เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม กู๊ดดี ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตจตุจักร เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล สำหรับวันนี้ผมขออภิปรายในเรื่องของแผนปฏิรูปประเทศในหมวดที่เกี่ยวข้อง กับทางด้านสังคม ซึ่งประกอบด้วย ๕ บทคือ สาธารณสุข ศึกษา สื่อสาร วัฒนธรรม และสังคม โดยเริ่มต้นก่อนผมจะขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงปี ๒๕๖๑ ตอนที่ แผนปฏิรูปประเทศออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นแผนมีความฝันใหญ่ที่ทะเยอทะยาน ด้วยแผนปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ เดี๋ยวผมขอ Slide ขึ้นด้วยนะครับ
ต่อไปเป็น Slide ที่ ๒ เลยนะครับ ผมขอยกตัวอย่างเป้าเดิมที่แผนนั้นเคยมีในหมวดของสังคม ตอนปี ๒๕๖๑ มีการตั้งต้น เป้าหมายที่แลดูท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างหลักประกันรายได้ในการเกษียณ แผนการตั้งเป้าอย่างจริงจังว่าคนชราจะต้องมีรายได้จากระบบบำนาญทดแทนรายได้ มากกว่าร้อยละ ๓๐ โดยการตั้งเป้าจะเพิ่มประสิทธิภาพของ กอช. เพื่อจูงใจให้คนเข้ามา เป็นสมาชิกมากถึง ๑๕ ล้านคนภายในปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้แผนยังมีการพูดถึงกลไกออม ภาคบังคับจาก VAT ที่มีการหัก VAT ส่วนหนึ่ง แล้วก็คืนกลับไปให้ผู้เสียภาษีกลายเป็น เงินออมนะครับ แล้วก็มี พ.ร.บ. เรื่องบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เสมือนเป็นการกึ่งบังคับ ให้ทุกสถานประกอบการต้องมี Provident Found เพื่อเป็นทุนออมเพื่อการเกษียณ
ในส่วนด้านกลุ่มผู้เสียเปรียบทางด้านสังคม ในแผนเดิมก็จะมีการพูดถึง การปฏิรูปเพื่อปลดล็อก ตั้งเป้าที่จะแก้ไขอุปสรรคให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าการปฏิรูปขนส่งสาธารณะว่าร้อยละ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของบริการขนส่ง สาธารณะ การเดินทางของหน่วยงานรัฐ อปท. ภาคเอกชน และอื่น ๆ ทุกคนต้องเข้าถึงได้ หรือการดำเนินการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการพัฒนาให้ได้มาตรฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดภาระของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตร
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเองก็เคยมีการพูดถึงเรื่องการจัดสรร เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้นักเรียนที่ยากจนและยากจนพิเศษให้ครอบคลุมทั้งหมด ๒.๔ ล้านคน พูดถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ ๕ ต่อปี ที่ผมย้อนเล่าทั้งหมดนี้ให้ฟังคืออยากให้เห็นภาพฝันใหญ่ในช่วงปี ๒๕๖๑ ที่บอกว่าถ้าเกิดสามารถทำได้ตามนี้จริง มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเรามากเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายความจริงมันก็วิ่งเข้ากระแทกหน้าของเราทันที แผนปฏิรูปประเทศนั้น ติดปัญหาในการบริหารภายในที่ไม่สามารถทำได้จริง รวมถึงต้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ออกมาทีหลังแต่มาขี่คอมันอยู่จนถึงตอนนี้ นำไปสู่การทำแผนปฏิรูปฉบับปรับปรุง ที่กว่าจะประกาศใช้ก็ปี ๒๕๖๔ เข้าให้แล้ว สุดท้ายเป้าหมายที่ผมพูดถึงไปเมื่อสักครู่นี้ ก็ถูกตัดออก แทนที่ไว้เพียงความเชื่อว่าเป้าหมายจะทำสำเร็จได้ภายในปี ๒๕๖๕ เท่านั้นเอง
Slide ต่อไปได้เลยนะครับ เพื่อเป็นการยกตัวอย่าง แผนปฏิรูปด้านสังคม ในส่วนของการออมเพื่อการเกษียณ เรื่องที่พูดตอนแรกก็หายเข้ากลีบเมฆไปเลย เหลือเป้าหมายเพียงแค่การผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพียงแค่ ฉบับเดียว หรือเรื่องผู้เสียเปรียบทางสังคมที่ตั้งเป้าจะขยายบริการขนส่งสาธารณะให้เข้าได้ถึง ทุกคน หรือการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้มีมาตรฐาน กลายเป็นถูกลดทอนให้เหลือแค่ กระบวนการให้คนพิการสามารถขอบัตรประจำตัวคนพิการ ณ สถานพยาบาล และแก้ไข ระเบียบการยื่นขอบัตรให้มันลดเอกสารลงแค่เท่านั้นเอง
ในแผนด้านการปฏิรูปการศึกษา เรื่องการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้ครอบคลุม นักเรียนที่ยากจนทั้งหมดก็สลายกลายเป็นผุยผงไปเลย กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ยากจะอธิบายว่า ทำไปแล้วมันได้อะไร เต็มไปด้วยคำประเภท ส่งเสริม สนับสนุน ดุน ๆ ดัน ๆ พากันเข้าเส้นชัย แบบนั้นหรือครับ
ในประเด็นสุดท้ายนะครับท่านประธาน แม้จะมีเรื่องความล้มเหลวมากมาย ในแผนปฏิรูปประเทศ แต่ก็ต้องมีงานที่ทำได้สำเร็จเหมือนกัน แต่คำถามคืองานที่สำเร็จนี่ สำเร็จไปคือสำเร็จอะไร และควรจะเรียกมันว่าเป็นแผนปฏิรูปประเทศได้อย่างเต็มปาก หรือเปล่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอยกตัวอย่างเช่นในบทที่ ๑๓ การปฏิรูปประเทศ ด้านวัฒนธรรม กีฬา และแรงงาน คุณกำลังประเมินความสำเร็จผลงานของคุณด้วยการทำ แบบสอบถามคุณธรรม ๕ ประการ ประกอบด้วย ความพอเพียง วินัยรับผิดชอบ สุจริต จิตอาสา และกตัญญู สำรวจกันง่าย ๆ เลยครับ ถามกันง่าย ๆ และแถมวัดค่าพลังออกมา ให้ด้วยเป็นค่าพลังครอบครัว พลังเพื่อน เป็นแบบสอบถาม ๔๘ ข้อ ตอบ ๑๕ นาที ด้วยใจที่สัตย์จริง เราปฏิรูปสำเร็จแล้วหรือครับกับประเทศนี้ และทราบไหมครับท่านประธาน ไหนจะเรื่องผลงานการแจกรางวัลเชิดชูเกียรติ ทำสื่อคุณธรรม แผนปฏิรูประดับประเทศ ของเราขับเคลื่อนด้วยละครคุณธรรม ฉันเป็นประธานบริษัทแบบนั้นหรือ นิทานอีสปสอนใจ ไฉไลไทยก้าวหน้า หรือจะเป็นผลงานเรื่องของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบมรดกทาง วัฒนธรรม แต่ไปสนับสนุนที่พิพิธภัณฑ์การทางพิเศษแห่งประเทศไทย คือจะพาพวกเราไปดู ตอม่อจนกว่าเราจะสำนึกในรากเหง้าของความเป็นไทยแบบนั้นหรือครับ ซ้ำร้ายยังจะศึกษา การทำ Social Credit Score อีก คือคุณจะทำอะไร เคาะบ้านประชาชน ก๊อก ก๊อก ก๊อก วันนี้คุณรักชาติแล้วหรือยังอย่างนั้นหรือครับ คือมันเป็นการสนับสนุนให้รัฐเป็นตำรวจ จริยธรรม ครอบงำความคิดของประชาชน ตีกรอบครอบกะลาทางความคิด ไม่ต้องริบังอาจ มองหาเสรีภาพ ไหนจะด้านกีฬาอีกนะครับที่เอาธนาคารกีฬามาเป็นผลงาน กับการจัด การแข่งขันระดับท้องถิ่นหมู่บ้าน แต่ทำไมไม่มีการพูดถึงเรื่องของการสนับสนุนการสร้าง League กีฬาในประเทศไทยระดับประเทศเลย แค่การแจกลูกบาสเกตบอล เตะลูกบอล หน้าหมู่บ้านนี่ผมก็ปฏิรูปประเทศสำเร็จแล้วอย่างนั้นหรือครับ
ขอ Slide ต่อไปครับ ในส่วนของบทที่ ๘ ด้านสื่อสารมวลชน ตรงนี้ต้องบอก เลยนะครับว่าผลงานนั้นน่ารักมาก ๆ กับศูนย์ต่อต้าน Fake News ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล เคยอภิปรายไว้แล้วว่าศูนย์ดังกล่าวนั้นทำหน้าที่เป็นเพียงคนแค่สอบถามหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น Fact Checker ที่แท้จริงนะครับ สุดท้ายยังเผยแพร่ข่าวปลอม เสียเอง ในกรณีที่ สส. พรรคก้าวไกลเราเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ในโครงการก่อสร้าง แท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๙ ในค่ายทหารที่ลพบุรีนะครับ โดยบอกว่ามาจาก เงินบริจาค ทั้ง ๆ ที่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างอย่างชัดเจน อภิปรายไปขนาดนี้แต่ก็ยังดื้อจะทำต่อ พอเข้าไปดูใน Page ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่เอามาเป็นผลงาน ก็ต้องบอกว่า โอ้โฮ แต่ละ Post มีคน Like อยู่แค่ ๑๐ ๒๐ ๓๐ ๔๐ ๑๐ ๒๐ ๓๐ ๔๐ นี่คือผลงานของแผน ที่เราใช้เพื่อการปฏิรูปประเทศจริง ๆ ใช่ไหมครับ
ไหนจะเรื่องการผลักดัน Soft Power ที่บอกจะสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ว่า ก็ตีกรอบด้วยโจทย์จริยธรรมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สักแค่ไหนเชียว ไปล็อกให้ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง และสุดท้ายประเทศชาติเราได้ประโยชน์อะไร เรากำลังตอบโจทย์จริยธรรมหรือวัดค่าพลัง อะไรให้ใครอยู่
ใน Slide ถัดไปนะครับ อีก ๑ บทที่ผมอยากจะยกขึ้นมาพูดคือบทที่ ๗ เรื่องของสาธารณสุข การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พูดให้ฟังอีกครั้งหนึ่งนะครับ ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คืองงสิครับว่ามันเกี่ยวข้องกันได้ อย่างไร ผลงานด้านการสร้างฐานข้อมูล คัดกรองผู้สูงอายุ ภาวะพึ่งพิงก็คือคนที่ต้องได้รับ การดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว บอกว่าผลงานดีเลิศวิลิศมาหรามาก ดูแลอยู่ ๓๕๔,๐๐๐ คน จาก ๓๘๑,๐๐๐ คน เป็นเปอร์เซ็นต์ครอบคลุม ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่พอผมลองแง้มดูสถิติผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่อายุเกิน ๖๐ ปีมานิดหนึ่ง มันมีอยู่ตั้ง ๗๒๐,๐๐๐ กว่าคนไม่ใช่หรือครับ หายไปไหนตั้งครึ่งหนึ่ง คือเอาสถิติแค่เฉพาะ คนที่ลงทะเบียนมาโชว์เพื่อให้ตัวเลขนั้นมันดูดี แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงคนที่ยังตกหล่น จากระบบไปด้วย เราต้องดูด้วยว่าเรานั้นดูแลทุกคนอย่างครอบคลุมได้หรือไม่ และทุกคน เข้าสู่ระบบได้หรือไม่ แบบนี้จะเรียกว่าสำเร็จได้อย่างไร ไหนจะผลงานเรื่องของการทำ Public Health Record ที่เน้นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น พวกโรคเบาหวาน โรคความดันสูง ที่เริ่มทำที่เขตสุขภาพที่ ๑๒ เป็นจังหวัดทางแถบภาคใต้ แต่ทำไมอยู่ ๆ มันมีแถบบุรีรัมย์ เข้ามาด้วยอีก ๑ จังหวัด ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วย ๒ โรคนี้ไม่ได้เยอะอย่างมีนัยสำคัญอะไรที่บุรีรัมย์ ไม่ทราบว่าที่นี่เป็นบ้านของใคร ทำไมต้องแอบแถมมากับเขาด้วย ปฏิวัติวงการกันสุด ๆ ไปเลย
ผมขอสรุปเลยแล้วกันนะครับท่านประธาน เราเสียเวลาไปเปล่า ๆ ๕ ปี อย่างไร้ประโยชน์ เดินเตะฝุ่นฝันใหญ่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ขจัดความเหลื่อมล้ำ แต่สุดท้ายการปฏิรูปนั้นไม่เกิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นแค่การปะ ติด ลูบ ขายผ้าเอาหน้ารอด เป้าไหนที่เราเอื้อมไม่ถึงเราก็ปัดทิ้ง แต่มือเราสาวอะไรได้ก็หยิบ ๆ มาโปะ ๆ ให้มันเป็น ผลงาน ทันเวลาส่งการบ้านเฉย ๆ ถ้าจะทำแผนปฏิรูปได้แค่นี้นะครับ ผมนึกภาพออกเลยว่า เราจะพาประเทศไปอยู่ที่ไหน อยู่ที่เดิมละครับท่านประธาน สำหรับ ๕ ด้านนี้นะครับ ชยพล ขอชนไว้เท่านี้ก่อน ขอขอบคุณท่านประธานและหน่วยงานที่มาชี้แจงครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จตุจักร หลักสี่ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล วันนี้ขอรบกวนระยะเวลาสั้น ๆ ผมมีเพียง ๒ ประเด็น ก็อาจจะซ้ำกับท่านสมาชิกก่อนหน้า นิดหนึ่ง แต่พอดีมันเป็นประเด็นที่เรียกว่ากระตุกจิตสะกิดใจมากเลยกับเรื่องลูกหนี้ ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๗๐.