นายคริษฐ์ ปานเนียม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๑ พรรคก้าวไกล ผมขอร่วมอภิปราย เนื้อหารายงานการเงินของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรที่เป็นหนี้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ที่มีการให้กู้ยืมระยะยาว จำนวนเงิน ๒,๑๖๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ และ ๑,๖๕๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นเงินที่จัดสรรให้หน่วยงานรัฐหรือองค์กรเกษตรกู้ยืมตามที่ได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการ เพื่อนำไปดำเนินงานตามแผน แต่ต้องส่งคืนตามกำหนดมากกว่า ๑ ปี ในกรณี ผิดนัดชำระต้องเสียค่าปรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๓ นับตั้งแต่วันที่ผิดนัดชำระ จนถึงวันที่ ชำระสิ้นสุด เรียนท่านประธานสภาครับ ในรายงานงบการเงินฉบับนี้ปรากฏหมายเหตุที่ ๑๓ ภาระผูกพัน มีเพื่อนสมาชิกได้ชี้แจงไปบ้างแล้ว แต่ผมก็ขอเสริมเพราะคิดเห็นเช่นเดียวกัน เพราะมีหน่วยงานของรัฐและองค์กรเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้เบิกจ่ายแต่อย่างใด เป็นเงินถึง ๒๓ ล้านบาทเศษ ก็ประกอบด้วยเงินจ่ายขาด ๒ โครงการ เงินจัดสรรอีก ๗ โครงการ ในส่วนนี้ไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ รายงานชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่าผลของการปฏิบัติงานล่าช้าหรือไม่ แทนที่หน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนจะนำไป ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร สิ่งนี้ไม่มีรายละเอียดแนบมาว่าเพราะเหตุใด ผมเห็นว่าทำให้ประชาชน พี่น้องเกษตรกรขาดโอกาสครับ แม้แต่ภาครัฐ แม้แต่องค์กรเกษตรกร ก็ขาดโอกาสที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเช่นกัน

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมา ตามเอกสารกู้ยืมเงินระยะสั้นโครงการจัดหาปุ๋ยเคมี ที่สนับสนุนสินเชื่อจัดหาปุ๋ย ๗ รายการ ย้อนไปตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปี ๒๕๔๑ ปรากฏ ในเอกสารอุดหนุนให้กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ทราบมาว่ามีเกษตรกร ๑๗๐ ราย ถูกดำเนินคดีเป็นเงินถึง ๘๓ ล้านบาท ทำให้เห็นว่าการคัดกรองโครงการและประสิทธิภาพ ในการคัดสรรที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนั้นขาดการติดตาม ขาดการดูแล การมีส่วนร่วมในการสงเคราะห์เขาเพื่อส่งให้พี่น้องเกษตรกรนั้นถึงฝั่งให้ได้ ยังมีอีก หลายโครงการ เช่น โครงการเก็บข้าวเปลือก โครงการน้ำนมดิบ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าว ของสหกรณ์ โครงการบริหารจัดการลำไย เกลือทะเล ยางพารา ปรากฏว่ามีลูกหนี้ ถูกดำเนินคดีมากมาย แน่นอนครับ เป็นหนี้ก็ต้องใช้ แต่มันควรจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ นี่มันคือ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนะครับ ไม่ใช่กองทุนซ้ำเติมเขา เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยมีหมายเหตุตามท้ายราชกิจจานุเบกษา ให้เหตุผลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งตราขึ้นเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกรให้หลุดพ้นจากหนี้สิน มีที่ทำกินเป็นของตนเองและสามารถเพิ่มผลผลิต และมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นในการกู้ยืมระยะสั้นต้องคัดกรองและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ให้ถึงฝั่ง ในส่วนของการกู้ยืมระยะยาวก็ไม่ควรให้เกิดภาวะตกค้าง เบิกจ่ายไม่ทัน ทำให้ขาด เงินทุนที่จะไปช่วยเหลือเกษตรกรตามเจตนารมณ์

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายครับ นี่ไม่ใช่การกลัดกระดุม แต่เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เมื่อได้รับการพิจารณาแล้วก็เหมือนกับซิป รูดเร็ว เรียบร้อย แน่น สวยงามทั้ง ๒ ฝั่ง ทั้งภาครัฐ และประชาชน เกษตรกรก็ Happy แต่รูดไม่ระมัดระวังมันก็หนีบเนื้อเรา เป็นหนี้ ถูกดำเนินคดี เปลี่ยนจากประชาชนเกษตรกรธรรมดาให้กลายเป็นเกษตรกรที่มีหนี้ และถูกดำเนินคดี แบบนี้มันจะตรงตามเจตนารมณ์ของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรได้อย่างไร ท่านประธาน ฝากไปถึงกองทุนนะครับ ทำอย่างไรก็ได้ให้มันตรงตามเจตนารมณ์ของกองทุน ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพนะครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล ผมมีเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดตากหารือท่านประธานดังนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๑ หาดทรายทอง ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดตาก สร้างขึ้นในปี ๒๕๔๖ ด้วยงบประมาณจากหลายภาคส่วน เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา การท่องเที่ยวของจังหวัดในยุคนั้น ใช้การบริหารราชการแผ่นดินด้วยระบบผู้ว่า CEO มีอำนาจเต็มจากมติคณะรัฐมนตรีจึงได้จัดสร้างขึ้น ต่อมาเปลี่ยนรัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบ การบริหาร หาดทรายทองได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเจ้าท่า และเมื่อไม่นานมานี้ ทางกรมเจ้าท่ามีคำสั่งให้รื้อถอนหาดทรายทองนี้ทิ้ง จึงอยากฝากท่านประธานสภาไปถึง หน่วยงานกรมเจ้าท่าขอให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะสร้างด้วยงบประมาณของรัฐและจะรื้อทิ้ง ก็ใช้งบประมาณของรัฐเช่นกัน ประชาชนสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว สูญเสียสถานที่พักผ่อน หย่อนใจ แทนที่จะได้ใช้ประโยชน์ในเรื่องของสันทนาการ ในเรื่องของการสร้างรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชน กลับจะหรือทอดทิ้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ จึงขอให้ทบทวน แนวทางปฏิบัติครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๒ เรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำวัง ทั้งส่วนของกรมทรัพยากรน้ำก็ดี ส่วนของสำนักงานชลประทานที่ ๒ จังหวัดลำปาง และชลประทานที่ ๔ จังหวัดตาก รวมไปถึงคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช. ขอให้ช่วยกำกับดูแล โดยไม่ต้อง ให้ราษฎรในตำบลยกกระบัตร วังหมัน วังจันทร์ แม่สลิด ในอำเภอสามเงาและอำเภอบ้านตาก ต้องร้องขอทุกปีเพื่อให้ทางสำนักงานชลประทานลำปางปล่อยน้ำมาช่วยในเรื่องของภัยแล้ง และหาแนวทางระบายน้ำเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ผันไปในส่วนที่แห้งแล้งของจังหวัดตาก เนื่องจากทีนี่น้ำท่วมตลอดปี ทำให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่แห้งแล้งของเราในพื้นที่ตำบลโป่งแดง วังประจบ ใต้ตลุก กลางทุ่ง ดีกว่าทิ้งน้ำไปให้เสียเปล่าประโยชน์นะครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นที่ ๓ เรื่องการขออนุญาตเร่งรัดไปยังสำนักงานจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ ๔ จังหวัดตาก กรณีท้องถิ่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า ตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ปัจจุบันปี ๒๕๖๖ แล้ว เวลาผ่านมา ๓ ปี องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังไม่ทราบเลยครับว่าท่านจะอนุมัติเมื่อไร ยังไม่ทราบข่าวคราวเลย ทั้งจังหวัดโดยรวมแล้วโครงการน่าจะประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าโครงการที่ยังค้างอยู่นะครับ งบยุทธศาสตร์ตำบล งบพัฒนาตำบลที่กันงบประมาณไว้จะได้นำมาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจังหวัดตากบ้านผมครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล มีความห่วงใยต่อราษฎรพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ขยายวงกว้างสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรอย่างแสนสาหัส และมีแนวโน้มที่จะขยาย วงกว้างขึ้นในหลายพื้นที่ จึงขอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาให้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่อง ให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ขอผู้รับรองครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล จากที่ได้เสนอญัตติ ด่วนไป ผมขออภิปรายเหตุผลดังนี้ครับ ท่านประธานครับต้นตอของปัญหาน้ำท่วมในเขต ภาคเหนือตอนล่างที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นจนถึงตอนนี้มีความสำคัญกับปัญหาภัยแล้ง ซ้ำซาก และเกี่ยวพันกับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวพันกับคณะรัฐมนตรี ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวง มหาดไทย และผูกพันไปถึงงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจัดสรรให้กับแต่ละกรม แต่ละกระทรวง ต่อไป การบริหารจัดการน้ำ การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากเท่าไรครับ ท่านประธาน การหาที่ให้น้ำอยู่และหาทางให้น้ำไปคำนี้ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เข้าใจไม่ยาก แต่การลงมือทำนั้นยากมาก ซึ่งกระผมและพรรคก้าวไกลทราบดี และต่างตระหนักดีว่า การเสนอญัตติเร่งด่วนในวันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับราษฎร ร่วมกันอย่างยั่งยืน ผมขอเสนอแนะรายละเอียดต่อไปนี้เพื่อรวมกันให้เป็นเรื่องเดียวสำหรับ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคตที่จะมาถึงไปพร้อมกันครับ

    อ่านในการประชุม

  • ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และจนถึงตอนนี้ในพื้นที่จังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และจังหวัดตาก ทั่วทั้ง อำเภอสามเงาและอำเภอบ้านตาก ปริมาณน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ถนนหนทางชำรุดขาดพัง บ้านเรือน ไร่นา สวนเกษตรของราษฎรเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำวัง ท่านประธานครับแม่น้ำวังปกติลำน้ำจะมีการรับปริมาณการไหลของน้ำได้ อยู่ที่ ๔๕๐-๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ท่านประธานทราบไหมว่าเพียงแค่ฝนตกครั้งเดียว ของสัปดาห์ที่ผ่านมาวัดความเร็วการเคลื่อนตัวของน้ำที่สถานีวัดน้ำที่บ้านดอนชัยได้ ๑,๑๓๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ล้นแน่นอน มิหนำซ้ำในพื้นที่ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ เดิมทีเป็นพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากมาอย่างยาวนานของจังหวัดตาก กลับต้องเผชิญปัญหาน้ำป่า ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ๒ ปีซ้อน มันเกิดอะไรขึ้น เป็นคำถามที่ชวนทุกท่านคิด ถ้าจะมีน้ำมาท่วมขนาดนี้ เราหาที่ให้น้ำอยู่ เก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งดีกว่าหรือไม่ ผมขอ Slide ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมได้ติดตามสถานการณ์วิเคราะห์มา เพื่อรายงานต่อที่ประชุมแห่งนี้ผ่านท่านประธานสภานะครับ ข้อมูลน้ำจากสถานการณ์ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ วันที่ ๓ ตุลาคม เมื่อวานนี้เอง สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ยังเป็นปกติถึงขั้นน้อยและน้อยมาก หลายแห่งทั่วประเทศยังต้องการมวลน้ำมหาศาล เพื่อเก็บกักไว้ ยกเว้นบางแห่งที่เต็มคาราเบลไปแล้ว โดยเฉพาะ Zone ตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ท่านประธานครับ ทำไมน้ำท่วมที่ลำปาง ทำไมน้ำถึงท่วมที่จังหวัดตาก ผมย้อนไปดูข้อมูลจึงหายสงสัยเพราะการระบายน้ำเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๔ ถือว่าการระบาย น้ำในวันนี้ยังเป็นปกติครับท่านประธาน นั่นหมายความว่าพี่น้องทั้งลุ่มน้ำภาคกลางยัง สบายใจได้ แต่ทำไมมันถึงท่วมหนักที่ ๒ จังหวัดนี้ดังที่กล่าวมา ภาพนี้แสดงให้เห็นว่ามีพื้นที่ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางมากมายในอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง รวมปริมาณความจุ ๑๘.๖ ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นคือเรามีน้ำอยู่ครับ แต่เราไม่มีทาง ไม่มี ที่ให้น้ำไป เมื่อเอ่อล้นท่วมก็อย่างที่เห็นครับท่านประธาน ทีนี้มาดูปริมาณน้ำในเขื่อน ของภาคเหนือครับ เขื่อนที่เต็มความจุแล้วมีเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลที่จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง ยังต้องการปริมาณน้ำสำรองอีกมาก น่าแปลกใจไหมครับเรายังต้องการปริมาณน้ำเติม ในเขื่อน แต่กลับไปท่วมที่บ้านเรือน ใกล้ความจริงแล้วครับ และเมื่อตรวจสอบสถานี น้ำต่าง ๆ เพื่อวัดระดับเทียบกันกับแนวตลิ่งทุกจุดปกติ ยกเว้นที่สถานีแม่น้ำวังเท่านั้น มาถึงตรงนี้สามารถสรุปได้ทันทีครับท่านประธานว่าแม่น้ำวังมีสถานะตื้นเขิน หากไล่ตั้งแต่ ต้นสายจนถึงปลายสายของลำน้ำ จากข้อมูลไม่มีการขุดลอกมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ดังนั้น ที่กล่าวมาข้างต้นลำน้ำรับการไหลได้ ๔๐๐-๖๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปริมาณที่ไหลมาคือ ๑,๑๓๖ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำมีมากแน่นอนนะครับ ประกอบกับการไม่ได้ขุดลอก เป็นเวลานาน ผมเชื่อว่าแม่น้ำวังในวันนี้รับได้แค่ ๓๐๐-๔๐๐ ลูกบาศก์เมตรเท่านั้นครับ แล้วน้ำส่วนเกินจะไปไหนได้นอกจากท่วมบ้านเรือน ไร่นาเกษตรกร สร้างความเสียหายให้กับ พี่น้องประชาชนนั่นเองครับ

    อ่านในการประชุม

  • Slide สุดท้ายครับ อันนี้คือภาพที่เป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ยังไม่หมดนะครับ แต่ว่ากรอบมันเล็ก ท่านประธานครับมวลน้ำมหาศาลขนาดนี้จะเอาไปไหนครับ จะเอาไปทิ้ง จะเอาไปสมทบกับแม่น้ำปิงที่ปากวัง แล้วก็ปล่อยให้มาท่วมภาคกลางอย่างนั้นหรือครับ ผมเสนอให้ผันไปช่วยในพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากจะได้ไม่สูญเปล่าครับ คนจังหวัดตากบ้านผม ใน Zone แล้งก็ได้แต่เฝ้ามองน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

    อ่านในการประชุม

  • อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องอภิปรายเรื่องนี้ คือเมื่อฝนเปลี่ยนทิศไม่ตกลงในพื้นที่ เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำอย่างที่ตั้งใจ ย้ายไปตกยังพื้นที่ป่า เขา และอุทยานแห่งชาติ ทั้งในพื้นที่ จังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะจังหวัดลำปางที่อุทยานแห่งชาติแม่วะ ส่งผลให้ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา กระจายไปทุกทิศทุกทาง เหตุเพราะไม่มีที่กักเก็บน้ำ ไม่มีทางให้น้ำไป เราไม่มีแนวทางในการพาน้ำในที่แล้ง และยังปล่อยให้ท่วมจนเกิดวิกฤติ ซ้ำซากในทุกปี ที่กล่าวมาราษฎรหลายแสนคนรับเคราะห์กรรมนี้ และหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับ ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน ประชาชนทิ้งถิ่นฐานอยู่ไม่ได้ บางท่านแค่คิดจะกลับมา ทำการเกษตรที่บ้านก็เตรียมใจขาดทุนไว้ตั้งแต่จะกลับมาเลย ท่านประธานครับเรามาเปลี่ยน พื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากโดยการนำน้ำส่วนเกินไปเติมในที่แล้งเถอะครับ ตัวอย่างอ่างแม่เชียงราย มีพื้นที่คาบเกี่ยวกันระหว่างจังหวัดตากและจังหวัดลำปาง ปัจจุบันน้ำเต็มพิกัด แต่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์สักเท่าไร เมื่อฝนมา น้ำป่ามาก็เอ่อท่วมล้นบ้านเรือน เราสามารถเชื่อมโยงผ่องถ่าย น้ำจากแหล่งนี้ไปสู่พื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากที่ตำบลโป่งแดงได้ ด้วยระยะทางเพียง ๑๖.๙ กิโลเมตรเท่านั้น แก้ท่วมได้ แก้แล้งได้ในคราวเดียวกันเลยครับ การขุดลอกแม่น้ำวัง ที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่นี้คือช่วยเปลี่ยนที่ตื้นเขินให้จำเป็นอย่างยิ่ง การขุดเพื่อเพิ่ม เพิ่มหาทางให้น้ำไป หาทางให้น้ำไปหาคนที่เขาต้องการ ให้น้ำไปในที่ที่จุดต้องการ การขุด แบบเหวี่ยงทิ้งที่ผ่านมาเอามาแปะไว้ข้างตลิ่ง ไม่เอาแล้วครับ ตรวจสอบยากมันส่อทุจริต ขอแบบขุดแล้วขนออกจะได้ตรวจสอบได้ ด้วยการตรวจสอบด้วยปริมาณดิน แบบนี้โปร่งใสดี ส่วนแนวตลิ่ง ๒ ข้างทางขอเสนอให้ออกแบบทำให้เป็น Riprap ครับ Boxes Gabion จำพวกคันดินทั้งหลาย ขอไม่เอาแล้วเพราะต้านทานกระแสน้ำไม่ไหว ทำทิ้งทำขว้าง สิ้นเปลืองงบประมาณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายผมอยากจะขอเชิญชวนผ่านท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและข้าราชการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมใจตั้งใจแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนี้อย่างเป็นระบบ อย่างมีความหวังให้กับพี่น้องประชาชน ผมเองวันนี้มีโอกาสเข้าสภามาทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่า ๔ ปีข้างหน้า จะได้เข้ามาไหมอาจจะเป็นครั้งเดียวของผมก็ได้ แต่ผมแบกความหวัง แบกความฝันของ พี่น้องประชาชนผมมาเต็มบ้านเลยครับเพื่อมาพูดแทนเขาในวันนี้ ผมอยากเห็นการจัดการน้ำ ที่ร่วมมือกันตั้งใจทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้สักทีครับ ผมและพรรคก้าวไกล ยืนยัน ขอสนับสนุนเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๑ พรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาราษฎรหลายพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย ในหลายพื้นที่น้ำท่วม เฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก มันไม่ใช่อุบัติเหตุที่ประชาชน ต้องเผชิญ แต่มันคือความบกพร่องของการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่ผมต้องหารือต่อ ท่านประธานคือระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเรื่องเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๒๐ ง ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หมวด ๒ เรื่องคณะกรรมการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งระดับอำเภอ หรือ ก.ช.ภ.อ. และระดับจังหวัด ก.ช.ภ.จ. ในข้อ ๑๑ และข้อ ๑๓ จะเบิกจ่ายช่วยเหลือราษฎรได้ต้องมีการประกาศภัยพิบัติ ในการประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการประกาศภัยพิบัตินั้นต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่ง ต้องรอกำหนดการประชุมต้องมีหนังสือเวียน ต้องมีการประสานงาน ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดสถานที่ มันล่าช้าและล้าหลัง กว่าจะประกาศได้เหตุการณ์ ก็ล่วงเลยไป ๓-๔ วันแล้ว ดังนั้นเพื่อให้การจัดการได้ทันท่วงที ขอให้พิจารณาแก้ไข ระเบียบใหม่ให้ทันสมัยให้เป็นการประชุมแบบ Online ได้ แบบ Video Conference แล้วบันทึกการประชุมกำหนดเป็นหลักฐานองค์ประชุมได้หรือไม่ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นต่อมาครับ เรื่องเงินเยียวยาพื้นที่น้ำท่วม น้อยมากเมื่อเทียบกับ ความบกพร่องของการบริหารจัดการน้ำของรัฐ เทียบกับความสูญเสียของราษฎร ไร่ข้าว ชดเชยไร่ละ ๑,๓๔๐ บาท พืชผัก พืชไร่ ชดเชยไร่ละ ๑,๙๘๐ บาท ไม้ผลยืนต้น ชดเชย ไร่ละ ๔,๐๔๘ บาท กรณีที่ทำกินเสียหายชดเชยละ ๗,๐๐๐ บาท รายละไม่เกิน ๕ ไร่ คิดเป็น ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เจ็บปวดครับท่านประธาน หากส่วนนี้แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมได้ก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างมากครับ ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผมคริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล สำหรับญัตติการเปิด สถานบันเทิงครบวงจรนั้นผมขออภิปรายในเชิงตั้งคำถามครับ คือหลักคิดอันเป็นสารตั้งต้น เพื่อกำหนดทิศทางแนวทางในเรื่องของบ่อนหรือกาสิโนในรูปแบบรัฐให้สัมปทาน มีใบอนุญาต มีผู้ประกอบการหรือรัฐดำเนินการด้วยตนเอง บ่อนกาสิโนเสรีจัดตั้งพื้นที่เฉพาะ ควบรวมไปถึงกาสิโน Online ด้วยหรือไม่ที่สำคัญคือกลุ่มเป้าหมายคือใครครับ ๕๐ คือข้อเรียกร้องของประชาชน ที่ให้ข้อคิดเห็นไว้ครับ ปัจจุบันคนเล่นการพนัน Online เพิ่มขึ้น ๑๓๕.๘ เปอร์เซ็นต์ วงเงิน Online เพิ่มขึ้นเป็น ๔๓๑ เปอร์เซ็นต์ ประเภทที่ได้รับความนิยมคือพวก Baccarat ป๊อกเด้ง Slots เหตุเพราะหลังจากสถานการณ์โควิดระบาด กาสิโนบนโต๊ะซบเซา ธุรกิจพนัน Online เติบโต นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจครับว่าปรากฏการณ์ที่โลกหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงไป บางทีความนิยมในเรื่องของการพนันอาจย้ายมาอยู่บนมือถือแล้วก็ได้ครับ แต่การละเล่น พื้นบ้านที่มีการพนันขันต่อในรูปแบบประเพณีถ้าห้ามไม่ได้ก็จัดระเบียบเก็บภาษีเข้ารัฐ จุดนี้เห็นด้วยครับ ในการสำรวจกลุ่มตัวอย่างมีเพื่อนสมาชิกได้พูดไปว่ามีประชากรถึง ๓๙ ล้านคนระบุว่าเคยเล่นการพนันอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงชีวิตใช่ครับ แต่ในแบบสอบถาม นี่มันมีทั้งสลากกินแบ่งที่มาเป็นอันดับ ๑ หวยใต้ดิน ไพ่ ฟุตบอล ไฮโล น้ำเต้าปูปลา ครบหมด ตัวเลขมันเลยดูอยู่เยอะครับท่านประธาน แต่คนที่เคยเล่นพนันแบบเดินเข้าบ่อน ตัวเลข บ่อนชายแดน ๔๘๔,๐๐๐ คน และเคยไปเล่นบ่อนต่างประเทศแบบไม่ติดชายแดน ๑,๓๘๔,๐๐๐ คน เคยเล่น Website พนันต่างประเทศ ๑,๓๘๐,๐๐๐ คน หรือประมาณ ๓,๒๔๘,๐๐๐ คน คิดเป็น ๔.๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของคนทั้งประเทศ ดังนั้นหากจะเปิดเสรี หรือเดินหน้าทำกาสิโนจริง ๆ สิ่งสำคัญคือการควบคุมครับ ผลกระทบทั้งเรื่องทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญคือช่องโหว่ที่ทุกคนมุ่งเป้าแต่เรื่องเม็ดเงินที่คาดหวังว่าจะได้ แต่ก็ไม่ได้กำหนดอะไรที่ชัดเจนเลยว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร Online หรือครับ หรือจะ On table หรือจะสร้างมูลค่าเพื่อการท่องเที่ยวครับ เพื่อนสมาชิกผมเมื่อสักครู่พูดไป เรื่องประเทศจีนที่ออกกฎหมายใหม่ชื่อ Remote Gambling รวมไปถึงการบังคับในเรื่องของ การเล่นการพนัน Online ด้วยนะครับ โดยรัฐบาลจีนมองว่าการจัดทัวร์เพื่อการเดินทางมาเล่น กาสิโนนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีการกดดันไปยังมาเก๊าเพื่อให้ลดปริมาณใบอนุญาตลง เพื่อเพิ่มในเรื่องของการท่องเที่ยว ในเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศแทน แต่มาดูที่ประเทศเรา จะมองเรื่องการท่องเที่ยวถามว่าเป้าหมายคือใครตอนนี้ คนในประเทศหรือคนในเอเชีย บ้านเรานะครับ

    อ่านในการประชุม

  • สุดท้ายถ้าสิ่งที่มีอยู่เรารู้ว่ามีเอามาทำให้ถูกต้อง เอามาควบคุมให้ดีเก็บภาษี เข้ารัฐได้ผมก็สนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๑ พรรคก้าวไกล วันนี้ผมมี ๓ ประเด็นเร่งด่วน ที่ต้องขอหารือท่านประธานครับ ขอสไลด์ด้วยครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นแรก พื้นที่หาดทรายทองจากงบประมาณ ตามแผนปฏิบัติงาน ๕ ปีของกรมเจ้าท่า มีงบประมาณเพื่อรื้อหาดทรายทองทิ้ง ซึ่งเดิมทีสร้าง เมื่อปี ๒๕๔๗ ด้วยงบบูรณาการจังหวัดสมัยผู้ว่า CEO ครับ ที่กรมเจ้าท่าเองมอบอำนาจ ให้กับผู้ว่าดำเนินการ วันนี้พื้นที่หาดทรายทองสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและกระตุ้น เศรษฐกิจได้จริงตามเจตจำนงในการสร้าง และในทางกฎหมายต้องตีความว่ากรมเจ้าท่ายังมี อำนาจกำกับดูแลอยู่หรือไม่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวสิ้นสุดทางน้ำแล้ว ผมได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ท่านประธานสภาผ่านไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อยื่นร้องทุกข์นะครับ และยื่นร้องทุกข์ต่อ ประธานกรรมาธิการคมนาคมแล้ว หากใช้งบประมาณของรัฐเดี๋ยวก็สร้างเดี๋ยวก็รื้ออยู่อย่างนี้ ราษฎรชาวตากเดือดร้อนครับ และต้องการที่จะใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้อีกต่อไป

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นถัดมาครับท่านประธาน ประชาชนชาวจังหวัดตากได้ยื่นหนังสือ ต่อประธานกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ตรวจสอบการอนุญาตประทานบัตร ประเภทเหมืองหินบริเวณหมู่ที่ ๘ ตำบลแม่ท้อ ซึ่งเป็นการอนุญาตให้สัมปทานที่ล้าหลัง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำชั้น A เป็นพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติลานสางและอุทยาน แห่งชาติตากสินมหาราช และยังเป็นป่าต้นน้ำที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใช้หล่อเลี้ยงผู้คน มากกว่า ๔ ตำบลนะครับ และน้ำจากที่นี่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนะครับ ฝากไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากได้ยิน ข้อหารือของผมต่อท่านประธานในวันนี้ขอให้พิจารณาใช้มติ ครม. ยกเลิกการอนุญาต ประทานบัตรนี้โดยเร็วครับ ประชาชนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และไม่อยากตกอยู่ ในสภาวะกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจต่อไปครับ

    อ่านในการประชุม

  • ประเด็นสุดท้ายครับท่านประธาน หลังน้ำท่วมอำเภอสามเงา จังหวัดตาก โครงสร้างพื้นฐานเสียหายอย่างมากครับ งบประมาณท้องถิ่นไม่เพียงพอ ฝากรัฐบาล ประสานงานอุดหนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมเป็นการด่วนนะครับ โดยเฉพาะถนนหนทาง และสะพานที่ขาด ขอบคุณครับ

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขออภิปรายสนับสนุน ญัตติการแก้ไขปัญหาน้ำประปาดังนี้ ผมขอเริ่มที่แผนการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ของการประปาส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านมาในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ในด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัด

    อ่านในการประชุม

  • จากเอกสารของสำนักงานการตรวจเงิน แผ่นดินในงบประมาณปี ๒๕๕๗-๒๕๖๒ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการลงสำรวจพื้นที่ ๘ จังหวัด โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นจังหวัดใดบ้าง จำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ตำบล ๕๘๕ หมู่บ้าน พบว่ามีถึง ๘๘ หมู่บ้าน ที่ไม่มีการให้บริการน้ำประปาเลย คิดเป็น ๑๕.๔ เปอร์เซ็นต์ จาก ๕๘๕ หมู่บ้าน และมีหมู่บ้านที่สำรวจแล้วอยู่ในแผนเพียง ๓๐ หมู่บ้านเท่านั้น ไม่อยู่ในแผนอีก ๕๘ หมู่บ้าน และมีหมู่บ้านที่มีน้ำประปาแต่ยังไม่ครอบคลุมอีก ๒๒๕ หมู่บ้าน คิดเป็น ๕๑.๓๑ เปอร์เซ็นต์ จากหมู่บ้านที่มีบริการ ๔๙๗ หมู่บ้าน เป็นข้อมูลที่น่าตกใจครับท่านประธาน เพราะเป็น การสำรวจเพียง ๘ จังหวัดเท่านั้น ยังขาดแคลนขนาดนี้

    อ่านในการประชุม

  • จากแผนแม่บทการจัดการน้ำ ๒๐ ปี ของปี ๒๕๖๑-๒๕๘๐ ระบุในเอกสารว่า เป้าหมาย ๒๐ ปี จะขยายเขตเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน ๒๕๖ หมู่บ้าน ตัวเลขนี้ ยิ่งน่าตกใจไปอีก เพราะเมื่อเทียบกับจำนวนหมู่บ้านทั้งประเทศที่มีถึง ๗๐,๐๘๖ หมู่บ้าน นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีระบบน้ำประปาครบทั้งประเทศถ้าทำตามแผนนี้ เราจะใช้ เวลา ๖๐ ปี ผมไปดูรายละเอียดการจัดการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปี ๒๕๖๕ งบอุดหนุนเฉพาะกิจของหน่วยงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน รายการเงินอุดหนุนสำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แก่ประชาชนหรือโครงการน้ำประปาหมู่บ้านนั่นเอง มีการของบอุดหนุนอยู่ ๓ รูปแบบ โดยวงเงินไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท แต่ท้องถิ่นต้องเตรียมวงเงินสมทบอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แบบที่ ๑ ขนาดเล็ก ราคาไม่เกิน ๑ ล้านบาท แบบที่ ๒ ขนาดกลาง ราคาไม่เกิน ๒-๓ ล้านบาท แบบที่ ๓ ขนาดใหญ่ ราคาไม่เกิน ๕ ล้านบาท หากเราวางเป้าหมายว่าจะทำประปาหมู่บ้าน ให้ครบทั้งประเทศ ๗๐,๐๘๖ หมู่บ้าน เราต้องมีวงเงินถึง ๓๗๕,๔๓๐ ล้านบาท แต่นี่ก็ยังน้อย น้อยกว่า Digital Wallet แน่นอนครับ แต่สิ่งนี้สามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้อง ประชาชนได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

    อ่านในการประชุม

  • มาดูในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคกันบ้าง ปัจจุบันแบ่งงานออกเป็น ทั้งหมด ๑๐ เขตทั่วประเทศ ครอบคลุมเทศบาล ๖๔๗ แห่ง อบต. ๗๗ แห่ง หมู่บ้านอีก ๑๗๑ แห่ง เป็นข้อมูลที่ระบุไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ปัจจุบันปี ๒๕๖๖ ผ่านมา ๒๒ ปี ไม่มีการขยาย เขตเพิ่ม หรือว่าอย่างไรเพราะข้อมูลไม่ได้ Update เลย สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าภาคการเมืองทอดทิ้ง ประชาชนมาอย่างยาวนานแล้วในเรื่องของการขยายเขต เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบ น้ำประปามาตรฐานในระดับภูมิภาค ประปาหมู่บ้านเป็นภารกิจที่ผูกพันกับคณะกรรมการ หมู่บ้าน ความใส่ใจจึงยึดโยงกับบุคคลเป็นหลัก เปลี่ยนคนน้ำก็เปลี่ยนสี กลิ่นและคุณภาพ ของน้ำก็เปลี่ยน การบำรุงรักษาผูกพันกับงบประมาณรายได้ของท้องถิ่นที่ทุกวันนี้ ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว ยิ่งกลายเป็นภาระผูกพันระยะยาวให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น ๆ ยกเว้นประปาของเทศบาลตำบลอาจสามารถ ที่เราเห็นว่าใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังติดขัดระเบียบในรูปแบบของ อบต. ถ้าเกิดจะสร้างและดำเนินการตามนั้น หากระเบียบ เหล่านี้มีการแก้ไขก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก จากข้อมูลเหล่านี้หากเราสามารถใช้คนให้ถูกกับงานโดยใช้เกณฑ์การขยายเขตของ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจในการทำประปาหมู่บ้าน เปลี่ยนมาเป็นการขยายเขตของการประปา ส่วนภูมิภาคแทน เราอาจจะใช้เวลาน้อยลง จากการคำนวณของผมประมาณ ๒๐ ปี ด้วยงบประมาณ ๑๘,๗๗๑ ล้านบาทเท่านั้น ครบแน่นอนทั้งประเทศ เราจะได้มีน้ำกิน น้ำใช้ อย่างเท่าเทียมกันโดยที่ไม่ต้องแยกแยะว่าเป็นคนในเมืองแล้วมีประปาที่ดี เป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนภูธรแล้วใช้น้ำขุ่น ๆ ไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง ฝนตกน้ำก็แดง อย่างนี้ครับ

    อ่านในการประชุม

  • ผมขอภาพสุดท้ายครับ ภาพนี้ผมอยากให้ทุกท่านมองดู ท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติทุกท่านครับ นี่คือน้ำที่ประชาชนบ้านผมเขาใช้อยู่ ท่านกล้าใช้กันไหมครับ วันนี้ จังหวัดตากบ้านผมหลายหมู่บ้านยังไม่มีแม้น้ำประปาหมู่บ้านจะใช้งานเลยครับ เรื่องนี้ มาช่วยกันแก้ไขนะครับ ขอบคุณครับท่านประธาน

    อ่านในการประชุม

  • เรียนท่านประธานสภาครับ ผม คริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก เขต ๑ พรรคก้าวไกล ขอเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ๖ ท่าน ดังนี้ครับ ๑. นายมานพ คีรีภูวดล ๒. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ๓. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ๔. นางสาวภัสริน รามวงศ์ ๕. นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ๖. นางสุนี ไชยรส ขอบคุณครับ ขอผู้รับรองด้วยครับ

    อ่านในการประชุม