เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอเสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติภัยแล้ง El Nino ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ๘ ท่าน ดังนี้ ๑. นายนิติพล ผิวเหมาะ ๒. นางสาวกมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ๓. นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ๔. นางสาวชุติมา คชพันธ์ ๕. นายณรงเดช อุฬารกุล ๖. นายเดชรัต สุขกำเนิด ๗. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิตางศุ์ พิลัยหล้า และ ๘. รองศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวานิช ขอผู้รับรองครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นขอบคุณผู้ชี้แจงที่วันนี้มารายงานสถานการณ์ทางการเงิน รวมถึงผลลัพธ์ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับผู้ประกันตน ลูกจ้าง และแรงงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อให้ความคุ้มครอง ให้สิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วย ชราภาพ เสียชีวิต หรือว่างงาน พูดง่าย ๆ ว่า วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหรือกองทุนมีเพื่อประกันความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ให้กับพี่น้องแรงงาน ในแง่ฐานะทางการเงินและความท้าทายทางการเงิน เพื่อนสมาชิก หลายท่านอภิปรายไปแล้ว ประเด็นสำคัญที่ผมอยากเรียนท่านประธาน รวมถึงเพื่อนสมาชิก เพื่อสอบถามไปยังผู้บริหารกองทุนก็คือประเด็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่ากองทุน จะดำเนินงานดีขนาดไหน มีวัตถุประสงค์ดีเพียงไร หากไม่สามารถขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ไปครอบคลุมพี่น้องแรงงานได้อย่างทั่วถึง ความสำเร็จของกองทุนก็จะไม่ครอบคลุมพี่น้อง แรงงาน เพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ ปัจจุบันประเทศไทยมีลูกจ้างที่ไม่ใช่ข้าราชการประมาณ ๓๖ ล้านคน ครึ่งหนึ่งหรือ ๑๘ ล้านคนทำงานโดยถูกจ้างงานในระบบ แต่อีกครึ่งหนึ่ง ประมาณ ๑๘ ล้านคนอยู่นอกระบบครับ โดยครึ่งหนึ่งของแรงงานเหล่านี้กำลังทำงาน ในบริษัทที่เราเรียกว่าไม่ได้จดทะเบียน และมีเพียง ๔ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานกลุ่มนี้ที่ได้รับ การคุ้มครองเท่านั้น นั่นหมายความว่าอีก ๙๖ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่กำลังทำงานในธุรกิจนอกระบบ กำลัง ตกหล่นจากการคุ้มครอง แรงงานนอกระบบยังสัมพันธ์กับความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งพวกเราเพื่อนสมาชิกหลายท่านรู้ว่าเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ ของประเทศ ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมประมาณ ๙๖ เปอร์เซ็นต์ ของธุรกิจทั้งหมด เราพบว่าธุรกิจยิ่งขนาดเล็กเท่าไร ยิ่งอยู่นอกระบบมากขึ้นเท่านั้น แล้วแรงงานที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็ตกหล่นหรือได้รับการคุ้มครองต่ำ เพื่อนสมาชิกหลายท่าน อาจไม่ทราบนะครับ ธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานน้อยกว่า ๔๙ คน คือตั้งแต่ ๕ คน ถึง ๔๙ คน ครึ่งหนึ่งของแรงงานในธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอีก ถ้าเป็นธุรกิจขนาดย่อมที่มีการจ้างงานน้อยกว่า ๕ คน มากถึง ๘๘ เปอร์เซ็นต์ของแรงงาน ในธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองครับ ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน มีหลาย เหตุผลที่ทำให้ปัจจุบันแรงงานเหล่านี้ตกหล่นจากการคุ้มครอง ๑. ปัจจุบันรูปแบบ การจ้างงานเปลี่ยนไปเป็นไม่ทางการมากขึ้น มีงาน Part time งานกิจการตัวเอง เราพบว่า ระบบประกันสังคมไม่ได้ถูกจัดตั้งหรือออกแบบมาเพื่อรองรับงานกลุ่มนี้ ๒. สิ่งหนึ่งที่ต้อง ยอมรับก็คือระบบประกันสังคมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่มีกลไกจูงใจมากพอที่จะทำให้ ดึงดูดผู้ประกันตนมากขึ้น ๓. ยังไม่นับถึงการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้คนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น จากสถานการณ์เหตุผลทั้งหมดนี้ ทุกท่านทราบไหมครับ จากการรวบรวมของ ILO หรือ International Labour Organization ปัจจุบันโครงการประกันสังคมภาคบังคับ มาตรา ๓๓ และกองทุนเงินทดแทน มีจำนวนแรงงานประมาณ ๙-๑๑ ล้านคน จากแรงงานทั้งสิ้น ๓๖ ล้านคน นั่นหมายความว่า แรงงานอยู่ภายใต้การคุ้มครองประมาณ ๑ ใน ๔ เท่านั้นเองครับ ขณะที่ถ้าเป็นโครงการ ประกันสังคมแบบสมัครใจก็คือ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ รวมถึงกองทุนการออมแห่งชาติ สัดส่วนต่ำไปกว่านั้นอีก มาตรา ๓๙ คุ้มครองแรงงานเพียง ๔ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด มาตรา ๔๐ คุ้มครองแรงงานต่ำกว่า ๑ เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด อย่างที่เรียนทุกท่าน กองทุนประกันสังคมมีความสำคัญเป็นแหล่งประกันความมั่นคงในชีวิต แต่หากแรงงาน พี่น้องแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือการคุ้มครองได้นั่นเป็นปัญหาสำคัญ ในอนาคต ตัวเลขที่เมื่อสักครู่นี้ที่ผมให้มา ผู้ชี้แจงอาจจะตระหนักได้หรือพบว่าเป็นข้อมูลเก่า อันนั้นคือข้อมูลเท่าที่ผมหาได้คือปี ๒๕๖๑ และบางส่วนจากการ Check ก็ข้อมูลไม่ตรงกับ ทางกองทุนประกันสังคม แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ผมชี้ให้เห็นสะท้อนว่าปัญหาการจ้างงาน นอกระบบ และระดับความคุ้มครองแรงงานภายใต้กองทุนประกันสังคมอยู่ในภาวะจำกัด และมีปัญหา ดังนั้นกองทุนจำเป็นต้องหาแนวทางในการเร่งดึงดูดแรงงานนอกระบบให้เข้า ร่วมกองทุนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ออกแบบ แรงจูงใจที่เหมาะสมว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบเขาอยากเข้ามาอยู่กับเรา ปัจจุบัน แรงงานนอกระบบมีอุปสรรคอะไร เรามีความสามารถขจัดอุปสรรคเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อดึงดูดแรงงานเข้าสู่กองทุนประกันสังคม สุดท้ายผมอยากฝากข้อเสนอถึงผู้มาชี้แจง ผ่านท่านประธาน อย่างน้อยมี ๓ เรื่องที่ผมคิดว่าเราสามารถทำให้ดีขึ้นได้เพื่อให้ พี่น้องแรงงานใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม
ประการที่ ๑ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อสร้างมาตรการ จูงใจที่ดีพอในการดึงดูดธุรกิจให้เข้าสู่ระบบ เพราะอย่างที่เรียนให้ท่านทราบ ถ้าธุรกิจ อยู่นอกระบบก็ทำให้แรงงานเหล่านั้นพลอยอยู่นอกระบบไปด้วย มีตัวอย่างหลายเครื่องมือ หลายนโยบายเช่นนโยบายหวยใบเสร็จ ตัวอย่างที่พรรคผมพยายามนำเสนอเพื่อช่วยเหลือ ด้านภาษี ช่วยเหลือทางการเงิน ช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุน เพื่อเป็นกลไกจูงใจให้ธุรกิจเข้าสู่ ระบบ นอกจากนี้เราควรทำระบบขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ง่ายขึ้นภายใต้หน่วยงานเดียว ไม่ซับซ้อน พัฒนาระบบต่าง ๆ รองรับเชื่อมกับฐานข้อมูลอื่น ๆ เพื่อให้แรงงานอิสระ สามารถ ขึ้นทะเบียนได้
ประการสุดท้าย ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่กองทุนจำเป็นต้องปรับแก้ไขนิยาม ความหมายของการจ้างงานในปัจจุบันซึ่งมีความแตกต่างจากในอดีตมาก ปัจจุบันเรามีแรงงาน ประเภทใหม่ ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ทำบนธุรกิจ Platform แรงงานที่ทำงาน เป็น Project สั้น ๆ หรือที่เราเรียกว่า Gig Economy ซึ่งนับวันมีขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากท่านประธานไปถึงผู้มาชี้แจงอาจจะเป็นคำถาม ๓ ข้อ
ข้อ ๑ อยากทราบว่ากองทุนประกันสังคมมีแผนในการดึงดูดแรงงาน นอกระบบอย่างไร มีเป้าหมาย กรอบเวลา หรือตัวชี้วัดอย่างไร
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่ได้ยินมาสักพักถึงเรื่องการขยับเพดานเงินสมทบ ซึ่งปัจจุบัน เพดานเงินสมทบที่ใช้อยู่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ในขณะที่สถานการณ์ ทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพไปถึงไหนต่อไหน คำถามคือไม่แน่ใจว่าปัจจุบันกำลัง ดำเนินการอยู่ในขั้นไหนแล้ว และมีแนวโน้มจะสำเร็จเมื่อไร
สุดท้ายเป็นคำถามสำคัญ อยากทราบผลตอบแทนของกองทุนว่าเป็นอย่างไร แน่นอนพวกผมตระหนักว่าในฐานะกองทุนมีข้อจำกัดในการลงทุน ประเภทสินทรัพย์ ที่ลงทุนได้ก็จำกัด แต่อย่างไรก็ตามอยากทราบว่าอัตราผลตอบแทนของกองทุนเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่ลงทุนในสินทรัพย์ลักษณะเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน หรืออัตรา ผลตอบแทนตลาด เพื่อจะได้ประเมินได้ว่าการดำเนินงานหรือการลงทุนมีประสิทธิผลแค่ไหน
สุดท้ายอยากจะเรียนท่านประธานไปถึงผู้ชี้แจง การบริหารการจัดการ กองทุนประกันสังคมมีความสำคัญกับอนาคตประเทศ โดยเฉพาะในภาวะความท้าทายเรื่อง สังคมผู้สูงอายุ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กระทบการจ้างงาน รวมถึงภาวะ เศรษฐกิจ ความเป็นไปของกองทุนประกันสังคมเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระยะยาว ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขออนุญาตฝากท่านประธานไปถึงท่านเลขากองทุน มีคำถาม ๒-๓ เรื่อง ที่ฝากไว้ จริง ๆเข้าใจ ว่าวันนี้มีหลายคำถามนะครับ แต่ว่าคำถามสำคัญข้อหนึ่งที่รอฟังท่านตอบ แต่ว่าไม่ได้ตอบ ซึ่ง จริง ๆ ใกล้เคียงกับคำถามของท่านศุภณัฐนะครับ ก็คืออยากทราบถึงอัตราผลตอบแทน ที่กองทุนสามารถทำได้เมื่อเทียบกับผู้บริหารกองทุนที่อื่น ๆ เราตระหนักเข้าใจถึงข้อจำกัด ในการลงทุนได้ของกองทุนนะครับว่าอาจจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนน้อย อย่างไรก็ตามอยากทราบว่าถ้าเทียบกับกองทุนที่อื่นที่ลงทุนในสินทรัพย์ ประเภทเดียวกันมีเงื่อนไข หรือข้อจำกัดเหมือนกัน เรามีผลตอบแทนทำได้มากหรือน้อยกว่าเขา เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนตลาดและผู้บริหารกองทุนอื่น ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นผมขอชี้แจงว่าผมเห็นด้วยในหลักการและภาพรวมของพระราชกำหนดฉบับนี้ เชื่อว่าพระราชกำหนดฉบับนี้จะช่วยทำให้รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลังมี ประสิทธิภาพ มีศักยภาพมากขึ้นในการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตามผมมีประเด็นที่จะอภิปราย กับท่านประธานและเพื่อนสมาชิก ๒-๓ เรื่อง พร้อมทั้งตั้งคำถามไปยังรัฐบาลรวมถึงผู้ชี้แจง แน่นอนครับ กฎหมายฉบับนี้เป้าประสงค์หลักคือเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี ปัญหาหลบเลี่ยงภาษีเป็นปัญหาที่รัฐบาลทั่วโลกเผชิญ สาระสำคัญก็คือบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ มักจะนำกำไรไปไว้ยังประเทศที่อัตราภาษีต่ำ ๆ หรือไม่เก็บภาษี ดังนั้นการที่เราจะป้องกัน ปัญหานี้ได้หนีไม่พ้นต้องทำความร่วมมือกับนานาประเทศ หลายท่านอาจไม่ทราบนะครับ แต่ละปีทั่วโลกมีการหลบเลี่ยงภาษีทั้งสิ้นประมาณ ๔.๗ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น เงินไทยประมาณ ๑๓ ล้านล้านบาท การแก้ปัญหานี้จะไม่สามารถทำได้เลยถ้าไม่เข้าร่วมภาคี กับนานาประเทศ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญก็คือการเข้าร่วมครั้งนี้ การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน รัฐบาลสามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงจังแค่ไหน ต้นทุนที่แลกมา ในการเข้าร่วมหรือตราพระราชกำหนด ก็คือการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนคนไทย รวมถึงบริษัท ภาคธุรกิจต่าง ๆ ไปแลกมา ดังที่พระราชกำหนดกำหนดให้ส่งข้อมูลให้กับคู่สัญญาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงาน ในต่างประเทศหรือภาคีสมาชิกที่รัฐมนตรีประกาศในหมวด ๑ และหมวด ๒ ของพระราชกำหนดฉบับนี้ ทั้งนี้เพื่อให้การตรากฎหมายมีความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิผลจริง ประเทศได้ประโยชน์ ผมคิดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงถึงแผนการปฏิบัติงาน เป้าหมาย รวมถึงตัวชี้วัดและประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมที่ประเทศไทยจะได้จากกฎหมายฉบับนี้ การจัดทำแผนหรือตัวชี้วัดภายใต้ความร่วมมือหรือกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจาก หลายประเทศเข้าร่วมภาคีหรือมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาแล้ว หลายประเทศ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมามากกว่า ๑๐ ปี นั่นหมายความว่าเราสามารถถอดบทเรียน ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมาปรับใช้ได้ อย่างน้อยผมคิดว่ามี ๓ บทเรียนที่เรานำมาใช้ได้
เรื่องแรก ในเรื่องการกำหนดตัวชี้วัด ผมคิดว่าตัวชี้วัดขั้นต่ำที่รัฐบาลควรจะมี ก็คือเราจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมากแค่ไหน หรือเราจะลดการหลบเลี่ยงภาษีได้เพียงไร งานวิจัยล่าสุดของ OECD ก็คือหน่วยงานที่เราเข้าไปร่วมกับเขาภายใต้ระบบแลกเปลี่ยน ข้อมูลอัตโนมัติอย่างเดียว ประเทศในกลุ่มแอฟริกันข้อมูลล่าสุดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ๑,๕๐๐ ล้านบาท ในเอเชียเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ๕,๖๐๐ ล้านบาท ในลาตินอเมริกาเก็บภาษี ได้เพิ่มขึ้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ธนาคารโลกประเมินว่าภายใต้การแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างประเทศจะช่วยให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นราว ๕-๑๙ เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะกำหนดตัวชี้วัดว่าเราควรเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน อย่างน้อย มีตัวเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว
เรื่องที่ ๒ คำถามสำคัญคือเราควรเก็บใคร ใครควรเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่รัฐบาลพุ่งเป้าในการใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ เช่นเดียวกันครับ บทเรียนในต่างประเทศถอดมา แต่ละปีภาษีที่ถูกหลบเลี่ยง ๔.๗ แสนล้านดอลลาร์เขาบอกว่ามาจาก ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมาจาก บริษัทข้ามชาติที่โยกย้ายกำไรไปยังประเทศภาษีต่ำ ๆ หรือไม่เก็บภาษี ส่วนนี้ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๓๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้มาจากไหนเลย มาจากกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงหรือกลุ่มมหาเศรษฐีอีกประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า หากกฎหมายฉบับนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์กระทรวงการคลังไม่ต้องหว่านแห ไม่ต้องมองไกล เพราะบทเรียนจากต่างประเทศชี้เป้าแล้วว่ากลุ่มไหนที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ
เรื่องที่ ๓ สิ่งที่เราถอดบทเรียนได้ก็คือเราพบว่าประเทศที่จะใช้ประโยชน์ได้ จากการเข้าร่วมภาคีนี้หรือการออกกฎหมายลักษณะนี้คือประเทศที่มีความพร้อม ในการวิเคราะห์ข้อมูล ตัวอย่างล่าสุดอย่างที่เพื่อนสมาชิกผม คุณศิริกัญญา ตันสกุล อภิปรายไป ภายใต้ความร่วมมือฉบับนี้มีมากกว่า ๑๐๐ ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ ๔๐๐ ล้านล้านบาท คำถามคือปัจจุบันเราเตรียมการในแง่การวิเคราะห์ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
ดังนั้นผมมีคำถาม ๓ ข้อ ที่อยากฝากถึงรัฐบาล ข้อ ๑ รัฐบาลมีการกำหนด เป้าหมายหรือตัวชี้วัดอย่างไรในแง่การเก็บภาษี ข้อ ๒ เรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือประมวลข้อมูลที่จะได้ และข้อ ๓ เรามีความเอาจริงเอาจังแค่ไหน ในการพุ่งเป้าเก็บภาษีกลุ่มคนที่พบว่ามีแนวโน้มที่จะหลบเลี่ยงภาษีสูง ทั้งหมดนี้ผมขอยืนยัน ว่าผมเห็นด้วยในหลักการของพระราชกำหนดฉบับนี้ แต่ขอย้ำว่าการบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ไม่เพียงแต่ออกกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการจัดการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้หากการบังคับใช้กฎหมายนี้มีประสิทธิผลเราจะไม่ได้ประโยชน์แต่เพียงป้องกัน การหลบเลี่ยงภาษีเท่านั้น แต่ยังลดการคอร์รัปชัน ลดการฟอกเงิน และลดการให้ทุน สนับสนุนอาชญากรรมอื่น ๆ ให้น้อยลงได้ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ๔๑๘ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ๔๑๘ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ๔๑๘ เห็นด้วยครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา ๘ แห่ง พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ ผมคิดว่าการสรุป บทเรียนเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศในแง่การบริหารงบประมาณขนาดใหญ่ การบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคต รวมถึงเร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ จากสถานการณ์โควิด การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้แบ่งออกเป็น ๓ แผนครับท่านประธาน แผนงานเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด แผนงานเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ผมขออภิปราย ๓ แผนในรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ในส่วนแผนงานที่ ๑ การแก้ไขปัญหาการระบาด ซึ่งจากรายงานฉบับนี้ ให้ Grade A หลัก ๆ งบในส่วนนี้ต้องเรียนว่าเป็นงบสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ งบจัดหาวัคซีน งบสนับสนุนการรักษาพยาบาลครับ ปัญหาที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตมีอยู่ ๒-๓ ประการ ประการแรก เราพบว่าในการใช้งบบางส่วนนี้ไม่เหมาะกับสถานการณ์ ในขณะนั้นครับ เช่นในงบปรับปรุงสถานพยาบาลเพื่อรองรับการระบาดของโควิด พบว่า มีการใช้งบบางส่วนเพื่อก่อสร้างอาคาร ท่านประธานก็จะเห็นว่าการก่อสร้างอาคาร ต้องเสียเวลาทั้งออกแบบ ทั้งก่อสร้าง สุดท้ายกว่าจะก่อสร้างอาคารเสร็จก็ไม่ทันใช้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนั้น หรือการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่พบว่าล่าช้า สาเหตุสำคัญเนื่องจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไม่อนุญาตให้จัดซื้อ ในสินค้าที่ยังไม่มี ไม่อนุญาตให้ซื้อในสินค้าที่ยังไม่รับรองผล หรือไม่สามารถซื้อสินค้า ที่ไม่สามารถระบุวันส่งมอบได้ ซึ่งเราผ่านประสบการณ์โควิดมาด้วยกัน เราก็พบว่า ไม่รองรับสำหรับการจัดซื้อวัคซีน ถึงแม้สุดท้ายกรมบัญชีกลาง สตง. ป.ป.ช. และกฤษฎีกา จะออกแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในขณะนั้นให้หน่วยงานสามารถจัดซื้อจัดหาวัคซีน และเวชภัณฑ์ได้ยืดหยุ่นขึ้น แต่ผมคิดว่านี่คือบทเรียนสำคัญที่เราต้องแก้ไขต่อไป
ในส่วนข้อสรุปจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI ได้สรุป บทเรียนในการรับมือโรคภัยพิบัติในอนาคตที่น่าสนใจว่าในแง่การจัดหาวัคซีน นอกจากติด กฎระเบียบที่ไม่เหมาะสม ความล่าช้าของระบบราชการยังเกิดจากการจองและจัดซื้อวัคซีน ที่ล่าช้า หรืออาจมีปริมาณน้อยเกินไป ตลอดจนจำกัดประเภทวัคซีนมากไป ซึ่งเป็นประเด็น สำคัญต่อการควบคุมการระบาด และนี่คือบทเรียนที่เราควรถอดไว้สำหรับการรับมือ โรคระบาดในครั้งหน้าครับ
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากพูดในส่วนแผนงาน A คือเบี้ยเสี่ยงภัยโควิดครับ หลายท่านถ้าอ่านแบบประเมินชุดนี้จะพบว่าแบบประเมินบอกว่าจ่ายครบหมดแล้ว แต่ต้องเรียนว่าพี่น้องประชาชนอาจตกใจนะครับ เพราะว่ายังมีพี่น้องจำนวนมาก บุคลากร ทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่วันนี้ยังไม่ได้รับเงิน เบี้ยเสี่ยงภัย จากข้อมูลที่รวบรวมโดยเพื่อน สส. พรรคก้าวไกลของผม คุณศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ที่ติดตามเรื่องนี้ พบว่าบุคลากรนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันมากกว่า ๕๐,๐๐๐ คนยังไม่ได้รับการเบิกจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยโควิด อันนี้ก็อยากฝากรัฐบาลให้ติดตาม และเร่งรัด
ในส่วนแผนงานที่ ๒ คือแผนงานเยียวยาซึ่งได้ Grade A เช่นกันนะครับ ประเด็นนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้งบเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา อย่างที่ทุกท่านทราบครับ วิกฤติโควิดทำให้เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ หลายท่านอาจจะ ไม่ทราบนะครับ เด็กที่วันนั้นไปโรงเรียนไม่ได้จากสถานการณ์โควิด วันนี้ยังไม่ได้กลับไป โรงเรียนเลย จากตัวเลขล่าสุดในปี ๒๕๖๖ หรือปีการศึกษานี้เราพบว่ามีเด็กมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนที่ยังหลุดจากระบบการศึกษา เรื่องนี้อยากฝากไปยังรัฐบาลและ กระทรวงศึกษาธิการให้เร่งแก้ไขครับ
ในส่วนแผนงานสุดท้าย คือแผนงานที่ ๓ แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็น เที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง หรืองบที่เพิ่มให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงงบ พัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำต่าง ๆ จุดมุ่งหมายของแผนนี้เพื่อรักษาการจ้างงานและกระตุ้น การลงทุน การบริโภค แผนนี้คณะกรรมการให้ Grade B ผมคิดว่าประเด็นนี้ผมอยาก ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับ ประเทศไทยเราใช้เงินเยอะมากเพื่อต่อสู้กับวิกฤติโควิด แต่ถ้า ท่านประธาน และเพื่อน สส. ดูภาพที่ผมนำมาโชว์นะครับ เราพบว่าประเทศไทยใช้เงินเยอะ จริง ๆ ในการต่อสู้กับโควิด อันนี้รวบรวมโดยศูนย์ความสามารถทางการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมาดูผลว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่นับเมียนมา ที่ประสบปัญหาทางการเมืองในอาเซียนและทำให้เศรษฐกิจถดถอย เราพบว่าประเทศไทย การถดถอยทางเศรษฐกิจลึกกว่าใครและฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อน นี่อาจจะสะท้อนถึงประสิทธิภาพ ของการใช้งบฟื้นฟูและเยียวยาแก้ไขปัญหาในช่วงโควิดที่ผ่านมาครับ สิ่งนี้ต้องให้เครดิต รายงานฉบับนี้นะครับ รายงานฉบับนี้สรุปว่าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงาน บางส่วนขาดการวางแผนภาพรวม ขาดการบูรณาการ ทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก มีงบประมาณต่อโครงการไม่มาก ทำให้ไม่อาจส่งผลต่อการพัฒนาฟื้นฟูประเทศในภาพใหญ่ เท่าที่ควร ผมคิดว่านี่คือบทเรียนสำคัญในการใช้งบประมาณขนาดใหญ่ในอนาคตครับ ท่านประธานครับสุดท้ายก่อนผมจบอภิปราย ผมเห็นว่าเราสามารถสรุปบทเรียนสำคัญ จากพระราชกำหนดกู้เงินฉบับนี้ โดยมีข้อเสนอแนะที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล ๓ ประการครับ
ประการที่ ๑ ผมคิดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุง ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในสถานการณ์เร่งด่วน มีความสะดวกและประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นที่ ๒ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาฐานข้อมูลประชากร ให้ครบถ้วนกว่านี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผ่านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐตรงเป้า ไม่เหวี่ยงแห ลดโอกาสการตกหล่นของบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ในข้อนี้ผมต้อง ให้เครดิตรายงานอีกครั้งหนึ่งนะครับ ผมประทับใจมาก รายงานระบุไว้อย่างนี้เลยครับว่า ในประเด็นการช่วยเหลือนักเรียน ฐานข้อมูลในระบบไม่พร้อมใช้งาน ไม่ทันสมัย ใช้งานจริง ไม่ได้ครับ นี่คือปัญหาที่ทำให้เด็กเราตกหล่น ต้องฝากถึงรัฐบาล รัฐบาลต้องให้หน่วยงานของรัฐ เร่งทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐตามประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ ในอนาคตข้างหน้าการใช้ข้อมูลของรัฐมีประสิทธิภาพช่วยเหลือประชาชนได้ดีกว่านี้
ประการสุดท้าย การใช้งบประมาณขนาดใหญ่จำเป็นที่รัฐต้องมีการวางแผน ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าประเทศควรได้อะไรจากงบนี้ การไม่วางแผนในภาพรวม กระจายเป็น โครงการเล็กโครงการน้อย ประเทศได้ประโยชน์ต่ำ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย ทั้งหมดนี้คือการเสียโอกาสทางงบประมาณ ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญกับรัฐบาลและพวกเรา ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธาน ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอเสนอ รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จำนวน ๖ คน ดังนี้ ๑. นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ๒. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ๓ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ๔ นายเอกราช อุดมอำนวย ๕. นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ๖. นายคณาสิต พ่วงอำไพ คนต้องเท่ากันสมรสต้องเท่าเทียม ขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล ๔๑๘ แสดงตนครับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล พรรคก้าวไกล ๔๑๘ รับหลักการครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายการดำเนินงานของ สวทช. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญ เป็นทั้งสมอง และหัวใจของการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ เรียนท่านประธานครับ บอกตามตรงเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลเมื่อสักครู่นี้ที่อภิปราย ผมอ่านรายงาน ของ สวทช. แล้วผมมีความหวัง รู้สึกเห็นอนาคตประเทศ ผมชอบเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ ไม่ว่า จะเป็น ๑๐ เท่า หรือ ๒.๒ เท่า ท่านผูกโยงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ สวทช. ว่า ท่านจะเอาไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้ ๑๐ เท่าใช่ไหมครับ ผมคิดว่า นี่คือตัวอย่างของการตั้งเป้าที่ท้าทาย แล้วก็เป็นตัวอย่างของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ควรเอาไป ปฏิบัติตาม ท่านประธานครับ ในโอกาสที่ สวทช. มารายงานต่อสภาแห่งนี้ผมอยากฝากข้อคิดเห็น ผ่านท่านประธานไปยัง สวทช. และผู้เกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญคือเรื่องของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ AI เป็นเรื่องสำคัญ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้พูดถึง AI ไปมาก วันนี้ผมขอพูดในส่วนของ สวทช. AI เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของ อุตสาหกรรมแล้วก็การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ประเทศเราห้ามตกรถขบวนนี้เด็ดขาด น่าดีใจที่รายงานฉบับนี้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย อยู่ในส่วนที่ชื่อว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ แผนปัจจุบันกำหนดไว้ในระยะปี ๒๕๖๕-๒๕๗๐ โดย สวทช. เป็นทั้งคณะทำงานและเลขานุการ สาระสำคัญก็คือทำอย่างไรให้ประเทศเรา เกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วน เชื่อมโยงบูรณาการ ส่งเสริม พัฒนา ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ประชาชน ผมว่าเป้าหมายท่อนหลังต้องย้ำไว้เลยนะครับ นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและ คุณภาพชีวิตประชาชน ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ ทั่วโลกเขาประเมินว่า AI หรือ Generative AI จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล เขาประเมินกันว่าจะมากกว่า ๑๔๐ ล้านล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่าถ้าประเทศไทยตกรถขบวนนี้เราก็จะเสียโอกาส ในการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน จากแผนงานของ สวทช. ที่นำเสนอ ผมต้องขอฝากความเห็น ผ่านท่านประธานไปยัง สวทช. ๒ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ ในส่วนของการระบุเทคโนโลยีกลุ่มเป้าหมาย ท่านประธานครับ ในรายงานเขียนว่าระหว่างปี ๒๕๖๕-๒๕๗๐ มุ่งเป้าถึง ๑๐ อุตสาหกรรม หรือ ๑๐ เทคโนโลยีเป้าหมาย โดยมี ๒ ระยะ ระยะแรก ๓ อุตสาหกรรม เกษตร อาหาร การแพทย์ และสุขภาวะ แล้วก็บริการภาครัฐ ซึ่งเน้นดำเนินการในช่วงแรกก็คือปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ แล้วก็จะขับเคลื่อนไปยังเทคโนโลยีเป้าหมายอื่น ๆ ในอีก ๗ เป้าหมาย ช่วงปี ๒๕๖๗-๒๕๗๐ คำถามสำคัญที่ผมอยากฝากทาง สวทช. ให้ช่วยขบคิดก็คือการมุ่งเทคโนโลยี AI ถึง ๑๐ กลุ่มเป้าหมายมากไปหรือไม่ ผมลองไปดูประเทศอื่น ๆ ครับ ซึ่ง OECD หรือองค์กร เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาได้รวบรวมมา พบว่าประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ มุ่งเป้าน้อยกว่าเรา เช่น เกาหลีใต้มุ่งเป้าไปที่ ๓ กลุ่ม คือ เศรษฐกิจ ดิจิทัล นวัตกรรมและ สังคม หรือประเทศจีนซึ่งมีงบประมาณมากกว่าเราเยอะ มุ่งไปที่ ๙ กลุ่ม ญี่ปุ่นมุ่งไปที่ ๔ กลุ่ม อันนี้คือเปิดเผยอยู่ในรายงานของ OECD ก็เลยอยากฝากทาง สวทช. รวมถึงสะท้อน ไปยังรัฐบาลว่าการพัฒนาเศรษฐกิจก็ดี การมุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ดี การพัฒนา เทคโนโลยีก็เช่นกันเราอาจจะจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัด นอกจากเพื่อความเป็นไปได้ ยังสอดคล้องกับทรัพยากร ทั้งคน งบประมาณ และความเชี่ยวชาญที่มีครับ ที่น่าสนใจก็คือ ผ่านมาในระยะแรกครบแล้วเรารู้สึกกันหรือยังว่า AI ใน ๓ เป้าหมายนั้นเราสำเร็จแล้ว นี่กำลังจะเข้าไปสู่ระยะที่ ๒ อีก ๗ เป้าหมาย ก็จึงอยากฝากทาง สวทช. ไว้ในประเด็นนี้
ประเด็นที่ ๒ ในประเด็นการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และการวัดผล ผมประทับใจที่ท่านกำหนดผลกระทบของแผนงานไว้ว่าจะช่วยสร้างมูลค่าให้เกิด การจ้างงานแล้วก็อาชีพในประเทศ ช่วยเพิ่ม GDP ให้สูงขึ้น คำถามก็คืออยากจะฝากทาง สวทช. ไปดูยุทธศาสตร์และแผนงาน สิ่งที่ท่านระบุไว้ เช่น ทำให้ประชาชนมากกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คนตระหนักเรื่อง AI สร้างบุคลากรด้าน AI ของประเทศไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ คน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านการวิจัยต้นแบบไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ต้นแบบ คำถามคือท่านจะทำ อย่างไรให้แผนยุทธศาสตร์ของท่าน การอบรมเหล่านี้มันไปเชื่อมโยงสู่เป้าหมายที่ท่าน ตั้งไว้ จะดีกว่านี้มากถ้า สวทช. สามารถบอกได้ว่างบประมาณที่ท่านให้ไป ส่วนนี้เป็นส่วนที่ ไปต่อยอด ไม่ใช่ไปซ้ำซ้อนกับส่วนอื่น ๆ ที่เขาทำกัน อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะ จะได้รับฟังรายงานในปีหน้าอาจจะรอฟัง ดังนั้นในโอกาสนี้ผมขอฝากข้อเสนอไปยัง สวทช. ๒-๓ ประเด็นครับ
ประเด็นแรก ผมเรียนจริง ๆ ว่าฝากท่านทบทวน ท่านควรลำดับความสำคัญ เทคโนโลยีมุ่งเป้าว่าท่านควรจะพาประเทศ AI สำคัญในประเทศไทยในมิติไหน จะทำอย่างไร ให้ AI เรื่องนั้นส่งผลประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้จริง อาจจะเกิดประโยชน์ มากกว่า
ประเด็นที่ ๒ สวทช. ควรออกกรอบนโยบายเพื่อมุ่งสร้างอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับ AI ที่ไทยสามารถประกาศได้จริง ๆ ว่าเป็นจุดเด่นของเรา ทำอย่างไรให้เกิด Linkage หรือความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศได้มาก ๆ
ประเด็นที่ ๓ ผมคิดว่าส่วนสำคัญที่สุดของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งก็ ตอบสนองกับสิ่งที่ท่านพูดไว้เมื่อตอนลุกขึ้นชี้แจงรายงาน ผมคิดว่าถ้าท่านจะพัฒนา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ท่านต้องตอบคำถามเรื่องแก้ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้ได้ ทำอย่างไรให้การพัฒนา AI นี้ไม่เป็นเพียงโอกาสของคนที่เรียนสูง ของคนที่มีฐานะ หรือบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น
สุดท้ายนี้ผมขอฝากท่านประธานไว้ว่าเรื่อง AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นี่คือ การแย่งชิงและแข่งขันของโลกในยุคสมัยใหม่ ประเทศไทยเราเคยเข้าแข่งขันหลายรอบ ช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเราเข้าไปแข่งในเรื่อง Social Commerce Platform Startup คำถามคือ เราประสบความสำเร็จหรือเปล่า ที่ผ่านมาเราสร้าง Unicorn ได้น้อยกว่าที่เราหวังไหม ผมคิดว่านั่นคือบทเรียนสำคัญที่การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องถอดบทเรียน ผมก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับท่าน สวทช. และผู้บริหารทุกท่าน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติด่วนด้วยวาจาให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกัน ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็น รูปธรรม ท่านประธานครับ วันนี้ผมลุกขึ้นอภิปรายไม่ใช่แต่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้ แต่ยังอภิปรายในฐานะคุณพ่อของลูก ๒ คน คนโตอายุ ๑๐ ขวบ คนเล็กอายุ ๘ ขวบ ที่วันนี้ยังต้องไปโรงเรียนทุกวัน ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตครับ ไม่ควรมีนักเรียนคนไหนที่ต้องไปโรงเรียนแล้วเผชิญความรุนแรง ไม่ว่าต่อร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าระหว่างเด็กนักเรียนด้วยกัน หรือระหว่างเด็กกับคุณครู ในฐานะพ่อที่มีลูกเล็กฟังแล้ว ก็เห็นใจคนเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ของผู้ก่อเหตุหรือคุณพ่อคุณแม่ของ ผู้เสียชีวิต ความสูญเสียของนักเรียนจากความรุนแรงในโรงเรียนเช่นในกรณีนักเรียน ชั้น ม. ๒ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาไม่ใช่กรณีแรก และเอาจริงคือเกิดมาหลายครั้ง เราจะปล่อย ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกกี่ครั้งครับ งานวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน หลายจังหวัด หรือ Child Watch ในปี ๒๕๖๕ ซึ่งสำรวจเด็กและเยาวชนมากถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน ทั่วประเทศ พบว่าเด็กที่อยู่ในระดับมัธยม อาชีวะ ปวช. ปวส. มากถึง ๑ ใน ๑๐ หรือ ๗๐,๐๐๐ คน กำลังตกอยู่ในภาวการณ์ใช้ความรุนแรงครับ ถ้าเทียบกับทั่วโลกปัจจุบันไทย ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ ๔ ของประเทศที่มีเด็กรังแกกันในโรงเรียนมากที่สุด ปัญหาการรังแกกัน ในโรงเรียนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจาก Social Media จากอินเทอร์เน็ต เด็กที่ถูกรังแกหรือ ล้อเลียนประสบภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากไปโรงเรียน ความรุนแรงเหล่านี้ ยังส่งผลต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและผลการศึกษา นักเรียนที่เป็นเหยื่อพบว่ามีผลการเรียน ตกต่ำ รู้สึกโดดเดี่ยว มีแนวโน้มเลิกเรียนเมื่อจบระดับชั้นมัธยมศึกษาสูงกว่าเพื่อน ๆ ทั่วไป งานวิจัยยังพบอีกว่า นักเรียนคนหนึ่งเป็นได้ทั้งเหยื่อและผู้ก่อความรุนแรงในตัวคนเดียวกัน ความรุนแรงไม่ได้ก่อ ผลกระทบเฉพาะปัจจุบันเท่านั้น ส่งผลต่อเนื่องยาวนาน บางคนส่งผลไปตลอดชีวิต เด็กที่ ได้รับความรุนแรงตั้งแต่อายุยังน้อยพบว่ามีผลต่อพัฒนาการทางสมอง นอนไม่หลับ พฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านสังคม เสี่ยงใช้ยาเสพติด และก่ออาชญากรรมในอนาคต บางคน รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าจนนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง สาเหตุที่ทำให้นักเรียนถูกรังแก ได้แก่ ความผิดปกติทางกาย ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ผมในฐานะ นักเศรษฐศาสตร์เราพบว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีผลครับ งานวิจัยพบว่าความเหลื่อมล้ำ หรือการแตกต่างทางรายได้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลันมีผลทำให้ ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในแง่เศรษฐกิจความรุนแรง ผลกระทบต่อการพัฒนาคน ๑ คน นั่นคือ ทุนมนุษย์ของประเทศ ความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นทั่วโลกคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ต่อปีสูงถึง ๘ เปอร์เซ็นต์ของ GDP นี่ยังไม่รวมต้นทุนในอนาคตที่พบว่านักเรียนเหล่านี้ เมื่อโตไปกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว หรือเสี่ยงเป็นอาชญากร ท่านประธานครับ ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center โดยผู้อำนวยการ อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน รวบรวมประสบการณ์จากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ องค์การอนามัยโลก มีข้อน่าสนใจหลายประการ ผมขอเอามาฝาก ๓ ข้อ
ประการแรก เราจำเป็นต้องขจัดอำนาจนิยมในโรงเรียน อำนาจนิยมคือ บ่อเกิดสำคัญของความรุนแรง โรงเรียนต้องลดการใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการสื่อสาร การทำโทษ การให้รุ่นพี่สามารถสั่งรุ่นน้อง หรือกระทั่งการใช้อำนาจระหว่าง ผู้บริหารสถานศึกษากับคุณครู ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง ในโรงเรียน สิ่งที่โรงเรียนต้องพยายามทำคือส่งเสริมการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นการจัดการก็สำคัญครับ งานวิจัยพบว่าต้องทำ อย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า ไม่เกรงใจว่าเป็นลูกของใครหรือใครเป็นคนทำ การจัดการที่รวดเร็ว ช่วยลดโอกาสเกิดความรุนแรงต่อไป การเยียวยาและฟื้นฟูก็สำคัญ ต้องทำอย่างจริงจังและ ต่อเนื่อง ฉะนั้นโรงเรียนและระบบการศึกษาต้องชัดเจนว่าจะมีแนวปฏิบัติอย่างไรในการ จัดการหากเกิดความรุนแรงขึ้นเพื่อระงับได้ทันท่วงที ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ออกแนว ปฏิบัติชัดเจนเลยว่าหากเกิดกรณีความรุนแรงขึ้น คุณครู ผู้ปกครอง หรือโรงเรียนต้องมีหน้าที่ อย่างไรบ้าง
ประการที่ ๒ การศึกษาต้องเน้นทักษะทางสังคมและทางอารมณ์มากขึ้น การศึกษาที่เน้นเฉพาะการแข่งขันมีส่วนทำให้นักเรียนขาดการพัฒนาทักษะทางสังคม ทางอารมณ์ มีแนวโน้มทำให้เกิดพฤติกรรมแตกแยก เป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้งและใช้ ความรุนแรง ฉะนั้นระบบการศึกษาและโรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำอย่างไร ให้คุณครู ให้นักจิตวิทยาสามารถเพิ่มพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ให้กับนักเรียนให้ได้
ประการสุดท้าย การให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมช่วงปฐมวัย อย่างที่ เรียนท่านประธานไปครับ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน ฐานะยากจนฉับพลัน เป็นปัจจัยเพิ่มความรุนแรง ดังนั้นอย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอตลอดมา รัฐบาลควรสนับสนุน สวัสดิการช่วงปฐมวัยให้มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ๑,๒๐๐ บาทต่อเดือน การสร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ ๖ เดือนจนถึงช่วงอนุบาลหรือประถมศึกษา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการรับมือความรุนแรงได้ดียิ่งขึ้น
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตฝากข้อสังเกตไว้สำหรับคุณครูหรือผู้ปกครอง เพื่อป้องกันปัญหา ข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจ จากสถิติพบว่านักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมักสันโดษ หรือแปลกแยกเวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่านักเรียนปกติถึง ๓ เท่า และมีแนวโน้มขาดเรียน เป็นประจำสูงกว่าเด็กปกติ ๒ เท่า ดังนั้นคุณครูหรือผู้ปกครองจำเป็นต้องสังเกตเพื่อจะได้ ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทุกท่านครับ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจาก ความรุนแรงและทุกคนเข้าถึงได้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกสังคมต้องให้ความสำคัญ เด็กทุกคน ควรมีสิทธิไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย ไม่มีเด็กคนไหนควรต้องกลัวการไปโรงเรียนหรือ ทุกข์ใจกับการไปโรงเรียน ท่านประธานครับ ดังนั้นผมขอสนับสนุนญัตติด่วนด้วยวาจา ให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม กราบขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ที่เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลของผม รวมถึงหลายพรรค ร่วมเสนอ ท่านประธานครับภาคเหนือของเรามีความพิเศษ มีเสน่ห์ ทั่วโลกให้การยอมรับ แค่เชียงใหม่จังหวัดเดียวมีนักท่องเที่ยวปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖ ล้านคน หลายจังหวัดภาคเหนือ ยังมีศักยภาพสูงที่จะต่อยอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ จากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ หลากหลายหากนำมาปรับใช้ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ย่อมเป็นโอกาสสำคัญ ในการต่อยอดของดีที่เรามีอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือคุณลักษณะของเมือง ขนาดวันนี้เราไม่มี นโยบายผลักดันสนับสนุนเป็นพิเศษ ท่านทราบไหมครับ เชียงใหม่จังหวัดเดียวสามารถดึงดูด แรงงาน Digital อิสระ หรือที่ภาษาสมัยใหม่ เรียกว่า Digital Nomad ซึ่งเป็นแรงงาน คุณภาพสูงได้เยอะเท่าไร ก่อนโควิดเรามี Digital Nomad ต่างชาติเดินทางเข้ามาอาศัยและ ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ปีหนึ่ง ๓๐,๐๐๐ คน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นศักยภาพเชิงพื้นที่ของ ภาคเหนือที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสุขภาพ เกษตร อาหาร สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประเทศได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากฝากกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ หากตั้งขึ้นคือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ที่ผ่านมาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่าง ผมขอสรุปบทเรียนสำคัญไว้ ๓ เรื่องที่อย่างน้อยถ้าเราจะ ทำในภาคเหนือต้องไม่ทำซ้ำ
ประการแรก คือความล่าช้าจากที่วางแผนไว้ ความล่าช้าคือต้นทุนสำคัญครับ ตัวอย่างกรณีความล่าช้าที่วันนี้เราเห็นอยู่ คือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน โครงการ Flagship หรือโครงการสำคัญของ EEC ที่แต่เดิมท่านทราบไหมครับต้องเปิด ดำเนินการในปีนี้ตามแผน แต่ปัจจุบันยังไม่เริ่มแม้แต่จะก่อสร้าง นับว่าล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ มาก ๆ นะครับ สิ่งนี้ทำให้กระทบภาพรวมของโครงการ EEC ทั้งหมด ภาพรวมของการดึงดูด การลงทุน ประเทศเสียโอกาส
ประการที่ ๒ ปลายทางการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องสามารถสร้างงานดี งานใหม่ที่มีคุณภาพสูง สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนหนุ่มสาวที่เรียนจบที่เขาอยากกลับไปอยู่บ้าน เขามีงานดี ๆ มีรายได้ดี ๆ ทำ บทเรียนที่ผ่านมาในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราพบว่าอุตสาหกรรมที่ลงทุน กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ งานประเภทเดิม ๆ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้
ประการที่ ๓ ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องคำนึงถึงปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม โดยเอาคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันใน EEC มีทั้งปัญหาขยะ ปัญหาน้ำ ปัญหาที่ดิน ซึ่งกระทบคุณภาพชีวิตประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องฝากไว้กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้นะครับ อย่าให้ยิ่งพัฒนายิ่งก่อปัญหาสังคม เพราะคนที่ รับผลกระทบคือคนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น จังหวัดระยองมีขยะติดเชื้อวันละ ๑๐-๑๒ ตัน แต่มีศูนย์กำจัดที่ได้มาตรฐานเพียง ๓.๖ ตัน วันนี้กระทบคนในพื้นที่อย่างมาก ปัญหาน้ำ ภาคตะวันออกต้องการใช้น้ำต่อปีที่ ๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร EEC ๓ จังหวัดฟาดไปแล้ว ๒,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งภาค นอกจากทำให้ อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำสูงอย่าง Semiconductor เขาไม่มา ยังกระทบกับประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ในพื้นที่ที่ต้องขาดแคลนน้ำไปด้วยครับ ผมในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ติดตามผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจ เห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ในช่วงเริ่มต้นต้องออกแบบให้ดีแต่แรก และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม อย่างจริงจัง ท่านประธานครับผมนำบทเรียนในต่างประเทศหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยใน ๒ ประเทศมาเล่าเผื่อเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี ใน Schleswig-Holstein ในอดีตที่รายได้ต่อหัวของเขาลดลงต่อเนื่อง ถามว่าเพราะอะไร เพราะจุดอ่อนในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับเมืองอื่นในเยอรมัน เทียบกับฮัมบูร์กเขาสู้ไม่ได้ รัฐบาล ใช้กลยุทธ์ในการปรับปรุงเงื่อนไขทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ ที่เรียกว่า SMEs ผ่านโครงการให้ทุนสนับสนุนกองทุน Schleswig-Holstein เน้นโครงการที่ มุ่งเป้าเรื่องนวัตกรรมวิจัยพัฒนา เน้นอย่างเดียวเลย โดยโปรแกรมครอบคลุมหลายพื้นที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มการจ้างงานและระดับนวัตกรรมของพื้นที่ได้จริงแล้วก็นำมาสู่ การสร้างงานใหม่ ๆ หรือเอาใกล้ตัวครับ คนไทยชอบไปดูงาน เกาหลีใต้ก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายพื้นที่ ที่น่าสนใจและประเทศไทยน่าถอดบทเรียนก็คือ ในเกาหลีเขาวาง Position หรือวางจุดเด่น ของแต่ละเขตเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ไว้เลย ว่าแต่ละที่จะเอาดีเอาเด่นเรื่องอะไรเพื่อดึงดูด นักลงทุน ตัวอย่างเช่นที่อินชอน เขาบอกไว้เลยว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นดูแล เรื่องสุขภาพ เน้นเรื่อง Bio เน้นเรื่อง Healthcare อีกเมืองหนึ่ง อันซัน เขาบอกเลยว่าจะเน้น เรื่อง Future Mobility หรือการขนส่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ไม่ทับซ้อนกัน สามารถออกแบบมาตรการนโยบายดึงดูดนักลงทุนได้ตรงเป้าหรือตรงจุดมากขึ้น ในอินชอน เมืองเดียวนะครับ ยังแบ่งย่อยไปเป็นเขตอีก เช่นที่ซองโดกำหนดให้เป็นโซนธุรกิจ เน้นเรื่อง การศึกษา นวัตกรรม ถ้าเป็นยองจองเน้นเรื่องท่องเที่ยว ถ้าเป็นซองนัมเน้นเป็นสวน อุตสาหกรรมไฮเทค ทั้งหมดนี้ที่ผมเล่ามาคร่าว ๆ อยากชวนท่านประธานและเพื่อนสมาชิก เห็นว่า หากเราจะทำนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องลง รายละเอียด ไม่ควรจะเหวี่ยงแหเอามันทุกอุตสาหกรรม ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้ผมขอ สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือครับ สิ่งที่อยากฝากไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้คือจำเป็นต้องสรุปบทเรียน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ ด้านบวกหรือด้านลบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือท่านต้องให้ ความสำคัญกับคนในพื้นที่ครับ เน้นหลักการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้ได้ ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ สิทธิพล พรรคก้าวไกล ๔๑๘ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธาน สิทธิพล ๔๑๘ พรรคก้าวไกล แสดงตนครับ