เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล พื้นที่อำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา มีเรื่องหารือดังนี้ ขอ Slide ด้วยครับ
เรื่องที่ ๑ ปัญหาพื้นที่ตกสำรวจของ ชุมชนเย็นเซ หมู่ที่ ๒ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จำนวน ๑๔ หลังคาเรือน รวม ๗๔ คน อาศัยอยู่ในชุมชนมานาน มีใบ ภ.บ.ท. ๕ เคยถูกฟ้องขับไล่จากธนาคารแห่งหนึ่ง ที่ออกเอกสารสิทธิครอบทับที่ดินในชุมชน ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในปี ๒๕๕๔ เนื่องจากพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน ทางสำนักงานที่ดินก็ได้รังวัดออกโฉนดให้ธนาคารใหม่ โดยกันพื้นที่ของชุมชนเย็นเซออก แต่ไม่มีการรังวัดออกโฉนดให้คนในชุมชนในคราวเดียวกัน ประชาชนติดตามมาตลอด ๑๒ ปีไม่มีความคืบหน้า จึงขอหารือท่านประธานสภา ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งไปยังกรมที่ดินให้นำที่ดินของ ชุมชนเย็นเซเข้าโครงการบอกดิน เพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาแกลง ดำเนินการรังวัดจัดสรรเพื่อออกโฉนดให้ประชาชนต่อไป
เรื่องที่ ๒ อันตรายจากจุดกลับรถบนถนนสุขุมวิท บริเวณ อบต. ห้วยยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ๔ จุด คือจุดกลับรถบริเวณหน้าแขวงการทางแกลง บริเวณ ตลาดนัดห้วยยาง บริเวณหน้าสุเทพพันธุ์ไม้ และปากทางเข้าวัดบุนนาคทั้งขาเข้าและขาออก พบว่าทั้ง ๔ จุดไม่มีทางเบี่ยงเพื่อหลบรถข้างหลัง บางจุดมีทางเบี่ยงก็สั้นเกินไปทำให้รถ ที่ตามหลังมาด้วยความเร็วชนท้าย อีกทั้งตอนกลางคืนบริเวณจุดกลับรถทั้ง ๔ จุดมีแสงสว่าง ไม่เพียงพอ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕-สิงหาคม ๒๕๖๖ มีอุบัติเหตุรวม ๑๕ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๔ ราย อบต. ห้วยยางได้มีการประสานไปยังแขวงทางหลวง จังหวัดระยอง แต่ไม่มี ความคืบหน้า จึงขอหารือผ่านรัฐสภาไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้มีการสั่งการ ไปยังกรมทางหลวง ขอให้แขวงทางหลวงระยองเร่งเข้ามาสำรวจพื้นที่ และดำเนินการแก้ไข โดยเร็ว
เรื่องที่ ๓ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างบนทางหลวงในจังหวัดระยองดับหลายจุด เพื่อน ๆ ผู้แทนราษฎรระยองหลายคนได้หารือเรื่องนี้ถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ขอฝากท่านประธานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ช่วยกำชับแขวงการทางระยอง ให้เร่งแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน ขอบคุณครับ
กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง เขตอำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมาครับ ท่านประธานครับ ความทุกข์ของชาวประมงจังหวัด ระยองบ้านผมเกิดจากการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวประชาชนอย่างเท่าเทียมกันมาเนิ่นนาน ขอ Slide แผ่นที่ ๑ ขึ้นได้เลยนะครับ
ชาวประมงระยองของเราได้รับ ผลกระทบมายาวนานตั้งแต่โครงการ Eastern Seaboard ถมทะเลมาบตาพุด Phase 1 Phase 2 Phase 3 รวมถมไปแล้วกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ การชดเชยเยียวยาก็ไม่ได้สัดส่วนครับ สอง มาตรฐาน ดังที่ สส. กฤช ศิลปชัย พูดไปเมื่อสักครู่ครับ ที่ชลบุรีถมทะเลเหมือนกันดำเนินการ โดยสำนักการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีมาตรการที่ยอมรับได้ ชดเชยเป็นธรรม แต่ที่ระยอง ดำเนินการโดย กนอ. มาตรการชดเชยเยียวยาต่างกันลิบลับ นี่ยังไม่นับว่ามาบตาพุด Phase 1 Phase 2 ไม่มีการชดเชยเยียวยาใด ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่หากินของ ชาวประมงหายไปกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ ไม่เพียงเท่านั้นชายทะเลระยองของเรามีค่ายทหารแห่งหนึ่ง ก็ห้ามเข้าทำการประมงในรัศมีจากค่ายอีก ๑ ไมล์ทะเล พื้นที่ก็หายไปอีก แถมยังมีกรณี น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ ๒ ครั้งในปี ๒๕๕๖ และปี ๒๕๖๕ กระทบการทำมาหากินอย่างหนักหน่วง การชดเชยเยียวยาล่าช้าและเบาหวิว การฟื้นฟูทะเลไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ทะเลระยอง บอบช้ำจากการพัฒนาอุตสาหกรรม มีสิ่งแปลกปลอมลงทะเลส่งผลกระทบทางทะเลมากมาย ต่อเนื่องหลายสิบปี ชาวประมงระยองบ้านผมก็บอบช้ำหนักพออยู่แล้ว ยังมาโดนกฎหมาย ประมงกระทืบซ้ำอีก หลายคนอาการสาหัส หลายคนต้องจบชีวิตการเป็นชาวประมง
ในด้านกฎหมายประมงที่ออกมาก็มาแบบคุณพ่อรู้ดี คนออกกฎหมาย ไม่เข้าใจชาวประมง ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมออกแบบ ออกกฎมาขังชาวประมง พื้นบ้านบอกไม่ให้ออกเกิน ๓ ไมล์ ๕ ไมล์ อ้างเป็นห่วงความปลอดภัย บอกว่าเรือเล็กไม่ควร ออกจากฝั่ง รู้จักชาวเลน้อยเกินไปครับ ชาวเลรู้จักคลื่นลม โขดหิน เกาะแก่ง เขารักชีวิต และประเมินตัวเองได้ว่าเรือเล็กควรออกจากฝั่งไปได้ไกลแค่ไหน นี่ภาษาชาวทะเลบ้านผม เขาบอกว่าไม่รู้จักคลื่นอย่าวิจารณ์ทะเล ชาวประมงพื้นบ้านระยองถูกขังอยู่ที่ชายฝั่ง ซึ่งก็ถูกแย่งพื้นที่ไปกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ หน้าค่ายทหารก็เข้าใกล้ไม่ได้ นี่จะบีบคั้นกันไปถึงไหน ประมงชายฝั่งไม่สามารถออกหากินได้เกิน ๓ ไมล์ทะเล แต่สัตว์น้ำที่ประมงต้องการจับ จำนวนมากอยู่นอกเขต ๓ ไมล์ทะเล ทะเลในเขต ๓ ไมล์ทะเลก็ถูกจำกัด ถูกแย่งชิงพื้นที่ นี่ทำให้ชาวประมงหลายครอบครัวไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ที่ออกได้ก็ได้กุ้งหอยปูปลา น้อยส่งผลต่อสถานภาพและสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า ทำให้ชาวประมงบางรายต้องตัดสินใจ ขายเรือประมงของตนเองเพื่อแสวงหาอาชีพใหม่ ผมเข้าใจดีครับว่าเจตนาต้องการออก กฎหมายมาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจาก EU ต้องการแก้ปัญหา IUU Fishing ก็พอเข้าใจได้ แต่ที่ออกกฎหมายมาไม่ถามสุขภาพชาวประมงสักคำ มาตรการเหล่านี้ได้สร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อชาวประมงอย่างมาก เช่น เรื่องอาชญาบัตร เครื่องมือประมงอีกครับ ส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาชญาบัตร หรือบางครั้งมีก็ผิดประเภท เพราะตามวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านจะมีการปรับเปลี่ยน เครื่องมือของตนให้สอดคล้องกับฤดูกาล และประเภทสัตว์น้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน รายเดียวมีเครื่องมือประมงหลากหลายชนิด แต่กลับกำหนดให้เรือประมง ๑ ลำ มีอาชญาบัตร ๑ ใบ จึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวประมง ผมยังมีกรณีตัวอย่าง ปัญหาจากกฎหมายประมงที่กระทบต่อชาวประมงที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ เล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ให้เห็นอีกบางกรณี
เรื่องนี้เป็นเรื่องของลุงศาลครับ เห็นลุงศาลยืนอยู่ แกเคยมีเรือ ๒ ลำ ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว หลังจากประกาศใช้กฎหมายประมงชุดปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถออกเรือทำมาหากินได้ เพราะกฎหมายที่บีบบังคับให้ตั้งอุปกรณ์ในราคาแพง การแจ้งเข้าแจ้งออก และปัญหาแรงงานทำให้มีต้นทุนที่สูงและยุ่งยากจนไม่สามารถปฏิบัติ ตามได้ทั้งหมดด้วยทุนรอนน้อย ทำให้ลุงศาลไม่สามารถออกเรือทำมาหากินได้ ต้องปล่อยให้ เรือจม ยุติอาชีพเรือประมง ต้องมาหาเลี้ยงชีพด้วยการยกยอเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้อยู่รอด
เรื่องของเรือ ช. ศิลป์ชัยที่บ้านเพ เจ้าของเรือบอกว่าปี ๒๕๕๘ ประกาศใช้ กฎหมายประมง ชาวประมงแทบไม่รู้ข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดของกฎหมาย ขาดความรู้ความเข้าใจ หน่วยงานบอกว่าห้ามออกเรือเกิน ๑ เดือน ซึ่ง ๑ เดือนมันมีทั้ง ๓๐ วัน และ ๓๑ วัน เหตุเกิดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ชาวประมงก็พาซื่อเข้าใจว่า ๑ เดือนคือนับ ๓๑ วัน เพราะเป็นเดือนสิงหาคม เจ้าของเรือจึงเอาเรือเข้านับ ๓๑วัน แต่กฎหมายกลับนับแค่ ๓๐ วัน ก็เกินเวลาไปแค่ ๘ ชั่วโมง แต่ปรากฏว่าโดนสั่งฟ้องศาล เสียค่าปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท สั่งพักใบอนุญาต ริบเรือประมง ต้องจอดเป็นเวลากว่า ๕ ปี การจอดเรือทำให้สูญเสียเครื่องมือในการทำมาหากิน มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาต่อเดือนกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่หากินไม่ได้
อีกกรณี ผู้ประกอบการเรือประมงรายหนึ่งเคยมีเรือประมง ๙ ลำ โดนฟ้องร้องเนื่องจากต้องเอาเรือขึ้นคานแต่ไม่ได้แจ้งก่อน เมื่อเอาเรือขึ้นคานแล้ว ด้วยความหวังดีไปบอก PIPO ว่าตนเองลืมแจ้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับดำเนินคดียึดเรือ เสียค่าปรับเป็นแสนบาท จากมีเรือ ๙ ลำ โดนคดี ๑ ลำ ต้องขายเรือลำอื่น ๆ ในราคาถูกเพื่อ ธุรกิจไปต่อได้ ปัจจุบันเหลือเรือประกอบอาชีพประมงเพียงแค่ ๒ ลำ จากกรณีทั้งหมดมี คำถามว่าผู้ประกอบการประมง และคนในสังคมเห็นตรงกันว่ากฎหมายประมงมันโหดร้าย รุนแรง และหนักหน่วงเกินไปกับบทลงโทษ ซึ่งผู้ประกอบการอีกหลายที่โดนจับ โดนปรับ สั่งล็อกเรือ ทำมาหากินไม่ได้ต้องเลิกทำประมง หมดอาชีพ ติดหนี้ ครอบครัวล่มสลายจากกฎหมายประมง
ดังนั้นผมจึงสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมา แก้ปัญหา โดยเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงมีส่วนร่วมออกแบบกฎหมายร่วมกัน ไม่มีใครรู้ เรื่องประมงดีเท่าชาวประมง เราต้องช่วยกันแก้ไขกฎหมายให้กฎหมายประมงเป็นเครื่องมือ ในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับแต่ละบริบทของพื้นที่ ให้แต่ละ จังหวัดใช้คณะกรรมการประมงจังหวัดกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับ พื้นที่และวิถีการทำประมง รวมถึงแก้กฎหมายอื่น ๆ ที่กระทบกับประมงให้ได้รับ ความเป็นธรรม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคืนอาชีพ คืนชีวิต คืนศักดิ์ศรีให้ชาวประมง ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขตอำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา พรรคก้าวไกล ผมอยู่ระยองครับ แต่ที่จำเป็นต้องพูดถึงโครงการ Landbridge ที่จังหวัดระนองและที่จังหวัดชุมพรก็เพราะว่าที่จังหวัดระยอง และภาคตะวันออกเรามีบทเรียน มีบทเรียนการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวประชาชน เล่นจริง เจ็บจริงมาแล้ว หลายคนชีวิตล่มสลาย ทรัพยากรถูกทำลาย ผมไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นอยู่ แล้วก็จะเกิดขึ้นต่อไปในพื้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ทำไม ผมต้องพูดถึงเรื่องนี้ครับ เพราะว่าการพัฒนาโครงการนี้ก็ยังคงเห็นวี่แววที่มีปัญหาในเรื่อง กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผมยกตัวอย่างให้เห็นครับว่าการจัดเวทีรับฟัง ความคิดเห็นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเมื่อต้นปี ๒๕๖๔ ตอนเกิดโควิดอยู่มาตรการในการจัดเวที เข้มงวดประชาชนเองก็ยังกลัวโควิด การจัดเวทีมีแต่ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชนเข้าร่วม เป็นส่วนใหญ่ประชาชนไม่ได้เข้าร่วมมากนัก ถัดมาเริ่มใช้วิธีผสมผสานจัดเวทีรับฟัง ความคิดเห็นที่จังหวัดชุมพร แล้วมี Zoom ที่จังหวัดระนองเข้ามา แล้วก็สลับไปจัดที่จังหวัด ระนอง แล้วก็ Zoom ที่จังหวัดชุมพรเข้ามา ก็มีปัญหาว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณ Internet หลายคนเขา Zoom ไม่เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมก็มีปัญหาครับ ล่าสุดการทำ EHIA โครงการท่าเรือน้ำลึกเพิ่งจัดรับฟังความคิดเห็นที่มีแต่ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่เข้าร่วม ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับทราบรับรู้ เข้าร่วมน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็นห่วง ถึงเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อยากฝากท่านประธานไปถึงรัฐบาลในขณะนี้ ที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงฝากถึงเพื่อน ๆ สมาชิกที่จะเข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการ วิสามัญ ฝากปรับปรุงกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ในการแสดงความคิดเห็นข้อห่วงกังวลต่าง ๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ ประชาชนควรได้กำหนด อนาคตของตนเองว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบชีวิตของเขาแค่ไหน การชดเชยเป็นธรรม หรือไม่ หรือจะให้สิทธิประโยชน์อะไรกับประชาชนที่จะต้องเสียสละเหล่านี้บ้าง โครงการ มักจะวาดฝันถึงผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ อย่าคิดเอาแต่ได้ คิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย ให้มาก ๆ ว่าประชาชนในพื้นที่จะเสียอะไรบ้าง ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ผมไม่คัดค้าน เลยครับ เห็นด้วยเต็มที่ แต่เราก็เห็นอยู่ว่ามันมีผลเสียตามมาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การประกอบอาชีพทำมาหากินของพี่น้องชาวประมงตัวอย่างที่ตะวันออกมีให้เห็นแล้วว่า ท่าเรือน้ำลึกขนาดนี้ถ้ามีประมงพื้นบ้านโดยรอบพังแน่นอน ประมงชายฝั่งหากินไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นระหว่างก่อสร้าง หรือเมื่อเปิดโครงการแล้วมีเรือ ขนาดใหญ่เข้ามามากมาย เรือเล็กออกจากฝั่งลำบากแน่ ๆ รวมถึงที่ชุมพรเองก็มีเศรษฐกิจที่ดี มีทุเรียนที่หลังสวน GDP อันดับ ๑๐ ของประเทศ มูลค่ากว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ทุเรียนตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง กระทบแค่ไหน รายได้ที่ประชาชนเคยได้จะหายไปเท่าไร รวมถึงที่ชุมพรยังมีสินค้า GI ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยเล็บมือนาง ข้าวเหลืองปะทิว และกาแฟเขาทะลุที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการที่เกิดขึ้น ยังต้องไปดูเรื่องตัวเลขประมง และการท่องเที่ยวอีกครับที่ ๒ พื้นที่นี้ก็มีการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่าง มากมาย ที่พูดมาทั้งหมดนี้ผมไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่อยากเรียกร้องให้มีการพัฒนาแบบ มีส่วนร่วมมาเริ่มต้นกันใหม่ ผมไม่อยากเห็นภาพการพัฒนาที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ เป็นเพียงแค่ปาหี่เหมือนที่ผ่านมาหลาย ๆ โครงการ ตั้งต้นที่โครงการนี้ได้ไหมที่จะเริ่มต้นให้ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้ประชาชนได้รับรู้โครงการจริง ๆ ว่าโครงการ Landbridge ทั้งโครงการมันคืออะไร ไม่ใช่ที่ผ่านมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบแยกส่วน จัดแค่เรื่องท่าเรือน้ำลึก จัดแค่เรื่อง Motorway จัดแค่เรื่องรถไฟ ประชาชนหลายคนไม่รู้ว่า ในเรื่องรถไฟมันเกี่ยวไหมกับ Landbridge Motorway มันเกี่ยวหรือไม่ ท่าเรือเกี่ยว หรือเปล่า ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทั้งหมดเพื่อที่จะได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าเห็นด้วยกับ โครงการนี้หรือไม่ อย่างไร และเขาควรจะต้องปรับตัวอย่างไรในโครงการที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ก็ขอฝากถึงรัฐบาลและเพื่อน ๆ สมาชิกที่จะเข้าไปนั่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ฝากช่วยกันดูนอกจากเรื่องผลคุ้มค่าของโครงการแล้ว ฝากดูกระบวนการมีส่วนร่วมของ ประชาชนให้ประชาชนได้กำหนดอนาคตของตนเองอย่างแท้จริง ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต ๓ อำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา พรรคก้าวไกล ผมมีเรื่องหารือ ๒ เรื่อง ขอสไลด์ด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๑ สถานการณ์น้ำและ ภัยแล้ง ผมได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องการปล่อยน้ำในพื้นที่ชลประทาน อำเภอแกลง และอำเภอเขาชะเมา ที่ผมดูแลอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พี่น้องชาวบ้านทำสวนผลไม้ เป็นหลัก โดยเฉพาะสวนทุเรียนที่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้ต้องการน้ำไปรดสวนผลไม้ ผมและ สส. ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ได้เข้าพบ ผอ. อ่างเก็บน้ำประแสร์เพื่อติดตามการปล่อยน้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนซึ่งต้องขอขอบคุณท่าน ผอ. อรุษ เทียนสว่าง ที่ส่งน้ำไปช่วยพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนแล้ว โดยการใช้โรงสูบน้ำอีกแห่งไปพลางก่อน และได้เร่งรัดกับทาง กฟผ. ดำเนินการให้โรงสูบน้ำ ที่เสียกลับมาใช้ได้โดยเร็ว และทาง ผอ. อรุษ ก็ได้แจ้งว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำดูแล ประชาชนในพื้นที่ชลประทานได้ตลอดฤดูแล้งของปีนี้ ทั้งนี้ต้องขอฝากท่านประธานไปยัง กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนเรื่อง ภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกพื้นที่ชลประทานด้วยนะครับ
เรื่องที่ ๒ ฝายเก็บกักน้ำพัง ผมได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่าฝายตาด้ง ในพื้นที่บริเวณหมู่ ๗ ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง พังลง เก็บกักน้ำไม่ได้ ตรงนี้เดิมที ฝายเก็บกักน้ำดูแลชาวบ้านหมู่ ๗ หมู่ ๑๐ และหมู่ ๒ ตำบลทุ่งควายกิน พังลง ใช้การไม่ได้ ทั้งนี้ผมได้ลงพื้นที่กับท้องถิ่นและท้องที่ ต้องขอขอบคุณทางท่านนายกศักดิ์สิทธิ์ กุมภะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งควายกิน ที่ได้จัดสรรงบของทาง อบต. มาทำฝายดินและ ช่องทางระบายน้ำชั่วคราว บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าอย่างทันท่วงที ขอบคุณทาง กำนันปัญญา ผาสุข และผู้ใหญ่บ้านที่ติดตามมาโดยตลอด เดิมทีฝายนี้เป็นงบของ อบจ. ระยอง ซึ่งผมได้ประสานงานไปยังรองนายก อบจ. คุณกิตติ เกียรติ์มนตรี ได้ให้กองช่างลงไป สำรวจหน้างานแล้ว พบว่าไม่สามารถซ่อมแซมได้ อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบเพื่อตั้ง งบประมาณทำฝายใหม่ ขอฝากท่านประธานไปยัง อบจ. ระยองให้ช่วยเร่งรัดดำเนินการ จัดสรรงบประมาณทำฝายใหม่โดยเร็ว ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล อำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา
อันดับแรก ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ทุกคนในวันนี้ได้มาพูด ในสภาผู้แทนราษฎร และเห็นตรงกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันนี้คือเรื่องที่น่ายินดีครับ เพื่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเองก็ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำประชามติตามนโยบายที่บางพรรค หาเสียงไว้อย่างแน่นอน และยินดียิ่งขึ้นที่ประกาศชัดในสภาว่าจะทำประชามติภายใน ไตรมาสแรก ปี ๒๕๖๗ อย่างแน่นอน อันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีและเห็นตรงกัน ก็ยินดีมากครับ แต่เท่าที่ฟังดูมีเรื่องที่เห็นแย้งกันอยู่ ๒ เรื่องหลัก ๆ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของญัตตินี้ และเป็น สาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ๒ เรื่อง ก็คือ
เรื่องที่ ๑ เรื่องแก้ จะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ หรือจะเว้นบางหมวด เรื่องนี้ครับ หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยของเราบอกว่า ประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุด ดังนั้นจะเถียงกันทำไมครับ ถ้าบอกว่าประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดก็ต้องแก้ได้ทุกหมวด จะเว้นบางหมวดไปทำไม ถ้าเว้นบางหมวดได้ก็แปลว่าประชาชนไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจสูงสุด อย่างแท้จริง อย่าคิดแทนว่าประชาชนอยากแก้หมวดไหน ไม่แก้หมวดไหน ดังนั้น ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุด เปิดกว้างอย่างถึงที่สุด รับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง ที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่เขาอยากแก้หมวดไหนก็ต้องให้แก้ ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เราจะไป คิดแทนว่าควรแก้หมวดไหน ไม่แก้หมวดไหน ดังนั้นถ้าเราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง ต้องเปิดให้มีการแก้ทั้งฉบับโดยไม่มีเงื่อนไข
เรื่องที่ ๒ มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องมี สสร. จากการเลือกตั้งทั้งหมด นี่ก็เรื่องเดิมครับ หลักการสำคัญว่าเราเชื่อหรือไม่ว่าประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุด ถ้าเชื่อ ตามนี้ก็ต้องให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องไปกังวลว่าจะมา จากสัดส่วนตรงนั้นตรงนี้ มีส่วนร่วมหรือไม่ ก็ประชาชนเลือกทั้งประเทศ ทุกคนมีสิทธิเลือก ว่าจะเลือกใครที่จะเข้ามากำหนดกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้นต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนข้อกังวลที่ว่าจะมีสัดส่วนจากกลุ่มชาติพันธุ์ จากพระสงฆ์ จากกลุ่ม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ หรือไม่ ตรงนี้เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วม อื่น ๆ ได้ ดังเช่นการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง ดังที่ผู้เสนอญัตติ คุณพริษฐ์ได้พูดไปแล้ว ดังนั้น ๒ เรื่องตรงนี้ที่อภิปรายกันมาตลอดมันอยู่ที่หลักการสั้น ๆ แค่นั้นเองว่าเราเชื่อมั่น จริง ๆ ไหมว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดตัวจริง ถ้าเห็นต่างจาก เรื่องนี้ แปลว่าท่านไม่เชื่อว่าประชาชนคืออำนาจสูงสุด
ถัดมาในเรื่องของเทคนิค Tactic ว่าถ้าเอาญัตตินี้ลงมติให้ผ่านไป มีผู้อภิปราย บางท่านกังวลว่าเดี๋ยวผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปก็ไปติดขัดอยู่ที่วุฒิสภา เดี๋ยวกระบวนการ ร่างรัฐธรรมนูญจะด่างพร้อยหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ครับ เราควรเปิดโอกาส ให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้มีส่วนร่วมในการเสนอเรื่องนี้ ให้ไปถึง สว. ควรเปิดโอกาสให้ สว. ได้ทำ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยบ้าง เป็นการทิ้งท้ายบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เป็นรถไฟขบวนสุดท้าย ให้ทุกคนสามารถกระโดดขึ้นร่วมกระบวนการผลักดันประชาธิปไตย ของประเทศไทยของเราได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และผมเชื่อว่าถึงเวลานี้เมื่อเสียงทั้งประเทศบอกว่าอยากแก้ สว. ไม่น่าจะขวางนะครับ แต่ว่าถ้าไปถึงสภาที่จะลงความเห็นแล้ว สว. เกิดขวางขึ้นมาจริง ๆ นี่ละจะเป็นใบเสร็จครับ เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่ายิ่งต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะกระบวนการในการผ่าน รัฐธรรมนูญมันมีปัญหาจริง ๆ เป็นหลักฐานเลยครับ ถ้า สว. ขวางเรื่องนี้ ก็เป็นหลักฐาน เป็นใบเสร็จชัดเจนว่ายิ่งสมควรจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีปัญหาจากทั้งที่มา และเนื้อหาอย่างแท้จริง ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลถ้า สว. ไม่ผ่าน ครม. ก็ดำเนินการตามมาตรา ๙ (๒) ต่อไปได้เลย ตามใบเสร็จที่ให้เห็นว่ากระบวนการในการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้มีปัญหา จริง ๆ ดังนั้นก็ขอให้เพื่อนสมาชิกที่อภิปรายวันนี้ทั้งหมดที่บางท่านยังไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ ขอให้เปลี่ยนความคิดครับ ผมอยากเห็นพาดหัวข่าวเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ บอกว่าสภาแห่งนี้ เห็นชอบให้เดินหน้ากระบวนการทำประชามติบนหลักการที่เห็นประชาชนมีอำนาจสูงสุด จริง ๆ ผมไม่อยากเห็นพาดหัวข่าวที่บอกว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลขวางการทำประชามติ ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้นวิงวอนขอให้เพื่อนสมาชิกที่ยังไม่เห็นด้วย ได้เปลี่ยนความคิดมาร่วมกันผลักดัน เพื่อให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่เราเห็นตรงกันว่า มีปัญหาได้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ถ้าจะดีก็ขอเชิญ ฝ่ายตุลาการมาร่วมผลักดันร่วมกันจะได้ครบ ๓ เสาหลัก ดังนั้นถ้าวันนี้สภาแห่งนี้ได้ผ่าน ญัตตินี้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ประชาชนไม่เกิดความเคลือบแคลงสงสัย และมั่นใจได้ว่า เราจะเดินหน้าสู่กระบวนการทำประชามติ และแก้รัฐธรรมนูญบนหลักการพื้นฐานที่เห็น ประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง อำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา จากพรรคก้าวไกลครับ วันนี้ผมขออนุญาตร่วมอภิปรายสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. .... ของคุณวรภพ วิริยะโรจน์ และทุก ๆ ร่างที่เสนอร่วมกันในวันนี้นะครับ วันนี้ผมในฐานะ ผู้แทนราษฎรขอพูดแทนราษฎรอำเภอแกลงที่เป็นชาวประมง พูดแทนชาวประมงจังหวัดระยอง พูดแทนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ที่ผมได้ไปพบปะพูดคุยมาตลอด ๕ ปี ที่ผ่านมาตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา ผมได้รับรู้ถึงความเจ็บช้ำเจ็บปวดของชาวประมงกับกฎหมาย ประมงที่ทุกคนก็รู้กันดีว่าออกโดยรัฐบาล คสช. มาตลอด ๘-๙ ปี ออกโดยคนที่ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่เข้าใจประมงจริง ๆ นี่เรียกว่า ไม่รู้จักคลื่น แต่อยากจะวิจารณ์ทะเล อยากจะแก้ปัญหา อ้าง IUU จะจับหนูตัวเดียว แต่กลับเผาบ้านทั้งหลัง ทำให้คนในบ้านเดือดร้อนเจ็บปวด มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้หลายคนหลายชีวิตล่มสลาย เรือจอดเรียงรายมากมายมหาศาล พี่น้องชาวประมงเจ็บช้ำกันมามาก มาถึงวันนี้เป็นที่น่ายินดีที่แทบทุกพรรคการเมือง เห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ไข และตอนนี้วาระก็ได้รับการบรรจุถือว่า เป็นความหวังของพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศครับ ตอนแรกผมก็ยังเข้าใจว่าทาง ครม. จะมีร่างมาประกบเพื่อเดินหน้าพร้อมกันในวันนี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายที่สุดท้ายก็ยังไม่มา แล้วก็มีการแจ้งว่า ครม. จะขอเวลาไปศึกษาก่อน ตรงนี้ผมต้องขออนุญาต ครม. จริง ๆ ว่า จริง ๆ ไม่ควรจะศึกษาอีกแล้วนะครับ เพราะว่าก่อนหน้านี้เราก็มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาร่วมกัน ผมก็นั่งอยู่ในนั้น ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลขออนุญาตเอ่ยนามท่านปลอดประสพ ท่านก็มีความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ทำงานกับฝ่ายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และผมเข้าใจว่า ท่านเข้าใจดีว่าจะต้องแก้อะไร ผมก็ไม่เข้าใจว่าจะต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมอีก ดังนั้นในวันนี้ ผมจึงอยากจะขอเรียกร้องให้พวกเราผู้แทนราษฎรทุกพรรคที่ได้เสนอร่างช่วยกันยืนยันว่า ไม่ต้องรอ ครม. ไม่ต้องยื้อเวลากันอีกแล้วครับ ยิ่งช้าประชาชนยิ่งรอก็ยิ่งเจ็บช้ำเจ็บปวดมากขึ้น ผมอยากให้เราเดินหน้าเพื่อให้พี่น้องชาวประมงได้คลายทุกข์เสียที อย่าให้พี่น้องประมง ต้องรออีกเลยครับ เพราะว่ากฎหมายปัจจุบันนั้นมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข บางเรื่องสามารถ ออกแบบใหม่ให้ดีกว่านี้ได้ ดังที่ร่างไว้ในร่างของคุณวรภพ วิริยะโรจน์ ที่ผมก็มีส่วนร่วม ในการเสนอสาระสำคัญดังที่ได้ขอนำเรียนท่านประธานในวันนี้
เรื่องที่ ๑ ที่มีการพูดคุยกันไปแล้วหลายครั้งหลายคราว หลายคน หลายท่าน ก็คือ เรื่องการกระจายอำนาจ ให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดได้มีอำนาจในการ ออกแบบวิธีการข้อกำหนด ข้อห้ามอะไรทำได้ ทำไม่ได้ในจังหวัดของตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่อง สำคัญ เพราะว่าไม่มีใครรู้จักทะเลจังหวัดระยองดีเท่ากับชาวประมง ดีเท่ากับคนในจังหวัด ระยอง ไม่มีใครรู้เรื่องทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ดีเท่ากับชาวประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกเรือทุกวันแน่ ๆ ไม่มีใครรู้เรื่องที่จังหวัดตราดดีเท่ากับชาวประมง ดีเท่ากับคนตราดแน่ ๆ ดังนั้นหลักการกระจายอำนาจคือหลักที่เราจะต้องให้ความสำคัญ เพราะว่าแต่ละพื้นที่ มีวิถีการทำประมงที่ต่างกันมีภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ที่สำคัญโครงสร้างคณะกรรมการ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องให้สัดส่วนของประชาชน สัดส่วนของชาวประมง เข้าไปมีส่วนร่วม ให้มากขึ้น โดยสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ร่วมกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองจริง ๆ โดยที่เรา ควรจะให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสามารถกำหนดได้ในขอบเขต ๑๒ ไมล์ทะเล
เรื่องที่ ๒ ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือเรื่องเขตทำการประมงครับ เรื่องเขต ทำการประมงเพื่อความเป็นธรรมกับทั้งชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ ก็ควรจะให้เป็น เขตห้ามเข้า ไม่ใช่เขตห้ามออกที่จะมาขังกัน ตลอด ๑๒ ไมล์ทะเล ต้องเป็นพื้นที่ที่ชาวประมง พื้นบ้านออกทำการประมงได้ แล้วค่อยมาขีดเส้นว่าเส้นไหนกี่ไมล์ทะเล เรือประมงประเภทใด ห้ามเข้า นี่คือสาระสำคัญที่ผมอยากจะให้มีการแก้ไขและพี่น้องก็รอการแก้ไขอยู่ รวมไปถึง วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่มีความหลากหลายในการใช้เครื่องมือทำการประมงที่จะต้อง เปลี่ยนผันไปตามฤดูกาล เรื่องนี้ก็สำคัญที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการสืบทอดภูมิปัญญาการทำประมง พื้นบ้าน ที่ผ่านมาจะต้องมีการเรียนรู้กันตั้งแต่อายุยังน้อย ผมเข้าใจดีว่าเราควรจะมี การคุ้มครองดูแลแรงงานเด็ก แต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะไปด้วยกันได้ ในส่วนที่เป็นแรงงาน ก็ต้องห้ามแรงงานอายุ ๑๘ ปีลงเรือ แต่ในส่วนของผู้สืบสันดาน ผู้สืบทอดภูมิปัญญา จะสามารถลงไปเรียนรู้สืบทอดภูมิปัญญาการทำมาหากินในวิถีชีวิตชาวประมงได้ นี่คือ หลักสำคัญที่เราจะต้องจัดการร่วมกัน รวมไปถึงแน่นอนครับเรื่องโทษหลายท่านพูดไปแล้ว เรื่องโทษหลักสำคัญที่ผมอยากจะเสริมก็คือว่า ควรจะต้องแยกโทษให้ชัดเจนเป็นหมวดหมู่ โทษไหนที่ว่าด้วยการทำลายล้างทรัพยากร โทษไหนที่ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ละเมิดสิทธิแรงงาน แน่นอนครับ ตรงนี้จับปรับเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้อีก แต่โทษใดที่เป็น โทษธุรการเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แจ้งเข้าแจ้งออกเหล่านี้ควรแยกออกมาให้เป็นลหุโทษ เพื่อไม่ให้ชาวประมงจะต้องรับภาระค่าปรับมหาศาลเหมือนที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ครับท่านประธาน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ ผมขอเรียกร้องอีกครั้งต่อสภาแห่งนี้ ขอให้รับหลักการในวันนี้เพื่อเดินหน้าทันที เพื่อคืนชีวิต คืนศักดิ์ศรีให้ชาวประมง ขอบคุณครับ
เรียนท่านประธานสภาที่เคารพ ผม พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง อำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา จากพรรคก้าวไกล ท่านประธานครับ เรื่องน้ำมันรั่วครั้งนี้ผมจะไม่พูดก็ไม่ได้ เพราะว่า ผมติดตามปัญหาของพี่น้องชาวประมงจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่องครับ เรื่องนี้กระทบต่อ พี่น้องชาวประมงอำเภอแกลงของผม กระทบต่อพี่น้องชาวประมงทั้งระยอง รวมไปถึงธุรกิจ ประมงต่อเนื่องพ่อค้าแม่ขายชายหาด ผู้ที่ทำธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม Resort บริษัท Tour ต่าง ๆ เดือดร้อนกันมาหลายปี อย่างที่ทราบกันดีครับ ที่ระยองบ้านผมเจอกับ ปัญหาน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ ปี ๒๕๕๖ ก็รอบหนึ่ง ปี ๒๕๖๕ ก็มาซ้ำอีก แล้วผมก็เคยพูดไปแล้ว ครับว่าความทุกข์ของชาวประมงจังหวัดระยอง นอกจากเรื่องน้ำมันรั่วแล้วก็มีเรื่องของการ ถูกแย่ง ยึดพื้นที่ทำมาหากินในบริเวณประมงชายฝั่งจากการพัฒนาอุตสาหกรรมถมทะเลไป แล้ว ๓ เฟส เจอปัญหากฎหมายประมงซ้อนทับเข้ามาอีก ซ้ำซ้อนมากครับ ยังดีที่เรื่อง กฎหมายประมงสภาของเราได้มีความเห็นร่วมกันทั้งสภาที่จะแก้ไขปัญหา โดยมีการตั้ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขกฎหมายประมงกันแล้ว ผมก็อยู่ในคณะกรรมาธิการ วิสามัญด้วย วันนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกก็น่าจะช่วยผ่อนคลายไป ๑ ปัญหา อีกเรื่องหนึ่งที่ สำคัญก็คือวันนี้ปัญหาน้ำมันรั่วที่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม พ่อแม่พี่น้อง ชาวประมงยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้ฟ้องร้องกันอยู่เลยครับ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะเป็นภาระของพ่อแม่ พี่น้อง รัฐบาลต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ดีกว่านี้ครับ ผมจึงอยากมาเน้นย้ำสั้น ๆ ๔ เรื่อง จากหลาย ๆ ท่านได้อภิปรายไปแล้วครับ หลักสำคัญอยู่แค่ ๔ เรื่องนี้ละครับ เรื่องที่ ๑ ก็คือ เรื่องของการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มันจะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ ว่าน้ำมันตกลงมันรั่ว เท่าไรกันแน่เราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เหมือนปี ๒๕๖๕ ที่บอกว่าตอนแรกก็รั่ว ๔๐๐,๐๐๐ ตอนที่สอง บอกเหลือ ๑๖๐,๐๐๐ ถัดมาบอกเหลือ ๕๐,๐๐๐ สุดท้ายเหลือ ๔๗,๐๐๐ หลักฐานคืออะไรครับ ไม่มีเลยครับ อย่างคลิปเมื่อสักครู่เห็นไหมครับ ท่านอภิชาตก็ถาม เรือ ที่มาถ่ายน้ำมันนั้นอยู่ไหน ตอบได้หน้าตาเฉย บอกเขากลับประเทศไปแล้ว เฮ้ย แบบนี้ก็ได้ หรือไม่ได้นะครับ นี่คือหลักฐานที่เราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ ดังนั้นเราจะต้องมาช่วยกันแก้ไข กฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อที่จะทำให้เมื่อเกิดเหตุขึ้นอีกจะต้องมีมาตรการ ที่จะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ มันไม่ได้ยากอะไรเลยครับ แค่ไปดูว่าน้ำมันบนเรือขามานั้น มาเท่าไร ตอนรั่วไปแล้วมันเหลืออยู่เท่าไร ค้างท่อเท่าไร บนคลังเท่าไร คณิตศาสตร์ง่าย ๆ บวก ลบ คูณ หาร มันเห็นชัด ๆ ว่ามันจะต้องรั่วเท่าไรกันแน่ ไม่ใช่แค่การคาดการณ์ แล้วไม่ใช่เชื่อฟัง แต่บริษัทเอกชนที่เขาบอกว่ารั่วเท่าไรก็เท่านั้น หน่วยงานรัฐไม่มีส่วนที่จะไปตรวจสอบเลยว่า แท้จริงมันรั่วเท่าไรแบบนี้ไม่ได้ครับ ดังนั้นเรื่องที่ ๑ ต้องมีมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ ที่ชัดเจนให้ได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่ารั่วเท่าไร เอาตัวเลขที่คำนวณได้บนหลักฐาน ที่ชัดเจนมายันกัน
ข้อที่ ๒ มาตรการกำจัดคราบน้ำมันที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาถ้าใครติดตามข่าว จะเห็นว่าน้ำมันรั่วรีบเบิกสาร Dispersant มากำจัดน้ำมันเพื่อให้มันรีบหายไปจากผิวน้ำ กดจมลงสู่ท้องทะเลทุกครั้งเลยครับ แต่มาตรการอื่นที่มีการวางไว้แล้วไม่ใช้ โดยเฉพาะการที่ จะต้องเอาน้ำมันออกจากทะเลไปให้ได้มากที่สุด ก็คือล้อม Boom Skim ป้องกันไม่ให้น้ำมัน ฟุ้งกระจายไปไกล แล้วใช้ Skimer ไปดูดเอาน้ำมันออก นี่คือมาตรการที่ดีที่สุดอันหนึ่ง ที่จะช่วยลดปัญหามลภาวะทางทะเล เอาน้ำมันออกจากทะเลไปให้ได้มากที่สุดก่อน ล้อม Boom Skim ดูดออกไป ที่ผ่านมาแทบไม่เห็นเลยครับ เอะอะโปรยสาร มักง่าย จนเกินไป ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องมีการออก Protocol ที่ชัดเจนในการกำจัดคราบน้ำมัน
ถัดมาเรื่องที่ ๓ เรื่องสำคัญเหมือนกันครับ ก็คือเรื่องที่รัฐควรจะเป็นตัวกลาง เป็นคนกลางในการออกมาดูแลประชาชน ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านตาสียายสา ลุงมีป้ามา แกเอาไปฟ้องของแกเอง แบบนี้ลำบากครับ ลำบากพ่อแม่พี่น้องประชาชน รัฐต้องมีกฎหมาย ที่ชัดเจนเหมือนต่างประเทศ ที่ออกแบบค่าปรับมาอย่างชัดเจนว่าปรับเท่าไร แล้วเอาค่าปรับ นั้นไปชดเชยเยียวยาให้พี่น้องประชาชน อย่าปล่อยให้พี่น้องต้องมาฟ้องร้องกันเองครับ ออกแบบค่าปรับให้ชัดเจน เอาไปเยียวยา และมีค่าปรับหลงเหลือเพียงพอที่จะไปฟื้นฟู สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ที่ผ่านมาอย่างปี ๒๕๖๕ จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นใครฟื้นฟูที่ชัดเจนเลยว่าทำ อะไรกันไปแล้วบ้าง แบบนี้ไม่ได้ครับ ดังนั้นต้องมาออกแบบระบบกันให้ชัด ค่าปรับที่ชัดเจน ที่เอกชนจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองกระทำ เพื่อชดเชยให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน นี่คือสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้น ดังนั้นสภาแห่งนี้ จะต้องช่วยกันแก้ปัญหานี้เสียที ไม่ได้ปล่อยให้น้ำมันรั่วแล้ว รั่วอยู่ แล้วก็รั่วต่อไปแบบนี้ แล้วไม่เกิดการแก้ไขใด ๆ
สุดท้ายครับ ข้อที่ ๔ เรื่องที่สำคัญเหมือนกันก็คือมาตรฐาน มาตรการในการ ป้องกันขั้นต้นเลยก็คือการป้องกันไม่ให้น้ำมันรั่วไหลอีก ตกลงทุกวันนี้เรามีมาตรฐาน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้วหรือยังในกระบวนการส่งน้ำมันจากเรือขึ้นท่อ ขึ้นมาสู่ฝั่ง ตรงนี้ ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะทบทวนมาตรการ ทบทวนมาตรฐานที่จะต้องใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัยในการตรวจจับการรั่วไหลของน้ำมัน และป้องกันตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้น้ำมันรั่วไหล มากมายมหาศาลเหมือนที่ผ่านมาครับ มันต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับการรั่วไหลของ น้ำมันออกจากท่อ ออกจากระบบการส่งน้ำมันได้ตั้งแต่ต้น เมื่อรั่วไหลออกมาแล้วเร่งยุติ เร่งหยุดยั้งปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลายโดยเร็วที่สุด นี่คือการออกแบบมาตรการที่ควร จะต้องเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาน้ำมันรั่วครั้งใหญ่เกิดขึ้นซ้ำอีก
ทั้งหมดนี้ ๔ ข้อผมคิดว่าเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่สภาแห่งนี้น่าจะเป็นพื้นที่ที่เราจะ ได้หาทางออก คลายความทุกข์ให้พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง อย่างที่ผม บอกไปครับ ทุกข์ซ้ำซ้อนหลายเรื่อง ถึงเวลาแล้วที่สภาแห่งนี้จะได้ร่วมมือกันในการ ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อมาศึกษา ออกแบบมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหล ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีมาตรการชดเชย เยียวยา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน และเป็นธรรม ขอบคุณครับ