. ได้กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบเอาไว้ว่าคนไทยมีแนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลง โดยไป อิงตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งดิฉันคิดว่า สสส. เองควรจะหาแนวทางในการเก็บ สถิติเป็นของตัวเองไหม เนื่องจากว่าถ้าเราไปอิงกับตัวเลขของสำนักงานสถิติมาก ๆ มันอาจจะไม่มีความแม่นยำค่ะ เพราะจากที่ดูในกราฟนี้นะคะ ถ้าเราเปิดดูในหน้าที่ ๒๒ ของรายงานเล่มนี้ค่ะ สำนักงานสถิติไม่ได้เก็บข้อมูลของอัตราผู้สูบบุหรี่ทุกปี มันเป็นการข้ามปี มันไม่มีความต่อเนื่อง บางทีเว้น ๒ ปี บางทีเว้น ๓ ปี บางทีเว้น ๔ ปี มันไม่มีความแม่นยำ ในข้อมูลค่ะ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าการเก็บสถิติที่หยาบแบบนี้มันไม่ได้แสดงผลลัพธ์ ที่ชัดเจนของผลงานของ สสส. แต่อย่างใด ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานผ่านไปยัง สสส. ว่า ควรจะมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลของตัวเองเพื่อความแม่นยำและไม่คลาดเคลื่อน งบประมาณเยอะขนาดนี้ไม่ยากอยู่แล้วค่ะที่จะสร้างเครื่องมือของตัวเองในการเก็บสถิติ ท่านประธานคะนอกจากรายงานนี้จะแสดงข้อมูลที่ก้าวกระโดดข้ามปีแล้ว สถิติก็แสดงให้เห็น ว่าคนไทยไม่ได้สูบบุหรี่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดเลย

    อ่านในการประชุม

  • จากกราฟหน้า ๒๒ ค่ะ อันนี้อิงตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ อันนี้ดิฉันย่อ มาให้ดูแล้ว ปี ๒๕๕๖ มีคนสูบบุหรี่อยู่ ๑๐.๗๗ ล้านคน มาปี ๒๕๖๐ มีคนสูบบุหรี่ ๑๐.๗ ล้านคน คือเลิกไปแค่ ๐.๐๗ มันลดลงจริง แต่มันไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พอปี ๒๕๖๐ มาปี ๒๕๖๔ ค่ะ จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงแต่ก็นิดหน่อย ดังนั้นเท่ากับระยะเวลา เกือบ ๑๐ ปี คือ ๒๕๕๖-๒๕๖๔ คนสูบบุหรี่ลดลงเพียงแค่ ๘๐๐,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้นเอง ทาง สสส. อาจจะบอกว่าแต่มันก็ลดสถิติ ปี ๒๕๖๔ มันลดแล้ว แต่ดิฉันอยากจะถามกลับว่า สสส. เคยศึกษาไหมว่าจำนวนที่มันลดลงนี่มันลดลงด้วยสาเหตุอะไร มันลดลงเพราะคนหันไป สูบบุหรี่ไฟฟ้า มันลดลงเพราะว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มันลดลงเพราะสถานการณ์โควิดมัน ลดลงเพราะเศรษฐกิจ หรือมันลดลงเพราะการรณรงค์ของ สสส. ที่ใช้งบประมาณ อย่างมหาศาลเพื่อ PR อันนี้ทาง สสส. ก็ควรจะชี้แจงให้ชัดเจนนะคะ ท่านประธานคะ นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ที่เราตั้ง สสส. มาเป็นเวลา ๒๒ ปีแล้ว ดูกราฟในหน้า ๒๔ ได้

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปค่ะ นักสูบที่เป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง ๑๕-๑๘ ปี ไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายปีติดต่อกันด้วยซ้ำ โดยรายงานเล่มนี้เราบอกว่า จากกลุ่มตัวอย่างเยาวชน ๕,๐๐๐ คน มีเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง ๑๓.๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่า สูงมากเมื่อดิฉันเอาตัวเลขเยาวชนที่สูบบุหรี่มาเทียบกับงบประมาณ สสส. ที่ได้รับไปมันทำให้ เห็นว่ากลุ่มนักสูบที่เป็นรุ่นเยาว์นั้นมันไม่ได้มีจำนวนลดลงแต่อย่างใด ดังนั้นทาง สสส. ควรตั้งเป้าหมายให้จำนวนสูบที่เป็นรุ่นเยาว์นี้ใกล้เคียงที่ ๐ เปอร์เซ็นต์ที่สุดหรือไม่ อันนี้ก็เป็น หน้าที่ของ สสส. และอีกอย่างหนึ่งก็คือควรจะรีบออกกฎหมาย เพื่อเป็นการควบคุมบุหรี่ ไฟฟ้าให้มีมาตรการใกล้เคียงกับการควบคุมบุหรี่มวนให้ได้เร็วที่สุดค่ะ ท่านประธานคะ จากที่อ่านดู ดิฉันคิดว่ารายงานฉบับนี้ค่อนข้างมีอคติกับบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเขียนว่า เด็กนักเรียนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนหากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มไปสูบบุหรี่ธรรมดา เพิ่มขึ้น ๕ เท่า และมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น ๗ เท่า และบอกอีกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา คำถามที่ดิฉันจะฝาก ท่านประธานถามไปยัง สสส. ก็คือคุณได้มีการศึกษากลับกันบ้างไหมว่าคนที่เคยสูบบุหรี่จริง แล้วไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสามารถเลิกบุหรี่ได้มีหรือเปล่า ทาง สสส. ได้มีการทำวิจัยเรื่องนี้บ้าง ไหมเป็นอย่างไรบ้าง ในเล่มนี้ได้กล่าวถึงผลกระทบของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพเศรษฐกิจ แล้วก็สังคม โดยบอกว่าจะมีการลงทุนเพื่อที่จะควบคุมการสูบบุหรี่ของคนไทย ให้มีประสิทธิภาพ คือไม่ตาย ไม่ป่วย จะต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ย ๒,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี และภายในเวลา ๑๕ ปีจะสามารถช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้ ๓๕,๐๐๐ คน โดยทุก ๑ บาทที่ลงทุนไปจะได้ผลตอบแทน ๒.๕๓ บาท ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เยอะเท่าไร คำถามของดิฉันคือถ้าจะลงทุนขนาดนี้ใช้เวลา ๑๕ ปี ผลตอบแทนมันควรจะได้เยอะกว่านี้ หรือไม่ ท่านประธานคะ ในรายงาน ๓๐๐ กว่าหน้านี้ของ สสส. ไม่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาวะ ทางเพศแต่อย่างใด ซึ่งสุขภาวะทางเพศเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเจ็บป่วย แล้วก็เสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ทุกวันนี้ สสส. เองก็มีการให้งบวิจัยแล้วก็เสวนาเกี่ยวกับ การเข้าถึง ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศรวมถึงการให้ยา Prep แต่ดิฉันคิดว่ามันยังขาด การนำเสนอแล้วก็เผยแพร่ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันของสาธารณะ รวมถึงการให้ข้อมูล เกี่ยวกับการใช้ถ้วยอนามัยหรือการใช้ผ้าอนามัยแบบซัก ซึ่งเราก็มีงานวิจัยอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่ทราบทั่วกันเท่านั้นเอง ดิฉันจึงอยากให้ทาง สสส. เข้ามา ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางเพศได้มากกว่านี้ ท่านประธานคะ วัตถุประสงค์ของ สสส. นั่นคือต้องการที่จะเสริมสร้างสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน แต่ที่ผ่านมา ๒๒ ปีค่ะ งบส่วนใหญ่หมดไปกับการทำ PR โฆษณา จัดกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ Infographic การบริโภคยาสูบก็ไม่ได้มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ดิฉันจึงตั้งคำถามไปยัง สสส. ว่าทำไม สสส. ถึงไม่เปลี่ยนวิธีการทำงานจากการที่เน้น PR แต่ไปเป็นการป้องกันแล้วก็จูงใจ ให้คนอยากรักสุขภาพ เช่น มีการให้รางวัล ถ้าเกิดคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ดิฉันขอยกตัวอย่างค่ะ บริษัทประกันภัยมีการออกแผนประกันภัยที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ โดยเขาจะให้ Load Application แล้วเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สุขภาพ แล้วก็บอกว่าถ้าวันนี้คุณสามารถเดินได้กี่ก้าว คุณจะได้รับคะแนนเท่าไรถ้าวันนี้อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดคุณอยู่ในอัตราเท่าไรคุณจะได้ กี่คะแนน แล้วเขาก็อาจจะมีรางวัลให้ หรือเป็นส่วนลดของเบี้ยประกันภัยในปีถัดไป ดิฉัน ก็เลยคิดว่าการทำกิจกรรมแบบนี้เพื่อเสริมสร้างให้คนรักสุขภาพคงไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง สสส. ที่จะทำ เพราะว่า สสส. เองก็มีกองทุนของตัวเองอยู่ เคยคิดจะทำแบบนี้บ้างไหมคะ จริง ๆ เอาง่าย ๆ เลยคือคุณแจกเป็น Voucher หรือคุณแจกเป็นตั๋วดูภาพยนตร์ก็ได้ให้กับ คนที่เขาสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเขาสุขภาพดีขึ้น ดิฉันคิดว่ามันจะดีกว่าการไปทำ PR โดยที่เปลืองงบประมาณไปโดยใช่เหตุแล้วไม่เห็นผลที่เป็นสาระสำคัญ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ค่ะดิฉันให้เวลา สสส. มา ๒๒ ปีแล้วในการทำงาน ในการผลาญ งบประมาณประเทศชาติไป ดิฉันอยากให้ สสส. นับจากนี้ไปยกระดับการทำงานของตัวเอง ควรทำงานที่หลุดออกมาจากกรอบเดิม ๆ ไม่เน้นการ PR ดิฉันหวังว่ารายงานปีต่อไปคงไม่มี การเขียนในรายงานฉบับนี้แล้วใช้แค่คำว่า สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง แต่ควรจะใช้คำว่า มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภา ที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอปรึกษาหารือกับท่านประธานในเรื่องที่ท่านสุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เขตหลักสี่ เขตจตุจักร ฝากมาถึงเรื่องการเตรียม ความพร้อมในอนาคตของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่จะมีโครงการหลักใหญ่ ๆ ๒ โครงการ รบกวนขอ Slide นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • โดยโครงการแรกจะเป็น โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ส่วนทดแทน N1 และโครงการทางพิเศษยกระดับ ขั้นที่ ๒ งามวงศ์วาน-พระรามเก้า โดยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ ส่วนทดแทน N1 ซึ่งจะเป็นทางด่วนใต้ดิน แยกเกษตร เจาะอุโมงค์ท่อลอด เชื่อมทางด่วน ศรีรัช-งามวงศ์วาน ผ่านแยกเกษตรสู่ถนนประเสริฐมนูกิจ ส่วนช่วงแยกเกษตร-นวมินทร์ เพื่อจะเชื่อมวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ซึ่งจะเป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างพื้นที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เพื่อแก้ไขการจราจรติดขัดที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และโครงการพิเศษยกระดับขั้นที่ ๒ จะเป็นงามวงศ์วาน-พระรามเก้า ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่าง การรับฟังความคิดเห็นแล้วก็สรุปโครงการศึกษา ก็คือส่วนสีชมพูเมื่อสักครู่นี้ ซึ่งทั้ง ๒ โครงการ อาจส่งผลกระทบด้านการจราจรติดขัดแล้วก็แออัดในอนาคตได้ ดิฉันจึงขอฝากประเด็นหารือ หลัก ๆ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก ดิฉันอยากให้ทางการทางพิเศษแห่งประเทศไทยประชาสัมพันธ์ ถึงแผนนโยบายต่าง ๆ เมื่อมีโครงการใหญ่ ๆ แบบนี้ให้ประชาชนได้ทราบค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ อยากให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยถามว่ามีการสรุปบทเรียน ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานแต่ละยุคสมัยหรือไม่ เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทำงานในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำโครงการต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ตหรือจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น การทำโครงการทางด่วน กะทู้-ป่าตอง เชื่อมเกาะสมุยกับเชื่อมเกาะช้าง ได้มีการประชาสัมพันธ์แล้วก็รับฟัง ความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ระหว่างการพัฒนาเมืองกับการพัฒนาภูมิภาคมีความแตกต่างกัน อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • และข้อสุดท้าย อยากฝากให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยพิจารณาถึง ผลกระทบที่จะมีต่อประชาชน ชุมชน ระหว่างการก่อสร้าง อยากให้กำกับควบคุมการก่อสร้าง ให้เหมือนกับตอนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ขอให้กระทรวงคมนาคมและการทางพิเศษ แห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันเห็นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องรีบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าค่ะ เพราะในปัจจุบันเราทราบกันดีว่าเรายังไม่มี กฎหมายที่จะรองรับการครอบครองแล้วก็การใช้งานบุหรี่ไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนคนใช้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนเยอะมาก โดยข้อมูลจากทางภาครัฐที่เกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก็แตกต่างจากข้อมูลของสมาคมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิงค่ะ โดยข้อมูลจากทางภาครัฐ ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติทำร่วมกับ สสส. บอกว่ามีจำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าตอนนี้อยู่แค่ ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ คนเท่านั้นเอง ซึ่งขัดกับข้อมูลที่มาจากเครือข่ายผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้า ที่บอกว่าตอนนี้ตัวเลขไปแตะอยู่ที่ ๒ ล้านคนแล้ว แถมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาก เรื่อย ๆ ด้วย ในฐานะตัวแทนประชาชน ดิฉันอยากให้การทำงานของภาครัฐเป็นไปตามข้อมูล แล้วก็ข้อเท็จจริงที่ปราศจากอคติในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ดิฉันไม่แน่ใจว่าการเก็บข้อมูล ที่คลาดเคลื่อนกันขนาดนี้เกิดจากอะไร เป็นอคติที่ สสส. มีต่อบุหรี่ไฟฟ้าหรือเปล่า เหมือนที่ ดิฉันเคยอภิปรายกับ สสส. ไว้เมื่อครั้งที่มารับทราบรายงานเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนนะคะ ตัวเลขคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า ๒ ล้านคนแสดงให้เห็นถึงอะไร แสดงให้เห็นว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้า จะยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ แต่การห้ามมันไม่ได้ผลอีกต่อไปค่ะ คนยังสามารถหาซื้อกันได้ ง่าย ๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่คนอายุ ๒๐ ปีที่หาซื้อได้ คนอายุต่ำกว่า ๑๘ ก็สามารถหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้า ได้เช่นกัน เมื่อมันไม่มีกฎหมายควบคุม มันก็เลยสามารถที่จะขายที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทาง Online ใครจะซื้อก็ได้ อายุเท่าไรก็ได้ ดิฉันจึงเห็นด้วยกับการที่จะนำเรื่องบุหรี่ไฟฟ้านี้ เข้าสู่การพิจารณาของชั้นกรรมาธิการ เพื่อที่จะออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องควบคุม หรือการที่จะไม่ให้ขายไปเลย ซึ่งดิฉันก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านบุหรี่ไฟฟ้าค่ะ จึงเห็นด้วยว่าควรมีคณะกรรมาธิการเพื่อที่จะตั้ง แล้วก็แสวงหาข้อเท็จจริง ในเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงกันตอนนี้ รวมถึงการหารือในมาตรการต่าง ๆ กันต่อไปค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของประเด็นข้อถกเถียงดิฉันเห็นว่า ข้อแรก คณะกรรมาธิการควรไป ศึกษาว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นการช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ หรือจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้สูบ หน้าใหม่ขึ้นมา

    อ่านในการประชุม

  • ๒. คณะกรรมาธิการควรจะสามารถหาแนวทางในการกำกับควบคุม เพื่อที่จะ ลดจำนวนผู้สูบหน้าใหม่ได้หรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ๓. คณะกรรมาธิการควรจะศึกษาว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย กว่าบุหรี่ทั่วไปหรือไม่ เพราะต้องยอมรับก่อนข่าวว่ามีงานวิจัยไม่เยอะที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ และส่วนมากก็เป็นงานวิจัยที่ทำโดยบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ หรือโรงงานยาสูบที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีอันตรายไม่ต่างกับบุหรี่ธรรมดา

    อ่านในการประชุม

  • ๔. คณะกรรมาธิการควรศึกษาว่าบุหรี่ไฟฟ้ามันส่งผลกระทบในระยะยาว หรือไม่เมื่อนำไปเทียบกับบุหรี่จริง เพราะมันก็มีรายงานถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้า เยอะเหมือนกัน ดิฉันเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านบุหรี่ไฟฟ้าค่ะ หลายท่านในสภาแห่งนี้ก็ไม่ใช่ ผู้เชี่ยวชาญด้านบุหรี่ไฟฟ้าเราจึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญมาแสวงหา ข้อเท็จจริงในประเด็นเหล่านี้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราต้องทำงานภายใต้ พื้นฐานของข้อมูล และกลไกสภาแห่งนี้ดิฉันว่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการที่จะนำไปสู่ การออกกฎระเบียบต่อไปนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของการหารือถึงมาตรการควบคุมหรือกำกับดูแลค่ะ ดิฉันเห็นว่า คณะกรรมาธิการควรกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่าจะเป็น ๒๐ ปี หรือ ๑๘ ปี

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ คณะกรรมาธิการควรกำหนดถึงพื้นที่ในการจำหน่ายว่าจะให้จำหน่าย ในพื้นที่ทั่วไปได้ หรือให้จำหน่ายเฉพาะทาง Online เท่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ คณะกรรมาธิการควรกำหนดถึงการควบคุมการแต่งกลิ่นน้ำยาบุหรี่ ไฟฟ้านะคะ เพราะกลิ่นของบุหรี่ไฟฟ้าคือการดึงดูดให้เยาวชนอยากลอง มันมีกลิ่นหอมค่ะ มันมีทั้งกลิ่นผลไม้ กลิ่นขนม บางประเทศจึงมีการควบคุมการแต่งกลิ่นค่ะท่านประธาน เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๔ คณะกรรมาธิการควรกำหนดถึงความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น ความเข้มข้นของนิโคติน ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เติมของเหลว

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๕ คณะกรรมาธิการควรต้องควบคุมการโฆษณา เช่น การพิมพ์ภาพบน บรรจุภัณฑ์ หรือว่าการจัด Promotion ส่งเสริมการขาย

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องมาตรการทางภาษีค่ะ หากปลายทางของเรื่องบุหรี่ไฟฟ้านี้คือการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายขึ้นมา ดิฉันคิดว่า การเก็บภาษีควรต้องมีเป้าหมายเพื่อลดผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าค่ะ และรัฐจะสามารถจัดเก็บ รายได้เพิ่มเติมได้ด้วย เพราะตอนนี้ผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมหาศาลแต่รัฐไม่สามารถเก็บ รายได้ได้เลย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นอีกเรื่องคือเรื่องสิ่งแวดล้อมค่ะที่สำคัญ ดิฉันอยากให้ทาง คณะกรรมาธิการลองศึกษาดูว่าการเผาไหม้ของบุหรี่จริงงมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น PM2.5 หรือภาวะโลกร้อนก็ตาม และจะเอาไปเทียบกับบุหรี่ ไฟฟ้าที่มันไม่ได้มีการเผาไหม้ หรือปล่อยก๊าซที่เป็นผลเสียมากเท่ากับบุหรี่จริง

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งนี้อีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ก็คือหลายประเทศระบุ ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ จึงอยากให้คณะกรรมาธิการ ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อมาตอบข้อถกเถียงเหล่านี้นะคะ แล้วก็ดิฉันอยากให้ทาง คณะกรรมาธิการลองไปศึกษาดูประเทศอื่น ๆ ที่เขาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่าแต่ละประเทศได้ผล กันเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ๓๕ ประเทศ ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเลย เช่น กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ๓ ประเทศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคติน เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา และอีก ๗๓ ประเทศสามารถขายบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยมีการควบคุม เช่น ออสเตรีย เกาหลีใต้ เวียดนาม

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายแล้วการควบคุมโดยเด็ดขาดเลยมันได้ผลไหม การอนุญาตให้ขายได้ แต่มีการควบคุมมันส่งผลอย่างไรบ้าง คนเลิกสูบบุหรี่ได้จริงไหม รัฐจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น หรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการควรจะต้องไปศึกษาเพิ่มเติม แต่สิ่งหนึ่ง ที่ทุกประเทศเห็นตรงกัน ก็คือการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า นี่คือความสำคัญว่า ทำไมเราถึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มี การถูกควบคุม จะไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สูบ ดังนั้นดิฉันหวังว่าเมื่อมีการตั้ง คณะกรรมาธิการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอันอาจนำไปสู่การออก กฎหมายเพื่อควบคุมการขายและการใช้งาน เราจะได้แนวทางเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน ของสังคมต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพค่ะ ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอ กรอบระยะเวลาในการพิจารณา ๙๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ทางท่านพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต สส. กรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย ฝากเรื่องให้ดิฉันมาหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้อง ประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่องด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก หมู่บ้านทวีสุขและหมู่บ้านนาริสา ในซอยเสรีไทย ๒๙ เขตบึงกุ่ม เกิดน้ำท่วมตลอดเวลา แต่ติดปัญหาตรงที่เป็นที่ของเอกชน ทำให้กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ จึงอยากให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินใหม่รวมถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะว่ามีอีกหลายหมู่บ้านใน ๕๐ เขตกรุงเทพมหานครเกิดปัญหา เดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ อยากให้ทาง กสทช. เร่งจัดระเบียบสายสื่อสาร เพราะทุกวันนี้ การไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครพร้อมแล้ว โดยได้เริ่มติดตั้งคอนกรีตสำหรับวางพาดสายสื่อสาร แต่ว่าทาง กสทช. กลับทำงานล่าช้า สายสื่อสารเกิดไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเวลาเกิดไฟไหม้ สายสื่อสารมันส่งผลกระทบต่อชีวิตแล้วก็ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน กสทช. เองในฐานะ ผู้ให้บริการควรจะเร่งจัดระเบียบสายสื่อสารโดยด่วน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ การขุดเจาะเปลี่ยนระบบท่อประปา ตอนนี้เป็นปัญหาหลัก เนื่องจากการขุดเจาะของผู้รับเหมาที่ได้รับงานจากการประปา เมื่อผู้รับเหมาทำงานเสร็จแล้ว ไม่มีการเก็บงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย บางจุดถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วก็มีการทำงาน อย่างล่าช้า ส่งผลต่อการใช้น้ำประปาแล้วก็การเดินทางของพี่น้องประชาชน การประปา ควรจะกำหนดค่ามาตรฐานของการซ่อมคืนพื้นผิวถนนให้มีมาตรฐานกว่าทุกวันนี้ อย่างเช่น ในหมู่บ้านธนธานี ๓ ซอยนวมินทร์ ๑๖๓ หรือหมู่บ้านคลองกุ่มนิเวศน์ในซอยเสรีไทย ๔๓ ที่มีการปรับแก้อยู่หลายครั้ง ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายถึงแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือว่าไม่มีสัญชาติไทย หากเราไปดูกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ จริง ๆ แล้วจะเห็นว่า ประเทศไทยเรามีกฎหมายรวมถึงระเบียบต่าง ๆ ที่รองรับการให้การศึกษาแก่เด็กที่ไม่มี สัญชาติเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นมติ ครม. ที่ออกเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ระเบียบ ของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ รวมถึงยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา สถานะ และสิทธิของบุคคล ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ การมีกฎหมายเหล่านี้หมายความว่าอะไร การมีกฎหมาย เหล่านี้หมายความว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีสิทธิเรียนตามกฎหมาย ซึ่งทุกท่านในที่นี้ทราบกันดีว่าเราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กกลุ่มหัว G นั่นก็คือมีรหัสที่ขึ้นต้น ด้วยตัว G ท่านประธานคะ เราไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการถึงจำนวนของเด็กหัว G นี้ มานานมากแล้ว มีแต่การคาดการณ์ที่ไม่เป็นทางการว่า ณ ปี ๒๕๖๒ เรามีเด็กกลุ่มหัว G นี้ อยู่ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน แต่พอเรามองย้อนกลับไปถึงมติ ครม. เมื่อปี ๒๕๔๘ ที่ดิฉัน เพิ่งพูดไปเมื่อสักครู่ มีการให้สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ คำถามที่เกิดขึ้น ก็คือแล้วทำไมเราถึงยังเจอปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติอยู่ ณ ปัจจุบัน นั่นแปลว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายใช่หรือไม่ แต่อาจเกิดจากแนวปฏิบัติหรือเปล่า ท่านประธานคะ ที่ดิฉันอยากจะบอกก็คือว่าเด็กไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงการศึกษาไม่ได้มีอยู่แค่ ชายขอบ แต่ความเป็นจริงคือเด็กไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงการศึกษาอยู่เพียงแค่ปลายจมูก เรานี่เอง นั่นก็คือในกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่าง ในทีมงานของดิฉันได้ไปสัมภาษณ์ น้องผู้ชาย ๑ คน ที่เกิดและโตในประเทศไทย แต่ว่าไม่ได้รับสัญชาติไทย เขาเริ่มเรียนหนังสือ ที่โรงเรียนรัฐบาลตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เราเรียกเขาว่าเด็กหัว G แต่พอเด็กคนนี้สอบเข้า มหาวิทยาลัยได้ โดยได้ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขากลับโดน เรียกเก็บค่าเทอมในอัตราของคนต่างชาติ พอจบมาก็ต้องทำงานแบบมี Work Permit เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ ดิฉันจึงอยากให้เราถอยมาดูถึงรากของปัญหาว่าจริง ๆ แล้วรากของ ปัญหานั้นก็คือปัญหาของการไร้สัญชาติของเขา แล้วกระบวนการได้สัญชาติของไทยเรา เป็นอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสัญชาติของเรานั้นมีหลายฉบับมาก แต่เราก็ยัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการใช้ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่ เราให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ในการให้สัญชาติเยอะมาก ๆ ดิฉันขอยกตัวอย่าง เมื่อเราไปดูในมาตรา ๗ ทวิ ของพระราชบัญญัติสัญชาติ ปี ๒๕๐๘ ขอ Slide ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • มาตรา ๗ ทวิ บอกว่า ผู้ที่เกิด ในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาที่ไม่ได้มีการสมรสกับมารดา หรือมารดา ของผู้นั้นเป็นตาม (๑) (๒) (๓) วรรคสอง วรรคนี้อ่านอย่างช้า ๆ ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ท่านประธานคะ การอ่านวรรคสองอย่างช้า ๆ จะเห็นว่าการสั่งเฉพาะรายตามมาตรา ๗ ทวิ เป็นการเปิดช่องให้มีมติคณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะให้สัญชาติแก่บุคคลเฉพาะราย มติ ครม. เป็นชุด ๆ ในการให้สัญชาติมันคือการให้ ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหา การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ ดิฉันจึงอยากเสนอ ๔ ข้อ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อแรก ดิฉันอยากให้มีการทบทวนนิยามของกฎหมายในการได้สัญชาติ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แล้วก็มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการพิสูจน์แล้วก็รับรองการได้มาซึ่งสัญชาติ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ดิฉันอยากให้มีการทบทวนแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ชัดเจน ที่จะสร้างความสับสนให้แก่คนที่ต้องการได้สัญชาติ เพื่อที่จะลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่ที่เกินอำนาจตามกฎหมาย แล้วก็เพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ดุลยพินิจที่ผิดพลาดโดยสุจริต

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ดิฉันอยากเสนอให้มีการออกกฎหมายใหม่ หรือเป็นการสังคายนา กฎหมาย เพื่อที่จะลดขั้นตอนการใช้ดุลยพินิจตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๔ ดิฉันอยากเสนอให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการบรรเทา ความเดือดร้อนจากการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในช่วงที่กำลังขอสัญชาติอยู่ เช่น สิทธิประกัน สุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดปัญหามันเกิดจากต้นทางก็คือ เด็กไม่ได้สัญชาติ การที่ไม่ได้สัญชาติทั้ง ๆ ที่กฎหมายรองรับก็เพราะบทบัญญัติกฎหมาย ให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่มากจนเกินไป ซึ่งดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เกรงกลัวว่าจะเป็นภัย ต่อความมั่นคงหรืออย่างไรถึงใช้ดุลยพินิจไม่ให้สัญชาติแก่คนเหล่านั้น แต่ดิฉันอยากจะบอกว่า การไม่ให้สัญชาตินี่ละค่ะ อันอาจนำไปสู่ปัญหาด้านความมั่นคงได้ และมันก็อาจจะสร้าง ปัญหาให้กับสังคมเราได้เช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน การมีสัญชาติถือเป็นสิทธิเริ่มต้นอันจะเป็น ใบเบิกทางไปสู่สิทธิอื่น ๆ ในทางตรงกันข้าม การไร้สัญชาติก็จะเป็นต้นตอของการไร้สิทธิ อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งดิฉันพูดถึงการกีดกันและการสร้างความเป็นอื่นทั้งทางกฎหมาย และทางปฏิบัติในการที่จะเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงซึ่งการศึกษาอย่างมี คุณภาพด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประท้วงค่ะ ท่านประธานคะ

    อ่านในการประชุม

  • ขัตติยา สวัสดิผล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอประท้วงผู้ที่กำลังถามกระทู้ถามอยู่มีการพาดพิง ถึงท่านนายกรัฐมนตรี ทราบก็ทราบ ข่าวก็ออกอยู่ทุกสื่อว่าตอนนี้ท่านเดินทางไปดูงาน ที่ต่างประเทศ แล้วก็มอบหมายมาแล้ว ไม่ทราบว่าจะพาดพิงทำอะไรคะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ดิฉันจะขออภิปรายถึงการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและการเพิ่มทักษะ แรงงาน โดยดิฉันจะขอพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันก่อนว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ท่านประธานคะ ณ ปัจจุบันเราต่างรู้ดีว่าเรากำลังอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเราจึงต้อง เตรียมรับมือกับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานไทย ตามตัวเลข ของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานเอาไว้ว่าจากจำนวนประชากร ๕๘ ล้านคน มีจำนวน คนว่างงานอยู่ ๔.๒ แสนคน โดย ๕๘ ล้านคน คือตัวเลขของกำลังแรงงานที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยทำงานได้ และ ๔.๒ แสนคนคือตัวเลขของคนที่ไม่มีงานทำจาก ๔.๒ แสนคน ใน ๕๘ ล้านคนคิดเป็น ๐.๗ เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ คำถามของดิฉันคือตัวเลขคนว่างงาน ๐.๗ เปอร์เซ็นต์จากสำนักงานสถิติแห่งชาตินี้ เชื่อถือได้หรือไม่ ที่ดิฉันต้องตั้งคำถามเพราะว่าการให้คำนิยามของคำว่าผู้มีงานทำ ของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้นอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันสักเท่าไร เนื่องจาก เขาให้คำนิยามว่าผู้มีงานทำคือการมีงานทำเพียง ๑ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ถือว่าเป็นผู้มีงานทำแล้ว ซึ่งดิฉันคิดว่าการให้คำนิยามแบบนี้ มันอาจทำให้เราไม่สามารถที่จะมองเห็นปัญหาที่แท้จริงได้ ในเรื่องของคนว่างงาน ท่านประธานคะ มันเป็นเรื่องตลกที่น่าเศร้าที่สภาของเราจะต้อง มาพูดถึงปัญหาคนว่างงานกับปัญหาตลาดขาดแรงงานไปพร้อม ๆ กัน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร อย่างแรกเลยดิฉันคิดว่าปัญหาเกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างทักษะงานที่ตลาดต้องการ กับทักษะงานที่แรงงานมีอยู่ ณ ตอนนี้ ดิฉันขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อสักครู่นี้ท่านพลากร พิมพะนิตย์ ก็ได้อภิปรายไปแล้วว่ามีตัวเลขคนว่างงานเยอะมากเลยแต่ทำไมใน Website จัดหางาน ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น JobsDB หรืออะไรเอย ดิฉันขออนุญาตที่ต้องเอ่ยนามนะคะ ยังมีงาน ต่าง ๆ มากมายรอให้คนสมัคร Post บางตำแหน่งอยู่เป็นเดือน ๆ ตำแหน่งก็ยังว่างอยู่ นั่นแสดง อะไร นั่นแสดงให้เห็นว่าในขณะที่คนกำลังตกงาน มันก็มีงานอีกประเภทใหญ่ ๆ เลย ที่รอเราอยู่แต่หาคนทำงานไม่ได้ในประเทศไทยใช่หรือไม่ ท่านประธานคะ เมื่อเราดูให้ละเอียด เราจะเห็นว่ากลุ่มแรงงานที่ประเทศไทยเรายังหาคนทำงานไม่ได้ คือกลุ่มงานที่เรียกว่า STEM S มาจาก Sciences T มาจาก Technology E มาจาก Engineering M มาจาก Mathematics วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นในขณะที่เรากำลังไปสู่โลก ยุคใหม่ ตลาดแรงงานเราต้องการแรงงานสมัยใหม่ แต่แรงงานไทยกลับไม่ถูก Reskill หรือ Upskill เพื่อที่จะให้ไปเสริมกับตลาดสมัยใหม่ได้อย่างเพียงพอ มันจึงเกิดปัญหา คนว่างงานขึ้น ที่ดิฉันพูดถึงคำว่าตลาดสมัยใหม่ ตลาดสมัยใหม่คืออะไร ตลาดสมัยใหม่คือ ตลาดที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในยุค Digital เช่น การเข้ามาของ AI หรือการใช้ ChatGPT เทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมจะเป็นภัยคุกคาม ต่อตลาดการจ้างงานของแรงงานทักษะต่ำ ดังนั้นการ Upskill ของแรงงานจึงมีความสำคัญ เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนภัยคุกคามอันนี้ให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการทำงานได้ ดังนั้น เราต้องสร้างผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็น เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือให้กับเรา ในบริบทของสังคมไทยการ Reskill และการ Upskill ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการไม่ได้เอื้อให้คนไปฝึกทักษะเพิ่มเติม แต่อย่างใดเมื่อเทียบ กับประเทศสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์เขามีการตั้งกองทุนขึ้นมาแล้วให้เครดิตเป็นจำนวน ๕๐๐ เหรียญกับคนที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป เพื่อไปเรียน เพื่อไป Reskill เพื่อไป Upskill ให้เกิด โอกาสต่าง ๆ สำหรับเศรษฐกิจอนาคต แล้วก็มีการจ่ายเงินชดเชยที่ต้องเสียเวลา เพื่อไปฝึกทักษะเหล่านี้ แล้วเขาก็มีการจัดทำ Platform ให้ข้อมูลงานในอนาคต รวมถึง ให้คำปรึกษาเรื่องการฝึกทักษะเพื่อเปลี่ยนอาชีพ ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเคยมีแนวคิดแบบนี้ พรรคเพื่อไทยเคยมีนโยบายชื่อว่า กองทุนคนเปลี่ยนงาน คือให้พนักงานบริษัทที่มีแนวโน้ม ที่จะถูกเลิกจ้าง จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสามารถที่จะพัฒนาทักษะใหม่ได้ สร้างงานใหม่ได้ สร้างธุรกิจใหม่ได้ร่วมกันกับภาคเอกชน กำหนดสายอาชีพ เป้าหมายที่จำเป็น ของตลาดแรงงานในอนาคต อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการไม่ Matching กันระหว่างคนกับงาน คนจบมาทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียน ๗๐ เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนของคนที่ทำงานไม่ตรงกับ สายที่เรียนมา ๔๔ เปอร์เซ็นต์คือจำนวนของเด็กจบใหม่ทั้งประเทศที่ทำงานไม่ตรงสาย เพราะว่าเราไปเน้นสายการเรียนที่สถาบันการศึกษาต้องการ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดแรงงานกำลัง ขาดแคลนอยู่ รวมถึงจริตแล้วก็ค่านิยมของคนไทยในเรื่องการศึกษาที่เราไปเน้นสายสามัญ มากกว่าสายอาชีพ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มสายอาชีพคือกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญมาก คนจบปริญญา จึงเกิดการว่างงานเยอะมาก ดิฉันคิดว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้หากว่ารัฐวางทิศทาง ด้านทรัพยากรบุคคลอย่างเพียงพอ โดยกำหนดอุตสาหกรรมหลักของประเทศว่าคืออะไร ดิฉันจึงมีข้อเสนอว่ารัฐจะต้องนำเข้าองค์ความรู้ให้กับแรงงาน รัฐควรจะต้องสร้างแรงจูงใจ ในการเรียนรู้ให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้ว่าเรียนไปแล้วได้อะไร และในระหว่างทาง ก็จะต้องมีสิ่งตอบแทนให้เขา เช่น เงินหรือสิทธิในการลาโดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม รัฐกับประชาชนต้องมองเป้าหมายแล้วก็มีความเข้าใจร่วมกันว่าทักษะที่ตลาดต้องการ กับทักษะที่แรงงานมีคืออะไร และรัฐต้องทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก เพื่อที่จะ Matching แรงงานเข้าสู่ตลาดและเป็นเจ้าภาพในการสร้าง Platform การเรียนรู้ ด้วยการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างรัฐ เอกชน และสถานศึกษา ท่านประธานคะ สิ่งที่ดิฉันอยากฝากคือประเทศไทยจะต้องรีบวางโครงสร้างด้านทรัพยากรมนุษย์ อย่างเช่น ในอดีตที่ญี่ปุ่นได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเขาเตรียมคนเข้าสู่อุตสาหกรรมหนักคือยานยนต์ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และผลักดันคนให้ศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะมา เสริมอุตสาหกรรมหลักที่เขาได้กำหนดทิศทางเอาไว้ ดังนั้นประเทศไทยควรวางโครงสร้าง ด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาแรงงานให้เหมาะสมกับเป้าหมายของประเทศตามที่รัฐบาล วางแผนไว้ และจะต้องวางศักยภาพแรงงานให้มากกว่าปัจจุบันเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายสนับสนุนญัตติเกี่ยวกับการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรหรือ Entertainment Complex ที่ดิฉันสนับสนุนก็เพราะว่าประเทศไทยเรากำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงิน และการคลังค่ะ เราเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๖๗ ที่จะถึงนี้ เราจะขาดดุลอยู่ประมาณที่เกือบ ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมไปถึงเรากำลังเผชิญกับปัญหา ที่เกิดหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เพราะตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนั้น ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการของประเทศไทยเรายังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเลยค่ะ ถึงแม้ว่า จะมีการฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่กลับไปแตะระดับการท่องเที่ยวที่สูงมากเหมือนช่วงก่อน โควิด ซึ่งเมื่อเทียบดูแล้วก่อนเกิดโควิดคือเมื่อปี ๒๐๑๙ เรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทย ประมาณเกือบ ๔๐ ล้านคนต่อปี แต่ในปี ๒๐๒๓ คือปีปัจจุบันเรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ ประมาณ ๒๑ ล้านคนต่อปี คำถามคือเราจะสามารถดันตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก ๒๑ ล้านคน กลับไปสู่ ๔๐ ล้านคนต่อปีเหมือนช่วงก่อนโควิดได้หรือไม่ ซึ่งดิฉันคิดว่ามันมีความท้าทายอยู่ และเราก็ยังมีปัจจัยลบอื่น ๆ อีกที่ส่งผลต่อการเงินและการคลังของประเทศคือเราต้องเผชิญ กับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปดูแล ซึ่งจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีการคาดการณ์ว่าในอีก ๔๐ ปีข้างหน้าเราจะมีค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพที่จะสูงขึ้นประมาณ ๘๔ เปอร์เซ็นต์ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณ ๕๑ เปอร์เซ็นต์ เบี้ยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ๒๖ เปอร์เซ็นต์ และกองทุน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ ๒๓ เปอร์เซ็นต์ รายจ่ายที่จะเกิดขึ้นที่ดิฉันพูดไป มันเพิ่มขึ้นทุกก้อน แต่รายรับที่จะมาจากภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดาที่มาจากแรงงาน มันจะลดลงไปถึงประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอะไร ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนที่เป็นผู้สูงอายุต้องการการยังชีพ และเขาไม่ได้มีรายได้ ประจำเหมือนที่ผ่านมา และกลุ่มคนเหล่านี้ต้องเข้าสู่การรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นกว่า ตอนที่ยังเป็นวัยทำงาน จากตัวเลขรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับรายรับเหล่านี้ทำให้เราจำเป็น ที่จะต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทยของเรา แม้ที่ผ่านมาเราจะพยายามหา แหล่งรายได้ใหม่อยู่หลายครั้งแต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง เช่น เรามี ความพยายามที่จะจัดทำกองทุนความมั่นคั่งแห่งรัฐ ดังนั้นเราจึงต้องพยายามหาแหล่งรายได้ใหม่ เพื่อเอามาแก้ไขปัญหารายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ ท่านประธานคะ ดิฉันมองว่า ณ ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไป เมื่อก่อนคนอยากได้สินค้าก็แค่เดินไปที่ ร้านขายของชำหรือว่าขับรถไปที่ห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว คนไปห้างสรรพสินค้าเพื่อเป็น Window Shopping หรือเป็น Showroom เท่านั้น คือไปดู สินค้าตัวจริงแล้วกลับมาซื้อทาง Online เพราะว่ามีความสะดวกกว่าหรือบางทีก็อาจจะราคา ถูกกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งตัวห้างสรรพสินค้าเองก็ต้องปรับตัวคือไม่ใช่แค่ขายสินค้าอย่างเดียว แต่ว่า ก็ต้องมีสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ด้วย เช่น Game Center หรือโรงภาพยนตร์เป็นต้น สิ่งบันเทิงอื่น ๆ ที่ดิฉันเพิ่งยกตัวอย่างไปซึ่งตอนนี้มันอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ดิฉันคิดว่าเราควรจะสร้าง Ecosystem หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการพักผ่อนและความบันเทิงให้มันเต็ม รูปแบบผ่านการสร้าง Entertainment Complex เพื่อที่จะตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ เปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ้ามีพ่อมาประชุมก็สามารถที่จะมาทั้งครอบครัวได้ ถ้ามีสิ่งบันเทิงให้ครอบครัวทำ แล้วไม่น่าเบื่อ รายได้ของ ๓ คนย่อมดีกว่ารายได้ของคนคนเดียวที่จะมาจับจ่ายใช้สอย ในประเทศของเรา ซึ่งมันก็คือรายได้ที่จะนำเข้าสู่รัฐ และการจัดให้มี Entertainment Complex เกิดขึ้นจริง มันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางภาษี ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก่อนที่จะเปิดกาสิโนเขามีตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่เพียงแค่ ๑๐ ล้านคนเท่านั้น แต่พอมีกฎหมายให้อนุญาตเปิดกาสิโนได้แล้วมีตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงขึ้นไปเป็น ๑๖.๔ ล้านคน ดังนั้นหากเรากลับมามองประเทศไทย ใน ๕ ปีที่ผ่านมาเรามีการอายัดทรัพย์สินที่ได้จาก การดำเนินคดีพนัน Online อยู่มูลค่าเกือบ ๒,๐๐๐ ล้านบาท นี่ขนาดเราบอกว่ากาสิโน Online ระบาดหนักจับได้ยาก เฉพาะที่จับได้ยังได้มากขนาดนี้ อีกทั้งยังไม่รวมเงินหมุนเวียน ในการพนันแต่ละวันนะคะ ซึ่งหากเรานำมันมาอยู่บนดิน มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยสมมุติว่าเราเก็บภาษี ๒๐ เปอร์เซ็นต์มันก็จะเป็นเงินมูลค่ามหาศาล ซึ่งถ้าเราเก็บภาษี จากธุรกิจกาสิโนได้เราจะมีรายรับเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แต่ดิฉันก็อยากจะฝากว่า คนที่จะเข้ามาใช้บริการในกาสิโนควรจะต้องถูกคัดกรองโดยกระบวนการที่รัดกุม และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องป้องกันไม่ให้เยาวชนนั้นเข้าถึงกาสิโนได้ ท่านประธานคะ นอกจากผลประโยชน์ทางภาษีที่เราจะได้ เราอาจจะสามารถจัดตั้งกองทุนสาธารณประโยชน์ ได้ด้วยเช่นกัน จากรายได้ที่เราจะได้จากกาสิโนตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนเพื่อการศึกษาหรือกองทุนเพื่อการรักษาพยาบาล และยังเป็นการสนับสนุน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศด้วย และดิฉันอยากฝากว่าเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นควรระบุให้การติดการพนัน เป็นโรคประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า เรามีปัญหาทางด้านการเงินการคลัง เรามีงบประมาณที่ขาดดุลอยู่ต่อเนื่อง เรามีรายจ่าย ที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี ดังนั้นเราจึงต้องใช้ความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แต่กลับเป็นช่องโหว่อยู่ประเทศเดียวที่ไม่มี Entertainment Complex ดังนั้น Entertainment Complex จะเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวให้คนเข้ามาใน ประเทศไทยเรามากขึ้นขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตหลักสี่และเขตจตุจักร มาขอ ความช่วยเหลือจากทางสภาแห่งนี้ โดยทางอดีต สส. สุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่และเขตจตุจักร ได้ฝากเรื่องดิฉันมา และตอนนี้ สส. สุรเกียรติ เทียนทอง พี่ชายของ สส. สุรชาติก็นั่งอยู่ข้าง ๆ ดิฉัน เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ แล้วก็ใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันตรงถนนเลียบ ทางรถไฟสายใต้แล้วก็ใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นพื้นที่ของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย มีการทำถนน แล้วก็แนวคั่นเขตทางเพื่อให้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รวมถึงรถบรรทุก ใช้วิ่ง สัญจรไปมาจากถนนเลียบริมคลองประปาเพื่อเข้าไปยังชุมชนบ่อฝรั่ง แล้วก็รวมถึงหมู่บ้าน ในบริเวณใกล้เคียงด้วยค่ะ ท่านประธานคะ ชุมชนบ่อฝรั่งเป็นชุมชนดั้งเดิมในเขตจตุจักร ตั้งอยู่ที่ริมบึงบางซื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ใช้ถนนเส้นนี้ แต่ปัญหาคือถนนเส้นนี้ไม่มีไฟ ยังขาดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้พี่น้องที่อาศัย อยู่ในชุมชนบ่อฝรั่งกลัวที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเกรงว่าพื้นที่ ดังกล่าวอาจจะเป็นแหล่งซ่องสุมอาชญากรรมหรือว่ายาเสพติดได้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ก็ได้มีการร้องเรียนมาทางอดีต สส. สุรชาติ เทียนทอง เพื่อให้ประสานไปกับสถานีตำรวจ นครบาลบางซื่อเพื่อที่จะให้ไปตรวจตราในพื้นที่อย่างบ่อยครั้ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ดิฉันจึงขอใช้พื้นที่แห่งนี้ประสานให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ช่วยดูแลทำการติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณเลียบทาง รถไฟสายใต้แล้วก็ใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยในเขตจตุจักรค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ คือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลอง บางบัว เขตหลักสี่ แล้วก็บริเวณคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร สืบเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ได้มีนโยบายจัดระเบียบบ้านพักอาศัยริมคลองหลัก ๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยทำเขื่อน ริมคลองต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมถึงได้สร้างบ้านพักอาศัยริมคลองในโครงการที่ชื่อว่า บ้านมั่นคง ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงในหลายชุมชนในเขตหลักสี่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ชายคลองบางบัว ชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนาสะพานไม้ ๒ ชุมชนบางบัวเชิงสะพานไม้ ๑ แล้วก็หลายชุมชนในเขตจตุจักร ไม่ว่าจะเป็นชุมชนประชาร่วมใจ ๑ และชุมชนประชา ร่วมใจ ๒ ได้ดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีผู้เข้าไปอาศัยอยู่แล้ว แต่ว่าทางเดินบริเวณ ริมคันเขื่อนยังไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง กลางวันสวยดี แต่กลางคืนเปรียบเสมือนแดนสนธยา อันมืดมิด นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีไฟก็เฉพาะเพียงบางจุดที่ เจ้าของบ้านมั่นคงแต่ละหลังมีความอนุเคราะห์ยื่นมาส่องสว่างให้ จึงอยากประสานให้ กรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่าง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๓ เรื่องสุดท้าย เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนริมคลอง บางเขน โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านท้ายซอยวิภาวดี ๕๖ ซึ่งถนนเชื่อมระหว่างวิภาวดี กับพหลโยธินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะพานไม้ที่ใช้ถูกรื้อออกเพื่อมีการปรับ ภูมิทัศน์และสร้างถนน แต่ตอนนี้สร้างถนนเสร็จแล้ว ปรับภูมิทัศน์เสร็จแล้ว แต่ไม่มีการสร้าง สะพานคืนมา จึงขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครเอาสะพานไม้คืนมาให้ชาววิภาวดี ๕๖ ด้วย ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขออภิปรายถึงรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ และรายงาน การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ปี ๒๕๖๕ โดยอิงจากรายงานในเล่มนี้นะคะ ซึ่งจากรายงานเล่มนี้ ดิฉันได้เห็นถึงปัญหาและความท้าทายที่ทาง กสทช. จะต้องเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริง จึงอยากแสดงความห่วงใย แล้วก็ถามคำถามไปยัง กสทช. ใน ๖ ประเด็น ดังต่อไปนี้ ขอ Slide แรกค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก เป็นเรื่อง ความสามารถในการแข่งขันรวมถึงโครงสร้างตลาด ในรายงานฉบับนี้ทาง กตป. ได้มี การรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งประชาชน ผู้ประกอบการสื่อ แล้วก็ผู้รับสื่อที่อยู่ภายใต้ กสทช. ว่าเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาหนึ่งที่เจอคือการแข่งขันของผู้ประกอบการสื่อ TV และวิทยุถูกควบคุมโดยหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่เข้มงวดมากจนเกินไป ซึ่งเมื่อเทียบกับ เนื้อหาทางสื่อ Online เขาไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะมาควบคุมหลักเกณฑ์มากขนาดนี้ ทำให้ ผู้ที่ผลิตสื่อ Online ทำงานได้ง่ายกว่า จึงเกิดการแข่งขันกับสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุม ของ กสทช. ดิฉันขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ค่ะ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ของคุณสรยุทธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของ กสทช. แต่เขาต้องแยกออกมาทำรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ทางช่อง YouTube ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่าที่ออกในทาง TV นั่นก็เพราะว่าบางเนื้อหา มันไม่สามารถออกอากาศทาง TV ได้จึงต้องย้ายมาออกอากาศในทาง YouTube แทน คนก็ตามมาเพราะอยากมาเสพเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น สิ่งนี้ ทำให้สื่อหลัก ๆ ไม่สามารถขยับตัวทัน แล้วก็ขยับตัวไม่ได้ เพื่อที่จะรับกับพฤติกรรม การเสพสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะว่าติดกฎระเบียบของ กสทช. นั่นเอง ทำให้ ผู้ประกอบการสื่อที่อยู่ภายใต้ กสทช. แข่งขันไม่ทัน แล้วก็แข่งขันไม่ได้กับทางสื่อ Online ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนั้นเมื่อผู้บริโภคเอาความรวดเร็ว แล้วก็เอาความสะดวกของตนเอง เป็นที่ตั้ง สื่อ Online จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด แล้วก็นำมาสู่ปัญหาการแบ่ง สัดส่วนตลาดที่สื่อ Online แบ่งสัดส่วนการใช้บริการไปจากสื่อหลักที่อยู่ภายใต้ กสทช. นั่นเอง นอกจากนั้นประชาชนบ่นว่าใน TV และวิทยุมีสื่อโฆษณามากกว่าเนื้อหาสาระสำคัญ ที่เขาต้องการจะดู ดิฉันเข้าใจนะคะว่าเราต้องมีโฆษณาเพื่อการเพิ่มรายได้ เนื่องจากว่า ค่าใช้จ่ายในการประมูลคลื่นความถี่นั้นแพงลิบลิ่วเหลือเกิน ก็ต้องยัดเยียดโฆษณาให้กับ ผู้บริโภค แต่ถ้ายัดเยียดโฆษณามากเกินไป นั่นหมายความว่าผู้บริโภคสื่อเขาก็จะหนีไปใช้ สื่อ Online มากขึ้น แล้วเดี๋ยวนี้ช่อง YouTube ก็มีให้สมัครแบบ Premium แล้วโดยที่ไม่มี โฆษณาคั่น ผู้บริโภคก็จะยิ่งหนีสื่อหลักไปเสพสื่อ Online กันมากขึ้นหรือเปล่า

