ขออนุญาตท่านประธานครับ ผมขออนุญาตหารือนิดหนึ่งท่านประธานครับ อนุญาตไหมครับท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎร ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ครับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานครับ ในวาระที่รับทราบรายงาน การตรวจสอบบัญชีนะครับ ในวาระที่ ๒.๕ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานว่าปกติที่ผ่านมา ในขณะที่ผมเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ส่วนใหญ่ปัญหาพวกนี้มันเกิดจากประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. ในการที่จะเข้าชี้แจงปัญหาต่าง ๆ ผมอยากจะกราบเรียน ท่านประธานว่าในวาระที่ ๒.๕ ขอให้เคร่งครัด ให้ประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. เข้าชี้แจงในวาระที่ ๒.๕ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องแก๊ง Call Center ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องการทำงานหรือการปฏิบัติงานของ กสทช. ทั้งสิ้น นะครับ ขออนุญาตท่านประธานว่าขอให้มีหนังสือกำชับในการที่จะมีการเสนอรายชื่อผู้ที่จะ เข้าชี้แจงในครั้งนี้กำชับว่าต้องเป็นประธาน กสทช. กรรมการ กสทช. มาพร้อมกับเลขาธิการ กสทช. ครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมาย หรือพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่าง ประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๖๖ ก่อนอื่นต้องขออนุญาตเรียนท่านประธานครับ กระผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่มีการออกพระราชกำหนดดังกล่าวนี้ ผมขออนุญาต แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ที่จะตั้งข้อสังเกตแล้วก็สอบถามผู้ที่มาชี้แจงนะครับ
ประเด็นแรก ก็คือเกี่ยวกับผลกระทบที่ท่านเขียนออกมา ๕ ข้อทั้งหมด ในขณะนี้ ท่านยังไม่ได้ตอบคำถามในหนังสือที่ออกมาในวันนี้ ข้อแรกก็คือ การแลกเปลี่ยน ข้อมูลภาษีซึ่งถือเป็นข้อมูลการเงินส่วนบุคคล ที่สำคัญอาจทำให้ข้อมูลการเงินถูกเปิดเผย หรือรั่วไหล จึงอาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลได้ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับว่า ตรงนี้พระราชกำหนดนี้ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ แล้ว ขณะนี้ผลการดำเนินการต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ในส่วนที่ ๒ ที่ท่านเขียนไว้บอกว่าจะต้องมีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการที่จะดำเนินการ ในข้อที่ ๒ อีกนะครับบอกว่า ในระยะเวลา ๓ ปีแรกจะต้องมีต้นทุนบุคลากรอันเนื่องมาจาก ความต้องการอัตรากำลังเพิ่มขึ้นจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติดังกล่าว ขณะนี้ ผ่านมาท่านได้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวนี้ประเมินในระยะเวลา ๓ ปี ที่จะต้องเกิดขึ้น เป็นงบประมาณวงเงินเท่าไร ยังมีข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ ข้อที่ ๕ ผมขออนุญาตว่า เดี๋ยวให้ท่านตอบเองแล้วกันนะครับจะได้รวดเร็วขึ้น สิ่งที่ผมจะอภิปรายต่อไปในส่วนของ ประโยชน์ของประเทศไทย สิ่งนี้ผมเรียนว่าท่านสมาชิกทั้งหมดยังไม่เคยมีอภิปรายอย่างแน่นอน ผมเรียนว่าพระราชกำหนดฉบับนี้นะครับ เมื่อสักครู่ผมอ่านดูผมไปจับกับเศรษฐกิจ Digital ของประเทศไทยในขณะนี้ ประเทศไทยในขณะนี้ผมต้องเรียนว่าเราเข้าสู่เศรษฐกิจ Digital อย่างเต็มรูปแบบ ผมเรียนว่าการใช้งานของโทรศัพท์มือถือ การซื้อของ Online ต่าง ๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยเราติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลกในขณะนี้ ผมดีใจที่พระราชกำหนด ฉบับนี้ออกมา อยากจะเรียนสอบถามว่าการสร้างสมดุลที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีการตรา พระราชกำหนดฉบับนี้ออกมาแล้วก็คืออยู่ภายใต้ข้อบังคับต่าง ๆ แต่ประเทศอื่นจะส่งข้อมูล ดังกล่าวให้กับประเทศไทยเหมือนกับที่เราตราพระราชกำหนดฉบับนี้ให้กับเราหรือไม่ ผมกำลังจะเรียนนะครับว่าอยากจะช่วยรัฐบาลครับท่านประธาน ช่วยกันจัดเก็บรายได้ให้เข้า ประเทศให้เยอะ ๆ ครับ ขณ ะนี้เรียนถามนะครับว่า ผู้ให้บริการโครงข่าย เหนือโครงข่ายโทรศัพท์ในขณะนี้ที่เราเรียกกันว่า OTT หรือ Over The Top ท่านประธาน ทราบไหม OTT Over The Top ก็คือการต่อยอดการใช้งานโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เดี๋ยวทุกคนงงอีกนะครับ ประชาชนอาจจะงงบอกว่า OTT การใช้งานต่อยอดการใช้งาน โทรศัพท์เคลื่อนที่คืออะไร ท่านเห็นไหมครับในขณะนี้ ท่านประธานครับ ท่านดู YouTube ท่านดู Facebook ท่านซื้อของผ่าน Shopee ซื้อของผ่าน Online ซื้อของผ่าน Lazada ซื้อของผ่าน Gojek นี่ละคือ OTT Over The Top อยากจะเรียนสอบถามว่ากฎหมายฉบับนี้ ในพระราชกำหนดที่ท่านออกมาในขณะนี้ท่านจะสามารถจัดเก็บเงินรายได้ที่เราสูญเสีย ออกไปให้กับนอกประเทศในขณะนี้เราจะทำอย่างไรครับ ท่านประธานครับ เรียนอย่างนี้ นะครับว่าครั้งที่แล้วที่เกิดโควิดที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ก็มีการออกมาตรการคนละครึ่งบ้าง ซื้อของ ท่องเที่ยวด้วยกันบ้าง ผมถามหน่อยครับ เวลาเราซื้อของเราก็ซื้อของผ่าน Shopee เราซื้ออะไรก็จองโรงแรมผ่านในระบบของ OTT ทั้งนั้น เงินต่าง ๆ ท่านประธานทราบ ไหมครับว่าเราต้องโอนเงินออกนอกประเทศก่อน พอเงินออกนอกประเทศเสร็จเรียบร้อย กว่าจะโอนเงินกลับมาที่ประเทศไทยก็ต้องมีการหักไม่ว่าจะเป็น ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ของค่าดำเนินการต่าง ๆ ท่านประธานทราบไหมครับว่าสิ่งพวกนี้ก็คือรายได้ที่ประเทศไทยเรา สูญเสียเงินดังกล่าวนี้ออกไป กฎหมายฉบับนี้เมื่อเราออกให้กับประเทศอื่นแล้ว หรือคู่สัญญา อื่นแล้วเราจะสามารถนำกฎหมายของเขามาดำเนินการจัดเก็บภาษีให้กับประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยเกิดขึ้นได้อีกไหมครับ คำถามของผมนะครับ เดี๋ยวทางเจ้าหน้าที่อาจจะตอบคำถามผมบอกว่า ตอนนี้เราได้มีการจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับ เรื่องของ Facebook YouTube หรือ OTT ต่าง ๆ แล้ว คำตอบนี้ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่า ยังไม่ใช่คำตอบที่ผมต้องการ คำตอบที่ผมต้องการก็คือ ที่ท่านจัดเก็บในปัจจุบันนี้เป็นการที่ จัดเก็บเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็คือสมมุติว่าผู้ให้บริการ Facebook YouTube เรียกเก็บเงิน ๑๐๐ บาท ท่านก็คือเรียกเก็บเพิ่มอีก ๗ บาท ให้กับประเทศไทยคนที่เสียเงินรู้ไหมครับ ท่านประธานคือใคร ก็คือคนไทยด้วยกันเอง ยังไม่มีต่างชาติมาเสียเงินให้กับเราเลยที่จะมา สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเพิ่มเติมไหมครับ ถ้าทำได้ผมขออนุญาตท่านประธานนะครับว่า ไม่ใช่ว่าจะเห็นชอบแค่ยกมือข้างเดียวนะครับ ผมมี ๑๐ มือจะยกให้ทั้ง ๑๐ มือเลย อยากจะ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยให้เกิดขึ้นตรงนี้ให้จงได้ ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธาน ครับว่า เก็บเงินจาก OTT จะทำอย่างไร อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ที่ท่านยกร่างขึ้นมาหรือไม่ ตรงนี้จะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศไทยที่เราเข้าสู่ในระบบของเศรษฐกิจ Digital อย่างเต็มรูปแบบในขณะนี้ครับ กราบขอบพระคุณมากครับ ท่านประธาน
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพอย่างยิ่งครับ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ผมขออนุญาตอย่างนี้ว่าวันนี้เป็นรายงานผลการตรวจสอบบัญชี ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งผู้ที่มาชี้แจงวันนี้ก็คือ สตง. ผมเข้าใจว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ กสทช. มาชี้แจง คำถามที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติถามไปผมคิดว่าคงไม่มีใครในที่นี้ตอบได้ เพราะว่า เป็นรายงานที่ สตง. มาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการเงินของ กสทช. ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับ อย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติเมื่อสักครู่ท่านอดิศรได้บอกว่ารายงานผลการตรวจสอบ ด้านการเงินปี ๒๕๖๓ ซึ่งมันล่าช้าไปแล้ว ผมเรียนอย่างนี้ว่าถูกต้องเลยครับ ถ้าท่านอยากจะเห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. มันจะมีรายงานของผลการดำเนินงานของ กสทช. ที่กฎหมายบังคับไว้ ดังนั้น ผมอยากจะให้ ผลการตรวจของสำนักงาน กสทช. ปี ๒๕๖๓ คู่ขนานกับรายงานผลการดำเนินงานของ กสทช. ที่จะเข้าไปที่ประชุม ดังนั้นจะทำให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านสามารถที่จะเปรียบเทียบ รายงานของ กสทช. เองกับรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินคู่ขนานกันไปได้ ดังนั้นผมเห็นภาพว่าวันนี้เราเปรียบเทียบไม่ได้ครับ เนื่องจากว่า รายงานผลการดำเนินงานของ กสทช. ให้ความเห็นชอบไปแล้วในวันนั้น เข้าใจว่าถึงปี ๒๕๖๕ ไปแล้ว แต่วันนี้เรายังมาเดินอยู่บนรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจการเงิน แผ่นดินในปี ๒๕๖๓ ดังนั้นมันไม่คู่ขนานกันเลยในการที่จะสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ในการที่จะตรวจสอบการดำเนินการของ กสทช. ผมขออนุญาตตอบคำถามในหลายเรื่อง ผมในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องครึ่งปีในรายงานฉบับนี้ ต้องเรียนบอกว่าขณะนั้นผมเป็นอดีต เลขาธิการ กสทช. วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ปี ๒๕๖๓ เรียนอย่างนี้ครับ
เรื่องที่ ๑ คำตอบนะครับ เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ต่าง ๆ ถ้ามีการประมูล คลื่นความถี่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเงินรายได้ทั้งหมดจะต้องส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ไม่ได้เข้า กสทช. แต่อย่างใด ถ้าท่านจะสอบถาม ขอให้ท่านสอบถามในรายละเอียดที่ตรง เพราะกฎหมาย บังคับว่าเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ที่เกิดขึ้นรายได้ทั้งหมดหัก ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ส่งกองทุน DE ไม่ได้ส่งกองทุน กสทช. ส่งกองทุน DE อีก ๘๕ เปอร์เซ็นต์นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ทั้งหมดนะครับ เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายได้ของ กสทช. ที่เกิดขึ้น ท่านอาจจะเห็นว่า ที่ผ่านมารายได้มี ๓๐๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ใช่รายได้ของ กสทช. รายได้ที่ต้อง นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ๘๕ เปอร์เซ็นต์ อีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์นำส่งเข้ากองทุน DE ในการบริหารจัดการ ส่วนรายได้ของสำนักงาน กสทช. เองเป็นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการที่ จัดเก็บกำหนดไว้ร้อยละ ๒ บ้าง ร้อยละ ๑.๕ บ้าง ที่เป็นรายได้ประจำของ กสทช. ที่เกิดขึ้น ดังนั้นทุกคนอาจจะมองเห็นภาพที่เกิดขึ้นว่าเห็นรายได้ของ กสทช. เกิดขึ้นเยอะ คงไม่ใช่ครับ มันเป็นรายได้ที่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน คราวนี้ผมขออนุญาตมาสู่เรื่องที่อยาก เสนอแนะทาง สตง. ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ารายงานผลการตรวจการดำเนินงานและรายงานของ สตง. ให้ตรงกันกับการที่ กสทช. และ สตง. จะได้มาชี้แจงร่วมกันในครั้งต่อ ๆ ไป คราวนี้ มาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนนะครับ เมื่อสักครู่ได้มีการอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับ การนำสายสื่อสารลงดินและการจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน ผมอธิบายอย่างนี้ว่าจัดระเบียบ สายสื่อสารลงดินคือเอาสายสื่อสารที่อยู่บนอากาศที่มีจำนวนเยอะมาก เรามีการจัดสายตาย ที่ไม่ใช้งานแล้วเอาออก แล้วก็มีการจัดระเบียบ หลังจากนั้นก็นำท่อร้อยสายต่าง ๆ มัดรวมไว้ อันนี้เราเรียกว่าเป็นการจัดระเบียบสายสื่อสารนะครับ อันที่ ๒ เป็นการนำสายสื่อสารลงดิน นำสายสื่อสารลงดินหมายถึงว่าเราต้องมีการลงทุนสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน ดังนั้นเอาไปปนกันไม่ได้ ผมเสนอแนะอย่างนี้ครับ ในกรุงเทพมหานครทั้งหมดตอนนี้จะดำเนินการโดยที่ไม่เป็น การผลักภาระให้กับประชาชน ข้อที่ ๑ ขอเสนอแนะให้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารทั้งหมด ในกรุงเทพมหานครลงทุนไม่เยอะไม่ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ผมเรียนได้เลยว่าไม่ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท สามารถที่จะจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วทั้งกรุงเทพมหานครให้เป็นระเบียบได้ ท่านประธาน ทราบไหมว่าสายสื่อสารที่ลอยอยู่บนอากาศในขณะนี้ชั้นล่างเขาเรียกว่าสายสื่อสาร ชั้นบนสุด ก็คือเป็นสายไฟฟ้า เราอย่าไปแตะต้องสายไฟฟ้าเลยครับ สายสื่อสารที่ระเกะระกะอยู่ในวันนี้ ท่านประธานครับ เขาเรียกว่าเป็นสายตาย ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ สายที่ใช้งานมีอยู่แค่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นสายตายคืออะไร ในอดีตที่ผ่านมาสายเคเบิลทีวี ทางด้าน โทรคมนาคม Packlink Phone Link ผมไม่ทราบว่ารุ่นท่านประธานเกิดทันหรือเปล่า ขออนุญาตท่านประธานนะครับ แต่รุ่นผมนี่เกิดทัน สายพวกนี้ในขณะนี้ Packlink Phone Link ในอดีตยังแขวนลอยอยู่ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเลิกประกอบ กิจการไปนานแล้วครับ แต่ไม่มีใครที่จะนำสายพวกนี้ที่เราเรียกกันว่าสายตายเอาออกจาก เสาไฟฟ้า ผมเรียนท่านประธานได้เลยว่าการให้บริการทางด้านเคเบิลทีวีในขณะนี้ก็ยุติ การให้บริการไปแล้วเนื่องจากขาดทุน สายพวกนี้เป็นสายที่หนักมากลอยอยู่บนอากาศ ถ้าเรามีการจัดระเบียบสายพวกนี้มัดรวมให้ดีนะครับ ดึงสายตายพวกนี้ลงหมดจะทำให้ เกิดประโยชน์ แล้วก็สามารถที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครจะมีความเป็น ระเบียบเรียบร้อย แล้วก็ไม่ผลักภาระในการที่จะเพิ่มต้นทุนในการให้บริการกับพี่น้อง ประชาชน ขอเพิ่มอีกเรื่องหนึ่ง ท่านประธานครับ เรื่องที่ ๒ เรื่องแก๊ง Call Center เมื่อสักครู่ผมเรียนอย่างนี้ว่าขอให้ กสทช. ดำเนินการให้สอดคล้องว่า SIM เรากำหนดไว้แล้วว่า บุคคลหนึ่งจะสามารถลงทะเบียน SIM ได้ไม่เกิน ๕ SIM ต่อ ๑ คน ขอให้กำหนดระเบียบนี้ โดยเคร่งครัด ถ้าใครมาซื้อ SIM เกินกว่านี้ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น เราจะป้องกัน SIM ม้าได้อย่างแน่นอน
เรื่องที่ ๒ ที่เราบอกว่ามีการตั้ง Server นอกประเทศในการที่ทำแก๊ง Call Center ผมเรียนท่านประธานครับระบบโทรทัศน์โทรคมนาคมของประเทศไทย เป็นระบบโทรคมนาคมที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศของพวกเรา เพราะฉะนั้นในประเทศ เพื่อนบ้านของเราไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว ถ้าไปตั้ง SIM Server อยู่ใช้สัญญาณ ของประเทศไทยทั้งนั้นครับ ไม่มีใครหรอกเขาใช้สัญญาณของประเทศเขา เพราะว่าสัญญาณ ของประเทศไทยดีที่สุด ดังนั้นผมอยากให้หน่วยงานตรวจสอบให้ดีนะครับ ในขณะที่ผม ดำรงตำแหน่งอยู่มีการใช้ Server ก็คือมีการลากสายออกนอกประเทศ สายของประเทศไทยเอง ลากสายออกนอกประเทศแล้วก็ไปตั้ง Server อยู่รอบรอยตะเข็บของประเทศไทยทั้งหมด ดังนั้นขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ถ้าตรวจสอบเรื่องนี้ได้ก็จะสามารถป้องกันระบบสัญญาณต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ก็ขออนุญาตท่านประธานเพราะว่ามีเวลาจำกัด จริง ๆ ผมมีข้อมูลที่จะต้อง นำเรียนให้เกิดประโยชน์กับสภาแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ว่าเวลามีแค่นี้ ไม่อยาก รบกวนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติคนอื่นครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานมากครับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต เพิ่มเติมนิดหนึ่ง นิดเดียวครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตว่าสิ่งที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านได้อภิปรายไปทั้งหมดอยากให้รวบรวม แล้วก็ส่งรายละเอียดพวกนี้ให้กับทางสำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจง แล้วก็ตอบมาที่ทางสภาด้วยครับ ขออนุญาตแค่นี้ครับท่านประธาน
ขออนุญาตท่านประธานครับ
ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตท่านประธานครับ นำเรียนเสริมท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติเมื่อสักครู่นะครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารายงาน การตรวจสอบการเงินและรายงานผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เรารับทราบ จริง ๆ มันจะต้องมาคู่ขนานกัน เวลามามันเป็นรายงานที่จะต้องมาตรงกัน ถ้าเกิดไม่ตรงกัน ผมเข้าใจว่าเราไปเอารายงาน สตง. ขึ้นมา แล้วรายงานผลการปฏิบัติงานก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง มันคนละครั้ง คราวนี้คำถามของผมต่อเนื่องมีอีกนะครับ คำว่า รับทราบ ของเรา ตอนที่ ผมเป็นอดีตเลขาธิการ กสทช. อยากจะนำเรียนว่า คำว่า รับทราบ เรามีคำถามกลับไป ก็คือเขานำไปปฏิบัติหรือเปล่าครับ ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราไม่รับทราบได้ไหมครับ ความหมายของผมคือรายงานที่เขาเสนอเข้ามามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เห็นด้วย แต่เราจะทำอย่างไรที่บอกว่าถ้าเขาไม่ดำเนินการตามที่เราบอกมันจะต้องไม่รับทราบ รายงานนี้ เพื่อที่จะให้เขานำไปปฏิบัติให้ได้ ผมยกตัวอย่างนะครับ เรื่องรายงานที่เมื่อวาน สมาชิกผู้ทรงเกียรติของเราได้มีการอภิปรายกันเรื่องเงินเดือนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มี การปรับปรุงเอง มีการทำเองอะไรทั้งหมด เขาจะนำข้อสังเกตตรงนี้ไปปรับปรุง แล้วรายงาน กลับมาที่เราให้รับทราบว่าเขานำข้อสังเกตของเราไปดำเนินการหรือไม่ ตรงนี้มันเป็น สาระสำคัญมาก เพราะว่าเราพูดกันถึงเรื่องรับทราบ หน่วยงานเขาก็คิดว่ามาเสนอรายงาน กับเราตอบอะไรก็ได้ ตอบอย่างไรก็ได้ ตอบกลับไปแล้วก็ถือว่ารับทราบแล้ว ที่ประชุมก็ถือว่า รับทราบ แต่ผลปฏิบัติไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานครับ เราจะ ทำให้เกิดผลปฏิบัติอย่างนี้ได้อย่างไรครับท่านประธาน ขอบคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นผมขออนุญาตชื่นชมทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มาชี้แจงในวันนี้ว่า มีทั้งท่านประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วก็ เลขาธิการมาชี้แจงเองผมอยากจะฝากเรียนท่านประธานเรื่องแรกว่าถ้าเป็นรายงานประจำปี ของหน่วยงานที่เป็นลักษณะอย่างนี้อยากจะให้ตัวท่านประธานกรรมการของหน่วยงานนั้น กรรมการและเลขาธิการมาชี้แจงเป็นตัวอย่างเหมือนกับหน่วยงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราจะได้ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง
เรื่องนี้ผมอยากจะนำเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันนี้ อยากจะนำเรียนผ่านท่านประธานไป ผมเข้าใจอย่างนี้ว่าเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากที่ผม ศึกษามาในรายงานปี ๒๕๖๕ เรื่องร้องเรียนมีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๑๔๙ เรื่อง ไม่รับไว้พิจารณา ๒๒๕ เรื่อง คงเหลือ ๙๒๔ เรื่อง เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าเรื่องร้องเรียนทั้งหมด เป็นการที่ประชาชนมาร้องเรียนเองแทบทั้งสิ้น อยากจะให้หน่วยงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันนี้ทำงานเชิงรุกบ้าง ทำไมผมถึงอยากจะเรียนว่าท่านมีอำนาจ ตามกฎหมายที่ออกมา ท่านมีอำนาจในการทำงานเชิงรุกหลายประเด็นมาก ผมเรียนนะครับ ผมขออนุญาตอ่าน สิทธิมนุษยชน หมายความว่าอย่างไร มาตรา ๔ เขียนไว้ชัดว่า สิทธิมนุษยชน หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของ บุคคล บรรดาที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย หรือตามหนังสือ สัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ท่านเห็นนะครับว่าท่านมี อำนาจหน้าที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก คราวนี้ที่ผมอยากให้ท่านทำงานเชิงรุกนะครับ ท่านมาดู ในมาตรา ๖ ของท่าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้างครับ
ข้อ ๑ เขียนไว้ชัดเจนว่าตรวจสอบ และรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับ การละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทาง ที่เหมาะสมในการป้องกัน หรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับ ความเสียหายจากการละเมิดสิทธินั้น ดังนั้นท่านจะเห็นว่า คำว่า ตรวจสอบ ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ที่มาร้องเรียนเท่านั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของท่านในการที่จะเข้าไปตรวจสอบเอง โดยที่ไม่ต้องรอเรื่องต่าง ๆ ที่จะมีผู้มาร้องเรียนกับท่านแต่อย่างใด ผมอยากจะฝากเรียน ว่ามันมีกฎหมายที่สนับสนุนให้ท่านทำในเรื่องนี้ต่อไปได้นะครับว่ากฎหมายเขียนอำนาจ ในมาตรา ๓๔ ไว้ชัดเจนว่าท่านมีอำนาจในการดำเนินการเองได้ ไม่ต้องรอให้ผู้มาร้องเรียน เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะเป็นผู้แจ้ง หรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบซึ่งการได้มาในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และทำข้อเท็จจริง ให้ปรากฏโดยไม่ชักช้า เพราะฉะนั้นผมฝากเรียนท่านว่าในมาตรา ๓๔ เขียนสนับสนุน มาในมาตรา ๖ ใน (๑) ของท่าน ท่านมีอำนาจในการทำเองทั้งหมด เพราะฉะนั้นปรากฏ เป็นข่าวอะไรทั้งสิ้นท่านสามารถที่จะตรวจสอบได้ครับ คราวนี้มาดูอีกนิดหนึ่งนะครับท่านประธาน อยากจะเรียนถามว่าในมาตรา ๔๐ ที่ท่านมีอำนาจทำเองได้เลยตั้งแต่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมา ท่านเคยมี การดำเนินการในส่วนนี้บ้างไหมครับ ในมาตรา ๔๐ เขียนไว้บอกว่าในกรณีที่มีสถานการณ์ อันกระทบหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ดำเนินการตรวจสอบแล้วจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ ประเทศในเรื่องนั้นขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรายงานให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป อย่างสมมุตินะครับ เมื่อท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติได้อภิปรายไปบอกว่าการใช้กระสุนยางยิงจนประชาชนตาบอดอย่างนี้ มันเป็นเหตุการณ์รุนแรงอย่างนี้ ท่านได้เข้าไปดำเนินการในส่วนนี้ตามมาตรา ๔๐ ที่ท่านมี อำนาจหน้าที่ แล้วรายงานข้อเท็จจริงต่อรัฐสภาหรือต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบในส่วนนี้ บ้างไหมครับ คือผมอยากจะเรียนถามว่ากฎหมายให้อำนาจหน้าที่ท่านมากเลยในการที่จะ ดำเนินการ ไม่อยากให้ท่านตีความกฎหมายของท่านทำงานในวงแคบ เพราะว่ากฎหมาย ให้ท่านทำงานในวงกว้าง แต่ขณะนี้ท่านตีความของท่านทำงานในข้อจำกัด ทำให้ กระบวนการในการทำงานของท่านจำกัดอยู่ในการทำงานที่น้อยมาก ยังมีเขียนไว้อีกนะครับ ท่านประธาน มาตรา ๕๙ เขียนอีก ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๕ (๑) มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๔ อย่างที่กระบวนการในการทำงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีก ผมดูแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานเชิงรุก เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นผมอยากจะเห็นรายงานประจำปีในปีต่อไป ไม่อยากเห็น ๙๒๔ เรื่อง อยากจะเห็นท่านมีการรับเรื่อง ดำเนินการเรื่องเชิงรุกขึ้นไป อยากเห็นเป็น ๑๐,๐๐๐ เรื่อง ๒๐,๐๐๐ เรื่อง แก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนในการถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ ท่านจะเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างมากมาย ท่านมีอำนาจในการดำเนินการในส่วนนี้ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธานฝากไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าขอให้ท่าน ทำงานในเชิงรุก ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการที่เขาถูกละเมิดสิทธิในส่วนนี้ จะเป็นที่ ชื่นชมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นความหวังของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
ท่านประธานครับ
ผมขออนุญาตนิดหนึ่งครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตท่านประธานครับ อย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ว่า วาระการประชุมแจกเราก่อนมาตั้งแต่วันพฤหัสบดีแล้ว ซึ่งผมเรียนท่านประธานตรง ๆ ว่า ผมเตรียมการที่จะอภิปรายเรียงวาระต่าง ๆ ที่ออกมา เรื่องที่สำคัญนะครับ ของสำนักงาน คณะกรรมการ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องแก๊ง Call Center ต่าง ๆ ที่เราเตรียมมา
เรื่องที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน เรื่องค่าไฟแพง ท่านประธานครับ วันนี้เราเตรียมข้อมูลมาเราไม่มีสิทธิอภิปรายอะไรเลย มันทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเรียงมาทั้งหมด ผมเรียนท่านประธานว่า ๔-๕ วัน เราเตรียม ข้อมูลกันมาทั้งหมด แต่เราอภิปรายไม่ได้ พี่น้องประชาชนก็ยังได้รับความเดือดร้อนอยู่ อยากจะเรียนท่านประธานว่าถ้าเป็นไปได้ ขออนุญาตท่านประธาน กราบเรียนด้วย ความเคารพจริง ๆ ว่าเกิดหน่วยงานยังไม่พร้อมอย่าบรรจุวาระครับ เพราะว่าผมเตรียม ข้อมูลมาผมก็เหนื่อยเหมือนกันครับ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ต้องนั่งเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะ อภิปราย ทำเป็น Chart เพื่อที่จะให้ประชาชนพี่น้องได้เข้าใจในส่วนนี้ ขออนุญาต ท่านประธานด้วยความเคารพจริง ๆ ว่าขอให้แจกวาระการประชุมที่ออกไปให้เราเตรียมการ ในการที่จะอภิปรายได้อย่างแม่นยำด้วยครับท่านประธาน กราบขอบพระคุณท่านประธาน เป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นต้องขออนุญาตท่านประธานครับว่าต้องขอชื่นชมรายงาน ประจำปีของสภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อสักครู่ได้อ่านดูเห็นในนี้บอกว่า ๒๓ ปีแล้ว ที่องค์กรนี้มีโอกาสที่จะมีการจัดตั้งขึ้น ผมได้มีโอกาสร่วมงานแล้วก็ทำงานร่วมกับทาง ท่านประธานคุ้มครองผู้บริโภค ท่านเลขาธิการต่าง ๆ ที่ผ่านมา ต้องขออนุญาตชื่นชม ในการทำงานที่ผ่านมา วันนี้ที่ผมอยากจะนำเรียนข้อเสนอแนะต่าง ๆ กับทางสภาองค์กร คุ้มครองผู้บริโภค เรื่องที่สำคัญก็คือผมอ่านดูในรายงานประจำปีแล้ว คำถามก็คือว่า หน่วยงานนี้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามข้อเสนอแนะ แล้วหน่วยงาน ที่จะต้องรับไปดำเนินการเขาดำเนินการตามความเห็นของเราบ้างไหมครับ ผมดูนะครับ ดูแล้ว ๑. ก็คืออำนาจตามมาตรา ๑๐ ที่ให้อำนาจท่านไว้ ก็คือให้สภาองค์กรผู้บริโภค ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๙ เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน และดำเนินการอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ก็คืออำนาจของท่านมีหน้าที่ ในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน คราวนี้มาดูต่อไปอีกว่าอำนาจหน้าที่อื่นในการที่จะ ดำเนินการก็คือ สภาองค์กรผู้บริโภคตามมาตรา ๑๔ นอกจากมีอำนาจดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้จัดตั้งแล้วในฐานะที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค ให้มีอำนาจดำเนินการในเรื่อง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะ นโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผมต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากนะครับ เห็นบอกว่าข้อ ๑ ก็คือให้ความคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ดังนั้นที่อยากจะเรียนสอบถามก็คือความเห็นต่าง ๆ ข้อสังเกต ต่าง ๆ ใน ๘ ด้านที่ท่านนำเสนอให้กับหน่วยงานหรือรัฐบาลในการดำเนินการที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ เขารับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว พิจารณาแล้วเป็นอย่างไรบ้างที่ผ่านมา ถ้าเกิดว่าเขาไม่ดำเนินการตามนี้ สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีแนวทางที่จะดำเนินการ ในเรื่องนี้อย่างไรบ้างเพื่อที่จะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่น เรื่องแก๊ง Call Center ที่เกิดขึ้น ท่านอาจจะส่งเรื่องไปที่ กสทช. ไปที่กระทรวง DES ไปที่หน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการว่าขอให้หน่วยงานดังกล่าวได้ดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร แล้วหน่วยงานนั้นตอบกลับมาอย่างไรเพื่อที่จะให้ดำเนินการตามแนวทางของเรา เพื่อที่จะให้ ประเทศในการเดินหน้าแก้ปัญหาในเรื่องพวกนี้ดำเนินการต่อไปได้
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องครับ ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง ผมเห็นอยู่ในนี้นะครับ ข้อเสนอแนะของท่านเป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก แต่คำถามก็คือว่าเราจะทำอย่างไรว่า ในการเสนอแก้ปัญหาของท่านจะแก้ไขปัญหาเรื่องพวกนี้ได้อย่างไรว่าหน่วยงานเขาได้ ดำเนินการตามความเห็นของเราอย่างไรบ้างหรือไม่ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านนะครับ เช่น เรื่องพลังงาน ท่านได้เสนอแนะว่าในเรื่องพลังงาน ข้อ ๔ จะยุติการทำสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเร่งเจรจากับคู่สัญญาทั้งโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า รวมทั้งโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก SPP เพื่อลดค่าใช้จ่ายพร้อมจ่าย ตามเงื่อนไข ไม่ใช่ก็ต้องจ่าย ลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ผมอ่านแล้วผมดีใจมากที่สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้เสนอแนะในข้อนี้ แต่คำถามก็คือ ท่านได้แจ้งไปที่กระทรวงพลังงาน ได้แจ้งไปที่คณะรัฐมนตรี ได้แจ้งไปที่หน่วยงานไหนว่า อยากจะให้ดำเนินการตามนี้ คำตอบที่กลับมาคือจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ถ้าทำได้ สำเร็จนะครับ ผมเรียนได้เลยว่าค่าไฟฟ้าวันนี้จะต้องถูกลง การคุ้มครองผู้บริโภคทางด้าน โทรคมนาคมเองก็จะต้องดำเนินการได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊ง Call Center ค่าโทรศัพท์ ที่โทรศัพท์ล่มแล้วจะต้องทำอย่างไร อันนี้เห็นด้วยหมดทุกอย่างเลยครับ ทั้งหมดที่ท่านทำมา เป็นข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ดีมาก แต่พอผมมาดูในรายละเอียด อำนาจหน้าที่ ของเรา เราจะทำอย่างไร ถ้าท่านคิดว่าอำนาจหน้าที่เราไปไม่ถึง เพียงแต่เป็นข้อเสนอแนะ เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของเราต่าง ๆ ให้ท่านมีอำนาจในการที่จะ เสนอแนะแล้วก็นำไปปฏิบัติ เพื่อที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ รับข้อสังเกตของท่านไปดำเนินการ ในส่วนนี้ให้ประสบผลสำเร็จให้ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายนะครับ ขอให้หน่วยงานของท่านทำงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประสบผลสำเร็จ ผมแล้วก็ทางสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการที่จะดำเนินการ ในส่วนนี้ อันนี้เป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศไทย ขอบพระคุณท่านมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพอย่างสูงครับ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตนำเรียนท่านประธาน ๗ นาทีทอง อยากจะนำเสนอแนะให้ท่านผู้ที่มาชี้แจง โดยเฉพาะท่านเลขาธิการสภาพัฒน์นะครับ ให้นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ผมต้องเรียนนะครับว่าการอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้ตำหนิอะไรท่าน ทั้งสิ้น แต่เป็นข้อเสนอแนะว่าถ้าท่านนำไปปรับปรุงได้จะเป็นสิ่งที่ดีในการที่จะทำให้ท่าน ทำงานในส่วนนี้ให้ประสบผลสำเร็จนะครับ ผมเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ที่ท่านนำมาเสนอ ในครั้งนี้
ประเด็นแรกนะครับ อยากจะสอบถามท่านว่ายุทธศาสตร์ที่ร่างขึ้นมา สำนักงบประมาณนำยุทธศาสตร์พวกนี้ไปดำเนินการในการจัดตั้งงบประมาณให้ท่านหรือไม่ ผมเข้าใจว่าผมตรวจสอบในเอกสารงบประมาณมา ๒-๓ ปี มันมีน้อยมากเลยทำให้โครงการ ของท่านที่เขียนออกมาทั้งหมดที่ออกเป็นยุทธศาสตร์มันไม่ประสบผลสำเร็จจริง ๆ ครับ เพราะว่ายุทธศาสตร์ที่เขียนออกมา สำนักงบประมาณเองหรือรัฐบาลเองไม่ได้ใส่ใจ ในการที่จะนำไปจัดตั้งงบประมาณให้ส่วนราชการในการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ ผมเรียนท่านนะครับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ผมต้องเรียนว่าผมเคยเป็นอดีตคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้นำไปปฏิบัติเลย เพราะฉะนั้นมันขาดเงินมันก็ทำงานอะไรไม่ได้ต่อไป ทำให้ยุทธศาสตร์จริง ๆ มันออกมาไม่ได้
เรื่องที่ ๒ อยากจะลงในรายละเอียดให้ท่าน ผมขอมาที่ด้านการศึกษาก่อน แล้วกันนะครับ อยากจะเสนอแนะให้ท่านว่าด้านการศึกษาที่ท่านเขียนมาทั้งหมด เรื่องผลสัมฤทธิ์ในการที่จะทำให้เด็กอนุบาล ๓-๕ ปี ศูนย์เลี้ยงเด็กอะไรต่าง ๆ ผมมี ข้อเสนอแนะให้ท่านครับ มันต้องใช้เงินทั้งสิ้น ผมเข้าใจว่าถ้าท่านไม่มีเงินมันทำไม่สำเร็จ แน่นอน สิ่งที่เขียนออกมาทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่เขียนออกมาที่สวยหรู ท่านมาดูตรงนี้ ผมเสนอแนะให้ท่านเป็นทางออก ผมถือว่าเป็นสวรรค์ที่รัฐบาลรีบดำเนินการเถอะครับ มาตรา ๖๘ ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ เขาเขียนไว้ชัดเจนนะครับว่า ให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา ให้มีการระดมทุนจากเงินอุดหนุน ของรัฐ ค่าสัมปทาน ค่าผลกำไรที่ได้จากการดำเนินการด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยี สารสนเทศ และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กร ประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อการพัฒนาคนและสังคม ท่านทำเถอะครับ วันนี้กองทุนนี้ตั้งอยู่ที่ไหนรู้ไหมครับ ตั้งอยู่ที่ กระทรวงศึกษาธิการ ระยะเวลาวันนี้ผ่านมา ๒๐ กว่าปีไม่เคยระดมเงินพวกนี้เพื่อที่จะมาทำ แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ของท่านเลย ท่านอย่าไปพึ่งเงินงบประมาณครับวันนี้ พึ่งเงินที่จะได้ จากผลประกอบกิจการตรงนี้ในมาตรา ๖๘ ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ เดินหน้าในการพัฒนาประเทศตรงนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่ท่านเขียนไว้ทั้งหมดมันจะสามารถ เดินหน้าในการที่จะทำให้ท่านประสบผลสำเร็จในส่วนนี้ได้ เดี๋ยวในอนาคตข้างหน้าผมเรียน ท่านนะครับว่าการเรียนการสอนของเราผ่านทาง Online นักศึกษา นักเรียนขาด Tablet ใช้เงินตรงนี้ครับ ในรัฐบาลชุดก่อนเข้าใจว่าเดี๋ยวผมเอ่ยชื่อขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย อะไรต่าง ๆ พรรคเพื่อไทยต้องการที่จะทำโครงการนี้ โครงการนี้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ แต่ไม่ได้ระดมเงินในส่วนนี้เข้ามาเลย ผมฝากด้วยครับว่าให้รีบดำเนินการในมาตรา ๖๘ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในมาตรา ๖๘ ขอให้ทุกท่านกลับไปอ่านได้เลยว่า มันมีในมาตรานี้จะทำให้ท่านทำงานในส่วนนี้ได้สำเร็จ
เรื่องที่ ๒ ผมฝากนิดหนึ่งครับ เรื่องสาธารณสุข สังคมของเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผมเรียนท่านครับว่าสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ มีบุคลากรของเราหรือประชาชนคนไทย มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปมากกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ของประชากรที่มีอยู่ ดังนั้นผมอยากจะ เรียนว่าเรามาช่วยกันลดค่าบริการสาธารณสุข ในขณะเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น ทำอย่างไรรู้ไหมครับท่าน รักษาในระบบ Online รักษาในระบบของ การตรวจที่ผ่านในระบบของ 5G ที่จะทำกันได้ในขณะนี้ ผมเรียนท่านว่าในระบบสาธารณสุข ในขณะนี้ที่เขียนออกมามันไม่มีเลย ไม่มีคืออะไรรู้ไหมครับ วันนี้ติดขัดอยู่ที่กฎหมาย หมอจะตรวจรักษานี่บอกว่าต้องเห็นคนไข้จริง ปรับกฎหมายนิดเดียวครับ ตรวจรักษา ในระบบของการผ่าน Online หรือผ่าน 5G เสมือนหนึ่งจริง ขอให้ปรับกฎหมายตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคตา โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคผิวหนัง ไม่จำเป็นจะต้องไปพบหมอตรวจ ในระบบของ Online ได้หมดเสมือนหนึ่งจริง เรามีระบบ AI มีอะไรครบหมดแล้วครับในช่วงนี้ ผมเรียนท่านว่าระบบเทคโนโลยีของเรามีความพร้อม เรียนเพิ่มเติมไปอีกครับ ขอเถอะครับ รวบรวมศูนย์ข้อมูลที่เราเรียกกันว่า ศูนย์ข้อมูลคนไข้กลาง ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ ผมอยากจะเห็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ง่ายมาก เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนเดินทางไปที่โรงพยาบาลไหนที่เป็นของรัฐอยู่ สามารถที่จะรวบรวมข้อมูลว่า ผมยินดีที่จะให้เปิดเผยข้อมูลของผม ถ้ายินดีที่จะให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผมสามารถที่จะ รักษาต่อเนื่องได้ ผมไม่สบาย ผมเป็นคนเชียงใหม่ สมมุติว่าผมเป็นคนเชียงใหม่ผมเดินทาง ไปที่จังหวัดขอนแก่น ผมไม่สบาย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเพิ่งตรวจเลือดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ผมไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดใหม่ครับ สามารถที่จะรักษาอย่างต่อเนื่องได้เลย เพราะฉะนั้นทำเถอะครับ ข้อมูลศูนย์พวกนี้พัฒนา ด้านสาธารณสุขให้มันเกิดขึ้น เรามีระบบเทคโนโลยีที่ดีมากในประเทศไทยอยู่แล้ว ลงทุน นิดเดียวครับ
ขออนุญาตฝากในสิ่งสุดท้ายนะครับว่าการกระจายอำนาจของเราในวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรากระจายอำนาจที่ไม่ถูกต้อง เราเรียกกันว่ากระจายอำนาจไปให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานมาก แต่เราไม่ได้กระจายอำนาจทางด้านการเงินครับ อำนาจทางด้านการเงินในการกระจายอำนาจยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มี ความสำคัญที่สุด เรากระจายอำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเขาดำเนินการได้ กระจายอำนาจทั้งทางด้านการทำงานและกระจายอำนาจ ทั้งทางด้านการเงินให้กับเขามีอำนาจอิสระในการทำงาน ขออนุญาตนำเรียนข้อเสนอแนะ ถ้าเป็นไปได้จะทำให้แผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ท่านเขียนออกมาประสบผลสำเร็จ ในการทำงานได้ครับ ขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายฐากร ตันฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานครับ ก่อนอื่นต้องขออนุญาต ชื่นชมรายงานผลการดำเนินงานปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในครั้งนี้ ผมต้องถือว่าทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการปรับตัวเอง ก็คือจากที่เคยตรวจสอบ ในการจับผิดหน่วยงานต่าง ๆ บัดนี้ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองมาตรวจในเชิงรุก มากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญนะครับ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านนะครับว่าเงินแผ่นดิน คงประกอบด้วย ๒ ส่วน ก็คือเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เงินนอกงบประมาณครับ เงินงบประมาณนี่มันอยู่ในรายการที่สำนักงบประมาณเองหรือว่า งบประมาณกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกำลังดำเนินการตรวจ ที่ต้องมีความเข้มข้นต่าง ๆ ก็คือเงินนอกงบประมาณต่าง ๆ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะต้องให้ความสำคัญ และให้ความสนใจมาก เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่ได้ปรากฏในเอกสาร งบประมาณในการดำเนินการ ผมขออนุญาตนำเรียนท่านประธานว่าการตรวจของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน ผมเข้าใจว่าจะมีการเน้นอยู่ ๓-๔ ส่วน นะครับ
ส่วนแรก ก็คือการตรวจสอบงบการเงินที่เราเรียกกันว่า Financial Audit
ส่วนที่ ๒ ก็คือการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเราเรียกกันว่า Compliance Audit นะครับ
ส่วนที่ ๓ ก็คือการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน ก็คือ Performance Audit นะครับ ซึ่งใน ๒ ส่วนผมเรียนท่านว่าการตรวจสอบงบการเงิน อันนี้ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทางสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินเอง หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเองก็คงต้องมีการตรวจสอบงบการเงินที่เกิดขึ้นนะครับ ก็ขออนุญาตชื่นชมท่านในการที่ตรวจ เพียงแต่ว่ามีหลายสิ่งก็คือหลายองค์กรต่าง ๆ อย่าง ท่านที่ปรากฏออกมา ก็คือการตรวจสอบงบการเงินต่าง ๆ อยากจะให้เร่งรัดในหน่วยงาน ต่าง ๆ เพื่อที่จะให้เสร็จให้ทันระยะเวลา เนื่องจากว่าการตรวจสอบงบการเงินของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานอิสระต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหน่วยงานอิสระนั้น ๆ จะได้นำเสนอรายงานของ ตัวเองเข้ามาในสภาเพื่อที่จะให้คู่ขนานกันในการที่สภาจะได้ซักถาม หรือทราบคำตอบของ หน่วยงานนั้น ๆ พร้อมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ครับ ผมขออนุญาตนำเรียน ท่านประธานนะครับ
ในส่วนที่ ๒ ที่อยากจะกราบเรียน ก็คือเรื่องการตรวจสอบการปฏิบัติตาม กฎหมาย ก็คือการตรวจสอบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Compliance Audit ผมอยากจะ เรียนเน้นว่าหน่วยงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับ หลายคน กลัว สตง. มากครับ จริง ๆ ผมต้องเรียนตามตรงว่าเมื่อ สตง. เข้าไปนี่กลัวมากกว่าตำรวจ อีกครับ เพราะว่าทุกคนรู้ว่า สตง. เข้าไปถือว่ามีความผิด วันนี้ สตง. มีการปรับตัว ปรับตัวเอง ผมอยากให้มีการทำงานเชิงรุกครับ ที่ สตง. เขียนไว้นี่ เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ที่เราเรียกกันว่าการตรวจสอบเชิงป้องกันอยู่ในตรงนี้เลยครับที่ สตง. เน้น ตรวจสอบ เชิงป้องกันก่อนที่หน่วยงาน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้มีการกระทำความผิด ผมเรียนท่านประธานได้เลยว่าวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผน หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดซื้อต่าง ๆ ล่าช้า เบิกจ่าย ล่าช้าครับ กลัวระเบียบ สตง. ทั้งนั้น กลัวระเบียบของส่วนราชการทั้งนั้นครับ ไม่มีใคร อยากจะกระทำความผิด ผมเรียนท่านประธานว่าตรวจสอบเชิงป้องกัน ขออนุญาต ท่านประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนะครับ ตรวจสอบเชิงป้องกันให้องค์ความรู้เขา ให้เขามีความมั่นใจครับ การเบิกจ่ายงบประมาณ การตรวจสอบต่าง ๆ จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของแผ่นดินเดินหน้าต่อไป เป็นไปตาม เป้าหมายที่เราดำเนินการในขณะนี้ได้ เพราะว่าหลายคนก็บอกว่าการตรวจสอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีการกระทำความผิด ยิ่งถ้าเราตรวจสอบออกมาแล้ว ถ้ามีการตรวจสอบเชิงป้องกัน ได้มากเท่าไร ผลการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติจะน้อยลง ตรงนั้นครับ ที่ผมอยากจะเห็น และชื่นชมหน่วยงานของสำนักงาน สตง. เป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต ข้างหน้าจะมีการตรวจสอบเหมือนกับต่างประเทศเขา ในเชิงป้องกันในเชิงรุกเพื่อที่จะไม่ให้ หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว
เรื่องสุดท้ายท่านประธานครับ การตรวจสอบที่เราเรียกกันว่าการตรวจสอบ เชิงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน เรื่องนี้เป็นความสำคัญจริง ๆ ว่า เมื่อโครงการต่าง ๆ เขาได้ดำเนินการไปแล้วมันจะมีผลงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นอย่างไรเพื่อที่จะประเมินว่าในอนาคตข้างหน้าเขาควรจะทำ หรือไม่ทำอย่างไรบ้าง ต่อไป จะหยุดโครงการนี้ หรือไม่หยุดโครงการนี้ โครงการนี้สร้างประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลให้กับการดำเนินการของเราได้หรือไม่ อย่างไร ผมอยากจะนำเรียนทาง ท่าน สตง. ว่าท่านมีวิสัยทัศน์ที่ดีอยู่แล้ว แต่อยากจะเรียนเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่ในขณะนี้ ถูกต้องแล้ว เดินหน้าต่อไปครับ ตรวจสอบเชิงป้องกัน ตรวจสอบเชิงรุก ตรวจสอบในการเพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงาน สิ่งใดที่เป็นหัวข้อข่าว ถ้าท่านจะให้เหตุผลต่าง ๆ ในการทำงานว่า เบิกเงินถูกต้อง ใช้จ่ายถูกต้องหรือไม่ ผมว่าออกข่าวเถอะครับ หลาย ๆ เรื่องที่ปรากฏเป็น ข่าวผมขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อนะครับ จะได้ปรับตัวถูกว่าเบิกเงินถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เบิกเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ท่านออกมาชี้แจงเถอะครับว่าหน่วยงานนั้นเบิก ไม่ถูกต้อง หน่วยงานนี้เบิกไม่ถูกต้องเขาจะได้ป้องกันให้ถูกต้องได้นะครับ ขออนุญาต ท่าน สตง. ท่านประธาน สตง. ฝากไปยังท่านประธานว่าวันนี้ สตง. ได้ปรับเปลี่ยนบทบาท ของตัวเอง ขออนุญาตชื่นชม แล้วก็ขอให้ท่านตรวจสอบในลักษณะนี้ต่อไป ไม่ได้เป็นภาระ และไม่ได้สร้างความกลัวให้กับหน่วยงานส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป ขอให้คำเสนอแนะ และขอให้ท่านดำเนินการตามเป้าหมายของท่านบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ ท่านตั้งใจไว้ครับ ขอบพระคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพยิ่งครับ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ว่าผมอ่านในรายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกว่า สกพอ. ผมเรียนอย่างนี้ว่าในแผนมันดีมาก ผมอ่านแล้วชื่นชมมากเลยครับ เพียงแต่ว่าผลการปฏิบัติงานมันไม่เป็นไปตามแผน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเลย เราจะทำอย่างไรครับ พระราชบัญญัติของ EEC ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ผมเรียนท่านว่า มาถึงวันนี้ปี ๒๕๖๖ แล้ว เข้าใจว่า ๕ ปี จะ ๖ ปีแล้ว แต่ผลงานของ EEC มันไม่ได้ออกมา ที่เป็นรูปธรรมเลยครับ จะกราบเรียนท่านประธานว่าในแผนมันสวยหรูมาก ผมคิดว่า เดินอยู่บนวิมานเลย เพียงแต่ว่าผลการทำงานมันไม่ออกมาเลย แต่เราจะทำอย่างไร ผมเรียนท่านอย่างนี้ว่า ๑. เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ๓-๔ เรื่อง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินตอนนี้ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วครับ ๒. เรื่องท่าอากาศยานอู่ตะเภา ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วตอนนี้ ๓. ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ ๓ ไปถึงไหนแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ไปถึงไหนแล้วตอนนี้ อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหาว่าจะพัฒนา ตรงนี้เราต้องทำอย่างไร มันไม่มีความคืบหน้าอะไรที่เป็นรูปธรรม ขณะนี้ทุกคนรอคอย ในเรื่องพวกนี้ สิ่งที่ผมอยากจะนำเรียนต่อไปอีกว่าอำนาจหน้าที่ของ สกพอ. มันยิ่งใหญ่มาก จริง ๆ ท่านประธานครับ ผมเปิดดูในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษ ท่านประธาน ทราบไหมว่าตั้งแต่มาตรา ๔๘ ไปจนถึงมาตรา ๖๐ เป็นบทยกเว้นที่ให้อำนาจของเขตพัฒนา พื้นที่พิเศษเยอะมาก แต่ผลงานมันไม่ออกมา เราจะทำอย่างไร ผมเสนอทางออกให้ครับ ท่านเลขาธิการเองหรือคณะกรรมการนโยบายที่กำกับดูแลต้องกล้าตัดสินใจในการทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ช่วงโควิดที่เขามีปัญหา การพัฒนาสนามบิน การพัฒนาพื้นที่อู่ตะเภา การพัฒนาท่าเทียบเรือต่าง ๆ ที่มีปัญหาในช่วงโควิดต่าง ๆ สัญญาที่เซ็นไปแล้ว แต่มัน เดินหน้าไม่ได้ เราจะทำอย่างไรส่วนนี้ในการที่จะพัฒนา ตรงนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ผมอ่านในแผนของท่าน ๑๑-๑๒ เรื่อง ผมขออนุญาตว่า สิ่งที่ผมจะเน้นในวันนี้นะครับ ขออนุญาตเรียนท่านประธานว่าเราเอาโครงการที่เป็นได้จริง แล้วกันเราเรียกกันว่าอุตสาหกรรม Quick Win ก็คือเรามีโอกาสที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ ประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะให้พื้นที่ EEC ของเราดึงดูดนักลงทุนลงมาได้ ผมเรียนอย่างนี้
เรื่องที่ ๑ อุตสาหกรรมดิจิทัลเดินหน้าให้เร็ว อุตสาหกรรมดิจิทัลท่านติดขัด กฎหมายที่ตรงไหน ท่านรีบยกเว้น รีบดำเนินการ ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน ท่านอย่ามาคิดนักลงทุนจากประเทศไทยนะครับ ผมขออนุญาตเรียนท่านว่าหน้าที่ของ EEC เราดึงดูดนักลงทุนที่มาจากต่างประเทศเพื่อที่จะให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC ให้ได้ ผมเรียนท่าน ต่อไปอีกว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญที่สุดคือผมอยากเห็นท่านไปเจรจากับ Facebook YouTube มาจัดตั้งศูนย์ Data Center ในประเทศไทยได้ไหมครับ จะมีการลงทุนที่ขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศไทย ก่อนปี ๒๕๔๐ ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีแต่เลข ๒ หลัก ทั้งนั้น วันนี้ประเทศไทยผมคิดว่าในยุคนี้จะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเลข ๒ หลักได้อีก ครั้งหนึ่ง ถ้าท่านทำตามที่เรากำลังเสนอแนะว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญในโลกยุคนี้ ท่านติดต่อเถอะ ขณะนี้มันติดขัดที่อะไรรู้ไหมครับ ติดขัด ที่กฎหมายของเราเท่านั้นเอง ท่านเปิดดูมีตั้งแต่มาตรา ๔๘ ถึงมาตรา ๖๐ ของท่าน ใน พ.ร.บ. EEC ที่ยกเว้นการที่ท่านจะให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยได้แล้ว ท่านติดขัดที่กฎหมาย พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในมาตรา ๘ ที่เขียนไว้ว่า นักลงทุนต่างประเทศที่เขาไม่มาลงทุนในประเทศไทย เขาเขียนไว้ว่าอย่างไรรู้ไหมครับ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคล ผมถามหน่อยว่าอุตสาหกรรมขนาดนี้ YouTube Facebook ที่เขาใหญ่ ๆ จะมาจัดตั้งศูนย์ Data Center ในประเทศไทย เขาจะให้นักลงทุนมาลงทุน ในประเทศไทยโดยที่เขาจะให้คนไทยถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์มันเป็นไปได้ไหมครับ ท่านติดต่อ ไปอย่างไรก็ไม่มีใครที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เขาบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้จะให้คนไทย มาถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วคนต่างประเทศจะมาถือหุ้น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ มันเป็นเรื่อง ที่เป็นไปไม่ได้ อยากจะฝากเรียนท่านประธานครับว่าวันนี้เราเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร EEC มีหน้าที่เสนอในการที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีการลงทุนในส่วนนี้ ผมอยากจะฝากเรียน ท่านประธานว่าต่อไปนี้ข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเราในวันนี้ โทรศัพท์ออกไปแต่ก่อนก็คิดว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเราฝากไว้ที่สิงคโปร์ วันนี้ท่านประธานทราบไหมว่าสิงคโปร์ศูนย์ Data Center เขาก็เต็มแล้ว ไม่รู้ว่าศูนย์ Data Center ตอนนี้ไปอยู่ที่ประเทศไหน ข้อมูลของคนไทย ถึงได้รั่วไหล เอามาจัดตั้งในประเทศไทยเถอะในวันนี้นะครับ
เรื่องที่ ๒ ผมขออนุญาตท่านประธานเร็ว ๆ นะครับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเชิงสุขภาพ ขออนุญาตเรียนท่านประธานครับ อุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ จัดตั้งโรงพยาบาลที่มีความสำคัญอยากให้จัดตั้งจริง ๆ จัดตั้งในพื้นที่ EEC ได้ระดับเขตยกเว้น พิเศษ โดยเฉพาะคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญ ผมเรียนว่าจากต่างประเทศเขาจะต้องมาขอ ใบประกอบโรคศิลปะจากเมืองไทย จะต้องมาสอบใบประกอบโรคศิลปะจากเมืองไทย ไม่มี คุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาในประเทศไทยแล้วมา สอบใบประกอบโรคศิลปะ มันสอบไม่ผ่านหรอกครับ เขาเก่งในประเทศนั้นอยู่แล้ว ยกเว้น กับกระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องพวกนี้ให้สำเร็จครับ จะมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่าง ๆ ของเราที่ต้องเกิดขึ้น สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกมากครับ
เรื่องที่ ๓ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีต่าง ๆ
เรื่องที่ ๔ อุตสาหกรรมยานยนต์ วันนี้เปลี่ยนแล้วว่าเรากำลังจะใช้รถไฟฟ้า เพราะฉะนั้นสร้างบุคลากรของพวกเรารองรับการทำงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ตั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อรองรับงานเทคโนโลยีทางด้านนี้ให้ได้ ท่านประธานครับ พอดีผมมีเวลาจำกัด อยากจะฝากเรียนท่านประธานว่าสิ่งที่ผมนำเรียนไปอยากจะเห็น ประเทศไทยของเราในยุคนี้พัฒนาเป็นเลข ๒ หลักให้ได้นะครับ เราจะย้อนยุคในอดีตที่เห็น ภาพในความหวังของประเทศที่บอกว่าทุกคนก่อนปี ๒๕๔๐ ผมเรียนท่านประธานว่าทุกคน มีความหวังหมดครับ หลังจากนั้นเศรษฐกิจของเรา Drop ลง ในวันนี้ขอเถอะปี ๒๕๖๖ เราอยากเห็นภาพเศรษฐกิจเป็นเลข ๒ หลัก ความหวังของประเทศเรานี้คนรุ่นใหม่อยากจะเห็น ประเทศไทยของเรามีการพัฒนามากยิ่งขึ้นครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ผมขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานเกี่ยวกับการอภิปรายเรื่องกองทุน จัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ขออนุญาตพูดในหลักการนิดหนึ่งนะครับ ในหลักการแล้ว ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แล้วก็จะทำให้การจัดผังเมืองต่าง ๆ เดินหน้า ไปด้วยดี สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการจัดผังเมือง แล้วก็การทำที่ดินที่ไม่ได้เกิดประโยชน์จะทำให้ เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานว่าใน พ.ร.บ. การจัดรูปที่ดิน ปี ๒๕๔๗ ซึ่งในมาตรา ๓ กำหนดไว้ชัดเจนว่าการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ หมายความว่า การดำเนินการพัฒนาที่ดินหลายแปลงโดยการจัดผังรูปที่ดินใหม่ ปรับปรุง หรือจัดสรร โครงสร้างพื้นฐาน การรวมกับภาระและกระจายผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้โดยความ ร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือเอกชนกับรัฐ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในด้านคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน เพื่อเป็น การสอดคล้องกับการผังเมือง ดังนั้นผังเมืองต้องมาก่อน การที่จะจัดพื้นที่เมืองใหม่ จัดสรร ที่ดินใหม่ต้องมีการดำเนินการให้มีความสอดคล้องในการพัฒนาพื้นที่ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ กับพี่น้องประชาชนมาก เมื่อเราดูในมาตรา ๓ แล้วก็จะไปสอดคล้องกับในส่วนของมาตรา ที่เราเรียกกันว่า มาตรา ๗๕ ในการจัดตั้งกองทุน ซึ่งมาตรา ๗๕ เขียนไว้ชัดเจนนะครับว่า การจัดตั้งกองทุนมีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง เมื่อมีเงินกองทุนแล้วจะต้องมีการจัดสรร เงินกองทุนดังกล่าวในการที่จะพัฒนา เพื่อให้มีการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดนั้น เพื่อที่จะ รวบรวมที่ดินต่าง ๆ อย่างที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้วนะครับ ว่าพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ พื้นที่ที่ไม่มีทางเข้าออกต่าง ๆ จะได้รวมมาเป็นแปลงเดียวกัน เพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดให้กับชุมชนหรือจังหวัดนั้น ๆ
ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานต่อไปนะครับว่าจากรายงานที่ทางท่านอธิบดี ได้รายงานมาก็คือว่าถึงปัจจุบันปี ๒๕๖๖ ได้มีการพัฒนาหรือว่าจัดไปแล้วประมาณ ๒๐ จังหวัด ๒๐ จังหวัดนี่ถ้าผมฟังไม่ผิดนะครับ เมื่อสักครู่ที่ท่านรายงานไปจากของเรา ๗๗ จังหวัด จัดไป ๒๐ จังหวัด ซึ่ง พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แต่ทางกรมโยธาธิการ และผังเมืองได้มาเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๖ นับถึงปีนี้ก็คงเป็น ๑๐ ปีในการดำเนินการ ขออนุญาตเรียนว่าทางผมเองให้การสนับสนุนในการที่จะพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนี้มาก เพียงแต่ว่าการดำเนินการมันล่าช้ามาก ขณะนี้ถ้าเกิดเราคิดว่าได้ ๒๐ จังหวัด และเมื่อไร เราจะทำโครงการพวกนี้ให้สำเร็จไป ๗๗ จังหวัด เพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต่าง ๆ รวบรวมกันเข้ามาให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชนได้ ตรงนี้ จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจริง ๆ ต้องเรียนนะครับว่าในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน ที่ทางท่านได้นำเรียนไปเมื่อสักครู่ก็คือในมาตรา ๗๕ เขียนไว้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของ กองทุน ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นก็คือกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในกรมโยธาธิการ และผังเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินการจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ซึ่งผมก็เห็นว่าเงินที่ท่านได้รับการจัดสรรมาตามมาตรา ๗๕ ขณะนี้ต้องเรียนตรง ๆ ว่ามันน้อยนิดมาก แล้วเราจะไปพัฒนาพื้นที่ในบริเวณพวกนี้เพื่อที่จะให้จังหวัดทุกจังหวัด ต่าง ๆ ได้มีโครงการ เราเรียกกันว่าโครงการนำร่องแล้วกันนะครับ ทุกจังหวัดเพื่อที่จะให้ เกิดขึ้นให้ได้ ขอเถอะครับ เกิดขึ้นให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้เพื่อที่จะทำให้ครบทุกจังหวัด แล้วก็ จะเป็นผลงานของทางกองทุนนี้กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ถ้าเราทำได้ครบ ทุกจังหวัด และเป็นโครงการในลักษณะของโครงการนำร่องต่าง ๆ ในการที่จะดำเนินการ จะทำให้ประเทศไทยเราเองมีผังเมืองที่ดี มีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด จะทำให้พี่น้อง ประชาชนของเราสามารถที่จะใช้ที่ดินที่ในอดีตที่ผ่านมาในเมือง ในตัวเมืองต่าง ๆ ที่ใช้ไม่ได้ ก็จะทำให้มีการใช้ที่ดินต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ก็ขอฝากทางท่านประธานผ่านไปยังผู้ที่มาชี้แจง ว่าขอท่าน ถ้าเกิดมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรก็สามารถที่จะรายงานชี้แจงปัญหาอุปสรรค ในกระบวนการการจัดตั้งงบประมาณต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้กองทุนนี้พัฒนาเดินหน้า ในการที่จะพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือพื้นที่ที่ท่านจะเอาที่ดินหลาย ๆ แปลง มารวมกันพัฒนาประเทศหรือพัฒนาจังหวัดของเราให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปครับ ขอกราบ ขอบพระคุณท่านประธานมากครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตชื่นชม ทางท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วก็ท่านกรรมการ ตลอดจนทางเลขาธิการที่มาร่วมชี้แจง ในวันนี้นะครับ ต้องบอกว่าฟังรายงานของท่านที่ท่านนำเสนอเมื่อสักครู่ผมก็มีความชื่นชม ในการทำงานของท่าน แต่ที่ผมอยากจะนำเรียนเสนอทางท่านประธานผ่านไปยัง ท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วก็ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนะครับ คือผมดู ในรายงานผลการดำเนินงานก็ต้องเรียนว่าอยากจะให้ท่านดูในรายละเอียดตรงที่ ผลการดำเนินงานนิดหนึ่งนะครับ
ในประเด็นแรก ก็คือในกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ผมเข้าใจว่าคงเป็นรัฐธรรมนูญในมาตรา ๒๓๐ เพราะว่าท่านไปอ่าน ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็คงตรงกัน ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๐ ท่านเขียนบอกว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ เรื่อง เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญไปจำนวน ๑ เรื่อง ยุติการพิจารณา ๓๓ เรื่อง อยากจะให้ท่านเปิดเผยได้ไหมครับ ตรงนี้ผมพยายามเปิดดูนะครับว่า ๓๓ เรื่องที่ยุติไปนี้มันยุติในลักษณะไหน เพราะว่าเราอยากจะรู้ข้อเท็จจริงว่าในกรณีที่ยุติเรื่อง มีใครมาร้องเรียนบ้างร้องเรียนแล้วเป็นอย่างไร กระบวนการในการทำเป็นอย่างไร คืออยากจะอ่านในรายละเอียดอันนี้ก็ต้องถือว่าท่านทำงานมาดีแล้ว เพียงแต่ว่าเราอยากจะทราบ ในรายละเอียด
ประเด็นที่ ๒ ในกรณีที่กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ เข้าใจว่าในกรณีที่จะต้องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญท่านก็จะต้องนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณี ที่จะต้องขึ้นศาลปกครองก็จะต้องเสนอต่อศาลปกครองในการที่จะพิจารณาว่า กฎ คำสั่ง หรือกฎหมายต่าง ๆ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับคำสั่งของศาลปกครอง ต่าง ๆ หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ผมก็เรียนว่าเรื่องที่ได้รับร้องเรียนในปี ๒๕๖๕ มี ๔๖ เรื่อง นำไปสู่ การพิจารณาของศาลปกครอง ๓ เรื่อง ยุติไป ๔๓ เรื่อง ตรงนี้ก็อยากทราบรายละเอียด เช่นกันว่า ๔๓ เรื่องที่ยุติไปนี้มันคืออย่างไร อีก ๓ เรื่องที่นำเสนอต่อศาลปกครองไป ขณะนี้กระบวนการในการพิจารณาไปถึงไหนแล้ว ที่เสนอเรื่องไปคือเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้ก็อยากจะทราบรายละเอียดตรงนี้นะครับ
ประเด็นที่ ๓ กรณีที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ คุ้มครองไว้ยื่นคำร้องว่า การกระทำนั้นขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าเป็นมาตรา ๒๓๑ ในรัฐธรรมนูญมากกว่านะครับ ไม่อ่านใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญก็แล้วกันนะครับ เพราะว่าเป็นข้อความเดียวกัน อันนี้ท่านได้รับเรื่องร้องเรียนมา ๖๒ เรื่อง แล้วก็พิจารณาแล้ว ไม่รับที่จะยื่นต่อไปทั้งหมดเลยคือ ๖๒ เรื่อง ผมเลยคิดว่า ๖๒ เรื่องนี้มีเรื่องอะไรบ้าง เพราะว่าอยากจะทราบในรายละเอียดจริง ๆ ครับว่ามันเป็นอย่างไร ยื่นแล้วถ้าจะให้รับ จะต้องทำอย่างไร มันมีกระบวนการในการพิจารณาอย่างไรบ้างถึงไม่รับเรื่องพวกนี้เลย ๖๒ เรื่องนะครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อยากจะนำเรียนว่าทางเราเองก็อยากจะทราบเรื่องพวกนี้ จริง ๆ ครับว่ากระบวนการในการทำงานมันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ กับประชาชนในการที่จะช่วยกันผลักดันในส่วนนี้ได้อย่างไร
ในส่วนที่ ๒ ผมเข้าใจว่าในส่วนที่ ๒ นี้จะมาเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ นะครับ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทางผู้ตรวจการ แผ่นดินได้เคยยื่นเรื่องต่าง ๆ ไว้กับทางศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือที่เขียนไว้นี้ มาตรา ๒๑๓ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้มีกระบวนการในการพิจารณา หลาย ๆ เรื่อง แล้วในกรณีนี้ผมเข้าใจว่ามันขึ้นสู่กระบวนการของศาลยุติธรรมก็มีแล้ว ในขณะนี้ว่า ในกรณีอย่างนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้เสียหายหรือไม่เป็นผู้เสียหาย เราจะวินิจฉัยตรงนี้ในการที่จะนำเรื่องพวกนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร ผมเข้าใจว่า ผมพูดนัยนี้ท่านคงเข้าใจในประเด็นที่ผมกำลังพูดนะครับว่า มันมีเรื่องที่ไปฟ้องร้องคดีกัน ในขณะนี้ว่าเราจะดำเนินการในเรื่องนี้ชี้แจงอย่างไรต่อไปนะครับ
ประเด็นสุดท้าย ผมมาพูดถึงปัญหาอุปสรรคของท่านนะครับ ที่ท่านนำเรียน เสนอมาว่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ที่ท่านเสนอแนะมาท่านจะมีวิธีการแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการของท่านที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ข้อ ๑ ด้านการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เรื่องร้องเรียนละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่ สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๓ มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะดังนี้ก็คือ ๑. ปัญหาความไม่ชัดเจนและการตีความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ ๒. ปัญหาเนื้อหาของกฎหมาย ไม่ครอบคลุม คือกรณีร้องเรียนเรื่องที่ไม่เป็นสาระสำคัญ ไม่ได้บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยุติเรื่องร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวไว้ ๓. ปัญหาการกำหนดระยะเวลาอันเป็นเงื่อนไข ในการฟ้องร้องคดีตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๑ ก็ขออนุญาตนำเรียนท่านว่าตั้งแต่ หน้า ๒๐ หน้า ๒๑ หน้า ๒๒ จะได้เร็วนะครับ หน้า ๒๓ ผมอ่านมาก็คือปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพียงแต่ว่าผมอ่านแล้วผมดูยังไม่มีข้อเสนอแนะที่เป็นแนวทางที่ท่านจะต้องเขียนกลับมาว่า จะเสนอแนะให้ทางสภาเองช่วยเหลือท่านในการที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ท่านเขียนมาใน ๓ หน้า ที่ผมอ่านดูขออนุญาตท่านว่าชื่นชมการทำงานที่ผ่านมาอย่างที่ท่าน นำเรียนไป แต่ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ท่านเขียนมา ๓ หน้ากระดาษจะมีแนวทางในการ แก้ไขปรับปรุงอย่างไร เราจะมีบทบาทในการที่จะช่วยเหลือสนับสนุนท่านในการทำงาน ในเรื่องนี้ได้อย่างไร ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นต้องขออนุญาตท่านประธานชื่นชมทางศาลปกครองเป็นอย่างยิ่ง ผมได้อ่านรายงาน ประจำปีของท่านก็รู้สึกดีใจว่าการทำงานของท่านเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนได้ในหลาย ๆ เรื่อง เพราะว่ากระบวนการในการพิจารณาของศาลปกครองก็แตกต่างจากกระบวนการ พิจารณาของศาลยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่คำถามที่ผมอยากจะนำเรียนสั้น ๆ อยากจะถามทาง ศาลปกครองในวันนี้ว่าคดีที่ฟ้องที่ศาลปกครอง แล้วก็คดีที่ฟ้องที่ศาลยุติธรรมในกรณีที่เป็น คดีแพ่ง ผมเข้าใจว่ามีคณะกรรมการข้อยุติระหว่างศาลปกครอง แล้วก็ศาลยุติธรรมในการที่จะ พิจารณาว่าจะเป็นศาลไหนในการที่จะรับพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ น่าจะเข้าใจอย่างนี้นะครับ แต่ประเด็นต่อไปคือที่ผมข้องใจในขณะนี้ก็คือประเด็นในกรณีที่หลายหน่วยงานในขณะนี้ ก็คือฟ้องต่อศาลปกครองแล้วอีกคดีหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตกลาง กรณีอย่างนี้ ท่านพิจารณาคดีอย่างไร ศาลอาญาทุจริตกลางก็ยังเดินหน้าในการพิจารณาคดีเรื่องดังกล่าว นี้ต่อไป ในขณะเดียวกันศาลปกครองก็ยังเดินหน้าในการพิจารณาคดีดังกล่าว ผลการตัดสิน ออกมาถ้าเกิดว่าแตกต่างกันเมื่อไรผมเรียนท่านว่าคดีหนึ่งขาของจำเลยอยู่ในคุก อีกคดีหนึ่ง เป็นคดีรับผิดชอบทางด้านปกครอง ผมไม่ทราบว่าคดีในกรณีลักษณะอย่างนี้มันมีข้อยุติ ร่วมกันไหมว่าจะทำอย่างไร มันมีหลายกรณีในขณะนี้ ผมเรียนอย่างนี้ว่ากรณีเกิดขึ้นอยากให้ ท่านดูว่ากรณีของสำนักงาน กสทช. ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ฟ้องที่ศาลปกครองท่านก็มีหลายคดี ในขณะเดียวกันในกลุ่มเดียวกันยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตกลางอีกครับ ผมก็ยังไม่รู้ว่า คดีรับไว้ที่ศาลปกครอง และคดีรับไว้ที่ศาลอาญาทุจริตกลาง หลายคดีที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ คดีไหนที่จะถูกการพักเพื่อที่จะรอศาลใดศาลหนึ่งพิจารณาก่อน อันนี้เป็นคำถาม ที่ผมอยากจะทราบจริง ๆ ว่าเราจะทำอย่างไรในกรณีอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นคดีแพ่งกับคดี ของศาลปกครองผมเข้าใจว่ามีคณะกรรมการในการทำงานหาข้อยุติร่วมกันในเรื่องนี้ ฝากท่านถามข้อมูลในเรื่องนี้จริง ๆ ครับ ก็ขอกราบขอบพระคุณท่านว่าสิ่งที่ท่านทำมาในส่วน ที่เกี่ยวกับผลงานต่าง ๆ ของท่านไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดี Hopewell ต่าง ๆ ที่ท่านได้ดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าวทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติได้กลับคืนมาต่าง ๆ ในขณะนี้ก็ต้องขอ ชื่นชมในการทำงานของท่าน แต่ส่วนที่ผมขออนุญาตถามท่านว่าเราจะทำในเรื่องพวกนี้ อย่างไรว่าคดีต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นแล้วไปคาบเกี่ยวกับคดีอาญาที่ยื่นฟ้องอยู่เราจะดำเนินการ ในเรื่องนี้อย่างไร จะหาข้อยุติอย่างไรว่าจะพักคดีหนึ่งไว้ หรือจะชะลออีกคดีหนึ่งไว้ รอเพื่อที่จะฟังการพิจารณาของคดีดังกล่าวนั้นต่อไปหรือไม่ ก็ขออนุญาตฝากท่านประธาน ไปถึงทางศาลปกครอง ขอกราบขอบพระคุณมากครับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต นิดหนึ่งครับ
ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย เมื่อสักครู่ผมจะไปลงชื่อพอดีปิดการลงรายชื่อแล้ว ผมขออนุญาต ท่านประธานว่าผมประชุมประธานคณะกรรมาธิการสามัญอยู่ ผมอยากอภิปรายเรื่องนี้มาก อยากจะขออนุญาตท่านประธานครับ เพราะว่าคนที่ไปประชุมประธานคณะกรรมาธิการ สามัญ ๓๕ คณะตอนนี้มาลงชื่อไม่ทัน ขออนุญาตท่านประธานได้ไหมครับ
ท่านประธานครับ รู้สึกท่านประธาน จะข้ามชื่อผมไปนะครับ ประกาศชื่อผม
ได้ครับ
ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณ ท่านประธานมากที่ไม่ลืมชื่อผมครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย วันนี้ผมต้องขออนุญาตอภิปรายสนับสนุนในการเสนอ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคครัวเรือน ท่านประธานครับ ผมต้องเรียนอย่างนี้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะประสบผลสำเร็จ ผมคิดว่าเราจะต้องแก้ที่ต้นน้ำ ต้นน้ำของเราก็คือเราจะต้องแก้ที่ ๑. แก้หนี้ ต้องเติมทุนเข้าไปด้วย อย่าแก้หนี้อย่างเดียว เราต้องมีการเติมทุนเข้าไปด้วย โดยเบื้องต้นผมเข้าใจว่า ในขณะนี้จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา หนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศไทยในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นเกินกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วครับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และเกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเดิมจาก ร้อยละ ๘๐ ต่อ GDP มาอยู่ที่ร้อยละ ๘๖.๘ ต่อ GDP ในไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๖๕ หากรัฐบาลเอง หรือทางรัฐสภาเราไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการที่จะแก้ไข ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ก็คงจะเป็นปัญหาในการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะยาวของประเทศไทยได้ต่อไปครับ ผมขออนุญาตว่าจะอภิปรายเป็น ๓ ส่วน การที่ จะแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน
ในส่วนแรก เรื่องภาคธุรกิจครับ ภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ขณะนี้ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินในขณะนี้ ก็คือภาคธุรกิจ SMEs ที่ประสบ ปัญหาเกี่ยวกับปัญหาของเรื่องโควิดที่ผ่านมาท่านประธานครับ ขณะนี้ภาค SMEs ติดหนี้สิน ในระบบของเครดิตบูโรเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร แก้ไขปัญหาให้เขาเพื่อที่จะให้ภาค SMEs เหล่านี้กลับมาพลิกฟื้นในการที่จะทำงานเพื่อที่ให้ เขากลับมาทำงานในส่วนนี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ได้ต่อไป เราพักหนี้ไม่พอเราจะต้องพักดอกเบี้ยด้วยครับ เป็นเรื่องที่สำคัญหลายคนบอกว่า พักหนี้ ๆ พักหนี้แต่ดอกเบี้ยยังเดิน อย่าเดินนะครับดอกเบี้ย พักหนี้แล้วต้องพักดอกเบี้ยด้วย ต้องให้พักดอกเบี้ย พักหนี้เพื่อที่จะให้ SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อยลงไปถึงภาค พี่น้องประชาชนสามารถที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจุลภาค นำไปสู่เศรษฐกิจ มหภาคของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ครับ
ในส่วนที่ ๒ ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ท่านประธาน ทราบไหมว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ อายุ ๒๕-๓๕ ปี ติดหนี้ในระบบของเครดิตบูโร ในช่วงวิกฤติโควิดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นล้านล้านคน ท่านประธานทราบไหมว่า ส่งกู้หนี้สร้างบ้านขึ้นมาก็ไม่สามารถที่จะผ่อนชำระกับทางธนาคารได้ ซื้อรถก็ไม่สามารถ ที่จะผ่อนกับทางบริษัท Finance ได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือติดในระบบของเครดิตบูโร คนรุ่นใหม่ เหล่านี้จะเดินหน้าในการที่เขาจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อเขาติดเครดิตบูโรในขณะนี้ ท่านประธานครับผมว่า เป็นเรื่องที่สำคัญที่อยากจะฝากไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะมีการศึกษาแก้ไขปัญหา หนี้สินของครัวเรือน ในขณะนี้ว่าเราคงต้องมีการศึกษาว่าจะพักหนี้ในส่วนของประชาชน คนรุ่นใหม่ในขณะนี้ที่กำลังประสบปัญหาว่าเขาจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการที่จะ พัฒนาประเทศ แต่ติดหนี้ในระบบของเครดิตบูโรเป็นจำนวนมาก หลายคนไม่คิดว่าโควิด จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ จนมาถึงปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ที่ผ่านมา หลายคนก็ไปสร้างหนี้กันไว้ ปัจจุบันนี้ติดในระบบของเครดิตบูโรกันเต็มไปหมดครับ เราต้องช่วยกันในการที่จะแก้ไข ปัญหาให้คนเหล่านี้กลับมาทำงานเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ให้เดินหน้าต่อไปได้ครับ
เรื่องสุดท้าย ก็คือหนี้นอกระบบ ท่านประธานครับในขณะนี้หนี้นอกระบบ หลายคนพูดกันว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนี้ได้อย่างไร ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นร้อยละ ๒๐ บาทต่อเดือน ร้อยละ ๑๐ บาทต่อเดือนที่เกิดขึ้น ท่านประธานครับ ผมในนามของพรรคไทยสร้างไทย ขอเสนอว่าขอให้จัดตั้งกองทุนเครดิตประชาชน โดยให้ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนไปกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่ ๕,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑ บาทต่อเดือน เพื่อให้พี่น้องประชาชน สามารถนำเงินดังกล่าวนำไปลงทุนและประกอบกิจการของตนเองต่อไปได้ ถ้าเราสามารถ ที่จะนำเงินดังกล่าวไปขอกู้เงินสร้างเป็นกองทุนเครดิตประชาชนให้เกิดขึ้นได้จะทำให้ พี่น้องประชาชนลืมตาอ้าปากในการที่เขาจะไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบร้อยละ ๒๐ บาทต่อเดือน หรือร้อยละ ๑๐ บาทต่อเดือน แต่ถ้ารัฐบาลจัดตั้งกองทุนเครดิตประชาชนขึ้นสามารถที่จะให้ พี่น้องประชาชนกู้เงินร้อยละ ๑ บาทต่อเดือน โดยมีกรอบวงเงินตั้งแต่ ๕,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนถ้าเกิดว่าสามารถที่จะกู้เงินจากกองทุนเครดิตประชาชนได้ นำบัตรประชาชนไปใบเดียวสามารถที่จะกู้กับสถาบันการเงินได้ รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ผมคิดว่าจะสามารถแก้ไขหนี้นอกระบบของพี่น้องประชาชนได้ครับ กราบขอบพระคุณ ท่านประธานมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมทางสถาบันพระปกเกล้าเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้จัดทำรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ออกมาได้อย่างดีนะครับ ผมก็ถือว่าผมเป็นศิษย์เก่า ของสถาบันพระปกเกล้า ผมเป็นมานานแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มาแล้ว แต่เพียงแต่ว่า ต้องชื่นชมการทำงานของสถาบันพระปกเกล้าที่ผ่านมาว่าได้มีการพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครองไทย หลักสูตรกฎหมายมหาชน หรือหลักสูตรทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น วันนี้นอกจากผมชื่นชมแล้วผมขออนุญาต แนะนำเพิ่มเติมหลักสูตรต่าง ๆ ที่อยากจะพัฒนาประเทศชาติของเราให้มีความเข้มแข็ง มากยิ่งขึ้นนะครับ เรียนทางท่านประธานผ่านไปทางท่านเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นะครับว่าหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณต่าง ๆ ในการที่เราจะทำเราจะพัฒนาในเรื่องนี้ ให้เกิดขึ้นได้อย่างไรครับท่านประธาน หลักสูตรเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เรื่องการวิเคราะห์งบประมาณ การจัดตั้งงบประมาณ การติดตามงบประมาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เดี๋ยวงบประมาณปี ๒๕๖๗ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วันนี้ผมอยากจะเห็นทางท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทุกท่านเข้าใจหลักสูตร ในการที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้งงบประมาณ การวิเคราะห์งบประมาณ การติดตาม งบประมาณต่าง ๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติของเราให้ได้อย่างไร ตรงนี้ล่ะครับ ผมเห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องพัฒนาในเรื่องนี้ในการที่จะติดตาม เรื่องการจัดทำงบประมาณต่าง ๆ ของประเทศชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ต่อไปนะครับ
เรื่องที่ ๒ ท่านประธานครับที่อยากจะฝากถามทางสถาบันพระปกเกล้า ก็เกี่ยวกับเรื่องเครือข่ายการขับเคลื่อนการเมืองของพลเมืองที่เข้มแข็งสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ผมเรียนอย่างนี้ครับท่านประธาน พออ่านหลักสูตรนี้แล้วมันเป็น การที่เราจะทำให้แนวความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นผมให้มันอยู่ใกล้กันได้ไหมตอนนี้ ท่านทำอย่างไรครับ หรือว่าอยู่ใกล้กับทางท่านประธาน ใกล้กับทางท่านเลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้านั่นล่ะครับ คนรุ่นใหม่ในขณะนี้กับเราความคิดต่าง ๆ มันอาจจะแตกต่างกัน แต่เราจะทำอย่างไรให้ตรงนี้ให้มาใกล้กัน Tune กันให้ได้ ผมคุยกับลูกวันนี้บางครั้งเราก็ ยังมีความคิดที่แตกต่างกัน ไกลกัน เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาในยุคของสมัยที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามเราก็พยายามที่จะปรับปรุงตัวเราให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันให้เกิดขึ้น ให้ได้ จะทำอย่างไรครับหลักสูตรของท่านตรงนี้ว่าเราจะทำให้คนแต่ละรุ่นให้เข้ามาใกล้เคียงกัน ให้ได้ วันนี้สังคมที่มีความคิดที่แตกต่างกัน ไม่มีอะไรที่จะปรับปรุงไม่ได้ สังคมที่แตกต่างกัน ในวันนี้ผมคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลง ของเราควรเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คนทุกรุ่นเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหม่ รุ่นเก่า รุ่นสมัยไหน ทุกคนมีความคิดที่มีวิวัฒนาการ มีความทันสมัยที่เกิดขึ้น อยากจะฝาก เรียนท่านเลขาธิการ ท่านประธานฝากไปถึงท่านเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้านะครับว่า หลักสูตรเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการที่เราจะวิเคราะห์งบประมาณ จัดตั้งงบประมาณ หลักสูตรของคนรุ่นใหม่ในการที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเรา คนทุกรุ่น เข้ามาใกล้เคียงกันได้อย่างไร ใกล้ชิดกันได้อย่างไร ให้พูดจารู้เรื่องกัน เข้าใจตรงกันในการ ที่จะทำงานร่วมกัน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของท่าน ขออนุญาตฝากท่านประธานไปถึงท่านเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้าด้วยนะครับ ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตท่านประธานว่า ทางท่านเลขาธิการยังไม่ได้ตอบคำถามท่านประธานครับ เมื่อสักครู่ผมเห็นด้วยกับ ท่านประธานอย่างยิ่งนะครับว่าที่จะให้ สส. เรา ๔ ปี ๕๐๐ คนไปเรียนให้ได้ ยังไม่ได้ตอบ คำถามนี้ ขออนุญาตท่านเลขาธิการตอบนิดหนึ่งครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาต สอบถามในประเด็นนิดหนึ่งครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ไทยสร้างไทยนะครับ ขออนุญาต เรียนถามว่าที่โอนออก โอนเข้า ของกองทัพบก กองทัพเรือ ที่เกี่ยวกับเรื่องบุคลากรต่าง ๆ คำถามของผมคือ ก่อนจัดตั้งงบประมาณปี ๒๕๖๖ ที่มีอัตรากำลังพลพวกนี้อยู่ที่เรา ปรับลดลง ตอนจัดตั้งปี ๒๕๖๖ พิจารณาไม่ได้ดีหรือครับถึงได้โอนออกเยอะมาก มันถึงได้ โอนเงินพวกนี้ออกเยอะมากครับ โอนออกจากกองทัพบก กองทัพเรือ ความหมายของผมคือ แล้วโอนออกไปอยู่หน่วยไหนตรงนี้ครับ ท่านประธานครับ สอบถามแค่นี้ครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย คนกาฬสินธุ์ครับ ผมขออนุญาตปรึกษาหารือท่านประธานเกี่ยวกับข้อห่วงใยของสภาวะ เศรษฐกิจของประเทศครับ ขึ้นสไลด์ด้วยครับ
จากคำแถลงของเลขาธิการสภา พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของ ประเทศไทยในไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๖๖ พบว่าประเทศไทยเป็นหนี้ครัวเรือนอยู่ ๑๖.๒ ล้านล้านบาทของ GDP ครับ เฉลี่ยคนไทยในวันนี้เป็นหนี้ครัวเรือนอยู่เฉลี่ยคนละ ประมาณ ๒๔๕,๐๐๐ บาทต่อคน ครอบครัวผมมีอยู่ ๕ คน ปัจจุบันนี้เป็นหนี้ครัวเรือนอยู่ ๑,๒๔๕,๐๐๐ บาท สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือน อย่างรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่ ๒ ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเสนอ ก็คือรายได้ของประชาชนลดลง ส่วนที่ ๓ ก็คือค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ขอสไลด์ต่อไปด้วยครับ ส่วนที่ ๔ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเราเรียกกันว่าหนี้เน่าในขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น ๑.๕๒ แสนล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มวัยทำงาน ก็คือกลุ่มใน ๒๕-๔๐ ปี แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน สินเชื่อที่อยู่อาศัย หนี้ส่วนบุคคล หนี้ผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิต คนกลุ่มนี้ ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ ปัจจุบันนี้ถูก Blacklist ของเครดิตบูโร ไม่สามารถทำ ธุรกรรมที่เป็นทางการที่จะกู้เงินกับธนาคารได้ ในอนาคตข้างหน้าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็น บุคคลล้มละลายของประเทศ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมที่เราเรียกกันว่า รวยกระจุก จนกระจาย มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก ความเหลื่อมล้ำในสังคมนับวันที่จะแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น จนไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงในวันไหน ฝากท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นักบริหารมืออาชีพและนักเศรษฐศาสตร์ ฝากท่านดูแลทำให้ประเทศไทยเป็นรวยกระจาย จนกระจุก ให้สำเร็จในรัฐบาลของท่านด้วยครับ ฝากขอบพระคุณมากครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพยิ่งครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาต นำเรียนท่านประธาน วันนี้เป็นรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. นะครับ ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตว่าทางท่านประธาน กสทช. เองได้มาชี้แจง ผมเรียนอย่างนี้ว่ารายงานประจำปี ตามมาตรา ๗๖ เป็นรายงานของประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. อยากจะฝากเรียนว่าในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ คงต้องให้ทั้งประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช. มาชี้แจง เพราะว่าในบทบัญญัติของมาตรา ๗๖ ขออนุญาต นำเรียนท่านประธานครับ เขาไม่ได้บอกว่ารายงานนี้เป็นรายงานเพื่อทราบ ไม่ได้เหมือนกับ องค์กรอิสระอื่นเลยครับ องค์กรอิสระอื่นเขาเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นรายงานผลการปฏิบัติงาน เพื่อทราบ แต่รายงานตามมาตรา ๗๖ ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ได้เขียนไว้ ขออนุญาตเรียนท่านประธานครับว่านอกจากนั้นในรายงานเขากำหนดไว้ ๘ ข้อที่สำคัญ ๘ ข้อที่สำคัญหมายถึงว่า ๑. ผลงานของ กสทช. ในปีที่ล่วงมาแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับ แผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ ๒. แผนงาน โครงการ และแผนงบประมาณสำหรับ ปีถัดไป อยากจะฝากเรียนท่านประธานไปถึงท่านประธาน กสทช. และท่านเลขาธิการ หรือผู้มาชี้แจงว่าอยากจะให้ทางท่านประธานรีบบรรจุรายงานประจำปี ๒๕๖๖ อีกครับ เพราะว่าจะมีแผนการทำงานของปี ๒๕๖๗ ในงบประมาณนั้น ซึ่งเราจะมาดูกันได้ อย่างชัดเจนว่ามีงบประมาณอะไรบ้างในการที่จะดำเนินการ ในการที่เราจะอภิปราย วันนี้ เราอภิปรายของปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อยู่ ซึ่งมันอาจจะล้าสมัยเกินไป ก็ขออนุญาตฝากเรียน ท่านประธานตรงนี้นะครับ
คราวนี้อยากจะฝากเรียน ท่านประธานตรงประเด็นนิดหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ท่านประธานครับ ผมอยากจะฝากเรียนอย่างนี้ว่าการจัดระเบียบสายสื่อสารมี ๒ อย่างนะครับ ๑. ก็คือเรานำสายสื่อสารลงดิน ๒. ก็คือเป็นการจัดระเบียบสายสื่อสาร ก็คือนำเอาสายตาย ที่ลอยอยู่บนอากาศออก ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะฝากเรียนท่านประธานไปถึงผู้ที่มาชี้แจง ทั้งหมดว่า ๑. ก็คืออย่าไปโทษ กสทช. ที่เดียว มันยาก เพราะฉะนั้นถ้าในกรุงเทพมหานคร ท่านประธานครับ เจ้าของพื้นที่คือกรุงเทพมหานคร กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วที่สำคัญก็คือการไฟฟ้านครหลวง ๕ หน่วยงานจะต้องประสาน ความร่วมมือร่วมกันในการที่จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสาร วันนี้ถ้าท่านอยากจะเห็น กรุงเทพมหานครสามารถที่จะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็ทำทัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำสายสื่อสารลงดินนะครับ ผมเรียนท่านประธานว่า นำสายสื่อสารลงดินอย่างที่ทุกคนคาดการณ์กันจะทำให้อัตราค่าบริการของพี่น้องประชาชน เพิ่มขึ้นอีกเป็น ๗-๘ เท่าของการให้บริการอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าต้นทุนของการนำ สายสื่อสารลงดินจะต้องมีการสร้างท่อร้อยสายเพิ่มเติมอีก จะต้องมีการลงทุนเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทหรือ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องเพิ่ม อัตราค่าบริการกับพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นข้อห่วงใยของผมในขณะที่ ผมเคยดำรงตำแหน่งอดีตเลขาธิการ กสทช. ในวันนี้แค่จัดระเบียบสายสื่อสาร ในกรุงเทพมหานครทั้งหมดให้แล้วเสร็จแล้วกัน ผมมีท่อร้อยสายบนอากาศที่อยากจะโชว์ ท่านประธานครับว่าท่อร้อยสายบนอากาศที่เราอยากจะทำ ท่านประธานเห็นนะครับว่า เมื่อเรานำสายตายที่เราเห็นแขวนอยู่บนอากาศที่อยู่บนเสาไฟฟ้า เราคิดว่ามีสายตาย อยู่ประมาณสัก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ทำงานร่วมกัน ๕ หน่วยงานจัดระเบียบสาย นำสายตาย ไม่ว่าจะเป็นสายสื่อสาร สาย Cable TV ในอดีตที่ผ่านมา สายกิจการโทรคมนาคมในอดีต ท่านประธานอาจจะเกิดในยุคของ Packlink Phone Link ต่าง ๆ ที่ยังแขวนอยู่นำลงมา แล้วก็เอาท่อร้อยสายอย่างที่ผมโชว์ร้อยเข้าไป ร้อยเข้าไปเสร็จเรียบร้อยจัดระเบียบให้ดี ติด RFID ไว้ แจ้งไปที่สำนักงานเขต แจ้งไปที่สำนักงาน กสทช. ถ้าผู้ประกอบกิจการ โทรคมนาคมจะมีการเปิดท่อนี้มันจะมีเสียงดัง จะต้องไปขออนุญาต ถ้าขโมยเปิดต่อไป ก็คือจะมีเสียงดังเกิดขึ้น RFID จะเตือนสำนักงานเขต เตือน กสทช. ว่ามีผู้ประกอบกิจการ โทรคมนาคมไปเปิดท่อหรือไปร้อยสายขึ้นมา ถ้าเห็นสายที่มาร้อยทีหลังความหมายของผม ก็คือเป็นสายที่มาติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ไม่เกิน ๖ เดือนหรือ ๗ เดือนทั้งกรุงเทพมหานครขอให้ได้รับความร่วมมือในการทำงาน ทำทุกวันอาทิตย์แล้วกัน แจ้งประชาชนทุกคนว่าทุกวันอาทิตย์ทางสำนักงาน กสทช. เอง กรุงเทพมหานครเอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และการไฟฟ้านครหลวงจะมีการปิดถนนในการที่จะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร ทุกเส้นทาง ๒,๔๐๐ กว่ากิโลเมตรในกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดให้เสร็จ ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไรที่เราจะร่วมมือกันทำงานในเรื่องนี้ จัดแล้วทำเรื่องนี้ให้ดี ใช้เงินงบประมาณไม่เยอะ เพราะฉะนั้น ๕๐๐-๖๐๐ ล้านบาททำไปเถอะครับ เพื่อให้แล้วเสร็จ ในการที่จะจัดระเบียบนี้ แต่ถ้าในอนาคตข้างหน้าเราจะมีการนำสายสื่อสารลงดินที่จะมี การลงทุนต่าง ๆ การสร้างถนนต่อไปในอนาคตข้างหน้าค่อยมีการใช้งบประมาณของแผ่นดิน ทำท่อร้อยสายใต้ดิน อยู่ในโครงการที่มีการก่อสร้างถนนใหม่ ไม่ใช่ว่ามาขุดทีหลังเกิดปัญหา กับพี่น้องประชาชนในการที่สัญจรไปมาต่าง ๆ ด้วย ตรงนี้อยากจะฝากเรียนท่านประธาน ไปถึงผู้ชี้แจงว่าขอให้ดำเนินการ เป็นกำลังใจให้ครับ ในฐานะที่ผมก็เคยเป็นอดีตเลขาธิการ กสทช. เป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการที่จะมาชี้แจงในเรื่องพวกนี้ ขอให้ท่านทำ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการที่จะเดินหน้าในส่วนนี้ต่อไป ขออนุญาตท่านประธาน กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ผมขออนุญาตหารือ ท่านประธานปัญหาใหญ่ ๓ เรื่องที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและส่งผลกระทบ ต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ เพื่อเสนอให้รัฐบาลรีบหามาตรการรองรับ ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางดังนี้
เรื่องที่ ๑ สถานการณ์สงคราม ระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งยังคงยืดเยื้อยาวนานต่อไปนับถึงวันนี้ ๕๗๐ วันเต็ม ๆ ผลกระทบ ของสงครามกระเทือนไปทั่วโลก ราคาน้ำมัน ราคาพลังงานพุ่งกระฉูด การคมนาคมขนส่ง สภาวะชะงักงัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามมา
เรื่องที่ ๒ สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสซ้ำเติมให้ สถานการณ์โลก ซึ่งเพิ่มความตึงเครียดอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ไม่รู้สงคราม จะจบลงเมื่อไร และสงครามจะขยายวงเพิ่มเติมอีกเมื่อไร อย่างไร แม้ประเทศไทยจะวางตัว เป็นกลาง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากแรงงานที่ไปทำงานประเทศอิสราเอลกว่า ๓๐,๐๐๐ คน แรงงานคนไทยโดนลูกหลงจากพิษสงครามเสียชีวิตไปแล้ว ๓๐ คน มากเป็นอันดับ ๒ รองจากสหรัฐอเมริกา ถูกจับเป็นตัวประกัน ๑๙ คน และบาดเจ็บ ๑๖ คน รัฐบาลไทย ต้องรีบจัดหาเครื่องบินลำเลียงรับแรงงานไทยอีก ๘,๔๐๐ คนเพื่อกลับไทยโดยเร็วที่สุด พิษของสงครามอิสราเอลกับฮามาสยิ่งฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของโลกซึ่งเดิมก็ถดถอยหนักอยู่แล้ว ยิ่งถดถอยลงกว่าเดิมอีก ราคาพลังงานเกิดภาวะผันผวน จนมีนักวิเคราะห์ประเมินว่า ถ้าอิสราเอลกับฮามาสถล่มกันไม่หยุดและบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ตะวันออกราคาน้ำมันในในตลาดโลกอาจจะพุ่งแตะถึง ๑๕๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขนาดน้ำมันดิบโลกในขณะนี้เฉลี่ย ๘๘ เหรียญต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบขายปลีกในบ้านเรา ยังแพงขนาดนี้ ถ้าราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูดถึง ๑๕๐ เหรียญสหรัฐจริง ราคาขายปลีกน้ำมัน ในประเทศไทยจะแพงขึ้นอีกเกือบ ๒ เท่าตัวในราคาปัจจุบัน แล้วประชาชนจะอยู่กันอย่างไร ต่อไปครับ เมื่อราคาน้ำมันแพง ข้าวของทุกอย่างก็ต้องแพงเป็นเงาตามตัวมา เพราะน้ำมัน คือทุนการผลิตของสินค้าที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน ตลาดหุ้นไทยที่ดิ่งเหวอย่างหนัก ดัชนีต่ำกว่า ๑,๔๐๐ จุด เงินทุนไหลออก มูลค่าที่หายไปในตลาดกว่า ๑.๗ ล้านล้านบาท ในระยะเวลา ๔๐ วันเศษ ค่าเงินบาทอ่อนตัว ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนขยับสูงขึ้นถึง ๑๖ ล้านล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ อัตราดอกเบี้ยแพงที่สุด ในรอบ ๑๐ ปี สภาวะสงครามที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณบ่งชี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ประชาชนมีรายได้ต่ำ หนี้กระจาย รวยกระจุก ฝากท่านประธานกราบเรียนถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมหามาตรการรองรับปัญหาใหญ่ ๆ ๓ เรื่องดังกล่าว เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาล ที่มาจากประชาธิปไตยจึงเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนที่ฝากไว้กับรัฐบาลในการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ครับ ฝากเพิ่มเติมอีกเรื่อง ท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ผมขออนุญาต นำเรียนท่านประธานว่าในญัตติเรื่องนี้พรรคไทยสร้างไทยขอยืนยันว่าเราไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวด ๑ และหมวด ๒ เรียนยืนยันว่าไม่มีการปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด ๑ และหมวด ๒ ผมขออนุญาตท่านประธานว่าเราต้องดึงทุกท่านกลับมาสู่โลกของความเป็นจริง วันนี้ได้ไหมครับ โลกของความเป็นจริงก็คือรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตามที่มาจากการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ผมเรียนท่านประธานว่าเขาต้องเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจ อยู่แล้ว ตรงนี้ผมเข้าใจว่าในวันนี้ทุกท่านเข้าใจตรงกันว่าเราจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คราวนี้อยากจะกราบเรียนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรานี้ถ้าเราดึงกลับมาสู่โลกของ ความเป็นจริงของเรา ก็คือในมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เขียนไว้ ชัดเจนว่ากระบวนการในการที่เราจะปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะต้องเดินตาม กระบวนการใด ในมาตรา ๒๕๖ เขียนไว้ชัดเจนว่าเราจะต้องทำ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ จนไปถึง ใน (๙) ผมไม่อยากอ่าน ให้ทุกคนอ่านเองในรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ ตรงนี้ ซึ่งตรงนี้ อยากจะฝากเรียนว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่าถ้าเกิดว่า เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติ แต่ถ้าเรามีการแก้ไขปรับปรุง รัฐธรรมนูญในมาตรา ๒๕๖ ในขั้นตอนเริ่มต้นยังไม่ต้องทำประชามติแต่อย่างใด เนื่องจากว่า เป็นการปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่เมื่อไรจะต้องมีการทำประชามติก่อน คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา วันนี้เราต้องเดินหน้าร่วมกันในการที่จะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่หมวด ๓ ไปจนทั้งหมด เพื่อที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยยกเว้นหมวด ๑ และหมวด ๒ ไว้ ผมขอนำเรียนท่านประธานว่าในปี ๒๕๓๙ เราได้เคยมีการทำกระบวนการ ยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการจัดตั้ง สสร. ผ่านพี่น้องประชาชนที่มีการยกร่าง รัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้ามาสู่รัฐสภา กราบเรียนท่านประธานครับ เราได้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็คือรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ซึ่งถือว่า เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดที่ประชาชน ทุกคน หรือรัฐสภาของเราแห่งนี้ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นคือรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ที่ยกร่างผ่าน สสร. แล้วก็นำมาสู่การพิจารณาของรัฐสภา เราจะทำอย่างไร เราดู Model ของปี ๒๕๓๙ เดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่ายกร่างใหม่ เลยครับ เพราะว่าถ้ายกร่างใหม่เราอาจจะต้องทำประชามติถึง ๓ ครั้ง ถ้าทำประชามติถึง ๓ ครั้ง เราจะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปเป็นอย่างมาก ๓ ครั้ง ครั้งหนึ่งอาจจะต้องใช้เงิน ๕,๐๐๐ ล้านบาท ถ้า ๓ ครั้ง อาจจะเป็น ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ถ้าเราเดินในการแก้ไข รัฐธรรมนูญโดยยกเว้นหมวด ๑ และหมวด ๒ ไว้ ก็คือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๕๖ ผมขออนุญาตท่านประธานว่าถ้าเราเดินตามนี้ ปรับปรุงแก้ไข ในกระบวนการทั้งหมด ซึ่งก็คงจะไปคาบเกี่ยวถึงเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๗ อย่างที่ ท่านสมาชิกหลายท่านได้อภิปรายกันว่าพฤษภาคม ปี ๒๕๖๗ สว. ชุดปัจจุบันก็จะครบ วาระแล้ว ก็จะมีการสรรหา สว. ชุดใหม่ในการที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ผมคิดว่าวันนั้น ฟ้าเปิดแล้วครับท่านประธาน หลังจากนั้นรัฐสภาของเราจะมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรา ๒๕๖ ที่ต้องเดินตามกระบวนการนี้ ผมคิดว่าวันนั้นสภาผู้แทนราษฎร แห่งนี้และรัฐสภาที่มีวุฒิสภาชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น ฟ้าเปิดที่รัฐสภาแห่งนี้ของเราแล้ว ผมคิดว่า ทุกคนอาจจะเห็นชอบร่วมกันว่ามีความเห็นตรงกันว่าเราต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ มีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยสร้างไทย วันนี้ ขออนุญาตหารือท่านประธาน ๓ เรื่องครับ
เรื่องแรก เป็นความเดือดร้อนของส่วนราชการ ก็คือการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามส่วนราชการต่าง ๆ อยากจะขอร้องให้ทางสำนักงบประมาณปรับเปลี่ยนหมวดรายจ่าย ของงบประมาณค่าอินเทอร์เน็ตให้เป็นค่าสาธารณูปโภค ให้ถือว่าค่าอินเทอร์เน็ต มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของส่วนราชการทุกส่วนราชการในขณะนี้ อยากจะให้ ปรับเปลี่ยนหมวดรายจ่ายของงบประมาณในส่วนนี้เป็นค่าสาธารณูปโภค
เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนที่ไปต่อใบอนุญาตใบขับขี่ในขณะนี้ ต้องมีการลงทะเบียนในการลงคิวต่าง ๆ ที่จะต่อใบอนุญาตขับขี่ มีปัญหาอุปสรรคมาก ในขณะนี้ เพราะว่าคิวในการต่อยาวมาก บางคนลงทะเบียนมาใบอนุญาตขับขี่ขาดมา เป็นปีแล้ว ไม่สามารถที่จะต่อใบอนุญาตขับขี่ได้ เพราะฉะนั้นอยากจะฝากถึงท่านอธิบดี กรมการขนส่งทางบกครับว่า กรมการขนส่งทางบกทำดีมาโดยตลอด ผมต้องเรียนว่าเป็นกรม ที่มีการใช้ระบบ IT ในการเข้ามาพัฒนาเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้งาน การต่อทะเบียน รถต่าง ๆ ถือว่ารวดเร็วมาก ในครั้งนี้ขออนุญาตว่าเกี่ยวกับเรื่องต่อใบอนุญาตใบขับขี่ ขอให้ท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางบกลงมาดูแลเรื่องนี้ด้วยครับ
เรื่องที่ ๓ ขออนุญาตขึ้นสไลด์ด้วยครับ
เป็นเรื่องที่ทางวัดราษฎร์บูรณะ ฝากมาว่าขณะนี้คลองที่คั่นระหว่างสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะกับวัดราษฎร์บูรณะ ในขณะนี้ มีทั้งขยะมูลฝอยแล้วก็ผักตบชวาเต็มคลองไปหมด เมื่อไปร้องเรียนสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ก็บอกว่าอยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่าไปร้องเรียนก็บอกว่า อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า แต่วันนี้ผมต้องถือว่าเมื่อไปร้องเรียนแล้ว ควรที่จะให้ สำนักงานเขต กทม. เอง ยื่นเรื่องไปที่กรมเจ้าท่า เพื่อที่จะให้มาดำเนินการเร่งในการกำจัด ผักตบชวาหรือขยะ เพื่อที่จะให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเดินต่อไปได้ครับ ฝากท่านอธิบดี กรมเจ้าท่าเดินหน้าเรื่องนี้ในการกำจัดขยะมูลฝอยและผักตบชวา เพื่อให้การคมนาคม ขนส่งทางน้ำเดินต่อไปได้ ขอบคุณมากครับ
พูดเลยครับ
ครับ
ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์นะครับ บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณท่านประธานนะครับ ที่อนุญาตให้ผมได้พูดในวันนี้ ทั้ง ๆ ที่หมดเวลาลงชื่อแล้ว ผมต้องขออนุญาตเรียน ท่านประธานครับว่าโครงการตราพระราชบัญญัติในการกู้เงินในครั้งนี้ ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทนี้ เราเห็นด้วยนะครับ มันเป็นโครงการที่เราเรียกกันว่าเป็น Helicopter Money ซึ่งทุกประเทศ เขาก็ทำกัน แต่เพียงแต่ว่ามีข้อสังเกตที่อยากจะฝากถึงทางกระทรวงการคลัง ในการดำเนินการโครงการ ข้อสังเกตที่ผมได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการคนละครึ่ง โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง อยากจะฝากอย่างนี้ครับว่าร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ ที่เขารับโครงการคนละครึ่งมา พอไปดำเนินโครงการนี้ได้สักระยะหนึ่ง คราวนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น คืออะไรรู้ไหมครับ เจ้าของร้านค้าก็ไปลงทะเบียน พอเข้าโครงการคนละครึ่ง หลังจากนั้น ๑ ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรเข้าเก็บภาษีครับ ร้านค้าตอนแรกก็รู้สึกดีใจทีได้เข้าโครงการ คนละครึ่ง แต่ตอนที่โดนสรรพากรไปเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง มันเป็นปัญหาที่ตามมา กับร้านค้ามาก แล้วร้านค้าตอนเข้าโครงการคนละครึ่งในช่วงปีหลัง ทุกคนก็บอกว่า รับเงินสดหมด ไม่เข้าโครงการคนละครึ่งแล้ว เนื่องจากว่าประสบปัญหาตรงนี้ แทนที่เราจะ ทำให้โครงการนี้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้เกิดขึ้นให้ได้ แต่มันไม่ใช่หรอกครับ มันก็กลายเป็นว่าโครงการนี้มันก่อทั้งประโยชน์ และนำโทษมาให้กับผู้ที่เป็นร้านค้า รายย่อย ร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ข้างบ้านผมเลิกทำโครงการนี้เลย เนื่องจากว่าเคยขายก๋วยเตี๋ยว แต่ตอนหลังมากรมสรรพากรตามเก็บภาษีย้อนหลังอีกครับ กลายเป็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ของเขาอีก ผมเรียนอย่างนี้นะครับ ต่อไปเรื่องโครงการคนละครึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการซื้อขาย ผ่าน Online ต่าง ๆ อยากจะฝากทางกระทรวงการคลังครับว่าการซื้อขายผ่าน Online ต่าง ๆ นี้ถ้าเราซื้อผ่าน Online ภายในประเทศ ท่านจะเก็บภาษีอย่างไร มันก็ยังพอไปได้ครับ แต่เราซื้อผ่าน Online ที่เราเรียกกันว่า Over The Top หรือที่เขาเรียกว่า OTT หรือการใช้ ผ่านโครงข่ายนวัตกรรมของประเทศ OTT มันหมายถึงว่าเราซื้อของผ่าน Shopee LAZADA อะไรต่าง ๆ นี้นะครับ เมื่อเรามีโครงการคนละครึ่ง วัตถุประสงค์ของเราก็คือเราต้องการ จะให้เงินที่โครงการเงินกู้มีการหมุนเวียนภายในประเทศ ๔ ครั้งถึง ๕ ครั้งที่จะต้องมี การหมุนเวียนสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้ได้ แต่ในวันนี้พอเราซื้อของผ่าน ในระบบพวกนี้ที่เกิดขึ้น มันเป็นนวัตกรรมใหม่ ผมเข้าใจ เพียงแต่ว่าเงินพวกนี้จะถูกโอนผ่าน ออกนอกประเทศไปก่อนแล้วจะถูกหักเปอร์เซ็นต์ออกมา เช่นถ้าเราซื้อของผ่าน Shopee ก็จะต้องโอนเงินดังกล่าวออกไปที่ประเทศสิงคโปร์ก่อน เมื่อโอนออกสิงคโปร์ก็จะต้องถูกหัก ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ก่อนที่จะโอนกลับมาในประเทศไทย เมื่อโครงการนี้มีเงิน หมุนเวียนไป ๔-๕ ครั้ง เงินที่เราคิดว่าจะมีการหมุนเวียนจำนวนครั้งมากกว่านั้น มันถูกหัก เปอร์เซ็นต์ไปเรื่อย ๆ มันจะทำให้เงินหมุนเวียนที่เกิดขึ้น ต้องเรียนบอกว่ามันจะไม่เกิดขึ้นจริง อย่างที่เราคาดหมายกันไว้ เพราะฉะนั้นระบบการเงิน และระบบโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยี ผู้ที่ดำเนินการจะต้องศึกษาในเรื่องพวกนี้ให้ดี ถ้าศึกษาไม่ดี ว่าเงินโครงการเงินกู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันจะไม่เกิดขึ้นเหมือนกับโครงการเงินผันนะครับ ในอดีตที่ผ่านมา สมัยก่อนนี้มันยัง ไม่มีเทคโนโลยีพวกนี้เกิดขึ้น โครงการเงินผันลงไปในชนบท ลงไปเท่าไรก็คือหมุนเวียน ในชนบทเท่านั้น แต่วันนี้มันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเงินมันหมุนเวียนออก นอกประเทศได้อย่างรวดเร็ว มันไม่สามารถที่จะหมุนเวียนภายในพื้นที่ของตัวเองที่เราจะ ดำเนินการในส่วนนี้ได้ อยากจะฝากกระทรวงการคลังว่าในเรื่องพวกนี้ ท่านต้องพิจารณา ในเรื่องดังกล่าวนี้ให้ดี เพราะว่ามันจะเป็นการขับเคลื่อน GDP ของประเทศในการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมก็เลย เลยไปถึงโครงการที่เราเรียกกันว่าโครงการของ Digital Wallet ที่เกิดขึ้น ยังดีนะครับ ที่ผมอ่านข้อมูลว่าไม่ได้ซื้อของผ่านทางด้าน OTT หรือ Shopee ต่าง ๆ ซื้อของผ่านเฉพาะ ในร้านค้าภายในประเทศ ไม่อนุญาตให้ซื้อของผ่าน OTT เพราะฉะนั้นเดี๋ยวโครงการ Digital Wallet ที่เกิดขึ้นที่จะพิจารณาในอนาคตข้างหน้าค่อยว่ากันในส่วนนี้ ก็ต้องขออนุญาตว่า ในส่วนนี้ก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้นะครับว่าถ้าจะมีโครงการดังกล่าวนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า ขออนุญาตทางกระทรวงการคลังฝากถึงท่านประธานว่าให้พิจารณาในประเด็นพวกนี้ให้ดี เพราะว่ามันจะทำให้เงินของเราหมุนเวียนภายในประเทศได้เกิดขึ้นจริงในอนาคตข้างหน้า กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ผมขออภิปรายร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมดังนี้ครับ
ก่อนอื่นผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นร่าง กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ถูกนำเข้าสู่การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเสียที ผมเห็นด้วย อย่างยิ่งกับการบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิของบุคคล ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิด เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ หากเพศใดที่จะสมรสกันตามกฎหมาย ในสภาพสังคมปัจจุบันที่ผู้คนเลือกอยู่โสดกันมากขึ้นจนเป็นปัญหาระดับชาติ เมื่อคนไทย ไม่อยากมีลูกหรือมีลูกน้อยอย่างน่าตกใจ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นแรงสำคัญที่ส่งเสริมให้ สถาบันครอบครัวเข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับผมการมีคู่ชีวิตและการมีครอบครัวที่ดี คือปัจจัย ที่สำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตเราทุกคนมีความสุขและมีทุกวันนี้ได้ ผมจึงอยากเห็นลูกหลานของ เราทุกคนได้รับโอกาสนี้ การมีสิทธิในการสร้างครอบครัวดังเช่นที่เราทุกคนเคยได้รับกันมา เช่นกัน กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญเป็นเครื่องมือเดียวที่ให้สิทธิในการสร้างครอบครัวให้เกิด เป็นรูปธรรม และให้เกิดเป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์บัญญัติเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ทำให้กลุ่มบุคคล หลากหลายทางเพศที่ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว แต่ได้เลือกใช้ชีวิตร่วมกันอย่างคู่ชีวิตและปฏิบัติ ต่อกันในทางพฤตินัย ดังเช่นคู่สมรสตามความมุ่งหมายของกฎหมายทุกประการ ต้องถูกกัน ออกจากระบบการจดทะเบียนสมรส ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงสิทธิในการสร้าง ครอบครัวของพวกเขาต้องถูกบั่นทอนลง เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีชายหญิงที่ได้จดทะเบียน สมรสแล้ว ทำให้เกิดสิทธิตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม สิทธิใน การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการดำเนินคดีร่วมกันหรือแทนกัน สิทธิในการรับบุตร บุญธรรมร่วมกัน และสิทธิอื่น ๆ อีกมากมาย หากขาดการรับรองสิทธิในการจดทะเบียน สมรสตามกฎหมาย กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศย่อมไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ มีผลเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของเพศกำเนิด เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี ไปโดยปริยาย กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศรอคอยกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้มาเนิ่นนาน ผมต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคการเมือง หรือภาคราชการที่ได้ร่วมกันผลักดันรับรองสิทธิในการสมรสของกลุ่มบุคคลหลากหลาย ทางเพศ นับแต่ที่ได้มีความพยายามเสนอแก้ไขกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยการเสนอร่าง พระราชบัญญัติคู่ชีวิตหรือการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของท่านสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจากพรรคก้าวไกลก็ตาม จนถึงเวลานี้คณะรัฐมนตรีมีมติให้เสนอร่างกฎหมายนี้ ต่อสภาผู้แทนราษฎร แม้จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายแต่ละฉบับที่เสนอโดยแต่ละภาคส่วนจะมี ความแตกต่างในรายละเอียดอยู่บ้าง แต่ก็ต้องกล่าวว่าทุกเรื่องราวที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็น อย่างกระจ่างแจ้งว่า สังคมไทยได้มีฉันทามติร่วมกันแล้วว่าถึงเวลาเสียทีที่ประเทศไทยจะเลิก เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และให้การรับรองสิทธิในการสมรส อย่างเท่าเทียม ฉะนั้นแม้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความเห็นแตกต่างกันบ้างในประเด็นรายละเอียด ผมก็อยากจะขอให้ทุกคนร่วมกันรับฟัง โดยละทิ้งอคติทางการเมือง แล้วร่วมกันผลักดัน กฎหมายนี้ให้สามารถคลอดออกมาได้โดยเร็วทันที เพราะสุดท้ายแล้วยังมีคนอีกมากมาย ที่รอคอยจะสร้างครอบครัวอยู่และพวกเขาเหล่านั้นก็รอคอยกันมาเนิ่นนานแล้วเช่นกัน ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ผมเห็นชอบอย่างยิ่งกับบทบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้
ประการแรก บทบัญญัติแห่งร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการแก้ไขถ้อยคำ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ ลักษณะ ๑ การสมรสจากเดิมที่กฎหมายใช้ คำว่า ชาย หญิง สามี ภริยา ตลอดจนลักษณะทำให้เกิดเงื่อนไขว่าผู้ที่จะสมรสกันได้จะต้อง เป็นชายและหญิงเท่านั้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้แก้ไขถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำว่า บุคคลและ คู่สมรสแทน จากนั้นจึงได้แก้ไขบทบัญญัติในส่วนอื่นให้สอดคล้องกับการแก้ไขในส่วน ดังกล่าวตามไปด้วย ผมเห็นว่าการแก้ไขถ้อยคำดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและ ไม่ต้องเกิดข้อสงสัยกันว่า คู่สมรสที่มิได้มีเพศกำเนิดเป็นเพศชาย เพศหญิงหรือไม่ เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้แก้ไขตามร่างกฎหมายนี้ให้สิทธิต่อคู่สมรสหลากหลาย ทางเพศอย่างเท่าเทียมอย่างแน่นอน ผมเองยังรู้สึกทึ่งกับของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเพียง แก้ไขถ้อยคำเท่านั้นกลับสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้มากมายเหลือเกินครับ
ประการที่ ๒ ผมขอชื่นชมที่ร่างกฎหมายฉบับนี้เล็งเห็นถึงปัญหาที่อาจ เกิดจากกฎหมายประเภทอนุบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรอง จึงบัญญัติในมาตรา ๖๗ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบเพื่อรับรอง สิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ด้วย และเสนอผลต่อ คณะรัฐมนตรีภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การบัญญัติ เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการรับรองสิทธิของครอบครัวหลากหลายทางเพศ อย่างแท้จริง ซึ่งหากพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อรวม ๒ ระยะเวลาเข้าด้วยกัน ผมเชื่อว่า เป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง และเวลาที่ไม่เนิ่นนานไปสำหรับผู้ที่รอคอย แม้แต่ผม ยินดีอย่างไรกับการที่จะได้เห็นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ถูกนำมาอภิปรายในสภาในวันนี้ ผมยังมีข้อกังวลว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดบทบัญญัติที่ชัดเจนในการที่จะรองรับสิทธิ ในการมีบุตรของคู่สมรสความหลากหลายทางเพศ
ประการแรก จะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัตินี้กับร่างพระราชบัญญัติที่เสนอ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีหลักการที่สอดคล้องกัน แต่แตกต่างกันที่ ร่างฉบับของพรรคก้าวไกลเสนอให้มีการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๔๒ ความว่า ให้คู่สมรสที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายนี้มีสิทธิรับรองบุตรอื่น เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
ประการที่ ๒ จากการศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผมเชื่อว่า สาเหตุที่ร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้เสนอบทบัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นเพราะบทบัญญัติ ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้สิทธิในการที่คู่สมรสจะได้รับบุตรบุญธรรม ร่วมกันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มบทบัญญัติใด ๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีก แต่อย่างไรก็ตาม หากกรณีเป็นดังที่ผมเข้าใจอย่างที่อภิปรายไปนั้น ขอให้ผู้เสนอร่างกฎหมาย นี้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในข้อกฎหมายในส่วนนี้จะได้ไม่เกิดความสับสนกับคู่สมรส หลากหลายทางเพศ จะได้รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้หรือไม่ อย่างไร
กราบเรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ขออนุญาตหารือท่านประธาน ๒ เรื่องครับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ผมหารือท่านประธาน ถึงท่านประธานโดยตรง เมื่อมี การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณวันที่ ๓ วันที่ ๔ วันที่ ๕ ที่ผ่านมา ผมขออนุญาต เรียนท่านประธานครับ ห้องโถงของ สส. ผู้ทรงเกียรติของเราเต็มไปด้วยผู้ติดตามของ คณะรัฐมนตรีทั้งหมดเลยครับ เพราะฉะนั้นอยากจะฝากเรียนท่านประธานว่าบ่ายสองโมง ของวันที่ ๔ สส. เข้าไปรับประทานอาหารในช่วงเที่ยงกว่า อาหารหมดแล้วครับท่านประธาน ขออนุญาตฝากเรียนจริง ๆ ครับว่าตรงนี้เป็นห้องโถงรับรอง สส. ผู้ทรงเกียรติของเรา ถ้าเกิด ว่ามีผู้ติดตามคณะรัฐมนตรีเข้ามาก็ขออนุญาตครับ อนุญาตได้ครับ ไม่ใช่ว่าเข้ามาเป็น ๑๐ คนหรือ ๑๕ คน มีห้องอื่นที่รับรองไว้ ก็ขออนุญาตฝากกราบเรียนท่านประธานครับ
เรื่องที่ ๒ อยากจะฝากเรียนว่า วันนี้ขอให้ สส. ผู้ทรงเกียรติพวกเราทุกท่าน วันนี้มีร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการอากาศสะอาดเข้าที่ประชุมของ สภาผู้แทนราษฎรของเรา ขออนุญาตให้เป็นวาระแห่งชาติเถอะครับ วันนี้ฝุ่น PM เต็มกรุงเทพมหานครทั้งหมดแล้วครับ ก็ขออนุญาตว่าวันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมคงไม่สามารถที่จะจัดการฝุ่น PM ได้กระทรวงเดียวครับ เพราะฉะนั้นเราคงต้อง ใช้มาตรการร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการอากาศสะอาด ขอท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน เป็นวาระแห่งชาติร่วมกันในวันนี้ครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ขออนุญาตท่านประธานครับ
เรื่องแรกที่ผมขอหารือนะครับ ต้องขอขอบคุณทางโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่ผมลืมกระเป๋าเงินไว้ แล้วทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เก็บรักษาไว้ เป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณและชมเชยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นอย่างยิ่ง
เรื่องที่ ๒ ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งนะครับ ที่ผมได้เสนอ เกี่ยวกับเรื่องผู้ติดตามรัฐมนตรีในครั้งที่แล้ว ที่เดินทางมาในเขตหวงห้ามเป็นจำนวนเยอะมาก ก็ต้องฝากเรียนท่านประธานว่าวันนี้ดีขึ้นเยอะครับ ต้องฝากขอบพระคุณท่านประธาน เป็นอย่างยิ่งนะครับ โดยเฉพาะเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาผมเจอท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ขออนุญาตที่เอ่ยนามท่านนะครับ ท่านมีผู้ติดตามมาคนเดียว ต้องขอชื่นชมท่านจริง ๆ ครับ ที่ท่านมาชี้แจง ครม. ก็ขออนุญาตครับ
เรื่องที่ ๓ วันนี้เรื่องฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ๗๙ พื้นที่ เป็นพื้นที่ที่เกินค่าที่มีปริมาณเกิน แล้วก็เป็นพื้นที่ระดับสีแดง ๒ พื้นที่ ก็ต้องฝากเรียนว่า คงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว คงเกี่ยวข้อง กับหลายหน่วยงาน ผมเรียนท่านประธานครับว่าไม่ใช่เฉพาะรถยนต์อย่างเดียวที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 มีพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีการก่อสร้าง ถมแล้ว ขุดแล้วเจาะใหม่ทำแล้วทำอีก ขออนุญาตเรียนท่านประธานว่าเราคงจะต้องมีการบูรณาการกันหลาย ๆ หน่วยงานครับ
เรื่องสุดท้าย ผมคิดว่าในวันพรุ่งนี้เราน่าจะมี สส. ของพวกเราครบ ๕๐๐ คน สักทีในหน้าจอทีวี เห็นขึ้นทุกครั้ง ๔๙๙ คน อาจจะมีข่าวดีเป็น ๕๐๐ คนครับ ขออนุญาต ขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ก่อนอื่นต้องขอกราบขอประทานอภัยท่านประธานด้วยครับ เมื่อสักครู่ผมขึ้นไปเซ็นงาน ก็เลยลงมาไม่ทัน ขออภัยท่านประธานด้วยนะครับ ผมขออภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง การเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณที่ทางท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติเสนอในวันนี้ด้วยนะครับ ขออนุญาตเรียนอย่างนี้ว่าเรื่องปีงบประมาณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผมสนับสนุนท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติที่เสนอในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของท่านที่ดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะเห็นปีงบประมาณของประเทศไทย เปลี่ยนแปลงสะท้อนเหมือนกับปีปฏิทิน หรือของภาคเอกชนที่เขาใช้งานกันอยู่ ซึ่งในปีงบประมาณในอดีตที่ผ่านมาที่เราไปเริ่มต้นตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ กันยายน ก็สืบเนื่องมาจากว่าเราไปขึ้นเกี่ยวกับฤดูกาลต่าง ๆ ดิน ฟ้า อากาศต่าง ๆ ที่ผ่านมา ในปัจจุบันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะโลกาภิวัตน์ก็เปลี่ยนแปลงไป เราเพิ่งพิจารณา เรื่อง AI ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยากจะเรียนท่านประธานจริง ๆ ว่าปีงบประมาณของเรา มันไม่สอดคล้องกับปีปฏิทินที่เอกชนเขาดำเนินการอยู่ การจัดเก็บภาษีต่าง ๆ เมื่อไม่สอดคล้องกันทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาคเอกชนกับภาคราชการไม่ค่อย สอดคล้องกัน ผมเห็นควรที่จะสนับสนุนญัตตินี้ในการที่จะเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณ ให้สอดคล้องกับปีปฏิทิน ซึ่งจะไปสอดรับกับเรื่องของเอกชนที่เขาจัดเก็บรายได้เข้ามา ซึ่งจะตรงเป้าหมายในการที่จะดำเนินการ แต่ในส่วนนี้ผมมีข้อห่วงใยที่อยากจะกราบเรียน ท่านประธานว่าเมื่อเราเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณของเราให้สอดคล้องกับปีปฏิทินแล้ว มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเกษียณอายุราชการต่าง ๆ ที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย อีกมากมาย ผมเข้าใจว่ามันยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก เพราะว่าปีปฏิทินของเรากับปีราชการ มันจะไปเกี่ยวข้องกันมาก ทำให้การแก้ไขเกษียณอายุราชการของข้าราชการต่าง ๆ ที่จะต้อง เข้ามาเกี่ยวข้อง มันต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ เพียงแต่ว่าข้อห่วงใยต่าง ๆ นี้ ผมคิดว่าสภาผู้แทนราษฎรของเราสามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้ ถ้าเกิดเราดำเนินการ เป็นอย่างนี้ไปได้ ผมสนับสนุนอย่างยิ่งว่าปีงบประมาณเองจะสอดรับกัน แล้วจะทำให้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราเป็นไปได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ มากยิ่งขึ้นครับ ขอกราบขอบพระคุณท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย กระผมต้อง ขออภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ ผมขออนุญาตเรียนอย่างนี้ครับท่านประธาน เมื่อสักครู่ ผมอยากจะอธิบายนิดหนึ่งว่าร่างนี้ผมในนามของพรรคไทยสร้างไทยเราสนับสนุนเต็มที่ครับ แต่เพียงแต่ว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติมันแตกต่างกันตรงนี้ครับ ๒ ประเด็นครับ
ประเด็นแรก ก็คือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติมันเกิดขึ้นก่อนที่จะมี รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเราใช้มาตรา ๔๔ ในการดำเนินการมันเกิดขึ้นหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวบังคับใช้แล้ว จึงมีมาตรา ๔๔ ตรงนั้น ขออนุญาตแยกเป็น ๒ ประเด็นนะครับ ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่าเมื่อฟังผู้ที่นำเสนอ ญัตติทั้ง ๓ ท่านแล้ว ตอนแรกผมมีประเด็นที่จะอภิปรายสนับสนุนเยอะมาก แต่ทั้ง ๓ ท่าน ที่นำเสนอร่างญัตติขึ้นมา ท่านอธิบายครอบคลุมได้ทุกประเด็นคำตอบอย่างที่ทุกพรรคการเมือง ต้องการที่จะเห็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้น ผมสรุปประเด็นง่าย ๆ นะครับ ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ความหมายก็คือเราจะกลับไปใช้พระราชบัญญัติการบริหาร ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี ๒๕๕๓ ให้ครบทั้ง ๓๑ มาตรา ถูกต้องใช่ไหมครับ ในวันนี้ ก็คือร่าง พ.ร.บ. เดิมของการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี ๒๕๕๓ ก็คือเราจะ กลับไปใช้ทั้ง ๓๑ มาตราเพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ ท่านประธาน ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่าเมื่อสักครู่นี้ ผมขออนุญาตเอ่ยชื่อท่านอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล นิดหนึ่ง ที่ท่านอภิปรายได้ดีมากแล้วก็กินใจผมมากครับ บอกว่า กฎหมายของคณะปฏิวัติต้องเอ่ย สั้น ๆ ครับว่ายกร่าง ๑ วัน แต่สภาเราต้องมาแก้ไขกฎหมายในกลุ่มพวกนี้ใช้ระยะเวลา ๖ เดือนถึง ๑ ปี ผมยังไม่ทราบว่า ๖ เดือนจะเสร็จหรือเปล่า เนื่องจากว่าต้องผ่าน สภาผู้แทนราษฎรและต้องผ่านวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่งครับ เรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า เป็นไปได้ไหมว่าทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทำงานร่วมกัน ประกาศคณะรักษาความสงบ แห่งชาติฉบับใดที่ไม่เกิดประโยชน์ คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับใด ที่คิดว่าไม่เป็นประโยชน์แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน ตกลงร่วมกันตราเป็นพระราชกำหนด ได้ไหมครับ ยกเลิกครั้งเดียวเอาเข้าสภาเลยครับ ประเทศไทยจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ตราเป็น พระราชกำหนดตามแนบนี้ ๔๔ ฉบับ ๕๐ ฉบับครั้งเดียวเลยครับ กฎหมายในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคณะปฏิวัติชุดก่อน ๆ ยังมีกฎหมายที่มีความล้าหลังในอดีตที่ผ่านมาเยอะมาก กฎหมายพวกนี้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลาย ๆ ฉบับ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ ไหมครับว่าเราทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล วันนี้ทำงานร่วมกัน จับมือกันเลยว่ากฎหมายในกลุ่มนี้ ยกร่างครั้งเดียวตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ได้วันนี้เป็นต้นไป แล้วก็นำเข้าสภา เพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ผมคิดว่าทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงาน เพื่อที่จะทำให้ประเทศของเราเดินหน้าในการที่จะพัฒนาในส่วนนี้ให้ได้ต่อไปครับ กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ก่อนอื่นผมขออนุญาต ชื่นชมรายงานประจำปีของ สวทช. ประจำปี ๒๕๖๕ แล้วก็ชื่นชมท่านผู้อำนวยการที่ท่าน ได้นำเสนอรายงานนี้สมบูรณ์เต็มที่มาก ผมอภิปรายครั้งนี้มีเพียงข้อเสนอแนะให้กับ สวทช. ๒-๓ ข้อครับ ข้อแรก เกี่ยวกับเรื่อง AI ข้อที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่อง IOT แล้วก็เรื่อง Blockchain ซึ่งมันจะมีการเชื่อมโยงกันในการทำงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
เรื่อง AI อยากจะให้ทาง สวทช. ได้ทำความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน ได้เข้าใจในประเด็นของเรื่อง AI ให้มากยิ่งขึ้น เพราะว่าประชาชนเข้าใจว่า AI คืออะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราเรียกกันว่าปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลกระทบ กับประเทศหรือโลกในอนาคตข้างหน้าเป็นอย่างสูง สิ่งที่ส่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอยากจะ เรียนท่านประธานผ่านไปทาง สวทช. ในครั้งนี้ว่าหลายคนในธุรกิจต่าง ๆ ที่จะต้องมีการ ตกงานในอนาคตข้างหน้าถ้าเกิดว่า AI ได้เข้ามาครองพื้นที่ของโลกในโลกปัจจุบันนี้แล้ว ผมยกตัวอย่างว่าในขณะนี้รถยนต์ของเราที่เป็นรถแบบใช้น้ำมันหรือรถสันดาป ชิ้นส่วน ในการประกอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ผมเข้าใจว่ามีอยู่ประมาณสัก ๓๐,๐๐๐ กว่าชิ้น พอมาเป็น รถ EV มีอยู่ประมาณสัก ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของ ๓๐,๐๐๐ กว่าชิ้น ก็คือประมาณสัก ๔,๕๐๐ กว่าชิ้น ท่านจะเห็นว่าส่วนประกอบของรถยนต์ที่เป็นรถน้ำมันกับรถที่เราเรียกกันว่า รถแบบ EV ชิ้นส่วนก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราใช้ระบบ AI เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ก็จะหายไปหลายธุรกิจ เพราะฉะนั้นทุนมนุษย์เป็น เรื่องที่มีความสำคัญครับท่านประธาน ทุนมนุษย์หมายความว่า AI จะเก่งขนาดไหนก็ต้อง อาศัยมนุษย์ในการที่จะใส่ข้อมูลหรือป้อนข้อมูลเข้าไป วันนี้อยากจะฝากเรียนว่าเรื่อง AI เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทยในครั้งยิ่งใหญ่ ในครั้งนี้
เรื่อง IOT ก็เช่นกันครับท่านประธาน Internet of Things รถไร้คนขับต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น Smart Meter ต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น จะต้องให้ทาง สวทช. สร้างความรับรู้ ตรงนี้ให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่าเรื่อง IOT ที่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านในอนาคตข้างหน้า จะต้องส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าประชาชนได้มีการตั้งหลัก ในการรองรับ สร้างทุนมนุษย์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในการที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของทคโนโลยี ที่จะต้องให้ประเทศไทยมีการรองรับในเรื่องนี้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ประชาชน ได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างทันท่วงที ผมเรียนท่านประธานครับ เมื่อมี การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของเราในครั้งแรก เราเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ 3G ที่เกิดขึ้น ทุกคนก็ตกใจในครั้งนั้น เพราะว่าประเทศไทยก่อนปี ๒๕๕๕ เป็นการใช้เทคโนโลยีแค่ 2G พอเรามีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบ 3G ประชาชนคนไทยเองรองรับแทบไม่ทัน เพราะว่าในขณะนั้นประเทศลาวมีการใช้ 3G ก่อนประเทศไทยอีก แต่เมื่อมีการใช้ ในปี ๒๕๕๕ เกิดขึ้น เทคโนโลยีของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชาชนคนไทย ต้องยอมรับว่ามีความเฉลียวฉลาดเป็นอย่างยิ่ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปี ๒๕๕๘ เปลี่ยนแปลง 4G อีก เทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนผ่านไปอีก ปี ๒๕๖๓ เปลี่ยนแปลงมาเป็น 5G แล้ว ท่านประธานครับ ทุกอย่างของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วยความรวดเร็วเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น การสร้างความตระหนักรู้ การสร้างความรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนได้เตรียมรับในเรื่อง พวกนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
เรื่องสุดท้ายครับ ขอฝากท่านประธานไว้เป็นเรื่องสุดท้าย ประเทศไทยเรา ต้องเรียนว่าถ้าเรามีการหยุดนิ่งอยู่กับที่กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เสมือนกับว่า เรากำลังถอยหลัง ถ้าเราเดินหน้าอย่างช้า ๆ เสมือนหนึ่งว่าเรากำลังหยุดอยู่กับที่ แต่ถ้าเรา จะเดินหน้าให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหรือของโลก ประเทศไทยเราต้อง เดินหน้าอย่างรวดเร็วถึงจะขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้ ขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ผมขออนุญาตร่วมอภิปรายรายงานประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักงาน ปปง. ด้วยนะครับ ก่อนอื่นผมต้องขอชื่นชมท่านประธาน ปปง. และท่านเลขาธิการ ปปง. ที่เข้าร่วมชี้แจง แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือต้องนำเรียนนะครับว่า การปฏิบัติงานของท่านก็เป็นมาด้วยดี ตลอดระยะเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมานะครับ ผมฝากเรียนนิดหนึ่งครับ ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่อยากจะนำเรียนท่านว่า การทำงานอาจจะต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้นะครับ หลังจากที่ ท่านทำงานมาแล้ว บางอันที่ทำงานแล้วที่มันยังไม่ถึงเป้าหมายอาจจะต้องทำงานร่วมกัน หน่วยงาน ปปง. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งครับ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ป.ป.ช. ที่จะต้องทำงานร่วมกับท่าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปง. แล้วก็ทางธนาคาร เอกชนต่าง ๆ ที่จะต้องมีการร่วมมือกันในการทำงานทั้งหมด ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เรื่องหนึ่งที่อยากจะฝากเรียนท่าน อยากจะให้ท่านช่วยติดตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยครับ เกี่ยวกับวงการค้าพระครับ ฝากท่านหน่อยครับว่าวงการค้าพระที่มีการฟอกเงินกันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เราจะจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร ผมเรียนท่านอย่างนี้ครับว่าพระจริง พระปลอม ในวงการแล้วเราไม่รู้กันเลยครับ วงการสร้างมาตรฐานกันขึ้นมาว่าพระจริงคือพระสมเด็จ องค์นั้น องค์นี้ คือพระจริง พระไหนคือพระปลอม พระไหนคือพระที่มีอายุต่าง ๆ วันนี้ หลักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาในเรื่องนี้ขึ้นมาว่า อายุของพระสามารถที่จะตรวจ พิสูจน์หลักฐานได้ว่าอายุของดินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นมาในยุคไหนต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ที่ผมอยากจะนำเรียนมาว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งครับท่านประธาน อยู่ที่จังหวัดสงขลา โดนตำรวจ จับว่าเขาเอาพระนี้ เป็นพระปลอมเอานำไปแจกให้กับพี่น้องประชาชนมาบริจาคเงิน สุดท้าย ก็บอกว่าพระนี้เป็นพระปลอม แล้วสำนักงาน ปปง. ก็ไปอายัดเงินเขา วันนี้คนกลุ่มนี้ มาร้องเรียนกับผมครับท่านประธาน บอกว่าโดนอายัดเงิน เงินที่เขาได้มานี้มันเป็นเงินของ บริษัทที่ขายปุ๋ยครับ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องพระ แต่พระที่เขาได้มานี้เขาบริจาคให้กับ พี่น้องประชาชนจ่ายองค์ละ ๕๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท เราก็บอกว่าเป็นพระที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องของพระ มันไม่ใช่พระจริง พระปลอม พระอะไรทั้งหมดนี้ ผมขออนุญาตเรียนว่าผม ก็ดูพระไม่เป็น เพียงแต่ว่าในวงการพระเองเราต้องเรียกกันว่าพระที่มูลค่ากัน ๑๐ ล้านบาท ๒๐ ล้านบาทต่าง ๆ นี้ เราจะบอกว่าเป็นพระจริง พระปลอม พระอะไรทั้งสิ้นนี้ อยากจะให้ ปปง. เข้ามาดูแลต่าง ๆ ด้วยว่าเขามีการฟอกเงินกันอย่างไร ส่วนที่ของคนอื่นเขาเอาไป เอาไปแจกเราจะมีมาตรฐานอย่างไร บอกว่าเขาเป็นพระจริง พระปลอม แล้วก็นำตำรวจต่าง ๆ ไปจับ แล้วก็มาประสานงานกับทาง ปปง. เอง ในการที่จะยึด อายัดทรัพย์ต่าง ๆ ถ้าเป็น การยึด อายัดทรัพย์ต่าง ๆ ที่สร้างพระปลอมขึ้นมา แล้วนำเอาไปขายจำหน่ายไม่ว่าอะไรครับ แต่พระที่เขามีอยู่เดิมแล้ว เขาบริจาคออกไปให้กับพี่น้องประชาชนมาร่วมทำบุญ แล้วก็ เอาเงินออกไปทำบุญมันคืออะไรครับ อยากจะฝากทาง ปปง. จริง ๆ ครับว่า เรื่องนี้ผมไม่อยากให้ท่านเองมาตกเป็นเครื่องมือของ สมาคมพระต่าง ๆ ว่าจะต้องมีการทำลายกัน ให้การที่เห็นบอกว่าพระในกลุ่มนี้ เป็นพระปลอม พระในกลุ่มนี้เป็นพระจริง พระอะไร ผมเรียนท่านประธานครับว่า ท่านประธานเองก็คงดูพระไม่ออกครับว่าพระไหนเป็นพระจริง พระปลอมต่าง ๆ คนเอาพระ ไม่ใช่เราเอง ว่าองค์นี้ราคา ๑๐ ล้านบาท องค์นี้ราคา ๑๕ ล้านบาท องค์นี้ราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท อาจจะเป็นองค์จริง องค์ปลอม มันดูไม่ออกจริง ๆ ครับท่านประธานครับ วันนี้อยากจะ ฝากทาง ปปง. ครับว่า คดีที่ท่านจะทำดูเรื่องตลาดหลักทรัพย์น่าจะเหมาะสมกว่าครับ อยากฝากเรียนท่านจริง ๆ ครับว่า ขอให้ท่านพิจารณาในเรื่องนี้ ในเรื่องของสมาคมพระ ต่าง ๆ ด้วยนะครับว่า ดูแล้วก็ปฏิบัติให้มันเกิดความเป็นธรรมกับบริษัทหนึ่งที่จังหวัดสงขลา ด้วยนะครับ ขออนุญาตเรียนท่านประธานครับ ผมเอ่ยชื่อเลยนะครับว่าชื่อ บริษัท ฟุกเทียน ตอนนี้เขาโดนอายัดทรัพย์ วงเงินไม่ได้เยอะหรอกครับ ผมเดินทางไป เขามาร้องเรียนผม บอกว่าโดนอายัดทรัพย์เบิกเงินไม่ได้ ๕ ล้านบาท ฝากหน่อยครับ จะทำอย่างไรก็ฝากเขาไปครับ เพราะว่าเงิน ๕ ล้านบาท แต่เบิกเงินไม่ได้ครับ ฝากทางท่านประธาน ปปง. ท่านเลขาธิการ ปปง. ด้วยนะครับ หวังว่าท่านคงจะให้ความยุติธรรมกับหลาย ๆ คนด้วย ขอบคุณมากครับ
ขออนุญาตท่านประธานครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทยครับ ก่อนอื่นผมต้องขอชื่นชมท่าน พลตำรวจตรี เอกรักษ์ ที่ท่านชี้แจงได้ชัดเจนในทุกประเด็น แล้วก็ฝากเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับ คือในส่วนที่ผมนำเรียนท่านไปเมื่อสักครู่ของ บริษัท ฟุกเทียนนี้ ท่านก็ตอบได้ชัดเจนแล้ว เพียงแต่ผมเรียนอย่างนี้นะครับ เรียนยืนยันว่าอันไหนที่ถูกต้องก็ขอให้ดำเนินการในส่วนที่ ถูกต้อง ถ้าเขาทำผิดกฎหมายก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายนี้เลยนะครับ ไม่ต้องเกรงใจทั้งสิ้น เพียงแต่ขออนุญาตท่านว่าให้ความเป็นธรรมและดำเนินการให้ถูกต้อง ตามขั้นตอนของกฎหมาย ถ้าเขาไม่ผิดก็คืน ถ้าเขาผิดก็คือยึด อายัดไว้ ทำให้ถูกต้องตามนั้น ต้องขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างไทยครับ ท่านประธานก่อนอื่นผมต้องขอให้กำลังใจท่านประธานก่อนนะครับ ผมถือว่าท่านประธาน วันนี้อดทน อดกลั้น แล้วก็ใจเย็นมาก ผมเห็นท่านประธานรู้สึกใช้ปฏิภาณในการบริหาร สภาวันนี้ได้ดีมาก ต้องขอชื่นชมครับว่าท่านใจเย็น แล้วก็อดทน อดกลั้นมาก ผมขออนุญาต เรียนท่านประธานว่า ขอมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับญัตติด้วยวาจา ว่าด้วยการถวาย ความปลอดภัยในวันนี้ ท่านประธานครับ ผมศึกษาดูแล้วตามพระราชบัญญัตินี้มีอยู่ ๙ มาตรา ครับ ผมอ่านดูทั้งหมดแล้ว ครบถ้วนหมดแล้วครับ มาตราทั้งหมดนี้ครบถ้วนหมด ในการถวายความปลอดภัยไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะในมาตรา ๖ กำหนดไว้อย่างชัดเจน ว่าให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวาย ความปลอดภัย การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นไป ตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กำหนดครับ นอกจากนั้นมาตรา ๗ ยังกำหนดไว้ว่า กำหนดให้ราชเลขานุการในพระองค์ของ พระมหากษัตริย์มีอำนาจกำหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ หน้าที่ในการถวายความปลอดภัย สุดท้ายมาตรา ๙ กำหนดไว้ว่าให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ผมเรียนท่านประธานด้วยความจริงใจ พ.ร.บ. นี้ พระราชบัญญัติว่า ด้วยการถวายรักษาความปลอดภัยมันเขียนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ระเบียบประกาศกำหนด ก็มีไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว มาตรา ๙ ก็เขียนไว้ว่า นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผมต้องเรียนท่านประธานด้วยความจริงใจว่า ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีมีหนังสือกำชับ หน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้โดยเคร่งครัด และปฏิบัติตามระเบียบและ ประกาศโดยเคร่งครัด จะสามารถให้การอภิปรายในวันนี้คงไม่มีข้อถกเถียงกันแล้ววันนี้ ผมเรียนท่านประธานว่าถ้าปฏิบัติตามข้อระเบียบหรือพระราชบัญญัติโดยเคร่งครัดทั้งหมด ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นเลยครับ เดี๋ยวหลายคนบอกว่ากฎหมายนี้จะต้องมี การปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ ถ้ามีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นก็ไปดำเนินการ ตามกฎหมายนั้น เช่น ถ้าเอาไปดำเนินการผิดประมวลกฎหมายอาญาก็มีกฎหมายอาญา รองรับไว้อยู่แล้ว ถ้าผิด พ.ร.บ. การจราจรขนส่งทางบก ก็ไปดำเนินการตาม พ.ร.บ. กฎหมายนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะมาทำให้พระราชบัญญัติในการถวายรักษาความปลอดภัยนี้ ไม่สามารถดำเนินการได้ วันนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ว่าหน่วยงานของรัฐเอง หรือผู้ที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้มีหน้าที่ในการกำชับตักเตือนให้หน่วยงานของรัฐ เป็นแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจนเท่านั้นเองครับท่านประธาน ผมขออนุญาตนำเรียน ท่านประธานแต่เพียงเท่านี้ แล้วก็ขอชื่นชมท่านประธานและเป็นกำลังใจให้ท่านประธานครับ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ท่านประธานครับ ผมต้องขออนุญาตท่านประธานอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยทั้ง ๕ ฉบับ รวมทั้งของรัฐบาลด้วยนะครับในวันนี้ ท่านครับ เหตุผลที่ผมต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติในวันนี้ก็คือ
เรื่องที่ ๑ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุก ๆ ด้านที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในวันนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในวันนี้ ท่านประธานจะได้เห็นอย่างชัดเจน ว่าแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ส่วนแรกก็คือคนเมือง คนเมืองจะมีสิทธิต่าง ๆ มากกว่าคนกลุ่มอื่น กลุ่มที่ ๒ คือกลุ่มที่เราเรียกกันว่ากลุ่มชนบทครับ เป็นกลุ่มที่ ๒ ที่มีความเหลื่อมล้ำ แตกต่าง จากคนในเมืองครับ กลุ่มที่ ๓ เป็นกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างมากที่สุดก็คือ ที่เราเรียกกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มนี้ในวันนี้ที่เราจะเห็นร่างของรัฐบาลที่เข้ามาในวันนี้ ผมมีความรู้สึกดีใจมากครับ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนชาติพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นเราจะได้ลดศักดิ์ศรี ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมที่เกิดขึ้นในวันนี้ ลดช่องว่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ครับ เรื่องแรกเกี่ยวกับเรื่องด้านการศึกษา ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้าน การศึกษาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คนในกลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะว่ารัฐ ก็ยังไม่สามารถที่จะสนับสนุนด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่ครับ
เรื่องที่ ๒ ด้านสาธารณสุข เป็นด้านที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่เรา จะช่วยกันในการที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเราเอง ในการที่จะทำให้ ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนในเมือง คนชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถที่จะเข้าถึง ระบบสาธารณสุขของประเทศได้เท่าเทียมกัน
เรื่องที่ ๓ เรื่องสังคม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งว่าศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของคนทุก ๆ คน จะต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในเมือง จะร่ำรวยล้นฟ้าขนาดไหน คนชนบท หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุก ๆ คน ท่านประธานครับ วันนี้ผมต้องขอ อนุญาตท่านประธานว่าดีใจ แล้วก็ผมสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ทั้ง ๕ ร่าง ไม่ว่าจะเป็นของร่างรัฐบาล ร่างภาคประชาชน และร่างของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นำเสนอเข้ามาในวันนี้ครับ มีข้อเสนอแนะอีกนิดหนึ่ง ครับท่านประธาน ในมาตรา ๑๓ ร่างของรัฐบาลที่เสนอเข้ามา หน่วยงานธุรการที่กำหนดไว้ ว่าเป็นผู้นำเสนอต่อคณะกรรมการ กำหนดไว้ว่าเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็น หน่วยงานธุรการของคณะทำงานในชุดนี้ ผมขออนุญาตเสนอแนะว่าในมาตรา ๖ เขียนไว้ว่า รองประธานคณะกรรมการชุดนี้ จากนอกจากที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้วก็คือมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธาน แล้วก็ให้ปลัดกระทรวง พม. และปลัด กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเลขานุการในคณะ แต่พอเป็นหน่วยงานธุรการไปกำหนดไว้ว่าให้ เฉพาะสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานธุรการในการที่จะเสนอแนะ ผมขออนุญาตเพิ่มนิดหนึ่งครับ ขอให้หน่วยงานปลัดกระทรวง พม. เป็นเลขานุการร่วม ในการนำเสนอแผนนโยบายต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จะทำให้ระบบการทำงาน ต่าง ๆ วิธีคิดต่าง ๆ สามารถที่จะมีความหลากหลายในการที่จะเสนอนโยบายต่าง ๆ ได้มาก ยิ่งขึ้นครับ ผมขออนุญาตกราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งครับ ขอบคุณครับ