ผมอยากจะขอปรึกษาหารือ สักครู่ครับ กระผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในวันนี้ผมมีความตั้งใจที่จะตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงท่านรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการ เรื่องค่าไฟว่าจะช่วยพี่น้องประชาชนได้อย่างไร และผมเพิ่งได้รับแจ้งเหมือนท่านประธาน เช่นกันว่าทางด้านรัฐมนตรีไม่ว่าง ขอเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า ผมเข้าใจดีว่าท่านเพิ่ง เข้ารับหน้าที่แล้วก็มีภารกิจสำคัญที่จะต้องทำแล้วอาจจะยังไม่สำเร็จ แล้วก็มันน่าจะเป็น ภารกิจที่สำคัญกว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน แต่ผมจะขอเรียนอย่างนี้ว่า โควตาที่กระผมใช้อยู่ในวันนี้สำหรับสัปดาห์นี้ การเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้าหมายความว่า จะทำให้โควตาของฝ่ายค้านมีเพิ่มมากขึ้น ๑ โควตาด้วย ขอคำยืนยันจากท่านประธานครับ
เรียนประธานสภาที่เคารพ กระผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมอยากขออภิปรายและสอบถามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการพลังงาน โดยมี ๓-๔ ประเด็นที่ผมอยากจะตั้งคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงในวันนี้
ประเด็นแรก เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในการผลิต กระแสไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายแพงเกินไป ทุกท่านครับ ไฟฟ้าที่เราใช้ กันอยู่ทุกวันนี้ผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมากถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นราคา ก๊าซธรรมชาติจึงเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของไฟฟ้าในบ้านเรา แต่ต้นทุนราคาก๊าซที่ถูกนำมาใช้ ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพวกเรานั้น มาจาก Pool Gas ที่พึ่งพาการนำเข้าแล้วก็มีราคาแพง ในขณะที่แหล่งก๊าซในประเทศที่มีราคาถูก ถูกนำไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปใช้ให้กับกลุ่ม ธุรกิจปิโตรเคมีก่อน สรุปได้ง่าย ๆ เลยนะครับ ของถูกให้ภาคธุรกิจก่อน ของแพงให้กับ ประชาชน ย้ำอีกครั้งนะครับ ของถูกให้กับภาคธุรกิจก่อน ของแพงให้กับประชาชน แน่นอนครับว่าโครงสร้างแบบนี้ผู้เสียประโยชน์คือประชาชน ท่านประธานครับ แต่ผม และสังคมกลับมีความหวัง พอได้เห็นหนังสือที่ทาง กกพ. ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พลังงาน เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนที่ผ่านมา เสนอให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยเสนอให้นำราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศมาเฉลี่ยรวมกับ Pool Gas ที่มี ราคาแพง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงด้วย ผมจึงอยากตั้งคำถามถึง กกพ. ว่า จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ ๔ เดือนแล้วท่านมีการติดตามผลของการทำหนังสือฉบับนี้หรือไม่ กระทรวงพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปถึงไหนแล้ว เพราะประชาชน เขาสงสัยกันครับว่าหรือเป็นเพราะการที่กลุ่มปิโตรเคมีต้องจ่ายแพงขึ้น เป็นตัวขัดขวาง ให้ข้อเสนอนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ประเด็นที่ ๒ ครับ เรื่องความโปร่งใสของ กกพ. ในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๙ (๗) ที่ให้มีการเผยแพร่มติของ คณะกรรมการใด ๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งสู่สาธารณะ ท่านประธานครับ การเปิดเผยมติ มันสำคัญเพราะมันช่วยให้เกิดความโปร่งใสและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่นประเด็น การให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบที่ผ่านมามากกว่า ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ ท่านระบุว่าจะให้ใบอนุญาตตามคะแนนเชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่กฎเกณฑ์ วิธีการ ให้คะแนนท่านก็ไม่ได้แจ้ง มีแต่การใช้ดุลยพินิจเพียงอย่างเดียว คำถามคือความโปร่งใส มันอยู่ที่ไหนครับ นี่ยังไม่รวมกระบวนการคัดเลือกที่ให้เวลาแค่เดือนเดียวในการยื่นเอกสาร ท่านครับ คนเขาตั้งคำถามกันว่าคนที่เตรียมเอกสารทันนี่พวกเขารู้กันอยู่แล้วหรือเปล่าครับ หรือประเด็นราคารับซื้อไฟฟ้าที่เราเรียกว่า Feed-in Tariff จากโรงไฟฟ้าพวกนี้มีสูตรคำนวณ อย่างไร สูงเกินกว่าความเป็นจริงราคาตลาดหรือไม่ เพราะคนที่แบกรับต้นทุนก็คือ พี่น้องประชาชนทุกคน ผมจึงอยากตั้งคำถามผ่านไปยังผู้ชี้แจงนะครับว่าทำไมไม่เปิดเผยมติ หรือเนื้อหากระบวนการต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยุติธรรมแก่ประชาชน ไม่อย่างนั้นตัว กกพ. เองอาจกำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๑๕๗ อยู่ก็เป็นได้
ประเด็นที่ ๓ ครับ เรื่องการเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อปรับลด ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า ทุกท่านครับ ไทยมีจำนวนโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นโดยมีถึง ๘ โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยในปี ๒๕๖๔ แต่เรายังต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ผ่านค่าความพร้อมจ่ายที่ถูกระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA ผมเข้าใจนะครับว่า การเข้าไปแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนเป็นเรื่องที่ยาก แต่ท่านประธานครับ ในทุก ๆ สัญญา จะมีการระบุข้อกำหนดข้อหนึ่งคือเหตุสุดวิสัย หรือ Force Majeure คือการเกิดเหตุที่อยู่ นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญา และเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ควรจะนำมาเป็นเหตุ สุดวิสัยที่สามารถนำไปสู่การแก้ไข ลดค่าความพร้อมจ่ายที่รัฐจะต้องจ่ายให้กับเอกชนได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เกิน ความจำเป็นนี้ถูกสร้างตามแผน PDP ที่ไม่ได้คำนึงถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้เลย เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผมขอตั้งคำถามว่าท่านเคยมีความคิดหรือความพยายามที่จะเรียก ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทบทวนแก้ไขสัญญานี้หรือไม่
ประเด็นสุดท้ายนะครับ เรื่องงบประมาณและความคุ้มค่าในการเดินทาง ไปดูงานต่างประเทศ ผมขอตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับงบในกลุ่มนี้ที่สูงมากกว่าหลายสิบล้านบาท ต่อปี แต่ละปีท่านเดินทางไปประเทศต่าง ๆ มากมายแต่ละประเทศล้วนเป็นประเทศที่มี ความก้าวหน้าทางด้านพลังงานทั้งสิ้น คำถามคือทำไมเราถึงยังไม่มีนโยบายหรือกระบวนการ ต่าง ๆ ที่ทันสมัยเหมือนกับประเทศอื่น ๆ เขา เช่นในขณะที่ประเทศอื่นใช้ระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ในการยื่นประมูลโรงไฟฟ้าแต่เรายังต้องยื่นซองกระดาษกันอยู่เลย
สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงว่าถ้าหน่วยงาน ที่ควรจะกำกับกิจการพลังงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ แต่กลับถูกสังคม ตั้งคำถามว่าท่านกำลังถูกกำกับโดยกลุ่มทุนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ใช่เพื่อประชาชน อยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วประชาชนจะพึ่งใคร ขอบคุณครับ
ผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อยากจะขอสอบถามอยู่ ๓ ประเด็น
ประเด็นแรก คือเรื่องของการเผยแพร่มติ ท่านผู้ชี้แจงยังไม่ได้ตอบว่า การเผยแพร่มติต่าง ๆ ทั้งการให้ใบอนุญาตท่านจะทำอย่างไรทั้ง ๆ ที่มีการกำหนดไว้อยู่ใน พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว
อันที่ ๒ เป็นเรื่องของอัตราค่าไฟ มาตรา ๖๖ บอกไว้อย่างชัดเจนว่าวิธีการคิด เรารู้แค่สูตรการคำนวณของค่า Ft แต่ค่าไฟฟ้าฐานเราไม่มีใครรู้ว่ามีการคิดอย่างไร
ส่วนข้อที่ ๓ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่กำลังฟังอยู่ ท่านผู้ชี้แจงชี้แจงว่า เวลา Peak Load ถ้าเราให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องในระบบแบบ Power Pool ที่ใช้กัน ในยุโรปจะมีราคาแพง อันนี้ผมเห็นด้วยนะครับ แต่ว่าไม่ทุกชั่วโมง ถ้าเทียบกับการที่เรา จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายทุก ๆ ชั่วโมงมันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยครับ ขอบคุณครับ
เหลืออีกประเด็นหนึ่ง เรื่องการเผยแพร่มติครับ ขอบคุณครับ
สวัสดีครับ ผม ศุภโชติ ไชยสัจ
ได้ครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมอยากจะ ขออภิปรายและสอบถามท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงครับ เกี่ยวกับผลการดำเนินงาน แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน อย่างที่เรารู้กันทุกคนว่าโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย มีการผูกขาดเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในภาคผลิต ระบบสายส่ง หรือภาคผู้ค้าปลีกครับ จากที่เพื่อน สส. ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดในภาพรวม ผมอยากจะขอลงรายละเอียด เกี่ยวกับเป้าหมายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการแข่งขัน ในแผนนี้มีหลาย เป้าหมายย่อยที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ผมจะขอเลือกมา ๓ ประเด็นที่ผมคิดว่าส่งผลกระทบ กับประชาชนและผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่งครับ
ประเด็นแรก ในรายงานผลกล่าวไว้ว่ามีการประกาศใช้ระเบียบและหลักเกณฑ์ Third Party Access ของระบบสายส่งและระบบจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ผมขอให้ข้อมูล เพิ่มเติมนิดหนึ่งว่าระบบตัว Third Party Access คือการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามา ใช้สายส่งของรัฐได้ ยกตัวอย่างเช่นถ้าผมเป็นเจ้าของโรงงานอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผมสามารถติดต่อเจ้าของโรงไฟฟ้าที่จังหวัดพิจิตรเพื่อซื้อขายไฟฟ้าได้ โดยผมจะต้องชำระ ค่าเช่าใช้สายส่งของภาครัฐ สิ่งนี้มันจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ผลิต กระแสไฟฟ้า รวมถึงผู้บริโภคเองก็มีตัวเลือกที่จะเข้าถึงไฟฟ้าที่มีต้นทุนและคุณภาพ ที่เหมาะสม แต่ในปัจจุบันผมขอสอบถามนะครับว่ามีใครที่สามารถเข้าถึงสายส่งของภาครัฐ ผ่านตัวโปรแกรม Third Party Access นี้ได้บ้าง ทั้ง ๆ ที่กำหนดการควรจะมีการประกาศ บังคับใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ผมยังได้รับข้อมูลมาว่ายังไม่มีการอนุมัติวิธีการคิด ค่าคำนวณหรืออัตราค่าบริการการใช้สายส่งนี้เลย
ประเด็นที่ ๒ เรื่องแผนงานด้านการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการซื้อขายไฟฟ้า หรือ Market Operator ซึ่งอยู่ในร่างแผนการพัฒนาโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริม การแข่งขันในระยะทดลอง ถ้าดูแค่ชื่อนี่เราก็จะเห็นได้ว่ามันน่าตื่นเต้นมาก ๆ นะครับ กับการที่ประเทศไทยจะมีระบบที่ทันสมัยเหมือนประเทศอื่น ๆ เพราะตลาดพลังงาน ที่ถูกเสนอผ่านร่างนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ลดจำนวนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ อย่างมากในประเทศ และไม่จำเป็นที่จะต้องมีการออกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม กับประชาชนเหมือนในปัจจุบัน แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ยังไม่มีใครเคยเห็นเนื้อหารายละเอียด ของร่างนี้เลยว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าจะถูกบังคับใช้เมื่อไร และทีนี้ เราจะเรียกว่าร่างนี้อยู่ในผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไรครับ ในเมื่อ กพช. หรือ กบง. เองยังไม่มี การอนุมัติร่างนี้เลย
ประเด็นสุดท้ายครับ หนึ่งในแผนของการเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Prosumer หรือการให้ประชาชนสามารถทั้งซื้อและขายไฟฟ้าได้ในคนคนเดียวกัน เพื่อเป็นการลดต้นทุน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคต รายละเอียดในแผนนี้กล่าวไว้อย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย หรือการพัฒนาระบบโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเลย มีเพียงบรรทัดเดียวในรายงานสัมฤทธิผลที่เขียนไว้ว่ามีข้อมูลและแนวทาง ท่านประธานครับนี่หมายความว่าคณะปฏิรูปใช้เวลามากกว่า ๕ ปีในการจัดหาข้อมูล อย่างเดียวหรือครับ นอกจากนี้ผลการศึกษาการดำเนินการติดตั้ง Solar ภาคประชาชน ที่เผยแพร่โดยกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรณีที่ให้ประชาชนสามารถใช้ ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตได้ เพื่อหักลบกลบหน่วยของหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในอนาคต หรือที่เราเรียกว่าระบบ Net Metering ซึ่งเป็นระบบที่เราเข้าใจกันดีว่าใช้กันอย่างแพร่หลาย ในต่างประเทศ เพราะว่ามันสามารถช่วยลดภาระของประชาชนได้ รวมไปถึงลดการผลิต กระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงและมีการปล่อยมลพิษที่สูง แต่ทางกระทรวงพลังงานกลับเผยผลการศึกษาว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทางกระทรวงยกมาก็คือระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายยังไม่เพียงพอ ต่อระบบ Net Metering นี้ ท่านประธานที่เคารพครับ เรามีงบประมาณทางด้านการลงทุน เกี่ยวกับระบบสายส่งมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมถึงเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ ในแผนปฏิรูปนี้เอง ผมจึงมีคำถามผ่านท่านประธานไปยังผู้ชี้แจงครับว่าที่ผ่านมาตลอด ๕ ปี เคยมีการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ในการผลักดันการลงทุนทางด้าน ระบบเครือข่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมายในประเทศนี้
สุดท้ายนี้นะครับ ผมอยากจะขอฝากท่านประธานผ่านไปยังผู้ชี้แจงให้เปิดเผย รายละเอียดข้อมูลแก่ประชาชนว่าขั้นตอนแต่ละขั้นตอนอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว เปิดเผย ไปเลยครับว่ามีการติดขัดที่หน่วยงานใด ติดตอหรือว่ามีใครพยายามเตะถ่วงไม่ให้แผนต่าง ๆ ในแผนปฏิรูปนี้ไม่ให้เกิดขึ้นหรือเปล่า เพื่อให้แผนปฏิรูปที่ล้มเหลวมาตลอด ๕ ปีกลับคืน ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานครับ ผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผมขออนุญาต แก้ไขรายชื่อในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ของคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผล เกษตรกรรม จากนายชิษณุพงศ์ เป็นนายกฤษฐ์หิรัญ ผมขอผู้รับรองครับ
ขอแก้ไข จากนายชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล เป็นนายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ขอผู้รับรองครับ
ท่านประธานครับ ๓๗๗ ศุภโชติ ไชยสัจ แสดงตนครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องบอกว่าอย่างนี้ ว่าวันนี้ผมมีความตั้งใจที่จะตั้งกระทู้สดถามท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ แต่การที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาตอบแทนนี้ ผมไม่สามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจเลยครับว่า ท่านรัฐมนตรีมีอำนาจมากพอในการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟให้กับพี่น้องประชาชน เพราะว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกครับท่านประธานที่ผมมีความพยายามจะตั้งกระทู้ถามสดขึ้น เมื่อเดือน กันยายนที่ผ่านมา ผมก็ได้ตั้งกระทู้ถามสดถามท่านรัฐมนตรีโดยตรง แต่ท่านบอกว่า ติดภารกิจซึ่งผมก็เข้าใจได้ครับ แล้วก็ยังดีครับที่ท่านได้เชิญผมเข้าไปคุยที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาทางออกให้กับประเทศทางด้านพลังงาน ซึ่งทางพวกผมพรรคก้าวไกลก็ได้เสนอ มาตรการแก้ไขไปหลายวิธี ซึ่งท่านก็ได้ตกปากรับคำเสียดิบดีว่าจะนำไปพิจารณาต่อ แต่นี่ผ่านมาเกือบ ๔ เดือนแล้ว กลับไม่มีมาตรการอะไรที่ท่านพูดไว้กับผมในวันนั้นออกมา แม้แต่นิดเดียว ผมจึงไม่อาจเชื่อได้ว่าท่านจะมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับ พี่น้องประชาชน แต่ไม่เป็นอะไรครับ ในเมื่อท่านได้ให้เกียรติกับสภาแห่งนี้แล้ว ผมอยากจะ ขอถามท่านดังต่อไปนี้
ประการแรก เรื่องมาตรการเร่งด่วน เรื่องปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ไม่เป็นธรรม นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราได้พูดคุยกันหลายรอบสำหรับประเด็นนี้ ทั้งในสภา แห่งนี้แล้วก็ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งท่านก็ทราบดีว่าไฟฟ้าของบ้านเรานี้ส่วนใหญ่มันผลิตมาจาก ก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งทั้งหมด แล้วการที่นำก๊าซธรรมชาติแบบเหลวหรือ LNG มาใช้ ในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนเรื่องค่าไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนแพงขึ้น แต่กลับ มีการนำก๊าซในอ่าวไทยที่ถูกกว่ามากไปให้กลุ่มอุตสาหกรรมเอกชนก่อน ถ้าถามว่าราคา ต่างกันแค่ไหน เดี๋ยวผมจะบอกตัวเลขให้ฟังนะครับ ราคาก๊าซธรรมชาติแบบเหลวหรือ LNG มีราคาสูงกว่า ๕๐๐ บาทต่อหน่วย MMBTU ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่เอกชนซื้อนี้ เขาซื้อกันที่ราคา ๒๐๐ บาทต่อหน่วย MMBTU ทำไมละครับท่านประธาน ทำไมประชาชน ถึงต้องจ่ายแพงกว่ากลุ่มธุรกิจเกือบเท่าตัว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พูดถึงการปรับโครงสร้าง ราคาก๊าซธรรมชาตินี้เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนได้เลย ผมได้มีโอกาสติดตามฟังคำแถลงของท่านเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ได้กลับไม่มีการลง รายละเอียดถึงวิธีการที่จะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ ๔.๒ บาทเลย ท่านพูดแค่ว่าหวังว่าจะรอราคา ก๊าซของโลกปรับตัวลงอย่างเดียว เมื่อวันที่ ๑ มกราคมปีหน้า การที่ท่านอ้างว่าการปรับ โครงสร้างราคาต้องใช้เวลา มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายตัว ท่านครับ ราคาก๊าซธรรมชาติ ถูกกำหนดจากประกาศของ กกพ. ท่านไปดูได้ครับ เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา ค่าบริการก๊าซธรรมชาติ ปี ๒๕๖๔ สิ่งที่ท่านต้องแก้มีแค่บรรทัดเดียวก็จะช่วยประชาชน ได้ทั้งประเทศ แทบไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรเลย หรือท่านต้องให้ผมบอกไหมครับว่า อยู่หน้าไหน เดี๋ยวผมชี้ให้ครับ ในเรื่องนี้เอง กกพ. ก็ยอมรับและเห็นด้วย ยังเคยทำหนังสือถึง ทางรัฐมนตรีด้วยครับ เสนอในแนวทางเดียวกันครับ เหลือแค่พวกท่านออกเป็นมติให้มี การดำเนินการต่อไป นี่ยังไม่รวมกันผลักภาระให้กับประชาชนที่จะต้องแบกรับต้นทุนจาก การบริหารที่ผิดพลาดในการเปลี่ยนสัมปทานการขุดก๊าซในอ่าวไทย เป็นอย่างที่พวกเรารู้กัน ในช่วงรัฐบาลท่านประยุทธ์มีการเปลี่ยนจากเอกชนเจ้าหนึ่งมาเป็นเอกชนอีกเจ้าหนึ่งครับ แต่ว่าเกิดปัญหาทำให้ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ผลิตได้ลดน้อยลง แล้วเราก็ต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ปตท. ได้มีการปรับเงินกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท จากผู้ผลิตเรียบร้อยแล้วที่ไม่สามารถส่งก๊าซได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่ปัญหามันอยู่ที่เงิน ตรงนี้แทนที่จะเอามาช่วยโปะเรื่องค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนกลับไม่มีครับ ทำให้สุดท้าย ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนที่นำเข้าเชื้อเพลิงที่แพงกว่าเรื่องก๊าซธรรมชาติยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของค่าผ่านท่อที่ถูกสร้างมาแล้วแต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีก๊าซส่งผ่านท่อนั้นเลย แต่ประชาชนยังต้องแบกรับต้นทุนด้วย ที่ผมพูดมาทั้งหมดทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างราคา ค่า Shortfall หรือค่าผ่านท่อเองก็ต้องเป็นคำถามกลับไปที่ทางท่านว่าท่านจะทำไหม ในมาตรการต่าง ๆ ที่ผมพูดไป แล้วท่านจะทำเมื่อไร ขอบคุณครับ
ก็ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี นะครับ ที่ลุกขึ้นมาชี้แจงสำหรับคำถามแรกครับ แต่ก็เป็นคำถามต่อเนื่องเช่นกันครับ ถ้าท่านบอกว่าล้าสมัย แต่ว่า กกพ. ได้เสนอแนวทางนี้เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ปี ๒๕๖๖ ก็ไม่ได้นานมากขนาดนั้น ส่วนเรื่องของราคาที่ส่งเข้าโรงแยกแก๊ส ก็อยากจะให้ช่วยชี้แจงว่า ราคาอยู่ที่เท่าไรครับ
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะถามต่อมาในคำถามที่ ๒ คือเรื่องของ ปริมาณโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เกินความจำเป็น อย่างที่ท่านรู้กันครับ นี่ก็เป็นอีก ๑ ประเด็นที่เรา คุยกันที่ทำเนียบในวันนั้นว่าโรงไฟฟ้าบางโรงถูกสร้างมาแล้วไม่ได้เดินเครื่องเลยตลอด ๑ ปี แต่กลับได้เงินผ่านค่าความพร้อมจ่ายไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี แต่ในความเป็นจริง ๑๐ ปีโรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็คืนทุนแล้ว โดยที่เอกชนไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอะไรเลยครับ ผมเข้าใจดีว่าปัญหานี้มันมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดในอดีต แต่ก็ยังโชคดีที่มันมี ทางออกสำหรับเรื่องนี้ การเข้าไปแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนมันเป็นเรื่องยาก แต่รัฐบาลก็ควรจะใช้มาตรฐานเดียวกันกับการที่ยอมให้เอกชนหลายบริษัทใช้ข้ออ้างเรื่อง โควิดเข้ามาแก้ไขสัญญาสัมปทานกับทางภาครัฐ ดังนั้นเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมาที่มีปริมาณ การใช้ไฟฟ้าลดน้อยลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เหมือนตอนที่คิดจะสร้าง โรงไฟฟ้าเหล่านี้ รัฐบาลก็ควรจะสามารถใช้เหตุผลเดียวกันในการขอเจรจากับเอกชนเพื่อลด ค่าความพร้อมจ่ายลง เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นคำถามที่ผม อยากจะฝากท่านประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีนะครับ ทำไมพวกท่านถึงมองไม่เห็นปัญหา ตรงนี้ว่ามันมีเสือนอนกินที่กำลังหากินบนค่าไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนอยู่ ท่านมีความคิด ที่จะเรียกเอกชนเข้ามาพูดคุยหรือไม่ หรือท่านมีความพยายามจะเข้าไปแก้ไขสัญญาที่ไม่ เป็นธรรมกับประชาชนหรือเปล่า ถ้ามีท่านจะทำเมื่อไร ขอบคุณครับ
ผมก็ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี อีก ๑ รอบนะครับ แต่ผมก็ยังอยากย้ำอีกครั้งนะครับว่าอยากจะให้มีการเปิดเผยมติ กพช. ให้ประชาชนได้รับทราบครับว่าพวกท่านมีวิธีการอย่างไร เปิดในเนื้อหารายละเอียดครับ แล้วผมก็เป็นกำลังใจให้กับท่านในการเข้าไปแก้ไขสัญญาเจรจาซื้อขายไฟฟ้าครับ เพราะว่า ท่านเคยทำสำเร็จใน Hopewell แล้ว ก็หวังว่าจะทำสำเร็จอีกในครั้งนี้ แล้วก็ขอบคุณ เป็นอย่างยิ่งนะครับที่รับปากว่าจะดูแลเรื่องสัญญาของประชาชนที่ส่งผลกระทบกับพี่น้อง ประชาชนจริง ๆ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แล้วก็โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อย่างที่ผม ได้พูดไปครับว่าเงินที่ กฟผ. จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนทุกราย สุดท้ายมันก็มาเป็นต้นทุน ค่าไฟของพี่น้องประชาชนอยู่ดี แต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าปัจจุบันประเทศเราก็ต้องการ สัดส่วนของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึง ลดมลภาวะของประเทศ แต่กระบวนการที่ได้มาจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ แล้วก็เป็นธรรม กับพี่น้องประชาชนครับ
จากกรณีที่รัฐบาลได้มีการประกาศระเบียบการรับซื้อพลังงานทดแทนกว่า ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ในปีที่ผ่านมา ระเบียบที่ประกาศออกไปกระบวนการการคัดเลือก รวมไป ถึงผลลัพธ์ที่ออกมาถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ประการแรก ความผิดปกติคือการที่ไม่ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์การให้ คะแนนในการพิจารณาการคัดเลือก ซึ่งทำให้เกิดช่องโหว่ เกิดความไม่โปร่งใสและอาจมี การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจถูกต้องไหมครับ
ประการที่ ๒ ราคารับซื้อที่สูงเกินไป การที่ กกพ. มีการตั้งราคารับซื้อเอง ตัว กกพ. จะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นอัตราที่ถูกที่สุดกับพี่น้องประชาชน ทั้ง ๆ ที่ในต่างประเทศ เขาให้ผู้ยื่นแข่งขันการเสนอราคากันเข้ามา แล้วผู้ที่ถูกที่สุดก็จะเป็นผู้ที่ชนะได้รับสัมปทานไป ซึ่งระเบียบการรับซื้อนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการซื้อพลังงาน ไฟฟ้าสีเขียวในราคาถูก หนำซ้ำยังเป็นการเอื้อประโยชน์เกินความจำเป็นให้กับเอกชนครับ
ประการสุดท้าย คือผลของการตัดสินที่ให้เอกชนไม่กี่ราย จากระเบียบ ทั้งหมดกว่า ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ ๒,๕๐๐ เมกะวัตต์เกินกว่าครึ่งถูกจัดสรรให้เอกชนเพียงแค่ ๒ รายเท่านั้น และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีการสั่งทุเลาการเซ็น สัญญาโครงการพลังงานลม จำนวนกว่า ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ โดยอ้างถึงเหตุผลที่ผมเพิ่งกล่าวไป ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากยังมีการปล่อยให้ออก ระเบียบรับซื้อที่ไม่โปร่งใสนี้จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ต่อความน่าเชื่อถือของพวกเขา อย่างแน่นอนครับ รวมไปถึงเงินจำนวนหลายแสนล้านบาทที่ถูกจัดสรรให้เอกชนเพียง ๒ ราย แทนที่เราจะเอาเงินก้อนเดียวกันนี้ไปสนับสนุนพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการพัฒนา โครงการพลังงานทดแทนภาคประชาชนไม่ดีกว่าหรือครับ
จากปัญหาผลกระทบหรือแม้แต่คำสั่งศาลที่กล่าวไปข้างต้น นายกรัฐมนตรีเอง ก็มีอำนาจในการออกมติทบทวนการเซ็นสัญญา ในฐานะประธาน กพช. หรือแม้แต่ชะลอ การเซ็นสัญญาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน อย่างน้อยก็เพื่อให้คลายข้อครหาต่าง ๆ แต่ว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นครับ ซ้ำยังปล่อยให้มีการเซ็นสัญญาไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชน โครงการพลังงานแสงอาทิตย์กว่า ๖๐๐ เมกะวัตต์ หลังจากที่ศาลเพิ่งสั่งทุเลาไม่กี่วัน และล่าสุดเมื่อวานเพิ่งมีอีก ๖๐๐ เมกะวัตต์ ทั้ง ๆ ที่มันมาจากระเบียบประกาศฉบับเดียวกัน ที่มันมีปัญหา จากความบังเอิญทั้งหมดทำให้ผมสงสัยไม่ได้เลยว่ามันคือการฮั้วการประมูล โครงการพลังงานทดแทนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ต้องบอกอย่างนี้นะครับว่าผมและ พรรคก้าวไกลไม่ได้มีความพยายามจะเตะถ่วงไม่ให้มีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน แต่ผม เห็นว่าหากจะมีกระบวนการที่เกิดขึ้นจะต้องโปร่งใสและเป็นโครงการเพื่อพี่น้องประชาชน อย่างแท้จริง ก็ต้องเป็นคำถามฝากท่านประธานผ่านไปยังท่านรัฐมนตรี รวมไปถึงผ่านไปยัง ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. อีกครั้งหนึ่งว่าในเมื่อข้อชี้แจงจากทั้งศาลและ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันชี้ให้เห็นว่าระเบียบการรับซื้อพลังงานทดแทนกว่า ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ มันมีปัญหา มันส่อทุจริต และทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ ท่านจะใช้อำนาจที่มีในการ ยับยั้งตรวจสอบการเซ็นสัญญานี้หรือไม่ อย่างไร และจะทำเมื่อไร ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับท่านประธาน เรียนประธานสภาที่เคารพครับ ผม ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากที่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนจาก พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงเรื่องค่าไฟแพงของพี่น้องประชาชนในมุมมองด้านต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องของกำลังการผลิตส่วนเกิน ความเดือดร้อนจากประชาชนจากการมีการลักลอบ เก็บค่าไฟแพงเกินจริง ปัญหาการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ห่างไกล รวมไปถึงมีข้อเสนอแนะให้ รัฐบาลสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอย่าง Heat Pump พลังงานสะอาด และระบบกักเก็บ พลังงานมาใช้ในการลดก๊าซธรรมชาติที่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟของระบบลง ปัญหาเหล่านี้ ครับท่านประธาน ล้วนแต่ต้องการการแก้ไขแบบบูรณาการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงราคาค่าไฟที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน ต่อไปได้ ขอสไลด์ด้วยครับ
ท่านประธานครับ ในช่วงหาเสียง พวกเราพรรคก้าวไกลเคยนำเสนอนโยบายบันได ๕ ขั้น ที่จะช่วยลดค่าไฟอย่างยั่งยืน หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขโครงสร้างราคาก๊าซ การสนับสนุน ให้มีการติดตั้งโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านของพี่น้องประชาชน การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า การแก้ไขสัญญาไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย และการเดินหน้าสู่สังคม Net Zero อย่างจริงจัง ทั้งหมด ๕ ข้อนี้ คือคำมั่นสัญญาที่เราสัญญาไว้กับประชาชนว่าจะผลักดัน ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม ต่อให้เราไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่ที่ผ่านมา พวกเรา พยายามผลักดันผ่านทุกช่องทางที่เราทำได้ ทั้งการพูดในสภาแห่งนี้ การถามกระทู้สดต่อ รัฐมนตรี การเข้าไปที่ทำเนียบเพื่อเสนอวิธีแก้ไขต่อท่านรัฐมนตรีโดยตรง รวมไปถึง การพูดผ่านสื่อทั้งหมดที่เรามีในมือ จนสุดท้ายบันไดขั้นแรกที่พวกเราพยายามผลักดัน อย่างการแก้ไขโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติก็ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลออกมาตรการ ให้มีการถัวเฉลี่ยต้นทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกกับราคาแพงลง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะใช้เวลามากกว่า ๘ เดือนก็ตาม แต่พวกเราก็ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่สุดท้ายแล้วก็ยอมทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น แต่คำถามที่ต้องถาม กันต่อคือบันไดขั้นแรกนี้มาตรการนี้ จะเป็นการใช้ถาวรหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้ลดค่าไฟ เฉพาะงวดนี้เท่านั้น นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นบันไดขั้นแรก ที่ถือว่ารัฐทำสำเร็จในระดับหนึ่ง มันยังมีบันไดอีก ๔ ขั้น ท่านประธานครับ ที่พวกเราได้เคย เสนอไว้ ที่อยากให้ทางรัฐบาลสานต่อเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าไฟให้กับประชาชน บันได ขั้นที่ ๒ การเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นเงิน รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ประชาชนสามารถติดตั้ง แผงโซลาเซลล์บนหลังคาบ้านของตัวเองได้มากขึ้น โดยยกเลิกหรือปรับลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ควรจะสนับสนุนให้ประชาชนสามารถขายไฟที่ผลิตคืนมาได้ คืนสู่รัฐผ่านโครงการ Net Billing หรือถ้าจะให้ดี ให้ประชาชนสามารถเก็บไฟฟ้าที่ตัวเอง ผลิตได้เป็นเครดิต แล้วนำมาเป็นส่วนลดใน Bill ค่าไฟในแต่ละเดือนของประชาชน หรือที่เรา เรียกกันว่า Net Metering แต่ปัจจุบันกลับมีการจำกัดโควตาของประชาชนที่สามารถติดตั้ง แผงโซลาแล้วขายคืนได้ไว้เพียงแค่ปีละ ๑๐ เมกะวัตต์ หรือถ้าจะให้พูดง่าย ๆ คือคิดเป็น จำนวนบ้านแค่ไม่กี่ ๑๐๐ หลังเท่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถปลดล็อคการเปลี่ยนแสงแดดให้เป็น เงินได้จะไม่เพียงแต่ลดภาระให้กับประชาชน แต่ยังเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับพวกเขา อีกด้วย มาต่อกันที่บันไดขั้นที่ ๓ คือการเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า เพราะพวกเราพรรคก้าวไกล ปัจจุบันเห็นว่าในภาคพลังงานหรือภาคไฟฟ้า มันมีการผูกขาดเป็นอย่างมาก การเพิ่ม การแข่งขันลดการผูกขาดลง จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานที่มีราคาถูกและ มีประสิทธิภาพได้ พวกเขาจะไม่ต้องถูกมัดมือชกให้ซื้อไฟฟ้าจากรายใดรายหนึ่งเท่านั้น จะต้องไม่มีการให้ประชาชนมาแบกรับการประกันรายได้ให้กับเจ้าสัวพลังงานไม่กี่ราย อีกต่อไป ประชาชนจะมีสิทธิเลือกผู้ให้บริการไฟฟ้าของพวกเขาเอง รวมไปถึงถ้าใครต้องการ ใช้พลังงานสะอาดก็สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกและเป็นธรรม แต่แน่นอนว่าโครงการที่ช่วย เพิ่มการแข่งขันอย่างเสรี ในการซื้อขายไฟฟ้าอย่างการปลดล็อกสายส่งหรือ Third Party Access ก็ยังค้างเติ่งอยู่เป็นเวลาหลายปีแล้ว แล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการบังคับใช้เมื่อไร ก็อยากจะฝากทางรัฐบาลไปว่าให้มีการติดตาม เร่งรัดและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วย บันไดขั้นที่ ๔ คือการชนทุนใหญ่เสือนอนกินครับ ข้อนี้ ตัวผมเองก็ได้พูดในสภาแห่งนี้ไปหลายรอบว่าควรจะมีการเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กลุ่มทุนทางด้านพลังงานครับ เพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ เดินเครื่องเลย อย่างที่เพื่อน สส. ปารเมศจากพรรคก้าวไกลของผมได้อภิปรายไว้ว่าเรามี โรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และโรงไฟฟ้าเหล่านี้กลับได้เงินหลายหมื่น ล้านบาทฟรี ๆ ผ่านค่าความพร้อมจ่ายครับ ซึ่งในตัวเลขเหล่านี้มันก็ไม่ได้ไปไหน เขาก็มาคิด รวมอยู่ในค่าไฟของพี่น้องประชาชนอยู่ดี ซึ่งถ้าท่านจะบอกว่าสัญญาเอกชนมันแก้ยาก มันแก้ ไม่ได้ อันนี้ผมก็ต้องถามกลับไปทางรัฐบาลว่าท่านเคยมีความคิดหรือมีความพยายามที่จะแก้ หรือยัง เพราะในต่างประเทศเองก็มีการแก้ไขสัญญารัฐกับเอกชนมาแล้วหลายรอบ หรือแม้แต่ในอดีตเองประเทศไทยเคยมีการให้เอกชนเข้ามาแก้ไขสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ เรื่องนี้รัฐบาลควรจะเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง มีความกล้าอย่างน้อยก็เปิดการเจรจาพูดคุย หาโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงในอนาคต แล้วบันไดข้อสุดท้าย บันไดขั้นที่ ๕ คือการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างจริงจัง เพราะในอนาคตครับ ท่านประธานนอกเหนือจากต้นทุนค่าไฟที่ประชาชนจะต้องจ่ายแล้วต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านมลพิษมลภาวะก็เป็นอีก ๑ ปัจจัยที่ประชาชนจะต้องจ่ายสูงไม่แพ้กัน หากยังมี การสนับสนุนให้มีการใช้โรงไฟฟ้าประเภท Fossil อยู่ ซึ่งปัจจุบันเรามีอัตราส่วนจากโรงไฟฟ้า ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติสูงกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะยังใช้อยู่ในแผนในอนาคต ของเรา โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาครัฐยังคงมีแผนจะใช้ไปถึงปี ๒๐๕๐ เป็นอย่างน้อย แต่การจะเปลี่ยนพาสู่สังคมไร้ คาร์บอนอาจจะเป็นไปได้ยากในประเทศเราครับ เพราะเจ้าของ โรงไฟฟ้าประเภท Fossil ส่วนใหญ่ไม่ใช่ใคร ก็คือกลุ่มทุนพลังงานถ้าหากเราให้มีการเพิ่ม สัดส่วนของพลังงานทดแทนหรือลดปริมาณการใช้ Fossil ลงนี้ รายได้ของกลุ่มทุนกลุ่มนี้ก็จะ ตกลงไปด้วย แล้วอย่างนี้ใครมันจะไปยอมครับท่านประธาน นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องเข้ามา แก้ไขและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ อีกข้อหนึ่ง จากที่ผมพูดมาทั้งหมดบันได ๕ ขั้น ในการลดค่าไฟแน่นอนว่าการจะทำได้แต่ละขั้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความ ร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ ผมสรุปมาให้แล้วว่าถ้าเราจะทำสำเร็จแต่ละขั้นได้เราต้องไปคุย กับใครบ้างครับ บันไดขั้นแรกเราทำไปแล้วเรียบร้อยคือการเจรจากับ ปตท. ในการปรับ โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติไหมครับ แต่ ๔ ขั้นที่เหลือนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าท่านจะเต็มใจ ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นเงินที่ต้องไป เจรจากับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ส่วนขั้นที่ ๔ กับขั้นที่ ๕ อันนี้ใหญ่หน่อย ที่ทั้งการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและการเดินหน้าสู่ Net Zero ที่รัฐบาลต้องเข้าไปคุยกับ กลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งหมดนี้หน่วยงานผมเรียกว่า ๕ ต ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปคุยอย่าง จริงจังเสร็จไปแล้วอันหนึ่ง อันนี้ขอชื่นชม แต่ ๔ อันที่เหลือก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะเริ่มทำกี่โมง ที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่ากล้าชน ๆ ท่านกล้าจริง ๆ หรือเปล่าครับ เพราะที่ผ่านมาผมเห็นว่า ท่านชนแต่เรื่องก๊าซธรรมชาติกลุ่มทุนน้ำมัน แต่ทุนพลังงานที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนนี้ ผมกับไม่เห็นท่านพูดถึงเลย ทั้งที่มันอาจจะช่วยลดค่าไฟได้มากกว่าเสียอีก อย่าให้คนตั้งครหา ครับว่าท่านกล้าชนบางกลุ่มแต่หลีกเลี่ยงแค่บางกลุ่มครับ
สุดท้ายครับท่านประธาน พวกเราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหามันไม่จำเป็นต้อง เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพรรคก้าวไกล ถ้าหากสิ่งเหล่านี้มันสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟ ของพี่น้องประชาชนได้จริง เราพร้อมเป็นกระบอกเสียงทันที เพราะปัญหาของประชาชน มันรอไม่ได้ครับ ผมจึงเห็นด้วยกับญัตติปัญหาราคาค่าไฟแพงเป็นอย่างยิ่ง ให้ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสเข้ามาช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ หาทางออกให้กับประชาชน เพื่อสุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้ใช้ค่าไฟที่ถูกอย่างเป็นธรรม ขอบคุณครับ
ท่านประธานครับ ศุภโชติ ไชยสัจ ๓๗๗ แสดงตนครับ