กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะครับ กระผม พชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจให้กับผู้ที่เสียหาย แล้วก็สูญเสียให้กับเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมโกดังพลุดระเบิดบ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งรัศมี ความเสียหายนี่ ๕๐๐ เมตร กระทบกว่า ๓๐๐ ครัวเรือน ท่านประธานครับ เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ก็ได้เกิดเหตุโรงงานพลุ และดอกไม้เพลิงที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ก็ระเบิดมีผู้บาดเจ็บกว่า ๑๐ คน ปีก่อนก็เหตุเกิดสารเคมีระเบิดที่โรงงาน หมิงตี้เคมิคอลที่ย่านกิ่งแก้ว แล้วก็หลายปีก่อนก็ยังเกิดเหตุการณ์โรงงานลำไยระเบิดที่จังหวัด เชียงใหม่ และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผมอาจจะไม่ได้พูดถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ในลักษณะนี้ซ้ำอีกผมจึงขอตั้งข้อสังเกต แล้วก็หารือกับท่านประธานที่เคารพดังนี้ครับ ๑. ใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่าง ๆ ในการที่จะออกโรงงาน ใบอนุญาต โรงงานนะครับ โรงงานดังกล่าวนี้ได้มีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือถ้าโรงงานดังกล่าวนี้ ได้มีการขออนุญาตที่ถูกต้องแล้วทางเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกตรวจโรงงาน ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ ๒. ทำไมถึงมีวัตถุอันตรายที่อยู่ใน ชุมชน หรือใกล้ชุมชนมากขนาดนี้ อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายสถานที่ตั้ง โรงงานดังกล่าวได้ถูกต้องตามกฎหมายของผังเมืองหรือไม่ ๓. มาตรการเยียวยาของ ผู้เสียหาย ถามว่าทางภาครัฐสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เพราะจากหลาย ๆ เหตุการณ์ ครั้งที่ผ่านมาผมสังเกตเห็นได้ว่าผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาค่อนข้างที่ไม่ค่อยเหมาะสม แล้วก็ค่อนข้างล่าช้าครับ
สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะขอฝากท่านประธานไปถึงรัฐบาล หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยติดตามปัญหา แล้วก็เร่งรัดที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้เสียหาย ช่วยเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเร็วที่สุดครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ อำเภอสีคิ้ว อำเภอปากช่อง ตำบลวังไทร ตำบลวังกะทะ ตำบลโป่งตาลอง แล้วก็ตำบลคลองม่วง ขอ Slide ด้วยครับ
ท่านประธานครับ จากที่ผม ได้ตรวจสอบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งหรือ กกต. ก็ได้พบ ๓ ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ ๑ ในปี ๒๕๖๔ กกต. มีรายได้ประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท แต่มีรายจ่ายถึง ๒,๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งมีรายได้นี่ถือว่าต่ำกว่ารายจ่ายประมาณ ๖๓๓ ล้านบาท รวมถึงปีก่อน ๆ ก็ทราบมาว่าขาดทุนมาโดยตลอด แสดงว่าสำนักงาน กกต. ได้มีการใช้เงิน เหลือจ่ายสะสมใช่ไหมครับ จึงขอฝากผ่านท่านประธานไปถาม กกต. ว่าปัจจุบันนี้ กกต. มีเงินสะสมอยู่ที่เท่าไร และมีหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินสะสมอย่างไร ในเมื่อเรา ก็ทราบอยู่แล้วว่าในแต่ละปีกิจกรรมการเลือกตั้งมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ แต่ทำไม กกต. ถึงไม่ของบอุดหนุนให้สอดคล้องกับรายจ่าย หรือหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อย่างเช่นขอนำเสนอเป็นการใช้ระบบเลือกตั้งแบบ E-Voting หรือว่า Electronic Voting แต่อย่างที่เพื่อนสมาชิกก่อนหน้าได้อภิปรายเมื่อสักครู่ ผมจึงจะขอไม่ลงรายละเอียด ซึ่งจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าวัสดุ ค่ากระดาษ หรือค่าบุคลากร ในการเลือกตั้ง แล้วก็สามารถใช้ได้กับทุกสนามเลือกตั้ง และเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพ ที่ดียิ่งขึ้น
ประเด็นที่ ๒ ประเด็นเรื่องบัตรเสีย ก่อนอื่นต้องเป็นเรื่องความปัจจุบัน ของข้อมูล อย่างที่เพื่อนสมาชิกอภิปรายนะครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนต้องการทราบข้อมูล ที่เป็นปัจจุบันของรายงาน ไม่ใช่ข้อมูลเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ดีการใช้งบประมาณ ของ กกต. เมื่อปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ประมาณปีละ ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท และในปี ๒๕๖๖ ที่มีการเลือกตั้งใหญ่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต. ได้ใช้งบประมาณกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท ท่านประธานครับ ไหน ๆ เราก็ใช้เงินกันหลัก หลายพันล้านในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผมจึงอยากให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ไม่อยากให้มีบัตรเสียครับ ขอยกตัวอย่างการเลือกตั้งวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เลือกผู้แทนครั้งที่ผ่านมาพบว่ามีบัตรเสียจำนวนประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ใบ เขตเลือกตั้ง ของเรามี ๕๐๐ เขต ถ้าคิดเฉลี่ยจะพบว่ามีบัตรเสียเฉลี่ย ๓,๐๐๐ ใบต่อเขต ผมถือว่า เป็นความเสียหายอย่างมาก เพราะว่าในการเลือกตั้ง ๓,๐๐๐ คะแนนถือว่าสามารถ ชี้ผลแพ้ชนะได้เลยในหลาย ๆ เขตเลือกตั้ง หรือแบบบัญชีรายชื่อนะครับ ถ้าดูจาก ผลเลือกตั้งพรรคอันดับ ๔ ไม่ได้เป็นพรรคใครที่ไหน แต่เป็นบัตรเสียที่ได้คะแนนไปถึง ๑,๕๐๐,๐๐๐ คะแนน ซึ่งคิดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ประมาณ ๕ คน ท่านประธานครับ ผมจึงรู้สึกถึงความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษี ของพี่น้องประชาชน ผมเข้าใจว่าการที่จะไม่มีบัตรเสียเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าถ้ามี การบริหารจัดการที่ดีจะสามารถลดจำนวนบัตรเสียลงได้ อย่างเช่น E-Voting เป็นต้น
ประเด็นที่ ๓ เรื่องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกเขต จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทาง กกต. ให้ระยะเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ๑๕ วัน ซึ่งก็คือวันที่ ๒๕ มีนาคม ถึงวันที่ ๙ เมษายน ซึ่งผมมองว่าระยะเวลา ๑๕ วัน ก็เป็น ระยะเวลาที่ค่อนข้างพอดี แต่ว่าการประชาสัมพันธ์เรื่องเลือกตั้งล่วงหน้าว่าจะเปิดให้ ลงทะเบียนวันโน้นวันนี้นะครับ ผมอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้นานยิ่งขึ้น
อีกเรื่องนะครับ ในเรื่องของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันท้าย ๆ ของการลงทะเบียนพบว่าระบบล่ม Website ล่ม ทำให้ประชาชนคาดว่าหลายแสนคนเสียสิทธิ ในการลงเลือกตั้งล่วงหน้า จึงอยากจะเสนอให้ทาง กกต. ปรับปรุงหรือจัดสรรงบประมาณ เพื่อมาเพิ่มการประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาระบบเลือกตั้งล่วงหน้าให้เพียงพอต่อที่ประชาชน จะมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยทั้งหมดที่ผมได้อภิปรายมาเพื่อฝากท่านประธานไปถึง กกต. เพื่อให้ ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของพ่อแม่พี่น้องประชาชนให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมาเขต ๑๓ อำเภอสีคิ้ว อำเภอปากช่อง ๔ ตำบล ท่านประธานครับ วันนี้กระผมมีประเด็นหารือ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่องดังนี้ครับ
เรื่องที่ ๑ เป็นการติดตามที่ สส. ประเสริฐ จันทรรวงทอง เคยได้อภิปรายไว้เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับงบประมาณ จึงขออนุญาตติดตามให้กรมทางหลวงเพิ่มจุดกลับรถบริเวณปากทางเข้า บ้านหนองไม้ตาย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว และจุดกลับรถปากทางเข้าบ้านหนองสลักได ซึ่งทั้งสองจุดมีระยะทางเพื่อไปกลับรถประมาณ ๘-๑๐ กิโลเมตร ท่านประธานครับเนื่องจาก ระยะทางในการกลับรถค่อนข้างไกล พี่น้องประชาชนหลายคนจึงทำการย้อนศรทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง และในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้นะครับจะเป็นการเพิ่มภาระค่าน้ำมันให้กับพี่น้อง ประชาชน
เรื่องที่ ๒ จากปัญหาภัยแล้ง El Nino ทำให้หลาย ๆ พื้นที่ในอำเภอสีคิ้ว ฝนตกน้อยหรือไม่ตกเลย ผมจึงได้รับเรื่องร้องทุกข์จาก ท่าน สจ. ศิริพงศ์ มกรพงศ์ แล้วก็ ท่านนายก กำนัน ผู้นำชุมชนในตำบลบ้านหัน ตำบลกุดน้อย ตำบลมิตรภาพ ว่าถ้าหาก เดือนนี้ฝนยังไม่ตก น้ำที่มีอยู่ในสระหรือฝายเก็บน้ำในตำบล หมู่บ้านนะครับ น่าจะไม่พอใช้ สิ้นเดือนกันยายนนี้ ผู้นำชุมชนจะต้องหาน้ำโดยขอรถน้ำจาก อบต. หรือว่างบประมาณ ส่วนตัว เพื่อจัดหารถน้ำมาแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อประทังชีวิต ผมจึงขอเสนอให้ การประปาส่วนภูมิภาคจัดสรรงบประมาณขยายเขตประปาดังนี้นะครับ
เรื่องที่ ๑ ขอขยายเส้น Main ประปาจากเส้นถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ หรือจากตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน ขยายมาจนถึงบ้าน ๆ กุดน้อย ผ่านไปถึงตำบลบ้านหัน อำเภอสีคิ้ว ซึ่งเป็นตำบลที่ติดต่อกัน
เรื่องที่ ๒ ขอขยาย Main ประปาจากเส้นถนนหมายเลข ๒ ไปยังบ้านหนองจอก และบ้านทุ่งพนมวัง ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว
เรื่องที่ ๓ ต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำผมได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่าน สจ. เลิศชัย ธนประศาสน์ ตำบลคลองไผ่ ท่านประธานครับที่ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนลำตะคอง เป็นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของชาวโคราช ท่านประธานครับ ขอ Slide ด้วยครับ แต่ว่าคนคลองไผ่ขาดแคลนน้ำ ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ ที่อยู่บ้าน มองไปใกล้ ๆ ก็เห็นน้ำในเขื่อนถูกส่งไปตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาทุกวัน แต่ไม่มี โอกาสได้ใช้บ้าง และตำบลคลองไผ่ยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาที่ดินซ้อนทับกันของหลาย หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ ราชทัณฑ์ ธนารักษ์ ส.ป.ก. ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะน้ำบาดาลหรือทำฝายเก็บน้ำ ก็ไม่สามารถทำได้
๑. กระผมจึงขอเรียนเสนอให้ของบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำระบบสูบน้ำขึ้นจากเขื่อนลำตะคองไปยังหมู่บ้านซับศรีจันทร์ ผ่านไปถึงบ้านซับศิลาทอง ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านนี้มีประชากรอยู่รวม ๑,๐๐๐ กว่าคน และเป็นหมู่บ้านที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถปล่อยน้ำ ลงมาให้กับอีกหลาย ๆ หมู่บ้านในตำบลคลองไผ่ได้ ซึ่งจากระยะทางที่จะสูบน้ำจาก เขื่อนลำตะคองขึ้นไปบ้านซับศรีจันทร์ มีระยะทางประมาณ ๒.๕ กิโลเมตรมีความสูงต่างกัน ประมาณ ๗๐ เมตรอ้างอิงจาก Google Earth นะครับ ตาม Slide
๒. ขอให้กรมชลประทานอนุญาตให้สูบน้ำจากเขื่อนลำตะคองขึ้นไปบน ตำบลหนองไผ่
๓. ขอให้กรมป่าไม้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับที่ดิน อนุญาตให้ใช้ พื้นที่เพื่อตั้งระบบสูบน้ำดังกล่าวนี้ครับ ท่านประธานครับทั้งหมดที่ผมได้หารือผ่าน ท่านประธานไปหน่วยงานต่าง ๆ ผมเพียงแค่ต้องการให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้แบบมีศักดิ์มีศรี มีคุณภาพชีวิต เหมือนคนในเมืองทั่วไปครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย รายงานความคืบหน้าฉบับนี้ถือเป็นการรายงานความคืบหน้า รอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาแผนปฏิรูปได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จากการดำเนินการปฏิรูปประเทศในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมานะครับ เหตุใดคณะกรรมการ จึงมีความคิดเห็นว่าการปฏิรูปทั้ง ๑๓ ด้านนี้ได้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญแล้ว โดยกระผมจะขอมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องการศึกษานะครับ
จากการที่ผมได้อ่านรายงานฉบับนี้ หน้า ๑๕๕ บอกว่ามีผลสัมฤทธิ์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ อยากจะ ขอสอบถามผ่านท่านประธานไปยังท่านที่มาชี้แจงนะครับว่ามีหลักฐานใดที่เป็นข้อมูล เชิงประจักษ์ที่จะมาสนับสนุนข้อสรุปในรายงานความคืบหน้าฉบับนี้ได้บ้าง เพราะถ้า เทียบกับสภาพความเป็นจริงพบว่ามีข้อสังเกต ๓ ประเด็นดังนี้ครับ
ประเด็นที่ ๑ ถึงแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่เพื่อโอกาสในการศึกษาหลาย ๆ ครอบครัวยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายศึกษาด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงโรงเรียน ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในรั้วของการศึกษาได้ อย่างเช่นใน Slide จะเห็นได้ว่าในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมามีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คน และเมื่อวัดความยากจนโดยใช้เส้นแบ่งความยากจน พบว่าจะมีนักเรียน อยู่ในครอบครัวฐานะยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน ๑,๐๐๐ กว่าบาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปีนะครับ ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบได้ตามข่าวสาร ทั่วไปดังเช่นภาพใน Slide นะครับ ขอ Slide ถัดไปครับ จนมาถึงทุกวันนี้ก็ยังพบว่ามีข่าว เกี่ยวกับเด็กที่ครอบครัวยากจนและไม่มีเงินที่จะไปโรงเรียน จนอาจที่จะต้องหลุดจากระบบ การศึกษาต่อไป ซึ่งตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยข้อมูล ล่าสุดพบว่าสูงถึงกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนที่ไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจในช่วง COVID-19 และหากยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสมนะครับ เด็กเหล่านี้จะหลุดออกจากระบบ การศึกษาและตกอยู่ในกับดักความยากจน ซึ่งการดำเนินงานตามเป้าหมายจัดตั้งกองทุน มาตรา ๕๔ วรรคหก เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ในการศึกษา อยากจะขออนุญาตสอบถามการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อ ความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ จากการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้สามารถลด ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เด็กยากจนที่ขาดแคลน ทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้จริงหรือไม่
ประเด็นที่ ๒ ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดกิจกรรม Big Rock ไว้ ๕ กิจกรรม ซึ่ง ๑ ในนั้นมีกิจกรรมปฏิรูป ข้อ ๓ เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งจากการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมนี้พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการกำหนดเครื่องมือมาตรฐานตัวชี้วัดเพื่อประเมินสมรรถนะหรือความสามารถ ในการจัดการเรียนการสอน แต่ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อระบบค่าตอบแทนให้กับ คุณครู หรือว่าบุคลากรทางการศึกษานะครับ ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมาผมยังพบเห็นการเปิดรับสมัครครูอัตราจ้าง โดยให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เพียงไม่กี่พันบาท ดูได้ตาม Website หรือว่าบน Slide ครับท่านประธาน หรืออย่างเช่น ในพื้นที่ของผมนะครับ หลายโรงเรียนในเขตอำเภอสีคิ้วแล้วก็อำเภอปากช่อง ยังต้องมาจัด กิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อเอาเงินที่ได้ในครั้งนี้มาจ้างครูหรือพัฒนาอาคารสิ่งอื่น ๆ ภายใน โรงเรียน และเนื่องจากมาตรฐานชี้วัดและผลประเมินต่าง ๆ ที่มากมายเหลือเกินทำให้คุณครู แค่ต้องมาคอยทำรายงานเหล่านี้ก็ไม่มีเวลาที่จะไปทำอย่างอื่นแล้วครับ
ประเด็นที่ ๓ การดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนา ด้านมิติเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งไม่สามารถที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ได้จริง เพราะว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็คือความแตกต่าง ทางด้านสถาบันการศึกษา การที่โรงเรียนขนาดเล็กมักจะอยู่ห่างไกลตามชนบท หรือต่างจังหวัด ซึ่งการจัดสรงบประมาณจะจ่ายเป็นเงินอุดหนุนรายหัวดังที่แสดงบน Slide นั่นหมายความว่าหากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่หรือขนาดกลางย่อมได้รับงบประมาณ ที่มากกว่า แต่หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็จะได้รับงบประมาณที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นไปตาม สัดส่วนของจำนวนนักเรียน วิธีการเช่นนี้ก็จะส่งผลโดยตรงต่อโรงเรียนที่มีขนาดเล็กที่มีอยู่ ๑,๐๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศไทย จากข้อมูลตาม Slide นะครับ ทำให้โรงเรียนเหล่านี้บริหาร การจัดงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างยากลำบาก ท่านประธานครับ ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพการศึกษา ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนการสอน อาคารสถานที่ อาหารกลางวันเด็ก รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การที่ครู ๑ คนต้องรับผิดชอบสอนนักเรียนหลายร้อยคน หรือรับผิดชอบ ๑ คนสอนหลายวิชา หรือการที่เด็กตัวเล็ก ๆ ต้องเดินทางไปโรงเรียนหลายกิโลเมตร บางพื้นที่ต้องเดินผ่านทางลูกรัง หรือว่าข้ามเขา ข้ามดอย กว่าจะได้เจอคุณครูและได้เรียนหนังสือ นี่คือภาพสะท้อนของ ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสในการศึกษาของเด็กที่ยากจนในพื้นที่ห่างไกล ยิ่งจะถูกถ่าง ให้กว้างออกไปหลายสิบเท่าของเด็กในเมือง ในขณะที่เด็กในเมืองกำลังนั่งกวดวิชา และสอบแข่งขันเพื่อแย่งที่เรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง แต่เด็กนักเรียนที่อยู่โรงเรียนห่างไกล กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพราะความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางด้านการศึกษาถือเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กที่มีต้นทุนชีวิตน้อย ไม่มีโอกาส ได้เรียนต่อ ทำให้ขาดความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพที่ดีได้
สุดท้ายนะครับท่านประธาน การมีแผนปฏิรูปเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ ทางรัฐบาลปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ให้สำเร็จ หรือหากไม่สำเร็จติดปัญหาอุปสรรคอะไร อยากให้รายงานความคืบหน้า มีแค่ไหนก็รายงาน ขอให้เขียนรายงานความคืบหน้านี้ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงให้ได้มากที่สุดครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ จากการที่ผมได้อ่านรายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ พบว่ากองทุนพัฒนาน้ำบาดาลหรือ กพน. จัดตั้งขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์เป็นทุนใช้จ่าย ในการศึกษา วิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อพิจารณา ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ถือว่าเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่ดีมาก เพราะน้ำคือชีวิต ประชากรบนโลกทุกคนล้วนต้องการน้ำเพื่อดำรงชีวิตนะครับ เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ในการขจัดความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน และในพื้นที่ห่างไกลรวมถึงในเขตพื้นที่ของผม อำเภอสีคิ้วและอำเภอปากช่องยังขาดแคลนน้ำผิวดินหรืออยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ การพัฒนา แหล่งน้ำขึ้นเพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งในรูปแบบของอุปโภค บริโภคหรือเพื่อการเกษตร ถือว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการจัดหา น้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อทุกหมู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้าน ทรัพยากรน้ำให้แก่ประชาชน และเมื่อพิจารณาในรายงานฉบับนี้มีข้อสังเกตดังนี้
ข้อสังเกตที่ ๑ ในเรื่องของเงินสดและการเทียบเท่าเงินสดพบว่าในปี ๒๕๖๓ มีสินทรัพย์ส่วนนี้ถึง ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาท แต่ในปี ๒๕๖๔ พบว่าสินทรัพย์ในส่วนนี้ มีเงินสดเหลือ ๑,๔๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี ๒๕๖๓ ถึง ๑,๕๐๐ กว่าล้านบาท และเมื่อมาดูหมายเหตุข้อ ๕ หน้าที่ ๑๐ พบว่าเงินฝากคลังซึ่งเป็นเงินที่หน่วยงานได้ฝากไว้ กับกระทรวงการคลังภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายโดยไม่มีดอกเบี้ย สามารถเบิกถอนได้ เมื่อต้องการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ ในระเบียบที่ระบุข้อจำกัดในการใช้จ่าย ผมจึงมีข้อสังเกตว่า เงินฝากคลังในปี ๒๕๖๔ ลดลงจากปี ๒๕๖๓ เป็นอย่างมาก ๑,๕๐๐ กว่าล้านบาท และอยากสอบถามไปทาง กพน. ว่าได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง เพราะเพียงแค่ ปีเดียวได้มีการเบิกเงินในส่วนนี้ใช้จ่ายถึง ๑,๕๐๐ กว่าล้านบาท
ข้อสังเกตที่ ๒ เมื่อมาดูตรงหมายเหตุข้อ ๖ หน้าที่ ๑๑ ลูกหนี้การค้าพบว่า ในปี ๒๕๖๔ มีรายได้ค้างรับ ซึ่งถือเป็นรายได้จากค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ที่หน่วยงานจัดเก็บรายได้ต่าง ๆ ค้างนำส่งกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๖๔ เป็นจำนวนสูงถึงกว่า ๒๗๙ ล้านบาท จึงอยากสอบถามทาง กพน. ว่าจะมี แนวทางในการจัดการหรือดำเนินการกับรายได้ค้างรับส่วนนี้อย่างไร เพื่อให้สามารถติดตาม รายได้ส่วนนี้นำกลับเข้ากองทุนได้โดยเร็ว เพราะเหตุใดจึงปล่อยให้รายได้ค้างนำส่งกองทุน เนิ่นนานเป็นระยะเวลา ๑๐ กว่าปี และในส่วนของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่จำนวนสูงถึงกว่า ๑๖๘ ล้านบาท เป็นค่าเพื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ ค่าใช้น้ำบาดาล และค่าอนุรักษ์ น้ำบาดาล ที่ค้างชำระระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๖๔ เช่นกัน ในส่วนนี้ก็อยาก จะขอสอบถามทาง กพน. ว่ามีมาตรการที่จะติดตามหนี้สงสัยจะสูญในส่วนนี้อย่างไรเพื่อที่จะ ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้สูญ
ข้อสังเกตที่ ๓ จากวัตถุประสงค์ของกองทุนที่เป็นทุนใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย พัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลและสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี ๒๕๖๔ กองทุนได้มีค่าใช้จ่าย อุดหนุนแล้วบริจาคเป็นจำนวนเกือบ ๖๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่ง กพน. ได้นำไปใช้จ่ายในหลาย โครงการเกือบ ๑๐๐ โครงการ จึงอยากสอบถามว่าโครงการต่าง ๆ เหล่านี้เงินกองทุนได้นำไปใช้ ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนหรือไม่ และโครงการต่าง ๆ เหล่านี้มีดัชนีชี้วัดอย่างไร ว่าสามารถนำผลประโยชน์กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนได้จริง และความคืบหน้าของแต่ละ โครงการเป็นไปอย่างไรบ้าง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยของเราได้ประสบปัญหาภัยแล้ง El Nino ทาง กพน. ได้มีแผนงานหรือแนวทางในการรับมือปัญหานี้อย่างไรบ้างและมีแนวทาง อย่างไรที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรหรือผู้ใช้น้ำให้สามารถมีน้ำกินน้ำใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะมีคำกล่าวที่สำคัญว่า ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ในส่วนนี้จึงอยากฝากให้ทาง กพน. เตรียมพร้อมที่จะ รองรับการแก้ปัญหาภัยแล้งกับพี่น้องประชาชน
ข้อสังเกตที่ ๔ ค่าใช้จ่ายอื่นในหมายเหตุข้อ ๒๔ หน้า ๒๙ ในรายงาน พบว่ามีการขาดทุนจากการโอนสินทรัพย์สูงถึงกว่า ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในปี ๒๕๖๓ หลายร้อยล้านบาท ในส่วนนี้จึงอยากสอบถามทาง กพน. ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้มีการขาดทุน จากการโอนสินทรัพย์เยอะถึงเพียงนี้ แล้วสินทรัพย์ที่โอนไปเป็นสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง ท่านประธานครับ จากทั้งหมดนี้มีการเงินหลายรายการที่กระผมมีข้อสงสัย เพราะว่า ทาง กพน. มีค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด ในส่วนนี้จึงอยากฝากให้ทาง กพน. มีความละเอียดรอบคอบหรือมีการตรวจสอบการดำเนินงานอยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิด ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน แล้วขอให้ทางกองทุนพัฒนา น้ำบาดาลจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง El Nino เพื่อพี่น้อง เกษตรกรชาวไทยทุกคน ขอขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย จากการที่กระผมได้อ่านรายงานนะครับ ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม ทาง สสส. ที่ได้จัดทำรายงานให้อ่านง่าย สบายตา และที่สำคัญต้องขอชื่นชมที่สามารถ ทำผลการดำเนินงานในปี ๒๕๖๕ ได้คะแนนถึง ๔.๗๖ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๕ ถือเป็นผลประเมินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเมื่อ ๓ ปีก่อน ในปีที่ผ่านมา สสส. สามารถ ดำเนินงานได้ตามเป้าประสงค์ ๖ ประการ ของหน่วยงานตามความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม และสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนชาวไทย แต่จากสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ตามที่ได้กล่าวมาในรายงาน กระผมจึงมีข้อกังวลบางประการที่อยากจะฝากให้ทางหน่วยงาน ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นในปีถัดไป
ประการที่ ๑ สถานการณ์ โรคไม่ติดต่อ พบว่าคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่ไม่ติดต่อถึง ๔๐๐,๐๐๐ คนต่อปี คิดเป็น ๗๔ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือพฤติกรรม การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งการกินผักและผลไม้ที่ไม่เพียงพอถูกจัดอยู่ในอันดับ ๕ ของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด และจากในรายงานจะเห็นได้ว่าคนไทย บริโภคผักและผลไม้ลดลง จาก Slide นะครับ กราฟทางด้านซ้ายพบว่าปริมาณของชาวไทย ที่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไปที่บริโภคผักและผลไม้เพียงพอ พบว่ามีแค่ ๓๖.๕ เปอร์เซ็นต์ และจากกราฟทางขวาคือปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ของชาวไทยพบว่าอยู่ที่ประมาณ ๓๗๒ กรัม ต่อวันซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำ ก็คือ ๔๐๐ กรัมต่อวัน ในส่วนนี้ทางหน่วยงานได้เตรียมแผนงานไว้อย่างไรเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมาทานอาหาร เพื่อสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ เพราะการแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พลังของการสื่อสารเพื่อสร้างค่านิยม สร้างทัศนคติที่ดี ต่อการบริโภคเพื่อสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งจะต้องอาศัยการทำงานที่ประสาน ความร่วมมือร่วมกันทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางการผลิต ขนส่ง จำหน่าย ไปจนถึงการประกอบอาหารเพื่อการบริโภค เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึง ผักและผลไม้ หรืออาหารที่มีคุณภาพ รวมไปถึงลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่มีรสจัด เช่น หวาน มัน เค็ม
ประการที่ ๒ จากรายงานพบว่ามีกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกาย ของชาวไทยมีอัตราที่ลดลง จาก Slide พบว่าปี ๒๕๖๓ ร้อยละของการออกกำลังกาย มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเพียงแค่ ๕๔.๓ เปอร์เซ็นต์แต่แน่นอนอย่างที่ทุกท่านทราบว่า ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เกิดมาตรการ ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกักบริเวณ หรือว่ามาตรการ Lockdown แต่อย่างไรก็ดี ในปี ๒๕๖๔ และปี ๒๕๖๕ แล้วก็ได้มีผ่อนมาตรการ Lockdown แต่ร้อยละ ของการออกกำลังกายของชาวไทยก็ยังไม่สามารถกลับขึ้นมาสูงเท่ากับในอดีตที่ผ่านมา สาเหตุนี้น่าจะมาจากที่คนไทยส่วนหนึ่งอาจจะจัดสรรเวลาไปกับกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ก่อนที่จะเลือกใช้เพื่อมาดูแลสุขภาพ ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเช่นนี้ที่ค่าครองชีพ สูงขนาดนี้เมื่อเทียบกับรายได้พบว่าไม่เพียงพอทำให้พี่น้องประชาชนหลายคนต้องหางาน ทำเพิ่ม หรือทำงาน OT ล่วงเวลา กว่าจะเลิกงานกลับบ้านก็ค่ำแล้ว ไม่มีกะจิตกะใจที่จะ ออกกำลังกาย นี่ถือเป็นอีก ๑ รูปแบบของความเหลื่อมล้ำในการที่จะมีกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้กลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญและน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากข้อมูลพบว่าเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกายลดลงจากเดิม มากที่สุดในรอบ ๑๑ ปี นั่นอาจเป็นเพราะการพัฒนาของเทคโนโลยี Digital และการสื่อสาร ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันจนทำให้ Smart phone ทำได้เกือบทุกอย่างในชีวิตส่งผลให้ ระยะเวลาที่เราอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์เพิ่มขึ้น พบว่ากลุ่มคน Generation Z ใช้เวลากับ หน้าจอ Smart phone เฉลี่ยมากขึ้นปัจจุบันถึง ๙ ชั่วโมงต่อวัน ทำให้รูปแบบวิถีการเล่น ของเด็กได้เปลี่ยนไปจากอดีตถูก Smart phone เข้ามาแทนที่และมีบทบาท ในชีวิตประจำวันมากขึ้น นั่นก็เป็นเพราะว่าในขณะที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สิ่งต่าง ๆ นอกโลกกลับหยุดนิ่ง หรือมีการพัฒนาที่ถดถอยลง อย่างเช่นใน Slide จะเห็น ได้ว่ามีความแตกต่างเป็นอย่างยิ่งในการใช้เวลาว่างของเด็กเยาวชนในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ ตั้งแต่ตื่นมาก็จะเล่นมือถือจนเข้านอน เทียบกับเยาวชนในอดีตที่เด็กจะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเล่นกีฬา พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง มีกิจกรรม ที่หลากหลายกว่านำไปสู่การตั้งคำถามโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตที่เหมาะสมต่อการพัฒนา ของเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมตามวัยเพราะเหตุใดเด็ก ๆ จึงถึงเลือกใช้ชีวิตในโลก Online มากกว่าสังคมภายนอก นั่นก็เป็นเพราะว่าการใช้ชีวิตเพื่อออกกำลังกายมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า ค่าครองชีพ และการจะออกกำลังกายในพื้นที่สาธารณะมีพื้นที่สาธารณะไม่ครอบคลุมที่เข้าถึง ได้ง่าย เพราะเขาจะไปศึกษาค้นหาความรู้จากที่อื่นทำไมในเมื่อในโลก Internet มีความรู้ ทั้งเปิดกว้างกว่ารวดเร็วกว่า ตอบโจทย์มากกว่า นี่ก็ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ของเด็กและเยาวชนขาดความสมดุล ถ้าหากยังปล่อยให้เด็กและเยาวชนขาดกิจกรรม ทางกายและมีพฤติกรรมการใช้หน้าจอ Smart phone เช่นนี้ย่อมจะส่งผลเสียต่อการพัฒนา สุขภาพทางด้านร่างกายจิตใจ สังคม อารมณ์ และสติปัญญา และในการดำเนินการเพื่อแก้ไข มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้พื้นที่นอกโลก Online เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก และเยาวชน อีกทั้งจะต้องได้รับการประสานความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งสถาบันครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและภาครัฐ
สุดท้าย จากปัญหาดังกล่าวพ่อแม่พี่น้องประชาชนก็ได้ขอฝากความหวังไว้ กับท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ช่วยรณรงค์จัดหากิจกรรมเพื่อเพิ่มค่านิยมการบริโภค อาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกหลานของเรา ทุกคน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ ท่านประธานครับ วันนี้กระผมมีประเด็นหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งหมด ๓ เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ของบประมาณ กรมทางหลวงชนบทซ่อมแซมถนนบ้านซับตะเคียน ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัด นครราชสีมา เนื่องจากมีความชำรุดเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่ออย่างมากตั้งแต่ปากทางเข้า ที่เดียวจากติดถนนมิตรภาพยาวไปหลายกิโลเมตรทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเวลาฝนตกทำให้ไม่เห็นถนนที่เป็นหลุมซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
เรื่องที่ ๒ ของบประมาณก่อสร้างสะพานกลับรถหรือสะพานข้ามแยก Overpass บนถนนมิตรภาพทางหลวงหมายเลข ๒ ช่วงตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว กิโลเมตรที่ ๘๘-๘๙ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นทางสี่แยกเข้าหมู่บ้านทำให้มีปริมาณ รถเข้าออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พี่น้องประชาชนเกิดอุบัติเหตุจนต้องเสียชีวิต และทรัพย์สิน เหมือนข่าวที่เห็นบ่อยครั้ง บน Slide นะครับ
เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่าน สจ. เลิศชัย ธนประศาสน์ แล้วก็ท่านมลิวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว ว่าพี่น้องบ้านดอนวัว ตำบลลาดบัวขาว ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบการสร้างรถไฟความเร็วสูง ถูกเวนคืน ที่ดิน แต่ชาวบ้านหลายคนไม่มีที่ดินหรือเอกสารสิทธิ การรถไฟแห่งประเทศไทยก็แจ้งว่า ไม่ได้ค่าเวนคืน แต่จะได้ค่าเวนคืนสิ่งก่อสร้างและค่ารื้อถอน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใคร มาแจ้งให้กับพี่น้องประชาชนว่าจะได้ค่าเงินทดแทนเท่าไร แต่ปัจจุบันเครื่องจักรปั้นจั่น มาจ่อหน้าหมู่บ้านแล้วก็ยังไม่มีใครมาแจ้งว่าจะได้เงินเท่าไร ทำให้ชาวบ้านเครียดและร้อนใจ เป็นอย่างมาก กระผมจึงขอผ่านท่านประธานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดิน หรือบริษัทเร่งรัด แจ้งค่าเงินทดแทนที่ชาวบ้านควรได้รับว่าจะได้รับเท่าไร แล้วก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินรถไฟ หรือ ส.ป.ก. ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบไปเช่าแบบถูกต้องเพื่ออยู่อาศัย และหากขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลานาน ก็ขอให้จัดสรรที่ดินชั่วคราวให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนย้ายไปเพื่อรอทำเรื่องจนแล้วเสร็จด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ ขอให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหา กำลังจะจมบาดาล อย่างที่ทราบกันว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงปัจจุบันของประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายหลาย ๆ ประการ จากการที่เป็นเมืองที่รวบรวมศูนย์ความเจริญ ไว้ในพื้นที่แห่งเดียว ส่งผลให้กรุงเทพฯ กำลังจะเข้าสู่สภาวะอิ่มตัวที่ไม่สามารถรองรับ การเจริญเติบโตของประเทศและประชากรได้ นำไปสู่ปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งมลพิษ การจราจร ติดขัด และความแออัดในเมือง และที่ผ่านมามีการถมคูคลองที่เคยใช้เป็นพื้นที่ในการรับน้ำ เพื่อขยายเมือง มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จนนำไปสู่สภาวะแผ่นดินทรุดตัว ซึ่งในทุกปี แผ่นดินในกรุงเทพมหานครจะทรุดตัวปีละประมาณ ๑.๕ มิลลิเมตร แต่ในทางกลับกัน จากสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงเฉลี่ยขึ้น ทุกปี โดยได้มีหลายหน่วยงานออกมาเตือนภัยว่ากรุงเทพฯ อาจจะต้องประสบกับปัญหา น้ำท่วมเมืองจนถึงขั้นจมบาดาล
มีการคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะจมน้ำสูงถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากยังไม่มีการบริหารจัดการใด ๆ จากความท้าทาย หลายประการที่กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งเมืองหลวงแห่งที่ ๒ กระผมจะขอเสนอจังหวัดนครราชสีมา หรือว่าเมืองโคราชเป็นเมืองหลวงแห่งที่ ๒ เพราะว่าโคราชมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองหลวง เศรษฐกิจใหม่ได้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรมาก เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ และมีลักษณะภูมิภาคทางกายภาพเป็นที่ราบสูง มีระดับสูงจาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ทำให้เวลาเกิดน้ำท่วมจะสามารถระบาย น้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการวางผังเมือง ด้วยความที่โคราชมีพื้นที่กว้างขวาง และในหลายพื้นที่ยังสามารถพัฒนาและจัดการพื้นที่ได้ง่าย ทำให้สามารถวางผังเมืองใหม่ได้ ด้วยการแบ่ง Zone ไม่ว่าจะเป็น Zone อุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว หรือที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ ในปัจจุบันโคราชถือเป็นอีก ๑ จังหวัด ที่เป็นแหล่งรวบรวมแรงงานมีฝีมือเหมาะกับการลงทุน ส่งผลให้มีแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ของประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนครโคราช นิคมอุตสาหกรรมสุรนารี เป็นต้น นอกจากนี้โคราชยังมีสถานที่สำคัญอย่างสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อีกทั้งยังมีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ห้างสรรพสินค้า ขนาดใหญ่ และมีแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนคงทราบกันดี โคราชถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้ กรุงเทพฯ ที่ Hot Hit เพราะเต็มไปด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปาก ช่อง เขาใหญ่ หรือล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ UNESCO ได้รับรองให้โคราช Geopark เป็นดินแดน ๓ มงกุฎแห่งที่ ๔ ของโลก ซึ่งในโลกนี้มีแค่ ๓ เมืองที่จะมีมรดกโลก อยู่ในเมืองเดียวกันถึง ๓ แห่ง ด้วยความที่โคราชอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ ๒๕๕ กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่เป็นประตูสู่แดนอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้ในปัจจุบัน Megaproject ต่าง ๆ มุ่งสู่โคราช ไม่ว่าจะเป็น Motorway โคราช-บางปะอิน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย ที่มีความเร็วสูงถึง ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาโคราชใช้เพียงแค่ชั่วโมงครึ่ง รถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่น โครงการระบบขนส่งมวลชน นครราชสีมา โครงการพัฒนาท่าเรือบก Dryport นครราชสีมา คือโครงการที่จะพัฒนาให้ โคราชเป็นศูนย์กลาง Logistics ของภูมิภาค เป็นการขนส่งทางรางเชื่อมโยงระหว่าง ท่าเรือบกกับท่าเรือแหลมฉบัง ถนนวงแหวนรอบนครราชสีมา จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า จังหวัดนครราชสีมามีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะ เป็นเมืองหลวงอีกแห่งของประเทศไทยได้ แต่ถ้าหากการสร้างเมืองหลวงแห่งที่ ๒ จำเป็นที่ จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถจะทำได้ ผมขอเสนอว่าภาครัฐ ควรมีการบริหารจัดการเมืองในกรุงเทพฯ ใหม่ โดยอย่างแรกจะต้องนำคลองที่ถูกถมไป กลับคืนมา เพราะคลองถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน และจะต้องจัดหาพื้นที่ไว้รองรับน้ำ รวมทั้งมีการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน โดยอาจจะต้องศึกษาจากอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะว่าที่อัมสเตอร์ดัม สามารถบริหารให้แผ่นดินที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลสามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ ควรมีระบบการจัดการขยะ การจัดการทางไหลของน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมหลังฝนตก อีกทั้งจะต้องมีการส่งเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูงที่ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวทาง แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สำคัญจะต้องกระจายความเจริญ การสร้างเมืองเศรษฐกิจตามหัวเมือง ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ หรือตามจังหวัดอื่นที่เอื้อต่อการทำอุตสาหกรรม เพื่อเป็น การกระจายงาน กระจายรายได้ ลดความแออัดในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งต้องพัฒนาระบบ ขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้กระผมจึงเห็นสมควรให้มี การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปครับ ขอบคุณครับ
กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ข้อเสนอในระยะเวลาพิจารณา ๖๐ วัน ครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ ในวันนี้กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย รายงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นรายงานที่มีการนำเสนอข้อมูล เฉพาะปี ซึ่งก็คือปีงบประมาณที่ผ่านมา แต่หากเราดูรายงานเพียงแค่ปีเดียว เราจะ ไม่สามารถทราบได้เลยนะครับว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับปัญหา หนี้สาธารณะไปในแนวทางใด เพราะฉะนั้นลองดูข้อมูลจากในสไลด์นะครับ
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมานะครับ ฐานะหนี้ของประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าจากในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยทยอยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุก ๆ ปี โดยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก็คือ ๔๑ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๖๒ แล้วก็เป็น ๔๙ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ ๕๘ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๖๓ แล้วก็ในปี ๒๕๖๔ ตามลำดับ การก่อหนี้ สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ก็เนื่องมาจากการที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะ วิกฤติโควิด-๑๙ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทำให้ใน ๒ ปีงบประมาณ ดังกล่าวมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ ๒๕๖๒ สูงถึง ๒.๔๔ ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น ๑๗.๗ เปอร์เซ็นต์ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ จนทำให้ สิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๔ อยู่ที่ระดับ ๕๘ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตัวเลขดังกล่าวนี้มีผลให้ไทย มีช่องว่างในการก่อหนี้หรือพื้นที่การคลังเหลือน้อยลงมาก เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะในเวลานั้นคือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ส่งผลให้มีการปรับ กรอบเพดานหนี้จาก ๖๐ เปอร์เซ็นต์สู่ระดับ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งการขยาย หนี้เพดานให้สูงขึ้นเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับนโยบายการคลัง และข้อมูลในรายงาน ล่าสุดพบว่าหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๖ จำนวน ๑๑.๑๓ ล้านล้านบาท โดยเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศแล้วตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยนั้นยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แม้จะทะลุ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไปแล้วก็ตาม โดยหากวัดตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ เงินไทยนะครับ รวมถึงหนี้กว่าร้อยละ ๙๘ เปอร์เซ็นต์เป็นเงินสกุลบาท จึงช่วยลดความเสี่ยง ด้านอัตราการแลกเปลี่ยน จึงทำให้การแบกหนี้จำนวนดังกล่าวยังถือว่าไม่สูงเกินไป นอกจากนี้อาจจะสะท้อนจากความน่าเชื่อถือของประเทศ จากการวัดอันดับของ Fit Rating ที่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ BBB+ นะครับ และคงมุมมอง ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เหตุการณ์ที่หนี้สาธารณะดีดขึ้น อย่างรวดเร็วไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวิกฤติโควิด-๑๙ นะครับ แต่ก่อนหน้านี้ในช่วงที่เกิด วิกฤติ Subprime หรือวิกฤติ Hamburger นั้น หนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ เพิ่มสูงจากปีก่อนถึง ๒๑.๒๐ เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า ๕.๙ แสนล้านบาท แต่เมื่อวิกฤติ ดังกล่าวผ่านไป ในปีต่อมาหนี้สาธารณะลดไป ๕.๙๗ เปอร์เซ็นต์ และขนาดเศรษฐกิจ ขยายตัวกว่า ๑.๑๗ ล้านบาท ท่านประธานครับ นี่เราพูดถึงแค่ปริมาณหนี้ในระบบนะครับ หากเรานำหนี้นอกระบบมาร่วมพิจารณา ซึ่งได้มีนักวิชาการอิสระได้ประเมินปริมาณหนี้ นอกระบบ อยู่ที่ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP จากข้อมูลปี ๒๕๖๕ หนี้นอกระบบ จะมีมูลค่าประมาณ ๕.๒๒ ล้านล้านบาท สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ไม่ดี ลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ใน ระบบประกันสังคมส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบ คนต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ แม้ต้องจ่าย ดอกเบี้ยที่สูงกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนก็ตาม ท่านประธานครับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งหนี้ ในระบบหรือนอกระบบ ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญมาก และยก เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีมาตรการแก้ไขด้วยนโยบายต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นการท่องเที่ยว การเปิดเขตธุรกิจใหม่ การดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุน ในประเทศไทย การเพิ่มรายได้ของพี่น้องเกษตรกร การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงนโยบายต่าง ๆ อีกมากมายที่รัฐบาลจะทำเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจในประเทศ ในส่วนของหนี้นอกระบบนะครับ รัฐบาลได้เปิดให้พี่น้องประชาชน ได้มาลงทะเบียนได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์หรือที่ว่าการอำเภอ หรือใน Application ThaiID เพื่อที่จะได้เรียกเจ้าหนี้และลูกหนี้มาไกล่เกลี่ยเพื่อหาความเป็นธรรม และเมื่อรัฐบาลได้สร้างรายได้ให้กับประเทศได้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้รัฐบาลสามารถบริหาร ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้นอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนที่เหมาะสมและ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดังนั้นกระผมจึงขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะสามารถ แก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะได้อย่างแน่นอน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. .... นั้น กระผมเห็นว่าควรพิจารณา ให้ถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่งว่าควรที่จะยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับนี้ทั้งฉบับ หรือควรจะมีการแก้ไข เพิ่มเติมเสียมากกว่า เพราะในเรื่องนี้อย่างที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายว่ามีทั้งผู้ที่ เดือดร้อนจากการที่เจ้าหนี้เงินกู้มาบังคับคดีอาญาขู่เข็ญลูกหนี้ แล้วก็มีผู้ประกอบการที่มี ลูกค้าเอาเช็คมาวางค้ำประกันเพื่อซื้อสินค้า โดยผมเสนอให้มีการคงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ ความผิดทางอาญา เฉพาะผู้ที่ออกเช็คโดยมีเจตนาทุจริต เพราะการที่จะต้องทำความผิดเกี่ยวกับการออกเช็คโดยทุจริตมาปรับกับบทบัญญัติความผิด ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ถือเป็นเรื่องยากในการที่จะพิสูจน์ความผิด และอาจส่งผลให้ผู้ที่มีเจตนาทุจริตในการออกเช็คหลุดพ้นจากความผิดไปได้ และหากจะให้ ไปดำเนินการทางแพ่งกับผู้ที่ออกเช็คโดยทุจริตเพียงเท่านั้นก็อาจจะส่งผลให้เจ้าหนี้ ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ เนื่องจากว่าลูกหนี้อาจมีการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปหมดแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่เช็คจะออก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ทรงเช็คได้รับความเสียหายจากการที่ ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ดังนั้นผมจึงเห็นควรให้มีการคงโทษทางอาญาไว้เฉพาะการออก เช็คโดยทุจริตเพื่อให้เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้กับลูกหนี้ที่ออกเช็คโดยทุจริตด้วยการ ดำเนินคดีทางอาญาได้ โดยให้คงบทบัญญัติไว้ในมาตรา ๔ (๑) และ (๕) ไว้ และให้มีการ ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา ๔ (๒) (๓) และ (๔) เนื่องจากในอนุมาตราดังกล่าวนะครับ ในขณะที่ออกเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายอาจมิได้มีเจตนาทุจริต แต่อาจมีความจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย เกิดขึ้นในภายหลังจนกระทั่งส่งผลให้มีเงินในบัญชีเหลือไม่เพียงพอเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ หากบุคคลกลุ่มนี้ต้องได้รับโทษทางอาญาอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และจากที่มี ข้อกังวลจากหลาย ๆ ฝ่ายว่าถ้าหากยังกำหนดให้มีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คมีบทลงโทษ ทางอาญาไว้อาจจะทำให้คดีอาญามีมากจนล้นศาล หรือภาครัฐอาจมีต้นทุนที่ต้องใช้ในการ พิจารณาคดีเกี่ยวกับเช็คเป็นจำนวนมากกว่ามูลค่าที่เช็คเด้งนั้น กระผมเห็นควรว่าควรที่จะมี กรรมการกำหนดมาตรการทางแพ่งเกี่ยวกับความผิดในการใช้เช็คเข้ามาช่วยเสริม เพื่อให้การ ฟ้องร้องคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คนั้นลดน้อยลง เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมาย เกี่ยวกับความผิดอาญาอันเกิดจากการใช้เช็คของคนไทยนั้น จะใช้เฉพาะมาตรการลงโทษ ทางอาญาเท่านั้น โดยมิได้มีการกำหนดมาตรการทางแพ่งเข้ามาเกี่ยวข้องเท่าไรนัก ซึ่งมาตรการที่น่านำมาใช้เพื่อให้คดีอาญาเกี่ยวกับเช็คลดน้อยลงไปนั้น คือการใช้มาตรการ ที่ให้ทางธนาคารเข้ามาช่วย เพราะธนาคารถือว่ามีบทบาทสำคัญในการควบคุมความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค ด้วยการอาจจะบันทึกข้อมูลหรือประวัติของลูกค้าที่เคยถูกปฏิเสธ การจ่ายเงินหรือว่าเช็คเด้งไม่ให้มาขอซื้อเช็คได้อีก และควรต้องมีการส่งข้อมูลดังกล่าวไปกับ ทุกธนาคารอื่น ๆ ในประเทศเพื่อได้บันทึกข้อมูลประวัติไว้ด้วย โดยผลกระทบที่จะได้รับจาก การสั่งจ่ายเช็คเด้ง ก็คือบุคคลดังกล่าวจะถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ ปี หรือแล้วแต่จะกำหนดตามความเหมาะสม ต่อมาหากบุคคลที่ออกเช็คเด้งได้ไป ดำเนินการชำระเงินแก่ผู้ทรงเช็คแล้วก็จะทำให้สิทธิการทำธุรกรรมทางการเงินกลับมา โดยอาจจะมีระยะเวลา ๖ เดือนหรือ ๑ ปีหลังจากการชำระเงินเพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งการ กำหนดมาตรการเช่นนี้จะทำให้เช็คมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น แล้วผู้ที่สั่งจ่ายเช็คก็จะ ไม่กล้าสั่งจ่ายเช็คเด้ง นอกจากนี้ควรมีการจัดทำข้อมูลประวัติการใช้เช็คหรือเช็คที่ถูกปฏิเสธ เพื่อบันทึกข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของบุคคลเพื่อเป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจสำหรับ ผู้รับเช็ค ว่าควรที่จะรับเช็คจากบุคคลสั่งจ่ายเช็คคนนั้นหรือไม่ นอกจากนี้หากมีมติเห็นควร ให้มีการยกเลิกมาตรการทางอาญา ก็ควรที่จะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเยียวยา ผู้เสียหายในคดีเช็คที่จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมมีประเด็นหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งหมด ๕ เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จาก ท่านนายกชื้น มีเที่ยง ตำบลวังไทรว่าของบประมาณก่อสร้างสะพาน ค.ส.ล. บ้านเขาน้อย หมู่ที่ ๑๓ ตำบลวังไทร เชื่อมกับบ้านซับยาง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลหนองสาหร่าย เพราะสะพาน แห่งนี้ได้สร้างมานานแล้วกว่า ๔๐ ปี ปัจจุบันมีสภาพชำรุด แล้วราวกันตกได้พังทลายลงมา ดังรูปในสไลด์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากกับผู้ใช้งานนะครับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้นำชุมชนของบประมาณก่อสร้างถนน ค.ส.ล. หรือถนนลาดยาง เส้นคลองม่วง-หนองหมาก ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง เพราะปัจจุบันมีสภาพชำรุดและเสียหายอย่างมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะเวลาฝนตกพี่น้อง ประชาชนผู้สัญจรไม่สามารถที่จะหลบหลุมอุกกาบาตที่น้ำขังอยู่ได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ หลายต่อหลายครั้ง ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก
เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้นำชุมชนของบประมาณก่อสร้างสะพาน ข้ามฝายบ้านศาลเจ้า-คุ้มหนองขี้เหล็ก หมู่ที่ ๑๒ และบ้านลำสะพานหิน หมู่ที่ ๑๓ ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง เพราะว่าทั้ง ๒ หมู่บ้านดังกล่าวนี้ไม่มีสะพานที่จะข้ามเข้าไปหมู่บ้านของ ตนเองประชาชนต้องสัญจรบนฝายน้ำล้น ซึ่งตัวฝายไม่ได้มีราวกันตก และในช่วงเวลาฝนตก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดได้มีข่าวว่าบุรุษไปรษณีย์ไม่ชินเส้นทางโดนน้ำซัด ตกฝายเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ดังภาพบนสไลด์ครับ
เรื่องที่ ๔ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้นำชุมชนตำบลวังกะทะ ว่าของบประมาณ ก่อสร้างถนน ค.ส.ล. หรือถนนลาดยาง เส้นบ้านหนองขี้ตุ่น หมู่ที่ ๒ ตำบลวังกะทะ เชื่อมกับ บ้านปางนกกระทา ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คือของบประมาณ ก่อสร้างถนน ค.ส.ล. หรือถนนลาดยางเส้นบ้านวังกะทะ หมู่ที่ ๔ ตำบลวังกะทะ อำเภอปากช่อง เพราะว่าถนนทั้ง ๒ เส้นนี้มีการสัญจรของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก และสภาพปัจจุบัน ชำรุดเสียหายดังภาพบนสไลด์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง ยิ่งในช่วงเวลาฝนตก เป็นอันตรายอย่างมาก
เรื่องที่ ๕ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้นำชุมชนตำบลโป่งตาลอง ของบประมาณ ก่อสร้างถนน ค.ส.ล. หรือถนนลาดยางเส้นหนองคุ้ม-วังกะทะ ตำบลโป่งตาลอง อำเภอ ปากช่อง ซึ่งปัจจุบันยังเป็นถนนหินคลุกอยู่เลย ทำให้อุปสรรคในการสัญจรฝุ่นตลบอบอวล โดยเฉพาะเวลาหน้าฝนเดินทางค่อนข้างยากลำบากและค่อนข้างมืด ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นเส้นที่ พี่น้องประชาชนใช้การสัญจรเป็นอย่างมาก และใช้เป็นเส้นทางในการขนพืชผลทาง การเกษตร ท่านประธานครับ ผมในฐานะผู้แทนสีคิ้ว ปากช่อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับ ความอนุเคราะห์จากกระทรวงมหาดไทย จัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ในวันนี้กระผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อให้มีการศึกษาและหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาการบริหารการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านประธานครับ ปัญหาขยะมูลฝอยถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นผลมาจาก ๔ ปัจจัย ดังนี้
ปัจจัยที่ ๑ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พบว่าในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ มีปริมาณทั้งหมด ๒๕.๗ ล้านตัน หรือประมาณ ๗๐,๐๐๐ ตันต่อวัน แล้วเมื่อเปรียบเทียบ กับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ในปี ๒๕๖๕ ของกรมการปกครอง พบว่ามีปริมาณ ขยะมูลฝอยเฉลี่ยเท่ากับ ๑.๐๗ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ปัจจัยที่ ๒ การเติบโตของเมือง มักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มีการผลิตทรัพยากร และขยะที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยที่ ๓ รูปแบบวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งการผลิตและบริโภค ส่งผลให้มีการ Shopping Online ที่มากขึ้น ก่อให้เกิดวัสดุบรรจุภัณฑ์ แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นจำนวนมาก
ปัจจัยที่ ๔ ประชาชนยังขาดการตระหนักและขาดความรับผิดชอบในการลด และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามในสไลด์จะเห็นได้ว่ากราฟเส้น
สีส้มคือปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศ ซึ่งในปี ๒๕๖๕ มีปริมาณเท่ากับ ๒๕.๗ ล้านตัน กราฟเส้นสีฟ้าคือปริมาณขยะมูลฝอยที่มีการกำจัดขยะ อย่างไม่ถูกต้องในปี ๒๕๖๕ จะเห็นได้ว่ามีเท่ากับ ๗.๑ ล้านตัน จากข้อมูลดังกล่าวพบว่ามี ปริมาณของขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ ๒๘ ของปริมาณขยะ มูลฝอยทั้งหมด ซึ่งขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดมลพิษ การทำลายระบบชีวภาพ อีกทั้งยัง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยของพี่น้องประชาชน หากเรามาพูดในมุมของการจัดการ ขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน จะพบว่าปัญหาของการจัดการขยะมูลฝอย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะประกอบไปด้วย ๖ อย่าง แต่ในส่วนนี้กระผมจะขอพูดถึง แค่หัวข้อของปัญหา จะไม่ขอลงรายละเอียด เนื่องจากเพื่อนสมาชิกท่าน สส. รวี เล็กอุทัย ก็ได้อภิปรายไว้ค่อนข้างละเอียดครบถ้วน
ปัญหาที่ ๑ การเพิ่มขึ้นของขยะที่มากขึ้นทุกวัน
ปัญหาที่ ๒ คือวิธีการกำจัดขยะในปัจจุบันไม่ได้ทำให้ขยะหมดไป ส่งผลให้ ขยะสะสมเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาที่ ๓ สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยของ อปท. ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาด ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ปัญหาที่ ๔ การขาดแคลนทักษะและบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการจัดการระบบ กำจัดขยะที่ถูกต้อง
ปัญหาที่ ๕ ข้อจำกัดด้านการจัดหาพื้นที่กำจัดขยะ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ การยอมรับและการต่อต้านของพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง
ปัญหาที่ ๖ งบประมาณที่ไม่เพียงพอในการจัดการขยะมูลฝอย
ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอเสนอแนวทางการจัดการขยะ ซึ่งในปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธี ดังเช่นที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านได้อภิปราย แต่ผมจะขออนุญาตยกตัวอย่างองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารการจัดการขยะที่ดีเยี่ยม โดยปัจจุบันมีหน่วยงานมาศึกษาดูงาน กว่า ๗๙ หน่วยงาน ซึ่งนั่นก็คือเทศบาลเมืองสีคิ้ว โดยในอดีตผมเคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เมืองสีคิ้ว เคยทำงานร่วมกับทางเทศบาล โดยที่ผ่านมาทางเทศบาลสีคิ้วได้มีการนำนวัตกรรม มาใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งระบบกำจัด ขยะที่ทางเทศบาลสีคิ้วใช้อยู่ปัจจุบัน คือเทคโนโลยีการฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศ หรือ Semi-Aerobic Landfill โดยที่เทศบาลสีคิ้วถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการนำ ระบบนี้มาใช้อันเกิดจากความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบเทกองของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบ ที่ถูกต้อง ถูกหลักสุขาภิบาล เหมาะกับสภาพพื้นที่ สามารถย่อยสลายขยะมูลฝอยได้เร็วขึ้น ลดกลิ่นเหม็นรบกวนและได้รับการยอมรับจากองค์กรอนามัยโลกว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถ ลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าระบบกลบทั่วไปถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ระบบกลบฝังขยะแบบ กึ่งใช้อากาศถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดขยะ โดยอาศัยหลักการถ่ายเท อากาศที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายในบ่อกลบฝังขยะและภายนอก บ่อกลบขยะ โดยพบว่าภายในบ่อกลบฝังขยะจะเกิดปฏิกิริยาการย่อยสลายจุลินทรีย์ที่มี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณอยู่ที่ ๕๐-๗๐ องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิภายนอกบ่อ ส่งผลให้ ขยะ อากาศและก๊าซที่ร้อนกว่าที่อยู่ภายในบ่อฝังกลบขยะจะลอยตัวขึ้น และทำให้อากาศ ภายนอกที่มีออกซิเจนและอุณหภูมิที่ต่ำกว่าไหลเข้ามาในบ่อกลบฝังขยะ โดยวิธีนี้จะมี การติดตั้งท่อรวบรวมและระบายน้ำชะขยะที่เจาะรูพรุน แล้วมีขนาดใหญ่กว่าท่อรวบรวมปกติ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการไหลกลับของน้ำ โดยจะทำให้อากาศและออกซิเจนจากภายนอก สามารถไหลเข้ามาแทนที่ก๊าซที่มีอุณหภูมิสูงกว่าที่อยู่ภายในบ่อซึ่งจะระบายออกได้
นอกจากนี้เทคโนโลยีฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศยังสามารถยืดอายุ การใช้บ่อกลบฝังและใช้งบประมาณในการดำเนินการที่ไม่สูงมาก อีกทั้งการดูแลระบบยังทำ ได้ง่ายและเหมาะสมกับท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งผมก็ได้คุยกับท่านนายกเทศมนตรีเทศบาล เมืองสีคิ้ว ท่านนายกเทศมนตรีปรีชา จันทรรวงทอง ยินดีนะครับ เพื่อนสมาชิกทุกคนหากใครจะ มาศึกษาดูงานระบบการจัดการขยะแบบ Semi-Aerobic Landfill และการบริหารงาน หรือการบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดการบริหารเรื่องขยะของเทศบาลสีคิ้ว ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้กระผมขอฝากไว้ว่าขยะที่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมเปรียบเสมือน กุญแจที่จะเปิดสู่ประตูที่สะอาดและยั่งยืน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ กระผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ท่านประธานครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ท่านประธานครับ บ้านหรือที่อยู่อาศัยถือเป็นอีก ๑ ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน อีกทั้งยังถือได้ว่ามีความสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เนื่องจากว่าที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเพียง สถานที่ที่ใช้ในการพักผ่อนเพียงเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมของครอบครัวที่ช่วย ในการสร้างความอบอุ่น ความมั่นคง และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้การลงทุน ในที่อยู่อาศัยยังเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการออมทรัพย์ เพราะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน ที่มีความมั่นคงอย่างหนึ่งเหมือนการลงทุนในด้านอื่น ๆ เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อ ที่อยู่อาศัยประชาชนย่อมมีความคาดหวังที่จะได้อยู่ในที่อยู่อาศัยที่มีความสะดวกสบาย เพียบพร้อมในทุก ๆ ด้านเพื่อเป็นหลักประกันของความมั่นคงในการดำรงชีวิต จากการพัฒนา ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับ สถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจจัดสรร ที่ดินที่มีการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการ จำนวนมากมีการลงทุนพัฒนารูปแบบของที่อยู่อาศัยในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Townhouse Townhome บ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยว หรือที่รู้จักกันในธุรกิจบ้านจัดสรร โดยการนำที่ดินแปลงใหญ่มาแบ่งขายและได้มีการปรับปรุงพัฒนาเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยมีการจัดระบบสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบถนน ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สโมสรเป็นต้น เพื่อจูงใจให้มีผู้คนมาซื้ออันเป็นลักษณะของการแข่งขันทางธุรกิจ แต่จาก ความเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจบ้านจัดสรร ก็ได้มาพร้อมกับปัญหา ความขัดแย้งระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เนื่องจากมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรร ที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันพบว่ายังมีช่องโหว่ของกฎหมายส่งผลให้มีปัญหาของเรื่อง การร้องเรียนของหมู่บ้านจัดสรรระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังขาดมาตรการ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ การที่ไม่ดูแลรักษาระบบสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ซื้อต้องประสบ ปัญหาจากการที่ผู้จัดสรรที่ดินละทิ้งโครงการ ส่งผลให้ผู้ซื้อไม่ได้รับระบบสาธารณูปโภค ตามที่กฎหมายกำหนด หรือการที่ผู้จัดสรรที่ดินทำสาธารณูปโภคไม่ถูกต้องตามแบบ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน หรือการที่ผู้จัดสรรที่ดินทอดทิ้งหรือละเลยการดูแล ระบบสาธารณูปโภค ส่งผลให้ผู้ซื้อต้องประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือถนนทรุด ตลอดจนปัญหาในการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อมาดูแลโครงการจัดสรร เนื่องจากยังไม่มีบทบัญญัติ ในการกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐจะได้มี มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ก่อนได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน เพื่อรองรับและคุ้มครองผู้ซื้อบ้านจัดสรรในการใช้ประโยชน์ จากสาธารณูปโภคและบริการของบ้านจัดสรรก็ตาม แต่มาตรการต่าง ๆ เหล่านั้นยังไม่เพียงพอ ต่อการที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อบ้านจัดสรร อีกทั้งมาตรการที่ใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถ แก้ไขปัญหาที่พี่น้องประชาชนได้รับได้ โดยเฉพาะการจัดการและบำรุงรักษาระบบ สาธารณูปโภค การขาดมาตรการเกี่ยวกับการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตลอดจนการ ขาดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมาตรการในการคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร หรือผู้ที่ได้รับความ เดือดร้อนจากการจัดสรรที่ดิน ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ที่เหมาะสมและเพียงพอในการคุ้มครองหรือเยียวยาผู้ซื้อโครงการในบ้านจัดสรร ให้มีความ เหมาะสมและมีความชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ให้กับผู้ที่ซื้อ ท่านประธาน ครับจากที่ผมได้อภิปรายมาทั้งหมดนี้เพื่อให้มีข้อกฎหมายที่มาคุ้มครองพี่น้องประชาชนผู้ที่ ซื้อโครงการในโครงการจัดสรรต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม ผมจึงอยากจะขอเสนอให้ ครม. รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปพิจารณาเพื่อพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้ผมขอหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ผมได้รับเรื่องร้องทุกข์ จากท่าน อบต. สมศักดิ์ นุ้ยแก้ว ว่ามีปัญหาที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ในอดีต ได้มีการสร้างเขื่อนลำตะคอง ซึ่งได้กระทบกับพี่น้องที่อยู่ละแวกนั้นเป็นอย่างมาก จึงได้มีการ จัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำตะคองขึ้นมาเพื่อจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ แต่พอมาในปี ๒๕๔๗ ทางนิคมได้นำแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ มาใช้เพื่อ ตรวจสอบแนวเขต แต่พบว่าแนวเขตของจังหวัดไม่ตรงกับแนวเขตของคณะปฏิวัติ ทำให้ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ซ้อนทับกันทั้งที่นิคม ที่ทหาร ที่ธนารักษ์ ส่งผลให้สมาชิกนิคม ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิที่ดินได้ เดือดร้อนเป็นอย่างมาก ผมจึงขอให้กรมธนารักษ์ กระทรวง พม. กรมที่ดิน เร่งดำเนินการพิสูจน์เพื่อจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกนิคมด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพี่น้องบ้านน้ำเมา อำเภอสีคิ้ว เนื่องจากทาง ที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้มีหนังสือสั่งการให้นำที่ดินดังกล่าวมาออก น.ส.ล. ส่งผลให้พี่น้อง ประชาชนร้อนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนได้อยู่อาศัยมาก่อนที่รัฐจะได้มีการ ขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ มีทะเบียนบ้าน มีการเสียภาษีบำรุงท้องถิ่น ซึ่งพี่น้อง ประชาชนก็ได้คัดค้านและต่อสู้เพื่อพิสูจน์ออกโฉนดมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการ แต่อย่างใด ผมจึงขอให้กรมที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เร่งพิสูจน์สิทธิเพื่อออก โฉนดให้กับพี่น้องประชาชนครับ
เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพี่น้องตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ว่าได้รับ ผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยการรถไฟได้มีหนังสือที่จะชี้แจงมูลค่า เวนคืนที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน แต่พี่น้องประชาชนเกิดความสงสัย ที่ดินห่างกันแค่ นิดเดียว ประเภทเอกสารสิทธิเหมือนกัน แต่ทำไมมูลค่าเวนคืนกลับแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้รู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรม และมีที่ดินของ นายสมนึก แพ่งจันทึก ไม่ได้เงินค่าเวนคืน ๒ ไร่ เนื่องจากเดิมนายสมนึกอดีตเคยครอบครองที่ดิน ๒๑ ไร่ แต่ได้มีการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ เอกสารสิทธิออกโฉนด ซึ่งได้รับออกโฉนดเพียงแค่ ๑๙ ไร่ ซึ่งอีก ๒ ไร่ไม่ถูกออกโฉนด จึงไม่ได้รับค่าเวนคืนในส่วนของ ๒ ไร่นั้น จึงอยากขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือว่า กรมธนารักษ์ได้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงด้วยครับ ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม พชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย ตามที่ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ในการนี้ขอเปลี่ยนแปลง รายชื่อคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จาก นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ เป็น นายไตรฤกษ์ มือสันทัด ขอผู้รับรองด้วยครับ
ท่านประธานที่เคารพ ผม นายพชร จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๑๓ พรรคเพื่อไทย วันนี้กระผมมีประเด็นหารือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งหมด ๓ เรื่องดังนี้ครับ
เรื่องที่ ๑ จากที่ผมได้หารือปัญหา ภัยแล้งที่ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้วไปที่ ๓ เดือนก่อน ก็ต้องขอขอบคุณทางกระทรวง ยุติธรรมและกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ ดังกล่าว ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าจะจัดทำอ่างเก็บน้ำบริเวณรอยต่อที่หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๙ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ วันนี้ผมจึงขอความอนุเคราะห์ไปยังกรมป่าไม้ ที่ ๘ นครราชสีมา และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างนะครับ แล้วก็ขอให้สำนักชลประทานที่ ๘ นครราชสีมาและ กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดสรรงบประมาณ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่านนายกสุนทรา พอควร กำนันจรัญ ขับผักแว่น และผู้ใหญ่สุเมธ มงคล ว่ามีหลายพื้นที่ในตำบลวังกะทะ อำเภอปากช่อง ตอนนี้ ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก ชาวบ้านไม่มีน้ำจะกินจะใช้ ต้องขอความช่วยเหลือจาก รถน้ำของทางองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตำบลวังกะทะเป็นตำบลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ผมจึงขอความอนุเคราะห์ของบประมาณจากกรมทรัพยากร น้ำบาดาล เขต ๕ นครราชสีมา ของบประมาณมาขุดเจาะน้ำบาดาลภายในหมู่บ้านตำบลวังกะทะ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
เรื่องที่ ๓ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากท่านนายกฉลอง ทุมขุนทด และกำนัน สิริวัฒน์ หล่อนจันทึก ตำบลดอนเมือง อำเภอสีคิ้ว เพราะตอนนี้หมู่บ้านลาดใหญ่ และหมู่บ้านผาแดง ตำบลดอนเมือง ประสบปัญหาความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ขาดแคลน น้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งท่านนายกและกำนันได้ยื่นหนังสือของบประมาณไปที่กรมทรัพยากร น้ำบาดาล ภาค ๕ จังหวัดนครราชสีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณ วันนี้ผมจึงขอ ความอนุเคราะห์ผ่านท่านประธานไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ภาค ๕ จังหวัดนครราชสีมา ของบประมาณขุดลอกสระสาธารณประโยชน์ และติดตั้งระบบประปาภายในหมู่บ้านลาดใหญ่ และ หมู่บ้านผาแดง ตำบลดอนเมือง อำเภอสีคิ้วด้วยครับ ขอบคุณครับ