นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ กระผม นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ๑๔,๙๔๕ รายชื่อ ขอนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่า พื้นเมือง ฉบับที่ .. พ.ศ. .... โดยมีหลักการนี้

    อ่านในการประชุม

  • หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

    อ่านในการประชุม

  • เหตุผล ประเทศไทยเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณี วัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตาม ภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง กลุ่มที่อยู่อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะแก่ง หรือชายฝั่ง ซึ่งดำรงชีวิตด้วยการประกอบการประมง และมีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ทางทะเล กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งดำรงชีวิตโดยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และกลุ่มที่ตั้ง ถิ่นฐานอยู่บนพื้นราบ ซึ่งมีวิถีชีวิตกลมกลืนกับคนไทยโดยทั่วไป แต่ยังคงอัตลักษณ์และ วัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติ รับรองให้บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ ได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมายเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุความแตกต่างทางเชื้อชาติ มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบ พิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน มีเสรีภาพในการเดินทาง และการเลือกถิ่นฐานที่อยู่ มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กรชุมชนหรือหมู่คณะอื่น และรัฐธรรมนูญยังรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม ของทั้งท้องถิ่นและของชาติ มีสิทธิจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศไทย ยังให้การรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชน และยังให้สัตยาบันเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ อนุสัญญาว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย ต้องถือปฏิบัติด้วย เนื่องจากการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจากอดีตจนถึง ปัจจุบัน ส่งผลให้วิถีชีวิต อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี ภาษาดั้งเดิมของ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้เริ่มจางหายไปจากสังคม และยังถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุความแตกต่างแห่งเชื้อชาติและภาษา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในประเทศไทยยังมีความด้อยสิทธิ และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะของบุคคล การมีสิทธิอาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งมีการทับซ้อนกับ พื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของราชการที่ไม่สามารถอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้ ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ขาดการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน รวมทั้งขาดการมี ส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการ หรือกิจกรรมของรัฐหรือเอกชนที่อาจกระทบต่อสิทธิ วิถีชีวิตและชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติฉบับนี้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณ ท่านประธานสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ในนามของ ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ๑๔,๙๕๔ รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในนามของกระบวนการประชาชนเพื่อสังคม ที่เป็นธรรม ในนามของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับรองให้ร่างกฎหมายของ ภาคประชาชน ๒ ฉบับ และร่างของพรรคการเมืองได้เข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ ขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ขอขอบคุณ พรรคเพื่อไทย ที่เสนอกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ขอขอบคุณพรรคก้าวไกล คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม และคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ท่านประธานสภาและท่านสมาชิกที่ เคารพทุกท่าน พวกเราในนามของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและพี่น้องที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษจากการเสนอกฎหมายฉบับนี้แต่ประการใด แต่เราต้องการ คืนความเป็นธรรมและทำให้พี่น้องมีชีวิตอย่างปกติสุข มีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมเท่ากับ พี่น้องประชาชนคนไทยทั่วไป ซึ่งหลักนี้ก็จะเป็นหลักที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เราพูดกันมาทั้งหมดถึงร่างกฎหมายที่จะ สร้างความสำคัญและเป้าหมายที่จะสอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการ คุ้มครองสิทธิ และวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ของชนเผ่าพื้นเมืองตามหลักที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันรายมาตรา แล้วก็สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยไป รับรองไว้ ซึ่งหลายท่านได้คุยไปแล้ว ประการสำคัญเพื่อเป็นกฎหมายที่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักและมีความเข้าใจในวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า พื้นเมืองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย

    อ่านในการประชุม

  • ประการต่อมา กฎหมายนี้ก็จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต สนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ร่วมกับรัฐ เรายืนยันนะครับว่าการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะ ร่วมมือกันสร้างชาติ สร้างบ้านเมือง สร้างความมั่นคง สร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็ง โดยอาศัย หลักการ องค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม พื้นที่ที่ทำกินที่มันสอดคล้องและยั่งยืนอยู่กับหลักการ จัดการตามวิถีของชาติพันธุ์

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย เพื่อให้การสนับสนุนหลักความหลากหลายทางวัฒนธรรม การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักของ สหประชาชาติ หลักนิติธรรม หลักความเสมอภาค หลักไม่แบ่งแยก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขอความกรุณาของสภาแห่งนี้ได้รับรองร่างกฎหมายทุกฉบับที่ได้กล่าว มาแล้ว ขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม