นายร่มธรรม ขำนุรักษ์

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนการออม แห่งชาติ หรือ กอช. ท่านประธานครับ กองทุนการออมแห่งชาติถือเป็นกลไกหนึ่งที่ออกแบบ ให้ประชาชนได้สะสมเงินเอาไว้ใช้ในช่วงยามเกษียณ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังไม่มี ตัวช่วยของภาครัฐ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่ได้มีสวัสดิการบำนาญหรือสวัสดิการ ใด ๆ จากภาครัฐสามารถเก็บออมได้ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี และเมื่ออายุ ๖๐ ปี ก็จะมีการจัดสรร เงินบำนาญนี้ให้ในช่วงหลังเกษียณ โดยรัฐจะมีส่วนช่วยสมทบเงินออมให้ประชาชน ยกตัวอย่าง เช่น หากผมเริ่มออมเงินกับกองทุนนี้ตอนอายุ ๒๕ ปี เดือนละ ๗๕๐ บาท รัฐก็จะสมทบเงินให้อีกส่วนหนึ่ง และเมื่อผมมีอายุ ๖๐ ปี ผมก็จะได้เงินบำนาญประมาณ ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน โดยจำนวนเงินจะมากน้อยก็อยู่ที่เงินจ่ายสะสมของผมและระยะเวลา การออม ซึ่งผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการชื่นชมว่ามีจุดประสงค์ที่ดีเพื่อส่งเสริมการออม เพื่อการดำรงชีพในยามชรา การสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต สร้างโอกาส และความเสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนกลุ่มแรงงานนอกระบบ คนหาเช้า กินค่ำ กลุ่มอาชีพเกษตรกร อาชีพค้าขาย อาชีพอิสระ ไปจนถึงนักเรียนและนักศึกษา โดยกองทุนนี้มีความสำคัญในการรองรับประเทศไทยที่ได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากกองทุนนี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมการออม ที่ดีขึ้นตั้งแต่วัยเด็กจนวัยทำงานได้ โดยปัจจุบันเรามีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ ๑๒.๘ ล้านคน เฉพาะในจังหวัดพัทลุงมีประชากร ๕๒๐,๐๐๐ กว่าคน เป็นผู้สูงอายุแล้ว ๑๐๘,๐๐๐ คน หรือคิดเป็นประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยพี่น้องประชาชนหลาย ๆ ส่วน ที่เป็นผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจน เพราะไม่มีช่องทางและไม่มีโอกาส ในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่เพียงพอ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตถือโอกาสนี้ กราบขอบพระคุณท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขออภัยที่เอ่ยนามท่าน ที่ได้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ ปี ๒๕๕๔ และขอขอบคุณผู้บริหาร กองทุนการออมแห่งชาติที่ได้ดำเนินการ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับการดำเนินการในปี ๒๕๖๕ นี้ ผมก็ขอขอบคุณทางกองทุนที่ได้มี ความพยายามในการส่งเสริมการออมที่เพิ่มยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การผลักดันให้มี การปรับเพิ่มเพดานการส่งเงินออมของสมาชิกจากเดิมไม่เกิน ๑๓,๒๐๐ บาทต่อปี เป็น ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี และมีการปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กระผมเชื่อว่ากองทุนนี้ยังสามารถทำอะไรให้ประชาชนได้มากกว่านี้ อย่างแน่นอน ก็เพราะศักยภาพของผู้บริหารกองทุนและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่สามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนากองทุน ทั้งนี้ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยผมมีข้อเสนอแนะดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. กองทุนการออมแห่งชาติหรือ กอช. ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริม ความรู้ ทักษะการวางแผนการเงิน การวางแผนการออมเพื่อการเกษียณ ไม่เพียงเฉพาะ สำหรับสมาชิก แต่บุคคลและประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชน เพื่อให้ คนไทยทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของกองทุน คือการส่งเสริมการออมเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างทั่วถึงและยั่งยืน อีกทั้งยังควรส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ทางการเงิน และรู้เท่าทันภัยการเงินทุกรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็น การช่วยส่งเสริมเกราะป้องกันทางการเงินให้กับประชาชนได้

    อ่านในการประชุม

  • ๒. กอช. ควรแก้ไขและลดเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเข้าเป็นสมาชิก ของกองทุน ควรแก้ไขให้มีคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกให้ครอบคลุมกลุ่มคน หลายช่วงวัยมากยิ่งขึ้น เช่นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและหลากหลายอาชีพมากยิ่งขึ้น โดยการขยายกลุ่มอาชีพ แม้ว่าจะเป็นอาชีพที่มีระบบบำเหน็จบำนาญในสายอาชีพของตัวเอง อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ก็ควรจะสมัครสมาชิกได้ด้วย คิดภาพตามง่าย ๆ ท่านประธานครับ คือทุกวันนี้กลุ่มพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ได้รับสิทธิประกันสังคม ก็ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ ทั้ง ๆ ที่เขาก็ควรจะเข้าถึงการออมที่ได้รับเงินสมทบ จากภาครัฐด้วย รวมถึง กอช. ก็ควรจะขยายช่วงอายุสมาชิก จากเดิมอายุ ๑๕-๖๐ ปี ควรจะ ขยายให้ไม่มีกำหนดอายุ เพื่อส่งเสริมการออมส่วนบุคคล ช่วยประชาชนวางแผนทางการเงิน ในระยะยาว และลดภาระในวัยเกษียณของประชาชนได้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. กอช. ควรจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลประโยชน์ ผลตอบแทน จากการเข้าร่วม กองทุนการออมแห่งชาติผ่านช่องทางสื่อสาร ทั้งช่องทาง Offline และ Online ให้ทั่วถึง มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติให้ครอบคลุม ทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มสมาชิกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานนอกระบบ เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และรับจ้างทั่วไป เป็นต้น โดยจากข้อมูลในรายงานนี้ ก็พบว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นกว่า ๔๔ เปอร์เซ็นต์ บางภาคก็ยังมีสัดส่วนที่เป็นสมาชิกที่น้อยอยู่ ควรจะมีสมาชิกหรือประชาชน ที่อยู่ในกองทุนนี้กระจายอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. กอช. ควรศึกษาและหากลไกใหม่ ๆ และบริการใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิด การออมของประชาชนให้ได้มากที่สุด หรือควรทำให้เกิดการออมอย่างถ้วนหน้า อาจจะ ดูตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยสมบูรณ์แล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของ กอช. ที่ต้องคิดค้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนา กองทุนนี้ให้เติบโตและขยายตัว เป็นประโยชน์กับสมาชิกและประเทศชาติได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่นในบางประเทศมีการออมผ่านภาษี VAT ก็คือเมื่อพี่น้องประชาชนไปซื้อ สินค้าหรือซื้อของ รัฐบาลจะต้องสะสม VAT จำนวน ๑ เปอร์เซ็นต์ ไว้ให้กับผู้ที่ซื้อของนั้น ๆ และสะสมในรูปแบบการออมไว้ให้เขาใช้จ่ายได้ในยามชรา อันนี้ผมคิดว่าเป็น Idea ที่เรา สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศเราได้เหมือนกัน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ปัจจุบันนี้ประเทศของเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายที่รัฐบาลจะต้องมีการวางแผนและออกแบบ นโยบายเพื่อบริหารจัดการดูแลและรองรับ โดยปัจจุบันก็มีกองทุนหรือระบบย่อย ๆ หลาย ๆ รูปแบบ แต่ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะมีคนหรือคณะกรรมการที่เป็นคนกลางในการจัดการรายได้ ยามชราที่มองภาพรวมและวาดภาพใหญ่ ไปจนถึงควรจะมองทิศทางในอนาคตว่าจะเป็น อย่างไร ทั้งนี้การวาดภาพใหญ่ก็เพื่อให้เรามั่นใจว่าเราจะสามารถกระจายรายได้ เพื่อช่วยเหลือให้คนที่มีรายได้ต่ำ รวมถึงมีการประกันความเสี่ยงสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ยืนยาว และจัดสรรเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันการดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐในยามเกษียณถือว่าเป็นที่น่าพอใจอยู่พอสมควรแล้ว แต่ประชาชนส่วนอื่น ๆ ล่ะครับ ส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีความพร้อมด้านการเงินเพื่อการเกษียณ เสียด้วยซ้ำ โดยสำหรับบุคคลที่ไม่มีตัวช่วยของภาครัฐ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมใด ๆ ก็มีกองทุนการออมแห่งชาตินี่ละที่เป็นอีก ๑ กลไกที่ช่วยส่งเสริมการออมเพื่อดำรงชีวิต ในยามชราที่ดีขึ้น นอกจากนี้มาตรการที่รองรับสังคมผู้สูงวัยก็มีอีกหลากหลายที่รัฐบาลยังต้องผลักดันต่อไป เช่น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้เสริม มีสุขภาพที่ดี และมีกิจกรรมยามว่าง รวมไปถึงควรจะมีสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของทุก ๆ คน เพราะสุดท้ายแล้วคำถามที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลจะมีการดูแลประชาชนที่ครอบคลุม ทั้งกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้ต่ำ คนหาเช้ากินค่ำ และประชาชนคนไทยทุกคนให้ดีขึ้น ถ้วนหน้าอย่างไร และทั่วถึงอย่างไรในยามที่พวกเขาเกษียณและถึงวัยชรา ขอบคุณ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรง ในครอบครัวประจำปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ บ้านและครอบครัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ควรมีทั้งความปลอดภัย มีความรัก มีความเข้าใจ ผมคิดว่าสถาบัน ครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคคลและพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบัน กลับพบว่ายังมีความรุนแรงในเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวที่สูง ทั้งการทำร้าย ร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งบนหน้าข่าวต่าง ๆ โดยเป็นเรื่องที่ น่าเศร้าใจและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง โดยจากรายงานนี้พบว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรง มากที่สุดส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความเข้าใจและการเคารพ ทางเพศ นอกจากนี้ครับ ช่วงอายุที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดคือเด็กและเยาวชน ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างปมในจิตใจ และในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเด็ก อาจสร้าง พฤติกรรมเลียนแบบและส่งผลกระทบต่อสังคมต่อไปได้ และจากรายงานนี้ยังพบอีกว่า ความรุนแรงเกิดมากที่สุดระหว่างสามีภรรยา ระหว่างบิดามารดากระทำต่อบุตร และปู่ย่าตายายกระทำกับหลาน สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัว ก็มีหลากหลายด้าน และสะท้อนปัญหาที่สั่งสมในประเทศนี้ ซึ่งสาเหตุมากที่สุดคือเมาสุรา และยาเสพติด รองลงมาคือสุขภาพกายและสุขภาพจิต และนอกใจ หึงหวง อีกทั้งยังมีปัจจัย อื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อมและปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นครับท่านประธาน การแก้ไขปัญหา เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน และต้องมีหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน ที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวมีความละเอียดซับซ้อน เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ใกล้ชิดกัน เกี่ยวกับ ความรัก เกี่ยวกับอารมณ์ ความอดทน เกี่ยวกับการแสดงออก และเป็นการกระทำกับคนที่ ใกล้ชิด ผมคิดว่าเราจึงต้องเข้าใจและคำนึงถึงประเด็นนี้ให้ดีครับว่าต้องแก้ไขด้วยความเข้าใจ ทั้งฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ จึงจะออกมาเป็นมาตรการได้ ผมจึงคิดว่า พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีเป้าหมายที่ดีที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยการคุ้มครอง ผู้ถูกกระทำ และเน้นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ไม่มุ่งเน้นจะลงโทษผู้กระทำผิด เพียงอย่างเดียว ซึ่งผมมองว่าสิ่งสำคัญคือต้องไม่ตีตราผู้กระทำผิดครับ แต่ต้องเปิดช่อง และเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้กลับตัวเพื่อไปรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เพื่อสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งต่อไปได้ครับท่านประธาน ผมขอขอบคุณ ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ดำเนินการจัดทำรายงานนี้ เพื่อให้เรา ได้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในประเทศของเรา พร้อมกับดำเนินการด้วยวิธี ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ท่านประธานครับ จากรายงานนี้ผมจึงมีข้อเสนอแนะ และข้อสนับสนุนผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ด้านการวางแผนคู่รักและครอบครัวนะครับ ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวต้องเริ่มต้นจากการให้ คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัววางแผนครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเตรียม ความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สภาพสังคม ให้ความรู้ในวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน ที่เหมาะสม ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันความรุนแรง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ในครอบครัว และที่พึ่งช่วยเหลือเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ด้านการสร้างทักษะ ทัศนคติ และความรู้นะครับ ผมขอให้ผลักดัน และส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ ความเคารพและความเข้าใจในความหลากหลายครับ ทั้งความหลากหลายทางเพศ ศาสนา รูปร่าง ลักษณะ ความหลากหลายทางความคิด และวัฒนธรรมเป็นต้น ไปจนถึงควรจะส่งเสริมทักษะการไม่ตัดสิน และการจัดการ ทางอารมณ์ซึ่งควรเน้นไปที่โรงเรียน สถานศึกษา และสื่อต่าง ๆ เป็นหลักครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ท่านประธานครับ ด้านสวัสดิการครอบครัว เด็ก สตรี และเยาวชน ขอให้ มีการสนับสนุนสวัสดิการที่เหมาะสม โดยเฉพาะสวัสดิการสำหรับครอบครัว เด็ก สตรี และเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ยากจนเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงในครอบครัว

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนะครับ ขอให้มีการทำงาน ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ประชาสัมพันธ์ช่องทางหน่วยงานกลางที่ประชาชนสามารถปรึกษา เรื่องปัญหาในครอบครัวอย่างทั่วถึง ทั้งการแจ้งเหตุ การคุ้มครอง การบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยาเหยื่อผู้ถูกกระทำผิดอย่างจริงจัง พร้อมกับการบำบัดผู้กระทำความรุนแรง อย่างไม่ตีตราเพื่อสร้างโอกาสที่ครอบครัวเหล่านั้นจะกลับมาเข้มแข็งได้ต่อไปอีกครั้งครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีนะครับ ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนและให้ ความสำคัญกับการมีพื้นที่และกิจกรรมสาธารณะที่ให้ผู้คนและครอบครัวได้มามีส่วนร่วม และมาใช้ประโยชน์ด้วยกันนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ด้านปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอื่น ๆ นะครับ ผมขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติด และด้านปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้นต่อไป และที่สำคัญมากครับคือพื้นที่สื่อควรมี การควบคุมและกำชับการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งในข่าวหรือในละคร เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและมองว่าเรื่องนี้คือเรื่องปกติของสังคมครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม ผมขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกท่านในการสร้างบ้าน และสร้างครอบครัวที่ปลอดภัยและมีความสุขเพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเพื่อสังคม ที่ดีและประเทศที่เข้มแข็งต่อไป ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่เคยถูกกระทำความรุนแรง ในทุกรูปแบบและผู้ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้าย และขอให้ท่านส่งเสียงออกมาครับ อย่าเก็บไว้ให้ท่านปรึกษา พูดคุยกับคนที่ท่านพึ่งได้และปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีใครควรถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ และความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขอมี ส่วนร่วมในการอภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ท่านประธานครับ ปัจจุบันพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน ถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนตั้งแต่ตื่นทำมาหากิน จนหลับนอน แต่ปัจจุบันในประเทศเราก็ยังเผชิญปัญหาด้านพลังงานและไฟฟ้า โดยพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ของผมในจังหวัดพัทลุงได้สะท้อนความเดือดร้อนทั้งค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนจำเป็นต้องเผชิญอยู่กับ สภาพการณ์เช่นนี้เพราะไม่มีทางเลือกที่มากนัก นอกจากนี้อีก ๑ ปัญหาที่ใหญ่ถือเป็น ขั้นวิกฤติของโลกในยุคปัจจุบัน คือปัญหาภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เกิดมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้โลกของเราร้อนและรวน ยิ่งขึ้น โดยเมื่อดูข้อมูลก็พบว่าภาคการผลิตไฟฟ้าและการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คิดเป็นประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดภายในประเทศเรา และเมื่อดูข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเพียงอย่างเดียวพบว่า ในปี ๒๕๖๕ สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการผลิตไฟฟ้าถึง ๓๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคขนส่ง ๓๒ เปอร์เซ็นต์ ภาคอุตสาหกรรม ๒๗ เปอร์เซ็นต์ ขณะในระดับโลกประเทศไทยของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ ๑๙ ของโลก ผมคิดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. มีความรับผิดชอบและหน้าที่ ที่สำคัญในการกำกับกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติของไทย เพื่อให้เกิดการบริการ ด้านพลังงานที่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนและเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมขอย้ำว่า นี่ก็เป็นไปตามแนวทางของ กกพ. นะครับ ทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมถึงเป้าหมายในการกำกับ กิจการพลังงาน ในแผนปฏิบัติงานด้านการกำกับกิจการพลังงานระยะที่ ๔ ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ ซึ่งท่านมีวิสัยทัศน์ในการกำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคง ทางด้านพลังงานของประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานด้านอัตราค่าบริการ ให้มีความเป็นธรรม ส่งเสริมการประกอบกิจการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม การใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบของพลังงานสะอาด แต่ท่านประธานครับ กระผมเชื่อว่า กกพ. ได้ทำงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามจากรายงานนี้และความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น ผมขอตั้งคำถามว่าในระยะที่ผ่านมา กกพ. ประสบความสำเร็จหรือไม่ ทั้งในเรื่องปกป้อง ผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานด้านอัตราค่าบริการให้มีความเป็นธรรม และการส่งเสริม การใช้พลังงานหมุนเวียนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากรายงานนี้และจากปัญหาด้านพลังงานที่ผมกล่าวไปข้างต้น ผมจึงมีข้อสอบถาม และข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ด้านค่าไฟฟ้า ผมขอสอบถามว่าทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะมีแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานต่อไปอย่างไร เพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้า ที่เป็นธรรมให้กับประชาชนในระยะยาว ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ กกพ. ให้ความสำคัญ และผมคิดว่านี่คือความเดือดร้อนของคนไทยทั้งประเทศ โดยผมและพรรคประชาธิปัตย์ เรามีความเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณายกเลิกแก้ไขหรือทบทวนค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังควรกำหนดระดับกำลังการผลิตสำรอง ที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันผมอยากทราบว่าการผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับที่สูงกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นจริงผมคิดว่าการสำรองไฟฟ้าขนาดนี้เกินกว่า มาตรฐานและความเหมาะสมที่ควรอยู่ในระดับ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ไปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการแข่งขันและควรกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชน และสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศให้มีความเหมาะสม และปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้า ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด อยากสอบถามว่า ทาง กกพ. จะมีแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานต่อไปอย่างไร เพื่อเพิ่มสัดส่วน แหล่งพลังงานเหล่านี้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งนี่ก็เป็นอีก ๑ ประเด็นที่ กกพ. ให้ความสำคัญ อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากข้อมูลของ กกพ. ชี้ว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในระบบแยกตามเชื้อเพลิงในปี ๒๕๖๕ พบว่าส่วนใหญ่คือก๊าซธรรมชาติ ๕๓ เปอร์เซ็นต์ นำเข้า ๑๖ เปอร์เซ็นต์ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพียง ๑๐.๑๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยผมคิดว่าเราจะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเรือน หรือ Solar Rooftop ในระดับครัวเรือน และควรจะมีการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งาน กลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน นอกจากนี้ผมเห็นว่าเราควรจะต้อง ส่งเสริมพลังงานลม ระบบแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า ระบบการดักจับคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและการใช้ไฟฟ้าได้ มหาศาล

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขอให้ทาง กกพ. พิจารณาจัดสรรเงินทุนกองทุนนี้ เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ให้โรงเรียน สถานศึกษา สถานพยาบาล และชุมชนที่ขาดแคลนไฟฟ้า หรือพื้นที่ห่างไกล ในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของผมในหมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๙ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง มีชาวบ้านอาศัยกว่า ๓๕ หลังคาเรือน แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ผมขอให้ทาง กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของทางสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนผู้บริโภค ที่มีความเป็นอิสระที่ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าและพลังงานแพง เพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้พลังงานเป็นปัจจัยที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการต่อไป เพื่อค่าไฟฟ้าและพลังงาน ที่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลักดันพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ไข ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาสิ่งแวดล้อม ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์

    อ่านในการประชุม

  • ลำดับแรก ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตนะครับ เบื้องต้น ๒ รายคือนายอรัญ สังข์รักษ์ และนายฉัตรชัย ประเสริฐ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ สะพานถล่มลาดกระบัง ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคมที่ผ่านมาหนึ่งในผู้เสียชีวิต นายฉัตรชัย ประเสริฐ เป็นวิศวกรโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ท่านนี้เป็น คนพัทลุง เป็นคนบ้านเดียวกับผม และคนพัทลุงอีกหลาย ๆ คนได้เข้ามาทำงาน รับราชการ มาอยู่อาศัย มาทำงานในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากครับ การจากบ้านมา เพื่อทำงานดูแลครอบครัวและรับใช้สังคม การสูญเสียในครั้งนี้จึงเป็นการสูญเสียของ วิศกรมือดีในแวดวงก่อสร้าง เป็นการสูญเสียบุคคลที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ที่ต้องรับผิดชอบทั้งลูก ภรรยา และครอบครัว ในนามของตัวแทนของคนจังหวัดพัทลุง ผมขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียครั้งนี้ครับ และนอกจากนี้ผมขอแสดงความเห็นใจ ไปถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ท่านประธานครับ เหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัย ต่อประชาชนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพมหานครและอีกหลาย ๆ แห่ง ทั่วประเทศไทย ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา ท่านประธานครับ เกิดอุบัติเหตุการก่อสร้าง เป็นข่าวใหญ่ ๆ แล้วอย่างน้อย ๕ ครั้ง เหตุหลัก ๆ ที่เป็นข่าวดัง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ใน ถนนพระราม ๒ นอกจากเหตุที่ลาดกระบังแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เกิดเหตุจุดสร้างทางด่วนตรงข้ามศาลเจ้าแม่งู ถนนพระราม ๒ เขตบางขุนเทียน เกิดเหตุคานปูนตกทับคนงานเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เกิดเหตุแผ่นปูน สะพานกลับรถที่อยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุงหล่นลงมาทับรถยนต์หลายคันบนถนนพระราม ๒ ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑ ราย และอีกหลาย ๆ รายเหตุการณ์ ท่านประธานครับ จากกรณีนี้ผมขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลของ ท่านดอกเตอร์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งท่านเป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ท่านได้ตั้งคำถามและเสนอแนะ ผ่านช่องทาง Social Media และช่องทางสื่อถึงการวิบัติของโครงการก่อสร้างทางยกระดับ อ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยตั้งคำถามในการหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าต้องพิสูจน์ด้วยหลักวิศวกรรม อย่างแรกคือต้องหาสาเหตุว่าคานร่วงหล่นมาได้อย่างไร อาจจะเกิดจากอุปกรณ์ หรือกระบวนการทำงานที่ผิดพลาดหรือไม่ ด้านที่ ๒ ทำไมเสาตอม่อถึงขาดสะบั้น อาจจะ เกิดจากเหล็กเสริมเพียงพอหรือไม่ หรือคอนกรีตรับน้ำหนักกำลังได้หรือไม่ ๓. เสาเข็ม ทรุดตัวหรือไม่ อาจจะเกิดจากเสาเข็มมีความบกพร่องรับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบหรือไม่ และก่อนหน้านี้นะครับ คุณสุชัชวีร์ก็ได้แสดงความเห็น ความห่วงใยจากโครงสร้างโครงการ สร้างสะพานข้ามถนนอ่อนนุช เขตลาดกระบัง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เห็นหลายปัญหาชัดเจน จากโครงการนี้นะครับ ๑. ก็คือมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานในพื้นที่ อาจจะไม่มีแนวป้องกัน ที่เพียงพอที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของหล่น ทำให้ประชาชนเดือดร้อนถึงชีวิต ๒. อาจจะเห็นปัญหาของถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ๓. เป็นปัญหาที่ทำให้รถติดสาหัส เพราะการก่อสร้างในพื้นที่บางช่วง ก่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องคืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้ นอกจากนี้คุณสุชัชวีร์จากที่ลงพื้นที่ ตรวจสอบการวิบัติของหลาย ๆ โครงสร้างสะพานก็มักจะเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานกรณี ดังนี้นะครับ ๑. นั่งร้านคนงานพัง เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือไม่ได้ค้ำยัน กับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง ๒. ไม้แบบรองรับ การเทคอนกรีตเสาและคานพังเพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือเทผิดจังหวะ ทำให้ไม้แบบเอียงพังหรือเสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกินก็สามารถพังลงมาได้ ๓. คานหล่น อาจจะเกิดเหตุคานหล่นขณะติดตั้ง เนื่องจาก Crane ยกหรือหล่นขณะวางพาด บนเสาหลายครั้งหล่นลงมาใส่รถที่สัญจรอยู่ข้างล่าง ๔. Crane ล้ม อาจจะเกิดบางกรณีที่ใช้ Crane ไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก บ่อยครั้งพลิกคว่ำเป็นอันตราย ทั้งคนขับ Crane และคนงานในพื้นที่ ท่านประธานครับ เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง สะพานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย ผมจึงมีข้อเสนอแนะ ๓ ข้อเสนอแนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อันดับแรก ผมขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับฟังข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ของท่านดอกเตอร์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งท่านเป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เกี่ยวกับวิบัติการของโครงสร้าง ทางยกระดับอ่อนนุชและลาดกระบังในครั้งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ผมขอให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครคำนึงว่าในการทำงานก่อสร้าง สะพานต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ต้องทำงานตามมาตรฐานและความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องยากนะครับ ที่เราจะต้องป้องกันอุบัติเหตุ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นนะครับดีกว่ามาแก้ทีหลัง หลายอย่างไม่สามารถทดแทนได้ โดยเฉพาะ เรื่องชีวิตของประชาชน รวมไปถึงอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้นะครับ ขออนุญาตท่านประธานอีกนิดเดียวครับใกล้เสร็จแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้าง ถนนพัง ถังดับเพลิงระเบิด ทางเลื่อนที่ชำรุด และอุบัติเหตุสะพานล่มในครั้งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายในทรัพย์สินอย่างเต็มที่ ทราบว่านายฉัตรชัย ประเสริฐ เป็นวิศวกรของโครงการ เป็นคนพัทลุงและเป็นเสาหลักของครอบครัวที่มีบุตรชาย ๒ คน วัย ๖ ปี และ ๑๓ ปี ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพครับ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พื้นที่อำเภอกงหรา บางแก้ว ตะโหมด ป่าบอน และปากพะยูน พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาตนำปัญหา ของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ก่อสร้าง ปรับปรุงไฟจราจรทางแยกบนถนนเอเชียทุกแยกในพัทลุง ซึ่งมีปัญหาทำให้ ผู้ใช้ถนนประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแยกโคกทราย แยกตลาดป่าบอน ห้วยทราย แม่ขรี และแยกบางแก้ว

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างถนนสายเอเชียในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก ทำให้การสัญจรไม่สะดวกเป็นปัญหาทั้งการขนส่งนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และมีผลทำให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายเพราะเป็นเส้นทางไปสนามบิน เป็นเส้นทางไป ท่าเรือน้ำลึก และเป็นเส้นทางเข้ากรุงเทพเพื่อการสัญจร และทำให้การท่องเที่ยวและร้านค้า ได้รับผลกระทบครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้มี การจัดสร้างสนามกีฬาประจำทุกอำเภอในจังหวัดพัทลุง และควรจะมีสนามกีฬาระดับตำบล ให้กับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เขาหัวช้าง คลองเฉลิม วังใหม่ เพราะพี่น้อง คนพัทลุงเป็นคนชอบเล่นกีฬาครับ และสนามเหล่านี้สามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ ของส่วนราชการและของพี่น้องประชาชนได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ เพื่อเพิ่มงบประมาณให้กับกรมที่ดินในการพัฒนาเทคโนโลยี ให้กับสำนักงานที่ดินทุกสาขา และเพิ่มสายเดินสำรวจเพื่อจัดทำโฉนดในพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น ควนโนราห์ ควนพระ ทางอ้ายมุ้ย หาดไข่เต่า ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาเช่นนี้มีอยู่ทั่วประเทศ ครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลประจำ ตำบล ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งเรื่องอาคารสถานที่ รถขนส่งผู้ป่วย เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเงินตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ อสม. ให้กับ รพ.สต. ทุกแห่ง และขอให้ก่อตั้ง รพ.สต. ในพื้นที่ อบต. หนองธงเพิ่มอีก ๑ แห่ง ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่มี รพ.สต. เพียงแห่งเดียวไม่เพียงพอให้บริการประชาชน ด้านสาธารณสุข

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในพื้นที่หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๙ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด ซึ่งมีชาวบ้านอาศัยกว่า ๓๕ หลังคาเรือน แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับแรกครับ ผมขอขอบคุณทางรัฐบาลที่ได้คำนึงถึงการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี เพราะเป็นปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญระดับชาติ และมีการหลอกลวง ทั้งทางโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่า Call center หรือทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อีกมากมาย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนที่ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็น ปัญหาทั้งด้านความมั่นคงและเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันมีข่าวอาชญากรรม Cyber ที่น่ากังวลอยู่บ่อยครั้งครับ โดยทางตำรวจ Cyber ได้รายงานสถิติการหลอกลวง ที่ผู้เสียหายแจ้งความ Online ตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ มีจำนวน คดีทั้งสิ้น ๒๙๖,๒๔๓ คดี เท่ากับมีสถิติการแจ้งความประมาณ ๕๒๕ คดีต่อวัน มูลค่า ความเสียหายเกือบ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท เฉลี่ย ๗๔ ล้านบาทต่อวัน มีผู้เสียหายสูงสุดถึง ๑๐๐ ล้านบาท จึงเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤติครับ ส่วนรูปแบบการโกงของมิจฉาชีพ มีหลากหลายรูปแบบ เช่น มีการหลอกขายสินค้า Online มีการหลอกให้ทำงานเสริม ผ่านช่องทาง Online มีการหลอกให้กู้เงิน มีแก๊ง Call center ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว มีการหลอกให้ลงทุน และหลอกให้รักและลงทุน และมีวิธีอื่นอีกมากมาย มากไปกว่านั้นครับ เมื่อผู้กระทำผิดได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้ว ก็มีการโอนเงินของผู้เสียหายต่อไปยังบัญชีอื่น ๆ ที่เป็นผู้ร่วมขบวนการเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าบัญชีม้า ซึ่ง พ.ร.ก. นี้มีส่วนช่วย คุ้มครองประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยทางการเงิน โดยช่วยลดขั้นตอนให้เหยื่อ สามารถแจ้งธนาคารให้ระงับบัญชีต้องสงสัยได้โดยตรงอย่างรวดเร็ว และมีผลบังคับโทษ บัญชีม้าและเบอร์มือถือม้า อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ผมคิดว่าสาระสำคัญของปัญหา อาชญากรรมทางเทคโนโลยีคือการคืนทรัพย์ให้ประชาชนที่ถูกหลอกอย่างรวดเร็ว เพราะสำหรับผู้เสียหายนอกจากต้องการให้มิจฉาชีพได้รับโทษแล้ว ก็ต้องการได้รับทรัพย์สิน หรือเงินที่เสียหายคืน โดยการดำเนินคดีที่กฎหมายเปิดช่องให้ได้รับเงินคืนที่เสียไปจาก การถูกหลอกลวงคือการร้องทุกข์ที่เป็นมูลฐานความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมาย อาญา ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายต้องไปกล่าวกันในทางแพ่งต่อไป โอกาสที่เหยื่อ หรือผู้เสียหายจะได้รับเงินคืนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เกิดความล่าช้า หรืออาจไม่ได้เงินคืนเลย ซึ่งประชาชนที่โดนหลอกไปได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก การโดนหลอก ๑๐,๐๐๐ บาท หรือ ๒๐,๐๐๐ บาท บางท่านอาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นั่นอาจจะเป็นเงินทั้งหมด ที่เขามีอยู่ก็ได้ และเมื่อชาวบ้านถูกหลอกมากขึ้นจากอาชญากรรม Cyber ก็ซ้ำเติม ความยากจนเข้าไปอีก การคุยเรื่องกฎหมายนี้ นี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมมีความเห็นชอบที่จะมี พ.ร.ก. หรือกฎหมาย ด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่มีคำถามติดใจบางประการดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ทำไมจึงเป็น พ.ร.ก. ครับ ผมเข้าใจดีครับว่าการออก พ.ร.ก. เป็นไปเพราะ ความเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ พ.ร.บ. มีความละเอียดชัดเจนและรอบคอบมากกว่า ซึ่งต้อง ผ่านความเห็นชอบของสภาอย่างละเอียด มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการที่มีทั้ง สส. และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ผมเห็นว่าเรื่องที่สำคัญเช่นนี้หากเป็น พ.ร.บ. จะเหมาะ ที่สุดครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. พ.ร.ก. นี้บังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขอสอบถามว่า สามารถป้องกันปราบปรามอาชญากรรม Cyber ได้มากน้อยแค่ไหน ตัวเลขผู้ได้รับ ผลกระทบลดลงหรือไม่ เพราะเท่าที่ผมประสบนะครับ ยังมีแก๊ง Call center โทรศัพท์มาหา บ่อยครั้ง และล่าสุด Page ตำรวจ Cyber เองก็ยังถูกมิจฉาชีพปลอม Page เพื่อใช้เป็น เครื่องมือหลอกผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง ซึ่งหลอกให้โอนเงินโดยอ้างเพื่อจะช่วยดำเนินการติดตาม หรือกู้คืนทรัพย์ที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ นี่เป็นการหลอกซ้ำหลอกอีกทีครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ตามมาตรา ๑๓ ในวาระแรก ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งให้คำแนะนำ และคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากทราบว่า ขณะนี้คณะกรรมการนี้ได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีแนวทางและข้อเสนอแนะในเบื้องต้น เป็นอย่างไร เพราะผมหวังและคิดว่าคณะกรรมการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการแก้ไข ปัญหาอาชญากรรม Cyber ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอถามว่าจะมีวิธีการ กระบวนการคืนเงินให้กับประชาชนผู้ที่ถูก หลอกลวงทาง Cyber อย่างรวดเร็วได้อย่างไร ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่สุดที่ผู้เป็นเหยื่อต้องการ เพราะในความเป็นจริงแล้วกระบวนการยึดทรัพย์ ติดตามทรัพย์ เกิดการล่าช้าครับ ผมขอ ยกตัวอย่างของประเทศจีนนะครับที่ได้มีกองบัญชาการที่คอย Monitor เรื่องนี้โดยเฉพาะ เจอปุ๊บก็สามารถอายัดเงินได้ปั๊บและคืนเงินได้ทันที

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอสอบถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการทำงานเชิงรุก ที่สาวไปถึง ต้นตอและมีการตรวจค้นจับกุมหรือไม่ สามารถจับมิจฉาชีพได้มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับ จำนวนคดีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากไม่มีการคืนเงินและจับต้นตอไม่ได้ ปัญหานี้คงไม่มีทางลดลง และในความเป็นจริงแล้วผู้กระทำความผิดมีหลายบัญชีม้าครับ โอนเงินไปเป็นทอด ๆ ออกไป เป็น Cryptocurrency ออกไปต่างประเทศ เราจะตามคืนเงินเหล่านี้ได้อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ผมขอตั้งข้อสังเกตว่ามาตรา ๗ ตาม พ.ร.ก. นี้ อาจถูกนำไปใช้เพื่อ กลั่นแกล้งผู้อื่นได้หรือไม่ เช่น อาจมีการแจ้งเหตุปลอมให้อายัดบัญชีเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น โดยผมขอยกตัวอย่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคล สูญหายในมาตรา ๒๙ วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าได้กระทำการแจ้งโดยสุจริตไม่ต้อง รับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิด ตามที่แจ้ง การระบุข้อความเช่นนี้ครับจะทำให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้รัดกุมและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์เพื่อป้องกันต่อผู้แจ้งที่มีเจตนาสุจริต อีกทั้งควรกำหนดความผิดสำหรับการแจ้ง ให้อายัดบัญชีจากผู้ที่มีเจตนาแจ้งโดยทุจริตเพื่อกลั่นแกล้ง ใน พ.ร.ก. นี้เพิ่มเติม

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ ท่านประธานครับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นภัย ความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนในประเทศเราเผชิญปัญหาความยากจน และปัญหาหนี้สินอยู่แล้ว และหากยังมีคนโดนหลอกโกงทาง Cyber อีกก็ซ้ำเติมความยากจน ประเทศก็ไม่มีความมั่นคง ผมคิดว่ากฎหมายนี้เมื่อมีแล้วควรบังคับใช้ให้ได้จริงอย่างมี ประสิทธิภาพ ปราบปราม จับกุม และลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างจริงและรวดเร็ว ต้องเพิ่ม บทลงโทษที่แรงกว่ากฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีแล้วต้องไม่มีใครกล้ากระทำผิดอีก แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏคือ ยังมีคนถูกหลอกทุกวัน ณ เวลานี้ ขณะที่ผมกำลังอภิปรายอยู่นี้ แก๊ง Call Center ก็ยังทำงานอยู่เช่นกันครับท่านประธาน จนกลายเป็นเรื่องปกติ ในประเทศนี้ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้เกิดต่อไปได้ อีกทั้งยังควรป้องกันและให้ความรู้ประชาชน เกี่ยวกับภัยทาง Cyber และสาระสำคัญที่สุดครับ ประชาชนต้องไม่โดนหลอกอีก และ ประชาชนที่โดนหลอกต้องได้เงินคืน ต้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไว้ให้ได้ ครับ ขอบคุณครับท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อาศัยข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ ๕๔ ผมขอเสนอญัตติด้วยวาจา เพื่อขอให้สภาพิจารณาเป็น เรื่องเร่งด่วน เรื่องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหากรณีโกดังเก็บพลุระเบิด ที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานโกดัง และโรงงาน พร้อมตั้งองค์กรด้านความปลอดภัย เพื่อส่งให้รัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการ ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับแรก ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ๑๑ ราย จากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิด ที่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ที่ผ่านมา และแสดงความเห็นใจไปถึง ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า ๓๘๙ คน ผู้ได้รับผลกระทบ ๖๘๒ ครัวเรือน รวมไปจนถึงรถ และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เสียหาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในประเทศหลายพื้นที่ทั่วประเทศครับ สาเหตุการระเบิดเบื้องต้นทราบว่าเกิดจากการเชื่อมเหล็ก ในโกดังเก็บประทัด แล้วเปลวไฟได้กระเด็นไปติดกล่องกระดาษที่เก็บดอกไม้เพลิง ที่ตั้งกองสุมไว้เป็นกองใหญ่จนระเบิด และคงมีอีกหลายสาเหตุครับที่เป็นที่มาของ โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ ท่านประธานครับ ปัจจุบันในประเทศไทยคาดกันว่ามีโรงงาน และโกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟเถื่อนเป็นจำนวนมาก หลายแห่งตั้งอยู่ในชุมชน และไม่มีมาตรฐาน เมื่อตรวจสอบข้อมูลสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยย้อนหลัง ๑๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๖๖ พบว่าเกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวแล้วมากกว่า ๒๓ ครั้ง โดยไม่นาน มานี้ก็เกิดเหตุโรงงานพลุระเบิดที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ๑๐ คน เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วนะครับ นี่พูดเฉพาะ กรณีโรงงานพลุระเบิดยังไม่รวมถึงอุบัติเหตุโรงงานอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ที่สร้างอันตรายและความเสี่ยง โดยเฉพาะไฟไหม้โรงงานที่มีข่าวแทบทุกสัปดาห์ครับ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ป้องกันเหตุซ้ำรอย ในทางกฎหมายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้พลุ ดอกไม้ไฟ หรือดอกไม้เพลิง เป็นวัตถุอันตราย โดยจัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลัก สถานประกอบการหรือโรงงานผลิตจึงต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน พร้อมกับดำเนินการ ตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกขั้นตอน โดยต้องได้รับการอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ก่อนดำเนินการใด ๆ ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ กำหนดให้นายทะเบียนท้องที่มีอำนาจสั่งการให้ผู้รับ ใบอนุญาตทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง จัดการตามความจำเป็น เพื่อความปลอดภัย กรณีที่ปรากฏว่าเป็นอันตรายต่อประชาชน รวมทั้งมีการออกหลักเกณฑ์ควบคุม และกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ด้วยการออกประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง แรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องหลักเกณฑ์การควบคุม และการกำกับดูแลผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ให้สามารถดำเนินการได้ อย่างถูกต้องที่กฎหมายกำหนด ท่านประธานครับ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รวมถึงกรณีอื่น ๆ เป็นปัญหาในเรื่องของความหละหลวมในการกำกับ และควบคุมดูแล ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการขนย้าย และกักตุนดอกไม้เพลิง จำนวนมากในพื้นที่ใจกลางชุมชน ซึ่งเชื่อว่ายังคงมีการดำเนินการในลักษณะนี้ที่หลุดรอด จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในอีกหลายพื้นที่ และจะกลายเป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ปัญหาความเชื่อมั่นของหน่วยงานรัฐในการจัดการ กับปัญหาดังกล่าว จากอุบัติเหตุโกดังพลุระเบิดที่มูโนะ จังหวัดนราธิวาส ผมจึงมี ข้อเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ ในระยะเร่งด่วนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. กรณีมูโนะ ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบที่มาของโรงงาน แห่งนี้อย่างละเอียด ทั้งใบอนุญาตโกดัง การเก็บประทัด และดอกไม้ไฟ การจำหน่าย การเคลื่อนย้าย วิเคราะห์ ตรวจสอบสาเหตุการระเบิด และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด

    อ่านในการประชุม

  • ๒. กรณีมูโนะ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ดูแล ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทรัพย์สิน สุขภาพร่างกาย และสภาพจิตใจโดยเร็ว และให้เหมาะสม กับความเสียหาย โดยให้ผู้กระทำผิดต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่งล่าสุดทราบว่าพี่น้องประชาชน มีผลต่อระดับระบบทางเดินหายใจจากฝุ่นละออง สารเคมี นอกจากนี้ยังมีปัญหานอนไม่หลับ ที่เป็นผลพวงจากเสียงดังจากเหตุระเบิด และเกิดการตกใจที่รุนแรง หรือที่เรียกว่าจิตหลอน และขอให้มีมาตรการช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคและบริโภค เนื่องจากแหล่งน้ำที่ใช้ในพื้นที่เป็นพิษ จากอุบัติเหตุในครั้งนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ในระยะกลางกรณีมูโนะขอให้รัฐบาลได้ฟื้นฟูชุมชนมูโนะกลับขึ้นมาใหม่ ตามแนวคิดการจัดรูปที่ดิน โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน กระทรวง พม. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนมูโนะ เพื่อร่วมกันจัดทำ บ้านเรือน และร้านค้าขึ้นใหม่ตามความต้องการของคนในชุมชน ออกแบบทางเข้าออก ทางเท้า พื้นที่ส่วนกลาง ไฟฟ้า และระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเกิดบ่อยขึ้นทุกปี ในพื้นที่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. กรณีทั่วไป ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจโกดังเก็บดอกไม้ไฟ หรืออาคารที่ลักลอบทุกพื้นที่ทั้งประเทศ กำชับความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัย ของโรงงานที่จัดเก็บสารเคมี และสารที่ไวไฟที่มีอยู่ให้ได้ตามมาตรฐาน และต้องออกระเบียบใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดที่ครอบคลุมถึงมาตรฐานอาคารโกดัง กำหนดระยะห่าง กับชุมชน และมีระบบการตรวจสอบที่เคร่งครัด โดยขอให้ใช้ประชาคมของหมู่บ้าน และชุมชนร่วมตรวจสอบ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ในระยะยาวกรณีทั่วไปขอให้พิจารณาเพิ่มโทษให้สูงขึ้นกับผู้ประกอบการ ที่ทำผิดกฎหมายด้านมาตรฐานโรงงาน และกับหน่วยงานที่ข้องที่หละหลวม หรือละเลย การปฏิบัติหน้าที่

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ดำเนินการให้เจ้าของกิจการ และคนงานผู้ปฏิบัติการต้องผ่าน การอบรมให้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัตถุระเบิด และมีใบอนุญาตสำหรับ ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้ตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ โดยข้อนี้เป็นข้อเสนอแนะ ของท่านศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่กำลังได้รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะผ่าน Website suchatvee.com โดยเป็นองค์กร ที่ดูแลติดตามเรื่องความปลอดภัยสาธารณะโดยอิสระ ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นกลาง มีหลักการ ทางวิชาการอย่างเคร่งครัด เหมือนเกาหลี ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เพื่อสร้างสังคมที่ ทุกคนมีความปลอดภัย โดยองค์กรนี้จะเป็นตัวแทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ถอดบทเรียนทุกภัยพิบัติสู่การป้องกันที่ยั่งยืนต่อไป สุดท้ายนี้ครับท่านประธานทั้งอุบัติเหตุ สะพานถล่มลาดกระบัง และโรงงานพลุระเบิดที่นราธิวาส รวมถึงอีกหลาย ๆ อุบัติเหตุที่ เกิดขึ้นทุกวันต่อประชาชนที่ดำเนินชีวิตของพวกเขาตามปกติ สะท้อนถึงมาตรฐานความ ปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในประเทศนี้ครับ ผมจึงเรียกร้องให้ทุกภาค ส่วนคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และผลกระทบไม่ สามารถประเมินค่าได้ โดยเฉพาะชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ต้องสูญเสียไป จึงขอส่งปัญหานี้ ให้รัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการต่อไป และขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์โกดังพลุระเบิด ที่มูโนะ จังหวัดนราธิวาสอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาต นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ผมได้รับการประสานงานจากท่าน สส. ยุทธการ รัตนมาศ ขอให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบได้รีบเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ทั้งยาง ปาล์ม และพืชอื่น ๆ แก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งปุ๋ย ยาปราบศัตรู ค่าแรง และค่าเครื่องจักร แก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด เช่น มังคุด เงาะ และขอให้มีโครงการ ประกันรายได้ให้พี่น้องต่อไป เช่น ประกันรายได้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยาง ปาล์ม และข้าวโพด

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างสนามบินพัทลุง ทราบว่า จากการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีความเหมาะสมทั้งเรื่องจำนวนผู้โดยสารและสถานที่ ก่อสร้าง จึงขอให้เร่งรัดการดำเนินการขั้นตอนต่อไป เพราะการมีสนามบินจะเป็นโอกาส ของจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การสร้าง รายได้ การขนส่ง และการเดินทางสัญจร

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่ ลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงหรือ Lagoon เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านประมง ท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แก้ไขปัญหาการตื้นเขินของทะเลสาบ แก้ไขปัญหา การประมงผิดกฎหมายเช่นไซหนอน พร้อมการก่อสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลง ทะเลสาบ และ Aquarium เพื่อรวบรวมสัตว์น้ำที่หายากในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาก่อตั้งคณะแพทย์และโรงพยาบาลแพทย์ ศูนย์เฉพาะทางในมหาวิทยาลัยทักษิณ พัทลุง ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรองรับผู้ป่วย ในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อผลิตบัณฑิตคณะแพทย์และรองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบัน มีคณะพยาบาลศาสตร์แล้ว หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อตั้งโรงพยาบาลศูนย์และคณะแพทย์ ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนลงไปได้มาก ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย และการเข้าถึงบริการได้ทันเวลา

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาก่อสร้างโครงการอาคารผู้ป่วยนอก ๖ ชั้นของโรงพยาบาลตะโหมด เพื่อให้เป็น Node รองรับผู้ป่วยใน ๖ อำเภอ Zone ใต้ของจังหวัดพัทลุง และขอให้สนับสนุน งบประมาณให้โรงพยาบาลตะโหมดจัดซื้อรถเอกซเรย์เคลื่อนที่เพื่อการบริการเชิงรุก และลดความแออัดในสถานพยาบาล

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้ท่านประธานมีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผน และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อแก้ไข ปัญหาขยะที่สถานีขนถ่ายขยะของเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว ซึ่งปัจจุบันมีขยะ ตกค้างกว่า ๒๐,๐๐๐ ตัน ขอให้พิจารณาเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากสถานีขนถ่ายขยะ เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย เพื่อการบริหารจัดการต้นทางได้ และขอให้มีการสนับสนุน งบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดการขยะต่อไป หากเป็นศูนย์กำจัดขยะแล้ว จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะได้ใน ๖ อำเภอ Zone ใต้ของจังหวัดพัทลุง ช่วยลดค่าใช้จ่าย ในการขนขยะ ช่วยลดปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมครับท่านประธาน ขอบคุณ มากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงิน ของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ในทุกด้าน ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และน้ำ อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกร ในด้านต่าง ๆ แต่เพราะเรามีปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจึงไม่สามารถแก้ไขได้ภายใน ระยะเวลาที่ผ่านมา และมีประเด็นให้ผมได้มาอภิปรายในวันนี้ ท่านประธานที่เคารพครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่สำคัญของโลก แต่ที่ผ่านมาเรายังมีปัญหาด้านการผลิตทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีหนี้สินและขาดที่ดินทำกิน อีกทั้งยังมีต้นทุน การผลิตที่สูงขึ้นทุกปีขณะที่ราคาผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ รวมทั้งยังต้องเผชิญภัยแล้ง น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร จากสภาวะข้างตนนี้ส่งผลให้เกษตรกรมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ และมีการพัฒนา ที่ไม่ยั่งยืน ทำให้เกษตรกรของไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ จึงต้องพึ่ง ความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกรซึ่งเป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งผมมองว่ามีวัตถุประสงค์ที่ดีที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในทุกปัญหาที่ประสบอยู่ ทั้งในด้านการส่งเสริมการผลิต การแปรรูป การรับรอง และพัฒนา มาตรฐานของการผลิต การตลาด ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรในยามมีภัยพิบัติ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ประเด็นที่ผมติดใจที่จะอภิปรายในรายงาน ของผู้ตรวจสอบบัญชีนี้คือเรื่องที่มติ ครม. และคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร ได้อนุมัติเงินให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปดำเนินการ แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ รวมเป็นเงิน กว่า ๒๓,๒๑๓,๘๘๐ บาท ประกอบด้วยเงินจ่ายขาด ๒ โครงการ และเงินจัดสรร ๗ โครงการ อยากสอบถามว่าขณะนี้ได้มีการจ่ายเงินให้กลุ่มเกษตรกรเหล่านั้นแล้วหรือยัง เพราะผม กังวลว่าหากยังไม่จ่ายหรือเกิดการล่าช้าก็อาจจะส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อน ต่อเกษตรกร โดยโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่สำคัญที่รัฐควรสนับสนุนอย่างยิ่ง เช่น โครงการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในการผลิตและการตลาดยังไม่ได้เบิกจ่าย ซึ่งผมคิดว่าโครงการนี้มีความสำคัญต่อรายได้ และกลุ่มของกลุ่มตัวเกษตรกรเองที่เป็นส่วนสำคัญช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้ เช่นเกษตรกรอาจจะมีเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือสามารถกู้เงินไปลงทุนในการผลิต ไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือและมีเงินปันผลในแต่ละปี ซึ่งรัฐควรเข้าไปสร้างความเข้มแข็ง ให้กับเกษตรกรทุก ๆ กลุ่ม นอกจากนี้ยังมีโครงการเลี้ยงโคเนื้อของวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองขาม จังหวัดชัยภูมิ และในชุมชนบ้านมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น โครงการเลี้ยงแพะเนื้อของวิสาหกิจชุมชน เกษตรพอเพียงประชารัฐ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และโครงการเลี้ยงแกะ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรฟาร์มฟื้นฟูบ้านคลองคตซึ่งค้างจ่าย ผมคิดว่ารัฐ ควรสนับสนุนการเลี้ยงโคเนื้อ แพะ และแกะ เพื่อทดแทนการนำเข้าโดยทั้งแพะและแกะ เป็นปศุสัตว์ที่ประเทศมุสลิมต้องการเป็นอย่างมาก และหากมีการส่งเสริมจะช่วยผลักดัน เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับอีกโครงการที่น่าสนใจคือโครงการส่งเสริมอาชีพของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มทำนาเกลือบานา จังหวัดปัตตานีที่ค้างจ่าย ทั้งนี้ผมคิดว่ารัฐบาลควรสนับสนุน การทำนาเกลือ เพราะเกลือมีมูลค่าสูงมาก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน และสามารถ พัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ แต่ในความเป็นจริง ท่านประธานครับ ปรากฏว่าการทำนาเกลือ ในประเทศนี้กลับลดน้อยลง ท่านประธานที่เคารพครับ ปัจจุบันเกษตรกรของไทยส่วนใหญ่ อยู่ในสภาพอ่อนแอและเป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐไม่ควรมองข้าม จึงต้องเร่งมาตรการเพื่อให้ เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจน ผมจึงขอเสนอให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยให้ความสำคัญ กับปัญหาเร่งด่วน และพัฒนาอย่างเป็นระบบในระยะยาว สำหรับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รัฐบาลควรดำเนินการดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ช่วยเหลือด้านรายได้และสวัสดิการแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถ ยังชีพอยู่ได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในยามที่ราคา พืชผลการเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยาง ปาล์ม และข้าวโพด เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๒. พัฒนาเกษตรกรให้มีทักษะความรู้การใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการ การประกอบการและการเงิน และทักษะต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการดำรงอาชีพเพื่อให้สามารถ แข่งขันได้ ต่อยอดให้กับเกษตรกรไปสู่การเป็นผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ ตลาดสินค้า พัฒนาทักษะเฉพาะในการหาข้อมูลสินค้า ราคา และตลาดสินค้า ทั้งในระดับ ภายในและภายนอกประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการเกษตรในระยะยาว รัฐบาล ควรดำเนินการ ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. แก้ไขปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้าน เกษตรกรรม เช่น ระบบการขนส่ง ที่ดินทำกิน และระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการของกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะเป็นพลังต่อรอง เป็นศูนย์รวมของ ความช่วยเหลือถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมให้กลุ่มมีการบริหารจัดการทั้งด้านการเงิน วัตถุดิบ และเครื่องจักร การลดต้นทุน การผลิต การจัดจำหน่าย การจัดหาตลาดรองรับ และช่วยให้มี สินค้าและบริการใหม่ ๆ ได้อย่างยั่งยืน เช่น การสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มประมงท้องถิ่น และการสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๓. การประกันภัยพืชผล เป็นโครงการที่รัฐจะต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารความเสี่ยงทางการเงินของเกษตรกรไทย โดยเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของเกษตรกรไปยังผู้ประกันภัย ซึ่งในระยะยาวยังสามารถ ช่วยลดความกดดันต่อภาระของงบประมาณของภาครัฐได้อีกด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ทั้งหมดนี้ผมจึงขอสอบถามท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง เพื่อขอทราบเหตุผล และความคืบหน้าในบางโครงการที่อยู่ในรายงานนี้ และมีข้อเสนอแนะบางประการไปยัง รัฐบาลและกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลัก ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศให้มีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ ผมทราบดีว่ารัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เพราะเรามีปัญหาที่สะสมมานาน จึงมีปัญหา ให้ผมได้มาอภิปรายในวันนี้ และขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในการแก้ไข ปัญหาด้านการเกษตรต่อไป เพราะในวันใดที่เราแก้ไขปัญหาการเกษตรได้วันนั้นคือวันที่เรา แก้ไขปัญหาประเทศได้ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ท่านประธานครับ ด้วยปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ได้รับความไม่เป็นธรรม ยังปรากฏอยู่ในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง สินค้าไม่ตรงปก สินค้าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังเผชิญของที่ราคาแพงขึ้นทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่งสาธารณะ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พลังงาน อีกทั้งยังโดนหลอกโดนโกงเงินทางโทรศัพท์ หรือทางช่องทาง Online ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น กระผมคิดว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทน ของประชาชนทั้งประเทศ ที่มีความเป็นอิสระในการช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้น ผมขออนุญาตชื่นชมทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์เรียกร้องคัดค้าน และให้ความคิดเห็น เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในประเด็นที่สำคัญ เช่น การควบรวมกิจการธุรกิจคมนาคมระหว่าง DTAC กับ TrueMove H การเข้าร่วม ความตกลง CPTPP การเข้าซื้อกิจการของ Broadband 3BB ของ AIS ค่ารถไฟฟ้าพลังงาน น้ำมันที่ราคาแพงขึ้น การให้ข้อมูลความรู้เตือนภัยที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อาชญากรรม Cyber การโกง หรือการหลอกทางโทรศัพท์ หรือช่องทาง Online สินค้า อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การรับเรื่อง ร้องเรียน แจ้งเบาะแส รับฟังข้อเสนอแนะ ให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยจากสถิติพบว่า มีเรื่องร้องเรียนแล้วกว่า ๓๑,๔๔๐ เรื่อง ในหลากหลายด้าน ทั้งด้านสินค้าและบริการ ด้านการเงินและธนาคาร ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การบริการสุขภาพ อาหารและยา เป็นต้น อีกทั้งยังได้มีการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตามข้อเสนอของรัฐบาลต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศหรือ IPCC กรณีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น ๐ และการซื้อขาย ตลาดคาร์บอนและผลกระทบ การผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน อื่น ๆ และที่สำคัญ ผมคิดว่าผลงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เสนอแนะนโยบาย และมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในหลากหลายด้าน เช่น การเสนอมาตรการแก้ปัญหา อาชญากรรม Cyber การเสนอแนะการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม การเสนอมาตรการควบคุมอาหารที่ผสมกัญชา การเสนอนโยบายด้านการส่งเสริม ความปลอดภัยการใช้ถนน เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ตามรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ผมขอชื่นชมที่มีข้อมูลที่ครอบคลุมนะครับ ทั้งเป้าหมายองค์กร แผนปฏิบัติงาน ผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค ไปจนถึงรายงานทางการเงิน และส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญมากก็คือข้อเสนอแนะในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุม หลากหลายประเด็นทั้ง ๘ ด้าน จากรายงานนี้ผมมีข้อสนับสนุนและข้อเสนอแนะให้ทาง สภาองค์กรผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอสนับสนุนให้มีการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ปี ๒๕๒๒ ให้กำหนดสิทธิผู้บริโภคให้เท่าเทียมสิทธิผู้บริโภค สากลและเท่าทันกับปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น สิทธิที่จะดำรงอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย สิทธิในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนทุกกลุ่ม สิทธิในการส่งเสริมเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน และสิทธิในการซ่อมแซมหรือ Right to Repair นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ผมขอเสนอแนะและสนับสนุนให้สภาองค์กรผู้บริโภคและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันสิทธิของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรม Cyber และการโดนหลอก ทาง Online เร่งมาตรการจัดการ Platform ตลาดสินค้า Online ควบคุมผู้ขายสินค้า ให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย เร่งแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center และข้อความสั้น หลอกลวงทางการเงิน ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ขอให้เร่งผลักดันการขนส่งมวลชน และยานพาหนะที่คิดค่าบริการที่เป็นธรรมและทุกคนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะค่ารถไฟฟ้า และค่าเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งสมควรที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าเดินทางที่คำนึงถึง ค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนในประเทศด้วย นอกจากนี้ยังขอให้เร่งผลักดันการขนส่งมวลชน และยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสภาพ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะยานพาหนะไฟฟ้า ขอให้เร่งผลักดันให้เกิดระบบตั๋วร่วม หรือว่าระบบบัตรใบเดียวที่สามารถใช้กับขนส่งมวลชนได้หลากหลาย ทั้งทางถนน ทางราง และทางเรือ ด้านสินค้าและบริการที่ยั่งยืน ขอให้เร่งตรวจสอบและป้องกันสารพลาสติก และสารพิษในอาหารและเครื่องดื่ม เร่งส่งเสริมสินค้าที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งแหล่งที่มา การผลิต และการกำจัด ที่ต้องคำนึงถึงด้านทรัพยากร ธรรมชาติ ด้านมลพิษ และด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เร่งควบคุมสินค้าที่ทำให้เกิด มลพิษและขยะสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เกินความจำเป็น โดยสนับสนุนให้สินค้าต้อง Recycle ได้ง่าย เร่งผลักดันหลักการขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต หรือเรียกว่า Extended Producer Responsibility ทั้งในเรื่องการออกแบบ การกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บ รวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับไปใช้ใหม่ และการบำบัดสิ่งแวดล้อม เร่งผลักดันให้เกิดสิทธิ ในการซ่อม หรือเรียกว่า Right to Repair สนับสนุนให้เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ต้องสามารถซ่อมได้ง่ายและมีอะไหล่สำรองเปลี่ยนได้ คืนได้ ด้านพลังงานและด้านสิ่งแวดล้อมนะครับ ขอให้เร่งผลักดันให้เกิดค่าไฟฟ้า น้ำมัน และพลังงานที่เป็นธรรม เร่งสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ในระดับครัวเรือน เร่งผลักดันและสนับสนุนสินค้าที่ Carbon ต่ำ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย การลด Carbon สุทธิเป็น ๐ โดยเร็วที่สุด เร่งผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการในการแก้ไข ปัญหาและการจัดการกับขยะในทุกประเภท ทั้งขยะพลาสติก ขยะอาหาร ขยะอันตราย และขยะประเภทอื่น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ผมขอเสนอแนะและสนับสนุนให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณ ดำเนินงานของสภาผู้บริโภคอย่างเป็นระบบที่มีความสม่ำเสมอทุกปี เพื่อความต่อเนื่อง ในการดำเนินงาน เพื่อความสำเร็จ และความเป็นอิสระในการทำงานคุ้มครองของผู้บริโภค ภาคประชาชน สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ กระผมขอฝากขอสนับสนุนและข้อเสนอแนะ ทั้งหมดนี้ผ่านท่านประธานไปยังสภาองค์กรของผู้บริโภค และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณารับฟังข้อเสนอแนะ และให้ความร่วมมือกับทางสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อไป และขอเป็นกำลังใจในการทำงานขององค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิและเป็นที่พึ่ง ของผู้บริโภค เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขออภิปราย ให้ความเห็นต่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ ๑๘ โดยในส่วนของรายงาน รอบเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ เป็นรายงานรอบสุดท้ายของแผนปฏิรูปประเทศแล้ว ซึ่งผลการดำเนินการมีทั้งส่วนที่เป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีในส่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข และพัฒนาต่อไป ทั้งนี้เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ กระผมขออนุญาตอภิปรายในประเด็นด้านทรัพยากร ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับผลจากการดำเนินการตามรายงานนี้และได้มี ข้อเสนอแนะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการต่อไป ท่านประธานครับ ปัจจุบันประเทศและโลกของเราเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ อยู่ ๓ ด้าน นั่นก็คือ ปัญหาโลกร่อยหรอ โลกเลอะ และโลกรวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา ดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ปัญหาโลกร่อยหรอ หรือปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดจากการใช้ทรัพยากรเกินขนาดทั้งบนบกและในทะเล อีกทั้งยังเผชิญปัญหาสายพันธุ์ รุกรานต่างถิ่น ส่งผลให้ทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศเราลดลงทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทั้งด้านอาหาร น้ำ และด้านอื่น ๆ โดยปัญหานี้ได้มีการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การจัดทำร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงแผนที่แนวเขต ที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือ One Map การจัดทำ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ปี ๒๕๖๑ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในระดับโลกเช่น ข้อตกลงที่จะมุ่งปกป้องแผ่นดินและผืนน้ำ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของโลกภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลาย ทางชีวภาพ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทะเล อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน จากการชี้วัด พบว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติของไทย ปี ๒๕๖๕ อยู่ที่ ๓๑.๕๙ เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากปี ๒๕๖๔ ที่มีอยู่ ๓๑.๖๔ เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่าปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนพบมากขึ้น ๒ เท่า จากปีก่อนหน้า ขณะที่ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยลดลง โดยสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของไทย ปี ๒๕๖๕ มีค่าดัชนีอยู่ที่ ๓๘.๑ อยู่ในอันดับที่ ๑๐๘ จากทั้งหมด ๑๘๐ ประเทศซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย และผลการประเมินดัชนีคุณภาพมหาสมุทร ปี ๒๕๖๕ มีคะแนนอยู่ที่ ๖๙ คะแนนซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย จากปัญหาดังกล่าวนี้ผมขอเสนอ ให้มีมาตรการในการอนุรักษ์ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เน้นการฟื้นฟูและมีช่วงที่ปล่อยให้ธรรมชาติ ได้ฟื้นฟู แก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ป่า และการประมงผิดกฎหมายหรือเกินขนาด ให้ได้อย่างยั่งยืน เน้นการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และมาตรการให้ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกับการแก้ไขปัญหาและจัดสรรที่ดินทำกิน ของพี่น้องประชาชนที่เป็นธรรม และจัดทำแนวเขตป่าให้แล้วเสร็จครับ

    อ่านในการประชุม

  • ด้านที่ ๒ ด้านปัญหาโลกเลอะ หรือปัญหาด้านมลพิษ ทั้งมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และมลพิษในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งบนบก ในแหล่งน้ำและทะเล ซึ่งเป็นผล จากการผลิต การใช้ การปล่อยของเสียที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อสิ่งมีชีวิต สุขภาพและสภาพแวดล้อมของพี่น้องประชาชน ปัญหานี้ได้มีการดำเนินการ ตามแผนปฏิรูปประเทศ และตามยุทธศาสตร์ชาติเช่น การจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการ ขยะมูลฝอยของประเทศ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๔ การออกประกาศเรื่องห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของกระทรวงพาณิชย์ การผลักดัน Model เศรษฐกิจ BCG การจัดทำแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 การสนับสนุนมาตรการทางภาษี รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในระดับโลกเช่น เป้าหมายการพัฒนา อย่างยั่งยืน ด้านน้ำสะอาด ด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ด้านเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ความตกลงของอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน สนธิสัญญาพลาสติก แห่งสหประชาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ในความเป็นจริงพบว่า ขยะก็เพิ่มขึ้นทุกวัน และส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 ที่ทำให้มีขยะเพิ่มขึ้น จากการ Delivery อาหาร การ Shopping Online และขยะติดเชื้อ เป็นต้น ขณะที่ปริมาณ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่วนใหญ่มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ ผมขอเสนอให้มี มาตรการทั้งการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางและปลายทางครับ ต้นทางคือการควบคุมแหล่งกำเนิด เร่งลดการปล่อยมลพิษ ลดการสร้างขยะประเภทต่าง ๆ ลดและหยุดการนำเข้าขยะ พร้อมต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ Recycle ได้ ไปจนถึง การจัดการกับมลพิษและขยะอย่างเป็นระบบ เน้นการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ผลักดัน ขนส่งมวลชนและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และที่สำคัญครับ เราจะต้องผลักดันกฎหมาย ที่เกี่ยวกับด้านอากาศสะอาดให้มีการรายงานและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน มาตรการและกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติก และการสร้างขยะอย่างจริงจัง เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ด้านที่ ๓ สุดท้ายครับ ด้านปัญหาโลกรวน หรือปัญหาสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง พลังงาน การขนส่ง การผลิตและอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบให้โลกของเราร้อนยิ่งขึ้น และรวนยิ่งขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน น้ำแล้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พายุฝน น้ำท่วมฉับพลัน ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนอย่างมาก และจะยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในระดับโลกนะครับ เช่นความตกลงปารีส เป้าหมายของไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และสุทธิเป็น ๐ ในปี ๒๕๖๕ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านพลังงาน สะอาดที่เข้าถึงได้ และการลงมือแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามครับ ท่านประธาน จากผลการดำเนินการพบว่าสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ใน ๕ ปีแรก ตามยุทธศาสตร์ชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ๑๗.๔๙ เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ท่านประธานครับ จากดัชนีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Risk Index พบว่าไทยอยู่ในอันดับ ๙ ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ มากที่สุดในโลก ในช่วงปี ๒๐๐๐-๒๐๑๙ และถูกประเมินโดยองค์กรวิชาการระหว่างประเทศ Climate Action Tracker โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายลดโลกร้อนที่แย่ที่สุด ในโลก ผมขอเสนอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและโลกรวน ทั้งด้านการบรรเทาปัญหา และด้านการรับมือปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยบรรเทานะครับ จะต้องเร่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนพลังงาน หมุนเวียนในระดับประเทศ และระดับครัวเรือน ยานพาหนะไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษต่ำ การผลิต และการบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ไปจนถึงการจัดทำแผนการประเมินผลกระทบที่อาจ เกิดขึ้นจากโลกร้อนและรวนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับปรับใช้เพื่อเตรียมรับมือ เพื่อป้องกัน ผลกระทบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ควรเร่งผลักดันและบังคับใช้ กฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับท่านประธาน หากภาคส่วนต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ผมคิดว่าเราจะแก้ไขทั้งปัญหาโลกร้อน โลกเลอะ โรคร่อยหรอ เพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ และโลกของเรา เพื่อชีวิตของเราและลูกหลานที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ดังนั้น ผมหวังว่าความเห็นการอภิปรายของผมในวันนี้ สคช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไป ประกอบการพิจารณาดำเนินการในระยะต่อไป และขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทุกท่านครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นต่อรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ซึ่งผลการปฏิบัติงานปี ๒๕๖๕ นี้ ท่านได้ทำงานอย่างหนักในการ ตรวจสอบการเงินกว่า ๑๕,๓๕๓ รายงาน ปกป้องเงินแผ่นดินไม่เสียหาย ๒๓,๐๐๐ ล้านบาท โดยรวมแล้วผลการปฏิบัติงานนะครับ มีทั้งส่วนที่น่าพอใจและส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเงินของแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐให้กับประชาชนผู้ซึ่งเป็น เจ้าของงบประมาณอย่างแท้จริง กระผมขออภิปรายในประเด็นการตรวจสอบรายงาน การเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะครับ โดยเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่จำนวน ๗,๘๕๐ แห่ง ทั้ง อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การ บริหารส่วนตำบล และ กทม. พัทยา สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะครับ เป็นราชการ ส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภารกิจหลักและภารกิจรองมีดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับภารกิจหลักมี ๗ ภารกิจครับ เช่น ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบ เรียบร้อย เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับภารกิจรองมีอยู่ ๔ ด้านนะครับ เช่น ด้านการฟื้นฟูวัฒนธรรม และส่งเสริมประเพณี ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพกลุ่มอาชีพ เป็นต้น ท่านประธานที่เคารพครับ จากภารกิจดังกล่าวทั้งภารกิจหลักและภารกิจรอง เห็นได้ว่า ครอบคลุมทุกปัญหาในวิถีชีวิตของทุกคนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ใน ข้อเท็จจริงครับท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ทุกอย่างเป็นด้วยหลายสาเหตุครับ แต่หนึ่ง ในสาเหตุนั่นคือเป็นเพราะกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ สตง. กำหนดไว้ให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงิน ได้ จึงไม่สามารถแก้ไขและพัฒนาให้กับพี่น้องประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เป็นไปตามภารกิจหรือบทบาทอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ขนาดขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นก็ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการคลังเช่นกัน โดย อปท. ที่มีขนาด ใหญ่ก็มีงบประมาณมาก สามารถทำได้เกือบทุกภารกิจที่กำหนดไว้ แต่ อปท. ขนาดเล็ก ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ แต่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ก็ต้องการการแก้ไข ปัญหาพัฒนาที่เหมือนกับ อบต. ขนาดใหญ่ ทำให้การเหลื่อมล้ำทางการคลังส่งผลให้เกิด ความเหลื่อมล้ำของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ นี่เป็นอีก ๑ ประเด็นนะครับที่ผู้รับผิดชอบ ต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ท่านประธานครับ เดิมทีการจัดทำงบแสดงฐานะ ทางการเงิน การบัญชี และรายงานการเงินของ อปท. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นนั้น เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ อปท. ดำเนินการ แต่ใน ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ นะครับ ได้มีการแก้ไขให้ดำเนินการตามโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งมี หลักการบัญชีและสาระสำคัญที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้ อปท. ไม่สามารถจัดทำรายงาน การเงินได้ถูกต้อง ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนดและไม่สามารถนำส่งได้ทันตามเวลา ที่กำหนด ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่ต้องขอความเห็นใจจากทาง สตง. การเปลี่ยนแปลงโครงการใน อปท. และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ไปแล้วควรให้ทำได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากการเรียกร้องของประชาชน ที่ให้เปลี่ยนแปลงในการใช้ให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงในขณะนั้น ตรงกับปัญหา ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นกรณีของเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุงที่ได้ รวบรวมขยะ ทั้งในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง และขนถ่ายขยะไปยัง บ่อขยะของเทศบาลเมืองพัทลุง โดยต้องการเปลี่ยนเป็นโครงการกำจัดขยะเองในพื้นที่และมี ขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก และการส่งต่อมีต้นทุนที่สูงจนเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อมีปัญหา ในการดำเนินการ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมมีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต และข้อคำถาม ผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ผมขอให้หน่วยงานตรวจสอบคือ สตง. ได้ดูถึงเจตนาขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยว่าจงใจ ประมาทเลินเล่อ หรือผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประกอบ การเบิกจ่ายด้วยนะครับ ไม่สมควรที่จะยึดตามระเบียบเพียงอย่างเดียว หรือขอให้ การตรวจสอบแบบต้องดูมูลค่า ดูคุณค่า ดูผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นสำคัญประกอบด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอเสนอให้ สตง. กรมบัญชีกลาง และกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นร่วมกัน บูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบและมาตรฐานของบัญชี ภาครัฐ ตลอดจนนโยบายการบัญชีภาครัฐให้ อปท. สามารถนำไปดำเนินการจัดทำรายงาน การเงินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับภารกิจ หน้าที่ และอำนาจของ อปท. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ ตลอดจนระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ อปท. สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการจัดทำรายงานการเงินได้อย่างสะดวกและง่าย ต่อการทำความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงาน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. นอกจากระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ของ อปท. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ควรมี การศึกษา วิจัย และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยจะต้องพัฒนา รูปแบบให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และคำนึงถึงภาระด้านความรับผิดชอบ ของบุคลากรของ อปท. ซึ่งมีไม่เพียงพอ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. สตง. ต้องพัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากรภายใน สตง. มีความเป็น มืออาชีพในการตรวจสอบ การให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อซักถามกับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนแบบแผนการปฏิบัติงานราชการ ให้ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานเพิ่มมาก ยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ สตง. ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติงานของ หน่วยตรวจรับอย่างเข้มแข็ง เพื่อดำเนินการให้รัดกุม ลดความเสียหาย และลดข้อบกพร่อง จากการปฏิบัติงาน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ผมขอขอบคุณทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ร่วมชี้แจงทุกท่านที่ได้ให้เกียรติต่อสภาในการมารายงานและชี้แจงผลการปฏิบัติงาน และขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกท่านในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ ในการรักษาเงินของแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐให้กับประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของงบประมาณ อย่างแท้จริง ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขออภิปราย ให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนพัฒนา น้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ท่านประธานครับ อีกหนึ่งปัญหา ที่ประชาชนคนไทยต้องเผชิญอย่างหนักหน่วงและรุนแรงคือภัยแล้ง แต่เป็นภัยที่แปลกมาก เพราะตรงที่เรามีน้ำมากมายทั้งในห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ และแก้มลิงธรรมชาติ สร้างขึ้นมา เรามีอ่างเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ และเรามีคลองส่งน้ำ บ่อน้ำตื้นที่ใช้กักเก็บน้ำมากมาย ที่ทางราชการสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ และเรามีหน่วยงานราชการมากมายที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และอื่น ๆ อีกหลายหน่วยงาน ท่านประธานครับ แต่ประเทศเรายังขาดแคลนน้ำทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร และจะยิ่งขาดแคลน มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และสุดท้ายก็กระทบต่อ ความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติ ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ El Nino ก็ได้บ่งชี้ว่าเราจะได้รับ ผลกระทบจากภัยแล้งที่ยาวนานและรุนแรง เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยแล้งนี้ได้ด้วย นโยบายของภาครัฐ ด้วยแผนงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องบูรณาการทำงาน ร่วมกันและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากกองทุนต่าง ๆ ท่านประธาน ที่เคารพครับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง แต่มีภารกิจที่ใหญ่โตและเป็นแถวหน้าสำหรับการแก้ไข ปัญหาภัยแล้ง จากที่เป็นกรมเล็ก ๆ กลับเป็นความหวังสูงสุดของพี่น้องเกษตรกรและพี่น้อง ประชาชนทั่วประเทศ วันนี้ไม่ว่าใครขาดแคลนน้ำก็จะนึกถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และแม้ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากร แต่กรมนี้ก็ได้สร้างผลงาน อันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับกระทรวง ทส. ได้มากมายเลยทีเดียว ที่สำคัญคือได้นำน้ำใต้ดิน ที่มีอย่างมหาศาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ กรมนี้ผมคิดว่าเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน ทั้งด้านน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และตอนนี้หวังไปถึงน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งท่ามกลางความขาดแคลนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผมคิดว่าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพราะมีกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลทำงานคู่ขนาน ไปกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยตามรายงานผมเห็นด้วยที่กองทุนได้สนับสนุนงานวิจัย ที่สำคัญหลายงาน อาทิเช่น โครงการศึกษาสำรวจจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนน สายหลักและสายรองทั่วประเทศ โครงการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของแหล่งน้ำ บาดาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลในภาคเกษตรกรรม ท่านประธาน ที่เคารพครับ จากรายงานนี้ผมมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกตผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจง ดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้งานศึกษาวิจัยทุกชิ้นจัดทำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการจัดหาน้ำบาดาล เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อบริการนักวิจัยหรือคนขอทุนวิจัยอาชีพที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ ซึ่งนักวิจัยประเภทนี้วนเวียนไปขอเงินเพื่องานวิจัยตามหน่วยงานต่าง ๆ นักวิจัยจริง ก็มีมากมายซึ่งควรค่าแก่การสนับสนุน แต่นักวิจัยทิพย์ก็มีไม่น้อยที่ควรค่อนข้างแก่การกำจัด ให้หมดสิ้น

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ผมขอให้ สตง. หรือให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางและมี ความเชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบการใช้เงินจำนวนนี้ ในประเด็นความคุ้มค่าของทุกงานวิจัย ที่กองทุนได้อนุมัติเงินให้ดำเนินการ เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งหากิน หาประโยชน์ จากงานวิจัย ทำความเสียหายให้กับทรัพยากรของชาติและความเสียหายแก่งบประมาณ ของแผ่นดิน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. งานวิจัยหลายโครงการมีการทำมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีกให้สิ้นเปลืองงบประมาณนะครับ เพียงแต่ให้เอามาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นการประหยัดรายจ่าย สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปทำงานวิจัยด้านอื่น ที่เป็นประโยชน์มากกว่าได้ ทั้งนี้ควรมีความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหลายประเทศมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการนำ น้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ช่วยทำวิจัยเรื่องการสูบกลับน้ำจากทะเลสาบพัทลุงและทะเลสาบ สงขลามาใช้ประโยชน์ไหมว่ามีความคุ้มค่า มีประโยชน์หรือไม่ ขอให้ช่วยทำวิจัยการบริหาร จัดการน้ำในพัทลุงว่าสามารถกระจายน้ำให้ทั่วถึงได้อย่างไร ซึ่งจังหวัดพัทลุงมีอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ ๓ ที่ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางอีกหลายที่ มีคลองขนาดใหญ่ ผ่านทุกตำบล ท่านประธานครับ แต่หลายหมู่บ้านยังขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำผลวิจัย ไปใช้แก้ไขปัญหาที่พัทลุงและที่อื่น ๆ ที่มีสภาพปัญหาคล้ายกันด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. โครงการน้ำบาดาลพื้นที่เกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น แหล่งน้ำดิบไม่เพียงพอ การกระจายน้ำไม่ทั่วถึง ขอให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกองทุนเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา เพราะเกินกำลังของท้องถิ่น ในพื้นที่ที่จะดำเนินการได้เอง

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ปัจจุบันยังมีพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนและร้องขอน้ำบาดาล ผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของผมในจังหวัดพัทลุงซึ่งมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำในหลายหมู่บ้าน หลายตำบล ในหลายอำเภอ เช่น ตำบลตะโหมด ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด ตำบลโคกสัก ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว ตำบลวังใหม่ ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน ตำบลเกาะนางคำ ตำบลหารเทา ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ตำบลคลองเฉลิม ตำบลกงหรา ตำบลคลองสายขาว อำเภอกงหรา ผมขอให้ใช้เงินกองทุนจัดทำแผนงานโครงการสำรวจความต้องการ สำรวจ ความเดือดร้อนในเรื่องน้ำของทุกพื้นที่ทั่วจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศ จะได้ไม่มี หมู่บ้านที่ตกหล่น แล้วกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ขอให้ทยอยของบประมาณดำเนินการต่อไป เป็นการใช้เงินกองทุนที่ตรงเป้าหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุนครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับ ผมเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่าน้ำคือชีวิต และวันนี้ผมคิดว่าทุกคน คงจะเห็นตรงกันว่าเราจะต้องช่วยชีวิตของพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อน เรื่องการขาดแคลนน้ำให้ได้ ผมจึงขอนำเรียนข้อเสนอแนะเหล่านี้ผ่านท่านประธานไปยัง กองทุนพัฒนาน้ำบาดาลและหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมขออนุญาต อภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ขององค์การ กระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือ Thai PBS ท่านประธานครับ ปัจจุบันประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อทั้งช่องทางหลัก และช่องทาง Online ที่ให้ประชาชนได้รับทั้งความรู้ ได้เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น อย่างทั่วถึง หนึ่งในนั้นคือ Thai PBS ที่ผมต้องขอเริ่มต้นด้วยการชื่นชมว่าท่านได้ให้ความสำคัญ กับการนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลที่รอบด้านอย่างตรงไปตรงมา เป็นอิสระ และน่าเชื่อถือ ทั้งการ Update ข่าวสารอย่างทันท่วงที การค้นหาความจริง การสร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ผมคิดว่าคือความสำเร็จของ Thai PBS ผมได้ติดตามทาง Thai PBS ซึ่งพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในช่องทางและรูปแบบ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะทาง TV และทาง Online ผมเองก็ได้รับความรู้ข่าวสารและข้อมูล ดี ๆ จากทางช่องทางสื่อของท่านเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง บางเรื่องที่ทาง Thai PBS ได้นำเสนอในจังหวัดพัทลุงที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนทั้งผ่านช่องทางหลักและช่องทางเฉพาะ เช่น แลต๊ะแลใต้หรือศูนย์ข่าว ภาคใต้ เป็นต้น ผมขอชื่นชมที่ทาง Thai PBS ได้มีการนำเสนอเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็น เอกลักษณ์ในจังหวัดพัทลุง เช่น พิธีกรรมโนราโรงครู คนหาปลาหวดบนเทือกเขาบรรทัด ที่บ้านโคกไทร วิถีชีวิตคนเกาะหมาก วิถีคนเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย การเลี้ยงผึ้งชันโรง บ้านคลองนุ้ย การทำผ้าสีจากใบไม้เรือนตาอ้น การท่องเที่ยวชุมชน ปลาลูกเบร่ และการนำเสนอ เรื่องต้นสาคู เป็นต้น ท่านประธานครับ การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ของ Thai PBS ได้รับ ความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าใจ วิถีชีวิต และสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนได้ นอกจากนี้ ผมขอชื่นชมที่ท่านได้มีการให้ข้อมูลข่าวสารและการค้นหาความจริงในจังหวัดพัทลุง เช่น กรณีการขโมยรังนก กรณีบุกรุกป่าพรุเกาะนางคำ และอีกหลาย ๆ ประเด็น การนำเสนอ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผู้คนได้รับรู้สถานการณ์บ้านเมืองและสร้างความตระหนักให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อีกเรื่องที่ผมขอชื่นชมคือท่านได้มีการจัดเวทีเสวนาฟังเสียงประเทศไทยที่ให้ ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งผู้ประกอบการ ฝ่ายปกครองท้องถิ่น กลุ่มขับเคลื่อนจังหวัด นักวิชาการ และนักเรียน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาเศรษฐกิจของพี่น้องในจังหวัดพัทลุง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเมืองสีเขียว ธุรกิจ Startup และงานสร้างสรรค์ และพัฒนา ให้พัทลุงเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผมเองก็ได้ไปร่วม เวทีเสวนานี้ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมอยากให้ท่านทำต่อไปครับ จากรายงาน การปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๖๕ ของ Thai PBS ผมมีข้อเสนอแนะและข้อสนับสนุน ผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงให้ดำเนินการต่อไปดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ทาง Thai PBS ได้มีการนำเสนอเรื่องราวและวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็น เอกลักษณ์ต่อไป โดยจังหวัดพัทลุงยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น วิถีชีวิตของชาวมันนิ การทำนาริมทะเลสาบซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่บ้านปากประ วิถีชีวิตริมเขาบรรทัด วิถีชีวิตในทะเลสาบพัทลุง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีเรื่องโลมาอิรวดีทะเลสาบ พัทลุงที่เหลืออยู่เพียง ๑๔ ตัวสุดท้าย ไปจนถึงสินค้าทำมือ อาหาร ศิลปะ และวัฒนธรรม อื่น ๆ ของคนพัทลุง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ผมขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าที่ลดน้อยลงไป ด้านปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำเสีย และขยะ อีกทั้งเรื่องที่สำคัญก็คือด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยทางธรรมชาติ เช่นปรากฏการณ์ El Nino เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหา อย่างยั่งยืนต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็นที่เป็น ปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ข้าวของที่ราคาแพงขึ้น ปัญหา ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น เพื่อสะท้อนปัญหาให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้นำไปแก้ไขต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ผมขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอเรื่องราว สื่อสำหรับเด็กและวัยเรียน ซึ่งปัจจุบันกำลังลดน้อยลงมากในสื่อหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ผมอยากให้ความสำคัญเรื่องราวสำหรับเด็กและนักเรียน ทั้งเพื่อความบันเทิง และเพื่อความรู้ และขอให้มีการนำเสนอความรู้และทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เช่น ทักษะด้านการเงิน การประกอบธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะด้านการเอาตัวรอด ทักษะด้านการจัดการอารมณ์ และที่สำคัญผมขอให้มีการให้ความรู้เด็ก ๆ และนักเรียน มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อหรือที่เรียกว่า Media Literacy เพื่อให้เด็ก ๆ นักเรียน เยาวชน สามารถตรวจสอบ วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลบนโลก Online ได้ เพราะปัจจุบันก็มี Fake News อะไรต่าง ๆ อีกมากมาย ขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Media Literacy ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ทาง Thai PBS ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอและส่งเสริม Soft Power ของไทยผ่านช่องทาง Thai PBS World ซึ่งเป็นสื่อของทาง Thai PBS ที่เป็น ภาษาอังกฤษ การส่งเสริม Soft Power ผมอยากให้ส่งเสริมเพื่อสร้างความตระหนัก และการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยไปยังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การท่องเที่ยว ประเพณี กีฬา อาหาร เพลง และละคร เป็นต้น สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทาง Thai PBS แล้วก็ผู้ชี้แจง ทุกท่านที่ได้ปฏิบัติงานเป็นสื่อสาธารณะที่เที่ยงตรง เท่าทัน และครอบคลุมตลอดที่ผ่านมา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนการดำเนินการของท่านต่อไป เพื่อให้เป็นสื่อที่เป็นที่พึ่ง เป็นสื่อที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนสังคม ต่อยอดการเรียนรู้ และเป็นที่วางใจ ของประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานกิจการประจำปีงบดุลและบัญชี กำไรขาดทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางหรือ SMEs ถือเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐต้องให้ความสำคัญ เป็นลำดับต้น ๆ เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนตัวเล็ก เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อลด ความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจน และเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น จากข้อมูลในปี ๒๕๖๕ พบว่าในประเทศไทยมีจำนวน ผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ ๓ ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า ๑๒ ล้านคนโดยมี มูลค่าส่งออกกว่า ๑ ล้านล้านบาท คิดเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของยอดการส่งออกรวมตลอดปี อย่างไรก็ตามวันนี้มีประชาชนอีกมากมายทั้งในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศไทยที่มี Idea มีงานวิจัยและนวัตกรรมทางธุรกิจที่ดี แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีเงินทุน เพียงพอที่แม้แต่จะเริ่มหรือผลักดันต่อยอดธุรกิจเหล่านั้น ผมจึงคิดว่าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ SME D Bank มีบทบาทสำคัญในการสานฝันและสร้างชีวิตให้คนตัวเล็กตัวน้อยให้ธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านบริการด้านสินเชื่อ และพัฒนาศักยภาพ ด้านธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน ซึ่งจากรายงานนี้ก็พบว่าทางธนาคาร พัฒนา SME ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนกว่า ๖๘,๐๐๐ ล้านบาท สร้างประโยชน์ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และรักษาการจ้างงานกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ราย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผมขอชื่นชม ทางธนาคารนะครับ จากรายงานนี้ก็ได้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญด้านการพัฒนาองค์กร อย่างยั่งยืนหรือ ESG และด้านเศรษฐกิจ BCG ทั้งด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพราะผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาประชาชนไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อมได้

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับรายงานประจำปี ๒๕๖๕ โดยรวมแล้วผมก็ไม่มีอะไรติดใจ มีเพียง บางประการเท่านั้น จากเท่าที่ได้ดูก็พบว่าท่านได้มีโครงการสินเชื่อที่สนับสนุนธุรกิจ ที่หลากหลาย สำหรับงบดุลกำไรและการขาดทุนเป็นสิ่งที่ทางธนาคารของท่านก็จะต้อง ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ อยู่แล้ว และจากที่ดูท่านก็มีกำไรสุทธิ ๕๐๐ ล้านบาท แต่ส่วน ที่ขอถามก็คือว่าด้านหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า ๑,๕๙๕ ล้านบาท จะดำเนินการต่อไปอย่างไรครับ อย่างไรก็ตามจากรายงานนี้ผมมีข้อเสนอแนะผ่านท่านประธาน ไปยังธนาคาร SME และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางต่อไปดังนี้ ข้อแนะนำสำหรับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ทางธนาคาร SME ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพืชผล ด้านประมง และปศุสัตว์ ขอให้ส่งเสริมธุรกิจที่แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และนวัตกรรมให้ผลผลิตทางเกษตรกรเหล่านี้ เพราะภาคการเกษตรถือเป็น เศรษฐกิจและรายได้หลักของพี่น้องในประเทศไทย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างว่าในจังหวัดพัทลุง ก็มีธุรกิจขนาดเล็กที่ควรได้รับการส่งเสริมอีกมากมายนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้ทางธนาคาร SME ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจและ นวัตกรรมที่สนับสนุนด้านความยั่งยืน และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นนะครับ เช่นธุรกิจ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุ Recycle และย่อยสลายได้ ไปจนถึงธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ธุรกิจที่ช่วยลดและดูดซับก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพราะว่าปัจจุบันนี้ทั่วโลกได้ให้ ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะ และภาวะโลกร้อน ซึ่งผู้คนกำลังมองหาสินค้าเหล่านี้อย่างมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าหากเรา ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เน้นด้านความยั่งยืน และดีต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นการเพิ่มโอกาส ให้ผลิตภัณฑ์ของไทยเราไปสู่เวทีโลกได้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ทางธนาคาร SME ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวง พาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องเงินทุน เพื่อพัฒนาและให้ความรู้ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการบริหารธุรกิจ ด้านการผลิตก็ขอให้สนับสนุนให้ SMEs มีการบริหารธุรกิจที่ทันสมัยบนพื้นฐานของนวัตกรรม ด้านการตลาดก็ขอให้ส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้มีโอกาสและความรู้ในการเข้าสู่ตลาดทั้ง Offline Online ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ด้านการบริหารธุรกิจขอให้ส่งเสริม SMEs ได้มีการวางแผนธุรกิจ การบริหารการเงิน การวิเคราะห์ตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ทางธนาคาร SME ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันผู้ประกอบการให้ขายสินค้าผ่านช่องทาง Online เช่น Thaitrade.com ซึ่งเป็น Platform กลางของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า ๒๐,๐๐๐ ราย และมีผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็น โอกาสสำหรับผู้ประกอบการนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ทางธนาคาร SME เจรจากับกองทุน FTA ของกรมเจรจาการค้า ระหว่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกองทุนที่ดอกเบี้ยต่ำ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ทางธนาคาร SME ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวง มหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ที่อยู่ตามชนบท ทั่วประเทศ เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ขนาดย่อมได้ สำหรับข้อเสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานส่งเสริมธุรกิจ SMEs ๑. ขอให้พิจารณาเพิ่มเงินให้ธนาคาร SME เพื่อให้กลุ่ม SMEs สามารถเข้าถึงแหล่ง เงินทุนสำหรับการพัฒนาต่อเติมและขยายกิจการได้ ๒. ขอให้เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ SMEs ใช้กลไกการระดมทุน Crowdfunding โดยเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้า

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ ท่านประธานครับ ผมขอฝากข้อเสนอแนะเหล่านี้ผ่านท่านประธาน ไปยังผู้ชี้แจงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป ผมคิดว่าประเทศของเราจะต้อง ส่งเสริมธุรกิจใหม่ ๆ ส่งเสริมธุรกิจของคนตัวเล็กตัวน้อยหรือ SMEs เราจะต้องส่งเสริม ความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เราจะต้องยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ทุกคนมีส่วนร่วมหรือเราเรียกว่า Inclusive Development และไม่ทิ้งความฝัน ไม่ทิ้งประชาชนคนใดไว้ข้างหลังครับ ขอบคุณ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตนำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ เพื่อจัดตั้งงบประมาณก่อสร้างถนนเลียบทะเลสาบพัทลุง จากทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ถึงตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เชื่อมต่อจังหวัดสงขลา ซึ่งได้มีการออกแบบไว้แล้ว ถนนเส้นนี้จะเป็นส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมทะเลสาบ การสัญจร และการค้าของแต่ละชุมชนที่ถนน เส้นนี้ผ่าน ที่จะเป็นการสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และขอให้ก่อสร้าง ท่าเทียบเรือในชุมชนที่มีความเหมาะสม เพราะท่าเทียบเรือจะเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับชาวประมงได้นำสัตว์น้ำขึ้นมาวางขาย และจะอำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยว ในทะเลสาบอีกด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ เพื่อปรับปรุงและขยายถนนเส้นทางป่าบอน คลองหมวย จังหวัดพัทลุง ให้มีไหล่ทาง มีจุดชมวิว และจุดจอดรถ ซึ่งถนนสายนี้จะเป็นสายสำคัญ สำหรับการท่องเที่ยวริมเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง ผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอำเภอ ป่าบอน อำเภอตะโหมด อำเภอกงหรา และอำเภอศรีนครินทร์ เช่น น้ำตกโตนสะตอ อ่างเก็บน้ำป่าบอน น้ำตกหม่อมจุ้ย อ่างเก็บน้ำเขาหัวช้าง บ่อน้ำร้อน และคลองโหล๊ะจังกระ น้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกมโนราห์ น้ำตกนกรำ ควนนกเต้น น้ำตกโตนแพรทอง และน้ำตก เขาคราม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้พี่น้อง ประชาชนและจะเป็นเส้นทางที่อำนวยความสะดวกในการสัญจรและการขนส่งทั้งสงขลา พัทลุง ตรัง

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับ อบจ. พัทลุง เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมถนน ในตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน เส้นทางพรุพ้อ ทุ่งนารี ต้นส้าน โหล๊ะหาร เขาจันทร์และถนน เส้นทุ่งคลองควาย ควนนายทอง บ่อสน พร้อมกับติดตั้งไฟส่องสว่างเพราะเป็นถนนที่มี การสัญจรไปมาจำนวนมาก แต่ปัจจุบันถนนเส้นนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงบประมาณ เพื่อจัดทำสนามกีฬาให้กับองค์การบริหาร ส่วนตำบลโคกสักและตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว และควรมีสนามกีฬาระดับตำบล ให้กับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นที่เล่นกีฬาออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาศักยภาพ เยาวชน รวมทั้งสนามเหล่านี้สามารถใช้จัดกิจกรรมอื่น ๆ ของหน่วยงานราชการ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกรมชลประทานขอให้เร่งปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่ตำบลโคกสัก ตำบลท่ามะเดื่อ และตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว ซึ่งเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตทางการเกษตร ได้รับความเสียหาย และขอให้เร่งซ่อมแซมประตูกั้นน้ำ ระบายน้ำของชลประทานในพื้นที่ ตำบลดอนประดู่ ตำบลดอนทราย อำเภอปากพะยูนซึ่งเกิดการชำรุด ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนเรื่องน้ำเช่นเดียวกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ท่านประธานได้มีหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็น ปัญหาใหญ่ของจังหวัดพัทลุงและประเทศไทยในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอื่นตามมา เช่นปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาสังคม ปัญหาลักขโมยและปัญหา เศรษฐกิจ เป็นต้นครับ ขอบคุณครับท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับแรก ผมขอขอบคุณท่านประธานที่ได้บรรจุญัตติของผมและคณะ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและต้นทุนสูง และได้ขอส่งผล การพิจารณาให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ และขอขอบคุณทางสำนักกฎหมายที่ได้ช่วยร่างญัตติ ขอขอบคุณทางสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้จัดทำเอกสาร ประกอบการพิจารณาในครั้งนี้ ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ อย่างรวดเร็วในการอ่านญัตตินี้ กราบเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องด้วยยางพาราและปาล์มน้ำมันถือเป็น พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศ แต่ปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมันและราคายางพาราลดลง อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะหลังได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มายาวนานแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤติราคาผลผลิต ทางการเกษตรตกต่ำรายวันและมีต้นทุนสูง เช่น น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งไม่มี ตลาดรองรับ โดยเฉพาะเกษตรกรสวนปาล์มได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากลานซื้อปาล์ม หลายพื้นที่ปิดรับการซื้อชั่วคราวทำให้เกษตรกรไม่สามารถตัดปาล์มขายได้ และต้องนำรถ ไปจอดรอคิวนาน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดราคาปาล์มจึงสวนทางกับราคาตลาดโลก สินค้าล้นตลาด ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรสวนยางและสวนปาล์ม ต้องแบกรับต้นทุนที่เสี่ยงต่อการขาดทุนสะสม ดังนั้นหากภาครัฐไม่เร่งดำเนินการจะส่ง ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงขอให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยขอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการยาง แห่งประเทศไทย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และขอให้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว เช่น การจัดหา ตลาดรองรับ การออกมาตรการประกันราคา เป็นต้น ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมา ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๕ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและต้นทุนสูง และส่งผลการพิจารณา ให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป โดยผมขออนุญาตชี้แจงรายละเอียดดังต่อไปนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ หนึ่งในปัญหาความเดือดร้อนที่ใหญ่ที่สุดที่ผม ได้รับจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่คือปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ เช่น ราคายางพารา ราคาปาล์ม ข้าว และข้าวโพด ไปจนถึงราคาพืชผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่ตกต่ำ เช่น กุ้ง ที่เพื่อนสมาชิกได้เสนอญัตติไปนะครับ นอกจากนี้ครับท่านประธาน เกษตรกรยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ราคาปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิง ยาปราบศัตรูพืชที่สูงขึ้นทุกปี ประกอบกับปัญหาขาดที่ดินทำกินครับ การครอบครองที่ดินอย่างไม่มีกรรมสิทธิ์ หรือยังต้องเช่าที่ทำการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ท่านประธานครับ สำหรับปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ตกต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาด้านคุณภาพ ปัญหาด้านปริมาณ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านความต้องการของตลาดโลก และกลไกทางตลาด อีกทั้งยังมีเรื่องการแข่งขันจาก ต่างประเทศที่มีศักยภาพการผลิต มีคุณภาพ และมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่ามาก ผมขอ ยกตัวอย่างยางพาราครับ ซึ่งมีเกษตรกรที่เพาะปลูกยางพาราถึง ๑,๔๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน ในปัจจุบันต้นทุนการผลิตน้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ ๖๑ บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาน้ำยางสด ณ โรงงานลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย ๔๔ บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้ ประกอบกับผลผลิตน้ำยางพารา ต่อไร่ก็ลดลง ทำให้เกษตรกรประสบกับปัญหาขาดทุน พี่น้องจะอยู่ไม่ได้แล้วครับ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับผลไม้และพืชผลตามฤดูกาล เมื่อถึงฤดูกาลก็มีผลผลิตจำนวนมาก เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง ก็มีปัญหาเรื่องตลาดที่รองรับครับ และการกระจายผลผลิต ซ้ำร้ายเกษตรกรก็ถูกกดราคาอีกครับ

    อ่านในการประชุม

  • และอีกปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กันที่เกษตรกรต้องเผชิญคือ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อน้ำและผลผลิตให้ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ El Nino ส่งผลให้เกิดภาวะ ฝนน้อย น้ำแล้ง และอากาศร้อน

    อ่านในการประชุม

  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอาหาร ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก หรือเรียกว่า ครัวโลก ซึ่งประชากรของไทยกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคการเกษตร แต่จากที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเกษตรกรเจอปัญหา ที่ถาโถมและท้าทายยิ่งนักครับ ทำให้พี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของพี่น้องประชาชน และส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด และปัญหาคุณภาพชีวิตจึงต้องพึ่ง ความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านต่าง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • กระผมขอขอบคุณรัฐบาลชุดที่ผ่านมาครับ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในทุกด้าน ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ด้านน้ำ อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ตลอดที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนคนพัทลุงและคนไทยทั้งประเทศคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดใหม่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน จึงเป็นเหตุผลที่ผมและคณะในฐานะ ผู้แทนของพี่น้องประชาชนได้ตั้งญัตติในวันนี้ และทราบว่ามีเพื่อนสมาชิกอีกหลายท่าน ที่จะอภิปรายสนับสนุนญัตติเรื่องผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในวันนี้ เพื่อส่งเสียงของพี่น้อง ประชาชนไปยังรัฐบาลครับท่านประธาน โดยผมขออนุญาตให้ข้อเสนอแนะผ่านท่านประธาน เพื่อรัฐบาลได้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจน ดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. สำหรับปัญหาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำนะครับ ขอรัฐบาลได้ดำเนินการ ช่วยเหลือด้านรายได้ และด้านสวัสดิการแก่เกษตรกร เช่น การประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ในยามที่ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ หรือน้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ทั้งข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด เพื่อให้เกษตรกรสามารถยังชีพอยู่ได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นรัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จในการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยางและสวนปาล์มครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ด้านปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สำหรับราคาปุ๋ยเคมีนั้น แม้จะเริ่ม ลดลงแล้วแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ราคาแพง กระทรวงพาณิชย์ควรมีการควบคุมและปรับราคา ปุ๋ยให้ลดลง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะเร่งด่วน โดยในระยะยาวกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะสนับสนุนในการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม พัฒนา อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ย Potassium ที่ไทยมีศักยภาพการผลิต ร่วมกับการ ส่งเสริมกลุ่มผลิตปุ๋ยเพื่อการผลิตปุ๋ยใช้เอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพให้เพียงพอ ไปจนถึงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ด้านปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งเป็นปัญหาที่พี่น้องเผชิญมาอย่างยาวนาน แต่เราทราบดีครับว่าผลผลิตบางส่วนมีฤดูกาลที่ค่อนข้างแน่ชัด สามารถคาดการณ์ฤดูกาล ที่จะออกผลผลิตได้อยู่แล้ว ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดหาตลาดรองรับ ไว้ก่อนล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับการกระจายผลผลิตไปสู่ภาคอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น มังคุด ลองกองจากภาคใต้ ควรจะมีการช่วยเหลือในการกระจายไปสู่ภาคเหนือ และภาคอีสาน อีกทั้งยังควรสนับสนุนการใช้ผลผลิตภายในประเทศ สนับสนุนการแปรรูป ผลผลิตที่มากยิ่งขึ้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ด้านหนี้สินของเกษตรกร ขอให้รัฐบาลได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรเพื่อลดภาระเกษตรกรเฉพาะหน้า ในช่วงที่ เศรษฐกิจและราคาพืชผลสินค้าเกษตรตกต่ำเช่นตอนนี้ พร้อมกับต้องเร่งเพิ่มรายได้ให้กับ เกษตรกรควบคู่กันไป เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ด้านการพัฒนาเกษตรกร ขอให้รัฐบาลได้พัฒนาเกษตรกรในด้านทักษะ ความรู้ การพัฒนาการผลิตที่มีคุณภาพ การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าสินค้า การบริหาร ประกอบการ และการเงิน และวิเคราะห์ต้นทุน ไปจนถึงการพัฒนาให้เกษตรกรสามารถ เข้าถึงและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดสินค้าได้ ทั้งระดับภายในประเทศ และนอกประเทศ อีกทั้งยังควรส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับทำการเกษตรผสมผสาน ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มรายได้เสริมและลดความเสี่ยงต่อการพึ่งพาผลผลิตเพียงชนิดเดียวครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาระบบโครงสร้าง พื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเกษตรกรรม เช่น ระบบการขนส่ง การออก เอกสารสิทธิที่ดินทำกิน และเร่งสร้างระบบน้ำและชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหา เหล่านี้เกษตรกรประสบอยู่ทั่วประเทศครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้รัฐบาลได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร พัฒนาบริหารจัดการ ของกลุ่ม และเครือข่ายเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการรวมกลุ่มของเกษตรกรจะเป็นพลังต่อรอง เป็นศูนย์รวมของความช่วยเหลือ การถ่ายทอดความรู้ การส่งเสริมกลุ่มให้มีการบริหารจัดการทั้งด้านเงินลงทุน วัตถุดิบ และเครื่องจักร การลดต้นทุนการผลิต การจัดการจำหน่าย จัดหาตลาดรองรับ และจะช่วย ให้มีการผลิตสินค้าบริการใหม่ ๆ ได้อย่างยั่งยืน เช่นการสนับสนุนเงินทุนกลุ่มประมงท้องถิ่น และการสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ขอให้รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐ จะต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการบริหารความเสี่ยง ทางการเงินของเกษตรกรไทย โดยเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของเกษตรกรไปยังผู้ประกันภัย ซึ่งในระยะยาวยังสามารถช่วยลดความกดดันต่อภาระงบประมาณของรัฐได้อีกด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ หากเราเปรียบเทียบไทยเป็นครัวของโลก ขณะนี้ครัวแห่งนี้ก็ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและขาดแคลนเต็มที และหากเราเปรียบเทียบ เกษตรกรของไทยเป็นกระดูกสันหลังของชาติ กระดูกสันหลังนี้ก็กำลังผุกร่อน รอการรักษา และช่วยเหลือ ผมจึงขอส่งปัญหาความเดือดร้อนเหล่านี้เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและต้นทุนสูง และส่งผลการพิจารณาให้รัฐบาล ได้นำไปดำเนินการต่อไป ทั้งหมดนี้เพื่อการสร้างความมั่นคงทางรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต เกษตรกร เพื่อชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพื่อครัวโลกที่สมบูรณ์ และกระดูกสันหลัง ของชาติที่เข้มแข็งต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นต่อรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ หรือ สสส. ท่านประธานครับ สุขภาพของคนไทยถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงาน ต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่คนไทย ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัยและทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลในการเข้าถึงระบบ สาธารณสุข ท่านประธานครับ เพราะการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน จำเป็นต้องมีประชาชนทุกเพศทุกวัยที่มีสุขภาพที่สมบูรณ์พร้อมเป็นส่วนสำคัญในการ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามปัจจุบันประชาชนคนไทยยังเผชิญปัญหาสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่คือโรคมะเร็งทุกชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โรคหลอดเลือด ในสมอง โรคปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด ไปจนถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ละปีในประเทศไทยเรามี ผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งราว ๘๐,๐๐๐ คน โรคหลอดเลือดในสมอง ๓๐,๐๐๐ คน และสำหรับอุบัติเหตุบนท้องถนน ๒๐,๐๐๐ คนต่อปี บางส่วนก็เป็นสาเหตุที่เราสามารถ ควบคุมแก้ไขปัญหาได้ด้วยพฤติกรรม เช่น การงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดี และดูแลสุขภาพเป็นต้น แต่บางส่วนก็ควบคุมได้ยากเช่นอุบัติเหตุ จากการใช้รถใช้ถนน มลพิษทางอากาศและภัยพิบัติ คำถามของผมที่สำคัญคือเราจะทำ อย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการรณรงค์และการบังคับใช้ มาตรการป้องกัน ผมจึงคิดว่ากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. เป็นอีก ๑ หน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพผ่านการสนับสนุนร่วมมือกับองค์กร เครือข่ายต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของคนไทย ผมจึงขอชื่นชมทาง สสส. ตลอดจนองค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้ร่วมมือกันในส่วนที่ท่านได้ส่งเสริมให้คนไทย มีสุขภาพ ที่ดีขึ้นอย่างถ้วนหน้าและเป็นรูปธรรมดังที่ปรากฏในรายงานเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ ความสำคัญในความรู้เรื่องการรณรงค์ เรื่องยาเสพติด แอลกอฮอล์ เรื่องอาหาร เรื่องโรค เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง สสส. เอง ก็ได้ให้เกียรติต่อสภา แห่งนี้ในการรายงาน มาตอบข้อชี้แจงและข้อซักถามของสมาชิก แล้วก็ได้มีการปรับตัว มาอย่างต่อเนื่อง ท่านประธานครับ ผมเข้าใจดีว่าการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดี เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และลดการบาดเจ็บลดการเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้เกิด ความยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตามผมก็มีความคาดหวังจาก สสส. เป็นอย่างมากก็เพราะด้วย เงินกองทุนของท่านมีจำนวนมหาศาลกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท โดยเงินกองทุน ของ สสส. มาจากภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิตและนำเข้าสุราและยาสูบ และผมมี ความคาดหวังก็เพราะด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลด้านสุขภาพของ สสส. คือทุกคนในแผ่นดินไทย ต้องมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี ท่านประธานครับ แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นก็ยังมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคต่าง ๆ และอุบัติเหตุจำนวนมาก ในประเด็นที่ทาง สสส. ก็ให้ความสำคัญอยู่แล้วด้วยซ้ำ เช่น เรื่องยาเสพติด แอลกอฮอล์ อาหาร อุบัติเหตุ เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันผมคิดว่าก็มีความท้าทายต่อสุขภาพ ของประชาชนที่น่ากังวลอีกมากมาย เช่น ปัญหาการใช้กัญชา การใช้กระท่อม มลพิษ ทางอากาศ ปัญหาด้านขยะ ด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาสุขภาพจิต ที่ผมคิดว่า ทาง สสส. ควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ท่านประธานครับ การมีอยู่ของกองทุนนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่เพื่อให้การดำเนินการดีขึ้นต่อไปจากรายงานนี้ผมจึงมีข้อคำถาม ข้อสังเกต ข้อกังวล และข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงคือ สสส. เพื่อปรับปรุงการพัฒนาต่อไปดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. จากรายงานนี้ระบุว่าปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ลดลง การจำหน่ายบุหรี่ ภายในประเทศลดลง ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็คงเป็นเพราะลดลงจากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน เด็กนักเรียนใช้ยาสูบเพิ่มขึ้น ประชาชนหันไปสูบอย่างอื่นมากขึ้น เช่น บุหรี่ ไฟฟ้า IQOS หรือก็มีบุหรี่เถื่อนอีกมากมายเช่นกันในปัจจุบันที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือจัดเก็บภาษีได้ในขณะนี้ ผมคิดว่าเราควรมีการพิจารณาถึงประเด็นนี้อย่างจริงจังนะครับ จึงอยากสอบถามปัญหาดังกล่าวไปยัง สสส. ว่าเราจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อลดผลกระทบในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ข้อมูลจากเล่มนี้บอกว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในประเทศมีแนวโน้มคงที่ และลดลง แต่ทำไมการเสียชีวิตถึงยังเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากการดื่ม เช่น โรคมะเร็งตับ เส้นเลือดในสมองแตก ตับแข็ง และประเด็นนี้ขอถามคำถามทาง สสส. ว่าจะมี แนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ผมขอเสนอแนะให้ทาง สสส. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม มากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องประชาชนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางอากาศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนต่อปี และคนไทย จำนวนมากกว่า ๓๘ ล้านคน อยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเกินมาตรฐานนะครับ นอกจากนี้ผมขอให้ทาง สสส. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของปัญหาขยะของเสีย การเผาขยะ มลพิษภายในครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน และผมคิดว่า ในประเด็นนี้ควรมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และควรให้มีการนำเสนอกฎหมายหรือนโยบายที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ จากสิ่งแวดล้อม

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ด้านอุบัติอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุการตาย ที่สูงที่สุดเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาด้านสุขภาพ มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการใช้รถ ใช้ถนนราว ๒๐,๐๐๐ คนต่อปี ขอให้ทาง สสส. ให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิด อุบัติเหตุเหล่านี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด การเมาแล้วขับ การไม่เคารพกฎจราจร และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เป็นต้น ใกล้จบแล้วครับท่านประธาน ขออนุญาตอีกสักครู่นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ทาง สสส. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความท้าทายด้านสุขภาพ อื่น ๆ ในปัจจุบัน เช่น การบริโภคกระท่อม กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า ปัญหา Office Syndrome ปัญหาสุขภาพจิตและความเครียด เป็นต้น ท่านประธานครับ ไม่ได้มีผู้เสียชีวิตจากปัญหา เหล่านี้มาก แต่ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพเช่นกันนะครับ แล้วก็ขอให้ สสส. พิจารณา ปรับปรุงเพิ่มเติมเป้าหมายประสงค์หลัก และพิจารณาปรับปรุงการกำหนดเป้าหมาย เชิงยุทธศาสตร์ภายใต้ทิศทางและเป้าหมาย ๑๐ ปีต่อไป เพื่อที่จะส่งเสริมสุขภาพคนไทย ให้สอดรับกับประเด็นท้าทายเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ของประเทศไทยต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณคณะผู้ชี้แจงก็คือ สสส. ในการมาร่วมชี้แจง ตอบข้อซักถามและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สสส. จะเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน ส่งเสริม สร้างเสริมสุขภาวะให้คนไทยและสังคมมีสุขภาพที่ดีขึ้นต่อไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของท่าน ก็คือทุกคนบนแผ่นดินไทยต้องมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะ ที่ดีต่อไป การมีอยู่ของกองทุนนี้เป็นเรื่องที่ดีครับ ในวันที่ประชาชนมองถึงหน่วยงาน หรือกองทุนที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ลดอัตราการบาดเจ็บ ป่วย การเสียชีวิต และกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนควรจะนึกถึง สสส. ผมจึงขอฝากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเหล่านี้ผ่านท่านประธาน ไปยัง สสส. เพื่อปรับปรุงการพัฒนาต่อไป เพื่อสุขภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนคนไทย ต่อไป ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินของกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๔ กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หากเปรียบเทียบกับกองทุนอื่น ๆ จะเป็นแค่กองทุนเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครสนใจมากนัก แต่กองทุนเล็ก ๆ กองทุนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาเมือง ใช้แก้ไขปัญหาที่ดินที่สะสมมานานได้ครับ โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือพัฒนาได้ เช่น ปัญหาที่ดินตาบอด แออัด น้ำท่วมขัง ไปจนถึงประปา ไฟฟ้า สายสื่อสารเข้าไม่ถึง สำหรับวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ จะมีการจัดระเบียบแปลงที่ดิน จัดระเบียบชุมชนและเมืองขึ้นใหม่ให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า โดยมีการนำที่ดินหลาย ๆ แปลงมารวมกันและออกแบบการปรับปรุงพื้นที่ผ่านการมีส่วนร่วม ของเจ้าของที่ดิน โดยแต่ละแปลงจะมีการปันพื้นที่เพื่อจัดสร้างถนนและระบบสาธารณูปโภค หากเรามีผังเมือง มีการจัดรูปที่ดินที่ดีจะทำให้พื้นที่นั้น ๆ มีระเบียบ มีการเดินทางที่สะดวก มีความปลอดภัยและใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้นตามไปด้วย เช่น ในโครงการอาจจะมีพื้นที่สาธารณะ มีพื้นที่สีเขียว มีถนน มีทางเข้า มีทางเท้า มีทางออก ทุกแปลง มีการจัดการน้ำที่ดี และช่วยแก้ไขปัญหาคนเมืองได้หลากหลาย เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาน้ำรอการระบาย ไปจนถึงปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกองทุน จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่นี้มีวัตถุประสงค์ที่ดี เป็นค่าใช้จ่ายอุดหนุน สนับสนุน หรือเงิน ให้กู้ยืมสำหรับส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการดำเนินการจัดรูปที่ดิน ทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้จะเห็นว่ากองทุนเล็ก ๆ กองทุนนี้มีความสำคัญและจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างแน่นอนครับ โดยตัวอย่างล่าสุดกรณีโกดัง พลุระเบิดที่ชุมชนมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ทำให้บ้านเรือนเสียหายย่อยยับ จากกรณีนี้กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้มี การจัดรูปที่ดินเสียใหม่ โดยคาดว่าหลังจากเสร็จสิ้นแล้วชุมชนมูโนะจะเป็นชุมชนและตลาด ที่มีความสวยงาม มีระเบียบ มีถนน มีทางเท้า มีทางเข้าออกที่สะดวกสบาย ตลอดจน มีพื้นที่ส่วนกลางที่พี่น้องสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และไฟไหม้ในพื้นที่ได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่และกองทุนนี้ จะมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน โดยในส่วนนี้ผมอยากให้มีการจัดรูปที่ดิน ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น มีหลายแห่งที่มีปัญหาและควรได้รับการพัฒนา

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่ กระผมไม่มีอะไรติดใจครับ เพราะจากรายงานการตรวจสอบของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีของภาครัฐ ซึ่งขอชื่นชมและขอให้ คงมาตรฐานนี้เอาไว้ อย่างไรก็ตามกระผมมีข้อเสนอแนะผ่านท่านประธานไปยังกรมโยธาธิการ และผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการต่อไปดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินและกองทุน ให้มากกว่านี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชนรับทราบ ซึ่งการจัดรูปที่ดิน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทุกพื้นที่ตามความต้องการของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้มีการทำโครงการจัดรูปที่ดินให้มีตัวอย่างครอบคลุมทุกจังหวัด ทั่วประเทศในพื้นที่ที่มีปัญหา ทราบว่าปัจจุบันมีโครงการจัดรูปที่ดินประมาณ ๖๖ โครงการ ครอบคลุม ๕๓ จังหวัด อันที่จริงแล้วควรมีทุกพื้นที่ครับ ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เร่งจัดทำผังเมืองรวมให้แล้วเสร็จ และขอให้การปันพื้นที่ของชาวบ้านมาทำพื้นที่ส่วนกลาง และการจัดทำผังเมือง การทำ Zoning ต้องเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนและไม่ให้เกิด ความเดือดร้อน พร้อมกันนี้ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน เช่น กรมที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งรัด การออกเอกสารสิทธิให้เจ้าของที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดินและการทำผังเมืองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้มีการใช้เงินจากกองทุนนี้ในการศึกษาวิจัยการจัดรูปที่ดินและแก้ไข ปัญหาที่ดินอย่างเป็นระบบ โดยอาจมีการศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีผังเมือง และมีการจัดรูปที่ดินที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจนำมาปรับใช้กับประเทศของเราได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. กรณีป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เกิดไฟไหม้ทุกปี สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรและต่อพี่น้องประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีปัญหาไฟป่า มีนายทุนเข้าไปบุกรุกยึดครอง มีการจุดไฟเผา เพื่อจับจองพื้นที่ทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติทรุดโทรม วิธีแก้ไขปัญหานี้คือการร่วมมือ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ เช่น การออกโฉนดที่ดินให้ประชาชน การกำหนดแนวเขตป่าที่ชัดเจน การมีมาตรการป้องกันควบคุมไฟป่า และการบริหารจัดการน้ำ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับสิ่งที่ผมอยากเสนอให้ผู้บริหารกองทุนนี้พิจารณาดำเนินการคือ การออกแบบการจัดรูปที่ดินในพื้นที่เสียใหม่ เพื่อให้ทรัพยากรกลับมาสมบูรณ์ เพื่อให้พี่น้อง ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ยุติปัญหาไฟไหม้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบในระยะ ยาวครับ โดยพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศ สามารถ ผลักดันเป็นมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้มีการผลักดันการจัดรูปที่ดินบริเวณชุมชนริมทะเลสาบพัทลุง โดยหลายพื้นที่มีสภาพบ้านเรือนอยู่กันอย่างแออัด ทางเท้าและถนนไม่ได้มาตรฐาน เกิดไฟไหม้และน้ำท่วมเป็นประจำ ไม่มีที่กำจัดขยะมูลฝอย ไม่มีท่าเทียบเรือ และตลาด ทางการประมง แต่ตั้งอยู่ในริมทะเลสาบพัทลุง ทะเลสาบสงขลาที่มีความสวยงาม มีวิถี และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ถ้ามีการจัดรูปที่ดินจะทำให้ผู้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งสร้างรายได้ เช่น ชุมชนริมทะเลสาบปากพะยูน ชุมชน เกาะนางคำ ชุมชนเกาะหมาก ชุมชนบางมวง ชุมชนแหลมไก่ผู้ ชุมชนหาดไข่เต่า ชุมชนหัวปอ ชุมชนปากพล ตำบลนาปะขอ จังหวัดพัทลุงเป็นต้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ใช้กองทุนนี้เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาผังภูมิสังคม เพื่อการบริหารจัดการน้ำ หมู่บ้าน และชุมชนอย่างบูรณาการแบบยั่งยืนของ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการวางแผน หากกองทุนให้การสนับสนุนโครงการนี้ก็จะช่วยบรรเทา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้มาก เพราะปัญหาน้ำเกิดขึ้นแทบทุกที่ทั่วประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่แสวงหาแหล่งที่มาของเงินกองทุน ให้มากกว่าปัจจุบันเพื่อการดำเนินการที่ดีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยต้องหาแหล่งใหม่ ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่อย่างเช่น ในกองทุน สสส. ได้เงินมาจากภาษีเหล้า บุหรี่ กองทุน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนได้เงินมาจากการประมูลป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับ เมืองทุกเมือง ทุกชุมชนควรได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง ผมจึงขอให้กำลังใจผู้ที่มาชี้แจง ผู้บริหารกองทุน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงมหาดไทย ที่จะผลักดันให้กองทุนนี้เติบโตยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน และพัฒนาเมืองโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทย ทุกคนดีขึ้นต่อไป กราบขอบพระคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่านคือ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานของภาครัฐ ทั้งการตรวจสอบข้อกฎหมาย การปฏิบัติงานและการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เป็นธรรม และเมื่อพบว่ามีผู้ได้รับความทุกข์ร้อน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีหน้าที่ที่สำคัญเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริง วินิจฉัย และหาแนวทางแก้ไข ปัญหาเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไป ที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการในหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชน โดยหนึ่งในผลงานที่ผมขอชื่นชมก็คือการศึกษาประเด็นปัญหา ความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลาตามคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ๒๕๖๓ คือนายนริศ ขำนุรักษ์ โดยพื้นที่ทะเลสาบพัทลุง หรือ Thai Lagoon มีอยู่หลายปัญหา ที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษน้ำเสีย ปัญหาการตื้นเขิน การบุกรุกพื้นที่ และการประมงที่ผิดกฎหมาย กระผมต้องขอขอบคุณที่ท่านได้ลงไปศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง และได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐอย่างถี่ถ้วน ผมคิดว่าผลงานของท่านจะเป็นประโยชน์ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องคนพัทลุง คนนครศรีธรรมราช และคนสงขลา ได้อย่างแน่นอนครับ ในส่วนเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ ของพี่น้องประชาชน ผมก็ขอให้ท่าน ดำเนินการให้แล้วเสร็จหรือตามตัวชี้วัดให้ได้ เพราะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ต้องพึ่งความหวังของผู้ตรวจการแผ่นดินครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ สำหรับวันนี้ผมมีประเด็นที่ใหญ่ในระดับชาติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณารับเป็นคำร้อง คือปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่มีทั้งความขาดแคลน มีความเหลื่อมล้ำ มีปัญหาทางกฎหมาย ปัญหาทางนโยบาย และการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยประเทศไทยมีที่ดินจำนวน ๓๒๐.๗ ล้านไร่ เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต และถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พี่น้องประชาชน ควรได้รับการครอบครองและใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ในปัจจุบัน ก็มีปัญหามากมาย เช่น ปัญหาไร้ที่ดินทำกิน ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน แนวเขตที่ดินของรัฐที่ไม่ชัดเจน ไปจนถึงปัญหาการถือครองที่กระจุกตัว ท่านประธานครับ ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน หากมองในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหา ในการบริหารจัดการที่ขาดแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ขาดการบริหารจัดการที่คิดแบบองค์รวม แบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ กระผมจึงขอความกรุณาผ่านท่านประธานไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อรับคำร้องของกระผมในการศึกษาตรวจสอบ และแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ปัญหาการประกาศเขตที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐที่ทับซ้อนที่ดินทำกิน ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเขตป่าสงวน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่สาธารณประโยชน์ ไปจนถึงการบริหาร จัดการที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยผมขอเสนอให้ใช้พัทลุง เป็น Model เป็นกรณีศึกษา เพราะมีปัญหานี้ในหลากหลายแห่งครับ ยกตัวอย่างในพื้นที่ ของผมทั้งในอำเภอกงหรา อำเภอบางแก้ว อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน และอำเภอ ปากพะยูน ในพื้นที่เหล่านี้พี่น้องประชาชนล้วนประสบปัญหาที่ดินทำกิน โดยนี่เป็นเพียง ตัวอย่างกว้าง ๆ หากให้ผมพูดเฉพาะจุดวันนี้ก็คงไม่จบครับ ท่านประธานครับ และเท่าที่ผมทราบ ทั่วประเทศไทยพี่น้องประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนที่คล้าย ๆ กัน โดยจังหวัดพัทลุง อาจเป็นกรณีศึกษา เป็นการย่อส่วนประเทศไทยในการตรวจสอบและเสนอแนะการแก้ไข ปัญหาที่ดินทำกินอย่างเป็นระบบต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ปัญหาที่ประชาชนได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐไปแล้ว ทั้งในรูปแบบ สทก. ส.ป.ก. คทช. หมู่บ้านป่าไม้ หรือได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ในรูปแบบใดก็ตาม โดยที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนที่จัดทำ ระบบข้อมูลกลางเพื่อรวบรวมรายชื่อกรณีดังกล่าวไว้ เพราะประชาชนบางคนได้เข้าทำกิน แล้วนำไปขายต่อ แล้วไปบุกรุกพื้นที่ใหม่ ซึ่งควรจะมีมาตรการในการจัดการที่มีประสิทธิภาพ มากกว่านี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ปัญหาประชาชนหรือเอกชนถือครองที่ดินแทนเจ้าของสิทธิตามกฎหมาย เช่นบุคคลหรือกลุ่มทุนที่ไปกว้านซื้อที่ ส.ป.ก. หรือที่ดินรัฐไว้ครอบครองและใช้ประโยชน์ ซึ่งขัดกับนโยบายรัฐบาลและกฎหมายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับสิทธิที่อยู่อาศัยและทำกิน หากปล่อยไว้เช่นนี้จำนวนที่ดินจะไม่เพียงพอ และประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ปัญหากรณีที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ และได้มอบให้ ส.ป.ก. ไปดำเนินการปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรที่ลำบาก ยากจน หากพบว่าที่ใดไม่สามารถทำการเกษตรได้ เช่น อาจจะเป็นแหล่งน้ำ ภูเขา หรือโขดหิน หรือดินทราย ก็ขอให้ส่งคืนกลับกรมป่าไม้เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ ในด้านอื่นต่อไปได้ครับ เช่น เพื่อการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ปัญหาการจัดทำแนวเขตป่าและแผนที่ One Map ที่ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาการดำเนินการมานานมากแล้วครับ หากยังไม่แล้วเสร็จการออกเอกสารก็ล่าช้า ประชาชนก็เดือดร้อน และจะมีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนที่ไม่สิ้นสุด

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของกรมที่ดิน ขาดแคลนงบประมาณ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการสำรวจและออกเอกสารสิทธิในขณะที่มีปริมาณ งานที่มาก ทำให้เกิดความล่าช้าและประชาชนได้รับความเดือดร้อน

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากสถานการณ์การถือครองที่ดิน และการใช้ประโยชน์ในปัจจุบันมีการนำไปใช้ผิดประเภท ใช้ไม่เหมาะสม หรือใช้ไม่คุ้มค่า โดยพื้นที่เหล่านี้บางพื้นที่เท่ากันสามารถสร้างรายได้มากกว่าได้หลายเท่าครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ปัญหากรณีการถือครองที่ดินที่กระจุกตัวสูง ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศนี้ อยู่ในการครอบครองของคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หรืออยู่ในการครอบครองของรัฐ ทำให้ผู้คน จำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน เกิดความเหลื่อมล้ำ บางคนมีพื้นที่เป็นหมื่นไร่ แต่อีกหลายคนไม่มีที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียวครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ หนึ่งในปัญหาที่พี่น้องประชาชนฝากให้ผมช่วย ผลักดันและแก้ไขปัญหามากที่สุดคือปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และจากที่ผมพูดมา ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐ โดยตรง ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อทุ่มเทศึกษาและแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นเหล่านี้ และหาแนวทางให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบได้ดำเนินการต่อไป ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งครับว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็น ความหวังในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนบนผืนแผ่นดินนี้ได้อย่างแน่นอนครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ประเทศของเราจะไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ หากประชาชนยังไม่มีแม้ที่อยู่อาศัย ไม่มีแม้ที่ดินและที่ทำกิน เพราะที่ดินเปรียบเสมือนหัวใจ ของคนจน เปรียบเสมือนชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้พวกเขา มีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายในญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ท่านประธานครับ ตำรวจถือเป็นอาชีพที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย คอยรักษากฎหมายทำให้บ้านเมืองสงบสุข โดยเมื่อใดที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก็จะนึกถึงตำรวจเป็นลำดับแรก ๆ ที่อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน ในความรู้สึกแล้ว ตำรวจถือเป็นอาชีพที่เสียสละและมีเกียรติ ถือเป็น Hero ของพี่น้องประชาชน และถ้า ท่านประธานได้ถามเด็ก ๆ ว่าอาชีพในฝันเมื่อโตขึ้นมาอยากเป็นอะไรหนึ่งในคำตอบนั้น ก็เป็นอาชีพตำรวจอย่างแน่นอนครับ ผมจึงขออนุญาตเริ่มต้นด้วยการชื่นชม และขอบคุณ ตำรวจหลาย ๆ ท่านที่ท่านได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตลอดที่ผ่านมา แต่ความเป็นจริง ในปัจจุบันครับท่านประธานก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจว่าตำรวจบางท่าน บางส่วนไม่เป็นอย่างนั้น ภาพความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามกับในอุดมคติอย่างสิ้นเชิง แค่เฉพาะในช่วงนี้ครับ ท่านประธานปัญหาของวงการตำรวจถูกนำเสนอผ่านสื่อแทบทุกสำนัก ทั้งบนช่องทาง Online และบนหน้าข่าวหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวตำรวจถูกยิง ในงานเลี้ยงวันเกิดกำนันชื่อดังที่มีตำรวจหลายนายอยู่ในเหตุการณ์ ข่าวตำรวจ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Website พนัน Online ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างตำรวจใหญ่ และการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีข่าวปัญหาเรื่องส่วย เรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งเป็นที่รับรู้และที่เอือมระอาของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ท่านประธานครับ ตำรวจน้ำดีมีมากมาย แต่ตำรวจส่วนใหญ่พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เติบโต ในจังหวัดพัทลุงเองก็มีข่าวที่เกี่ยวกับตำรวจอยู่บ่อยครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะข่าวคดีโกง สหกรณ์ตำรวจพัทลุง ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ามากกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท ทำให้ เจ้าหน้าที่และครอบครัวของเขาลำบากเป็นจำนวนมาก หากพูดให้ชัด ๆ ครับท่านประธาน ที่ผ่านมาตำรวจมีข่าวในภาพลบเริ่มตั้งแต่การทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นตำรวจ การปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงการเลื่อนขั้นและแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญที่สุด ท่านประธานที่เคารพ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปองค์กรตำรวจ แต่กลับไม่เคย ประสบความสำเร็จและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้พี่น้องประชาชนต้องจำทนอยู่ใน สังคมที่องค์กร ซึ่งมีหน้าที่ผดุงความยุติธรรมอย่างองค์กรตำรวจไม่สามารถแม้แต่จะช่วยเหลือ องค์กรตัวเอง และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ซึ่งต้องบอกว่าภาพลักษณ์ ของตำรวจในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ตกต่ำสุด ๆ จากความเป็นจริงที่ผมพูดไปทั้งหมดนี้จึงทำให้ เกิดความไม่มั่นใจจากประชาชนว่าในปัจจุบันแล้วตำรวจยังเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หรือเป็น ผู้พิทักษ์ใคร ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามเดือดร้อนได้หรือไม่ หรือกลายเป็นคนที่ทำให้ ประชาชนเดือดร้อนแทน ยังเป็นผู้ที่คอยรักษากฎหมายหรือทำผิดกฎหมายเสียเอง และที่สำคัญตำรวจยังเป็น Hero ในสายตาประชาชนอยู่หรือไม่ หรือได้กลายเป็นผู้ร้าย ในสายตาของพวกเขาไปเสียแล้ว ผมขอพูดตามตรงว่าตำรวจบางส่วนได้ดับฝันในอาชีพ ของเด็ก ๆ ดับความหวังของประชาชนในประเทศนี้ไปเสียแล้วครับ ท่านประธานครับ สำหรับปัญหาดังกล่าวมีงานวิจัยเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ โดยงานวิจัยนี้ระบุว่าสาเหตุ ที่ทำให้องค์กรตำรวจมีปัญหาด้านจริยธรรมมากที่สุดประกอบไปด้วยประเด็นดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ปัญหาค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ส่งผลให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์อื่น ๆ จากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ปัญหาการแต่งตั้ง โยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมทำให้ความก้าวหน้าในอาชีพ ไม่ได้ถูกพิจารณาจากความสามารถ แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บังคับบัญชา และการซื้อขายตำแหน่งโดยใช้เงินที่ได้จากการพึงพอใจของผู้บังคับบัญชา และการซื้อขาย ตำแหน่งโดยใช้เงินที่ได้จากการทุจริตมาอีกทีครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ปัญหาการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและนักการเมือง หรือระบบอุปถัมภ์ ที่ทำให้เกิดการปกป้องผลประโยชน์ และรับใช้ผู้มีอำนาจมากกว่า ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ปัญหาค่านิยมและระบบผิด ๆ ที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่นในวงการตำรวจ และถูกมองว่าพฤติกรรมละเมิดศีลธรรมเป็นเรื่องปกติที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ปัญหาการขาดมาตรการตรวจสอบและลงโทษอย่างจริงจัง รวมถึง ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพได้

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ปัญหานี้สำคัญคือปัญหาการขาดจิตใจในการให้บริการประชาชน และสังคม ทำให้เกิดพฤติกรรมการข่มขู่ คุกคาม รีดไถ และเลือกปฏิบัติกับพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังกัดกิน และทำลายความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา และชื่อเสียงขององค์กรตำรวจมาอย่างยาวนาน ดังนั้นเพื่อทำให้องค์กรตำรวจ กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงผมขอเสนอแนวทางในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นให้ดำเนินการดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้มีการปรับปรุงกระบวนการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนขั้น ตำแหน่งของตำรวจในทุกระดับชั้น โดยใช้ระบบคุณธรรมที่มีการกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ และคุณสมบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมวัดผลได้จริง ไปจนถึงอาจจะมีการสอบแข่งขัน อย่างเป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งต้องกำหนดมาตรฐานและบทลงโทษ ทางจริยธรรมอย่างเข้มงวด รัดกุม และเด็ดขาด

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้มีการปรับปรุงระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการที่พี่น้องตำรวจ ควรได้รับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี และต้องสร้างหลักประกันความก้าวหน้า และความมั่นคงในอาชีพ เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพตำรวจ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ทนต่อการทุจริต และการประพฤติ มิชอบในองค์กร โดยขอให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสที่รับประกันความปลอดภัย และรักษา ความลับของผู้แจ้ง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการตรวจสอบโดยไม่สร้างบรรยากาศ แห่งความบาดหมาง

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้มีการปราบปรามอิทธิพล และระบบอุปถัมภ์ในวงการตำรวจ อย่างจริงจัง เพื่อลดการครอบงำจากผู้มีอำนาจท้องถิ่นหรือนักการเมือง และลด การแทรกแซงจากองค์กรภายนอก

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากรัฐบาล และองค์กรตำรวจเปิดใจ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น และยอมรับการมีอยู่ของการทุจริตการประพฤติมิชอบภายในองค์กร แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และพร้อมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป ผมเชื่อว่า สามารถกู้คืนความเชื่อมั่น ความศรัทธา และความไว้เนื้อเชื่อใจจากพี่น้องประชาชนได้ อย่างแน่นอน

    อ่านในการประชุม

  • ท้ายที่สุดครับ อาชีพตำรวจก็จะกลับมาเป็นอาชีพในฝันของเด็ก ๆ เป็น Hero และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีกครั้ง ปัจจุบันมีคำเปรียบเทียบที่ว่าตำรวจเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว ที่จะให้ใครรักใครชอบทุกคนก็เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมีไว้ ผมจึงขอให้เรา ช่วยกันซักผ้าขี้ริ้วผืนนี้จากที่สกปรก ขมุกขมัว ให้กลับมาเป็นผ้าที่ขาวสะอาดอีกครั้ง ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อันดับแรก ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ถามของผม และขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ท่านสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ได้กรุณาให้เกียรติกระผมและสภามาตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ เรื่องการพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวของประเทศและจังหวัดพัทลุงในวันนี้ สำหรับรายละเอียดของกระทู้ถาม ได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้เผยแพร่ให้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระผมจึง ขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้อภิปรายประกอบกระทู้ถามเป็นลำดับต่อไป ท่านประธานครับ การท่องเที่ยวถือเป็น ๑ สิ่งที่สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ โดยประเทศไทย เป็นหมุดหมายที่สำคัญแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติ มีศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนเรามีอาหารการกิน ที่พัก และภาคบริการที่ดี ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อรายได้ ของพี่น้องประชาชนและต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน มีศักยภาพและโอกาส ที่จะเติบโตอีกมากมาย อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ที่ผ่านมาประเทศของเราก็ยังมีปัญหา มีอุปสรรคด้านการท่องเที่ยว เช่น ด้านกฎหมาย ด้านความไม่ปลอดภัย การขาดแคลน โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน และขาดนโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างจริงจัง สำหรับจังหวัดพัทลุงเองก็เช่นกัน เรามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งภูเขา น้ำตก ป่า นา และทะเลสาบที่สวยงาม เรามีศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น หนังตะลุงและมโนราห์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เรามีควายน้ำ ที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย เรามีผลิตภัณฑ์ และอาหารที่ขึ้นชื่อ เช่น ผลิตภัณฑ์กระจูด ข้าวสังข์หยด และกุ้งก้ามกราม ๓ น้ำ เป็นต้น จากจังหวัดที่ทำการเกษตรเป็นหลัก วันนี้การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งในโอกาสที่สำคัญที่จะ สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ให้พี่น้องหลุดพ้นจากความยากจน โดยวันนี้มีคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาเปิดธุรกิจ Startup ด้านการท่องเที่ยวมากมาย เป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็ง และเรามีผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่ส่งเสริม การท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาพัทลุงได้รับการสนับสนุนให้เป็นเมืองรองตามนโยบาย ของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดและงบประมาณยังมีอยู่ อย่างจำกัด จังหวัดพัทลุงยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ด้านการเดินทางและการคมนาคมขนส่งมายังจังหวัด และอาจทำให้จังหวัดของเราเสียเปรียบ ในขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว ผมเกรงว่าจังหวัดพัทลุงจากแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง จะเป็นจังหวัดที่ถูกลืม ท่านประธานที่เคารพครับ เพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของ ประเทศและพัฒนาให้พัทลุงไม่เป็นเมืองรองที่ถูกลืม ผมจึงขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดัง ต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ของประเทศไทยแต่ละด้านอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๒. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีทิศทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงอย่างไร ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมขอขอบคุณสำหรับ คำตอบกระทู้ถามจากท่านรัฐมนตรีนะครับ ผมคิดว่าครบถ้วนทั้ง ๒ คำถามที่ผมได้ถามไป แต่ท่านอาจจะมีเพิ่มเติม ขอบคุณที่ท่านได้ให้ข้อมูลทั้งด้านการพัฒนาประเทศ แล้วก็ จังหวัดพัทลุง ขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้เชิญชวนท่านประธานแล้วก็ท่านรัฐมนตรีไปเที่ยว ที่จังหวัดพัทลุงด้วยนะครับ จะได้เห็นว่าเรามีโอกาสและศักยภาพ เชิญชวนด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้สั้น ๆ ก่อน ขออนุญาตชื่นชมท่านรัฐมนตรีว่า แม้ท่านเพิ่งจะได้รับตำแหน่ง แต่จากที่ผมได้ฟังคำตอบ ได้เห็นวิสัยทัศน์ แล้วก็ติดตาม การทำงานของท่าน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ การท่องเที่ยว ผมจึงมีความยินดีและมีความคาดหวังครับว่ารัฐบาลจะช่วยผลักดัน การท่องเที่ยวในประเทศและในจังหวัดพัทลุงได้ ผมขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้ต่อไป ในเวลา ที่เหลือฝากข้อเสนอแนะในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี และรัฐบาลเพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ทางกระทรวงและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ ด้านการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ตารางการท่องเที่ยว เทศกาล ประเพณี ในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี ไปจนถึงการสื่อสาร ศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ อาหาร และบริการ อันจะเป็นการส่งเสริม Soft Power ของไทยไปสู่สายตาชาวโลก เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว โดยควรจะมีช่องทางที่รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปยัง แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่พักและบริการ เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้ทางกระทรวงและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว โดยข่าวนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตและบาดเจ็บ ในประเทศไทย ทั้งจากอุบัติเหตุและอาชญากรรมมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ซึ่งรวมถึงข่าวกราดยิง ที่พารากอนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ด้วย รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ทั่วโลก และป้องกันเหตุเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยควรจะมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับควรมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในยามวิกฤติ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ทางกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ต้อง ไม่เน้นแค่เพิ่มจำนวน แต่ควรจะเน้นเพิ่มคุณภาพ เพิ่มการใช้จ่าย และต้องสร้างรายได้ ให้พี่น้องประชาชนคนไทยในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ เท่านั้น ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ความรู้และสร้างทักษะให้พี่น้องประชาชนด้านการประกอบการด้วย โดยควรที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ซึ่งทราบว่ามีในนโยบายของรัฐบาลแล้วด้วย และควรจะมีช่วง ที่ปิดแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อให้ได้ฟื้นฟูและป้องกัน การเสื่อมโทรม อย่างกรณีการปิดอ่าวมาหยาที่ได้ทำจนประสบความสำเร็จแล้ว เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ทางกระทรวงและรัฐบาลได้พิจารณามาตรการส่งเสริมและดึงดูด ให้ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยให้ตรงตามความต้องการและ Life style มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยว เชิงกิจกรรม ท่องเที่ยวหลังเกษียณ กลุ่ม Vocation ท่องเที่ยวสายมู และตามรอยหนัง โดยจะต้องมีมาตรการการอำนวยความสะดวก เช่น Free visa หรือ Long stay visa และการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งท่านรัฐมนตรี ก็ได้ตอบในส่วนนี้แล้ว

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับจังหวัดพัทลุงในประเด็นนี้ ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาผ่อนปรนกฎ ระเบียบ เพื่อให้รถบัสนำเที่ยวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ให้เดินทาง ไปจังหวัดอื่น ๆ ได้ โดยปัจจุบันทราบว่ามีกฎ ระเบียบที่จำกัดให้รถบัสเหล่านี้เข้ามาได้เฉพาะ ในจังหวัดสงขลาเท่านั้น ซึ่งหากมีการผ่อนปรนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยไม่ควรเน้นเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่ควรเน้นเมืองรอง และเมืองเล็ก เพื่อกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงในด้านโครงสร้าง พื้นฐาน เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว โดยในจังหวัดพัทลุงพี่น้อง ประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ได้ครับ เสร็จแล้วเดี๋ยวจะเข้าสู่คำถาม สั้น ๆ ครับ โดยในจังหวัดพัทลุงพี่น้องประชาชนมีความต้องการโครงการพัฒนา เช่น การก่อสร้างสนามบิน สะพานข้ามทะเลสาบ ถนนเพื่อการท่องเที่ยวริมทะเลสาบ และริมเขา บรรทัด สำหรับในด้านกีฬา พี่น้องประชาชนต้องการให้มีการสร้างสนามกีฬามาตรฐาน ๑ แห่งในพื้นที่ของอำเภอตอนใต้ เพื่อเป็นที่รองรับการจัดกีฬาระดับประเทศ และระดับ นานาชาติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นคำถามผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีว่าได้มีนโยบาย ในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ด้วยหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน พี่น้องประชาชนคนไทยและคนพัทลุง มีความคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในโอกาสการสร้างรายได้ เพื่อให้พวกเขาได้ลืมตา อ้าปาก และหลุดพ้นจากความยากจนได้ ผมจึงขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีอีกครั้งที่ได้มาตอบ กระทู้ถามของกระผม และฝากข้อเสนอแนะและคำถามในตอนท้ายในการพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยและในจังหวัดพัทลุง ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาผลักดันต่อไป ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพครับ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ลำดับแรก ขอขอบคุณท่านประธานที่ได้บรรจุกระทู้ของผม และขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี ที่ได้กรุณาให้เกียรติผมและสภามาตอบกระทู้ถาม แยกเฉพาะ เรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดพัทลุงในวันนี้ ซึ่งรายละเอียด ของกระทู้ถามได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้เผยแพร่ให้รับทราบแล้ว ผมจึงขออนุญาต ใช้เวลาตรงนี้อภิปรายประกอบกระทู้ถามเป็นลำดับต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งเทือกเขา ป่า นา และทะเลสาบ พี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง โดยมีผลผลิต หลายชนิดที่ส่งขายต่างจังหวัด ผลผลิตบางชนิดส่งขายต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ มีการผลิตหมู วัว ส่งออก และผลิตโคนมส่งขายทั่วภาคใต้ อีกทั้งจังหวัดพัทลุงยังมีอาหาร ในทะเลสาบที่ขึ้นชื่อมากมาย โดยเฉพาะกุ้งก้ามกราม ๓ น้ำ โดยผลผลิตของพัทลุง บางชนิดยังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คือข้าวสังข์หยด และมีควายน้ำเป็นมรดกโลก ทางการเกษตร นอกจากนี้จังหวัดพัทลุงยังเป็นจังหวัดที่เป็นดาวรุ่งด้านการท่องเที่ยว เป็นที่ท่องเที่ยวเมืองรองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งครับ เพราะเรามีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ ทั้งภูเขา เมฆ หมอก ป่าไม้ และน้ำตกที่อุดมสมบูรณ์ ไปจนถึงยังมีพื้นที่ชุมชนและทุ่งนา และทะเลสาบที่สวยงาม มากไปกว่านั้นจังหวัดพัทลุงยังมีเอกลักษณ์ในด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุงและมโนราห์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่กลับบ้านมาประกอบอาชีพในจังหวัดพัทลุง มาสร้าง ธุรกิจ Startup ทั้งในด้านการเกษตร การแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยว และการบริการ ซึ่งถือว่าเริ่มมีกลุ่มธุรกิจที่เข้มแข็ง จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าพัทลุง มีศักยภาพที่จะพัฒนาทางด้านการเป็นเมืองสีเขียว ผลิตอาหารปลอดภัย การเป็นเมืองของ ผู้ประกอบการยุคใหม่ และที่สำคัญ พัทลุงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางในระดับโลกทางด้าน เกษตร วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างไรก็ตามครับ ท่านประธาน จังหวัดพัทลุงยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและงบประมาณ โดยเฉพาะ ในด้านการคมนาคมขนส่งและ Logistics ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจ ของจังหวัดพัทลุงได้พัฒนาและเติบโต โดยผมขอยกตัวอย่าง เช่น จังหวัดพัทลุงยังขาด สนามบิน ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายของภาคใต้ที่ยังไม่มีสนามบิน โดยเป็นความต้องการของ พี่น้องประชาชนเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว จังหวัดพัทลุงยังขาด การปรับปรุงและพัฒนาถนนเลียบทะเลสาบและถนนเลียบเขาบรรทัด ให้เป็นถนนเพื่อ การสัญจรไปมาที่สะดวก เพื่อขนส่งสินค้าทางการเกษตรและเพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพัทลุง ยังขาดท่าเทียบเรือที่ใช้ในการประมงและการท่องเที่ยวทางน้ำ จังหวัดพัทลุงยังขาดแคลน และมีความต้องการการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบเพื่อความสะดวกในการเดินทาง และการท่องเที่ยว และที่สำคัญจังหวัดพัทลุงยังขาดแคลนถนนลาดยาง โดยยังมีถนนลูกรัง ถนนดินแดง และเป็นหลุมเป็นบ่อในหลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเหมือนเส้นเลือดฝอย ในการเดินทาง ท่านประธานที่เคารพ จากปัญหาการขาดแคลนและความต้องการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ผมกล่าวมาทั้งหมดแล้ว หากมีโครงการพัฒนาจนแล้วเสร็จ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะยกระดับด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพ ชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดพัทลุงได้อย่างแน่นอน ผมจึงขอสอบถามผ่านท่านประธาน ไปยังท่านรัฐมนตรีดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. รัฐบาลได้ดำเนินการและมีแผนนโยบายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในจังหวัดพัทลุงไว้อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๒. รัฐบาลได้มีการจัดสรรเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานของจังหวัดพัทลุงที่ขาดแคลนไว้หรือไม่ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ กระผมขอขอบคุณ สำหรับคำตอบกระทู้ถามจากท่านรัฐมนตรีมนพร ซึ่งจากที่ได้ฟังคำตอบก็เป็นที่พอใจ และยินดีว่ากระทรวงคมนาคมและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ในจังหวัดพัทลุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถนนสายหลักและสายรองที่เปรียบเสมือน เส้นเลือดหลัก เส้นเลือดใหญ่ และเส้นฝอยของการเดินทางในจังหวัดพัทลุง ท่านรัฐมนตรีก็ได้ ชี้แจงว่ายังมีโครงการสะพานข้ามทะเลสาปพัทลุงไปสงขลา โครงการนี้เป็นความต้องการ ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ร่นระยะเวลาการเดินทาง และช่วยผลักดันการท่องเที่ยว ไปจนถึงโครงการสนามบิน อันนี้ก็เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนที่จะรองรับการท่องเที่ยวและการเติบโต ของจังหวัดในอนาคต ไปจนถึงเรื่องของรถไฟรางคู่ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ในการเดินทางและการท่องเที่ยวในอนาคตได้ ผมขออนุญาตใช้โอกาสตรงนี้ชื่นชม ท่านรัฐมนตรีว่าท่านเป็นนักการเมืองที่มุ่งมั่นพัฒนาจังหวัดของท่านตลอดที่ผ่านมา และเชื่อว่าในฐานะรัฐมนตรี ท่านจะสามารถช่วยพัฒนาจังหวัดพัทลุงและทุก ๆ จังหวัด ในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน ผมขออนุญาตใช้เวลาที่เหลือตรงนี้ครับท่านประธาน สอบถามท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการด้านโครงสร้าง พื้นฐานในจังหวัดพัทลุงอื่น ๆ ว่าได้มีการบรรจุโครงการเหล่านี้ มีการตั้งงบประมาณ มีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร หรือไม่ ดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. โครงการก่อสร้างถนนสายเอเชียในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ขณะนี้มีความล่าช้า การก่อสร้างมีความล่าช้ามาอย่างยาวนานและไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้การสัญจรไม่สะดวก ซึ่งเส้นเอเชียเป็นถนนเส้นหลักของจังหวัดพัทลุง เมื่อการก่อสร้างล่าช้าและไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ความล่าช้านี้ทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งและสัญจรไปมา และยัง ทำให้การท่องเที่ยวและร้านค้าได้รับผลกระทบ ขอสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าท่านมีแนวทาง ที่จะแก้ไขอย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๒. โครงการก่อสร้างถนนเลียบทะเลสาบพัทลุง จากทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ถึงตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เชื่อมต่อกับจังหวัด สงขลา ซึ่งได้มีการออกแบบไว้แล้ว ถนนเส้นนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ริมทะเลสาบ การสัญจรและการค้าของแต่ละชุมชนที่ถนนเส้นนี้ผ่าน โครงการนี้ มีการออกแบบไว้แล้ว แต่ว่ายังไม่มีการตั้งงบประมาณหรือมีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงขอสอบถามท่านรัฐมนตรีว่าจะมีการตั้งงบประมาณหรือจะมีแนวทางในการพัฒนา โครงการถนนเลียบทะเลสาบพัทลุงหรือไม่

    อ่านในการประชุม

  • ๓. โครงการปรับปรุงและขยายถนนเส้นทางป่าบอน-คลองหมวย จังหวัดพัทลุง ให้มีไหล่ทาง มีจุดชมวิวและจุดจอดรถ ซึ่งถนนสายนี้จะเป็นสายสำคัญสำหรับ การท่องเที่ยวริมเขาบรรทัดจังหวัดพัทลุง โครงการนี้เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน ในท้องที่ เพราะว่าเส้นริมเขาบรรทัด เป็นที่ท่องเที่ยว มีที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอป่าบอน อำเภอตะโหมด อำเภอกงหรา และอำเภอศรีนครินทร์ ที่มีทั้งวิวภูเขา มีอ่างเก็บน้ำและน้ำตกที่สวยงาม ประชาชนมีความต้องการให้มีการสร้างถนน เพื่อการท่องเที่ยวในบริเวณนี้ เพื่อที่จะเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ ให้พี่น้องในชุมชน และจะเป็นเส้นทางที่อำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนส่งสินค้า ทางการเกษตร ทั้งจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง ขอสอบถามท่านรัฐมนตรีว่า ทางกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลได้มีโครงการในการพัฒนาถนนเลียบริมเทือกเขาบรรทัด ไว้หรือไม่ครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหา เป็นความต้องการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนจังหวัดพัทลุงที่จะมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น กระผมจึงขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีอีกครั้งนะครับ ที่ท่านได้มาตอบกระทู้ถาม ของผม ในวันนี้และจากคำตอบ ผมก็ขอชื่นชมท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลที่มีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายในจังหวัด และขอฝากคำถาม เหล่านี้ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขอเสนอญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การแก้ไขปัญหาและพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ อย่างยั่งยืน

    อ่านในการประชุม

  • ลำดับแรก ผมขอขอบพระคุณท่านประธานที่ได้บรรจุญัตตินี้ของผมและคณะ เพราะลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญ แต่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับรายละเอียดของญัตติได้ปรากฏ ตามเอกสารที่ทางสภาได้แจกจ่ายให้กับเพื่อนสมาชิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระผม จึงขออนุญาตใช้เวลานี้เพื่ออภิปรายประกอบญัตติเป็นลำดับต่อไป ท่านประธานครับ ประเทศไทยมีทะเลสาบแห่งเดียวที่มีลักษณะพิเศษคือมีน้ำจืดจากเทือกเขาในจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราชไหลมารวมกัน และมีน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยเข้ามาผสมด้วย ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน Lagoon ๑๑๗ แห่งทั่วโลกเพียงเท่านั้น ทะเลสาบแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีลักษณะของน้ำในทะเลสาบ ถึง ๓ น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มีเกาะที่สำคัญ อาทิ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะหมาก เกาะนางคำ และเกาะยอ ทะเลสาบแห่งนี้ครอบคลุมหลายร้อยหมู่บ้าน หลายสิบอำเภอ ในพื้นที่ ๓ จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช มีประชากรมากกว่า ๑ ล้านคน อาศัยและทำกินอยู่ร่วมกันรอบทะเลสาบ และมีระบบนิเวศ มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และมี ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ท่านประธานครับ เพื่อเป็นชื่อเรียกที่ครอบคลุมจังหวัดในพื้นที่ และตรงกับสภาพลุ่มน้ำ หลังจากนี้ผมขออนุญาตเรียกลุ่มน้ำทะเลสาบแห่งนี้ว่าไทยลากูนครับ ทะเลสาบพัทลุง ทะเลสาบสงขลา หรือไทยลากูนมีความสำคัญในระดับประเทศและระดับ โลกในหลากหลายประเด็นด้วยกันครับ ยกตัวอย่าง เช่น ในพื้นที่มีป่าพรุควนเคร็งซึ่งเป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำที่เป็นแหล่งพันธุ์สัตว์และพืชป่า เป็นแหล่งดูดซับก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ในพื้นที่อย่างนี้มีป่าพรุควนขี้เสี้ยนที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ระหว่างประเทศหรือเรียกว่า Ramsar Sites เป็นแห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่แห่งนี้ มีทะเลน้อยที่เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศ มีควายน้ำที่เป็นมรดก ทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย มากไปกว่านั้นครับ ในพื้นที่ทะเลสาบแห่งนี้ มีโลมาอิรวดีที่เป็นหนึ่งในโลมาน้ำจืดเพียง ๕ ชนิดทั่วโลก ซึ่งในทะเลสาบสงขลาเหลืออยู่เพียง ๑๔ ตัวเท่านั้น นอกจากนี้ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลายังมีการทำนาริมทะเลสาบที่บ้านปากประ ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นต้นครับ ในอดีตพื้นที่ทะเลสาบแห่งนี้มีทรัพยากร ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และนกน้ำหลากหลายชนิด มีทรัพยากรน้ำทั้งคุณภาพ และปริมาณที่มากพอ และมีสภาพทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายโดยเป็นแหล่งสร้างประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งจากการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว อย่างไร ก็ตามจากการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่เป็นไปตามหลักการ อนุรักษ์ มีการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย มีการบุกรุกพื้นที่ จึงทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ ดังกล่าวสูญเสียไปอย่างมาก อีกทั้งยังมีปัญหาการตื้นเขิน มีมลพิษ น้ำเสีย มีปัญหาสายพันธุ์ รุกรานต่างถิ่นทำให้ทะเลสาบที่สำคัญแห่งนี้มีสภาพที่เสื่อมโทรม นอกจากนี้ในพื้นที่ทะเลสาบ พัทลุงประชาชนยังเผชิญปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วม ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้พี่น้องประชาชนหรือชุมชนที่อยู่รอบทะเลสาบ มีความเป็นอยู่ ที่ยากลำบากและยากจน ท่านประธานที่เคารพครับ จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็น ว่าไทยลากูนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีศักยภาพ แต่ยังขาดการบริหารและจัดการ อย่างเป็นระบบ จากปัญหานี้เองหลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าเราจะต้องร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ทะเลสาบหรือไทยลากูนแห่งนี้อย่างยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ และร่วมมือกันทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ และหากเรามองในภาพรวมสภาพลุ่มน้ำ อื่น ๆ ในประเทศไทยทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำในอดีตและได้มีการปรับในปี ๒๕๖๔ ให้เหลือ ๒๒ ลุ่มน้ำ ก็มีสภาพที่ไม่แตกต่างจากลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงแต่อย่างใด เพราะล้วนมีสภาพที่เสื่อมโทรม ทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติทำให้ประชาชนและชุมชนล้วนมีความขาดแคลน และเดือดร้อนเหมือนกันแทบทุกลุ่มน้ำ ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาให้ผมได้เสนอญัตติขอตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบ สงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืนในวันนี้ครับ ซึ่งหากสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ หรือจะส่งให้คณะกรรมาธิการคณะใดได้พิจารณากระผมก็ไม่ขอขัดข้องครับ แต่ขอฝาก ทางคณะกรรมาธิการและรัฐบาลได้นำข้อเสนอแนะของผมประกอบการศึกษาดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้มีการศึกษาเพื่อให้มีคณะทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการ ที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง ๓ จังหวัด ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานให้เป็นการประสานแผนงานด้วยกัน หรือบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยพี่น้องในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ นักวิชาการหรือกลุ่มอนุรักษ์ต้องมีส่วนร่วมในการเสนอแนะให้ความเห็นและร่วมทำงานด้วย ไม่ใช่เป็นแบบต่างคนต่างทำเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้การฟื้นฟูทะเลสาบไม่ประสบ ความสำเร็จ โดยขอให้ศึกษาว่าควรจะใช้รูปแบบใดในการทำงาน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้มีการศึกษาเพื่อฟื้นฟูสภาพทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด โดยเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าริมทะเลสาบและป่าต้นน้ำทุกป่า ขจัดน้ำเสีย ที่ลงสู่ทะเลสาบอย่างจริงจัง กำจัดสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น แก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย และควบคุมทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพน้ำให้ดีและเพียงพอก่อนปล่อยลงสู่ทะเลสาบ พร้อมกันนี้ต้องเร่งการปล่อยสัตว์น้ำ อนุรักษ์สัตว์ป่าให้มีสภาพใกล้เคียงกับในอดีตให้ได้ มากที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้มีการศึกษาเพื่อการเปิดปากคลองระวะ ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้ปิดกั้นไม่ให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยเข้ามาในทะเลสาบร่วม ๕๐ ปีแล้ว จึงขอให้มีการศึกษา และทดลองการเปิดคลองระวะอีกครั้งเพื่อให้น้ำเค็มเข้ามาเหมือนเดิมว่าจะสามารถทำให้ ทะเลสาบกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีตได้หรือไม่ และช่วยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้อย่างไร

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้มีการศึกษาการขุดลอกทะเลสาบให้ลึกลง เพราะขณะนี้ทะเลสาบ แห่งนี้มีความตื้นเขินเป็นอย่างมาก โดยความตื้นเขินนี้มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของ ทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ศึกษาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการอนุรักษ์ เพราะหากปล่อยไว้เช่นนี้เราอาจจะสูญเสียทะเลสาบแห่งนี้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้มีการศึกษาการก่อสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงทะเลสาบ และจัดทำให้มีพิพิธภัณฑ์สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่อยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี การรวบรวมจัดทำเป็นระบบแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา การอนุรักษ์ และเพื่อการท่องเที่ยว

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศให้ไทยลากูนเป็นมรดกโลก เพราะหลายลุ่มน้ำที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกไปแล้ว ในต่างประเทศ ซึ่งน่าจะมีผลประโยชน์ที่ดีอย่างกว้างขวางทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้มีการศึกษาว่าจะมีวิธีการอนุรักษ์โลมาอิรวดีหรือโลมาหัวบาตร ซึ่งมีในทะเลสาบพัทลุงจำนวนเหลืออยู่แค่ ๑๐ กว่าตัวเท่านั้นและกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ไปจากพื้นที่ได้อย่างไร และนอกจากนี้ควรจะมีการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพันธุ์หายาก อื่น ๆ ในพื้นที่ร่วมด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ขอให้มีการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ไทยลากูน อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ การประมง อย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างรับผิดชอบ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ รอบทะเลสาบ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ ปัจจุบันนี้สภาพของทะเลสาบสงขลาหรือที่เรียกว่า ไทยลากูน เป็นเสมือนพื้นที่ที่เราดึงเอาทรัพยากรมาใช้และเป็นพื้นที่ทิ้งขยะหรือที่กักเก็บน้ำเสีย เพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูทะเลสาบและลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั้ง ๒๕ หรือ ๒๒ ลุ่มน้ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์อย่างจริงจังและยั่งยืน ให้เหมือนหรือใกล้เคียงในอดีต โดยเมื่อทะเลสาบและลุ่มน้ำเหล่านี้กลับมามีความอุดม สมบูรณ์ก็จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การพัฒนาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ การพัฒนา ด้านการประมง การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นการกระจายรายได้ โดยที่สุดแล้วจะทำให้พี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร มาช่วยในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงหรือไทยลากูนและลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถใช้และได้รับประโยชน์ จากลุ่มน้ำเหล่านี้ไปจนถึงรุ่นลูกหลาน ควบคู่ไปกับการมีทรัพยากร มีสิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติ ที่สมบูรณ์และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนไปตราบนานครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ สำหรับในญัตติเรื่องการแก้ไข ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างยั่งยืน เมื่อสักครู่ก็ได้มี การพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกแล้วก็ผมอยากขอเสนอให้หากไม่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการก็ขอให้ ส่งให้คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาศึกษาต่อไป เพราะว่าจะตรงตามจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืนมากที่สุด ฝากท่าน พิจารณาด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผมขอเสนอว่าเนื่องจากญัตติของผมก็คือเป็นเรื่องของทะเลสาบสงขลาแล้วก็เป็น ลุ่มน้ำทะเลสาบอื่น ๆ เมื่อสักครู่มีเพื่อนสมาชิกก็ได้อภิปรายในประเด็นของบึงบอระเพ็ด แล้วก็ที่บึงกาฬด้วย จริง ๆ ผมคิดว่ากรอบระยะเวลาศึกษาเพราะว่าลุ่มน้ำในประเทศไทย มีอยู่ ๒๒ แห่ง ซึ่งผมคิดว่าเพื่อที่จะให้เพื่อนสมาชิกแล้วก็ภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการศึกษาในครั้งนี้ขอให้กรอบระยะเวลาเป็น ๖๐ วันครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขออนุญาต นำปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือ ดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อนุญาตให้รถบัสนำเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่เข้าสู่จังหวัดสงขลาให้สามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ครับ โดยปัจจุบัน มีกฎระเบียบและประกาศของจังหวัดสงขลาที่จำกัดให้รถบัสเข้ามาได้เฉพาะในจังหวัดสงขลา เท่านั้น ซึ่งหากมีการแก้ไขกฎระเบียบนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียเข้ามาและสร้างรายได้ให้พี่น้องในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลพิจารณาเปิดให้มี Visa สำหรับ ชาวต่างชาติที่เที่ยวไปด้วยและทำงานไปด้วย เพื่อดึงดูดกลุ่มที่เรียกว่า Digital Nomad หรือ Workation โดยอาจจะเป็น Visa แบบ ๑ ปี หรือ ๒ ปี และผ่อนปรนหรือลดเงื่อนไข ด้านรายได้ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบ จากบ้านท่าเนียน ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ไปบ้านปากจ่า ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และสะพาน ข้ามทะเลสาบจากบ้านเกาะโคบ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ไปบ้านศรีไชย ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยโครงการสะพานทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อ ลดระยะเวลาการเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยว ของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสร้างศูนย์กระจายสินค้าหรือตลาดศูนย์กลางทางการเกษตรแบบครบวงจร ในจังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ผลไม้ สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ เพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลพิจารณา ให้ค่าตอบแทนกรรมการมัสยิด ครูสอนศาสนา และสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียน สอนศาสนาและโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศ ที่มักเผชิญปัญหาขาดแคลน และขอให้พิจารณาให้วันฮารีรายอเป็นวันหยุดราชการของ พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • จำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดที่ลงชื่อไว้เมื่อเลิกประชุม ๔๗๖ คน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายให้ความเห็นในญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมง ทั้งระบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการต่อเนื่อง และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ของท่านณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ท่านประธานครับ ทะเลและมหาสมุทรถือเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นอกจากนี้ทะเลยังทำหน้าที่ดูดซับก๊าซต่าง ๆ ที่เราปล่อยไป และผลิตออกซิเจนให้โลก อีกด้วย ทะเลยังเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการประมง โดยสำหรับในประเทศไทยเองก็เช่นกันการประมงถือเป็นอาชีพ ที่สำคัญของคนไทยมาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมาเรามีผลผลิตและการส่งออกด้านประมงติดอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันทะเลของโลกก็เผชิญภัยคุกคามอย่างมากทั้งจากการประมงเกินขนาด การประมงผิดกฎหมาย ไปจนถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น มลพิษ น้ำเสีย ขยะ และภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จากปัญหาเหล่านี้ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมทางทะเลและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้เกิดเป็นความตกลง และอนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเลมากมายครับ ซึ่งด้านองค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กำหนดแนวทางและมาตรการทำประมงอย่างยั่งยืน ให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ โดยชี้ว่าแนวทางที่เป็นปัญหาคือการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือที่เราเรียกกันว่า IUU Fishing ทางด้านสหภาพยุโรป หรือ EU เองก็ได้นำมาตรการนี้มาปรับใช้ในกลุ่มประเทศ และภายหลังก็ได้ประกาศจะไม่ซื้อสินค้า ประมงจากประเทศที่ไม่มีการจัดการปัญหาเรื่อง IUU จนกระทั่งในปี ๒๕๕๘ ทาง EU ก็ได้ประกาศ แจ้งเตือนประเทศไทยด้วยการให้ใบเหลืองว่าเรามีปัญหาในเรื่องดังกล่าว และให้ประเทศไทย แก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ทั้งด้านการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และการจัดการด้านประมงเสียใหม่ รัฐบาลในขณะนั้นจึงเร่งออกคำสั่งและบังคับใช้กฎหมาย ออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรือ การเดินเรือ แรงงานประมง จนกระทั่งในปี ๒๕๖๒ สหภาพยุโรปก็ได้ปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตามการเร่งออกกฎหมายมาบังคับใช้ของรัฐบาลในขณะนั้นกลับลืมหันหลังมามอง ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน และต้องแลกมาด้วยความเสียหายต่อชาวประมง และอุตสาหกรรมที่ตามมามากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยพระราชกำหนดการประมง ปี ๒๕๕๘ ขาดการรับฟังความคิดเห็น ขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และขาดการกลั่นกรอง จากรัฐสภา อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมงของไทย มีบทลงโทษที่รุนแรง มีเงื่อนไขที่บีบรัดเกินความจำเป็น และออกมาในช่วงเวลาที่เร่งรัดทำให้ชาวประมงไม่มีเวลา ปรับตัว และไม่ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐเท่าที่ควร จนกระทั่งวันนี้เองปัญหา ของพี่น้องประชาชนชาวประมงก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้พี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการ สูญเสียรายได้มีหนี้สิน หลายรายต้องเลิกการประกอบอาชีพประมงไปในที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อ ประเทศและก่อให้เกิดปัญหาการนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศ และปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก มากมาย การประมงอย่างยั่งยืนที่มีการควบคุมและมีการรายงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จาก การเร่งรัดออกกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ผมจึงมีความเห็นชอบ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ และสอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยผมมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการ และรัฐบาลให้รับไปศึกษาและพิจารณาดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประมง ทั้งหมด เช่น เขตประมงพื้นบ้าน คุณสมบัติผู้มีสิทธิขอใบอนุญาต การกำหนดลักษณะ ต้องห้าม เครื่องมือ และขนาดเรือที่ชัดเจน ช่วงเวลาทำการประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำ ในทะเล และแก้ไขบทกำหนดโทษที่เหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการประมง ประจำจังหวัดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวประมง และมาตรการ คุ้มครองแรงงานที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้พิจารณาการเร่งรัดซื้อเรือประมงออกนอกระบบโดยเร็ว ซึ่งเป็น การเยียวยาที่ล่าช้าอยู่ในขณะนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโครงการสินเชื่อ เพื่อเสริม สภาพคล่องของผู้ประกอบการประมง และสามารถช่วยเหลือชาวประมงได้อย่างแท้จริง

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้รัฐบาลพิจารณาและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่เป็น ประโยชน์ต่อการทำประมงที่ทันสมัย และช่วยลดต้นทุนในการทำการประมง เช่น การจัดหา เงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และผลักดันให้เกิดการผลิตเครื่องจักร เครื่องมือ หรือนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการทำการประมง

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้พิจารณาการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มประมงท้องถิ่น และการจัดตั้ง โรงเรียนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำการประมง เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่า สัตว์น้ำ และพัฒนาอาชีพ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้พิจารณาการจัดตั้งกองทุนประมงเพื่อช่วยเหลือเยียวยาชาวประมง รวมถึงการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ตกต่ำ

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ขอให้พิจารณาการส่งเสริมและจัดระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เพื่อการแก้ไขปัญหา ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลในระยะยาว

    อ่านในการประชุม

  • ๙. ขอให้พิจารณาการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวประมง ผู้ประกอบการ และประชาชน ในการฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาประมงทะเลไทย เช่น การจัดการขยะทะเล โดยชุมชนชายฝั่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนชาวประมงอย่างรับผิดชอบ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ การสร้างความสมดุลระหว่างการจับสัตว์น้ำหรือการรักษา ความอยู่รอดของประมงทะเลไทยไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สัตว์น้ำหรือการปฏิบัติตาม หลักการแก้ไขปัญหา IUU เป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม และควรทำไป พร้อม ๆ กันครับ กระผมจึงเห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความซับซ้อน และหากได้รับการแก้ไขก็จะเป็นประโยชน์ของชาติอย่างมหาศาล และเป็นการฟื้นชีวิต ชาวประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องขึ้นมาอีกครั้งครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๑ ท่าน คือนายพิทักษ์เดช เดชเดโช ขอผู้รับรองด้วยครับ (มีสมาชิกยกมือขึ้นรับรอง)

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผมรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ ในการก่อสร้างสนามบินพัทลุง เพราะสนามบินถือเป็นความฝันเป็นความต้องการของพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ที่เฝ้ารอมาหลายปี และจะเป็นโอกาสที่สำคัญของพี่น้องคนพัทลุง ในวันข้างหน้าครับ ผมจึงขอขอบคุณท่านประธานครับที่ได้บรรจุกระทู้ถามของผม แล้วก็ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านมนพร เจริญศรี เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้สละเวลาและให้เกียรติผมและสภามาตอบกระทู้ถามในวันนี้นะครับ ซึ่งรายละเอียดของ กระทู้ถามก็ได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้เผยแพร่รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้ให้เหตุผลประกอบกระทู้ถามเป็นลำดับต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์โดยเรามีประชากรประมาณ ๕๒๐,๐๐๐ คน ประชาชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง ผลผลิตหลายชนิด ขนส่งไปขายต่างจังหวัด บางชนิดสามารถขายต่างประเทศได้ จึงต้องการระบบขนส่งที่ดี และได้มาตรฐานเพื่อขนส่งสินค้าได้สะดวก มากไปกว่านั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยว ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่สร้างรายได้สร้างอาชีพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเรามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาบรรทัด เมฆหมอก ป่าไม้ และน้ำตกที่อุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันตกของจังหวัด เรามีชุมชนและทุ่งนา ตอนกลางของจังหวัดและมีทะเลสาบแบบ Lagoon และพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยที่สวยงาม ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของจังหวัด ท่านประธานครับ นอกจากนี้จังหวัดพัทลุงยังมีวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นมโนราห์ที่เป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรม เรามีควายน้ำทะเลน้อยที่เป็นมรดกทางการเกษตร เรามีข้าวสังข์หยด สาคูต้น และกุ้งก้ามกราม ๓ น้ำ ที่นักท่องเที่ยวในประเทศและนอกประเทศต้องการเข้ามาสัมผัส ท่านประธานครับ จากที่เคยถูกเรียกว่าเป็นเมืองทางผ่านไม่มีอะไรน่าสนใจเลย วันนี้นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้พัทลุง ได้รับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยจากในปี ๒๕๖๒ ข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยวบอกว่ามีนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยือนพัทลุงราว ๑,๖๐๐,๐๐๐ คน และสถิติย้อนหลัง ๑๐ ปีพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ ๑๕.๕๙ เปอร์เซ็นต์ต่อปี แล้วก็มีรายได้ ด้านการท่องเที่ยวในปี ๒๕๖๒ รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยเฉลี่ย ๓,๐๐๐ ล้านบาท จากชาวต่างชาติ ๑๑๘ ล้านบาท อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ ปัจจุบันการเดินทาง ไปยังจังหวัดพัทลุงยังยากลำบาก ซึ่งจะต้องเดินทางมาทางถนน หรือทางราง หรืออาจจะต้อง เดินทางมาโดยทางอากาศที่จะต้องบินมาลงในจังหวัดใกล้เคียงและต่อรถมายังพัทลุงอีกที ซึ่งจะเห็นได้ว่าใช้เวลาในการเดินทางมาจังหวัดพัทลุงนี่ค่อนข้างนานและไม่สะดวกนะครับ จึงสรุปได้ว่าการคมนาคมที่ยังไม่เอื้ออำนวยทำให้พัทลุงเสียเปรียบในด้านขีดความสามารถ และทำให้การท่องเที่ยวพัทลุงยังขยายตัวไม่ได้เต็มที่ครับ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนา และส่งเสริมด้านการคมนาคม ปัจจุบันพี่น้องประชาชนมีความต้องการอยากให้มีการสร้าง สนามบินพัทลุงซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่อำนวยความสะดวกทั้งในด้านการเดินทาง การสัญจร การขนส่งสินค้า เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวการลงทุนและการสร้างรายได้ จึงได้ฝากให้ผมมาถาม และมาผลักดันโครงการนี้ จึงขอสอบถามท่านรัฐมนตรีผ่านท่านประธานว่ากระทรวงคมนาคม ได้มีการศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุง ไว้หรือไม่ และอย่างไรครับ โดยขอทราบรายละเอียดด้วยครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมขอขอบคุณสำหรับ การตอบกระทู้ถามของท่านรัฐมนตรี แล้วก็ขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านประธาน ด้วยนะครับ ซึ่งจากคำตอบผมคิดว่าคงทำให้พี่น้องประชาชนดีใจว่าได้มีการศึกษาในเรื่องของ ความเป็นไปได้ และจากที่ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงก็พบว่ามีความเหมาะสมทั้งด้านจำนวน นักท่องเที่ยว ผู้โดยสาร มีการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ และทราบว่ามีสถานที่ก่อสร้าง ที่เหมาะสมแล้วนะครับ ผมจึงขออนุญาตพูดแทนพี่น้องคนพัทลุงว่าเรามีความต้องการ ด้านสนามบินจริง ๆ ทั้งเพื่อด้านการสัญจร ด้านการค้า และการท่องเที่ยวนะครับ พี่น้อง ประชาชนเห็นโอกาสแล้วก็เห็นศักยภาพว่าจังหวัดของเราสามารถพัฒนาทางด้านการเป็น เมืองที่ผลิตอาหารปลอดภัย การเป็นเมืองของผู้ประกอบการยุคใหม่ และการลงทุนต่าง ๆ ที่ตามมาอีกมากมายที่ท่านประธานได้กล่าวไปสักครู่นะครับ และที่สำคัญพัทลุงมีศักยภาพ ที่เป็นศูนย์กลางในระดับประเทศและในระดับโลกทางด้านวัฒนธรรม แหล่งสินค้าและบริการ และแหล่งท่องเที่ยวได้นะครับ โดยสนามบินพัทลุงจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของจังหวัด จากที่เป็นเมืองทางผ่านในอดีตและเป็นเมืองรองในปัจจุบันอาจจะไปสู่การเป็นเมืองหลัก ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า ด้านการลงทุนได้ในอนาคตนะครับ ซึ่งไม่นานมานี้ก็ทราบว่าทางจังหวัดเองก็ได้ตั้งคณะทำงานทั้งส่วนราชการ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนข้อมูลประกอบการเจรจาเร่งรัดการก่อสร้างสนามบินระหว่าง จังหวัดพัทลุงกับกรมท่าอากาศยาน กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากคำตอบของท่านรัฐมนตรีเมื่อสักครู่นี้ผมคิดว่าจะสร้างความมั่นใจว่าเรื่องสนามบิน พัทลุงจะมีการเดินหน้าและรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้นะครับ ซึ่งจะเป็นความหวังว่า โครงการนี้จากที่เป็นความฝันจะเป็นจริงได้เสียทีนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอสอบถามเป็นคำถามที่ ๒ ว่ากระทรวงคมนาคมได้มีการสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินการก่อสร้างสนามบินพัทลุงหรือไม่นะครับ โดยขอทราบรายละเอียดด้วย ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายให้ความเห็นในญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ท่านประธานครับ หนี้สินครัวเรือน ก็คือหนี้ที่เกิดจากบุคคล หรือประชาชนทั่วไปที่ไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อมา ใช้จ่ายซื้อของ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม เพื่อมาทำธุรกิจประกอบอาชีพ หรือใช้ ในการศึกษา เป็นต้น โดยปัญหาหนี้สินครัวเรือนถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และขณะนี้ ก็น่ากังวลมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนเป็นหนี้มากขึ้นก็มีอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้า ข้าวของราคาแพงขึ้น ไปจนถึงปัญหาการขาดความรู้และวินัย ทางการเงิน และมีความต้องการความจำเป็นในการใช้จ่าย ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ พี่น้องประชาชนต้องกู้ยืมและเป็นหนี้มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีความสามารถ ในการชำระหนี้ที่ต่ำลง ที่น่ากังวลคือส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อาจไม่สร้างรายได้ และมีบางส่วน ที่เป็นหนี้เสีย ท่านประธานเมื่อดูในตัวเลขและสถิติในภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า ประเทศของเรามีคนที่มีหนี้สูงถึง ๓๗ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ ๒๕ ล้านคน หรือคิด เป็น ๑ ใน ๓ ของประชากรไทย โดยในปี ๒๕๖๖ นี้ประเทศไทยมีหนี้สินครัวเรือนทั้งหมด ประมาณ ๑๖ ล้านล้านบาท คิดเป็นราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นอันตราย และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ หนี้ครัวเรือนของไทยก็สูงติดอันต้น ๆ ของโลกอีกด้วย มากไปกว่านั้นสภาพปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่าหนี้ครัวเรือน ในช่วงปลายปี ๒๕๖๖ ขยายตัว ๑๑.๕ เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าหนี้เฉลี่ยมากกว่า ๕๕๐,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือน และคาดว่ายอดหนี้ครัวเรือนนี้จะพุ่งสูงขึ้นอีกในปี ๒๕๖๗ เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวตามที่คาดครับ เมื่อประชาชนมีปัญหาหนี้สิน ในครัวเรือนก็ส่งผลให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งปัญหาสังคม และที่สำคัญเป็นปัญหาฉุดรั้ง การฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ หลายท่านได้เปรียบเทียบว่าหนี้ครัวเรือนคือ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ขณะนี้ใกล้ถึงเวลาที่จะระเบิดเต็มทีแล้วครับ จึงจำเป็นต้องเร่งป้องกัน เร่งควบคุมและเร่ง กู้ระเบิดลูกนี้โดยเร็วที่สุด ผมจึงของสนับสนุนให้เราใช้กลไกของสภาในการศึกษา และหาทางออกให้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน และปัญหาค่าครองชีพสูงอย่างเป็นระบบ ที่ครอบคลุมทุกปัญหาและทุกภาคส่วน โดยมีข้อเสนอแนะให้ทางคณะกรรมาธิการ และรัฐบาลนำไปประกอบการพิจารณา ๓ ประเด็นดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ คือการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับ ประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระเบิดหนี้สินครัวเรือน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อง ส่งเสริมการวางแผนและบริหารการเงินที่ควรจะให้ทั้งความรู้ให้กับทุก ๆ วัย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการออม การลงทุนไปจนถึงการกู้ยืม ทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น โดยการศึกษารายละเอียดของสินเชื่อให้ตรงต่อความต้องการของผู้กู้มากที่สุด รวมถึง ควรให้ความเข้าใจในการคำนวณดอกเบี้ยและวางแผนการชำระหนี้ตามความสามารถ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียในอนาคต นอกจากนี้จะต้องมีการส่งเสริมการเพิ่ม และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านการประกอบการเพื่อสร้าง รายได้ทั้งรายได้หลัก รายได้เสริม และการสร้างอาชีพที่มั่นคง

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ คือมาตรการที่ช่วยควบคุมการก่อหนี้ ช่วยลดหนี้ และปลดหนี้ เพื่อควบคุมและจำกัดระเบิดหนี้สินในครัวเรือน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกกฎเกณฑ์ หรือมาตรการในการควบคุมการก่อหนี้ครัวเรือน หรือมาตรการผ่อนคลายตามสถานการณ์ หนี้ครัวเรือนที่เปลี่ยนไป สนับสนุนการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อไม่ให้เกิด การก่อหนี้ซ้ำซ้อน สนับสนุนให้มีการชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา และจูงใจให้จ่ายหนี้ เพิ่มขึ้นเมื่อมีรายได้หรือมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น สถาบันการเงินควรมีส่วนร่วม ในการลดหนี้ครัวเรือน โดยพิจารณาเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่รัดกุม เหมาะสมกับสถานะของ ผู้กู้ และให้บริการบนเงื่อนไขและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก่อนเกิดการค้างชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้เสีย อีกทั้งสถาบันการเงินควรมีผลิตภัณฑ์ ทางการเงินที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกหนี้ตามสภาพสังคม หรือสภาพเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การ Refinance หรือการรวมหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระได้ ตามความเหมาะสมในปัจจุบัน รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเมื่อเผชิญวิกฤติ เศรษฐกิจ เป็นต้น โดยรัฐบาลเองควรมีหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านการไกล่เกลี่ยหนี้ การประนอมหนี้ และการบังคับคดีแก่ประชาชนโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นตัวกลางในการให้ คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และกำหนดเงื่อนไขที่เป็นธรรมในการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้าง หนี้กับสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เป็นประเด็นสุดท้าย คือการเพิ่มการกระจายรายได้และลด รายจ่ายของครัวเรือนเพื่อกอบกู้และทำลายระเบิดหนี้สิน โดยรัฐบาลควรดำเนินการปรับปรุง โครงสร้างทางรายได้ เงินเดือน และสวัสดิการ ต้องเน้นกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจเพื่อลดการก่อหนี้ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจทำให้เกิดหนี้เรื้อรังตามมา และที่สำคัญรัฐบาลควรจัดให้มีสวัสดิการ ที่ครอบคลุมทุกเพศ ทุกกลุ่ม ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา พยาบาล และการดูแล ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ท่านประธานที่เคารพครับ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสร้างวินัยทางการเงินควบคู่ไปกับการปลดภาระหนี้เดิม และการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชน พร้อมกับออกกฎเกณฑ์กำกับการปล่อย สินเชื่อของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงอัตราส่วนของภาระหนี้ต่อรายได้ และมาตรการอื่น ๆ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้ก่อหนี้เกินความสามารถและเหมาะสมกับรายได้ในปัจจุบัน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ท่านประธานครับ ผมเห็นด้วยที่จะต้องมีการศึกษา การแก้ไขปัญหา หนี้สินครัวเรือนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชนและหยุดระเบิด เวลาของเศรษฐกิจไทย ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาขอให้รัฐบาลพิจารณาศึกษาความยั่งยืน ของโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือโครงการ Landbridge

    อ่านในการประชุม

  • ลำดับแรกผมขอขอบคุณท่านประธานที่ได้บรรจุญัตตินี้ของผมและคณะนะครับ เพราะเป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนทั้งในเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับ ผลกระทบและความยั่งยืนของโครงการ ซึ่งวันนี้ก็มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านที่ได้เสนอญัตติ ขอให้ทางสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่อง Landbridge เช่นเดียวกัน สำหรับรายละเอียดของญัตติก็ได้ปรากฏตามเอกสารที่ทางสภาได้แจกให้กับ เพื่อนสมาชิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระผมจึงขออนุญาตใช้เวลานี้เพื่ออภิปรายประกอบญัตติ เป็นลำดับต่อไป ท่านประธานครับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนา ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ โดยตลอดช่วงหลาย ปีที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ โดยเฉพาะการสร้าง สะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมเส้นทางเดินเรือจากฝั่งอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทยหลายรูปแบบ หลายแนวคิด เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Seaboard ไปจนถึงโครงการขุดคลองคอคอดกระ จนมาถึงปัจจุบันมีแผนขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือเรียกว่า Southern Economic Corridor ที่หวังเป็น ฐานเศรษฐกิจใหม่ที่ต่อยอดการพัฒนาจากฐานทรัพยากรและกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีอยู่ใน พื้นที่สู่การเป็นเมืองนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อสร้าง ความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของภาคใต้สู่การแข่งขันตลาดโลก โดยหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ที่รัฐบาลจะมีแผนลงทุนคือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร หรือที่เรียกว่า Landbridge ภายในโครงการนี้จะมีการพัฒนา ท่าเรือน้ำลึกทั้ง ๒ ฝั่งทะเล มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ด้วยระบบราง รถไฟรางคู่ มีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง Motorway รวมถึงการขนส่งระบบ ท่อ และการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในบริเวณโดยรอบไปจนถึงการ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ ขอภาพประกอบด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตแสดง ภาพที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ลองวาดเส้นทาง Landbridge ให้กับทาง ผู้ประกอบการรถไฟในประเทศจีนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ภาพนี้ท่านวาดระหว่างช่วงการหารือ ในภารกิจเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทำให้เห็นภาพของโครงการ ๒ ท่าเรือ แต่นับรวมเป็นหนึ่ง หรือที่เรียกว่า One Port Two Sides ท่านประธานครับ โครงการนี้รัฐบาลหวังว่าจะเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ ภูมิภาคทั้งในด้านการขนส่ง การลงทุน และเศรษฐกิจ เป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ที่ประหยัดเวลา ขนส่งทางเรือ และจะเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างเรือจากฝั่งอ่าวไทยและอันดามันให้สะดวก ยิ่งขึ้น โครงการ Landbridge นี้เป็นความฝันว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างธุรกิจทั้งด้านสินค้าและบริการ และดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ และที่สำคัญ เป็นความฝันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้และประเทศ อย่างไรก็ตามโครงการที่ใหญ่ เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาศึกษาผลประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รับ และผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและประเทศไทยทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างรอบคอบ และรอบด้าน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน และได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยโครงการนี้ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อ วิถีชีวิต ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และการท่องเที่ยว และในพื้นที่ก็มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและอุดมสมบูรณ์ ทั้งบนบกและทะเล โดยมีความกังวลในเรื่องผลกระทบต่อทรัพยากรเหล่านี้ รวมถึงปัญหา มลพิษที่อาจตามมาและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังมี ความท้าทายและความกังวลในเรื่องเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น แต่หากล้มเหลว ก็อาจก่อภาระหนี้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจดังกล่าวจะต้องมีกฎหมายพิเศษขึ้นใช้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้งหมดนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ รับรอง รองรับประเด็นความท้าทายทั้งหมดนี้ และพิจารณาผลประโยชน์ และผลกระทบ อย่างรอบคอบ ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งประชาชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้นำท้องที่ท้องถิ่นอย่างรอบด้าน เพื่อให้ ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ นอกจากนี้อาจจะมีการศึกษาผลกระทบ และความสำเร็จจากตัวอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ และโครงการสะพาน เศรษฐกิจ หรือ Landbridge ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกประกอบการพิจารณา และนำมาปรับใช้กับโครงการของเราด้วย ดังนั้นผมจึงขอเสนอญัตตินี้มาเพื่อให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการขอให้รัฐบาลพิจารณาศึกษาความยั่งยืนของโครงการ สะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Landbridge ตามข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๔๕ และวันนี้หากทางสภามีมติ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงการ Landbridge นี้ ก็ขอให้พิจารณา นำข้อเสนอแนะของผมไปประกอบการศึกษาด้วยครับ สุดท้ายนี้ก็เพื่อให้โครงการนี้ประสบ ความสำเร็จ ส่งผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด และให้โครงการ Landbridge เป็นโครงการ ที่ยั่งยืน และได้รับผลประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และต่อคนไทยทั้งประเทศครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมขอขอบคุณ สำหรับคำตอบกระทู้ถามจากท่านรัฐมนตรี ซึ่งจากคำตอบก็คงจะทำให้พี่น้องประชาชน รับทราบว่ารัฐบาลได้เข้าใจถึงปัญหา มีแผนการจัดการ และไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนในเรื่องน้ำ อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ ผมขออนุญาตเรียนว่าพี่น้อง ประชาชนฝากความหวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยผมขออนุญาตใช้ช่วงต่อไปนี้ยกตัวอย่างในจังหวัดพัทลุงพื้นที่ของผม จากที่ได้รับฟัง ปัญหามาก็พบว่ามีความเดือดร้อนในเรื่องน้ำอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง การขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรไปจนถึงปัญหาน้ำท่วมและปัญหา การระบายน้ำ โดยพี่น้องประชาชนในพื้นที่มีความต้องการทางด้านแหล่งน้ำ น้ำประปา น้ำชลประทาน น้ำบาดาล และระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผมทราบดีครับว่า พี่น้องประชาชนทั่วประเทศก็มีปัญหาและมีความต้องการคล้าย ๆ กัน เพราะในสภาแห่งนี้ ก็มีเพื่อนสมาชิกหลายท่านเอาปัญหาเรื่องน้ำเข้ามาสู่สภาอยู่เสมอครับ สำหรับประเด็นปัญหา เรื่องน้ำในพัทลุงที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือกรมชลประทาน ที่ผมขออนุญาตนำเรียนก็คือเรามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในจังหวัดถึง ๓ อ่างเก็บน้ำ คืออ่างเก็บน้ำ ป่าบอน อ่างเก็บน้ำเขาหัวช้าง และอ่างเก็บน้ำป่าพะยอมที่มีปริมาณน้ำที่เพียงพอ มีคลองส่งน้ำ ขนาดเล็กเพื่อระบายน้ำ และมีคลองธรรมชาติไหลผ่านทุกตำบล โดยคลองเหล่านี้สามารถแก้ไข ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ แต่ปัจจุบันก็ยังขาดการดูแล ขาดการปรับปรุงและซ่อมแซม อยู่หลายแห่ง และในขณะเดียวกันหลายหมู่บ้านและพื้นที่ทำการเกษตรหลายพื้นที่ก็ยัง ขาดแคลนน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพทางการเกษตร ท่านประธาน ที่เคารพครับ เมื่อผมดูในสาเหตุที่สำคัญที่สุดของปัญหาเรื่องน้ำทั้งหมดก็พบว่าเกิดจาก การบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งปล่อยปละละเลย การบริหารที่ผิดพลาด ขาดการติดตามดูแล ขาดการมีส่วนร่วมและรับฟังปัญหาเรื่องร้องเรียน ของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังขาดการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ในการจัดการ และยังขาดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ด้านการบริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ทั้งนี้ ผมก็ขอขอบคุณ ความพยายามแก้ไขปัญหาของท่านรัฐมนตรี ทางรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ที่ผ่านมา แต่ขอเรียนตามตรงว่าขณะนี้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการ และความเดือดร้อน ได้อย่างเพียงพอและทันท่วงทีและมักเกิดความเสียหายอย่างมากต่อพี่น้องประชาชน เมื่อเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม และเมื่อได้รับผลกระทบก็ยังไม่มีมาตรการดูแลและเยียวยา ที่เหมาะสม กระผมจึงขออนุญาตฝากปัญหาของคนพัทลุงและคนไทยทั่วประเทศ ผ่านท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีเป็นคำถามสุดท้ายว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผมกล่าวมาอย่างไร และรัฐบาลชุดนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับ พี่น้องประชาชนได้อย่างไรว่าในช่วง ๔ ปีข้างหน้าปัญหาเรื่องน้ำเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้โอกาสในช่วงสุดท้ายนี้ขอบคุณท่านประธานและท่านรัฐมนตรี อีกครั้งสำหรับกระทู้ถามในวันนี้ เพราะเรื่องน้ำคือความเดือดร้อนที่เร่งด่วน และขอฝาก ความหวังกับท่านรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อไป ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตนำปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายหารือดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและ สำนักงบประมาณได้จัดตั้งงบประมาณก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาล ป่าบอน เนื่องจากปัจจุบันมีเคสผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุจำนวนมาก ขณะนี้สถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่คลองพรุพ้อที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา และขอให้แก้ไขปัญหาน้ำในคลองสายหลักอื่น ๆ ที่ไหลจากเทือกเขาบรรทัด และจากอ่างเก็บน้ำลงสู่คลองและลงทะเลสาบสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ทั้งการขาดแคลนน้ำและการป้องกันน้ำท่วมให้กับพี่น้องประชาชนด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บริเวณริมเขาและบนเขาบรรทัด และอ่างเก็บน้ำจังหวัดพัทลุง ทั้งในด้านงบประมาณ การประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรม และการอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติและเพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้กระทรวงคมนาคมได้ปรับปรุงขยายไหล่ทางและก่อสร้างถนน ๔ เลน เส้นแม่ขรี-ปลักปอม-ตะโหมด ปัจจุบันถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ พี่น้องได้รับความเดือดร้อน เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต และขอให้ปรับปรุงถนนเส้นอื่น ๆ ในจังหวัดพัทลุงที่อยู่ใน ความรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะควรเร่งรัดการทำถนนที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้หรือเพิ่ม ค่าตอบแทน หรือดูแลสวัสดิการให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐ หลายหน่วยงาน เช่น อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาชุมชน อาสาสมัคร ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหมู่บ้าน และอาสาสมัคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพราะเป็นการเสียสละทำงานให้รัฐได้ประโยชน์ จึงควรได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • ๖. สุดท้าย ขอให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติด ในประเทศไทยที่ระบาดในขณะนี้ จะครอบครองกี่เม็ดก็เป็นปัญหาอย่างมาก สร้างความ เดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน เป็นปัญหาต่อชีวิตและทรัพย์สิน ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ของท่านสรรเพชญ บุญญามณี ท่านประธานครับ ปัญหาระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า อย่างเช่นลิง ตัวเงินตัวทอง และช้างป่า ซึ่งสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการแย่งใช้พื้นที่ระหว่างกัน อีกทั้งยังมีปัญหาความเดือดร้อนจากสัตว์จร สัตว์เร่ร่อน อย่างเช่น หมา แมว ที่ส่วนใหญ่เกิดจากผู้เลี้ยงที่ปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น อย่างเช่นผักตบชวาหรือปลาหมอสีคางดำ ที่เกิดจากคนนำเข้ามาสู่ธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และยังขาดมาตรการ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานครับ มีความซับซ้อน และต้องใช้วิธีแก้ไขที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละกรณี กระผมจึงขออนุญาต ใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณบุคคล กลุ่ม องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำหน้าที่ผลักดัน การจัดการและการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตลอดที่ผ่านมา สำหรับประเด็น ในญัตติวันนี้คือปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิง ซึ่งประเด็นความขัดแย้งระหว่างคน กับสัตว์ป่าที่สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายต่อคน ชุมชน สถานที่ราชการ ศาสนสถาน สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรมที่เกิดจากหลายปัจจัยครับ โดยเฉพาะมักเกิดจากการขยายตัวของการใช้พื้นที่ ประโยชน์ของประชาชนเข้าไปใกล้ชิด หรือเข้าไปในพื้นที่ของสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น การขยายจำนวนของประชากรลิง การลดลง ของอาหารในธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ครับ สำหรับในจังหวัดพัทลุงเองก็มีปัญหา ความขัดแย้งและความเดือดร้อนเกิดจากลิงเช่นเดียวกันครับ อย่างน้อยใน ๓ พื้นที่ก็คือ ปัญหาลิงในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ปัญหาลิงในพื้นที่เกาะนางคำ และปัญหาลิงในพื้นที่ บริเวณริมเทือกเขาบรรทัดครับ สำหรับปัญหาลิงในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองพัทลุงมีอยู่หลายฝูง และมีอยู่จำนวนมากหลายร้อยตัวครับ โดยชาวบ้านเผชิญปัญหาลิงทำลายทรัพย์สิน ขโมยอาหารและทำให้ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ ซึ่งปัจจุบันทางเทศบาลและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องได้ดำเนินการทำหมันไปบางส่วนแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่องครับ ด้านปัญหาลิงในพื้นที่ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ถือเป็นอีก ๑ พื้นที่ ที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากลิงเป็นอย่างมากครับ ซึ่งเกิดจากการขยายจำนวน ของประชากรลิงอย่างรวดเร็ว และนอกจากนั้นบางส่วนชาวบ้านคาดกันว่ามีการนำลิงจาก ที่อื่นแล้วมาปล่อยในพื้นที่เกาะนางคำ โดยลิงเหล่านี้ทำลายพืชผลทางการเกษตร ลงมากิน พืชผัก ผลไม้ของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลองกอง สะตอ ตอนนี้ชาวบ้านเรียนว่าทุเรียนลิงก็กิน เป็นแล้ว นอกจากนี้ลิงยังขโมยอาหารชาวบ้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่ไก่ จนตอนนี้ ชาวบ้านสูญเสียรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร หลายส่วนไม่กล้าปลูกพืชผลอีกแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลในประเด็นนี้ด้วยนะครับ ท่านประธานที่เคารพครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนในจังหวัดพัทลุงครับ ซึ่งทราบว่าปัญหาจากลิงและสัตว์อื่น ๆ ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่สร้างความเดือดร้อน ทั้งทำลายทรัพย์สิน ทำลายพืชผล ทางการเกษตร และทำร้ายประชาชนหรือนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบในด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้น ๆ จนหลายครั้งเกิดการ ทำร้ายสัตว์หรือการจัดการที่รุนแรง ประกอบกับการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วของลิง ทำให้ปัญหานี้ ทวีคูณมากยิ่งขึ้นหากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับปัญหานี้ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการแก้ไข ไม่ว่า จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ทั้งในด้านการขาดแคลนงบประมาณ ขาดการประสานงานและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างเป็นระบบ ไปจนถึงอุปสรรคด้านกฎหมาย ด้านศีลธรรม และความเหมาะสม ซึ่งถือเป็น เรื่องที่มีความอ่อนไหวทั้งภายในและนานาประเทศ กระผมจึงมีความเห็นชอบให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนอันเกิดจากลิง และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์อื่น ๆ โดยต้อง ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบครับ โดยผมมีข้อเสนอแนะให้ทางคณะกรรมาธิการ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาศึกษาและดำเนินการ ดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้พิจารณาตั้งคณะทำงานเรื่องปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ปัญหาสัตว์จรและชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น โดยมีหน่วยงาน ภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการประชากรลิง ประชากร สัตว์จรและสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่สร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ชุมชนว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใด ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างแนวป้องกัน การดักจับ การขึ้นทะเบียนสัตว์ การทำหมัน การฉีดวัคซีน การบริหารจัดการสถานที่ดูแล สถานสงเคราะห์ ศูนย์พักพิงหรือที่อยู่ของสัตว์ให้มีความเหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้พิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันให้กับพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ที่เผชิญความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจกับพี่น้อง ประชาชน ไปจนถึงควรมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาที่เหมาะสมให้กับประชาชนที่ได้รับ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้พิจารณาการแก้ไขอุปสรรคในการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในด้านกฎหมาย ด้านอำนาจหน้าที่ และการขาดแคลน อุปกรณ์และงบประมาณ โดยสมควรที่จะสนับสนุนงบประมาณและเพิ่มกำลังในการบริหาร จัดการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกมารบกวน ชุมชนได้อย่างเป็นระบบครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ข้อสุดท้าย ขอให้พิจารณาศึกษาว่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ป่า จะมีการจัดการอย่างไรให้ยั่งยืนครับ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านกฎหมาย การจัดการพื้นที่ หรือ Zoning การฟื้นฟูสภาพป่าและแหล่งอาหาร และแหล่งอาศัยของสัตว์ไปจนถึงแนวทาง อื่น ๆ โดยอาจจะศึกษาความสำเร็จของพื้นที่หรือประเทศอื่น ๆ ประกอบด้วย ท่านประธาน ที่เคารพครับ ปัญหาระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นปัญหาในระดับประเทศและระดับนานาชาติที่ต้องป้องกัน และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และท้ายที่สุดและสำคัญที่สุดครับ เราจะต้องหาทางออก ให้กับคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตามธรรมชาติให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตนำปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาหารือดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้กระทรวงคมนาคมได้ติดตั้งซ่อมแซมและเปิดใช้ไฟส่องสว่างตลอด บนถนนสายเอเชีย ซึ่งเป็นเส้นทางจราจรหลัก โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงการสัญจรกลางคืน มืดมากครับ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และขอให้เร่งรัดการซ่อมแซมปรับปรุงถนนสายนี้ เพราะล่าช้ามานานประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงบประมาณได้พิจารณาก่อสร้าง ท่าเทียบเรือริมทะเลสาบในชุมชนที่มีความเหมาะสมในจังหวัดพัทลุง เช่น ในตำบลนาปะขอ ตำบลฝาละมี ตำบลดอนประดู่ ตำบลปากพะยูน ตำบลเกาะหมาก และตำบลเกาะนางคำ เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพื่อให้ชาวประมงสามารถนำสัตว์น้ำ มาวางขายได้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน ได้แก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่าง พื้นที่สาธารณประโยชน์กับพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนครอบครองโดยชอบในจังหวัดพัทลุง และให้ออกเอกสารสิทธิโดยเร็ว เช่น ในพื้นที่ควนโนราห์ ควนพระ ควนช้างตาย ควนเปลวนาม ทุ่งผีปั้นรูป หาดไข่เต่า ทางอ้ายมุย เป็นต้น

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแนวเขต ป่าอนุรักษ์ในจังหวัดพัทลุงให้แล้วเสร็จ ทั้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด อุทยาน แห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทะเลน้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทะเลหลวงและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทะเลสาบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถออกเอกสารสิทธิได้อย่าง รวดเร็ว ซึ่งพี่น้องทุกอำเภอได้เรียกร้องมาเป็นเวลายาวนานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้พิจารณาจัดสร้างสนามกีฬาแบบ มาตรฐาน ๑ แห่ง ในพื้นที่ ๖ อำเภอตอนใต้ของจังหวัดพัทลุง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีสักแห่งเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย และเพื่อรองรับการจัดการแข่งกีฬาระดับชาติ และระดับนานาชาติ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้กระทรวงดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center และการหลอกโกงเงินทางโทรศัพท์และทาง Online ทุกรูปแบบ เพราะพี่น้องประชาชนคนพัทลุงและคนไทยทั้งประเทศได้รับความเสียหาย ในทรัพย์สินเป็นจำนวนมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. สุดท้ายครับ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงบประมาณได้พิจารณา เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการของครูให้เหมาะสมครับ และขอให้แก้ไขปัญหาหนี้สินและ ลดภาระของครู พร้อมกับพัฒนาครูเพื่อให้ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้นักเรียนและเยาวชนได้อย่าง เต็มศักยภาพ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขออนุญาตเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่านคือ ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ขอผู้รับรอง ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ประจำปี ๒๕๖๕ ท่านประธานครับ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ในการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และก่อให้เกิด การแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม โดยมีคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายและตัดสินใจในเรื่อง สำคัญ ๆ จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของ กสทช. ผมก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วน เกี่ยวข้องในส่วนที่ท่านได้ตั้งใจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ผมก็มีข้อกังวลกับการดำเนินการในองค์กรของท่าน หลาย ๆ ส่วนที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ซึ่งมีข่าวในเชิงลบอยู่บ่อยครั้ง และอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือขององค์กรต่อไปได้ โดยจากรายงานนี้ ผมมีข้อเสนอแนะและข้อคำถามผ่านท่านประธานไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ดังนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ กสทช. และรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาภายในองค์กร โดยเฉพาะ ความขัดแย้งใน Board ของ กสทช. และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อเดินหน้าสิ่งที่ เป็นประโยชน์ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป และขอให้มี กระบวนการในการคัดเลือกคณะกรรมการและเลขาธิการที่โปร่งใสและเป็นธรรม ผมคิดว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนกำลังเฝ้ามองอยู่

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้ กสทช. ได้ส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใสภายในองค์กร เปิดโอกาสและช่องทางให้องค์กร หน่วยงาน และภาคประชาสังคมเข้าไปตรวจสอบ และติดตามการทำงาน อีกทั้งควรจะสร้างกลไกภายในองค์กรเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์คุณธรรม จริยธรรมของบุคลากร ซึ่งล่าสุดก็มีข่าวการใช้งบไปต่างประเทศหลายล้านบาท ซึ่งข้อนี้ ผมก็อยากให้ชี้แจงประเด็นนี้ด้วยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อคำถามจากทาง ประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้ กสทช. ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมาก็มีข้อกังขาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ในบางประเด็น เช่น การควบรวมของ True กับ DTAC ประเด็นการนำเงินกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. ไปสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ๒๐๒๒ จำนวน ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าการใช้เงินของกองทุนนี้ควรจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของกองทุนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ นอกจากนี้ขณะนี้ก็มีประเด็นการพิจารณา การเข้าซื้อธุรกิจ 3BB ของ AIS ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ โดยประเด็นนี้ผมขอให้ทาง กสทช. ได้รับฟังความคิดเห็นของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็น ตัวแทนของภาคประชาชนที่มีความเป็นอิสระ และได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ประเด็นเหล่านี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้ทาง กสทช. ดูแลและตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์ และ Internet ที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีแนวโน้มการควบรวม ของกิจการโทรคมนาคมได้สร้างความกังวลต่อค่าบริการ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะส่งเสริมให้ประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้ กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับและควบคุมเนื้อหาทางสื่อ ช่องทาง Digital Platform หรือช่องทาง Online ควบคุมเนื้อหาที่มีความรุนแรงและมี การหลอกลวง

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้ กสทช. เร่งแก้ไขปัญหาและทำให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยคุกคาม ทาง Cyber ทั้งแก๊ง Call Center และการโดนหลอกทาง Online ซึ่งกระทบต่อความมั่นคง ของรัฐ เศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ผมทราบดีว่าทาง กสทช. ก็ได้มี ความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ในหลากหลายวิธี เช่น การรณรงค์ การกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนบริเวณชายแดน การควบคุมเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น แต่ท่านประธานครับ ปัญหานี้ก็ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัจจุบันประชาชนโดนหลอกเป็นจำนวนมาก วิธีของแก๊ง หลอกลวงก็มีหลากหลายมากขึ้น ทั้งหลอกทางโทรศัพท์ ทาง Online และทาง SMS ซึ่งตอนนี้ก็มีการปลอมตัวเป็น กสทช. เองมาทวงเงินประชาชน ล่าสุดก็มีการปลอมเป็น รัฐบาลใหม่บอกว่าจะแจกเงินดิจิทัล ปลอมเป็นท่านนายกรัฐมนตรีขอยืมเงิน ๓๐๐ บาท และจะคืนให้เป็นเงินดิจิทัล เพิ่มไปอีกเป็น ๒๐,๐๐๐ บาท นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในขณะนี้ ผมจึงขอให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อน จริง ๆ ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีข่าวที่น่าสลดใจที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปแล้วนะครับ ก็คือพ่อ ได้สังหารครอบครัวหลังถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินหลายล้านบาท

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้ กสทช. ได้เร่งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับประเทศ เพื่อนบ้าน หรือประเทศในกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือกำจัดแก๊ง Call center เพราะเราทราบดีว่ามีบัญชีม้าที่โอนต่อไปเป็นทอด ๆ โอนไปต่างประเทศ และการพัฒนา ระบบการสื่อสารร่วมกันในระดับนานาชาติ

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ขอให้ กสทช. ได้ให้ความรู้ประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้มีทักษะเรียนรู้ เท่าทันสื่อ หรือเราเรียกว่า Media Literacy ให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบ วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลบนโลก Online โดยปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นการหลอกลวง หรือ Fake News จำนวนมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๙. ขอให้ กสทช. ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบ ขจัดปัญหา สายสื่อสารรุงรังบดบังทัศนียภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและเป็นอันตรายต่อพี่น้อง ประชาชน และพิจารณาให้นำสายสื่อสารลงใต้ดิน

    อ่านในการประชุม

  • ๑๐. ขอให้ กสทช. เร่งพัฒนาการสร้างระบบเตือนภัยประชาชน หรือ Emergency Warning System ซึ่งต้องแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สาธารณภัยที่รวดเร็ว เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุเร่งด่วนนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ข้อเสนอแนะและข้อคำถามทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ สะท้อนมาจากความกังวลและปัญหาของพี่น้องประชาชน ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุด ต่อพี่น้องประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... โดย นายศักดิ์ดา แสนมี่ ร่วมกับกลุ่มตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ๑๒,๘๘๘ คน เป็นผู้เสนอ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ในประเทศไทยเรา มีชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า ๕๐ ชาติพันธุ์ มีจำนวนหลายล้านคน พวกเขามีอัตลักษณ์ มีภาษา มีวิถีชีวิต มีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ มีประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ล้วนแล้วเป็น ส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน พี่น้องเหล่านี้อาศัยและกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งบนพื้นที่สูง ที่ราบ ในทะเลและในป่า โดยดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความพอดี แบบเกื้อกูล อย่างไรก็ตามท่านประธานครับ ปัจจุบันพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังเผชิญปัญหา มากมายครับ ทั้งการขาดโอกาส ถูกเลือกปฏิบัติ การเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบริการของรัฐ ถูกละเมิดสิทธิ ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถี ถูกจำกัดการเข้าถึง และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถี เกิดการเลือกปฏิบัติ ข่มขู่ จับกุม ก่อให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองกำลังสูญเสียวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วจากโลกและการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป สูญเสียศักยภาพและการพึ่งพาตนเอง อัตลักษณ์และวัฒนธรรมต่าง ๆ กำลังถูกทำลาย และอาจเลือนหายไปตามกาลเวลา จากที่ผมได้ติดตามก็พบว่าที่ผ่านมาชนเผ่าพื้นเมือง หลายกลุ่มทั่วทุกภูมิภาค ก็ได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมและได้ผลักดัน ให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยมานานหลายสิบปีครับ ในนาม เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยทั้งเครือข่ายก็ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาและ การพัฒนาที่ชัดเจนอย่างมีส่วนร่วม จึงได้ริเริ่มกฎหมายฉบับนี้ โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือ และกลไกสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดการตนเองของชนเผ่าพื้นเมือง หวังที่จะให้ มีการสร้างการยอมรับ รับรองสถานการณ์มีตัวตนของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองให้ได้ มีศักดิ์ศรี มีสิทธิอย่างเท่าเทียม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและมีกระบวนการคุ้มครองวิถีชีวิต ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน กฎหมายฉบับนี้ คาดหวังว่าจะทำให้เกิดการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง อนุรักษ์ ส่งเสริม คุ้มครองและฟื้นฟูวัฒนธรรมเกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง และจะทำให้มีการ เสนอแนะประเด็นปัญหาความต้องการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง และการจัดตั้งกองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองครับ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทยในมาตรา ๗๐ ว่ารัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย กระผมจึงขอขอบคุณพี่น้อง ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ พี่น้องประชาชนที่ได้มีการส่งเสียงสะท้อนปัญหาและความต้องการ และผลักดันให้เกิดกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ในวันนี้ เพราะผมเห็นว่าเราควรสนับสนุนสิทธิที่เท่าเทียมกัน ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีความหลากหลายและมีความแตกต่าง ทั้งด้านความคิด อายุ เพศ ศาสนา หรือวัฒนธรรม สำหรับในพื้นที่ภาคใต้เรามีพี่น้องชาวมอแกน ชาวเล อูรักลาโวยจ โอรังอัสรี และพี่น้องมานิ ซึ่งในจังหวัดพัทลุงมีพี่น้องมานิอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เทือกเขาบรรทัดของจังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล มาอย่างยาวนานครับ ซึ่งมานิ แปลว่า มนุษย์ หรือคนครับ หรือหลายท่านก็อาจจะรู้จักพวกเขาในนามว่าเงาะป่าซาไก ปัจจุบันมีพี่น้องมานิ อยู่ ๑๒ กลุ่ม ประชากรประมาณ ๓๐๐ กว่าคน หรือ ๔๐๐ คน พี่น้องมานิมีวิถีชีวิต แบบดั้งเดิมหาของป่าทั้งขุดมัน กินพืชและสัตว์ พวกเขาเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหารและ ตั้งถิ่นฐานแบบถาวรในบางกลุ่ม โดยที่การดำรงชีวิตของพวกเขาสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ ของทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติ มีภาษาและประเพณีที่เฉพาะ มีภูมิปัญญาอันน่าทึ่งเรื่องของสมุนไพรและยารักษาโรคตามธรรมชาติ มีการใช้ชีวิตอย่าง เรียบง่าย มีความเอื้ออาทร แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างมาก โดยพื้นที่ ที่พี่น้องมานิอาศัยเรียกว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความ หลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ มีน้ำตกและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความอุดมสมบูรณ์ สวยงาม เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๘ โดยการมีอยู่ของชาวมานิในพื้นที่มาก่อนแล้ว ปัจจุบันพี่น้องมานิมีบัตรประชาชนเป็นประชาชนคนไทย โดยได้มีหน่วยงานองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ช่วยดูแลนะครับ ยกตัวอย่าง ในพื้นที่อำเภอ ป่าบอนและอำเภอกงหรา ก็ได้รับการดูแลให้เข้าถึงระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และยังดูแลในด้านอื่น ๆ ผมจึงต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • แต่สำหรับเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ก็ยังมีครับ โดยพี่น้องมานิได้เรียกร้อง ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ขอให้มีพื้นที่คุ้มครองให้สามารถดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้ ไปจนถึงสิทธิในด้านการศึกษา อาชีพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร และสวัสดิการอื่น ๆ ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าก็ไม่ได้มากมายกว่าคนอื่น แต่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในประเทศ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่าเราควรจะเข้าใจถึงการมีอยู่และวิถีชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีการยอมรับ มีการส่งเสริมสิทธิ โดยควรขออนุญาต ให้พี่น้องเหล่านี้ได้ทำมาหากินในป่าอนุรักษ์ได้ ควรมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้พวกเขาได้อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี โดยจากที่ผมพูดมานี้จึงมีข้อสอบถามไปถึงทางคณะผู้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพียงคำถามเดียวครับว่ากลไกของ ร่าง พ.ร.บ. นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาและผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ได้หรือไม่ ท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่าวันนี้ ณ สภาแห่งนี้จะเป็นวันที่สำคัญที่เราจะเห็น ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สร้างความเสมอภาค จากภาครัฐ และสร้างความเข้าใจจากสังคมที่จะไม่มองว่าพวกเขาเป็นคนอื่น แต่เป็นมนุษย์ และเป็นประชาชนที่เท่าเทียมกัน สุดท้ายนี้กระผมขอถือโอกาสนี้เชิญชวนเพื่อนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบในวาระที่ ๑ ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ตามที่ผมได้อภิปรายให้ผลมาแล้วตั้งแต่ต้นนะครับ และหากเพื่อนสมาชิกมีข้อกังวลในบางประเด็น บางประการเราก็จะสามารถร่วมกันแก้ไขได้ ในวาระที่ ๒ ต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นในวาระรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ ๒๕๖๖ ท่านประธานครับ หนี้สาธารณะก็คือหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมา เมื่อรายได้ ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อาจจะใช้สำหรับการทำโครงการพัฒนาหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ รัฐบาลก็อาจจะกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือใช้จ่ายเงินส่วนต่าง ๆ และเมื่อเศรษฐกิจ เติบโตประชาชนก็มีรายได้สูงขึ้น รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีจากประชาชนได้เพิ่มขึ้นเพื่อ ชำระหนี้สินคืน แต่เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของรัฐมาจากการเก็บภาษีของประชาชนครับ หนี้สาธารณะจึงเป็นหนี้รัฐบาลที่รัฐบาลก่อ แต่เป็นหนี้ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องจ่าย และเป็นหนี้ที่ลูกหลานจะต้องแบกรับ สำหรับประเทศไทยครับ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วครับ โดยในปี ๒๕๖๒ เรามีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ ๔๑ เปอร์เซ็นต์ของ GDP และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้มีการกู้เงินมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แล้วก็ได้มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยที่ปัจจุบันในปี ๒๕๕๖ เรามี หนี้สาธารณะรวมอยู่ที่ประมาณ ๑๑ ล้านล้านบาท คิดเป็นราว ๖๒ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะก็รวมหนี้ของรัฐบาลกลาง หนี้รัฐวิสาหกิจ และหนี้สถาบันการเงินของรัฐ ที่รัฐค้ำประกัน อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน หนี้สาธารณะหรือการกู้ยืมเงินของรัฐบาล บางครั้งอาจมีความจำเป็น เหมือนธุรกิจครับ หรือผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องกู้มาเพื่อให้ ธุรกิจอยู่รอด หรือเพื่อขยายกิจการ ประเทศชาติก็เช่นเดียวกันครับ รัฐบาลอาจมีความ จำเป็นต้องใช้เงินมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศ ลงทุนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อกระตุ้น ให้เกิดการลงทุนนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นและ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากแต่การตัดสินใจของรัฐบาลก็ต้องมีความรอบคอบ เพราะการก่อ หนี้สาธารณะหรือกู้เงินมาเพื่อโครงการบางอย่าง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศ รัฐบาลต้องคำนึงถึงการบริหารหนี้สาธารณะให้มีพื้นที่ทางการคลัง เพื่อรองรับความจำเป็น ในอนาคต หากเราเปรียบเทียบประเทศเหมือนธุรกิจหรือบริษัท การจะพิจารณาว่าบริษัท นั้น ๆ มีการดำเนินการดีหรือไม่ มีฐานะการเงินเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูที่การเติบโตของ บริษัท รายได้ รายจ่าย ประกอบกับภาระหนี้สิน ประเทศหรือรัฐก็เช่นเดียวกันครับ การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินก็ต้องดูหนี้สาธารณะที่บ่งชี้ว่ารัฐมีเงินกู้ที่เป็นภาระต้องจ่ายคืน เท่าไร ชำระคืนได้หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถานะ การเงินของประเทศและต่อรัฐบาลเอง สำหรับในรายงานที่ได้จัดทำโดยสำนักงานบริหารหนี้ สาธารณะ กระทรวงการคลัง เล่มนี้ก็มีข้อมูลรายละเอียดของการกู้เงิน การก่อหนี้ใหม่ ผลของการบริหารหนี้สาธารณะ รวมถึงได้มีการประเมินผลของโครงการพัฒนาที่ดำเนินการ แล้วเสร็จ เช่น ข้อมูลการประเมินโครงการพัฒนาต่าง ๆ โครงการรับจำนำข้าว การประเมิน แผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔ และได้มีการให้ข้อมูลบทเรียน ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อดี ข้อเสีย และข้อเสนอแนะ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ผมคิดว่าควรประเมินให้ตรงไปตรงมามากกว่านี้ครับ เช่นโครงการ รับจำนำข้าว เพราะในข้อจริงก็เกิดผลกระทบหลายประการ และมีการทุจริต ๆ เกิดขึ้น เป็นต้น และเมื่อดูตัวเลขการกู้เงินรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่การลงทุนครับ แสดงว่าเป็นการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือขาดทุน รายงานนี้ครับ ควรแจกแจงปัญหาการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของ รัฐวิสาหกิจ อย่างเช่นปัญหาที่หมักหมมของ ขสมก. ที่มีหนี้กว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ รายงานหนี้สาธารณะยังขาดสาระสำคัญ คืออัตราดอกเบี้ยของการออกตราสารหนี้ใหม่ โดยเฉพาะในยามที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น เช่นในปี ๒๕๖๖ ครับ รายงานนี้ควร ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งในอนาคตผมคิดว่ารายงาน ควรจะมีการเพิ่มเติมการวิเคราะห์ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อแผนการบริหารหนี้ สาธารณะต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย โดยนอกจากนี้ครับ ผมมีข้อกังวล และข้อเสนอแนะถึงหนี้สาธารณะที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. รัฐต้องวางแผนการใช้เงินและการกู้เงินอย่างรอบคอบ โดยการใช้เงิน และการกู้เงินควรคำนึงถึงภาระการคลังของประเทศ และควรลงทุนในโครงการที่เกิด ประโยชน์อย่างแท้จริง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้าน โครงสร้างพื้นฐาน มาตรการช่วยเหลือเยียวยา การพัฒนาคนและการพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับโครงการที่พี่น้องประชาชนให้ความกังวลในขณะนี้ คือโครงการแจกเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท ที่อาจจะมีการกู้เงินกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งหลายภาคส่วนมีความกังวล ทั้งในเรื่องเงื่อนไขการใช้พื้นที่ไม่ครอบคลุม ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นและมีความกังวล มีคำถามถึงความจำเป็น และคำถามว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ โดยล่าสุด ธนาคารโลกก็ออกมาชี้ว่าหนี้สาธารณะอาจจะเพิ่มสูงขึ้นจาก ๖๒ เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็น ๖๕-๖๖ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งแม้ว่าโครงการนี้อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะสร้างภาระผูกพันให้ภาครัฐในระยะยาวครับ ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาทบทวนโครงการนี้ ตามคำแนะนำของหลายภาคส่วน เพราะเงินที่จะกู้มานี้สามารถนำไปพัฒนาประเทศให้เกิด ประโยชน์ได้อีกมากมายครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. รัฐต้องมีแผนการบริหารหนี้สาธารณะอย่างครอบคลุม ที่ครอบคลุม หนี้สาธารณะที่แท้จริงนะครับ โดยนอกจากตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยที่เราได้เห็นแล้ว ยังมีนี้ส่วนอื่น ๆ ที่ถูกซ่อนไว้และยังไม่ได้ถูกรายงานอีกด้วยใช่หรือไม่ อันนี้เป็นคำถามนะครับ เช่น หนี้การกู้ยืมของรัฐบาลกลางจากหน่วยงานของรัฐ อย่างกรณีที่ให้หน่วยงานของรัฐ ออกเงินทำนโยบายรัฐไปก่อนแล้วรัฐผ่อนจ่ายทีหลัง หนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหนี้ BTS หนี้กองทุนประกันสังคม หรือเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งรัฐยังค้างจ่าย หนี้จากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง และหากล้มละลายรัฐก็ต้องเข้าไปอุ้ม ซึ่งอาจจะกลายเป็นรายจ่ายที่ส่งผลถึงประชาชน นอกจากนี้ครับ ในอนาคตอาจจะยังมีหนี้ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการเงินดิจิทัล ซึ่งอาจหมายความว่าคนไทยไม่ได้แบกเพียง หนี้สาธารณะ ๑๑ ล้านล้านบาท ที่คิดเป็น ๖๒ เปอร์เซ็นต์ของ GDP เท่านั้นครับ ขออนุญาต เพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งนะครับท่านประธาน แต่ยังมีหนี้ที่ยังไม่นับรวมอีกเป็นราว ๑.๖ ล้านล้านบาท และยังเสี่ยงที่จะมีหนี้เพิ่มอีก ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยหากนับรวมหนี้เหล่านี้ครับ มีการ ประเมินว่าหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งจะทะลุเพดานหนี้ ของไทยที่เพิ่งได้ขยายตัวไปแล้ว ท่านประธานที่เคารพครับ ภาระเงินหนี้สินที่ไม่ได้ถูกนับ ในหนี้สาธารณะเหล่านี้เป็นภาระต่อการคลังของประเทศที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมกัน รับผิดชอบ โดยรัฐจะต้องคำนวณและคำนึงถึงหนี้เหล่านี้ด้วยนะครับ และต้องมีความโปร่งใส ในหนี้ของรัฐที่ก่อด้วย และควรจะมีการวางแผนระยะยาวถึงระยะกลางในการบริหาร ภาระทางการคลังอย่างเหมาะสม โดยควรจะมีการศึกษาและวิจัยเพื่อหาระดับหนี้ที่เหมาะสม ภายใต้บริบทเศรษฐกิจ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ข้อสุดท้ายครับ รัฐจะต้องเร่งเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของภาครัฐ พร้อมกับลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนนะครับ โดยรัฐ จะต้องคำนึงถึงหลาย ๆ มาตรการครับ เช่น การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีการแข่งขัน มากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจ Burn การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนและการท่องเที่ยว การปรับโครงสร้างพลังงานค่ารถไฟฟ้า ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิง Fossil การลงทุนในมนุษย์ การพัฒนาแรงงาน ดูแลภาคสังคม ดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีเป็นต้นครับ ท่านประธานครับ ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงและการขาดวินัยทางการคลังอาจส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน ทั้งปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ความเชื่อมั่นของประเทศ ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ลดลงนะครับ เพราะการกู้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และหนี้สาธารณะที่มากเกินไปอาจทำให้คนรุ่นหลัง ต้องมาคอยแบกรับ และนอกจากหนี้สาธารณะนะครับ ก็มีหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบของ พี่น้องประชาชน และหนี้เอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงและรัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญ ในการแก้ไขและการบริหารจัดการให้กับประชาชนไปพร้อม ๆ กันครับ เพราะล้วน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน หากมีคำกล่าวว่าหนี้สาธารณะคือระเบิดเวลาของ เศรษฐกิจไทย ผมก็ขอภาวนาและวิงวอนอย่าให้รัฐบาลนี้เป็นคนกดปุ่มระเบิดเลยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออนุญาตอภิปรายให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ทั้ง ๔ ฉบับที่เข้าพิจารณาในวันนี้นะครับ ทั้งของท่านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะ ของคณะรัฐมนตรี ของท่านสรรเพชญ บุญญามณี และคณะ และของภาคประชาชน คือท่านอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิ เลือกตั้ง ๑๑,๖๑๑ คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งวันนี้ครับเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ก็ได้มีการอภิปราย ในความเห็นหลายท่านแล้วนะครับ แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างและคลี่คลายข้อกังวล บางประการ ก่อนการลงมติรับหลักการของกฎหมายในวาระที่ ๑ ของร่าง พ.ร.บ. ทั้งหมดนี้ ผมมีข้อสอบถามถึงเจ้าของผู้เสนอร่างเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ หลักการที่สำคัญของร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับที่พิจารณาในคราวเดียว กันนี้ คือการแก้ไขและกำหนดให้บุคคล ๒ คน สามารถสมรสกันได้ ซึ่งถือเป็นกฎหมายเพื่อ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในเรื่องชีวิตคู่ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใดกระผมขอ สอบถามครับ ว่าหากสภาให้ความเห็นชอบทั้งกระบวนการหมดสิ้นแล้วยังจะต้องไปแก้ไข กฎหมายอื่น ๆ อีกหรือไม่ จะต้องใช้เวลาอีกเท่าไรครับ รวมทั้งการออกกฎกระทรวงและ ระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าเราต้องการรัฐที่รับรู้ เข้าใจและเคารพในความหลากหลาย เพราะพี่น้องประชาชนและมนุษย์ทุกที่เกิดมาบนโลกนี้ต่างมีความหลากหลายและมี ความแตกต่างทั้งทางความคิด ทางความเชื่อ ทางเพศสภาพร่างกาย มีความแตกต่างในอาชีพ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม และไม่ว่าเขาจะเป็นคนกลุ่มใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยในสังคม ก็ล้วนควรได้รับการยอมรับ การเคารพและการถูกปฏิบัติที่เสมอภาค และควรได้รับสิทธิ ขั้นพื้นฐานจากรัฐสำหรับทุก ๆ คน ทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ พื้นที่อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ ระบบสาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัยการดำรงชีวิตและ สิทธิในด้านอื่น ๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน เราต้องการรัฐและภาคการเมืองที่เข้าใจโอบรับ ความแตกต่างหลากหลายรับรองสิทธิของทุกคน เพราะฉะนั้นเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรหรือผู้แทนของประชาชนคนไทยทุกคนต้องรับฟังและเป็นปากเป็นเสียงให้กับ คนทุก ๆ กลุ่ม

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นในร่าง พ.ร.บ. นี้ ผมทราบว่ามีพี่น้องประชาชนหลายส่วน ได้ร่วมกันผลักดันมานานหลายปี โดยในหลาย ๆ ประเทศก็ได้มีการอนุญาตแล้วจนเป็นที่มา ให้เราได้พิจารณาในวันนี้ โดยขอทราบว่าสำหรับประเทศที่มีกฎหมายทำนองนี้บังคับใช้แล้ว เกิดปัญหาอะไรตามมาบ้างหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าเราควรจะนำตัวอย่างจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงรายละเอียดประกอบด้วย และหากมีการพิจารณาจากรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอทราบว่าเราควรให้กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ภายในกี่วันเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ไม่เกิด ปัญหาในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และ เพื่อความเข้าใจของพี่น้องประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ ผมต้องขอคำยืนยันจากผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ทุกฉบับว่ากฎหมายนี้เป็นเพียง การรับรองสิทธิการสมรสตามกฎหมาย เป็นกฎหมายภาคสมัครใจและไม่ได้บังคับพี่น้อง ประชาชนผู้ที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักความเชื่อ หลักความศรัทธาและหลักศาสนาที่นับถือ แต่เป็นสิทธิที่พี่น้องประชาชนจะใช้ได้ โดยจะไม่ได้บังคับการจดทะเบียนสมรสกับประชาชน หรือศาสนิกชนใด ๆ และไม่ได้เข้าไปแก้ไขหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ของพี่น้องชาวมุสลิมใช่หรือไม่ ซึ่งหากได้รับคำยืนยันเช่นนี้ ผมคิดว่าจะสร้างความเข้าใจและ ยืนยันให้กับพี่น้องประชาชนว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ขัดกับหลักศาสนาและประเพณี การสมรสตามหลักศาสนาใด ๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นการยืนยันการเคารพและยอมรับในความ แตกต่างและความหลากหลายของพี่น้องประชาชนในด้านความเชื่อและศาสนาอีกด้วยครับ โดยในกฎหมายนี้อาจจะมีบทบัญญัติรายละเอียดหรือบทเฉพาะกาลที่ชัดเจนในประเด็นนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจตามมาได้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๔ ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น กระผมขอทราบรายละเอียดว่า มีคนเห็นด้วยเท่าไร ไม่เห็นด้วยเท่าไร มีประเด็นใดบ้างที่พี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วยและมี ข้อโต้แย้งว่าอย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ ในวาระที่สภาร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิของคนที่มีความหลากหลาย ผมคิดว่าเราควรจะรับฟัง ความคิดเห็น ข้อคำถาม ข้อกังวลและข้อเสนอแนะของผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป และร่วมกันยืนยันและยอมรับความแตกต่างทั้งหมดครับ และผมคิดว่าคำตอบจากคำถามที่กระผมได้สอบถามไปจะทำให้พวกเราที่เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาตัดสินใจรับหรือไม่รับหลักการในวาระที่ ๑ ได้ง่ายขึ้นและ สะดวกขึ้น ใกล้จบแล้วครับท่านประธาน และหากทางสภามีมติรับหลักการในวาระที่ ๑ ในวันนี้ไปแล้วนะครับ ผมก็หวังว่าคณะกรรมาธิการที่จะจัดตั้งขึ้นจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ อย่างละเอียดและรอบคอบ เพราะเป็นกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน และขอได้โปรดนำ ข้อกังวลของผมไปพิจารณาด้วยนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่อยู่ร่วมกัน ในประเทศนี้ด้วยความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านความคิด ความเชื่อ เพศ สภาพร่างกาย อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งชนกลุ่มใหญ่ ชนกลุ่มน้อย ให้อยู่ร่วมกันได้ อย่างสันติสุขต่อไป ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม พร้อมด้วยเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม ๒๐ ท่าน ขอเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... โดยที่หลักการ คือให้มีกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และมีเหตุผล เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันและหมอกควันพิษอันเป็นมลพิษทาง อากาศได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ทวีคูณรุนแรง อย่างมากยิ่งขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้มีการขยายตัวครอบคลุมไปพื้นที่ต่าง ๆ กว้างขวาง มากขึ้น อันเป็นการส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของ ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ อีกทั้งยัง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล งบประมาณในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความเสียหายซึ่งเกิดกับธุรกิจด้าน การท่องเที่ยว รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลว ในการจัดการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ กับการป้องกัน ควบคุม และกำกับดูแลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จึงสมควรที่รัฐ จะต้องบริหารจัดการควบคุม ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้คุณภาพอากาศเป็นอากาศที่สะอาดทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมขออนุญาตใช้ เวลาตรงนี้อภิปรายชี้แจงให้ข้อมูลถึงความจำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้เพิ่มเติมในลำดับ ต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ลำดับแรก ผมคิดว่าวันนี้เป็นวันหนึ่งที่สำคัญที่สภาแห่งนี้จะได้พิจารณาร่าง กฎหมายหลายฉบับครับ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่แม้แต่ละฉบับจะมี ความแตกต่างในรายละเอียด แต่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาที่สำคัญที่พี่น้องประชาชน รวมถึงตัวผมเองเฝ้ารอมานานหลายปี ว่าวันหนึ่งเราจะมีอากาศสะอาดให้หายใจได้จริง ๆ ท่านประธานครับ ผมเป็นคนจังหวัด พัทลุงหลายปีก่อนได้เข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพมหานครที่มีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว ไม่มีใคร คิดว่าวันหนึ่งเราจะต้องซื้อหน้ากาก ซื้อเครื่องกรองฝุ่นเพื่อมาป้องกันลมหายใจจากอากาศ ที่ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษ อยู่มาวันหนึ่งท่ามกลางฝุ่นควันเหล่านี้ผมก็คิดขึ้นมากับตัวเองว่าเรา พัฒนาประเทศมาถูกทางแล้วหรือยัง เราสร้าง เราผลิต เราพัฒนาสิ่งต่าง ๆ มากมายเพื่อ อำนวยความสะดวกในชีวิต แต่กลับไม่สามารถมีแม้แต่อากาศสะอาดให้หายใจได้ ผมคิดว่า การพัฒนาประเทศไม่สามารถมองแค่ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่ต้องคำนึงในมิติทางสังคม ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ตรงนี้ขอบคุณภาคประชาชนหลายกลุ่มที่ได้ร่วมกันส่งเสียงสร้าง ความตระหนักและผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังตลอดหลายปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะทางเครือข่ายอากาศสะอาด หรือ Thailand Clean Air Network ที่ได้ จัดทำร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งผมเองก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับ ภาคประชาชน ที่เสนอโดยรองศาสตราจารย์ดอกเตอร์คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม และคณะครับ หลายปีก่อนที่ผมจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ขอเป็นกำลังใจให้กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไข ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างเต็มที่ ขณะที่เรากำลังพิจารณา ร่างกฎหมายอากาศสะอาดอยู่ในขณะนี้ ในขณะเดียวกันข้างนอกห้องประชุมแห่งนี้ ก็ได้ปกคลุมไปด้วยมลพิษทางอากาศทั่วกรุงเทพมหานคร และหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ท่านประธาน เพื่อนสมาชิก ตัวผม และพี่น้องประชาชนทุกคนล้วนจำเป็นต้องสูดเข้าไป ทุกลมหายใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในประเทศนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับสาเหตุปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 มีอยู่หลายปัจจัยครับ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ไม่ว่าจากท่อไอเสีย ยานพาหนะ จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ การเผาทางการเกษตร การเผาในพื้นที่ป่า ไปจนถึงฝุ่นพิษข้ามแดน เป็นต้น โดยมลพิษจากแหล่งต่าง ๆ ส่งผลให้พี่น้องประชาชนจำนวน หลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นควัน เผชิญความเสี่ยงต่อการเกิดโรคใน ระบบทางเดินหายใจ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนังและโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น โดยคนไทยต้องเผชิญปัญหาสุขภาพและเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ปกคลุมอยู่ในขณะนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่ามาตรการของภาครัฐตลอดที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามอย่างเต็มที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้ และผมคิดว่าเรา สูญเสียไปมากพอแล้ว วันนี้ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ .... ให้สภาแห่งนี้ได้พิจารณานะครับ โดยได้จัดทำร่วมกับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และภาค ประชาชน โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นกลไกทางกฎหมายที่สำคัญ จะเป็นกฎหมายหลัก ที่กำกับดูแลการทำงานของทุกภาคส่วนให้ทำงานร่วมกันและผลักดันให้เกิดอากาศสะอาด ในประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยผมคิดว่าคำถามที่สำคัญที่ทุกคนมีครับ คือว่ามีกฎหมายนี้ แล้วจะช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษได้อย่างไร ผมจึงขออนุญาตนำเรียนดังต่อไปนี้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ร่าง พ.ร.บ. นี้มีขึ้นเพื่อรับรองและ คุ้มครองให้พี่น้องประชาชนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยรัฐ มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามและบังคับใช้ พ.ร.บ. นี้และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน โดยต้องอำนวยการและกำกับดูแลอย่างบูรณาการครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ร่าง พ.ร.บ. นี้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ อากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งรัฐมีหน้าที่จะต้องตรวจสอบและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับ คุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้และป้องกันตัวเอง ได้ทันท่วงที และต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการเพื่อจัดการให้เกิดอากาศสะอาด รับฟังข้อมูล ข้อร้องเรียนและข้อคิดเห็นจากภาคประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ร่าง พ.ร.บ. นี้มีขึ้นเพื่อให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันที่ต้นตอ แหล่งกำเนิดควันพิษ ทั้งในประเทศและหมอกควันพิษข้ามแดน โดยประชาชนหรือรัฐ สามารถฟ้องร้องผู้ก่อมลพิษได้ ซึ่งได้มีการกำหนดบทลงโทษและแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษ ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทั้งในการเยียวยาฟื้นฟูสภาพอากาศและสุขภาพอนามัย

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ร่าง พ.ร.บ. นี้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความ ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยรัฐต้องรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ ให้คำแนะนำและ ประสานให้มีการดำเนินคดีเพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและได้รับการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟู ความเสียหาย

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ร่าง พ.ร.บ. นี้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการ กำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมายและกำกับดูแลจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ โดยรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการ

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ร่าง พ.ร.บ. นี้จะจัดให้มีคณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อ สุขภาพ เพื่อจัดทำนโยบายและแผนแม่บท กำหนดเป้าหมายและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ร่าง พ.ร.บ. นี้จะจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลจัดการอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพ เพื่อกำกับดูแล ติดตาม ประเมิน สนับสนุนและตรวจสอบการดำเนินการตาม นโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีกรรมการกำกับดูแลจำนวนทั้งสิ้น ๑๔ คน ซึ่งต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ๘. ร่าง พ.ร.บ. นี้จะจัดให้มีคณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทจัดการอากาศระดับในจังหวัด เพื่อควบคุมและ กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานในการจัดการร่วมด้านสภาพอากาศในจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและต้องประกอบไปด้วยผู้แทนจากองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๙. ร่าง พ.ร.บ. นี้มีขึ้นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดการ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึง เยียวยาด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยต้องมีการส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ งบประมาณและทรัพยากรให้ท้องถิ่นสามารถจัดการอากาศสะอาด ร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชนได้

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมคิดว่าความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือจะทำให้พี่น้อง ประชาชนมีสิทธิในการหายใจอากาศสะอาด และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ โดยภาคเอกชนหรือผู้ปล่อยมลพิษจะต้องดำเนินการลดการปล่อยควันพิษ และภาครัฐจะต้อง ปกป้องสิทธิในอากาศสะอาด และดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ โดยประชาชนต้อง มีส่วนร่วม ซึ่งร่าง พ.ร.บ. นี้จะเป็นกลไกทางกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการควบคุมและ ลดฝุ่นพิษได้ โดยจะส่งเสริมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์มาก ยิ่งขึ้น ท่านประธานครับ ในวาระที่เราร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ผมก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เพราะทุกวันเวลาที่ผ่าน ไปโดยไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง คือทุกวันที่เราต้องสูญเสีย สุขภาพ สูญเสียชีวิต สูญเสียลมหายใจของพี่น้องประชาชน กระผมขออนุญาตใช้เวลาในช่วง ท้ายนี้แสดงความเสียใจถึงผู้ที่ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจากฝุ่นควันพิษ และขอแสดงความ เสียใจต่อหลายคนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักเพราะมลพิษทางอากาศ และผมคิดว่าเราไม่ สามารถสูญเสียไปมากกว่านี้ได้แล้วครับ ท่านประธานครับ ผมขอยืนยันว่าการเสนอร่าง กฎหมายฉบับนี้มีจุดประสงค์อันดีที่จะปกป้องอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับพี่น้อง ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ และที่ผมอภิปรายมาทั้งหมดนี้คงเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะเชิญ ชวนให้เพื่อนสมาชิกทุกท่าน ณ สภาแห่งนี้ร่วมกันลงมติรับหลักการในวาระที่ ๑ ของร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... ที่เสนอโดยผม และคณะ โดยหากเพื่อนสมาชิกท่านใดที่มีข้อคำถาม ข้อเสนอแนะว่าควรแก้ไขและเพิ่มเติม ที่ส่วนไหน ก็ขอให้เราได้ร่วมกันอภิปรายให้ความเห็นในวันนี้ และพิจารณาในวาระต่อไป ใกล้เสร็จแล้วครับท่านประธาน โดยวันนี้ตัวผมเองจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทุกร่าง ทุกฉบับ ทั้งจากร่างที่เสนอโดยภาคประชาชนและพรรคการเมือง เพราะผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคืนลมหายใจของพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะสิทธิในการหายใจ อากาศที่สะอาดเป็นสิทธิของคนทุกคน ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาต เสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือ ท่านปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตรการป้องกัน ฟื้นฟู เยียวยา จากกรณีโรงงานเก็บพลุระเบิด ลำดับแรกครับ ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ผู้เสียชีวิต ๒๓ ราย และแสดงความเห็นใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บจากหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด ในพื้นที่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมาครับ อุบัติการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่จากโรงงานผลิตพลุ และดอกไม้ไฟ และสำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิตบางครอบครัวแล้วถือเป็นการสูญเสียเสาหลัก ที่สำคัญของครอบครัวไป ผมจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับผลกระทบ และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเร่งด่วน ท่านประธานที่เคารพครับ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่เราจำกันได้ดี คือเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส ขณะนั้นมีผู้เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บ และบ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง เหตุการณ์ในครั้งนั้นสภาแห่งนี้ก็ได้มีการเสนอญัตติ ขอให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาเหมือนกับในครั้งนี้ครับ ซึ่งผมแล้วก็เพื่อนสมาชิกหลายท่าน ณ ที่นี้ก็ได้อภิปรายแล้วครับ แล้วก็ได้ขอวิงวอนให้เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้าย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อไม่กี่วันมานี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัญหานี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ และสะท้อนให้เห็นแล้วว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิด เป็นครั้งสุดท้าย ท่านประธานครับ ปัจจุบันในประเทศไทยเรามีโรงงานและโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมากหลายแห่งก็ตั้งอยู่ในชุมชน เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้วก็สถิติ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ย้อนหลัง ๑๐ ปี ๒๕๕๖-๒๕๖๖ พบว่าเกิดเหตุ ในลักษณะดังกล่าวคือโรงงานพลุระเบิดมากกว่า ๒๓ ครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายมาก โดยในปี ๒๕๕๖ ปีที่ผ่านมานี้เกิดเหตุอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือโรงงานพลุระเบิดที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และโกดังพลุระเบิดที่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส แล้วก็รวมถึงเหตุการณ์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรีในครั้งนี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกแล้วครับ แต่ก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นี่ผมพูดเฉพาะโรงงานพลุระเบิดนะครับท่านประธาน ยังไม่รวมถึง อุบัติเหตุโรงงานอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนที่สร้างอันตราย แล้วก็สร้างความเสี่ยงให้พี่น้อง ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นไฟไหม้โรงงานมีข่าวแทบทุกสัปดาห์ครับท่านประธาน สำหรับโรงงานพลุระเบิดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีสาเหตุก็ยังไม่แน่ชัดแต่หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้เข้าไปตรวจสอบ ได้เข้าไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นที่เรียบร้อย นะครับ แต่ประเด็นสำคัญที่พบก็คือว่าโรงงานแห่งนี้เคยเกิดระเบิดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ครั้งนั้นมีคนงานเสียชีวิต ๑ ราย บาดเจ็บ ๓ คน มีสาเหตุมาจาก การที่ไฟปะทุขึ้นหลังจากที่คนงานได้นำถังดับเพลิงไปดับไฟที่ปะทุขึ้นมาจากเตาถ่าน แต่สะเก็ดไฟที่กระจายตัวออกมาไปสัมผัสกับกองดินปืนจนกระทั่งเกิดการระเบิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อห้องทำงานห้องหนึ่ง ก่อนที่โรงงานดังกล่าวจะกลับมาเปิด อีกครั้งหนึ่ง จากที่ผมได้เข้าไปดูข้อมูลก็พบว่าโรงงานมีใบอนุญาตถูกต้องในเรื่องสถานที่ ประกอบการทำดอกไม้ไฟ ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ๒๔๙๐ มีการต่อใบอนุญาตปีต่อปีครับ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยด้านโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตามโรงงานแห่งนี้ไม่ได้มีสถานะ เป็นโรงงานตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะว่าไม่ได้มีการใช้เครื่องจักรทำให้อยู่ นอกเหนือการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็ไม่มีการตรวจสอบในส่วนของ วัตถุอันตราย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ทำให้เกิดคำถามในสังคมถึงมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของ พี่น้องประชาชน และมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานหรือโกดังต่าง ๆ เรามีความ เสียหายและบทเรียนมามากพอแล้วครับท่านประธาน และผมคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้ จะเกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครทราบได้ครับ ผมคิดแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมคิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเสียทีครับ วันนี้ครับท่านประธาน ผมจึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจสอบโรงงานโกดังเก็บพลุ วัตถุอันตรายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และกำชับความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยของโรงงาน ที่จัดเก็บสารเคมีและสารที่ไวไฟที่มีอยู่ให้ได้มาตรฐาน และควรถอดบทเรียนจากสาเหตุ ที่เคยเกิดระเบิดขึ้นตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เพื่อหามาตรการไม่ให้เกิดขึ้นอีกครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เจ้าของกิจการและคนงาน ผู้ปฏิบัติต้องผ่านการอบรมให้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัตถุระเบิด และมีใบอนุญาต สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้มีการพิจารณาแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการและโรงงานที่มีความเสี่ยงอันตราย ให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แล้วก็ให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุม ป้องกัน ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้มีการพิจารณาตั้งกองทุนอุตสาหกรรมโรงงานและสถานประกอบการ จากที่ได้เก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากผู้ประกอบการไปนะครับ แล้วก็ขอให้มีการใช้เงิน ของกองทุนนี้เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ นี้ อีกทั้งยังควร มีประกันชีวิตให้พนักงานที่ทำงานในสถานที่ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนี่ก็เป็น ข้อเสนอแนะจากอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านสมบูรณ์ สุนทรศาสตร์ แล้วก็ นายสมมาตร วิสุทธิวงษ์ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่อยู่ในพื้นที่ โรงงานพลุระเบิด ก็ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม ณ ที่นี้นะครับ ท่านประธานครับ ทั้งโกดัง พลุระเบิดที่มูโนะมาถึงโรงงานพลุระเบิดที่สุพรรณบุรี และเหตุการณ์อุบัติเหตุจากโรงงานอื่น ๆ ที่ได้เคยเกิดขึ้น ได้สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมากและไม่สามารถประเมินค่าได้ นั่นก็คือ ชีวิตของพี่น้องประชาชน ชีวิตของเสาหลักหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียไป ผมคิดว่า เราได้บทเรียนจากเรื่องนี้มามากพอแล้ว แต่บทเรียนเหล่านี้ครับท่านประธานจะเป็นเพียง อีกบทเรียนที่ถูกลืมหรือไม่ ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ในวันนี้จะเป็นเพียงคำพูดที่เลือนหายไป ต้องมาพูดกันซ้ำ ๆ ณ สภานี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะนำบทเรียนและข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ได้มากน้อยแค่ไหนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขอตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง แหล่งแร่ลิเทียมและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย โดยผมได้ตั้งกระทู้ถามท่านนายกรัฐมนตรีครับ แต่เนื่องจากท่าน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาเป็นผู้ตอบกระทู้ แทนนะครับ ผมจึงต้องขอขอบคุณท่านพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่ได้กรุณามาตอบกระทู้ถามสดของผมในวันนี้ แต่ด้วยความเคารพครับท่านประธาน ผมต้องขอย้ำอีกสักครั้งหนึ่งนะครับว่า ทุกวันพฤหัสบดี ณ สภาแห่งนี้ เรามีวาระกระทู้ถามตอบตลอด ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีแล้วก็ฝ่ายบริหารเอง ก็ควรจะจัดสรรเวลาให้เหมาะสม แล้วก็ขอย้ำอีกครั้งครับว่า สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้เป็น สถานที่รับฟังปัญหา รับฟังข้อเสนอแนะ ตอบข้อสงสัย และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ที่ดีที่สุด ท่านประธานที่เคารพครับ ที่ผมต้องตั้งกระทู้ถามสดวันนี้ เรื่องแหล่งแร่ลิเทียมและ อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ของไทย ก็เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน ทั้งประเทศ เป็นที่สนใจในระดับโลก แล้วก็ถือเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยอีกด้วย ผมจึงต้องขออนุญาตใช้เวลาอธิบายรายละเอียด เพื่อประกอบคำถามของผมครับ ท่านประธานครับ ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองก็มีความพยายามที่จะผลักดัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และแก้ไขปัญหาสภาพ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ผมเองก็รู้สึกยินดีที่ทางรัฐบาล ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ครับ โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ได้พยายามผลักดันดึงดูด ให้มีการลงทุนผลิตยานพาหนะไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงหวังว่าไทยเราจะสามารถเป็น Hub เป็นฐานผลิตรถยนต์ EV ได้ในภูมิภาคของเรา ไปจนถึงท่านก็พยายามจูงใจให้มีการใช้รถยนต์ ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ท่านนายกรัฐมนตรีก็เป็น Salesman ครับ บินไปคุยกับบริษัท ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ท่านนั่งรถ EV โชว์นะครับ ท่านสั่งการให้หน่วยงานราชการให้หันมาใช้รถ EV มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ซึ่งนอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม ท่านพิมพ์ภัทราเองก็มีความพยายามส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่ด้วยเช่นกันนะครับ ซึ่งท่านก็ได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ได้เร่งจัดหาแหล่งแร่ลิเทียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรี่ Lithium Ion ที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า และถือเป็นที่ต้องการของทั่วโลกในวันนี้ และในอนาคต ขอสไลด์ต่อไปด้วยครับ นี่เป็นข่าวของท่านนะครับ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับท่านประธานครับ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ ท่านรองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาเปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียม ๑๔.๘ ล้านตัน ที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งคาดว่าจะนำลิเทียมเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ Lithium Ion สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคัน ท่านรองโฆษกก็บอกว่า การสำรวจพบนี้ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ค้นพบแร่นี้มากที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของโลก ซึ่งเป็นรองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินา หรือเราอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครอง แร่ลิเทียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง นี่ข่าวจากรัฐบาลไทยนะครับ ข่าวเป็นทางการ นี่ผมไม่ได้ พูดขึ้นมาเอง หลังจากข่าวของรัฐบาลออกมา ท่านประธานครับ สื่อไทยแทบทุกสำนัก ตีข่าวว่า ไทยพบแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ ๓ ของโลก พี่น้องประชาชนก็ดีใจ ผมเองก็ดีใจครับ ท่านประธาน เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะพลิกโฉมประเทศของเรา จะทำให้เราเป็น ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่สำคัญ ซึ่งอาจสร้างรายได้ให้เข้าประเทศมหาศาล เราอาจจะเป็นมหาอำนาจด้านนี้ไปเลยก็ได้ครับท่านประธาน ต่อไปเราอาจจะซื้อรถยนต์ EV ในราคาที่ถูกลง เพราะว่าเรามีวัตถุดิบเองในเรื่องนี้นะครับ ลามไปสื่อต่างประเทศ ตีข่าวไป ทั่วโลกเลย Thailand Discover the Third Largest Lithium Resources in the World เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากครับ สไลด์ถัดไปด้วยนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าติดขัดอะไร คือจะได้ให้ เห็นว่าสื่อต่าง ๆ ทั้งของไทย ทั้งของรัฐบาลเองได้แจ้งไว้อย่างไรครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ใกล้แล้วครับ แต่ดีใจ ไม่ทันไรครับท่านประธาน นักวิชาการหลายท่านก็ได้ออกมาตั้งคำถามครับว่า มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะมากที่สุดเป็นอันดับ ๓ ของโลก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง ก็บอกว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ลิเทียม แต่ปริมาณไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรามีมาก เป็นอันดับ ๓ ของโลกหรือไม่ ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและ การเหมืองแร่ก็ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลเรื่องแร่ที่พบอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม ท่านรองโฆษกก็ออกมาชี้แจงครับว่า ข้อมูลที่ได้แถลงไปครั้งนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อน กำลังจะเข้าสู่คำถามแล้ว และอีกนิดเดียวครับท่านประธาน ประเด็นนี้ต้องเอาให้ชัดครับว่าเราพบแร่ลิเทียมจริง ๆ หรือไม่ มีที่ไหน มีเท่าไร มากเป็น อันดับ ๓ ของโลกหรือไม่ นำไปผลิตแบตเตอรี่ใส่รถยนต์ได้กี่คัน วันนี้พี่น้องประชาชนสับสน มากครับ ผมเองก็สับสน สับสนกันไปทั้งโลกเลยครับ เพราะถ้าไม่ใช่เรื่องจริง นี่อาจจะเป็น Fake New ของรัฐบาลเลยก็ได้นะครับ และไม่ใช่ข่าวปลอมที่หลอกเฉพาะคนไทยครับ ท่านประธาน หลอกไปทั้งโลกครับ บางทีผมคิดว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกระทรวงดิจิทัล ก็ต้องติดตามด้วยว่าข่าวของรัฐบาลเป็นข่าวปลอมหรือข่าวจริง ซึ่งมันไม่ควรผิดพลาดครับ เพราะท่านนายกรัฐมนตรีหรือท่านอื่น ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ก็ขอให้ท่านรัฐมนตรีได้ช่วยชี้แจง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสำรวจพบแร่ลิเทียมในประเทศไทยด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธาน ก็ขอบคุณ คำตอบจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนะครับ ผมคิดว่าจากคำตอบก็คงจะ ทำให้พี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกรวมถึงตัวผมเองก็ได้เข้าใจที่ตรงกันนะครับว่า ที่พบ ๑๔.๘ ล้านตันก็คือหินแร่ดิบ ไม่ใช่ตัวทรัพยากรแร่ หรือว่าตัวลิเทียมนะครับ ผมก็คิดว่ามันก็เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดของทางรัฐบาล จริง ๆ ผมคิดว่ารัฐบาลก็ควรที่จะ ทบทวนในเรื่องนี้นะครับ เพราะว่ามันไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนอย่างที่ท่านรัฐมนตรี บอกนะครับ แต่ตรงกันข้ามมันอาจจะทำลายชื่อเสียงของประเทศเราไปจากการแถลง ที่ผิดพลาดไปได้ อย่างไรก็ตามครับท่านประธาน ผมคิดว่าการสำรวจแร่ที่มีศักยภาพลิเทียม ในประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แล้วก็การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ยังเป็นเรื่องที่ สำคัญอยู่ดี ก็เอาใจช่วยรัฐบาลนะครับ ก็ขอให้ทบทวนการสื่อสารด้วยนะครับ มีอีกหลาย ๆ เรื่องที่เป็นปัญหาการสื่อสารของรัฐบาล ผมก็ขอไม่พูดใน ณ ที่นี้นะครับ เพราะว่าที่ผ่านมา ท่านทั้งพูดไว พูดอย่างทำอย่าง พูดเกินจริง ผมคิดว่าต้องทบทวนอย่างจริงจังนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • มาสู่ประเด็นที่ ๒ ครับท่านประธาน ในประเด็นเรื่องลิเทียม แล้วก็เรื่อง ยานยนต์ไฟฟ้า มีข้อกังวลจากพี่น้องประชาชน นักวิชาการหลายท่านว่ากระบวนการนำแร่ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ การทำเหมือง การขุดเหมืองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ หรือไม่ เพราะว่าเรามีตัวอย่างในต่างประเทศที่มีลิเทียมมากที่สุดแล้วนะครับว่า การทำเหมือง ทำลายพื้นที่ธรรมชาติ มีสารพิษที่อาจปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แล้วก็ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อีกประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อมก็คือด้านแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ Lithium Ion เมื่อเสื่อมสภาพแล้วก็อาจจะสร้างขยะ แบตเตอรี่จำนวนมหาศาล ถ้าไม่มีการจัดการ ไม่มีการ Recycle อย่างเป็นระบบก็จะถูก กำจัดผิดวิธี มีสารพิษตามมาได้นะครับ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เกิดคำถามครับว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ที่เราจะผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แล้วก็ EV กับทรัพยากรมหาศาลแล้วก็ปัญหา สิ่งแวดล้อมที่อาจจะตามมา จึงเป็นคำถามข้อที่ ๒ ของผมครับท่านประธานครับว่า ทางรัฐบาลได้มีแนวทางและแผนในการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจาก อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานครับ ก็ขอบคุณ คำตอบจากท่านรัฐมนตรีนะครับ ก็ดีใจที่ท่านได้ให้ความสำคัญในเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม จากประเด็นของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องยานยนต์ EV ท่านประธานครับผมคิดว่า บทเรียนที่สำคัญในเรื่องแร่ลิเทียม ก็คือปัญหาของการสื่อสารของรัฐบาลที่ผิดพลาด เพราะว่า นี่คือข่าวจากรัฐบาลของประเทศนะครับท่านประธาน ไม่ควรจะเป็นข่าวที่พาดหัวยั่วให้ Click หรือที่เราเรียกว่า Clickbait คือพูดเอามัน พูดเอาสนุก มันไม่ได้นะครับ ผมคิดว่าการสื่อสาร ที่ผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน สร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่น ของประเทศในระดับโลกได้ หลาย ๆ ประเด็นครับท่านประธาน คือท่านพูดไปก่อนแล้วก็ต้อง มาแก้ทีหลัง หรือไม่ได้ไตร่ตรองไปก่อน ผมมีความกังวลเรื่องนี้ครับ พี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกหลายท่านก็กังวลในเรื่องของการสื่อสารของรัฐบาล เรื่องนี้จริง ๆ เป็นที่มา ที่ผมได้ตั้งกระทู้ถามถึงท่านนายกรัฐมนตรีนะครับ เพราะว่าการแถลงของโฆษกรัฐบาลก็คือ คำแถลงที่ถูกมอบหมายมาจากท่านนายกรัฐมนตรี หรือว่าทางรัฐบาลเองให้มาเป็นผู้แถลง ทุกท่านก็ต้องเชื่อครับว่า เรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องจริง จึงเป็นคำถามข้อสุดท้ายของผม ฝากผ่าน ท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีครับว่า ทางรัฐบาลจะมีแนวทางในการทบทวนการสื่อสาร การดำเนินการต่อการแถลงข่าว แล้วก็รับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจาก การสื่อสารที่ผิดพลาดได้อย่างไรครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผมขอ อนุญาตเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความ ครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือ นายสุธรรม ระหงษ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายสนับสนุนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการจัดการขยะชุมชนของท่านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ท่านประธานครับ ปัญหา ขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลกที่เราต้องเร่งแก้ไข แต่เมื่อเราพิจารณา ถึงการแก้ไขปัญหาขยะ ผมคิดว่าเราต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการ ๓ ส่วนก็คือปัญหา การจัดการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทางของขยะอย่างเป็นระบบและไม่สามารถ แก้ไขปัญหาแบบแยกส่วนได้ท่านครับประธาน ขออนุญาตขึ้นสไลด์ด้วยนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนแรก คือต้นทาง นั่นก็คือปัญหา การผลิต การใช้และการสร้างขยะที่เพิ่มมากขึ้น มากเกินความจำเป็นและไม่มีการควบคุม โดยในปัจจุบันนี้มีการใช้แล้วก็สร้างขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือที่เราเรียกว่า Single-Use มากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นปัญหาคือบรรจุภัณฑ์ Packaging หรือวัสดุพลาสติกที่ใช้ ครั้งเดียวทิ้ง ที่มักจะไม่ถูกนำไป Recycle เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม แก้วพลาสติก หรือหลอด เป็นต้น จากสถิติขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ ในปี ๒๕๖๕ ประเทศไทย มีขยะมูลฝอย ๒๕.๗ ล้านตัน และมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้วคนไทย เราสร้างขยะประมาณ ๑ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน พอมาดูประเภทขยะ อันดับ ๑ ก็เป็นขยะอาหาร ซึ่งมีอยู่มากกว่า ๙.๖๘ ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ ๓๘ เปอร์เซ็นต์ สำหรับขยะที่มากที่สุด เป็นปริมาณอันดับ ๒ ก็คือขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่มีอยู่มากกว่า ๒.๘๓ ล้านตัน ในปี ๒๕๖๕ ผมคิดว่าตรงนี้เราต้องมีมาตรการลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง ต้องควบคุม และลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะวัสดุแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือว่า ยากต่อการ Recycle โดยต้องสนับสนุนวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือย่อยสลายได้ ตามธรรมชาติ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๒ คือกลางทาง นั่นก็คือปัญหาการทิ้ง ทั้งการทิ้งไม่ถูกที่ ไม่มีการคัด แยกขยะที่เป็นระบบ แล้วก็ไม่มีการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขยะทุกประเภท ทั้งขยะอาหาร ขยะพลาสติก ขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ ส่วนใหญ่แล้ว ทุกประเภทถูกทิ้งรวมกันมาหมดในถังเดียว ในที่เดียวกัน ทีนี้ขยะทุกประเภทก็เลยปนเปื้อน กันไปหมด ทำให้ยากต่อการจัดการ แต่ที่สำคัญขยะบางส่วนไม่ได้ทิ้งลงถัง ไม่เข้าสู่ระบบ การจัดเก็บด้วยซ้ำไป เช่น ขยะบางส่วนมีการนำไปเททิ้งข้างทางเป็นกองขยะ มีการเผาขยะ หรือทิ้งไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นขยะที่ยากต่อการ Recycle นำไปใช้ประโยชน์ ต่อไม่ได้หรือว่าขายไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ บนบกและใน แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ท่านประธานครับ เรามีสถิติที่น่าสลดใจในเรื่องนี้ คือเราติด ๑ ใน ๑๐ อันดับประเทศที่มีขยะ ทะเลมากที่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นแล้วจากหลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ทะเล หายากที่ต้องตายเพราะมีขยะพลาสติกมากมาย ไม่กี่วันมานี้เราได้เห็นภาพเต่ามะเฟือง ที่จังหวัดพังงา เป็นสัตว์ทะเลหายากครับ ต้องตายเกยตื้น แล้วก็พบว่ามีเชือกอวนถูกพัน รอบตัวทั้งหมด ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นผ่าชันสูตรออกมาพบไข่เต่า ๑๓๖ ฟอง ตายทั้งกลม ตายทั้งแม่เต่ามะเฟือง แล้วก็ไข่ที่อยู่ในท้องด้วย เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ ในส่วนนี้ผมคิดว่าเราต้องมีมาตรการการคัดแยกขยะจากครัวเรือนและสถานที่ต่าง ๆ ควรมี การจัดเก็บและการทิ้งขยะอย่างเป็นระบบ ผมขอยกตัวอย่างใน กทม. ครับท่านประธาน ได้มีโครงการที่น่าสนใจ ก็คือโครงการไม่เทรวม ที่ให้มีการแยกขยะ เริ่มเป็น ๒ ประเภทง่าย ๆ ก่อนก็คือขยะแห้งและขยะเปียก ขยะแห้งก็คือขยะทั่วไป เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก กระป๋อง กล่องข้าว ด้านขยะเปียก ก็คือขยะจำพวกอาหารหรือขยะอินทรีย์ เมื่อเราแยกขยะ ๒ ประเภทนี้ออกจากกันแล้ว การจัดการที่ปลายทางก็ทำได้ง่ายขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ผมคิดว่า เราน่าจะมีการนำไปปรับใช้ไปทดลองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อีกตัวอย่างหนึ่งครับ ก็คือตัวอย่างที่จังหวัดภูเก็ตมีกลุ่มที่เรียกว่า BABA WASTE ที่พยายามรณรงค์ให้มีการแยก ขยะใส่ถุงสีตามประเภทขยะต่าง ๆ เมื่อทิ้งรวมกันแล้ว อาจจะรวมในคันเดียวกันเลยก็ได้ ใช่ไหมครับ แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถไปแยกขยะที่ปลายทางได้ง่ายขึ้น นำไปจัดการได้เป็น ระบบ วิธีนี้หลายประเทศก็ทำครับท่านประธาน ผมว่าเราสามารถนำมาปรับใช้ได้นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ ของการจัดการขยะ ส่วนสุดท้ายก็คือปลายทางของขยะ ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญว่าขยะ ๒๕.๗ ล้านตันที่เราสร้างมา ในปี ๒๐๖๕ ไปไหนบ้าง จาก ๒๕.๗ ล้านตัน จำนวน ๒๐ ล้านตัน หรือ ๗๘ เปอร์เซ็นต์ ถูกเก็บขนไปจัดการโดยท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เหลืออีก ๕.๗ ล้านตัน หรือ ๒๒ เปอร์เซ็นต์มีการจัดการเอง คัดแยกนำไปขาย Recycle ตั้งแต่ที่บ้านหรือสถานที่ ต่าง ๆ มาดูในส่วนของที่ถูกจัดเก็บไป ๒๐ ล้านตัน มีการคัดแยกนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือที่ เราเรียกว่า Recycle นี้เพียง ๔.๘ ล้านตัน หรือ ๑๙ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เหลืออีก ๑๕ ล้านตัน หรือ ๕๙ เปอร์เซ็นต์ก็ถูกนำไปกำจัด โดยจาก ๑๕ ล้านตันที่เหลือนี้ไปสู่ แหล่งกำจัดที่มีอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ส่วนแรกดีหน่อย ๙.๘ ล้านตัน ถูกกำจัดอย่างถูกต้องด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฝังกลบ ไปเตาเผาผลิตพลังงาน ระบบหมักปุ๋ย แล้วก็ไปผลิตเชื้อเพลิง เป็นต้น แต่อีกส่วนสุดท้ายที่น่ากังวลก็มีอีก ๕.๔ ล้านตันนี้ถูกกำจัด แบบไม่ถูกต้องในสถานที่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่มากกว่า ๑,๙๐๐ แห่งทั่วประเทศ วิธีก็คือนำไปเทกองรวมกัน นำไปเผาและวิธีอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้เวลาสั้น ๆ ได้ยกตัวอย่างในจังหวัดพัทลุงเพียงแห่งเดียว ก็คือปัญหาขยะที่สถานีขนถ่ายขยะของเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัด พัทลุงที่ผมได้ลงไปดูพื้นที่กับท่านนายกเทศมนตรี แล้วก็เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันขยะ ที่สถานีขนถ่ายขยะแห่งนี้มีพื้นที่ ๑๔ ท้องถิ่น ใน ๖ อำเภอ ผมขออนุญาตเวลาอีกเล็กน้อย ครับท่านประธาน ท้องถิ่น ๑๔ ท้องถิ่นใน ๖ อำเภอ เอาขยะมาส่งที่สถานีขนถ่ายแห่งนี้ ที่เทศบาลท่ามะเดื่อ แล้วเทศบาลท่ามะเดื่อก็จะส่งต่อไปยังศูนย์กำจัดในเทศบาลเมืองพัทลุง อีกที ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการขนส่งแล้วก็นำไปทิ้งค่อนข้างสูง แล้วก็มีขยะที่สถานี มาที่สถานีแห่งนี้ ๒๕ ตันต่อวัน มีตกค้างประมาณ ๑๐ วันต่อตัน รวมแล้วขณะนี้มีขยะตกค้าง ที่สถานีของเทศบาลท่ามะเดื่อ ๒๐,๐๐๐ ตัน เยอะมาก ทางเทศบาลต้องการงบประมาณแล้ว ก็เครื่องมืออุปกรณ์ในการบริหารจัดการ และต้องการให้กรมควบคุมมลพิษได้เปลี่ยน วัตถุประสงค์จากสถานีขนถ่ายขยะให้เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อบริหารจัดการต้นทางได้ ในระดับที่ดีขึ้นไม่ต้องขนที่อื่น ท่านประธานครับ จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้จะเห็น ได้ว่าปัญหาขยะต้องมีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือเราต้องพยายามไม่ให้เกิดขยะ มีขยะให้ได้น้อยที่สุด กลางทางก็คือการทิ้ง แล้วก็การคัดแยกให้มีประสิทธิภาพ ไปจนถึง ปลายทางต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธีโดยทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน เอกชน ผู้ผลิต และภาครัฐต้องมีส่วนร่วม ผมจึงขอสนับสนุนให้สภาแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อมา ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน โดยขอให้นำข้อเสนอแนะของผมไปประกอบ การพิจารณาด้วยครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขออนุญาตนำปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาหารือดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการบริหารจัดการปัญหา น้ำท่วมในจังหวัดพัทลุงอย่างเป็นระบบ เนื่องจากปัจจุบันเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งพื้นที่ริมภูเขาและริมอ่างเก็บน้ำที่ได้รับผลกระทบจาก น้ำป่าไหลหลากและน้ำจากอ่างเก็บน้ำ เช่น ในอำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน และอำเภอศรีนครินทร์ ด้านพื้นที่รองรับน้ำชายคลองและริมทะเลสาบได้รับผลกระทบจากน้ำ ท่วมขังและน้ำทะเลหนุน เช่น ในอำเภอปากพะยูน อำเภอบางแก้ว และอำเภอเขาชัยสน โดยควรมีระบบการแจ้งเตือนการป้องกันเหตุและป้องกันความเสียหาย ควรมีการระบายน้ำ ที่มีประสิทธิภาพ และควรมีการรับมือช่วยเหลือและเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบอย่างทั่วถึงและทันท่วงที ซึ่งต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณการทำ ระบบประปาจากภูเขาและอ่างเก็บน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง ทั้งในอำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด และอำเภอป่าบอน โดยในพื้นที่ อบต. หนองธง อำเภอป่าบอนมีความต้องการทำโครงการวางท่อประปา PE ส่งน้ำดิบจากต้นน้ำตกโตนสะตอ ไปยังพื้นที่ของตำบลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้พี่น้องประชาชน และ ในพื้นที่เทศบาลตำบลเขาหัวช้างและเทศบาลตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด ที่มีอ่างเก็บน้ำ คลองหัวช้างตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ แต่พี่น้องประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรเท่าที่ควรครับ สาเหตุจากการเดินระบบท่อไม่ทั่วถึง ชำรุด ขาดการดูแล และซ่อมบำรุง ซึ่งหากได้รับการปรับปรุงแก้ไขในการวางระบบท่อประปาอย่างเร่งด่วน จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนกว่า ๓,๐๐๐ ครัวเรือน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะถึงนี้ ได้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากร น้ำบาดาล และสำนักงบประมาณ ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาน้ำบาดาลของเทศบาลตำบล กงหรา อำเภอกงหรา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายในญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันให้ข้อเสนอแนะ แก่รัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ท่านประธานครับ ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่มีให้เห็นอยู่ทุกวัน ทุกพื้นที่ตามที่ได้เห็นผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างน่าหดหู่ใจครับ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และประเด็นของญัตติในวันนี้คือความรุนแรงในสถานศึกษา โดยสถานศึกษา โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่สำคัญในการพัฒนาเยาวชน พัฒนา ประชาชนคนไทยในหลากหลายด้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นโรงเรียนจึงควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เพื่อเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด แต่หลายท่านอาจเปรียบเทียบโรงเรียน เป็นบ้านหลังที่ ๒ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งต่อครูและนักเรียนที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นแล้วครับว่าปัจจุบันบ้านหลังที่ ๒ หลาย ๆ แห่งของใครหลาย ๆ คนไม่ได้เป็น พื้นที่ปลอดภัยต่อผู้ที่อยู่ในบ้านอย่างแท้จริง และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น โดยในโรงเรียนมีการทำร้ายทั้งร่างกายและการทำร้ายจิตใจ มีการกลั่นแกล้งและความรุนแรง ทางเพศทั้งต่อผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทยที่ยังไม่ได้รับ การแก้ไข ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้อาจสร้างบาดแผลร่างกายและปมในจิตใจในระยะยาว และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเด็ก อาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่นต่อไป และส่งผลกระทบต่อสังคมต่อไปได้ มากกว่านั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นและสั่งสมในสังคมไทยอยู่ทุกวัน ซึ่งผมคิดว่าต้องมี มาตรการที่แก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นเพียง ยอดภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็น แต่ใต้ปัญหาความรุนแรงเหล่านี้มีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มากมาย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาครอบครัว ซึ่งควรแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน จากปัญหาทั้งหมดที่ผมได้กล่าวไปนี้กระผมจึงมีข้อเสนอแนะให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา ดังต่อไปนี้

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้ดำเนินการป้องกันเหตุความรุนแรงต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน โดยให้ ผู้ปกครองมีส่วนร่วม และในโรงเรียนให้คุณครูได้ตรวจค้น เฝ้าระวัง สังเกตอาการ พฤติกรรม และอารมณ์ และปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยควรมีการตรวจสอบและคัดกรองสภาวะจิตใจของ นักเรียนในเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้พิจารณาให้มีวิชาเรียนหรือการให้ความรู้ให้นักเรียนได้มีทักษะ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง ทักษะการไม่ตัดสินและการจัดการทางอารมณ์ ไปจนถึง การเคารพสิทธิ ความเข้าใจในความหลากหลายทั้งทางเพศ ศาสนา รูปร่าง ความคิด และ วัฒนธรรมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะการรู้จักการเคารพและการให้เกียรติกัน เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้มีการปรับกฎระเบียบการลงโทษในโรงเรียนให้ปลอดจาก ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจทุกรูปแบบ และควรเปลี่ยนให้เป็นการใช้แรงเสริม การกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวกแทน เช่น การชื่นชม หรือการให้รางวัลในพฤติกรรมที่ดีของ ผู้เรียนเป็นหลัก

    อ่านในการประชุม

  • ๔. ขอให้มีกลไกการแนะแนว การให้คำปรึกษา และการตรวจสุขภาพจิต ทั้งสำหรับคุณครูและนักเรียนในสถานศึกษา โดยในโรงเรียนควรมีพื้นที่สำหรับนักเรียน ที่ต้องการคำปรึกษา ต้องการคนที่รับฟังให้เขาสามารถพูดระบายความรู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน หรือปัญหาส่วนตัว ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญให้ นักเรียนได้รู้สึกสบายใจ รู้สึกปลอดภัยและช่วยเยียวยา ฟื้นฟู จากความรุนแรงได้

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ขอให้พิจารณาแนวทางการลดภาระของนักเรียนและคุณครู ทั้งการปรับ หลักสูตร ลดเวลาเรียน และลดวิชาที่ไม่จำเป็น และเพิ่มวิชาหรือทักษะที่สำคัญต่อ การดำรงชีวิตและอนาคตครับ เช่น ด้านการเงิน การประกอบธุรกิจ การจัดการอารมณ์ การเอาตัวรอด ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีดิจิทัล และการป้องกันตัว เป็นต้น พร้อมกันนี้ เราควรจะปรับลดภาระและความรับผิดชอบของคุณครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และการปรับโครงสร้างค่าตอบแทนและเพิ่มสวัสดิการให้เหมาะสม

    อ่านในการประชุม

  • ๖. ขอให้มีการพัฒนาคุณครูผู้สอน มีการปรับความเข้าใจและการปรับ แนวทางในการเรียนการสอนที่เคารพความหลากหลายของผู้เรียน และยกเลิกการใช้ ความรุนแรงทั้งการลงโทษทางร่างกาย คำพูด และจิตใจในสถานศึกษาทุกรูปแบบ

    อ่านในการประชุม

  • ๗. ขอให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งอาคารสถานที่ หรือแม้กระทั่งห้องน้ำ และควรมีพื้นที่สำหรับการทำ กิจกรรมผ่อนคลาย และการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นการเฉพาะ

    อ่านในการประชุม

  • ๘. สำหรับปัจจัยการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอื่น ๆ ผมขอให้รัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด ปัญหา เศรษฐกิจ และปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็น ส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม และที่สำคัญมากครับ พื้นที่สื่อควรมี การควบคุมและกำชับการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรงทุกรูปแบบ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ ผมในฐานะที่เคยเป็นทั้งนักเรียนและเป็นคุณครูในโรงเรียน เข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้เรียนและผู้สอนในสถานศึกษาครับ ผมคิดว่าเราหลายคน ณ ที่นี้อาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงและเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ความรุนแรง แต่ผมคิดว่าวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมในขณะนี้เราคงเห็นพ้องต้องกันว่า เราไม่อยากให้มีความรุนแรงในสถานศึกษาอีกต่อไป และนอกจากความรุนแรง เราคง เห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาระบบการศึกษามีอย่างมาก ฝังรากลึกและถูกละเลย จึงขอให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหา ลงทุนอย่างจริงจังกับระบบการศึกษา ทำให้โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย สุดท้ายครับ เราต้องทำให้โรงเรียนเป็น บ้านหลังที่ ๒ ที่ผู้เรียนและผู้สอนได้มีความสุข เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา เยาวชนและผู้เรียนสู่อนาคตอย่างแท้จริงเสียที ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ที่เสนอโดย ท่านพิทักษ์เดช เดชเดโช และขออภิปรายสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ประมงทุกฉบับที่เข้าพิจารณาพร้อมกันในวันนี้ครับ ท่านประธานครับ ประเทศไทย มีทรัพยากรที่มีความสำคัญให้เราได้ใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งอาหาร และที่สำคัญทะเลเป็นแหล่งสร้างรายได้ โดยเฉพาะด้านการประมงที่เป็นอาชีพที่สำคัญ ของคนไทย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการประมงเกินขนาด การประมงผิดกฎหมายและปัญหาอื่น ๆ เช่น มลพิษ น้ำเสียหรือขยะ ส่งผลให้ทะเลของเรามีความเสื่อมโทรม เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง บริหารจัดการอย่างสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ในระดับโลกก็เห็นความสำคัญเช่นนี้ครับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จึงได้กำหนดแนวทางการทำประมงอย่างยั่งยืน และได้กำหนดแนวทาง การควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือที่เราเรียกว่า IUU Fishing ครับ ต่อมาสหภาพยุโรปหรือ EU ก็ได้นำมาตรการนี้มาปรับใช้ในกลุ่มประเทศ และได้ประกาศจะไม่ซื้อสินค้าประมงจากประเทศที่ไม่จัดการปัญหาเรื่องการทำประมง IUU จนกระทั่งในปี ๒๕๕๘ ทาง EU ก็ได้ประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยด้วยการให้ใบเหลืองว่า เรามีปัญหาในเรื่องการทำประมงดังกล่าวและให้เร่งแก้ไขปัญหา ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และการจัดการด้านประมง รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ออกคำสั่ง คสช. มีการออก พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเรือการเดินเรือและแรงงาน จนกระทั่งในปี ๒๕๖๒ สหภาพยุโรป ก็ได้ปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย ท่านประธานครับ การประมงอย่างยั่งยืนที่มีการ ควบคุมและมีการรายงานเป็นเรื่องสำคัญครับ แต่การเร่งรัดออกกฎหมายมาบังคับใช้ของ รัฐบาลในขณะนั้นโดยพระราชกำหนดการประมง ๒๕๕๘ ขาดการรับฟังความคิดเห็น ขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ขาดการกลั่นกรองจากรัฐสภา อีกทั้งยังไม่สอดคล้อง กับวิถีชีวิตการทำประมงของไทย มีเงื่อนไขที่บีบรัดเกินความจำเป็น มีบทลงโทษที่รุนแรง และออกมาในช่วงเวลาที่จำกัด ทำให้ชาวประมงไม่มีเวลาปรับตัวและไม่ได้รับการช่วยเหลือ จากภาครัฐเท่าที่ควร ซึ่งกฎหมายด้านประมงที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันอาจมองได้ว่า เป็นการลิดรอนสิทธิการทำประมง เช่น มีการควบคุมพื้นที่การทำประมงพื้นบ้านให้อยู่เฉพาะ ในเขตทะเลและชายฝั่ง มีบทลงโทษที่มากเกินความจำเป็นไปจนถึงมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่สมเหตุสมผล จนกระทั่งวันนี้ครับท่านประธาน ผ่านมาเกือบ ๑๐ ปี ที่พี่น้องประชาชน ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัสจากการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถูกดำเนินคดีเสียค่าปรับที่สูงอย่างรุนแรง ทำให้พี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการ ต่างต้องสูญเสียรายได้มีหนี้สิน และหลายรายต้องสูญเสียอาชีพประมงไปในที่สุด จนกระทั่ง กฎหมายนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของประเทศอย่างมาก จากที่เคยเป็น อันดับต้น ๆ ด้านการผลิตและส่งออกสินค้าประมงก็เกิดผลเสียหาย ทำให้เราต้อง นำเข้าสินค้าประมงจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งบางแห่งที่นำเข้ามาก็ไม่มีการทำประมง ตามแนวทาง IUU และมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย วันนี้กระผมจึงขอสนับสนุนให้มี ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ซึ่งควรมีการแก้ไขกฎหมายหลายมาตราที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รวมถึง ควรส่งเสริมการประมงพื้นบ้านให้สอดคล้องไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจประมงไทย สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผมคิดว่าร่าง พ.ร.บ. ประมงฉบับที่จะเกิดขึ้น ควรมีส่วนสำคัญดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ควรกำหนดให้ประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ขนาดเล็กสามารถ หาปลาหรือทำประมงได้โดยไม่จำกัดเฉพาะในเขตทะเลและชายฝั่งเท่านั้น เพื่อให้เขา สามารถทำประมงได้ตามศักยภาพ เพราะขนาดเรือและเครื่องมือประมงที่ใช้ในการประมงเอง ก็เป็นตัวกำหนดอยู่แล้วนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ควรกำหนดให้การขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลจากเรือประมงให้สามารถ ขนถ่ายไปยังเรืออื่นได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรือขนถ่ายที่จดทะเบียนเท่านั้น เพราะเกิด ความยุ่งยากในการทำประมงที่ต้องจดทะเบียนเรือเป็นเรือขนถ่ายอีกลำ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ในส่วนของการกำหนดบทลงโทษและอัตราโทษปรับที่สูงสมควร พิจารณาคลายความเข้มงวดให้เหมาะสมเป็นธรรม อีกทั้งยังควรให้พิจารณาถึงความร้ายแรง ของพฤติการณ์ในการกระทำผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้พิจารณาจากเจตนาการกระทำผิดประกอบการพิจารณา ลงโทษด้วย ไม่ใช่มุ่งพิจารณาเฉพาะขนาดเรือประมงเป็นสำคัญแบบในปัจจุบัน

    อ่านในการประชุม

  • ๔. กรณีที่เจ้าของเรือประมงมีเรือหลายลำ แต่เมื่อลำใดลำหนึ่งกระทำความผิด แล้วให้เรือทุกลำต้องมีความผิดและห้ามออกเรือไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมาก สมควรเปลี่ยนเป็นห้ามออกเรือเฉพาะลำที่กระทำผิดเท่านั้น และไม่ควรเหมารวมอย่างยิ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ๕. ในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ควรมี การปรับเปลี่ยนสัดส่วนและผู้ดำรงตำแหน่งให้มีความเหมาะสม คณะกรรมการมาตรการ ทางปกครองในกรณีผู้ทำการประมงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ควรมีการกำหนด อำนาจหน้าที่ให้มีความเหมาะสม ตลอดจนข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานในภาคประมงก็ควร ให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของการทำประมงด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ การเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาประมง IUU เมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา กลับลืมหันหลังมองผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและต้อง แลกมาด้วยความเสียหายมากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ ๑๐ ปีแล้วครับ ที่ถือเป็น ช่วงเวลาแห่งความสูญเสียของพี่น้องชาวประมง พวกเขาต้องสูญเสียรายได้และสูญเสียอาชีพ พวกเขาต้องสูญสิ้นความหวังในการทำประมงเพื่อการดำรงชีวิต วันนี้ผมจึงขอให้เราทุกคน ณ สภาแห่งนี้ ได้ร่วมกันลงมติเห็นชอบรับหลักการกับร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับ โดยที่เราจะได้ นำความแตกต่างของแต่ละร่างไปสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และได้เร่งออกกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนชาวประมงต่อไป ผมขอให้วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เรา จะเปลี่ยนความสูญเสียเป็นการสร้างความหวังให้พี่น้องชาวประมง ให้พวกเขาได้มีอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงอีกครั้ง และเราควรที่จะร่วมกันพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงให้กลับมา สร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้นต่อไปครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กระผม ขออนุญาตเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตพิเศษ ภาคเหนือ ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือ นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาต นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาหารือดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาเร่งแก้ไขปัญหาค่าโดยสารเครื่องบินแพงครับ ซึ่งบางช่วงราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว ไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการ จึงขอให้มี มาตรการควบคุม กำหนดเพดานหรือแก้ไขอย่างเหมาะสม เพราะพี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนมายาวนาน รัฐบาลต้องไม่นิ่งเฉยอีกต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาสนับสนุนการก่อสร้างกำแพงกันดินส่งน้ำ สายคลอง ยางแดง ในพื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุน้ำท่วมทำให้ฝายส่งน้ำที่เป็นลักษณะ U-shape พังทลายลง มาครับ ถนนเสียหายและตลิ่งพัง ส่งผลให้พี่น้องในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และขาดแคลนรายได้ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ทำสวนผลไม้ ปลูกสละรวมกันมากกว่า ๑,๐๐๐ ไร่ครับ ซึ่งทาง อบต. ทุ่งนารี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านได้ร่วมกันช่วยเหลือซ่อมแซมเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแล้ว แต่ทาง อบต. ยังขาดแคลนงบประมาณในการก่อสร้างฝาย ส่งน้ำ หากมีการสร้างฝายส่งน้ำดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ได้มากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้กรมชลประทาน การรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาขุดลอกและเสริมคันคลอง ในตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เช่น ในพื้นที่หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ และหมู่ที่ ๑๐ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ เกิดน้ำท่วมล้น คันคลองบ่อยครั้ง พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมากครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๔. เรื่องสุดท้าย ขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการรถตู้ที่ได้รับผลกระทบจาก การปลดระวางรถตู้โดยสาร โดยให้เปลี่ยนเป็น Minibus แทนครับ โดยเฉพาะรถโดยสาร ระยะทางที่สั้นครับ เช่น สายกงหรา-หาดใหญ่ บางแก้ว-หาดใหญ่ และปากพะยูน-หาดใหญ่ โดยเมื่อให้เปลี่ยนเป็น Minibus เจ้าของรถตู้เหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ผู้โดยสารก็มีน้อย จึงขอให้มีมาตรการ ช่วยเหลือ เช่น ให้มีการต่ออายุรถตู้ปีต่อปี การตรวจความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือแนวทางอื่น ๆ เพราะทั้งผู้ประกอบการ คนขับ และผู้โดยสารต่างได้รับผลกระทบ ขอบคุณมากครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายให้ความเห็นต่อรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยง การขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ เสนอญัตตินี้ให้ทางสภาได้ไปศึกษาครับ ท่านประธานครับ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร หรือที่เราเรียกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่อยู่ ในความสนใจของพี่น้องประชาชนอย่างมาก รัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการนี้ เห็นได้จากที่ท่านนายกรัฐมนตรีก็พยายามไปขายโครงการนี้กับทั่วโลก ทั้งผู้นำและนักธุรกิจ ในหลายประเทศ ภายในโครงการนี้บอกว่าจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ๒ ฝั่งทะเล มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง มีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ไปจนถึงการขนส่งระบบท่อและการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ในบริเวณโดยรอบ โดยจะมีการลงทุนในการพัฒนาโครงการนี้ที่มหาศาล ท่านประธานครับ ผมคิดว่าการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้พี่น้อง ประชาชนในพื้นที่และสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ในขณะนี้ ยังขาดความชัดเจนในหลาย ๆ ประเด็น ทั้งการประหยัดเวลาในการขนส่ง อีกทั้งยังเกิด คำถามและความกังวลที่หลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกังวลด้านความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าในการลงทุน ใครจะเป็นผู้ใช้บริการ ไปจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต ในเรื่องอาชีพ ที่อยู่ อาศัยและที่ทำกิน จากรายงานเล่มนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ได้เขียนถึงข้อกังวล เหล่านี้ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าข้อเสนอแนะเหล่านี้รัฐบาลต้องใส่ใจและดำเนินการ อย่างรอบคอบ โดยวันนี้ผมขอเน้นย้ำถึงความกังวลใน ๒ ประเด็นด้วยกันก็คือ ประเด็น ความกังวลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ สำหรับ ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความกังวลในเรื่องผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะมีแผนพัฒนาขนาดใหญ่ มีการก่อสร้างระบบราง ถนน และท่าเรือที่จะมีการถมทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน จะมีการสร้างขึ้นในจังหวัดระนองซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่อยู่ระหว่าง การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยพื้นที่นี้มีความหลากหลาย ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่หายาก โครงการพัฒนาที่ใหญ่เช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อ ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากและทรัพยากรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงปัญหาการขุดลอกมลพิษน้ำเสีย การกัดเซาะชายฝั่งและ การรั่วไหลของน้ำมันจากการเดินเรือที่อาจตามมาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สำคัญที่สุด คือผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่พึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ทั้งเป็นแหล่งอาหารและ แหล่งรายได้ สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของ พี่น้องประชาชนอย่างถี่ถ้วน โดยรัฐบาลเองก็ต้องเตรียมมาตรการในการป้องกันและ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุด รัฐบาลจะต้องคำนึงว่าทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมนั้นประเมินมูลค่าได้ยากเพราะมีมูลค่ามหาศาล หากถูกทำลายหรือทำให้เสียหาย ไปแล้วจะฟื้นฟูหรือกู้กลับคืนมานั้นเป็นไปได้ยาก

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความกังวลถึงผลกระทบก็คือผลกระทบต่อ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่ริมชายฝั่ง ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต เรื่องอาชีพ และที่อยู่อาศัย โดยประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และ การท่องเที่ยว พี่น้องมีความกังวลถึงวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปและอาชีพที่อาจสูญเสีย หากโครงการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและต่อทรัพยากรในพื้นที่ อีกทั้งยังมีความกังวลว่า จะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ในการสร้างรายได้เท่าที่ควร หรือได้ไม่คุ้มเสีย

    อ่านในการประชุม

  • อีกเรื่องที่สำคัญก็คือมีความกังวลในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่อาจต้อง สูญเสียไป ไปจนถึงการเวนคืนที่ดินว่าจะได้รับค่าเวนคืนที่เหมาะสมหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่า ต้องทำให้เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด

    อ่านในการประชุม

  • สำหรับประเด็นผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ผมคิดว่ารัฐบาลต้องฟัง ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือคัดค้านก็ยิ่งต้องฟังครับ โดยรัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จะได้ประโยชน์อะไร จะมีผลกระทบอะไรที่ตามมา จะมีการเวนคืนที่ดินอย่างไรให้เหมาะสม จะมีการชดเชยอย่างไรให้เป็นธรรม จะมีการเงินชดเชยอย่างไรให้เป็นธรรม โดยการพัฒนาพื้นที่นี้ต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไร ให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วม ได้ประโยชน์สูงสุด และต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งต้องไม่เป็น โครงการที่ผู้ได้ประโยชน์มีเพียงผู้ลงทุนหรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเพียงเท่านั้น ท่านประธานที่เคารพ โครงการที่ใหญ่เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับประเด็นความท้าทายและข้อกังวลที่หลากหลาย ที่สำคัญคือจะต้องรับฟัง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วน ร่วมในการพัฒนาและเพื่อให้เป็นโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน อย่างแท้จริง เพราะหากหวังแต่จะสร้างครับ จะดันโครงการอย่างเดียวแต่ประชาชนไม่มี ส่วนร่วม ไม่ได้ประโยชน์โครงการนี้ก็คงไปต่อได้ยาก ท่านประธานครับ ที่ผมพูดวันนี้ไม่ได้ หมายความว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ผมคิดว่าเราไม่เห็นภาพครับ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือรัฐบาลจะต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รับ และ ผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างรอบคอบและรอบด้านในทุกมิติ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเราจะต้องนำตัวอย่างปัญหาจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศและต่างประเทศเข้ามาพิจารณาศึกษาเป็นบทเรียน และนำมาปรับใช้เพื่อให้ เป็นโครงการที่ยั่งยืนและเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลงได้ โดยสรุปแล้วผมคิดว่ารัฐบาล ควรนำข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากสภาแห่งนี้ไปพิจารณา และในท้ายที่สุดหากมี โครงการนี้เกิดขึ้นก็ต้องให้มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ น้อยที่สุดและคำนึงถึงประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญที่สุด ขอบคุณ ท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผมขออนุญาต นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาหารือ ดังต่อไปนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ พิจารณาสำรวจตรวจสอบและสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมประตูกั้นน้ำ ระบายน้ำ ในพื้นที่ตำบลหารเทา ตำบลดอนประดู่ ตำบลดอนทราย อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ขณะนี้ประตูน้ำหลายแห่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เปิดปิดไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วม การกักเก็บและระบายน้ำส่งผลกระทบต่อพี่น้องในพื้นที่อย่างมาก

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวง คมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบทได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้กับเทศบาลตำบล บางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เพื่อซ่อมแซมถนนสายท่ามะเดื่อ-บางขวน-หาดไข่เต่า ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรสายหลักของพี่น้องในพื้นที่ ขณะนี้ถนนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นหลุม เป็นบ่อ ทางเทศบาลขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมแซมเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับ พี่น้องประชาชน จนกระทั่งมีความประสงค์ที่จะถ่ายโอนถนนกลับไปยังทางหลวงชนบท จึงขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๓. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาจัดสรร งบประมาณในการบริหาร และก่อสร้างศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำอำเภอทุกแห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กพิการได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยปัจจุบันในความเป็นจริง ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำอำเภอ มีการจัดตั้งขึ้นโดยความอนุเคราะห์สถานที่จาก หน่วยงานต่าง ๆ ในอำเภอนั้น ๆ เช่น อบต. เทศบาล หรือโรงเรียน แต่ไม่มีงบประมาณ ในการซ่อมแซมอาคารสถานที่ ไม่มีงบประมาณในการบริหารที่เพียงพอ และบางแห่ง ต้องย้ายสถานที่บ่อยครั้ง ทำให้ศูนย์ศึกษาเหล่านี้ขาดความมั่นคงในการทำงานและให้บริการ นักเรียนพิการ ผมขอยกตัวอย่างในพื้นที่ของผม โดยท่านอรรถวุธ แก้วหนูนวล อดีต รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าบอน ได้สะท้อนปัญหาว่า ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงต้องย้ายสถานที่มาแล้วเป็นเวลาเป็นจำนวนกว่า ๑๐ ครั้ง ขณะนี้ ศูนย์ตั้งอยู่ที่เทศบาลป่าบอนเป็นการชั่วคราว และได้ประสานงานไปยังโรงเรียน บ้านห้วยทรายในการใช้พื้นที่โรงเรียน เพื่อจัดตั้งศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษประจำอำเภอ ป่าบอนแล้ว หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและงบประมาณในการ บริหาร จะช่วยให้เด็กพิการในแต่ละพื้นที่ได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค ได้ครับ ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้กระผม ขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ที่เข้าพิจารณาพร้อมกันทุกฉบับในวันนี้ ท่านประธานครับ วันนี้เป็นวันที่เราได้ร่วมกันพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่มีจุดประสงค์เหมือนกัน คือเพื่อ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม ในพื้นที่ของผมมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มานิอาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด ของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน ซึ่งมานิ ก็แปลว่า มนุษย์ หรือคนเหมือนพวกเรานี่ละครับ แต่หลายท่านอาจจะรู้จักพวกเขา ในชื่อว่า เงาะป่าซาไก โดยปัจจุบันมีพี่น้องมานิอาศัยอยู่ประมาณ ๑๒ กลุ่ม ประชากร ประมาณ ๓๘๐ คน พี่น้องมานิก็มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม หาของป่า ทั้งขุดมัน กินพืชและสัตว์ พวกเขาจะเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร และตั้งถิ่นฐานแบบถาวรในบางกลุ่ม การดำรงอยู่ ของพวกเขาสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่เคารพ ธรรมชาติ มีภาษาและประเพณีที่เฉพาะ มีภูมิปัญญาอันน่าทึ่งในเรื่องของสมุนไพรและ ยารักษาโรคตามธรรมชาติ พวกเขามีการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความเอื้ออาทร แต่ปัจจุบัน ก็ถือว่า เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างมาก โดยพื้นที่ที่พี่น้องมานิอาศัย ในปัจจุบันเรียกว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่า มีน้ำตกและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่ตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๑๘ โดยการมีอยู่ของชาวมานิในพื้นที่มาก่อนแล้ว ปัจจุบันพี่น้องมานิ มีบัตรประชาชน เป็นประชาชนคนไทย โดยได้มีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้ช่วยดูแล ยกตัวอย่างในพื้นที่อำเภอป่าบอนและอำเภอกงหรา ก็ได้รับการดูแลให้เข้าถึงระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุขและยังช่วยดูแลในด้านอื่น ๆ ซึ่งผมเองก็ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แต่เรื่องที่ยังเป็นปัญหาก็ยังมี โดยพี่น้อง มานิได้เรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน โดยขอให้มีพื้นที่คุ้มครองให้สามารถดำรง วิถีชีวิต พึ่งพาตนเองได้ ไปจนถึงสิทธิด้านการศึกษา อาชีพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร และ สวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มากกว่าคนอื่น แต่เท่าเทียมกับคนอื่นในประเทศ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ มากถึง ๖๐ กลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรกว่า ๑๐ ล้านคนที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งบนพื้นที่สูง ภูเขา ที่ราบ ริมทะเล ในเกาะและในป่า ปัจจุบันพวกเขายังเผชิญปัญหาที่ หลากหลายครับ บางกลุ่มไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย บางกลุ่มมีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิ ขั้นพื้นฐานและบริการของรัฐ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิ บางกลุ่มได้รับผลกระทบจาก กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ถูกกำจัดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิม ทำให้พวกเขาเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จนกระทั่งชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มได้สูญเสียวัฒนธรรม และอาจสูญหายไปตามกาลเวลา วันนี้ผมจึง ขอสนับสนุนให้เรามีกลไกทางกฎหมาย เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยผมคิดว่ากฎหมายที่จะบังคับใช้ ควรที่จะประกอบ ไปด้วยประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ๑. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สามารถดำรงชีวิตตามวิธีและวัฒนธรรม มีการรับรองสถานะทางกฎหมาย พร้อมกับมี สิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ ระบบสาธารณสุข การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่อาศัยและสิทธิในด้านอื่น ๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องส่งเสริมให้เกิดการอยู่ ร่วมกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน

    อ่านในการประชุม

  • ๒. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อมากำหนดนโยบายและ มาตรการในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อนำไปสู่ การปฏิบัติ โดยภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องมีส่วนร่วม ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการและประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ๓. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีสมาชิกหรือตัวแทน ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการประสานงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และ ให้มีการเสนอแนะ สะท้อนปัญหาและความต้องการต่อหน่วยงานของรัฐ และสร้างการมี ส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตและคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ๔. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อรับรอง ให้ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ ได้มีพื้นที่ในการอยู่อาศัยตามวิถีชีวิตอย่างมั่นคง และใช้ประโยชน์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

    อ่านในการประชุม

  • ๕. กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งข้อมูลในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และที่อยู่อาศัยของพวกเขา ยกตัวอย่างพี่น้องมานิ มีข้อมูลอีกมากมายเกี่ยวกับพวกเขาที่เราไม่ทราบ การจัดทำข้อมูล จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และมาตรการเพื่อการ อนุรักษ์ คุ้มครอง และส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ วันนี้ผมจึงขอให้เราได้ร่วมกันลงมติเห็นชอบรับหลักการ กับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกฉบับ โดยที่เราจะนำความแตกต่างไปสู่การพิจารณาในวาระต่อ ๆ ไป เพื่อให้เกิดกลไกทางกฎหมาย ที่บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ท่านประธานที่เคารพครับ ผมคิดว่าวันนี้เป็นวันที่ สำคัญ ที่เราจะยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรของประชาชนแห่งนี้รับรู้ ยอมรับ และเห็น ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และจะส่งเสริมสิทธิที่เป็นธรรมให้กับ คนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยในสังคม ไม่ว่าจะมี ความหลากหลาย หรือความแตกต่างทั้งด้านความคิด วิถีชีวิต อาชีพ เพศ ศาสนา หรือวัฒนธรรม วันนี้เราจะยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเสมอ ภาคจากภาครัฐ และสร้างความเข้าใจจากสังคมที่จะไม่มองว่า พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์คือคนอื่น แต่เป็นมนุษย์และเป็นประชาชนที่เท่าเทียมกัน สุดท้ายนี้ครับท่านประธาน ผมขอกล่าวคำว่า ฮัมยิก ซึ่งเป็นภาษามานิที่แปลว่า ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาต เสนอรายชื่อกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ๑ ท่าน คือท่านสมบัติ ยะสินธุ์ ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม