นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ

  • สวัสดีครับ เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของชาวกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง ประเวศ หนองบอน พรรคก้าวไกล ขออภิปราย ในประเด็นการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันเยาวชนหรือเด็กอายุต่ำเกณฑ์ ที่กำหนดเขาถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้บุหรี่ไฟฟ้าถือว่าได้รับ ความนิยมขึ้นกว่าในอดีตนั้นมากเห็นได้กลาดเกลื่อนตามแผงลอย และแทรกซึมเข้าไปใน ทุกซอกทุกมุมอับของสังคมไทย อยู่ในทุกพื้นที่ ที่ ๆ เราคาดไม่ถึง หรือแม้กระทั่งในชุดชั้นใน ของลูกเรา ทีนี้เราลองกลับมามองดูข้อเท็จจริงในปัจจุบันครับ ท่านประธานลอง Search ใน Search Engine ง่าย ๆ เลยครับ พิมพ์คำว่า บุหรี่ไฟฟ้า Web Pod น้ำยา Pod เราพบ การจำหน่ายที่ส่งตรงให้กับทุกท่านถึงหน้าบ้าน แม้กระทั่งตามตลาดนัดก็มีการตั้งแผงกัน อย่างดาษดื่น ซึ่งนั่นหมายความว่ามีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมายใช่หรือไม่ นอกจากนี้หากเราลงรายละเอียดไปถึงขั้นตอนการซื้อขายกลับพบว่าการซื้อขายไม่มีการ กำหนดช่วงอายุของผู้ซื้อ ทั้งนี้ผู้ขายก็ไม่ได้มีใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ขายด้วย นอกจากนี้ยังลามไปถึงในโรงเรียนที่มีผู้จำหน่ายก็คือเยาวชน นักเรียน นักศึกษา แถมราคา ก็ไม่แพงเข้าถึงได้ง่าย การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายของเยาวชน หากมองในอีกมิติหนึ่งอาจจะ พบได้ว่าการสูบบุหรี่ การติดสารเสพติดของคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากปัญหา เรื่องสังคม ท่านประธานครับเชื่อหรือไม่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าหาซื้อได้ง่ายในโรงเรียนไม่ต่างจาก ลูกอม ยิ่งห้ามยิ่งพก ยิ่งกวดขันยิ่งหลบซ่อน นี่ไม่ใช่เรื่องตลกแต่เป็นเรื่องจริงที่ลูกหลานเรา กำลังเผชิญอยู่ จากการบอกเล่าของครูในโรงเรียนท่านหนึ่งเมื่อมีการกวดขัน ตรวจ Check บริเวณหน้าแถว ตรวจได้คนแรก คนที่ ๒ ๓ ๔ ก็เอาไปซ่อนไว้ในชุดชั้นในแล้ว เนื่องจาก บุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กซ่อนได้ง่าย การตรวจค้นจึงเป็นไปได้ยาก รวมไปถึงทุกวันนี้มีการจัด Promotion สั่ง ๑๐ ฟรี ๑ ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ เสพไม่เป็นเอา Clip ไปดูมันช่างยั่วยวนใจ เสียเหลือเกินครับ ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการยอมรับในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ มีการกำกับดูแลที่มีความแตกต่างกันออกไป เช่น กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้บริโภค มีหลักเกณฑ์ในการจำหน่าย มีข้อกำหนดเรื่องพื้นที่ปลอดบุหรี่ มีข้อกำหนดในเรื่อง การโฆษณา เป็นต้น นี่คือการจัดการโดยให้การยอมรับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าโดยมีข้อจำกัด บางประการ เพื่อให้ควบคุมดูแลสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มครับ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังขาด มาตรการดูแลควบคุมผลิตภัณฑ์ ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐเข้ามากำกับดูแล ทำให้ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวผลิต นำเข้า จำหน่ายอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ มาบังคับ เสมือนทำได้อย่างเสรี จึงเปิดโอกาสให้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยอยู่ในตลาด ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภค ถ้าหากมี สารปลอมปนอยู่ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเมื่อบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งที่ ผิดกฎหมาย และหากลูกหลานเราเสียชีวิตจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเราจะไปร้องทุกข์ที่ไหนครับ รัฐซึ่งมีอำนาจมีหน้าที่ในการควบคุมแต่กลับไปทำครับ มันจะดีกว่าไหมครับท่านประธาน ถ้ามีการควบคุมและซื้อขายกันได้อย่างถูกต้องในร้านเฉพาะ กำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อปกป้อง คุ้มครองผู้บริโภครวมถึงลูกหลานของเราด้วย ท่านประธานครับ บุหรี่ไฟฟ้ากำลังมีพัฒนาการ ที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้ดูทันสมัย รูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าที่ สวยงามดึงดูดล่อใจผู้เสพหน้าใหม่ หลายคนซื้ออุปกรณ์บุรีไฟฟ้านี้เป็นเหมือนงานอดิเรก เป็น Accessory ที่สะสม ปัจจุบันมีรสชาตินับหมื่นชนิด ส่วนใหญ่เป็นรสขนมหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง รสผลไม้ น้ำอัดลม ชาเขียว นมเปรี้ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรสชาติที่เด็ก ๆ และวัยรุ่นชื่นชอบและคุ้นเคยเพื่อเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ ตอบสนองความต้องการเพื่อเพิ่ม ความสะดวกสบายในการใช้งาน การพกพา รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้านี้ทำให้ไม่มีกลิ่นติดตัว เหมือนการสูบบุหรี่ทั่วไป เป้าหมายของการขายบุหรี่ไฟฟ้าในขณะนี้คือเยาวชนโดยเฉพาะเด็ก เพราะยิ่งสูบยิ่งติดยิ่งติด ยิ่งสูบนานขึ้น ตอนนี้มีเด็กประถมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเป็นจำนวน มาก วิกฤตินี้ไม่ใช่วิกฤติสุขภาพเท่านั้นแต่เป็นวิกฤติของประเทศ เราควรผลักดันให้มี การศึกษาวิเคราะห์ ศึกษาถึงผลกระทบในทุกมิติ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าสามารถนำขึ้นมาควบคุมให้ ถูกต้องตามกฎหมายได้ และยังคงจะต้องตระหนักถึงการป้องกันเยาวชนอย่างเข้มงวดให้ รู้ถึงโทษ พิษภัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ นักสูบหน้าใหม่และวัยรุ่นหญิงที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นควบคู่กันไปด้วยครับ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้พวกเราต้องหันมาทบทวนจากการปิดกั้นต้องห้าม เป็นการควบคุม อุดช่องว่าง ที่ผ่านมาในอดีตก่อนที่บุหรี่ไฟฟ้าจะกลายพันธุ์เป็นทางผ่านของ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ร้ายแรงกว่าเดิม นั่นก็คือกัญชาไฟฟ้าในอนาคตครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒๒ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เฉพาะแขวงหนองบอน กรุงเทพมหานคร ท่านประธานครับ ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ฉบับใดฉบับหนึ่ง เราต้องพิจารณาเรื่องราวเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. บนพื้นฐานบริบทและความจริงที่เกิดขึ้น ณ ขณะประกาศใช้กฎหมายนั้นครับ ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ในบรรดาคดีที่ยื่นฟ้องจำเลยว่า ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. .... นั้น รวมถึงคดีที่อยู่ในขั้นพิจารณาแล้วนั้น ไม่ควรถูกจำหน่ายคดีในส่วนของคดีอาญา ออกจากสารบบ เนื่องจาก ณ ขณะทำนิติกรรมดังกล่าวในห้วงเวลานั้นคู่ความทั้งสองต่างตกลงใจ และทราบดีถึงภาระผูกพันข้อกฎหมายต่าง ๆ และยินยอมตกลงที่จะผูกพันกันทั้งในทางแพ่ง และทางอาญาครับ การจำหน่ายคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาออกจากสารระบบคดีอาญานั้น กระผมเห็นว่าควรต้องกลับไปทบทวนหรือไม่ เพราะโดยหลักการกฎหมายที่สำคัญ หลักหนึ่งนั้น ว่าด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง กฎหมายย่อมใช้บังคับในภายภาคหน้า เท่านั้น เหตุผลนี้คือในขณะที่บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาย่อมพิจารณาถึงสิทธิ และหน้าที่ของตนว่าเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในขณะนั้นหรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตครับ การยกเลิกโทษทางอาญาเป็นประโยชน์เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือไม่ มหาเศรษฐี กลุ่มนายทุนหรือแม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนติดคุกนาทีเดียวก็รับไม่ได้ ใช่หรือไม่ การประกาศ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งมีผลกับคู่ความในคดีอาญาที่อยู่ในชั้นการพิจารณา ในชั้นศาลนั้นอาจส่งผลให้มีกลุ่มบางกลุ่มได้รับประโยชน์มหาศาล ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนั้นไม่ได้ เกรงกลัวต่อความผิดทางแพ่ง แต่กลับหวาดหวั่นกับห้องขัง โดยสุดท้ายถูกยอมฟ้องให้ กลายเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ส่งผลให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องแบกรับภาระหนี้สินที่ลูกหนี้ ใช้ช่องว่างในกฎหมายนี้ในการหลบเลี่ยง ท่านว่าเป็นธรรมแล้วหรือครับกับการที่จำหน่าย คดีอาญาออกจากสารบบ ในขั้นพิจารณาคดีก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ อย่างไร ก็ตามในกรณีผู้สั่งจ่ายเช็คมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อให้เจ้าหนี้ผู้ทรงเช็คได้รับชำระหนี้ตามเช็คนั้น กระผมเห็นว่าควรที่จะต้องมีบทบัญญัติการรับโทษทางอาญานี้ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ และ พ.ร.บ. ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็ค ปี ๒๕๓๔ นี้ อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดย่อม หากดำเนินการ โดยไม่รอบคอบและวิเคราะห์ให้รอบด้าน ทั้งนี้ในแง่มุมของการเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่จะมี ผลผูกพันกันในอนาคต กระผมยังคงสนับสนุนในประเด็นหลักการที่ว่าบุคคลผู้ปฏิบัติ ผิดสัญญาทางแพ่งย่อมไม่สมควรได้รับโทษทางคดีอาญาด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและพลเมือง สิทธิการเมืองที่กำหนดว่า บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่พวกเราจะต้องหามาตรการรองรับให้ดีกว่านี้เสียก่อน ก่อนจะ พิจารณาออกกฎหมายฉบับนี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒๒ กรุงเทพมหานคร ผู้แทนชาวเขตสวนหลวง เขตประเวศ เฉพาะแขวงหนองบอน พรรคก้าวไกลครับ ขอปรึกษาหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้องในเขตสวนหลวง เขตประเวศ แขวงหนองบอน ๓ เรื่องด้วยกันครับ ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลแก้ไขปัญหากับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๑ ปัญหาทางเดินริมคลอง คสล. ที่เสื่อมสภาพหักพังไร้การเหลียวแล ชาวบ้านต้องเอาไม้เอาปูนมาซ่อมเองเพื่อให้ใช้ได้ชั่วคราว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยวางโครงการระยะยาว สร้างให้ได้มาตรฐาน ความแข็งแรง ความกว้างและราวกันตกของ คสล. เพื่อคืนคุณภาพชีวิตของพ่อแม่พี่น้องริมคลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวมุสลิมนับ ๑,๐๐๐ หลังคาเรือน

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๒ ปัญหาไฟตกในหมู่บ้านจัดสรร ชุมชน สาเหตุมาจากหม้อแปลงไฟ มีขนาดเล็ก เมื่อขอเพิ่มขนาดของหม้อแปลงก็เป็นไปได้ยากลำบาก ล่าช้า มีค่าใช้จ่ายสูง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจการใช้ไฟที่มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นมากของพ่อแม่พี่น้อง ประชาชน อย่ารอให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เขาหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ต้องเสียหายไปมากกว่านี้

    อ่านในการประชุม

  • ปัญหาที่ ๓ ปัญหาการก่อสร้างอาคารรับน้ำหนองบอนที่ไม่แล้วเสร็จ และไม่รู้ จะแล้วเสร็จเมื่อไร ไม่มีป้ายโครงการผู้รับผิดชอบใด ๆ ที่จะให้คำตอบกับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนได้ สภาพปัจจุบันใช้พื้นผิวถนนเป็นที่กองวัสดุ กองหิน กองดิน กองทราย และเครื่องจักรขนาดใหญ่ ส่งผลให้การจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนเป็นอย่างมาก ฝากท่านประธานดูแลปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวเขตสวนหลวงและชาว เขตประเวศ แขวงหนองบอนของผมด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตหนองบอน พรรคก้าวไกลครับ ผมได้รับร้องเรียนจากความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเขตสวนหลวงและเขตประเวศ เขตหนองบอน เกี่ยวกับปัญหาของ คนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยติดยาเสพติด ซึ่งเป็นคนชายขอบที่สุดของสังคมและปัจจุบัน เพิ่มจำนวนมากขึ้นในกรุงเทพมหานคร การรับรักษาผู้ป่วยเหล่านี้เหมือนวงเวียนชีวิตที่ไม่รู้จัก จบสิ้นครับ บางคนอาศัยอยู่ตามป้ายรถเมล์ อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ อยู่บนสะพานลอย เราจะ พาพวกเขาเข้ารับการรักษาได้อย่างไร มีหน่วยงานไหนที่มีความชัดเจนในการดูแลผู้ป่วย กลุ่มนี้ แม้แต่กระทั่งผู้ปฏิบัติอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังคงเจอปัญหาอุปสรรค ในทางปฏิบัติ มีทั้งเงื่อนไขในการแรกรับ เงื่อนไขหลายประการ ขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้ประสานกัน ทำให้เกิดปัญหาในการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ทั้งบ้านพิชิตใจ ทั้งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา การที่ไม่สามารถส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันทีนั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ รวมถึงการฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแล อย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ที่ควรจะติดตามช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีผู้ป่วยไม่น้อย ที่หลังจากรับการรักษาเสร็จสิ้นแล้วกลับมามีอาการรุนแรงอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นในที่สาธารณะ ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชนอยู่ที่ไหนครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ขอเสนอท่านประธานผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีช่วยสั่งการดำเนินการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง พม. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และท้องถิ่น ก็คือ กทม. บูรณาการประสานการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ เพื่อคืนทรัพยากรมนุษย์อันมีค่ากลับสู่สังคม เพราะคงไม่มีใครหรอกครับที่อยากจะเป็นคน เร่ร่อนตลอดไป และคงไม่มีใครที่อยากจะเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แม้แต่กระทั่งจะจำตัวเอง ก็ยังจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยเป็นใคร กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒๒ กรุงเทพมหานคร ผู้แทนของชาวสวนหลวง ประเวศ หนองบอน พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดง ความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนในเขต สวนหลวงที่ผมเป็นผู้แทนอยู่ และผมขอส่งกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง คุณครู บุคลากรภายในโรงเรียนให้กลับมามีขวัญและกำลังใจโดยเร็วที่สุด สิ่งแรก ที่ผมขอท่านประธานเรียนปรึกษาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. กรมสุขภาพจิต ส่งนักจิตวิทยาเพื่อเข้าไปดูแลสภาพจิตใจของนักเรียนและบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแล และเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจทุกคนให้กลับมามีขวัญและกำลังใจ ในส่วนของมาตรการและการป้องกันการแก้ไขปัญหารับมือสถานการณ์กับความรุนแรง ในโรงเรียน ในช่วงบ่ายวันนี้ผมจะนำเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาต่อสภาแห่งนี้เพื่อให้สมาชิก ทุกท่านได้ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมอย่าง รวดเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒๒ ตัวแทน คนเขตสวนหลวงและเขตประเวศ พรรคก้าวไกลครับ ด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงภายใน โรงเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแทบจะมีอยู่ทุกวัน ทำให้โรงเรียนซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับกลายเป็นสถานที่ที่พ่อแม่หวาดกลัว เป็นห่วง เป็นกังวลไม่รู้ลูกหลานของตัวเอง จะปะเหมาะเคราะห์ร้ายวันไหน ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ตามข้อบังคับ ข้อ ๕๔ (๑) ให้สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒๒ ตัวแทน คนเขตสวนหลวง เขตประเวศ พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นในเขตสวนหลวง แล้วผม ขอส่งกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง คุณครู รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้กลับมามีขวัญกำลังใจโดยเร็ว ในฐานะของผู้แทนราษฎรเขตสวนหลวง ผมจะติดตาม เรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ผู้สูญเสียได้รับความเป็นธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจน กรุงเทพมหานครมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรม ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ความรุนแรงในโรงเรียนในปัจจุบันเป็นความรุนแรงที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บฉกรรจ์ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต กรณีความรุนแรง ในโรงเรียนมัธยมย่านพัฒนาการ กรณีตะลุมบอนกลางโรงอาหารของเด็กนักเรียนที่จังหวัด ชลบุรี และกรณีครูลงโทษเด็กอย่างพิสดารที่จังหวัดสมุทรปราการ ทั้ง ๓ กรณีนี้ทำให้เรา เห็นได้ว่ามีความรุนแรงแฝงตัวอยู่ในโรงเรียน ซึ่งมาจากระบอบอำนาจนิยมที่กดทับเด็ก สะสม บีบคั้นเด็กอยู่ทุกวัน ตลอดจนถึง การ Bully กันในโรงเรียนจนสั่งสมเป็นความเครียดและนำมาสู่การระเบิดอารมณ์แก้แค้นกัน นั่นเป็นปัญหาใหญ่มากที่พวกเราควรจะหันมาใส่ใจกันมากขึ้นเพื่อหาทางออก และทำให้ โรงเรียนกลับมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน และเป็นสถานที่ที่พ่อแม่ไว้วางใจได้อีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นครับท่านประธาน ปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่การศึกษาและวิจัยจำนวนมากพบว่าการใช้ความรุนแรง ในโรงเรียนจะสร้างบาดแผลในระยะยาวต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่งผลต่อ การใช้ชีวิตของผู้ถูกกระทำในระยะยาว พูดง่าย ๆ เด็กที่มีภาพจำหรือฝังใจเหตุการณ์ ความรุนแรงไปแล้วการจะลบภาพจำเหล่านั้นทำได้ยากมาก ๆ ต้องใช้เวลานาน ใช้เวลา ในการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อให้บาดแผลในใจคลี่คลาย ถือเป็นการสูญเสียศักยภาพของคน ๆ หนึ่ง ไปอย่างใหญ่หลวง ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ในโรงเรียนที่มีการทำร้ายกันในย่าน พัฒนาการซึ่งเป็นเขตที่ผมเป็นตัวแทนอยู่ ผมได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ผมจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นที่เปราะบางและอ่อนไหวเพื่อไม่ให้ผู้ที่กำลัง เสียขวัญได้รับผลกระทบเพิ่มเติม โดยผมจะพยายามพูดถึงเนื้อหาประเด็นที่เป็นประโยชน์ ในการปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคตเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานศึกษา ในปัจจุบันไม่มีมาตรการป้องกันความรุนแรงและการระงับเหตุอย่างทันท่วงที นอกจากนั้นยัง มีเรื่องที่สะเทือนขวัญไปกว่านั้น นั่นคือในเหตุการณ์นั้น ในวันที่เกิดเหตุนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาประชุมร่วมกับโรงเรียน มีป้อมยามที่อยู่ห่างจากเหตุการณ์ไม่กี่เมตรเท่านั้นเอง แต่พวกเขา เหล่านั้นไม่สามารถระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที นักเรียนตกอยู่ในภาวะชุลมุนไม่รู้ว่าตัวเอง ต้องทำอะไร ไม่มีกลไกในการกันตัวเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ให้ออกจากพื้นที่ กว่าผู้ที่ได้รับ บาดเจ็บจะได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องตามหลักการปฐมพยาบาลก็ผ่านไปหลายนาที หากว่ามีการซักซ้อมบทบาทหน้าที่กันมาก่อนหน้านี้ วางบทบาทกันให้ชัดเจนของบุคลากร ภายในโรงเรียนผมเชื่อว่าจะสามารถระงับเหตุได้ดีกว่านี้ และสถานการณ์ที่เป็นก็อาจจะได้รับ การคลี่คลายดีกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยนะครับ เรื่องนี้ผมไม่ได้โทษครู ผมไม่ได้โทษ โรงเรียน แต่เราต้องโทษไปที่ฝ่ายบริหารที่ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เลย ไม่มี การอบรมซักซ้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนที่มุ่งจะทำให้โรงเรียน ปลอดจากความรุนแรงและการ Bully แม้เหตุการณ์จะได้ผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่ต้องติดตาม อย่างใกล้ชิดก็คือการเยียวยาให้ผู้สูญเสียได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด แล้วต้องไม่ลืมที่จะ ฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจำเป็นจะต้องประสานไปยังนักจิตวิทยาเพื่อให้คำแนะนำและดูแล สภาพจิตใจของนักเรียนภายในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองและคุณครู ซึ่งผมจะติดตาม การเยียวยาและการฟื้นฟูสภาพจิตใจของบุคลากรในโรงเรียนนี้อย่างใกล้ชิด จนกว่าโรงเรียนนี้ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานครใส่ใจกับปัญหาความรุนแรง อำนาจนิยมและ การ Bully ในโรงเรียนนี้น้อยเกินไป ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จึงเกิดวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา ที่เราเห็น ที่ผ่านมาก็เฉพาะข่าวใหญ่ ๆ เท่านั้น นี่เรายังไม่พูดถึงกรณีเล็ก ๆ ที่ทำให้เด็กจำนวนมาก ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งของระบบการศึกษาไทย เพื่อให้ทางโรงเรียน ต่าง ๆ มีมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุความรุนแรงนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมขอเสนอให้มีการแก้ไข ปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. พัฒนาทักษะให้ครูสามารถสังเกตปัญหาสุขภาพจิตและปัญหา ด้านพฤติกรรมของนักเรียนได้ แม้ว่าในปัจจุบัน กทม. ได้เริ่มแล้ว เริ่มอบรมคัดกรองการดูแล เด็กพิเศษและฝึกครูเด็กพิเศษไปบ้างแล้ว แต่ผมอยากเห็นหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีโรงเรียน ในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อาชีวศึกษา หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดูแลทั้งเด็กปกติด้วย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การสังเกตอาการได้ต้องอาศัยการพูดคุย การใช้เวลาที่นักเรียน อยู่กับครูร่วมกันในคาบ Homeroom ผมย้ำนะครับ Homeroom นี้ต้องทำให้มีความหมาย และมีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนในการจัดการกับปัญหา Bully และความรุนแรงในโรงเรียนได้ อย่างจริงจังครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. การจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน โรงเรียนต้องมีแนวปฏิบัติ ในการจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนที่ชัดเจน มีมาตรการคัดกรองบุคคลภายนอก ที่จะเข้ามาภายในโรงเรียนหรือแอบเข้ามาภายในโรงเรียน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ของบุคลากรภายในโรงเรียนว่าใครทำหน้าที่อย่างไร และควรจะมีการซักซ้อม กันเป็นประจำทุกปีครับ เช่น การพานักเรียนเข้าไปหลบในพื้นที่ปลอดภัย การที่เจ้าหน้าที่ รักษาความปลอดภัยเข้าไประงับเหตุเบื้องต้นได้ทันที และมีครูที่ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรถพยาบาลเพื่อเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที มีบุคลากรที่พร้อมจะปฐมพยาบาล เบื้องต้นได้เพื่อให้ปัญหาทุกอย่างได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เวลาที่เสียไปกับสภาวะชุลมุน และอาการที่ตกอยู่ในภวังค์หลังการเกิดเหตุต้องมีให้น้อยที่สุด การจัดการกับกรณี การใช้ความรุนแรงที่ล่าช้าไม่จริงจัง เช่น การขาดการประสานงานกับผู้ปกครองของนักเรียน ที่มีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและที่ไม่ต่อเนื่องจะส่งผลให้คนดังกล่าวใช้ ความรุนแรงกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ต่อไป และจะส่งต่อนิสัยการใช้ความรุนแรงให้กับเพื่อน นักเรียนคนอื่น ๆ ด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ๓. การเยียวยาในการฟื้นฟูนักเรียนที่ถูก Bully อย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ในขั้นตอนนี้จะไม่ใช่การป้องกันการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนก็ตาม แต่ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอน สำคัญในการยับยั้งผลกระทบทางลบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนไม่ให้ลุกลามบานปลาย เช่น ปัญหานักเรียนที่ Bully มีภาวะซึมเศร้าจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โรงเรียน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยาและฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของ ผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะบาดแผลที่เกิดขึ้นนี้โดยเฉพาะทางจิตใจอาจจะดำรงอยู่ เป็นเวลานาน และที่สำคัญที่สุดประโยคที่บอกกันว่า การ Bully คือเด็กมันเล่นกัน เราควร จะต้องยุติได้แล้วครับ ทั้งนี้ผมขอวิงวอนให้ผู้ที่มีคลิปบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ส่งต่อ หรือเผยแพร่คลิปดังกล่าว ทางที่ดีที่สุดผมวิงวอนให้ลบคลิปความรุนแรงนั้น เพื่อไม่ให้เด็ก ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องมาเห็นภาพความรุนแรงซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เหมือนถูกกระทำ ทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำต่อเนื่องไป ท่านประธานครับ ทั้งหมดนี้ที่ผม ได้นำเสนอไปเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา และเป็นการสร้างมาตรฐาน ความปลอดภัยและความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษา และจะเป็น หลักประกันให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สบายใจได้ว่าลูกหลานของเขาจะได้รับการเรียนรู้และเติบโต อย่างมีความสุขและมีความปลอดภัยภายในโรงเรียน ในฐานะพ่อคนหนึ่งของลูก ผมหวัง เป็นอย่างยิ่งว่าทางออกที่ผมได้เสนอในวันนี้รัฐบาลจะนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ ความรุนแรงในโรงเรียนทุกรูปแบบหมดไปจากสังคมไทยโดยเร็ว ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพ กระผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒๒ ตัวแทน ของคนสวนหลวงและคนประเวศ พรรคก้าวไกลครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านประธาน ที่เปิดโอกาสให้พวกเราและเพื่อนสมาชิกได้ร่วมกันอภิปรายถึงปัญหาความรุนแรงและอำนาจ นิยม รวมถึงการ Bully กันในโรงเรียนอย่างกว้างขวางและหลากหลายมิติ พวกเรา ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเป็นปัญหาที่ใหญ่ และรัฐบาลควรจะมี มาตรการในการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของพวกเราในวันนี้ จะสะท้อนไปถึงรัฐบาลให้หันกลับมาใส่ใจปัญหานี้อย่างจริงจัง รวมทั้งออกมาตรการเพื่อ แก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒๒ พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้องชาวสวนหลวง ประเวศ และในฐานะประธาน คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการบังคับใช้และแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายผลการดำเนินงานของสำนักงานป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ผมต้องเรียนตรง ๆ ครับ ท่านประธาน หลังจากที่ผมได้อ่านรายงานการดำเนินงานของ ปปง. ปี ๒๕๖๕ ทั้งเล่มแล้ว ผมค่อนข้างผิดหวังกับรายงานเล่มนี้ ทั้งที่ ปปง. เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในการ แก้ไขปัญหาการหลอกลวงหรือฉ้อโกงทางการเงิน เพราะในรายงานเล่มนี้ไม่มีการบอกตัวชี้วัด หรือ KPI รายปีของหน่วยงาน บอกเพียงแต่ว่าปี ๒๕๖๕ ปปง. ทำอะไรลงไปบ้าง เมื่อไม่มี การระบุเป้าหมายแบบนี้ แล้วพี่น้องประชาชนจะทราบได้อย่างไรครับว่า ปปง. ได้ดำเนินงาน ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ท่านประธานครับ ผมต้องไปดูรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการ ประเมินผลตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการปี ๒๕๖๕ ซึ่งจัดทำโดยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ถึงจะเห็นว่า ปปง. ได้กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการทำงานไว้อย่างไร ทั้งที่ตัวชี้วัดของ ปปง. หลายสิบตัวชี้วัดก็ทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งอันนี้ผมต้องขอชื่นชม การทำงานมา ณ ที่นี้ครับ แต่ผมก็ต้องเรียนถามท่านประธานผ่านไปยัง ปปง. ว่า ปปง. ได้ดำเนินงานได้ตามเป้าหมายหลายสิบตัวชี้วัด แต่ทำไมสถานการณ์การฉ้อโกงทางการเงิน ในประเทศไทยกลับรุนแรงมากขึ้น หรือว่า ปปง. ตั้งเป้าหมายในการจัดการปัญหาที่ต่ำเกินไป หรือตั้งเป้าหมายไม่ตรงจุด ท่านประธานครับ ถึงเวลาแล้วครับที่ ปปง. ควรจะต้องเปลี่ยน ตัวชี้วัด โดยเอาสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการฉ้อโกง หรือมูลค่าความเสียหาย ทางการเงินมาเป็นตัวชี้วัดในการทำงานอย่างจริงจังเสียที เพื่อที่เราจะได้ทำการปกป้อง ทำการป้องกันการฟอกเงินเชิงรุกอย่างเป็นระบบ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมาครับท่านประธาน ในเรื่องการร้องเรียนของประชาชน รายงาน ปปง. ประจำปี ๒๕๖๕ นี้ระบุว่ามีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส การกระทำผิดผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การดำเนินการด้วยตัวเอง การส่งเรื่องทางไปรษณีย์ ช่องทาง Website e-Mail Social Media และช่องทางสายด่วน ปปง. ๑๗๑๐ ที่ ปปง. ระบุไว้ว่าเป็นช่องทางการร้องเรียนที่ง่ายที่สุดของประชาชน ผมอยากให้ท่านประธานและ ผู้ชี้แจงกลับไปดูข้อมูลในรายงานหน้า ๖๔ ผมดูแล้วตกใจมากครับ ช่องทางการร้องเรียน ที่ง่ายที่สุดของประชาชน สายด่วน ปปง. ๑๗๑๐ มีเรื่องรับร้องเรียนในปี ๒๕๖๕ ๒ กรณี ฟังไม่ผิดครับ ย้ำนะครับ ประธานครับ ๒ กรณีถ้วน ตลอด ๑ ปีการทำงานมีการรับเรื่อง ร้องเรียน ๒ กรณี ในขณะที่การยื่นเรื่องด้วยตัวเองมี ๓๐ กรณี การส่งเรื่องผ่าน Social Media ๙๒ กรณี การส่งจดหมาย ๑๘๖ กรณี ผมจึงต้องตั้งคำถามครับว่า เหตุใดถึงมีคนแจ้ง เรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน ปปง. ๑๗๑๐ น้อยขนาดนี้ครับ ระบบสายด่วนมีปัญหาหรือเป็น อุปสรรคต่อประชาชนหรือไม่ครับ ในขณะที่มูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมหรือ การฉ้อโกงทางการเงินปีหนึ่งมีไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ผมไม่คิดครับว่าจะมีผู้ร้องเรียน ผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่ายที่สุดของ ปปง. ได้น้อยขนาดนี้ครับ ท่านประธานครับ ปปง. และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางสายด่วน ปปง. ๑๗๑๐ ซึ่งเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุดในการร้องเรียนนี้ ปปง. ต้องอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนที่อยู่ห่างไกลและไม่จำเป็นต้องเดินทางมาร้องเรียนที่ ปปง. ด้วยตนเอง โดยตรง แน่นอนครับว่าปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในขบวนการฉ้อโกงนี้ ไม่สามารถ แก้ได้ด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนของ ปปง. เพียงอย่างเดียวครับ แต่ต้องประกอบกับ การที่ ปปง. ส่งร่างกฎหมายใหม่และร่างกฎหมายเดิมที่ทำการแก้เสร็จแล้ว มาให้กับ สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้พิจารณาโดยเร็ว เช่น ร่าง พ.ร.บ. ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงและ กฎหมายอื่น ๆ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะเร่งเซ็นกฎหมายของ ปปง. ที่เกี่ยวข้องกับการเงินมาให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้พิจารณา ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต ๒๒ พรรคก้าวไกล ตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวสวนหลวงและประเวศ วันนี้ผมขอร่วมอภิปราย ผลการดำเนินงานของ สปสช. ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ ก่อนที่ผม จะอภิปรายถึงผลการดำเนินงานของ สปสช. ประจำปี ๒๕๖๕ นี้ ผมเคยหารือกับ ท่านประธาน ๑ ครั้ง เรื่อง สปสช. ยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ๙ แห่ง ที่มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา โดย สปสช. อ้างว่าพบการทุจริตจากการ เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้พี่น้องประชาชนรวมทั้งพี่น้อง ประชาชนชาวสวนหลวง ประเวศ หนองบอน ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้รับการรักษาเดิม ต้องไปใช้สิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ไกลกว่าเดิมแทน รายงานเล่มนี้ บอกเราว่า สปสช. ดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานที่เป็นหัวใจสำคัญ ๓ ข้อ คือ ๑. ประชาชน เข้าถึงบริการ ๒. การบริการการเงินการคลังมั่งคั่ง และ ๓. การดำรงความธรรมาภิบาล แต่เมื่อผมได้อ่านรายงานของ สปสช. ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นี้แล้ว ผมอดที่จะตั้งคำถาม ไม่ได้ครับว่า การดำรงอยู่ของหลักธรรมาภิบาลใน สปสช. นั้นยังมีอยู่จริงหรือไม่ เมื่อดูจาก กรณีที่หน่วยบริการเรียกเก็บเงินสาธารณสุขที่ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ในปี ๒๕๖๓ นำไปสู่ การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า หน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการ สาธารณสุขเป็นเท็จ ส่งผลให้มีการยกเลิกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสถานพยาบาล ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้า ๒๕๒ ของรายงานฉบับนี้ ในช่วงปี ๒๕๖๕ สปสช. ยกเลิกการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนนี้ แต่กลับมี คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครเข้าร่วมตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงว่าโรงพยาบาลเอกชนทำเอกสารเป็นเท็จด้วย แบบนี้มันจะสร้างความมั่นใจ ในธรรมาภิบาลได้อย่างไรครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • หัวใจสำคัญของ สปสช. ในรายงานเล่มนี้อีกประการหนึ่งคือการที่ประชาชน สามารถเข้าถึงการบริการรักษา ผมชวนท่านประธานคิดนะครับว่าการยกเลิกสัญญา โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ๙ แห่ง ของ สปสช. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม มันคุ้มค่า กับการที่ประชาชนจะต้องเดินทางไปรับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่ไกลกว่าเดิม เพราะต้อง เสียเวลาในการเดินทาง เสียค่าเดินทางมากขึ้น ผมเกรงว่าจากประชาชนที่ป่วยอยู่แล้ว จะป่วยซ้ำป่วยซ้อนมากขึ้นไปอีกนะครับท่านประธาน ขณะเดียวกันในรายงานฉบับนี้ยังบอกว่า ปี ๒๕๖๕ สปสช. สามารถเรียกคืนค่าเสียหายจากหน่วยบริการที่เบิกเงินค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ได้ถึง ๑๔๑ แห่ง เป็นเงินประมาณ ๑๙๖ ล้านบาท หรือคิดเป็น ๘๒ เปอร์เซ็นต์ ผมขอเสนอ นะครับท่านประธานว่าเป็นไปได้หรือไม่ครับ หาก สปสช. เรียกเงินคืนค่าเสียหายได้ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ทั้ง ๙ แห่งนี้ จะได้รับการพิจารณาคืนสิทธิ กลับมาทำสัญญารูปแบบใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านี้กลับมาให้การรักษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับการรักษาต่อไป ท่านประธานลองนึกถึงหัวอก คนธรรมดา โดยเฉพาะประชาชนในเขตสวนหลวง เขตประเวศของผมที่ได้รับผลกระทบก็ได้ ในวันที่มีนัดกับโรงพยาบาลเดิม ที่คุณลุง คุณป้าอาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณโรงพยาบาล แพทย์ปัญญา และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นแล้ว กลับต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ และต้อง รอขึ้นรถโดยสารสาย ๑๑๕ ตอนตีห้า เพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลเลิดสินในเขตบางรัก ที่ไกลกว่าเดิม ๒๐ กิโลเมตร เผชิญกับสภาพการจราจรที่ติดขัดตั้งแต่ช่วงถนนสุขุมวิท ถนนพระราม ๔ และย่านสีลม ที่ทำให้ต้องใช้เวลาในการโดยสารรถโดยสารหลายชั่วโมง แล้วเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องรอคิวหมอนัดเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งใช้เวลา ๕-๖ ชั่วโมง สรุปแล้วคุณลุง คุณป้า อาจจะต้องใช้เวลาในการไปโรงพยาบาลไกล ๆ ๑ วันเต็ม ๆ นะครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ผมฝากถึงผู้ชี้แจงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านท่านประธาน ให้พิจารณาเรื่องตามที่ผมได้เสนอไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ สปสช. บนพื้นฐานของการเข้าถึงบริการโดยสะดวก และมีหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม