นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

  • เรียนท่านประธานสภา ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ธัญ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายสถานการณ์ด้านความรุนแรงของครอบครัว ธัญขอยกตัวอย่างปี ๒๕๖๔ ค่ะ ซึ่งรายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนด้วยกันที่พูดถึงข้อมูล ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๑ สำคัญมากก็คือพูดถึงสถานการณ์ปี ๒๕๖๔ ส่วนที่ ๒ พูดถึงข้อมูล ความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วย ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ และส่วนสุดท้ายก็คือมีบทวิเคราะห์ พร้อมเสนอแนะ เชิงมาตรการการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ธัญอยากให้ประชาชนทุกท่าน ทุกเพศ พิจารณาข้อมูล ๓ ส่วนนี้ ข้อมูลส่วนแรกนั้นรวบรวมมาจากองค์กร หน่วยงาน มูลนิธิ ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความรุนแรงทางเพศของเด็ก สตรี ถึง ๑๔๑ แห่ง รวมถึง การสำรวจในช่วงสถานการณ์โควิด ข้อมูลดังกล่าวมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงถึง ๑๖,๐๐๐ กว่าราย เฉลี่ยวันละ ๔๖ ราย

    อ่านในการประชุม

  • แต่ข้อมูลส่วนที่ ๒ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคดีที่เข้าสู่ กระบวนการ ๘๕ คดี มีข้อมูลจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่แสดงตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการเพียง ๒๙๕ เรื่อง ซึ่งก็มีทั้งสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง และยอมความกัน และมีข้อมูล สำนักงานศาลยุติธรรมที่มีคดีฟ้องศาลโดยตรง ๑๖๘ คดี และมีมาตรการ วิธีการบรรเทาทุกข์ จำนวน ๒๒ คำสั่ง เมื่อรวบรวมข้อมูลดังกล่าว ๒ อัน สถานการณ์ที่เก็บข้อมูลจากเครือข่าย ๑๖,๐๐๐ แต่มีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพียงแค่ ๕๔๘ เรื่อง สะท้อนว่ากฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนรายงานส่วนที่ ๓ ที่ท่านได้พูดถึงข้อเสนอแนะ ส่งเสริมกลไกเครือข่าย การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ข้อ ๒ ท่านพูดถึง การเสริมสร้าง พัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ ข้อ ๓ ท่านพูดถึง การดำเนินงานปรับปรุงกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ข้อ ๔ สร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรง แต่ธัญไม่เห็นการพูดถึง ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในวรรคใด ๆ เลย อย่างที่เราเข้าใจกันนะคะ การมุ่งเน้นสถาบัน ครอบครัวมากเกินไปก็เท่ากับการผลิตซ้ำและไม่ให้ความสำคัญผู้ถูกกระทำ ซึ่งบางครั้ง การตัดสินใจของพวกเธอยากเหลือเกิน และบางครั้งพวกเราเองก็นำพาพวกเธอกลับไปสู่ ความรุนแรงในครอบครัว ภาพมายาคติของครอบครัวที่อบอุ่นนั้นใช้ได้ไหม และเป็นใจความ สำคัญไหม และเราจะส่งผ่านอุดมการณ์ความคิดบางอย่างที่มองให้สังคมตัดสินความรุนแรง ของคนของผู้ถูกกระทำว่า ถูกหรือผิด เธอควรจะเดินและตัดสินใจอย่างไรนั่นเป็นสิ่งที่สังคม ตัดสินหรือผู้ถูกกระทำต้องตัดสินใจ ธัญได้ติดตามและมีโอกาสพูดคุยกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ประเด็นความรุนแรงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องนะคะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว ปี ๒๕๕๐ ว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นล้าหลังให้ความสำคัญกับ ครอบครัวมากกว่า

    อ่านในการประชุม

  • ธัญพูดถึงเรื่องนี้ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่าเรามีการแก้ไขแล้วก็ทำงาน เรื่องร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและสถาบันครอบครัวที่ปัจจุบันนั้นก็ยังไม่มี ข้อสรุปและเป็นปัญหา เช่น ย้อนแย้งไหมคะ เมื่อสังคมเรากำลังจะบอกว่าความรุนแรงเป็น เรื่องของสังคม แต่ว่าเราสงวนการร้องทุกข์ให้กับผู้ถูกกระทำเท่านั้น ย้อนแย้งไหมคะ ธัญมีข้อเสนอต่าง ๆ หลายอย่างนะคะถ้าเรามองจากข้อมูลต่างประเทศ เช่น เราให้อำนาจ ของเจ้าหน้าที่มากขึ้นในการตั้งข้อสังเกต เวลาที่ตำรวจไปถึงแล้วผู้หญิงเงียบก็ไม่ใช่ต่างคน ต่างกลับบ้าน เรามีการบัญญัติกฎหมายใด ๆ ไหมที่จะเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเพิ่ม ตำรวจผู้หญิงให้มีสิทธิที่จะตั้งข้อสันนิษฐานในกรณีที่ผู้หญิงไม่ให้ปากคำ หรือแม้กระทั่งผู้หญิง บอกว่าฉันไม่เอาเรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ อายุความ ๓ เดือนเพียงพอไหมคะท่านกับการตัดสินใจที่ ยากลำบากของผู้หญิง และผู้ถูกกระทำความรุนแรง มาตรการการคุ้มครอง อันนี้ท่านไปดู แล้วไปสอบถามได้เลยมีผู้หญิงที่บอกว่า เขาไม่เห็นทำตามมาตรการเลยค่ะ ตำรวจพูดว่า อย่างไรรู้ไหมคะ น่ารำคาญจังเลย เราทราบกันดีว่าความรุนแรงของผู้หญิงนั้นมีหลายมิติ และปัญหาที่สำคัญคือการตัดสินใจ บ้างก็พร้อมที่จะยุติความสัมพันธ์ บ้างก็ต้องจำทน ให้ผัวตบอยู่แบบนั้น เพราะไม่สามารถที่จะอยู่รอดในเศรษฐกิจ และไม่กล้าเดินออกจาก ความรุนแรงนั้น บ้างก็อับอายที่จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องครอบครัว เพราะสังคมก็มองว่า เธอจะเป็นผู้หญิงที่ล้มเหลว และไม่ประสบความสำเร็จชีวิตในครอบครัว ธัญคิดว่าข้อเสนอ ที่ขาดหายไปคือการส่งเสริมผู้หญิงให้เข้มแข็ง และมาตรการกระบวนการยุติธรรมที่ต้อง เอื้อมมือมาสู่พื้นที่ความรุนแรงที่ผู้หญิงไม่กล้าตัดสินใจค่ะ วันนี้ธัญพูดกันตรง ๆ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มี เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ พอเราไม่มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับความเท่าเทียมทางเพศการยุติความรุนแรงนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติหรือเปล่าคะ SDG หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั้งโลกเขาพูดถึง เขาพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่วันนี้ ประเทศเราไม่พูดถึงเลยธัญขออนุญาตแบ่งประสบการณ์ ธัญได้มีโอกาสเข้า Class สตรีศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธัญได้พูดคุยกับผู้หญิงท่านหนึ่ง เธอยิ้มแย้มและมีสายตา แรงกล้าในการสู้ชีวิตค่ะ ธัญพยายามที่จะเก็บอาการและพยายามที่จะแสดงตนให้เป็นปกติ และพูดคุยกับเธอ แต่ในใจธัญคิดว่าเธอเข้มแข็งแบบนี้ได้อย่างไร เพราะผู้หญิงที่คุยกับธัญอยู่ เธอถูกสามีราดน้ำมันจุดไฟเผาค่ะ ธัญยืนอยู่กับผู้หญิงที่มีรอยไหม้ทั้งตัวและหน้า และเธอเข้มแข็งมาก ธัญจึงอยากจะบอกว่าวันนี้ความเท่าเทียมทางเพศถึงแม้จะไม่ได้บรรจุ อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องผลักดัน และต้องยุติความรุนแรงวันนี้ เดี๋ยวนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ธัญจะมาอภิปราย พระราชกำหนดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ วันนี้เวลาที่เราจะออกจากบ้านเราจะรู้ตัวโดยอัตโนมัติเลยว่าเราจะต้องล็อกบ้าน วันนี้ เวลาที่เรารู้ว่าเรามี รปภ. อยู่ที่หมู่บ้านของเราบ้านของเราจะต้องปลอดภัย วันนี้ เรามีความรู้สำนึกว่าเราไม่ควรเดินไปที่มืด วันนี้เรามีสำนึกที่จะรู้ว่าเวลาเราเดินในคนที่แน่น เราต้องกอดกระเป๋าของเราไว้ข้างหน้า แต่อาชญากรรมทางเทคโนโลยีค่ะท่าน คืออาชญากรนั้น หายใจรดต้นคอของเราอยู่ คืออาชญากรที่จมูกชนกับเราอยู่ตลอดเวลาแต่ประชาชนไม่เห็น นี่คือความตระหนักรู้ของสังคมนั้นยังไปไม่ถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ธัญจึงอยากจะตั้งคำถามว่า การสื่อสารของท่านต่อประชาชนนั้นเป็นการสื่อสารที่ทำให้ ประชาชนเข้าใจภัยที่ใกล้ตัวมากขนาดนี้หรือยัง รวมถึงในโรงเรียน การศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ได้มีการประชุมร่วมกันหารือให้เด็กนั้นเข้าใจว่าภัยเหล่านี้อาจจะถูกล่อลวงและเกิดขึ้นได้ กับทุกคน การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐรวมถึงสื่อมวลชนด้านต่าง ๆ หลาย ๆ ท่าน พูดไปแล้วธัญขอย้ำอีกทีหนึ่งนะคะ การล่อลวงทางเทคโนโลยีนั้นมี ๑๔ อย่าง การหลอกขายของ On line Call Center การหลอกลวงข่มขู่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การกู้เงิน Online ดอกเบี้ยโหด การกู้เงินทิพย์เงินกู้ที่ไม่มีจริง การหลอกลวงลงทุนในผลตอบแทนที่สูงที่ไม่มีอยู่จริง การพนัน Online Romance ใช้ความรักมาเป็นการล่อลวงทรัพย์สิน Link ปลอมที่ส่งเข้ามา เพื่อ Hack ข้อมูลทางโทรศัพท์ Chat ปลอม Facebook ปลอมที่หลอกคนใกล้ตัว และขอยืมเงินและจะรีบคืน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หลอกเอารหัส OTP ข่าวปลอม แม้กระทั่งหลอกเอาภาพโป๊เปลือยและนำไป Blackmail โฆษณาหลอกไปทำงานต่างประเทศ แต่กลายเป็นการค้ามนุษย์และลามไปถึงบังคับค้าประเวณี และสุดท้าย การยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีม้า นี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ ธัญจะขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ได้เกิดขึ้นมา ก็มีประชาชน Page จากต่างประเทศ ก็ได้ Inbox มาหาธัญก็บอกว่ามีผู้หญิงจำนวนหลายท่านเข้าไปใน Application ที่โด่งดัง ในขณะนี้ แล้วก็ไปเห็นตัวอย่างที่คนมีรายได้เยอะเป็นการสร้างภาพว่าเขาสามารถ สร้างรายได้ถ้าไปทำงานต่างประเทศ กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ก็เชื่อแล้วก็เดินทางออกนอกประเทศไปอย่างผิดกฎหมายด้วยนะคะ ธัญได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศไปว่าจะช่วยเหลืออย่างไร เพราะมันคือการค้ามนุษย์แล้ว ที่ใช้เทคโนโลยีอาชญากรรมตรงนี้เป็นตัวล่อ ธัญอยากจะถามท่านว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดเหล่านี้ ท่านจะช่วยประสานงานและนำพากลุ่มคนและผู้หญิงดังกล่าวที่กำลังรอการช่วยเหลือ กลับมาประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินนะคะ มันเป็นเรื่องของชีวิตของคน ที่ถูกหลอกและไปถูกบังคับค้าประเวณีอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจริง ๆ ในข่าวมีการนำเสนอแล้วนะคะ ตัวอย่างของธัญที่เกิดขึ้นเลยนะคะ มีโทรศัพท์โทรเข้ามาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ท่านไม่ได้จ่ายภาษี การพูดจาของเขาใช้จิตวิทยาสูงมากจนธัญเชื่อเลยนะคะ ธัญก็ลืมไปด้วยซ้ำว่า ฉันเพิ่งยื่นบัญชีทรัพย์สินไปมีใบเสียภาษีเรียบร้อย แต่เขาพูดจนธัญเชื่อเลยว่า เอ๊ะ เราไม่ได้ เสียภาษีหรือ ตื่นตระหนกอยู่ประมาณ ๑๐ นาที จนตั้งสติขึ้นมา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ค่ะ พฤติกรรม ธัญกำลังจะบอกว่าในเมื่อเขามีเป้าหมายว่าเป็นคนไทยที่เขาจะก่ออาชญากรรมด้วย เขาใช้คนไทยด้วยกันนี่ละค่ะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ท่านเคยดูไหมคะว่าการรับสมัครงาน ทาง Online นั้นเป็นการล่อลวงกลุ่มคนเข้าไปทำงาน จากเหยื่อกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือเปล่า เรามีการจัดการเรื่องตรงนี้อย่างไรบ้าง แน่นอนเราป้องกันไว้ก่อนเกิดเหตุเป็นเรื่องที่ดีกว่า ธัญก็จึงอยากจะสอบถามท่านด้วย เพราะเวลาที่เราปัดไปหน้ามือถือร้านขายของ Online Website พนัน Online การล่อลวงในรูปแบบต่าง ๆ การสมัครงานรายได้ดี Online ท่านเคยเข้าไปตรวจสอบหรือเปล่าว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในอาชญากรรมนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • คุณชัยวุฒิได้พูดถึงประเด็นการดำเนินกิจการของพระราชกำหนดอันนี้มานะคะ ก็อยากจะสอบถามนิดหนึ่งนะคะว่า ก่อนมี พ.ร.ก. ท่านได้บอกว่ามีคดีอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี ๗๙๐ เรื่องต่อวัน หลังจากมี พ.ร.ก. ลดลง ๖๖๑ เรื่องต่อวัน อันนี้ท่านพอใจ ในเป้าหมายหรือยัง และท่านคิดว่าท่านจะแก้ไขและพัฒนาอย่างไรต่อไป หรือคดี ที่มีการอายัดเงินทันเพียงแค่ ๖.๕ เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ร.ก. มีการอายัดได้ ๖.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากมี พ.ร.ก. อายัดได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จากการอายัด ๕๒๗ ล้านบาท อายัดได้ทัน เพียง ๙๗ ล้านบาท มันเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าเพียงพอไหม ก็ยังไม่เพียงพอนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • อีกคำถามหนึ่งก็คงจะถามว่า และถ้าเขาโอนไปต่างประเทศล่ะ การร่วมมือ ในการพูดคุยระหว่างประเทศท่านได้พูดคุยมากแค่ไหน แล้วถ้ามีการโอนเงินของผู้เสียหาย ไปต่างประเทศเราสามารถจะเรียกคืนได้ไหม และจะมีกฎหมายใด ๆ ที่จะสร้างความร่วมมือ ระหว่างประเทศ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ธัญ ก็จะขอฝากท่านประธานผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 อาชญากรเครือข่ายการค้ามนุษย์นั้นใช้โอกาสนี้ในการแฝงเข้ามาในพฤติกรรมการใช้ Social Media ที่มากขึ้น ประกอบกับคนในสังคมต่างหาโอกาสในการทำงานมากขึ้นค่ะ ท่านได้รับแจ้ง ข้อความจากแหล่งข่าวว่ามีกลุ่มผู้หญิง ๔ คนได้ถูกล่อลวงไปที่ประเทศเมียนมา โดยอาชญากร แรกเริ่มก็บอกว่ามีงานรายได้ดีทำงานเป็น PR แล้วก็นำพาให้หญิงสาวทั้ง ๔ คนนั้นเชื่อ และเดินทางออกนอกประเทศไปโดยไม่มีเอกสาร ทั้งนี้ทั้งนั้นในการเดินทางก็มีการโอน ค่าเดินทางมาให้ด้วย และการออกนอกประเทศนั้นก็เป็นการออกนอกประเทศด้วยช่องทาง ธรรมชาติค่ะ พอไปถึงปุ๊บก็ไม่ได้เป็นงาน PR อย่างที่คิด มีการกักขังไม่ให้รับประทานอาหาร ถ้าต้องการทานอาหารก็ต้องเซ็นรับสภาพหนี้ แล้วก็มีการบังคับค้าประเวณีค่ะ เบื้องต้นธัญได้ ปรึกษาหารือ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน หรือกองคุ้มครอง ดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างแดน ก็ได้หารือกับพวกท่าน ซึ่งก็ได้รับทราบมาว่าไม่มีข้อ กฎระเบียบใด ๆ ที่จะช่วยเหลือได้ ประกอบกับการเจรจาในพื้นที่ของเมียนมา เมืองป๊อก ก็เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งซึ่งยากเหลือเกินที่จะเจรจาค่ะ สถานการณ์ล่าสุดมีคนได้ช่วยเหลือ ผู้หญิงทั้ง ๔ คน แต่ว่าก็ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับประเทศได้เพราะไม่มีค่าเดินทาง ธัญอยากจะฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมหารือแก้ไขและนำพาพวกเขา กลับบ้าน และที่สำคัญก็คือต้องมีมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวดค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ธัญอยากจะฝากท่านประธานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะคะ ถึงผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษาแล้วก็ผู้บริหารของราชภัฏ ธัญขอขอบคุณมากที่ในปี ที่ผ่านมาปีล่าสุดนี้ท่านได้อนุมัติการแต่งกายเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามเพศสภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ตามทางกลุ่มเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศก็อยากจะให้สิ่งนี้ มันเกิดขึ้นเป็นนโยบายและมีความยั่งยืนถาวรค่ะ ธัญได้รับเรื่องดังกล่าวมาจากนักศึกษา นักเคลื่อนไหวของนิสิตที่ต้องการที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ธัญจึงฝากท่านประธานไปถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบาย ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นธัญ ก็คงต้องขอบคุณ สตง. ที่ท่านได้ทำงานอย่างหนักแล้วก็ตรวจเงินแผ่นดินอย่างยอดเยี่ยมนะคะ ธัญก็มีความยินดีมากที่ได้พบเจอท่านในสภาแห่งนี้ ก็คงมีคำถามเพิ่มเติมจากในสิ่งที่ท่าน ได้รายงาน แล้วก็รวมถึงงบการเงิน ปี ๒๕๖๓ งบนี้ได้ตั้งสูงขึ้น กสทช. ได้ของบสูงขึ้น ๙๙๘.๔๘ ล้านบาท นั่นหมายถึงว่าสูงขึ้น ๑๗.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบจากปี ๒๕๖๒ แต่การเบิกจ่ายนี่ก็เบิกจ่ายไม่ถึง ก็คือมีเงินเหลือถึง ๑,๑๘๙ ล้านบาท เพราะฉะนั้นการตั้งงบ หรือขอนี้เป็นการตั้งงบที่สูงเกินไป ก็อยากจะเรียนถามท่านเพิ่มเติมว่ามีโครงการใด ๆ ที่ไม่ได้ ดำเนินการ มีสาเหตุอะไร อยากให้ท่านเจาะรายละเอียดหรือยกตัวอย่างที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะการตั้งงบประมาณนี่ก็มีความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณที่เหมาะสมนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ก็คือในเล่มสีฟ้านี้ในรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและรายงาน การเงิน ธัญเปิดมาตรงงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีที่สิ้นสุด วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ๙๒,๙๑๒,๐๔๗,๗๘๗ บาท ทีนี้พอเราดู ในเรื่องของรายได้ปุ๊บเรามาดูค่าใช้จ่ายในการประมูลด้วยหมายเหตุ ๓๘ ของงบการเงิน มีงบค่าใช้จ่ายในการประมูลถึง ๓๐,๒๑๔,๕๑๓,๖๘๕ บาท ทำไมถึงมีค่าใช้จ่ายในการประมูล สูงขนาดนั้น เวลาธัญติดตามข่าวก็จะเห็น กสทช. มีนัดการประมูลวันไหน ที่ไหน ธัญไม่แน่ใจว่า อันนี้คือมีค่าใช้จ่ายบินไปที่ดาวอังคารหรืออะไร ก็ฝาก สตง. ลองว่าเขาเป็นประมูลกันที่ไหน ช่วยแจ้งมาด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นที่ ๓ งบประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาท ก็เป็นในเรื่องของ การจ้างที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือนะคะ ก็ไม่เข้าใจว่า เป้าหมายของโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายอะไร และต้องการที่จะแก้ปัญหาอะไร ธัญเข้าใจว่า การสำรวจพฤติกรรมต่าง ๆ ในแง่ของ Marketing หรือการตลาดก็เข้าใจได้ แต่นี้เป็น Policy Brief กำหนดประเด็นที่สังคมสนใจ สำรวจพฤติกรรมการใช้ แต่ผลก็คือมีความซ้ำซ้อน ไม่มีอะไรที่เป็นคำตอบแน่ชัด ไม่มีบทสรุปอะไรที่เป็นพฤติกรรมที่ได้จากการใช้งบก้อนนี้ นี่คือการทำงานแล้วก็สร้างโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็อยากให้ท่านชี้แจงในเรื่องโครงการ ดังกล่าวนี้ว่า ท่านได้ตรวจสอบแล้วนี่เขาพยายามจะทำอะไรหรือคะ ใช้เงินไปตั้งเยอะขนาดนี้

    อ่านในการประชุม

  • ในประเด็นสุดท้ายนะคะ ก็คือการจัดหาพัสดุ ในปี ๒๕๖๓ สำนักงาน กสทช. ได้จัดซื้อจัดจ้างวัสดุ จำนวน ๗๒๙ รายการ รวมเป็นเงิน ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท โดยการจัดซื้อจัดจ้างนี่เป็นการเจาะจง ๕๗๙ รายการ คิดเป็นร้อยละ ๗๙.๔๒ ลำดับต่อมาคือ วิธีการเปิดประกาศและเชิญชวนประชาชนทั่วไป จำนวน ๗๖ รายการ คิดเป็นร้อยละ ๑๐ แบบ Lock Spec ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์คือประกาศทั่วไป แล้วก็วิธีคัดเลือกอีก ๗๔ รายการ ซึ่งท่านก็ได้ชี้แจงว่า กสทช. ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะเจาะจงมากที่สุด แล้วก็เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ก็เลยต้องถามว่า เวลาที่ท่านได้ชี้แจงกับ กสทช. หรือทำรายงานเวลาท่านบอกว่าความไม่เป็นธรรม การจัดซื้อ จัดจ้างไม่เป็นธรรม ไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจทั่วไปของประชาชน และเวลาที่เราบอกว่า ไม่เป็นธรรม KPI ของเขาตกไหมคะ หรือมีโทษใด ๆ ปีต่อไปเธอต้องทำให้เป็นธรรมกว่านี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านได้พูดคุยกับ กสทช. แล้ว ในปีต่อ ๆ ไปเขาจะมีการปรับเปลี่ยนไหมคะ เพราะนี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากจะตั้งคำถาม ก็มีประมาณ ๔ ประเด็น ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ธัญก็ขออนุญาตเป็นส่วนหนึ่ง ในการอภิปรายรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ในหมวดที่ธัญจะพูดก็คงจะเป็นในเรื่องของ ๕.๔ สิทธิสตรี และความเสมอภาคทางเพศ แล้วก็ ๕.๕ ผู้มีปัญหา สถานะและสิทธิของคนผู้ลี้ภัยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก ธัญก็คงจะต้องพูดถึงในเรื่องของสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ปัจจุบันนี้กฎหมายประเทศไทยเราก็มีการแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ มาตรา ๓๐๕ ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งท่านก็ได้รายงานว่ามีการกำหนด หญิงสามารถ ยุติการตั้งครรภ์ได้ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ แล้วก็มีรายงานในเรื่องของ เงื่อนไขของอายุครรภ์ที่เกิน ๑๒ สัปดาห์แต่ไม่เกิน ๒๐ สัปดาห์ แล้วก็อธิบายในหลักเกณฑ์ ของแพทยสภา แล้วก็มีการสรุปปัญหา ๔ ประเด็นนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรกก็คือปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย มีการปฏิเสธ และไม่ส่งต่อสถานพยาบาลที่ให้บริการ ๒. กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการ ได้อย่างสะดวก ๓. ขาดระบบกำกับและควบคุมมาตรฐานในเรื่องการส่งต่อผู้หญิงที่ต้องการ ยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย ๔. สถานบริการยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเพียงแค่ ๔๗ จังหวัดเท่านั้นในปัจจุบันนี้ ส่วนตัวที่ธัญท่านคิดว่าจะต้องเพิ่มเติมลงไปในรายงาน ก็คือการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ยังไม่มีความชัดเจน ไม่สื่อสาร ถึงเป้าหมายสำคัญคือการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ธัญอยากให้ท่านลองคิดดูก่อนว่า ธัญอยากให้ท่านสื่อสารกับหน่วยงานรัฐว่าการสื่อสารการยุติตั้งครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ มันเป็นข้อความที่ควรสื่อสารจริงหรือเปล่า มันเป็นข้อความที่สื่อสารไปแล้วประชาชนรู้สึกว่า ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือเปล่า ทุกวันนี้เราก็อยู่ในประเทศ ที่มีสิทธิครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่แล้ว เลือกตั้งก็มีสิทธิครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่แล้ว พอฉันจะยุติ การตั้งครรภ์ปุ๊บหันมาดูประกาศฉันก็มีสิทธิครึ่ง ๆ กลาง ๆ อีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ธัญต้องการที่จะ ให้มีการสื่อสารมีความชัดเจนที่ไม่จำกัดสิทธิหรือกีดกันผู้อื่นออกไป คือบอกไปเลยชัด ๆ ว่า ประเทศนี้เรามีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นั่นคือการสื่อสารสิทธิมนุษยชนสู่สังคม และไม่มีการกีดกันกลุ่มใดออกไปจากความปลอดภัย ท่านต้องลองคิดดูว่าถ้าท่านเป็นผู้หญิง คนหนึ่ง ท่านเห็นการประกาศที่บอกว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย ไม่ว่าท่านจะมี อายุครรภ์เท่าไร ท่านก็จะเดินเข้าสู่ความปลอดภัยของกระบวนการแพทย์ ในเรื่อง กระบวนการภายในในการจัดการนั้นก็เป็นเรื่องขอสถานพยาบาล แต่ถ้าเกิดท่านเห็น การประกาศว่ายุติการตั้งครรภ์ ๑๒ สัปดาห์ท่านก็เคยเกิดความกังวลแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันคือกันคนออกไปสู่การทำแท้งเถื่อน เพราะจริง ๆ แล้วถ้าหากท่านพิจารณากฎหมาย ธัญนั่งในกรรมาธิการด้วย แน่นอน ๓.๑ เรากำหนดให้ผู้หญิงไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์สามารถ ยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอประกบกับคณะรัฐมนตรี ท่านไปดู มาตรา ๓๐๕ นั่นคือร่างของพรรคก้าวไกลที่กลายมาเป็นมาตรา ๓๐๕ แล้วถ้าท่านอ่านให้ดี นั่นคือการที่ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตลอดอายุครรภ์

