นางปทิดา ตันติรัตนานนท์

  • กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย เขต ๘ อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอพนมดงรัก ตำบลตาตุม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ ตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ วันนี้ถือเป็นความโชคดีของพี่น้องชายแดนและตัวดิฉันเอง ที่ได้มีโอกาสนำปัญหาในพื้นที่เข้ามาหารือในสภา เพื่อจะผ่านไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการแก้ปัญหาต่อไป วันนี้มีปัญหา ๒ ประเด็นค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ในข้อแรก ปัญหาจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศเป็นจุดผ่านแดนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นจุดผ่านแดนที่มีมูลค่า การค้าชายแดนปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท มีการท่องเที่ยวที่เป็นเส้นทางจากชายแดน ไปยังนครวัด นครธม เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา บนเส้นหลวงหมายเลข ๖๘ ระยะทาง ๑๕๔ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ๆ เป็นที่น่าเสียดายว่าจุดผ่านแดน ที่มีมูลค่าการค้าขายเป็นหมื่นล้าน แต่กลับถูกเพิกเฉยละเลยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา วันนี้ขอหยิบยกมา ๑ ประเด็น ประเด็นก็คือการขอใช้พื้นที่ในการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวร ช่องจอม ตำบลด่าน ก่อนถึงด่านชายแดนประมาณ ๓๐๐ เมตรเรื่อยลงมาจนถึงชุมชน จะเป็นพื้นที่ ๒ ฝั่งถนนลาดยางอยู่ในเขตของกรมทางหลวงจำนวนฝั่งละ ๔๒ ไร่ พื้นที่ทั้งหมด ๘๔ ไร่ แต่ปัญหาคือพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทับซ้อนถึง ๓ หน่วยงาน คือ ๑. พื้นที่ของกรมทางหลวง ๒. พื้นที่ของกรมป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ๓. พื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน ห้วยสำราญ จากที่ไม่มีเจ้าภาพที่แน่นอน ทำให้เราสูญเสียโอกาส ๒๑ ปี เราเสียทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การสร้างงาน การสร้าง รายได้ เราไม่อยากรออีกต่อไปค่ะท่านประธาน ดิฉันเชื่อว่าการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องกำไรหรือขาดทุน แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนที่จะนำเม็ดเงิน มาลงทุนในด่านชายแดนจุดนี้ ดิฉันขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยริเริ่มดำเนินการให้เกิดความชัดเจนในการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง โดยเฉพาะพื้นที่ปัญหาทับซ้อนขอให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจนขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนประเด็นปัญหาที่ ๒ อ่างกักเก็บน้ำเขื่อนขยอง เขื่อนบน หมู่ที่ ๕ บ้านขยอง ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ชำรุดนะคะ ปัญหาคือขอรับงบประมาณ ในการสนับสนุนขุดลอกพื้นที่ ๙๕ ไร่ ความลึก ๒ เมตร เสริมทำนบดินความยาว ๖๐๐ เมตร ก่อสร้างฝายน้ำล้น ก่อสร้างท่อส่งน้ำ เพื่อประโยชน์ให้กับพี่น้อง ๓ ตำบล จำนวน ๔๒ หมู่บ้าน คือ ตำบลตาตุม ตำบลบ้านจารย์ ตำบลบ้านชบ ดิฉันเชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐ ถ้าพวกเรา มีโอกาสตามยุทธศาสตร์ของชาติคือมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน พวกเราจะมาขอบคุณท่านประธาน ถึงสภา ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดสุรินทร์ วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ที่ท่านได้มาชี้แจง ข้อมูลถึงในเรื่องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ท่านประธานคะ แผนการปฏิรูปประเทศ ๑๓ ด้าน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบดำเนินการในการสร้างรากฐานของประเทศในช่วง ๕ ปีแรกของ ยุทธศาสตร์ ให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยน ยกเลิก กระบวนการ กลไก หรือกฎระเบียบต่าง ๆ แต่ก็น่าเป็นห่วงนะคะท่านประธาน เพราะ ๑๓ ด้าน ดิฉันมองว่ามันอาจจะดำเนินการไปได้น้อยแล้วก็ได้ช้า และในบางด้านก็อาจจะยัง ไม่เข้าประเด็นนะคะ วันนี้ขออนุญาตหยิบยกขึ้นมาแค่ประเด็นเดียวที่มีความน่าเป็นห่วงก็คือ ในข้อที่ ๔ ด้านกระบวนการยุติธรรมค่ะท่านประธาน ความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศ ในกระบวนการยุติธรรมยังน่าเป็นห่วงและไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ นะคะท่านประธาน จากรายงานเล่มนี้พบว่าถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ รายงานครั้งที่ ๑๘ ข้อ ๓ นะคะ เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราได้จัดให้มีทนายความประจำสถานีตำรวจได้เพียง ๒๐๓ สถานี คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๗ ค่ะท่านประธาน จากจำนวนสถานีตำรวจทั้งหมดในระยะเวลา ๕ ปี ของการปฏิรูป ซึ่งดิฉันถือว่ามันน้อยมากค่ะท่านประธาน ถ้าคิด ๑๓.๗ เรามีแผนพัฒนา ยุทธศาสตร์ของชาติ ๒๐ ปี อาจจะยังไม่ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะมีทนายอาสาไว้ประจำ สถานีตำรวจ ซึ่งไม่เพียงพอแล้วก็ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน และต้องการคำแนะนำทางข้อกฎหมายต่าง ๆ ทุกวันนี้พี่น้องดิฉันเชื่อว่าทั้งประเทศเรานะคะ โดนคดีความแล้วก็ไม่มีทนาย แล้วก็ได้ทนายที่อาจจะไม่ได้ตรงประเด็นทำให้พี่น้องประชาชน เสียหาย แล้วก็เดือดร้อนในเรื่องของการต้องเสียค่าทนายนะคะ อาจจะแพ้คดีเป็นปัญหาของ พวกเราอย่างมากมาย ทั้งนี้ในรายงานยังไม่ได้ระบุถึงความพึงพอใจทั้งของประชาชน และประสิทธิภาพการทำงานของทนายความในการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย อันนี้ก็ยัง น่าเป็นห่วงนะคะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนของศูนย์ยุติธรรมสร้างสุขที่ให้บริการประชาชนเรื่องความยุติธรรม ต่าง ๆ เป็นศูนย์ที่มีภาระงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ และไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงไม่มี ประสิทธิภาพเพียงพอเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการประสานงานและอำนาจในด้านที่เกี่ยวข้อง ขอยกตัวอย่างค่ะท่านประธาน เช่น การแนะนำให้ขอรับเงินช่วยเหลือกองทุนยุติธรรม และ/หรือเงินช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือจำเลยในคดีอาญายังดำเนินการได้อย่างล่าช้า ต้องรอ การพิสูจน์สิทธิ เอกสารยืนยันต่าง ๆ ใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะได้รับการอนุมัติ ต้องมี การร้องอุทธรณ์คำสั่งอยู่หลายครั้ง เกิดภาระทั้งทางด้านเอกสาร ค่าใช้จ่าย และจิตใจ แก่ผู้เสียหายมากเกินควร

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนในรายงานข้อที่ ๔ คือการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายด้านหน้าที่ อำนาจ ภารกิจของตำรวจ และการบริหารงาน บุคคลของตำรวจให้เหมาะสม รวมถึงการจัดสรรตำแหน่ง แต่งตั้งโยกย้ายตามระบบคุณธรรม แม้จะมีพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ แล้วก็ตาม ในการรับรู้ของประชาชน ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของตำรวจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ควรค่ะ ท่านประธาน การบริหารงานบุคคลของตำรวจยังต้องการความโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจชั้นประทวนและนายตำรวจสัญญาบัตรชั้นต้นที่ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ต้องการกำลังใจ ต้องการการสนับสนุนเชิงงบประมาณในภารกิจการเป็นตำรวจ เพื่อจะ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ท่านประธานคะ ท่านคงได้ยินความยากลำบากของตำรวจ ชั้นผู้น้อยที่ต้องเติมน้ำมันรถหลวงด้วยตัวเอง ซื้อปืนเอง ซื้อหมึกเครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้กระทั่งกระดาษพิมพ์บันทึกประจำวันเอง เพื่ออำนวยความยุติธรรมพิทักษ์สันติราษฎร์ ในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนและของตัวเองนะคะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะ ปล่อยปละละเลยไปได้ แม้จะมีกฎหมาย พ.ร.บ. ตำรวจกำกับดูแลก็ตาม แต่รายละเอียด ปลีกย่อยที่จะทำให้ตำรวจมีกำลังใจในการทำงานต้องไม่ถูกเพิกเฉยค่ะท่านประธาน เพราะ ตำรวจยังต้องเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นดิฉันจึงขอฝากท่านประธานนะคะว่า ในส่วนของการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา ๒๗๐ ผ่านมา ๕ ปีแล้วถือว่า ยังมีความน่าเป็นห่วงนะคะ อาจจะยังไม่ได้บรรลุแม้กระทั่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมา ดิฉัน ถือว่าน้อยมากนะคะ ต้องกราบขอบพระคุณค่ะท่านประธาน ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย วันนี้ดิฉันได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องในเขตพื้นที่ จำนวน ๔ เรื่องด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ ได้รับการแจ้งจากนายกเทอดพงษ์ กรงหิรัญ นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลบัวเชด กำนันสมบัติ เอ็นดู กำนันตำบลบัวเชด ขอไฟส่องสว่างหน้าโรงเรียน อนุบาลบัวเชด บนทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ ช่วงโค้งระมาดค้อ โรงเรียนอนุบาลบัวเชด กม. ๖๗+๘๐๐ ถึง กม. ๖๘+๙๐๐ หน่วยงานที่รับผิดชอบกรมทางหลวง แขวงทางหลวง สุรินทร์

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ ขอขยายถนนจาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข ๒๐๗๗ โรงพยาบาลบัวเชดถึงสามแยกบ้านดม ตำบลดม อำเภอสังขะ กม. ๖๕+๑๘๐ ถึง กม. ๕๗+๖๐๐ ระยะทาง ๗.๕๘ กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนทางเข้า อำเภอบัวเชด รองรับการสัญจรของคนทั้งอำเภอ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ของอำเภอบัวเชดที่มีของดีคือทุเรียนอยู่ในแนวเทือกเขาเดียวกันกับทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ตลอดจนมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย มีวัดเขาศาลาที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดสุรินทร์

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๓ ได้รับการแจ้งจากนายกจันทร์ทอง ทนงตน นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลโชคนาสาม นายกยุพชาติ ตีคลี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจีกแดก ขอไฟส่องสว่างบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๓๗๕ ทางหลวงชนบทจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบ ตอนตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท ถึงบ้านพนมดิน ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก ระยะทาง ๒๙ กิโลเมตร ผ่าน ๑๑ ชุมชน ๔ ตำบล ๒ อำเภอ โดยเฉพาะ จุดหน้าโรงเรียนมหาราช ๔ โรงเรียนบ้านจีกแดก สี่แยกโรงเรียนบ้านละเอาะ โรงเรียน พนมดงรักวิทยา เป็นชุมชนที่ไม่มีไฟส่องสว่างทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ตลอดจน ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๔ ได้รับการแจ้งจากนายกณัฐพัชร์ บุญมี นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลบักได ขอเสนอตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก เป็น Water Plant City คือเป็นที่เก็บน้ำ ที่ผลิตน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร ทำระบบน้ำประปา และยังเป็นแหล่ง ท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมให้กับพื้นที่หลายตำบลในเขตอำเภอปราสาท ตำบลบักไดมีอ่างเก็บน้ำถึง ๙ อ่าง พื้นที่รวมของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ๒,๒๐๕ ไร่ ถ้าเราพัฒนา ทุกอ่างเก็บน้ำจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ดิฉันจึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยัง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. ได้โปรด หันกลับมามองปัญหาและช่วยพิจารณานำงบประมาณมาแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับ นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ต่อไป กราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย ในวันนี้ดิฉันขออภิปรายกับสภาผู้แทนราษฎรในญัตติ เรื่องปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน และขอสนับสนุนญัตติของเพื่อนสมาชิกทุกญัตติ เพราะดิฉันเชื่อว่าวันนี้เพื่อนสมาชิกแต่ละท่านรับทราบปัญหาและมองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ ควรจะได้รับการแก้ไข ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเชื่อว่าปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน มีสภามา หลายสมัยมากค่ะท่านประธาน แต่ปัญหาที่ได้รับการแก้ไขอาจจะอยู่ในวงแคบ ๆ ที่ยังไป ไม่ถึงทั่วประเทศไทยของเรา ดิฉันอยากจะให้มองว่าในรัฐบาลสมัยนี้ โดยเฉพาะ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ท่านได้พูดถึงเรื่องปัญหา ถ้าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน เราก็แก้ไข แก้ไขในระเบียบถ้ามันไม่ได้ผิดระเบียบเกินไป หรือถ้าคนมีปัญหาก็ให้แก้ไขที่คน ดิฉันจึงมองว่าในรัฐบาลชุดนี้น่าจะมองเห็นแนวทาง และปัญหาเรื่องที่ดินทำกินก็คงจะมี โอกาสได้เกิดการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมได้มากขึ้นนะคะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานคะ ในประเด็นปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่ยืดเยื้อแล้วก็ เรื้อรังมาอย่างยาวนาน อาจจะเกิดจากความผิดพลาดและล่าช้าในการออกเอกสารสิทธิ ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ขอยกกรณี Case ของอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ในปี ๒๕๑๙ ทางชายแดนของเรามีภัยสงคราม ทหารก็มีการอพยพราษฎร ที่อยู่ตามชายแดนบริเวณบ้านตาเกาว์ หมู่ที่ ๓ บ้านพาชื่น หมู่ที่ ๑๐ บ้านตาเกาว์พัฒนา หมู่ที่ ๑๘ บ้านศรีพระจันทร์ หมู่ที่ ๑๑ บ้านใหม่พาชื่น หมู่ที่ ๒๐ พื้นที่ที่อพยพไปอยูในเขต ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากที่ดินทำกินอยู่ในครอบครอง ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทุ่งมน-บักได-ตาเบา แปลงที่ ๓ แต่ทางราชการในขณะนั้นได้จัดสรรที่ดินทำกินให้กับ ผู้อพยพภัยสงครามโดยไม่ได้มีการออกเอกสารสิทธิให้รวมทั้งหมด ๕ หมู่บ้าน เนื้อที่ทั้งหมด ๓,๕๐๐ ไร่ จนถึงปัจจุบันนี้สภาพป่าไม่มีหลงเหลืออยู่แล้วนะคะท่านประธาน การขาด เอกสารสิทธิที่แน่ชัดของราษฎรในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวน นอกจากในพื้นที่ อำเภอกาบเชิงแล้ว ดิฉันเชื่อว่ายังเป็นปัญหาต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับราษฎรในอีกกว่า ๒๓ จังหวัด ทำให้ประชาชนขาดความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จำเป็นต้องมี การแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยการลงตรวจสอบพื้นที่จริง ๆ และดำเนินงานในกรอบการรักษา พื้นที่ป่าจริง ๆ แยกให้ชัดเจนเลยว่าพื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่ป่าจริง ๆ ก็ให้ประกาศเลย เป็นพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ไหนที่สภาพป่ามันไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ความเจริญมันไปถึงแล้ว ประชาชนอยู่กันมาอย่างยาวนานก็ควรจะให้มีการดำเนินการทางเอกสารให้ชัดเจนเกิดขึ้น โดยไม่ให้กระทบกระเทือนกับสภาพป่าจริง ๆ ค่ะท่านประธาน และการกำหนดพื้นที่ ป่าสงวนใหม่ในส่วนที่บ้านเรือนราษฎรอาศัยอยู่อย่างยาวนานก็จะเกิดความถูกต้องชัดเจน มากขึ้น ในกรณีนี้หลังจากการตรวจสอบร่วมกันของจังหวัดสุรินทร์ของเรา แล้วก็ ทางอำเภอกาบเชิง ได้แจ้งไปยังกรมป่าไม้เพื่อนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการยกเลิก พื้นที่ป่าสงวนและขอให้ส่งมอบพื้นที่ตรงนี้ ออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้กับราษฎร ตามหนังสือของจังหวัดสุรินทร์ที่ได้นำเสนอให้กับทางอธิบดีกรมป่าไม้ ด่วนที่สุด เลขที่ สร ๐๐๑๔.๓/๖๐๑๕ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๕ ในข้อเสนอของดิฉัน ดิฉันขอเรียน หารือผ่านท่านประธานไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ โดยผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้สุรินทร์ให้เร่งส่งมอบ พื้นที่ให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจะให้ราษฎรมีความมั่นคงแล้วก็เกิดความมั่นใจในการที่จะมี ที่ดินทำกิน ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการปรับปรุงพื้นที่ทับซ้อนแบบ One Map ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ท่านประธานคะ จริง ๆ แล้ว เขตพื้นที่บริเวณตำบลกาบเชิง ๕ หมู่บ้าน ที่ดิฉันได้นำเรียนท่านประธาน เป็นพื้นที่ที่อยู่ บริเวณที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาลกาบเชิง เป็นที่ดินทำมาหากินของพี่น้อง ไม่มีสภาพป่า หลงเหลืออยู่แล้ว และจริง ๆ ในเขตอำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด ก็จะมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นมากมาย ดิฉันจึงฝากถึงท่านประธานสภาไปถึงรัฐบาลว่าเอกสารสิทธิที่ออกให้เพื่อจะให้ประชาชน ได้เกิดความมั่นใจ แล้วก็จะได้ใช้สิทธิเต็มที่ในสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เกิดอุทกภัย การช่วยเหลือราคาพืชผลการเกษตร แต่ทุกวันนี้พี่น้องที่ทำการเกษตรที่ไม่มี เอกสารสิทธิจะไม่ได้รับประโยชน์ตรงจุดนี้ ถือว่าทำให้เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องของ การทำมาหากินของเกษตรกร ดิฉันจึงกราบเรียนท่านประธานสภาผ่านไปถึงรัฐบาลว่าขอให้ ช่วยดำเนินการอย่างจริงจัง พวกเรารอความหวัง และดิฉันเชื่อว่าถ้าดำเนินการได้ในที่ใด ที่หนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นตัวอย่าง เป็น Case ที่สามารถจะต่อเนื่องไปถึงทุก ๆ จังหวัด ทุก ๆ พื้นที่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันนะคะ กราบขอบพระคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานที่เคารพคะ จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ ดิฉันได้หารือผ่านท่านประธานในเรื่องการนำเสนอตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็น Water Plant City การหารือในวันนี้ดิฉันอยาก นำเสนอว่าทำไมเราจึงอยากให้เกิด Water Plant City ขึ้นตามแนวชายแดนจังหวัดสุรินทร์ บ้านของดิฉัน

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาปัจจุบันชาวบ้านทำการเกษตร มาอย่างยาวนาน แต่หนี้สินที่มีก็ยังอยู่เช่นเดิมค่ะท่านประธาน แถมเพิ่มมาก็ยังคือหนี้อีก ถ้าเรามาวิเคราะห์กันถึงสาเหตุว่าทำไมเกษตรกรถึงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้คงจะมี หลากหลายปัญหา แต่ดิฉันมองว่าในหลายปัญหานี้มี ๑ ปัญหาที่เราสามารถหยิบขึ้นมาทำ แล้วก็คงจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้บ้าง คือการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดรายได้ ที่ยั่งยืนค่ะท่านประธาน คนที่มองว่าคนทำนาก็บอกว่ายั่งยืนแล้ว แต่ท่านประธานคะ คนทำนารู้ดีว่าค่าปุ๋ยแพง ค่าแรงแพง ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยว เหล่านี้คือปัญหาที่ทำให้ชาวนา ทำนาแล้วไม่เหลือเงิน เราจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดรายได้อื่น ๆ ด้วย ท่านประธานคะพื้นที่ในเขตอำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง อำเภอพนมดงรัก ตำบลตาตุม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ ตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท เป็นพื้นที่ชายแดนตามแนว เทือกเขาพนมดงรัก มีแหล่งน้ำที่กักเก็บน้ำมากมายตลอดแนวชายแดน เราสามารถ ปลูกทุเรียน เงาะ ลำไย มันสำปะหลัง และไม้ผลอื่น ๆ ได้อย่างดี แต่เราขาดซึ่งโอกาสคือ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ค่ะท่านประธาน ทำอย่างไรเราจะสามารถปรับปรุงขุดลอก อ่างเก็บน้ำ ทำคลองส่งน้ำ ทำคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำไปให้เกษตรกรได้ใช้ตลอดทั้งปีเพื่อสร้าง อาชีพและรายได้เพิ่มจากการทำนาเพียงอย่างเดียว หากสามารถช่วยให้เกษตรกรตาม แนวชายแดนบริหารและเพิ่มผลผลิตได้ดีแล้ว เรื่องการตลาดน่าจะไม่เกินความสามารถ ของรัฐบาลชุดนี้ ดิฉันจึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า จะเป็นกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมทรัพยากรน้ำ โปรดได้ยินเสียงเรียกร้องของเกษตรกรที่อยากหมดหนี้ด้วยค่ะ ท่านประธานคะขออนุญาต สั้น ๆ อีกนิดหนึ่งเรียนท่านประธานสภาไปถึงเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ จังหวัดสุรินทร์จะมี การจัดงานประจำปีคืองานแสดงช้าง เชิญชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่าน วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ มีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนช้าง วันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ มีการจัดแสดงช้าง ก็ฝากเชิญเพื่อน ๆ สมาชิก กราบขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะ ดิฉันขออนุญาตนำเสนอถึงญัตติที่ท่านวิทยา แก้วภราดัย กับคณะได้เสนอต่อสภา ดิฉันได้ขอเสนอญัตติร่วม เพราะเห็นว่าปัญหา ค่าครองชีพสูงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน ดิฉันขอนำเสนอปัญหา ค่าครองชีพในมุมมองของการศึกษา เนื่องจากในช่วงระยะวิกฤติของ COVID-19 ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนได้ประสบความยากลำบากในการครองชีพ

    อ่านในการประชุม

  • ด้วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระดับรายได้ไม่สูงขึ้นสอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในด้านการเรียน การศึกษาของบุตรหลาน ทำให้ครอบครัวสูญเสีย ความสามารถในการส่งเสียบุตรหลานให้เล่าเรียนต่อในชั้นสูงขึ้น เช่น มัธยมศึกษา หรืออุดมศึกษา เป็นความเสียหายต่ออนาคตของชาติ และเป็นวิกฤติต่อประเทศที่ไม่เคย เกิดขึ้นมาก่อนค่ะ ทั้งนี้ปรากฏว่ายังไม่มีคณะกรรมาธิการใดของสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขปัญหาอันสำคัญนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงควรเข้าไปมีบทบาทในการแสวงหา ทางออกแก้ไขให้แก่ประเทศต่อไป ดิฉันจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๙ ส่วนเหตุผลดิฉันจะขอนำเสนอ ต่อท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ในปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากผลสำรวจ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปีที่แล้วค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ปีละ ๒๒,๓๗๒ บาทต่อเดือน ในขณะที่เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่เพียง ๑๘,๗๖๖ บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง ๑๙.๒๑ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ไม่ทันรายจ่าย คือครัวเรือนไทยเรามีรายได้เฉลี่ยในปีที่แล้วอยู่ที่ ๒๘,๐๖๓ บาท เพิ่มจาก ปี ๒๕๕๕ ที่ ๒๔,๗๔๖ บาท คิดเป็นเพียง ๑๓.๔ เปอร์เซ็นต์ ช่องว่างการเติบโตของรายจ่าย และรายได้มีมากถึง ๕.๘ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ครัวเรือนไทยมีความเปราะบางมากขึ้น มีเงินเก็บ น้อยลง หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติดังกล่าว พบว่าสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาสูงขึ้น ๒๓.๘ เปอร์เซ็นต์และ ๒๒.๘ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เมื่อราคาอาหาร เพิ่มสูงขึ้นทำให้กระทบต่อครัวเรือนของไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อรายได้ในระดับสูง ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก แม้รัฐบาลที่ผ่านมาอาจมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาลดค่าครองชีพ ของประชาชนไปบ้างแล้ว แต่โครงสร้างหลักของราคาสินค้าจำเป็นคืออาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ของการดำรงชีพก็ยังไม่ถูกแก้ไข ตลาดการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเริ่มถูกผนวก ควบรวม ผู้ผลิตผู้ค้าส่งมีคู่แข่งน้อยรายลง และผู้ค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบจากการขาด การแข่งขันของผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งไม่ได้รับการกำกับดูแลโดยกฎหมาย นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคที่รัฐกำกับ อย่างราคาน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าขนส่งก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอ้างว่าไม่สามารถแบกรับต้นทุนผลิตได้ จึงขอขึ้นราคาในทุกมิติ และเมื่อ ได้ขึ้นราคาแล้วก็ยากที่จะลงได้ แม้ว่าค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าจะลงไปแล้วก็ตาม ท่านประธานคะ ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านในสภาแห่งนี้หากไปเดินที่ตลาด เดินตาม Supermarket จับจ่ายซื้อของ ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่เปิด Application มือถือของท่านเลือกซื้อสินค้า ก็จะเห็นว่าสินค้า ต่าง ๆ แพงขึ้นโดยตลอด พี่น้องประชาชนต้องรอวันลดราคาหรือมี Promotion แย่งกันกด แล้วก็แย่งกันใช้ และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นจนพี่น้องประชาชนแบกรับ ไม่ไหวแล้วนั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออนาคตของชาติ คือ เด็กและเยาวชนที่ต้อง ขาดการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งการอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาไม่ไหวอีกต่อไปเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ศักยภาพของพี่น้อง ประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวเสียหาย ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ในปี ๒๕๖๕ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. ได้ทำรายงาน สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เกี่ยวพันกับปัญหารายได้และค่าครองชีพ คือในตอนนี้เรามีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า ๑,๐๔๔ บาท ท่านประธานคะ ย้ำว่า ๑,๐๔๔ บาทค่ะ มีจำนวนอยู่ถึง ๑,๓๐๗,๑๕๒ คน หมายความว่าเรามีเด็ก ๆ นับล้านที่มีความเสี่ยง และเปราะบางในการดำรงชีพและกำลังจะขาดโอกาสที่จะได้เรียนต่อ เพราะเมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดิ้นรนหารายได้เพื่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวให้รอดไปวัน ๆ ก็ไม่มีการเก็บสะสมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในระยะยาว หรือแม้กระทั่งจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาให้กับบุตรหลานได้ ท่านประธาน ที่เคารพคะ การสนับสนุนการศึกษาของภาครัฐในปัจจุบันให้แก่ประชาชน เช่น ทุนสนับสนุน ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอน ค่าชุดนักเรียน ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ระหว่างการเรียน ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน รวมถึงราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษาก็เพิ่มสูงขึ้นตามค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ ไม่สอดคล้องกับงบประมาณ ที่รัฐตั้งไว้เพื่ออุดหนุนนักเรียนเช่นเดียวกัน จากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา วสศ. ในปีพ.ศ. ๒๕๖๔ พบว่าในการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รัฐอุดหนุน เงินเพื่อการศึกษาต่อนักเรียน ๑ คนอยู่ที่คนละ ๖,๑๕๘ บาทต่อปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องจ่ายจริง ถึง ๑๗,๘๓๑ บาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดคือค่าเล่าเรียน ที่ถึงแม้ว่า รัฐจะอุดหนุนค่าจัดการการเรียนการสอนต่อคนอยู่ที่คนละ ๓,๕๐๐ บาทต่อปี และให้ยกเว้น ค่าเทอมจนจบมัธยมศึกษาตอนต้นก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นมาในโรงเรียนโดยไม่อาจปฏิเสธได้ค่ะ จากการสำรวจ ในปี ๒๕๖๓ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เราจะพบว่ามีนักเรียน เพียง ๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. และน้อยยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง ๒๘ เปอร์เซ็นต์ที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยปัจจัย ทางเศรษฐกิจของครอบครัวและยิ่งเมื่อสถานการณ์ Covid-19 เข้ามาทำให้รายได้ครัวเรือน ตกต่ำลงและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อัตราการเรียนต่อของเด็กและเยาวชนไทย ก็ยิ่งลดน้อยลง เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ทั้งในช่วงรอยต่อระหว่าง ประถมศึกษากับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ มีมากถึง ๑.๒ ล้านคน ผลกระทบของค่าครองชีพ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อระบบการศึกษาในครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้การพัฒนา คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเด็กและเยาวชนที่เราห่วงใย อันจะเป็นอนาคต ของประเทศชาติในวันข้างหน้า เกิดปัญหาและกระเทือนต่อศักยภาพของประเทศไทย ในระยะยาว ท่านประธานที่เคารพ ดิฉันเชื่อว่าท่านสมาชิกสภาจำนวนมากมีบุตรหลาน ของตัวเองและเรื่องการศึกษาของบุตรหลานก็เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เหมือนกับพี่น้องประชาชนที่ต้องเผชิญสภาพความยากลำบากจากค่าครองชีพที่สูง อยู่ในขณะนี้ ในหมู่พ่อแม่มีคำกล่าวโดยทั่วไปว่าไม่มีกินก็ได้ แต่ขอให้ได้ส่งลูกเรียนค่ะ ดังนั้น การที่ต้องให้บุตรหลานออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นเรื่องเหลือทนที่พ่อแม่แทบทุกคน ต้องกัดฟันทำใจไม่อยากให้เกิดขึ้นค่ะ ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกที่เคารพ ดิฉัน ขออ้างอิงถึงชื่อท่านนะคะ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่าถ้าเราไม่สามารถเจียดเงินมา เพื่อการศึกษา ก็ไม่น่าจะเจียดเงินไปสำหรับเรื่องอื่นได้ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงมองว่าการใช้เงิน เพื่อการศึกษาจะดีกว่าหรือไม่ ที่เราสามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการศึกษาและด้านอื่น ๆ ของพี่น้องประชาชนไปพร้อมกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนแต่ละครอบครัวมีเงินในกระเป๋า เพิ่มมากขึ้น สามารถลงทุนในอนาคตของครอบครัวคือลูกหลานของตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่เดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิต ให้ประชาชนคนไทยมีทางเลือกในการครองชีพ และให้ลูกหลานไทยได้มีการศึกษาโดยไม่ต้องหลุดออกจากระบบ ดิฉันเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ในการแสวงหาทางออก ทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ดิฉันจึงขอเสนอ ให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง เพราะเรามองว่าปัญหาค่าครองชีพสูงไม่ได้กระทบเฉพาะตัวพ่อแม่แต่ไปถึงเด็ก ๆ ด้วย เราเชื่อว่าวันนี้ถ้าเราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วเราจะนำเสนอไปถึงรัฐบาล เพื่อจะให้ ทางรัฐบาลนำไปปฏิบัติต่อไป กราบขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขตเลือกตั้งที่ ๘ พรรคภูมิใจไทย วันนี้มีอยู่ ๒ ประเด็น ที่จะหารือในสภา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรกคือการขอใช้ที่ดิน ของราชการในเขตป่าไม้ เพื่อขออนุญาตจัดตั้งเป็นวัดที่ถูกต้อง ในจังหวัดสุรินทร์ของเรา มีที่พักสงฆ์ประมาณเกือบ ๑๐๐ แห่ง ที่ยังไม่สามารถขออนุญาตเป็นวัดที่ถูกต้องได้ ทั้งที่สำนักสงฆ์เหล่านี้เป็นวัดที่อยู่ในชุมชนมาอย่างยาวนาน ใช้ในกิจการทางสงฆ์มาตลอด แต่ที่พักสงฆ์เหล่านี้อยู่ในเขตป่าไม้ที่ไม่มีสภาพป่าหลงเหลืออยู่ค่ะท่านประธาน มีอยู่หลายที่ ที่อยากจะตัดหวายฝังลูกนิมิตก็ทำไม่ได้ เพราะยังเป็นแค่ที่พักสงฆ์ ดิฉันได้ติดตามไปยัง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ ทางสำนักงานได้แจ้งว่าได้ส่งหนังสือไปถึง ศูนย์อำนวยการป่าไม้จังหวัดสุรินทร์หลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา ว่าจะสามารถอนุญาตให้เป็นวัดที่ถูกต้องได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง เช่น วัดสวายสวรรค์ทอง ตำบลโคกตะเคียน อำเภอกาบเชิง จะตัดหวายฝังลูกนิมิตก็ยังทำไม่ได้ วัดโจรกพัฒนาวาส ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้นดิฉันจึงขอหารือผ่าน ท่านประธานสภาไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ ศูนย์อำนวยการป่าไม้จังหวัดสุรินทร์ ว่าเราจะสามารถ ทำเรื่องได้เหมือนเราไปขออนุญาตรังวัดออกโฉนดที่ดิน ว่าเราจะได้คิววันไหน เดือนไหน หรือปีไหน เพื่อชาวบ้านจะได้มีความรู้สึกสบายใจมากขึ้น แล้วจะเป็นการดูแลทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาของเรา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ขออนุญาตจัดตั้งขอใช้ที่ดินของนิคมสร้างตนเองปราสาท เพื่อก่อสร้างเป็นสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขาปราสาท ปัจจุบันนี้สำนักงานที่ดิน สาขาปราสาทดูแลอยู่ ๓ อำเภอ คืออำเภอปราสาท ประชากร ๑๕๐,๐๐๐ กว่าคน อำเภอพนมดงรัก ประชากร ๓๗,๐๐๐ กว่าคน อำเภอกาบเชิง ประชากร ๖๐,๐๐๐ กว่าคน สำนักงานที่ดิน สาขาปราสาท ปัจจุบันอยู่ในที่ว่าการอำเภอปราสาทค่ะท่านประธาน เป็นสถานที่อาคารหลังเล็กที่จอดรถก็ไม่เพียงพอ ที่พักคอยของผู้มาติดต่อราชการ ก็ไม่เพียงพอ ถ้าเราสามารถใช้ที่ดินของนิคมสร้างตนเองปราสาทเป็นสำนักงานที่ดินหลังใหม่ ก็จะเป็นความสะดวกให้กับพี่น้องทั้ง ๓ อำเภอ เพราะอยู่จุดกึ่งกลางของทั้ง ๓ อำเภอ และดิฉันจึงขอหารือผ่านไปยังกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ถ้าท่านสามารถช่วย อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ก่อสร้างอาคารสำนักงานที่ดินแห่งใหม่ ก็จะทำให้ ประชาชนที่มาติดต่อราชการมีรอยยิ้มให้กันมากขึ้น และข้าราชการก็จะทำงานด้วยความสุข กราบขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามแนวชายแดน จังหวัดสุรินทร์ เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย ท่านประธานคะ จากการหารือเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ เรื่องอ่างเก็บน้ำเขื่อนขยอง เขื่อนบน หมู่ ๕ ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ชำรุด โดยขอให้ปรับปรุงดังนี้ ขุดลอกพื้นที่ ๙๕ ไร่ ความลึก ๒ เมตร เสริมทำนบดิน ความยาว ๖๐๐ เมตร ก่อสร้างฝายน้ำล้น ก่อสร้างท่อส่งน้ำ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาช่วงหน้าแล้ง ให้มีน้ำใช้ได้ตลอด ส่วนช่วงหน้าฝนก็จะทำให้ป้องกันน้ำท่วมให้กับอีกหลายอำเภอของ จังหวัดสุรินทร์ แต่จนบัดนี้ตั้งแต่วันที่ดิฉันหารือยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยตรวจสอบ หรือแก้ไขปัญหา ดิฉันจึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมชลประทาน ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย ประกอบกับปีนี้ เราทราบว่าจะเกิดปรากฏการณ์ El Nino ทำให้เกิดการแล้งหนัก สภาพอากาศจะร้อนมากขึ้น ทั้งร้อนและแล้ง จึงขอย้ำผ่านท่านประธานสภาไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือ กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือน โดยการที่จะช่วยกันเร่งขุดลอกอ่างเก็บน้ำ หรือการเร่ง กักเก็บน้ำไว้ใช้ เพราะน้ำคือชีวิต คืออาชีพ คือรายได้ เพื่อจะเลี้ยงปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ทั้งประเทศไทยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องที่ ๒ ได้รับการแจ้งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา นายก ศิรินภา พัวพัฒนโชติ ว่าถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๒๘ ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ ชำรุดอยู่ ๒ จุด จุดที่ ๑ ถนนลาดยางเส้นทางเข้าหมู่บ้านชำเบง หมู่ที่ ๕ ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ทางเชื่อมถนนทางหลวงหมายเลข ๒๓๒๘ แยกเข้าช่องจอม ไปบ้านนาตำบล จุดที่ ๒ บริเวณวงเวียนบ้านลันแต้ ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ ประกอบ กับถนนนี้เป็นถนน ๔ ช่องจราจรบางจุดยังไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยัง กรมทางหลวง แขวงทางหลวงจังหวัดสุรินทร์ได้ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซม ถนนสายดังกล่าวนี้ให้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ปทิดา ตันติรัตนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต ๘ พรรคภูมิใจไทย วันนี้มี ๒ ประเด็นที่จะหารือในสภาค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ก็คือไฟฟ้าส่องสว่าง

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอไฟฟ้าส่องสว่างบนทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ สุรินทร์-ช่องจอม กม. ที่ ๒๕๒ ถึง กม. ที่ ๒๖๐ ถนนนี้เป็นถนน ๔ เลน เป็นเส้นตรงตลอด ทำให้ความเร็วของรถ ใช้ได้อย่างเต็มที่ตลอดเส้นทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตอยู่หลายครั้ง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ได้รับการประสานจากนายกเทศมนตรีตำบลบัวเชด นายไตรภพ ดวงอินทร์ ขอไฟฟ้าส่องสว่าง ดังนี้ บนทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ ช่วงแยกบ้านบัวขุนจงถึง หน้าโรงเรียนบัวขุนจง (กรป. กลางอุปถัมภ์) หมู่ที่ ๒ ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ระยะทาง ๕๐๐ เมตร ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๔ ตอนควบคุม ๐๑๐๒ แยกเข้าบ้านบัวเชด หมู่ที่ ๑ ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด ระยะทาง ๑.๒๕ กิโลเมตร

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ไฟฟ้าส่องสว่างบนทางหลวงชนบทสายทางที่ ๒๐๔๗ จากเทศบาลตำบล บัวเชดผ่านบ้านแกรงถึงบ้านสวาท ตำบลสำเภาลูน อำเภอบัวเชด เป็นเส้นทางคดโค้งทำให้ เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังกรมทางหลวง กรมทางหลวง ชนบท ให้ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ขอรับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างสนามกีฬาระดับตำบล ในพื้นที่อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่ตามชายแดนประกอบไปด้วย ๔ ตำบล ประชาชนประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าคน มีพื้นที่พร้อมในการก่อสร้างสนามเพื่อจะให้โอกาส เด็กและเยาวชน ประชาชน ได้มีสนามกีฬาที่มีมาตรฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา และจะช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดจนมีพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวกให้กับเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน จึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ช่วยพิจารณาสนับสนุนจัดสรรงบประมาณ ในการก่อสร้างสนามกีฬาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตามชายแดน การเปิดพื้นที่กีฬา ระดับมาตรฐานให้เยาวชนได้มีโอกาสฝึกฝนและแสดงทักษะ ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ในประเทศก็เป็นการเปิดโอกาสในอนาคตให้กับคนรุ่นต่อไปว่าเราอาจจะพบช้างเผือก ผู้ที่มีอัจฉริยภาพ ความสามารถจากชายแดน พลิกชีวิตและสร้างความเป็นไปได้ไม่รู้จบให้แก่ เยาวชนของประเทศไทยค่ะ ขอบคุณค่ะท่านประธาน

    อ่านในการประชุม