นางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดิฉันขอขอบคุณกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ที่ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว โดยถึงแม้จะมีเครือข่าย ผู้ให้ความช่วยเหลือและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รุนแรงได้มากถึงปีละ ๒๘,๐๐๐ คนค่ะ กระนั้นเองความช่วยเหลือที่อยู่ในรายงานเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือของเครือข่ายผู้ให้บริการช่วยเหลือส่วนใหญ่อยู่ในที่ตั้ง อยู่ในสำนักงาน อยู่ในสถานบริการสุขภาพ ตัวเลขผู้ถูกกระทำรุนแรงที่สะท้อนในรายงาน เกือบ ๓๐,๐๐๐ คนต่อปี จึงเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกจำนวนมากที่ถูกทำร้าย แต่ไม่กล้าที่จะขอเข้ารับการช่วยเหลือ หรือว่าเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แทบไม่ปรากฏในรายงานเลย นั่นคือความรุนแรงในคู่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ใน ภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงกับผู้ให้การดูแล ณ ขณะนี้เราเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ผู้ป่วยเรื้อรัง ติดเตียงมีแนวโน้มขาดผู้ดูแลมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับคนวัยทำงานแบบรุ่นพวกเรา บางครอบครัวอาจมีผู้ป่วย ๑-๒ คน แต่มีผู้ให้การดูแลเพียงคนเดียวเท่านั้น เขาจึงต้องแบกรับ ภาระการดูแลที่หนักหน่วง จำนวนหนึ่งต้องลาออกจากงานมาดูแล พวกเขาอยู่ในสภาวะ เครียด บีบคั้น กดดัน และอาจพลั้งเผลอทำร้ายผู้ป่วย หรือแม้แต่ตั้งใจทำร้ายผู้ป่วยติดเตียง นี่คือความรุนแรงในครอบครัว หรือ Domestic Violence เช่นเดียวกันที่คนมักมองข้าม แน่นอนว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถเดินทางมาศูนย์ให้ความช่วยเหลือได้ ตัวเลขจึงไม่ปรากฏ ในรายงานความรุนแรงในครอบครัว แม้กระทั่งการกรอกข้อมูลก็ยังไม่เคยมีคำถามว่า ผู้ถูกกระทำรุนแรงเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือไม่ ตามนิยามการทำรุนแรง นอกจากการใช้กำลังแล้ว การทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ไม่ใส่ใจก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ขอให้ท่านตระหนักว่าระหว่างนี้ ที่เรานั่งกันอยู่นี้ในชุมชนของเรายังมีผู้ป่วยติดเตียงถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวในช่วงกลางวัน เสี่ยงที่จะทุกข์ทรมานจากความเหงา จากความเจ็บปวด จากแผลกดทับ จากความน้อยเนื้อต่ำใจ ในความเป็นมนุษย์ แต่ความรุนแรงนี้มิใช่ว่าเป็นความตั้งใจส่วนตัวของผู้ดูแล แต่เป็นความรุนแรง ของสังคมต่างหากที่ไม่จัดสรรระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง และผู้ดูแลอย่างเหมาะสม และเพียงพอ ความทุกข์ทรมานลักษณะนี้ที่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงกังวล บางคนถึงขนาดส่งเสียงเรียกร้องสิทธิเร่งการตาย หรือ Euthanasia มาเลยก็มี นอกจากนั้น ยังสะท้อนผ่านสถิติการฆ่าตัวตายที่พุ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วย ระยะสุดท้าย โดยในปีงบประมาณปีล่าสุดมีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ ๑,๐๐๐ คน ท่านประธานคะ นี่คือความรุนแรงที่ควรจะถูกบรรจุไว้ในรายงานสถานการณ์ด้วยหรือไม่ เพื่อลดความรุนแรงจากการดูแลผู้ป่วยในภาวะพึ่งพิงดิฉันมีข้อเสนอ ๓ ประการ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๑ ดิฉันเสนอต่อผู้จัดทำรายงานว่า ควรเฝ้าระวังความรุนแรง ในครอบครัวโดยเพิ่มประเด็นความรุนแรงที่ Caregiver ทำต่อผู้ป่วยติดเตียงด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ ดิฉันขอเสนอต่อรัฐสภาแห่งนี้ว่า สังคมไทยจะต้องเร่งพัฒนา ระบบสุขภาพชุมชน เพิ่มปริมาณกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาวและระยะท้ายอย่างจริงจัง ให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วย เพราะถ้าหาก เราสามารถลดความตึงเครียดของผู้ดูแลได้ก็ย่อมลดความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้ป่วยได้ เช่นเดียวกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประการสุดท้าย ดิฉันขอเสนอทั้งต่อรัฐสภาและต่อฝ่ายบริหารให้ช่วยสนับสนุน การกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาสังคม และความรุนแรงในครอบครัว ได้ด้วยตนเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้มีกำลังจ้างนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาชุมชน ไว้ดูแลพี่น้องในชุมชน ปัจจุบันข้อมูลเรามีนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศจำนวน ๒,๘๐๐ คน มีอัตราส่วนเพียงแค่ ๔ คนต่อการดูแลผู้ป่วย ๑๐๐,๐๐๐ คน ไม่เพียงพออย่างยิ่งนะคะ กำลังคนเพียงเท่านี้ไม่อาจให้บริการสังคมสงเคราะห์เชิงรุกได้เลย ไม่สามารถไปเยี่ยมบ้าน เก็บข้อมูลและประสานงานแก้ปัญหาในระดับชุมชนได้เลย เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นและการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเท่านั้นที่จะช่วยยุติความรุนแรงในครอบครัวได้ อย่างแท้จริง

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันให้กำลังใจการทำงานของพี่น้องนักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นักจิตวิทยา และผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงทุกท่าน ดิฉันขอให้ท่านภูมิใจ ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของท่าน แล้วก็ไม่ลืมที่จะดูแลร่างกาย จิตใจ และครอบครัว ของท่านเองด้วย ขอฝากไว้เพียงเท่านี้นะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพนะคะ ดิฉันชื่อ กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ต้องขอขอบคุณท่านเลขาธิการประกันสังคมที่เข้ามารับฟังปัญหา ในวันนี้ด้วยนะคะ ดิฉันจะขอพูดถึงปัญหาในแง่ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมระหว่างสิทธิการรักษาพยาบาลค่ะ อย่างที่ทราบกันนะคะว่า ณ ขณะนี้ประชาชนไทยมีกองทุนสุขภาพหลักอยู่ ๓ กองทุนนะคะ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กองทุนประกันสังคม และกองทุน รักษาพยาบาลข้าราชการค่ะ ขณะนี้ตามตัวเลขในหนังสืออ้างอิงคือกองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตนรวมอยู่ทั้งหมด ๒๒,๘๐๐,๐๐๐ คน อ้างอิง ณ เดือนธันวาคม ๒๕๖๔ ค่ะ แต่ปัญหาก็คือสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ได้รับกลับมีคุณภาพไม่เท่ากันกับสิทธิ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. อย่างชัดเจนนะคะ ซึ่งดิฉันมองว่า เป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนเดียวที่ผู้ประกันตน ออกเงินของตนเองสมทบทุนด้วยนะคะ ปัญหามากมายที่ได้รับการสะท้อนจากประชาชน ก็คือเมื่อมีความเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือต่างจังหวัด หรือโรงพยาบาล ที่ไม่ตรงกับโรงพยาบาลที่ตนสังกัด หรือกรณีอื่นใดก็ตามนะคะ หลาย ๆ ครั้งผู้ประกันตน จะต้องสำรองจ่ายเองก่อนอยู่เป็นประจำ ซึ่งจุดนี้เป็นภาระและความลำบากขั้นที่ ๑ ของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคมนะคะ ความลำบากขั้นที่ ๒ เมื่อจะไปเบิกเงิน ผู้ประกันสังคม ยังจำเป็นต้องลางานเพื่อไปยื่นเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคมในเวลาราชการค่ะ เป็นการเสียต้นทุนทั้งเวลาและเสียรายได้จากการทำงานในวันนั้น ๆ อีกด้วยค่ะ อ้างอิงจาก หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะคะ หน้าที่ ๓๖ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ กองทุนยังคงค้างค่าประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยค้างจ่ายเป็นจำนวนถึง ๑๕,๐๒๑.๖ ล้านบาท รวมไปถึงในหน้า ๓๗ ที่แสดงจำนวนเงินค่าบริการทางการแพทย์ค้างจ่าย จำนวน ๘,๙๖๗.๘๒ ล้านบาท และค่าประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยค้างจ่าย ๖,๕๓.๗๘ ล้านบาท ข้อเสนอที่มีต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในวันนี้ก็คือท่านจะมีวิธีการแก้ปัญหา อย่างไร ให้ผู้ประกันตนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาและได้รับสิทธิประโยชน์ในการ รักษาพยาบาลอย่างน้อยเทียบเท่ากับสิทธิ สปสช. ก็ยังดีนะคะ รวมถึงจัดการกับวิธีการ เบิกจ่ายให้สะดวกกับผู้ประกันตนมากขึ้นค่ะ ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ก็ขอขอบคุณกองทุนการออมแห่งชาติที่มาชี้แจงในวันนี้ด้วยนะคะ จากเพื่อนสมาชิก ทุกท่านได้พูดไปแล้ว ก็คือว่าทำไมมันถึงเป็นรายงานของประมาณ ๗-๘ ปีที่แล้ว ดิฉันก็ได้ ตามเข้าไป Check ใน Website มาแล้วก็เห็นว่าของปี ๒๕๖๔ ก็มีการเติบโตค่อนข้างดี ก็อยากจะเห็นรายงานตัวปัจจุบันในคราวหน้าด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ๑๐๔/๑ ปัญหาที่พบก็คือกองทุนการออมสามารถช่วยให้คนจน นักเรียน นักศึกษาสามารถส่งเสริม การออมได้ แต่ในความคิดของดิฉันนะคะ แต่จะไม่นำไปสู่การสร้างหลักประกันหลังเกษียณ เพราะเพดานการออมต่ำเกินไป คืออยู่ที่แค่ ๑,๑๐๐ บาทต่อเดือน และเพดานผลตอบแทน ที่ต่ำเกินไปก็คือไม่เกิน ๑,๒๐๐ บาท ไม่จูงใจให้คนหันมาออมกับ กอช. โดยเฉพาะเมื่อได้ คำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปเงินในอนาคตตอนอายุ ๖๐ ปีก็จะยิ่งมีมูลค่าลดน้อยลงไปอีก

    อ่านในการประชุม

  • อีกปัญหาหนึ่งก็คือด้วยความที่ผลตอบแทนการออมทำให้ผู้ต้องการออมเงิน มากกว่านี้ต้องเปิดบัญชีใหม่กับธนาคารอื่น ทำให้คนที่มีต้นทุนจำกัดเขาไม่สามารถทำ ธุรกรรมจบในที่เดียวได้