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ธัญก็อยากจะเพิ่ม นอกจากเรื่องเพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้หน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพแล้ว ธัญก็ต้องขอบคุณท่านมากที่ได้มีการพูดถึงความไม่เท่าเทียม ทางเพศหรือประเด็น GRB Gender Responsive Budgeting ก็คือท่านพูดถึงในเรื่องของ ค่าจ้างระหว่างชายหญิงที่มีความแตกต่างอยู่ แล้วก็มี Gap ที่น้อยลง แต่ก็มีพูดถึงภาระ ของผู้หญิง ๒ ด้าน คือเขาต้องทำงานนอกบ้านและในบ้าน ท่านได้พูดถึงตรงนี้แล้ว แต่ว่า ธัญอยากจะเพิ่มเติมข้อเสนอที่อาจจะยังไม่ได้มีในรายงาน ผู้หญิงแบกรับภาระในเรื่องทำงาน นอกบ้านและในบ้าน นั่นหมายถึงว่าผู้หญิงถูกกดขี่อยู่ในระบบวิธีคิดแบบประเทศไทย เพราะอะไรคะ เพราะเราไม่ให้มูลค่าเศรษฐกิจงานของผู้หญิงหรือการตั้งครรภ์ หรือสิ่งที่ ชดเชยในขณะที่พวกเธอตั้งครรภ์ ท่านควรจะมีการนำเสนอนโยบายหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐว่า ท่านควรจะมีการสนับสนุนเชิงนโยบายที่ให้มูลค่าเศรษฐกิจงานของผู้หญิงอย่างไร อันนั้น ก็เป็นประเด็นสำคัญ และมันไม่ใช่แค่เรื่องค่าเศรษฐกิจอย่างเดียว มันหมายถึงเวลาที่ผู้หญิง ต้องใช้มากกว่าผู้ชาย และมันอาจจะได้คำตอบในประเด็น Sex Worker ที่ท่านไม่ได้มีรายงานว่า พวกเขาอยู่ในสถานะแบบใดในประเทศไทยในขณะนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมา หมวด ๔ การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้มีการอธิบายปัญหาของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี ๒๕๕๘ ว่า ต้องมีการปรับปรุง เห็นด้วยค่ะ เพราะว่าเนื่องจากอำนาจการวินิจฉัยนั้นไม่เป็นที่สิ้นสุด แล้วอย่างที่ข่าวออกมาหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายตามเพศสภาพ การบริจาคโลหิต หรืออีกหลายกรณีที่เป็นข่าวที่ วลพ. วินิจฉัยแล้วก็ไม่เป็นที่สิ้นสุด แล้วก็มีการร้องกลับ แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนได้นำเสนอคือร่างพระราชบัญญัติขจัดเลือกปฏิบัติ ต่อบุคคล ฉบับที่ค้างสภา เรื่องนี้ธัญก็อยากให้ท่านได้บรรจุในรายงานของสิทธิมนุษยชนด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง แล้วก็มีข้ออ้างว่าเป็นร่างการเงิน ร่างกฎหมายฉบับนี้ คุ้มครองการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความเท่าเทียมไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เรื่องถิ่นกำเนิด เรื่องเชื้อชาติ เห็นไหมคะว่าจะสัมพันธ์ถึงผู้ลี้ภัย ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ผู้อยู่รวมเชื้อ HIV สถานะของบุคคล สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ การศึกษา การอบรม ศาสนา ความเชื่อ หรือความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจจะถูกเลือกปฏิบัติ ในสังคมนี้ นี่คือกฎหมายที่ค้างสภาอยู่ แต่ไม่ได้มีอยู่ในการรายงานของท่าน มีข้ออ้างว่า เป็นด้านการเงิน เราก็มีข้อโต้แย้งแล้วว่าธัญได้รับทราบข่าวว่ากรมคุ้มครองสิทธิก็ได้ ดำเนินร่างดังกล่าวที่ไม่เป็นด้านการเงิน แล้วก็พร้อมที่จะประกบกับภาคประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องสุดท้าย ประเด็นผู้ลี้ภัยหลาย ๆ ท่านอาจจะได้พูดไปแล้วของเพื่อนสมาชิก พรรคก้าวไกล ธัญขอเข้าประเด็นเร็ว ๆ เลยก็คือว่าไม่มีข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยยังไม่เป็น ภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยควรมีการลงนาม เพราะในขณะนี้ผู้ลี้ภัยเข้าเมืองและมีสถานะ อย่างผิดกฎหมาย แม้ว่าจะได้รับรองจาก UNHCR ว่าเป็นสถานะผู้ลี้ภัยก็ตาม จำนวนผู้ลี้ภัย ในรายงานท่านมีความชัดเจนพูดกันรวม ๆ ๑๐๐,๐๐-๑๒๐,๐๐๐ คนในประเทศไทย แล้วยกตัวอย่างสมมุติฐานง่าย ๆ ว่าหากมีผู้มีความหลากหลายทางเพศ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก เพราะฉะนั้นเราจะมี LGBT ในผู้ลี้ภัยน่าจะประมาณ ๑๐,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ คน คำถามธัญคือว่าท่านได้รายงานสถานการณ์ไหมว่าคนที่ลี้ภัยมาจากโซมาเลียประเทศ ที่มีความเกลียดชัง LGBT แล้วเขาลี้ภัย แล้วเขาต้องอยู่กับผู้ลี้ภัยในประเทศตัวเอง มีความเปราะบางมากแค่ไหน นั่นคือประเด็นแรก เราจะมีวิธีการคัดกรองอย่างไร ท่านจัดลำดับความสำคัญอย่างไรในขณะที่ LGBT ผู้มีความหลากหลายทางเพศหนีครอบครัวมา ที่ตามฆ่าพวกเขาและต้องอยู่ในประเทศที่มีความเกลียดชัง LGBT ท่านมีความระแวดระวัง และมีกระบวนการคัดกรองตรงนี้อย่างไร ธัญได้รับทราบว่าท่านมีการอธิบายในประเด็น ความคืบหน้าของการคัดกรอง แต่ธัญอยากจะเพิ่มเติมในประเด็นของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในรายงานฉบับนี้เลย ท่านต้องลองนึกดูว่ากลุ่มที่มีความเกลียดชัง กลุ่มความเชื่อ สุดโต่ง พร้อมที่จะฆ่า พร้อมที่จะทำร้าย พร้อมที่จะละเมิดในทุกรูปแบบและพวกเขาต้องอยู่ บ้านพักพิงในประเทศของเขาที่มีความเกลียดชังและท่านจะแก้ไขปัญหาและตรวจสอบเรื่องนี้ อย่างไร ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ธัญขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายรับทราบรายงานของ Thai PBS องค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยของปี ๒๕๖๕ หัวใจสำคัญการรักษาความเชื่อถือของ Thai PBS ไม่ว่าจะเป็นหลักการคือความถูกต้อง กระบวนการการนำเสนอข่าวที่ปราศจากอคติ การตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และที่สำคัญต้องมีความกล้าหาญที่จะเสนอประเด็น ทุจริต การที่ท่านรักษาความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวนั้นเป็นเรื่องที่ธัญชื่นชมแล้วก็ ยินดีด้วยที่ท่านได้ Top1 ของการนำเสนอข่าวอย่างที่นำเสนอในรายงานนี้ แต่ธัญอยากจะบอกว่าหลักการสำคัญของการนำเสนอความเป็นกลางนั้นคือปรัชญาสำคัญค่ะ เราทุกคนในประเทศต่างโหยหาและต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา ในฐานะที่ท่านเป็นสื่อความสำคัญ ของทุกเสียงในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ท่านต้องขีดเส้นใต้ การตั้งคำถามใหม่ ๆ และความกล้าหาญ จะต้องเกิดขึ้นเสมอในการทำงานของ Thai PBS ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เราจะมี Content และการนำเสนอข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุม และการเสียชีวิตของคนที่สูญเสีย ปี ๒๕๕๓ หรือไม่ เราต้องแลกกับอะไรบ้าง เพื่อนำเสนอความจริง เพื่อให้ความเป็นกลาง และการเห็นอย่างรอบด้านเกิดขึ้นในสังคมค่ะ เมื่อเวลาผ่านไปท่านจะรู้ว่าความเป็นกลางนั้น ไม่ง่าย เพราะว่าท่านก็อยู่ในอำนาจ ท่านก็มีเงินเดือน แต่ตราบใดที่ประเทศของเรายังไม่ก้าว สู่สันติภาพเราก็ยังคงวนเวียนกับความเป็นกลางว่าอะไรคือความเป็นกลางในสังคมที่มืดมน ธัญได้อ่านรายงานของ Thai PBS ธัญชื่นชมท่านมาก ๆ ด้วยความจริงใจว่าท่านได้ผลิตละคร ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เช่นเรื่องเจ้าพระยาสู่อิรวดี คือผู้สร้างต้องการเปลี่ยนแปลงอคติ ที่เรามีกับประเทศเพื่อนบ้าน เรามีคำเหยียดต่าง ๆ มากมายที่เรามองเพื่อนบ้านเป็นศัตรู หรือมองคนที่เป็นคนไม่เท่ากัน ละครเรื่องนี้ก็นำเสนอแล้วก็แก้ไขปัญหาดังกล่าวค่ะ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นบทละครที่อยู่ในเรื่องของจดหมาย ที่ไม่ถูกเปิด หรือประเด็นชีวิตประจำวันของเราเรื่องการจัดการเงินและหนี้ให้กับคนทุกเพศ ใน Sitcom มันนี่ที่รักเป็นต้น ธัญขอชื่นชมที่ท่านได้เปิดโอกาสให้กับผู้สร้างที่เป็นอิสระ ได้เข้ามาร่วมงาน แต่ธัญอยากจะฝากถามประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าของและส่วนแบ่ง นอกจากค่าจ้างผู้กำกับและนักแสดงต่าง ๆ เมื่อการถ่ายทำนั้นเกิดขึ้นแล้ว เช่น ลิขสิทธิ์ ของงานชิ้นนั้นเป็นของใครบ้าง ผู้กำกับ นักแสดง ได้รับส่วนแบ่งใด ๆ หรือไม่หากมีการไป นำเสนอหรือเผยแพร่ซ้ำในช่องทางที่ต่างกัน ปัญหาของวงการบันเทิงไทยดารานักแสดง ของเราที่มีความสามารถเมื่อเติบโตขึ้นมา เมื่อเขามีอายุมากขึ้นเขาไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้ เพราะการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทเอกชนหรือทุนผูกขาด เขาต้องยอมเซ็นมอบสัญญา มอบอัตลักษณ์การแสดงของเขา มอบฝีไม้ลายมือของเขา มอบงานเขียนของเขาให้กับบริษัท ที่เป็นทุนนิยม และเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ เลยหลังจากที่งานนั้นเสร็จสิ้นลงไป แม้จะมีการเผยแพร่ซ้ำมากเท่าไรก็ตาม ประเทศไทยบอกว่าเรามีกฎหมายที่ฟ้องร้อง สัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่สัญญาอัตลักษณ์นักแสดงและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทยนั้น ยังไม่เป็นธรรม ธัญจึงฝากเรื่องนี้ให้ท่านผู้บริหารไปพิจารณาจัดการเสวนา และรวบรวม คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และเกี่ยวข้องมาร่วมหาทางออก และธัญยินดีมาก พรรคก้าวไกล เรามีนักแสดง เรามีคนที่ทำงานวงการบันเทิงที่อยากจะไปร่วมงานเสวนาและร่วมให้ ความคิดเห็นดังกล่าว ธัญเชื่อว่าการให้ความสำคัญและความเป็นธรรมกับความคิดสร้างสรรค์นั้น สิ่งเหล่านี้ถ้าเราเริ่มเข้าใจจริง ๆ ในสังคมไทยนี่จะเป็นจุดที่คืนกลับไปสู่รายการดี ๆ ที่ท่านทำ และนั่นคือคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาอีกนิดหนึ่งนะคะ ในรายงานชิ้นนี้ได้มีงบการเงิน ซึ่งธัญก็ได้ดูงบการเงิน ดังกล่าวนะคะ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ สินทรัพย์หมุนเวียนปี ๒๕๖๔ มีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด ๘๐๐ ล้านบาทโดยประมาณนะคะ แต่การแสดงรายการดังกล่าว ปี ๒๕๖๕ เงินสดและรายการเทียบเท่ามีเพียง ๒๘๐ กว่าล้านบาท ธัญจึงอยากจะถามว่า เงินดังกล่าวนี้มีส่วนต่างถึง ๔๐๐ กว่าล้านบาท และไม่มีรายงานใด ๆ ว่าท่านนำเงิน ๔๐๐ กว่าล้านบาทนี้ไปลงทุนหรือทำอะไร อยากจะสอบถามที่มาที่ไป เมื่อธัญดูทรัพย์สิน ไม่หมุนเวียนนะคะ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับลดลง จึงไม่น่าจะเป็นการนำเงินไปซื้อ สินทรัพย์ที่ไม่หมุนเวียน ส่วนในหมวดของหนี้สินไม่หมุนเวียนนะคะ ธัญพบรายการหนี้สิน ตามสัญญาเช่าการเงินเมื่อปี ๒๕๖๔ ไม่ปรากฏยอดนะคะ แต่ปรากฏยอดในปี ๒๕๖๕ พบว่ามียอด ๓ ล้านบาท จึงอยากทราบรายละเอียดของรายการนี้ เพราะหมายเลข ๑๘ หมายเหตุงบการเงินของท่านมีแต่หมายเลข ๑๘ ไม่มีหมายเหตุท้ายเล่มก็ทำให้เราไม่รู้ว่า หมายเลข ๑๘ ที่ท่านพูดถึงหมายถึงอะไรนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายค่ะ การตรวจสอบบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ชี้แจงท่านว่าเขาจะ รายงานท่านเมื่อมีนัยสำคัญที่ชี้ว่าถ้าจะมีข้อบกพร่องในการชี้ว่ามันคือข้อผิดพลาดหรือทุจริต ธัญอยากจะทราบว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของท่านได้ชี้แจงท่านใดจุดใดบ้าง เพราะว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ชี้แจงและอธิบายว่าเขาต้องไปช่วยออกแบบการตรวจสอบ หรือเอกสาร ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะแสดงข้อมูลอันขัดต่อข้อเท็จจริงอันเกิดจากการทุจริต หรือข้อผิดพลาด เพราะว่าการทุจริตนั้นอาจเกี่ยวข้องกับการสมรู้ร่วมคิด ปลอมแปลงเอกสาร หลักฐาน ตั้งใจละเว้น แสดงข้อมูล หรือการแทรกแซงควบคุมภายใน ธัญกำลังจะถามท่านว่า การเงินภายในของท่านมันมีสถานการณ์อะไรที่ผู้ตรวจสอบบัญชีนั้นรู้สึกว่ามันต้องใช้ สถานการณ์ตัดสิน ธัญเข้าใจว่าระบบการเงินน่าจะเป็นระบบที่เรียบร้อยอยู่แล้วนะคะ จึงฝากไว้เท่านี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาค่ะ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ธัญขออนุญาตอ่านบันทึก หลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

    อ่านในการประชุม

  • หลักการ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ให้ชาย หญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้น สมรสกัน ได้ตามกฎหมาย เป็นคู่หมั้น คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ ๕ ลักษณะ ๑ หมวด ๑ และหมวด ๒ (มาตรา ๑๔๓๕ มาตรา ๑๔๓๗ มาตรา ๑๔๓๙ มาตรา ๑๔๔๐ มาตรา ๑๔๔๑ มาตรา ๑๔๔๒ มาตรา ๑๔๔๓ มาตรา ๑๔๔๕ มาตรา ๑๔๔๖ มาตรา ๑๔๔๗/๑ มาตรา ๑๔๔๘ มาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ มาตรา ๑๔๕๒ มาตรา ๑๔๕๘ และมาตรา ๑๔๖๐)

    อ่านในการประชุม

  • ๒. หมวด ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา โดยแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม และยังกำหนดให้ตัด คำว่า สามีและภริยา และให้เพิ่มคำว่า คู่สมรส ในบรรพ ๑ หลักทั่วไปลักษณะ ๒ บุคคล ส่วน ๓ ภูมิลำเนา (มาตรา ๔๓) และลักษณะ ๖ อายุความ หมวด ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๑๙๓/๒๒) เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในหมวดนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. หมวด ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา โดยแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหมวด ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม และกำหนดให้ความสัมพันธ์ ระหว่างคู่สมรส ซึ่งบุคคลสองคนสมรสกันให้มีสิทธิหน้าที่และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติม บรรพ ๕ ลักษณะ ๑ หมวด ๓ (มาตรา ๑๔๖๑ มาตรา ๑๔๖๒ และมาตรา ๑๔๖๓)

    อ่านในการประชุม

  • ๔. หมวด ๔ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๔ ทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม

    อ่านในการประชุม

  • ๕. สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ร่วมกัน โดยแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ ๕ ลักษณะ ๑ หมวด ๔ (มาตรา ๑๔๖๕ มาตรา ๑๔๖๙ มาตรา ๑๔๗๐ มาตรา ๑๔๗๕ มาตรา ๑๔๗๖ มาตรา ๑๔๗๖/๑ มาตรา ๑๔๗๗ มาตรา ๑๔๗๙ มาตรา ๑๔๘๑ มาตรา ๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ มาตรา ๑๔๘๔ มาตรา ๑๔๘๔/๑ มาตรา ๑๔๘๕ มาตรา ๑๔๘๖ มาตรา ๑๔๘๗ มาตรา ๑๔๘๘ มาตรา ๑๔๘๙ มาตรา ๑๔๙๐ มาตรา ๑๔๙๑ มาตรา ๑๔๙๒ มาตรา ๑๔๙๒/๑ และมาตรา ๑๔๙๓)

    อ่านในการประชุม

  • ๖. การสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาดจากการสมรส การจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทนค่าอุปการะเลี้ยงดู หลังการสิ้นสุดการสมรส โดยแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ ๕ ลักษณะ ๑ หมวด ๕-๖ (มาตรา ๑๔๙๘ มาตรา ๑๔๙๙ มาตรา ๑๕๐๔ มาตรา ๑๕๐๘ มาตรา ๑๕๑๕ มาตรา ๑๕๑๖ มาตรา ๑๕๑๗ มาตรา ๑๕๒๐ มาตรา ๑๕๒๒ มาตรา ๑๕๒๓ มาตรา ๑๕๓๐ มาตรา ๑๕๓๒ และมาตรา ๑๕๓๓) และแก้ไขลักษณะ ๒ หมวด ๓ ความปกครอง (มาตรา ๑๕๙๘/๑๕ มาตรา ๑๕๙๘/๑๗ และลักษณะ ๓ ค่าอุปการะเลี้ยงดู (มาตรา ๑๕๙๘/๓๘)

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ให้คู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกันตามบรรดา กฎหมาย กฎ กระทรวง และระเบียบใดที่บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่แก่สามีภริยา หรือสามี หรือภริยา หรือคู่สมรสแล้วแต่กรณี (เพิ่มเติมในมาตรา ๑๕๙๘/๔๒)

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ให้กรณีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ฆ่าคู่สมรสของตนเป็นผู้ถูกจำกัด มิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก (ตามมาตรา ๑๖๐๖ (๓))

    อ่านในการประชุม

  • ๙. คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยัง มิได้อย่าร้างขาดจากกันตามกฎหมาย เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรส อีกฝ่ายที่เสียชีวิต (มาตรา ๑๖๒๕ (๑) และมาตรา ๑๖๒๘)

    อ่านในการประชุม

  • ๑๐. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตาม กฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรส

    อ่านในการประชุม

  • ๑๑. การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย และความสัมพันธ์ของชายหญิง หรือบุคคล สองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน นอกจากแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๙ ตามที่กล่าวไปในบรรพ ๕ ครอบครัวและบรรพ ๖ มรดก ก็ให้สามารถ กระทำได้

    อ่านในการประชุม

  • อันนี้คือหลักการและเหตุผลทั้งหมดของสมรสเท่าเทียม หรือร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิ่งที่ธัญอยากจะกล่าวต่อไปก็คือธัญ อยากจะบอกกับทุก ๆ ท่านและในสภาแห่งนี้ว่า ธัญเกิดมาเป็นกะเทยค่ะ แล้วธัญก็เป็น กะเทยทุกวัน เป็นมาตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ สิ่งเดียวที่ธัญต่อสู้ ไม่ว่าธัญจะใช้ชีวิตแบบใด ก็แล้วแต่ ไม่ว่าธัญจะหัวเราะหรือร้องไห้ความเป็นกะเทยก็จะยังคงติดตัวอยู่กับธัญเสมอ และการที่ธัญบอกว่าธัญเป็นกะเทยนั้น สิ่งหนึ่งที่จะตามมาติดตัวของกะเทยทุกคนในประเทศนี้ ก็คือความเป็นไปไม่ได้ค่ะ ไม่ว่าธัญจะหลีกเลี่ยงอย่างไร และใช้ชีวิตอย่างไรก็แล้วแต่ ธัญตระหนักรู้ดีเมื่อเติบโตขึ้นมาว่ากะเทยนั้นคือสิทธิมนุษยชน กะเทยมีตัวตนในสังคมและ เขามีสิทธิ มีศักดิ์ศรีและการที่จะใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากจะเป็น รวมถึงการดำเนินชีวิต ในครอบครัว การทำงานของสภาชุดที่แล้วธัญได้มีโอกาสเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ธัญได้พบกับผู้หญิงท่านหนึ่งในขณะที่ธัญกำลังพูดคุยเสวนาวิชาการอยู่ ผู้หญิงท่านนั้นก็เดิน เข้ามาหาธัญพร้อมรอยยิ้ม แล้วเขาก็บอกกับธัญว่า ขอบคุณมากที่พูดเรื่องสมรสเท่าเทียม เพราะอะไรรู้ไหมคะ เพราะเขาบอกว่าเขามีเพื่อนที่รักมากเลยเป็นเพื่อนที่สมัยเรียน เป็นเพื่อนที่ช่วยทำการบ้าน เป็นเพื่อนที่เรียนเก่งจบปริญญาเกียรตินิยมมีงานทำ เป็นที่รัก ของเพื่อนร่วมงาน เป็นเพื่อนที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเมื่อเวลาเพื่อนทุกข์ใจ เขาบอกว่า เพื่อนของเขาไม่สามารถที่จะอยู่ฟังเรื่องสมรสเท่าเทียมได้ เพราะว่าเพื่อนเขาฆ่าตัวตาย เนื่องจากพ่อแม่ไม่ยอมรับในความสัมพันธ์ที่เขารักกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง และไม่มีทาง ที่ครอบครัวเขาจะรับในสิ่งนี้ได้ เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย สิ่งที่ธัญเจอในวันนั้น ธัญไม่สามารถ ตอบอะไรได้นอกจากยืนแล้วก็นิ่งเงียบ ธัญก็อ้าแขนแล้วก็กอดเขา แล้วธัญก็ไม่รู้จะพูดอะไร แต่ธัญเข้าใจว่าเพื่อนที่เขามาพูดกับธัญยังระลึกถึงเพื่อนคนนั้นเสมอ เพื่อนที่ฆ่าตัวตาย ที่ทุกเรื่องในชีวิตเขาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เรื่องความรักนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ค่ะ หรืออย่างเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ๒๕๕๒ ในขณะนั้นก็มี การจัดงานที่เขาเรียกว่า เกย์พาเหรด ซึ่งก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับงาน Pride ที่เราเข้าใจ ในปัจจุบันนี้ ในการจัดงานครั้งนั้นก็มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้จัดงานดังกล่าว พร้อมที่จะ เดินขบวนแล้วก็แสดงตัวตน แต่ก็เกิดการต่อต้านจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปาถุงเลือดใส่ ปาถุงสีใส่ และการตะโกนด่าทอ เหตุผลที่ไม่อยากให้กลุ่มกะเทยเดินพาเหรดก็คือเป็นเรื่อง เสื่อมเสีย เป็นเรื่องที่ทำลายวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๕๒ ที่ LGBT แล้วก็นักเคลื่อนไหวทุกคนต่างรู้ว่า นี่คือความเจ็บปวด นี่คืออดีตของ ความเจ็บปวดของประชาชนที่เป็นกะเทย มันไม่ได้สะท้อนเพียงแค่กลุ่มคนที่เกิดขึ้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในจังหวัด เชียงใหม่ แต่มันสะท้อนถึงความเกลียดชังที่ฝังอยู่ในสังคมไทยตลอดมา วันนี้ความเป็นไปได้ กำลังจะเกิดขึ้น ธัญเชื่อว่าวันนี้เราทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยกำลังจะ เปลี่ยนแปลง เราอาจจะมีการเฉลิมฉลองที่สวยงามและตระการตา เราอาจจะมีฝนกระดาษ ที่ระยิบระยับ มีธงสีรุ้งที่โบกไสว ไม่ว่างานจะสวยงามยิ่งใหญ่เพียงใดและเฉลิมฉลอง ด้วยความยินดีปรีดาแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ธัญอยากจะย้ำเตือนก็คือ ว่าการเฉลิมฉลองนั้น คือการที่เราต้องเฉลิมฉลองการตื่นรู้ของพวกเราทุกคน การตื่นรู้คืออะไร การตื่นรู้ที่เราปล่อย ให้เวลานั้นเกิดการสูญเสียของคนที่รัก เกิดการสูญเสียของคนที่พลัดพราก เกิดการสูญเสีย น้ำตา เกิดการสูญเสียสิทธิหน้าที่การก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เฉลิมฉลองกับความโง่เขลาของพวกเรา กว่าจะเดินจบมาถึงวันนี้ที่เราอาจจะมองทุกอย่าง เป็นเรื่องของการเมือง แต่ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของประชาชน เฉลิมฉลองให้กับคนที่ต้อง ฆ่าตัวตายว่าวันนี้ฉันตื่นแล้ว เฉลิมฉลองให้กับเด็กนักเรียนที่เป็นกะเทยที่ Bully และฆ่าตัวตาย เพราะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ด การเฉลิมฉลองที่สวยงามนั้นธัญขอให้ทุกท่านย้ำเตือนเสมอว่า จากอดีตจนถึงวันนี้เราเกิดความสูญเสียมากเพียงใด จากสภาชุดที่แล้วมีคนถามธัญเสมอว่า เธอเป็นฝ่ายค้าน เธอจะยื่นกฎหมายทำไม เสียงก็ไม่พอตอนนั้นขณะที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล แต่ธัญคิดว่าสิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกันคือความเปลี่ยนแปลงค่ะ และวันนี้ ความเป็นไปได้กำลังจะเกิดขึ้น ธัญจึงอยากจะฝากให้ทุกท่าน มองทุกคนด้วยไมตรีจิต และความเห็นอกเห็นใจ ธัญเชื่อว่าวันนี้จะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่จะยิ่งใหญ่ไปสู่นานาชาติและทั่วโลก จะเป็นวันที่ประชาชน จะจดจำในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ว่าเราทุกคนในที่นี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า เราจะเดินสู่ความเท่าเทียมของคนทุกเพศ ไม่ว่าเราจะประกาศชัยชนะต่อนานาอารยะ ประเทศมากแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งชัยชนะคือของประชาชนทุกคน ในฐานะผู้แทนราษฎร ธัญต้องเป็นตัวแทนของประชาชน ประชาชนฝากบอกผู้แทนราษฎรทุกท่าน จากสภาชุด ที่แล้วที่โหวตให้สมรสเท่าเทียมผ่าน และกะเทยทุกคนที่ฝากบอกธัญมาพวกเขาขอบคุณ ด้วยหัวใจ และวันนี้ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ก็มีประชาชนที่เป็นกะเทยฝากมาบอกผู้แทนราษฎร ทุกท่านในที่นี้ ช่วยให้โหวตสมรสเท่าเทียมผ่านด้วยหัวใจอีกครั้ง และเราจะทำงานด้วย ความรักค่ะ วันนี้สมรสเท่าเทียมธัญเชื่อว่าทุกคนมีมติเห็นชอบร่วมกัน และธัญเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว และนี่คือจุดเริ่มของคนทุกเพศที่จะก้าวไปสู่สันติภาพและ ความเท่าเทียม ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณค่ะท่านประธาน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กับคณะ และพรรคก้าวไกลนะคะ ธัญยืนยันว่าในสภาแห่งนี้พวกเรามาจาก ประชาชนที่มีสิทธิการเลือกตั้งนะคะ ทุกท่านที่เข้ามานั่งในที่นี้เป็นตัวแทนของประชาชน ๓๗๐,๐๐๐ คน ธัญเข้าใจความหลากหลายของศาสนาและความเชื่อ ธัญไม่โกรธ ธัญไม่รู้สึก ใด ๆ ในเมื่อเวลาที่ท่านลุกขึ้นมาพูดในและพูดเพื่อคนที่เลือกท่านเข้ามานั่งในสภาและทำงาน ให้ท่าน ธัญจะขอรับปากในศาสนาอิสลาม แล้วก็ สส. ที่ให้ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องศาสนาเรา จะพิจารณาเรื่องนี้ แล้วก็เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็ได้ มีงานวิจัยก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเราได้ความคิดเห็นอย่างรอบด้านจริง ๆ ก็ขอให้ท่านวางใจใน ข้อนี้ว่าเราเคารพซึ่งกันและกันและทุกความเชื่อทุกคนต้องอยู่ร่วมกันได้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับกฎหมายที่เรามีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้รักษาการ หรือเรื่องของอายุหรือการหย่าที่จะต้องเว้นเวลา ๓๑๐ วันหรือไม่ในกรณีหญิงรักหญิง หรือเรื่องเกี่ยวกับ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคก้าวไกลเรากำหนดบทบัญญัติไว้ ทั้ง ๒ อย่างคือบทบัญญัติที่สามารถใช้กฎหมายนั้นได้เลยกับบทที่มีการทบทวนพิจารณา กฎหมาย ๑๘๐ วัน ก็เนื่องจากตอนที่ยื่นกฎหมายดังกล่าวนี้ ธัญท่านไม่ทราบว่าจะมีการยื่น แบบใดบ้าง ก็เลยบัญญัติไว้ทั้งสองแบบนะคะ ก็เพื่อที่จะไม่ไปเพิ่มเติมหลักการภายหลัง ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งก็ยืนยันว่าอาจจะเลือกทางใดทางหนึ่งแล้วสามารถพูดคุยกันได้ในคณะกรรมาธิการ พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับความรุนแรงในครอบครัว เหตุแห่งการหย่านั้นการเป็น ปรปักษ์กับคู่สมรสก็น่าจะเพียงพอกับการที่จะเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้ ซึ่งพรรคก้าวไกล ตัดคำว่าอย่างร้ายแรง ออก และส่วนเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมที่เกิดขึ้นปี ๒๔๘๙ ธัญจะพิจารณาและเคารพทุกความเชื่อ และธัญยืนยันว่าเราจะก้าวสู่สังคมที่มีความหลากหลายค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ธัญเชื่อว่าการอภิปรายในวันนี้เป็นการอภิปรายที่ประชาชนกลุ่ม ผู้มีความหลากหลายทางเพศรอมานานและคงฟังด้วยความชื่นมื่น แล้วก็ดอกไม้บานในหัวใจ ของทุกคน เพราะว่าการอภิปรายวันนี้มีความเห็นด้วย แล้วก็มีความเห็นต่าง แล้วก็แสดง ความเคารพซึ่งกันและกัน สุดท้ายธัญก็อยากจะให้ทุกท่านอย่าเพิ่งรีบไปไหน ช่วยกันโหวต ให้ตัวเลขบนจอนี้ล้นหลาม ให้คนประเทศไทยนั้นยิ้มแย้มแจ่มใสในคืนนี้ วันพรุ่งนี้ และให้ทั่วโลกเห็นตัวเลขนี่คือความเห็นร่วมกันของความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ต้องขอบคุณผู้ที่พูดถึง ในเรื่องของการให้ถอนไปก่อน คือจริง ๆ ธัญคิดว่าเรื่องนี้เราสามารถที่จะสร้างพื้นที่การมี ส่วนร่วมของทุกฝ่ายได้อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าการที่เราตั้งคณะกรรมาธิการแล้วก็รวบรวม กลุ่ม NGO กลุ่มที่ผลักดันเรื่องประเด็นดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเพื่อนกระเทยไทย หรือสมาคมฟ้าสีรุ้งและองค์กรอื่น ๆ เราสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม หากเราเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศรออยู่ เราก็ควร จะต้องผลักดัน และธัญคิดว่าสภาผู้แทนราษฎรของเรานั้นเปิดกว้างอยู่แล้ว ธัญจึงต้องฝาก ท่านพิจารณากลับไปว่า แล้วการทำงานของกระทรวง พม. จากการทำงานที่ผ่านมาก็ต้อง สอบถามไปทางคณะรัฐมนตรีว่ามีความคืบหน้าในการทำร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างไร ธัญเห็นว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งจะมาผลักดันกันในเวลาที่ธัญยื่นกฎหมาย เมื่อเดือนสิงหาคม แต่เรื่องนี้ผลักดันกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ แล้วเราก็จะมีคำพูดอยู่เสมอว่า สิทธิความหลากหลายทางเพศนั้นประเทศไทยไปไม่ถึงไหนเสียที ธัญจึงขอยืนยันว่าวันนี้ถึงจุด ที่เราจะต้องไปถึงไหนเสียทีค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ก็ขอเสนอหลักการ กฎหมายร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความ หลากหลายทางเพศ พ.ศ. ....

    อ่านในการประชุม

  • ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการคือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผล โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิด การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลผู้มีความ หลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเอกสารของรัฐไทยยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตาม เพศกำเนิด ได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้มี ความหลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทาง เพศของตน และกระทบต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม กฎหมายระหว่างประเทศและหลัก สิทธิมนุษยชนสากลได้รับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยอมรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศที่มีความหลากหลาย ดังนั้น สมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมุ่งให้เกิดการคุ้มครอง และรับรองสิทธิในเรื่องการใช้คำนำหน้านาม การระบุเพศของบุคคลผู้มีความหลากหลาย ทางเพศ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ และความเสมอภาคของ บุคคล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ Gender ธัญขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษค่ะ ที่แปลเป็นไทย ว่า เพศสถานะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากอดีตด้วยมือของพวกเราทุกคน และการประกอบสร้างจากอดีตที่ผ่านมานี้ก็ประกอบสร้างเพียงแค่ ๒ เพศ และบุคคลผู้มี ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นธรรมชาติที่เราอยู่ร่วมบนโลกใบนี้ ไม่ได้ถูกเห็นค่ะ และโลก ๒ เพศนี้เองก็จึงออกแบบกฎ ระเบียบ วัฒนธรรม เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่ส่งต่อมารุ่นต่อรุ่น สืบสานเรื่อง ๒ เพศต่อกันมา และแน่นอนที่สุดแม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่า รัฐธรรมนูญไทยก็ยังไม่มีพวกเราบัญญัติหรือมีตัวตนอยู่ในนั้น วันนี้สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็น จุดสำคัญที่เราในฐานะผู้แทนราษฎรสามารถที่จะร่วมประกอบสร้างสังคมใหม่เพื่อแก้ไข กฎหมายให้รับกับคนทุกเพศ แก้ไขอดีตที่เราออกกฎหมายและไม่ได้คำนึงถึงพวกเขา ออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่ได้คำนึงถึงพวกเขา จึงทำให้พวกเราดำรงชีวิตดำเนินวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศร่วมกับสังคมไม่ได้ เหมือนโลกที่กลับตาลปัตรค่ะ เพราะเรื่องเพศ จริง ๆ แล้วเวลาที่เราพูดเรื่องเพศนั้นเรื่องเพศเป็นทุกลมหายใจของพวกเรา เรื่องเพศเป็น เรื่องของทุกก้าวเดินของพวกเรา ทุกคำพูดตั้งแต่ที่เราตื่นนอน และตอนที่เราเข้านอน ทุกการกล่าวคำทักทาย สวัสดีค่ะ สวัสดีครับ ก็เป็นเรื่องเพศของพวกเรา แล้วก็ของพวกเขา ที่ต่างฝ่าย ฝ่ายหนึ่งได้รับการยอมรับเพราะเป็นไปตามมาตรฐานของสังคมและวัฒนธรรม แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับถูกมองว่าเป็นพวกเบี่ยงเบนและผิดปกติ สร้างความตลกขบขันให้กับ สังคม และในวันนี้หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมได้อย่างไร ก็คือการที่เรา คืนเจตจำนงในเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องที่สำนึกภายในที่เขาจะ บอกตนเองได้เหมือนกับพวกเราว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นเพศอะไร และอยากที่จะดำเนินชีวิต แบบไหน ทั้งวิถีการแสดงออกของพวกเขา และนี่คือหลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Self Determination คือกำหนดเพศด้วยตัวเอง แล้วนี่ละค่ะคือจุดเริ่ม ที่เราจะเปลี่ยนแปลง การที่ให้สิทธิเขามีการกำหนดเพศ และเราต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ต่อ ๆ ไป และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่จะต้องผลักดัน เพื่อให้ความหลากหลายของสังคม และกฎหมายได้โอบรับความหลากหลาย วันนี้เวลาที่เราพูดเรื่องเพศในสภาชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมสมรสเท่าเทียม หรือไม่ว่าจะเป็นในการประชุมคณะกรรมาธิการต่าง ๆ เวลาที่เรา พูดเรื่องเพศเราก็จะเข้าใจในเชิงกฎหมายว่าเพศชายคือเพศทางกายภาพ เพศหญิงคือเพศ ทางกายภาพ แต่วันนี้กฎหมายเราต้องบัญญัติให้พูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ เพศวิถี เพราะเพศมันมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและเพศทางกายภาพค่ะ ร่างกฎหมาย ฉบับนี้ ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และคุ้มครองผู้มีความหลากหลาย ทางเพศนั้น เรามีนิยามอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งจริง ๆ เราก็ได้คัดลอกมาจากประเทศอาร์เจนตินา และมอลตาว่าอัตลักษณ์ทางเพศคืออะไร อัตลักษณ์ทางเพศ คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเอง ว่าเขาคือใคร เป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึง การแสดงออกทางเพศ และนี่คือหนึ่งหลักการสำคัญของ Yogyakarta เพื่อเป็นมาตรฐาน ในการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราจำเป็น ต้องออกกฎหมายที่ต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ เพศวิถี ไม่ใช่เพียงแค่เพศ ทางกายภาพเท่านั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้การคุ้มครองใครบ้าง กลุ่มแรกคือบุคคลข้ามเพศ บุคคลข้ามเพศคือใคร บุคคลข้ามเพศก็คือมีเพศกำเนิดเป็นหญิงและอาจจะต้องการข้ามมา เป็นเพศชาย หรือในทางกลับกันเพศชายในทางกำเนิดและต้องการข้ามมาเป็นเพศหญิง เราจะให้สิทธิในการที่จะแสดงเจตจำนงในการดำรงอัตลักษณ์ทางเพศของเขาในสังคมค่ะ หรือกลุ่มที่ ๒ กลุ่มบุคคลที่ไม่นิยามตัวตนว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง ไม่มีอัตลักษณ์ที่เป็นชาย หรือมีอัตลักษณ์ที่เป็นหญิง ตัวอย่างเช่น กลุ่มบุคคล Non-Binary ซึ่งมีตัวตนอยู่ในสังคม ซึ่งกลุ่มนักขับเคลื่อนกลุ่มเพศความหลากหลายนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทย มีการรวมตัวก่อตั้ง ขับเคลื่อนสิทธิ ขับเคลื่อนในเรื่องการต่อสู้ให้มีตัวตนทางกฎหมาย ให้ตระหนักรู้ถึงความเป็น ทอม ความเป็นกระเทย ซึ่งมีตัวตนอยู่ในสังคมคู่กับพวกเรามายาวนาน บุคคลที่เป็น Intersect ต้องขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษ แต่ว่าในกฎหมายภาษาไทยแล้วก็ระเบียบของภาษาไทย เราพูดถึงบุคคลที่มีลักษณะ ๒ เพศหรือเพศกำกวม กลุ่มเหล่านี้ก็จะประสบปัญหา ถึงจะมี จำนวนน้อย มีประมาณ ๙๐๐ กว่าคนในประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ชุมชนกลุ่ม Intersect ได้ ต่อสู้ก็คือการผ่าตัดยืนยันโดยแพทย์ เลือกเพศให้พวกเขาโดยที่เขาไม่ได้แสดงเจตจำนง สิ่งเหล่านี้ก็จะได้รับการคุ้มครองว่าเพศนั้นพวกเราต้องเลือกเอง นี่คือหลักการสำคัญของ Self Determination คือการกำหนดเพศต้องเกิดจากพวกเรา ไม่ใช่ เกิดจากรัฐ นี่คือการกลับวิธีคิดที่เราบอกว่าเราจะประกอบสร้างสังคมใหม่อย่างไร เมื่อเรา เกิดขึ้นมาแล้วรัฐจะบอกเราว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิงตามกายภาพของเรา แต่การ ประกอบสร้างจากวันนี้ไปเราจะต้องเปลี่ยนให้บุคคลทุกคนสามารถที่จะกำหนดเพศตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร หลาย ๆ ท่านอาจจะมองว่าจากที่เราได้ Pop Up หรือได้นำเสนอเรื่องกฎหมายนี้เมื่อสัก ๒-๓ วันที่ผ่านมา จากประเด็นของคนดังคนหนึ่งกับ คำนำหน้าว่า คุณ ก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วย เสียงว่ามันจะเกิดการสับสน เสียงมันอาจจะมีความ กังวลว่าจะเกิดการหลอกลวง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนทุกคน นักเคลื่อนไหวทุกคนได้ทำงานมา แล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่เกินคาดที่เราจะได้รับคำถามเหล่านี้ หรือสิ่งที่เป็นข้อกังวลของสังคมค่ะ แต่ธัญจะบอกว่าเรื่องการกำหนดเจตจำนงเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะว่า อัตลักษณ์ทางเพศนั้นเป็นเรื่องสำนึกภายในของพวกเขา เป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องปัจเจก บุคคลที่เขาจะกำหนดตัวเองได้ คำถามว่าถ้าวันนี้กลัวการหลอกกัน ธัญเชื่อว่าการหลอกกัน ไม่ได้เกี่ยวกับเพศ เรามีผู้หญิงหลอกผู้ชาย เรามีผู้ชายหลอกกระเทย เรามีบุคคลผู้มีความ หลากหลายทางเพศหลอกผู้หญิง เรามีบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศหลอกผู้ชาย การหลอกลวงกันนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ แต่มันขึ้นอยู่กับความเป็นปัจเจกและความ ซื่อสัตย์ของแต่ละคน นิยามคำว่าหลอกลวงคืออะไร วันนี้เรามีผู้ชายรักกับผู้หญิงข้ามเพศ อันนี้คือเรื่องจริงนะคะ ท่านในที่นี้อาจจะจริงหรือจะมีผู้ชายรักผู้หญิงข้ามเพศหรือ มีจริง ๆ ค่ะ เดี๋ยวจะมี สส. อีกหลายท่านอภิปรายเรื่องนี้ เรามีผู้หญิงที่รักผู้ชายข้ามเพศ มีจริง ๆ หรือ มีค่ะ เรามีผู้หญิงข้ามเพศที่รักผู้ชายข้ามเพศไหม มีค่ะ อยู่ในห้องประชุมสมรสเท่าเทียม ธัญเคยไปเป็นเพื่อนแจ้งความ เพื่อนของธัญซึ่งเป็นนางโชว์ไปแจ้งความเนื่องจากเขามีปัญหา กับแฟนผู้ชายของเขา ซึ่งตามสะกดรอยแล้วก็สร้างความหวาดกลัวให้กับเพื่อนธัญ เมื่อเพื่อน ของธัญไปแจ้งความก็มีเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาบอกกับเพื่อนธัญว่ามันจะเป็นไปได้หรือที่ผู้ชาย จะมาตามกระเทย ธัญนั่งฟังเพื่อนธัญอยู่จนธัญอดทนไม่ไหว จนธัญต้องลุกขึ้นมาบอกกับ ตำรวจท่านนั้นว่าท่านกำลังเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ กฎหมายในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลง รัฐไปอย่างไร วันนี้ประเทศไทยเรามีข้อมูลผู้ชาย ผู้หญิง คำถามต่อมามันจะดีแค่ไหน ถ้ากฎหมาย รับรองเพศนี้ผ่านและจะเปลี่ยนข้อมูลประชากรศาสตร์ของประเทศไทย ที่ไม่จำเป็นต้อง เก็บข้อมูลเพียงแค่ผู้ชายผู้หญิง แต่เก็บไปถึงว่าเรามีบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกี่คน ในประเทศไทย มันจะดีไหมพอเรามีข้อมูลประชากรศาสตร์เราสามารถคาดคะเนงบประมาณ สวัสดิการที่อาจจะต้องมีความจำเพาะในเรื่องของเพศ มันจะดีไหมที่เราจะประมาณการ หรือออกแบบนโยบายได้ตอบโจทย์ จากข้อมูลประชากรศาสตร์ที่รัฐจะสามารถเก็บได้จาก ร่างกฎหมายฉบับนี้ ธัญคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะบอกได้ว่าเรามีการเลือกปฏิบัติมากเท่าไร เราจะต้องใช้งบสวัสดิการจำเพาะเพศมากเท่าไร เราควรมีนโยบายแบบใดที่จะโอบรับ Inclusive คนทุกเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิ่งที่น่าเสียใจวันนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า แม้แต่เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่เราพูดถึงเรื่อง Gender Equality ก็ไม่มีบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในนั้น ก็มีการพูดถึงเรื่องของ ผู้หญิงและเด็ก วันนี้ท่านอ่าน Gender Gap Report ที่พูดถึงเรื่องช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก เราอยู่อันดับที่ ๗๔ จาก ๑๔๗ ประเทศ ซึ่งชี้วัดในด้านทางการเมือง การศึกษา สุขภาพ และ เศรษฐกิจ น่าเสียใจไหมคะ ก็ไม่มีข้อมูลของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ธัญคิดว่า ถ้าเราต้องการที่จะเป็นผู้นำและสร้างความเท่าเทียมก้าวเข้าสู่สากลจริง ๆ เราต้องมีกฎหมาย ฉบับนี้ และเราจะต้องมีงานที่จะต้องทำอีกมากมายเหลือเกินที่จะผลักดันความเท่าเทียมให้ เกิดขึ้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ธัญเข้าใจว่าในสังคมส่วนใหญ่อาจจะมีข้อกังวลในหลาย ๆ อย่าง อาจจะมีกฎหมายหลายฉบับที่จะต้องแก้ แต่ธัญคิดว่าเราร่วมมือกันในด้านนิติบัญญัติที่จะทำ ให้กฎหมายในประเทศไทยนั้นโอบรับความหลากหลาย เราสามารถร่วมที่จะทำ Campaign ให้คนเข้าใจและยุติความกังวล ยุติความกลัว ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยให้หมดสิ้นไปได้ พวกเราทุกคนคือคนเหมือนกัน ตัวธัญเองก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร ธัญก็เป็นมนุษย์ ถึงจะมี คนบอกว่าธัญเป็นกระเทยหรือว่าธัญจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ธัญก็คือมนุษย์เหมือนกับทุก ๆ ท่าน ที่ต้องการใช้ชีวิต ที่ต้องการที่จะสมรส ที่ต้องการดำเนินเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศของ ตนเอง และมันถึงเวลาที่กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้อง กับอัตลักษณ์ทางเพศค่ะ สุดท้ายธัญไม่ได้อคติกับคำว่า อรชรหรืออ้อนแอ้น แต่ธัญกำลังจะ อธิบายว่ากระเทยก็จะไม่มีที่ทางและตัวตนทางกฎหมาย เพราะว่าเมื่อเด็ก ๆ เราก็จะถูก อธิบายตัวของเราว่าเด็กคนนี้อ้อนแอ้นแทนคำว่า กระเทย ซึ่งธัญก็เห็นว่าผู้หญิงก็อ้อนแอ้น เหมือนธัญ แต่ก็จะไม่ได้ถูกหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา มันถึงเวลาที่ทำให้พวกเรามีชื่อ มีภาษา มีวัฒนธรรมทางกฎหมายและเรื่องเล่าจากวันนี้เหมือนกับเพศชาย เพศหญิงที่เราต้องยืน อย่างทัดเทียมเท่าเทียมกันค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ใช้ค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนของบุคคลผู้มีความ หลากหลายทางเพศ ธัญขอพูดถึงร่างกฎหมายที่เราได้ศึกษา ธัญต้องชี้แจงนิดหนึ่งเพราะว่า บางท่านก็อาจที่จะพูดในทำนองว่ากฎหมายยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นรอบด้านมากเพียงพอ ธัญคิดว่ารายงานการศึกษาฉบับนี้ ตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว ธัญเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสภาชุดที่แล้ว เวลา ๔ ปี เรื่องรับรองเพศเป็นเรื่องที่ธัญติดตามมาตลอด เป็นเรื่องที่หลายฝ่าย มีความคิดเห็นสอดคล้องกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ธัญทราบเรื่องนี้ดีแล้วก็ติดตามมาตลอดค่ะ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่สุดแล้วสิ่งหนึ่งที่บุคคลกลุ่มชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเห็นพ้อง ต้องกันก็คือหลักการของประเทศอาร์เจนตินาและประเทศมอลตา ซึ่งธัญจะขอสรุปตรงนี้ว่า Self Determination หรือเจตจำนงในการเลือกเพศของตนเองนั้นคืออะไร อัตลักษณ์ทางเพศ คือสำนึกทางเพศภายในของตนเองที่เขาต้องการดำเนินชีวิตของเขาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ ทางเพศของเขาและเพศสภาพของเขา กลไกของกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกนี้คือประเทศ มอลตากับประเทศอาร์เจนตินา เราให้สิทธิของคนทุกคนในการเปลี่ยนคำนำหน้า โดยไม่มี เงื่อนไข นั่นหมายถึงว่าการเข้าถึงสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้า ไม่ควรจะเป็นอุปสรรคใด ๆ ไม่ควรที่จะต้องมีใบรับรองแพทย์ ไม่ควรจะต้องมีนักจิตวิทยา หรือไม่ควรจะมีกระบวนการใด ๆ เพื่อที่จะบอกว่าพวกเขามีคุณสมบัติหรือไม่ เพราะเรื่องเพศฉันบอกของฉันเอง ฉันไม่ต้องการแพทย์ที่จะมาบอกว่า โอเคค่ะ ฉันเป็นกระเทย แพทย์วินิจฉัยว่าฉันเป็นกระเทย เวลาฉันไปหาแล้วบอกว่า ฉันเป็นกระเทย ไม่ใช่ ฉันเป็นกระเทยและรู้ตัวของฉันว่าฉันคือ กระเทย เราเดินไปได้เลย รัฐให้สิทธินั้นคุณ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ทันที เข้าใจว่าทางสังคม ก็อาจจะมองว่าสิ่งเหล่านี้สร้างข้อกังวลอะไรให้กับสังคม กฎหมายมอลตา อาร์เจนตินาให้สิทธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของคนทุกคนที่จะเปลี่ยนเพศ แต่ในการเปลี่ยนครั้งที่ ๒ จะต้องผ่านศาลค่ะ เราไม่ได้พูดถึงบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ถ้าท่านกังวลในเรื่องผู้ที่จะใช้ กฎหมายดังกล่าวโดยทุจริต ถ้ามีผู้ชายคนหนึ่งต้องการที่จะใช้กฎหมายดังกล่าวทุจริต และไป เปลี่ยนคำนำหน้าเพื่อที่จะหนีทหาร ท่านคะ อัตลักษณ์ทางเพศและการดำรงชีวิตในเพศนั้น ผู้ชายคนนั้นเขาจะต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้ชายอีกครั้ง และศาลก็จะเห็นว่าคุณใช้กฎหมาย ดังกล่าวด้วยชอบหรือมิชอบ กฎหมายฉบับนี้และวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ส่งผลต่อบุคคลผู้มี ความหลากหลายทางเพศที่ต้องการแสดงเจตจำนง แต่จะส่งอุปสรรคให้กับคนที่ใช้กฎหมาย โดยมิชอบ เรื่องข้อกังวลของทางศาสนาของพรรคประชาชาติที่เมื่อสักครู่ได้ฟัง ขออนุญาต เอ่ยนามชื่อพรรคของท่าน ธัญยืนยันเหมือนกับสมรสเท่าเทียมว่าธัญมีความเข้าใจเรื่อง ดังกล่าว และท่านก็จำเป็นที่จะต้องยืนขึ้นและเพื่อชุมชนที่เลือกท่านเข้ามาสู่สภาแห่งนี้ แต่ Gender Recognition หรือกฎหมายรับรองเพศนี้เป็นสิ่งที่รัฐให้กับประชาชนในฐานะรัฐ รัฐให้สิทธิประชาชนในพื้นที่ของประเทศไทย เพราะว่าอะไร กลับไปที่ธัญได้พูดก่อนหน้านี้ Gender คือสิ่งที่สังคมประกอบสร้าง และเราประกอบสร้างเพียงแค่ ๒ เพศ แต่วันนี้เราจะ เปลี่ยนมันสู่ความหลากหลาย ความเชื่อท่านจะเป็นอย่างไร เราไม่ลบหลู่ เราไม่รบกวน เราเคารพในสิ่งที่ท่านยึดถือ แต่ธัญยืนยันว่ากฎหมาย Gender Recognition การรับรอง เพศนั้นเราให้เพศในฐานะที่รัฐรับรองสิทธิเขาในฐานะเพศที่เขาต้องการที่จะกำหนดเจตจำนง ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ท่านบอกว่าอาจจะต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบด้าน ธัญก็ต้องขอ ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวธัญได้รับฟังความคิดเห็นมา ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม แพทยสภา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอีกหลากหลายหน่วยงานที่มาให้ข้อมูลในเรื่องของสาธารณสุข เรื่องการออกแบบ นโยบายเพศที่เหมาะสม เรื่องการจ้างแรงงาน กฎหมายแรงงาน เรื่องการศึกษา นี่ค่ะคือเล่มนี้ ถ้าท่านบอกว่าจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ท่านคิดว่าธัญได้เขียนลงไปอย่าง ชัดเจนแล้วว่าผู้ที่รับรองเพศในฉบับดังกล่าวและเปลี่ยนคำนำหน้าจะต้องได้สิทธิตามเพศใด และไม่ได้สิทธิในประเด็นเฉพาะใด รวมถึงท่านมองเห็นการรับรองเพศนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน หรือไม่ หากธัญย้อนกลับไปที่ท่านอภิปรายครั้งแรกคือ วันนี้จากในอดีตที่ผ่านมาเรามีการ ผลิตซ้ำ ความเป็น ๒ เพศมาช้านานตั้งแต่ในอดีต วันนี้การที่เราจะมาพูดถึง ๆ เรื่องเพศ หลากหลาย สังคมก็อาจจะยังมีความไม่เข้าใจ มีความกังวล ซึ่งธัญเองก็ได้รับกระแสตอบรับ แล้วก็เข้าใจ แต่นั่นเป็นเพราะว่าเราอยู่ในระบบ ๒ เพศ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกไปจะเปลี่ยนแปลงอะไร จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของเรา จะเปลี่ยนแปลง หลักสูตรเพศของเราว่าเราไม่ควรที่จะเรียนเรื่องของชายหญิงเท่านั้น เราควรจะต้องมีความ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และเด็กที่เติบโตมาที่เขาเป็นเพื่อนกัน ที่เขาอาจจะมีความ หลากหลาย มีความไม่เข้าใจกัน เพราะสิ่งที่เราพร่ำสอนว่าโลกเรามีแค่ ๒ เพศ เด็กเหล่านั้น ก็จะมีความเข้าใจกันมากขึ้น โลกเราจะเปลี่ยนตั้งแต่วัยเด็กเลยค่ะ เด็กจะเติบโตและได้รับ การยอมรับ และพัฒนาตัวตนเป็นศักยภาพเป็นแรงสำคัญของประเทศมากกว่าที่จะต้องมา ต่อสู้ถึงความไม่เท่าเทียมและต่อสู้เพื่อบอกตัวตนว่าฉันคือเพศอะไรและไม่มีการยอมรับ ทำไม เราไม่ผลักดันสิ่งเหล่านี้และเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้กับเขาจากกฎหมายที่เราควรจะต้อง ผ่านวาระที่ ๑ โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ที่ทำงานก็จะมีการโอบรับความหลากหลายทางเพศ ท่านทราบใช่ไหมคะ กลุ่มคนข้ามเพศนั้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกเกลียดชัง ถูกเลือกปฏิบัติ อย่างที่ ท่านจะจินตนาการไม่ออก ท่านมีเพื่อนที่เรียนจบปริญญาโท เรียนเก่ง ทำงานเก่ง เป็นผู้หญิง ข้ามเพศไปสมัครงานได้รับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ได้รับคำพูดที่เข้าใจว่าเขาใช้คำว่า อ้าวน้องไม่ใช่ผู้หญิงจริง ๆ หรือ ธัญถึงบอกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้คือความจริง มันไม่ใช่มีผู้หญิงจริง ผู้หญิงไม่จริงค่ะ เพราะพวกเราคือวิทยาศาสตร์ แล้วท่านต้องไม่ลืมว่า Gender คือสิ่งที่พวกเราสร้างเอง แล้วทำไมรัฐถึงจะให้พวกเขาไม่ได้ ท่านทราบไหมคะ เขาหางานอยู่ ๕ ปีไม่มีเงิน และท่านทราบไหมคะว่าเขาต้องบินไปต่างประเทศเพื่อทำงาน ที่เขาไม่อยากทำ วันนี้เราต้องคืนสถานะ ถ้ารัฐเราให้การรับรองสิทธิให้เขาเดินทางไป ต่างประเทศ ให้เขามีสิทธิ มีศักดิ์มีศรีเหมือนกับชายหญิงทั่วไปมันจะยากเย็นสักแค่ไหนกัน เพียงแค่ว่าเรายอมรับสิ่งที่เราผิดพลาดมาหรือเปล่าว่าเรามองแค่ผู้ชาย ผู้หญิง และมอง ไม่เห็นความหลากหลาย พวกเราอยู่ในสถานะที่เป็นคนที่เบี่ยงเบนในสังคม หลาย ๆ ท่าน อาจจะมีความกังวลนะคะ ธัญเข้าใจเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยกันยังไม่เป็นวงกว้าง แต่เชื่อธัญ เถอะค่ะว่ากระเทยไม่ได้น่ากลัว อย่ากลัวพวกเราเลย ลองหยิกแก้มดูได้ว่าพวกเราไม่ใช่ผีค่ะ ทำไมท่านถึงกลัวคนที่จะเปลี่ยนคำนำหน้า ท่านอ้างเรื่องอาชญากรรม ถามว่าอาชญากรรม คืออะไร ท่านมีลายนิ้วมือ มีบัตรประชาชนที่เป็น Number ๑๓ หลักอยู่แล้ว ถ้าท่านกังวล เรื่อง Safe Space ของเพศเฉพาะ ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลก็มีบทบัญญัติที่ครอบคลุม ให้ทุกคนปลอดภัยในพื้นที่เฉพาะเพศที่ป้องกันไม่ให้บุคคลมิชอบใช้กฎหมายโดยมิชอบเข้า เรามีการคำนึงอย่างรอบด้าน ธัญรู้สึกเสียใจเหลือเกินที่การขับเคลื่อนของภาคประชาชน ต่างหากที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ทุกคนทำงานอย่างหนัก แต่วันนี้สภาบอกว่าสภา ยังไม่พร้อม เรากำลังจะก้าวเข้าสู่การ Bidding Inter Pride จริงหรือเปล่าคะ เรากำลังจะให้ ท่านนายกรัฐมนตรีก้าวไปสู่เวทีโลกพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนจริงหรือเปล่าคะ อย่ากังวล อย่ากลัวค่ะ เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเพียงแค่เรียกร้องในสิ่งที่รัฐไม่เคยประกอบสร้าง Gender ให้กับพวกเรา เราเรียกร้องความเป็นธรรม เราเรียกร้องความเป็นปกติ เราเรียกร้อง เพศสภาพและเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิทธิมนุษยชนที่เรามี สิทธิที่จะดำเนินชีวิตตามเจตจำนงเพศของเราค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม