นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอผู้รับรองครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง ๖ เดือนที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชน ในสภาแห่งนี้ จนกระทั่งแม้กระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่มีบัตรสำรองให้มีโอกาส ได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ผมได้ลงไปในช่วงที่ได้รับการหยุด การปฏิบัติหน้าที่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง เกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่เมือง ท่องเที่ยว สถานที่ ๒ สถานที่เมื่อเดือน ตุลาคม ที่ผมได้มีโอกาสลงไปในระหว่างที่ถูกหยุด ปฏิบัติหน้าที่ นั่นก็คือบ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ ๒ ก็คือบ่อขยะ เทศบาลนครจังหวัดภูเก็ต ๒ สถานที่นี้ให้ความรู้ผมมากครับท่านประธาน มีความแตกต่างกัน พอสมควร เมืองอย่างจังหวัดสมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ มีพี่น้องแรงงานเยอะ พอไปทางจังหวัดภูเก็ตก็เป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ข้อมูลที่ผมได้มาตรงนี้อยากจะขอสรุปให้ท่านประธานได้รับทราบสั้น ๆ ในเวลา ๕ นาที ที่เหลือ หน้าแรกเป็นสรุปสำหรับผู้บริหารสำหรับสถานการณ์ผลกระทบและงบประมาณ จัดการขยะของจังหวัดสมุทรปราการ ภาพที่ท่านประธานเห็นอยู่ทางฝั่งซ้ายสุดของจอ นั่นคือบ่อขยะครับ ถ้าท่านประธานมองลงไปที่ช่องซ้ายนิดหนึ่งก็จะเห็นมอเตอร์ไซค์อยู่ มอเตอร์ไซค์นั้นก็พอจะบอกได้ครับว่ากองขยะแห่งนี้สูงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าตึก ๕ ชั้น ถึง ๑๐ ชั้น ผลกระทบที่มันเกิดขึ้นก็อย่างนี้ ปริมาณขยะรายวัน ๒,๘๓๐ ตันจากจังหวัดสมุทรปราการ สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ตามมาตรฐาน ๓๐๐ ตัน แต่มีขยะที่ถูก จัดการได้ไม่ถูกต้องถึง ๒,๐๐๐ กว่าตัน ผลกระทบคืออะไรครับท่านประธาน ผลกระทบ ก็คือผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องชาวสมุทรปราการที่มี สส. จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ข้าง ๆ ผมทุกวันนี้พยายามที่จะช่วยเหลืออยู่ เพราะข้าง ๆ ไปทางซ้ายนิดเดียว นั่นคือ โรงเรียนเด็กเล็ก ถ้าจำไม่ผิดก็จะเป็น อบต. ที่อยู่ในพื้นที่แถวนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ ผลกระทบในเรื่องของความอันตรายในการเสี่ยงอัคคีภัยที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากบ้านของ ท่านประธานที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๖ ที่ผ่านมา ไฟไหม้กองขยะมหึมา ๕๐ ตัน สูงเท่าตึก ๕ ชั้น อันนี้คือปัญหาที่มันเกิดขึ้น พอกลับไปดูที่สไลด์อีกครั้งหนึ่ง งบประมาณ เราเพิ่งผ่านเรื่องงบประมาณไป ดูเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการอย่างเดียวกับท่านประธาน GDP จังหวัดสมุทรปราการ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท งบประมาณที่อยู่ที่ อปท. ทั้งหมด ๔๙ แห่งอยู่ ๑,๖๐๐ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนอยู่แค่ ๐.๒๕ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของจังหวัด สมุทรปราการ อันนี้คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงในจังหวัด ๑ จังหวัด ไปดูภาพที่ ๒ ของจังหวัดภูเก็ตว่าต่างกันอย่างไร ภาพที่ท่านประธานเห็นที่จังหวัดภูเก็ต ก็คือผมลงพื้นที่ กับ สส. จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนตุลาคมตอนโดนหยุดปฏิบัติหน้าที่ เลยขอบตรงนั้นไปนิดเดียว จะเป็นชายทะเลครับ ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการได้ต้องการที่จะให้นักท่องเที่ยวกลับมา ในจังหวัดภูเก็ตเยอะ ๆ หลังโควิด-๑๙ แต่ขยะที่มันอยู่ในระดับ Emergency อย่างที่เห็นนี้ สักวันหนึ่งจะลงไปในทะเล แล้วฝรั่งก็จะเรียกจังหวัดภูเก็ตว่า Garbage Paradise หรือที่เรียกว่าเป็นสรวงสวรรค์ที่เต็ม ไปด้วยขยะสถานการณ์มันเป็นอย่างนี้ ๘๗๑ ตันต่อวัน คือขยะที่มีต่อจังหวัดภูเก็ต ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ ๗๐๐ ตัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผลกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างชัดเจน GDP ของจังหวัดภูเก็ตที่ ๒๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท งบประมาณของ อบท. ทั้ง ๑๐ กว่าแห่ง ทั้งจังหวัดภูเก็ตรวมกัน ๖๐๐ กว่าล้านบาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ๐.๓๑ เปอร์เซ็นต์ นี่คือภาพจุลภาคที่เห็นได้ในท้องถิ่นที่ทำให้ผมกลับมาแล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้ เป็นพิเศษว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นควรที่จะจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร ซึ่งก็คือการรวมข้อมูลมาให้ท่านประธาน เห็นในหน้าต่อไปครับ การจัดการขยะครับท่านประธาน มองเป็นจุด ๆ ไม่ได้ ต้องมองเป็นโซ่ มูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ ภาพทางต้นทาง ถ้าเราไม่สามารถลดขยะต้นทางได้คุณเลิกคิดเรื่องกลางทาง ปลายทาง ตำน้ำพริกละลาย แม่น้ำ ต้นทางเห็นได้เลยตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ปี ๒๕๖๓ ปี ๒๕๖๔ ปี ๖๔๖๕ ขยะในประเทศไทย ทั้งหมด ๖๓ ล้านตัน แบ่งเป็นขยะมูลฝอยบ้าง เป็นกากของเสียอุตสาหกรรมบ้าง เป็นของ เสียอันตรายต่อชุมชนบ้าง เป็นมูลฝอยติดเชื้อบ้าง แต่หลังจากที่เราผ่านภาวะวิกฤติโควิด-๑๙ มาเมื่อเศรษฐกิจต้องการกระตุ้น นักท่องเที่ยวต้องการที่จะกระตุ้นให้มา จำนวนขยะก็จะต้อง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พอเรามาดูที่กลางทาง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราสามารถบริหารจัดการได้ดีสัก ขนาดไหน ๘๕ เปอร์เซ็นต์ สีน้ำเงินครับท่านประธาน บอกว่าขยะที่ได้รับการจัดการ แปลว่า อีก ๑๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับการจัดการ แล้วก็ลงไปในรายละเอียด ๘๘ เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ได้รับการจัดการนั้นก็ไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำไป พอมาดูที่ปลายทางครับ บริหารจัดการกันอย่างไร จำนวนหลุมขยะก็ดี จำนวนเตาเผาก็ดี ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างก็ดี ก็จะเป็นอย่างที่ท่านประธานเห็นเลยครับว่าประเทศไทยมี หลุมขยะอยู่ทั้งหมด ๑,๙๔๑ หลุม ได้มาตรฐานเพียงแค่ ๗๒ หลุม ท่านประธานฟังไม่ผิดนะครับ พี่น้องประชาชนฟังไม่ผิดครับ จำนวนขยะเกือบ ๒,๐๐๐ หลุมถูกอยู่แค่ ๗๐ กว่าหลุม ที่เหลือนี้ไม่ได้รับมาตรฐานเลย จำนวนเตาเผา ๑๐๕ เตา ถูกมาตรฐานมีระบบบำบัดอยู่แค่ ๑๑ เตา อีก ๙๐ เตา ไม่ถูกต้อง ถ้าใช้เวลาไม่ถึง ๑ นาที ก็พอที่จะเห็นได้แล้วครับว่าปัญหา ของประเทศไทยตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทางมีปัญหาอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปสุดท้าย ผมอยากจะใช้เวลาที่เหลือในการนำข้อเสนอครับว่า ๕ ข้อเสนอ ในการวางกรอบในการทำงานของคณะกรรมการวิสามัญที่ควรจะต้องตั้งขึ้นมีอะไรบ้าง ถ้าคิดดี ๆ ตามกรอบเลยนะครับ กรอบวิธีคิดก็คือตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง สามารถเป็นวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการที่จะตั้งนี้ได้เลยทีเดียว

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ คือการลดขยะต้นทางโดยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า Circular Economy วันนี้ข่าวไทยรัฐลงที่เศรษฐกิจนะครับ บอกว่ามีบริษัท ทุนใหญ่สามารถที่จะลงทุนอีก ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ในพลาสติกรักษ์โลกบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ที่ใช้ซ้ำ Recycle ได้ ดีครับ พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัททุนใหญ่แบบนี้ แต่เรา จะทำอย่างไรให้ระบบนิเวศของเศรษฐกิจทำให้ SMEs ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึง Circular Economy หรือเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้กลับสู่รูปเดิมและนำมาใช้ซ้ำได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๒ คือการออกพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียน ทรัพยากร ตรงนี้จะทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้ซ้ำด้วย ตรงนี้ก็เป็นกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเรากำลังพยายามที่จะนำเสนออยู่ในส่วนระหว่างกลางทาง คือการโอนอำนาจให้หน่วยงานอย่างส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ ไม่ได้จำเป็นที่ จะต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องอยู่ที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน ปลายทาง เพิ่มเติมงบประมาณในการจัดการ บริหารจัดการขยะ มาชวนสภาแห่งนี้คิดเลขกัน เมื่อสักครู่นี้ให้เห็นว่ามีหลุมขยะอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง ถ้าเราใช้งบประมาณตามที่ สส. พูนศักดิ์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกำจัดขยะ บอกว่าใช้อยู่ ๒๐ ล้านบาทต่อบ่อ ๒,๐๐๐ คูณด้วย ๒๐ เท่ากับ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท งบประมาณปีนี้ผมไปดูมาแล้วครับ การจัดการขยะกับ Circular Economy รวมกันแค่ ๑,๘๐๐ ล้านบาท ต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย ๒๐ เท่าถึงจะแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทยได้

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสุดท้าย คือการออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน แล้วก็ สำหรับผู้ที่ได้รับบำบัดผลจากการกำจัดขยะ ถ้าเราสามารถวางแผนได้แบบนี้ก็จะสามารถ ที่จะลดจำนวนขยะ ป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด บริหารจัดการตอนที่มันเกิดแล้ว และสามารถจัดการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องการกำจัดขยะที่ไม่ประสิทธิภาพ ในประเทศไทย ก็จะสามารถที่จะลดจำนวนขยะป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด บริหารจัดการ ตอนที่มันเกิดแล้วและสามารถจัดการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพในประเทศไทย ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกของพรรคก้าวไกล ในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ผมไม่ทราบมาก่อนครับว่าท่านประธานกรุณาให้เวลาผมถึง ๑๐ นาที แล้วก็เตรียมตัวมา สำหรับการอภิปรายสั้น ๆ ไม่ให้วนเวียนซ้ำซาก จริง ๆ ใช้เวลาแค่ ๒-๓ นาทีก็พอ แต่ถ้า ท่านประธานจะกรุณาขนาดนั้น แต่ถึงอย่างไรก็จะพยายามอภิปรายให้กระชับมากที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เป็นการกินเวลาสภาแห่งนี้ จึงขอเริ่มต้นด้วยการอภิปรายถึงสาระสำคัญกับสิ่งที่ อยู่ในจิตใจของผมเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม มีอยู่ ๒-๓ ประเด็นครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ ผมอยากจะเรียนไปยังพ่อแม่พี่น้องประชาชนผ่านท่านประธาน ว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ากลัวเสมอไป ถ้าเรา มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าเราดูเอกสารประกอบการพิจารณาของทางสภาที่ได้เตรียมไว้ ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งหมด ๒๒ ครั้งด้วยกัน และถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เรานิรโทษกรรมเพื่อที่จะลดความขัดแย้งในสังคม เพื่อที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับการเมือง เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพื่อที่จะคืนพ่อให้กับลูกสาวที่ยังเล็กได้ เพื่อให้คนที่อยู่ ที่ต่างประเทศที่เคยมีความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐได้กลับมาสู่มาตุภูมิประเทศ ของเขา ผมก็คิดว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัว หรือมีภาพที่เป็นลบตลอดเวลา

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าโอกาสในการรับนิรโทษกรรมไม่ควรจะถูกผูกขาดกับ คณะรัฐประหาร หรือคนคิดที่จะล้มล้างการปกครองเพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่ ต้องการจะบ่อนเซาะ คนที่ต้องการจะทำลายระบบประชาธิปไตยในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ที่ผมพูดอย่างนี้ผมอ้างอิงจากเอกสารของสภาครับท่านประธาน ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ จนถึงปี ๒๕๕๗ ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหน ผมเห็นว่าจะมีตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เป็นครั้งเดียวกระมังครับที่อยู่ในสมัยของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นอกจากนั้นนิรโทษกรรมผู้กระทำการ ปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะกบฏ นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรที่จะอนุญาตให้การผูกขาดในการนิรโทษกรรมอยู่กับคณะรัฐประหาร เพียงอย่างเดียว อันนี้เป็นประเด็นที่ ๒ ที่อยู่ในใจผม

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องการนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่เรื่องการให้พ้นผิดทางกฎหมาย การนิรโทษกรรมภาษาอังกฤษบอกว่า Amnesty เป็นภาษามาจากภาษากรีก แปลว่า Amnēstía แปลว่า ทำให้ไม่ต้องจำ ทำให้ลืมไป ผมคิดว่าประเทศไทยต้องก้าวผ่านเรื่อง แค่การพ้นผิดทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เราควรที่จะคิดเรื่องนี้เป็นโอกาสในการสร้าง ความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ เราควรจะมีการป้องกันให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ทำให้เกิดความโปร่งใสเสีย หรือ Transparency ทำให้เกิดการเสาะหาข้อเท็จจริงเสีย หรือ ที่เรียกว่า Fact-Finding จนกระทั่งในที่สุดแล้วมีการแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ หรือที่เรียกว่า Public Apology แล้วทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็จะทำให้ Reconciliation หรือความ สมานฉันท์ ความปรองดองนั้นเกิดขึ้นในชาติได้จริง ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่สังคมไทยจะ สามารถก้าวเกินกว่าแค่เรื่องการนิรโทษกรรม เพราะเป็นแค่จุดจุดหนึ่งเท่านั้นในการที่จะทำ ให้ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยนั้นน้อยลงและมีเสถียรภาพ มีสมาธิพอที่จะใช้ พลังของพวกเราในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการเมืองเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องของการศึกษาก็ตาม เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับกันก่อนครับว่าเราอยู่ในช่วงความ ขัดแย้งทางการเมืองไทย อย่างน้อยนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยายน สร้างบาดแผล อย่างร้าวลึกในสังคมไทย ตั้งแต่สงครามสีเสื้อมาจนถึงการลุกขึ้นเรียกร้องของเยาวชน คนรุ่นใหม่ นำไปสู่ ๑๐ กว่าปีที่สูญหาย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙-๒๕๖๗ การเมืองไทยประสบพบผ่าน นายกรัฐมนตรี ๗ คน ไม่นับรักษาการนายกรัฐมนตรี ๒ คน รัฐประหาร ๒ ครั้ง รัฐธรรมนูญ ๔ ฉบับ ม็อบใหญ่ต้านรัฐบาล ๙ ระลอก การปะทะปราบปรามสลายม็อบ ๕ ยก คนล้มตาย เรือนร้อย บาดเจ็บเรือนพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรม ของเราในครั้งนี้เราต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประหาร แต่ควรที่จะคิดที่เหยื่อของคนที่โดน ทำรัฐประหาร เราต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจากรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ มาจากการทำรัฐประหาร ไม่ใช่จำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรมเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่ออกมา เรียกร้องทางการเมืองนะครับ ทวงคืนผืนป่า ข้างหลังผมคือประธานที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม บอกผมว่าคนที่จะต้องติดคุกเพราะนโยบายของรัฐในช่วงรัฐประหาร ๘๐,๐๐๐ กว่าคดีครับ ผมสอบถามไปที่วิชาการของสภาบอกผมว่า ๓๐,๐๐๐ กว่าคดีครับ ประมง IUU ติดอยู่ ๓,๐๐๐ กว่าคดีครับ ยังไม่รวมคนคดีเหมืองอีกหลายพัน ยังไม่รวมคดี SLAPP ที่โดนรัฐฟ้องปิดปากประชาชนอีกไม่รู้เป็นจำนวนเท่าไร คราวนี้ถ้าเราตั้งหลักกันได้ ว่าเวลาที่จะนิรโทษกรรมเมื่อไร ถ้าท่านประธานฟังผมพูดอยู่ท่านประธานคงนึกออกว่า อย่างน้อยย้อนหลังไปถึงปี ๒๕๔๙ ใครได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง สิ่งที่ผมพูดไปท่านประธาน ก็คงพอที่จะเอาออก กระบวนการที่จะทำไม่ใช่แค่บอกว่าเป็นการยุติคดีทางอาญา แต่คือ การเยียวยา คือการออกมารับผิดชอบทางสาธารณะ มีการทำ Public Apology ไม่ให้เกิด วัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ได้แค่การนิรโทษกรรมของคนที่สั่งฆ่า แต่คนที่ถูกฆ่าด้วย พูดในมุม ของทนายที่ต่อสู้ในเรื่องนี้มาโดยตลอด พูดในแง่ของผู้ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพอยู่ในคุก พูดในมุมของคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพในการอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศ เท่านั้นละครับมันถึงจะเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบ ที่ได้รับการบรรลุไปจนถึงเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการ ณ ปัจจุบัน ซึ่งถ้าในการทำแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เราสามารถจะตั้งต้นได้ทั้ง ๓ อธิปไตยของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อันที่ ๑ ทางฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีสั่งตำรวจได้เลยครับ ชะลอคดี เราสามารถที่จะบอกว่ามีกระบวนการแบบนี้ เกิดขึ้นอยู่ในรัฐสภา การตีตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกำลังจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในแง่ของการบริหารสามารถมีอำนาจบริหารจัดการได้ ในฝ่ายของอัยการศาลต้องวินิจฉัยคดี ด้วยความรัดกุมรอบคอบและเป็น Fact Best ที่ฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่เอา อารมณ์หรือเอาอย่างอื่นมาตัดสินด้วย ในฝ่ายของรัฐสภาก็สามารถที่จะเข้าสู่สภาแล้ว อภิปรายความแตกต่างของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน และรวมถึง ข้อคิดเห็นของพี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่จำเป็นว่าจะต้องให้โอกาสในการ ตีกรอบการนิรโทษกรรมอยู่แค่ผู้แทนราษฎร แต่ควรจะรวมไปถึงราษฎรด้วย เพราะฉะนั้น อันนี้ ๓ เสาหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ ก็สามารถที่จะสร้างบรรยากาศที่ดี สร้างบรรยากาศสมานฉันท์เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า ต่อไปได้ หลังจากนี้ครับท่านประธาน จะมีการลงรายละเอียดของเพื่อน สส. พรรคก้าวไกล ในหลาย ๆ มิติ มิติที่ ๑ เราจะคุยเรื่องนิรโทษกรรมในมิติของอดีต ปัจจุบัน แล้วก็อนาคต จะมีเพื่อนสมาชิกมาพูดในมิติของการนิรโทษกรรมเฉพาะในประเทศไทย และตัวอย่าง ที่สำคัญ ๆ ในต่างประเทศ และมิติที่ ๓ จะมีเพื่อนสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายในมุมมองของ ทนายสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด รวมถึงพูดในมุมมองของผู้ที่ถูกฟ้องร้องในรัฐ ให้การอภิปรายในครั้งนี้เป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมและสามารถทำเนื้อในการอภิปรายนี้ ไปตั้งเป็นวาระในการประชุมของกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้น ผมขอใช้เวลาเพียงเท่านี้ครับ ขอบพระคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สำหรับรายงานแลนด์บริดจ์ ฉบับนี้ยังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบและความชัดเจนอีกมากมาย ถ้าจะอ่านดูในรายงานฉบับนี้ เพียงอย่างเดียว เปิดไปที่หน้า ฉ ข้อ ๒ อาจจะสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่ง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม อันนี้ประการที่ ๑ ไปดูที่หน้า ๕๒-๕๗ มีคำถามจากเอกชน มากมายถึง ๒๕ ข้อ และโดยสรุปว่ายังไม่มีความชัดเจนและต้องการการศึกษามากขึ้น อันนี้ แค่ดูจากรายงานฉบับนี้เองก็มีคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่มากมาย ในส่วนตัวของกระผมเองนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลหรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรที่จะสามารถตอบคำถามได้ ๓ คำถามสำคัญ กับโครงการแลนด์บริดจ์นี้ก่อนที่จะเดินหน้าต่อครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๑ เราจะลงทุนเม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาท ถึงแม้ว่าจะเป็น PPP ก็ตาม มันไม่มี Option อื่นแล้วใช่ไหมที่ดีกว่านี้ ที่เป็นการลงทุนที่เหมาะสมกว่านี้เพื่อให้ถึง เป้าหมายในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องภาคใต้ และยกระดับความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ อันนี้เป็นคำถามข้อที่ ๑

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๒ การที่จะจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและ สังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นทำอย่างไร เวลาเราพูด เราพูดถึงว่าข้อดีของมันคืออะไร ไม่มีใคร พูดหรอกครับว่าความเสี่ยงหรือข้อเสียเหล่านั้นมีอะไรบ้าง อันนี้ผมคิดว่าเป็น Cost-Benefit Analysis สั้น ๆ ที่ควรที่จะ รวมอยู่ในรายงานฉบับนี้

    อ่านในการประชุม

  • คำถามสำคัญข้อที่ ๓ วิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคใต้แล้วก็ประเทศไทย มันเป็น Trade Off ที่เราต้องเลือกว่าอันที่ ๑ ยกตัวอย่าง เราอาจจะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า ไม่เป็นที่ ๒ รองใคร หรือเราจะเป็นเส้นทาง เสริมเรือ Feeder ที่มีท่าเรืออย่างที่โครงการนี้นำเสนอ

    อ่านในการประชุม

  • ผมคิดว่าอันนี้เป็น ๓ คำถามที่ไล่จากภาพใหญ่มาที่ภาพย่อย จากมหภาค มาที่จุลภาคที่เราต้องตอบร่วมกัน ในฐานะที่เราเป็นประเทศไทยแห่งนี้ สำหรับคำถามข้อที่ ๑ รายละเอียด คำถามคือ เม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาท เราจะสามารถทำอะไรเพื่อชุมชนพี่น้อง ภาคใต้และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้บ้าง

    อ่านในการประชุม

  • ภาพที่ท่านประธานเห็นตอนนี้ ฝั่งซ้าย ๑ ล้านล้านบาท ต้องย้ำชัด ๆ ว่าอันนี้คือโครงการ PPP อาจจะใช้การลงทุนจาก เอกชนภายในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้ แต่ความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง มากกว่าการเวนคืนที่ดินมีอยู่ครับ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-โคราช ตอนแรกก็โฆษณาบอกว่า จะใช้ PPP สุดท้ายแล้วรัฐต้อง Subsidize ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันเม็ดเงิน ๑ ล้านล้านบาทนั้น ถ้ามองในทางฝั่งขวาแล้วเอาจิตใจ เอาสมองของพี่น้องคนภาคใต้มาคิดว่า เขาต้องการอะไร อะไรคือวิสัยทัศน์ของเขา อะไรคือปัญหาของเขา แล้วเราก็สามารถที่จะดึง ต่างชาติเข้ามาลงทุนแบบ PPP ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ผมยกตัวอย่างแค่ ๔-๕ ตัวอย่างครับ ท่านประธาน ตัวอย่างที่ ๑ เป็นไปได้ไหมว่าภาคใต้จะเชื่อมต่อกับมาเลเซียกับสิงคโปร์ให้เป็น แหล่งพลังงานสะอาดอันดับหนึ่งของประเทศไทย พลังงานหมุนเวียน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในภาคใต้ ๒,๑๔๖ เมกะวัตต์ในช่วงเวลา ๒๐ ปี อีกหน่อยมาเลเซีย สิงคโปร์ อยากจะลงทุน ใน Cloud Center อยากจะลงทุนในอะไรที่มันสำคัญ ๆ ที่ต้องใช้พลังงานสะอาด ภาคใต้ของ เรามีให้ เราคิดกันเรื่องชลประทานให้กับพี่น้องภาคใต้ได้ไหมครับ เกษตร ๒๔ ล้านไร่ ในภาคใต้มีชลประทาน ๓ ล้านไร่เท่านั้น เราบอกว่าเราอยากจะเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ชลประทานน้ำยังไม่มีเลย เราใช้งบประมาณตรงนี้พัฒนาแหล่งน้ำให้พี่น้องภาคใต้ได้ไหมครับ เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ ทำไมเวลาเราคุยเรื่อง Megaproject เราเลือกแต่เรื่องก่อสร้าง กับถนนหนทาง ท่าเรือ ถนน รถไฟ ทำไมบุคลากรพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับการศึกษาและคุณภาพ สุขภาพที่ดีจะเป็นไปไม่ได้ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร ยาง ปาล์ม ผลไม้ ทั้งหมดทั้งมวล นี้เป็นการศึกษาจากทางสภาพัฒน์ก็ดี เป็นการศึกษาจากงบประมาณแผ่นดินปีนี้ครับ ผมเอา งบประมาณแผ่นดินปีนี้ว่าถ้าต้องทำอย่างนี้ให้ชลประทานทั้งภาคใต้หมดใช้งบประมาณเท่าไร รวมออกมาครึ่งหนึ่งครับ ๔๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ผมเอาเงินที่เหลือไปแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ให้กับพี่น้องภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ที่ปัตตานี ที่ยะลาด้วยยังได้ ยังมีเงินเหลือเลย แล้วสามารถทำแบบ PPP ได้ด้วยเช่นเดียวกัน สามารถเอาต่างชาติมองให้เห็นได้ว่าสิ่งที่เขา จะได้ประโยชน์จากการลงทุนให้กับพี่น้องภาคใต้ ยกระดับเขาด้วย ลดความเหลื่อมล้ำเขา ด้วย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศก็ทำได้ ผมคิดว่าตรงนี้เราต้องแสดง ให้กับพี่น้องประชาชนได้เห็นว่า Option ในการพัฒนาภาคใต้มีอะไรบ้าง และด้วยกลไก เงื่อนไขอะไรที่ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะลงทุนในเรื่องของแลนด์บริดจ์ที่ใช้งบประมาณมาก ขนาดนี้ใช้เวลามากไปกว่านี้ อันนี้คือคำถามสำคัญข้อที่ ๑ ที่เราต้องตอบได้ว่านี่คือการลงทุน ที่เหมาะสมที่สุดของภาคใต้และไม่มีทางเลือกอื่นให้เราเลือกแล้วถึงจะยอมบอกได้ว่าโอเค นี่คือคำถามที่มหภาคที่สุด แล้วเราค่อยต่อไปคำถามข้อที่ ๒ ครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • คำถามข้อที่ ๒ Cost-Benefit Analysis ทุกสิ่งที่อยากจะได้มันก็ต้องมีสิ่งที่ จะต้องเสียไป ท่านประธานทราบไหมครับว่าพื้นที่ที่เรากำลังจะพัฒนานี้เป็นพื้นที่มรดกโลก ทั้งหมด ๖ แห่ง แล้วความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ชุ่มน้ำ Ramsar ที่เรา ไปจดทะเบียนกับเขาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ หรืออะไรประมาณนี้ครับ นานมากแล้ว เป็นพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยศักยภาพทั้งทางทะเลแล้วก็ทางบก เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร เป็นการเวนคืน ที่ดินที่เป็นสวนทุเรียนแล้วก็สวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เป็นเรื่องของการกัดเซาะ ชายฝั่ง เป็นเรื่องของน้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นอย่างที่ระยองกับ EEC ที่เคยเกิดขึ้น หรือ การสูญเสียพื้นที่ประมง ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือต้นทุนที่เราต้องจ่าย ถ้าใครเป็นนักเรียน เศรษฐศาสตร์อย่างรองหัวหน้าพรรคผมอยู่ตรงนี้ เศรษฐศาสตร์ ๑๐๑ Externality คือเวลา เราเขียนกราฟมันมี ๒ ด้าน แต่ว่าผลกระทบที่มันมานี้ส่วนใหญ่แล้วคนเขาไม่ค่อยมารวม ตรงนี้มันมูลค่าเท่าไรครับ ที่มันไปแล้วไปเลยแล้วไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาได้ เราจะให้ เอกชนเป็นคนดูแลเรื่องสัมปทาน ผมถามว่าเรามีกลไกพิเศษอะไรที่ให้สัมปทานกับเอกชน หรือต่างชาติ มีอะไรรับประกันความเป็นอยู่และความเป็นธรรมของชีวิตคนแล้วก็สิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเสียไปกับภาพนี้

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาเป็นคำถามที่ ๓ คำถามที่สำคัญอีกเช่นเดียวกัน เรื่องเกี่ยวกับ Opportunity ไปแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ Cost-Benefit Analysis ไปแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ Trade Off บ้างครับ การที่เราจะเลือกอย่างหนึ่งก็ต้องเสียอีกอย่างหนึ่ง มันยากครับที่จะทำให้ ๒ อย่างอยู่ด้วยกันได้ อันที่ ๑ สำหรับผม ผมมองว่าพื้นที่นี้ มรดกโลกขณะนี้ สิ่งแวดล้อมขณะนี้ ไข่มุก ของอันดามันขณะนี้ นี่คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เราวางแผนยุทธศาสตร์ไปข้างหน้า และพัฒนาให้เห็นได้ว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ๕๐ ปีจะเป็นการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ ขนาดไหน พื้นที่ตรงนี้ มูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งหมดเท่าไร ท่านประธาน ๓ ล้านล้านบาท เฉพาะภาคใต้อย่างเดียวเป็นมูลค่าเท่าไรของการท่องเที่ยวของประเทศไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์ครับ ๑ ล้านล้านบาท ผมตีว่าได้สัก ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แล้วถ้าเกิดมี โครงการนี้เกิดขึ้น เสียหายไปแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ คูณด้วย ๕๐ ปี นั่นคือมูลค่าที่เราต้องเสียไป นี่คือ Opportunity Cost ที่เราต้องเสียไป เมื่อเราจะเลือกทางฝั่งขวาว่าเราต้องการที่จะเป็น Hub เรือขนส่งสินค้าที่เพิ่มเติมที่เป็นเส้นทางรองจากเส้นทางเดินเรือหลัก ไม่ว่าจะเป็นของ ประเทศสิงคโปร์หรือของประเทศมาเลเซียก็ตาม นี่คือ ๓ คำถามสำคัญที่สุดที่ยังไม่มีคำตอบ ในรายงานฉบับนี้

    อ่านในการประชุม

  • มาถึงเรื่องจุลภาคบ้างครับ จุลภาคที่สำคัญที่สุดซึ่งก็คือตรงกับคำถามที่ หน้า ฉ แล้วก็หน้าที่ ๕๒ ของ ๕๗ ฉบับนี้ครับ ผมคิดว่าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าผมเป็น เอกชนแล้วเลือกว่าจะเลือกโครงการแลนด์บริดจ์ แล้วจะทำอย่างไรที่จะสามารถแชร์ส่วนแบ่ง การเดินเรือในภูมิภาคนี้ให้มาที่โครงการเราได้ ตอบแบบสามัญสำนึกที่สุด แบบชาวบ้านที่สุด ทางของเรามันก็ต้องเร็วกว่า สะดวกกว่าหรือว่าถูกกว่า แต่จากรายงานที่มาก็บอกว่าอาจจะ ลดเวลา คราวนี้ไม่มีรายละเอียดอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะอนุมานได้ว่าจะเร็วกว่า สะดวกกว่า จริงหรือเปล่าครับ ถ้าเกิดจะต้องมีเรือมารอทั้ง ๒ ฝั่ง ย้ายจากเรือเป็นราง เป็นรถ แล้วกลับไป เป็นเรืออีกทีหนึ่ง เรือก็ต้องมารอทั้ง ๒ ฝั่ง สินค้าเสียหายใครรับผิดชอบ ถูกกว่า อันนี้ก็ต้อง ขอรอรายละเอียด ซึ่งตรงนี้ชัดเจนมากเลยว่าสมมุติฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องตรงนี้ก็มี คำถามจากทางภาคเอกชนตั้งแต่หน้า ๕๒ ถึงหน้า ๕๗ รวมทั้งหมด ๒๕ ข้อที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะฉะนั้นถ้ากรรมาธิการชุดนี้หรือทางรัฐบาลไม่สามารถที่จะตอบคำถาม ๓ คำถามสำคัญ ของผม รวมถึงคำถามต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ในตัวของมันเองได้ ผมไม่สามารถรับ รายงานฉบับนี้ได้ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอลุกขึ้นอภิปรายปิดท้ายร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ก่อนที่ท่านรัฐมนตรีจะสรุป และรัฐสภาแห่งนี้จะลงมติกัน คงต้อง เริ่มต้นด้วยการเตือนสติเพื่อนสมาชิกที่อยู่ในห้องนี้ วันนี้ผมยืนท่ามกลางสมาชิกจากทั้ง ๒๒ จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดชายทะเล วันนี้วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ครับ ปีที่แล้ววันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เราอภิปรายเรื่อง พ.ร.บ. ประมงนี้ ข้างบนมีพี่น้องชาวประมงมากกว่า๒๒ จังหวัด มารอฟังเรา ปีที่แล้วเราผ่านมติ ๒๙๑ เสียง ตั้งกรรมาธิการ เตือนสติกันอีกครั้งครับ กฎหมาย พ.ร.ก. ประมง ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ปี ๒๕๕๘ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของ การแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของการที่จะมีวาระในการแก้ไขกฎหมายให้กับพี่น้องประชาชน เตือนสติกันอีกครั้งครับ ปี ๒๕๕๘ ที่เราผ่านกฎหมาย พ.ร.ก. IUU

    อ่านในการประชุม

  • ในหนังสือของสภาเขียนไว้ ฉบับนี้ครับ กฎหมาย ระเบียบของสหภาพยุโรปมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายภายในภูมิภาค ของประเทศที่สมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตาม แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก ของสหภาพยุโรป แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเรียกว่าหลัก Long Arm Jurisdiction เปรียบเสมือน การออกกฎหมายภายในประเทศอื่น เนื่องจากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่สามารถ ส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้ เตือนสติกันอีกครั้งหนึ่งว่าประเทศไทยส่งออกประมง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่งออกไปยุโรปแค่ ๖.๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรม คือพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้ส่งออกไปยุโรป คนส่งออกไม่ได้รับโทษ คนรับโทษไม่ได้ส่งออก อันนี้คือความอยุติธรรมตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนน้ำตาไหลแล้ว น้ำตาไหลเล่า เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นวันที่เราจะร่วมนิมิตหมายทุกคนทุกพรรคในการผ่าน กฎหมายฉบับนี้ ตั้งกรรมาธิการและผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะอย่าง สไลด์ที่อยากจะโชว์ให้ท่านประธานดู อยากจะโชว์ให้ท่านรัฐมนตรีดู อยากจะโชว์ให้ นายกรัฐมนตรีดู ว่าผลกระทบของอุตสาหกรรมประมงที่เกิดขึ้นนั้นหนักแค่ไหน และยาวนาน แค่ไหน ทางด้านซ้ายสุดท่านดูกราฟครับ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ การส่งออกประมงลดออกไป ๑๑ เปอร์เซ็นต์ครับ อย่าลืมว่าการส่งออกไม่ได้อยู่แค่การจับปลานะครับ มันอยู่ที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในกราฟตรงกลางและกราฟทางขวา ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นสะพานปลา ไม่ว่าจะเป็น การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำแข็ง อย่างที่นายกรัฐมนตรีไปมาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา และไปสัญญากับนายกสมาคมชาวประมงเอาไว้ว่าจะแก้ไขชาวประมงให้ได้เร็วที่สุด อย่างน้อยกฎหมายลูกต้องแก้ให้ได้ภายใน ๙๐ วัน ดูตัวเลขสิครับท่านประธาน ดูตัวเลขสิครับ ท่านรัฐมนตรี ผ่านท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรี ตัวเลขที่หายไปไม่ว่าจะเป็นจำนวน ที่จับได้ของสะพานปลา ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนซื้อขายที่สะพานปลา จาก ๒,๐๐๖ เหลืออยู่ ๑,๕๐๐ ต่อวัน หายไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่รวมเรื่องของ อุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเค็มที่หายไปอีก ๒๔ เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาที่กฎหมาย ฉบับนี้ขึ้นมา อันนี้คือความใหญ่ อันนี้คือความหนัก อันนี้คือความยาวนานกว่า ๑๐ ปี ที่พ่อแม่พี่น้องชาวประมงโดนกฎหมายอำนาจนิยมกดขี่พวกเขาไว้ โดนบีบเสียจนไม่มี ทางเลือกที่จะเหลือ

    อ่านในการประชุม

  • ถ้าดูในสไลด์ต่อไปครับ ไม่ใช่ในแง่ของเรื่องแค่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวครับ ท่านประธาน อันนี้คือจำนวนของชาวประมงที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดี ๔,๖๓๒ คือจำนวน ครอบครัวที่อยู่ดี ๆ เป็นชาวประมงแล้วต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีไป โทษปรับหนัก โทษจำคุกหนัก เล่นกันจนถึงว่าต้องบีบกันขายเรือมากมาย อันนี้คือเป็นสิ่งที่เขาบอกกับผม อย่างนี้ครับท่านประธาน การที่จะต้องปรับตัวตาม IUU เขาไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่ว่า มันต้องให้โอกาสเขาปรับตัว ไม่ใช่ว่าปรับจนเขาล้มละลาย ถ้ามีกฎหมายให้ แต่มีระยะเวลา เปลี่ยนผ่านให้ มีกองทุนประมงที่ทำให้เขาสามารถที่จะปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง VMS ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง PIPO ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ๓ ไมล์ทะเล ๓ ไมล์ทะเลก็วนไป VMS แล้วก็ วนไป PIPO แล้วก็วนไปเรื่องแรงงานอีก เรื่องพวกนี้ผมฟังมาตั้งแต่เป็น สส. สมัยแรก ตั้งแต่ยังมีพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการที่ดินก็ยังต้องฟังเรื่องนี้ เป็น Candidate นายกรัฐมนตรีก็ยังต้องฟังเรื่องนี้ นี่โชคดีได้กลับมาเป็น สส. สมัยที่ ๒ ก็ยังต้องฟังเรื่องแบบนี้ เราเยียวยาพวกเขาอย่างไรครับ แน่นอนกฎหมายต้องทำให้ถูกต้อง และต้องทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ผมไม่เถียง แต่มันได้สัดส่วนหรือเปล่ากับอาชญากรรมที่เขาก่อ มีคนหนึ่งบอกผมนะครับ คุณพ่อกำลังจะเสียชีวิตอยู่บนเรือไม่ได้แจ้ง VMS ไม่ได้แจ้ง PIPO กลับเข้ามาชายฝั่งโดนคดีนะครับ โดนค่าปรับหลายแสนนะครับ เพราะฉะนั้นนี้ถ้ามันมีกฎหมาย ที่แข็งที่มันไม่ได้เป็นอำนาจนิยม ที่มันมีส่วนร่วมมากเกินไปช่วย ๆ กันค่อยปรับตัวมีใบเหลือง ใบแดงนี้ ผมคิดว่าพี่น้องชาวประมงก็คงจะไม่ได้ต่อต้าน หรือไม่ต้องเจ็บปวดเสียขณะนี้ อันนี้คือกระบวนการในการปรับ ปรับไปในทิศทางไม่ว่ากัน แต่ความเร็วในเรื่องของ Speed มันก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว แล้วรัฐก็ไม่ใช่บอกว่าออกกฎหมายมาทุ่มใส่เขาอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวก็ทุ่มความช่วยเหลือ ทุ่มงบประมาณให้เขาสามารถที่จะลืมตาอ้าปาก และสามารถปรับตัวไปได้ด้วย อันนี้คือการเดินทางร่วมกันของรัฐและชาวประมง อย่างมีส่วนร่วม ผมจึงขอเรียกร้องให้สภาแห่งนี้ครับ นอกจากจะผ่าน พ.ร.บ. ต่าง ๆ ของ ๔-๕ ร่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นร่างของ ครม. เอง ร่างของพรรคอื่น ๆ เพื่อนสมาชิกที่อยู่ในนี้ อยากให้รวมร่างของพรรคก้าวไกลเข้าไปด้วย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ครับท่านประธาน พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกลเน้นอยู่ที่การให้ท้องถิ่นดูแลทรัพยากรเอง ของพรรคก้าวไกล เราเชื่อในการส่งเสริมศักยภาพของชาวประมงครับ เราเชื่อในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในระยะยาว เราเชื่อในความมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมขอรับประกันครับ คนร่างนั่งอยู่ข้าง ๆ ผมตรงนี้ คุณวรภพมั่นใจว่าร่างของพรรคก้าวไกลมีส่วนประกอบสำคัญ ทั้ง ๓ อันนี้อยู่ในร่างของพรรคก้าวไกล และถ้าจะให้เป็นรูปธรรมพี่น้องชาวประมงถาม ยังไม่ได้อ่านเลย พ.ร.บ. ของคุณวรภพเขียนไว้ว่าอะไร ขอให้ตอบเป็นรูปธรรมแบบนี้ครับว่า ในร่างของเราคือคณะกรรมการประมงจังหวัดที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขการประมง ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวเป็นเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนกันหมด เราเน้นการขยายขอบเขตกำหนดการทำประมงและการอนุรักษ์เป็น ๑๒ ไมล์ทะเล เราเน้นองค์ประกอบที่มีประชาชนไม่น้อยกว่า ๔ คน เราเน้นให้หัวโต๊ะเป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งและเราเน้นที่การมีตัวแทนเทศบาลและ อบต. ถ้ากรรมาธิการที่จะเข้าไปศึกษาเพิ่มอย่างที่ปีที่แล้วก็ศึกษามาแล้ว ปีนี้ก็ยังจะศึกษาอีก มีเนื้อหาของ พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกลเข้าไปจะทำให้ท่านทำงานได้มากขึ้นครับ อย่างน้อย ให้มันมีพื้นที่ ให้มันมี Space ที่จะสามารถเข้าไปศึกษาเรื่องพวกนี้ ท่านจะแปรญัตติอะไร ผมไม่ว่า แต่อย่างน้อยให้มันมีโอกาสเรื่องนี้ในการทำงานของวาระของคณะกรรมาธิการ ที่จะตั้งขึ้น สุดท้ายวิสัยทัศน์ในเรื่องเกี่ยวกับการประมงของประเทศไทย ขอให้ คณะกรรมาธิการ ขอให้ ครม. ขอให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคิดถึง ๓ หลักสำคัญของการ ทำประมงในประเทศไทยครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๑ คือเรื่องการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรประมง ขอให้นึกถึงคำว่า Blue Economy ไว้ ขอให้นึกถึงคำว่า เปลี่ยนจากจับมากได้น้อย เป็นจับน้อยให้ได้มาก ไม่เอาแล้วปลาเป็ดที่เอาไปเป็นอาหารสัตว์มาก ๆ จับมาก ๆ เข้าไป แต่ไม่มีมูลค่าที่ได้เพิ่ม ขึ้นมาอีกเลย ขอให้เน้นไปเรื่องที่ ๒ ครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันที่ ๒ เรื่องของวิถีชีวิตของพี่น้องชาวประมง แทนที่จะใช้กฎหมาย บีบบังคับเขาเอากฎหมายทุบหัวเขา เพิ่มเทคโนโลยีให้เขาสิครับ คิดถึงเรื่องที่ชื่อว่า Precision Fisheries อวน Net แบบไหนที่มีทางลอดให้สัตว์น้ำอนุบาลให้ลูกเต่าสามารถลอดออกไปได้ ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่ใน Net อย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังคิดถึงในเรื่องแบบนี้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจเน้นในเรื่องของ Environment แล้ว เน้นในเรื่องของ Livelihood แล้วก็เน้นในเรื่องของ Economy บ้าง Marine Biotechnology การเพิ่มมูลค่าให้มันมากกว่าสิ่งที่มันเป็นอยู่แค่การประมงในพื้นที่ทางทะเลเป็นได้มากมาย เพียงแต่เราจำ Keyword 3 Keyword พวกนี้ไว้ก็จะสามารถเห็นได้ว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้า การประมงของประเทศไทยหน้าตาจะเป็นแบบใด ที่มีทั้งเรื่องสมดุลเรื่องของการรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมง และส่วนสำคัญให้ประมง เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยต่อไปชั่วนิรันดร ขอบพระคุณมากครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สำหรับ วันนี้ผมต้องเรียนท่านประธานก่อนว่าเป็นวันที่มีความสำคัญกับพรรคก้าวไกล เป็นอย่างยิ่ง ในความสำคัญที่มีต่อประวัติศาสตร์ทั้งของพี่น้องชาติพันธุ์ แล้วก็พี่น้องแรงงาน เป็นวันที่กฎหมายสำคัญ ๆ ที่เหมือนกับเป็น พ.ร.บ. เรือธงของพรรคก้าวไกลได้เข้า เพราะฉะนั้นวันนี้ผมอาจจะต้องขอเรียนท่านประธานไว้ก่อนว่าอาจจะต้องลุกขึ้นอภิปราย หลายครั้งหน่อย เพราะว่าเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็น พ.ร.บ. เรือธงกับพี่น้อง ประชาชนไว้ทั้ง ๒ เรื่อง

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรกสำหรับวันนี้ครับ คือเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ สำหรับร่างของพรรคก้าวไกลนำเสนอโดยนายเลาฟั้ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... กลุ่มชาติพันธุ์ก็คือ Ethnic Group ชนเผ่าพื้นเมืองก็คือ Indigenous Peoples ซึ่งเมื่อสักครู่ มีเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายถึงความกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงก็ดี เกี่ยวกับ Definition ที่เราให้ไว้กับทางสหประชาชาติก็ดี ผมเข้าใจครับ ก็หวังว่าเราจะผ่านกฎหมาย ทั้ง ๔ ฉบับ แล้วก็ไปตั้งกรรมาธิการพูดคุยกันในเรื่องนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับเนื้อหาครับ หน้าต่อไปผมเป็น สส. สมัยที่ ๒ ครั้งแรกตั้งแต่เป็น พรรคอนาคตใหม่ก็มีโอกาสได้เข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่า ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปกาเกอะญอ ม้ง ลีซู แล้วก็จำนวนอีกมากมาย โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเพื่อนสมาชิกที่นั่งอยู่ข้างหน้านะครับ ท่าน สส. มานพ ก็ได้มีโอกาสให้ผมได้ คลุกคลีกับพี่น้องชาติพันธุ์กว่า ๖๐ เผ่า เป็นจำนวน ๗ ล้านคนทั่วประเทศ ก็ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย ปัญหาหลัก ๆ แล้วก็เป้าหมายสำคัญในการที่เราจะ ยกระดับความมั่นคงของพี่น้องชนเผ่าและชาติพันธุ์มี ๔ เสาด้วยกันครับ นี่คือ ๔ เสา เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชนเผ่าและชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด เรื่องที่ ๑ ก็คือเรื่องของที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัย เรื่องที่ ๒ ก็คือการคุ้มครอง ส่งเสริม วัฒนธรรม เรื่องที่ ๓ ก็คือเด็กรหัส G G ย่อมาจาก Generate ก็ไม่สามารถที่จะ Generate หมายเลขบัตรประชาชนก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงเรื่องของสาธารณสุขและการศึกษาได้นะครับ เรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องของสัญชาติครับ