    อ่านในการประชุม

  • - ๓ ๘/๑ ดิฉันจึงอยากให้ทาง กสทช. พิจารณาทบทวน ปรับลดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสื่อที่อยู่ ภายใต้ กสทช. เราจะสามารถปรับหลักเกณฑ์ให้เหมือนเป็น OTT Service ได้ไหม ซึ่งเรา อาจจะควบคุมเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดปัญหาจริง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ดิฉันขอพูดถึงเรื่อง Cyber Security รวมถึง Data Privacy นั่นก็คือความปลอดภัยทาง Cyber แล้วก็ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล จากรายงานของ กตป. เล่มนี้ค่ะ ดิฉันเห็น กสทช. ว่ามี ๔ มาตรการในการแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center นะคะ อันแรกก็คือจะระงับสายโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์ที่โทรเข้ามาเป็น เบอร์โทรศัพท์บ้าน อันที่ ๒ ก็คือระงับสายโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรเข้า เป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรให้กับประเทศใดเลย ๓. ก็คือ ตรวจสอบสายโทรเข้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายว่ามีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ และมาตรการที่ ๔ ก็คือถ้าสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดเลขหมาย ต้นทาง ก็ให้ดำเนินการเพิ่มเครื่องหมาย +๖๖ เข้าไปนำหน้าเบอร์เพื่อให้ประชาชนทราบว่า เป็นการโทรเข้ามาจากต่างประเทศ คำถามของดิฉันก็คือว่า ๔ มาตรการนี้เพียงพอหรือไม่ ที่จะแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center เรามีตัวชี้วัดความสำเร็จหรือเปล่าว่า ๔ มาตรการนี้ ทำแล้วได้ผล ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร เราสามารถแก้ปัญหานี้ไปได้เท่าไรแล้ว และทาง กสทช. จะมีมาตรการนอกเหนือจาก ๔ มาตรการนี้อีกหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ คือเรื่อง USO หรือ Universal Service Obligation ท่านประธานคะ ภารกิจหลักของ กสทช. คือเรื่อง USO นั่นหมายความว่าทาง กสทช. ต้องจัดให้มีโทรคมนาคม พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม คือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเหลื่อมล้ำ แต่จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงว่ามีผู้เข้าถึง Internet เท่าที่สำรวจจริงคือจำนวน ๕๖.๗ ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน ๘๖.๖ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งประเทศ นี่คือจำนวนจากสำนักงานสถิติที่เขาแสดงออกมา ดิฉันเลยอยากตั้งคำถามของ กสทช. ว่ามันคือตัวเลขนี้จริง ๆ หรือไม่ และทาง กสทช. เอง ได้ทำสถิติของตัวเองหรือไม่ว่ามีผู้เข้าถึง Internet เป็นตัวเลขตามนี้จริง ๆ คำถามต่อมา คือสถานการณ์การเข้าถึงสัญญาณในปัจจุบันครอบคลุมกี่พื้นที่แล้ว เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนเท่าไรในเชิงพื้นที่ของประเทศ เราได้มีการตรวจสอบถึงจุดเสี่ยงบ้างหรือไม่ว่า หากมีปัญหาในการส่งสัญญาณเวลาที่เกิดภัยพิบัติหรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ประสิทธิภาพ ของสัญญาณเหล่านี้มีมากหรือน้อยเพียงใด และอีกคำถามหนึ่งก็คือ กสทช. มีมาตรการ ส่งเสริมผู้สูงอายุให้เข้าถึงสื่อยุคใหม่ได้อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ เป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคว่าทาง กสทช. มีการคุ้มครอง การละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง คำถามคือ กสทช. ได้มีการควบคุมอย่างเพียงพอ แล้วหรือไม่ในส่วนของโฆษณาในแง่ของปริมาณความถี่และเสียงที่ผู้บริโภคต้องเสพเสียง เข้าไป เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนมากบ่นถึงเรื่องการโฆษณาที่เกินจริง การโฆษณาที่มีคลื่นถี่ เกินไป และที่สำคัญจะว่าแปลกก็แปลก มีการเร่งเสียงโฆษณาขึ้น คือเวลาเราดูอยู่ดี ๆ พอโฆษณามาเสียงเร่งขึ้นค่ะ อันนี้ตามรายงานฉบับนี้บอกไว้นะคะ ก็เลยอยากจะถามว่าสิ่งนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคสื่อหรือเปล่า และทาง กสทช. มีแนวทางในการแก้ปัญหา อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องที่ดังมากเมื่อไม่นานมานี้ คือกฎ Must Have Must Carry คำถาม ของดิฉันคือกฎของ กสทช. ตอนนี้มันสอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ทำไมเราถึงมีปัญหาในการซื้อลิขสิทธิ์ดูฟุตบอลโลก แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าจากใน Slide จะเห็นว่าเวียดนามมีประชากรเกือบ ๑๐๐ ล้านคน แต่ซื้อลิขสิทธิ์ดูฟุตบอลในราคา ๕๐๐ กว่าล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทย มีประชากร ๖๙ ล้านคน แต่เราต้องซื้อลิขสิทธิ์ดูฟุตบอลในราคา ๑,๐๐๐ กว่าล้านบาท แถมยังต้องใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงเอาไปใช้แบบผิด วัตถุประสงค์อีก เหตุใดถึงไม่เตรียมตัวเจรจาการซื้อลิขสิทธิ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ฟุตบอลโลกมี ๔ ปีครั้ง เราจะได้หาความร่วมมือจากภาครัฐรวมถึงหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ในการทำให้ประชาชนได้ดูฟุตบอลได้ ดิฉันไม่ได้จะให้ยกเลิกกฎนี้นะคะ แต่ดิฉันคิดว่า ทุกหน่วยงานควรจะต้องหาทางออกร่วมกันในการทำให้กฎนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องไป เบียดเบียนเงินภาษีของประชาชนในส่วนอื่น ๆ ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๕ เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในรายงานบอกว่าปัจจุบัน มีการขยายโครงข่ายสัญญาณ 5G คลื่นความถี่ย่าน ๒,๖๐๐ เมกะเฮิรตซ์ ในเขต EEC ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ EEC ดิฉันจึงอยากตั้งคำถามว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ EEC นี้เพียงพอแล้วหรือไม่ และมีแผนที่จะขยายโครงข่ายอีกหรือเปล่า ส่วน กสทช. ยังมี นโยบายขยายขอบเขตที่จะเพิ่มเสาโทรคมนาคมให้ครอบคลุมการเข้าถึงอย่างเพียงพอ ก็เลยอยากถามว่าเพียงพอคือประมาณเท่าไร ครอบคุมพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ ครอบคุมพื้นที่ชนบท ด้วยหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • อีกคำถามหนึ่งค่ะ เมื่อปี ๒๕๖๔ มติให้ยกเลิกการประมูลวงจรดาวเทียม ด้วยเหตุผลว่ามีผู้ยื่นประมูลเพียงแค่รายเดียว ดิฉันไม่แน่ใจว่าตอนนี้ กสทช. ได้มีการวาง กรอบระยะเวลาให้มีการประมูลใหม่แล้วหรือยัง เนื่องจากวงโคจรดาวเทียม ๑๑๙.๕ หรือดาวเทียมไทยคม ๔ กำลังจะหมดอายุในไม่ช้านี้ ซึ่งหากหมดอายุแล้วยังไม่ได้มี การต่อสัญญา อาจจะขาดความต่อเนื่องในการใช้บริการและอาจเสียโอกาสได้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดิฉันมีคำถามว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กสทช. จะมีมาตรการหรือข้อเสนออย่างไรบ้าง ที่จะพัฒนากฎ ระเบียบด้านสารสนเทศให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีขึ้น อย่างรวดเร็ว นี่คือ ๖ ประเด็นค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ถึงเวลานี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ นั้นมีปัญหาในแง่ของทั้งที่มาและเนื้อหา ดิฉันขอยกตัวอย่างปัญหาในแง่ ของที่มาค่ะ ทุกท่านทราบดีว่ากระบวนการในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ นั้น ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ คือหลังจากที่มีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วได้มี การจัดทำประชามติก็จริง แต่การทำประชามตินั้นไม่ได้เป็นการทำประชามติที่มีความเสรี เสมอภาค และเป็นธรรม การทำประชามติในครั้งนั้นมีการจำกัดการแสดงความเห็น ของประชาชน มีการใช้อำนาจคุมสื่อ มีการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง มีการห้ามจัดเสวนา มีการห้ามจัดกิจกรรมสาธารณะที่จะแสดงให้เห็นถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้รณรงค์ไม่รับร่าง และมีการใช้คำขู่ว่าหากไม่รับจะไม่สามารถ จัดการเลือกตั้งได้ และที่สำคัญมีการเชิญชวนให้สำคัญผิดว่ารับ ๆ ไปก่อนเดี๋ยวค่อยแก้ทีหลัง ส่วนตัวอย่างของปัญหาในแง่เนื้อหา เช่นสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ โครงสร้าง ที่มา และอำนาจ ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน รวมไปถึงการกำหนด ให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับพลวัตของโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่เอื้อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถทำงานได้ โดยอิสระ และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ท่านประธานคะ ตลอดเวลาที่พรรคเพื่อไทยเดินสายหาเสียงเรานำเสนอนโยบายต่าง ๆ มากมาย เพื่อความชนะในการเลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายสำคัญที่เราพูดในทุกเวทีก็คือหากพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเราจะจัดให้มีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างธรรมนูญ หรือ สสร. ดังนั้นวันนี้ดิฉันจะขอยืนยันว่าดิฉันต้องการ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทางเพื่อนสมาชิกและประชาชนทุกคนว่า รัฐบาลภายใต้การนำ ของพรรคเพื่อไทยเราจะจัดให้มีการทำประชามติให้เกิดขึ้นจริง ให้มี สสร. เพื่อดำเนินการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่เราเคยให้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน ขอ Slide นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ดิฉันเข้าใจดี ถึงการยื่นญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มี การออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ของ สส. พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม ซึ่งต้องการ ขับเคลื่อนการทำประชามติโดยใช้กลไกของรัฐสภาตามมาตรา ๙ (๔) ของ พ.ร.บ. ว่าด้วย การออกเสียงประชามติ ซึ่งเมื่อเราไปดูตามมาตรา ๙ ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้เขาก็ได้บัญญัติไว้ว่า มาตรา ๙ ให้กรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียงให้เป็นไป โดยสุจริตเที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย โดยการออกเสียงตาม พระราชบัญญัตินี้ให้มีดังต่อไปนี้ (๒) บอกว่าการออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า มีเหตุสมควร หรือ (๔) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มี เหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียง และได้แจ้งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ โดยหลักการแล้วดิฉันไม่ได้ปฏิเสธอำนาจในการทำประชามติ โดยใช้กลไกของรัฐสภา ตามมาตรา ๙ (๔) แต่อย่างใด ถ้า สส. กับ สว. เห็นพ้องต้องตรงกัน และส่งให้ ครม. ต่อไปเพื่อพิจารณาดำเนินการตามดุลยพินิจ แต่ดิฉันมองว่าในทางเทคนิค การใช้วิธีตามมาตรา ๙ (๔) นี้อาจนำไปสู่อุปสรรคที่ไม่จำเป็นได้ นั่นคืออะไร นั่นคืออาจทำให้ ความชอบธรรมที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ด่างพร้อย เพราะการออกเสียงประชามติ ที่ผ่านกระบวนการรัฐสภาจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ด้วย และถึงแม้ดิฉัน จะเชื่อมั่นในการใช้ดุลยพินิจของ สว. ก็ตาม แต่ในอีกมุมหนึ่งดิฉันก็มีความกังวลว่า สว. ชุดนี้ จะยอมให้มีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะ สว. ชุดนี้ต่างมีที่มา จากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่เรากำลังบอกว่ามีปัญหาและต้องการร่างใหม่ ซึ่งเมื่อสักครู่ เพื่อนสมาชิกจากทางฟากฝ่ายค้านก็ได้อภิปรายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ผ่าน ความเห็นของ สว. ดิฉันจึงเห็นว่าเราควรทำประชามติด้วยวิธีการตามมาตรา ๙ (๒) คือการใช้มติของคณะรัฐมนตรีว่าเหตุอันสมควรให้มีการทำประชามติ เพราะมันจะเป็นกลไก ที่ไม่ต้องใช้ความเห็นชอบจาก สว. แต่อย่างใด และนั่นจะเป็นการย้ำว่าการทำประชามติ จะเกิดขึ้นแน่นอนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ เป็นที่ทราบกันดีว่าตอนนี้รัฐบาลได้เริ่มกระบวนการจัดตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสำคัญ โดยมีกรอบการศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการ จัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นอย่างไร การเลือกตั้ง สสร. ควรเป็นในรูปแบบใด ควรมาจาก การเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากการเลือกตั้งด้วย และมีการตั้งเป็นคณะกรรมาธิการด้วย จำนวนครั้งในการทำประชามติที่กำลังศึกษากันอยู่ว่าควรจะมี ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง เพราะบางฝ่ายได้ตีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญว่าต้องทำ ๓ ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ควรจะต้อง ถกเถียงกันให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพราะมันจะส่งผลต่องบประมาณในการทำประชามติ แต่ละครั้ง และที่สำคัญที่สุดคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติ ซึ่งตามญัตติของพรรคก้าวไกล ได้ให้สภากำหนดคำถาม ซึ่งดิฉันคิดว่าเราไม่ควรไปกำหนดคำถาม แต่สามารถให้เป็น ข้อเสนอแนะกับคณะกรรมการได้เพื่อให้นำไปพิจารณาต่อ และเพื่อให้คำถามเป็นอิสระ และไม่ชี้นำมากที่สุด ซึ่งก็อาจมีคำถามมากมายเกิดขึ้นในสังคมว่าแล้วกระบวนการของ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำมติชุดนี้มันจะใช้เวลาหรือขั้นตอนมากเกินไปไหม แน่นอนมันอาจใช้เวลามากไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก็เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญ จะถูกร่างใหม่จริง ๆ เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมาการตีความเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติที่ไม่ตรงกันของหลายฝ่าย ทำให้เราต้องอาศัยคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ และนั่นทำให้กระบวนการแก้ไขในบางขั้นตอนขัดกับคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้กระบวนการแก้ไขทั้งหมดนั้นต้องหยุดชะงักหรือเริ่มต้นใหม่ ทำให้ประเทศเสียทั้งโอกาสในแง่ของเวลาและงบประมาณ สิ่งที่น่าจับตามองคือการทำ ประชามติของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยตามมาตรา ๙ (๒) นี้ มันจะแตกต่าง จากการทำประชามติในปี ๒๕๕๙ อย่างแน่นอน เพราะปี ๒๕๕๙ นั้นเราพูดได้เต็มปากว่า มันคือการทำประชามติแบบครึ่งใบ คือไม่เปิดกว้าง ไม่เสรี และไม่เป็นธรรม และในวันนี้ เราไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการทำประชามติในครั้งนี้ เราจะต้องพูดได้เต็มปากว่าเป็นการทำประชามติแบบเต็มใบ คือมันต้องเกิดขึ้นจากการรับฟัง เสียงของประชาชนอย่างแท้จริงทั้งในแง่ของที่มาและเนื้อหา

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันอยากส่งเสียงถึง สสร. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ขอให้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้รอบคอบ รัดกุม มีรายละเอียดให้ครบถ้วน เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ต้องเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคต และที่สำคัญเราจะได้ ไม่ต้องไปใช้บริการศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ่อย ๆ ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานคะ ในโลกปัจจุบันจำนวนประชากรไม่เอื้อให้กระบวนการประชาธิปไตยทางตรง สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยกลไกในการใช้ระบบตัวแทนในการที่จะตัดสินใจ แล้วก็ใช้อำนาจบางอย่างแทนประชาชน แต่การใช้ระบบตัวแทนนี้ก็ไม่สามารถที่จะสะท้อน ความต้องการของประชาชนได้อย่างแนบสนิทเสมอ เพราะว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัดแล้วก็ ช่องโหว่ต่าง ๆ ดังนั้นการเมืองภาคประชาชนกับการเมืองในระบบตัวแทนจึงเป็นเหมือน คู่แฝดที่อยู่คู่กันเพื่ออุดช่องว่างของกันและกัน แต่ว่าไม่ใช่ศัตรูกัน ท่านประธานคะ แม้ว่าการเมืองในระบบตัวแทนจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจความต้องการ ของประชาชนได้ทุกอย่างเสมอไป ส่งผลให้การเมืองภาคประชาชนต้องทำหน้าที่ เป็นกระบอกเสียงเพื่อส่งเสียงบอก ส่งเสียงเตือนถึงรัฐบาลแล้วก็ตัวแทนของพวกเขา ผ่านการชุมนุม ในแง่นี้ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เห็นตรงกันว่าการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิ และเป็น สิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่การมีหรือไม่มี กฎหมาย แต่ปัญหาก็คือมุมมองของรัฐที่มีต่อการชุมนุมที่ไม่ได้มองการเมืองภาคประชาชนว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะมีการปิดช่องว่างทางกฎหมายอย่างไรก็จะมีการหาช่องโหว่ ในการตีความเกินกว่ากฎหมายเกินหลักสากลและสิทธิมนุษยชนเสมอ แม้ว่าเราต่างเข้าใจกัน ดีว่าการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนนั้นจะทำไม่ได้ ในสากลก็มีให้เห็นแล้วก็มีวิธีปฏิบัติ รองรับ แต่หลายครั้งที่การสลายการชุมนุมถูกเริ่มจากการสร้างความชอบธรรมให้กับ ผู้ถืออำนาจรัฐ ผ่านการสร้างวาทกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้พลเมืองผู้ที่มาใช้สิทธิชุมนุมนั้น กลายเป็นศัตรู สร้างความเป็นอื่น ลดทอนความเป็นมนุษย์ กลายเป็นภัยคุกคามในรูปแบบหนึ่ง นำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่เลยเถิด นั่นเพราะรัฐไม่ได้มองว่าเป็นการควบคุมพลเมือง แต่มองว่านั่นคือการจัดการกับภัยคุกคามเท่านั้น ท่านประธานคะ เมื่อที่ผ่านมารัฐไม่ได้มอง การชุมนุมเป็นสิทธิอันพึงมี แต่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม แต่ใช้วิธีการบริหารภัยความมั่นคงแทน สะท้อนผ่านการใช้กฎหมายในการจัดการชุมนุม ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการปราบปราม เช่น พ.ร.บ. ชุมนุม สาธารณะ พ.ร.บ. จราจร พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ร.บ. รักษา ความสะอาด พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ COVID-19 หรือการคุกคามหลังการสลายการชุมนุมและระหว่างเคลื่อนไหว การถูกติดตาม ถูกข่มขู่ที่พัก ส่วนตัว การเจาะข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Pegasus โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปราบปราม ไม่ใช่เพื่อฟังข้อเรียกร้องหรือการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชนแต่อย่างใด ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยัง ครม. ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย แนวทาง หรือมาตรการที่จะมีต่อผู้ชุมนุมในอนาคต เป็นข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อแรก เราควรต้องมีการทบทวนกระบวนการฝึกเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนให้มีความเป็นมืออาชีพ ปฏิบัติโดยยึดถือว่าผู้ชุมนุมคือพลเมือง ที่กำลังช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ศัตรูหรือภัยคุกคามที่ต้องเร่งกำจัดให้หมดสิ้น อีกทั้ง ต้องสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้สามารถปฏิเสธคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาได้หากเป็น สิ่งที่ละเมิดสิทธิดังกล่าว โดยรัฐสภาจะต้องเป็นผู้รับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ดิฉันขอแนะนำให้มีการสร้างแนวทางที่จะกีดกันเจ้าหน้าที่ทหาร ออกจากการควบคุมการชุมนุม และไม่อนุญาตให้มีการใช้อาวุธหนักกับประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ เราต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องภาระรับผิดชอบ หรือ Accountability ผู้ที่ทำหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตจะต้องมีความผิดและได้รับโทษ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นรูปแบบเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้น พร้อมกับระบบตัวแทน เรามีบทเรียนมากมาย แต่เราไม่ได้เรียนรู้อะไร เราถึงต้องมานั่ง อภิปรายเรื่องนี้กันในสภาแห่งนี้ในวันนี้ ดิฉันหวังว่าปลายทางของเรื่องนี้เราจะสามารถ นำข้อเสนอของดิฉันที่พูดในวันนี้ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันเหตุการณ์ ไม่ให้เกิดเหมือนอดีตอีกครั้งหนึ่ง ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • จะพยายามค่ะ ท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอใช้เวทีสภาแห่งนี้อภิปรายยืนยันในหลักการ ว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้อง มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สิทธิแก่บุคคลที่อยู่ในเพศใดก็ตาม สามารถแต่งงานกันได้ หรือที่เราเรียกว่าสมรสเท่าเทียม โดยก่อนอื่นเราต้องไม่ปฏิเสธว่า ความหลากหลายทางเพศนั้นมีอยู่จริง และคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นก็คือมนุษย์ คนหนึ่งที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีสิทธิที่จะรักและมีสิทธิที่จะได้รับความรักไม่ต่างจากทุกคน ในสังคม ดังนั้นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีตัวตนหรือผู้ที่มีความผิดแผก แต่อย่างใด อันจะเป็นข้ออ้างที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่เขาควรได้รับ อย่างไรก็ดีกฎหมายที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมันยังพัฒนาไปไม่ทันกับวิวัฒนาการของสังคม และการตระหนักรู้ถึงการมีชีวิตอยู่ของความหลากหลายทางเพศ กฎหมายของเราจึงยัง ไม่สามารถทำหน้าที่ที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเมื่อเรา ไปดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มันประกอบไปด้วยบทบัญญัติทั้งหมด ๖ บรรพ ด้วยกัน ล้อไปตามช่วงชีวิตของมนุษย์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมตั้งแต่เกิดเป็นบุคคล สร้างครอบครัว มีลูกไปจนตาย และไปจนถึงการจัดการมรดก โดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เริ่มมีผลใช้บังคับในครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๖๘ และกฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับการแก้ไขเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบัน ดิฉันขอเน้นบรรพ ๕ ที่ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวอันเกี่ยวกับการสมรสค่ะ ซึ่งก็เคยมี การแก้ไขด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการแก้ไขในปี ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้อง กับแนวคิดและค่านิยมที่ว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์นั้นมีพลวัตรตามสังคมอยู่ตลอด แต่บรรพ ๕ ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันค่ะ ก็ยังไม่อาจเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิถีชีวิต ค่านิยมที่ตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป อย่างมาก ดังนั้นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกครั้งก็จะเป็นประโยชน์กับ ประชาชน และถือเป็นวิวัฒนาการของกฎหมายที่พัฒนาไปตามวิถีชีวิตของประชาชน ท่านประธานคะ มีประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง นั่นคือประเด็นทางด้านศาสนา ซึ่งดิฉันเข้าใจและเคารพในความเชื่อและความศรัทธาตามหลักศาสนาของเพื่อนสมาชิก บางท่านที่ไม่อาจสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกการสมรสเท่าเทียมได้ แต่หากเรา มองว่าสมรสเท่าเทียมเป็นประเด็นทางกฎหมาย การจดทะเบียนสมรสก็เป็นสัญญาหนึ่ง ที่เหมือนนิติกรรมสัญญาอื่น ๆ ที่คู่บุคคล ๒ คน มีอิสระที่จะตกลงกันในข้อสัญญาต่าง ๆ ซึ่งทางกฎหมายเรียกว่า หลักอิสระทางแพ่งและหลักเสรีภาพในการทำสัญญา ซึ่งสิ่งนี้ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือพิธีกรรมทางศาสนา การรับสิทธิตามกฎหมายจาก การจดทะเบียนสมรสจึงไม่เกี่ยวข้องกับการรับสินสมรสทางจิตวิญญาณ รัฐไทยเราเป็นรัฐ ฆราวาส หรือเรียกว่า Secular State ที่กฎหมายต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง แต่กฎหมายจะต้องบังคับใช้ได้กับประชาชนทั้งประเทศที่เต็มไปด้วยความเชื่อ และศาสนา รวมถึงพื้นที่ไม่มีศาสนาด้วย เช่นในโลกของศาสนาคริสต์ หลายประเทศที่มี คริสต์ศาสนิกชนได้ออกกฎหมายห้ามรักเพศเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Sodomy Law โดยมี ที่มาจากพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีโทษจำคุกไปจนถึงประหารชีวิต แต่เมื่อสังคมและเพดาน ความคิดความเข้าใจของรัฐในเรื่องสิทธิเสรีภาพมีสูงขึ้น Sodomy Law จึงถูกยกเลิกไปใน โลกตะวันตก รวมถึงประเทศต่าง ๆ ที่เคยอยู่อาณานิคม เมื่อ ๒ วันก่อนเราจะเห็นข่าวความ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อโป๊ปฟรานซิส พระสันตะปาปา เป็นองค์แรกในประวัติศาสตร์ คริสตจักรที่ประทานอนุญาตให้บาทหลวง สามารถอำนวยพรให้แก่คู่รักเพศทางเลือกได้แม้ว่า จะยังทำพิธีศีลสมรสไม่ได้ก็ตาม ท่านประธานคะ ดิฉันขอพูดถึงมิติทางเศรษฐกิจค่ะ มีงานวิจัยของต่างประเทศที่ได้จากการสำรวจ ๑๓๒ ประเทศ และสำรวจมาตั้งแต่ปี ๑๙๖๖ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิทางกฎหมายและการเติบโตทางเศรษฐกิจใน ประเทศ หรือ GDP นั้นแปรผันไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือถ้ากฎหมายคุ้มครองสิทธิมากขึ้น เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มจะพัฒนามากขึ้น ประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแล้วประชาชนมีรายได้ ต่อหัวสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิบุคคลรวมถึง LGBTQ+ มากขึ้น ซึ่งนั่น เป็นตัวบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมพื้นฐานที่เปิดกว้างและเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การลงทุน จากต่างชาติ ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติ จำกัดสิทธิ เสรีภาพ เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ช้ากว่า ยกตัวอย่างในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ปี ๒๐๑๙ ประเทศไต้หวันเป็นที่แรกในเอเชียที่ออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนเพศ เดียวกัน ซึ่ง ณ ตอนนั้นบริษัทข้ามชาติรายใหญ่หลายแห่งได้พูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศไต้หวันจากผลของการรับรองกฎหมายนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มี การเปรียบเทียบว่าก่อนจะมีการสมรสเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกาคู่รักเพศเดียวกันต้องแบก รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตมากกว่าคู่รักต่างเพศถึง ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ นั่นเพราะอาจไม่สามารถทำประกันคู่สมรสที่ทำงานได้ จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการพบแพทย์ เมื่อเจ็บป่วย นำไปสู่ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ต้องรักษาโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังในภายหลัง และเมื่อศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินให้การสมรสของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ครอบคลุม ๕๐ รัฐทั่วประเทศ ก็มีรายงานตัวเลขว่าภายใน ๕ ปี คือตั้งแต่ปี ๒๐๑๕ ถึงปี ๒๐๒๐ นั้น มีคู่รักเพศเดียวกันกว่า ๓,๐๐๐ คู่ได้จดทะเบียนสมรสและใช้จ่ายเกี่ยวกับ การแต่งงานเป็นจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำไปสู่การจ้างงานกว่า ๔๕,๐๐๐ ตำแหน่งค่ะ เพราะการจัดงานแต่งงานย่อมมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าโรงแรม ค่าดอกไม้ ค่าชุดแต่งงาน ค่าอาหาร ซึ่งการบริโภคเหล่านี้มันช่วยกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากภาษีการขายและนำภาษีมาสู่รัฐและท้องถิ่น และสำหรับคู่แต่งงาน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเวลาอยู่ตัวคนเดียว การครองเรือนด้วยกันยังช่วยลดต้นทุนค่าครอง ชีพอย่างมาก เพราะมันมีทรัพยากรที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่นค่าเช่าบ้านหรือว่าค่าสาธารณูปโภค ดังนั้น การที่คู่รักเพศเดียวกันได้จดทะเบียนสมรสเหมือนคู่รักต่างเพศมันเป็นการยืนยันถึง การเคารพในศักดิ์ศรีของทุกเพศสภาพและเพศวิถีอย่างเสมอภาคกัน และแม้การจดทะเบียน สมรสจะเป็นทางเลือก แต่การมีทางเลือกย่อมดีกว่าการถูกปิดกั้นทางเลือกและตัดโอกาส เช่นเดียวกันการสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องของ LGBTQ+ แต่เป็นเรื่องของประชาชน ทุกอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศที่มีคุณค่าเท่าเทียมกันค่ะ ขอต่ออีกนิดหนึ่งค่ะท่าน ในแง่ของหลักสากล ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองในหลักยอกยาการ์ตา เมื่อปี ๒๕๔๙ ซึ่งมีผลผูกพันให้รัฐภาคีต้องขจัดการละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากวิถีและ อัตลักษณ์ทางเพศ โดยหลักในข้อ ๒๔ ได้กล่าวไว้ว่า ทุกคนมีสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว โดยไม่ขึ้นอยู่กับวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ และเมื่อปี ๒๕๕๙ ประเทศใดได้ให้ คำปฏิญาณโดยสมัครใจกับกระบวนการทบทวนสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนว่าจะมี การทบทวนเงื่อนไขการสมรสมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่านประธานคะ สมรสเท่าเทียมจะยังคงเป็นประเด็นถกเถียงไปอีกนานในสังคม แต่เราไม่มีเหตุผลที่จะต้อง กีดกันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อรอจนกว่าทุกคนในสังคมจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันได้รับการฝากเรื่องมาจากท่านสุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เขตหลักสี่-จตุจักร ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตหลักสี่-จตุจักร เป็นเรื่อง เกี่ยวกับไฟส่องสว่างบริเวณถนน Local Road ริมทางรถไฟสายเหนือ ใต้ทางรถไฟสายสีแดง มีปัญหาเรื่องไฟส่องสว่างและดิฉันก็เคยหารือถึงเรื่องนี้มาแล้ว แต่ก็ได้รับการแก้ไขแค่ในช่วง จากอุโมงค์ทางลอดรถไฟบางซื่อไปจนถึงวัดเสมียนนารีเท่านี้ แต่ระหว่างวัดเสมียนนารี ไปจนถึงสถานีบางเขน ต่อไปสถานีทุ่งสองห้อง ต่อไปที่สถานีหลักสี่ แล้วก็ไปที่สถานีการเคหะ ยังไม่มีไฟส่องสว่าง ถึงจะมีก็มีแค่ใต้สถานีค่ะ แต่ระหว่างสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่งนั้นยังไม่มี ไฟส่องสว่าง นอกจากนั้นสะพานลอยที่ให้คนข้ามถนนช่วงต่อขยายที่รับผิดชอบต่อมาจากทาง กรมทางหลวง พาดผ่านบนถนน Local Road ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนนี้ค่ะ บริเวณหน้าวัดเทวสุนทรข้ามไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วก็บริเวณ ปากซอยภาวดีรังสิต ๒๕ ข้ามไปหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยังไม่มีไฟส่องสว่างบนสะพานลอย สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมา แล้วก็เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม และที่ผ่านมาก็เคยมีอาชญากรรมเกิดขึ้นแล้ว ดิฉันจึงอยากให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ามาดูแลในส่วนนี้โดยด่วนนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องค่าไฟในโรงเรียน สืบเนื่องจากสถานการณ์โลกร้อน แล้วก็ฝุ่น PM2.5 ทำให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะสถานศึกษาในเขตเมืองที่สังกัดกระทรวง ศึกษาธิการมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ ๕ ที่จะช่วย ประหยัดพลังงาน แล้วเราก็เคยมีนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้พลังงาน หมุนเวียนแบบพลังงานสะอาด คือการติดตั้งโซลาเซลล์บน Rooftop หรือบนหลังคา ของอาคาร อันจะเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง ในอดีตกระทรวงพลังงาน เคยให้หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการประหยัดพลังงาน ดิฉันจึงอยาก สอบถามไปยังกระทรวงพลังงานว่ายังมีโครงการนี้อยู่หรือไม่ หากไม่มีให้รีบนำกลับมา เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานให้หน่วยงานรัฐและโรงเรียนต่าง ๆ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉัน ขอร่วมอภิปรายในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรรวมกันให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ท่านประธานคะ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเราเห็นความรุนแรงในเด็กเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถาบันการศึกษา ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อให้เด็กได้มีการศึกษา เรียนรู้และเพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม ดังนั้นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในโรงเรียนจึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก เพราะ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเหยื่อความรุนแรงแล้ว ยังส่งผลต่อเด็กที่เป็นผู้ก่อเหตุด้วย อีกเช่นกัน รวมไปถึงผู้ที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงด้วย ซึ่งเป็นการสร้างบาดแผลระยะยาว ทั้งต่อตัวเด็กแล้วก็สังคมไทย เมื่อเราพูดถึงการใช้ความรุนแรงเราอาจจะมองได้ ๓ มิติ ก็คือ ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม จริงอยู่ค่ะ ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีเป็นเรื่องน่าเศร้า การจัดการเป็นรายกรณีก็เป็นเรื่อง ที่สำคัญ แต่ในฐานะรัฐและหน่วยงานของรัฐต้องไม่จมไปกับแค่รายละเอียด Drama และ จบลงแค่กรณีนั้นเพียงกรณีเดียว แต่รัฐมีหน้าที่ในการมองภาพใหญ่ของปัญหาเพื่อที่จะหา เบื้องหลังในเชิงมหภาคให้ได้ หน้าที่ของรัฐจึงไม่ใช่แค่เอาตัวเลขสถิติมาวางเพียงอย่างเดียว แต่ว่าต้องหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่อยู่ข้างหลังของปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้ หาแนวทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี การเก็บและนำเสนอสถิติยังคงเป็นในรูปแบบของการเก็บข้อมูลเชิงตัวเลขอยู่ ดิฉันไม่แน่ใจว่ามีการนำข้อมูลชุดนี้มาศึกษาถึงเหตุผลในเบื้องหลังหรือไม่ เช่น ข้อมูลจาก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าสถิติคดีอาญา ๕ อันดับที่พบมากที่สุด ในปี ๒๕๖๖ คือ ๑. เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ๓,๑๑๐ คดี ๒. เป็นเกี่ยวกับชีวิต และร่างกาย ๒,๙๙๙ คดี ๓. เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ๒,๖๒๒ คดี ๔. เป็นความผิด เกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด ๑,๕๓๐ คดี และเป็นความผิดอื่น ๆ ๑,๐๗๙ คดี ข้อมูลชุดนี้ มีความสำคัญก็จริง แต่เราควรจะต้องพูดถึงวิธีการนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้เพื่อเป็นการป้องกันเหตุ ในอนาคตด้วย ท่านประธานคะ แน่นอนว่าแม้วิธีการศึกษารูปแบบเพื่อป้องกันจะเป็น แนวทางที่ยั่งยืน แต่ก็เป็นวิธีที่ใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยในการเก็บข้อมูลและศึกษา ดังนั้น การหาแนวทางสำหรับระยะสั้นและระยะกลางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็มี ความจำเป็นเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาดิฉันเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกเสนอหรือพูดถึง บ่อย ๆ อาจจะยังไม่ได้ผลมากนัก เราจึงยังเห็นปัญหาเกิดขึ้น ซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ เนื่องจาก แนวทางการแก้ปัญหาที่เคยนำเสนอมาโดยมากเป็นการมองปัญหาเด็กโดยใช้กรอบมุมมอง แบบผู้ใหญ่มองไปที่ปัญหา ซึ่งเมื่อเรามองจากมุมมองแบบนี้มันอาจทำให้เรามองความจริง ที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง เช่น มีการพูดถึงความพยายามในการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายเยาวชน โดยมาจากฐานความคิดในการลงโทษเด็กเพื่อใช้ความกลัวครอบงำความคิดและพฤติกรรม ของเด็กไม่ให้กล้ากระทำความผิด หรือมีข้อเสนอในการลงโทษรูปแบบอื่น ๆ เช่น การพัก การเรียนหรือการให้ออกจากโรงเรียน เป็นต้น แต่เราต้องไม่ลืมว่าการเป็นเด็กที่ยังไม่ได้มี ประสบการณ์เท่าผู้ใหญ่ ยังไม่สามารถรับรู้แล้วก็เข้าใจปัญหาความรับผิดได้อย่างเต็มที่ อาจทำให้ คำว่า กลัวต่อบทลงโทษ ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กนั้นมีไม่เท่ากัน ดังนั้นการใช้ ความกลัวต่อบทลงโทษมากำกับพฤติกรรมจึงอาจไม่ได้ผลลัพธ์มากที่เราคิด ในแง่นี้เราจึงควร ต้องทำความเข้าใจกับเด็กผ่านการมองในมุมมองแบบเดียวกับเขา เพื่อให้เราเข้าใจถึงปัญหา และความต้องการที่แท้จริง เช่น เด็กในวัยหนึ่งมีสิ่งที่ต้องการก็คือการได้รับความยอมรับ จากเพื่อน ซึ่งการยอมรับในแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน ก็คือความอ่อนประสบการณ์ ทำให้มีความคึกคะนอง การยอมรับของเด็กกลุ่มนี้ก็อาจมาจาก ความท้าทาย และนี่ก็เป็นหนึ่งที่เราจะต้องศึกษาแล้วก็สื่อสารถึงความท้าทายที่พอเหมาะ พอควรในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กโดยที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและ ผู้อื่น ต่างจากความท้าทายที่นำไปสู่ความรุนแรงในด้านต่าง ๆ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นเป็นต้น นอกจากนี้ความสำคัญอีกด้านหนึ่งของการป้องกันเหตุและความรุนแรงในอนาคตคือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วในฐานะของผู้กระทำหรือผู้ก่อเหตุเราจำเป็นจะต้องลงโทษให้เพียงพอ ต่อสัดส่วนที่ก่อเหตุด้วย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าสู่โปรแกรมฟื้นฟูพฤติกรรมเพื่อที่จะ ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยการฟื้นฟูพฤติกรรมในเด็กนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการติดตาม และประเมินผลอย่างรัดกุมและระมัดระวัง ท่านประธานคะ ก่อนที่เราจะกล่าวโทษเด็ก ดิฉัน อยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านถอยหลังหันกลับมามองต้นตอของปัญหา กลับมามองสังคม กลับมามองสภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตที่มีส่วนอย่างยิ่งในการหล่อหลอม พฤติกรรมของเด็กขึ้นมา ๑ คน เราจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการที่ จะสร้างแล้วก็ดูแลสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยถือว่าพัฒนาการที่ดีของเด็กคนหนึ่งจะสามารถย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชน และประเทศเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ หากความสำคัญของปัญหานี้คือการหาแนวทางยุติความรุนแรง ในโรงเรียน ดิฉันเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงไม่อาจนำไปสู่การยุติความรุนแรงได้ แน่นอนว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น การรับผิดและการเยียวยาย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในฐานะ หน่วยงานของรัฐ หน้าที่ที่สำคัญกว่าคือการมองภาพรวมของปัญหาให้กว้างขึ้น พยายามมอง ปัญหาว่ารูปแบบปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ตัวเลขของการกระทำผิดเพิ่มขึ้นหรือลดลง และ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยไม่ต้องรอให้เกิดคดีดัง คดีสะเทือนขวัญ แล้วค่อยมาถอดบทเรียน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำ ๆ ต่อไป ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ดิฉันขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยที่สภาพการณ์ในปัจจุบัน สังคมไทย มีความขัดแย้งทางความคิดที่ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้มีนักศึกษาและประชาชนต้องถูก ดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งแนวทางที่จะนำมาใช้ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ต้องคดีดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายบริหารที่มาจากการ ยึดอำนาจ โดยตราเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับตนเองผ่านสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ในระยะหลังได้บัญญัติ เรื่อง การนิรโทษกรรมไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และได้มีการนิรโทษ กรรมการกระทำทั้งในอดีตและการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ดังเช่นตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ แต่บางครั้งกฎหมายนิรโทษกรรมได้นำมาใช้เพื่อนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ โดยการนิรโทษกรรมให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่ออกมาต่อต้านการบริหาร ประเทศจากการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร และล่าสุดได้มีข้อเสนอให้นำกฎหมายนิรโทษกรรม มาใช้ในรูปแบบและแนวทางเพื่อนำประเทศไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ อันเนื่องมาจาก ความแตกต่างทางความคิดและความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน โดยมีมูลเหตุหรือปัจจัย การกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับความคิดเห็นทางการเมือง อย่างไรก็ดีค่ะปัญหาอยู่ที่ว่า เหตุการณ์หรือการกระทำใดบ้างที่สมควรจะได้รับการนิรโทษกรรม อันจะนำสังคมไปสู่ ความปรองดองสมานฉันท์ดังกล่าวที่มิได้ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้นใหม่ และจะ นำพาประเทศไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยอีก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ในอดีตและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่จะเสนอและตราขึ้นใช้บังคับเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และมีความชัดเจนในองค์ประกอบของกฎหมาย ทั้งในแง่ของเหตุการณ์และช่วงเวลาเกิดเหตุ กลุ่มบุคคลและประเภทคดีที่จะได้รับ นิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ในอันที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองและเป็นไปเพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม กรณีถือเป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ แต่เพื่อมิให้การตรากฎหมายดังกล่าวกลายเป็นการสร้างความ ขัดแย้งขึ้นใหม่ จึงสมควรให้มีการพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางที่จะเป็นสาระสำคัญ ของการนิรโทษกรรมให้ได้ยุติเสียก่อนที่จะมีการเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร แม้ในอดีตจะเคยมีการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์มาแล้ว โดย คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. โดยมีข้อเสนอให้มีการนิรโทษกรรมด้วยก็ตาม แต่บริบททางการเมืองและมูลเหตุ แห่งความขัดแย้งมีความแตกต่างกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ ในทุกสังคมค่ะ เพราะแต่ละคนก็มีภาพฝันของหน้าตาสังคมที่ดีไม่เหมือนกัน ความแตกต่าง เหล่านี้ค่ะที่มันนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างในทางการเมือง และที่ใดที่มีความแตกต่าง ที่นั่น ย่อมมีความขัดแย้งตามมา ซึ่งเมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม การมีความขัดแย้งจึงถือเป็น เรื่องปกติ เราไม่มีวันที่จะขจัดมันให้หายไปได้ ดังนั้นการทำให้ความขัดแย้งหายไป หรือการ กดความขัดแย้งนั้นไว้ไม่ให้ปรากฏจึงไม่ใช่โจทย์ของสังคมที่มีอารยะ แต่โจทย์ที่ถูกต้องของ สังคมที่มีอารยะคือการทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้กับความขัดแย้ง ทำให้คนสามารถที่จะขัดแย้ง กันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน ไม่ต้องทำร้ายทำลายกัน ไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน และไม่ถูกคุกคามให้เกิดความกลัวจากการมีความคิดที่แตกต่าง ท่านประธานคะ โจทย์ของ สังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งคือการออกแบบสภาพแวดล้อมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย สถาบัน หรือกระบวนการทางการเมือง เพื่อให้พลเมืองสามารถที่จะเห็นต่าง ทะเลาะหรือขัดแย้งกันได้ และเพื่อให้พลเมืองสามารถที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจ รัฐได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกเล่นงานจากผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะโดยการใช้ กฎหมายปิดปาก หรือการจับไปขังในเรือนจำให้สิ้นเสรีภาพอย่างไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมา สังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรงและซึมลึก อยู่ในสังคมไทยมากว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. การรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โดยในช่วงเวลาของความขัดแย้งหลายระลอกที่ดิฉันกล่าวมาค่ะ มีประชาชนจำนวนมากได้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อแสดงความคิดเห็น แล้วก็มีประชาชน อีกจำนวนมากเช่นกันที่ออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยมีเหตุผลและแรงจูงใจทาง การเมือง แต่ท่านประธานที่เคารพคะ เขาเหล่านั้นกลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกคุกคาม เพื่อปิดปากและจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายของรัฐ ซึ่งนักวิชาการสภาวะแบบนี้ว่า นิติสงคราม ภายใต้นิติสงครามที่รัฐไทยดำเนินกับประชาชนต่อเนื่องมายาวนานกว่า ๒๐ ปี ส่งผลให้ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากถูกรัฐทำให้กลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง นักโทษ ทางการเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง คำถามของดิฉันคือสังคมจะเดินหน้าไปอย่างมั่นคง และมีเอกภาพได้อย่างไร หากเราหันกลับไปมองข้างหลังแล้วเรายังเห็นคนไทยร่วมชาติ ถูกพันธนาการโดยโซ่ตรวนทางกฎหมายและถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก คำถามของ ดิฉันคือเราจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร เมื่อเราหันกลับไปมองเราเห็นเยาวชนจำนวนมาก คนที่เป็นอนาคตของชาติต้องเดินขึ้นศาลต่อสู้คดีอีกหลายปี ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อีกหลายปี ต้องลี้ภัยไปต่างบ้านต่างเมืองอีกหลายปี แทนที่พวกเขาจะได้เติบโตและใช้ ศักยภาพที่มีมาร่วมกันพัฒนาประเทศของเรา ท่านประธานที่เคารพคะ เมื่อรัฐบาลชุดนี้ เข้ามาบริหารประเทศ หนึ่งในวาระหลักที่ได้ประกาศไว้กับพี่น้องประชาชน ก็คือจะคลี่คลาย ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและเป็นโซ่ตรวนที่พันธนาการสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งใน ความเห็นของดิฉันหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะสามารถปลดโซ่ตรวนดังกล่าวได้ นั่นก็คือการออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อที่จะลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่ออกมาแสดง ความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมาย ต่าง ๆ ในความเห็นของดิฉันการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นในการ พาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง บรรทัดฐานใหม่ว่าเราทุกคนสามารถทะเลาะ สามารถเห็นต่าง และสามารถขัดแย้งกันได้ ภายในกรอบกติกา โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกคุกคามหรือปิดปากด้วยกฎหมายต่อไป ท่านประธานที่เคารพคะ ที่ดิฉันกล่าวมาคือเหตุผลที่ดิฉันในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ขอยื่นเสนอญัตติด่วนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อที่จะพิจารณาศึกษาแนวทาง การตรากฎหมายนิรโทษกรรม แน่นอนค่ะดิฉันทราบดีว่าขณะนี้มีพรรคการเมืองบางพรรค ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของตนเองเข้าสภา และในขณะเดียวกันในฝั่ง ของภาคประชาชนก็ได้มี Campaign รวบรวมรายชื่อของประชาชน เพื่อมาสนับสนุนร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับประชาชน อันทำให้การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดนี้ของดิฉัน อาจถูกตั้งคำถามได้ใน ๒-๓ ประเด็นค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ฝั่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมอาจจะโจมตีว่า นี่คือ ความพยายามที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม อันจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง บรรทัดฐานที่ผิดให้กับสังคมไทยหรือไม่ โดยกังวลว่าในอนาคตหากใครทำอะไรผิดก็ไม่ต้อง หวาดกลัวกฎหมายอีกต่อไป จะแสดงออกอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบกฎหมาย บ้านเมือง เพราะในที่สุดแล้วในอนาคตก็จะมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมาลบล้าง ความผิดอยู่ดี

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้จะถือเป็นการยื้อเวลา โดยเสียงข้างมากของฝั่งรัฐบาลหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ คือฝั่งของญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรง โดยรัฐ อาจมีความกังวลว่าจะมีการยัดไส้นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สลายการ ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตหรือไม่ ดิฉันขอตอบข้อสงสัยดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐาน ที่ผิด ไม่ได้ทำให้คนไม่หวาดกลัวการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นการทำลายขื่อแปบ้านเมือง แต่มันเป็นการปลดโซ่ตรวนที่ทำให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าไม่ได้ และเป็นการสร้าง บรรทัดฐานใหม่ให้กับรัฐและสังคมว่าความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรมที่ต้อง ถูกลงโทษอีกต่อไป ดิฉันขอยกตัวอย่างกรณี ๖๖/๒๓ ที่มีคนไทยจำนวนมากเข้าป่าจับอาวุธ ทำสงครามกับรัฐไทย ยาวนานหลายปี โดยมีสาเหตุมาจากความเห็นต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองและเป็น การตอบโต้ต่อความรุนแรงโดยรัฐ จนมีการบาดเจ็บและสูญเสียจำนวนมาก คนไทยจำนวนมาก ถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของรัฐ มีความผิดร้ายแรงจนถึงขั้นประหารชีวิตค่ะ แต่สุดท้ายก็มี การออกกฎหมายที่เราเรียกกันว่า ๖๖/๒๓ ในสมัยรัฐบาลของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ให้กลับคืนสู่สังคม เปลี่ยนให้กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แล้วหลังจากวันนั้นสังคมไทย ก็สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ คนจำนวนมากที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร เป็นศัตรู ของรัฐก็ได้กลับคืนสู่สังคม กลายเป็นคนที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติในหลาย ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่ใช่การถ่วงเวลาหรือการยื้อเวลาแต่อย่างใด แต่เป็น การใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้รอบคอบและระมัดระวังที่สุด โดยตั้งต้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ใช่คนไทยทุกคนที่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง เห็นว่า ไม่ควรมีการนิรโทษกรรมให้กับคดีทางการเมือง และแม้กระทั่งในหมู่คนที่เห็นด้วยกับ การนิรโทษกรรมก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ในบางประเด็นว่าคดีใดบ้างควรจะได้รับ การนิรโทษกรรม ด้วยการตระหนักว่าเรายังมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นสำคัญเหล่านี้ ดิฉันจึงเห็นว่าแม้เราจะยังยืนยันถึงความจำเป็นในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก็ตาม เพื่อเป็นการปลดโซ่ตรวนความขัดแย้งของสังคมไทย แต่เราจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วย ความระมัดระวัง และที่สำคัญเราต้องการสร้างกระบวนการเพื่อที่จะรับฟังความแตกต่าง หลากหลายจากคนกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดและครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด เพื่อที่จะได้ นำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันที่ฝ่ายที่เห็นต่างจะยังพอรับได้เพื่อให้กระบวนการการออก กฎหมายนิรโทษกรรมสามารถที่จะเดินหน้าได้ภายในช่วงระยะเวลาของรัฐบาลชุดนี้ โดยไม่สะดุดหยุดล้ม หรือเพื่อไม่ให้เป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ อันจะพาสังคมไทย ให้เดินถอยหลังลงไปอีก ดิฉันจึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมา เพื่อเชิญชวนกลุ่มต่าง ๆ ให้มาร่วมกันหาทางออกอย่างรอบคอบ ครอบคลุมและระมัดระวัง มากที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • และประเด็นที่ ๓ สำหรับประชาชนที่กังวลว่าจะมีการยัดไส้นิรโทษกรรม ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่กระทำผิดต่อชีวิต ดิฉันในฐานะผู้แทนของประชาชนและเป็นหนึ่ง ในผู้สูญเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันขอยืนยัน ในหลักการว่าจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผล ที่กล่าวไปข้างต้น ดิฉันจึงขอเสนอญัตติด่วนเพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญให้มีการศึกษาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานค่ะ ดิฉัน ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ จากการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกทุกท่านในวันนี้ ดิฉันคิดว่าเราเห็นต้อง ตรงกันนะคะว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ว่าอาจจะยังมี ความแตกต่างถึงรายละเอียดของการนิรโทษกรรมอยู่บ้าง สิ่งนี้ล่ะค่ะมันถึงเป็นที่มาของการ เสนอญัตติให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาในวันนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้หาแนวทางที่ดีที่สุด ที่ทุกฝ่ายจะสามารถหรือพอที่จะยอมรับร่วมกันได้ เพื่อให้การนิรโทษกรรมนั้นเกิดขึ้นจริงได้ และให้การนิรโทษกรรมนั้นเป็นไปตามเป้าประสงค์สำคัญ นั่นก็คือการสร้างความปรองดอง ในสังคมไทย และไม่นำไปสู่การสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ แต่จะเป็น การสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทย ที่รัฐไทยจะต้องไม่มองประชาชนที่คิดต่างเป็นศัตรูอีกต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างรอบคอบและ ครอบคลุม โดยผ่านกลไกกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อที่ว่าเราจะได้ขยายการมีส่วนร่วมให้ ผู้เชี่ยวชาญและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมในกระบวนการ และให้ประชาชนสามารถติดตาม คำอธิบายและเหตุผลของฝ่ายต่าง ๆ ได้ นั่นเพราะการพูดคุยในกระบวนการรัฐสภาจะถูก บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เห็นว่าการนิรโทษกรรมนั้นสำคัญอย่างไร และหลักเกณฑ์ แบบใดที่จะเหมาะสม และประชาชนทุกฝ่ายเห็นพ้องยอมรับได้ และเป็นตัวเร่งค่ะ เป็นตัวเร่ง ให้สภาและทุกองคาพยพพูดถึงเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น และในขณะเดียวกันก็ให้มีการพิจารณาแนวทาง อื่น ๆ รวมด้วย เพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว โดยไม่จำเป็น ที่จะต้องรอกระบวนการสภาให้แล้วเสร็จ และดิฉันเชื่อว่าปลายทางของเรื่องนี้จะนำไปสู่ การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่จะนำสังคมไทยไปสู่การประนีประนอมครั้งใหญ่ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยค่ะ ท่านประธานคะ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลมากถึง ๔๒๕ แห่งทั่วประเทศ โดยอยู่ ในกรุงเทพฯ ถึง ๑๓๙ แห่ง อีกทั้งยังมีสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืนอีกกว่า ๓๕,๕๗๗ แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๗,๖๘๕ แห่ง ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขีดความสามารถ ด้านการแพทย์และการพยาบาลของประเทศไทยนั้นเรามีศักยภาพสูงมาก ไม่เพียงแต่ ในด้านคุณภาพของการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานในระดับสากล แต่เรายังมีปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับทางต่างประเทศ หรือความสามารถในการ สื่อสารกับชาวต่างชาติ รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็น Medical Hub หรือประเทศปลายทางของการท่องเที่ยว ในเชิงสุขภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ แต่เมื่อเราหันกลับมามองพี่น้องประชาชนเรา ก่อนหน้านี้ด้วยปัจจัยทางด้านการเงิน ทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนนั้น เป็นไปได้ยาก ดังนั้นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงถือเป็น Social Safety Net หรือตาข่าย ความปลอดภัยทางสังคม ที่ทำหน้าที่ในการรับประกันสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย แล้วก็ได้ทำหน้าที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยสามารถที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้อย่างถ้วนหน้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อสุขภาพและเป็นการ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตามในห้วงเวลานี้เรากำลังเผชิญกับ ความท้าทาย ๒ ประการสำคัญด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ทำให้รายจ่ายดำเนินการ ด้านสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสัดส่วนเป็นร้อยละ ๔.๓ และร้อยละ ๕.๒ ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเรามีประชากรที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีเป็นสัดส่วนถึง ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ และตัวเลขก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๘๓ นั้น ประเทศไทย จะมีประชากรที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี ถึง ๑ ใน ๓ ของคนทั้งประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพคะ จากความท้าทาย ๒ ประการที่ดิฉันได้กล่าวมา มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุน กล่าวคือจะทำให้มีรายจ่ายเพิ่มสูงมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ จากเล่มรายงานของผู้สอบบัญชีในหน้า ๓ ที่ในปี ๒๕๖๔ มีค่าใช้จ่าย สูงกว่าปี ๒๕๖๓ มากถึง ๓.๕ หมื่นล้านบาท และมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายสุทธิอยู่ที่ ๒.๔ พันล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการมีภาวะพึ่งพิงที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ในยุค หลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นยุคของการฟื้นฟู เรากำลังเผชิญกับภาวะ ทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ประชาชนมีภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าเราจะมี สวัสดิการในการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกคนในประเทศแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้ หมายความว่าสวัสดิการที่มีอยู่นั้นเพียงพอแล้ว เพราะว่าเรายังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่ ในบางแง่มุม ยกตัวอย่าง เช่น ครัวเรือนที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลและมีรายได้น้อย อาจไม่สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยง่าย เนื่องจากว่ายังมีค่าใช้จ่ายในการ เดินทางที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในสวัสดิการ หรือการมีประจำเดือนที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในการรักษา ของโครงการ ทำให้เราต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ชายในการซื้อผ้าอนามัยในแต่ละเดือน ซึ่งคิดเป็นค่าแรงของเราใน ๑ วัน ซึ่งมีผู้หญิงมากเกือบ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ที่เข้าไม่ถึง การใช้ผ้าอนามัย หรือใช้ในจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะเรียกว่าถูกสุขลักษณะได้ สิ่งนี้ อาจก่อให้เกิดโรคทางสุขภาวะทางเพศ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมหาศาล

    อ่านในการประชุม

  • ในแง่นี้เองดิฉันจึงอยากให้ทาง สปสช. คำนึงถึงความเป็นธรรมทางเพศ โดยใช้กลไก GRB หรือ Gender Responsive Budgeting คือการจัดทำงบประมาณ ที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ และมีโครงการที่จะครอบคลุมถึงสุขภาวะทางเพศเพิ่มมากขึ้น ท่านประธานที่เคารพคะ ดิฉันอยากจะชื่นชมการทำงานของ สปสช. ที่มีการให้ประชาชนนั้น เข้าถึงยาต้านไวรัสได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ว่ามันก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ดิฉันคิดว่าหาก สปสช. เองสามารถที่จะยกระดับการเข้าถึงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิของการ ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV การแจกผ้าอนามัย รวมถึงการให้บริการและกระจาย ฮอร์โมนข้ามเพศอย่างทั่วถึง ไปจนถึงการมีมาตรการและความเข้มงวดในการกำกับดูแล ให้แพทย์ที่ไม่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์คนไข้ ให้ส่งต่อคนไข้โดยที่ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา และไม่เตะถ่วง อันจะเป็นการกลั่นแกล้งคนไข้ ตามที่เคยเป็นข่าวมาให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในเรื่องของการส่งต่อคนไข้ ดิฉันดีใจที่ดิฉันเห็นว่า สปสช. ได้มีการยกระบบใหม่ เพื่อให้เกิด ความเชื่อมโยงของข้อมูล เพื่อรองรับโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกที่ เพียงแค่พกบัตรประชาชน ใบเดียวก็สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงส่งต่อได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะทำให้เกิดความรวดเร็ว ความสะดวก แล้วก็ทำให้ต้นทุนในการ ให้บริการถูกลงด้วยในระยะยาว ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ระบบหน้าบ้านเพียงอย่างเดียว เท่านั้น แต่รวมถึงระบบหลังบ้าน นั่นก็คือการเชื่อมข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของ สปสช. ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันยังอยากเห็นการทำงานอย่างบูรณาการ ระหว่าง สปสช. และ สสส. เพราะในด้านหนึ่งการทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้น เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหาทางป้องกันไม่ให้ประชาชนนั้นเจ็บป่วยตั้งแต่แรก การป้องกันไม่ให้คนเป็นโรคย่อมจะมีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษา ในภายหลัง

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันขอฝากข้อกังวลเล็ก ๆ ประการหนึ่งให้แก่หน่วยงานนะคะ โดยรายงานจากหน้า ๖๙ พูดถึงความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะอยู่ ในระดับที่สูงอย่างเป็นที่น่าพอใจ อย่างปีนี้อยู่ที่ ๙๙.๔ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ขอให้อย่าลืมว่า ตัวเลขที่ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์นี้ล่ะค่ะ ก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตไม่ต่างจากเรา และเป็นจำนวนมาก ถึงหลักแสนคน มากไปกว่านั้นความน่ากังวลจากตัวเลขที่ท่านรายงาน คือตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ความครอบคลุมนั้นมีต่ำลงทุกปี หากเป็นไปได้ดิฉันก็อยากให้ความครอบคลุมนี้ไปถึงจุดที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม