นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • รบกวนฝ่ายโสตได้เตรียม Slide ประกอบการนำเสนอ

    อ่านในการประชุม

  • ซึ่งผมจะรบกวนเวลา ประชุมไม่นานนะครับ นำเรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อ ท่านประธานครับ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านสุธรรมที่เสนอให้มีการกำหนดวันประชุม ๓ วันต่อสัปดาห์ ประกอบไปด้วยวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี ด้วยเหตุผลที่ว่าในสภาชุดที่แล้ว เราได้มีวาระค้างพิจารณารวมถึงกฎหมายที่เสนอมาจากภาคประชาชนและ สส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ก็คิดว่า สมัยประชุมนี้ แล้วก็สภาชุดนี้เราจะได้ทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ครับ ทั้งนี้ผมจะขออนุญาต ท่านประธานใช้เวลาสภาสั้น ๆ นำเสนอ Slide ที่ฝ่ายโสตนำขึ้นได้เลยประกอบการตัดสินใจ ของเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ซึ่งผมคิดว่าวันนี้เป็นญัตติที่พวกเราต้องการทำหน้าที่ในฐานะ ตัวแทนปวงชนชาวไทยกันอย่างเต็มที่ คิดว่าเราน่าจะได้ข้อสรุปกันโดยไม่ต้องใช้การลงมติ ก็อาจจะใช้วิธีการที่ใช้ตามข้อบังคับ ข้อ ๘๘ ไปได้เลย ท่านประธานครับ Slide ๕ หน้าวันนี้ ที่ผมเตรียมมาอยากจะนำเสนอผ่านท่านประธานไปยังเพื่อนสมาชิกทุกท่านก็คือผลงาน ของรัฐสภาเราในชุดที่ผ่านมา ซึ่งผมอยากจะเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องของกระบวนการในฝ่ายนิติบัญญัติ พยายามจะ Point ไปที่เรื่องของกระบวนการ

    อ่านในการประชุม

  • Slide หน้าแรก ๔ ปีที่ผ่านมามีกฎหมายที่ถูกแท้งถึง ๓๔๙ ฉบับครับ ท่านประธาน มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภาทั้งหมด ๔๒๗ ฉบับ ผ่านสภาเราไปแค่ ๗๘ ฉบับ เท่านั้น หักลบในส่วนที่นายกรัฐมนตรีปัดตกเนื่องจากเป็นร่างการเงินไป ๕๙ ฉบับ หักลบส่วนที่ตกในสภา หักลบส่วนอื่น ๆ ออกไปนี่กฎหมายแท้งถึง ๓๔๙ ฉบับนะครับ ผมมีเชิงอรรถเล็กน้อยส่วนที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีปัดตกในฐานะ เป็นร่างการเงิน ๕๙ ฉบับเลย และมากสุดในประวัติการณ์ในช่วงตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา แต่อันนั้นไม่เป็นอะไรครับ วันนี้ผมต้องการอภิปรายในเรื่องของกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide หน้า ๒ ครับ Slide หน้า ๒ เราจะเห็นได้ว่าก้อนสีเขียว ๆ ครับ ท่านประธาน ก้อนสีเขียว ๆ นั่นคือก้อนที่กฎหมายผ่านสภาออกไป จะเห็นว่าสูงสุดในแท่งแรก ก็คือเป็นกฎหมายที่เสนอมาจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น มีบางส่วน ๔ ฉบับเป็นกฎหมายที่เสนอ มาจาก สส. ฝ่ายรัฐบาลที่สามารถผ่านสภาไปได้ แต่กฎหมายที่เสนอมาจาก สส. พรรคฝ่ายค้าน ก็คือพวกผมในปัจจุบันที่นั่งอยู่ฝั่งนี้ แต่เราสลับฝั่งกันในสมัยประชุมนี้นะครับ กับกฎหมาย ที่เสนอโดยภาคประชาชนไม่มีผ่านสภาไปเลย ย้ำอีกครั้งนะครับ ๔ ปีที่ผ่านมากฎหมายที่เสนอ มาจากประชาชนและตัวแทนประชาชน ไม่ว่าจะเป็นค้านหรือรัฐบาล แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามาจากพรรคฝ่ายค้านไม่เคยผ่านสภาเราไปเลย

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ที่ ๓ ไม่เพียงเท่านั้นครับ กระบวนการที่ล่าช้าในการพิจารณา พระราชบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติเราทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วใช้อำนาจผิด ๆ ถูก ๆ ในการตรา เป็นพระราชกำหนด เห็นชัดที่สุดกฎหมาย พ.ร.ก. อุ้มหายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่าไม่ได้เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนนะครับ เราจะเห็นว่า จากตัวเลขสถิติซึ่งเป็นข้อเท็จจริง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการตรา พ.ร.ก. มากสุดในรอบ ๒๐ ปี ถึง ๑๓ ฉบับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide ถัดไปครับ นอกจากนี้ผมอยากจะบอกเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ที่วันนี้เรานั่งสลับฝั่งกันในสภานะครับ พวกผมเองพร้อมยินดีเป็นอย่างยิ่งและผมก็เชื่อว่า เพื่อนสมาชิกทุกคนในสภาพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะโหวตกฎหมายทุกอย่างไม่ว่าจะเสนอมา จากฝ่ายใด ถ้าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนเราพร้อมที่จะลงมติให้ครับ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และอีกหลาย ๆ ฉบับที่อยู่ใน Slide หน้านี้ ผมไม่ขออ่านทั้งหมด เดี๋ยวจะเสียเวลา ทุกท่านจะเห็นได้ว่าโดยหลักสถิติที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้าน สส. ที่นั่งอยู่ใน สภาชุดนี้ในสภาชุดที่แล้วเราก็ลงมติโหวตผ่านให้ถ้าเป็นกฎหมายที่เป็นเพื่อผลประโยชน์ ประชาชน

    อ่านในการประชุม

  • ขอ Slide หน้าสุดท้ายครับ สุดท้ายเรายังมีกฎหมายค้างท่อที่ผมได้นำเรียน ท่านประธานครับอยู่ในสภาชุดที่แล้วอีก ๑๘๐ ฉบับ ซึ่งแท่งที่สูงที่สุดคือกฎหมายที่เสนอมา จากภาคประชาชน ๕๔ ฉบับ ทุกท่านลองคิดว่าถ้าวันนี้บอกว่าเราจะนำกฎหมายที่ค้างท่อ จากสภาชุดที่แล้วใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีหยิบมาพิจารณาใหม่ แปลว่าเรามีอีก ๑๘๐ ฉบับ ที่ยังไม่ต้องเสนอเพิ่มอยู่ในวาระการพิจารณาอยู่แล้วนะครับ แล้วทุกท่านคิดว่าถ้าเรายังใช้ จำนวนวันประชุมแบบเดิมสภาผู้แทนราษฎรเราจะสามารถผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชนได้ทันหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นข้อมูลการประกอบการตัดสินใจของ เพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับ ฝ่ายโสตนำ Slide ลงได้แล้วนะครับ ซึ่งผมเห็นว่า โดยหลักเหตุและผลบนข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้พวกเราพร้อมทำหน้าที่เต็มที่ แล้วก็คิดว่า ไม่ว่าจะมาจาก สส. ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเราพร้อมที่จะผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชน แล้ววันนี้คิดว่าไม่น่าจะต้องมีการลงมติครับ ด้วยความเคารพ เพื่อนสมาชิกทุกท่าน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล ก่อนอื่นขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีที่วันนี้สละเวลาอันมีค่ามาตอบ กระทู้ถามสดด้วยตนเองในสภาผู้แทนราษฎร แล้วผมก็เชื่อว่าวันนี้หัวข้อในการตั้งกระทู้ถาม เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไม่ได้เป็นหัวเรื่องใหม่นะครับ ที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยประสบวิกฤติมาหลายครั้ง แล้วก็เป็นสิ่งที่พวกเราพี่น้องประชาชน ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มามากพอสมควร แล้วก็ในรัฐบาลชุดนี้ท่านรัฐมนตรีเอง ก็ออกมา Take action เร็ว ซึ่งส่วนนี้ผมต้องขอชื่นชมจริง ๆ นะครับ แต่ว่าวันนี้จำเป็น ที่จะต้องมาตั้งกระทู้ถามสด เพราะผมเชื่อว่าถ้าวันนี้ท่านรัฐมนตรีไม่สามารถให้ความชัดเจน ๓ เรื่องหลัก ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความชัดเจนในกรอบ ทิศทางการดำเนินงาน ความชัดเจนในเรื่องของกรอบระยะเวลา ซึ่งท่านได้ให้ข่าวไปแล้ว บางส่วน รวมถึงกรอบความชัดเจนในเรื่องของการใช้งบประมาณ ผมคิดว่าการดำเนิน นโยบายอาจจะตอบโจทย์ ไม่ถูกทิศถูกทาง แล้วก็ไม่มีความรวดเร็วเพียงพอในการตอบสนอง แล้วก็ป้องกันเหตุร้ายในอนาคตนะครับ

    อ่านในการประชุม

  • อย่างแรก ผมขออนุญาตเท้าความเดิมก่อนที่จะขอตั้งคำถามครั้งแรก แก่ท่านรัฐมนตรี เข้าใจว่าวันนี้ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในคณะกรรมาธิการ DE ถึงประเด็นดังกล่าว ก็เป็นที่มาที่ผมได้รับทราบข้อมูลบางส่วนที่วันนี้ก็น่าจะมาตั้งคำถาม ให้เกิดความชัดเจนกับท่านรัฐมนตรีได้มากขึ้นนะครับ ในส่วนของภัยที่ผ่านมาเราต้องแบ่งแยกภัยที่เกิดผลร้ายต่อพี่น้องประชาชนออกเป็น หลายระดับ หลายแบบครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภัยสึนามิที่ผ่านมา อันนั้น ย้อนไปไกลเกือบ ๒๐ ปี หรือเหตุกราดยิงที่โคราชที่เกิดขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุ กราดยิงพารากอนล่าสุด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราคิดว่าเป็นเหตุภัยความมั่นคงหรือว่าเหตุภัยพิบัติ ร้ายแรงที่ควรจะต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทุกคนรับทราบตรงกัน อย่างเช่นถ้าแจ้งเตือน ผ่าน Smartphone ถึงแม้เปิดระบบสั่นอยู่เขาก็ต้องได้รับความแจ้งเตือน อันนี้คือประเด็นที่ ๑

    อ่านในการประชุม

  • อย่างที่ ๒ ภัยอย่างอื่น อย่างเช่น ภัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เราเผชิญมาทุกปี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งเตือนให้ประชาชน ตื่นตระหนกเกินสมควร อาจจะมีรูปแบบการแจ้งเตือนอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่า อย่างเช่น ส่งไปเป็น SMS ก่อนที่ประชาชนจะออกจากบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมได้ยกตัวอย่าง กำลังจะบอกว่าที่ผ่านมามีภัยพิบัติ ภัยความมั่นคง หรือเหตุต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อ พี่น้องประชาชนมาเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลจะต้องมีระบบศูนย์กลางที่ทำการแจ้งเตือน ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเหมาะสม เหมาะสมในที่นี้ก็คือเหมาะแก่เวลา ภัยพิบัติเกิดขึ้นปุ๊บ ต้องแจ้งเตือนได้ปัจจุบันทันด่วน เหมาะกับพื้นที่ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่ ก็แจ้งเตือนเฉพาะเจาะจงบางพื้นที่ ไม่ใช่ว่าต้องแจ้งเตือนให้กับประชาชนทั้งประเทศ เดี๋ยวจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินสมควร

    อ่านในการประชุม

  • อย่างที่ ๓ ก็คือเหมาะในเรื่องของรูปแบบ อย่างที่ผมได้นำเรียนว่าบางอย่าง เหมาะที่จะส่งเป็น SMS ได้ บางอย่างถึงแม้ประชาชนเปิดระบบสั่นไม่ทันได้หยิบขึ้นมาอ่าน ก็ต้องได้รับข้อความแจ้งเตือนแบบนี้ ซึ่งผมจะขอยกกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศสักเล็กน้อย ให้ท่านรัฐมนตรีได้ลองเห็นสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอก่อนที่จะตั้งคำถามครับ