๗ ล้านบาท ค้างชำระมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๖๔ มีทั้งหมดจำนวน ๑,๒๑๘ ราย มันเป็นจำนวนที่เยอะมากนะครับ ทีนี้มันไป กระทบเรื่องเงินของตัวกองทุนด้วย เพราะว่าเราจะต้องมีค่าเพื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งตาม อัตราที่เห็นเขียนไว้ในรายงานนี้คือคนที่ค้างระยะเวลาชำระหนี้เกินกว่า ๑๒๐ วัน ถึง ๑ ปี จะเผื่อไว้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหนี้ แล้วก็คนที่เกินกว่า ๑ ปีก็จะต้องเผื่อไว้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยของหนี้ ทีนี้ถ้าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีการเผื่อไว้ถึง ๑๖๘.๓ ล้านบาทเลย คือจำนวน ๑๗๐ ล้านบาท แล้วก็เผื่อไว้ ๑๖๘.๓ ล้านบาท แสดงว่าเกิน ๑ ปีกันมาทั้งหมด เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระมานานมาก ผมเลยอยากทราบว่ามีแผนที่จะทวงหนี้อย่างไรบ้าง หรือมีแผนที่จะหารายได้ตรงนี้เข้ามาอย่างไรบ้าง เพราะว่าถ้าเกิดมันเป็นอย่างนี้ต่อไป ผมกลัวว่ามันจะไม่ยั่งยืนต่อตัวกองทุนสักเท่าไร ต้องขอบอกว่าผมยืมเงินมาซื้ออาหารเที่ยง จากเพื่อนยังโดนทวงหนี้โหดกว่านี้เลยนะครับ
ประเด็นที่ ๒ มีเรื่องที่ผมเห็นแล้วก็สะกิดใจเหมือนกันคือเรื่องของหมายเหตุ ที่ผู้สอบบัญชีได้เขียนไว้ หมายเหตุประกอบการเงิน ข้อ ๑๓ เรื่องของเงินรับรอการตรวจสอบ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ จำนวน ๑๕.๘ ล้านบาท ที่หน่วยงานไม่สามารถหาหลักฐาน เกี่ยวกับเงินรับรอการตรวจสอบให้ตรวจสอบได้ ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นให้เป็นที่พอใจกับรายการที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินรับ รอการตรวจสอบได้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าจำเป็นต้อง ปรับปรุงรายการที่เกี่ยวข้องใดบ้าง จำนวนเท่าใด อันนี้ผมอยากทราบรายละเอียดครับ เงิน ๑๕.๘ ล้านบาทผมคิดว่าเป็นเงินจำนวนมาก ที่หลักฐานไม่น่าหายไปไหนได้ มันไม่ใช่ใบเสร็จที่ไปซื้อน้ำ ๗ บาทแล้วก็เผลอทำหายไปอย่างนั้น ๑๕.๘ ล้านบาทเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะมากเลย เลยอยากให้ท่านผู้ชี้แจงช่วยชี้แจงหน่อยว่า เงินตรงนี้คือเงินอะไร เกี่ยวข้องกับอะไร แล้วมันหายไปไหน แล้วเราจะสามารถตรวจสอบมัน ได้อย่างไร เพราะว่าถ้าเกิดยังมีข้อนี้อยู่ในรายงานมันก็เหมือนการบ้านที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วเอามาส่ง เพราะมันขาดไปช่องหนึ่ง เผลอ ๆ อาจจะต้องปรับงบปรับอะไรกันอีก เต็มไปหมดเลยเหมือนกัน อย่างไรก็ขอฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตหลักสี่ เขตจตุจักร พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องหารือจำนวน ๕ เรื่อง
ประเด็นที่ ๑ คือไฟส่องสว่างไม่พอตอนกลางคืนช่วงต้นซอยแจ้งวัฒนะ ๑๔ เขตหลักสี่ กทม. ช่วงต้นซอยตอนกลางคืนจะมืดมากเลย รบกวนท่านประธาน ส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นดำเนินการดูแลต่อด้วยนะครับ ในถนนกำแพงเพชร ที่อยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงตลอดแนวเขตหลักสี่ เขตจตุจักรเลยนะครับ ใต้รถไฟฟ้า ไฟมืดมากเลยครับทั้ง ๆ ที่มีเสาไฟอยู่แล้ว และถนนเองก็เป็นผิวลูกคลื่นตลอดทั้งแนว อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยดำเนินการจัดซ่อมตรงนี้ให้โดยเร็วนะครับ เพราะว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และอีกอย่างหนึ่งนะครับตรงรถไฟฟ้า สายสีแดงตรงสถานีทุ่งสองห้องเสาตอม่อบังทางเข้าออกซอยวิภาวดีรังสิต ๒๕ เรื่องตรงนี้ต้องฝากท่านประธานถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง ๆ ว่าต้องฉุกคิดบ้างตอนที่ สร้างตัวสถานี สร้างตอม่อขึ้นมา สร้างอยู่ตรงปากซอยของเขา สร้างเสาใหญ่เบ้อเร่อเลย แล้วบังทางเข้าออกทำให้ประชาชนที่จะเข้าออกจากซอยต้องชะเง้อมอง ต้องเงื้อมมอง แล้วมันมองไม่เห็นจริง ๆ มันเป็นมุมอับที่จะทำให้อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ในอนาคต อย่างไร ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการต่อด้วยนะครับ
อีก ๒ เรื่องที่เหลือ คือเรื่องผิวถนนตรงถนนแจ้งวัฒนะบริเวณหน้าศูนย์ ราชการเขตหลักสี่พังจากการก่อสร้างรถไฟฟ้ามานานมากแล้ว แล้วก็เรียกได้ว่าสงสัยจริง ๆ ว่าเราสร้างรถไฟฟ้าให้มันเรียบร้อยกว่านี้ได้ไหมให้พื้นผิวถนนนั้นมันไม่พังขนาดนี้ เท่าที่เป็นอยู่ได้ไหมครับ นั่นคืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการตรงนี้ ด้วยนะครับ
อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องตรงถนนริมคลองประปาใกล้ซอยเสริมสุขนะครับ เขตจตุจักร ตรงถัดจากสำนักงานการประปานครหลวงสาขาประชาชื่น ติดกับทางรถไฟ ตรงทางเข้าซอยก่อนที่จะเข้าไปในชุมชนบ่อฝรั่งตรงทางเข้าถนนจะพังมากเลยครับ ถนนพังมากจนรถยนต์จะขับเข้าไปนี้ยังต้องชะลอดี ๆ ไม่อย่างนั้นช่วงล่างน่าจะพังหมด เพราะฉะนั้นใน ๕ เรื่องทั้งหมดตรงนี้ ผมอยากฝากท่านประธานหารือไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการดูแลดำเนินการจัดการต่อด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตหลักสี่ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล วันนี้ผมอยากจะขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้านะครับ โดยข้อเท็จจริงด้านแรกที่ผมจะนำเสนอเป็นข้อเท็จจริงในด้านของกฎหมาย โดยประเทศไทยเรามีกฎหมายเกี่ยวกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้อยู่แล้วว่า บารากุและบารากุไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้าราชอาณาจักร ประกาศไว้ในปี ๒๕๕๗ นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ. ส่งออกไปนอกและการนำเข้ามา ในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่กำหนดมาตรา ๕ ไว้ ให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์สามารถประกาศได้ว่าจะให้หรือไม่ให้อะไรนำเข้าหรือส่งออกจาก ราชอาณาจักรประเทศไทย มาตรา ๗ ห้ามฝืนประกาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตหรือได้รับ มอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมาตรา ๒๐ เอง ก็ได้กำหนดโทษไว้ ถ้าเกิดฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๗ นอกจากนี้เรายังมีคำสั่งคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ ๙ ปี ๒๕๕๘ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามนำเข้า หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากุ บารากุไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวน้ำยาบารากุ น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งตัว พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา ๕๖ ก็ได้กำหนดไว้ว่าใครฝ่าฝืนคำสั่งต้องได้รับโทษ ยังไม่พอนะครับ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ก็ได้กำหนดไว้ว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นสินค้า ต้องห้าม มาตรา ๒๔๒ นำเข้า ส่งออกโดยที่ไม่ผ่านศุลกากร หรือการเคลื่อนย้ายโดยที่ไม่ได้ รับอนุญาตจากตัวเจ้าหน้าที่ก็ถือว่ามีความผิด มาตรา ๒๔๖ กำหนดไว้ว่าผู้ขาย ซื้อ ครอบครอง ได้รับมาล้วนแล้วแต่มีความผิดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ถ้าเราจะพูดถึงข้อเท็จจริง ทางด้านกฎหมายแบบนี้เอาแค่เฉพาะตรงนี้เท่านั้นเท่ากับว่าไม่มีบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในประเทศไทย ใช่ไหมครับ แปลว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอยู่จริง และวันนี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องมาคุยอะไรกัน แต่ผมอยากจะขอนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลข้อเท็จจริงในเชิงสถิติที่ได้มีการสำรวจไว้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ศรัญญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขออนุญาตอ้างอิงถึงรายงานของท่านที่ได้สำรวจไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ เก็บข้อมูลจาก๘๔,๐๐๐ ครัวเรือนตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น ๑๖๔,๔๐๖ คน โดยสำรวจจากประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป พบว่าจากปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ช่วงเวลา ๔ ปี มีอัตราผู้ใช้บุปรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นถึง ๔,๕๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๔,๕๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นปริมาณที่ เยอะมาก ตอนแรกมี๑,๗๑๔ คน ตอนหลังมี ๗๘,๗๔๒ คน เราถึงต้องยอมรับความเป็นจริง กันได้แล้วว่ามันมีความต้องการบริโภคจริง ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วครับ แต่ว่าเมื่อเราไม่มีกฎหมาย ในการควบคุมการใช้งาน และบวกกับการที่เราไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในการห้ามนำเข้าได้ ทำให้การใช้งานบุหรี่ไฟฟ้านั้นเกลื่อนกลาดทั่วประเทศเราเต็มไปหมด ไม่ว่าท่านจะเดินไป มุมไหน อย่าว่าแต่วัยรุ่นเลยครับ คือไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร วัยเท่าไร ไม่ว่าท่านจะเดินไป มุมไหน ท่านก็จะสามารถพบได้ว่าคนเกาะกลุ่มกันดูดบุหรี่ไฟฟ้าปู๊น ๆ พ่นควันกันเป็น หัวรถจักรไอน้ำ เมื่อมันไม่มีกฎหมายมันเท่ากับว่าเราควบคุมมาตรฐานของตัวผลิตภัณฑ์ ตรงนี้ไม่ได้ และมันก็จะเป็นอันตรายต่อตัวผู้บริโภค เพราะว่ารายงานวิจัยต่าง ๆ นั้นก็ยังไม่ Conclusive ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าผลเสียระยะยาวที่มีต่อผู้บริโภคมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เนื่องจากตรงนี้มันเป็นสินค้าที่ใหม่อยู่ และผมอยากจะขออ้างอิงรายงานวิจัยอีก ๑ ข้อ ที่ทำโดยนักวิจัยจาก Johns Hopkins University ที่ได้สำรวจแล้วว่าน้ำยาของตัวบุหรี่ไฟฟ้า E-liquid หรือ E-juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้ามันมีส่วนประกอบของโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส โครเมียม และแคดเมียม ซึ่งเป็นสารพิษที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ในระดับที่สูง เราจึงจำเป็นที่จะต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยนั้นมีความต้องการ ในการใช้ ดูจากจำนวนสถิติที่มีคนใช้มากขึ้นพุ่งสูงขึ้นถึง ๔,๕๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราจึงจำเป็น ที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้งานแบบเดียวกันกับที่บุหรี่จริงนั้นได้เคยมีมาตลอด เราต้องให้ความรู้ถึงคุณและโทษของตัวบุหรี่ไฟฟ้าแบบเดียวกันกับบุหรี่จริงที่ได้ทำมาเป็น สิบ ๆ ปีแล้ว ขนาดบุหรี่จริงนั้นถ้าเกิดจะขายบนซองยังต้อง Print ภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง ให้เราได้สะสมกันให้ครบทุกรูปแบบ แต่ ณ ตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการควบคุมอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น และมิหนำซ้ำ ณ ตอนนี้ก็ยังมีความเชื่อแบบแปลก ๆ ที่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นอาจจะปลอดภัย กว่าตัวบุหรี่จริง เพราะว่าตัวบุหรี่ไฟฟ้ามีเปอร์เซ็นต์นิโคตินที่น้อยกว่าบุหรี่จริง แต่ผมเอง ก็อยากจะตั้งคำถามเหมือนกันว่าสมมุติว่าผมใช้น้ำปลาที่โซเดียมต่ำนี่ แต่อาหารมันเค็ม ไม่พอแล้วผมเหยาะมันเพิ่มสุดท้ายโซเดียมผมก็ได้เท่าเดิม แล้วมันมีประโยชน์อะไรต่อใคร นอกจากแค่ให้ตัวเองรู้สึกดีเฉย ๆ ว่าเรากำลังใช้น้ำปลาที่โซเดียมต่ำเฉย ๆ แต่สุดท้ายก็เติม จนโซเดียมมันก็เต็มอยู่ดี ผมเลยอยากจะเรียนท่านประธานว่ามันถึงเวลาแล้วที่กฎหมายของประเทศเราจะต้องไล่ตาม ความเป็นจริงของสังคมให้ทัน ด้วยการออกกฎหมายควบคุมกับความเป็นจริงที่มีคนไทยนั้น บริโภคใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอยู่อย่างแพร่หลาย เราจำเป็นจะต้องให้ความรู้อย่างถูกต้อง เราจำเป็นที่จะต้องกำหนดพื้นที่ในการขาย อายุของผู้ที่สามารถซื้อได้ พื้นที่ที่สามารถสูบได้ เพื่อป้องกันให้ผู้อื่นที่ไม่ต้องการที่จะได้รับผลกระทบจากควันมือสองต้องได้รับผลกระทบ อะไรใด ๆ จากผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเองก็จะสามารถมีความรู้ในการที่จะ ตัดสินใจอย่างถูกต้องได้ว่าเขานั้นต้องการที่จะได้รับความเสี่ยงตรงนี้ไหม และทำอย่างไรดี เขาถึงจะได้รับความเสี่ยงในปริมาณที่ปลอดภัยและสามารถควบคุมได้ ก็คือใช้บุหรี่ไฟฟ้า อย่างมีความรู้ โดยที่ไม่ไปกระทบอะไรต่อผู้อื่น และให้มันมีผลดีต่อไปในระยะยาวครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตหลักสี่ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล สำหรับในเรื่องของญัตติการเสนอปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง และแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานบันเทิงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ในตัวรายงานนี้ ถ้าเกิดเราเปิดมาในบทแรก ๆ จะมีเรื่องของบทสรุปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขียนอยู่ ซึ่ง List ปัญหาไว้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนนะครับ ปัญหา ๕ ข้อ
ปัญหาประการที่ ๑ คือ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์ ในการขอใบอนุญาต
ปัญหาประการที่ ๒ คือ เรื่องของการกำหนดอายุของพนักงานในสถาน บันเทิง
ปัญหาประการที่ ๓ คือ เรื่องของการกำหนดระยะเวลาในการให้บริการ สถานบันเทิงนะครับ
ปัญหาประการที่ ๔ คือ การกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม
ปัญหาประการที่ ๕ คือ ปัญหาเรื่องของการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ ของเจ้าหน้าที่ พนักงาน ซึ่งเรื่องปัญหาตอนนี้นะครับ มันมีต้นเหตุอยู่ง่าย ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง หรอกครับ ต้นเหตุของมันอย่างแรกเลย คือตัว พ.ร.บ. สถานบันเทิง พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่ในตัว กฎหมายนี้ไม่มีความชัดเจนในตัวมันเอง เป็นกฎหมายที่ยังคงมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ พนักงานในการบังคับใช้ ซึ่งการที่เรามีข้อกฎหมายที่อาศัยอ้างอิงจากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ พนักงานนี่มันมีความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ และมันไม่เท่ากันในแต่ละคน แต่ละเจ้าหน้าที่อยู่แล้วในตัวนะครับ ขอยกตัวอย่างเช่นเรื่องของ Zoning Zoning ของตัว ร้านสถานบันเทิงระยะห่างจากที่อยู่อาศัย ศาสนสถานอย่างนี้นะครับ ไม่ได้มีการกำหนด ระยะทางที่ชัดเจน แต่ให้ใช้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ แล้วเราก็คงต้องตั้งคำถามนะครับว่า ไกลแค่ไหนมันถึงใกล้ ใกล้แค่ไหนมันถึงจะไกล ๑๐,๐๐๐ ลี้ ๔ ศอก ๒ เมตร หรือ ๔ กิโลเมตร มันก็ไม่ได้มีกำหนดอะไรไว้ ไม่มีคำตอบอยู่ในกฎหมายนี้ เพียงแต่ต้องอ้างจากดุลยพินิจ ของตัวเจ้าหน้าที่นะครับ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาในพื้นที่ของผมเองด้วยเหมือนกันที่เขตจตุจักร และเขตหลักสี่ที่มีคนต้องการจะเปิดสถานบันเทิง แต่ว่าไม่สามารถที่จะขอจดจัดตั้งได้อย่าง ถูกกฎหมาย เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้นใกล้เคียงกับโรงเรียน พอผมถามว่าใกล้เคียงกับโรงเรียน อันไหน เขาก็ชี้ไปที่ตึกตึกหนึ่ง ซึ่งตึกนั้นเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้ทำการสอนนะครับ ล้อมรั้ว อะไรไปเรียบร้อยแล้ว เป็นแค่ตึกร้าง ๆ ไม่มีคน แล้วก็มีพี่ รปภ. คอยนั่งเฝ้าทางเข้า อยู่ด้านหน้าเท่านั้นเอง แต่เรื่องตรงนี้ Zoning ยังคงมีผลอยู่ทำให้ร้านค้าในพื้นที่ตรงนั้น ไม่สามารถจดทะเบียนได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นช่องว่างในการที่จะให้เรียกหาผลประโยชน์ จากตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อีกเหมือนกันนะครับ
ตัวต้นเหตุต่อมาที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีอำนาจในการกำหนดพื้นที่ แล้วเวลาเปิดปิดตามกฎหมายอันนี้เลยนะครับ ตัวกฎหมาย ตรงนี้ควบคุมอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ตัวศูนย์กลาง คือคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนท้องที่ รู้ดีกว่าคน ในพื้นที่ตรงนั้น รู้ดีกว่าคนที่เขามีญาติ มีเพื่อน มีพ่อแม่พี่น้อง รู้จักกับป้าข้างบ้าน สนิทกับยาย ข้างรั้ว คือคิดว่ารู้ดีกว่าเขา แล้วก็ให้อำนาจเขาในการกำหนดอะไรใด ๆ ทั้งสิ้นเลย แล้วก็ กำหนดคลอดออกมาเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดปัญหาจนถึงทุกวันนี้ นี่ละครับคือปัญหาหนึ่ง คือเราไม่ยอมกระจายอำนาจ เราหวงอำนาจมากเกินไป ยึดติดให้มันต้องอยู่ที่ศูนย์กลาง และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามท้องถิ่นก็เลยไม่มีอำนาจในการที่จะดูแลจัดการอะไรใด ๆ เท่าไรเลย มิหนำซ้ำอีกตัวการหนึ่ง คือเรื่องของกฎหมาย ป. วิ. อาญา ที่ให้อำนาจกับพนักงาน ฝ่ายปกครอง ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตำรวจตั้งแต่ชั้นร้อยตรีขึ้นไป ปลัดอำเภอ ผบ. ตำรวจ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สามารถที่จะแวะเวียนเข้าไปเคาะประตูร้านสถานบริการร้านไหน แล้วก็ขอตรวจสอบได้ตลอดเวลาครับ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าอะไรเลย นึกสนุกอะไร ก็อยากจะจ๊ะเอ๋ ก๊อก ๆ ขอตรวจดูร้านค้าหน่อยสักนิดหนึ่งก็ได้เหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องตรงนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันที่ทำให้แต่ละคนก็แวะเวียน ผลัดเปลี่ยนกันเข้า มาผลัดเวรกันเข้ามาเรียกหาผลประโยชน์กันได้เรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสถานบริการหลาย ๆ ที่เองก็ให้การตรงกันว่าได้รับผลกระทบจาก สิ่งนี้นะครับ เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการพิจารณาตัวกฎหมาย ตรงนี้ คือการมอบอำนาจคืนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมตัวสถานบริการ ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ตามที่เขาเห็นสมควรและคนในพื้นที่ตรงนั้นเห็นสมควร เพราะว่าคนพื้นที่ย่อมรู้ดีที่สุด รู้ดีกว่าคนที่อยู่ส่วนกลาง มันต้องรู้ดีกว่าแน่นอนอยู่แล้วครับ คนส่วนกลางอยู่ไกลเป็น ๑๐๐ กิโลเมตรไม่มีทางที่จะไปรู้ดีกว่าคนท้องที่แน่นอน และเรื่อง ของขั้นตอนการออกใบอนุญาตที่เยอะแยะ หยุมหยิม ยุบยับ ยาวเหยียดอะไรเต็มไปหมด คือมันไม่ใช่ประตูเงินประตูทองที่เราต้องมาผ่านกันหลายด่านกว่าจะถึงเจ้าสาว อย่างไรครับ แล้วทีนี้การที่มันมีใบอนุญาตเยอะมันไม่เท่ากับความรอบคอบ มันไม่เท่ากับ ความรัดกุม เยอะนี่มันมีแค่สิ้นเปลืองครับ มันไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพ ถ้าเกิดสุดท้าย แล้วกฎหมายยังมีช่องโหว่ทำให้เกิดปัญหาเยอะแยะขนาดนี้
ต่อมาคือเรื่องของการกำหนดเวลาเปิดปิด และตัว Zoning เอง คือบริบท ของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป บางพื้นที่เขาอาจจะ OK กับการที่สถานบริการ ถ้าเกิดสามารถควบคุมได้ไม่ให้มีมลภาวะทางเสียง ไม่ให้มีรถติด ไม่ให้มีขยะ ไม่ให้มี การทะเลาะวิวาทอะไร ถ้าเกิดมันใกล้กับตัวศาสนสถานสักนิดหนึ่ง ถ้าเกิดคนในพื้นที่ตรงนั้น สามารถยอมรับได้ เป็นความตั้งใจ เป็นความยอมรับกันโดยรวมของพื้นที่ตรงนั้นมันก็ควร จะต้องมีสิทธิที่จะตั้งตรงนั้นได้เพราะเป็นความต้องการของคนพื้นที่นั้น ๆ เอง เพราะฉะนั้น เรื่องข้อเสนอถัดมาที่เกี่ยวโยงกันคือเลิกใช้ดุลยพินิจ มันต้องมันต้องเลิกได้แล้ว มันต้อง กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนได้แล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะขออะไร จะต้องการทำอะไรก็ต้องไปหวัง พึ่งพิงความใจดีของเจ้าหน้าที่สักคนหนึ่ง ถ้าเกิดเขาเกิดใจร้ายไม่ดีขึ้นมาก็ต้องรอเขาเกษียณ แล้วขออีกรอบหนึ่งอย่างนี้หรือครับ หรือรอเขาออกเวรแล้วเปลี่ยนเจ้าหน้าที่คนใหม่ เผื่อดุลยพินิจจะเปลี่ยนอย่างนี้หรือครับ นี่มันคือช่องโหว่ที่ทำให้กฎหมายเราไม่สามารถบังคับ ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนออีกอันหนึ่งก็คือการกำหนดคนที่มีอำนาจตรวจที่ชัดเจน อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นนั้น ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจใน สน. ในพื้นที่ตรงนั้น มันต้องพอกันที กับคนที่ขึ้นรถทัวร์เวียนไปลงตามจุดต่าง ๆ เพื่อที่จะไปขอตรวจ แล้วก็ขอผลประโยชน์สักนิด สักหน่อยอะไรอย่างนี้นะครับ
ข้อเสนอสุดท้ายเลยนะครับ เอาจริงคือ พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ อีก ๓ ปีรับเบี้ยผู้สูงอายุได้แล้วกฎหมายอันนี้ คือกฎหมายที่ล้าหลังบางทีอาจจะไม่ต้องดูที่ตัว เนื้อหาเสียด้วยซ้ำ มันหยากไย่ขึ้นตั้งแต่ตัวชื่อของตัวกฎหมายแล้วละครับ มันเขียนตั้งแต่ ปี ๒๕๐๙ เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยน มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ไข ให้มันตรงตามบริบทของสังคมในยุคปัจจุบันของเรา เพื่อให้การควบคุมนั้นมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐาน อย่างไรก็ขอขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตหลักสี่ เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล วันนี้ ผมมีเรื่องที่อยากจะหารือทั้งหมด ๘ เรื่องนะครับ
โดยในเรื่องที่ ๑ คือเรื่องของรถมอเตอร์ไซค์ขับขี่บนทางเท้า โดยเฉพาะ บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ และแถวถนนพหลโยธินตลอดแนวถนนเลย ในเขตจตุจักร
เรื่องที่ ๒ คือขยะตันในท่อน้ำของเคหะแจ้งวัฒนะตันมาหลายปีมากแล้ว เป็นขยะที่ล้นขึ้นมาจนกระทั่งต้นไม้นี่สามารถงอกขึ้นมาจากกองขยะและเศษดินที่ตัน อยู่ข้างในท่อน้ำ ผมร้องเรียนมาหลายปีแล้วไม่มีความคืบหน้าอะไรใด ๆ ทั้งสิ้นเลยนะครับ