    อ่านในการประชุม

  • ต่อมาเป็นข้อสังเกตและคำถามนะคะ จากรายงานดิฉันไม่เห็นรายละเอียดกิจกรรม หรือหลักสูตรที่พูดถึงการเพิ่มความรู้เท่าทันด้านการเงินและการออม หรือ Financial Literacy เลยนะคะ มีเพียงกิจกรรมว่าไปร่วมมือกับใคร และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกี่คน ต่อมาก็คือขาดตัวเลขของกลุ่มเป้าหมายที่หลุดจากการออมกับ กอช. นะคะ ซึ่งมี ๓ นัย ก็คือ ๑. กอช. ให้แรงจูงใจด้านการเงินต่ำทำให้คนไปออมกับคนอื่นมากกว่า ๒. กลุ่มเป้าหมาย มี Financial Literacy มากขึ้นเลยย้ายไปออมที่อื่น หรือ ๓. กลุ่มเป้าหมายขาดเงิน ขาดสภาพคล่องเลยเอาเงินออมไปใช้นะคะ เพราะเหตุใดกองทุนทำงานผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี แต่เพดานการออมเงินและผลตอบแทนจึงเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่าที่ควรนะคะ คณะกรรมการ มีการประเมินการดำเนินงานอย่างไร ในรายงานขาดรายละเอียดยุทธศาสตร์การส่งเสริม การออมที่เมื่อสักครู่แจ้งไปเรื่องเกี่ยวกับ Financial Literacy ก็คือยกตัวอย่างเช่น ยังขาด การนำเสนอว่าการเพิ่ม Financial Literacy ควรจะมีเนื้อหาใด ให้กระบวนการเรียนรู้ อย่างไร และวัดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างไร จึงจะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการออม มีลักษณะนิสัยการออมมากขึ้น ในรายงานระบุเพียงกิจกรรมการออกร้านที่ทำให้ทางรัฐสภา ไม่แน่ใจว่ากิจกรรมที่ลงทุนไปนั้นเกิดผลมากน้อยเพียงใด จึงขอให้ทีมงานได้ตอบคำถาม และระบุในรายงานเพิ่มเติมในปีต่อ ๆ ไปนะคะ รายงานขาดรายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่เป็นวัตถุ มีเพียงจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกองทุน เงินในกองทุนโดยรวม แต่ยังขาดตัวเลข และแนวโน้มอื่น ๆ ที่เห็นรายละเอียดผลลัพธ์มากขึ้น เช่น จำนวนเงินในบัญชีของสมาชิก จำนวนการหลุดออกจากกองทุนของสมาชิก การเข้าถึงกองทุนของสมาชิก พฤติกรรมการออม และการลงทุนอื่น ๆ คะแนนการเรียนรู้ รวมทั้งข้อร้องเรียนหรือชื่นชมกิจการของ กอช. การขาดรายละเอียดดังกล่าวจะทำให้รัฐสภา และเจ้าของภาษีประชาชนไม่ทราบข้อมูล ความคุ้มค่า ถ้าหากไม่คุ้มค่าเราจะได้ตัดออก หรือถ้าเกิดหากคุ้มค่าเราจะได้ส่งเสริมกองทุน การออมเพิ่มขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ต่อไปก็คือคำถามสุดท้ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อยากจะถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร กรณีชาวบ้านที่ไม่มีเงินแม้แต้น้อยนิดเลยที่จะออม ควรส่งเสียงเรื่องนี้สะท้อนมาในรายงาน ด้วยนะคะ ฝากไว้เท่านี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ขอปรึกษาหารือท่านประธาน เรื่องสถานการณ์การระบาดของเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากอธิบดีกรมควบคุมโรคนะคะ กล่าวไว้ในวันที่ ๓ กันยายนว่าสถานการณ์ ล่าสุดมีรายงานผู้ป่วยรวม ๓๑๖ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๑ ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคนี้ได้มีการระบาดซ่อนเร้นมานานมากแล้ว เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งค่ะ โดยไม่ได้ติดต่อเฉพาะ ทางเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว การสัมผัสกันหรือติดทางละอองฝอยน้ำลายที่ฟุ้ง ในอากาศที่ปิดถ่ายเทไม่สะดวกก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกันค่ะ ข้อเท็จจริงคือโรคจะมีอาการ รุนแรงในกลุ่มเสี่ยง HIV ที่ไม่ได้รับการรักษา คนกินยากดภูมิ หรือว่าโรคที่มีภูมิคุ้มกัน บกพร่อง ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากถึง ๒๗๑ ราย นับเป็นร้อยละ ๘๕.๘ ค่ะ และมีผู้ติดเชื้อ HIV ๑๔๓ ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ขอให้ตระหนักว่าประชาชนต้องป้องกันตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเพื่อลด ความเสี่ยงต่อการติดโรค โดยสังเกตรอยโรคก็คือผื่นมีลักษณะแบนหรือนูน มีตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองและตกสะเก็ด มักพบตามบริเวณอวัยวะเพศ รอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ศีรษะ ก่อนจะมีผื่นขึ้นนี่อาจจะมีไข้ร่วมกับมีอาการอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากสงสัยการติดเชื้อฝีดาษวานรและมีความเสี่ยง ให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ควรสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาด้วยค่ะ ด้วยความรู้ด้านการป้องกันโรคและการรักษาที่ยังมีจำกัดจึงแนะนำให้ Admit ทุกรายในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโรคตามอาการ เช่น ลดไข้ หรือดูแล ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนนะคะ ส่วนการรักษาจำเพาะยาต้านไวรัสยังอยู่ในขั้นตอน การศึกษาวิจัยค่ะ ให้เฉพาะกรณีมีอาการรุนแรง ชื่อยาว่า Tecovirimat หรือ Tpoxx ซึ่งเป็น ยาที่มีทั้งรูปแบบรับประทานและให้ทางหลอดเลือด ดิฉันมีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๑ จริง ๆ ควรปลดล็อกไม่ให้เป็นโรคระบาดร้ายแรงก่อน เพื่อลด ความกลัวให้คนเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๒ ควรมีการนำเข้าวัคซีน โดยมีทั้งแบบจ่ายเองสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่รู้ตัว และไว้สำหรับบุคลากรด่านหน้าบางส่วนในช่วงแรกค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อ ๓ ควรมีการตรวจเชิงรุก แต่ละศูนย์ในแต่ละภาคกระจายชุดตรวจ ให้โรงพยาบาลจังหวัดให้ตรวจได้เองไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง และ สสจ. กำหนดนโยบาย เชิงรุกคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามดิฉันอยากให้ทางรัฐบาลนำเข้ายา และวัคซีนมาให้โรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีใช้ให้เพียงพอ ไม่ทราบว่ามีการจัดการตรงนี้หรือยังคะ เพราะเท่าที่สอบถามจากเพื่อนแพทย์หน้างานบอกว่ามีปริมาณน้อยมาก อยากให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์ความพร้อมของรัฐต่อโรคนี้ค่ะ เพราะเกรงว่ารัฐอาจจะไม่มีการตระหนัก ถึงความรุนแรงของโรคเท่าที่ควร และยังไม่ได้มีการตรวจคัดกรองที่ดีพอ ทั้ง ๆ ที่เคยมี บทเรียนมาแล้วจากตอนโควิดค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ดิฉันชื่นชมการดำเนินงานของ สสส. ซึ่งได้จัดทำรายงานที่เรียบร้อย สวยงามมีหลักฐาน เชิงประจักษ์ในกระบวนการรายงานการทำงาน ท่านและภาคีทำงานส่งเสริมสุขภาพ ได้ครอบคลุมหลายมิติสุขภาพ ดิฉันฝากชื่นชมภาคประชาสังคมพลเมืองผู้ตื่นรู้ด้านสุขภาพ ผ่านไปยังคณะของท่านด้วยค่ะ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทางการเมืองปัจจุบันคนรุ่นใหม่ ตื่นตัวเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาพมากขึ้น เข้าใจการใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร การสร้างสรรค์สื่อและปฏิบัติการสังคมแบบใหม่ ถ้าหาก สสส. จะพิจารณาเพิ่ม สัดส่วนคณะกรรมการ คณะที่ปรึกษา และคณะทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่จากคณะที่มีอยู่เดิม อย่างมีนัยสำคัญดิฉันเชื่อว่าเราจะได้เห็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ก้าวหน้าและแตกต่าง มากขึ้นค่ะ ดิฉันยังขอฝากให้ทางคณะได้พิจารณาประเด็นปัญหาสุขภาพร่วมสมัยบรรจุไว้ใน แผนการทำงานของ สสส. ด้วยค่ะ เช่นเราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ บุคลากรสุขภาพได้ทำงานอย่างมีคุณภาพชีวิต มีความพึงพอใจในการทำงาน ยินดีทำงาน ร่วมกับระบบสุขภาพในการให้บริการและสร้างเสริมสุขภาพทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน สสส. จะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาความทุกข์ทางสังคมที่สะท้อนผ่านความเจ็บป่วยทางกาย และปัญหาสุขภาพจิต ความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณของผู้คน มากมายตอนนี้นะคะ สสส. จะมีส่วนตอบโจทย์อย่างไรที่ไม่เพียงสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุด แต่จะทำอย่างไรให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ต่อการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงระยะสุดท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ขณะที่ ผู้ดูแลไม่รู้สึกเหมือนกับว่าแบกรับภาระอยู่เพียงลำพัง แต่ชุมชนมีส่วนร่วมและโรงพยาบาล สนับสนุนการดูแลเฉพาะที่เกินกำลังค่ะ เพื่อให้แน่ใจว่าทุก ๆ คนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มี คุณภาพและบุคลากรมีสุขภาพทำงานได้อย่างไม่หนักจนเกินไป สสส. จะมีส่วนสนับสนุน อาสาสมัครด้านสุขภาพอย่างไรให้อาสาสมัครด้านสุขภาพไม่นับเฉพาะสังกัดสาธารณสุข เท่านั้น แต่อาสานี่มีทั้งที่สังกัดและไม่มีสังกัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาวะสังคมทั้งสิ้น จะทำอย่างไรให้รัฐบาลทั้งระดับชาติ และท้องถิ่นสนับสนุนงานอาสาสมัครตามสมควร เช่น การสนับสนุนงบประมาณที่เหมาะสม อุปกรณ์สนับสนุนการทำงาน ระบบการจัดการที่มี ประสิทธิภาพ การให้เกียรติและการยอมรับด้วยนะคะ ดิฉันเชื่อว่าขบวนการอาสาสมัคร ด้านสุขภาพคือหัวใจสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน สสส. จะมีส่วนสนับสนุน การกระจายอำนาจในการจัดการสุขภาพตนเองอย่างไรให้ท้องถิ่น และชุมชนได้ทำงาน ร่วมกันกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพราะที่ผ่านมาความเห็นของดิฉันคือสังคมไทยดูจะให้ ความสำคัญกับการรักษามากกว่าการส่งเสริมป้องกันค่ะ ดิฉันขอบคุณการทำงานของ สสส. และหวังว่า สสส. จะเป็นฐานที่มั่นในการสร้างเสริมสุขภาพของผู้คนในประเทศไทย ทั้งแผนปฏิบัติการในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร ชุมชน แต่อย่างไรก็ตามการขยายผล การดำเนินงานและนวัตกรรมของ สสส. จำเป็นต้องอาศัยนโยบายสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ เพื่อให้สังคมไทยได้รับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นธรรมไม่จำกัด หรือกระจุกตัว เฉพาะในพื้นที่ที่มีความพร้อมและเข้มแข็งเท่านั้น ขอฝากไว้เท่านี้นะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อค่ะ เนื่องในวันนี้เป็นวันยุติการตั้งครรภ์สากลนะคะ ดิฉันจึงขอปรึกษาหารือ ถึงปัญหาของการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ท่านประธานคะ ประชาชน จำนวนมากอาจจะยังไม่ทราบว่ารัฐสภาแห่งนี้เคยผ่านกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ ถูกกฎหมายไปแล้ว วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้หญิง จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งที่ปลอดภัยได้ แม้เรื่องนี้จะถูกกฎหมายแล้ว หากยุติการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ ๑๒ สัปดาห์ วิธีการทำแท้ง คือการกินยาหรือเหน็บยา ซึ่ง สปสช. เองก็มีชุดสิทธิประโยชน์การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยซ้ำค่ะ แม้กฎหมายจะอนุญาตแล้วแต่จากการ แลกเปลี่ยนกับภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มทำทางพบว่าผู้หญิงจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง ยาช่วยยุติการตั้งครรภ์ เพราะในทางปฏิบัติจริงนั้นโรงพยาบาลและบุคลากรสุขภาพยังตีตรา ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาปผิดศีลธรรม ส่งผลให้แพทย์ จำนวนหนึ่งปฏิเสธการให้บริการ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ไม่มีบริการนี้ อีกทั้งยังไม่มีการส่งต่อ การให้บริการที่เหมาะสม บุคลากรสุขภาพบางส่วนแสดงท่าทีไม่ยอมรับ ลำพังแรงกดดัน จากครอบครัวและคนรอบข้างก็มากเพียงพออยู่แล้ว บุคลากรสุขภาพไม่ควรจะเพิ่มแรง กดดันให้ผู้หญิงเหล่านี้อีกค่ะ ผลกระทบของการปฏิเสธการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ที่ปลอดภัยส่งผลให้ผู้หญิงต้องเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนหรือแม้กระทั่ง เดินทางข้ามจังหวัด ทั้งที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการนี้ เงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ของแต่ละคนไม่เท่ากัน นอกจากนี้การปฏิเสธการให้บริการหรือขาดการส่งต่อที่เหมาะสม อาจทำให้บางคนหันไปทำแท้งเถื่อนตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อ ตกเลือด มดลูกทะลุ หรือถึงขั้นเสียชีวิต เป้าหมายของการปรึกษาหารือในวันนี้ดิฉันต้องการ ให้ระบบสุขภาพจัดบริการให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง คำนึงถึงปัญหาแม่และเด็กจากการมีลูก โดยครอบครัวไม่พร้อมค่ะ ดิฉันขอเคียงข้างผู้หญิงที่ประสบปัญหานี้ทุกคน ทั้งที่เคยยุติการ ตั้งครรภ์มาแล้ว และกำลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ดิฉันเห็นคุณรับรู้ปัญหาของคุณ แล้วก็ พร้อมอยู่เคียงข้างคุณ ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานที่เคารพ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ ดิฉันขอปรึกษาหารือถึงสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ซึ่งในปัจจุบันมีการระบาด เป็นวงกว้างทั่วประเทศ และเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้ม การระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สาธารณสุขไทยกำลังขาดแคลนยาต้านไวรัสที่ใช้รักษา โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ชื่อว่า Tamiflu หรือ Generic Name ว่า Oseltamivir ๓๐ มิลลิกรัม ต่อ Capsule ยังไม่รวมไปถึงปัญหาที่ว่าคนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่รอบนี้หลายคนยังคงป่วย เป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะว่าวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์นะคะ ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ วันที่ ๑ มกราคมถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖ มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด ๒๔๘,๓๒๒ คน อัตราป่วยอยู่ที่ ๓๗๕.๕ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน มีรายงานผู้เสียชีวิตตอนนี้ทั้งหมด ๘ ราย ในจังหวัดนครราชสีมา ๕ ราย สงขลา ตาก และพิษณุโลก จังหวัดละ ๑ ราย ณ ตอนนี้เราใช้ Oseltamivir ซึ่งจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็น First Line Drug ของการใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ในตอนนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ที่ผ่านมา กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรมได้มีข้อเสนอให้ใช้ Favipiravir ที่เราเคยใช้ ในการรักษาโควิดเพื่อใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่จ่อชงเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็น การรักษาผู้ป่วยเป็นการเฉพาะหน้าไปก่อนค่ะ แต่ท่านประธานคะ ถึงแม้ว่า Favipiravir จะเป็นยาต้านไวรัสเช่นกัน และสามารถรักษา Influenza ได้ แต่ยา Favipiravir มีผลกระทบ ข้างเคียงที่สูง ในหลายประเทศไม่อนุมัติให้ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป้าหมาย ของการปรึกษาหารือในวันนี้ ดิฉันต้องการสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุขว่านอกจากการเพิ่ม Favipiravir ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแล้ว ท่านรัฐมนตรี มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด ของไข้หวัดใหญ่อย่างไรอีกบ้าง มีอัตราการฉีด วัคซีนเชิงรุกทั่วถึงมากแค่ไหน รวมไปถึงการขาดแคลนยา Oseltamivir ในภาวะเร่งด่วน ขณะนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้จะมาขออภิปรายสนับสนุนญัตติ ร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ของพรรคก้าวไกล ดิฉันขออภิปรายในแง่มุมของการสาธารณสุขเป็นหลัก มลภาวะทาง อากาศถือเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดตัวหนึ่งของปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ นอกจาก ตัวเลขทางสถิติที่เพื่อน ๆ ได้พูดมากันเยอะแยะตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วแล้วนะคะ ดิฉันขอพูดถึง สิ่งที่เราเห็นอยู่กับตาเลยก็คือท่านสามารถมองเห็นไปที่ขอบฟ้าว่ามันมัวขนาดไหน แล้วก็ ทุก ๆ ลมหายใจที่เราหายใจเข้าไปก็จะติดขัดไม่เต็มปอด ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนอากาศไม่มี พรมแดน อากาศเข้าถึงทุกคน เราหายใจด้วยอากาศเดียวกัน นอกจากฝุ่นพิษจะมีผลต่อ สุขภาพของแต่ละคนแล้ว ยังมีผลต่อระบบสุขภาพโดยรวมด้วยค่ะ จะเปรียบเทียบสถิตินะคะ ตัวเลขผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรังที่มีผลจากมลพิษ ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕ ๔ ปีมีคนป่วย เป็นโรคนี้ ๑๘,๐๐๐ คน ตกประมาณปีละ ๔,๕๐๐ คน ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้วนะคะ แต่ว่า ตัวเลขเพียงแค่ปี ๒๕๖๖ ปีเดียวที่เราเจอฝุ่น PM2.5 หนักที่สุด มีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐ คนต่อปี ยังไม่นับค่าใช้จ่าย นอกจากโรคนี้แล้วยังมีโรคทางเดินหายใจชนิดอื่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด อายุไขที่สั้นลงและความเสียโอกาส และความทุกข์ ทรมานของคนในครอบครัว ต่อจากนี้ดิฉันจะขอเข้าไปในรายละเอียดร่างของพรรคก้าวไกล เทียบกับร่างของ ครม. ในมุมของสาธารณสุข สไลด์ขึ้นเลยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนมาตรา ๙ วรรคสอง ของร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐมีหน้าที่ให้สิทธิในการเข้าถึงระบบ สุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและคัดกรองโรคอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ๒ ร่างนี้มีข้อที่เหมือนกันคือการเข้าถึงการรักษา โดยของ ครม. เพิ่มด้วยว่าโดยไม่เสีย ค่าใช้จ่าย จุดนี้เป็นจุดที่ดีค่ะ ดิฉันคิดว่ายังไม่เพียงพอที่จะรักษาโรคที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 เป็นโรคเรื้อรัง เป็นภัยที่มองไม่เห็น ใช้เวลาดำเนินโรคนานมากนะคะ กว่าจะเห็นมีอาการ กว่าจะเห็นฟิล์มเอกซเรย์มีรอยโรคแล้วกว่าจะได้รักษาก็มักจะสายเกินไป แล้วเป็นการรักษา แบบประคับประคองให้ออกซิเจนเพียงเท่านั้น ดิฉันเสนอให้ทาง ครม. หรือทางกรรมาธิการ วิสามัญที่ตั้งขึ้นนี้พิจารณาการประเมินความเสี่ยงด้วยค่ะ เพราะเมื่อเราสามารถประเมิน รอยโรคตั้งแต่เริ่มต้นเราจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันการณ์ หรือแม้กระทั่งว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรค เขาก็สามารถปรับ Lifestyle ให้เข้ากับฝุ่นที่มากขึ้นทุกวัน ๆ เหล่านี้ได้ โดยดิฉันขอเสนอให้ รัฐจัดสรรเพิ่มสิทธิประโยชน์ ซึ่งก็แปลว่าไม่เสียค่าใช้จ่ายในการคัดกรองโรคมะเร็งปอด แล้วก็ โรคปอดในกลุ่มเสี่ยง เฉพาะพื้นที่เสี่ยงก็ได้ค่ะถ้าท่านกังวลว่าจะเป็นการเสียทุนของรัฐมาก เกินไป พื้นที่เสี่ยงได้แก่ ภาคเหนือของประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก สระบุรี แล้วก็ Zone ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก ๆ โดยการคัดกรองที่เป็นมาตรฐานของ ทั่วโลกเลยคือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ หรือว่าเรียกว่า Low-dose CT Scan ค่ะ ถ้าทำเพียงแค่เอกซเรย์ปอดธรรมดาไม่เพียงพอ และไม่มีความไวพอที่จะจับ รอยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่วนอีกมิติหนึ่งคือมิติเรื่องการต่างประเทศ จุดนี้คือในร่าง ครม. ตัวบทไม่ได้มีความครอบคลุมที่เพียงพอถึงกลไกในระดับภูมิภาคและนานาชาติ กล่าวคือ พูดแค่กว้าง ๆ ในมาตรา ๖ (๕) ระบุว่าสร้างความร่วมมือในการแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศและนานาชาติ โดยมีกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ในการประสานงาน แต่ว่าดิฉันอยากให้ท่านระบุ ไปให้ชัดเจนเลยถึงกลไกความร่วมมือในประชาคมอาเซียนที่ท่านได้เคยเซ็นไปแล้ว ตอนรัฐบาลของท่านเองได้ไปเซ็นสัตยาบันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ไว้ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๐๐๓ หรือปี ๒๕๔๖ เป็นการลงสัตยาบันความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน หรือว่า ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution ท่านสามารถลงไปใน พ.ร.บ. ได้อย่างชัดเจนเลยว่าเราจะเน้นความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียน เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่า ASEAN มีผลกระทบจาก PM2.5 มากที่สุดในตอนนี้ ทั้งนี้เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะมี การบูรณาการและมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับประเทศและในระดับ ภูมิภาคเข้าด้วยกัน มีความต่อเนื่องและมีข้อผูกพันกันทางกฎหมายระหว่างประเทศ ฝากไว้ เพียงเท่านี้นะคะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอสไลด์ด้วยนะคะ

    อ่านในการประชุม

  • วันนี้จะขอปรึกษาหารือ ผ่านท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง Digital Transformation ในระบบสุขภาพเพื่อตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลเองนะคะ โดยจะพูดถึงใน ๓ ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกัน โดยขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ค่ะ เรื่องที่สำคัญ คือเรื่องที่ ๑ ข้อมูล เรื่องที่ ๒ การบริการเข้าถึงและมีคุณภาพ และเรื่องที่ ๓ การเบิกเงินและการเบิกจ่าย

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภา ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ขอเรียกร้องให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในวันนี้ค่ะ ท่านประธานคะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ประเทศไทยเรายังขาดเครื่องมือทางกฎหมายที่จะ ดูแลความสัมพันธ์แบบครอบครัวของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ลองคิดดูนะคะ หากคนที่เรารัก และใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาเกือบ ๑๐ ปี ต้องเข้ารับการผ่าตัดประสบอุบัติเหตุ แต่เรากลับเซ็นรับรองการผ่าตัดนั้นไม่ได้ เพียงเพราะไม่มีสิทธิเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมาย เราจะรู้สึกอย่างไรคะ หากคน ๒ คนอยากจะเริ่มชีวิตคู่และตั้งใจจะขอสินเชื่อเงินกู้ร่วม เพื่อซื้อบ้านด้วยกัน เพื่อแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน แต่ไม่สามารถทำได้โดยสะดวก เพราะกฎหมายที่มีอยู่ ไม่รับรองคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศเราจะรู้สึกอย่างไรคะ ในฐานะแพทย์ดิฉันอยากจะ ขออนุญาตแชร์เรื่องราวของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศคู่หนึ่งค่ะท่านประธาน ทั้ง ๒ คนประสบปัญหาในการขอสินเชื่อเงินกู้ร่วม จนสุดท้ายฝั่งหนึ่งต้องใช้สิทธิข้าราชการใน การกู้เพื่อนำเงินมาสร้างบ้านเองเพียงคนเดียว แต่เพียงแค่ ๑ เดือนหลังจากสร้างบ้านเสร็จ ปรากฏว่าคู่ชีวิตของเขาป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย การรักษาทำได้เพียงแค่ประคับประคอง เท่านั้น ถึงแม้ว่าฝั่งหนึ่งจะเป็นข้าราชการ และโดยทั่วไปสวัสดิการของข้าราชการก็จะเบิกได้ เต็มอัตรา แต่ในกรณีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่รับรองว่าเขาทั้ง ๒ คนเป็นคู่ชีวิตกัน สุดท้ายผู้ป่วยจึงเลือกแจ้งกับแพทย์ว่าขอปฏิเสธการรักษาและเลือกจะกลับไปใช้ชีวิตในช่วง สุดท้ายด้วยกัน เรื่องที่ยกมาแม้จะเศร้านะคะ แต่ยังดีกว่ากรณีอื่น ๆ หลายกรณีที่ผู้ป่วย ไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว สำหรับผู้ป่วยที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้ติดต่อทางบ้านมา เป็นเวลานานปัญหามักจะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อแพทย์ต้องการติดต่อพบญาติหรือญาติทาง สายเลือดเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วยโดยไม่ทันฉุกคิดถึงมิติในการนำ คู่ชีวิตหรือคนใกล้ชิดของผู้ป่วยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดูแลผู้ป่วยและเป็นคนช่วย ตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วย เพราะกฎหมายไม่อนุญาต ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพใน การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากญาติทางสายเลือดก็ไม่ทราบว่าผู้ป่วยต้องการ การดูแลแบบใด แต่คู่ชีวิตที่ใกล้ชิดของเขาต่างหากที่เป็นคนทราบความต้องการของผู้ป่วย ดีที่สุดกลับไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ท่านประธานคะ ดิฉันเชื่อว่าความรักควรเป็นเรื่อง ของการตัดสินใจร่วมกันของคน ๒ คน โดยคนนอกไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวโดยไม่จำเป็น เพราะว่า ในความเป็นจริงโลกของเรามีความซับซ้อนมากกว่านั้น รัฐไทยจึงควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ที่จะรับรอง และอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาและ อุปสรรคน้อยที่สุด ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพนะคะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ วันนี้ช่างน่าเสียดายนะคะ ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง แต่ดิฉันขอใช้สิทธิในการพูดได้ไหมคะ ในกรณีที่ดิฉันเตรียม เรื่องมาแล้ว และเป็นเรื่องกรณีเร่งด่วนในเหตุการณ์ปัจจุบัน ถึงได้ผ่านการตั้งกระทู้สดมา ท่านประธานจะสามารถอนุญาตให้ดิฉันพูดได้สักประมาณ ๑๐ นาทีไหมคะ

    อ่านในการประชุม

  • มีเหตุผลมากค่ะ แล้วก็ ขอว่าให้บรรจุเป็นกระทู้ในสัปดาห์หน้าเลยได้ไหมคะ

    อ่านในการประชุม

  • ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นตามนั้น เลยค่ะท่านประธาน ขอบคุณมากค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลค่ะ ท่านประธานคะ นี่ก็จะครบ ๑ เดือนแล้วหลังจากที่พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ ๑๐ ปี จากการที่คุณพิธาและคุณรอมฎอนได้ลง พื้นที่มาพบว่าเฉพาะแค่จังหวัดนราธิวาสมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๑๔ คน

    อ่านในการประชุม

  • และมีครัวเรือนได้รับ ผลกระทบทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ ครัวเรือน ในมุมมองของสาธารณสุข รพ.สต. ได้รับผลกระทบ ไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือครุภัณฑ์ของ รพ.สต. เสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือการแพทย์ รวมไปถึงประวัติสุขภาพ ของผู้ป่วยด้วยค่ะ นี่คือภาพจากตอนที่คุณพิธากับคุณรอมฎอนไปลงพื้นที่ รพ.สต. นาโอน ครุภัณฑ์ทางการแพทย์เสียหาย แล้วจากในภาพก็เห็นชัดเจนว่าคอมพิวเตอร์มีอยู่แค่ ๓-๔ เครื่องเท่านั้น ดิฉันไม่อยากจะคิดเลยว่าโรงพยาบาลจะสามารถดูแลผู้ป่วย มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราจะพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิได้อย่างไร ในเมื่อเราต้องใช้ คอมพิวเตอร์ในการใช้ทำ Telemedicine และ Telepharmacy เป้าหมายของการ ปรึกษาหารือในวันนี้ ดิฉันต้องการสื่อไปถึงรัฐบาล สื่อไปถึงกระทรวงสาธารณสุข หาก รพ.สต. ยังขึ้นสังกัดอยู่กับท่าน สื่อไปถึงกระทรวงมหาดไทย ในกรณีที่ รพ.สต. สังกัดกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ว่าท่านได้มีการช่วยเหลือเร่งด่วนแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นงบฉุกเฉิน ในการสรรหาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ การชดเชยเยียวยา การซ่อมแซมอาคาร การให้ รพ.สต. กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมอย่างเร็วที่สุด เพราะก่อนที่ รพ.สต. จะดูแลประชาชนได้อย่างดี รพ.สต. ก็ต้องการ Maintenance ให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อน ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ฟื้นคืนจากภาวะน้ำท่วมโดยไวค่ะ ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน ที่เคารพค่ะ ดิฉัน กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ดิฉันขอยื่นกระทู้ถามสดด้วยวาจาผ่านทางท่านประธานไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวข้อที่ดิฉันจะพูดคือ นโยบายบัตรใบเดียวรักษา ได้ทุกที่ นโยบายบัตรใบเดียวรักษาได้ทุกที่เป็นนโยบายเรือธงตั้งแต่ตอนหาเสียงของ พรรคเพื่อไทย และปัจจุบันก็ยังเป็นนโยบายแกนหลักของสาธารณสุข ปัจจุบันได้เริ่มมีการ Kick Off นโยบายไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคมที่ผ่านมา ใน ๔ จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ นราธิวาส เพชรบุรี และร้อยเอ็ด ได้ข่าวว่ากำลังจะเพิ่มระยะ ๒ ภายในเดือนมีนาคมในอีก ๘ จังหวัด ที่ดิฉันทราบเพราะว่าได้เริ่มพูดคุยกับบุคลากรปฏิบัติงานหน้างานที่จังหวัดพังงา แล้วก็จังหวัดนครสวรรค์ไปบ้างแล้ว ดิฉันไม่แปลกใจเลยที่ท่านคิดนโยบายนี้ขึ้นมา ท่านต้องการให้นโยบายที่ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคเดิมยังให้ไม่ได้ ก็คือการให้ประชาชนไป รักษาได้ทุกที่ ไม่ติดโรงพยาบาลต้นสังกัดอีกต่อไป รักษาได้รวดเร็ว ทันใจ สะดวก ไม่ต้องรอ คิวนาน แต่ทว่านโยบายนี้มันซ้ำซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะถ้าหากปราศจากการเชื่อมต่อข้อมูล อย่างไร้รอยต่อแล้ว นโยบายนี้ยากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว เวลาดิฉันกล่าวถึง ข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยหรือ Digital Medical Data ดิฉันไม่ได้หมายถึงข้อมูลการรักษา เท่านั้น ดิฉันยังหมายถึงโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ยาที่คนไข้ใช้ประจำ ประวัติผ่าตัด ประวัติคลอดบุตร ประวัติการตรวจร่างกาย ผลเลือด ผลทางห้อง Lab ห้องปฏิบัติการ ผลทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์ CT MRI หรือข้อมูลที่ทุกคนลืมจะนึกถึง ก็คือข้อมูล การเบิกจ่ายของผู้ป่วยแต่ละคน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหล่านี้นโยบายนี้จะไม่สามารถประสบ ความสำเร็จได้เลยในระยะยาว จะว่าไปในระยะสั้นที่ผ่านมาแค่ ๒-๓ อาทิตย์ก็เริ่มเห็น ปัญหาแล้วค่ะ ดิฉันได้เข้าไปพูดคุยกับบุคลากรสาธารณสุขหน้างาน ๔ จังหวัดนำร่องของท่าน หลายท่านกล่าวว่าต้องซักประวัติคนไข้ใหม่ทั้งหมดเลย เพราะคนไข้จำยาที่ตัวเองแพ้ไม่ได้ หลายคนกล่าวว่าผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนจำโรคประจำตัวที่เคยได้รับการวินิจฉัยประมาณ ๒๐ ปี ๓๐ ปีก่อนที่โรงพยาบาลต้นสังกัดเดิมไม่ได้ ฟังจากผู้ปฏิบัติงานแล้ว เราฟังจากผู้ป่วยที่สำคัญ ที่สุดในสมการนี้ เสียงสะท้อนจากผู้ป่วยสะท้อนดังมากไปที่หลายหน้าสื่อ และสะท้อนมาถึง หูดิฉันด้วยว่าหลังจากเสียบบัตรประชาชนเข้าเครื่องไปหน้าจอว่างเปล่า ต้องเสียเวลา ซักประวัติใหม่ทั้งหมด ตรวจร่างกายใหม่ทั้งหมด หลายท่านต้องเจ็บตัวเจาะเลือดใหม่ เป็นครั้งที่ ๒ หลายท่านที่ต้องการทำฟิล์มเอกซเรย์ก็ต้องรับรังสีกันใหม่ สรุปแล้วข้อมูล ยังเชื่อมต่อไม่ครบถ้วนใช่ไหมคะ นอกจากนั้นดิฉันยังได้พูดคุยกับผู้ประกอบการโรงพยาบาล เอกชนใน ๔ จังหวัดนำร่องของท่าน ท่านอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเขากำลังจะถอนตัวออกจาก โครงการของท่าน ด้วยเหตุผลเดียวเลยที่ดิฉันขอพูดตามเขาเลยว่า ยังไม่รู้เลยว่าจ่ายสตางค์ กันอย่างไร ขณะนี้ท่านกำลังเพิ่มภาระงานให้บุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ เพราะเป็นไปตามที่ดิฉันอภิปรายตอนอภิปรายงบทุกประการว่าเมื่อท่านเปิดให้รักษาทุกที่ คนไปโรงพยาบาลศูนย์เป็นส่วนใหญ่ Pain Point ที่ ๒ คือคนขายรอคิวนานขึ้น ตรวจซ้ำซ้อน มากขึ้น และข้อ ๓ ท่านกำลังสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในระบบเบิกจ่ายของท่านอีกด้วย ให้กับผู้ประกอบการโรงพยาบาล ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้ค่ะ หน้าคลินิกกระดูกและข้อ หน้าโรงพยาบาลจังหวัดนำร่องแห่งหนึ่งของท่านติดป้ายไว้ว่า วันนี้คนไข้คิวเต็มแล้ว ๑๙๐ คน ขอรับเฉพาะคิวที่นัดไว้และคิวที่มีบัตรส่งตัวเท่านั้น ผู้ที่ไม่มีใบส่งตัวกรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ไม่มีใบส่งตัวนี้มิใช่หรือคะคือผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับนโยบายบัตรใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ของท่าน สรุป ณ วันนี้นโยบายบัตรใบเดียวอาจจะรักษาได้ทุกที่ แต่จะไม่ทุกคนนะคะ เท่าที่ได้คุยกัน ในชั้นคณะกรรมาธิการแล้ว ทั้งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และคณะกรรมาธิการศึกษา การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งกับดิฉันอย่าง ชัดเจนว่าการเชื่อมต่อข้อมูลการรักษากำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ห่างไกลจากคำว่า พร้อม นะคะ

    อ่านในการประชุม

  • ดิฉันจะเข้าสู่คำถามที่ ๑ ก็คือแล้วโรงพยาบาลต่างสังกัดล่ะคะ ไม่ว่าจะเป็น สังกัด อว. หรือสังกัดกระทรวงกลาโหม ท่านได้เริ่มมีการพูดคุยเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลให้ผู้ป่วย ข้ามสังกัดแล้วหรือยังคะ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณสำหรับคำตอบ จากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนะคะ ซึ่งขัดจากข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้รับจากในชั้น กรรมาธิการติดตามงบประมาณวันที่ ๑๘ มกราคมที่ผ่านมา ทางสาธารณสุขยืนยันกับดิฉัน ชัดเจนนะคะว่าเชื่อมต่อกับกระทรวงสังกัดอื่นแล้ว ติดอยู่กระทรวงเดียวคือสังกัด กระทรวงกลาโหม เพราะด้วยเหตุผลเรื่อง PDPA ค่ะ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่ทำไมเฉพาะ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่อง PDPA อย่างไรก็ตามดิฉันทราบดี ว่าท่านรัฐมนตรีก็ทราบว่าเราจะทำนโยบายบัตรใบเดียวนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร โดยใช้ เครื่องมืออะไร เครื่องมือเดียวเลยที่เราจะทำได้ก็คือระบบ HIE ที่ดีหรือ Health Information Exchange การเชื่อมต่อข้อมูลข้ามสังกัด ข้ามจังหวัด ข้ามทุกระดับของโรงพยาบาล ตั้งแต่ ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และข้ามสังกัดด้วยเท่านั้น ซึ่งหลักฐานว่าท่านรัฐมนตรี เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่าเราจำเป็นต้องทำ HIE ก่อนถึงจะสามารถดำเนินงานนโยบายนี้ได้ มีปรากฏอยู่ในหนังสือราชการที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ได้เรียนส่งให้ท่านนายกรัฐมนตรีเซ็นค่ะ ดิฉันขออนุญาตอ่านหนังสือราชการฉบับนี้ ตามที่คุณหมอชลน่านเขียนสั้น ๆ นะคะ เรียนท่านรัฐมนตรี เรื่องแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูล บริการด้านสาธารณสุขตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุที่ก บน Digital Health Platform ของสาธารณสุข เพื่อให้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการสุขภาพ ได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก หรือร้านยาใกล้บ้านที่ เข้าร่วมตามนโยบาย ท่านนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐา ทวีสิน หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ แห่งชาติอีกด้วย ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะทราบเรื่องนี้ ทราบปัญหา เหล่านี้เป็นอย่างดีใช่ไหมคะ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๒ ของดิฉันค่ะ ท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหานี้แค่ไหน และได้ เซ็นรับรองหนังสือฉบับนี้ให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้วหรือยังคะ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านรัฐมนตรีค่ะ ท่านยังไม่ได้ตอบคำถามของดิฉันค่ะ คำถามของดิฉันแค่ว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับการเซ็น หนังสือฉบับนี้แล้วหรือยัง แต่ว่าไม่เป็นไรค่ะ เพราะว่าเดี๋ยวดิฉันจะเล่าให้ฟังก็ได้ค่ะ จากหัวหนังสือ ด่วนที่สุด สธ ๐๒๕๐.๐๓/๔๐๐๒ ลงนาม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ อันนี้เป็นการแสดง ความชัดเจนว่าคุณหมอชลน่านเข้าใจว่าต้องเชื่อมต่อข้อมูลก่อนถึงจะ Kick Off นโยบายได้ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกาที่ดิฉันพูดอยู่ตอนนี้ ท่านนายกยังไม่ได้เซ็นหนังสือฉบับนี้ นี่ท่านกำลังเริ่ม Kick Off นโยบายบัตรใบเดียวรักษาทุกที่ โดยยังไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างครบถ้วนใช่หรือไม่คะ ท่านกำลังเอาสุขภาพของผู้ป่วย เข้ามาสู่ความเสี่ยงเพื่อทดลองระบบของท่าน ประชาชนเป็นคนนะคะ ไม่ใช่หนูทดลองค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๓ ของดิฉันจึงง่ายมากค่ะ ดิฉันขอถามว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะ เซ็นหนังสือฉบับนี้เมื่อไร มีกรอบเวลาไหมคะ ประชาชนจะได้รับการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ เพื่อใช้นโยบายบัตรใบเดียวรักษาได้ทุกที่กี่โมงคะ ท่านนายกติดขั้นตอนไหนถึงไม่สามารถ เซ็นหนังสือฉบับนี้ให้กับท่านได้ หรือมัวแต่ติดภารกิจต่างประเทศเลยไม่ค่อยสนใจปัญหาของ พี่น้องชาวไทยเท่าที่ควร

    อ่านในการประชุม

  • ก็ขอบคุณคำตอบจาก ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการค่ะ แต่ที่ตอนแรกที่ดิฉันอยากจะถามกับท่านรัฐมนตรีว่าการเลย ก็เพราะว่าในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่มีคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน คุณแพทองธารเป็นรองประธาน ท่านรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว เป็นเลขาธิการคณะกรรมการนี้ ดิฉันเลยคิดว่าท่านน่าจะตามหนังสือฉบับนี้ได้ อย่างไรก็ตามดิฉันขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี ช่วยว่าการที่สละเวลามาตอบคำถามด้วยตัวเองในวันนี้ ดิฉันยืนยันนะคะว่าดิฉันจะเป็น ฝ่ายค้านที่ไม่ได้สักแต่จะค้านท่านอย่างเดียว อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีดิฉันพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ว่าสิ่งที่ท่านยังทำบกพร่องอยู่ ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ของดิฉันที่จะตรวจสอบท่าน ไปถึงที่สุดนะคะ ท่านมั่นใจได้เลยว่านโยบายบัตรใบเดียวนี้ดิฉันจะตามต่อไปถึงเฟส ๒ เฟส ๓ หรือจนกระจายไปทั้งประเทศที่ท่านบอกแน่นอนค่ะ เนื่องจากเวลาเหลือดิฉันขอส่งท้าย ข้อเสนอแนะเล็กน้อยค่ะ ดิฉันพอจะทราบอยู่ว่ารัฐบาลคิดจะทำคราวเดียวเพื่อมาจัดการ ระบบข้อมูลสุขภาพของคนไข้ ข้อนี้ดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งนะคะ คราวเดียวมีโอกาสเสี่ยง ในการรั่วไหลของข้อมูลเป็นอย่างมาก อย่างกรณีนายเนียที่เกิดขึ้นมาแล้ว ดิฉันหวังว่า พวกท่านจะได้ถอดบทเรียนจากสิ่งนั้น รัฐไทยกำลังคิดไปผิดทาง ข้อมูลผู้ป่วยเป็นของผู้ป่วย ที่เขาต้อง Consent ให้เราเชื่อมต่อ ข้อมูลผู้ป่วยไม่ใช่ข้อมูลของโรงพยาบาล ไม่ใช่ข้อมูล ของรัฐ ไม่ใช่ข้อมูลของท่าน เพราะฉะนั้นช่วยรักษาความลับของผู้ป่วยด้วยระหว่างการ เชื่อมต่อ อีกอย่างหนึ่งก็คือมีบริษัทมากมายที่ทำการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ บริษัท Startup รายย่อยมีเป็นหลักร้อยบริษัทเลยค่ะ ถ้าท่านเห็นแก่ความสำคัญต่อการจัดการข้อมูลจริง ๆ ดิฉันขอให้ท่านเปิดให้พวกเขา Service Provider เหล่านั้นเข้ารับการแข่งขันอย่างเสรีด้วยค่ะ มิใช่ Lock Spec ไว้ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งอย่างที่ท่านกำลังทำอยู่อย่างเห็นได้ชัดใน ๔ จังหวัด นำร่องของท่านค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • และสุดท้ายนี้ สุดท้ายจริง ๆ ค่ะ ก่อนที่ท่านจะเปลี่ยนความคิดของนโยบาย ๓๐ บาท รักษาทุกโรคที่คุณหมอสงวนคิดมาตอนแรกเพื่อเป็น Safety Net ช่วยชาวบ้าน ช่วยคนจน มาเปลี่ยนเป็น ๓๐ บาท Plus Version พรรคเพื่อไทยปัจจุบันที่เป็นนโยบาย ประชานิยม โดยมิได้คำนึงถึงประชาชนอยู่ในสมการนี้เลย ดิฉันขอให้ท่านคิดให้รอบคอบด้วย หรืออย่างน้อยท่านเตรียมระบบให้เรียบร้อยก่อนค่อยเริ่มปฏิบัติการก็ได้ ท่านจะรีบไปทำไม ถ้ารีบแล้วมันประสิทธิภาพน้อยลงค่ะ นี่หรือคะพรรคที่คิดใหญ่ทำเป็น

    อ่านในการประชุม

  • ได้ค่ะ โอเคค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • เรื่องแรก คือเรื่องของ กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไต ฟอกไต ปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายถึง ๒๒ เปอร์เซ็นต์ และผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า ๓ ปีที่แล้วอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถล้างไตทางหน้าท้องเองได้ที่บ้าน ช่วยอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนการเดินทางมาฟอกไตที่โรงพยาบาลได้มาก แต่จากประสบการณ์ในพื้นที่ เรายังขาดบุคลากรสุขภาพอาสาสมัครที่ช่วยให้ความมั่นใจให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถดูแลตนเอง ให้ล้างไตที่บ้านได้อย่างเพียงพอ หาก สปสช. ลงทุนกับการเสริมศักยภาพและจำนวน นักบริบาลกลุ่มนี้ในชุมชน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสุขภาพ ยังช่วยแบ่งเบาภาระ การเดินทางของผู้ป่วย ช่วยให้เกิดอาชีพผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน ต่อยอดมาดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มอื่น ๆ ได้อีกด้วยค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนี้กรณีผู้ป่วยตายเพิ่มสูงขึ้น ยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้อง สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคไตวายเรื้อรังอย่างจริงจัง รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบนิเวศ อาหาร การส่งเสริมป้องกันสุขภาพชุมชนอย่างครบวงจร เช่น การพัฒนาแนวหน้าสุขภาพ การทดลองจัดทำโปรแกรมสุขภาพดีมีรางวัล ดิฉันหวังว่า สปสช. จะสนับสนุนการลงทุน ในงบส่งเสริมป้องกันสุขภาพมากขึ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    อ่านในการประชุม

  • ยังมีผู้รับบริการอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มต้องการการบริการสูงขึ้นในอัตรา เดียวกัน คือผู้มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งต้องการรับการดูแลที่บ้านตามแผน การดูแลรายบุคคลมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึง ๒๒ เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ต้องการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน กลุ่มนี้ทำยอดทะลุเป้าไปเลยนะคะ ทำยอดไปถึง ๑๕๕ เปอร์เซ็นต์ จากที่ท่านตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายติดเตียงอยู่เพียง ๒๐,๑๓๕ คน แต่มีผู้รับบริการจริงถึง ๕๑,๔๔๑ คน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นความจำเป็นที่ สปสช. จะต้องสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย ในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ได้หมายเพียงแค่การมี รพ.สต. เท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการเสริม ศักยภาพเครือข่ายสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็น อสม. อาสาสังกัดภาครัฐหรือ ภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในชุมชน ผู้นำชุมชน นักบริบาล ผู้ดูแลในชุมชนที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ชมรม พระสงฆ์ แม่ชี นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งสมาชิกในชุมชน ในครอบครัว กลุ่มเหล่านี้ เป็นทุนชุมชน เป็น Social Capital ที่ สปสช. ควรสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะกิจกรรมดูแลสุขภาพส่วนใหญ่ในระยะท้ายเกิดขึ้นในชุมชนค่ะ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นความเคลื่อนไหวเรื่องกุฏิชีวาภิบาลที่ สปสช. และกระทรวง สาธารณสุขต้องการสร้างความร่วมมือกับองค์กรพุทธในวัดทั่วประเทศ ดิฉันชื่นชมในความ สร้างสรรค์และพยายามหาทางออกด้วยการอบรมพระผู้ให้การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้าย แต่ดิฉันขอสะท้อนไว้ในที่นี้ว่าลำพังการอบรมพระจำนวนมาก ๆ ไม่อาจช่วยให้พระ มีความพร้อมในการดูแลและสร้างระบบสุขภาพชุมชนได้ เราต้องการปัจจัยสนับสนุน มากกว่านั้น เช่น การมีบุคลากรที่ทำงานประสานงานระหว่างโรงพยาบาลชุมชน สามารถเป็น ครูพี่เลี้ยงได้ในระยะยาว ประคับประคองงานชีวาภิบาลในชุมชนให้เกิดขึ้นและเติบโตไปได้ ตอนนี้เราเห็นได้ชัดว่าทรัพยากรและกำลังคนใน รพ.สต. ที่ให้มายังไม่เพียงพอ คืองานงอก คนมาแต่ว่างบยังไม่มา โอกาสที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นไปได้ยากค่ะ แล้วก็แน่นอนมีบางชุมชนที่ฝ่าความไม่พร้อมมาได้ เพราะมีทุนในชุมชนที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ และทำงานล่วงหน้ามาก่อนบ้าง แต่ถ้าจะให้การดูแลระยะท้ายในชุมชนมีความพร้อมหลาย ๆ ที่ และทันสถานการณ์ รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ต้องลงทุนทรัพยากรมากกว่านี้ แม้ สปสช. จะมีโปรแกรม ๒ รายการ สนับสนุนการดูแลในชุมชนคือ๑. กองทุนส่งเสริม สุขภาพระดับท้องถิ่น และ ๒. การชวนหน่วยงานเอกชนมาจัดบริการรักษาฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ร่วมกันตามมาตรา ๓ ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เครือข่ายการดูแลใน ชุมชนนั้น ยากที่จะเข้าถึงการสนับสนุนโปรแกรมทั้ง ๒ ของ สปสช. นี้ ดิฉันขอให้ สปสช. พิจารณา ๓ ข้อ คือ ๑. ลดอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน ๒. เพิ่มส่วน แบ่งงบประมาณในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ๓. เพิ่มความเข้าใจ รับฟัง ข้อกังวล ข้อจำกัดและความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชนด้วย

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ดิฉันขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ รวมทั้งเครือข่ายการดูแลในข่ายใยของ สปสช. ดิฉันยังขอเชิญชวนให้กองทุนประกันสังคม และกองทุนข้าราชการนำเอาแนวทางการดูแลของ สปสช. ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย เรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย ขอบคุณค่ะ

    อ่านในการประชุม