ท่านประธานครับ ผม วิทยา ผมใช้สิทธิประท้วงมานานพอสมควร ไม่มีใครหันมาดูครับ
ผมขออนุญาตใช้สิทธิพาดพิง เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกลระบุว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ท่านก็ได้มาหารือแล้ว แล้วก็ตกลงกันเรื่อง ๒ ญัตติ ซึ่งผมเข้าใจว่าอาจจะคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง ผมได้รับทราบจากน้อง ๆ เพื่อนสมาชิกที่มาหารือนะครับ มาหารือผมตรงนี้บอกว่า มี ๒ ญัตติที่เขาอยากให้เลื่อนขึ้นมา ก็คือ ๑ ญัตติเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เรื่องพืชผลเกษตรกรรมทั้งหมดซึ่งอาจจะรวมกันพิจารณา ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไม่ขัดข้อง ความเดือดร้อนประชาชนเอามาเลย เขาก็บอกว่าขอพ่วงญัตติที่ ๒ ก็คือเรื่องของการที่จะทำ ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมบอกว่าผมรับได้เรื่องเดียว ผมก็คนพูดตรง ๆ ครับ ถ้าเรื่องความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนผมรับได้ เพราะฉะนั้นความเห็นพวกผมก็ไม่ขัดข้อง ถ้าจะเอาเรื่องความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน แต่ถ้าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญผมก็ถามกลับว่า ใครเดือดร้อนอยู่ แล้วผมไม่เห็นด้วยเด็ดขาดที่จะเล่นประชามติกันไปถามประชาชน แล้วไม่ถามเรื่องอื่นด้วย
ก็เรียนเพื่อทราบว่าไม่เคยมี การตกลงว่าจะเหล้าแล้วพ่วงเบียร์
ท่านประธานสภาที่เคารพ เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่เคารพครับ กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอบพระคุณนะครับที่ได้มีผู้กรุณาเสนอผมขึ้นมา เสนอตัวที่จะเป็นรองประธานสภา คนที่หนึ่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ควบคู่กับท่านประธานสภา ตามภารกิจที่มอบหมาย ผมคิดว่าใจความสำคัญของการทำหน้าที่ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ หลักก็คือความเป็นกลาง และสิ่งที่สำคัญก็คือรักษาองค์กรของสภานิติบัญญัติได้เป็นสภา ที่ทรงเกียรติและเป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์พอในการที่จะออกกฎกติกา กฎหมายให้กับบ้านเมือง แน่นอนครับ ประเทศเราเป็นนิติรัฐ คือรัฐที่ต้องบริหารด้วยกฎหมายทุกคนต้องอยู่ภายใต้ กติกาและกฎหมาย ที่นี่ครับประธานแล้วก็องค์ประชุมของสมาชิกทั้งหมดคือสถานที่ ที่จะออกกฎกติกาของสังคมทั้งหมด ผมเชื่อมั่นครับว่าถ้าผมทำหน้าที่ในตำแหน่ง รองประธานสภาผมพร้อมที่จะปฏิบัติตามแนวนโยบายของประธานสภาและสามารถที่จะทำ หน้าที่ได้ให้ความเป็นกลาง ให้ความเสมอภาคกับเพื่อนสมาชิกในสภา และที่สำคัญครับ ผมมั่นใจว่าผมจะรักษาเกียรติภูมิและหน้าตาของรัฐสภา สภานิติบัญญัติของเราให้เป็นที่ เชื่อมั่น เชื่อถือของประชาชน ผมให้ความมั่นใจกับเพื่อนสมาชิกได้ครับว่าผมจะวางตัว เป็นกลางและรักษาเกียรติภูมิของสภาเราให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น แน่นอนครับ บางยุคสมัยประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายรำคาญกับสภาที่ไร้ระเบียบ ไร้วินัย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เริ่มต้น ก็คือเราต้องช่วยกันทำตรงส่วนนี้ของสภากลับมาสู่การมีเกียรติภูมิอย่างแท้จริง ผมให้ความมั่นใจกับเพื่อนสมาชิกได้ครับว่าจะมีระยะเวลา ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี หรือกี่ปี ในสมัยประชุมนี้ ในสมัยของสภาชุดนี้ ผมจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและรักษา เกียรติภูมิของสภาไว้ให้ดีที่สุด ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขออนุญาตหารือท่านนิดเดียวครับท่าน พระราชกำหนดฉบับนี้เราจำเป็นต้องเอาเข้าสภา อย่างเป็นการเร่งด่วนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อเช้าท่านรัฐมนตรีก็นำเสนอ พระราชกำหนดฉบับนี้ต่อพวกเราในสภา แล้วท่านก็ไม่ได้มาคนเดียว ท่านพาคณะ ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับนี้ ผมดูรายชื่อทั้งหมด ๙ ท่านมาร่วม ทีแรกท่านประธานสภา ก็ทำท่าจะให้ท่านที่มาร่วมชี้แจงกับรัฐมนตรีได้ชี้แจงก่อน แต่ท่านเห็นหลายคน ผมเข้าใจว่า ท่านก็เลยเปิดให้มีการอภิปรายมา วันนี้ผมว่ารายชื่อผู้อภิปรายเราเกือบ ๕๐ ท่านนะครับ แล้วก็บางเรื่องบางประเด็นมีหลายท่านที่นั่งอยู่ด้านบนท่านก็จดและท่านเตรียมชี้แจง แต่ว่าท่านจดไปจดมาผมว่าตั้งแต่หัวจรดท้ายเวียนไป ๓ รอบแล้ว ผมว่าท่านก็จำไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะกรุณาท่านประธานอาจจะเว้นสักนิดครับ ให้ท่านผู้มาชี้แจงแต่ละท่าน ซึ่งมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าท่านปลัดกระทรวงดิจิทัล รองปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เหล่านี้ ท่านมา ถ้าท่านได้ชี้แจงสักนิดถึงความคืบหน้าว่าตั้งแต่ออกพระราชกำหนดฉบับนี้ ท่านขยับอะไรไปบ้างแล้ว เผื่อท่านติดขัดเราจะได้เสริม อันนี้ไม่พอก็ล้มอันนี้ไปออกเสียใหม่ จะดีกว่า ขออนุญาตเสนอความคิดเห็นครับ ถ้าท่านกรุณาก็อาจจะอนุญาตให้ผู้มาชี้แจง ได้เริ่มต้นเล่าให้เราฟังบ้างว่าปัญหา อุปสรรคในชีวิตการทำงานจริง ๆ มีอะไรครับ ขอบพระคุณครับ
นิดเดียวท่านประธานครับ คือเอาเข้าจริง ๆ ถ้าหมด ๒๐ ท่าน แล้วก็ผู้มาชี้แจงเริ่มชี้แจงมันก็จะมีผู้ซักถามอีก คราวนี้ เราจะจบไม่ลงนะครับ แต่ถ้าเริ่มเสียบ้าง ผู้ที่เตรียมอภิปราย ๒๐ ท่านอาจจะแวะเข้ามา ซักถามในประเด็นที่ข้องใจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเอาอย่างไร ชาวบ้านแจ้งความแล้วไม่รับ จะแก้อย่างไร ธนาคารแห่งประเทศไทยอายัดบัญชีได้ทันไหม ไม่ใช่พ่วงจากคนที่ ๑ แตกเป็น ๓๐ บัญชีหายไปทันทีในพริบตา มีมาตรการอย่างไร แล้วก็ติดตามดูมันไปถึงต่างประเทศหรือยัง หรืออยู่ในประเทศ จับได้บ้างหรือยังตั้งแต่ออกพระราชกำหนด อย่างนี้ผมคิดว่าเราจะกระชับ ผู้อภิปรายขึ้นเป็นการซักถามเสียเลยดีกว่า เพราะฉะนั้นจบรอบนี้ท่านก็ทราบดีว่าผมชี้แจง ผมก็ถามอีกคราวนี้ก็ไม่จบ ขออนุญาตเสนอความคิดเห็นครับ
ผมคิดว่าถ้าเริ่มอย่างที่ ผมเสนอมันจะกระชับเวลาของสภา แล้วก็วันนี้จริง ๆ ก็กฎหมายฉบับนี้ตกไปนะครับ ท่านที่ลุกขึ้นมาค้านเมื่อสักครู่ท่านเป็นรัฐบาล ท่านก็ต้องรีบทำออกมาอีกคือมันหนีไม่พ้น เป็นความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎรเรา จะเป็นฝ่ายไหนก็ตามครับ เพราะผมฟัง ตั้งแต่เช้ามาถึงวันนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องนี้จริง ๆ อยากให้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการกับ พวกที่หลอกต้มตุ๋นกันทั่วทั้งประเทศ แต่เราก็อยากฟังคนปฏิบัตินี่มันติดขัดอย่างไร ทำไมปราบไม่หมด เอาไม่ทัน หรือเทคโนโลยีพัฒนาทุกวันเราจะก้าวก่อนสักก้าวได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไล่ตามหลังอย่างนี้นะครับ อย่างที่ท่านว่าควายหายแล้วค่อยล้อมคอกกัน คือจะคอกใครคอกมันไม่ว่าครับ วันนี้พวกท่านมาชี้แจงวันข้างหน้าอีกฝั่งหนึ่งเป็นรัฐบาล เขาก็ต้องมาทำอย่างนี้อีก แต่ผมคิดว่าถ้ายุติง่าย ๆ ก็คือรับฟังกันทั้ง ๒ ฝ่าย คนที่ปฏิบัติ เขามีปัญหาอะไรเขาก็จะได้หาทางออก เราคนที่เป็นตัวแทนจากประชาชนจะได้รับฟัง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นครับ
กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้พวกเรามีโอกาสในสภานะครับ มีโอกาสมาฟังรายงานผลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งจริง ๆ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติดให้โทษมันเกิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ มาถึงวันนี้ ๕๐ ปีแล้ว จะโทษว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. มีผลงานน้อยก็ไม่ใช่ เมื่อสักครู่เพื่อนสมาชิกก็ฉาย Spotlight ให้ดูแล้วว่าเราปราบปรามยาเสพติด จับคดียาเสพติดมาก มากติดอันดับโลกเลย เพราะฉะนั้น การทำงานของ ป.ป.ส. จะว่าไปด้อยเรื่องการปราบปรามจับกุมก็คงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้เรือนจำเราทั่วประเทศเกินครึ่งเป็นผู้ต้องหา เป็นผู้ต้องขังเกี่ยวกับ ยาเสพติด ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของคดีอาญาที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมด การปราบปรามเราได้ผลครับ แต่ขณะเดียวกันตั้งแต่เราอภิปรายเรื่องนี้มา ผมเชื่อว่า ท่านรองเลขาธิการก็ทราบพอ ๆ กับ สส. ว่าทุกวันนี้จำนวนผู้ติดยาเสพติดระบาดไปมาก ทั่วประเทศ ยาเสพติดกลายเป็นสิ่งที่ระบาดไปทั่วทุกหมู่บ้านในชนบท กลายเป็นเรื่องใหญ่ เด็กหนุ่ม เด็กสาวในหมู่บ้านชนบทเกินครึ่งหนึ่งที่ตกเป็นภัยของยาเสพติด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ผมคิดว่าพวกเราอยากรู้ก็คือมันเกิดปัญหาอุปสรรคอะไรในการทำงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ระดับปฏิบัติการ ผมก็อยากรู้แต่ละคำตอบว่าเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นปัญหา เรื้อรังของชาติ ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งครับ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะมาเป็นรัฐบาล ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหานี้แน่ แล้วไม่ใช่เพิ่งเกิดวันสองวัน มันเกิดมา เป็นสิบ ๆ ปี เราเคยตามล้างกันถึงกับตายไป ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน เราจับกันมาหลายแสนคน แต่ปัญหาไม่จบ เพราะฉะนั้นในแนวนโยบายที่ท่านเขียนมาในยุทธศาสตร์ของท่านก็คือ ป้องกันและปราบปราม ผมขออนุญาตเรียนถามทางท่านรองเลขาธิการซึ่งจะเป็นผู้มาชี้แจง
ประการที่ ๑ ท่านทราบไหมว่าแหล่งผลิตยาเสพติดที่อยู่รายรอบประเทศเรา ที่เพื่อนสมาชิกกล่าวเมื่อสักครู่นี้มีทั้งหมดกี่แห่ง ผมคิดว่าเรามีหน่วยงาน ป.ป.ส. ซึ่งมี คณะกรรมการระดับนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย ข้อมูลตรงนี้ต้องมีครับ เพราะว่า เราป้องกันการนำเข้าและปราบปรามการส่งออก เรามีทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีการส่งออก ปัญหาว่าผมต้องการทราบว่าเดี๋ยวนี้แหล่งผลิตยาเสพติด เอาเรื่องง่าย ๆ ที่กระทบทุกหมู่บ้าน แหล่งผลิตยาบ้ามันมีที่ไหนบ้าง ท่านมีข้อมูลหรือยังครับ ส่วนผู้ขาย ค่อยให้ตำรวจตามหมู่บ้านไล่ก็แล้วกัน แต่ ป.ป.ส. ควรจะรู้แหล่งผลิตมีกี่แห่ง ในต่างประเทศ มีสักกี่แห่ง ในประเทศมีสักกี่แห่ง เพื่อท่านจะได้หามาตรการในการจัดการได้
ประการที่ ๒ ให้เรียนถามและต้องการคำตอบนะครับ ก็คือเวลาทำงาน ของคณะกรรมการ ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ป.ป.ส. เรามีปัญหาอุปสรรคในเรื่องกฎหมาย อะไรบ้าง ที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะยุติการแพร่ระบาดของยาเสพติดไปสู่ลูกหลาน ในหมู่บ้านในชนบทได้ ถ้าท่านมีรบกวนท่านช่วยแจ้งกับพวกเราในสภาด้วยนะครับ เพราะหลายท่านในนี้ผมคิดว่าไม่กี่วันอาจจะขึ้นไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรี ช่วยท่านได้ครับ ก็เป็นกรรมการ คณะกรรมการในระดับชาติเขาก็ช่วยในการแก้ไขปัญหาของท่านได้
ประการที่ ๓ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอแนะว่า ผมกำลังถามถึงผู้ผลิต ผู้ค้า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจับกุมผู้ค้า แต่ปัญหาผู้เสพครับ ผู้เสพที่วันนี้เราถือว่าเป็นผู้ป่วย ปัญหาเราเคยคิดไหมว่าเราจะเอาผู้ป่วยเข้ากระบวนการในการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องไป ไล่จับผู้ป่วยมาเข้าสู่กระบวนการบำบัด ผมฟังเพื่อนสมาชิกที่เคยเป็นสาธารณสุข ท่านสาธารณสุขอำเภอ รองสาธารณสุขจังหวัดมานี่ ท่านรู้ว่าการเรียกระดมพลเพื่อไปอบรม เอาทั้งคนติดยา ทั้งไม่ติดยาปน ๆ แล้วไปอบรม ปัญหาว่าทางเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. คิดไหมว่า เราเปิดขึ้นทะเบียนผู้เสพติดยาเสียทีได้ไหม คือเรากันไม่ได้เลยวันนี้ ยาเสพติดลดราคาลง เรื่อย ๆ ผมเชื่อว่ายาเสพติดกับกระท่อมราคาเริ่มจะใกล้เคียงกันแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราเกิด หาทางออกโดยวิธี ผมเสนอแนะว่ารับขึ้นทะเบียนผู้ติดยาเสพติดทั้งหมดทั่วประเทศ ขึ้นทะเบียนเสร็จแล้วก็เอาทะเบียนทางท่านมอบไว้กับสาธารณสุขตำบลทุกตำบล ที่สถานีอนามัยทุกตำบล เพราะเพื่อนสมาชิกหลายคนอภิปรายบอกแล้วว่ายาบ้าเม็ดไม่เกิน ๕๐ สตางค์ แล้วถ้า ป.ป.ส. ผลิตเสียเองผมคิดว่าไม่เกินสลึงหนึ่ง ถ้าเขาเป็นผู้ป่วยจริง ตามเจตนารมณ์กฎหมายเราก็ไปรับยาแก้ป่วยที่สถานีอนามัย จะเอาวันละ ๑ เม็ด แล้วค่อย ๆ ลดปริมาณลงเรื่อย ๆ จะเอาวันละ ๒ เม็ด ลดปริมาณลงเรื่อย ๆ ตามการควบคุม ผมก็คิดว่าเราเริ่มต้นที่จะได้ผู้ป่วยที่แน่นอน ไม่ต้องเอาไปขังแล้ว ไม่ต้องไปอบรม เอาไว้ใน หมู่บ้านนั่นละให้ประชาคมเป็นคนควบคุม ถ้าได้อย่างนี้ผมก็จะเห็นว่าวันที่ผู้ติดยาเสพติด ยาบ้าอยู่ในหมู่บ้านจ่ายวันละบาทเดียวแล้วก็อยู่กับสถานีอนามัยได้ ผมคิดว่าผู้ค้ายาเสพติด ในหมู่บ้านจะหายไปนะครับ เพราะมันจะค้าแข่งกับ ป.ป.ส. ไม่ได้ เรามีเครือข่ายอนามัย ทั่วประเทศที่จะบำบัดเขา อันนี้เป็นข้อที่ผมคิดว่าฝากท่านไปหารือกันดู เมื่อเราเอาชนะมัน ไม่ได้เราก็บำบัดคนของเรา เพื่อส่งคนเหล่านั้นเข้าสู่สังคมได้
ประการสุดท้าย ผมคิดว่าผมมีข้อเรียนถามท่านนะครับ ซึ่งผมติดใจมาตั้งแต่ วันเลือกตั้งวันที่ ๑๔ พฤษภาคม เช้าตรู่ของวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ป.ป.ส. ได้บุกเข้าจับกุม ผู้ส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอท่าศาลา แป๊บเดียว ท่านประธานครับ ได้ยาเสพติดเป็นยาไอซ์ประมาณ ๑,๔๐๐ กิโลกรัม ได้ผู้ต้องหาไป ๙ คน จับคาเรือที่กำลังขนออกต่างประเทศ แต่คนนครศรีธรรมราชก็สงสัยครับ มันเงียบกริบ เพราะช่วงนั้นเราชุลมุนเลือกตั้งข่าวเรื่องนี้ก็ไม่ออก ขออนุญาตเรียนถามท่านรองเลขาธิการ เดี๋ยวท่านโทรศัพท์ตามให้ผมหน่อยนะครับ ยาเสพติดที่จับกันในเช้าตรู่วันเลือกตั้ง ที่นครศรีธรรมราชได้ผู้ต้องหาไป ๙ คน ขยายผลไปถึงไหน อย่าให้คนที่นครศรีธรรมราช รู้สึกว่ามันหายไปพร้อมกับการซื้อขายเสียงในการเลือกตั้ง ฝากท่านช่วยรายงานต่อสภา วันนี้ด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ผมมีข้อสังเกต ฝากทาง สตง. ไว้นิดหนึ่งครับ เนื่องจาก กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๖ นี้ เพราะผม อยากเห็นการทำรายงานของปี ๒๕๖๖ ในครั้งต่อไปท่านช่วยทำเรื่องสัมฤทธิผลของ การใช้จ่ายงบประมาณด้วยนะครับ ว่าด้วยการให้เงินงบประมาณของ กกต. ไปสำหรับ การเลือกตั้ง ๖,๐๐๐ ล้านบาท รายจ่ายประจำบ้าง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ล้านบาท ผลจาก การเลือกตั้งปี ๒๕๖๖ ปรากฏว่าภารกิจของ สตง. ก็คือจัดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม เลือกตั้งเสร็จไปแล้วปรากฏว่าสิ่งที่ กกต. ประกาศก็คือรับรองผลการเลือกตั้ง หมดทุกประการ ไม่ได้สะท้อนเลยว่าท่านทำอะไรบ้าง หรือถือว่าการเลือกตั้งปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมที่สุดแล้ว เพราะตามระยะเวลากฎหมายทาง กกต. รับรองหมด เพราะฉะนั้นฝากท่านไปหน่อยว่าท่านตรวจสอบ กกต. เรื่องการใช้จ่าย งบประมาณในครั้งต่อไปช่วยตรวจสอบประสิทธิผลในการทำงานด้วยว่าคุ้มค่ากับเงินหรือเปล่า ถ้าไม่คุ้ม เพราะว่าบางประการ ผมดูท้ายของรายงานของท่านนะครับ ข้อเสนอแนะที่ท่านให้ กกต. ดำเนินการ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ผลการดำเนินการก็คือไม่ดำเนินการ ท่านก็มีข้อเสนอแนะ ซ้ำไปอีกให้ดำเนินการ สุดท้ายกลายเป็นองค์กรที่ค่อนข้างจะดื้อกับ สตง. สักนิด ผมก็เลยคิดว่า ท่านก็ประเมินผลเขาหน่อยนะครับ เพื่อเวลาพวกผมพิจารณาในสภาจะได้พิจารณาต่อว่า กับ กกต. ควรจะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งท่านประธานคงทราบดีว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับ กกต. ฝากท่าน สตง. ไปช่วยตรวจด้วยครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมไม่ทราบว่า ท่านคณะกรรมการจะเดินทางมาด้วย ต้องขอบพระคุณท่านมากครับ เมื่อสักครู่รายงาน ของ กกต. ก็ไม่มีตัวแทนกกต. มา วันนี้ก็รู้สึกว่าสภาได้รับเกียรติจากทาง ป.ป.ช. ผมมี ข้อคิดเห็นบางประการในการที่จะเรียนถามกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ประการที่ ๑ ผมเข้าใจว่าเนื่องจากเราขยายกฎหมาย ป.ป.ช. ในการดูแล ผู้บริหารทั้งทางการเมือง ทั้งระดับชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับ ท้องถิ่น เพราะฉะนั้นงานที่ขยายออกไประดับท้องถิ่น ช่วงหลังนี้เราเกิดท้องถิ่นขึ้นมากหลาย พันท้องถิ่นทีเดียว ผมเลยไม่ทราบว่าขณะนี้ในช่วงระยะเวลามาถึงวันนี้มีคดีที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. สักกี่คดี ค้างมาตั้งแต่ปีไหน ปิดบัญชีได้ถึงปีไหน มาถึงปีนี้ค้างกี่คดี การที่ค้าง หลาย ๆ คดีท่านมีแนวทางอย่างไรที่จะสะสางคดีที่ค้าง อาจจะหมายถึงการแก้กฎหมาย บางประการเพื่อแบ่งอำนาจให้ ป.ป.ท. ไป หรือกับว่ามีช่องทางใดนะครับ อยากฟัง ข้อเสนอแนะ เผื่อว่าสภาแห่งนี้จะได้พิจารณาหาทางออกให้กับท่านถ้าคดีมันค้างเยอะมาก
ประเด็นที่ ๒ ผมเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกซึ่งได้อภิปรายไปเมื่อสักครู่ ก็คือ ผู้บริหารการเมืองระดับท้องถิ่นค่อนข้างจะมีความรู้ทางกฎหมายนี้ต่ำ อันนี้เราปฏิเสธ ไม่ได้นะครับ ผู้บริหารบางท่านมาก็อาศัยหน้าที่ของปลัดกับข้าราชการ เขาเสนอมาอย่างไร ก็เซ็นอย่างเดียวเสร็จไป แล้วก็เสร็จจริง ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะให้ข้อสังเกตฝากกับ ท่านผู้บริหารฝากไปถึง ป.ป.ช. ทุกจังหวัดด้วยครับ เส้นแบ่งของการทุจริตกับการบกพร่อง ในหน้าที่มันบางมาก คือถ้าแค่การบกพร่องของผู้บริหารบางประการแล้ว ป.ป.ช. วินิจฉัยว่า ทุจริตไปไกลเลย หรือหมายถึงทุกอย่างจบหมด แล้วผมเรียนกับท่านเลยว่าสิ่งที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไป แล้วส่งอัยการฟ้อง อัยการท่านอาจจะมีความเห็นว่าเป็นบกพร่อง แต่ ป.ป.ช. ด้วยความตั้งใจดี ในการทำงานก็อาจจะมาตัดสินฟ้องดำเนินคดีเอง ผมมีอาชีพทนายความ แล้วเรียนกับท่าน ได้เลยว่าคดีที่ฟ้องคดีศาลอาญาทุจริตนี่หนักมากครับ โอกาสสู้รอดยากมาก เพราะผมบอกว่า เส้นแบ่งระหว่างการบกพร่องกับการทุจริตบางครั้งมันบางมาก ถ้าเราตีความว่าทุจริตเมื่อไร มันก็ไปทันที บางเรื่องผมก็ดูข้อเท็จจริง มันมีเงินความเสียหาย ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เราชี้มูลทุจริตเตรียมติดคุกเลยครับ แต่การเสียเงินงบประมาณ หายไป ๔๐ ล้านบาท ๒๐ ล้านบาท เป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ก็ว่าไปทางวินัยจบ คราวนี้เส้นบาง ๆ ตรงนี้ผมเคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากพนักงานอัยการคดีอาญาทุจริต หลาย ๆ ท่าน ผมบอกท่านต้องใช้ความระมัดระวังในการที่จะวินิจฉัยคดี ไม่เช่นนั้นแล้ว นักการเมืองท้องถิ่นหลายคนจะเป็นเหยื่อของข้าราชการประจำแล้วก็ติดคุกแทน แล้วลาก ข้าราชการประจำเหล่านั้นไปติดคุกกันด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ผมอยากท่านวางกรอบ อันนี้ พร้อม ๆ กับที่เพื่อนสมาชิกเสนอแนะก็คือจัดอบรมอย่างเข้มข้นให้กับผู้บริหารท้องถิ่น ทุกคนที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นคนพวกนี้ตราบใดที่ไม่แม่นข้อกฎหมาย ไม่แม่นระเบียบ ทำตามข้าราชการ เท้าแหย่ตะรางไปครึ่งแล้วเสี่ยงมาก ก็ฝากเรียนท่าน ไว้เท่านี้ครับ ถือว่าต้องขอบพระคุณท่านอีกครั้งที่ให้พวกผมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ผ่านท่าน ไม่ต้องผ่านทาง สตง. ไปครับ ขอบพระคุณครับ
ถูกต้องครับ ขออนุญาตซักถาม เพิ่มเติมนิดเดียวครับ จะได้ต่อเนื่องกับเพื่อนผมที่ได้พูดไปเมื่อสักครู่นะครับ ผมฟังรายงาน จากท่านประธานรอบแรกนะครับ ท่านก็บอกว่ามีผู้ที่มีลี้ภัยเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งท่านก็ได้ ติดตามดูว่าได้รับการดูแลอย่างไร และท่านรู้สึกว่าดูแลในสภาพดี คราวนี้ผมอยากทราบ ตัวเลขครับว่าขณะนี้มีผู้ลี้ภัยจากเพื่อนบ้านหรือจากที่ไหนก็ตามทั่วโลกเข้ามาอยู่ในประเทศ ไทยทั้งหมดสักกี่คน แล้วก็ผมคิดว่าสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้อง เตรียมการต่อ ในกรณีที่รอบบ้านเราเริ่มเกิดภาวะของสงคราม โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่าขออนุญาตเอ่ย ก็มีการอพยพของชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลเข้ามาเป็นระยะ คราวนี้ถ้าเกิดสงครามขนาดใหญ่ ผมเชื่อว่าหลายท่านเคยมีประสบการณ์จากสงคราม เวียดนามที่เรารับผู้อพยพเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพจำนวนมากมาย ท่านเตรียมการไหมครับว่า ถ้าเกิดกรณีเช่นนั้นเราจะเอางบประมาณจากส่วนไหน เราจะได้รับการดูแลจากสหประชาชาติ หรือใครหรือไม่นะครับ วันนี้ผมไม่รู้นะครับว่าผู้อพยพที่เราดูแลอยู่ทั้งประเทศเท่าไร แล้วถ้าเกิดสงครามใหญ่จริง ๆ เป็นล้านคนเราจะทำอย่างไรครับ ขออนุญาตที่จะหาทางออก ว่าท่านเตรียมการอย่างไรไว้ครับ
ท่านประธานที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย พรรครวมไทยสร้างชาติ ขออนุญาตต่อเนื่องสักนิดหนึ่งครับ วันนี้ท่านให้ ระเบียบวาระเรา ซึ่งจะได้พิจารณาเรียงตั้งแต่ ๑ ไปถึง ๕ เรื่อง ถ้าจะกรุณาท่านลองตรวจ ความพร้อมดูว่าพรุ่งนี้เราจะพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนสมาชิกจะได้เตรียมการไว้ก่อน จะได้ไม่เป็นการเสียเวลา ส่วนสัปดาห์ต่อไปถ้าเป็นไปได้ท่านแจ้งก่อนวันประชุมล่วงหน้า สักวันหนึ่ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคเขาจะได้ประชุมพรรค แล้วก็เตรียมสมาชิกที่จะไป ศึกษาและมาร่วมแสดงความคิดเห็นในสภา จะเป็นการสะดวกขึ้นครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย พรรครวมไทยสร้างชาติ ขออนุญาตใช้เวลาไม่นานครับ ต้องขอบคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้ให้เกียรติต่อสภาเดินทางมา เต็มคณะชุดใหญ่เลยครับ ถือว่าเป็นคณะแรก ๆ ที่เข้ามาชี้แจงอย่างพร้อมเพรียง ท่านประธานครับ
ผมมีเรื่องเดียวครับ ที่จะได้หารือและฝากข้อสังเกตไปกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ กฎหมาย ได้ให้อำนาจหน้าที่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการที่จะกำหนดประเภทบุคคลที่จะต้อง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ปรากฏว่าในรอบปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ท่านได้ออกคำสั่ง ทั้งหมด ๕ คำสั่ง ๕ ฉบับ จำนวน ๑๘ ตำแหน่ง ๓๕๐ บัญชี ประกาศรายชื่อบุคคลที่จะต้อง แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปัญหาก็คือบางเรื่องผมก็ยังติดใจ กรณีการประกาศฉบับแรก ตำแหน่งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผมเรียน ถามนิดหนึ่งว่า อธิการบดีทั่วประเทศเรามีอยู่หลายสิบอธิการบดี ผมว่าเกือบร้อยอธิการบดี ไม่ทราบอยู่ในบัญชีที่เราแจ้งไปหรือยัง นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งบางตำแหน่งที่ประกาศ ขึ้นมาใหม่ แล้วก็บางตำแหน่งผมคิดว่าไม่น่าจะถึงขั้นประกาศเราก็ประกาศ เช่น ระดับผู้อำนวยการสถานกักกัน บางตำแหน่งเราประกาศเสียจนสูงมาก เช่นของตำรวจเราจะ เอาผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รองผู้บัญชาการตำรวจ รองผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจ ระดับพวกนี้เราถึงประกาศ แต่ท่านคงจำได้หลาย เรื่องที่เราเห็นพันตำรวจเอกโดนยึดทรัพย์ทีเป็นพันล้านบาท ทีนี้ผมอยากเรียนถาม แล้วก็ ช่วยหาหลักเกณฑ์ด้วยว่าประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติที่ออกมาเพื่อควบคุมกำกับข้าราชการที่มีตำแหน่งทั้งหมด เราเอาหลักเกณฑ์อะไรมา วัดที่จะประกาศตำแหน่งใดที่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หรือไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน
ประเด็นที่ ๒ ผมคิดว่าผมต้องยอมรับว่า ป.ป.ช. ภาระงานหนักมาก แล้วก็ มีเรื่องค้างจริง ๆ ซึ่งเรื่องมันเยอะ ระบบการตรวจสอบมันเยอะ แต่ว่าสังคมไทยก็ให้ ความเชื่อมั่นกับองค์กร ป.ป.ช. ครับ ใครโดน ป.ป.ช. สอบนี่ก็หนาวกันทั้งตระกูลเลยครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเห็น ก็คือในเรื่องของการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผมขออนุญาตเรียนถามว่าเรามีเกณฑ์สำหรับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เราไหม ว่าตั้งแต่ประธาน ไปจนถึงล่างสุดข้างล่างเราประกาศไปถึงขั้นไหน ใจผมเคยเสนอตอนเขาปฏิรูปประเทศ ว่าที่จริงแล้วถ้าเราไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ นี่การเมืองเราประกาศหมดแล้วถึง อบต. แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว แต่ประเทศเรายังติดอันดับต้น ๆ ของการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ลดลงเลย คราวนี้ถ้าหันมาระบบราชการเป็นไปได้ไหมท่านว่าประธานตั้งแต่วันแรก ที่รับราชการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้เลย แล้วก็เปิดเผยสาธารณะ ผมคิดว่าคนที่ ไต่จากระดับซี ๓ ซี ๔ ซี ๕ ซี ๖ ซี ๗ ถ้าทุกคนถูกแจ้งบัญชีทรัพย์สินแล้วก็อยู่ในชนบท อยู่ในต่างจังหวัดแบบพวกผมนี่ครับมองเห็นกันหมด พอถึงเวลาจากร้อยเอกจะขึ้นเป็น สารวัตรมันก็แทงกันตายไปครึ่ง ผมเห็นอยู่ว่ารถ Benz กี่คัน รถเก๋งกี่คัน อันนั่นรวยเท่าไร ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้ระบบเราน่าจะสะดวกขึ้นในการที่แจ้งให้หมดเสียเลย ผมเลยมีข้อเสนอแนะ ๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ ก็คือเราจะปราบทุจริตในวงการราชการก็ทุกคนที่เข้าระบบราชการ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเลย และต้องแจ้งทบทวนทุก ๕ ปี จนกว่าจะเกษียณ
อันที่ ๒ ใน ป.ป.ช. เราเองซึ่งเป็นองค์กรที่แสดงของความซื่อสัตย์สุจริต เราทำให้หมดเลยทั้งองค์กร ๒,๐๐๐ กว่าท่านที่ท่านเรียนมา ผมคิดว่าน่าจะเป็นรูปแบบ และตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น นอกนั้นก็ขอให้กำลังใจครับ และถ้ามีปัญหาเรื่องกิจการ ที่ท่านติดขัดอย่างไรผมว่าท่านแจ้งในที่ประชุมนี้ได้ หลายท่านจะต้องไปพิจารณาเรื่อง งบประมาณในการดูแล เราอยากได้องค์กรเข้มแข็งแบบ ป.ป.ช. มาเพื่อปราบปรามการทุจริต ขอเป็นกำลังใจกับทุกท่านครับ ขอบพระคุณมากครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ กับเพื่อนสมาชิก ได้ร่วมกันเสนอญัตติ โดยมีสาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาสิทธิและที่ดินทำกินของประชาชน ท่านประธานที่เคารพครับ ปัญหาเรื่องที่ดินของประชาชนที่เกิดขึ้นในขอบข่ายทั่วประเทศ ผมคิดว่ามันมีช่วงระยะเวลา ที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งผู้อาวุโสหลายท่านที่อยู่ในสภาจะจำบรรยากาศแต่ละช่วงได้ดีครับ เราเริ่มมีประมวลกฎหมายที่ดินครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๙๗ ปล่อยให้ประชาชนทั้งประเทศครับ ใครที่ครอบครองที่ดินให้ไปแจ้งสิทธิในที่ดินของตัวเอง จะมี ๑๐ ไร่ ๑๐๐ ไร่ ๕ ไร่ ๑๐๐ ตารางวา ทุกคนมีสิทธิแจ้งได้หมด ทางราชการก็ลงบันทึก ขณะนั้นประชาชนทั้งประเทศมีแค่ ๑๘ ล้านคน ระบบราชการเราก็ไม่กว้างขวางใหญ่โต ระบบสื่อสารก็ไม่ได้รวดเร็วอย่างนี้ มีประชาชน จำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิไปแจ้งการครอบครองที่ดิน หลังจากระยะเวลาผ่านไปนาน ถึง ๒๐ ปี ปี ๒๕๑๘ ปัญหานี้ก็เริ่มปะทุขึ้นมา เมื่อเริ่มมีข้อร้องเรียนจากประชาชนเดินขบวนกัน เกือบทั่วประเทศต้องการที่ทำกิน คนยากคนจนไม่มีที่ดินทำกิน สุดท้ายในยุคนั้นก็มีความคิด ก้าวหน้าในการที่จะทำการปฏิรูปที่ดิน มีการออกพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน ปี ๒๕๑๘ ปฏิรูปที่ดินครั้งนั้นคิดถึงขั้นที่รัฐจะไปซื้อที่จากนายทุนมาแบ่งปันให้คนจน แล้วปรากฏว่า มันยากในการที่จะไปบังคับซื้อ เราก็ได้เห็นการนำร่องตัวอย่างที่เป็นนิมิตที่ไม่เคยเกิดขึ้นครับ ใครก็นึกไม่ถึง เราได้รับที่ดินพระราชทานในการที่เริ่มต้นทำการปฏิรูปที่ดิน นั่นเมื่อปี ๒๕๑๘ แต่หลังจากปี ๒๕๑๘ ผ่านไปอีกประมาณ ๒๐ ปี ในปี ๒๕๓๒-๒๕๓๓ ในสภาผู้แทนราษฎรเรา ทุกสัปดาห์จะมีเรื่องสอบถามประธานสภา มีเรื่องญัตติ มีเรื่องกระทู้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินดังกัน ทุกสัปดาห์ ทุกสมัยของการประชุม จนสุดท้ายเราก็มีการเดินหน้าทำกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เรียกว่าการแก้ไขกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปที่ดินเที่ยวนี้เป็นการสำรวจที่ดินทั่วประเทศ ที่ดินที่มีปัญหากับประชาชนมีหลายประเภท ประชาชนส่วนหนึ่งทำกินมา ๔๐-๕๐ ปี ป่าสงวนครอบครองเป็นป่าสงวน ที่ดินส่วนหนึ่งประชาชนทำกิน ราชพัสดุประกาศเป็น เขตราชพัสดุ ที่ดินส่วนหนึ่งทำกินโดนขึ้นเป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ โดนขึ้นทะเบียนเป็นที่หลวง ปรากฏว่าประชาชนทะเลาะกับหลวง ปี ๒๕๓๔ ที่เราออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินแก้ไขครั้งนั้น มีประชาชนประมาณ ๒ ล้านคนเป็นคนผิดกฎหมายอยู่กินทำกินในที่ของหลวง เพราะทางออก ทางอื่นไม่ได้เราก็ทำกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ผมเข้าใจว่าท่านประธานก็น่าจะเป็นกรรมาธิการ อยู่ในยุคนั้นด้วย การปฏิรูปที่ดินเที่ยวนั้นเราทำอะไร เราประมวลที่ทั้งหมดที่มีปัญหา กับชาวบ้าน เพื่อให้รู้ว่าที่ป่าสงวนที่ไหนที่หมดสภาพป่าแล้ว ชาวบ้านเขาทำกินมาแล้ว แล้วก็เสื่อมโทรมความเป็นป่าหมดแล้ว โดนทำไม้ทำอะไรกันหมดเกลี้ยงแล้ว ตัดที่ดิน เหล่านั้นโอนมาให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินแปลงไหนที่เป็นราชพัสดุ ที่ไม่ได้คงความเป็นราชพัสดุแล้ว ใครก็ไม่ได้เช่าทำกินกันมา ๔๐-๕๐ ปี ตัดโอนมา เมื่อตัดโอนมาให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมก็จะเป็นคนออกสำรวจครับ แล้วตกลงกันในสภาวันนั้นว่าแต่ละคน ต้องไม่เกิน ๕๐ ไร่ เราไม่อยากให้นายทุน ๒๐๐ ไร่ ๕๐๐ ไร่ ซึ่งครอบครองมีอยู่ครับ สมัยนั้น ๑,๐๐๐ ไร่ก็มี แต่โดนตัดสิทธิว่าคนมีสิทธิรับ ส.ป.ก. ได้คนละ ๕๐ ไร่ เมื่อได้ ๕๐ ไร่ก็ต้องเป็นเกษตรกร และที่กำกับไว้ด้วยกฎหมายฉบับนั้นก็เป็นเกษตรกรที่ยากไร้ครับ ถ้าเกิดจากเกษตรกรแปรเป็นข้าราชการ เป็นพ่อค้าโดนตัดสิทธิ แล้วได้คนละ ๕๐ ไร่ แล้วก็จำกัดสิทธิด้วยว่าจะห้ามซื้อขายเด็ดขาด เพราะสภาวันนั้นเรารู้ดีว่าถ้าปล่อยให้ ประชาชนที่ได้รับที่ดินปฏิรูปไปซื้อขาย หลังจากนั้นอีกสัก ๕-๑๐ ปี เราก็จะมาอีกรอบ ก็คือประชาชนที่ขายที่ดินก็จะไปบุกเบิกป่าแปลงใหม่ แล้วเราก็ต้องทำไปอีก แล้วก็จะ ไม่เหลือที่สำหรับการเป็นป่าไม้ของประเทศไทยอีกต่อไป สุดท้ายกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ก็ออกมาครับ เราก็เดินหน้าปฏิรูปที่ดิน มีที่ดินที่ออกโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ อยู่ทั่วประเทศหลายล้านไร่ เป็นการปลดปล่อยคนที่ ผิดกฎหมายหลายล้านคนหลุดออกมาจากกฎหมาย แต่เมื่อบ้านเมืองพัฒนาไปจากปี ๒๕๓๔ ถึงปีนี้ ๓๐ ปี แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างปี ๒๔๙๘ มาถึงปี ๒๕๓๔ ก็คือประชากรของประเทศไทย เริ่มนิ่งขึ้นในรอบ ๑๕ ปีนี้ เรานับประชากรประเทศ ๖๐ ล้านคนมาตั้งแต่ ๑๕ ปีที่แล้ว วันนี้ ประชากรไม่เพิ่มครับ เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกันประชาชนที่ได้ที่ ส.ป.ก. ไป ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ปี ๒๕๓๕ ปี ๒๕๓๖ ปี ๒๕๓๗ แล้วก็ได้มาเรื่อย ๆ จนวันนี้ รู้สึกว่าที่ดิน ที่เขามีอยู่กลายเป็นที่ที่เหมือนกับที่สาป คือจะไปใช้สิทธิในการกู้ยืมเงินธนาคารก็เป็น เรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าพัฒนาไปได้ถึงขั้นพัฒนาจากที่ทำการเกษตร บางแห่งก็ต้องยอมรับ ความจริงว่าจากที่ ส.ป.ก. ที่นาที่ไร่ วันนี้ถนน ๔ เลนผ่านแล้ว เขาก็คิดถึงการทำตึกแถว ตึกพาณิชย์ เสียงเรียกร้องผมไปมาทั่วประเทศพี่น้องประชาชน นักการเมืองที่ไปทั่วประเทศ ก็ได้รับเสียงเรียกร้องอยากพัฒนา ส.ป.ก. เป็นโฉนด และประชาชนก็อยากจริง ๆ แต่ในฐานะ ที่เราเป็นคนดูแลปัญหาทั้งหมดเราจะปล่อยอย่างนั้นไหม ในขณะที่สัดส่วนประชากรเราไม่ได้ เพิ่มพุ่งพรวดเหมือนปี ๒๔๙๗ มาถึงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ประชากรประเทศนี้เริ่มนิ่งแล้วครับ เรามี ๖๕ ล้านคน ขยับขึ้นขยับลง ไม่ขยับไปไหนเลย เพราะฉะนั้นความจำเป็นของพื้นที่ดิน จริง ๆ ก็คือพื้นที่หลาย ๆ ส่วนมันพัฒนาไปมากกว่าทำการเกษตร เราก็ต้องยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันต้องระมัดระวังเป็นเรื่องเร่งด่วนของประชาชน แต่ต้องเป็นเรื่องที่รอบคอบ ของรัฐบาล แล้วก็รอบคอบของนักการเมืองแบบพวกเรา ไม่ใช่ยุคเราออก ส.ป.ก. ทั้งหมด แบ่งเป็นโฉนดให้ชาวบ้านหมด อีกสัก ๑๕ ปีข้างหน้ารุ่นผม รุ่นประธานตายหมดแล้ว ก็มาอีก ชุดหนึ่งว่าขอออกโฉนดในที่ป่าที่เพิ่งเปิดใหม่ แล้วมันจะเป็นเรื่องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จักจบสิ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าแนวทางที่จะดีที่สุดก็คือต้องตั้งคณะกรรมาธิการโดยสมาชิกในสภา ของเรานี้ประมวลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหา ๑. วันนี้ที่จริงแล้ว ทางรัฐบาลเมื่อ ๔-๕ปีที่แล้วก็ตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ดำเนินการจัดทำนโยบายในการจำแนกที่ดินและแบ่งที่ดินให้กับประชาชน แต่เรา ตั้งงบประมาณไว้น้อยมาก ๑๕๑ ล้านบาท แล้วก็เริ่มดำเนินการไปเป็นระยะ ๆ แต่ถ้าเรา สามารถระดมความคิดจากนักการเมืองข้างล่างนี้ตั้งมาเป็นคณะกรรมาธิการ เขาจะได้ จับเรื่องนี้จริง ๆ จัง ๆ ว่าที่ดินประชาชนที่เดือดร้อนในประเภทนี้มีกี่ประเภท วันที่เรา ออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี ๒๕๓๔ กรมป่าไม้มีอยู่กรมเดียว วันนี้มาถึงปีนี้กรมป่าไม้ ผ่าออกมาเป็น ๔-๕ กรมแล้ว จนผมจำชื่อไม่ได้ ป่าอุทยานก็มี ป่าสงวนก็มี ป่าชายเลนก็มี มีเต็มไปหมดครับ งานถูกแยกแยะไปหมด มันถูกจำแนกรายละเอียดไปหมด ขณะเดียวกัน ที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมีหลายพื้นที่ที่จำเป็นต้องมาจัดแบ่งให้ประชาชนใหม่อีกรอบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ราชพัสดุของท่าน สส. ที่อยู่ใกล้ผม ไม่ว่าที่ที่เป็นป่าสงวนที่หมดสภาพ ไม่ว่า จะเป็นที่ที่อยู่ในทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ แม้แต่ที่บางแปลงโต้แย้งกันระหว่างกรมธนารักษ์ กับประชาชน กรมธนารักษ์ยึดเกาะเต่าไว้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วอ้างว่าเป็นที่ที่ขังนักโทษ สมัยโบราณ ซึ่งคุกขังนักโทษจริง ๆ เมื่อสมัยโบราณมีสัก ๑ ไร่ แต่มาวันนี้ประกาศเขตเกาะเต่า ทั้งเกาะเต่าเป็นที่ราชพัสดุไปหมดแล้ว ใครก็มีเอกสารไม่ได้ อย่างเก่งก็รอเช่า เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มมาจำแนกกันจริง ๆ จะมอบให้รัฐบาลไปก็ได้ครับ ท่านดูครับ ตั้งคณะกรรมการในการทำนโยบายที่ดินแห่งชาติตั้งแต่ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ตั้งงบไว้ ๑๐๐ กว่าล้านบาทมันก็คืบหน้าแค่นี้ แต่ผมคิดว่าถ้าเราตั้ง สส. ในสภาเราเป็น กรรมาธิการช่วยศึกษาควบคู่กันไป และนำเสนอเป็นกฎหมายจริง ๆ เข้าสู่สภา เราก็จะ สามารถแก้กฎหมาย แล้วก็หลักประกันให้กับประชาชนได้ครับ ผมขอขอบพระคุณ ท่านประธานที่ให้โอกาสในการนำเสนอภาพรวมของปัญหาที่ดินทั้งหมดทั้งประเทศครับ ขอขอบพระคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยินดีที่สภาเราได้ทำเรื่อง ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนจริง ๆ ที่จริงเมื่อวานก็ไม่มั่นใจครับว่าญัตตินี้จะได้รับ การพิจารณาหรือไม่ จริง ๆ แล้วนะครับท่านประธาน สภาเราเป็นพื้นที่ที่ประชาชน เขาอยากฝากความหวังไว้ อยู่ที่เราจะตามอารมณ์ความรู้สึกประชาชนถูกหรือไม่ เป็นเรื่องปกติ วงการตำรวจ วงการข้าราชการ ทุกกันยายนก่อนฤดูการโยกย้าย ก่อนฤดูการเกษียณอายุ จะมีเรื่องราวตึงตังกันไม่หน่วยงานใดก็หน่วยงานหนึ่ง แต่ปีนี้มาเร็วหน่อย ในกระบวนการ ยุติธรรมโดนมาตั้งแต่ปลายน้ำครับ สิงหาคมก็โดนกรมราชทัณฑ์จนเซทรุด ๆ ไป พอวันที่ ๖ กันยายนก็เกิดโศกนาฏกรรมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงตาย ต่อหน้าเพื่อน ๆ ตำรวจนับสิบคน ไม่มีใครชักปืนขึ้นมาป้องกันเพื่อนแม้แต่คนเดียว แล้วปรากฏว่าไปตายกันในบ้านผู้มีอิทธิพล ก็ดังลั่นกันไปหมด อย่างไรเรื่องนี้ใครก็ยอมไม่ได้ครับ ผมคิดว่าเป็นหน้าตาเรื่องศักดิ์ศรีของบ้านเมือง และมาวันจันทร์ที่ผ่านมาวันที่ ๒๕ ก็ไปกันหนักอีกครับ ตรวจค้นบ้านรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมจับควบคุมตัวลูกน้อง ระเนระนาด ๗-๘ คน ข้อหาอะไรครับท่าน ข้อหาไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เรียกว่า สีเทา กระบวนการหวย กระบวนการบ่อน ซึ่งกำลังอาละวาดแล้วก็ปราบปรามกันไม่รู้จักจบสิ้นครับ วันนี้โดนเอาเอง กลายเป็นเหมือนตำรวจเป็นเจ้ามือเสียเอง ปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นครับ ท่านประธานสภา กระบวนการยุติธรรมเราพูดเรื่องปฏิรูปกันมามากครับ แต่เรามาดู ความเป็นจริงสิครับว่าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน้าที่ของตำรวจคืออะไร ตำรวจคือกองกำลังความมั่นคงภายในประเทศที่ถืออาวุธอยู่มากที่สุดในประเทศนี้ ไม่มีหน่วยราชการไหนครับที่ดูแลความมั่นคงภายในประเทศและถือปืนอยู่มากเท่าตำรวจ ผมเรียนกฎหมายครับ เรียนกฎหมายอาญาเรียนกัน ๒ ปี แล้วก็กว่าจะออกมาประกอบอาชีพ นักกฎหมายกันก็ต้องไปเรียนรู้กันทั้งหมด ท่านประธานเชื่อไหมว่าตำรวจประเทศไทยถือ กฎหมายมากกว่านักเรียนกฎหมายเป็นร้อยเท่าครับ กฎหมายทุกฉบับที่มีโทษทางอาญา ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหมด ตำรวจกลายเป็นผู้มีอำนาจที่ถืออาวุธในการรักษาความสงบ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้มีอำนาจจับกุมคนที่มีโทษทางอาญากฎหมายทุกฉบับ ไม่ว่ากฎหมาย สรรพากร ไม่ว่ากฎหมายสรรพสามิต ไม่ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายอะไรก็ตามที่มีโทษทางอาญา ตำรวจบุกจับได้หมด เมื่อวานพูดเรื่องสถานบันเทิงเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านอภิปรายผมก็เห็นใจ เขาก็อยู่ในวงการบันเทิง ๓ ทุ่ม ๔ ทุ่มเดี๋ยวตำรวจเวียน ๆ เกิน ๕ ทุ่ม เกินเที่ยงคืนเดี๋ยวก็จับ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายเหล่านั้นไม่ได้รอออกกฎหมายจากสภานี้ ไม่ได้ให้ตำรวจไปใช้ เราต้องการ ให้ฝ่ายปกครองไปดูความเรียบร้อยเรื่องสถานบริการ เราออกกฎหมายสรรพสามิต เพื่อให้ควบคุมในการจัดเก็บภาษี แต่ถึงเวลาจริง ๆ คนที่เดินตามร้านเหล้ากลายเป็น อาชีพตำรวจเสียอีกเพราะเหล้าเถื่อนอยู่ในร้าน เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนกันครับ พูดกันให้ตาย ในสภานี้ออกกฎหมายเพื่อให้สรรพสามิตไปดูแล แต่ถึงเวลาจริง ๆ นี่จังหวัดบ้านผม เปิดตู้ขายบุหรี่เถื่อนกันเต็มบ้านเต็มเมือง ใครดูแลครับ เรายัดกฎหมายทั้งหมดไปไว้ ในมือตำรวจมันเลยเป็นหน่วยงานที่อำนาจใหญ่มาก จับเองโดยอำนาจกฎหมายทุกฉบับ ไม่ว่าบ่อนการพนันที่ฝ่ายปกครองเป็นคนดูแลตำรวจก็นำจับเอง จับเสร็จสอบสวนเอง แล้วก็จะเจอหลายเรื่องครับ นี่เพื่อน ๆ ลุ้นกันอยู่ว่าจับ ๆ ใครจะหลุด ใครจะปล่อย ผมคิดว่า ที่ต่อย ๆ กันวันนี้ มวยล้มครับ ได้แต่ต่อยได้กี่ยก เพราะเคยทำกันมาอย่างนี้ในสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติไม่ใช่เป็นคดีนี้คดีแรก ไม่ใช่เรื่องนี้ครั้งแรก นับครั้งไม่ถ้วนครับ ฤดูการแต่งตั้ง โยกย้าย ผมนี่ครับเคยถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมิ่นเรื่องอะไรท่านประธานรู้ไหมครับ หมิ่นเพราะผมบอกว่า มีการซื้อขายตำแหน่งเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งกัน แล้วก็สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งความ ดำเนินคดีกับผม สอบไปสอบมาคนที่สอบผมก็พึมพำเบา ๆ ว่า ผมเตรียมไว้ ๕ กิโลกรัม จะขึ้นผู้กำกับการไม่รู้ได้หรือเปล่า นั่นคนสอบผมเองก็ยังเตรียมสตางค์กันไว้ ผลสุดท้ายสอบ ไปสอบมาสั่งฟ้องผมส่งอัยการ อัยการสั่งไม่ฟ้องส่งต่อไปเพราะ คสช. แก้กฎหมาย กรณีที่พนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการความเห็นไม่ตรงกันส่งให้ผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติชี้ขาดเลยไปค้างอยู่ที่เดิมครับ คนที่แจ้งความผมจนเดี๋ยวนี้ไม่ได้ อยู่ตรงไหนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าปรับปรุงจริง ๆ ผมเห็นด้วยเพื่อนสมาชิกเมื่อสักครู่ครับ คิดถึงเรื่องปฏิรูปตำรวจ ไม่ใช่พูดกันเดี๋ยวนี้ครับพูดจนโดนคดีกันไปเยอะแล้ว แต่เสียดายครับ ตั้งใจพูดเรื่องการปฏิรูปตำรวจ แต่ปรากฏว่าญัตติเรา สภาเป็นคนออกกฎหมาย อยู่ที่นี่ครับ ผมเริ่มต้นตั้งใจว่าถ้าจะตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเพื่อดูแลการขัดแย้งในวงการตำรวจ และนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ปรากฏว่าผู้เสนอญัตติทั้งหมด ๓๐ : ๓๐ อาวุโส ๓๐ นาย กต.ตร. เอาไป ๓๐ ก.ตร. เอาไป ๓๐ แล้วก็ ฝ่ายการเมืองเอาไป ๓๐ แบ่งกันเพื่อจัดโควตากัน เดี๋ยวนี้ ๕๐ : ๕๐ ครับ อาวุโส ๕๐ ที่เหลือ ความสามารถ มันเลยอาละวาดจากพลตรีขึ้นพลเอกใช้เวลา ๔ ปี ๕ ปีเป็นเงินได้หมด ท่านเคยเห็นวันที่ประเทศไทย พลตำรวจตรี พลตำรวจเอกต้องยืนโค้งคำนับให้ไหมครับ อยู่ที่ว่าพลตำรวจตรีเด็กใคร ถ้าเด็กใครมันใหญ่กว่าพลตำรวจเอก ถ้าพลตำรวจตรีใหญ่กว่า พลตำรวจเอกอยากย้ายไม่ต้องหาพลตำรวจเอกครับ เขาหาพลตำรวจตรีกันทั้งนั้นไปถามดู และวงการตำรวจก็เป็นอย่างนี้ครับ จ่ายสตางค์ไปแล้วพอไม่ได้ก็มาร้องเรียนพวกผม พอพวกผมออกไปสู้ข้างหลังหายหมดครับ เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อครับว่าที่ท้ากันวันต่อวันว่า ใครพูดมาจะฟ้อง ใครพูดมาจะฟ้อง ผมก็มวยล้มทั้งนั้น สุดท้ายเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะไปว่าใคร เพราะทุกคนที่มาเข้าแถวทั้งหมดวิ่งข้ามหัวเพื่อนมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นที่ผมออกมาวันนี้ ผมคิดว่าดีครับ เราเอาแค่พูดกันให้ประชาชนได้ยินว่าสภานี้สนใจ รู้ว่าการกระทำของตำรวจ เริ่มไม่ชอบมาพากล เรื่องที่ ๑ ไปยิงกันตายต่อหน้าด้วยกันเองทำไมไม่ช่วยกัน นักเลง เขาไม่นับถือครับอย่างนี้ อย่าว่าแต่ตำรวจเลย มากินเหล้าพร้อมกันเพื่อนในวงโดนซ้อม ตายคาที่วิ่งหนีกันทั้งวงอย่างนี้คบไม่ได้ อันที่ ๒ พอตำรวจจับ ตำรวจกลายเป็นนายบ่อนเสีย เกิดอะไรขึ้นครับ เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายเมื่อสักครู่ ต้องปฏิรูปตำรวจ แต่เสียดายครับ กระดุมเม็ดแรกท่านผิด ติดกระดุมเม็ดแรกท่านอภิปราย เรื่องปฏิรูปตำรวจ แต่ส่งเรื่องปฏิรูปตำรวจไปให้รัฐบาล มันต้องปฏิรูปที่นี่ครับ ปฏิรูป ที่สภาผู้แทนราษฎร เม็ดแรกผิด ก็ผิดไปยาวตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดสุดท้ายถึงกระดุมคอ ก็เบี้ยวแล้ว ลืมรูดซิปอีกต่างหาก ตกลงอันนี้ Foul ครับสภาเรา
ท่านประธานที่เคารพครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย ผมฟังข้อชี้แจงจากท่านเลขาธิการแล้วก็มีเรื่องข้องใจจะเรียนถามท่าน สักนิดครับ คือท่านพูดถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้เงินไม่น่าจะ ๕,๙๐๐ ล้านบาท แต่ที่ผมสงสัยก็คือในงานของ กกต. เรามีอยู่ ๒ ส่วน ก็คือการจัดการเลือกตั้งที่ท่านพยายาม เน้นว่าเราต้องใช้คนเป็นล้าน ใช้หน่วยเลือกตั้งจำนวนเท่าไร ผมอยากทราบว่าในการจัดการ เลือกตั้งเราใช้งบประมาณทั้งสิ้นตั้งแต่พิมพ์บัตร เตรียมหีบ จนถึงนับคะแนนเสร็จ หมดไปเท่าไรในทางธุรการ และที่ข้องใจครับ งานที่เป็นหัวใจหลักของ กกต. ก็คืองานกำกับ การเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ผมก็ไม่แน่ใจว่าตั้งแต่การตรวจสอบ สืบสวนสอบสวน ทำสำนวนเรื่องการร้องเรียนการเลือกตั้งทั้งหมดในการกำกับการเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม เราใช้ไปเท่าไร และที่สำคัญคือมาถึงวันนี้ผมทุกคนในที่นี้รู้สึกว่างานกำกับการเลือกตั้ง ไม่ได้ทำอะไรเลย ครบ ๖๐ วัน กกต. ก็ส่งรายชื่อ ๔๐๐ เขต ประกาศเรียบร้อย ครบ ๖๐ วัน รายชื่อบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คนก็ประกาศเรียบร้อย ๕๐๐ คนประกาศเรียบร้อยหมด สรุปว่า การทำงานเรื่องการสืบสวน สอบสวน กำกับการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมจนวันนี้เรียบร้อย เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสุจริตเที่ยงธรรม รับประกันได้ หรือยังมีเรื่องค้างสอบสวนอยู่ เพราะท่านมีระยะเวลา ๑ ปีในการนับตั้งแต่วันเลือกตั้งเสร็จที่จะสรุปสำนวนการสอบสวน ส่งไปฟ้องศาล เพราะอำนาจตุลาการท่านหมดแล้ว ๖๐ วัน อำนาจตุลาการขณะนี้ครบ ๖๐ วัน กกต. ทำอะไรไม่ได้ กกต. เหลืออำนาจเพียงแค่พนักงานสอบสวนรวบรวมและส่งให้ ศาลเป็นคนตัดสิน ผมก็อยากทราบว่าท่านเลขาธิการทราบไหมว่ามีเรื่องค้างสอบสวนเท่าไร รอส่งให้ศาลตัดสินกี่เรื่อง จะได้ทราบว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกระบวนการสืบสวนสอบสวน กำกับการเลือกตั้ง กกต. ได้ทำงาน ขอ ๒ คำถามแค่นี้ครับ
ท่านประธานครับ ๓๓๙ เห็นด้วยครับ
ท่านประธานครับ เรียนท่านผู้มา ชี้แจงด้วยผมคงใช้เวลาสภาไม่ยืดยาวนะครับ ได้ดูเอกสาร ๒๑ ปีศาลปกครอง รายงาน ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนที่เป็นคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องการจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีการพิจารณาในศาลปกครอง รวมทั้งเป็นประธานในการแก้ครั้งสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๕๔ ผมได้อ่านสารของท่านชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งท่านได้ให้ไว้เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ ได้ตีพิมพ์ในวารสารเล่มนี้นะครับ ผมคิดว่ามี ๒ เรื่องที่น่าสนใจแล้วก็เป็นใจกลางของศาลปกครองจริง ๆ ซึ่งท่านมองทะลุปัญหาจริง ๆ แล้วผมก็กำลังจะหาแนวทางว่าจากการที่ประธานศาลปกครองสูงสุดท่านมองทะลุปัญหา ในศาลปกครองแล้ววันนี้เราแก้กันหรือยัง แก้อย่างไร
ประเด็นที่ ๑ ครับ ๒๑ ปีของศาลปกครองที่เพื่อนสมาชิกเกือบทุกท่านพูด ก็คือคดีที่ค้าง ซึ่งท่านประธานศาลปกครองท่านก็มองออก แต่ผมในฐานะคนที่ร่วมกัน ทำกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นได้ติดตามการทำงานของศาลปกครอง ผมคิดว่าเป็นตัวเลข ที่ไม่แปลก ๒๑ ปี มีคดีเข้าศาลปกครองรวมทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ท่านประธานเชื่อไหมครับ ทั้งหมด ๑๘๑,๐๕๓ คดี ๒๑ ปี ๑๘๐,๐๐๐ กว่าคดี และที่สำคัญ ก็คือมีคดีค้างอยู่ ๒๗,๔๐๐ คดี ถามว่าเยอะไหม เยอะครับ แต่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำ ในองค์กรท่านมองออกครับ คราวนี้เรื่องที่ ๒ ที่ท่านมองออกก็คือปัญหาความลักลั่น ในการวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะเดียวกัน บางครั้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น ในคดีลักษณะเดียวกันแต่คำพิพากษาออกไปคนละทางกัน บางครั้งในคดีประเภทเดียวกัน ทำนองเดียวกันในศาลปกครองสูงสุดออกไปคนละแนวกัน ซึ่งอันนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในแนวทางการวินิจฉัย ท่านประธานท่านก็มองออกครับว่าท่านมีแนวทางการแก้ไขปัญหา ก็คือคดีประเภทเดียวกัน แน่นอนครับคดีประเภทเดียวกันมันก็ไม่เหมือนกันทุกตัวอักษร ไม่เหมือนกันทุกพฤติกรรมหรอกครับมันมีความแตกต่าง แต่แนวทางวินิจฉัยถ้ามันกระโดด กันมากจะทำให้ความรู้สึกประชาชนเกิดความไม่แน่ใจว่าทำไมศาลไปคนละทางกัน ผิดกับศาลอาญาเขาจะเอาบรรทัดฐานของศาลฎีกาเป็นแนวในการศึกษาวางเรียงทั้งหมด เพราะฉะนั้นท่านประธานศาลปกครองสูงสุดท่านก็ตั้งแนวทางไว้ครับว่า คดีที่มีเหตุการณ์ การฟ้องคดีทำนองเดียวกันควรต้องเข้าองค์คณะใด ปัญหาที่ผมจะพูดผมคิดว่าผมก็ต้องการ แนวทางของท่านผู้มาชี้แจงว่าเราจะมีแนวทางอะไรบ้าง
๑. ปัญหาคดีที่ค้างคาที่ผมบอกว่าไม่แปลกใจครับ ท่านลองเปิดดูอัตรากำลัง ทั้งหมด อัตรากำลังบุคลากรของศาลปกครองรวมทั้งสิ้น ณ วันนี้ปี ๒๕๖๕ ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ ผมคิดว่าเราสะสมอัตรากำลังมาทีละปีใน ๒๑ ปี ได้อัตรากำลังบุคลากรในศาลปกครองทั้งสิ้น ๓,๓๙๔ คน มีแค่นี้ครับ แบกรับคดีอยู่ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าคดี และที่สำคัญมีตุลาการ ศาลปกครองชั้นต้น ๒๐๐ ท่าน มีตุลาการศาลปกครองสูงสุด ๕๙ ท่าน รวมทั้งหมด ที่เป็นตุลาการจริง ๆ ๒๕๙ ท่าน ทำ ๑๘๐,๐๐๐ กว่าคดี ซึ่งผมก็คิดว่าในสายตาที่ผม เป็นนักกฎหมายเหมือนกัน ผมก็ว่าเป็นเรื่องที่พอใจ มหัศจรรย์ แต่ความต้องการ ของประชาชนเขาต้องการมากกว่านั้นจริง ๆ ดังที่เพื่อนสมาชิกได้พูดถึง ประเด็นปัญหา ก็คือมีแนวทางอย่างไรว่าวันนี้นอกจากจะทำหน้าที่ตุลาการแล้วศาลปกครองเป็นผู้ไต่สวน เป็นผู้อำนวยความสะดวกกับประชาชนที่มาร้องกับศาลปกครองทั้งหมดแทบจะไม่ต้องใช้ทนาย เราใช้ข้าราชการฝ่ายปกครองไปทำหน้าที่รับมืออย่างนี้ในศาล มีทั้งหมดแค่ ๒,๓๘๒ คน ที่ต้องเตรียมทุกอย่างก่อนที่เข้ากระบวนการของศาลจะเป็นคนวินิจฉัย เมื่อตัวเลขข้าราชการ ทั้งศาลปกครองมีขนาดนี้ ผมคิดว่าจะต่อว่าว่าคดีค้างผมก็ต่อว่าไม่ลง แต่ก็ให้กำลังใจครับ แต่อยากทราบแนวทางของท่านผู้มาชี้แจงก็หมดว่าหลังจากท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ให้นโยบายแนวทางไว้แล้ววันนี้เราเตรียมการในการปรับอัตรากำลังบุคลากรอย่างไรบ้าง เพราะตุลาการศาลปกครองไม่ใช่เรื่องที่หาง่าย ศาลยุติธรรม อายุ ๒๕ ปีก็จบเนติบัณฑิต ผ่านประสบการณ์กฎหมาย ๒ ปีสอบเป็นตุลาการได้ แต่ศาลปกครองมาตรฐานสูงขึ้นไปกว่า คนที่มาสอบศาลปกครองไม่ใช่ว่าจบกฎหมายได้เนติบัณฑิตแล้วจะได้ อายุ ๒๕ ปีเป็นได้ อายุต้องไปไกลกว่านั้น แล้วถ้าจะโอนมาจากหน่วยงานอื่นมาสอบศาลปกครองนี่ ต้องระดับอธิบดี รองอธิบดีลงไปถึงจะหาบุคลากรอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นผมอยากทราบ แนวทางว่าเราจะแก้ปัญหาบุคลากรได้อย่างไร มีแนวทางอะไรเพื่อรองรับกับปริมาณคดี ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ๆ
ประเด็นที่ ๒ ในเรื่องผลคดีที่ต่างกันในแต่ละศาล ซึ่งท่านประธาน ศาลปกครองสูงสุดท่านก็มีแนวทางแล้ว วันนี้เราปรับปรุงไปถึงไหนแล้วว่าคดีประเภทนี้ พิพาทกันเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้าน พิพาทระหว่างวัดกับชาวบ้าน หรือพิพาทกับ ศาลปกครองกับชาวบ้านที่มีลักษณะคดีใกล้เคียงกัน เราแบ่งกลุ่มคดีเพื่อขึ้นไปยังคณะใด คณะหนึ่ง แต่ละคณะดำเนินการไปถึงไหนแล้วครับ
สุดท้ายก็คิดว่าแนวทางที่ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดได้ให้ไว้ ผมคิดว่าท่านเข้าใจปัญหาทั้งหมด แล้วก็ถ้าทะลุปัญหานี้ได้ทั้งหมด ทั้งบุคลากร แล้วก็ แนวทางในคำวินิจฉัยที่ไม่แตกต่างกันมากนักศาลปกครองเราก็จะเป็นหลักประกันให้กับ ความเป็นธรรมกับประชาชนในการที่จะยืนรับมือกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย ผมและคณะได้ยื่นญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะ แรงงาน หลักการ เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น แก้ไขปัญหาเรื่องการจ้างงานและการเพิ่มทักษะแรงงาน
ท่านประธานที่เคารพครับ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเรา อัตราการเกิดของประชากรเริ่มจะนิ่ง เกือบจะไม่เพิ่มเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คืออัตรากำลังคนที่อยู่ในภาคการใช้แรงงานทั้งหมดก็จะคงอยู่ประมาณที่ ๔๐ ล้านคน แล้วก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าใน ๔๐.๓ ล้านคน มีอัตรากำลังคนที่ไม่มีงานทำ หรือเรียกว่า คนตกงานอยู่ในอัตราที่ต่ำมากคือ ๑.๑ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นปัญหาคนว่างงานในประเทศไทย มันไม่ค่อยจะเกิดมากนัก เพียงแต่ว่ามันมีแรงงานบางประเภทที่ซุกอยู่ และไม่ได้รับ การพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป สิ่งที่ผมจะกราบเรียนต่อท่านประธานสภาให้เห็นถึงความจำเป็น ผมคิดว่าถ้าจะมองง่าย ๆ เราแบ่งเป็น ๒ เรื่องแล้วกันครับ
เรื่องที่ ๑ ก็คือแรงงานคนไทย แรงงานคนไทยวันนี้อัตราการว่างงานถือว่า อยู่ในอัตราต่ำ แต่สิ่งที่เราจำเป็นแน่นอนเรายังขาดแคลนอัตรากำลังคนที่เข้ามาในระบบ แรงงานได้น้อยมาก มีประชาชนส่วนหนึ่งที่เขาไม่สามารถหางานทำในทักษะตัวเองได้ ก็ต้องไปทำงานต่างประเทศดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ แล้ววันนี้รัฐบาลก็ยังต้องอพยพ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ คนกลับมาประเทศไทย เพราะว่าคนเหล่านั้นยอมเข้าไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงภัย กับอันตรายเพื่อที่จะได้มีงานทำ แต่สิ่งที่เราต้องทดแทนก็คือข้อเท็จจริงที่ว่ามีอัตรากำลัง ที่ต้องการแรงงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และเราไม่มีอัตราที่จะเข้าไปทำงานได้ การหาคนงานยากขึ้นทำให้แรงงานเริ่มจะมีปัญหามากขึ้น ในทิศทางตรงกันข้าม ก็คือผู้ประกอบการเริ่มที่จะใช้เทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ เข้ามาทดแทนแรงงาน เห็นได้วันนี้ครับ ท่านประธานในภาคตะวันออก EEC โรงงานเปิดขึ้นมากมาย อัตรากำลังคนที่มีทักษะจริง ๆ ต้องการมากมาย ระดับอาชีวะของเราไม่สามารถที่จะผลิตป้อนได้ทัน ในประเทศไทยค่าแรง ที่สูงมีอยู่ ๓ จังหวัดไล่ ๆ กัน ๑. จังหวัดชลบุรี ๒. จังหวัดระยอง และ ๓. จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าแรงค่อนข้างที่จะสูงกว่าค่าแรงที่กำหนดไว้ เหตุผลเพราะว่าจังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่ประกอบธุรกิจในเรื่องอุตสาหกรรมภายใต้โครงสร้าง EEC ส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องหา แนวทางในการแก้ปัญหาก็คือการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานที่มีอยู่ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มเข้าไปสู่งาน ไม่ต้องถูกทดแทนด้วยแรงงานเครื่องจักรกล ดีที่สุดต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วันนี้เราจำเป็นต้องเปิด โรงเรียนสำหรับเพิ่มทักษะคนที่จะเป็นแรงงาน รัฐก็ต้องลงทุนเหมือนกับส่งเด็กเข้าเรียนใหม่ ต้องมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อสร้างระดับอาชีวะ ระดับเทคนิคเข้าไปทำงาน ในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ และไม่กี่วันเผลอ ๆ พรุ่งนี้เราจะพูดกันเรื่อง Southern Seaboard ซึ่งหมายถึงเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาอีก เราก็จำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะ เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าไม่เตรียมการครับท่านประธานแน่นอนระยะยาวที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือการใช้ เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเข้ามาทดแทนแรงงาน แล้วก็จะส่งปัญหาสะท้อนไปทั่ว นี่ปัญหา เรื่องแรกครับ
ปัญหาเรื่องที่ ๒ เรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรม ผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกหลายคน ที่อยู่ในเขตการจ้างงานก็คงจะทราบดีนะครับว่าปัญหาการจ้างงานเป็นอย่างไร แต่ปัญหา หลักที่ ๒ ซึ่งเราทราบกันดีก็คือหลังจากที่รายงานประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลน ท่านประธานเชื่อไหมครับว่าวันนี้เรามีแรงงานต่างชาติอยู่ในประเทศไทย ผมเข้าใจว่าไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านคน มีทั้งแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งแรงงานที่รัฐไม่รู้ ปัญหาก็คือ ประเทศไทยเราขาดแคลนแรงงานนะครับ เราจำเป็นต้องการแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา ทดแทนงานบางประการที่มีทักษะเฉพาะ และเขาสามารถทำได้ทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปัญหาของกระบวนการการทำให้คนเหล่านั้นได้ทำงานกันอย่างถูกต้อง คนต่างด้าว คนต่างชาติ เพื่อนบ้านที่อพยพเข้ามาทำงานในประเทศเรา ๓-๔ ล้านคน กระบวนการในการ รับรองมันยุ่งยากครับ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาในการรับรองคนเหล่านี้ให้ถูกต้องมันก็จะเกิด แรงงานเถื่อน เกิดแรงงานเถื่อนก็เกิดกระบวนการในการรีดไถแรงงานเถื่อนเป็นกระบวนการ ซับซ้อนไปสู่ขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องรับการศึกษาจริงจังครับว่าแรงงานที่เข้ามาจากต่างประเทศ หรือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเราจะใช้กระทรวงแรงงานในการรับมือ กับการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ควบคุมอัตรากำลังได้ แล้วก็สามารถเคลื่อนไหวอัตรากำลัง แรงงานเหล่านี้ตามสภาพความเป็นจริงของฤดูกาล แรงงานต่างชาติไม่ได้มาทำอุตสาหกรรม อย่างเดียวครับ แรงงานต่างชาติอยู่ในสวน อยู่ในภาคการเกษตรจำนวนมาก ภาคเกษตร บางประการต้องมีการเคลื่อนแรงงานตามฤดูกาล ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับท่านประธาน จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี เก็บเงาะ เก็บทุเรียนหมดเมื่อไรสิ่งที่ต้องถ่ายเทแรงงาน ก็คือลงไปทางใต้เพื่อใช้แรงงานเหล่านี้ขยับไปทางใต้เพื่อเก็บเงาะ เก็บทุเรียนในการที่จะส่งออก ต่างประเทศ แต่ปัญหาการขยับแรงงานจากภาคตะวันออกไปภาคใต้เป็นเรื่องยุ่ง และที่จำเป็นก็คือมันสูญเสียค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเยอะมาก ผมจึงคิดว่าเราจำเป็นต้องทำ ๒ เรื่องพร้อมกัน คือพัฒนาฝีมือแรงงานคนไทยเตรียมพบกับการพัฒนาประเทศ เตรียมพบ กับ EEC เตรียมพบกับ Southern Seaboard ถ้าเราไม่เตรียมการภาคเอกชนเขาจะ เตรียมการโดยวิธีการของการชดเชยแรงงานเหล่านั้นด้วยเครื่องจักรกล และเรียก มนุษย์หุ่นยนต์เข้ามาแทนแน่ แต่ถ้าเราเตรียมการครับเราสามารถเอาลูกหลานของเราในภาค อาชีวศึกษาเข้าไปรองรับ หรือภาคประชาชนที่ไม่ได้มีการเข้าสู่ระบบการศึกษา สามารถ เข้าเรียนในหลักสูตรที่เราจะสร้างขึ้นมา และส่งเขาเตรียมพร้อมเข้าไปรองรับกับงาน ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาจริงจัง แล้วก็ โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต่างด้าวก็ต้องอำนวยความสะดวกจริงจังในการที่จะรับแรงงาน ต่างด้าวเข้ามาบริการประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียค่าโสหุ้ย เบี้ยบ้ายรายทางมากจนทำให้ เกิดแรงงานเถื่อนขึ้นมา ทั้ง ๒ เรื่องถ้าเรามีโอกาสตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาผมคิดว่า พวกเราในสภาผู้แทนราษฎรที่มีประสบการณ์เยอะ ๆ คงระดมนักวิชาการเข้ามา และช่วยกัน หาแนวทางออกได้ แต่ถ้าเกิดสภามีมติไม่พร้อมจริง ๆ ผมคิดว่าสิ่งแรกที่คณะกรรมาธิการ การแรงงานควรจะทำคือพิจารณา ๒ เรื่องนี้ ๑. คือพัฒนาฝีมือแรงงานไทยรับมือ กับการพัฒนาประเทศ ๒. ฝึกแรงงานไทยให้เตรียมพร้อม และที่สำคัญแก้ไขปัญหาคนต่างด้าว ที่มาเป็นแรงงานในประเทศไทยให้บรรลุผลเสียที ขอขอบพระคุณท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เมื่อ ๒ เดือนที่แล้วผมกับเพื่อนสมาชิกอีก ๓ ท่านคือ คุณจุติ ไกรฤกษ์ คุณสุชาติ ชมกลิ่น คุณธนกร วังบุญคงชนะ ได้ร่วมกันเสนอญัตติด่วนเมื่อ ๒ เดือนที่แล้วนะครับ เป็นเรื่องของ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ราคาค่าครองชีพสูง สาเหตุที่ยืนในวันนั้นเพราะในสถานการณ์วันนั้นจริง ๆ แล้วสภาเรา ยังไม่มีคณะกรรมาธิการอย่างที่เพื่อนสมาชิกได้กล่าวไว้
ประเด็นที่ ๒ ขณะนั้นก็เกิดภาวะธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาได้ปรับ อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มถีบตัวสูงขึ้น ประกอบกับช่วงเดือนสิงหาคม ค่อนข้างจะแน่ชัดครับว่าจะเกิดภัยแล้ง หรือสถานการณ์ที่เรียกว่า El Nino เกิดขึ้น ในประเทศไทยซึ่งเราประเมิน ณ วันนั้นว่าจะมีการเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง แต่เวลา ๒ เดือน ที่ผ่านมาหลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงขึ้น ก็เกิดวิกฤติสงครามในตะวันออกกลางที่เราค่อนข้างจะกังวลกันทั่วโลก จะส่งผลต่อ ราคาน้ำมัน เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ปรากฏว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป ราคาน้ำมัน ที่เราประเมินวันนั้นว่าจะพุ่งสูงขึ้น แต่ก็ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานได้ออกมาเริ่มมีมาตรการ ในการช่วยเหลือภาคเกษตรกรผู้ใช้น้ำมันดีเซล ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในราคาที่ค่อนข้าง จะเหมาะสมไม่เกิน ๓๐ บาท แล้วก็มีแนวโน้มที่เป็นการแถลงนโยบายว่าจะช่วยราคา น้ำมันเบนซิน ๙๑ ที่ประชาชนทั่วไปใช้กับรถอยู่ในราคาที่เหมาะสม ข้อกังวลนั้นก็ค่อนข้าง จะคลายไประดับหนึ่ง แต่เรากำลังประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ว่าสงครามตะวันออกกลาง จะลามไปไกลหรือเปล่า ถ้าลุกลามไปมากก็ยากที่จะประเมินได้ครับว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไป ขนาดไหน ขณะเดียวกันหลังจากยื่นญัตติเสร็จแล้วก็ปรากฏว่ามันมีมรสุมเข้ามาหลายระลอก ท่านประธานครับ ผมเข้าใจว่าบ้านท่านประธานเองก็จะโดนน้ำท่วมไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เรา ประเมินว่าจะแล้งจัด แล้วก็ลักษณะของพายุก็ยังไม่จบครับ วันนี้ประกาศฉบับที่ ๘ ของกรมอุตุนิยมวิทยาก็พยากรณ์ว่ายังมีพายุบางส่วนพัดผ่านประเทศไทย แล้วก็ลืมลงไปทาง ภาคใต้เรื่อย ๆ ด้วยตามสถานการณ์ ณ วันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นความกังวลของพี่น้อง ประชาชนโดยทั่วไปก็คือค่าครองชีพ เมื่อสักครู่ญัตติที่ยื่นไปครั้งแรกก็เนื่องจากหนี้สิน ของภาคประชาชน ภาคครัวเรือนมีมาก มากจนทำให้ผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ลดลง แล้วก็ราคาค่าสินค้าต่าง ๆ มันก็ขึ้นโดยธรรมชาติ ตามอัตราดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ในทุกปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนฝากความหวังกับพวกผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่นั่งอยู่ตรงนี้ รวมทั้งผู้ยื่นญัตติด้วยครับ ก็คือมีใครช่วยคิดให้เขาหน่อยได้ไหมครับว่าจะทำอย่างไร ให้ค่าครองชีพเขาไม่สูงขึ้น ค่าใช้จ่าย ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคตรึงราคากันไว้ได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นความคิดเราวันนี้ก็จำเป็นต้องมีคณะหนึ่งซึ่งเป็นผู้แทนเราในสภาต้องช่วยกัน ระดมคิด เพราะปัญหาทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาของ สส. คนใดคนหนึ่ง ผู้แทนคนใดคนหนึ่ง แต่มันหมายถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่เขาอยากให้พวกเราเข้าไปดูแล เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราระดมความคิดให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างน้อยก็เป็นหลักประกัน เบื้องต้นในการที่จะเสนอแนะให้กับรัฐบาลดำเนินมาตรการในการที่จะลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชน ผมก็เลยขอยื่นเสนอญัตติดังกล่าวนี้ให้กับเพื่อนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้พิจารณา แล้วก็มีความเห็นจะตั้งคณะกรรมาธิการหรือส่งคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาพวกผมก็ไม่ขัดข้องครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ
ท่านประธานครับ กระผม วิทยา แก้วภราดัย เป็นผู้เสนอญัตติ แต่ว่าผมได้ฟังเพื่อนสมาชิกอภิปรายกันอย่างทั่วถึง รอบด้าน และคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเอาจริงเอาจัง ผมไม่ติดใจ ที่จะอภิปรายสรุปนะครับ แต่มีความเห็นว่าควรจะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญ ประจำของสภาเรารับเรื่องนี้ไปปฏิบัติแล้วก็ศึกษาติดตามโดยตลอด ไม่ต้องกำหนดเวลาว่า ๙๐ วัน ๖๐ วัน เป็นภาระของคณะกรรมาธิการที่จะรับเรื่องนี้ไปทำงานเป็นงานประจำ เลยครับ ขอบพระคุณครับ
ท่านประธานครับ ผมขออนุญาต เสนอกำหนดเวลา ๙๐ วันครับ
ขอผู้รับรองด้วยครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพครับ ผม วิทยา แก้วภราดัย เนื่องจากญัตตินี้มีผู้ร่วมเสนอทั้งหมด ๓ ท่าน คือท่านธนกร วังบุญคงชนะ ท่านจุติ ไกรฤกษ์ และท่านสุชาติ ชมกลิ่น ทั้ง ๓ ท่านก็อยู่พร้อม ขออนุญาตที่จะให้คุณจุติ ไกรฤกษ์ เป็นผู้เสนอญัตติครับ
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม วิทยา แก้วภราดัย กรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ๓ ท่าน นายชัชวาลล์ คงอุดม ๒. นายสันต์ แซ่ตั้ง ๓. นายโกวิทย์ ธารณา ขอผู้รับรองด้วยครับ
ท่านประธานครับ กระผม วิทยา แก้วภราดัย ครับ ญัตติ ๒.๔ ผมไม่ติดใจครับ แต่ระเบียบวาระที่ ๒.๒ และ ๒.๓ เรื่องการรายงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ผมเข้าใจว่าเราเลื่อน การพิจารณามาไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง เพราะฉะนั้นขออนุญาตท่านประธานสภาช่วยกำชับ หน่วยงานด้วยครับว่า นัดหน้านัดต่อไปขอให้ช่วยเข้ามารายงานด้วยนะครับ
ท่านประธานครับ ผมไม่ได้ ประท้วงนะครับ ท่านประธานขออนุญาต ผมยกมือท่านไม่เห็น แล้วก็ขออนุญาตใช้สิทธิ ในการที่จะซักถามนิดหน่อยครับ ขอความกรุณาครับ ผมยกมืออยู่นานแล้วท่านก็คงไม่เห็น ผม วิทยา แก้วภราดัย ครับท่านประธาน
ใช่ครับ
ผมมีข้อเสนอแนะนิดเดียว ไม่ยาวครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพครับ ผมได้รับฟังข้อชี้แจงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนะครับ แล้วก็รู้สึก ประทับใจในการที่ท่านจะเปิดช่องให้ประชาชนร้องเรียนเข้าไป ทีนี้ปัญหาว่าช่องทาง การร้องเรียนประชาชนนี้ ในภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างจะมีปัญหา ท่านสามารถสร้างระบบ ได้ไหมครับว่าระบบโทรศัพท์แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ เพราะเรื่องหลัก ๆ ที่ผมคิดว่าประชาชน ในพื้นที่อยากให้ สตง. เข้าตรวจสอบ แล้วก็เป็นข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการงบประมาณ มาหลายยุค ก็คือการตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง สัญญาที่รัฐมีกับเอกชน ยกตัวอย่าง เช่น มีการประมูลสร้างสะพานสักสะพานหนึ่ง สิ่งที่แนบท้ายในสัญญาแน่นอนก็คือผู้รับจ้าง ต้องไปขึ้นป้ายโครงการ ทำเมื่อไร ใครทำวงเงินเท่าไร จะแล้วเสร็จเมื่อไร ปรากฏว่าช่วงหลัง ๆ ผมร้องเรียนกับท่านเลยครับว่า ผมเจอในต่างจังหวัดเกือบไม่เห็นป้าย เลยครับ สร้างกัน ๓-๔ เดือน จะหาป้ายอยู่ตรงไหนก็หาป้ายไม่ถูก บางครั้งผมก็แอบแกล้ง โทรศัพท์ไปที่หน่วยงาน ไม่ได้หน่วยงานท่านนะครับ ผมโทรไปหาผู้ว่า คุณไปดูหน่อยสิ ป้ายมันอยู่ไหน คือรุ่งเช้าตาลีตาเหลือกขึ้นป้ายผิดกรมก็มีครับ จากอีกกรมหนึ่งไปขึ้นอีกกรมหนึ่ง คงไปจ้างร้านผิดหรืออย่างไร พิมพ์ป้ายมาผิดกรม อีก ๔-๕ วัน มารื้อป้ายลงใหม่ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าท่านกำชับไปทาง สตง. ทั้งหมดทุกภูมิภาคนะครับว่า ทุกโครงการของรัฐจะต้อง ขึ้นป้ายโครงการพร้อม ๆ กับการเริ่มดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนเดี๋ยวนี้ผมคิดว่า เขาไม่ค่อยเอาใจใส่ คราวนี้ถ้าผมจะร้องเรียนไปที่ สตง. คือถ้ามีเบอร์กลางแบบหน่วยงาน ๑๙๑ ผมก็จะขยันร้องเรียน แล้วผู้แทนทุกคนก็จะขยันร้องเรียนด้วย ประชาชนจะได้ตรวจสอบครับ ว่าได้โครงการมาแล้ว ใครทำ เมื่อไรจะเสร็จ แค่นี้ครับ ผมคิดว่าหารือไปที่ท่าน ถ้าท่าน สามารถตอบว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรได้ ก็จะเป็นพระคุณครับ ขอบพระคุณครับ
เสนอ คุณทวนชัย นิยมชาติ ครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมและคณะ มีคุณจุติ ไกรฤกษ์ คุณศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ได้ร่วมกันยื่นญัตติไว้ รายละเอียดปรากฏตาม ญัตติที่ได้ยื่นแล้วก็แจกจ่ายให้กับเพื่อนสมาชิก ญัตตินี้เป็นญัตติทำนองเดียวกับเพื่อนที่ได้ อภิปรายไปแล้วทั้ง ๓ ท่าน เป็นการขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะในประเทศอย่างบูรณาการ ที่จริงปัญหาเรื่อง ขยะเรามีการพูดกันในสภานี้มาทุกยุคทุกสมัย มันเริ่มเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา ๒๐ กว่าปี ช่วงหลัง แต่ถ้าย้อนไปรุ่นเก่า ๆ รุ่นท่านประธาน เราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย ความเป็นเมืองมันยังไม่หนาแน่น ความเป็นชนบทมาก เพราะฉะนั้นการกำจัดขยะกำจัดตาม วิถีชนบท คนวันนี้คงนึกไม่ถึงว่าที่ดินแดง สามแยก สี่แยกดินแดงเราขณะนี้ ซึ่งขึ้นเป็นแฟลต ขึ้นเป็นหมู่บ้านเต็มไปหมด เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วคือที่กองขยะดี ๆ ของคนกรุงเทพมหานคร แล้วทั้งหมดมันก็เริ่มขยายตัวออกไปต่างจังหวัด เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วครับ บ้านท่านประธาน บ้านผมไม่มีกองขยะ ทุกคนกำจัดขยะเองด้วยระบบในครัวเรือน แต่ช่วงหลังจากที่เราเริ่ม กระจายอำนาจ ความเป็นเมืองเริ่มขยายขึ้นมา กรุงเทพมหานครก็กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้น ๆ กองขยะก็เริ่มมีปัญหา กรุงเทพมหานครก็เริ่มขนย้ายขยะออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย บางพื้นที่เราไปทิ้งถึงจังหวัดนครปฐม แล้วก็มีหลาย ๆ จุดเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันทุกจังหวัด ของประเทศไทยก็จะมีที่ทิ้งขยะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของท้องถิ่น ถ้าเทศบาลขนาดใหญ่ก็จะมี ที่ทิ้งขยะของเทศบาล ถ้าเมืองขนาดใหญ่อาจจะมีที่ทิ้งขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หลังจากที่เราสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับตำบลขึ้นมา เราสร้าง อบต. ขึ้นมา ทุก อบต. ก็เริ่มมีการจัดเก็บขยะของตัวเอง และมีที่กองขยะของตัวเอง วันนี้ท่านประธานครับ ค่อนประเทศที่เป็นที่ทิ้งขยะระดับจังหวัด มีปัญหาหมดครับท่านประธาน บางจังหวัดที่เป็นท้องถิ่นดูแลเองก็ขยับขยายไม่ทัน กำลัง ท้องถิ่นไม่สามารถที่จะรับมือได้อยู่มา ๑๐ กว่าปีที่แล้วก็เกิดวิวัฒนาการในการกำจัดขยะ จนบางกระทรวงถือเป็นคำขวัญว่า ขยะคือทองคำ คือคิดถึงการเอาขยะมากำจัด แล้วก็สร้าง เป็นพลังงาน แล้วก็ต่อเนื่องมาจนถึงการขออนุญาตตั้งโรงเผาขยะเพื่อแปลงเป็นพลังงาน ไฟฟ้า ขยะเลยถูกตีค่าเป็นทองคำ ตื่นตระหนกกันในตลาดหลักทรัพย์ไปหมดครับ ๑๐ กว่าปี ที่ผ่านมาท่านประธานจะได้ยินข่าวที่โน่นก็อยากตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ที่นี่อยากตั้งโรงไฟฟ้าขยะ แต่ปัญหาขยะก็ยังไม่จบครับ เพราะฉะนั้นเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้แล้วก็ไม่มีทางที่จะแก้ไข เราจะปล่อยให้ อบจ. ปล่อยให้เทศบาล ปล่อย อบต. รับมือแต่ลำพังไม่ไหวหรอกครับ จะปล่อยให้กระทรวงอุตสาหกรรมลงไปดูแล จะปล่อยให้มหาดไทยเป็นคนเซ็นใบอนุญาต เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จะปล่อยอยู่อย่างนี้มันคงไปได้ยากครับท่านประธาน บางจังหวัด อย่างจังหวัดบ้านผมจังหวัดนครศรีธรรมราชมีกองขยะทิ้งไว้ ๒ ล้านตัน เป็นกองขยะมหึมา แล้วก็ยังไปไม่ถูกว่าจะไปทางไหน มีการประมูลทิ้งไว้ เสร็จแล้วการประมูลทิ้งไว้ก็ไม่สามารถ ส่งมอบพื้นที่ได้ รวมทั้งโรงขยะคนที่ประมูลได้ก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน จริง ๆ เป็นเรื่องที่ต้องให้ หลาย ๆ หน่วยงานมาร่วมบูรณาการ ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดูแล ท้องถิ่นทั้งหมด ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรมที่จะดูแลเรื่องการแปรรูป การสร้างเขต อุตสาหกรรมขึ้นในกองขยะ ตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะต้องเป็นคนเอาพลังงานจากการเผาขยะนี้ไปใช้ในการบริหาร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจะมอบหมายให้ใครคนใดคนหนึ่งดูแลคงยากแล้ว มีทางเดียว ต้องหาทางบูรณาการ ถ้าวันนี้เราไม่ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาว่านะครับ ซึ่งผมก็เห็นใจครับ วันนี้สภาผู้แทนราษฎร เราตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหลายคณะ จนไล่ประชุมกันไม่ทัน แต่ถ้าจะส่งให้ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคณะเดียวมันก็ไม่จบครับ ท่านประธาน ส่งให้คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ คณะเดียวก็คงไปไม่รอดครับ จะส่งคณะกรรมาธิการ การอุตสาหกรรมคณะเดียวก็ไม่ได้ครับ หรือจะส่งคณะกรรมาธิการการพลังงานอย่างเดียว ก็คงยาก เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราในสภาต้องช่วยกันคิด ถ้าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาเราจะกระจายความรับผิดชอบเรื่องขยะในประเทศนี้ให้กับคณะกรรมาธิการ ชุดใดบ้างในการช่วยกันดูแล เพราะอย่างที่ผมเรียนท่านประธานครับ จะใช้ท้องถิ่นรับมือ มันโครงการต้องลงทุนในการกำจัดขยะเยอะมาก ใช้งบประมาณมหาศาล หลาย ๆ จังหวัด ขนาด อบต. ไม่มีกำลังกำจัดขยะเลย ก็ต้องขนจาก อบต. มาทิ้งไว้กับที่เทศบาลใหญ่ ๆ และเทศบาลก็คิดสตางค์เขา แล้วเทศบาลก็ล้น ระดับจังหวัดก็อย่างนี้เหมือนกันครับ ทุกอำเภอก็ขนมาเทกองไว้ในจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราชขนมาจาก ๒๓ อำเภอ มาเทกอง อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็ล้นเป็นปัญหา คราวนี้ไม่ว่าที่ไหน ถามเพื่อน ๆ เราทุกคน อย่างใกล้ ๆ หาดใหญ่ ตั้งโรงงานขยะกัน ๒ รอบ ๓ รอบ วันนี้ยัง ไม่จบ จังหวัดไหนก็ตาม ท่านชี้มาได้เลย ผมก็เลยเป็นปัญหาครับว่า นอกจากแก้ปัญหาขยะ แก้ปัญหากับคำว่า ขยะทองคำ เป็นทองคำ จนสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ ออกใบอนุญาตไปสรุป ดูให้ได้ครับว่าทั้งหมดทั้งประเทศนี้ออกใบอนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะไปกี่โรงแล้ว แล้วมัน เสร็จจริง ๆ กี่โรง หรือเอาไปปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้ใบอนุญาตโรงงานขยะ ก็หมายความว่าตลาดหลักทรัพย์ก็รับบริษัทตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ขายหุ้น ขายหุ้น เสร็จก็เลิกกันไป ใบอนุญาตที่ค้างอยู่ทั้งหมดเท่าไร ผมก็คิดว่ามันต้องระดมคิดครับ ท่านประธาน คือถ้าไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ด้วยความเกรงใจว่ามันล้นสภาแล้ว ส่งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ก็อาจจะต้องแนบท้ายเลยไปว่าอย่างน้อยคณะกรรมาธิการ ๔ คณะที่จะต้องทำงานร่วมกัน แล้วก็หาทางออกให้กับประเทศ ผมก็เลยขอเสนอญัตตินี้ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ และไม่ติดใจที่จะตั้งคณะกรรมาธิการนะครับ ส่งให้คณะกรรมาธิการ ก็ได้ ที่มีอยู่ ๓๐ กว่าคณะนี้ เลือกคณะที่เขาต้องเข้ามาดูแล และเป็นการทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกันระดับสภา โดยไม่ต้องผ่านไปทางรัฐบาล สภาได้แนวทางที่บูรณาการโดยความคิด ของ สส. ของเราเองแล้ว อย่างนี้ค่อยสรุปส่งสภาครับ ส่งกับรัฐบาลอีกทีครับ ก็เลยขออนุญาต ท่านประธานสภารายงานปัญหาเรื่องขยะที่เกิดขึ้นเหมือน ๆ กับเพื่อนสมาชิกทั้งหมด และหาแนวทางในการใช้กระบวนการของสภาเราในการแก้ปัญหา เพื่อสรุปให้รัฐบาลเข้าไป บูรณาการกับหน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้ ขอขอบคุณครับ ท่านประธาน
ท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ผมนั่งฟัง รายงานของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วม ของประชาชน ซึ่งเรื่องที่ท่านนำเสนอก็คือ เรื่อง การจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้ง และแนวทางในการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จริงผมก็ติดตาม เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอยู่นานพอสมควร ฟังอย่างชาวบ้าน รับรู้ไปเรื่อย พัฒนาไปเรื่อย ก็เพิ่งได้ข้อเท็จจริงว่าที่เราจำเป็นจะต้องตั้ง สสร. ส่วนวิธีการจะตั้งอย่างไรค่อยว่ากัน ตั้ง สสร. มาเพื่อจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะพวกเรารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่า ที่มาไม่ชอบ เผด็จการเป็นคนเขียนให้ ส่วนทิศทางว่าจะแก้ไปทางไหนดี ผมคิดว่าผมนั่งดูสภา ชุดที่แล้วมา ๔ ปีครับท่าน สภาคิดแก้รัฐธรรมนูญได้เรื่องเดียว เรื่องบัตรใบเดียวกับบัตร ๒ ใบ แล้วก็จบไป สภาชุดหนึ่ง วันนี้เรามาพูดเรื่องเดิมอีกว่าคิดจะตั้ง สสร. เพื่อมาแก้ รัฐธรรมนูญที่มีที่มาซึ่งเราไม่ชอบ อยากจะได้ที่ชอบ ๆ แต่โดยสภาพความเป็นจริงครับ ท่านประธาน ท่านกับผมอยู่ตรงนี้ เราเป็นผลผลิตจากเรื่องที่เราไม่ชอบทั้งนั้น แต่เรายังคิด ไม่ออกครับว่านอกจากไม่ชอบที่มา เกลียดตัวแล้วยังกินไข่หรือเปล่า หรือคิดออกหรือยังครับ ว่าในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่เราคิดจะเขียนใหม่ทั้งฉบับให้สวยหรู มีที่มาอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นคณะกรรมการมายกร่าง คิดออกหรือยัง มันมีปัญหาอะไร กี่เรื่อง ผมเห็นนั่งถก ๆ กัน ก็ยังตอบคำถามผมไม่ได้เลยครับว่าจะแก้เรื่องอะไรบ้าง คือแก้ทั้งฉบับ แล้วผมว่าทั้งฉบับ ถ้าคุณเขียนทั้งฉบับได้ สสร. แล้วเขียนเหมือนฉบับนี้ทั้งฉบับ อะไรครับ คือความพอใจ แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นบอกให้ได้ว่าจะเอาให้คนนอกไปแก้ อยากแก้เรื่องอะไร ที่มันเป็น ปัญหาที่มันลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน หัวใจหลักของรัฐธรรมนูญความเป็นประชาธิปไตย เรื่องเดียวครับ คือการค้ำประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศ ถ้าสิทธิเสรีภาพ ประชาชนละเมิดง่ายด้วยอำนาจ อันนั้นก็ไม่เป็นประชาธิปไตยครับ ส่วนกระบวนการที่ไปที่มา ของนักการเมืองแบบพวกเรามันมีเทคนิค จะเอาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลักไม่ได้ครับ
อันที่ ๒ คุณบอกว่าจะเลือก สสร. ผมว่าในใจพรรคการเมืองในทุกพรรคในนี้ ก็นั่งคิดครับว่าผมมีพรรคการเมือง อยู่ในพรรคการเมือง ผมก็ต้องคิดว่าผมต้องหาคนของผม มาเป็น สสร. ให้ได้มากที่สุด ทุกพรรคเลยครับ เหตุผลเพื่อจะได้เอาตามใจที่ผมคิด ตามใจ ที่พรรคผมคิด ท่านประธานครับ กระบวนการในการสรรหา ถ้าผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งหมด ไม่มีใครเชี่ยวชาญเท่ากับ ๕๐๐ คน พวกนักการเมืองในนี้ครับ เก่งทั้งนั้นในเรื่อง การเลือกตั้ง นักวิชาการอย่าสะเออะขึ้นมา อย่าคิดว่าจะโผล่ขึ้นมาได้ กระบวนการกรอง เป็นอย่างไรก็ตาม กระบวนการถ้าผ่านการเลือกตั้งเมื่อไร ๕๐๐ คนนี้ ฝีมือที่สุดแล้วในแผ่นดิน กกต. ก็ไล่ไม่ทัน กกต. ไล่ทันไหมครับ จนป่านนี้ประกาศใบแดงไม่ได้สักใบ ไม่มีทางครับ กลายเป็นทุกคนในที่นี้กลายเป็นคนขาวสะอาดท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่าระบอบ ประชาธิปไตยเราก้าวไปสู่หายนะเมื่อประชาชนต้องการสตางค์แล้วก็ตัดสินใจง่าย เราเห็น การซื้อเสียงกลายเป็นเรื่องปกติ แล้วเรียกหาอะไรกันครับ คราวนี้มาเรียกหาในการแก้ รัฐธรรมนูญ ผมนั่งมานานแล้วครับ ถ้าบอกได้ว่าอยากแก้เรื่องไหนมาก ๆ ผมก็จะเริ่มเห็นด้วย แต่บอกว่าเปลี่ยนเสื้อตัวนี้ให้คนอื่นมาตัดให้ใหม่ ตัดมาแล้วก็เหมือนเดิมอีก แล้วผมจะต้อง ชวนประชาชนไปหมดเป็นหมื่น ๆ ล้านเพื่อได้เสื้อตัวใหม่ซึ่งเหมือนกับเสื้อตัวเดิม ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นไม่มีหลักประกันในการเดินไปข้างหน้า หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ กี่หมวดก็ตามครับ เขาเขียนไว้แล้วหมวดไหนกระทบไม่ได้ ถ้ากระทบ ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นตั้ง สสร. เพื่อเปิดด่านไปกระทบปัญหาในเรื่องที่ควรแก้ไม่ได้ ความมั่นคงของรัฐ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ๒ เรื่องนี้ครับ ที่จะเปิดประตูไม่ได้ถ้าไม่ตั้ง สสร. ก็บอกกันตรง ๆ สิครับ อยากเอาเรื่องไหน แต่คิดมาวิธีการ ผมรับได้ครับ วิธีการจะหา สสร. แต่ผมว่าผมไม่ค่อยเชื่อว่าเราจะได้ สสร. มาอย่างบริสุทธิ์เที่ยงธรรม อย่างเพื่อนสมาชิก จากอุดรธานีที่อภิปรายเมื่อสักครู่ แน่นอนครับ ได้สภาอย่างที่เราเคยเจอ ๆ ท่านประธาน ก็เคยเจอ ๆ มา อย่าวาดหวังไว้มากครับว่าได้ สสร. วิเศษวิโส แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะ เลิศเลอดีที่สุด ไม่มีที่ไหนในโลกเทียบเท่า ฝันไปเถอะครับ แล้วก็คิดว่าวิธีการอย่างนี้บอกกัน ให้ประชาชนรู้ครับว่า ที่เขาอยากแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนอยากแก้เรื่องอะไร เริ่มถาม กันก่อนสิครับ ถ้าถามกันก่อนประชาชนอยากแก้เรื่องอะไร คณะคนที่จะไปยกร่างแก้ก็ได้รู้ ครับว่าประชาชนเขาเดือดร้อนเรื่องนี้ ประชาชนเขาไม่พอใจเรื่องนี้ อย่างน้อยมีธงไว้ให้คนที่ จะยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ ที่ฉบับนี้มีปัญหาไม่ใช่เพราะคนร่างเดิม ไม่ใช่เพราะที่มา เพราะเนื้อหาสาระเราสนใจรูปแบบมากกว่าสาระแล้ววันนี้ แต่ถ้าเราบอกว่าสาระตรงนี้ จำเป็นต้องแก้ ฟังจากประชาชนเสียก่อนแล้วค่อยก้าวไปทีละก้าว นี่เราก้าวข้ามเลยครับ แทนที่จะฟังประชาชน วันนี้นักการเมืองยัดเยียด ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญ แก้ทั้ง ฉบับ ตั้ง สสร. ประชาชนทั้งประเทศผมว่าก็ยังสงสัยว่าคุณจะแก้ไขอย่างไร ใครจะเป็น สสร. เพราะฉะนั้นผมคิดว่าใช้เวลาตรองสักนิด ให้คำตอบกับประชาชนทั้งประเทศ เราเป็นตัวแทน ชาวบ้านมา ฟังคำตอบจากชาวบ้านว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขารู้สึกว่าไม่ดีตรงไหน แล้วมาช่วย กรองกัน อย่างน้อยตั้งเป็นธงจากสภา มาตั้ง ๕๐๐ คน มาจากทั้งประเทศครับ คิดไม่ออกว่า อยากแก้ตรงไหน คิดอย่างเดียวครับ เปลี่ยนเสื้อตัวนี้เพราะเสื้อตัวนี้มาไม่สวย ตัดไม่ดี คนตัด ไม่ใช่ช่าง เพราะฉะนั้นอย่าพาประเทศไปอย่างนั้นครับ ช่วยกันหาความคิดและขายความคิด ที่มาจากประชาชน มาสู่พวกผู้แทนเรา มาอภิปรายกันในสภา แล้วก็คุมตรงนี้เพื่อจะเขียน อะไรก็ตามใส่มือคนที่เรามอบอำนาจให้ทั้งหมดครับ อย่าเขียนเช็คเปล่าให้เขาครับ ผมไม่ เซ็นเช็คเปล่าเด็ดขาดครับ ถ้าไม่รู้ว่าจะพาบ้านเมืองไปทางไหนครับ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ผม วิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ ผมนั่งฟังเพื่อนสมาชิก อภิปรายกันเรื่องการตั้งกองทุนรักษาป่าต้นน้ำแล้ว ก็มีความคิดที่ค่อนข้างจะเห็นด้วยครับ โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายถึงเรื่องความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ท่านประธานเชื่อไหมว่าอีกไม่นานเราจะขาดเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้ปฏิบัติงานอยู่ ในป่าจริง ๆ ผมเคยไปจังหวัดแพร่ครับ แล้วเห็นโรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่ ที่จริงโรงเรียน ป่าไม้จังหวัดแพร่ตั้งขึ้นครั้งแรกเป็นการตั้งขึ้นในพื้นที่ของบริษัทฝรั่งที่ได้รับสัมปทานไม้ ในจังหวัดแพร่ ฝรั่งถอนออกไปก็ยกอาคารบ้านเรือนให้เป็นโรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่ ถ้าพูด วันนี้เรื่องป่าไม้ ณ วันนี้กับเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีที่แล้วคนละบรรยากาศ ผมจำได้ผมเด็ก ๆ เคย เรียนหนังสือแล้วก็ยังท่องจำ สินค้าส่งออกของประเทศไทย ๓ เรื่องหลัก ๑. ข้าว ๒. ยางพารา ๓. ไม้สัก และ ๔. ดีบุก แค่นี้ที่เป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย เพราะฉะนั้น ไม้สัก ไม้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สมัยก่อนมีไว้เพื่อการให้สัมปทาน จังหวัดแพร่ก็ตั้งเป็น โรงเรียนป่าไม้แพร่ขึ้นเพื่อฝึกผู้ที่มีความชำนาญการในกรมป่าไม้เอาเข้าไปฝึกรุ่นแรก หลังจากนั้น ก็เริ่มรับเด็กที่จบมัธยมปลายเข้าไปเรียนต่อหลักสูตร ๒ ปี ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน ๑ ปี ใช้ชีวิต อยู่ที่ในป่า ๑ ปี เพื่อฝึกความพร้อมในการออกปฏิบัติหน้าที่ ป่าไม้รุ่นแรก ๆ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ ส่วนใหญ่ป่าไม้ออกไปสำรวจป่าเพื่ออนุญาตสัมปทานให้กับเอกชน เรามีการปิดป่าครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๓๑ กรณีเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็มีไม้ซุง ไหลลงมา ประชาชนล้มตายไปเกือบ ๓๐๐ คน บ้านเรือนทั้ง ๒ หมู่บ้านหายไปในพริบตา รัฐบาลยุคนั้นประกาศปิดป่า หยุดสัมปทานป่าไม้ทั้งหมด ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็เริ่มคุยกัน เรื่องป่าไม้ในเรื่องการบำรุงรักษา เรื่องอนุรักษ์ป่าไม้ ในเรื่องการปลูกป่าเพิ่มขึ้นมา แต่ท่าน เชื่อไหมครับว่าวันนี้เราต้องการป้องกันป่าที่จะให้ไม่ถูกรุกรานจากกลุ่มทุนที่ยังจะแสวงหา ประโยชน์จากการโค่นไม้ทำลายป่าซึ่งมีอยู่ทุกวัน เราใช้กำลังเจ้าหน้าที่แบบที่เพื่อนสมาชิก บอกว่าเจ้าหน้าที่ ๑ คนในระดับปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างเหมา อัตรา เงินเดือนตกเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท มีหน้าที่ในการสำรวจต่อคน รับผิดชอบพื้นที่คำนวณป่า ทั้งหมดของประเทศไทยแล้ว อย่างเพื่อนสมาชิกว่า ๕,๐๐๐ ไร่ ท่านทราบไหมว่าคนเหล่านี้ ไม่ได้ผ่านโรงเรียนป่าไม้เลย โรงเรียนป่าไม้เราปิดไปตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เพราะฉะนั้นผมบอกว่า จะเกิดวิกฤติวันข้างหน้า เราไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับปฏิบัติการเหลือในประเทศนี้ครับ เราจะมีนักวิชาการที่จบวนศาสตร์ จบปริญญาตรี แล้วก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้ และเกินครึ่ง เป็นสุภาพสตรี อันนี้ผมไม่ได้ว่าสุภาพสตรีจะเก่งหรือไม่เก่งกว่า แต่เรียนท่านเก่งกว่าแน่ แต่ในการปฏิบัติการจริง ๆ โรงเรียนป่าไม้แพร่ที่ก่อตั้งมา ๖๐ กว่าปีที่แล้ว ที่ปิดไปเมื่อ ๓๐ ปี ที่แล้ว ใช้นักเรียนชายทั้งหมด และใช้ชีวิตฝึกอยู่ในป่าเพื่อเตรียมความพร้อม เหลือเวลาอีกสัก ๔-๕ ปี นักเรียนป่าไม้แพร่รุ่นสุดท้ายเกษียณหมด คราวนี้เราก็จะมีพวกลูกจ้างซึ่งจะได้รับ ค่าจ้างเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท ท่านออกป่าปีละ ๑๕ วัน อยู่ในป่าใช้ชีวิต ๑๔-๑๕ วัน ก็จะได้ เงินช่วยเหลืออยู่ ๒,๐๐๐ บาท คนเหล่านี้จะทำหน้าที่ดูแลป่าทั้งหมด ส่วนนักวิชาการซึ่งจะ มีอยู่อุทยาน ๑ คน ๒ คน จบปริญญาตรีที่เป็นข้าราชการคน ๒ คน ก็เริ่มทยอยหมด ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้อย่างนักเรียนป่าไม้แพร่จริง ๆ ผมต้องการพูดเรื่องนี้เพื่อผ่านไปยัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยกลับไปดูพื้นที่ หน่อยครับ เพื่อนสมาชิกเราจากจังหวัดแพร่เขาก็อยู่ตรงนี้ โรงเรียนป่าไม้แพร่ถูกทิ้งร้างมา ๓๐ ปี กลายเป็นพื้นที่ทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เรื่องโรงเรียนป่าไม้ไปแล้ว โรงเรียนป่าไม้แพร่ มีพื้นที่ตัวเองในส่วนภาคสนามที่ใช้ในการฝึกงาน เตรียมพร้อมอยู่หลายพันไร่ ผมเคยไปดูมาครับ ความจำเป็นจริง ๆ ผมคิดว่าวันนี้เราสร้างนักเรียนนายร้อยอย่างเดียว ไม่พอครับ โรงเรียนนายร้อยผลิตนักเรียนนายร้อยให้ตายก็ปราบอาชญากรรมไม่หมดถ้าไม่มี นักเรียนนายสิบ กำลังรบกำลังราบจริง ๆ คือนักเรียนระดับนายสิบที่ถือว่าเป็นกำลังหลัก ของตำรวจไทย ป่าไม้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านรัฐมนตรีไม่ปัดฝุ่น ท่านเตรียมตัวเลยว่าอีก ๕ ปีข้างหน้าจะไม่เหลือนักเรียนป่าไม้แพร่ อยู่ในกระทรวงนี้แม้แต่คนเดียว มันไม่ใช่เรื่องยาก เรายุบโรงเรียนป่าไม้แพร่วันนั้นไปเพราะ นโยบายคณะรัฐมนตรีบอกว่าทุกกรมที่มีหน่วยงานการผลิตการศึกษาเล่าเรียนที่อยู่ประจำกรม เพื่อบรรจุในกรมตัวเองให้ยุติทั้งหมด แต่ถามว่ายุติไปหมดไหมครับ ไม่มีครับ ยังไม่ได้ยุติหมด วิศวกรรมชลประทานยังเปิดอยู่ โรงเรียนไปรษณีย์ยังมีอยู่ แล้วทำไมป่าไม้แพร่ ซึ่งเพื่อน สมาชิกกำลังเรียกร้องการดูแลป่าอย่างครบถ้วน อย่างมีวิชาการและพิทักษ์รักษาป่า จริง ๆ กระทรวงถึงไม่คิด น่าจะถึงเวลาในการที่จะทบทวนดูว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมที่ดูแลกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะต้องไปปัดฝุ่น โรงเรียนป่าไม้ แล้วก็ยกโรงเรียนป่าไม้ขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบุคลากรในระดับล่าง ที่จะลุยรักษาป่าอย่างผู้มีวิชาการจริง ๆ เราพูดกันเรื่องรักษาป่า แต่ถ้าเราไม่มีคนที่จะลงไป รักษาป่าจริง ๆ ก็ลำบาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และที่สำคัญถ้าใครจะ ศึกษาต่อ รัฐบาลจะรับไปก็ตาม ช่วยไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วยว่าคืนโรงเรียนป่าไม้ให้กับป่าไม้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