เรื่องที่ ๓ คืองบประมาณปรับปรุงอาคารชมรมผู้สูงอายุในเคหะทุ่งสองห้อง คืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาคาร ที่เคยเป็นอาคารชมรมผู้สูงอายุมาก่อน เพื่อวัตถุประสงค์ของการใช้เป็นสาธารณประโยชน์ เพราะว่ามีการร้องเรียนเข้ามาว่าการเคหะช่วงนี้หลาย ๆ เขตมักจะชอบใช้งบประมาณ ในการปรับปรุงสถานที่ แต่ว่าเพื่อที่จะเอาไปใช้ปล่อยเช่าให้กับเอกชนต่อทีหนึ่ง ก็อยากจะ บอกว่าอย่าทำพฤติกรรมอะไรที่มันน่าสงสัยและน่าตั้งคำถามแบบนั้นเลยนะครับ เดี๋ยวเรา จะต้องตั้งคำถามกันอีกยาว ให้เราทำเพื่อสาธารณประโยชน์กันที่ตรงนี้ดีกว่า
เรื่องที่ ๔ ระเบียบการจอดรถในซอยแคบในหมู่บ้านปูนซิเมนต์เขตจตุจักร มีการจอดรถขวางทางเยอะมาก ในซอยแคบจนกระทั่งรถพยาบาลไม่สามารถเข้าออกได้ อยากให้เน้นย้ำเรื่องของกฎจราจรภายในหมู่บ้านที่มีซอยแคบด้วย
เรื่องที่ ๕ เรื่องของรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีแดงที่เพิ่งสร้างเสร็จมา เมื่อไม่กี่ปีมานี้หลายสถานีลิฟต์และบันไดเลื่อนใช้งานไม่ได้แล้ว คิดว่าน่าจะต้องดูเรื่อง Maintenance กันดี ๆ หน่อยนะครับ
ต่อมาเรื่องที่ ๖ คือการกำชับทำรายงาน EIA นะครับ คอนโดมิเนียมสร้างใหม่ เยอะมากในช่วงนี้ทั้งเขตหลักสี่และเขตจตุจักร แล้วก็มีผลมีเรื่องร้องเรียนถึงผลกระทบ ที่ตามมาของ Site งานก่อสร้างเหล่านี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกำชับดูแล เรื่องของ EIA ของทุกโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๗ คือไฟส่องสว่างไม่ติดแล้วก็น้ำขังบนสะพานที่ข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ที่จะมาเชื่อมระหว่างฝั่งถนนรัชดาภิเษกและถนนประชาชื่น สะพานที่ข้ามมาไฟไม่ติด ไม่พอ มืดมิดสนิทใจต้องหวังพึ่งแสงดวงจันทร์ไม่พอ ยังมีน้ำขังไว้เป็นกับดักสำหรับคนที่ขับรถ ข้ามมาในเวลามืด ๆ วันที่ฝนตกด้วย
เรื่องสุดท้ายนะครับ คือปัญหายาเสพติดระบาดในชุมชน และเป็นชุมชน ที่อยู่ใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการด้วย ก็ไม่แน่ใจว่ามีความเชื่อมโยงอะไรหรือเปล่า แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาจะเป็นชุมชนที่อยู่ติดหรืออยู่ด้านหลังของหน่วยงานราชการ ก็อยากจะให้กำชับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกเรื่องเลยนะครับ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งหมดว่าปัญหาตรงนี้ ขอฝากหารือกับท่านประธานครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ เขตจตุจักร พรรคก้าวไกล วันนี้ในเรื่องของน้ำประปาทั้งระบบ ปัญหาของระบบน้ำประปา ตามรายงานเลย ที่มีการแจกให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด มีการระบุปัญหาไว้ ข้อที่ ๑ คือเรื่องของ แรงดันน้ำต่ำในช่วงเวลาที่ความต้องการน้ำสูง แล้วก็แรงดันน้ำสูงในช่วงที่ความต้องการต่ำ ซึ่งจะทำให้ท่อน้ำแตกและรั่ว ซึ่งผมอ่าน ๒ ปัญหาตรงนี้แล้วต้องบอกเลยว่าผมก็งงเลยครับ คือถ้าต้องการสูงความดันก็ไม่พอ ถ้าไม่มีใครต้องการความดันมากเกินไปจนท่อน้ำแตก คือเป็นท่อประปาที่ส่งน้ำได้นิดหน่อยแบบนั้นหรือครับ ทำไมระบบมันไม่สามารถที่จะรองรับ Operating Condition ของมันได้ ไม่ได้ Design มาให้รับกับความต้องการในทุกช่วงเวลา ในทุกช่วงความต้องการหรือครับ คือคำตอบของปัญหา ๒ ข้อผมมองว่ามันง่ายมากเลย คือการติดตั้ง Pressure Sensor Sensor ที่คอยดูเรื่องของแรงดันน้ำ บวกกับเรื่องของ IoT Internet of Things แล้วก็บวกกับ Automatic Valve Control ซึ่งผมคิดว่ามันจะช่วย แก้ปัญหาได้ ถ้าช่วงไหนที่แรงดันน้ำมันแผ่วลงไปเราก็เพิ่ม Valve เปิด Valve เพื่อให้ แรงดันน้ำเพิ่ม แต่ถ้าเกิดช่วงไหนที่ไม่มีความต้องการแล้วแรงดันน้ำมันถึงปริมาณที่เรา เซ็ตไว้แล้ว Valve มันลดลงก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอัดน้ำเข้าไปจนท่อน้ำมันแตกก็ได้นี่ครับ และปัญหาข้อที่ ๓ คือปัญหาเรื่องของท่อน้ำที่อยู่ใต้ดิน ที่ทำให้การตรวจสอบยากว่า ไม่รู้ว่า จุดตรงไหนมันรั่ว ซึ่งตรงนี้ผมก็มองว่าคำตอบมันก็ง่ายเหมือนกัน คือติดตั้ง Flow Sensor ไหลเข้ามาแค่ไหน ไหลเข้ามากี่ลูกบาศก์เมตร มันก็ต้องไหลออกไปปริมาณเดียวกัน แล้ว Sensor มันก็สามารถบอกเราได้อยู่แล้วว่ามีการรั่วซึมที่ตรงไหนหรือเปล่า ซึ่งปัญหา ๓ ข้อตรงนี้ผมมองว่ามันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของวิศวกรในปี ๒๐๒๓ นี้อย่างแน่นอน และปัญหาต่อมาที่ผมอยากจะ Highlight คือเรื่องของแรงดันน้ำ ทุกวันนี้ถ้าเกิดเราเดินไป ที่ชุมชนตรงไหน หรือเดินไปบ้านตรงไหน ก็จะเห็นว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ในชุมชน ไม่ว่าคุณ จะอยู่ในบ้านหลัง หรือคุณจะอยู่คอนโดมิเนียม ทุกที่จะต้องมีเครื่องกรองน้ำ แต่ถ้าเกิดที่ไหน ที่มันอยู่สูงหน่อย มีบ้าน ๒ ชั้น หรืออยู่บนคอนโดมิเนียมก็ต้องมีเครื่องปั๊มน้ำเพิ่มขึ้นมา คือเรื่องตรงนี้ KPI ของการประปามีการระบุไว้ว่าต้องเสียน้ำให้น้อยในแต่ละปี เขาก็เลย เลือกที่จะใช้ทางออกโดยการลดแรงดัน แต่ทีนี้คือการลดแรงดันไม่ได้ช่วยตอบปัญหาที่ต้นตอ คือเป็นการแก้ปัญหา Style แบบว่าถ้าเราเจอขยะล้นถังเราเก็บถังขยะไปทิ้งจะได้ไม่ต้องมีขยะ ที่ไหนมาล้นทั้งอีกใช่ไหมละครับ มันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ที่ตรงต้นตอเลยครับ คือแรงดันน้ำมันสำคัญ เพราะว่ามันช่วยในการชะล้างสิ่งปฏิกูลที่ติดอยู่ในท่อด้วยครับ ถ้าเกิด แรงดันน้ำสูง Flow Rate มันดี พวกแคลเซียมและพวกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายมันก็ไม่สามารถ ที่จะติดตามท่อได้ ก็ไม่มีการสะสมของคราบ Plaque หรือคราบอะไรก็ตาม จะทำให้น้ำนั้น สะอาดขึ้นแล้วก็สามารถที่จะดื่มได้ แล้วทีนี้คือเรื่องของจุดรั่ว จุดรั่วก็จะมีความสำคัญ เรื่องของแรงดันน้ำด้วยเหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้มีความกังวลแค่เรื่องของน้ำที่รั่วออกเท่านั้น แต่ถ้าเกิดแรงดันน้ำไม่มากพอ น้ำก็รั่วเข้าด้วยเหมือนกันเช่นกัน แล้วทีนี้เป็นเรื่องที่เราก็ต้อง มาลุ้นกันแล้วว่าท่อน้ำมันพาดผ่านตรงไหนบ้าง และใต้ดินตรงนั้นมันมีอะไรบ้าง จะมีอะไร หลายซึมเข้ามาในท่อน้ำบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ต่างประเทศนะครับ ผมขอยกตัวอย่าง ว่ามันมีการ Guarantee แรงดันน้ำขั้นต่ำอยู่ ที่สหราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ถ้าเกิดว่าเราเปิด ท่อน้ำขึ้นมา น้ำของที่ ๒ ประเทศนี้จะพุ่งขึ้นสูงเป็นแนวตั้งถึง ๑๐ เมตร แคนาดา สหรัฐอเมริกา ๑๔ เมตร บราซิล ๑๕ เมตร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ๒๐ เมตร แอฟริกาใต้ ๒๔ เมตร แต่ประเทศไทย ๖ เมตร แค่ ๖ เมตรเท่านั้นเองครับ พอสภาพระบบน้ำประปา ของเราเป็นอย่างนี้มันทำให้เราต้องเกิดภาระกับประชาชน ภาระที่เขาไม่ควรจะต้องมารับ คือการต้องมาซื้อเครื่องกรองน้ำและเครื่องปั๊มน้ำเพื่อให้ตัวเองได้มีน้ำประปาใช้ถึงชั้น ๒ แล้วก็สามารถมีน้ำประปาที่สะอาดพอที่จะดื่มได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะขอแถม คือในรายงานนี้ที่ท่านสมาชิกทุกท่านน่าจะมี ผมอยากให้ทุกท่านลองเปลี่ยนไปที่หน้า ๓-๒๕ เรื่องของเหตุใดน้ำประปาไทยจึงยังดื่มไม่ได้ มีการระบุสาเหตุไว้ว่าตัววาล์วเกิดสนิมง่าย ใช่ไหมครับ เลยทำให้เกิดการสะสมโรค แล้วก็หัวก๊อกประปาในประเทศไทยทำจากวัสดุหลากหลาย มีหลาย Grade หลายราคา ทำให้สะสมเชื้อโรค คือผมก็ไม่เคยเห็นเหตุผลนี้ในรายงานวิจัยที่ไหนมาก่อน ผมก็เลยลอง ไปอ่านดูตามต้นเรื่องของมันตามต้นข้อมูล ปรากฏว่าเป็น Website ขายเครื่องกรองน้ำ ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้ว เขาก็ต้องบอกว่าก๊อกน้ำมันไม่ดี เพราะว่าถ้าเกิดเลื่อนลงมาจากข้อมูล ตรงนี้ที่เขา Post ไว้ใน Website ของเขา เลื่อนลงอีกภาพหนึ่ง เป็นการขายชุดเครื่องกรองน้ำ พร้อมก๊อกน้ำคุณภาพสูง ก็แน่นอนละครับ Easy life ไหมละครับ ก็คือซื้อของเขาไปก็แก้ไข ปัญหาทุกอย่างได้ แต่ทีนี้ถ้าเกิดเราจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยการซื้อเครื่องกรองน้ำ เครื่องปั๊มน้ำ มันก็เป็นการแก้ไขปัญหาลักษณะเดียวกันกับแบบว่าที่ไหนไฟตกก็ไล่ประชาชน ให้ไปซื้อเครื่องปั่นไฟ ถนนที่ไหนเป็นหลุมเป็นบ่อก็ให้ไปซื้อรถ Four Wheel Off-Road กันไปเลย ที่ไหนขนส่งสาธารณะไม่ดีก็ให้ไปซื้อรถส่วนตัว ไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้าก็ไปซื้อ ประกันใช้เอง การศึกษาไม่ดีก็ให้ไปเรียนเอกชน คือมันฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่มันเป็น ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แล้วทีนี้ผมก็คงต้องตั้งคำถามแทนประชาชนว่าเขาจะจ่าย ภาษีไปทำไมถ้าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเรายังให้เขาไม่ได้เลย ก็ขอฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ จตุจักร พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมมีเรื่องปรึกษาหารือว่า เรื่องที่ปรึกษาหารือไปยังไม่ค่อยได้รับ การแก้ไขใด ๆ สักเท่าไรเลยครับ เลยอยากจะปรึกษาหารือว่าที่เราปรึกษาหารือกันไป มันได้รับการตอบสนองจริงใช่ไหมครับ เพราะว่าถ้าอย่างนั้นผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมจะ ปรึกษาหารือไปทำไม ถ้าเกิดมันยังไม่ได้รับการแก้ไขอะไรใด ๆ นะครับ ซึ่งเรื่องที่ผม ปรึกษาหารือไป ก็ผ่านไปเรียกได้ว่าหลักเดือน หลายเดือนแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอะไรใด ๆ เลยนะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมก็อยากจะขอทดลองระบบ ในการปรึกษาหารือของพวกเราอีกสักครั้งหนึ่ง ผมขอฝากเรื่องเดียวเลยแล้วกันครับ เน้น ๆ เลยเรื่องเดียว คือเรื่องของถนนกำแพงเพชร ตั้งแต่ตัวอุโมงค์บางซื่อ ไล่ไปเลยตลอดริมทาง Hopewell ริมทางรถไฟ ยาวไปเลย ยาวไปจนถึงรังสิตเลย เมื่อไรจะโอนมาให้เป็นของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสักทีครับ ให้ตัวกรุงเทพมหานครหรือให้เขตต่าง ๆ สามารถที่จะ ได้ดูแลสักที ตัวถนนไฟติดบ้าง ไม่ติดบ้าง ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นลูกคลื่น แล้วก็มี มอเตอร์ไซค์ขับรถเร็วตลอดเวลา คือมันไม่ได้มีตัวลูกระนาดที่จะมาห้ามไม่ให้รถได้ขับเร็ว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะซิ่งกันตอนกลางคืน ทั้งวันทั้งคืน ซิ่งกันสนุกสนานมากเลย แล้วไฟ ก็ไม่มีครับ แล้วพอจะหักโค้งที ก็หักโค้งหักศอกมาก เพราะฉะนั้นคือผมว่ามันเป็นถนนที่ อันตรายต่อผู้ที่ขับรถด้วยกัน ต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ก็ไม่ว่าจะพูดมากี่ปีต่อกี่ปี มันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที เพราะว่าถนนเส้นนั้นยังคงเป็นของการรถไฟและยังไม่ยก ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเจ้าของพื้นที่ ณ ตรงนั้นสักที เลยไม่ได้แก้ไขสักที เพราะฉะนั้นผมขอฝากเรื่องหารือไว้เรื่องเดียวก็แล้วกันครับ ขอให้มันได้รับการแก้ไขสักที เพราะเรื่องตรงนี้เรารอกันมาหลายปีแล้ว แล้วประชาชนในพื้นที่ผมก็รอกันมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที อย่างไรขอฝากเท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ
ท่านประธานครับ ชยพล สท้อนดี ๐๗๓ ครับ