กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย ได้แก่อำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง และอำเภอ โนนแดงค่ะ วันนี้ดิฉันขออภิปรายรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งต้องบอกก่อนนะคะว่าตอนนี้เรากำลังย้อนยุคค่ะท่านประธาน ไปดูสถานการณ์รายงาน ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว ก็คือประจำปี ๒๕๖๓ ประจำปี ๒๕๖๔ ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งหลังจากที่ดิฉันได้พิจารณาดูรายงานทั้ง ๒ ฉบับนี้ ดิฉันมีความกังวลอยู่หลายอย่างค่ะ ท่านประธาน โดยเฉพาะตัวเลขของสถิติที่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี ท่านประธานคะ ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าเด็กหรือสตรีมีบทบาทต่อสังคมไทย มีบทบาทในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ค่ะ ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้เราจะเห็นได้ว่าสมัยนี้เรามี สส. ผู้หญิง เพิ่มมาหลายท่านเลยค่ะ รวมทั้งตัวของดิฉันเองด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นนะคะว่าปัจจุบันนี้ สังคมไทยได้ให้การยอมรับกับสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชาย และเพศหญิงมากขึ้นค่ะ แต่ท่านประธานคะ ทำไมทุกวันนี้ข่าวการใช้ความรุนแรง ในครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายกลับมีให้เห็นมากขึ้นอยู่ทุกวัน และมันมี แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ๆ ไม่มีวันที่จะลดลงเลยนะคะ และที่สำคัญการกระทำมันดูรุนแรง มีวิธีการซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นใน Case ของพ่อแม่ทำร้ายลูก สามีทำร้าย ร่างกายภรรยา หรือแม้กระทั่งลูกทำร้ายพ่อแม่ตัวเองนะคะ ท่านประธานที่เคารพคะ เมื่อดิฉันได้ดูรายงานข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่รวบรวมจากหน่วยงาน ทั่วประเทศ ในปี ๒๕๖๓ ขอ Slide ด้วยนะคะ
เราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนของ ผู้ถูกทำร้ายที่เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้อยู่ ๑๖,๖๗๖ ราย หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยต่อวัน ๔๖ รายเลยค่ะ ซึ่งในนี้เป็นเพศหญิงมากที่สุด ๑๕,๐๙๐ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๐.๔๙ ค่ะ อันดับที่ ๒ เป็นเพศชายและเพศทางเลือก ต่อไปผ่านไป ๑ ปีค่ะ ขอ Slide ถัดไปนะคะ ปี ๒๕๖๔ จะเห็น ๒ Slide นี้ตัวเลขไม่ต่างกันเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของผู้เข้ารับบริการ หรือค่าเฉลี่ยก็ยัง ๔๖ รายต่อวันเท่าเดิมเป๊ะ ๆ ผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุดก็ยังเป็นเพศหญิง เหมือนเดิมเลยนะคะ ยังมีตัวเลขที่เยอะอยู่มาก ๆ ถึงทำให้เราเห็นว่าแม้เราจะมีหน่วยงาน เข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ตัวเลขรายงานเหล่านี้ลดลงได้เลยค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นดิฉันกลับพบว่าจากตัวเลขที่พวกเราได้เห็นนี่นะคะ ยังมีข้อมูลที่ตกหล่นแล้วก็ ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูล หรือเปรียบเสมือนกับกลุ่มคนที่มีชีวิตที่พร่ามัวกับเสียงร้อง ที่ไม่มีใครได้ยินค่ะ ท่านประธานคะ เสียงร้องเหล่านี้คือเสียงของผู้ถูกกระทำที่ไม่กล้าเอ่ย ออกมา ไม่กล้าแสดงตัวตน อับอายค่ะ กลัวจะถูกสังคมประณาม ไม่กล้าแม้แต่จะบอกใคร ไม่กล้าแจ้งหน่วยงาน หรือเข้าไปขอความช่วยเหลือใด ๆ ดิฉันจึงคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ควรได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วนค่ะ ดิฉันจึงอยากฝากคำถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าท่านมีวิธีแก้ไขปัญหา เหล่านี้ให้ทั่วถึงได้อย่างไรคะ เพื่อให้เสียงของพวกเขาเหล่านั้นถูกได้ยิน ให้เขาได้กล้าออกมา แจ้งความ เรียกร้องสิทธิความยุติธรรมและให้ชีวิตที่พร่ามัวของพวกเขาได้รับความยุติธรรม และมีชีวิตที่สดใสขึ้นค่ะ จริง ๆ ดิฉันได้ไปสืบค้นแล้วก็พบเจอระบบช่วยเหลือเยียวยา รวมถึง ป้องกันการกระทำความรุนแรงของประเทศอังกฤษ ซึ่งดิฉันจะขอแชร์สักนิดหนึ่ง เขามี องค์กรองค์กรหนึ่งที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ เขาเรียกว่า Sexual Asphalt Referral Center หรือ SARC เป็นศูนย์บริการทางแพทย์และนิติเวชที่มีหมอเฉพาะทางด้วย ดูแลแบบ One Stop Service ก็คือครบวงจรเลยเขาจะให้บริการในด้านการรักษาพยาบาล ทั้งทางร่างกายด้านจิตใจและยังมีการติดตามผลการรักษาด้วย รวมไปถึงมีการเก็บหลักฐาน ทางนิติเวชเพื่อใช้ในทางกฎหมายให้ด้วยระบบของเขาง่ายแล้วก็ตรงไปตรงมามาก ดิฉันจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าวันนี้นาง A ได้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ นาง A ขอเข้ารับบริการที่ศูนย์ SARC ใกล้บ้านได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นาง A ก็จะได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตรวจการตั้งครรภ์ รวมถึงได้รับยารักษาอาการหรือป้องกัน โรคต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้แล้วนาง A จะได้รับการตรวจวินิจฉัยตรวจนิติเวช ซึ่งถ้านาง A อยากจะแจ้งความหน่วยงานนี้เขาติดต่อตำรวจให้เลยค่ะ ดำเนินคดีให้เลยนะคะ แต่ถ้านาง A ไม่ประสงค์จะแจ้งความเขาก็จะเก็บผลการตรวจทางนิติเวชให้เอาไว้นะคะเป็นระยะเวลา ๒ ปี ซึ่งนอกจากนี้แล้วทางศูนย์บริการนี้ยังมีการติดตามผลการรักษาหลังการรับบริการ อีกด้วยโดยผู้ถูกกระทำสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ ดิฉันจึงอยากฝาก คำถามผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานว่าท่านได้มีกลไกคุ้มครองดูแล รวมถึงการให้ การบำบัดฟื้นฟู เยียวยาผู้ถูกกระทำเหล่านี้เหมือนที่ดิฉันได้กล่าวมาข้างต้นด้วยหรือไม่ และอย่างไร เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวดังมาก ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นบ้านของดิฉันเอง มีข่าวรวบหนุ่มคลั่งยาบ้าไล่ตีพ่อแม่ ถือเสียม ค้อน แก้ผ้าวิ่งรอบหมู่บ้านแถมยังไปปีนรูปหล่อย่าโม ที่เป็นที่สักการะของชาวนครราชสีมาด้วย สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านมาก ตำรวจรีบ Charge เข้าจับ หวั่นโดนชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ ท่านประธานคะ หลังจากนั้นผู้เป็นแม่ ได้ออกมาบอกว่าลูกชายเขาติดยาเสพติด เมายา เอาไม้ไล่ตีพ่อ แม่ทนไม่ไหวรีบเข้าแจ้งความ กับตำรวจเพื่อดำเนินคดี จากกรณีนี้ดิฉันเห็นว่าปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดเหตุนี้ก็คือยาเสพติด ยิ่งช่วงนี้ระบาดหนักในพื้นที่ของดิฉันซึ่งดิฉันเคยหารือในสภาไปแล้วว่าตอนนี้ราคามัน ๗ บาท แต่ท่านประธานคะล่าสุดไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ราคามันเหลือเม็ดละ ๕ บาทแล้วค่ะ ถูกกว่า น้ำเปล่าอีกนะคะ ดิฉันจึงอยากให้มีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ควรที่จะมี การบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้ปราบปรามอย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ความรุนแรงเหล่านี้ส่วนมากล้วนเกี่ยวข้อง และมีผลพวงมาจากยาเสพติดทั้งสิ้นค่ะ
สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันขอฝากไปยังพ่อแม่พี่น้องของดิฉันที่ได้รับชม และรับฟังอยู่ค่ะ หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงหรือพบเห็น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ท่านสามารถขอความช่วยเหลือจาก ๑๙๑ หรือสายด่วน ๑๓๐๐ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้เป็นการพิจารณาพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติ ตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พุทธศักราช ๒๕๖๖ หรือที่เรียกว่า กฎหมายเพื่อต่อต้านการเลี่ยงภาษีข้ามชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอมา ดิฉัน ได้ทำการศึกษาแล้วก็อยากที่จะสนับสนุนเห็นชอบใน พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่ดิฉันพบข้อกังวล แล้วก็ข้อสังเกตอยู่บางประเด็นค่ะท่านประธาน
ในประการแรก เราต้องพิจารณาก่อนว่าเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญในการตราพระราชกำหนดตามมาตรา ๑๗๒ วรรคหนึ่ง หรือไม่ ที่บัญญัติเอาไว้ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัย ของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือป้องปัดภัยพิบัติ สาธารณะ เพราะหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแล้วนั้นดิฉันกังวลว่า อาจจะนำไปสู่การไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้นโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญค่ะ ดิฉันเข้าใจดีนะคะว่าประเทศไทยนั้นเป็นภาคีสมาชิกของ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิบัติตาม พันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ นี้ พันธกรณีนี้ เป็นสิ่งใหม่แล้วก็มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินได้เตรียมข้อมูลบัญชีทางการเงินให้พร้อมเพื่อความโปร่งใส ของภาษีอากรระหว่างประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศไทยอาจถูกจัดให้เป็นประเทศ ที่ไม่ให้ความร่วมมือโดยสหภาพยุโรปได้ค่ะ แต่ดิฉันมีข้อสังเกตค่ะท่านประธาน พระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกยุบไปแล้ว ดิฉันเข้าใจดีว่ารัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภา ซึ่งพิจารณา ชั้นกรรมาธิการเสร็จสิ้นแล้ว แต่เนื่องจากมีการปิดสมัยประชุมสภา ร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงค้างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดิฉันจึงอยากขอถามท่านประธานว่าเหตุใด เราจึงไม่รอให้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ได้เสียก่อนเพื่อยืนยันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แล้วจึงค่อยพิจารณาเหมือนกฎหมายปกติที่ผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ๓ วาระ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างดิฉันและเพื่อน ๆ ได้พิจารณาร่วมกัน อย่างรอบคอบและถี่ถ้วนค่ะ
ประการต่อมา ดิฉันมีข้อกังวลเมื่อดูเนื้อหาของพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยเฉพาะความในมาตรา ๑๘ ซึ่งระบุไว้ถึงข้อมูลบัญชีการเงินที่เราจะต้องส่งรายงาน ให้แก่อธิบดี ดิฉันขออ่านบางประการนะคะ
ข้อ ๑ ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของบัญชีหรือผู้มีอำนาจควบคุมของเจ้าของบัญชี ประกอบไปด้วย ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี วัน เดือน ปีเกิด และสถานที่เกิด
ข้อ ๒ ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีการเงิน ได้แก่ เลขที่บัญชี ยอดเงินในบัญชี หรือมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ ดอกเบี้ยที่ได้รับ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใดตามที่อธิบดีประกาศ กำหนด หรือพูดง่าย ๆ มันคือการตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้นค่ะ ท่านประธานคะ โดยหลักการแล้วการเปิดเผย ข้อมูลเหล่านี้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลใช่หรือไม่คะ ซึ่งเจ้าของข้อมูล ก็คือประชาชนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พุทธศักราช ๒๕๖๒ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อ PDPA แต่พระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ให้ระบุ หรืองดเว้นการเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคลแต่อย่างใด ดิฉันจึงมีข้อคำถาม ต่อท่านประธานค่ะว่ามีหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ ความคุ้มครองข้อมูลบัญชีการเงินที่จำเป็นต้องถูกรายงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรคะ เพื่อไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล และป้องกันมิให้ถูกนำไปใช้หรือแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ดิฉันมองว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากค่ะ เมื่อดิฉัน ชั่งระหว่างความจำเป็นและสิทธิเสรีภาพที่จะได้รับผลกระทบแล้วนะคะ ดิฉันเห็นว่า ไม่ควรเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและบังคับใช้โดยฝ่ายบริหาร แต่ควรจะตราขึ้น โดยผ่านกระบวนการพิจารณากฎหมายตามปกติของสภาผู้แทนราษฎรที่เปิดโอกาส ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายร่วมกันอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน
ท่านประธานคะ สุดท้ายนี้ดิฉันเห็นชอบกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่จากข้อสังเกต และคำถามที่ดิฉันได้อภิปรายไปข้างต้นยังเป็นสิ่งที่ดิฉันอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเราค่ะ ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้เป็นการรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนสงเคราะห์ เกษตรกร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ก่อนอื่นต้องขอให้ข้อมูลก่อนว่ากองทุน สงเคราะห์เกษตรกรนี้ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือ หรือส่งเสริม เกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในกิจการตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พุทธศักราช ๒๕๕๔ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในด้านที่ดินทำกิน การลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ เกษตรกรรม การจัดหาปัจจัยการผลิต และการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ท่านประธานคะ ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทย หรือไม่น้อยกว่า ๓๐ ล้านคน ๘ ล้านกว่าครัวเรือน มีอาชีพเกษตรกร จาก Website ข้อมูลสถิติ เราจะทราบ กันดีว่าจังหวัดนครราชสีมาหรือที่เรียกว่าโคราช คือศูนย์กลางด้านการเกษตร มีจำนวน ประชากรที่ทำอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุดในประเทศไทยถึง ๓๒๒,๓๒๐ ครัวเรือน รองลงมา จากจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอาชีพนี้ถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ของจังหวัดเราเลย ก็ว่าได้ ดังนั้นการพัฒนาด้านการเกษตรจึงเป็นการพัฒนาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเรามีรายได้สูงขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ท่านประธานคะ ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไร สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือเงินทุน หากไม่มีเงินทุน หมุนเวียน หรือในภาษาพูดเราเรียกกันว่าสายป่าน ยิ่งโดยเฉพาะถ้าเป็นธุรกิจที่เพิ่งเปิดใหม่ หากสายป่านไม่ยาวพอ โอกาสที่จะถูกปิดตัวไปตั้งแต่ช่วงแรกมีความเป็นไปได้สูงค่ะ ดิฉันจึง ขอชื่นชมกองทุนก่อนเลยว่าเป็นกองทุนที่มีประโยชน์ เพราะว่าทำให้พี่น้องเกษตรกรไปกู้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก เพียงอัตราร้อยละ ๑ ร้อยละ ๒ หรือไม่คิดดอกเบี้ย ก็คือร้อยละ ๐ ก็มี และการบริหารกองทุนเป็นในลักษณะของกองทุนหมุนเวียน คือเมื่อกู้ไปแล้ว ชำระจะครบตามจำนวนสัญญาแล้ว เกษตรกรก็สามารถกลับมากู้ได้อีก ซึ่งถือว่าเป็น การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก เพราะว่าเขาไม่ต้องไปหากู้เงินจากแหล่งกู้อื่น ที่มีดอกเบี้ยแพง หรือในปัจจุบันปัญหาที่พบมากในสังคมไทยก็คือการกู้เงินนอกระบบ ท่านประธานคะ หลังจากที่ดิฉันได้ดูรายงานการเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรฉบับนี้ ดิฉันพบข้อสังเกตแล้วก็ข้อเสนอแนะอยู่ ๓ ประเด็น
ประเด็นแรก ดิฉันมีกลุ่มของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนด้วย ทั้งอำเภอประทาย อําเภอลําทะเมนชัย อำเภอโนนแดง และอำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา เขาอยากจะยื่นกองทุนเป็นจำนวนมากเลย แต่เขาติดปัญหาสำคัญ อย่างหนึ่งคือเขียนแผนธุรกิจไม่เป็น เขียนแผนโครงการไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะต้องไปปรึกษาใคร ที่ไหน อย่างไร บางคนส่งแผนโครงการไปแล้วไม่ผ่าน โดยที่เขาไม่รู้เลยว่าไม่ผ่านตรงจุดไหน รายละเอียดเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขแบบไหน หนักไปกว่านั้นนะคะ บางคนส่งโครงการ ไปแล้วเป็นปีแต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาสักที ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังทางกองทุน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ออก Booth ประชาสัมพันธ์ตามหน่วยงานต่าง ๆ ทางสื่อโฆษณาหรือช่องทาง Social เพื่อให้ เกษตรกรได้ทราบถึงข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งจะทำให้พี่น้อง เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรชาวรากหญ้าสามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้อย่างกว้างขวาง และทั่วถึง
ประเด็นที่ ๒ ดิฉันได้ย้อนไปดูข้อมูลสถิติของจำนวนวิสาหกิจชุมชน จาก Website ของกองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร ข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ มีจำนวนวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการยืนยันจดทะเบียนถูกต้องแล้วอยู่ทั้งสิ้น ๙๗,๑๑๕ แห่ง แต่พบว่าการดำเนินงานในปี ๒๕๖๔ ของกองทุนนี้มีเพียงไม่ถึง ๒๐ โครงการ เท่านั้นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้ ซึ่งนับเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก ๆ และเมื่อดิฉัน เข้าไปดูเอกสารรายงานการเงินฉบับนี้ ยิ่งพบว่าเงินสดของกองทุนยังมีเหลือกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งตรงนี้กองทุนควรรีบพิจารณาโครงการต่าง ๆ ให้เร็วมากขึ้น และกระจายเงินกู้ไปยังกลุ่มของพี่น้องเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนให้มากกว่านี้ค่ะ
ประเด็นที่ ๓ ดิฉันพบว่าส่วนมากกองทุนจะอนุมัติเงินสนับสนุนให้กับ ส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือหน่วยงาน ของรัฐ ยกตัวอย่าง เช่น อ.ต.ก. กู้มากกว่าที่จะให้พี่น้องชาวเกษตรกรเป็นผู้กู้ค่ะ ซึ่งดิฉันพบว่าบางหน่วยงาน บางองค์กร บางแห่งนะคะท่านประธาน มีการกู้เงินไปหลายร้อย ล้านบาท เป็นระยะเวลา ๒๐-๓๐ ปีก็มี แต่ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้เขามีการปรับ โครงสร้างหนี้อยู่บ่อยครั้ง ดิฉันเห็นควรว่ากองทุนควรจะเพิ่มมาตรการในการติดตาม การชำระหนี้ โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐและองค์กรขนาดใหญ่ให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระหรือหนี้สูญค่ะ
สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ดิฉันอยากฝากท่านประธานไปยังกองทุนว่า กองทุนนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดถ้าทำให้พี่น้องเกษตรกรเข้าถึงกองทุนได้มากที่สุด เพราะเป็น แหล่งทุนที่จะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนได้ ท่านประธานคะ ยิ่งโดยในช่วงนี้ ประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง แมลงลง โรคระบาดบังเกิด เก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ไม่ได้ หนำซ้ำขายก็ไม่ออก และยิ่งไปกว่านั้น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาใหญ่เลยนะคะ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจึงเป็นเหมือนทางหวังของพวกเรา เพราะฉะนั้นดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อ ๆ ไปทางกองทุนจะกระจายเงินกู้ให้แก่ กลุ่มเกษตรกรได้มากกว่านี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร อย่างแท้จริง ขอบคุณค่ะ
กราบเรียนท่านประธานสภา ที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่อำเภอ ประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง และอำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา มีเรื่องเร่งด่วนทั้งสิ้น ๕ ประเด็นค่ะ ประเด็นที่ ๑ ขอ Slide ค่ะ
นี่คือสะพานข้ามลำสะแทด บ้านวังม่วง หมู่ที่ ๑ ตำบลทุ่งสว่าง อำเภอประทายเชื่อมบ้านกระเบื้อง หมู่ที่ ๔ ตำบลกระชอน อำเภอพิมาย ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ได้เกิดการชำรุดเสียหาย ใกล้ถล่มแล้วนะคะ และถูกน้ำกัดเซาะริมตลิ่งบริเวณคอสะพานซึ่งทางนายก อบต. ทุ่งสว่าง นายอัครชัย อมัติรัตนะ ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ ดิฉันจึงขอฝาก ท่านประธานไปยังสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมาให้รีบจัดสรรงบประมาณ โดยเร็วค่ะ
ประเด็นที่ ๒ ขอ Slide ถัดไปนะคะ นี่คืออ่างเก็บน้ำบึงกระโตน ตำบล ประทายที่มีสภาพตื้นเขินมาก กักเก็บน้ำไม่ได้บวกกับคันคูรอบบึงสูงเกินไป ประตูระบายน้ำ ใช้การไม่ได้ค่ะ น้ำจึงระบายเข้าสู่บึงไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาล ดิฉัน จึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทานให้รีบแก้ไข และดิฉันอยากให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อนการดำเนินการค่ะ
ประเด็นที่ ๓ ขอ Slide ถัดไปนะคะ นี่คือฝายน้ำล้นบ้านหนองจานใต้ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลช่องแมว อำเภอลำทะเมนชัย ที่เกิดการชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดนพายุ NORU ถล่ม เมื่อปี ๒๕๖๕ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ มีประชากร ทั้งสิ้น ๘๐๐ คน ๔๐๐ กว่าครัวเรือนค่ะท่านประธาน ได้รับผลกระทบจากฝายน้ำนี้ ดิฉัน จึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทานให้เร่งจัดสรรงบประมาณสร้างและซ่อมแซมค่ะ
ประเด็นที่ ๔ ขอ Slide ถัดไปด้วยนะคะ เป็นเรื่องของถนนหนทาง ชำรุดทรุดโทรมทำให้การจราจรสัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะ ถนนเส้นขุนละคร-บุ่งเบา เชื่อมระหว่างอำเภอชุมพวง อำเภอเมืองยางไปจนถึงบ้านบุ่งเบา อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง ๒๖ กิโลเมตร ยิ่งโดยเฉพาะนะคะ ขอ Slide ถัดไป ช่วงจากบ้านกระเบื้องนอกไปจนถึงบ้านบุ่งเบาเป็นถนนตัดผ่านลำสะแทด ทำให้ช่วงหน้าฝน น้ำท่วมทุกปีเลยค่ะท่านประธาน ดิฉันจึงอยากฝากท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอถ่ายโอนถนนเส้นนี้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงหน่วยงานเดียวทั้งเส้น พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณแก้ไขโดยด่วนค่ะ
ประเด็นที่ ๕ ขอ Slide สุดท้ายค่ะ เชื่อไหมคะท่านประธานในประเทศไทย เรายังมีคุ้มโนนทอง หมู่ที่ ๑๕ ตำบลช่องแมว อำเภอลำทะเมนชัย ไม่เคยมีน้ำประปาใช้มา มากกว่า ๔๐ ปีแล้วค่ะ ซึ่งมีประชากรกว่า ๒๐๐ คนได้รับผลกระทบ ทุกวันนี้ต้องพึ่ง ทางนายกเทศบาลตำบลช่องแมวใช้รถขนน้ำไปส่งให้ใช้ทุกวันค่ะ ซึ่งทางอดีต สจ. ชยกฤต ยินดีสุข เคยให้ อบจ. มาขุดน้ำบาดาลถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่พบแหล่งน้ำเลยสักครั้ง และทางดิฉันเองได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาถึง ๔ ท่าน ๔ สมัยค่ะ แต่ก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด จึงอยากฝากท่านประธานไปยังกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้รีบลงมือจัดสรรงบประมาณแก้ไขโดยเร็วค่ะ
สุดท้ายนี้ค่ะท่านประธาน ขณะนี้ยาเสพติดระบาดหนักในพื้นที่ของดิฉันค่ะ เม็ดหนึ่งราคา ๗ บาท ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานไปยังหน่วยงาน ป.ป.ส. และสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติลงมือปราบปรามแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อความเป็นอยู่และชีวิตที่ดีขึ้น ของพี่น้องประชาชนค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอปรึกษาหารือถึงปัญหาในพื้นที่อำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง อำเภอหนองโนนแดง มีทั้งสิ้น ๔ ประเด็น
ประเด็นที่ ๑ ท่านประธานคะ วันนี้ดิฉันอยากให้ท่านประธานได้ดู Slide แรก นี่คือถนนของจังหวัดบุรีรัมย์ ๔ เลน กว้างขวางสวยงามพร้อมไฟส่องสว่าง หากดิฉันนั่งหลับสบาย ๆ มาในรถ ไม่ต้องมีคนปลุกเลย เมื่อไรรถเขย่าพึ่บพั่บ ๆ นั่นแสดงว่าได้เข้ามาอย่างจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นเขตพื้นที่ ของดิฉันแล้วค่ะ ขอ Slide ถัดไป จะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างถนน ๒ เส้น นี่คือ ถนนจังหวัดนครราชสีมาบนทางหลวงหมายเลข ๒๒๒๖ ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ เป็นทางผ่านไปยังหลายจังหวัดนะคะ ทำให้มีปริมาณรถหนาแน่นทั้งรถบรรทุกและรถยนต์ ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมทางหลวงให้จัดสรรงบประมาณ ช่วงที่ ๑ หลักกิโลเมตร ที่ ๔๓-๕๑ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร ช่วงที่ ๒ กิโลเมตรที่ ๕๓-๖๐ ระยะทาง ๗ กิโลเมตร
ประเด็นที่ ๒ ดิฉันขอสร้างสะพานคนเดินข้ามให้แก่เด็กนักเรียนบริเวณ หน้าโรงเรียนบ้านหญ้าคาและ รพ.สต. ตำบลนางรำ และบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านตลาดไทร อำเภอประทาย ซึ่งท่าน ผอ. ทั้ง ๒ โรงเรียนได้ยื่นเรื่องไปเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว ดิฉันจึงขอฝาก ตามไปยังแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ ให้รีบจัดสรรงบประมาณเพื่อความปลอดภัย ของนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้สัญจรไปมาค่ะ
ประเด็นที่ ๓ ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอภินันท์ มโนรมย์ นายก อบต. ดอนมัน ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร เพราะไม่มีแหล่ง กักเก็บน้ำในพื้นที่ ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกา สำนักงานชลประทานที่ ๘ ขอสร้างประตูระบายน้ำค่ะ บริเวณลำสะแทด บ้านปลักแรต หมู่ที่ ๓ และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากลำสะแทดไปยังบ้านหนองช่องแมว หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนมัน อำเภอประทาย
ประเด็นที่ ๔ อำเภอประทาย อำเภอเมืองยาง เป็นจุดรวมน้ำจาก หลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ช่วงฤดูน้ำหลากน้ำท่วมขังพืชผลทางการเกษตร ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก บวกกับแก้มลิงที่มีอยู่นั้นเล็กและตื้นเขิน ขนาดโทรศัพท์ ยังถ่ายแก้มลิงได้หมดทั้งลูกเลยค่ะ ซึ่งมันไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ ดิฉัน จึงขอฝากท่านประธานไปยังสำนักงานชลประทานที่ ๘ ให้ขุดลอกแก้มลิงเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ที่ป่าทำเล บ้านโนนตำหนัก ตำบลเมืองยาง อำเภอเมืองยาง ต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ปิยะนุช ยินดีสุข ๒๒๙ แสดงตนค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทย วันนี้ดิฉันขอร่วมอภิปรายในญัตติการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำประปา น้ำบาดาล ซึ่งดิฉันเชื่อว่าในขณะนี้เกือบทุกชุมชน เกือบทุกหมู่บ้านก็ล้วนแล้วแต่มีระบบน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากประปาส่วนภูมิภาค การประปาหมู่บ้าน ที่ส่วนท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณติดตั้งระบบให้ บางที่มีการใช้ระบบน้ำประปา น้ำบาดาลด้วย ท่านประธานคะ ที่ดิฉันพูดว่าเกือบทุกชุมชน เกือบทุกหมู่บ้าน เพราะอะไรรู้ไหมคะ เพราะว่า ไม่ใช่ทุกที่จะมีระบบน้ำประปาใช้ ยังมีหมู่บ้านที่เขาลำบากเหลือเกิน คุ้มโนนทอง หมู่ที่ ๑๕ ตำบลช่องแมว อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีน้ำประปาใช้ ไม่มีระบบ น้ำประปาอะไรทั้งสิ้นเป็นเวลามามากกว่า ๔๐ ปีแล้ว ทุกวันนี้ต้องรอน้ำจากทางเทศบาลขน รถน้ำมาเติม มาส่งให้กันทุกวัน ซึ่งดิฉันเองเคยหารือเรื่องนี้ในสภาแห่งนี้ไปแล้วถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และทางท่านนายกเทศบาลตำบลช่องแมว ได้ยื่นของบจากหน่วยงานต่าง ๆ หลายครั้ง ก็ไม่เคยได้รับงบประมาณในการจัดสรรเลย ท่านประธานคะ เวลาที่ดิฉันลงพื้นที่ บ่อยครั้งที่ดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากพ่อแม่พี่น้อง ประชาชน ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค นอกจากจะขาดแคลนแล้ว เรื่องคุณภาพน้ำ ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้พี่น้องไม่สามารถนำน้ำนี้มาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ดิฉันได้รับ เรื่องร้องเรียนถึงน้ำประปาหมู่บ้านบ้านโนนเพชร ตำบลโนนเพชร อำเภอประทาย ไม่มีระบบ กรองน้ำ ไม่มีแม้แต่ที่พักน้ำ ส่งผลให้คุณภาพน้ำที่ส่งให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านนั้น ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน แถมยังมีกลิ่น ซึ่งทางดิฉันเองได้สอบถามไปทางนายก อบต. โนนเพชร ท่านก็แจ้งเหมือนกันว่าส่งไปหลายหน่วยงานแล้วแต่ก็ยังไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณเลย ซึ่งดิฉันเชื่อว่าหลาย ๆ หมู่บ้านในประเทศไทยก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ท่านประธานคะ ปัญหาคุณภาพน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพ่อแม่พี่น้องประชาชน น้ำไม่ดี ใครจะอยากใช้ จริงไหมคะ เพราะน้ำถือเป็นระบบสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญมากที่สุด ในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอุปโภคบริโภค ประกอบอาหาร ชำระล้างสิ่งสกปรก ซึ่งปัญหาคุณภาพประปาไม่ได้มาตรฐานก็เกิดจากหลายสาเหตุ ดิฉันได้รวบรวมมา
๑. แหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ในระบบน้ำประปาทั้งระบบผิวดินและน้ำบาดาล จะพบสารแขวนลอยต่าง ๆ จำนวนมาก หากไม่ผ่านการกรอง การบำบัด ก็จะส่งผลต่อ สุขภาพผู้บริโภคได้
๒. ท่อประปาที่จัดทำจากวัสดุเหล็กอาบสังกะสี เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็ทำให้ ท่อประปามีคุณภาพเสื่อมลง ก่อให้เกิดเป็นสนิม ส่งผลทำให้น้ำประปามีคราบแดง จากตะกอน สนิมปะปนมาในน้ำ น้ำไม่สะอาด มีสี มีกลิ่น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้
๓. เครื่องสูบน้ำไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการออกแบบในเรื่องของการติดตั้ง ตำแหน่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เช่น ในกรณีที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ ซึ่งมันอาจจะ ดูดสิ่งสกปรกจากบริเวณใกล้เคียง ทำให้น้ำที่ออกมาไม่สะอาด
๔. เครื่องกรองน้ำที่ใช้มานาน ถ้าไม่เคยมีการล้างเลย ไม่เปลี่ยนไส้กรองเลย ก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี
๕. ถังเก็บน้ำหรือถังพักน้ำ หากไม่เคยล้างทำความสะอาด ก็ทำให้มีสิ่งมีชีวิต เล็ก ๆ เจือปนเข้าไป มันเจริญเติบโตขึ้นทุกวันและปะปนออกมากับน้ำ
๖. ปัญหาน้ำแรงดันต่ำ ทำให้ช่วงเวลาที่พี่น้องประชาชนใช้น้ำพร้อมกัน น้ำเลยไหลค่อย หรือบางบ้านที่อยู่ปลายท่อส่งน้ำ น้ำก็แทบไม่ได้เลย นี่เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้น ในระบบน้ำประปาภูมิภาค ส่วนน้ำประปาที่เป็นระบบประปาหมู่บ้าน ก็จะเจอปัญหา มากกว่านี้อีกค่ะ คือบางหมู่บ้านเขาเคยได้รับการจัดสรรงบประมาณเมื่อประมาณ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้วในการทำระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ตอนนั้นเขามีประชากรอยู่ ๑๐๐ ครัวเรือน ปัจจุบันมีคนมาอยู่เพิ่มขึ้น ๒๐๐-๒๕๐ ครัวเรือน แต่ระบบน้ำประปาไม่ได้รับการปรับปรุงด้วย ไม่ได้เปลี่ยน เพราะฉะนั้นทำให้น้ำไม่พอใช้ หรือแรงดันน้ำไม่พอไปถึงปลายทาง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นประปาหมู่บ้านบางพื้นที่ชำรุดจนใช้งานไม่ได้ ปัจจุบันกลายเป็นอนุสาวรีย์ ของหมู่บ้านไปแล้ว ชาวบ้านต้องขับรถพ่วงตักน้ำใส่โอ่งไปใช้ เป็นที่สะท้อนใจค่ะท่านประธาน ประเทศไทยเราอยู่ในยุคเทคโนโลยีไกลขนาดนี้แล้ว แต่ชาวบ้านคนไทยบางบ้านยังต้องขับรถ ใช้โอ่ง ใช้ถังมาตักน้ำไว้ใช้อยู่เลยค่ะ ท่านประธานคะ ดิฉันอยากเห็นปัญหาเหล่านี้ได้รับ การแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของพ่อแม่พี่น้องประชาชน จึงขอฝาก คณะกรรมาธิการการบริหารจัดการน้ำพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ติดตามหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องให้ผลักดันการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องของเรา ได้มีโอกาสใช้น้ำที่มีคุณภาพดี สะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ขอบคุณค่ะ
ท่านประธานคะ ๒๒๙ ปิยะนุช ยินดีสุข รายงานตนค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ ได้แก่ อำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง อำเภอโนนแดง จากพรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉันขอหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่มีอยู่ ๖ ประเด็น ขอสไลด์นะคะ
เรื่องที่ ๑ ถนน อบจ. นม.๑๗๒๑๐ เส้นบ้านขุนละคร-นางออ ช่วงบ้านหนองโน หมู่ที่ ๒ ตำบลโนนอุดม อำเภอเมืองยาง เชื่อมตำบลหนองหลัก อำเภอชุมพวง ระยะทาง ๑.๓ กิโลเมตร สภาพถนนเป็นดินแดง มีทั้งหลุมทั้งบ่อทั้งโคลนตมและฝุ่นจำนวนมาก ขอฝากไปยัง อบจ. นครราชสีมาให้รีบจัดสรร งบประมาณในการทำถนน Asphaltic Concrete
เรื่องที่ ๒ ขอขยายถนน ทล.๒๐๒ จุดช่วงโคกหิน บ้านดอนตะหนิน- ตลาดทราย หลักกิโลเมตรที่ ๙๑-๙๒ ระยะทางเพียง ๑ กิโลเมตรเท่านั้นเป็น ๔ ช่องจราจร พร้อมเกาะกลางถนนและจุดกลับรถ เนื่องจากเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก สถิติ ๗ ครั้ง ใน ๓ เดือน มีปริมาณรถหนาแน่น ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม ให้รีบจัดสรรงบประมาณค่ะ
เรื่องที่ ๓ ขอสัญญาณไฟจราจร บริเวณสี่แยกโลตัสอำเภอเมืองยางพร้อม ไฟส่องสว่าง เนื่องจากในช่วงเวลาเร่งด่วนรถติดค่ะ สัญจรลำบาก อีกทั้งเวลากลางคืน ไฟก็ไม่เพียงพอทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดิฉันจึงขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาแก้ไขปรับปรุงค่ะ
เรื่องที่ ๔ ขอสร้างสะพาน ค.ส.ล. ข้ามลำห้วยแอก จุดแรกตำบลเมืองโดน อำเภอประทาย เชื่อมอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น จุดที่ ๒ บ้านโคกสว่าง หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองค่ายข้ามไปยังอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากฤดู น้ำหลาก น้ำเยอะ น้ำเชี่ยวไม่สามารถสัญจรไปมาได้ สะพานที่มีอยู่ทั้งเล็กแล้วก็แคบ รถไม่สามารถผ่านได้ ดิฉันจึงขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบจัดสรรงบประมาณ
เรื่องสุดท้ายค่ะ ของบประมาณในการทำถนน ค.ส.ล. เส้นบ้านโกรกหิน หมู่ที่ ๘ ถึงบ้านหญ้านาง หมู่ที่ ๔ ตำบลหันห้วยทราย ระยะทาง ๓.๑๕ กิโลเมตร เพื่อให้ พี่น้องประชาชน ๕๓๗ ครัวเรือน ๑๘๑ คน ได้ใช้งานสัญจรไปมาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ดิฉันจึง ขอฝากไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้เข้ามาจัดสรร งบประมาณโดยด่วน ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง และอำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉัน ขอเริ่มต้นเดือนแห่งความรักด้วยการขอหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ มีอยู่ ทั้งสิ้น ๖ ประเด็นค่ะ ขอสไลด์เรื่องแรกนะคะ
ขอสร้างถนน คสล. ระหว่างบ้าน หนองคอกควาย ตำบลโนนเพ็ด เชื่อมบ้านโคกพระ ตำบลวังไม้แดง ระยะทาง ๑.๕๔ กิโลเมตร งบประมาณ ๔ ล้านบาท
เส้นที่ ๒ บ้านหนองคอกควาย ตำบลโนนเพ็ด เชื่อมบ้านโนนภิบาล ตำบล วังไม้แดง ระยะทาง ๒.๕๕๔ กิโลเมตร งบประมาณ ๖.๙ ล้านบาท
เส้นที่ ๓ ช่วงระหว่างบ้านหัวสะพาน ตำบลโนนเพ็ด เชื่อมบ้านกุดหอยกาบ ตำบลหันโจด อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ระยะทาง ๑.๑๘ กิโลเมตร งบประมาณ ๓.๘ ล้านบาท เนื่องจากสภาพถนนเดิมทั้ง ๓ เส้นนี้เป็นถนนดิน พี่น้องประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน นักเรียนต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วย ต้องเข็นรถติดดินเละ ๆ ทุกวัน ดิฉันจึงขอฝากท่านประธานไปยังกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งจัดสรรงบประมาณค่ะ
เรื่องที่ ๔ ขอซ่อมแซมปรับปรุงถนนทางหลวงชนบท หมายเลข ๔๐๕๗ เส้นอำเภอลำทะเมนชัยไปอำเภอเมืองยาง หลักกิโลเมตรที่ ๒๓-๓๐ เพราะว่าตอนนี้ถนน เกิดการทรุดตัว ผิวทางเป็นหลุม เป็นคลื่น มีจุดอับสายตาที่อันตรายมาก ดิฉันจึงขอฝากไปยัง กระทรวงคมนาคมให้เข้ามาซ่อมแซมพร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างค่ะ
เรื่องที่ ๕ ขอขุดลอกแก้มลิงบ้านหนองโน บ้านหลักหิน ตำบลหนองพลวง อำเภอประทาย เนื้อที่ ๒๔ ไร่ เนื่องจากแหล่งน้ำเดิมมีขนาดเล็ก พี่น้องประชาชนขาดแคลน น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ดิฉันจึงขอฝากไปยังสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค ๕ กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานให้จัดสรรงบประมาณค่ะ
เรื่องสุดท้าย ท่านประธานจะเห็นในรูปนี้ ท่านกำนันจรรยา พลดงนอก พร้อม ผู้นำและเจ้าหน้าที่จากทรัพยากรน้ำบาดาลได้ลงสำรวจพื้นที่ทั้ง ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโคกพระ หมู่ ๒ บ้านโนนรัง หมู่ ๗ และบ้านหนองพลวงน้อย หมู่ ๙ ตำบลวังไม้แดง อำเภอประทาย เนื่องจากบริเวณนี้ไม่มีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านเลย พี่น้องประชาชนต้องพึ่งพาน้ำฝนแล้วก็ น้ำบาดาล ดิฉันจึงขอฝากไปยังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลที่ ๕ ให้จัดสรรงบประมาณก่อสร้าง ระบบประปาน้ำบาดาลให้กับทั้ง ๓ หมู่บ้านนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพค่ะ ดิฉัน นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอำเภอประทาย อำเภอลำทะเมนชัย อำเภอเมืองยาง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทยค่ะ วันนี้ดิฉัน ขอหารือกับท่านประธานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่มีทั้งสิ้น ๓ ประเด็น ขอสไลด์เรื่องแรกนะคะ
ขอเสริมผิวลาดยาง Asphaltic Concrete บนถนนทางหลวงท้องถิ่นเส้น นม.ถ.๒๕๕-๒๓ สายบ้านโนนเพชร หมู่ที่ ๓ ตำบลละหานปลาค้าว เชื่อมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไม้ตาย ตำบลเมืองยาง ระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร เนื่องจากสภาพถนนขรุขระ ชำรุด ไม่เรียบ โดยเฉพาะหน้าโรงเรียนเมืองยางศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ อีกทั้งเป็นถนนเชื่อม ๒ ตำบล เชื่อมไปศูนย์ราชการ ทำให้มีผู้ใช้รถ ใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางท่านนายกเทศบาลเมืองยาง นายก อบต. ระหานปลาค้าวได้ขอรับ สนับสนุนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไปแล้ว ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งจัดสรรงบประมาณค่ะ
เรื่องที่ ๒ ขอไฟฟ้าส่องสว่างช่วงโค้งหักศอกอันตราย บนถนน ทช.๔๐๕๗ ช่วงหลักกิโลเมตร ๑๑-๑๔ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ยิ่งในช่วงเวลากลางคืนมืดและ เปลี่ยวมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ดิฉันจึงขอฝากไปยังกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณค่ะ
เรื่องที่ ๓ เป็นเรื่องของโรงพยาบาลโนนแดง ดูจากรูปในสไลด์นี่คือ สภาพบ้านพักของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ตอนนี้ไม่สามารถพักอาศัยได้แล้ว ซึ่งอาคารนี้ ถูกสร้างมามากกว่า ๓๐ ปีแล้วนะคะ ปัจจุบันทั้งเก่า ทั้งแก่ ทั้งทรุด ทั้งโทรมค่ะ เจ้าหน้าที่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ดิฉันจึงขอฝากไปยังสำนักงาน สสจ. จังหวัดนครราชสีมา และกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาสร้างอาคารชุดครอบครัวและบ้านพักสำหรับแพทย์ ข้าราชการ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรเจ้าหน้าที่ของ โรงพยาบาลต่อไปค่ะ
ดิฉันขอเวลาอีกสักนิดค่ะท่านประธาน อย่างที่ทุกท่านทราบนะคะ จังหวัด นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ รองมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันนี้ สส. โคราชของเราก็มาอยู่ที่นี่แล้ว เพื่อเป็นสักขีพยานว่าเราอยากขอให้รัฐบาลชุดนี้สนับสนุน ให้โคราชมีสนามบินพาณิชย์เป็นของตัวเอง มีศูนย์ประชุมแห่งชาติเพื่อยกระดับโคราช ให้เป็น Korat MICE City ที่สามารถรองรับผู้คน รองรับการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของชาวโคราชหลานย่าโมทุกคน ขอขอบคุณค่ะ