    อ่านในการประชุม

  • ทั้ง ๔ เรื่อง ๔ เสาหลักนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของเกือบทุกประเทศทั่วโลก ที่จะต้องทำเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์โดยทั่วไป ไม่ได้จำเป็นเฉพาะ ในประเทศไทยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ที่มีที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มีเอกสารเป็นของตัวเอง อันนี้คือปัญหา เสาที่ ๑ เสาที่ ๒ ก็คือการรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีและภาษาประจำเผ่า หรือการทำเศรษฐกิจชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกว่า Indigenous Economy ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาล ทั่วโลกพยายามสนับสนุนอยู่ ณ ปัจจุบันนะครับ เรื่องที่ ๓ เด็กรหัส G ก็คืออนาคตของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อไม่ให้เป็นการส่งต่อ ความเหลื่อมล้ำจากรุ่นปู่สู่พ่อ จากพ่อสู่ลูก จากตาสู่แม่สู่ลูกหลานของเขานะครับ เรื่องสุดท้าย ก็คือเรื่องการพิสูจน์สิทธิของสัญชาตินะครับ แต่ถ้านี่คือ ๔ เสาเป้าหมายหลัก ในการยกระดับสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ ณ ปัจจุบัน ในประเทศไทยถ้าท่านเอา ๔ เสาหลักนั้นมาตั้ง แล้วมองกลับกันว่าการเข้าถึงที่ดินอยู่ ที่ดิน ทำมาหากินของพี่น้องชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างอย่างเช่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น พี่น้องชาติพันธุ์ไม่สามารถที่จะมีชีวิตมีที่ดินเป็นของตัวเองทำกินอยู่ได้ แต่สามารถ อนุญาตให้โรงไฟฟ้า โรงถ่านหิน เข้าไปสามารถทำมาหากินได้ในพื้นที่ป่าสงวนเป็นต้น อันนี้ ก็เป็นความย้อนแย้ง ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ฝั่งซ้ายมือสุดของท่านประธาน หน้าต่อไปเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม สิ่งที่กำลังสูญหายก็คือตอนนี้มี ๑ ภาษา ภาษาพะล็อก สูญหายไปแล้วถาวร แล้วยังมีอีก ๒๕ ภาษาที่เสี่ยงจะสูญหายในช่วงชีวิตของพวกเรา เรื่องเด็กติด G เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เห็นได้ชัดว่าอัตราการสำเร็จการศึกษา ชั้น ม.๖ ถ้าเป็นคนที่ใช้ภาษาไทยเป็นปัจจุบันกับที่ใช้ภาษามากกว่าภาษาไทยต่างกันถึง ๒.๕ เท่า อันนี้คือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา สุดท้ายเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ เรื่องเกี่ยวกับสัญชาติก็จะเห็นได้ชัดว่ามีรายงานของ UNICEF ไปสอบถามนะครับว่า ครอบครัวที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติขัดกับรัฐธรรมนูญนะครับท่านประธาน เกี่ยวกับเชื้อชาติ และถิ่นกำเนิดระหว่างคนที่ใช้ภาษาไทยปัจจุบันเป็นประจำกับที่ไม่ได้ใช้ต่างกันถึง ๕ เท่า อันนี้คือข้อเท็จจริงในประเทศไทยที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมี Gap ที่ห่างจากเป้าหมายอยู่ อย่างมาก คำถามต่อมาเราพูดถึงเรื่องเป้าหมายแล้ว เราพูดถึงเรื่องความเป็นจริงแล้ว เราพูด ถึงเรื่องของ Gap ที่มันเกิดขึ้นแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • คำถามต่อมาก็คือว่าอะไรคืออุปสรรค อะไรคือ Roadblocks สำคัญ ๆ ที่ทำ ให้พี่น้องชาติพันธุ์ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ภายในประเทศไทย ก็บอกท่านประธานอย่างนี้ ครับว่ามันมี 3 Roadblocks สำคัญ ๆ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ก็คือเรื่องเกี่ยวกับ งบประมาณแล้วก็คือเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงาน เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายท่านประธานคง ทราบดีอยู่แล้วครับว่ากฎหมายนี้มันมีปัญหาทับซ้อนกับ ๓ กฎหมายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ที่ดินครับ อันนั้นก็คือ พ.ร.บ. ป่าไม้ ปี ๒๔๘๔ พ.ร.บ. ป่าสงวน ปี ๒๕๐๗ แล้วก็ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ หนำซ้ำก็ยังมีมติ ครม.ปี ๒๕๕๓ ที่กำหนด เขตวัฒนธรรมพิเศษที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จนถึงปัจจุบัน ในเรื่องของงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา เรามีงบพิสูจน์สัญชาติและอายุ ๓๕ ล้านบาทนะครับ ถ้าเราใช้ Rate นี้ คนไร้สัญชาติมีอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐-๘๐๐,๐๐๐ คน หารด้วย ๓๕ ล้านบาท ปีหนึ่ง ท่าน สส. มานพ เคยอภิปรายไว้ปีที่แล้วทำได้ ๑๐,๐๐๐ คน เอา ๘๐๐,๐๐๐ หารด้วย ๑๐,๐๐๐ เท่ากับ ๘๐ ปีครับ กว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าท่านประธานกับผมก็ไม่ได้อยู่ในห้องนี้อีกต่อไปแล้ว ยังแก้ปัญหาไม่เสร็จ ถ้าเราเคาะคำว่า ชาติพันธุ์ ไปในงบประมาณแผ่นดินออกมามีอยู่ ๓ โครงการรวมกันแค่ ๒๕ ล้านบาท เมื่อเทียบกับประชากร ๗ ล้านคนทั่วประเทศไทย ถือว่างบประมาณเป็น อุปสรรคสำคัญในการดูแลพ่อแม่พี่น้องชาวชาติพันธุ์อย่างแน่นอน รวมถึงเรื่องของการ บริหารงาน ซึ่งผมคงไม่ลงรายละเอียด เพราะว่าเพื่อนสมาชิกก็ได้อภิปรายกันไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงเรื่องเป้าหมายแล้ว พูดถึงเรื่อง Gap แล้ว พูดถึงเรื่องอุปสรรคต่าง ๆ แล้ว กฎหมายที่เรากำลังจะผ่านนี้จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไรนะครับ เรื่องกฎหมายปลดล็อกแน่นอนครับ ให้กลายเป็นเรื่องของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตพิเศษ บัญญัติรับรองสิทธิและตั้งคณะกรรมการส่งเสริม ในเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณถ้ามี พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็สามารถที่จะให้รัฐบาลสามารถที่จะออกกองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ ประโยชน์ที่ดินและออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดินของพี่น้องชาติพันธุ์ได้ รวมถึงวิสัยทัศน์ ของรัฐบาลที่จะสามารถสร้าง Indigenous Economy หรือว่าเศรษฐกิจของชนเผ่าพื้นเมือง ต่อไปในอนาคตได้

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ก็ขอวิงวอนเพื่อน ๆ สมาชิกในการผ่านกฎหมายทั้ง ๔ ร่าง ตั้งกรรมาธิการแล้วก็ศึกษาวิธีการสำคัญในการที่จะยกระดับชีวิตของพี่น้องชาวชาติพันธุ์ ทั้ง ๔ เสา อย่างที่ผมได้เรียนไว้นะครับ ขออนุญาตฝากกรรมาธิการครับ สิ่งสำคัญ ๆ ที่น่าจะ เปลี่ยนวิธีคิดของกรรมาธิการแล้วก็ประชาชนคนไทยในประเทศของเราได้พอสมควร Trend ของโลกตอนนี้พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนในการช่วยรักษาป่าเป็นอย่างมาก ดูอย่างกราฟด้านขวาเป็นกราฟในประเทศลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย บราซิล หรือว่า โคลัมเบียเปรียบเทียบสีแดงคือพื้นที่ป่าที่ไม่มีชาติพันธุ์อยู่ สีเขียวคือพื้นที่ป่าที่มีชาติพันธุ์อยู่ ในพื้นที่ป่าของประเทศเดียวกัน ๒-๓ เท่าครับ การตัดไม้ทำลายป่าลดลงได้เมื่อมีพี่น้อง ชาติพันธุ์อยู่ในเขตป่าเหล่านั้น ก็ขอให้เปลี่ยนวิธีคิดว่าเราจะต้องแยกคนออกจากป่า แยกป่า ออกจากคน แต่ให้คนปลูกป่า แล้วให้พี่น้องชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการศึกษา ในการ พัฒนาการรักษาป่าลดการตัดไม้ทำลายป่าลงในประเทศไทยเป็นไปได้นะครับ สุดท้ายจริง ๆ ครับท่านประธานเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจชาติพันธุ์อาจจะยังไม่มีการพูดถึงในประเทศไทยมา แต่วิสัยทัศน์ของผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงนะครับ ฝั่งนี้คือ Indigenous Economy ของประเทศออสเตรเลียนะครับ ๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐครับ ทั้งฝั่งซ้ายของประเทศ แคนาดา ๑๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา น่าจะเหรียญของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าอยากจะให้กรรมาธิการชุดนี้เริ่มคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนปัญหาสังคม ให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์อย่างที่ประเทศ ออสเตรเลีย ประเทศแคนาดาและประเทศนิวซีแลนด์ได้เริ่มทำแล้วครับ ขอบพระคุณ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม