เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ ๗ พรรคเพื่อไทย ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบคุณพี่น้องในอำเภอปรางค์กู่ อำเภอวังหิน อำเภอพยุห์ และอำเภอไพรบึง ที่ได้เลือกดิฉันเป็นผู้แทนในครั้งนี้ วันนี้ดิฉันมีประเด็น ที่จะหารือกับท่านประธาน ๓ ประเด็น
ประเด็นที่ ๑ ได้รับการร้องเรียนจากนายสุพรรณ ปุญญา ผู้ใหญ่บ้าน สำโรงปราสาท หมู่ที่ ๒ อำเภอปรางค์กู่ เรื่องขอให้ซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหาย อันเนื่องมาจากอุทกภัยน้ำท่วม จากพายุโซนร้อนโนรูตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ถนนได้รับความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องสัญจรไปมา การขนส่งสินค้าเกษตร นักเรียนที่ต้องไปโรงเรียน ทุกวันได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่งนะคะ มี ๓ สายด้วยกันคือ ถนนสายบ้านสำโรงปราสาท ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านไพรพะยอม ตำบลกล้วยกว้าง อำเภอห้วยทับทัน ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ถนนสายที่ ๒ บ้านสำโรงปราสาท ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านแดงใหญ่ ตำบลกล้วยกว้าง อำเภอห้วยทับทัน ระยะทาง ๒ กิโลเมตร ถนนสายที่ ๓ บ้านสำโรงปราสาท ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านหนองผึ้ง ตำบลสำโรง ปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ซึ่งถนนดังกล่าวเป็นโครงการที่เกินศักยภาพของ อบต. ในพื้นที่ และ อบต. ได้ส่งเอกสาร ขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงขอหารือ ท่านประธานประสานจัดสรรงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางสายนี้ให้ด้วยนะคะ
ประเด็นที่ ๒ ได้รับการร้องเรียนจาก นางสาวภัทรวี ชานนท์ ผู้ใหญ่บ้าน ไฮเลิง หมู่ที่ ๓ อำเภอปรางค์กู่ ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางสัญจรไปมาของ ประชาชนในหมู่บ้านออกสู่เส้นทางหลัก ระหว่างหมู่บ้านเชื่อมต่อไปสู่อำเภอ คือเส้นทาง จากบ้านไฮเลิง หมู่ที่ ๓ อำเภอปรางค์กู่ ไปบ้านไพรพะยอม ห้วยทับทัน ระยะทาง ๒ กิโลเมตร ซึ่งมีประชาชนใช้เส้นทางนี้สัญจรไปมาเป็นอย่างมากนะคะ จึงขอหารือ ต่อท่านประธานค่ะ
ประเด็นที่ ๓ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนบ้านขนวน หมู่ที่ ๒ ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ ขอให้ขุดลอกห้วยกุดจงตอนล่าง ซึ่งลำห้วยดังกล่าว ตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ ทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกพริก ตลอดจนเลี้ยงสัตว์ แต่ได้รับความเดือดร้อนทุกปีเพราะมีน้ำไม่เพียงพอ ต่อการอุปโภคบริโภคและปศุสัตว์ ซึ่งการขุดลอกคลองห้วยกุดจงตอนล่างนี้จะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนอย่างมาก จึงขอหารือท่านประธานดำเนินการให้ด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องข้อหารือ ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ปัญหาของโรงพยาบาล ปรางค์กู่ มีแพทย์เพียง ๒ ท่าน บางครั้งการรักษาพยาบาลไม่เพียงพอ ที่เหลือก็เป็น แพทย์ฝึกหัด ขาดความชำนาญ การวินิจฉัยโรคไม่ค่อยตรง แล้วก็ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลขุขันธ์ ซึ่งการเดินทางก็ยากลำบาก อีกทั้งชาวบ้านก็มีฐานะยากจน วัน ๆ หนึ่งก็ไปกันหลายร้อยคน จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งช่วยดำเนินการหาแพทย์มาเพิ่มเติมให้ด้วย
เรื่องที่ ๒ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้โอนทรัพย์สิน สาธารณูปโภคแหล่งน้ำและระบบประปาชนบทให้กับเทศบาลตำบลปรางค์กู่มากว่า ๓๐ ปีแล้ว จากเดิมมีผู้ใช้บริการเพียง ๕๐๐ ราย ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น ๓ เท่า สภาพเก่า ทำให้ ผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ อาคารโรงสูบน้ำ อุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมเป็นสนิม ทำให้น้ำ ไม่สะอาดและไม่เพียงพอต่อการใช้ ขอให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๓ ถนนเส้นบ้านปอไปบ้านเหล่า ตำบลโนนเพ็ก อำเภอพยุห์ ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ผู้ใช้ถนนได้รับ อุบัติเหตุบ่อยครั้ง หัวถนนและท้ายถนนเป็นคอนกรีต แต่ช่วงล่างเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ได้ ซ่อมแซมมาหลายปี ขอให้จัดสรรงบประมาณให้ด้วยนะคะ
เรื่องที่ ๔ ชาวบ้านผือพัฒนา ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ ได้รับความเดือดร้อน สภาพถนนที่เป็นหินคลุกมีสภาพขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนสัญจรลำบากและเกิดอันตรายบ่อยครั้ง จึงขอให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเร่งเข้ามาซ่อมแซมให้ด้วยค่ะ
เรื่องที่ ๕ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายทองสุข คำมา นายก อบต. ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่ ว่าสภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ขอให้ช่วยดำเนินการซ่อมแซมแล้วก็ทำถนนคอนกรีตให้ด้วยนะคะ ก็มี ๑. ถนนบ้านไผ่ หมู่ที่ ๗ ถึงบ้านกระโดน ตำบลหนองเชียงทูน ๒. บ้านไผ่ หมู่ที่ ๗ เชื่อมถนนทางหลวงชนบท ศก.๓๐๓๙ ๓. บ้านขะยูง หมู่ที่ ๔ ถึงบ้านโพธิ์น้อย หมู่ที่ ๙ ๔. บ้านไฮ หมู่ที่ ๗ ถึงบ้านรำเจก หมู่ที่ ๓ ๕. บ้านโพธิ์สามัคคี หมู่ที่ ๘ ถึงบ้านขี้นาค ตำบลตูม หมดแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
ท่านประธานคะ วิลดา อินฉัตร ๓๔๘ แสดงตนค่ะ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้มีเรื่องที่จะหารือต่อสภา ๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ เป็นปัญหาเรื่องไฟฟ้า เพื่อการเกษตรของ ตำบลโนนปูน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ การเพาะปลูกนับว่า มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหอมแดง ผลผลิต ก็จะออกมากในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูแล้งเกษตรกรก็จะประสบปัญหา เรื่องน้ำในการเพาะปลูกเป็นอย่างมาก ปัจจุบันก็ใช้เครื่องสูบน้ำจากแหล่งผลิตน้ำผิวดิน น้ำบาดาล การสูบน้ำดังกล่าวต้องใช้ไฟฟ้า แต่พื้นที่เพาะปลูกไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แล้วก็ใช้วิธี ต่อลากไฟไปจากหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระยะทางไกลมากทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและเกิดอันตรายในที่ ที่ไฟฟ้าพาดผ่าน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มเกษตรกร ดิฉันจึงขอไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ดังนี้ ๑. บ้านหนองปิงปอง หมู่ที่ ๗ ถึงบ้านอะลาง เขตตำบลกฤษณา ๙๖๐ เมตร ๒. บ้านปิงปอง หมู่ที่ ๗ ถึงหนองแฮด ๙๐๐ เมตร ๓. บ้านโนนดู่ บ้านหนองปิงปอง หมู่ที่ ๗ ถึงบ้านสามแยกวัดพระธาตุจังเกา ๑,๔๐๐ เมตร ๔. บ้านตะเคียน หมู่ที่ ๖ ถึงบ้านหนองปิงปอง หมู่ที่ ๗ ๑,๑๐๐ เมตร ๕. บ้านตะเคียน หมู่ที่ ๖ ถึงบ้านห้วยป่าม่วง หมู่ที่ ๘ ๗๐๐ เมตร บ้านห้วยป่าม่วง หมู่ที่ ๘ ถึงบ้านตะเคียน หมู่ที่ ๖ ๗๕๐ เมตร จึงขอหารือผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ ๒ เรื่องของบประมาณในการซ่อมแซมถนน เพื่อการท่องเที่ยว รอบบารายสระกู่ ดิฉันได้รับการประสานงานจาก นายพสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายกองค์การ บริหารส่วนตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ กรณีองค์การบริหารส่วนตำบลร่วมกับ สภาวัฒนธรรมได้ขอใช้อาคารราชพัสดุหลังลำดับที่ สก. ๑๙๕๕ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวกูย ซึ่งตั้งอยู่ในบารายชุมชนท่องเที่ยวคุณธรรมวัดบ้านกู่ ประชาชนได้รับประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์นี้ ในการส่งเสริมการศึกษาการท่องเที่ยวโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวกูย ได้นำเสนอให้เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เกิดการกัดเซาะของน้ำ ทำให้ถนน รอบบารายเสียหายเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อนักท่องเที่ยวและประชาชน ในพื้นที่จากการใช้ถนน จึงขอหารือผ่านท่านประธานไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ตรวจสอบถนนรอบบาราย เพื่ออนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมโดยด่วนนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยค่ะ
ขอความอนุเคราะห์โครงการ สระว่ายน้ำเทศบาลนะคะ ในช่วงฤดูร้อนเด็ก ๆ ก็จะปิดเทอม แล้วก็ไปเล่นน้ำกันตามลำพัง โดยขาดการดูแลจากผู้ปกครอง อันเป็นสาเหตุของการจมน้ำตาย จากสถิติในช่วง ๕ ปี ที่ผ่านมา เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีจมน้ำเสียชีวิตช่วงเดือนมีนาคม เดือนพฤษภาคม ๙๕๓ คน ก็จะเฉลี่ยวันละ ๒ คน ซึ่งเป็นช่วงที่ปิดเทอม ในขณะที่อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ก็มีปัญหาเรื่องเด็กจมน้ำเสียชีวิต จากสถิติพบว่าในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา เด็กเสียชีวิตจากการ จมน้ำตายถึง ๒๐ ราย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเด็กจมน้ำตาย ดิฉันจึงขออนุเคราะห์ งบประมาณเพื่อสร้างสระว่ายน้ำสำหรับเด็กในชุมชน พร้อมทั้งอุปกรณ์มาตรฐานการกีฬา ขอเรียนผ่านท่านประธานไปยังกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้โปรดพิจารณา งบประมาณสร้างสระว่ายน้ำให้กับเด็กได้ฝึกทักษะการว่ายน้ำ และสามารถช่วยเหลือตนเอง ได้ในทุก ๆ สถานการณ์นะคะ
เรื่องที่ ๒ เรื่องการติดตามการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งดิฉันได้เคยหารือเรื่องนี้ไปแล้วนะคะ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชนในอำเภอปรางค์กู่ จึงขอติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากปัญหาของผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลมีแพทย์ไม่เพียงพอ วันหนึ่งก็จะมีผู้มารักษา ๓๐๐-๔๐๐ คน แต่มีแพทย์ชำนาญการเพียง ๒ คน ไม่มีแพทย์ เฉพาะทาง มีแต่แพทย์ฝึกหัดที่ขาดความชำนาญในการรักษา ทำให้ต้องเดินทางไปรักษาตัว ที่โรงพยาบาลขุขันธ์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยากจน ไม่มีเงินค่าเดินทาง ดิฉันจึงขอหารือ เรื่องนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขได้รีบเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรทางการแพทย์โดยด่วน ดิฉันจะขอหารือเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะคะ ขอให้พี่น้องชาวปรางค์กู่ได้รับทราบว่าผู้แทน ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ได้หารือถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา ขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วย ชาวปรางค์กู่ในเรื่องโรงพยาบาลปรางค์กู่ด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาววิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันมีเรื่องมาร้องเรียน ซึ่งได้รับแจ้งจากราษฎรในพื้นที่หมู่ที่ ๖ บ้านตีกา หมู่ที่ ๘ บ้านโนนดู่ ตำบลศรีสำราญ อำเภอวังหิน เรื่องฝายบ้านตีกา-โนนดู่ ขณะนี้ประสบปัญหาประตู เปิด-ปิดน้ำ เพื่อระบายน้ำชำรุดใช้การไม่ได้ เมื่อฝนตกหนักน้ำฝนมากก็จะท่วมขังบริเวณ รอบ ๆ ฝาย ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ และอีกไม่นานก็จะเข้าสู่วิกฤติภัยแล้งก็จะเกิดปัญหาน้ำ ขาดแคลนอย่างหนัก จากการเข้าตรวจสอบของทีมงานชลประทานศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ผ่านมา ๒ ปีกว่าแล้ว พบว่าบานระบายน้ำของบ้านตีกา-โนนดู่นี้ใช้ การไม่ได้ดังนี้
๑. บานระบายน้ำที่บริเวณตัวฝายชนิด Radium Gate จำนวน ๖ บาน ได้ชำรุดเสียหายหนักจนไม่สามารถใช้การได้จำนวน ๑ บาน และมีการรั่วซึมอีก ๒ บาน
๒. ระบบควบคุมเกียร์มอเตอร์ไม่สามารถใช้การได้ ๑ ชุด ทำให้ไม่สามารถ เปิด-ปิดได้ ทั้งนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษได้ประเมินความเสียหายและหาแนวทาง ปรับปรุงซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ แต่ยังไม่มีงบประมาณในการปรับปรุง ซ่อมแซม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ติดกับ ริมน้ำตลอดเส้นทางมี ๖ อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอ วังหิน อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอเมือง หลังจากนั้นน้ำก็ไหลลงสู่อำเภอราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ ประชาชนได้ถูกน้ำท่วมตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนประชากร ในตำบลศรีสำราญและตำบลวังหินจะได้รับผลกระทบประมาณ ๔,๖๒๖ หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรจะได้รับผลกระทบ ๙,๓๗๕ ไร่ ทั้งหมดนี้คือความเสียหายของพี่น้องชาว จังหวัดศรีสะเกษ เพราะขาดงบประมาณในการซ่อมบำรุงประตูปิด-เปิดน้ำ ซึ่งฝายนี้เป็น ฝายสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษดิฉันจึงเรียนฝากท่านประธานไปยังกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ได้กรุณาจัดสรรงบประมาณให้โครงการชลประทานศรีสะเกษได้เข้ามาปรับปรุง ซ่อมแซมบานประตูเปิด-ปิดน้ำ ฝายบ้านตีกา-โนนดู่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากทำการล่าช้า อาจส่งผลให้ฤดูฝนนี้ฝายอาจจะแตกได้และทำความเสียหายให้แก่นาเกษตรกรเป็นวงกว้างได้ ขอบพระคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน วิลดา อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต ๗ พรรคเพื่อไทยค่ะ
วันนี้ขอหารือเรื่อง โครงการจัดการ หาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ตำบลพยุห์ได้รับมอบบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบประปา ขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ จากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัด อุบลราชธานี ต่อมา อบต. พยุห์ได้มอบให้กองทุนกลุ่มกิจการประปาบาดาลบริหารจัดการต่อ แต่ขาดทุนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ กว่าบาทนะคะ เนื่องจากเครื่อง สูบน้ำบาดาลทำหน้าที่สูบน้ำขึ้นมาสู่ผิวดิน แต่ไม่มีน้ำเพราะว่าแหล่งน้ำใต้ดินมีปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอ อบต. พยุห์ก็ได้หาทางแก้ไขปัญหา โดยการลดกำลังเครื่องสูบน้ำลง เพื่อประหยัด ค่าไฟฟ้าพร้อมกับประสานไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับเพียงการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แล้วก็ อ้างว่าไม่มีงบประมาณในการซ่อมบำรุงแก้ปัญหาดังกล่าว หากพิจารณาระยะเวลาในการ รับมอบจนมาถึงช่วงที่เกิดปัญหา ซึ่งถือว่าสั้นมากนะคะ เฉลี่ยเพียงแค่ ๑ ปีเท่านั้น มาตรฐาน บ่อน้ำบาดาลควรจะใช้งานได้มากกว่านี้ เพราะใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปถึง ๕๐ ล้านบาท ดิฉันจึงขอหารือผ่านท่านประธานสภาช่วยประสานให้สำนักทรัพยากร น้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานีแก้ปัญหาโดยการเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ เป่าล้างบ่อ และแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าโดยการติดโซลาเซลล์แทนการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย หากการแก้ไขยังล่าช้า สถานการณ์ภัยแล้งได้เกิดขึ้นแล้ว และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันราษฎรก็ต้อง ซื้อน้ำใช้กันแล้วนะคะ จึงขอเรียนผ่านท่านประธานสภาไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามา แก้ไขโดยด่วนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