    อ่านในการประชุม

  • กรณีตัวอย่างแรก เป็นกรณีตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชน รับชมรายการทางโทรทัศน์แล้วมีเรื่องของพายุทอร์นาโดเข้ามา ก็จะมีการแจ้งเตือน ผ่านระบบทางสถานีโทรทัศน์ได้ ผมอธิบายคร่าว ๆ ก็คือประชาชนกำลังรับชมรายการ โทรทัศน์ปกติ อยู่ดี ๆ ก็จะมีจอดำ ๆ ขึ้นมา แล้วก็มีระบบเสียงออดออกมาทางโทรทัศน์ เป็นเสียงแอ๊ด ๆ แล้วก็มีข้อความแจ้งเตือนบอกเลย ประชาชนก็จะสามารถรับทราบภัยพิบัติ ได้อย่างทันท่วงที

    อ่านในการประชุม

  • ตัวอย่างที่ ๒ ที่ผมจะมานำเสนอ ถ้าฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์เปิดได้ทัน ก็คือระบบ การแจ้งเตือนผ่านพวก Smartphone แบบนี้ที่ไม่ได้เป็นแค่ SMS ก็คือ Smartphone สมัยใหม่แบบนี้ ทุกวันนี้รองรับ Protocol ใหม่ ๆ แล้ว เมื่อมีการส่งคำแจ้งเตือนออกไป ไม่ว่าจะเปิดสั่นก็ตาม ประชาชนใส่ไว้ในกระเป๋าไม่ทันหยิบขึ้นมาดูตลอดเวลาก็ตาม อยู่ดี ๆ โทรศัพท์มือถือมันจะร้องขึ้นมาดัง ๆ แล้วก็มีหน้าจอผิดปกติให้ประชาชนสังเกตได้ว่า นี่คือการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ จริง ๆ อันนี้ก็คือในเรื่องของรูปแบบที่ผมได้นำเรียน ในตอนต้นว่าต้องมีความเหมาะสม สิ่งที่ผมอยากจะตั้งคำถามต่อท่านรัฐมนตรีครั้งแรก อาจจะประกอบไปด้วย ๒ คำถามด้วยกัน

    อ่านในการประชุม

  • อย่างแรก ก็คือ ผมรับทราบมาว่าในรัฐบาลชุดก่อน รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผน ยุทธศาสตร์เตือนภัยแห่งชาติด้วย Digital แบบบูรณาการที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธานกรรมการเอง อยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีคำถามแรกครับว่าสิ่งที่ ท่านกำลังจะทำ ที่ท่านออกมาแถลงว่าจะเสร็จภายใน ๖ เดือนหรือ ๑ ปีนั้น เหมือนหรือแตกต่างกับแผนของรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาอย่างไร ถ้าเหมือน ท่านจะมั่นใจ ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะทำใหม่ภายใต้อำนาจของท่าน ภายใต้รัฐบาลของท่านจะดีกว่า รัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งประชาชนเห็นผลงานแล้วว่าประเทศเรายังไม่มีระบบอย่างที่ ต่างประเทศมีได้จริง หรือถ้าแตกต่าง ผมอยากจะขอความชัดเจนจากท่านว่าแตกต่างอย่างไร อันนั้นเป็นคำถามแรก

    อ่านในการประชุม

  • คำถามที่ ๒ ในการตั้งคำถามครั้งแรกครั้งนี้ ก็คือผมอยากจะให้ท่านนำเรียน ให้เห็นถึงความชัดเจนในทิศทางหรือสถาปัตยกรรมระบบ อย่างที่ผมได้นำเรียนไปว่า ระบบที่ดีควรจะต้องเป็นระบบที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มตาม Slide แผ่นภาพอันนี้ ตอนที่มีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าแจ้งเตือนเฉพาะไปยังประชาชนที่มี Smartphone สมมุติผมอยู่บ้าน ผมวางโทรศัพท์ทิ้งไว้ Charge ไว้ ผมกำลังดูโทรทัศน์ แต่ถ้าเป็นภัยพิบัติ ร้ายแรงจริง ๆ สถานีโทรทัศน์ก็ต้องตัดภาพ เพื่อบอกให้ประชาชนสามารถรับทราบได้ ไม่ใช่เฉพาะโทรทัศน์ครับ วิทยุด้วย ซึ่งประเทศไทยเราก็มีวิทยุชุมชนที่ท่านบอกว่าเป็น Location Based Service บางทีอาจจะแจ้งเตือนไปยังศูนย์วิทยุชุมชนที่อยู่ตามจังหวัด ต่าง ๆ ก็ได้ ดังนั้นคำถามที่ ๒ ที่อยากจะขอความชัดเจนจากท่านว่าที่ท่านแถลงข่าวว่า Location Based Service จะพร้อมใช้งานภายใน ๑ เดือน ๖ เดือน ถึง ๑ ปี จะพร้อม เป็น Cell Broadcast คำว่า Location Based Service และ Cell Broadcast นี้ รองรับแค่ โทรศัพท์มือถือ หรือรองรับทั้งคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ TV ดาวเทียม หรือเคเบิล TV อันนี้คือ ความชัดเจนในเรื่องของสถาปัตยกรรมระบบ ก็เป็นการตั้งคำถามครั้งแรกที่จะส่งผ่าน ท่านประธานไปยังท่านรัฐมนตรีเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องของทิศทางการดำเนินนโยบาย ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณท่านประธานครับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอบคุณท่านรัฐมนตรี ที่ลุกขึ้นมาตอบคำถาม ๒ ข้อแรก

    อ่านในการประชุม

  • สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ และเห็นความชัดเจนมากขึ้นจากท่านรัฐมนตรีที่ได้ตอบคำถามก็คือ ๑ ปีในกรอบที่ท่านได้ แถลงคือในเรื่องของระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นลักษณะที่แจ้งเตือนเจาะจงตามพื้นที่ แล้วก็รองรับเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ อย่างเช่น ส่งเป็น Push Notification ที่ท่านได้นำเรียน หรือว่าอาจจะเป็น SMS ไปเข้าโทรศัพท์มือถือที่อาจจะยังไม่ใช่ Smart Phone แต่อย่างที่ผมได้นำเรียนว่าสิ่งที่เราคาดหวังอยากจะให้เป็นระบบแจ้งเตือน ภัยพิบัติแห่งชาตินั้นก็คือการแจ้งเตือนไปยังทุก ๆ ช่องทางที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือด้วย อย่างเช่นในเรื่องของสถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุต่าง ๆ สิ่งนี้ละครับที่ผมอยากจะได้ ความชัดเจนในเรื่องที่ ๒ อย่างแรก เมื่อสักครู่นี้ท่านได้ยืนยันแล้วว่ารัฐบาลมีแนวคิดให้เกิด ความชัดเจนในการพัฒนาระบบแจ้งเตือน มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะต้องครอบคลุมทุกเครือข่าย ทุกสื่อ แต่ถ้าท่านเห็นตาม Slide หน้านี้ว่าสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้มีหลายภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องด้วยกัน ไม่ว่าจากซ้ายสุดคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งภัยแจ้งเตือน ไม่ว่า จะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยาเอง หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือหน่วยงาน ด้านความมั่นคง ส่งมาที่ระบบศูนย์กลาง ผมว่าส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือส่วนของ Operator ส่วนที่ ๓ ที่ท่านจะต้องวางระบบให้มีการครอบคลุมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ TV ดาวเทียม เคเบิล TV รวมถึงค่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผมเชื่อว่า ๑ ปีนี้ทำทุกอย่างไม่เสร็จ แน่นอน ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ได้บอกมาแล้วว่า ๑ ปีนี้รองรับแค่ในเรื่องของ Cell Broadcast นะครับ เพราะฉะนั้นความชัดเจนที่ผมอยากจะได้ในการถามครั้งที่ ๒ ก็คือเรื่องของ กรอบระยะเวลาว่าระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่ประเทศไทยควรจะมีแบบที่ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกาที่เขาเรียกว่าระบบ IPAWS หรือว่า Integrated Public Alert and Warning System ซึ่งก็จะเป็นระบบที่รองรับสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น TV วิทยุ หรือโทรศัพท์มือถือก็ตาม อยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีครับว่าท่านมีแนวคิดหรือมี กรอบระยะเวลาในการทำให้เกิดระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติคล้าย ๆ ระบบ IPAWS ของสหรัฐอเมริกาที่รองรับสื่อทุกรูปแบบภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ อย่างไร ถ้าเร็วกว่า อยากจะสอบถามกรอบระยะเวลา หรือถ้าคิดว่าไม่สามารถเสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ก็อยากจะได้แผนที่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จภายในกี่ปีครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วันนี้ได้ความชัดเจน ๒ เรื่องจากท่านรัฐมนตรี ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตั้ง กระทู้ถามที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพราะถือว่าเป็นบันทึกในที่ประชุม ที่ท่านรัฐมนตรีได้ประกาศมาแล้วนะครับว่า

    อ่านในการประชุม

  • ๑. ชัดเจนในเรื่องทิศทาง ทิศทางก็คือจะต้องครอบคลุมการสื่อสาร ทุกรูปแบบ

    อ่านในการประชุม

  • ๒. ท่านจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เท่านี้ ผมคิดว่าประชาชนก็อุ่นใจไประดับหนึ่ง

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนที่ ๓ ที่อยากได้ความชัดเจนไม่แพ้กันแล้วก็ขาดไม่ได้ ไม่มีทางสำเร็จเลย ถ้าขาดเรื่องนี้ ก็คือในเรื่องของงบประมาณ ท่านประธานครับ ตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้จัดทำ Workshop ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำ ปี ๒๕๖๗ ที่กำลังจะเข้าสู่ สภาผู้แทนราษฎรช่วงเดือนมกราคมปีหน้านี้ เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่เดือน อันนั้นก็คือแหล่งเงิน งบประมาณหนึ่ง อีกแหล่งเงินงบประมาณหนึ่งก็คือในเรื่องของกองทุนต่าง ๆ ที่อยู่กับ กสทช. ดังนั้นหากท่านรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาและ Commitment ออกมาแล้วว่ารัฐบาล มีแนวคิดที่จะทำให้เกิดระบบแบบนี้ครอบคลุมทุกช่องทางให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ผมอยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีให้เป็นสัญญาใจระหว่างกัน ซึ่งเดี๋ยวสมาชิกทุกท่าน ๕๐๐ คน ก็ต้องตรวจสอบงบประมาณอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แน่นอนว่า ๑. แหล่งที่มา ของงบประมาณในการจัดทำโครงการนี้มาจากแหล่งใด ระหว่างใช้งบประมาณรายจ่าย ประจำปีซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือจะใช้เงินจากกองทุน กสทช. หรือจะเป็นลักษณะของการแบ่งคนละส่วน ก็คือใช้ประกอบกันทั้ง ๒ ส่วน ก็คือแหล่งที่มางบประมาณ อย่างที่ ๒ ถ้าท่านรัฐมนตรีมีแผนที่ชัดเจนแล้วว่า Location Based Service จะเสร็จภายใน ๑ ปี หรือว่าระบบที่บูรณาการจะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ณ ตอนนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือรัฐบาลเอง จะต้องมีการตั้งโครงการคำของบประมาณนี้เข้ามา อยากจะทราบชื่อโครงการของการจัดทำ งบประมาณในส่วนนี้ รวมถึงจำนวนเม็ดเงินงบประมาณด้วย เอาเป็นกรอบกว้าง ๆ ก็ได้ครับ ว่าปีนี้จะใช้เท่าไร ปีหน้าจะใช้เท่าไร ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ วันนี้ผมจะขออนุญาตหารือในส่วนที่เป็น กระบวนการภายในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมเชื่อว่าเป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องประชาชน ทั่วทั้งประเทศ นั่นก็คือกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ตามมติ ครม. ตามปฏิทินงบประมาณคิดว่าน่าจะผ่านมติ ครม. วันที่ ๒๖ ธันวาคมซึ่งก็จะติดปีใหม่ เปิดมาถึงงบประมาณเข้าสภาวาระหนึ่งในวันที่ ๓ มกราคมเลย จากการที่ผมได้หารือร่วมกับเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ พรรค รวมถึงเจ้าหน้าที่สภา อย่างเช่นสำนักงานงบประมาณของรัฐสภาหรือ PBO เจ้าหน้าที่ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันทุกคน ครับท่านประธานว่าทำงานไม่ทันจริง ๆ เพราะว่าติดปีใหม่ เปิดมางบประมาณเข้าวาระหนึ่งเลย ก็อยากจะขอหารือท่านประธานดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ข้อที่ ๑ อยากให้ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเลื่อนการพิจารณา งบประมาณวาระหนึ่งออกไปอีก ๑ สัปดาห์เป็นวันที่ ๑๐ มกราคมดังแนวทางที่อดีต ท่านประธานชวน หลีกภัย ได้ดำเนินมาหลาย ๆ ปีงบประมาณ เพื่อให้เวลาเพื่อนสมาชิก และเจ้าหน้าที่ทุกคนได้วิเคราะห์งบประมาณได้อย่างถ้วนถี่ แล้วก็อยากจะเน้นย้ำเพื่อน สมาชิกทุกท่านว่าการเลื่อนงบประมาณวาระหนึ่งออกไปอีก ๑ สัปดาห์นี้จะไม่เป็นการทำให้ งบประมาณปี ๒๕๖๗ มีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป เพราะเรายังคงยืนหลักว่าวาระสองและ วาระสามยังยืนหยัดตามกำหนดการดังเดิมได้ เราสามารถบริหารจัดการกันได้

    อ่านในการประชุม

  • อีก ๑ ข้อครับท่านประธาน เนื่องด้วยเวลาที่กระชั้นชิด ในช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมานี้ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณได้ทำหนังสือเรียก ขอข้อมูลคำของบประมาณออกไปยังหลายร้อยหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งในปัจจุบันเราได้รับ คำของบประมาณ ๕ ล้านล้านกว่าบาทนี้จาก ๒๐ กระทรวงครบแล้ว แต่ยังขาดหลายหน่วย รับงบประมาณที่เป็นหน่วยรับงบตรง อย่างเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ และ/หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อยากจะให้ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรช่วยทำหนังสือ เร่งรัดอ้างถึงหนังสือที่คณะกรรมาธิการได้ทำคำขอไปยังทุกหน่วยรับงบประมาณให้นำส่งข้อมูล กลับมาด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ตลอดที่ผมได้ฟังเพื่อนสมาชิกท่านได้ อภิปรายวาระหนึ่งของข้อบังคับการประชุมสภาที่ท่านพริษฐ์ได้เสนอ ผมเข้าใจดีว่ามีสมาชิก หลายท่านครับ ต่างพรรคได้อภิปรายในเชิงไม่เห็นด้วยในบางประเด็นนะครับ อย่างเช่น ที่ท่านอรรถกร ขออนุญาตเอ่ยนามนะครับ จากพรรคพลังประชารัฐ ไม่เห็นด้วยในเรื่องของ การล็อกเก้าอี้ประธานกรรมาธิการในฝั่งของการตรวจสอบ อย่างเช่นในกรรมาธิการ ป.ป.ช. หรือว่ากรรมาธิการงบประมาณให้กับพรรคฝ่ายค้านอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แล้วก็ยังมีอีก หลายท่านพูดไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ซึ่งผมเองอาจจะจดไม่ครบถ้วน ซึ่งก็เข้าใจดีว่าสิ่งที่ เพื่อนสมาชิกไม่เห็นด้วยนี้อาจจะเป็นเพราะว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการ ยกร่างมาแต่แรกตามที่ท่านครูมานิตย์ ขออนุญาตเอ่ยนาม ที่ได้กล่าวเมื่อสักครู่ว่าอาจจะเป็น เพราะว่าพรรคก้าวไกลมีความรีบร้อนเกินไปหรือเปล่า ทำคนเดียวหรือเปล่า ดังนั้นสิ่งที่ผม อยากจะเชิญชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ วันนี้มาช่วยกันให้ความเห็น มาช่วยกันลงมติ ผมคิดว่าจะเป็นทางออกให้กับสภาเรา ไม่ได้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำงานร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย เพราะว่าเป็นข้อบังคับที่เราต้องใช้ร่วมกันของทุกพรรค เท่าที่ผมได้ติดตามฟังการอภิปรายมา ครับท่านประธาน ผมอาจจะยังไม่ครบถ้วนแต่ผมคิดว่ายังมีข้อเสนอดี ๆ ที่ท่านพริษฐ์ ได้นำเสนอ แต่ว่ายังไม่เห็นเพื่อนสมาชิกคนใดลุกขึ้นคัดค้าน อย่างเช่นในเรื่องของการเสนอให้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีการแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ หรือการที่เปิดช่องทางให้ประชาชน ๕,๐๐๐ คนผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นญัตติตรงต่อสภาได้ ข้อเสนออื่น ๆ แน่นอนที่สุดครับ อาจจะมีเพื่อนสมาชิกคัดค้านบ้าง แต่ผมคิดว่าเรายังสามารถ พูดคุยหาทางออกได้ว่าจะปรับ Tune อย่างไร ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนในวาระ ๑ รับหลักการ ผมเองก็ยังไม่เห็นว่าเพื่อนสมาชิกคนไหนที่จะมาคัดค้านหลักการของข้อบังคับนี้ครับ ที่ท่านพริษฐ์ได้เสนอว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ เพื่อให้การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและยึดโยงกับประชาชน ผมอยากย้ำอีกครั้งว่าการลงมติ ในครั้งนี้เป็นการลงมติในวาระที่ ๑ นะครับ ดังนั้นถ้าท่านจะลงมติคัดค้านท่านกำลังจะบอก ว่าท่านไม่เห็นด้วยที่เราจะมีข้อบังคับที่ไม่ให้สภามีประสิทธิภาพ ที่ไม่ให้สภามีความโปร่งใส และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับสภาของเราจริงหรือครับ แน่นอนที่สุดครับผมเข้าใจว่า รายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยในร่างที่ท่านพริษฐ์เสนอมาเป็น Package รวมแบบนี้ ซึ่งเราสามารถถกเถียงได้ในกรรมาธิการวาระ ๒ แน่นอนที่สุดครับ ผมเข้าใจดีว่าในภาพทางการเมืองถึงแม้ว่าเราจะมีการไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ในชั้นวาระที่ ๒ ก็ตาม แต่ก็มีเพื่อนสมาชิกอีกบางพรรคที่พวกเราได้พูดคุยมาเสนอว่า พรรคของพวกเขาก็มีร่าง ที่อยากจะเสนอประกบเช่นเดียวกัน ดังนั้นผมคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเพื่อนสมาชิก ทุกท่านในวันนี้ ถ้าวันนี้ท่านโหวตคว่ำร่างข้อบังคับของการพริษฐ์ เท่ากับว่าทุก ๆ พรรค จะไม่สามารถเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมได้อีกเลยในสมัยการประชุมนี้ ซึ่งผมคิดว่า เป็นผลเสียต่อทุกฝ่ายทุกคนในสภาแห่งนี้ครับ มีทางออกที่ผมอยากจะเสนอท่านประธาน ซึ่งผมอาจจะยังไม่ได้เสนอเป็นญัตติ เพราะว่าจะขอให้ท่านพริษฐ์ผู้เสนอร่างข้อบังคับ ได้ตอบ คำถามสุดท้ายต่อประเด็นจากเพื่อนสมาชิกทุกท่านก่อน แล้วผมจะขออนุญาตท่านประธาน ก่อนการลงมติผมอยากจะขอใช้สิทธิตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ ก่อนที่สภาจะมีการลงมติรับหลักการกฎหมายใด ๆ ในวาระ ๑ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๑๗ นี้ สภาสามารถร่วมกันพิจารณาได้ที่จะส่งข้อบังคับฉบับนี้ไปที่กรรมาธิการสามัญ หรือกรรมาธิการกิจการสภา ให้ทุกพรรคการเมืองได้มีส่วนในการพิจารณายกร่างฉบับนี้ มาด้วยกันภายใน ๖๐ วัน หลังจากที่กรรมาธิการสามัญพิจารณาเสร็จแล้วส่งกับสภา เพื่อนสมาชิกจากทุกพรรคสามารถส่งร่างข้อบังคับมาประกบได้ทัน และไม่จำเป็นจะต้องเอา ร่างพรรคก้าวไกลเป็นร่างหลักก็ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าทางออกวันนี้ไม่น่าที่จะเป็นทางออก ที่ทำให้ท่านใดเสียผลประโยชน์ เว้นแต่การที่ท่านไม่เห็นด้วยกับการส่งไปกิจการสภาก่อน ๖๐ วัน มีเหตุผลเดียวที่ผมคิดออก ก็คือเป็นเหตุผลทางการเมืองที่ท่านไม่อยากให้ข้อบังคับ ของพรรคก้าวไกลถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมของสภาเลย ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่าน อาจจะไม่ได้มองเห็นในเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองขนาดนั้น เพราะผมก็อยากยืนยันว่า ข้อบังคับฉบับนี้พวกเราตั้งใจที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรของเรามีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส แล้วก็ยึดโยงกับประชาชนครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตใช้สิทธิตามข้อบังคับในการ เสนอญัตติ ตามข้อบังคับ ข้อ ๑๘๖ วรรคสอง ประกอบกับข้อ ๑๑๗ แต่ผมอาจจะขออนุญาต ท่านประธานขอเวลาเพียงแค่ ๒ นาทีในการนำเสนอเหตุผลประกอบการเสนอญัตตินี้ได้ไหม ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานครับผมอยากจะขอร้องท่านสมาชิกทุกคนที่อยู่ ในห้องประชุมตอนนี้นะครับ ผมเสนอญัตตินี้ไม่ได้ด้วยหลักเหตุผลว่าเราจะมาพูดคุยถกเถียง ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามข้อบังคับแต่ละข้ออย่างไร แต่ผมอยากจะขอให้ท่าน ใช้ความรู้สึกร่วมกันในแง่ที่ว่าวันนี้เราอยากให้มีบรรยากาศในการทำงานร่วมกันได้ระหว่าง ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เมื่อตอนบ่ายต้องขอขอบคุณท่านประธานกรรมาธิการ DE ท่านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ที่ได้ตอบรับหลังบ้านจากท่านปกรณ์วุฒิที่บอกว่าพรรคก้าวไกล ยินดีจะยื่นร่าง พ.ร.บ. ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ ที่กรรมาธิการ DE ซึ่งประธานก็คือ พรรคเพื่อไทยยอมที่จะให้พวกเราเข้าไปทำงานร่วมกัน

    อ่านในการประชุม

  • เดี๋ยวเสนอหลักเหตุผล เสร็จแล้วก็จะให้ผู้รับรองครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับ ขออภัย ด้วยครับ ก็อยากจะให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ครับ ในเมื่อกรรมาธิการเราก็เป็นตัวแทนของ สภาใหญ่เกิดบรรยากาศในการทำงานร่วมกันได้ ทำไมสภาใหญ่เราข้อบังคับฉบับนี้ก็ไม่ได้ มีผลร้ายทางด้านการเมืองใด ๆ เลย ที่เราจะไม่สามารถสร้างบรรยากาศร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นก็อยากจะเชิญชวนเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ ผมเข้าใจว่าตามที่พูดคุยกับ ทางวิป เข้าใจว่าจริง ๆ ไม่เห็นด้วยแม้แต่ที่จะให้ส่งไปกิจการสภา แต่ถ้าวันนี้ผมไม่ลุกขึ้นมา ใช้สิทธิตามข้อบังคับนี้ ก็เหมือนกับผมยอมแพ้ตั้งแต่ไม่ได้ลองเสนอกับเพื่อนสมาชิก จนวินาทีสุดท้าย ถึงแม้รู้อยู่แล้วว่าอาจจะไม่ผ่าน แต่ว่าอยากจะขอเชิญชวนท่านศรัณย์ ท่านภราดร ทุกท่าน คนที่เป็นวิปพรรคร่วมทุกท่าน เรามีความจริงใจจริง ๆ ที่อยากจะให้ ข้อบังคับนี้พิจารณาร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องคว่ำก็ได้ครับ เข้าไปเสนอมาก่อนในกิจการสภา แล้วท่านก็เสนอกลับมาเป็นร่างหลักก็ได้ แล้วให้พวกเราประกบก็ได้ ดังนั้นอยากจะขอใช้สิทธิ สรุปสู่ท่านประธานครับ เพื่อให้การเสนอญัตตินี้ถูกต้อง อยากจะขอใช้สิทธิตามข้อบังคับ ข้อ ๑๘๖ วรรคสอง ประกอบข้อ ๑๑๗ ให้สภาผู้แทนราษฎรส่งให้กรรมาธิการกิจการสภา ไปพิจารณาก่อน ๖๐ วัน ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ

    อ่านในการประชุม

  • ขออนุญาตท่านภราดร นะครับ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับถ้าเราไปดูตามแนวการปฏิบัติและการวินิจฉัยของอดีต ประธานสภาผู้แทนราษฎรท่านชวน หลีกภัย ในสภาชุดที่แล้วเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ครับ ตอนแสดงตนครบองค์ แต่ตอนลงมติไม่ครบองค์ แนววินิจฉัยของประธานชวนคือคิดว่า เป็นการบอกว่าไม่ครบองค์ประชุมและต้องปิดประชุมครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ ก่อนที่ท่านประธานจะดำเนินการ ประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป ผมขออนุญาตเสนอญัตติตามข้อบังคับ ข้อ ๕๕ (๒) เรื่อง ขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อพิจารณาพร้อมกัน เนื่องจากว่าผมเองเป็นทั้งผู้เสนอ พ.ร.บ. จัดสรรที่ดิน ที่เรากำลังจะ พิจารณาในวาระต่อไป แล้วก็เป็นผู้ที่เสนอร่างประมวลกฎหมายที่ดินที่เป็นการแก้ไขปัญหา ในเรื่องทำนองเดียวกัน ก็คือเรื่องที่หน่วยงานของรัฐควรจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาถนน หนทาง ทางเท้า ให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้ ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่ดินใน พ.ร.บ. จัดสรร หรือเป็นที่ดินนอก พ.ร.บ. จัดสรร หรือที่ดินตามชุมชนต่าง ๆ

    อ่านในการประชุม

  • ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในความคิดเห็นของผม นะครับท่านประธาน ขออนุญาตเสนอเหตุผลประกอบการเสนอญัตติดังต่อไปนี้ ในช่วง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับฝั่งสำนักการประชุมแล้วก็เจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าใจว่าทางฝั่ง สภาได้ใช้การตีความแบบเคร่งครัดไว้ก่อนเพื่อเห็นว่าเป็นคนละร่างพระราชบัญญัติกันนะครับ แล้วก็หลักการเป็นคนละหลักการกันแน่นอน ก็เลยแยกระเบียบวาระออกจากกัน แต่ว่า จากที่ผมได้หารือจากทางฝั่งข้าราชการประจำ ก็ได้นำเรียนตัวผมเองว่าตามข้อบังคับใช้คำว่า เรื่องทำนองเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาในสภาชุดที่แล้วก็เคยมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ คนละร่าง อย่างเช่น พ.ร.บ. คู่ชีวิต แล้วก็ พ.ร.บ. ประมวลแพ่งพาณิชย์ อย่างเช่น เรื่องของ สมรสเท่าเทียม ๒ ร่างพระราชบัญญัติในคณะกรรมาธิการชุดเดียวกันก็สามารถทำได้ ผ่านมาแล้ว เพราะเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาของสภามี ประสิทธิภาพ แล้วก็ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถพิจารณาไปพร้อมกันได้ เพื่อแก้ไขปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินในจัดสรรหรือที่ดินนอกจัดสรรก็ตาม อยากจะให้สภาแห่งนี้ได้พิจารณาเพื่อที่จะรวมระเบียบวาระเอาประมวลที่ดินที่ผมเป็นผู้เสนอ มารวมเข้ากับ พ.ร.บ. จัดสรร ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่าวันนี้จะมีผู้แทนราษฎรจากทั้ง ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนแบบแบ่งเขตที่จะลุกขึ้นอภิปรายในเรื่อง ของปัญหาพ่อแม่พี่น้องประชาชน ปัญหาในพื้นที่ ปัญหาถนนหนทาง ทางเท้า ไฟฟ้าส่องสว่าง การระบายน้ำ ที่มีปัญหาและหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเป็นที่ดินตาม พ.ร.บ. จัดสรรที่อยู่ในโครงการจัดสรรต่าง ๆ แต่ผม อยากจะย้ำเพื่อนสมาชิกผ่านท่านประธานไปครับว่าจริง ๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะใน หมู่บ้านจัดสรรเพียงเท่านั้น ตามที่ผมได้นำเรียนไปในญัตติเมื่อสักครู่จริง ๆ มีทั้งปัญหาตาม ชุมชนต่าง ๆ รวมถึงที่ดินที่อยู่บนที่ดินของรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น การรถไฟที่ในกรุงเทพมหานครก็มีที่ดินหลายชุมชนที่ใช้ถนนหนทางต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ บนที่ดินของรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนมากที่สุด ไม่สามารถลงไปดำเนินการ แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงเป็นที่มาญัตติสักครู่ผมได้นำเสนอให้ขอรวมระเบียบวาระในเรื่อง ของการแก้ไขประมวลที่ดินเข้ามารวมพิจารณาพร้อมกับญัตติในวาระนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นอะไรครับ ในเมื่อสภามีมติว่าไม่รวมระเบียบวาระ ผมก็จะขออภิปรายเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับตัวร่าง พ.ร.บ. จัดสรร ท่านประธานครับ ผมอาจจะใช้เวลาไม่นาน แล้วเดี๋ยว อาจจะให้ทางเพื่อนสมาชิกส่วนที่เหลือทุก ๆ ท่านได้ลุกขึ้นชี้แจงปัญหาให้เห็นภาพรวมว่า ปัญหานี้ใหญ่ขนาดไหน ในแต่ละปี ๆ มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่มีการก่อสร้างขึ้นใหม่จำนวน หลายหมื่น Unit หรือคิดเป็นจำนวนโครงการก็หลายร้อยหลายพันโครงการ แต่ถ้าเรา ย้อนกลับไปดูสถิติการจัดตั้งนิติบุคคลจากกรมที่ดินจะเห็นว่าต่อปีมีการจัดตั้งนิติบุคคล สำเร็จเพียงแค่หลัก ๑๐๐ หลัก ๒๐๐ โครงการเท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นครับว่าในเชิงสถิติ การจัดตั้งนิติบุคคลสามารถจัดตั้งได้สำเร็จแทบจะไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนโครงการ จัดสรรทั้งประเทศ ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้จัดสรรที่ดินหรือเจ้าของโครงการไม่ได้เข้าไป บำรุงรักษาสาธารณูปโภคอย่างดีเพียงพอ ทำให้ลูกบ้านเกิดความเดือดร้อนมากมาย เต็มไปหมดทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ผมขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.จัดสรร ที่ผมเป็นผู้เสนอนี้เพียงแค่ ๒ ประเด็น หลัก ๆ ด้วยกัน ๒ ประเด็นหลัก ๆ นี้ก็คือแก้ไข เพิ่มเติมในมาตรา ๔๔ (๑) แล้วก็ ๔๔/๑ ครับ ทำไมผมถึงแก้ไขเพียงแค่ ๒ มาตรานี้ครับ เพื่อต้องการเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกบ้านให้มีอำนาจต่อรองที่เทียบเท่ากับเจ้าของ โครงการนะครับ ปัญหาของโครงการหมู่บ้านจัดสรรนี้เป็นปัญหาที่ลงรายละเอียดยิบย่อย เยอะแยะเต็มไปหมดครับท่านประธาน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างไม่ตรงแบบ การปล่อยให้ โครงการทิ้งร้าง ไม่มีการบำรุงรักษา การจัดตั้งนิติบุคคลไม่ได้ เนื่องจากลูกบ้านไม่สามารถ รวมเสียงกันเกินกึ่งหนึ่งได้ หรือแม้แต่มีการแบ่งเฟสหลาย ๆ เฟสในการก่อสร้าง บางทีเฟส หน้าก่อสร้างเสร็จ เฟสหลังยังก่อสร้างไม่เสร็จ เจ้าของโครงการก็ไม่อยากที่จะเรียกให้มีการ จัดตั้งนิติบุคคลในเฟสหน้า เพราะต้องการใช้ทางเข้าออกผ่านไปยังเฟสหลังถัด ๆ ไป ปัญหา เหล่านี้มีเป็นร้อยเป็นพันที่ผมคิดว่าเราไม่มีทางที่จะ List หรือว่าเขียนกฎหมายให้ครอบคลุม ทุกประเด็นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสร้างอำนาจต่อรองให้ลูกบ้านมีอำนาจต่อรองทัดเทียม กับเจ้าของโครงการครับ จึงเป็นที่มาที่ผมได้มีการระบุไปในมาตรา ๔๔ (๑) ที่มีการแก้ไข เพิ่มเติมเพื่อตีกรอบเวลาครับว่าเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของได้ขาย โครงการไปเกินกึ่งหนึ่งของโครงการแล้ว เขาจะต้องมีการเรียกให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลทันที ภายในกรอบระยะเวลา ๓ ปี เมื่อพ้นกรอบระยะเวลา ๓ ปีแล้ว ถ้าเจ้าของโครงการยังไม่มี การเรียกให้มีการจัดตั้งนิติบุคคล ก็สามารถใช้ช่องทางตามมาตรา ๔๔/๑ ที่ลูกบ้านเกิน กึ่งหนึ่งสามารถรวมเสียงกันเพื่อขอจัดตั้งนิติบุคคลได้เองนะครับ เพราะฉะนั้น ๒ มาตรานี้ ประกอบกันจึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับลูกบ้านที่จะมีอำนาจในการต่อรองให้กับ เจ้าของโครงการที่จะต้องเร่งรัดให้ก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว หรือจะต้องมีการก่อสร้าง ให้ถูกแบบ บำรุงรักษาให้ดี เพื่อที่เจ้าของโครงการเองก็จะได้ถอนเงินค้ำประกันออกจาก กรมที่ดินได้นะครับ เป็นที่มาที่ผมคิดว่าเพียงแค่ ๒ มาตรานี้เป็นหัวใจหลัก ๆ แต่อย่างไร ก็ตามผมอยากจะอภิปรายสนับสนุนของร่างอีกร่างหนึ่งของเพื่อนสมาชิกครับ คือร่างของ ท่านธีรรัตน์ จริง ๆ ต้องบอกว่าร่างของท่านธีรรัตน์ก็มีประเด็นในส่วนที่ให้ลูกบ้านเกินกึ่งหนึ่ง สามารถเรียกจัดตั้งนิติบุคคลได้เองครับ แต่มีประเด็นอื่น ๆ ที่ครอบคลุมยิ่งกว่า ยกตัวอย่าง อย่างเช่น ในเรื่องของการที่บอกว่าถ้าลูกบ้านไม่สามารถรวมเสียงกันได้เกินกึ่งหนึ่งสามารถ ร้องขอไปที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดิน เพื่อให้คณะกรรมการสั่งว่าใช้เสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ในการขอจัดตั้งนิติบุคคลก็ได้ หรือมีช่องทางที่บอกว่าถ้าลูกบ้านแสดงเจตจำนงว่าต้องการ จะโอนให้เป็นสาธารณประโยชน์สามารถระบุได้ตั้งแต่ตอนที่เซ็นสัญญาจะซื้อจะขาย ก็คือตั้งแต่ตอนที่ซื้อบ้านเลยนะครับ ถ้ามีการระบุว่าต้องการจะโอนให้เป็นสาธารณประโยชน์ เกินกึ่งหนึ่งตั้งแต่ตอนจะซื้อจะขาย ก็ให้ถือว่าหลังจากที่เจ้าของโครงการได้พ้นสภาพการดูแล แล้วก็ให้โอนเป็นของสาธารณประโยชน์ได้ทันทีอัตโนมัตินะครับ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ไม่ว่าจะเป็น สส. จากฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็เห็นประเด็นปัญหาตรงกันที่คิดว่าประเด็นโครงการหมู่บ้าน จัดสรรเป็นประเด็นที่พ่อแม่พี่น้องเจอปัญหากันทั่วทั้งประเทศนะครับ ดังนั้นถ้ายังเป็นไปได้ ผมคิดว่าจากการศึกษาในที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีตัวแทนจากกรมที่ดินมาชี้แจง ท่านรองอธิบดี เองก็มาชี้แจงด้วยตนเองนะครับ ที่บอกว่าร่างที่กรมที่ดินมีกับมือค่อนข้างสอดคล้องกับ หลักการในร่างของผมนะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคิดว่าสภาเองก็สามารถที่จะลงมติรับ หลักการทั้ง ๒ ร่างไปได้เลย เพราะอย่างที่ผมได้นำเรียนว่าร่างของผมตรงกับร่างของทาง หน่วยงาน ผมก็คิดว่าร่างของทางท่านธีรรัตน์ก็เป็นร่างที่ครอบคลุมมากกว่า ก็คือรองรับร่าง ของผมด้วย แล้วก็มีมาตรการต่าง ๆ ที่ดียิ่งขึ้นกว่าด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการแก้ไข ปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ผมคิดว่าสภาเราสามารถที่จะรับหลักการทั้ง ๒ ร่างไปได้ ก่อนนะครับ แล้วก็ให้กรมที่ดินเจ้าของร่างเขามาแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นระเบียบวาระที่ ๒ ได้ เพราะว่าได้รับทราบเสียงสะท้อนมาว่าตามมติวิปรัฐบาลอาจจะขอให้คณะรัฐมนตรีรับทั้ง ๒ ร่างกลับไปพิจารณาก่อน ซึ่งถ้าตีกรอบภายในระยะเวลา ๖๐ วัน ผมก็เกรงว่าอาจจะไม่ทัน ปิดสมัยประชุมนี้ แล้วจะทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเป็นการแก้ไข ปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศต้องล่าช้าออกไปอีก ไม่ต่ำกว่าครึ่งปี ก็ขออภิปรายแสดงหลักการและเหตุผลรวมถึงการให้เหตุผลสนับสนุนว่าอยากจะให้สภา ผู้แทนราษฎรของเรารับหลักการผ่านทั้ง ๒ ร่างภายในวันนี้เลย ขอบคุณท่านประธานครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ท่านประธานครับ ผมขอใช้เวลาในการสรุปญัตตินี้ไม่นานนักครับ เพื่อที่อยากจะโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกทุกท่าน เพราะผมเชื่อว่าสภาเป็นพื้นที่ในการพูดคุยกัน ผมเองก็ไม่ได้หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะสามารถกลับมติต่าง ๆ ที่วิปได้ตกลงกันได้ แต่ว่าเราเอง ก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่ในสภาชุดที่แล้วไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือสุราก้าวหน้า ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่ายในการผ่านวาระที่ ๑ ได้ ซึ่งจากการติดตามการอภิปราย ของเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ถึงแม้โดยส่วนมากจะมาจากทางพรรคก้าวไกล แต่ทางฝั่งรัฐบาล เองเท่าที่ผมติดตามฟังมาก็ยังไม่ได้มีใครค้านในส่วนของร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับนี้ นาน ๆ เราจะมีญัตติที่สภาเห็นตรงกัน ตราบใดที่ยังเป็นปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน และผมก็เชื่อว่าทุกปัญหาที่วันนี้เพื่อนสมาชิกมาสะท้อนปัญหาชาวบ้านในสภาผู้แทนราษฎรเรา เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในวันนี้ ปีนี้ หรือ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ๓๐ ปีที่ผ่านมา หลาย ๆ หมู่บ้านเจอปัญหามาทั้งใกล้และไกลครับ ผมว่าเป็นปัญหาสะสมมาเป็นระยะ เวลานาน ดังนั้นผมจึงอยากจะเชิญชวนเพื่อนสมาชิกคิดไปพร้อมกันกับผม ในเมื่อหน่วยงาน อย่างกรมที่ดินได้เข้ามาชี้แจงในวิปฝ่ายค้านอย่างชัดเจนว่าร่างที่เขาถืออยู่นั้นเป็นร่างที่ สอดคล้องกับหลักการของร่างที่ผมเป็นผู้เสนอ และในขณะเดียวกันเพื่อนสมาชิกของ พรรคก้าวไกลและตัวกระผมเองก็เห็นว่าจริง ๆ แล้วร่างของท่านธีรรัตน์นั้นน่าจะครอบคลุม มากกว่า พวกเราเองก็สนับสนุนครับ เพราะฉะนั้นผมมองไม่เห็นเหตุผลเลยที่วันนี้ถ้าพวกเรา จะต้องดำเนินตามมติวิปรัฐบาลที่ออกมาบอกว่าจะขอให้ ครม. อุ้มร่างนี้กลับไปพิจารณาก่อน ภายใน ๖๐ วันนั้นจะเป็นด้วยเหตุผลประการใด เพราะในเมื่อร่างของกรมที่ดินก็สามารถ สอดรับกับหลักการและเหตุผลของร่างกระผมได้ สภาเราสามารถรับได้ทั้ง ๒ ร่างครับเข้าไป พิจารณาพร้อมกัน แล้วก็ให้หน่วยงานมาแก้ไขเพิ่มเติมตามที่เขาต้องการเสนอในชั้น กรรมาธิการวาระ ๒ วาระ ๓ เราจะทอดเวลาออกไปอีกประมาณ ๖๐ วันเพื่ออะไรครับ ท่านประธาน หรือท่านคิดว่าเวลา ๖๐ วันนี้เมื่อเทียบกับเวลา ๓๐ ปี ๔๐ ปีที่ชาวบ้านเขาต้อง เจอปัญหาในหมู่บ้านจัดสรรเก่าซ้ำ ๆ หมู่บ้านจัดสรรใหม่ก็มี ไม่ได้มีนัยสำคัญ ๖๐ วัน เทียบกับ ๒๐-๓๐ ปีไม่สำคัญหรือครับ ผมไม่เชื่อแบบนั้น แล้วท่านอย่าลืมว่าถ้าวันนี้เรา ลงมติว่าให้ส่งไป ครม. พิจารณาก่อน เกิดไม่ทันปิดสมัยประชุมรออีกกี่เดือนกว่าเราจะเปิด สมัยประชุมกลับเข้ามาแล้วได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้นผมอยากจะขอ การสนับสนุนอยากจะขอฟังความคิดเห็นด้วยเหตุและผลที่ผมกล่าวมาทั้งหมดครับ จริง ๆ อยากจะส่งตรงไปยังท่านธีรรัตน์ ขออนุญาตเอ่ยนามด้วยความเคารพ แล้วก็เพื่อนสมาชิก ทุกท่านที่ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับนี้ว่า ในเมื่อท่านก็ได้รับฟัง เหตุผลรอบด้านแล้วท่านเองก็ได้มีการติดต่อกับหน่วยงานแล้ว ทางกรมที่ดินก็ยืนยันแล้วว่า ร่างที่เขาถืออยู่นี้สอดรับกับหลักการของร่างผม ไม่มีเหตุผลที่วันนี้สภาเราจะต้องปล่อยให้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนจะต้อง ส่งไปให้ ครม. ไปพิจารณาก่อน ผมอยากจะให้ทุกท่านตั้งกรรมาธิการวิสามัญแล้วก็เริ่ม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ที่ผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตทุกคนต้องได้รับเสียงสะท้อนมาแน่นอนครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนอื่นผมอาจจะต้องขออนุญาตทำ ความชัดเจนถึงเรื่องเจตนาที่ผมขออนุญาตอภิปรายในเล่มรายงานฉบับนี้ จริง ๆ ผมอยากจะ ขอใช้สิทธิตามข้อบังคับ ข้อ ๑๐๔ วรรคสอง ตามข้อบังคับได้บอกว่า คณะกรรมาธิการมีสิทธิ ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในเล่มรายงานฉบับนี้ในที่ประชุมสภา ดังนั้นวันนี้ที่ผมจะลุกขึ้นอภิปราย ก็คือจะขอใช้สิทธิในการเพิ่มเติมข้อสังเกตเล็กน้อยประกอบรายงานฉบับนี้ เดี๋ยวเราจะต้องมี การลงมติกันว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าวทั้ง ๒ ข้อ ดังนั้นก็อาจจะต้องส่งผ่านท่านประธานไปยังท่านกรรมาธิการทุกท่านว่าข้อสังเกตที่ผม เพิ่มขึ้น ๒ ข้อต่อจากนี้ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร เพราะว่าตามข้อบังคับได้ระบุไว้ ชัดเจนว่า สิทธิในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นของคณะกรรมาธิการในที่ประชุมสภา ผมอยาก จะขอเพิ่มเติมข้อสังเกตอีก ๒ ข้อที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพวกเราทุกคนดังต่อไปนี้ ครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • ประการแรก ผมคิดว่านอกจากที่กรรมาธิการได้ใส่ไว้ในเล่มรายงานว่า อยากจะให้ส่งเล่มรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี แล้วก็สมาชิกรัฐสภาทุกท่านแล้ว ผมอยากจะให้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่าอยากจะให้ส่งข้อสังเกตนี้ไปยังกรรมาธิการวิสามัญ ที่จะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้มี สสร. ในอนาคต เช่น หากจะต้องมีการแก้ไข เรื่องของมาตรา ๒๖๕ หรือหมวด ๑๕/๑ เพิ่มเติมก็อยากจะให้กรรมาธิการวิสามัญ ในอนาคตชุดนี้ได้นำเล่มรายงานฉบับนี้ไปเป็นกรอบในการพิจารณายกร่างแก้ไขด้วย เพราะผมเชื่อว่าในเล่มรายงานฉบับนี้ค่อนข้างศึกษากรอบความคิดหรือว่า Framework ไว้ค่อนข้างรอบด้านแล้ว และผมคิดว่า Model ในการออกแบบกระบวนการเลือกตั้ง สสร. ไม่ว่าอย่างไรก็หนีไม่พ้น Framework ที่ทางกรรมาธิการได้คิดมา ซึ่งผมคิดว่าครอบคลุม รอบด้านแล้ว

    อ่านในการประชุม

  • ข้อสังเกตที่ ๒ ผมคิดว่านอกจากจะส่งเล่มรายงานฉบับนี้ไปให้กรรมาธิการ วิสามัญใช้เป็นกรอบ ซึ่งไม่ได้มีสภาพบังคับนะครับ อันนี้อยากเน้นย้ำว่าการส่งข้อสังเกต คือเราส่งไปให้กรรมาธิการวิสามัญไปใช้ในการปรับใช้ เราไม่ได้มีสภาพบังคับ ข้อสังเกต ข้อที่ ๒ ผมอยากจะขอเพิ่มว่า ในเล่มรายงานของกรรมาธิการวิสามัญเราลองจินตนาการ ถึงภาพถ้าจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในเล่มรายงานของกรรมาธิการวิสามัญจะมี การรายงานออกมาว่ากรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมากเห็นว่าอย่างไร เสียงข้างน้อยสงวน ความเห็นว่าอย่างไร หรือว่ามีสมาชิกขอแปรญัตติไว้อย่างไร แล้วก็ที่ผ่านมาในการพิจารณา กฎหมายนี้เราก็จะเลือกโหวตตามกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือว่าผู้สงวนความเห็นหรือว่า ผู้ขอแปรญัตติ โดยมีแค่บทบัญญัติประกอบไว้ว่าแต่ละท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ผมคิดว่า รายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ ก็คือถ้ากรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ที่จะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากบอกว่าบทบัญญัติในแต่ละตัวเลือกที่เราจะโหวตกันเป็นอย่างไรแล้ว ถ้าพอที่จะบอก ถึงผลกระทบที่อาจจะส่งถึงเก้าอี้ใน สสร. ได้จากการเลือกโหวตแต่ละ Model ก็คิดว่าจะเป็น ประโยชน์มาก ซึ่งเรื่องนี้ผมเข้าใจว่าอาจจะไม่สามารถทำได้ง่ายนัก แต่ก็คิดว่ายังสามารถอยู่ในกรอบวิสัยที่ทำได้ หากเรามี Framework ที่ชัดเจนตามเล่ม รายงานฉบับนี้ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาก่อนที่จะลงมติโหวตในอนาคตว่าจะยึดตามเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย ก็จะได้เห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยน Model ในการเลือกตั้ง สสร. นี้จะส่งผลกระทบถึงเก้าอี้ในการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง ผมก็คิดว่าด้วยข้อสังเกตทั้ง ๒ ข้อนี้ จะทำให้การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นกลางทางการเมืองมากขึ้น เพราะระบบที่ดีในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ควรจะต้องเป็นกลางทางการเมือง ในการออกแบบกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ควรที่จะออกแบบกระบวนการเลือกตั้งที่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธาน สภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลครับ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากข้อบังคับไม่ได้เปิดช่องให้อภิปรายในญัตติดังกล่าวก็อยากจะขอนำเรียน ในที่ประชุมว่าโดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรีจะหยิบไปพิจารณาก่อนครับ อยากจะให้มีการลงมติครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ ท่านประธานครับ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผมอาจจะขออนุญาตท่านประธานอนุญาตให้ท่านไกลก้อง ไวทยการ และท่านอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการชุดนี้เข้า ประชุมร่วมชี้แจงด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ฝ่ายโสตถ้าพร้อมแล้วสามารถนำสไลด์ขึ้นได้เลย นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • เพื่อนสมาชิกครับ เล่มรายงานฉบับนี้ของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เป็นเล่มรายงาน (ฉบับที่ ๒) ที่ได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ แต่ก็เป็นเล่มรายงานฉบับแรก ที่มีลักษณะเป็นเล่มรายงาน รายงานความคืบหน้าประจำไตรมาสที่พวกเราทุกคนที่อยู่ใน ชุดนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะให้คณะกรรมาธิการชุดนี้มีเล่มรายงาน รายงานต่อ สภาผู้แทนราษฎรเพื่อบอกเล่าว่าเรามีความคืบหน้าในการทำงานในประเด็นต่าง ๆ อย่างไร บ้างเป็นประจำ ซึ่งต่อไปอาจจะไม่ได้เป็นบ่อยหรือถี่ทุก ๆ ๓ เดือนก็ได้ครับ อาจจะเป็น ประจำทุก ๆ ๖ เดือนหรือทุก ๆ ปี เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการรบกวนเวลาประชุมของสภา มากเกินไป ผมเองก็ต้องกราบขอบพระคุณคณะกรรมาธิการทุกท่านที่เป็นตัวแทนจากทุก พรรคที่เรามีหลักการตรงกันในการประชุมนัดแรก ๆ ออกมาเป็นมติในที่ประชุมว่า กรรมาธิการชุดนี้เรามีเป้าประสงค์ที่จะศึกษาการจัดทำไปพร้อม ๆ กับการปฏิรูประบบและ กระบวนการงบประมาณ โดยวางหลักเอาไว้ว่าพวกเราจะทำงานอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลัก ชัดเจนและจริงจังเพื่อทำให้งบประมาณไทยไม่เหมือนเดิมครับ รูปแบบกระบวนการวิธีการ ทำงานเราเรียกกันว่า Platform กรรมาธิการ คำว่า Platform กรรมาธิการ หมายถึงว่า การประชุมคณะกรรมาธิการในห้องใหญ่และคณะอนุกรรมาธิการทั้ง ๒ ห้องเราจะใช้เป็นเวที ที่ใช้อำนาจคณะกรรมาธิการในการเรียกหรือส่งหนังสือเชิญประชุมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทีมงานที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจริง ๆ ไม่ใช่พวกเราคณะกรรมาธิการครับ เป็นบรรดาที่ปรึกษาหัวหน้าคณะทำงานที่วันนี้บางท่านก็อยู่บนบัลลังก์แห่งนี้ ทั้งหมดทั้งสิ้น ๗ คณะทำงานที่ผมจะต้องกราบขอบพระคุณทุก ๆ ท่านที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน คณะกรรมาธิการชุดนี้ อาทิเช่น คณะทำงานงบประมาณปี ๒๕๖๗ ที่ทุกท่านได้เห็นเล่ม รายงานศึกษาการจัดทำงบประมาณปี ๒๕๖๗ ที่รายงานเข้าสู่สภาไปแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนที่เราจะพิจารณากันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ คณะทำงานงบประมาณปี ๒๕๖๘ ที่มีท่านรักชนก ศรีนอก เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ และผมก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง ว่าในงบประมาณปี ๒๕๖๘ ที่อาจจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเดือน พฤษภาคมที่จะถึงนี้เราจะมีผลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตาม การบริหารงบประมาณเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อม ๆ กันอย่างแน่นอน มีในเรื่องของคณะทำงานท้องถิ่นครับ ที่มีท่านไกลก้อง ไวทยการ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำงบประมาณท้องถิ่นให้มีความมีอิสระทางการคลังมากขึ้น มีในเรื่องของคณะทำงาน Cloud First and Agile Procurement Policy เพื่อศึกษา การจัดทำงบประมาณให้ตอบโจทย์นโยบาย Cloud First ของรัฐบาล มีในเรื่องของ คณะทำงาน Budget Reform ที่ศึกษาในเรื่องของการปรับปรุง ปฏิรูประบบงบประมาณ ที่พึงปรารถนา ที่เรามุ่งมั่นตั้งใจว่าจะมีข้อสรุปว่าเราจะต้องปรับปรุงกฎ ระเบียบ หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใน ๒ ปีหรือ ๔ ปีต่อจากนี้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ คณะทำงานจับตาที่ทำงานตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการต่าง ๆ ย้อนหลังใน ปีงบประมาณปัจจุบันและงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งถ้าเราแบ่งกลุ่มภารกิจทั้งหมดของ บรรดาทุกคณะทำงานเราสามารถจัดกลุ่มออกมาได้ ๓ กลุ่มภารกิจด้วยกัน ที่เราเรียกกันว่า กลุ่มภารกิจ จัดทำ จับตา และจัดระเบียบ คำว่า จับตา นั้นก็เหมือนสิ่งที่คณะกรรมาธิการ ชุดนี้เคยทำมาในอดีต คือตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณในโครงการต่าง ๆ ย้อนหลัง เป็นการทำงานย้อนหลังเท่านั้นครับ แต่การทำงานในคณะกรรมาธิการชุดนี้ผมต้อง กราบขอบพระคุณคณะกรรมาธิการ และที่ปรึกษาทุกท่านที่ช่วยวางหลักให้พวกเราทำงาน ไปข้างหน้าด้วย คำว่า ทำงานไปข้างหน้านั้น ก็คือการทำงานในเรื่องของกลุ่มการจัดทำ อย่างเช่น ในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำงบประมาณปี ๒๕๖๗ และงบประมาณ ปี ๒๕๖๘ ที่กำลังดำเนินการอยู่ สุดท้ายคือในเรื่องของการจัดระเบียบครับ จัดระเบียบคือ การศึกษาการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิรูปและปรับปรุงกระบวนการ งบประมาณเสียใหม่ เป็นงาน Long Term เป็นงานระยะยาว ภายใน ๒ ปี ๔ ปีที่เราควร จะต้องมีข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของผลผลิตแล้วก็ตัวชิ้นงานที่อยู่ในเล่มรายงานฉบับนี้ผมอาจจะไม่ได้ ใช้เวลาสภามากนักครับ อันนี้ยกมาเป็นตัวอย่างขออนุญาตเปลี่ยนสไลด์ไปเร็ว ๆ นะครับ ในส่วนของมาตรการเชิงนโยบายเป็นข้อสังเกตท้ายเล่ม ผมมีข้อสังเกตที่เป็นมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ที่น่าสนใจ ๒ ประการครับ ที่เหลืออาจจะให้ทุกท่านศึกษาเอง หรือว่าทุกท่านอาจจะ ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนหรือว่าให้ข้อคิดเห็นได้นะครับ อย่างเช่นในเรื่องของมาตรการที่เราควรจะพัฒนา Application ทางรัฐให้เป็นทางลัดของ ประชาชนจริง ๆ ให้เป็น Application เดียว ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ Digital ภาครัฐจาก Application นี้ Application เดียวได้ ไม่ใช่มี ๓๐๐-๔๐๐ Application สร้างใหม่ไม่รู้จบ ซึ่งกรรมาธิการเราก็ได้มีข้อสังเกตส่งตรงไปยังคณะรัฐมนตรีและสำนัก งบประมาณ ที่บอกว่ารัฐบาลควรจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ต่อจากนี้สำนักงบประมาณจะ อนุมัติการจัดสรรงบประมาณที่พัฒนา Application ใหม่หรือตั้ง Application ใหม่ไม่ได้อีก แล้ว สิ่งที่จะอนุมัติได้ ก็คือการอนุมัติงบประมาณที่มีการเชื่อมระบบเข้า Application ทางรัฐเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีการผลิต Application ซ้ำซ้อนอีกต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • อีกหนึ่งมาตรการเชิงนโยบายที่น่าสนใจ อย่างเช่น การสนับสนุนรถ EV หรือ การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นไปได้ไหมที่ในปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๘ ปี ๒๕๖๙ หรือ ปีงบประมาณถัด ๆ ไป ที่รัฐบาลจะมีการวางมาตรการ ที่บอกว่าบรรดาค่าเช่ารถประจำ ตำแหน่งต่อจากนี้ไปเปลี่ยนจากรถสันดาป ให้เป็นรถ EV ผมคิดว่าเป็นมาตรการง่าย ๆ อาศัย กฎระเบียบมติ ครม. ไม่กี่ข้อ ไม่ต้องแก้กฎหมาย ไม่ต้องใช้งบประมาณก็สามารถสนับสนุน อุตสาหกรรม EV และสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อม ๆ กัน

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนเป้าหมายของคณะกรรมาธิการชุดนี้ในไตรมาสนี้ ซึ่งเราอาจจะเหลือเวลา อีก ๑-๒ เดือน ก็คือในเรื่องของงบประมาณ ปี ๒๕๖๘ ที่ผมได้นำเรียนไปแล้วว่าเรามีการตั้ง คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำงบประมาณ ปี ๒๕๖๘ คู่ขนานอยู่ แล้วก็ในช่วง ๒-๓ สัปดาห์ต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่คณะกรรมาธิการเราจะสรุปผลการศึกษาที่เราได้เรียก ข้อมูลคำของบประมาณ ปี ๒๕๖๘ จากทุกหน่วยรับงบประมาณมาศึกษาในคณะกรรมาธิการ ชุดนี้ เราคิดว่าคำของบประมาณต่าง ๆ เหล่านี้ มีส่วนใดที่สอดคล้องกับวิกฤติประเทศ มีส่วนใดที่ยังขาด ส่งตรงไปถึงสำนักงบประมาณ ถามว่า ทำไมเราถึงต้องทำภายใน ๒-๓ สัปดาห์นี้ เพราะว่าตามปฏิทินงบประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคม จะเป็นช่วงที่ สำนักงบประมาณ สรุปคำของบประมาณ และจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่าย ปี ๒๕๖๘ เสนอคณะรัฐมนตรี เรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อสังเกต ข้อชี้แนะ ข้อคิดเห็น ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่ศึกษาคำของบประมาณจะมีประโยชน์ต่อฝ่ายบริหาร และสำนักงบประมาณไม่มากก็น้อย แต่ผมอยากนำเรียนท่านประธานผ่านไปยังเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะหลาย ๆ ท่านที่อาจจะอยู่ในคณะรัฐมนตรี ต้องนำเรียนตามข้อเท็จจริงว่าปัจจุบัน ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือสั่งการชัดเจนแล้ว ให้สำนักงบประมาณจัดส่งข้อมูลคำขอ งบประมาณ ปี ๒๕๖๗ และปี ๒๕๖๘ แก่คณะกรรมาธิการ แต่สำนักงบประมาณยังมิได้นำส่ง ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้น ให้กับคณะกรรมาธิการอย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมคิดว่า ค่อนข้างมีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่าสำนักงบประมาณกำลังจะเสี่ยงในเรื่องของการกระทำ ผิดระเบียบวินัยหรือไม่ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี ก็อยากจะฝากเพื่อน สมาชิกที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี ช่วยเร่งรัดติดตามต่อเพื่อให้คณะกรรมาธิการเราได้มีผล การศึกษา ซึ่งเป็นผลการศึกษาของสภาแห่งนี้ ให้เราสามารถวิเคราะห์งบประมาณ ปี ๒๕๖๘ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    อ่านในการประชุม

  • ในส่วนของเป้าหมายของคณะทำงานอื่น ๆ ผมขออนุญาตไม่ลงใน รายละเอียด เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเชิญชวนเปิดเป็นวาระ เบื้องต้นไว้ก่อน ให้เพื่อนสมาชิกเห็นว่าเป้าหมายของพวกเราต่อจากนี้อีก ๒ ปี หรือ ๔ ปี จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ถ้าทุกท่านเห็นตรงกัน นั่นก็คือในส่วนของ การปฏิรูประบบและกระบวนการงบประมาณเสียใหม่ ก่อนที่จะไปพูดถึงระบบงบประมาณ ที่พึงปรารถนา ผมอยากจะชวนท่านคิดก่อนว่า แล้วระบบงบประมาณปัจจุบันคือภาพ สะท้อนของอะไร ผมคิดว่าระบบงบประมาณปัจจุบันนั้น คือภาพสะท้อนของเศรษฐกิจ การเมืองไทยและระบบรัฐราชการในปัจจุบัน ถามว่าระบบรัฐราชการในปัจจุบันที่สะท้อน ผ่านการจัดทำงบประมาณมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าคงหนีไม่พ้นสไลด์หน้าถัดไปครับ ภาพที่ทุกท่านเห็นในซ้ายมือของทุกท่านที่อยู่บนสไลด์ตรงนี้ สร้างขึ้นมาจาก Generative AI ที่ผมเข้าไป Prompt ให้มันฟังว่าวิธีและขั้นตอนในการจัดทำงบประมาณของไทยนั้น ทำอย่างไรบ้างจะแก้ปัญหาสัก ๑ อย่าง ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องขนส่งสาธารณะนั้น เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง มีผู้ตัดสินใจหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นท่านอธิบดีต่าง ๆ หรือว่า ผ่านแผนพัฒนาจังหวัดก็จะต้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่งบจังหวัดกลุ่มจังหวัด ก็เป็นอีกท่องบประมาณหนึ่ง นี่คือภาพที่ Generative AI สามารถวาดออกมาได้ให้ทุกท่าน เห็นว่าถ้าข้างล่างคือพื้นที่ ๑ พื้นที่ หรือ ๑ จังหวัด จะแก้ปัญหาหนึ่ง ๆ ให้กับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชน ข้างบนคือท่องบประมาณใหญ่เงินภาษีของพี่น้องประชาชนครับ ทุกท่านจะเห็นความกระจัดกระจายแบบนี้ตามภาพที่แสดงอยู่ในนี้เลย ก็คือเป็นงบประมาณ ที่เป็นตัวแทนของรัฐราชการที่อำนาจการบริหารและอำนาจการกำหนดนโยบายอยู่ในมือ ข้าราชการประจำ มีลักษณะรวมศูนย์ ส่วนกลางผูกขาดอำนาจ บริหารแบบบนลงล่าง มีลักษณะกระจัดกระจายครับ กระทรวงทบวงกรมทำงานเป็นไซโล มีลักษณะที่ขาดพลัง ไร้ทิศทางที่ชัดเจน บูรณาการไม่ดีสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีลักษณะที่ไร้อำนาจขาด อำนาจ ประชาชนไม่เคยเป็นตัวเอกในสมการการตัดสินใจครับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีก หลายอย่าง อาทิเช่น ปัญหาการขาดพื้นที่ทางการคลัง ในปัจจุบัน ๓.๔๘ ล้านล้านบาทในงบ ปี ๒๕๖๗ นี้เป็นงบประมาณที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้เองจริง ๆ นี้ผมเชื่อว่าไม่เกิน ๑.๑ ล้านล้านบาท ตามผลการศึกษาของ 1O1PUB แต่ในทางความเป็นจริงสำนักงบประมาณ เคยออกมาชี้แจงแล้วว่าพื้นที่ทางการคลังที่สามารถจัดการได้เองนั้นอาจจะต่ำเพียงแค่ ๙๐๐,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้น หรือเพียงงบลงทุนอาจจะเหลือเพียงแค่ ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เท่านั้น เพราะฉะนั้นทุกท่านจะเห็นได้ว่าระบบงบประมาณปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดนี้ หรือชุดหน้าตราบใดที่เรายังไม่มีการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณเสียใหม่รัฐบาลในอนาคต อาจจะเสี่ยงภาวะการขาดพื้นที่ทางการคลังมากขึ้นได้เรื่อย ๆ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถ เปลี่ยนงบประมาณฐานอดีตเป็นงบประมาณฐาน ๐ เพื่ออนาคตได้ ทำอย่างไรที่เราจะ สามารถเปลี่ยนงบประมาณราชการประจำ แล้วเป็นงบลงทุนตามนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นตาม ยุทธศาสตร์ได้

    อ่านในการประชุม

  • นอกจากนี้ในเรื่องของงบงานประจำที่เพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาล เหลือพื้นที่น้อยลงทุกวันแล้ว ยังมีปัญหาในส่วนของการที่หนี้โตเร็วกว่ารายได้ด้วย จากตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีค่าใช้จ่าย ค่าชำระหนี้ และต้นดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น มากขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ ๖ เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะที่รายได้สุทธิของ รัฐบาลนั้นโตเพียงแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทุกท่านจะเห็นว่าพื้นที่ระหว่าง ๒ เส้นกราฟนี้ หดแคบลงทุกปี ๆ ดังนั้นจากปัญหาทั้งหมดที่ทุกท่านได้เห็น ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิก หลายท่านที่อยู่ในกระบวนการงบประมาณมีประสบการณ์ในฝ่ายบริหาร หรือว่าใน สภาผู้แทนราษฎรมาหลายปีเห็นปัญหาไม่ต่างกันครับ คำถามก็คือ งบประมาณที่เราพึง ปรารถนาเป็นงบประมาณแบบไหน ผมเชื่อว่าเป็นระบบและกระบวนการงบประมาณที่เป็น เครื่องมือในการเปลี่ยนประเทศ เราจะทำให้ระบบงบประมาณนั้นเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยน ประเทศได้อย่างไร ผมคิดว่ามี ๔ คุณสมบัติ ๔ ข้อนี้ที่สำคัญด้วยกัน ๑. ควรจะต้องเป็นระบบ และกระบวนการงบประมาณที่สามารถแสดงข้อมูลได้อย่างรอบด้าน เพื่อให้เห็นสุขภาพของ รัฐไทยแบบองค์รวม สามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจมหภาคได้อย่าง รอบด้านและชัดเจนครับ ถามว่างบประมาณต่อจากนี้ในวิสัยทัศน์ของพวกเราไม่ได้หมายถึง งบประมาณรายจ่ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงงบประมาณรายได้และงบประมาณที่เรา ต้องตรวจสอบให้เห็นถึงปริมาณหนี้สาธารณะด้วย ไม่ใช่งบประมาณของส่วนราชการ อย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเป็นงบประมาณที่เห็นทั้ง Public Sector อาทิเช่น งบประมาณ ของรัฐวิสาหกิจ งบกองทุน และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๒ เราคิดว่าต้องเป็นระบบกระบวนการงบประมาณที่มีความยืดหยุ่น เท่าทันโลก พร้อมรับมือต่อสถานการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต ทำอย่างไรให้เรา สามารถปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณที่พวกเรามีข้อเสนอเบื้องต้นแล้ว ออกจาก งบประมาณฐานอดีตเป็นงบประมาณฐาน ๐ แห่งอนาคตได้ แยกกระบวนการจัดทำ งบประมาณของงบราชการ งบงานประจำออกจากงบภารกิจและนโยบายรัฐบาลให้มีความ ชัดเจน เราจะปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณอย่างไรให้มีความชัดเจนในส่วนนั้น

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๓ เรื่องของการสร้างระบบงบประมาณที่มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ประชาชนมีส่วนร่วม นั่นก็คือการเปิดเผยข้อมูลคำของบประมาณที่ผมได้นำ เรียนผ่านท่านประธานไปแล้วว่า ทุกวันนี้สำนักงบประมาณก็ยังไม่ได้ส่งข้อมูลคำขอ งบประมาณให้แก่คณะกรรมาธิการเรา เมื่อสำนักงบประมาณได้เปิดเผยข้อมูลคำขอตั้งแต่ต้น กระบวนการงบประมาณเกิดอะไรขึ้นครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนสามารถเข้าไปแสดง ความคิดความเห็น ว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการใดตั้งแต่ต้นกระบวนการจัดทำ งบประมาณ ไม่ใช่มีเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ ๒ สัปดาห์ตอนที่กลายมาเป็น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหลังผ่าน ครม. แล้ว เพื่อทำเป็นพิธีตาม มาตรา ๗๗ แห่งรัฐธรรมนูญก่อนที่จะเสนอสภา แบบนั้นผมคิดว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์

    อ่านในการประชุม

  • ส่วนสุดท้ายของการเพิ่มธรรมาภิบาล นั่นก็คือการยกระดับสำนักงบประมาณ ของรัฐสภา หรือ PBO ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางวิชาการสามารถวิเคราะห์ และถ่วงดุลตรวจสอบการจัดทำงบประมาณ และการใช้จ่ายงบประมาณของฝ่ายบริหารได้

    อ่านในการประชุม

  • ประการที่ ๔ ผมคิดว่าระบบกระบวนการงบประมาณที่พึงปรารถนานั้นควร จะต้องสร้างสมดุลวินัยการคลังและการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กันไป ผมคิดว่าพวกเราในฐานะ คณะกรรมาธิการเองไม่ได้เห็นด้วยว่าเราจะต้องรัดเข็มขัดอย่างเดียวเสมอไป ในขณะเดียวกัน พวกเราเชื่อว่าประเทศนี้จะพัฒนาไปข้างหน้าได้ต้องมีการลงทุนอย่างยุทธศาสตร์ ไม่ได้เป็น การลงทุนอย่างหละหลวมขาดวินัยจนเกินไปเช่นเดียวกัน กระบวนการและระบบงบประมาณแบบไหนที่จะสามารถสร้างสมดุลทั้ง ๒ ส่วนนี้ได้ อย่างที่ ผมได้นำเรียนครับ เราจะทำแบบนี้ได้ต้องเห็นข้อมูลอย่างรอบด้าน มองเห็นปริมาณหนี้ สาธารณะ เงินนอกงบประมาณ งบผูกพันก็ต้องก่อเท่าที่จำเป็น รายจ่ายภาษีทุกวันนี้ข้อมูลยัง ไม่ได้ออกมาสู่สาธารณชนอย่างรอบด้านนะครับ คำว่า รายจ่ายภาษี คืออะไร หมายถึงว่า บรรดาภาษีที่ควรจะจัดเก็บได้แต่รัฐไม่สามารถจัดเก็บได้เนื่องจากมาตรการยกเว้นภาษีต่าง ๆ หรือสิทธิพิเศษที่มอบให้กับนักลงทุน สุดท้ายเราก็ต้องพิจารณาในเรื่องของคุณภาพของ การลงทุนที่ทำอย่างไรให้มีความเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างเช่นการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ใน ภาคอุตสาหกรรมการเติบโตสีเขียวควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกท่านครับ ผมจะขอใช้ เวลาอภิปรายเนื้อหาในเล่มรายงานฉบับนี้เพียงแต่ประมาณเท่านี้ แต่จะขอสรุปตอนท้ายนิด หนึ่งก่อนที่จะฟังความคิดเห็นจากเพื่อนสมาชิกทุกท่านนะครับ ผมคิดว่าทุกท่านเชื่อตรงกัน กับพวกเราว่าระบบงบประมาณแบบที่เป็นอยู่นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศในปัจจุบันได้ เปลี่ยนประเทศให้รับมือกับความท้าทายในอนาคตก็ไม่ได้ เราทุกคนต้องการระบบ งบประมาณที่ดีกว่านี้ ประชาชนคนไทยคู่ควรกับระบบงบประมาณที่ดีกว่านี้ การปฏิรูประบบ งบประมาณมีความสำคัญไม่แพ้กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๒ เรื่องนี้คือหัวใจของ การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปข้างหน้าหลังจากที่เราถอยหลัง ก้าวเท้าถอยหลังมาแล้ว ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา โจทย์การสร้างระบบงบประมาณที่พึงปรารถนาควรจะต้องเป็นวาระ หลักในการทำงานของพวกเราทุกคน และเป็นวาระหลักของคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่ผมเชื่อ ว่าไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต พรรคเหล่านั้นจะมีจุดยืนทางอุดมการณ์หรือ ความเชื่อทางการเมืองเศรษฐกิจแบบใด ทุกพรรคต่างต้องการระบบงบประมาณที่ดี ทำไม พวกเขาหรือพวกเราต้องการระบบงบประมาณที่ดี เพื่อทำให้พรรคการเมืองที่ชนะ การเลือกตั้งเข้ามานั้นสามารถดำเนินตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้ เรื่องนี้ผมลงมือทำคนเดียวไม่พอ คณะกรรมาธิการชุดนี้ลงมือทำคณะกรรมาธิการชุดเดียว ไม่พอ พรรคก้าวไกลพรรคเดียวทำเองก็ไม่มีวันสำเร็จครับ พวกเราทุกคนในสภาแห่งนี้ ต้องเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ช่วยกันแชร์ประสบการณ์ มันไม่ใช่โจทย์ของคนใด คนหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นโจทย์ของพวกเราทุกคน พวกผมขออาสาเป็นเจ้าภาพ ในการรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน รวมถึงหน่วยราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคมที่ผมต้องกราบขอบพระคุณครับ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พวกผมได้เดินสายไปหารือกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตสมาชิกรัฐสภา อดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ และสมาชิกรัฐสภาในสภาชุดนี้ที่กำลังปฏิบัติ หน้าที่อยู่ด้วย และทุก ๆ ท่านก็ให้ข้อคิดเห็นและให้ความรู้ดี ๆ กับพวกเรามากมาย ดังนั้น จากวันนี้เป็นต้นไปผมอยากจะเชิญชวนทุกท่านผ่านท่านประธานไปว่ามาร่วมกันผลักดันให้ วาระนี้ในการปฏิรูประบบกระบวนการงบประมาณที่พึงปรารถนาเป็นวาระของพวกเรา ทุกคนที่ทุกพรรคเห็นตรงกันซึ่งผมเองก็ต้องขอความอนุเคราะห์และขอรับการสนับสนุนจาก ทุกท่านด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพครับ ขอกราบขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านครับ ผมในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอาจจะใช้เวลาตอบชี้แจงไม่นาน อาจจะขออนุญาตเก็บ ท่านจิตติพจน์เป็นท่านสุดท้าย แต่ว่าท่านแรก Comment ข้อคิดเห็นจากท่านเอกราช ก็รับไปครับ ครั้งหน้าเราจะแนบเรื่องของแหล่งอ้างอิง หรือว่า QR Code ในเรื่องของรายงาน การประชุมฉบับเต็มไว้ทุก ๆ ส่วนในเล่มรายงาน ในส่วนของท่านคุณหมอทศพร ก็กราบ ขอบพระคุณที่ท่านเองได้พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของพวกเรา เพราะผมก็เชื่อว่างาน ในลักษณะนี้เป็นงานลักษณะที่ทุกภาคส่วนจะต้องมาลงแรงลงใจทำถึงจะสำเร็จ ในส่วนของ ท่านประเสริฐพงษ์ ผมก็รับไว้นะครับ ในเรื่องของการปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น แล้วก็ที่ปรึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง อันนี้รับไว้พิจารณาต่อไป ส่วนสุดท้ายของท่านจิตติพจน์ ก็น้อมรับครับ ผมคิดว่าผมก็เห็นตรงกับท่านในส่วนที่ว่าคำว่า งบประมาณฐาน ๐ นั้นไม่ได้เป็นงบที่รื้อใหม่ทั้งโรงงาน ไม่ได้รื้อบ้านใหม่ทั้งหลัง เพียงแต่ว่า เราต้องหาจุดตรงกลางที่ทำอย่างไรที่ตัวงบประมาณจะสามารถแบ่งแยกในส่วนของงบระบบ ราชการประจำและงบที่รัฐบาลเป็นคนจัดได้อย่างชัดเจน ส่วนนั้นคือเป็นส่วนที่ คณะกรรมาธิการเรากำลังจะลงไปศึกษา ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ครับ ไม่ได้เสียเวลามาก ทุกวันนี้เวลาที่ทุกท่านเปิดเล่มงบประมาณจะเห็นแผนงานต่าง ๆ แผนงานพื้นฐาน แผนงาน ยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการ ถ้าทุกท่านไปดูตามนิยาม แผนงานพื้นฐานคือบรรดา โครงการหรืองบประมาณที่ถ้าหน่วยรับงบประมาณไม่ได้รับการจัดสรรจะส่งผลกระทบต่อ การให้บริการสาธารณะของหน่วยงานนั้น ๆ ต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชน แต่ทุกวันนี้เวลาที่ ท่านเข้าไปดู ท่านก็จะพบว่าไม่ใช่เฉพาะงานที่จำเป็นต้องทำจะอยู่ในแผนงานพื้นฐาน อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังไปอยู่ในแผนงานอื่น ๆ อย่างเช่น แผนงานยุทธศาสตร์ หรือแผนงาน บูรณาการด้วย ยกตัวอย่างง่ายที่สุด งบซ่อมถนน ทุกท่านคิดว่าการซ่อมบำรุงถนนที่ไม่ได้เป็น การเพิ่มฟังก์ชันใหม่ อย่างเช่น ไม่ได้เป็นการขยายถนน ไม่ได้เป็นการสร้างเกือกม้า กลับรถต่าง ๆ แต่มันเป็นการซ่อมผิวถนนปกติ เป็นค่า MA ใช่ไหมครับ ทุกวันนี้ค่าซ่อมถนน ไม่ได้อยู่ในแผนงานพื้นฐานของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท แต่กลับอยู่ใน แผนงานยุทธศาสตร์ด้วย อยู่ในแผนงานบูรณาการ Logistics ด้วย แล้วท่านคิดว่าการทำตัวเลขแบบนี้สภาเราจะสามารถเขียนได้อย่างไรว่าตกลงแล้วในแต่ละปี รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภาเองจะรู้ตัวเลขอย่างไรครับว่าแต่ละกรม แต่ละหน่วยรับ งบประมาณจะเหลือพื้นที่ทางงบประมาณที่ไม่ใช่งบงานประจำที่เราอยากจะเทกระเป๋า ออกมาจัดใหม่นี้เหลือเท่าไร ดูไม่ได้ครับ อันนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่เราอาจจะไม่ต้องแก้ในระดับ พระราชบัญญัติ แต่ไปแก้หลักเกณฑ์ในการจัดทำงบประมาณของสำนักงบประมาณ ซึ่งอาศัย เพียงแค่มติ ครม. หรือว่าข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีคุยกันในฝ่ายบริหาร ให้แบ่งหมวดหมู่ของ แผนงานต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สุดท้ายครับท่านประธาน ไม่รบกวนเวลา สภามากครับ ตัวอย่างกระบวนการงบประมาณที่พึงปรารถนาที่พวกเราคิดอยู่ในหัวตอนนี้ นำไปรับฟังความคิดเห็นจากหลาย ๆ ภาคส่วน แล้วอนาคตจะออกมาเป็นข้อเสนอที่เป็น รูปธรรมว่าจะต้องมีการแก้พระราชบัญญัติหรือแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ และการใช้จ่ายงบประมาณอะไรบ้างครับ ผมคิดว่ากระบวนการจัดทำงบประมาณต่อไป ไม่ควรถูกรวมศูนย์อยู่ที่สำนักงบประมาณ ทุกวันนี้ทุกท่านจะเห็นปัญหาหลาย ๆ อย่าง กรณีงบบุคลากร งบสวัสดิการข้าราชการ ทำไมตั้งขาดทุกปี ทำไมต้องไปเบิกออกจาก งบกลางทุกปี ทั้ง ๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่าอัตรากำลังจำนวนหัวข้าราชการมีเท่าไร สุดท้ายถามไป ถามมาไปจบที่ใครครับ ไปจบที่สำนักงบประมาณเป็นคนจัดสรรทุกอย่าง เวลาเราถาม สำนักงบประมาณเคยได้คำตอบหรือไม่ครับ ไม่เคยนะครับ เท่าที่ผมรับฟังมาก็จะมีบางอย่าง ที่มีความคลุมเครือแล้วดูเป็นดินแดนสนธยาอยู่บ้าง ซึ่งก็เข้าใจว่าสำนักงบประมาณอาจจะ ไม่สามารถให้เหตุผลได้ทั้งหมด กระบวนการที่เราคิดว่าเป็นกระบวนการที่พึงปรารถนา ควรจะแบ่งแยกให้ชัดเจน อย่างเช่น ขั้นตอนแรกตัวเลขได้ที่เป็นงบผูกพันรายจ่ายหนี้เก่า ๆ อันนี้ต้องตั้งอยู่แล้วแน่นอน ตั้งมาเลยครับ กระบวนการที่ ๒ ก.พ. ดูแลกรอบอัตรากำลัง ตั้งงบประมาณบุคลากรมาเลย ส่วนที่ ๓ แผนงานพื้นฐานเอาให้ชัดเจนที่ผมได้นำเรียนครับ อะไรที่เป็นงานประจำของข้าราชการจริง ๆ ของระบบราชการจริง ๆ ตั้งมาเลย ซึ่ง ก.พ.ร. ควรจะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการรีดไขมันเพิ่มประสิทธิภาพของแผนงานพื้นฐานหรือ งบประจำ ทำอย่างไรให้ใส่เงินไปเท่านี้แล้วออก Output ได้มากขึ้น ทั้ง ๓ ก้อน ๑ ๒ ๓ ที่ผมบอกไปแบบเร็ว ๆ นี้คืองบงานประจำทั้งหมดที่อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่สามารถรื้อได้ ส่วนแผนงานบูรณาการและแผนงานยุทธศาสตร์ที่เราบอกว่าควรจะต้องทำเป็นงบประมาณ ฐาน ๐ ทำอย่างไรให้งบประมาณในปีต่อ ๆ ไปพวกเราสมาชิกรัฐสภาสามารถเห็นว่าจาก ตัวเลข ๓.๔๘ ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบจากก้อน ๑ ๒ ๓ ที่มาจากระบบราชการและงาน ประจำเท่าไร เป็นก้อน ๔ และก้อน ๕ ที่มาจากการที่รัฐบาลจัดสรรตามนโยบายของรัฐบาล เท่าไร ถ้าเห็นแบบนี้ชัดเจนครับ ผมคิดว่าจะช่วย Save ประหยัดเวลาในการอภิปราย งบประมาณวาระที่ ๑ วารที่ะ ๒ วาระที่ ๓ ในสภาอย่างมากครับ เราไม่ต้องไปนั่งดูก้อนงบ ๑ ๒ ๓ หรอกครับ เราโฟกัสที่ก้อน ๔ กับ ๕ ก็คือส่วนที่รัฐบาลจัดมาเองตามนโยบายของ พวกเขา ในส่วนของก็ ๑ ๒ ๓ ที่เป็นงานประจำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาคืออะไรครับ ให้ข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบายที่จะเป็นการรีด ไขมันเพิ่มประสิทธิภาพของงบงานประจำเหล่านั้น อย่างเช่น ในเรื่องที่ผมได้นำเสนอไป ในการเปลี่ยนค่าเช่ารถ เป็นค่าเช่ารถ EV แทนนะครับ อันนี้ก็เป็นภาพคร่าว ๆ ที่ผมเอง ก็กราบขออภัยเพื่อนสมาชิกที่รายละเอียดทั้งหมดอาจจะยังไม่ได้อยู่ในเล่มรายงานฉบับนี้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการศึกษาในเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการงบประมาณต่าง ๆ แต่ผมคิดว่าไม่เกิน ๒ ปีต่อจากนี้แน่นอนครับ ที่เราจะมีข้อเสนอเป็นรูปธรรมกลับมานำเสนอ กับทุกท่านอีกครั้งว่าถ้าเราอยากจะได้ระบบงบประมาณพึงปรารถนาแบบนี้ ต้องมีการแก้ กฎหมาย กฎและระเบียบอะไรบ้าง วันนี้ก็อาจจะขอใช้เวลาในสภาแต่เพียงเท่านี้ แล้วก็ กราบขอบพระคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่าน แล้วก็ท่านประธานด้วยครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม