เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต ๔ เทศบาลนครรังสิต เทศบาลคลองหลวง และตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองครับ วันนี้ผม ขอหารือกับท่านประธานจำนวน ๒ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนชาวเทศบาลนครรังสิต ในเขตพื้นที่ของผม และเทศบาลลำสามแก้ว เทศบาลเมืองลาดสวายของเขตคุณเชตวัน เขต ๖ ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากการตัดประสานท่อ เชื่อมท่อประปาขนาด ๑,๒๐๐ มิลลิเมตร เส้นใหม่ แทนที่ท่อขนาด ๘๐๐ มิลลิเมตรเส้นเดิมที่จะยกเลิกใช้บนถนนรังสิต-นครนายก โดยการประปาส่วนภูมิภาครังสิตชั้นพิเศษ ผลการดำเนินการกลับมีน้ำโคลนเข้าไปในระบบท่อ ของพี่น้องประชาชนผู้ใช้น้ำจำนวนมาก แม้จะมีการ Blow น้ำทิ้งที่หัวท่อดับเพลิงก็ยังระบาย ไม่หมด ทำให้พี่น้องประชาชนต้องใช้น้ำโคลนขุ่นเป็นเวลาเกือบ ๒ สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ต้อง เสียค่าน้ำตามปกติ พี่น้องประชาชนอยากได้รับการเยียวยาจากการใช้น้ำประปาที่ขุ่นตลอด ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาครับ จึงขอร้องเรียนไปยังท่านประธานไปยังกระทรวงมหาดไทย ช่วยกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการเยียวยาค่าน้ำ ด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ไฟส่องสว่างบนถนนในจังหวัดปทุมธานีมืดหลายเส้นทางครับ หลายจุดเป็นโค้งอันตราย บางจุดดับมาแล้วกว่า ๒ ปี ทำให้เกิดอุบัติเหตุประชาชนเสียชีวิต ไปแล้วมากมาย ไฟส่องป้ายบอกทางไม่สว่างทำให้ไม่เห็นป้ายบอกทาง และยังมีปัญหา ไฟส่องสว่างหลุดห้อยลงมาครับ ถึงแม้จะมีการติดป้ายว่าสายไฟโดนโจรกรรมให้ประชาชน ที่พบเห็นช่วยแจ้งเบาะแส แต่กลับไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย จากการพูดคุยกับแขวงทางหลวง ปทุมธานีได้ทราบมาว่าแต่ละปีมีงบประมาณทำไฟส่องสว่างเพียง ๔ ล้านบาท งบประมาณน้อย ไม่เพียงพอ จึงขอฝากท่านประธานประสานไปยังรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา ในเรื่องดังกล่าว เพื่อซ่อมแซมบำรุงไฟส่องสว่างทั่วปทุมธานีให้กลับมาสว่างด้วยครับ ถนนที่ไฟดับในเขต ๔ ปทุมธานี เช่น ถนนเข้าตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวงจากฝั่ง อำเภอธัญบุรี ทางด่วน Tollway บริเวณหน้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ถนนรังสิต-นครนายก และหลายพื้นที่ในตำบลสวนพริกไทยครับ และยังมีในพื้นที่ สส. เขตปทุมธานีเขตอื่น เช่นในเขตของคุณสรวีย์ เขต ๑ มีบริเวณแยกสันติสุข ถนน ๓๔๖ ไปจนถึงแยกนพวงศ์ ถนนหมายเลข ๙ วงแหวนรอบนอนกฝั่งตะวันตก ถนน ๓๐๒๑ โดยเฉพาะหน้าเคหะวัดไร่ฟ้า ในเขตของคุณเจษฎา เขต ๒ มีถนนติวานนท์ จากประตูน้ำเชียงรากถึงซุ้มหน้าวัดมะขาม ถนน ๓๔๗ หน้าเทคโนไปจนถึงเชียงรากน้อย ถนนรังสิต-ปทุมธานี บริเวณหน้าซอยสุขี ตำบลบางพูน และอีกหลายเส้นทาง ในเขตอื่นก็เช่นกันพื้นที่ไฟดับกระจายไปในหลายจุด ของปทุมธานี จึงขอฝากท่านประธานไปยังแขวงทางหลวงและ อปท. ที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจ ไฟดับทั้งหมดในปทุมธานีเพื่อไขแก้ไขต่อไป ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภา ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ พรรคก้าวไกล เทศบาล นครรังสิต เทศบาลเมืองคลองหลวง และตำบลสวนพริกไทย ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำปีงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ โดยมีประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ความแตกต่าง ในการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหาร ท้องถิ่น และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านประธานครับ จากที่ผมทดลองสืบค้น ข้อมูลการเลือกตั้งทั้งสอง ก็ได้ทราบว่า กกต. ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง สส. มากกว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น สังเกตจากอะไรครับ สังเกตได้จากการจัดเก็บเผยแพร่ข้อมูลการเลือกตั้ง หากท่านประธานลองเข้าไปใน Website ของ กกต. ก็จะพบว่าข้อมูลของการเลือกตั้ง สส. มีมากกว่าข้อมูลของการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นมีเกือบจะทุกปี ในขณะที่ สส. มีการเลือกตั้งทุก ๔ ปีครั้ง แต่กลับพบว่าการเลือกตั้ง สส. มีข้อมูลหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ข้อมูลพรรคการเมือง สถิติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึง ผลการนับคะแนนเลือกตั้งรายหน่วย ในขณะที่ข้อมูลเลือกตั้งท้องถิ่นมีเพียงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องและข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เป็น File PDF จำนวน ๕ File เท่านั้น ก็อยากจะขอให้เน้นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น
ประเด็นที่ ๒ มาตรฐานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการประจำ หน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. ท่านประธานครับ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น กปน. นับเป็นบุคลากรสำคัญที่จะดำเนินการ เลือกตั้งให้ผ่านไปด้วยดี จึงต้องได้รับการอบรมและศึกษาคู่มือปฏิบัติงานสำหรับเจ้าพนักงาน ผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้วเราก็คาดหวังว่า กปน. จะดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีตามที่ได้ศึกษามา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กปน. กลับดำเนินการต่างออกไปจากคู่มือเป็นอย่างมาก วันนี้ผมจึงอยากเชิญชวนประชาชน และเพื่อนสมาชิกได้ศึกษาคู่มือและเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติจริงไปพร้อมกันสัก ๓ ประเด็น ที่ผมรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน
อย่างแรก ฉากกั้นหลังคูหาลงคะแนน คู่มือบอกว่าด้านหลังคูหาลงคะแนน จะต้องมีฉาก ป้าย หรือวัสดุทึบแสง สูงไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร กั้นหรือปิดบังไว้เพื่อป้องกัน ไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นการลงคะแนน ในทางปฏิบัติจริงก็พบว่ามีฉากกั้นครับ ความสูงก็ได้ครับ แต่หน้ากว้างปิดไม่ได้ สังเกตจากตรงกลาง ๆ ของภาพแรก จะเห็นว่ามีประชาชนเดินผ่าน ไปมาตลอด เพราะหน่วยเลือกตั้งอยู่ในสถานีขนส่ง ผมก็อยากจะทราบเหมือนกันว่ากรณีนี้ เราต้องโทษใครระหว่างคนจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จัดอุปกรณ์ให้ไม่เพียงพอ หรือคนสำรวจ สถานที่ที่เลือกสถานที่คนพลุกพล่าน หรืออีกภาพหนึ่ง ถ้าสังเกตดูดี ๆ ด้านหลังจะมีสัมภาระ ของเจ้าหน้าที่ กปน. อยู่นะครับ อย่างนี้มาตรการการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมองเห็น การลงคะแนนจะเป็นไปตามคู่มือได้อย่างไรครับ
ต่อมาครับ การปิดผนึกฝาหีบเลือกตั้ง คู่มือบอกว่าปิดฝาหีบบัตรเลือกตั้ง พร้อมกับปิด Tape กาวผนึกรอยต่อหีบบัตรเลือกตั้ง และสายรัดหรืออุปกรณ์อื่นแทนสายรัด ซึ่งหากหีบบัตรเลือกตั้งเป็นแบบหีบกระดาษ คู่มือกำหนดให้ใช้สายรัด ๒ ตำแหน่ง ก็คือ หน้าล่าง หลังบน กกต. ต้องแก้ไขคู่มือหน่อยนะครับ เพราะหีบของจริงหน้างานเป็น หน้าบน หลังล่าง แต่พอปฏิบัติจริงกลับพบว่า กปน. รัดเฉพาะด้านบน นี่ถ้าประชาชนไม่ไป สังเกตก็คงไม่ทราบว่าด้านล่างไม่มีสายรัด มีเฉพาะด้านบน ไม่มีด้านล่างนะครับ
ประเด็นสุดท้าย เป็นประเด็นที่ถกเถียงในทุกการเลือกตั้ง คือการวินิจฉัย บัตรดี บัตรเสีย ปัญหานี้นับเป็นปัญหาสำคัญที่ กกต. ควรตระหนักอย่างมากที่สุด เนื่องจาก เป็นกระบวนการที่มีผลกระทบต่อผู้แพ้ผู้ชนะของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง และส่งผลกระทบ ต่อประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เบื้องต้นเราลองมาดูองค์ประกอบของบัตรดี บัตรเสีย มีอะไรบ้าง บัตรดี คู่มือระบุไว้ว่าต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ๑. ต้องมีเครื่องหมาย ในการลงคะแนน ๒. ต้องเป็นเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น และ ๓. ต้องอยู่ในช่อง ทำเครื่องหมายเท่านั้น นอกนั้นให้ถือเป็นบัตรเสีย ดังภาพประกอบที่ขึ้น ท่านประธานครับ แม้ว่าคู่มือจะกำหนดองค์ประกอบของบัตรดี บัตรเสียมีองค์ประกอบตามภาพประกอบ แต่ก็ยังเกิดกรณีที่ กปน. วินิจฉัยให้บัตรดีกลายเป็นบัตรเสียนะครับ เราลองมาดูว่าเหตุผล คืออะไร ภาพแรก วินิจฉัยให้บัตรเสียเพราะขีดเส้นเลยช่องลงคะแนน ต่อมาภาพที่ ๒ บัตรกากบาทย้ำคล้ายปากกาไม่ติด ต่อมาขีดเลยช่องออกมานิดเดียวนะครับ แล้วก็ต่อมามีรอยตัดมากกว่า ๑ จุด ย้ำเส้นมากเกินไปเส้นบวม แล้วอีกอันหนึ่ง ประธานหน่วยบอกว่ามีจุดตรงกลาง อ่านแล้วก็รู้สึกท้อแท้ว่าประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าถ้า กกต. จะ Serious ขนาดนั้นทำไมไม่จัดหาเครื่องลงคะแนน มาให้ประชาชนหรือนำตรายางมาใช้แทนไปเลยก็สิ้นเรื่อง ท่านประธานครับ ในทางทฤษฎี หรือทางปฏิบัติยังมีเรื่องอีกมากที่ กกต. ควรปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ SOP หรือ Standard Operation Process หรือคู่มือที่ได้กล่าวไปข้างต้น ให้มีความทันสมัย และดำเนินการได้จริง ขออีกสั้น ๆ นะครับ
การอบรมในเชิงปฏิบัติให้สอดคล้องกับคู่มือตลอดจนกำชับถึงแนวทางปฏิบัติ ของ กปน. และบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามให้มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ท่านประธาน ผมหวังอย่างยิ่งว่า กกต. จะนำข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่ผมได้อภิปรายไปในวันนี้ไปดำเนินการแก้ไขปรับให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับ Slogan ของ กกต. ที่ว่าสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขตเทศบาลนครรังสิต เทศบาลคลองหลวง อบต. สวนพริกไทย พรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอปรึกษาหารือท่านประธาน ทั้งหมด ๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ เนื่องจากมีประชาชนผู้ใช้บริการมักพบเจอผู้ให้บริการแท็กซี่ ในย่านรังสิตปฏิเสธการให้บริการ เรียกเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่าย จงใจไม่กดมิเตอร์ โดยมักกระทำการกับพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดด้วยรถบัส พอลงรถบัสแล้ว ก็ต้องใช้บริการอย่างไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่จึงมักถูกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ จึงขอฝากท่านประธานไปยังขนส่งจังหวัดปทุมธานีและเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ในการกวดขันบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับ การบริการในราคาที่เป็นธรรม
เรื่องที่ ๒ ในจังหวัดปทุมธานีมีปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ปัญหาที่ได้รับร้องเรียน มักเป็นเรื่องของฝูงสุนัขสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ส่งเสียงดังเห่าหอนตอนกลางคืน บางครั้ง ดุร้ายถึงขั้นทำร้ายไล่กัดคนสัญจรไปมา และยังมีกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใจบุญที่นำอาหาร มาเลี้ยงสัตว์เหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของ เมื่อเกิดเหตุทำร้ายคนเข้าก็หาผู้รับผิดชอบไม่ได้ จาก Case นี้เคยหารือกับทางเทศบาลมักพบอุปสรรค เช่น ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ ขาดงบประมาณ ยังไม่มีพื้นที่สำหรับศูนย์พักพิงสัตว์จรจัด หรือเมื่อจะไปจับ คนก็เอาหลบ เข้าบ้านตัวเอง พอเจ้าหน้าที่ไปก็ปล่อยออกมา เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรควบคุมประชากรหมา แมวจรจัด หรือมีผู้จัดการดูแลอย่างถูกต้อง จึงขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ผลักดันโครงการผ่าตัดทำหมันหมา แมว โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับเทศบาล รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการ เช่น การมีหน่วยงานสวัสดิภาพ สัตว์เลี้ยงประจำเทศบาล การมีสัตวแพทย์ให้คำปรึกษาบริการ การจัดทำบัญชีหมา แมวจรจัด ไปจนถึงการมีศูนย์พักพิงในพื้นที่จำเป็นเพื่อรองรับประชากรหมา แมวจรจัด ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ กระผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกล ๑ ปีที่แล้วผมเคยลงพื้นที่แล้วก็ได้พบกับบุคคลไร้สัญชาติในพื้นที่ของผมว่าเขาประสบปัญหา อะไรมาบ้าง จึงขอนำมาเป็นตัวอย่างอภิปรายให้ท่านประธานและเพื่อนสมาชิกได้เห็นว่า หากเราไม่ปรับปรุงอะไรเลย อนาคตของเด็กไร้สัญชาติที่โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่จะเจอกับ อะไรบ้าง บุคคลไร้สัญชาติท่านนั้นเกิดมาก็จำความได้ว่าอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแล้ว ไม่ทราบว่าคุณพ่อคุณแม่คือใคร แล้วก็มีการส่งตัวระหว่างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า มีการส่งเข้าเรียนไปในโรงเรียน แต่ก็มี อุบัติเหตุบางอย่างที่ทำให้เขาต้องออกจากสถานศึกษา และไม่ได้รับสถานะใด ๆ ทางสัญชาติ เพราะว่าไม่ทันอยู่ที่โรงเรียนจะออกใบรับรองอะไรให้ ปัจจุบันก็เลยไม่มีบัตรประชาชนครับ ผลของการไม่มีบัตรประชาชนทำให้ทุกวันนี้เขาขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ในปีที่ผ่านมาที่มีโรคระบาด Corona Virus เขาก็ไม่ได้รับวัคซีนใด ๆ แล้วก็ไม่สามารถเข้ารับ การรักษาในโรงพยาบาลได้ด้วย ต้องอาศัยพักฟื้นอยู่ที่บ้านจนหายเป็นปกติไปเอง ผมเคยลอง พาเขาไปติดต่อเทศบาลเพื่อขอบัตรประชาชนให้ปรากฏว่ายุ่งยากมากครับ เริ่มจากต้องไป สืบต้นตอก่อนว่าที่เขาเคยอาศัยอยู่ เช่น สถานเลี้ยงเด็กต่าง ๆ มีพยานใด ๆ ที่ยืนยันว่า เขาเคยมาอยู่ที่นี่จริง ปรากฏว่าพ่อเลี้ยงที่เขาจำได้ก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนเพื่อนร่วมชั้น ก็แยกย้ายกันไปหมดแล้วติดต่อไม่ได้ ทางสถานเลี้ยงเด็กเองก็ไม่เก็บข้อมูลไว้แล้ว เนื่องจาก เก่ามาก หรือไม่ก็เอกสารถูกทำลายไปในเหตุการณ์น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ก็เลยแนะนำให้ไปติดต่อสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก่อนหน้าไปเรื่อย ๆ ก็ยังพบปัญหาขาดแคลน ข้อมูล และอันแรกสุดที่เขาจำได้ก็คือมาจากเชียงใหม่ซึ่งเราก็เดินทางไปกันไม่ไหว สุดท้าย สถานเลี้ยงเด็กก็เลยแนะนำให้ไปหา พม. จังหวัด พอเราได้คุยกับ พม. จังหวัด พม. จังหวัด เสนอว่าต้องออกเอกสารคนไร้รากเหง้าก่อน โดยผู้ออกให้คือเทศบาล สรุปแล้ววันทั้งวัน เราวนเป็นวงกลมไม่ได้อะไรเลยครับ ทุกวันนี้เขาเองก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ ทำมือถือก็ทำไม่ได้ เปิดบัญชีธนาคารก็ทำไม่ได้ ต้องพึ่งพาภรรยาคนไทยที่แต่งงานด้วย ในการดำรงชีวิตทุกอย่าง ในอนาคตหากถึงวัยเกษียณแล้ว ผมเชื่อว่าเขาก็ไม่มีโอกาสได้รับ รัฐสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุเช่นกัน ต้องใช้ชีวิตแบบเข้าไม่ถึงสิทธิไปจนวันสุดท้ายของชีวิต ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ในประเทศไทยและไม่เคยไปอยู่ในประเทศอื่นมาก่อนเลย และยิ่งนานวันไป หลักฐานหรือพยานที่มีก็จะเริ่มล้มหายตายจากไป ถ้าไม่รีบทำให้เด็กกำพร้าในวันนั้นมีสถานะ สัญชาติแล้วยิ่งโตไปก็จะยิ่งทำได้ยากขึ้น จึงอยากขอฝากผ่านท่านประธานว่าการแก้ปัญหา เด็กรวมไปถึงผู้ใหญ่ที่ไร้สัญชาติหรือไร้รากเหง้านั้นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนครับ ผมขอแสดงความเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการในการแก้ไขปัญหาการศึกษาของเด็ก ไร้สัญชาติ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขอมีส่วนร่วมในการอภิปราย ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาดูแลเด็ก เยาวชน และความมั่นคงของสถาบัน ครอบครัว ขอ Slide ขึ้นหน่อยครับ
ผมจะขอเริ่มจากสถาบันครอบครัว แต่ก่อนหน้านี้เราต้องมาพูดถึงทฤษฎีอันหนึ่งเรียกว่า พีระมิดของ Maslow ครับ พีระมิด ของ Maslow จะมีลำดับ ๕ ขั้น ความหมายก็คือความต้องการของมนุษย์ที่จะเติมเต็ม พัฒนาขึ้นไป โดยมนุษย์จะมีความต้องการจากขั้นล่างก่อนนั่นคือทางกายภาพ ปากท้อง ต้องอิ่ม ต่อไปก็คือความมั่นคง ปลอดภัย แล้วก็ได้รับความรัก ความเป็นเจ้าของ ความเคารพ จนสุดท้ายบรรลุความหมายหรือความสมบูรณ์ของชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีบุคคลหนึ่งเขายัง ไม่มีงานทำ เขาไม่มีข้าวกิน เขาก็ต้องหาทางให้เขามีข้าวกิน มีชีวิตรอด ต่อให้ต้องทำงาน ปีนตึกเพื่อเช็ดกระจกเพื่อได้เงินมามีข้าวกินเขาก็ยินดี แต่ถ้าเขามีปากท้องที่มั่นคงแล้วเขาก็ ไม่จำเป็นที่จะต้องปีนตึกเพื่อให้เสี่ยงตกลงมา ก็ไปเลือกงานอื่นที่ปลอดภัยกว่าจริงไหมครับ ในสถาบันครอบครัว ปัจจัยการหย่าร้างอันดับ ๑ ไม่ใช่เรื่องของการมีชู้แต่เป็นเรื่องของ ปากท้องและความรุนแรงในการทะเลาะกันในครอบครัว นี่คือความมั่นคงของสถาบัน ครอบครัวตามรากฐานของพีระมิดของ Maslow รองลงมาของการนอกใจก็คือความต้องการ ทางความรัก ก็คือขั้นที่ ๓ นั่นเอง เด็ก เยาวชนก็คือผลผลิตของครอบครัว แน่นอนว่า ก็ต้องการตามพีระมิดของ Maslow ๑. พ่อแม่ต้องมีโภชนาการให้ลูกเติบโตได้ก่อน ต่อมา ก็คือมีความปลอดภัย มั่นคง ได้รับความรักจากพ่อแม่ แล้วก็มีความเคารพเห็นใจ ไปจนถึง บรรลุเป้าหมาย อย่างเช่น ถ้าเป็นนักเรียนก็ได้รับการเรียน ได้รับวิชาการ ได้ทำงาน มีรายได้ บรรลุเป้าหมายแล้วกลับมาที่ได้รับการทำความเคารพ ได้รับความรัก ความปลอดภัย และกลับมาสู่การเลี้ยงดูทางกายภาพและส่งต่อไปจนถึงคนรุ่นต่อไป
แต่สิ่งที่พ่อแม่บางคนปฏิบัติในครอบครัวก็คือแค่ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง อยากจะให้ ลูกทำอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จริงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เสียงที่สะท้อนจากลูกก็สำคัญ ถ้าพ่อแม่ไม่รับฟัง ลูกก็จะมีโอกาสตีความได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่รัก มันก็จะตัดทอนไม่ให้เขาขึ้นไปสู่ในขั้นที่สูง กว่าได้ ปัญหาคือการปล่อยปละละเลยความรู้สึกของเด็กต่างหากที่ทำให้เด็กเกิดปัญหา จนเขาเติบโตไปในแนวทางที่ตรงกันข้าม ในฐานะผู้มีอำนาจต่าง ๆ ก็เช่นกันไม่ว่าใครจะเป็น รัฐบาลก็ควรจะประเมินให้ได้ว่าตอนนี้ความต้องการของประชาชนของเราอยู่ที่ขั้นไหน ของพีระมิดของ Maslow มีกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเรารู้แล้วเราก็ควรจะเติมเต็มความต้องการ ของคนในชั้นล่าง ๆ ขึ้นมา เขาก็จะได้เติบโตขึ้นไปในชั้นบนต่อไป เช่น เติมเต็ม เรื่องปากท้อง เรื่องความปลอดภัย แล้วก็จะขึ้นมาในขั้นต่อไป และสถาบันครอบครัว มันก็จะได้รับผลกระทบให้มีความมั่นคงขึ้น และที่สำคัญนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นควรจะ คิดถึงอนาคตของเด็กในทุกมิติ
สุดท้ายนี้ขอฝาก ในเมื่อจะมีการชุมนุมต่าง ๆ ของประชาชน ไม่ว่า จะร้องเรียนปัญหาอะไร อยากฝากถึงอย่างหนึ่งว่าโปรดเติมเต็มความต้องการของพวกเขา อย่าไปกระชากพีระมิดขั้นที่ ๒ ความปลอดภัย ความมั่นคง ด้วยการไม่ฟังแล้วไปสลาย การชุมนุม ให้เติมเต็มและรับฟังกันสังคมเราก็จะก้าวไปข้างหน้า ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ พรรคก้าวไกล วันนี้ ขอปรึกษาท่านประธานสภา จำนวน ๓ เรื่องครับ
เรื่องที่ ๑ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอคลองหลวง แจ้งขอดับไฟล่าช้า ทำหมู่บ้านเดือดร้อน โดยเฉพาะประชาชนในหมู่บ้าน อินดี้ วิลาจจิโอ้ ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้รับผลกระทบจากการ ดับไฟในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เบื้องต้นทราบว่าการไฟฟ้าขอดับไฟเพื่อให้เทศบาลเมือง คลองหลวงตอกเสาเข็มสร้างกำแพงกั้นน้ำ วอน ๒ หน่วยงานช่วยชี้แจงว่าเหตุใดประกาศออก ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ แต่ประชาชนได้รับหนังสือแจ้งก่อนวันดำเนินงานเพียง ๑-๒ วัน และขอร้องไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้กำชับหน่วยงานในสังกัดในเรื่องของการ ประชาสัมพันธ์ทั้ง Online และ Offline โดยผมขอเสนอให้แจ้งเตือนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วันทำการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัว ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบครับ
เรื่องที่ ๒ ปัญหาซ้ำซาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากคือ แท็กซี่ รังสิต บริเวณใต้ทางยกระดับใกล้เมเจอร์รังสิต ไม่กดมิเตอร์โก่งราคา กีดขวางการจราจร แจ้งไปยังสำนักงานขนส่งปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต แขวงทางหลวงปทุมธานี สภ. ประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์หลายครั้งแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ล่าสุดมีผู้โดยสารถูกเรียกเก็บเงิน ๒,๔๐๐ บาท กักขัง ไม่ให้ลงจากรถและข่มขู่ถ้าไม่ให้จะทำร้ายร่างกาย สุดท้ายต้องยืมหัวหน้างานมาจ่าย จึงขอฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อกู้ ภาพลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานีครับ
เรื่องสุดท้าย ปัญหาภายในหน่วยงานเทศบาล แต่ประชาชนกลับเป็นผู้ รับกรรมครับ ถนนทางเข้าพื้นที่ตำบลคลองสาม ในช่วงเทศบาลนครรังสิตมีปัญหาไฟ ส่องสว่างที่ดับหลายดวง ปิดกั้นทัศนวิสัยและพื้นถนนไม่เรียบ ขรุขระ รถที่วิ่งสัญจรไปมา ด้วยความเร็วสูงมักประสบอุบัติเหตุ ทราบว่าเทศบาลนครรังสิตมีการเสนอของบประมาณ ดำเนินโครงการไปแล้วแต่ไม่ผ่าน ด้วยปัญหาภายใน วอนหน่วยงานโปรดเห็นใจประชาชน และขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วยสนับสนุน ปรับปรุง แก้ไขอุดหนุนโครงการและคลี่คลายปัญหาดังกล่าว ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี เขต ๔ พรรคก้าวไกล ขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ได้มาร่วมอภิปรายในญัตตินี้ จากที่ได้รับฟัง เพื่อนสมาชิกมาก็เห็นว่าปัญหาลักขโมยสายไฟไม่ได้ส่งผลกระทบในวงแคบ ๆ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ส่งผลกระทบวงกว้างในพื้นที่หลายจังหวัด มีเพื่อน สส. เป็น สส. เขตหลายท่านด้วย เข้ามาร่วมอภิปราย ก็มีหลายจังหวัดเลย และยังส่งผลไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้มีเพียงแค่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็ยังมี อย่างกรมชลประทานที่ท่านณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ได้อภิปรายไปในสัปดาห์ที่แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มีทั้งเรื่องของอาชญากรรม อุบัติเหตุ แล้วก็เรื่องการเกษตรด้วย ในการ ใช้น้ำกับประตูน้ำทำงานไม่ได้เพราะโดนลักตัดสายไฟไป จากเท่าที่ฟังเพื่อนสมาชิกอภิปราย ผู้ก่อเหตุมีทั้งรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ที่ลงทุนปลอมตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่ มาตบตาประชาชน แล้วลักขโมยสายไฟไป ก็จะเห็นได้ว่าแรงจูงใจเกิดจากราคาทองแดงที่มีราคาสูง การเฝ้าระวัง การลักตัดที่ต่ำ โอกาสในการถูกจับได้ยาก แล้วก็การเข้าถึงพื้นที่ของทองแดงได้ง่าย อย่างเช่น ช่อง Service ก็เปิดได้ง่าย มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลักตัดสายไฟก็มีทั้งมูลค่า ทางตรงคืองบประมาณแผ่นดินที่เราต้องเสียไปในการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ในการปรับปรุง ซ่อมแซมขึ้นมาแลกกับรายได้เพียงไม่กี่ร้อยกับลงทุนไปหลักหลายพัน หลายหมื่น หลายแสน เพื่อให้ผู้ลักตัดสายไฟก็ได้กำไรประทังชีวิตไป ต้นทุนทางอ้อมก็คือต้นทุนเวลาและเงินที่เรา สูญเสียไปกับประชาชนทุก ๆ คนในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุก็เข้าโรงพยาบาลหรือ เสียชีวิตก็เป็นต้นทุนที่ประเมินราคาไม่ได้ แล้วก็การก่ออาชญากรรมกับประชาชนในพื้นที่ ที่ไฟดับก็เป็นความเสียหายที่ประเมินค่าได้เช่นกันกับผู้ใช้ถนนหนทาง จะเห็นได้ว่าปัญหา ลักตัดสายไฟนี้มันก็เกิดขึ้นมานานแล้ว มันไม่ได้เพิ่งเกิดต้นปีนี้ บางท่านก็บอกว่าเกิดมา ๕ ปี ๑๐ ปีแล้วก็ยังไม่จบ ถ้าเกิดปัญหามันแก้ง่าย ๆ เช่น แจ้งตำรวจจับก็จบแล้ว ผมเชื่อว่าเราก็ คงไม่มีปรึกษาหารือกันทุกเช้าว่าในพื้นที่ถูกลักตัดสายไฟ รวมไปถึงมาตั้งญัตตินี้ ผมก็คิดว่า ในวัตถุประสงค์จุดหนึ่งที่เราอยากจะมาคุยกันเรื่องปัญหาการลักตัดสายไฟในพื้นที่ คือไม่ใช่ เพียงแค่จับคนร้ายให้ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งคือเราต้องการให้ไฟติดขึ้นมาโดยเร็วด้วย เพราะว่า มันก็ยังมีขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ตามงบประมาณที่จะทำให้ไฟติด ไม่ใช่ว่า ดับปุ๊บซ่อมปั๊บ แต่ว่ามันกลับมีหลายขั้นตอนมา แล้วโจรก็ยิ่งได้ใจ พอเขาตัดสายไฟไปแล้ว เขาก็เอาไปขาย – ขายแล้วจับไม่ได้เขาก็ยิ่งทวีขึ้นมาอีก อันนี้เราก็หาทางป้องกัน หลายท่านก็เสนอเรื่องของ การคุยกับทางผู้รับซื้อของเก่า ก็แน่นอนนะครับ เราก็มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณากัน จากการพิจารณาญัตติลักตัดสายไฟนี้ ผมก็เชื่อว่าถ้าเราได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในการบูรณาการความร่วมมือจากทั้งฝั่งจับผู้ร้าย จากฝั่งป้องกัน แล้วก็ฝั่งทำไฟติดสว่าง ไม่ว่า มันจะติดข้อกฎหมายใด ๆ ก็ตามนี้เราต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืน เพราะว่ามันไม่สนุก ที่เราจะต้องมาคอยผ่านไปอีก ๔-๕ ปี ผ่านไปอีก ๑๐ ปีแล้วก็มาคุยปัญหาเดิม ๆ ซึ่งเรา หาทางป้องกันอย่างยั่งยืนกันดีกว่านะครับ อย่างไรก็ดีก็ขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ที่มาร่วมอภิปรายอีกรอบหนึ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหานี้จะได้รับการศึกษาและป้องกัน แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมครับ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขตเทศบาล นครรังสิต เทศบาลคลองหลวง และอำเภอเมือง เฉพาะตำบลสวนพริกไทย จากพรรคก้าวไกล วันนี้ผมขอส่วนร่วมในการอภิปรายญัตติเกี่ยวข้องกับน้ำประปา ขอ Slide ขึ้นมาด้วยนะครับ
ในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ปกติแล้วจะใช้การประปาส่วนภูมิภาค ก็เหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ว่ามีอยู่มาวันหนึ่งประชาชน ก็บ่นขึ้นมาในเรื่องน้ำสกปรก ความเดือดร้อนนี้มันเกิดอะไรขึ้น ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมก็มี น้ำประปาขุ่น มีเศษดินตะกอนค้างเต็ม น้ำไม่สะอาด ก็มีพี่น้องประชาชนบ่นเข้ามา จำนวนมากบน Social เมื่อผ่านไปนาน ๆ ก็เหมือนจะค่อย ๆ ดีขึ้น หลังจากผ่านไป ๒ สัปดาห์ แต่น้ำประปาก็ยังมีตะกอนขุ่นค้างอยู่ตกค้างอยู่อีก ๑ สัปดาห์ สาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นเกิดมาจากการประปาได้แจ้งมาว่ามีการขยายท่อประปา จากของเดิม ๘๐๐ มิลลิเมตร เป็น ๑,๒๐๐ มิลลิเมตรเพื่อเพิ่มแรงดันก็ดี เหมือนจะเป็นโครงการดี ๆ แล้วก็อาจจะมีการตัดประสานท่อ เปลี่ยน เชื่อม ซึ่งตอนนี้มันต้องมีการหยุดน้ำประปา แต่เมื่อปล่อยน้ำประปากลับมา น้ำมันก็ควักเอาตะกอนโคลนขึ้นมา แล้วก็พัดเข้าไปบ้านคน ที่เปิดใช้ก็เกิดน้ำดำ ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่มีการเยียวยาด้วยครับ อันนี้เนื่องจากระเบียบของ การประปาอ้างว่าไม่สามารถเยียวยาได้ ไม่มีระเบียบให้มีอำนาจในการเยียวยา แต่พอมี การต่อประสานท่อใหม่แล้วน้ำก็ยังไม่แรงขึ้น ทำไมน้ำไม่แรงขึ้น ก็เพราะว่าน้ำจะแรงขึ้นได้ มันก็ต้องให้แรงดันต้นทางที่มีแรงดันสูงขึ้นกว่านี้ แต่ว่าการแค่ต่อประสานท่อใหม่ แรงดัน ต้นทางไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากท่อทางต้นทางก็ยังเก่าอยู่และยังไม่ได้เปลี่ยน ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ น้ำก็ยังเบาเหมือนเดิมไม่ได้แก้ปัญหาในพื้นที่ได้ ก็อธิบายว่าการขยายท่อ น้ำก็ได้ตีเอาตะกอนที่อยู่ข้างในระบบท่อฟุ้งขึ้นมา อันนี้ผมก็ลองคิดดูว่าเกิดอะไรขึ้น ภาพข้างบนสมมุติว่ามีน้ำประปาไหลจากต้นทางไปยังบ้านปลายทางอย่างเดียวก็ไม่มีการ ออกไประหว่างทาง แต่ว่าพอภาพที่ ๒ เนื่องจากระบบประปาที่เกิดขึ้นจริงจากต้นทาง ไปปลายทางก็จะมีน้ำออกไปตามบ้านต่าง ๆ ถูกดักไปเรื่อย ๆ หรืออาจจะมีท่อแตกรั่วซึม ซึ่งท่อประปาก็ฝังอยู่ใต้ดิน ดังนั้นน้ำก็รั่วซึมลงไปในดิน ภาพของการออกไปตามจุดต่าง ๆ ลองจินตนาการเปรียบเสมือนหลอดดูดน้ำที่เราดูดขึ้นมา แล้วบังเอิญเราไปใช้หลอดที่มัน แตกกลางทาง เราก็จะพบว่าแรงดันที่เราดูดขึ้นมามันก็จะไม่ได้น้ำที่ไหลแรงเท่าเดิม กลับกัน เปลี่ยนเป็นฝั่งผลักเหมือนกัน ก็จะทำให้น้ำที่จะออกไปยังปลายทางก็ต้องใช้แรงต้นทาง ในการผลักน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะให้ท่อน้ำปลายทางได้น้ำที่มีแรงดันมากพอ ทีนี้พอมีการตัด ประสานท่อ เมื่อหยุดปล่อยน้ำประปา น้ำที่ซึมออกมานอกท่อที่ไปโดนตะกอนโคลน ก็มีแรงดัน ส่วนนั้นจะไหลซึมกลับเข้ามาในระบบท่อ และเมื่อตัดประสานท่อเสร็จทำการเปิด ระบบน้ำที่อยู่ระหว่างทางไปจนผ่านจุดตะกอนโคลนก็จะพัดไปสู่ระบบปลายท่อทำให้ ปลายทางได้รับน้ำสกปรก แล้วกว่าจะหายก็คือต้องเปิดน้ำทิ้งเป็นเวลานาน ถึงแม้เจ้าหน้าที่ จะอธิบายว่ามีการปล่อย Blow น้ำออกที่หัวท่อดับเพลิง แต่ว่ามันก็จะมีบางจุดที่ไม่ได้ สามารถ Blow ออกได้ ก็จะรับกรรมไป ต้องใช้น้ำตะกอนไป ดังนั้นถ้าเราจะต้องการป้องกัน ปัญหานี้ เราก็ควรจะต้องซ่อมจุดรั่วต่าง ๆ ให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นได้
สำหรับราคาน้ำประปาก็จัดว่าแพงใช้ได้ แต่ถ้าเกิดเราทำให้ดื่มได้ก็จะถูกลง ทันที สำหรับ Slide นี้ผมขอเปรียบเทียบน้ำประปาคุณภาพ จากของไทยเรายังวนเวียนไม่พ้น กับการต้องมาเจอน้ำประปาที่เป็นตะกอน แต่ของต่างประเทศน้ำประปาเขาดื่มได้แล้ว น้ำประปานี่นะครับ ราคาของมันอยู่ที่ประมาณ ๐.๐๑-๐.๐๓ บาทต่อลิตร ถ้าเปรียบเทียบกับ ราคาน้ำดื่มบรรจุขวด ๔-๑๐ บาท หรือแม้กระทั่งน้ำกรอกตู้น้ำตามตู้ต่าง ๆ ก็ ๑ บาทต่อลิตร แต่ถ้าเราทำให้น้ำประปาสามารถดื่มได้ น้ำที่เราใช้ ๐.๐๑ บาท จะมีราคาถูกทันที เพราะเรา สามารถนำมาดื่มได้ สามารถประหยัดค่าครองชีพได้มากทีเดียว ทั่วถึงแก่คนทุกหมู่เหล่า ดังนั้นผมจึงขอสนับสนุนทำให้น้ำประปาดื่มได้ แก้น้ำประปาไหลอ่อน และปรับปรุงระบบ น้ำประปาทั้งระบบ เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดค่าครองชีพ ของพี่น้องประชาชนได้ ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ จากพรรคก้าวไกลครับ ผมขออภิปรายสนับสนุนญัตติของ คุณเชตวัน เตือประโคน โดยขอพูดถึงพื้นที่สาธารณะของจังหวัดปทุมธานีดังนี้นะครับ WHO หรือองค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอัตราส่วนอย่างน้อย ๙ ตารางเมตรต่อคน จากข้อมูลสถิติกรุงเทพมหานครด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า กรุงเทพมหานคร มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ ๗.๔ ตารางเมตรต่อคน แน่นอนว่าต่ำกว่าหลักเกณฑ์ ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนด ยังไม่ได้นับรวมประชากรแฝงที่จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าว ตกต่ำลงไปอีกนะครับ ทีนี้เรามาดูจังหวัดปทุมธานีบ้าง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งของสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์มีพื้นที่ราว ๑,๕๒๖ ตารางกิโลเมตร ในขณะพื้นที่สาธารณะมีเพียงประมาณ ๑๓ แห่ง แต่ละแห่งมีเนื้อที่ ๓-๑๒ ไร่ ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ๑,๑๙๐,๐๖๐ คน แล้วประชากรแฝงอีก ๖๖๘,๐๐๐ คน คิดเป็นพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพียง ๐.๕ ตารางเมตร ต่อคน น้อยกว่าค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ๙ ตารางเมตรต่อคนถึง ๑๘ เท่าครับ อำเภอ ในจังหวัดปทุมธานี แม้ว่าจะเป็นเขตชานเมืองอย่างอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก หรืออำเภอหนองเสือที่ยังพอมีพื้นที่สีเขียว ซึ่งผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ล้วนแทบไม่มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะให้พี่น้องประชาชนได้พักผ่อนเลยครับ ท่านประธานครับ ส่วนอำเภอเขตเมือง อย่างเช่น อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอเมือง และอำเภอคลองหลวง ยิ่งโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครรังสิต เทศบาลคลองหลวง เทศบาล เมืองคูคตและเทศบาลเมืองลำสามแก้ว เป็นเขตที่มีความเป็นเมืองสูงมีประชากรอาศัยอยู่ อย่างหนาแน่น แต่กลับกันแทบไม่มีพื้นที่สีเขียวให้ฟอกปอดเลยครับ ในพื้นที่เขต ๔ จังหวัด ปทุมธานีของผมชาวรังสิต ประชาชนต้องวิ่งออกกำลังกายริมเขื่อน หน้าถนนเลียบประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์ รถก็วิ่งไปมาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเรื่อย ๆ ให้ประชาชนที่วิ่งออก กำลังกายอยู่ก็วิ่งไปสูดดมก๊าซไปนะครับ ในระยะยาวก็จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี มิเช่นนั้น ก็ต้องไปออกกำลังกายในสนามของเอกชนหรือไปเดินตามห้าง ซึ่งก็มีค่าเช่า ค่าเข้าบริการ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์พื้นที่ ๖๐๔ ไร่ ตั้งอยู่ขอบของจังหวัดปทุมธานีที่ตำบลคูคต อำเภอ ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานครที่เขตดอนเมืองพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี ๕ กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่หลายแสนคน แต่พื้นที่ ๖๐๔ ไร่นี้ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าพื้นที่ สาธารณะ ๑๓ แห่ง ที่ผมเคยกล่าวไว้ รวมข้างต้นรวมกันเสียอีกนะครับ กลับถูกใช้เป็นธุรกิจ กองทัพอย่างที่ สส. เชตวัน เตือประโคน ได้อภิปรายไปแล้วนะครับ ถ้าพื้นที่สนามกอล์ฟ ธูปะเตมีย์แห่งนี้ถูกใช้เป็นสวนสาธารณะจะภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ดี หรือยังจะเป็นของกองทัพอยู่ก็ดี แล้วเอามาให้ประชาชนรอบ ๆ ได้เข้ามาใช้บริการ เหมือนกับสวนลุมพินีแถว ๆ ถนนพระราม ๔ ในกรุงเทพมหานคร ประชาชนก็จะมีความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะมีพื้นที่พบปะสังสรรค์ สร้างสังคมมีพื้นที่สร้างศูนย์การเรียนรู้ และมีพื้นที่สาธารณะพื้นที่สีเขียวที่เป็นปอดของชาวปทุมธานี เขตรังสิต อำเภอคูคต และเขตดอนเมือง ในฐานะที่ผมเองก็เป็นกรรมาธิการการสาธารณสุขด้วยนะครับ ผมเชื่อว่า สุขภาพที่ดี อายุขัยที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ จะมี มูลค่าต่อประเทศชาติอย่างมหาศาลประเมินค่าไม่ได้นะครับ เป็นสิ่งที่รัฐบาลก็ต้องมองภาพรวม ในตรงนี้ด้วย ผมจึงขอสนับสนุนญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุ สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ในความครอบครอง ของ กองทัพอากาศเพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ พื้นที่เทศบาล นครรังสิต เทศบาลเมืองคลองหลวงและตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ ก่อนที่ผมจะเริ่มอภิปรายสนับสนุนญัตติและเสนอแนะแนวทางใน การบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นหรือชุมชน ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยการแสดงข้อมูลประกอบ โดยนำพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมาเป็นกรณีศึกษาครับ อย่างที่ทุกท่านทราบจังหวัดปทุมธานี ถือเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสังคมชนบทสู่สังคมเมืองด้วยการ เปลี่ยนแปลงการผลิตจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม ทำให้จังหวัดปทุมธานีเป็น ปลายทางแห่งหนึ่งที่ทุกคนจากทุกภูมิภาคต้องเข้ามาหางานทำ อีกทั้งยังเป็นที่ทั้งของ สถาบันการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทำให้มีเยาวชนเข้ามาศึกษาในจังหวัด ปทุมธานีจำนวนมาก ขอสไลด์ขึ้นด้วยนะครับ
ท่านประธานครับ ขออนุญาตหยุด เวลาได้ไหมครับท่านประธาน ขอปรึกษาหารือครับ ไม่แน่ใจว่าสไลด์มีปัญหาหรือเปล่าครับ
ขอบคุณครับท่านประธาน ท่านประธานครับ กราฟนี้แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ต่อวัน ซึ่งทุกท่านก็อาจจะคิดว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ก็ถูกต้องแล้ว เพราะประชากรในพื้นที่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ถ้าท่านคิดเช่นนี้ก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้าท่านลองมองดูข้อมูลให้ลึกกว่านี้ ท่านก็จะพบว่าชุดข้อมูลในปี ๒๕๖๕ เทียบกับปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ แสดงให้เห็นว่า ประชากรคนหนึ่งมีความสามารถในการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม สังเกตได้จาก แท่งสีน้ำเงินนะครับ ซึ่งแทนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่แท่งสีส้ม แทนปริมาณขยะมูลฝอยต่อวัน พุ่งสูงขึ้นไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนะครับ ซึ่งหากเราลองเจาะลึกไปในรายละเอียด โดยจำแนกตามรูปแบบการจัดการขยะออกเป็น ๓ รูปแบบ ได้แก่ การนำกลับมาใช้ประโยชน์ การถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และการกำจัด อย่างไม่ถูกต้อง เราก็จะเห็นได้ว่าหนึ่งในประเด็นที่ควรตั้งคำถามคือ เหตุใดสัดส่วนของขยะ มูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๖๕ มีสัดส่วนสูงไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๕๐ หรือครึ่งต่อครึ่ง โดยอยากให้ทุกท่านสังเกตสัดส่วนระหว่างสีเขียวกับสีแดงในแต่ละปีอันนี้สไลด์แรกจะเป็น ของปี ๒๕๖๑ สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องอยู่ที่ร้อยละ ๕๐ ต่อมา ปี ๒๕๖๒ เป็นร้อยละ ๕๑ ปี ๒๕๖๓ จะเป็นร้อยละ ๗๙ ปี ๒๕๖๔ ลดลงมาเป็นร้อยละ ๖๒ แล้วก็ปี ๒๕๖๕ เป็นร้อยละ ๕๑ โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัด อย่างไม่ถูกต้องเป็นเช่นนี้มีปัจจัยมาจากสถานที่กำจัดที่ไม่เป็นไปตามแนวทางหรือข้อกำหนด ของกรมควบคุมมลพิษ หรืออีกปัจจัยหนึ่งอย่างที่ทุกท่านทราบดีมาจากกระบวนการคัดแยก ขยะต้นทาง นับตั้งแต่ครัวเรือนที่ไม่มีการทำ ท่านประธานครับ ผมอยากให้ท่านและเพื่อน สมาชิกจำตัวเลขขยะมูลฝอย ๑,๙๕๐ ตันต่อวัน ของจังหวัดปทุมธานีเอาไว้ และอยากให้ท่าน ได้ลองดูข้อมูลต่อไปนี้ ผมเชื่อว่าทุกท่านจะต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดปริมาณขยะถึงได้สวนทาง กับจำนวนสถานที่กำจัดขยะเป็นอย่างมาก ทุกท่านครับ จะลองเปรียบเทียบอย่างง่ายโดยใช้ ชุดข้อมูลในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๕ โดยเอาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องและสถานที่ กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องก็ได้นะครับ ท่านจะพบว่าจำนวนสถานีกำจัดขยะนั้นลดลงจาก ๔ แห่ง เหลือ ๒ แห่ง ซึ่งสวนทางกับปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้น ต่อไปนี้ก็จะเป็นสถานี กำจัดขยะในจังหวัดปทุมธานี สถานีที่ ๑ ก็มีสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองลาดสวาย สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยฝั่งตะวันออกเทศบาลนครรังสิต บ่อขยะองค์การบริหารส่วนตำบล ลำไทร และมีบ่อขยะองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสามที่บริเวณบริษัทที่โชว์ในสไลด์นะครับ ทุกท่านครับ ผมจึงไม่แปลกใจจริง ๆ ที่เราจะได้เห็นปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างในปี ๒๕๖๕ ของจังหวัดปทุมธานีสูงถึง ๑๓๑,๗๖๐ ตัน ซึ่งสูงกว่าในปี ๒๕๖๓ หรือช่วงผ่อนปรนมาตรการ โควิด-๑๙ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ข้อมูลที่ผมกล่าวมานี้ยังไม่รวมปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้เข้าสู่ ระบบ ซึ่งจะสามารถเห็นได้ตามพื้นที่รกร้าง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมดังคลิปวิดีโอ ที่อยู่ด้านขวาของสไลด์ จากคลิปก็จะเป็นชายผู้หนึ่งก็กำลังเผาบางสิ่งบางอย่างอยู่ เราก็ลงไปดู ปรากฏว่ามันเป็นสายไฟด้วยนะครับ สายไฟที่สัปดาห์ก่อนเราคุยกันว่าลักตัดสายไฟนี่ละครับ เขาก็มาหาที่ตามนี้มาเผากัน สุดท้ายผมอยากจะแชร์ประสบการณ์ขณะที่ได้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่นถึงรูปแบบหรือวิธีการกำจัดขยะทั้งในครัวเรือนและชุมชนดังนี้ เทศบาลจะ กำหนดประเภทของขยะ เช่น ขยะทั่วไปเผาได้ ขยะเปียก ขยะกระดาษ กระป๋อง ขวดแก้ว ขวด PET และขยะใหญ่ หรือแล้วแต่ละเทศบาลจะกำหนด โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าจัดเวรเก็บแต่ละ ประเภทเดือนละครั้งบ้าง หรือเดือนละ ๒ ครั้งบ้าง ยกเว้นขยะที่เผาได้เป็นขยะครัวเรือน ที่เกิดขึ้นบ่อยก็จะจัดตารางเวรเข้าเก็บแต่ละพื้นที่ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ในแต่ละชุมชนหมู่บ้าน ก็เวียนเปลี่ยนไปไม่ซ้ำวันกัน ทุกบ้านจะเอาขยะออกมาทิ้งที่ห้องทิ้งขยะของชุมชนที่สร้างขึ้น เฉพาะ มิดชิด นกกาก็เข้ามาคุ้ยขยะไม่ได้ ขอเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งนะครับ ส่วนใครที่ทิ้งขยะผิด ประเภททางเทศบาลก็จะไม่เก็บไป และขยะใหญ่ต้องเสียค่าทิ้ง ถ้าลักลอบทิ้งก็ถือว่าผิด กฎหมายนะครับ รถที่มาเก็บขยะจะเก็บขยะประเภทเดียวและไปทิ้งที่เฉพาะประเภทนำไป กำจัดต่อ ส่วนประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือดี อีกทั้งยังมีการปลูกฝังการแยกขยะตั้งแต่ระดับปฐมวัยเลย ให้รู้วิธีการแยกขยะที่ถูกต้อง ท่านประธานครับ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราก็ทำได้ ถ้าเราวาง ระบบให้ดี ผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดสรรที่กำจัดขยะที่ถูกต้องเพียงพอ ขยะยิ่งสะสมนานเท่าไร ก็ต้องกำจัดมันนานขึ้นเท่านั้น เรามาหาวิธีการลดขยะสะสมในวันนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีข้างหน้า ผมขอสนับสนุนญัตตินี้ ขอบคุณนะครับ
เรียนท่านประธานสภา ผู้แทนราษฎรที่เคารพ ผม สกล สุนทรวาณิชย์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต ๔ จากพรรคก้าวไกล ขอปรึกษาหารือท่านประธาน ๓ เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ประชาชนในพื้นที่อำเภอคลองหลวงไม่มีรถเมล์สาธารณะใช้ ครอบคลุม ทำให้แม้การเดินทางไปรักษาพยาบาลด้วยสิทธิบัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ที่โรงพยาบาลคลองหลวง แต่กลับต้องนั่งแท็กซี่ไป-กลับ ๔๐๐ บาท จึงขอฝากท่านประธาน ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้จัดหารถโดยสารประจำทาง และเพิ่มเส้นทาง รถเมล์ให้แก่ประชาชนในอำเภอคลองหลวงด้วยครับ
เรื่องที่ ๒ ทุก ๆ ปีในช่วงหน้าร้อนดอกธูปฤาษีก็จะฟุ้งกระจายละอองเกสร ไปทั่วจังหวัดปทุมธานี ทำให้ติดเสื้อผ้า ติดมุ้งลวดบ้านประชาชน สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ต้นธูปฤาษีมักจะขึ้นในพื้นที่ดินรกร้างที่เจ้าของไม่มาดูแล และอีกไม่กี่เดือนดอกธูปฤาษีก็จะ ถึงเวลากระเปาะแตกแจกละอองเกสรแล้วครับ จึงขอเรียนท่านประธานไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเตรียมรับมือแก้ปัญหานี้ครับ
เรื่องสุดท้าย ช่วงนี้ระดับฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดปทุมธานีสูงขึ้นมาก ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุในพื้นที่รังสิตต่างก็ป่วย วันก่อนหลานผมไอไม่หยุดเลยครับ เด็ก ๆ ที่ต้องไปโรงเรียนก็ต้องอยู่แต่ในห้อง ไม่สามารถออกมาวิ่งเล่นทำกิจกรรมได้ตามปกติ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเผาทุ่งเกษตรในเขตลำลูกกา จนค่าฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดปทุมธานี ติดอันดับ ๑ อันดับ ๒ มาหลายครั้งแล้ว จึงขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้พิจารณาออกประกาศคำสั่งห้ามเผาในที่โล่งเป็นเวลา ๓ เดือน เฉกเช่นประกาศของ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ห้ามเผาในที่โล่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เพื่อให้ สุขภาพของลูกหลานชาวปทุมธานีกลับมาดีขึ้น ไม่ตายผ่อนส่งแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ท้ายที่สุดนี้ครับหากกองทัพอากาศใจดีและเห็นแก่ปอดของลูกหลานชาวปทุมธานีก็อยากให้ พิจารณาเปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์เป็นสวนสาธารณะ ขอบคุณครับ