นางสาวจิราพร สินธุไพร

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ดิฉันมีข้อสังเกต และคำถามต่อพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลง ระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖ ฉบับนี้อยู่ ๒-๓ ประการ ที่จะอภิปราย สอบถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเสียภาษีระหว่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สกัดกั้น การหลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในการบริหารจัดการการจัดเก็บภาษีของประเทศ แต่คำถามก็คือว่ารัฐบาล จะบริหารให้เกิดสมดุลในการทำให้เกิดความโปร่งใสทางภาษีกับการป้องกันรักษาความลับ ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร ทราบว่าที่ผ่านมาไทยมีระบบที่ต้องรายงานข้อมูลภาษีในลักษณะนี้ ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ FATCA ซึ่งต้องมีการส่งข้อมูลทางการเงินระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมาอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีพระราชกำหนดฉบับนี้ได้กำหนดรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีที่แตกต่าง จากเกณฑ์ FATCA ซึ่งจะมีผลต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศครอบคลุม หลายประเทศทั่วโลก อย่างน้อยถ้าดูตามความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนหรือว่า Double Tax Agreement ใน Website ของกรมสรรพากรก็จะพบว่าไทยสามารถที่จะแลกเปลี่ยน ข้อมูลกับประเทศสมาชิกกว่า ๖๑ ประเทศ และต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศสมาชิก Global Forum ที่อยู่ในเครือข่ายอีก ๑๐๐ กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งตามการชี้แจงของท่านรัฐมนตรีเมื่อสักครู่นี้พระราชกำหนดฉบับนี้มีผลใช้บังคับไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ คำถามคือผ่านมาหลายเดือนแล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมระบบตามมาตรฐานของ OECD เรียบร้อยหรือยัง หรือมีความคืบหน้าอย่างไรบ้างคะ และระบบที่ไทยเตรียมไว้จะสามารถรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนมั่นใจว่าสามารถป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ระหว่างการส่งให้กับประเทศที่ร้องขอได้อย่างไรบ้าง และคำถามเพิ่มเติมก็คือในกรณี ที่เกิดการรั่วไหลของข้อมูล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูล หน่วยงานใด จะเป็นผู้รับผิดชอบ มีบทลงโทษอย่างไร และมีมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรบ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ถ้าเราไปดูในรายละเอียดของพระราชกำหนด หมวด ๒ การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ ในมาตรา ๑๕ ได้กำหนดบุคคลผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูล บัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานต่ออธิบดีไว้ทั้งหมด ๙ รายการ มีข้อสังเกตว่า ใน ๙ รายการดังกล่าวผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ Digital หรือ Digital Asset ซึ่งเป็น รูปแบบการลงทุนแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่อยู่ในข่ายผู้ที่ต้องมีหน้าที่ต้องรายงานตามมาตรา ๑๕ แต่ดิฉันได้รับทราบข้อมูลมาว่า ในอนาคต OECD มีแนวโน้มที่จะรวมผู้ประกอบการสินทรัพย์ Digital เข้าเป็นหนึ่ง ในผู้ที่มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงิน ดังนั้นจึงอยากสอบถามไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบว่าได้เตรียมความพร้อมระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ การรายงานข้อมูลไว้อย่างไรบ้างหาก OECD จะเพิ่มให้มีการรายงานข้อมูลบัญชี ของผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนในสินทรัพย์ Digital ในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายประเด็นที่ ๓ ดิฉันได้ไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่า ในห้วงที่กฎหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอในรูปแบบของพระราชบัญญัติมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรมสรรพากรได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านทาง Website และจัดการประชุม Online เพื่อรับฟังความเห็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งถ้าไปดูในรายละเอียด ในส่วนของการรับฟังความเห็นของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทาง Online ดิฉันไม่ได้ ติดใจค่ะ เท่าที่ดูในรายชื่อหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมน่าจะครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่าง ๆ แล้ว แต่ว่าในส่วนของการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนของกรมสรรพากร ผ่าน Website ใน ๒ ครั้งแรก ถ้าเราไปดูยอดการเข้าชมและการร่วมแสดงความเห็น จะเห็นว่ามีสัดส่วนการมีส่วนร่วมที่น้อยมากค่ะ โดยในการเปิดรับฟังความเห็นครั้งแรก มีผู้เข้าประชุม ๙๑๒ ราย มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงแค่ ๑๑ ราย การเปิดรับฟัง ความเห็นครั้งที่ ๒ มีผู้เข้าร่วมชม ๔๑๙ ราย มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพียง ๑๓ ราย ดิฉันไม่แน่ใจว่าในจำนวนผู้ที่แสดงความเห็น ๑๐ กว่ารายนี้มีหน้าม้ารวมอยู่ด้วยหรือไม่นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ในด้านของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้จัดให้มีการแสดงความเห็น เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ผ่านทาง Website เช่นเดียวกัน แต่หนักกว่าค่ะ เพราะปรากฏว่า ไม่มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเลย ท่านประธานที่เคารพคะ เท่าที่ดิฉัน สังเกตเวลาที่เปิดให้ประชาชนให้ความเห็นต่อร่างความตกลงระหว่างประเทศหรือกฎหมาย ภายในประเทศที่ต้องตราขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ประชาชน จะมีส่วนร่วมน้อยมากค่ะ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าความตกลงระหว่างประเทศ แล้วก็กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อนเข้าใจยาก หลายคนจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง ไกลตัว ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วความตกลงระหว่างประเทศเหล่านี้หรือว่ากฎหมายในประเทศ ที่ตราขึ้นให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศเหล่านั้นมีผลกระทบต่อประชาชน ในวงกว้าง ดังนั้นในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะต้องทบทวนวิธีการที่จะทำให้ พี่น้องประชาชนสามารถที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาได้โดยง่าย แล้วก็ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ได้มากกว่านี้เพื่อให้การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนะคะ นี่ก็เป็นข้อสังเกตแล้วก็คำถามสั้น ๆ ที่ดิฉันจะขอถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะใช้ประกอบ การพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานที่เคารพ แผนการปฏิรูปประเทศและแผนอื่น ๆ เป็นแผนงานที่ต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา ๖๕ ของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งระยะเวลา ๒๐ ปีของยุทธศาสตร์ชาติ จะถูกวางรากฐาน ๕ ปีแรกภายใต้การปฏิรูปประเทศฉบับนี้ แต่ปัญหาอย่างแรกในการจัดทำ ในขณะนั้นคือปรากฏว่าแผนปฏิรูปประเทศกลับทำเสร็จก่อนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี นั่นหมายความว่าแผนรองทำเสร็จก่อนแผนหลัก ทำให้ในช่วงแรกต้องเสียเวลาแก้ไข แผนปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับแผนหลักอย่างยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นเฉพาะกระบวนการ แก้ไขแผนปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติบวกกับการขยายเวลาปรับปรุง แผนปฏิรูปประเทศออกไป มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่ ก็ทำให้ในช่วงแรก ๆ นั้นต้องเสียเวลากับการร่างแล้วก็แก้ไขแผนไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลาแผนแล้ว นอกจากนี้ปกติถ้าเราใช้คำว่า ปฏิรูป เราก็ต้องนึกถึงสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วต้องทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดผลที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมา แต่ถ้าเราไปดูในรายละเอียด แผนการปฏิรูปประเทศที่มีการประกาศบังคับใช้ในปี ๒๕๖๑ ทั้ง ๑๓ ด้าน ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่แผนหรือโครงการที่นำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง แต่เป็นการเอางานประจำ ที่หน่วยงานราชการดำเนินการอยู่แล้วมายัดใส่หัวข้อแต่ละด้าน เพื่อให้ดูมีแผนงาน และมีความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะทำให้ดูเสมือนว่ายุทธศาสตร์ชาติมีผลงาน ออกมาเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ใน CR 05 การดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ระบุว่าได้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้จำนวน ๓ เป้าหมายแล้ว ซึ่ง ๓ เป้าหมายนั้นประกอบด้วย

    อ่านในการประชุม

  • เป้าหมายที่ ๑ ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • เป้าหมายที่ ๒ การกระจายความเจริญและความเข้มแข็งของภาคสังคม

    อ่านในการประชุม

  • และเป้าหมายที่ ๓ การปรับบทบาท โครงสร้างและกลไกสถาบันบริหาร จัดการเศรษฐกิจของประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • แต่พอเรามาดูเนื้อในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้สำเร็จตามทั้ง ๓ เป้าหมาย ดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในหน้า ๙๘-๑๐๓ ดิฉันคิดว่านี่ไม่ได้เป็นการปฏิรูปประเทศ ให้เกิดสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว เช่น การดำเนินการในหัวข้อที่ ๓ หน้า ๑๐๑ การปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มพูนรายได้ของรัฐใน ด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการระบุผลงานของการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการถ่ายลำและผ่านแดนของภูมิภาค ASEAN ว่ามีการเร่งรัดการลงนามบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย และบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารทางถนนข้ามพรมแดนไทย ท่านประธานที่เคารพคะ ถ้าใครที่ติดตามเรื่องปัญหาการถ่ายลำและผ่านแดนจะทราบว่าการหารือบันทึกความเข้าใจ ระหว่างไทย-มาเลเซียฉบับนี้มีการหารือทวิภาคีในเวทีต่าง ๆ กันมานานมากแล้ว ถ้าดิฉัน จำไม่ผิดเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ราว ๆ นี้ค่ะ มันเป็นการหารือ ที่ทำกันมาก่อนที่จะมีแผนปฏิรูปฉบับนี้เสียอีก ถ้าท่านประธานดูต่อในหน้า ๑๐๒ จะระบุถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค มีการยกตัวอย่างผลสำเร็จการดำเนินการขับเคลื่อนปฏิรูปผ่านการประชุมเจรจาความตกลง การค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ท่านประธานที่เคารพคะ FTA ไทย-สหภาพยุโรป เริ่มเจรจามา ตั้งแต่สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกสหภาพยุโรประงับการเจรจา เพราะมีการรัฐประหาร ในปี ๒๕๕๗ นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าไม่มีแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้เขาก็เจรจา FTA ฉบับนี้ กันอยู่แล้ว รัฐบาลในอดีตเขาเจรจามาตั้งแต่ก่อนมีแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้ค่ะ การรัฐประหารจนทำให้เกิดแผนปฏิรูปประเทศฉบับนี้ต่างหากที่ทำให้การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปต้องสะดุดหยุดลง วันนี้จะมาทำต่อจากสิ่งที่รัฐบาลอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยทำเอาไว้ก็ล่าช้ามาก เพราะกว่าจะสามารถกลับมาขอเจรจาได้ก็เกือบจะหมดอายุ รัฐบาลนี้ไปแล้วค่ะ นอกจากนี้ก็ยังได้ระบุผลงานการปฏิรูปประเทศต่ออีกว่า มีการเจรจาภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-แคนาดา ตัวอย่างนี้ก็เช่นเดียวกันมันเป็น FTA ที่ประเทศสมาชิก ASEAN ได้หารือพูดคุยกัน เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะมีแผน ปฏิรูปประเทศฉบับนี้ ก็คือในปี ๒๕๕๑ อีกแล้วค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ นี่เป็นตัวอย่าง เพียงแค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น จะเห็นว่าหลายอย่างเป็นสิ่งที่แม้ไม่มีแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับนี้ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานดำเนินการกันอยู่แล้ว และดิฉันเชื่อว่าถ้าเราไปดูในรายละเอียด ในด้านอื่น ๆ ก็คงจะไม่แตกต่างกัน การที่เราเอางานที่ทำอยู่แล้วมายัดใส่แผนปฏิรูปแบบนี้ จะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงได้อย่างไร แบบนี้ดิฉันก็ไม่แปลกใจที่สมาชิก หลายท่านจะเห็นว่าผ่านมากกว่า ๕ ปี แต่แผนปฏิรูปฉบับนี้ก็ดูไม่มีความคืบหน้า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งปฏิรูปก็เหมือนจะยิ่งถอยหลัง ท่านประธานที่เคารพ ร่มใหญ่ของแผนปฏิรูปประเทศก็คือยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ร่มที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีและแผนปฏิรูปประเทศถือกำเนิดขึ้นคือรัฐธรรมนูญฉบับ ปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นมรดกที่คณะรัฐประหารใช้ขีดเส้นทางประเทศไทยให้เดินตามแม้ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว ดังนั้นการที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้สำเร็จได้ เราต้องเริ่มแก้ที่โครงสร้างใหญ่ของ ประเทศ ก็คือรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ฉบับนี้ค่ะ ท่านประธานที่เคารพคะ วันนี้เป็นโอกาสของ ท่านทั้งหลายที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นนั่งร้านให้กับเผด็จการที่จะเปลี่ยนมาเป็นนั่งร้านให้กับ ประชาชนมาร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ที่ทำให้เกิดกำเนิดแผน ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศทั้งหลายที่ได้สร้างพันธนาการให้กับประเทศไทยเอาไว้ เป็นกับดักที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศห้ามพัฒนา มาร่วมกันแก้ไขอดีตที่ผิดพลาด เปิดทางให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นใหม่ด้วยการร่วมกันสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอปรึกษาหารือ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ ผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ ประเด็นดังนี้ค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ในจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำชีซึ่งเป็นแม่น้ำ สายหลักที่มีระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะพบปัญหาพนังกั้นน้ำ ที่เป็นดินพังทลาย น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรสร้างความเสียหายให้กับ พี่น้องประชาชนในวงกว้าง เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำซากเป็นประจำทุกปีค่ะ ดิฉันจึงขอ ปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในระยะยาวทั้งหมด ๗ จุด ด้วยกัน จุดที่ ๑ ขอให้พิจารณาก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชีบริเวณบ้านท่าค้อ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านแจ้ง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จุดที่ ๒ บริเวณบ้านแจ้ง หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแจ้ง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จุดที่ ๓ บริเวณบ้านกุดเขียว หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านแจ้ง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จุดที่ ๔ บริเวณบ้านธาตุ หมู่ที่ ๗ ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จุดที่ ๕ บริเวณบ้านดอนคำ หมู่ที่ ๙ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จุดที่ ๖ บริเวณบ้านท่าสะอาด หมู่ที่ ๘ ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จุดที่ ๗ บริเวณบ้านหนองหิน หมู่ที่ ๒ ตำบลชานุวรรณ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เร่งรัดดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในระยะยาวให้กับพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่ทำการเกษตร แต่มีเขตชลประทานไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหา ความแปรปรวนของสภาวะอากาศโลก ทั้งปัญหา El Nino แล้วก็ภัยแล้ง ซึ่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่คาดว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง เพื่อเป็นการเตรียมการ จึงขอปรึกษาหารือผ่านท่านประธานไปยังรัฐบาลชุดใหม่ ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะเฉพาะหน้าและในระยะยาวให้กับ พี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ดิฉันขอติดตามความคืบหน้าการขอให้มีการติดตั้งสัญญาณ ไฟจราจร ๒ จุดที่เคยหารือต่อสภาในสมัยประชุมที่แล้วนะคะ จุดที่ ๑ ถนนทางหลวง หมายเลข ๒๐๒ บริเวณแยกบ้านหัวนา อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งพี่น้องประชาชน ในชุมชนได้ขอให้มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร แต่ว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้าง จุดกลับรถ แล้วก็สัญญาณไฟกระพริบแทน ซึ่งจุดกลับรถดังกล่าวมีระยะทางไกล สุ่มเสี่ยง เกิดอันตราย ที่ผ่านมาหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จก็เกิดอุบัติเหตุ และมีผู้เสียชีวิตแล้วหลายราย จึงขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาทบทวนความเหมาะสมการติดตั้ง สัญญาณไฟจราจรใหม่อีกครั้งค่ะ จุดที่ ๒ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๓ บริเวณ หน้าโรงเรียนเมืองอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้กระทรวงคมนาคม ได้ทบทวนและเร่งรัดการพิจารณางบประมาณติดตั้งสัญญาณไฟจราจรแทนสัญญาณ ไฟกระพริบในบริเวณดังกล่าว เพื่อเป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุให้กับพี่น้องประชาชน ในระยะยาวค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอ ปรึกษาหารือท่านประธานผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเร่งดำเนินการทั้งหมด ๔ โครงการ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. โครงการแก้ไขปัญหาสถานีสูบน้ำบ้านท่าค้อ ตำบลแจ้ง อำเภอ อาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด และตำบลหน่อม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตรและเพื่อการอุปโภค บริโภคเป็นจำนวนมาก

    อ่านในการประชุม

  • ๒. โครงการขุดลอกลำห้วยไส้ไก่ต่อจากกองพันทหารช่างที่ ๒๗ กองทัพ ภาคที่ ๒ ให้มีการขุดลอกห้วยไส้ไก่ให้แล้วเสร็จ พร้อมขอให้ก่อสร้างถนนตลอดแนวพนัง เพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำทำการเกษตร แล้วก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว

    อ่านในการประชุม

  • ๓. โครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำบริเวณแม่น้ำชีจากบ้านท่าค้อ ตำบลแจ้ง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งพาดผ่านบ้านโนนแฮด หมู่ที่ ๔ บ้านกลอย หมู่ที่ ๑๐ บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ ๑๑ บ้านฟ้าเลื่อม หมู่ที่ ๒ บ้านห้วยไส้ไก่ บ้านท่าไฮ ตำบลโพธิ์ใหญ่ พร้อมทำประตูเปิดปิดน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภายในพื้นที่ ตำบลหน่อม ตำบลหนองหมื่นถ่าน ตำบลอาจสามารถ ตำบลหนองขาม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด

    อ่านในการประชุม

  • ๔. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชีเชื่อมจากบ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลหน่อม อำเภออาจสามารถ ข้ามไปบ้านโพธิ์ตาก ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ และตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งโครงการที่ดิฉันได้ปรึกษาหารือ ทั้ง ๔ โครงการข้างต้นเป็นโครงการที่เคยเตรียมดำเนินการภายใต้โครงการอาจสามารถ โมเดลที่มีท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเพื่อแก้ปัญหาสังคมและความยากจน เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอย่างมาก แต่หลังจากการรัฐประหาร ปี ๒๕๔๙ โครงการเหล่านี้ได้ชะงักไป ดิฉันจึงขอปรึกษาหารือ ผ่านท่านประธานไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ให้เร่งดำเนินการ โครงการข้างต้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • อีกประเด็นหนึ่ง ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้พิจารณาก่อสร้าง พนังกั้นน้ำบริเวณบ้านท่าสะอาด ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะเกิดปัญหาพนังกั้นน้ำพังแล้วก็กินพื้นที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชน จึงขอปรึกษาหารือท่านประธานเพื่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการเป็นการด่วน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอขอบคุณ ท่านประธานที่ให้โอกาสดิฉันได้ร่วมอภิปรายญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งดิฉันต้องเรียนว่า ในหลักการใหญ่ดิฉันเห็นด้วยที่จะให้มีการทำประชามติ และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ให้เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ดีดิฉันมีข้อสังเกต ต่อการเสนอญัตติด่วนฉบับนี้ ซึ่งมีการกำหนดคำถามว่าท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทย ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งคำว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ มีข้อสังเกตว่าอาจจะขัดกับคำแถลงนโยบาย ของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในหน้า ๖ มีรายละเอียดของนโยบายเร่งด่วนสุดท้ายระบุว่า การแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวด พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเราไปดู ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ ได้มีคำวินิจฉัยแบ่งเป็น ๒ ระดับ ๓ ลักษณะ โดยในระดับที่ ๑ สำคัญมาก กำหนดให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมาก อาทิ มาตรา ๒๕๕ ซึ่งบัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวางหลักไว้ว่าห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญตรงส่วนนี้โดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงอาจถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ ช่วยตอกย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเว้นหมวด ๑ และหมวด ๒ จะเป็นการลดแรงเสียดทาน ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลอดภัยที่สุด และเอื้อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น ท่านประธานที่เคารพคะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเว้นหมวด ๑ และหมวด ๒ ก็ไม่ได้ทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไร้ความหมายแต่อย่างใด เพราะถ้าเราสามารถผลักดันให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้เมื่อไร สสร. ที่จะเป็นตัวแทนเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญสามารถเข้าไป แก้ไขหมวดที่เหลือได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นกลไกที่ถูกฝังไว้ ในรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือรักษาอำนาจของคนที่เชื่อมโยงกับระบอบเดิม ไม่ว่า จะเป็นอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ที่มาขององค์กรอิสระต่าง ๆ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี สสร. ก็สามารถเข้าไปพิจารณาแก้ไขได้ นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ ยังทำให้เกิดประเด็นที่ต้องถกกันต่อว่าสรุปแล้วการจัดทำประชามติต้องทำ กี่ครั้งกันแน่ จะเป็น ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ซึ่งในส่วนนี้เราต้องการความรอบคอบและรัดกุม เพราะ ๑. การทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ ล้านบาท ๒. การทำประชามติครั้งนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยที่เราจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ เพราะการทำ ประชามติรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ระบุว่าต้องทำแบบ Double Majority คือเสียงข้างมาก ๒ ระดับ ระดับที่ ๑ ประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งแม้ว่า ที่ผ่านมาสถิติการใช้สิทธิทำประชามติในปี ๒๕๕๐ มีคนออกมาทำประชามติประมาณ ๕๗ เปอร์เซ็นต์ การทำประชามติปี ๒๕๖๐ คนออกมาประมาณ ๕๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เกิน ครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และในระดับที่ ๒ ก็คือการทำประชามติต้องได้เสียงข้างมากของผู้มา ใช้สิทธิ แต่ว่าบรรยากาศของการแก้ไขธรรมนูญในปีนี้กับเมื่อหลายปีก่อนมันไม่เหมือนกัน ดังนั้นการกำหนดคำถาม การดำเนินการจะส่งผลอย่างยิ่งต่อผลลัพธ์การทำประชามติ ในครั้งนี้ ซึ่งเราต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่การทำ ประชามติไม่ผ่าน ท่านประธานที่เคารพคะ ด้วยเหตุผลรายละเอียดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การออกแบบการทำประชามติมีความละเอียดอ่อนทั้งในแง่ของงบประมาณ และต้องคำนึง อย่างรอบด้านว่าการทำประชามติจะผ่านต้องทำอย่างไร คำถามต้องถามแบบไหน และต้อง ทำกี่ครั้ง เพื่อให้มีความรอบคอบ และให้การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ที่ถูกขนานนามว่า เป็นเหมือนค่ายกลแก้ไขได้ยากมาก ให้เราสามารถทะลวงค่ายกลนี้แล้วก็แก้ไขได้สำเร็จ ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างกันมากมายหลายประเด็น ดิฉันจึงสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาล ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหา ความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งเรา อาจจะต้องเสียเวลาเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อยเพื่อศึกษาให้รอบคอบ เพื่อให้มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญให้สำเร็จเป็นจริงตามที่ได้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการแถลง ของคณะกรรมการชุดนี้ ได้มีการประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ และมี การตั้งคณะอนุกรรมการ ๒ คณะ คือ คณะที่ ๑ คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำ ประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดว่าต้องทำประชามติ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้งกันแน่ ชุดที่ ๒ เป็นคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นจากกลุ่มอาชีพ ต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะที่เรากำลังถกญัตติประชามติอยู่ในวันนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะ กำลังมีการประชุมนัดแรก โดยคณะกรรมการวางเป้าหมายใหญ่ ที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๖ ก็คืออีกไม่กี่วัน กี่เดือนนี้ค่ะ แล้วก็ จะมีการทำประชามติในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๗ นั่นหมายความว่าเหลือเวลาไม่กี่เดือน ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ Mode การรณรงค์ทำประชามติทั้งประเทศ สุดท้ายนี้ ตั้งแต่มี การอภิปรายมา ดิฉันยังไม่เห็นว่ามีสมาชิกท่านไหนลุกขึ้นอภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับการทำ ประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และถ้าถามว่าถ้ามีพรรคการเมืองไหนที่อยากแก้ไข รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ มากที่สุด ดิฉันมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับต้น ๆ ที่อยาก แก้ไขร่างประมวลฉบับนี้อย่างแน่นอน แต่เมื่อดิฉันได้พิจารณาคำถามประชามติที่กำหนด ในญัตตินี้ ทำให้เห็นว่ายังมีรายละเอียดที่ทำให้เกิดข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งหาก วันนี้จะมีมติออกมาว่าดิฉันไม่เห็นด้วยกับญัตติด่วนฉบับนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าดิฉัน ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ หรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ดิฉันไม่เห็นด้วย เพราะว่ามีข้อกังขาต่อคำถามการทำประชามติที่ระบุไว้ ดังรายละเอียดที่ดิฉันได้อภิปรายไป เมื่อสักครู่นี้ค่ะ อย่างไรก็ดีดิฉันคิดว่าวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการถกกันถึงญัตติ การออกเสียงประชามติเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตรงตามนโยบาย ของรัฐบาลที่นำโดยท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ดิฉันเห็นว่าความเห็นของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในวันนี้ ควรจะ ถูกรวบรวมส่งไปยังรัฐบาลเพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการประชามติ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดรับฟัง ความเห็นจากทุกภาคส่วนอยู่แล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้เสียง ของทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการทำประชามติ นำไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ พรรคเพื่อไทย ดิฉันขอปรึกษา หารือท่านประธานผ่านไปยังกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๕ ผ่าน ๓ โครงการดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • โครงการที่ ๑ ขอให้พิจารณาขุดลอกหรือทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ หนองกุดจันและหนองกุดเซียม ณ บ้านคำไฮ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๓ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ พร้อมสร้างระบบกระจายน้ำ ไปยังพื้นที่ตำบลคำไฮและตำบลค้อใหญ่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เป็นประจำทุกปี

    อ่านในการประชุม

  • โครงการที่ ๒ ขอให้พิจารณาขุดลอกหรือทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูหนองบึงลับ ณ บ้านโพธิ์น้อย หมู่ที่ ๗ หมู่ที่ ๑๒ และหมู่ที่ ๑๘ ตำบลแสนสุข อำเภอพนมไพร จังหวัด ร้อยเอ็ด มีพื้นที่กว่า ๑๑๔ ไร่เพื่อกักเก็บน้ำและให้ก่อสร้างระบบกระจายน้ำไปยังตำบลแสนสุข และตำบลสระแก้ว อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ให้กับพี่น้องประชาชนได้ในระยะยาว

    อ่านในการประชุม

  • โครงการที่ ๓ ขอให้พิจารณาขุดลอกหรือทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ในพื้นที่หนองเล็บขาว หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๑๐๔ ไร่ พร้อมให้สร้างระบบกระจายน้ำไปยังตำบลหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ที่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคแล้วก็ทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง เป็นประจำทุกปี ขอให้กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งกับพี่น้องประชาชนในระยะยาว ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม