กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตน์ เมืองสรวงครับ ท่านประธาน กระผมต้องกราบขอบพระคุณผ่านทางท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี ท่านไชยา พรหมา ที่ให้เกียรติและเสียสละเวลาเพื่อมาตอบกระทู้ถามความเดือดร้อน ของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ท่านประธานครับ พี่น้องเพื่อนสมาชิกหลายท่านคงเคยได้ยิน เมนูอาหารอีสานที่ชื่อซอยจุ๊ และผมเชื่อว่าสมาชิกหลายท่านอาจจะเคยชิม นี่คือ Soft Power ด้านอาหารของอีสานนะครับ เป็น Menu ที่ได้จากวัตถุดิบเนื้อวัว เนื้อควาย ซอยจุ๊ ลาบ ก้อย ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย Menu ซอยจุ๊ที่ดีต้องมาจากเนื้อวัวที่เลี้ยง แบบวิถีธรรมชาติ กินหญ้า กินฟาง โดยส่วนมากก็มาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวรายย่อย หลายปี ที่ผ่านมาครับท่านประธาน เนื้อวัว ราคาวัวของพี่น้องเกษตรกรอยู่หน้าเขียงที่มีขาย ตามท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ ๒๘๐-๓๒๐ บาท คงตัวอย่างนี้มาตลอดครับท่านประธาน ขณะเดียวกันวัวที่มีชีวิตจากพี่น้องเกษตรกรก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูป กลับมีราคาลดลง เกือบทุกปี แต่ก่อนเคยขายตัวหนึ่งอยู่ที่ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท ท่านประธานครับ ปัจจุบัน ๑๕,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ บาทเท่านั้นเองครับ อีกทั้งระยะหลังเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุน ในการเลี้ยงวัวอยู่ที่ ๑๐๐-๑๑๐ บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายกลับอยู่ที่ ๗๐-๘๐ บาท เท่านั้นเอง ขาดทุนตั้งแต่มันนอนอยู่ในคอกแล้วครับท่านประธาน ผมจึงอยากให้ท่านประธาน ได้ทราบถึงปัจจัยปัญหาที่ทำให้ราคาวัวตกต่ำ ซึ่งผมพบอยู่ ๒ ส่วนด้วยกันครับ
ส่วนแรก เป็นปัญหาของการตลาดภายในประเทศ
ประเด็นแรก เกิดจากการลักลอบการนำเข้าวัวและผลิตภัณฑ์เนื้อวัว จากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย มีข่าวออกมาไม่เว้นแต่ละเดือนว่ามีการจับกุมผู้กระทำ ความผิด เพราะต้นทุนวัวที่นำเข้าจากต่างประเทศถูกกว่าภายในประเทศมาก ยกตัวอย่าง วัวภายในประเทศต้นทุนอยู่ที่ ๒๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท วัวที่ผิดกฎหมายอยู่แค่ ๑๐,๐๐๐ บาทต้น ๆ ๑๒,๐๐๐-๑๘,๐๐๐ บาทเท่านั้นเอง
ประเด็นที่ ๒ วัวมีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากวัวมันล้นตลาด ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เกษตรกรขาดแคลนรายได้ เขาก็จะนึกถึงวัวนี่ละครับ เพราะว่าวัวเป็นเสมือนทรัพย์สิน ที่สามารถแปลงเป็นทุนนำมาเป็นเงินใช้ในการดำรงชีวิต เมื่อคนขายวัวสู่ท้องตลาดมาก ก็ส่งผลให้วัวล้นตลาด แต่พอหันมาดูกำลังการบริโภคภายในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก มิหนำซ้ำเนื้อวัวคุณภาพที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมายจากต่างประเทศบางส่วน เช่น จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ที่ได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงการค้าเสรี มีการลดอัตราภาษีนำเข้าจนผู้เลี้ยงโคในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้ ยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณ โคเนื้อหรือวัวในตลาด เหมือนน้ำที่เต็มแก้วยิ่งเติมก็ยิ่งล้น
ส่วนที่ ๒ เป็นเรื่องของสภาพปัญหาด้านการส่งออก มีอยู่ ๒ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นที่ ๑ มีการตรวจพบสารเร่งเนื้อแดง ตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ของไทยนั้นคือจีน แต่ก่อนจะส่งไปจีนได้เราต้องส่งวัวไปที่ สปป. ลาวและเวียดนาม และวัวไทยเองมักพบสารเร่งเนื้อแดงในวัวและผลิตภัณฑ์จากวัว ในแวดวงคนเลี้ยงวัว จะเรียกว่าขนมวัว ซึ่งเรามีบทเรียนที่เสียโอกาสมาแล้วจากที่เวียดนามสั่งระงับการนำเข้าวัว ที่มีชีวิตจากไทยหลังพบสารเร่งเนื้อแดงที่สูงกว่ามาตรฐานถึง ๑๓๐ เท่า อันเป็นข้ออ้าง ที่สำคัญที่ระงับการนำเข้าวัวจากประเทศไทย
ประเด็นที่ ๒ เรื่องโรคระบาด การลักลอบนำเข้าวัวผิดกฎหมายจาก ต่างประเทศนำมาซึ่งโรควัวมาสู่วัวภายในประเทศ ท่านประธานจำได้ไหมครับ ช่วงที่องค์การ อนามัยโลกขึ้นบัญชีประเทศไทยเพราะเป็นประเทศในกลุ่มที่มีการระบาดของโรค ปากเท้าเปื่อย ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จากวัวไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ นี่ยังไม่นับถึงโรคที่อุบัติใหม่นะครับ ยกตัวอย่าง เช่น การแพร่ระบาดของโรค Lumpy skin ที่เกิดการระบาดในห้วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา สัญญาณการแพร่ระบาดมีในต่างประเทศ มันดัง ชัดเจนมากครับ แต่เหตุใดทางกรมปศุสัตว์ที่อยู่ภายใต้การนำของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ในขณะนั้นไม่มีมาตรการรองรับ พอโรคเข้ามาระบาดก็ไม่มีวัคซีนแล้วก็ไม่มียา ปัญหาเรื่องราคาวัวตกต่ำ และโค กระบือตกต่ำไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสภาชุดที่แล้วเพื่อนสมาชิก ที่นั่งอยู่ในที่นี้หลายท่านก็ได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้ ซึ่งกระผมต้องกราบขอบพระคุณ เพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้เห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว แล้วผมก็อยากให้ ทุกท่านติดตามเรื่องนี้ต่อไปเพื่อที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไปด้วยกัน หลายท่านได้เป็น พรรคร่วมรัฐบาล ก็ฝากประเด็นนี้ด้วยนะครับ ซึ่งปัญหาเรื่องราคาโคเนื้อและกระบือตกต่ำ เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ผมเองขอสอบถามไปยังกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ว่าท่านมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาโคเนื้อ ราคาวัว และราคากระบือตกต่ำ จากปัญหาที่กระผมได้นำเรียนข้างต้นอย่างไร ขอทราบรายละเอียดในคำถามแรกครับ ขอบคุณครับท่านประธาน
ท่านประธานครับ ผม ชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๔ พรรคไทยสร้างไทย ต้องกราบขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรีที่ได้ให้เกียรติในการตอบคำถามเมื่อสักครู่ของกระผม และท่านก็ได้ให้ ความชัดเจนถึงมาตรการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมทราบดีว่าท่านเพิ่ง เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งก็ไม่ได้มีระยะเวลา ในการทำงานเตรียมการที่มากนัก แต่คำตอบที่ท่านตอบถือว่าครอบคลุมครับ ต้องกราบ ขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีด้วย ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวไม่ได้เพิ่งเกิด เกิดมานาน หลายปีตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งผมคาดว่าหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้อง ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ดีอยู่แล้วครับ และต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ผมก็อยาก เร่งรัดไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝากผ่านทางท่านรัฐมนตรีว่าให้เร่งดำเนินการ ให้พี่น้องประชาชน เพราะผมลงพื้นที่เมื่อไรมักจะได้ยินปัญหาเรื่องวัวตลอดครับท่านประธาน และขออนุญาตฝากคำถามที่ ๒ ผ่านทางท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีแผนส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อหรือกระบือ และมี การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างไรเพื่อให้ผลผลิตเนื้อมีคุณภาพ และมีแผน ในการหาตลาดต่างประเทศอย่างไรเพื่อทดแทนตลาดที่เรามีอยู่ในอนาคต ขออนุญาต เรียนถามท่านรัฐมนตรีเป็นคำถามที่ ๒ กราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง วันนี้กระผมรู้สึกเป็นเกียรติ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทน พี่น้องประชาชนร่วมการอภิปรายในรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในครั้งนี้ เพราะท่านมีส่วนสำคัญ ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เบื้องต้นหากมองตามวัตถุประสงค์ นี่เป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ มันเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างมากต่อพี่น้อง ประชาชนครับ หน่วยงานหลักที่จะเข้ามามีส่วนต่อการกำหนดทิศทางและความมั่นคง ของราคาไฟฟ้า ท่านประธานครับหากมองในสภาพความเป็นจริง ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มักจะได้ยินคำถามยอดฮิตครับ พี่น้องมักจะถามว่าผู้แทน ราคาข้าว ราคาวัว มันคือถูกแท้ ราคาไฟ ราคาปุ๋ย ค่าน้ำมันคือขึ้นเอา ๆ ปานบั้งไฟแท้ ท่านประธานครับ พี่น้องประชาชนเขาไม่รู้จะพึ่งใครแล้วครับ ทำให้ผมจำเป็นจะต้องลุกขึ้นมา อภิปรายร่วมในวันนี้ ผมมีประเด็นสำคัญที่จะเรียนถามฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงานอยู่ ๗ ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้มีการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า PDP เพื่อเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอ กับความต้องการใช้ไฟฟ้า มีระยะเวลาตามแผนตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ ๒๐ ปีครับ ผมอยากเรียนถามว่าระยะเวลายาวนานขนาดนี้ การจัดทำแผนควรที่จะต้องได้ผลตามกรอบเวลา มีขั้นตอนอย่างไร มีองค์กรหน่วยงานใดหรือใครเป็นผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน และที่สำคัญ ผมขออนุญาตขีดเส้นใต้ ๒ เส้นหนา ๆ เลยว่าแผนนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงอย่างไร
ประเด็นที่ ๒ การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือ PDP หลักการสำคัญในขั้นตอนแรกสุดคือการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้รัดกุม และเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านพลังงานในช่วงนั้น แต่จากที่ผมได้อ่านดูรายงานในแผน และศึกษาค้นคว้าข้อมูล มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงมาก มีการเพิ่มเป้าหมาย สัดส่วนกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและเพิ่มขึ้นทุกปี ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่านี่เป็นการเอื้อต่อ กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ครับ เพราะการดำเนินการดังกล่าวภาครัฐจะได้มีเหตุผลในการอนุมัติ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนมากเกินความจำเป็น ตามมา หรือเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงโดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP นั่นเอง
ประเด็นที่ ๓ ตลอดการจัดทำแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP มีการทบทวนบ้างหรือยังครับ ตามหลักของแผนมีระยะเวลาการทบทวนเป็นช่วง ๆ ทันตามกำหนดเวลาหรือไม่ หากทันตามกำหนดเวลาจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงกว่านี้ได้หรือไม่ การทบทวนนี้ผมมีมุมมองว่าการดำเนินการตามแผน ควรมีวาระทบทวนทุก ๆ ปีเพื่อจะได้เห็น แนวทางในการลดค่าไฟฟ้าให้แก่พี่น้องประชาชน
ประเด็นที่ ๔ ในความเป็นจริงกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน มีขนาดที่เกินต่อความจำเป็นหรือไม่ หากพบว่ามันเกินความจำเป็นทางคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงานมีแนวทางในการจัดการเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร หากท่านตอบว่ามีมาตรการ เหตุใดประชาชนยังต้องทนทุกข์กับราคาไฟที่สูงเช่นนี้อยู่
ประเด็นที่ ๕ ปัจจุบันจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีอัตรา การผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าภาคเอกชน ทำให้การกำหนดราคาส่วนมากจะตกไปอยู่ในมือเอกชน ตามกลไกการตลาด ดังนั้นเราเห็นปัญหาตรงนี้แล้วครับท่านประธาน ทำไมท่านจึงไม่เพิ่ม อัตราการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ผมมองว่า นี่จะทำให้ค่าไฟถูกลงและประชาชนได้ประโยชน์และช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน
ประเด็นที่ ๖ ผมขอนำเรียนฝากท่านประธานไปยังคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงานว่าท่านมีวิธีคิดคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไร ในส่วนของ วิธีคิดคำนวณถูกต้องและสอดคล้องกับหลักวิชาการและหลักสากลหรือไม่ มีการอ้างอิงอะไร มาเป็นเกณฑ์ สุดท้ายแล้วหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบและการคำนวณดังกล่าวต้องมี การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่
ประเด็นสุดท้าย ค่าตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนในกรณีที่ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าถูกนำมาคิด ถูกนำมาคำนวณเป็นค่า Ft หรือไม่ อย่างไร เพราะคนที่จับตามองเรื่องนี้เขาสงสัยครับ ประชาชนต้องรับภาระในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อหรือไม่
ท้ายที่สุดคำถามทั้ง ๗ ประเด็น ประชาชนและหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน มีการประโคมข่าวอยู่เรื่อยมา แต่สุดท้ายไม่มีคำตอบใด ๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น หลายพรรคการเมืองได้หยิบยก เอาประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้ามารณรงค์ บอกว่าจะลดค่าไฟบ้าง ทั้งจะแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือมีนโยบายที่จะทลายกลุ่มทุนผูกขาด หลายพรรคที่มีนโยบายดังกล่าวก็กำลังอยู่ในรัฐบาล ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น แต่บางพรรคก็มาจากพรรคของรัฐบาลชุดก่อนที่ล้มเหลวในการบริหาร จัดการเรื่องค่าไฟฟ้า ผมเลยชักไม่มั่นใจว่าปัญหาเรื่องค่าไฟแพงซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชน เดือดร้อนจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ นำเรียนท่านประธานด้วยความเคารพ กราบขอบพระคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตหารือท่านประธานถึงความทุกข์ร้อนของพี่น้องในพื้นที่ครับ กระผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวบ้านศรีสุข หมู่ที่ ๒ ตำบลกกกุง อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ๑๑๖ หลังคาเรือน จำนวนประชากร ๔๑๐ คน มีความเดือดร้อนน้ำประปา หมู่บ้านไม่ไหลมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๖ เดือนครับท่านประธาน เนื่องจากหมู่บ้านศรีสุข ไม่มีระบบผลิตน้ำประปาหมู่บ้านใช้เอง ต้องอาศัยใช้น้ำประปาจากหมู่บ้านอื่นมาโดยตลอด แต่ปีนี้หมู่บ้านใกล้เคียงต้องหยุดจ่ายน้ำประปามายังบ้านศรีสุข เพราะปริมาณน้ำที่ผลิตได้ ไม่เพียงพอ ทำให้บ้านศรีสุขขาดแคลนน้ำอย่างหนัก หน่วยงานในพื้นที่นั่นก็คือเทศบาลกกกุง ต้องนำรถขนน้ำมาแจกจ่ายให้พี่น้องวันละ ๑ เที่ยว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของพี่น้อง
และอีก ๑ ปัญหาครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวคูเมือง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๙ ตำบลคูเมือง อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงปัญหาน้ำประปาขุ่นเหลือง และไม่พอใช้ เนื่องจากคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปามีคุณภาพต่ำ ระบบประปา หมู่บ้านผิวดินมีอายุการใช้งานเกิน ๒๐ ปี สภาพชำรุดทรุดโทรม มีกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน ที่มีครัวเรือน เกือบ ๕๐๐ ครัวเรือน ประชากร ๑,๗๐๐ คน ท่านประธานครับ วันนี้ผมไม่ได้มามือเปล่า ผมนำหลักฐานมาด้วยนั่นก็คือน้ำ ๒ ขวด ขวดแรกคือน้ำที่ใช้หุงข้าว ล้างหน้า แปรงฟัน อีกขวดหนึ่งเป็นน้ำที่ใช้รดต้นไม้ ท่านประธานลองทายดูว่า ขวดไหนที่ใช้รดน้ำต้นไม้ ขวดไหน ใช้แปรงฟัน ถ้าคนทั่วไปก็คงจะคิดว่าขวดนี้ใช้ล้างหน้า แปรงฟัน แต่ผิดครับ ขวดนี้ผมเปิดจาก สวนหน้าอาคารรัฐสภาแห่งนี้ ส่วนอีกขวดหนึ่งนี่คือน้ำที่พี่น้องชาวคูเมือง ๓ หมู่บ้าน ใช้อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันมาตลอดระยะเวลาเกือบ ๒๐ กว่าปี ผมเป็นผู้แทนสมัยแรก ปัญหาเยอะแยะมากมาย แต่นี่เห็นแล้วหดหู่ ภาษาอีสานคือเบิดคำสิเว้าครับ ปัญหานี้โรคนิ่ว โรคไตที่พี่น้องชาวอีสานได้รับผลกระทบร้อยละ ๖๕ เกิดจากการดื่มน้ำไม่สะอาด ทั้ง ๒ ปัญหา ท่านประธานครับ อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลกกกุง เทศบาลคูเมือง ผมได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านผิวดิน เพื่อช่วยเหลือพี่น้อง เพราะพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่น้ำเค็ม ไม่สามารถนำน้ำบาดาลใต้ดินมาใช้ได้ และลำพังงบประมาณของท้องถิ่น คงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องได้ ผมขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยดำเนินแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้พี่น้อง ในพื้นที่ด้วยครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ ลูกอีสาน ดินแดนถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิขึ้นชื่อของประเทศไทยครับ วันนี้ต้องขออนุญาตร่วมอภิปรายถึงรายงานเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร อาจจะมี บางประเด็นที่ซ้ำเพื่อนสมาชิก อาจจะมีบางประเด็นที่ส่งเสริมต้องขอโอกาสเพื่อนสมาชิก ทุกท่าน ในพื้นที่ของกระผมส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ปัญหา ที่สำคัญของการเป็นเกษตรกรคือต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ ราคาต้นทุนการผลิต และราคาผลผลิตที่มีการผันผวนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่พอจะเป็นความหวัง ของพี่น้องเกษตรกรนั่นก็คือแหล่งทุนครับ เพื่อใช้ในการรับมืออุปสรรคเหล่านี้ กองทุน สงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งริเริ่มกำเนิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการตราพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรขึ้นมา หากมองตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงาน ด้านการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ดำเนินไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ หากจะกล่าว ในมุมของผู้แทนราษฎรครับท่านประธาน ผมได้รับทราบถึงปัญหาของพี่น้องประชาชน เกษตรกร เรื่องทุนถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำการเกษตร โดยเฉพาะเป้าหมายของภาครัฐ ที่พยายามผลักดันยุทธศาสตร์เกษตร ๔.๐ ดังนั้นในการดำเนินการในด้านเกษตรจึงจำเป็น จะต้องมีเงินทุนในการประกอบกิจการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางการผลิต ก่อนอื่นผมต้องขอชื่นชมก่อนว่าการมีกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจะเป็นเสมือนตัวกลาง ในการสร้างเกษตรกรยุคใหม่หรือเกษตร ๔.๐ ได้ เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยน้อย เป็นช่องทางให้แก่เกษตรกรที่ต้องการสร้างวิธีการผลิต การแปรรูป หรือสร้างการตลาด แบบใหม่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย แต่ท่านประธานครับ กระบวนการขั้นตอน กว่าจะได้มาซึ่งเงินทุนในการประกอบกิจการทางการเกษตรมันช่างยากเสียเหลือเกินครับ ด้วยเงื่อนไขของกองทุนหลายประการ หลักเกณฑ์เงื่อนไขที่มีหลายประการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ทำให้กระผมให้คำนิยามว่าเป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางการสร้างเกษตร ๔.๐ และที่สำคัญ เป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำลังกดให้เกษตรกรดูเป็นผู้ไม่มีศักยภาพด้วยการสร้างรูปแบบ การประเมินที่มีความยุ่งยากเพื่อจำกัดวงเงินกู้ ทั้งที่หากมองในภาพความเป็นจริงแล้วเกษตรกรไทยไม่แพ้เกษตรกรชาติใดในโลกครับ เราสามารถผลิตข้าวที่มีชื่อเสียงอย่างข้าวหอมมะลิทุ่งกะลาร้องไห้ในพื้นที่ร้อยเอ็ดของผม ให้ชาวโลกได้รับประทาน และยังมีอีกหลายโครงการที่ทางเกษตรกรได้ยื่นเรื่องไป กว่าจะได้มาซึ่งเงินกู้ใช้เวลานานมาก ที่สำคัญการยื่นโครงการเพื่อขอกู้เงินกับกองทุนดังกล่าว จะต้องทำการยื่นแผนธุรกิจแล้วก็เอกสารเยอะแยะมากมาย เดชะบุญท่านกำลังเอาสิ่งที่ พี่น้องเกษตรกรไม่ถนัดไปเป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มิหนำซ้ำท่านยังเอาระเบียบ ของธนาคารพาณิชย์มาใช้ในการประเมิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหลายคนถอดใจ นำไปสู่ การไม่มีแรงจูงใจในการดำเนินกิจการ การที่จะสร้างผู้ประกอบการทางการเกษตร แบบสมัยใหม่ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรควรจะมีการลดเงื่อนไข ลดระยะเวลาพิจารณา ในการกู้ยืมเงินให้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการดำเนินกิจการทางการเกษตร สมัยใหม่
ประเด็นต่อมา ติดปัญหาเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคา ผลผลิตทางการเกษตรไม่สมดุลกับรายจ่ายหนี้ของเกษตรกร ท่านประธานที่เคารพครับ ตามที่ผมได้ทราบมาว่าในแต่ละจังหวัดเรามีสภาเกษตรจังหวัดเป็นของตนเอง เพื่อให้ การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรจังหวัดในการเป็นตัวแทนของเกษตรกร อย่างแท้จริง เราควรจะมีการบูรณาการในการให้สภาเกษตรจังหวัดเป็นตัวกลางในการหาตลาด หรือร่วมกับเกษตรจังหวัดในการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าการเกษตร และหาตลาดรับรอง ให้แก่เกษตรกรร่วมกัน ประกอบการเสริมสร้างการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ให้แก่ เกษตรกร ผ่านการเสนอโครงการของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สิ่งเหล่านี้ผมมองว่า ในระยะยาวเราจะสร้างพื้นที่รองรับสินค้าการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นราคาโค กระบือ ราคาสุกร ตอนนี้กำลังลดลงอย่างมาก สินค้าการเกษตรกำลังล้นตลาด ตอนนี้พื้นที่อีสานบ้านผม เลี้ยงวัวไว้เอาปุ๋ย ปลูกข้าวเอาเฟียงให้วัว เพราะราคาวัวตอนนี้ออกจากคอกนี่ถูกมาก แต่ก่อนตัวหนึ่ง ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท ตอนนี้ ๑๕,๐๐๐ บาท ยังไม่มีคนซื้อเลยครับ ท่านประธาน ถูกจนชาวบ้านไม่กล้าขายแล้วครับ มิหนำซ้ำราคาข้าวที่เป็นผลผลิตหลัก ของเกษตรกรไม่เป็นราคา เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้สามารถกลับมามีราคาในอนาคตได้ กองทุนสงเคราะห์เกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากครับ
ประเด็นสุดท้ายครับ ผมขอฝากไว้ การให้กู้ของกองทุนแก่หน่วยงานภาครัฐ หลาย ๆ หน่วยงานกลายเป็นหนี้เสีย ท่านจะทำอย่างไรถึงจะสามารถนำหนี้เสียเหล่านี้ กลับคืนมา เพื่อนำมาส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจังตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุน ในการดำเนินงานด้านการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ดำเนินไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ ผมขอฝากข้อเสนอ และประเด็นคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง ด้วยความเคารพครับ ท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานและสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง ขอร่วมอภิปรายในรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเป็นหน่วยงาน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายสนับสนุนงบในการศึกษาวิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อม จากการรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชี และรายงานการเงินของผู้มาชี้แจงเป็นการตอบตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจริงครับ แต่ผมมี ประเด็นข้อสังเกตอยู่ ๓ ประเด็นด้วยกันดังนี้
ประเด็นแรก เรื่องการใช้งบประมาณสนับสนุนการศึกษา สำรวจ ค้นคว้า วิจัย ซึ่งตามเอกสารที่ผู้ชี้แจงส่งมาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุน ในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ มีการศึกษามากกว่า ๙๗ โครงการ ใช้งบประมาณเกือบ ๙๐๐ ล้านบาท และหากมองย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเมื่อปี ๒๕๔๖ เกือบ ๒๐ ปี ท่านจะใช้งบประมาณในการดำเนินการวิจัยมากมายขนาดไหนครับ ซึ่งผม ไม่มั่นใจว่าทั้ง ๙๗ โครงการของปีที่ผ่านมาทุกโครงการจะได้รับการต่อยอดแก้ไขปัญหา ให้พี่น้องประชาชนหรือไม่ หากเป็นไปตามข้อสังเกตของผม บางโครงการอาจจะไม่คุ้มค่า กับงบประมาณที่สูญเสียไป
ประเด็นที่ ๒ การศึกษา วิจัย ครอบคลุมปัญหาที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน หรือไม่ครับ ตาม Website ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลซึ่งมีการแสดงผลโครงการที่ได้รับ การสนับสนุนจากกองทุน แต่เมื่อผมลองค้นคว้าพิมพ์คำว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่จัดตั้ง กองทุนมา ๒๐ ปี มีเพียง ๑ โครงการเท่านั้นเองที่ทางกองทุนสนับสนุน ได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย หากมองความเป็นจริงแล้วจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอีก ๑ พื้นที่ที่ควรได้รับการแก้ไขปัญหา เรื่องน้ำใต้ดิน เพราะเหตุใดนั่นหรือครับท่านประธาน ขอ Slide หน่อยครับ
ดูจากแผนที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ ของผมจะอยู่ด้านล่างตรงที่ Highlight สีแดง ๆ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เขต ๗ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอเมืองสรวง อำเภอปทุมรัตต์ เป็นพื้นที่น้ำเค็มสีแดงไม่สามารถ นำน้ำขึ้นมาใช้ได้ ประชาชนต้องอาศัยน้ำอุปโภคบริโภคจากน้ำประปาผิวดิน ๒ สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่เขต ๗ จังหวัดร้อยเอ็ดมาหารือ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ เมื่อกลับบ้านไปพบว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ทั้งในต่างจังหวัดและในจังหวัดร้อยเอ็ดเองได้ส่งภาพปัญหาความเดือดร้อนเข้ามาประกวดกัน ใหญ่เลยครับ หลายพื้นที่เจอปัญหาเช่นเดียวกัน ณ ขณะนี้ก็ยังมีการส่งเข้ามา อย่างล่าสุด มี ๓ ปัญหา อย่างพี่น้องบ้านหนองอ่าง หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลกำแพง น้ำประปาขุ่นเหลือง ต้องใช้น้ำประปาผิวดิน เพราะเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ไม่ได้ บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ๖ หมู่บ้านต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภคมา ๑ เดือนแล้ว เพราะน้ำประปาผิวดินใช้ไม่ได้ครับ ไม่มีน้ำสำรอง เจาะน้ำบาดาลก็ไม่ได้ บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ ๑๒ ตำบลโนนสว่าง อำเภอเกษตรวิสัย เดือดร้อนมาหลายปีแล้ว แหล่งน้ำประปาผิวดิน ใช้ไม่ได้ เจาะน้ำบาดาลก็ไม่ได้ เค็มครับ จากปัญหาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมของพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด Zone ล่าง เขต ๗ มีสภาพน้ำใต้ดินเค็ม หากจะดูพื้นที่แผนที่แล้วผมอิจฉา พื้นที่อื่น ท่านประธานดูสิครับประชาชนพื้นที่อื่นได้ใช้น้ำสะอาด มีแหล่งน้ำใต้ดินเพียงพอ ต่อการอุปโภคบริโภค แต่พอมาดูพื้นที่ของตัวเองสงสารพี่น้องที่ทนทุกข์มาหลายปี ไม่มี น้ำใช้อุปโภคบริโภค ไม่มีน้ำสะอาด ไม่มีมาตรฐาน จะมีก็แค่เพียงแหล่งน้ำผิวดินที่ผมเคย นำมาร้องเรียนแล้ว สามวันดีสี่วันไข้ มาบ้าง ไม่มาบ้าง ไม่รู้เมื่อไรจะแก้ปัญหานี้ได้เสียทีครับ ท่านประธาน
ประเด็นสุดท้าย องค์ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุน จากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเป็นชุดข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแหล่งน้ำใต้ดิน ภายใต้การกำกับของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มหรือไม่ ยกตัวอย่างครับ ท่านประธาน ตอนนี้ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัยผมกำลังมีการริเริ่มที่จะดำเนินการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าขยะบนดินแดนปลูกข้าวหอมมะลิ และยังได้รับการรับรองข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI พี่น้องประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ข้อสังเกตก็คือตำแหน่งที่ตั้ง ของโรงไฟฟ้าขยะ โรงงานใหญ่ขนาดนี้สิ่งที่จะต้องมีคือน้ำครับ โรงไฟฟ้าขยะอยู่บนจุดที่เป็น แหล่งน้ำบาดาลที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งของอำเภอเกษตรวิสัยใน Slide ท่านประธานครับ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้นี่คือใคร พี่น้องประชาชนหรือเปล่า ไม่ครับ ผมมองว่า เป็นกลุ่มทุนครับ
สุดท้ายครับท่านประธาน ผมเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เพราะการวิจัย และการศึกษาเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การพัฒนา และการได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาของพี่น้องที่กำลังเผชิญอยู่ ผมจึงอยากฝากท่านประธานไปยังกองทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำบาดาล ในอนาคตผมหวังว่า ท่านจะเป็นตะเกียงนำทางที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะ พื้นที่ที่เผชิญปัญหาเรื่องน้ำแล้งจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ อย่าให้คำว่า อีสานจะไม่แล้ง เป็นเพียงวาทกรรมที่เป็นแค่ฝันของพี่น้องชาวอีสาน ขอบคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวงครับท่านประธาน ผมรู้สึกยินดีครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการอภิปรายถึงญัตติเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งตามที่ทุกท่านเพื่อนสมาชิกได้ยื่นญัตติมา มีทั้งราคากุ้ง ราคาผลไม้ ราคาผลผลิต ทางการเกษตรอื่น ๆ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับท่านประธาน เพราะประเทศของเรามี พี่น้องเกษตรกรเป็นดั่งกระดูกสันหลังของชาติ กล่าวคือเรามีพี่น้องประชาชน ที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรจำนวนมาก แต่เรายังมีสินค้าทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ และมีต้นทุนสูงในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของผม ๑ ในนั้นก็คือข้าวครับ เพื่อให้เห็นภาพ ผมขออนุญาตนำเรียนถึงต้นทุนของการทำนาในรอบปีของพี่น้องทุ่งกุลาร้องไห้ ๑ ไร่ จะมีต้นทุนในการทำนาดังต่อไปนี้ครับ ๑. ไถกลบตอซัง ไถเปิดหน้าดิน ไถหว่าน แต่ละครั้ง ครั้งละ ๒๕๐ บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปลูก ๑ ไร่ ใช้ ๑ กระสอบ ๖๕๐ บาท ค่าฮอร์โมน อาหารเสริมต่าง ๆ ไร่ละ ๒๐๐ บาท รถเกี่ยวไร่ละ ๕๐๐ บาท ค่าขนส่ง ไร่ละ ๒๐๐ บาท แรงงานอื่น ๆ ๓๐๐ บาท หนักสุดคือค่าปุ๋ยปุ๋ยสูตรที่ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ นิยมใช้ก็เป็นปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ ราคากระสอบละ ๑,๒๐๐ บาท ๑ ไร่ จะมีต้นทุน ๓,๘๐๐ บาท นี่คือราคาต้นทุนนาหว่าน ถ้าเป็นนาปักดำก็จะสูงขึ้นไปอีกก็ต้องใช้แรงงานเยอะ ทีนี้มาดูรายรับ ๑ ไร่ ผลผลิตในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เต็มที่เลยแค่ ๓๐๐ กิโลกรัมต่อไร่แล้วครับ ยิ่งปีนี้น้ำเป็นปัจจัยหลักซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนยิ่งลดต่ำ ส่วนราคาขายข้าวหอมมะลิ ถ้าถึงฤดูเก็บเกี่ยว ๑ กิโลกรัม ๑๐ บาทก็หรูแล้วครับ ทุกวันนี้ที่เห็นติดอยู่หน้าโรงสี กิโลกรัมละ ๑๖ บาท นี่คือราคาข้าวที่มีความชื้นต่ำหรือข้าวที่แห้ง ชาวนาตากเก็บขึ้นยุ้งข้าว รอไปขายได้ราคาดีช่วงนี้ครับ แต่ถึงเวลาที่ผลผลิตออกมาทั้ง ๒ ล้านไร่ในทุ่งกุลาร้องไห้นี่ ๑๐ บาท นี่หรูแล้วครับ ๓๐๐ กิโลกรัม คูณ ๑๐ บาท ๓,๐๐๐ บาทต่อไร่ หักลบคูณหารครับ ยังไม่ต้อง ทำนาขาดทุนแล้ว ๘๐๐ บาท นี่คือตัวเลขทางคณิตศาสตร์มันชัดยิ่งกว่าชัดครับ ทำไป ก็ขาดทุน แต่ที่ชาวนายังทนทำนาอยู่ทุกวันนี้
๑. มันคือจิตวิญญาณของความเป็นชาวนา ปู่ย่าตาทวดพาทำมา ถ้าไม่ทำ ก็อายผีบรรพบุรุษครับ
๒. ที่ยังทนทำนาอยู่ทุกวันนี้เพื่อรักษาสิทธิในการเป็นเกษตรกรแค่นั้นเอง เพื่อรับเงินส่วนต่างเงินชดเชยจากภาครัฐท่านประธาน นี่คือปัญหาฟังแล้วหดหู่ หลายสิบปีที่เราพยายามแก้ปัญหาเรื่องข้าว เรื่องชาวนา ผมจึงอยากฝากท่านประธาน เป็นประเด็นข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ สะท้อนปัญหาของพี่น้องชาวนา ทุ่งกุลาร้องไห้
๑. อยากให้ช่วยควบคุมต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาปุ๋ยที่เห็นเลยครับ สูงที่สุดคือปุ๋ยครับท่านประธาน ก่อนหน้านี้ปุ๋ยยังอยู่แค่กระสอบละ ๖๐๐-๗๐๐ บาท ปีที่แล้ว ๑,๗๐๐ บาท แต่ปีนี้ยังดี ๑,๒๐๐ บาท แต่ก็ยังสูงอยู่ มิหนำซ้ำถ้าวันไหนที่ฝนตก อย่างวันนี้ ถ้าฝนตกพรุ่งนี้จาก ๑,๒๐๐ บาท ขึ้นไปอีก ๑๐๐ บาทครับ ราคาฉวัดเฉวียนขึ้นอยู่กับฝนอีก
๒. อยากให้สนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะเรื่องน้ำ เพื่อนสมาชิก ก็ได้นำเรียนไปแล้วครับ ผมขอข้าม
สุดท้ายประเด็นที่ ๓ คืออยากให้ทางรัฐบาลหน่วยงานที่รับผิดชอบแสวงหา ตลาดใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวไทย ข้าวหอมมะลิเรานี้ดังไกลทั่วโลก แต่ราคาตกต่ำเหลือเกิน นอกจากราคาข้าวที่ตกต่ำ เกษตรกรอีสาน รวมทั้งพี่น้องทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านผมยังมีอาชีพเสริม อีก ๑ อย่าง นั่นก็คืออาชีพเลี้ยงวัว ซึ่งมักจะทำควบคู่ไปกับการทำนา แต่หลายปีที่ผ่านมา ราคาวัวตกต่ำเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา ปัจจัยที่ทำให้ราคาวัวตกต่ำ ผมนำเสนอ ๓ อย่างครับ ๓ ประเด็น ๑. วัวล้นตลาด ล้นตลาดเพราะพี่น้องเกษตรกร ทนแบกรับต้นทุนไม่ไหวต้องขายทอดตลาด ๒. มีการลักลอบนำเข้าเนื้อวัวที่ผิดกฎหมาย จากต่างประเทศ สมาชิกหลายท่านก็นำเรียนแล้วครับ ส่วนประเด็นที่ ๒ อีกอย่างหนึ่งก็คือ การค้นพบสารต้องห้ามทำให้การส่งออกมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม และประเด็นที่ ๓ ปัญหาเรื่องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือปัญหาเรื่องโรคระบาด การลักลอบ นำเข้าวัวจากต่างประเทศนำมาซึ่งโรคระบาด เช่น ปากเท้าเปื่อย Lumpy skin ผมยกตัวอย่างนะครับ Lumpy skin เมื่อปี ๒๕๖๔ ๒ ปีที่แล้วครับ โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ มีสัญญาณว่าจะเกิดระบาดในพื้นที่ประเทศไทย ระบาดในพื้นที่รอบ ๆ ประเทศข้างเคียง แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีการเตรียมการ ปล่อยให้เกิดการระบาด องค์ความรู้ความเข้าใจ ของพี่น้องเกษตรกรไม่มี การป้องกันไม่มี การรักษาไม่มี พอโรคเข้ามาปล่อยตามยถากรรม เกิดความสูญเสีย พี่น้องเกษตรกรหลายคนยังคิดว่าวัวตัวเองถูกแตนตอดอยู่ครับ ไม่รู้ว่าเป็น โรคอุบัติใหม่ หน่วยงานที่รับผิดชอบทำอะไรอยู่ครับ นี่คือประเด็นที่ผมอยากฝากครับ ท่านประธาน มีเวลาน้อย ข้อเสนอแนะนะครับ ผมอยากฝากไปทางหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ ช่วยเจรจาหาตลาดใหม่เพื่อรองรับวัวที่ล้นตลาด รัฐก็ควรมีการตรวจสอบเรื่องการลักลอบ นำเข้า แล้วประเด็นสุดท้ายก็คือควรจะถอดบทเรียนเรื่องโรคระบาด ควรมีการเตรียม ความพร้อมให้ดีกว่านี้ เพิ่งผ่านมา ๒ ปีครับท่านประธาน
ท่านประธานที่เคารพครับ พี่น้องชาวนา พี่น้องเกษตรกรน้ำตาตก เฮ็ดนา สุมื้อนี้ย้อนเอาเฟียงไปให้งัว เลี้ยงงัวนี่ก็ย้อนเอาฝุ่นไปใส่นา เป็นคำพูดที่ให้กำลังใจตัวเองครับ ทำนาขาดทุน เอาฟางข้าวไปเลี้ยงวัวดีกว่า เลี้ยงวัวก็เอามูลวัว ขี้วัวมาทำปุ๋ยใส่นา ฟังดูแล้ว มันสิ้นหวัง ท่านประธาน ไม่รู้จะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร ผมหอบเอาความหวังของพี่น้อง เกษตรกรชาวนา พี่น้องผู้เลี้ยงวัวมาเสนอต่อที่ประชุมแห่งนี้ ฝากท่านประธานและขออนุญาต แนบปัญหาไปกับอีก ๑๑ ญัตติ ขอแอ้มแปะด้วยคนครับท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวงครับ ต้องกราบขอบพระคุณผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิก ผู้ทรงเกียรติที่ได้มองเห็นปัญหาของพี่น้องประชาชนแล้วก็นำมาอภิปรายในสภาแห่งนี้ ซึ่งวันนี้เป็นปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำหลาก
ท่านประธานครับ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เป็นปัญหาที่เคียงคู่กับสภาแห่งนี้ มาช้านาน ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกหลายท่าน จะผ่านไปกี่ปีสภาแห่งนี้ก็ต้องมาถกกัน เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก อดคิดไม่ได้ครับ ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก หวังว่าปีต่อไปถ้ามีโอกาสเข้ามาสภาแห่งนี้คงไม่ได้เอาปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำหลาก มาอภิปรายในสภาแห่งนี้ครับท่านประธาน เมื่อสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่ผ่านมา เราก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหลายคณะกรรมาธิการหนึ่งในนั้นเป็นคณะอนุ กรรมาธิการศึกษาแนวทางการบริหารลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล ๔๐๐ กว่าหน้าครับท่านประธาน ที่ผมไปตามมา มีรายละเอียดเยอะแล้วก็มีข้อเสนอเยอะแยะไปหมด มีประโยชน์ต่อการแก้ไข ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่ายังเจอปัญหาน้ำท่วมอยู่ดี หวังว่ารอบนี้ เราจะแก้ปัญหาได้ ผมขอนำเรียนอย่างนี้ครับว่าเหตุใดพื้นที่ส่วนมากของประเทศไทย จึงประสบปัญหาน้ำท่วม จนกลายเป็นปัญหาที่ประชาชนจำใจต้องยอมรับและต้องอยู่กับมัน ให้ได้ เมื่อวิเคราะห์ครับ ประเทศไทยของเรามีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีไม่ได้ต่างกันมากครับ อาจจะมีเหลื่อมกันบ้างในบางปีแต่ก็เหลื่อมไม่เยอะท่านประธาน แต่ที่น่าสังเกตคือกลับมี ปัญหาเรื่องน้ำท่วมรุนแรงขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ผมจำแนกออกเป็น ๒ ด้าน
ด้านแรกเป็นเรื่องของธรรมชาติ ด้านภูมิศาสตร์ ธรรมชาติของน้ำก็คือ น้ำจะไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ ปัจจุบันนี้การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไปเยอะมาก ความเจริญของเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรมันไม่ตอบโจทย์ต่อสภาพการไหล ของน้ำครับ มีการสร้างตึกรามบ้านช่อง หมู่บ้านจัดสรรขวางทางน้ำไหล แม้น้ำฝนจะมี ปริมาณเท่าเดิมแต่ทางน้ำไหลกลับน้อยลงไม่สัมพันธ์กันน้ำก็ท่วมครับ บางพื้นที่ ทำการเกษตร มีการใช้ที่ดินที่ไม่ได้คำนึงถึงการเอื้อให้ทางน้ำไหลก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน สุดท้ายก็ไปท่วมบ้านเรือน ท่วมพื้นที่การเกษตรของพี่น้องประชาชน หากดูจากรายงาน หลายหน่วยประกอบกันพบว่าพฤติกรรมฝนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมีเปลี่ยนนิดเดียว แค่นั้นเองครับ ก็คืออาจจะมีทิ้งช่วงนาน แต่พอบทจะตกก็ตกแป๊บเดียว อย่างปีนี้ครับ ๒ อาทิตย์ที่แล้วเราเพิ่งหารือกันเรื่องสภาพความแห้งแล้ง แต่มาอาทิตย์นี้เราต้องมาพูดถึง น้ำท่วม ข้อมูลต่าง ๆ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถพยากรณ์ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง พยากรณ์ให้ได้ครับ ต้องเจอกับพฤติกรรมฝนดังกล่าว แต่ไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาจาก หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนเสียที ทำให้สุดท้ายพี่น้องประชาชนก็ต้องพบเจอกับ ปัญหาซ้ำซาก พอฝนผ่านมาก่อนแล้งเหมือนเดิม
ส่วนปัญหาด้านที่ ๒ ที่ผมเจอน่าจะเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ถ้าเรา นำปัญหาข้างต้นด้านภูมิศาสตร์ อันเป็นปัญหาที่หน่วยงานต้องรับทราบอยู่แล้วครับ หน่วยงาน ออกมาแก้ไข เรามองย้อนกลับไปประเทศไทยมีหน่วยงานที่จะต้องบริหารจัดการน้ำเยอะมาก ทั้งระดับท้องถิ่นเอง ระดับส่วนภูมิภาคเราก็มี ระดับกรม กองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทานกรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ เรามีหน่วยงานเยอะแต่ขาดการบูรณาการ พอทำงานร่วมกันจริง ๆ ก็ร่วมกันไม่ได้ ท่านประธาน ต่างคนต่างทำ เปรียบเหมือนวงดนตรีต่างคนต่างเล่น เล่นคนละ Key ไปด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายปัญหานี้จึงคาราคาซังอยู่อย่างนี้ครับ ไม่สามารถแก้ไขได้สักที พื้นที่ ที่แล้งก็แล้งต่อไป พื้นที่ท่วมก็ท่วมต่อไป ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของภาครัฐ ผมมองว่าเรา ก็ทำได้ดี แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีการดูแลเยียวยา อันนี้ผมเห็นด้วยแต่ในระยะยาว ท่านต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ท่านประธานครับ ต้องเข้าใจธรรมชาติของน้ำและนำไปสู่การแก้ไข สภาพเมืองให้เหมาะสมกับการไหล อีกทั้งระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีต้องมองว่ากำลังมี ปัญหา ทางรัฐบาลต้องทำการสังคายนาและแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ผมขอ ยกตัวอย่าง โครงการหนึ่งที่แก้ไขปัญหาพี่น้องชาวอีสานเป็นโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ นั่นคือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ มีการสมมุติ มีหัว มีตัว มีท้าย แล้วก็มีขา ขาก็คือลำน้ำสาขาต่าง ๆ มีประตู เปิดปิดน้ำ ท่านได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหาน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน หรือหน่วยงานท้องถิ่นเอามาบูรณาการช่วยเหลือพี่น้อง ในการแก้ไขปัญหาท่วม ปัญหาแล้งจะช่วยได้เยอะมาก ขอนำเรียนท่านประธานที่ให้โอกาส ได้นำเรียนปัญหาต่าง ๆ ท่านประธานครับ ด้วยความเคารพครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณผ่านทางท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี ท่านสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ท่านให้เกียรติมาตอบกระทู้ของกระผมในวันนี้ ซึ่งท่านประธานครับ กระทู้นี้เป็นเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องอาสาสมัครกู้ภัยที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย และอันตรายตลอดเวลาครับ แต่กลับถูกค้างจ่ายเงินสนับสนุนกว่า ๗ เดือน ซึ่งการทำงาน ของพวกเขานี่นอกจากจะยากลำบากแล้ว ในห้วงเวลาที่โลกเราเจอวิกฤต ยกตัวอย่างเช่น COVID-19 ก็ได้อาสาสมัครเหล่านี้ล่ะครับที่ทำให้สถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ดีขึ้น ท่านประธานครับ ท่านทราบไหมครับว่านอกจากพวกเขาจะต้องเตรียมความพร้อม Standby สำหรับ เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว ในหลายครั้ง หลาย Case พวกเขาต้อง ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการรับส่งผู้ป่วย ไหนจะค่าน้ำมัน อุปกรณ์ปฐมพยาบาล ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาสาสมัครเหล่านี้ต้องแบกรับครับ ค่าอบรมกว่าจะผ่านกฎเกณฑ์ ระเบียบการ ต่าง ๆ ใช้เงินทั้งนั้นครับท่านประธาน ทั้งที่หน้าที่นี้เป็นหน้าที่จิตอาสาเพื่อสนับสนุน การทำงานของระบบสาธารณสุขและการกู้ชีพ ท่านประธานครับ ในประเทศไทยนี่แบ่งระบบ การแพทย์ฉุกเฉินออกเป็น ๓ กลุ่มนะครับ กลุ่มแรกเรียกว่าระบบพื้นฐาน ภาษาอังกฤษ เรียกว่า First Responder ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครทั่วไป ระดับกลางก็คือ Basic Life Support BLS ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาสาสมัครที่มีการอบรมเพิ่มขีดความสามารถ และอยู่ใน สังกัดของ อปท. และระดับสูงครับเรียกว่า Advance Life Support หรือ ALS เป็นรถกู้ชีพ ฉุกเฉินของทางโรงพยาบาล และท่านประธานทราบไหมครับว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยเหล่านี้ เขาได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. นี่เท่าไร ยกตัวอย่าง ให้ฟังนะครับ ระดับพื้นฐาน หรือ FR นี่ Case หนึ่งออกเหตุนี่ เขาได้รับแค่ ๓๕๐ บาทต่อครั้ง ๓๕๐ บาทครับ นอกจากรถจะต้องมีความพร้อม อุปกรณ์พยาบาลต้องครบทุกอย่างแล้วยัง ต้องประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ ๓ ท่าน ที่จะต้องผ่านการอบรม ถ้าถามถึงความเหมาะสมของคนที่ต้องทำงาน Standby ตลอด ๒๔ ชั่วโมงแล้วเสี่ยงอันตราย ขนาดนี้คุ้มไหมครับ ไม่คุ้มหรอกครับ แต่ที่พี่ ๆ กู้ภัยเหล่านี้ยังต้องทำอยู่ก็เพราะจิตใจ ความเป็นอาสาแล้วก็เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ผมเองก็เป็นจิตอาสาเช่นกัน ผมเคยตั้งหน่วยกู้ภัย ในพื้นที่ร้อยเอ็ดตั้ง ๓ ครั้งแล้ว รู้ดีว่าต้องเสียเงินค่าอบรม เสียเงินค่าจัดตั้งเท่าไร อบรมทีหนึ่ง ๓,๕๐๐-๘,๕๐๐ บาทกว่าจะเข้ากฎเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องใช้รถของตัวเอง ไปรับผู้ป่วย ในช่วงวิกฤติผมก็ได้ร่วมมือกับอาสาสมัครเหล่านี้เปิดศูนย์พักคอยรองรับ พี่น้องผู้ป่วยโควิด ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ กว่าคน ที่กล่าวมาไม่ใช่จะว่ายกตนเลย แต่กล่าวให้เห็นถึง ความเข้าอกเข้าใจของการเป็นอาสาสมัครกู้ภัย บอกได้เลยว่าเขาเหล่านี้ทำงานด้วย จิตวิญญาณจริง ๆ การจะออกเหตุแต่ละทีในห้วงนี้ที่มีปัญหาเรื่องเงินค้างจ่าย เงินเติมน้ำมันไม่มี ออกเหตุทีหนึ่งต้องควักกันคนละ ๒๐-๓๐ บาทเพื่อเติมน้ำมัน ท่านประธานคิดดู เขาต้องเสียสละทุนทรัพย์ส่วนตัว ซึ่งการที่รัฐจะสนับสนุนเป็นการสร้าง กำลังใจให้คนปฏิบัติหน้าที่อันจะสามารถประคองให้เขาอยู่ได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้ แล้วถ้าพวกเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ แล้วถ้ารัฐเองไม่สนับสนุนใครจะสนับสนุน แล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างพวกเราคงทอดทิ้ง Hero พวกนี้ไม่ได้หรอก เขามา เรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาไม่ควรจะต้องมาเรียกร้อง แล้วต่อไปใครจะเสียสละมาช่วยถ้าเรา ไม่ช่วยเขา ท่านประธานครับ หลังจากที่ผมได้ยื่นกระทู้ถามไปเมื่อช่วงเปิดสมัยประชุม ได้มีตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครกู้ภัยส่งหนังสือมาร้องเรียนว่าที่ผ่านมามูลนิธิได้อดทน อย่างถึงที่สุดแล้ว อยู่กันอย่างเงียบ ๆ เจียมเนื้อเจียมตัวไม่เคยเอ่ยปาก รอคอยอย่างสงบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รายละเอียดทั้งหมดที่พี่น้องอาสาสมัครส่งมาอยู่ในมือผม ผมจะขออนุญาตยื่นกับท่านประธานอีกที ซึ่งผมทราบดีว่าทางท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งจะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่ปัญหาเร่งด่วนสะสมมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน และยังส่งผลวิกฤติถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทาง สพฉ. นอกจากไม่เห็นใจคนทำงานแล้ว ยังซ้ำเติมด้วยการไม่เห็นถึงความเดือดร้อนของอาสาสมัคร ถ่วงเวลาจัดการเงินกองทุน อย่างไม่มีแบบแผน ทั้ง ๆ ที่เงินมีอยู่เกือบพันล้านบาทแต่ไม่สามารถจัดการ การตรวจสอบ ข้อมูลของผู้ปฏิบัติการให้สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยออกมาได้ อ้างว่าระบบเบิกจ่ายมีปัญหา เนื่องจากต้องย้ายฐานข้อมูลเก่าเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลใหม่ แต่มันเลยมาตั้ง ๗ เดือน ก่อนหน้านี้ทางเลขาธิการ สพฉ. ได้ให้สัมภาษณ์ว่าระบบเบิกจ่ายจะสำเร็จภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ วันนี้วันที่ ๒๘ แล้ว พรุ่งนี้วันทำการเหลือเวลาแค่ ๑ วันจะทันหรือครับ การตรวจสอบข้อมูลที่ล่าช้า การจัดทำระบบใหม่ การจัดทำฐานข้อมูลไม่ควรยกมาเป็น ข้ออ้างในการจ่ายเงินชดเชย มันคือรายจ่ายที่รัฐต้องจ่ายให้กับอาสาสมัคร และรัฐเองก็ได้มี การอนุมัติให้กับทาง สพฉ. แล้ว ที่สำคัญเหตุการณ์นี้เกิดตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ จนถึง ปัจจุบัน และยังไม่สามารถจัดการเบิกจ่ายได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐได้อย่างไร หากท่านเลขาธิการ สพฉ. และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องลองไม่ได้รับเงินเดือนสัก ๖-๗ เดือนดู ท่านจะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร ทาง สพฉ. ค้างจ่ายเงินเดือนไหนบ้าง เริ่มตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๖๕ จนถึงปัจจุบัน แต่มีการแวะจ่ายมา ๓ เดือน เดือนมีนาคม เดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ นี่คือข้อมูลและปัญหาที่ได้จากพี่น้องอาสาสมัครทั่วประเทศ ผมขอเป็นตัวแทน และถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขในคำถามแรกว่ากระทรวงสาธารณสุขเองท่านทราบ หรือไม่ว่า สพฉ. ค้างเงินสนับสนุนพี่น้องกู้ชีพตั้ง ๗ เดือน ปัญหานี้เกิดจากสาเหตุใด และท่านจะแก้ไขอย่างไร และสุดท้ายท่านจะจ่ายเงินที่คงค้างแก่พี่น้องกู้ภัยเมื่อไร ขอคำตอบ ด้วยความเคารพท่านประธาน
ต้องกราบขอบพระคุณ ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีที่ได้ตอบคำถามเพื่อให้ความกระจ่างแก่พี่น้องประชาชน และพี่น้องอาสาสมัครกู้ภัย ในส่วนของคำตอบที่ท่านรัฐมนตรีตอบก็ชัดเจนในระดับหนึ่ง ผมเข้าใจดีว่าท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งแล้วภาระปัญหานี้มันเกิดมานานหลายเดือน ก็เป็น กำลังใจให้ท่านแล้วก็ทางสถาบัน ส่วนในเรื่องของระบบ IT ที่มีปัญหา ถ้ามันติดปัญหาจริง ๆ ผมเชื่อว่าระบบ Analog หรือข้อมูลที่ทางกู้ภัยเขามีทั่วประเทศเขาเก็บข้อมูลไว้อยู่แล้ว ลองปรับดู อันนี้คือคำแนะนำ แล้วผมเชื่อว่าทางพี่น้องกู้ภัยก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ หรือถ้าติดขัดเรื่องของข้อกฎหมายหรือระเบียบการต่าง ๆ ผมเองและพรรคไทยสร้างไทย ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนในกลไกของรัฐสภาแห่งนี้ถ้าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา หาแนวทางแก้ไขเราก็พร้อมที่จะเสนอเรื่องนี้ ท่านประธานครับ ผมยังมีข้อห่วงใยถึง อนาคตข้างหน้าว่าหากไม่มีมาตรการใดเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก ซึ่งทาง สพฉ. ค้างจ่ายมา ๗ เดือน ผมมองว่าเป็นเหตุผลอีก ๑ เหตุผลที่ทำให้พี่น้องกู้ภัย ทั่วประเทศต้องหยุดปฏิบัติการในห้วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ เรามีหน่วยปฏิบัติการกู้ภัย ถึง ๙,๐๐๐ กว่าหน่วย แต่ในปีที่ผ่านมาจาก ๙,๐๐๐ หน่วยเหลือ ๖,๐๐๐ หน่วย Case การรับส่งผู้ป่วยปีหนึ่งก็อย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้นำเรียนเกือบ ๒ ล้านเคส ผมขออนุญาต กล่าวเป็นภาษาอีสานมีคำกล่าวหนึ่งครับ อันว่าความตายนี้แขวนคอทุกบาดย่าง ตื่นขึ้นมื้ออื่นเซ่า เห็นหน้าจังว่ายัง ท้ายที่สุดชีวิตคนเราทุกคนต้องพบเจอคือความตาย แต่เราไม่รู้หรอกว่า วาระสุดท้ายของคนเราจะมาในรูปแบบไหน ผมเองเคยเฉียดฉิววินาทีแห่งความตายมาแล้ว ๓ ครั้ง และทุกครั้งผมก็ได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องกู้ภัยนี่ละครับที่เป็น Hero ช่วยชีวิตผมจนมาถึงวันนี้ ในยามศึกพวกเขาต้องรบ ยามสงบพวกเขาต้องเตรียมความพร้อม ไม่มีเหตุให้ออกไม่ใช่ไม่มีงาน ความพร้อมคือหลักการสำคัญของสถานการณ์ฉุกเฉิน เราต้อง เตรียมความพร้อมให้เขาทุกวินาที แล้วผมไม่อยากให้พวกเขาสูญเสียขวัญและกำลังใจ กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสร้างขวัญและกำลังใจให้เขาได้
ผมขออนุญาตฝากท่านประธานเป็นคำถามที่ ๒ ว่ากระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในอนาคตจะวางมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร และท่านจะมีมาตรการในการสร้างขวัญและกำลังใจให้พี่น้องกู้ภัยอย่างไรบ้าง ขออนุญาต ถามท่านประธาน นี่เป็นคำถามที่ ๒ ครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ขอนำเรียนอภิปรายหารือผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก จากที่ผมได้ตั้งตั้งกระทู้ถามไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ภายใต้ การกำกับของกระทรวงสาธารณสุขในครั้งก่อน ต้องกราบขอบพระคุณทางกระทรวง สาธารณสุขที่ได้อนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องกู้ภัยทั่วประเทศ แต่ยังมีอีก ๑ เรื่อง ที่พี่น้องกู้ภัยสะท้อนปัญหามา นั่นก็คือค่าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ตามกฎเกณฑ์ที่ สพฉ. และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งต้องใช้จ่ายทุนทรัพย์ส่วนตัว ผมขอหารือ ผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่าเราควรยกเลิกค่าอบรมที่เรียกเก็บกับ พี่น้องกู้ภัย อย่าผลักภาระเหล่านี้ไปให้พี่น้องอาสาสมัครเลยครับ
เรื่องที่ ๒ ๑ ปี ๑ อำเภอ ๑๐ ศพ ในช่วงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ในพื้นที่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีโศกนาฏกรรมเด็กจมน้ำตายหมู่รวมกันแล้ว ๑๐ ราย เหตุการณ์ล่าสุดวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาเด็กหญิง ๔ คน เสียชีวิต ๔ ราย ที่บ้าน โพนเงิน ตำบลเมืองบัว ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนมีอายุอยู่ที่ ๑๐-๑๒ ปี ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นทำให้พ่อแม่ต้องห่างจากลูก ๆ ไปทำงาน ต่างพื้นที่ ไม่มีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด ผมขอฝากเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ปกครองช่วยดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเต็มที่ และขอวอนท่านประธานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ควรมีการบรรจุหลักสูตรเอาตัวรอด ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการว่ายน้ำ ผมเข้าใจครับว่า หลักสูตรการว่ายน้ำปัจจุบันมีแค่ในบางโรงเรียนและต้องใช้เงินส่วนตัว ดังนั้นอย่าให้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาพรากชีวิตน้อง ๆ ของผมเหมือนดังโศกนาฏกรรมที่ผ่านมาครับ ท่านประธาน
เรื่องที่ ๓ ผมได้ต่อสายคุยกับพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลเมื่อวานนี้ พบปัญหาในการติดต่อประสานงานครับ สถานทูตไทยประจำอิสราเอลมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพียงแค่ ๒-๓ เบอร์ ซึ่งแรงงานไทยในอิสราเอลที่แจ้งว่า ๒๐,๐๐๐ คน ไม่จริงครับ ความเป็นจริงน่าจะ ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คนที่ไม่มี Visa ทำให้การติดต่อประสานงาน ยากลำบาก สถานการณ์ที่นั่นต้องขอบพระคุณพี่น้องชาวไทยและพี่น้องอิสราเอลที่ได้ให้ การช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่เดือดร้อน
สุดท้ายครับ ผมมีเวลาไม่พอ ๑๔ เรื่องที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้อง ในพื้นที่ ขอฝากหนังสือผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ด้วยความเคารพท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย วันที่ ๑๖ มกราคมที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมวันครูในพื้นที่ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตต์ และอำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ต้องขอคารวะ และสดุดีครูผู้เสียสละทุกท่าน และในโอกาสนี้ครับท่านประธาน ครูหลายท่านได้สะท้อน ปัญหาด้านการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก จากข้อมูลของกระทรวง ศึกษาธิการมีโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐ กว่าแห่ง ในจำนวนนี้ มีโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน หรือที่เรียกว่าโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ราว ๆ ๑๕,๐๐๐ แห่ง ให้บริการนักเรียนกว่า ๑ ล้านคน ที่สำคัญเรามีโรงเรียนขนาดเล็กที่วิกฤติ มีนักเรียนไม่ถึง ๔๐ คนกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง ท่านประธานครับ กระทรวงศึกษาธิการตั้งเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณและสนับสนุน บุคลากรให้โรงเรียนในสังกัดตามจำนวนรายหัวของนักเรียน โรงเรียนที่มีนักเรียนมาก ได้งบประมาณและบุคลากรเยอะ ส่วนโรงเรียนที่เล็กมีนักเรียนน้อยได้งบประมาณและ บุคลากรก็น้อยตามไปด้วย ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไป ด้วยความลำบาก และยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาเรื่องอาคารเรียน ที่ชำรุดทรุดโทรม ปัญหาของครูที่ต้องทำหน้าที่มากกว่าครูผู้สอน ปัญหาสภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมาะต่อการเรียนรู้ โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้กำลังถูกบีบให้หมดลมหายใจ มาตรการ ในการแก้ไขปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะนโยบายควบรวมก็ไร้ห้วงเวลาที่ ชัดเจน นำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสทางการศึกษาของน้อง ๆ ลูกหลาน ผมขอหารือผ่าน ท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า จากปัญหาข้างต้นเพื่อความชัดเจน ท่านมีมาตรการใดบ้างในการแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่เผชิญอยู่ วิกฤติเรื่อง ทรัพยากรมนุษย์รอไม่ได้ครับท่านประธาน ด้วยความเคารพครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอเมืองสรวง อำเภอปทุมรัตน์ ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตร่วมอภิปรายในญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข ปัญหาการขาดแคลนน้ำบาดาลและปัญหาน้ำบาดาลคุณภาพต่ำ
ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานครับ ผมขอจำแนกแหล่งน้ำในประเทศไทยออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรก นั่นคือน้ำบนฟ้า ก็คือฝน ส่วนที่ ๒ น้ำบนดิน ห้วย หนอง คลอง บึง ระบบชลประทานต่าง ๆ และส่วนที่ ๓ น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ทั้ง ๓ ส่วนล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และแหล่งน้ำที่เราอภิปรายอยู่ในวันนี้ก็มีความสำคัญที่สุดเช่นเดียวกัน นั่นก็คือแหล่งน้ำ บาดาลแหล่งน้ำใต้ดิน ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรามีขุมทรัพย์น้ำบาดาลมหาศาลถึง ๑.๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ๑ ปีเรามีน้ำคุณภาพดีคือน้ำจืด น้ำบาดาล ที่สามารถใช้ได้เต็มที่ถึง ๔๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปี ๆ หนึ่งเราใช้แค่เพียง ๑.๔ หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แค่นั้นเอง กล่าวคือน้ำที่ใช้ต่อสัดส่วนน้ำดีแค่ ๑ ใน ๓ ของจำนวนน้ำคุณภาพดีทั้งหมด และในจำนวนนั้นยังเหลือน้ำคุณภาพต่ำคือน้ำเค็ม น้ำกร่อยอีก ที่ยังไม่ถูกนำขึ้นมาใช้อีก ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ๓ เดือนก่อนครับ พี่น้องประชาชนหลายพื้นที่ทั่วประเทศประสบ ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์ El Nino ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ แหล่งน้ำผิวดิน ไม่มีที่กักเก็บ ไม่มีน้ำให้กักเก็บ ภาคครัวเรือนขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ประชาชน ต้องทนใช้น้ำคุณภาพต่ำ ภาคอุตสาหกรรมก็ขาดแคลนน้ำในการผลิตไม่แพ้กัน แล้วหนักที่สุด ภาคการเกษตรกระทบที่สุด ข้าวต้องยืนต้นตาย พืชผลทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรเสียหาย ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ๒ ล้านไร่ก็เช่นกัน ประสบปัญหาเช่นเดียวกับพี่น้องทั่วประเทศ โดยเฉพาะพี่น้อง อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวง ใน Slide ที่เห็นด้านล่างสีชมพู หรือสีส้ม ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของ ๓ อำเภอ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำคุณภาพต่ำหรือน้ำเค็ม ไม่สามารถ นำมาอุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้ ภาคการเกษตรยิ่งไปกันใหญ่ ไม่สามารถนำน้ำบาดาล ขึ้นมาใช้ได้ จะดีแค่ไหนหากเราสามารถนำน้ำคุณภาพต่ำ น้ำเค็มเหล่านี้มาปรับปรุงเพื่อแก้ไข ปัญหาน้ำฝนที่ทิ้งช่วง ปัญหาน้ำบนดิน ห้วย หนอง คลอง บึง ระบบชลประทานที่ไม่ทั่วถึง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าญัตตินี้จะนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพของน้ำบาดาลให้สมบูรณ์ ยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำทุกมิติ โดยภาครัฐเองต้องจริงจังและจริงใจ ใช้องคาพยพ ที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ยกตัวอย่าง ความไม่ชัดเจน ในมาตรการช่วยเหลือพี่น้อง ยกตัวอย่างพี่น้องเกษตรกรชาวนา วันนี้ข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ เริ่มออก โรงสีเริ่มประกาศรับซื้อกิโลกรัมละ ๑๑.๙๐ บาท ทั้ง ๆ ที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก อย่างอินเดียประกาศบอกว่าจะไม่ส่ง แต่ชาวนายังขายข้าวได้แค่กิโลกรัมละ ๑๑.๙๐ บาท ความหวังของพี่น้องทุ่งกุลาร้องไห้ที่หวังว่าข้าวหอมมะลิที่พญาแถนมอบให้ ให้ปลูกในพื้นที่ ที่ดีที่สุดจะพาให้พี่น้องหลุดพ้นจากความยากจนคงไปไม่ถึงแล้วครับ มาตรการการช่วยเหลือ ต่าง ๆ ก็ไม่ชัดเจน การประกันรายได้ไม่มี การชะลอสินเชื่อที่ให้พี่น้องเกษตรกรตากข้าว แล้วขึ้นยุ้งฉางตันละ ๑,๕๐๐ บาทก็ไม่ชัดเจน โครงการของสถาบันทางการเกษตรก็ไม่มี ความชัดเจน แล้วหนักที่สุดที่พี่น้องเกษตรกรถามมาคือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท ไม่มีความชัดเจน นี่ผมยกตัวอย่างถึงความไม่ชัดเจนของรัฐบาล ภาครัฐต้องจริงจังและจริงใจ ในการแก้ปัญหา หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเรื่องน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีองคาพยพ มีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลที่เก็บเงิน ได้ปีละเป็นพัน ๆ ล้านบาท โครงการขุดเจาะน้ำบาดาลที่ขุดเจาะได้ลึกที่สุดใน ASEAN ๑,๐๐๐ เมตรที่จังหวัดขอนแก่นผมก็ยังไม่เห็นขยายต่อ ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง และต้อง ขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ร่วมกันอภิปรายหาทางออกในครั้งนี้ หากไม่แก้ไขการขาดแคลนน้ำ นับวันจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและความยากจนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ท้ายที่สุด ท่านประธานครับ ท่านได้ดูหรือยังหนังเรื่องสัปเหร่อ เนื้อหา สะท้อนชีวิตของพี่น้องชาวอีสาน แทรกคติความเชื่อมากมาย ความตายมันฆ่าเฮาได้เทือเดียว แต่ความจน ความทุกข์ ความขาดแคลน ความแห้งแล้ง มันกำลังสิฆ่าพี่น้องชาวไทย ไปเรื่อย ๆ จนสิบ่เหลือจักคนแล้วครับ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง
ท่านประธานครับ ผมได้รับเรื่องร้องเรียน จากท่านกำนันอภิสิทธิ์ วงศ์น้ำคำ กำนันตำบลกำแพง ว่าพี่น้องบ้านสระหงส์ สระทอง หมู่ที่ ๖ และหมู่ที่ ๑๒ ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังได้รับความเดือดร้อน น้ำประปาไหลเบา ต้นทุนการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ และผมยังได้รับรายงานจาก ท่านนายกอังคาร ยอดแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงครั่งใหญ่ ถึงปัญหาของพี่น้อง ประชาชนทั้ง ๓ หมู่บ้านของบ้านแจ่มอารมณ์ที่น้ำประปาไหลค่อย ไหลเบา แล้วผมยังได้รับ เรื่องร้องเรียนทำนองเดียวกันอีกหลายเรื่องครับท่านประธาน ยกตัวอย่างเช่นบ้านดงมัน หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๑๓ ตำบลสิงห์โคก อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ ๑๒ ตำบลโนนสว่าง อำเภอเกษตรวิสัย บ้านเลิงแก บ้านหัวช้าง ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทุกหมู่บ้าน ทุกพื้นที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันครับ นั่นก็คือ น้ำประปาไหลเบา ต้นทุนน้ำที่มาผลิตประปาชุมชนไม่เพียงพอ จากปัญหาข้างต้นจะเห็นว่า โดยสภาพพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ เกษตรวิสัย เมืองสรวง ปทุมรัตต์ อยู่ในพื้นที่ ทุ่งกุลาร้องไห้ น้ำใต้ดินกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ผลิตน้ำประปาได้ และพื้นที่ ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานครับ ผมจึงใคร่ขออนุญาตหารือฝากผ่านท่านประธาน ไปยังหน่วยงานที่มีศักยภาพดีพอจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ นั่นก็คือกรมทรัพยากร น้ำบาดาลและกรมทรัพยากรน้ำ ทั้ง ๒ หน่วยงานมีองค์ความรู้ มีบุคลากร มีหน่วยงานระดับ ภูมิภาคที่พอจะช่วยบรรเทาเบาบางความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ และอยู่ใต้การกำกับ ดูแลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขออนุญาตหารือ ผ่านท่านประธานฝากปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กราบขอบพระคุณครับ ท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ลูกอีสานดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง ท่านประธานที่เคารพครับ ขยะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างช้า นาน ในอดีตการจัดการขยะอาจจะง่าย เนื่องจากขยะส่วนมากเป็นวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายเอง แต่เมื่อสังคมมนุษย์เกิดการพัฒนา มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาการเกิดขึ้นของขยะที่ไม่สามารถ ย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผนวกกับประชากรโลก มีอัตราสูงขึ้น จึงกลายเป็นปัญหาที่เรียกว่าขยะล้นเมือง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้รับการรับรองจาก ๑๙๓ ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ มีการบรรจุเป้าหมายว่าด้วยการลดปริมาณขยะ เข้าไปเป็นเป้าหมายที่สำคัญ อันจะนำมาสู่การพัฒนาโลกให้ดีขึ้นภายในปี ๒๕๗๓ กลายเป็น วาระเร่งด่วนของเวทีโลก ในขณะที่ทั่วโลกต่างขะมักเขม้นในการลดปริมาณขยะครับ ท่านประธาน รัฐไทยในหลายยุคที่ผ่านมามีความพยายามในการลดปริมาณขยะมาโดยตลอด จะเห็นได้ชัดท่านประธานครับ ในยุครัฐบาล คสช. มีการวาง Roadmap การแก้ไขปัญหา ขยะของไทย ที่สำคัญมีทั้งอำนาจตามมาตรา ๔๔ แต่เหตุใดถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหา การจัดการขยะได้ ท้องถิ่นบางแห่ง ตอนนี้ไม่มีแม้กระทั่งถังขยะท่านประธานครับ ผมขอฝาก ประเด็นข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะมีการตั้งขึ้น ๓ ประเด็น ดังนี้ครับ
ประเด็นที่ ๑ เรื่องอำนาจหน้าที่ เรื่องงบประมาณ หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ตาม พ.ร.บ. รักษา ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ ๒) ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ตามกฎหมายหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องงบประมาณที่ส่วนกลาง จัดสรรให้ หลายท้องถิ่น แม้แต่งบประมาณจะนำไปดูแลพี่น้องประชาชนในด้านที่สำคัญกว่า ยังไม่เพียงพอเลยครับ งบประมาณในการซื้อถังขยะ รถเก็บขยะ ยังลำบากหากจะบริหารจัดการอย่างถูกวิธียิ่งเป็น เรื่องยากครับ เพราะติดขัดที่งบประมาณ การที่ส่วนกลางไม่ยอมกระจายงบประมาณ ให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริงนี้ ท้องถิ่นต้องรับภาระเพียงลำพัง การจัดการปัญหาขยะทั้งที่ ปัญหาขยะล้นเมืองควรเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ นี่จึงเป็นปมปัญหาหลัก หากยังปล่อยให้ ปัญหาขยะถูกแก้ไขแบบไร้ทิศทางอย่างนี้การจัดการขยะตามมีตามเกิด แบบที่เกิดขึ้นมา หลายปีก็ยังจะเป็นอย่างนี้ต่อไป
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องของการรับรู้ความเข้าใจของพี่น้องประชาชน ในการ มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการจัดเก็บ ทำลายขยะมากมายหลายแนวทาง ๑ ในนั้นคือการสร้างโรงเผาขยะไฟฟ้า ขึ้นชื่อว่าขยะ โรงขยะ ที่เก็บขยะ หรือโรงเผาขยะ หากไปตั้งอยู่ตรงไหนมันก็มักจะมีปัญหาตามมาตลอด นั่นก็คือการต่อต้านจากชุมชน หรือจากพื้นที่ใกล้เคียง ยกตัวอย่างในช่วงกลางปี ๒๕๖๖ ที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดบ้านผมครับ มีความพยายามจากหน่วยงานภาครัฐที่จะ ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงเผาขยะไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเป็นการได้รับอนุญาตสัมปทานจาก ภาครัฐ วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่ล้นเมืองและผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยรองรับ ขยะจากหลายอำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด และใช้พื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอันดับโลก เป็นตำแหน่งที่ตั้งโรงไฟฟ้า ขยะดังกล่าว ปัญหาที่ตามมาท่านประธานครับ เกิดการต่อต้านจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างหนัก นำไปสู่การประท้วง จนหน่วยงานภาครัฐต้องยกเลิกโครงการ ถือว่าเป็นโชคดีของ พี่น้องในพื้นที่ ที่โครงการขนาดใหญ่สร้างความไม่สบายใจให้แก่พี่น้องประชาชนและอาจ สร้างผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพถูกระงับไป แต่ปัญหาของพี่น้อง นั่นก็คือปัญหาเรื่องขยะ ยังไม่ถูกแก้ไข ปัจจุบันหน่วยงานท้องถิ่นยังแก้ไขปัญหาขยะแบบเดิม นั่นก็คือนำขยะไปกองรวม ฝังกลบในพื้นที่สาธารณะ และนับวันก็จะเริ่มขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ รุกล้ำพื้นที่ป่าชุมชน และอาจสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรใต้ดินได้ เพราะฉะนั้นครับท่านประธาน การบริหารจัดการขยะ การจัดเก็บ การทำลาย จำเป็นต้องดำเนินการ โรงขยะที่เก็บขยะหรือ โรงเผาขยะไฟฟ้าท้ายที่สุดก็ต้องเกิด แต่จะเกิดขึ้นต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางวิถีชีวิต สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นอย่าง รอบด้าน แล้วค่อยกำหนดรูปแบบวิธีการการจัดการที่จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนใน พื้นที่เป็นหลัก เหล่านี้จะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจปัญหาและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือใน การแก้ปัญหาร่วมกัน
ประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ ๓ ด้านการส่งเสริมและคัดแยกการนำขยะกลับมา ใช้ใหม่ การที่จะจัดการปัญหาขยะล้นเมืองได้อย่างยั่งยืนครับ ต้องมาดูที่ต้นทางด้วย นั่นก็คือ การสร้างจิตสำนึกของพี่น้องประชาชนและการวางแผนแนวนโยบายของภาครัฐ ซึ่งผม เห็นด้วยกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการบริหารจัดการขยะที่จะต้องประสาน ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการขับเคลื่อนร่วมกัน ท่านปลัดกระทรวง มหาดไทย ขออนุญาตที่เอ่ยนามครับ มีแนวคิดในการขับเคลื่อนธนาคารขยะร่วมกับท้องถิ่น ๗,๗๗๓ แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมาย ๖๐ วัน ทุก อปท. ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย ๑ แห่ง โครงการธนาคารขยะจะเป็นอีก ๑ ทางออก ให้กับวิกฤติขยะล้นเมือง ถือเป็นโครงการ ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่าให้เป็นแค่ Event ทำแค่ฉาบฉวย ผักชีโรยหน้า ให้ทำจริงจังครับ ดำเนินการให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยประการ เหล่านี้ เพื่อการศึกษาแนวทางอันจะนำมาซึ่งวิธีในการแก้ปัญหาขยะ ผมขอสนับสนุน ญัตติ เรื่อง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เพื่อนสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้ยื่นเข้ามาในสภาแห่งนี้ ด้วยความเคารพครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตหารือท่านประธานถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวทั้งประเทศครับ ผมได้มีโอกาสนำปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่มีราคาวัวตกต่ำติดต่อกันหลายปีเข้ามาตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรี นั่นก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วครับ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา ๖ เดือน ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต อาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ปัญหาวัวล้นตลาด ปัญหาการส่งออกไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือปัญหา การลักลอบนำเข้าวัวมีชีวิต ซากวัว หรือวัวกล่องที่ผิดกฎหมายจากประเทศต่าง ๆ เข้าสู่ ประเทศไทย ผ่านมา ๖ เดือนผมจึงอยากจะใช้เวทีแห่งนี้หารือผ่านท่านประธานไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง เรื่องวัวที่ ล้นตลาดและหาตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ท่านต้องดำเนินการและมีคำตอบชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ส่วนเรื่องการ นำเข้าวัวที่มีชีวิตที่ผิดกฎหมาย ซากวัว วัวกล่อง หรือวัวเถื่อน หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ๆ ๒ หน่วยงาน นั่นก็คือกระทรวงการคลังหรือกรมศุลกากร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอีกหลายกรมที่ต้องดูแลเรื่องนี้ และประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากฝาก ก็คือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการการทำความผิด หน่วยงานต่าง ๆ ต้องเร่งดำเนินการเพื่อชี้แจงต่อพี่น้อง เกษตรกร
ท้ายที่สุดครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนฝากมา เงินหมื่นกะอยากได่ แต่อยากให่เบิ่งงัวก่อนแหน่ ๓ ปีสิตายแล้ว คั่นบ่แก้แม่นบ่ยัง ด้วยความเคารพครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทย สร้างไทย ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวงครับท่านประธาน ผมขอ อนุญาตหารือท่านประธานในปัญหาเรื่องแข้วครับ แข้ว หรือ แข่ว เป็นภาษาอีสาน ภาษากลางเรียกว่า ฟัน ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัด ร้อยเอ็ดเรื่องการหยุดให้บริการสาธารณสุขทันตกรรมเบื้องต้นของโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล หรือที่เรียกว่า รพ.สต. ซึ่งแต่ก่อนงานบริการทันตกรรมเบื้องต้น ขูด อุด ถอน มีทันตาภิบาลประจำเป็นผู้ให้บริการ และมีทันตแพทย์วิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขเป็น ผู้รับรอง แต่ในปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ดทั้ง ๒๒๙ แห่ง ได้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดของกระทรวงมหาดไทยในปีงบประมาณ ที่ผ่านมา ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งการถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. ให้ท้องถิ่น เรื่องของท้องถิ่น ควรให้ท้องถิ่นดูแล ในขณะเดียวกันครับท่านประธาน หน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถจัดหาทันตแพทย์วิชาชีพมา รับรองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทันตาภิบาลได้เช่นเดิม ส่งผลให้ รพ.สต. ทั้ง ๒๒๙ แห่ง จำเป็นต้องหยุดให้บริการทั้งจังหวัด ภาระการรักษาทันตกรรมเบื้องต้นจึงตกไปยังโรงพยาบาล หลักของแต่ละอำเภอ ซึ่งแน่นอนครับ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ผมจึงขออนุญาตหารือไปยังกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ในการบูรณาการ ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวจังหวัดร้อยเอ็ด และจะเป็นแนวทางที่สำคัญในการ รองรับการถ่ายโอนภารกิจไปยังหน่วยงานท้องถิ่นของจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคต ท่านประธานครับ สุขภาพปากที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงครับ คืนทันตาภิบาล คืนสุขภาพฝันที่ดีให้พี่น้องชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ท้ายที่สุดท่านประธานครับ พี่น้องฝากมา Valentine มาฮอดแล้ว แข่วกะปวดเมิดหม่องปัว จักสิหัวสิไห่ ไผเด้น้อสิเบิ่งแงง ด้วยความ เคารพครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๗ พรรคไทยสร้างไทย ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย ปทุมรัตต์ เมืองสรวง ผมได้รับเรื่อง ร้องเรียนจากแม่ผู้ใหญ่สถาพร หงโสดา ผู้ใหญ่บ้านบ้านตาจ่อย หมู่ ๑๒ ตำบลดอกล้ำ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค อันมีสาเหตุมาจากแหล่งน้ำบนดินที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้านเริ่มแห้งขอด พี่น้องประชาชน ๑๗๓ ครัวเรือน ๖๓๙ คนต้องได้รับความเดือดร้อน ซึ่งนับเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้วครับ ที่พี่น้องต้องทนทุกข์อยู่กับปัญหานี้ อีกทั้งน้ำใต้ดินในพื้นที่ดังกล่าวก็เค็ม แต่พี่น้องก็จำใจต้อง ขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อมาประทังชีวิต ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากปัญหาข้างต้น ผมได้ประสานไปยังท่านนายกบุญจันทร์ ขันโท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอกล้ำ โดยทางท้องถิ่นได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยเตามายังลำห้วยสากลแหล่ง ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านในทุก ๆ ปี แต่ปัจจุบันในลำห้วยเตาน้ำก็เริ่มแห้งขอด ทำให้ไม่มีแหล่ง น้ำดิบสำรองเพื่อใช้บรรเทาทุกข์ของพี่น้องได้เช่นเดิม หลายฝ่ายได้ปรึกษาหารือหาแนวทาง ในการแก้ปัญหาและเห็นตรงกันว่า แนวทางที่พอจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ นั่นก็คือในระยะยาว ต้องสร้างฝายกักเก็บน้ำและขุดลอกลำห้วยเตา ซึ่งเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตประปาให้หมู่บ้าน ผมจึงขออนุญาตหารือผ่าน ท่านประธานไปยังหน่วยตอบโต้ภัยพิบัติทุกหน่วยงานในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ระยะสั้นให้พี่น้องบ้านดอกล้ำก่อนครับท่านประธาน และในระยะยาวผมขอฝากไปถึง กรมชลประทานให้ช่วยเหลือพี่น้องในการขุดลอกลำห้วยเตา และจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พี่น้องในลำดับต่อไป ท่านประธานครับ หน้าแล้งปีนี้ท่าทางว่าจะ รุนแรงกว่าทุกปี เพราะฉะนั้นฝากหน่วยงาน ฝากรัฐบาลเตรียมรับมือกับสถานการณ์ด้วย ด้วยความเคารพครับท่านประธาน